http://www.phrathai.net/article/show.php?Category=sara&No=45120401พระองค์สอนความสุข แต่คนในบ้านเมืองเรา ชอบความสนุกมากกว่าความสุข
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นบุคคลหนึ่งในข้าราชบริพารผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบัน
เมื่อเราขอให้ ดร. สุเมธบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ดร.สุเมธนิ่ง ตั้งหลักชั่วครู่ ก่อนเปรยออกมาว่า
"ท่านไม่เคยหยุดทรงงาน"...
พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภารกิจของพระองค์ท่านทรงมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
โดยเฉพาะงานต่อเนื่อง เรามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรต่างๆ เรื่องป่า เรื่องแหล่งน้ำ หรืออย่างป่าสักฯ ที่เสร็จแล้ว เก็บน้ำได้แล้ว
แต่ว่าการวางแผนพัฒนาในการใช้ประโยชน์ของน้ำก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป ไม่ใช่มีเขื่อน มีน้ำเสร็จแล้วเรานั่งมองดูอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ได้
มันต้องวางแผนว่าต้องทำท่อส่งไปแถวไหนบ้าง อย่างในส่วนที่ช่วยเหลือกรุงเทพฯ โดยตรงที่รับน้ำไว้ อย่างคราวที่แล้ว ถ้าไม่มีป่าสัก กรุงเทพฯ ก็บรรลัย
ต้องถือว่าภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอย่างต่อเนื่องตลอด
ไม่มีวันหยุด
เห็นมั้ยล่ะว่า ผมเกษียณมา 4 ปีแล้ว ก็ยังเช้าจรดเย็น ... เช้าจรดเย็นทำงานอยู่แบบนี้มาตลอด อย่างนี้ก็แสดงว่างานมันยังไม่หมด แทนที่จะได้พักผ่อนก็ต้องทำทุกวัน เสาร์ อาทิตย์ ก็ทำ
อย่างวันศุกร์นี้ก็ต้องไปนครศรีธรรมราช ไปเจรจากับดวงวิญญาณ ที่ออกข่าวไปเรื่องมีต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ ที่พอขุดไปรถก็เสีย คนเจ็บป่วย เลยมาตั้งผมเป็นเจ้าพ่อไปเจรจากับเจ้าแม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ยุติปัญหาเรื่องความเข้าใจกับชาวบ้าน นี่กะว่าจะไปตั้งศาลให้เสร็จ
คือเรื่องจริง จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านจะให้ความสำคัญ และให้ความหมายกับความคิดของชาวบ้าน ท่านไม่เคยไปสวนกระแสต่างๆ ตามแนวความคิดของชาวบ้านเลย ในเมื่อชาวบ้านเขาเชื่อและศรัทธา พระองค์ท่านก็ไม่ขัด ท่านก็รับฟัง และรับรู้ว่านี่คือสภาพของความเป็นคนไทย
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ไหน ก็ในเมื่อเขามีความสุขที่จะเชื่อ ถ้าหากมีความสุขกับการเชื่ออันนั้น แล้วจะมาอะไรกันนักหนา ก็แค่ทำให้ทุกอย่างมันจบด้วยความรู้สึกที่สบายใจ
ถ้าจะทำให้เป็นแหล่งสวยๆ เราก็ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ทำเป็นศาลา ทำศาล เดี๋ยวคนมันก็เข้ามา มานั่งดูวิว ต้นไทรริมน้ำ จัดอาณาบริเวณให้สะอาดสะอ้าน ทำแค่นี้ก็มีแต่ได้นะ
พระองค์ท่านบอกว่า ชาวบ้านเชื่ออะไรเราก็อย่าเพิ่งไปขัด ถ้าทำอะไรไปแล้วคนมีความสุข ทำไปแล้วไม่เกิดผลเสียหายก็ทำไปเถอะ
ดร.สุเมธ เกษียณไปได้ 4 ปี ยังไม่มีวันหยุดเลย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานหนักจนถึงปัจจุบัน พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งถึงภารกิจหน้าที่ในการทรงงานอย่างหนักเช่นใดบ้าง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกษียณไปกี่ปีแล้วล่ะ ถ้าคิดว่าอายุเกษียณปกติที่60 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 75 พรรษาแล้วนะ
เกษียณมา 15 ปี แล้วเห็นว่าพระองค์ท่านหยุดรึเปล่าล่ะ
ในเมื่อพระองค์ท่านยังทรงงานไม่หยุด แล้วเราจะมีสิทธิ์หยุดได้อย่างไรล่ะ
ก็แค่นี้แหละ
แต่ถ้าถามว่าอยากหยุดมั้ย อยากพักผ่อนมั้ย ก็ตอบตามตรงเลยว่า อยาก แต่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะคิด ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่หยุด เราจะหยุดคิดเอาประโยชน์ใส่ตัวได้อย่างไร
ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำอยู่เพียงฝ่ายเดียวหรือ เราคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรึเปล่า คิดถึงส่วนรวมรึเปล่า คิดถึงประเทศชาติ คิดถึงประชาชนรึเปล่า เพราะแท้ที่จริง และเมื่อถึงที่สุดแล้ว ถ้าประเทศชาติดี ถ้าประชาชนมีความสุข เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เราก็เป็นสุขไปด้วยใช่มั้ย
ถ้าคิดว่าไม่ได้ทำอะไรให้ใครเลย เราทำเพื่อตัวเองก็ได้ ทำไมไม่คิดอย่างนั้นมั่ง การจะทำร้ายชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น การกิน การโกง การคอรัปชั่นอะไรก็แล้วแต่ ที่แท้ทำลายตัวเอง สร้างบาดแผลให้กับตัวเอง แล้วตัวเองมีความสุขเหรอ
ผมถึงบอกว่า ผมทำทุกวันนี้ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่ได้เสียสละอะไร ถ้าคิดดีๆ คิดให้มันลึกซึ้งว่า เออ เราทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ และถ้าทุกคนคิดสละส่วนนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ชี้ให้เห็น ทุกคนก็ทำความดี เอื้ออาทรต่อกัน ทำประโยชน์ให้กัน
แล้วส่วนรวมก็ย่อมมีความสุข แทนที่จะมานั่งกัดกัน ทะเลาะกัน กินกัน โกงกัน ถล่มกัน ออกมาปู้ยี่ปู้ยำกัน แล้วมันได้อะไร คนที่ได้ไปเขาก็ทุกข์ ไม่มีความสุขกันหรอก
ทำไมเราไม่อยู่อย่างฉลาด ... อยู่อย่างที่ในหลวงทรงรับสั่งว่า อยู่ให้พอดี อยู่ให้พอประมาณ อะไรก็อย่าให้เกินไปนัก อะไรที่เกินไป มันก็ล้น พอมันล้น
แล้วมันก็สำลัก ... มันก็เท่านั้นแหละ
ไม่เห็นว่าพระองค์ท่านจะทรงสอนอะไรที่ยากเลย สอนแต่สิ่งที่ต้องบอกว่า ... สอนความสุข แต่คนในบ้านในเมืองของเราชอบความสนุกมากกว่าความสุข
สุภาษิตโบราณเขามีอยู่แล้วไงว่า "รักสนุก ทุกข์ถนัด" มันนำไปสู่ความทุกข์
แต่ก็ดูแล้วไม่ค่อยจะรู้สึกกัน จริงๆ แล้วความสุขไม่เห็นต้องมีอะไรมากเลย
ไม่มีเงินสักบาทก็มีความสุขได้ มันอยู่ที่จิตใจและความคิดของเรามากกว่า
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การทรงงานคือชีวิตของพระองค์ไปแล้ว ขอแค่ทำด้วยจิตใจที่แจ่มใส วิถีชีวิตราบรื่น แค่นี้ก็มีความสุขตามอัตภาพแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนัก ด้านการดูแลพระพลานามัยทรงทำอย่างไร
พระองค์ท่านมีวินัยมาก ต้องบอกว่า ความมีวินัยของพระองค์นั้น พระองค์ท่านบริหารร่างกายทุกวัน จะมีวินัยและควบคุมตนเองดีมาก
ไม่ว่าจะเป็นการเสวยอะไรต่างๆ จะดูแลเรื่องอาหาร เลือกเสวยเท่าที่จำเป็น
เอาเป็นว่า เบสิกของชีวิตมนุษย์ในเรื่องอาหารการกิน
พระองค์ทรงเสวยอย่างเรียบง่าย อาหารธรรมดา เสวยพอประมาณ พออิ่ม
เหมือนพระฉันอาหารเลย สุขภาพก็ดี แข็งแรง
ผมว่าพระองค์ท่านทรงแข็งแรงกว่าพวกเราอีกนะ คราวนั้นที่เสด็จไปปากแม่น้ำปราณฯ ประทับยืนพระราชดำริอยู่ตั้ง 3-4 ชั่วโมง ผมยังปวดหลังแทบแย่
ส่วนเรื่องที่พระองค์ท่านจะบ่นนั้นก็มีบ้างตามประสา เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีนะ พวกเราจะได้รู้กันบ้าง ผมอยากบอกว่า พระองค์ท่านทรงเป็นนายที่ดี ทรงเป็นเจ้านายชั้นยอด ใส่พระทัยในลูกน้องและบุคคลต่างๆ เหมือนเป็นทั้งพ่อ ครู ผู้บังคับบัญชา พระองค์ท่านเป็นได้ทุกมิติ เป็นพระประจำใจ
ถ้าพวกเราประชาชนทุกคนทำได้สักเสี้ยวหนึ่งของพระองค์ท่าน ในเรื่องอยู่อย่างฉลาดก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยทีเดียว
ทำแล้วมีความสุขด้วยวิธีที่ผมว่าไม่เห็นจะยากตรงไหน ทำไมเราไม่ทำ เพื่อให้เราได้มาซึ่งความสุขเหมือนที่พระองค์ท่านปฏิบัติบ้างล่ะ.
**************************************************************
‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ กับความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจข้าพเจ้า :
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
การถวายงานที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า มีอยู่หลายเรื่องหลายประการที่ทำให้เขาได้แง่คิด
และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีหลักมีเกณฑ์ การได้ศึกษา เรียนรู้
และปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับพระองค์ท่านทุกเสี้ยววินาที
ล้วนแต่เป็นภาพความทรงจำที่อยู่ในความประทับใจของเขาไม่รู้ลืม แต่เหนือสิ่งอื่นใด บทเรียนสำคัญที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้รับและซึมซับไว้จนถึงปัจจุบันนี้ โดยเขาได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้ว่า บทเรียนดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง
1) การทำงานทั้งหลายต้องทำด้วยใจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ทำงานต้องทำด้วยความสนุก ความสุข ทำงานด้วยใจ ต้องรู้ว่าเราทำอะไร ใจต้องรัก เพราะรักแล้วจะสนใจ
จะคอยติดตาม รับผิดชอบ ไม่ใช่สนใจแต่ตำแหน่ง ทำงานถวายถือว่าเป็นงานที่สูงสุดอยู่แล้ว
2) ทำงานด้วยความรู้ ความรู้จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องขวนขวาย มีอะไรเก็บบันทึกไว้ สัมมนา ประชุม พยายามฟังจะได้ใช้ประโยชน์ ความรู้จะต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ
ไม่อย่างนั้นเราจะนำคนอื่นอย่างที่พูดไว้ได้อย่างไร เราต้องรู้หมด ซึ่งทำให้สามารถสนองพระราชดำริได้เร็วและถูกต้อง
การถวายงานต้องเป็นคนละเอียดอ่อน มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้
3) ดูทุกอย่างเป็นปัญหาและให้สนุกกับปัญหา เห็นปัญหากระโดดเข้าใส่
เป็นการท้าทายสติปัญญา อย่ากลัวปัญหา และละลายปัญหาจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
สิ่งต่างๆ นี้ก็ได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองอะไรแบบ simple มองเรื่องง่ายๆ ก่อน เรื่องยากเก็บไว้ทีหลัง
นักวิชาการของเราชอบเล่นแต่เรื่องยากก่อน พอเจอเรื่องยากเลยเสียเวลาในส่วนนี้ไป แทนที่จะได้ทำอะไรให้ลุล่วงไป
4) ต้องเข้าใจพระราชดำริให้ดี ต้องหยั่งพระทัยให้ได้
เพราะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอะไรมานั้นจะไม่เสร็จสิ้น
กระบวนความ คิดว่าทรงตั้งพระทัยด้วย ถ้าเสร็จสิ้นกระบวนความ หัวสมองของเราก็ไม่คิด เมื่อเราได้ฝึกคิดอยู่เรื่อยๆ จะทำให้หัวสมองของเราคิดไว
5) ตั้งอยู่ในความเมตตาและสวมความรู้สึกของผู้อื่น เพราะโครงการพระราชดำรินั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม มีทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน
ต้องตั้งอยู่บนฐานความเมตตาและสร้างความสุขให้คนอื่น
6) หัวสมองต้องทำงานตลอดเวลา สมองต้องทำงานอยู่ตลอด ต้องช่างสังเกต ดูสถานการณ์รอบข้าง อย่าปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอย
ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสติต้องติดตัวตลอด เมื่อมีสติก็มีปัญญา ปัญญาทำให้หูตาสว่างไม่หลง
7) อย่าประมาทและระมัดระวัง การเขียนอย่าให้ผิดพลาด ไม่แน่ใจให้หยุดชะงักไว้ ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องเป็นประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ระวังอย่าให้เสียหาย เพราะฉะนั้นงานที่เราทำ ทุกคน ทุกระดับมีความสำคัญมาก สิ่งผลิตของเราเป็นประวัติศาสตร์ ต้องระวังและทุ่มเท

อย่าฉวยโอกาส ซื่อสัตย์ สุจริต ระหว่างปฏิบัติงาน อาจมีสิ่งยั่วยวนใจ เช่น ชาวบ้านเอาที่มาขายถูกๆ เรารู้ว่าจะมีอะไร เกิดการพัฒนาขึ้น ที่ดินจะเจริญ ขายได้กำไร ถึงแม้จะไม่โกง แต่ก็ถือว่าฉวยโอกาส
ข้อห้ามที่มิให้ใครมีผลประโยชน์รอบๆ โครงการทั่วประเทศ ก็ให้ยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และต้องยึดความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ตั้งตลอดเวลาด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นแก่นที่ได้รับและปฏิบัติมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ต้องทำ
ต้องฝึกปรือ ง่ายแต่ปฏิบัติยาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 4 ธ.ค.45
http://www.phrathai.net/article/show.php?Category=sara&No=45120401