เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 43472 "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 15 ม.ค. 04, 15:44

 เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องยืดยาวเกือบจะเท่ารามเกียรติ์   เป็นเรื่องที่ชุมนุมตัวละครสำคัญๆที่สุดของพระเจ้าชาลมาญ

เนื้อเรื่องยืดยาวเป็นมหากาพย์นี้   ไม่ว่าของกรีกอย่าง ”อีเลียด”ของกวีโอเมอร์    “รามายณะ”ของอินเดีย  “ รามเกียรติ์” และ “อิเหนา”ของไทย   มักมีข้อใหญ่ใจความตรงกันในข้อหนึ่ง
คือ มีนักรบผู้แกล้วกล้ามาชุมนุมกันจำนวนมาก  แบ่งเป็นปรปักษ์  เข้าห้ำหั่นกันด้วยการยุทธเพื่อชิงนาง     โดยมีหญิงงามหนึ่งเดียวอยู่ตรงกลาง  
นางเป็นต้นเหตุวิบัติในชะตากรรมของเหล่านักรบพวกนั้น

พระเจ้าชาลมาญกับเหล่าอัศวินได้ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน  เริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม   เป็นช่วงงานเทศกาลใหญ่ทางคริสต์ศาสนา
ราชสำนักกำลังคึกคักกับงานใหญ่โตเอิกเกริก    ราชสหายล้วนมาเฝ้าพระเจ้าชาลมาญกันพร้อมหน้า  เช่นท้าวกรันโดนิโอจากสเปน  เฟอโรชาวสาระเซ็นแต่ว่ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าชาลมาญ     ดยุคนาโม ผู้เป็นที่ยกย่องนับถือแห่งราชสำนักรองจากพระราชา
 โอลันโดและรินัลโดอัศวินเอกแห่งราชสำนัก  อัสตอลโฟ อัศวินรูปหล่อชาวอังกฤษ  มาลากิกี้ผู้ขมังเวทย์    และกาโนแห่งมากานซา จอมประจบสอพลอที่พระเจ้าชาลมาญโปรดปราน  หาทรงทราบไม่ว่าบุคคลนี้คิดคดทรยศกับพระองค์อยู่ทุกขณะจิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 15 ม.ค. 04, 16:00

 ฉับพลันก็มีขบวนคนแปลกหน้า  เข้ามาท้องพระโรง ทำให้ทุกคนเหลียวไปมองเป็นตาเดียวกัน
  คือยักษ์มหึมาสี่ตน  ห้อมล้อมเป็นองครักษ์นางงามผู้หาหญิงใดเปรียบปานมิได้คนหนึ่ง    มีอัศวินอีกคนหนึ่งติดตามมาคล้ายผู้พิทักษ์ประจำตัวนาง
นางผู้นี้ถ้าจะยืมคำชมโฉมนางบุษบามาบรรยาย ก็จะไม่เกินจริง
   อันนางโฉมยงองค์นี้
   เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า
   นวลละอองผ่องพักตร์โสภา
   ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน
   พระเจ้าชาลมาญ  และข้าราชการสำนักทั้งหลายก็ตกตะลึง งงงวยไปกับโฉมนางจนลืมตัวกันทุกคน
นางงามหยุดอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าชาลมาญ   ถวายคำนับอย่างแช่มช้อย  แม้แต่ผู้ที่หัวใจหินที่สุดก็ยังหวั่นไหว     แล้วนางก็กล่าวคำกราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำสละสลวย ตระเตรียมมาแล้วอย่างดี
ข้าแต่พระองค์ทรงชัย......ทั่วด้าวแดนไกล........ระบือลือเลื่องพระนาม
แม้ดินแดนสุดเขตคาม......อาณาจักรนาม....."คาเธ่ย์"รู้จักราชา
ข้าเจ้าหญิงแอนเจลิกา......พร้อมด้วยเชษฐา........อัศวินผู้มาด้วยกัน
เดินทางมาเฝ้าราชันย์.......หวังบังคมคัล.......และท้าประลองกีฬา
โรมรันระหว่างพี่ข้า.........และชายผู้กล้า.....   แห่งราชสำนักท้าวไท
หากอัศวินผู้ใด..........แพ้พ่ายปราชัย..........   จักตกเป็นเชลยบัดดล
ถ้าชนะโปรดได้ยินยล........พี่ข้าอวยผล.......มอบข้าเป็นบริจาริกา
ขอเชิญพวกท่านออกมา....สู่สนามกีฬา........   ณ ลานชายป่าใกล้กรุง
เก้านาฬิกาวันพรุ่ง........ขอได้โปรดผดุง......   ศักดิ์ศรีระหว่างสองเรา"

ชื่อของนางงามตัวเอก ฝรั่งเขียนว่า Angelica   หมายถึงนางที่งามประหนึ่งเทพธิดา      น.ม.ส. ทรงแปลงเป็นสำเนียงไทยๆ ว่าอัญชลิกา    
ในเรื่องนางบอกว่าเป็นเจ้าหญิงมาจากอาณาจักรคาเธ่ย์  ซึ่งเป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกอาณาจักรจีน
 กวีฝรั่งโบราณผู้แต่งเรื่องตอนนี้ คงได้ยินชื่อประเทศตะวันออกอย่างมากก็จีนกับอินเดีย   และคงไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไรด้วย     ในตอนจบของเรื่องจึงกลับไประบุว่านางแอนเจลิกามาจากอินเดีย

      นางแอนเจลิกากล่าวจบก็คุกเข่าลงรอฟังพระราชโองการ     เปิดโอกาสให้ชายทั้งหมดได้พิศโฉมนางได้เต็มตา  เพื่อจะยิ่งงวยงงหลงใหลหนักเข้าไปอีก

       โอลันโดเองพอได้ยินว่าใครก็ตามที่ประลองยุทธชนะพี่ชายแล้วจะได้เจ้าหญิงเป็นรางวัล ก็แทบจะยับยั้งใจไว้ไม่อยู่   ร่ำๆจะเผ่นเข้าไปรับคำท้าเสียเดี๋ยวนั้น        
ชายทุกคนในห้องนั้นก็คึกคักกระวนกระวายไปตามๆกันจะเข้าประลองยุทธชิงนาง   ไม่เว้นแม้แต่ท้าวนาโมผู้ชรา  หรือแม้แต่พระเจ้าชาลมาญเองก็ทรงขยับๆจะเข้าสู้เองเสียอีกองค์

ทุกคนจ้องนางไม่กระพริบตา      ยกเว้นผู้วิเศษมาลากิกี้ หยั่งรู้ด้วยญาณว่านางงามแปลกหน้าผู้นี้ไม่ได้พูดความจริง  ก็คิดจะสืบหาข้อเท็จจริงและปราบนางเสียให้ราบคาบที่บังอาจเข้ามาลูบคมถึงราชสำนัก

พระเจ้าชาลมาญเพลินชมโฉมนาง ก็พยายามหน่วงเหนี่ยวนางเอาไว้ให้มีโอกาสได้ชมนานๆที่สุดเท่าที่จะทำได้   ด้วยการซักโน่นถามนี่ต่อไปอีกนาน  นางก็ตอบได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด

เมื่อถามจนไม่รู้จะถามอะไรอีกต่อไปแล้ว     พระเจ้าชาลมาญก็ทรงตอบตกลงให้ประลองยุทธกันได้ตามเงื่อนไขของนาง    นางแอนเจลิกากับพี่ชายก็ทูลลาออกจากท้องพระโรงไป  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 19 ม.ค. 04, 16:46

 รายงานตัวเข้าประจำที่ครับ

ระเบียบวาระที่ 1 แก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง

ผมพิมพ์ผิดไปหน่อยว่าเรื่องธรรมยุทธ มีอยู่ทั้งในประวัติศาสตร์และ "โบราณคดี" (คห. ที่ 53) ตั้งใจจะเขียนว่า วรรณคดี ครับ

ผมอ้างพระราชนิพนธ์ สังข์ทอง ผิดไปหน่อย ที่ถูกต้อง "ให้พระยาสามนต์คนดี มาตีคลีพนันกันกลางสนาม..." อ้อ ผมเรียนมาว่าพ่อตาพระสังข์ชื่อสามล พ่อตัวพระสังข์ชื่อยศวิมล แต่เพิ่งทราบว่าจริงๆ แล้ว ร.2 ท่านแต่งให้ชื่อ สามนต์ครับ ทำไมในหนังสือเรียนจึงเป็นสามลก็ไม่ทราบได้ หรือชื่อ ยศวิมล จะจูง สามนต์ ให้กลายเป็น สามล ไปก็ไม่รู้?

ระเบียบวาระ 2 คุยกับเพื่อนร่วมห้องเรียน

ตอบคุณบัวดิน โล่ พจนานุกรมว่าไม่ต้องใส่ ห์ ครับ นมส. ท่านทรงอธิบายว่า ถ้าเขียน โล่ห์ จะกลายเป็นว่าโล่ต้องทำด้วยโลหะเสมอ แต่ที่จริงโล่ทำด้วยอย่างอื่นก็ได้ (เช่นหนังสัตว์) คำถามของคุณบัวดิน ตอบยากเป็นบ้า มีทางเดียวที่จะรู้ได้คือจุดธูปถามกวีฝรั่งที่เล่าเรื่องนี้ ซึ่งตายไปหลายร้อยปีแล้ว ว่าทำไมดาบวิเศษดูรินดานาฟันผ่าโล่ (ไม่ได้ผ่าเสื้อเกราะครับ) เข้าไปได้ครึ่งโล่ แล้วก็ติดแหง็ก- อยู่แค่นั้น น่าจะฝานโล่ผ่าเป็นสองเสี่ยงได้เลยถ้าวิเศษจริง โดยที่กวีคนแต่งเรื่องตายไปซะแล้ว ผมก็เลยต้องเดาว่า ถ้าดาบวิเศษมันวิเศษเกินไป โอลันโดหรือโรลันด์ก็ต้องชนะ ฆ่าเพื่อนรักแต่เด็กจนได้โดยไม่รู้กัน เรื่องก็จะไม่แฮปปี้เอนดิ้ง จึงต้องลดความวิเศษลงชั่วคราว ให้ติดกับโล่ของโอลิเวอร์จะได้ใช้ไม่ได้ต้องทิ้งอาวุธเข้าปล้ำกัน ส่วนทำไมดาบวิเศษถึงวิเศษน้อยลงได้นั้น ถ้าไม่โยนไปที่คนแต่ง ผมก็ต้องโยนไปที่พระเจ้า อย่าลืมว่าการรบคราวนี้ นิทานว่าเป็นการธรรมยุทธเสี่ยงทาย แพ้ชนะัให้พระเจ้าตัดสิน พระเจ้าคงไม่ทรงประสงค์ให้โรลันด์ชนะโอลิเวอร์ เลยบันดาลให้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าซะอย่างบันดาลได้ทั้งนั้นครับในจักรวาลของพระองค์

เรื่องอาร์เธอร์ชักดาบจากหินนั้น คนแต่งเขากำหนดเงื่อนไขไว้อีกอย่างนี่ครับ ก็ชักออกได้ เป็นคนแต่งซะอย่าง แต่งได้ทุกอย่างในนิทานของตัวครับ

เรื่องโล่ที่กลายเป็นตราตระกูลไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเล่าก็เล่าได้ยาวครับ สนุก มีวิชาศึกษาเรื่องนี้เฉพาะเลย มีตำราเป็นเล่มๆ

เอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนิทานของเรามาฝากหน่อยหนึ่งก่อน ตราประจำตัวโรลันด์หรือโอลันโดนั้นเป็นโล่ที่แบ่งเป็นสี่ส่วน สีขาวสองส่วน สีแดงสองส่วนวางสลับทะแยงกัน ว่ากันว่าสมัยโอลันโดเป็นเด็กอยู่ถ้ำนั้น ยากจนมากจนแทบไม่มีผ้านุ่ง แต่เนื่องจากเป็นหัวโจกของเด็กแถวนั้น เด็กๆ รัก วันหนึ่งลุกสมุนในแก๊งค์เด็ก 4 คน ก็เอาผ้ามาให้ 4 ชิ้น แต่ไม่ได้นัดกันต่างคนต่างเอามาก็เลยได้สีแดงสองชิ้นสีขาวสองชิ้น ถ้าตัดออกมาเป็นเสื้อคงตลกพิลึก แต่โอลันโดก็ชอบและขอบใจในน้ำใจ ต่อมาจึงใช้ลักษณะสีสลับแบบนี้เป็นเครื่องหมายประจำตัวเมื่อเป็นอัศวิน  

ตอบผู้อาวุโสถาวภักดิ์ กำลังจะถึงวันที่ 25 ม.ค. วันกองทัพไทย อีกแล้วครับ มีคนตั้งประเด็น (คุณสุจิตต์ วงศ์เทศคนหนึ่งละ) ว่า ที่จริงคำนวณจริงๆ แล้ว วันที่พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น คือ 18 ม.ค. ต่างหากไม่ใช่ 25 ม.ค. คุณถาวภักดิ์ไม่ตั้งกระทู้เรื่องนี้หรือครับ? ผมจะไปแจม

ระเบียบวาระ 3 จูงประเด็นนิทานของคุณเทาชมพูออกนอกเรื่อง
(ตามเคย)

ยังค้นไม่เสร็จครับ แต่ตั้งใจว่าจะมาแจมหรือชวนคุยเข้าซอยเรื่องคาเธ่ย์ (ซึ่งไม่ใช่โรงหนัง) อันเป็นเมืองจีนของอันเจลิกากงจู่ ในความนึกฝันของนักฝันฝรั่ง ไม่ใช่เมืองจีนจริง เดี๋ยวจะมาคุยต่อครับ
บันทึกการเข้า
บัวดิน
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

แม่บ้าน


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 19 ม.ค. 04, 18:06

ขอบระคุณอาจารย์เทาชมพูกับอาจารย์นกข.มากค่ะ  ภาษาไทยขึ้นสนิมเกือบหมดแล้วค่ะ  บางทีนึกแทบแย่  ก็ยังนึกไม่ออกว่าเขียนยังไง  ไม่ได้ฝึกฝนหรือใช้มันบ่อยเข้า  ประกอบกับความจำถดถอย  ก็เลยเริ่มลงคูค่ะ  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 21 ม.ค. 04, 13:36

 มาต่อครับ ชักใบให้เรือเสียเรื่องคาเธ่ย์

ก่อนอื่น ตำนานต่างๆ เกี่ยวกับชาลมาญนั้น คงจะได้เล่ากันมาตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่หรือหลังสิ้นพระชนม์ไม่นาน คือราวๆ ค.ศ. 800 เศษ หรือ 1200 ปีมาแล้ว แต่เพิ่งได้มีการรวบรวม เรียบเรียงและร้อยกรองขึ้นเป็นตำนานเรื่องใหญ่โดยจินตกวีอิตาเลียนหลายคนในคริสตศตวรรษที่ 15

ในการแต่งตำนานขึ้นมาใหม่ประมาณ 300 ปีหลังจากที่บุคคลในตำนานนั้นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ฝรั่งผู้แต่งก็อาศัยเค้ามูลในประวัติศาสตร์จริงบ้าง นิทานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นที่ตกทอดมาบ้าง หยิบเอาพล็อตมาจากนิทานหรือตำนานอื่นๆ เช่น เทพนิยายกรีกโรมันมาใส่บ้าง เอาเค้าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่เป็นคนละยุคสมัยกับสมัยชาลมาญ รวมทั้งความรู้หรือมุมมองเกี่ยวกับภูมิศาสตร์โลกในสมัยของกวีผู้แต่งเองมาผสมเข้าบ้าง และจินตนาการเอาเองหรือแต่งเพิ่มขึ้นเองให้สนุกสนานเข้าไปอีกบ้าง

กลายเป็น ”ยำใหญ่ใส่สารพัด”
 
เรื่องชื่อของอาณาจักรจีนในนิทานชุดนี้ก็เหมือนกัน ชื่อ คาเธ่ย์ นี้เป็นชื่อเก่าโบราณที่ฝรั่งเคยใช้เรียกเมืองจีน (ตกมาถึงเมืองไทยสมัยปัจจุบัน เคยเป็นชื่อโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ โรงหนึ่ง แต่ในสมัยที่ยังเปิดกิจการอยู่นั้นไม่ได้ฉายหนังจีน ไพล่ไปฉายแต่หนังอินเดียเป็นประจำ จะว่าเป็นเพราะเจ้าของโรงหนังหลงนับเอาเมืองจีนกับอินเดียเป็นเมืองเดียวกันเหมือนฝรั่งโบราณก็คงไม่ใช่ เพราะวิชาภูมิศาสตร์ในเมืองไทยสมัยนี้ เจริญกว่ายุคกลางเมืองฝรั่งแทบไม่เห็นฝุ่น คงเป็นแต่เหตุบังเอิญมากกว่า)

ตามประวัติศาสตร์นั้น แม้ว่าฝรั่งจะรู้จักติดต่อกับจีนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยชาลมาญ โดยพวกโรมันเคยติดต่อค้าขายกับจีนตามเส้นทางที่เรียกว่า ทางสายไหม (Silk Road) แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เรียกว่าคาเธ่ย์ ดูเหมือนจะเรียกว่า Sinica (ภาษาอังกฤาคำคุณศัพท์ที่เป็น prefix คำว่า Sino- ยังแปลว่า เกี่ยวกับจีน อยู่จนเดี๋ยวนี้)

ชื่อ คาเธ่ย์ (Cathay หรือภาษาละตินว่า Cataya) นี้เพิ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากในหมู่ฝรั่งก็เมื่อ ชื่อ มาร์โค โปโล ได้เขียนหนังสือบันทึกการเดินทางของเขาตามเส้นทางสายไหมจากอิตาลีไปถึงดินแดนคาเธ่ย์ และได้เข้ารับราชการกับพระจักรพรรดิจีน คือพระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวน
 
สมัยของมาร์โค โปโล อยู่ก่อนสมัยของบรรดากวีอิตาเลียนผู้ร้อยกรองเรื่องตำนานชาลมาญประมาณเกือบ 200 ปี และประมาณช่วงเดียวกับสมัยกรุงสุโขทัยของเรา

บันทึกของมาร์โคโปโลให้ภาพของคาเธ่ย์ว่าเป็นดินแดนแสนไกลที่เจริญรุ่งเรือง มีวัฒนธรรมสูง และร่ำรวยมั่งมีมาก  ฝรั่งสมัยนั้น (ที่ไม่ใช่พ่อค้าหรือนักเดินทาง) อ่านเรื่องของมาร์โคโปโลเหมือนอ่านนิทาน เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงคาเธ่ย์อยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร ยิ่งเล่ากันต่อๆ ไปคาเธ่ย์ก็ยิ่งกลายเป็นเมืองมหัศจรรย์ยิ่งขึ้นทุกที

ที่จริงนั้น “คาเธ่ย์” ไม่ใช่ชื่อภาษาจีนเลยแม้แต่น้อย ถ้าไปถามถึงเมือง  คาเธ่ย์กับคนจีนในสมัยนั้น (หรือแม้แต่คนจีนบางคนในสมัยนี้) ผู้ถูกถามก็อาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงเมืองจีนของตัวเองก็ได้ สมัยผมอยู่เมืองจีนเคยสงสัยมากว่ามันแปลว่าอะไรคาเ๋ธ่ย์นี่ ก็มีคนจีนลากสำเนียงเข้าหาภาษาจีน บอกผมว่ามันมาจากคำว่า กั๋วไท่ กั๋วไท่ (แปลทำนองว่าประเทศมั่งคั่ง) ฝรั่งออกเสียงกลายเป็นคาเธ่ย์ แต่เมื่อได้ค้นที่ฝรั่งเขาค้นคว้าไว้เองว่าทำไมเขาจึงเคยเรียกเมืองจีนว่าคาเธ่ย์ จึงได้รู้ว่าชื่อนี้แท้จริงเป็นภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในเอเชียตะวันออกเผ่าหนึ่ง ชื่อชนเผ่า Kitan ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าหนึ่งญาติๆ กับชาวมองโกล พูดภาษาคล้ายกัน (ภาษาจีนกลางเรียกเผ่านี้ว่า ฉีตาน - ขอตัวช่วยด้วยครับว่าออกเสียงถูกรึเปล่า)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 21 ม.ค. 04, 13:43

 ชาว Kitan เป็นเผ่าหนึ่งที่จีนเห็นว่าเป็นเผ่าอนารยชน “นอกกำแพงใหญ่” แต่ในสมัยที่จีนอ่อนแอ ชนชาตินี้ก็เคยมีอำนาจมากจนรุกเข้าไปในเมืองจีนได้หลายครั้ง จนถึงกับเคยตั้งราชวงศ์ได้ในเขตตอนเหนือของจีน เรียกว่า ราชวงศ์เหลียวหรืออาณาจักรเหลียว

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า ต่อมาเผ่าป่าเถื่อน (ในสายตาจีน) อีกพวกหนึ่ง คือพวกมองโกล ก็เริ่มรวมตัวเป็นปึกแผ่น และแผ่อำนาจออกไปเหนือเผ่าอื่นๆ ตั้งแต่สมัยของเจงกีสข่านก่อน แล้วต่อมาในสมัยของหลานคนหนึ่งของเจงกีสข่าน คือกุบไลข่าน มองโกลก็แข็งกล้าขึ้น จนเข้ายึดอาณาจักรจีนไว้ได้ทั้งหมด สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้น จักรพรรดิจีนที่มาร์โค โปโลกล่าวถึงจึงไม่ได้มีเชื้อสายเป็นจีนแท้ แต่เป็นมองโกล

ในการแผ่อำนาจนี้ พวกมองโกลก็ได้ปราบปรามชนเผ่า Kitan ไปเสียจนแทบจะสูญพันธุ์ แต่ฝรั่งก็รู้จักดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองจีนในชื่อ คาเธ่ย์ เสียก่อนหน้านั้นแล้ว และเพราะฝรั่งเดินทางมาถึงจีนผ่านเอเชียกลางมาจากทางตะวันตก เจอะเมืองฉีตานก่อน จึงเรียกชื่อดินแดนแถวนี้เลยไปถึงเมืองจีนว่า คาเธ่ย์ ทั้งหมด ตามชื่ออาณาจักร Kitan ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อสมัยต่อมาจีนได้ตกอยู่ใต้อำนาจของมองโกล

สำหรับฝรั่งคงจะเห็นว่ามองโกลก็ไม่ต่างจากชาว Kitan เท่าไหร่ อันที่จริงฝรั่งสมัยนั้นก็คงเห็นว่า คนจีน มองโกล ตาด (ฝรั่งเรียกว่า Tatar) หรือกลุ่มชนอื่นๆ แถบนั้น ก็หน้าเหลืองๆ ตาตี่ๆ เหมือนกัน แยกไม่ออก

แม้แต่ในภาษาฝรั่งรัสเซียปัจจุบัน ก็ยังเรียกชื่อประเทศจีนว่า Kitai อันเป็นคำที่มีรากเดียวกับคำว่า Kitan และ Cathay มาจนบัดนี้

สำหรับกวีฝรั่งผู้เล่านิทานชาลมาญนั้น ทั้งเมืองจีน (หรือคาเธ่ย์) และอินเดียต่างก็เป็นดินแดนในจินตนาการอยู่แสนไกลนอกฟ้าป่าหิมพานต์ และเป็นดินแดนประหลาดและ (ลือกันว่า) ร่ำรวยมหาศาลพอๆ กัน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทองคำและของดีของแปลกหายากในเมืองฝรั่ง เช่นเครื่องเทศและผ้าไหม  กวีก็เลยถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเสียเลย

ความร่ำรวยของเมืองในนิทานทั้งสองเมืองนี้กระตุ้นจินตนาการของฝรั่งมาหลายร้อยปี คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเองเมื่อพยายามจะเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางตะวันตกในปี ค.ศ. 1492  เพราะเชื่อว่าโลกกลมนั้น ก็เพราะอยากรวย คืออยากจะบุกเบิกเส้นทางค้าขายกับอินเดียสายใหม่ ความเชื่อของโคลัมบัสถูกต้องที่ว่าโลกกลม ดังนั้นถ้าเดินทางออกจากยุโรปไปทางตะวันตก ในที่สุดก็จะวนไปถึงอินเดียที่อยู่ทางตะวันออกได้

แต่โคลัมบัสไม่รู้ว่าก่อนจะถึงเอเชีย มีดินแดนอีกทวีปหนึ่งขวางอยู่ จึงเปะปะไปชนเอาอเมริกาเข้าทั้งทวีป แล้วก็ยังหลงเรียกชนพื้นเมืองที่พบในทวีปอเมริกาว่าอินเดียนแดง เพราะนึกว่าตัวเองไปถึงอินเดียแล้ว     คงพอเทียบได้กับฝรั่งนักเดินทาง (ทางบก) สมัยก่อนโคลัมบัส ที่เรียกทั้งเมืองจีนและเมือง Kitan ที่ขวางหน้าอยู่ รวมไปเป็นเมืองเดียวกันว่า คาเธ่ย์
   
ในที่นี้ก็ขอให้ถือว่า อาณาจักรคาเธ่ย์นี้เป็นเมืองจีนในนิทาน ซึ่งอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ใช่เมืองจีนจริงๆ (ในฉบับที่ทรงแปลไว้เป็นภาษาไทยเมื่อ 60 ปีมาแล้ว นมส. ทรงแปลคำว่าคาเธ่ย์ว่า “กงจีน” คือชื่อเมืองจีนที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทย เช่นเรื่องตาม่องล่าย นางยมโดย ไม่ใช่กรุงจีนหรือเมืองจีนตามที่มีอยู่จริง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 22 ม.ค. 04, 11:41

 เล่าเรื่องต่อค่ะ
การล่วงรู้ของมาลากิกี้ ถูกเผงทีเดียว     แอนเจลิกากับพี่ชายผู้อ้างชื่อว่า “ อูเบอร์โต” หรือ "อูแบร์โต" มีชื่อจริงว่า"อาร์กาเลีย" เป็นราชโอรสธิดาของ"พระเจ้ากงจีน"  ชื่อพระเจ้ากาลาฟรอน
พระเจ้ากงจีนเป็นพวกนอกคริสต์ศาสนา  ครองความเป็นใหญ่อยู่ทางอีกฝั่งหนึ่งของทวีป      ทรงวางแผนล้ำลึกหวังทำลายล้างพระเจ้าชาลมาญมหาราช ด้วยการบั่นทอนเด็ดแขนขาเสียให้หมดเสี้ยนหนาม
 ไม่อาจมีพลังไว้ทะนุบำรุงคริสตศาสนาให้เข้มแข็งได้อีก     แขนขาที่ว่านี่ก็คือบรรดาอัศวินฝีมือดีทั้งหลาย

เจ้าหญิงแอนเจลิกาโฉมงาม  เป็นตัวล่อแมงเม่าหนุ่มๆทั้งหลายให้บินเข้ากองไฟ     ส่วนกองไฟก็คืออาวุธวิเศษของเจ้าชายอาร์กาเลีย เป็นหอก(หรือทวน) วิเศษ  
มีฤทธิ์ตรงที่ว่าแม้แตะโดนใครเข้านิดเดียวไม่ต้องถึงแทง  แค่สัมผัส ศัตรูก็หมดเรี่ยวแรงหงายหลังล้มผลึ่ง ตกม้าลงไปปราชัย

นอกจากนี้ เจ้าชายยังมีม้าวิเศษ ที่ควบขับได้เร็วยิ่งกว่าลมพัด      ของวิเศษอย่างที่สามคือแหวน ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันคาถาอาคมมนตราได้ทุกชนิด   และถ้าหากว่าอมเข้าในปากก็จะล่องหนหายตัวได้ไม่มีใครเห็น

แผนของพระเจ้ากาลาฟรอนคือเมื่อล่ออัศวินทั้งหลายให้เข้าประลองยุทธ       หอกวิเศษก็จะทำให้อัศวินพระเจ้าชาลมาญตกม้าพ่ายแพ้ไปหมด ต้องตกเป็นทาสของเจ้าชายจีน
   ส่วนความงามของแอนเจลิกาเป็นเครื่องล่อให้หนุ่มๆ คลั่งไคล้ลืมตัว  ไม่กลัวตาย ไม่ทันยั้งคิด  คนไหนแพ้ก็แพ้ไป   คนใหม่ก็ฮึกเหิมว่าตัวเก่งกว่า  พากันบินเป็นแมงเม่ามาเข้ากองไฟจนไม่มีเหลือ  
   ส่วนแหวนก็จะทำให้นางหายตัวหลบหนีกลับอาณาจักรได้อย่างง่ายดาย

กลับมาดูว่าแผนใหญ่โตลึกล้ำนี้  มาลากิกี้จะแก้ไขได้หรือไม่  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 22 ม.ค. 04, 12:20

 เจ้ากงจีน... เอ๊ย พระเจ้ากรุงจีนที่กวีฝรั่งเรียกว่า กาลาฟรอนฮ่องเต้ เนี่ย ผมมีความรู้สึกว่าอาจจะมาจากคำว่า คอลีฟะ หรือที่ไทยเรียกว่ากาหลิบ คือตำแหน่่งประมุขทางศาสนาและทางอาณาจักรของชุมชนมุสลิม นั่นคือ ฝรั่งเอาจีนกับแขกมาปนกัน แต่นี่เป็นการเดาเอาเองของผมครับ ไม่รับรองว่าเป็นยังงั้นจริงหรือเปล่า

ที่เดาเอายังงี้ เพราะผมนึกไม่ออกเลยว่ามีคำภาษาจีนที่แปลมาเป็นกาลาฟรอนได้ยังไง แต่ก็นั่นแหละ ลงว่าฮ่องเต้จีนมีไทจือชื่ออาร์เกเลียและมีกงจู่ชื่อแอนเจลิกาได้แล้ว จะชื่อประหลาดพิสดารว่ากาลาฟรอนหรืออะไรก็คงได้แหละ จะเอาอะไรมากกับนิทานฝรั่งเล่าครับ

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ของวิเศษหลายอย่างในนิทานนี้มาจากดินแดนตะวันออกซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นแดนลึกลับมหัศจรรย์ และหลายอย่างเลยมาจากพวกสาระเซ็น เช่นอาวุธคู่มือของอัศวินฝรั่งหลายคนก็ว่ากันว่าชิงมาจากอัศวินสาระเซ็นได้ หรือหอกวิเศษ แหวนวิเศษและม้าวิเศษของเมืองจีนเป็นต้น ให้ผมเดา ก็ต้องตีความว่า เป็นผลมาจากการที่สมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ (จริง) อารยธรรมฝรั่งเองตกต่ำลงไป และต้องอาศัยเรียนรู้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าจากพวกอาหรับ ซึ่งวิทยาการบางอย่างที่อาหรับเรียนไว้แล้วถ่ายทอดให้ฝรั่งอีกทีนั้น ก็เป็นวิชาที่อาหรับเองได้จากกรีกโรมันในสมัยที่ฝรั่งยังไม่เสื่อมนั่นเอง แต่บางอย่างก็เป็นวิทยาการที่นักปราชญ์อาหรับคิดขึ้นได้

ตกมาถึงยุคกลางในยุโรป ในสายตาฝรั่งที่ด้อยวิทยาการกว่า เทคนิคที่อาหรับใช้บางอย่างก็เหมือนเป็นของวิเศษ จึงมีเรื่องหลายตอนที่ของวิเศษมาจากตะวันออก (แต่พ่อมดฝรั่งก็มีของวิเศษของตัวเองอยู่เหมือนกัน)

ดาบวิเศษของรินัลโดนั้นว่ากันว่าอัศวินฝรั่งคนหนึ่ง (เป็นรินัลโดเองหรือมาลากีกี้ผมก็ไม่แน่ใจ ตำนานแย้งกันเอง) แย่งมาได้จากนายทัพสาระเซ็นชื่อ แอนธ์นอร์ และหน้าตาก็ดูเป็นดาบแขก เกร็ดนิทานนี้ ผสมกับประวัติศาสตร์จริงว่าเทคนิคการถลุงโลหะให้ได้เหล็กกล้านั้น มนุษยชาติคิดขึ้นได้ก่อนเพื่อนแถวๆ อียิปต์ ทำให้ผมคิดอะไรเตลิดไปได้ไกลว่า เผลอๆ อาจมีความจริงหลงอยู่ในนิทานก็ได้

ผมไปค้นเจออีกแห่งหนึ่งด้วยว่า รินัลโดยังมีหมวกเกราะวิเศษทองคำอีกใบหนึ่ง เป็นหมวกที่สวมแล้วจะไม่มีใครเอาชนะได้ (น่าเอามาลองใส่ประลองกับหอกวิเศษของอาร์เกเลียนิ...) หมวกนี้เดิมเป็นหมวกวิเศษของแมมบริโน ซึ่งเป็นราชาสาระเซ็นอีกองค์หนึ่ง รินัลโดไปแย่งมาได้ยังไงก็ยังค้นเรื่องไม่เจอ แต่คำว่าหมวกวิเศษของแมมบริโนนั้นมาโผล่ในวรรณกรรมล้อเลียนเสียดเย้ยสมัยหลัง คือเรื่องดอนกีโฮเต้ ของเซรบันเตส

ตัวดอนกิโฮเต้ตัวเอกของเรื่อง แกอ่านนิทานเรื่องอัศวินยุคกลางมากไปหน่อย จนลุกขึ้นมาทำตัวเป็นอัศวินพเนจรในสมัยที่เขาเลิกมีอัศวินกันนานแล้ว วันหนึ่งขี่ม้าไปดีๆ ก็เจอช่างตัดผมคนหนึ่งเอาอ่างทองเหลืองสำหรับโกนหนวด ซึ่งเป็นบริขารจำเป็นสำหรับอาชีพรับจ้างตัดผมของแก ครอบหัวกันแดดเดินสวนมา อัศวินกีโฮเต้ก็ร้องว่า - อ้าฮา- นั่นหมวกวิเศษของแมมบริโนนี่ เอามาเดี๋ยวนี้ - แล้วก็กระตุ้นม้าวิ่งเข้าชาร์จกัลบกโชคร้ายคนนั้น ซึ่งพอเห็นอัศวินสติเฟื่องของเราทำท่าจะเอาจริงก็ตาเหลือก โยนอ่างโกนหนวดของแกให้แล้ววิ่งหนีไม่คิดชีวิต อัศวินของเราจึงสวมหมวกวิเศษ (คืออ่างโกนหนวด) อย่างโก้เก๋ เดินทางผจญภัยไปตลอดทาง

เรื่องดอนกีโฮเต้อัศวินหลงยุคก็สนุก ถ้าจะเล่าก็ยาว แต่เรากลับไปหาเรื่องดอน เอ๊ย มาลากีกี้ต่อก่อนดีกว่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 22 ม.ค. 04, 13:20

 ในคืนนั้นเอง  มาลากิกี้ก็ลอบมาถึงกระโจมในป่านอกเมือง   เห็นยักษ์ทั้งสี่  อยู่เวรยามแวดล้อมอารักขา
แต่ยักษ์ทั้งสี่ไม่อาจเห็นผู้วิเศษ  ใช้ล่องหนกำบังตัวมิให้ใครเห็น  

มาลากิกี้เปิดคัมภีร์ของตน  อ่านมนตร์ร่ายออกไป     ยักษ์ทั้งสี่ก็ง่วงหงุบหงับหลับสนิทเป็นตาย
ก็ชักดาบออกมาถือ เดินผ่านอย่างสะดวกเข้าไปในกระโจม     สาวเท้าเข้าถึงข้างกายแอนเจลิกา  ตั้งใจจะฟาดฟันนางเสียให้ตาย ได้หมดเรื่องไป

แต่นางนั้นงามในยามตื่นอย่างไร  ยามหลับก็งามเลอเลิศไม่น้อยหน้ากัน    ทั้งดูอ่อนแอไร้เรี่ยวแรงจะป้องกันตัวเอง    ทำให้มาลากิกี้ผู้ได้รับการอบรมมาอย่างอัศวิน ชะงัก   ไม่อาจจะใจโหดเหี้ยมพอประหารนางได้อย่างเลือดเย็น

   มาลากิกี้หารู้ไม่ว่า แอนเจลิกาไม่ได้หลับใหลไร้สติเป็นตายคนอื่นๆ  เพราะแหวนที่นางสวมอยู่ป้องกันเวทมนต์ต่างๆได้     นางแค่นอนหลับอย่างธรรมดา    พอมีเสียงกุกกักข้างกาย  นางก็ตกใจตื่นขึ้น

   พอเห็นคนร้าย นางก็หวีดร้อง  ถลาไปปลุกพี่ชาย   อำนาจของแหวนทำให้พี่ชายรู้สึกตัวขึ้นมา  จับตัวมาลากิกี้ไว้   แย่งคัมภีร์มาได้  

   พอคัมภีร์หลุดจากมือ    มาลากิกี้ก็หมดฤทธิ์   พี่น้องก็อ่านคาถาเรียกฝูงภูตพรายเข้ามาแล้วช่วยกันแบกผู้วิเศษเหาะละลิ่วไปส่งพระเจ้ากาลาฟรอนที่กรุงอัลบรัคคา  
มาลากิกี้ก็ถูกจองจำขังไว้แน่นหนาในคุกใต้ทะเล
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 18:19

 วู้... ท่านเซอร์ท่านเลดี้ทั้งหลาย หลับกันหมดแล้วหรือครับ

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า นิทานฝรั่งตอนนี้คล้ายๆ โขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนไมยราพณ์สะกดทัพแฮะ คือค่ายกลางป่าของตัวละครฝ่ายหนึ่ง (ถ้าเป็นรามเกียรติ์ก็คือพลับพลาพระราม) ถูกตัวละครอีกฝ่ายลอบบุกเข้าไปได้ แม้ฝ่ายแรกจะระวังป้องกันอย่างแข็งขัน (ในรามเกียรติ์ฝ่ายที่ระวังป้องกันเป็นลิง ในนิทานชาลมาญ เป็นยักษ์ ยักษ์จีนด้วยอีกต่างหาก) เพราะฝ่ายที่ลักลอบเข้าไปใช้มนต์หรือยาสะกดให้หลับหมดทั้งพลับพลา

ต่างกันแต่ว่าขุนยักษ์ไมยราพณ์ทำมิชชั่นอิมพอสสิเบิลของตนสำเร็จ ลักองค์พระรามลงไปขังไว้ใต้บาดาลได้ จนหนุมานต้องตามลงไปช่วย แต่มาลากีกี้ทำงานไม่สำเร็จ ใจอ่อนเสียก่อน ตัวเองเลยถูกจับไปขังไว้ใต้ทะเลจีนแทน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 23 ม.ค. 04, 18:25

 เรื่องที่คุณบัวดินถามไว้เรื่องโล่ ซึ่งกลายเป็นตราประจำตระกูลขุนนางอังกฤษนั้น มีเรื่องยาวมากๆ เป็นวิชาที่ศึกษากันได้วิชาหนึ่งทีเดียว มีตำราหลายเล่ม (คุณบัวดินอาจเสิร์จได้ในเว็บ โดยใช้คำว่า Heraldry หรือ Coat of arms)

นอกจากอังกฤษ ฝรั่งหลายชาติก็มีคล้ายกันครับ ถ้าคุณบัวดินสนใจ ผมอาจจะเอาไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่ แต่ตอนนี้ตาลาย ข้อมูลแยะครับ ขอตั้งตัวก่อนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 28 ม.ค. 04, 17:08

ขอหยุดพักเรื่องไว้แค่นี้ก่อนละค่ะ
เห็นทีจะต้องรอฤกษ์งามยามดี แล้วค่อยกลับมาเล่าอีกครั้ง
บันทึกการเข้า
caeruleus
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 22 ก.พ. 04, 05:41

 ขอติงนิดนึงนะคะ ความเห็นที่11

เจ้าพระยาบดิทรเดชานั้น รัชกาลที่๓ เรียกท่านว่า "พี่สิงห์" ค่ะ
เพราะท่านมีนามว่าสิงห์

แล้วคำว่า บดินทรเดชา เองก็มาจากคำว่า เจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็น
พระนามของรัชกาลที่๓เอง ก่อนทรงขึ้นครองราชย์ ชึ่งถึงแม้ใน
สมัยนี้ก็คงถือเป็นเกียรติสูงสุดของผู้ได้รับนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 22 ก.พ. 04, 08:47

 เคยอ่านพบในหนังสือเกี่ยวกับรัชกาลที่ 3  อย่างของคุณจุลลดา  ภักดีภูมินทร์ และเล่มอื่นๆ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเรียกเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า "พี่บดินทร์" ค่ะ ไม่ใช่" พี่สิงห์" ซึ่งเป็นนามเดิม

ที่ดิฉันไม่รู้สึกแปลกในชื่อ "พี่บดินทร์" เพราะการเรียกบุคคลด้วยชื่อย่อจากราชทินนาม แทนนามเดิม  หรือบวกนามเดิมไว้ข้างท้าย
เป็นการเรียกด้วยความยกย่อง ในตำแหน่งความสำคัญของบุคคลนั้น   ไม่ใช่การเรียกชื่อกันในสมาชิกครอบครัวเดียวกัน
และเหตุผลอีกอย่างคือชื่อเดิมของคนไทยเป็นชื่อง่ายๆ ซ้ำกันมาก    ผิดกับราชทินนามซึ่งซ้ำกันน้อยกว่า  พอเอ่ยแบบนี้ก็จะเข้าใจกันได้ง่ายกว่าว่าหมายถึงใคร
อย่างชื่อ "สุนทรภู่" ไงคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 16 มิ.ย. 06, 19:28

 ขุดกระทู้เก่าครับผม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง