เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5402 มาคุยเรื่องลิเกกันบ้างดีกว่า
หนุ่มบ้านนาดอทคอม
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 13 ต.ค. 00, 12:00

พึ่งนึงขึ้นมาได้นะครับ ว่าศิลปะการละเล่นของไทยที่ยังอยู่ยงคงกระพัน
ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันก็เหลืออยู่ไม่กี่อย่าง และ หนึ่งในนั้นก็คือ "ลิเก" นี่เอง

เลยเกิดสงสัยขึ้นมานะครับว่าลิเกนี่เป็นศิลปะของไทยแท้ๆ หรือเปล่า หรือ รับมาจาก
ชาติอื่น ผมคิดว่าน่าจะดัดแปลงมาจากพวกละครนอก ละครใน อะไรพวกนั้นน่ะครับ
ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่าครับ  ผมเดาว่าลิเกคงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี่เอง
เพราะไม่เคยได้ยินวรรณคดีเรื่องเก่าๆ พูดถึงว่ามีพระเอกนางเอกไปดูลิเกเลย

ที่จังหวัดอ่างทอง บ้านคุณตาผมมีลิเกคณะดังๆ หลายคณะนะครับ
ผมว่าตามชนบทเนี่ยะ ยังมีคนดูแน่นโรงทุกวัน
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ต.ค. 00, 00:00

คัดมาฝากจากโฮมเพจอนุรักษ์ไทยครับ

http://anurakthai.cscoms.com/anurakthai/thai/likay/likay.htm' target='_blank'>http://anurakthai.cscoms.com/anurakthai/thai/likay/likay.htm

............................................................

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ การแสดง "ดิเก" ของชาวมลายูเป็นแบบนำให้ศิลปินของชาวไทยนำมาแสดงบ้าง โดยใช้เพลงบันตนของมลายูเป็นหลัก และคิดต่อเติมแทรกคำไทยระคนเข้าไป แต่ก็คงใช้รำมะนาตีประกอบอยู่ตามรูปเดิม เมื่อได้โหมโรง และร้องเพลงบันตนตามสมควรแล้ว ก็เริ่มแสดงออกเป็นชุดต่างๆ โดยมากมักเป็นชุดต่างภาษา แต่จะต้องเริ่มด้วยชุดภาษาแขกก่อนภาษาอื่นเสมอ เช่น ชุด แขกรดน้ำมนต์เป็นต้น การแสดงจะมีตัวแสดงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไปตามภาษานั้นๆ ผู้แสดงร้องเอง และผู้ตีรำมะนาที่นั่งล้อมวงอยู่นั้นร้องเป็นลูกคู่รับ เมื่อหมดกระบวนของการแสดงชุดหนึ่ง ผู้แสดงเข้าฉากแล้ว พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตนสลับรอการแต่งตัวชุดต่อไป และร้องเพลงภาษานำการแสดงในชุดต่อไปด้วย คือ ถ้าชุดต่อไปจะแสดงมอญก็ร้องเพลงที่เป็นลูกรับภาษามอญ นำให้ตัวแสดงร้องออกมา การแสดงแบบนี้เรียกว่า "ลิเกบันตน" ในสมัยโบราณชอบแสดงก็มีชุดมอญในเรื่องราชาธิราช ตอนพระยาน้อยชมตลาด ชุดลาวในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนบักป่องบักเป๋อพบพลายบัว และนางแว่นแก้ว เป็นต้น

          ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ การบรรเลงปี่พาทย์ตามงานก็ประกวดประขันกันนักหนา อันการบรรเลงปี่พาทย์นั้น มีวิธีบรรเลงแบบหนึ่งที่นิยมกันมากในสมัยนั้น คือ เมื่อร้อง และบรรเลงเพลง ๓ ชั้น เป็น "แม่บท" จบไปแล้ว ก็ต่อท้ายด้วยเพลงเล็กๆสั้นๆหรือเพลงภาษาต่างๆเป็น "ลูกบท" อีกเพลงหนึ่ง แล้วจึงออกลูกหมด แสดงว่าจบ ในสมัยนี้ได้มีผู้คิดใช้ตัวแสดงเข้าผสม คือ เมื่อร้อง และบรรเลงเพลงลูกบทภาษาใด ก็ปล่อยตัวแสดงชุดภาษานั้นอย่างที่ลิเกบันตนแสดงออกมา ร้อง และรำไปตามกระบวนเพลง แต่ใช้ปี่พาทย์รับแทนลุกคู่ที่ตีรำมะนาอย่างลิเกบันตน การแต่งตัวก็แต่งเพียงใช้เสื้อผ้าแพรพรรณธรรมดา หากแต่ให้มีสีสันฉูดฉาดบาดตา ตัวผู้ชายใช้โพกผ้า หรือสวมสังเวียนที่ศีรษะ และตัวผู้หญิงก็สวมช้องผมปลอมเท่านั้น ชุด และการแสดงก็อนุโลมอย่างลิเกบันตน เมื่อหมดชุดหนึ่งตัวแสดงก็เข้าฉากไป ต่อจากนั้นปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลง ๓ ชั้น ที่เป็นแม่บทขึ้นใหม่ และออกลูกบท เปลี่ยนชุดหรือภาษาเพื่อแสดงต่อไป การแสดงแบบนี้เรียกว่า "ลิเกลูกบท"

ต่อมามีผู้ปรับปรุงลิเกบันตนกับลิเกลูกบทเข้าผสมกัน แต่ให้แต่งตัวด้วยเครื่องที่ปักดิ้นเลื่อมแพรวพรายอย่างละครรำ และแสดงเป็นเรื่องยาวๆอย่างละคร โดยเมื่อปี่พาทย์โหมโรงไปจนจบแล้ว ก็บรรเลงเพลงภาษาต่างๆเรียกว่า ออกภาษาหรือออกสิบสองภาษา แทนการร้องบันตนภาษาต่างๆ พอถึงภาษาแขกอันเป็นอันดับสุดท้าย พวกตีรำมะนาก็ออกมานั่งล้อมวงหน้าวงปี่พาทย์ พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตนภาษาต่างๆอีกพักหนึ่ง แล้วเริ่มแสดงชุดแขกตามแบบลิเกบันตน แต่ใช้ปี่พาทย์รับ เป็นการคำนับครูเสียชุดหนึ่ง พอหมดชุดแขกจึงเริ่มจับเรื่องที่จะแสดงต่อไป ผู้แสดงใช้ท่ารำตามแบบละครรำ แต่มุ่งหมายไปในทางดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว มีตลกคะนองบ้าง ท่ารำจึงต้องลดลงไป ส่วนการร้องใกล้ไปทางแบบลิเกบันตน แต่ใช้ปี่พาทย์รับ และเป็นประเพณีว่า การแสดงลิเกต้องใช้ผู้ชายล้วน แม้ตัวนางก็ใช้ผู้ชายแสดง ในสมัยก่อนลิเกแบบนี้เรียกว่า "ลิเกทรงเครื่อง" ได้ตั้งโรงแสดงเก็บค่าดูอย่างละครรำ เช่น ลิเกของพระยาเพชรปาณี เป็นต้น ต่อมาในวงการลิเกทรงเครื่องเห็นว่า การแสดงชุดแขกเต็มตามแบบลิเกบันตน ทำให้เสียเวลาที่จะเข้าเรื่องมาก จึงงดการร้องบันตนประกอบการตีรำมะนานั้นเสีย พอปี่พาทย์บรรเลงออกภาษาแล้ว ก็ออกแสดงแขกเพียงเล็กน้อย มีการซักติดตลกพอควร และบอกเรื่องราวที่จะแสดง เป็นการคำนับครูตามประเพณี แล้วก็จับเข้าเรื่องทีเดียว ในตอนนี้ได้เกิดมีเพลงร้องสำหรับดำเนินเรื่องขึ้นประจำการแสดงลิเก เช่นเดียวกับเพลงร่ายของละคร (อ่านได้จากละครนอก ละครใน) เพลงนั้นคือ เพลงหงส์ทองชั้นเดียว ลิเกสมัยนี้ต่างกับลิเกสมัยก่อนคือจะไม่ค่อยรำ โดยมากใช้เพียงพูดๆร้องๆ แบมือไปมา พอปี่พาทย์ทำเพลงเชิดก็เดินเข้าฉากไปเลย ที่ยังยึดถือศิลปการรำอยู่บ้างก็มีน้อยเต็มที

ในสมัยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละคร พุทธศักราช ๒๔๘๕ กล่าวไว้ว่า ละครประเภท "นาฏดนตรี"ี ซึ่งเฉลี่ยความสำคัญให้แก่ดนตรี การขับร้อง คำพูด และบทบาท ซึ่งแบ่งเป็น สุขนาฏดนตรี ทัศนากร วิจิตรทัศนา และวิพิธทัศนา การแสดงลิเกก็นับเข้าอยู่ในประเภทนาฏดนตรีด้วย  
บันทึกการเข้า
หนุ่มบ้านาดอทคอม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ต.ค. 00, 00:00

ขอบคุณครับคุณทิด
ขออ่านก่อนนะครับผม
บันทึกการเข้า
ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ต.ค. 00, 00:00

ลิเกนี่ไม่ไม่ค่อยชอบดูเท่าไหร่...

แต่ตอนเด็ก ๆ ชอบไปเล่นแถว ๆ โรงลิเก เวลามีลิเกมาเล่นตามตลาดสด...

เหตุผล...

คอยไล่เก็บเพชรที่หลุดหล่นตามพื้นโรงลิเกตอนที่ตัวละครต่อสู้กัน...แข่งกับเพื่อน
บันทึกการเข้า
หนุ่มบ้านนาดอทคอม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ต.ค. 00, 00:00

เคยดูในทีวีครับ ของสดๆ เคยผ่านครั้งเดียว
ที่ว่าผ่านเพราะยืนดูได้นิดเดียวก็มีธุระเลยไม่ได้ดูต่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 ต.ค. 00, 00:00

จำได้นิดหน่อว่าสมัยรัชกาลที่ ๔  ท่านไม่นิยมให้เล่นลิเกค่ะ  มีคำว่า " อันลิเกลามกตลกเล่น"
แต่ลิเกก็ยังมีอยู่มาเรื่อยๆ
พระเอกลิเกรุ่นคุณทวด ชื่อนายดอกดิน   ได้ข่าวว่าแฟนลิเกนิยมนักหนา
๒๐ ปีก่อนมีลิเกสมศักดิ์ ภักดี เป็นลิเกเงินล้าน
ตอนนี้มี ไขยา มิตรชัยค่ะ   ดังมาก  ออกเทปเพลงลูกทุ่งด้วย
เคยไปดูที่หอประชุมจุฬา   เขาเล่นเรื่อง จุฬาตรีคูณ ของพนมเทียน
 เห็นพวงมาลัยติดแบงค์สีแดง สีม่วง สีเทา ที่แม่ยกไปคล้องให้หน้าเวทีแล้ว...เฮ้อ...พูดไม่ออก
บันทึกการเข้า
ผีทะเล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ต.ค. 00, 00:00

อยู่ต่างจังหวัดครับ ได้ดูลิเกบ่อยมาก ที่โรงเรียนประชาบาลก็มีโรงลิเก แต่ถ้าเป็นช่วงหลางวัน หรือเย็นๆ ที่ไม่ค่อยมีคน จะไม่กล้าผ่านไปแถวนั้นเพราะมันวังเวง กลัวเจอพวกกันเองน่ะครับ  ที่บ้านก็ยังเคยเช่าลิเกมาแสดงให้ดู ให้คนทั่วไปดูนะครับไม่ใช่เช่ามาแสดงให้ดูบ้านเดียว ก็สนุกดีครับ ดูไกล ๆ จะรู้สึกว่าพระเอกก็หล่อนางเอกก็สวย แต่พอเห็นตอนไม่แต่งหน้าแต่งชุดนี่ไปอีกเรื่องหนึ่งเลย
แต่ตอนดูไม่มีพวงมาลัยแขวนคอให้เค้าหรอก ให้ตัวเองยังไม่มีเลยครับ เฮ้อว่าง ๆ จะไปหัดเล่นลิเก เผื้อตกงาน
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ต.ค. 00, 00:00

เฮ...ซาลามมานา ฮัดช่า ฮัดชา...
เตร่ง..เตรง..เตร๊ง..เตร้งเตรงเตร่งเตรงงงงง...
ปลาดุกกระดุ่กกร๊ะดิ๊ก ปลาดุกกระดุ่กกร๊ะดิ๊ก เอามาผัดพริก อ๊า..ร่อยดีเฮ...
สุราก็แปลว่าเหล้า สุราก็แปลว่าเหล้า กินแล้วเมา ก็เดินโซเซ...
.......................................
ตั้งแต่เด็กจนโตนี่ผมได้ดูลิเกเล่นสด (Live) นับครั้งไม่ถ้วนเลยครับ
ด้วยความที่บ้านอยู่ในเขตที่ดินของวัด เวลามีคนมาแก้บนทุกครั้ง
ก็ไม่พ้นลิเกทุกที แต่นั่นเป็นสมัยเด็กๆ นะครับ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว
แต่ถ้ามีก็จะเป็นลิเกประเภทที่รับงานเล็กอย่างงานแก้บนอย่างเดียว
การว่ากลอนก็แปลกๆ ปี่พาทย์รับร้องส่งทำนองก็แปลกพอๆกัน
นึกถึงสมัยเด็กๆ คณะที่มาเล่นแก้บนนี่มีหลายครั้งที่เป็นคณะใหญ่
ระดับศิษย์หอมหวลแท้ๆ มาเองเชียวนะครับ เล่นกันคราวละ ๓ - ๕ วัน
แล้วแต่ว่าผู้ว่าจ้างบนไว้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ผมออกไปดูทุกวัน
แล้วเผอิญว่าผมเองเป็นเด็กต่างจังหวัด จะกลับไปทุกๆปิดเทอมใหญ่
ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนหน้าเก็บเกี่ยวก็จะมีมหรสพชาวบ้านให้ดูกันบ่อยๆ
ทั้งลิเก หนังกลางแปลง แล้วก็หมอลำ

ลิเกเป็นมหรสพที่ใกล้ชิดกับคนไทยชาวบ้านในสมัยก่อนมากนะครับ
โดยเฉพาะในยุคที่ยังไม่มีหนังกางแปลง หนังขายยา หรือหนังเร่
แต่ไม่ใช่ว่าจะมีโรงลิเกตั้งอยู่แล้วให้ชาวบ้านไปซื้อตั๋วเข้าดูนะครับ
สมัยก่อนชาวบ้านจะได้ดูลิเกกันทีก็ต้องเฉพาะมีงานบุญหรืองานศพ
โดยเจ้าภาพจะ "ว่า" คณะลิเกมาเล่นในงานให้ชาวบ้านได้ดูกันฟรีๆ
งานใหญ่มากก็เล่นกันหลายวันหน่อย บางครั้งเล่นกันเกือบทั้งคืน
หนุ่มสาวชาวชนบทก็จะอาศัยช่วงเวลาอย่างนี้แหละครับนัดพบกัน
งานบุญที่ว่าลิเกมาเล่น ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานบวชเสียมากกว่า
ส่วนงานศพบ้างก็ว่าลิเกมาเล่น แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ก็จะเปลี่ยนจากลิเก
มาเป็นโขนสด (โขนเปิดหน้า)แทน ถ้าใหญ่มากๆ ก็จะเป็นโขนลางแปลง
แต่หลายๆ ครั้งที่หลังจากเสร็จงานบุญงานบวชหรืองานศพที่จัดนานๆ
ก็มักจะมีงานแต่งงานตามหลังมาไม่ช้าไม่นานเหมือนกันครับ หึหึ

ถ้าเพื่อนๆคนไหนเป็นคนกรุงเทพ แล้วอายุยังไม่เกิน ๒๔ - ๒๕ แล้วล่ะก็
อาจจะนึกภาพตามได้ไม่ชัดนักนะครับ ขอแนะนำว่าให้ลองไปหา
หนังสือเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ของกาญจนา นาคนันท์ มาอ่านสักครั้ง
จะเห็นภาพสังคมชนบทสมัยก่อนและทบาทของลิเกกับงานบุญได้ชัดครับ
เอ...หรือจะเคยอ่านกันมาแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาด้วย
โม้เรื่องลิเกมานาน คงงต้องขอตัวไปโม้ในกระทู้อื่นบ้างแล้วครับ
.................................................
ฮั้ลเล่ วังกา แขกจะขอลาไป๊เล่นลิเก...
เตร่ง..เตรง..เตรง..เตร๊ง
เตร่ง..เตรง..เตร๊ง..เตร้งเตรงเตร่งเตรงงงงง...^_^
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ต.ค. 00, 00:00

ดิฉันเคยดูลิเกทั้งเรื่อง หนเดียวละค่ะ คือของไชยา มิตรชัยที่มาแสดงเรื่องจุฬาตรีคูณที่หอประชุมจุฬา  จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์
ทราบมาว่าคิวของเขายาวมาก ต้องจองล่วงหน้าไม่รู้ว่ากี่เดือนต่อกี่เดือน  สมาคมโชคดีมีผู้ประสานงานให้ถึงได้มา
ในวันงาน จำได้ว่า  มีรถบัส รถตู้ เข้ามาจอดเต็มลานจอดไปหมด  เป็นแฟนลิเกของไชยา   ไม่ว่าไปเล่นที่ไหนก็จะตามไปดู ไปให้กำลังใจเขา
ยังไม่ถึงเวลาเปิดหอประชุม   เขาก็เดินๆรอกันอยู่รอบนอก  ไปชวนคุยก็ได้ความว่า มาจากจังหวัดไกลๆทั้งนั้น   เหมารถมา   พอดูเสร็จเขาก็นั่งรถกลับ   กว่าจะถึงจังหวัดก็รุ่งเช้า ก็มี
ตอนแสดง จะมีผู้ดูถือพวงมาลัยติดแบงค์ เดินออกไปส่งให้หน้าเวที   ไชยากำลังร้องและรำๆอยู่ก็จะหยุดแล้วเดินมาก้มตัวรับพวงมาลัย  แล้วกลับไปร้องต่อ
ที่เก่งมากคือดนตรีของเขา   สามารถเล่นไปได้เรื่อยระหว่างคล้องพวงมาลัย แล้วพอกลับมาร้องบทต่อก็เข้าจังหวะพอดี  ไม่เสียจังหวะเลย  ไม่ต้องหยุดเล่นด้วย  จะตีระนาดกันไปเรื่อยๆ เป็นเพลงต่อกันไปตลอด
นางเอกก็ได้พวงมาลัยเหมือนกันค่ะ   ในบทโศกเธอก็ร้องไห้อยู่   พอแม่ยกมาถือพวงมาลัยรอจะคล้องเธอก็หยุดร้อง ไปรับพวงมาลัยแล้วกลับมาร้องไห้ต่อ  แนบเนียนมากไม่เสียจังหวะอีกเหมือนกัน
สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นกับผู้ดู โยงใยถึงกันตลอด  เป็นการสื่อสารสองทาง รับรู้ตัวตนของกันและกัน
ทำให้นึกออกว่า  เราขาดสิ่งนี้ไปในหนัง และทีวี   เพราะคนดูกับตัวแสดงในจอ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลย
เราดูเขาข้างเดียว  เขาไม่รับรู้ตัวตนของเรา  เรารับรู้แต่ตัวตนของเขา
เห็นลิเกแล้วนึกถึงชุมชนแบบไทยเดิม ที่ทุกคนรู้จักกันหมด  คนดูก็รู้จักกันเอง  ตัวแสดงกับคนดูก็รู้จักกัน ไชยาเขาจะเรียกแฟน(ผู้หญิง)ว่า แม่ ทั้งหมดค่ะ
บันทึกการเข้า
เด็กติดเกาะ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ต.ค. 00, 00:00

แถวนครปฐมน่ะมีเพียบเลยค่ะ ลิเกน่ะค่ะไม่ใช่แม่ยก ที่บ้านยังเคยว่าให้มาเล่นในสวน (ทำขวัญให้สวน ผักผลไม้จะได้ออกลูกเยอะ ๆ )
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง