เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 121571 เจ้าวังปารุสก์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 12:29

 หยุดแค่นี้ก่อนนะคะ   ก่อนจะเล่าถึงเจ้าวังปารุสก์ องค์ที่สาม
คือหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส
ช่วยกระแอมกระไอให้เสียง  ออกความเห็นกันบ้างนะคะ  
เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 14:51

 ตามมาอ่านต่อค่ะ  เมื่อคืนอ่านสองความเห็นแรกเลยยังไม่มีอะไรจะคุยด้วย  ชอบรูปพระองค์ท่านตอนเล็กๆมากเลยค่ะ  น่ารักมาก  แต่ยังไงก็ยังนึกภาพ "ปลัดขิก" ไม่ออกเลยน่ะค่ะ  อย่าหาว่าลามกเลยนะคะ

ตามที่อ่านใน "เกิดวังปารุสก์"  จำไม่ได้ว่าท่านได้ทรงเอ่ยถึงว่าหม่อมแม่หนีหายหน้าไปเฉยๆรึเปล่า  ดูเหมือนจะทรงเว้นว่างข้อมูลไว้มากเลยค่ะ  ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากที่เติมข้อมูลในช่องว่างให้เต็มขึ้นมาได้  อ่านแล้วสงสารหม่อมแคทยามากยิ่งไปอีก

จำได้ว่า  จากหนังสือ  ที่พระองค์จุลฯทรงกล่าวถึงท่านหญิงชวลิต  ก็ทำให้ได้ความรู้สึกว่า  ท่านก็ยังเป็นเด็กมาก  พูดตรงๆว่าดูเหมือนไม่ค่อยมีความคิดความอ่านเท่าไหร่เสียด้วยซ้ำ   ตอนนั้นนึกไม่ออกว่า  กรมขุนฯจะทรง "ติด" ได้อย่างไร  แต่ก็คิดว่า  คงเป็นช่วงที่การเมืองเมืองไทยในสมัยนั้น  เครียดมากๆ  ท่านคงจะทรงต้องการที่พักทางใจในขณะที่หม่อมไม่อยู่   แล้วก็คงบานปลายไปเพราะต่างฝ่ายต่างเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัวเอง  และความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีมากจนไม่อาจประนีประนอมกันได้  คนที่มาจากพื้นฐานวัฒนธรรมต่างกัน  ยังไงก็ไม่มีวันที่จะมีอะไรตรงตามที่อีกฝ่าย "คาดหมาย" ไว้ไปทุกประการได้

คิดว่า  ทั้งสองฝ่ายตอนนั้น  ต่างก็มีแต่ความเครียดจัด  เลยต้องแตกแยกกันไปในที่สุด  คิดแล้วสะท้อนใจค่ะ  เพราะมีเพื่อนหลายๆคู่  ที่แม้แต่เป็นคนชาติเดียวกัน  แต่ภาระทั้งในบ้านนอกบ้าน  ทำให้เครียดจัดจนต้องหย่าร้างกันไปในที่สุด  หากมองกลับไปแล้ว  ก็มีทางประนีประนอมกันได้  แต่อารมณ์เป็นเรื่องว่ากันยากนะคะ  ใครไม่ตกอยู่ในบ่วงอารมณ์เช่นกันนั้นแล้ว  ก็ยากที่จะมองออกว่า  จะมีความรู้สึกอย่างไรน่ะค่ะ

ดีใจที่คุณเทาชมพูกรุณาสนองตอบความอยากรู้  และมีเมตตาสละเวลาเขียนมาให้ได้กระจ่างใจในหลายๆเรื่องเป็นอย่างยิ่งเทียวค่ะ  เพราะก่อนหน้านี้  กลับไปอ่าน เกิดวังปารุสก์ อีกสองรอบ  ก็ยังไม่เห็นภาพช่วงนั้นได้ชัดเจนเท่าไร  คงเป็นเพราะจากจุดที่พระองค์จุลฯทรงมองเห็นได้เท่านั้น  ยังไม่อาจให้ภาพที่สมบูรณ์ได้น่ะค่ะ  เป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมารับรู้ภาพเต็มๆจากคุณเทาชมพู  ขอขอบพระคุณอย่างสูงด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 15:20

 ขอบคุณค่ะคุณพวงร้อย  ที่ไม่ได้แค่กระแอมกระไอ  แต่ช่วยพูดคุย เสียงใสเชียว  
ปลัดขิกที่ว่า มีอธิบายไว้ในเว็บ    เข้าไปดูเองนะคะ
 http://ezthailand.com/Prakruang/Pladkik.html
พระองค์จุลในรูปท่านจะสวมปลัดขิกหรือเปล่าไม่ทราบ  แต่เด็กผู้ชายชาวบ้านภาคกลางสมัยนั้นน่ะมีแน่    
คลับคล้ายคลับคลาว่าลูกผู้ดีมีตระกูลเพศชายจะสวมอะไรคล้ายๆกระจับของนักมวย  ส่วนผู้หญิง เป็นตะปิ้งรูปสามเหลี่ยม ถักด้วยโลหะก็มี หรือเป็นแผ่นก็มี

เรื่องราวของแคทยาเพิ่งมาเปิดเผยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง   ก่อนหน้านี้ เมื่อเธอหย่าจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกแล้ว   ข่าวคราวก็สูญหายไปจากเมืองไทยราวกับไม่เคยมีตัวตน     ไม่มีใครพูดถึงเธอ    แม้แต่ผู้อยู่ในแวดวงก็ปิดปากกันเงียบ
ประชาชนไม่รู้ว่าเธอเป็นตายร้ายดีอย่างไร   จนมาพบกันทีหลังว่าเธอยังมีชีวิตอยู่อีกยืนยาวทีเดียวค่ะ  จะทยอยเล่าต่อ อย่าเพิ่งง่วงนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 15:41

 เมื่อแคทยาจากไปแล้ว      วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่ เป็น "เจ้าวังปารุสก์"องค์ที่่สาม
คือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์

ท่านหญิงอยู่ในราชตระกูล "ระพีพัฒน์"ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก แต่ว่า ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นใหญ่ พระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์  นอกจากนี้ก็ทรงมีเกียรติประวัติดีไม่น้อยหน้าใคร  
ทรงเรียนเก่ง  ศึกษาที่เคมบริดจ์จนจบวิชากฎหมาย  กลับมาวางรากฐานกฎหมายไทยให้ทันสมัยจนได้ชื่อว่าเป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"

กรมหลวงราชบุรีทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์  เป็นหม่อมเจ้าทั้งหมด  มีพระนามคล้องจองและมีความหมายในทำนองเดียวกับพระนามของพระบิดา คือ  เกี่ยวกับพระอาทิตย์  

1 พิมพ์รำไพ= แบบพระอาทิตย์
2 ไขแสงรพี=  พระอาทิตย์เริ่มฉายแสง
3 สุรีย์ประภา = แสงอาทิตย์
4 วิมวาทิตย์  =  วิมว --> พิมพฺ+ อาทิตยฺ   แบบพระอาทิตย์
5 ชวลิตโอภาส = แสงอาทิตย์
6 อากาศดำเกิง = ลูกไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์
7 เพลิงนภดล = ไฟในอากาศ  หมายถึงพระอาทิตย์

ผูู้้สนใจวรรณกรรมไทยย่อมเคยได้ยินพระนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์มากกว่าองค์อื่นๆ
เพราะทรงเป็นนักประพันธ์แถวหน้าคนหนึ่งในวงวรรณกรรม  เป็นผู้เริ่มต้นผลงานนิยายรูปแบบตะวันตก อย่าง ละครแห่งชีวิต  ผิวขาวผิวเหลือง วิมานทลาย

แต่ในที่นี้ขอกลับมาส่องไฟสปอตไลท์จับที่หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสองค์เดียวก่อนนะคะ

เมื่อแคทยาตกลงหย่าขาดและเดินทางออกจากสยามไป    เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก็ทรงตั้งพระทัยจะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ     แต่ว่าทรงเจออุปสรรคขวางกั้นใหญ่อย่างที่นึกไม่ถึง
คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดไม่ทรงยินยอมให้มีพิธีอภิเษกสมรส   ทรงอ้างว่า ไม่สมควรเพราะหม่อมเจ้าชวลิตอยู่ในฐานะหลานสาวของเจ้าฟ้า่จักรพงษ์
พูดง่ายๆอีกทีคือไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกนั่นแหละค่ะ

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ไม่ยอมแพ้  ทรงหันไปพึ่งสมเด็จพระพันปีซึ่งตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับพระราชโอรส  แต่เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์อ้อนวอนหนักเข้าก็พระทัยอ่อน ยอมรับที่จะเจรจากับพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงยืนกรานเช่นเดิม  สมเด็จพระพันปีกริ้วเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทรงโอนอ่อน ลงได้
ผลคือไม่ใช่แต่แม่กับลูกชายเท่านั้นที่แตกร้าวกัน   ความสัมพันธ์ของพี่ชายกับน้องชายก็ร้าวฉานกันลึกด้วย
ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก็ทรงรับหม่อมเจ้าชวลิตเป็นพระชายาอย่างเปิดเผย  เป็นที่รับรู้กันว่าทรงเข้ามาเป็นเจ้าของวังปารุสกวัน

ข้าราชบริพารอยู่ในวังนั้นด้วยความปกติสุขกับเจ้านายผู้หญิงองค์ใหม่  ด้วยพระชนม์ 15  เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนใดๆในวังให้ยุ่งยาก   เคยใช้ธรรมเนียมกันมาอย่างไรก็อยู่กันต่อไปอย่างนั้น
เธอเข้ากับพระองค์จุลได้เหมือนเป็นพี่น้องกันมากกว่าแม่กับลูก  

ความสนิทเสน่หาที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกมีต่อหม่อมเจ้าชวลิต พระชายาที่อ่อนกว่า 20 ปี และแก่กว่าพระโอรสแค่ 4 ปี   มากมายแค่ไหน พอจะมีหลักฐานให้เห็นได้จากพินัยกรรม
ทรงมอบทรัพย์สินมรดกทุกอย่างให้มจ.ชวลิตเพียงผู้เดียว  ทรงมอบพระโอรสให้อยู่ในความดูแลของท่านหญิง  และจะมีสิทธิ์ในมรดกก็ในเมื่อท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัยแล้วเท่านั้น
ไม่มีการเอ่ยถึงแคทยาในพินัยกรรม    ไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินใดๆให้เธอ นอกจากเงินปีละ 1200 ปอนด์( เดือนละ 100 ปอนด์)ที่ทรงให้ไปเมื่อหย่าขาดจากกัน  
ไม่มีการมอบหมายให้พระโอรสอยู่ในความดูแลของหม่อมแม่ที่แท้จริง   ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่แสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันหลงเหลืออยู่ระหว่างพระองค์กับแคทยา
ความรักฉันชายหญิง ทรงมอบให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสองค์เดียว ด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอจะดูแลโอรสได้อย่างดี
ส่วนแคทยา  เมื่อเธอจากสยามไปก็เหมือนตายจากกันไปจากพระองค์
แล้วก็ตายจากกันจริงๆ    ไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้ากันอีกเลย

แค่ปีกว่าๆต่อมาไม่ถึง 2 ปี   เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกเสด็จสิงคโปร์พร้อมกับพระชายาและพระโอรส
เกิดประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่กะทันหัน   แล้วเสด็จทิวงคตกลางทางก่อนกลับมาถึงสยาม  โดยไม่มีใครคาดคิด
พระชนม์ได้แค่ 37 พรรษา เท่านั้นเอง  หม่อมเจ้าชวลิตทรงเป็นม่ายเมื่อพระชนม์ได้ 17  พระองค์จุลกำพร้าพ่อเมื่อพระชนม์ได้ 13 พรรษา
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 17:27

 ขอบคุณครับคุณเทาชมพู

ผมพอจะเข้าใจรางๆ แล้วว่า ที่มาที่ไปของการที่ในหลวง ร. 6 ท่านออกจะทรงตึงๆ กับพระอนุชาองค์นี้ เป็นมายังไง ยิ่งได้อ่าน "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ก็จะยิ่งเห็นว่า มองจากมุมของในหลวง ร. 6 ท่านไม่ค่อยทรงโปรดเจ้าฟ้าพระอนุชาองค์นี้เท่าไรเลย และพลอยไม่ทรงลงกันกับสมเด็จพระพันปีด้วยเรื่องเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกด้วย เป็นความร้าวฉานในความสัมพันธ์แม่-ลูก และพี่-น้อง จริงอย่างว่า นอกจากเรื่องจะมีชายาแล้ว ดูเหมือนจะปักพระราชหฤทัยเชื่อว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก เอาแต่พระทัยองค์เอง และทรงทำอะไรได้ทุกอย่างเพื่อบรรลุพระประสงค์ แม้แต่ทรงเกลี้้ยกล่อมสมเด็จแม่ด้วยเล่ห์กลประการต่างๆ

สิ่งที่ในหลวง ร. 6 ทรงเห็นในพระนิสัยพระอนุชา ว่าเป็นการเอาแต่พระทัยตนเอง นั้น อาจเกี่ยวพันกับสิ่งที่สมเด็จพ่อท่าน คือในหลวง ร. 5 ทรงพระราชวิจารณ์พระโอรสองค์นี้ไว้ว่าออกจะ "จองหอง" และถ้ามองจากสายตาคนสมัยใหม่ อาจเป็นเพียงความเชื่อมั่นในพระองค์เองของกรมหลวงพิษณุโลกเท่านั้นก็ได้ เพราะกรมหลวงพิษณุโลกท่านทรงพระปรีชาสามารถสูง เป็นคนกล้าและเก่งมาก (สมเด็จพ่อก็ทรงเห็นในข้อนี้) และรู้พระองค์ด้วยว่าท่านเก่ง

ตามมุมมองของในหลวง ร. 6 ในพระัราชบันทึกที่มาเป็น "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ดูเหมือนก็จะทรงมีอะไรในพระทัยอยู่บ้างกับเจ้าพี่ต่างมารดา คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เหมือนกัน จะเป็นด้วยเหตุนี้ประกอบด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ที่เมื่อน้องร่วมแม่ของท่าน คือกรมหลวงพิษณุโลก จะทรงเข้าไปเป็นลูกเขยของกรมหลวงราชบุรี (ว่าง่ายๆ ภาษาธรรมดา) ท่านจึงไำม่ทรงโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ถึงกระนั้นก็ห้ามไม่สำเร็จอยู่ดี

ผมเคยนึกอยู่เมื่อ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ออกมาใหม่ๆ ว่า หนังสือเรื่องนี้อ่านคู่กับหรือเทียบกับ เกิดวังปารุสก์ คงได้รสชาติดี เพราะเป็นการมองจากคนละมุม เท่าที่นึกออก (ไม่ได้อ่านเกิดวังปารุสก์นานแล้ว) พระองค์จุลฯ ในฐานะที่ทรงเป็นลูก ไม่ได้ทรงให้ภาพความร้าวฉานที่ชัดเจนนักระหว่างพระเจ้าอยู่หัว ร. 6 คือพระเจ้าลุงของท่าน กับพ่อของท่าน แต่ผมก็เข้าใจว่าแม้ผู้ใหญ่จะตึงๆ กันอยู่ แต่ดูเหมือนพระเจ้าลุงคือ ร. 6 ก็จะทรงพระเมตตาหลานกำพร้า (แม่ทิ้งร้างไป ต่อมาพ่อก็สิ้นพระชนม์ไปอีก) ไม่น้อย จำเนื้อความใน เกิดวังปารุสก์ ไม่ค่อยได้แล้วครับแต่จำได้ว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 11 พ.ย. 03, 18:50

 เรื่องที่คุณนิลกังขาปรารภเกี่ยวกับพระเจ้าอยูหัวรัชกาลที่ 6   มีเกร็ดประวัติเล่าต่อไปได้อีกเยอะเหมือนกันค่ะ   เพราะว่าทรงยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องของพระองค์จุลด้วยพระองค์เอง  หลังจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทิวงคตแล้ว  
ดิฉันค่อนข้างเชื่อว่าพระองค์ท่านรักหลานกำพร้าคนนี้ไม่น้อย   คือไม่พอพระทัยพ่อก็ถือว่าส่วนพ่อ  ไม่ได้มีผลกระทบมาถึงลูก

ขอผัดไปเล่าทีหลังนะคะ
ตอนนี้ขอต่อเรื่องมจ.ชวลิตโอภาสก่อน

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกคงจะรักพระชายาของท่านอย่างลึกซึ้งมาก   แต่หม่อมเจ้าชวลิตจะรู้สึกตอบมากเท่ากันหรือเปล่า  ไม่มีหลักฐานให้ดิฉันค้นพบได้

รู้แต่ว่าหลังจากพระองค์ท่านทิวงคตได้หนึ่งปี  ท่านหญิงก็เสด็จเข้าสู่ประตูวิวาห์กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร  พระโอรสในพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์  กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
กรมพระจันทบุรีฯเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รุ่นใหญ่ พระชนม์สูงกว่ากรมหลวงราชบุรีฯ
ก็ถือกันว่าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6

กรมพระจันทรฯ ท่านก็ไม่ได้คัดค้านอะไรกับการเสกสมรส  เพียงแต่ยื่นคำขาดว่า ให้ท่านหญิงคืนมรดกทั้งหมดของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกกลับไปให้พระองค์จุลเสียก่อน
เพื่อความยุติธรรมแก่พระองค์จุล และไม่ให้เกิดเสียงครหานินทา เสียหายถึงหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ ที่จะได้ครอบครองมรดกของพระสวามีเก่า
ท่านหญิงก็ทรงคืนมรดกทั้งหมดให้พระองค์จุลไป  
แล้วเสกสมรสกับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์   ก็อยู่กันมาได้ด้วยดี มีโอรสธิดาหลายคน

จนกระทั่งพระชนมายุมากขึ้น   ทรงป่วยด้วยวัณโรค   พระสวามีพาไปรักษาองค์ที่ปารีส  แล้วก็เลยสิ้นพระชนม์ที่นั่น
ในตอนนั้นแคทยาอาศัยอยู่ในปารีส   เธออยากจะมาเยี่ยม   แต่ก็ถูกทัดทานจากเอกอัครราชทูตไทยว่าจะทำให้อาการป่วยของท่านหญิงทรุดลง
จึงไม่มีโอกาสพบกันจนกระทั่งท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัย
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 12 พ.ย. 03, 13:30

 อืมม ตอนย้ายเข้าวังท่านหญิงได้ ๑๕ พรรษา  ก็แสดงว่า  ใกล้ชิดกับกรมขุนฯตั้งแต่ยังไม่เต็ม ๑๕  ความรู้สึกของเด็กผู้หญิงอายุ ๑๔ ปี  ต่อผู้ชายอายุแก่กว่าถึง ๒๐ ปี  ก็คงจะเป็นความชื่นชมทำนองมองเป็นฮีโร่มากกว่านะคะ  ฟังดูคิดว่าท่านคงมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากกว่าหญิงไทยทั่วไป  จุดนี้คงเป็นที่จับพระทัยกรมขุนฯได้  

ตามที่อ่านจากหนังสือ เกิดวังปารุสก์  ร๖ ทรงเอ็นดูรักใคร่พระองค์จุลฯมาก  คงเป็นเพราะท่านไม่มีราชบุตรธิดา  และได้เอ็นดูกันมาตั้งแต่พระองค์จุลฯกำเนิด  ความผูกพันคงมีลึกซึ้งมาก  หาก ร ๖ ยังไม่ทรงครองราช  พระองค์จุลก็คงเป็น มิสเตอร์ ดังที่พระบิดากราบทูลพระอัยกาไว้  แต่ ร ๖ ได้ทรงตั้งให้ท่านเป็นพระองค์เจ้า  ที่มีศักดิ์สูงกว่าพระองค์เจ้าธรรมดา  พระองค์จุลทรงบรรยายไว้อย่างละเอียด  ว่าตำแหน่งพระองค์เจ้า  มีความสูงต่ำแตกต่างกันที่คำนำหน้าว่า  พระบรมวงศ์เธอ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ, พระวรวงศ์เธอ ฯลฯ รึไงเนี่ยค่ะ  ดิฉันก็เอาหนังสือไปเก็บในโรงรถแล้ว  ว่าจากความจำอย่างเดียวก็ชักไม่ค่อยแน่ใจแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้ หึๆๆ

ส่วนพระพันปีหลวง  ดิฉันว่า  ก็ประสาแม่  แม้จะรักหลานชายคนเดียวอย่างไร  แต่กรมขุนฯท่านดูจะเป็น "ลูกรัก" ของพระพันปีนะคะ  ก็คงทรงอยากให้ลูกรักมีความสุขก่อนสิ่งใด  คิดว่าสมเด็จฯท่านไม่ค่อยทรงโปรดปราน ร ๖ อย่างพิเศษเช่นกรมขุนฯ  และคิดว่า  ร๖ กับ กรมขุณฯ มีพฤติกรรมคล้ายกับที่ฝรั่งเรียกว่า sibling rivalry น่ะค่ะ  แต่คิดว่าทั้งสองพระองค์มีความใกล้ชิดกันมากกว่าเชษฐาคู่ใด  เลยมีความกระทบกระทั่งกันมากกว่า  แบบพี่น้องใกล้ชิดโตมาด้วยกัน  ก็ไม่ค่อยยอมกันน่ะค่ะ  ดิฉันก็มีตัวอย่างอยู่ที่บ้านคู่นึงค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 12 พ.ย. 03, 15:12

 อย่างที่คุณพวงร้อยตั้งข้อสังเกตละค่ะ  ความรักที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีต่อพระองค์จุล  นับว่ามากเอาการ  มีหลายอย่างที่แสดงว่าทรงห่วงใยเอาใจใส่เป็นพิเศษกว่าหลานอื่นๆ
เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคต  พระเจ้าอยู่หัวก็กลายมาเป็นผู้ปกครองพระองค์จุลอย่างเป็นทางการ (ไม่ใช่ท่านหญิงชวลิตผู้มีพระชนม์เพียง 17)
สิ่งที่ท่านทำคือสถาปนาหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์    นี่ก็เรื่องหนึ่งละ

เรื่องที่สองคือ  ทรงยื่นมือเข้ามาขวางพินัยกรรมของพระราชอนุชา   ไม่ให้มรดกทั้งหมดตกเป็นของท่านหญิงชวลิตโอภาส โดยพระองค์จุลแทบไม่มีสิทธิ์

ขอคัดข้อความในพินัยกรรมให้อ่านกันนะคะ

"...บรรดาทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้หรือมิิได้ก็ดี   ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้...ข้าพเจ้ามีความประสงค์ยกให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทั้งสิ้นจนตลอดชีวิตของเธอ
แลในระหว่างที่เธอยังมีชีวิตอยู่  ต้องเลี้ยงดูหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์บุตรของข้าพเจ้าให้มีความสำราญสุขเท่ากับเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่  
เมื่อหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์จะมีครอบครัวภายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเลี้ยงดูให้พอสมควรกับฐานะเหมือนกัน  
เมื่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสสิ้นชีพิตักษัยและหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ยังอยู่     ทรัพย์สมบัติที่ว่ามาแล้วก็ให้ตกเป็นของหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ต่อไป"

อ่านพินัยกรรมนี้แล้วก็อดเสียใจแทนพระองค์จุลไม่ได้ ว่า   เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทรงตั้งท่านหญิงชวลิตโอภาสเป็นทายาทของท่านเกือบ 100%  ส่วนเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน  ท่านมอบให้อยู่ในมือของแม่เลี้ยง    ไม่มีสิทธิ์ได้ทรัพย์สมบัติของพ่อ  แล้วแต่แม่เลี้ยงจะให้  
ต่อให้โตเป็นหนุ่มไปจนกระทั่งแก่  ก็ไม่มีวันมีทรัพย์สินของตัวเอง  โดยอิสระ ถึงมีลูกเมียแล้วก็ต้องพาลูกเมียมาพึ่งพาแม่เลี้ยงอย่างเก่า
ต่อให้ท่านหญิงมีพระชนม์ยืนยาวไปจน 80 พระองค์จุลผู้ล่วงเข้า 76 ปี ก็ยังต้องพึ่งพาท่านหญิงเหมือนเดิมอยู่ดี

นอกจากความรักที่มีต่อท่านหญิงมากที่สุดแล้ว
เป็นไปได้ว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกอาจจะเชื่อว่าพระองค์คงมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน  เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีพระโอรสธิดาได้อีกหลายองค์ จากหม่อมเจ้าหญิงชวลิต
ความเสน่หาที่มีต่อท่านหญิงทำให้ท่านเชื่อว่าควรมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้พระชายา ก็เพื่อจะให้พระโอรสธิดาได้มั่นคงที่สุด  แม้ว่าพระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว

ส่วนพระองค์จุลเมื่อถึงตอนนั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในโอรสธิดา  ถ้าจะตกลงแบ่งมรดกให้เด็ดขาดเสียตอนนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับพระโอรสธิดาอื่นๆที่พระองค์ท่านเองก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่องค์    สัดส่วนการแบ่งปันอาจจะมากน้อยกันเกินไปก็ได้
เพราะงั้นก็ยกให้ท่านหญิงเสียองค์เดียวหมดเรื่องหมดราวไป แล้วก็ขอให้ช่วยเลี้ยงดูพระองค์จุลต่ออย่าให้ลำบาก  เลี้ยงไปจนกระทั่งมีลูกมีเมีย เลี้ยงไปจนตายกันไปข้างหนึ่ง

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกคงไม่ทรงนึกเผื่อเอาไว้ ถึงตัวแปรหลายอย่าง
เช่นถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตไม่สามารถจะอุปการะพระองค์จุลได้อย่างดี   พระองค์จุลจะทำอย่างไร

หรือว่าถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตทรงมีพระสวามีใหม่    ทรัพย์สินนั้นก็ย่อมตกในมือเจ้าของรายใหม่  แล้วพระองค์จุลจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ข้อนี้เชื่อว่าทรงนึกไม่ถึงเอาเลย  เพราะคงไม่มีลางใดๆให้สังหรณ์ว่าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเป็นม่ายตั้งแต่ยังสาวมาก  พระชนม์แค่ 17 ปี

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งคือเมื่อพระองค์จุลต้องพึ่งพาหม่อมเจ้าชวลิตไปอีกนานเท่าพระชนม์ของอีกฝ่าย
ก็ไม่สามารถจะเกื้อหนุนค้ำจุนใครได้ง่ายๆ  
ใครเหล่านั้นก็อาจจะรวมหม่อมแม่ที่แท้จริงไว้ด้วยคนหนึ่ง

พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยกับพินัยกรรมเอามากๆ    ความไม่เห็นด้วยสะท้อนมาจาก ทรงยับยั้งพินัยกรรมไม่ให้มีผลบังคับใช้  
แทนที่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเข้าครอบครองทรัพย์สินมหาศาล  ก็กลายเป็นว่าทั้งแคทยา ท่านหญิงและพระองค์จุล ต่างได้รับเงินปันผลจากผลประโยชน์ของกองมรดกทั้งหมด แต่มรดกส่วนใหญ่ยังอยู่เฉยๆ
ต่อมาคือทรงเรียกวังปารุสกวันกลับคืนมาเป็นของพระมหากษัตริย์  ส่วนท่านหญิงชวลิตต้องย้ายไปพำนักที่วังเล็กๆที่ท่าเตียน ซึ่งเคยอยู่มาก่อนจะไปเป็นชายา  

หนึ่งปีต่อมา เมื่อหม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเสกสมรสใหม่กับท่านอมรสมานลักษณ์  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบที่จะให้คืนมรดกกลับไปให้พระองค์จุลเสียก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรสได้
กรมพระจันทรบุรีฯ และพระเจ้าอยู่หัว คงจะตกลงและรู้พระทัยกันในเรื่องนี้

หลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น Fairy Godfather ของพระองค์จุล ก็ส่งพระองค์ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เพื่อจะไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์
ไม่ทรงมีพระบรมราชนุญาตให้แคทยาไปอยู่อังกฤษเพื่อดูแลโอรส  แต่ทรงยอมให้เธอมาเยี่ยมได้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน

แคทยากลับมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก่อนจะกลับไปเมืองจีนตามเดิม
จบตอนแค่นี้ละค่ะ  แล้วจะมาเล่าถึงชีวิตของแคทยา และ "หิน" สามีคนที่สองของเธอ
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 13 พ.ย. 03, 11:07

 อ่านแล้วอึ้งมากค่ะ สงสารแคทยา ชีวิตเธอรันทดยิ่งกว่านวนิยายจริง ๆ นะคะ ส่วนเรื่องมรดกเห็นใจพระองค์จุลฯ คะไม่เข้าใจว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกท่านคิดอย่างไร... แต่เคยมีผู้ใหญ่บางท่านพูดให้ฟังว่า ผู้ชายนั้นถ้าหมดรักแม่ของลูกแล้ว ก็จะพลอยหมดรักลูกหรือรักน้อยลงตามไปด้วย (ถึงจะเป็นลูกตัวเองก็ตามที) ที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นพูดมาจะเป็นจริงในกรณีนี้คะ

รอฟังเรื่องราวของ "หิน" ต่อนะคะ ขออนุญาตแสดงความโลภมากไว้ล่วงหน้าได้ไหมคะว่าอยากรู้ไปถึงเรื่องราวของคุณหญิง  นริศราด้วยได้ไหมคะ ทองรักชื่นชมเธอมากค่ะ ค่าที่เธอใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตอยู่ต่างประเทศ แต่ยังรักษาความเป็นไทยไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องภาษาไทย
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 13 พ.ย. 03, 13:11

 เห็นด้วยกับคุณทองรักค่ะ  ถ้าคุณเทาชมพูยังมีภารกิจด้านอื่นก็ไม่ต้องเร่งนะคะ  จะรออ่านค่ะ

พรุ่งนี้มีธุระสำคัญและต้องตื่นแต่เช้ามืด  เลยแจมไม่ได้มาก  ขอรออ่านตอนต่อไปนะคะ  ไม่ทราบจะขอบพระคุณคุณเทาชมพูอย่างไรค่ะ  อิ่มอกอิ่มใจมากที่ได้รับรู้สิ่งที่กระหายหิวอยากทราบมาแต่เด็กทีเดียวค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 15 พ.ย. 03, 09:49

 ก็ว่าจะค่อยๆเล่าไปตามสบายค่ะ     ไม่รีบร้อน   เรื่องจะได้ระทึกใจให้ตามอ่านอยู่นานๆ ไงคะ

ย้อนมาเล่าถึงชีวิตช่วงต่อไปของแคทยา คนไทยเพิ่งจะมารู้จากการเปิดเผยของม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ธิดาของพระองค์จุล เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่า  เส้นทางของแคทยายังมีอะไรต่อมิอะไรให้ติดตามอีกมาก
ก่อนหน้านี้เหมือนเธอสาบสูญไปเฉยๆ  หลังแยกทางเดินกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์แล้ว

นับแต่เธอเดินทางออกจากสยาม แคทยาก็ไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง  พักอยู่ด้วยไม่นาน ก็ย้ายไปพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้  
เธอกลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า มาดามเดสนิทสกี้ อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 100 ปอนด์อันน้อยนิดที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงให้เธอ   เช่าบ้านเล็กๆได้หลังหนึ่ง แล้วใช้ชีวิตตามลำพังด้วยความเข้มแข็งเท่าที่ผู้หญิงสาวตัวคนเดียวจะทำได้
แคทยาไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเองให้หมกมุ่นน้อยอกน้อยใจโชคชะตา  แต่ว่าเธอเข้าไปช่วยงานของสมาคมการกุศลของชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ    แคทยาเคยฝึกงานเป็นนางพยาบาลมาก่อน  จึงช่วยงานได้มาก ทำให้วันๆผ่านไปรวดเร็ว
แต่พอกลับมาบ้านในตอนกลางคืน ความเปล่าเปลี่ยวเศร้าหมองก็กลับมาอีกสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว

พี่ชายแนะนำว่าหญิงสาวอย่างเธอไม่ควรอยู่คนเดียว จะอันตรายเกินไป   ควรมีคนอยู่ด้วยเป็นเพื่อนในบ้าน  จะมีรายได้เพิ่มด้วย   เธอก็เลยแบ่งห้องชั้นบนในบ้านให้คนเช่า  

หนึ่งในคนเช่าห้องชั้นบนเป็นวิศวกรชาวอเมริกันชื่อแฮรี่ คลินตัน  สโตน  

แฮรี่ สโตน เป็นผู้ชายที่ตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทุกอย่างก็ว่าได้   เขาเป็นผู้ชายธรรมดา  ไม่เก่งกาจปราดเปรื่อง  บ้านเดิมอยู่ที่พอร์ทแลนด์  ออเรกอนซึ่งสมัยนั้นถือว่าบ้านนอกมาก
พบปะกันตั้งแต่แรก  เขาก็หลงรักแม่ม่ายสาวสวยชาวรัสเซียอย่างถอนตัวไม่ขึ้น   เมื่อรู้จักกันดีขึ้น  เขาขอแต่งงานกับเธอ
แต่ว่าแคทยาขอผัดผ่อนคำตอบไว้ก่อน ตอนได้ข่าวว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้ิ้นพระชนม์    เธอเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพในกรุงเทพ
เมื่อกลับมาเธอพบว่า โอรสของเธออยู่ในความดูแลของ "ทูลกระหม่อมลุง" เธอได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม จากมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว
แต่ว่ากรุงเทพไม่มีที่อยู่ให้เธออีกต่อไปแล้ว  เธอกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับทุกคน

แคทยาเดินทางกลับไปแต่งงานกับแฮรี่ สโตน   แล้วเดินทางไปอเมริกากับเขา
ทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของอดีตพระสวามี  
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 15 พ.ย. 03, 18:52

 แคทยาเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและใจเด็ดจริง ๆค่ะ
เมื่อคิดว่าเธอมีชีวิตอยู่เมื่อเจ็ด-แปดสิบปีมาแล้ว
การที่ตัดสินใจแต่งงานกับคนที่แตกต่างกันทุกอย่าง แล้วตามคนรักมาอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งนี่ก็ว่าเก่งแล้วนะคะ แต่เมื่อถูกทอดทิ้งเธอก็ยังดำรงชีวิตอยู่และเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งนี่นับว่าเก่งยิ่งไปกว่าเดิมอีกค่ะ ผู้หญิงยุคปัจจุบันที่เพียบพร้อมกว่าเธอตั้งมากมาย พอล้ม พอพลาดแล้วลุกขึ้นอีกไม่ได้นี่น่าจะศึกษาปรัชญาการใช้ชีวิตของเธอเป็นแบบอย่างนะคะ

ขอบคุณคุณเทาชมพูอีกครั้งค่ะ สำหรับเรื่องราวที่ยิ่งกว่าเทพนิยายเรื่องนี้ จะรออ่านตอนต่อไปนะคะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 17 พ.ย. 03, 00:39

จากที่อ่านใน เกิดวังปารุสก์ แคทยาต้องถูกทิ้งให้อยู่ที่สิงคโปร์คนเดียวอยู่ถึงปี  กว่าจะได้เข้ามาร่วมหอกับสามีเจ้าฟ้าไทย   และกว่าแม่สามีจะเลิกมึนตึงยอมให้เข้าเฝ้าได้  ก็เป็นเวลาหลังจากเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นแล้ว   แต่เมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ  แคทยาก็พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว  เป็นที่ประทับพระทัยของสมเด็จฯ  จนทรงเอ็นดูมาได้  ก็แสดงว่า  แคทยาเป็นคนเข้มแข็ง  และเป็นคนมีความกระตือรือร้นที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์  ไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปหรือมัวนั่งสงสารตัวเองน้อยใจในโชคชะตาเลย  

ความกดดัน  และเรื่องร้ายๆต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต  แคทยาก็ดูไม่ย่อท้อ  เดินหน้าทำตัวให้เป็นประโยชน์  เป็นคนที่น่าชื่นชมมากเลยค่ะ  แต่ในด้านเป็นเมียของผู้ชายไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  แม้กรมขุนฯ จะนับได้ว่ามีความคิด "ก้าวหน้า" กว่าชายไทยร่วมสมัยเป็นจำนวนมาก  ที่ทรงสละอภิสิทธิที่จะมีหม่อมเล็กหม่อมน้อย  ใช้ชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียวมาเป็นเวลานาน  อย่างไรก็คงจะมีความโหยหาผู้หญิงที่มีความ "เป็นผู้หญิง" บ้าง  แต่คิดว่า  ความที่แคทยาต้องใช้ความมานะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม  ทำใจให้เข้มแข็ง  ความอ่อนโยนของผู้หญิงที่มัดใจชายได้  คงต้องลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา  ยิ่งเมื่อมีลูกก็ยิ่งทุ่มเทให้ลูกมากขึ้น  จากประสบการณ์ของตัวเอง  ผู้หญิงเราในบางครั้ง  เมื่อมีลูกแล้ว  ก็ให้ความสำคัญกับ "ความเป็นแม่" มากกว่า "ความเป็นเมีย" คงจะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ได้อ่านรายละเอียดของแคทยาเพิ่มมากขึ้น  ก็ยิ่งสงสารท่านจับใจ  แต่ก็พยายามมองด้วยสายตาเป็นกลาง  ก็คิดว่า  กรมขุนฯ ท่านก็ทรงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ความสนับสนุน  ทำหน้าที่ของสามีที่ดี  โดยไม่คำนึงถึงความต้องการส่วนตัว  แต่เมื่อแคทยาจากไปเป็นเวลานานร่วมปี  สามีภรรยาที่ไม่เหลือด้านที่อ่อนโยนของความรักไว้สมานใจ  อารมณ์รักค่อยเหือดแห้งไป  สำหรับกรมขุนฯ  พระองค์ท่านคงเหลือแต่เพียงความมานะพยายาม  ที่จำต้องฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดจากทางเลือกของตัวเอง  เหมือนกับคนที่อยู่เพื่อทำตามหน้าที่เท่านั้น  พอมีฝ่ายที่สามแทรกเข้ามา  ที่มีความสามารถแต่งเติมเสริมสิ่งที่ขาดหายไปได้  กรมขุนฯท่านก็คงเหมือนทำนบทลาย  พูดได้ว่า  ทรง "หลงเอามาก"  อย่างที่คุณเทาชมพูได้อธิบายไว้นะคะ

ยังไม่มีโอกาสได้เห็นหนังสือที่คุณหญิงนริศราเขียนเลยค่ะ  ทำให้อยากไปหามาอ่านซะแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 พ.ย. 03, 17:23

 ชีวิตของแคทยาในวัยกลางคน ทำท่าว่าจะไปด้วยดี   สมกับรอดพ้นจากมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดเธอล่มลงไปครั้งหนึ่งแล้วในสยาม

แต่ชีวิตมนุษย์ก็มักมีอะไรกระท่อนกระแท่นไม่ลงตัวอยู่เสมอละค่ะ

ทั้งที่อเมริกาเป็นดินแดนในฝันของบรรดาผู้คนหนุ่มสาวจำนวนมากในยุโรป  ที่จะละทิ้งถิ่นเดิมไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า  จนหลั่งไหลข้ามแอตแลนติกกันไปไม่ขาดสาย
แคทยากลับพบว่า เธอแปลกแยกกับอเมริกา น่าจะยิ่งกว่าสยามเสียด้วยซ้ำ

เแคทยาไม่ชอบอเมริกา   ยิ่งกว่านั้นเธอเข้ากับพ่อผัวแม่ผัวอเมริกันไม่ได้    
ความสุขของเธอมีอย่างเดียวคือได้เดินทางไปอังกฤษ พบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยรุ่นหนุ่ม
ในที่สุดเธอกับสโตนก็ตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ปารีส  เพื่อจะได้พบพระองค์จุลซึ่งข้ามจากอังกฤษมาพักด้วยตอนปิดเทอม    แคทยาเองก็อบอุ่นจากการได้รวมญาติชาวรัสเซียซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศสอีกครั้ง

แฮรี่ สโตน  หรือ "หิน "ตามที่พระองค์จุลฯทรงเรียก  เป็นสามีที่อาจจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ในหลายๆด้าน
หนังสือประวัติของแคทยาไม่ได้ให้ภาพเขาเป็นพระเอกตัวจริงเลยสักนิด  ถ้าเป็นหนัง ดาราที่รับบทน่าจะเป็นระดับรองๆ
มีอะไรน่าสมเพชแฝงอยู่   ด้านหนึ่งคือเขายอมแคทยาทุกอย่าง    แบบไทยๆอาจเรียกว่ากลัวเมียก็ว่าได้
เขาทิ้งบ้านเดิม ทิ้งอาชีพการงานตามภรรยาไปอยู่ปารีสตามความประสงค์ของเธอ   แม้ว่าเขาไม่มีความสุขที่นั่นเลยก็ตาม

นิสัยอีกอย่างที่ตรงข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์คือสโตนไม่โรแมนติก  เขามัธยัสถ์จนน่าจะเรียกว่าขี้เหนียว   แม้แต่กับเงินที่พระองค์จุลประทานให้เพื่อให้หม่อมแม่สุขสบาย
เขาก็พยายามจะใช้ให้น้อยที่สุด    อย่างเช่นประทานเงินให้ซื้อรถใหม่  เขาก็ไปซื้อรถเก่าแทนแล้วเก็บเงินที่ประหยัดเอาไว้   รถมันเก่าขนาดออกวิ่งครั้งแรกบานประตูก็หลุดผลัวะออกมาเสียแล้ว

ส่วนพระองค์จุลฯทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โร่ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของลูกผู้ดีมีตระกูล อีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจาก อีตัน
แต่ว่าไม่ได้ทรงเข้าเรียนทหารตามพระราชประสงค์ของทูลกระหม่อมลุง  หากแต่เบนเข็มไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เคมบริดจ์   ทรงเรียนจบได้เกียรตินิยมอย่างน่าชื่นชม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 17 พ.ย. 03, 17:44

 ในอังกฤษ  พระองค์จุลฯพบหญิงสาวสวย ลูกผู้ดีชื่อเอลิซาเบธ ฮันเตอร์     หรือเรียกชื่อเล่นว่า "ลิสบา" เธอเป็นเพื่อนสนิทของหม่อมซีริล ในพระองค์พีระฯ
หลังจากรักกันยาวนานหลายปีในที่สุดก็ พระองค์จุลก็เสกสมรสกับหม่อมลิสบา    ทรงรอถึง 18 ปีกว่าจะได้ธิดาคนเดียว คือม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์  
ชื่อคุณหญิงนริศรา  อ่านว่า "นะ-ริ-ศา " นะคะ  ไม่ใช่ "นะริดสะรา" อย่างที่เข้าใจกันตามตัวสะกด
ศร ในนี้ออกเสียงเป็น ศ  เหมือนในคำว่า "ศรี"

เราคงจะเห็นจากประวัติว่าแคทยาไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวานนิ่มนวล  แต่เป็นหญิงใจเด็ด และมีพลังบุคลิกอันแข็งแกร่งในตัว
เพราะงั้นก็ไม่อาจหวังได้เมื่อวัยมากขึ้น  เธอจะกลายเป็นคุณยายแก่ๆใจดี  
คิดแต่จะถักเสื้อไหมพรมเป็นของขวัญให้ลูกชายลูกสะใภ้

พระองค์จุลรักหม่อมแม่ของท่านมาก   แต่ในความรัก ก็ไม่ค่อยจะมีความราบรื่นระหว่างกันนัก  
เธอเป็นแม่ประเภทที่ไม่อยากเห็นลูกชายไปให้ความสำคัญกับใครมากกว่าแม่    
อยากให้ลูกอยู่ในโอวาท   อะไรที่เธอเห็นว่าดีเธอก็อยากให้ลูกชายเห็นตาม  
เหมือนสามีคนที่สองที่คล้อยตามเธอ
โดยเฉพาะ เธอจะมองหญิงอื่นที่ได้ความรักจากลูกชายว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ
ส่วนหม่อมลิสบาก็เป็นผู้หญิงที่พรั่งพร้อมทั้งความสวยสง่า มาจากตระกูลดี  ต้อนรับแขกเหรื่อได้เก่ง
  ไม่ใช่ผู้หญิงที่แม่ผัวจะข่มได้
เพราะยังงั้น ไม่แปลกที่ แม่ผัวกับลูกสะใภ้ไม่กลมเกลียวกัน
การที่แคทยาปฏิเสธไม่มาร่วมงานสมรสของพระองค์จุลและหม่อมลิสบา แม้มีข้อแก้ตัว แต่ก็น่าจะบอกอะไรได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมรสของเธอกับสโตนผู้ไม่มีปากเสียงก็ดำเนินไปได้  
แต่จะสุขแค่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน  
แคทยากลับไปอเมริกาในช่วงอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง    ช่วงนี้ไม่มีอะไรจะเอ่ยถึงนัก จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 72 ปี  อย่างสงบ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง