เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7808 กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากความทรงจำ
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 22 ต.ค. 00, 12:00

ปางเสด็จประเวศด้าว.................   ชลาลัย
ทรงรัตนพิมานชัย........................   กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร.................   แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว....................   เพริดพริ้งพายทอง ฯ

  ก็คงจะทราบกันว่าโคลงนี้เป็นบทเริ่มต้นของกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(เจ้าฟ้ากุ้ง)ที่ใช้ในขบวน
พยุหยาตราทางชลมารค ลุงแก่คงไม่เล่าถึงประวัติของท่านหรือประวัติศาสตร์ของพระราชประเพณีสำคัญ
นี้มากล่าวถึงเพราะคงทราบกันดีอยู่แล้ว ก็เพียงอยากจะเล่าถึงประสบการณ์สมัยเป็นเด็กที่ได้ชมพระราช
ประเพณีนี้เท่านั้น

  ในสมัยที่เรียนชั้นประถมต้นนั้น โรงเรียนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในตรอกวังหลัง ก็เลยได้มีโอกาสได้ชม
กระบวนเรือนี้อย่างห่างๆ จากฝั่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม
การซ้อมจะมีก่อนวันจริงประมาณ ๑ เดือน โดยเริ่มจากการซ้อมแห้งบนบก เพื่อฝึกฝีพายให้มีความ
พร้อมเพรียงกันก่อน ที่ทราบก็เพราะว่าสมัยนั้นพ่อของลุงแก่ซึ่งรับราชการเป็นทหารเรือได้มีโอกาส
ทำหน้าที่ในขบวนเรือนี้ด้วย โดยพ่อทำหน้าที่นายเรือบนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช อันเป็นเรือพระที่นั่ง
รองจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงษ์ พ่อจะทำหน้าที่ฝึกซ้อมฝีพายบนสนามหญ้าหน้ากองพันนาวิกโยธิน
ปากคลองมอญ (กรมสารวัตรทหารเรือในปัจจุบัน) โดยทำนั่งร้านสภาพคล้ายในเรือ สูงประมาณ ๑ เมตร
ฝีพายก็คือพวกพลทหารที่ถูกเกณฑ์มารับราชการนั่นเองนั่งฟากละคนเรียงกันไปตามลำดับ ในการฝึกก็จะ
เป็นการฝึกพาย ฝึกจ้วง ฝึกราพาย(เอาใบพายต้านน้ำเพื่อลดความเร็วเรือหรือหยุดเรือ) ยกพายไปเรื่อยๆ
พร้อมกับการร้องเพลงเห่เรือไปด้วย เพื่อให้เข้ากับทำนองการเห่เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
มีวันหนึ่งพ่อพาลุงแก่ไปดูการซ้อมด้วย พ่อเล่าว่าลุงแก่เอาไม้ไปคอยแหย่ก้นทหารที่กำลังฝึกพายอยู่
เลยทำให้ฝึกไม่ได้ไปพักหนึ่งต้องไล่ออกมานั่งดูห่างๆ ข้างสนาม พ่อทำหน้าที่นี้อยู่หลายปี ก็เปลี่ยนไปให้
รุ่นน้องๆ ขึ้นมาทำแทนสืบทอดกันไป

  เมื่อการซ้อมแห้งผ่านไปได้สักระยะแล้วก็จะมีการลงฝึกพายจริงในแม่น้ำ ก็นำเรือพระที่นั่งจริงนั่นแหละ
มาจัดกระบวน ตอนนี้พลฝีพายกับเจ้าหน้าที่ยังไม่ต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนในวันจริง ก็ลงพายกัน
ด้วยชุดทหารเรือนั่นแหละ จนกระทั่งวันสุดท้ายของการซ้อมก่อนพระราชพิธีจริง จึงได้แต่งเครื่องแบบ
จัดกระบวนเรือให้เหมือนวันจริง มีการซ้อมรับเสด็จ ส่งเสด็จ การจัดกระบวนเรือ การกลับเรือ ฯลฯ
ทุกประการ

  เรือพระที่นั่งหลักในกระบวนเรือมี ๓ ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งประทับของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งรอง ไม่มีพระองค์ใดเสด็จ
ประทับ (เดาเอาว่าในสมัยก่อนใช้เป็นเรือพระที่นั่งของกรมพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้า) และเรือพระที่นั่ง
เอนกชาติภุชงค์ที่ใช้เป็นเรืออัญเชิญพระกฐินพระราชทาน นอกนั้นก็เป็นพวกเรือของนายทหารอื่นๆ และ
เรือของพวกทหารราบ (ทหารเรือในสมัยนั้น เมื่ออยู่เรือก็พายเอง ก็ขึ้นบกก็กลายเป็นทหารดาบ เหมือน
ทหารราบสมัยนี้ เรือบางลำที่มีปืนอยู่หัวเรือ คงทำหน้าที่ทหารปืนใหญ่คอยยิงช่วยทหารราบมั้ง - ลุงแก่)

  ในสมัยนั้นกระบวนเรือมีความยิ่งใหญ่มาก เรือในกระบวนมีมากกว่าร้อยลำ แบบว่าหัวกระบวนถึง
วัดอรุณฯ แล้ว ท้ายกระบวนยังไม่พ้นปากคลองบางกอกน้อยเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ
ลงประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าวาสุกรี หัวกระบวนเรืออยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย เสียงเพลงเห่เรือ
ดังก้องแม่น้ำไพเราะมาก ไม่ดังก้องด้วยเครื่องขยายเสียงอย่างเดียวเหมือนครั้งล่าสุดนี้ พ่อบอกว่า
สมัยนั้นก็ต้องใช้เครื่องขยายเสียงเหมือนกัน แต่พลฝีพายจะต้องร้องออกเสียงตามไปด้วย ลุงแก่ก็
สบายไป นั่งดูการซ้อมและกระบวนเสด็จในวันจริงจากห้องเรียนนั่นแหละ ไม่ต้องไปแย่งที่นั่งริมแม่น้ำ
แถวท่าราชวรดิษฐ์หรือท่าน้ำหน้าวัดระฆัง สายตาก็ตอยจับตาดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประทับ
บนเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ แล้วก็ .. แฮ่ม .. คอยดูพ่อที่ยืนเด่นอยู่หน้าเก๋งพระที่นั่งกลางลำเรือ
พระที่นั่งอนันตนาคราชด้วย ก็พ่อเรานี่หว่า

  ทำนองการเห่เรือที่ยังจำได้ติดหูจนทุกวันนี้ เป็นดังนี้
  พระเสด็จ..(ชะ)..โดยแดนชล..(ชะ)
ทรงเรือต้น..(ชะ)..งามเฉิดฉาย..(ฮ้า...ไฮ้)
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย
พายอ่อนหยับจับงามงอน
(เฮ้..เฮ...เฮ..เฮ้..เห่..เฮ..เฮ้...เฮ..เฮ..เฮ..เฮ้..เฮ..เฮ..เห่..เฮ..เฮ้)

.........

  สุวรรณหงส์..(ชะ)..ทรงพู่ห้อย..(ชะ)
งามชดช้อย..(ชะ)..ลอยหลังสินธุ์..(ฮ้า...ไฮ้)
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์
ลินลาดเลื่อนเตือนตาชม (ฮะ..เอ่อ..)(ออกเสียงลากเบาๆเป็นทำนองพอได้ยิน)
(เฮ้..เฮ...เฮ..เฮ้..เห่..เฮ..เฮ้...เฮ..เฮ..เฮ..เฮ้..เฮ..เฮ..เห่..เฮ..เฮ้)

..........

ใครที่อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกระบวนเรือ และวัตถุประสงค์ เชิญหาอ่านได้จาก
เรื่อง "กระบวนพวงเพชร" อันเป็นการจัดกระบวนเรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อธิบายไว้ใน
หนังสือ "สาส์นสมเด็จ"เล่มที่เท่าไรก็จำไม่ได้

ถ้าอยากที่จะชมเรือพระที่นั่งเหล่านี้ เชิญชมได้ที่อู่เรือพระราชพิธี ใกล้ปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้าม
สถานีรถไฟธนบุรี ถนนอรุณอัมรินทร์ รถเมล์ที่ผ่านก็มีสาย ๑๙, ๕๗, ๙๑, ๑๔๖, ๑๔๙, ปอ. ๓๒ ลงรถ
ที่ป้ายหน้าภัตตาคารเจ้าพระยา ถ้าขับรถมาเอง เมื่อลงจากสะพานพระปิ่นเกล้า ให้เลี้ยวซ้ายที่แยกแรก
(แยกอรุณอัมรินทร์)ไปทาง รพ.ศิริราช เห็นสะพานแล้วไม่ต้องขึ้น ให้ชิดซ้ายเข้าทางเชิงสะพาน จะมีป้าย
บอกทางเข้าเอาไว้แล ฯ (ด้านหน้ามีป้ายบอกว่าเป็นกองเรือพระราชพิธี)
บันทึกการเข้า
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ต.ค. 00, 00:00

ขอบคุณมากครับลุงแก่ น่าสนใจและน่าอ่านมากๆเลยครับ
ขอบคุณที่มาเล่าสู่กันฟัง
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ต.ค. 00, 00:00

กาพย์เห่เรือ

พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

เห่ชมเรือ กระบวน
 



โคลง

@ ปางเสด็จประเวศด้าว..........ชลาไลย

ทรงรัตนพิมานไชย....................กิ่งแก้ว

พรั่งพร้อมพวกพลไกร.............. แหนแห่

เรือกระบวนต้นแพร้ว................เพลิศพริ้งพายทอง ฯ



ช้าลวะเห่

@ พระเสด็จโดยแดนชล............ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย

กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย.............พายอ่อนหยับจับงามงอน



@ นาวาแน่นเป็นขนัด.................ล้วนรูปสัตว์แสนยากร

เรือลิ่วปลิวธงสลอน....................สาครสั่นครั้นครื้นฟอง



@ เรือครุฑยุดนาคหิ้ว.................ลิ่วลอยมาพาผันผยอง

พลพายกรายพายทอง...............ร้องโห่เห่โอ้เห่มา



@ สรมุขมุขสี่ด้าน........................เพียงพิมานผ่านเมฆา

ม่านกรองทองรจนา....................หลังคาแดงแย่งมังกร



@ สมรรถไชยไกรกาบแก้ว.........แสงแวววับจับสาคร  

เรียบเรียงเคียงคู่จร.....................ดังร่อนฟ้ามาแดนดิน



@ สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย............งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์  

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์.............ลินลาศเลือนเตือนตาชม



@ เรือไชยไวว่องวิ่ง......................รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม

เสียงเส้าเร้าระดม.......................ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน ฯ



มูละเห่

@ คชสีทีผาดเผ่น.............ดูดังเป็นเห็นขบขัน

ราชสีห์ทียืนยัน.................คั่นสองคู่ดูยิ่งยง



@ เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ...........แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง  

เพียงม้าอาชาทรง.............องค์พระพายผายผันผยอง



@ เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน........โจนตามคลื่นฝืนฝาฟอง

ดูยิ่งสิงห์ลำพอง.................เป็นแถวท่องล่องตามกัน



@ นาคาหน้าดังเป็น...........ดูขะเม่นเห็นขบขัน

มังกรถอนพายพัน.............ทันแข่งหน้าวาสุกรี  



@ เลียงผาง่าเท้าโผน.........เพียงโจนไปในวารี

นาวาหน้าอินทรีย์...............ที่ปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม



@ ดนตรีมี่อึงอล...................ก้องกาหลพลแห่โหม

โห่ฮึกครึกครื้นโครม............โสมนัสชื่นรื่นเริงพล



@ กรีฑาหมู่นาเวศ..............จากนคเรศโดยสาชล  

เหิมหื่นชื่นกระมล................ยลมัจฉาสารพันมี ฯ

...................................................................

เอามาฝากคุณลุงแก่ครับจาก

http://203.154.104.10/service/mod/heritage/nation/boatsong/btsong10.htm' target='_blank'>http://203.154.104.10/service/mod/heritage/nation/boatsong/btsong10.htm
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ต.ค. 00, 00:00

อ่านพบประวัติของพระราชพิธี จากหนังสือ "เรือ วิถีชีวิตริมน้ำภาคกลาง" ของกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากร เลยย่อมาฝากค่ะ
*******************************************
จุดประสงค์ของพระราชพิธีนี้ คือการเตรียมพร้อมสำหรับการรบ   เนื่องจากในสมัยโบราณ การรบในแม่น้ำมีความสำคัญมาก  โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา
ฉะนั้นผู้ชายทุกคนต้องได้รับการฝึกให้พร้อมอยู่เสมอทั้งในการรบและความแข็งแกร่งในการเป็นพลพาย  จึงต้องมีการซ้อมรบเป็นครั้งคราว
กระทำในเดือน ๑๑ หรือ ๑๒ เพราะเป็นฤดูน้ำหลาก  และจะตรงกับเทศกาลทอดผ้าพระกฐิน ดังนั้นกระบวนพยุหยาตราที่พระมหากษัตริย์เสด็จไปถวายผ้าพระกฐินคือขบวนพยุหยาตราที่ซ้อมรบนั่นเอง
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ต.ค. 00, 00:00

- เพิ่มเติมหน่อยครับ -
จากเรื่อง "เรือพระราชพิธีและเรือรบโบราณ"  ท่านพลเรือตรี แชน ปัจจุสานท์ ได้ให้ความเห็น
เกี่ยวกับเรือในพระราชพิธีไว้ดังนี้
"การเรียกชื่อเรือมีมากมายหลายอย่าง โดยหมายถึงชนิด หน้าที่หรือประโยชน์ของเรือแต่ละลำ
ซึ่งโดยมากไม่ใช่ชื่อหรือนามของเรือโดยเฉพาะแต่อย่างใดเลย เช่น
๑. เรือพระที่นั่ง - หมายถึง เรือของพระเจ้าแผ่นดิน, เรือหลวง
๒. เรือพระที่นั่งลำทรง - หมายถึง เรือพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับไปในเรือ
๓. เรือต้น - หมายถึง เรือที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปในเรือหรือเรือส่วนพระองค์
๔. เรือพระที่นั่งรอง - หมายถึง เรือพระที่นั่งสำรองสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
๕. เรือดั้ง - หมายถึง เรือที่จัดให้อยู่ข้างหน้า
๖. เรือพิฆาต - หมายถึง เรือที่มีปืนใหญ่ติดหัวเรือ
๗. เรือรูปสัตว์ - หมายถึง เรือที่มีรูปสัตว์ติดที่หัวเรือ
๘. เรือขุนศาล - หมายถึง เรือทำหน้าที่ไล่เรือราษฏรให้หลีกไปให้พ้นทางเสด็จ
๙. เรือกลอง - หมายถึง เรือแม่ทัพให้สัญญาณกลอง
๑๐. เรือสารวัตร - หมายถึง เรือทำหน้าที่สารวัตรตรวจตราทั่วๆไป
๑๑. เรือคู่ชัก - หมายถึง เรือสำหรับจูงหรือฉุดลากเรือพระที่นั่งลำทรง
๑๒. เรือกัน,เรือแซง - หมายถึง เรือทำหน้าที่คุ้มกันพระเจ้าแผ่นดินทางด้านข้าง
๑๓. เรือประตู - หมายถึง เรือทำหน้าที่คุ้มกันพระเจ้าแผ่นดินทางด้านหน้าหลัง
๑๔. เรือกัญญา - หมายถึง เรือที่มีกัญญาสำหรับกันแดด
๑๕. เรือแงทราย - หมายถึง เรือแบบญาน
๑๖. เรือแซ(สมัยรัชกาลที่ ๔) - หมายถึง เรือแบบพม่า
๑๗. เรือตาร้าย - หมายถึง เรือแบบเขมร
๑๘. เรือเก๋งพั้ง - หมายถึง เรือแบบจีน
๑๙. เรือยาว - หมายถึง เรือที่ขุดจากซุงขนาดใหญ่
๒๐. เรือกราบ - หมายถึง เรือที่ต่อด้วยแผ่นไม้กระดาน ถ้าเป็นเรือพระที่นั่งก็ทาแต่น้ำมัน (ไม่ทาสี)

.................................

ความเข้าใจของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรือพระราชพิธีและเรือรบโบราณที่ใช้ในลำน้ำมีดังนี้,
๑. ก่อนสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรือที่ใช้สอยทั่วๆไปในลำแม่น้ำเคยถูกเรียกว่าเรือแซ หรือเรือเซ
อาจถูกเกณฑ์เอาไปใช้ในกองทัพ สำหรับบรรทุกคนและยุทธสัมภาระไปยังสมรภูมิ
๒. ได้มีการใช้เรือรบชนิดแล่นได้เร็ว จึงคิดดัดแปลงเรือที่ใช้สอยทั่วๆไปให้มีรูปเพรียว บรรทุกได้น้อย
แต่แล่นได้เร็วกว่าเรือธรรมดา เรือชนิดนี้เคยถูกเรียกว่าเรือไชย
๓. ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ มีการสงครามใหญ่รบติดพันกับพม่า ในระยะนี้เริ่มมีการใช้
เรือไชยและเรือศีรษะสัตว์เข้ากระบวนแห่ทางชลมารค เรือทั้งสองชนิดนี้เป็นเรือยาว ต่อจากซุงทั้งต้น
๔. นับจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมา การจัดทำเรือพระที่นั่งต้นหรือเรือพระที่นั่ง
ลำทรงซึ่งจัดเป็นเรือสวยงามชั้นยอดเยี่ยมมีรูปกิ่งไม้อยู่ที่หัวเรือท้ายเรือ เพราะนิยมว่างดงามดี
ต่อๆมารสนิยมก็เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นเรือพระที่นั่งต้นหรือเรือพระที่นั่งลำทรงในรัชกาลต่อๆมา
ก็ไม่จำเป็นต้องมีรูปกิ่งอยู่ที่หัวเรือท้ายเรืออย่างเรือกิ่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้เรือพระที่นั่ง
ลำทรงจะไม่มีกิ่งอะไรแล้ว ก็ยังคงเรียกเรียกเรือสวยงามชั้นยอดเยี่ยมว่าเป็นเรือกิ่งอยู่อีกเพื่อรักษา
ประวัติไว้"

จากที่เล่าไปครั้งก่อนว่า "กระบวนพวงเพชร" ที่ถูกต้องเรียกว่า "กระบวนเพชรพวง" ครับ
ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.034 วินาที กับ 19 คำสั่ง