เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 13165 ทำไมต้องแผ่สองสลึง
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


 เมื่อ 24 ธ.ค. 03, 13:46

 ไม่รู้ว่าจะบรรจุในหัวข้อย่อยไหน ฝากไว้ตรงนี้ก็แล้วกันนะครับ

อย่างกระทู้แหละครับ

ทำไมต้องแผ่สองสลึง

ทำไมไม่แผ่สามสลึง หรือแผ่สลึงเดียว
หรือแผ่เต็มบาท

วานผู้รู้ช่วยเฉลยหน่อย
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ธ.ค. 03, 08:38

 ยังหาคำตอบไม่ได้เลยค่ะ    คนที่น่าจะรู้ดีที่สุดคือกาญจนาคพันธุ์ ซึ่งรวบรวมสำนวนไทยไว้  ถ้าไม่มีในหนังสือของท่านก็ไม่รู้จะหาได้จากที่ไหน
แผ่สองสลึง พจนานุกรมให้คำตอบว่า อาการที่นอนหงายมือตีนแผ่ออกไป เต็มที่   ความหมายเดียวกับ แผ่หลา   แต่ไม่บอกที่มาของสำนวน ว่ามาจากไหน
ดิฉันลองเดาดู   ปรากฎว่าทำท่าจะติดเรท  เพราะไปถึงว่าสองสลึงอาจไม่ใช่มาตราเงินก็ได้     ก็เลยหยุดเดาแค่นี้ดีกว่า  ถ้าผิดแล้วหน้าแตกเย็บไม่ติดหลายซ้ำหลายซ้อน
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ธ.ค. 03, 11:58

 ได้ยินมาว่าเกี่ยวกับการพนัน มีการโยนเหรียญ 2 สลึ่งซึ่งถูกบีบให้งอ แล้วกลิ้งได้
แต่ไม่ค่อยแน่ใจในรายละเอียดครับ
ถ้าท่านใดทราบ กรุณาให้ข้อมูลด้วย

และขอขอบคุณ คุณเทาชมพู ที่พยายามช่วยนะครับ

ผมไม่ได้ซีเรียสอะไร เพียงแว้บมาในหัวว่า เอ ทำไมต้อง สองสลึง ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ธ.ค. 03, 08:51

 ได้คำตอบมาแล้วค่ะ     เป็นคำตอบประเภทที่สุดจะเดาได้   ไม่เคยเห็นและไม่คิดว่ามีอยู่อีกแล้วในสังคมปัจจุบัน

คำว่า แผ่สองสลึงใช้กับการลื่นล้มลงไปนอนหงายแผ่

มูลเหตุมาจากเงินเหรียญที่ใช้แทงถั่วโปตามโรงบ่อน    บ่อนมีไม้ขอยาว ปลายเป็นห่วงกลม สำหรับคล้องเงินที่คนแทง
เวลากิน ก็คล้องเงินลากมา  หรือคล้องส่งเอาไปจ่ายที่คนแทงถูกก็ได้
เหรียญสลึง และเหรียญสองสลึง เป็นเหรียญแบน  ติดเสื่อ    ใช้ไม้ขอคล้องเกี่ยวไม่ติด  
นายบ่อนจึงทุบเหรียญสลึงและสองสลึงให้หักงอ สำหรับใช้ไม้ขอเกี่ยวง่าย

เงินเหรียญสมัยก่อนมักงอทั้งนั้น     ที่แบนแผ่ตามรูปเดิมไม่ค่อยมี
ดังนั้น  เมื่อพบเหรียญแผ่แบน  แปลกจากเหรียญงอ   จึงพูดกันว่าแผ่สองสลึง
แล้วเอามาใช้เป็นสำนวนพูด  เมื่อใครลื่นล้มลงไปนอนแผ่  ก็พูดกันว่า "ลงไปแผ่สองสลึง"

จาก "สำนวนไทย" ของ ขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์)
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ธ.ค. 03, 23:53

 ก๊ากกก มาขำคุณเทาชมพูที่ตอนแรกคิดลึกไปโน่นน่ะค่ะ  ขอบคุณ อจ นิรันดร์ที่ยกมาถาม  และขอบคุณคุณเทาชมพูที่ไปค้นจนได้ด้วยค่ะ  ไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะมีที่มาเป็นไปได้แบบนี้  เป็นความรู้ใหม่จริงเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 09:15

   ค่ะ คุณพวงร้อย

ดิฉันกำลังจีบเจ้าของหนังสือสำนวนไทยอยู่ค่ะ  เพราะไม่รู้จะหาซื้อที่ไหน เธอบอกว่าจะให้เป็นของขวัญวันเกิด
ถึงตอนนั้นคงมีสำนวนไทยมาเล่าสู่กันฟังอีกหลายอย่าง  น่าสนุกตรงที่เราจะได้พลอยเห็นภาพสังคมไทยในอดีต ที่ไม่เหลืออยู่อีกแล้วในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 09:38

 ไปเจอเว็บที่รวบรวมสำนวนไทยไว้ เลยลิ้งค์มาให้อ่านกันค่ะ
 http://www.police.go.th/chil3.html  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 11:02

 ยินดีกับอาจารย์นิรันดร์ครับที่มีผู้แก้สงสัยให้ได้ และขอบคุณคุณเทาชมพูที่ค้นมาจนได้ครับ

สารภาพว่า ตัวผมเองก็นึกไปถึงความหมายเชิงกายวิภาคที่อาจจะติดเรทเหมือนกันในตอนแรก ไม่ได้นึกถึงเหรียญสลึงในบ่อนอะไรนี่เลย แต่ต่อมาพยายามจะตั้งหลักค้นใหม่ตั้งแต่ว่า สลึง แปลว่าอะไร ทำไมจึงมาเป็นคำเรียก 1 ใน 4 ของบาท ก็ยังหาที่มาของคำว่า สลึง ไม่เจอะ ดูหน้าตาเหมือนจะไม่ใช่คำไทยเดิมด้วยซ้ำ แต่มาจากไหนผมก็จน

ค้นไปค้นมาได้ความจากสมเด็จฯ ครู (สมเด็จกรมพระนริศฯ) ท่านทรงค้นไว้ก่อนว่าในภาษาเขมรเก่า (อาจจะไม่ใช่ภาษาเขมรเดี๋ยวนี้ เพราะเขมรเดี๋ยวนี้คงไม่กินหมาก) มีคำหนึ่งว่า สลาสลึง แปลว่า หมากสง สลานั้นแปลว่าหมากแน่อยู่แล้ว แต่ทำไมสลาสลึงจึงจะเป็นหมากสง รับสั่งถามผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมร ท่านผู้นั้นแปลได้ว่าสลาสลึงแปลว่าหมากสง แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมสลึงจึงแปลว่าสง จนด้วยเกล้าเหมือนกัน

ในเรื่องสั้นของอาจารย์คึกฤทธิ์เรื่องหนึ่ง พระเอกชื่อโอยสลา (โอย - ให้ สลา - หมาก) ท่านแปลของท่านว่า แจกหมาก เป็นโจ๊กครับ เพราะในสมัยที่อาจารย์คึกฤทธิ์แต่งเรื่องสั้นเรื่องนั้น "แจกหมาก" ไม่ได้แปลว่าเอาหมากมาแจกกันกิน แต่เป็นคำสแลงไทยยุคโน้นแปลว่ามีเรื่องชกต่อยกันจนเลือดกลบปาก ปากแดงเถือกเหมือนกินหมากมา นั้นแหละโดนแจกหมากหมัดให้กินแล้ว

จะลองๆ ค้นรากศัพท์คำว่า สลึง ต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ธ.ค. 03, 12:48

 สลึง  เสียงเป็นเขมร   สง-สลึง จะมาจากการออกเสียงคำ หรือเปล่าไม่ทราบ  ไม่ขอเดาต่อค่ะ เดี๋ยวผิดอีก

คราวนี้ถึงเวลาคุยแบบแยกเข้าซอย  คือเริ่มซอยใหญ่ด้วยแผ่สองสลึง  
คุณนกข.มาชวนเข้าซอยแยก สลึงและสลา 1
ดิฉันก็เดินตามไป แล้วแยกเข้าซอย สลา 2

คำว่า สลา ที่แปลว่าหมาก  ไทยเราเอามาใช้เป็นราชาศัพท์   คือหมายถึงหมากที่เจ้านายเสวย    
ส่วนชาวบ้านเวลากินหมากก็เรียกว่ากินหมาก  ไม่เรียกว่าสลา แม้จะเป็นหมากปรุงรส มีปูน ใบพลู ฯลฯเหมือนกันก็ตามที

สลา มีบทบาทในวรรณคดีเรื่องพระลอ  เรียกว่าสลาเหิน  แปลตามตัวคือหมากบิน
สลาเหินเป็นหมากที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกให้เป็นรูปแมลงภู่  
บินไปตกในพานพระศรี(พานหมาก)ของพระลอ   พระลอไม่รู้ว่าเป็นหมากเสน่ห์ก็เสวยเข้าไป
เกิดอาการเพ้อคลั่งเห็นภาพพระเพื่อนพระแพง มาเชิญชวนให้ไปหาถึงเมืองสรอง
หมอต่างๆในเมืองแก้อาการเท่าไรก็ไม่หาย  พระลอทุรนทุรายต้องลาแม่ไปตามผู้หญิงตามแรงสลา   ทั้งที่รู้ว่าจะไม่ได้กลับ ก็ต้องไป
แล้วในที่สุดก็ไปตายจริงๆ
กลายเป็นโศกนาฎกรรมหนึ่งในสองเรื่องของวรรณคดีไทย
อีกเรื่องคือขุนช้างขุนแผน

สลาหรือหมากที่กินนี้  ใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเสน่หาของหนุ่มสาวได้อีกด้วย
ขุนแผนเคยตัดพ้อนางวันทองว่า
"พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย.....แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน"
คือความรักสุดซาบซึ้ง แสดงออกด้วยการให้ชานหมาก(ที่เคี้ยวแล้ว)กับอีกฝ่าย
อิเหนาเองก็เคยใช้สียะตราไปขอชานหมากจากนางบุษบา  
สียะตราก็ไปอ้อนพี่สาว   ป้อนหมากใส่ปากแล้วให้พี่สาวคายใส่มือ  
ฉวยวิ่งเอามาให้อิเหนา  อิเหนาก็เอามาใส่ปาก อิ่มอกอิ่มใจคิดถึงบุษบา

การให้หมากยังเป็นสัญลักษณ์ของความโปรดปรานอย่างสูงจากผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย มีอีกเหมือนกัน
สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์   แม่ทัพนายกองที่จะไปรบ  
จะได้รับพระราชทาน สลา จากพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งมงคล  
ทรงเคี้ยวแล้วพระราชทานให้  
หมากที่เคี้ยวแล้วพระราชทานนี้น้อยคนจะได้รับ    เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เคยเล่าว่าได้รับสลาพระราชทานจากสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  เป็นการถ่ายทอดความรู้และความเมตตาให้  
เพราะโปรดปรานในฐานะโอรสบุญธรรม

หมากที่เสก  เป็นของขลัง  มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า อาพัดหมาก

ส่วนศัพท์  มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่ง เกียวกับคำว่า "สลา"
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ คุณน้ำผึ้ง  ม.ล. สราลี (กิติยากร) จิราธิวัฒน์  มาบ้าง  
ตอนนี้เธอรับบทแม่แช่มในละคร"สี่แผ่นดิน"
คุณน้ำผึ้งเป็นน้องสาว พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  
หลายปีมาแล้ว   หนังสือพิมพ์สะกดชื่อเธอเป็น สลาลี บ้าง สราลี บ้าง
เธอก็เลยชี้แจงว่าชื่อของเธอสะกดให้ถูกคือ สราลี แปลว่าน้ำผึ้ง  ถ้าเขียน สลาลี จะแปลว่า น้ำหมาก

วัฒนธรรมหมากของไทยมาสะดุดหยุดกึกโครมใหญ่ในยุควัธนธัมของจอมพลป.พิบูลสงคราม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2     คนไทยถูกห้ามกินหมาก  
สวนหมากถูกโค่น   การบ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะจะถูกจับและปรับ
หลังจากนั้นหมากก็สูญหายไปจากคนหนุ่มสาว  แม้ว่าต่อมายุควัธนธัมจบสิ้นลง  ใครจะกินหมากก็ได้ไม่มีใครห้าม  
หนุ่มสาวไทยยุคหลังสงครามโลกก็ไม่นิยมกินหมากกันอีกแล้ว  
ถ้ายังกินกันอยู่  ตอนแม่หญิงเรไรกับสองสามหนุ่มต่อเพลงกันอยู่ในกระทู้ อาจมีการ"แจกหมาก"กันว่อนไปแล้วก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 10:09

 ลืมเรียนไปให้แจ่มแจ้ง ขอเพิ่มเติมตรงนี้ว่า

1. พระเอกเรื่องสั้นเรื่องนั้นของคุณชายคึกฤทธิ์ ตามเรื่องแกเป็นคนเขมรสมัยสร้างนครวัดครับ ชื่อแกจึงเป็นภาษาเขมร

2. หมากสง อันนี้เป็นคำไทย พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ แปลไว้ว่า "สง แปลว่าสุก หรือแก่จัด ใช้แก่หมาก" คือไม่ใช้กับผลไม้อื่น เช่นว่ามะม่วงสงยังงี้ไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่หมากสง

แต่ทำไมหมากสงจึงจะแปลตรงกับคำว่า สลาสลึง ในภาษาเขมร หรืออีกนัยหนึ่ง ทำไมภาษาเขมร สลึงจึงแปลว่า (หมากที่) แก่จัด แล้วความหมายกลายมาเป็น 25 สต. ในภาษาไทยได้ยังไงนี่ ยังจนด้วยเกล้า

ใครรู้ภาษาเขมรช่วยแปลทีครับ ออคุณเจริญบาท (บาท ในภาษาเขมรไม่ได้เแปลว่า 4 สลึง แต่ใช้เป็นคำรับแสดงความสุภาพแปลว่า "ครับ" ครับ)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 10:34

 ปล. อีกข้อหนึ่ง
สมเด็จฯ ครู ท่านทรงพระราชฐานะเป็นสมเด็จกรมพระยาครับ ไม่ใช่สมเด็จกรมพระ ผมหลงไปด้วยอ่าน สาสนสมเด็จ ในหนังสือนั้นท่านยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมพระอยู่ ขออภัยเป็นอย่างสูงครับ

นอกจากอาพัดหมาก คือหมากเสกกินเป็นของขลังแล้ว เหล้าก็เสกในทำนองนี้ได้ เรียกว่าสุราอาพัด เช่นเดียวกัน มีกล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน ดูจะเป็นตอนขุนแผนอาสาไปรบกับไพร่พลในคุก 35 คน หรือไงนี่แหละ จำไม่ได้ว่าตอนไหน แต่จำคำว่าสุราอาพัดได้ กินเหล้านี้แล้วคงจะอยู่ยงคงกระพัน หรือมีตบะเดชะอะไรสักอย่าง

สมัยที่จิ๊กโก๋เมืองไทยตีกันแล้วยังเรียกว่าแจกหมากอยู่นั้น มีอีกคำคือคำว่า แจกแว่น คู่กันครับ แจกหมากคือชกกันจนปากแตกเลือดอาบ ส่วนแจกแว่นคือชกกันจนตาเขียวช้ำเป็นวงรอบดวงตา นั่นเรียกว่าแจกแว่น

เถลไถลคุยออกนอกเรื่องไปเรื่อยเปื่อยตามประสาเรือนไทย ขอเชิญรับข้าวซอย เอ๊ยคุยกันแบบ "เข้าซอย" ต่อไปครับ (ขอโทษฮะ หมู่นี้ผมใจลอยไปเชียงใหม่บ่อยๆ)
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 18:15

 ขอบคุณทุกท่านที่ได้พยายามช่วยให้แผ่สองสลึงกระจ่าง

อันนี้ ก็เห็นว่า วัฒนธรรมการเล่นการพนัน เป็นของคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ

ผมว่า เรามามัวแต่ติ๋มกันมากไปว่า เป็นเมืองพุทธ ต้องไม่มีกาสิโน

ผมเห็นว่า ผู้เสียผลประโยชน์ คือเจ้าของบ่อนฝั่งโน้น ถึงได้ค้านหัวชนฝา
อย่างผมไม่เล่นการพนันทุกชนิด ล็อตเตอรี่ก็ไม่ซื้อ ผมก็ยังเห็นด้วยกับการสร้างบ่อนในประเทศไทย
จะให้ดี เอาไว้ชายแดนต่าง ๆ เผื่อฝั่งโน้น จะข้ามมาเล่นคืนทุนให้เราบ้าง
ผมไป KL ซึ่งเป็นเมืองที่เคร่งศาสนากว่าไทยเรามาก ผมเรียกแท็กซี่ให้ไปส่ง สวนกล้วยไม้ กี่คัน ๆ ก้อไม่ยอมไปส่ง
จะพาไปเกนติ้งท่าเดียว ผมงี้เดินจนขาลาก กลับมาโรงแรม"นอนแผ่สองสลึง"ไปเลย

ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 18:19

 สต หรือ ศต คือ ร้อยครับ เช่น ศตวรรษ คือ ร้อยปี
สตางค์ ก็แบ่ง บาทเป็นร้อย
ทีนี้ 4 สลึงเป็นหนึ่งบาท ก็เลยต้องเท่ากับ 25 สตางค์

เข้าใจว่า เราพยายามทำให้สกุลเงินของเราเทียบกับเงินดอลลาร์ที่มี 100 เซ็น ซึ่งแปลว่าร้อย เช่น เซ็นจูรี่ ร้อยปี เซ็นติเมตร แบ่งเมตรเป็นร้อยส่วน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 18:29

 ทราบครับอาจารย์ ว่า หนึ่งสลึงเป็น 1 ใน 4 ของบาท บาทหนึ่งมี100 สตางค์ หนึ่งสลึงก็ต้อง 25 สตางค์

ที่ผมสงสัยก็คือคำว่า "สลึง" มายังไง เป็นภาษาอะไร ทำไมจึงต้องแปลว่า 1ใน4 ของบาท นี่สิครับ ใครรู้บ้างครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 29 ธ.ค. 03, 18:48

 ขอเข้าซอยต่อจากความเห็นของอาจารย์นิรันดร์ ผมคุ้นๆ ว่าเมื่อตอนเราเปลี่ยนมาตราเงินเป็นระบบทศนิยมใหม่ๆ เคยมีคำว่า ทศางค์ ด้วยนะครับ ทศางค์ คือ ส่วนสิบ สตางค์ คือ ส่วนร้อย

มีความรู้สึกว่าก่อนที่เราจะรับใช้เลขฐานสิบเป็นเกณฑ์ในมาตราเงินและการชั่งตวงวัดต่างๆ (เช่นเดียวกับระบบเมตริก) ดูเหมือนระบบมาตราชั่งตวงวัดนับขของเราแต่โบราณจะอิงๆ กับเลขฐานสี่ หรือตัวคูณกับสี่ เช่น 4 สลึงเป็น 1 บาท 4 บาท เป็น 1 ตำลึง 20 (4x5) ตำลึงเป็น 1 ชั่ง เป็นต้น ถ้านับย่อยลงไปจากสลึงก็มี อัฐ ซึ่งดูเหมือนเท่ากับ 1 ใน 8 ของบาท มีโสฬส คือ 1 ใน 16 มีเบี้ย มีเฟื้อง มีไพ ซึ่งเท่าไหร่หน่วยอะไรจะเป็นหนึ่งหน่วยอะไรผมก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ไม่ได้ทวีขึ้นทีละสิบ แต่ดูเหมือนจะทีละสี่หรือไม่ก็สอง (ซึ่งทำให้ตอนเปลี่ยนระบบเป็นระบบสตางค์ต้องมีการปัดเศษ เพราะเวลาแบ่งทีละครึ่งของครึ่งของครึ่งของครึ่งไปเรื่อยๆ แล้ว มันไม่ได้ลงเป็นส่วนสตางค์ได้ครบหรอกครับ เช่น 1 อัฐคำนวณแล้วได้ 12 สตางค์ครึ่ง เป็นต้น)

มาตราวัดความยาวของเราเดิมก็เป็นกระเบียด เป็นคืบ เป็นศอก เป็นวา ก็ไม่ได้ทวีทีละสิบ จะเป็น 2 คืบเป็น 1 ศอก 4 ศอกเป็น 1 วา เหมือนกัน ไม่ยักเป็นส่วนสิบ

ว่าไปทำไมมี มาตราส่วนร้อยที่ฝรั่งยุโรปใช้ที่เรียกว่ามาตราเมตริก อัน (ว่ากันว่า) มีความเป็นระบบเป็นวิทยาศาสตร์กว่าแบบเดิมนั้น ฝรั่งหัวดื้อด้วยกันเองคืออังกฤษ กับอเมริกาก็ยังไม่ยอมร่วมใช้ด้วยจนแล้วจนรอด แทนที่จะจำง่ายๆ ว่า 100 เซนติเมตรเป็น 1 เมตร และทวีขึ้นหรือลดลงเป็นทีละสิบเท่าหรือสิบยกกำลัง ก็เลยต้องจำว่า 12 นิ้วเป็น 1 ฟุต 3 ฟุตเป็น 1 หลา 1760 หลาเป็น 1 ไมล์ ... คำนวณยากชะมัด แต่อเมริกาเขาเป็นมหาอำนาจนี่ เขาจะเอายังงั้นก็ต้องยังงั้น (เฉพาะในบ้านเขา)

หลุดเรื่องแผ่สองสลึงไปไกลครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 20 คำสั่ง