เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5603 ปิยมหาราชสดุดี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:45


สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า.....จุลจอม จักรเอย
นึกพระนามความหอม.....ห่อหุ้ม
อวลอบกระหลบออม.......ใจอิ่ม
เพราะพระองค์ทรงอุ้ม......โอบเอื้อเหลือหลาย
จากพระนิพนธ์ ลิลิต “สามกรุง” ของ น.ม.ส.
(พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ )
 http://www.geocities.com/Tokyo/Garden/9425/piya001.html    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:49


เนื่องในวโรกาสมหามงคลปีพระบรมราชสมภพครบ 150  ใน พ.ศ. 2546  องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ทรงเป็นบุคคลดีเด่นของโลก ในสาขาการศึกษาวัฒนธรรม  สังคมศาสตร์  มานุษยวิทยา  การพัฒนาสังคมและการสื่อสาร

ทีมงานวิชาการขออัญเชิญพระราชหัตถเลขา และพระราชดำรัส ที่สะท้อนให้เห็นถึงการทรงอุทิศพระวรกาย และพระวิริยอุตสาหะ
ตามพระราชปณิธาน ที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อความผาสุกของราษฎรสยาม ตลอดเวลา 42 ปีแห่งรัชสมัย

พระราชหัตถเลขา พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  

"...การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี   ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามใจชอบ  มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด  
มิใช่เป็นผู้สำหรับจำกินสบาย นอนสบาย   ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทางคือบวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง  
เป็นพระเจ้าแผ่นดินสำหรับจะเป็นคนจนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์    อดกลั้นต่อความรักและความชัง   อันเกิดฉิวขึ้นมาในใจหรือมีผู้ยุยง    เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน
 ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้
และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจของความปกครอง   ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น
ถ้าผู้ซึ่่งมิได้ทำใจได้เช่นนั้น  ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองแผ่นดินอยู่ได้..."
*****************************************************
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:50


พระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2430

ประเทศอื่นๆราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ   เจ้าแผ่นดินจำใจทำ   ในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ
เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมือง แลเป็นความสุขแก่ราษฎรทั่วไป
จึงได้คิดทำ   เป็นการผิดกันตรงกันข้าม
แลการปกครองบ้านเมืองเช่นประเทศสยามนี้  ตามอำนาจเช่นเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆคือประเทศยุโรป
ก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้
แลจะไม่เป็นที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:52


พระราชดำรัส พระราชทานแก่ราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2440

ท่านทั้งหลายผู้เป็นประชาชนของเรา   บัดนี้ควรที่เราทั้งหลายจะปณิธานอันดี  แลรักษาไว้ด้วย  
เราตั้งใจอธิษฐานว่าเราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างดีที่สุดที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่งซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ  
แลส่วนท่านทั้งหลายทั้งปวงนั้น  จะเป็นผู้มีความตรงและความจริงต่อพระเจ้าแผ่นดินของตน  
และช่วยกันกระทำการทุกสิ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำให้เป็นการดีแก่ท่านทั้งหลายด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:54


พระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) เมื่อ พ.ศ. 2450

แต่ที่จริงเจ้าพระยายมราชเอ๋ย   ตัวข้าไม่ได้เย่อหยิ่งอะไรในใจว่าได้ทำอะไรวิเศษนักหนา
มันยังล้าหลังอยู่กับเมืองไหนๆเขาร้อยโยชน์แสนโยชน์   แลจะเชื่อความมั่นคงในยศศักดิ์
แลที่ตั้งของบ้านเมือง ก็ไม่แน่นอนอะไร    ไม่ได้กำเริบเสิบสานในใจ   มีแต่จะเหี่ยวเกินไปจนต้องฝืน
การที่คิดเช่นนี้ ก็ด้วยความปรารถนาจะเอาความพร้อมเพรียงและความเต็มใจ พอใจของราษฎร เป็นรั้วขวากรั้วหนามกันศัตรูภายนอกอย่างเดียวเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ต.ค. 03, 14:56


พระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม บุนนาค)

"...ด้วยเรื่องความจั่นกล่าวโทษหม่อมคล้ายในเรื่องนี้   ฉันมีความรำคาญนักด้วยมาร้องหลายครั่้งหลายหนแล้ว  ก็ไม่ได้ชำระว่ากล่าวให้...
เหมือนแผ่นดินไม่มีอำนาจจะหาความยุติธรรมให้ราษฎรของตัวเหมือนกัน   เพราะฉะนั้นขอให้เธอสั่งว่าความเรื่องนี้เสีย ตามอย่างธรรมเนียม
อย่าให้เสียประเพณีบ้านเมือง...
ขออย่าให้ฉันต้องขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปิดประตูยุติธรรมของราษฎรเลย"
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ต.ค. 03, 10:06

 ขอบคุณครับ

หามาหลายวัน ขอร่วมแจมครับ

คำจารึกฐานพระบรมรูปทรงม้า

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ 2451 พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้เสด็จประดิษฐานและดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา เปนปีที่ 127 โดยนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จดำรงราชสมบัติมาถ้วนถึง 40 ปี เต็มบริบูรณ์ เปนรัชสมัยที่ยืนนานยิ่งกว่า สมเด็จพระมหาราชาธิราชแห่งสยามประเทศในอดีตกาล

พระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษฎาภินิหาร เปนอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร เสด็จสถิตย์ในสัจจธรรมอันมั่นคงมิหวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้สถิตย์สถาพร และให้เกิดความสามัคคีสโมสรเจริญสุขสำราญทั่วไปในอเนกนิกรประชาชาติ เปนเบื้องหน้าแห่งพระราชจรรยา ทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในคุณโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษ นำประโยชน์มาบัญญัติโดยปฏิบัติพระองค์  ทรงนำหน้าชักจูงประชาชนให้ดำเนินตามในทางที่งามดีมีประโยชน์เปนแก่นสาร พระองค์ทรงทำให้ความสุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ ด้วยอาศัยดำเนินอยู่เนืองนิจในพระวิริยะและพระขันตีคุณอันแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยา มิได้ย่อท้อต่อความลำบากยากเข็ญ มิได้เห็นที่ขัดข้องอันใดเปนข้อควรขยาด แม้ประโยชน์และความสุขในส่วนพระองค์ก็อาจจะสละแลกความสุขสำราญ พระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้โดยทรงพระกรุณาปรานี พระองค์คือบูรพการีของราษฎร เพราะเหตุนี้แผ่นดินของพระองค์จึงยงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงซึ่งความสุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา

พระองค์จึ่งเป็น ปิยมหาราช
ที่รักของมหาชนทั่วไป

ครั้นบรรลุอภิลักขิตสมัย รัชมังคลาภิเษกสัมพัจฉรกาล พระราชวงศานุวงศ์เสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณ์อาณาประชาชนชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัฐสีมาอาณาเขต มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณนามาแล้วนั้น จึ่งพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้ประดิษฐานไว้ สนองพระเด็จพระคุณ เพื่อประกาศเกียรติยศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปิยมหาราช
ให้ปรากฏสืบชั่วกาลปาวสาน

เมื่อสุริยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถี พุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศ กาฬปักษ์ตติยดิถี ในปีวอกสัมฤทธิศก 41 จุลศักราช 1270”

ผมไม่มีความเห็นอื่นเสริม เพราะคำจารึกนั้นพูดแทนใจผมหมดแล้ว เพียงขอให้ข้อมูลเพิ่มว่า ประชาชนชาวสยามทุกชาติทุกชั้นได้ร่วมใจกันบริจาคเงินสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวาย ได้เงินบริจาคมากกว่าที่ต้องการใช้ถึงห้าเท่า และได้ทำพิธีถวายพระบรมรูปทรงม้าในโอกาสปีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 40 ปี โดยทำพิธีถวายในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ตรงกับทางจันทรคติวันแรม 3 ค่ำ เดือนกฤติกา (พระจันทร์เข้าใกล้กลุ่มดาวลูกไก่) ปีวอก จ.ศ. 1270 รัตนโกสินทรศก 127 (ซึ่งที่จริงข้อมูลเรื่องวันเวาลก็อยู่ในคำจารึกหมดแล้ว ผมเอามาเขียนใหม่เป็นภาษาที่อ่านง่ายเท่านั้นเอง)

หลังจากที่มีการถวายพระบรมรูปทรงม้าแล้ว อีกไม่กี่ปีต่อมาก็เสด็จสวรรคต
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง