เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 14961 เจ้าจอมมารดาน้อยในรัชกาลที่4
รตา
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 39


 เมื่อ 26 ม.ค. 04, 17:55

 เมื่อวันอาทิตย์ไปเที่ยวคลองบางหลวงมาค่ะ อยากไปมานานแล้ว บังเอิญมีคณะท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมมาชวนไปเที่ยวท่อง ล่องเรือ เยือนชุมชน ยลจิตรกรรม เลยตกปากรับคำ ขอตามไปด้วยคน

ที่อยากไปมานานเพราะอ่านสี่แผ่นดินค่ะ ยังจำได้ว่าวันที่แม่พลอยตาย น้ำในคลองบางหลวงก็แห้งขอดไปหมด และยังมีอีกเรื่องค่ะที่ทำให้อยากไป คือคุณย่าดิฉันเล่าให้ฟังว่าคุณย่าเคยอยู่ที่คลองบางหลวงด้วย ก็คงเป็นคนร่วมสมัยกับแม่พลอยนะคะ ท่านเกิดก่อนพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต12ปี และมีโอกาสได้เฝ้าพระองค์ท่านที่พระที่นั่งวิมานเมฆด้วย

เกริ่นมาซะยาวเหยียด    ขอเข้าเรื่องค่ะ มีเรื่องนึงที่คุณย่าเล่าว่า คุณย่ามีเชื้อสายพระเจ้าตากด้วย คุณย่าเคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง พร้อมโยงญาติสายแต่เก่าก่อน ตอนเด็กๆเราฟังก็ชวนหลับ นึกภาพไม่ออก เหมือนลิงได้แก้ว พอมาตอนโต เรื่องเก่าๆคงซึมซาบเข้ามาบ้าง อยากอ่านอยากค้นคว้าเพิ่มเติมค่ะ

มีวัดนึงในแถบคลองบางหลวง ชื่อวัดอินทาราม เป็นวัดที่มีพระเจดีย์ไว้พระบรมอัฐิของพระเจ้าตากสินมหาราชและพระอัครมเหสี จึงอยากเปิดประเด็นเรื่อง เจ้าจอมมารดาน้อยในรัชกาลที่4ค่ะ

ขอแตะเล็กๆก่อนนะคะว่า เจ้าจอมมารดาน้อย เป็นชั้นพระราชนัดดาในพระเจ้าตากสิน และเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่4ค่ะ ชีวิตของท่านอ่านแล้วเศร้ามาก ขอเชิญคุณเทาชมพูและท่านอื่นเข้ามาร่วมวงสนทนากันค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ม.ค. 04, 09:21

เจ้าจอมมารดาน้อย เป็นธิดาพระอินทรอภัย หรือบางแห่งสะกดว่าอินทรอำไพ
พระอินทรอภัย  เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสิน  เมื่อสิ้นแผ่นดินพระราชบิดา  พระราชโอรสธิดาก็กลายเป็นสามัญชน  
ผู้ชายจำนวนมากก็มารับราชการเป็นขุนนาง  ส่วนผู้หญิงกลายเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้านายในราชวงศ์จักรี    
รวมทั้งเชื้อสายของท่านเหล่านี้ต่อมาก็รับราชการเป็นขุนนางฝ่ายหน้าบ้าง เป็นนางในบ้าง

เจ้าจอมมารดาน้อย ถือเป็นเจ้าจอมรุ่นอาวุโส   ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ 2
ก่อนเจ้าฟ้ามงกุฎผนวชในปลายรัชกาลที่ 2   ก็ทรงมีพระองค์เจ้ากับเจ้าจอมมารดาน้อยแล้วถึง 2 องค์  คือ
1)พระองค์เจ้าชายนพวงศ์   กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส   ต้นราชสกุลนพวงศ์ ณ อยุธยา
2) พระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์   กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร   ต้นราชสกุล สุประดิษฐ ณ อยุธยา

หลังจากเจ้าฟ้ามงกุฎผนวชไม่กี่วัน    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ประชวรหนักแล้วสวรรคตในระยะเวลาสั้น  
ต่อไปก็เป็นอย่างที่เรารู้ๆกันคือ เจ้าฟ้ามงกุฎก็ไม่ได้ลาผนวชกลับมาอ้างสิทธิ์ในราชสมบัติ  ทรงครองผ้าเหลืองอยู่ตลอดรัชกาลที่ 3  ถึง 27 ปี    

ขอเริ่มต้นแค่นี้ก่อนนะคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ม.ค. 04, 10:47

 ผมเองก็เสียดาย ที่ไม่ได้ไปคลองบางหลวง เพราะวันที่คุณรตาไปเที่ยวนั้น (วันอาทิตย์) ผมมานั่งเอ้เตอยู่ที่ทำงานผม เพราะมีคำสั่งด่วนลงมาว่าให้ที่ทำงานผมจัดประชุมนานาชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปัญหาไข้หวัดนกโดยด่วน ให้เวลาเตรียมประชุม 5 วัน...

ผมไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงหรอกครับ นับเนื่องเป็นพวกกองเชียร์เท่านั้น แต่ก็ทำให้อดไปเที่ยวตามที่กะ เสียดายมาก เพราะก่อนนั้น 1 อาทิตย์ก็ไปกับทัวร์วัฒนธรรมคณะนี้แหละ กับคุณรตานั่นแหละ ไปอีกคลองหนึ่ง คือคลองบางกอกน้อย เขาจัดดีครับ น่าจะจัดต่อเนื่องอีกหลายๆ ครั้ง เผื่อผมจะแว่บไปร่วมเที่ยวได้อีก

มีข้อสังเกตในเรื่องเจ้าจอมมารดาน้อย ในรัชกาลที่ 4 ว่า ถ้าท่านมีโอกาสมีพระองค์เจ้ากับเจ้าฟ้ามงกุฎอีกองค์หนึ่ง สงสัยจะได้รับพระราชทานพระนามที่เกี่ยวกับพระพรหม จะได้เข้าชุดกับกับ 2 องค์แรก

รอฟังต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ม.ค. 04, 15:16

 มีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5  ทรงลำดับถึง "เจ้าพี่เจ้าน้อง" กล่าวไว้ถึงพระเจ้าพี่ยาเธอทั้งสองพระองค์นี้ว่า

นภวงศองค์ใหญ่ต้น...........จำนวน หนึ่งแฮ
กรมหมื่นมเหศวร...............ศักดิ์ได้
สุประดิษฐวิศิษฐ์ควร...........ยศยิ่ง
กรมวิษณุนารถไท้...............ธิราชตั้ง นามกร

ตอนที่เจ้าฟ้ามงกุฎออกผนวช    พระองค์เจ้าสุประดิษฐมีพระชนม์แค่หนึ่งเดือนเศษ
เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 4 ก็ทรงเป็นหนุ่มใหญ่ พระชนม์ 27 แล้ว    
ไม่มี"น้อง" อีกจากเจ้าจอมมารดาน้อย

แต่พระจอมเกล้าฯทรงมีพระราชโอรสที่ทรงกรมในพระนาม "พรหม" เข้าชุดกับพระเป็นเจ้าของฮินดู 2 องค์แรก  
คือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาค    กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์  ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ
ทำไมถึงทรงเลือก พรหม ให้องค์นี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน   เพราะก่อนหน้านี้ก็มีพระราชโอรสอีกหลายพระองค์

กรมหมื่นพรหมฯ ทรงเป็นต้นราชสกุลเกษมสันต์ ณ อยุธยา  มีลูกหลานให้เห็นตัวตนอยู่หลายท่านจนทุกวันนี้
ที่ขอเอ่ยถึงคือท่านผู้หญิง (ม.ร.ว.) สุประภาดา เกษมสันต์  อดีตราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ท่านสิ้นชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลีคอปเตอร์ตามเสด็จ ตกทางภาคใต้ เมื่อหลายปีก่อน

สงสัยจะแยกเข้าซอยออกห่างเจ้าจอมมารดาน้อยไปมากแล้วละค่ะ  จะพยายามหักพวงมาลัยเลี้ยวกลับมาในความเห็นหน้า
บันทึกการเข้า
รตา
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 39


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ม.ค. 04, 08:28

 ขอขอบพระคุณคุณเทาชมพูและคุณนิลกังขาที่ล้อมวงเข้ามาคุยนะคะ ไม่เคยสังเกตพระนามพระราชโอรส 2 พระองค์ของเจ้าจอมมารดาน้อยมาก่อนเลยว่ามีพระนามที่เกี่ยวกับพระศิวะ พระวิษณุเลย ว่าเป็นหมวดเป็นหมู่อย่างนี้เลยค่ะ

ขอเล่าเสริมคุณเทาชมพูนะคะ ในช่วงเวลาที่เจ้าฟ้ามงกุฎครองสมณเพศอยู่ถึง 27 ปีนั้น เจ้าจอมมารดาน้อยได้อาศัยอยู่กับพระพงษ์นรินทร์(เดิมคือสมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์) ผู้เป็นลุงและเลี้ยงดูพระองค์เจ้านพวงศ์ ส่วนพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าซึ่งประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมธนบุรี ทรงเป็นผู้ชุบเลี้ยงให้การอุปถัมภ์ค่ะั

ที่ดิฉันเกริ่นตั้งต้นว่าชีวิตเจ้าจอมมารดาน้อยเป็นชีวิตสตรีที่น่าสงสาร ก็เนื่องมาจากสมเด็จพระอัยกา คือพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกสำเร็จโทษ พระบิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย หรือ พระอินทรอภัยก็ถูกประหารชีวิต เจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงเสด็จผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา เมื่อทรงลาผนวชแล้ว จากเอกสารที่อ่านพบ ก็ไม่ทรงโปรดเจ้าจอมมารดาน้อยหรือยกย่องเป็นพิเศษแต่ประการใด ความรู้สึกคงเจ้าจอมมารดาน้อยก็คงจะอ้างว้างนะคะ

พิจารณาหาสาเหตุแล้ว คิดว่าเป็นเพราะเจ้าจอมมารดาน้อยมีอายุมากด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ม.ค. 04, 10:25

 เรื่องที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่โปรดเจ้าจอมมารดาน้อย  มีหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขา
ฉบับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12  พ.ศ. 2398   ทรงเขียนถึงเจ้าจอมที่โปรดปรานคือเจ้าจอมมารดาผึ้ง  (ซึ่งท่านโปรดเรียกชื่อเล่นว่า "เต่า" )
มีข้อความว่า
"ข้าออกเรือกระบวรมาจากตำหนักน้ำ...ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้ว เวลาเช้า    มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมา  แข่งเรือที่นั่งของข้า   เกินหน้าเรือตำรวจ  เรือที่นั่งรองทุกลำ   แข่งจนเก๋งเคียงเรือกันยาเรือที่นั่ง   แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพย( หมายถึงเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล) จะร้องไห้   มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง    ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือ
ใคร    เรือนั้นมีม่านบังมิด  มีผู้หญิงนั่งท้ายหลายคน     เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างในในกระบวร    จึงไม่มีใครห้ามปล่อยให้พายขึ้น  สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก   ข้าถามหลายคำว่าอะไรๆ เรือใคร  ก็ไม่บอก   บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะด้วยบานเต็มที่  จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวร่อเยาะ

ข้าคิดจะเอาปืนยิงตามกฎหมาย  ก็กลัวจะถูกคนตายเขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบาทำคนตายง่ายๆ   พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน   เห็นผิดทีแล้ว  จึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ    ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมาจึงพายหนีห่างออกไป    ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา    ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส  มาทำหน้าเป็นเล่นตัว   ล้อข้าต่อหน้าธารกำนัล  น่าชังนักหนา

ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับคุมเรือลงมาส่งตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า
ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทราบแล้ว  ได้มีไปสั่งถึงท้าวศรีสัจจา  ท้าวโสภสนิเวศน์ ให้เอาตัวจำไว้ให้มั่นคง กว่าข้าจะกลับลงไป    อยากจะใคร่ให้เอาๆผตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน   แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้น"

ถ้าบรรยายภาพ โดยใช้เหตุการณ์สมัยนี้ก็เหมือนกับสมเด็จพระจอมเกล้าฯกำลังเสด็จไปไหนโดยรถพระที่นั่ง   เจ้าจอมมารดาน้อยนั่งรถอีกคัน "ซิ่ง" ขึ้นมาเคียงคู่  ผ่านตำรวจหลวง ผ่านขบวนรถตามเสด็จขึ้นมาวิ่งคู่กับรถพระที่นั่งไปตลอดทาง    แล้วยังเปิดกระจกให้นางข้าหลวงชะโงกหน้าออกมาหัวเราะกิ๊กกั๊กเสียอีก  
การกระทำอย่างนี้ในสมัย 150 ปีก่อนถือว่าอุกอาจมาก   เพราะเราจะต้องคำนึงว่าระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์  พระเจ้าแผ่นดินคือเจ้าชีวิต     ในรัชกาลที่ 3 ขนาดราษฎรจะมองหน้าพระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เพิ่งมายกเลิกในรัชกาลที่ 4  แต่เวลาเสด็จไปไหนมาไหนชาวบ้านสองข้างทางจะออกมายืนเบิ่งมองตามสบายก็ยังไม่ได้  ต้องหลบเข้าในบ้าน
การกระทำของเจ้าจอมมารดาน้อยจะเป็นไปด้วยอะไรก็ไม่มีบันทึกบอกไว้   แต่ดิฉันเดาว่าเป็นอารมณ์หึงของผู้หญิง     เพราะหลังครองราชย์แล้วทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมใหม่ๆอีกมากตามพระเกียรติยศ   เสด็จคราวนี้ก็มิได้ทรงพาเจ้าจอมมารดาน้อยไปด้วย แต่มีเจ้าจอมอื่นๆตามเสด็จกันหลายคน    ที่ทรงบันทึกว่าคนในเรือพระที่นั่งโกรธว่าถูกหัวเราะเยาะ ก็คือเจ้าจอมที่ตามเสด็จ กับเจ้าจอมมารดาน้อยนั่นแหละเกิดขวางหูขวางตากันตามประสาผู้หญิง

ผลคือทรงให้เรือตำรวจไล่จับ  พอได้ตัวมาก็ส่งกลับวังหลวงให้ขังไว้    แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีเรื่องว่าทรงลงโทษอย่างใดมากไปกว่านี้
เชื่อว่ากรมหมื่นมเหศวรฯก็คงจะทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทนเจ้าจอมมารดาของท่าน  ก็คงพระราชทานอภัยให้  แต่อาจจะมิได้ให้เข้าเฝ้าอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 08:11

 เจ้าจอมมารดาน้อยคงเคยเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานสมัยก่อนผนวช
แต่เมื่อท่านไปผนวชเสีย 27 ปี กลับมา    เจ้าจอมมารดาน้อยก็อยู่ในวัยประมาณ สี่สิบกลางๆ หรือปลายแล้ว  
สมัย 150 ปีก่อน 45 ก็คงประมาณ 65 สมัยนี้

45 เดี๋ยวนี้ยังแจ๋ว  เดินแบบ   เต้นแอโรบิค กันได้สบาย
ไม่เหมือนเมื่อก่อน

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสีเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกมากมาย   หลายคนเป็นที่โปรดปราน  อาจจะทำให้คนเก่าอย่างเจ้าจอมมารดาน้อย น้อยใจได้
โดยเฉพาะคราวนั้นไม่ได้ตามเสด็จด้วย   ท่านก็เลยไปของท่านเอง
แล้วไปแบบให้รู้ด้วยว่า   ฉันจะไปเสียอย่าง จะทำไม

เจ้าจอมมารดาน้อยในช่วงนั้นน่าจะมีความสำคัญ   เป็นคนที่ใครๆเกรงใจ  
เพราะว่าพระเจ้าลูกยาเธอสองพระองค์ เป็นหนุ่มใหญ่  ช่วยงานราชการของพระบรมชนากนาถได้มาก
พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นยังเล็กๆกันทั้งหมด
และสองพระองค์ก็เป็นที่โปรดปรานมากด้วย

แต่เมื่อเจ้าจอมมารดาทำเหมือนกับไม่เกรงกลัวเจ้าชีวิต    สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็เลยกริ้วหนัก
สั่งให้จองจำไว้    ก็คงเป็นการกักบริเวณอยู่ในวังแหละค่ะ  ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น
โทษหนักกว่านั้นคือโบย สักหน้า หรือจำขื่อคาไว้    ก็ทำได้  แต่พระเจ้าอยู่หัวท่านก็ไม่ทำ  
เพราะท่านรักพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์     จะทำอะไรลงไปแรงๆก็กระทบกระเทือนถึงพระราชโอรส

ดิฉันคิดว่าเรื่องก็คงเงียบหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่ง   เพราะพระจอมเกล้าฯท่านเป็นคนที่กริ้วง่ายและหายเร็ว   ไม่ถือโทษโกรธเคืองอะไรมากมาย
มักจะทรงตำหนิหรือค่อนว่าไปตามเรื่อง   แต่ก็แค่นั้นแหละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 08:24

 น่าเสียดายว่าพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์พระชนมายุสั้น   สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 นั่นเอง
คือกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2405 พระชนม์แค่ 38 เท่านั้น
ต่อมากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2410  พระชนม์ได้ 45
สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็คงจะโทมนัสไม่น้อย   เล่ากันว่าทรงสวมพระธำมรงค์ติดพระหัตถ์ อยู่องค์หนึ่ง เป็นแหวนที่กรมหมื่นมเหศวรฯถวาย      รับสั่งว่า เมื่อใดเลิกคิดถึงพระราชโอรสก็จะถอดออก   แต่ก็ไม่เคยถอดออกเลยจนเสด็จสวรรคต

เจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่กรรมเมื่อใดไม่มีหลักฐานระบุไว้  แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2405
เพราะว่าปลงศพในสวนหลังวังกรมหมื่นวิษณุนารถ  ซึ่งต่อมาได้สร้างวัดตรีทศเทพขึ้นที่นั่น และสร้างเจดีย์ไว้ตรงที่ปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย
ลูกหลานในราชสกุล นพวงศ์ และสุประดิษฐ   ถ้าอยากทำบุญอุทิศส่วนกุศล ก็ไปทำบุญที่วัดตรีทศเทพ ให้เจ้าจอมมารดาน้อยได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 08:38

 พูดถึงลูกหลาน  นึกได้ว่าในช่วงทศวรรษ 2500 มีนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ใช้นามปากกาว่า "จินตะหรา" และ "สราญจิตต์"
นิยายของเธอเคยทำหนังมาแล้วเกือบทุกเรื่อง  ยังทำละครทีวีต่อมาในหลายสิบปีให้หลัง แม้ว่าเธออำลาวงการไปถือศีลปฏิบัติธรรมแล้วก็ตาม
เช่นเรื่อง "วนาลี" ที่หมิวเล่นคู่กับศรัณยู   เรื่อง"แสงสูรย์" และ "ปรารถนาแห่งหัวใจ"
"วนาลี" มีเพลงประกอบไพเราะมาก  ขึ้นต้นว่า  " ฉันคิดถึงเธอตั้งแต่หัวค่ำจนอุษาสาง"
ชื่อจริงของเธอคือ ม.ล. จินตนา นพวงศ์   ค่ะ  เธอเป็นพี่น้องกับม.ล. จิตติ นพวงศ์  บรรณาธิการนิตยสาร"ศรีสัปดาห์" ที่ขึ้นชื่อในยุคเดียวกัน  นักเขียนสตรีหลายคนเช่นทมยันตีก็เกิดในวงวรรณกรรมจากนิตยสารนี้
บันทึกการเข้า
รตา
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 39


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 12:05

 ขอเล่าเสริมคุณเทาชมพูในเรื่องวัดตรีทศเทพฯนะคะ เมื่อตอนเด็กๆ ตามคุณย่าไปทำบุญที่วัดตรีฯ คุณย่าเล่าว่าเป็นวัดประจำสกุล ตัวดิฉันเองก็งงๆ เพราะตรีแปลว่า3 สุประดิษฐ์เป็นสายรัชกาลที่4 เอ๊ะชักงง เลยเอาคำตอบมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

วัดตรีทศเทพ สร้างขึ้นหลังจากเจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชทานเพลิงศพที่สวนท้ายวังของกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร เมื่อเสร็จงานศพเจ้าจอมมารดาน้อยแล้ว กรมหมื่นวิษณุนารถฯจึงทรงกะการสร้างวัดขึ้นบริเวณนี้ วิธีการก็คือ ทรงโปรยเงินไปทั่วบริเวณพื้นที่ที่ทรงกำหนดว่าจะเป็นที่สร้างวัด แล้วโปรดให้บ่าวไพร่ในพระองค์พากันแผ้วถางต้นไม้ใบหญ้าเพื่อเก็บเอาเงินนั้น ซึ่งเป็นวิธีการจ่ายค่าแรงของท่านนั่นเอง

การสร้างวัดยังไม่ทันเสร็จ กรมหมื่นวิษณุนารถฯสิ้นพระชนม์ลงเมื่อปีพศ.2405 พระชันษาเพียง 38 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงโปรดฯให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศทรงสร้างวัดต่อ แต่กรมหมื่นมเหศวรฯก็สิ้นพระชนม์ลงไปอีกเมื่อปีพศ.2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงรับเอาการสร้างวัดนั้น มาดำเนินการต่อจนเสร็จ แล้วจึงพระราชทานนามวัดว่า วัดตรีทศเทพ ซึ่งหมายความว่า เทวดาสามนายสร้าง ค่ะ
บันทึกการเข้า
รตา
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 39


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 12:14

 ขอเล่าต่อถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เมื่อประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้านพวงศ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้เลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้า และทรงกรม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กรมหมื่นมเหศวรฯไม่ได้รับราชการใด แต่มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กรมหมื่นมเหศวรฯได้ทรงเป็นผู้กำกับกองทหารล้อมวัง

เช่นเดียวกัน กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร เมื่อแรกประสูติ พระยศเป็นหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเลื่อนพระยศเป็น พระองค์เจ้าและทรงกรม ทรงกำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ และได้ทรงเสด็จไปศึกษาดูงานการปกครองและการพัฒนาบ้านเมืองที่สิงคโปร์ โดยเสด็จไปกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา

กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรจึงเป็นเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จไปดูงานยังต่างประเทศค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ม.ค. 04, 14:35

 ขอบคุณครับ

วิธีสร้างวัดแบบของกรมหมื่นวิษณุนารถฯ ทำให้ผมคิดถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีสมัยพุทธกาล กับวิธีสร้างวัดพระเชตุวันของท่านแฮะ
บันทึกการเข้า
hammer191
อสุรผัด
*
ตอบ: 6


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 เม.ย. 12, 00:42

เท่าที่ทราบมาบ้างว่า เรื่องชื่อที่พ้องกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ก็ทรงพ้องกับเทพองค์หนึ่งเช่นกัน สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ แต่ ร4  ทรงเห็นว่าการที่ชื่อพ้องกับเทพองค์ต่างๆทำให้แต่ละพระองค์สุขภาพไม่แข็งแรงและอายุสั้นจึงทำการเปลี่ยนพระนามของ ร5 เป็น (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ คับ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 17:00

เจ้าจอมมารดาน้อย นี้ตามยศศักดิ์จริงแล้วเป็น หม่อมเจ้าหญิงใช่หรือไม่ครับ
ชีวิตของเจ้าจอมมารดาน้อยที่อยู่กินกับรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ขณะที่มิได้บวชเป็นพระ นับเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ การที่เจ้าจอมมารดาน้อยเห็นรัชกาลที่ ๔ อยู่เฉพาะกับเจ้าจอมหม่อมห้ามสาวๆ ทำให้เจ้าจอมมารดาน้อยได้รับความขมขื่นและน้อยอกน้อยใจมาก ดังนั้น วันหนึ่งเจ้าจอมมารดาน้อยจึงลงเรือเก๋งสั่งให้นายท้ายเรือ พายเรือไปเทียบกับเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๔ หน้าวัดเขมา นนทบุรี จนได้เห็นพระองค์ห้อมล้อมไปด้วยนางสนมเด็ก ก็เลยให้ข้าหลวงที่ไปด้วย หัวเราะฮาๆเย้ยหยัน รัชกาลที่ ๔กลับโกรธ หาว่าเจ้าจอมมารดาน้อย “ตามมาล้อต่อหน้านางสนมใหม่ๆ”  จึงให้จับเอาตัวไปขังไว้ในวังหลวง เจ้าจอมมารดาน้อยอ้างว่า “จะตามไปกรุงเก่าด้วย” พระองค์ไม่ฟังเสียง กลับนึกอยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน...” (เจ้าจอมมารดาน้อยเป็นหลานพระเจ้าตากสิน) จึงไม่ยอมยกโทษให้ เจ้าจอมมารดาน้อยผู้นั้นต้องติดคุกสนมจนตายไม่ทราบว่าติดคุกสนมจนตายจริงหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 20:28

ไม่ค่ะ  จากนั้นพระราชโอรสที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาน้อย จำไม่ได้แล้วว่าเป็นพระองค์ใหญ่หรือพระองค์รองก็ไปกราบถวายบังคมขอพระราชทานอภัยโทษ   ก็โปรดเกล้าฯพระราชทานให้ตามนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.108 วินาที กับ 19 คำสั่ง