เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 43477 "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 09 ม.ค. 04, 20:46

 คำถามของคุณ CrazyHOrse ทำำให้ผมต้องหัวเราะครับ สงสัยเราจะเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน เพราะผมก็เคยแกล้งแยกศัพท์แปล delight ว่า ดับไฟ defence ว่า รื้อรั้ว เหมือนกัน เพราะ de- ตามตำราแปลว่าเอาออกไป delight ก๊อแปลว่าเอาแสงออกไป มืดตื๋อน่ะซิ แล้ว defence ก็ต้องแปลว่ารื้อรั้วออกไป...

ชื่อดาบ excaliber นั้น โดยไม่ได้เช็คตำรา ผมคิดว่าไม่น่าจะแปลว่า "บ่มิไก๊" เพราะว่า ex- แปลว่า out /from/ beyond/ extra ก็น่าจะได้ด้วย ดังนั้น น่าจะแปลว่า ความสามารถอันยิ่ง มากกว่าแปลว่า ไร้ความสามาถ ครับ
บันทึกการเข้า
บัวดิน
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

แม่บ้าน


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 ม.ค. 04, 23:20


เข้ามาอ่านด้วยคนนะคะ  

อดขำเรื่องการแปลคำว่า delight กับdefence ไม่ได้ สมมติว่ามีการแปลอย่างนั้นจริงๆ คงตลกน่าดูชม  

รู้สึกว่าคำว่าม้าจากภาษาที่มีรากละตินอยู่นี่จะออกมาคล้ายๆ กันหมดเลยนะคะ
ภาษาสเปน = caballo
ภาษาอิตาเลี่ยน = cavallo
ภาษาโปรตุเกส = cavalo
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 01:27

 แอบไป webster.com มาแล้ว
ปรากฎว่าต้องสะกดว่า Excalibur ครับ ใช้ตัว u ครับ
แล้วไป...  

แต่ยังไม่รู้ที่มาของชื่ออยู่ดีครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 08:02



   ไปเจอความหมายของดาบ Excalibur เข้าในเว็บหนึ่งแต่ไม่ใช่เว็บความรู้  เป็นเว็บขายเครื่องประดับ ซึ่งเขาทำจี้เงินรูปดาบ  เป็นสินค้า

เขาให้คำอธิบายไว้ว่า

Excalibur, meaning 'cut steel', was the sacred sword believed to possess the power to protect King Arthur from wounding so long as he wore it together with its silver scabbard. Excalibur is also thought to be very similar to the 'Sword of Rhydderch the Generous' named 'Dyrnwyn' as spoken of in the ancient Welsh Triads and the Mabinogion.



แต่ว่าดิฉันแยกศัพท์ละติน ไม่เป็น   จึงไม่แน่ใจว่า excalibur แปลว่า cut steel ยังไง

เดาว่า ex หมายถึง out /from/ beyond   คือ เอาออกมา  พรากจาก หรือ cut   อย่างคุณนกข.ว่า   และ calibur คงแปลว่า steel หรือเหล็ก  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 16:03

 เป็นไปได้ว่าชื่อดาบนี้ไม่ใช่ภาษาละตินเสียด้วยซ้ำครับ อาจจะเป็นภาษาอื่นที่เกี่ยวกับชนเผ่าโบราณที่เคยครองอังกฤษ

เอามาฝากคุณบัวดินครับ คำว่้า อัศวิน อังกฤษเรียก knight เยอรมันเรียก ritter(= rider ผู้ขี่ (ม้า) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง) แต่พวกภาษาตระกูลลาตินคือ ฝรั่งเศสจะเรียกอัศวินว่า chevalier  สเปนเรียก caballero อิตาเลียนเรียก cavaliere โปรตุเกสเรียก cavaleiro เห็นได้ว่ารากศัพท์เดียวกันหมด มาจาก caballus แปลว่า ม้า แม้อังกฤษเองจะไม่เรียกอัศวินโดยอิงคำว่า caballus เพาะเรียกว่า knight เสียแล้ว แต่พอพูดถึงเหล่าทหารม้าในกองทัพ ซึ่งปัจจุบันนี้รวมทหารรถถังและยานเกราะด้วย (เช่นป๋าเปรมและคุณมนุญกฤต รูปขจร) อังกฤษก็ยังเรียกว่า cavalry อยู่ดี มาจากรากศัพท์เดียวกันนั้นเอง

ตัว v กับ b นั้น บางทีก็เพี้ยนเสียงกันได้ ไม่เฉพาะแต่ฝรั่ง ทางตะวันออกเรานี้ ในภาษาบาลีสันสกฤต ว ก็แผลงเป็น พ และกลับกันได้เช่นกัน (วิเศษ-พิเศษ, วิธี-พิธี, วิตถาร-พิสดาร ฯลฯ) หรือภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นแกจะออกเสียงตัว V ไม่ได้เลย ออกเป็น b หมด เลขเจ็ด (seven) อย่างยอดมนุษย์อุลตร้าเซเว่น พี่แกก็ออกเสียงเซบุ้ง หรือห้าง 7-11 แกก็จะเรียก เซบุ้ง-อิเรบุ้ง เป็นต้น

คำว่า เชอวาลีเยร์ ที่แปลว่าอัศวินในภาษาฝรั่งเศสนั้น ทำให้เราเข้าใจว่า ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาถึงสยามสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อว่า เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ นั้น ก็คือแกมียศเป็นอัศวิน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 16:28

 เซอร์เครซี่ฮอร์ส ข้าพเจ้าพบข้อความอันท่านต้องประสงค์แล้ว

พระแสงดาบเอ็กซคาลิเบอร์ของพระเจ้าอาร์เธอร์นั้น ได้ชื่อมาจากภาษาละตินที่วิบัติหรือกร่อนไปแล้ว ไม่ใช่ละตินบริสุทธ์หรือที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ละติน และสะกดก็ต่างๆ กันไป เช่น Excalibur / Excalibar / Caliburn เป็นต้น แต่มาจากวลีหนึ่งในภาษาละตินที่บอกที่มาของดาบนี้อย่างชัดเจน  คือ Ex cal[ce] liber[atus] แปลว่า (ดาบที่) ได้รับการปลดปล่อยออกมาจากศิลา

Ex ในที่นี้แปลว่า ออกจาก/ ออกมาจาก cal ในที่นี้แปลว่า ก้อนหิน (คงรวมทั้งหินปูนเกาะฟัน และฟันเองซึ่งเป็นธาตุ "แคลเซี่ยม" ด้วย) liber กร่อนมาจากคำว่าปล่อยให้เป็นอิสระ คือมาจากรากเดียวกับ liberty แต่ที่สะกดเป็น bur นั้นผมคงอธิบายได้อย่างเดียวว่าเป็นละตินวิบัติ

ผมเพิ่งทราบคำแปลของชื่อดาบแล้วก็แจ่มแจ้งสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของนิยายอัศวินโต๊ะกลมจะต้องจำได้ว่า อาร์เธอร์ เพนดรากอน ก่อนจะขึ้นครองราชย์นั้น ได้พิสูจน์สิทธิของพระองค์ในการขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษ ด้วยการดึงดาบที่ปักตรึงแน่นอยู่บนฐานศิลาออกมาได้ ตำนานนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ เอ็กซคาลิเบอร์

หมายเหตุ ยุคของพระเจ้าอาร์เธ่อร์แห่งอังกฤษนั้น ถ้าจะเทียบกันแล้วก็อยู่ก่อนยุคของพระเจ้าชาลมาญ และตำนานของพระเจ้าอาร์เธ่อร์นั้นมีความเป็นนิยายอยู่สูงกว่าตำนานชาลมาญมาก อย่างน้อยชาลมาญและอัศวินของพระองค์หลายคนก็มีเค้าคนที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ ถึงจะมีการตีไข่ใส่สีเป็นนิยายบ้างก็เถอะ แต่พระเจ้าอาร์เธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมของพระองค์นั้นหาร่องรอยในประวัติศาสตร์แท้ๆ ยากเต็มที จนผมเคยสงสัยว่าแท้จริงแล้วอังกฤษเคยมีกษัตริย์ชื่ออาร์เธอร์จริงหรือเปล่าด้วยซ้ำ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 16:45

 เรื่องการเสี่ยงทายถอนดาบเพื่อขึ้นครองบัลลังก์นี่ทำให้ผมฟุ้งซ่านต่อไปไกล ขอเลี้ยวออกนอกเรื่องก่อนนะครับแล้วค่อยกลับไปหาอัศวินรินัลโดต่อ

ในเมืองไทยเราคงมีคนเคยเห็นพิธีการเสี่ยงทายยกพระ หรืออุ้มพระ พระที่ว่านี่เป็นพระพุทธรูปองค์ไม่ได้โตเลย ประดิษฐานบนฐาน ดูก็ธรรมดาๆ  แต่น่าแปลก เวลาพิธีกรวงปาหี่ป่าวประกาศให้เข้าไปลองอุ้มพระเสี่ยงบารมีดู บางทีคนตัวโตแข็งแรงดึงพระเท่าไรก็ไม่ขึ้น แต่คนตัวเล็กๆ หรือเด็กหรือผู้หญิงกลับยกพระขึ้นจากฐานได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นเรื่องอภินิหารที่จะต้องทำบุญเสียเงินสะเดาะเคราะห์เพิ่มบุญบารมีหรืออะไรต่ออะไรไปตามระเบียบ

ผมได้ทราบว่าที่จริงพระพุทธรูปนั่นทำด้วยโลหะ และมีแม่เหล็กไฟฟ้่าอยู่ที่ฐาน มีสวิทช์ซ่อนเสียดิบดี พอมีคนมายกเสี่ยงทายก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของวิกที่จะเหยียบสวิทช์ให้พระหนักอึ้งยกไม่ขึ้น (ที่จริงถูกแม่เหล็กดูด) หรือเบาหวิวยกลอยได้สบาย ได้ตามใจชอบ อาศัยวาทศิลป์ประกอบหน่อยก็ดูดทรัพย์ข้ามกระเป๋ามาอยู่ในกระเป๋าเจ้าของวงปาหี่ได้อย่างเรียบร้อยเหนาะๆ เป็นวิธีหากินแบบหนึ่ง

เลยชักจะสงสัยซะแล้วว่า ที่ว่าเจ้าชายอาร์เธอร์ดึงดาบ (เหล็ก) ออกจากหินได้นี่ อีตาเมอร์ลินแกเล่นกลปาหี่อะไรตบตาอัศวินคนอื่นๆ หรือเปล่าหนอ???

ฟุ้งซ่านไปเรื่อยครับ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 17:31

 เรียนเลดี้เทาชมพูและท่านอัศวินอื่นๆครับ ผมว่ากระทู้นี้ต้องยกให้เซอร์ นีลคองก้า เป็นพระเอกล่ะครับ ท่านสำแดงเดชวรยุทธ์ทางด้านนิรุกติศาสตร์ได้อย่างน่าประทับใจโดยเฉพาะ Excalibur นี่แหละครับ
จริงๆผมติดตามอ่านตลอดนะแต่ไม่ได้แสดงตัวมัวแต่หลบดูท่านทั้งหลายคุยกัน เรื่องเมอร์ลินนี่ผมเห็นด้วยนะ เพราะเขาคงตั้งโจทย์ว่าจะให้อาร์เธอร์เป็นกษัตริย์แต่เนื่องจาก ยังหนุ่มแก่ความอยู่มากดังนั้นจึงต้องการบารมีและความยำเกรง วิธีที่ง่ายที่สุดคือสร้างความ "ศักดิ์สิทธิ์" หรือว่าสร้าง "ลิขิตสวรรค์" ขึ้นมา
ท่านหลวงวิจิตรก็เคยเขียนไว้ ในทำนองว่าความศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมจะมีผมต่อการปกครองด้วย
ทำให้โยงไปถึงรัชสมัยพระเจ้าตาก ที่อาจารย์ นิธิกล่าวว่าเจ้าตากไม่ได้คงพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักไว้จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ราชบัลลังก์ต้องล้มเร็วกว่าที่ควร
โอ้ย นอกเรื่องไปไกลเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 10 ม.ค. 04, 17:47

 เรื่องเอ็กซคาลิเบอร์ยุ่งกว่าที่ผมคิดแฮะ ต้องโทษท่านเซอร์เครซีฮอร์ส ที่มากระตุ้นต่อมอยากรู้ของผม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตำนานพระเจ้าอาร์เธอร์นั้นเป็นตำนานมากกว่าพงศาวดาร แถมคนแต่งก็มีหลายคน และแหล่งของแรงบันดาลใจที่หลงพลัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตำนานนั้นก็มีหลายแหล่ง ดังนั้นถ้ามันจะมั่วๆ อยู่บ้างก็เป็นธรรมชาติของตำนานครับ

มีคนที่ค้นคว้าตำนานอาเธอร์บอกไว้ว่า ดาบเอ็กซคาลิเบอร์นั้น ตามเรื่องไม่ใช่ดาบที่อาร์เธอร์ดึงขึ้นจากก้อนหิน ดาบนั้นพระเจ้าอาร์เธอร์ใช้เป็นพระแสงคู่มือได้สักพักก็ทำหักในศึกครั้งหนึ่ง ทำให้เทวีแห่งทะเลสาบต้องเอาดาบเล่มใหม่มาถวายแทน คือดาบวิเศษเอ็กซคาลิเบอร์ และตำนานว่า ในศึกสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอาร์เธ่อร์ก็รับสังให้อัศวินของพระองค์คนหนึ่งเอาดาบไปโยนทิ้งคืนลงไปในทะเลสาบตามเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นชื่อเอ็กซคาลิเบอร์ก็จะแปลว่าดึงออกจากหินไม่ได้ และมีคนแปลไว้เหมือนที่คุณเทาชมพูค้นมาได้ คือแปลว่า cut steel แต่คนที่เขาค้นคว้ากันจริงๆ บอกว่าชื่อนี้เผลอๆ ก็จะไม่ได้เป็นภาษาลาตินเอาเลยด้วย แต่เป็นภาษาเทือกๆ ภาษาเวลช์ หรือไอริชโบราณ หรือ celtic หรืออะไรทำนองนั้น เขาให้ชื่อในภาษาโบราณอ่านไม่ออกเหล่านี้มาด้วย ซึ่งผมไม่ขอลอกมาในที่นี้ และหมดปัญญาจะเดาว่า ในภาษาประหลาดๆ เหล่านี้คำไหนแปลว่า ตัด คำไหนแปลว่า เหล็ก

เป็นไปได้ว่าชื่อภาษาถิ่นเหล่านี้ มาถูก "จับบวช" กลายเป็น "เอ็กซคาลิเบอร์" ทีหลัง และปรับลากให้เข้ากับตำนานดึงดาบจากหิน ผมเดาว่า โดยฝรั่งยุคหลังที่มีความรู้ละตินและไม่รู้รากเดิมของภาษาถิ่น เช่นเดียวกับที่ชื่อพื้นถิ่นของไทยเราถูกลากเข้าความเป็นภาษาบาลีบ้าง ไทยกลางบ้าง จนความหมายเดิมของชื่อสูญไปก็มี

อย่างไรก็ดีก็มีคนเถียงว่า ตำนานบางฉบับพูดถึงดาบเอ็กซคาลิเบอร์ที่ดึงออกจากหินจริงๆ ส่วนเรื่องนิทานเทวีทะเลสาบเอาดาบมาถวายนั้นอาจจะเติมลงไปในตำนานทีหลัง คือยังยืนยันอยู่ว่า ดาบคู่พระหัตถ์อาร์เธอร์นั้นคือดาบเล่มเดียวกับที่พระองค์ดึงขึ้นจากหินแท้ๆ ที่ว่าได้ดาบเล่มที่สองมาจากเทวีทะเลสาบนั้นเป็นการแต่งเติม (ผมว่า ที่จริงมันก็ตำนาน แปลว่านิทานโกหก ตั้งแต่ต้นแหละครับทั้งสองเรื่อง)

เอาอะไรมากกับตำนานเล่าครับ มันก็มั่วๆ ไม่ค่อยตรงกันอย่างนี้แล นี่ยังไม่ได้พูดถึงที่เขาเถียงกันว่าอาร์เธอร์มีตัวจริงรึเปล่า เป็นกษัตริย์หรือเป็นแค่ขุนพล และ ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 11 ม.ค. 04, 19:03

 เมื่ออัศวินสาระเซ็นฟื้นคืนสติขึ้นมา ทำท่าจะเข้าสู้กันอีกกับรินัลโด  ก็พอดีมีชาวนาผ่านมา ร้องบอกว่าอย่าเพิ่งปะทะกันเลยเพราะว่าม้าเบยาร์ดอยู่ใกล้ๆนี่เอง   ถ้าจะปราบมันให้ลงก็ต้องสองแรงช่วยกัน
ทั้งชาวนาและผู้เฒ่า ที่จริงคือคนเดียวกัน  เป็นร่างจำแลงของมาลากิกี้นั่นเองแปลงตัวมา    

มาลากิกี้อีกเหมือนกันที่เอาชุดเกราะและม้าศึกไปไว้ใต้ต้นไม้ให้รินัลโดได้สวมใส่
เมื่ออัศวินทั้งสองได้ยินชาวนาร้องบอก  ก็ตกลงเลิกสู้  ผูกมิตรกัน  แล้วพากันเข้าไปในป่า  ไม่ทันไรก็เห็นม้าเบยาร์ดจึงแอบซุ่มดูอยู่ในป่า   นึกชื่นชมความสง่าและความแข็งแกร่งของม้างาม

เบยาร์ดเป็นม้าสีแดง  มีด่างรูปดาวสีขาวที่หน้าผาก    เท้าหลังก็สีขาว รูปทรงเพรียวงามแข็งแกร่งด้วยมัดกล้าม  ขาเรียวได้ส่วน มีขนคอหนาปกคลุมเหนือลำคอโค้งแข็งแกร่ง  
มันควบตรงมาที่ป่าอย่างอิสระเสรีไม่เกรงกลัวใคร   ไม่ว่าเห็นอะไรขวางกั้นไม่ว่าก้อนหินหรือพุ่มไม้ มันก็ไม่หลีกหลบ  
พอเห็นไอโซเลียร์  ม้าเบยาร์ดก็กระโจนเข้าใส่  ไอโซเลียร์รับด้วยหอก ก็ถูกมันชนจนหอกหักสะบั้น   อัศวินหลบทัน  ม้าวิ่งเลยไปแล้วกลับตัวห้อตะบึงเข้าใส่อีก  
ถึงตอนนี้ไอโซเลียร์รู้แล้วว่าคงจับเป็นมันไม่ได้แน่ๆ ก็ชักดาบออกมาสู้เพื่อป้องกันชีวิตตัวเอง
ไอโซเลียร์ฟันถูกดาวบนหน้าผาก  แต่ไม่ระคายผิว      อัศวินนึกว่าตัวเองคงฟันเบาไป หารู้ไม่ว่าม้าเบยาร์ดอยู่ยงคงกระพัน อาวุธฟันแทงไม่เข้า    ก็เลยฟันซ้ำลงไปเต็มเหนี่ยว
แรงของอัศวินกระแทกม้าแรงจนมันชะงักไปครู่หนึ่ง แต่พอตั้งตัวได้มันก็โผนเข้าใส่ โขกเต็มแรง  ถูกไอโซเลียร์ลงไปนอนกลิ้ง ขาดใจตายตรงนั้นเอง

รินัลโดเห็นเพื่อนตายไปต่อหน้าต่อตาก็กระโดดเข้าใส่ม้า  ชกปากมันเต็มแรงจนเลือดออกมาชุ่มกำปั้น    ม้าหันหลังมารวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ไล่งับรินัลโด  
รินัลโดชกมันอีกที   มันก็เตะกลับมาด้วยกำลังมหาศาลปานถล่มภูเขา    แต่รินัลโดคอยหลบหลีกไม่ให้ม้าเตะหรือโขกได้  ไม่งั้นต้องถึงที่ตายเป็นแน่

ครั้งหนึ่งรินัลโดก้าวพลาด   ถูกม้าเตะแรงลงไปแทบสลบหมดสติ ม้าเตะซ้ำแต่เผอิญพลาด รินัลโดกลิ้ง  หลบทัน ไม่งั้นคงเอาชีวิตมาทิ้งเสียในตอนนั้นแล้ว     สู้กันอุตลุดอยู่อีกพักใหญ่ ขาม้าเผอิญไปเกี่ยวกับกิ่งโอ๊คเข้า    รินัลโดได้ที  ก็โถมเข้ากอดปล้ำม้าเหวี่ยงมันลงนอนกลิ้งกับพื้นได้สำเร็จ

พอลงไปนอนกลิ้ง  ม้าเบยาร์ดก็หลุดพ้นคำสาป  กลายเป็นม้าเชื่อง  ลุกขึ้นยืนนิ่ง มีสง่าผ่าเผยให้เจ้าของใหม่ตบหัวลูบหางด้วยความเต็มใจ  รินัลโดดีใจสุดขีดรีบปลดบังเหียนและอานจากม้าตัวเดิมมาสวมให้เบยาร์ด     แล้วขี่เบยาร์ดกลับเข้าวังของพระเจ้าชาลมาญ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 11 ม.ค. 04, 19:07

 รินัลโดไต่ระดับขึ้นสู่ความเป็นยอดอัศวินของพระเจ้าชาลมาญ     ถ้าไม่นับโอลันโดรุ่นพี่เสียคนหนึ่งก็มีใครแกล้วกล้ามีชื่อเสียงเท่า
แต่อย่างที่บอกแล้วว่านิสัยของรินัลโดเป็นพวกหัวโจก     แทนที่จะอยู่ว่านอนสอนง่ายอย่างอัศวินชั้นดีคนอื่นๆที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานสนองพระเดชพระคุณไปตามหน้าที่      ก็กลับออกฤทธิ์ออกเดชให้พระเจ้าชาลมาญพิโรธอยู่หลายครั้ง   แล้วยังมีศัตรูคอยยุยงให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นไปอีก     วันหนึ่งพระเจ้าชาลมาญอดรนทนไม่ไหวก็เนรเทศรินัลโดออกจากราชสำนัก
รินัลโดหมดท่า รู้ว่าตัวเองคงไม่อาจกลับมามีหน้ามีตาได้เหมือนเดิม  ก็เลยพาน้องชายทั้งสามออกจากฝรั่งเศสบ่ายหน้าไปพึ่งสเปน  เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าไอโว ราชาสาระเซ็น    
ทียังงี้ละก็  รินัลโดทำตัวดี  อาจจะเป็นเพราะหมดฤทธิ์เดชไม่กล้าเฮี้ยวอีก   ก็รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีฝีมือแกล้วกล้า  เป็นที่โปรดปรานมาก
พระราชาสาระเซ็นตอบแทนความดีด้วยการพระราชทานดินแดนแห่งหนึ่งตรงชายเขตฝรั่งเศสกับสเปนให้เป็นสิทธิ์ขาด  พร้อมทั้งยกดินแดนใกล้เคียงให้ขึ้นอยู่ในอำนาจของรินัลโด   แล้วทรงส่งคนงานมาสร้างปราสาทให้อยู่     แถวนั้นมีหินอ่อนมาก  ปราสาทของรินัลโดสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวล้วนตั้งอยู่บนชะง่อนผาหินอ่อนสีขาว  ดูไกลๆสุกสว่างราวกับดวงดาว    รินัลโดตั้งชื่อปราสาทว่าปราสาทมอนทัลบัน แปลว่าเขาขาว   รินัลโดจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของรินัลโดแห่งมอนทัลบัน

รินับโดกลายเป็นที่นิยมเลื่อมใสของอัศวินเฮ้วๆ ที่ถูกขับไล่มาแบบเดียวกัน  ก็เลยพากันมาเป็นลูกน้องอีก กลุ่มใหญ่  ชาวบ้านนิยมความแกล้วกล้าของรินัลโดก็พากันมาอ่อนน้อมยอมเป็นคนในบังคับของรินัลโด  ส่งส่วยให้พอเป็นค่าเลี้ยงดูเจ้านาย   แต่พรรคพวกของรินัลโดมีมาก   ส่วยมีน้อย  พรรคพวกบางคนไม่พอกิน อยากได้มากกว่านี้ ประกอบกับนิสัยพาลเกเรอยู่แล้วก็พากันไปแย่งชิงปล้นสะดมชาวบ้านเอาง่ายๆ จนมอลทัลบันได้ชื่อว่าเป็นซ่องโจรใหญ่

พระเจ้าชาลมาญพิโรธรินัลโดอยู่ไม่นานก็หายพิโรธ   มีหมายมาตามให้กลับไปราชสำนักตามเดิม  รินัลโดก็กลับไปสวามิภักดิ์เจ้านายเก่า   ทำหน้าที่แม่ทัพไปรบกับสาระเซ็น  ออกสงครามดังๆอยู่หลายครั้ง  จนเป็นราชสหายสำคัญของพระเจ้าชาลมาญ
เรื่องยืดยาวที่จะเล่าต่อไปเป็นเหตุการณ์ตอนรินัลโดอยู่ในราชสำนัก  
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 12 ม.ค. 04, 02:20

 จาก webster.com นะครับ
One entry found for Excalibur.
Main Entry: Ex·cal·i·bur
Pronunciation: ek-'ska-l&-b&r
Function: noun
Etymology: Middle English Excalaber, from Old French Escalibor, from Medieval Latin Caliburnus
: the sword of King Arthur

ผมไม่มีความรู้ทั้ง Middle English, Old French และ Medieval Latin แต่ดูจากราก Latin แล้ว ไม่มี prefix-ex อยู่เลย

โอ... มึน ครับ

ตอนนี้ผมชัดจะโน้มเอียงที่จะเชื่อเรื่อง"จับบวช"แล้วครับ ค้นทั่ว www ไม่มีวี่แววเลย ส่วนมากจะแปล(จริงๆแล้วไม่อยากใช้คำว่า"แปล"เลย) ว่า King Arthur's Sword

โอ๊ะ โอ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 12 ม.ค. 04, 10:23

ดูความเห็นต่างๆในกระทู้นี้แล้วนึกขำ  เห็นภาพพระฤาษี(เทาชมพู)กำลังเล็กเชอร์ให้ฝูงสานุศิษย์ฟัง  ที่ยุกยิกอยู่ไม่สุข นอกจากจะด้วยกิริยาอาการแล้ว  ยังลากหัวข้อที่พระอาจารย์กำลังสาธยายอยู่ให้เป๋ไปซ้ายทีขวาที

แต่ก็ต้องชมพระฤาษีที่มีขันติและสมาธิเป็นเยี่ยม ปล่อยให้ฝูงลิงลากเข้าซอยไปพักเดียว  เดี๋ยวๆก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ดึงกลับมาได้ทุกที

ว่าแล้วก็ขอดึงเข้าอีกซอยไปตามประสา

เรื่องของกษัตริย์อาเธอร์ดูจะได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนอยู่จริง  หรืออย่างน้อยก็มีผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้เรื่องนี้มีเค้าโครงจากเรื่องจริง  ได้มีความพยายามค้นคว้ากันมากเพื่อพิสูจน์แบบลากๆไปให้มีจริง  ซึ่งดูเหมือนจะมีผู้ให้ความยอมรับพอควรว่าในประมาณศตวรรษที่5-6 มีผู้นำท้องถิ่นชื่อว่าอาเธอร์จริง  แต่ก็เพียงเท่านั้น  แม้จะมีการค้นพบและระบุว่าที่นั่นที่นี่เป็นคาเมลอตบ้าง เป็นที่ฝังพระศพกษัตริย์อาเธอร์หรือพระนางกินเนียเวียบ้าง  ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ลากๆไปทั้งสิ้น

มีผู้สันนิษฐานว่า แต่เดิมเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์คงเป็นเพียงนิยายปะรำปะราที่เล่าขานต่อๆกันมา  จนถึงประมาณศตวรรษที่12 ซึ่งชาวพื้นเมืองเริ่มรู้จักภาษาเขียนกันอย่างแตกฉานและแพร่หลายพอสมควรแล้ว  จึงมีการเขียนเรื่องของกษัตริย์อาเธอร์ขึ้นตามจินตนาการในยุคนั้นอย่างโรแมนติก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 12 ม.ค. 04, 11:23



   แล้วคุณถาวภักดิ์จะเป็นระดับเจ้าเมืองขีดขิน หรือว่าลูกพระพายล่ะคะ?



ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นสองตำนานควบกันไปแล้ว   คือตำนานพระเจ้าชาลมาญและตำนานพระเจ้าอาเธอร์

ถ้าคุยกันรู้เรื่องดี  จะควบสองเป็น"ทูอินวัน" ก็ไม่ผิดกติกาใดๆหรอกค่ะ  เชิญตามสบาย

ยิ่งดีใหญ่ เรือนไทยจะได้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม



เรื่องดาบเอกซคาลิเบอร์ที่คุณอาชาคลั่งยังติดใจอยู่ ทำให้ดิฉันกินได้แต่นอนไม่หลับ ต้องลุกไปค้นหาเกร็ดรายละเอียดมาให้อีก

ก็เจออีกเวบที่แปล excalibur ให้ความหมายว่า cut steel หรือ"ฟันเหล็กให้ขาดได้ง่ายดายประดุจฟันหยวก(กล้วย)" จริงๆด้วย



เนื้อความก็ทำนองเดียวกันกับเซอร์นิลคองก้าเล่าเกริ่นไว้แล้ว
 http://www.mystical-www.co.uk/arthuriana2z/e.htm#EX



Excalibur

Meaning 'Cut Steel'. Aka 'Excalibor', 'Caledfwlch', 'Caledvwlch', 'Caliburnus', 'Caliburn'.

'Geoffrey of Monmouth' was the first to name Arthur's sword 'Caliburn'



Excalibur is often wrongly described as being 'the sword in the stone', the sword which Arthur is said to have pulled from an anvil in London.

The sword from the stone was Arthur's first sword, reputed to have been broken in a battle, a sword that indicated Arthur had the right to be king, whereas Excalibur in legend is known to have been his second sword.

Excalibur was believed to possess the power to protect Arthur from wounding so long as he wore it together with its silver scabbard.

When Arthur received Excalibur, he is told according to legend that the two must never be parted. 'Morgan le Fay'  stole the sword and gave it to her lover 'Accolon of Gaul' , and threw the scabbard into the lake.

The sword was recovered but the scabbard remained lost, leaving Arthur vulnerable in battle against mortal and immortal.



The first sword was reputed to have been broken in a battle.





'And onward Arthur paced, with hand

On Caliburn's resistless brand.'

In the writer 'Malory's'  story this sword is given to 'Arthur', and is known to be his second sword, given to him by the 'Lady of the Lake'



It has been suggested that the idea for providing Arthur of legend with a magical sword may have been influenced by the ancient Irish 'Caladbolg' sword which was described in legend as being to consume all that lay in its path.



This sword was reputed to have been made by 'Wayland'

Excalibur is also thought to be very similar to the 'Sword of Rhydderch the Generous' named 'Dyrnwyn' as spoken of in the ancient Welsh Triads and the Mabinogion.

This was known to be one of the 'Thirteen Treasures of Britain' .This sword was revered for being of the Otherworld, and for being able to completely burst into flames, but it was said that it could only be used by someone of noble birth.  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 13 ม.ค. 04, 15:44

 คุณนิลกังขายังไม่มาเล่าต่อ    ตกลงกันว่าเธอจะเล่าเรื่องโอลันโดกับเพื่อนรักชื่อโอลิเวอร์
แล้วถึงจะต่อด้วยตอนยาวยืดเป็นมหากาพย์ กินเวลาอีกนานกว่าจะจบ
ตอนนี้ดิฉันก็เลยขอสลับฉากด้วยเกร็ดย่อยๆ  เป็นโชว์หน้าม่านไปพลางๆก่อน

พักเรื่องดาบเอกซ์คาลิเบอร์เอาไว้ก่อน      ดิฉันมีรูปดาบมีชื่อเสียงอีกเล่มมาให้ดูกันพลางๆ
คงจำได้ว่ารินัลโดเคยปฏิญาณไว้ว่า จะไม่มีดาบประจำตัวจนกว่าจะชิงดาบของอัศวินมีชื่อคนไหนมาได้เสียก่อน
พูดอีกทีคือต้องชนะคนดังแล้วยึดดาบมาได้นั่นแหละ

ในเรื่องไม่พบว่าริลโดไปชนะใครถึงแย่งดาบคนนั้นมาได้  แต่คุณนกข.ไปค้นมาได้ความว่าอัศวินของเรามีดาบประจำตัวกับเขาเหมือนกัน
ชื่อ Floberge หรือ Flamberge บ้างก็ว่าชื่อ Fusberta

ดิฉันไปค้นหารูปดาบ Flamberge มาได้  อีกสองชื่อยังหาภาพไม่ได้
ดาบ ฟลัมเบิร์จ   หรือฟลัมแบร์จ ไม่รู้ออกเสียงอย่างไหน   ดูหน้าตาค่อนข้างประหลาด
คือตัวดาบหยักเป็นเกลียว
ดูบางรูป  นึกว่ากริช  ทำให้นึกถึงกริชอิเหนาไปโน่น
แต่บางรูปก็เป็นดาบ รูปร่างเป็นเกลียวคล้ายสว่าน    มีด้ามแบบดาบ
ดูแล้วฉงนว่าถ้าตัวดาบมันเป็นเกลียวแบบนี้  จะฟันใครเข้า  เพราะไม่มีคม
หรือว่าจะต้องมีมอเตอร์วิเศษซ่อนอยู่ในด้ามดาบ  พอใช้ ก็กดมอเตอร์ให้ดาบหมุนแบบสว่านไฟฟ้า
ถ้างั้นก็เจาะเกราะคู่ต่อสู้ทะลุเป็นรู   ได้ง่าย  เหมือนใช้สว่านไฟฟ้าเจาะเหล็ก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง