|
|
|
พวงร้อย
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 10 พ.ย. 03, 13:48
|
|
ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งด้วยค่ะ ที่คุณเทาชมพูกรุณาปลีกเวลามาเล่าให้ฟังอย่างรวดเร็วทันใจ ขอกราบลาไปนอนก่อนแล้วพรุ่งนี้จะมาอ่านต่อนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33416
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 10 พ.ย. 03, 14:43
|
|
ขอให้สังเกตพระฉายาลักษณ์ของพระองค์จุลฯภาพแรก ทรงแต่งกายแบบเด็กไทย คือเด็กทารกสมัยนั้นไม่สวมเสื้อนุ่งผ้าอย่างสมัยนี้ แต่ผู้ดีมีตระกูลเรื่อยขึ้นไปถึงเจ้านายจะนิยมแต่งเครื่องประดับให้เด็กทั้งข้อมือข้อเท้า รอบเอว(หรือที่จริงคือสะโพก) จะมีสร้อยคาดอีกที ห้อยเครื่องปิดอวัยวะเพศไว้ ถ้าเป็นของผู้ชายภาษาชาวบ้านเรียกว่าปลัดขิก ส่วนผู้หญิงเรียกว่าตะปิ้ง
ส่วนภาพที่สอง เป็นการแต่งพระองค์แบบยุโรป เด็กผู้ชายเล็กๆจะแต่งตัวนุ่งกระโปรงเหมือนเด็กผู้หญิง ผมเผ้าก็คล้ายเด็กผู้หญิง เป็นความนิยมติดติดต่อกันมา นานนับศตวรรษ จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
     
ตอบ: 1012
ทำงานราชการ
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 10 พ.ย. 03, 19:04
|
|
มาตามอ่านด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน... (ยืมสำนวน มติชน มาครับ)
ขอบพระคุณคุณเทาชมพูครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
     
ตอบ: 1012
ทำงานราชการ
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 10 พ.ย. 03, 19:37
|
|
มีข้อสังเกตเรื่องสถาปัตยกรรมอิตาเลียน ว่า สมัยนั้นเป็นเรื่องจริงเสียด้วยซิครับ ที่สยามเราจำเป็นต้องสร้างตึกเลียนแบบฝรั่ง ให้ฝรั่งเห็นว่าเราก็ศรีวิไลแล้ว ไม่ยังงั้น ฝรั่งนักล่าอาณานิคมก็จะหาเหตุยึดเมืองเราเพื่อมาสร้างความศิวิไลซ์ให้
เมื่อเราจำเป็นต้องสร้างบ้านแปงเมืองเป็นฝรั่งให้ฝรั่งเห็นกันทั้งทีแล้ว ในหลวง ร. 5 และผู้ใหญ่ไทยสมัยโน้นท่านก็ฉลาดพอที่จะเอาของดีของงามของฝรั่งเขาเข้ามา เป็นแบบฝรั่งอย่างสวยเลย ไม่ใช่ฝรั่งแบบน่าเกลียด หรือฝรั่งแบบขอไปที เอานายช่างอิตาเลียนมาเลย เพราะในสมัยนั้น ฝรั่งด้วยกันเองก็นับถือสกุลอิตาเลียนเป็นครู ว่าเป็นแบบแผนที่งดงามอย่างฝรั่ง
เมื่อตอนประชุมเอเปก ผมไปยุ่งกับเขาอยู่ด้วยนิดหนึ่ง วันหนึ่งก่อนประชุมจริงก็มีรายการซ้อมกัน เจ้าหน้าที่นั่งรถตู้ไปดูสถานที่ที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วก็เลยต่อไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเคยเป็นรัฐสภา ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นสถานที่ที่ผู้นำเอเปกเขาจะมาประชุมกันทั้งสองที่ ดูเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ตัวหนึ่ง (คือตัวที่กำลังเขียนอยู่นี่แหละ) ก็ปากบอน รำพึงข้อสังเกตขึ้นมาคนเดียวโดยไม่มีใครถามเลยว่า ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์เมืองไทยมาก่อน เอาแต่สถาปัตยกรรมเป็นเกณฑ์ มีสิทธิที่แขกเมืองเขาจะเข้าใจผิดนะเนี่ย ว่าไทยแลนด์เคยเป็นเมืองขึ้นของอิตาลี...
ก็ดูสิครับ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลไทยแลนด์ ก็เป็นตึกแบบอิตาเลียน ตึกทรงคล้ายๆ ยังงี้แหละที่ผมเคยเห็นที่เวนิศ แถมตึกที่เคยเป็นรัฐสภาไทยแลนด์ก็ยังเป็นตึกแบบอิตาเลียนซะอีกตึกด้วย แต่เป็นตึกฝรั่งที่งดงามอลังการมาก สวยมากๆ ครับ (แต่สวยแบบอิตาเลียนนะครับ)
ถึงวันจริงผมไม่ห่วงหรอกว่าจะมีใครเข้าใจผิดอย่างที่ผมแกล้งตั้งข้อสังเกตเล่น เพราะกระบวนพยุหยาตราทางเรือของเรา ซึ่งมีแห่งเดียวเท่านั้นในโลกและเป็นไทยอย่างคลาสสิกที่สุดนั้น เล่นเอาผู้นำเอเปกอ้าปากค้างด้วยความอัศจรรย์ใจมาตามๆ กันแล้ว
แต่ก็ยังทำให้ผมนึกอยู่ดีว่า ในสมัยที่ลัทธิล่าอาณานิคมผ่านไปแล้ว เราไม่ต้องแต่งเป็นฝรั่งกันแล้ว น่าจะมีอาคารสาธารณะอะไรที่สำคัญระดับชาติ เป็นสถาปัตยกรรมไทยๆ ไว้อวดฝรั่งสักหลัง เพิ่มจากวัดพระแก้วและวังหลวงน่ะครับ (กระทั่งพระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นวิลลาแบบฝรั่งสมัยนั้น คือราวต้นศตวรรษที่ 20) รัฐสภาใหม่จะไปสร้างที่แก่งเสือเต้นหรือดอนเมือง หรือที่ไหนก็เถิด จะลองหาทางออกแบบให้เป็นไทย แต่เป็นไทยสมัยใหม่ "สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 9" ทำนองนั้นได้ไหม หรืออย่างสนามบินสุวรรณภูมิแห่งใหม่ เงื่อนไขสำหรับการออกแบบก็ระบุแล้วว่าให้มีเอกลักษณ์ไทย แต่ผมไม่ทราบว่าแบบสุดท้ายเป็นอย่างไร เคยได้ข่าวสมาคมสถาปนิกสยามออกมาคัดค้านอยู่พักหนึ่งว่าแบบสนามบินใหม่ไม่มีลักษณะเป็นไทยตามข้อกำหนด แต่ไม่ได้ตามสถานะสุดท้าย
ที่จริงแล้ว เราอาจพอถือได้ว่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีลักษณะเป็นไทยพอสมควรเหมือนกัน รวมทั้งการตกแต่งภายในด้วย เป็นไทยประยุกต์ เพราะจะไทยเดิมแท้ๆ เป็นเรือนฝากระดานเก้าห้องไม่ติดแอร์ก็คงไม่เหมาะกับสมัยนี้
ไถลจากเรื่องอิตาเลียนวิลล่าหลังหนึ่ง ชื่อวังปารุสก์ ออกนอกเรื่องมาเสียไกล ขอเชิญกลับเข้าเรื่องเจ้าวังปารุสก์ต่อครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
     
ตอบ: 1012
ทำงานราชการ
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 10 พ.ย. 03, 20:04
|
|
แถมครับ
ใกล้ๆ วังปารุสกวัน อาคารทั้งของพระมหากษัตริย์ทรงใช้และของเจ้านายในบริเวณนั้น ที่สร้างในสมัยเดียวกันนั้น เอาชื่ออุทยานพระอินทร์บนสวรรค์มาใช้กันหลายชื่อครับ
วังปารุสกวัน ก็ใช่หนึ่งละ
วังสวนจิตรฯ หรือพระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็ใช่ จิตรลดาเป็นชื่อสวนบนสวรรค์เหมือนกัน
บริเวณนั้นทั้งหมด ตั้งแต่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จนถึงวิทยาลัยสวนดุสิตหรือสถาบันราชภัฏสวนดุสิตเดี๋ยวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "พระราชวังดุสิต" ดุสิต ก็เป็นชื่อมาจากบนสวรรค์อีก (รวมทั้งศาลาดุสิตาลัยในพระตำหนักจิตรลดาฯ ด้วย) จะเป็นชื่อสวนด้วยรึไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ เป็นชื่อสวรรค์ชั้นดุสิต คนละชั้นกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ก่อนเสด็จลงมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายนั้น ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต (ตราประจำพระราชวังดุสิตจึงเป็นรูปพระโพธิสัตว์นั่งแท่น ใครอยากเห็นก็ซื้อผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดของฟาร์มโคนมสวนจิตรฯ มาดูได้ ตราเดียวกันครับ เพราะพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอยู่ในพระราชวังดุสิต ตรานี้ปรากฏอยู่หลายแห่งในพระที่นั่งวิมานเมฆด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังเดียวกัน)
สวนมิสกวัน ก็เป็นชื่อสวนบนสวรรค์อีก ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นสวนของพระอินทร์อีกเหมือนกัน ดูเหมือนพระอินทร์จะเป็นเทวดาที่โปรดทำสวน มีเทวอุทยานหลายแห่ง (มี Green Thumbs แต่หนักยิ่งกว่านั้น คือไม่ได้เขียวเฉพาะนิ้ว เขียวทั้งองค์เลย!)
เลอะเทอะเรื่อยเปื่อยออกนอกเรื่องไปไกลลิบครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33416
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 11 พ.ย. 03, 09:45
|
|
สวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ มิสกวัน ปารุสกวัน จิตรลดาวัน และนันทวัน หน้าตาน่าจะเป็นสวนป่า เพราะคำว่า วัน ที่ลงท้าย มาจาก วนะ หรือวนา ที่แปลว่าป่า เทียบกับสมัยนี้น่าจะเหมือนเศรษฐีที่มีรีสอร์ทส่วนตัวไว้พักผ่อน ชื่อวัง "นันทวัน" ที่ขาดหายไป ดิฉันยังค้นไม่พบว่ามีวังไหนในสยามที่ชื่อนี้ ค่ะ
สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ ในรัชกาลที่ 9 แบบต้นๆ ที่นึกออกคือโรงละครแห่งชาติใกล้เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ค้นเอกสารเก่าๆมาอ่าน พบว่าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นด่าขรมว่าเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่เอาไหน ไร้ฝีมือทั้งภายนอกและภายใน ไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าจะรื้อ แต่แล้วก็เงียบหายไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ทองรัก
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 11 พ.ย. 03, 11:50
|
|
ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูมากค่ะ ได้อ่านทันใจดีจัง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33416
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 11 พ.ย. 03, 12:27
|
|
ตั้งแต่แคทยากลับมาวังปารุสก์ หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสก็มิได้ย่างกรายเข้ามาเป็นแขกประจำเหมือนเดิม แต่ความสัมพันธ์ของเธอกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์แนบแน่นยิ่งกว่าเก่า เสด็จไปเยี่ยมเธอทุกวัน ไม่หวั่นไหวต่อใครหน้าไหน
แคทยาตกอยู่ในห้วงความระทมขมขื่นเพียงไหน สมเด็จเจ้าฟ้าฯมิได้ทรงรู้ (หรืออาจจะรู้แต่ไม่รับรู้) เธอแยกห้องบรรทมออกมาพักอยู่ในห้องนอนที่จัดไว้สำหรับแขก ในตอนเช้าเธอตื่นขึ้นมาสั่งงานมหาดเล็กและนางข้าหลวงในวังตามหน้าที่ ตกเที่ยงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสวยพระกระยาหารที่วัง พอบ่ายก็เสด็จไป "ที่นั่น" (ตามที่แคทยาเรียก หมายถึงที่ประทับของม.จ. ชวลิต) แล้วก็ทรงงานอยู่ ณ ที่ทำงาน ไม่กลับจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน ชีวิตก็วนเวียนซ้ำซากกันอย่างนี้ทุกวัน
แคทยาตกอยู่ในความโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งกว่าครั้งใดๆ ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร เธอเผชิญปัญหาหนักหน่วงกลุ้มรุมอยู่รอบด้าน
อย่างแรกคือถ้าเธอยินยอมให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์รับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตเป็นชายาอย่างเปิดเผย ตามพระประสงค์ อย่างที่เมียหลวงคนไทยจะพึงทำถ้าเจอปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพตนเองเอาไว้ เธอก็รู้ว่าจุดอ่อนของเธอคือเป็นผู้หญิงต่างชาติ ที่ถูกรังเกียจโดยอคติทางเชื้อชาติจากคนรอบด้านอยู่แล้ว ส่วนม.จ.ชวลิตเป็นเจ้านายในราชตระกูล การยอมรับนับถือของบุคคลโดยรอบจะผิดกันมาก
ถ้าท่านหญิงกลายเป็นพระชายาของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกอย่างถูกต้องเมื่อไร หม่อมแคทยาก็จะถูกต้อนให้ถอยเข้าสู่มุมอับเมื่อนั้น ฐานะของเธอจะลดลงจนไร้ความหมาย ถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตมีโอรส สายเลือดสยามแท้ขึ้นมา "หนู" ของเธอก็จะไร้ความสำคัญอีกเช่นกัน
ข้อสองคือถ้าเธอทนภาวะบีบคั้นจิตใจต่อไปอีกไม่ได้ การหย่าก็เป็นทางเดียวที่จะรักษาศักดิ์ศรีเอาไว้ แต่เธอจะทำอย่างไรกับโอรสวัย 11 ที่เป็นดังแก้วตาดวงใจของสมเด็จพระพันปี แม่ผัวผู้ทรงอำนาจราชศักดิ์จะไม่มีวันยอมให้เธอพาพระนัดดาองค์เดียวของท่านออกไปพ้นอ้อมพระกร ส่วนพระบิดาก็ต้องคิดอย่างเดียวกัน เพราะ"หนู" เป็นพระโอรสองค์เดียวในตอนนั้น นอกจากนี้เธอเองก็เป็นแค่หญิงรัสเซียที่บ้านเมืองล่ม ไร้ญาติขาดมิตรที่จะพึ่งพา ไร้เงินทองเกียรติยศที่จะมอบให้โอรสสมพระเกียรติของเจ้าชาย ถ้าเธอพึ่งกฎหมาย ศาลที่ไหนจะตัดสินให้เธอชนะสมเด็จเจ้าฟ้าและสมเด็จพระชนนีของพระเจ้าแผ่นดิน
ทางออกของเธอผู้สิ้นหวังคือเช้าวันหนึ่ง เจ้าชายน้อยตื่นบรรทมขึ้นมาพบความว่างเปล่าเหงาเงียบในวังปารุสก์ หม่อมมารดาได้จากไปเมื่อไรก็ไม่รู้้ ไร้เยื่อใย ไม่มีแม้แต่คำอำลา เธอหายไปกับสายลม ทิ้งไว้แต่ความว่างเปล่า
ตลอดทั้งวันเจ้าชายได้แต่ดำเนินไปมาอยู่ในสวนดอกไม้ ว่างเปล่า เหมือนหัวใจขาดลอยไปจากตัว ไม่อาจจะเข้าพระทัยได้ว่าเหตุใดหม่อมแม่ซึ่งรักลูกสุดหัวใจ ทำเช่นนี้ได้ ไม่มีคำอธิบายจากข้าราชบริพาร พระบิดาก็ขังพระองค์เงียบอยู่ในห้องทำงานทั้งวัน ความเจ็บปวดกัดกร่อนกินพระทัยต่อมาอีกนาน ไม่มีใครเยียวยาได้
เมื่อพบกันอีกครั้งหลายปีต่อมา เจ้าชายเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นหนุ่ม แคทยาอธิบายให้โอรสฟังว่าเธอจำต้องผละจากไป มิใช่ว่าไร้เยื่อใย แต่เป็นเพราะเธอไม่อาจทนใจแข็งเห็นหน้าลูกขณะกล่าวคำลา มันปวดร้าวเกินกว่าเธอจะทนทาน เธอจึงต้องหายไปโดยไม่มีคำลา
อย่างไรก็ตาม แม้่ว่ามีคำอธิบาย บาดแผลของเจ้าชายน้อยก็บาดลึกเป็นแผลเรื้อรังเกินกว่าจะทุเลาเสียแล้ว ความรู้สึกนั้นมีผลกระทบต่อมาตลอดพระชนม์ชีพ และยังมีผลบั่นทอนความสัมพันธ์ของแม่ลูกในระยะยาวด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|