เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9881 " ครูแจ้ง " ?
วรินทรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 5

n/a


 เมื่อ 08 ส.ค. 03, 02:57

 คนก็อ่อนพึ่งจะสอนขึ้นขี่ม้า
ข้างอาชาเล่าก็คนไม่เคยขี่
หกหมุนชุลมุนกันเต็มที
ล้มลุกคลุกคลีไม่ละกัน
ลงแซ่ขวับม้าขยับโขยกเขยก
คนก็ไพล่กะโผลกกะเผลกแข้งขาสั่น
ระวังตัวกลัวตกกระดกกระดัน
ม้าก็ปั่นป่วนคึกสะอึกแรง
ทำทีถูกใหญ่ไพล่เป็นน้อย
ร่องรอยยังไม่เรียบตะเกียบแข็ง
คนก็คร่อมไม่ถนัดไพล่พลัดแพลง
กระทบแผงผางเผาะเหยาะพยศ
ตอกตะบันกันตะบึงไปครึ่งครู่
ม้าก็เรียบคนก็รู้ทำนองหมด
ด้วยกำลังยังกำละไม่ละลด
ม้าพยศดูผยองทำนองงาม
ครั้นรู้ทีเข้าก็ดีดังม้าฝึก
ครั้นเคยขาเข้าก็คึกไม่เข็ดขาม
ไม่ต้องชักคอยแต่ยักกระบวนตาม
จนเหงื่อซามโซมกีบแล้วแก้อาน


อันนี้เป็นกลอนดั้งเดิมของครูแจ้งครับ ตอน พลายงามเข้าหาศรีมาลา ( ไม่แน่ใจว่าเรียกตอน พลายงามชมดง หรือเปล่า )  แต่ว่าถูกคัดออกจาก เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด ซึ่งกรมพระยาดำรง ฯ เป็นผู้ชำระเสภา   ( สงสัยว่าบทกลอนล่อแหลมเกินไป )

ทั้งหนุ่มสาวคราวแรกภิรมย์รัก
ไม่ประจักษ์เสน่หามาแต่ก่อน
กำเริบรักเหลือทนทุรนร้อน
พอร่วมหมอนก็เห็นเป็นอัศจรรย์
เหมือนเกิดพายุกล้ามาเป็นคลื่น
ครืนครืนฟ้าร้องก้องสนั่น
พอฟ้าแลบแปลบเปรี้ยงลงทันควัน
สะเทือนลั่นดินฟ้าจลาจล
นทีตีฟองนองฝั่งฝา
ท้องฟ้าโปรยปรายด้วยสายฝน
โลกธาตุหวาดไหวในกมล
ทั้งสองคนรสรักประจักษ์ใจ


ส่วนอันนี้เป็นของ ฉบับหอพระสมุด ครับ
โดยส่วนตัวแล้วผมว่า อ่านแล้วก็ฟังดูเพราะพริ้งทั้งสองอันน่ะครับ แต่ว่าชอบสำนวนเดิมของครูแจ้งมากกว่า เพราะว่าอ่านได้อรรถรสดี....

เลยอยากถามผู้รู้หน่อยอ่ะครับว่า  เราจะหาอ่าน เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับดังเดิม ได้จากที่ไหนครับ    และพอจะทราบหรือเปล่าครับว่า ครูแจ้งเป็นบุคคลในสมัยใด และ ท่านมีผลงานเรื่องใดบ้างครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ส.ค. 03, 14:40

 จำได้ว่าเคยมีการตีพิมพ์ รวบรวมตอนที่ถูกคัดออก บางตอน นะคะ
แต่ว่าหลายปีแล้ว จำไม่ได้ว่าสำนักพิมพ์ไหน  

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงประวัติครูแจ้งไว้สั้นๆว่า
ครูแจ้งมีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 4  บ้านอยู่หลังวัดระฆัง
เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง  ถึงอ้างชื่อไว้ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนทำศพนางวันทอง
ว่านายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา

มีเรื่องเล่ากันมาว่าสองคนนี้เป็นคนเพลงที่เลื่องลือในรัชกาลที่ 3   อยู่มา ไปเล่นเพลงด้วยกันครั้งหนึ่ง
ยายมาด่า(ในเพลง) มาถึงมารดาครูแจ้ง     แล้วครูแจ้งแก้ไม่ตก  จึงขัดใจเลิกเล่นเพลง หันมาเล่นเสภา
กลายเป็นครูเสภาสำคัญคนหนึ่ง   แต่งเสภาไว้หลายตอน
เป็นคนแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ   เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่มาก่อน  
การเล่นเพลงพื้นบ้านที่มักกล่าวถึงการสังวาส และเรื่องเพศอย่างชัดแจ้ง  ถูกมองว่าหยาบ
บทเสภาครูแจ้งจึงถูกตัดออกหลายตอน ไม่ได้นำมารวมไว้ในฉบับหอพระสมุด  ที่จะเน้นความละเมียดละไมในบทอัศจรรย์ ตามแบบของละครใน มากกว่า
บันทึกการเข้า
วรินทรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 5

n/a


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ส.ค. 03, 02:41

 ขอบคุณ คุณเทาชมพู ครับ

ใครบางคนบอกผมว่า ถ้าจะหาอ่านเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับบดั้งเดิมอ่าน ก็ต้องไปหาอ่านจากสมุดข่อยใบลานเขาจารไว้ ( เห็นท่าจะจริง )  น่าเสียดายนะครับที่จะต้องสูญไป   แต่ผมว่าปัจจุบันน่าจะยังพอหาอ่านได้

จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมเด็กๆ ไม่ค่อยชอบเรียนวิชาภาษาไทยเท่าไร  ยิ่งถึงบทเรียนช่วงที่เป็นกลอนให้อ่านด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อยากหลับทุกที  เพราะคุณครูมักจะคอยแต่สั่งให้ขีดเส้นใต้คำศัพท์ และให้อ่านพร้อมกันทั้งห้อง ซึ่งสำหรับเด็กผู้ชายอย่างผมแล้วรู้สึกว่าน่าเบื่อมากครับ    ......จนกระทั่งไม่นานมานี้เพิ่งได้มีโอกาสอ่านบทกลอนอย่างจริงจัง ทำให้ผมได้รับรู้ถึงอรรถรสแห่งคำกวี  และสุนทรียภาพทางอารมณ์  เวลาที่ได้อ่านกลอนที่ไพเราะแล้วทำให้อยากหาอ่านอีกเรื่อยๆ

ครั้นสิ้นแสงสุริยาทิพากร
ศศิธรเลื่อนลิ่วปลิวสวรรค์
ดิเรกดาวขาวกระจ่างดังกลางวัน
ทรงกลดจรจรัลกระจ่างดวง


เรื่อง ขุนช้างขุนแผนที่ผมอ่านอยู่นี้ ได้อ่านจากหนังสือที่เป็นอรรถาธิบายเรื่อง  "  เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน  "  ของ  กาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้  ( พยายามจะหาบทเสภามาอ่าน แต่ว่ายังหาซื้อไม่ได้ครับ )  มีอยู่ตอนหนึ่ง ท่านขุนวิจิตรฯ เล่าว่า  "  กลอนนี้ถ้ายกเอามาลำพัง ไม่บอกว่าเป็นตอนขุนแผนอุ้มนางแก้วกิริยาวางตัก ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นกลอนอัศจรรย์ - เป็นกลอนอัศจรรย์ที่ไพเราะเพราะพริ้ง  แสนที่จะเป็นผู้ดีผิดพวก  "   ซึ่งผมก็เห็นจริงอย่างที่ท่านว่า  เพราะครั้งแรกที่อ่านผมก็ไมารู้ว่าเป็นบทอัศจรรย์เหมือนกัน     เลยอยากขอรบกวนคุณเทาชมพูช่วยโพสกลอนก่อนหน้าบทนี้สัก 2-3 บท  และ กลอนต่อหลังบทนี้อีกสัก 2-3 บท  ให้ผมได้อ่านหน่อยน่ะครับ

พระพายชายพัดบุปผชาติ
เกสรสาดหอมกลบตรลบห้อง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง
พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับยับ
พระอาทิตย์ชิงดวงจันทร์เด่น
ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ
แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง


......ขอบคุณครับ......
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ส.ค. 03, 15:13

 เนื้อความก่อนหน้าบทนี้และหลังบทนี้ ติดต่อกันยาวกว่า 2-3 บทค่ะ ถ้าตัดตอนมาความจะขาดไป ไม่ครบถ้วน
น่าเสียดายว่าเป็นตอนที่ไพเราะมาก เลยลอกมาให้อ่านทั้งหมด

น้องเอ๋ยเพราะน้อยหรือถ้อยคำ
หวานฉ่ำจริงแล้วเจ้าแก้วเอ๋ย
เจ้าเนื้อหอมพร้อมชื่นดังอบเชย
เงยหน้ามาจะว่าไม่อำพราง

ได้ชมชิดเข้าสนิทอย่างนี้แล้ว
ขอเชิญแก้วกิริยาเมตตาบ้าง
พี่จะมอบเสน่ห์ไว้ที่ในนาง
อย่าระคางข้องแค้นระคายเคือง

ถ้าพี่ลวงน้องให้หมองสัตย์
จงวิบัติเกิดเข็ญให้เป็นเนื่อง
สารพัดวิชาสง่าเปลือง
เจ้าเนื้อเหลืองดังทองมาทาบทับ

ว่าพลางทางเปลื้องเครื่องคาด
แขวนพาดฉากลงประจงจับ
อุ้มนางวางตักสะพักรับ
ก็ทอดทับระทวยลงดังท่อนทอง

พระพายชายพัดบุปผชาติ
เกสรสาดหอมกลบตรลบห้อง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง
พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับยับ

พระอาทิตย์ชิงดวงจันทร์เด่น
ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ
แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง


ครานั้นนางแก้วกิริยา
เสน่หาปลื้มใจใหลหลง
ความรักให้ระทวยงวยงง
เอนแอบอ่อนลงด้วยความรัก

สะอึกสะอื้นอ้อนแล้วถอนใจ
น้ำตาไหลซกซกลงตกตัก
แค้นใจที่มาไล่ข่มเหงนัก
แล้วจะลักวันทองไปเที่ยวไพร

ตัวท่านสำราญระริกรื่น
ข้านี่นับคืนคอยละห้อยไห้
เพลินป่าพ่อจะมาต่อปีไร
ขุนช้างก็จะไล่พาโลตี
บันทึกการเข้า
วรินทรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 5

n/a


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ส.ค. 03, 04:46

 ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากครับที่ช่วยโพสกลอนให้ผมได้อ่าน    รู้สึกว่ามีความสุขมากครับ เวลาได้อ่านกลอนที่เราอยากอ่าน

             คือว่ามีกลอนพรรณนาธรรมชาติอยู่บทนึง  และก็เป็นเพียงกลอนบทเดียวที่ผมได้อ่านแล้วทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ ในความไพเราะของถ้อยคำ  แม้ว่าจะอ่านในใจหรืออ่านออกเสียง ก็สามารถสัมผัสกับความเพาะพริ้ง และดื่มด่ำในอารมณ์ของบทกลอนได้  เรียกว่า เป็นบทกลอนในดวงใจก็ได้ครับ  

ครั้นสิ้นแสงสุริยาทิพากร
ศศิธรเลื่อนลิ่วปลิวสวรรค์
ดิเรกดาวขาวกระจ่างดังกลางวัน
ทรงกลดจรจรัลกระจ่างดวง


              เลยอยากขอรบกวนคุณเทาชมพูอีกนิดน่ะครับ ว่าการพรรณนาธรรมชาติจบลงแค่กลอนบทนี้หรือเปล่าครับ หรือว่ามีกลอนต่ออีก   ถ้ามีกลอนต่ออีกอยากให้คุณเทาชมพูช่วยโพสให้ผมได้อ่านอีกนิดนะครับ    เพราะผมรู้ตัวว่าคงไม่มีโอกาสได้อ่านบทเสภาเต็มๆแล้วน่ะครับ  เพราะว่าเวลาที่เหลือในระหว่างเข้าพรรษานี้ ผมจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งกาย และใจ เพื่อที่จะดำเนินชิวิตตามแนวทางแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วน่ะครับ   และขอถือโอกาสนี้กล่าวลาและขอขอบคุณ คุณเทาชมพู มากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ส.ค. 03, 17:50

 จำกลอนบทที่คุณยกมาไม่ได้ ว่าอยู่ในฉบับพระสมุดหรือเปล่า    ไม่คุ้นเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
วรินทรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 5

n/a


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ส.ค. 03, 02:24

 เป็นตอนที่สายทองชวนพิมให้ชมจันทร์  เพื่อที่จะบอกพิมถึงเรื่องการนัดแนะกับเณรแก้วไว้น่ะครับ

" นายตำรา ณ เมืองใต้ " หยิบยกกลอนบทนี้มาเกริ่นแค่บทเดียว
ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าอยู่ในฉบับหอพระสมุดเปล่า

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ส.ค. 03, 10:40

 หาเจอแล้วค่ะ

ครั้นสิ้นแสงสุริยาทิพากร
ศศิธรเลื่อนลิ่วปลิวสวรรค์
ดิเรกดาวขาวกระจ่างดังกลางวัน
ทรงกลดจรจรัลกระจ่างดวง

สายทองชวนน้องให้ชมจันทร์
ผิวพรรณไพโรจน์โชติช่วง
ผ่องแสงแจ้งงามดังเงินยวง
ไยจึงหวงกระต่ายไว้ในวงจันทร์

ร้อยปีก็มิได้จะไปไหน
เหตุใดขังขึงอยู่รึงมั่น
แต่เห็นมาไม่รู้ว่ากี่พันวัน
ดูเดือนก็ยิ่งพรั่นอยู่ในใจ

เหมือนหนึ่งเราพี่น้องทั้งสองคน
จนเหมือนกระต่ายจันทร์ไม่ไปได้
ไร้คู่อยู่กับฟ้าสุราลัย
กระต่ายไพรพร่ำแลทุกเวลา

พี่รักเจ้าฟักฟูมอุ้มประคอง
จนพิมน้องเจริญวัยขึ้นใหญ่กล้า
ทั้งเป็นญาติเป็นทาสท่านช่วยมา
กลัวอาญากลัวตายเสียดายตัว

อนิจจาเกิดมาเสียทั้งชาติ
เป็นอันขาดแล้วไม่รู้ว่าลูกผัว
ดังแหวนทองผ่องศรีไม่มีมัว
จนแต่หัวพลอยประดับประดาดี

พี่รักเจ้าจึงเฝ้าลำบากนัก
แม้นมิรักก็เตร่เที่ยวเร่หนี
ถึงจับมาฆ่าเสียก็ตามที
มิตายก็คงจะรอยตลอดไป

ทั้งนี้พี่ยากก็เพราะเจ้า
ด้วยยังหามีเหย้ามีเรือนไม่
พี่จึงต้องรักษาเป็นตาใจ
คุณผู้ใหญ่ก็ชราลงทุกวัน

เหมือนดังไม้ใกล้ฝั่งจะพังล้ม
พี่ปรารมภ์ร้อนใจให้พรั่นพรั่น
ถ้าสิ้นบุญคุณแม่ศรีประจัน
สารพันจะกระจัดกระจายไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ส.ค. 03, 15:45

 ตอนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า ทรงได้ยินมาว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยค่ะ
อีกตอนหนึ่งคือตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง

ครูแจ้งแต่งตอนกำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่ แต่ว่าถูกตัดออกไปบางตอน เมื่อชำระเรียบเรียงฉบับหอพระสมุด
เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเห็นว่าแต่งดีแต่ค่อนข้างหยาบ(โลน)

ขออนุโมทนาด้วยกับการบวชค่ะ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ส.ค. 03, 11:37

 ยอดเยี่ยมทั้งคนถามคนตอบเลยเชียว  ขอเพลงด้วยคนซิครับ  ไม่ทราบสำนวนครูแจ้งที่ว่าชาววังฟังไม่ได้นั้น พอจะมีแสดงอีกไหมครับ  อยากหาอ่านมานานแล้วเหมือนกัน  อยากรู้ว่าจะเด็ดสะระตี่สักแค่ไหน  ผมอ่านเพียงของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ก็ต้องนอนกัดหมอนน้ำลายยืดแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ส.ค. 03, 16:09

 ฉบับถูกเซนเซอร์ไปนั้นยังหาไม่เจอค่ะ  มีแต่ฉบับหอพระสมุดที่สมเด็จกรมพระยาฯ ทรงกลั่นกรองแล้ว   อ่านแค่นี้ไปก่อนก็แล้วกัน
อย่างตอนนางสีจันทร์แม่นางบัวคลี่สอนลูกสาว ก่อนส่งตัวเข้าหอ   ว่าเป็นฝีมือครูแจ้งที่ถูกตัดทอนไปเยอะ

ครานั้นท่านยายสีจันทร์
รับขวัญลูกพลางทางปราศรัย
ประเวณีมีผัวกลัวอะไร
ไปเถิดแก้วตาอย่าอาวรณ์

อันซึ่งการประเวณีไม่มีครู
กลัวจะรู้เสียหนักไม่พักสอน
ประเดี๋ยวใจได้สุขสิ้นทุกข์ร้อน
พ่อแม่มาแต่ก่อนก็เหมือนกัน

เมื่อยายเจ้าเอาแม่ไปส่งตัว
พอเข้าชิดคิดกลัวจนตัวสั่น
พ่อแกช่างฉอเลาะออเซาะครัน
เฝ้าวอนว่าสารพันจะเอาใจ

แม่ฟังไม่เท่าไรใจก็รัก
ไม่ช้านักก็ต้องหย่อนผ่อนลงให้
ประเวณีเช่นนี้แต่ไรไร
จึงมีลูกเต้าได้ไปออกเต็ม

ไม่ต้องเรียนต่อครูดอกรู้ง่าย
เหมือนหนึ่งด้ายร้อยสนเข้าก้นเข็ม
ที่ยังพึ่งหัดเย็บต้องเก็บเล็ม
พอรู้รสหมดเล่มก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ส.ค. 03, 12:43

 ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูครับ

แต่อ่านสำนวนแล้ว  ดูเป็นแบบโปกฮา  ไม่มีพิษเหมือนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)  ของท่านนี่อ่านไปนึกตามไป ได้ภาพพจน์รายละเอียด  บรรยายได้ถึงกึ๋นเลยเชียว  แต่แปลกที่ไม่ถูกเซนเซอร์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ส.ค. 03, 13:56

 เรื่องไหนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) คะ?
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ส.ค. 03, 15:54

 มีอยู่หลายเรื่องครับ  และไม่ใช่มีแต่กลอน  เรื่องกากีก็มี  พระลอก็มี  รามเกียรติ์ก็มี  แปลกที่อ่านกากีของท่านแล้วจะนึกภาพ ผลงานของครูเหม เวชกรทุกทีไป

ระยะนี้ยังไม่สะดวกที่จะขุดกรุในห้องตัวเอง  มิฉะนั้นจะได้นำมาพิมพ์ให้อ่านกัน  เด็นรุ่นใหม่จะได้รู้จักว่าคนไทยโบราณหลังกรุงแตกท่านกระตุ้นให้คนช่วยกันสร้างชาติได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 23 ส.ค. 03, 02:22

 ขอบคุณทั้งคุณวรินทรา เจ้าของกระทู้ และคุณเทาชมพู เจ้าของเรือนค่ะ ขุนช้างขุนแผนเพราะจับใจแบบเรียบง่ายแบบชาวบ้านและลูกเล่นแพรวพราวจริงๆค่ะ ชอบจริงๆ

ดิฉันก็เหมือนคุณวรินทราน่ะค่ะ ตอนเด็กๆที่เรียน ก็ไม่ได้สนใจนัก เพราะมัวแต่ขีดเส้นใต้ พะวงอยู่กับคำศัพท์ จนไม่ได้รับรู้อรรถรสที่แท้จริง พอโตมานี่ เห็นเข้าไม่ได้ เรียกได้ว่า รีบพุ่งเข้าใส่และกระหน่ำอ่านเลยค่ะ

ไม่ทราบว่าเด็กยุคปัจจุบันนี้ ยังได้อ่านบทกลอนอยู่บ้างหรือเปล่า แล้วการเรียนการสอนพัฒนาเปลี่ยนไปบ้างอย่างไรนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง