เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7700 ราชาของราชัน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 05 ธ.ค. 03, 09:06


ดิฉันเพิ่งอ่านหนังสือน่าอ่านที่สุดเล่มหนึ่ง เรื่อง "ใต้เบื้องพระยุค
บาท"  โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ    
ตอนหนึ่ง ดร.สุเมธเล่าว่า คณะทูตานุทูตได้พร้อมใจกันถวายสมญานามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
"King of the Kings"
ดร.สุเมธลงท้ายว่า  มิเกินเลยที่จะกล่าวถวายเทิดพระเกียรติว่า "ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง"

เปิดไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เจอบทความของดร.สุเมธ อีกหลายแห่ง ล้วนแต่อ่านแล้วซาบซึ้งจับใจ
ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ดิฉันจึงขอนำมาให้อ่าน เป็นสิริมงคลแก่ทุกคนที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนอะไรเราบ้าง
ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์มากว่าครึ่งศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสอน ทรงเตือน ทรงแสดงบทเรียนและตัวอย่างต่างๆ ให้เห็นเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ ตลอดจนวางแนวทางในการพัฒนาประเทศอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พวกเราชาวไทยมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับทฤษฎี หลักการของชาวต่างประเทศ โดยแชเชือนไปเรียกว่า สากล ให้ดูดี แต่ลึกๆ นั้นก็คือตามฝรั่งนั่นเอง ตามสิ่งดีๆ นั้นคงไม่เป็นไร แต่หลายครั้งหลายหนตามอย่างหน้ามืดตามัวโดยมิได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมของประเทศเลยแม้แต่น้อย จึงไม่ต้องสงสัยว่า ประเทศของเราทำไมถึงวิกฤตได้ถึงเพียงนี้

เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2545 พวกเราพสกนิกรชาวไทยน่าจะมาร่วมกันทบทวนคำสอนของพระองค์ เพื่อนำบทเรียนต่างๆ มานำทางชีวิตที่จะเริ่มปี 2546 คงจะเป็นประโยชน์มิใช่น้อย

"ภูมิสังคม" คำสองคำสั้นๆ นี้ถือว่าเป็นบทเรียนบทแรกที่ผมได้รับเมื่อตอนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของ ฯพณฯ รัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี 2524 ได้ทรงกำชับว่า จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรนั้น ขอให้ยึดหลักภูมิสังคมเป็นที่ตั้งนั้นก็หมายความว่า สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือ สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ภาษาโบราณอาจจะว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง ว่าแต่ละสถานที่แต่ละแห่งหน สภาพต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างไร จะเอื้อต่อกิจกรรมใดบ้าง เราก็ไม่ควรฝืน เช่น บ้านเมืองเราเอื้อเรื่องเกษตร เพราะทุนทรัพยากรธรรมชาติเป็นของเรา ภูมิปัญญาเป็นของเรา ก็คงต้องเน้นการเกษตร ดังเช่น พระองค์ทรงเน้นมาโดยตลอด 50 กว่าปี โดยที่ไม่กระโจนเข้าสู่กิจกรรมที่เรียกว่า "อุตส่าห์ หากรรม" โดยที่มิได้มีความพร้อมแต่ประการใด สุดท้ายเราก็ล่มจม พอประสบวิกฤตเราก็หันมาคิดถึงเกษตร จะสายไปหรือเปล่าไม่รู้

ส่วนคำว่า สังคมนั้น ก็คือ "คน" ถ้าจะพิจารณาคนแค่ในประเทศของเราก็จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างคนเหนือกับคนใต้ คนจะคิดจะทำแตกต่างกัน คนอีสานกับคนภาคกลางก็ตัดสินใจไม่ค่อยจะเหมือนกันแล้วแต่วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของแต่ละถิ่น แต่ละท้องที่ ฉะนั้นจะทำอะไรต้องระมัดระวัง พิถีพิถันละเอียดอ่อน ต้องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและลักษณะคนของแต่ละแห่ง

เพียงพิจารณาแต่ในประเทศก็ยังเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากมาย นับประสาอะไรกับคนที่อยู่อีกฟากโลก อีกฟากทวีปยิ่งแปลกแยก แตกต่างออกไปใหญ่ แต่คนในประเทศก็ยังลืมตัวพยายามลอกเลียนแบบมาใช้เกือบทุกด้าน ไม่ว่าวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ลามไปถึงวัฒนธรรม ประเพณีจนเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองย่ำแย่ ยุ่งเหยิงอยู่ทุกวันนี้ และก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข็ดหลาบ สมควรที่พวกเราจักต้องอัญเชิญหลักการดังกล่าวมาใช้เสียที

"ธรรมาภิบาล" (Good Governance) หัวข้อนี้ต้องวงเล็บทุกครั้งเป็นภาษาต่างประเทศ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นทุกวงการเห่อคำว่า Good Governance กันมากๆ และพยายามแปลเป็นไทยว่า ธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล ฯลฯ แต่ก็สลัดโซ่ตรวนความคิดของฝรั่งไม่ได้ หรือจะเป็นเพราะไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วคืออะไรก็ได้ จึงต้องวงเล็บภาษาต่างประเทศไว้ทุกครั้งทุกแห่ง ประหลาดดี

คำว่า ธรรมาภิบาลนี้ ลองย้อนกลับไปพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปล่งคำว่า ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด หลายสิบปีล่วงหน้า ตั้งแต่วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" คำว่า ธรรมหรือหลักธรรมในการครองแผ่นดินนั้นส่วนหนึ่งก็คือ ทศพิธราชธรรม 10 ประการนั่นเอง และหลัก 10 ประการนี้จะเห็นได้ว่าเป็นธรรมาภิบาลโดยสมบูรณ์ ลึกซึ้งครบถ้วน ครบทุกมิติยิ่งกว่า Good Governance เสียอีก เช่น คำว่า โปร่งใส ซึ่งมักจะพูดกันมากใน Good Governance ก็เป็นแค่ข้อย่อยข้อหนึ่งในศีล ซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 คือ ศีลข้อ 1 ใน 5 ข้อ คือ มุสา การที่เอนรอน(Enron) บริษัทยักษ์ของสหรัฐอเมริกา แต่งบัญชีก็หมายความว่า คุณโกหกผู้ถือหุ้น โกหกคนทำงานในบริษัทใช่หรือไม่ ลองอ่านดูแล้วกันว่า ทศพิธราชธรรมมีอะไรบ้าง และคงจะมิใช่เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงยึดปฏิบัติแต่พระองค์เดียว หากแต่พสกนิกรก็ควรจะยึดปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพื่อจรรโลงความมั่นคง ความมั่งคั่ง ความสงบสุขของประเทศ

"ประโยชน์สุข" เป้าหมายในการครองราชย์ของพระองค์ก็ถูกระบุไว้ว่า "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" คำนี้เป็นคำลึกซึ้งและคิดว่าจะต้องใช้ด้วยกันคือ ประโยชน์สุข ไม่ใช่สร้างประโยชน์และสร้างความสุข หากแต่ว่าสิ่งใดๆ ที่เรากระทำไม่ว่า เรื่องการพัฒนา เรื่องกติกาของสังคม การเมือง ฯลฯ ต้องมุ่งให้ได้มาถึง "ประโยชน์สุข" เป็นสำคัญ

ต่างประเทศเขาสอนเพียงประโยชน์ ผู้คนจึงแย่งชิง เบียดเบียน สร้างความร่ำรวยโดยมิได้คำนึงถึงว่าประเทศชาติ ประชาชนจะทุกข์อย่างไร ผลประโยชน์เป็นที่ตั้งในเบื้องต้นก่อนก็พอแล้ว การรบราฆ่าฟันจึงเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะยึดประโยชน์อย่างเดียว จึงนำไปสู่การแย่งชิงทำลายล้าง ซึ่งประโยชน์สุขนี้ทางสากลหรือทางสหประชาชาติก็เริ่มเปลี่ยนหลักการแล้ว แต่เดิมประเทศไหนจะเจริญแค่ไหนเขาเอาเงินเป็นตัววัด ระยะถัดมาก็เอาคุณภาพชีวิตเป็นตัวชี้วัด และขณะนี้ก็เริ่มพัฒนาตัววัดใหม่ มุ่งชี้ถึงความสุขกันแล้ว

แต่พระองค์ท่านทรงคิด ทรงรับสั่ง ทรงปฏิบัติมาก่อนล่วงหน้าถึงครึ่งศตวรรษกว่า เหตุไฉนพวกเราชาวไทยอยู่ใกล้แสงประทีปแห่งปัญญานี้กลับหน้ามืดตามัว กลับไปร่ำเรียน นำเข้าแนวคิดสำเร็จรูปเข้ามาใช้ในประเทศอย่างขาดสติ และนำมาซึ่งความทุกข์นานัปการ

"รู้รัก สามัคคี" ถ้าจะมองประโยคพระราชทานนี้อย่างง่ายๆ สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติประจำวันได้ ก็อาจจะแยกทีละคำ เราก็จะได้คำว่า รู้ ได้คำว่า รัก และได้คำว่า สามัคคี ก็หมายความว่า จะทำอะไรเบื้องต้นจะต้องรู้เสียก่อน บางครั้งรับสั่งว่า ให้คิดก่อนทำ ให้คิดก่อนพูด เราจะต้องรู้ปัญหาเสียก่อนว่า ต้นตอของแต่ละปัญหาคืออะไร ปัจจัย เงื่อนไข ข้อปัญหานี้มีอะไรบ้าง จนรู้ถึงทางออก ทางแก้ ไม่ใช่ว่า รู้หรือนึกว่ารู้ตามกระแสตามแฟชั่น ใครเฮมาอย่างไร ก็เฮตามเขาไปอย่างนั้น โดยไม่รู้ไม่ศึกษาว่า ต้นเหตุ ปลายเหตุคืออะไร เป็นพวกรู้แบบหลงกระแส มีเต็มบ้านเต็มเมืองหมดขณะนี้ หลงผิด เชื่อง่ายโดยไม่รู้ว่า ประโยชน์เรา ประโยชน์เขาอยู่ตรงไหน แยกแยะไม่ออก

อย่างไรก็ตาม รู้แล้วก็คงจะไม่พอ เพราะรู้แล้วอยู่เฉยๆ ผลที่ดีมีประโยชน์ก็ไม่เกิดกับตัวเราและแผ่นดิน เมื่อรู้แล้วต้องมีคำว่า รักหรือความเมตตา ความปรารถนาที่จะนำความรู้นั้นมาปฏิบัติให้เกิดมรรคผลถึงจะเป็นสิ่งถูกต้อง ความรัก ความเมตตา ดูจะมีลดน้อยลงไปในสังคมของเรา พลังที่จะนำปัญญาออกสู่การปฏิบัติจึงพลอยมีน้อยไปด้วย

เมื่อได้ความรู้และมีรักเมตตาแล้ว นั่งทำง่วนอยู่คนเดียวก็คงดีอยู่หรอก ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ทว่า การทำอะไรอยู่คนเดียว พลังคงไม่เพียงพอ ผลคงไม่ใหญ่พอ เพราะต่อให้มีสติปัญญา เก่งกาจอย่างไร ทำคนเดียวก็คงได้ผลแค่ความสามารถของคนคนเดียวจะพึงกระทำได้ แต่ต้องมีคำว่า สามัคคีคือร่วมอก ร่วมใจ ร่วมมือกันทำ พลังและผลจึงจะเกิดขึ้นได้ และส่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่แผ่นดิน และตัวเราเองก็ได้รับประโยชน์ รับความสุขไปด้วย

3 คำนี้จึงควรที่จะนำมาเป็นหลักปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวันเป็นกิจวัตร

พัฒนาประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถจะกระทำได้โดยเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์ สร้างระเบียบ กติกาให้กับสังคม ให้กับคนในสังคมปฏิบัติโดยสภาพแวดล้อมมิได้เอื้อให้เกิดความเข้าใจ และเกิดความพร้อมเลย ความยุ่งเหยิง ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

วันหนึ่งหลายปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งกับพวกเราที่ถวายงานอยู่ด้วยประโยคที่คิดว่า มีความหมายลึกซึ้ง ทรงเริ่มตั้งเป็นปริศนา โดยรับสั่งลอยๆ ขึ้นมาว่า "ทำไมพระเจ้าอยู่หัวต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่อย่างนี้ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยก็เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ และเมื่อเขายากจน เขาจึงไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้"

เพียงประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวได้ทรงอรรถาธิบายสภาพการเมืองในบ้านในเมืองเราอย่างทะลุปรุโปร่ง ฉะนั้น การปูพื้นฐานของประชาธิปไตย มิใช่เรื่องกฎหมาย ระเบียบ กติกาแต่เพียงอย่างเดียว หากพื้นฐานจริงๆ ก็คือต้องพัฒนาประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจนก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้

"คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ" เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัส ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงตั้งคำถามต่อพวกเราทุกคน ไม่ทราบว่าใครจะยังจำได้อยู่หรือเปล่า และใครบ้างที่คิดว่าเป็นคำถาม คงลืมกันหมดแล้ว ฉะนั้นคำถามของพระองค์จึงไม่มีคำตอบ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง จึงอัญเชิญมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เผื่อว่าจะได้คำตอบจากพวกเราทั้งหลาย

พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่า "ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่งที่อุปถัมภ์และผูกพันให้คนไทยรวมกันเป็นเอกภาพ สามารถธำรงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านาน คุณธรรมข้อนั้นก็คือ ไมตรี ความเมตตา หวังดีให้กันและกัน ผู้ที่มีไมตรีต่อกันจะคิดอะไรก็คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ มีคุณประโยชน์ร่วมมือกัน จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผลเจรจากันคือ ความเข้าอกเข้าใจกัน จะทำอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาทบทวนให้ทราบและตระหนักแก่ใจอีกครั้งว่า ในกายในใจของคนไทยเรา ยังมีคุณธรรมข้อนี้อยู่หนักแน่นพร้อมมูลเพียงใด จะได้มั่นใจว่า เราจะสามารถรักษาประเทศชาติและความเป็นไทยของเราไว้ได้อย่างยั่งยืนยาวนานตลอดไป"

คำสอนของพระองค์นั้นมีค่าสูงยิ่ง สมควรที่พวกเราจะรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปคิดให้เข้าใจ และยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประเทศเราจะสงบ ทุกคนจะมีความสุข ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างแน่แท้
 http://www.phrathai.net/article/show.php?Category=sara&No=45120802  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ธ.ค. 03, 10:00

 http://www.phrathai.net/article/show.php?Category=sara&No=45120401
พระองค์สอนความสุข แต่คนในบ้านเมืองเรา ชอบความสนุกมากกว่าความสุข


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นบุคคลหนึ่งในข้าราชบริพารผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบัน
เมื่อเราขอให้ ดร.   สุเมธบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ดร.สุเมธนิ่ง ตั้งหลักชั่วครู่ ก่อนเปรยออกมาว่า
"ท่านไม่เคยหยุดทรงงาน"...

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภารกิจของพระองค์ท่านทรงมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
โดยเฉพาะงานต่อเนื่อง เรามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรต่างๆ เรื่องป่า เรื่องแหล่งน้ำ หรืออย่างป่าสักฯ ที่เสร็จแล้ว เก็บน้ำได้แล้ว
แต่ว่าการวางแผนพัฒนาในการใช้ประโยชน์ของน้ำก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป ไม่ใช่มีเขื่อน มีน้ำเสร็จแล้วเรานั่งมองดูอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ได้
มันต้องวางแผนว่าต้องทำท่อส่งไปแถวไหนบ้าง อย่างในส่วนที่ช่วยเหลือกรุงเทพฯ โดยตรงที่รับน้ำไว้ อย่างคราวที่แล้ว ถ้าไม่มีป่าสัก กรุงเทพฯ ก็บรรลัย
ต้องถือว่าภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอย่างต่อเนื่องตลอด
ไม่มีวันหยุด
เห็นมั้ยล่ะว่า ผมเกษียณมา 4 ปีแล้ว ก็ยังเช้าจรดเย็น ... เช้าจรดเย็นทำงานอยู่แบบนี้มาตลอด อย่างนี้ก็แสดงว่างานมันยังไม่หมด แทนที่จะได้พักผ่อนก็ต้องทำทุกวัน เสาร์ อาทิตย์ ก็ทำ  
อย่างวันศุกร์นี้ก็ต้องไปนครศรีธรรมราช ไปเจรจากับดวงวิญญาณ ที่ออกข่าวไปเรื่องมีต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ ที่พอขุดไปรถก็เสีย คนเจ็บป่วย เลยมาตั้งผมเป็นเจ้าพ่อไปเจรจากับเจ้าแม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ยุติปัญหาเรื่องความเข้าใจกับชาวบ้าน นี่กะว่าจะไปตั้งศาลให้เสร็จ
คือเรื่องจริง จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านจะให้ความสำคัญ และให้ความหมายกับความคิดของชาวบ้าน ท่านไม่เคยไปสวนกระแสต่างๆ ตามแนวความคิดของชาวบ้านเลย ในเมื่อชาวบ้านเขาเชื่อและศรัทธา พระองค์ท่านก็ไม่ขัด ท่านก็รับฟัง และรับรู้ว่านี่คือสภาพของความเป็นคนไทย
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ไหน ก็ในเมื่อเขามีความสุขที่จะเชื่อ ถ้าหากมีความสุขกับการเชื่ออันนั้น แล้วจะมาอะไรกันนักหนา ก็แค่ทำให้ทุกอย่างมันจบด้วยความรู้สึกที่สบายใจ
ถ้าจะทำให้เป็นแหล่งสวยๆ เราก็ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ทำเป็นศาลา ทำศาล เดี๋ยวคนมันก็เข้ามา มานั่งดูวิว ต้นไทรริมน้ำ จัดอาณาบริเวณให้สะอาดสะอ้าน ทำแค่นี้ก็มีแต่ได้นะ
พระองค์ท่านบอกว่า ชาวบ้านเชื่ออะไรเราก็อย่าเพิ่งไปขัด  ถ้าทำอะไรไปแล้วคนมีความสุข ทำไปแล้วไม่เกิดผลเสียหายก็ทำไปเถอะ

ดร.สุเมธ เกษียณไปได้ 4 ปี ยังไม่มีวันหยุดเลย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานหนักจนถึงปัจจุบัน พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งถึงภารกิจหน้าที่ในการทรงงานอย่างหนักเช่นใดบ้าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกษียณไปกี่ปีแล้วล่ะ ถ้าคิดว่าอายุเกษียณปกติที่60 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 75 พรรษาแล้วนะ
เกษียณมา 15 ปี แล้วเห็นว่าพระองค์ท่านหยุดรึเปล่าล่ะ
ในเมื่อพระองค์ท่านยังทรงงานไม่หยุด แล้วเราจะมีสิทธิ์หยุดได้อย่างไรล่ะ
ก็แค่นี้แหละ
แต่ถ้าถามว่าอยากหยุดมั้ย อยากพักผ่อนมั้ย ก็ตอบตามตรงเลยว่า อยาก แต่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะคิด ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่หยุด เราจะหยุดคิดเอาประโยชน์ใส่ตัวได้อย่างไร
ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำอยู่เพียงฝ่ายเดียวหรือ เราคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรึเปล่า คิดถึงส่วนรวมรึเปล่า คิดถึงประเทศชาติ คิดถึงประชาชนรึเปล่า เพราะแท้ที่จริง และเมื่อถึงที่สุดแล้ว ถ้าประเทศชาติดี ถ้าประชาชนมีความสุข เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เราก็เป็นสุขไปด้วยใช่มั้ย

ถ้าคิดว่าไม่ได้ทำอะไรให้ใครเลย เราทำเพื่อตัวเองก็ได้ ทำไมไม่คิดอย่างนั้นมั่ง การจะทำร้ายชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น การกิน การโกง การคอรัปชั่นอะไรก็แล้วแต่ ที่แท้ทำลายตัวเอง สร้างบาดแผลให้กับตัวเอง แล้วตัวเองมีความสุขเหรอ

ผมถึงบอกว่า ผมทำทุกวันนี้ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่ได้เสียสละอะไร ถ้าคิดดีๆ คิดให้มันลึกซึ้งว่า เออ เราทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ และถ้าทุกคนคิดสละส่วนนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ชี้ให้เห็น ทุกคนก็ทำความดี เอื้ออาทรต่อกัน ทำประโยชน์ให้กัน
แล้วส่วนรวมก็ย่อมมีความสุข แทนที่จะมานั่งกัดกัน ทะเลาะกัน กินกัน โกงกัน ถล่มกัน ออกมาปู้ยี่ปู้ยำกัน แล้วมันได้อะไร คนที่ได้ไปเขาก็ทุกข์ ไม่มีความสุขกันหรอก

ทำไมเราไม่อยู่อย่างฉลาด ... อยู่อย่างที่ในหลวงทรงรับสั่งว่า อยู่ให้พอดี อยู่ให้พอประมาณ อะไรก็อย่าให้เกินไปนัก อะไรที่เกินไป มันก็ล้น พอมันล้น
แล้วมันก็สำลัก ... มันก็เท่านั้นแหละ

ไม่เห็นว่าพระองค์ท่านจะทรงสอนอะไรที่ยากเลย สอนแต่สิ่งที่ต้องบอกว่า ... สอนความสุข แต่คนในบ้านในเมืองของเราชอบความสนุกมากกว่าความสุข

สุภาษิตโบราณเขามีอยู่แล้วไงว่า "รักสนุก ทุกข์ถนัด" มันนำไปสู่ความทุกข์
แต่ก็ดูแล้วไม่ค่อยจะรู้สึกกัน จริงๆ แล้วความสุขไม่เห็นต้องมีอะไรมากเลย
ไม่มีเงินสักบาทก็มีความสุขได้ มันอยู่ที่จิตใจและความคิดของเรามากกว่า

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การทรงงานคือชีวิตของพระองค์ไปแล้ว ขอแค่ทำด้วยจิตใจที่แจ่มใส วิถีชีวิตราบรื่น แค่นี้ก็มีความสุขตามอัตภาพแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนัก ด้านการดูแลพระพลานามัยทรงทำอย่างไร

พระองค์ท่านมีวินัยมาก ต้องบอกว่า ความมีวินัยของพระองค์นั้น พระองค์ท่านบริหารร่างกายทุกวัน จะมีวินัยและควบคุมตนเองดีมาก
ไม่ว่าจะเป็นการเสวยอะไรต่างๆ จะดูแลเรื่องอาหาร เลือกเสวยเท่าที่จำเป็น
เอาเป็นว่า เบสิกของชีวิตมนุษย์ในเรื่องอาหารการกิน
พระองค์ทรงเสวยอย่างเรียบง่าย อาหารธรรมดา เสวยพอประมาณ พออิ่ม
เหมือนพระฉันอาหารเลย สุขภาพก็ดี แข็งแรง

ผมว่าพระองค์ท่านทรงแข็งแรงกว่าพวกเราอีกนะ คราวนั้นที่เสด็จไปปากแม่น้ำปราณฯ ประทับยืนพระราชดำริอยู่ตั้ง 3-4 ชั่วโมง ผมยังปวดหลังแทบแย่
ส่วนเรื่องที่พระองค์ท่านจะบ่นนั้นก็มีบ้างตามประสา เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีนะ พวกเราจะได้รู้กันบ้าง ผมอยากบอกว่า พระองค์ท่านทรงเป็นนายที่ดี ทรงเป็นเจ้านายชั้นยอด ใส่พระทัยในลูกน้องและบุคคลต่างๆ เหมือนเป็นทั้งพ่อ ครู ผู้บังคับบัญชา พระองค์ท่านเป็นได้ทุกมิติ เป็นพระประจำใจ
ถ้าพวกเราประชาชนทุกคนทำได้สักเสี้ยวหนึ่งของพระองค์ท่าน ในเรื่องอยู่อย่างฉลาดก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยทีเดียว
ทำแล้วมีความสุขด้วยวิธีที่ผมว่าไม่เห็นจะยากตรงไหน ทำไมเราไม่ทำ เพื่อให้เราได้มาซึ่งความสุขเหมือนที่พระองค์ท่านปฏิบัติบ้างล่ะ.
**************************************************************

‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ กับความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจข้าพเจ้า :

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

การถวายงานที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า มีอยู่หลายเรื่องหลายประการที่ทำให้เขาได้แง่คิด
และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีหลักมีเกณฑ์ การได้ศึกษา เรียนรู้
และปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับพระองค์ท่านทุกเสี้ยววินาที
ล้วนแต่เป็นภาพความทรงจำที่อยู่ในความประทับใจของเขาไม่รู้ลืม แต่เหนือสิ่งอื่นใด บทเรียนสำคัญที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้รับและซึมซับไว้จนถึงปัจจุบันนี้ โดยเขาได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้ว่า บทเรียนดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง

1) การทำงานทั้งหลายต้องทำด้วยใจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ทำงานต้องทำด้วยความสนุก ความสุข ทำงานด้วยใจ ต้องรู้ว่าเราทำอะไร ใจต้องรัก เพราะรักแล้วจะสนใจ
จะคอยติดตาม รับผิดชอบ ไม่ใช่สนใจแต่ตำแหน่ง ทำงานถวายถือว่าเป็นงานที่สูงสุดอยู่แล้ว

2) ทำงานด้วยความรู้ ความรู้จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องขวนขวาย มีอะไรเก็บบันทึกไว้ สัมมนา ประชุม พยายามฟังจะได้ใช้ประโยชน์ ความรู้จะต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ
ไม่อย่างนั้นเราจะนำคนอื่นอย่างที่พูดไว้ได้อย่างไร เราต้องรู้หมด ซึ่งทำให้สามารถสนองพระราชดำริได้เร็วและถูกต้อง
การถวายงานต้องเป็นคนละเอียดอ่อน มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้
3) ดูทุกอย่างเป็นปัญหาและให้สนุกกับปัญหา เห็นปัญหากระโดดเข้าใส่
เป็นการท้าทายสติปัญญา อย่ากลัวปัญหา และละลายปัญหาจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
สิ่งต่างๆ นี้ก็ได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองอะไรแบบ simple มองเรื่องง่ายๆ ก่อน เรื่องยากเก็บไว้ทีหลัง
นักวิชาการของเราชอบเล่นแต่เรื่องยากก่อน พอเจอเรื่องยากเลยเสียเวลาในส่วนนี้ไป แทนที่จะได้ทำอะไรให้ลุล่วงไป
4) ต้องเข้าใจพระราชดำริให้ดี ต้องหยั่งพระทัยให้ได้
เพราะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอะไรมานั้นจะไม่เสร็จสิ้น
กระบวนความ คิดว่าทรงตั้งพระทัยด้วย ถ้าเสร็จสิ้นกระบวนความ หัวสมองของเราก็ไม่คิด เมื่อเราได้ฝึกคิดอยู่เรื่อยๆ จะทำให้หัวสมองของเราคิดไว
5) ตั้งอยู่ในความเมตตาและสวมความรู้สึกของผู้อื่น เพราะโครงการพระราชดำรินั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม มีทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน
ต้องตั้งอยู่บนฐานความเมตตาและสร้างความสุขให้คนอื่น
6) หัวสมองต้องทำงานตลอดเวลา สมองต้องทำงานอยู่ตลอด ต้องช่างสังเกต ดูสถานการณ์รอบข้าง อย่าปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอย
ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสติต้องติดตัวตลอด เมื่อมีสติก็มีปัญญา ปัญญาทำให้หูตาสว่างไม่หลง
7) อย่าประมาทและระมัดระวัง การเขียนอย่าให้ผิดพลาด ไม่แน่ใจให้หยุดชะงักไว้ ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องเป็นประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ระวังอย่าให้เสียหาย เพราะฉะนั้นงานที่เราทำ ทุกคน ทุกระดับมีความสำคัญมาก สิ่งผลิตของเราเป็นประวัติศาสตร์ ต้องระวังและทุ่มเท
เจ๋ง อย่าฉวยโอกาส ซื่อสัตย์ สุจริต ระหว่างปฏิบัติงาน อาจมีสิ่งยั่วยวนใจ เช่น ชาวบ้านเอาที่มาขายถูกๆ เรารู้ว่าจะมีอะไร เกิดการพัฒนาขึ้น ที่ดินจะเจริญ ขายได้กำไร ถึงแม้จะไม่โกง แต่ก็ถือว่าฉวยโอกาส
ข้อห้ามที่มิให้ใครมีผลประโยชน์รอบๆ โครงการทั่วประเทศ ก็ให้ยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และต้องยึดความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ตั้งตลอดเวลาด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นแก่นที่ได้รับและปฏิบัติมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ต้องทำ
ต้องฝึกปรือ ง่ายแต่ปฏิบัติยาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 4 ธ.ค.45
 http://www.phrathai.net/article/show.php?Category=sara&No=45120401  
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 ธ.ค. 03, 14:13

 ตั้งแต่เราเกิดมา เราได้รับรู้ความหมายของคำว่า "กษัตริย์" "ราชา" หรือ "พระเจ้าแผ่นดิน" ในหลากหลายความหมาย ทั้งจากตัวหนังสือและพฤติกรรมของราชาต่างๆทั่วโลกและในประวัติศาสตร์
แต่จากพระจริยวัตรของในหลวงของเรา พระองค์ทรงได้นิยามคำว่าพระเจ้าแผ่นดินที่แท้จริงคืออะไร
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 ธ.ค. 03, 19:18

 ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ปีนี้เป็นปีแรกในรอบหลายๆ ปีที่ผมได้ไปลงชื่อถวายพระพรชัยมงคล ที่ในพระบรมมหาราชวัง เพราะไปอยู่นอกแผ่นดินของท่านมาเสียนาน เพิ่งได้กลับมาอาศัยแผ่นดินของท่านปีนี้ เลยรู้สึกในใจว่า ต้องไปลงชื่อถวายพระพรเสียหน่อย

คำว่า "ราชา" ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศฯว่า รากศัพท์ดั้งเดิมจริงๆ นั้นมาจากคำที่แปลว่า พอใจ ท่านบอกว่าในสมัยโบราณสมัยสังคมคนยังไม่วัวัฒนาการ ยังแทบไม่ต่างจากมนุษย์ถ้ำสักเท่าไหร่นั้น (พระพุทธศาสนามีบางพระสูตรที่พูดถึงสังคมบุพกาลแบบนี้ เช่น อัคคัญญสูตร ซึ่งมีคนชอบยกไปเทียบกับทฤษฎีการเมืองของฮอบส์หรือสัญญาประชาคมของรุสโซ) คนเพิ่งจะรู้จักรวมตัวกันเป็นชุมชน มีผู้นำ ผู้นำนั้นบางคนก็ไม่เข้าท่า บางคนก็หลงอำนาจโหดร้าย (ผมพูดถึงผู้นำชุมชนสมัยสังคมโบราณนะครับ ไม่ใช่นักการเมืองเดี๋ยวนี้) แต่บางคนก็มีความสามารถในการปกครองบริหารและบริการชุมชน จนกระทั่งทำให้คนอื่นในสังคมมีความสุข ออกอุทานออกมาได้ว่า พอใจ พอใจ คำอุทานว่า พอใจ พอใจ นั่นแหละ ที่ต่อมากลายเป็นชื่อตำแหน่งของผู้นำสังคม ผู้ปกครองสังคม คือ "ราชา" ราชา คือผู้ที่สามารถทำให้คนใต้ปกครองของพระองค์ พอใจในชีวิต นั่นคือความหมายดั้งเดิมแท้ๆ ของคำว่า "ราชา" อันนี้ตามทีท่านพุทธทาสท่านเทศน์นะครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเจ้าของความเห็นข้างบนว่า พระเจ้าอยู่หัวของเมืองไทยพระองค์นี้ ทรงเป็น ราชา โดยแท้จริงเต็มตามความหมายของคำนี้ทุกประการ ทำให้นึกถึงที่อาจารย์คึกฤทธิ์เคยบอกไว้ (ทำนอง)ว่า พระเจ้าอยู่หัว "ทรงเป็นเจ้าชีวิต มิใช่เพราะทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตของไพร่ฟ้าได้เหมือนในสมัยโบราณ แต่เป็นเพราะทรงทำให้ชีวิตของคนไทยทุกคน มีความหมายสมบูรณ์" (จำคำของท่านเต็มๆ ไม่ได้ครับ)

ขอจงทรงพระเจริญ ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ชโย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง