เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 87976 จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 08:37

 เรื่องวรรณยุกต์ที่คุณ CH เอ่ยถึง   อ.ราตรีได้อธิบายไว้ ว่า
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีรูปวรรณยุกต์ ๒ ตัว ตรงกับภาษาไทยปัจจุบันก็จริง   แต่ "เสียง"ของวรรณยุกต์สมัยสุโขทัยไม่ตรงกับเสียงของปัจจุบัน   เรียกว่าการออกเสียงสูงต่ำผิดกัน

เสียงสามัญสมัยสุโขทัย  ปัจจุบันออกเสียงเป็นวรรณยุกต์เอกก็มี  เสียงวรรณยุกต์โทก็มีได้อีกเหมือนกัน  
เช่นคำว่า ฏ (ต่อ) ปัจจุบันออกเสียงเอกว่า ต่อ
ที   ปัจจุบันออกเสียงว่า ที่  
ลนน(ลัน) เราออกเสียงว่า ลั่น แปลว่าดัง  อย่างในประโยคว่า ฟ้าลั่นครืน หรือไม้กระดานลั่นเอี๊ยดๆ
พระเจ้าฟ้าลั่น  ก็คือฟ้าร้อง นั่นเอง

เสียงเอกสมัยสุโขทัย  มาถึงปัจจุบันเราออกเสียงเป็นเสียงโท   คือ ก่ (ก่อ) เราออกเสียงว่า ก็ (ก้อ)

เสียงในสมัยสุโขทัยยังพบร่องรอยการออกเสียงแบบเดิมหรือใกล้เคียงของเดิมอยู่ในภาษาถิ่นต่างๆ ทางเหนือ และอีสาน    ไม่ใช่เสียงซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากการประดิษฐ์ขึ้นมาโดยใครคนใดคนหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งคือการเขียนรูปวรรณยุกต์  สุโขทัยเขียนคนละอย่างกับกรุงเทพ    ไม้จัตวาของสุโขทัย  ตรงกับไม้โทในปัจจุบันก็มี  อย่างในคำว่า สิ๋น  สมัยนี้คือ สิ้น


ดิฉันไม่ค่อยจะติดใจสงสัยตัววรรณยุกต์ว่าทำไมมันถึงเหมือนของกรุงเทพ  เพราะถือว่ามันต่อเนื่องวิวัฒนาการมาได้   ไม่จำเป็นว่าเป็นการชี้ว่านี่ไง มีใครสักคนดัดแปลงจากสมัยกรุงเทพ เพราะกรุงเทพมีวรรณยุกต์ตรงกัน
เลขไทยเองก็มีเลข ๐  ซึ่งเป็นวงกลม  แบบเดียวกับ เลข 0 ของฝรั่ง  เลข ๓ ของไทยถ้าจับตะแคงให้นั่ง ก็คล้ายเลข 3    แต่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามีคนไทยคนใดคนหนึ่งประดิษฐ์เลขเหล่านี้ขึ้นมาจากการเห็นเลขฝรั่งเลยเอาอย่าง     มันอาจจะสืบเนื่องมาจากไหนก็ได้ด้วยเหตุผลอื่นๆอีกร้อยแปด

แล้วเรื่องไม่ตรงกัน ที่เสียงล่ะคะ จะอธิบายว่ายังไง
นักภาษาศาสตร์อธิบายว่าการกลายเสียง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในวิวัฒนาการของภาษา  ในถิ่นที่มีการติดต่อกับวัฒนธรรมอื่นๆหลายอย่างและเป็นสังคมเปิด อย่างในเมืองหลวงของอาณาจักร  การกลายทั้งเสียงและความหมายในคำต่างๆเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในสังคมเล็กและปิด อย่างในสังคมท้องถิ่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 09:04

 ต่อไปจะพูดเรื่องทางด้านคำบ้างนะคะ

คำในศิลาจารึกมีลักษณะเฉพาะที่ไม่พบในกรุงเทพ หลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือเอาลักษณะนาม( เช่นตัว ตน อัน )ไว้ข้างหน้าคำนาม    ส่วนกรุงเทพเอาไว้ข้างหลังคำนาม    เห็นชัดเมื่อเมื่อนับจำนวน

เราพูดว่า หมา ๑ ตัว   หรือ รถคันหน้า  

แต่สุโขทัย ใช้ ตัวปลา ไม่ใช่ ปลาตัวนั้น  

การใช้ลักษณะนามประกอบสรรพนามก็เช่นกัน  เช่น ตนกู   เป็นการย้ำถึงสรรพนามบุรุษที่ ๑ บวกลักษณะนาม (ซึ่งเอาไว้ข้างหน้า)

การใช้ลักษณะนามนำหน้ายังมีให้เห็นอยู่ในภาษาถิ่น เช่นไทยนุง ไทยขาว ไทยย้อย

การที่ภาษาไทยถิ่นต่างๆมีคำลักษณะนามนำอยู่ข้างหน้าคำนาม  เช่นเดียวกับภาษาสุโขทัย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าแต่เดิม ในภาษาไทย  คำลักษณะนามมีทั้ง"ข้างหน้า" หรือ "ข้างหลัง" คำนาม ทั้งสองแบบ

ในอยุธยา สมัยพระนารายณ์ ลักษณะนามที่นำหน้าคำนามก็ยังมีให้เห็นในสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่ว่า
" ตนกูจะตายก็ตายแต่ผู้เดียวใครจะแลดู   โอ้แก้วกับตนกู  ฤๅเห็น"

แต่ต่อมาลักษณะนามที่อยู่ข้างหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำนามไป  อย่าง กิ่งไม้    หัวหอม  เมื่อก่อนนี้กิ่งเป็นลักษณะนามของไม้  หัวเป็นลักษณะนามของ หอม  
คงจะเห็นร่องรอยได้จาก เราพูดว่า เก็บกิ่งไม้ 2 กิ่ง  หรือหยิบหัวหอมมา 1 หัว ซิ     กิ่ง กับ หัว นี่ละค่ะเดิมเป็นลักษณะนามที่เอาไว้ข้างหน้า
เมื่อมันกลายไปแบบนี้  นานๆเข้า ก็เหลือลักษณะนามให้เห็นชัดแบบเดียวคือชนิดเอาไว้ข้างหลัง  

ในสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น    ไม่ใช้ลักษณะนามข้างหน้าอีกแล้ว   เหลือเฉพาะข้างหลังคำนาม  
นอกจากนี้สุโขทัยยังมีลักษณะนามแบบโบราณ ใช้เฉพาะสมัยสุโขทัย  เช่นคำว่า  ขอก (ข้าง) คลวง (ชั้น)  ในอยุธยาและรัตนโกสินทร์ไม่มีแล้ว

คำที่ความหมายเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างตรงกันข้าม
คำว่า "แพ้"
ขอให้เปรียบเทียบคำว่า "แพ้" ใน ๒ เรื่อง
๑) จากรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑  พระอิศวรประทานคทาเพชรให้ยักษ์อสุนพรหม
จึ่งประทานคทาเพชรเรืองฤทธิ์........แล้วประสิทธิ์พรให้แก่ยักษา
จงเป็นใหญ่ทั้งไตรโลกา...................อย่าแพ้ฤทธาผู้ใด
แปลว่า ให้พรว่าจงเป็นใหญ่  ไม่แพ้ใคร คือไม่มีใครเอาชนะยักษ์ได้
๒)ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีประโยคว่า
"ตนกูพู่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้   ขุนสามชนพ่ายหนี"
แปลว่า กูชนช้างชนะช้างชื่อมาสเมืองของขุนสามชน  ขุนสามชนเป็นฝ่ายแพ้ ต้องขับช้างหนี

สุโขทัยใช้คำว่า "แพ้ " ในความหมายว่า "ชนะ " ส่วนคำที่หมายความว่า"แพ้"  สุโขทัยใช้ " พ่าย"  

คำว่าพ่าย ในความหมายว่าแพ้ คำนี้ใช้สืบเนื่องมาถึงอยุธยาตอนต้น  ดังจากวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย   ถ้าเขียนว่า ลิลิตยวนแพ้  ก็แปลว่ายวนเป็นฝ่ายชนะ  

แต่พอล่วงมาถึงรัตนโกสินทร์   คำว่า "แพ้ " เปลี่ยนจากความหมายจากเดิมไปตรงกันข้ามหมดแล้ว   "แพ้" ไม่ได้แปลว่า"ชนะ" อีกต่อไป แต่หมายถึง"พ่ายแพ้" ใช้กันทั่วไปอย่างในรามเกียรติ์ที่ยกมา

เมื่อสอบเทียบกับภาษาถิ่นดั้งเดิม  คำว่า แพ้ ในความหมายว่า ชนะ  เป็นคำที่มีมาดั้งเดิม ก่อน แพ้ ในความหมายว่า พ่ายแพ้  
พบในภาษาทางเหนือเช่นเชียงใหม่  ไทยลื้อ ไทยดำและไทยขาว

อีกคำคือ แกล้ง
พจนานุกรมให้ความหมายคำว่าแกล้ง ว่า "แสร้ง  จงใจทำผิดความคาดหมาย   ไม่ทำจริง   ทำให้ขัดความประสงค์"
นายสมศักดิ์แกล้งทำเป็นกลัวภรรยา  หมายความว่าไม่ได้กลัวจริง  

แต่ในภาษาดั้งเดิม   แกล้ง แปลว่าบรรจงทำ ตั้งใจทำ    แกล้งแต่ง หมายถึงจงใจตกแต่งประดับประดา(อย่างพิถีพิถัน)  
เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  คำนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความหมายตรงกันข้ามแล้ว อย่างที่เรารู้จักกัน
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 11:48

 อ.เทาฯขยันจริง อุตสาห์หาข้อมูลมาให้อ่านอย่างจุใจเชียว

วิธีมองประวัติศาสตร์ไทยจนถึงปัจจุบันหลายๆอย่าง ทำให้ผมสงสัยในความเป็นกลางของผู้ศึกษาหลายๆท่าน  เพราะดูจะจงใจหาคำอธิบายให้กระจอกไปได้ทุกอย่าง  ดูราวกับว่าเป็นอนันตริยกรรม หากผู้ใดจะออกมาบอกว่าไทยโบราณก็ยิ่งใหญ่ไม่เบานะจ๊ะ

อย่างเรื่องอักษรขอมก็บอกว่าเป็นของเขมรโบราณ และไทยเคยเป็นทาสขอมมานานจึงรับวัฒนธรรมของขอมมา และดัดแปลงอักษรขอมมาใช้เป็นอักษรไทย

พอจะบอกว่าถ้าอย่างนั้น สุโขทัยเคยยิ่งใหญ่มีอาณาเขตจรดภาคเหนือของเวียดนาม รามัญประเทศ และตลอดแหลมมาลายู ลายสือไทยุคสุโขทัยจึงเป็นต้นกำเนิดแห่งอักษรไทยหลายๆแขนง  ก็มีนักวิชาการยุคปัจจุบันออกมาคัดค้านอีกว่าสุโขทัยเป็นเพียงรัฐเล็กๆ

หรือกลายเป็นค่านิยมไปแล้วว่า  ยิ่งเหยียบย่ำความเจริญ ความเรืองอำนาจ และความดีของบรรพบุรุษไทยลงได้เท่าใด  ก็จะทำให้นักวิชาการผู้นั้นได้รับชื่อเสียง ได้รับการยกย่องเชิดชูว่ามีใจเป็นกลาง เป็นปรมาจารย์ที่สมควรกราบไหว้บูชา

คนเราย่อมมีพ่อมีแม่ มิใช่จะเกิดจากกระบอกไม้ใผ่  เมื่อมีกษัตริย์อย่างพ่อขุนผาเมืองที่ผีฟ้าแห่งยโสธรปุระต้องเอาใจขนาดยกพระธิดาให้อภิเษก และทูลเกล้าถวายพระขรรค์ชัยศรี

หรือกษัตริย์อย่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ส่งกองทัพไปกำหราบกัมโพชเพราะ"ขอมแปรพักตร์" ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่น ทรงอำนาจอันน่าเกรงขามมาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ

หรือหลักฐานจากบันทึกของราชสำนักจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 แสดงการตั้งอยู่ของราชอาณาจักรไทยมาไม่น้อยกว่า 1300 ปีมาแล้ว

หรือความมั่นคงทางวัฒนธรรมและภาษาที่ยังคงปรากฎในกลุ่มชนที่กระจายตัวอยู่เกินร้อยล้านชีวิตอย่างกว้างขวางถึง 6 ประเทศ

เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนบ่งชี้ถึงความมีอะไรในก่อไผ่มากกว่าทฤษฎี "ไทยกระจอก"ต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับและเผยแพร่อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

แน่นอนที่ยังไม่พบหลักฐานอันประเภทชัดแจ๋วเป็นที่ยอมรับ (แล้วกลับมาไม่ยอมรับ)อย่างศิลาจารึก ย้อนกลับไปได้ไกลนัก  ด้วยประการหนึ่งเพราะภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้นที่สามารถทำให้วัตถุต่างๆเสื่อมสภาพได้เร็ว  อีกประการหนึ่งคือสภาพสังคมในยุคสงครามเวียดนามที่แม้แต่ทับหลังหนักเป็นตันยังถูกงุบงิบนำออกนอกประเทศได้  แล้วที่เล็กกว่านั้นจะเหลือหรือ  หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่ถูกนำออกไปอย่างไม่หวนคืนคงมีจำนวนนับไม่ถ้วน

ผมคงได้แต่บ่น และหวังให้มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆที่กล้าหาญ ไม่ถูกกระแสในแวดวงวิชาการปัจจุบันชี้นำ ช่วยกันปะติดปะต่อ ค้นคว้าด้วยใจเป็นกลางอย่างแท้จริง เปิดเผยซึ่งปริศนารากเหง้าของบรรพบุรุษไทยที่ให้เป็นที่ยอมรับอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ในอนาคตอันใกล้นี้
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 12:18

 จะว่าไปแล้วการเปรียบเทียบจารึกหลักที่ 1 กับภาษาไทยปัจจุบัน ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใดเลยครับ เพราะความเหมือนไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ อย่างน้อยก็ไม่ใช่

เรื่องที่ใครจะหยิบยกขึ้นมาว่าของทำในสมัยหลัง เพียงเหตุผลที่ว่ามีส่วนเเหมือน"ของใหม่"

ปัญหาคือว่าเมื่อยกเอาจารึกหลักอื่นๆในสมัยใกล้เคียงกันมาเทียบ จารึกหลักที่ 1 มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากหลักอื่นจริงๆ

อย่างเรื่องวรรณยุกต์ ผมว่าจะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าวรรณยุกต์ที่จารึกพ่อขุนรามใช้จะมาเหมือนวรรณยุกต์ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ที่แปลกใจคือว่าจารึกหลักอื่นๆ

ในยุคเดียวกัน มีการใช้วรรณยุกต์ เอก และโท(+) ที่สับสนมาก เทียบแล้วจารึกหลักที่ 1 นั้น "สะอาด" มากทีเดียว ลักษณะการใช้วรรณยุกต์อย่างสับสนนี้

เป็นมาโดยตลอด และมาคลี่คลายเป็นระบบชัดเจนอย่างที่พบในหลักที่ 1 ในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง

ความคิดเห็นในประเด็นนี้ของนักวิชาการผมพอสรุปได้คร่าวๆอย่างนี้
1.ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นฉบับพ่อขุนรามฯ original มีความเห็นว่าพ่อขุนรามทรงสร้างระบบที่ดีไว้ แต่เสื่อมลงในสมัยต่อมา (และเจริญขึ้นมาอีกครั้งในรัตน

โกสินทร์ - อันนี้ผมเติมเอง)
2.ฝ่ายที่เชื่อว่าร.4 ทรงประดิษฐ์ ก็ว่า "นี่ไง ของใหม่แท้ๆ"
3.ผมเคยได้ยินอ.ศรีศักรซึ่งเป็นฝ่ายที่เชื่อว่าทำในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไทท่านบอกว่า "ผมไม่มีความรู้ด้านภาษา ดังนั้นผมจะดูที่เนื้อหา"
ก็ถือว่าแตกต่างกันไปตามความความคิดเห็นของแต่ละท่านครับ

ส่วนของเนื้อหานั้น หากเปรียบเทียบหลักที่ 1 กับหลักอื่นๆ ก็จะพบลักษณะที่แตกต่างอีกเช่นกัน ในขณะที่จารึกหลักอื่นๆพูดถึงแต่การบุญการสบถเป็นหลัก

จารึกหลักที่ 1 เล่าประวัติครอบครัว เล่าภูมิทัศน์ในเมือง(โดยไม่มีการบอกชื่อสถานที่) เล่าเรื่องนโยบายของพ่อขุนผู้ปกครอง เล่าเรื่องการประดิษฐ์อักษรไทย(ทั้งนี้ ความเรื่องพระร่วงสร้างอักษรไทยในจินดามณีที่อ.ประเสริฐกล่าวถึงนั้น ในบรรดาจินดามณีร้อยกว่าฉบับที่พบนั้น พบฉบับที่มีความตอนนี้อยู่เพียง 4 ฉบับซึ่งรวมถึงฉบับที่อ.ขจรพบที่ลอนดอนด้วย จึงเรียกกันว่าจินดามณีฉบับ"ความแปลก"ครับ) เห็นได้ว่าจารึกหลักที่ 1 นั้นไม่เหมือนใครในแง่คติการสร้างจารึก ดังนั้นหากหลักที่ 1 สร้างในสมัยสุโขทัย ก็แปลว่าผู้สร้างที่มีความคิดอ่าน"แตกต่าง"จากบุคคลทั่วไปในยุคเดียวกัน ซึ่งผมว่าก็ยังไม่น่าจะด่วนสรุปว่าเป็นไปไม่ได้เช่นกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 12:23

 ลองคิดดูแล้ว การเกิดของการเขียนภาษาไทยในชั้นแรกนั้น เป็นไปได้ 2 อย่าง
1.มีวีรบุรุษทางวัฒนธรรม(เช่นพ่อขุนรามคำแหง)เป็นผู้สร้างขึ้น
2.มีผู้ดัดแปลงขึ้นใช้ตามความจำเป็นหลายคน และค่อยๆวิวัฒน์ขึ้นตามลำดับ หยิบยืมเอาข้อดี หรือที่คนนิยมมาใช้กันจนรวมเป็นกระแสเดียวได้ในที่สุด

ผมไม่ค่อยเชื่อแนวความคิดแรก ด้วยเหตุที่ว่า จารึกสมัยหลังๆไม่ได้ยึดแนวทางของหลักที่ 1 ทั้งหมด ทั้งๆที่จารึกสมัยพญาลิไททิ้งช่วงไม่กี่สิบปี

ลองคิดดูในแง่การใช้งานจริงแล้ว ในตอนที่คนไทยยังไม่มีวัฒนธรรมการเขียนนั้น เมื่อได้พบกับกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับเอาศาสนามาแล้ว การเขียนในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเขียนอันเนื่องในการศาสนาซึ่งอาศัยภาษาเดิม อักขระเดิมของขอมมาใช้ในขั้นต้น น่าจะมีใครสักคนที่จะพยายามเอาอักขระนั้นมาเขียนความภาษาไทยบ้าง

ผมข้องใจอยู่ว่า "มีใครเคยพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมที่มีอายุเก่าแก่กว่าจารึกหลักที่ 1 หรือไม่?" จารึกที่แสดงว่าคนไทยมีการนำเอาอักษรขอมมาใช้เขียนไทยในชั้นต้น ผมยังหาไม่เจอ แต่ที่แน่ๆมีการใช้อักษรขอมและมอญมาเขียนไทยในสมัยหลังๆอย่างแน่นอน

ผมเคยอ่านบทความของไมเคิล ไรท์เรื่องหนึ่งที่พูดถึงความแปลกของวิวัฒนาการของอักษรไทย โดยตั้งข้อสังเกตว่าอักษรในจารึกหลักที่ 1 ไม่อยู่ในแถวของวิวัฒนาการนี้ โดยยกตัวอักษร ก เป็นตัวอย่าง

ในเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยฯมีฐานข้อมูลของจารึกอยู่ ลองเข้าไปดูได้ที่ www.sac.or.th ลิงก์จะอยู่ด้านล่างสุดเลยครับ ในนั้นมีตารางเทียบอักษรที่พบในจารึกในยุคต่างๆอยู่

ในส่วนของจารึกสมัยสุโขทัย แสดงตัวอักษร ก อยู่ 3 แบบ แบบแรกเป็นเหมือนจารึกหลัก 1 อีกสองแบบคล้ายกัน มัลักษณะเดียวกับที่ไมเคิล ไรท์ยกตัวอย่างไว้ในบทความ ปัญหาคือว่า แบบตัวอักษร ก แบบแรกนั้น เคยพบในจารึกหลักอื่นๆในสมัยสุโขทัยหรือไม่? หากไม่เคย แสดงว่าอักษร ก แบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของจารึกหลักที่ 1 (ลองเปรียบเทียบอักษร ก ของขอมและมอญในยุคเดียวกันดูสิครับ)

ตอนนี้ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า จารึกหลักที่ 1 เป็นแค่หนึ่งในซอยตันของการพัฒนาอักขรวิธีของไทยในยุคแรก

และถ้าหากไม่เคยมีใครพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมที่มีอายุเก่าแก่กว่าจารึกหลักที่ 1 เลย เราจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไรดี?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 13:36

 ไชโย ผมไม่โดดเดี่ยวแล้ว อย่างน้อยก็มีมุมมองเรื่องซอยตันเหมือนคุณอาชาผยอง  อย่างนี้ผมต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อไอ้ลาบ้า ท่าจะเข้าที แล้วช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ฉบับแพะชนแกะให้สมบูรณ์

บางทีการมองทีละส่วน หรือตั้งทฤษฎีทีละส่วน อาจไม่ใช่วิธีที่ถูก เราน่าตั้งทฤษฎีประกอบด้วยชิ้นส่วนทุกชิ้นที่มีขึ้นมาทั้งภาพ ให้เกิดความลงตัวไปพร้อมๆกัน

ซึ่งก็ต้องมี model ของยุคก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานชัดเจน(ก่อนยุคสุโขทัย) อันใช่ว่าจะไม่มีร่องรอยอะไรเลย  เรายังมีบันทึกของจีน  บันทึกของนักเดินเรือชาวอาหรับ  บันทึกของสิงหล  บันทึกของโจฬะ ตลอดจนโบราณวัตถุและโบราณสถานมากมาย  ตลอดจนตำนานและนิยายท้องถิ่นมากมาย  ที่แต่เดิมมามีการตั้งทฤษฎีไว้อย่างที่รู้เห็น ร่ำเรียนกันมา ปรากฎในตำราต่างๆ  ทั้งๆที่มีความไม่ลงตัว ก่อให้เกิดคำถามมากมายมานานจนบางทีเราก็เกิดความเคยชิน และดูเหมือนจะยอมรับโดยไม่พยายามดิ้นรนหาคำตอบต่อไป  หากกลับมามุ่งเน้นสร้างทฤษฎี"ไทยกระจอก"ต่างๆให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าเราจะได้คำตอบอีกมาก หากเรากลับมาพิจารณาและให้ความสำคัญคัมภีร์ทางศาสนา ตำนาน นิทานพื้นบ้าน เช่น สิงหนวัติ ปู่จ้าวลาวจก พระเจ้าพรหม เรื่องเมืองปา พระร่วงลูกนางนาค ศึกสามเมือง(ละโว้-นครศรีฯ-หริภุญชัย) เป็นต้น ประกอบบันทึกและหลักฐานทางโบราณคดี เช่นยุคทวารวดี ศรีวิชัย ไปจนถึงสุวรรณภูมิ ของทั้งในและนอกประเทศ

และขอย้ำว่า ต้องมองด้วยมุมมองที่เป็นกลางกว่านักวิชาการรุ่นที่ผ่านมา  อย่าท่องตามอาจารย์ว่าพระเจ้าพรหมไม่มีจริง  หรือใช้คาถาที่ถูกเป่ากระหม่อมมาว่าคัมภีร์ทางศาสนาเชื่อไม่ได้ โดยเหล่าศาสตราจารย์ผู้แม้ศีลห้าก็รักษาได้ไม่ครบ

เพื่อบางทีในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้รู้ชัดถึงรากเหง้าย้อนกลับไปได้ไม่น้อยกว่าต้นพุทธกาลก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 17:15

 คุณ CH ลองไปหาอ่านเกี่ยวกับจารึกวัดศรีชุม   และอักษรอาหม ดีไหมคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 18:47

 จารึกวัดศรีชุม หากคุณเทาชมพูหมายถึงจารึกหลักที่ 2 ที่พบในอุโมงค์วัดศรีชุม ผมเคยได้อ่านมาหลายครั้งแล้วเหมือนกันครับ จนใจที่ในประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๑ นั้น ตีพิมพ์ตัวจารึกไว้เล็กมาก ไม่สามารถอ่านอักษรบนจารึกได้โดยตรง ได้อ่านแต่เพียงที่ปริวรรตเป็นอักษรไทยปัจจุบันแล้ว จึงไม่สามารถศึกษารูปอักษรได้ แต่จากที่ได้อ่าน จารึกหลักนี้ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้วรรณยุกต์อย่างไม่เคร่งครัด ซึ่งต่างจากหลักที่ 1 มากครับ ทั้งๆที่มีอายุห่างกันไม่กี่สิบปีเท่านั้น ยิ่งเรื่องภาษาที่ใช้ยิ่งแล้วไปใหญ่เลยครับ บางตอนอ่านแทบไม่รู้เรื่องเลยครับ ในขณะที่หลัก ๑ ค่อนข้างจะอ่านง่ายกว่ามากทีเดียว

ส่วนอักษรไทยอาหมผมยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหน้าตาเลยครับ

คุณเทาชมพูพอจะชี้แนะเพิ่มเติมได้บ้างไหมครับ

จริงๆแล้ว ถ้าจะให้ดีสงสัยต้องไปดูจารึกตัวจริงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสักทีครับ พูดถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ขอบ่นหน่อยครับ รู้สึกอเน็จอนาถมากครับ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงปล่อยปละละเลยได้ถึงเพียงนี้ ผมไปทีไรรู้สึกแย่ทุกที ปกติแล้วนักท่องเที่ยวแบบที่สนใจศึกษาประเทศ เขามักไม่ค่อยพลาดพิพิธภัณฑ์หรอกครับ แต่เข้ามาดูของเรา ผมนึกไม่ออกว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร รายพระนามพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ของอยุธยา ถูกเขียนด้วยสีน้ำมันบนผนังไม้อัดที่ใช้กั้นห้องให้เป็นสัดส่วน... ไม่รู้จะพูดยังไงดี ผมไม่คิดว่าเราจะต้องมาเน้นความหรูหรา แต่ว่าที่เป็นอยู่มันเกินไปจริงๆ รัฐบาลน่าจะจัดงบลงไปให้อีกสัก"เล็กน้อย"ก็ยังดีนะครับ อันนี้พูดจากที่เห็นล่าสุดเมื่อสัก 2-3 ปีมาแล้ว หากได้ปรับปรุงแล้วก็ขอโทษด้วยแล้วกันนะครับ

สำหรับเรื่องตำนานนั้น ผมว่ามีผู้ศึกษาอยู่ไม่น้อยนะครับ อย่างคำว่าพระธมที่ปรากฎในจารึกหลักที่ 2 ไมเคิล ไรท์เสนอว่าเป็นพระปฐมเจดีย์ ซึ่งสมมติฐานนี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งผมว่าก็เพราะมีตำนานมหาเถรไหล่ลายที่สอดคล้องกับเรื่องราวในจารึกหลักที่ 2 มาช่วยสนับสนุนสมมติฐานนะครับ ปัญหาของการใช้ตำนานมาเป็นหลักฐานอยู่ที่ว่า ตัวตำนานเองไม่ใช่หลักฐานที่เคร่งครัดนัก การนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังมากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 26 ก.ค. 04, 22:46

 เจอแล้วครับ บทความของอ.ชัชวาล บุญปัน

จาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 04

ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อสงสัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

"เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประวัติการค้นพบ และการเก็บรักษาศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในสมัยรัชกาลที่ ๔..."

ข้างต้นนี้คือ บทสรุปของงานวิจัยเรื่อง "การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์" ที่นักวิทยาศาสตร์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากกองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่มีมานานหลายทศวรรษแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยใดกันแน่

บทความทางวิชาการดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๘๗-๑๐๓ หลังจากเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผมจำได้ว่า หลังจากนั้นไม่นาน มีการเชิญวิทยากรมานำเสนอผลงานวิจัยนี้ ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนฟังเต็มห้องประชุมทีเดียว ผมมีโอกาสไปฟังการบรรยาย และเห็นคล้อยตามว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น มีนักวิชาการบางท่านลุกขึ้นกล่าวขอบคุณผู้วิจัยว่า ได้ช่วยคลี่คลายปมปัญหาที่คาใจแก่วงวิชาการด้านนี้มาเป็นเวลานานให้ลุล่วงไปได้

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้คราใด ก็มักจะมีข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยกผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง ว่าได้พิสูจน์ไว้แล้ว ดูเหมือนว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์จะจบแล้ว แน่นอนแล้ว ชัดเจน ไม่มีอะไรจะต้องมาเถียงกันอีก บางท่านก็ถึงกับบอกว่า การตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ ระวังจะกลายเป็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของทั้งพ่อขุนรามคำแหง และรัชกาลที่ ๔ เอาเลยทีเดียว

เรื่องนี้ กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็น "มรดกแห่งความทรงจำโลก" มีข้อโต้แย้งถกเถียงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า เหตุผลจากการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาอ้างอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครร่วมถกในประเด็นนี้ด้วย

ผมเพิ่งมาสนใจเอาเมื่อเกิดกรณีมรดกแห่งความทรงจำโลกนี้เอง ว่าประเด็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? พยายามตามหางานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้จากบทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรดังกล่าวเพียงบทความเดียว ดังนั้นข้อสงสัยทั้งหมดของผม จะอิงจากผลการพิสูจน์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๔ ฉบับนี้ เป็นหลัก

หลังจากที่ได้ศึกษางานวิจัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผมพอจะจับประเด็นต่างๆ ได้แล้ว ผมพบว่าจริงๆ แล้วการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังมิได้จบดังที่เข้าใจกัน คือเข้าใจว่า พิสูจน์ได้แล้วว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้าง แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น ขอให้ดูบทสรุปประโยคต่อจากที่ยกมาข้างบน

"แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะเป็นการยืนยันว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยสุโขทัยก็ได้"

หมายความว่า ผลการพิสูจน์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้เอง ใครที่เอาผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไปอ้างว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหง จึงไม่ตรงกับข้อสรุปของการพิสูจน์ดังกล่าว

จากนั้นผู้วิจัยระบุต่อไปจนจบข้อสรุปว่า

"การศึกษาวิจัยด้วยวิธีนี้ มิได้เป็นการกำหนดอายุของศิลาจารึก แต่เป็นการเปรียบเทียบริ้วรอย และองค์ประกอบที่ผิวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกระบวนการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เทียบกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย และศิลาจารึกของรัตนโกสินทร์ (ถ้ามี) เป็นที่น่าเสียดายที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกหรือวัตถุโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกันนี้ จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน" (หน้า ๑๐๑)

ในการตรวจสอบนั้น ผู้วิจัยใช้ศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ทำจากหินทรายแป้ง (Calcareous siltstone) เช่นเดียวกับหลักที่ ๑ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕, ศิลาจารึกหลักที่ ๓, ศิลาจารึกภาษามคธ และภาษาไทย กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ตัวอักษรสมัย พ.ศ. ๑๙๐๐ และพระแท่นมนังคศิลาบาตร

ผมเห็นว่า การยังไม่พบศิลาจารึกที่ทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากหินชนิดเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาตรวจสอบเปรียบเทียบแบบเดียวกันนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามันแตกต่างอย่างไร ข้อพิสูจน์ว่าเหมือน ก็ยังเลื่อนลอยไม่หนักแน่น กล่าวคือ ผลการวิจัยที่ว่า ริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของผิวหิน ระหว่างศิลาจารึกหลักที่ ๑ คล้ายคลึงกับศิลาจารึกหลักที่รู้แน่ๆ ว่าทำในสมัยสุโขทัย แล้วจึงมาสรุปว่า น่าจะทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่กลับไม่มีริ้วรอยการสึกกร่อนจากจารึกที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบนั้น เท่ากับว่าการศึกษาวิจัยยังทำไม่เสร็จ จึงไม่ควรสรุปว่า "...ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น..." หากจะสรุปโดยเคร่งครัดในหลักฐานควรจะบอกว่า "ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างในสมัยใด จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นๆ นอกจากสมัยสุโขทัย มาตรวจสอบเสียก่อน" เป็นต้น เพราะถ้ามีศิลาจารึกหินทรายแป้ง ที่ทำในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบแล้วเกิดพบว่าคล้ายกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาอีก ย่อมเกิดคำถามแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ที่ผู้วิจัยเองก็ "เสียดาย" ที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่จะเอามาเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ เพราะการทดลองเพื่อตรวจสอบจำเป็นต้องมีตัวเทียบ ตัวเทียบจะเป็นตัวที่ทำให้เราทราบได้ว่า มีอันอื่นเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อเปรียบกับตัวเทียบ

ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราจะวัดความเปลี่ยนแปลงของตัวทดลองใดๆ เราสามารถกำหนดตัวเปรียบเทียบหรือตัวควบคุม กับตัวที่จะแปรไป ภายใต้เงื่อนไขเวลาของการทดลองแบบเดียวกัน แล้วศึกษาว่าตัวแปรจะแปรไปอย่างไร เมื่อเทียบกับตัวควบคุม

แต่ในเรื่องศิลาจารึก เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานเป็นร้อยเป็นพันปี จะทำแบบในห้องทดลองไม่ได้ นั่นคือ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะสามารถวัดอายุของการจารึกลงบนศิลาว่าจารึกลงเมื่อใดโดยตรงได้* วิธีที่จะหาอายุ มักจะเป็นการหาร่องรอยของการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ซึ่งอาจจะพอเป็นร่องรอยในการวิเคราะห์ได้บ้าง แต่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับการผุพังของศิลาจารึกที่ทำจากหินชนิดเดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น

ดังนั้นรายงานการตรวจพิสูจน์ฉบับนี้จึงระบุสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ "แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นหลังจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย เป็นเวลานานเท่าใด คงจะพิสูจน์ไม่ได้..." และ "บอกไม่ได้ว่าหินนั้นๆ ถูกสกัดมาใช้งานเมื่อใด" (หน้า ๘๘) เพราะในเรื่องการกำหนดอายุของหินด้วยวิธีทางธรณีวิทยานั้น จะบอกเพียงอายุของหินที่ใช้ทำศิลาจารึกว่าเกิดขึ้นมากี่ร้อยล้านปีมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าถูกสกัดมาใช้เมื่อใด นี่คือขีดจำกัด

ที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้น เป็นการเสนอประเด็นของงานวิจัยว่า การวิจัยนี้ต้องการหาอะไร? และมีขีดจำกัดไม่สามารถหาอะไรได้บ้าง? มีข้อสรุปอย่างไร? ข้อสรุปที่นำมาใช้อ้างในภายหลังไม่ตรงกับข้อสรุปของการวิจัยอย่างไร? เป็นต้น

ต่อไปผมจะศึกษาการตั้งสมมติฐาน, การทดลองตรวจสอบ, การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาเป็นผลสรุปงานตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น



สงสัยการพิสูจน์

ทางวิทยาศาสตร์

ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้วิจัยศึกษาเปรียบเทียบริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกสมัยสุโขทัย กับศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยอาศัยหลักที่ว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปี ย่อมสึกกร่อนมากกว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลาสั้นๆ หรืออาจไม่ได้อยู่กลางแจ้งเลย ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ดังนี้

"ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกลางฝนเป็นเวลานานกว่า ๕๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาในกรุงเทพฯ และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้โดยง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น แสดงว่าขณะที่ถูกพบ ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจจะไม่เคยอยู่ใต้ดินเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ น่าจะมีริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหินชนิดเดียวกัน มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว หลังจากทำเสร็จไม่นานก็นำมาเก็บรักษาในที่ร่มมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ริ้วรอยการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกหลักนี้ย่อมจะแตกต่างจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปีอย่างแน่นอน"

จากสมมติฐานที่ผมยกมา มีข้อน่าสังเกตกรณีที่ผู้วิจัยตั้งโจทย์ว่า

ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยสุโขทัย ก็น่าจะอยู่กลางแดดมา ๕๐๐ กว่าปี และตอนที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไปพบนั้น ก็พบได้โดยง่าย น่าจะอยู่บนดิน ฉะนั้นผิวของศิลาจารึกน่าจะมีริ้วรอยการสึกกร่อนและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำโดยหินชนิดเดียวกัน และรู้แน่ว่าทำในสมัยสุโขทัยเช่นกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อดูประวัติการพบก็น่าจะอยู่กลางแดดไม่กี่ปี ก็นำมาไว้ในร่ม ดังนั้นริ้วรอยการเสื่อมสลายจะต้องแตกต่างจากศิลาจารึกสุโขทัย

ต่อสมมติฐานเช่นนี้ ผมสงสัยว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหินนั้น การบอกความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน จะบอกช่วงห่างของระยะเวลาได้แค่ไหน จึงเห็นความแตกต่างได้

ประเด็นก็คือ ปรากฏการณ์การผุพังอยู่กับที่ มีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) คือ มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ แบบไม่ตรงไปตรงมา และตัววัตถุคือหินนั้น ไม่เป็นสารเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะบอกว่า การผุพังแปรผันตรง กับเวลา กล่าวคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของแต่ละหลัก จะเข้าใกล้กันมากขึ้น จนไม่สามารถบอกความแตกต่างได้

ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อทำจารึกบนหินมาหลักหนึ่งแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปี ทำอีกหลักหนึ่งด้วยหินชนิดเดียวกัน ถ้าตรวจพิสูจน์ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความแตกต่างระหว่างสองหลักได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐๐ ปี จารึกทั้งสองหลัก มีอายุ ๓๑๐ ปี และ ๓๐๐ ปี จะเริ่มบอกความแตกต่างไม่ได้ว่าหลักนี้อายุ ๓๑๐ ปี อีกหลักอายุ ๓๐๐ ปี

ประเด็นของผมก็คือ เป็นตัวเลขอะไรที่จะเริ่มบอกไม่ได้ เช่น ๓๕๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี นี่คือความไม่เป็นเชิงเส้นของกระบวนการผุพัง เพราะฉะนั้น ในช่วงของเวลาแค่เป็นร้อยปี อาจไม่แตกต่างกันก็ได้ ถ้ายังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่แม่นยำพอจะแยกความแตกต่างนั้นได้ นี่คือข้อสงสัยของผม

ประเด็นต่อมาก็คือ ในสมมติฐานของผู้วิจัยที่บอกว่า ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกว่า ๕๐๐ ปี เพราะการที่ไปพบได้โดยง่ายก็แสดงว่า ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจไม่เคยอยู่ใต้ดินเลย ตรงนี้ผมเห็นว่า ไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ ระยะเวลา ๕๐๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันอยู่ในสภาพอย่างไรมาบ้าง รู้เพียงแต่ว่า ไปพบอยู่บนดินเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ เท่านั้น (ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าพบจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ จึงขอยกไว้ก่อน ไม่นำมากล่าวในที่นี้)

การตั้งสมมติฐานแบบนี้ จึงดูเป็นการเจาะจงที่จะให้เงื่อนไขว่า อันหนึ่งอยู่กลางแดดกลางฝนกว่า ๕๐๐ ปี ส่วนอีกอันหนึ่ง ถ้าทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องอยู่ในร่มมาเป็นเวลา ๑๕๖ ปี ก่อนทำวิจัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมดูภาพศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ แล้ว กลับพบว่า จารึกหลักที่ ๑ ดูใหม่กว่าและสมบูรณ์กว่าอีกสองหลักมากทีเดียว

ข้อสงสัยต่อมาก็คือ การเสนอผลจากการถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบต่างๆ แล้วเปรียบเทียบภาพถ่ายนั้น ภาพส่วนหนึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูความแตกต่างของปริมาณแคลไซต์ที่ผิวหิน กับส่วนที่อยู่ด้านในของผิวนั้น โดยเรียกผิวที่อยู่ด้านนอกโดนแดดลม สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกว่า ด้านที่expose และเรียกด้านในถัดเข้าไป ด้านที่ยังไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมว่า ด้านที่ไม่ถูก expose แล้วนำเสนอ ทั้งของจารึกหลักที่ ๑, ๓, ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ให้เห็นถึงการลดลงของปริมาณแคลไซต์ ระหว่างผิวที่ expose กับไม่ expose ซึ่งเมื่อผมสังเกตดูก็เห็นว่ามันลดลง แต่ขณะเดียวกันภาพของแต่ละหลักก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ในการแสดงภาพอีกส่วนหนึ่งนั้น ผู้วิจัยใช้ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope : SEM) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผมเห็นว่ายังลักลั่นอยู่

ถ้านำมาเขียนเป็นตารางภาพ ที่ผู้วิจัยนำเสนอ จะได้ดังนี้

โบราณวัตถุ ภาพชั้นผิว หลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ พระแท่นมนังคศิลาบาตร

ด้านที่ expose ภาพขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ไม่มี เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สกัดออกมา

ที่ไม่ถูก expose ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๕๐๐ เท่า ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

จะเห็นว่า ภาพถ่ายด้วย SEM นั้น นำมาแสดงให้ดูด้วยกำลังขยายไม่เท่ากัน เช่น ด้านที่ expose ของหลักที่ ๑ ใช้ภาพกำลังขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ขณะที่ หลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ ใช้ภาพกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

ขณะเดียวกัน ด้านที่ไม่ถูก expose ของหลักที่ ๑ และหลักที่ ๔๕ ไม่มีมาแสดงให้ดู คงเหลือแต่ภาพจากหลักที่ ๓ และจากพระแท่นมนังคศิลาบาตรเท่านั้น แต่หลักที่ ๓ ก็ขยายเสีย ๑,๕๐๐ เท่า ขณะที่พระแท่นมนังคศิลาบาตร ขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

สรุปแล้วภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไม่สามารถนำมาเทียบกับอะไรได้ เป็นแต่แสดงไว้เฉยๆ

อันนี้อาจเกิดจากปัญหาการคัดรูปมาตีพิมพ์ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วควรคัดรูปที่มีกำลังขยายเท่ากันมาพิมพ์เทียบกันให้ดู เช่น ถ้าจะเทียบให้เห็นที่ ๓,๕๐๐ เท่า ก็ถ่าย ๓,๕๐๐ เท่า ให้เหมือนกันหมด จะได้ตัดประเด็นเรื่องกำลังขยายไม่เท่ากันออกไปได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ผมสงสัย

การทดลองที่ถือว่าสำคัญอีกวิธีหนึ่งของงานวิจัยนี้ ก็คือ การใช้เครื่อง Energy Dispersive X-rays Spectrometer มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุบนผิวของตัวอย่าง ทั้งส่วนที่ expose และ ไม่ได้ expose โดยอาศัยหลักที่ว่า เมื่อยิงลำแสงอิเล็กตรอนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไปยังผิวของตัวอย่าง ลำแสงอิเล็กตรอนจะทำให้เกิดรังสีเอกซ์ (X-ray) ที่มีพลังงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเมื่อวัดพลังงานของรังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถคำนวณหาปริมาณแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบบนจุดเล็กๆ แต่ละจุดบนตัวอย่างได้

เมื่อผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์หลายๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่าง แล้วหาค่าเฉลี่ย ก็พบว่า ผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ด้านที่ expose ต่อสภาวะแวดล้อม มีปริมาณแร่และธาตุ แตกต่างจากด้านที่ไม่ expose ในสัดส่วนที่ผู้วิจัยระบุว่าใกล้เคียงกันทั้ง ๔ หลัก ดังนี้

- ปริมาณซิลิกอน (Si) และซิลิกา (SiO2) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่ควอตซ์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง สูงกว่าด้านใน (ที่ไม่ expose) ประมาณ ๓-๑๐%

- ปริมาณอะลูมิเนียม (Al) และอะลูมินา (Al2O3) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแร่เฟลด์สปาร์และแร่คลอไรด์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง ต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๒-๑๐%

- ปริมาณแคลเซียม (Ca) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อประสาน ที่ผิวด้านนอกต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๓-๑๐%

ผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ผู้วิจัยพยายามบอกว่าทั้งหลักที่ ๑, หลักที่ ๓, หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร มีสัดส่วนการเพิ่มและลดของแร่ธาตุบางตัว ในลักษณะเดียวกัน จึงน่าจะบอกได้ว่า ทั้ง ๔ หลัก ทำในสมัยเดียวกัน คือสมัยสุโขทัย

แต่ผมสงสัยวิธีการสรุปแบบนี้ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่เรียกว่า ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดนั้น หน่วยขุดแต่ง กองโบราณคดี กรมศิลปากร "ขุดพบ" ได้ที่ริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารกลาง ด้านหลังของวิหารสูง ในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ นั่นคือหลักที่ ๔๕ จมดินมานานเท่าใดไม่ทราบ เพิ่งขุดขึ้นก่อนจะตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แค่ ๓๓ ปี เท่านั้น แต่ผลการตรวจยังไปใกล้เคียงกับหลักที่ ๑ ซึ่งสมมติฐานบอกว่า ถ้าสร้างในสมัยสุโขทัย ก็ต้องอยู่กลางแดดกลางฝนนานถึง ๕๐๐ ปี ก่อนจะมาอยู่ในร่ม

ลองคิดดูว่าหลักหนึ่งเพิ่งขึ้นมาอยู่บนดินได้ ๓๓ ปี อีกหลักอยู่บนดิน ๕๐๐ ปี และมาอยู่ในร่ม ๑๕๐ กว่าปี กลับมาเหมือนกัน แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง

ปัญหานั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือของตัวเลข ๓-๑๐%, ๒-๑๐% หมดไปในทัศนะของผม กล่าวคือ ปริมาณแร่ธาตุบางชนิดที่ลดลง ๒-๑๐%, ๓-๑๐% ของผิวด้านนอกเทียบกับผิวด้านใน และบางชนิดดูเหมือนเพิ่มขึ้น ๓-๑๐% นั้น ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปว่า มันควรจะสร้างในสมัยเดียวกันได้ เพราะเงื่อนไขแวดล้อมของตัวจารึก ต่างกันอย่างชัดๆ ค่า ๒-๑๐% จึงเป็นค่าที่กว้างเกินกว่าที่จะนำมาตีความได้ แม้แต่ถ้าพบว่ามีค่าแค่ ๕% เท่ากันพอดี ยังต้องมีประเด็นวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมาก

อย่าลืมว่าจารึกแต่ละหลักแม้จะทำจากหินทรายแป้งเหมือนกัน แต่องค์ประกอบภายในแตกต่างกัน มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ผมกลับสรุปได้ในทางตรงกันข้ามว่า ค่า ๒-๑๐% นั้นไม่สามารถจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างหลักหนึ่งที่จมดินอยู่ กับอีกหลักที่อยู่กลางแจ้งได้ และด้วยเหตุนี้ ผลการวิเคราะห์ที่ได้จึงกลายเป็นข้อหักล้างวิธีพิสูจน์นี้เสียเอง



ชวนเยาวชน

สนใจวิทยาศาสตร์ศิลาจารึก

มีการทดลองที่ผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัดขึ้น กล่าวคือ ได้สกัดส่วนหนึ่งของตัวอักษรส่วนหางของ "ล" บนด้านที่ ๓ ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้วนำมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการแกะสลักตัวอักษรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับผิวส่วนอื่นๆ (ที่ไม่มีตัวอักษร) ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่

ผลปรากฏว่า ปริมาณแคลไซต์ลดลงมาใกล้เคียงกัน

ผู้วิจัยสรุปว่า การแกะสลักตัวอักษร น่าจะทำในช่วงเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดหินออกมา

การพิสูจน์นี้ ผู้วิจัยต้องการตัดข้อสงสัยที่ว่า อาจมีผู้พบแท่งหินนี้ที่สุโขทัย แต่ไม่มีคำจารึก แล้วนำมาจารึกขึ้นทีหลัง

ตรงนี้ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่ทราบว่าระยะเวลาห่างกันเท่าใด ที่วิธีการตรวจแบบนี้จะบ่งบอกความแตกต่างได้ เช่น ที่ได้ตั้งคำถามไว้แล้วว่า สกัดมาแล้วจารึกเลย หรือ ๕ ปีค่อยจารึก หรือ ๕๐ ปีค่อยจารึก เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด จึงเริ่มจะบอกความแตกต่างไม่ได้อีกต่อไป

ข้อที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ การไม่มีจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกัน แต่ทำในสมัยต้นอยุธยา, กลางอยุธยา, ปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์มาเปรียบเทียบกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการตรวจสอบกับสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัย ผมเห็นว่า การพิสูจน์ยังไม่สำเร็จ ยังต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่ผู้วิจัยได้ใช้ความพยายามในการเริ่มต้นมาแล้วต่อไป

ถึงตรงนี้ ผมอยากเสนอให้

๑. สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน, X-ray fluoresence, X-ray Diffraction Analysis ฯลฯ และนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้ช่วยกันออกความคิดเสนอวิธีการตรวจสอบหาอายุของการจารึกหลักที่ ๑ โดยวิธีไม่ทำลายเนื้อสาร (Non-Destructive Testing : NDT) และโดยใช้หินตัวอย่างที่ทางกรมศิลปากรได้สกัดออกมาวิจัย (ซึ่งคิดว่าน่าจะเก็บไว้) ไปศึกษาตามวิธีการและเทคนิควิธีตามที่จะคิดออกแบบ ให้แต่ละแห่งแยกกันทำวิจัยอย่างอิสระ แล้วนำผลมาเสนอต่อสาธารณะร่วมกัน น่าจะเป็นประโยชน์มาก และ

๒. ประกาศให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ได้เสนอความคิด จะหาวิธีการศึกษาว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ จารึกขึ้นเมื่อใด จัดเป็นกิจกรรมขึ้นในโอกาสสำคัญ เช่น ทำเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ความคิดดีๆ จากเยาวชนอย่างนึกไม่ถึงก็ได้

วิธีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จะส่งเสริมให้เยาวชนได้สนใจเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสังคมอย่างกระตือรือร้น อย่างมีชีวิตชีวา อย่างรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เราสามารถจัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่ง ในการเฉลิมฉลองมรดกแห่งความทรงจำของโลกอย่างมีคุณค่าได้ และน่าจะช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม

กรณีศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังมีอะไรน่าสนใจ ติดตามศึกษาค้นคว้าอีกมาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแค่เพียงเริ่มต้น มาถึงจุดที่ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น ยังไม่จบ ขณะเดียวกันการค้นคว้าหาหลักฐานจากศาสตร์อื่นก็รุดหน้าไปมากแล้ว

ขอขอบคุณผู้วิจัยที่ทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมโดยมีความจริงเป็นเป้าหมาย มิใช่มีแต่วิทยาศาสตร์ที่ทำหน้าที่รับใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจของบริโภคนิยมที่มีแต่จะบิดเบือนและทำลายความจริงอยู่ตลอดมา



เชิงอรรถ

* ผู้สนใจศึกษาวิธีการตรวจสอบวัตถุโบราณด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดูได้จาก website ของ The British Museum ในส่วนของ The Department of Scientific Research http://www.thebritishmuseum.ac.uk/science/index.html  
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 09:36

 ประเด็นในกระทู้นี้แบ่งได้เป็น 2 เรื่องคือ
1) ศิลาจารึกหลักที่ 1สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
2) ศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้สร้างโดยพ่อขุนรามคำแหง    แต่จะสร้างโดยใครและสมัยไหน ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้

คุณ CH พูดไปถึงข้อ 2   ดิฉันยังปักหลักอยู่ข้อ 1

อาจารย์ราตรีให้ยืมวิทยานิพนธ์ของนศ.ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อการศึกษาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ของนางสาววรรณวรางค์ เจริญพันธ์
เล่มหนักอึ้งทีเดียว
เปิดไปเจอตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้ลักษณะนาม ที่เป็นประกาศพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงห้ามเลยว่า
"อนึ่งจะออกชื่อจำนวนนับสัตว์มีชีวิตนั้น  ถ้าเป็นคน ช้างม้า ก็ให้ออกว่า คน 1 คน  คน 2 คน คน 3 คน  ช้าง 2 ช้าง   ช้าง 3 ช้าง  ม้า 2 ม้า ม้า 3 ม้า แต่สัตว์นอกนั้นให้ว่า 2 ตัว 3 ตัว"
ทรงให้เหตุผลว่า
"ช้างม้านี้เป็นสัตว์มีชาติมีสกุล ไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว   ให้เรียกว่าช้างหนึ่งสองช้าง ม้าหนึ่งสองม้า  แต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้านั้นให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว"

จะเห็นได้ว่าทรงรังเกียจการเรียกลักษณะนามของสัตว์พาหนะสำคัญอย่างช้างม้า ว่า ตัว  แต่ให้เรียกลักษณะนามอย่างเดียวกับคำนาม  เป็น ช้าง 1 ช้าง ไม่ใช่ช้าง 1 ตัว
ในศิลาจารึกหลักที่ 1   เรียกช้างเป็น"ตัว" ทั้งนั้น    ถ้าทรงสร้างจารึกขึ้นมาจริง น่าจะทรงทดลองใช้หรือใช้ตามที่พอพระราชหฤทัยว่า ช้าง 1 ช้าง  ก็ไม่มีใครว่า   หรือถ้ายังไม่อยากจะทดลองใช้   ก็ไม่น่าจะเรียก ช้างตัวชื่อมาสเมือง อย่างที่ทรงรังเกียจ

อักษรอาหม  ดิฉันไม่มีค่ะคุณ CH แต่เห็นตัวอักษรคงช่วยอะไรไม่ได้มาก  เพราะสแกนมาลงก็ไม่ได้เห็นความเก่าแก่ของตัวอักษรอยู่ดี
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 12:01

 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่ทำไปนั้น ที่จริงไม่ได้ให้ข้อสรุปอะไรเลย  แม้แต่ในส่วนของการบ่งชี้ว่าเป็นการตัดหินยุคเดียวกันหรือไม่

เพราะไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบหลายๆ samples อย่างเป็นระบบ  ตัวเลขที่แสดงก็หยาบมากครับ  เช่น ตัวเลขดังว่าอาจเป็น saturation point ที่เกิดขึ้นภายในร้อยปีก็ได้ ภูมิอากาศบ้านเราที่ทั้งร้อนทั้งชื้นเป็นปัจจัยเร่งกระบวนการ oxidation ให้เกิดเร็วมาก  ซึ่งถ้าเกิด saturation ของกระบวนการ oxidation ในเวลาที่ต่ำกว่า 150 ปี การใช้วิธีนี้ย่อมไม่ได้ผล  นอกจากนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆอีกมาก  เพราะหินแต่ละก้อนแม้จะมาจากแหล่งเดียวกัน มีส่วนประกอบของแร่ธาตุคล้ายกัน ยังมีความแตกต่างของคุณลักษณะในรายละเอียดหลายประการ  เทคนิคการหาอายุด้วยการตรวจสอบแบบ  progressive oxidation จะให้ผลได้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดสอบคุณลักษณะต่างๆที่เกี่ยวข้องของหลายๆตัวอย่างก่อน จนสามารถได้ความมั่นใจจากผลของการทดสอบนั้น ตั้งเป็น mathematical model พิสูจน์แล้วพิสูจน์อีกจนมั่นใจว่า applicable อย่างแท้จริง เมื่อนั้นจึงจะค่อยนำมาสวมกับตัวเลขที่วัดได้จากชิ้นตัวอย่างที่ต้องการพิสูจน์ได้

อย่างไรก็ดีผมอย่างกลับมาชี้เสริมในสิ่งที่กล่าวไว้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปขนาดนั้นของสยามประเทศ  จำเป็นต้องมองทั้งภาพ  ด้วยยังพบหลักฐานน้อย  หากพิจารณาเพียงแต่ละชิ้นต่อไป ก็จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เสียที  บทความหรือผลงานทางวิชาการจึงเต็มไปด้วยคำว่า "คาดว่า"  "น่าจะ"  "สัณนิฐานว่า"  "คงสรุปได้ว่า"  และ"เป็นไปได้มากที่สุดว่า"

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกประการหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย  คือการทหาร และความเป็นปึกแผ่นใหญ่โตของราชอาณาจักร  ถ้าราชอาณาจักรใดมีความเป็นปึกแผ่น มีความสามารถทางการทหาร ขยายอาณาเขตได้กว้างขวาง ทำสงครามโดยกษัตริย์ไม่ต้องนำทัพเอง  ราชอาณาจักรนั้นจำต้องมีภาษาเขียนใช้งาน  เพื่อสื่อสาร คำนวน วางแผนทางยุทธวิธี  ส่งกำลังบำรุง เป็นต้น  ลองปรึกษาทหารหน่อยเถิดท่านนักวิชาการทั้งหลายว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน ในการจัดการการรบ และการยึดครองโดยไม่มีภาษาเขียน

ฉะนั้นก่อนยุคพ่อขุนรามฯจะมีภาษาเขียนหรือไม่ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนว่าราชอาณาจักรของไทยใหญ่ไหน  แต่เพียงหลังตั้งกรุงไม่กี่ปีพระเจ้าอู่ทองก็ส่งกองทัพไปตีกัมโพชถึง 2 ครั้งมิใช่หรือ

สมมุติว่าได้ข้อสรุปว่าต้องมีภาษาเขียน ก็มาดูกันว่าเป็นตัวหนังสือไทยเองหรือไม่ หรือต้องยืมชาวบ้านเขามาใช้  วิธีหนึ่งก็มาดูว่าภาษาเขียนโบราณใดที่อาจนำมาใช้ในยุคนั้นสามารถรองรับการออกเสียงของภาษาในตระกูลไท-ลาวได้เพียงใด

พูดมาถึงตรงนี้นึกได้ว่าอ.เทาอ้างอิงพวกจ้วงที่ใช้อักษรจีน อักษรจีนเป็นอักษรภาพที่ไม่ต้องคำนึงถึงการผสมพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ให้ได้เสียงตามต้องการ จึงไม่สามารถนำมาผนวกรวมในเรื่องนี้ได้  และความห่างไกลของถิ่นฐานคงต้องเป็นอีกกรณีศึกษาที่จะสรุปหาความสัมพันธ์ระหว่างจ้วงกับไทยในสยามประเทศ

การที่จ้วงไม่ใช้อักษรแบบไทย จึงยังไม่ได้หมายความว่าไทยไม่มีอักษรของตนเองมาแต่โบราณ  อย่าลืมว่าจิ๋นซีทำลายอักษร-ภาษาเขียนท้องถิ่นทั้งหมด และตั้งแต่นั้นมาจีนก็ใช้ตัวหนังสือระบบเดียวต่อเนื่องเป็นพันปี และไม่ว่าจะเป็นชาติ-ภาษาใดก็สามารถใช้อักษรภาพร่วมกันได้ทั้งหมด  ซึ่งก็เป็นความสะดวกและเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่เผ่าต่างๆที่ใกล้ชิดกับจีนต้องหันมาใช้อักษรจีนในที่สุด จากการที่ถูกจีนครอบงำผนวกดินแดนตลอดจนเพื่อการติดต่อค้าขาย

ภาษาไทยเรามีเอกลักษณ์หลายๆอย่างที่ไม่มีในภาษาอื่น เช่น เรื่องใหญ่เลยก็คือ วรรณยุกต์ ภาษาเขียนใดไม่มีวรรณยุกต์ ย่อมไม่สามารถรองรับภาษาไทยได้  และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นอีก เช่น เสียงพยัญชนะต่างๆ มี ย นาสิก เป็นต้น ที่ยังคงอยู่กับคำเมืองแต่ไม่ปรากฎแล้วในภาษาพูดของภาคกลางปัจจุบัน

และถ้ายอมรับว่าพระพุทธศาสนาเป็นจิตวิญญาณของสยามประเทศมาแต่ไหนแต่ไร  ย่อมยอมรับว่าภาษาบาลีต้องมีบทบาทมาโดยตลอด  จนในภาษาพูด-เขียนของไทยก็จะมีคำจากบาลีมาโดยตลอด ซึ่งมีคำมากมายที่เสียงพ้องกันแต่ความหมายคนละเรื่อง เช่น วัด-วัฏ  กับ-กัป  สิน-สีล  เป็นต้น  หรือเสียงที่บาลีมีแต่ไทยไม่มี เช่น ร.เรือ ถ้าไม่มีอักษรแยกแยะแบบภาษาเขียนปัจจุบันคงน่าปวดหัวพิลึก  ลองคิดเล่นๆดูนะครับ  นี่ขนาดยังไม่กล่าวถึงสันสกฤตเลย

ก็เพียงแสดงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของแนวทางการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแบบหนึ่งให้ดู  หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 12:09

 ไปพบส่วนต่อของบทความของอ.ประเสริฐที่คุณเทาชมพูได้ยกมาไว้ข้างบน

ความดังนี้ครับ

คุณวิเศษของลายสือไทย

                       ๑. ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหราราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวอักษรของชาติอื่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของชาวอินเดียวกล่าวคือ ชาติอื่นขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้โดยมิได้ประดิษฐ์พยัญชนะ และสระเพิ่มขึ้นให้พอกับเสียงพูดของคนในชาติ ยกตัวอย่างเช่น เขมรโบราณ เขียน เบก อ่านออกเสียงเป็น เบก แบก หรือ เบิก ก็ได้ ไทยใหญ่เขียน ปีน อ่านออกเสียเป็น ปีน เป็น หรือ แปน ก็ได้ เวลาอ่านจะต้องดูความหมายของประโยคก่อน จึงจะอ่านออกเสียให้ถูกต้อง

                       พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวพยัญชนะสระอีกทั้งวรรณยุกต์ขึ้น เป็นต้นว่าได้เพิ่ม ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ สระอึ อือ แอ เอือ ฯลฯ ไม้เอก ไม้โท (ในรูปกากะบาท) จนทำให้สามารถเขียนคำไทยได้ทุกคำ

                       ๒. อักขรวิธีที่ใช้ สามารถเขียน ตาก-ลม แยกออกไปจากตา-กลม ทำให้อ่านข้อความได้ถูกต้องไม่กำกวม กล่าวถือ ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำให้เขียนติดกัน ส่วนตัวสะกดให้เขียนแยกห่างออกไป เช่น ตา-กลม เขียนเป็น ตา กลํ ส่วน ตาก-ลม เขียนเป็น ตา ก ลํ

                       ๓. ตัวหนังสือแบบพ่อขุนรามฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ นำสระมาเรียงอยู่ระดับเดียวกับพยัญชนะแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตกทั้งหลาย น่าเสียดายที่สระเหล่านั้นถูกดึงกลับไปไว้ข้างบนตัวพยัญชนะบ้าง ข้างล่างบ้างในสมัยต่อมา ทั้งนี้เพราะคนไทยเคยชินกับวิธีเขียนข้างบนข้างล่างตามแบบขอมและอินเดีย ซึ่งเป็นต้นตำหรับดั้งเดิม ถ้ายังคงเขียนสระแบบพ่อขุนรามฯ อยู่ เราจะประหยัดเงินค่ากระดาษลงได้หนึ่งในสามทีเดียว เพราะทุกวันนี้จะต้องทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้เพื่อเขียนส่วนล่างของ ฏ ฐ สระ อุ อู วรรณยุกต์ และสระอือ รวมเป็นช่องว่างที่ต้องเตรียมไว้สี่ส่วนให้เขียนได้ไม่ซ้อนกัน ยิ่งมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูล และการค้นหาข้อมูลจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่ตัวอักษรไทยในปัจจุบันบรรทัดเดียวคอมพิวเตอร์จะต้องกวาดผ่านตลอดบรรทัดไปถึง ๔ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกกวาดพวกวรรณยุกต์ ครั้งที่สองกวาดพวกสระบน เช่น สระอี อึ ครั้งที่สามกวาดพวกพยัญชนะและครั้งที่สี่กวาดพวกสระล่าง คือ สระ อุ อู จึงทำให้เสียเวลาเป็นสี่เท่าของตัวอักษรของอังกฤษ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละครั้งเดียว ถ้าใช้อักขรวิธีแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละสองครั้ง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้กว่าครึ่ง ถ้ายิ่งดัดแปลงให้วรรณยุกต์ไปอยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเสียด้วย ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่าสี่เท่า

                       ๔. ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของตัวหนังสือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พยัญชนะทุกตัวเขียนเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกันเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่า และไทยใหญ่ เช่น เขียน อฏฐ แทนที่จะเป็น อฏฐ  เซเดย์ได้กล่าวไว้ว่า การที่พระองค์ได้ทรงแก้ไขตัวอักษรของชาวสุโขทัยให้เรียงเป็นแนวเดียวกันได้นั้นเป็นการสำคัญยิ่ง แลควรที่ชาวสยามในปัจจุบันนี้ จะรู้สึกพระคุณ และมีความเคารพนับถือที่พระองค์ได้ทรงจัดแบบอักษรไทยให้สะดวดขึ้น ข้อนี้ให้มาก อนึ่ง ในสยามประเทศทุกวันนี้การคิดแบบเครื่องพิมพ์ดีดและการพิมพ์หนังสือได้เจริญรุ่งเรือง เป็นประโยชน์ยิ่งในวิชาความรู้แลทางราชการนับว่าเพราะพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนรูปอักษรขอมและเรียงพยัญชนะเป็นแนวเดียวกันให้สะดวกไว้ ส่วนบรรดาประเทศที่ยังใช้วิธีซ้อนตัวพยัญชนะ เช่นประเทศเขมรและประเทศลาว การพิมพ์หนังสือของประเทศเหล่านั้นเป็นการยาก ไม่สู้จำเริญ แลยังไม้มีผู้ใดในชาตินั้น ๆ ได้คิดจะออกแบบพิมพ์ดีดสำหรับตัวอักษรของตน ๆ เลย (พ.ศ. ๒๔๖๘)

                       ๕. ตัวอักษรทุกตัวสูงเท่ากัน หางจอง ศ ส ก็ขีดออกไปข้าง ๆ แทนที่จะสูงขั้นไปกว่าอักษรตัวอื่น ๆ หางของ ป และ ฝ สูงกว่าอักษรตัวอื่น ๆ เพียงนิดเดียว สระทุกตัวสูงเท่ากับพยัญชนะรวมทั้งสระ โอ ใอ และ ไอ ตัวอักษรแบบนี้เมื่อตีพิมพ์หางตัว ป และสระข้างล่าง ข้างบนจะไม่หักหายไปอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องคอยตรวจซ่อมกันอยู่ตลอดเวลา

                       ๖. พ่อขุนรามคำหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยให้เขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต่อเป็นเส้นเดียวตลอด ในขณะที่ตัวหนังสือขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อพยัญชนะตัวหนึ่ง

                       ๗. ประการสุดท้าย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์ขึ้น ทำให้สามารถอ่านความหมายของคำได้ถูกต้องโดยไม่ต้องดูข้อความประกอบทั้งประโยค สมมติว่าเราเข้าใจภาษาไทยใหญ่เป็นอย่างดี แต่ถ้าจะอ่านภาษาไทยใหญ่ เขาเขียน ปีน คำเดียวอาจจะอ่านเป็น ปีน ปี่น ปี้น ปี๊น ปี๋น เป็น เป่น เป้น เป๊ เป๋น แปน แป่น แป้น แป๊น และ แป๋น รวมเป็น 15 คำ ถ้าไม่อ่านข้อความประกอบจะไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องเป็นคำใดกันแน่ แต่ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อ่านได้เป็น ปีน แต่อย่างเดียว

ที่มา : ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร  รวมบทความเรื่องภาษาและอักษรไทย กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร (2526)

จาก http://www.sukhothai.go.th/history/hist8.htm  
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 13:58

 ที่นี้เรามาลองมองดู หรือสร้าง model ให้สมบูรณ์ต่ออีกหน่อยนะครับ

ตลอดมาผมได้ใช้สมมุติฐานของความมีราชอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี-เจ้าพระยา-ป่าสัก ตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ เป็นพื้นฐานแห่ง model  ซึ่งมีรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการค้าทางทะเล  อันต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศและเปิดรับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ  ภาษาที่ดูจะมีร่องรอยหลักฐานว่ามีอิทธิพลมากที่สุดคือสันสกฤต

ฉะนั้นในการพิจารณามองหาอักษรที่จะใช้กับภาษาไทยในแถบลุ่มแม่น้ำนี้ จำต้องเป็นระบบภาษาเขียนที่สามารถรองรับการแยกแยะเสียงคำพ้องตลอดจนการออกเสียงพยัญชนะและรายละเอียดอื่นๆที่ต่างกันทั้งหมดในทั้งสามภาษาหลัก คือ ไทย-บาลี-สันสกฤต มิฉะนั้น คงยุ่งตายห....  

จะค้าขายอย่างเป็นระบบก็ยาก จะรบก็แสนเข็ญ ถ้าไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้ไว้แต่ต้นมือ  ยากที่ไทยในลุ่มแม่น้ำจะปรากฎร่องรอยความเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ

ครับ ไม่มีหลักฐานโดยตรงรองรับ  ผมไม่เถียง  แต่ถ้าจะบอกว่าเพราะยังไม่พบหลักฐาน ฉะนั้นจึงไม่มีอักษรไทยใช้  อย่างนี้ผมเถียงคอเป็นเอ็นเลยเชียว   คนที่ถูกทิ้งตั้งแต่ยังเป็นทารกแรกเกิด ไม่มีใครรู้จักหรือเคยเห็นพ่อแม่ของเขา จะสรุปว่าไม่มีพ่อไม่มีแม่ เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ได้ยังไงฟ่ะ

อย่าลืมว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างสมัยก่อนมีเขื่อนสมัยใหม่ต่างๆ พอถึงฤดูน้ำหลากก็จะมีสภาพคล้ายน้ำท่วมโลกไปทั้งหมด พอน้ำลดก็ทิ้งตะกอนหนาเตอะไว้ทุกปี  สายน้ำก็รุนแรงและเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อยๆ  โบราณวัตถุย้อนหลังเป็นพันปีแถวนี้จะไปเหลือรึ  จะขุดหาได้ง่ายๆอย่างแถวทะเลทรายแห้งๆได้อย่างไรกัน

นึกย้อนกลับไปถึงเรื่องพระเจ้าพรหม และตำนาน-พงศาวดารต่างๆที่อ้างเหตุการณ์ที่เก่าแก่เกินกว่า 800ปี ของบริเวณเชียงแสน ถูกนักวิชาการประเภทไม่เห็นหลักฐานก็ปฏิเสธไว้ก่อนว่าไม่มี  ก็พันปีที่แล้วท่านๆพิสูจน์ได้หรือว่า แม่น้ำแม่โขงอยู่ที่ตำแหน่งนี้  จากลักษณะการพุ่งของกระแสน้ำที่กระแทกกัดเซาะตลิ่งฝั่งไทย  ทำให้จินตนาการได้ไม่ยากว่า คงมีซากโบราณสถาน-วัตถุจำนวนมากที่เดิมอยู่บนแผ่นดินแล้วถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะจมน้ำจมดินไป
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 18:05

 เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูครับ เรื่องหลายส่วนจารึกหลักที่ ๑ หลายตอน ขัดกับพระราชอัธยาศัยของร.4 ยากที่จะเป็นไปได้ว่าพระองค์ทรงสร้างจารึกนี้ ผมเคยผ่านตาประกาศของพระองค์ที่ทรงค่อนข้างจะรังเกียจ"ลาว"ซึ่งทรงหมายรวมถึงอีสานและล้านนา แต่จารึกหลักที่ ๑ นั้น หากแปลคำ"ลาว"ไม่ถูก เรียกว่าไปไม่เป็นเหมือนกัน เพราะพบมากจริงๆ แต่เรื่องเดียวกันนี้ นักวิชาการบางท่าน เอาไปตั้งแง่ซะอีกว่าหลัก ๑ มีคำไทยแท้มากอย่างผิดสังเกต ในขณะที่ความบางตอนกลับแทบจะเป็นขอมทั้งตอนเหมือนลอกจากจากหลักที่ ๔ ยังไงยังงั้นเลย... ก็ว่ากันไปครับ

สมมติฐานเรื่องใครสร้างจารึกหลักที่ ๑ ตอนนี้มี
๑.พ่อขุนรามคำแหงทรงสร้าง
๒.พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้สร้าง แต่สร้างในสมัยสุโขทัย อาจจะสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท
๓.พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
๔.ผิดทุกข้อ

ผมขอเลือกไม่ตอบ เพราะกลัวว่ากาผิดจะถูกหักคะแนนครับ    
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 27 ก.ค. 04, 18:05

 กลับมาที่เรื่องที่ผมข้องใจอยู่
จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าหลักที่ ๑ ที่เคยพบ มีอยู่ ๒ หลัก ได้แก่
๑. จารึกดงแม่นางเมือง พ.ศ.๑๗๑๐ อักษรขอม ด้านที่ ๑ เป็นภาษาบาลี ด้านที่ ๒ เป็นภาษาเขมรมีคำไทยปนพบที่ดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหลักที่ ๓๕ ในประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๓ ดูรายละเอียดได้ที่ http://tabian.rink.ac.th/culture/nwculture/lesson3/32/323/lesson32324.html
๒. จารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก จังหวัดลพบุรี พ.ศ.๑๗๕๖ อักษรขอม ภาษาเขมร และ ภาษาไทย (หารายละเอียดไม่พบ ทราบแต่ว่าอยู่ในจารึกในประเทศไทย เล่มที่ ๔ หน้า ๑๔๒)

นี่คือร่องรอยแรกเท่าที่พบของภาษาไทยในสุวรรณภูมิ!

เห็นด้วยอย่างที่คุณถาวภักดิ์ว่าไว้ "ไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มี"

แต่ผมเกรงว่าจะต้องคิดเผื่ออีกด้านหนึ่งด้วยว่า "ไม่พบก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามี"

ได้แต่สงสัยว่า คน(ที่พูดภาษา)ไทยมาจากไหน? เมื่อไหร่กันแน่?

ผมจะหลงประเด็นมากไปหรือเปล่าครับนี่?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.123 วินาที กับ 19 คำสั่ง