เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 36625 เจ้าพระยามหิธร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 07:47

 น่าจะมีหลายคนนะคะ   เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็คือเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ที่ไต่ระดับจากทนายในบ้านของเจ้าพระยาจักรีขึ้นมาเป็นเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลที่ 1    

เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ก็เหมือนกัน   แต่ประวัติตอนต้นของท่านไม่ชัดเจนนัก ทราบแต่ว่าเป็นข้าหลวงเดิม ตั้งแต่สมัยธนบุรี

อ้อ มีเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือจีนโต  ที่เป็นผู้จัดการค้าขายสินค้าเรือสำเภาให้สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ด้วยความซื่อสัตย์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย   ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์  ต้นสกุลกัลยาณมิตร

ศึกในบ้าน ราบเรียบด้วยฝีมือคุณพวงร้อยแล้วใช่ไหมคะ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 09:22

 ก่อนถึงเหตุการณ์นี้ ขอปูพื้นเล่าถึงเจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เสียก่อนนะคะ  

เจ้านายที่มีบทบาทอยู่ในคดี "พญาระกา" องค์แรกก็คือพระองค์เจ้าวรวรรณ  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์   ท่านเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ซึ่งเรียกกันว่าเขียนอิเหนา เพราะเป็นละครหลวง รำเป็นตัวอิเหนาได้งดงามไม่มีใครสู้   กล่าวกันว่าเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานท่านหนึ่ง
เมื่อประสูติพระราชโอรส สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็พระราชทานกริชแถมมาให้นอกเหนือจากพระแสงดาบที่พระราชทานพระราชโอรสทุกพระองค์  รับสั่งว่า "เป็นลูกอิเหนา"

กรมพระนราธิปฯต้นราชสกุลวรวรรณทรงได้เลือดศิลปินทางเจ้าจอมมารดาเขียนมาไม่น้อย  โปรดนิพนธ์บทละคร บทกวีและการแสดง    พระนิพนธ์สำคัญๆที่เรารู้จักกันก็อย่างเช่น "สาวเครือฟ้า "ซึ่งทรงดัดแปลงจากอุปรากร Madame Butterfly   ทรงเป็นเจ้าของโรงละครนฤมิตร์ ที่ได้เข้าไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังบ่อยๆ
ในรัชกาลที่ ๖   พระธิดา ๒ พระองค์ในกรมพระนราธิปฯ ได้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระวรกัญญาปทาน พระคู่หมั้น    และพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระมเหสี   ทั้งสององค์ทรงรับมรดกศิลปินจากพระบิดา  ในพระปรีชาด้านการแต่งบทประพันธ์
แต่เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลที่ ๕    ซึ่งละครนฤมิตร์กำลังเฟื่องฟู

เช่นเดียวกับเจ้านายในสมัยนั้น  กรมพระนราธิปฯทรงมีหม่อมหลายคน  และในจำนวนนี้ก็มีนางละครโด่งดังในคณะละครนฤมิตร์ที่ได้เป็นหม่อมด้วย ชื่อพักตร์
หม่อมพักตร์(ซึ่งคงเป็นสาวสวย)  ไม่ได้เป็นสุขกับฐานะของตน  จึงทิ้งตำแหน่งหม่อม หนีออกจากวังไปเมื่อปลายเดือนธ.ค. 2452 ไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี     แต่กรมพระนราธิปฯเองก็ไม่เต็มพระทัยจะสูญเสียหม่อมพักตร์    จึงทรงติดตามไปเพื่อจะเอาตัวกลับมา   เกิดเรื่องราวกับเจ้าของบ้าน   เป็นเรื่องอื้อฉาวถึงขั้นพวกเขาพร้อมใจกันทำเรื่องถวายฎีกาว่ากรมพระนราธิปฯทรงบุกรุกเข้าไปถึงในบ้าน เอะอะใหญ่โตเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร       เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากฎีกา ก็มีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปฯไม่ให้ทำอีก

แม้ว่ากรมพระนราธิปฯไม่ได้ตัวหม่อมพักตร์กลับไปอย่างพระประสงค์ แต่เธอก็อยู่บ้านนั้นต่อไปอีกไม่ได้  จำต้องออกจากบ้านฝั่งธน มาอาศัยการอารักขาของตำรวจพระนครบาลทางฟากพระนคร   ซึ่งขึ้นกับเสนาบดีคือเจ้าพระยายมราช  
เจ้าพระยายมราชเห็นผู้หญิงคนเดียวจะเป็นชนวนให้เดือดร้อนกันไปทั้งกรม  ก็เกลี้ยกล่อมให้หม่อมพักตร์กลับเข้าวังสวามีของเธอไปเสียให้หมดเรื่อง   แต่เธอก็ยืนกรานไม่สมัครใจกลับท่าเดียว
เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นภาระยืดเยื้อแก่นครบาล  ก็เลยไปทูลปรึกษาเจ้านายที่คิดว่ามีบารมีพอจะคุ้มครองหม่อมพักตร์ได้  คือกรมหลวงราชบุรีฯ   กรมหลวงราชบุรีฯทราบเรื่องก็ทรงต้อนรับและให้การคุ้มครองด้วยดี  เรื่องก็สงบไป
แต่ว่ากรมพระนราธิปฯไม่พอพระทัย  ยังกริ้วหนักและทรงบ่นกับใครต่อใครว่าเสนาบดีนครบาลเป็นใจให้หม่อมของท่านหนี

ดังนั้นแทนที่เรื่องจะจบ  ก็เลยเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

มาถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2453  บทละครเรื่องใหม่ของนฤมิตร์ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปฯ ที่จะไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า "ปักษีปะกรนัม เรื่องพญาระกา"    เมื่อนิพนธ์เสร็จ กรมพระนราธิปฯทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากร ต้นราชสกุล อาภากร ณ อยุธยา) เพื่อขอให้ทรงแต่งทำนองขับร้องให้    กรมหลวงชุมพรฯทรงอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องพิกลๆ  ก็ไม่ทรงรับทำ  แต่ทรงคัดบทกลอนบางตอนไว้แล้วนำไปหารือกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่  ต้นราชสกุลทองใหญ่ ฯ ณ อยุธยา พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4)  กรมหลวงประจักษ์ฯ อ่านแล้วก็นำไปถวายให้กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านบ้าง
เนื้อเรื่องของ" พญาระกา" อย่างย่อๆ  มีอยู่ว่า  พญาระกามีเมียมาก  มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางไก่ญี่ปุ่นซึ่งไม่พอใจตัวพญาระกา พอได้โอกาสก็แยกฝูงไป  พบไก่ชนที่ปลายนาเกิดรักใคร่เป็นชู้กัน   พอรู้ถึงพญาระกา ก็ตามไปตีไก่ชนจนแพ้และหนีไป  นางไก่ญี่ปุ่นก็หนีเตลิดไปพบตาเฒ่านกกระทุงริมบึง  ตาเฒ่าเอาไปเลี้ยงไว้ แต่ยายเฒ่านกกระทุงหึงหวง  ประกอบกับได้ข่าวว่าพญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังติดตามค้นหา    นกกระทุงจึงไล่นางไก่ญี่ปุ่นไปหาพญาเหยี่ยว   พญาเหยี่ยวเห็นว่ารับไว้จะเกิดปัญหา  จึงส่งนางไปถวายเจ้านกเค้าแมว   เจ้านกเค้าแมวเกิดความปฏิพัทธ์นางไก่ญี่ปุ่น ไม่รังเกียจว่าเสียเนื้อตัวมาแล้ว  เพราะนกเค้าแมวก็กินของโสโครกอยู่แล้ว  จึงได้นางไก่เป็นเมีย
ในบทตอนนี้มีกล่าวติเตียนชัดเจนว่า พญาเค้าแมวเป็นผู้หลงระเริงในราคะ จนลืมความละอายต่อบาป   เอาเมียของอาเป็นเมียได้    ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสีได้ข่าวก็มาหึง แต่พญาระกากลับเข้าข้างนางไก่ ไล่ตีนางนกเค้าแมวหนีกลับเข้ารังไป
ต่อมาพญาเค้าแมวยกทัพจะไปรบกับพญาระกา   แต่เมื่อเผชิญหน้ากันยังไม่ทันรบพุ่ง ก็พอดีจวนรุ่งเช้า พญาระกาขันขึ้นมา  ส่วนนกเค้าแมวตาฟางเพราะแสงอรุณเลยแพ้ เลิกทัพหนีไป  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 09:27

 กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านแล้ว ทรงเห็นว่า เป็นเรื่องแต่งว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ในกรณีหม่อมพักตร์  ก็กริ้วมาก  
ประกอบกับทรงได้ข่าว(ซึ่งรู้ภายหลังว่าไม่จริง)ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรบทละครแล้ว มิได้ทรงทักท้วงแต่อย่างใด   ซ้ำยังกำหนดจะให้เล่นถวายในวันที่ 3 มิถุนายน เสียอีก    
ถ้าหากว่าเล่นขึ้นมาเมื่อไรก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต  พระองค์คงจะได้รับความอัปยศอย่างมาก   ทรงเห็นพระเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ทรงพระเมตตาพระราชโอรสเสียแล้วถึงปล่อยให้ละครเล่นเรื่องนี้ต่อหน้าราชสำนักได้

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงเป็นผู้มีพระทัยเร็ว   เมื่อกริ้วเรื่องนี้มาก ก็ถึงขั้นบรรทมไม่หลับทั้งคืน  เช้าก็ทรงประชุมข้าราชการกระทรวงยุติธรรมมาแจ้งเรื่องให้ทราบ  และ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยายมราชเล่าเรื่องนี้พร้อมส่งบทละครไปด้วย    
ทรงเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นไปถึงขั้นนี้ ก็ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าผู้คนได้    ขอให้เจ้าพระยายมราชจัดการตามแต่เห็นสมควร   แล้วก็เสด็จลงเรือไปแต่ลำพัง  ไปอยู่ที่ศาลเจ้าองครักษ์ที่ปลายคลองรังสิต

ก่อนหน้าเกิดเรื่องนี้ ราววันที่ ๒๐ เมษายน กรมหลวงราชบุรีฯเคยทำหนังสือทูลเกล้าฯถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี    
ทรงแถลงเหตุผลว่า  ประชวร มีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลัง   ในสมองร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก   คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น   ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย
หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าจำต้องหยุดงานพักรักษาพระองค์    จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี
พระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บลายพระหัตถ์ฉบับนี้ไว้เฉยๆไม่มีพระบรมราชโองการลงมา   และไม่เปิดเผยให้ผู้ใดทราบ จนเกิดเรื่อง" พญาระกา" ขึ้น
   
วันรุ่งขึ้นหลังจากกรมหลวงราชบุรีฯเสด็จออกจากพระนครไปโดยมิได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว    ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรมรวม ๒๘ คนก็ประชุมกัน   แล้วลงชื่อถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีฯ    
ซึ่งถ้าหากว่าออกไปจริงๆ กระทรวงและศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะขาดข้าราชการสำคัญถึง ๒๘ คน เรียกว่ายกกระทรวงออกไปก็ว่าได้    
ในฎีกานี้ ผู้ลงชื่อเป็นอันดับต้นคือพระยาจักรปาณีฯ ปลัดทูลฉลอง  และอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือขุนหลวงพระยาไกรสี(เทียม บุนนาค) อธิบดีศาลต่างประเทศ

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องวุ่นวายที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนั้นก็ว่าได้     ประจวบเหมาะกับบ้านเมืองมีเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพะวงอยู่ถึง ๒ เรื่อง
 เรื่องแรกคือท่ายดยุคโยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน กำลังจะเสด็จเยือนสยาม    ทางไทยไม่ต้องการให้มีเหตุขลุกขลักอะไรในบ้านเมืองเมื่อแขกเมืองมาถึง    
 เรื่องที่สองคือคนจีนในพระนครพร้อมใจกันประท้วงหยุดงานตั้งแต่ ๑ มิถุนายน   รัฐบาลกำลังเฝ้าระวังเต็มที่ไม่ให้เกิดเหตุร้ายแทรกแซง
ก็ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุที่สาม คือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้น"สไตร๊ค์" ราวกับจะแข่งกับคนจีนเสียเอง     แล้วสาเหตุเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระบบงานในกระทรวง

พอฎีกาทูลลาออกของข้าราชการ ๒๘ คนหลุดจากมือไปถึงทางการ  ก็วุ่นวายกันไปทั้งกระทรวงและพระบรมมหาราชวัง    คนกลางในเรื่องนี้คือเจ้าพระยายมราชได้พยายามห้ามปรามไกล่เกลี่ยเท่าไร ข้าราชการทั้ง ๒๘ (ซึ่งว่ากันว่าขุนหลวงพระยาไกรสีเป็นแกนนำ)ก็ยืนกรานจะทำจนได้

ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องฎีกา ก็ทั้งพิโรธและโทมนัสอย่างมาก   ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ(คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)เข้าเฝ้าด่วนเพื่อสอบสาวราวเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด
ส่วนข้าราชการทั้ง ๒๘ คนนั้น  พระเจ้าอยู่หัวพิโรธมาก ถึงกับทรงเรียกว่า'๒๘ มงกุฎ' และให้เขียนชื่อปิดไว้ที่ปลายพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสาปแช่ง    

จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจดพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ไว้ว่า

'ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้  ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง   จะหาอะไรที่จะแก้แทนคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว   เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดที่แล้ว   หาอะไรเปรียบไม่ได้   เอาการส่วนตัวมายกขึ้นเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ   นับว่าปราศจากความคิด  ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน   และต่อแผ่นดิน  ถือนายมากกว่าเจ้า'  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 09:35

พระยาจักรปาณีฯ นับว่าโชคดีมากที่มีกัลยาณมิตรแท้จริง  คือกรมขุนศิริธัชสังกาศ ทรงยื่นมือเข้ามาช่วยในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน  ไม่มีใครอื่นช่วยเหลือได้
พอทราบเรื่อง กรมขุนศิริธัชฯก็เสด็จมาที่บ้านพระยาจักรปาณีฯทันทีกลางดึก  ปลุกเจ้าของบ้านขึ้น  บังคับให้เขียนหนังสือสารภาพผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ และขอถอนหนังสือกราบถวายบังคมลาออก  
กรมขุนศิริธัชนำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯ ทูลเกล้าฯถวายพระเจ้าอยู่หัวทันที  ไม่ให้รอช้าข้ามวัน

ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล  ธิดาของเจ้าพระยามหิธร  เล่าว่าสามีของท่านคือม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้พบหลักฐานที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ  แล้วนำมาให้ท่าน   ท่านบันทึกไว้เกี่ยวกับหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากราชการว่า
" คุณพ่อเขียนหนังสือดี    ไม่มีการหมิ่นพระบรมราชานุภาพแม้แต่น้อย    คุณพ่อเขียนว่าการที่รับราชการอยู่ทุกวันนี้ได้  ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า  
แต่ในทางวิชาการนั้นต้องพึ่งพระปัญญาของกรมหลวงราชบุรีฯ   เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯทูลลาออก   คุณพ่อก็หมดปัญญาที่จะฉลองพระเดชพระคุณต่อไป  
ส่วนหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษนั้น  คุณพ่อเขียนว่า ได้กระทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา    
และถ้าแม้บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท  เช่นนี้อีกแล้ว  ก็ขอพระราชทานถวายชีวิต"

กรมขุนศิริธัชสังกาศได้นำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย  พระเจ้าอยู่หัวก็ค่อยคลายพระพิโรธลง    
ข้าราชการอื่นๆอีก ๒๖ คนก็ได้ทำตามคือทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษหมดทุกคน   เว้นแต่คนเดียวคือขุนหลวงพระยาไกรสี  ซึ่งมีหนังสือกราบบังคมทูลด้วยโวหารว่าตนมิได้เป็นผู้ผิด

บันทึกส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ ทรงกล่าวถึงขุนหลวงพระยาไกรสีไว้ว่า

" หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์(กฤดากร) เล่าต่อไปว่า  ขุนหลวงพระยาไกรสีนั้นไม่เรียบร้อยเช่นคนอื่นๆ   แสดงตนกระด้างกระเดื่อง   และว่าได้มีหนังสือทูลเกล้าฯแก้ตัวไปโดยโวหารหมอความ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก   จะลงพระราชอาญาให้เป็นตัวอย่าง"

เรื่อง ๒๘ มงกุฎที่ว่านี้   ปรากฏว่าคนต้นคิดไม่ใช่พระยาจักรปาณีฯ  แต่เป็นขุนหลวงพระไกรสี   ท่านจึงถูกถอดจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ   และเคราะห์ร้ายซ้ำสอง ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ เพียงคนเดียว   ส่วนคนอื่นๆได้กลับเข้ารับราชการทั้งหมด  แต่ก็แน่ละว่าอนาคตทางราชการไม่มั่นคงเท่าเดิม

เจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพญาระกา ต่างก็ได้รับผลกระทบคนละอย่าง
กรมหลวงราชบุรีฯกลับเข้ามากราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ  และได้รับพระราชทานอภัยโทษ   แต่โปรดเกล้าฯให้ทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีไปตามที่เคยกราบถวายบังคมลามาก่อน
หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแทน  

ส่วนกรมพระนราธิปฯ ทรงถูกลงโทษอย่างเจ้านาย เรียกว่าติดสนมคือต้องเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังออกไปไหนไม่ได้มีกำหนด  ๑ ปี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล     แต่ว่าหม่อมและพระโอรสธิดาเจ้าไปเยี่ยมได้เป็นเวลาตามสมควร

เจ้านายพระองค์ที่สามคือกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีส่วนให้กรมหลวงราชบุรีฯเข้าพระทัยผิด   ถูกห้ามเข้าเฝ้าจนสิ้นรัชกาล    

แต่กรมพระนราธิปฯนั้นติดสนมอยู่ไม่นาน แค่ถึงเดือนกรกฎาคม กรมหลวงราชบุรีก็ทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษให้  ท่านก็เลยได้พ้นโทษ กลับไปวังของท่าน

เวลาล่วงมาถึงเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 09:37

 ตอนผมเรียนประวัติศาสตร์ ไม่เห็นมีเรื่องสนุก ๆ เหมือนนิยายจีนกำลังภายในแบบนี้มาให้เรียนบ้างเลย
มีแต่เรียนว่า ปี พ.ศ. ไหนใครยกทัพไปตีกับใคร อะไรทำนองนี้(ลืมไปเกือบหมดแล้ว)
ก็เลยนั่งอ่านที่คุณเทาชมพูเล่ามาเรื่อย ๆ ครับ
น่าจะมีใครเอาไปสร้างเป็นภาพยนต์ เติมสีสันต์เพื่อเพิ่มความสนุกแล้วมีประวัติจริงแจกให้อ่านด้วย แบบโหมโรง
ซึ่งได้ผลดีพอสมควร เด็กไทย หันมาเล่นดนตรีไทยกันมากขึ้น
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 12:40


เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากเลยค่ะ  คุณเทาชมพู  เรื่องที่ปวดหัวอยู่นั่นไม่ใช่เรื่องเด็กๆหรอกค่ะ  เด็กที่บ้านไม่กล้าหือหรอก ฮ่าๆๆ  คนโตๆด้วยกันนี่แหละค่ะ  พอทะเลาะกันแล้วยิ่งพูดยากกว่าพูดกับเด็กอีกแน่ะค่ะ หึๆๆ

วันนี้โรงเรียนเค้ามีการแสดงประจำปี  คือเด็กๆเค้าหัดดนตรีมาทั้งปี  แล้วก็มาแสดงให้ผู้ปกครองชมอย่างที่มีในเมืองไทยน่ะค่ะ  ดิฉันเลยไม่อยู่บ้านทั้งวัน  กว่าจะกลับมาก็ค่ำมากแล้วค่ะ  ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูที่เขียนเรื่องสนุกๆเสียยาวให้อ่านได้จุใจเลยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 15:54

 เรื่องพวกนี้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ค่ะ อาจารย์นิรันดร์  
ไม่ทราบว่าในวิชาประวัติศาสตร์ มีสอนเรื่องเกร็ดต่างๆด้วยหรือเปล่า  
บันทึกการเข้า
น้าชู
อสุรผัด
*
ตอบ: 6

รับราชการ


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 09 มิ.ย. 04, 22:38

 ขอเสริมที่กล่าวถึงเนติบัณฑิตรุ่นแรก 9 คนหน่อยนะครับ
ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) จริงๆแล้วเป็นคุณตาของคุณมารุต บุนนาค ศพของท่านถูกเก็บไว้ที่วัดโดยไม่มีใครทราบเป็นเวลาถึงเเปดสิบปี
เพิ่งมีการค้นพบโลงศพและสืบจนทราบว่าเป็นใคร และขอพระราชทานเพลิงเมื่อประมาณปี 2525 ในสมัยที่คุณมารุตฯเป็น รมต.ยุติธรรม ตอนนั้นผมยังเด็กๆ ยังได้อ่านข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ที่ลงหน้าหนึ่งอยู่หลายวันทีเดียว
หลังจากท่านออกจากราชการแล้วก็ทำงานเป็นทนายความครับ
ส่วนพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) ก็คือบิดาของท่านอดีตประธานองคมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์นั่นเอง  
คนอื่นที่เหลือส่วนใหญ่ก็กลายเป็นผู้พิพากษาที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมาทั้งสิ้น
ไม่ทราบว่าเหตุใดคุณเทาชมพูจึงสนใจเรื่องราวในวงการยุติธรรมครับเนี่ย
หรือว่าทำงานอยู่ในแวดวงนี้
อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้มีอาชีพทางกฎหมายคนหนึ่ง รู้สึกยินดีมากที่เรื่องราวเหล่านี้มีผู้สนใจ มิได้เล่ากันอยู่แต่ในหมู่นักศึกษากฎหมายเท่านั้น
จาก เนติบัณฑิตสมัยที่ 48
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 07:52

 ขอบคุณมากค่ะ คุณน้าชู ที่ช่วยเพิ่มเติมรายละเอียดให้เรื่องนี้ มีสาระน่าสนใจมากขึ้น
เรื่องโลงศพขุนหลวงพระยาไกรสี  ที่เก็บไว้ตั้ง 80 ปี ลูกหลานไม่ทราบ  มาทราบกันตอนคุณมารุตเป็นใหญ่เป็นโต  งานศพของท่านจึงทำอย่างสมเกียรติ นึกไปก็น่าทึ่งเหมือนกัน

ส่วนคำถามสุดท้าย   ดิฉันไม่ได้ทำงานในวงการยุติธรรมค่ะ     แค่สนใจเป็นส่วนตัว  อาจจะเป็นเพราะเกิดมาในบ้านนักกฎหมาย

ขอเวลาไปพิมพ์ก่อนนะคะ  แล้วจะกลับมาเล่าว่าชีวิตของเจ้าพระยามหิธร หลังพบมรสุมครั้งใหญ่สุดแล้ว ท่านผ่านไปได้อย่างไร  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 13:16

 พอพูดถึงนักกฎหมายไทยแบบตะวันตก ผมมักนึกถึงแต่เจ้าพระยาสุธรรมมา ต้นสกุลสุจริตกุล ผู้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษท่านแรกของไทย ได้ยินว่าภรรยาเอกของท่านก็เป็นลูกจีน จนมีสำนวนพูดในสกุลนี้ว่า ปู่เจ้าพระยา ตาเจ้าสัว

เรื่องราวของเสด็จกรมหลวงประจักษ์ฯก็น่าสนใจทีเดียว ในแง่ของความเป็นมนุษย์ ประวัติของพระองค์ออกจะมีสีสรรไม่น้อย เพราะแม้จะมีบทบาทในราชการ เคยทรงเป็นถึงแม่ทัพ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ ควบคุมดูแลชายพระราชอาณาเขตครั้งมีสถานการณ์ล่อแหลมกับฝรั่งเศส  จนตั้งเมืองขึ้นเป็นจังหวัดอุดรในปัจจุบัน  แต่ก็ดูจะมีเรื่องมีราว สร้างความขัดแย้งให้ปรากฎอยู่หลายประการ

เช่น ความขัดแย้งกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็เป็นอีกมินิซีรี่ย์หนึ่งที่ยืดยาวเป็นหนังชีวิตที่ต้องดูกันนานๆ

โชคดีที่เคยเก็บเล็กผสมน้อยจากตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย จนพอทราบประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นเหล่านี้บ้าง หากยังไม่มากและกระหายที่จะรู้เพิ่ม อย่างไรก็ต้องขอรบกวนท่านอาจารย์เทาชมพูเมตตาเล็คเชอร์เพิ่มให้ด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 13:33

 ลงชื่ออ่านด้วยคนครับ นึกว่าแย่แล้วเชียวครับ แอบเข้ามาดูเป็นระยะๆ เหงาเหลือเกินหนอ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 14:21

 ดิฉันว่างจากภารกิจอีกบ้านหนึ่ง ก็กลับมาบ้านนี้แล้วค่ะคุณ CH  
ว่าแต่คุณแวะเข้ามาเงียบๆ ไม่ให้สุ้มเสียงอาชาลำพองเสียบ้างเลย ก็เหงาน่ะสิคะ
ต่อไปนี้ ขอเชิญว่าถ้าแวะเข้ามาก็ตั้งกระทู้ด้วยได้ไหมคะ  ดิฉันจะอยู่หรือออกไปข้างนอกบ้าง  ที่นี่จะได้มีเสียงสนทนากัน

คุณถาวภักดิ์คะ  ตั้งแต่คุณเคยขอเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ดิฉันก็ไปค้นประวัติเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้มายาวพอสมควร    
แต่ตามนิสัย   บรรจงเก็บไว้อย่างดี มิดชิดถี่ถ้วนจนหาไม่เจอจนบัดนี้  ส่วนเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บ  ก็กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ  จึงเห็นเป็นประจำ
เป็นอย่างนี้บ่อยมาก
ขอไปบนให้เจอก่อน  แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง

เรื่องกรมหลวงประจักษ์ฯ   เป็นเรื่องที่มีสีสันเข้มข้นสะดุดใจ อย่างที่คุณถาวภักดิ์ว่าไว้   เลยมาต้องบรรจงหั่น ซอย  แบ่ง กรอง  ออกไปมากโข   เพื่อความไม่ประมาท   เหลือเท่าที่เห็นแค่นี้เอง  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 14:45

 พระยาจักรปาณีฯ แม้ว่าจะพ้นผิดจากเรื่องที่ทำลงไป ได้กลับเข้ารับราชการเป็นปลัดทูลฉลองเหมือนเดิม  แต่มรสุมลูกใหญ่ที่ท่านเผชิญก็ยังไม่สงบอยู่ดี

อย่างแรกคือท่านถูกงดความดีความชอบ  ควรจะได้รับพระราชทานพานทอง  ก็เลยไม่ได้

อย่างที่สอง   พระยาจักรปาณีฯ เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อเจ้านายเดิม เสมอต้นเสมอปลาย    แม้กรมหลวงราชบุรีฯทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีแล้ว  พระยาจักรปาณีฯ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงกิจวัตร  เคยเข้าเฝ้าเป็นประจำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นเช่นเดิม    
ถือว่าท่านเคยเป็นทั้งลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา  ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เปลี่ยนแปลง  เรื่องจะตีตนออกห่างนายเก่า โผไปหานายใหม่  คนอย่างท่านไม่ทำ

ก็ด้วยความดีข้อหลังนี้เอง    หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ จึงเห็นว่า ท่านเป็น "คนของกรมหลวงราชบุรีฯ"    ใจอยู่ที่นายเก่า   ทำให้นายใหม่ไม่ไว้วางใจ และผลคือทำงานเข้ากับนายใหม่ไม่ได้    

พระยาจักรปาณีฯเองก็ลำบากใจที่จะทำงานกับหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ผู้มีหลักการแตกต่างจากกรมหลวงราชบุรีฯ
เพราะท่านเคยได้รับการสั่งสอนมาว่า  อย่าให้ตัดสินว่าผู้ใดผิดจนกว่าจะได้พยานหลักฐานหรือมีกรณีแวดล้อมพอที่จะเชื่อได้ว่าผิด   ฉะนั้นเมื่อถูกเกณฑ์ให้เปลี่ยนหลักเป็นตรงกันข้ามจึงกลับตัวไม่ทัน

หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์เองก็เป็นผู้ที่ไม่ง้อคน  เมื่อเข้ากันไม่ได้ ก็เห็นว่าไม่สมควรจะเอาไว้ใช้งานอีก    
ในตอนนั้นตำแหน่งกรรมการศาลฎีกาว่างลงเพราะพระยาอนุชิตชาญชัย(สาย สิงหเสนี) ถูกย้ายไปเป็นจางวางพระตำรวจ     พระยาจักรปาณีฯจึงถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งนี้แทน   และพระยาราชเสนา( เลื่อน ศุภสิริวัฒน์) เจ้ากรมมหาดไทย  ย้ายมาเป็นปลัดทูลฉลอง

ความผันแปรในหน้าที่การงานมีผลกระทบกระเทือนถึงฐานะทางบ้านด้วย    พระยาจักรปาณีปรึกษาคุณหญิงกลีบว่า บัดนี้ฐานะท่านไม่มั่นคงเหมือนเมื่อก่อน   จะหวังพึ่งเงินเดือนราชการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดเหตุคาดไม่ถึงในวันไหนก็ได้  
คุณหญิงกลีบ ก็เริ่มทำงานหารายได้ช่วยสามีอีกแรงหนึ่ง ด้วยการทำน้ำอบไทย แป้งนวล น้ำปรุง ขี้ผึ้งสีปาก  พวกเครื่องสำอางอย่างไทยๆ ให้สาวใช้หาบไปขายวันละ 6 หาบ  ตามวังต่างๆ  พอจะเก็บเงินทองเป็นค่าใช้จ่าย  เลี้ยงบุตรธิดาและบริวารกันไปได้

เคราะห์ร้ายอย่างที่สามของท่านคือกรมขุนศิริธัชสังกาศ ผู้มีพระคุณ สิ้นพระชนม์ลงในปี 2454 นั้นเอง  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 10 มิ.ย. 04, 14:58

 คุณเปี้ยวเจ้าคะ
ดิฉันขอร้องเรียน เพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่งต่อจากคุณพวงร้อยในกระทู้ เกตุกับราหู  
ทำไมเครื่องหมาย    มันถึงโผล่มายุ่มย่ามนักล่ะคะ
ลบเท่าไรก็ไม่ยอมหมด  มีสามตัวลบไปแล้วเหลืออย่างน้อยหนึ่งตัว ไม่ยอมไป  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 11 มิ.ย. 04, 09:55

 พายุร้ายเข้ามาในชีวิตพระยาจักรปาณีฯ ได้ไม่นาน ฟ้าก็เริ่มใสขึ้น  เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพอพระราชหฤทัยในการทำงานและอัธยาศัยของท่าน  มิได้ทรงเพ่งเล็งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น      
หลังจากเป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่ปีเดียว ก็โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการกฤษฎีกาเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง   เท่ากับท่านได้กลับไปสู่ถิ่นเดิมที่เคยอยู่เมื่อหนุ่ม   และได้รับพระราชทานพานทองซึ่งถูกงดมาตั้งแต่เกิดเรื่อง

การทำงานของพระยาจักรปาณีฯก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ   ได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย อย่างเช่นตำแหน่งนายทะเบียนของจิตรลดาสโมสร  และตำแหน่งปลัดพระธรรมนูญเสือป่า    ท่านตามเสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบเสือป่าที่นครปฐมทุกปี

ส่วนตำแหน่งงานของท่าน ก็ก้าวไปในทางกฎหมายเช่นเดิมแต่ว่าเป็นตำแหน่งใหม่จากหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๖  คือสมุหพระนิติศาสตร์   และต่อมาก็อธิบดีศาลฎีกา และผู้กำกับราชการกรมพระนิติศาสตร์  เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ท่านใช้ความรู้ความชำนาญทางกฎหมายได้เต็มที่  และเป็นเส้นทางที่ราบเรียบมีแต่จะทอดสูงขึ้นทุกที    

ในฐานะสมุหพระนิติศาสตร์  ท่านได้เป็นนายทะเบียนประกอบพิธีอภิเษกสมรสให้เจ้านายหลายพระองค์  รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสุโขทัยฯ  เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ด้วย

พิธีอภิเษกสมรสในรัชกาลที่ 6  ทำคล้ายพิธีฝรั่ง  ไม่เหมือนการรดน้ำแต่งงานแบบไทยๆอย่างที่เราเห็นในสี่แผ่นดิน     ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องหายาก ไม่ค่อยมีใครรู้กัน  ก็เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟัง

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเป็นประธาน   เมื่อเสด็จออกแล้ว    เสนาบดีกระทรวงวังก็กราบบังคมทูลเบิกคู่สมรสออกมาถวายคำนับ  

แล้วสมุหพระนิติศาสตร์ทำหน้าที่คล้ายพระผู้ประกอบพิธีแต่งงานของฝรั่ง  คือตั้งคำถาม ถามคู่สมรส
เช่น
" ฝ่าพระบาทตั้งพระหฤทัยที่จะรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นชายาด้วยความเสน่หารักใคร่   และตั้งพระทัยจะทะนุถนอมให้มีความสุขสืบไป  จนตลอดฉะนั้นฤา"
พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสุโขทัยฯ  ทรงตอบว่า "ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น"
สมหุพระนิติศาสตร์ ทูลถามหม่อมเจ้ารำไพพรรณีว่า
"ท่านตั้งหฤทัยจะมอบองค์ของท่าน เป็นชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา  ด้วยความเสน่หาจงรัก  สมัครจะอยู่ในโอวาทของพระสามีสืบไป จนตลอดฉนั้นฤา"
หม่อมเจ้ารำไพพรรณีทรงตอบว่า " ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น"

ต่อจากนั้น พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสังข์ ทรงเจิม  แล้วสมุหพระนิติสาสตร์จัดให้คู่สมรสลงพระนาม    พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย  มีสักขีพยานในพระราชพิธีลงพระนามและนาม  
ต่อจากนั้นจึงพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง