เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 41031 ปฐมวงศ์ของราชวงศ์จักรี: พระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอห์น เบาริง
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 07 ก.ค. 04, 18:06

 ชื่นชม อ.นิธิ เช่นกัน ในแง่ความกล้าหาญที่กล้าคิดใหม่ทำใหม่ แหวกม่านประเพณีครับ

แต่ดังที่เรียนไว้ข้างต้น สิ่งที่ผมเน้นว่าปัจจุบันมีการละเลยมาก เพราะขาดความเข้าใจในองค์ประกอบที่เป็นหัวใจ คือ พระพุทธศาสนา

หากไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่มีวันเข้าใจสยามประเทศ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 ก.ค. 04, 15:48


จากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน (On Line)

1. ค้น :  อุณาโลม
คำ :  อุณาโลม
เสียง :  อุ-นา-โลม
คำตั้ง :  อุณา
ชนิด :  น.
ที่ใช้ :  
ที่มา :  
นิยาม :  ขนหว่างคิ้ว.
ภาพ :  
อ้างอิง :  
ปรับปรุง :  98/4/2



--------------------------------------------------------------------------------
2. ค้น :  อุณาโลม
คำ :  อุณาโลม
เสียง :  อุ-นา-โลม
คำตั้ง :  อุณา
ชนิด :  น.
ที่ใช้ :  
ที่มา :  
นิยาม :  เครื่องหมายอย่างรูปหน้าหมวกทหารบก.
ภาพ :  
อ้างอิง :  
ปรับปรุง :  98/4/2

ส่วนรูปที่ยกมาแสดง  ซ้ายคือพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระ"พุทธ"ยอดฟ้าจุฬาโลก  กลางคือพระราชลัญจกรใน ร.9  ขวาคือตรากองทัพบก

ด้วยอุณาโลมหรือขนระหว่างคิ้วเป็นหนึ่งในพุทธลักษณะ จึงมีความนิยมแต่โบราณใช้อักขระตัวอุเป็นนิมิตหมายแทนองค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า

ปี 2427 มีข่าวศึกพม่า จึงโปรดเกล้าให้ระดมพลจัดทัพเพื่อรับศึกที่ต่อมารู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ  ขณะประชุมพล ทหารจากที่ต่างๆคุยอวดทับถมกันเรื่องเครื่องรางของขลังประจำตน ยั่วยุให้มีการลองดีกัน และลุกลามเป็นการทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เรรวนไปทั้งกองทัพ

เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ก็โปรดให้ริบเครื่องรางของขลังหมดทั้งกองทัพ  ร.1และกรมพระราชวังบวรก็ทรงจัดทำพิธีพุทธาภิเษกผ้ายันต์อุณาโลมในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยพระองค์เอง แจกให้เหล่าทหารทุกคนบูชาติดตัวประจำกาย  ก็บังเกิดความสามัคคี ทั้งยังเป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นทหารในกองทัพไทย ให้เป็นหนึ่งเดียวจนมีชัยชนะในมหายุทธเหนือกองทัพข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่ามหาศาลเป็นเด็ดขาด  ให้อัศจรรย์ในพระราชกฤษฎาภินิหารในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์  สมดังพระราชปณิธาน

".....ด้วยเดชะบารมีที่ทำมา
ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
รักษาประชาชนแลมนตรี..... "

สืบทอดพระราชปณิธานในแผ่นดินก่อน

"....ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน...."

โดยปรากฎหลักฐานเริ่มใช้พระราชลัญจกร(อุณาโลม)เป็นครั้งแรกตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2528 หลังได้ชัยชนะสงครามเก้าทัพ

เท่าที่คุยกันคนรุ่นหลังๆ ดูจะไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย ทั้งลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตราต่างๆที่ปรากฎอักขระตัวอุ เท่าที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต กลับอธิบายไปคนละทางสองทาง

รู้สึกแปลกใจว่าสิ่งที่ได้เรียนและจำติดหัวมาตั้งแต่เด็กๆ  เดี๋ยวนี้ดูเหมือนไม่มีเด็กรุ่นใหม่รู้เรื่องนี้เลย  หรือเขาไม่สอนให้เด็กไทยได้รับรู้แล้วหรือว่า  บรรพบุรุษไทยได้ตั้งใจมอบมรดกอะไรให้เรารักษาและสืบทอดต่อไปให้ครบ 5,000 ปี

หากเลือกที่จะลืมเลือน ไม่รับรู้ในมรดกที่มีค่าสูงสุดเป็นดังจิตวิญญาณทั้งหมดที่เหล่าบรรพบุรุษทุ่มเทแลกมาด้วยเลือดเนื้อแล้ว  จะเรียกตนเองว่าลูกหลานไทยได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 ก.ค. 04, 16:55

 ใส่เลข พ.ศ.ผิดครับ  ขออภัย

ข่าวทัพพม่า ปี 2327

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2328
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 10 ก.ค. 04, 12:17

 โดยส่วนตัว  ดิฉันเชื่อว่าผู้ที่บวชเรียนมาแล้วถึง 27 ปี  
รู้บาลีและพระไตรปิฎกแตกฉาน  
คงไม่จงใจเขียนข้อความที่ผิดศีลห้าข้อสี่  อันเป็นศีลชั้นต้น
แต่ว่าน่าจะทรงได้ยินได้ฟังมาตามนั้นมากกว่า  

ส่วนพระราชพงศาวดารที่มาเรียบเรียงให้เราได้อ่านกัน
อย่างของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  
ก็มาเรียบเรียงกันในช่วงเวลาหลังจากพระราชหัตถเลขานี้แล้ว  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 10 ก.ค. 04, 13:43

 จะเล่าถึงเกร็ดรื่องราวสั้นๆบางตอนใน "อภินิหารบรรพบุรุษ"  ขอให้ถือว่าเป็นตำนานนะคะ     ไม่มีในพระราชพงศาวดาร  

ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ    เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินยังทรงเป็นนายสิน  ชายหนุ่มบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี   ครบปีบวชก็ได้ไปบวชอยู่ที่วัดโกษาวาศน์   ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระยาจักรีสร้างไว้   ส่วนสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ หรือนายทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร( ในหนังสือเรียกแตกต่างไปจากในพระราชหัตถเลขา) บวชอยู่ ณ วัดมหาทลาย

วันหนึ่ง พระหนุ่มทั้งสองรูปออกไปบิณฑบาต   มาพบกันเข้าก็หยุดยืนสนทนากันอยู่   พอดีมีจีนชราผู้หนึ่งเดินมาถึงตรงนั้น    หยุดยืนดูหน้าพระสงฆ์ทั้งสองอยู่นานแล้วก็หัวร่อ   แล้วเดินห่างไป ก็เหลียวกลับมามองหลายครั้ง  หัวร่ออีก   เดินห่างไปแล้วเหลียวมามองแล้วก็หัวร่อ ทำดังนี้ซ้ำๆกัน

พระเจ้าตากสินหรือพระภิกษุสิน สงสัย ก็กวักมือเรียกให้จีนชราเดินกลับมาแล้วถามว่า ท่านแลดูหน้าเราแล้วหัวร่อด้วยเหตุอันใด     ก็ได้ความว่า จีนชรานั้นเป็นซินแสหมอดู ชำนาญในการดูลักษณะและชะตา    เมื่อดูหน้าและขอดูดวงชะตาวันเดือนปีเกิดแล้ว  ก็บอกว่าทั้งสองจะได้เป็นกษัตริย์เหมือนกัน    เมื่อมาอยู่คู่กันอย่างนี้ ไม่เคยเห็นมาก่อนจึงเกิดความขบขัน  

น.ม.ส. หรือกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ฯ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "สามกรุง" บรรยายคำพูดของซินแสว่า
 เกิดมาข้าพเจ้าไม่..................เคยเห็น
สองสหายหลายประเด็น...........เด่นชี้
ภายหน้าว่าจักเป็น..................จอมกษัตริย์
นั่งอยู่คู่กันฉะนี้........................แน่ล้วนชวนหัว
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯหรือนายทองด้วง ฟังแล้วก็หัวเราะ ตอบว่า เราอายุอ่อนกว่าแค่ 2 ปีเท่านั้นจะเป็นกษัตริย์พร้อมกันได้อย่างไร    ไม่เคยได้ยิน  สัดตวงข้าวดอกกระมัง  แล้วทั้งสองก็เดินกันต่อไป

ส่วน ปฐมวงศ์ ฉบับนายกุหลาบ เล่าไว้ตรงกัน  และมีอีกตอนเพิ่มขึ้นว่า  เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและกรมพระราชวังบวรฯยังทรงพระเยาว์  พระบิดาพาไปที่วัดมหาทลาย  เพื่อนำของไปถวายเจ้าอาวาส  ณ  ที่นั้นได้พบจีนชราอายุ 80 เศษ  เจ้าอาวาสดูลักษณะของเด็กชายทั้งสองแล้วทำนายว่า  บุตรของท่านจะได้เป็นกษัตริย์ต่อไปภายหน้า     พระบิดาก็ว่าเจ้าคุณว่าอะไรยังงั้น กษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยายังมีอีกมากนัก
เจ้าอาวาสตอบว่า เจ้าไม่รู้อะไร อีกหน่อยไม่ช้า กษัตริย์ในกรุงก็จะหมดไป   จีนชราจึงจับมือจีนเรืองที่เป็นบุตรชายมาส่งให้ ทั้งสองพระองค์  แล้วทูลว่าเสียดายที่ข้าพเจ้าชรามากแล้ว    ถ้าท่านได้เป็นเจ้าต่อไปภายหน้า ขอให้ตั้งจีนเรืองบุตรข้าพเจ้าเป็นเจ้าด้วย   จีนเรืองก็กล่าวขอโทษแทนบิดาว่าท่านอายุมากแล้ว  พูดอะไรก็อาจพลาดพลั้งไป
จีนเรืองนี้ต่อมาคือกรมขุนสุนทรภูเบศร์   ต้นราชสกุลสุนทรกุล ณ ชลบุรี  
อ่านได้ที่
 http://www.vcharkarn.com/snippets/vcafe/show_message.php?Pid=14184  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 13 ก.ค. 04, 12:43

 ตอนนี้ขอหยุดคุยเรื่องนี้ก่อนนะคะ
ขอลงนั่งพัก
อยากฟังความเห็น
หรือข้อมูลจากท่านอื่นๆที่ร่วมวงมากกว่าค่ะ  
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 14 ก.ค. 04, 14:24

 ต้องขอโทษคุณเทาฯเจ้าเรือนด้วยครับ ผมมาชักใบให้เรือเสียละมังครับ คิดว่าพระราชหัตถเลขาถึง Sir John Bowring น่าจะใกล้จบแล้ว น่าจะต่อให้จบไปเลยนะครับ

ในความคิดเห็นของผมว่าด้วยเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น เราชาวพุทธเองมีเครื่องมือสำคัญที่น่าหยิบยกมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะทุกเมื่ออยู่แล้ว นั่นคือกาลามสูตร

เอกสารทางประวัติศาสตร์นั้นมีหลากหลายที่มา เรื่องที่จะพิจารณาให้เชื่อหรือไม่อย่างไรนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้วิจารณญานอยู่มาก

อภินิหารบรรพบุรุษของกศร.กุหลาบนั้น จะสรุปว่าเป็นเท็จไปเสียทั้งหมดก็คงจะไม่ได้ ในเมื่อหลายๆเรื่องก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะมาแย้ง แต่จะให้เชื่อเลยนั้น ก็ต้องยอมรับว่าลำบากใจอยู่มาก เพราะหยิบยกมาจากไหนไม่มีใครรู้ ที่แย่กว่านั้นคือ บางทีแม้แต่คนในตระกูลเองก็ยังไม่เคยรู้ แล้ว กศร.กุหลาบเป็นใครจึงมารู้ได้

จะว่าไปแล้วเรื่องราวประวัติของตระกูลนั้นเป็นเรื่องที่แม้แต่คนในตระกูลเองยังสับสน เพราะส่วนมากจะเล่ากันปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกไว้ ถึงจะมีบันทึกไว้ หากไม่ได้บันทึกในรุ่นนั้นชั้นนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่เขียนจากคำบอกเล่าอยู่ดี ซึ่งอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้

โดยสามััญสำนึก ผมว่าพระราชประวัติในพระราชหัตถเลขายังมีเหตุให้เชื่อได้มากกว่าอภินิหารบรรพบุรุษ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นจริงมากกว่า-โยนลูกเต๋าให้ออก 6 มีโอกาสแค่ 1/6 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะออก 6 ไม่ได้) เพราะอย่างน้อยก็เป็นคำบอกเล่าของคนในตระกูลเอง

ในเมื่อ กศร.กุหลายไม่มีหลักฐานอ้างอิงถึงที่มา คงต้องนับอายุของเรื่องที่เล่าแค่ในยุค ปลาย ร.5 - ร.6 เท่านั้น รายละเอียดระดับนี้ย้อนหลังไป 200-300 ปี มีรายละเอียดมากมาย ถึงไม่ปฏิเสธทันทีก็ต้องยอมรับว่าน่าเคลือบแคลงอยู่มาก อีกทั้งพระราชประวัติที่เล่าขาดท่อนขาดตอนหายไปเฉยๆ มันก็น่าที่กรมพระยาดำรงฯจะกริ้วอยู่ไม่น้อย

สรุปว่า สำหรับผม อภินิหารบรรพบุรุษ อ่านได้ เก็บข้อมูลได้ แต่อย่ารีบเชื่อ จนกว่าจะพบอะไรที่ยืนยันได้มากกว่านี้


ว่าแต่ว่าพระราชปรารภของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่คุณถาวศักดิ์ได้ิ์ยกมา

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน

ผมพบเห็นอยู่บ่อยๆ ข้องใจทุกครั้งว่าสำนวนภาษา สำนวนกวี และคำศัพท์ที่ใช้ ดูไม่สอดคล้องกับยุคสมัยเท่าใด ไม่ทราบว่ามีที่มาจากที่ไหนหรือครับ รบกวนขอทราบเป็นวิทยาทานด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 14 ก.ค. 04, 16:53

 พระราชหัตถเลขายังมีตอนท้ายอีกเล็กน้อยค่ะ    แต่มีเนื้อความย่อๆ ทรงเล่าอย่างที่รู้ๆกันแล้วคือรัชกาลที่ 1 2 และ 3 ครองราชย์เมื่อไร  ลำดับพระญาติกันอย่างไร   ก็เลยไม่ได้แปลต่อ   เพราะไม่ได้มีเนื้อหาเจาะจงเรื่องใดเป็นพิเศษ

เรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ   เห็นเป็นส่วนตัวว่า แบ่งเนื้อหาได้เป็น 2 ส่วน  ส่วนหนึ่งคือที่ตรงกับพระราชพงศาวดารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ    
อีกส่วนคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแทรกเข้าไป   อย่างเรื่องซินแสหมอดู  
ทำให้ดิฉันสงสัยว่าเกร็ดพวกนี้แหละคือฝีมือแต่งแทรกของนายกุหลาบ   ดูลักษณะเป็นนิยายมากทีเดียว และมีการออกตัวไว้ด้วยว่าทำไมไม่ปรากฎหลักฐานในหนังสืออื่น

อีกเรื่องหนึ่ง น่าสังเกตว่า   เมื่อเทียบกับพระราชหัตถเลขาฯ    จะเห็นว่า เนื้อความส่วนที่ทรงเอ่ยถึงบรรพชนที่มีเชื้อสายมอญและจีน  ไม่ปรากฏใน "อภินิหารบรรพบุรุษ" และ "ปฐมวงศ์"  แต่มีการระบุเป็นเจ้านายและขุนนางยศศักดิ์สูงแทน
เช่นนายทหารมอญจากพะโคหายไป  มาเริ่มที่เจ้าแม่วัดดุสิต
พระชนนีในรัชกาลที่ 1 ที่เป็นธิดาเศรษฐีจีนในอยุธยา ก็กลายเป็นบุตรีเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ของอยุธยา แทน
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 14 ก.ค. 04, 18:45

 ผมเองก็พบบ่อย หลายที่ และต่อเนื่องมานาน จนไม่ได้เก็บหลักฐานเอาไว้ใกล้มือ เพื่อเตรียมโต้วาทีนะครับ ต้องขออภัยคุณอาชาผยองด้วย

จำได้ว่ามีระบุอ้างอิงว่าเป็นจารึกที่วัดทางฝั่งธน

ถ้าคุณอาชาผยองสนใจศึกษา ก็เชิญใช้ search engine ค้นดูเองได้ จะพบหลายเว็บที่ระบุพระราชนิพนธ์นี้ไว้

คงต้องออกตัวว่าผมไม่ได้ทำตัวเป็นนักวิชาการในเว็บแห่งนี้ จึงไม่คิดจะตอบโต้ผู้ที่ต้องการแสดงตนเป็นนักวิชาการ หรือผู้พิพากษาตามเว็บ ท้าทาย สั่งให้ไปค้นโน่นค้นนี่มาแสดงประกอบความเห็น  ถ้าจะให้ลงทุนเสียเวลาขนาดนั่น ก็สู้เขียนเป็นผลงานทางวิชาการเสียเลยย่อมมีประโยชน์กว่ามาก

แต่เดิมผมคุยเล่น เล่านั่น บ่นนี่ตามประสาคนอยู่มานานพอควรที่โต๊ะมองอดีตของพันทิพ  จนรับคำเชิญให้เขียนอะไรเป็นวิทยาทานให้ที่นี่ จึงทำโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน หากด้วยความรัก ความภูมิใจในความเป็นไทย  ตั้งแต่นั่นจึงเข้ามาคุย แสดงความเห็นเป็นครั้งคราว  เวลาของผมมีค่าเกินกว่าจะมาเอาชนะแบบเด็กๆ

ถ้าสนใจจะศึกษาในสิ่งที่ตนไม่รู้อย่างแท้จริง  ก็ถามมาดีเถิดๆ  เหมือนครั้งหนึ่งที่น้องๆ หลานๆมาเกาะแงเกาะขาฉะอ้อนถามอย่างใฝ่รู้เป็นน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก

ยินดีจะมอบความรู้เท่าที่มีเป็นวิทยาทานให้ครับ

แต่ถ้าการแสดงออกเป็นเหตุให้ผมเชื่อได้ว่า อาจมีเจตนาต้องการ เอาชนะ เอามัน แอบแฝง อย่างไม่สนใจว่าจะเป็นตัวอย่างที่แสนเลวแก่เยาวชน ทำลายซึ่งจารีตประเพณีอันงดงามของไทย ทั้งอาจสร้างทัศนคติที่ชื่นชอบความก้าวร้าว หยาบคาย เอาเด่นเอาดังเข้าว่า โดยเห็นเป็นของเท่ เป็นแฟชั่นในการแสดงความอกตัญญู จาบจ้วงผู้ใหญ่ บรรพบุรุษ ไปถึงพระมหากษัตริยาธิราชผู้มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม  อย่างนี้ผมไม่คบด้วย  และจะตำหนิ ติเตียน ทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งถ้าอยู่ในอำนาจ ก็อยากจะขุดลอกนิสัย สันดานเช่นนี้ ออกไปให้สิ้นจากผู้ที่ใช้สัญชาติไทย


ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้กล่าวหาคุณอาชาผยองในทางลบใดๆทั้งสิ้นนะครับ

เพียงแต่แสดงจุดยืนให้ชัดเท่านั้น  ก่อนที่จะมีผู้พยายามนำเข้าสู่แง่มุมที่ผมรังเกียจ  เพราะปฏิกิริยาของผมอาจจะเงียบไปดื้อๆ ด้วยไม่ต้องการไปต่อล้อต่อเถียงกับผู้มีวุฒิภาวะเช่นนั้น

เกรงว่าอาจารย์เทาจะหาว่านักเลงโบราณไม่มีน้ำยา
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 14 ก.ค. 04, 23:27

 เรียนคุณถาวศักดิ์ ด้วยความเคารพ

ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมมิได้มีเจตนาใดที่จะท้าทายหรือเอาชนะแต่อย่างใดนะครับ เพียงแสดงความคิดเห็นเพราะเท่าที่ผ่านมาบรรยากาศทางวิชาการที่นี่เปิดกว้างสำหรับทุกคนมาตลอด (อย่างน้อยในความรู้สึกของผม)

ซึ่งทั้งนี้ผมเองไม่ใช่นักวิชาการแต่อย่างใด เพียงสนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทยในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น

ผมต้องชี้แจงตรงนี้ว่า เมื่อได้อ่านความคิดเห็นก่อนหน้านี้ของคุณถาวศักดิ์ ผมคิดแต่เพียงว่าคุณถาวศักดิ์ได้หมายถึงบุคคลจำนวนหนึ่งในสังคมปัจจุบัน โดยมิได้หมายถึงเจาะจงถึงใคร(ผม?)แต่อย่างใด และก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะท้าทายหรือโต้วาที แต่อย่างใดครับ

ซึ่งเมื่อได้ทราบดังนี้แล้ว หากผมได้กล่าวสิ่งใดที่คุณถาวศักดิ์รู้สึกว่าเป็นการล่วงเกิน ก็ต้องขออภัยอย่างจริงใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

สำหรับเรื่องพระราชปรารภของพระเจ้ากรุงธนบุรี ผมได้ไปสืบค้นดูหลังจากที่ post ความคิดเห็นของผมไปแล้ว และ ได้ข้อมูลมาว่าเป็นจารึกที่ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ในวัดอรุณราชวรารามครับ แต่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้จารึกขึ้นในยุคสมัยใดนะครับ

ตั้งใจว่าจะมา post เป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจไว้ ณ ที่นี่ดังนี้ครับ

หวังว่าบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นกันเองจะยังคงอยู่เหมือนเดิมนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 15 ก.ค. 04, 09:19

 " เกรงว่าอาจารย์เทาจะหาว่านักเลงโบราณไม่มีน้ำยา "
มิบังอาจค่ะ  แฮ่ะ  แฮ่ะ

ดิฉันเห็นว่าบรรยากาศในเรือนไทย นอกจากเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นแล้ว  ก็ยังสุภาพถ้อยทีถ้อยอาศัยกันพอสมควรนะคะ    ไม่ได้เปลี่ยนจากการเถียงเรื่อง" ประเด็น" มาเป็น "บุคคล" กันด้วยถ้อยคำรุนแรง

คุณ CH เองก็ได้ขออภัยแล้ว หากว่าทำให้คุณถาวภักดิ์เข้าใจว่าล่วงเกิน   ดิฉันขอให้ทั้งสองท่านยังคงอยู่   อย่าได้หายหน้ากันไปเลย

เรามีกันอยู่น้อยคน   ดิฉันเองก็ได้ความรู้และนวคิดจากท่านทั้งหลายที่เข้ามาร่วมวงไปมิใช่น้อย  เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้เวลาดิฉันเปิดตำราอ่านอยู่คนเดียว   จึงไม่อยากจะให้ใครหายหน้าหายตาไป
แล้วยังอยากจะกวักมือเรียกอีกหลายๆคนที่เคยป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ ให้มานั่งร่วมวงส่งเสียงกันบ้างด้วย

บทกลอนที่ว่า ดูเหมือนดิฉันเคยพูดแล้วแต่จำไม่ได้ว่ากระทู้ไหน  ว่าน่าจะแต่งขึ้นในชั้นหลัง  สงสัยจะรัชกาลที่ 9 นี้เอง
ที่สงสัยอย่างนั้น  เพราะคำว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ "เคยเป็นคำขวัญเรียงต่อกัน ในช่วงสัก 50 ปีมานี้   สมัยหนึ่งเคยต่อด้วย "รัฐธรรมนูญ" แต่พอปฏิวัติกันบ่อย รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ้าง   ร่างใหม่ยังไม่เสร็จสักทีบ้าง   คำว่า"รัฐธรรมนูญ" ที่ต่อท้ายเลยหายไป
สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น   ไทยยังไม่มี"ชาติ"นะคะ มีแต่อาณาจักร    คำว่า"ชาติ" ตั้งแต่อยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แปลว่า " เกิด "ค่ะ

ตอนนี้กำลังรองานวิจัยสำคัญเรื่องหนึ่ง จะส่งมาถึงมือในสัปดาห์นี้    เกี่ยวกับการวิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ในเชิงภาษา  คงจะตอบคำถามได้อีกแง่หนึ่ง ว่าศิลาจารึกนั้นสร้างกันเมื่อไม่ถึงสองร้อยปีก่อน หรือว่าเจ็ดร้อยปีก่อนกันแน่  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 15 ก.ค. 04, 13:41

 ขอบคุณครับที่กรุณาให้ความสำคัญและให้เกียรติ  คำกล่าวออกตัวของผมข้างต้นสะท้อนความกร้าวเกินกว่าเหตุจนเป็นที่ตกอกตกใจ ก็ต้องขออภัยด้วยเช่นกัน

คงเป็นเพราะอัดอั้นกับพวกชอบทำตัวเป็นนักวิชาการด้วยการจาบจ้างเบื้องสูงและบรรพบุรุษมามาก  จะบอกกล่าวอย่างกระชับด้วยข้อจำกัดของเวลาจึงไม่สามารถขัดเกลาให้นุ่มนวลได้เท่าที่ควร

คงไม่มีใครปฏิเสธในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ของปวงชนชาวไทย  ปกติเราเคารพรักผู้ใหญ่ท่านใด ก็เป็นการปฏิบัติอย่างปกติโดยสามัญสำนึกแห่งวิญญูชนทั่วไปอยู่แล้ว ที่จะยกย่องให้เกียรติด้วยทั้งกริยาและคำพูดไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง คงไม่มีผู้ใดบ้าพอที่จะกล่าวร้ายจาบจ้วงบรรพบุรุษของผู้ใหญ่ท่านนั้นอย่างแน่นอน  แต่นี่เป็นถึงองค์ปฐมบรมมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชวงศ์จักรี  พูดภาษาง่ายๆก็เป็นถึงต้นตระกูลของในหลวงที่คนไทยล้วนรักและบูชา  จะพูดคุยแบบมือสมัครเล่นย่อมควรต้องรู้ที่สูงที่ต่ำ

พวกนักวิชาการที่จำเป็นต้องทำงานเพื่อวิชาการจริงๆ หากกระทำอย่างรอบคอบระมัดระวัง และเทิดไว้ซึ่งพระราชเกียรติยศตามจารีตประเพณีอันควร  ก็พอเข้าใจและทำใจได้

แต่หากรักจะศึกษาจริงก็ต้องสังวรในมุมมองให้กว้างและทำใจเป็นกลางจริงๆ ข้อสรุปที่นักวิชาการไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังสักเพียงใด ล้วนก็คือทฤษฎีที่อนุมานจากหลักฐานที่มี ณ เวลานั้น หาใช่ความเป็นจริงในทุกกรณีไม่  เหมือนครั้งหนึ่งที่เซเดสผู้มีเชื่อเสียงโด่งดังได้รับการยกย่องประหนึ่งเป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีของเอเซียอาคเนย์ บอกว่าชนชาติไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แต่ปัจจุบันกลายเป็นทฤษฎีที่ล้าสมัย ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป

ครั้งหนึ่ง อ.ศรีศักดิ์ ได้นำผลงานของท่านที่สรุปว่าพระเจ้าพรหมมหาราชไม่มีจริง ออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ หลังจากนั้นไม่นานในการบรรยายอย่างเป็นสาธารณะครั้งหนึ่ง จำได้ว่าอาจารย์ได้กล่าวเตือนทำนองว่าอย่าหมิ่นในคุณค่าของตำนานและนิทานพื้นบ้าน  

ชาวยิวสิ้นชาติไปถึงสองพันปี ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ยังสามารถกลับมาสร้างชาติได้อีกครั้ง ซ้ำเมื่อตั้งประเทศได้ใหม่ๆยังสามารถผนึกกำลังรบชนะการรุมของหลายประเทศในสงคราม 7 วัน  เพราะอะไรถ้าไม่ใช่เพราะความเชื่อมั่นศรัทธาในจารีตประเพณี ในความดีของบรรพบุรุษ ในศาสนาและในคำสอนที่ถ่ายทอด บอกเล่าต่อๆกันมา

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมั่นใจ ศรัทธาในความดีของบรรพบุรุษ พระบารมีแห่งพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า และพระพุทธศาสนา ว่าเป็นเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ผมสามารถเรียกตนเองว่าเป็นคนไทยอย่างภาคภูมิในวันนี้

ไม่สมเหตุสมผลที่ความสับปลับ ทรยศ หลอกลวง มักใหญ่ใฝ่สูงเป็นสามารถเป็นเหตุปัจจัยให้บังเกิดความเป็นชาติที่มีประวัติยาวนานและมีเกียรติภูมิอันน่าภูมิใจเช่นนี้  แต่ใครไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ไม่ภูมิใจในความเป็นไทย จะย้ายออกไปเสียโดยเร็ว ก็จะเป็นที่น่ายินดีมาก

ขอย้ำว่าช่องโหว่สำคัญที่นักวิชาการปัจจุบันมองข้ามด้วยความไม่เดียงสาในพระพุทธศาสนา คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ได้นำทุกชิ้นส่วนมาใส่ในภาพให้ครบถ้วนก่อนจะตีความปริศนาตรงหน้า  ทฤษฎีเหล่านั้นจึงไม่เป็นสัจจธรรมในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ  เพราะพระพุทธศาสนาคือจิตวิญญาณแห่งสยามประเทศ

และจะถกเถียงกันนานสักเท่าใด จะเพียรค้นคว้า เพียรยกตัวอย่างมามากสักเพียงไหน  คนที่ไม่เข้าใจก็จะยังไม่เข้าใจต่อไป  เพราะพุทธศาสนาแห่งศาสนาแห่งการปฏิบัติ ปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นภาวนามัยปัญญาอันรู้ได้เฉพาะตน  มิใช่ปัญญาที่เกิดจากการรู้มาก อ่านมาก หรือความสามารถหยิบยกข้อมูลต่างๆขึ้นมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและถูกที่ถูกเวลา

ตราบใดที่นักวิชาการยังรู้สึกโก้เก๋ สนุกกับการดื่มไวน์ หรือสาโท ตลอดจนสุราเมรัยทั้งปวง ไม่เข้าใจในคุณค่าแห่งศีลบริสุทธิ์แม้เพียงห้าข้อด้วยตนเอง  ไม่เคยได้ลิ้มรสความสุขจากความสงบในองค์ฌานสมาธิ  ไม่เข้าใจว่าทำไมพระอมตนิพพานจึงเป็นที่น่าปรารถนาสูงสุด  ทฤษฎีที่เกี่ยวกับสยามประเทศของนักวิชาการท่านนั้นยังคงเป็นที่น่ากังขา น่าคลางแคลงอยู่มาก
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 15 ก.ค. 04, 14:33

 และผมได้ยกหลักฐานสำคัญชิ้นเอกมาให้ดูแล้วคือ บทบาทแห่งยันต์อุณาโลมตั้งแต่ตั้งกรุงมาจนแม้ปัจจุบัน ที่ผนึกรวมความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์โดยครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดมากระทั่งทุกวันนี้

นี่คือประเด็นที่มีความมุ่งหมายยกมาประกอบกระทู้นี้ครับ

ทั้งมีความประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยมีความรู้นี่ไว้ เพราะนี่คือรากฐานแห่งความเป็นชาติไทย เช่นเดียวกับศรัทธาในพระเจ้าและดินแดนแห่งพันธสัญญาคือรากฐานสำคัญแห่งประเทศอิสราเอล  หรือความเชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลคือรากฐานสำคัญของธรรมนูญแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา

หากทำลายศรัทธาอันเป็นรากฐานแห่งจิตวิญญาณของชาติไทยให้สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง แผ่นดินนี้จะเหลือดีอะไร คงจะเหลือแต่โสเภณี คนติดยาเสพติด และอาชญากรกระมัง
บันทึกการเข้า
คนอ่าน
อสุรผัด
*
ตอบ: 1

ทำงานอิสระ


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 17 ก.ค. 04, 20:02

 เป็นกระทู้ที่ดีมาก  ได้ความรู้ว่าเราเป็นใคร   มีการค้นคว้า  แลกเปลี่ยน  บ้างครั้ง  ผู้คน  เรื่องราว   เวลา  สถานที่  กับความหมายในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน  เรื่องของผู้คนที่มีอดีต
ให้เราได้รับรู้ถึงปัจจุบัน  แสดงว่าเรามีอารยธรรมการดำรงค์
อยู่การรับรู้เพื่อเราจะได้ก้าวต่อไป  เราอยู่ในโลก Vcharkarn
ศาสนาแก่นคือความรู้ปัญญา  เพื่อการอยู่รอดของมนุษย์ชาติ
น่าจะมีการแลกเปลี่ยนต่อไป  เพื่อเป็นชุมชนทางวิชาการ
บันทึกการเข้า
kennametal
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 01 มิ.ย. 07, 00:45

เข้ามานั่งแอบ ความรู้ดีดีแบบนี้อ่านนามมากแล้ว..เลยเข้ามาขอบคุณทุกท่านที่ให้ความรู้ครับ...
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง