เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 88023 จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 21 ก.ค. 04, 16:57

 ศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะต้นเดี่ยว  ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้เขียนแล้ว คือ ฃ ฃว ฅ ฅว
เมื่อศึกษาภาษาไทยเปรียบเทียบแล้วพบว่า พยัญชนะต้น  ฃ ฃว ฅ ฅว    เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะต้นในภาษาไทยดั้งเดิมหลายร้อยปีก่อน

แสดงว่าตัวอักษรไทยในศิลาจารึก ประดิษฐ์ขึ้นอย่างมีเหตุผล คือใช้แทนเสียงที่มีอยู่จริงๆในภาษาไทยเรา  เพราะปรากฏว่าเสียงเหล่านี้ยังมีอยู่ในภาษาไทยถิ่นต่างๆเช่นไทยลื้อ ไทยขาว และไทยถิ่นอื่น
เมื่อนำพยัญชนะเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับภาษาไทยในกรุงเทพ ปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเสียงพยัญชนะเหล่านี้ไปแล้ว

ถ้ายังสงสัยอยู่ เพราะสมัยรัชกาลที่ ๔   ตัว ฃ ฃวด ฅ ฅน ยังมีใช้อยู่ เช่นเดียวกับในศิลาจารึก ก็โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
๑) ในศิลาจารึก มีพยัญชนะ  หล   ใช้ในคำว่า เหล้น    ภาษาไทยปัจจุบันสะกดว่า  เล่น  
ในศิลาจารึกก็มีตัว ล  สะกดในคำอื่นๆ  เช่น ลูก แล่ง แล้ง    แต่คำว่า เล่น สะกดว่า เหล้น
แสดงว่า  คำ หล  และ ล  คงออกเสียงไม่เหมือนกัน จึงสะกดด้วยพยัญชนะคนละอย่าง แต่มาถึงไทยกรุงเทพในปัจจุบัน เสียง หล หายไปแล้ว  กลายเป็นเสียง ล  เสียงเดียว   เราจึงมาสะกด เล่น แทน เหล้น  
๒)หลักอันนี้ใช้ได้กับ พยัญชนะ หว และ ว   ซึ่งออกเสียงต่างกันในศิลาจารึก  ปัจจุบันออกเสียงเป็น ว หมด อย่างคำว่า  ไหว้  

ศิลาจารึก มักใช้สระเสียงยาวในคำ   แต่คำเดียวกันนี้ภาษาไทยกรุงเทพใช้สระเสียงสั้น    ศิลาจารึกเขียนว่า เตม   กรุงเทพใช้ เต็ม
การใช้สระเสียงยาว อาจเป็นลักษณะของภาษาไทเดิมก็ได้  เพราะพบลักษณะนี้ในไทยอาหมและไทยดำที่(ขำตี้)

ศิลาจารึกใช้สระเสียงหนึ่ง  ไทยกรุงเทพใช้อีกเสียงหนึ่ง   ศิลาจารึกใช้ โสง  กรุงเทพใช้ สอง  
คำว่าโสง มาจากไหน    พบในภาษาไทยถิ่นต่างๆ คือ ลื้อ เต้อหง ต้ง ลุงโจว โปอ้าย ไทขาว ไทดำ ไทแดง
ศิลาจารึกใช้คำว่า สูด  ไทยกรุงเทพเขียน สวด   คำนี้ศาลาจารึกเขียนตาม"รูป"ภาษาเขมร ส่วนกรุงเทพเขียนตาม "เสียง "ภาษาเขมร
***********************
ที่จริงยังมีตัวอย่างอีกมาก จะทยอยนำลงอีกถ้าหากว่ามีผู้สนใจอยากจะอ่าน   เพราะมีการพูดถึงวรรณยุกต์ของศิลาจารึกที่ต่างจากกรุงเทพด้วย
แต่ตอนนี้ขอเว้นจังหวะก่อน   ออกความเห็นก่อนค่ะ

ถ้าหากว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทำศิลาจารึกหลักที่ ๑นี้ขึ้นมาจริง   คงจะต้องทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะสร้าง" ระบบ "ของภาษาขึ้นมาในศิลาจารึกนี้ด้วย  มิใช่แต่ทรงสร้างเนื้อความขึ้นมาเฉยๆเท่านั้น
ระบบภาษาที่ทรงสร้าง ก็แสดงว่า อย่างแรก คงจะต้องทรงเชี่ยวชาญในอักษรขอมโบราณจนกระทั่งเอามาดัดแปลงเป็นอักษรจารึกได้อย่างมีระบบระเบียบ กำหนดคำในจารึกโดยหาพยัญชนะมาบรรยายได้ครบถ้วน  
ไม่ใช่อักษรเขมรในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งอาจจะทรงหาจากเขมรอพยพได้บ้าง  
แต่ การเขียนอักษรขอมโบราณ ๗๐๐ ปีถอยหลังกลับไปจากปัจจุบันที่เป็นต้นแบบนั้นจะทรงหามาจากไหนก็สุดจะเดาได้  เพราะการผนวชนั้นทรงเรียนบาลีสันสกฤตเป็นหลัก   ในเมืองไทยจะมีใครสอนพระองค์ท่านได้ก็ยังนึกไม่ออก  
และถ้าทรงทำได้จริง  หลักฐานที่มาของการเรียนรู้ภาษาขอมโบราณของพระองค์ท่านนั้น ไม่มีร่องรอยให้เห็นบ้างเลยหรือ

อย่างที่สอง  นอกจากจะทรงคิดตัวอักษรไทยดัดแปลงจากอักษรเขมรอย่างมีระบบแล้ว    จะต้องทรงมีความรู้เรื่องภาษาถิ่นไทยลื้อ ไทยขาว ไทยอะไรต่อมิอะไรอีกมาก   เพื่อจะได้เลียนแบบ ดึงวิธีการใช้พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ในแนวของภาษาถิ่นมาใช้จารึกได้อย่างมีระเบียบระบบ   แทน
ภาษาอยุธยาหรือกรุงเทพสมัยรัชกาลที่ ๓  

ดิฉันสงสัยว่า ทรงติดต่อกับเผ่าคนไทนอกประเทศได้จากไหน เพราะถึงแม้ธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ไกลสุดชายแดนจนข้ามออกไปถึงนอกสยาม     สมมุติว่าบังเอิญไปเจอชนกลุ่มน้อยอพยพเข้ามา   จะทรงรู้จักมักคุ้นยาวนานพอจะเรียนรู้ระบบภาษาของพวกเขาทีเดียวหรือ  

การเลียนแบบภาษาโบราณเพื่อให้ดูขลัง อาจจะเป็นไปได้ถ้าเจอฝรั่งที่ไม่รู้ภาษาไทย     แต่เห็นทีจะตบตานักภาษาศาสตร์ได้ยาก
ถ้าศิลาจารึกนี้เป็นของที่ทำขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓   ต่อให้เลียนแบบยังไง ก็น่าจะมีนักภาษาศาสตร์สะดุดใจการใช้ภาษาเข้าบ้างไม่คนใดก็คนหนึ่ง    เพราะภาษามียุคสมัย และถิ่นของมัน  พอจับร่องรอยได้ทั้งในเอกสารและมุขปาฐะ    
เรามักจะพบว่าวรรณคดีไทยเก่าๆที่คนกรุงเทพอ่านคำบางคำกันไม่ออก พจนานุกรมก็ไม่ได้เก็บคำไว้  หากไปค้นในภาษาถิ่นจะมีร่องรอยคำอันเป็นปริศนานั้นอยู่ไม่มากก็น้อย  
มันเป็นคำที่ใช้กันในอดีตยุคหนึ่ง  แล้วก็เปลี่ยนแปลงสูญหายไปในยุคต่อมา    ยังคงตกค้างในถิ่นที่วิวัฒนาการน้อยกว่าเมืองหลวง
การสืบค้นจากภาษาไทตระกูลต่างๆก็มีสิทธิ์พบได้มาก    ว่าคำที่สูญหายไปจากสยาม อาจจะยังใช้กันอยู่ในไทยจ้วง หรือสิบสองปันนา ทำให้สืบค้นคำได้ไม่ยาก
ศิลาจารึกที่สงสัยกันว่าทำในรัตนโกสินทร์ เป็นจารึกที่มีคำเก่าแก่กว่าอยุธยา  มีคำในภาษาถิ่น มีคำที่แตกต่างจากไทยกรุงเทพ  ความแตกต่างในการใช้คำ สังเกตได้อย่างเป็นระบบระเบียบ  ไม่ใช่สรรหาคำมาแปะลงไว้แล้วแต่ว่าจะคิดหาคำอะไรขึ้นมาได้

ยังมีรายละเอียดด้านภาษาอีกหลายข้อค่ะ  ตอนนี้ขอหยุดฟังความคิดเห็นก่อน  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 21 ก.ค. 04, 18:03

 ชอบใจในความเพียรของคุณอาชาผยองและอ.เทาฯครับ ทำให้ได้ข้อมูลสรุปมารวมอยู่ในที่เดียวกันอย่างกระชับ

ผมอยากขอเสนอให้ผนวกองค์ประกอบที่ผมได้แสดงไว้ในกระทู้ก่อน(แบบกร้าวๆ) เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วิจัยด้วย  บางทีเราอาจได้มุมมองใหม่อย่างเป็นวิชาการที่ลงตัวกว่า

องค์ประกอบที่ว่า คือ พระพุทธศาสนาเป็นจิตวิญญาณแห่งสยามประเทศ

เป็นหลักปฏิบัติของพระสงฆ์ในเถรวาทให้ศึกษาพระบาลีสืบต่อกันมาอย่างมิให้ผิดเพี้ยน เพื่อป้องกันมิให้เกิดทัศนะคติส่วนตนเข้าไปปะปนกับพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์แห่งพระบรมศาสดาเจ้า  ซึ่งยังคงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องแม้จนทุกวันนี้ในประเทศต่างๆ  จนปรากฏตลอดมาว่าพระสงฆ์แม้ต่างชาติต่างภาษา หากชำนาญในพระบาลีแล้วก็อาจสื่อสารกันได้อย่างแคล่วคล่องไม่มีอุปสรรค

ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ จึงมีการจารึกพระสัทธรรมไว้ด้วยอักขระวิธีที่มีแบบแผนเป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการพัฒนา-วิวัฒน์เฉกเช่นภาษาที่ใช้เป็นการทั่วไป  จนทำให้พระสัทธรรมต้องแปดเปื้อน ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม  อักขระวิธีดังกล่าวถูกเรียกมาช้านานว่า "ตัวขอม" หรือ "อักขระขอม"

ใครจะมาบอกว่าตัวขอมเป็นของเขมรโบราณ ผมก็จะบอกว่าเกิดไม่ทัน ตอบไม่ได้  แต่เท่าที่เห็นตัวขอมเป็นอักขระวิธีของไทยอีกชุดหนึ่งที่สืบทอดมาจนลืมเลือน หาทีมาไม่ได้ ใช้เพื่อบันทึกพระสัทธรรมเป็นหลัก  ด้วยเหตุนี้ตัวขอมจึงได้รับฐานันดรพิเศษ  เป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์  จึงมีการสืบทอดการเขียนยันต์ขลังเพื่อให้เกิดผลพิเศษเหนือธรรมชาติด้วยอักษรขอมมาเป็นเวลานานแสนนานจนลืมเลือนความเป็นมาเช่นกัน

ขอลองเอาข้อมูลตรงนี้ไปทดลองใส่ประกอบการพิจารณาด้วยเถิด  บางทีอาจหาข้อยุติที่ลงตัวที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ได้
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 22 ก.ค. 04, 11:23

 เมื่อวานมีเวลาอยู่เท่านั้นครับ จึงอาจให้เนื้อความที่ยังดูไม่ต่อเชื่อมเท่าที่ควร

ดังที่กล่าวไว้ว่าสยามประเทศมีอักขระวิธีอยู่สองแบบ  แบบหนึ่งเป็นตัวขอม ซึ่งถือเป็นอักขระศักดิ์สิทธิ์ใช้บันทึกพระธรรม จึงมีฐานันดรเป็นเหล่าสมณะ  อีกแบบหนึ่งคือตัวหนังสือทั่วไปที่ใช้เขียนติดต่อกัน  แต่งเพลงยาวจีบสาวบ้าง  เขียนเป็นบัตรสนเท่ด่ากันเองบ้าง  แต่งเป็นกลอนบทอัศจรรย์บ้าง  เรียกว่าเขียนได้โดยไม่ต้องเกรงใจตัวหนังสือ จึงมีฐานันดรเป็นสามัญชน ประชาชนทั่วไป

ฉะนั้นจึงยังขาดอยู่อีกฐานันดรหนึ่งซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจประดุจองค์สมมุติเทพ  คือฐานันดรกษัตริย์

สุโขทัยมีภาพว่าเป็นยุครุ่งเรือง แม้ในพวศาวดารยังกล่าวถึงพระร่วงอย่างยกย่องเป็นวีรกษัตริย์ผู้มากด้วยกฤษฎาภินิหาร การลำดับต้นวงศ์ของราชวงศ์จักรียังนับย้อยสืบไปถึงราชวงศ์พระร่วง  ประกอบด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ที่เป็นถาวรวัตถุต่างๆที่คงเหลือให้เห็น  ก็น่าเชื่อว่าผู้คนในยุคสุโขทัย น่าจะมีอยู่ดีมีสุข สามารถพัฒนาศิลป วรรณกรรม และศาสตร์แขนงต่างๆให้ก้าวไกล ด้วยไม่ต้องพวงกับศึกสงคราม และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง

จึงน่ามีความเป็นไปได้มากที่จะมีความพยายามสร้างอักขระวิธีชุดที่ 3 ขึ้นมาสำหรับวรรณะกษัติย์เป็นการเฉพาะ และก็เหมือนอนุสาวรีย์แสดงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ในอดีตจำนวนมาก ที่ต่างคนต่างมีขัตติยมานะ  ใครขึ้นครองบัลลังค์ก็ต้องการสร้างสิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ศิลาจารึกของสุโขทัยที่ต่างรัชสมัยจึงปรากฎอักขระต่างแบบกันจนน่างุนงง

แต่อักขระวิธีที่ปรากฎบนจารึกต่างๆนั้น ล้วนเป็นทางแยกที่เป็นซอยตันสั้นๆทั้งสิ้น  อักษรไทยปัจจุบันไม่ได้มีรากฐานจากอักขระวิธีเหล่านั้น  แต่ละรัชสมัยอักขระของวรรณกษัตริย์ก็อาจถูกดัดแปลงจากอักขระวรรณะสมณะและวรรณะสามัญชน มาก-น้อยแตกต่างกันไป  แล้วก็หยุดอยู่เพียงนั้น  ในขณะที่อักษรไทยหรืออักขระวิธีแห่งสามัญชนก็วิวัฒน์ต่อมาเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเป็นอักขระวิธีที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องมาตลอด  ในขณะที่อักษรขอมมีความคงตัวสูงด้วยเหตุผลเดียวกับภาษาบาลี ที่ถูกเป่ากระหม่อมไว้ให้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วยความฉลาดของบรรพบุรุษไทยโบราณ จนไม่มีใครกล้าแตะต้อง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

น่าเสียดายที่ลัทธิชาตินิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 2 ผนวกกับความเชื่อถือในทฤษฎีของเซเดส  ทำให้อักษรขอมถูกรังเกียจว่าเป็นอักษรของเขมรโบราณ และเป็นเครื่องตอกย้ำประวัติศาสตร์ที่น่าอับอาย(ตามการตั้งทฤษฎีของเซเดส)ว่าครั้งหนึ่งไทยเป็นทาสขอมหรือเขมรโบราณ

นโยบายของท่านผู้นำจึงก่อให้เกิดการทำลายปราชญ์ผู้รู้อักษรขอม ตลอดจนบันทึกเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณลงอย่างย่อยยับทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ปัจจุบันหกสิบปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2  คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะหาผู้สามารถอ่าน-เขียนอักษรขอมในระดับปราชญ์  ทำให้ยิ่งยากแสนยากที่มีการมองภาพปริศนาของประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศได้อย่างครบถ้วน

แม้แต่ยันต์อุณาโลมยังไม่รู้จักหยิบยกมาพิจารณากัน จะให้กลับไปดูไปศึกษาบันทึกอักษรขอมก็ต้องรอให้นักวิชาการรุ่นปัจจุบันเข้าโลงไปให้หมดก่อนกระมัง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 22 ก.ค. 04, 21:51

 เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูจริงๆครับ ผู้ที่สร้างจารึกหลักนี้ขึ้นมา ได้สร้างระบบการเขียนภาษาไทยที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา ไม่ว่าผู้สร้างจะเป็นพ่อขุนรามคำแหง พระมหาธรรมราชาลิไท ร.4 หรือใครอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ตาม กล่าวได้ว่าเป็นอัจฉริยะโดยแท้ครับ ก็การเขียนภาษาไทยโดยที่ไม่ต้องสับสนกับคำว่า ตาก-ลม และ ตา-กลม (โดยไม่ต้องใส่ - เหมือนที่ผมทำ) จะมีก็ที่นี่ที่เดียวเองครับ จะว่าไปแล้วอักขรวิธีในหลักที่ 1 นี้ มีหลายจุดที่น่าสนใจนะครับ การนำสระอุ สระอู มาไว้หน้าคำนั้น ไม่เหมือนกับใครทั้งสิ้น และก็เป็นจุดสำคัญในการที่ทำให้สามารถช่วยจัดการกับการแยกคำได้ เรื่องนี้ ฝ่ายที่เห็นว่า ร.4 ทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้นสันนิษฐานว่าเพราะการที่สระบนสระล่างมาอยู่ในบรรทัดทั้งหมดนั้น เป็นเพราะว่าพระองค์ต้องการจะทำให้สะดวกแก่การพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์สมัยใหม่ เรื่องนี้ผมเองยังข้องใจแต่เพียงว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงยังต้องทิ้งวรรณยุกต์ไว้ข้างบน เพราะถึงเหลือแค่สองตัวก็คงยุ่งอยู่ดีนะครับ เรื่องนี้ดูเหมือนฝ่ายยักษ์(ของยืมไมเคิล ไรท์มาใช้เพื่อความสะดวกนะครับ)จะไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพูดบ้างเลยนะครับ

งานวิจัยของอ.ราตรีน่าสนใจมากครับ เพราะผมเคยอ่านรายงานทางภาษาศาสตร์ในรูปของ second source เท่านั้น ถ้าคุณเทาชมพูจะกรุณามาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกก็จะขอขอบคุณมากเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวรรณยุกต์ในจารึกหลักที่ 1 เพราะเท่าที่ผมทราบ(ลองอ่านดูก็ได้ครับ)พบว่าการใช้วรรณยุกต์ไม้เอก และไม้โท(ในรูป+)ตรงกับกฎเกณฑ์ภาษาไทยสมัยปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งไม่พบลักษณะนี้ในจารึกหลักอื่นๆหรือแม้แต่เอกสารในสมัยอยุธยาก็ตาม ฝ่ายพระแย้งว่านี่แสดงว่าการจัดกลุ่มอักษรเสียงสูง กลาง ต่ำได้มีการทำกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และเสื่อมลงในภายหลังดังที่ปรากฎในจารึกหลักอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้วซอยแรกนี้ ลึกกว่าซอยตันอื่นๆทั้งสิ้นนะครับ จะว่าไปแล้วอาจจะลึกล้ำกว่าภาษาไทยปัจจุบันในบางแง่มุมด้วย ไม่ทราบว่าผลวิจัยของอ.ราตรีจะวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่งที่ผมสงสัยจากงานวิจัยของอ.ราตรีที่คุณเทาชมพูยกมาคือ เรื่อง "เสียง" ของภาษาในจารึกนั้น เพราะว่าน่าจะนำมาวิเคราะห์ยากนะครับ เพราะไม่มีใครเคยได้ยิน"เสียง"นั้นจริงๆ เห็นแต่รูปอักษร แม้จะใช้หลักภาษาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย ก็น่าจะไม่ง่ายนัก อย่างภาษาเขมรรูปและเสียงที่อ้างถึงก็เป็นเขมรปัจจุบันอย่างแน่นอน การวิเคราะห์ในเรื่องเสียงนั้นคงต้องใช้ความคาดเดาอย่างสูงมาก ไม่เหมือนการวิเคราะห์รูป ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่านะครับ

เรื่องการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์นี้น่าสนใจครับ ผมเองไปค้นเอาหนังสือเกี่ยวกับภาษาบาลี-สันสกฤตเก่าๆกลับมาอ่านใหม่ก็พอจะเข้าใจนัยยะการวิเคราะห์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของเสียงมากขึ้นเล็กน้อยครับ หากมีผู้สนใจจะหาเวลาสรุปมาให้อ่านกันครับ

เรื่องที่คุณเทาฯสงสัยเกี่ยวกับความรู้ด้านภาษาขอมของร.4 ผมไม่แน่ใจนัก แต่เชื่อว่าพระองค์น่าจะมีพื้นความรู้อยู่ไม่น้อย อย่างน้อยผู้ที่พระองค์มอบหมายให้อ่านจารึกหลักที่ 4 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ก็เป็นศิษย์ของพระองค์เองนะครับ นอกจากนี้การที่ ร.4 ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นได้นั้น แสดงภูมิของพระองค์ชัดแจ้งแล้วครับ ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายยักษ์จะเชื่ออย่างนี้ เพราะพระองค์มีศักยภาพที่จะทำได้จริงๆ

สำหรับสัญญลักษณ์อุณาโลมนั้น ไม่แน่ใจว่ามีนักวิชาการท่านใดอ้างถึงบ้าง แต่ที่แน่ๆอ.พิริยะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวถึงในหนังสือ"จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม" ว่าสัญญลักษณ์ดังกล่าวไม่พบในจารึกหลักอื่น แต่พบใน "หนังสือไทยเดืม"(เขียนตามชื่อหนังสือ) ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และ ยังพบใช้ในพระราชหัตเลขาของร.4 อีกด้วยครับ แต่ไม่ได้อธิบายอันใด ปล่อยให้คนอ่านคิดไปไกลกันเลยครับ(ซึ่งก็คงจะตรงวัตถุประสงค์ของผู้เขียนแล้ว) เรื่องนี้ผมว่าน่าจะศึกษาต่อว่า สัญญลักษณ์นี้ยังพบใช้ในการอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นตามที่คุณถาวภักดิ์ได้ชี้แนะไว้ สัญญลักษณ์นี้น่าจะถูกใช้ในการศาสนามาเป็นปกติก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าสืบสวนได้ว่าใช้มาตั้งแต่สมัยใดก็น่าจะคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้ไปได้ครับ

แนวทาง "ภาษาของกษัตริย์" ที่คุณถาวภักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ถือว่าเป็นการมองในอีกแนวทางหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่ามีจารึกบางหลักมีการจารไว้คู่กันเช่นหลักที่ 4 และ 5 วัดป่ามะม่วงซึ่งเป็นจารึกที่มีเนื้อความเกือบเหมือนกันจารึกไว้เป็นภาษาขอมและภาษาไทย ซึ่งหากภาษาไทยในหลัก 1 เป็นภาษาของกษัตริย์ก็แสดงว่าภาษานี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้สืบเนื่องในรัชกาลต่อมา ซึ่งน่าเสียดายมากครับกับภาษาที่มีระบบดีขนาดนี้

สำหรับนักอ่านจารึกภาษาขอมนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่ายังมีการเรียนการถ่ายทอดความรู้ระดับใดในประเทศไทยปัจจุบัน แต่น่าสังเกตว่านักประวัติศาสตร์ชาวต่างประเทศหลายๆคนที่สนใจเรื่องนี้ก็เป็นนักอ่านจากรึกขอมโบราณระดับผู้เชี่ยวชาญอย่าง Cedes (ฝ่ายพระ) หรือ Vickery (ฝ่ายยักษ์) นะครับ

ขอฟังข้อมูลของคุณเทาชมพูต่อครับ อีกทั้งหากคุณถาวภักดิ์จะกรุณาอรรถาธิบายแนวคิดเรื่องภาษาของกษัตริย์ และ ข้อเท็จจริงที่คงเหลืออยู่ในโลกของพระ ให้ฟังต่อก็จะเป็นพระคุณมากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 12:08

 ขอบคุณครับที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง  แต่ถามกว้างจัง  ตอบไม่ถูกครับ  ขยายความให้อีกหน่อยก็แล้วกันถึงความลงตัวกว่า  เช่น การที่มีเนื้อความว่าลายสือนี้แต่ก่อนไม่มี  และอักขระวิธีที่แตกต่างกับจารึกอื่น

ส่วนในประเด็นพระศาสนา คงบอกได้อย่างกว้างๆเช่นกันว่า  คนเราจะมองอะไรก็ย่อมต้องผ่านทัศนคติตามที่เรียนรู้สร้างสมประสบการณ์มา  ปัจจุบันก็เช่นกันเป็นเรื่องปกติที่ผู้เป็นใหญ่มักขึ้นสู่อำนาจและพยายามรักษาอำนาจด้วยการสร้างภาพ  จึงอดไม่ได้หรอกครับที่จะมองผู้มีอำนาจให้สมัยก่อนๆว่าคงจะต้องไม่หนีความเป็นนักสร้างภาพเช่นกัน

ฉะนั้นทำไมเราไม่ trial & error เหมือนเรื่องอื่นๆบ้าง  ลองเอาแว่นของผู้ที่มีความเคารพศรัทธาในพระศาสนามาใส่แทนแว่นนักการเมือง นักสร้างภาพ ดูหน่อยซิ ภาพที่ออกมาจะสมบูรณ์กว่าไหม

ถ้าถามว่าทำไมต้องพระพุทธศาสนา คงต้องบอกให้ลืมตาดูรอบๆตัวหน่อย และให้หัดฟังเสียงรอบๆตัวบ้าง  มีเสียงที่ไม่เบานักและดังอยู่อย่างต่อเนื่องว่า "ศิลปของไทยมีแต่วัดกับพระพุทธรูป"  

ซึ่งเป็นความจริง และสื่อหมายความให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษจงใจมอบให้เป็น The Legacy แห่งแผ่นดิน

แล้วถ้าเข้าใจถึงจิตใจของผู้ที่เป็นบุพการี ก็ย่อมต้องรู้ซึ้งถึงหัวใจพ่อแม่ที่มีจิตใจปกติว่ามีแต่ความรักความห่วงใยลูกยิ่งกว่าตัวเอง ตัวเองจะอด จะไม่มีกินไม่มีใช้ ก็ไม่ว่าไม่บ่นเลย  เพียงขอให้ลูกมีความสุขที่สุด ได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุดเถิด

ฉะนั้นเมื่อชัดเจนว่าบรรพบุรุษของไทยตั้งใจมอบพระศาสนาให้เป็นมรดก  ก็จะได้ความเข้าใจว่าท่านย่อมเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติที่มีค่าสูงสุดที่สมควรรักษาไว้ด้วยชีวิตเพื่อส่งต่อเป็นมรดกอันมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดให้ลูกหลานอันเป็นสุดที่รักยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ

และตราบใดที่เรายังไม่เห็นซึ้งว่าพระพุทธศาสนาเป็นมหาสมบัติอันหาค่าไม่ได้  เราจะเข้าใจจิตใจ ความคิด การกระทำ และความเป็นมาในอดีตของบรรพรุษได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 15:41

 ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวอักษรขอมโบราณ ค่ะ
อักษรขอมโบราณ แยกประเภทตามวิธีเขียนมี ๒ ประเภท คือขอมหวัด กับขอมบรรจง
อักษรขอมอย่างที่นิยมจารึกลงบนแผ่นหิน  เรียกว่าขอมบรรจง   ในเขมร  อักษรขอมประเภทนี้ต่อมาพัฒนาเป็นอักษรขอมมูล   ปัจจุบันใช้เวลาเขียนหัวข้อใหญ่ หรือเขียนป้าย  ตามพนมเปญมีให้เห็นกันทั่วไป
ส่วนขอมหวัด คืออักษรขอมที่เขียนในใบลาน อย่างที่พระสงฆ์ไทยศึกษากัน   อักษรขอมแบบนี้พัฒนามาเป็นอักษรขอมเจรียง ที่ใช้กันในปัจจุบันในพนมเปญเวลาเขียนอะไรต่อมิอะไรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นในเอกสารต่างๆ
ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเคยศึกษาภาษาขอม  ท่านน่าจะศึกษาขอมหวัด แบบเดียวกับพระสงฆ์ทั่วไปเรียนในการศึกษาคัมภีร์โบราณ      แต่อักษรขอมที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรไทยในจารึกหลักที่ ๑ เป็นอักษรขอมบรรจง  ไม่ใช่ขอมหวัดอย่างพระสงฆ์สมัยรัตนโกสินทร์เรียน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 15:45

 เมื่อดูจากวิธีการออกแบบตัวอักษรไทยในศิลาจารึกหลักที่ ๑  ผู้ออกแบบซึ่งจะเป็นใครก็ตาม ได้ผสมผสานบางส่วนของอักษรมอญและขอมเข้าด้วยกัน แล้วนำมาดัดแปลงเป็น "ลายสือไท"   คือเอาตัวขอมเหลี่ยมมาตัดส่วนบนของพยัญชนะที่รกรุงรังออกเสีย   เหลือแต่ตัวพยัญชนะล้วนๆซึ่งสลักลงหินง่ายกว่า   แล้วลบเหลี่ยมตามแบบตัวขอมออก  ให้ค่อนข้างมนแบบอักษรมอญ  

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าอักษรทั้งสองอย่างนี้ ใช้กันแพร่หลายในแหลมทองมาตั้งแต่ก่อนเกิดอาณาจักรสุโขทัย    สันนิษฐานว่าคนไทยในอาณาจักรสุโขทัยคงใช้อักษรมอญหรือขอมมาก่อน หรือทั้งสองอย่าง เพราะพบหลักฐานเช่นอักษรมอญในจารึกวัดกู่กุฎ ซึ่งมีอายุเก่าไม่น้อยกว่าสุโขทัย หรืออาจจะมากกว่าเสียอีก
 
ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์"ลายสือไท" ในจารึกหลักที่ ๑ ขึ้น เป็นของสุโขทัยโดยเฉพาะ    เค้าวิธีเขียนได้อิทธิพลจากขอมและมอญซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในยุคนั้น    ต่อมาในสมัยอยุธยา  อิทธิพลของขอมยังมีให้เห็นในยุคต้นๆ  แล้วก็จางลงทุกทีหลังสมัยพระเจ้าปราสาททอง  จนถึงปลายอยุธยาแทบไม่มีอิทธิพลขอมให้เห็นทางภาษาและวรรณคดีเลย  นอกจากสืบทอดจากของเก่าซึ่งก็จางหายไปมาก เพราะขอมหมดอิทธิพลกับไทยไปแล้ว

ลักษณะตัวอักษร"ลายสือไท" นั้นเมื่อเทียบกับตัวอักษรขอม ซึ่งได้เค้าว่าเป็นที่มา    พบว่าตรงกับอักษรขอมสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗  (ครองราชย์ ๑๗๒๔-๑๗๖๐)ลองบวกลบปีกับอาณาจักรสุโขทัยยุคพ่อขุนรามดูนะคะ

พูดถึงความรู้ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  นักวิชาการรุ่นหลังเห็นว่า ทรงศึกษาภาษาขอมมาไม่มาก   น้อยกว่าบาลีสันสกฤต    คงจะสนพระทัยบาลีสันสกฤตมากกว่า เห็นได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้กับสังฆราชปาเลอกัว  ก็ทรงแลกภาษาบาลีกับละติน    นอกจากนี้ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง  ก็จะทรงอ้างศัพท์สันสกฤตกำกับอยู่หลายแห่ง   เวลาสะกดชื่อคนหรือชื่อเมือง
ดิฉันยังหาไม่พบว่า ในพระราชประวัติ มีตอนไหนกล่าวถึงหลักฐานการใช้ภาษาขอมของพระองค์ท่าน  โดยเฉพาะในพระราชนิพนธ์    แต่ทราบว่าในการวินิจฉัยศิลาจารึกหลักที่ ๑  นักวิชาการด้านนิรุกติศาสตร์รุ่นหลังที่นำมาศึกษาต่อ ก็พบว่าทรงวินิจฉัยผิดอยู่หลายคำ    (เสียดายที่ยังไม่มีตัวอย่างให้เห็น)   แต่ทำให้คิดว่าถ้าทรงสร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาเองจริง ก็ไม่น่าจะวินิจฉัยศัพท์ที่สร้างมากับมือ ผิดได้ลงคอ


สำหรับคำถามของคุณ CH เรื่องการออกเสียงสมัยสุโขทัยว่าเราไม่มีทางรู้ว่าเขาออกเสียงกันยังไง   ที่จริงมันก็มีทางรู้ค่ะ  แม้ว่าเราไม่สามารถได้ยินกับหูได้ว่าพ่อขุนรามฯเองทรงเปล่งเสียงออกมาสูงต่ำแค่ไหนก็ตาม    
นักภาษาเขาจะเริ่มศึกษา จนสามารถตั้งหลักเกณฑ์ได้   เริ่มตั้งแต่วิธีการเทียบตัวอักษรกับเสียง ในศิลาจารึกก่อนค่ะ เพื่อดูว่าระบบของมันเป็นยังไง  
เมื่อจับวิธีการแทนเสียงด้วยตัวอักษรได้แล้ว  โดยเทียบกับภาษาปัจจุบัน  ก็จะพบว่าตัวอักษรบางตัวนั้นไม่อยู่ในกฎเกณฑ์นี้  หมายความว่ามันแทนเสียงอะไรสักเสียงที่อาจจะไม่มีในภาษาไทยปัจจุบัน    
ต่อจากนั้นก็จะหันไปมองภาษาถิ่นต่างๆที่เชื่อว่ามีวัฒนธรรมติดต่อกับสุโขทัยบ้าง หรือว่าอาจจะมีถิ่นกำเนิดร่วมกันบ้าง  อย่างภาษาตระกูล ไท ต่างๆนอกประเทศ  แล้วดูว่า คำที่มีที่มาอันเดียวกัน หรือความหมายคล้ายกัน หรือสะกดคล้ายกันกับในศิลาจารึก   ตามถิ่นต่างๆมีการออกเสียงยังไง    
ด้วยวิธีการสังเกตและวิเคราะห์แบบนี้ทำให้รู้การออกเสียงในคำบางคำได้  เพราะมันยังถูกบันทึกเอาไว้ด้วยคนท้องถิ่น  

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีคำว่า " ด้วยรู้ด้วยหลวัก"  คำนี้ถ้ามองเฉยๆไม่มีหลักเกณฑ์อะไร  อาจจะอ่านออกเสียงว่า หล-วัก    หรือ หะ-ละ-วัก  หรือ อ่านควบกล้ำไปเลยว่า หลวัก  คือ หลว ควบกันหมด ก็ได้
ถ้าจะสืบว่าออกเสียงอย่างไร  นักภาษาก็ต้องมาค้นก่อนว่า คำนี้มันแปลว่าอะไร  ดูจากบริบท   เมื่อหาคำแปลได้แล้ว ว่าหมายถึงรอบรู้ เฉลียวฉลาด  (intelligent)    ก็พบว่ามีคำในภาคกลางที่ยังมีเค้าคำนี้ คือ "หลัก" ในคำว่าหลักแหลม  หมายถึงเฉลียวฉลาด   แต่กลายเสียงจาก หลว  เป็น หล  ส่วน ว หายไป
นักภาษาศาสตร์ค้นคว้าต่อไป พบว่า  ในภาษาถิ่นของล้านนามีคำว่า หลวก  แปลว่า ฉลาด    อีสานก็เช่นกัน  ทางใต้ที่กลันตันก็ใช้ หลวก แปลว่า ฉลาด  เมื่อเทียบกับการออกเสียงในภาษาถิ่นแต่ละถิ่น   ก็พอจะแกะรอยได้ว่า การออกเสียง หลวัก ในศิลาจารึก นั้น  ออกเป็นคำควบกล้ำ หลว  คือสรุปว่าอ่านออกเสียงออกมายังไง
นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้เรื่องเสียง ค่ะ  
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 15:58

 นักภาษานี่เก่งจริงเลยนะครับ เรื่องราวล่วงเลยมาหลายร้อยหลายพันปีก็ยังเข้าใจได้
สำหรับผมแล้ว แค่ภาษาไทยในปัจจุบันก็ยากเกินสติปัญญาแล้ว ก็ได้แต่ตามอ่านความคิดที่แบ่งเป็นหลายฝ่าย
ถ้าถามผมว่าจะเชื่อฝ่ายไหน ผมจะบอกว่าเชื่อการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ครับ ว่าร่อยรอยอ็อกไซด์ในหินลึกหนาบางเท่าไร
อย่างอื่นคิดไม่ออกครับ

แต่ดูจารึกหลักที่ 1 แล้วต่างจากอักษรไทยปัจจุบันมาก
ตัวหนังสือไทยเริ่มเป็นแบบที่เราใช้กันตั้งแต่เมื่อไรครับ
แล้วมีหลักฐานหรือไม่อย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 16:29

 ตัวอักษรไทยอย่างที่ใช้กันปัจจุบันนี้ ไม่ได้จู่ๆก็เกิดขึ้นมาในพ.ศ.ใดพ.ศ.หนึ่งค่ะอาจารย์นิรันดร์
แต่มันเป็นวิวัฒนาการมาจากลายสือไท

ที่หอสมุดแห่งชาติ  มีกระดาษแสดงวิวัฒนาการของตัวอักษรไทย  ตั้งแต่ลายสือไท  ถึงปัจจุบัน ว่าเปลี่ยนแปลงไปยังไงจนกระทั่งกลายมาเป็นอย่างที่อาจารย์กับดิฉันใช้เขียนโต้ตอบกันอยู่นี่แหละ
ขายแผ่นละ 10 บาท

วิวัฒนาการของตัวอักษร ในช่วงที่อยู่ระหว่างกลางยุคสมัยของสุโขทัยและรัตนโกสินทร์  คือสมัยอยุธยา ต้น กลาง ปลาย ก็มีหลักฐานเหลืออยู่ให้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงการเขียนรูปตัวอักษรค่ะ  ว่ามันค่อยๆกลายในแต่ละยุคแต่ละสมัยยังไง

จากสุโขทัย มาถึงอยุธยา ตัวอักษร ก  ข ค  พวกนี้จะเรียวลง   ไม่อ้วนมนอย่างยุคก่อน   เพิ่มความเอียงในตัวอักษรมากขึ้น  มาถึงรัตนโกสินทร์ ก็ตั้งตรง  อย่างที่เห็นกัน
อธิบายแค่นี้ก่อนค่ะ   เดี๋ยวจะออกนอกศิลาจารึกไปอีกไกล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 16:34

 มีอีกทางหนึ่ง เรื่องการพิสูจน์  คือนำศิลาจารึกหลักที่ 1 มาเทียบชนิดและประเภทของหิน  และความเก่าแก่ของการจารึก กับศิลาจารึกหลักอื่นๆที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นสมัยสุโขทัย
ว่ามีความใกล้เคียงกันหรือไม่เพียงใด  
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 17:11

 เรื่องการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถ้ามีหลักเป็นมั่นเป็นเหมาะผมก็เชื่อครับอ.นิรันดร์ แต่การพิสูจน์ที่เคยทำกับจารึกหลักที่ 1 ผมยังข้องใจอยู่มากเพราะการวิเคราะห์ทำโดยการใช้ scanning electron microscope และ energy dispersive x-ray spectrometer equipment ศึกษาพื้นผิวของจารึก ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ใช้ในการศึกษาอายุได้โดยตรง และที่สำคัญคือผม"ค้นไม่พบ"ว่าเคยมีการใช้วิธีการนี้ในการกำหนดอายุวัตถุโบราณในที่อื่นๆเลยนะครับ และที่สำคัญ เท่าที่ผมค้นพบ ในผู้วิเคราะห์สองท่าน(ด้วยความเคารพ) ท่านหนึ่งเป็นนักโบราณคดีที่ไม่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์แบบนี้ ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นนักธรณีวิทยาที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีอีกเช่นกัน ต้องยอมรับว่า "น้ำหนัก" ยังไม่พอจริงๆครับ

ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้แหละครับ ที่เป็นความพยายามในการพิสูจน์ความเก่าแก่ของการจารจารึกที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงครับ

ส่วนเรื่องชนิดของหิน ผมกลับไม่คิดว่าเป็นสาระสำคัญมากนัก เพราะในยุคสมัยเดียวกันอาจใช้หินชนิดที่แตกต่างกันก็ได้ครับ ใช้เป็นบริบทคงจะพอได้ แต่ใช้เป็นข้อสรุปยังไม่น่าจะ่ได้นะครับ

มิฉะนั้นคงต้องฟันธงผลการพิสูจน์กันไปนานแล้ว

ถึงตอนนี้ ผมยังให้น้ำหนักที่การวิเคราะห์ทางด้านอักขรวิธี ภาษาศาสตร์ และเรื่องราวในจารึกมากกว่าครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 18:01

 เหตุที่ผมโต้แย้งทฤษฎีเดิมที่ว่าอักขระไทยปัจจุบันมีการพัฒนามาจากลายสือไทยุคพ่อขุนรามฯ

ประการหนึ่งก็ด้วยทฤษฎีดังกล่าวเคยตั้งควบอยู่กับทฤษฎีว่าด้วยสุโขทัยเป็นเมืองหลวงแรกของราชอาณาจักรไทยที่มีอาณาเขตกว้างขวางตลอดแหลมมาลายู หัวเมืองมอญ และจรดตอนเหนือของเวียดนาม  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ก็คงสมเหตุสมผลที่อักขระไทยยุคอยุธยาจะต้องพัฒนามาจากอักขระเดิมในยุคสุโขทัย  เช่นเดียวกับที่ยุครัตนโกสินทร์รับทุกสิ่งจากอยุธยา  หรืออาจเรียกยุครัตนโกสินทร์ว่าเป็นอยุธยาใหม่ก็ยังได้

แต่ความจริงสุโขทัยเป็นเพียงรัฐๆหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างรัฐน้อยใหญ่ที่มีราชวงศ์กษัตริย์ของตน เช่น ล้านนาของพญาเม็งราย ภูกามยาวของพญางำเมือง  สุพรรณบุรี-ราชบุรี  อโยธยา-ละโว้  เป็นต้น

สุโขทัยมีความสงบอยู่เพียงช่วงระยะหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้วย  ความมั่งคั่งที่อาจได้จากโอกาสที่เอื้อให้ฉกฉวยประโยชน์จากเส้นทางการค้าในยุคนั้น  และนโยบายทางการทูต  กล่าวคือ พ่อขุนรามฯเป็นศิษย์สำนักเดียวกันกับพญาเม็งรายและพญางำเมือง  ในขณะที่ประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงศรีฯทำให้เราเข้าใจถึงความแน่นแฟ้นทางเครือญาติระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย  และยังมีพ่อขุนผาเมืองอีกที่น่าจะมีบทบาทสำคัญยับยั้งมิให้อโยธยา-ละโว้พยายามแผ่อำนาจเหนือสุโขทัยในยุคต้นๆ

ด้วยน้ำหนักที่ลบล้างทฤษฎีเดิมจนเห็นภาพสุโขทัย ว่าเป็นเพียงรัฐอิสระเล็กๆที่เบียดแทรกอยู่ระหว่างรัฐที่มีศักยภาพสูงกว่า รอวันที่จะถูกครอบงำ และในที่สุดก็ถูกผนวกไว้กับอยุธยา  เป็นเหตุให้น้ำหนักของทฤษฎีว่าด้วยอักขระไทยยุคอยุธยามาจากอักขระยุคสุโขทัย อ่อนลงไปถนัดใจ

ดูเหมือนว่าอักขระไทยปัจจุบัน หรืออักขระอยุธยานั้นน่าจะมีพัฒนาการเป็นเอกเทศและได้รับอิทธิพลจากยุครุ่งเรืองสั้นๆของสุโขทัยน้อยมาก หรือไม่มีเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 18:07

 "สำหรับนักอ่านจารึกภาษาขอมนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่ายังมีการเรียนการถ่ายทอดความรู้ระดับใดในประเทศไทยปัจจุบัน "
ตอบ
ระดับปริญญาเอกแล้วค่ะ
สาขาวิชาเขมร  ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากนี้ ยังมีระดับปริญญาโท สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก   สาขาวิชาจารึกภาษาไทย  สาขาวิชาภาษาสันสกฤต   สาขาวิชาเขมรศึกษา
เปิดที่คณะโบราณคดีเหมือนกัน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 18:24

 ดิฉันเห็นตรงข้ามค่ะ คุณถาวภักดิ์
นักภาษาศาสตร์เขาศึกษาจากอักขรวิธีการเขียน  ดูรูปแบบการเขียนลายสือไท   ดูแบบที่ใช้ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ หลังจากนั้นด้วย  แล้วมาดูหลักฐานการเขียนสมัยอยุธยาตั้งแต่ต้นลงมาถึงปลาย  ถึงมองเห็นวิวัฒนาการ
ถ้ามองไม่เห็นวิวัฒนาการ  หรือเห็นแล้วดูว่ามันไม่น่าจะใช่สายตรง   เขาก็มองหาแหล่งที่อื่นต่อไปอยู่ดีละค่ะ  จนกว่าจะเจอ

ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นรัฐใหญ่รัฐเล็กอะไรหรอก  ไม่ใช่ว่าจะต้องหาทางเชื่อมโยงตัวอักษรกันให้ได้ เพราะเชื่อว่าสุโขทัยเป็นรัฐใหญ่  ตัวอักษรเลยต้องมาจากที่นั่น
ก็รู้กันมาตั้งนานแล้วว่าสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา  คือตอนต้นจะใหญ่หรือเล็กไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสุโขทัยและอยุธยานั้น มีให้เห็นแน่ทางประวัติศาสตร์
รัฐที่อ่อนด้อยกว่าหรือไม่ ไม่สำคัญ  แต่ความสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมได้   หนึ่งในความสัมพันธ์นั้นคือตัวอักษร ซึ่งมันมีเค้าให้เห็นความคล้ายคลึงกัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ถ้าตัวอักษรภาษาไทยอย่างที่เราใช้กันนี้ มีวี่แววให้เห็นว่ามาจากกำแพงเพชร หรือว่าละโว้ เพราะมีหลักฐานให้ค้นพบ  นักภาษาศาสตร์ก็ต้องหาทางวิจัยว่ามาจากที่นั่น    เขาไม่ปล่อยข้อมูลอันน่าตื่นเต้นนี้ไว้เฉยๆ เพราะมันหมายถึงงานวิจัย วิทยานิพนธ์  ทฤษฎี ผลการพิสูจน์ ที่เป็นชื่อเสียงและความน่าภูมิใจของเขา

ถ้าหากว่าอักษรไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากที่ใดเลยนอกจากผุดขึ้นมาในอยุธยาด้วยการสร้างของกษัตริย์องค์ไหนสักองค์  คิดขึ้นมาเอง 100% ไม่ได้อิทธิพลจากอักษรที่ไหน  มันก็ย่อมมีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เสียจนมองไม่เห็นอิทธิพลของตัวอักษรอื่น
แต่นี่มันไม่ใช่นี่คะ  มันมีเค้าที่มาให้เห็น  

ส่วนอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นเกี่ยวกันแน่  เพราะรัตนโกสินทร์ตั้งขึ้นโดยชาวอยุธยาแท้ๆ  ที่รอดมาได้ ก็ย่อมนำวัฒนธรรมเดิมติดตัวมาด้วย  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 23 ก.ค. 04, 18:31

 http://www.lib.ru.ac.th/journal/thai_language.html

กำเนิดลายสือไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร


          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทย หรือตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อมหาศักราช 1205 (พุทธศักราช 1826) นับมาถึงพุทธศักราช 2546 ได้ 720 ปีพอดี ในระยะเวลาดังกล่าว ชาติไทยได้สะสมความรู้ทั้งทางศิลปวัฒนธรรม และวิชาการต่างๆ  และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นสืบต่อกันมา โดยอาศัยลายสือไทยของพระองค์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนสมัยสุโขทัย ชาติไทยเคยรุ่งเรืองอยู่ที่ไหน อย่างไรไม่มีหลักฐานยืนยันให้ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นแล้ว มีศิลจารึกและพงศาวดารเหลืออยู่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ชาติไทยเคยรุ่งเรืองมาอย่างไรบ้างในยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในโอกาสครบรอบ 720 ปีนี้ คนไทยทุกคนจึงควรน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน
             ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีข้อความปรากฎว่า "เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี 1205 สก ปีมแม พ่ขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในในแล่ใศ่ลายสืไทยนี๋ ลายสืไทนี๋ จึ่งมีเพื่อขุนผู๋น๋นนใศ่ไว๋" หา แปลว่า ด้วยตนเอง(ไทยขาวยังใช้อยู่) ใคร่ใจในใจ แปลว่า คำนึงในใจ (จากพจนานุกรมไทยอาหม) ข้อความที่อ้างถึงแสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยแบบที่จารึกไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826
          ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในตำนานอักษรไทย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2468 ว่า คำที่ใช้ในจารึกมีคำนี้อยู่ต่อคำ ลายสือ ทุกแห่ง(สามแห่ง) หมายความว่าหนังสือไทยอย่างนี้ไม่มีอยู่ก่อนจะ มิได้ประสงค์จะทรงแสดงว่า หนังสือชนชาติไทยพึ่งมีขึ้น ต่อเมื่อ พ.ศ. 1826 เซเดส์ ยังเห็นว่า พวกไทยน้อยซึ่งมาอยู่ทางลำน้ำยมชั้นแรกเห็นจะใช้อักษรไทยซึ่งได้แบบมาจากมอญ* ต่อมาขอมมีอำนาจปกครองสุโขทัย พวกไทยคงจะศึกษาอักษรขอมหวัดที่ใช้ในทางราชการ แล้วจึงแปลงอักษร เดิมของไทยมาเป็นรูปคล้ายอักษรขอมหวัด

          หนังสือจินดามณีเล่ม 1 ของหอสมุดแห่งชาติเลขที่ 11 เป็นสมุดไทยดำ มีข้อความเหมือนกับจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่ง นายขจร สุขพานิชได้มาจากกรุงลอนดอน แต่คลาดเคลื่อนน้อยกว่า มีข้อความว่า "อนึ่งมีในจดหมายแต่ก่อนว่า ศักราช 645 มแมศก พญาร่วงเจ้า ได้เมืองศรีสัชนาไทยได้แต่งหนังสือไทย และจะได้แต่งรูปก็ดี แต่งแม่อักษรก็ดีมิได้ว่าไว้แจ้ง" "อนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา กน ฯลฯ ถึงเกอยเมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เห็นว่าพญาร่วงเจ้าจะแต่งแต่รูปอักษรไทย" แท้จริงพ่อขุนรามคำแหงมิได้ทรงแต่งแต่รูปอักษรไทยเท่านั้น แต่ยังได้ทรงเปลี่นแปลงอักษรวิธีการเขียนภาษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกหลายประการดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้านี้

มีหนังสือไทยเดิมก่อนลายสือไทยหรือไม่

          ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2510 ว่า ถ้า ลายสือ ไทยนี้บ่มี หมายความว่า หนังสือไทยชนิดนี้ไม่มี แต่คงจะมีหนังสือไทยแบบอื่นอยู่ก่อนแล้ว ในจารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึง เมืองสุโขทัย 14 ครั้ง ทุกครั้ง ใช้คำ เมืองสุโขทัยนี้ จะตีความว่า มีเมืองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงมาตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นมาใหม่กระนั้นหรือ ผู้เขียนเห็นว่า นี้เป็นแต่เพียงชี้เฉพาะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษก็คงจะตรงกับ the เท่านั้น มิได้หมายความว่า this เพราะฉะนั้นที่ว่า ลายสือ ไทยนี้บ่มี คงมิได้หมายความว่ามีลายสือไทยอื่นอยู่แล้ว      แต่ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะมีหนังสือของไทยอาหม เกิดขึ้นทางอัสสัมในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดตัวหนังสือ ในสุโขทัยก็เป็นได้**

          ประวัติไทยอาหมปรากฏอยู่ในหนังสือบูราณยี คำว่า ยี อาจจะตรงกับ สือ ในลายสือ หรือรากศัพท์เดียวกับ จื่อ ซึ่งใช้อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แปลว่า จดจำ เช่นได้จื่อจำไว้   บูราณยีบอกประวัติผู้ครองราชย์ มาตั้งแต่ยุคที่นิยมแต่งตำนานเป็นเทพนิยายลงมา ศักราชแรกที่กล่าวถึงคือ พ.ศ. 1733 ส่วนไทยเผ่าอื่นเริ่มมีประวัติศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานไม่เก่าไปกว่าคนไทยอาหม   หากเก่ากว่านั้นขึ้นไป จะเป็นเรื่องเทพนิยายแบบพงศาวดารเหนือ หรือตำนานเก่าๆ ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เป็นส่วนมาก   ประวัติศาสตร์ไทยทุกเผ่ามาเริ่มจดเป็นหลักเป็นฐานในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้   ผู้เขียนจึงเห็นว่า ตัวหนังสือไทยคงจะเกิดขึ้นต้นยุคสุโขทัยนี้เอง เมื่อมีตัวหนังสือใช้แล้วก็อาจจะจดเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปได้อีกสองสามชั่วคน

          อีกประการหนึ่ง ไม่เคยมีผู้พบจารึกภาษาไทยก่อนยุคสุโขทัยขึ้นไปเลย จริงอยู่เป็นไปได้ว่า คนไทยอาจจะมีตัวอักษรอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่เผอิญจารึกหายไปหมดหรืออาจจะเขียนไว้บนไม้ไผ่ หรือสิ่งอื่นที่ผุพังได้ง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้ามีตัวอักษรอื่นอยู่ก่อนแล้ว ตัวอักษรแบบนั้นก็น่าจะปรากฏขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะดินแดนตั้งแต่อัสสัมถึงเวียดนามและจนตอนใต้ถึงมลายูมีคนไทยอาศัยอยู่ทั่วไป ทำไมจึงไม่ปรากฏตัวอักษรแบบดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะจารึกไว้ในรูปลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น
            ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแพร่หลายเข้าไปในล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 62 วัดพระยีนว่า พระมหาสุมนเถร นำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนาเมื่อ พ.ศ.1912 และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.ศ. 1914 ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่าง และอักขระวิธีไปบ้างกลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม และล้านนายังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  
          เชียงตุงและเมืองที่ใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักขาม ซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่กว่า 10 หลัก เริ่มแต่ศิลาจารึกวัดป่าแดง พ.ศ. 1994 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามเขียนตัวหนังสือสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1910-1940 อยู่หลักหนึ่ง

          ในประเทศลาวมีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำนางอันใกล้หลวงพระบางด้วยตัวอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (พ.ศ. 1890-1911) ส่วนจารึกประเทศลาวหลักอื่นที่เป็นภาษาไทยไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 2030 เลย***

      ไทขาว ไทดำ ไทแดง เจ้าไท ในตังเกี๋ย ผู้ไทในญวน และลาวปัจจุบันนี้ ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

          ถ้าคนไทยมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับลายสือไทย เข้าไปใช้จนแพร่หลายกว้างขวางไปในหลายประเทศดังกล่าวมาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากของที่เคยชินแล้วทำได้ยากมาก เป็นต้นว่า เราเคยเขียนคำว่า "น้ำ" บัดนี้ออกเสียงเป็น "น้าม" แต่ก็มิได้เปลี่ยนวิธีเขียนให้ตรงกับเสียง

          ผู้เขียนเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครอง ก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจถ้าจะประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้เอง จะไปบังคับใครให้มาเรียนหนังสือดังกล่าว เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองขึ้น ก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย เช่น "จ้วง" คนไทยในเมืองจีนคงดัดแปลงตัวหนังสือจีนมาใช้ คนไทยในล้านนาคงจะดัดแปลงตัวหนังสือมอญซึ่งนิยมใช้กันในถิ่นนี้มาก่อน ส่วนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือขอมซึ่งนิยมใช้กันอยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เดิม หากมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะทรงใช้ตัวอักษรไทยเดิม หรือทรงดัดแปลงจากนั้นบ้างเล็กน้อยแทนที่จะดัดแปลงจากอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามฯ  ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ที่เชี่ยวชาญตัวหนังสือชาติต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไทยยกเว้นแต่จีนเพราะจีนใช้หลักการเขียนหนังสือเป็นรูปภาพ ผิดกับหลักการเขียนเป็นรูปพยัญชนะและสระแบบของไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายตัวหนังสือลังกา บังคลาเทศ ขอม และ เทวนาครี ฯลฯ เป็นต้นว่า ตัว จ ฉ หันหน้าไปคนละทางกับอักษรขอม แต่หันไปทางเดี่ยวกับตัวอังษรลังกาที่มีอยู่ก่อนแล้ว

          สมัยพ่อขุนรามคำแหงยังไม่มีไม้หันอากาศ แต่ใช้พยัญชนะตัวเดียวกันหรือวรรคเดียวกันเขียนติด กัน เช่น อนน แทน อัน และ อฏฐ แทน อัฏฐ


          พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นโดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อน ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งคือ ไทยอาหมและไทยคำที่ (ขำตี้) ออกเสียงคำ อัน คล้ายกับคำ อาน แต่เสียงสระสั้นกว่า และออกเสียงคำ อัก-อาก อัด-อาด อับ-อาบ เป็นคู่ๆ  กันเหมือนกับตัวหนังสือของเรา โดยออกเสียงคำต้นสั้นกว่าคำหลังในคู่เดียวกัน แต่ออกเสียง อัว ว่า เอา เพราะถือหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อัว คือ อาว ที่เสียงสระสั้นลงน่าจะออกเสียงเป็น เอา แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ อวว (คือ อัว) เป็นสระ อัว แทนที่จะเป็น สระ เอา หากคนไทยเคยอ่าน อัว เป็น เอา ซึ่งถูกตามหลักภาษาศาสตร์มาแต่เดิมแล้วคงยากที่จะเปลี่ยนแก้ให้อ่านเป็น อัว ซึ่งขัดกับความเคยชิน ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยขึ้น โดยมิได้ทรงทราบว่าตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อนแลัว

          พ่อขุนมังรายมหาราช (เป็นพระนามที่ถูกต้องของพระยาเม็งราย) คงจะได้ดัดแปลงตัวอักษรมอญมาใช้เขียนหนังสือไทยในเวลาใกล้เคียงกัน ดังตัวอย่างตัวอักษรในจารึกลานทองสุโขทัย พ.ศ. 1919

          จ้วง คนไทยในกวางสีประเทศจีนใช้ตัวหนังสือจีนเขียนภาษาจ้วง แสดงว่าเมื่อสุโขทัยและจ้วงแยกจากกัน ยังไม่มีตัวอักษรแบบ กข ใช้ เพราะถ้ามีตัวอักษรไทยเดิมอยู่ จ้วงคงไม่หันไปใช้ตัวหนังสือจีน ซึ่งใช้เรียนมากกว่าตัวหนังสือไทยเป็นสิบๆ ปี

          ส่วนไทยอาหมคงสร้างตัวหนังสือขี้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกับตัวหนังสือสุโขทัย ทั้งนี้เพราะคนไทยเพิ่งจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นกว้างขวางออกไปในระยะนั้น อย่างไรก็ดี นักอ่านศิลาจารึกหลายท่าน เชื่อว่า รูปตัวอักษรของไทยอาหมชี้ให้เห็นว่า อักษรไทยอาหมพึ่งเกิดใหม่หลังอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นระยะเวลานานทีเดียว

**********************

*  ตำนานอักษรไทย หน้า 1 หน้า 6 และหน้า 11
**  หนังสือรวบรวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย หน้า 55
***  ต่อมาพบจารึก หลักที่ 318 จารึกห้วยทราบ ประเทศลาว พ.ศ. 2001 อักษรฝักขาม ซึ่งชาวล้านนาไปเลียนไว้หนึ่งหลัก
คัดลอก, อ้างอิง  

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ :
เอกสารสัมมนาเตรียมการจัดสัปดาห์ห้องสมุด ปีที่ 28, 2546.  

ข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง