เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 9243 ต่อจากกระทู้ 1040 ว่าด้วยนโปเลียน
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 14 พ.ย. 02, 11:48

 เราเคยคุยกันเรื่องพระเจ้านโปเลียนไว้เมื่อหลายเดือนก่อนนี้ เผอิญผมเพิ่งจะกลับมาจากไปเที่ยวเกาะCorsica คอร์สิกา หรือที่ฝรั่งเศสเขาเรียกของเขาว่า Corse ซึ่งหูผมได้ยินคล้ายๆ "ก็อร์กซ..."  บ้านเกิดนโปเลียนมาครับ

นโปเลียนเกิดที่เมือง Ajaccio เกาะก๊อกนี้ เป็นเมืองที่ผมไปพักอยู่สามคืน และในขณะนี้รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งให้เป็นเมืองหลวงของเขตคอร์สิกาใต้ (เมืองหลวงของเกาะคอร์สิกาทางด้านเหนือ คือเมือง Bastia เกาะคอร์สิกาใหญ่กว่าที่ผมนึกไว้มากครับ ระยะทางจากบาสเตียมาอาจั๊กซิโอโดยทางรถยนต์ มีคนบอกผมว่ามากกว่า 3 ชม. แถมทางถนนต้องไต่ตัดข้ามเทือกเขากลางเกาะมาด้วย) ที่จริง เมืองหลวงเดิมของเกาะทั้งเกาะที่ฝรั่งเศสเคยมาตั้งไว้ มีที่ทำการรัฐบาลและมีกองทหาร คือที่เมือง Corte ใจกลางเกาะ แต่ตอนนี้ไม่ได้มีความสำคัญทางบริหารแล้วเพราะศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่นย้ายไปแล้ว

ผมไปที่เกาะนี้ทันช่วงที่เขาฉลองวันครบรอบวันเกิดของพระเจ้านโปเลียนกันพอดี วันเกิดนโปเลียน คือวันที่ 15 สิงหาคม 1769 ก่อนปีปฏิวัติฝรั่งเศส 20 ปี ตกในราวหลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 มาแล้ว 2 ปี คงเป็นช่วงที่พระเจ้าตากสินมหาราชกำลังทรงดำเนินการกอบกู้เอกราชและรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นอยู่ Maison Bonaparte บ้านของตระกูลนโปเลียนผมก็ได้ผ่านไปดู เป็นบ้านเล็กๆ ครับอยู่ในตรอก ถ้าพูดกันตรงๆ ก็เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นห้องแถวสมัยโบราณ แต่เป็นห้องแถวระดับชั้นดีหน่อย เกาะคอร์สิกาเป็นดินแดนที่ฝรั่งเศสกับอิตาลี (ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้ตั้งประเทศอิตาลี) แย่งกันไปกันมาอยู่นาน สมัยนั้นนครรัฐอิสระต่างๆในอิตาลีมีมาก เช่น เวนิศ ฟลอเรนซ์ เป็นต้น เกาะคอร์สิกาอยู่ใต้การปกครองของพวกอิตาเลียนเมืองเจนัว (ตอนนั้นเรียกสาธารณรัฐเจนัว) ต่อมาเป็นของฝรั่งเศสแล้วก็แย่งกันไปมาอย่างว่า พ่อนโปเลียนเป็นคนท้องถิ่นที่ร่วมมือกับฝ่ายฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสชนะได้อำนาจปกครองเกาะนี้ ก็กลายเป็นคนสำคัญของเมืองไป และสามารถส่งลูกชายไปเรียนวิชาการทหารที่ฝรั่งเศสได้
นโปเลียนเป็นคนที่ฉลาด และเป็นนักวิชาการทหารที่ยิ่งใหญ่มาก ถึงปี 1789 ที่ฝรั่งเศสปฏิวัติล้มระบบกษัตริย์ (คือ พ.ศ. 2332 ตกราวรัชสมัย ร.1 ทางไทยเราตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว) นโปเลียนก็จบเป็นนายร้อยตรีได้พักหนึ่งแล้ว (เหล่าทหารปืนใหญ่) อายุแค่ยี่สิบเอง เร็วมากๆ แล้วพอหลังปฏิวัติแล้วก็ไต่เต้าในราชการทหารอย่างรวดเร็วมากขึ้นไปอีก เสร็จแล้วชะตาก็พลิกผันไปอย่างที่เรารู้กัน คือ นายพลนโปเลียน ได้เป็น "กงสุล" คนที่ 1 ของฝรั่งเศสเมื่อฝรั่งเศสทดลองใช้ระบบการปกครองแบบกงสุล 2 คน แล้วต่อมาก็เลยตั้งตนเป็นกษัตริย์ แล้วก็ตีรบขยายดินแดนฝรั่งเศสออกไปกว้างขวางมาก จนไปแพ้สงคราม ตกจากอำนาจลงไปหนหนึ่ง ถูกส่งไปจำขังไว้ที่เกาะเอลบ้า หนีออกมากได้ กลับขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสหนที่สอง แพ้สงครามอีก และถูกส่งไปขังที่เกาะเซนต์ เฮเลนาจนสิ้นพระชนม์

นโปเลียนไม่ทรงมีลูกหลานที่สืบสายสกุลต่อจากพระองค์ลงไปโดยตรง พระราชโอรสที่ทรงมีก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ มีแต่หลานๆ จากพี่ๆ น้องๆ ของพระองค์ที่ยังคงสืบเชื้อสายมาจนเดี๋ยวนี้ ในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเกิดนโปเลียนนั้น ที่เมือง Ajaccio มีการจัดการเดินขบวนสวนสนามโดยทหารในเครื่องแบบสมัยจักรพรรดินโปเลียนเหล่าต่างๆ   ไปตามถนนสายต่างๆ ในเมือง และมีคนสำคัญทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนของเกาะคอร์สิกาและของเมืองเองเดินตามด้วย ดูเหมือนจะมีผู้บัญชาการหน่วยทหารฝรั่งเศสที่อยู่ที่เกาะนี้ มีนายกเทศมนตรี มีใครต่อใคร ที่สำคัญมีเจ้าชายในราชตระกูลโบนาปารต์พระองค์หนึ่งเดินเข้าขบวนด้วย แม้ว่าฝรั่งเศศตอนนี้จะเป็นสาธารณรัฐมานานแล้ว แต่คนก็ยังให้เกียรติเรียกท่านชายว่าเป็น แปรงซ์เดอโบนาปาร์ต คือเป็นเจ้า อยู่ แปรงซ์ท่านนี้สืบเชื้อสายมาจาก Jerome ซึ่งเป็นพี่น้องคนหนึ่งของนโปเลียน หน้าตาท่านก็เป็นฝรั่งธรรมดาครับ ทรงผมไม่ได้หยิก 1 ปอยปรกอยู่ตรงหน้าผากเหมือนที่เราเห็นในรูปเขียนนโปเลียน (และซุปเปอร์แมนเลียนแบบไปทีหลัง) และเวลาเดินในขบวนก็ไม่ได้เอามือข้างหนึ่งสอดเข้าไปลูบพุงตัวเองใต้เสื้อ เหมือนที่พระบรมบรรพบุรุษของท่านชอบทำเมื่อสองร้อยปีกว่ามาแล้วด้วย
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ส.ค. 02, 21:52

 ที่ Ajaccio (หรือถ้าจะว่าไปก็คงทั้งเกาะคอร์สิก้านั้นแหละ) พระนามของนโปเลียนโบนาปาร์ตกลายเป็นสินค้าที่ขายนักท่องเที่ยวได้ มีของยี่ห้อนโปเลียนเยอะไปหมด มีร้านอาหารนโปเลียน บาร์นโปเลียน บาร์ชื่อ กงสุลหมายเลขหนึ่ง (อันเป็นตำแหน่งหนึ่งของพระองค์) โรงแรมชื่อโจเซฟิน มีถนนสายหลักของเมืองชื่อถนนนโปเลียน (คนละเส้นกับ "เส้นทางนโปเลียน" บนฝรั่งเศศแผ่นดินใหญ่ ที่เป็นเส้นทางเดินทัพของพระองค์ตอนที่หนีออกมาจากเกาะเอลบ้าได้ และเข้าตีปารีส เส้นทางนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากคอร์สิกาหรอกครับ คืออยู่ที่เมืองคานส์บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ เมืองที่เขาประกวดภาพยนตร์กัน ผมได้ไปดูเส้นทางนโปเลียนมาแล้วด้วยครั้งที่แวะไปเที่ยวคานส์และนีซคราวก่อน) มีเหล้าตราหน้านโปเลียน และ ฯลฯ อนุสาวรีย์ของพระองค์ก็มีอยู่หลายแห่ง รูปหนึ่งอยู่ริมทะเล เป็นรูปพระเจ้านโปเลียนทรงเครื่องศึกแบบนักรบโรมัน ทรงม้า มีพี่น้องชายของท่าน 4 คนเดินอยู่ข้างม้าทั้ง 4 ด้าน รูปหนึ่งอยู่เป็นเนินเขาชานเมืองเป็นรูปนโปเลียนในเครื่องทรงจอมทัพฝรั่งเศส เป็นอนุสรณ์ถึงชัยชนะที่ Austerlizt และอีกรูปหนึ่งอยู่ที่ลานจตุรัสหน้าเมืองหันออกทะเลเหมือนกัน หน้าศาลาที่ทำการเทศบาลนคร คราวนี้ทรงแต่งเครื่องจักรพรรดิโรมันแบบพลเรือน ห่ม "จีวร"  เหมือนที่เราเห็นพวกโรมันห่มน่ะครับ และทรงมงกุฎใบลอเร็ล เลียนแบบซีซาร์ ลานพระรูปนี้เป็นที่ๆ กองทหารเกียรติยศและขบวนแห่เดินมาหยุดเป็นที่สุดท้ายหลังจากเดินไปตามถนนสายต่างๆ ในเมือง และคนสำคัญของเมืองทำพิธีวางพวงมาลาถวายพระองค์ที่พระรูปนี้ บ้านสกุลโบนาปาร์ตก็อยู่ในตรอกเล็กไม่ไกลจากลานพระรูปนั้นเอง ก่อนขบวนแห่จะมาหยุดที่ลานพระรูปเป็นจุดสุดท้ายนั้นต้องไปหยุดในตรอกที่หน้าบ้านโบนาปาร์ตก่อน วงดุริยางค์เล่นเพลงเคารพเที่ยวหนึ่งก่อนถึงค่อยมาที่หน้าลานนี้ ในวันพิธีนั้น มีธงชาติฝรั่งเศสผืนใหญ่พลิ้วไสวอยู่จากหน้ามุขของห้องแถว เอ๊ยบ้านโบนาปารต์ สง่างามมาก แต่คนก็แน่นมากเหมือนกัน ผมเลยต้องแวะไปถ่ายรูปอีกทีสองวันหลังจากนั้น ปรากฏว่าธงชาติหายไปแล้ว แปลว่าเขาแต่งธงเพื่อรับวันเกิดนโปเลียนวันเดียว

วงดุริยางค์ที่นำหน้าขบวนแห่นั้นเป็นวงของตำรวจฝรั่งเศส แต่งเครื่องแบบสมัยปัจจุบัน ไม่เหมือนกองทหารที่ตามมาที่แต่งตัวเครื่องแบบสมัยสองร้อยปีที่แล้ว มีทหารหมู่เชิญธง 1 หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารของแถวๆ นี้ เป็นธงชัยที่มีเกียรติประวัติมานาน เก่าตกจางสีซีดแทบจะไม่เห็นเป็น 3 สีอย่างที่เรารู้จักกัน ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารฝรั่งเศสนั้นก็เหมือนธงชัยเฉลิมพลของทหารไทยเรา คือเป็นธงชาตินั่นเอง อย่างของเราก็เป็นธงไตรรงค์ แล้วมีเครื่องหมายหรือมีอักษรระบุนามหน่วยและเครื่องหมายของหน่วยไว้บนธง ยอดธงชัยที่ผมเห็นเป็นตรานกอินทรีกางปีก สัญลักษณ์ของเอมเปรอนโปเลียน หน้าหมวกของทหารในเครื่องแบบโบราณก็เป็นตรานกอินทรีอยู่ใต้พระมหามงกุฏจักรพรรดิอันเป็นตราของนโปเลียนเหมือนกัน
เพลงมาร์ชที่เขาเล่นกันนั้น ถามเจ้าถิ่นที่เป็นผู้รู้เขาบอกว่าบางเพลงก็เป็นเพลงสมัยพระเจ้านโปเลียน บางเพลงก็เป็นเพลงประจำราชสำนักสมัยนั้น บางเพลงก็แต่งใหม่ทีหลังเพื่อสดุดีนโปเลียน เมือขบวนมาหยุดหน้าอนุสาวรีย์อันสุดท้ายและเล่นเพลงไปหลายเพลงแล้ว ผมกำลังจะเปรยว่ายังขาดไปเพลงหนึ่ง ก็พอดีวงดุริยางค์ขึ้นเพลง ลา มาร์แซแยส อันเป็นเพลงชาติฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังกระหึ่ม ไม่เคยได้ยินลา มาแซแยสที่ไหนเพราะเท่าวันนั้นเลย

ผมสงสัยว่าสมัยนโปเลียนนั้น ลา มาร์แซแยส เป็นเพลงชาติฝรั่งเศสแล้วยัง ถ้าเข้าใจไม่ผิดเพลงนี้แต่งแถวๆ ช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งนโปเลียนคงยังเป็นนายร้อยอยู่เลยมั้ง ที่แน่ๆ ตอนพระเจ้านโปเลียนตกกระป๋องหนแรก และกษัตริย์วงศ์เดิมได้กลับมาครองอำนาจใหม่อยู่ช่วงหนึ่งนั้น คงจะไม่ทรงใช้เพลงของพวกปฏิวัติเป็นเพลงชาติฝรั่งเศสแน่ละ

อาจารย์คึกฤทธิ์เคยเขียนไว้ว่า ท่านเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของเรากับพระเจ้านโปเลียนมีอะไรที่เทียบกันได้หลายอย่าง และที่จริงก็นับได้ว่า กษัตริย์นักรบที่มาจากสามัญชนสองพระองค์นี้ทรงอยู่ร่วมในยุคสมัยเดียวกัน ทันกัน แต่นโปเลียนทรงอ่อนกว่าพระเจ้าตากสินหลายปี
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ส.ค. 02, 00:35

 ผมไปค้นแล้วได้ความว่า เพลงชาติฝรั่งเศสปัจจุบันนี้แต่งในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสจริงๆ คือราวปี 1792 รัฐสภาฝรั่งเศสของพวกปฏิวัติรับรองเป็นเพลงชาติในปี 1795

แต่ที่ตลกก็คือว่านโปเลียน ซึ่งได้ดีขึ้นมาส่วนหนึ่งเพราะการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสครั้งนั้น สั่งห้ามเพลงนี้ในสมัยที่พระองค์เป็นเอมเปรอครับ  (สมัยที่ฟื้นฟูราชวงศ์บูรบองอีกครั้งตอนนโปเลียนตกกระป๋อง รัฐบาลราชาธิปไตยก็ห้ามใช้เพลงนี้เหมือนกัน) แต่มาคิดอีกทีก็ไม่แปลกหรอก เพราะนโปเลียนนั้นจะว่าทรงนิยมพวกปฏิวัติอยู่บ้างสมัยหนุ่มๆ ก็พอพูดได้ แต่ตอนที่สถาปนาพระองค์เป็นเอมเปรอแล้วนี่ คือกลับไปใช้รูปแบบระบบกษัตริย์แล้วนั้น จะใช้เพลงของพวกปฏิวัติที่ชอบจับกษัตริย์ (ถึงจะเป็นกษัตริย์ระบอบเก่าก็เถอะ) มาตัดหัวเป็นเพลงชาติ ก็จะดูกระไรอยู่ ตกลงทั้งพระเจ้านโปเลียนและพระเจ้าหลุยส์ราชวงศ์บูรบองที่เป็นศัตรูกับนโปเลียนและรบกันอยู่นั้น ก็มามีพระราชดำริเห็นตรงกันอย่างหนึ่ง คือไม่โปรดเพลง ลา มาร์แซแยสทั้งคู่

ที่ตลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า คนแต่งเพลงนี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด ที่จริงแล้วเป็นพวกรอยัลลิสต์ และไม่ยอมสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญใหม่ จนเกือบถูกกีโยตินตัดหัวเสียแล้วแน่ะ

ราชวงศ์เบอรเบิ้น เอ๊ย บูรบอง (เบอเบิ้นเป็นวิสกี้ครับ - เอี๊อก...) นั้นมีตราพระราชสัญลักษณ์คือเฟลอร์เดอลีส์ หรือดอกลิลลี่ ใครนึกไม่ออกก็ไปดูที่หมวกลูกเสือไทยได้ เพราะตราลูกเสือไทยนั้นเป็นตราหน้าเสือทับอยู่บนเฟลอเดอลีส์ เมื่อนโปเลียนตั้งพระองค์เป็นจักรพรรดิวงศ์ใหม่ ก็ต้องหาสัญลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิมเป็นการขึ้นต้นยุคใหม่โดยไม่ให้มีเยื่อใยกับกษัตริย์ในระบอบเก่า จึงเป็นที่มาของการใช้นกอินทรีเป็นตราของพระองค์ อีกสัญลักษณ์หนึ่งของจักรวรรดิสมัยนั้นก็คือผึ่งครับ

แต่หลังจากเปลี่ยนระบอบกลับไปกลับมาหลายหน ในตอนนี้ฝรั่งเศสก็เป็นสาธารณรัฐ และงานพิธีใดๆ ที่เป็นการให้เกียรติวีรบุรุษของชาติ ก็ต้องมีการบรรเลงเพลงชาติของสาธารณรัฐ คือ ลา มาร์แซแยส จึงมีการบรรเลงเพลงชาติปัจจุบันในพิธีระลึกวันเกิดนโปเลียนที่ผมไปดูมาด้วย (ไม่ว่าเพลงนั้นที่จริงนโปเลียนจะทรงโปรดหรือไม่โปรดก็ตาม)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ส.ค. 02, 01:07

 ง่า... สงสัยผมจะเมาวิสกี้เบอร์เบิ้น สัตว์สัญลักษณ์ของจักรวรรดิฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่หนึ่งนั้น คือผึ้งครับไม่ใช่ผึ่ง ขออำภัย แหะๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ส.ค. 02, 09:27

ขอบคุณที่มาเล่าสู่กันฟังค่ะ  ยาวเหยียดทีเดียว
อยากเห็นภาพค่ะ ไม่ทราบว่าจะสแกนมาลงได้ไหม
อยากเห็นบ้านเมืองบนเกาะว่าเหมือนในอิตาลีหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ส.ค. 02, 19:57

 ยังไม่ได้ล้างฟิลม์เลยครับ ขอเวลาไปหายืมเครื่องสแกนกับคนสแกนก่อน ผมไม่มีเครื่องครับและใช้ไม่เป็นด้วย

บ้านเมืองบนเกาะคอร์สิกาหน้าตาค่อนข้างไปทางสถาปัตยกรรมแถบเมดิเตอเรเนียน ได้อิทธิพลอิตาลีมากจริงๆ ด้วย คนคอร์สิกันหรือก๊อร์กซเท่าที่เห็น ก็หน้าตาค่อนไปข้างอิตาเลียน ต้นไม้ใบหญ้าอะไรก็เป็นต้นไม้เขตร้อน มีส้ม มีมะนาวและผลไม้ตระกูลมะนาวทั้งหลาย มีมะกอกหรือโอลีฟ มีต้นไม้หน้าตาเหมือนต้นไม้ในเมืองไทยหลายชนิด เช่น ยี่โถ เฟื่องฟ้า กระบองเพชรและปาล์มต่างๆ อากาศออกจะอุ่นดีทีเดียวครับ เรียกได้ว่าร้อนตามมาตรฐานฝรั่งเลยแหละ แดดจัด แต่ดีหน่อยที่เป็นเกาะได้ลมทะเล อย่างไรก็ตาม คนคอร์สิกันเขาว่า ถึงหน้าหนาวถ้าขึ้นไปบนเทือกเขาสูงๆ กลางเกาะ ก็มีหิมะนะครับ มีหิมะเยอะขนาดเล่นสกีได้ด้วยซ้ำไป แต่คงจะเฉพาะที่ระดับความสูงระดับหนึ่งเท่านั้น ข้างล่างลงมาผมว่าไม่น่าจะมีหิมะ

ชาวคอร์สิกันเป็นพวกผสม มีทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากอิตาเลียนเมืองเจนัวสมัยที่เจนัวยังเป็นเจ้าของเกาะ มีพวกฝรั่งเศส มีอิตาเลียนที่ข้ามมาจากอิตาลีปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้กันนิดเดียว (คอร์สิกาอยู่ติดกับซาร์ดิเนียเลย) มีพวกผู้อพยพชาวกรีก อังกฤษ  รัสเซีย และอีกหลายเผ่าพันธุ์ สมัยโบราณชาวเกาะดั้งเดิมจริงๆ เขาว่าเป็นพวกแขกมัวร์ด้วยซ้ำ ข้ามทะเลมาจากแอฟริกาเหนือ ตราประจำเกาะก็ยังเป็นรูปหน้าชาวมัวร์ คือหน้าผู้ชายผิวคล้ำโพกแถบผ้าพันหัวสีขาว (ปรากฏให้เห็นทั่วไป ทั้งบนตราบริษัทเรือข้ามฟากและตราสายการบินของเกาะ รวมทั้งบนเครื่องแบบตำรวจฝรั่งเศสบนเกาะซึ่งเกือบเหมือนตำรวจฝรั่งเศสทั่วไปทุกอย่าง เว้นแต่มีตราหน้าแขกมัวร์นี่ด้วย) แต่สมัยของมัวร์คงจะนมนานมากจนละลายหายไปหมดแล้ว เพราะผมไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอารยธรรมมัวร์ให้เห็นได้เท่าไหร่ หน้าคนก็เป็นฝรั่ง (แต่เป็นฝรั่งยุโรปใต้) อาหารก็เป็นแบบอิตาเลียน สถาปัตยกรรมที่หน้าตาเป็นอิสลามไม่เห็นเลย ไม่เหมือนในสเปน ซึ่งเรายังรู้สึกได้ว่ามีอิทธิพลของพวกมัวร์และอิสลามหลงเหลืออยู่มาก

คนคอร์สิกันพูดภาษาฝรั่งเศส เพราะเป็นดินแดนของฝรั่งเศสมากว่าสองร้อยปีแล้วนี่ครับ แต่ก็มีบางส่วนพูดภาษาอิตาเลียนด้วย เป็นอิตาเลียนสำเนียงท้องถิ่นหลายสำเนียง ไม่ใช่อิตาเลียนมาตรฐาน แม้แต่ป้ายชื่อสถานที่สาธารณะต่างๆ ก็มีคู่กันเป็นสองภาษาทุกป้าย คือ สะกดแบบฝรั่งเศส (หรือที่จริงต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วก็เป็นแบบอิตาเลียนมาตรฐานนั่นแหละ เพราะชื่อต่างๆ เป็นชื่ออิตาเลียน และฝรั่งเศสก็ไม่ได้เปลี่ยน รับมาทั้งอย่างนั้น ยกเว้นบางคำ) กับสะกดแบบท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่อิตาเลียนมาตรฐานเป็นอิตาเลียนเหน่อ เหน่ออย่างไรนั้นผมก็ไม่มีความรู้ที่จะอธิบายได้  แต่สังเกตว่าคนคอร์สิกันชอบออกเสียงโอ เพี้ยนเป็น อู มากๆ เป็นเอกลักษณ์เลย กระทั่งชื่อของนโปเลียน เดิมก็ไม่ได้สะกดแบบที่เราเห็น แต่สะกดว่า Napoleone (Nabuleone ก็มี) Buonaparte เพิ่งเปลี่ยนสะกดเป็นแบบที่ใกล้กับฝรั่งเศสหน่อยตอนที่นโปเลียนโตแล้ว (อันนี้คล้ายกับคนปักษ์ใต้บ้านเรา ที่ออกเสียงโอเป็นอู และออกเสียงอูก็เป็นโอ เช่น ไม่รู้เรื่อง เป็น "ม้ายโร่เหรือง"  ลูกชาย เป็น "โหลกช้าย"  เป็นต้น)

ยกตัวอย่าง ชื่อเกาะคอร์สิก้าเอง ฝรั่งเศสดัดจริตเรียก ก๊อร์กซ Corse แต่ภาษาอิตาเลียนมาตรฐานและอิตาเลียนสำเนียงเหน่อชาวเกาะ และภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ทั่วโลกเรียกคอร์สิกา Corsica หมด แต่นอกจากคำนี้แล้วดูเหมือนฝรั่งเศสก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร อย่างเมือง Ajaccio ก็เป็นชื่ออิตาเลียนเห็นๆ ฝรั่งเศสก็รับมาใช้เรียกเหมือนเดิม แต่คนท้องถิ่นเขาไม่ยอมเรียก Ajaccio เขาเรียกเหน่อด้วยความภูมิใจของเขาว่า Aiaciu (ไอยาซิอู) และยืนยันที่จะสะกดอย่างนั้นด้วย ทางการฝรั่งเศสก็ต้องยอม มีอีกหลายเมืองเป็นอย่างงั้น เช่น Corte สำเนียงชาวเกาะเรียก Corti เมือง Bastia ไม่เปลี่ยน เมือง Porto (แต่ก่อนเคยเป็นท่าเรือของเกาะ) ชาวเกาะเขาเรียก Portu เมืองปอร์โตหรือปอร์ตูนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยเสด็จเมือเสด็จเยือนคอร์สิกาไม่นานมานี้ หาด Pero เรียก Peru กลายเป็นอีกประเทศไปเลย

คนคอร์สิกันส่วนใหญ่ยอมรับที่จะเป็นพลเมืองฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศส ถึงแม้จะมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ต่างไปจากฝรั่งเศสบ้าง ก้เป็นพลเมืองฝรั่งเศสเหมือนกัน แต่มีคอร์สิกันกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส คงจะเรียกได้ว่าเป็นพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดน อยากแยกไปเป็นอิสระ บางทีเขาก็วางระเบิดหรือปาระเบิดใส่ทหารฝรั่งเศสหรือสถานีตำรวจบ้าง แต่เขาไม่มายุ่งกับพวกเรานักท่องเที่ยวต่างชาติเลย เพราะเขาก็รู้ดีว่าเศรษฐกิจของเกาะอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว ป้ายสถานที่สาธารณะที่ผมพูดถึงนี้ หลายแห่งก็โดนพวกมือบอนพ่นสีทับ แต่ไม่ใช่มือบอนปกติ เป็นพวกมือบอนทางการเมือง คือพ่นสีทับเฉพาะบรรทัดบนที่เป็นชื่อที่ทางการฝรั่งเศสใช้ คงไว้แต่ชื่อบรรทัดล่างที่เป็นสำเนียงคอร์สิกันท้องถิ่น บางที่ก็พ่นสีไว้เป็นคำว่า IFF ซึ่งถามได้ความว่าเป็นภาษาท้องถิ่นแปลได้ความว่า แยงกี้โกโฮม เอ๊ย "ฝรั่งเศสออกไป" และบางทีก็พ่นสีเป็นรูปชาวมัวร์ที่ว่าเป็นตราของเกาะ แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะไม่รุนแรงครับ ฝรั่งเศสยังคุมได้อยู่ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กระตือรือรืนที่จะเป็นอิสระ คงจะรู้เหมือนกันว่าถ้าออกไปเป็นประเทศอิสระจริงๆ ก็มีสิทธิเจ๊ง เพราะอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตได้ ตามประสาการสังเกตเผินๆ ตื้นๆ ของผม ที่เหมือนอิตาลีอีกอย่างคือ ความมั่ว เละเทะ ไม่เป็นระเบียบ จะที่สนามบินก็ตาม หรือการบริหารจัดการการจราจรก็ตาม และอื่นๆ ซึ่งเละกว่าที่ในฝรั่งเศสเอง นี่ขนาดฝรั่งเศสยังอยู่ยังคอยช่วยบริหารจัดการให้ยังเละได้ขนาดนี้ ถ้าเป็นการจัดการแบบคอร์สิกันแท้ๆ ล้วนๆ ไม่มีฝรั่งเศสเจือปน จะเละได้แค่ไหนผมก็ไม่รู้
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ส.ค. 02, 07:25

 ขอบคุณค่ะ ไม่เคยทราบประวัติละเอียดอย่างนี้มาก่อนค่ะ  แล้วยังเทียบช่วงเวลากับเหตุการณ์ประเทศไทยอีกด้วย
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 ส.ค. 02, 21:10

 ยังคงไม่ได้ล้างรูปครับ เดี๋ยวถ้าล้างรูปแล้วหาที่สแกนได้จะพยายามสแกนออกมาให้ดู

นโปเลียนเพิ่งเกิดเมื่อพระเจ้าตากสินท่านทรงเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว กำลังทำสงครามรวบรวมชุมนุมต่างๆ ในไทยและสถาปนากรุงธนบุรี แต่พระราชประวัติของทั้งสองพระองค์ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง (อาจารย์คึกฤทธิ์เคยกล่าวผ่านๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือเรื่อง "ยิว" ของท่าน) ประการแรก ทั้งสองท่านเป็นกษัตริย์ที่ขึ้นมาจากสามัญชนเหมือนกัน ประการที่สอง ทรงเป็นนักรบเอกเหมือนกัน ประการที่สาม สถานการณ์ขณะที่ทรงขึ้นมาสู่อำนาจทรงตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้นมาใหม่เหมือนกัน คือเปนสถานการณ์ที่ไทยและฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย และเป็นปัจจัยหนุนให้ทรงสามารถแสดงความสามารถเฉพาะพระองค์ขึ้นมาได้ อย่างที่จีนเรียกว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ"  ถ้าระบอบเก่าของฝรั่งเศสยังเป็นปึกแผ่นมั่นคงดีอยู่ นโปเลียนก็อาจจะเป็นได้อย่างมากก็นายพลของระบอบเก่านั้น เพราะในปีปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 นโปเลียนอายุ 20 ปี เพิ่งเป็นนายร้อยทหารปืนใหญ่ ถ้าไต่เต้าไปตามลำดับก็คงได้เป็นนายพลเมื่ออายุสัก 50 หรืออย่างเร็วก็ 40 แต่ในสถานการณ์หลังปฏิวัตินั้น นโปเลียนก้าวพรวดจากนายร้อยมาเป็นนายพล (พลจัตวา) ภายใน 4-5 ปีเท่านั้นเอง คือเป็นนายพลหนแรกราวๆ 1793 แล้วก็ก้าวพรวดเป็นกงสุลของประเทศและเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้ากรุงศรีอยุธยาไม่แตก พระเจ้าตากสินมหาราชก็คงจะทรงรับราชการเป็นพระยาตาก แล้วก็อาจเลื่อนขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่ขึ้นไปอาจจะในหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่การที่กรุงแตกได้เปิดโอกาสให้พระองค์สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นนายชุมนุม ทำสงครามก้อบกู้เอกราช แล้วก้าวไปสู่ราชบัลลังก์ในที่สุด
ประการถัดไป ทั้งสองท่านทรงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินแล้วก็ทรงประสบกับสิ่งที่สมัยนี้คงเรียกว่า ความผันผวนทางการเมืองเหมือนกัน พระเจ้านโปเลียนนั้นทรงเจอความผันผวนหลายครั้งมากกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีก คิดไปๆ ข้อนี้นโปเลียนก็คล้ายๆ เติ้งเสี่ยวผิงอยู่บ้าง แต่ท่านเติ้งจุดจบดีกว่าพระเจ้านโปเลียนมาก คือแก่ตายไปเอง ไม่ได้ติดคุกกลางทะเลที่เซนต์เฮเลน่า
ประการต่อมาซึ่งเป็นข้อสังเกตของอาจารย์คึกฤทธิ์คือว่า พระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์มีความคล้ายกันอยู่ ที่แน่นอนคือพระราชกรณียกิจด้านการพระราชสงคราม แต่อีกข้อ อาจารย์คึกฤทธิ์ใช้คำว่า ทรงปราบพระ คือศาสนจักรเสียจนเชื่องในรัชกาลของพระองค์ ข้างฝรั่งเศสนั้นหลังปฏิวัติใหญ่แล้วอำนาจของศาสนจักร (คาทอลิก) ตกลงอย่างมาก เพราะพวกปฏิวัติและประชาชนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบศักดินาระบอบเก่าที่กดขี่ประชาชน แต่ในสมัยปฏิวัติเสร็จใหม่ๆ นั้นระบบบ้านเมืองยังมั่วอยู่ คือล้มระบอบเก่าลงแล้วก็ยังไม่ได้จัดระบบใหม่ให้เข้าที่ลงตัว เกิดความวุ่นวายคล้ายๆ สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน มาถึงสมัยพระเจ้านโปเลียนก็ทรงวางรากฐานระบบสังคม มีประมวลกฏหมายนโปเลียน และมีระบบอื่นๆ ต่างๆ ที่ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นรัฐทางโลกอย่างปัจจุบัน คือจำกัดบทบาทอิทธิพลของศาสนจักรลงไปอย่างชัดเจน ส่วนพระเจ้าตากสินนั้นผมยังไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับอาจารย์คึกฤทธิ์นักว่าทรงปราบพระจนเชื่องในลักษณะเดียวกับพระเจ้านโปเลียนที่เห็นอยู่บ้างก็เช่นการปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง และการที่ในช่วงปลายรัชกาลเมื่อทรงระแวงมากแล้ว ก็มีรับสั่งให้เฆี่ยนพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางรูป หรือเมื่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ถวายข้อวิสัชนาพระราชปุฉาทางธรรมะไม่เป็นที่ถูกพระทัยก็กริ้วกราด จนเป็นข้อหนึ่งที่ทำให้คนไทยเวลานั้นเห็นว่า กำลังจะเสียพระจริต แต่ผมไม่เห็นว่าได้ทรงจัดการระบบการบริหารศาสนจักรโดยเฉพาะในส่วนที่มาเกี่ยวกับการบริหารอาณาจักรใหม่อย่างไรหรือไม่ แต่ข้อนี้อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านอาจมีความเห็นของท่านเอง ที่ลึกซึ้งเกินสติปัญญาของผมไปก็ได้

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ฝรั่งเศสสมัยผู้สืบราชตระกูลโบนาปาร์ตองค์หนึ่ง จะเป็นพระเจ้านโปเลียนที่สามหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ เคยส่งราชบรรณาการติกต่อกับสยามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย ดูเหมือนจะส่งราชบรรณาการเข้ามาสมัย ร.4 คือว่าหลังจากพระเจ้านโปเลียนสิ้นพระชนม์ที่เซนต์ เฮเลน่าแล้ว การเมืองฝรั่งเศสก็ยังผันผวนต่อไปอีก แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เชื้อสายวงศ์โบนาปาร์ตได้กลับขึ้นเป็นใหญ่อีกรอบ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 ส.ค. 02, 21:21

 นอกจากนั้น พระชาติกำเนิดของพระเจ้าตากสินกับพระเจ้านโปเลียนก็คล้ายกัน คือไม่ใช่เป็นแค่สามัญชนเฉยๆ เท่านั้น ซ้ำยังเป็นสามัญชนที่มีเชื้อสายชนกลุ่มน้อยในราชอาณาจักรที่พระองค์จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไปด้วย พระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นเชื้อสายจีน พระเจ้านโปเลียนทรงเป็นเชื้อสายคอร์สิกันแต่ในที่สุดพระองค์หนึ่งก็ได้ทรงเป็นกษัตริย์ไทย อีกพระองค์ได้เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ส.ค. 02, 12:30

 ฟังแล้วน่าไปเที่ยวเกาะคอร์สิกา นะคะ  มองภาพตามที่เล่า คล้ายๆเมืองเล็กๆในชนบท ที่วุ่นวายน้อยๆ
บันทึกการเข้า
เมรี
อสุรผัด
*
ตอบ: 22

ทำงาน - NECTEC


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ส.ค. 02, 11:08

 ขอบคุณค่ะ ที่มา เล่าสู่กันฟัง
บันทึกการเข้า
ผักบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 23

เรียน


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ส.ค. 02, 13:35

 ขอบคุณค่ะ  คุณนิลกังขาเล่าเรื่องเก่งจังเลยนะคะ  
คงต้องเป็นอาจารย์หรือนักเขียนหรือเปล่าคะ
อ่านเพลินเหมือนอ่านหนังสือสารคดีท่องเที่ยวเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ส.ค. 02, 19:21

 ไม่ได้เป็นอาจารย์ครับ นักเขียนก็ไม่ได้เป็น เป็นแต่นักอยากเขียนครับ ขอบคุณครับที่ชอบ

วันเกิดนโปเลียนที่เกาะคอร์สิกา นอกจากการเดินขบวนแห่ไปตามถนน และการวางพวงมาลาถวายที่พระรูป และการประดับธงทิวโคมไฟตามถนนหนทางแล้ว ตอนกลางคืนก็มีการจุดพลุดอกไม้ไฟยิงขึ้นจากเรือที่อยู่กลางอ่าวอาจั๊กซิโอ ให้ประชาชนที่หลั่งกันมายืนออเต็มหาดไปหมดได้ชมกัน พลุของเขาสวยครับ

ไปคอร์สิกาคราวนี้พอจะพูดได้ว่าผมได้โชคดีเจออดีตเจ้านายหรือผู้ส์บตระกูลขุนนางถึงสามคน คนแรกเจอในถนนอยู่ในขบวนแห่ ไม่ได้ทักกันหรอกครับเพราะผมก็ไม่รู้จักท่านและท่านก็ไม่รู้จักผม คือท่านชายผู้สืบสายสกุลจากเจ้าชายเจโรม โบนาปาร์ต ที่ว่ามาแล้ว

คนที่สองเป็นเจ้าภาพผู้อำนวยความสะดวกให้การต้อนรับพวกเราบนเกาะนี้ด้วยน้ำใจอันดียิ่ง เธอเป็นสุภาพสตรี ถ้าเป็นสุภาพบุรุษก็มีหวังจะได้เป็นท่านกงต์ หรือเคานต์อะไรกับเขาเหมือนกัน แต่ตำแหน่งกงต์ของตระกูลไม่สืบทอดทางบุตรสาว สืบแต่เฉพาะทางสายฝ่ายชาย เธอก็เลยไม่ได้เป็นกงต์ เหมือนท่านพ่อและปู่ของเธอ เธอเป็นเพื่อนของครอบครัวของเพื่อนของผมซึ่งผมขอติดกลุ่มไปเที่ยวเกาะคอร์สิกาด้วย ซึ่งเธอก็รับรองกลุ่มของเพื่อนผมเป็นอันดี เกือบจะต้องได้พักบ้านโบราณของเธอเสียแล้ว (ถ้าต้องอยู่จริงๆ ก็น่ากลัวผี...) แต่เราขอไม่รบกวนเธอด้วยการออกมาอยู่โรงแรม เธออุตส่าห์เผื่อแผ่น้ำใจมาถึงผมคนนอกที่ติดกลุ่มมาด้วย เธอเป็นคนที่น่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งจริงๆ เพราะเดินไปไหนๆ มีคนรู้จักทักทายกันเกรียวทั้งเมือง เธอสนใจตะวันออกไกลมาก เคยศึกษาศิลปะและอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สถาบันตะวันออกศึกษาชั้นสูงของฝรั่งเศสที่ปารีส เคยไปเมืองไทยและกัมพูชาหลายหน และกำลังจะไปอยู่ในเมืองไทยอีกหลายปี ก็ขอให้ชีวิตในเมืองไทยของเธอราบรื่นด้วยดีทุกประการ

คนที่สามนั้นเกี่ยวเนื่องกับคนที่สอง รู้จักกัน เมื่อเราไปเที่ยวลึกเข้าไปในเกาะ ขึ้นไปบนเขา เจ้าบ้านสตรีของเราบอกว่าแถวโน้นมีคฤหาสน์ของตระกูลเธออีกหลังด้วย (บ้านของเธอบนเกาะมีหลายแห่ง) เธอยกรถให้เรายืมขับแล้วก็บอกว่า ถ้าผ่านไปเที่ยวน้ำตกแถวนั้น ให้เข้าไปดูบ้านของเธอได้ และในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีบ้านของตระกูลตั้งอยู่นั้นมีหลานปู่ของอดีตสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งลาวมาใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่คนหนึ่ง ขอให้เราไปเยี่ยมทักทายแทนเธอด้วย

เราก็ไปเยี่ยมท่านตามที่บอก หมู่บ้านนั้นเล็กนิดเดียวครับ อยู่ในเขา ดูเหมือนมีคนอยู่สัก 15 หลังคาเรือน เป็นกสิกรกันส่วนใหญ่ รวมทั้งอดีตเจ้าชายลาวองค์นั้นด้วย ท่านมาฝรั่งเศส ได้สัญชาติฝรั่งเศส แต่งงานมีภรรยาเป็นคอร์สิกัน แล้วก็เลยมาตั้งรกรากปลูกไร่องุ่นทำสวนอยู่ที่นี้อย่างสมถะหลายปีมาแล้ว ไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการเมืองหรือขบวนการลาวฝ่ายไหนทั้งสิ้น ท่านก็รับเราดี ยกองุ่นในสวนมาเลี้ยง ท่านพ่อของท่านเป็นโอรสของพระเจ้ามหาชีวิต ดังนั้นจึงนับได้ว่าพระเจ้ามหาชีวิตทรงเป็นเสด็จปู่ของท่าน (เทียบอย่างไทยๆ คงเรียกได้ว่าเป็นชั้นพระองค์เจ้า) ท่านเคยเป็นนายทหารกองทัพราชอาณาจักรลาว จบโรงเรียนนายร้อยฝรั่งเศส (ดูเหมือนจะเป็นแซงต์ ซีร์ ที่เดียวกับนโปเลียน) แต่พอลาวปฏิวัติปี 2518 ท่านก็เลยต้องหนีออกมาแล้วก็มาใช้ชีวิตเงียบๆ ที่นี่หลายสิบปีแล้ว

เป็นอันว่าไปเที่ยวครั้งนี้ ผมได้สัมผัสชีวิตเจ้าที่กลายเป็นสามัญชนหรือสามัญชนที่กลายเป็นเจ้าหลายราย ตั้งแต่องค์นโปเลียนเอง (เจอท่านเป็นรูปปั้นครับ ท่านไม่ได้เสด็จมาหาผมในฝันหรอกครับ อย่ามาเลย ถึงมาก็คงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ภาษาฝรั่งเศสผมไม่ค่อยกระดิกหู...) ซึ่งเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นสามัญชน แล้วก็เป็นจักรพรรดิ แล้วก็ถูกถอดเป็นเชลยศึก กลับเป็นจักรพรรดิใหม่ แต่ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์อย่างนักโทษที่เซนต์ เฮเลน่า อีกคนคือท่านชายผู้สืบตระกูลโบนาปาร์ตในขบวนแห่ เดี๋ยวนี้ก็ต้องถือว่าเป็นสามัญชนแล้ว คือเป็นเพียงพลเมืองของสาธารณรัฐฝรั่งเศสคนหนึ่งเท่านั้น คนที่สาม ไม่เชิงจะเป็นเจ้านายราชตระกูลเสียทีเดียว แต่ก็เป็นผู้ดีมีตระกูลเก่า คือเจ้าถิ่นผู้อารีของเรา และคนสุดท้ายคือชาวไร่องุ่นผู้เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตลาว ในระบอบเก่าของลาวที่สลายไปแล้ว

องุ่นพวงที่ท่านเอามาเลี้ยงนั้นหวานดีทีเดียว และเท่าที่ผมสังเกตก็ดูเหมือนเจ้าลาวองค์นั้นท่านจะมีความสุขสงบดีอยู่กับชีวิตปัจจุบันของท่าน เผลอๆ ผมเดาว่าท่านจะสุขใจมากกว่านโปเลียนช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพที่คุกที่เกาะเซนต์เฮเลน่าละกระมัง
บันทึกการเข้า
น้าชู
อสุรผัด
*
ตอบ: 6

รับราชการ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ส.ค. 02, 09:06

 อ่านแล้วสนุกได้ความรู้มาก ขอบคุณคุณนิลฯมากครับ
มีข้อสงสัยว่าเรื่องพระเจ้านโปเลียนหลังจากถูกเนรเทศแล้วต่อมาถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์เป็นความจริงหรือเหล่าครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 29 ส.ค. 02, 21:03

 ผมก็เคยได้ยินครับน้าชู แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงรึเปล่า

เรื่องนี้ฝรั่งมีข่าวลือหรือเรื่องเล่าสนุกๆ หลายเรื่อง เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ไม่ได้ทำนองเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินของเราอีกเหมือนกัน ที่มีกระแสเรื่องเล่าบางกระแสค้านพระราชพงศาวดารว่าแท้จริงแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้สิ้นพระชนม์จากการถูกสำเร็จโทษ

ฝรั่งเศสก็มีนิทานทำนองเดียวกันอ้างว่า พระเจ้านโปเลียนทรงหนีจากเกาะเซนต์เฮเลนาไปได้ โดยมีการแอบสับเปลี่ยนเอาคนฝรั่งเศสที่รูปร่างหน้าตาคล้ายพระองค์มาติดคุกแทน ว่ากันว่าพระกิริยาอาการของพระเจ้านโปเลียนในช่วงท้ายๆ ของพระชนมชีพผิดแปลกไปจากเดิม แต่ไม่รู้ว่ามีหลักฐานยืนยันจริงๆ แค่ไหน

แต่เรื่องที่ว่าพระเจ้านโปเลียนถูกวางยาพิษนั้น ผมเคยอ่านสารคดีที่เพื่อนร่วมอาชีพของคุณหมอพรทิพย์ ("สืบจากศพ") คือ นายแพทย์นักนิติเวชวิทยาของฝรั่งเศสคนหนึ่งพยายามศึกษา โดยเก็บตัวอย่างเส้นผมของนโปเลียนที่มีการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์และที่ collectors บางคน ไปพิสูจน์แยกธาตุดูด้วยวิธีสมัยใหม่ เพราะว่าสารพิษบางอย่างมันจะสะสมอยู่ได้ในเส้นผมและขนของคนที่ได้รับ เสียดายที่ว่า ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าผลการพิสูจน์แยกธาตุได้ความว่ายังไง ทรงถูกวางยาพิษหรือเปล่า แล้วจะกลับไปค้นบทความที่ว่าก็นึกไม่ออกแล้วว่าอ่านที่ไหนใครเขียน

มีใครเคยอ่านเรื่องนี้ไหมครับ ผมว่าท่าทางเรื่องนี้จะเป็นเกร็ดที่ศึกษาพิสูจน์ได้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านิทานนโปเลียนเรื่องอื่น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง