เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 66421 วรรคทองในวรรณคดีสุดโปรดของท่าน (2)
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 19 พ.ย. 03, 17:46

 กระทู้เดิมของคุณ Paganini ผมขอยกมาตั้งต่อตรงนี้ครับ

ใครชอบวรรคทองบทไหนอีกบ้างครับ

ตอนนี้ผมกำลังคิดถึงบทขับในเวนิสวาณิช พระราชนิพนธ์แปล ร. 6 จากผลงานเดิมของเชกสเปียร์ (จากความจำนะครับ ขออภัยถ้าตกหล่น)

... ความเอยความรัก
เริ่มสมัคชั้นต้น ณ หนไหน?
แรกเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี
เมื่อจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง
อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี
ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอยฯ

...ตอบเอยตอบถ้อย
เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย
ตาประสบตารักสมัคไซร้
เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน,
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัค
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน
ร้องรำพันสงสารรักหนักหนา เอยฯ

เชกสเปียร์เป็นกวีเอกของโลกผู้เห็นซึ้งถึงชีวิต ดังนั้นแม้แต่เรื่องรักๆ เชกสเปียร์ก็อภิปรายไว้ได้อย่างลึกซึ้งคมคาย ไม่ใช่แต่เพราะพริ้งอย่างเดียว

นั่นสิ ความรักเกิดที่หัวใจรึว่าสมองหนอ? ที่จริงเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกรักๆ ใคร่ๆ นี่ มันน่าจะเป็นเรื่องของหัวใจ แต่ก็ไำม่ใช่หัวใจแท้ล้วนๆ อาจจะเป็นเรื่องต้องตรองต้องคิดด้วยก็ได้ ตามที่คนตอบเขาตอบไว้ รักเกิดที่ตาสบกัน ฟังดูก็หวานเจื้อย แต่ผมรู้ว่าเป็นไปได้จริง ประเภทเห็นกันหนเดียวก็สะดุดหรือกระตุกวูบ แล้วก็ลืมไม่ลง ถ้าไม่เรียกว่ารักแรกพบ ซึ่งเป็นศัพท์ที่อาจจะหวานเลี่ยนไปหน่อย ก็อาจจะเรียกเสียว่าความประทับใจครั้งแรกก็ได้

แต่ความรักนั้นต้องมีสองฝ่าย และต้องยินยอมพร้อมใจกัน บังคับกันไม่ได้ ถ้าแม้ว่าสายใจเธอ "ไม่สมัค(ร)" ก็เป็นอันว่ารักที่เกิดที่ตาก็ดับลงไปตั้งแต่เกิดนั่นเอง หรือถ้าหากฝ่ายหนึ่งใช้สมองมากเกินไป คิดมากกว่ารู้สึก มัวแต่กลัวอยู่ว่าสายใจเธอจะไม่สมัครหรือเธออาจจะมีคนอื่นที่สมัครใจเป็นคู่แล้ว ก็เลยไม่ได้เดินหน้าเสียที ก็มีสิทธิ์ที่จะแห้ว เอ๊ย ก็มีสิทธิ์ที่จะต้อง "ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอยฯ" ...
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 17:51

 อีกบทที่แว่บๆ เข้ามาในหัวอยู่ตอนนี้ แต่จำไม่ได้หมด ดูเหมือนจะมาจาก ท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ ร. 6 เหมือนกัน

...ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด
เป็นชาตินักรบแกว่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา ...

ต่อไปอีกยาวครับ แต่จำไม่ได้แม่นแล้วเดี๋ยวจะผิด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 20:05

 มาต่อให้ค่ะ

ในลักษณ์นี้ว่าน่าประหลาด.............เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา.......................ฤาจะกล้าแต่เพียงวาที
เห็นแก้วแวววับที่จับจิต..................ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี..............อันมณีฤาจะโลดไปถึงมือ
อันของสูงแม้ปองต้องจิต.................หากไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ...................ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง............คงชวดดวงบุบผชาติสะอาดหอม
ดูแต่ฝูงภุมรินเที่ยวบินดอม...............จังได้ออมอบกลิ่นสุมาลี

ขอเอามาเสริมอีกบท

โอ้น้ำค้างกลางหาวหนาวละห้อย
อย่าหยดย้อยหยุดบ้างน้ำค้างเอ๋ย
โอ้ดอกดวงพวงพะยอมอย่าหอมเลย
พี่อยากเชยชมชูเรณูนวล

โอ้พระจันทร์อันสว่างกระจ่างแจ้ง
อย่าเข้าแฝงเมฆมนลมบนหวน
ขอชมต่างหน้าน้องละอองนวล
อย่าเพ่อด่วนลับเหลี่ยมเมรุไกร

โอ้ว่าดวงดาราในอากาศ
เดียรดาษแวมวามงามไสว
ลอยประโลมเลื่อมฟ้านภาลัย
เหมือนดวงใจของพี่ที่เลื่อนลอย

พี่อยากได้ดวงดาวอันวาววับ
นึกขยับแล้วขยาดไม่อาจสอย
ชมแต่แสงสุกสว่างอยู่พร่างพร้อย
พี่บุญน้อยนึกปองไม่ต้องการ

ฝีปากคล้ายสุนทรภู่มาก ความจริงเป็นของนายมี ศิษย์สุนทรภู่แต่งไว้ใน "นิราศพระแท่นดงรัง"
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 22:37

 ขอเรียนถามอีกแล้ว 5555  หวังว่าคงจะไม่รำคาญกับนักเรียนคนนี้นะครับคุณเทาชมพู
นิราศพระแท่นดงรัง--ตกลงเป็นข้อยุติแล้วเหรอครับว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่
ขอบคุณท่านอาวุโสนิลกังขาครับที่ให้เครดิต จริงๆเป็นกระทู้ของเราทุกคนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 08:38

 นิราศพระแท่นดงรัง มี 3 เรื่อง  3คนแต่งค่ะ  
เรื่องหนึ่งเป็นผลงานของสุนทรภู่
อีกเรื่องที่ดิฉันยกมา เป็นของนายมี หรือหลวงศุภมาตรา
และสุดท้ายเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำนวนกลอนของนายมี   ไพเราะและลีลาคล้ายกัน  จนทำให้ตอนแรกนักวรรณคดีเข้าใจกันว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่
แต่เมื่อค้นพบนิราศพระแท่นดงรังของสุนทรภู่  จึงได้รู้ว่า เป็นคนละคนกัน

ขอยกมาอีกตอนที่ขึ้นชื่อที่สุดนะคะ

โอ้สงสารสุริยาฟ้าพยับ
จะเลื่อนลับยุคุนธรศิงขรเขา
พระอาทิตย์ดวงเดียวเปลี่ยวเหมือนเรา
กำสรดเศร้าโศกมาเอกากาย

ถึงมีเพื่อนเหมือนพี่ไม่มีเพื่อน
เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย
มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม

ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์
ให้ลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
ถ้าไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์
จะเตรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 12:16

 ขอบคุณครับคุณเทาฯ (ที่ส่งสาส์นรักมาให้ผมแทนนางอุษา...)

เป็นอันว่า ปีนก็ปีน?

แต่ยังกลัวตกต้นไม้ครับ ขอส่งอีกบทเข้าประกวด

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
(จำไม่ได้-)
ถ้าพลั้งพลันอกหัก เอ๊ย เจ็บอกเหมือนตกตาลฯ

ของครูสนุทรภู่อีกใช่ไหมครับ เดิมท่านแต่งไว้ในบริบทอีกอันหนึ่ง ดูเหมือนเรื่องอย่าหลงลมปากคนปากหวานไม่จริงใจอะไรนี่แหละ แต่ผมขออนุญาตครูท่านเอามาตีความใหม่ก็แล้วกัน ไหนๆ ก็มีพูดถึงป่ายๆ ปีนๆ ระวังตกต้นไม้ และเจ็บอก อยู่ด้วยแล้วนี่

ขอบคุณสำหรับสำนวนกลอนของเสมียนมีด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 13:16

 เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน
ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล
ค่ะ

คุณนิลกังขาคะ  ดิฉันไม่ได้ส่งสาส์นรักให้คุณแทนนางอุษานะคะ  
ถ้าหากว่าจะส่งเมื่อไรละก็  คงเป็นอันนี้แทนค่ะ

ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง............คงชวดดวง- -ชาติสะอาดหอม
ดูแต่ฝูงภุมรินเที่ยวบินดอม...............จังได้ออมอบกลิ่นสุมาลี

ลืมบอกไปค่ะ แม่หญิงเรไรตอบสาส์นมาทางดิฉัน  เห็นบ่นทำนองน้อยอกน้อยใจ
ว่า ตัวเองไม่อยากขวางกลาง    เพราะคุณนิลกังขาถามหาเธอ หวังให้คุณแจ้งโผล่ออกมามากกว่า  
ว่าแล้วก็หายตัวไปเลยค่ะ   ไม่รู้จะตามที่ไหน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 14:15

 ขอส่งสารมาสมานไมตรีสมร
ถึงเรไรแม่หญิงอย่านิ่งงอน
วอนกลับมาสโมสรร่วมเรือนไืทย...

อันนี้ไม่ใช่วรรคทอง เป็นวรรคตะกั่วฝีมือผมเอง ภาษาประลองยุทธกำลังภายในเรียกว่า "ข้าพเจ้าสำแดงความทุเรศแล้ว ขอผู้กล้าผู้อาวุโสทั้งหลายเมตตาชี้แนะ"

ผมกะคุณแจ้ง เลขาธิการสมาคมชาวสวนกล้วยแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นกล้วยแฝดติดกันซักหน่อย แล้วเทียบกะคุณแจ้ง แม่หญิงเรไรก็เป็นศรีเรือนไทยอยู่แล้ว แม่หญิงไม่ต้องกลัวเลยว่าจะมาแทรกกลางระหว่างเรา 2 คนครับ จะให้ดี เชิญควงคู่กันมาร่วมความครึกครื้นได้ทั้งคู่เลยยิ่งดี ครับผม

เรียนคุณครูเทาชมพู ผมน่ะเริ่มคิดจะสอยดอกไม้สวรรค์อยู่แล้วครับ ไม่ใช่ไม่คิด คิดหนักด้วย แต่ว่า... ยัง "นึกขยับแล้วขยาดไม่อาจสอย"... ครูมี เอีย คุณหลวงศุภมาตราช่วยเหลนศิษย์ด้วย...

เฮ้อ...

"อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า... มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม... จิตไข้
เด็ดแต่ดอกพยอม... ยามยาก
สูงก็สอยด้วยไม้ (บ๊ะ- สอยอีกแล้ว)... อาจเอื้อมเอาถึงฯ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 17:17

 นกขมิ้น
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เขาคลอขลุ่ยครวญเสียงเพียงแผ่วผิว
ชะลอนิ้วพลิ้วผ่านจากมานหมอง
โอดสะอื้นอ้อยอิ่งทิ้งทำนอง
เป็นคำพร้องพริ้งพรายระบายใจ

โอ้ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อน จะนอนไหน
ค่ำลงแล้วแนวพนาและฟ้าไกล
เจ้านอนได้ทุกเถื่อนท่าไม่อาทร

แล้วหวนเสียงเรียงนิ้วขึ้นหวิวหวีด
เร่งอดีตดาลฝันบรรโลมหลอน
ถี่กระชั้นสั่นกระชากใจจากจร
ระเรื่อยร่อนเร่มาเป็นอาจิณ

โอ้ใจเอ๋ยอ้างว้างวังเวงนัก
ไร้แหล่งพักหลักพันจะผันผิน
เพิ่มแต่พิษผิดหวังยังย้ำยิน
ระด่าวดิ้นโดยอนาถแทบขาดใจ

ข้าเคยฝันถึงฟ้ากว้างกว่ากว้าง
ฝันถึงปางทับเปลี่ยวเรี่ยวน้ำไหล
ถึงช่อเอื้องเหลืองระย้าคาคบไม้
ในแนวไพรนึกเหมือนเป็นเพื่อนเนา

รู้รสแรงแห่งทุกข์และสุขสิ้น
บนแผ่นดินแผ่นเดียวเปลี่ยวและเหงา
จิบน้ำใจจนทั่วเจียนมัวเมา
ไร้ร่มเงารังเรือนและเพื่อนตาย

เขาเคลียนิ้วเนิบนุ่มเสียงทุ้มพร่า
เหมือนหวนหาโหยไห้น่าใจหาย
เจ้าขมิ้นเหลืองอ่อนนอนเดียวดาย
จะเหนื่อยหน่ายหนาวน้ำค้างที่กลางดง

เสียงฉับฉิ่งหริ่งรับขยับเร่ง
จะพรากเพลงเพื่อนยินสิ้นเสียงส่ง
เขาเบือนนิ้วผิวแผ่วแล้วราลง
เสียงนั้นคงเน้นครางอย่างห่วงใย

เจ้าดอกเอยดอกขจรอาวรณ์ถวิล
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะนอนไหน
เขาวางขลุ่ยข่มน้ำตาว้าเหว่ใจ
ตอบไม่ได้ดอกหนาข้าคนจร

 http://www.geocities.com/thailiterature/np3.htm

งานในยุคเริ่มต้นในวัยหนุ่มของเนาวรัตน์ เน้นทางด้านอารมณ์คร่ำครวญทั้งรักและโศก    ได้แรงบันดาลใจจากเพลงไทยเดิม วรรณคดีไทย  ศิลปะต่างๆมาเป็นเนื้อหาของงาน
อ่านไม่ยาก ไพเราะเพราะพริ้ง เหมือนความฝันบรรเจิดของชายหนุ่ม

ต่อมางานของเขาจะเริ่มเข้มข้นแกร่งกร้าวขึ้น  เป็นอิทธิพลจากการเมืองยุคขวาพิฆาตซ้าย  วรรณกรรมเพื่อชีวิต
ต่อมาก็เป็นการแสวงหาทางด้านธรรมะ  ในวัยที่มากขึ้นตามลำดับ

งานชิ้นหลังๆของเนาวรัตน์งดงาม  กลั่นกรองสร้างอย่างมีฝีมือ  แต่ดิฉันชอบงานชิ้นแรกๆ ที่ดูว่ามีหัวจิตหัวใจของเขาอยู่ในนั้นมากกว่า
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 00:59

 คุณครูเทาชมพูครับ กระทู้นี้ผมอึ้งครับ ไร้ภูมิที่จะมาแสดงได้แต่อ่านและซาบซึ้งครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 พ.ย. 03, 09:44

 เอาบทนี้มาฝากอีกบทค่ะ

ขอบฟ้าขลิบทอง

   มิ่งมิตร........    
เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน    
ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว    
ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม    
ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน
 
   ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงษ์ร่อน    
ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน    
ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

    ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก    
ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร    
ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

    ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก    
ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายประกายทะนง    
ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

   เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น    
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา    
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ

อุชเชนี เป็นนามปากกาของอาจารย์ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา  จบจากคณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯ
เป็นศิลปินแห่งชาติ   ถ้าจำไม่ผิดปีเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
และเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะอักษรศาสตร์ด้วยค่ะ
ปัจจุบันอาจารย์ประคินอายุ 80 กว่าแล้ว  เจอกันครั้งสุดท้ายก็ยังแข็งแรงดี
นามปากกาของท่านมาจากชื่อเดิมคือ เออเชนี  Eugenie  ท่านนับถือศาสนาคริสต์ค่ะถึงมีชื่อเป็นฝรั่ง

ลีลาสำนวนของ อุชเชนี คมและหวานจับใจ  เป็นลีลาที่ไร้อายุจริงๆ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 พ.ย. 03, 16:01

 ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ท่านเป็นผู้แต่งกลอนบทนี้ด้วยใช่ไหมครับ

มีสองขามายืนบนผืนภพ
มีตาครบคู่สมองมาส่องหน
มี ...
มีกมลมาเพื่อเชื่อตนเอง

และั

ฉันอยู่เพื่อดวงใจผู้ไร้ญาติ
ผู้แร้นแค้นแคลนขาดทุกสิ่งสรรพ์...

จำกลอนของอาจารย์ไม่ค่อยได้ จำได้แต่ขาดๆ วิ่นๆ แต่ได้ความรู้สึกว่าอาจารย์ค่อนข้างจะเป็นนักมนุษยนิยมทีเดียว

ดูเหมือนอีกบทก็ไพเราะมาก ผมจำได้แค่สองบาท

ถึงโลกเป็นเวทีที่ต่อสู้
เราจะอยู่อย่างมิตรนั้นผิดหรือ?
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 พ.ย. 03, 16:05

 ของท่านเนาว์ กวีซีไรต์ ผมก็ชอบ คิดว่าที่ชอบที่สุดคือ เพียงความเคลื่อนไหว ครับ ใช้คำสร้างภาพได้ภาพ บทแรกๆ ของกลอนชุดนี้ ตั้งแต่ "เพียงเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด..." ไปจนถึง "ก็รู้ว่าในหัวอกมีหัวใจ" นั้นผมชอบมากกว่าบทหลังจากนั้นไปจนจบ คือ บทหลังๆ นั้นก็ชอบ แต่ผมออกรู้สึกว่ามีความหมายเป็นเรื่องเป็นราวเฉพาะเจาะจงกว่า คือในบริบทของ 14 ตุลา 16 เมื่อ "ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย" เป็นความจำกัด ณ จุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ส่วนแรกนั้นเป็นสากลกว่า อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ไม่จำกัดเวลา อ่านทีไรได้รสทีนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 พ.ย. 03, 11:18

 บทที่คุณนิลกังขายกมา  ดิฉันหาไม่พบ  จำได้แต่บทนี้ ที่ชอบมาก

       ทำใจตนดลเป็นเช่นสวนขวัญ
แดนตะวันวามจรัสรัศมี
ความคิดคู่ตรูตรองสองเรานี้
ท่องปถพีเคียงกันนิรันดร

อยากจะเอาไปแปะไว้ที่สวน จริงๆ

ต่อไปก็คือ " เพียงความเคลื่อนไหว" ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด
 ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา
พอใบไม้ไหวพลิกริกริกมา
ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก
 
เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวับวับไหว
ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก
เพียงแววตาคู่นั้นสั่นสะทก
ก็รู้ว่าในหัวอกมีหัวใจ  

สองบทนี้ความหมายกว้างไกลกว่าบทหลังๆซึ่งกลายมาเป็นบทปลุกใจการต่อสู้ระหว่างชนชั้น   ปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว  เลยยกมาแค่ 2 บทดีกว่า

ไปดูละครเวทีคู่กรรม ที่โรงละครกรุงเทพ  มีเพลงหนึ่งเกี่ยวกับสงคราม ทำนองเพลงให้บรรยากาศที่คุกคามของสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อคนไทย
คนแต่งเนื้อแต่งเก่งมาก  รับกับทำนองเพลงที่ฟังระทึกใจน่ากลัว  เสียดายที่ยังหาเนื้อทั้งเพลงไม่ได้
จำได้ท่อนเดียว คือ
" บทเพลงแห่งความตายร่ายระบำ"
น่าจะได้อิทธิพลของเนาวรัตน์มาบ้าง   เท่าที่รู้คนแต่งก็ชาวเทวาลัยเดียวกับดิฉันละค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 23 พ.ย. 03, 12:57

 โคลงโลกนิติผมก็ชอบหลายบทครับ

มีบทหนึ่งยังกะไฮกุ หรือเรื่องสั้นหักมุมจบเลย

จ่ายทรัพย์วันละบาทซื้อ มังสา
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา ไป่อ้วน
สองสามสี่นายมา กำกับ กันแฮ
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน เสร็จสิ้นเสือตายฯ (เวรกรรม!)

ตรงกับที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Who guards the guards?

อีกบทดูเหมือนอยู่ในหนังสืิอดรุณศึกษา แต่งโดยหลวงปู่ ฟ. ฮีแลร์ เจษฎาจารย์คาทอลิกปูชนียบุคคลของโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้รู้ภาษาไทยดีกว่าคนไทยสมัยนี้หลายคน ทั้งๆ ที่ตัวท่านเป็นฝรั่งแท้ๆ

อาทิตย์ส่องแสงจ้า ถูกจันทร์
จันทร์ก็มีสีสัน แจ่มฟ้า
พระทรงประทานปัญ- ญาแก่ เราเฮย
เราก็อาจว่า "ข้า แจ่มด้วยดวงใจ"ฯ

ผมขออนุญาตหลวงปู่บราเดอร์ฮีแลร์ ตีความใหม่ปลอบใจเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกะผม คือไม่หล่อ ไม่ "แจ่ม" ด้วยรูปโฉม ว่า ยังไงๆ ก็ขอใช้ปัญญา คารมเป็นต่อ เอ๊ย- ขอแจ่มด้วยดวงใจแทนละกันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง