เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 31919 พระรัชทายาทผู้ปฏิเสธราชบัลลังก์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 19 ส.ค. 02, 00:41


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเจ้าฟ้าพระราชอนุชาอันประสูติร่วมพระบรมราชชนนีเดียวกันอีก ๔ พระองค์
อันดับแรกคือ
๑  สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ   กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ   ทรงสำเร็จการศึกษานายร้อยทหารบกจากประเทศรัสเซีย
๒  สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  กรมหลวงนครราชสีมา  ทรงศึกษาจากประเทศอังกฤษ
๓  สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย  ทรงสำเร็จ Bachelor of Arts จาก Cambridge ๊University
๔  สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมาธิราช  ทรงศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้ไม่รวมพระเชษฐาและพระอนุชาที่ประสูติจากพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นในรัชกาลที่ ๕ อีกหลายพระองค์
ในเมื่อทรงเป็นพระอนุชาพระองค์ท้ายที่สุด    จึงไม่มีผู้ใดคิดว่าจะเสด็จขึ้นครองราชย์
 รวมทั้งพระองค์เองด้วย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นความสามารถในการศึกษาพระธรรมวินัยได้ดี  จึงทรงชักชวนให้อยู่ในสมณเพศตลอดไป    แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะทรงมีพระสุขภาพพลานามัยไม่แข็งแรงนัก

ใน ๑๕ ปีของรัชสมัย  (๒๔๕๓-๒๔๖๘)  เกิดเหตุน่าเศร้าสลดอย่างไม่นึกฝันหลายครั้ง
พระราชอนุชา ๓ พระองค์ สิ้นพระชนม์ตามๆกันไปทั้งที่พระชนมายุยังไม่มากด้วยกันทั้งนั้น
อย่างเช่นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓  พระชนม์เพียง ๓๗ พรรษา
ต่อมาอีก ๓ ปี   เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ฯ ก็สิ้นพระชนม์  พระชันษาเพียง ๓๒ ปี
ปีต่อมา ๒๔๖๗ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาฯ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ไปอีกพระองค์หนึ่ง  พระชนม์แค่ ๓๕ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระราชโอรส  มีแต่พระราชธิดาซึ่งประสูติก่อนหน้าวันสวรรคตเพียงวันเดียว คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
ในพระราชหัตถเลขานิติกรรม  ทรงระบุไว้ว่า หากทรงมีพระราชโอรสก็ขอให้ได้สืบราชสมบัติต่อไป  โดยให้เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรส  ก็มีพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯทรงสืบสันตติวงศ์

ในตอนแรก  เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงปฏิเสธตำแหน่งนี้ ว่าไม่เคยแก่ราชการเพียงพอ   เจ้านายพระองค์อื่นที่อาวุโสพอจะรับราชสมบัติได้ก็ยังมี
แต่ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ ถวายราชสมบัติ
โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงกรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ซึ่งเป็นพระโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  ทรงรับรองแข็งแรงว่าจะภวายความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
จึงทรงยินยอมรับเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  
ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา  
บันทึกการเข้า
ภูวง
อสุรผัด
*
ตอบ: 39

ค้าขาย


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ส.ค. 02, 06:42

 ผมเคยอ่านที่มจ. จงจิตรถนอมประทานสัมภาษณ์คุณ ส. ศิวรักษ์ วันที่ตัดสินพระทัย ยอมรับ  เป็นภาพที่น่าประทับใจมากครับ ที่กรมพระนครสวรรค์ ทรงรับรอง กับพระอนุชาแต่จำเนื้อความละเอียดไม่ได้ ตอนอ่านรู้สึกประทับใจจนขนลุกทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ส.ค. 02, 10:45


ไม่มีหนังสือเล่มนั้น ไม่งั้นจะลอกมาให้อ่านกันค่ะ  

ในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีกฎหมายพระราชบัญญัติสำคัญอยู่ฉบับหนึ่ง ที่พลิกผันโครงสร้างครอบครัวของไทย แต่โบราณ คือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓

สังคมไทยโบราณ เป็นแบบ polygamy คือมีคู่สมรสได้พร้อมๆกันหลายคน (นับเฉพาะฝ่ายชาย)
เมียหลวงเมียน้อย นับเป็นเมียถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ ๑ อิงหลักการจากสมัยอยุธยา  รับรองเมียน้อยว่ามีศักดินากึ่งหนึ่งของเมียหลวง
แปลว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกคน

ธรรมเนียมครอบครัวแบบนี้ฝังรากกันมาหลายร้อยปี  จะเปลี่ยนให้เป็นผัวเดียวเมียเดียว ไม่ใช่เรื่องง่าย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงริเริ่มแบบละมุนละม่อม ให้มีการจดทะเบียนสมรส   ทะเบียนหย่า  ทะเบียนรับรองบุตร
เพื่อปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่  แทนธรรมเนียมดั้งเดิม

จนกระทั่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕
ว่าด้วยครอบครัว
ยอมรับหลักการเรื่องการมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว  
ใช้ถือมาถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์แรก และพระองค์เดียว
ที่มีพระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว   ไม่มีเจ้าจอมพระสนมใดๆทั้งสิ้น  
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ส.ค. 02, 20:28

 ขออนุญาตเล่าเสริมจากคุณเทาชมพูสักเล็กน้อยค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้หัวข้อกระทูเบี่ยงเบนไปหรือเปล่านะคะ ทองรักอยากเล่าถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ นะค่ะ คือได้อ่านพระราชประวัติแล้วประทับใจในพระองค์ท่านมากค่ะ  รู้สึกว่าท่านทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีคู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงทั้งในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในราชสมบัติและทั้งในขณะที่ทรงสละราชสมบัติ แล้วเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ  อย่างที่ตอนนี้ที่เคยอ่านพบในหนังสือเจ้าชีวิตของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ค่ะ

……..เมื่อครั้งที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ ฯ เสด็จประทับแรมอยู่ ณ "วังไกลกังวล หัวหิน"  ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีลายพระราชหัตถเลขาทรงเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวพระราชทานพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ว่า  "ฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้"   พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ และในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ตัดสินใจพระราชหฤทัยที่จะเสด็จกลับกรุงเทพฯเคียงคู่กับพระราชสวามีด้วย  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในเจ้าชีวิตว่า…….ฉัน (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จและหญิงอาภา (พระมารดาของสมเด็จฯ) ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูงที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้น เพราะเราทุก ๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้  ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์……….
บันทึกการเข้า
ภูวง
อสุรผัด
*
ตอบ: 39

ค้าขาย


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 06:53

 ผมกำลังคิดจะเสริมในจุดที่คุณทองรักเอ่ยพอดีครับ แต่ไม่ได้ความละเอียดเท่าว่าพระองค์ท่านคงเป็นแบบอย่างของสามี ที่ผู้หญิงเกือบทุกคน อยากจะมีตรงที่ทรงให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับภรรยา
ได้ไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ก็ ยิ่งชื่นชม เหลือเกิน พระวรกายเล็ก คงสูงแค่๑๕๐ ซม. แต่ทรงเข้มแข็งและกล้าหาญ แม้จะไม่ทรงเตรียมพระองค์มาเพื่อเป็นในหลวงแต่ก็ทรงทำได้ดี
คุณปู่ ของผมท่านเอ่ยถึงพระองค์ท่านว่าเป็นในหลวงที่อาภัพที่สุด
บันทึกการเข้า
ภังคี
มัจฉานุ
**
ตอบ: 73

รับจ้าง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 06:59

 จุ๊ จุ๊ ผมอดคิดไม่ได้ทุกทีครับว่าถ้าคณะราษฎร์ทำงานไม่สำเร็จ แล้วให้พระองค์ท่านดำเนินการปกครองตามที่ทรงวางแผนไว้(พระองค์ท่านก็มีพระดำริจะสละพระอำนาจให้ประชาชนอยู่แล้ว)  เราอาจจะไม่ล้มลุกคลุกคลาน ประดัก ประเดิด กันจนบัดนี้ แหมอยากเป็นนักเขียนเก่งๆจังจะเขียนเรื่องเอกภพคู่ขนานถึงเหตุการ์ณตรงนี้ซะหน่อยเชียว
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 07:05

 ประทับใจพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ท่านด้วยค่ะ
ที่ว่า....ท่านยินดีจะสละพระราชอำนาจที่มีอยู่ให้แก่ราษฎรทั้งหมด แต่ไม่ยินดีที่จะสละพระราชอำนาจนั้นให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.....
(ขออภัยด้วยค่ะ ถ้าจำมาไม่ถูกต้องทั้งหมด)

ทองรักเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าคณะราษฎรทำการช้ากว่านี้ซัก 10 ปี
บางทีประชาธิปไตยบ้านเราอาจจะเติบโตและสมบูรณ์พร้อมกว่านี้
ไม่ใช่โตแต่ตัว แต่หัวเล็กลีบเหมือนที่เป็นอยู่

จะรออ่านเรื่องเอกภพคู่ขนานฝีมือคุณภังคีค่ะ
บันทึกการเข้า
สร้อยสน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 143

ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 07:32

 ฮิ ฮิ คุณทองรักขา รออ่าน ฝีมือคุณภังคี ท่าทางจะเป็นโครงการข้ามชาติล่ะค่ะ

เคยอ่านบทบรรยายนานมาแล้วค่ะถึงสถานที่ที่ทรงพำนักจนสวรรคต อ่านแล้วเศร้าเหลือเกิน สงสารพระองค์ท่านจนน้ำตาซึมเลย เห็นด้วยกับที่คุณปู่พูดค่ะว่าท่านเป็นในหลวงที่อาภัพเหลือเกิน
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 11:17

 ในคณะราษฎร์นั้นก็มีบุคคลอยู่ 2 กลุ่ม คนกลุ่มรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเวลากันรวดเร็วกับอีกกลุ่มที่ประวิงเวลา แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของคนกลุ่มใหญ่ เรื่องราวจึงออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งเราก็มองว่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หนูหมุดเองก็สงสัยเหมือนกัน ว่าครั้งนั้นหากมีการออกแถลงการณ์ว่ามีโครงการที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองแล้วในไม่ช้านี้ แต่กำลังรอความพร้อมต่างๆก่อน เช่นกำลังส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน หากเป็นแบบนี้เหล่าคณะราษฎร์จะก่อการหรือไม่ แล้วเราจะเป็นอย่างไรในวันนี้  
เอ...สงสัยหนูหมุดจะเบี่ยงประเด็นไปเสียอีกแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 11:26

 ที่เคยอ่านๆมา เมื่อครั้งที่ทรงสละราชสมบัตินั้น ในแถลงการณ์ซึ่งมีข้อความที่คุณทองรักพูด ซึ่งเป็นประโยคที่ในสมัยหนึ่งเป็นประโยคที่ถูกหยิบยกมาบ่อยมากๆ เวลาจะประท้วงรัฐบาล จนวันนี้หนูหมุดเองคิดว่าอำนาจก็ยังคงอยู่ที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอยู่ดี แม้จะมีความพยายามที่จะกระจายอำนาจให้เป็นของประชาชนเพียงใดก็ตาม ทำให้หนูหมุดคิดว่าเป็นเพราะโดยธรรมชาติคนไทยมีลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนการปกครองเมื่อใด ช้าเร็ว เราก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปแบบนี้ล่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
สร้อยสน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 143

ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 12:00

 หนูหมุดขา ไหนๆเราเบี่ยงประเด็นแล้ว ดิฉันอยากออกความเห็นนิดนึงค่ะ ที่หนูหมุดว่านี่คล้ายๆดูถูกคนไทยกันเอง(ซึ่งมีส่วนจริง) แต่ดิฉันขอออกความเห็นตามประสบการ์ณและความนึกคิดของตัวเองนะคะ ดิฉันไม่มีความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ว่า ประเทศเรา"พลาด"เพราะความใจร้อนก้าวกระโดดมาก็หลายครั้ง
ครั้งพศ.๒๔๗๕ นี่ก็น่าจะใช่ และที่เห็นชัดๆคือช่วงหลัง๑๔ตุลา เราพยายามก้าวกระโดดกันสะเปะสะปะ  ทั้งที่นั่นเป็นโอกาสทองที่เราจะเปลี่ยนจากเผด็จการทหาร เป็นประชาธิปไตย แต่เราใช้กันไม่เป็น ลำพองกันเกินเหตุ ทำให้เกิดความขัดแย้ง  เหตุการณ์แบบ๖ตุลาจึงตามมา พร้อมกับความตกขอบ ด้านการปกครอง
บันทึกการเข้า
ทองรัก
พาลี
****
ตอบ: 390

นักวิจัย


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 12:12

 ในฐานะที่เป็นคนแรกที่ทำให้ประเด็นเบี่ยงเบนไป ทองรักอยากขอโทษคุณเทาชมพูเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ และอยากออกความเห็นเพิ่มเติมอีกซักนิดหนึ่งค่ะว่า โดยส่วนตัวแล้วทองรักคิดว่า การที่อำนาจตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวนี่เป็นเรื่องปลายเหตุ นะคะ แต่ทองรักก็ไม่คิดว่ามีสาเหตุมาจากธรรมชาติของคนไทย  ส่วนสาเหตุจริง ๆ จะมาจากอะไรนั้น ทองรักว่าถ้าเราอยากแสดงความคิดเห็นกันต่อในประเด็นนี้ เราไปขึ้นกระทู้ใหม่กันดีไหมคะ ตรงนี้ยังอยากเก็บไว้คุยถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อกระทู้นะคะ
บันทึกการเข้า
สร้อยสน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 143

ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 12:29

 ขออนุญาตต่ออีกนิดเดียวค่ะ ความจริงดิฉันคิดว่าเรื่องที่พูดมีความเกี่ยวโยงกับกระทู้นี้บางส่วนนะคะ  สิ่งที่ดิฉันยังอยากพูดต่ออีกนิดคือ

จากนั้น เราก็เบนเข้าหาสมดุลย์และความประนีประนอม ในช่วง
๒๕๒๓-๒๕๓๐  ระยะเวลานั้นดิฉันมองว่าบ้านเมืองของเรากำลังดูดีนักศึกษาช่วงนั้นมีบทบาทที่น่าชม ตั้งใจเรียนแต่ก็ไม่ทิ้งกิจกรรมที่ดี
ความฟุ้งเฟ้อ ยังไม่มีมาก  ถ้าเรายึดจุดนั้นไว้ได้ คือความพอเพียง  วันนี้ทุกอย่างคงดีกว่านี้แม้จะไม่เจริญก้าวกระโดดแบบทุกวันนี้
แต่เพราะความใจร้อนอีกนั่นแหละค่ะ ที่ใครๆในสมัยนั้นว่า ยืดยาดแบบนี้บ้านเมืองเราจะเจริญไม่ทันเขา แล้วตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้างละคะ
ดิฉันและคนรุ่นเดียวกันได้แต่หวังว่าโอกาสทองแบบนั้นคงจะมาอีกครั้งและคงมีผู้ตระหนักที่จะประคับประคองให้ไม่ล้มลุกคลุกคลานเช่นที่ผ่านมา
ประเทศเราได้เปรียบตรงที่เรามีพระประมุขที่แสนประเสริฐแต่พวกเราเองกลับไม่เห็นคุณค่า และภูมิใจ เท่าที่ควร
การแสดงถวายพระพรโดยจัดงานกันเอิกเกริกนั่นไม่ใช่การแสดงความภักดีที่ถูกที่ควร แต่การปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาทต่างหากคะ
คือการแสดงความจงรักภักดีที่จริงใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 18:45

 เหตุการณ์นี้ใช่ไหมคะที่คุณภูวงถาม



เจ้านายสำคัญในรัชกาลที่ ๖  พระองค์หนึ่งคือเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ทรงมีพระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้าประชาธิปก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเพิ่งเสด็จกลับจากสิงคโปร์ ทรงจับไข้ในเรือมาตลอดทาง

แต่ก็เสด็จมาเข้าร่วมประชุมกับพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี



เมื่อได้ยินคำปฏิเสธของเจ้าฟ้าประชาธิปก   ทรงกอดพระศอและจับพระกรพระราชอนุชา  ดำเนินกลับไปกลับมาหลายเที่ยว เพื่อทำความเข้าพระทัย

รับสั่งว่า



"ทูลกระหม่อมเอียดน้อย   เธอทำได้  รับเถิดแล้วฉันจะช่วยทุกอย่าง"



เมื่อเจ้าฟ้าประชาธิปกทรงยอมรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในที่สุด    เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์กทรุดพระองค์ลงกราบ เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์



ต่อจากนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับลงบนพระเก้าอี้   เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯก็ถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง

กราบบังคมทูลว่า

" จะทรงใช้สอยในราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใด    ก็จะสนองพระเดชพระคุณในราชการสิ่งนั้นทุกอย่าง

แต่ขอพระราชทานเลิกคิดว่าจะเป็น 'ขบถ' เสียที  เพราะได้รับหน้าที่นี้มา ๑๕ ปีแล้ว  เบื่อเต็มที"



พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล  มีพระราชดำรัสว่าอนุญาตให้เลิกได้



ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีข่าวลือมาตลอดรัชกาลที่ ๖ ว่า เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ จะก่อการขบถ  ทั้งที่ไม่เคยมีเหตุการณ์ขึ้นมาจริงๆสักครั้ง



พระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงรับราชการมาด้วยดีตลอดจนถึงพ.ศ. ๒๔๗๕

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ก็ต้องเสด็จออกไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

จนสิ้นพระชนม์  ไม่ได้เสด็จกลับมาประเทศไทยอีก
บันทึกการเข้า
wimma
อสุรผัด
*
ตอบ: 24

TENTC Co. Ltd. ThinkWell Robotics and Computer Center


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ส.ค. 02, 21:20

จากที่ได้อ่านเรื่องที่คุณเทาชมพูเขียนไว้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 7 มีพระมเหสีเพียง พระองค์เดียว จึง นำเรื่องราวที่เคยอ่านมา จากเมล์
มาเสริมค่ะ
....................................................

แต่เดิมพระมหากษัตริย์ไทยจะมีพระมเหสี เจ้าจอม หรือพระสนมเอก จำนวนมาก นับเนื่องจากกษัตริย์สมัยสุโขทัยลงมาจวบจนกระทั่ง ร.6 แต่เมื่อถึง ร.7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านรัก ผู้หญิงคนเดียวในชีวิต กุลสตรีสาวสวยที่โชคดีนั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี

พระองค์ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระสวัสดิวัฒนวิศิษฏ์ (ต้นสกุลสวัสดิวัฒน์) กับพระองค์วรวงศ์เธอพระองคเจ้าอาภาพรรณี (พระธิดาในกรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นสกุล คัคณางค์)

ท่านหญิงรำไพพรรณีได้ถูกถวายตัวมาอยู่ภายในการดูแลของสมเด็จ พระศรีพัชรินทราฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในช่วง วัยรุ่นได้มาประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งมีพระราชนัดดา และหม่อมราชวงศ์ที่สืบสายมาจากสกุลต่างๆมารับใช้ สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ

รักแรกพบระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกับสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณีนั้น เริ่มต้นที่ วัง พญาไทนี้เอง เมื่อครั้ง ร.7 ดำรงพระอิสริยศ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมสุโทัยธรรมราชา ได้เสด็จนิวัติเมื่องไทย เมื่อปี 2457

หลังจากว่างเว้นภาระกิจต่างๆ พระองค์ทรงเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จ พระศรีพัชรินทราฯ ณ วังพญาไท อยู่เนืองๆ หรือในบางครั้งก็ประทับอยู่ ที่วังหลายวัน จึงได้มีโอกาสรู้จักหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์

จากการใกล้ชิดและพูดคุยกัน และด้วยพระองค์ทรงคุยสนุกและไม่ถือ พระองค์ ทำให้พระองค์และหม่อมหญิงรำไพพรรณีสนิทสนมใกล้ชิด และได้กลายเป็นความรักผูกพันอย่างลึกซึ้ง

และเรื่องราวความรักได้ปรากอย่างเด่นชัด ในขณะที่ สมเด็จพระเจ้าน้อง ยาเธอฯ ทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่พนะตำหนักปั้นหยา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2460

ในขณะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงเล็งเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์นี้ทรงเป็นพระราชกุมารลำดับสุดท้ายในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ที่ร่วมพระราชชนนีเดียวกันถึง 5 พระองค์ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้สืบ ราชสมบัติจึงเป็นได้ยาก เพราะต้องทรงผ่านลำดับถึง 4 พระองค์

วันหนึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้กราบทูลเชิญพระองค์ให้คงอยู่ ในสมณเพศตลอดไป เพื่อได้ทรงเป็นประมุขปกครองฝ่ายศาสนจักรต่อไป แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงมีรักผูกพันกับหญิง ไว้แล้วคนหนึ่ง

และหญิงท่านนั้นคือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี หรือ ท่านหญิงนา นั่นเอง

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงลาผนวช ได้เข้ารับราชการในกรมทหาร ปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ตามปกติ

ในปี 2461 พระองค์ได้ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาต

และในพระราชพิธีสมรสในครั้งนี้ ได้เป็นครั้งแรกที่ทรงริเริ่มให้มีการจด ทะเบียนสมรสในหมู่พระราชวงศ์ไทย

ในเวลาต่อมา เมื่อพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสงขลา นครินทร์ ได้เสด็จขึ้นเป็นพรบามสมเด็จพระปกเกล้าเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้รับพระราชอิสริยายศ เป็น สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ

ในเวลา 10 ปีที่ พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุด คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี 2475 ซึ่งขณะนั้นทั้งสอง พระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวล ได้มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จ กลับพระนคร ซึ่งในตอนนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถามความ เห็นจากสมเด็จฯ ในฐานะคู่ชีวิตว่า "หญิงว่ายังไง" ทางด้านสมเด็จฯนั้น แม้จะทรงเป็นสตรีเพศ แต่ได้กราบบังคมทูลด้วยความเด็ดเดี่ยวไปว่า "เข้าไปตายไม่เป็นไร แต่ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ" ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัว ตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระนคร

และทั้งสองพระองค์เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

และแล้วในวันที่ 12 มกราคม 2476 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นเป็นการอำลาสยามครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 7 เนื่องจากขณะที่ พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ ได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ณ พระตำหนัดโนล

ในขณะที่ทั้งสองพระองค์มิได้เป็น คิงส์และควีน แห่งสยาม นับเป็นช่วง เวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้ย้าย พระตำหนักมาประทับที่พระตำหนัก เวนคอร์ต

ในเดือนพฤษภาคม 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี พระอาการประชวร และในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีนั้น สมเด็จฯได้ประทับ รถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ไปยังพระตำหนักเดิม คือ เวนคอร์ต เพื่อทรงเด็ดดอกไม้จากสวนมาถวายพระบรมราชสวามี เพื่อให้บรรยากาศ ภายในห้องบรรทมดูสดชื่น

ในระหว่างทรงขับรถยนต์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โบกมือให้รถยนต์ พระที่นั่งหยุด พร้อมได้กราบบังคมทูลว่า "พระสวามีมีพระอาการทรุดหนัก ให้รีบกลับพระตำหนักด่วน" และเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ มาที่ตำหนักก็ได้ทราบว่า ร.7 ได้เสด็จสวรรคตแล้ว โดยพระชนมายุได้ 48 พรรษา

นั่นย่อมเป็นวันที่สมเด็จฯได้พบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่


คัดย่อจาก : รักเพียงหนึ่งเดียวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดย กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง