เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 121507 เจ้าวังปารุสก์
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 18 พ.ย. 03, 18:10

 คุณเทาฯ ครับ ปี 2475 อย่าว่าแต่ผมเลยครับ คุณแม่ผมก็ยังไม่เกิดเลยครับ

รูปตึกอักษรนี่คิดว่าน่าจะถ่ายจากทางด้านวิศวะเหมือนกันครับแต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะไม่มีอะไรให้เป็นที่สังเกตุเลย

หนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ และ Katya and the Prince of Siam ยังพอจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ อยากจะซื้อเก็บไว้
ถามที่ศูนย์หนังสือจุฬาบอกขายหมดไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วครับ ฮือๆๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 08:55

มีฉบับแปลภาษาไทย ชื่อ แคทยากับเจ้าฟ้าสยาม  เคยลงในนิตยสารพลอยแกมเพชร
จัดจำหน่ายโดยริเวอร์บุ๊ค
น่าจะยังมีขายอยู่นะคะ
ถ้าคุณจ้อสนใจ ลองโทรถามได้ที่  02 222 1290
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 09:05

 คุณพวงร้อย  ดิฉันนับผิดค่ะ  เข้าใจว่าหม่อมเอลิซาเบธถึงแก่กรรมหลังพระองค์จุลไม่กี่ปี   เอาเข้าจริงไปตรวจสอบแล้ว  หลังกันถึง 12 ปี
ตอนนั้น คุณหญิงนริศรา โตเป็นสาวอายุได้ 20 แล้ว เธอก็คงจะได้รับการอบรมเรื่องขนบธรรมเนียมไทยจากหม่อมแม่ด้วย     อีกอย่างหม่อมเอลิซาเบธก็เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา  คงจะรู้สึกใกล้ชิดกับประเทศไทยยิ่งขึ้นไปอีก

พูดถึงพระองค์จุล   ทรงใช้ความรู้จากเคมบริดจ์ มานิพนธ์และวิจารณ์หนังสือเป็นที่ยกย่องของคนไทยในสมัยนั้น   นอกจาก เกิดวังปารุสก์ ก็มี เจ้าชีวิต อีกด้วย
นอกจากนี้ทรงวิจารณ์นิยายสำคัญๆหลายเรื่องของไทย อย่างเช่น หญิงคนชั่วของก.สุรางคนางค์   เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำให้ ก.สุรางคนางค์เกิดในวงวรรณกรรม    ไม่ใช่ บ้านทรายทอง
มีเรื่องราวทำให้ทรงหยุดการวิจารณ์ไป คือเมื่อทรงวิจารณ์พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์  จำไม่ได้ว่าละครแห่งชีวิตหรือผิวเหลืองผิวขาว  
ท่านอากาศดำเกิงไม่พอพระทัยข้อวิจารณ์บางอย่าง ที่พระองค์จุลชี้ให้เห็นว่าเป็นจุดอ่อนของเรื่อง ก็ทรงออกมาโต้ตอบ  ทำให้พระองค์จุลประหลาดพระทัยมาก
เพราะทรงเข้าใจว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ   ใครเขียนหนังสือออกมา คนอ่านก็ติชมได้   ทำไมจะต้องกริ้ว
ท่านก็เลยหยุดวิจารณ์ไป  อาจจะด้วยความเกรงพระทัย ท่านอากาศดำเกิงผู้เป็นอนุชาแท้ๆของท่านหญิงชวลิตโอภาส  หรือจะเป็นเพราะเห็นว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ไม่เหมาะสมกับเมืองไทย  ก็ไม่ทราบแน่
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 10:29

 ขอบคุณคุณเทาชมพูที่ให้เกียรติครับ  แหมถ้ากระทู้นี้เรทติ้งดีก็เพราะคนตั้งกระทู้มากกว่าที่เขียนเรื่องสนุกๆน่าสนใจมาให้อ่านกัน
รูปใน คคห 40 น่ะ ผมว่าเป็นไปได้ว่าถ่ายจากฝั่งศิลปกรรมเหมือนกันเพราะผมว่าน่าจะเป็นด้านข้างตึกใช่มั้ยครับ และถ้ามันสมมาตรมองจากอีกด้านก็เป็นไปได้นะครับ
ต้องให้ใครที่อยู่แถวจุฬาแวะไปดูเทียบกันหน่อย
อ้อ ผมเคยอ่านจากหนังสือเกี่ยวกับท่านปรีดี สายราชสกุลจักรพงษ์นี้มีความสำคัญเพราะว่าครั้งหนึ่งเกือบจะได้สืบพระราชบัลลังก์เมือในหลวง ร.7 สละราชสมบัติ แต่เนื่องจาก การแต่งงานกับคนต่างชาติรึมีเชื้อสายต่างด้าวนี่แหละก็เลยต้องเปลี่ยนไปเป็นสายเดิมคือสายของพระบรมชนกเราก็เลยมีพระปิยะมหาราชอย่าง ร.9 ในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 14:59

 เรื่องสืบสันตติวงศ์เป็นเรื่องที่อาจจะแสดงความเห็นกันได้อีกยาว
ในที่นี้ขอยกข้อความในกฎมณเฑียรบาลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงตราขึ้นไว้ในพ.ศ. 2467 มาให้ดูก่อนค่ะ

" ลำดับขั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ
ต่อไม่สามารถเลือกทางก็ตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย"
   ลำดับที่ ๑ พระราชโอรสหรือพระราชนัดดา
   ลำดับที่ ๒ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา แต่ทรงมีสมเด็จอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชา
   ลำดับที่ ๓ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับไร้ทั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี แต่ทรงมีสมเด็จพระเชษฐา หรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือพระอนุชา
   ลำดับที่ ๔ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับทั้งไร้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และไร้สมเด็จพระเชษฐา หรือพระอนุชาต่างพระราชชนนี แต่ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ
   ลำดับที่ ๕ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและไร้พระราชนัดดา พระอนุชาร่วมพระราชชนนีและพระอนุชาต่างพระราชชนี พระเจ้าพี่ยาเธอ น้องยาเธอ แต่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอหรือพระโอรส
   ดังกล่าวนี้คือลำดับพระองค์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ แต่มีข้อบังคับว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสมบัติไว้ในหมวด ๕ มาตรา ๑๑ ว่าดังนี้
   ๑. มีพระสัญญาวิปลาศ
   ๒. ต้องราชทัณฑ์ เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ
   ๓. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
   ๔. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
   ๕. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนออกแล้ว จากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอดถอนจะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
   ๖. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสีย จากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

นอกจากนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๖ ถึงเสนาบดีวัง เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อจากพระองค์ท่าน (ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี กำลังทรงพระครรภ์ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา)
พระบรมราชโองการมีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้  
     "...ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์...

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6  พระอนุชาร่วมพระราชชนนี เหลือแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระองค์เดียว ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง
มีหลานลุงสององค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  กับหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช)

น่าสังเกตว่า แม้พระองค์จุลและหม่อมเจ้าวรานนท์ อยู่ในฐานะ "หลานลุง" ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เท่ากัน
แต่โปรดให้ตัดหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชออกไปจากลำดับการสืบสันตติวงศ์ เพียงองค์เดียว   ไม่มีการรวมพระองค์จุลว่าอยู่ในข่าย"ถูกตัดออก" ด้วย

ก็อาจจะมองได้ว่าทรงมีสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ด้วย ในสายตาของทูลกระหม่อมลุง  
การมีแม่เป็นนางต่างด้าว  ไม่อยู่ในข้อห้าม  ถือว่าห้ามแต่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเท่านั้น   ถ้าถือว่าการมีแม่เป็นต่างด้าวอยู่ในข้อห้ามน่าจะบอกไว้ชัดแล้ว

ในข้อ 2   เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ และพระองค์จุล อยู่ในคุณสมบัติตามข้อนี้ทั้งสองพระองค์
แต่อย่างไรก็ตาม   ถ้าถือตามข้อ 2 ว่าพระอนุชา อยู่ในลำดับมาก่อน  ราชสมบัติก็ย่อมตกอยู่กับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนพระองค์จุล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 15:12

 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ โดยไม่มีพระราชโอรส  รัฐบาลก็หยิบกฎเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อจะดูว่าใครจะเป็นพระมหากษัตริย์
ถ้ายึดถือตามหลักเกณฑ์เดิม   สายสมเด็จพระพันปี  ก็ยังมีพระองค์จุลอยู่ในข่ายอีกองค์หนึ่ง   เป็น" หลานอา" ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ส่วนข้อความต่อไปนี้  ดิฉันเรียบเรียงจากบทความของนายสุพจน์ ด่านตระกูล
ว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ ๒-๗ มีนาคม ๒๔๗๗  นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
   "(๑) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ ๖ ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า "โดยนัย" แห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะต้องยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งกฎมณเฑียรบาลหรือไม่
เพราะมารดามีสัญชาติเดิมเป็นต่างประเทศ ซึ่งตามตัวยากโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียง ยกเว้นผู้สืบราชสัตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว)

รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช่กรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สถาปนาเป็นรัชทายาทนั้น ก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้ว และทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถูกต้อง
แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความคำว่า "โดยนัย" นั้น ย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ ผู้ซึ่งจะสืบราชสัตติวงศ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย"
   รัฐมนตรีส่วนข้างมากที่ตีความคำว่า "โดยนัย" ดังกล่าวนี้ มีนายปรีดี  ร่วมอยู่ด้วย และเป็นคนสำคัญในการอภิปรายชักจูง ให้รัฐมนตรีส่วนข้างมากมีความเห็นร่วม

   ที่ประชุมจึงได้พิจารณาถึงพระองค์อื่น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของกฎมณเฑียรบาลที่ระบุไว้ว่า "...ต่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่มีสนิทมากและน้อย"

   ในบรรดาพระองค์ที่สนิทมากและน้อยนี้มีอาทิ กรมพระนครสวรรค์ และ
พระโอรส พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคล ตามการชี้นำของนายปรีดี  ที่เห็นสมควรสถาปนาพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สือต่อจากพระปกเกล้าฯ อันเป็นการกลับคืนเข้าสู่สายเดิม คือสายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหัสสยามมกุฎราชกุมาร

   การสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นการกลับสู่สายเดิมโดยชอบธรรมแล้ว ยังเป็นไปตามพระดำริของพระปกเกล้าฯ อีกด้วย

บันทึกลับที่จดโดยเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าดังนี้
   "วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีสารฯ พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ อีกอย่างหนี่ง อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริ ที่จะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ"

ถ้าเป็นตามนี้จริง ก็แปลว่า พระองค์จุล ถูกข้ามไป ไม่ใช่จากกฎมณเฑียรบาล แต่โดยความไม่เห็นชอบของรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 22:06

 สวัสดีค่ะคุณเทาชมพู เพิ่งได้แวะเข้ามาเห็น ยังอ่านไม่หมดเลยค่ะ แต่มาลงชื่อทักทายคุณเทาชมพูก่อน แล้วจะค่อยตามอ่านจนครบทุกความเห็น

ตอนนี้ดิฉันกำลังอ่าน เจ้าชีวิต อยู่ค่ะ คงอีกนานพอดูกว่าจะจบ แต่พยายามติดตามอ่านพระนิพนธ์ในพระองค์จุลฯและเรื่องราวของราชสกุลจักรพงษ์เท่าที่มีให้อ่าน เพราะอ่าน เกิดวังปารุสก์ เมื่อตอนเด็กๆ ได้ เกิดวังปารุสก์ นี่ล่ะค่ะ จุดประกายเรื่อยมาก เจ้าชีวิต นี่เพิ่งได้มาน่ะค่ะ

เดี๋ยวจะต้องขอตัวออกไปธุระก่อน แล้วจะกลับมาโพสต์ภาพคุณหญิงนริศรา ให้พี่พวงร้อยชมนะคะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 22:28

 ไม่ผิดหวังจริงๆครับที่ถามคุณเทาชมพู
พวกหนังสือ เกิดวังปารุสก์นี่ผมไม่เคยอ่านครับ แต่รู้สึกอยากอ่านแล้วสิไม่ใช่คลั่งไคล้เจ้าอะไรหรอกนะ แต่พอเราอ่านแล้วรู้สึกซึมซาบความเป็นไทย
ผมว่าความเป็นไทยของเรานี้ส่วนหนึ่งผูกพันแนบแน่นเกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้านายทั้งหลาย
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 22:52

 ตามคำบอกเล่าของพระองค์จุลฯเอง  ท่านย้ำว่าไม่ทรงต้องการที่จะครองราชย์ด้วย  ใน เกิดวังปารุกส์  ก็ยังได้เล่าด้วยว่า  ร ๗ สั่งห้ามไว้อย่างเด็ดขาดไม่ให้พระองค์จุลฯคิดที่จะขึ้นครองราชย์  อันทำให้พระองค์จุลฯทรงน้อยพระทัยอยู่ไม่น้อย  

เคยอ่านประวัติของท่านปรีดี  จากไหนก็จำไม่ได้แล้ว  ก็จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า  ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ร ๘ สืบราชสมบัติ  ก็แสดงว่า  ทั้งรัฐบาลและ ร ๗ ก็มีความประสงค์ต้องกันด้วยนะคะ

ขออภัยที่มาช้าค่ะ  หาเวลามานั่งหน้าคอมพ์ได้ยากมากๆเลยค่ะ  ขอบคุณน้องนนทิราล่วงหน้าไว้ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 19 พ.ย. 03, 22:59

 คุณเทาชมพูคะ  มจ.อมรสมานลักษณ์ทรงเกี่ยวข้องอย่างไรกับสมเด็จฯของเราคะ  

คุณ paganini คะ ขออภัยค่ะ  คืดดิฉันก็พูดไม่ละเอียด  ไม่ได้คิดว่า  ผู้หญิงตะวันตกเมื่อร้อยปีก่อนมีสิทธิเท่าเทียมทุกประการกับผู้ชายหรอกค่ะ  เพียงแต่เปรียบเทียบว่า  ผู้หญิงตะวันตกยุคนั้น  ที่มีฐานะเลี้ยงตัวได้  ก็คงยากที่จะรับให้สามีมีเมียน้อยได้หรอกค่ะ  ในขณะที่หญิงชาวเอเชียร่วมสมัยนั้น  ความยอมรับทำใจได้คงมีมากกว่ากันน่ะค่ะ  คือในตอนนั้นกำลังพูดกันในเรื่องที่ว่า  ทำไมแคทยาถึงรับท่านหญิงชวลิตร่วมพระสวามีไม่ได้น่ะค่ะ  บริบทครอบคลุมเพียงเท่านั้นน่ะค่ะ

ต้องไปก่อนแล้วค่ะ  จะพยายามหาเวลาเข้ามาอ่านใหม่นะคะ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 00:07


หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ เป็นพระเชษฐาร่วมพระบิดาพระมารดาเดียวกันกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร) ซึ่งเป็นพระบิดาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถของเราค่ะ

หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ทรงเป็นพระโอรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท (พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระมารดาคือ หม่อมเจ้าหญิงอัปษรสมาน (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล)

มีภาพคุณหญิงนริศนามาฝากพี่พวงร้อยด้วยค่ะ

ข้อมูลและภาพจากหนังสือ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย

หนังสือเล่มนี้หนามาก แต่ก็อุตส่าห์หอบมาจากเมืองไทยด้วยค่ะ ผู้ริเริ่มโครงการทำหนังสือเล่มนี้ ก็คือคุณหญิงนริศราเองน่ะค่ะ ก่อนที่เธอจะตั้งสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คด้วยซ้ำ จัดพิมพ์ในประเทศไทยในนาม บริษัท พิษณุโลกการพิมพ์ จำกัด และจัดพิมพ์ในประเทศอังกฤษในนาม White Mouse Editions "หนูขาว" คาดว่าน่าจะเป็นสำนักพิมพ์ที่พระองค์จุลฯเคยทรงตั้งไว้จัดพิมพ์พระนิพนธ์ส่วนพระองค์นะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 07:51

 ขอบคุณและมาทักทายคุณนนทิราด้วยพร้อมๆกันค่ะ  ดีจังมาช่วยตอบให้ ดิฉันจะได้รอดตัวไป ไม่ต้องเปิดตู้ค้นหาอีกนาน
หนังสือ เล่มนั้น  น่าเสียดายมาก มัวชักช้าเลยหมดเสียก่อนไม่ทันซื้อ  แล้วก็ไม่เห็นว่าจะพิมพ์อีก   จะไปหาตามร้านหนังสือเก่า  ราคาก็แพงมากเลยละค่ะ
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 09:01

 มาลงชื่ออ่านคะ
สวัสดีคุณนนทิราด้วยค่ะ
ขอบคุณสำหรับรูปของคุณหญิงนริศรานะคะ

ส่วนความเห็นค้านของคุณ paganini เรื่องที่หม่อมแคทยาตาม
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ฯ มาเพราะเห็นท่านเป็นเจ้าชายนั้น
สงสัยว่างๆ  ต้องไปเปิดกระทู้ใหม่ถกกันสักหน่อยกระมังคะ
ก็คุณบอกนี่ว่า ผู้หญิงทีไหนเค้าก็ตามกันทั้งนั้นแหละ
ระวังพวกสตรีศึกษามาอ่านเจอเข้า เขาจะประท้วงเอานะคะ อิอิ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 10:10

 ก็แหม ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในกระทู้ช่วงนี้ก็ต้องสร้างสีสันให้ถกเถียงกันหน่อยสิครับ  5555
อย่าซีเรียสครับผมไม่ได้ดูหมิ่นเพศหญิงหรอกนะครับผู้หญิงที่เก่งกาจพึ่งตัวเองได้มีเยอะแยะ  ที่ผมบอกว่าผู้หญิงที่ไหนก็ตามทั้งนั้นมันเป็นวิธีพูดแบบภาษาไทยครับ ผมพูดในแง่ "แนวโน้ม" ครับ  มันบอกโดยนัยว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงทุกคนหรอก แค่พูดให้มันดูมีอารมณ์ร่วม
ผมรู้ว่าท่านทั้งหลายคงไม่ค่อยชอบ  แต่ว่าถ้าบรรยากาศที่นี่มันหวานกันเกินไปก็ไม่น่าสนใจสิครับ 5555
คุณทองรักไปทราบความนัย รึความคิดของ Katya ได้ยังไงล่ะครับ ผมเองก็ไม่ทราบ ดังนั้นมันก็ตัดสินไม่ได้ใช่ไหมครับว่าตกลงเธอตามมาเพราะ
- คนรักเป็นเจ้าชาย
- รักกันเกินกว่าที่จะแยกจากกัน
- ฯลฯ
ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่ามันไม่ค่อยจะปลอดภัยในแง่ของความถูกต้องที่จะไปบอกว่าเธอเป็นยังโง้นยังงี้ แหะๆๆๆๆ
ผมเองแม้แก่แต่หัวใจยังเด็กครับชอบเล่นชอบแหย่ไปเรื่อยแหละครับ ก็อย่าถือกัน
คุณพวงร้อย  รับทราบครับ ผมเห็นด้วยเลยที่คุณพูดมา
อยากถามคุณพวงร้อยหรือคุณเทาชมพูด้วยนะครับว่าทำไม ในหลวง ร.7 ถึงมีรับสั่งไม่ให้องค์จุลฯคิดที่จะเป็นกษัตริย์ เพราะมีเชื้อต่างด้าวเหรอครับ (คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด)

อ้อ มีคุณเทาชมพูตอบผมคนเดียวเองใน คคห.
เรื่องชอบผู้ชายที่มีสีสันแต่เจ้าชู้ หรือผู้ชายที่เรียบง่ายไร้สีสันแต่ภักดี  ท่านอื่นคิดว่าไงครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 20 พ.ย. 03, 13:18

 ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าทำไมสมเด็จพระปกเกล้าฯ ถึงเห็นว่าควรข้ามพระองค์จุลไป
พูดถึงคุณสมบัติอื่นๆท่านก็มีครบ   เฉลียวฉลาด  เรียนเก่ง  ความประพฤติไม่เคยได้ยินว่าเสียหาย   ถ้าหากว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไปอยู่ในตัวเจ้านายองค์อื่น ก็น่าจะเป็นที่ชื่นชมกันมาก
ถ้าจะเดาก็เหลือข้อเดียวคือเรื่องสายเลือดต่างชาติ  

ดิฉันยังสะกิดใจอยู่นิดหน่อยในอีกเรื่อง  ถ้าย้อนไปดูกฎการสืบสันตติวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงตราขึ้น
บุคคลที่อยู่ในข่ายต้องห้าม ข้อ 4 มีว่า

"มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้ "

ข้อห้ามข้อนี้   ดิฉันมองไปที่ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงจุดประสงค์อะไร  
ถ้าหากว่าไม่ต้องการชาวต่างชาติเข้ามาใกล้ชิดราชบัลลังก์  เพราะเหตุผลทางความมั่นคงหรืออะไรก็ตาม
ก็ทรงครอบคลุมว่า "มีชายาหรือมารดาเป็นนางต่างด้าว"  ไม่ดีกว่าหรือ

แต่นี่ทรงระบุแค่ "มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว"  
เอ  แล้วถ้าไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าวแต่มีหม่อมแม่เป็นต่างด้าว  ตัวอย่างก็มีให้พระเจ้าอยู่หัวเห็นอยู่โต้งๆ ใกล้ราชบัลลังก์ ทำไมไม่ระบุไว้ว่าอยู่ในข่ายต้องห้าม ทั้งที่ชัดเจนกว่าเป็นกอง
คำตอบของดิฉันคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  มิได้ทรงเห็นว่าพระองค์จุลอยู่ในฐานะต้องห้าม     ไม่งั้นก็คงตราเอาไว้ชัดเจนแล้ว    

การที่มีพระบรมราชโองการให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ผู้มีหม่อมแม่เป็นหญิงไทยสามัญชน  ก็แสดงว่าทรงคำนึงถึงลำดับผู้สืบราชสันตติวงศ์เผื่อเอาไว้อย่างถี่ถ้วน ว่าใครอยู่ในเกณฑ์ ใครไม่อยู่
ถ้าหากว่าพูดตามลำดับแล้ว    พระองค์จุลก็ทรงอยู่ในลำดับก่อนหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช  เพราะว่าพระชนกของพระองค์จุลเป็นพระเชษฐาของพระชนกของหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช
ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าพระองค์จุลไม่อยู่ในเกณฑ์   ก็คงจะคำนึงถึงและห้ามเสียก่อนจะมาถึงหม่อมเจ้าวรานนท์
ถ้าทรงเห็นว่าหม่อมแม่ของหม่อมเจ้าวรานนท์ฯเป็นสามัญชน จะไม่เป็นที่ยอมรับของพระบรมวงศานุวงศ์   งั้นหม่อมแม่ที่เป็นชาวรัสเซีย ก็เป็นที่ยอมรับได้   ไม่งั้นคงทรงบอกไว้แล้วว่า หม่อมแม่ที่เป็นสามัญชน(ไม่ว่าไทยหรือชาติไหน) ไม่เป็นที่ยอมรับ

ข้อนี้แหละที่เป็นที่ถกเถียงกันในรัฐบาล    หลายคนก็คงจะมองตรงกันอย่างที่ดิฉันมอง  ว่าพระองค์จุลไม่ได้อยู่ในข่ายต้องห้าม
แต่ผู้ใหญ่หลายคน รวมทั้งปรีดี พนมยงค์  ไปอ้างคำว่า "โดยนัย"  คือ มีชายาเป็นต่างด้าวก็รวมความถึงมีแม่เป็นต่างด้าวด้วย
บวกกับการอ้างความเห็นของสมเด็จพระปกเกล้าฯ  อีกด้วย   รัฐบาลจึงตกลงใจ หันไปทางสายสมเด็จพระพันวัสสา
ทำให้เราได้มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐสุดในโลก อย่างที่ทูตานุทูตถวายพระสมัญญาว่า  King of Kings มาจนทุกวันนี้

ถ้าหากว่ามีใครถามถึงความสัมพันธ์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับพระองค์จุล ว่าราบรื่นกันแค่ไหน
ดิฉันก็มองไม่เห็นความขัดแย้งหนักๆ อะไร    ระหว่างประทับอยู่ที่อังกฤษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่มีเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง จาก "เจ้าดาราทอง" คือพระปกเกล้าฯไม่พอพระทัยที่พระองค์พีระ ผู้ที่ทรงอุปถัมภ์อยู่ ขอย้ายไปอยู่ในอุปถัมภ์ของพระองค์จุล
แต่ก็ทรงยินยอม  ต่อมาก็ทรงได้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯมาแทน  เป็นที่รักและเมตตาดังพระราชโอรสแท้ๆ
หม่อมมณี  ได้พูดไว้ว่ารัฐบาลเองก็มองๆอยู่เหมือนกันว่าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์จะมีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ได้หรือไม่   จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการยืนยันให้พระองค์เจ้าจีรศักดิ์ใช้นามสกุล " ภาณุพันธ์"   ไม่ยอมให้ใช้ ศักดิเดชน์  เพื่อตัดปัญหาในการเป็นทายาทของพระปกเกล้าฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง