เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 16908 ว่าด้วยโล่ และตราต่างๆ
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 23 ม.ค. 04, 19:13

 ในกระทู้นิทานชาลมาญ คุณบัวดินถามถึงเรื่องโล่ของอัศวินยุคกลาง ซึ่งต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นตราประจำตระกูลขุนนาง ตราประจำราชวงศ์ ตราแผ่นดิน ตราเมือง ฯลฯ

เรื่องนี้ยาว มีรายละเอียดมาก เป็นวิชาศึกษาได้ 1 วิชาเลยครับ

ขอเล่าอย่างย่นย่อมากๆ ว่า ในสมัยโบราณในเมืองฝรั่งนั้น ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิถืออาวุธ คนที่ถืออาวุธได้มีแต่พวกอภิสิทธิชน คนจนไม่มีสิทธิ์ ที่ไม่มีสิทธิ์นั้นนอกจากเป็นเรื่องชนชั้นศักดิ์ศรีแล้วยังเป็นเรื่องสตางค์ด้วย เพราะเครื่องรบพร้อมทั้งโล่ดาบหอก หมวกเกราะเสื้อเกราะทั้งของตัวเองและของม้า รวมแล้วก็หลายเงินอยู่ ขนาดสเปอร์ คือเดือยรองเท้าสำหรับกระตุ้นม้านั้น บางคู่ก็ทำด้วยเงินหรือทองซะแล้ว ชาวไร่ชาวนาฝรั่งจนๆ จึงไม่มีสิทธิ์อย่างว่า มีแต่อัศวินและเจ้านายจึงจะมีอาวุธได้

เวลาอัศวินแต่งเครื่องรบใส่เกราะนั้น บางทีก็ดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร ดังนั้นจึงเกิดมีธรรมเนียมทำเครื่องหมายให้เห็นว่าใต้เกราะลงไปนั้นมีใครอยู่ เช่นเป็นธง หรือทาสีทำลวดลายที่โล่ ใครเห็นเข้าก็รู้ว่าอ้อนี่เซอร์อะไร สมมติว่าอัศวินคนนั้นกล้าหาญฝีมือดี คู่ต่อสู้เห็นแค่เครื่องหมายที่โล่ก็ระย่อเสียก่อนแล้ว เป็นการข่มขวัญทางจิตวิทยาได้ด้วย (ถ้าผมเป็นอัศวิน คู่ต่อสู้เห็นเครื่องหมายที่โล่ว่าเป็นอีตาเซอร์นิลกังขา หมูสนามนี่เอง ก็คงจะยิ้ม...)

ออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง อัศวินฝรั่งใส่หมวกเกราะแต่ก่อนนี้ก็ไม่ถึงกับปิดหน้าตาหมด เช่นหมวกนักรบโรมันนั้นยังเห็นหน้ากันอยู่ แต่มาในสมัยหลังปิดหน้าหมดเหลือแต่ช่องลูกตาที่ทำเป็นหน้าต่างเปิดปิดได้ พอปิดหน้าต่างที่หน้าแล้วแม้ตัวเองจะมองลอดออกมาได้ คนอื่นก็ไม่เห็นเลยว่าเป็นใคร (หน้าต่างที่หมวกเกราะนี่เรียกว่า visor) เขาว่ากันว่าที่ทหารปัจจุบันทักทายกันด้วยการตะเบ๊ะหรือทำวันทยหัตถ์ คือเอาฝ่ามือขวาแตะกระบังหมวก นั้น ทฤษฎีหนึ่งบอกว่าสืบมาแต่สมัยที่อัศวินฝรั่งยังใส่หมวกเกราะปิดหน้าอยู่ เมื่อเจอทหารอีกคนหนึ่งอยากจะรู้ว่าเป็นใคร ใช่ศัตรูรึเปล่าก็ต้องเอามือดัน visor ของตนเปิดขึ้น ทหารฝรั่ง (และทหารทั่วโลก) จึงเลยติดเป็นนิสัยเมือเจอทหารด้วยกันก็ต้องเอามือขวาดันกระบังหน้า เมื่อกระบังหน้าไม่มีเสียแล้วเพราะเลิกใส่เกราะแล้ว ก็เลยแตะกระบังหมวกแทน บางคนบอกด้วยว่าที่แบมือตะเบ๊ะก็เพื่อให้เห็นว่าไม่มีอาวุธ (ทหารอังกฤษและฝรั่งเศสตะเบ๊ะไม่เหมือนทหารไทยและอเมริกัน ทหารเราตะเบ๊ะโดยแบมือก็จริง แต่คว่ำฝ่ามือลง ทหารอังกฤษแบมือ และตะเบ๊ะทั้งมือแบ เปิดฝ่ามือเข้าหาผู้ถูกตะเบ๊ะ)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 19:47

 ต่อนะครับ

ลวดลวยที่โล่นั้นก็ทำเป็นรูปต่างๆ สีต่างๆ เดิมก็คงจะทำเป็นสีก่อน เช่น สีแดง สีขาว แดงสลับขาว หรือสีอื่นๆ มีทั้งที่เป็นลายริ้ว หรือแบ่งเป็นส่วนๆ (ที่เห็นบ่อยคือแบ่งโล่เป็นสี่ส่วนเรียกว่า quartering) มีรูปต่างๆ เติมเข้าไป เช่น คนสัตว์สิ่งของนกหนูปูปลาช้างม้าวัวควาย ฯลฯ พืชพรรณต่างๆ เครื่องหมายต่างๆ ตั้งแต่กางเขน ดาบ พิณ รูปปราสาท เรือใบ ฯลฯ

ต่อมาก็ไม่ใช่เฉพาะแต่โล่อย่างเดียวแล้ว เริ่มเอาโล่มาวางประกอบเข้ากับเครื่องรบอื่นๆ เห็นสวยดีก็ใช้เป็นตราต่อมา เช่น อาจจะมีโล่ (ที่มีเครื่องหมายประจำตัว) อยู่ตรงกลาง แล้วมีหมวกเกราะอยู่ข้างบน มีดาบหรืออาวุธยาวอื่นๆ วางประกอบ ถ้าเป็นตราของเจ้านาย หมวกเกราะก็เปลี่ยนไปเป็นมงกุฏ มีเครื่องหมายอื่นเพิ่มเข้ามาอีก เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นที่ภูมิใจก็เอารูปของอิสริยาภรณ์นั้นมาใส่เข้า มีการเพิ่มเสื้อคลุมหรือฉลองพระองค์ครุยของพระราชาเข้าไปเป็นฉากหลัง ทีนี้ศิลปะการออกแบบตราก็ชักจะสนุกสนานขึ้น เอาอะไรต่ออะไรมาวางประกอบกันได้มากมายหลายอย่างหนักขึ้น จนถึงกับเพิ่มรูปสิงสาราสัตว์หรือบางทีก็รูปคนคอยยืนประกอบสองข้างตรา เพิ่มคำขวัญเข้าไปใต้ตราอีกก็มี ตอนนี้ไม่ใช่วาดตราบนโล่อัศวินแล้วแต่เป็นตราที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นตราเลยทีเดียว

ตราต่างๆ นี้เมื่อเป็นตราของกษัตริย์ ก็ชักจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่ใช่แต่ตราของคนๆ หนึ่ง แต่เป็นตราของตระกูลหรือราชตระกูลทั้งวงศ์ สืบสิทธิ์กันได้ และถ้าเป็นของเจ้านายก็กลายเป็นตราของแผ่นดินอาณาจักรของเจ้านายองค์นั้น มีการวิวัฒนาการ เช่นว่า พ่อใช้ตรารูปอะไรอย่างหนึ่ง มีลูกแตกแขนงออกไป ลูกก็อาจเอาบางส่วนในตราพ่อมาใช้ประกอบในตราตัวเอง หรือบางทีพระราชาองค์หนึ่งไปได้ดินแดนเพิ่มขึ้นมา ก็ประกาศให้โลกรู้โดยเอาสัญลักษณ์ที่หมายถึงดินแดนใหม่ผนวกเข้าไปในตราประจำพระองค์หรือตราแผ่นดิน เมื่อเสียดินแดนไปก็ต้องปรับตราเหมือนกัน

เมื่อธรรมเนียมนี้กลายมาเป็นตราตระกูล บางทีก็มีการเล่นคำโดยผูกกับชื่อตระกูลหรือนามสกุล ให้มีความหมายใกล้ๆ กันหรือออกเสียงคล้ายกันก็มี เช่นตระกูล Harthill ในอังกฤษใช้ตราที่มีรูปหัวใจกับภูเขาอยู่ด้วย ในเมืองไทยเรา พระบรมราชวงศ์ "จักรี" ใช้พระราชสัญลักษณ์เป็นรูป "จักร-ตรี" ไขว้กัน ก็เป็นเรื่องของการคิดหารูปให้ตรงกับการออกเสียงเหมือนกัน ผมไม่ทราบว่าใช้มาตั้งแต่สมัยไหน ถ้าเริ่มใช้สมัยที่รับวัฒนธรรมฝรั่งแล้วก็เป็นไปได้ว่าได้ความนิยมเรื่องตราตระกูลเช่นนี้มาจากฝรั่ง ถ้าใช้มาก่อนก็แปลว่าเผอิญคิดคล้ายๆ กัน

แต่ตราแผ่นดินที่ใช้ในสมัย ร. 5 นั้นเห็นได้ชัดว่าได้ความคิดมาจากตรา Coat of Arms ฝรั่งแน่นอน ก่อนหน้านั้นเราก็ใช้ตรา เมืองจีนก็มีตรา แต่ตราประทับทางเอเชียเดิมไม่ได้ผูกกับโล่อัศวินฝรั่ง ตราของเราเป็นรูปเครื่องหมายอะไรก็ได้สุดแต่จะคิดขึ้น เช่นตราสามดวงก็เป็นราชสีห์ คชสีห์ บัวแก้ว  พระราชลัญจกรของไทยเดิมเป็นตราพระราชลัญจกรมหาโองการ (รูปตัวโอมในภาษาฮินดู) หงสพิมาน พระครุฑพ่าห์ หรือตราจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวหนังสือจีน ก้ไม่มีอะไรเป็นรูปโล่อัศวิน เพิ่งมาสมัยที่ ร. 5 ทรงเปิดประเทศพัฒนาสยามให้ทันกับตะวันตก ที่ได้รับสั่งให้ออกแบบตราแผ่นดินขึ้นใหม่เป็นแบบ Coat of Arms ฝรั่ง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 20:22

 ตราแผ่นดินเดิมสมัย ร. 5 ก่อนที่เราจะใช้ตราครุฑเป็นตราแผ่นดินในราชการเดี๋ยวนี้นั้น ถ้าใครนึกไม่ออกก็ขอให้นึกถึงตราหน้าหมวกตำรวจ เพราะเมื่อไม่ได้ใช้เป็นตราแผ่นดินแล้วตำรวจไทยก็เชิญตรานี้ไปประดับหน้าหมวกจนปัจจุบันนี้

ลักษณะตราแผ่นดิน เป็นรูปโล่อยู่ตรงกลาง แบ่งเป็นสามส่วน ส่วนบนของโล่เป็นรูปช้างสามเศียร หมายถึงสยามเหนือ สยามกลาง สยามใต้ ส่วนล่างของโล่แบ่งอีกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นรูปช้าง (ธรรมดา มีหัวเดียว) 1 เชือก หมายถึงประเทศราชทางลาว ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาเขต อีกส่วนหนึ่งเป็นรูปกริช 2 เล่มไขว้กัน หมายถึงประเทศราชทางหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งตอนนั้นยังขึ้นกับไทยเหมือนกัน

เบื้องบนขึ้นไปจากโล่ มีพระมหาพิชัยมงกุฏเปล่งรัศมีอยู่ (มงกุฏไทยไม่ใช่มงกุฎทรงฝรั่ง แต่ความคิดเดียวกัน) มีตราพระราชวงศ์จักรีอยู่ใต้มหามงกุฎ มีพระมหาเศวตรฉัตรอยู่สองข้างมงกุฏ และมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชาของราชบัลลังก์สยามประกอบอยู่รอบๆ

เบญจราชกกุธภัณฑ์นั้นมีห้าอย่าง หรือถ้าถามผมก็ว่าห้าอย่างครึ่ง เพราะไม่แน่ใจว่ามันห้าหรือหกอย่างกันแน่ อย่างแรกคือพระมหาพิชัยมงกุฏ อย่างที่สองคือพระแสงขรรค์หรือดาบ อย่างที่สามคือธารพระกรคือไม้เท้า ทั้งพระแสงดาบและไม้เท้านี้ไขว้กันประกอบอยู่สองฟากของโล่ เห็นแต่ด้าม อย่างที่สี่และสี่ครึ่งที่จริงเป็นสองอย่าง แต่โบราณท่านนับเป็นอย่างเดียวกัน คือที่บาลีเรียกว่าวาลวีชนี ซึ่งแปลออกมาได้เป็นสองอย่างคือพระแส้ปัดขนจามรีก็ได้ พัดก็ได้ ไม่แน่ใจว่าคืออะไรแน่ เพื่อให้ปลอดภัยโบราณท่านก็เลยสร้างไว้ทั้งสองอย่าง แต่เวลานับ นับเป็นอย่างเดียว อย่างที่ห้าคือฉลองพระบาทหรือรองเท้าเชิงงอน เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบของตราอาร์มแผ่นดินทั้งสิ้น อยู่รอบๆ โล่

สองฟากตรามีราชสีห์คชสีห์ประคองตรา ซึ่งเป็นความคิดฝรั่งเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยแทนที่จะเป็นสิงโตกับยูนิคอร์น หรือมังกรในนิยายฝรั่ง ก็เป็นสัตว์ในนิยายไทยของเราเอง ซึ่งเคยอยู่ในตราเก่าของเราเอง

รอบโล่ตราแผ่นดินมีรูปสายสังวาลย์นพรัตน์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงมากตระกูลหนึ่ง (คล้ายๆ กับรูปสายเข็มขัดในตราแผ่นดินอังกฤษ ซึ่งมุ่งให้หมายถึงอิสริยาภรณ์ตราการ์เตอร์) ล่างลงมาเป็นสายสร้อยในเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์ชั้นสูงอีกตระกูลของเมืองไทย สถาปนาโดยในหลวง ร. 5 เอง

พื้นหลังของตราเป็นรูปฉลองพระองค์ครุย คลี่คลุมโล่หรือตราอยู่ เอาแบบมาจากพื้นหลังตราฝรั่งที่เป็นรูปผ้าคลุมหรือเสื้อคลุมเหมือนกัน

ล่างสุดเป็นแถบแพรหรือแถบริบบิ้น ในตราฝรั่งก็จะเป็นคำขวัญภาษาละตินบ้าง หรือภาษาอื่นๆ ของเราเป็นพระคาถาภาษาบาลี  
แปลว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ยังให้เกิดความเจริญ

นี่แหละครับ ตราอาร์มของไทยที่เทียบได้กับตราอาร์มของฝรั่ง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 20:32

 ลากตราโล่ฝรั่งมาขึ้นเรือนไทยได้แล้ว ขอแถมครับ

คำว่า โล่ นั้นพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ บอกว่าคือ "เครื่องปิดป้องศาัตรวุธอย่างหนึ่งมีรูปร่างต่างๆ เช่น โล่ดั้ง โล่เขน" แปลว่าโล่เป็นคำรวม จะรูปอะไรก้ได้

โล่มีแยกย่อยลงไปตามรูปร่างของโล่ เช่น เขน พจนานุกรมบอกว่าเป็น "เครื่องมือสำหรับป้องกันอาวุธ รูปสีเหลี่ยมผืนผ้า" ดั้ง เป็น "เครื่องถือสำหรับป้องกันอาวุธ รูปคล้ายกาบกล้วย"
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 20:47

 ในเมืองไทย นอกจากตราแผ่นดินเก่าสมัย ร. 5 ที่เป็นตราอาร์มแบบโล่แล้ว ตราประจำกรมตำรวจเดิมหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นรูปโล่ แต่จะได้มาจากฝรั่งหรือมาอย่างไรก็ไม่ทราบ

ตราโล่ของตำรวจเป็นโล่กลม มีดาบขัดอยู่ 1 เล่ม ถ้าคิดถึงหน้าที่เดิมของตำรวจตั้งแต่สมัยโบราณที่คอยอารักขาพระเจ้าแผ่นดินในกระบวนเสด็จแล้ว ก็น่าเชื่อว่าจะมาจากความคิดเดิมของไทยเราเอง หน้าตาทั้งโล่ทั้งดาบดูเป็นไทยๆ มากครับ ถ้าสมมติว่าผู้ออกแบบได้รับอิทธิพลฝรั่งจริงๆ ก็สามารถออกแบบให้กลมกลืนเป็นไทยได้ดีทีเดียว

ตราของทหารไทยไม่ยักกะเป็นรูปโล่หรือตราอาร์มแบบฝรั่ง ทหารบกเป็นจักรอยู่ใต้พระมหามงกุฏมีช่อชัยพฤกษ์รองรับ ทหารเรือเป็นสมอใต้มงกุฎมีช่อชัยพฤกษ์เหมือนกัน และทหารอากาศก็เป็นปีกคู่หนึ่งภายใต้มหามงกุฎมีช่อชัยพฤกษ์ด้วย มงกุฎในเครื่องหมายสามเหล่าทัพนั้นแปลว่ากองทัพเป็นกองทัพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย

ธรรมเนียมการมีตัวอะไรอยู่สองข้างตราที่เป็นธรรมเนียมฝรั่งนั้น ยังปรากฏอีกที่หนึ่งในตราเมืองไทย คือตราของสำนักนายกรัฐมนตรี รูปตราราชสีห์คชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ ราชสีห์นั้นแทนราชการฝ่ายพลเรือน เพราะเป็นตราของสมุหนายก (และเดี๋ยวนี้เป็นตรามหาดไทย) ส่วนคชสีห์แทนราชการฝ่ายทหาร เพราะเป็นตราขของสมุหพระกลาโหม แต่สำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลจำเป็นต้องสั่งได้ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทั้งนี้ โดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 21:48

 ตราแผ่นดินเมืองฝรั่ง หรืออีกหลายประเทศหลายดินแดนที่ไม่ใช่ฝรั่งในปัจจุบันก็วิวัฒนาการมาจากตราบนโล่อัศวินฝรั่งเดิม

ตราแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเป็นรูปนกอินทรีกางปีก แต่ก็มีโล่อยู่ด้วยตรงกลางตัว รูปร่างลวดลายบนโล่นั้นประกอบด้วยดาวขาวบนพื้นนำ้เงินและแถบสีแดงกับขาวสิบสามแถบ คล้ายบนธงชาติ มุ่งหมายถึงอาณานิคม 13 รัฐที่มารวมหัวกันก่อกบฏต่ออังกฤษก่อนเพื่อนและกลายเป็นรัฐดั้งเดิม 13 รัฐของสหรัฐฯ มีคำขวัญบนแถบแพร ทำนองเดียวกับทางยุโรป ของสหรัฐฯ ว่า E Pluribus Unum แปลว่า จากหลาย (รัฐ) รวมกลายเป็นหนึ่ง

ในกรงเล็บข้างหนึ่งของนกอินทรีหนีบกิ่งโอลีฟหรือมะกอก หมายถึงความปรารถนาที่จะดำรงสันติภาพ แต่อีกข้างหนึ่งหนีบลูกศร แปลว่าถ้าจำเป็นก็รบได้เหมือนกัน

อำนาจทั้งในยามสงครามและสันติภาพ ราชการทหารกับพลเรือน นี่เป็นความคิดที่ปรากฏในตราประเทศหลายแห่งทั้งสมัยเก่าและใหม่ ของเราก็มีทั้งราชสีห์และคชสีห์ ตราแผ่นดินบางประเทศมีรูปช่อโอลีฟข้างหนึ่ง กิ่งโอ๊กอีกข้างหนึ่ง หมายความว่าพร้อมจะมีสันติแต่ก็พร้อมที่จะใช้กำลังด้วย (ต้นโอ๊กฝรั่งถือว่าหมายถึงความแข็งแกร่ง)
 
ของมาเลเซียก็ใช่ มีโล่ตรงกลางแบ่งเป็นส่วนๆ หมายถึงดินแดนต่างๆในประเทศ บนสุดมีรูปดาวเดือน สองข้างโล่มีเสือเหลืองยืนประคองโล่อยู่สองตัว ข้างล่างเป็นแถบแพรคำขวัญ ตรงตามศาสตร์แห่ง Heraldry ของฝรั่ง

ในแอฟริกาก็มีหลายประเทศที่เมื่อได้รับอิสรภาพแล้วก็ออกแบบตราแผ่นดินใหม่ของตนขึ้นแต่โดยอาศัยกติกาตามวิชาออกแบบตราอาร์มฝรั่ง สัตว์ที่ยืนประคองสองข้างก็เป็นเลียงผาบ้าง ช้างบ้าง คนหรือนักรบเผ่าต่างๆบ้าง ไปตามอัธยาศัย

ของฮ่องกงเดิมข้างหนึ่งของโล่เป็นสิงโตอังกฤษ อีกข้างหนึ่งเป็นมังกรจีนยืนประคองโล่ บนยอดโล่มีสิงโตอังกฤษตัวเล็กอีกตัวใส่มงกุฏอังกฤษกำกับอยู่ แต่พอฮ่องกงกลับเป็นของจีน รัฐบาลจีนเขาไม่รับเรื่องตราแผ่นดินตามธรรมเนียมฝรั่ง ตราประจำเขตฮ่องกงจึงไม่ได้เป็นรูปโล่อีก แต่เป็นรูปดอกชงโคห้ากลีบ แต่ละกลีบบางทีก็เห็นมีดาว รวมห้าดวง เหมือนกับจะเอาอย่างมาจากธงชาติจีน ซึ่งมีดาวห้าดวงเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ม.ค. 04, 13:43

 มีเรื่องเพิ่มเติมนิดหน่อยครับ

- ตราประจำโรงเรียนพ่อมดของแฮรี่ พ็อตเตอร์ นั้น ก็ออกแบบโดยใช้หลักในศาสตร์ Heraldry คือเป็นรูปเหมือนโล่ แต่ถ้าจะว่ากันจริงๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นแ่ผ่นหนังตัดเป็นรูปคล้ายโล่ ที่รู้ว่าเป็นแผ่นหนังหรือแผ่นผ้าตัดก็เพราะมีรอยม้วนอยู่ตรงชายขอบด้านบน บนแผ่นหนังรูปโล่นี่ แบ่งเป็นสี่ส่วนเรียกตามวิชา heraldry ว่าการ quartering แทนบ้านนักเรียนสี่บ้านของโรงเรียน มีรูปสัตว์สัญญลักษณ์ของแต่ละบ้านอยู่ในแต่ละช่องคือ สิงโต งู นกกา และตัวแบดเจอร์ มีตัวอักษร H แทนชื่อโรงเรียน ทับอยู่กลางรูปโล่

ใต้โล่มีแถบแพร เขียนคำขวัญของโรงเรียนเป็นภาษาละติน แปลว่า "อย่าแหย่มังกรหลับ" ไม่ทราบว่าฝรั่งเลียนแบบไปจาก "อย่าแหย่เสือหลับ" ของเราหรือเปล่า

- ตราอาร์มแผ่นดินของสยาม หรือเรียกเต็มยศว่า พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ที่ผมบรรยายมานั้น ใช้อยู่เพียงรัชกาลเดียว คือ รัชกาลที่ 5 พอลุถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ หรือตราครุฑที่เราเห็นปัจจุบันนี้เป็นตราแผ่นดิน พระครุฑ "พ่าห์" แปลว่าครุฑที่เป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์ พ่าห์ พาหะ พาหนะ รากเดียวกันครับ

- พระมหาสังวาลย์นพรัตน์ในรูปตราอาร์มแผ่นดินสยามนั้น มีคำอธิบายว่า หมายถึงพุทธศาสนาด้วย เพราะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนพรัตนวราภรณ์นั้น มีข้อกำหนดไว้ว่าจะพระราชทานแก่ผู้นับถือพุทธเท่านั้น

- พระราชวงศ์จักรีได้พระนามพระราชวงศ์มาตั้งแต่สถาปนา โดยถือตำแหน่งเดิมของ ร. 1 เป็นนิมิต เพียงแต่ผมเองยังไม่แน่ใจว่า ร. 1 ทรงกำหนดเครื่องหมายจักรและตรีประจำพระราชวงศ์ ตั้งแต่เริ่มสถาปนาพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ด้วยหรือเปล่า

- ร. 6 พระราชทานตราพระแสงเขนให้ราชการตำรวจใช้เป็นเครื่องหมาย คือรูปดาบ 1 เล่มขัดกับโล่กลม มีมาแต่สมัย ร. 6 ครับ แต่ผมยังสงสัยว่า ทำไมพจนานุกรมราชบัณฑิตจึงระบุว่า เขนเป็นโล่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในเมื่อตราพระแสงเขนนั้นมันเป็นรูปกลมชัดๆ ?
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ม.ค. 04, 13:58

 เกร็ดอื่นๆ ครับ

- ลัญจกรแปลว่า ตรา ตราประทับ เป็นคำภาษาแขกที่ไทยรับมา และเพื่อนบ้านเราก็รับมาด้วย เพราะเรียนมาจากครูเดียวกัน ผมเคยประสานงานเรื่องการมอบเหรียญตราหรือเครื่องอิสริยาภรณ์ที่รัฐบาลอินโดนีเซียเขาจะให้ทหารไทย ภาษาอินโดเรียก Satya Lencana Dhamma Nusa สัตยะแปลว่าสัตย์ ธรรมะก็แปลว่า ธรรม นุสา ภาษาเขาแปลว่าเกาะ เพราะเมืองเขาเป็นประเทศหมู่เกาะ ส่วน Lencana เขาบอกว่าเขาออกเสียง ลันจานา (e คำแรกออกเป็นสะอะเสียงสั้น c เขาออกเป็นตัว จ) ก็คือคำว่า ลัญจกร แปลว่าตรานั่นเอง

- ใครมีโอกาสไปเยี่ยมร้านนาฬิกาแพงหูฉี่ยี่ห้อคาร์เทียร์ ที่เมืองฝรั่งเมืองไหนก็ได้ (ที่ผมเห็นนั้นคือสาขาเจนีวา สาขาซูริกก็เคยเห็น) ขอให้สังเกตรูปตราอาร์มประจำราชวงศ์หรือตราประจำแผ่นดินหลายๆ อันที่ติดไว้บนผนังนอกร้าน จะเป็นตราของเจ้านายหรือกษัตริย์ที่เ้คยเป็นลูกค้าร้านเขาในอดีต บางตราก็ล้าสมัยแล้วเพราะราชวงศ์ฝรั่งนั้นๆ ล้มไปแล้วก็มี ในบรรดาตราฝรั่งต่างๆ นั้น มีตราอาร์มแผ่นดินของสยามสมัย ร. 5 อยู่ด้วย สงสัยว่าอาจจะเคยทรงซื้อของของเขามาแต่ครั้งนั้น ช่างฝรั่งทำตราเพี้ยนไปมาก แต่ยังพอดูออก สงสารราชสีห์คชสีห์สองข้างประคองตราหน้าตาเหมือนหมาจู หมดศักดิ์ศรีสีห์ไปเลย

ถ้าถามผมว่าทำไมผมจึงสนใจอะไรที่อยู่นอกร้านคาร์เทียร์นัก ก็ต้องสารภาพว่า เพราะของในร้านมันแพงเสียจนผมไม่กล้าเข้าร้านน่ะสิครับ...
บันทึกการเข้า
บัวดิน
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

แม่บ้าน


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ม.ค. 04, 19:53

 ขอบพระคุณคุณนกข มากๆ เลยค่ะ แต่ต้องกราบขอโทษทีที่เข้ามาอ่านช้า  มัวแต่ออกไปตะลอนๆ กับพรรคพวกค่ะ เดี๋ยวต้องกลับเข้ามาอ่านใหม่อีกรอบให้มันแจ่มและแจ้งกว่านี้  อ่านรีบๆ ไม่สนุก

อ้อ...มีข้อสงสัยค่ะ ดิฉันเคยอ่านหนังสือเรื่อง 'ศักดินา' ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ค่ะ  และตอนท้ายของหนังสือ  ดิฉันว่าเขาพิมพ์ผิดหรือเปล่า   ไม่คิดว่าท่านจะเขียนผิดแน่นอน! รู้สึกว่าพวก Heraldry หรือ National Emblem (สองอย่างนี่เรียกเป็นอย่างเดียวกันได้หรือเปล่าค่ะ?) ที่มันเป็นตราของแต่ละประเทศในสหราชอาณาจักรน่ะค่ะ จะสลับกันหมดเลย  ของสก็อตแลนด์  เป็นอังกฤษ  ของอังกฤษเป็นเวลส์ เคยคิดอยากจะติงไปทางสำนักพิมพ์  แต่ก็ไม่กล้าค่ะ นั่นมันประมาณ ๔ หรือ ๕ ปีมาแล้ว ไม่ทราบว่าใครมีหนังสือเล่นนั้นอยู่หรือเปล่าคะ? ถ้ามี แล้วมีความผิดพลาดจริงๆ ไม่ทราบว่ามีการแก้ไขพิมพ์ใหม่หรือยัง?

ถ้ามันผิดจริง ดิฉันก็ไม่อยากให้คนอ่านคนอื่นๆ เข้าใจผิดไปด้วยน่ะค่ะ  

เดี๋ยวมาอ่านใหม่นะคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ม.ค. 04, 09:20

 National Emblems / Heraldry/  Coat of Arms เป็นคำที่มีความหมายคาบๆ เกี่ยวๆ กันครับ แต่ไม่จำเป็นต้องตรงกัน

Heraldry กับ Coat of Arms เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมเข้าใจว่า Heraldry เป็นวิชาหรือศาสตร์และศิลป์แห่งการออกแบบ กำหนด และบรรยายลักษณะของ Coat of Arms ด้วยคำศัพท์ที่ตั้งกันเอาไว้เฉพาะ เช่น สีเขียว สีทอง ในตรา เขาไม่ได้ใช้คำภาษาอังกฤษธรรมดานะครับ แต่มีศัพท์ของเขาเป็นพิเศษของวงการ

ส่วนตราประจำชาติ นั้น หลายประเทศมีลักษณะเป็นตราแบบ Heraldry แต่หลายประเทศก็ไม่ได้ใช้ อย่างของไทยเรา ตราครุฑถือได้ว่าเป็นตราประจำชาติปัจจุบัน แต่ไม่ได้เป็นลักษณะตราตามศาสตร์แห่ง Heraldry แต่ตราประจำแผ่นดินเก่าของสยามสมัย ร. 5 นั่นเป็นตราประจำชาติที่ออกแบบโดยยึดตาม Heraldic tradition ตามกติกาของฝรั่งในวงการนี้ครับ

หนังสือฝรั่งศักดินาของอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น ผมก็เผอิญไม่ได้มีกับตัวตอนนี้เสียด้วย ถ้าคุณบัวดินเห็นข้อผิดพลาดในนั้น ผมก็ยุให้แจ้งสำนักพิมพ์เพื่อให้เขาแก้ไขครับ เขาน่าจะขอบคุณคุณบัวดินมากกว่าที่จะโกรธนะครับ

ผมทราบแต่ว่า สัญลักษณ์ประจำของอังกฤษเป็นสิงโตทองสามตัวตามแนวนอน และดอกกุหลาบที่เรียกว่ากุหลาบอังกฤษ ของสก็อตแลนด์เป็นสิงโตยืนหนึ่งตัว ดูเหมือนจะเป็นสิงห์ดำบนพื้นแดง มือ (ตีนหน้า) ของสิงโตถือดาบกับคทา และต้นตำแยหรือหมามุ่ยหรือพืชทำนองนั้นของฝรั่งเรียกว่า Thistles  ของไอร์แลนด์เป็นรูปพิณ กับใบโคลเวอร์สีเขียว ของเวลส์เป็นอะไรก็ลืมไปแล้วครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ม.ค. 04, 09:35

 สัญลักษณ์ของอังกฤษเป็นสิงห์สามตัวสีทองตามแนวนอนบนพื้นแดง ของสก็อตเป็นสิงห์แดงยืนหนึ่งตัวบนพื้นเหลืองครับ แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ สัญลักษณ์ของแคว้น มีอย่างอื่นอีก เช่น ตราดอกกุหลาบก็มุ่งให้หมายถึงอังกฤษ สัตว์ที่สก็อตแลนด์ใช้อีกตัว คือยูนิคอร์น

ของเวลส์ ยังหาไม่เจอะครับ

เมื่องอังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์มารวมกันเป็น "สหราชอาณาจักร" หรือก่อนนั้นเมื่ออังกฤษรวมกับสก็อตแลนด์ ตราประจำก็ปรับไปตามข้อเท็จจริงทางการเมืองโดย merge ตราของแต่ละแคว้นเข้าด้วยกัน ในปัจจุบันตราของสหราชอาณาจักรมีสัตว์ขนาบข้าง ข้างหนึ่งเป็นสิงโตอังกฤษ อีกข้างเป็นยูนิคอร์นสก็อต มีรูปต่างๆ ที่แสดงถึงอาณาจักรทั้งสี่ (แม้ไอร์แลนด์จะหลุดออกไปเป็นประเทศอิสระเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ไอร์แลนด์เหนือเป็นของอังกฤษอยู่นิดเดียว แต่บนตราก็ยังมีรูปพิณไอริชอยู่)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ม.ค. 04, 10:04

 สัตว์สัญลักษณ์ของเวลส์ คือมังกรแดงครับ (มังกรฝรั่งไม่ใช่มังกรจีน !) มีรูปมังกรแดงอยู่ในตราประจำตำแหน่งรัชทายาทอังกฤษ หรือ Prince of Wales ด้วย

เมื่อพูดถึงมังกรของเวลส์แล้ว ก็อดนึกถึงพระเจ้าอาร์เธอร์ไม่ได้ เรามักนึกถึงพระเจ้าอาร์เธอร์และอัศวินโต๊ะกลมของพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์แห่ง "อังกฤษ" ที่จริงตามเรื่องนิทานเดิมพระเจ้าอาร์เธอร์มาจากส่วนหนึ่งของเกาะอังกฤษโดยเฉพาะ คือจากแคว้นเวลส์

อาเธอร์เป็นลูกของอูเธอร์ และมีนามสกุลว่า "เพนดรากอน" ถ้าจำไม่ผิดในนิทานมีพูดถึงมังกรตอนอาร์เธอร์เกิด หรืออะไรทำนองนั้นด้วย

ชื่อ Arthur ว่ากันว่าเป็นภาษาเวลช์เก่า มาจาก Artos ในภาษาเวลช์โบราณว่าแปลว่า หมี ชื่ออาร์ตอสนี้ผมสงสัยว่าจะเป็นชื่อเดียวกับที่ ต่อมาอีกหลายร้อยปี อะเล็กซองดร์ ดูมาส์ นักประัพันธ์ฝรั่งเศส เอาไปใช้เป็นชื่อ 1 ใน 3 ทหารเสือของเขา
บันทึกการเข้า
บัวดิน
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

แม่บ้าน


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ม.ค. 04, 01:47

 ขอบพระคุณคุณนกข.อีกครั้งนะคะที่อธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งขนาดนี้  คนที่ความรู้น้อยอย่างดิฉันก็เลยไม่มีปัญหามาถามต่อ...มากนักในตอนนี้ค่ะ

เรื่องหนังสือเรื่องฝรั่งศักดินานั้น  ตอนนี้ดิฉันไม่ได้มีอยู่ในมือเหมือนกันค่ะ  ดิฉันซื้อไว้สองเล่ม เล่มหนึ่งอยู่ที่ภาคใต้ของไทย ส่วนอีกเล่มหนึ่งอยู่ที่บ้านที่สก็อตแลนด์  ตอนนี้อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็เลยไม่สามารถเปิดเช็คดูได้ว่ามีความผิดพลาดตรงไหน  และอย่างไร  อ่าน ๔ - ๕ ปีมาแล้ว ก็แอบเอาดินสอวงๆ ทำเครื่องหมายเอาไว้ค่ะ  ถ้าหากว่ามีโอกาสเข้าใกล้อีกล่ะก็จะลองติดต่อกับทางสำนักพิมพ์ดูค่ะ

 
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ม.ค. 04, 11:29


พูดถึงตรากองทัพ ต้องไม่ลืมอุณาโลมนะครับ สำคัญขนาดความเป็นความตายของประเทศทีเดียว
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ม.ค. 04, 20:38


ขอบคุณผู้อาวุโสครับ
ลองแปะภาพ "พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน" องค์เดิมสมัย ร. 5 หรือตราอาร์มแผ่นดิน เพี้ยง- ขอให้แปะสำเร็จ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง