เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7897 มหาธีรราชานุสรณีย์
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 24 พ.ย. 03, 11:53

วันที่ 25 พ.ย. เป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า พระมหาธีรราชเจ้า กษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์

ผมไม่แน่ใจนักว่าท่านผู้คิดพระราชสมัญญาถวายนั้น ได้คิดถึงคำว่า "Philosopher King" ในแนวคิดของปราชญ์การเมืองฝรั่งโบราณ (จะเป็นเพลโต้หรืออริสโตเติลหรือใครก็เลือนๆ เสียแล้ว) หรือไม่ตอนที่ผูกศัพท์ ธีรราช ถวา่ย เข้าใจว่าจะไม่เกี่ยว เพราะดูเหมือนจะเล็งเอาพระราชอัจฉริยภาพทางหนังสือที่ทรงพระปรีชาทั้งพระราชนิพนธ์เองและพระราชนิพนธ์แปลจากวรรณกรรมชาติต่างๆ ภาษาต่างๆ มากกว่า

ขอเชิญร่วมกันรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี (ก็เราอยู่บนเรือนไทยนี่ครับ) ตามอัธยาศัยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 พ.ย. 03, 15:57

 ผู้ที่คิดพระสมัญญาถวาย คือพระสารประเสริฐ(ตรี นาคะประทีป) ท่านเป็นผู้ที่คิดนามสกุลพระราชทานถวายอยู่จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน   คิดได้แล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายให้ทรงพิจารณาอีกทีหนึ่งค่ะ

ขอรำลึกถึงสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าด้วยพระราชนิพนธ์ บางบทก่อน  แล้วจะมาเล่าเกร็ดรายละเอียดต่างๆที่พอจำได้  ให้ฟังทีหลังนะคะ

รสใดไม่เหมือนรสรัก
หวานนักหวานใดจะเปรียบได้
แต่มิได้เชยชมสมใจ
ขมใดไม่เทียบเปรียบปาน

จาก   พระยาราชวังสัน
(เรื่องนี้ดัดแปลงจากละครเชกสเปียร์เรื่อง Othelllo ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 18:04

 วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

รัฐบาลเพิ่งมีประกาศให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันสำคัญของชาติ ใช้ชื่อว่า "วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า"

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กำหนดวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นวันสำคัญของไทย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมรายงานว่า กรมแพทย์ทหารบก และชมรมคนรักวัง ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้พิจารณาเห็นว่า

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้น

จึงขอให้พิจารณากำหนดวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นวันสำคัญของไทยที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน

๒ กันยายน ๒๕๔๖
 http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K2554751/K2554751.html  
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 พ.ย. 03, 12:16

 กระทู้ไม่ค่อยแล่น
ขอกลับมาปั่นกระทู้ตัวเองครับ

พระราชกรณียกิจพระเจ้าอยู่หัว ร. 6 ที่เราเคยเรียนๆ กันมาก็มีมากมายหลายประการ เช่น การทรงนำสยามเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามโลกครั้งแรก ซึ่งกองทัพสยามได้ไปอวดธงไตรรงค์ (ซึ่งพระองค์เองเป็นผู้ทรงคิดพระราชทานไว้แก่ชาติไทย) ในสมรภูมิยุโรป การพระราชทาน พรบ. นามสกุล คำนำหน้าชื่อ และ พรบ.ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การทรงตั้งคลังออมสินที่เดีี๋ยวนี้มาเป็นธนาคารออมสิน (ตราของธนาคารยังมีรูปวชิราวุธปรากฏอยู่จนเดี๋ยวนี้) การสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นพระราชอนุสรณ์ในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชของท่าน และการตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ฯลฯ ว่าเฉพาะพระราชนิพนธ์ก็มากมายก่ายกองบรรยายไม่หมด จนเป็นเหตุให้ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า มหาธีรราช ราชาผู้เป็นปราชญ์ทางหนังสือ

คุยกันเรื่องพระเกียรติคุณที่ผมนึกว่าอาจจะแปลกๆ ออกไปบ้างดีกว่า ประการแรก ความที่ในหลวงพระองค์นี้ท่านทรงพระปรีชาสามารถทางหนังสือเหลือเกิน จนคนไทยหลายคนเห็นบทกลอนอะไรเก๋ๆ เข้าท่าก็เอาไปยกถวายท่าน มีกรณีเกิดขึ้นจริงๆ คือบทกลอนชื่อ "เมืองน่ากังวล" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคุณนคร ถนอมทรัพย์ หรือใครแต่ง แต่ว่าไม่ใช่พระราชนิพนธ์แน่ละ ขึ้นต้นว่า "เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน ฯลฯ" และต่อไปอีกยาว

คนฟังบางคนฟังแล้วรู้สึกว่าเพราะดี หลักแหลมดี และมีท่วงทำนองหรือ tone เกี่ยวแก่ชาติบ้านเมือง คล้ายๆ บทความพระราชนิพนธ์บางบท เลยเกณฑ์ให้เป็นพระราชนิพนธ์ ร. 6 เสียเลย มีการเอาไปใส่ทำนองเป็นเพลงออกอากาศด้วย ท่านผู้แต่งเองตัวจริงก็พูดไม่ออก กว่าจะเคลียร์ได้ก็หลายปี แต่็ก็แสดงพระเกียรติคุณ (ในมุมกลับ) ว่า ในความนึกคิดของคนไทย ท่านทรงเป็นมหาธีรราชโดยแท้ จนพร้อมที่จะเอาบทกลอนอะไรๆ ที่ชอบ มาถวายให้เป็นฝีพระหัตถ์ท่านหมด

เรื่องที่สอง ผมเข้าใจว่าเป็นพระราชดำริตอนปลายรัชกาล ที่จะจัดงาน "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" เป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศอย่างใหญ่โตแบบเดียวกับงานเอกซ์โปหรือเวิร์ลดแฟร์ในสมัยหลัง หรืออย่างที่เป็นงานแสดงสินค้าที่ปารีส (ที่มีการสร้างหอไอเฟลในคราวนั้น) กับที่ลอนดอนที่คริสตัลพาเลศในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการเตรียมการไว้อย่างดี โดยใช้ที่จัดที่สวนลุมพินีเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ทราบอย่างไร ในที่สุดไม่ได้จัด สวรรคตเสียก่อน ถ้าได้จัดงานนั้นผมเชื่อว่าชื่อเสียงของประเทศสยามคงจะเป็นที่รู้จักขขึ้นอีกมาก และคงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจสยามด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 พ.ย. 03, 13:39

 ไปเจอเว็บที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  มีหัวข้อน่าสนใจหลายเรื่องด้วยกันค่ะ
 http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/index.htm

บางเรื่องก็น้อยคนจะรู้
อย่างเรื่อง"ศาลาแยกธาตุ" ใครเรียนวิทยาศาสตร์น่าจะสนใจอ่านนะคะ
 http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar04.htm

ขอลอกเอามาลงไว้ในเว็บนี้ด้วยค่ะ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีหน่วยงานใหม่ๆ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของชาติ ให้ก้าวหน้าไปได้โดยรวดเร็วอยู่หลายหน่วยงาน หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ศาลาแยกธาตุ ซึ่งตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่อาจจะกล่าวได้ว่าค่อนข้างล้ำยุคสมัยสำหรับช่วงเวลานั้น คือ มุ่งที่จะทำการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

จากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตสินค้าในเชิงพาณิชย์ ทั้งเพื่อให้เกิดเป็นสินค้าออกทำรายได้ให้แก่ประเทศ และเพื่อสนองความต้องการภายใน ตลอดจนทดแทนการที่จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า "ศาลาแยกธาตุ" ขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ด้านการค้นคว้า วิจัย ทดลองต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะนำทรัพยากรภายในประเทศมาผลิตเป็นสินค้า อันจะเป็นหนทางไปสู่ความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชาติต่อไป

แม้ว่าชื่อศาลาแยกธาตุนั้น อาจจะไม่สื่อความหมายที่ตรงกับความเข้าใจของคนในรุ่นปัจจุบันนัก แต่จากแนวทางการดำเนินงานซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการพยายามแสวงหาวัตถุดิบจากทรัพยากรภายในประเทศ มาค้นคว้าหาวิธีที่จะผลิตให้เป็นสินค้าใหม่ๆ ในเชิงพาณิชย์ และยังมีการดำเนินการทดลองและวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามที่รัฐบาลหรือเอกชนอาจจะร้องขออีกด้วย จึงทำให้อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าศาลาแยกธาตุมีลักษณะที่เกือบจะเรียกได้ว่า เป็นต้นแบบของสภาวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในปัจจุบันนั่นเอง

การก่อตั้ง
ศาลาแยกธาตุได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์โดยมีหน้าที่ให้บริการตรวจสอบ วิเคราะห์สารและแร่ธาตุด้วยเครื่องมือและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ให้แก่หน่วยราชการและประชาชนทั่วไปที่ได้ร้องขอ นอกจากนั้นแล้วศาลาแยกธาตุก็ยังมีหน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การค้นคว้าหาทางที่จะทำการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ด้วยการนำเอาทรัพยากรประเภทที่มีอยู่มากภายในประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น พืชพรรณและแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

จุดมุ่งหมายของการก่อตั้งศาลาแยกธาตุนั้น ปรากฏชัดเจนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง "ขยายงานการแยกธาตุ" ดังนี้

"...ความประสงค์ของศาลาแยกธาตุที่จะสร้างขึ้นใหม่ นี้คือจะช่วยในการหาสินค้าให้ประเทศ ด้วยวิธีการที่เอาวัตถุที่ยังเป็นของดิบมาสำรวจทดลองอย่างพิศดาร โดยอาศัยวิชาช่าง เพื่อประกอบความดำริที่จะยังให้เกิดการทำสินค้าใหม่ ๆ ขึ้น กรมสำรวจพันธุ์รุกขชาติจะหาวัตถุดิบมาให้ เช่นเปลือกไม้ที่มีแทนนีน ยางไม้ เครื่องยา เมล็ดพันธุ์ไม้ที่มีน้ำมัน น้ำมันหอม สีย้อมผ้า เยื่อใยไม้ และอื่นๆ เพราะวัตถุทั้งหลายอันเป็นของใหม่ หรือที่หาได้มาใหม่นี้จำเป็นต้องสำรวจทดลองดูก่อน จึงจะนำเข้าสู่ตลาดเป็นสินค้าของโลกได้ การทดลองในบ้านเมืองของเราเองอันจะเป็นที่กำเนิดของวัตถุเหล่านี้ ย่อมได้ประโยชน์ดียิ่งกว่าจะส่งไปทดลองที่อื่น...."

การดำเนินงาน
นับแต่เริ่มก่อตั้งศาลาแยกธาตุในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ แม้ว่าจะมีบุคลากรจำนวนน้อย และเครื่องมือก็ยังขาดแคลน แต่ศาลาแยกธาตุก็ได้ทำหน้าที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งตรวจสอบวิเคราะห์สารประกอบทางเคมีในแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และทำการศึกษาหาทางนำเอาทรัพยากรของชาติ โดยเฉพาะพืชพันธุ์ต่าง ๆ มาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ดังปรากฏในรายงานครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ของศาลาแยกธาตุว่า กิจการสำคัญที่ได้กระทำไป ได้แก่

การแยกธาตุเงินตราของกรมกษาปน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงส่วนผสมเนื้อเงินใหม่ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติน้ำหนักเงินตรา
การตรวจสอบส่วนผสมของยาต่างประเทศ และยาที่โอสถศาลาของรัฐบาลปรุงเองว่าบริสุทธิ์ และมีคุณสมบัติตามตำรับยาหรือไม่
การวิเคราะห์ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของน้ำประปา
การศึกษาเพื่อตรวจสอบหาวัตถุดิบที่จะใช้ในการฟอกหนังและการทำกระดาษ
การทดลองคั้นน้ำมันจากเมล็ดพืชประเภทต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ เช่นน้ำมันรำข้าว เป็นต้น
การวิเคราะห์พืชสมุนไพรที่อาจใช้ทำยาได้ ซึ่งที่ประสบไปแล้วก็คือการสะกัดน้ำมันเมล็ดกระเบาเพื่อใช้ในการรักษาโรคเรื้อน
การวิเคราะห์น้ำให้แก่กรมรถไฟหลวง เพื่อตรวจสอบน้ำที่จะใช้ได้เหมาะกับหม้อน้ำรถไฟโดยไม่ทำให้เกิดคราบและตะกรัน
การวิเคราะห์ตรวจสอบดิน สารอาหารในดิน และสิ่งที่จะใช้ทำปุ๋ยเคมี โดยมีโครงการทดลองที่คลองรังสิตร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ
จากผลของการที่หน่วยงานต่าง ได้อาศัยศาลาแยกธาตุในการให้ความช่วยเหลือวิเคราะห์และตรวจสอบ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ศาลาแยกธาตุเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นจนเกินความสามารถของสิ่งอำนวยความสะดวกและบุคลากรที่มีอยู่ ดังปรากฏในรายงานของศาลาแยกธาตุฉบับที่ ๓ ว่า

"เรื่องที่กรมนี้ให้ความสะดวกในการแยกธาตุแก่กระทรวงทบวงการต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป เป็นที่รู้ดีกันแล้ว...การสืบเสาะพันธุ์ไม้ซึ่งกองตรวจพันธุ์รุกขชาติจัดส่งมา เพื่อคิดทำให้เป็นสินค้าขึ้นนั้น เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของศาลาแยกธาตุ แต่ว่างานด่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของศาลาแยกธาตุมีมาก เจ้าพนักงานจึงไม่ค่อยมีเวลาพอที่จะทำการแผนกทำสิ่งของจากพันธุ์ไม้ ถ้าจะทำการแผนกนี้ให้เป็นผล ศาลาแยกธาตุจำต้องเพิ่มเจ้าพนักงานขึ้นอีก"

ดังนั้นจึงได้มีการขยายงานโดยสร้างอาคารขึ้นอีก หลังซึ่งเริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เพื่อให้ศาลาแยกธาตุสามารถทำงานในส่วนการคิดค้นหาวัตถุดิบ เพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรมได้สะดวกขึ้น ดังปรากฏในรายงานฉบับเดียวกันว่า

"ได้รับอนุญาตสร้างตึกและเครื่องมือเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท สำหรับทำสิ่งของโดยใช้วิชาเคมี ความประสงค์ก็คือจะสืบเสาะทำสิ่งของจากพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นมูลให้เกิดมีหัตถกรรมใหม่ๆ ขึ้นในบ้านเมือง หรือมีสินค้าใหม่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้เช่น ทำยา คั้นน้ำมันออกจากเมล็ดพันธุ์ไม้ ทำของฟอกหนัง สกัดน้ำมันหอมจากพันธุ์ไม้ ฯลฯ งานแผนกนี้เมื่อได้ทำกันจริงจังพอควรแล้ว ก็อาจทราบได้ว่าสิ่งของที่ทำขึ้นนั้น มีค่าในทางพาณิชย์มากน้อยเพียงใด ทั้งจะมีสิ่งของที่ได้ทำขึ้นส่งไปเป็นตัวอย่างให้แก่พ่อค้าได้ด้วย งานนี้จะเผยแผ่พันธุ์พืชพื้นเมืองของประเทศสยาม จะช่วยให้พลเมืองมีการงานอื่นทำอีก นอกจากทำนา การหาเลี้ยงชีพอย่างอื่นนอกจากการทำนานั้นเป็นสิ่งซึ่งเมืองไทยยังต้องการมาก และอุตสาหกรรมอันจะพึงเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาศัยวิชาเคมีอย่างง่าย ๆ นั้น ก็จะเป็นการทำมาหากินของคนไทยชั้นกลางที่มีความรู้ต่อไป"

อาคารของศาลาแยกธาตุหลังใหม่พร้อมทั้งเครื่องมือนั้น ได้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินงบประมาณอย่างร้ายแรง ทำให้ไม่ได้รับอนุญาตให้บรรจุพนักงานเพิ่มขึ้นสำหรับงานส่วนนี้ และหลังจากนั้นศาลาแยกธาตุซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในด้านการบุกเบิกค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไทย ก็มีความสำคัญลดลงไปทุกขณะ จนเมื่อมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เพื่อตัดทอนรายจ่ายลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลาแยกธาตุจึงถูกยุบเลิกไปเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน


--------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ อ้างจากบทความโดย รองศาสตราจารย์อสัมภินพงศ์ ฉัตราคม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 พ.ย. 03, 13:43

 อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ
 http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar02.htm
ขอยกตัวอย่างบางตอนมานะคะ เพราะยาวมากค่ะ

การลดรายได้จากอบายมุขกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัญหาการขาดดุลงบประมาณหรือที่เรียกกันในสมัยหนึ่งว่า "เงินขาด" นั้น เป็นเรื่องที่มักมีผู้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นกล่าวหาว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้โดยจะเน้นว่าสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเนื่องมาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในราชสำนักเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการมองเพียงด้านเดียวอย่างมีอคติค่อนข้างมาก ซ้ำบางคนยังวิเคราะห์ต่อเนื่องไปอีกด้วยว่า เพราะปัญหาขาดดุลงบประมาณในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจในสมัยต่อมาคือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ต้องตกต่ำอย่างร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ผลจากการดำเนินการที่สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อแก้ปัญหาที่ "ต้นเหตุ" มิใช่ที่ "ปลายเหตุ" ได้ทำให้ฐานะด้านงบประมาณของรัฐบาลในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้มแข็งมาก จนถึงกับสามารถมีเงินเหลือไปจ่ายชำระเงินกู้ต่างประเทศได้ก่อนกำหนด และสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่แท้จริงนั้นเป็นเนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ และต่อมาก็ที่ยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกต่างหาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 พ.ย. 05, 09:14

 ขออภัยที่มาช้าไปหน่อย ปีนี้

เนื่องในปีนี้ เป็นวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา
ดิฉันขออัญเชิญบทกล่อมพระบรรทม ประกอบการขับลำ"ปลาทอง" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  
จากพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระเกียรติรถ" ซึ่งทรงเตรียมไว้สำหรับแสดงเฉลิมฉลองพระราชพิธีสมโภชเดือนพระหน่อซึ่งจะมีพระประสูติการจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

พระเอย พระหน่อนาท งามพิลาสดั่งดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์
ดอกเอ๋ย เจ้าดอกจำปา
หอมชื่นจิตติดนาสา ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอย

หอมพระเดชทรงยศโอรสราช แผ่เผยผงาดในแดนไตร
พึ่งเดชพระหน่อไท เป็นสุขสมใจ ไม่วายวาง

รูปละม้ายคล้ายพระปิตุราช ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระองค์ทรงคุณวิบูลย์ทวี เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญ
ดอกเอ๋ย เจ้าดอกพุทธชาด
หอมเย็นใจใสสะอาด หอมบ่มิขาดสุคนธ์

หอมพระคุณการุณย์เป็นปฐม เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลละออง ภักดีสนองพระคุณไท
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 พ.ย. 05, 09:24

 เมื่อไป search ตามเว็บต่างๆ  พบว่าหลายเว็บ เข้าใจผิดพลาดเรื่องบทร้อยกรองบทหนึ่ง  
โดยเข้าใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6
ถึงกับนำมาลง แล้วระบุว่าเป็นพระราชนิพนธ์

บทนั้นคือ

เมืองใดไม่มีทหารหาญ
เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า  
เมืองใดไร้จอมพารา
เมืองนั้นไม่ช้าอับจน  

เมืองใดไม่มีพาณิชย์เลิศ
เมืองนั้นย่อมเกิดสับสน  
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ
เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม  

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว
เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม  
เมืองใดไร้นารีงาม
เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ  

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ  
เมืองนั้นไม่เพริศพิศมัย  
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ
เมืองนั้นบรรลัย แน่ เอย.  
       
ขอยืนยันมา ณที่นี้ว่า บทร้อยกรองบทนี้ไม่ใช่พระราชนิพนธ์  
แต่เป็นบทประพันธ์ของคุณถนอม อัครเศรณี  หรือเป็นที่รู้จักกันในนามนักตอบปัญหาชีวิตว่า "ศิราณี"    
เรื่องนี้ทำความกลุ้มใจให้คุณถนอมมากพอสมควร   ก็เคยมีบทความอธิบายความจริงเอาไว้แล้ว   แต่ยังมีผู้เข้าใจผิดต่อๆกันมาอีก
คุณถนอมก็ได้ล่วงลับไปนานแล้ว    ไม่มีโอกาสมาชี้แจงซ้ำ  
ดิฉันจึงขอทำหน้าที่ผู้ช่วย  ชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 พ.ย. 05, 10:10

 ว้าย..."ศิราณี" ที่เคยอยู่ไทยรัฐ นี่ผู้ชายเหรอคะ ตอบได้ละเมียดละมัยจริงๆ นึกไม่ถึงค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 ธ.ค. 05, 17:56

 เห็นคุยกันถึงธงไตรรงค์แล้ว  ขอร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติม
นานมาแล้วผมเคยได้ยินคุณมหาดเล็กในล้นเกล้าฯ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ประพาสหัวเมืองได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านชักธงช้างกลับหัว  เอาเท้าชี้ฟ้า  จึงทรงพระราชดำริที่จะเปลี่ยนธงชาติเป็นธงไตรรงค์เพื่อความประหยัด(เพราะไม่ต้องสั่งทำจากต่างประเทศ) และจะได้แก้ข้อผิดพลาดดังกล่าว  แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ชมภาพยนต์เรื่องหนึ่งทางโททัศน์  ในภายนต์เรื่องนั้นกล่าวถึงนายทหารอเมริกันที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทหาร  คิดก่อความไม่สงบในเรือนจำแล้วจะชักธงชาติอเมริกันกลับหัว  ต่ตัวผู้บัญชาการเรือนจำไม่ยินยอมจนท้ายที่สุดผู้บัญาการเรือนจำต้องกลายเป็นฆาตกรเพราะเข้าใจผิดว่า นายทหารที่ก่อการจราจลจะชักธงชาติกลับหัว  ในภาพยนต์ดังกล่าวได้ให้คำอธิบายไวว่า การชักธงชาติกลับหัวนั้นหมายความว่า สถานที่นั้นูกยึดครองโดยฝ่ายตรงข้ามแล้ว  หรือไม่สารถป้องกันตนเองได้ต่อไป  
เรื่องนี้ผมได้สอบถามนายพลเอกแห่งกองทัพบกไทยท่านหนึ่ง  ท่านยินยันว่า เป็นสัญญาณสากลในทางทหารถือว่า เป็นการยอมแพ้  แล้วขอให้ทุกท่านย้อนมาดูธงไตรรงค์ชักให้ตามยก็ไม่มีวันกลับหัวครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 23:17


ไม่ได้เข้ามาสนทนาในเวบนี้เสียนานด้วยข้อแก้ตัวนานาประการครับ ก่อนอื่นก็ขอกราบคุณเทาชมพูมาด้วยความระลึกถึง

สำหรับความเห็นที่ ๖ นั้น ผมเข้าใจว่ายังมีถ้อยคำและตัวสะกดที่แตกต่างไปจากต้นฉบับในลายพระราชหัตถ์อยู่บางแห่งครับ จึงขออนุญาตเชิญบทพระราชนิพนธ์ตามตัวสะกดการันต์ในลายพระราชหัตถ์มาลงไว้เป็นหลักฐาน เพื่อร่วมสนองพระเดชพระคุณในโอกาสสำคัญนี้ครับ


บทกล่อม
(ลำปลาทอง)

พระเอยพระหน่อนาถ
งามพิลาสดังดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย
มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์

ดอกเอยดอกจัมปา
หอมชื่นจิตติดนาสา
ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอยฯ

หอมพระเดชทรงยศโอรสราช
แผ่เผยผงาดในแดนไกล
พึ่งเดชพระหน่อไท
เปนสุขสมใจไม่วางวายฯ

รูปลม้ายคล้ายพระบิตุราช
ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี
เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ

ดอกเอยดอกพุทธิชาต
หอมเย็นใจใสสอาด
หอมบ่มิขาดสุคนธ์เอยฯ

หอมพระคุณการุญเปนประถม
เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลลออง
ภักดีสนองพระคุณไทฯ

(พระบรมนามาภิไธย) ราม วชิราวุธ ปร.

วันที่ ๕ ตุลาคม, พ.ศ.๒๔๖๘.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ธ.ค. 05, 00:34

 สวัสดีคุณ UP และขอบคุณที่แก้ไขให้ค่ะ

คุณ UP กับดิฉันสวนทางกันจนได้    
เป็นอันว่าคงไม่มีโอกาสเจอกัน
กว่าคุณจะมาที่นี่ ดิฉันก็คงกลับเมืองไทยแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 20 คำสั่ง