เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5815 เสวนาวิชาการทุ่งกุลาอาณาจักรเกลือ ๒,๕๐๐ ปี
สุที
อสุรผัด
*
ตอบ: 8

ว่างเป็นส่วนใหญ่


 เมื่อ 28 ม.ค. 03, 13:50

 เสวนาวิชาการ
ทุ่งกุลา
อาณาจักรเกลือ ๒,๕๐๐ ปี
ภูมิหลังทางนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

   สืบเนื่องจากโครงการ  A Comparative Study of Dry Area in Southeast Asia : Harsh or Benign Environment  ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมีอาจารย์ฟูกุย ฮายาโอะ (Fukui  Hayao) แห่ง CSEAS (The Center for Southeast Asian Studies) มหาวิทยาลัยเกียวโต และอาจารย์ศรีศักร  วัลลิโภดม แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลโครงการ การศึกษาเปรียบเทียบในพื้นที่แห้งแล้งหลายแห่งซึ่งเป็นเขตอารยธรรมเก่าแก่ และเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นมาก่อนที่จะมีการค้าติดต่อทางทะเลในระยะต่อมา เช่น เวียดนามตอนกลาง อีสานของไทย บริเวณทะเลสาบเขมร เขตพม่าตอนบน ชวาตอนกลางฝั่งตะวันออก รวมไปถึงเขตแห้งแล้งในศรีลังกาและที่ราบสูงเดคคานในอินเดีย
   การศึกษาครั้งนั้นก็เพื่อเปรียบเทียบและทำความเข้าใจพื้นที่แต่ละแห่งเกี่ยวกับการก่อกำเนิดวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศึกษามุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาชนบท  ซึ่งพื้นที่แห้งแล้งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาในเอเชียทุกวันนี้ รวมทั้งเปลี่ยนมุมมองและตั้งคำถามที่ว่า พื้นที่แห้งแล้งนั้น เป็นสภาพแวดล้อมที่ร้ายหรือดี  
   เมื่อรวมกับศึกษาครั้งนั้นแล้ว พบว่าข้อมูลจากการศึกษาชั่วชีวิตในแอ่งอารยธรรมอีสาน ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สมควรบันทึก ศึกษา รวบรวมให้เป็นระบบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
   อาจารย์ฟูกุย ฮายาโอะ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการความร่วมมือกันของผู้วิจัยชาวญี่ปุ่นและไทย ต่อมาได้ขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเวลาสามปี เพื่อทำโครงการชื่อ Development of the Eco NETVIS (Northeast Thailand Village Information System) : a Time-Series Spatial Information System, on Northeast Thailand โดยผู้รับผิดชอบโครงการคือ อาจารย์นากาตะ โยชิคัสซึ (Nagata  Yoshikatsu) แห่ง Media Center ของมหาวิทยาลัยโอซากา ซิตี้ (Osaka City University) ซึ่งเป็นนักวิชาการด้าน Computer Science เก็บข้อมูลพื้นฐานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานาน รวมถึงการเก็บข้อมูลหมู่บ้านต่างๆ ในอีสานในเชิงสถิติไว้อย่างมากมาย และบันทึกไว้ด้วยระบบดิจิตอล สามารถออนไลน์เข้าไปดูข้อมูลได้ ซึ่งโดยปกติก็ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษา
   การทำงานสามปีของโครงการนี้ คือบันทึกข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศของชุมชนโบราณในเขตอีสาน  แผนที่ระวาง ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ และ ระวาง ๑ : ๕๐,๐๐๐  ตลอดจนการพรรณนาและอธิบายข้อมูลพื้นฐานของชุมชนนั้นๆ  ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้มาจากการศึกษาของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม โดยจะเปิดให้มีการศึกษาและค้นหาข้อมูลสำหรับสาธารณชนผ่านเว็บเพจในระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ และจะมีการพัฒนาข้อมูลในอนาคต
   โครงการต่อเนื่องที่จะมีขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า จะเพิ่มเติมรายละเอียดมากกว่าข้อมูลพื้นฐานในปัจจุบัน ทั้งทางด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา สภาพแวดล้อมทางการเกษตร วิเคราะห์และเชื่อมโยงความเป็นอารยธรรมในแอ่งอีสานให้ชัดเจนขึ้นกว่านี้
   บัดนี้ โครงการบันทึกข้อมูลฯ ดังกล่าวเสร็จสิ้นขั้นต้นแล้ว นักวิชาการทั้ง ๓ ท่าน จะนำเครื่องมือบรรจุข้อมูลทั้งหมดมามอบให้สังคมไทย แล้วแนะนำวิธีเข้าสู่ข้อมูล พร้อมทั้งร่วมเสวนาวิชาการ เกี่ยวกับ ภูมิหลังทางนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

ทุ่งกุลา
อาณาจักรเกลือ ๒,๕๐๐ ปี

   สืบเนื่องจากการศึกษาเปรียบเทียบในพื้นที่แห้งแล้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้รู้ว่าบริเวณ ทุ่งกุลาร้องไห้ เสมือน  หัวใจ ทางวัฒนธรรมของบริเวณสองฝั่งของตอนล่าง
   ใครได้ยินชื่อ ทุ่งกุลา ย่อมคิดต่อได้ทันทีว่า ร้องไห้ แล้วจินตนาการไปต่างๆนานา ว่ามีเปลวแดดระยิบระยับ ผืนแผ่นดินแตกระแหงแห้งแล้ง ไม่มีผู้คนทนอยู่ได้ เป็นบริเวณรกร้างว่างเปล่าราวทะเลแผ่นดินแล้ง มาแต่ไหนแต่ไร จนเรียก ทุ่งกุลาร้องไห้
   ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอ่านบทกวี อีศาน ของ นายผี แล้วสร้างภาพทุ่งกุลาตามบทกวีว่า
      ในฟ้าบ่มีน้ำ   ในดินซ้ำมีแต่ทราย
   น้ำตาที่ตกราย      ก็รีบซาบบ่รอซึม
   กับท้ายของบทกวีชิ้นนี้ว่า
      ในฟ้าบ่มีน้ำ!   ในดินซ้ำมีแต่ทราย
   น้ำตาที่ตกราย      คือเลือดหลั่ง! โลมลงดิน
   จินตนาการดังกล่าวมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้จริงทั้งหมด หากเป็นความจริงของยุคหลังๆ ไม่ใช่ยุคแรกๆ เพราะยุคแรกๆ ของทุ่งกุลามีผู้คน มีบ้านเมืองกระจัดกระจายเต็มไปหมด ยิ่งกว่านั้น ผู้คนและบ้านเมืองยุคแรกๆ ของทุ่งกุลา ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองจนเป็นรัฐใหญ่สมัยต่อมาด้วย
   ขอสรุปสั้นๆตอนนี้ก่อน ว่าทุ่งกุลา ยุคแรกเริ่มล้าหลัง มีคนตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว (ถือเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับบ้านเชียง ในเขตอุดรฯ)
   ต่อมาอีก ๕๐๐ ปี หรือราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว คนทุ่งกุลา ยุคแรกเริ่มมีมากขึ้น แล้วมีพัฒนาการทาง    วัฒนธรรมก้าวหน้า คือ เริ่มรู้จักขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบหลักแหล่งของตน นับเป็นต้นพัฒนาการของการสร้าง กำแพงเมือง กับ คูเมือง ในสมัยหลัง
   แต่ที่สำคัญ คือรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะอย่างกว้างขวาง มีลักษณะเฉพาะตน คือ เนื้อดิน การตกแต่ง รูปทรง และหน้าที่การใช้งานไม่เหมือนบ้านเชียง และที่อื่นๆ  นักวิชาการนักโบราณคดีจึงเรียกชื่อภาชนะอย่างนี้ว่า วัฒนธรรมทุ่งกุลา คือเป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนทุ่งกุลา เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เท่านั้น
   ต้องเข้าใจก่อน ว่าทุ่งกุลามีขอบเขตกว้างขวางมากถึง ๕ จังหวัด ๑๐ อำเภอของอีสาน คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร บริเวณ ๑๐ อำเภอของจังหวัดเหล่านี้มีชุมชนคนกุลา พบวัฒนธรรมทุ่งกุลาเหมือนกันหมด และมีอย่างหนาแน่น แสดงว่ามีคนอยู่มาก
   นอกจาก เฮ็ดไฮ่-เฮ็ดนา  ตามแบบทำมาหากิน อย่างเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงตนและครอบครัวแล้ว อาชีพสำคัญของคนกุลายุคแรกเริ่มเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว คือ ต้มเกลือ กับ ถลุงเหล็ก
   แหล่งเกลือสำคัญมากอยู่ที่บ่อพันขัน ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นอกนั้นมีแหล่งเกลือกระจัดกระจายเต็มทุ่งกุลา อยากเรียกให้ลั่นโลกว่าทุ่งกุลานี่แหละ คือ อาณาจักรเกลือ ยุคดึกดำบรรพ์แท้จริง แล้วยังทำสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีนับพันๆ ปีมาแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงช้ามาก
   ถ้าพิจารณาจำนวนชุมชน แล้วคาดคะเนจำนวนประชากร จะพบว่าผลิตเกลือเกินความต้องการที่มนุษย์จะอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผลิตเกลือทำไมมากนัก?
   มีผู้รู้อธิบายหลายแนวทาง แต่คำอธิบายที่น่าเชื่อ คือ ส่งเกลือไปขายและแลกเปลี่ยนกับชุมชนรอบๆทะเลสาบเขมรในยุคก่อนมีนครวัด-นครธม เพราะที่นั่นมีปลามหาศาล แต่ไม่มีเกลือพอจะถนอมอาหารได้
   พูดง่ายๆ ว่าเอาเกลือจากทุ่งกุลาไปทำปลาแดกที่ทะเลสาบเขมร เพราะ วัฒนธรรมปลาแดก มีทั่วไปทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่ม ลาว-ไทย-เขมร มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์
   นอกจากต้มเกลือแล้ว คนทุ่งกุลายุคแรกเริ่มยัง ถลุงเหล็ก ด้วย แล้ว ตีเหล็ก เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และที่สำคัญคือ เป็นอาวุธ
   อาวุธทำด้วยเหล็กทุ่งกุลานี่แหละทำให้เกิด รัฐ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งสร้างอาวุธด้วยเหล็กไปปราบปรามกลุ่มอื่นๆ มาไว้ในอำนาจ ฉะนั้น ยุคต่อมาจึงมีรัฐขนาดใหญ่เกิดขึ้นรอบๆ ทุ่งกุลา เช่น รัฐพิมาย ที่มีปราสาทหินพิมาย เป็นศูนย์กลาง รัฐเจนละ ทางยโสธร อุบลราชธานี ที่มีปราสาทวัดภู จัมปาสัก ในลาว เป็นศูนย์กลาง
   ที่สำคัญ คือรัฐของราชวงศ์มหิธร ทางลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์เขมรที่ไปสร้างนครวัด-นครธม
   คนทุ่งกุลายุคเริ่มแรกล้าหลังเป็นใคร? พูดภาษาตระกูลอะไร? ไม่มีใครรู้ และพิสูจน์ไม่ได้ในขณะนี้ แต่มีหลักฐานอธิบายได้ว่า คนกุลาพวกนี้ล้วนเป็นบรรพชนของคนปัจจุบัน ที่เรียกคนไทย คนลาว คนเขมร และคนอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
   คนพวกนี้ มีประเพณีทำศพ เป็นต้นเค้าสืบมาถึงปัจจุบัน คนทุกวันนี้ทำพิธีศพ อย่างคนกุลาเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว
   เรื่องพิธีศพนี้มีหลักฐานชัดเจนมากอยู่ที่ บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ของคนกุลายุคแรกเริ่ม ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
   วัตถุสำคัญที่พบ คือ ภาชนะดินเผาใส่ศพ มีขนาดยาวและใหญ่เหมือน แคปซูล ขนาดยักษ์ มีกระดูกคนตายอยู่ข้างในครบทั้งตัว หมายความว่าเอาคนจายแล้วยัดใส่ แคปซูล ดินเผา แล้วเอาฝังดิน
   ประเพณีอย่างนี้เป็นอย่างเดียวกับ ไหหิน ของทุ่งไหหินที่เชียงขวางในลาว
   นี่แหละ คือ ต้นเค้าโกศกระดูกของบรรพบุรุษ ผมเชื่ออีกว่านี่คือ หลักฐานสำคัญของพระบรมโกศใส่พระบรมศพของกษัตริย์สมัยต่อๆ มา เพราะพบภาชนะใส่ศพหรือกระดูกทำด้วยหิน มีลวดลายเป็บกลีบบัวสมัยทวารวดี พบที่นครปฐม และที่อื่นๆ รวมทั้งพม่า
   ที่บ้านเมืองบัว พบทั้งแคปซูล ใส่ศพ และพบทั้ง หม้อทรงกลมใส่กระดูก ที่คนทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้ยังใช้อยู่ แม้กระทั่งหม้อใส่วิญญาณของนางนาคพระโขนงก็เป็นอย่างนี้
   ขอย้ำว่าไม่ได้พบที่บ้านเมืองบัวแห่งเดียว แต่พบทั่วไปหมดรอบๆ ทุ่งกุลา ถือเป็นวัฒนธรรมทุ่งกุลา ที่มีลักษณะเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง
   ที่บ้านเมืองบัวยังมีปราสาทเขมร แสดงว่าคนกุลาอยู่ต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย และหลักฐานอื่นๆ ยืนยันว่าคนกุลาอยู่มาจนถึงราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ร่วมสมัยกับยุคอโยธยาศรีรามเทพ กับยุคสุโขทัยของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
   หลังจากนั้น กลุ่มวัฒนธรรมลาวก็เข้ามาตั้งหลักแหล่งสืบมาจนถึงปัจจุบัน
   ทุ่งกุลาทุกวันนี้ ยังมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นอีก นั่นคือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด บางทีเรียกกันว่าข้าวหอมทุ่งกุลา เพราะข้าวหอมมะลิมีปลูกทั่วไปทั้งภาคอีสานและภาคอื่นๆ แต่ยอดเยี่ยมที่สุด และคนถามหาถามซื้อมากที่สุด คือ ข้าวหอมทุ่งกุลา เท่านั้น ถือเป็น ยุคมั่งคั่งข้าวหอม ของทุ่งกุลาร้องไห้
   ความรู้เรื่องทุ่งกุลายังไม่หมดแค่นี้ ยังมีหลักฐานอีกมากที่รอการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห้งแล้ง ที่มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์กับชมพูทวีป ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่เกื้อหนุนชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติโดยตรง ทั้งที่เคยมีมาเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีที่แล้ว กับที่จะต้องมีชะตากรรมอยู่ต่อไปในปัจจุบันและอนาคต
   ด้วยความสำคัญอย่างนี้เอง จึงควรอุดหนุนให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทุ่งกุลา เพื่อให้เป็นสำนักศึกษาทุ่งกุลา ขึ้นมาร่วมมือกันศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งภูมิภาคและนานาชาติ


แอ่วลาวเป่าแคน
เสวนา ทุ่งกุลา-อีสาน
ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ ๒,๕๐๐ ปี
ภูมิหลังทางนิเวศวัฒนธรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ชั้น ๔ ห้องประชุมใหญ่
วันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

๙.๐๐ น.    
ฯพณฯ ประจวบ ไชยสาส์น  กล่าวเปิดงาน

๙.๓๐ น.   
ภูมิหลังทางนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

   ศรีศักร วัลลิโภดม      ภูมิหลังทางนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   Srisakra Vallibhotama    Ecocultural Background of Northeast Thailand
   ฟูกุย ฮายาโอะ      ความเป็นพื้นที่แห้งแล้งของอีสาน
   Fukui  Hayao      Isan : The Dry Area
   นิตตา อีอิจิ      การทำเกลือและเหล็กในภาคอีสาน
   โฮชิกาวา เคอิซูเกะ      ทำนบ ในจังหวัดสุรินทร์
   Hoshikawa Keisuke   Thamnop in Surin
   นากาตะ โยชิคัสซึ      ข้อมูลทางนิเวศวัฒนธรรมของภาคอีสานในยุคดิจิตอล
   Nagata  Yoshikutsu   Management of the Ecocultural Data by the Digital                   System on Northeast Thailand   
   วลัยลักษณ์ ทรงศิริ      ดำเนินรายการ

๑๓.๓๐ น.       
ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ ๒,๕๐๐ ปี
จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม

ปาฐกถาพิเศษ   นิธิ เอียวศรีวงศ์   มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เสวนาทุ่งกุลา   ศรีศักร วัลลิโภดม   มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
      ชาญวิทย์ เกษตรศิริ   ผู้อำนวยการ อบศ.๕
   เดช ภูสองชั้น      กำนัน คนทุ่งกุลา  อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
   วิไลลักษณ์ สมมุติ      ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี
   สุกัญญา เบาเนิด      นักโบราณคดี กรมศิลปากร
   นิวัติ กองเพียร      ดำเนินรายการ

   สุรชัย จันทิมาธร - มงคล อุทก    ขับขานคีตกวีทุ่งกุลาร้องไห้   
   ไพวรินทร์ ขาวงาม           อ่านกวีนิพนธ์คนทุ่งกุลา   

ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปเสวนาทุ่งกุลาร้องไห้
   
สุจิตต์ วงษ์เทศ ชวน แอ่วลาวเป่าแคน
เชิญ หมอลำถูทา -บุญมาก จันทะลือ ศิลปินแห่งชาติ จากเมืองอุบลฯ ลำกลอนย้อนอดีตทุ่งกุลาร้องไห้   
พร้อมด้วย โปงลางสังข์เงิน เมืองอุบลฯ โดย หมออ้วน- ทินกร อัตไพบูลย์ และคณะช่างฟ้อน ๓๐ ชีวิต

   รายการฟรี ไม่ต้องมีบัตร แต่มีข้าวปุ่น (ขนมจีน) เลี้ยงกลางวัน
   สำรองที่นั่ง ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ๐ ๒๘๘๐ ๙๔๒๙ ต่อ ๓๒๐๖, ๓๒๐๗ (คุณจุฑารัตน์, คุณน้ำผึ้ง)
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ม.ค. 03, 08:49

 ชอบคุณครับ น่าสนใจมาก
ถ้าว่างจะไปได้ละก็ผมจะไปฟังครับ
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ม.ค. 03, 17:26

 ขอบคุณค่ะ คุณสุที
เป็นรายการเสวนาที่น่าสนใจมาก ๆ เลย
คงต้องพยายามหาโอกาสไปฟังให้ได้แล้วล่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ม.ค. 03, 21:20

 น่าสนใจมากเลยค่ะ  ใครได้ไปฟังแล้วช่วยเอามาคุยกันให้คนไม่มีโอกาสได้ไปได้ยินบ้างนะคะ  ขอบคุณคุณสุทีที่นำมาบอกค่ะ
บันทึกการเข้า
สุที
อสุรผัด
*
ตอบ: 8

ว่างเป็นส่วนใหญ่


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ม.ค. 03, 22:13

 กุลา คือชนชาติต้องสู้และไทยใหญ่ ที่เดินทางค้าขายอยู่ในภาคอีสาน
ในพงศาวดารภาคที่ ๔ เรียdพวกกุลาว่า นายกองตองสู หรือตองสู้ หรือต้องสู้
ชาวกุลาคงจะเดินทางเร่ขายสินค้าในภาคอีสานนานแล้ว จนมีชื่อเรียกทุ่งกุลาร้องไห้ (ซึ่งเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่มีพื้นที่ติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์) การเร่ขายสินค้าของชาวกุลาหรือต้องสู้นี้ จะเดินทางเป็นกองพ่อค้าวัวต่างจำนวนมาก บางคณะอาจจะมีถึง ๑๐๐ คน
หลักฐานเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลานี้ พบเก่าที่สุดในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ (รัชกาลที่ ๓) ข้อความบันทึกของราชการที่กักตัวพวกกุลาหรือต้องสู้ที่เดินทางค้าขายในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก สวรรคโลก และกำแพงเพชร
ส่วนภาคอีสานนั้น ปรากฏเอกสารเก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลาในภาคอีสาน นั่นคือบันทึกเรื่องราวขัดแย้งระหว่างต้องสู้ กับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิและขอนแก่น กรณีโคประมาณ ๖๐๐- ตัวที่ต้องสู้ซื้อในเมืองเหล่านี้
บันทึกมีว่า ต้องสู้ได้ซื้อโคในร้อยเอ็ด ๖๖ ตัว ในสุวรรณภูมิ ๑๗๘ ตัว และในขอนแก่น ๓๓๓ ตัว แล้วเจ้าเมืองเหล่านี้ก็ยึดโคทั้งหมดไว้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองเหล่านี้ชดใช้ราคาโคแก่ชาวต้องสู้ ซึ่งขณะนั้นรออยู่ที่กรุงเทพฯ โดยให้ขายโคคืนแก่เจ้าของเดิม หรือขายให้ใครก็ได้เพื่อนำเงินมาชดใช้ให้ต้องสู้ แต่เจ้าเมืองเหล่านี้ก็ดำเนินการช้ามาก ทางกรุงเทพฯ จึงต้องจ่ายเงินค่าโคให้ต้องสู้ไปก่อน ๒,๗๖๓.๕ บาท แล้วสั่งให้เจ้าเมืองใช้เงินคืนให้ทางกรุงเทพฯ โดยไม่ชักช้า
เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เองก็สงสัยอยู่ว่าพม่า-อังกฤษ (ขณะนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว) มีความในใจอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังการค้าของต้องสู้ และสั่งให้เจ้าเมืองในภาคอีสานมิให้ขายโคกระบือแก่ชาวต่างชาติ
เหตุการณ์ในภาคเหนือและภาคอีสานครั้งนั้น ก่อให้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับการค้าในระยะแรกๆ มาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับสัตว์พาหนะได้ถดถอยลง จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทางไทยห้ามค้าในที่สุด ส่วนพวกต้องสู้ที่เป็นพ่อค้าเร่ในภาคเหนือ บางทีก็ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยเหตุการณ์ในร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ และขอนแก่น เกิดขึ้นก่อนที่ สนธิสัญญาบาวริง ซึ่งได้รับการให้สัตยาบันในวันที่ ๕ เมษายนพ.ศ. ๒๓๙๙ จะมีผลบังคับใช้
ข้อแรกของสนธิสัญญานี้บังคับว่า ต้องรับประกันว่าบุคคลในบังคับอังกฤษที่เดินทางมาประเทศสยาม จะต้องได้รับความคุ้มครอง และได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลสยาม ในการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างดี และผลประโยชน์ของบุคคลในบังคับอังกฤษทุกคน จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎระเบียบของกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ตลอดทั้งการพิพากษาคดีความ คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิเดินทางได้ทั่วไป และผลประโยชน์ของบุคคลในบังคับอังกฤษทุกคน จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎระเบียบของกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ตลอดทั้งการพิพากษาคดีความ คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิเดินทางได้ทั่วไป ภายใต้การคุ้มครองของหนังสือเดินทางของอังกฤษ และตราประทับร่วมของเจ้าหน้าที่ไทยที่กำหนดชื่อไว้โดยเฉพาะ
ข้อตกลงในสัญญาเหล่านี้ รวมทั้งภาคผนวก ซึ่งลงลายมือในเดือนพฤษภาคม ๒๓๙๙ เป็นพื้นฐานในการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าของกุลาหรือต้องสู้ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเมืองมะละแหม่ง และเป็นคนในบังคับอังกฤษ
หลังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ กิจการค้าของกุลาหรือต้องสู้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากท่าทีที่เจ้าหน้าที่สยาม อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างด้าวจากพม่าในบังคับอังกฤษดีมาก
ในเวลาต่อมา เอกสารทางราชการไทยจำนวนมากที่ประกาศไปยังเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ เกี่ยวกับแผนการเดินทางตามปรารถนาของบุคคลในบังคับอังกฤษ ตามรายงานของกงสุลอังกฤษในสยาม สถานที่ซึ่งกุลาหรือต้องสู้มีแผนการเดินทางเพื่อการค้าโดยทั่วไป คือหัวเมืองในลาวฝ่ายเหนือ (มณฑลลาวพวนหรืออุดร) หรือนครราชสีมา ตาก เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน น่าน ซึ่งเดินทางไปบ่อย และบริเวณที่ไม่บ่อยนัก คือนครสวรรค์ สวรรคโลก ลพบุรี หล่มสัก เป็นต้น กลุ่มที่เดินทางไปทางนครราชสีมา มักจะเดินทางต่อไปยังมะละแหม่งเป็นจุดหมายปลายทาง โดยเดินทางผ่านหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ
สินค้าที่ต้องสู้ต้องการซื้อโดยทั่วไปที่นครราชสีมา และลาวฝ่ายเหนือ คือ ช้าง งาช้าง เขาสัตว์ ไหม และโคกระบือ พวกเขาสนใจไม้ซุงด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลิตผลในเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน และน่าน สินค้าที่นำไปขายเป็นพิเศษก็คือปืนและผ้าไหม
กุลาหรือต้องสู้ จะเดินทางเป็นหมู่ถึง ๔๘ คน พ่อค้ากุลาหรือต้องสู้เหล่านี้มีปืนและดาบเป็นอาวุธ
รัฐบาลไทยจะแนะนำเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ให้อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยแก่ต้องสู้ในการค้าขาย ส่วนราคานั้นสุดแท้แต่จะตกลงกันเอง เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้บันทึกรายละเอียดของโคกระบือที่ตกลงซื้อขายกันแล้วเท่านั้น แต่เมื่อการค้าขยายตัวก้าวหน้ามากขึ้น การปฏิบัติก็นับเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหามากจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สรุปจากบทความของจุนโกะ โคอิซูมิ ทำไมกุลาร้องไห้ : รายงานขบวนการค้าของกุลาในอีสาน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดย บุญจิตต์ ชูทรงเดช เรียบเรียงคัดจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒)
บันทึกการเข้า
สุที
อสุรผัด
*
ตอบ: 8

ว่างเป็นส่วนใหญ่


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ม.ค. 03, 22:14

 เมื่อถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า กุลา คือคนกลุ่มไหน ท่านตอบได้ทันทีว่ากุลา คือ พวกพ่อค้าเร่ที่มักจะเข้ามาค้าขายผ้าผ่อนแพรพรรณและพักค้างคืนตามวัดในหมู่บ้านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (กุลาเที่ยวขายผ้านอนที่วัด)การรับรู้ว่าคำว่า กุลา เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กุลา กลายเป็นชื่อที่เรียกพวกพ่อค้าชาวไทยใหญ่ที่มีสัญชาติพม่าในขณะนั้น (ในภาษาพม่า กุลา มาจากคำว่า กาลา (kala) ซึ่งแปลว่า คนต่างถิ่น) มีกลุ่มพ่อค้าเร่จำนวนมากจากประเทศพม่า เดินทางเข้ามาค้าขายตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล สิ่งของต่างๆ ที่พวกเขานำมาขายมีทั้งเสื้อผ้า, กลอง, เครื่องเงินและเครื่องประดับอื่นๆ เป็นต้น ในสายตาของคนลาวซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ คนกุลา เป็นผู้ชายตัวสูง ใส่ตุ้มหูและโพกผ้าขาวรอบศีรษะ พวกเขามิได้ใช้วัวเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของเข้ามาขาย แต่เดินเท้าเข้ามาพร้อมกับ หาบ (หาบ ในที่นี้คือ ตะกร้าขนาดใหญ่มากคู่หนึ่ง ใหญ่กว่าที่คนลาวใช้กันเสียอีก) คนลาวมองว่า คนกุลาเป็นคนแปลกหน้าที่มีความเก่งกล้าสามารถ อีกทั้งยังมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางพุทธศาสนาหรือเวทมนตร์คุณไสยต่างๆ พวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนได้โดยไม่ต้องพะวงกับพรมแดนของประเทศ คนลาวเห็นว่าเพราะคนพวกนี้มีวิชาปกป้องตนเอง
จึงสามารถทำเช่นนั้นได้
ชาวกุลาบางคนแต่งงานกับผู้หญิงลาวในพื้นที่ เช่น ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และที่หมู่บ้านในอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร คนลาวเห็นว่า คนกุลาปฏิบัติตัวดีเป็นที่ยอมรับนับถือของคนลาวจากที่ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้าน พวกเขาเล่าว่า ชาวกุลา เป็นคนดีและร่ำรวย มีทั้งเงินมีทั้งทองทุกอย่าง (มีเงินมีทองมีหมด) อีกทั้งยังเป็นคนขยันขันแข็ง ไม่ทิ้งขว้างลูกเมียและครอบครัว คนกุลาบางคนได้ทำการเพาะปลูกในที่ดินของพ่อแม่ของฝ่ายภรรยา แต่บางคนก็มิได้ทำ เพียงแต่บ่นว่าดินที่นี่แข็งเกินไปไม่เหมาะจะปลูกอะไร ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว, คนกุลาเริ่มออกเดินทางโดยจะนำข้าวส่วนที่เหลือจากที่แบ่งไว้กินแล้ว, น้ำตาลอ้อยและสิ่งละอันพันละน้อยอื่นๆ ใส่ หาบ ออกไปตระเวนขายยังท้องถิ่นอื่น
เนื่องด้วยชาวกุลามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พวกเขาได้บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดภายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังมอบคัมภีร์ที่มีอักษรจารึกทั้งภาษาไทยใหญ่ และภาษาพม่าให้แก่วัดอีกด้วย
นอกจากนี้ ชาวกุลายังมีสุขนิสัยการกินที่ผิดแผกไปจากคนลาว คือ กินผักที่ต้มแล้ว, กินเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วใส่น้ำมันงา, สูบบุหรี่มวนใบตอง เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวขาวกุลา คือ ข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวเหนียว (U 007) ข้าวชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่คนลาวและตามหมู่บ้านลาวที่รู้จักกับคนกุลาจากคำสัมภาษณ์คนลาวที่เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้าน ในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บุคคลที่ให้สัมภาษณ์นี้ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จากความทรงจำของเด็กชายวัย ๑๒ ปี เขาเล่าว่า มีชาวกุลา ๑๒ คนได้เดินทางเข้ามายังหมู่บ้านและอาศัยอยู่ที่นี่ ในจำนวนนั้นเป็นพระ ๔ รูป และที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา ภายหลังพระรูป หนึ่งได้ลาสึก และแต่งงานกับผู้หญิงลาว ส่วนพระอีก ๓ รูปนั้นก็ยังคงอยู่ที่วัดในหมู่บ้านจนมรณภาพไปหมด สำหรับชาวกุลาที่เข้ามาขายของนั้น พวกเขาจะขายพวกผ้าฝ้าย, ผ้าไหม ที่นำมาจากหมู่บ้านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อคนกุลาเข้ามาที่หมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรกนั้น พวกเขามาพร้อมกับชาวบ้านอื่นๆ จากเมืองเชียงใหม่และลำปาง ที่ช่วย ?หาบ? ของเข้ามาขาย คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็น ?ลูกน้อง? พวกเขาจะได้รับค่าจ้าง ๑๒ บาทต่อปี หลังจากนั้นมาอีกหลายปี เมื่อคนกุลาสร้างวัด (วัดทุ่งกุลา) ขึ้นในหมู่บ้าน พ่อแม่ของเขาก็เริ่มปลูกข้าวขาวกุลา (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๑) ปรากฏว่าครอบครัวเขาและหมู่บ้านลาวอื่นๆ ก็นิยมกินข้าวขาวกุลาเป็นมื้อเย็น ขณะที่ยังคงกินข้าวเหนียวเป็นอาหารมื้อเช้าและกลางวัน ผลผลิตที่ได้จากการปลูกข้าวของครอบครัวเขานั้นมีสัดส่วนดังนี้ คือ ๒๐% เป็นข้าวขาวกุลา, ๖๐% เป็นข้าวอีตม, ๑๐% เป็นข้าวโด (๒ ชนิดหลังนี้เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียว) และ ๑๐% สุดท้ายเป็นข้าวพูนทอง
เขายังเล่าต่อไปอีก ว่าสมัยก่อนโน้น ชาวลาวจะประกอบอาชีพ ๒ อย่าง คือ ปลูกข้าว กับ ค้าขาย ดูเหมือนว่าอันหลังนี้เป็นงานที่ยากสำหรับคนลาวทีเดียว?เราขายทั้งปลา, หมู, เนื้อ, ไก่, เป็ด ไปทั่วหมู่บ้าน วันนึงได้เงินมาแค่ ๔-๕ สตางค์เท่านั้น สมัยโน้นถ้าจะซื้อวัวตัวหนึ่งต้องใช้เงินมากถึง ๑ บาท ๕๐ สตางค์?คนลาวบางคนพยายามเป็นช่างทำเงิน ช่างทำทอง นอกเหนือไปจากการปลูกข้าว แต่ก็ได้เงินจากการนี้น้อยเต็มที ?เงินเป็นสิ่งที่เราต้องการมาก ตอนที่ผมอายุ ๒๐ ปี (ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๖) นั้น ผมก็เริ่มออกค้าขาย โดยนำต่างหูและสร้อยคอ (ชิ้นละ ๑๐ สตางค์) ไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว (ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน) โดยจะออกไปกับเพื่อนผู้ชาย ๓-๕ คนเป็นประจำอย่างนี้ทุกปี เราจะได้กลับมาในราว ๑๒-๓๐ บาทต่อปีคนกุลาในหมู่บ้านของเราก็ออกไปค้าขายด้วยเช่นกันในเวลาเดียวกันนี้ แต่วิธีการขายของพวกกุลาไม่เหมือนกับของคนลาว เราจะเตรียมของออกไปขาย เมื่อของหมดแล้วเราก็กลับมาที่หมู่บ้าน แต่พวกกุลาจะไม่ทำแบบนี้ พวกเขาจะซื้อของในที่ที่เขาไปถึงแล้วก็ขายต่อไป เป็นการต่อทุนเพื่อเดินทางไปเรื่อยๆ ทำให้พวกกุลาเดินทางไปได้ไกลกว่าพวกเราคนลาว แต่ดูเหมือนว่าในท้ายที่สุดแล้ว กำไรที่ได้จากการค้า
ขายของพวกกุลาก็ไม่ได้มากไปกว่าของพวกเราชาวลาวเลย?เป็นที่รู้กันทั่วไปในสมัยนั้น ว่าอาชีพการตีเหล็ก, ช่างทำเงิน,
และช่างทำทอง นั้นเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่ผู้ทำ พวกคนลาวมีเทคนิคการทำจากพ่อค้าชาวจีนในเมืองอุบลราชธานี หรือไม่ก็จากพวกคนลาวกันเองที่ไปทำงานนี้ในแขวงสะวัณณเขต สำหรับในหมู่บ้านของเราเองแล้วนั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ราว ๑๐๐ ครัวเรือน) ก็ได้ไปเรียนวิชาเหล่านี้กับเขาด้วยเหมือนกัน ในช่วงราวปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ประมาณนั้น ผู้เฒ่าในหมู่บ้านบอกเราว่า เรียนกันแค่ ๓ เดือนให้รู้พื้นฐานก็เพียงพอแล้ว จากนั้นก็เริ่มฝึกหัดทำกันไป ใช้เวลาอีกในราว ๓-๔ ปีถึงจะเรียกว่าทำเป็นอาชีพได้อย่างแน่นอน สำหรับการทำทองนั้น เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในจังหวัดอุบลราชธานีเลย ทำให้ต้องสั่งทองเข้ามาทำจากเมืองบางกอก* (หมายเหตุ * ช่วงราวต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อกันว่าโรคระบาดร้ายแรงนี้แพร่มาจากเมืองบางกอก เรามองเห็นทัศนคติที่ต่อต้านเมืองหลวงของคนในชุมชนในสมัยนั้นจากเหตุการณ์อันนี้ ขณะเดียวกัน เงิน ก็เปรียบเสมือนกับผีร้ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ คำว่า ผี นั้นชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่สามารถนำพาความอุดมสมบูรณ์หรือนำความหายนะมาสู่ชีวิตของพวกเขาได้ - Hayashi)ในหมู่บ้านของชาวผู้ไทแห่งหนึ่งในอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พวกเขามีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น นายฮ้อย อยู่ร่วมด้วย คนเหล่านี้จะเดินทางไปค้าขายทั่วสารทิศ ทิศตะวันตกสุดที่เขาเดินทางไปถึงไกลถึงเมืองมะละแหม่งในประเทศพม่า ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ ประเทศลาว ชาวผู้ไทในหมู่บ้านที่นี่ไม่เคยได้พบกับ นายฮ้อยลาว ที่เข้ามายังหมู่บ้านของพวกเขาเลย ตามความรับรู้ของกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนลาวและคนไท คำว่า นายฮ้อย นี้จะใช้เรียกคนลาวและชาวผู้ไท แต่ก็มี นายฮ้อย อีกพวกหนึ่งจากส่วยและเขมร เพียงแค่ไม่กี่คนที่เข้ามาค้าขายในเขตเมืองโคราช โดยความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้ก็ได้เดินทางค้าขายอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
(ขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย, แปลและเรียบเรียง จากบทความเรื่อง How Thai-Lao Dominance Was Constructed in Northeast Thailand : From their Neighborsี Point of View ของ Hayashi Yukio (The Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University) พิมพ์อยู่ในหนังสือ The Dry Areas in Southeast Asia : Harsh or Benign Environment? Papers presented at Kyoto-Thammasat Core University Seminar. Kyoto, 21-23 October 1996. Edited By Fukui Hayao (The Center for Southeast Asian Studies (CSEAS), Kyoto University. March 1999).
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ม.ค. 03, 23:37

 ขอบคุณคุณสุทีอีกครั้งค่ะ  ที่ช่วยเอาบทความน่าสนใจมาให้อ่านอีก  การเอาของไปเร่ค้าขายในถิ่นไกลนี่  ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำกันในทุกชุมชนโบราณ  โดยมีชนเผ่าหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่นานๆไปก็กุมสายการเดินทาง และความรู้ในการเอาตัวรอดจากการเดินทาง  นี่ก็คงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการขยายประชากรไปสู่ส่วนต่างๆของโลกด้วยนะคะ  ดิฉันสนใจอ่านเรื่องพวกนี้  แต่ก็เจอแต่ในส่วนของแอ่งอารยธรรมโบราณ  ยังไม่เคยเห็นเรื่องของทางบ้านเราเลยค่ะ  

มีคนรู้จักที่เคยเป็นนักโบราณคดีที่ศึกษาสังคมโพลีเนเชี่ยนในฮาวาย(เดี๋ยวนี้ไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแล้ว)  เค้าบอกว่ามีหลักฐานว่าพวกโพลีเนเชียนนี้  มาจากแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แล้วค่อยเดินเรือกันมาทีละน้อย  ทำให้ดิฉันฉุกคิดว่า  จะมีส่วนเกี่ยวพันกับ พวกชาวเล รึเปล่า  เช่นอาจจะสืบสายขึ้นไปจากชนกลุ่มเดียวกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 19 คำสั่ง