เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 87950 จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 18 ก.ค. 04, 01:57

 ได้ยินว่าคุณเทาชมพูกำลังจะได้เอกสารรายงานวิจัยจารึกหลักที่ 1 ในเชิงภาษาศาสตร์มา ผมจึงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของจารึกหลักนี้ และความคิดเห็นของนักวิชากาี้รบางท่าน มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ใช้ศึกษาต่อไปครับ


ข้อมูลเบื้องต้นของศิลาจารึกหลักที่ 1

ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงทำขึ้นจากหินทรายแป้ง สูง ๑๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเมื่อครั้งเป็นภิกษุขณะจาริกไปยังเมืองเก่าสุโขทัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ และทรงพยายามอ่านและแปลศิลาจารึกนั้นด้วยพระองค์เอง

ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

(ข้อมูลจาก http://www.sarakadee.com)  
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:05

 ต่อไปนี้คือเนื้อความในจารึกหลักที่ 1 ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันโดยมหาฉ่ำ ทองคำวรรณ

(ด้านที่ 1)
พ่อกูชื่สรีอินทราทีตย แม่กูชื่นางเสือง พี่กูชื่บานเมือง
ตูมีพี่น๋องท๋องดยวห๋าคน ผู๋ชายสาม ผู๋หญิงโสง พี่เผือ
ผู๋อ้ายตายจากเผือตยมแต่ญงงเลก เมื่อกูขึ๋นใหญ่ได๋
สิบเก๋าเข๋า ขุนสามชนเจ๋าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบ
ขุนสามชนหววซ๋าย ขุนสามชนขับมาหววขวา ขุนสาม
ชนเกลื่อนเข๋า ไพร่ฟ๋าหน๋าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจแจ้
น กูบ่หนี กูขี่ช๋างเบกพล กูขับเข๋าก่อนพ่อกู กูต่อ
ช๋างด๋วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช๋าง ขุนสามชนตววชื่
มาสเมือง แพ๋ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ๋นชื่กู
ชื่พระรามคํแหง เพื่อกูพุ่งช๋างขุนสามชน เมื่-
อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได๋ตวว
เนื้อตววปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได๋หมากส๋มหมากหวา-
น อนนใดอนนกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตี-
หนังวงงช๋างได๋ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ๋านท่เมื-
อง ได๋ช๋างได๋งวง ได๋ป่ววได๋นางได๋เงือนได๋ทอง กูเอา
มาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบํเรอแก่พี่
กู ฎงงบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได๋เมืองแก่กูท๋งง
(ก)ลํ เมื่อช่ววพ่อขุนรามคํแหง เมืองสุโขไทนี๋ดี ในน๋ำ
มีปลา ในนามีข๋าว เจ๋าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่-
อนจูงวววไปค๋า ขี่ม๋าไปขาย ใครจกกใคร่ค๋าช๋างค๋า ใคร
จกกใคร่ค๋าม๋าค๋า ใครจกกใคร่ค๋าเงือนค๋าทองค๋า ไพร่ฟ๋าหน๋าใส
ลูกเจ๋าลูกขุนผู๋ใดแล๋ ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อ
เสื้อคำมนน ช๋างขอลูกเมียยียเข๋า ไพร่ฟ๋าข๋าไท ป่า
หมากป่าพลูพ่อเชื้อมนน ไว๋แก่ลูกมนนสิ้น ไพร่ฟ๋า
ลูกเจ๋าลูกขุน ผิ๋แล๋ผิดแผกแสกว้างกนน สวนดู
แท้แล จึ่งแล่งความแก่ขาด๋วยซื่ บ่เข๋าผู๋ลกกนกกมกก
ผู๋ซ่อน เหนข๋าวท่านบ่ใคร่พีน เหนสินท่านบ่ใคร่เดือ-
ด คนใดขี่ช๋างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่อยเหนือเฟื้อ
กู้ มนนบ่มีช๋างบ่มีม๋า บ่มีป่ววบ่มีนาง บ่มีเงือ-
นบ่มีทอง ให๋แก่มนน ช่อยมนนตวงเปนบ๋านเปนเมือ-
ง ได๋ข๋าเสือกข๋าเสือ หววพุ่งหววรบก่ดี บ่ข๋าบ่ตี ใน
ปากปตูมีกดิ่งอนนณึ่งแขวนไว๋ห๋นน ไพร่ฟ๋าหน๋า
ปกกลางบ๋านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจบท๋อง
ข๋องใจ มนนจกกกล่าวเถิงเจ๋าเถิงขุนบ่ไร้ ไปล่นนก-
ดิ่งอนนท่านแขวนไว๋ พ่อขุนรามคํแหงเจ๋าเมืองได๋

(ด้านที่ 2)
ยินรยกเมือถาม สวนความแก่มนนด๋วยซื่ ไพร่ใน
เมืองสุโขไทนี๋จึ่งชม สร๋างป่าหมากป่าพลูท่ววเมือ-
งนี๋ทุกแห่ง ป่าพร๋าวก่หลายในเมืองนี๋ ป่าลาง
ก่หลายในเมืองนี๋ หมากม่วงก่หลายในเมืองนี๋
หมากขามก่หลายในเมืองนี๋ ใครสร๋างได๋ไว๋แก่มนน
กลางเมืองสุโขมัยนี๋ มีน๋ำตระพงงโพยสีใสกินดี
…ฎ่งงกินน๋ำโขงเมื่อแล๋ง รอบเมืองสุโขไทนี๋ตรี-
บูรได๋สามพนนสี่ร๋อยวา คนในเมืองสุโขไทนี๋
มกกทาน มกกทรงศีล มกกโอยทาน พ่อขุนรามคํแหง
เจ๋าเมืองสุโขไทนี๋ ท๋งงชาวแม่ชาวเจ๋า ท่วยป่ววท่วยนา-
ง ลูกเจ๋าลูกขุนท๋งงสิ๋นท๋งงหลาย ท๋งงผู๋ชายผู๋ญีง
ฝูงท่วยมีสรธาในพระพุทธศาสนทรงสีลเมื่อพรน
ษาทุกคน เมื่อโอกพรนษากรานกถิน เดือนณึ่งจิ่-
งแล๋ว เมื่อกรานกถินมีพนมเบี๋ย มีพนมหมาก มี
พนมดอกไม๋ มีหมอนน่งงหมอนโนน บริพารกถินโอ-
ยทานแล๋ปีแล๋ญิบล๋านไปสูตญัติกฐินเถืงอ-
รญญิกพู๋น เมื่อจกกเข๋ามาวยงรยงแต่อร-
ญญิกพู๋นเท่าหววลานดดํบงคํด๋วยสยงพาดสยงพี-
นสยงเลื๋อนสยงขับ ใครจกกมกกเหล๋นเหล๋น ใครจก-
กมกกหวว หววใครจกกมกกเลื๋อน เลื๋อน เมืองสุ-
โขไทนี๋มีสี่ปากปตูหลวง ท๋ยนญ่อมคนเสียดกนน
เข๋ามาดูท่านเผาทยนท่านเหล๋นไฟ เมืองสุโขไทนี๋
มีฎ่งงจกกแตก กลางเมืองสุโขไทนี๋มีพิหาร มี
พระพุทธรูปทอง มีพระอฏฐารศ มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอนนใหญ่ มีพระพุทธรูปอนน
ราม มีพิหารอนนใหญ่มีพิหารอนนราม มีปู่
ครูนิไสยมุตก์ มีเถร มีมหาเถรเบื๋องตะวนนตก
เมืองสุโขไทนี๋มีอไรญิก พ่อขุนรามคํํแหงกทำ
โอยทานแก่มหาเถร สงงฆราชปราชญ์รยนจบปิดกไตร
หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี๋ ทุกคนลุกแต่เมืองสรีธ-
รมมราชมา ในกลางอรญญิก มีพิหารอนนณึ่งมน
ใหญ่ สูงงามแก่กํ มีพระอฏฐารศอนนณึ่งลุกยื-
น เบื๋องตะวนนโอกเมืองสุโขไทนี๋มีพิหารมีปู่ครู
มีทเลหลวงมีป่าหมากป่าพลูมีไร่มีนามีถิ่นถ๋าน
มีบ๋านใหญ่บ๋านเลก มีป่าม่วงมีป่าขาม ดูงามฎงงแกล้

(ด้านที่ 3)
(งแฏ่)ง เบื๋องตีนนอนเมืองสุโขไทนี๋มีตลาดป-
สาน มีพระอจน มีปราสาท มีป่าหมาก
พร๋าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่นถ๋าน มีบ๋านใหญ่บ๋านเล็ก เบื๋-
องหววนอนเมืองสุโขไทนี๋ มีกุดีพิหารปู่ครู
อยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร๋าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม
มีน๋ำโคกมีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอนนน๋นน
เปนใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี๋ ขุนผู๋ใดถืเมือง
สุโขไทนี๋แล๋ ไหว๋ดีพลีถูก เมืองนี๋ท่ยง
เมืองนี๋ดี ผิไหว๋บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอนนบ่
คุ๋มบ่เกรง เมืองนี๋หาย ๑๒๑๔ สก ปีมโรง พ่อขุนรามคํ-
แหงเจ๋าเมืองศรีสชชนาไลสุโขไทปลูกไม๋ตา-
นนี๋ได๋สิบสี่เข๋าจึ่งให๋ช่างฟนนขดารหินต๋งงหว่าง
กลางไม๋ตานนี๋ วนนเดือนดบบเดือนโอกแปดวนน วน-
นเดือนเตม เดือนบ๋างแปดวนน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถ-
ร ขึ๋นณ่งงเหนือขดานหีนสูดธรมมแก่อูบาสกฝู-
งท่วยจำสีล ผิใช่วนนสูดดธรมมพ่อขุนรามคํํแหง
เจ๋าเมืองศรีสชชนาไลสุโขไทขึ๋นณ่งงเหนือขดา-
รหีน ให๋ฝูงลูกเจ๋าขุน ฝูงท่วยถืบ๋านถื
เมือง คร๋นนวนนเดือนดบบเดือนเตม ท่านแฏ่งช๋างเผื-
อกกรพดดลยางท๋ยนญ่อมทองงา...ขวา ชื่รูจาครี
พ่อขุนรามคํแหงขึ๋นขี่ไปนบพระ....(เถิง)อรญญิกแล๋-
วเข๋ามา, จารึกอนนณึ่ง มีในเมืองชลยงสถาบกไว๋
ด๋วยพระศรีรตนธาตุ จารึกอนนณึ่งมีในถ๋ำชื่ถ๋ำ
พระราม อยู่ฝ่งงน๋ำสํพาย จารึกอนนณึ่งมีในถ๋ำ
รตนธารในกลวงป่าตานนี๋ มีษาลาสองอนน อนนณึ่งชื่
ษาลาพระมาส อนนณึ่งชื่พุทธษาลา ขดารหีนนี๋ชื่ม-
นงงษีลาบาตร สถาบกไว๋หนี๋(จึ่ง)ทงงหลายเหน

(ด้านที่ 4)
พ่อขุนรามคํแหงลูกพ่อขุนษรีอินทราทีตยเป-
นขุนในเมืองสรีสชชนาไลสุโขไท ทงงมากาวลาว
แลเมืองไทเมืองใต๋หล๋าฟ๋าฏ...ไทชาวอูชาวของมาออ-
ก ๑๒๐๗ สก ปีกุรให๋ขุด(เอา)พระธาตุออกทงงหลาย
เหนกทำบูชาบํเรอแก่พระธาตุได๋เดือนหกวนน จึ่-
งเอาลงฝงงในกลางเมืองสรีสชชนาลัยก่พระเจ-
ดีเหนือหกเข๋าจึ่งแล๋วต๋งงวยงล้อมพระม-
หาธาตุสามเข๋าจึ่งแล๋ว เมื่อก่อนลายสืนี๋บ่
มี ๑๒๐๕ สกปีมะแม พ่อขุนรามคํแหงหาใคร่ใจ
ในใจ แลใส่ลายสืไทนี้ลายสืนี้จึ่งมีเพื่-
อขุนผู๋น๋นนใส่ไว๋ พ่อขุนรามคํแหงน๋นนหา
เปนท๋าวเปนพรญาแก่ไททงงหลายหาเปน
ครูอาจารยส่งงสอนไททงงหลายให๋รู๋
บุนรู๋ธรมมแท๋แต่คนอนนมีในเมืองไทด๋วย
รู๋ด๋วยหลวก ด๋วยแกล๋วด๋วยหาน ด๋วยแคะ
ด๋วยแรง หาคนจกกเสมอมิได๋ อาจปราบฝูงข๋า-
เสิก มีเมืองกว๋างช๋างหลาย ปราบเบื้องตวนนอ-
อกรอดสรลวง สองแคว ลมบาจาย สคาเท๋าฝ่งงข-
องเถีงวยงจนนวยงคำเปนที่แล๋ว เบื๋องหวว
นอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรณณภู-
มิ ราชบูรี เพช(บู)รี ศรีธรมมราช ฝ่งงทเล
สมุทรเปนที่แล๋ว เบื๋องตวนนตกรอดเมือ-
งฉอด เมือง...น หงศาพดี สมุทรหาเป-
นแดน, เบื๋องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมื-
องม่าน เมือง...เมืองพลววพ้นฝ่งงของ
เมืองชวาเปนที่แล๋ว , ปลูกล๋ยงฝูงลูกบ๋า-
นลูกเมืองน๋นน ชอบด๋วยธรมมทุกคน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:09

 พระดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง ศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ในวาระเสด็จทรงเป็นองค์ประธานการอภิปรายเรื่อง " ศิลาจารึกหลักที่ 1 " ณ ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม กรุงเทพฯ

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่มีผู้สนใจในเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งเรารู้จักในนามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่เรียนประวิติศาสตร์ไทยกันมาในโรงเรียน ทุกคนจะยิ่งคุ้นกับรูปร่างของศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อในปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 700 ปีของลายสือไทย ซึ่งพ่อขุนได้ใส่ไว้ คำว่าใส่นี้ยังไม่กระจ่างนัก ตามที่ ดร.เกดนีย์ ได้กล่าวไว้จะแปลว่าคิดขึ้น หรืออะไรอื่น เช่น ซ่อมแซมก็ได้ ซึ่งเป็นคำแปลที่ว่าซ่อมแซมนั้นเป็นคำแปลในภาษาไทยตระกูลหนึ่ง

ข้าพเจ้าขอเล่า ทำไมข้าพเจ้ามาสนใจเรื่องหลักที่ 1 นี้ขึ้นมา เมื่อสามสี่ปีมาแล้วมีผู้มาพูดให้ฟังว่า เขาพูดกันว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักนี้พ่อขุนรามคำแหงอาจจะไม่เป็นผู้ทำขึ้นมาก็ได้ ข้าพเจ้าก็ต้องภามทันทีอย่างที่ทุกคนคงอยากถาม "ใครเล่าเป็นผู้ทำขึ้นมา" เมื่อได้ยินคำตอบก็ออกจะตกใจและไม่เชื่อ คิดว่าเขาคงจะพูดเล่น ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นเรื่องตลกจนนิดเดียว

เรื่องก็เงียบไปพักหนึ่งจนถึงปี 2530 นานๆ ทีจึงมีผู้ถามว่าได้ยินมั๊ยเรื่องหลักที่ 1 นี้ ในเดือน กรกฎาคม 2530 ดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ จากมหาวิทยาลัย อดิเลด ในออสเตรเลีย ได้เสนอบทความในการประชุมไทยศึกษา ณ กรุง แคนเบอร่า ซึ่งตั้งคำถามว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นของเก่าจริงหรือเป็นของที่สร้างขึ้นมาภายหลัง

ต่อจากนั้นนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ลงบทความเกี่ยวกับการปลอมหลักที่ 1 นี้มาบ่อยๆ นับได้ 5-6 เล่ม พร้อมทั้งฉบับ พิเศษโดยเฉพาะอีกด้วย

ปี 2533 ข้าเจ้าอยู่ต่างประเทศหลายเดือน จึงไม่มีโอกาสไปฟังการปาฐกถาของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ที่แสดงที่สยามสมาคมและที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ได้รับฉบับที่พิมพ์ออกมาภายหลัง เมื่อ ม.จ. สุภัทรดิส ดิศกุล ชักชวนให้ไปฟังการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในเดือนพฤศจิกายน 2531 ข้าเจ้าก็รับด้วยความยินดี ผู้อภิปรายคือ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี โดยมี ม.จ. สุภัทรดิศ เป็นผู้ดำเนินรายการและอภิปรายด้วย การอภิปรายนั้นเป็นการตอบไม่ใช่การโต้ตอบสิ่งที่ ดร.พิริยะ ได้พูดไว้ก่อน เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ข้าพเจ้าทูลถาม ม.จ.สุภัทรดิศ ว่าทำไมจึงไม่เชิญ ดร.พิริยะมาด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลา จะได้ทันใจดีด้วย ไม่ต้องคอยเป็นเดือนๆ กว่าจะตอบกัน ท่านสุภัทรดิศ รับสั่งว่า เชิญเขา เขาก็ไม่มาหรอก ถ้าใตฝ่าพระบาททรงเชิญ เขาอาจจะมาก็ได้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะลองจัดดู ด้วยเหตุว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ที่ได้ยินเรื่องหลักที่ 1 ปลอมหรือไม่ปลอมกันมานานแล้ว มามากแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงจะมีผู้ที่อยากจะทราบว่าเรื่องเป็นอย่างไรถึงแม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาปัญหานี้มาก่อน

ในการอภิปรายครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนให้ผู้อภิปรายพูดกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่พูดดังที่จะพูดระหว่างนักวิชาการกันเอง ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอพูดถึงหลักบางหลักซึ่งผู้อภิปรายคงจะต้องเอ่ยถึง ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเลขที่ของหลักต่างๆ โดยขออนุญาตใช้ข้อความจากหนังสือของ ดร.พิริยะ ไหนๆ มีหนังสือขายอยู่แล้วข้างหน้า ก็ขอโฆษณาให้ด้วย ไม่คิดอะไรด้วย ไม่รับเงิน

นี่คือหนังสือของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งอ่านข้างหน้าลำบากหน่อยเพราะเป็นอักษรพ่อขุนรามคำแหง "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ" ในนี้ก็มีเรื่องที่ ดร.พิริยะ ได้พูดในปฐกถา 2 แห่งและมีเพิ่มเติมอีกมาก โฆษณาอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องโฆษณาอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนังสือเล่มใหม่เพิ่งได้รับ ชื่อว่า "คำอภิปรายศิลาจารึกหลักที่ 1 จริงหรือปลอม" โดยสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดทำ หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าถึงการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงเมื่อสักครู่

ดร.พิริยะ ได้เขียนว่า ส่วนมากศาสตราจารย์เซเดส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่มาเป็นผู้ดูแลหอพระสมุดวชิรญาณอยู่พักหนึ่ง จะเป็นผู้ชำระและแปลจากจารึกสุโขทัย โดยรวบรวมตีพิมพ์ขึ้นในหนังสือประชุมจารึกสยามภาคที่1 จารึกสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2467

นี่เป็นคำพูดของ ดร.พิริยะ ศาสตราจารย์เซเดสเข้าใจว่าน่าจะได้พบสิ้นเชิงแล้ว จึงเห็สมควรพิมพ์พรวมเล่มได้ จารึกในเล่มนี้มี 15 หลัก ซึ่งศาสตราจารย์เซเดสได้ให้หมายเลขไว้ตามอายุเวลาที่ปรากฏในจารึก หรือตามคาดคะเนของท่าน ดังนั้น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจึงเป็นหลักที่ 1 เพราะเป็นจารึกภาษาไทยหลักแรก

ในปี 2472 ศาสตราจารย์เซเดสได้ตีพิมพ์ประชุมศิลาจารึกสยามภาคที่ 2 จากกรุงทวารวดีเมืองละโว้ และเมืองประเทศราชขึ้นแก่เมืองศรีวิชัย จารึกเหล่านี้เก่าแก่กว่าจารึกสุโขทัย แต่ก็มีหมายเลขเรียงต่อไปคือ 16-29 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตีพิมพ์หนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 ในปี 2508 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ศิลาจารึกตั้งแต่หลักที่ 30 ถึงหลักที่ 84 การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทำให้หมายเลขที่ของศิลาจารึกคละเคล้ากันไปทั่วทุกภาค และเรียงอายุเวลาของศิลาจารึกก็ยิ่งสับสนมากขึ้น ต่อมาก็ได้มีอีกหลายเล่มจนถึงเล่มเท่าที่ข้าพเจ้าได้หาพบ เล่มที่ 6 ภาค 2 ซึ่งไปถึงหลักที่ 284

อยากจะพูดถึงหลักสำคัญซึ่งข้าพเจ้าได้ถามผู้อภิปรายแล้วว่าน่าจะพูดถึงหลักไหนบ้าง เพราะผู้อภิปรายนี่คงจะพูดถึงหลักที่ 4 หลักที่ 3 อะไรเช่นนี้ แล้วเราก็ต้องทราบเองว่าหลักที่ 4 ที 5 นี่คืออะไร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะพูดถึงหลักพวกนี้ ถ้าใครมีดินสอก็จดไว้นิดหน่อย ถ้าท่านเป็นนักวิชาการในเรื่องนี้ก็คงทราบดีอยู่แล้ว

หลักที่ 1 ก็คือศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหง ได้กล่าวกันมาว่ารัชกาลที่ 4 ทรงนำมาพร้อมกับหลักที่ 4 และมนังคศิลาบาตร คือพระแท่นศิลานั้นมาพร้อมกัน และเข้าใจว่าสลักขึ้นในปี พ.ศ. 1835 ที่ให้ปีนี้ก็เพราะว่าเป็นปีที่สกัดกระดานมนังคศิลาแท่นนั้นในปีนั้น ก็เลยเหมาเอาว่าเป็นปีเดียวกัน

มีผู้แสดงความสงสัยถึงเวลาที่ได้สกัดได้จารึกหลักนี้ขึ้นมานานแล้ว เช่นอาจารย์แสง มนวิทูร ข้าพเจ้าได้พบศิษย์ 2 คนเร็วๆ นี้ของอาจารย์แสงก็ได้ถามเรื่องนี้ว่า เคยพูดอะไรมาบ้าง ทั้งสองคนก็พูดอ้อมแอ้ม ในที่สุดก็ไม่ได้อะไร ก้ไม่ได้ยินอะไรมา แต่าบางท่านก็คงได้ยินมาบ้างว่าอาจารย์แสงได้พูดว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 นี่ไม่ใช่พ่อขุนรามกำแหงหรอก เป็นของรัชกาลที่ 4 นอกจากนั้นก็ยังมีคุณปรีดา ศรีชลาลัย ได้เขียนบทความเร่องเวลาที่เข้าคิดว่าได้จารึกขึ้นมา และมี ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ซึ่งได้รับสั่งมานานแล้ว่า ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง แต่มาเมื่อมีดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ อีก การพบของรัชกาลที่ 4 นั้นเป็นเมื่อ พ.ศ.2376 เวลานี้หลักนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถ้าได้มาฟังการอภิปรายนี้แล้ว อยากจะไปดูหลักจริงก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ตอนที่ 1 ของหลักนี้มี 17 บรรทัดซึ่งเป็นประวัติของพ่อขุนรามกำแหง ในสรรพนามว่า "กู" เล่าถึงเรื่องครอบครัวของท่านจนถึงท่านได้ครองราชย์

ตอนที่ 2 นั้นก็ยังอยู่ในด้านที่ 1 ศิลาจารึกมี 4 ด้าน ได้สลักอยู่ใน 4 ด้าน ด้านที่ 1 นั้นตั้งแต่บรรทัดที่ 18 ถึงด้านที่ 4 เลยด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 พ่อขุนรามกำแหงได้ใช้สรรพนามว่า "พ่อขุนรามกำแหง" แทนคำว่า "กู" ได้พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย การปกครอง การศาสนา การสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตร การสร้างวัด การสร้างอักษรไทย ใน พ.ศ.1826 การสร้างหรือไม่สร้างได้กล่าวเมื่อสักครู่

ตอนที่ 3 นั้นอยู่ในด้านที่ 4 ตั้งแต่บรรทัดที่ 12 จนจบเป็ฯการสรรเสริญพ่อขุนรามกำแหงและพูดถึงอาณาเขตสุโขทัย

ผ่านไปถึงหลักที่ 2 หลักที่ 2 นี่ก็มีความสำคัญเหมือนกัน เรียกว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม วัดศรีชุมเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองของสุโขทัย กล่าวว่าหลวงต่อไปเป็นพระยาสโมสรฯ พบที่อุโมงค์ของวัดศรีชุมเมื่อปี พ.ศ. 2430 เข้าใจว่าผู้สักให้จารึกคือ สมเด็จพระมหาศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นโอรสของพระยากำแหงพระราม ซึ่งเป็นพระนัดดาของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมือง ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปคือใคร ในรัชสมัยของพระเจ้าเลอไทก่อน พ.ศ. 1890

ตอนที่ 2 และที่ 3 ของจารึกนี้จะเล่าถึงประวัติผู้ครองสุโขทัยเบื้องต้น องค์แรกที่ทราบนามกัน คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ขอมได้เข้ามาครองเมืองสุโขทัยลูกชายของท่านชื่อพ่อขุนผาเมืองท่านเป็นเจ้าเมืองราด… ท่านได้ชักชวนสหายของท่านคือ พ่อขุนบางกลางหาวมาช่วย เมื่อได้เมืองคืนแล้ว ขุนผาเมืองกลับยกเมืองสุโขทัยให้เพื่อน พ่อขุนบางกลางหาวนี่เอง พร้อมทั้งมอบพระขรรค์ชัยศรี และนามของท่านคือ ศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเคยได้รับมอบจากกษัตริย์เขมร โดยที่เพราะท่านเป็นลูกเขยของกษัตริย์เขมร การที่ได้มอบเมืองสุโขทัยให้เพื่อนนี่ก็สันนิษฐานกันได้หลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่อยากจะเล่าถึงเรื่องนี้ จะยาวไป และเมื่อยกเมืองให้เพื่อนแล้วท่านก็กลับไปครองเมืองราดของท่านอย่างเดิม พระเจ้าศรีอินทราทิตย์นี่ก็คือพ่อของพ่อขุนรามกำแหงนี่เอง ต้องเล่านิดหนึ่งว่าลูกหลานของพ่อขุนรามกำแหงคือใครบ้าง เพราะอาจจะต้องเอยชื่อในเวลาอภิปราย ขอใช้คำธรรมดาสามัญเพราะจะเข้าใจได้ง่ายกว่า ลูกของพ่อขุนรามกำแหงคือพระเจ้าเลอไท ต่อมามีลูกของพระเจ้าเลอไทคือพระเจ้าลิไท ได้เป็นกษัตริย์ของสุโขทัยต่อไป ท่านได้ใช้นามว่า "มหาธรรมราชาที่ 1 "

ในศิลาจารึกหลักที่ 2 นี่ นอกจากจะได้เล่าพระราชประวัตินี้มาต่อไป ได้มีการสรรเสริญพระมหาศรีศรัทธา พระมหาศรีศรัทธาที่ได้กล่าวชื่อนี้ไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นเจ้านายที่เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง และท่านได้ผนวชอยู่ที่สุโขทัยและท่านได้เสด็จไปที่เมืองลังกา ที่เมืองลังกาก็ได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็มีการสรรเสริญท่าน และได้เล่าถึงอิทธิปาฏิหารย์ในการเสี่ยงบารมีของพระมหาเถรศรีศรัทธานี้ และได้เล่าถึงประวัติเดิมของท่านอีก ได้เล่าถึงตอนที่ท่านยังเป็นฆารวาสอยู่ ได้ได้มีการชนช้างและได้เล่าประวัติท่านต่อๆ แล้วได้เล่าการสร้างวัดของท่านและการปาฏิหารย์ต่าง ๆ หลักนี้อยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเช่นกัน

หลักที่ 3 เรียกว่าศิลาจารึกนครชุม ไม่ทราบแน่ว่ามาจากไหนทำขึ้นใน พ.ศ.1900 ผู้ที่สร้างขึ้นคือพระมหาธรรมราชาลิไท ตอนที่ 1 ได้เล่าถึงการประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุของพระเจ้าลิไท และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา และท่านก็ได้ชักชวนต่อไปให้ได้ทำบุญกัน ตอนท้ายก็มีการสรรเสริญพระเจ้าลิไท หลักนี้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำมาในปี พ.ศ.2376 อันนี้ที่กล่าวกันอย่างชัดเจนพร้อมกับมนังคศิลาบาตร ได้ทำขึ้นในปี 1904 เป็นการเล่าถึงพระเจ้าลิไทเสด็จจากศรีสัชนาลัยไปสุโขทัยในปี พ.ศ.1890 มีการสรรเสริญพระปรีชาสามารถและเล่าถึงการอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชลังกาให้ไปพักที่วัดป่ามะม่วง และเล่าถึงการผนวชของพระเจ้าลิไท แล้วก็มีการชักชวนให้ทำบุญเช่นกัน หลักนี้อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 5 คือ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาไทย เราก็เห็นว่าเป็นคู่กัน คือหลักที่ 4 และหลักที่ 5 หลักหนึ่งเป็นภาษาขอมอีกหลักหนึ่งเป็นภาษาไทย จารึกปีเดียวกันคือปี พ.ศ. 1904 พบที่อยุธยาในปี พ.ศ.2450 ข้อความเหมือนกับหลักภาษาขอม แต่ไม่ได้เล่าถึงการไปตีเมืองสุโขทัยที่เล่ามาเมื่อสักครู่ว่าพระเจ้าลิไทเสด็จจากเมืองศรีสัชนาลัยไปตีสุโขทัยกลับมาแล้วก็ไม่ได้พูดถึงการประดิษฐานเทวรูป แต่มีกล่าวเพิ่มเติม คือกล่าวถึงพระยารามราชปลูกต้นมะม่วง

หลักที่ 8 คือหลักสุดท้ายที่ผู้อภิปรายบอกให้ข้าพเจ้าพูดถึง ก็คือ ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ไม่ทราบแน่ว่าพบที่ไหนสันนิษฐานการจารึกว่าอยู่ที่เขาสุมนกูฏ คือเขาพระพุทธบาทใหญ่ รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาในปี พ.ศ. 2451 พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระเจ้าลิไทเป็นผู้จารึก พระเจ้าลิไทประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้เมื่อ พ.ศ. 1902 ที่พูดอยู่ในจารึกนั้น มีการเล่าถึงแห่รอยพระพุทธบาทขึ้นเขานี้ และได้เล่าถึงพระเจ้าลิไทไปปราบหัวเมืองและไปประทับที่เมืองสองแคว เป็นระยะเวลา 7 ปี และทรงนำชาวเมืองต่าง ๆ มาสักการะรอยพระพุทธบาทที่ขานี้ นี่ก็เป็นหลักต่างๆ ผู้อภิปรายจะได้กล่าวถึง

ในเรื่องเก่าๆ หรือเรื่องใหม่ๆ ของไทยนั้น จะสังเกตได้ว่าชาวต่างประเทศมีความสนใจมาก และเริ่มศึกษาอย่างมีระบบก่อนเรา ข้าพเจ้าได้เคยพูดถึงเรื่องความสนใจของฝรั่งมาแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ก็จะไม่พูดซ้ำ ถึงอย่างไรก็ดี เราก็เห็นได้ว่า สยามสมาคมได้ก่อตั้งขึ้นมาโดยไทย และฝรั่งร่วมกันนานมาก่อนสมาคมต่างๆ ของเรา เช่น สมาคมประวัติศาสตร์ สมาคมโบราณคดี และอื่นๆ เนื่องจากมีสมาชิกชาวต่างประเทศมากซึ่งไม่ทราบภาษาไทย สยามสมาคมมีประเพณีที่จะใช้ภาษาอังกฤษส่วนมาก ในการแสดงปาฐกถาที่มีเป็นประจำ สมาคมนี้ก็อยู่มาได้ตลอดจนถึงทุกวันนี้เพราะระดับสูงและการเป็นวิชาการของศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สมาคมฯนำมาแสดงแต่ก็เป็นการปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ทราบภาษาอังกฤษเหมือนกัน ในวันนี้ข้าพเจ้าได้ขอให้สยามสมาคมจัดการอภิปรายขึ้นเป็นภาษาไทย เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสามารถมาฟังได้โดยไม่มีภาษาเป็นอุปสรรค การศึกษาประวิติศาสตร์หรือโบราณคดีนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลกระทบกะเทือนใด ๆ

การสร้างประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลจะสามารถเขียนประวัติศาสตร์ไปตามที่ต้องการ โดยที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ค้าน เพราะความกลัวหรือการไม่อยากออกตัว อยากอยู่สบาย ๆ จริงอยู่ผู้ค้านก็จะมีอยู่บ้าง แต่จะเป็นกลุ่มส่วนน้อยและถ้ามีโอกาส

การศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ไม่ได้มีการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พูดกับชาวต่างประเทศคนหนึ่ง เขาได้กล่าวว่าไม่สนใจเลยในความหมายที่มีอยู่ สนใจแต่ทางด้านวิชาการ สำหรับคนไทยนั้น หลักที่ 1 มีความหมายลึกซึ้งทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญาและจริยธรรม ดังนั้นจึงมีผู้สนใจมาก

มีผู้มาถามว่าไม่กลัวหรือถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะคิดว่าถ้ามีคนที่สงสัยอะไรก็น่าที่จะให้โอกาสเขาอธิบายความเห็นของเขาด้วยเหตุผล ของเขา ซึ่งเราก็สามารถมาพิจารณาได้ภายหลัง

ถึงอย่างไรก็ดี เราไม่ควรยึดถืออะไรนัก ทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่เที่ยง ถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม อะไรก็จะมาลบการที่เรามีภาษาของเรา ซึ่งมีตัวเขียนองเราที่ใครสร้างขึ้นก็ตาม มีสถาปัตยกรรมของเราและอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นของเราไม่ได้

(จาก ศิลปวัฒนธรรม)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:14

 รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุม ในการอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ 1" เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ณ ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ในช่วงของการอภิปรายนี้ ผมจะเสนอหลักฐานเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า จารึกหลักที่ 1 เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลักฐานที่สำคัญได้แก่หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในปีพุทธศักราช 2411 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สวรรคต

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯทรงเป็นลูกศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกฎตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุฯด้วย และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์ฯ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์ฯ องค์ต่อไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ มีพระชันษายาวนาน สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.2433

หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์นั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อแรกผนวชจนถึงสวรรคต และเน้นเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติโดยเฉพาะปาฏิหารย์ ซึ่งเป็นการแสดงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่สำคัญได้แก่ปาฏิหารย์เมื่อพระองค์เสด็จประภาสสุโขทัยในปี พ.ศ. 2376 เมื่อเสด็จถึงสุโขทัยนั้น ทรงพบแท่นศิลาที่ชาวเมืองนับถือว่าเป็นของขลังไม่มีใครเข้าไปใกล้ แต่พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนแท่นศิลานั้น รับสั่งว่า "อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกันจะได้ฟังเทศน์จำศีล" และไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจึงโปรดเกล้าฯให้ชะลอมาก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดสมอราย

ผมสันนิษฐานว่า แท่นศิลานี้น่าจะได้แก่แท่นที่วางดอกไม้สำหรับสักการะพระเจดีย์ที่วัดวิหารของสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันนี้แท่นศิลาด้านทิศใต้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ส่วนด้านทิศตะวันออกยังคงอยู่ ณ ที่เดิม พร้อมพระแท่นนั้นพระองค์ยังทรงเอาเสาศิลาจารึกหลักที่ 4 ภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทลงมาด้วย แต่สมเด็จพระยาปวเรศฯ มิได้รับสั่งว่า ทรงนำเอาศิลาจารึกหลักที่ 1 มาด้วยในคราวนั้น

สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงสันนิษฐานว่า ดูเหมือนเทพเจ้าเมืองสุโขทัยจะมาทูลเจ้าฟ้ามงกุฎว่า ในภายหน้าพระองค์จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระบารมีเท่าเทียมกับพระมหาธรรมราชาลิไทยที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักนั้น นอกจากนั้นสมเด็จกระพรยาปวเรศฯ ทรงพิเคราห์ว่าการที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างศิลาจารึกไว้ เป็นการบันทึกปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมี นอกจากนั้นแล้วสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังได้ตีพิมพ์คำแปลศิลาจารึกภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทที่พระองค์ทรงแปลไว้เป็นภาคผนวกอีกด้วยเพื่อที่ท่านผู้อ่านได้เปรียบเทียบกับพระบารมีของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระมหาธรรมราชาลิไท

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังทรงตรัสไว้ว่า เรื่องในหนังสือในเสาศิลานั้น ถูกต้องกับรัชกาลที่เป็นไปนี้โดยมาก ดังอาจจะกล่าวไว้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

"พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท แต่เพราะเหตุผลบางประการจึงไม่สามารถจะสืบราชสมบัติได้ทันที แต่ต้องรอคอยไปเสียก่อนทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างลึกซึ้ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาดาราศาสตร์ และสามารถที่จะเพิ่มหรือลบศักราชได้ ทั้งสองพระองค์ทรงสถาปนานิกายใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระภิกษุต่างชาติ ทั้งสองพระองค์ทรงผนวชและลาสิกขาบทเพื่อขึ้นครองราชย์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และทรงสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งสองพระองค์ยังได้แสดงความอัศจรรย์อันเป็นผลแห่งพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นแผ่นดินไหวเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงอุปสมบท และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ ก็ได้เกิดปาฏิหารย์ซึ่งมีผู้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสองดวงเป็นต้น"

ในตอนท้ายเรื่องอภินิหารการประจักษ์ สมเด็จพระปวเรศฯ ทรงกล่าวเพิ่มเติมถึงศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งไม่ได้ทรงกล่าวถึงเลยในตอนต้นว่า "เรื่องราวของพระแท่นมนังคศิลาบาตร อยู่ในเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น" ซึ่งเป็นการพิมพ์เนื้อหาของจารึกหลักที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะคงมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงนำมาตีพิมพ์ไว้ที่นี้

เป็นที่หน้าสังเกตว่า เนื้อหาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงแปลนั้น จะยกเอามาแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่มีศักราชโดยเริ่มขึ้นที่มามหาศักราช 1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกไม้ตาลนี้ 14 ปีเข้า จึงให้ช่างถากขดานหินกลางไม้ตาลนี้ และในวันอุโบสถก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมแก่เหล่าอุบาสก หามิใช่วันอุโบสถพระองค์เองก็เสด็จขึ้นประทับออกว่าราชการ

ข้อความที่ว่า "พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมบนแท่นหินนี้" รับกับพระราชดำริของเจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อเสด็จสุโขทัยที่ตรัสกับแท่นศิลาว่า "ให้ไปบางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์ถือศีล" น่าจะสันนิษฐานได้อีกว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าหากเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติขึ้นเมื่อใดก็คงใช้แท่นศิลานี้เป็นบัลลังค์ แต่ก็มิได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น

ระยะที่พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกต้นตาล และถากขดานหิน สอดคล้องกับ 14 ปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้กับพระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือราชบัลลังก์

สมเด็จพระปวเรศฯยังทรงประทานข้อเฉลยไว้ท้ายเล่มว่า "ถ้าจะใคร่ทราบกลศักราชทั้งปวง ต้นศักราชปีมะเส็งมากกว่ามหาศักราช 621" ดังนั้น หากเราจะเปลี่ยนมหาศักราช 1214 อันเป็นปี่ที่พ่อขุนรามคำแหงปลูกต้นตาลมาเป็นพุทธศักราชโดยการเอา 621 มากบวกก็จะได้เป็นปีพุทธศักราช 1835 ซึ่งถ้าเราอ่านศักราช 1835 เป็นคริสต์ศักราช ก็จะได้ปี ค.ศ. 1835 คือสองปีก่อนที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ และสิบสี่ปีต่อมาก็เท่ากับปีพุทธศักราช 1849 ถ้าอ่านเป็นปี ค.ศ. 1849 อันได้แก่สองปีก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ปีต่อมาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯตรัสถึงได้แก่ปีศักราช 1209 ปีกุน ซึ่งเราทราบดีแล้วในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่ากล่าวถึงศักราช 1207 ปีกุน เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดนี้เป็นเจตนาที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของเวลาสองปี ดังนั้น ถ้าเอาสองปีมาเพิ่มเข้าไปก็จะได้ปีคริสต์ศักราช 1837 และ คริสต์ศักราช 1837 ก็คือปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ และปีคริศต์ศักราช 1851 ก็คือปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ซึ่งเป็นปีกุน

เหตุการณ์ต่อมาที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือ ปีศักราช 1209 ที่พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุออกไปให้คนทั้งหลายเห็น แล้วเอาลงไปฝังไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย ปีนี้สามารถปรับเป็นปีคริสต์ศักราช 1830 ตามที่เสนอไปแล้ว ซึ่งตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎโปรดเกล้าฯให้ขุดศิลานิมิตวัดสมอรายขึ้นมาดูแล้วทรงให้ผูกนิมิตใหม่พร้อมกับให้พระภิกษุที่วัดสมอรายอุปสมบทขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมยุตนิกายให้ถูกต้อง

ส่วนศักราช 1205 เมื่อพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ลายสือไทยนั้น ตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีพระราชศรัทธาที่จะนำเอาพระวินัยมอญมาเป็นข้อปฏิบัติในธรรมยุตนิกาย และอาจจะทรงริเริมประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อเขียนภาษาบาลีก็เป็นได้

การเฉลยการเปลี่ยนศักราชต่าง ๆ สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงต้องการที่จะให้บุคคลในกาลข้างหน้ารับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลเลขในการลบบวกศักราชต่าง ๆ ที่จะให้เห็นว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับนิพนธ์หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังที่สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงเขียนไว้เป็นอวสานพจน์ของหนังสืออภินิหารการประจักษ์

ศักราชคิดดั่งนี้  ชอบขยัน

มืดลับชนสามัญ  ห่อนเจ้า

ไทยถือว่าสำคัญ  กลเลข

แยบยลคนกล่าวแกล้ง  กล่าวว่า คนไกล

ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเสนอต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อันได้แก่สิบสี่ปีหลังจากที่เสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ

นอกจากนั้นแล้ว ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังส่อให้เห็นอีกด้วยว่าเหตุใดพระองค์ถึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกหลักนี้ขึ้นมา

มูลเหตุอันเป็นแรงบันดาลพระทัยคงจะได้แก่พระองค์ตั้งพระทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้ ในรูปแบบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดยใช้พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ดาราศาสตร์ และการคำนาณในการสร้างภาพพจน์ที่ใกล้เคียงกับอดีตเท่าที่จะทรงทำได้

ประว้ติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ยังเป็นกุศโลบายที่พระองค์จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีที่มีมาแต่เดิมไปสู่โลกทัศน์ใหม่ ซึ่งรับกับอารยธรรมตะวันตก จารึกหลักที่ 1 จึงเป็นการสร้างภูมิหลังเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความเปลี่ยนแปลงที่ พระองค์ทรงกระทำเพราะความเปลี่ยนแปลงบางประการเช่น การที่พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ และอาจจะมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนระบบวิธีเขียนภาษาไทยให้อยู่ในบรรทัดเดียวกันเพื่อสามารถที่จะใช้กับเครื่องพิมพ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น บางประการ เช่นการเปิดการค้าเสรี การขัดผลประโยชน์ของเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่แต่เดิมใช้ระบบการค้าแบบผูกขาด การเปลี่ยนแปลงที่พระองค์จะทรงริเริ่มขึ้นนั้นมิได้เป็นการกะทำผิดจากโบราณราชประเพณี แต่กลับเป็นการรักษาโบราณราชประเพณี ที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขเช่น การที่พระองค์จะลดค่าระวางปากเรือ จังกอบ ให้เหลือว่าละ 1000 บาท จากวาละ 1700 บาท ตามที่อังกฤษขอมาในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงมีมาแต่เมื่อโบราณว่า " เจ้าเมืองบ่อเอาจังกอบในไพร่" หรือเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ไพร่ที่ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้มาถวายฎีกาแก่พระองค์โดยตีกลองวินิจฉัยเภรี ก็มีมาแล้วในการที่ไพร่ฟ้าหน้าใสไปสั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ต้องการที่จะปรับปรุงพระราชพิธีสำหรับบ้านเมือง เช่นให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระองค์เองก็เสวยน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นด้วย ก็แสดงให้เห็นในข้อความที่ "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนถือบ้านถือเมือง"

นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้ความสำคัญแก่เทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมือง เช่น การนับถือพระขพุงที่สุโขทัย และพระสยามเทวาธิราช ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษากรุงสยามในลักษณะเดียวกัน และเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมี ก็มีมาแล้วในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ชาวเมืองสุโขทัยมาดูพ่อขุนรามคำแหงท่านเผ่าเทียนเล่นไฟ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลาจารึกหลักนี้ จึงเปรียบเสมือน รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะทรงใช้เป็นแนวทางการบริหารแผ่นดิน เพื่อให้บ้านเมืองเจริณตามอารยธรรมตะวันตกเพื่อให้เป็นที่นับถือของฝรั่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงใช้ประปรีชาสามารถในทางปัญญาที่ได้นำกรุงสยามให้พ้นจากภัยพิบัติได้

ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงตรัสว่า "แต่น่าอนาถใจจริงๆ ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีน้อยตัวลงทุกที"

ข้าพระพุทธเจ้า ขอสดุดี พระมหาราชา ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:17

 ความคิดเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ จาก sarakadee.com

"เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก"

"จารึกหลักที่ ๑ เอาสระและพยัญชนะมาไว้ในบรรทัดเดียวกัน ขณะที่จารึกหลักอื่น ๆ วางสระและวรรณยุกต์บนล่าง เป็นลักษณะของการเรียงพิมพ์ ซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่ง แสดงว่าการเขียนจารึกนี้ทำขึ้นมาหลังจากคบกับฝรั่งแล้ว ในประวัติศาสตร์ไทย มีกษัตริย์เพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน คือ พ่อขุนรามคำแหงและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ เพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรฯ แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว

"จารึกหลักที่ ๑ มีขนาดเล็กผิดปรกติ แตกต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกัน คือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนี้ศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และหลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน

"คำว่า รามคำแหง ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย มีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ขณะที่หลักอื่นๆ เรียกว่า พระญารามราช พระร่วง แต่ในหลักอื่น ๆ กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วง โปรดสังเกตว่า รามคำแหง ใกล้กันมากกับชื่อ พระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑

"ประเด็นตรีบูร (กำแพงสามชั้น) สามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร ที่ระบุในจารึกซึ่งหยิบมาโต้แย้งกันว่ากรุงสุโขทัยไม่มีกำแพงลักษณะที่ว่านี้ แต่จากที่กรมศิลปากรขุดค้นกำแพงเมืองสุโขทัยแล้ว วัดกำแพงได้ความยาวกำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร และเสนอว่ากำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้นที่กล่าวในจารึกว่า ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา ซึ่งเท่ากับกำแพงเมืองชั้นนอก (๖,๘๐๐ เมตร) จึงเป็นไปไม่ได้

"พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น

"ชื่อช้างของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงที่ชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังดูเป็นสุโขทัยมากกว่า

"คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ตระพังโพยสี (การขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ ) ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่งมั่นใจว่าเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังรัชกาลที่ ๑

"การเขียน มะม่วง ให้เป็น หมากม่วง เป็นความจงใจเพื่อให้ดูเก่า ความจริงแล้วในสมัยสุโขทัยเขียนว่า ไม้ม่วง แต่คำว่า หมากม่วง นี้ กลับปรากฏในเรื่องนางนพมาศ ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็น่าสงสัยว่าจะเป็นการเขียนจารึกขึ้นมาภายหลัง

"พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้เป็นแบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ ในสมัยอยุธยาก็ไม่มี มีแต่ใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อน นอกจากนางนพมาศที่รู้กันว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓

"เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก สมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีดั้งเดิมให้ทันสมัยไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชกาลที่ ๔ จึงทรงทำจารึกหลักที่ ๑ เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้สอดรับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริงที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อพ่อขุนรามฯ ยังไม่เก็บภาษีเลย หรือรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังเรื่องราวทุกข์ร้อนของประชาชน โดยการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนฯ และสมัยรัชกาลที่ ๔"

(เรียบเรียงจาก ภูวดล สุวรรณดี "พิริยะ ไกรฤกษ์ จับพิรุธศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:18

 ความคิดเห็นของ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ จาก sarakadee.com


"ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่ได้ทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"

"เรื่องภาษาและอักษรเป็นเรื่องของการวิวัฒนาการ ไม่มีต้นไม่มีปลาย การบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งคิดขึ้นมานั้นไม่ถูกต้อง แต่อาจจะเป็นลักษณะตำนานเพื่อจะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รู้ในสมัยนั้นว่าจะอธิบายและแต่งตำนานอย่างไร จารึกหลักนี้มีพิรุธในตัวเอง คือ ๑๗ บรรทัดแรกจารึกไว้ว่า ก*ชื่อนั้น พ่อกูชื่อนี้ จึงทำให้สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นคนจารึก แต่พอบรรทัดที่ ๑๘ จารึกว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี" คำว่า "เมื่อชั่ว" หมายถึง พ่อตายแล้ว แสดงว่าเขียนหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน ก็ชัดเจนว่าบรรทัดที่ ๑๘ เป็นต้นไปไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่เชื่อว่า ๑๗ บรรทัดแรกเป็นของสมัยพ่อขุนรามคำแหง แม้จะจารึกว่ากูอย่างนั้น ก*อย่างนี้ การใช้สรรพนามอื่นเพื่อเล่าเรื่องเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลรูปแบบหนึ่ง หมายความว่า "กู" อาจไม่ได้เป็นพ่อขุนรามที่จารึกก็ได้

"ประการที่ ๒ เป็นไปไม่ได้ว่าในสมัยสุโขทัยมีการใช้สระผสมแล้ว สระ เ-ือ เป็นสระผสม ประกอบด้วย เ- -ื -อ คำว่า เดือน เรือน เมือง ทองเหลือง ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ จึงไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนในสมัยนั้น เพราะในสมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐) คนไทยยังไม่รู้จักเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสม แต่ใช้สระ เ- สระ -ิ สระ -อ มาผสมแทน เช่น เมือง ก็จะเขียน เ-ม -ี -ง หรือบางทีก็ใช้ เ-ม -ี -อ-ง แม้ว่าจารึกบางหลัก มีการใช้รูปสระ -ื แล้วก็ตาม เช่น คำว่าชื่อ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ ชิ หรือ ชี เมื่อไล่ดูจารึกทั้งหมด จะพบว่าแม้แต่รูปสระ -ื ก็โผล่มาให้เห็นช่วงหลัง ๆ ไม่กี่ตัว เท่าที่ผมค้นดูมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้นที่เอารูปสระ -ื มาเป็นสระผสม อยู่ในประมาณ พ.ศ. ๑๙๕๐ จน พ.ศ. ๒๐๐๐ กว่าแล้วยังไม่ปรากฏว่าเอามาใช้เลย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะปริวรรตตัวอักษรโบราณถูกหรือไม่) แสดงว่ากว่าจะวิวัฒนาการเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสมก็หลังจากนั้นอีกมาก

"หากคนไทยรู้จักใช้สระ เ-ือ ที่มีสระ -ื ผสมตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ทำไมจารึกหลักอื่นๆ จนถึงปลายอยุธยาจึงไม่เอารูปสระ เ-ือ มาใช้ ต้นฉบับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์จนปลายสมัยอยุธยาก็ยังไม่ใช้ ก็แสดงว่ายังคิดไม่ออก วิวัฒนาการทางภาษายังไปไม่ถึงก็เลยใช้สระอื่นๆ แทนไปก่อน จนจวนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์แล้วยังไม่มีการใช้สระ เ-ือ อย่างเป็นมาตรฐาน จนใกล้สมัยรัชกาลที่ ๔ เข้าไปทุกที จึงปรากฏการใช้สระ เ-ือ อย่างมีแบบแผนเป็นมาตรฐาน แต่สระ เ-ือ กลับปรากฏอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จารึกหลักที่ ๑ จะทำขึ้นมาในสมัยรามคำแหง

"ผมยังไม่แน่ใจว่าทำในสมัยไหน แต่ไม่ใช่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่เชื่อว่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย เพราะท่านได้จารึกถึงสิ่งที่คนในสมัยนั้นยังไม่ทราบ (เรามารู้จักหรือเห็นภาพสุโขทัยจากหลักฐานและข้อค้นพบภายหลัง) จนสามารถสร้างภาพให้แก่เมืองสุโขทัยได้อย่างถูกต้อง ท่านรู้ได้อย่างไร เช่น ในจารึกบอกว่ามีลานเหมือนสนามหลวง อาจจะใช้สำหรับประกอบพิธีหรือกิจอื่น ๆ อยู่ระหว่างประตูเมืองกับศูนย์กลางของเมือง แต่ลานนี้เลิกใช้ไปหลังจากนั้น ๑๐๐ ปีและสร้างวัดคร่อมแทน กว่าท่านจะเสด็จไปที่กรุงสุโขทัยก็ไม่หลงเหลือร่องรอยอะไรที่บ่งบอกว่าตรงนั้นเคยเป็นลานที่ว่ามาก่อน และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราเพิ่งมาค้นพบภายหลังด้วยหลักฐานและข้อมูลใหม่ ๆ หากรัชกาลที่ ๔ ทรงทำหลักศิลาจารึกหลักนี้ขึ้นมาจริง ก็น่าสงสัยว่าท่านทราบเรื่องเหล่านี้มาก่อนได้อย่างไร อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ทักท้วงว่าท่านศึกษามาก รู้มาก อาจจะรู้มาก่อนแล้วก็เป็นได้

"อย่าลืมว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรทุกชนิด "คน" เป็นคนประดิษฐ์ขึ้นมา คนที่ไม่เคยสมบูรณ์แบบ เมื่อเขียนสิ่งใดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเขียนบนหิน แผ่นทอง บนกระดาษ หรือผนังส้วม เขาย่อมมีความต้องการ มีวัตถุประสงค์อะไรสักอย่าง เมื่อจะเอามาใช้ต้องพิจารณา มีการวิพากษ์ก่อนที่จะดึงมาใช้ และสำนึกอยู่เสมอว่าใช้ในบริบทอะไร หากยังไม่แน่ใจก็ไม่ควรฟันธงว่าเป็นของสมัยไหน หากไม่ใช่อันหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอีกอันหนึ่ง ในกรณีนี้ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และผมก็ไม่คิดว่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:19

 ความคิดเห็นของ ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร

"ทางวิทยาศาสตร์เขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด พบว่าทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ"

"การเอาสระพยัญชนะมาไว้บรรทัดเดียวกัน ไม่ได้เป็นอิทธิพลของฝรั่ง แต่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ไมเคิล วิกเคอรี ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่า เป็นการเขียนโดยได้รับอิทธิพลของฝรั่ง หมายความว่าต้องคบฝรั่งแล้ว ตอนหลังก็ออกมายอมรับว่า ที่อินเดียก็มีการเอาสระพยัญชนะไว้บรรทัดเดียวกันเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีสระลอย อย่างคำว่า อีก สระ -ี ก็อยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะในจารึกสมัยพระยาลิไท และยังมีในจารึกหลักอื่นอีก เช่น จารึกวัดพระยืน เชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๙๑๓) ก็วางสระ -ื ไว้ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ พ่อขุนรามคำแหงสามารถเอาตัวเชิงพยัญชนะขึ้นมาอยู่ในบรรทัดเดียวกับพยัญชนะตัวธรรมดาได้โดยไม่ต้องคบฝรั่ง ทำไมจะต้องรอจนคบกับฝรั่งจึงจะนำสระวางไว้บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเล่า

"จารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้เล็กว่าหลักอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน หลักที่ ๑ สูง ๑๑๑ เซนติเมตร หลักที่ ๔ สมัยพระยาลิไทสูง ๒๐๐ เซนติเมตร แต่หากมาดูเรื่องความกว้าง จะเห็นว่าจารึกหลักที่ ๑ กว้างกว่า คือ กว้างด้านละ ๓๕ เซนติเมตร หลักที่ ๔ กว้างแค่ ๓๐ เซนติเมตร ดังนั้นจะบอกว่าจารึกหลักที่ ๑ เล็กกว่าหลักอื่นๆ จึงไม่ถูกต้องนัก จารึกในสมัยเดียวกันที่เล็กกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็มี เช่น สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกไว้ในประเทศลาว เป็นต้น จะไปอ้างเรื่องขนาดจารึกว่าเล็กไปใหญ่ไปคงไม่ได้ เพราะขนาดของจารึกในแต่ละยุค แต่ละแห่ง ก็ทำขึ้นมาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเขียน

"ชื่อของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ก็สงสัยกันมานานแล้วว่าพระองค์ท่านชื่ออะไร ความจริง สุโขทัยใช้ชื่อพญารามกับพญาบาลคู่กันมาหลายคู่ สุโขทัยมีธรรมเนียมเอาชื่อของปู่มาเป็นชื่อของหลาน ธรรมเนียมนี้ไม่ได้มีแต่สุโขทัย พงศาวดารน่านก็มี กรีกโบราณก็มี สมัยพญาลิไทก็มีจารึกว่า น้องชื่อพญาราม แสดงว่าเขาเอาชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ก็หมายความว่าท่านชื่อพญาราม เมื่อไปรบชนะก็เลยเรียกว่า รามผู้กล้าแข็ง หรือรามคำแหง ที่กล่าวว่าไม่มีผู้พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงเลยก็ไม่เป็นความจริง ในจารึกหลักที่ ๓๘ (พ.ศ. ๑๙๔๐) ทางอยุธยาเขายังบอกเลยว่า ต้องการจะขัดสีมาให้ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนพญารามราช และ ชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. ๒๐๗๐) ของล้านนา ยังกล่าวถึงท่านว่า พระยารามราชเป็นผู้ทรงนำศาสนาพุทธ ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศไทย และ ยวนพ่าย ของอยุธยาก็สรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ทรงสามารถเท่ากับรามราชบวกกับฤาไทราช เพราะฉะนั้นคนเขาก็พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงกันไปทั่ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครพูดถึง

"ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา จารึกของอยุธยาก็บอกว่า "อยุธยา ไพโรจน์ใต้ตรีบูร" แล้วอยุธยามีกำแพงสามชั้นไหม ก็มีชั้นเดียว ทำไมเขียนได้ ในจารึกเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ก็เขียนว่า กำแพงเชียงใหม่เป็นตรีบูร ความจริงก็มีชั้นเดียว เพราะฉะนั้นตรีบูรแต่เดิมก็อาจจะเป็นสามชั้น แต่ต่อมาอาจมีชั้นเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องสร้างถึงสามชั้น ตรีบูรอาจจะหมายถึงกำแพงที่แข็งแรงก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นกำแพงสามชั้น เหมือนที่เราใช้คำว่าหลังคา ซึ่งมีที่มาจากหลังคามุงด้วยหญ้าคา ต่อมาหลังคามุงด้วยสังกะสี เราก็ยังเรียกว่าหลังคาอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มุงด้วยหญ้าคาแล้ว ตรีบูรในจารึกสุโขทัยก็ไม่จำเป็นต้องมีสามชั้น

"พระพุทธรูปที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย เพราะว่ามันผ่านมา ๗๐๐ ปี แล้วมีการซ่อมใหม่หมด ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นศิลปะแบบสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระพุทธรูปสมัยพระเจ้าลิไทเองก็มีตั้งมากมายที่กลายเป็นรูปแบบสมัยอยุธยายุคกลางเพราะมีการซ่อมแซมภายหลัง

"ช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง เหมือนช้างของรัชกาลที่ ๒ คือมิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหง ชื่อ รูจาครี ซึ่งไม่เหมือนเป็นชื่อช้างในสมัยนั้น ถ้าไปดูในจารึกหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย ความจริงแล้วเขาอ่านจารึกไม่ถูก อีแดงพุเลิง หรือ อีแดงเพลิง เป็นชื่อของกษัตริย์ที่มาชนช้าง ไม่ใช่ชื่อช้าง ท้าวอีจานในจารึกหลักเดียวกัน มีชื่อท้าวอีจานเป็นกษัตริย์ เช่นเดียวกัน ส่วนที่ว่า รูจาครี คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ ซึ่งเป็นชื่อช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ที่จริง รูจาครี เป็นชื่อตระกูลช้างลักษณะดี แต่คนไทยนิยมเอาชื่อตระกูลช้างมาตั้งเป็นชื่อช้าง ตัวอย่างเช่น ตระกูลช้างฉัททันต์ ก็มาตั้งเป็นชื่อพระยาช้าง

"การสรุปว่าไม่มีการใช้คำว่า หมากม่วง หมากขาม ในสมัยสุโขทัย เพราะอ่านจารึกไม่ทั่ว อันที่จริงก็ใช้กันมานานแล้ว มีปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไทก็พูดกันว่าหมากม่วงเหมือนกัน

"พนมเบี้ย พนมหมาก คนไทยใช้เบี้ยเป็นเงินตรามาถึงรัชกาลที่ ๕ เวลาไปทำบุญเขาเอาเบี้ยไปกอง ใครมีเท่าไรก็กองไว้ เวลาจะถวายพระก็นับว่าเท่าไร สมัยนี้เวลาทอดผ้าป่าก็ยังเอาแบงก์ใบละ ๕๐๐ ใบละ ๑,๐๐๐ ปักเป็นพุ่มไม้ เวลาเอาไปถวายพระก็ยังเรียกเป็นกอง การเอาเบี้ยหรือเงินในสมัยนั้นไปกอง เป็นพนมเบี้ยพนมหมาก ก็ไม่เห็นว่าจะผิดประหลาดตรงไหน

"การจารึกว่าเมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แม้สุโขทัยจะไม่มีแม่น้ำใหญ่ผ่านกลางแต่คูข้างถนนก็มีปลา แม้แต่พวกจ้วงก็พูดเหมือนกัน แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นกุ้งหรืออะไรอย่างอื่น ที่ตีความผิด เพราะอ่านจารึกผิด อ่านแล้วไม่เข้าใจ

"เราไม่เคยเห็นหลักฐานเลยว่า มีตัวหนังสือไทยมาก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้ง ๆ ที่มีคนไทยอยู่ตั้งแต่ยูนนาน ผ่านลงไปถึงกลันตัน จากอินเดีย คนไทยอาหม มาไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว กาว พวกญวน มีคนไทยอยู่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่มีจารึกและไม่มีหลักฐานว่ามีลายสือไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงเลย

"ถ้าทำขึ้นมาเพื่อปกป้องอาณานิคมจากฝรั่ง ทำไมต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่ใครก็อ่านไม่ออก ฝรั่งก็อ่านไม่ออก ไทยก็อ่านไม่ออก รัชกาลที่ ๔ เองเวลาทรงพระราชนิพนธ์ไปถึงฝรั่งก็ยังทรงแปลผิดตั้ง ๑๐ กว่าแห่งเป็นอย่างน้อย แล้วก็มีบางตอนที่คนไทยยังอ่านไม่ออกและยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ ในเมื่อไม่มีใครอ่านออกแล้วจะเอาไปโฆษณากับฝรั่งได้อย่างไร

"ทางวิทยาศาสตร์นั้นเขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด ผิวของหินถูกแดดถูกฝนมานานมาก ก็จะเกิดปฏิกิริยา มีออกไซด์มากกว่าผิวที่เพิ่งถูกแดดถูกฝนมาไม่นานนัก ปรากฏว่าความเปลี่ยนแปลงของผิวหิน รอยขูด พอ ๆ กับจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น หลักที่ ๔ ซึ่งเป็นหินแบบเดียวกัน เราก็สรุปว่า รอยขูดนี้ทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ เพราะถ้ามาขูดใหม่ ส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศเพียง ๑๕๐ ปีจะมีออกไซด์น้อย พูดง่าย ๆ คือเหล็กถูกฝนใหม่ ๆ สนิมเหล็กก็จะมีน้อย ถ้าอยู่นานก็จะมีมากขึ้น ทางวิทยาศาสตร์เขาสรุปแล้วว่ามันเป็นสมัยสุโขทัยแน่นอน เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าอยู่รัชกาลไหน เพราะตามหลักสถิติ ตัวเลขที่คำนวณได้ จะต้องบวกหรือลบด้วยจำนวนปีที่คำนวณได้ตามหลักสถิติ เช่น รายได้ของครอบครัวชาวอีสานเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ บาท บวกหรือลบด้วย ๒๕๐ บาท รายได้จริงอาจจะเป็น ๑,๗๕๐ บาทถึง ๒,๒๕๐ บาทเป็นต้น"
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:28

 บทความที่เกี่ยวข้องโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

ประวัติศาสตร์ไทยของราชการ บอกว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ต่อเมื่อสุโขทัยล่มสลายแล้วจึงเกิดกรุงศรีอยุธยา

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีอยู่ในกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่สนับสนุนประวัติศาสตร์ไทยของราชการ แต่กลับบอกตรงข้ามคือ แท้จริงแล้วกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย เป็นรัฐ "เครือญาติ" ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือคราวเดียวกัน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ-การเมืองเดียวกัน โดยไม่มีใครที่ไหนเป็นราชธานีแห่งเดียว เพราะต่างเป็น "นครรัฐ" อิสระ

ถ้าพิจารณาความเป็นมาในอดีตของรัฐทั้งสองแล้ว อาจกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัยด้วยซ้ำไป จึงมีวรรณคดีที่ใช้ภาษาไทยก่อนใคร วรรณคดีเก่าแก่เล่มนั้นยังเหลือร่องรอยชื่อ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) เก่ากว่าจารึกสุโขทัยเกือบ 100 ปีทีเดียว

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ เป็นชื่อเรียกตามความเข้าใจปัจจุบัน แต่ตัวเขียนในสมุดข่อยมีว่า "พระอายการเบดเสรจ" หมายถึง พระไอยการเบ็ดเสร็จ

คำว่า "เบ็ดเสร็จ" ตรงกับ "เบ็ดเตล็ด" ทุกวันนี้

เหตุที่เรียกชื่อกฎหมายฉบับนี้ว่า "เบ็ดเสร็จ" หรือ "เบ็ดเตล็ด" ก็เพราะเป็นกฎหมายต่างๆ หลายเรื่องเอามารวมไว้ในที่เดียวกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด อันเนื่องเพราะเป็นเรื่องย่อยๆ เบ็ดเตล็ดทั้งนั้น

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ มี 2 ตอน คือ

ตอนต้น ลงศักราช 1263 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.1886 ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 7 ปี ว่าด้วยลักษณะวิวาท เรื่องกระหนาบคาบเกี่ยวให้เป็นเสนียดแก่กัน

ตอนท้าย ลงศักราช 1146 ปีมะแม ซึ่งเป็นตอนเก่าแก่ที่สุด ว่าด้วยลักษณะวิวาทเรื่องกระทำกฤติยาคุณ มีฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง เป็นต้นเหตุ

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ฉบับตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติบอกปีที่ตราเอาไว้ว่า "1146 ศกมแมนักสัตวเจตมาศปัญจมีดิถีรวิวาร" แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ ยกเลขศักราช "1156" จากฉบับ ร. แลงกาต์ ซึ่งต่างจากฉบับตัวเขียน 10 ปี (เข้าใจว่าจะผิดพลาดจากการพิสูจน์อักษรตอนพิมพ์เป็นเล่มโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ.2482) ตรวจสอบและคำนวณเป็นคนแรกว่ากฎหมายฉบับนี้ปีที่ตราขึ้น "ตรงกับ พ.ศ.1778 ปีมะแม. ก่อนหน้าการสร้างกรุงศรีอยุธยา 100 ปีเศษ" ต่อมาอีก ล้อม เพ็งแก้ว ตรวจสอบและคำนวณซ้ำเพื่อให้รัดกุมมั่นคงขึ้น แล้วสรุปตรงกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าเป็น "ปีมะแม พ.ศ.1778 วันตรากฎหมายตรงกับวันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้น 5 ค่ำ ตรงกับสุริยคติ วันที่ 25 มีนาคม" แต่ถ้ายึดเลขศักราช "1146" ตามฉบับตัวเขียนจะเป็น พ.ศ.1768

สรุปได้แล้วว่ากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1768 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.1893 ถึง 125 ปี ขณะนั้นกัมพูชาเป็นยุคหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ขึ้นเสวยราชย์เมืองพระนครหลวง (นครธม) ระหว่าง พ.ศ.1763-1786

มีปัญหาว่าถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ขัดกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองเพิ่งสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ก่อนหน้านี้ยังไม่มี "กรุงศรีอยุธยา"

เรื่องนี้อธิบายตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีสนับสนุนชัดเจน ว่าบริเวณที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 นั้น มีบ้านเมืองอยู่ก่อนนานแล้ว และได้ชื่อตามจารึกที่พบสมัยหลังว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ทรงครองอยู่เมืองอโยธยาฯ นี้ก่อนหลายปี แต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โรคระบาด ฯลฯ จึงทรงสถาปนาใหม่ แล้วให้ชื่อใหม่ว่า กรุงศรีอยุธยา

นี่ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 แต่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคทวารวดี แล้วผ่านยุคละโว้ ยุคอโยธยาศรีรามเทพมาก่อนนานมาก



สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองดังกล่าวมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเป็นแคว้นหรือรัฐ ก็คือ กฎหมาย ฉะนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ จึงอธิบาย "ความสำนึกทางกฎหมาย" ว่า "การพัฒนาความรู้สึกทางกฎหมาย, ซึ่งคือสิ่งสะท้อนเบื้องบนของสภาพชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตในสังคมนั้น, เป็นวิถีดำเนินที่ต้องการระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง, โดยประชาชนเป็นผู้ค่อยๆ ก่อรูปมันขึ้นเป็นจารีตประเพณีก่อน, แล้วต่อจากนั้นกษัตริย์หรือรัฐจึงเข้าแทรกแซงหรือกำหนดกฎเกณฑ์บังคับ"

ความสำนึกทางกฎหมายที่ก่อรูปขึ้นก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา แต่มาปรากฏอยู่ในตัวบทสมัยเริ่มแรกของกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นความสำนึกขั้นสูงแล้วระดับหนึ่ง

พยานหลักฐานสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของอโยธยาศรีรามเทพนคร มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา คือ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ และถือเป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานขณะนี้

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) มีเนื้อหาเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะ ผีร้าย มีชื่อเรียกในกฎหมายนี้ว่า "ฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง" กับเรื่อง หมอผี ที่เรียกชื่อในกฎหมายนี้ว่า "แม่มดพ่อหมอ" คือคนผู้เรียนรู้เวทวิทยาคมและกฤติยาคุณอันทำให้ถึงตายฉิบหายด้วยอุบายต่างๆ

ฉมบ (อ่านว่า ฉะ-หมบ) เรียกผีผู้หญิง สิงอยู่ที่ตายในป่า ว่ามีรูปเห็นเป็นเงาๆ

จะกละ (อ่านว่า จะ-กละ) เรียกผีป่า ซึ่งหมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ให้ทำร้ายศัตรู, ผีพวกหนึ่งชอบกินของโสโครก

กระสือ (อ่านว่า กระ-สือ) เรียกผีที่สิงในกายหญิง ชอบกินของโสโครก ลักษณะเป็นดวงไฟแวมๆ ในกลางคืน (คู่กับกระหัง ที่เข้าสิงในกายชาย)

กระหาง (อ่านว่า กระ-หาง) เรียกผีที่สิงในกายชาย หรือผีผู้ชาย ชอบกินของโสโครก บางทีก็เรียกกระหัง คู่กับกระสือ

ความเชื่อเรื่องผีร้ายในกฎหมายฉบับนี้ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า มีลักษณะสากล เพราะบนเส้นทางวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์โดยทั่วไป มักจะมาถึงขั้นตอนหนึ่งที่มีปรากฏการณ์ของความเชื่ออย่างนี้ เช่น ในสังคมทางยุโรป กล่าวถึงพวกแม่มดและพ่อมด เป็นต้น เป็นเรื่องที่มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นบุคคลที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวโดยไม่ได้ร่ำเรียนมา ความชั่วร้ายดังกล่าวนี้เป็นเสนียดที่อาจทำร้ายหรือทำลายคนอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ที่เป็นกระสือกระหางหรือปอบนั้น สามารถถอดวิญญาณออกไปเที่ยวหาของสดคาวกิน หรือไม่ก็ไปสิงสู่อยู่ในตัวผู้อื่นแล้วกินตับไตไส้พุงเขาเป็นอาหารจนทำให้ผู้ที่ถูกสิงนั้นตายในเวลาต่อมา เป็นต้น

"นักมานุษยวิทยาให้คำนิยามคนที่มีความชั่วร้ายดังกล่าวนี้ว่า วิชคราฟ (witchcraft) ถ้าชุมชนใดบ้านเมืองใดเกิดมีพวกกระสือ ปอบเหล่านี้ขึ้น ผู้คนในชุมชนจะมีการเคลื่อนไหว กระทำการพิสูจน์และลงโทษ มีการทุบตีฆ่าฟันจนกระทั่งขับไล่ไสส่งให้ออกไปพ้นชุมชน เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร และเป็นอันตรายแก่สังคม"

ส่วนหมอผี หรือ "แม่มดพ่อหมอ" อาจารย์ศรีศักรอธิบายต่อไปว่า "คนพวกนี้คือพวกที่รู้ในเรื่องไสยศาสตร์ (magic) แต่ว่าเป็นไสยดำ (black magic) คือการนำเอาไสยศาสตร์ไปใช้ในทางที่ผิดและชั่วร้าย เช่น การปล่อยคุณ เสกหนังควายเข้าท้องคน ทำเสน่ห์ยาแฝด รวมทั้งทำยาเบื่อยาสั่งด้วย การประพฤติในทำนองนี้ พวกนักมานุษยวิทยาเรียกรวมๆกันว่า ซอสเซอรี่ (sorcery)"

ความรู้เรื่องคุณไสย และการใช้คุณไสยไปทำร้ายผู้อื่น ถือว่าเป็นความชั่วร้าย เป็นเสนียดเช่นเดียวกันกับเรื่องผีร้ายต่างๆ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จจึงจัดไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ถือเป็นกรณีเหมือนกัน ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความเป็นธรรม โดยกำหนดเงื่อนไขเป็น 2 อย่าง คือ

อย่างแรก เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งฉมบ จะกละ กระสือ กระหางมีจริง ถ้าพิสูจน์หรือสอบสวนได้ว่าเป็นจริงก็ต้องมีการลงโทษ

อย่างที่สอง เป็นเรื่องของการกล่าวหา (Accusation) เพราะเป็นเรื่องที่อาจใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวหากันได้ง่ายๆ เหตุนี้ในกฎหมายจึงกำชับไม่ให้พวกเจ้าเมือง กรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความทำการลงโทษตามลำพัง โดยไม่แจ้งเข้ามายังกรุง แต่ให้ทางกรุงตัดสิน ผู้ที่ละเมิดในเรื่องนี้อาจถูกตัดสินประหารชีวิตได้

การกล่าวหา ในเรื่องผีกระสือ ผีปอบ และการกระทำคุณไสย อาจารย์ศรีศักรอธิบายโดยสรุปว่า เป็นเครื่องควบคุมทางสังคมได้อย่างหนึ่งในสังคมท้องถิ่นแต่ก่อนๆ เพราะการกล่าวหานั้นมักจะมุ่งไปที่ผู้มีความประพฤติและมีพฤติกรรมผิดปกติหรือผิดแผกไปจากคนอื่นๆในสังคม พอมีคนเจ็บป่วยล้มตายขึ้น ก็เชื่อว่าเป็นการกระทำของสิ่งชั่วร้ายที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ และคนที่มีอะไรผิดแผกไปจากผู้อื่นในสังคม มักจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา เพราะฉะนั้น ในสังคมแบบประเพณีจึงมักเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ประพฤติอยู่ในกรอบในรีตในรอยกัน

แต่ในขณะเดียวกัน การกล่าวหานี้ก็อาจเป็นดาบสองคม ในกรณีที่มีคนไม่เชื่อไม่กลัว และใช้เรื่องนี้กล่าวหาผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อกลุ่มของตนได้เช่นเดียวกัน โดยเหตุนี้การตัดสินคดีความจึงต้องพิจารณาในเรื่องการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีด้วย

ในเรื่องนี้ดูเหมือนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้ในมาตราที่ว่าด้วยพวกฉมบ จะกละ กระสือ กระหางนั้น มีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในช่วงเวลานั้นมาก นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะกำจัดบุคคลที่ประพฤติความชั่วร้ายให้หมดไปจากสังคมอีกด้วย แต่ในบางกรณีก็มีการยกเว้นแก่บุคคลที่ทำไสยศาสตร์เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษแก่บุคคลที่มีเจตนาร้าย แม้ตนเองไม่มีอำนาจกฤตยาคุณทำร้ายผู้อื่น แต่ไปวิงวอนติดสินบนสิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้ทำร้ายผู้อื่น แต่การลงโทษผู้กระทำผิดดังกล่าวนั้น หาได้แก้ไขปัดเป่าให้เสนียดจัญไรหมดไปจากบ้านช่องไม่ จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการขึ้นมา

การจะปัดเป่าความชั่วร้ายที่มาจากสิ่งนอกเหนือธรรมชาตินั้น จำต้องพึ่งพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตแล้วทำบายศรีบัตรพลี ซึ่งก็แสดงให้เห็นการผสมผสานกันระหว่างคติทางพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูอย่างชัดเจน ในอันที่จะมาควบคุมหรือประนีประนอมกับการนับถือผีหรือสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่เชื่อถือสืบมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์

ที่ยกมาบอกกล่าวทั้งหมดนี้แหละคือลักษณะความเก่าแก่ของวรรณคดีเรื่องนี้ เก่าแก่กว่าจารึกกรุงสุโขทัยเกือบ 100 ปี

สุจิตต์ วงษ์เทศ
อ่านแผ่นดินฯ
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1200
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:29

 ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับปัญญาชนรุ่นราชกาลที่ ๓-๔ พิมพ์เขียวสำหรับอนาคต ที่นำมาใช้งานไม่ได้
ไมเคิล ไรท์
ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓

ใครบอกผมว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นเอกสารครั้งพ่อขุนรามคำแหงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ผมเห็นใจ, แต่เห็นต้วยไม่ได้ เพราะจารึกหลักนี้มีพิรุธผิดกาลสมัยทุกอย่าง, ไม่ว่าจะเป็น ภาษา, อักษร, อักขรวิธี, ภูมิศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และการพระศาสนา

หากจารึกหลักที่ ๑ "ผิด" เพียง ๒-๓ ข้อ. ผมพอรับได้, แต่ในเมื่อ "ผิด" ทุกข้อ ผมจำเป็นต้องสงสัยว่าจารึกหลักนี้คงไม่ได้เขียนขึ้นมาครั้งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ และไม่น่าสามารถบอกให้เรารู้ถึงเหตุการณ์ครั้งพ่อขุนรามฯ

ในทางตรงกันข้าม, หากใครบอกผมว่าจารึกหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมครั้งรัชกาลที่ ๓-๔ (กลางคริสต์วรรษที่ ๑๙), ผมจำเป็นต้องรับว่าจารึกหลักนี้มีความถูกต้องตามกาลสมัยทุกประการ และมีความสำคัญมากในการอธิบายปัญหาที่ชนชั้นปกครองสยามกำลังประสบเมื่อโลกฮินดู-พุทธพังเสียแล้ว, จีนช่วยไม่ได้, สยามจึงโดดเดี่ยวเป็นที่สุดขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับตะวันตกที่กำลังมาแรงแบบ "ต้านทานไม่ได้"

ผมไม่เชื่อเสียแล้วว่า จารึกหลักที่ ๑ เป็น "ของปลอม" ที่ทำขึ้นมาหลอกใคร จารึกหลักนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของปัญญาชนชาวสยามรุ่นรัชกาลที่ ๓, ที่น่าจะทำขึ้นมาเพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน, ทำให้สยามย่างเข้าสู่โลกสมัยใหม่ (คือสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย) และอาจจะใช้เป็น "พิมพ์เขียว" สำหรับอนาคตของสยาม ความในจารึกล้วนแต่สะท้อนอุดมการณ์, อุดมคติ และความ "ทันสมัย" ของปัญญาชนครั้งรัชกาลที่ ๓

แต่พอถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านจำเป็นต้องเผชิญกับ "โลกแห่งความเป็นจริง" (คือจักรวรรติอังกฤษ) ที่ไม่ต้องการอุดมคติที่ปรากฏในจารึก ดังนั้นจารึกมิได้นำมาใช้งานตลอดรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และเพิ่งมา "ปัดฝุ่น" ในรัชกาลที่ ๖

ปัญหาของเรา (ไม่ใช้ปัญหาของจารึกหลักที่ ๑) คือ เมื่อปัญญาชนครั้งรัชกาลที่ ๖ รื้อฟื้นจารึก ท่านลืม (หรือแสร้งทำเป็นลืม) สถานการณ์คับขันครั้งรัชกาลที่ ๓-๔, ไม่รับรู้ว่า "คนโบราณ" รุ่นรัชกาลที่ ๓-๔ จะมีปัญญาทันสมัย และกำลังต้องการ "สร้างชาติ" (เหมือนกับว่าชาติสยามไม่มีมาก่อน) ผลก็คือ จารึกหลักที่ ๑ กลายเป็นเอกสารครั้งพ่อขุนรามฯ แท้ ๆ ที่แสดงว่าในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ "ชาติไทย" มีอุดมการณ์ที่ทันสมัยเทียมเท่าอุดมการณ์ตะวันตก, ที่ฝรั่งเพิ่งคิดขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

มหัศจรรย์!

ปัญหาที่แท้จริงคือ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖, ขบวนการ "รักชาติ", "สร้างชาติ" ฯลฯ ล้วนแต่นำจารึกหลักที่ ๑ มาอวดอ้าง, จนยากที่เราจะมองเห็นความสำคัญที่แท้จริงของเอกสารชิ้นนี้ในบริบทที่แท้จริงของมัน

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นผลงานดีเด่นของปัญญาชนสยามรุ่น ร.๓ แต่กว่าจะเข้าใจเรื่องนี้เราจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ล้อมรอบสยามในคริสต์วรรษที่ ๑๙

บทที่ ๑ อวสานของอดีต
รัชกาลที่ ๑ เป็นเจ้าของอดีตที่สมบูรณ์ ท่านสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นอยุธยา, ไม่ใช่ที่อื่นใด, ให้แปลตำนานมหาวงศ์ และแต่งรามเกียรติ์ เป็นการรื้อฟื้นอดีต, ไม่ใช่หาของใหม่ ราชบัณฑิตของท่านแต่งพงศาวดารก็เรียกฝรั่งว่า "ยักษ์", และ "ทมิฬขาว", แสดงว่าในสายตาปัญญาชนรุ่นนั้นสยามเป็นแก่นของอารยธรรมและฝรั่งเป็น "ชาวป่า" ที่ตกนอกโลกอารยธรรมฮินดู-พุทธ ว่าง่าย ๆ ฝรั่งไม่น่าสนใจ

ในรัชกาลที่ ๒ ความมั่นใจของชาวสยามถูกกระเทือนใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เมื่ออังกฤษยึดเกาะลังกาแล้วถอดกษัตริย์ ร.๒ จึงรีบส่งคณะสมณทูตออกไปบูชาเจติยสถาน และช่วยดูนโยบายของอังกฤษ ปรากฏว่าอังกฤษไม่รังแกพุทธศาสนาในลังกา, จึงค่อยเลิกมองฝรั่งเป็น "ยักษ์" และเริ่มยอมรับว่าอาจจะเป็น "คน" บ้าง

กษัตริย์ ร.๒ จึงรีบส่งคณะสมณทูตออกไปบูชาเจติยสถาน และช่วยดูนโยบายของอังกฤษ ปรากฏว่าอังกฤษไม่รังแกพุทธศาสนาในลังกา, จึงค่อยเลิกมองฝรั่งเป็น "ยักษ์" และเริ่มยอมรับว่าอาจจะเป็น "คน" บ้าง

ในรัชกาลที่ ๓ ตะวันตก (จักรวรรดิอังกฤษ) มาท้าทายกับสยามโดยตรง อังกฤษได้ยึดเกาะหมาก (ปีนัง) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๕ แต่สยามแทบไม่สังเกตเพราะยังสู้พม่าอยู่ ถึง ค.ศ. ๑๘๒๑ สยามถูกบังคับให้ยอมว่าเกาะหมากเป็นของอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๒๖ อังกฤษได้ยึดเมืองมอญ (พม่าตอนล่าง) ซึ่งเป็นทั้งที่น่ากลัว (เพราะประชิดแดนสยาม) และที่น่ายินดี (เพราะตัดฤทธิ์พม่า) ในรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งเศสยังมิได้รุกมาทางลาวหรือเขมร และยังแพ้สงครามโดยยับเยินกับเยอรมนี ฝรั่งเศสจึงยังไม่น่ากลัวเลยในสมัยนั้น

ในสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้, ไม่มีหลักฐานว่า ร.๓ หรือรัฐบาลของท่านจะอ่อนข้อต่ออังกฤษ (ทูตอังกฤษทุกคนกลับไปโดยผิดหวัง) หรือสนใจศิลปวิทยาฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม, ในสมัย ร.๓ ยังมีหมู่ปัญญาชนสยามที่ตกอำนาจจึงมีเวลาดูและคิด, เช่น พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ, สมเด็จพระปิ่นเกล้า, สุนทรภู่ ฯลฯ อีกหลาย ๆ ท่านที่อาจจะมีนามหรือเป็นนิรนาม ท่านเหล่านั้นได้เห็นอะไรบ้าง? :-

เรือกลไฟลำแรกที่เข้ามาจอดหน้าวัง โดยเคลื่อนไหวเอง, ไม่ใช้ใบหรือฝีพาย
การพิมพ์ภาษาไทยด้วยอักษรไทยของหมอสมิธ
การปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษที่แต่ก่อนป้องกันไม่ได้
ดาราศาสตร์ฝรั่งที่แม่นยำกว่าดาราศาสตร์พราหมณ์

ข้อสังเกตที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเรียนภาษาละตินกับสังฆราช Pallegoix, ท่านน่าจะจับได้ว่า ภาษาละตินเป็นญาติใกล้ชิดกับภาษามคธของพระพุทธเจ้า, คือเป็น อารยภาษา แสดงว่า ฝรั่งมิได้เป็น "ยักษ์" ที่ไหน, แต่เป็น อารยชนที่มีอารยธรรม นี่แหละคือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะนำไปสู่การปล้ำสยามให้เหมือน "นานาอารยประเทศ" ในรัชกาลที่ ๕

ว่าอีกนัย, ปัญญาชนในกลุ่มชนชั้นปกครองสยามยังศรัทธาพุทธศาสนา ว่าเป็นส่วนที่เป็น "อารยะ" ในวัฒนธรรมสยาม, แต่เริ่มมองว่าในเรื่องอื่น ๆ ศูนย์กลางของอารยธรรมได้ย้ายไปเสียแล้วจากอุษาทวีปไปสู่ยุโรป, โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ เรื่องนี้น่าเห็นใจ, เพราะในสมัย ร.๓-ร.๔ จักรวรรดิอังกฤษกำลังแผ่อำนาจมากที่สุด และดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด, ด้วยวิธีการปกครองอาณานิคมที่ก้าวหน้าที่สุด

เหตุการณ์ปัจจุบัน (ครั้ง ร.๓) ที่สนับสนุนโลกทัศน์ดังกล่าว คือการที่อังกฤษรุกรานเมืองจีนในสงครามฝิ่น (ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๒) โดยจีนป้องกันตนเองไม่ได้ ทั้งนี้แสดงว่านโยบายพึ่งเมืองจีนเป็นร่มโพธิ์ของ ร.๓ ใช้งานไม่ได้แล้ว และชวนปัญญาชนสยามให้หันไปสนใจตะวันตกยิ่งขึ้น และหันหลังให้อุษาทวีปที่ดูล้าหลัง และไม่มีโครงการสำหรับอนาคต

ความคิดใหมี่ของปัญญาชนสยาม (รุ่น ร.๓ ) มีผลดีต่อสยามในฐานะประเทศเอกราชที่รักษาได้ตลอดมา, แต่ยังมีผลในทางลบ นั่นคือราษฎรชาวสยามส่วนใหญ่ตกเป็นคน "ไม่มีอารยธรรม" ที่ต้องถูกปกครองโดยราชการ (แบบอังกฤษปกครองอินเดีย) ในสมัย ร.๕-ร.๖ และยังต้องมีหน่วยราชการ (กรมศิลปกร) สอนให้รู้จักศิลปวัฒนธรรม (การร่ายรำทำเพลง) ตั้งแต่สมัยจอมพลแปลกขึ้นมา

นี่คือสถานการณ์ที่ห้อมล้อมปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓ แต่ก่อนจะพูดถึงจารึกหลักที่ ๑ ผมขอพิจารณาพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎและครูฝรั่งของท่าน

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎกับนักปราชญ์ฝรั่ง
เราไม่มีหลักฐานว่า ร.๔ คิดอย่างไร, เพราะท่านไม่เคยบันทึก, แต่เรายังมีหลักฐานผูกมัดว่า สมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าฟ้าพระภิกษุ ท่านมี "เพื่อน" ที่ท่านนับถือมาก นั่นคือ สังฆราช Pallegoix (บาทหลวงฝรั่งเศส) และ Rev. Dr.Dan Bradley (สาธุคุณชาวอเมริกัน)

เราไม่มีสิทธิ์รู้ใจ ร.๔, แต่เราพอจะรู้ใจพระสหายสองคนนี้ เท่าที่เราทราบทั้งสองท่านหวังเผยแพร่คริสต์ศาสนา แต่ไม่เคยรับใช้รัฐบาลในการแผ่อำนาจของฝรั่งเศสหรือสหรัฐ ดังนั้นเราน่าจะเชื่อได้ว่าทั้งสองท่านหวังดีต่อสยาม และพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคงจะไว้ใจและฟังเสียงท่าน

ถ้าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถามพระสหายว่า "ในฐานชาวตะวันตก, ท่านต้องการเห็นสยามเป็นอย่างไรในอนาคต?", ทั้งสองท่านคงตอบอย่างนักปราชญ์ที่หวังดี ทำนองว่า "ต้องการเห็นสยามมีเสรีภาพในเรื่องศาสนา, อาชีพ และการค้า, มีกฎหมายที่แน่นอนสร้างความมั่นคงในการครองเรือนและการสืบสมบัติ, มีการปกครองที่ตั้งอยู่บนหลักเมตตาธรรม, มีเหตุผล, ไม่เอารัดเอาเปรียบ และฟังเสียงทุกข์ของประชาชน ฯลฯ"

อุดมการณ์เหล่านี้ล้วนปรากฎในจารึกหลักที่ ๑, แต่ไม่ปรากฏที่ไหนอื่นในเอกสารรุ่นคริสต์วรรษที่ ๑๓ (ไม่ว่าจะเป็นอุษาทวีปหรือยุโรป) แน่นอนที่เดียวอุดมการณ์ดังกล่าวเคยมีอยู่แล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า, ท่านขงจื้อ และ "ผู้ทำนาย" ชาวยิวเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาก่อน แต่ถึงสมัยกลางอุดมการณ์เช่นนี้ถูกละเมิดและถูกลืมมานานแล้ว (ทั้งในอุษาทวีปและยุโรป) โดยหลักการ "อำนาจนิยม" ขึ้นมาแทนที่ หลักการมนุษยนิยม (Humanism) และเสรีนิยม (Liberalism) เพิ่งมารื้อฟื้นในยุโรปในคริสต์วรรษที่ ๑๙ (หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส) เมื่อยุโรปกำลังลดอำนาจกษัตริย์, เลิกทาส, เลิกทรมานนักโทษ, เริ่มรับรองสิทธิประชาชน และเสริมอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร

จารึกหลักที่ ๑ ควรอยู่สมัยใด?
จารึกหลักที่ ๑ นำสระเข้าแนวเดียวกันกับพยัญชนะ ซึ่งเคยมีที่ใดในอินเดีย, ลังกา, หรืออุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจนถึงปัจจุบัน คนคิดนำสระเข้าแนวพยัญชนะน่าจะเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่เจอะปัญหาการเรียง สระอิ, สระอี, สระอุ, สระอู พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นคนไทยที่เป็นเจ้าของแท่นพิมพ์ภาษาไทย/อักษรไทยคนแรกในรัชกาลที่ ๓

จารึกหลักที่ ๑ กำหนดชายแดนสุโขทัยด้านตะวันตก (ถึงหงสาวดี) และทางใต้ (ศรีธรรมราชนครถึงทะเลเป็นแดน), แต่ไม่อ้างชายแดนตะวันออก (ลาว/เขมร) ในรัชกาลที่ ๓ อังกฤษได้ยึดพม่าตอนล่าง (หงสาวดี) และกำลังแทะรัฐที่ถวายดอกไม้ฯ ในแหลมมลายูในสมัย ร.๓ ฝรั่งเศสเพิ่งถูกเยอรมนีขยี้และยังไม่คิดยึดลาวหรือเขมร คนเขียนหลักที่ ๑ ครั้ง ร.๓ คงไม่กลัวฝรั่งเศส, แต่สนใจมากที่จะอ้างสิทธิของสยามในพม่าตอนล่าง และในแหลมมลายูที่อังกฤษกำลังเหยียบย่ำ

ที่สำคัญที่สุด, จารึกหลักที่ ๑ สะท้อนปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) และเสรีนิยม (Liberalism) ที่กำลังเบิกบานในโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จารึกหลักที่ ๑ ไม่อ้างถึงทาสหรือการเกณฑ์ไพร่ ซึ่งเป็นหลักของสังคมในสมัยกลาง, ทั้งในยุโรปและอุษาทวีป

ในสายตาผม, จารึกหลักที่ ๑ จะเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากฝีมือปัญญาชนชาวสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ช่ำชองพุทธศาสนา และยังคุ้นกับความคิดของนักปราชญ์ก้าวหน้าในยุโรปครั้งคริศต์ศตวรรษที่ ๑๙

ปัญหาที่เหลืออยู่คือ

ทำไม "พิมพ์เขียนสำหรับอนาคตสยาม" ฉบับนี้จึงถูกเก้บเข้าตู้หรือสาบสูญจากหลักฐานครั้ง ร.๔-ร.๕?

ทำไม ร.๔, ร.๕ ไม่นำจารึกหลักที่ ๑ มาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการปกครองของท่าน?

"ความผิดหวังของ ร.๔"
อย่าลืมว่าในรัชกาลที่ ๓ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคบแต่ฝรั่งที่เป็นนักปราชญ์และหวังดีต่อสยาม ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ ท่านขึ้นครองราชย์แล้วต้องเจรจากับผู้แทนของรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ซึ่งไม่เป็นนักปราชญ์ แต่เป็นข้าราชการที่สนใจเฉพาะผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น

ใน ค.ศ. ๑๘๕๕ ร.๔ ยกร่างจารึกหลักที่ ๑ ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง ปรากฎว่าเซอร์อจอห์น เบาริ่ง ไม่สนใจจารึกหลักที่ ๑ แม้แต่น้อย

เรื่องอะไรท่านจะสนใจจารึกหลักที่ ๑ ในสมัยนั้นรัฐบาลอังกฤษไม่ต้องการให้ประเทศตะวัออกปกครองตนเองด้วยหลักมนุษยนิยมหรือเสรีนิยม, แต่อยากชวนให้ปกครองกันเองด้วยอำนาจบาตรใหญ่, เหมือนที่อังกฤษปกครองอินเดียด้วยระบบ Indian Civil Service (ICS) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ, ไม่ฟังเสียงใคร

ในที่สุด ร.๔ จำเป็นต้องเก็บศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไว้ในตู้ไม่ให้กวนอังกฤษ และ ร.๕ จะนำระบอบการปกครองแบบ ICS มาคุมสยาม โดยสมมุติว่า "เจ้านาย" เป็นผู้ดีอังกฤษ และราษฎรเป็นเพียงคนล้าหลังที่ต้องได้รับการปกครองจากเบื้องบน

ทั้งหมดนี้เป็นที่พอใจสำหรับจักรวรรดิอังกฤษ และทำให้สยามสามารถรักษาเอกราชไว้จนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาสาธุ อย่างไรก็ตาม, ความสำเร็จครั้งนี้ยังได้ก่อความขัดแย้งทางสังคมที่เริ่มปรากฏในรัชกาลที่ ๖, แตกใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และยังไม่สะสางทีเดียวจนทุกวันนี้

วิวัฒนาการวัฒนธรรมและสังคมสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการบทความอีกบทหนึ่ง (หรืออีกหลายบท) ที่ต้องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในคริสต์วรรษที่ ๑๙ เพราะถ้าคนไทยปัจจุบันไม่ยอมรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจักรวรรดิอังกฤษครั้ง ร.๓-ร.๔-ร.๕, ก็ยากที่จะเข้าใจสถานการณ์ต่อมาถึงปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๐๐)

ในบทความนี้ผมสนใจเฉพาะศิลาจารึกหลักที่ ๑ และปัญญาชนชาวสยามครั้ง ร.๓ ที่มีพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้นำที่รู้พุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และยังรู้ปรัชญามนุษยนิยมและเสรีนิยมก้าวหน้าของตุวันตกสมัยนั้น, จึงสามารถสร้างจารึกหลักที่ ๑ เป็นอุดมการณ์ หรือ "พิมพ์เขียว" สำหรับอนาคตอันอุดมให้สยาม แต่แล้วสถานการณ์โลกสมัยนั้นไม่อำนวย, สยามจึงจำต้องรับระบอบการปกครองแบบ ICS แทนศิลาจารึกหลักที่ ๑

ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์จะโทษใครไม่ได้ เพราะทุกคนเล่นตามบทบาทที่ประวัติศาสตร์กำหนดให้ อย่างไรก็ตามรัชกาลที่ ๔ (และพระสหาย) มีความคิดล้ำยุคของท่าน, มีสายตากว้างไกลเกินที่สมัยนั้นรับได้, จึงน่านับถือว่าท่านเป็นปัญญาชนชาวสยามรุ่นแรกที่แหวกม่านอดีตและปูพื้นสำหรับปัญญาชนสยมในอนาคต ที่อุดมการณ์ของท่านถูกลบล้างนั้นก็น่าเสียดายแต่ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือท่านได้ปูพื้นไว้อย่างดีอยู่แล้ว

เป็นที่น่าเสียดายมากว่า ในรัชกาลที่ ๖ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกนำมาปัดฝุ่น, แล้วนักปราชญ์ทั้งไทยและฝรั่งต่างเชื่อกันว่าจารึกหลักที่ ๑ เป็นเอกสารโบราณสมัยพ่อขุนรามคำแหง (King Arthur ของไทย) ที่เล่าเรื่องสุโขทัย (Camalot ของไทย) ดังนั้นท่านไม่มีทางดูออกว่าจารึกหลักนี้เป็นวรรณกรรมสั่งสอน (Didactic Literature เช่นเดียวกับชาดกหรือนิทานอีสป) ที่ปัญญาชนสยามทำขึ้นมากลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อโต้ตอบกับตะวันตกที่มาท้าภูมิปัญญาของสยาม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะรับจารึกหลักที่ ๑ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์ปัญญาสมัยใหม่" (Modern Intellectual History)? หรือเป็น "ประวัติศาสตร์เพ้อฝันถึงอดีตที่ไม่เคยมี" (Fanciful History of a Non-existant Post)?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:31

 ภูวดล สุวรรณดี
ศิลปวัฒนธรรม
ปีที่ ๒๑ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓


มันน่าแปลกไหม จารึกสุโขทัยมีไม่รู้ตั้งกี่หลักทำมั้ย? จึงมีคนคอยจองล้างจองผลาญกับศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงอยู่เพียงหลักเดียว ทำไม?

ก็เพราะว่า เป็นจารึกที่น่าสงสัย มีพิรุธมากมายซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ระหว่างอักษรน่ะซี

จึงเกิดปุจฉาขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วจารึกหลักนี้ใครแต่งกันแน่?

เมื่อราว ๑๐ ปีก่อน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาประกาศตูมว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้เป็นของปลอม! พ่อขุนรามคำแหงมิได้แต่งขึ้น ผู้ที่แต่งคือ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่างหาก (ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีนักวิชาการออกมาแสดงข้อกังขาจารึกหลักนี้อยู่แล้วเช่น ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี และ Michael Vickery)

เกิดการโต้แย้งทางวิชาการกันยกใหญ่ แล้วก็หายไปในสายลมประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นจะมีการกล่าวขวัญถึงจารึกหลักนี้ก็เพียงประเด็นย่อย ๆ ไม่มีอะไรคืบหน้านักจนกระทั่งทุกวันนี้ และในสำนึกการรับรู้ประวัติศาสตร์ไทยของคนส่วนใหญ่ยังคงว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงทรงแต่งขึ้น และพระองค์ทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" เป็น "วรรณคดีเล่มแรกของไทย" อยู่เช่นเดิม

มาวันนี้ น้ำในแอ่งจารึกคงจะนิ่งมานาน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์จึงออกมากวนอีกครั้ง เสียงเคาะจารึกนี้ดังขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง

อ.พิริยะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมและดูจะหนักแน่นขึ้นกว่าเดิมที่ว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยจับ "พิรุธ" ต่าง ๆ ของจารึกมาเผยดังนี้

๑. ขนาดของศิลาจารึก จารึกพ่อขุนรามฯ นั้นมีขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ ผิดธรรมดา ต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกันคือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนั้นศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และ หลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน

๒. ไม่มีการเขียนภาษาไทยที่อื่นใดที่มีสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ยกเว้นจารึกหลักที่ ๑ แต่อย่าลืมว่า พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ประดิษฐ์ลายสือไทย แต่ลายสือไทยที่เห็นเป็นตัวอักษรที่ขอยืมมาจากจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ยกเว้นแต่เขียนบนบรรทัดเดียวกัน และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็มี ๒ พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน พระองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหงที่ประดิษฐ์อักษรไทย อีกพระองค์หนึ่งคือ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรณ แต่ไม่มีใครสนุกด้วยจึงยกเลิกไป มีจารึกให้เห็นแห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้อักษรอริยกะ คือจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔

๓. ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับโลกทัศน์สมัยสุโขทัยที่เราทราบจากจารึกหลักอื่น ๆ เช่น

- คำว่า รามคำแหง นั้นไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย จะมีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วงและโปรดสังเกตว่า รามคำแหง จะใกล้กันมากกับชื่อพระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑

- ชื่อช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างทรงของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย

- การตกแต่งช้างของพ่อขุนรามฯ ตกแต่งด้วยระยาง (พุ่ที่ห้อยอยู่หน้าหูช้างเพื่อกันผี) เหมือนกับช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ ก็ตกแต่งด้วยระยาง แต่ช้างทรงในภาพจำหลักที่ปราสาทบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งไม่ห่างจากสมัยพ่อขุนรามฯ นัก ไม่มีการตกแต่งด้วยระยางเลย แต่จะสวมกะบังหน้าแล้วก็มงกุฎ ฉะนั้นหากจารึกหลักที่ ๑ เขียนในสมัยพ่อขุนรามฯ การตกแต่งช้างทรงก็น่าจะกล่าวถึงกะบังหน้าและมงกุฎ ซึ่งมันรับกับโลกทัศน์สมัยนั้น ไม่ใช้โลกทัศน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ห้อยระยาง

๔. ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร กรมศิลปกากรขุดค้นที่กำแหงเมืองสุโขทัยแล้ววัดกำแพงได้ความยาวดังนี้ กำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร แล้วก็เสนอว่า กำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้น ตรีบูรสามพันสีร้อยวาที่กล่าวในจารึกก็คือ กำแพงเมืองสุโขทัยชั้นนอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้

๕. เป็นจารึกที่แปลกกว่าหลักอื่น ๆ ที่ไม่มีการระบุชื่อชัด ๆ ไม่มีชื่อวัดสักวัดเดียวในจารึกหลักนี้ ทั่วไปแล้วจารึกจะกล่าวถึงวัดอะไรจะบอกชื่อเสมอ ส่วนอรัญญิก หมายถึงนอกเมือง ไม่ได้ระบุชื่อวัดในอรัญญิก

"เมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม" คือผู้เขียนพยายามเขียนให้มันกลาง ๆ อะไรก็ได้ มันก็ถูกทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอะรไรที่จะระบุว่ามันไม่มี

๖. พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระอัฎฐารส หรือพระอจนะ ซึ่งมาจากคำว่า อัจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว ซึ่งยอร์ช เซเดส์ ก็บอกว่าไม่น่าจะหวั่นไหว เพราะก่อด้วยอิฐหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้

๗. รูปแบบและวิธีการเขียนจารึกหลักที่ ๑ มีความเคยชินและมีลักษณะขอยืมมาจากจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น

"จารึกอันหนึ่มีในเมือง...จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำ" ก็มาจากหลักที่ ๓
"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว", "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสีนท่านบ่ใคร่เดือด", "หัวพุ่งหัวรบก็บดีบ่ฆ่าบ่ตี" ก็มาจากหลักที่ ๔

แล้วเมื่อลอกแล้วก็เอาศิลาจารึกเหล่านี้ไปซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ หลักที่ ๓ ไปไว้ที่กำแพงเพชร หลักที่ ๕ ไว้ที่อยุธยา หลักที่ ๒ ไปไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ผู้แต่งจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังดีกว่ากษัตริย์พม่าที่ลอกแล้วทุบทิ้งเลย

๘. คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น

- ตระพังโพยสี ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่ง อ.พิริยะมั่นใจว่าเขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตระพังโพยสี คือการขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ และนิยมสร้างนทีสีมา

- หมากม่วง การเขียนมะม่วงให้เป็นหมากม่วงเป็นการเขียนให้ดูเก่า สมัยสุโขทัยจะเขียนว่าไม้ม่วง ซึ่งคำว่าหมากม่วงนี้ปรากฎใน "นางนพมาศ"

- พุทธศาสนา สมัยสุโขทัยไม่มีการใช้คำว่า พุทธศาสนา แต่จะเรียกว่า ศาสนาพระเจ้า หรือ ศาสนาพระเป็นเจ้า

- พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้แบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ สมัยอยุธยาก็ไม่มี แต่มีใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อนเลย นอกจากนางนพมาศในสมัยรัชการที่ ๓

- ทั้งมากาวลาวแลไทเมืองใต้หล้าฟ้า ในจารึกหลักที่ ๑ บอกว่าพ่อขุนรามฯ เป็นลูกใคร มีประวัติอย่างไร และปกครองชนเผ่าไหนบ้าง คือใช้เผ่าเป็นตัวกำหนด อันเป็นวิธีเขียนแบบเดียวกับพระราชสาสน์ของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงมีถึงประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สำคัญคือ เผ่ากาว คือคนที่อยู่ในภาคบูรพาของอีสานนี้ไม่ใช่โลกทัศน์ของพ่อขุนรามคำแหง

๙. เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเคารพบูชารัชกาลที่ ๔ มาก ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ อภินิหารการประจักษ์ ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที ๓๖ เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐๗ เล่าถึงพระราชประวัติตอนทรงผนวชและเสด็จประพาสเมืองเหนือ แล้วพบศิลาจารึกและพระแท่นมนังคศิลา จนเสด็จขึ้นครองราชย์และตอนท้ายกล่าวถึงความในจารึกโดยสังเขป ตอนที่เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ มีความว่า

"เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัย ถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่งพังลงมาตะแคงอยู่ ที่เหล่านั้นชาวเมืองเขาเครพย์สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี...รับสั่งให้ฉลองลงมาก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมรที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา"

อ.พิริยะชี้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ไม่ได้กล่าวว่าเอาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วย เอามาแต่ ๒ อย่างคือ พระแท่ามนังคศิลากับจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมร แต่ในตอนจบของอภินิหารการประจักษ์ อยู่ ๆ พระองค์ก็รับสั่งว่า หนังสือเสาศิลานี้แก่กว่าหนังสือเสาศิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมร ๖๔ ปี น่าสงสัยต่อมารัชการที่ ๕ ก็รับสั่งว่าจารึกหลักที่ ๑ นี้เอามาคราวเดียวกัน แต่ที่จริงไม่ได้เอามา

๑๐. อ.พิริยะให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ปีเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ นั้น ถ้าอ่านเป็น พ.ศ. ก็เป็นชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหง แต่ถ้าอ่านเป็น ค.ศ. จะเป็นชีวประวัติของรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระองค์โปรดการใช้คริสต์ศักราช เช่น

ค.ศ. ๑๘๓๐ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ขุดลูกนิมิตวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เพื่อปรับเป็นธรรมยุตินิกาย
พ.ศ. ๑๘๓๐ พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุมาบำเรอแล้วฝังที่เดียวกัน
ค.ศ. ๑๘๓๖ รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. ๑๘๓๕ (อาจคลาดเคลื่อนได้ปีสองปี) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ปลูกไม้ตาลได้ ๑๔ ปีจึงฟันพระแท่นมังคศิลาบาตร (รัชกาลที่ ๔ ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรฯ ๑๔ ปีเสด็จขึ้นครองราชย์)
ค.ศ. ๑๘๕๑ รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๘๕๑ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์เช่นกัน

ตอบจบของอภินิหารการประจักษ์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งซึ่ง อ.พิริยะตีความว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแต่งไว้แบบอยากจะพูดเต็มประดาแต่ไม่กล้าพูด จึงเสนอเป็นปริศนาไว้ ดังนี้

ศักราชคิดดั่งนี้ ชอบขยัน
มืดลับชนสามัญ ห่อนแจ้ง
ไทยถือว่าสำคัญ กลเลข
แยบยนต์คนเก่าแกล้ง กล่าวอ้างคนไกล

คนเก่าก็คือรัชกาลที่ ๔ กล่าวอ้างคนไกลไม่ใช่การตรงโดยบังเอิญ ทุกอย่างมีระบบของเขา แต่ละเรื่องรับกันโดยไม่มีความบังเอิญเลย

ก่อนจบ อ.พิริยะได้เฉลยไว้ว่า ทำไมรัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึก หลักที่ ๑

ในสมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชการที่ ๔ ทรงทำจารึกหลักที่ ๑ ก็เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้รับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น

การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริ่งที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อสมัยพ่อขุนรามฯ ไม่เก็บภาษีเลย หรือ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังฎีกาจากพสกนิกร จึงมีการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนรามฯ กับสมัยรัชกาลที่ ๔

รัชกาลที่ ๔ ต้องการจะแยกการนับถือผีออกจากพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง จึงยกเอาพระขพุงผีขึ้นมา แล้วท่านก็สร้างพระสยามเทวาธิราชให้เป็นผีที่ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสยาม

หรือต้องการเปลี่ยนขนบประเพณีของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือ" คือ ลูกเจ้าก็ถือน้ำ ลูกขุนก็ถือน้ำ และพระองค์ก็ทรงถือน้ำด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์สยาม

ไม่ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จะเป็นของจริงหรือของปลอมก็ตาม แต่การถกเถียงกันเรื่องนี้ให้บทเรียนที่ดีว่าก่อนจะนำเอาหลักฐานใด ๆ มาใช้ศึกษาอ้างอิงนั้น ควรจะมีการตรวจสอบว่าหลักฐานชิ้นนั้นเขียนขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้เขียน และมีจุดประสงค์อย่างไร

เพราะสังคมทุกวันนี้สลับซับซ้อนเสียจนแทบไม่รู้ว่า อะไรจริง? อะไรปลอม?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 02:31

 ไมเคิล ไรท์
ศิลปวัฒนธรรม


ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้เขียนบทความ "ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมามองใหม่" ที่ผมชอบมาก ในหน้า ๑๒๙ ท่านลงท้ายว่า

"ผมหวังว่าเรื่องศิลาจารึก หลักที่ ๑ น่าจะมีหน่วยงานไหนสักหน่วยงานหนึ่งออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการพิสูจน์เรื่องนี้ เช่น กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ หรือคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อหาคำตอบให้วงวิชาการในสิ่งที่เรียกว่า สิ่งที่ถูกต้อง (ในเวลานี้) หรือแนวทางที่น่าเชื่อถือได้ ต่อประเด็นปัญหานี้อีกสักครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อยุติ แต่อย่าคลุมเครือหรือสร้างความสับสนอย่างทุกวันนี้"

ผมมิได้เป็น "หน่วยงานไหนหน่วยงานหนึ่ง" ที่ท่านทักทาย, แต่ในฐานะเพียง "ตัวของตัวเอง" ผมขอสนองความต้องการของอาจารย์เทพมนตรีดังนี้ :-

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า งูสองหัวสามารถให้เลขเด็ด? โลกจะอวสานเมื่อศริสต์ศตวรรษครบ ๒,๐๐๐ ปี? ชวลิตสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ? กงเต็กจี๊เป็นเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนได้?์ คลินตันไม่เคยให้โมนิกาอมนกเขา?

หากท่านผู้อ่านเชื่อดังนี้แล้วไซร้, ท่านก็มีสิทธิ์เชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นเอกสารชั้นต้นสมัยสุโขทัย, ไม่ใช่วรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ทำไมปริศนาศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงเงียบเหงาไปช้านาน? ผมจับได้สองประเด็นคือ :-

๑. การวิวาทว่าด้วยศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวจารึก, แต่เป็นการวิวาทว่าด้วย ใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์?์ ใครก็ได้ทุกคนในสังคม? หรือ "หน่วยงานหนึ่งของรัฐ"?

๒. ฝ่ายทิพย์เทวดาบนสรวงสวรรค์ (Angels ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นของรามคำแหง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓) กับพวกภูตผีปีศาจ (Devils ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมรุ่นรัชกาลที่ ๓) ต่างพูดภาษาต่างกันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง และต่างไม่มีเวทีหรือสนามที่พบกันได้อย่างเสมอภาค

แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอได้พยายามจัดเวทีที่สยามสมาคมและธนาคารกรุงเทพ สองฝ่ายก็ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง

ทำไมสองฝ่ายจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง? ก็นอกจากที่พวกเทพกับพวดแทตย์ย่อมพูดกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว, ต่างฝ่ายต่างมีฐานความคิดที่ต่างกันด้วย

ฝ่ายแทตย์ย่อมมองศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็นวรรณกรรมที่ควรได้รับการวิเคราะห์เหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น

ฝ่ายเทพย่อมเห็นศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็น "โองการ" ที่ไม่ควรมีใครวิเคราะห์เป็นอันขาด, เว้นแต่จะวิเคราะห์ตามรัฐเห็นสมควร

แล้วเทพกับแทตย์จะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร?

อย่าให้ผมช้ำ ๆ งานดี ๆ ของท่านอื่นเลย ผมขอเพียงบันทึกประเด็นที่ง่ายที่สุดที่ใครมีความรู้ด้านภารตวิทยามองข้ามไม่ได้, ดังนี้ :-

๑. อักขรวิธี
อักษรไทยเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่มีพยัญชนะครบ ๓๔ ตัวที่จำเป็นในการเขียนภาษาสันสกฤต อักษรไทยจึงสมควรจะเรียกว่า "อักษรคฤนถ์" (ตัวจารพระคัมภีร์) อักขรวิธีสันสกฤตล้วนเขียนสระอิ, อี, อยู่เหนือบรรทัด; สระอุ, อู, อยู่ใต้บรรทัด โบราณท่านที่ไหนจะกล้ายุ่งกับอักขรวิธีศักดิ์สิทธิ์โดยนำสระเหล่านี้เข้าบรรทัด? ใครจะไปรู้ว่าปลาอานนท์จะพลิกคว่ำแผ่นดินไหว? และโบราณท่านจะดึงสระเข้าบรรทัดทำไม? มันช่วยจารใบลานตรงไหน?

มีแต่เจ้าของแท่นพิมพ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เท่านั้น, ที่จะเห็นว่า สระอิ, อี, อุ, อู, เป็นอุปสรรคในการเรียงพิมพ์, จึงมีความจำเป็นต้องดึงสระเหล่านี้เข้าบรรทัด และมีแต่คนหัวก้าวหน้าที่ทรงอำนาจสูงสุด และไม่กลังว่าจักรวาลจะพลิกแพลง, ถึงกล้าจะคิดอักขรวิธีขึ้นใหม่

อักขรวิธีใหม่ที่ปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่เข้ากับวิธีคิดรุ่นรามคำแหงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓, แต่เหมาะสมอย่างยิ่งกับความคิดใหม่ของเจ้านายสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ซื้อแท่านพิมพ์เข้ามา

๒. เรื่องวรรณยุกต์
เป็นที่รู้ ๆ อยู่ว่า ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ (เสียงสามัญ, เอก, โท, ตรี, จัตวา) ต่าง ๆ นานาตามท้องถิ่นและกาลสมัย ส่วนเสียงวรรณยุกต์ "มาตรฐาน" ของกรุงเทพฯ ปัจจุบันน่าจะเป็นของใหม่ที่ผิดเพี้ยนจากกรุงศรีอยุธยา (ที่น่าจะออกเสียงอย่างสุพรรณ)

นอกนี้แล้ว, ใคร ๆ ที่คุ้นกับเอกสารเก่า ๆ ย่อมรู้ว่า การใช้ไม้เอก, ไม้โทเท่าที่มีในสมุด, มักไม่ใช้เสียงตรงกับภาษาไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบันแน่ ๆ

อย่างไรก็ตาม, ในศิลาจารึก หลักที่ ๑, ไม้เอก, ไม้โท, ส่วนใหญ่ใช้ถูกต้องเหมือนในเอกสารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่าชาวสุโขทัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ออกเสียงวรรณยุกต์ตรงกับปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม, ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ พิสูจน์ชัด ๆ ว่าชาวสุโขทัยโบราณมีระบอบออกเสียงเฉพาะของตน

ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร? นักปราชญ์ชาวสุโขทัยที่จารศิลาจารึก หลักที่ ๑ รู้ล่วงหน้าว่า เสียงวรรณยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นอย่างไร? หรือคนแต่งจารึกหลักนี้เป็นชาวกรุงรัตนโกสินทร์ที่ชำนาญคำท้องถิ่นและคำโบราณ, แต่คุ้นหู้กับเสียงพูดสมัยหลัง ๆ ใกล้ปัจจุบัน

๓. เรื่องวรรณกรรม
ปัญหาที่หนักที่สุดและแก้ไขได้ยากที่สุดมิได้เกิดจากฝ่ายภูติผีปีศาจ อย่างผมหรือใครอื่นที่ไม่เชื่อว่าพ่อขุนรามฯ เป็นผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากบรรดาเทพเทวดาชาวฟ้าที่ไม่ยอมรับว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น ท่านเหล่านั้นจึงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชนิดใด

อย่าให้ผมวิเคราะห์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นบรรทัด ๆ ไป ขอสรุปเพียงว่า จารึกหลักนี้มิได้เป็นเอกสารประวัติศาสรต์ (ที่บันทึกเหตุการณ์ในอดีต) หากเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์สำหรับปึจจุบันและอนาคต, หรือ "วรรณกรรมสั่งสอน" (Didactic Literature) ที่มีกันทั่วโลกและมีกันหนาแน่นที่สุดในอินเดียและโลกแห่งพุทธศาสนา, ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสปหรือคัมภีร์ชาตกมาลา

วรรณกรรมสั่งสอนหรือ Didactic Literature มักอ้างถึงอดีตที่ดีงามตามท่านฝัน, แต่ท่านไม่ได้หมายจะสอนประวัติศาสตร์ ท่านหมายจะสอนว่า สังคมและความประพฤติของคนในสังคมควรจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต

เด็กเลี้ยงแกะที่ร้องว่า "หมาป่ามาแล้ว!" ที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนว่าอย่าตื่นเกินขนาด, อย่าโกหกชาวบ้าน พระมหาชนกที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนให้มีความอดทนและต่อสู้กับอุปสรรค

ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ก็เช่นเดียวกัน, มีความมุ่งหมายที่จะสอนอะไรหลายอย่าง, เช่นการใช้อักขรวิธีที่เข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ได้สะดวกในสมัยที่อักษรสยามกำลังทดลองการเรียงพิมพ์เป็นครั้งแรก; เช่นการค้าเสรีที่จำเป็นสำหรับกรุงสยามในเมื่ออังกฤษกำลังบีบให้เปิดประเทศ; เช่นความสำคัญของพุทธศาสนาที่ถูกต้องในขณะที่พระศาสนาเสื่อมและกำลังรับการท้าทายจากคริสต์ศาสนาในประเทศข้างเคียง

ที่สำคัญที่สุดศิลาจารึก หลักที่ ๑ หมายจะสอนสังคมพุทธอันดีเลิศตามฝัน (Ideal Buddhist Society) ที่ทำบุญทำทาน, มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว", มีเสรีภาพในการทำอาชีพและหลวงท่านไม่เบียดเบียน "เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายฯ" และ "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ฯ" มีกฎหมายที่เป็นยุติธรรม "(ใคร) ล้มตาย...เหย้าเรือน...ป่าหมาก ป่าพลู...ไว้แก่ลูกมันสิ้น" และพ่อเมืองย่อมฟังเสียงประชาชน "ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน...จึงแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ ๆ" และ "ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งฯ"

ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีมั้งเศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์, แต่ท่านสอนตามแบบตำรับตำราสมัยใหม่ไม่ได้ ท่านสอนตามประสาท่านด้วยนิทานโบราษ หรือเทพนิยาย ดังมีในนิทานชาดก

ขอชวนท่านผู้อ่านลองฟังเสียงศิลาจารึก หลักที่ ๑ โดยตรง :- (ด้าน ๓ บรรทัดที่ ๑๐ ถึง ๒๗)

"พ่อขุนรามคำแหง...ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้าจึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งกลางไม้ตาลนี้...พ่อขุนรามคำแหง...ขึ้นนั่งเหนือขดานหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง...ขดานหินนี้ชื่อมนังศิลาบาตรสถาบกไว้นี่ จึ่งทั้งหลายเห็น"

กษัตริย์ในอุษาคเนย์ที่มีตัวตนที่ไหนมี, ที่ออกขุนนางกลางป่าตาล? และใครที่ไหนประทับบนแท่นชื่อ มนังศิลาบาตรที่น่าจะแปลว่า "แผ่นหินตามใจนึก"?

เท่าที่ผมสอบได้ กษัตริย์ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีแต่กษัตริย์ในเทพนิยาย เช่น ชาตกมาลา, นิทานปัญจตันตระ, กถาสริตสาคระ และพระอภัยมณี จะเป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่มีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑?

กษัตริย์ที่ออกขุนนางกลางสวนป่า โดยประทับบนแท่นทิพย์สารพัดนึกไม่น่ามีองค์จริง, แต่เป็นพระเอกในเทพนิยาย

ปัญหาของเรามีอยู่ว่า เพื่อนฝ่ายขวา (เทพเทวดาชาวฟ้า) ไม่เข้าใจเรื่องวรรณกรรมโบราณ, ไม่ว่าจะเป็นนิทานสั่งสอน (Didactic Literature) เช่น นิทานชาดก, หรือเทพนิยาย (Fairy Tale) เช่น พระอภัยมณี

ที่ท่านเสนอว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นประวัติศาสตร์จากเหล็กจารใบลานของพ่อขุนรามฯ ก็ไม่ผิดแผกแตกต่างนัก
กับการเสนอว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่พระอภัยมณีท่านประพันธ์ขึ้นมาเอง สุนทรภู่ไม่เกี่ยวหรอก

๔. อีกมิติหนึ่งของปัญหา
ฝ่ายภูตผีปีศาจบางคนเคยเสนอว่า เจ้านายครั้งกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ฝ่ายเทพเทวดาฯ รีบโต้ตอบว่า นี่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ว่าท่านอาจตรัสเท็จ

เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะหากทุกคนเข้าใจวรรณคดีตามหลักสูตรของพวกเทพเทวดาฯ แล้วไซร้, ก็ต้องสรุปว่า นักประพันธ์ทั่วโลกเป็นคนโกหกพกเท็จทั้งสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นสุนทรภู่, Shakespear, Charles Dickens หรือแม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เล่านิทานชาดกสอนสาวก

แต่ฝ่ายภูติผีฯ มักมองวรรณกรรมแบบสากลปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องใส่ความว่าผู้มีจินตนาการ "โกหก" ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เต็มไปด้วยจินตนาการมากมายเกี่ยวกับอดีต (สมัยสุโขทัย) แต่ในขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยความจริงสำหรับสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และปัจจุบัน

ในการดิ้นรนหาความใส่พวกภูติผีฯ, ฝ่ายเทพเทวดาฯ ได้มองข้ามความซื่อจริงในจารึกฯ ที่พวกภูติผีฯ พยายามจับมานานแล้วนั่นคือ "ลายแทง" ที่แจ้งถึงที่มาของข้อมูลในจารึก หลักที่ ๑

๕. ปริศนาลายแทง
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๒๒-๒๕ มีความว่า ด้วยจารึกอีกสามหลักที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ พวกเทพเทวดาฯ ต่างแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร, แต่ภูติผีฯ อย่างผมรู้ว่าเป็นลายแทงหมายถึงศิลาจารึก หลักที่ ๒ (วัดศรีชุม), หลักที่ ๒ (นครชุม) และ หลักที่ ๕ (วัดป่ามะม่วงสุโขทัย, ภาษาไทย, พบใกล้กรุงศรีอยุธยา)

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักประพันธ์ชาวไทยไม่จำเป็นต้องแจ้งที่มาของข้อมูลตามประเพณี นักวิชาการสากลปัจจุบัน, แต่ผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีความซื่อสัตย์ต่อข้อมูลมาก และมีความเคารพต่อผู้อ่านสูงจนท่านอุตส่าห์บอกแหล่งข้อมูลให้ได้ ที่ท่านบอกด้วยรหัสหรือ "ลายแทง" นั้นไม่แแปลก, เพราะโบราณท่านนิยมสื่อสารกันด้วยรหัสที่ผู้รู้ย่อมเข้าใจกันได้ดี

ปัญหามันเกิดภายหลักเมื่อ "ผู้รู้", ทั้งไทยและเทศ, ต่างพยายามอ่านวรรณกรรมแบบโบราณ (จารึก หลักที่ ๑, ตำรานางนพมาศ ฯลฯ) เหมือนกับว่าเป็นงานวิชาการสมัยใหม่ ว่าง่าย ๆ ท่านลืมนิทาน และตีลายแทงไม่ออก

๖. ความผิดอยู่ที่ใคร?
ความผิดที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่เข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ อย่างไขว้เขวนั้น, มิได้เป็นความผิดของผู้หนึ่งผู้ใด, หากเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือบางทีไม่ค่อยมีใครสังเกต

ปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓, ร.๔ มีใจกว้างและมีสายตามองอนาคตได้ไกล. แต่ท่านยังเป็นปัญญาชนแบบโบราณ ท่านจึงแต่งศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้วยวิธีคิดแบบโบราณ, คือใช้จินตนาการว่าด้วยอดีตในอุดมคติ (Imagined Ideal Past) เพื่อสร้างอนาคตอันอุดมที่ปรารถนา (Desired Ideal Future), ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ติไม่ได้

ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้านคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐, เจ้านายสยามเริ่มลืมอดีตที่แท้จริงและยึดถืออดีตที่สมมติขึ้นมาตามอุดมการณ์ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงกลายฐานะจาก "นิทานสอนความดีงาน" (Didactic Literature) มาเป็น "ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง" (Real History)

ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้หลุดหายไปจากจอกประวัติศาสตร์, เพราะชาวบ้านยังคงอยู่ในโลกเก่า, นอกความเจริญที่เจ้านายท่านจินตนาการขึ้น ชาวบ้านเพิ่งกลับมาปรากฏบนจอประวัติศาสตร์หลังวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖

หากจะโทษใครว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศิลาจารึก หลักที่ ๑, ก็เห็นจะต้องโทษนักปราชญ์ฝรั่งที่ควรรู้ดีกว่า, เพราะท่านอยู่นอกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ทำให้ "น้ำขุ่น" สำหรับคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ , George Coedes น่าจะเข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ ได้ดี, แต่ท่านแปลและส่งเสริมหลักที่ ๑ ในฐานะประวัติศาสตร์จริง อย่าลืมว่าท่านเป็นข้าราชการลับของฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งให้ "โอ๋" เจ้านายสยามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองของฝรั่งเศส

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักปราชญ์ชาวอเมริกันได้รับช่วงจาก Coedes, เช่น W. J. Gedney, A. B. Griswald กับ D. K. Wyatt ที่ล้วนใช้หลกที่ ๑ เป็นพื้นฐานในการเขียนงานเรื่องภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลป และประวัติศาสตร์รัฐ ตามลำดับโดยไม่มีความสงสัย แต่แล้วท่านทั้งสามทำงานในยุคสงครามเย็นที่อเมริกาแสวงหาสัมพันธมิตร, สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวา และไม่คิดขัดขวางความคิดล้าหลัง

ผมเชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ ทำขึ้นมาเพื่อสั่งสอนและสร้างสรรค์, ไม่ใช่เพื่อหลอกใคร หรือหากท่านหลายจะหลอกใครก็คงหมายจะหลอกฝรั่ง และหลอกได้ดีชะมัดด้วยซ้ำ!
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 03:19

 โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าจารึกนี้ไม่น่าจะสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง(หรือพญารามราช) อย่างน้อยก็ข้อความหลังจากบรรทัดที่ 18 ในด้านที่ 1 เป็นต้นมา แต่การที่จะสรุปว่าสร้างโดยร.4 นั้น ดูว่าเหตุผลที่นำเสนอโดยอ.พิริยะ ดูจะยังมีข้อที่น่าสงสัยอยู่มาก เพราะจากที่ผมเคยได้อ่าน "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ" ของ อ.พิริยะ มีข้อสังเกตดังนี้

1.อ.พิริยะใช้การศึกษาความสัมพันธ์ (co-relation) ของคำในจารึกหลักที่ 1 กับจารึกและเอกสารอื่น ผมเห็นว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดได้อย่างหนึ่ง แต่การที่ไม่มีการศึกษา co-relation ระหว่างเอกสารอื่นๆด้วยกันเองนั้น ทำให้ขาดเกณฑ์อ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นว่าจารึกหลักนี้ต่างจากหลักอื่นไปอย่างน่าเสียดาย ควรได้มีการศึกษาในแง่นี้ด้วยครับหากต้องการใช้เป็นเหตุผลในการยืนยันสมมติฐาน

2.โดยการศึกษาของอ.พิริยะในเรื่องอายุของศิลปะที่ปรากฎในจารึกหลักที่ 1 ว่าไม่สอดคล้องกับโบราณสถานวัตถุจริงนั้น ผูกติดกับเรื่องการกำหนดอายุของโบราณสถานในสุโขทัยที่อ.พิริยะเคยได้นำเสนอไว้ แต่ก็ยังเป็นข้อโต้แย้งในวงวิชาการอยู่ ดังนั้นการนำมาใช้อ้างอิงในสภาพเช่นนี้คงยังยอมรับได้ยากครับ

3.การอ้างอิงเนื้อหาในจารึกว่าตรงกับเหตุการณ์ในสมัยร.4 ดูเป็นความคาดเดาความสัมพันธ์ในแบบ Conspiracy Theory มากเกินไปครับ คุยกันสนุกๆคงพอได้ แต่หากจะใช้ยกเป็นเหตุผลประกอบสมมติฐานก็คงลำบากเช่นกันครับ

ส่วนเหตุผลของ ศ.ดร.ประเสริฐ ผมว่าสมเหตุสมผลในหลายๆประเด็น(ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้แสดงเหตุผลแย้งข้อสังเกตของอ.พิริยะไว้ทั้งหมดทุกประเด็นก็ตาม) แต่การยึดติดกับผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำขึ้นนั้นผมไม่ใคร่เห็นด้วย แน่ใจหรือครับว่าวิธีที่ใช้เชื่อถือได้ เป็นวิธีที่วงการโบราณคดีใช้อยู่จริงหรือไม่ การยกเอาผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสงสัยนี้เป็นธงนำในการแย้งสมมติฐานของอ.พิริยะ ทำให้น้ำหนักการแย้งอ่อนไปมากอย่างน่าเสียดายครับ

แต่อย่างน้อย ข้อดีของการมีข้อขัดแย้งเรื่องนี้เกิดขึ้นก็คือการที่มีผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ศิลาจารึกที่คนส่วนมากไม่เคยสนใจ ก็มีผู้สนใจมากขึ้น

(ข้อมูลทั้งหมดนี้ผมรวบรวมโดยการตัดแปลจากอินเทอร์เน็ตนี่แหละครับ ออกจะยาวสักหน่อยเพราะรวบรวมจากหลายแหล่ง แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจได้บ้างครับ)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ก.ค. 04, 08:24

 ดิฉันกำลังรองานวิจัยที่ว่านั้นอยู่ค่ะ   กำหนดส่งทางไปรษณีย์มาให้  ยังไม่ถึงมือ
ได้มาเมื่อไรจะอ่าน แล้วลงมือย่อยมาให้ฟังกันง่ายๆอีกที

ศิลาจารึกหลักเดียว ข้อความไม่กี่บรรทัด   เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่าสามารถนำมาศึกษาได้ทั้งในสาขาโบราณคดี ประวัติศาสตร์  รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์
ถ้าหากว่าจับลงไปเฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่ง  เพื่อหาคำตอบในเรื่องความเก่าแก่แท้จริงของศิลาจารึก  อาจจะพลาดไปได้ง่ายๆ
ในเรื่องภาษาศาสตร์   เมื่อนำไปศึกษาทางวิวัฒนาการของภาษาและตัวอักษรไทยแล้ว   ก็จะเห็นภาพขึ้นมาชัดเจนอีกด้านหนึ่ง

ตอนนี้ดิฉันก็กำลังรอเอกสารอยู่ค่ะ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ก.ค. 04, 16:43

 ได้เอกสารมาแล้วค่ะ

หลักฐานทางภาษาของศิลาจารึกหลักที่ ๑  ที่จะเล่านี้  อ้างอิงมาจากตำราชื่อ "วิวัฒนาการของภาษาไทย" ของรศ. ดร. ราตรี ธันวารชร  เป็นการศึกษาคำที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก  ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเขียน เสียง สระ วรรณยุกต์ ของยุคสุโขทัย ว่าแตกต่างจากภาษาไทยกรุงเทพยังไง

ไม่ใช่การโต้แย้งเรื่องอายุของศิลาจารึกโดยตรงก็จริง    แต่การศึกษาวิจัยของอาจารย์ราตรี ก็อาจเป็นคำตอบได้หลายๆอย่างสำหรับผู้สนใจเรื่องนี้
ดิฉันขอทยอยเก็บความมาให้เห็นว่า ภาษาไทยที่จารึกอยู่บนหลักศิลาจารึก นั้น นักภาษาศาสตร์มองเห็นว่าอะไรบ้าง  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 ก.ค. 04, 16:46

 ๑) ผู้เขียนตำราเล่มนี้เห็นว่าตัวอักษรสมัยสุโขทัยมีรูปสัณฐานค่อนข้างเหลี่ยมมากกว่าตัวอักษรปัจจุบัน
ลักษณะนี้อาจเป็นเพราะผู้จารึกนำอักษรหวัดของขอม ซึ่งมีรูปสัณฐานค่อนข้างเหลี่ยมมาก  และมีเส้นผมบนตัวอักษร(เรียกว่าหนามเตย) มาดัดแปลงเป็นตัวอักษรไทย  โดยยกเลิกหนามเตยเสีย ให้เขียนอ่านง่ายขึ้น
๒) ด้านอักขรวิธี คือวิธีเขียนตัวอักษร ไม่เหมือนปัจจุบัน    ในศิลาจารึก การเขียนพยัญชนะเมื่อประสมกับสระ จะเขียนเชื่อมกัน  แต่ถ้ามีตัวสะกดจะเขียนแยกไปให้เห็นชัด  
ผิดกับการเขียนในภาษาไทยกรุงเทพซึ่งการเขียนพยัญชนะเมื่อประสมกับสระจะไม่เขียนเชื่อมต่อกัน  ถ้ามีตัวสะกดก็เขียนเรียงไปตามปกติ
๓)ในศิลาจารึก ถ้าพยัญชนะสองตัวใดเป็นพยัญชนะควบ จะนำมาเขียนชิดกัน  ถ้ามีวรรณยุกต์เอกหรือโทจะเขียนไว้บนพยัญชนะตัวแรก  เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นพยัญชนะตัวควบ
ลักษณะการเขียนพยัญชนะสองตัวชิดกันเพื่อแสดงว่าเป็นตัวควบ  ทำไมถึงทำเช่นนั้น   อาจารย์ราตรีให้คำตอบว่า เมื่อศึกษาภาษาถิ่นต่างๆนอกประเทศเช่นภาษาไทยลื้อ ไทยขาว จะพบว่าการเขียนหรือการจารึกดังกล่าวสื่อไปถึงเสียงจริงๆ ที่พบในภาษาไทยถิ่นต่างๆ  
ส่วนภาษาไทยกรุงเทพ ถ้าพยัญชนะควบ จะเขียนเรียงตามกันเป็นปกติ   ถ้ามีวรรณยุกต์จะเขียนเครื่องหมายไว้บนพยัญชนะตัวที่สอง ไม่ใช่ตัวแรกอย่างในศิลาจารึก
๔) ศิลาจารึกหลักที่ ๑  ไม่มีไม้ผัดหรือไม้หันอากาศ  แต่ใช้พยัญชนะตัวสะกดเขียนซ้ำกันสองตัว  อย่าง อนน   แทน อัน    แต่ภาษาไทยกรุงเทพ   ใช้ ไม้ผัดหรือไม้หันอากาศกันทั่วไป
ไม้หันอากาศเพิ่งมาพบในจารึกสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหง

อาจารย์ราตรี ระบุไว้ในอีกตอนหนึ่งว่า
ในคำยืมจากภาษาเขมรและบาลีสันสกฤต   การเขียนสมัยสุโขทัยจะเขียนตาม"เสียง"ของภาษาเขมรบ้าง  แต่ส่วนใหญ่จะรับ"รูปจากภาษาเขมร"มาเขียน  
ส่วนปัจจุบันหันกลับไปเขียนรูปตามภาษาเดิมที่รับ คือถ้ารับจากบาลีสันสกฤตก็เขียนรูปเหมือนบาลีสันสกฤต   ถ้ายืมจากเขมรจะเขียนตามรูปศัพท์เดิม  หรือเขียนเหมือนอักขรวิธีไทย  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง