เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 86483 ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 13:50

 นานมาแล้ว  เคยอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง พระเอกเป็นหม่อมเจ้า  
เพิ่งปรากฎองค์ในสังคมไทย   ในเรื่องผู้เขียนบอกว่่า
ไม่มีใครรู้ว่ามาจากราชสกุลไหน  
มีแต่ข่าวเล่าลือว่าเป็นโอรสของเจ้านายพระองค์หนึ่ง
แต่พระองค์ไหนก็ไม่มีใครกล้ายืนยัน  แต่เมื่อหม่อมเจ้าองค์นี้ร่ำรวยมาก  
คนก็เลยนับถือตามๆกันไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าราชสกุลไหน

เรื่องนี้อาจารย์ผู้สอนวรรณคดี บอกว่า...ไม่จริง  เป็นไปไม่ได้  ผิดข้อเท็จจริง  
ถ้าท่านชายองค์นี้มีตัวจริง    ต่อท้ายพระนามต้้องมีนามสกุล    
พอเห็นนามสกุลปุ๊บ ก็สามารถรู้ได้ปั๊บว่ามาจากราชสกุลไหน    
แล้วจะเช็คได้ว่าเป็นโอรสเจ้านายองค์ใด จริงหรือไม่ หรือว่าปลอมแปลงมา
จะมีหม่อมเจ้าโผล่ขึ้นมาโดยไม่รู้ที่มาที่ไป  สืบกันไม่ถูกจนกระทั่งจบเรื่อง  เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย

ราชสกุลมีจำนวนไม่มากนักก็จริง  แต่ราชสกุลบางสาย
มีลูกหลานสืบเชื้อสายมาก ก็พอจะเจอคนที่ใช้ราชสกุลนี้ให้คุ้นหูได้  
แต่บางราชสกุลก็มีลูกหลานน้อย นานๆเจอที  ต้องถามกันถึงรู้
ดิฉันรวบรวมไว้ได้หลายชื่อ    เลยขอมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

คนแรกที่จะเล่า  เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือน ไปทัวร์อยุธยามา   ไกด์กิติมศักดิ์ชื่อคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา   ฟังนามสกุลแล้วไม่คุ้นหู
แต่เดาว่าคงเป็นราชสกุลต้นๆรัตนโกสินทร์  ลูกหลานชั้นหลังถึงเป็นนายและนางสาวกันแล้ว

ถามก็ได้ความว่าเป็นราชสกุลที่สืบมาจากรัชกาลที่ 2
ย้อนไปทบทวน จึงรู้ว่าเกี่ยวกับเรื่องที่เคยเล่าไว้ในบทความ "แค้นของกวี" ค่ะ เป็นเรื่องหนึ่งหญิงกับสามชาย
 http://vcharkarn.com/reurnthai/poet.php
ส่วนความเป็นมาของราชสกุล พนมวัน คือสืบสายจากพระองค์เจ้าพนมวัน เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  กับเจ้าจอมมารดาศิลา

เจ้าจอมมารดาศิลา  มาจากราชินิกุล ณ บางช้าง  
เป็นญาติทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1
ถือเป็นเจ้าจอมมารดารุ่นใหญ่  เป็นหม่อมห้ามมาตั้งแต่ก่อนสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์  
ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร    

เจ้าจอมมารดาศิลาคงมีบุญวาสนาในวังหลวงไม่น้อย เพราะมีพระราชโอรสและธิดาถึง 5 พระองค์

พระองค์ที่ 1 เป็นหญิง ทรงพระนามสั้นๆว่า พระองค์เจ้าหญิงวงศ์  ประสูติเมื่อ พ.ศ 2334 ทรงมีพระชนม์มาถึงรัชกาลที่ 4

พระองค์ที่ 2  พระองค์เจ้าชายพนมวัน   กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์  ประสูติ พ.ศ. 2337ทรงกำกับกรมพระนครบาลมาตั้งแต่รัชกาลที่ื2 ในรัชกาลที่ 3 ว่ากรมพระคชบาล (คือกรมช้าง) สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
เป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา

พระองค์ที่ 3   พระองค์เจ้าชายกุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์  ประสูติ พ.ศ. 2341 ในรัชกาลที่ 3 ว่ากรมม้า  รัชกาลที่ 4 ว่ากรมพระคชบาลอีกกรม

ราชสกุลนี้ คุ้นหูสำหรับนักอักษรศาสตร์  เพราะเป็นสกุลของนักประพันธ์สตรีผู้โด่่งดังในสมัยรัชกาลที่ 7  "ดอกไม้สด" ม.ล. บุปผา กุญชร( นิมมานเหมินท์)  และน้องสาวของเธอคือศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ (เทพยสุวรรณ) ก็เป็นปรามาจารย์ท่านหนึ่งทางวรรณคดีวิจารณ์ของไทย
บิดาของท่านทั้งสองคือเจ้าพระยาเทเวศร์(ม.ร.ว. หลาน กุญชร)
ถ้าใครผ่านไปทางหอสมุดแห่งชาติ จะเห็นวัดเทวราชกุญชร  นั่นแหละค่ะ วัดของราชสกุลนี้  ลูกหลานเชื้อสายกุญชร ณ อยุธยา ไปทำบุญกันเป็นประจำ

พระองค์ที่ 4   พระองค์เจ้าชายทินกร  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  ประสูติ พ.ศ. 2344  เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4
เคยต่อสักรวากับคุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง กวีหญิงคนดัง

สมัยคุณนกข.เรียนอยู่ในสีหปราสาท  คงได้เรียนกับอาจารย์พนม ทินกร ณ อยุธยา  
ที่ยกขึ้นมาเพราะเป็น เชื้อสายราชสกุลทินกร คนเดียวที่ดิฉันนึกออก ทำให้รู้ว่าราชสกุลนี้ยังมีเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน

พระองค์ที่ 5 พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล ประสูติ พ.ศ. 2347  มีพระชนม์ยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ 5
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 14:21

 ที่บ้านมีหนังสือเล่มโปรดอยู่ 2 เล่มคือชีวิตในวัง เล่ม 1 และ 2
ผู้แต่งคือม.ล. เนื่อง นิลรัตน
คุณยายเนื่องเพิ่งฉลองอายุ 90 ปีนี้เอง     ร่างกายยังดี เดินเหินได้  สติปัญญาแจ่มใสแม่นยำ  คุยกันรู้เรื่องทุกอย่างไม่หลงลืม  ท่านเขียนเรื่องชีวิตนอกวังลงเป็นประจำในนิตยสารพลอยแกมเพชร
หนังสือคุณยายขายดีติดอันดับเบสเซลเลอร์
มีตำราอาหารชาววังหลายอย่าง
หาอ่านได้ที่นี่
 http://www.thaifolk.com/doc/royalmenu.htm
แต่ถ้าจะได้รับรสชาติคำบอกเล่าของคุณยายซึ่งสนุกมาก  ขอให้ไปหาหนังสือมาอ่านดีกว่า  

ดิฉันเคยไปคุยกับคุณยายถึงเรื่องเก่าๆ  เก็บเกร็ดเล็กๆน้อยๆของชีวิตชาววังมาประดับสมอง
ปัจจุบันหาคนที่รู้เรื่องเหล่านี้ได้ยากเย็นเต็มที  99% ล่วงลับไปหมดแล้ว
คุณยายเป็นนางข้าหลวงในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ  เติบโตมาในวังสวนสุนันทา ซึ่งเป็นที่ประทับของพระวิมาดาหลังรัชกาลที่ 5 แล้ว

คุณยายจำเหตุการณ์ในวังสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7ได้ดีมาก   เล่าถึงเจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์  และเจ้าจอมท่านอื่นๆที่เคยเห็นชัดเจน แม่นยำเหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อวันวานนี้เอง
ท่านย่าของคุณยาย(เป็นท่านอาของคุณพ่อของคุณยาย  ไม่ใช่แม่ของพ่อ) คือหม่อมเจ้าหญิงสบาย นิลรัตน  เป็น"นายห้องเครื่อง" หรือหมายถึงผู้ควบคุมห้องครัวในวัง    ทรงรับคุณยายไปเลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 ขวบ จนโตเป็นสาว  
หลังพระวิมาดาฯสิ้นพระชนม์    มาถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สมเด็จหญิงน้อยหรือสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล เสด็จไปประทับที่ชวา คุณยายเนื่องถึงออกมาอยู่ข้างนอก เพราะข้าหลวงก็กระจัดกระจายกันไป  
ปัจจุบันวังสวนสุนันทาคือสถาบันราชภัฎสวนสุนันทา

เคยถามคุณยายว่า นิลรัตน มาจากเจ้านายในรัชกาลไหน  ท่านบอกว่ารัชกาลที่ 2
ถ้านับอายุกับราชสกุลพนมวัน  ราชสกุลนิลรัตน เกิดทีหลังมาก
พระองค์เจ้าชายนิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ประสูติ พ.ศ. 2354  ในเจ้าจอมมารดาเพิ่ม   เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกครองราชย์แล้ว
ทรงว่าการกรมแสงปืนต้นในรัชกาลที่ 4  กรมแสงหอกดาบ และกำกับช่างเงินโรงกระษาปน์ทำเหรียญเงิน   สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4

ราชสกุล นิลรัตน ณ อยุธยา  สะกดโดยไม่มีตัวการันต์ ค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 11:54

 เผอิญผมไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงของอาจารย์พนม ทินกร ณ อยุธยา ครับ แต่จำท่านได้ ถ้าจำไม่ผิดท่านสอนอยู่ทางภาควิชาการปกครอง หรือจะภาครัฐประศาสนศาสตร์ก็ไม่แน่ใจ แต่ท่านไม่ได้สอนในภาควิชาที่ผมเรียนครับ

เจ้าชายลึกลับในนิยายนั้น ผมจำท่านชายวสวัต ("เงา") ได้ แต่ลืมนามสกุลในนิยายไปแล้ว อีกท่านหนึ่งคือ เจ้าสิงหทัย นรกานต์ ("สาบนรสิงห์") ว่าเป็นเจ้าฟ้าเมืองไหนก็ไม่รู้นอกเมืองไทย เจ้าทั้งสององค์นี้ตามนิยายว่าในที่สุดเป็นเจ้าปลอม คือไม่ได้อยู่ในราชสกุลไหนๆ ของเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น องค์หนึ่งคือพญายมปลอมมา อีกองค์เป็นนรสิงหาสูรแปลงมาเหมือนกัน นามสกุล (สมมติ) ว่า นรกานต์ นั้น ผมว่าที่จริงน่าจะเป็นนามสกุลของท่านชายวสวัตมากกว่าเจ้าสิงหทัย เพราะถอดแล้วได้ความหมายว่า "ที่สุดขอบนรก (นรก + อันต)" ถ้าพระยายมอยากจะมีนามสกุลกับเขาบ้าง จะใช้นามสกุลนี้ก็เหมาะดี แต่ถ้าจะถอดอีกทางหนึ่ง แปลว่า "อันเป็นที่รักของคน" ก็คงจะได้เหมือนกัน (นร + กานต์)

แต่ผมว่า นิยายไทยที่ว่าก็อาจพอเป็นไปได้จริงบ้างเหมือนกันครับในสังคมไทย ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลยตามที่อาจารย์วรรณคดีท่านฟันธง เพราะผมได้สังเกตว่าสังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบหลักฐานก่อนจะปลงใจเชื่อ คือ จริงอยู่ที่ท่านอาจารย์ว่าถ้าจะตรวจสอบหลักฐานก็มีทางตรวจสอบได้ ง่ายนิดเดียว สำคัญอยู่ตรงที่ว่าคนในสังคมไทย เมื่อเจอหม่อมเจ้าอะไรเข้าคนหนึ่ง ยิ่งรวยด้วยแล้ว ก็มักจะเชื่อไว้ก่อน หนทางที่จะตรวจสอบน่ะมีอยู่จริง แต่คนในสังคมจะลุกขึ้นใช้หนทางนั้นหรือไม่ ไม่แน่ ถ้าเจ้านั้นเป็นเจ้าปลอมก็คงลอยนวลอยู่ได้นานพอใช้ กว่าเรื่องจะแดง

เมื่อไม่นานมานี้ก็เคยมีกรณีคนที่ใช้ราชสกุลบางราชสกุลเป็นนามสกุลของตนเองอยู่ได้ตั้งเป็นนาน ก่อนจะมีการโวยวายให้เขาเลิกใช้ ไม่ใช่หรือครับ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 12:08

 ราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่หนึ่งก็น่าสนใจน่าแจกแจงออกมาให้รู้จักกันนะครับคุณเทาชมพู

คลับคล้ายคลับคลาว่ามีสกุลเจ้าตั้ง ที่มีที่มาจากยุคสร้างกรุงเช่นกัน ดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าชุมชนใหญ่ชาวจีนแถวเมืองชล  ที่ช่วยราชการอย่างเข้มแข็งจนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เป็นที่เมตตาเอ็นดูของเสด็จกรมพระราชวังบวรฯจนกราบบังคมทูลยืนยันขอพระราชทานให้ขึ้นเป็นเจ้าและทรงกรม  ขอคุณครูเทาชมพู นำมาบอกเล่าด้วยก็จะเป็นพระคุณ

นามสกุล ณ ป้อมเพชร นี่เป็นเจ้าด้วยหรือเปล่านะครับ  เคยผ่านตาประวัติที่มา  แต่ลืมไปเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 17:39

 ตอบคุณถาวภักดิ์ก่อนค่ะ
หัวหน้าชุมชนเมืองชลที่คุณถามถึง   ดิฉันเคยเล่าไว้ในกระทู้ "เจ้านายที่มิได้อยู่ในราชวงศ์จักรี"
 http://www.vcharkarn.com/snippets/vcafe/show_message.php?Pid=14184
ขอลอกส่วนนี้มาให้อ่านกันอีกครั้งค่ะ

กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่า เรือง  เป็นสามัญชนชาวเมืองชลบุรี
แต่ได้ผูกมิตรเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เมื่อครั้งเป็นนายสุดจินดามหาดเล็กสมัยปลายอยุธยา
ถือว่ามีอุปการคุณต่อกันเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจลถึงเสียกรุง
ในรัชกาลที่ 1 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ
เชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุลว่าสุนทรกุล ณ ชลบุรี

นามสกุล ณ ป้อมเพชร์  ไม่ใช่ราชสกุล  เป็นนามสกุลพระราชทานให้พระสมุทรบุรานุรักษ์(ขำ) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการสมัยรัชกาลที่ 6
สกุลนี้เดิมตั้งบ้านเรือน  อยู่ ณ ป้อมเพ็ชร์ กรุงเก่า และมีชื่อเสียงขึ้นมาที่กรุงเก่า

เรื่องราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1   มีหลายสกุลด้วยกันค่ะ
จะเล่าถึงราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา พอเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน
รอสักวันสองวันนะคะ

ตอบคุณนกข.
ก็อย่างที่ว่าละค่ะ    อาจารย์ท่านหมายความว่าถ้าตรวจสอบก็ง่ายนิดเดียว  เว้นแต่ว่าจะสนใจตรวจสอบกันหรือเปล่าเท่านั้น
ถ้าเจ้าปลอมองค์นั้น ปลอมมาหลอกเฉพาะนางร้ายหรือพระรอง แค่ตัวละครสามสี่คนที่ไม่ค่อยจะได้ออกนอกแวดวงบ้านตัวเอง อาจจะหลอกไปได้ถึงตอนจบของเรื่อง
แต่ถ้าโผล่มาในสังคมไทยเป็นที่เอิกเกริก  ลงข่าวสังคมบ่อยๆ  คงต้องมีคนโวยขึ้นในเร็ววันแน่  ถ้านามสกุลท่านไม่ใช่ราชสกุลจริงๆ
หรือต่อให้ใช้ราชสกุลจริงๆ ระดับหม่อมเจ้าสืบง่ายค่ะ    ระดับนายและนางสาวต่างหากสืบยากมาก  ไม่รู้ว่าคุณพ่ออยู่สายไหน  หรือรู้ตัวคุณพ่อก็อาจไม่รู้ว่าเมียไหนอีก

ส่วนคนที่ใช้นามสกุลซ้ำกับราชสกุล    ตอนนี้ยอมถอนเปลี่ยนนามสกุลใหม่ไปแล้ว
จะว่าปลอมแปลงหรืออ้างก็ไม่ใช่     เพราะเจ้าตัวก็ประกาศว่าไม่ได้เกี่ยวกับราชสกุล
เป็นเรื่องของการจดทะเบียนนามสกุล ที่คุณพ่อของเธอไปขอจดกับทางอำเภอ  อำเภอก็ยอมให้จด   ทั้งที่มันซ้ำกับราชสกุล  ด้วยความไม่รู้หรือไม่ตรวจสอบ อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นการสื่อสารยังมีพรมแดนขวางกั้นอยู่มาก
ก็ใช้กันในครอบครัวนี้เรื่อยมาหลายปี จนกระทั่งชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม  สมาชิกราชสกุลเกิดสงสัยว่าสายไหน สอบถามไปก็ได้คำตอบว่าแค่นามสกุลซ้ำ
นามสกุลชาวบ้านอาจซ้ำกันได้  แต่ราชสกุล มีข้อห้ามไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ว่าชาวบ้านตั้งซ้ำไม่ได้
ทางฝ่ายราชสกุลก็ขอให้เปลี่ยน  ขอเรื่อยมาหลายปี   ทางฝ่ายนี้ก็ไม่เปลี่ยนสักที  จนกระทั่งฝ่ายขอเปลี่ยนตัดสินใจขอผ่านโนติสของทนายความแทนจะขอกันเองอย่างเมื่อก่อน  
ก็เลยยอมเปลี่ยน แป๊บเดียวเสร็จ  ใช้นามสกุลตั้งใหม่ที่ไม่ซ้ำกับใครเรียบร้อย  จบเรื่องไปแล้วค่ะ

พูดถึงการใช้นามสกุลซ้ำ  ดิฉันก็เจอหลายครั้ง  เคยมีนิสิตปริญญาโทคนหนึ่งใช้นามสกุลสิงหรา  ถามเธอว่าทำไมไม่มี ณ อยุธยาต่อท้าย  เธอบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับราชสกุล  เธอเป็นคนต่างจังหวัด ก็ใช้นามสกุลนี้มาตั้งแต่เกิด

นามสกุล นิลรัตน์ ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่ใช่ นิลรัตน ณ อยุธยา

หรือจารุณี สุขสวัสดิ์  ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราชสกุลศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา(หรือบางท่านสะกดว่า สุขสวัสดิ์) เธอใช้นามสกุลพ่อเลี้ยง   ส่วนคุณพ่อเลี้ยงเป็นราชสกุลหรือเปล่า หรือแค่ซ้ำ ก็ยังสืบความไม่ได้  
ถ้าเขาเป็นสุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา  จารุณีเป็นลูกเลี้ยงหรือบุตรบุญธรรม  ใช้ ณ อยุธยาไม่ได้อยู่แล้ว

แต่ทั้งหมดนี้เป็นการใช้อย่างเปิดเผย  ไม่มีการปลอมแปลงค่ะ   ไม่เข้ากรณีท่านชายวสวัต
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 06:28

 อาจารย์เทาชมพูครับ
ขอบคุณอีกครั้งสำหรับกระทู้นี้ และทำให้มีการเท้าความไปยัง
เรื่อง   แค้นของกวี   ที่ผมยังไม่เคยอ่านพอได้อ่านแล้วรู้สึกชอบครับ แต่อยากจะขออนุญาติเติมบทแห่งความแค้นของกวีเข้าไปอีกบทหนึ่ง  บทนี้จับใจผมเหลือเกิน
เสียเจ้า

๑.เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทรายฯ

๒.จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจฯ

๓.ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์ ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้ ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณฯ

๔.แม้แต่ธุลีมิอาลัย ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตาฯ

๕.ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอยฯ

อังคาร กัลยาณพงศ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 08:46

 สวัสดีค่ะคุณ paganini
สำนวนแค้นของอังคารในบทนี้ ทางวรรณคดีเรียกว่า อธิพจน์(อติพจน์) หรือ Hyperbole  คือกล่าวให้เกินจริง เพื่อเน้นความเข้มข้นรุนแรงของอารมณ์
ผลงานของอังคาร มักเป็นแบบนี้อยู่ในหลายบท    นึกถึงอีกบทที่กวีประชดผู้หญิง
ชาติหน้าถ้ามีจริง...........น้องหญิงน่าวางขาย
เป็นสินค้ากลางดินกลางทราย.........เรียงรายข้างถนนหนทาง
จะโล้สำเภาทอง............มาซื้อน้องไปแนบข้าง
สามวันเจ้าจืดจาง...........วางขายใหม่ใส่พานทอง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 10:46

 กลับมาเรื่องราชสกุลและสกุลสามัญที่ฟังคล้ายๆ ราชสกุลนะครับ

มีท่านที่เอ่ยถึง ณป้อมเพ็ชร แล้ว ทำให้ผมนึกถึง ณ ลำเลียง อีกนามสกุลหนึ่ง

นอกจากนั้น มี ณ เมืองลุง (ไม่ใช่ญาติผม) แต่เป็นนามปากกา ไม่ใช่นามสกุล มี ณประมวญมารค เป็นนามปากกาเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 11:22

ดิฉันเคยหา" ณ ลำเลียง" ในทะเบียฬนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่พบค่ะ
นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย ณ มักต่อท้ายด้วยชื่อเมือง  ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนั้นๆ  
ณ สงขลา  ณ มหาสารคาม  ณ กาฬสินธุ์ ณ ภูเก็ต  ณ ถลาง  ณ นคร  อ้อ ณ พัทลุง ด้วย
พวกนี้เป็นสามัญชนเชื้อสายขุนนาง  
ถ้าทางเหนือ ณ เชียงใหม่ เป็นเจ้านาย สืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มี ณ ลำปางอีกสกุลหนึ่งด้วยค่ะ
หมายเหตุ ในทะเบียนนามสกุล  พิมพ์ติดกัน เช่นณสงขลา   แต่ตอนหลังดิฉันเห็นเว้นช่องระหว่างคำ


ขอส่งการบ้านเรื่องราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา

ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา   เป็นราชสกุลในราชวงศ์จักรีที่ผิดแผกไปจากราชสกุลอื่นๆโดยมาก ตรงที่นับเนื่องเป็นสายราชสกุลจากทางฝ่ายแม่  ไม่ใช่ทางฝ่ายพ่อ
ความเป็นมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระพี่นางอยู่ 2 พระองค์  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ก็โปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี  และสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยเป็นสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์

สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ มีพระนามเดิมว่า แก้ว   ในสมัยที่เป็นกุลสตรีสามัญชนตอนปลายอยุธยา  ได้สมรสกับเจ้าขรัวเงิน ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของมหาเศรษฐีเชื้อจีน  กล่าวกันว่าบรรพบุรุษเป็นขุนนางใหญ่ของจีนราชวงศ์ไต้เหม็ง( ราชวงศ์หมิง)
เมื่อแมนจูเข้าครองประเทศ    ท่านไม่ประสงค์จะอ่อนน้อมเป็นฝ่ายแมนจู ก็อพยพลี้ภัยการเมืองมาตั้งถิ่นฐานที่อยุธยา มีลูกหลานอยู่ที่นี่

เจ้าขรัวเงินและท่านแก้ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน   ถึงแก่กรรมไปคนหนึ่งเมื่อเยาว์วัย เหลือ 5 คน
ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าทั้ง 5 พระองค์
คือ
1)สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์ ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2)เจ้าฟ้าหญิงกรมขุนอนัฆนารี
3)เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2
4)สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธยา
5) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา
ทุกพระองค์ในนี้ ภายหลังมีคำนำหน้าว่า  สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ    แตกต่างไปจากพระราชโอรสธิดาในพระมหากษัตริย์ซึ่งมีคำนำว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ    หรือถ้าเป็นพระราชโอรสธิดาในกรมพระราชวงศ์บวรฯ ก็ใช้คำว่า พระราชวรวงศ์เธอ

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีหม่อมชายา คือเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปีผู้เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าตากสิน    อันประสูติจากกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ หรือเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ขอเล่าซ้ำไว้อีกครั้งเพราะเคยเล่ามาแล้วว่า หลังจากเปลี่ยนแผ่นดินจากธนบุรีมาเป็นรัตนโกสินทร์แล้ว  บรรดาพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าตาก ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อมา  เว้นแต่ 2 พระองค์ที่ขอตายตามพระราชบิดา
 ที่เหลือก็ยังอยู่เป็นปกติมาตลอดรัชกาลที่ 1 ไม่มีใครถูกลงโทษตลอดรัชกาล    
พระราชโอรสหลายองค์เข้ารับราชการเป็นขุนนาง   ส่วนพระราชธิดาก็เป็นหม่อมห้ามของเจ้านายในราชวงศ์จักรี  
แต่ว่าทุกองค์ (เว้นแต่เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตซึ่งเป็นหลานตาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) ไม่ได้ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า แต่กลายเป็นสามัญชน
เจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปีนั้นไม่แน่ว่ายังดำรงพระยศอยู่หรือเปล่า  แต่พระโอรสธิดาที่ประสูติออกมาเป็นหม่อมเจ้า ไม่ใช่พระองค์เจ้า
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 13:57

 ในนามปากกานักประพันธ์ที่ตั้งให้คล้าย ณ ต่างๆ ผมตกไปท่านหนึ่งครับ คือ ณ เมืองใต้

"ว. ณ เมืองลุง" เป็นนักแปลเรื่องจีนกำลังภายใน

"พ. ณ ประมวญมารค" และ "ว. ณ ประมวญมารค" เป็นนามปากกา 2 นาม พระองค์จริงเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องกัน เป็นสมาชิกในราชสกุล (จริงๆ) ทั้งคู่ คือพระโอรสและพระธิดาในเสด็จในกรม น.ม.ส.

ท่านหญิง ว. ณ ประมวญมารค ต่อมาก็คือพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ดูเหมือนจะเคยทรงอธิบายไว้ว่า น.ม.ส. เคยทรงออกหนังสือพิมพ์ สำนักงาน นสพ. ของท่านตั้งอยู่ที่ถนนประมวญ ดังนั้น พ. และ ว. ณ ประมวญมารค ก็คือ "พ./ ว. แห่งถนนประมวญ" เท่านั้นเอง มารค หรือ มรรค หรือ มรคา แปลว่าทาง หรือถนน (ผมทราบว่าคำนี้ในภาษาฮินดียังแปลว่าถนนอยู่จนเดี๋ยวนี้ ถนนหนทางในกรุงนิวเดลีมีหลายสายที่มีชื่อลงท้ายด้วย Marg รวมทั้ง Nyana Marg ที่ตั้งสถานทูตไทย) แต่ท่านหญิงวิภาวดีฯ เคยทรงเล่าว่า เคยมีคนอ่านตัวหลังเป็น Mark ในภาษาฝรั่ง เลยอ่านนามปากกาท่านว่า "วอ นอ ประมวนม้าร์ค"...

พอๆ กับพระลอดิลกราช (ลอ-ดิลก-ราช) ซึ่งเคยมีคนอ่านว่า "ลอ ดิล กร๊าซ" มาแล้ว

"นายตำรา ณ เมืองใต้" เป็นนามแฝงของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร นักวิชาการภาษาไทยรุ่นครู ซึ่งตัวจริงของท่านก็เป็นเชื้อสายเมืองใต้จริงๆ เพราะ ณ นคร ที่เป็นนามสกุลจริงของท่านอาจารย์เปลื้องนั้น ส่อว่าท่านสืบเชื้อสายมาแต่เจ้าพระยานคร (ศรีธรรมราช)

ขอเชิญคุณเทาชมพูเล่าต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 14:02

 กรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงมีพระโอรสธิดาจากหลายหม่อมด้วยกัน รวมแล้ว 31 องค์  
พระองค์ใหญ่คือหม่อมเจ้าชะอุ่ม ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯเฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์
หม่อมเจ้าชะอุ่ม กรมหมื่นเทวานุรักษ์ มีบุตรชายหญิงจำนวนมาก  เป็นชาย 25 และหญิง 18  หนึ่งในจำนวนนี้ ชื่อม.ร.ว. กระต่าย  
เติบโตขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นคนหนุ่มที่เฉลียวฉลาด ตั้งใจฝึกฝนเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากฝรั่งในสยาม  จนมีความรู้เข้าใจได้ดี   ท่านจึงได้่เป็นล่ามติดตามคณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีที่อังกฤษ  เมื่อพ.ศ. 2400  บันทึกการเดินทางไว้ใน "นิราศลอนดอน" กลับมาตีพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง   ม.ร.ว. กระต่ายได้รับพระราชทานยศเป็นหม่อมราโชทัย  (เทียบเท่าพระยาพานทอง)ได้ดำรงตำแหน่งถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรก  น่าเสียดายว่าท่านอายุไม่ยืนยาวนัก  ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 4นั้นเอง
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 14:16

 ชูมือถามคุณครูครับ  แล้ว ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ละครับ สืบทอดมาจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ด้วยใช่ไหมครับ

เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา จำติดหัวมา ไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่า ว่าสมาชิกของตระกูลในยุครัชกาลที่ 5-6 ออกจะ low profile มาก จบเกือบหลุดทำเนียบ  ทำนองว่าเจ้าตัวไม่ได้แสดงตนว่าสืบเชื้อสายเป็นพระญาติพระวงศ์  แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อสกุลพร้อมคำว่า ณ อยุธยา ให้เอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 14:52

 คุณถาวศักดิ์  เรื่องราชสกุล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา อ่านได้ที่บทความนี้ค่ะ
 http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php

ส่วนเรื่องราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ทราบเพียงว่าพระราชทานให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
ท่านผู้นี้ต่อมาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ดำริก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 http://www.chula.ac.th/history/dist/dhammasak_th.html

เกร็ดที่คุณถาวภักดิ์เล่ามา ไม่เคยได้ยินค่ะ  อาจเป็นได้ว่าในตอนนั้น ตกทอดมาหลายชั่วคนแล้ว  ท่านเป็นแค่นาย  ไม่ได้เป็นหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวง  ก็เลยไม่ค่อยมีบุคคลภายนอกทราบ

แต่อย่างไรก็ตาม  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแน่นอน  เพราะเวลาทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล ผู้ขอก็ต้องทำหนังสือกราบบังคมทูล  เล่าถึงบรรพบุรุษตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหนทำงานการอะไร   ไม่ใช่ขอเฉยๆ ไม่เล่าความเป็นมาเอาเสียเลย
พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ท่านก็ทำเรื่องกราบบังคมทูล บอกกล่าวเล่าถี่ถ้วนดี เหมือนผู้ขอรายอื่นๆ ว่าท่านสืบสายมาจากพระยาราชภักดี(ช้าง) บุตรหม่อมเจ้าฉิมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทพหริรักษ์
พระเจ้าอยู่หัว ถึงโปรดพระราชทานนามสกุลให้ ว่าเทพหัสดิน ณ อยุธยา
เทพ--->เทพหริรักษ์  หัสดิน---> ช้าง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นหนึ่งในผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก จำนวน ๗๐ คน
 http://www.wahdah.com/history/2475.html

เกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับท่านที่จำได้อีกก็คือ ท่านแต่งเพลงกราวกีฬา ที่ขึ้นต้นว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน
กับเพลง คิดถึง จากทำนองเพลง Gypsy Moon ที่ขึ้นต้นว่า...จันทร์กระจ่างฟ้า นภาประดับด้วยดาว  โลกสวยราว เนรมิตประมวลเมืองแมน...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 15:05

 เพลงชาติ โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ “เพลงชาติ” ซึ่งคณะราษฏร์ได้ มอบให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ประพันธ์ มีเนื้อร้องดังต่อไปนี้

“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

เนื้อร้องข้างต้นนี้ใช้ทำนองเพลงมหาชัย (ไทยเขษม ปีที่ ๙ เล่ม ๓ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕)

เมื่อมีธงไตรรงค์และเพลงชาติครบแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอให้มีการชักและประดับธงชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ การประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้นจึงนิยมทำรูปพานรัฐธรรมนูญมีธงชาติไขว้ แม้แต่เหรียญที่ระลึกในงานขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็ทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ และมีธงชาติไขว้เช่นเดียวกัน

เพลงชาติดังกล่าว พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ให้ทำนอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ธ.ค. 03, 15:08

 ขอโทษ   มือไวคลิกเร็วไปหน่อย มาจากเว็บนี้ค่ะ
 http://www.culture.go.th/oncc/knowledge/thaiflag/03.htm  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.115 วินาที กับ 19 คำสั่ง