เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6774 เรียนถามท่านผู้รู้ค่ะ เรื่อง......พระมหาธรรมราชา.....
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


 เมื่อ 03 มี.ค. 03, 11:58

 เล่าที่มาของกระทู้นี้นิดหนึ่งนะคะ หลังจากได้อ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง บารมีพระแม่ป้อง ปกพื้นธรณิน" ของแก้วเก้า
และได้ดู "สุริโยไท" ซ้ำอีกครั้งหนึ่งอย่างพินิจพิเคราะห์
แล้ว ทองรักเกิดสงสัยว่าทำไม พระมหาธรรมราชาซึ่งใน "สุริโยไท" เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของพระมหาจักรพรรดิ์ ถึงได้กลายมาเป็นผู้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงในประวัติศาสตร์ไทยว่า เป็นผู้มีส่วนทำให้ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 แก่พม่า

ด้วยความอยากรู้ว่าหลังจากที่สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว  เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง จึงทำให้พระมหาธรรมราชาซึ่งเป็นราชบุตรเขยของพระมหาจักรพรรดิ์เอาใจออกห่าง

และในความรู้สึกของตัวเองนะคะ ถ้าท่านเป็นคนไม่ดี ทรยศต่อชาติไทยอย่างที่ถูกกล่าวหา ท่านก็ไม่น่าจะสามารถอบรมโอรส-ธิดาทั้งสามองค์ของท่านให้เป็นคนดีทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินได้ขนาดนั้น

ยังไม่ทันที่จะมีโอกาสได้ไปศึกษาเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พอดีได้มีโอกาสอ่าน "กษัตริยา" นิยายอิงประวัติศาสตร์ของคุณทมยันตี ซึ่งผู้แต่งบอกไว้ว่า ใช้ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 3 ภาค 6 เป็นแก่นของเรื่อง ก็ได้พบว่าผู้เขียนตีความความคิดอ่านของพระมหาธรรมราชาในอีกแนวหนึ่ง
นับว่าน่าสนใจดี เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ ในฐานะนักอ่านนะคะ ไม่ใช่ในฐานะนักประวัติศาสตร์

ผู้แต่ง "กษัตริยา" ตีความว่า พระมหาธรรมราชา ท่านเป็นเสนาธิการชั้นยอด รู้ว่าเมื่อไรควรรบ เมื่อไรควรถอย
ยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ มิฉะนั้นแล้วการเสียกรุงครั้งแรก คงจะย่อยยับเหมือนครั้งที่สอง

พระมหาธรรมราชาใน "กษัตริยา" นั้นทรงมีความคิดว่า
ศักดิ์นั้นสูญไปแล้ว อาจกู้คืนได้ ถ้ายังมีชีพอยู่
แต่ชีพนั้นสูญสิ้นไปแล้ว ทุกสิ่งก็สูญตามไปด้วย
พระองค์จึงทรงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า รักษาบ้านเมืองเอาไว้ไม่ให้สูญเสียย่อยยับมากไปกว่านี้  เพื่อรอวันของเรา (หมายถึงของไทย)  วันที่ลูกท่านจะเติบใหญ่ขึ้นมากอบกู้แผ่นดินกลับคืน ......

จากนั้นได้มีโอกาสอ่านบทความในศิลปวัฒนธรรม ที่กล่าวถึง
พระสุวัฒน์ ผู้ร่วมมือกับออกญาพิษณุโลก มอบอโยธยาแก่บุเรงนอง

บทความของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ว่าด้วยเรื่อง
พระมหาธรรมราชาธิราช : อำนาจเดิมที่กลับมาของราชวงศ์สุโขทัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546

อ่านแล้วก็ยังไม่หายสงสัยยังไม่หายคาใจ กำลังจะหาหนังสือของอาจารย์พิเศษเรื่อง พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช
มาอ่านต่ออยู่นี่แหละค่ะ ทราบมาว่าหนังสือเล่มนี้เพิ่งออก

ในระหว่างนี้เลยคิดว่ามาชวนเชิญ คุณเทาชมพู (แม่ศรีเรือนไทย) คุณหลวงนิล (ผู้สันทัดทุกกรณี)  
คุณพระนาย (ผู้มาจาก "เรือนมยุรา" เหมือนกัน)
และเพื่อนๆ  พี่ ๆ ทั้งหลายในเรือนไทยคุยกันก่อนดีกว่าว่า
คิดอย่างไรกับเรื่องนี้คะ พระมหาธรรมราชานั้นนับได้ว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติไทยจริงหรือคะ

อยากชวนเสวนากันเล่น ๆ มากกว่าคุยแบบจริงจังชนิดต้องมีหลักฐานมาอ้างอิงหนักแน่น

ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาร่วมสนทนานึกว่ามาช่วยให้ความรู้และช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ที่รู้น้อยกว่าอย่างทองรักก็แล้วกันนะคะ
ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 มี.ค. 03, 15:34

 ตามความเห็นส่วนตัว
การที่พระมหาธรรมราชายอมอ่อนน้อมต่อบุเรงนอง   ความในพระทัยเป็นยังไง   ไม่อาจรู้ได้
แต่ดิฉันขอมองจากปริบททางสังคมสมัยอยุธยาว่า การอ่อนน้อมต่อผู้เป็นใหญ่กว่า ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแหวกแนวอะไร   และก็ไม่ใช่เรื่องต้องประณามหยามเหยียดกัน

อาณาจักรที่มีกำลังน้อย สู้อาณาจักรแข็งแรงกว่าไม่ได้ก็ยอมอ่อนน้อม เพื่อไม่ให้สูญเสียมหาศาล   เสียรี้พลและบ้านเมืองแตกพินาศก็มีอยู่มากมายหลายยุคในประวัติศาสตร์แหลมทอง
เป็นนโยบายทางการเมืองแบบหนึ่ง ของผู้ครองอาณาจักร  
เรียกเพราะๆว่า "เป็นไมตรีต่อกัน"  หรือเรียกให้ระคายหูว่า "เป็นเมืองขึ้น"

เช่นเจ้าแผ่นดินล้านนาเอง หลายองค์ หลายยุค  ก็อยู่ในฐานะเดียวกับพระมหาธรรมราชา
คือ "เป็นไมตรีต่ออยุธยา"  อย่างในหนังเรื่องสุริโยไท ก็มีให้เห็น
ว่าพระนางที่ครองล้านนาก็เปิดประตูเมืองมาอ่อนน้อมต่อกษัตริย์อยุธยา
เราก็ไม่เคยไปตั้งคำถามกับท่านเหล่านั้นเลยว่า ท่านทำอย่างนั้นถูกหรือผิดต่อบ้านเมืองท่าน
(ต้องขออภัยที่ยกตัวอย่างล้านนา   มิได้มีเจตนาจะให้สะเทือนใจชาวเหนือคนใดทั้งสิ้น  เพียงต้องการยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆว่าในอดีต มีความเป็นมาอย่างไร)
นอกจากล้านนา ก็มีอีกหลายอาณาจักรที่อ่อนน้อมต่ออยุธยา   ด้วยการยอมโดยดีบ้าง ใช้กำลังกันบ้าง  เราก็ไม่เคยไปตั้งคำถามกับเจ้าผู้ครองเหล่านั้นว่า..ท่านทำถูกรึทำผิดต่ออาณาจักรของท่าน
ดูเหมือนว่าเราจะพอใจเสียด้วยซ้ำที่เรียนรู้ว่าอาณาเขตอยุธยาแผ่กว้างขยายออกไปมาก  แสดงถึงความเก่งกาจของอาณาจักรเรา

เพราะงั้น...ดิฉันจึงไม่สงสัย  เมื่อมีอาณาจักรอีกแห่งหนึ่ง ที่ในบางยุคเขาแข็งแกร่งกว่า พอจะทำกับเราได้ในแบบเดียวกัน  
เรียกได้ว่าเป็นแบบแผนปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนตั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ต้นจนปลายอยุธยา เรื่อยมาจนรัตนโกสินทร์
ราชตระกูลของอาณาจักรที่ยอมอ่อนน้อม กลายมาเป็นขุนนางในอาณาจักรใหญ่ก็มี  
เป็นโอรสบุญธรรมก็มี  เจ้านายผู้หญิงในนั้นกลายเป็นบาทบริจาริกา เป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามมีพระราชโอรสธิดาสืบสายมาเป็นเจ้านายของอาณาจักรใหญ่ก็เยอะแยะ
เพราะสมัยนั้นแนวคิด Nationalism หรือชาตินิยม ไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจกันในสมัยนี้   จะเอาแนวคิดปัจจุบันเป็นมาตรฐาน ภาพก็ออกมาบิดเบี้ยวไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า การดิ้นรนเพื่อหาทางปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ จะไม่มีเอาเสียเลย ในประวัติศาสตร์  ตรงกันข้าม ก็มีให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง
ผู้ที่มีความเข้มแข็งพอจะกล้าทำ หาได้ยาก   และทำได้สำเร็จยิ่งหายากหนักเข้าไป
เมื่อทำแล้ว ก็เป็นที่ยกย่องสรรเสริญในอาณาจักรถิ่นเกิดของท่านเหล่านั้น   เหมือนดังที่เราสรรเสริญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หรือลาวยกย่องสรรเสริญเจ้าอนุวงศ์
เรียกว่าบ้านเมืองใครใครก็รัก และอยากรักษาหรือส่งเสริมให้ดีที่สุด  ถ้าทำไม่ได้ก็ชะลอให้เสียหายน้อยที่สุด
แต่เราก็หวังไม่ได้ว่า  คนบ้านอื่นเมืองอื่นเขาจะมารักอาณาจักรเราเท่ากับเขา
คนที่ดิ้นรนอยากเป็นไทแก่ตัว จึงมีอยู่เสมอ

ดิฉันถึงยกย่องสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ ดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการนำเชื้อสายเจ้าต่างอาณาจักรมาชุบเลี้ยงอย่างพระโอรสบุญธรรม เพื่อผูกใจให้จงรักภักดี  สะท้อนกลับมาเป็นความมั่นคงของอาณาจักรสยาม
แต่ดิฉันก็ไม่ตำหนิเจ้าอนุวงศ์ที่กลับบ้านเมืองแล้วคิดตั้งตัวเป็นใหญ่   เพราะบ้านเมืองใครใครก็รักมากกว่าอย่างที่ว่า

แต่ดิฉันจะต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับคนไทยด้วยกัน ที่ไปเห็นใจเข้าข้างต่างชาติไม่ว่าชาติไหน  แล้วกลับมาประณามบรรพบุรุษของเราเองว่าทำผิดต่อเขา  โดยไม่ดูปริบททางสังคมในอดีตว่าเป็นมายังไงค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 มี.ค. 03, 15:46

 ย้อนกลับมาเรื่องพระมหาธรรมราชา   นอกจากเหตุผลอย่างที่กล่าวข้างบนนี้
ดิฉันมองว่าเหตุการณ์การเมืองภายในอยุธยาเอง มีส่วนผลักดันให้พระมหาธรรมราชาโอนอ่อนไปพึ่งผู้ใหญ่ที่ส่งเสริมตัวเองมากกว่า
คือบุเรงนอง
เพราะเมื่อสิ้นพระมหาจักรพรรดิผู้ที่พระมหาธรรมราชาเคารพแล้ว  พระมหินทร์กับพระมหาธรรมราชาก็คือเสือสองตัวในถ้ำอยุธยาเดียวกัน
มีความระแวงและชิงดีชิงเด่นกันอยู่ในที
พระมหินทร์ไม่มีบารมีพอที่พระมหาธรรมราชาจะเกรงใจ     ดูๆแล้ว จะให้พี่เขยเกรงใจน้องเมียก็คงยาก   แล้วพี่เขยคนนั้นก็เคยเก่งถึงกับรัฐประหารขุนวรวงศาฯมาแล้วด้วย
น้องเมียยังไม่ได้แสดงฝีมือให้เห็นขนาดนั้นเลย แต่ขึ้นมาใหญ่กว่า
เมื่อมีการกินแหนงแคลงใจ อาจจะเกินเลยไปถึงการต่อต้านและง้างอำนาจกันอยู่เงียบๆ
พระมหาธรรมราชาก็มีทางเลือก ๒ ทาง คือ จะอยู่แบบเดิมให้พระมหินทร์กำจัดเสียในวันใดวันหนึ่ง ที่เพลี่ยงพล้ำ
หรือว่าจะพึ่งบุเรงนอง ซึ่งอุ้มชูท่านอยู่แล้ว
ตามนโยบาย divide and rule ของบุเรงนอง
ท่านก็เลือกอย่างหลัง  แล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่คิดเอาไว้   คือพระมหินทร์ก็หมดอำนาจ ถูกโค่นไปจริงๆ แล้วพระมหาธรรมราชาก็ได้รับการเชิดชูขึ้นนั่งบัลลังก์
เรียกว่าการเมืองของบุเรงนองได้ผล
การเมืองแบบนี้ไทยก็เคยนำมาใช้กับอาณาจักรเพื่อนบ้านเหมือนกัน  ลองนึกดูให้ดีเถอะค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85

Graduate Student New Mexico Institute of Mining and Technology, Socorro, NM USA


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 มี.ค. 03, 06:52

 ไม่ได้เข้ามาซะนานจริง ๆ
มาเห็นกระทู้นี้ ก็ขอร่วมแสดงความคิดเห็นตามประสาของผมว่า

เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากเรื่องของอำนาจครับ
ถ้าเป็นอย่างที่ผมเคยเรียนรู้มาคือ พระเธียรราชา
(พระมหาจักรพรรดิ์) นั้นได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา นั้นก็เพราะว่าพระมหาธรรมราชาและขุนนางอีกสามหรือสี่คน (ผมจำชื่อไม่ได้) เป็นผู้ช่วยกันวางแผนจับท้าวศรีสุดาจันและขุนวรวงศาสำเร็จโทษ แล้วจึงไปเชิญพระเธียรราชาที่ออกผนวชอยู่กลับมาเป็นกษัตริย์
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์นั้น ก็ได้แบ่งผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับพระมหาธรรมราชาด้วยการให้ไปครองเมืองพิษณุโลก ยกลูกสาวให้แต่งงานกับพระมหาธรรมราชา
ซึ่งในการนี้ผมคิดว่า พระมหาธรรมราชาคงคิดแล้วว่าบทบาททางการเมืองและความชอบธรรมในราชสมบัตินั้น พระเธียรราชามีมากกว่าตัวพระมหาธรรมราชาเอง ไม่งั้นก็คงก่อการและขึ้นเป็นกษัตริย์เองแต่แรก แต่คาดว่าในหมู่ขุนนางและเชื้อพระวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาตอนนั้น คงยอมรับพระเธียรราชามากกว่า
พระเธียรฯ เองพอได้ครองราชย์เป็นพระมหาจักรพรรดิ์ ก็คงทรงทราบดีว่า พระมหาธรรมราชามีกำลังทางทหารและมีความชอบมากจึงตั้งให้ไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นใหญ่ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วเหมือนจะแต่งตั้งให้มหาอุปราช ด้วยหรือเปล่าเนี่ยผมไม่ทราบแน่ แต่อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นเจ้าเมืองพิษณุโลกมักจะดำรงตำแหน่งมหาอุปราชด้วยอีกตำแหน่งนึง
โดยธรรมเนียมการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยานั้น มักจะบอกว่า จากพระมหากษัติรย์จะยกราชสมบัติต่อให้มหาอุปราช ซึ่งมักจะเป็นน้อง แต่พอถึงเวลาจริง กษัตริย์มักจะยกสมบัติให้ลูกตัวเองแทน เลยเป็นเหตุให้มีข้อพิพาทระหว่างอากับหลาน อยู่เป็นประจำ
กรณีนี้ก็เช่นกัน สมัยพระมหาจักรพรรดิ์ยังเป็นกษัตริย์อยู่ พระมหาธรรมราชาก็ยอมอ่อนน้อมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน
แต่พอเปลี่ยนจากพระมหาจักรพรรดิ์ เป็นพระมหินทร์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระมหาจักรพรรดิ์
แทนที่จะเป็นพระมหาธรรมราชา การนี้ผมว่าก็เป็นเหตุนึงแล้วที่อาจจะทำให้พระมหาธรรมราชาไม่ชอบใจขึ้นได้
แล้วเท่าที่ผมทราบมา พระมหาธรรมราชาก็ไม่ได้ทำการทรยศอะไรอย่างมากมาย เพียงแต่ไม่ยกกองทัพจากพิษณุโลกเข้าช่วยกรุงศรีอยุธยา โดยยอมอ่อนน้อมต่อบุเรงนองซะก่อน
แล้วบุเรงนองก็คงรู้การเมืองของกรุงศรีอยุธยา จึงตกรางวัล
พระมหาธรรมราชาด้วยการให้เป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา
ดังนั้นผมจึงคิดว่า พระมหาธรรมราชานั้นใจคงเพียงแต่คิดอยากจะได้ราชสมบัติที่คิดว่า ตัวเองควรจะได้ต่อจาก
พระมหาจักรพรรดิ์อยู่แล้ว เลยไม่คิดที่จะช่วยพระมหินทร์ทำศึกกับพม่า ส่วนการได้ครองกรุงศรีอยุธยา เพราะบุเรงนองยกให้เป็นนั้น ก็เป็นผลพลอยได้ขึ้นมา
พระองค์ก็คงคิดแข็งข้อกับพม่าเหมือนกัน เพียงแต่เวลาและจังหวะไม่เหมาะสม จนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรฯ ท่านเติบใหญ่เป็นนักรบเต็มที่จึงทำการประกาศเอกราชขึ้นมา
ในมุมมองของผม การแย่งอำนาจในสมัยโบราณนั้นไม่มีใครถูกใครผิดหรอกครับ คนจะเป็นใหญ่จะต้องเด็ดขาด ถ้าไม่ฆ่าหรือกำจัดศัตรูก็ต้องถูกกำจัดไป
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 มี.ค. 03, 18:36

 ขอบคุณทั้งสองท่านมากค่ะ ที่ทำให้ทองรักมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ช่วงที่หาข้อมูลเรื่องนี้อยู่นะคะ
ลอง seach ดูตามเว็บต่าง ๆ แต่ข้อมูลที่ได้มาก็แทบไม่ต่างจาก
ที่เคยรู้มาตามตำราเรียนเลยค่ะ แถมมีข้อความระบุไว้อีกว่า
ท่านกระทำการเหมือนคนไทยที่ไม่รักชาติ
แต่ทองรักเห็นตามคุณเทาชมพูกับคุณพระนายนะคะ
เพราะจริง ๆแล้วคำว่าชาติหรือประเทศนี่เรากำหนดกันขึ้นมาภายหลังไม่ใช่หรือคะ สมัยนั้นมีแค่อาณาจักรต่าง ๆ เท่านั้นนี่นา
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 มี.ค. 03, 18:50

 มีบทความที่น่าสนใจมาฝากค่ะ

แฉ-หลักฐานที่ปิดบังมานาน ไส้ศึกของหงสาวดี อยู่ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงครั้งแรก พ.ศ. ๒๑๑๒ คือ "เจ้านาย" ของอยุธยา มเหสีพระมหาธรรมราชา-นั่นเอง

แต่อ่านครั้งแรกงงอยู่นานมากค่ะ จับต้นชนปลายไม่ถูกเลย
จนมาอ่านบทความบทนี้ถึงเข้าใจมากขึ้น

พระมหาธรรมราชาธิราช : อำนาจเดิมที่กลับมาของราชวงศ์สุโขทัย  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มี.ค. 03, 11:23

 แนวคิดชาตินิยม  ได้รับการสนับสนุนให้เข้มข้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ค่ะ   แล้วมาย้ำกันอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  โดยจอมพลป. พิบูลสงคราม   มีคุณหลวงวิจิตรวาทการเป็นมือขวา สร้างผลงานในแนวปลุกใจให้รักชาติค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85

Graduate Student New Mexico Institute of Mining and Technology, Socorro, NM USA


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 มี.ค. 03, 04:58

 อ่านกระทู้เรื่องที่ 2 เรื่องพระมหาธรรมราชาธิราช
แล้วผมเข้าใจมากกว่ากระทู้แรก ที่อ่านแล้วดูงง ๆ มาก

การแย่งชิงอำนาจในสมัยโบราณนั้น เป็นการยากที่จะเอามาตรฐานปัจจุบันไปใช้ตัดสิน
สมัยก่อนอำนาจนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และขุนนางใกล้ชิด
องค์พระมหากษัตริย์ก็ต้อง ถ่วงดุลย์อำนาจ และทำตัวให้เหล่าขุนนางเคารพยำเกรง เพราะถ้าเมื่อไหร่ กษัตริย์เริ่มแสดงความอ่อนแอในการตัดสินใจและการปกครองแล้ว ก็จะถูกครอบงำหรือแย่งชิงอำนาจได้ทันที แล้วการแย่งชิงอำนาจในสมัยก่อนมันก็จำเป็นที่จะต้องทำให้เด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
จะว่าโหด ก็คงโหด แต่ก็จำเป็นที่จะต้องโหด
กรณีของพระมหาธรรมราชานั้น ก็แทบจะไม่ต่างกับกรณีการขัดแย้งกันระหว่างเชื้อพระวงศ์กับขุนนางผู้มีอำนาจในสมัยโบราณ
ถ้าจะมีแตกต่างก็ตรงที่ พระมหาธรรมราชา เลือกที่จะไปเข้าข้างพม่า ที่ถือว่าเป็นคนต่างชาติต่างภาษา
ไม่เช่นนั้นถ้าดูในประวัติการเปลี่ยนราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาแล้วก็จะเห็นว่า มีเหตุการณ์รุนแรงไม่แพ้เมืองจีนเหมือนกัน
อย่าง พระไชยราชาก็แย่งชิงราชสมบัติจากพระรัษฏาธิราช ที่ยังเป็นเด็ก ไม่กี่ขวบ
พระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ได้ราชสมบัติมาจากการที่พระมหาธรรมราชาและพวกจัดการกับขุนวรวงศาและญาติ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ราชสมบัติมาจากการก่อการเช่นเดียวกัน
หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ต้องทำการปราบชุมนุมนึงที่เจ้าชุมนุม เป็นพระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้านายสายตรงของกรุงศรีอยุธยาด้วย
หรือแม้แต่เหตุการณ์ในบั้นปลายสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากฯ เองที่เราเคยคุยกันในกระทู้เก่า ๆ
จะเห็นว่า เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดในระบบการปกครองแบบกษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอยู่แล้ว เพราะอำนาจเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องการ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 มี.ค. 03, 00:51


อ๋อ  เข้าใจแล้วครับ
แสดงว่าความคิดของคุณทมยันตีเป็นเพียงแค่แนวคิดสำหรับนิยายใช่มั้ยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 มี.ค. 03, 08:43

 ใช่ค่ะ
นิยาย ตามหลักวิชาการแล้ว ไม่นับเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ค่ะ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 มี.ค. 03, 09:48

 ครับ ทัศนคติด้านเชื้อชาติของผู้คนในแถบนี้ในยุคโบราณน่าจะมีความแตกต่างจากปัจจุบัน  เช่นการรบเพื่อการกวาดต้อนผู้คนมาเป็นพลเมือง ดูจะเป็นหลักฐานสำคัญให้เราได้เข้าใจถึงทัศนคติที่ไม่ค่อยเป็นเชื้อชาตินิยมเท่าใดนัก  การมีอัครเสนาบดีที่เป็นกรีก  การมีกษัตริย์ที่เป็นลูกจีน  ตลอดจนเมืองต่างๆในยุคกรุงศรีฯที่บางครั้งกษัตริย์ตั้งเจ้าเมืองเป็นเปอร์เฃียบ้าง  เป็นอังกฤษบ้าง  ล้วนสนับสนุนความเห็นข้างต้นนี้เช่นกัน

และประเพณีการจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีนสืบทอดตั้งแต่ต้นกรุงศรีฯ  ก็สนับสนุนทฤษฎีต้นอ้อลู่ลมของการเมืองในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี
บันทึกการเข้า
ผู้ไม่รู้
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ก.ค. 14, 15:24

จากคำถามของคุณทองรัก..
ทองรักเกิดสงสัยว่าทำไม พระมหาธรรมราชาซึ่งใน "สุริโยไท" เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของพระมหาจักรพรรดิ์ ถึงได้กลายมาเป็นผู้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงในประวัติศาสตร์ไทยว่า เป็นผู้มีส่วนทำให้ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 แก่พม่า
ด้วยความอยากรู้ว่าหลังจากที่สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว  เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง จึงทำให้พระมหาธรรมราชาซึ่งเป็นราชบุตรเขยของพระมหาจักรพรรดิ์เอาใจออกห่าง

ผู้ไม่รู้ขออนุญาตเสริมความครับ 
หลังจากสงครามช้างเผือกซึ่งกรุงหงสาวดีได้แสดงแสนยานุภาพเหนือกรุงศรีอยุธยาแล้ว  แต่พระเจ้าหงสาวดีก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นโดยเด็ดขาด  และการที่จะรบชนะกรุงศรีอยุธยานั้นก็จะต้องตัดกำลังหัวเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยาเสียก่อน  พระเจ้าหงสาวดีจึงใช้ทางอุบายยกย่องพระมหาธรรมราชาให้มีอำนาจขึ้นทางหัวเมืองเหนือ     กรุงศรีอยุธยาจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างแต่ก่อน   พระเจ้าหงสาวดีก็เข้ากีดกัน   ซ้ำยังอุดหนุนพระมหาธรรมราชา ๆ จึงสนิทชิดชอบกับพระเจ้าหงสาวดียิ่งขึ้น และเหินห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทุกที     
ปลายปีพ.ศ.๒๑๐๗ พระเจ้าเชียงใหม่เมกุฏิคบคิดกับพระยาลำปาง พระยาแพร่ พระยาน่านและพระยาเชียงแสน จะตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อหงสาวดีต่อไป พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพหลวงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ได้เกณฑ์พระมหาธรรมราชาให้ยกกองทัพขึ้นไปช่วยด้วย ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เห็นว่าศึกเหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี  แต่เจ้าเมือง ๔ คนนั้น จับได้เพียงพระยาเชียงแสนคนเดียว อีก ๓ คน หนีไปพึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ กรุงเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาไม่ยอมส่งตัวให้ พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองจึงคิดจะยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ได้ข่าวว่าพวกไทยใหญ่ที่จับเป็นเชลยเอาไปไว้ที่กรุงหงสาวดีพากันเป็นขบถ พระเจ้าหงสาวดีจึงเลิกทัพหลวงกลับไปกรุงหงสาวดีขึ้น  แต่ให้พระมหาอุปราชายกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต   พระเจ้าไชยเชษฐาทิ้งเมืองหนี แล้วใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรคอยลอบโจมตี ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร   พระมหาอุปราชาจับพระเจ้าไชยเชษฐาไม่ได้  จนสิ้นฤดูฝน ไพร่พลบอบช้ำ  อดอยาก เจ็บไข้ล้มตายลงมาก  พระมหาอุปราชาจึงต้องรีบเลิกทัพกลับ กองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาติดตามตีไปจนปลายแดน กิตติศัพท์จึงเลื่องลือว่าพระเจ้าไชยเชษฐามีชัยชนะต่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีในครั้งนั้น
 อันนี้เป็นเบื้องปฐมของความขัดแย้งระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองพิษณุโลก จากนั้นก็มีเหตุต่อเนื่องขยายความร้าวฉานให้กับทั้งสองฝ่าย  อาทิ  การชิงตัวพระเทพกษัตรี   การเสด็จออกทรงผนวชของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ   ความคับแค้นพระหฤทัยของพระมหินทราธิราชจนถึงกับคิดกำจัดพระมหาธรรมราชา
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 ก.ค. 14, 18:33

เมื่อวานเป็นเด็กหัวรุนแรงไปป่วนกระทู้นึง แวะมาอีกทีกระทู้นั้นหายไปแล้ว  รู้สึกผิดยังไม่หาย  กลัวโดนครูตี  มาเจอกระทู้นี้เลยเข้ามาลงชื่อเก็บความรู้เฉยๆ ครับ เดี๋ยวกระทู้นี้จะหายไปอีก  ร้องไห้  ร้องไห้
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เบื่อมาก
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ก.ค. 14, 19:33

 แอบอ่านมาหลายกระทู้แล้ว ขอสมัครเป็นเด็กหลังห้องครับ

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง