เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 12503 >>>> วัฒนธรรมไทยจะอยู่รอดในปัจจุบันได้อย่างไร <<<<
Mr.ปู
อสุรผัด
*
ตอบ: 12

กำลัง จะเข้าศึกษาต่อ คณะโบราณคดี สาขามานุษยวิทยา ม.ศิลปากร


 เมื่อ 13 ก.ย. 03, 17:34

 ผมมีข้อสงสัยคือในปัจจุบันนี้โลกได้เปลี่ยนไปเร็วมาก จนเราอาจจะตามไม่ทัน  ในสังคมโลกที่วุ่นว่ายเช่นนี้  วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวไทย จะสามารถยืนหยัด ต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ไหม    แต่ผมมีความคิดว่า วัฒนธรรมไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้ากับโลกในปัจจุบันโดยที่ยังคงต้องรักษาแบบแผนอันดีงามไว้ด้วย  

ไม่ทราบว่าพี่ๆในห้องนี้มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ก.ย. 03, 09:28

 วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต    ถึงอย่างไรก็หยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้  ตราบใดที่สังคมยังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
วัฒนธรรมไทยเมื่อ 50 ปีก่อนก็ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้   ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณีการแต่งกาย   การปลูกบ้านเรือนซึ่งก็ยังใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่   ค่านิยมในด้านความประพฤติ  หรือสถาบันครอบครัว ฯลฯ
ไม่ต้องย้อนไปนึกถึง 100 ปีก่อนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เหลืออะไรมาถึงปัจจุบันแล้ว

วัฒนธรรมปรับด้วยตัวเอง  ใครจะไปสร้างแบบแผนขึ้นมาเฉพาะแล้วกำหนดให้เป็นไปตามนั้น ก็ฝืนความเป็นจริง  
อะไรที่ปรับเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ก็จะอยู่ได้ทนนาน  อะไรที่เข้ากับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็สูญไปเองค่ะ
เราทำได้เพียงแต่ปรับมันให้ดี และเหมาะสมที่สุดเท่านั้น
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ก.ย. 03, 18:29

 ไม่ได้เข้ามาเสียนาน เคยพยายามเข้ามาครั้งหนึ่งในกระทู้ภาษามคธ แต่มีปัญหา โพสต์ได้ไม่ยาวกว่าทีละ 2 บรรทัด ก็เลยหมดความพยายาม

ก่อนอื่นก็ขอรายงานตัวก่อนครับว่าผมกลับมาเมืองไทยได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว อยู่นอกกรุงเทพฯ ว่างานแยะแล้ว แต่กลับมากรุงเทพฯ ยิ่งงานยุ่งหัวโตกว่า เลยไม่ได้เข้ามาบ่อย

ผมเห็นด้วยกับคุณเทาชมพูว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปรียบเหมือนกับมีชีวิต และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เพราะสังคมของเราเป็นสังคมคนที่มีชีวิต วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่จริงของคนในสังคม มันเป็นของมันไปเอง มีชีวิตของมันเอง  ไม่ใช่สิ่งที่ใครผู้ใดผู้เดียวจักอาจกำหนดกันขึ้นเองได้ว่าควรจะต้องเป็นยังงั้นยังงี้ เพราะมันคือผลลัพธ์หรือผลรวมของการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนทั้งหมดในสังคม

การกำหนด "วัธนธัม" ให้เป็นไปในแบบหนึ่งแบบใดตามคำสั่งของผู้มีอำนาจนั้นเคยมีการทดลองทำมาแล้วในเมืองไทย และไม่สำเร็จมาแล้ว ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเขาไม่เอาด้วยซะอย่าง วัธนธัม - เอ๊ยวัฒนธรรมนั้นๆ ก็จะอยู่ได้แค่ชั่วที่อำนาจบังคับนั้นยังอยู่เท่านั้น ไม่หยั่งรากลงได้ หมดยุคของอำนาจบังคับแล้วก็สูญสลายไป

แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็เห็นเช่นกันว่า แม้เราจะไม่สามารถ "กำหนด" หรือ "สั่ง" ให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตตายตัวแบบใดแบบหนึ่งตามใจเราได้ก็จริง แต่เรายังสมารถ "ส่งเสริม" แบบวิถีชีวิตที่เราเห็นว่าควรส่งเสริมได้อยู่

ขอลองตัดตอนโพสต์ดูก่อนนะครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ก.ย. 03, 18:53

 โอเค โพสต์ได้ ว่ากันต่อ

เราช่วยบำรุงวัฒนธรรมส่วนที่เราเห็นว่าดีได้ โดยการช่วยปรับให้สมสมัยขึ้น เราอนุรักษ์และเผยแพร่ของดีที่เราเห็นว่าอาจจะสูญถ้าเราไม่อนุรักษ์ได้ เผยแพร่ให้เป็น option สำหรับคนรุ่นใหม่ได้ แนะแนวทางประยุกต์ของเก่าให้ตอบสนองกับโลกสมัยใหม่ได้ แต่เผยแพร่ไปแล้วเราก็ต้องทำใจว่า คนรุ่นใหม่เขามีสิทธิที่จะเลือกที่จะชื่นชมและหันมาหยิบวิถีชีวิตที่เราเสนอนี้ไปปฏิบัติ เท่าๆ กับที่เขาจะเลือกไม่สนใจมัน และยังคงเห็นว่ามันเชยอยู่ดี บังคับกันไม่ได้หรอกครับ แต่ให้ข้อมูลเป็นทางเลือกละก็ได้ เพราะบางทีปัญหาของวัฒนธรรมเดิมนั้นมันไม่ได้อยู่ที่การไม่เข้ากับยุคสมัยแล้วก็ต้องสูญพันธุ์ไปอย่างเดียว บางทีของดีของเก่าก็ยังดีอยู่ และถ้ามีคนปัดฝุ่นหยิบขึ้นมาใช้มันก็ยังจะใช้ได้ดี เพียงแต่คนรุ่นใหม่เขาไม่มีข้อมูล เขาไม่รู้จัก พูดภาษาหนังจีน มันเผอิญเป็นเคล็ดวิชาสาบสูญจากการถ่ายทอด เท่านั้นเอง ไม่ได้แปลว่ามันควรสูญพันธุ์ไปอย่างไดโนเสาร์ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีข้อมูลตรงนี้เพิ่มขึ้นในฐานข้อมูลของเขา จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เขาเลือกที่จะใช้ประโยชน์ได้จากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ถ้าในที่สุดแล้วเขาไม่เลือก ก็ต้องยอมรับความจริง

ของดีของงามของวิเศษที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ไทยเรารับมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ คือพุทธธรรม ในพุทธธรรมนั้นมีข้อหนึ่งคือพระไตรลักษณ์ ว่าดัวยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของทุกสิ่งในโลกปรุงแต่งใบนี้ วัฒนธรรมของสังคมใดๆ ก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ ในเมื่อมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว นักอนุรักษ์วัฒนธรรมทั้งหลายก็ต้องทำใจแหละโยม ว่าวัฒนธรรมต้องไม่เที่ยงแท้แน่นอน ตั้งอยู่ได้ยาก และไม่ใช่ตัวเราของเราจะบังคับให้เป็นไปตามใจเราชอบนั้นไม่ได้ มันเป็นเช่นนั้นเอง

เอวังก็มีด้วยประการ ฉนี้ ฯ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 ก.ย. 03, 10:56

 นั่งคิดไปคิดมาแล้ว ยังไม่เอวังครับ นึกอะไรได้อีกหน่อยหนึ่ง

คำว่า วัฒนธรรม นั้นผมเข้าใจว่าเป็น "ศัพท์ท่านวรรณ" คำหนึ่ง กำหนดขึ้นให้ตรงกับคำว่า culture ของฝรั่ง และให้ใช้แปลว่าธรรมอันแสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม ที่ผมว่าน่าคิดและตรงกับที่คุณเทาชมพูว่าไว้เรื่องวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิตก็คือ ดูตามรากศัพท์แล้ว culture มันมีความหมายไปในทำนองการเจริญงอกงามของต้นไม้ครับ คำ คัลเจ้อร์นี่ เกี่ยวพันกับคำว่า cultivate เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า agriculture มีความหมายไปในทางการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง ปลูกฝัง อย่างคำว่า culture ที่ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเลยเช่น tissue culture ก็แปลว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพาะให้มันเจริญเติบโตงอกงามแพร่พันธุ์ขึ้นมา

เห็นได้ชัดๆ อยู่เองในความหมายของรากคำเองว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป งอกเงยต่อไป จะไปบังคับให้มันแข็งเกร็งตายตัวอยู่ไม่ได้ นอกจากจะฆ่าต้นไม้ให้เป็นต้นไม้ยืนต้นตาย เหมือนเดิมไม่กระดิกชั่วนาตาปี เราต้องการยังงั้นรึเปล่า? ข้อนี้นักอนุรักษ์วัฒนธรรมทั้งหลายควรระลึกถึงด้วยในการทำงานด้านวัฒนธรรมของเรา

แต่ความหมายมุมกลับก็มีแฝงอยู่ในรากคำว่าวัฒนธรรมหรือ culture นั่นเองว่า ถึงเราจะกำหนดวัฒนธรรมไม่ได้ หรือสต๊าฟไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นเหมือนต้นไม้จริง เราก็ค่อยๆ ปลุกฝัง บำรุง เพาะเลี้ยงต้นไม้วัฒนธรรมให้งอกงามไปในทางที่เราอยากเห็น พอจะได้ครับ  

ในการกำหนดคำแปลภาษาไทย วัฒนะ วัฒนา พัฒนา มีความหมายไปในทางเจริญขึ้น งอกงาม เติบโตขึ้น  แต่ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดดูเหมือนแปลว่ารกรุงรังก็ได้ด้วย

ผมจำพุทธศาสนสุภาษิตได้บทหนึ่งว่า น สิ ยา โลกวฑฒเน แปลว่า ไม่ควรเป็นคนรกโลก (ไม่รับรองว่าจะจำถูกต้องครับ ไม่มีเวลาค้น) คำว่าคนรกโลกนั้นท่านแปลจาก โลกวฑฒเน คำว่าวัฑฒเน นั้นผมสงสัยเป็นอันมากว่าคือคำเดียวกับคำว่าวัฒนานั่นแหละ เพราะถ้าปล่อยให้เจริญงอกงามงอกเงยมากไปโดยไม่ระวังก็รกได้เหมือนกัน

ไม่ทราบว่าสภาพัฒน์ฯ คำเขีบนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นอย่างไรครับ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 ก.ย. 03, 14:22

 คุณนกข.เข้ามากระหน่ำเสีย 3 ความเห็นซ้อน ทำให้กระทู้นี้ยาวขึ้นมาทันตาเห็น
ตอนนี้เรือนไทยค่อนข้างเงียบ    มีแต่คนเข้ามาอ่านมากกว่ามาแสดงความเห็น
อยากฟังความเห็นเพิ่มเติมค่ะ

ไม่รู้ว่าน้องปูตีความ "วัฒนธรรม" ว่าอะไร    โดยมากเอ่ยถึงคำนี้เรามักจะนึกถึง ประเพณี  ธรรมเนียม  แบบแผนความประพฤติที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายอบรมสืบต่อกันมาก หลายชั่วคน
จริงๆแล้ววัฒนธรรมเป็นคำรวมของทั้งหมด  จนเรียกได้ว่าคือวิถีชีวิต

วัฒนธรรมอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากนอกประเทศก็ได้   แต่ว่าเมื่อเข้ามาในไทยแล้ว ก็รับเป็นแบบเฉพาะตัวของไทย
อย่างเห็นได้ชัดและง่าย คือการไหว้ เราถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทย  ทั้งที่จริงๆก็ไม่ใช่คนไทยชาติเดียวที่พนมมือไว้หว่างอก เป็นการทักทาย  อินเดียก็ทำ  อาจจะทำมาก่อนไทยเสียอีก
แต่ไหว้ให้สวยแบบไทยฝึกหัดอบรมกันมาแบบคนไทย  เป็นวัฒนธรรมไทย  
ไหว้แล้วก็ดูละมุนละม่อม  ในระยะห่าง ไม่เข้าไปกอดรัดกันถึงตัว  
เพราะไทยเราไม่นิยมการแตะต้องเนื้อตัวกัน   ถ้าไม่ใช่พ่อแม่พี่น้อง   แม้เพื่อนฝูงเพศเดียวกันก็ไม่กอดกันพร่ำเพรื่อ

กระแสวัฒนธรรมต่างชาติไหลบ่าเข้ามาแรงตามสื่อต่างๆ   เดี๋ยวนี้เจอหน้ากัน  ก็โผเข้ากอดทักทายกัน ไม่กระดาก จุ๊บแก้มกัน
ยิ่งเป็นดารานักร้องขวัญใจประชาชน     คนละเพศกันก็ไม่เป็นไร    สาวคนดูโผเข้ากอดดาราหนุ่มบนเวที เป็นเรื่องที่ไม่แปลกตา
แต่ถ้าเธอไหว้ดาราหนุ่ม ผู้มีวัยแก่กว่า ตามแบบไทยพึงทักทายนี่สิ  น่าแปลกตา  เผลอๆ อาจมีคนเฮกันให้เจ้าตัวเขินอีกด้วย

น้องปูลองตอบคำถามดูเล่นๆก็ได้ว่า การไหว้ซึ่งเป็นแบบแผนดีงามของไทย ควรปรับตัวเป็นการกอดรัดทักทายกัน ในสถานการณ์ที่เขานิยมวัฒนธรรมฝรั่ง เช่นเวลาเจอขวัญใจวัยรุ่น
หรือว่าควรรักษาแบบแผนดีงามเอาไว้ ไม่มีข้อยกเว้น
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ก.ย. 03, 21:02

 อยากฟังความเห็นคนอื่นด้วยครับ

ผมหวังว่าความเห็นข้างบนนี้ทั้งของคุณเทาชมพูและของผม คงจะสามารถยั่วสมองท่านผู้อ่านให้คันไม้คันมือโดดลงมาร่วมวงเสวนาได้บ้าง แบบรำอาวุธล่อขุนพลไงครับ เจ้าพี่เจ้าน้องทั้งหลายจะประทับยับยั้งอยู่ใยภายใต้ร่มไม้ริมสนามโน่น ขอเชิญไสช้างลงมาร่วมประมือเล่นกรีฑาทางความคิด แลกเปลี่ยนความเห็นกันเถิด...

โดยที่วัฒนธรรมเป็นของมีชีวิต มันจึงไหลไปไหลมาได้ด้วย จึงไม่เป็นเรื่องประหลาดที่คนสังคมหนึ่งบางทีจะรับเอาวัฒนธรรมต่างสังคมมาใช้บ้าง ยิ่งในสมัยยุ๕โลกาภิวัตน์ด้วย สาวไทยใส่สายเดี่ยว หรือหนุ่มฝรั่งกินต้มยำกุ้ง จึงไม่เป็นเรื่องแปลก

สำคัญคือว่า เราอยากเป็นผู้นำหรือผู้ตามล่ะครับ

เราเลือกดำเนินตามวิถีชีวิตคนในสังคมอื่นก็ได้ มันสิทธิของเราที่ใครบังคับไม่ได้ แต่น่าจะลองนึกด้วยไหมว่า นอกจากเราจะเลียนแบบจากโลกข้างนอกท่าเดียวแล้ว โลกจะสามารถเรียนรู้อะไรจากเราได้บ้างไหม คนไทยเราจะมีทางมีโอกาสคิดหรือวางวิถีชีวิตอะไรบางอย่างที่จะทำให้คนอื่นเขาทึ่งจนหันมาเอาอย่างเราได้บ้างไหม ท้าทายดีนา น่าลองฝันดูเล่นสนุกๆ บ้างไหมล่ะครับ

มีข้อสังเกตย่อยอีกอย่าง คือว่าแม้ในระบบวัฒนธรรมหรือสังคมเดียวกันก็ยังมีกลุ่มวัฒนธรรมย่อยลงไปอีก ที่เห็นได้ชัดก็กลุ่มวัฒนธรรมตามภูมิภาคหรือเชื้อชาติ เช่น คนเหนือคนใต้ก็ไทยเหมือนกัน ก็ใช่ เหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ต่างมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนอยู่ หรือไทยเชื้อสายจีนกับไทยเชื้อสายไทย กับไทยเชื้อสายรามัญ หรือชุมชนไทยมุสลิม ชุมชนไทยแคทอลิกที่สืบเชื้อสายมาแต่โปรตุเกส ก็อาจมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นกระแสย่อยอยู่ในกระแสหลักของวัฒนธรรมในสังคมไทย นี่เห็นได้ง่าย

แต่ที่เป็นวัฒนธรรมหรือวิถีย่อยวิตย่อยอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็น สิ่งที่นักบริหารสมัยใหม่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร เราอาจจะเป็นคนไทยเหมือนคุณหมอข้างบ้านเรา เหมือนปลัดอำเภอบนอำเภอที่เราสังกัด เหมือนตำรวจในป้อมยาม หรือเหมือนทหารที่เราเห็นในข่าว แต่คนที่เขาเป็นหมอ เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นตำรวจ หรือเป็นทหาร หรือกระทั่งพวกผมเองที่เป็นนักการทูต ก็จะมีวํฒนธรรมหรือวิธีคิดความคิดความอ่านเฉพาะแบบในกลุ่มของตัว บางทีก็ไม่มากนัก แต่สังเกตได้ ทั้งๆ ที่เป็นไทยเหมือนกันนั่นแหละ เพราะฝึกมาหรือหล่อหลอมมาคนละอย่าง

ที่น่าสนใจมาก สำหรับผม ก็คือ บางทีวัฒนธรรมทำนองนี้มันข้ามชาติด้วย เช่น ผมเคยไปร่วมหลักสูตรอบรมทางความมั่นคงอันหนึ่งที่ฮาวาย มีทั้งนายทหารและนักการทูตจากสิบกว่าประเทศเข้าร่วม เรียนกันไปพักหนึ่ง เราก็เกิดความรู้สึกว่า ทั้งๆ ที่ผมเป็นไทย คุณเป็นอินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ นี่แหละ แต่ถ้าเราเป็นนักการทูตด้วยกัน เราพูดกันรู้เรื่อง คิดคล้ายๆ กันครับ ในขณะที่ทหารไม่ว่าชาติไหนเขาก็จะคุยภาษาทหารกันรู้เรื่อง และบางครั้งเรารู้สึกว่า เผลอๆ ในปัญหาบางอย่าง เราเข้าใจมุมมองต่อปัญหานั้นจากสายตาคนต่างชาติแต่ร่วมอาชีพเดียวกับเรา ได้ดีกว่ามุมมองจากคนไทยด้วยกันที่ได้รับการฝึกมาคนละแบบเสียอีก

พูดง่ายๆ อีกที แฟนเพลงร็อกย่อมเข้าใจในแฟนเพลงร็อกด้วยกัน ไม่ว่าจะชาติอะไร เผลอๆ บางทีแฟนพลงร็อกไทยอาจรู้สึกว่าผู้คลั่งใคล้นักร้องคนเดียวกัน เข้าใจเขามากกว่าพ่อแม่ของเขาเองที่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงร็อกเสียอีก ทั้งๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกัน

ขอเชิญวิสัชนาต่อได้ตามอัธยาศัยครับ

ผมเองเข้ามาแป๊บๆ แล้วก็ต้องลาอีกแล้ว จะหายไปทำงานที่อินโดนีเซียสองอาทิตย์ครับ
บันทึกการเข้า
Mr.ปู
อสุรผัด
*
ตอบ: 12

กำลัง จะเข้าศึกษาต่อ คณะโบราณคดี สาขามานุษยวิทยา ม.ศิลปากร


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ก.ย. 03, 16:38

 ต้องขอบคุณพี่ๆทั้งสองมากนะครับที่ทำให้กระทู้นี้คึกคัก ขึ้นมา

ขอตอบพี่เทาชมพูก่อนนะครับ ว่าผมตีความคำว่าวัฒนธรรมอย่างไร  คือ ในความคิดของผมนะครับ วัฒนธรรม คือ สิ่งที่สะสมมา รับมา สร้างมา  เป็นระบบ ระบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบความคิด ประเพณี  ธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งทำให้คนในสังคมเข้าใจตรงกัน เช่น การไหว้   คนในสังคมไทยก็เข้าใจว่านี่คือการทำความเคารพต่อบุคคล  แต่ถ้าเป็น เผ่าเมารี เขาก็อาจจะไม่เข้าใจความหมายของการไหว้ก็เป็นได้  วัฒนธรรม ในความคิดผม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครับ  เพราะถ้าวัฒนธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เหมือนกับวัฒนธรรมที่ตายแล้ว ซึ่ง กงจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คือ คนในระบบวัฒนธรรมนั้นๆแหละครับ  ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ มีคนพยายามไม่ทำตามกระแสวัฒนธรรม  พยายามคิดออกจากกรอบวัฒนธรรมเดิม  เพราะ การที่เราทำอะไรๆที่สวนกระแส มันจะทำให้วัฒนธรรมไม่ตาย และวัฒนธรรม ก็สามารถที่จะพัฒนาตาม คนในสังคมได้ครับผม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง