เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 44931 เจ้านายที่มิได้อยู่ในราชวงศ์จักรี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 21 พ.ค. 03, 10:57

 เรามักจะนึกว่าเจ้านายในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งที่ทรงกรมและไม่ได้ทรงกรม เป็นพระองค์เจ้าหม่อมเจ้า  ล้วนแต่สืบสายพระโลหิตอยู่ในราชวงศ์จักรี
ไม่นับราชวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งกลายมาเป็นสามัญชน  บางคนรับราชการเป็นขุนนาง  หรือเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้านาย
และไม่นับเจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวงบางองค์ ซึ่งรอดจากพม่ามาได้  มีพระชนม์ชีพมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

แต่ความจริง มีเจ้านายส่วนน้อยจำนวนหนึ่ง เป็นบุคคลนอกราชวงศ์จักรี  แต่ดำรงพระยศเป็นเจ้านายอย่างถูกต้อง เป็นทางการ
คือ
1  กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์  พระภัสดาของกรมหลวงนรินทรเทวี  พระน้องนางเธอในรัชกาลที่ 1
แต่เชื้อสายต่อมานับเป็นพระราชวงศ์ทางฝ่ายพระมารดา  จึงอยู่ในราชสกุลจักรี   ใช้นามสกุลว่า นรินทรกุล ณ อยุธยา

2  พระองค์เจ้าขุนเณร   เป็นพี่น้องร่วมพระบิดากับกรมพระราชวังหลัง  
พระบิดาคือหม่อมเสม  พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวัง สมัยอยุธยา

พระอินทรรักษามิได้เป็นเชื้อสายราชวงศ์จักรี แต่ได้สมรสกับท่านสา พี่สาวคนโตของเจ้าพระยาจักรี  
ต่อมาท่านสาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี มีพระโอรสคือเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือกรมพระราชวังหลัง
ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าตามศักดิ์ทางแม่

พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นบุตรพระอินทรรักษากับอนุภรรยา  จึงไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิตกับราชวงศ์จักรี  แต่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า
ในรัชกาลที่ 1
ด้วยได้ทรงร่วมรบทำศึก มีฝีมือเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  โดยเฉพาะการรบแบบกองโจร
แต่ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อสายสืบต่อมา

3 กรมขุนสุนทรภูเบศร์  พระนามเดิมว่า เรืองเป็นสามัญชนชาวเมืองชลบุรี
 แต่ได้ผูกมิตรเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  เมื่อครั้งเป็นนายสุดจินดามหาดเล็กสมัยปลายอยุธยา
ถือว่ามีอุปการคุณต่อกันเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจลถึงเสียกรุง
ในรัชกาลที่ 1 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ
เชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุลว่าสุนทรกุล ณ ชลบุรี
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ค. 03, 02:08

 มาอ่านครับ

ขอบคุณเจ้าของกระทู้ครับ

ส่วนมากผมมักนึกถึงเจ้านายราชสกุลธนบุรีหรือสายสกุลราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่หลงมาถึงสมัยกรุงเทพฯ จริงๆ ไม่เคยทราบว่ามีเจ้านายที่ไม่ได้เป็นพระญาติร่วมสายโลหิตกับพระราชวงศ์จักรีได้รับสถาปนาเป็นเจ้านายในสมัยกรุงเทพฯ ด้วย

เรื่องของเจ้านายพระราชวงศ์ใหม่ เคยเห็นบทความใน ศิลปวัฒนธรรม เมื่อฉบับที่แล้วนี้เองมั้ง พูดถึงการที่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการพิจารณาแย้งกันว่า ควรจะถือใครหรือไม่ถือใครเป็นเจ้าด้วย เพราะขณะนั้นราชตระกูล (ใหม่) เพิ่งสถาปนา

ใน บุญบรรพ์ มีตอนหนึ่งเกี่ยวกับกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ที่รับสั่งว่า "แม่ข้าเป็นเจ้า" ต้องเชิญพระอัฐิแม่ท่านลงเรือตามพระอิสริยยศไป ไม่ให้ลงเรือธรรมดา จำรายละเอียดไม่ได้แล้วครับ

นั่นเป็นเรื่องสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมัยเรา ผมว่าระบบของไทยเรามีดีอย่างหนึ่งที่เจ้านายลดชั้นลงเรื่อยทุกรุ่น จนกลายมาเป็นสามัญชนภายในห้าหรือหกชั่วคนเท่านั้น (ลูก มรว. เป็นหม่อมหลวง ลูกของหม่อมหลวงเป็นคนธรรมดา) เพราะเข้าใจว่าในราชวงศ์บางประเทศเช่นทางอาหรับ เกิดมาเป็นเจ้าแล้วก็เป็นไปตลอดกาลชั่วลูกหลาน เว้นแต่ถูกถอด จนมีเจ้าเต็มประเทศไปหมด
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 พ.ค. 03, 21:09

 แล้วเจ้านายฝ่ายเหนือละครับ ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์จักรีด้วยเหมือนกัน

ลืมท่านเหล่านี้ไปแล้วหรือครับ

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖ มีงานพระราชทานเพลิงศพที่เมืองนครลำปาง ....

เจ้าหญิงบุษบง ณ ลำปาง พิราลัยในวันที่ ๑๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหีบทองราชนิกูลลายก้านแย่ง ชั้นหม่อมเจ้า และหีบเพลิงและไฟหลวงพระราชทาน จุดจากหน้าพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ...(ที่ต้องใช้คำว่าพิราลัยเพราะถือตามเจ้าล้านนาโบราณ หากตายแล้วจะพูดว่า พิราลัย แต่ทางกรุงเทพมักจะใช้ว่าถึงแก่กรรมบ้าง ถึงแก่อนิจกรรมบ้าง ถึงแก่อสัญกรรมบ้าง โดยเฉพาะหม่อมเจ้าต้องใช้ว่า ทิวงคต ?)...แต่สำหรับเจ้าหญิงฯล้านนาองค์นี้แล้ว เมื่อเรามีหนังสือกราบถวายบังคมลาพิราลัย ทางสำนักพระราชวังไม่ได้ทักท้วง จึงใช้คำว่า พิราลัย ... อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการของราชสำนักกรุงเทพ แต่ทางกรุงเทพก็ให้การยอมรับคำว่า พิราลัย ครับ

เจ้านายในประเทศไทยปัจจุบัน มิได้มีเพียงราชวงศ์จักรี หากแต่ยังมีเจ้านายฝ่ายเหนือด้วยนะครับ

ชื่นชอบและชื่นชมคุณเทาชมพูเสมอ อยากรู้จักตัวจริง แต่ไม่มีบุญพบกันสักที
(คนทำงานข้างห้องพี่จ้อ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 พ.ค. 03, 09:53

 ไม่ได้ลืมเจ้านายแห่งราชวงศ์ล้านนาหรอกค่ะ  แต่เสียใจที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอ   จำได้บ้างนิดหน่อยเรื่องเจ้าศิริรจจา   และข้ามมาถึงเจ้าดารารัศมี
เป็นความรู้ขาดๆวิ่นๆไม่ปะติดปะต่อกัน
ก็เลยไม่ได้เขียน
กำลังรอคนมีความรู้มาช่วยต่อกระทู้ค่ะ  คุณบ้านายคำเก่ง (ชื่อนี้แปลว่าอะไรคะ ยอดจริงๆ )จะช่วยต่อให้ดิฉันได้ไหมคะ
ดิฉันก็อยู่แถวๆเรือนไทยนี้ละค่ะ    ถ้านอกเรือนไทย   บางทีก็ไปอยู่แถวรั้วเดียวกับคุณจ้อ  แต่ต้องลากเส้นทะแยงมุม ข้ามสนามไปสุดริมรั้วโน่นเลยนะคะ
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 พ.ค. 03, 11:46

 สรีสวัสสดีครับ คุณเทาชมพู .... ยินดี(ภาษาล้านนาแปลว่า thank you)ที่มาทักตอบถ้องกันนะครับ ... ชื่อของผมบ้านายคำเก่ง ก็เหมือนกับชื่อของหลายๆคนนั้นแหล่ะครับไม่ได้มีอะไรพิเศษนัก คำว่า บ้านาย ก็แทนคำว่า คุณ ได้อยู่แล้ว ผู้ชายที่เมืองแพร่จะมีคำขึ้นต้นด้วยคำว่า บ้า ถ้าหากจะสุภาพต้องใช้คำว่า บ้านาย ส่วน คำเก่ง เป็นชื่อของผมเอง ดังนั้นคำว่า บ้านายคำเก่ง มีคนเดียวครับ คือผมเอง ที่เมืองแพร่รู้จักผมอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านายปากเจ็บ คือชอบด่าคนเป็นนิจ (ด่าเพราะชอบทำให้วัฒนธรรมล้านนาตกต่ำ เช่นเอาทุง(อ่านว่า ตุง)ไปแห่ในงานต่างๆ) ... ชื่อของผมคือ บ้านายคำเก่ง ไม่ต้องมีคุณก็ได้ครับ

กลับมาต่อถึงเรื่องเจ้านายฝ่ายเหนือในเรื่องของเมืองล้านนากันต่อนะครับ ... เจ้านายฝ่ายเหนือในปัจจุบันมีอยู่ ๓ สาย คือ
๑.สายเชื้อเจ็ดตน(ทิพยจักราธิวงศ์)
๒.สายติ๋นหลวงมหาวงศ์
๓.สายแพร่-เชียงตุง
โดยจะขออธิบายดังนี้

สายเชื้อเจ็ดตน ที่รู้จักกันดีคือชื่อพระนามของ พระเจ้าบรมราชาธิบดี หรือชื่อสามัญว่า พระเจ้ากาวิละ ต้นตระกูลมาจากเมืองละคอร(นครลำปาง)ชื่อ พญาสุลวลือไชย หรือ พญาไชยสงคราม ต่อมาเจ้านายบุตรหลานไปตั้งเมืองเชียงใหม่(ร้างตอนพม่ากวดคนยวนไปไว้ที่เชียงใหม่) ไปตั้งเมืองพะเยา ไปตั้งเมืองเชียงราย ไปตั้งเมืองละพุร(ลำพูน) ไปตั้งเมืองเชียงแสน ไปตั้งบ้านแม่ร่องสอน(ต่อมาเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ทำให้เจ้านายในราชวงศ์เชื้อเจ็ดตนมีมากเพราะควบคุมกันหลายเมือง แต่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เป็นเมืองใหญ่ดังนั้นนามสกุลพระราชทานของเจ้านายฝ่ายเหนือในวงศ์นี้จึงมีเพียง ๓ นามสกุลคือ ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำพูน

สายราชวงศ์ติ๋นหลวง คือสายเจ้าผู้ครองนครน่าน เดิมพญาติ๋นหลวงเป็นเพียงขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่แต่ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองน่านในยุคของพม่าปกครองล้านนา เมื่อมาเป็นประเทศราชของกรุงเทพในสมัยแรกเจ้าเมืองน่านยังได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ้าฟ้า เหมือนตำแหน่งเจ้าในปกครองของพม่า จวบจนกระทั่งเหตุการณ์ที่เวียงจันท์ เจ้าเมืองน่านเคยคิดที่จะไปเข้ากับเจ้าอนุวงศ์(พ.ศ.๒๓๖๙) ราชวงศ์เมืองน่านจึงถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากสยาม จวบจนมาถึงสมัยเงี้ยวปล้นเมืองแพร่(พ.ศ.๒๔๔๕) เจ้านครน่านได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าล้านนาประเทศราช และเป็นองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ล้านนา เจ้านายฝ่ายเหนือในวงศ์นี้ใช้นามสกุลพระราชว่า ณ น่าน

ราชวงศ์แพร่-เชียงตุง ต้นวงศ์ชื่อ พญามังไชย เดิมเป็นขุนนางตำแหน่ง พระยาแสนซ้าย แต่พม่าตั้งให้ครองเมืองแพร่ ต่อมาเข้าเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีมาจนถึงกรุงเทพ พญามังไชยมีราชบุตรเขยชื่อ เจ้าอุปปเสน(เจ้าน้อยเทพวงษ์) เป็นบุตรเจ้าฟ้าจุฬามณีสิริเมฆภูมินนรินทราเขมาธิบติราชา เจ้าเมืองเชียงตุง ต่อมาเจ้าอุปปเสนได้ครองเมืองแพร่ เป็น พญาเทพวงษ์ หรือ เจ้าหลวงลิ้นคำ มีราชบุตรก็ได้สืบราชวงศ์เป็นเจ้าหลวงต่อมา แต่ธิดาคน ๑ ไปแต่งงานกับหลานพญามังไชยอีกแล้วมีบุตรได้เป็นเจ้าหลวง ต่อมาเจ้าหลวงองค์นี้มีบุตรชื่อ เจ้าน้อยเทพวงษ์ ได้เป็นเจ้าหลวงอีก เจ้าหลวงองค์นี้ก็คือ เจ้าพิริยเทพวงษ์ฯ เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย ที่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ตราหน้าว่าเป็นกบฎนั่นเอง เจ้านายฝ่ายเหนือในวงศ์นี้จึงไม่มีใครกล้าขอพระราชทานนามสกุล ดังนั้นจึงไม่มี ณ แพร่

อนึ่งนามสกุลของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ขึ้นต้นด้วย ณ คือสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงและเจ้านายผู้ใหญ่โดยตรง แต่ยังมีนามสกุลอื่นๆอีกมากที่สืบมาจากเจ้านายฝ่ายเหนือเช่น มหาวงศนันท์ มหายศนันท์ สิโรรส มหายศปัญญา วังซ้าย เป็นต้น

(หากมีโอกาสจักได้นำเสนอในเรื่องอื่นๆของล้านนาต่อไปครับ)
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 พ.ค. 03, 13:06

 ขออนุญาติเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งครับ

ยังมีเจ้านายอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจากเมืองเชียงตุงซึ่งเป็นดินแดนล้านนาที่รวมอยู่ในประเทศพม่า เมื่อเจ้านายเหล่านี้เดินทางมาพำนักอย่างถาวรในประเทศไทยและในฐานะที่มีความเกี่ยวพันธ์เป็นเครือญาติทางเขยสะใภ้กับเจ้านายฝ่ายเหนือ จึงเรียกเจ้านายที่มาจากเมืองเชียงตุงเหล่านี้ว่า เจ้านายฝ่ายเหนือด้วยคือเจ้านายบุตรหลานของเจ้าฟ้าพรมลือฯ และแม่เจ้าทิพวรรณ ซึ่งได้รับนามสกุลพระราชทานว่า ณเชียงตุง

นอกจากนั้นแล้วยังมีเจ้านายบุตรหลานของเจ้าขุนศึกเมงราย เจ้าแกมเมืองเชียงตุง(คำว่า แกมเมือง เป็นตำแหน่ง เทียบเท่าเจ้าอุปราชเหมือนเจ้านายฝ่ายเหนือ) กับหม่อมธาดา ใช้นามสกุลว่า ขุนศึกเมงราย
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 พ.ค. 03, 18:00

 ขอบคุณพ่อนายคำเก่งครับ

พ่อนายเฮย ที่ว่า ราชกลุกเจ้าผู้ครองนครแพร่นั้น ไม่มี ณ แพร่ โดยที่ทางกรุงเทพฯ เห็นว่าเจ้านครแพร่เคยคิดเอาใจออกหากเลยไม่มีใครกล้าขอพระราชทานนามสกุลนั้น ผมเข้าใจว่า ผู้สืบเชื้อสายใช้นามสกุลว่า แพร่พันธุ์ คือไม่มี ณ แพร่ มีแต่แพร่พันธุ์ นามสกุลแพร่พันธุ์นี้คือนามสกุลของท่านผู้เป็นนักเขียนเอกฝีมือชั้นครูท่านหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย คือ คุณโชติ แพร่พันธุ์ หรือ ครู "ยาขอบ" ผู้สืบตระกูลจากครูยาขอบก็ยังทำงานในวงการหนึ่งสือ คือคุณมานะ แพร่พันธุ์ บรรณาธิการ นสพ. บ้านเมือง ในสมัยหนึ่ง

แม่นก่อ ป้อนาย?

ขอถามต่อด้วยว่า ณ ลำปาง อยู่ในสายไหนครับ สายเดียวกับ ณ เชียงใหม่และ ณ ลำพูนรึเปล่า
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 พ.ค. 03, 18:14

 ราชาศัพท์ที่ใช้กับเจ้านายฝ่ายเหนือผมก็ไม่แม่นเหมือนกัน

ผมรู้พอๆ หรือน้อยกว่าคุณเทาฯ แหละครับเรื่องนี้ คือรู้จักเจ้าศรีรจจา กับรู้จักอีกทีก็พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ความรู้ขาดวิ่นไม่ต่อกันเหมือนกัน รู้จักเจ้านายฝ่ายเหนืออีกท่านหนึ่งก็เจ้าน้อยมหาพรหมคำคง เท่านั้น หมดแล้วมั้งความรู้ผมเกี่ยวกับราชสกุลทางล้านนา

แต่ว่าถึงราชาศัพท์คำว่าพิราลัย ถ้าสำนักพระราชวังไม่ท้วงผมก็เห็นว่าคงใช้ได้ เท่าที่เคยอ่านมา หนังสือเก่าเวลาพูดถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ถวายราชาศัพท์ให้ท่าน แต่นั่นแหละ ท่านทรงมีสองพระฐานะ คือราชฐานะในราชสกุลฝ่ายเหนือขององค์ท่านเอง และในฐานะที่ทรงเป็นพระราชชายาในพระเจ้าอยู่หัว ร. 5 ด้วย

แต่จำได้แม่นว่าในหนังสือพระราชประวัติ ร. 5 เล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน กล่าวถึงพระราชหัตถเลขาที่ ร. 5 ทรงมีถึงพระราชชายาเจ้าองค์นี้ของท่าน ทรงกล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่ที่เป็นพระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (จะใช่พระเจ้ากาวิโลรสหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ขอความรู้ด้วยครับ) ซึ่งตอนนั้นท่านเพิ่งสิ้นไป พระราชชายาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาขึ้นไปเชียงใหม่ไปงานพระศพซึ่ง ร.5 ก็ทรงอนุญาตและให้มีของไปช่วยงานด้วย ดูเหมือนจะมีการก่ออนุสาวรีย์หรือพระเจดีย์อะไรสักอย่างอุทิศถวายโดยทางกรุงเทพฯ พระราชทานเงินมาช่วยทำ มีคำประกาศจารึกด้วย ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าในจารึกนั้น ถวายราชาศัพท์พระเจ้าเชียงใหม่ไว้เหมือนกัน จะใช้คำว่าพิราลัย หรือสูงกว่านั้น หรือจะเป็นคำอื่นไปเลยก็จำไม่ได้แล้วครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 พ.ค. 03, 18:26

 โทษครับ กดโพสต์อีท่าไหนไม่รู้ ออกไปสามความเห็นซ้อนๆ ข้อความเหมือนกัน
เลยต้องลบทิ้งเสียบ้าง ตัวเองลบของตัวเองไม่เป็นไร

ขอสู่มาเต๊อะ
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 พ.ค. 03, 19:53

 ยินดีจ๊าดนักครับ(Thank you very much) ที่คุณนิลกังขาสนใจเรื่องราวของชาวล้านนา ... ณ ลำปาง เป็นสายสกุลในเชื้อเจ็ดตนครับ ประกอบด้วย ณ เชียงใหม่, ณ ลำปาง, ณ ลำพูน ... ผมต้องกล่าวคำว่า ขอสูมาเต๊อะ(I'm sorry) ด้วยนะครับ พิมพ์ ณ ลำพูน ซ้อนกันสองตัว ... รอให้ผู้ชำนาญเรื่องนครลำปางมาทักท้วงแต่ยังไม่ทักมาเลยครับ ... ส่วนเรื่องของราขสกุลสายเชื้อเจ็ดตนรอผู้ชำนาญการมาต่อกระทู้แล้วกันนะครับ ผมก็ไม่ค่อยจะมีความรู้มากนัก อยากแบ่งให้ท่านอื่นแสดงความคิดเห็นบ้าง

หากจะกล่าวถึงเรื่องราชวงศ์เจ้านายล้านนาในส่วนที่รวมกับสยามกลายเป็นประเทศไทยแล้ว เจ้านายล้านนาไม่มีคำราชาศัพท์ครับ นอกจากคำเฉพาะบางคำที่ใช้เรียกเจ้าเมืองและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น เช่นต่อไปนี้

เจ้าผู้ครองนคร  ไพร่เมืองจะเรียกว่า พ่อเจ้า ในระบบการปกครองจะมีกลุ่มผู้ปกครองเรียกว่า เค้าสนามหลวง มีเจ้าผู้ครองนครเป็นประธานมีอำนาจใหญ่ที่สุดจึงเรียกเจ้าผู้ครองนครอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าหลวง และในการพระศาสนาจะพบการเรียกเจ้าผู้ครองนครว่า สมเด็จมหาราชหลวง
ภรรยาเจ้าผู้ครองนครที่มีเชื้อสายเจ้านาย เรียกว่า แม่เจ้า และมีแม่เจ้าองค์ ๑ จะเป็นใหญ่กว่าแม่เจ้าทั้งปวงจะมีคำตามหลังว่า ราชเทวี หรือ อัคคชายา เรียกว่า อัคคชายาผู้เค้า(อ่านว่า อั๊ก๊ะ-จา-ยา-ผู้-เก๊า)เมื่อเจ้าหลวงองค์เดิมตายไปแล้วเมื่อบุตรได้ครองเมืองจะเลื่อนเป็นแม่เจ้าหลวง เรียกว่า แม่เจ้าเทวี , ส่วนภรรยาของเจ้าหลวงที่เป็นไพร่จะเรียกว่า เจ้า นำหน้า ... แต่ภาษาราชสำนักที่กรุงเทพเรียกภรรยาของเจ้าเมืองว่า นาง ทั้งหมด และเรียกเจ้านายบุตรหลานผู้ชายว่า นาย และไพร่เรียกว่า อี่ กับ อ้าย

ชื่อพระเจ้าบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีชื่อ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ครับ

ส่วนเรื่องของยาขอบนั้นชื่อจริงในหมู่เครือญาติว่า เจ้าอินทประสงค์ แต่ไม่ได้มาที่เมืองแพร่จึงรู้จักกันแต่ นายโชติ นามสกุลแพร่พันธุ์เป็นนามสกุลประทานจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เจ้าบิดาของยาขอบเป็นราชบุตรองค์เดียวของเจ้าพิริยเทพวงษ์กับแม่เจ้าบัวไหลอัคคชายาชื่อ เจ้าอินแปง (อ่านว่า อิน-แป๋ง หมายถึง พระอินทร์ลงมาปั้นแต่งให้ดูงาม แต่คำนี้เด็กๆสมัยใหม่ชอบหัวเราะว่า โบราณ) เรื่องราวอันรันทดของนายโชติก็เหมือนในหนังสือเล่มต่างๆที่ผู้เขียนแต่ละท่านได้กล่าวไว้นั่นแหล่ะครับ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าอินแปงต้องมาแต่งงานกับ เจ้าทิพย์เกษร ธิดาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ที่เมืองน่าน เนื่องจากได้หมั้นกันไว้ก่อนเงี้ยวจะก่อการจราจลที่เมืองแพร่แล้ว ... อนิจจา นายโชติ กับนามปากกา ยาขอบ ผู้โด่งดัง ชีวิตช่างเหมือนละครนะครับ ยาขอบก็เป็นคนหนึ่งที่ผมชอบครับ ผู้ชนะสิบทิศ

ส่วนนักประพันธ์ที่ผมชื่นชอบที่สุดคือ ท่านอากาศ หรือ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เจ้าชายนักประพันธ์ วิสูตร ศุภลักษณ์ ผู้หลงรักมาเรีย วาเนสซี ... วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ท่านอากาศได้จากโลกนี้ไป ผมก็เสียดายที่เกิดมาช้าไป ไม่ทันได้ทันเห็นความโด่งดังของ ละครแห่งชีวิต ...

หากมีข้อข้องใจเรื่องล้านนาก็สอบถามกันมาได้นะครับ ถึงแม้ผมจะมีความรู้ แต่ก็จะพยายามครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 00:28

 ผมมีเพื่อนใช้นามสกุลว่า เชื้อเจ็ดตน ครับ เป็นคนลำพูน สงสัยว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร วานบ้านายคำเก่งช่วยเฉลยได้บ่กา
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 08:14

 ต้องขอกล่าวคำว่า สูมาเทอะ อีกครั้งหนึ่งสำหรับคุณ CrazyHOrse ... นามสกุลเชื้อเจ็ดตนอยู่ในสายทิพจักราธิวงศ์ของเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ... เมื่อวานผู้ชำนาญการเรื่องนี้รับปากผมไว้แล้วว่าจะมาให้รายละเอียดในเรื่องของราชวงศ์เชื้อเจ็ดตนให้ ... ขอให้คุณ CrazyHOrse รอหน่อยนะครับ อดใจรออีกสักสองวัน

ผมจะตอบไปความรู้ก็ยังน้อยนัก เกรงว่าจะปล่อยไก่ตัวเบ้อเร้อไว้ในบอร์ดวิชาการ อันทรงเกียรติแห่งนี้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 02 มิ.ย. 03, 12:55

 ระหว่างที่รออ่านนามสกุลเชื้อเจ็ดตน   พบเว็บเกี่ยวกับพระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ

เจ้าดารารัศมีประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงกลางนครเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงได้รับการศึกษาจากพระชนกชนนีในเรื่องอักษรไทยเหนือและใต้เช่นเดียวกับกุลบุตรกุลธิดาในสมัยนั้น เมื่อเจ้าดารารัศมีทรงเจริญพระชันษาได้ ๑๓ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์จัดพิธีโสกันต์พร้อมกับพระราชทานเครื่องโสกันต์ระดับเจ้าฟ้าให้เจ้าดารารัศมีทรงในพิธีอีกด้วย เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระบิดาซึ่งเสด็จมาร่วมงานพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ เจ้าดารารัศมีมีพระราชธิดาพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีแต่ทรงเจริญพระชันษาเพียง ๓ปีเศษก็ประชวรสิ้นพระชนม์
เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดาถึงแก่พิราลัย เจ้าดารารัศมีจึงทรงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จขึ้นไปเยี่ยมนครเชียงใหม่ เนื่องจากได้เสด็จมาประทับที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา ถึง ๒๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต  อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ จัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมีจากเจ้าจอมมารดาขึ้นเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
แต่หลังจากที่พระราชชายาเสด็จกลับจากเชียงใหม่ได้เพียง ๑๐ เดือนก็ต้องทรงประสบความเศร้าโศกอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อมาพระราชชายายังคงประทับ ณ พระตำนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับนครเชียงใหม่ พระราชชายาทรงดำรงพระชนม์อย่างสงบสุข ณ พระตำหนักดาราภิรมย์อยู่หลายปีจนสิ้นพระชนม์ด้วยโรงปัปผาสะพิการ (โรคปอด) เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ คุ้มรินแก้ว รวมสิริพระชันษาได้ ๖๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระศพเป็นงานพิธีหลวง พระอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่พระกู่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง อีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 http://www.geocities.com/lanna_thai/html/person/index2.htm

ส่วนภาพวาดที่นำมาให้ดูกัน เป็นฝีมือคุณหทัย บุนนาค  วาดฉลองพระองค์ของเจ้าดารารัศมีค่ะ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 มิ.ย. 03, 12:13

 ขอเพิ่มเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเจ้าดารารัศมีค่ะ
-   ขณะประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  เจ้าดารารัศมีมีตำหนักส่วนพระองค์  มีบรรยากาศชาวเหนือแปลกตาไปจากตำหนักฝ่ายใน อื่นๆ  คือข้าหลวงนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมมวย  แบบชาวเหนือ   พูดคำเมือง และกินอาหารแบบเหนือ  มีเมี่ยงแจกกันกินเป็นประจำ
-   เจ้าดารารัศมี  เป็นที่รู้จักในพระนามสั้นๆ ว่า "เจ้าน้อย"
-   ทรงวางพระองค์สงบเสงี่ยม พระอัธยาศัยนิ่มนวล สุภาพและตรัสน้อยมาก เมื่ออยู่ในพระบรมมหาราชวัง  แต่เมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่แล้ว  ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ  เป็นหลักของบ้านเมืองให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเคารพนับถือได้   รวมทั้งชาวต่างประเทศด้วย
-   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงให้ความนับถือเจ้าดารารัศมีอย่างสูง  เคยตรัสกับพระธิดาว่า
" กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก   เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ  แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน"
- เมื่อทรงพระครรภ์   เจ้าดารารัศมีทรงสุบินว่า ได้เสวยงวงช้างย่าง    เมื่อความทราบถึงเจ้าอินทวิชยานนท์     ก็ทรงจัดการให้มีการส่งงวงช้างย่างมาให้เสวยถึงกรุงเทพจริงๆ
- เมื่อพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี  (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี )สิ้นพระชนม์   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยมาก   ทรงปรารภว่าเป็นความผิดของพระองค์เองที่มิได้ทรงตั้งพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เป็นเจ้าฟ้าอย่างที่ควรจะเป็น    พระราชธิดาจึงมิได้ทรงอยู่ด้วยนาน
บันทึกการเข้า
kenkorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 35

อาจารย์พิเศษ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 พ.ค. 05, 17:48

 แล้วต้นสกุล ณ นครละครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง