เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 36610 เจ้าพระยามหิธร
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 11 มิ.ย. 04, 12:40

 ขออนุญาตอาจารย์ทะลุกลางปล้องหน่อยนะครับ เล็คเชอร์เรื่องนี้จบแล้ว  ขอความกรุณาต่อด้วยวิชา กรมหลวงประจักษ์101 ด้วยนะครับ  อยากทราบว่าหลังคดีพญาระกาแล้ว บั้นปลายพระชนม์ชีพท่านเป็นอย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 12 มิ.ย. 04, 07:20

 วิชา 101ที่ว่าเห็นทีจะมีเหตุขัดข้อง ไม่น่าเปิดค่ะ
น่าจะไปหาหนังสือนอกเวลาอ่านเอง  มากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 13 มิ.ย. 04, 08:17

 แม้ว่าพระยาจักรปาณีไม่ได้กลับมาเป็นปลัดทูลฉลองอีกก็ตาม  แต่ก็กลับดียิ่งกว่า เพราะตำแหน่ง"อธิบดีศาลฎีกา"ของท่าน ก็คือ" ประธานศาลฎีกา" ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งประมุขฝ่ายตุลาการ  
ส่วนหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์นั้น บริหารงานในกระทรวงพบความไม่ราบรื่นหลายอย่าง  ในที่สุดก็โปรดเกล้าฯให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส

ในพ.ศ. ๒๔๖๕    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาจักรปาณีฯ ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหิธร   และพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างบ้านใหม่ให้สมเกียรติด้วย  นับว่าท่านได้ผ่านพ้นอุปสรรคมาถึงจุดสูงสุดของชีวิต

ปลายปี ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ประชวรหนัก     เจ้าพระยามหิธรได้เฝ้าดูพระอาการจนถึงวาระสุดท้าย   การเสด็จสวรรคตนำความเศร้าโศกมาให้ท่านและครอบครัวอย่างยิ่ง

ขึ้นรัชกาลที่ ๗   มีการยุบเลิกหน่วยงานหลายแห่งเพื่อตัดทอนงบประมาณให้พอกับรายจ่าย  แม้แต่กระทรวงมุรธาธร หรือกระทรวงวัง ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดีก็ถูกยุบมารวมกับกรมราชเลขาธิการ  
เจ้าพระยามหิธรจึงได้ดูแลทั้งสองหน่วยงาน มีฐานะเท่าเสนาบดี  เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าเสนาบดีเท่านั้นเอง    แต่พอถึงพ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เปลี่ยนนามราชเลขาธิการว่าเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. ๒๔๗๕    เจ้าพระยามหิธรอยู่ที่หัวหิน เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  เมื่อรู้ว่าตัดสินพระทัยพระราชทานรัฐธรรมนูญ  ท่านก็ขึ้นรถไฟมากรุงเทพเพื่อแจ้งให้คณะผู้ก่อการฯ ทราบ  
พอทหารที่สถานีรถไฟทราบว่าท่านเป็นใครก็คุมตัวขึ้นรถยนต์  ทหารยืนบนบันไดรถเอาปืนจ่อเข้ามาในรถตลอดทาง จนกระทั่งเข้าไปแจ้งให้คณะราษฎร์รับทราบเสร็จจึงถูกปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีปืนจี้อีก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำความมาบอกเจ้าพระยามหิธรเป็นส่วนตัวว่า คณะราษฎร์จะยุบตำแหน่งราชเลขาธิการ   เพราะราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเหลือแต่งานส่วนพระองค์  
ส่วนงานบริหารราชการแผ่นดินจะไปผ่านทางคณะราษฎร์แทน    ถ้าถูกยุบตำแหน่งราชเลขาธิการ ก็จะลดฐานะเจ้าพระยามหิธรลงไปเท่าปลัดทูลฉลอง  เป็นการเสียเกียรติยศ    เจ้าพระยามหิธรก็เห็นด้วย ท่านจึงลาออกจากราชการ  ในวัย ๕๘ ปี

เจ้าพระยามหิธรพักผ่อนอยู่บ้านได้แค่ ๓ ปี  รัฐบาลก็มาเชิญท่านไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม    ท่านทำงานอยู่ ๒ ปี  เมื่อรัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนาพ้นจากตำแหน่ง   เจ้าพระยามหิธรก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี  
นับเป็นการออกจากราชการครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๖๓ ปีเศษ   มาเป็นข้าราชการบำนาญโดยสมบูรณ์

เมื่ออายุ ๗๐ ปีเศษ เจ้าพระยามหิธรเริ่มมีอาการสมองเสื่อม   ร่างกายก็เสื่อมลง  แต่ไม่มีโรคภัยอย่างอื่นรบกวน   ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙   ด้วยอาการสงบ   สิริรวมอายุได้  ๘๑ ปี  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 19 มิ.ย. 04, 07:39

 บุตรหลายคนของเจ้าพระยามหิธรได้ไปศึกษาต่อที่ยุโรป  ท่านเขียนจดหมายถึงลูกๆเสมอ    มีโอวาทหลายอย่างของเจ้าพระยามหิธรที่คมคาย สมกับเป็นนักบริหาร และไม่ล้าสมัยจนบัดนี้  จึงขอคัดเลือกมาให้อ่านกันค่ะ

"ตามธรรดาที่นิยมว่าเป็นผู้ใหญ่ควรแก่วัยอายุนั้น  คือรู้จักหาทรัพย์ได้ในทางที่ชอบ แล้วใช้ทรัพย์ในทางที่ชอบ   คือไม่เกินกว่าที่หาได้   ผู้ใดประพฤติได้ดังนี้นับว่าเป็นผู้ใหญ่บริบูรณ์ไม่มีใครคัดค้าน    แต่ผู้ที่ยังหาเงินไม่ได้เองเช่นฐานะยังเป็นนักเรียนอยู่   ถึงอายุจะครบกำหนด ก็ยังทำอย่างผู้ใหญ่ไม่ได้ทุกๆประการ     ใครขืนทำ ก็ต้องลำบาก  นัยหนึ่งว่าขาดสติรอบคอบ    ความขาดสติรอบคอบนี้เองแสดงว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่แท้ดังที่ตนเข้าใจ"
 
"เป็นความจริงถึงพ่อชอบใช้มีดคม   แต่รู้สึกอยู่ว่าความรอดตัวของพ่อไม่ได้อยู่แก่คนเหล่านี้เลย   เพราะสำคัญอยู่ที่คนใช้ต่างหาก  ไม่ใช่อยู่ที่มีด     พ่อเคยใช้มีดขี้เท่อบ่อยๆเหมือนกัน  แต่อาศัยเหตุที่รู้จักใช้   การก็สำเร็จได้เท่ากัน"

" สุภาษิตที่ว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดนั้น   ต้องประกอบกับประโยคว่า  ถ้าประพฤติตัวไม่ดี  เป็นประโยคเดียวกัน   เพราะจรรยาก็เป็นสำคัญในชีวิตมนุษย์ซึ่งขาดไม่ได้  ควรเข้าใจดังนี้จึงเป็นสุภาษิต"

" พระยาปฏิพัทธ์(หมายถึงพระยาปฏิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) นั้นเป็นเพื่อนชอบกับพ่อมาก    เขาเป็นคนใจคอกว้างขวางตามที่พ่อเห็นฤๅได้เป็นเพื่อนกันมาก    แต่บางคนก็หาความแกอย่างตรงกันข้ามว่าแกดีด้วยแต่บางคนที่พึ่งพาอาศัยได้    ข้อนี้เป็นอยู่สำหรับคนฉลาด    เพราะถ้าหว่านโปรยไปหมด ไม่เลือกหน้า  ก็แย่กันเท่านั้น  พ่อจึงยังเห็นว่าแกถูก"

" สุภาษิตของเรามีว่า ทำแต่งานไม่มีเล่นก็เป็นบ้า   ไม่ทำงานเอาแต่เล่นก็เป็นตุ๊กตา  ไม่ดีทั้งสองอย่าง  สู้กลางๆไม่ได้   คือถึงที่เล่นก็ให้รู้จักการเล่น  ถึงที่ทำงานก็ทำ   ถ้าจะเอาแต่เรียนตะพึดไป  ไม่เล่นสนุกบ้างเลยก็น่ากลัวอันตรายอยู่เหมือนกัน"

"ถ้าหากมีฝีมือทำงานดี  แต่เข้าคนไม่เป็น  ผูกใจคนไม่อยู่   ผู้นั้นต่ำแต้ม    ฉะนั้นการเป็นคนปอบปูล่าควรปลูกนิสัยมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน   จะผัดว่าเมื่อนั่นเมื่อนี่หาได้ไม่"

"ใครมีนิสัยคบเพื่อนเป็น  คนนั้นก็มีเพื่อนได้เร็ว"
 
" ถ้าเราจะนั่งติดกับแขกฤๅพม่า ก็ควรพูดจาปราศรัยกันได้  และดูเหมือนยิ่งเป็นการง่ายกว่าจะทำกับฝรั่ง    เพราะเป็นพวกเอเชียติกด้วยกัน   ฝรั่งมันดูถูกพวกผิวเหลืองผิวดำ   เพราะมันถือว่ามันผิวขาวก็ไปอย่างหนึ่ง   แต่หากผิวเหลืองผิวดำก็กลับดูถูกกันเองด้วย   เป็นการดูถูกซ้อนดูถูก   พ่อไม่เข้าใจว่าเพื่อใด  นอกจากผู้นั้นลืมตัว"  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 10:50

 รอพรรคพวกเข้ามาแจม  ไม่เห็นโผล่เข้ามา  ขอบอกว่าจบเรื่องแล้วค่ะ

หนังสืออ้างอิง
1. บันทึกต้นรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. เรื่องของคนห้าแผ่นดิน  โดย ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล
3. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร

ตอนนี้กำลังแกะพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง  เกี่ยวกับประวัติของบรรพชนต้นราชวงศ์จักรี ที่สืบย้อนไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร
เสร็จเมื่อไรจะเอามาตั้งกระทู้ให้อ่านกันนะคะ  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 11:54

 ดีครับ อาจารย์เทาฯ อย่างไรก็ดูเทียบกับโครงกระดูกในตู้ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์  และตำราเก่าๆขุนวิจิตรมาตราด้วยนะครับ

อาจารย์เทาฯเป็นผู้เผยแพร่ให้รู้จักกันไว้ ดีแล้ว เป็นผู้มีบารมี เป็นที่เคารพเกรงใจ มิฉะนั้นพอมีผู้กล่าวถึง ก็มักมีผู้ออกมาวางตัวเป็นปราชญ์ประจำ net กล่าวจาบจ้วงโจมตี  ทำให้ไม่มีใครอยากพูดกอยากเล่า นิทาน ตำนาน หรือพงศาวดารที่สืบทอดกันมา

เด็กไทยเดี๋ยวนี้ก็นับวันจะพูดภาษาต่างชาติใช้ธรรมเนียมตะวันตกเก่งขึ้น ในขณะที่ความรู้ในวัฒนธรรมประเพณีไทยก็ยิ่งลดลงอย่างน่าใจหาย  มิหน่ำซ้ำยังมีพวกเจ้ากรมกร๊วกมาคอยกระแนะกระแหนตามกระดานสนทนาต่างๆอีก  ไม่รู้มันจะจองเวรทำลายชาติไปถึงไหน

ถ้าเป็นเรื่อง Helen of Troy หรือ King Arthur พวก myth พวกตำนานของยุโรป  คุยกันได้คุยกันดี ไม่มีใครขัด พอคุยเรื่องของไทย อย่างพระเจ้าพรหม ทีไรต้องเป็นเรื่อง ออกมาด่าว่า  กันทุกทีไป

แฮะๆ สงสัยชักเริ่มแก่ ก่นด่าลมแล้งอยู่คนเดียวได้เป็นคุ้งเป็นแคว
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 22 มิ.ย. 04, 17:52

 สรีสวีสสดีชาวหมู่ชุผู้ชุฅนที่หนี้น่อ....บ่ได้ปะกันเมินนักแคแล...คึดเทิงหาสะน่อยนอ(สวัสดีครับเพื่อๆทุกๆคนในเวบบอร์ดแห่งนี้...ไม่ได้ทักทายกันมานานแล้ว...คึดถึงทุกๆคนครับ)

ได้อ่านประวัติของเจ้าพระยาฯก็ได้รับความรู้นะครับ....ในส่วนตัวแล้วก็ต้องขอขอบพระคุณคนในตระกูลไกรฤกษ์ที่ทำให้บรรดาญาติพี่น้องของผมได้ทราบสายสาแหรกของบรรพบุรุษ...หากพระยาบุรุษรัตน์ราชวัลลภ(จำไม่ได้ว่าท่านชื่อจริงชื่ออะไร คุ้นๆว่าชื่อนพ ไกรฤกษ์?)ไม่ได้บันทึกเอาไว้ว่าใครชื่ออะไรแต่งงานกับใครบ้างวงศ์สกุลผมคงจะสืบหาปู่ย่าตาทวดไม่ได้แน่และไม่รู้ว่าใครเป็นญาติใคร....วันนี้ได้มาอ่านเรื่องราวของตระกูลไกรฤกษ์บ้างก็มีความยินดี(ภาษาเหนือว่ายินดี ภาษาไทยว่าขอบคุณ)คุณเทาชมพูมากนะครับ.....
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 มิ.ย. 04, 01:06

 ออกไปนอกเมืองมาตอนเสาร์-อาทิตย์-จันทร์  ค่ะ  เพิ่งกลับมาเด็ก(คนเล็กสุด)ก็เกิดอุบัติเหตุตกจักรยานแขนหักค่ะ  โกลาหลกันพอสมควร  เลยยังไม่มีโอกาสมาอ่านเลยค่ะ  แล้วจะกลับมาอ่านอีกครั้งนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 23 มิ.ย. 04, 08:09

 ก่อนอื่นขอส่งดอกไม้เยี่ยมไข้หนุ่มน้อยของคุณพวงร้อย  หวังว่าคงไม่เป็นอะไรมาก   กระดูกคงจะเชื่อมต่อกันได้สนิทอีกไม่นาน   แต่แน่ละว่า  ช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นจนกว่าคนป่วยจะหายดี

คุณถาวภักดิ์คะ   ขอเชิญมาแจมในกระทู้ใหม่ด้วยนะคะ    ท่าทางจะไฟแรง ไม่เรียกว่าก่นด่าลมแล้งหรอกค่ะ   ถ้าหากว่ามีคนเอ่ยถึงแล้วเรารู้สึกว่าผิด ก็เป็นการดีที่จะช่วยกันเสนอสิ่งที่เราเห็นว่าถูกให้คนอ่านเลือกเอาเอง  ดีกว่าเขาไม่มีทางเลือกเสียเลย

คุณบ้านายคำเก่ง   ถ้าสนใจเรื่องของตระกูลไกรฤกษ์ มีเกร็ดเล่าต่ออีกนิดหน่อยค่ะ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 23 มิ.ย. 04, 08:27

 คุณถาวภักดิ์พูดถึง "โครงกระดูกในตู้" ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ทำให้นึกได้ว่ามีเกร็ดในหนังสือเล่มนี้ ที่เชื่อมโยงถึงสกุลไกรฤกษ์     จะได้ถือโอกาสเล่าให้บ้านายคำเก่งฟังเสียด้วยพร้อมกันเลย

คงจะจำได้ว่าต้นสกุลไกรฤกษ์ที่ชื่อท่านหลิม นั้นมีบุตรชาย 2 คน คือนายเริก กับนายอิน
เจ้าพระยามหิธรเป็นเชื้อสายทางฝ่ายนายเริก หรือพระยาไกรโกษา  ดิฉันก็เลยเล่าถึงสายสกุลทางฝ่ายนี้ มาโดยตลอด  ไม่ได้เล่าถึงนายอินน้องชายนายเริก

นายอินก็เข้ารับราชการเหมือนกัน  เป็นนายอากร คือเจ้าพนักงานเก็บภาษี (คล้ายๆสรรพากรในสมัยนี้ ) มีบรรดาศักดิ์เป็นพระอินท์อาการ     ท่านทำธุรกิจทำกระทะขาย จนร่ำรวยมาก   จนได้ฉายาว่า "เจ้าสัวเตากระทะ"
บ้านอยู่ที่ตรอกโรงกระทะ ติดกับตรอกพระยาไกร ในสำเพ็ง

ความสำคัญอีกประการหนึ่ง มาจากบุตรชายหญิงหนึ่งในเจ็ดคนของพระอินท์อากร   ชื่ออัมพา   ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาอัมพาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ว่ากันว่าเจ้าจอมมารดาอัมพา เป็นคนสวย  หัดละครเป็นตัวนางกัญจะหนาในเรื่องอิเหนา      จนเรียกกันติดปากในวังว่าอัมพากัญจะหนา     เมื่อเลื่อนฐานะขึ้นเป็นเจ้าจอมก็เป็นที่โปรดปรานมาก  มีพระองค์เจ้าถึง 6 องค์

คือ
1  พระองค์เจ้ากปิตถา  กรมหมื่นภูบาลหริรักษ์  ต้นราชสกุลกปิตถา ณ อยุธยา
2   พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ  ต้นราชสกุล ปราโมช  ณ อยุธยา เป็นเสด็จปู่ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์
3   พระองค์เจ้าชายเกยูร  เข้าใจว่าสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
4   พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา
5   พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี
6   พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 2  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 24 มิ.ย. 04, 09:57

 นึกถึงคนเลี้ยงที่สิ้นไปเมื่อไม่นานด้วยวัยเกือบร้อยปี เคยเป็นข้าหลวงในวังของพระองค์เจ้าอาทรทิพยอาภา(ถ้าจำพระนามไม่ผิด)  ทราบว่าเมื่อครั้งกบฎบวรเดช ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ บิดาของท่านอดีตรัฐมนตรีโกศล ไกรฤกษ์ วังนี้เป็นที่พักพิงของลูกๆผู้หญิงของอดีตรองประธานสภาฯท่านนี้ ในฐานะพระญาติ

อาจารย์เทาพอจะกรุณาบอกได้ไหมครับว่าพระองค์เจ้าอาทรฯสืบพระวงศ์มาอย่างไร

ด้วยอานิสงส์คนเลี้ยงท่านนี้ จึงได้สัมผัสความปราณีตของฝีมือชาววังมาบ้าง มีอยู่สิ่งหนึ่งที่สูญไปแล้วพร้อมกับการจากไปของท่าน คือ ขนมโอชารส ที่เคยได้กินในวัยเด็กเท่านั้น ไม่เคยพบที่ใดเลย

ดูเหมือนจะใช้เพียงไข่ขาว น้ำตาล และอะไรก็ได้อีกอย่างเล็กน้อยเพื่อให้ มีกลิ่น สี และรส เป็นไปตามนั้น เช่น ผงโอวัลติน น้ำหวาน  แล้วใส่ในภาชนะโลหะกลมพอเหมาะ เช่น ช้อนแกงที่ใช้สำหรับตักแบ่งจากหม้อ นำไปอังไฟพร้อมใช้ตะเกียบไม้คนไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะเริ่มมีอาการฟู ก็ถอดตะเกียบพร้อมยกออกจากไฟ  ขนมที่ได้จะแข็งกรอบ เอร็ดอร่อยอย่างน้อยก็สำหรับเด็กในยุคนั้นอย่างผม

ถ้าท่านใดพบเห็นที่ไหน จะกรุณาบอกกล่าวด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่ง ผมจะได้ไปหาซื้อมาทานรำลึกความหลัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 24 มิ.ย. 04, 11:25

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว
ดิฉันทราบพระประวัติเพียงสั้นๆว่า ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2432  ในเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงมีพระขนิษฐภคินีอีกองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี  ประสูติเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2433  แต่มาสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 พระชันษาได้ 29 ปี  
ส่วนพระองค์เจ้าอาทรฯ พระชนมายุยืนยาวกว่านั้น สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2501

ขนมที่ว่าไม่รู้จักชื่อ   แต่นึกไปถึงขนมที่คุณแม่เคยทำให้กิน ทำด้วยไข่ขาว ผสมน้ำตาลทรายขาว ปั่นด้วยเครื่องตีไข่จนฟูเหมือนไอซิ่งหน้าเค้ก   จะใส่ผงโกโก้หรือกาแฟผงก็ได้ให้มีรสและกลิ่นตามนั้น    เอาเข้าเตาอบ มันก็ออกมาคล้ายขนมเค้กที่แข็งกรอบ อร่อยดีค่ะ  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 24 มิ.ย. 04, 15:03

 แสดงว่าพระองค์เจ้าอาทรฯประสูติแต่เจ้าจอมมารดาในสกุลไกรฤกษ์ใช่ไหมครับ

แล้วขนมของคุณแม่อาจารย์เทาชื่ออะไรละครับ ส่วนผสมคล้ายกัน แต่กรรมวิธีไม่เหมือน  รสชาดอาจต่างกันไปบ้าง น่าประจบอาจารย์ขอลองชิม แฮะๆ  น้ำยายไหย  ซูด....
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 25 มิ.ย. 04, 07:32

 เจ้าจอมมารดาชุ่ม   อยู่ในสกุลไกรฤกษ์ แต่ว่าคนละสายกับเจ้าพระยามหิธร  
ท่านเป็นเหลนทวดในสายพระอินท์อากรน้องชายพระยาไกรโกษา

บิดาของเจ้าจอมมารดาชุ่มชื่อพระมงคลรัตน์ราชมนตรี(ช่วง)  ปู่คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน) ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพระอินท์อากร  ค่ะ

ขนมที่ว่ามา คุณแม่หยอดไข่ขาวเป็นรูปเห็ด เลยเรียกว่าขนมเห็ด   เสียใจค่ะ ลูกสาวกินเป็นอย่างเดียว ทำไม่เป็น  พอคุณแม่จากไปตำรับเลยสูญไปพร้อมกับท่าน  
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 25 มิ.ย. 04, 14:31

 ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากค่ะ  คนที่แขนหักคือ ลอร่าน้อย ที่คุณเทาชมพูเคยเห็นรูปน่ะค่ะ  เมื่อวานได้ไปหาหมอกระดูกใส่เฝือกถาวร  แทนเฝือกพลาสเต้อร์ชั่วคราวที่หักไปตั้งแต่ยังไม่ทันข้ามคืนแล้วค่ะ  เลยดีขึ้นมากเลยค่ะ

คุณถาวศักดิ์คะ ฟังดูแล้วเหมือน คุกกี้เมอแรง นะคะ  ทำไม่ยากหรอกค่ะ  เดี๋ยวดิฉันมีเวลาหายใจหายคอคล่องหน่อยแล้วจะถ่ายรูปจากหนังสือตำรากับข้าวมาให้ดูว่าใช่หรือเปล่านะคะ  ถ้าใช่หาตำราไม่ยากหรอกค่ะ  ทำง่ายมาก  โดยเฉพาะถ้ามีเครื่องตี(แบบอันเล็กๆใช้มือถือเอานะคะ  ไม่ต้องใช้แบบวิลิศมาหราหรอกค่ะ)  ไม่งั้นก็อาศัยฝึกให้กล้ามใหญ่ๆไว้ละได้กินแน่ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.147 วินาที กับ 19 คำสั่ง