เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 36622 เจ้าพระยามหิธร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 03 มิ.ย. 04, 10:59

 ผู้ที่เคยอ่านประวัติศาสตร์กฎหมายไทย คงเคยได้ยินชื่อเจ้าพระยามหิธร  ท่านเป็นเนติบัณฑิตไทย หมายเลข 1
วันนี้ขอเล่าสู่กันฟังถึงประวัติของท่าน   ซึ่งจะโยงไปถึงเหตุการณ์บางเรื่องในประวัติศาสตร์ไทยสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ด้วย

เจ้าพระยามหิธรมีชื่อเดิมว่า  "ลออ "  เกิดในสกุล "ไกรฤกษ์ " ซึ่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายกันมาจนถึงทุกวันนี้
สมัยโน้น ชื่อของคนไทยเป็นชื่อที่ไม่จำกัดเพศ    ไม่เหมือนปัจจุบัน   สมัยนี้ไม่มีนางสาวคนไหนชื่อ ทักษิณ       หรือผู้ชายคนไหนชื่อนายดาวพระศุกร์     ผิดกับสมัยก่อน  ชื่ออะไรผู้ชายผู้หญิงก็ใช้เหมือนกันได้  เพราะงั้นผู้ชายชื่อเดือน ชื่อดาว หรือลออ  ถือเป็นเรื่องปกติ  ผู้หญิงชื่อแม่โชติ ก็ไม่ประหลาด

เด็กชายลออเกิดมาในตระกูลขุนนางไทย  แบบเดียวกับตระกูลผู้ดีไทยอีกมากที่เริ่มต้นจากคนจีนแล้วกลืนเข้าเป็นคนไทยอย่างสนิท   แทบไม่เหลือขนบธรรมเนียมการดำเนินชีวิตแบบจีน   เหลือก็แต่จดจำได้เท่านั้นว่าบรรพบุรุษของตนมาจากแผ่นดินใหญ่

ต้นตระกูลไกรฤกษ์ ที่เดินทางจากจีนมาตั้งถิ่นฐานในสยามสมัยปลายอยุธยา    มีชื่อตัวว่าอะไรไม่ทราบ  รู้แต่ว่าแซ่หลิม  คำว่าหลิม เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน    ท่านหลิมคงจะเข้ามาตัวคนเดียวและได้ภรรยาชาวอยุธยาแบบจีนหนุ่มโดยมาก   ลูกชาย 2 คนที่เกิดในอยุธยาจึงมีชื่อไทยว่า "เริก " และ " อิน "

ท่านหลิมถึงแก่กรรมตอนไหนไม่ปรากฏ  แต่ว่าลูกชายสองคนหนีรอดข้าศึกตอนกรุงแตกไปได้ จนถึงสมัยสถาปนากรุงธนบุรี   นายเริกและนายอินก็ได้สมัครเข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสินกันทั้งสองคน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 มิ.ย. 04, 11:17

 สายตรงของเจ้าพระยามหิธร คือสายของนายเริก บุตรชายคนโตของท่านหลิม
ปรากฏในคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า  พระเจ้าตากสินผู้เป็นเชื้อจีนเช่นกัน ทรงรับนายเริกเข้าเป็นขุนท่องสื่ออักษร เสมียนตรากรมท่าซ้าย มีหน้าที่เป็นล่ามจีนในคณะทูตไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. 2324  

การเดินทางเรือสมัยนั้นกว่าจะโต้คลื่นไปขึ้นทางใต้ของจีน และขึ้นบกระหกระเหิน เดินทางไปถึงกรุงปักกิ่ง   กินเวลายาวนานขนาดไปปีนี้กลับเอาปีหน้า      ดังนั้นกว่าคณะทูตจะกลับมา ก็สิ้นสุดรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีไปแล้ว   ขึ้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การผลัดแผ่นดินใหม่ไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนต่อขุนนางหนุ่มอย่างขุนท่องสื่อ  เช่นเดียวกับขุนนางอื่นโดยมากที่ไม่ได้มี่ส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายสมัยปลายกรุงธนบุรี     เมื่อผลัดแผ่นดินขุนนางเหล่านี้ก็ทำงานไปตามปกติ  แยกย้ายกันสังกัดวังหน้าบ้างวังหลวงบ้าง    
ขุนท่องสื่อเริกก็ได้เข้ารับราชการสังกัดวังหน้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท   แล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับจนเป็นถึงเสนาบดีคลัง หนึ่งในจตุสดมภ์วังหน้า   มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรโกษา

บ้านเดิมของพระยาไกรโกษา  อยู่ที่ตรอกพระยาไกรในสำเพ็ง    ก่อนหน้านี้ ตอนปลายธนบุรีท่านคงอยู่ในละแวกชุมชนคนจีน ฟากบางกอกตรงส่วนที่เป็นพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน   เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงย้ายเมืองหลวงข้ามแม่น้ำมาตั้งทางฝ่ายบางกอก  ก็โปรดเกล้าฯให้ย้ายชุมชนคนจีนเดิมจากที่นั้นไปหาที่อยู่ใหม่จากคลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง พระยาไกรโกษาจึงย้ายบ้านไปอยู่ที่สำเพ็ง     จนถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 2

ภาพประกอบ ดูเพิ่มเติมได้จาก
 http://www.postcardman.net  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 มิ.ย. 04, 11:21

 พระยาไกรโกษา มีบุตรกับภรรยาเอกชื่อคุณหญิงจุ้ย  3 คน  มีบุตรกับภรรยาน้อยอีกหลายคน  แต่ขอข้ามไปเพราะไม่ใช่สายเจ้าพระยามหิธร    ขอพูดถึงคนเดียวคือบุตรชายคนเล็กของคุณหญิงจุ้ยชื่อนายสุด

นายสุดเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก   ได้เป็นหัวหน้ามหาดเล็กตำแหน่งหลวงเดชนายเวร  
สมัยโน้นการเป็นมหาดเล็กไม่ใช่เป็นกันง่ายๆ  ต้องคัดเลือกจากลูกผู้ดีมีตระกูล   นอกจากนี้ต้องหน้าตาดีกิริยามารยาทเรียบร้อยรู้ธรรมเนียมประเพณีไทย และเป็นคนเฉลียวฉลาดฝึกงานได้คล่อง  หัวไว เรียนรู้เร็ว  เพราะอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ให้ทรงใช้สอย เป็นโอกาสให้ได้รับตำแหน่งสำคัญๆในอนาคตได้ง่าย

เมื่อมาถึงยุคนี้คงจะเห็นว่า  เมื่อถึงชั่วคนที่สาม  หลานปู่ของท่านหลิม ก็ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นลูกผู้ดีมีตระกูลของไทย อย่างสนิทแล้ว  ไม่ได้มีใครเห็นว่าเป็นคนจีนอีก

เรื่องราวของหลวงเดช    กล่าวไว้ในประวัติของตระกูลไกรฤกษ์เพียงสั้นๆว่าท่านมีบุตร 4 คน หนึ่งในจำนวนนี้เป็นชายชื่อโมรา

นายโมราเกิดในรัชกาลที่ 3   แต่กว่าจะโตเป็นหนุ่มอายุ 17 เข้ารับราชการได้ก็ถึงรัชกาลที่ 4   ตำแหน่งแรกของท่านคือประจำกรมตำรวจหลวงวังหน้า ตามบรรพบุรุษที่เป็นเสนาบดีวังหน้ามาก่อน  แล้วเลื่อนขึ้นจนได้เป็นพระยาบริรักษ์ราชา เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า  เมื่อออกจากราชการประจำแล้วจึงเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพ็ชรรัตน์
พระยาเพ็ชรรัตน์คือบิดาของเจ้าพระยามหิธร  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 มิ.ย. 04, 11:35

 ขอหยุดประวัติแค่ตรงนี้ก่อนนะคะ   ต่อไปจะกล่าวถึงระบบศาลยุติธรรมของไทยโบราณ
ตั้งแต่อยุธยามาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 แม้แต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 เองก็ยังยึดถือระบบโบราณอยู่  คือไทยไม่มีกระทรวงยุติธรรมอย่างสมัยนี้  แม้แต่ศาลที่เป็นศาลล้วนๆ อย่างเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี  

สมัยโน้น ราชการฝ่ายบริหารและตุลาการไม่ได้แยกจากกัน   เพราะถือว่าการชำระความโดยเฉพาะความอาญา เป็นเรื่องการใช้อำนาจปกครองเพื่อปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิด  
ดังนั้นกรมอะไรๆก็มีหน้าที่ชำระความของตัวเองได้  ข้าราชการสังกัดกรมนั้นก็อาจได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตุลาการชำระความในกรมของตัวเองได้เช่นกัน

หน้าที่ตุลาการสมัยโน้นคือสอบสวนซักถามพิจารณาหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อกฎหมายเป็นหน้าที่ของลูกขุน   และผู้ปรับก็คือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยจะรู้กัน  รู้แล้วก็รู้สึกว่าตลก   คือข้าราชการหรือขุนนางสมัยโน้น แม้ว่ามีหน้ามีตา  แต่ไม่ค่อยจะมีสตางค์   เพราะระบบราชการไม่มีเงินเดือนให้  มีแต่เบี้ยหวัดซึ่งจ่ายปีละครั้งสองครั้ง  บางทีก็ไม่จ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำบ้าง แล้วแต่ท้องพระคลังจะมีให้มากน้อยแค่ไหน  
สมัยรัชกาลที่ 2  พบกันว่าท้องพระคลังหาเงินไม่ค่อยได้  ต้องติดเบี้ยหวัดขุนนาง ไปจ่ายเป็นผ้าลายแทนก็มี  จนถึงรัชกาลที่ 3 ทรงคิดระบบเจ้าภาษีนั่นแหละ  พระคลังหลวงจึงค่อยมีเงินทองขึ้นมามากหน่อย

ในเมื่อขุนนางไม่มีสตางค์   แต่มีลูกเมียบริวารต้องเลี้ยงกันมากมายในแต่ละบ้าน ก็มักจะไปร้องเรียนขอความเห็นใจจาก เจ้ากรม  เจ้ากรมก็หาทางหางานพิเศษ ทำ "โอ.ที" ให้ลูกน้อง โดยมอบความแพ่งหรืออาญา ให้ขุนนางผู้นั้นเอาไปเป็นตุลาการชำระความที่บ้าน เป็นรายได้พิเศษ  

รายได้พิเศษยังไงน่ะหรือคะ    ก็เพราะการชำระความไม่ได้กินเวลาแค่ครั้งเดียวจบ  แต่ว่าต้องสืบสวนสอบสวนทวนพยานกันนานเป็นปี   คู่ความทั้งโจทย์และจำเลยตลอดจนพยาน ก็ต้องอพยพกันมาปลูกกระท่อม นอนค้างอ้างแรมในบริเวณบ้านตุลาการ   ต้องหาข้าวปลาอาหารของใช้มาส่งเสียตัวเอง  และเพื่อจะเอาใจตุลาการให้ชำระความเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน  ก็ต้องเผื่อแผ่ของกินของใช้ให้ตุลาการด้วย   ตุลาการก็ค่อยคลายความฝืดเคืองลงได้
จนกว่าจะชำระความเสร็จซึ่งอาจจะกินเวลานานเป็นปี  โจทย์จำเลยถึงจะหอบข้าวของ(ถ้ายังมีเหลือ) ออกจากบ้านตุลาการไปได้ ไม่ต้องเจอกันอีก ส่วนฝ่ายไหนจะแพ้ความไปติดคุก ฝ่ายไหนชนะความได้กลับบ้านก็เป็นอีกเรื่อง
พระยาเพ็ชรรัตน์ในฐานะเจ้ากรม  นอกจากจะแบ่งคดีให้ข้าราชการรองๆลงไปช่วยชำระความ ท่านก็ชำระความของท่านเป็นรายได้พิเศษประจำตัวเองด้วย พอเลี้ยงครอบครัวกันไปได้ไม่ลำบาก

อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะมีคนโวยวายด้วยความสงสัยว่า  แบบนี้ลำเอียงกันได้น่ะซิ    ฝ่ายไหนประเคนเงินทองข้าวของอาหารการกินให้มากกว่า  ตุลาการก็ต้องลำเอียงเข้าข้างคนนั้นเป็นธรรมดา     แล้วจะเอาความยุติธรรมมาจากไหน
สุนทรภู่ก็เป็นคนหนึ่งที่โวยขึ้นมาแบบนี้  หาอ่านได้ในกาพย์พระไชยสุริยาตอนหนึ่ง ที่บรรยายเมื่องสาวัตถี ว่า

คดีที่มีคู่.............................คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา.............ให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้ แก้ชนะ.......................ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี...........................ไล่ด่าตีมีอาญา

สุภา ก็คือตุลาการ นั่นละค่ะ    คำเหน็บแนมของสุนทรภู่โดยยกเมือง สาวัตถี เป็นแบบอย่างของความชั่วในเมือง  ในความเหลวไหลต่างๆ มีการกินสินบาทคาดสินบนบวกเข้าไปด้วยอีกอย่างหนึ่ง  

ในความเป็นจริง  ระบบชำระความแบบนี้ ก็ทำกันต่อมาจนกระทั่งมีการตั้งศาลในระบบสากลขึ้น ตอนปลายรัชกาลที่ 5

ถ้าถามว่า โจทย์จำเลยที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจะไปฟ้องร้องกับใครได้  ข้อนี้ก็มีคำตอบให้เหมือนกัน

ข้อลำบากของตุลาการอยู่ที่ว่าเมื่อตัดสินความออกมาว่าใครผิดใครไม่ผิด     โจทย์กับจำเลยยอมรับได้ก็หมดเรื่องไป แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ เขาก็สามารถอุทธรณ์ได้  
แต่การอุทธรณ์สมัยนั้นผิดกับสมัยนี้  สมัยนี้จะอุทธรณ์ว่าคำตัดสินนั้นไม่ถูกต้องตรงไหนและแย้งได้ยังไงบ้าง    แต่สมัยนั้น  เวลาอุทธรณ์   เขาจะอุทธรณ์ว่าตุลาการตัดสินไม่ยุติธรรม  เข้าข้างอีกฝ่ายหรือรับสินบน   ยื่นคำร้องให้ตุลาการชั้นสูงขึ้นไปพิจารณา  

พอถึงตอนนี้ ตุลาการชั้นต้นก็กลายมาเป็นจำเลย  มีหน้าที่ต้องแก้คำอุทธรณ์โดยชี้แจงให้ได้ว่าตัวเองตัดสินไปนั้นเที่ยงธรรมดีแล้ว ไม่ได้ลำเอียงเข้าข้างใครหรือว่ารับสินบนใคร    เพราะไม่งั้นถ้าระดับบนเอาเรื่องตัวเองก็ลำบากเหมือนกัน

ทางออกของตุลาการชั้นต้น เผื่อเกิดเรื่องเจอโจทย์จำเลยหัวหมอ ต่อสู้ไม่ยอมแพ้ขึ้นมา แม้ว่าการตัดสินนั้นอาจจะถูกต้องแล้วก็ตาม  ก็จะต้องไม่ประมาทในการรับมือ     ก็คือทำความคุ้นเคยฝากเนื้อฝากตัว ทำตัวเป็นผู้น้อยที่ดี ต่อตุลาการชั้นผู้ใหญ่เอาไว้เสียตั้งแต่แรก    เพื่อจะได้เกิดความเมตตา หรือช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เวลาถูกโจทย์จำเลยเล่นงานเอา

พระยาเพ็ชรรัตน์เองก็ไม่ประมาทที่จะฝากเนื้อฝากตัวให้ผู้ใหญ่เหนือขึ้นไปกว่าให้เมตตาปรานี   ท่านเป็นมิตรที่ดีของตุลาการชั้นสูงอยู่หลายคน  หนึ่งในจำนวนนั้นคือพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนศิริธัชสังกาศ(ต้นราชสกุลศรีธวัช ณ อยุธยา)อธิบดีศาลฎีกา

ลูกชายของพระยาเพ็ชรรัตน์ ทั้ง 3 คน   ต่างคุ้นเคยกับการชำระความของบิดามาตั้งแต่เล็ก  โตขึ้นจึงใฝ่ใจที่จะเป็นตุลาการกันทั้งหมด   หนึ่งในจำนวนนั้นคือเจ้าพระยามหิธร  
บันทึกการเข้า
นัยนา
อสุรผัด
*
ตอบ: 2

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 มิ.ย. 04, 20:49

 แวะเข้ามาดูค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 มิ.ย. 04, 08:31

 เจ้าพระยามหิธรหรือเด็กชายลออ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระยาเพ็ชรรัตน์ เกิดจากภรรยาคนที่สามชื่อท่านตาล     บ้านเกิดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลตึกแดง   หลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นบ้านมรดกตกทอดจากหลวงเดชนายเวรคุณปู่ของท่าน  
คุณป้าของเจ้าพระยามหิธรคือคุณ หญิงจับ ภรรยาพระยามหาอำมาตย์ตั้งชื่อให้หลานชายว่า ลออ

เด็กชายลออเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ    สมัยนั้นเป็นโรงเรียนที่รับแต่เฉพาะเจ้านายและบุตรข้าราชการเท่านั้น  

หลักสูตรการเรียนสมัยต้นรัชกาลที่ ๕  เป็นหลักสูตรง่ายไม่ซับซ้อนอย่างสมัยนี้  ไม่ได้แบ่งเป็นชั้นประถมมัธยม แต่เรียกว่า "ประโยค" มีแค่ประโยค ๑ และประโยค ๒  
ประโยค ๑ เรียนอ่านเขียนและเลข เป็นความรู้ทั่วไป เพื่อจะอ่านออกเขียนได้และรู้จักบวกลบคูณหาร
เรียนจบก็สอบไล่ประโยค ๑   พอสอบไล่ได้แล้ว ความรู้แค่นี้ก็ถือว่ามากพอใช้  ใครจะลาออกก็ได้   ไม่จำเป็นต้องเรียนต่อ  หรือบางคนก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเฉพาะทาง  
แต่ถ้าอยากเรียนต่อก็เรียนประโยค ๒ ต่อไป

ประโยค ๒ เป็นวิชาทำงานออฟฟิศ  มีวิชาเรียงความ ย่อความ แต่งจดหมาย เขียนตามคำบอก และเลข(ระดับสูงกว่าประโยค ๑) กับหัดแต่งโคลงกลอนบ้าง ถือว่ากวีนิพนธ์เป็นความรู้ชั้นสูงของคนไทย

เด็กชายลออเรียนอยู่ ๖ ปีก็จบทั้งสองประโยค  ในตอนนั้นกลายเป็นนายลออ ชายหนุ่มอายุ ๑๗ ปี    พระยาเพ็ชรรัตน์นำไปฝากพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนศิริธัชสังกาศ อธิบดีศาลฎีกา  
เสด็จในกรมฯ ก็ทรงรับเข้าทำงานเป็นเสมียนตรีเงินเดือน ๑๖ บาท ประจำศาลฎีกา ซึ่งในตอนนั้นตั้งอยู่ที่ประตูต้นสนในพระบรมมหาราชวัง
แต่ภายในปีเดียว นายลออทำงานเป็นที่พอใจของเจ้านาย  จึงได้เลื่อนเงินเดือนถึง ๔ ครั้ง  รับเงินเดือนเพิ่มถึง ๓๐ บาท

๓๐ บาทในยุคนั้น สงสัยว่ามูลค่าจะมากกว่าสามหมื่นบาทในสมัยนี้เสียอีก

ศาลฎีกาสมัยกรมขุนศิริธัชฯ ไม่ได้มีหน้าที่อย่างศาลฎีกาสมัยนี้   แต่มีหน้าที่ตรวจฎีกาหรือคำร้องทุกข์ของราษฎร  และทำความเห็นประกอบขึ้นไปเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย
พูดอีกนัยหนึ่ง คือแทนที่จะเรียกว่าศาลฎีกา ควรเรียกว่า "กรมตรวจคำร้องทุกข์"จะถูกต้องกว่า
เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว เพราะกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้ตั้งขึ้นในไทย

ตอนที่นายลออเข้าทำงาน  วิชาที่เรียนมาถือว่าเป็นวิชาชั้นสูงหายาก   ผู้ใหญ่พอใจใช้สอยว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ คล่องแคล่วรอบรู้การทำงานออฟฟิศเป็นอย่างดี  
เมื่อตั้งกระทรวงยุติธรรม กรมขุนศิริธัชฯทรงย้ายไปเป็นราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกา   นายลออก็ได้ย้ายตามเจ้านายไปอยู่กรมราชเลขานุการด้วย

ที่ทำงานใหม่นี้เองเป็นเหตุให้นายลออมีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เล็กๆได้บ่อยมาก  
เพราะว่ากรมหรือที่เรียกว่าออฟฟิศหลวงตั้งอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้านตะวันตก  อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น    
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาทำงานที่ออฟฟิศหลวงอยู่เนืองๆ พระราชโอรสธิดาพระองค์เล็กๆก็เสด็จมาเที่ยวที่ออฟฟิศ เล่นหัวกับข้าราชการในออฟฟิศอย่างเป็นกันเอง  

ออฟฟิศนี้ถือเป็นที่สั่งราชการของพระเจ้าแผ่นดิน  แม้นอกเวลาราชการก็ต้องมีข้าราชการเปลี่ยนเวรกันมาอยู่ เรียกได้ว่าไม่ปิดเลยตลอด ๒๔ ชั่วโมง  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 มิ.ย. 04, 08:38

 ในวิฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย   นายลออเป็นเสมียนโท ได้มีโอกาสรู้เห็นบรรยากาศตึงเครียดติดต่อกันหลายวันหลายคืน   ในพระบรมมหาราชวัง

มีเกร็ดเล็กๆน่าขำที่นายลออจำได้ก็คือ ตอนเกิดเรื่องที่เรือรบฝรั่งเศสรุกล้ำอ่าวไทย  เข้ามาจอดลอยลำถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส    
ผู้บัญชาการทหารเรือไทยในตอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์คที่ไทยจ้างมาฝึกทหารเรือ  ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธี  ได้รับรายงานเรื่องนี้ก็เดือดดาลมาก  
ถือว่านอกจากฝรั่งเศสดูถูกคนไทยแล้วยังเป็นการสบประมาทถึงเดนมาร์คด้วย

พระยาชลยุทธฯก็ไม่รอช้า  ถือว่าถึงขั้นรบกันก็ต้องรบ
ออกคำสั่งให้ติดไฟเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเป็นเรือรบที่มีอานุภาพมากที่สุดของไทยในตอนนั้น  เตรียมพร้อมรบเต็มกระบวนศึก
แล้วท่านก็แต่งเครื่องรบเต็มที่ รีบลงเรือกรรเชียงจากฝั่งไปขึ้นเรือกลางแม่น้ำ เพื่อจะบัญชาการรบ

พอถึงเรือมหาจักรี   พระยาชลยุทธฯใจร้อนเผ่นจากเรือกรรเชียงขึ้นบันไดเรือรบ  
บังเอิญคืนนั้นมืดมากมองอะไรไม่เห็น   ท่านก็เลยพลาดบันไดเรือ หล่นตูมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งชุดเครื่องรบ  
ทำให้ทหารเรือไทยต้องโดดน้ำตามลงไปช่วยผู้บัญชาการกันจ้าละหวั่น  ฉุดเอาตัวขึ้นมาได้  
การตกน้ำแทนที่จะทำให้พระยาชลยุทธฯใจเย็นลง กลับทำให้โกรธมากขึ้น  
เคราะห์ดีก่อนเรือมหาจักรีจะออกไปยิงกับฝรั่งเศส   เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเบลเยี่ยม   ได้รับรายงานเข้าเสียก่อน  
เห็นว่าถ้าถึงยิงกันจะเกิดเรื่องลุกลามใหญ่โต  จึงรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้มีพระบรมราชโองการห้าม  
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงห้ามเสียทัน  พระยาชลยุทธฯจึงไม่ได้รบกับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์ในช่วงนั้นไม่มีใครขำออกเลย    เพราะมีแต่ความตึงเครียดไปทั้งเมืองตั้งแต่พระบรมมหาราชวังถึงชาวบ้านร้านถิ่น    
ภายในพระบรมมหาราชวัง มีการลากปืนใหญ่เข้าประจำที่   หัดทหารกันทั้งวันทั้งคืนและเกณฑ์ทหารใหม่เข้าเพิ่มเผื่อรับมือ
พระเจ้าอยู่หัวและเสนาบดีเข้าประชุมกันตลอดทั้งวันทั้งคืน  ไม่มีใครกลับบ้าน  ออฟฟิศหลวงเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง  
ข้าราชการประจำรวมทั้งนายลออต้องมาประจำหน้าที่ไม่ได้กลับบ้านติดต่อกันหลายวัน   กินนอนกันอยู่ในออฟฟิศนั่นเอง

พอตกกลางคืน  เจ้านายสำคัญๆและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่มาปรึกษางานกันเคร่งเครียดตลอดวันก็เอาที่นอนหมอนมุ้งไปปูนอนกันตามระเบียงพระที่นั่งจักรี  
ตอนดึก พระเจ้าอยู่หัวบรรทมไม่หลับ  เสด็จออกมา  เจ้านายและเสนาบดีก็ลุกจากมุ้งไปเข้าเฝ้า ประชุมกันต่อไม่เป็นอันหลับนอนจนเช้า

ส่วนเจ้านายฝ่ายในตลอดจนบรรดาข้าหลวงทั้งหลาย  ออกมาประชุมปะปนกับผู้ชายไม่ได้ก็จริง แต่ก็รวบรวมข้าวของและเงินทอง เตรียมพร้อม ทูลเกล้าฯถวายเพื่อเป็นค่าซื้อปืนสู้กับฝรั่งเศส  

ในเหตุการณ์นี้เองที่ได้มีการดำริตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น  ซึ่งต่อมาคือสภากาชาดไทย  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินี(หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)ทรงเป็นนายกสภา  เพื่อจะได้ช่วยรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม

ทางฝ่ายราษฎรในเมืองหลวงก็ไม่ประมาท   พวกผู้หญิงพากันคั่วข้าวตากทำเป็นเสบียง  เตรียมตัวพร้อมจะอุ้มลูกจูงหลานหลบหนีเข้าป่าเผื่อข้าศึกบุกเข้ามาถึงเมือง
ส่วนผู้ชายก็คึกคักพร้อมรบ  ไม่กลัวฝรั่งเศส   นัดยกพวกแห่กันไปริมแม่น้ำใกล้เรือรบ ด่าว่าท้าทายต่างๆจนฝรั่งเศสไม่กล้าลงจากเรือรบ  ยันกันอยู่อย่างนั้น

ในที่สุดก็อย่างที่ทราบกันคือไทยกับฝรั่งเศสตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี  แต่ไทยต้องเสียค่าปรับอย่างมหาศาล   ต้องสละดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส    เรียกได้ว่าฝรั่งเศสได้เปรียบ  แต่ไทยก็จำต้องสละส่วนน้อยไว้เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ให้คงอยู่

ปีต่อมา เจ้าพระยามหิธรได้เลื่อนขึ้นเป็นเสมียนเอกเงินเดือน ๔๐ บาท  มีอายุครบปีบวชคือ ๒๐ ปี  หลังสึกออกมาแล้วก็ได้สมรสกับนางสาวกลีบ บางยี่ขัน ธิดาหมื่นนราอักษร    
ท่านใช้ครองคู่กันต่อมาจนบั้นปลายชีวิต   คุณนายกลีบได้เป็นท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร  
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 มิ.ย. 04, 16:50

 ขอบคุณครับผม
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 มิ.ย. 04, 07:19

 เป็นประวัติที่น่าสนใจมากเลยค่ะ  ขอบคุณมากนะคะ  คุณเทาชมพูคงสบายดีนะคะ  ดิฉันก็วุ่นเรื่องกิจกรรมของเด็กๆน่ะค่ะ  เลยไม่มีโอกาสแวะมาเรือนไทยเท่าไหร่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 มิ.ย. 04, 08:13

 สบายดีค่ะคุณพวงร้อย หลังๆนี้ดิฉันห่างหายไปพักหนึ่งเพราะมีงานที่อื่น  ตอนนี้พอจะว่างเข้ามาเล่าเรื่องได้แล้วค่ะ
เด็กๆเป็นไงบ้างคะ เปิดเทอมหรือยัง  หนุ่มน้อยล่ะโตเป็นหนุ่มแล้วหรือยังปีนี้

ขอเท้าความถึงความเป็นมาของกระทรวงยุติธรรมก่อนนะคะ

ระบบตุลาการอย่างที่เล่าในตอนแรก ดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อถึงการพัฒนาประเทศเป็นการใหญ่ เพื่อการอยู่รอดจากมหาอำนาจล่าอาณานิคม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปรับปรุงระบบศาลเสียใหม่   จัดระเบียบการบริหารในรูปของกระทรวงยุติธรรม  

กระทรวงยุติธรรมตามแบบแผนในปัจจุบัน ตั้งขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์ตึงเครียดนี้แล้ว ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๐    เสนาบดีพระองค์แรกคือพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ  กรมพระสวัสดิวัตน์วิศิษฎ์(ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา)

กรมพระสวัสดิฯ ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกๆที่ได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ทรงศึกษาด้านกฎหมายจากเบลเลียลคอลเลจในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด    ในระยะสองสามปีแรก กระทรวงยุติธรรมอยู่ในระยะการจัดแต่งปรับปรุงกิจการศาลแบบเก่า ให้มาเข้าระบบใหม่  อะไรต่อมิอะไรยังไม่ลงตัวนัก  

กรมพระสวัสดิฯทรงอยู่ในตำแหน่งได้ ๒ ปี ก็ถวายบังคมลาออกเพื่อไปราชการในยุโรป   เจ้านายพระองค์ต่อมาที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร  (ต้นราชสกุล คคณางค์ ณ อยุธยา) แต่ก็ประชวรบ่อยๆจนต้องถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งไปอีกองค์เมื่อ ร.ศ. ๑๑๕

ต่อจากนั้น เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์ที่ ๓ ก็คือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์   ซึ่งสำเร็จการศึกษาทางกฎหมายจาก Christ Church College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด   หรือต่อมา เราก็รู้จักกันในนาม"พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"  ยังมี "วันระพี" ให้นักกฎหมายรุ่นหลังได้แสดงคารวะกันมาจนทุกวันนี้

ลองมาฟังกันถึงพระประวัติของพระองค์ท่าน ดูหน่อยนะคะ

พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ    
ทรงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสรุ่นใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นรุ่นแรกๆที่ได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ  และจบจากออกซฟอร์ดเป็นพระองค์แรก  
ทรงได้ชื่อว่ามีสติปัญญาปราดเปรื่อง เฉลียวฉลาดเป็นที่พอพระราชหฤทัย   จึงได้รับตำแหน่งเสนาบดีเมื่อพระชนมายุแค่ ๒๒ เท่านั้นเอง

กรมหลวงราชบุรีฯทรงเสกสมรสกับพระองค์เจ้าอรพัทธประไพ พระธิดาในพระเจ้าน้องยาเธอกรมพระจักรพรรดิพงษ์    นับเป็นคู่บ่าวสาวที่ถือกันว่า เหมาะสมเป็น "กิ่งทองใบหยก"
เพราะพระบิดาทางฝ่ายเจ้าสาวก็ไม่ใช่ใครอื่น คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

อย่างที่เคยเล่าไว้ในกระทู้ "เจ้าวังปารุสก์ "  ทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์มีพระนามคล้องจองกัน ในความหมายว่า "พระอาทิตย์" เหมือนพระนามของพระบิดา คือ
หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ
หม่อมเจ้าไขแสงระพี
หม่อมเจ้าสุรีย์ประภา
หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์
หม่อมเจ้าชวลิตโอภาส ต่อมาเป็นพระชายาในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง   นักประพันธ์เอกของไทย
หม่อมเจ้าเพลิงนภดล
น่าเสียดายว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระชนม์ไม่ยืนยาวนัก แค่ ๔๗ ปี  สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ ในรัชกาลที่ ๖
************************
ส่วนเรื่องที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเสมียนเอกแห่งกรมราชเลขานุการ ให้กลายเป็นเนติบัณฑิตไทยหมายเลข 1 เกิดขึ้นดังนี้ค่ะ

ในระหว่างที่นายลออเป็นเสมียนเอกอยู่ที่กรมราชเลขานุการ  กรมหลวงราชบุรีฯก็เสด็จกลับจากยุโรป ทรงเข้าฝึกหัดราชการที่กรมราชเลขานุการ    
ทรงใช้เวลาศึกษากฎหมายไทยที่มิได้ทรงทราบมาก่อนอย่างขะมักเขม้นเอาจริงเอาจัง  ทรงค้นคว้ากฎหมายไทยเก่าๆ และคำพิพากษาต่างๆด้วยพระองค์เอง    ทำให้ต้องเสด็จไปที่กรมราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกาเป็นประจำ    

นายลออซึ่งคล่องแคล่วรู้งานเป็นอย่างดี ก็ได้ถวายความสะดวกในการค้นคว้าเรื่องต่างๆให้ จนเป็นที่พอพระทัย   ประกอบกับต่างฝ่ายต่างมีอายุเท่ากัน   พูดจาประสาคนรุ่นใหม่ด้วยกัน  เกิดถูกคอกัน  ถึงกับทรงชวนไปเป็นราชเลขานุการ  
นายลออจึงได้ย้ายจากกรมราชเลขาฯ ตามเสด็จไปอยู่กระทรวงยุติธรรม เมื่อร.ศ. ๑๑๖ทำหน้าที่เลขานุการเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  เงินเดือน ๘๐ บาท เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี

ในช่วงนั้นเอง  กรมหลวงราชบุรีฯก็ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น  ผลิตนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อให้รับกับระบบใหม่ของกระทรวงยุติธรรม

โรงเรียนกฎหมายในระยะแรก อาศัยห้องข้างห้องทำงานเสนาบดีเป็นห้องเลคเชอร์
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสอนเองทุกวันหลังเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว    ผู้มาช่วยสอนก็คือพระยาประชากิจกรจักร  ขุนหลวงพระไกรสี(เปล่ง เวภาระ)คนไทยคนแรกที่จบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ    กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์  
ส่วนนักเรียนก็คือผู้สนใจกฎหมายและผู้พิพากษาตามหัวเมือง  บางคนก็เป็นถึงอธิบดีผู้พิพากษามณฑลอย่างพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์และพระยาภักดีราช

ต่อมาห้องชักจะคับแคบเพราะเรียนกันมากขึ้นเป็น ๑๐๐ กว่าคน  ก็ย้ายไปที่ตึกสัสดีหลังกลาง หรือที่ทำการบัณฑิตยสภาในระยะหลังจากนั้น  

กฎหมายอาญา ใช้กฎหมายอาญาของอินเดียเป็นหลัก   ส่วนกฎหมายแพ่งใช้ของอังกฤษ  กรมหลวงราชบุรีทรงแต่งตำรากฎหมายขึ้นอีกหลายเล่มด้วยกัน
ในที่สุดก็มีการสอบไล่ความรู้ของนักเรียน   เพื่อได้เป็นเนติบัณฑิต  วิชาที่สอบก็ครอบคลุมความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้พิพากษาสมัยนั้นจนหมด  
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 มิ.ย. 04, 11:52


ขอบคุณที่ถามถึงค่ะ  เด็กๆใกล้จะปิดเทอมหน้าร้อนเต็มทีแล้วค่ะ  เลยต้องวุ่นหาอะไรให้เค้าทำ  เพราะซนกันเป็นลิง กินเหมือนม้า ถ้าให้อยู่บ้านเฉยๆคงตีกันทั้งวันค่ะ

เพิ่งนึกออกว่า  ทราบแต่ กรมหลวงราชบุรี ในด้านการก่อตั้งระบบตุลาการในเมืองไทย  แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเจ้าพระยามหิธรเลยค่ะ  ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ความรู้นะคะ
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 มิ.ย. 04, 13:34

 เห็นกาพย์พระไชยสุริยาแล้วระลึกถึงความหลังที่ยังท่องจำได้อยู่บางตอน
ดูท่านสุนทรภู่ช่างมีจินตนาการไกลมากจริง ๆ

ก่อนจะเป็นตาชั่งเอียงมีสาเหตุมาจาก

อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า.............ก็หาเยาวะนารี
ที่หน่าตาดีดี.................ทำมะโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ............. เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา............. โลโภพาให้บ้าใจ
ไม่จำคำพระเจ้า.............เหไปเข้าภาษาไส
ถือดีมีข้าไท................ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา...

แล้วก็ต่อที่คุณเทาชมพูเขียนไว้ในความคิดเห็นที่ 3
ผมดูโฆษณาทางโทรทัศน์แล้วก็รู้สึกไม่ดีโดยเฉพาะพวกเครื่องสำอางค์ เน้นกันแต่เรื่องว่าทำอย่างไรถึงจะสวย ขาว อึ๋ม เท่ หล่อ
เรียกว่าเน้นกันแต่เรื่อง ...เข้าแต่หอล่อกามา...

แล้วถ้าเราไปแย้งอะไรเข้าก็จะกลายเป็น.
...
ที่ซื่อถือพระเจ้า.............ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา.............ว่าใบ้บ้าสาระยำ
ภิษุสะมะณะ..................เล่าก็ละพระสะธำ.
คาถาว่าลำนำ................ไปเร่ร่ำคำเฉโก
ไม่จำคำผู้ใหญ่...............ศีษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอะโข....................ข้าขอโมทะนาไป
(สะกดอาจพลาดไปบ้างเพราะเขียนจากความจำที่เนิ่นนานมาแล้ว)
อ้อ พอจะนึกเรื่องอกสามศอกได้บ้างหรือยังครับ  

ดอกไม้สวยจังครับคุณพวงร้อย
ลูกซน ๆ น่าสนุกออกนะครับ แต่พ่อแม่คงต้องเหนื่อยมากหน่อย

เด็ก ๆ ของผมพ้นวัยซนไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็เก็บเอาเรื่องที่พวกเขาซน ๆ มาเผา มันดีครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 มิ.ย. 04, 15:16

 สวัสดีค่ะอาจารย์นิรันดร์
ดีใจที่แวะเข้ามาในเรือนไทย    ดิฉันหายไปนาน  ยังสงสัยว่าเพื่อนฝูงที่นี่จะพลอยห่างหายไปหรือเปล่า
เห็นคุณพวงร้อยแวะเข้ามาก็ใจชื้น  มีอาจารย์อีกคนแวะเข้ามายิ่งชื้นขึ้นอีก ได้มาช่วยกันคุย

พาราสาวัตถี  ใครไม่มีปรานีใคร...ของสุนทรภู่ น่าจะเป็นการเหน็บแนมสังคมที่ท่านอยู่ด้วยละค่ะ ไม่มากก็น้อย

ขอเล่าต่อค่ะ

ความเอาใจใส่ที่ครูมีต่อนักเรียนกฎหมายในระยะต้นนั้นแน่นแฟ้นมาก   ไม่ใช่ว่าสอนในห้องเรียนเสร็จแล้วก็แล้วกัน    
กรมหลวงราชบุรีฯทรงกวดขันนักเรียน อยากจะให้ใช้วิชาเป็น ไม่ใช่เรียนแต่ตำราในห้อง  ทรงสนับสนุนให้ฝึกว่าความบ่อยๆเพื่อให้รู้วิธีการทำงาน  
คนไหนไม่มีความจะว่า ก็ทรงจัดให้ไปว่าความแทนผู้ต้องหาในเรือนจำ    เป็นการฝึกฝนวิชาและไหวพริบในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่รู้แค่ทฤษฎี

เมื่อถึงงานเฉลิมพระชนม์พรรษาก็ทรงจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างดี  พานักเรียนกฎหมายไป "ออกงาน" เพื่อให้ข้าราชการผู้ใหญ่ได้รู้จัก
ว่าพวกนี้แหละจะเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมผู้มีเกียรติในอนาคต  ไม่ทรงเสียดายพระราชทรัพย์ว่าจะเปลืองไปในการนี้      

ผลดีก็ตามมาจริงๆ  เพราะเมื่อกระทรวงยุติธรรมตั้งได้มั่นคงแล้ว  บุคคลที่สอบได้เป็นผู้พิพากษาในรัชกาลที่ ๖ และต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ ก็ได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นอาชีพที่โก้ น่าเคารพยกย่อง  
ผู้พิพากษาในสมัยนั้นได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้เที่ยงธรรมและยึดถือความสุจริตในหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ค.ศ. ๑๑๖  โรงเรียนกฎหมายจัดสอบไล่ความรู้ผู้ที่จะจบไปเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก   วิชาที่สอบแบ่งเป็น ๖ วิชา  คือ
๑)กฎหมายอาญา  
๒)กฎหมายสัญญา  
๓)กฎหมายมรดกและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง  
๔)กฎหมายผัวเมีย ทาสและประกาศอื่นๆ
๕)วิธีพิจารณา
๖)กฎหมายระหว่างประเทศ   (วิชานี้ถ้าตก มาสอบใหม่ได้คราวหน้า เพราะว่าตำราเพิ่งจะออกมาล่วงหน้าเดือนเดียว)

การสอบนับว่าหนักเอาการ  เพราะสอบถึง ๖ วัน วันละ ๔ ชั่วโมง   ไปสอบที่ศาลาการเปรียญวัดพระศรีมหาธาตุ  มีอาจารย์ฝ่ายไทยไปนั่งคุมสอบและตรวจกระดาษข้อสอบของนักเรียนไปพลางๆด้วย  คือกรมหลวงราชบุรีฯ พระยาประชากิจกรจักร  และขุนหลวงพระไกรสี  
และยังมีกรรมการฝรั่งไปนั่งคุมให้น่าเกรงขามเพิ่มขึ้นอีกคือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ   และเมอสิเออร์ อาร์.เย.เกิกปาตริก  นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยม

ส่วนวิธีให้คะแนน ใช้หลักเกณฑ์ตามแบบมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  คือให้คะแนนเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์   วิธีให้คะแนน แบ่งตัวหนังสือกันถี่ยิบ    ขอเล่าเพียงบางตัวก็แล้วกันค่ะ
ss  ดีที่สุด
s+  ดีมาก
s    ดี
vvs ยังอ่อน
vvs- ยังอ่อนค่อนเลว
ns  เหลว

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า คนที่ผ่านการกลั่นกรองเข้มงวดขนาดนี้ มีเพียง ๙ คน จบเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก  แต่ละคนเป็นคนทำงานมาแล้วไม่ใช่นักเรียนหนุ่มไร้ประสบการณ์    
๙ คนนี้ยังแบ่งเกรดเป็น  ๒ ชั้น  ชั้นแรกได้ ๔ คน  ชั้นที่สอง ๕ คน

คนที่สอบได้ที่ ๑ ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา  คือนายลออ ไกรฤกษ์

เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง  จึงขอยกชื่อมาทั้ง ๙ ท่านว่ามีใครบ้าง ที่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกของไทย

ชั้นที่หนึ่ง
๑  นายลออ ไกรฤกษ์ เจ้าพระยามหิธร
๒  นายไชยขรรค์ หุ้มแพร( เทียม บุนนาค)ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
ถ้าจำไม่ผิดคือบิดาของคุณมารุต บุนนาค
เรื่องราวของขุนหลวงพระยาไกรสี เป็นเรื่องใหญ่โตเรื่องหนึ่งในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ จะเล่าในตอนต่อไปค่ะ
๓  นายบุ สุวรรณศร  ต่อมาได้เป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔  นายถึก  ต่อมาเป็นหลวงนิเทศยุติญาณ
ชั้นที่สอง
๑  นายทองดี  ธรรมศักดิ์  ต่อมาคือพระยาธรรมสารเวทย์วิเชตภักดี
๒  นายจำนงค์ อมาตยกุล  ต่อมาคือพระยาเจริญราชไมตรี
๓ นายสุหร่าย วัชราภัย   ต่อมาคือพระยาพิจารณาปฤชามาตย์
๕  นายโป๋ คอมันตร์  ต่อมาคือพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย บิดาของนายถนัด คอมันตร์ อดีตร.ม.ต. ว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย
๖ ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ต่อมาคือพระยามหาวินิจฉัยมนตรี

ด้วยเหตุที่นายลออ หรือเจ้าพระยามหิธร สอบกฎหมายได้ชั้นที่ ๑ คะแนนสูงเป็นที่ ๑ ในปีที่ ๑  ของการสอบเนติบัณฑิต  ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็น "เนติบัณฑิตหมายเลข ๑ แห่งประเทศไทย" แต่นั้นเป็นต้นมา  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 มิ.ย. 04, 11:46

 ไม่ยักมีใครเข้ามาช่วยสลับฉากบ้าง   เลยต้องพูดอยู่คนเดียว

สยามในช่วงปลายรัชกาลที่ 5  กำลังปรับปรุงประเทศด้วยระบบงานใหม่ ในหลายๆด้าน  ด้านการทหารก็มีโรงเรียนนายร้อยผลิตนายทหาร  การศึกษาก็มีกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)กระทรวงยุติธรรมก็มีโรงเรียนกฎหมายผลิตเนติบัณทิต    คนซึ่งเป็นที่ต้องการของระบบใหม่คือคนหนุ่มที่เฉลียวฉลาดเรียนรู้งานเร็ว  คนที่มีคุณสมบัติแบบนี้จะก้าวหน้าได้เร็วมาก  
นายลออเป็นตัวอย่างที่โดดเด่น

เนติบัณฑิตใหม่อย่างนายลออ  หลังสอบเสร็จราว ๕-๖ เดือนต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา  เงินเดือนเปลี่ยนจาก ๘๐ บาทเป็น ๒๔๐ บาท คือ ๓ เท่าตัวจากของเดิม
เงินเดือนสมัยนั้นจ่ายเป็นเหรียญบาท    วันไหนเงินเดือนออก  ผู้พิพากษาก็เดินหิ้วถุงเงินใส่เหรียญหนักอึ้งเดินตัวเอียงกลับบ้าน  
อธิบดีผู้พิพากษาในเวลานั้นคือขุนหลวงพระไกรสี(เปล่ง เวภาระ) อาจารย์คนหนึ่งของท่าน  เมื่อรู้นิสัยและฝีมือของผู้พิพากษาใหม่ ก็ใช้ให้ทำงานรอบตัวก็ว่าได้   นายลออก็เป็นคนที่หนักเอาเบาสู้และทำงานขยันตัวเป็นเกลียวเสียด้วย  
นอกจากเป็นผู้พิพากษาเองแล้วยังต้องเป็นอาจารย์สอนกฎหมายให้นักเรียนรุ่นน้องๆควบคู่กันไป    หน้าที่ครูสอนนี้รวมทั้งออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ตลอดจนไปนั่งเฝ้าคนเรียงพิมพ์ข้อสอบที่โรงพิมพ์ด้วยตนเองจนเสร็จเรียบร้อย เพื่อไม่ให้ข้อสอบรั่วไหลได้  

งานทุกอย่างนายลออทำตามที่ได้รับมอบหมายทั้งหมด ด้วยความเรียบร้อยทุกอย่าง ไม่เคยเกี่ยงไม่เคยบกพร่อง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์"และปีต่อมาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เมื่ออายุ ๒๕ ปี  และได้เป็น "พระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์"เป็นลำดับต่อมา
จนก้าวขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมเมื่ออายุได้แค่ ๒๘ ปี  เงินเดือน ๘๐๐ บาท( สมัยนี้จะราวๆ แปดแสนได้ไหมนี่)

พระจักรปาณีฯ เป็นตัวอย่างข้าราชการที่ทำงานได้รวดเร็วและเรียบร้อยตามมอบหมายของผู้บังคับบัญชา      ท่านจึงเป็นที่ไว้วางพระทัยของกรมหลวงราชบุรีฯ มากกว่าข้าราชการอื่นๆ

เพราะเป็นที่รู้กันว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงเป็นเจ้านายที่ฉลาด  ทรงมีอุตสาหะในการทำงานอย่างมาก ที่สำคัญคือพระทัยเร็ว   ถ้าใครทำงานชักช้าไม่ทันใจ และไม่รู้พระทัยก็ยากจะทำงานกับพระองค์ท่านได้  ส่วนพระจักรปาณีเป็นคนใจเย็น มีปฏิภาณไหวพริบดี รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว  จึงทำงานถวายได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างการทำงานที่ว่องไว เป็นที่สบพระทัยกรมหลวงราชบุรี ก็มีเรื่องหนึ่งที่จะยกมาเล่า คือในบ่ายวันหนึ่ง กรมหลวงราชบุรีฯทรงปรารภกับพระจักรปาณีว่า กระทรวงยุติธรรมจะสร้างที่ทำการศาลมณฑลกรุงเก่า(อยุธยา)ให้สง่างาม    แต่ว่ายังทำไม่ได้เพราะยังหาที่ดินก่อสร้างสถานที่ที่เหมาะสมไม่ได้  ก็ทรงมอบให้ปลัดทูลฉลองไปหาที่ดินผืนเหมาะๆมาเพื่อจะสร้าง

พอเลิกงาน   หลวงจักรปาณีก็ออกจากที่ทำงานขึ้นรถไฟไปอยุธยาทันที   ไปหาคนรู้จักซึ่งเป็นคนกว้างขวางอยู่ในอยุธยา    ซักถามว่ามีที่ดินผืนงามๆเหมาะจะสร้างศาลจังหวัดที่ไหนบ้าง     ได้คำตอบว่ามีที่ดินอย่างที่ต้องการเป็นแปลงติดแม่น้ำแต่ไม่รู้ว่าเจ้าของจะขายหรือไม่   ท่านก็บอกว่าให้ไปตามเจ้าของที่ดิน ให้ไปพบท่านที่ตำหนักของกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาล( พระอนุชาของกรมขุนศิริธัชสังกาศ)  

ประมาณ ๒ ทุ่มเจ้าของที่ดินไปถึงตำหนัก    ก็เจรจาซื้อขายที่ดินกันทันที   เจ้าของก็ตกลงขายโดยไม่อิดเอื้อน ตกลงราคากัน  ทำสัญญาซื้อขายลงนามเรียบร้อย  พระจักรปาณีฯ นำเงินติดตัวไปประมาณ ๑๐๐ ชั่งเผื่อเหลือเผื่อขาด   ก็จ่ายค่าที่ดินกันต่อเบื้องหน้าข้าหลวงเทศาภิบาล ในฐานะพยานว่าเป็นการซื้อขายที่โปร่งใสสุจริต    ไม่มีนอกไม่มีใน

พอจบเรื่อง  ท่านก็ค้างที่นั่นคืนหนึ่ง  เช้าก็นั่งรถไฟกลับกรุงเทพมาทำงานที่กระทรวงทันเวลา  กราบทูลกรมหลวงราชบุรีฯว่าซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว   เป็นที่พอพระทัยอย่างมาก   ต่อมาศาลของอยุธยาก็สร้างขึ้นที่ที่ดินตรงนั้นเอง

พระจักรปาณีฯ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ ปลัดทูลฉลอง  เมื่ออายุ ๒๙ ปี  
อำนาจหน้าที่ของท่านในกระทรวงยุติธรรม กว้างขวางกว่าในสมัยหลังเมื่อท่านได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสียอีก

เพราะว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงถือว่าเสนาบดีมีหน้าที่แค่คุมนโยบาย  ส่วนงานปฏิบัติงานในกระทรวงเป็นเรื่องของปลัดทูลฉลอง  ทั้งด้านปกครองและธุรการ แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการในระดับต่ำกว่าเจ้ากรม    แม้แต่เข้าประชุมเสนาบดี  ก็ทรงให้ปลัดทูลฉลองไปแทน  พระยาจักรปาณีฯจึงต้องทำงานรอบตัวตั้งแต่ตรวจเอกสารราชการเรื่องเล็กเรื่องน้อย  ไปจนประชุมกับเจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอ

พระยาจักรปาณีฯ เป็นเลขาฯและศิษย์กรมหลวงราชบุรีฯที่สนิทสนมรู้ใจกันประหนึ่งคนเดียวกัน    ในการทำงานก็ประสานงานกันอย่างกลมเกลียวไม่มีข้อขัดแย้ง   เมื่อเลิกงาน ท่านก็ไปเฝ้ากรมหลวงราชบุรีฯบ่อยๆ เพราะมีงานอดิเรกที่ชอบอย่างเดียวกันอีก คือเล่นเรือยนต์  รถยนต์ และถ่ายรูป

ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีที่พระยาจักรปาณีฯมีต่อกรมหลวงราชบุรีฯ นี่เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตราชการที่รุ่งโรจน์ของท่าน เกิดพลิกผันแทบจะล้มคว่ำลงมาในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ นี้เอง
จากเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ  "คดีพญาระกา "  
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 มิ.ย. 04, 22:14

 เพิ่งได้เข้ามาอ่านต่อค่ะ  เมื่อวานวุ่นๆไปเป็นกรรมการห้ามศึก  จนหัวฟูเลย ฮ่าๆๆ  

คนอย่าง เจ้าพระยามหิธร นี่คงมีน้อยมากนะคะ  ที่ก้าวมาจากสามัญชนคนธรรมดา  มารับราชการได้ศักดินาสูงสุดในชั่วอายุ  โดยเฉพาะเป็นข้าราชการพลเรือน  ถ้าเป็นทหารในยุครบทัพจับศึกกู้ชาติก็ว่าไปอย่าง  คุณเทาชมพูพอจะทราบมั้ยคะ  ว่ามีขุนนางท่านใด(ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช)  ที่ภายในชั่วชีวิตได้ก้าวตามตำแหน่งราชการ  จากต่ำสุดถึงสูงสุดอย่างนี้น่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง