เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3839 การปกครองเมืองแพร่ในสมัยเมืองประเทศราชของกรุงเทพพระมหานคร
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 พ.ค. 03, 20:13

 ระเบียบการปกครองภายในเมืองแพร่จะมีคณะผู้ปกครองเรียกว่า เค้าสนามหลวง มีเจ้าผู้ครองนครเป็นประธาน มาร่วมประชุมหารือกัน ณ ที่ว่าการเรียกว่า สนาม หรือ สนามหลวง โดยเรียกคณะนี้ว่า ขุนสนาม ประกอบด้วยเจ้านายและพระยาท้าวแสนรวมกันทั้งสิ้น ๓๒ คน การออกหนังสือของเค้าสนามแต่ละครั้งจะประทับด้วยตราดอกบัวบาน แต่หากใช้ติดต่อระหว่างหัวเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน และนครเมืองน่าน จะประทับด้วย ตราม้า อันหมายถึงเมืองแพร่ ขุนนางทั้งหมดแยกออกเป็นสองฝ่ายคือ พระเมือง และ ขุนเมือง

พระเมือง หมายถึง เจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับราชการ โดยมีผู้เป็นใหญ่ที่สุดเรียกว่า เจ้าหลวง และเจ้านายบรรดาศักดิ์อีกจำนวน ๑๙ คนแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มดังนี้
(๑.)เจ้าหลวงและกลุ่มเจ้านายผู้มีสิทธิจะขึ้นเป็นเจ้าหลวงสืบต่อจากเจ้าเมืององค์เดิม มีทั้งหมด ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ พระยาอุปราช(เดิมเรียกว่า พระยาหอหน้า), พระยาราชวงศ์, พระยาบุรีรัตน์(เดิมเรียกว่า พระเมืองแก้ว) และ พระยาราชบุตร(เดิมเรียกว่า พระราชบุตร) เจ้านายในกลุ่มนี้กลุ่มนี้เรียกว่า เจ้าขันทั้ง ๕ หรือ เจ้าขัน ๕ ใบ เพราะผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวจะได้รับพระราชทานพานทองหรือพานเงินหรือถาดหมากทองหรือถาดหมากเงินเป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ โดยส่วนใหญ่มักจะแต่งตั้งพระยาหอหน้าขึ้นรับตำแหน่งเจ้าหลวงดังนั้นตำแหน่งทั้ง ๔ จึงสามารถเลื่อนขึ้นได้เองภายในกลุ่ม เช่น แต่งตั้งพระยาราชบุตรเป็นพระยาราชวงศ์ เป็นต้น
(๒.)กลุ่มเจ้านายบุตรหลานผู้เกี่ยวดองเป็นเขยสะใภ้กับเจ้าหลวง เจ้านายกลุ่มนี้จะต้องเลื่อนชั้นขึ้นไปในกลุ่มที่ ๑ ถึงมีสิทธิ์ที่จะครองเมืองได้ ได้แก่ พระไชยสงคราม, พระสุริยะ จางวาง, พระเมืองราชา, พระวิไชยราชา, พระภิไชยราชา, พระอินทราชา, พระจันทราชา, พระจีนทราชา และ พระไชยราชา ในประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่มีเพียงพญาอินทวิไชยราชาเท่านั้นที่ได้รับตำแหน่ง ท้าวอินราชา ซึ่งต่อมาก็คือพระอินทราชา สามารถขึ้นครองเมืองโดยไม่ต้องได้รับตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบก่อนเพราะเป็นทายาทองค์เดียวของพญาอุปปเสน(เจ้าหลวงเทพวงษ์--เจ้าหลวงลิ้นทอง)
(๓.)กลุ่มเจ้านายบุตรหลานที่สนิทกับญาติของเจ้าหลวงเป็นอย่างมากและขอเข้ารับราชการ เจ้านาย กลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลื่อนขึ้นไปในลำดับที่ ๒ และที่ ๑ มีตำแหน่งสูงสุดคือพระวังซ้าย และ พระวังขวา เรียกว่า กรมการเมือง ทางกรุงเทพถือว่าพระเมืองกลุ่มนี้เป็นเพียงท้าวพระยา ดังกรณีการขอแต่งตั้งพระวังซ้ายเมืองลำพูน ให้ขึ้นเป็นพระยาราชบุตร ทางกรุงเทพไม่แต่งตั้งให้เพราะถือว่าเป็นแต่เทือกเถาท้าวพระยาเท่านั้น ยกเว้นเจ้านายที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหลวงให้เป็นว่าที่แต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพสามารถไปรับตำแหน่งอื่นได้ เช่น ว่าที่พระคำลือในสมัยพญาพิมพิสานราชาไปรับตำแหน่งพระไชยสงคราม และ ว่าที่พระคำลือในสมัยเจ้าพิริยเทพวงษ์ไปรับตำแหน่งพระยาบุรีรัตน์ ส่วนตำแหน่งพระเมืองอื่นๆในกลุ่มนี้ได้แก่ พระเมืองชัย, พระเมืองแก่น, พระถาง และ พระคำลือ

กลุ่มเจ้านายที่ได้รับตำแหน่งพระเมืองและเจ้านายบุตรหลานของตำแหน่งดังกล่าวนี้ชาวเมืองเรียกคำนำหน้าว่า เจ้า แต่หากเจ้านายบุตรหลานของพระเมืองตำแหน่งใดไม่ได้รับราชการต่อๆไปความเป็นเจ้าของทายาทก็จะหายไปโดยปริยาย เนื่องจากคำว่าเจ้าจะได้มาด้วยเป็นการสมาชิกของขุนสนามที่สนิทกับเจ้าหลวงเท่านั้น ดังนั้นระบบการขึ้นเป็นเจ้าในเมืองแพร่จึงเรียกว่า สืบแต่คุ้มหลวงหอคำ อันหมายถึงเจ้านายบุตรหลานผู้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองที่เป็นเจ้าหลวงในขณะนั้นนั่นเอง หากเจ้านายบุตรหลานของพระเมืองตำแหน่งใดยังคงรับราชการต่อแม้ว่าฝ่ายมารดาจะเป็นเจ้าแต่ฝ่ายบิดาเป็นเพียงขุนเมืองก็ตามบุตรธิดาก็มีความเป็นเจ้าสืบไป หลักการดังกล่าวนี้ควบคุมความเป็นเจ้าไม่ให้มีมากเกินไปเพราะผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้านำหน้านั้นต้องเป็นบุตรหลานของพระเมืองทั้ง ๑๙ ตำแหน่งและเจ้าหลวงเท่านั้น

อนึ่งโดยทางนิตินัยแล้วตำแหน่งพระเมืองจะเรียงตามลำดับตั้งแต่พระยาหอหน้าไปจนสิ้นสุดที่พระคำลือแต่โดยหลักปฏิบัติแล้วเค้าสนามยังถือความอาวุโสเป็นธรรมเนียมซึ่งผู้ที่มีอายุมากที่สุดก็จะได้รับความยำเกรงมากที่สุดด้วย

ขุนเมือง หมายถึง กลุ่มขุนนางที่เข้ารับราชการซึ่งมีตำแหน่งเป็น พญา ท้าว แสน มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ คน โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มดังต่อไปนี้
(๑.)กลุ่มเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานทั่วทั้งเมือง มี ๔ ตำแหน่ง เรียกว่า พ่อเมืองทั้ง ๔ ได้แก่ พระยาแสนหลวง, พระยาจ่าบ้าน, พระยาสามล้าน และ พระยาเหล็กชาย(อาจเรียกว่า พญาเด็กชาย) โดยผู้ที่ได้รับตำแหน่งพ่อเมืองมีชื่อแตกต่างกันตามนามที่เจ้าหลวงตั้งให้และอาจมีคำนำหน้าเป็นท้าว พญา หรือแสนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ชื่อของพระยาแสนหลวงจะมีคำว่าหลวงอยู่ด้วยเสมอเช่น แสนหลวงธนันไชย, ท้าวหลวงเมืองแพร่, พระยาหลวงคำพิมเมือง สำหรับพ่อเมืองในตำแหน่งอื่นๆอีกสามตำแหน่งนั้นไม่มีคำว่าหลวงนำหน้าเช่น พระยาไชยประเสริฐ, , แสนรามไชย, พระยาแขก, พระยาขัตติยะ, พระยาอินทประสงค์ เป็นต้น
(๒.)กลุ่มเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเฉพาะทั่วไป มี ๘ ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาทั้ง ๘ ได้แก่ แสนหนังสือ, ท้าวหมื่นวัดใหญ่, พระยาหัวเมืองแก้ว ซึ่งสามารถค้นพบเพียง ๓ ตำแหน่งเท่านั้นส่วนตำแหน่งอื่นๆพบแต่ชื่อไม่สามารถที่จะระบุตำแหน่งได้ ตัวอย่างของเสนาทั้ง ๘ เช่น แสนอินทปัญญา, แสนเทพสมศักดิ์, แสนจิตปัญญา, แสนเสมอใจ, ท้าวไชยยาวุธ, ท้าวแสนพิง, พระยาวังใน, พระยาเมืองมูล, พระยาสุพอาษา เป็นต้น

ตำแหน่งขุนเมืองนี้แม้จะมีคำนำหน้าว่าพระยาแต่ตำแหน่งพระเมืองที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระจะสูงกว่าเนื่องจากตำแหน่งขุนเมืองนั้นเจ้าหลวงสามารถแต่งตั้งได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากทางกรุงเทพก่อน คำว่าพระยาที่นำหน้าชื่อขุนเมืองจึงไม่ได้หมายถึงบรรดาศักดิ์ตามธรรมเนียมข้าราชการสยาม เมื่อกล่าวถึงขุนเมืองที่มีคำนำหน้าว่าพระยาส่วนมากในเอกสารล้านนาโบราณจึงมักใช้คำว่า พญา หรือ ภยา เพื่อให้แยกออกจากคำว่า พระยา อันเป็นบรรดาศักดิ์พระเมือง

นอกจากนั้นแล้วยังมีกลุ่มขุนนางนอกเวียงซึ่งหมายถึงกลุ่มขุนนางผู้ดูแลภาระกิจในท้องที่ต่างๆภายในเขตเมืองแพร่โดยปฏิบัติงานตามที่เค้าสนามกำหนด แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มดังนี้
(๑.)กลุ่มขุนนางที่ออกไปปกครองชาวบ้านในแต่ละบ้านหรืออาจเป็นคนในพื้นที่นั้นเลยก็ได้ เรียกขุนนางในกลุ่มนี้ว่า นายบ้าน มีตำแหน่งปกครองเป็น ท้าว ขึ้นตรงต่อเจ้าหลวง ชื่อของนายบ้านแต่ละบ้านอาจเป็นชื่อที่เค้าสนามตั้งขึ้นเช่น ท้าวโองการ, ท้าวขันคำ เป็นต้น หรืออาจมีชื่อตามชื่อเดิมของผู้นั้นเช่น ท้าวสุนันทะ, ท้าวไชยลังกา, ท้าวอภิวงษ์ เป็นต้น โดยคำว่าบ้านนี้มีขนาดสามถึงสี่หมู่บ้านรวมกันหรือบางบ้านอาจใหญ่เทียบกับหนึ่งตำบลหรือสองตำบลในปัจจุบัน
เมื่อเปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติการปกครองมณฑลพายัพในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้แบ่งเมืองแพร่ออกเป็นสองเขตการปกครองเรียกว่า แขวง คือ แขวงเมืองแพร่ และ แขวงแม่ยมเหนือ โดยมีข้าราชการคนไทยขึ้นมาเป็นผู้ปกครองเรียกว่า นายแขวง แล้วนำบ้านหลายๆบ้านรวมกันเรียกว่า แคว่น หรือ แคว้น ผู้ปกครองเรียกว่า นายแคว่น หรือ นายแคว้น มีตำแหน่งเป็น พระยา ตามชื่อแคว้นเช่น พระยาป่าแดงหลวง, พระยาถิ่นหลวง, พระยาไชยยามาตร์ เป็นต้น ส่วนบ้านแต่ละบ้านเรียกใหม่ว่า หลัก ผู้ปกครองเรียกว่า นายหลัก หรือ แก่บ้าน มีตำแหน่งเป็น ท้าว เหมือนเดิม
(๒.)กลุ่มเจ้าเมืองขึ้น คำว่าเมืองขึ้นภาษาเค้าสนามเรียกว่า ลูกเมือง ซึ่งเมืองแพร่มีเมืองขึ้นเพียงเมืองเดียวคือ เมืองสอง ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองสองจะได้รับตำแหน่ง พระเมืองสอง ซึ่งเจ้าเมืองสององค์สุดท้ายชื่อ พระทุติยรัฐบุรินทร์(เจ้าน้อยมหาเทพ) ทั้งนี้ยังมีเขตพิเศษอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า เมืองแสนหลวง ซึ่งเป็นบ้านแต่เทียบเท่าเมืองผู้ปกครองบ้านนี้มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองขึ้น ชาวแพร่เรียกว่า บ้านดงหลวง ชาวเมืองของบ้านนี้เป็นชาวลื้อที่ถูกกวาดต้อนลงมาและเค้าสนามให้ชาวเมืองเลือกผู้ปกครองเอง ปัจจุบันคือบริเวณบ้านพระหลวงและบ้านหัวดง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

ทั้งนี้เมืองอื่นๆในประเทศราชล้านนาคือเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองนครน่าน เมืองเชียงราย เมืองพะเยา ก็มีระเบียบการปกครองเค้าสนาม ๓๒ ขุนเหมือนกัน แต่ชื่อของพระเมืองจะต่างกัน เช่น เจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าราชภาคินัย เจ้าราชดนัย เจ้าราชสัมพันธวงษ์ เจ้าประพันธวงษ์ เจ้าราชญาติ เจ้าวรญาติ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 พ.ค. 03, 10:48

น่าสนใจมากค่ะ  ขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง