เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5057 การศึกษาพระไตรปิฎก
แจ้ง ใบตอง
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 36

ทำงานเป็นลูกจ้างหลวง


 เมื่อ 09 พ.ย. 02, 11:25

 พอดีช่วงนี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพื่อต้องการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาให้มากที่สุด เนื่องจากเกิดความละอายใจด้วยว่าตนเองเกิดมาใต้ร่มพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็หาได้มีความรู้ในเรื่องที่ควรรู้ไม่  จึงได้ขวนขวายหาหนังสือเกี่ยวกับธรรมะมาอ่าน  ก่อนหน้านั้นผมอ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ลอยู่พักหนึ่ง  เพราะว่าพี่น้องคริสต์เตียนได้แนะนำให้ผมรู้จักกับพระเจ้า แต่อ่านไปอ่านมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับคริสต์ศาสนา หรืออาจเป็นด้วยพระเจ้ายังไม่มีพระประสงค์ให้ผมเปลี่ยนไปรับใช้พระองค์ เนื่องจากผมเป็นคนเชื่ออะไรยาก ถ้าไม่เห็นจริง พิสูจน์ไม่ได้แล้วจะไม่ยอมเชื่อเป็นอันขาด  ก็เลยหวนกลับมาอ่านธรรมะของศาสนาพุทธ เพราะพิจารณาแล้วว่าศาสนาพุทธเหมาะกับจริตของผมเอง โดยเฉพาะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่สามารถกล่าวแย้งใดๆได้เลย ดังในบทสวดมนต์ที่สรรเสริญคุณของพระธรรมว่า  "สวากขาโต  ภควตา  ธัมโม  สันทิฎฐิโก  อกาลิโก  เอหิปัสสิโก  โอปนยิโก  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ วิญญูหิติ"  นอกจากนั้นหลักการไม่เชื่องมงาย ๑๐ ประการในกาลามสูตร ก็จับใจผมยิ่งนัก  จึงคิดว่าผมมาถูกทางแล้ว  แต่พอผมได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง กลับเห็นข้อขัดแย้งกันเองหลายประการ  เช่น เราทราบว่าศาสนาพุทธเป็นอเทวนิยม  แต่ทำไมในพระไตรปิฎกจึงมีพวกเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย  ผมยังจำได้ว่าตอนที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกขกริยา พระอินทร์ก็ได้แปลงร่างเป็นมานพหนุ่มนั่งดีดพิณอยู่ในเรือ แล้วขึ้นสายพิณให้หย่อนบ้าง  ตึงบ้าง (ผมจำรายละเอียดไม่ค่อยได้แล้ว) เพื่อเป็นการแนะแนวทางให้พระพุทธเจ้าทรงยึดหลักทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ผมคิดว่าเอ...ถ้าพระอินทร์รู้ว่าอย่างไหนตึงอย่างไหนหย่อนแล้วทำไมไปตรัสรู้เสียเอง   หรือในคราวที่พระพุทธเจ้าเสร็จโปรดพระมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ผมก็เอะใจว่าสวรรค์ฉกามาพจรนี่มันเป็นของพราหมณ์มิใช่หรือ แล้วมาปนกับของพุทธได้อย่างไร  หรืออีกหลายๆ อย่างที่พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้   (ข้อที่พิสูจน์ได้ก็มีและผมก็เชื่อ)  จึงเกิดเคลือบแคลงใจว่าพระไตรปิฏกนั้นสามารถเชื่อถือได้หมดหรือไม่ หรือจะเลือกเชื่อเฉพาะเท่าที่เป็นแก่นเป็นสาระของศาสนาจริงๆ         ก็ได้ไปอ่านหนังสือของท่านพระธรรมปิฎกเรื่องกรณีธรรมกาย  ท่านได้เขียนไว้ว่าพระไตรปิฎกบาลีที่คนไทยนับถือ คือฉบับเดิมแท้ เก่าแก่ และสมบูรณ์ที่สุด โดยผ่านการสังคายนามาแล้วหลายครั้ง และแต่ละครั้งพระสงฆ์ผู้ทรงความรู้ก็ได้ตรวจทานโดยการสวดพร้อมกัน ถ้าไม่ตรงกันในที่ไดก็ต้องตรวจสอบกันทันที  จึงทำให้สามารถเชื่อถือได้ว่าพระไตรปิฎกของเรานี้เป็นของดั้งเดิมแท้แน่นอน

มาถึงตรงนี้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่าถ้าเราเชื่อกันว่าพระไตรปิฎกของเราเป็นของแท้ ดั้งเดิมแล้ว แต่ทำไมบางแห่งบางตอนยังเป็นเรื่องที่งมงาย พิสูจน์ไม่ได้อยู่  ซึ่งขัดกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือต้องพิสูจน์ได้ รู้ได้ เห็นได้  และเป็นปัจจุบันธรรม เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าธรรมมะนั้นออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าจริง หรือว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในยุคหลังแล้วบรรจุเข้าไปในพระโอษฐ์....

เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาวครับ  ถ้ามีใครสนใจก็คงได้จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  ผมเห็นเรือนไทยเงียบเหงามาหลายวันแล้ว แต่ไม่รู้จะตั้งกระทู้อะไรดี  เรื่องนี้ก็ออกจะหนักไปซักหน่อย  ผมคิดว่าถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันก็จะได้ประโยชน์ต่อชาวพุทธ และพระศาสนาไม่น้อยเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 10:16

 สวัสดีค่ะคุณแจ้ง  หายหน้าไปพักใหญ่  ที่แท้ไปเตรียมตัวบวชเรียนแบบลูกผู้ชายไทยแท้แต่โบราณนี่เอง      
หาคนถือหมอน  ถือพานประคองผ้าไตรได้แล้วหรือคะ

เรื่องพุทธศาสนาที่คุณแจ้งชวนคุย เป็นเรื่องที่ดิฉันไม่ถนัดนัก  แต่ก็ขอตอบตามที่คิด  จะผิดถูกยังไงเดี๋ยวคงมีคนรู้มากกว่ามาแก้ให้เอง
เวลาศึกษาพุทธศาสนา   ดิฉันแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือพุทธประวัติและพระธรรมคำสั่งสอน

ถ้ามีข้อเคลือบแคลงอะไรเกิดขึ้นขณะอ่าน  ดิฉันก็จะแยกก่อนว่ามาจากพุทธประวัติหรือพระธรรม
ถ้าเป็นพุทธประวัติ เป็นเรื่องที่ดิฉันไม่ค่อยติดใจคิดเท่าไร     พุทธประวัติมีหลายตอนที่เคลือบคลุม และหลักฐานก็ไม่ค่อยตรงกับทางประวัติศาสตร์นัก  เช่นการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เป็นต้น    
อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปกเคยเล่าว่า มีหลักฐานอะไรสักอย่างระบุว่าเป็นที่รับรู้กันในที่ประชุมกษัตริย์  ไม่ได้เสด็จออกไปในยามดึกมีแต่นายฉันนะจูงม้าทรงออกไปอย่างที่เราอ่านกัน
เรื่องเทวดาลงมาฟังธรรมในตอนดึกก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่เราจะหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาอ้างไม่ได้เลย

ดิฉันไม่ถือว่าสำคัญเพราะเห็นว่าพุทธประวัติ ควรรู้เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของผู้แสดงพระธรรมเท่านั้น   พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมให้ใครฟังก็เท่ากัน   สิ่งสำคัญคือตัวธรรม   ไม่ใช่ตัวผู้ฟัง

 ไม่เคยมีการแบ่งชั้นวรรณะว่าพระธรรมข้อนี้มีไว้สำหรับเทวดาโดยเฉพาะ  นั่นสำหรับพระราชา   ประชาชนไม่เกี่ยว   ประชาชนฟังได้เฉพาะข้อนี้  ข้อนั้นห้าม    ไม่มีเลยนะคะ
ใช่ อาจจะมีธรรมะบางข้อสำหรับผู้ปกครอง  หรือธรรมะสำหรับคนเป็นสามี หรือภรรยา   แต่ก็เป็นการจำกัดขอบเขตอย่างกว้างๆ  คนไม่ได้เป็นนักปกครองหรือสามีภรรยาก็มีสิทธิ์ฟังแล้วจำใส่ใจไว้ได้ เผื่อจะเป็นในวันหนึ่งก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 10:19

 เรื่องที่คุณแจ้งสงสัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ  เช่นทรงแสดงธรรมให้เทวดาฟัง  หรือพระอินทร์ลงมาเฝ้า   คุณแจ้งไม่ได้สงสัยตัวพระธรรมว่าสิ่งที่ตรัสไว้จริงหรือเปล่า

แต่ถ้าคุณแจ้งยังสงสัยเรื่องเทวดาสวรรค์นรกปาฏิหาริย์อยู่  งั้นดิฉันก็มีมุมมองว่า
สมมุติฐานของคุณแจ้งกับดิฉันต่างกัน
คุณแจ้งมองว่าเทวดา สวรรค์นรก ปาฏิหาริย์เป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้
ดิฉันมองว่าพิสูจน์ได้  แต่ไม่ใช่พิสูจน์แบบใส่หลอดแก้วทดลอง หรือว่าถ่ายวิดีโอกันมาให้ดูว่าสวรรค์และเทวดาหน้าตาเป็นยังไง

ก่อนอื่น  เรายอมรับใช่ไหมว่าในโลกกลมๆนี้มีอะไรหลายอย่างที่ดวงตาของมนุษย์ไม่สามารถเห็นได้
เช่นแบคทีเรีย ไวรัส เราก็มองไม่เห็น
คลื่นต่างๆในอากาศ วิ่งผ่านเราไปมาเต็มไปหมด   เราก็ไม่เคยเห็นได้สักที  
แต่เรามีกล้องจุลทรรศน์เราถึงรู้ว่าเชื้อโรคหน้าตาเป็นยังไง   มีเรดาร์จับคลื่นเราถึงรู้ว่าคลื่นวิ่งยังไงผ่านมาถึงไหน
แต่เรดาร์จับไวรัสไม่ได้  กล้องจุลทรรศน์เห็นคลื่นไม่ได้
แล้วสิ่งที่กล้องจุลทรรศน์และเรดาร์จับไม่ได้   จะไม่มีเชียวหรือ?

เพราะฉะนั้นอะไรสักอย่างที่เครื่องมือประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ยังจับไม่ได้   ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่า งั้นมันไม่มีจริง
จักรวาลเต็มไปด้วยพลังงาน    มนุษย์เราเองก็ทั้ง"เป็น" และ "มี" พลังงาน
มีหลักฐานในทั้งคำบอกเล่าและลายลักษณ์อักษร ที่มนุษย์ก่อนสมัยพุทธกาลรู้จักเอาพลังงานที่มีในตัวมาใช้ และสื่อสาร มานานแล้ว   ด้วยการฝึกจิตให้มีกำลังกล้าแข็ง   พลังงานที่เกิดนั้นสามารถก่อให้เกิดอะไรได้หลายอย่าง ที่ผู้ไม่ได้ฝึก ทำไม่ได้ เช่นบังคับลมหายใจได้แผ่วจนเกือบไม่ต้องใช้  จนถูกฝังดินได้นานๆ   ทุกวันนี้นักบวชในอินเดียก็ยังทำกันได้

การรู้จักสื่อสารไปสู่พลังงานอื่นๆ ที่ตามนุษย์มองไม่เห็นก็ทำได้เช่นกัน
โยคีฤๅษีชีไพรที่บำเพ็ญตบะทำกันได้ เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์  สมัยก่อนมาจนถึงสมัยพุทธกาล เชื่อว่าอิทธิปาฏิหาริย์คือการหลุดพ้น    ใครทำได้ถือว่าบรรลุนิพพานแล้ว  ทั้งที่ยังไม่ตาย   พอตายก็หลุดพ้นจากเวียนว่ายตายเกิดไปเลย  

พระพุทธเจ้าเคยศึกษาอยู่ในสำนักของดาบสประเภทนี้ถึง ๖ ปี   ดิฉันเชื่อว่าท่านฝึกอิทธิปาฏิหาริย์นี้ได้    แต่ท่านพบว่าไม่ใช่การหลุดพ้นอย่างที่คิด   จึงออกจากสำนักมาแสวงหาด้วยพระองค์เอง
แต่ความสามารถของท่านก็อาจทำให้ท่านติดต่อสื่อสารกับพลังงานมีชีวิตอื่นๆที่มนุษย์อย่างเราๆ(ผู้ไม่ได้ฝึกอะไรทั้งสิ้น) ไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก   ถ้าเรามีพื้นฐานการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์แบบฝรั่งแล้วจะเห็นว่าไม่น่าเชื่อเอาเลย เพราะมันใส่หลอดแก้วทดลองไม่ได้

เพราะเหตุผลที่คิดมา  ดิฉันจึงไม่คิดว่าเรื่องพระอินทร์ หรือเทวดาที่ลงมาเฝ้าพระพุทธองค์เป็นเรื่องเหลวไหล  
แต่ดิฉันก็ไม่ไปฝังอกฝังใจเลื่อมใสด้วยอย่างหัวปักหัวปำ  เพราะแค่ความเชื่อ  ว่าเทวดามีจริง ก็ไม่ทำให้ดิฉันพ้นทุกข์ หรือบรรลุธรรมอะไรขึ้นมาได้ มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่การศึกษาพระธรรมต่างหากทำให้เกิดความกระจ่างขึ้น   เพราะเราจะก้าวพ้นจากความเชื่อ มาถึงอีกขั้นหนึ่ง คือความรู้อันเกิดจากความคิดใคร่ครวญหาเหตุผล และปฏิบัติจนรู้ด้วยเอง
ดิฉันเชื่อว่าแม้แต่เทวดาเองก็ยังประสงค์สิ่งนี้เช่นกัน เพราะเทวดาก็มีหลายระดับชั้น ตามกุศลหนหลังที่แตกต่างกันไป
เทวดาถึงลงมาฟังพระธรรมไงล่ะคะ

เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว    พระอรหันต์สาวกผู้รวบรวมพระไตรปิฎกท่านก็คงเคยรู้เคยสัมผัสเรื่องนี้มาด้วยตัวท่านเอง
ท่านถึงบันทึกลงไปด้วย  เพราะจะให้ท่านข้ามๆไปซะ  ไม่บอกดีกว่า กลัวชาวบ้านไม่เชื่อ  
ก็เท่ากับท่านกล่าวเท็จ  พระอรหันต์ทำไม่ได้อยู่แล้ว
หรือท่านไม่ได้เห็นจริงแต่เชื่อ เลยเพิ่มลงไปในพระไตรปิฎกเพื่อให้ขลัง   ก็เท่ากับเท็จอีกเหมือนกัน
พระอรหันต์ทำไม่ได้
เว้นแต่เราจะเชื่อว่าพระอรหันต์ยังแต่งเรื่องได้   ช่วยกันจารึกเรื่องอะไรที่ไม่รู้ไม่เห็น แถมไม่จริงลงไปก็ได้    ถ้าเชื่อยังงั้นดิฉันว่าเราต้องล้มความเชื่อกันแบบตัวโดมิโนเลยทีเดียว คือเชื่อว่าพระอรหันต์เองก็ไม่หมดกิเลส  ทำอะไรผิดๆก็ได้   แต่งเติมเสริมต่อก็ได้  
ถ้าพระอรหันต์เป็นยังงั้นจริง การบรรลุธรรมในแต่ละขั้นตอนของพุทธศาสนาก็ต้องเพี้ยนไปจากในพระไตรปิฎกหมด
เพี้ยนกันถึงขนาดนั้นแล้ว แม้แต่พระไตรปิฎกเองก็ต้องเพี้ยนไปจากสัจธรรมด้วย

หรือถ้าจะเชื่ออีกอย่างว่า พระไตรปิฏกมีการชำระกันหลายครั้ง  ครั้งแรกอาจจะจริงละเอ้า
ต่อมาครั้งสองสามสี่ หรือเท่าไหร่หลังจากนั้น  ไม่รู้ว่าใครรวบรวม อาจจะเป็นพระเถระที่ไม่ใช่พระอรหันต์รวบรวมแล้วเลยผิดเพี้ยนไปบ้างก็ได้

นั่นก็คือหน้าที่ผู้ศึกษาในยุคหลังจะต้องไปศึกษาเปรียบเทียบเอาเอง
ดิฉันว่าผู้ศึกษาเขาก็ศึกษากันมาพอสมควรแล้ว  ก็ยังยืนยันว่าพระไตรปิฏกของเถรวาทนั้นมีความแม่นยำจากของเดิม
เมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ

ดิฉันก็เลยหยุดลงที่ข้อสรุปของตัวเองก่อนค่ะ ถ้าใครมีความคิดอื่นๆนอกจากนี้ มาแลกเปลี่ยนกันฟังจะขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 12:33

สวัสดีครับคุณพี่แจ้ง ไม่เจอตั้งนานที่แถ้หลบไปเตียมบวชก่อนเบียดนี่เอง ฮะๆๆ
ขอออกความเห็นบ้านครับ ในความคิดของผมนั้นผมเชื่อว่าเรื่องราวปาฎิหารเหนือจริงที่ปรากฎในพระไตรปิฎกเป็นอุบายในการสอนหลักธรรม หรือพูดง่ายๆก็คือเป็นเทคนิคในการสอนมากกว่า ผมคิดว่าสังคมในสมัยพุทธการนั้นชาวบ้านทั่วๆไปยังคงเชื่อเรื่องภูติผี เทวดา และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการศึกษาเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้นถ้าพระอรหันต์ หรือพระที่เขียนพระไตรปิฎกเขียนแต่เนื้อพระธรรมซึ้งเป็นปรัชญาล้วนๆ ชาวบ้านก็คงยากที่จะเข้าถึง แต่ถ้าใช้อุบายเข้าช่วยอาจจะทำให้การอบรมสั่งสอนง่ายขึ้นก็ได้

อย่างเรื่องที่พระอินทรลงมาดีดพินนั้น ผมมองว่าเป็นความต้องการที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญของหลักทางสายกลางมากกว่า ถ้าเขียนลงในพระไตรปิฎกว่า ทางสายกลางสำคัญอย่างโน้นอย่างนี้ ชาวบ้านทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าบอกว่าพระอินทรลงมาบอก ก็เหมือนกับบอกว่าหลักนี้เป็นของสักสิทธิ์ คนก็จะยำเกรงและปฎิบัติตาม อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับ แต่จริงๆเป็นอย่างไรไม่ทราบได้

เปรียบไปก็เหมือนกับทางโค้งอันตรายตามต่างจังหวัดนะครับ ถ้ากรมทางหลวงเอาป้ายเตือนไปติดว่าโค้งอันตราย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยฟังกันหรอก เกิดอุบัติเหตุกันขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าลองเอาศาลพระภูมิไปตั้งไว้สิ ใครๆก็ต้องกลัวว่าโค้งนี้ดุนัก ขับผ่านก็ต้องชะลอแถมบีบแตรให้หนึ่งที เป็นการลดอุบัติเหตุโดยใช้อุบาย
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 12:56

 เมื่ออ่านความเห็นคุณแจ้ง จบแล้ว นึกไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่อง บัว 4 ระดับทันทีเลยค่ะ  ที่ท่านเปรียบเทียบพื้นฐานความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อสัจจธรรมคำสอนของท่าน

ในยุคหนึ่งคงจะโกรธ  ถ้ามีใครมาว่าเราเป็นบัวใต้น้ำ  แต่เมื่อศึกษาธรรม อ่านหนังสือมากเข้า ยิ่งตระหนักว่า  ตัวเรายังมุดอยู่ใต้น้ำจริงๆ โดยที่ไม่ต้องให้ใครมากล่าวหา ... มีเรื่องเล่า  ตอนสมัยเรียนหนังสือ นักเรียนที่หนีเรียนไม่ค่อยเข้าห้องเรียน อาจารย์จะดุว่า  พวกนี้น่ะ บัวใต้slab (พื้นคอนกรีต) ไม่มีวันได้โผล่แน่ๆ

ทีนี้เมื่อมาย้อนนึกถึง บัวประเภทต่างๆ .. ถ้า เราเอาวิชาการตลาดเข้าไปจับ เขาก็ว่า  เวลาสอนคน ต้องดูกลุ่มเป้าหมาย  ว่าสอนคนกลุ่มไหนให้เข้าใจสัจจธรรมของชีวิต  ของต้องโยง ต้องยกตัวอย่างให้คนกลุ่มนั้นศรัทธา เชื่อถือ ทั้งนี้  บางคนก็หาเหตุมาอ้างว่า คนบางกลุ่ม ต้องเอาเรื่องอิทธิฤทธิ์ มานำก่อน มาเรียกร้องความสนใจให้พิสูจน์ บางครั้งธรรมะที่ต้องการบอก เลยเซไปเกินเป้าหมายได้

จากที่ครั้งหนึ่ง...ตอนเด็กๆ อ่านพุทธประวัติ แล้วไม่เข้าใจ ผสมไม่ค่อยเชื่อ  ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะคนสอนเราเอง ก็ไม่ได้เชื่อ หรือเปล่านะคะ  ถึงทำให้เชื่อตามไม่ได้  ต่อมาเมื่อมีโอกาสอ่าน หนังสือที่กล่าวถึงเฉพาะคำสอน ก็เกิด ความเข้าใจในอีกระดับหนึ่ง  แต่บางทีก็ยังฉงน กับเรื่อง ที่มองไม่เห็น ชวนให้สับสนพอควร เช่น กรณี ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนเสียชีวิต  แล้วมีคนฝันถึง เพื่อบอกว่าอยากได้อะไร แล้วก็ฉงนวิธีการทำบุญ ...ตรงนี้แหละค่ะ  ทำให้ศรัทธา  ต่อผลกรรม หรือสิ่งที่มองไม่เห็นเริ่มมีบ้าง  แต่ก็ยังคงหงุดหงิด กับไสยศาสตร์ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตค่ะ

นี่แหละค่ะ  บัวที่ยังไม่พร้อมจะโผล่น้ำ พอจะออกความเห็นได้แค่นี้เองค่ะ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 36

ทำงานเป็นลูกจ้างหลวง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 15:49

 ผมมองว่าทั้งพุทธประวัติที่น่าเหลือเชื่อ รวมทั้งพระธรรมบางข้อนั้น ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในระยะหลังครับ เหมือนอย่างที่คุณเทาชมพูกล่าวไว้ในท้ายความเห็นที่ ๒    ตามความคิดเห็นของผมการสังคายนาครั้งที่ ๑ น่าจะไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีการเพิ่มเติมหรือตกหล่น เนื่องจากพระสงฆ์ที่เข้าร่วมการสังคายนาได้ทันรับฟังพระประวัติ ตลอดจนพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า  ส่วนในการสังคายนาครั้งที่ ๒ นั้นถ้ามีวิธีการสังคายนาอย่างที่ท่านพระธรรมปิฎกกล่าวไว้ ก็น่าเชื่อถือได้ว่า จะไม่ผิดเพี้ยนไปจากการสังคายนาในครั้งที่  ๑ ส่วนการสังคายนาครั้งที่ ๓ เป็นต้นมานี่ผมไม่แน่ใจแล้วว่าจะมีส่วนใดเพิ่มเข้ามา ส่วนใดตกหล่นไปหรือไม่ เพราะจากที่อ่านข้อเขียนของนักวิชาการศาสนาหลายๆ ท่านก็มีความเห็นตรงกันว่า เริ่มมีการแต่งอรรถกถาเพิ่มเติมขึ้นมา อย่างในพระไตรปิฎกฉบับประชาชนที่สุชีพ ปุณยานุภาพ ได้รวบรวมไว้ ก็บอกไว้ว่าได้มีการแต่งเพิ่มเติมจากของเดิมแต่ขยายให้พิสดารออกไป (พิสดารในที่นี้ผมแปลว่าเพิ่มเติมเรื่องเหลือเชื่อต่างๆ เข้ามา จริงๆ แล้วเค้าอาจจะแปลว่าเพิ่มเติมขยายให้ละเอียดกว่าเดิมเพื่ออธิบายของเก่าให้จัดเจนยิ่งขึ้นก็ได้)

อ.เสถียรพงษ์ วรรณปกเองก็ได้กล่าวไว้ว่าสมัยสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ก็ยังไม่มีพระไตรปิฎก  แต่ได้มีการรวบพระพุทธวจนะออกเป็นหมวดๆ อยู่แล้ว ปิฎกเพิ่งจะมาครบ ๓ เมื่อมีสังคายนาครั้งที่ ๓ นี่เอง   (พล.ต.เดช ตุลยวรรธนะ ก็บอกไว้สมัยก่อนมีแค่ ๒ ปิฎก คือ วินัยปิฎก และสุตตันตปิฎก ส่วนอธิธรรมปิฎกมาแต่งเพิ่มทีหลัง)ผมจึงมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าเรื่องต่างๆ ที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ หรือ เรื่องเทวดา นรก สวรรค์ หรือเรื่องชาดกนี่ก็เพิ่มเข้ามาทีหลัง โดยเฉพาะเรื่องเทวดาต่างๆ เชื่อว่าเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ลัทธิพราหมณ์เข้ามามีส่วนในศาสนาพุทธ เพื่อต้องการให้กลมกลืนกับศาสนาพุทธพุทธแน่นอน ซี่งต่อมาก็ประสบผลสำเร็จจนขณะนี้พราหมณ์เขาถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นปางอวตารที่ ๙ ของพระนารายณ์ไปแล้ว ทำให้พุทธในอินเดียเสื่อมลง จนปัจจุบันนี้มีคนนับถือศาสนาพุทธเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์  

แต่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นี่ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่านครับ บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก หรือพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์เหมือนที่คุณเทาชมพูว่าไว้  แต่อย่างน้อยๆ ก็ขอให้ได้ใช้หลักกาลามสูตรก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นควรเชื่อจึงเชื่อครับ

พอดีผมไปเจอบทความหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจดี เลยนำมาฝากครับ  

 http://www.geocities.com/dugdaemagazine/column2.htm
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 36

ทำงานเป็นลูกจ้างหลวง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 15:55

 สวัสดีคุณฝอยฝนกับคุณจ้อครับ  อ้อ..ผมยังไม่ได้เตรียมเบียดนะคุณจ้อ  แต่จะเบียดก่อนบวชหรือบวชก่อนเบียดค่อยว่ากันอีกที ต้องดูความสถานการณ์ก่อนครับ อิ..อิ    
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 19:19

 เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนเปรียบเทียบหลักการปฏิบัติธรรมของสำนักต่างๆ 3 แห่งว่า
สันติอโศก เน้น เรื่อง ศีล
ธรมกาย เน้น เรื่อง สมาธิ
สวนโมกข์ เน้น เรื่อง ปัญญา

หลายคน  อาจจะเคยกล่าวว่า สวนโมกข์ สอนคนระดับปัญญาชน ออกไปแนวปรัชญา  แต่สำหรับตัวฝนเอง  คิดว่านั่นแหละค่ะ  เข้าใจง่ายดี  สอนให้ไม่ยึดมั่นใตตัวตน  ก็บอกตรงๆ  แค่ อย่าไปคิด "ตัวกู ของกู "(หนังสือเล่มนี้ กระจ่างมากค่ะ) เท่านั้นเอง  ไม่ต้องมานั่งนิ่งๆ กำหนดจิต  ถ้าต้องปฏิบัติแบบนั้น ขอสารภาพ ว่าทำไม่เป็นค่ะ แล้วถ้ามานั่งตีความ แบบเสียงพิณ หย่อน ตึง ให้เดินสายกลาง  อิอิ  ก็นึกไม่ถึงอีกค่ะ  ถ้าบอกง่ายๆ ลด ละ เลิก กิเลส   แหม..ชัดเจนค่ะ  
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 19:22

 แหม...ขอโทษนะคะ  ที่เขียนๆไปน่ะ ไม่เกี่ยวกะพระไตรปิฎกโดยตรง
เพราะไม่เคยอ่านค่ะ      
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 36

ทำงานเป็นลูกจ้างหลวง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 พ.ย. 02, 21:05

 ตอนนี้ผมก็กำลังศึกษาในแนวของท่านพุทธทาสอยู่ครับ ได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียนหรือบรรยายแล้วรู้สึกว่าเข้าใจได้ง่ายครับ  โดยเฉพาะเรื่อง ตัวกู ของกู  ส่วนมากท่านจะแยกภาษาคน-ภาษาธรรมครับ เช่น คำว่าเกิด ถ้ายึดตามภาษาคนก็คือเกิดจากท้องแม่ ถ้ายึดตามภาษาธรรมก็หมายถึงการเกิดด้วยอำนาจอวิชชา ตัณหา  ว่าตัวกูเป็นของกูนั่นเอง  ต้องลดอัตตาลง เพราะอัตตาทำให้เกิดทุกข์  ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เป็นทุกข์  แต่ทำไมเราไม่ทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นเค้าเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เรารู้สึกเฉย แต่ถ้าเป็นญาติพี่น้องเรา หรือตัวเรา ก็ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที นี่คือตัวอย่างของการยึดอัตตา ว่านี่คือตัวกู นี่ของกู การดับทุกข์ต้องลดอัตตาลงให้มากที่สุด พระอรหันต์ท่านดับอัตตาได้หมดก็ถึงนิพพาน  การเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ทุกข์เสียแล้ว เพราะเรารู้เท่าทัน รู้ในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอตายขันธ์ ๕ ก็ดับหมด นี่ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีนะครับ ในด้านปฏิบัติจะทำได้หรือเปล่าก็ต้องลองปฏิบัติดู เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตนครับ ไม่สามารถบอกกล่าวกันได้

พูดไปพูดมาก็เหมือนพระกำลังเทศนาไปเสียแล้ว เดี๋ยวคงมีใครมาติดกัณฑ์เทศน์เป็นแน่...      
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 พ.ย. 02, 11:25

 สาธุ หลวงพี่แจ้งช่างเทศน์เรื่องอัตตา ได้ซาบซึ้งจริง ๆ ตามมาติดกัณฑ์เทศน์ให้แล้วนะคะ  
ปกติไม่ค่อยได้อ่านหนังสือประเทภนี้เลยนะคะ แม้แต่เวลาที่มีความทุกข์มาก ๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนานะคะ
ศรัทธาและเชื่อมั่นในคำสอนเท่าที่พุทธศาสนิกชนคนนึงพึงศรัทธาได้นั่นแหละค่ะ แต่ไม่ค่อยได้อ่านเพราะว่า บางทีรู้นะคะอย่างที่หลวงพี่บอกนั่นแหละค่ะ เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัว ข้อนี้รู้แล้ว ถ้าจะไม่ให้ทุกข์ก็ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางซะ ปัญหาคือรู้แต่ทำไม่ได้นี่ค่ะ เลยพาลไม่อ่านหนังสือเสียเลย เพราะไม่แน่ใจว่าวิถีทางที่ท่านแนะนำกันไว้นั้นเหมาะกับทุกคนหรือเปล่า เลยยังเป็น "บัวหินทับ" อยู่นี่แหละค่ะ หนักยิ่งกว่าบัวใต้น้ำเข้าไปอีก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง