เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 121513 เจ้าวังปารุสก์
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 21:59

 ผมว่าที่บัญญัติไว้นี่ผมว่าท่านอาจจะลืมมั้งครับ เพราะสมัยนั้นราชนิกูลที่เป็นลูกครึ่งคงมีเพียงองค์เดียว ท่ามกลาง หลายสิบถึง 100 องค์  แต่ถ้ามาถึงลำดับของพระองค์จุล แล้วผมว่าท่านคงทรงไม่เห็นชอบแน่ๆ ตามความคิดผมนะ เพราะเขาต้องระวังเกี่ยวกับเชื้อสายมากๆ ใช่ไหมครับ
แต่ผมเห็นด้วยว่ถ้าคิดตามคติดั้งเดิมแบบไทยๆ ในหลวง ร.9 เราทรงมีบุญญาธิการอันหาที่เปรียบไม่ได้ เพราะมีใครตั้งหลายองค์อยู่ก่อนที่จะถึงท่านแต่สุดท้ายมาถึงท่านจนได้ (ผมใช้คำไม่เป็นครับ ขออภัยด้วย)

แล้วองค์จิรศักดิ์นี่เป็นมายังไงครับ  ตอนนี้ก็ต้องเล่านะครับๆ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 02:38

ขอบคุณน้องนนทิรามากค่ะ  ที่ช่วยค้นมาให้  มีหนังสืออีกหลายเล่มที่ยังไม่มี  ไปค้นในอเมซอนหาหนังสือเรื่อง แคทยา ของคุณหญิงนริศรา  แต่ก็ไม่มีขายแล้วค่ะ  อย่าว่าแต่หนังสือภาษาไทยเลย  ไม่ทราบจะไปหาได้ที่ไหนค่ะ ฮือๆๆ

ดูเหมือนว่า (ไม่แน่ใจเพราะรูปที่เคยเห็นไม่ค่อยชัด)  คุณหญิงมีส่วนคล้ายบิดาท่านมากนะคะ  แต่วงหน้าได้ทางมารดาอยู่สักหน่อย

สำหรับเรื่อง ทำไม ร ๗ ไม่ต้องการให้พระองค์จุลฯสืบราชสมบัติ  คิดว่า  พระองค์ท่านไม่ทรงโปรดพระองค์จุลฯมาแต่แรก  (แม้จะรักอย่างหลาน  แต่ความรังเกียจก็ยังทรงมีอยู่)  ทรงขัดเคืองพระทัยในพระเชษฐาที่เอาหญิงต่างชาติมาเป็นชายา  คิดว่า  พระองค์ท่านทรงมองว่า  พระเชษฐา คือกรมขุนพิษณุโลก  เอาแต่พระทัยทำให้พระราชบิดาและสมเด็จพระมารดาต้องขุ่นเคืองพระทัย  ร ๗ ทรงมีวินัย สมถะ และทรงมีความเสียสละต่อส่วนรวมอย่างสูง  เลยประเมินเอาว่า  ทรงไม่พอพระทัยกับการที่ใครจะทำอะไรตามแต่ใจตนเองดังที่พระเชษฐาทรงกระทำ  

จุดนี้  พระองค์จุลฯทรงบรรยายว่า  พระบิดาทรงบอกท่านไว้ว่า  ในด้านหน้าที่  หากกระทำหน้าที่การงานได้ด้วยความรับผิดชอบอย่างดีไม่มีใครตำหนิได้แล้ว  ชีวิตส่วนตัวจะทำอะไร หากไม่เป็นที่เดือดร้อนของใคร  ก็ทรงมีสิทธิที่จะทำได้  ดูเหมือนว่า  ทรงมีความคิดไปทางรักษาสิทธิส่วนบุคคลอย่างตะวันตกไม่น้อยทีเดียว  แต่ ร ๗ คงไม่ทรงเห็นด้วย  แต่ความที่เป็นพระอนุชา  จึงมิได้แสดงความเห็นอะไร  และทรงเก็บงำความรู้สึกมาตลอด  แต่กับหลานนั่นก็อีกอย่าง  ยิ่งเป็นหลานที่อยู่ใต้ปกครองแล้ว  คิดว่า  ในความรู้สึกส่วนพระองค์  คงจะทรงมองว่า  คนที่มีสายเลือดไม่บริสุทธิ์อย่างพระองค์จุลฯ  ไม่ควรจะขึ้นครองราชย์ให้มีปัญหาตามหลังมาได้  เลยขอคัดลอกลายพระหัตถ์ที่ ร ๗ ทรงพระราชทานพระองค์จุลฯ เป็นภาษาอังกฤษ  และพระองค์จุลฯทรงแปลไว้ดังนี้  (จากเกิดวังปารุสก์  บทที่ ๑๓ หลังจากกลับบ้านครั้งแรก)

"แกอาจจะอยากทราบว่าความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกเป็นอย่างไร  ฉันบอกแกได้ทันทีว่า  ความรู้สึกของฉันต่อแกในฐานญาติในฐานเป็นอา  ย่อมมีแต่ความรัก  และฉันจะพยายามทุกวิถีทางที่จะให้แกได้รับความเจริญ  แต่ยังมีความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง  คือความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกในฐานที่ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และแกเป็นพระราชวงศ์  ฉันจะพูดกับแกตรงๆ  และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน  ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด  แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวอยู่ดี  คือแกเป็นครึ่งชาติ  และเพราะเหตุนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ  

(ในต้นฉบับข้อความติดต่อกันไป  แต่ดิฉันขอยกมาขึ้นบรรทัดใหม่เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นค่ะ - พวงร้อย)

คนบางคนเขาว่า  การถือเลือดต่างชาติกันนั้นเป็นของเหลวไม่เป็นสาระ  แต่ที่จริงความรู้สึกมันก็ยังมีอยู่  ฉันจึงต้องบอกแกว่า  ฉันเห็นด้วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่แกถูกยกเว้น  จนถึงกับมีคนเขารู้กันอยู่แล้วว่า  ฉันเคยพูดดย่างเปิดเผยว่า  ถ้าแกพยายามที่จะคบคิดขึ้นบัลลังก์ไทย  ฉันจะยิงแกด้วยมือของฉันเอง  เอาสิ  ฉันขอบอกย้ำแก่ตัวแกเอง  เพราะฉันเห็นว่า (การคบคิดกระทำเช่นนั้น - จ.จ.)  จะเป็นของที่ทนไม่ได้  ฉันรู้ดีว่าแกไม่เคยทำผิดอะไร  มันเป็นเรื่องความผิดของพ่อมาตกแก่ลูก  พ่อแกทำความผิดอย่างใหญ่หลวง  และฉันมีความอับอายที่สุด  แกอาจจะว่าฉันยกย่องพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์อื่นๆ  อย่างดิบดีกว่าแก  ฉันรับว่า  ฉันทำเช่นนั้นเพราะแกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติแลฉันจะทำอย่างเดียวกันกับ...ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช(แห่งอังกฤษ - จ.จ.)  เพราะแกไม่อยู่ในขอบเขตสืบสันตติวงศ์  ฐานะของแกในเมืองไทยคือเป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ๆของฉัน  แต่ต้องถูกยกเว้นจากได้ขึ้นราชบัลลังก์โดยไม่มีปัญหา  เดี๋ยวนี้เราต่างคนต่างรู้ใจกันดีแล้ว  ถ้าแกกลืนถ้อยคำของฉันได้ก็จะดีไป

ฉันเองเห็นว่า  พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - จ.จ.)  ท่านทำผิดในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ  เพราะท่านได้ตั้งพระทัยยกเว้นแกมาแต่แรก  การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะของแกครึ่งๆกลางๆ แต่เดี๋ยวนี้แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว"

(และก็ยังมีตัวอย่างพระราชหัตถเลขา  แสดงความกังวลพระทัยว่า  พระองค์จุลฯอาจจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูงต้องการเป็นรัชทายาทอีก  จนถึงกับทรงอักษรมา "ปราม" อีก)
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 03:05

พระองค์จุลได้รับพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ระหว่างปี ๒๔๗๒-๗๓  ทรงมีอายุราวๆ ๒๒-๒๓ พรรษา  แม้จะทรงยืนยันย้ำแล้วย้ำอีกว่า  พระราชหัตถเลขาฉบับนี้  มิได้ทำให้ทรงน้อยพระทัยต่อทูลกระหม่อมอา(ร๗)แต่ประการใด  แต่ตามความรู้สึกของดิฉันเองแล้ว  ขนาดมาอ่านซ้ำอีกไม่ทราบเป็นรอบที่เท่าไรก็ยังรู้สึกกระเทือนใจไม่น้อย  สำหรับพระองค์ท่านเอง  หากได้ทรงอ่าน  ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง  ท่านทรงบอกว่ามิได้น้อยพระทัยต่อทูลกระหม่อมอา  แต่ก็มิได้ทรงเอ่ยถึงว่า  จะมิทรงน้อยพระทัยในโชคชะตาบันดาลให้มารับชะตาชีวิตเช่นนี้  ดิฉันเอาความรู้สึกของตัวเองล้วนๆมาวัด  หากอยู่ในที่นั่งอย่างนั้น  ก็คงโศกเศร้าเสียใจไม่น้อยแหละค่ะ

ส่วนความที่มีเลือดต่างชาติ  เจ้านายพระราชวงศ์จำนวนไม่น้อย  ก็มีสายเลือดต่างชาติเจือปนอยู่  เช่น จีน ลาว ฯลฯ  แต่ก็มิเคยเป็นอุปสรรคขวางทางชีวิตและความก้าวหน้าแต่ประการใด  ด้วยสาเหตว่า  สายเลือดชาวเอเชียต่างชาติเหล่านั้น  เมื่อผสมกันแล้ว  ก็ดูไม่ออกแยกไม่ได้กับความเป็นไทย  จึงกลมกลืนกันไป  และได้พิสูจน์มามากมายแล้วว่า  สายโลหิตมิได้ทำให้ความจงรักภักดีต่อชาติต่อพระมหากษัตริย์ด้อยลงไปแต่ประการใด  

แต่เราพูดถึงโลกทัศน์ของคนเมื่อเจ็ดแปดสิบปีก่อน  ย่อมเอาสิ่งที่คนสมัยปัจจุบันไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่  ไปเทียบกันไม่ได้  ดิฉันเห็นว่า  ถึงแม้จะมิได้มีการกล่าวกันออกมาตรงๆ  พระองค์จุลฯก็คงไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองราชย์แม้แต่น้อย  แต่ที่คนข้องใจสงสัย  ก็เพราะมิได้มีการเอ่ยถึงสาเหตุกันออกไปตรงๆ  มีแต่พูดกันอย่างกำกวม  แต่ความรังเกียจเลือดต่างชาติอย่างนี้  ในสมัยที่เรายอมรับความคิดตะวันตกมาบ้างแล้ว  ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกล่าวออกไป  คือในทางเหตผลก็รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ไร้สาระ  แต่ในทางอารมณ์ก็ยังรู้สึกรุนแรงต่อกัน  ความขัดแย้งทางใจเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปิดเผยได้  เพราะเกรงว่า  คนจะดูถูกเอา  นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันตั้งสมมติฐานเอาเท่านั้นนะคะ  แต่จากพระราชหัตถเลขาก็ชัดอยู่แล้ว

ความขัดแย้งระหว่างเหตุผล กับความรู้สึก  จนไม่อาจเปิดเผยต่อที่สาธารณะได้  ก็มีกันอยู่ทั้งนั้นแหละค่ะ  ยกตัวอย่างฝรั่งอเมริกัน  ที่ยอมรับสิทธิเสมอภาคของคนผิวดำ  ยอมเรียนร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ฯลฯ  แต่ในครอบครัวฝรั่งผิวขาวแล้ว  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะ  หากลูกสาวไปมีแฟนเป็นคนผิวดำ  พ่อแม่ก็ยังไม่สนับสนุน  แหม่มเพื่อนสนิทของดิฉันคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  ในสมัย ค.ศ. ๑๙๗๐ ตอนปลายๆ  ซึ่งเป็นยุควัฒนธรรมฮิปปี้  ความคิดยอมรับสิทธิมนุษยชน ฯลฯ กำลังเบ่งบานสุดขีด  พ่อแม่ของเพื่อนคนนี้ชอบอวดว่า  ตัวเองเป็น bleeding heart liberal พ่อแม่เค้าเคยอยู่นิวยอร์คก็เข้าพวกโบฮีเมียน  ซึ่งเป็นพวกหัวเสรีก่อนหน้ายุคฮิปปี้  แต่วันหนึ่งเพื่อนดิฉันพาเพื่อนชายผิวดำมาที่บ้านให้พ่อแม่รู้จัก  ก็เพียงแต่คบกันเป็นเพื่อน  ยังไม่ได้คิดจะเป็นแฟนกัน  เพียงแต่จะไปงานปาร์ตี้ด้วยกันเท่านั้น  พอพ่อแม่ของเค้าเห็นก็ช็อค  พ่อเค้าเป็นเอาขนาดที่ว่า  โกรธจนไม่ยอมพูดกับเพื่อนของดิฉันเป็นเดือนทีเดียว  พฤติกรรมจากความรู้สึกล้วนๆ  ที่ขัดกันกับเหตุผล-ระบบคิดที่ตัวเองรับมาแล้วเชื่อมาแล้วแบบนี้  เค้าไม่ค่อยเอามาประกาศกัน  ถ้าเพื่อนไม่บอกดิฉันก็คงไม่มีนึกออกว่า  เค้ายังรังเกียจรับไม่ได้กับการที่จะมีเขยหรือสะใภ้ผิวดำได้

และก็มีคนรู้จักบางคนที่แต่งงานข้ามผิว  คนก็ยังตั้งข้อสังเกต  แต่ก็เพียงแต่ซุบซิบกันข้างหลังเท่านั้น  ไม่มีใครกล้าเปิดเผยยอมรับกันตรงๆว่ายังตะขิดตะขวงใจอยู่  เพราะประวัติการแบ่งผิวอันยาวนาน  ก็สร้างรอยประทับที่ยากจะลบเลือนให้ใจคนผกผันตามได้ง่ายๆ

เรื่องของพระองค์จุลฯกับการสืบราชสันตติวงศ์ปลายรัชกาลที่ ๗  ก็เป็นสิ่งสะท้อนสภาพรอยต่อทางวัฒนธรรมสมัยไทยเราเริ่มรับความคิดตะวันตกมา  แต่ก็ยังไม่ราบเรียบสนิทดีนักนะคะ  ถ้าเรามองกันที่วิวัฒนาการทางพฤติกรรมของสังคมใดสังคมหนึ่ง

มาสมัยนี้คงคิดกันยากนะคะว่า  ความรังเกียจที่พระองค์จุลฯมีเลือดฝรั่ง  จะเป็นสิ่งสำคัญจนต้องมีการกระทำที่ดิฉันไม่ทราบจะเรียกภาษาไทยอย่างไรให้ตรงกัน  แต่เป็นแบบ bend over backward ที่จะสร้างเหตุผลรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นนะค่ะ  ที่ว่าคนสมัยนี้นึกไม่ถึง  เพราะลูกครึ่งไทย-ฝรั่งผิวขาวเป็นที่นิยมกันขนาดหนัก  จนดิฉันเองก็ยังนึกไม่ถึงเหมือนกันค่ะ  หลายปีก่อนกลับไปเมืองไทยเห็นละครทีวีต่างก็มีแต่ลูกครึ่งกันทั้งนั้น  มาถึงปัจจุบันนี้  ก็ดูจะยังเป็นกันมากอยู่นะคะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 09:13

 ขอบคุณพี่พวงร้อยที่อุตส่าห์มาพิมพ์ให้อ่านตั้งยาวดีมากๆเลย  โหผมก็ตะลึงเหมือนกันที่ในหลวง ร.7 ทรงพระราชดำริแบบนั้น น่าสงสารพระองค์จุล ท่านคงโดนกดดันมาก  เห็นทีต้องไปยืมหนังสือเกิดวังปารุสก์มาอ่านซะแล้ว

ผมว่านะในเรือนไทยนี่หลายๆกระทู้มีค่าในตัวของมันเอง น่าจะมีใครสักคนดัดแปลงให้กระชับแล้วคงจะเป็นหนังสือได้เลยล่ะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 10:57

 อ่านแล้วอึ้ง   hurt แทนพระองค์จุลสุดๆเลยค่ะ   ขอบคุณคุณพวงร้อยมากที่อุตส่าห์นั่งพิมพ์ข้อความยาวๆมาให้อ่านกัน    

Racial discrimination จริงๆนะคะ  ไม่แปลกว่าทำไมพระองค์จุลถึงเลือกที่จะอยู่อังกฤษมากกว่า

เรื่องพระองค์จิรศักดิ์ เอ่ยเอาไว้นิดหน่อยในกระทู้เจ้าดาราทองค่ะ แต่จะมาตั้งกระทู้ใหม่ให้นะคะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 14:15

 ผมขอไม่เห็นด้วยกับครูเทาชมพูนิดหนึ่งว่า มันไม่ถึงขนาดแบ่งแยกสีผิวหรอกนะครับ ผมว่าท่านคงไม่รังเกียจถ้าเป็นสามัญชน แต่นี่เป็นกษัตริย์ที่มีการสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี ความเป็นชาติคงมีอยู่เยอะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 21 พ.ย. 03, 19:36

 ก็กลับไปคิดย้อนทบทวนเหมือนกันค่ะว่าถึงขั้น racial discrimination  ไหม
คือมีกฎหมายออกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ห้ามหญิงไทยไปเป็นภรรยาฝรั่ง  และถ้าจำไม่ผิดมีชาติอื่นๆด้วย ยกเว้นจีน ไม่อยู่ในข่าย
แต่ชายไทยไปมีเมียแหม่มหรือไม่  ไม่ได้ห้ามเอาไว้  อาจเป็นเพราะผู้หญิงแหม่มโสดๆหาไม่ได้ในสยามสมัยนั้น เลยไม่ต้องห้าม เพราะไม่มี
โสเภณีฝรั่ง ก็รับแต่พวกฝรั่งด้วยกัน

ในเมื่อคนไทยก็เต็มใจจะเรียนวิชาการจากฝรั่ง สร้างบ้านเรือนแบบฝรั่ง  จะกินอยู่ก็เปลี่ยนมาใช้ช้อนส้อม ใส่เสื้อนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง  เห็นโก้ด้วยซ้ำที่ทำอะไรเกี่ยวกับฝรั่ง
แต่พอมาถึงแต่งงานกับฝรั่งเท่านั้น    รังเกียจขึ้นมาเลย
ดิฉันก็เลยสงสัยว่าจะคล้ายๆกับแบบที่คุณพวงร้อยเล่า   คือความรู้สึกที่ฝังลึกก็คือรังเกียจสีผิวนั่นแหละ  ถ้าเป็นผิวเหลืองด้วยกันอย่างจีน ไม่เห็นจะรังเกียจอะไร

ดิฉันยังสงสัยต่อไปเสียด้วยว่า จริงหรือที่สมเด็จพระปกเกล้าฯท่านทรงแบ่งแยกได้เด็ดขาด ระหว่างความรักที่อาพึงมีต่อหลาน  กับความรู้สึกปกป้องที่กษัตริย์พึงมีต่อราชบัลลังก์เมื่อเห็นว่าบุคคลไม่สมควรเฉียดเข้ามา
ดิฉันว่ามันอาจจะปนกันไปด้วยซ้ำ   แม้พระองค์ท่านจะไม่รู้สึกว่าปนกันก็ตาม
แต่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเสียอีก  ดิฉันคิดว่าท่านไม่แบ่งแยก   ท่านรักหลานชายองค์นี้แน่ มีการกระทำหลายๆอย่างพิสูจน์อยู่ในตัว    แม้แต่เรื่องราชบัลลังก์ ถ้าท่านไม่อยากให้พระองค์จุลมีสิทธิ์  ท่านคงระบุไว้ชัดเจน

สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเป็นคนที่ทำอะไรๆ แบบมีโครงการและแผนล่วงหน้า   เพราะฉะนั้นจะว่าท่านวู่วาม หรือเผลอไผลไม่ทันคิด   เป็นไปไม่ได้
การตั้งเป็นพระเจ้าวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าก็เป็นเรื่องที่ทรงตั้งพระทัยแน่นอน   รูปการณ์ไม่มีเลยว่าจะมีใครผลักดันให้ทรงทำด้วยความไม่เต็มพระทัย  หรือต้องรีบร้อนตั้งแบบจำยอม
การตั้งกฎการสืบสันตติวงศ์ก็เหมือนกัน   ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนต้องให้เสร็จในวันสองวัน จนอาจจะลืมโน่นข้ามนี่ได้ง่าย
พระบรมราชโองการเรื่องหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชก็อีกเรื่อง แสดงว่าทรงคิดละเอียดลออ

เพราะงั้นที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ตรัสว่าพระเชษฐาของท่านเองก็คิดตรงกันว่าไม่อยากให้เป็น   ดิฉันจึงมีเครื่องคำถามอันโตอยู่ในใจ อยู่ดีละค่ะ

พูดมาถึงตอนนี้แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเจ้านายอีกองค์ที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเหมือนกัน
คือกรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 อีกองค์หนึ่ง
แต่องค์นี้ ท่านทรงอยู่ของท่านเงียบๆ  ไม่ได้อื้อฉาวอย่างเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก
พระนามท่านเป็นที่รู้จักกันในฐานะเจ้านายที่เคราะห์ร้ายที่สุดองค์หนึ่งในรัตนโกสินทร์  เมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมาหลายปี
ทรง ถูกจับ  กลายเป็นนักโทษการเมือง ถูกส่งเกาะตะรุเตา   ทั้งที่มิได้ทรงทำผิดประการใด  เพียงแต่รัฐบาลหาความเท่านั้น
เมื่อพ้นโทษก็ทรงกลับมาหาหม่อมของท่าน      ทรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

พระโอรสท่านคือหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต หน้าตาคมสันเป็นลูกครึ่งฝรั่งทีเดียว
ทรงเป็นพระสวามีของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต
ผู้นิพนธ์เรื่อง"ปริศนา"
อดคิดไม่ได้ว่าท่านชายปิยะรังสิตนี่แหละน่าจะเป็น "ท่านชายพจน์" องค์จริง

เรื่องพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ตามที่คุณ paganini ขอ    แล้วจะไปตั้งกระทู้ใหม่ค่ะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 24 พ.ย. 03, 22:49

 ว้ามาช้าไปหน่อย กระทู้ไม่ active ซะนานเลย ท่านอาจารย์เทาชมพูครับผมรออ่านเรื่องอยู่ครับ อิอิอิอิ

อาจารย์เทาชมพูท่านได้เคยเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับพระราชสำนักแบบนี้รึเปล่าครับ ผมว่าท่านเขียนแล้วคงอ่านสนุกน่าติดตามนะครับ  ช่วยเชียร์กันหน่อยพวกเรา!
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 08:50

 คุณ paganini  ลองไปอ่านเรื่อง บูรพา ดูนะคะ
แล้วจะรู้ว่าสนุกและน่าติดตามขนาดไหน
ส่วนความเห็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดของแคทยานั้น
ตอนนี้ขอ "เคาะ" ค่ะ ไม่วิเคราะห์ต่อดีกว่า
อย่าลืมไปอ่าน บูรพา นะคะ ยินดีให้ยืมหนังสือด้วยค่ะ

อ้อ ! ทองรักถามเรื่องคุณหญิงนริศรา ไว้ก่อนแล้วตังแต่ความเห็นแรก ๆ นะคะ คุณเทาชมพูไม่ได้ขี้ลืมหรอกค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 10:58

 มัวไปเป็นแม่งานอยู่หลายวันไม่ได้เข้ามาเลยค่ะ  ต้องขออภัยด้วย  สำหรับข้อสังเกตของคุณเทาชมพูเกี่ยวกับ ร ๗ นั้น  ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ  ว่ามีหลายสิ่งที่ไม่ consistant กับประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นอยู่บ้าง  

รู้สึกว่า  พระองค์จุลฯนั้น  ทรงเก็บงำความโทมนัสไว้ไม่น้อย  อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งก็ได้  เพราะเคยได้ยินหมอหลายท่านบอกว่า  ความเครียดมากๆ  เป็นเหตุสำคัญที่ไปกระตุ้นให้โรคมะเร็งออกมาสำแดงอาการได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว  

ดิฉันเองก็เก็บความเห็นเรื่องนี้ไว้นานแล้ว  เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่เอามาพูดกันได้หรือไม่  ดีใจมากค่ะที่คุณเทาชมพูเปิดโอกาสให้ได้มาคุยกัน  ขอบอกแต่ในส่วนที่กระทบความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันก็แล้วกันนะคะ  ตามที่ได้บอกแล้วว่า  ดิฉันอ่านหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ ในตอนอายุได้ ๑๓ ปี  กำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  กำลังเริ่มมีความสับสนเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต  เรียกว่า  เริ่มรู้สึกถึงแรงกดในรูปแบบของ หน้าที่ต่อครอบครัว  กับความต้องการส่วนตัว  สิ่งที่ได้รับการสั่งสอนอบรมมานั้น  ก็คือการคิดถึงความต้องการส่วนตัวแม้แต่น้อย  เป็นความเห็นแก่ตัว  เป็นลูกก็ต้องทำตามพ่อแม่ต้องการ  ความต้องการของตัวเองให้ละเลยไม่ใส่ใจจึงจะเป็นลูกที่ดี  เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว

คำพูดที่กรมขุนฯได้ทรงสั่งสอนพระโอรสว่า  ชีวิตส่วนตัวเป็นกิจต่างหากจาก "หน้าที่" ต่อสังคมหรือครอบครัว  หากทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดีแล้ว  เราก็มี "สิทธิ" ที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวในวิถีที่ตัวเองเลือกได้  แต่ในสภาวะที่สังคมรอบข้างยังแตกต่างกันมาก  และรับปรัชญาการมองชีวิตเช่นนั้นไม่ได้  และตัวเองก็ไม่ได้ "ต้องการ" สิ่งที่ตัวเองเลือกอย่างมั่นคงเพียงพอ  ก็ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายตามมา  ส่งผลตกทอดถึงลูกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย  สิ่งเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความคิดความสับสนของเด็กที่กำลังโตอย่างดิฉันมาอยู่หลายปีทีเดียวแหละค่ะ  และบอกไม่ถูกว่าเป็นเพราะอะไรถึงทำให้มีจิตผูกพันอยากทราบความเป็นไปของครอบครัวพระองค์ท่านอยู่เสมอมาค่ะ

ขอบคุณคุณเทาชมพูจากใจจริงอีกครั้งที่ช่วยให้ความกระจ่าง  และคลายปมที่ฝังไว้มานานแล้วไปได้มากเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 13:33

 ขอบคุณครับคุณทองรัก แล้ว เรื่องบูรพา นี่ใครแต่งและเกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะยืมจากคุณทองรักครับ แต่จะยืมยังไงล่ะครับ
ผมเป้นหนอนหนังสือแค่ครึ่งเดียวเองครับ ยังไม่ได้อ่านหนังสือเยอะแยะมากมายหลายด้าน
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 16:21

 จะเป็นไปได้ไหมคะคุณเทาชมพู ที่คุณหญิงนริศราอาจจะมีพี่เลี้ยงเป็นคนไทยในช่วงชีวิตวัยเด็กที่อังกฤษ เพราะคุณหญิงสามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ต้องเล่าให้ฟังถึงตอนที่คุณหญิงทำโครงการหนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ คุณหญิงน่ารักมาก เป็นที่ประทับใจกันไปตามๆกันค่ะ

เนื่องจากการทำหนังสือเล่มนี้ คุณหญิงจะต้องติดต่อสมาชิกในราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนพระองค์และส่วนตัวโดยละเอียด  ท่านแม่ของเพื่อนดิฉัน(ประสูติเป็นม.จ.หญิง ต่อมาสมรสกับชายสามัญ) ประทับใจมากกับคุณหญิงนริศรา คุณหญิงโทรศัพท์มาพูดคุยกับท่านแม่ของเพื่อนดิฉันอย่างน่ารักมาก โทรมาบอกขอทูลสายท่านอา....  พูดคุยอย่างเป็นกันเองอย่างน่ารักโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และใช้ราชาศัพท์ทั้งหมด ท่านแม่ของเพื่อนดิฉันประทับใจมาก คุยถึงคุณหญิงไปหลายวันว่าช่างน่ารักเหลือเกิน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 17:07

 ผมเห็นใจทั้งฝ่ายพระองค์จุลฯ และในหลวง ร. 7 ครับ

ถ้าเราเอากรอบสมัยนี้ไปจับ คงจะเรียกพระราชทัศนะของในหลวง ร. 7 ได้ว่าเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ แต่ผมก็คิดว่าในราชประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น ตามอุดมคตินับถือความบริสุทธิ์หรือความรู้สึกว่าบริสุทธิ์ทางสายเลือดค่อนข้างมาก (แม้ว่า ตามข้อเท็จจริง ไม่มีใครบอกได้ว่าตนมีสายเลือดบริสุทธิ์ก็ตาม) อย่างน้อยก็มีหลัก อุภโตสุชาติ แปลว่ากำเนิดดีทั้งสองฝ่าย คือทั้งทางพ่อและทางแม่ ปรากฏอยู่เป็นเกณฑ์พิจารณาข้อหนึ่ง ซึ่งผมเข้าใจว่าไทยเราจะเอาคติข้อนี้มาจากอินเดีย เจ้านายโบราณสมัยก่อนที่ท่านทรงถือหลักต้องให้ลูกหลานมีกำเนิดดีทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเคร่งครัด จนไม่ยอมเสกสมรสปนระคนศักดิ์กับสายเลือดอื่นต้องเสกสมรสกันเองอยู่ในพระราชตระกูลก็มีอยู่ (ซึ่งสมัยนี้ กลายเป็นว่า ความรู้ทางแพทย์สมัยใหม่บอกว่าแต่งกันเองระหว่างพี่น้องกลายเป็นไม่ดีไป) เรื่องนี้ ในหลวง ร. 6 ท่านทรงถือว่า จะไม่ทรง "เอาน้องสาวเป็นเมีย" (คำของท่านเอง อยู่ในประวัติต้นรัชกาลที่ 6) เป็นอันขาด ถ้าจำเป็นจะต้องทรงเสกสมรสกับเจ้านายในราชตระกูลอย่างน้อยก็ขอให้ห่างออกไปหน่อย เป็นลูกพี่ลูกน้่องก็ยังดีั

ถ้าถือหลักอุภโตสุชาติเป็นความคิดพื้นฐาน แม้ว่าพระราชพินัยกรรมหรือพระบรมราชโองการในพระเจ้าอยู่หัว ร.6 จะไม่ชัดเจนในกรณีพระองค์จุลฯ ที่ทรงมีพระมารดาเป็นต่างชาติ ก็ไม่ใช่ว่าท่านปรีดีและท่านอื่นใน ครม. ที่โต้แย้งสิทธิในการครองราชสมบัติของพระองค์จุลฯ ท่านจะไม่มีหลักอ้างอิงเสียเลย เพราะมีหลักโบราณข้อนี้เป็นเกณฑ์อยู่ กล่าวไม่ได้ว่าพระองค์จุลฯ ทรงมีอุภโตสุชาติ ในเมื่อฝ่ายพระมารดาไม่ใช่เจ้า ที่ซ้ำยิ่งกว่าคือไม่ใช่คนไทย ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับ ร. 7 ครับ เพียงแต่พยายามลองทำใจคิดแบบที่ท่านอาจจะทรงคิดเท่านั้น แต่นั่นแหละความในพระทัยท่านผมก็ไม่รู้ได้

อาจมีคนเถียง (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าถูกตามข้อเท็จจริง) ว่า ก็พระมารดาพระองค์จุลฯ เป็นสายเลือดฝรั่งแล้วยังไง ใช่ว่าพระบรมราชจักรีวงศ์จะเป็นสายเลือดไทยบริสุทธิ์หรือก็เปล่า ก็มีเลือดมอญ เลือดจีน เลือดแขก ฯลฯ ผสมอยู่เหมือนกัน มีมาก่อนยุคของพระองค์จุลฯ แต่ครั้งกรุงเก่าก็มี แล้วก็เป็นอย่างที่คุณเทาชมพูว่า คือเจ้านาย หรือแม้ขุนนางก็เถอะ ที่มีสายเลือดอื่นเจือปนเหล่านี้ ก็ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระราชบัลลังก์และประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยหน้าคนไทยเชื้อสายไทย

แต่ผมคิดว่า เรื่องข้อเท็จจริงตามภาววิสัยเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องความรู้สึกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความแตกต่างที่เห็นชัดมากเกินไป ทำให้ "รู้สึก" ว่าเป็นต่างพวกได้ง่าย จะถือว่าเป็นเรื่องรังเกียจผิวสีต่างกันก็เอาเถิดครับ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ผมไม่เถียง แต่ผมคิดว่า เชื้อสายที่เคยได้มาผสมอยู่ในพระราชวงศ์ไทยแต่ก่อน ยังไงๆ ก็ยังเป็นเอเชียนเหมือนกัน ไม่โดดออกมามาก แต่พระองค์จุลฯ ที่พระพักตร์เป็นฝรั่งชัดมากขนาดนั้น จะให้เป็นเจ้าชายไทยผมคิดว่าพระเจ้าอยู่หัว ร.7 ก็อาจยังไม่ทรงตะขิดตะขวงมากเท่ากับให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ไทย (ถ้าท่านจะทรงตะขิดตะขวงพระทัยเรื่องไม่ทรงอยากให้พระองค์จุลฯ เป็นแม้แต่พระองค์เจ้า ผมว่าก็น่าจะเป็นเพราะท่านทรงเกรงว่าจะโยงไปถึงเรื่องสิทธิการสืบราชสันตติวงศ์มากกว่า ซึ่งในข้อนี้ แม้พระเจ้าอยู่หัว ร. 6 ก็ทรงทราบ เมื่อทรงตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นพระรัชทายาทช่วงสั้นๆ ตอนต้นรัชสมัยนั้น ท่านระบุเลยว่า ที่ตั้งเช่นนั้นก็เป็นทำนองประกันภัย ตั้งเผื่อไว้เท่านั้น ถ้าท่านทรงมีทายาทเองแล้วก็เป็นอันว่าเพิกถอนพระราชฐานะเจ้าฟ้าจักรพงษ์ในที่รัชทายาท และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ต้องปฏิญาณด้วยว่า จะไม่ทรงตั้งผู้สืบเชื้อสายของท่าน - ซึ่งก็คือพระองค์จุล - เป็นรัชทายาทสืบต่อไป แต่พอดีเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นเสียก่อนในหลวง ร. 6 ก็เป็นอันพับไป)

ในข้อนี้ ผมพูดไม่ได้ว่าตัวเองเห็นด้วยกับในหลวง ร. 7 เต็มที่ พูดได้แต่ว่าผมคิดว่าผมเข้าใจ พระมหากษัตริย์ไทยในอุดมคติของคนไทยสมัยนั้นหลายคน ไม่ควรจะทรงพระรูปโฉมเป็นฝรั่งอย่างนั้น ไม่ว่าพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ (ซึ่งผมเองไม่สงสัยเลย) จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การยอมรับของคนไทยน่าจะยังเกิดได้ยากในสมัยนั้น ถ้าเป็นตำแหน่งประธานาธิบดีก็ไปอย่าง (ผมนึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเหมือนกัน นั่นท่านก็ลูกจีน แต่ก็ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ไทยได้ - จริง แต่ 1. สถานการณ์กรุงแตกและการกองกู้อิสรภาพเป็นอะไรที่เป็นข้อยกเว้นพิเศษมาก 2. จีนกับไทยดูกันจริงๆ ก็ยังไม่รู้สึกว่าต่างกันชัดๆ 3. แล้วในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชท่านก็หนีไปไม่พ้นการไม่ยอมรับของกลุ่มชนผู้ดีไทยกรุงเก่าเหมือนกัน)

เหตุผลที่ผมนึกว่าอาจจะสำคัญอีกข้อ คือ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางนั้น (ที่จริงตั้งแต่ปลาย ร. 3) เป็นสมัยที่คนไทยรวมทั้งเจ้านายส่วนหนึ่งรู้สึกกันแล้วว่า ภัยคุกคามพระราชอาณาจักรนั้นมาจากฝรั่ง โดยที่ญวนหรือพม่าเลิกเป็นข้าศึกกับเราไปนานแล้ว (กลายเป็นเมืองขึ้นฝรั่งไปหมด) ถึงเราจะเรียนรู้ทำตัวเป็นฝรั่งก็เพื่อการระวังป้องกันตัวด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความนิยมชมชื่นล้วนๆ แต่ความเจ็บช้ำน้ำใจต่อฝรั่งชาติต่างๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ทำกับไทยนั่น อาจยิ่งทำให้คนไทยรู้สึกแปลกแยกต่อ "ลูกฝรั่ง" หนักยิ่งไปกว่าที่เคยรู้สึก (หรือไม่รู้สึก) ต่อลูกจีน หลานมอญ ฯลฯ ที่เคยครองราชบัลลังก์ ที่จริงว่ากันตามทางรัฐประศาสโนบาย ฝรั่งชาติรัสเซียนั้นช่วยเราจากการรุกรานจากฝรั่งชาติอังกฤษฝรั่งเศสด้วยซ้ำ แต่พักตร์พระองค์จุลฯ คนไทยดูก็ยังเป็นหน้าฝรั่งอยู่ดี

แต่ผมก็ต้องยอมรับว่า เห็นใจพระองค์จุลฯ มาก เชื่อได้ว่าท่านคงรู้สึกเจ็บปวดไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในเมื่อเรื่องนี้ถ้าว่าไปตามเนื้อผ้าตามข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ความผิดของท่านเลย เป็นเรื่องที่เจ้านายพระญาติผู้ใหญ่ของท่านลงความเห็น หรือความรู้สึกกันว่าพ่อท่านผิด แต่ผลมาตกกับลูก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 25 พ.ย. 03, 18:02

 อ่านแล้วก็รู้สึกว่า ค่านิยมกับความจริงมันต่างกันตรงนี้เอง  ค่านิยมเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย  แต่ความจริงคือความจริง ไม่ว่าเวลาเปลี่ยนไปกี่สมัยความจริงก็ไม่เปลี่ยนตาม

ส่วนความเห็นของคุณพวงร้อย  อ่านแล้ว ความคิดแตกกิ่งก้านไปไกลทีเดียวละค่ะ   ที่โดนใจเพราะมันเผอิญไปตรงกับคำถามที่เราถามตัวเองมานานแล้ว
คำพูดว่า "ชีวิตส่วนตัวเป็นกิจต่างหากจาก "หน้าที่" ต่อสังคมหรือครอบครัว หากทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดีแล้ว เราก็มี "สิทธิ" ที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวในวิถีที่ตัวเองเลือกได้ "
ดิฉันสงสัยว่าคำพูดนี้ เป็นจริงได้ด้วยหรือ   เป็นไปได้หรือว่า เรามีสิทธิ์แบ่งแยกเรื่อง "ส่วนตัว" ออกได้เด็ดขาดจาก"ส่วนรวม" คือจากสังคมใดๆที่เราสังกัด  แม้แต่เป็นสังคมหน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัวก็ตาม
เหมือนเดี๋ยวนี้เรานิยมพูดกันว่า ถ้าทำอะไร ที่ไม่ได้เดือดร้อนคนอื่น ก็ทำไปเถอะ   มันเป็นสิทธิ์ส่วนตัวของเรา
จริงๆน่ะมันมีกะเขาได้ด้วยหรือ  อะไรที่ส่วนตัวเสียจนไม่กระทบกระเทือนคนอื่นเลย   ตราบใดเรายังไม่ได้อยู่ในป่าลึกตามลำพังคนเดียว

ถ้าเป็นลูกที่ดี  ตั้งใจเรียน เรียบร้อย ไม่เกเร  ดีเก่งสารพัด ทำตัวสมกับความคาดหวังของพ่อแม่ได้ครบถ้วนทุกกระบวนความ   แล้วเผอิ๊ญเผอิญ  มันมีเรื่องความต้องการส่วนตัวอยู่เรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยอย่างแรงล่ะคะ
ถ้าเป็นแบบนี้  พ่อแม่ควรถอยไป หลีกทางให้ลูกทำ
หรือว่าลูกควรจะหักห้ามความต้องการนั้นเสียแล้วอยู่อย่างออมชอมกับพ่อแม่ให้ดีที่สุด  
คำตอบคงไม่มีตายตัว  บางบ้านพ่อแม่อาจโอนอ่อนตามใจลูก  แต่บางบ้านลูกก็ต้องฝืนใจตัวเองตามใจพ่อแม่
บางบ้านไม่อ่อนให้กันทั้งสองฝ่าย  ถ้าไม่แตกหักแยกกันเดินคนละทาง  ก็อยู่กันอย่างหวานอมขมกลืนกันไป

ข้อนี้ทำให้ดิฉันเดาต่อในเรื่องเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ  ผิดถูกยังไงขอรับผิดเองผู้เดียว
คือความเป็นรัชทายาทน่าจะมีส่วนเร่งเร้าให้ท่านทรงคำนึงถึงภาระรับผิดชอบมากขึ้นทุกที    เพราะปีแล้วปีเล่า พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงอภิเษกสมรสมีรัชทายาท
หากว่าเกิดกลายเป็นว่าจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีพระราชโอรส     มันจะกลายเป็นเรื่องน่าเสียดาย สำหรับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ที่ทรงถูกให้พ้นจากการลำดับสืบสันตติวงศ์   เพราะหม่อมชายาแคทยาเป็นเหตุ

แต่ถ้าอภิเษกสมรสใหม่อีกครั้งกับเจ้านายสตรีในราชตระกูล  พระโอรสที่จะประสูติมาก็จะมีสายเลือดสูงส่งเหมาะสมกับเป็นลำดับต่อไป  ไม่มีใครค้านได้ถึงเลือดไทยบริสุทธิ์   และก็ไม่ขัดต่อเกณฑ์การสืบสันตติวงศ์    หากว่าแคทยาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
เพราะเหตุนี้หรือเปล่า  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ จึงไม่อาจจะทำได้ เมื่อแคทยายื่นคำขาดให้ทรงตัดหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสออกไปเสียในฐานะบุคคลที่สาม    ทรงเห็นว่าเธอเอาแต่ใจมากไป  จะมาบงการพระสวามีได้ทุกอย่าง
จริงๆแล้ว  แคทยาต่างหากคือบุคคลที่สาม ไม่ใช่ท่านหญิง

พระปรีชาสามารถของกรมหลวงพิษณุโลกฯ ก็มีมากพอที่จะเหมาะสมในฐานะรัชทายาท  ข้อหนึ่งละ ข้อสอง การเสกสมรสกับเจ้านายสตรี ก็อาจเป็นการสมานรอยร้าวที่เคยมีในความรู้สึกของพระญาติผู้ใหญ่ทั้งหลาย   เหมือนกับทรงหันกลับมาจากเส้นทางเดิม ผิดทางไป  กลับมาสู่เส้นทางที่ควรเดิน เรียบร้อยแล้ว

เราก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าหากเกิดทรงมีพระโอรสกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจริงๆขึ้นมา   เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว   และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกยังมีพระชนม์พร้อมพระโอรสเลือดไทยเต็มตัว อยู่
การสืบสันตติวงศ์จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงนั้นหรือเปล่า?
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 28 พ.ย. 03, 12:55

 ขอประชาสัมพันธ์ครับ
กำลังจะมีบัลเล่ต์คณะบอลชอยของรัสเซียเข้ามาเล่นในเมืองไทย เรื่อง แคทยากับเจ้าฟ้าสยาม ราววันที่ 13-14 ธ.ค. นี้แหละครับ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใครสนใจเรื่องของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และแคทยาเชิญติดต่อได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.175 วินาที กับ 19 คำสั่ง