เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9753 มังมหานรทา
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
 เมื่อ 30 พ.ค. 03, 14:10


มังมหานรทา เป็นชื่อที่คุ้นกันในประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาเป็นเมืองราชธานี และกำลังถึงกาลอวสานลง คำว่า มังมหานรทา ที่ปรากฎในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยหลายๆเล่มเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ที่ถอดอักขระจากอักษรพม่า เมื่ออ่านออกเสียงสำเนียงพม่าจะเปล่งเสียงว่า มิน-หม่ะ-ห๊า-หน่อ-ด่า ซึ่งคำว่า มัง ในภาษาไทยหรือ มิน ในภาษาพม่าแปลว่า เจ้า ส่วนคำว่า มหานรทา เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ แต่จะเทียบกับบรรดาศักดิ์ของอยุธยาว่าอย่างไร ไม่สามารถเทียบได้ชัดเจน

นามเดิมของมังมหานรทา ตามภาษาพม่าชื่อว่า มิน-ฮละ-ติ-ยิ เนื่องจากมีคำนำหน้าว่า มิน ดังนั้นมังมหานรทาจึงเป็นเชื้อสายของกษัตริย์พม่าซึ่งในสมัยของ มินฮละติยิ กษัตริย์พม่าย้ายเมืองหลวงมาตั้งราชวงศ์ใหม่ที่ โม๊ะ-ซก-โป่-หยว่า หรือ บ้านโม๊ะโซโป่(หยว่า แปลว่า บ้าน หรือ ชุมชน) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง ชะ-เหว่-โป่ ภาษาไทยรู้จักกันในชื่อ ชเวโบ กษัตริย์องค์นี้คือ อะ-ลาว-มิน-ตะ-หย่า ภาษาไทยว่า พระเจ้าอลองพญา (คำว่า มินตะหย่า ภาษาไทยรู้จักว่า มังทรา)

มินฮละติยิ เป็นแม่ทัพมารบเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๐๓ ครั้งนั้นกษัตริย์พม่าให้ อะ-ภะ-ยัด-ก่า-มะ-ณิ (ภาษาล้านนาว่า อัมมกามณี) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกำลัง ๗,๕๐๐ ออกจากเมืองชเวโบมา ณ วัน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๔(เป็นวันเดือนพม่า) ทัพมาถึงเชียงใหม่ในวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๔(วันเดือนล้านนา)--(ในพม่าจะนับเดือนช้ากว่าล้านนาไปประมาณ ๑ เดือนครึ่ง และเดือนล้านนาจะเปลี่ยนปีศักราชตอนเดือน ๗ หรือเดือน ๘ ดังนั้นเดือน ๔ จะต้องมาหลังเดือน ๑๐ ในปีนั้น) แต่พระเจ้าอลองพญาสวรรคตเสียก่อนทัพพม่าจึงกลับไปรักษาเมือง เมื่อเหตุการณ์เป็นปรกติเปลี่ยนกษัตริย์องค์ใหม่ว่า หน่าว-ด่อ-จี-มิน-ตะ-หย่า แล้วกษัตริย์พม่าก็ยกทัพมาที่เชียงใหม่อีก ในปี พ.ศ.๒๓๐๕ ยกทัพ ๒๐,๐๐๐ ออกจากพม่าในวัน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๔(วันเดือนพม่า) และตีเมืองเชียงใหม่แตกในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๑ ปี พ.ศ.๒๓๐๖(วันเดือนล้านนา แต่วันเดือนพม่าตรงกับวัน ๖ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐)

เมื่อตีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว อัมมกามณี ให้ มินฮละตะยิ คุมทหารอยู่เมืองเชียงใหม่แล้วกวาดเอาไพร่และทรัพย์สมบัติไปถวายกษัตริย์พม่าที่เมืองชเวโบ กษัตริย์ม่านแต่งตั้งให้ อัมมกามณี เป็น ซิน-แหม่-หวุ่น หรือ ผู้รั้งราชการเมืองเชียงใหม่ แล้วตั้งให้ มิยฮละตะยิ เป็น หม่ะห๊าหน่อด่า หรือ มหานรทา นิยมเรียกว่า มินหม่ะห๊าหน่อด่า หรือ มังมหานรทา เพราะเป็นเชื้อสายเจ้าม่านด้วย ณ วัน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๓ ปีเดียวกัน(วันเดือนพม่า)--(เดือน ๓ มาหลังเดือน ๑๑ ในปีเดียวกัน คงจะจำได้) หลังจากนั้นพม่ายกทัพไปทางเมืองน่านแต่เจ้าเมืองยอมอ่อนน้อมแล้วไพตีเมืองหลวงพระบางได้ในเดือน ๕ (วันเดือนล้านนา แต่ไม่ระบุวัน) แล้วยกกองทัพมาทางเมืองน่านถึงเมืองน่านในวันขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๘ ปี พ.ศ.๒๓๐๗ (วันเดือนล้านนา)---(เดือน ๘ ปีศักราชเปลี่ยนแล้ว) แล้วยกมาตั้งที่วัดพระธาตุหลวงเมืองละคอร(ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ วัดพระธาตุลำปางหลวง) ในวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๖(วันเดือนพม่า) แล้วเกณฑ์ทัพเมืองล้านนาทุกหัวเมืองมาพร้อมกันและยกออกจากเมืองละคอรลำพาง (ปัจจุบันรู้จักกันในนามของเมืองลำปาง) ณ วันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๐ (วันเดือนพม่า) โดยมี เหน่-เมี้ยว-ตี่-ห๊ะ-ป่ะ-เด๊ เป็นแม่ทัพ ส่วน มิน-มะ-ห๊า-หน่อ-ด่า หรือ มังมหานรทาให้ยกกำลังเข้ามาทางเมืองระนอง …….. ต่อมาพม่าเปลี่ยนกษัตริย์เป็น อะ-หล่าว-มิน-ตะ-หย่า-จี (ต่อมาเฉลิมพระนามว่า ซิ่น-พะ-ยุ-สิ่น แปลว่า เจ้าช้างเผือก)ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ ก็ย้ายเมืองหลวงจากชเวโบ ไปที่กรุงอังวะอีกจวบจนเสียกรุงศรีอยุธยา ทำให้ในประวัติศาสตร์อยุธยาเรียกกษัตริย์พม่าว่า พระเจ้ากรุงอังวะ

นี่คือประวัติของมังมหานรทา ที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกเผา และเสียกรุงครั้งที่ ๓ (ชาวล้านนานับครั้งที่เสียกรุงอโยธยาในสมัยพระเจ้าช้างเผือกเป็นครั้งที่ ๑ และสมัยพระมหาธรรมราชาเป็นครั้งที่ ๒ ดังปรากฏในตำนานธรรมิกราชและตำนานสุเทพ ว่า … ปลีเปิกสีสักกราช ๙๓๐ สาสนา ๒๑๑๒ เสียโยธิยาถ้วน ๒)

อนึ่งแม่ทัพใหญ่ที่ยกทัพชาวล้านนาเชียงใหม่ลงมานามว่า เหน่-เมี้ยว-ตี่-ห๊ะ-ป่ะ-เด๊ นั้น คำว่า เหน่-เมี้ยว เมื่อเทียบกับบรรดาศักดิ์และราชทินนามของไทยแล้ว คำว่า เหน่ แปลว่า อยู่ คำว่า เมี้ยว แปลว่า เมือง ดังนั้นรวมกันแปลว่า อยู่เมือง ทำให้นึกถึง เจ้านายทรงกรมพระนามต่างๆ เช่น กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กรมขุนพิจิตรเจตจันทร์ เป็นต้น ซึ่งพระนามเหล่านี้แม้จะเป็นชื่อเมืองแต่ก็ไม่อยู่ในเมืองนั้นเป็นเพียงแต่มีชื่อเมืองปรากฏในพระนาม แต่ในส่วนของพม่าแล้วส่วนที่คล้ายกันนี้ไม่มีชื่อเมืองต่อท้ายจึงอาจจะไม่ใช่พระนามของเจ้านาย หากแต่เป็นระบบบรรดาศักดิ์ของขุนนางก็ได้(?) ทั้งนี้หลังคำว่า เหน่-เมี้ยว จะเป็นชื่อบรรดาศักดิ์เช่น เหน่-เมี้ยว-ละ-แกว๊ , เหน่-เมี้ยว-ละ-ลัด-หย่า-จ่อ-ข่าว เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากให้ประเด็นนี้แก่ผู้สนใจไปศึกษาต่อไป

ประวัติศาสตร์ล้านนา ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับประวัติศาสตร์ไทยยังมีอีกหลายตอน จะได้นำมากล่าวถึงต่อไป
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 พ.ค. 03, 14:49


เพิ่มเติมครับ ตกไปนิดหน่อย

แม่ทัพพม่าที่ชื่อ เหน่-เมี้ยว-ตี่-ห๊ะ-ป่ะ-เด๊ คนไทยรู้จักกันในชื่อของ เนเมียวสีหบดี ซึ่งถอดตามอักขระ ...

อะ-หล่าว-มิน-ตะ-หย่า-จี เป็นกษัตริย์พม่าที่คนไทยรู้จักว่า พระเจ้ามังระ หรือ พระเจ้ามังลอง มาจากภาษาพม่าว่า มิน-ลาว แปลว่า ว่าที่กษัตริย์ เพราะในตอนนั้น หน่าว-ด่อ-จี ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าเป็นพี่ชายของพระเจ้ามังระ จึงเรียกน้องของตนเองว่า มินลาว เหมือนกับมีกษัตริย์สององค์ (ดังกรณีสมเด็จพระปิ่นเกล้าในรัชกาลที่ ๔) คนอยุธยาในสมัยนั้นจึงรู้จักแต่ มังลอง ทั้งนี้ชื่อจริงของพระเจ้ามังระไม่ปรากฏว่ามีนามก่อนขึ้นครองราชย์ว่าอย่างไร

ส่วนคำว่า มิน นั้นคนไทยออกเสียงว่า มัง  ดังคำทักทายของชาวพม่าที่ว่า มิน-กะ-หล่า มาจากคำว่า มงคล ภาษาล้านนาว่า มังคล อ่านว่า มัง-ก๊ะ-ละ เพราะอ่านตามอักขระ ดังนั้นคำว่า มิน กับ มัง จึงเป็นคำเดียวกัน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 พ.ค. 03, 17:13

 ถ้าจำไม่ผิดสนามบินที่กรุงย่างกุ้ง ชื่อสนามบินมินกะลาดอน มีคนบอกผมว่าเป็นสำเนียงพม่ามาจากคำว่า มงคล .. อะไรสักอย่าง เหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 พ.ค. 03, 10:47

 เคยอ่านที่ดร.สุกิจ นิมมานเหมินท์ อธิบาย ว่าชื่อ อูถั่น  ถ้าเป็นไทย ก็คือ สันต์    แต่จำวิธีการสะกดไม่ได้แล้วค่ะ

ความที่อ่านเพชรพระอุมาบ่อยกว่าพงศาวดาร   พอเห็นชื่อมังมหานรทา  เลยนึกไปถึงเจ้าของลายแทงเส้นทางมรกตนครเป็นอันดับแรก  แต่คุณพนมเทียนสะกดว่า มังมหานรธา  เป็นทหารชั้นแม่ทัพของพระเจ้ากรุงหงสาวดี  
น่าจะสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ มากกว่าสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 พ.ค. 03, 16:21

 มหานรทา เป็นชื่อที่ถอดตามอักขระภาษาพม่าจาก ม-ห-น-ร-ท-า (มะ-ฮ๊ะ-นะแหง่-ยะ-ทะสิ่นดุ๊-เย้ชะ) ...

มหานรทา เป็นตำแหน่ง จึงไม่ได้มีเพียงคนเดียว เหมือนตำแหน่ง พระยาจักรี ในประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ได้มีคนเดียว

ทั้งนี้กษัตริย์พม่าชาวพม่าเรียกว่า มหาธรรมราชา ก็ไม่ได้มีเพียงองค์เดียว ล้านนาเรียก มหาธรรมมังทรา เหมือนกับที่ประวัติศาสตร์ไทยมี King Rama ตั้งแต่ 1st-9th ... มหานรทาที่กล่าวถึงนี้จึงเป็นช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าในปีพ.ศ.๒๓๑๐ นั่นเอง

ส่วนการเสียกรุงอโยธยาในปีพ.ศ.๒๑๑๒ ชาวล้านนายังไม่รู้จักพม่าว่ามีแสนยานุภาพ แต่ชาวล้านนาบอกว่า เมืองใต้อโยธยาเสียให้กับ มอญ ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดตอนต่อๆไป

ประวัติศาสตร์ล้านนาต่างจากประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร ... โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป ...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 มิ.ย. 03, 09:45

 "ส่วนการเสียกรุงอโยธยาในปีพ.ศ.๒๑๑๒ ชาวล้านนายังไม่รู้จักพม่าว่ามีแสนยานุภาพ แต่ชาวล้านนาบอกว่า เมืองใต้อโยธยาเสียให้กับ มอญ ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดตอนต่อๆไป...."

ดูหนังตัวอย่างแล้ว  มารอดูทั้งเรื่องค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 00:25

 ได้ยินว่า th พม่าออกเสียงคล้าย ส ครับ
เคยได้ยินว่า"ท่าตอน"นั้น จริงๆแล้วคือเมืองสุธรรมหรือมอญว่าสะเทิม แต่พม่าเขียนเป็นรูป tha-ton มาถึงไทยเลยกลายเป็น ท่าตอน ครับ ผิดถูกอย่างไรมิทราบได้ มาเล่าให้ฟังกันพอหายคิดถึงครับ    
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 08:25

 คุณ CrazyHOrse เข้าใจถูกต้องแล้วครับ ภาษาไทยอ่านว่า ส แต่ภาษาพม่าว่า ต (เอาลิ้นแตะฟันแล้วเปล่งเสียง ต๊ะ)

ยกตัวอย่างเช่น ตีป่อมิน (ต๊ะ-โหล้งจี้ติ่นสันค๊ะ-ต่ะเหว่โท้-ป๊ะเส้า-เย้ชะ-มะ-งะตั๊ด-วิ้ดสะนะโล้งเป้า) อ่านว่า ตีป่อมิน แปลว่า (พระ)เจ้าตีป่อ แต่ภาษาไทยเอามาถอดตามอักขระ สีป่อ จึงอ่านว่า พระเจ้าสีป่อ นั่นเอง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 17:56

 เคยได้ยินเหมือนกันว่า ที่ไทยเรียก หงสาวดี นั้น พม่าออกเสียงคล้ายๆ หินทะวะดี หง เป็น หิน และ ส เป็น ท

อาจารย์คึกฤทธิ์เคยจับประเด็นนี้ไปเขียนใน พม่าเสียเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของพระเจ้าสีป่อ ว่า เรืออังกฤษที่จับเอากษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายไปขังที่อินเดียจนสิ้นพระชนมชีพนั้น ชื่อภาษาพม่าเขียนว่าไงผมก็ไม่รู้ แต่ออกเสียงว่า ทูระยา ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า คือ สุริยา และท่านโยงมาถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยาตอนที่เสียเมืองให้พม่าครั้งสองด้วยว่า บังเอิญมาตรงกับพระนามพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) จะถือเป็นการแก้แค้นเล็กๆ ก็คงได้
ชายาพระเจ้าสีป่อหรือตีป่อ อาจารย์คึกฤทธิ์ถอดไว้ว่าพระนางศุภยลัต และเล่าว่า ทหารอังกฤษเรียกว่า พระนางSoup-plate ...
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 19:59

 ท่านอู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติชาวเอเชียคนแรกและคนเดียวในประวัติขององค์การจนถึงขณะนี้ ชื่อ U Thant ครับ U แปลว่านาย ดังนั้นชื่อจริงๆ ของท่านคือถั่นต์ หรือตันท์ ซึ่งคงจะถูกอย่างอาจารย์สุกิจว่า คือ สันต์ นั่นเอง
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 20:31

 ยินดีมากครับที่ติดตามกันมาหลายวันแล้ว

หงสาวดี พม่าอ่านว่า หั่น-ต่า-วะ-ตี่
อิรวดี พม่าอ่านว่า  เอ่-หย่า-วะ-ตี่

ส่วนในเรื่องของพม่าเสียเมือง

พระนางศุภยลัต คำนี้ถอดเสียงออกมาใกล้เคียงกันครับ ตุ๊-ปะ-ยะ-ลัด แต่พม่าคงเปล่งเสียง ป๊ะ-ยะ เร็วไป  ฝรั่งจึงฟังเป็น ตุ๊บเผต ทั้งนี้เพราะในภาษาพม่า ป ควบกับ ย ได้ ปย อ่านว่า เปี้ยะ แปลว่า show คำๆนี้ในล้านนาก็มีครับ หาก ปย ควบกัน ล้านนาจะอ่าน ย เป็น ร ได้เช่นคำว่า เปรต ล้านนาจะออกเสียงว่า เผย , คำว่า ปราสาท อ่านว่า ผา-สาด

เตงหวุ่นคยี ภาษาพม่าอ่านว่า กิ่น-หวุ่น-มิน-จี

ส่วนเรือส่งที่ ตีป่อมิน ไปอินเดียนั้นไม่ทราบเหมือนกันครับ อ่านแล้วเจอแต่คำว่า ติ่น-บ่อ-โด๊ะ-สิ่น-บ่า คำว่า ติ่น-บ่อ แปลว่าเรือ แต่ โด๊ะ-สิ่น-บ่า ไม่กล้าเดาว่าเป็น สุริยา (ฟังแล้วตลกดีนะครับ)

ส่วนคำว่า อูถั่น ในภาษาไทย ก็ไม่แน่ใจอีกครับว่าคืออะไร แต่คำว่า สัน หากเขียนเป็นภาษาพม่าจะออกเสียงว่า ตั่น แปลว่า ลม ... ผมเลยชอบล้อเลียนนักข่าวเวลาพูดถึงท่านคนหนึ่งของพม่าที่ชื่อ ตันฉ่วย ผมมักจะพูดว่า ตั่น-เชหว่ (หวังใจว่าคงอ่านเสียง ชหว ควบกันได้นะครับ ภาษาพม่ามีหลายคตัวควบกล้ำ ยิ่งในภาษาล้านนาแล้วควบ ๓-๔ ตัวก็มีเช่นคำว่า หย่วม) ตั่น แปลว่า เสียง เชหว่ แปลว่า ทองคำ ผมเลยชอบล้อเลียนท่านคนนี้ว่า เสียงทอง(คงจะชอบร้องเพลงแฮะ) แต่จริงๆแล้วชื่อท่านมีความหมายว่าอย่างไรผมไม่ทราบได้ครับ เพราะที่ผมว่า เสียงทอง นั้นเป็นคำพ้องเสียง ตันฉ่วย จึงอาจมีความหมายว่าอย่างอื่น ...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง