เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 43422 "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 05 ม.ค. 04, 12:40

 สวัสดีปีใหม่ครับ

เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปหาของขวัญชิ้นหนึ่งให้แก่คุณเทาชมพู เป็นหนังสือเก่ามากเล่มหนึ่ง เพราะผมได้ยินปรารภว่าอยากจะอ่านอีก หลังจากได้เคยอ่านมาแล้วในสมัยเป็นสาวๆ (แม้ว่าในขณะนี้ผมก็ยังเห็นว่าคุณเทาชมพูยังเป็นสาวอยู่ดีนั่นเองก็ตาม)

หนังสือนั้นชื่อ ยุคกลางในยุโรป-นิทานพระเจ้าชาลมาญ พระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ นมส. เจ้านายนักเขียนสำคัญยิ่งพระองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องที่เสด็จในกรมพระองค์นั้นทรงนิพนธ์ในช่วงปลายพระชนมชีพ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ของพระองค์ ชื่อ ประมวญวัน ตอนนั้นเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา และถ้าว่าตามคำของ พ. ณ ประมวญมารค ทายาทของท่าน นิทานพระเจ้าชาลมาญนี้ก็เป็นหนึ่งในสองเรื่องของ "นิทาน นมส." ที่ดีที่สุดเป็นชั้นยอดของนิทาน นมส. (อีกเรื่องหนึ่งคือ นิทานเวตาล)

นิทานเวตาลดีและดังเพียงไรไม่จำเป็นต้องกล่าว นักเลงหนังสือเมืองไทยรู้จักกันดี แต่นิทานพระเจ้าชาลมาญที่ถือกันว่าเป็นระดับเดียวกับนิทานเวตาล ในสมัยหลังๆ กลับตกอับลับลี้อยู่หลายปี ไม่เป็นที่รู้จักเท่านิทานเวตาล เผอิญผมได้มีโอกาสอ่านนิทานพระเจ้าชาลมาญฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ซึ่งรวมเล่มพิมพ์กับนิทานเวตาลเป็นหนังสือเล่มเดียว พิมพ์ราวๆ ปี 2490 เศษๆ เมื่อผมได้อ่านนั้นกระดาษก็เหลืองกรอบเกือบจะป่นอยู่แล้ว แถมไม่ได้อ่านในเมืองไทย เป็นหนังสืออยู่ในห้องสมุดของที่ทำงานเก่าผมที่เมืองสวิสโน่น เมื่อคุณเทาชมพูปรารภขึ้นผมก็จำได้ และเมื่อมีโอกาสแวะไปเที่ยวพักร้อนที่สวิสสี่ห้าวันก็เลยขออนุญาตเขา ยืมเอากลับมาถ่ายเอกสารส่งไปให้

ระหว่างหยุดปีใหม่ คุณเทาชมพูได้อ่านแล้วก็ยุผมให้มาตั้งกระทู้ในเรือนไทย เพื่อให้นิทานนี้ไม่สูญ ผมเองเคยทำหน้าที่ออกแขกเบิกโรงมาหลายเรื่องแล้วในเรือนไทย ดังนั้นก็เลยขอมาตั้งกระทู้นี้ ตามบัญชาผู้ดูแลเว็บเรือนไทย ดังปรากฏอยู่นี้ ผมมาตั้งให้แล้วนะครับ แต่ขอเชิญคุณเทาชมพูเป็นคนรับภาระเล่าเรื่องนะครับ เรื่องชุดนิทานชาลมาญนี่ถ้าจะเล่ากันจริงๆ ก้เห็นจะได้ไปถึงปีใหม่ปีหน้า หรืออย่างน้อยก็ไปได้ถึงสงกรานต์ปีนี้สบายๆ

ตามประวัติศาสตร์ พระเจ้าชาลมาญราชาธิราชเดิมเป็นกษัตริย์ชนเผ่าแฟรงค์ (ซึ่งเป็นเผ่าอนารยชนเผ่าหนึ่งในยุโรปหลังสมัยที่จักรวรรดิโรมันล่มสลายไปแล้วและเป็นบรรพชนสายหนึ่งของพวกฝรั่งเศสและเยอรมันต่อมา) ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 800 พระเจ้าชาลมาญทรงได้รับสถาปนาจากสันตะปาปา ณ กรุงโรมให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์แรก จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นคนละอันกับจักรวรรดิโรมันโบราณเดิม ยืมเอาชื่อมา (แต่ก็ปกครองอาณาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน) มีข้อแตกต่างสำคัญที่สุดก็คือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ อิงอยู่กับพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกอย่างแนบแน่น (ขณะนั้นยังไม่มีนิกายโปรเตสแตนท์) ในขณะที่เราคงจะจำได้ว่าตามคริสตประวัตินั้น จักรวรรดิโรมันเดิมไม่ได้ใยดีอะไรกับคริสตศาสนาเท่าไหร่ แม้องค์พระเยซูเจ้าเองก็ทรงถูกจับตรึงกางเขนโดยที่ผู้สำเร็จราชการโรมันไม่ได้ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องห้ามปราม หรือออกจะเกือบๆ เห็นดีเห็นงามตามพวกยิวไปด้วยซ้ำ เมือพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว พวกคริสเตียนยุคแรกก็ยังถูกจักรพรรดิโรมัน (ตอนช่วงที่อาณาจักรโรมันเองใกล้จะล่มสลาย) จับไปทรมานต่างๆ นานาอีกเป็นอันมาก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างอย่างมากจากจักรวรรดิฝรั่งที่ยืมชื่อมาในสมัยหลัง

ชาลมาญ หรือ "มหาชาร์ลส" ในความหมายว่าชาร์ลสผู้ยิ่งใหญ่ (ไม่ได้ตั้งใจจะให้แปลว่าทรงเป็นเปรียญในพุทธศาสนาครับ) นั้นเป็นราชันแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่า "อันศักดิ์สิทธิ์" ก็คือ โดยได้รับพระพรจากศาสนจักรคริสเตียน และทรงมีหน้าที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกผู้คุ้มครองศาสนาคริสต์ ในหน้าที่นี้ พระเจ้าชาลมาญก็จำเป็นต้องชุบเลี้ยงขุนศึกนายทหารเป็นอันมาก ทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองพระศาสนาคือศาสนาคริสต์ และทำให้เกิดธรรมเนียมประเพณีเรื่องอัศวิน knights ขึ้นมา เราท่านในเมืองไทยสมัยนี้อาจจะรู้จักอัศวินคณะของพระเจ้าอาร์เธอร์แห่งอังกฤษ อันเรียกว่าอัศวินโต๊ะกลม (ที่เรียกว่าโต๊ะกลมนั้น นิทานว่าก็เพราะพระเจ้าอาร์เธอร์ไม่ทรงต้องการให้มีหัวโต๊ะ คือถือว่าสมาชิกแห่งคณะอัศวินโต๊ะกลมทุกคนรวมทั้งพระองค์เองด้วย มีฐานะเป็นเพื่อนตายเท่าเทียมเสมอกันหมด)

นิทานเรื่องอัศวินแห่งพระเจ้าอาร์เธอร์นั้นค่อนข้างจะมีชื่อเสียง แต่ในวงวรรณกรรมของฝรั่งนั้น คณะอัศวินของพระเจ้าชาลมาญก็มีเกียรติเกริกไกรไม่น้อยไปกว่าคณะอัศวินโต๊ะกลมเช่นกัน อย่างไรก็ดีในเมืองไทยเราดูเหมือนจะยังไม่มีใครแปลนิทานชุดนี้ออกแพร่หลายนัก นมส. จึงทรงจับแปลนิทานชุดนี้ออกสู่สายตาผู้อ่านชาวไทย เป็นนิยายยาวยืดลงในประมวญวันอยู่นาน (และผมประมาณว่าถ้าจะเอาทยอยลงเล่าใหม่ในที่นี้ก็คงจะได้อีกนาน) แต่ผมรับรองว่าสนุกครับ

มีข้อที่ผมจะขออนุญาตซักซ้อมความเข้าใจกันเสียก่อนจะเริ่มนิทาน สำหรับเพื่อนร่วมเรือนไทยที่อาจถือศาสนาและมีเชื้อชาติต่างๆกันว่า นิทานชุดนี้ ประการแรก เป็นแค่นิทาน ประการที่สอง เป็นนิทานที่ฝรั่งแต่งในสมัยที่ฝรั่งยังมากไปด้วยอคติต่อคนต่างชาติศาสนา และวิทยาการในเมืองฝรั่งเองก็ยังไม่ได้เจริญขึ้นมาสักเท่าไหร่ ในทัศนคติแคบๆ ของฝรั่งขณะนั้น เมื่อจำเป็นจะต้องเล่านิทานให้มีตัวผู้ร้ายก็ต้องตั้งให้ใครสักคนหนึ่งหรือพวกหนึ่งรับบทเป็นผู้ร้าย เมื่อภูมิหลังในประวัติศาสตร์เดิมมีเค้ามูลอยู่ว่ามีการรบพุ่งกันระหว่างพระเจ้าชาลมาญ (องค์จริงในประวัติศาสตร์) กับราชาของประเทศมุสลิมอยู่บ้าง กับทั้งหน้าที่พระเจ้าชาลมาญก็ต้องพิทักษ์คริสตศาสนาด้วย นิทานก็จับเค้าตรงนี้ไปขยาย จึงกลายเป็นว่าผู้ร้ายในเรื่องจำเป็นต้องเป็นแขกซึ่งฝรั่งสมัยนั้นเรียกว่า สาระเซ็น (Saracens) ไปหมด และดูเหมือนจะถือด้วยว่าอะไรที่ไม่ใช่ฝรั่งคริสเตียนแล้วต้องเป็นสาระเซ็น นิทานจึงจับเอาเมืองอินเดีย จีน อาระเบีย แอฟริกา ไปตีขลุมผสมกันเป็นเมืองสาระเซ็นทั้งหมด ถ้าฝรั่งสมัยนั้นรู้จักเมืองไทยก็คงจะเหมาเอาเมืองไทยไปเป็นเมืองสาระเซ็นเมืองหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องอะไรเลย แม้แต่เดนมาร์กในสมัยที่ยังไม่ได้รับคริสตศาสนา ยังเป็นดินแดนที่นับถือลัทธิที่ฝรั่งเรียกว่า Pagan นั้น ในนิทานชุดนี้ก็ยังแต่งให้เป็นพวกสาระเซ็น ดังนั้นขอให้ผู้อ่านผู้ฟังนิทานทำใจว่า นิทานก็คือนิทานสนุกๆ เท่านั้น และให้อภัยความเขลาและอคติอันคับแคบและเชยๆ ของฝรั่งโบราณผู้เล่านิทานด้วยเถิด

อันที่จริง มีหลักฐานในประวัติศาสตร์จริงๆ ว่าในสมัยของชาลมาญราชาธิราชนั้นได้รบกับท้าวพญาเชื้อชาติศาสนามุสลิมบ้างก็จริง แต่ก็ได้คบเป็นไมตรีกับกษัตตริย์มุสลิมด้วยเช่นกัน มีการส่งบรรณาการกับพระเจ้ากาหลิบในตะวันออกกลางด้วย

เมื่อแขกได้เบิกโรงมานานมากขนาดนี้แล้ว ก็ขอเชิญลิเก (ฝรั่ง) ลงโรงได้ เชิญคุณเทาชมพูเล่าเรื่องนิทานชาลมาญ ดำเนินความตามที่ นมส. ทรงแปลจากหนังสือนิทานฝรั่งต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ม.ค. 04, 13:41

 ขอแก้ตัวผมเองนิดครับ

เมื่อผมบอกว่าชาลมาญราชาธิราชทรงเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นผมพูดหลวมๆ ไปหน่อย พระเจ้าชาลมาญเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่คริสตศาสนจักรได้สถาปนาขึ้นยุคหลัง คือยุคที่ยืมชื่อจักรวรรดิโรมันของเก่าและตำแหน่งมาสวมให้ราชันผู้มิได้มีเชื้อชาติเป็นโรมันมาแต่เดิม (ชาลมาญทรงมีกำเนิดเป็นชนเผ่าแฟรงก์ ซึ่งถ้าจะถือจริงๆ ตามมาตรฐานของโรมันเดิมก็ต้องถือว่าเป็นอนารยชนพวกหนึ่้ง ตามพระประวัติว่าตรัสภาษาลาตินได้ไม่มากนัก แม้จะทรงพยายามศึกษาลาตินเมื่อทรงเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม แต่ในที่สุดก็ทรงยอมแพ้ ต้องกลับไปทรงใช้ภาษาเยอรมันโบราณอันเป็นภาษาของพระองค์มาแต่เดิม)

แต่ถ้าเราจะถือว่า จักรวรรดิโรมัน "อันศักดิ์สิทธิ์" นั้น ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วยการอำนวยพรของคริสตศาสนจักรแล้ว ก็กล่าวได้ว่าในช่วงยุคปลายของอาณาจักรโรมันอันดั้งเดิมก็ได้กลายเป็นจักรวรรดิโรมัน "อันศักดิ์สิทธิ์" แล้ว คือหลังจากที่จักรวรรดิโรมันได้กดขี่ข่มเหงคริสตชนยุคแรกอยู่พักหนึ่ง ซึ่งก็หลายชั่วรัชกาลเหมือนกัน แทนที่คริสตศาสนาจะถูกปราบราบลงไปได้ก็กลับยิ่งขยายตัวมากขึ้น ในที่สุดอิทธิพลของศาสนาคริสต์ก็ครอบคลุมอาณาจักรโรมันได้ และพระจักรพรรดิโรมันองค์แรกที่เปลี่ยนศาสนามายอมรับนับถือศาสนาคริสต์ก็คือ พระเจ้าคอนสแตนติน ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนที่ชาลมาญจะทรงได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ยุคหลัง) ราวๆ สี่ห้าร้อยปี ดังนั้นในตอนปลายสมัยของจักรวรรดิโรมันดั้งเดิมนั่นเองโรมก็ได้รับนับถือคริสตศาสนาแล้ว แต่หลังสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินมาได้ไม่นาน มหาอาณาจักรโรมันที่เคยยิ่งยงก็ล่มสลาย ชื่อของพระเจ้าคอนสแตนตินยังปรากฏอยู่ในชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือ "กรุงโรมตะวันออก" ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นกรุงอิสตันบูลในตุรกีเดี๋ยวนี้ เมื่อมหาอาณาจักรโรมันอันเดิมล่ม ยุโรปก็ตกสู่ความระส่ำระสายแตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากมายอยู่หลายร้อยปี จนกระทั่งชาลมาญทรงรวบรวมดินแดนต่างๆ ในยุโรปขึ้นเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และศาสนจักรโดยสันตปาปา ณ กรุงโรมจึงได้ทำพิธีสวมมงกุฏใ้ห้ชาลมาญเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งในวันคริสต์มาส ค.ศ. 800 ที่กรุงโรม ตามที่เล่ามาแล้ว

เรื่องที่กษัตริย์ชาวแฟรงก์ได้รับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิโรมัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นชาวโรมันนั้น อาจจะฟังดูเหมือนแปลก แต่ที่จริงก็ไม่ได้แปลกมาก ฝรั่งสมัยนั้นนับถืออารยธรรมโรมันว่าเป็นครูของตนแหล่งหนึ่ง ดังนั้นใครที่เป็นใหญ่ขึ้นมาก็ไม่รังเกียจที่จะขออาศัยเป็นโรมันสักหน่อยเถอะ เทียบกับประเทศในเอเชียอาคเนย์เรานี้หลายประเทศที่นับถืออินเดียเป็นครู ผู้มีอำนาจของประเทศแถวนี้ก็ตั้งตัวเองและเมืองของตัวเป็นเจ้านาย หรือวีรบุรุษของเมืองในนิทาน หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็นเทวดาแขกอินเดียกันไปตามๆ กัน กรุงศรีอยุธยาของพระรามจึงมาอยู่ที่เมืองไทย และพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ทรงรับพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี สืบมาหลายพระองค์ ในอินโดนีเซียก็มีเมืองอโยธยากฤต อันกลายมาเป็นชื่อย็อกยาการ์ตา ยิ่งกษัตริย์เขมรยิ่งกลายเป็นพระผู้เป็นเจ้าของอินเดียไปก็มากมายหลายพระองค์ ทั้งนี้โดยที่ยังทรงเป็นกษัตริย์ไทย เป็นชวา เป็นเขมรอยู่นั่นเอง หาได้เป็นชาวอินเดียไม่  

ขอเชิญนิทานออกโรงครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 09:44

 คุณนกข.ก็ได้ออกแขกพร้อมรำเบิกโรงมา ๒ ความเห็นซ้อนแล้ว  
ถึงควรแก่เวลาดิฉันจะเล่าเรื่องที่เคยอ่านในอดีต ด้วยสำนวนตัวเองในปัจจุบันเสียที

ขอเกริ่นสักหน่อยว่า เรื่องราวของพระเจ้าชาลมาญ ที่จะเล่าต่อไปนี้  น.ม.ส. ทรงแปลและเรียบเรียงขึ้นจากหนังสือ Legends of Chalemagne ของขาวอเมริกันชื่อ Thomas  Bulfinch  (1796-1867)
บุลฟินช์ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ  เขาทำงานเป็นเสมียนธนาคารอยู่ที่บอสตัน แต่ด้วยใจรักเรื่องหนังสือ พอเลิกงาน ก็กลับเข้าห้องพัก  รวบรวมวรรณคดีคลาสสิคของยุโรป   มาเล่าใหม่เป็นเรื่องง่ายๆสนุกสนานให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้อ่าน
ไม่หลับฟุบคาโต๊ะเรียนอย่างนักศึกษาที่ถูกบังคับให้อ่านเล่มเต็ม
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทำนองเดียวกับพระเจ้าอาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมของอังกฤษ      มีกลิ่นอายบรรยากาศของยุคกลางอยู่เต็มที่    

ถ้าพูดถึงสนุกก็คิดว่าจะไม่น้อยหน้า Lord of the Rings

เรื่องแรกที่จะเล่าเป็นชีวิตยอดอัศวินแห่งราชสำนักของพระเจ้าชาลมาญ  คนฝรั่งเศสถือว่าดังไม่แพ้เซอร์ลานสล็อตของอังกฤษ    
เขามีชื่อต่างๆเรียกกันไปได้แล้วแต่ชาติไหนจะเอาไปแต่ง   อังกฤษเรียก Roland  หรือโรลันด์  ฝรั่งเศสเรียกอย่างเดียวกัน ออกเสียงว่า โรลองด์  อิตาเลียนเรียก Olando น.ม.ส. ทรงเรียกว่าโอลันโด  
ในนี้ก็เลยเรียกโอลันโดตามท่านค่ะ

มีเรื่องราวเกี่ยวกับโอลันโดหรือโรลองด์ที่พวกเรียนวรรณคดีฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯต้องเรียน
คือ Chanson de Roland แปลเป็นอังกฤษว่า The Song of Roland

เปิดฉาก
เรื่องนี้ถ้าเป็นหนัง  ก็เปิดฉากแรกขึ้นที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในอิตาลี ชื่อ "สูตริ" (Sutri) ปกติแทบไม่มีอะไรน่าสนใจ  
แต่เวลานั้นคึกคักเพราะมีกระบวนทัพมาตั้งพลับพลาพักแรม
เจ้าของพลับพลาเป็นชายวัยกลางคนร่างใหญ่มีสง่า   กำลังรอกลุ่มพ่อครัวยกอาหารเย็นมาให้  
ได้ยินเสียงเอะอะชุลมุนภายนอกก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น  ทหารก็เข้ามารายงานว่า อาหารดีๆที่เตรียมเอาไว้พร้อมจะยกมาตั้งโต๊ะถูกมือดีบุกเข้ามาแย่งเอาไปดื้อๆ    และที่ประหลาดกว่านี้คือพวกพ่อครัวซึ่งเป็นทหารชายฉกรรจ์สู้ไม่ไหว ไล่จับก็ไม่ทัน
ทั้งที่หัวขโมยก็เป็นแค่เด็กหนุ่มคนเดียว   แต่ว่าแข็งแรงปราดเปรียวไม่น่าเชื่อ    ทหารทั้งกลุ่มเอาไม่อยู่

ชายร่างใหญ่มีสง่าราศีผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่น คือพระเจ้าชาลมาญมหาราชของฝรั่งเศสนี่เอง  
กำลังจะเดินทางไปโรมเพื่อเข้าพิธีจักรพรรดิราชาภิเษกจากสันตปาปา เป็นจักพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่คุณนกข.เล่าไว้ข้างบนนี้
พอเห็นเหตุประหลาด หวนนึกถึงพระสุบินขึ้นมาได้ว่า จะพบพระญาติสนิท  ก็โปรดให้อัศวิน ๓ คนสะกดรอยไล่ตามหัวขโมยไปถึงถ้ำ(grotto)ที่เด็กหนุ่มอาศัยอยู่  

เด็กหนุ่มก็ไม่ยักกลัว ฉวยกระบองออกมาตั้งท่าจะสู้ให้เห็นฤทธิ์
พอดีมีหญิงวัยกลางคนบุคลิกสง่างามกว่าหญิงชาวบ้านทั่วไป  ออกจากถ้ำมาห้ามการสู้กันเสียก่อน  
นางเผยตัวเองกับแม่ทัพนายกองทั้งสามว่านางไม่ใช่ใครอื่น  แต่เป็นเจ้าหญิงเบอร์ธา   พระขนิษฐาของชาลมาญนั่นเอง   อัศวินทั้งสามก็รีบคุกเข่าลงคารวะเจ้านาย

เจ้าหญิงเบอร์ธาเมื่อตอนสาว ทำผิดประเพณี  ลอบรักกับอัศวินผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ จึงถูกขับออกจากประเทศฝรั่งเศส   ซัดเซพเนจรไปคลอดบุตรในถ้ำ ใช้ชีวิตตกยากด้วยกันสองแม่ลูก

ส่วนพ่อ ประสงค์จะได้เกียรติยศคืน ก็อำลาเมียและลูกเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นๆ หวังว่าจะสบช่องทางได้คืนสู่ความมีหน้ามีตา   แล้วหายไปไหนไม่รู้  
จนลูกชายโตเป็นเด็กหนุ่มก็ไม่ยักกลับมา( แล้วรู้สึกว่าจะไม่ได้กลับมาอีกตลอดเรื่อง  คงไปตายเสียที่ไหนสักแห่ง)

เมื่ออัศวินทั้งสามพาแม่ลูกกลับมาเฝ้ากษัตริย์   พระเจ้าชาลมาญก็โปรดอภัยให้พระน้องนางอย่างเต็มพระทัย  
รับแม่ลูกมาอยู่ในพระอุปถัมภ์  อยู่สุขสบายอย่างที่ควรเป็น

ตามธรรมเนียมพระเอกที่มักจะมีกำเนิดแปลกๆ ไม่ค่อยจะปกติราบรื่นอย่างตัวละครชั้นรองๆ   และยังมี"พรจากสวรรค์" ให้เก่งเกินมนุษย์มาแต่เกิด   ในนี้คือมีกำลังกายแข็งแรง คงกระพันชาตรียิงแทงไม่เข้า(เว้นแต่ตรงส้นเท้า
(คงเป็นอิทธิพลจากมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์-อคิลลิส ทหารเอกฝ่ายทรอยก็เป็นแบบนี้)
โอลันโดก็เข้าข่ายนี้เป๊ะ    กลายเป็นยอดทหารของพระเจ้าลุง  
ถึงแม้ว่าพระองค์มีอัศวินแห่งราชสำนักอยู่อีกจำนวนมาก รวมกันเรียกว่า Paladin และมีเด่นๆอยู่ ๑๒ คน  แต่คนดังที่สุดก็คือโอลันโดอยู่ดี

เรื่องราวของโอลันโดยืดยาว เพราะมีกวีคนนั้นคนนี้เอาไปแต่งไว้เป็นจำนวนมาก  เป็นการผจญภัยหลายๆเรื่องด้วยกัน    ไม่ค่อยจะติดต่อกันเท่าไร  
ต้องมาปะติดปะต่อกันทีหลังว่าเป็นการผจญภัยสมัยที่โอลันโดรับราชการอยู่ในสำนักของชาลมาญ  เจอเรื่องตื่นเต้นนับไม่ถ้วน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 10:05

 ตามขนบของการแต่งวรรณคดียุคกลาง  จะมีอะไรคล้ายๆสูตรก็ว่าได้ค่ะ  
คือถ้าเอาเรื่องมากางแบบแผนที่
จะเห็นได้ว่ามันประกอบด้วยตัวเอกยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้น      
จากจุดนั้นก็ลากเป็นเส้นเหมือนหนทาง
ไปจนบรรจบกับจุดหมายปลายทางตรงปลายเรื่อง  

ขนบการแต่งก็คือ  โยนปมปัญหาเข้าไปที่จุดเริ่มต้น  ให้ตื่นเต้น  
ปมปัญหานี้จะผลักดันตัวเอกให้เคลื่อนที่ไปตามเส้นนั้นแหละเพื่อจะไปที่จุดปลายทางอันเป็นการคลี่คลายปัญหาจากจุดเริ่ม  
ระหว่างเส้นทางนั้นคนแต่งก็จะโยนเหตุการณ์เข้าไปได้อีกไม่มีข้อจำกัด  
หาตัวละครใหม่ๆเข้ามาตัดขวางเส้นทางนั้นอยู่เรื่อยๆ   พระเอกต้องฝ่าฟันไปทีละจุดจนกระทั่งรอดมาถึงปลายทาง  
เรื่องก็จบลงได้สำเร็จ
อะไรที่โยนเข้าไประหว่างเส้นทางของเรื่อง สามารถโยนได้ไม่มีข้อจำกัด     ไม่ต้องต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกันนักก็ทำได้  
เมื่อเหตุการณ์หนึ่งจบลงก็ใส่เหตุการณ์ใหม่ต่อเข้าไปได้ทันที  
ตัวละครรองๆตัวหนึ่งเข้ามาบทบาทสำคัญแล้วหมดบทไปทันทีกลางเรื่อง  
หลีกทางให้ตัวใหม่โผล่เข้ามาแทนบ้างก็ทำได้  
มีพระเอกนางเอกเป็นตัวเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นเรื่อง
ขนบการแต่งแบบนี้  ทำนองเดียวกับการแต่งเรื่องกำลังภายใน  ของโกวเล้งน่ะค่ะ  เปรียบเทียบแบบนี้คงพอนึกออก

เดินคุยออกซอยแยกไปพอสมควร ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องสั้นๆที่น.ม.ส. ทรงเล่าไว้ก่อนดีกว่า เป็นการผจญภัยตอนหนึ่งของโอลันโด
ชื่อ
โอลันโดรบยักษ์

ยักษ์ในที่นี้ในเรื่องบอกว่ามาจากโปรตุเกศ  ชื่อเฟอเรกัส   นอกจากตัวมหึมาแบบยักษ์ทั่วไป แล้วยังหนังหนาสุดเหนียวเหมือนยางรถแทรกเตอร์ ยิงแทงไม่เข้า    
เวลาต่อสู้ไม่ต้องใช้อาวุธ  ใช้มือจับศัตรูหนีบรักแร้พาไป  ศัตรูก็หมดทางสู้
การหนีบรักแร้แบบนี้  ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑
ก็มีอยู่ตอนหนึ่ง  คือสุครีพเสียทีกุมภกรรณ  ถูกหนีบรักแร้เอาตัวไป
แต่ทหารทางฝ่ายพระรามตามไปแก้เอาตัวคืนมาทันเสียก่อน

กลับมาสู่เรื่องอีกที
ตอนรบกัน  โอลันโดต้องใช้ความไวหลบไปหลีกมาราวกับหนุมานกลับมาเกิด  
จะปล้ำกันซึ่งๆหน้าแบบซูโม่ไม่ได้       ไล่ฟันยักษ์ทีไรก็ฟันไม่เข้า   ยักษ์ก็ไล่จับหวิดๆจะได้แต่ไม่ทัน    
ผลัดกันจับผลัดกันแทงโดยไม่มีใครได้อะไรขึ้นมา จนกระทั่งยักษ์เหนื่อยอ่อน ตามประสาคนน้ำหนักมากซึ่งคงจะอุ้ยอ้ายเหนื่อยง่ายกว่าคนน้ำหนักเบา  
ก็ชวนหยุดพักชั่วคราว  แล้วยักษ์ก็พักเหนื่อยลงนอนหลับ    
โอลันโดไม่หลับก็นั่งเฉยๆรออยู่

ตามมารยาทของอัศวินยุคกลาง   เขายึดถือธรรมเนียมประพฤติด้านจริยธรรมกันเคร่งครัดหลายอย่าง
เช่นไม่ใช้เล่ห์กระเท่ในการต่อสู้     ไม่ลอบทำร้าย  ไม่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือเสียเปรียบ   ต้องสู้กันตรงๆด้วยฝีมือ  
ถ้าหากว่าขงเบ้งถูกจับตัวมาให้รบในยุคกลางคงจะเรียกหาแอสไพริน หรือไม่ก็ขอตัวกลับไปทำไร่ไถนาบนเทือกเขาโงลั่งกั๋งตามเดิม
เพราะอุบายทุกชนิดที่ขงเบ้งเก่งนักหนาเป็นของต้องห้ามทั้งหมด

ยักษ์หลับสนิท   โอลันโดก็ไม่ฉวยโอกาสทำร้าย  ตามมารยาทที่ว่ามา  และดีกว่านั้นอีกคือเห็นอีกฝ่ายนอนหงายราบกับพื้นกลัวคอจะเคล็ด  
โอลันโดก็ค่อยๆยกหินนุ่มๆ (หินอะไรก็ไม่รู้ค่ะ)สอดเข้าไปให้หนุนแทนหมอน   ยักษ์ก็เลยหลับเต็มอิ่มแสนสบาย
จนตื่นขึ้นมา  สบายขึ้นมาก  เห็นโอลันโดช่วยหาหินมาให้หนุนหัว  ยักษ์ก็เห็นน้ำใจจึงเริ่มชวนคุย แบบเลิกเป็นอริกันชั่วคราว    พูดไปพูดมา คุยโวมากไปหน่อย  
เผลอหลุดปากออกมาว่าทั้งเนื้อทั้งตัวคงกระพันไม่มีตรงไหนแทงเข้าเว้นแต่หว่างกลางอก    แต่ถึงบอกก็ไม่กลัวเพราะไม่เคยมีศัตรูแทงได้สักคน
พอเริ่มรบกันอีก  โอลันโดหมายตากลางอกยักษ์  
ในเมื่อโอลันโดชำนาญดาบไม่มีผู้เสมอเหมือน ก็เลยแทงกลางอกได้สำเร็จ
ยักษ์ล้มลงตาย  โอลันโดเลยชนะยักษ์  ถือว่าเป็นชัยชนะที่ขาวสะอาด
พระเจ้าชาลมาญถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของยอดทหารของพระองค์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 10:11


ภาพประกอบของโอลันโดกับเฟอรากัสค่ะ
สังเกตว่าในเรื่องบอกว่าเฟอรากัสเป็นชาวโปรตุเกส
ภาพประกอบให้เฟอรากัสโพกผ้าเป็นแขก
แบ่งแยกให้เห็นชัดว่าไม่ใช่คริสเตียน  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 10:46

 กาโฮ้ ฮัดช่ะ แขกออกแขกแล้ว ยี่เกลงโรงแล้ว แต่ขอโผล่มาแจมอีกครับ

ตามประวัติศาสตร์ (จริง นอกนิทาน) นั้น ยุโรปในสมัยก่อนพระเจ้าชาลมาญขึ้นไปนิดหนึ่งมิได้เป็นดินแดนของฝรั่งทั้งหมด มีชนมุสลิมที่ข้ามมาแต่แอฟริกาเหนือเข้ามายึดได้ดินแดนที่เป็นสเปนเดี๋ยวนี้ ครองอำนาจอยู่ได้นานพักใหญ่ทีเดียว และได้สร้างความเจริญทางวิทยาการและวัฒนธรรมให้แก่ยุโรปสมัยนั้นไม่น้อย (ในขณะนั้นอารยธรรมโรมันล่มสลายไปแล้ว ฝรั่งเองจึงมีอารยธรรมด้อยกว่าอารยธรรมอาหรับ) ฝรั่งเรียกแขกเหล่านี้ว่า พวกมัวร์ หรือแขกมัวร์ เราๆ ท่านๆ ที่เคยไปสเปน (ผมไม่เคยไปครับ) อาจจะยังสังเกตร่องรอยอารยธรรมอิสลามได้ในสถาปัตยกรรมสเปน เช่นที่คอร์โดบา เคยเป็นเมืองที่อิสลามเคยรุ่งเรืองมาก่อน ในภาษาสเปนและแม้แต่ภาษาอังกฤษก็มีศัพท์ที่รับมารจากภาษาอารบิกหลายคำ แม้แต่เลขที่ฝรั่งเรียกว่าเลขอารบิก คือ 1 2 3 ... (ไม่ใช่เลขโรมัน คือ I II III IV...) ที่ฝรั่งใช้อยู่เดี๋ยวนี้ก็มีชื่อบอกอยู่แล้วว่ารับมาจากอาหรับ

ตามประวัติศาสตร์ ฝรั่งเพิ่งจะตีแขกมัวร์ออกไปหมดจากทวีปยุโรปตะวันตก คือออกไปพ้นประเทศสเปน ดูเหมือนจะหลังยุคพระเจ้าชาลมาญเสียอีกครับ ในฝรั่งเศสแคว้นของชาลมาญเองก็เคยมีเจ้าแขกมาตั้งครองอำนาจ แต่ราชาฝรั่งองค์หนึ่งคือท้าว Pepin ทรงรบขับไล่ทัพมุสลิมออกไปพ้นจากฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่ก่อนชาลมาญทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้า Pepin ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนทงเป็นพระบิดาของชาลมาญ

ในเมื่อเฟอรากัส ยักษ์ตนนั้นเป็นยักษ์โปรตุเกส เพื่อนบ้านของสเปน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนมุสลิม จะเกณฑ์ให้แกเป็นสาระเซ็นด้วย ก็คงจะพอได้ครับ

มีข้อสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับต้นฉบับเดิมของ "ยุคกลางในยุโรป" คือว่า นมส. ทรงแปลเรื่องนั้น ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่า อัศวิน ใช้ในภาษาไทย เมื่อทรงแปลนิทานมาถึงตอนที่พูดถึงขุนทหารชาญอาชาขี่ม้าสวมเกราะ ซึ่งได้รับสิทธิให้ถืออาวุธได้ในยุคกลางยุโรป ที่อังกฤษเรียก ไนต์ ฝรั่งเศสเรียก เชอวาลิเยร์ เยอรมันเรียก ริตเตอร์... คือที่ไทยเราสมัยนี้เรียก อัศวิน นั้น ท่านก็ทรงคิดศัพท์ใหม่ในภาษาไทยประทาน เรียกว่า "นายม้า" แต่ในเวลาต่อมามีผู้ใช้คำว่า "อัศวิน" ในความหมายนี้ คำว่านายม้าก็เลยหายๆ ไป อัศวิน มีความหมายเกี่ยวๆ กับม้า (อัศว) อยู่ ตรงตามความหมายในภาษาฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งเรียกนักรบบนหลังม้านี้ โดยโยงกลับไปถึงคำว่า cheval ในภาษาลาตินแปลว่าม้า แต่แท้ที่จริงคำนี้เดิมไม่ได้แปลว่านายทหารขี่ม้า แต่เป็นชื่อเทพฮินดู คือพระอัศวิน จะมีประวัติยังไงผมก็ลืมแล้ว แต่จำได้ว่าเกี่ยวๆ กับม้าอยู่ด้วยเหมือนกัน

ผมจำได้เลาๆ ว่า ไอแซก อาซิมอฟเคยเขียนบทความบอกว่า คำว่า Knight และ Knave ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากรากคำเดียวกัน เดิมแปลว่าเด็กชาย ซึ่งถ้าจะแปลให้ตรงความในภาษาไทย (ที่จริงภาษาแขก) ก็เห็นจะต้องเรียกว่ากุลบุตร หรือบุตรหลานผู้มีตระกูล แต่ต่อมาคำว่า Knight มีเกียรติสูงส่งกว่าคำว่า Knave เป็นอันมาก ในภาษาร่วมตระกูลติวตันนิกกับอังกฤษ คือเยอรมันนั้นเรียกเสียว่า ริตเตอร์ ซึ่งแปลว่าผู้ขี่ (Rider) ก็คือขี่ม้า ส่วนในภาษายุโรปตระกูลโรมานซ์ คือพวกภาษาฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน โปรตุเกส อันเป็นภาษาคนละตระกูลกับอังกฤษนี้ ต่างเรียกอัศวินโดยโยงกับไปหาคำลาตินว่าม้าทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 12:57

 คุยกันแค่สองคนคงไม่น่าสนุก ขออนุญาตแจมด้วยคนนะครับ

ขอแย้งคุณครูที่ว่าในยุคดังกล่าว เป็นยุคที่มีขนบ มีกติกาสุภาพบุรุษนั้น เป็นเพียงอิทธิพลของกวีและนักเขียนในยุคเรอเนซอง ต่อเนื่องมาถึงวิคตอเรีย ที่มองโลกยุคโบราณด้วยสายตาโรแมนติก เป็นหญ้าอีกด้านของกำแพงที่เขียวกว่าเสมอ  (ฮัดช้า! คุยเรื่องฝรั่งต้องใช้สำนวนฝรั่ง ถึงจะเท่นะจ๊ะจะบอกให้)

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นยุคที่ป่าเถื่อน ทารุณ ใช้ความรุนแรงเป็นปกติ  ซึ่งเพิ่งจะเริ่มสะท้อนให้เห็นในนิยายและภาพยนต์ในชั้นหลังๆ เช่น Pillars of the World หรือภาพยนต์เกี่ยวกับโจน ออฟ อาร์ค
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 15:54

 ยินดีที่คุณถาวภักดิ์เข้ามาร่วมวงคุยด้วยครับ

ต่อข้อแย้งของคุณถาวภักดิ์ ผมขอแสดงความเห็นบ้างดังนี้ คือ ในประการแรก (ทำยังกับผมเป็นคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน -) ในประการที่หนึ่งนั้น ผมเห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์ทุกประการที่ว่า ตามข้อเท็จจริงนั้นฝรั่งสมัยนั้นยังป่าเถื่อนอยู่เอามากๆ เพราะอารยธรรมโรมันสิ้นแสงไปเสียแล้ว คริสตศาสนาก็ยังเพิ่งจะลงหลักปักฐานในยุโรปได้หมาดๆ ยังไม่ได้ลงรากลึกในใจคน ดังนั้นถ้าฝรั่งจะยังป่าเถื่อนอยู่ก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ดี ในประการที่สอง นิทานเหล่านี้เป็นนิทานครับ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือบันทึกสภาพข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง แต่เป็นเรื่องแต่ง ดังนั้นถ้าไม่ต้องตรงกับความจริงบ้างก็เห็นจะต้องโทษจินตนาการของจินตกวี ซึ่งได้รับยกเว้นให้มี poetic license มานานแล้ว แต่ ในประการทีีสาม ผมกำลังจะโยงว่า กวีผู้แต่งนิทานไม่ได้แค่จะบิดข้อเท็จจริงเล่นสนุกๆ (อ้อ ผมขอแย้งด้วยว่านิทานเหล่านี้ที่พูดถึงจริยาและกฏกติกามารยาทของอัศวิน "ตามที่ควรจะเป็น" นั้น มีมานานแล้วก่อนยุคเรอเนสซองซ์ครับ เผลอๆ ก็จะมีมาตั้งแต่ในสมัยยุคกลางเองด้วย) กวี ซึ่งบางทีก็เป็นพระนักบวช เพราะสมัยนั้นมีแต่พระที่จะรู้หนังสือ จงใจเขียนนิทานเรื่องมาตรฐานจริยวัตรความประพฤติของอัศวินที่ควรจะเป็น โดยสมมติเป็นอุดมคติว่า อัศวินที่ดีควรจะเป็นยังงี้ๆๆ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าอัศวินตัวจริงนั่นไม่ได้ถือกติกายังงี้ไปทุกข้อทุกคนหรอก ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะใช้นิทานเหล่านี้นั่นแหละ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการพยายามควบคุมความประพฤติของอัศวินนั่นเอง

สรุปได้ว่า ผมเห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์ว่าอัศวินยุคกลางหลายคนยังดิบเถื่อนอยู่มากในโลกของความจริง แต่ผมกำลังจะโต้ว่า เพราะฝรั่งยังเถื่อนนั่นแหละครับ ทำให้นิทานเกี่ยวกับอัศวินฝรั่งต้องให้ภาพอัศวินในอุดมคติไว้ เป็นเกณฑ์ความประพฤตติที่ควรจะพยายามลองทำตาม อย่างน้อยให้แกหายเถื่อนลงได้หน่อยก็ยังดี

แล้วถ้าอ่านเรื่องนิทานไปจริงๆ ก็จะเห็นว่า แม้ในนิทานอัศวินเหล่านั้นเอง ก็มีการเล่าถึงความประพฤติของอัศวินหลายคนที่เป็นพาล ไม่ตรงกับจริยวัตรของอัศวินที่ดีที่ควรเป็นเท่าไร เปิดโอกาสให้อัศวินดี (ซึ่งมักเป็นพระเอก) มีข้ออ้างในการมาปราบอัศวินอันธพาลเหล่านั้น นี่ก็สะท้อนข้อเท็จจริงในโลกสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีตำรวจ โรงศาลก็ยังไม่เป็นระบบเป็นเรื่องเป็นราว คำว่าความมั่นคงของมนุษย์หรอว่าสิทธิส่วนบุคคลไม่มีใครรู้จัก ประชาชนจำเป็นต้องรอพระบารมีเจ้านายหรือการบำเพ็ญประโยชน์จากอัศวินพเนจร (ที่ดี) ในการแก้ปัญหา เพราะไม่มีช่องทางจะร้องเรียนอะไรได้

อาจจะเหมือนกับคำว่า
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 ม.ค. 04, 15:58

 ขอออภัยครับ มือไวไปหน่อย

กติกาความเป็นผู้ดีหรือสุภาพบุรุษนักรบที่สมมติว่าอัศวินควรจะมีนั้น (เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า chivalry) อาจจะเหมือนกับคำว่า "ชายชาติทหาร" ซึ่งเมื่อเราได้ยินเข้า ก็เกิดภาพในใจเราขึ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งทหารที่ดีๆ ก็คงจะมีที่ตรงกับภาพนั้นบ้างเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าไม่ทุกคน ทหารที่ไม่ได้เป็นชายชาติทหารก็คงจะมีด้วยเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 00:42

 สวัสดีครับท่านทั้งหลาย
อยากจะบอกว่ากระทู้นี้ถูกใจผมมากเลยทีเดียวเพราะหนังสือเล่มนี้บังเอิญว่าผมเคยอ่านตอนเด็กๆ จำได้ว่าต้องไปเฝ้าดูและลุงที่พักฟื้นอยู่ เลยไปขุดคุ้ยกองหนังสือเก่าๆของลุงมาจนเจอเล่มนี้ แล้วก็อ่านด้วยความสนุก ยังจำบทที่เรียกว่า โอลันโดคลั่งได้อยุ่เลยครับ  ในเรื่องมีนายม้าคนนึงชื่อ โรนัลโด ด้วยใช่ไหมครับ
นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่อง โรมานซ์ ไม่แพ้เรื่องกษัตริย์อาร์เธอร์เลยครับ ฉากสุดท้ายของโอลันโดนั้นเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ตอนผมไปเที่ยวที่เมืองต่างๆในยุโรปที่ยังมีปราสาทยุคกลางเหลืออยู่ อย่างเช่นเมือง Bruegge ในเบลเยี่ยม ผมนึกถึงนิยายเรื่องนี้ตลอดเลยครับ
คุณ นกข. ครับ เปแปง ตัวเตี้ย เป็นพ่อของชาร์ลมาญครับ เขามีสมญาว่า Pepin the Short
อันนี้ผมรู้มาจากหนังสือต่วยตูนพิเศษน่ะครับ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 01:33

 มาอ่านแล้วแต่ยังไม่จบค่ะ  เพราะโรงเรียนเพิ่งเปิด  เลยกลับไปยุ่งตัวเป็นเกลียวเหมือนเคย  ขอบคุณคุณนิลกังขาและคุณเทาชมพูเป็นอย่างมากเลยค่ะ  ยุคนี้เป็นสมัยที่ชอบมากด้วยค่ะ

เคยเถียงกับหลายๆคนว่า  คำว่า  "ฝรั่ง"  ไม่ใช่มาจากชื่อประเทศฝรั่งเศส(ซึ่งสืบสายมาจากพวกแฟร้งใช่มั้ยคะ)  แต่เราได้มาจากแขกซึ่งค้าขาย ทำสงครามกับ "ฝรั่ง" มาก่อนคนไทยจะรู้จักพวกฝรั่งเศสอีก  และได้คำนี้มาจากแขกอีกที  ดูเหมือนแขกอาหรับจะมีคำว่า farengie รึไงเนี่ยค่ะ  ไม่แน่ใจกับการสะกด  แต่อ่านว่า ฟาเรงงี่  (ที่คนเขียนเรื่องสตาร์เทรคเอาไปใช้เรียกพวกเอเลี่ยนตัวโกงเผ่าหนึ่ง)  คุณเทาชมพูหรือคุณนิลกังขาเคยได้ยินมาแบบนี้บ้างมั้ยคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 08:35

 คุณพวงร้อย  ที่มาของชื่อ "ฝรั่ง"  นักภาษายังถกเถียงกันว่ามาจากไหน   ฝรั่งเศส  อาหรับ อินเดีย และโปรตุเกส ซึ่งล้วนมาค้าขายในอยุธยา   รอให้คุณนกข.มาแถลงเองนะคะ

คุณ paganini    เชิญลงนั่งร่วมวงคุยค่ะ      คุณก็คงสนุกเหมือนดิฉันตอนอ่านพระนิพนธ์ครั้งแรก   มารื้อฟื้นขึ้นมาอีกที ก็คิดว่าสนุกมากขึ้นไปอีก

เรื่องนี้ น.ม.ส. ไม่ได้เล่าว่าทรงแปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือของใคร   แต่ดิฉันไปค้นในเน็ต   เจอว่ามาจากThomas Bulfinch
สนใจหาอ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่ค่ะ
 http://www.bulfinch.org/

อัศวินรินัลโด เป็นหนึ่งใน paladins มีชื่อเสียงในราชสำนัก  ที่มีการผจญภัยยาวเหยียดไม่แพ้โอลันโดเหมือนกัน  
จะค่อยๆเล่าความต่อไปเรื่อยๆ  แบบกินอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ

ยอดอัศวินทั้ง 12 คนของชาลมาญ รวมเรียกกันว่า  Peers  
Peers พวกนี้จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า paladins   หมายถึงชาวราชสำนัก เข้านอกออกในเป็นประจำ
  ไม่ใช่ราชสำนักแบบมหาดเล็กเด็กชา  แต่เป็นชาวราชสำนักระดับสำคัญ  ขั้น" ราชสหาย" ของพระเจ้าแผ่นดิน
เวลาทำศึก  ราชสหายเหล่านี้ก็ห้อมล้อมพระเจ้าแผ่นดินออกศึก  หรือไม่ก็โปรดให้เป็นแม่ทัพคุมทหารไปรบ แทนพระองค์
ถ้าหากว่าเป็นอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  paladins ของไทยคือสมุหนายก สมุหกลาโหม และจตุสดมภ์วังหลวงและวังหน้า  ล้วนเจ้าพระยาและพระยาดังๆทั้งนั้น
ในรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาพระคลัง(หน) นี่ peer ของ paladins อย่างไม่มีข้อสงสัย  
เจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ที่มาของชื่อสกุลบุนนาค นี่ก็ใช่เลย
เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ยอดทหารในรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงเรียกว่า พี่บดินทร์   จัดเข้า paladin ขั้น peer เช่นกันค่ะ
ขอตัวไปรวบรวมรายชื่อ peers ของชาลมาญก่อนนะคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 10:52

 เรื่องคำว่าฝรั่ง ในภาษาไทย มาจากไหนนั้น มีคนถกเถียงกันไว้มาก ใจผมค่อนข้างเอนไปเชื่อคำว่า ฟะเรงงี่ ซึ่งดูเหมือนเป็นภาษาเปอร์เซียหรืออาหรับอะไรสักอย่าง เพราะไทยเราติดต่อกับอาหรับเปอร์เซียมาก่อนฝรั่ง รับคำในภาษาแถวๆ นั้นมาไม่น้อย เช่น กุหลาบ องุ่น นี่ภาษาแขกทั้งนั้น แถมฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาเมืองไทยสมัยอยุธยาก็ไม่ใช่ฝรั่งเศส เป็นโปรตุเกศ (ชาติเดียวกับยักษ์เฟอรากัส) ถ้าไทยเราเจอฝรั่งเศสก่อนก็น่าจะเป็นไปได้ว่าเราจะเรียกคนผิวขาวทั้งหมดว่าฝรั่งด้วย แต่ในเมื่อเราเจอโปรตุเกสก่อน ข้อสันนิษฐานนี้ก็ตกไป (ไม่เช่นนั้นเราก็ควรจะเรียกคนผิวขาวในภาษาไทยว่าพุทธิเกศ หรืออะไรทำนองนั้นไปหมด แต่เราไม่ได้เรียก เพราะเรารับคำของพ่อค้้าแขกที่เรียกคนจำพวกนี้ว่าอีกอย่างหนึ่ง คือว่าฝรั่ง เสียก่อนแล้ว)

ในการใช้ภาษาปัจจุบัน ในภาษาลาว คำว่า ฝรั่ง หมายถึงชาติฝรั่งเศสโดยเฉพาะครับ จากชื่อประเทศเขานั่นแหละ FRANCE ไม่หมายถึงฝรั่งทั้งหลายที่ผิวขาวทั่วไป

แต่ชื่อประเทศฝรั่งเศส France เอง ฝรั่งเขาได้จากชื่อชนเผ่าแฟรงก์ อันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 11:04

 ขอกลับไปที่นิทานตามเดิม

ใครรู้สึกเหมือนผมมั่งครับว่า โอลันโดหลานหลวงพระเจ้าชาลมาญนี่ ตอนเปิดตัวกับพระเจ้าลุง มีเค้าคล้ายๆ นิทานไทยเรื่องนางสิบสอง (พระรถ-เมรี) จังเลย?

นางสิบสองเป็นพี่น้องสิบสองคน เป็นชายาพระรถสิทธิ์ทั้งหมด ภายหลังพระรถสิทธิ์ได้นางที่สิบสามมาเป็นชายาอีกคน นางที่สิบสามนี่เป็นนางยักษ์แปลง ได้ใช้อุบายจนพระรถสิทธิ์ขับไล่นางทั้งสิบสองไปตกระกำลำบาก ถูกควักตา และต้องไปอาศัยอยู่ในถ้ำ แต่นางสิบสองคนสุดท้องมีท้องกับพระรถสิทธิ์แล้ว ต่ิอมาคลอดบุตรเป็นพระรถเสนซึ่งเป็นพระเอก เมื่อโตขึ้น พระรถเสนมีฝีมือในการตีไก่ ได้ออกไปตีไก่พนันกับชาวบ้านชนะเป็นประจำ โดยขอพนันเป็นของกินหาเลี้ยงแม่และป้ามา จนในวันหนึ่งก็ไ้ด้ไปตีไก่ชนพนันกับไก่ชนหลวงของพระราชา คือพระรถสิทธิื์ผู้เป็นพ่อนั่นเอง พ่อลูกก็เลยได้รู้จักกันด้วยวิธีนี้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พระเอกฝรั่งต้องลงแรงใช้กำลังตัวเองไปแย่งอาหารมาเลี้ยงแม่ แต่พระเอกไทยเก่งกว่า ใช้ไก่ไปชนแทน แถมเลี้ยงได้ทั้งแม่ทั้งป้าอีกสิบเอ็ดคนด้วย
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 07 ม.ค. 04, 16:00

 ขอย้อนกลับมาคุยเรื่องความป่าเถื่อนของฝรั่งต่ออีกหน่อยนะครับ

จากข้อมูลต่างๆที่สะสมเข้าหัวมา ทำให้ผมเข้าใจว่ายุโรปยุคกลาง คือ นับตั้งแต่การล่มสลายของโรม มาจนถึงยุคเรอเนซอง เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของพวกฝรั่ง(ยุโรปตะวันตก+เหนือ) ทั้งด้านศิลปวิทยาการ ไปจนถึงศีลธรรมจริยธรรม ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกกลาง หรือชาวมุสลิมที่บรรลุสู่ความเจริญสูงสุดในทุกๆด้านจนเป็นที่ริษยาของเหล่าฝรั่งชาวยุโรปและเป็นสาเหตุสำคัญของสงครามครูเสด

ในขณะเดียวกันชาวยุโรปตะวันตกก็ถูกชาวเผ่ามงโกลปู้ยี่ปู้ยำมาอย่างต่อเนื่อง จนหลายๆประเทศในปัจจุบันมีพลเมืองหน้าตาเป็นฝรั่งผสมเจ็กอยู่ดาษดื่น

พวกฝรั่งได้เพียรพยายามกลบเกลื่อนปมด้อยส่วนนี้ด้วยข้ออ้างต่างๆนานามาเป็นเวลานานนับพันปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวฝรั่งที่จะคอยสร้างเรื่องต่างๆขึ้นมาให้บรรพบุรุษของตนในยุคนั้นดูดีที่สุด

ยิ่งกว่านั้นชาวกรีกชาวโรมันที่เราถูกพวกฝรั่งเป่าหูมาตลอดว่าเป็นฝรั่ง(ยุโรปตะวันตก+เหนือ)นั้น  แท้ที่จริงแล้วผมคิดว่าน่าจะมีสายเลือดที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวตะวันออกกลางเสียยิ่งกว่า  สมัยที่กองทัพสปาต้าถูกบดขยี้ด้วยทัพเปอร์เซียจนแทบบสูญพันธุ์  พวกฝรั่งยังอยู่ในยุคหินอยู่เลย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง