เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 10230 ภาพชีวิตสมัยพระปกเกล้าฯ (จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
 เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 08:08


ใครที่ผ่านไปแถวถนนหลานหลวง พอจะสังเกตเห็นอาคารอนุรักษ์ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาสกันบ้างหรือไม่
       
      อาคารแห่งนี้คือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเดิมเรียกกันว่า พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อยู่ในการกำกับดูแล ของสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
     
      บริเวณใต้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารรัฐสภา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พระราชทาน สิ่งของส่วนพระองค์ นำมาจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523
     
       ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้า ได้รับโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯให้อยู่ในความดูแลรับ ผิดชอบของสถาบันฯ และได้รับความอนุเคราะห์ จากกรมโยธาธิการ ให้ใช้อาคารของกรมโยธาธิการ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดแสดงและเผยแพร่ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ เครื่องราชภัณฑ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และวัตถุสิ่งของ ที่เกี่ยวเนื่องในรัชสมัย ของพระองค์ รวมถึงพัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย

      นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ด้านพระปกเกล้าศึกษาทั้งในรูปแบบเอกสาร หนังสือ ภาพถ่าย ไมโครฟิล์ม และสื่อโสต เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านพระปกเกล้าศึกษา ตลอดจนจัดหาและอนุรักษ์เครื่องราชภัณฑ์และวัตถุสิ่งของดังกล่าว ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป
     
      ด้านประวัติความเป็นมาของอาคารพิพิธภัณฑ์ระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ว่า..

      นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศครั้งแรกคือเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ และเมืองปะตะเวีย เมืองสมารังของฮอสันดา ที่เรียกกันภายหลัง แต่โดยย่อว่า เสด็จสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2413 นั้นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือทำให้การสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศมีมากขึ้น อันเป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มทวีขึ้นตลอดรัชกาลนั้น
     
      ในเวลาต่อมามีห้างร้านตลอดจนสาขาของบริษัทต่างประเทศหลายแห่งได้รับพระราชทานบรมราชูปถัมภ์ แต่ดูเหมือนจะไม่มีห้างร้าน หรือบริษัทใดที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งไปกว่า ห้างยอน แซมป์สัน แอนด์ ซัน (John Sampson & Son Limited) อันเป็นสาขาของห้าง Messr. Sam & Sampson & Son ซึ่งจำหน่ายผ้าและรับตัดเสื้อผ้า รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีซื่อเสียงย่านบอนด์สตรีท กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
       
      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชักชวนให้มาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 ในระยะแรกเริ่มคือ พ.ศ. 2441 ทางห้างได้เช่าห้องแถว ณ ถนนพระสุเมรุ เพื่อประกอบกิจการ
     
      ต่อมาใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ลงทุนก่อสร้าง อาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ 1,008 ตารางวา เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างถนนหลานหลวงกับถนนดำรงรักษ์ ค่าที่ดินและค่าก่อสร้างเป็นเงินรวม 258,550 บาท เพื่อให้ห้างนี้เช่าเป็นสำนักงานใหญ่โดยเฉพาะ

      สำหรับแบบแปลนอาคารนั้นก็ให้ นายเฟรดเดอริก แซมป์สัน (Mr. Frederick Sampson) เจ้าของห้างฯ เป็นผู้เลือกที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เป็นห้างเดียวที่ตั้งบนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นถนนสายหลักของกรุงเทพฯ อันเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ตั้งและวังเจ้านายและสถานที่ราชการโดยเฉพาะ
     
      อาคารแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2455 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นายเฟรดเดอริก แซมป์สัน ได้ลงนามในสัญญาเช่ากับกรมพระคลังข้างที่ ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2455 โดยกำหนดระยะเวลาเช่า 15 ปี อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 อันเป็นเวลาก่อนหมดสัญญาเช่าเพียง 10 เดือน ทางห้างฯ ก็ได้ขอเลิกสัญญาเช่ากับกรมพระคลังข้างที่
     
      ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระคลังข้างที่ได้ให้ หลวงไมตรีวานิช (เฉลิม ยอดมณี) เช่าอาคารหลังนี้เป็นที่ทำการของห้างสุธาดิลกจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์สมัยใหม่ รวมทั้งตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องแก้ว และรถสามล้อ สัญญาเช่าได้หมดลงในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2475
     
      ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 กรมโยธาธิการ (กรมนคราภิบาล เดิม) กระทรวงมหาดไทยได้ขอเช่าเป็นที่ทำการของกรม ได้มีการลงนามในสัญญาเช่าระหว่างกรมพระคลังข้างที่กับกรมโยธาธิการในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 อาคารแห่งนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมโยธาธิการ จนถึง พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินและอาคารเป็นพื้นที่โบราณสถาน กรมโยธาธิการได้เช่าอาคารแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จนถึง พ.ศ. 2544 จึงได้มอบสิทธิการเช่าให้แก่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เพื่อใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
     
      รูปแบบสถาปัตยกรรม อาคารหลังนี้เป็นผลงานการออกแบบของนายชาร์ล เบเกอแลงสถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ลักษณะตัวอาคารเป็นตึก 3 ชั้น อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกรูปแบบนีโอคลาสิก มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน ในปี พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มโครงการอนุรักษ์ และบูรณะอาคารหลังนี้ เมื่อ พ.ศ. 2542

      เวลานี้ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดให้มีนิทรรศการชั่วคราวที่น่าสนใจ เรื่อง วังพระปกเกล้าฯ ซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราวบริเวณชั้น ๑ โดยนิทรรศการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชจริยวัตรและพระอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแง่มุมของบุคคลธรรมดา รวมถึงเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัชสมัยของพระองค์
     
      ขณะเดียวกันในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2547 เวลา 13.30-16.00 น. ก็จะมีการอภิปรายพิเศษประกอบนิทรรศการชั่วคราวเรื่อง วังพระปกเกล้าฯ: ศิลปะ- สถาปัตยกรรม โดยศาสตราจารย์ ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ, แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ และนายวสุ โปษยะนันท์ ดำเนินรายการโดย นางสาวบุหลง ศรีกนก ณ บริเวณชั้น ๑ ของพิพิธภัณฑ์ฯ
     
      อีกครั้งในวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เวลา 13.30-16.00 น.เชิญผู้สนใจไปร่วมฟังการอภิปรายพิเศษประกอบนิทรรศการชั่วคราว เรื่อง ภาพชีวิตสมัยพระปกเกล้าฯ โดยวิทยากร โดม สุขวงศ์ และปริญญา สัญญะเดช ดำเนินรายการโดย นายบุญพีร์ พันธ์วร
     
      สามารถสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่โทร. 0-2280-3413-4 ต่อ 104 (การเข้าร่วมอภิปรายไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมอาหารว่างฟรี)
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 08:09


พิพิธภัณฑ์ระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 08:11


.
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 08:12


.  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 08:29

 น่าสนใจมาก  ขอบคุณค่ะคุณจ้อ ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง  
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 18:27

 สรีสวัสสดีอ้ายจ้อนอครับ....เวียกกานก็นักแคเตมธีน่อ...ทึงเพิ่นทึงตัว...(สวัสดีพี่จ้อครับ...งานยุ่งมากเลยนะครับ......ไม่ว่าจะเป็นใคร---งานก็เยอะไปหมด)

ใกล้จะถึงวันครบรอบการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม(คงใช้คำถูกนะครับ)ก็คิดถึงครั้งที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๗ เสด็จฯมณฑลพายัพ(ขณะนั้น/เมืองเชียงใหม่/เมืองลำพูน/เมืองละคอน(ปัจจุบันเรียกว่านครลำปาง)/เมืองแพร่/เมืองน่าน)..ครั้งนั้นพระองค์ท่านในฐานะกษัตริย์สยามได้พระราชทานพระแสง(ดาบประจำเมืองเพื่อใช้ในพิธีถือน้ำฯ)แก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๔ (ยกเว้นเมืองแพร่มีผู้ว่าราชการเมือง)..... แต่ดาบนั้นยังไม่มีใครได้ใช้ก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน

ในฐานะลูกหลานคนล้านนาและในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน....ระลึกถึงเจ้าผู้ครองนครที่เรามักเรียกติดปากว่าสมเดจพระเปนเจ้าบ้างพ่อเจ้าบ้างสมเดจมหาราชบ้าง...และระลึกถึงพระองค์ท่านที่ได้มีส่วนเชื่อสายสัมพันธ์สยามล้านนาตราบจนกระทั่งทั้งสองแผ่นดินรวมกันเข้าเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน........

ผมมักจะบอกกับใครต่อใครเสมอว่า.....การเปลี่ยนแปลงของล้านนา....ที่ผมมองเห็น.....คำว่าสยามและล้านนาครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้น....เมื่อ.....ทั้งสองรวมกันเป็นหนึ่งเดียว.....จนก่อให้เกิดคำกล่าวในความของมาตราที่ 1 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯว่า...ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้.....ก็เมื่อครั้งที่....ผมได้เห็นรูป....รัฐธรรมนูญบนหลังช้างตัวหนึ่งที่ตกแต่งไว้สวยงามครวญช้างพนมมือถือขอสับบังคับช้างให้ค่อยๆเดินผ่านซุ้มประตูเมืองเชียงใหม่.......ภาพนี้ทำให้ผมแน่ใจได้ทีเดียวว่า....ไม่มีสยาม...ไม่มีล้านนา....มีแต่ประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวล้านนาได้รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษเท่านั้น....บัดนี้สยามและล้านนาถือเป็นหนึ่งเดียวและให้กำเนิดลูกหลานที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลมาช่วยพัฒนาประเทศที่เรียกชื่อใหม่ว่า ไทย ให้เจริญรุ่งเรืองดำรงสถาพรสืบไป............ นี่คือบทสรุปของประวัติศาสตร์ล้านนา....ที่ผมมักจะบอกว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลยหากเราเข้าใจและสามารถดึงความรู้ต่างๆมาใช้ได้ด้วยสติปัญญาของเรา....ซึ่งบทสรุปนี้ก็คือจุดสิ้นสุดของคำว่าสยามที่ผมมองเห็นเหมือนกันว่าเกิดขึ้นพร้อมๆกัน(....อันนี้เป็นความเห็นโดยส่วนตัวครับ...)...ในสมัยของพระองค์ท่านนั้นเอง

อ้อ....ไม่รู้เป็นยังไงเหมือนกันนะครับ...หากพูดถึงรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงสยาม(ชินกับการเขียนแบบนี้)...ก็มักจะนึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯขึ้นมาทุกที..แต่ก็คงพอเพียงเท่านี้นะครับ..กลัวว่าจะเยิ่นเย้อจนเกินงามไป....คุณเทาชมพูแลท่านอื่นเห็นว่าอย่างไรก็ติงมาด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 มิ.ย. 04, 17:07

 ขอโทษทีเพิ่งแวะเข้ามาคุย มัวตอบกระทู้เจ้าพระยามหิธรอยู่ค่ะ
บ้านายคำเก่งพูดไพเราะเชียว ถึงล้านนาและสยาม  ยกมือเห็นด้วยค่ะ

สงสัยนิดเดียว
หากพูดถึงรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงสยาม ก็มักจะนึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯขึ้นมาทุกที

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ในที่นี้หมายถึงใครคะ?  
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 มิ.ย. 04, 11:33

 สรีสวัสสดีชุผู้ทุฅนน่อครับ

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ที่ผมกล่าวถึงคือ สมเด็จพระมาตุจฉาฯในรัชกาลที่ 7 หรือสมเด็จฯพระอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลปัจจุบัน (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) .....

พระองค์ท่านทรงผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านมรสุมมาตลอดพระชนม์ชีพ.... พระสวามีของพระองค์ทรงเป็นปิยะมหากษัตริย์ของประชาชนชาวสยาม(และเป็นที่ยำเกรงของเจ้าประเทศราชทุกแว่นแคว้นในพระราชอาณาเขตรของสยามสมัยนั้น)..... แต่ภายหลังจากสิ้นแผ่นดินรัชกาลนั้นเป็นต้นมาสยามก็เปลี่ยนแปลงไป....จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงก็จริงนะครับ....แต่หากใครเป็นสมเด็จฯท่านในขณะนั้น....ก็คงทำใจได้ยาก.....

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระสวามีผู้ล่วงลับไปแล้วคงไม่ทราบว่าสมัยหลังจากที่พระองค์สวรรคตแล้วไม่กี่ปีพระราชอาณาจักรสยามจะมีการเปลี่ยนแปลงรูแบบการปกครองไป....แต่สมเด็จพระอครมเหสีพระองค์หนึ่งซึ่งยังดำรงพระทรงชีพอยู่ในขณะนั้นเล่า...ทราบดีว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง....พระองค์ทำไม่ได้แม้แต่จะปกป้องพระบรมวงศ์ของพระองค์เลย.....

ผมคิดว่าเรื่องราวของสมเด็จฯเราท่านทั้งหลายในที่นี้ย่อมทราบความเป็นไปตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นอย่างดีนะครับ(ขออนุญาติไม่กล่าวเยิ่นเย้อแล้วกัน).....

สรีสวัสสดีครับ....อมริสสโชกจุ่งจักเกิดมีแก่ชุผู้ชุฅนน่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 มิ.ย. 04, 13:00

 เป็นชีวิตที่เศร้าที่สุดชีวิตหนึ่ง ค่ะ

ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต   ในวังสระปทุม  ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  เพราะทรงทุกข์หลายซับหลายซ้อนมาเกินกว่าใครในแผ่นดินจะทุกข์ได้เท่านี้    
ทุกคนตกลงกันว่าจะไม่ร้องไห้ ไม่แสดงความเศร้าโศกให้เห็น  ไม่แต่งไว้ทุกข์ งานในวังดำเนินไปตามปกติเหมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น
เมื่อเชิญพระบรมศพลงพระโกศ    สมเด็จพระพันวัสสาประทับอยู่ที่เฉลียงพักหนึ่งก็ตรัสว่า
" วันนี้เป็นอะไร  ฟ้าเศร้าจริง   นกสักตัว กาสักตัว ก็ไม่มาร้อง   เศร้าเหลือเกิน  ทำไมมันเงียบเชียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ"

ไม่มีใครกล้าตอบ  ใครทนได้ก็เฝ้าอยู่ต่อไป   ใครเหลือทนก็คลานหนีออกไปร้องไห้อยู่ข้างนอก  ไม่ให้ทรงเห็น  
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 มิ.ย. 04, 23:04

 ขอบคุณคุณจ้อด้วยค่ะ  ที่นำภาพหาได้ยากมาถ่ายทอดต่อ

ไม่ทราบคุณเทาชมพูจะพอเจียดเวลานำเรื่องราวของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี มาเผยแพร่ได้บ้างไหมคะ  ดิฉันมีข้อสงสัยมานานแล้วค่ะ  ว่าท่านเองเป็นพี่สาวของ สมเด็จพระศรีวัชรินฯ  แต่ก็พูดง่ายๆตามภาษาชาวบ้านก็คือ  ทำตัวเงียบๆไม่ออกหน้าออกตา  ยิ่งคุณเทาชมพูอ้างถึงสมัย ร๘ ทรงสิ้น  ก็ยิ่งทำให้ความอยากรู้เพิ่มมากขึ้นจนระงับไม่ได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 มิ.ย. 04, 07:55

 ได้ค่ะ คุณพวงร้อย  
ขอเวลาไปรวบรวมสักนิดนะคะ

เตรียมผ้าเช็ดหน้ามาให้ล่วงหน้า    
เป็นเรื่องที่รู้แล้ว
อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่จริงๆค่ะ  
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 มิ.ย. 04, 22:16

 ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู จะรอนะคะ  แล้วจะหอบทิชชู่มาอ่านด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เอกครับ
อสุรผัด
*
ตอบ: 2

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.ค. 04, 12:37

 สวัสดีครับ
พระประวัติของพระพันวัสสาฯ นั้น
ผมเคยอ่านที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนครับ
เรียบเรียงโดยคุณสมภพ  จันทรประภา
จากพระดำรัสเล่าของ มจ.อัปภัสราภา เทวกุลครับ
บันทึกการเข้า
เอกครับ
อสุรผัด
*
ตอบ: 2

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 ก.ค. 04, 12:42


สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงดำรงตำแหน่ง “ชนนีผู้บำรุง” ของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามแต่ครั้งเริ่มก่อตั้ง
       สมเด็จฯ เป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๕ ในขณะที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมีพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา เป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ ๕๐ ใน ๘๒ พระองค์ และเป็นพระธิดาพระองค์กลางใน ๖ พระองค์ของพระราชโอรส พระราชธิดาที่ประสูติแต่ สมเด็จพระปิยมาวดีฯ ซึ่งมีรายพระนามดังนี้
๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์
 (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา เทวะวงศ์วโรปการ )
๓. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
 (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ พระองค์แรก)
๔. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
 (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๕. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
 (พระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖)
๖. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
 (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์)

 
         เมื่อเริ่มเจริญพระชันษา สมเด็จฯ มีพระอารมณ์รื่นเริงแจ่มใส ช่างเล่น เจ้านายชุดเดียวกันที่ถูกพระอัธยาศัยและทรงสนิทกันมากคือสมเด็จพระศรีพัชรินทรา ฯ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้านภาพรประภา และพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ แม้เมื่อเจริญพระชันษามากขึ้นแล้วก็ตาม  
         สมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง เช่นเดียวกับพระพี่นางและพระน้องนาง คือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ส่วนพระภรรยาเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาสำลี ซึ่งมีพระชันษารองลงมาจากพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระภรรยาเจ้าทั้ง ๔ พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการ ทรงยกย่องไว้ในที่เสมอกันทุกพระองค์พระเกียรติยศที่จะทรงเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการที่มีพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ  
   
     
         หลังจากที่พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ ประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ฯ พระราชธิดาองค์ที่ ๑๙ ได้ ๙ เดือน สมเด็จฯ ก็ประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ พระพี่นาง ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมปีเดียวกัน และต่อมาในวันที่ ๑๙ ธันวาคม พระองค์เจ้าเสาวภาฯ ก็ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย และได้มีพระบรมราชโองการให้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันทุกพระองค์
 
         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น โปรดฯ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาเขต เพื่อทอดพระเนตรทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ แต่เป็นการเสด็จโดยชลมารคเป็นพื้น เพราะการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวก มีบางปะอินเป็นศูนย์ประทับแรมในการเสด็จประพาส เพราะเป็นพระราชวังที่สร้างมาแต่โบราณเนื่องด้วยทำเลดีอากาศดี และไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครเท่าใดนัก การเสด็จพระราชดำเนินทรงใช้เรือยนต์เป็นเรือลากจูง พ่วงเรือเก๋งลำละสองลำ เป็นเรือที่ประทับลำหนึ่ง เรือเสบียงลำหนึ่ง พระภรรยาเจ้าหรือเจ้านายที่สำคัญเสด็จกันองค์ละลำ  
         เมื่อวันจันทร์เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๒๓ เกิดเหตุใหญ่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน เรือที่พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ประทับไปกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอล่มลง ทำให้สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ในครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยในการจัดระเบียบภายในพระราชสำนักเกี่ยวด้วยตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้เป็นที่เรียบร้อย และโดยเหตุที่สมเด็จฯ เป็นพระชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่องค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี และเมื่องานพระเมรุฯ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ในปี ๒๔๒๓ ก็ได้มีประกาศฐานะพระอัครมเหสีให้ปรากฏแน่นหนายิ่งขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี”  
 สมเด็จฯ มีพระราชโอรส ๔ พระองค์ และพระราชธิดา ๔ พระองค์คือ
 ๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก)
 ๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
 ๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา
 ๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรง-ฤทธิ์
 ๕. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖
 ๖. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ
 ๗. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก )
 ๘. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๔ วัน ยังไม่ได้รับพระราชทานนาม)
 
         สมเด็จฯ ทรงมีพระเมตตาธรรมเปี่ยมล้นในเด็ก ๆ จึงเมื่อเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.
เนื่อง และเจ้าจอมมารดาพร้อม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงแก่อนิจกรรม เป็นเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิธ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล และพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร  ทรงเป็นกำพร้า  ก็ทรงรับเป็นพระราชมารดา  และทรงทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเท่ากับพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติในพระอุทร
 
         เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีนั้น ทรงมีพระราชภารกิจต่าง ๆ ที่จะต้องทรงปฏิบัติ เพื่อทรงช่วยผ่อนคลายพระราชกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาววังโดยทั่วไปเอ่ยถึงพระองค์ในพระนามว่า “สมเด็จพระตำหนัก” ซึ่งหมายถึงที่ประทับในชั้นในพระบรมมหาราชวัง เดิมได้รับพระราชทานเพื่อเป็นที่ประทับรวมกันกับพระพี่นางและพระน้องนาง  แต่หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯเสด็จทิวงคตลงและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจึงประทับอยู่แต่พระองค์เดียวร่วมกับพระราชโอรสและพระราชธิดา  
         เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สมเด็จฯ ต้องทรงวิปโยคโศกเศร้าแสนสาหัสเกิดขึ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อยและเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อสมเด็จฯ ทรงทราบ ก็ทรงล้มทั้งยืนไม่ได้พระสติสมประดี เมื่อรู้สึกพระองค์ก็ทรงพระกรรแสงอย่างรุนแรง ไม่ทรงยอมเสด็จกลับพระตำหนัก ทรงกั้นพระฉากบรรทม ณ ที่ประดิษฐานพระศพพระโอรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกว่า จะทรงล้มประชวรและเสด็จสู่สวรรคาลัยไปอีกพระองค์หนึ่ง จึงเสด็จขึ้นมาทรงป้อนพระกระยาหารพระราชทาน เพราะพระองค์มิยอมเสวยมาหลายมื้อแล้วแม้เวลาจะผ่านไปก็ไม่ทรงสามารถทำพระทัยได้ พระสุขภาพจึงทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว  
         ความเศร้าโศกในการสูญเสียสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สี่ของสมเด็จฯ ครั้งแรกเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกที่ทรงมีและทรงรักมากได้สิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชันษาเพียง ๕ เดือน สมเด็จฯ ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงทรงรับหม่อมเจ้าหญิงพระธิดาองค์หนึ่งของพระเชษฐา (สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์) มาทรงเลี้ยงแทนและพระราชทานนามว่า “พิจิตรจิราภา”  
         ในการเสด็จประพาสชวาอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ ร่วมในกระบวนเสด็จ โดยทรงหวังว่า จะช่วยให้พระพลานามัยของพระองค์ดีขึ้น เมื่อถึงเมืองการุตในเกาะชวา ก็ทรงแยกกระบวนและคงประทับอยู่ที่เมืองนั้นซึ่งมีภูมิประเทศสวยงามและอากาศก็บริสุทธิ์  
         ภายหลังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ ๒ ของประเทศไทย และสถาปนาพระมารดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชคือ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เมื่อปี ๒๔๓๘ ต่อมาเมื่อจะเสด็จประพาสยุโรปอย่างเป็นทางการ ก็โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อปี ๒๔๓๙  
         เมื่อเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศผ่านไปได้ราว ๔ ปีเศษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณก็ประชวรด้วยพระอาการอักเสบที่พระบัปผาสะ   และสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๑  เมื่อทรงมีพระชันษา ๑๑ พรรษา สมเด็จฯ ทรงตกพระทัยมากขีด ทรงทำสิ่งใดไม่ถูก พระสุขภาพที่พอจะดีขึ้น ก็กลับทรุดลงไปอีก  
         เวลาผ่านไปหนึ่งปี พระสุขภาพที่ทรุดก็พอจะกระเตื้องขึ้น แพทย์หลวงถวายคำแนะนำเร่งให้ไปประทับที่ชายทะเลให้ได้ แต่แล้วสมเด็จฯ ก็ต้องทรงประสบกับความวิปโยคอีกครั้ง ด้วยในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชายทะเลในอ่าวสยามและทรงแวะทอดพระเนตรสถานที่ที่จะสร้างพระตำหนักพระราชทานสมเด็จฯ ณ ศรีราชา เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน แล้วอีก ๕ วันนั้นเอง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย เกิดประชวรไข้รากสาดน้อย เพียงไม่กี่วันก็สิ้นพระชนม์โดยไม่มีใครคาดฝัน เป็นภาวะที่สุดจะทนทานได้ พระอาการของสมเด็จฯที่ค่อยดีขึ้นก็กลับเพียบลงทันที ถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่ตำบลศรีราชา พระอาการประชวรก็ทุเลาขึ้น  
         เวลานั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แม่ทัพผู้มีชื่อเสียงซึ่งกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และไปอำนวยการบริษัทป่าไม้อยู่ที่ศรีราชา ได้รับพระบรมราชโองการให้ช่วยเป็นพระอภิบาลสมเด็จฯ ด้วยผู้หนึ่ง ได้ดำริจัดสร้างเรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง ที่ชายทะเลตรงเนื้อที่ของท่าน ห่างจากที่หาดทรายลงไปประมาณ ๑ เส้น  
         เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  และเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ที่ศรีราชาเมื่อวันที่  ๑๒  มิถุนายน
พ.ศ.๒๔๔๒ เห็นเป็นที่พอพระราชหฤทัย การก่อสร้างแล้วเสร็จในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงเชิญเสด็จมาประทับ  
         สมเด็จฯ พอพระทัยสถานที่ใหม่นี้มาก ระหว่างที่ประทับอยู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสามคราว ในการประชวรครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ซึ่งสมเด็จฯ ทรงขอไปเป็นพระราชธิดา เสด็จกลับมาประทับอยู่ด้วย พระองค์ ทั้งฝ่ายการทหารและพลเรือน มีการป่วยไข้กันขึ้นเป็นธรรมดาแต่ว่าตำบลนี้อยู่ห่างไกลจากแพทย์และสถานพยาบาล สมเด็จฯ จึงมีพระดำริว่า ถ้ามีโรงพยาบาลขึ้นในที่นี้ก็จะอำนวยประโยชน์ได้มาก จึงรับสั่งให้สมเด็จกรมพระยาอดัมสัน เป็นผู้ช่วยวางแผนผังการก่อสร้าง  
         พลับพลาที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีปลูกถวายในทะเลนั้น สมเด็จฯ ไม่ทรงโปรด ตรัสสั่งให้ปลูกพระตำหนักใหม่บนเนินเขาในปี ๒๔๔๓ แล้วทรงใช้เป็นที่แปรพระราชฐานจากพระนคร สมเด็จฯ เสด็จกลับมาประทับที่พระตำหนักนี้หลายครั้งเป็นเวลาประมาณ ๓ ปีเศษ จึงมิได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้อีก แต่สมเด็จฯ ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอีกเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ สมเด็จฯ เสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์ เรือแวะเกาะสีชังและเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลโดยเรือกรุงเก่า ถึงประมาณ ๙ นาฬิกา กำหนดเสวยกลางวันที่เกาะสีชัง ในวันนั้นสมเด็จฯ ได้เสด็จเยี่ยมผู้ป่วยที่ตึกตันลิบบ๊วยด้วย
 
         ครั้งสุดท้ายที่สมเด็จ ฯ เสด็จประทับที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา คือ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ สมเด็จฯ เสด็จพร้อมด้วยพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษกรบากร และข้าราชบริพารประมาณ ๖๐ คน โดยเสด็จด้วย เนื่องจากสัมพันธมิตรได้ทิ้งลูกระเบิดลงที่เกาะสีชังและบริเวณรอบๆเมื่อวันที่ ๖-๘ มีนาคม ๒๔๘๗ พระองค์จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่๑๔ มีนาคม ๒๔๘๗  
         โรงพยาบาลนี้ได้เริ่มปลูกสร้างในปีเดียวกันนั้นเอง ในชั้นต้นเป็นเรือนไม้ซึ่งก่อสร้างในทะเล หลังคามุงจาก ๕ หลังปลูกติดต่อเป็นหมู่เดียวกัน โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาลในขณะนั้น เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ ภายหลังต่อมาไม่นาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยมสมเด็จฯ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ทั้งที่ดิน อาคารและพระตำหนักก็พระราชทานให้เป็น
โรงพยาบาลนี้ทั้งสิ้น พร้อมด้วยพระราชทรัพย์อีกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ต่อมาผู้คนก็พากันเรียกโรงพยาบาลซึ่งเริ่มจากเรือนในทะเลและพระดำริในสมเด็จฯ ที่ศรีราชา แห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา”
 
         ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับสถาปนาไว้ในที่ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า สว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้เฉลิมพระนามาภิไธยถวายว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า และเมื่อถึงรัชกาลที่ ๘ ทรงมีพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  
         ในปัจฉิมวัย เมื่อพระชนมายุได้ ๗๕-๗๖ พรรษา มีอาการประชวรมากจัดว่าเป็นครั้งใหญ่สำคัญครั้งหนึ่ง คราวเสด็จประพาสเกาะชวา แต่กลางเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เริ่มประชวร ซึ่งราว ๑๐ วันก็หายประชวร แต่แล้วทรงประชวรไข้หวัดใหญ่จนมีพระอาการหนักเป็นที่น่าวิตก ได้จัดหานายแพทย์ชาวยุโรปผู้ชำนาญมาปรึกษาพร้อมด้วยนายแพทย์ประจำพระองค์ระหว่างประทับอยู่ที่ชวา ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯแล้วยังต้องถวายการรักษาพยาบาลอยู่อีก ๑ เดือนเศษ รวมเวลาประชวรครั้งนี้ร่วม ๓ เดือน นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ลงความเห็นว่าภายหลังหายประชวรครั้งนี้แล้ว ทรงเป็นปกติเรื่อยมาเป็นเวลาตั้ง ๑๒ ปี จึงมีพระอาการประชวรที่จัดว่ามากอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ในขณะที่ทรงเจริญพระชนมายุมากถึง ๘๘ พรรษาแล้ว ด้วยเหตุเพราะพลาดจากพระที่นั่งกระแทกกับพื้นห้องประทับ ทำให้พระอัฐิคอต้นพระเพลาหัก เป็นเหตุให้ทรงพระดำเนินไม่ได้ ครั้นถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๘ ประชวรไข้ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตรสนิทวงศ์ ผู้ทำการแทนนายแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายการรักษาทันที ปรากฏว่ามีการอักเสบที่พระปัปผาสะ แพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างดีที่สุด พระอาการก็มีแต่ทรงและทรุดลง ในระยะหลังพระอาการทางพระปัปผาสะดีขึ้น แต่กลับมีอาการทางพระหทัยอ่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชธุระในอาการพระประชวรอย่างยิ่ง ทรงฟังรายงานหมอทุกระยะ เสด็จพระราชดำเนินไม่ขาด จนวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ อันเป็นวันที่พระชนมายุได้ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน ย่างเข้ามา หน้าห้องบรรทม สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถประทับอยู่ นอกจากนั้นก็มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร หม่อมเจ้า หลานๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไป เพราะเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการทรุดลงตั้งแต่ ๕ ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้า ในวาระสุดท้าย สองยามผ่านไป… ตีหนึ่งผ่านไป… ตีสองผ่านไป…ชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบาๆติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ ๑๖ นาที สมเด็จฯก็เสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างสงบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมอบกราบถวายบังคมอยู่ปลายพระบาทนั้นเอง  
         สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำรงพระชนมายุถึง ๖ แผ่นดิน นับจากรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๙ ในปัจจุบัน ทรงผ่านความทุกข์ ความโศก ความวิปโยค และความอาดูร มาเกือบจะตลอดพระชนมายุของพระองค์อันนับได้ถึง ๙๓ พรรษาเศษ แต่ก็ทรงประคับประคองพระองค์ไว้ได้ตลอดด้วยพระขันติธรรม มิได้มีบกพร่องทั้งในฐานะพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงปฏิบัติพระราชภาระด้วยดี ทรงดำรงพระราชฐานะทรงเป็นกุลเชษฐ์แห่งราชสกุลวงศ์  
         สมเด็จฯ ทรงดำเนินพระราชภารกิจเป็นคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะการดำเนินงานสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ทรงเคร่งครัดในแบบอย่างแห่งโบราณราชประเพณีในฐานะที่ทรงเป็นขัตติยนารี ทรงเคร่งครัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จสวรรคตแล้วก็ทรงเหลือร่องรอยแห่งแนวพระราชจริยวัตรอันงดงามไว้เป็นบุรพฉบับแก่ลูกหลานไทยผู้มุ่งมั่นในความดีเป็นปฏิปทายึดถือปฏิบัติสืบไป  
         ครั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จฯจากวังสระปทุมมาประดิษฐานไว้ ณ ตึกพระพันวัสสา โรงพยาบาลได้มีพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ และในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึกสว่างวัฒนา และได้เสด็จฯ ทรงเปิดแพรคลุมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ตึกพระพันวัสสาด้วย
 
         โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ได้ดำเนินการสร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และมีการก่อสร้างอาคารในโรงพยาบาลโดยได้รับพระราชทานชื่ออาคารตามพระนามของสมเด็จฯ ไว้จนครบ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา (พ.ศ. ๒๔๗๕) ตึกสว่างวัฒนา (พ.ศ. ๒๕๐๕) ตึกศรีสวรินทิรา (พ.ศ. ๒๕๐๘) ตึกบรมราชเทวี (พ.ศ. ๒๕๑๑) ตึกอัยิกาเจ้า (พ.ศ. ๒๕๑๓) และตึกศรีสมเด็จ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ส่วนชื่อโรงพยาบาลได้เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง