เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 18491 เรื่องของพวกจอมพลัง อย่าง เฮอร์คิวลิส, แซมซั่น, โกไลแอธ
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 09 ก.ค. 02, 11:32

 เดือนเพ็ญ สวยเย็นเห็นอร่าม...
.............
....ให้เมืองไทยรู้ว่า  สักวันลูกที่จากมา  จะไปซบหน้าแนบอกแม่เอย....

ได้ยินเสียงเพรียกเรียกให้กลับบ้าน  ชวนให้นึกเคลิ้มไปเหมือนว่ามีผู้เอ่ยเอื้อนขับขานเพลงเดือนเพ็ญ  ออดอ้อน เว้าวอนให้คืนสู่เย้าและอ้อมอกของผู้ัเป็นที่รักทั้งปวง

ใครจัดไทยไนท์ในต่างประเทศ  อย่าได้เอาไปเปิดเชียว  ได้วงแตกร้องไห้กันกระจองอแง  เต่าไหม้เกรียมเป็นฝูงๆ

คนที่อยู่ต่างแดนนานๆ  ถ้าใครร้องเพลงนี้ได้จบโดยไม่กลายเป็นเสียงเป่าปี่ไปก่อน  ต้องขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูงในความใจแข็ง หรือไม่รู้สึกรู้สาในความอบอุ่นของแผ่นดินเกิด

อันว่าเมืองสุโขทัยนั้น  แต่เดิมที่เรียนในโรงเรียน  ทำให้เข้าใจว่าสร้างเมืองเมื่อรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  แต่หลังจากนั้นมาความเชื่อก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นว่ามีอาณาจักรที่เก่าแก่เป็นที่มาของสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว  หากถูกกล่าวถึงในเอกสารที่คัดลอกสืบต่อกันมาโดยใช้ชื่อว่าสุโขทัยเช่นเดียวกัน  จึงเป็นที่สับสน และประกอบกับยังไม่พบหลักฐานใดที่นักวิชาการพอจะยอมรับได้  เรื่องราวของพระร่วงวาจาสิทธิ์  โอรสกษัตริย์แห่งสุโขทัยกับนางนาค ผู้มีฤทธิ์สาปขอมดำดินให้เป็นหินได้  สามารถส่งส่วยน้ำโดยไม่ต้องใช้ตุ่ม  และในที่สุดสามารถกู้แผ่นดินจากขอมได้  จึงเป็นเพียงนิยายปรัมปราในสายตานักวิชาการ

แต่หากจะทำใจกว้างเคารพบรรพบุรุษ ฉุกคิดสักนิดว่าที่ท่านสู้อุตสาห์เพียรคัดลอกสืบๆต่อมาให้ลูกหลาน  ท่านคงเห็นเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นเพียงแค่นิยาย

ถ้าลองมองย้อนขึ้นไปถึงยุคก่อนสุโขทัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  มีหลักฐานมากมายแสดงถึงกลุ่มชนที่ใช้วัฒนธรรมที่รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างเข้มข้นตั้งบ้านเมืองตลอดแนวอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลของแหลมทอง  ซึ่งก็พวกที่อยู่ทางใต้กว่า-ใช้วัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียเข้มข้นกว่า ถูกเรียกโดยผู้ที่อยู่ทางทิศเหนือขึ้นไป-ใช้วัฒนธรรมไท/ลาวเข้มข้นกว่า ว่า"ขอม"

สิ่งที่ดูเป็นเพียงนิยายปรัมปราจึงอาจเป็นมากกว่านิทานพื้นบ้าน

ตำนานเก่าแก่ที่วัวลืมตีนชอบแสดงอาการดูหมิ่น เพื่อยกตัวให้ดูเหมือนนักวิชาการกับเขาบ้างนั้น ย่อมอาจเป็นลายแทงสำคัญ ชี้ไปสุ่ขุมทรัพย์ทางวิชาการแห่งประวัติศาสตร์ของสุวรรณภูมิ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 ก.ค. 02, 21:30

 ประเด็นอาจจะกำลังกลายจากเรื่องนิทานจอมพลังไปเป็นเรื่องพระร่วงและตำนาน/ประวัติศาสตร์ ก่อนยุคสุโขทัย แต่ไม่เป็นไรครับ ในเรือนไทยเราก็คุยกันเถลไถลจากเรื่องโน้นไปเรื่องนี้เสมอ

ก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สุโขทัยขึ้นไปอีก คลับคล้ายคลับคลาว่ามีพ่อขุนอีกองค์คือพ่อขุนบางกลางท่าว ตั้งเมืองที่ไหนมาก่อนจะเป็นเมืองสุโขทัย สมัยผมเรียน เรียกพระนามว่าพ่อขุนบางกลางท่าว สมัยต่อมาเห็นใครว่า หลักฐานใหม่ว่าพระนามแท้จริงอาจเป็นพ่อขุนบางกลางหาว คือ กลางฟ้า ถ้าเป็นบางกลางท่าว ตามที่เคยเรียนมาแต่เดิม เจ้าคุณอนุมานราชธนเคยสันนิษฐานว่า บาง สอบกับคำไทในภาษาไทสาขาอื่นๆ แล้ว อาจจะแปลว่าสว่างได้ (ท่านว่า เทียบจีนกลาง หมิง ก็แปลว่าสว่าง คำนี้แต้จิ๋วอ่าน เหม็ง และจีนสำเนียงใต้อะไรอันหนึ่งอ่าน หม่าง ในภาษาไทหลายพวกที่ไม่ใช่ไทยสยามก็มีคำคล้ายๆ มาง บาง ที่แปลว่าสว่าง แต่ไม่มาทางเรา ภาษาไทยสยามเรา บางแปลแต่เพียงว่า ไม่หนา หรือ มีอยู่บ้าง เท่านั้น ไม่ใช้แปลว่าสว่าง) ความหมายมาเข้ารอยเดียวกันกับคำว่าร่วง ที่มาจาก  รุ่ง พ่อขุนบางกลางท่าวจะเป็น พ่อขุนผู้สว่างท่ามกลางท้าวทั้งหลายพระยาทั้งหลาย ได้หรือไม่
ถ้าเป็นบางกลางหาว ตามหลักฐานใหม่ ผมจะเดาแปลเป็น พ่อขุนผู้สว่างกลางท้องฟ้า ได้หรือไม่  ถ้าใช่ ก็ทำให้นึกถึงคำต่อสร้อยพระราชาไทยโบราณที่ว่า ผู้รุ่งฟ้า และพลอยนึกไปถึงพระนามมะกะโทในนิทานเรื่องราชาธิราช เมื่อมะกะโทตั้งตัวเป็นกษัตริย์มอญได้แล้ว ก้ได้รับพระราชทานพระนามจากพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยให้เป็น พระเจ้าฟ้ารั่ว รั่วในที่นี้ไม่ใช่หยดรั่วลงมาอย่างหลังคารั่ว แต่เห็นว่ากันว่ามาจากร่วง คือรุ่งเรืองสว่างเหมือนกัน
คำว่า บาง นี้ มีมาในชื่อพระพุทธรูป คือ พระบาง ด้วย และมาในชื่อเมืองหลวงพระบางอีกด้วย พระองค์ที่เราเรียกกันว่าพระบางนั้นผมก็ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร แต่สมเด็จฯ ครูทรงตั้งข้อสังเกตประทานแก่เจ้าคุณอนุมนาราชธนว่า ถ้าพระบางแปลว่าพระสว่างจริง ก็จะไปเข้ารอยเข้าชุดกันดีกับพระพุทธรูปสำคัญอีก 2-3 องค์ คือพระสุก พระใส (และพระเสริม)

เรื่องนิทานปรัมปราอาจมีเค้าความจริงอยู่ในนั้นได้นั้น เห็นด้วยครับ ว่าเฉพาะเรื่องนิทานพระร่วงเจ้าอย่างเดียว ในหลวง  ร.6 ท่านก็เคยทรงพยายามปรับเรื่องตำนานปาฏิหาริย์ของพระร่วงเจ้าให้ "เป็นวิทยาศาสตร์" ขึ้นมาแล้ว เช่นตำนานว่าพระร่วงวาจาสิทธิ์เอาชะลอมใส่น้ำแล้วสั่งให้ไม่รั่วได้  ร.6 ท่านก็ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า คงเป็นชะลอมสานตาถี่ๆ แล้วเอาชันยา ใส่น้ำได้ และเบา ไม่หนักเหมือนเดิมที่ต้องทำโอ่งดินใส่น้ำ เท่ากับว่าพระร่วงคิดประดิษฐ์กะละออมหรือครุใส่น้ำขึ้นเท่านั้นเอง พระบรมราชาธิบายใน ร.6 นี้น่าจะหาอ่านได้ไม่ยาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 10 ก.ค. 02, 08:30

 พ่อขุนบางกลางหาวค่ะ  
เป็นเรื่องของศรีสัชชนาลัย   อาณาจักรที่นักโบราณคดีบางคนเห็นว่าใหญ่กว่าสุโขทัยเสียอีก   แต่ยังมีการศึกษาถึงเรื่องนี้น้อยมาก
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 10 ก.ค. 02, 09:23

 ผ่านตาว่าทางล้านนา-ลาว-สิบสองปันนา  ก็มีตำนานท้าวฮุ่ง  แต่เสียดายว่าเมื่อผ่านตาแล้ว ดูเหมือนจะไม่ได้ศึกษาไว้  มาบัดนี้ก็ไม่มีเหลือติดหัวแล้ว  ท่านใดพอมีข้อมูลมาแบ่งปันจะเป็นพระคุณอย่างสูง
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 11 ก.ค. 02, 21:56

 มีพงศาวดารล้านช้าง(ฉบับไหนก็ไม่ทราบ) กล่าวว่า  มนุษย์นั้นออกมาจากน้ำเต้าปุง  คือน้ำเต้าใหญ่  พวกข่าออกมารูน้ำเต้าก่อนเพื่อน  จึงถูกความร้อนของเหล็กแดงที่ไชรูน้ำเต้า ด้วยเหตุนี้ตัวจึงมีผิวสีดำ  พวกไทยออกมาทีหลัง ผิวจึงขาว ท่านพระยาอนุมานราชธน กล่าวอ้างถึงสมเด็ จพระมหาวีรวงศ์เมตตาเล่าให้ฟังว่า  พวกไทยที่หลงพลัดเข้าไปในหมู่พวกข่า ไม่ต้องกลัวอดตาย เพราะพวกข่าถือไทยเป็นน้อง ถ้าไม่ต้อนรับเลี้ยงดูเป็นผิดผีพ่อผีแม่  บางตำนานก็ว่าขุนเจืองเป็นกษัตริย์โบราณของพวกข่า  ขุนเจืองตามตำนานมีอานุภาพมาก ใครๆ ชาติไหนๆ ก็อยากได้ไว้เป็นตำนานบรรพบุรุษของชาติตนเอง  

แต่เคยไปชมการแสดงออกแขก 12 ภาษา  ชนชาติข่าในจินตาการของกรมศิลปากรน่ารักมากค่ะ    
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 11 ก.ค. 02, 21:58

 และเคยอ่านตำนานหลายเรื่องผ่านสายตาเกี่ยวกับล้านนา  ล้านช้าง....แถวๆนั้น  ซึ่งถือว่า ท้าวฮุ่ง หรือขุนเจือง เป็นวีรบุรุษ ทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์สองฝั่งโขง ถ้าจะเล่าเรื่องย่อ..ถือว่าตำนานหรือมหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจืองเรื่องนี้ ภาษาชาวบ้านอาจจะว่าเป็น "ศึกชิงนาง" ก็ได้ แต่ถ้ากล่าวอย่างเป็นทางการเขาก็ว่าเป็นพัฒนาการของกลุ่มชนบนที่สูง โดยเน้นไปที่การแต่งงานในสายพี่น้อง เพื่อการขยายอำนาจ การรักษาอำนาจอะไรทำนองนั้น  แสดงถึงการย้ายถิ่นฐาน  เรื่องมีอยู่ว่า ....

ท้าวฮุ่ง เป็นลูกชายคนเล็กเจ้าเมืองนาคอง  เกิดไปรักชอบนางง้อม มีตำแหน่งมกุฎราชกุมารีเมืองเชียงเครือ เจ้าเมืองก็คือป้าของท้าวฮุ่งนั่นเอง  ตอนแรกมีอุปสรรคเรื่องสินสอด แต่ท้าวฮุ่งก็ผ่านมาได้...กล่าวไปถึงอีกเมืองคือ เมืองเงินยวง เป็นญาติกันกับท้าวฮุ่ง  เจ้าเมืองอยากจะยกลูกสาวให้ท้าวฮุ่งหลานชาย  แต่มีท้าวแองกาเจ้าชาย เมืองคำวังมาชอบ นางอั้วค่า มีจิตใจตอบท้าวแองกา  แต่เจ้าเมืองเงินยวงคือขุนซื่มไม่ยอม จึงเกิดศึดยืดเยื้อ  รบกันอยู่นาน  ตามตำนานว่ารบกันไปรบกันมา ไปขอความช่วยเหลือจากหลายเมือง  ท้าวฮุ่งรบชนะได้แต่งงานกะนางอั้วค่า  แต่ก็มีเรื่องตามมาให้เกิดศึกยืดเยื้อออกไปขนาดว่าท้าวฮุ่งรบจนเสียชีวิต  ตายไปแล้ว แต่วิญญาณไปเกิดในเมืองพรหม พระอินทร์อาบน้ำทิพย์ให้ไปเจอกับวิญญาณนางง้อมภรรยาคนแรก จึงร่วมกันรบ กองทัพผีก็รบจนชนะ...ท้าวฮุ่งจึงเป็นวีรบรุษด้วยประการฉะนี้
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 12 ก.ค. 02, 13:06

 เยี่ยมครับ  คุณฝอยฝน  แต่เอ จำได้ว่าขุนเจืองมีชีวิตจนแก่เฒ่านี่ครับ  เมื่อหนุ่มๆคนองฝีมือมากถึงกับประกาศท้ารบแบบยุทธหัตถีไปทั่ว  ดูเหมือนจะเป็นท้าวแกวที่ดันทะลึ่งมารับคำท้า  ตอนขุนเจืองอายุปาเข้าไปกว่า 70  ขุนเจืองจึงสิ้นพระชนม์ในการยุทธสมเป็นนักรบ

ดูเหมือนจะเคยผ่านตา  มีผู้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวของขุนเจืองและพระลอด้วย  ไม่ทราบคุณฝอยฝนมีรายละเอียดตรงนี้ด้วยไหมครับ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 12 ก.ค. 02, 23:21

 ความจริงฝนเองก็ยังไม่เคยอ่านต้นฉบับมหากาพย์ท้าวฮุ่งหรอกค่ะ  อ่านที่เขาสรุปมาแล้วอีกที   ท่านว่ากันว่าวรรณคดีไทยเรื่อง " พระลอ "  น่าจะได้รับอิทธิพลจากมหากาพย์เรื่องนี้ด้วย พระลอ น่าจะมาจาก แถนลอ จากเมืองกาหลง แม่ทัพผู้ที่ปราบท้าวฮุ่ง  โดยการชนช้าง ท้าวฮุ่งเหนื่อยล้าตกจากช้างและถูกฟันซ้ำจนเสียชีวิต...และเปรียบเทียบว่าเมืองแมนสรวงของพระลอ คือ ล้านช้าง ที่อยู่ทางตะวันตก  และเมืองสองของพระเพื่อนพระแพง คือ ล้านนาอยู่ทางตะวันออก ชื่อเมืองและชื่อคนที่เล่ามานี่อาจจะเสียงเพี้ยนไปบ้างนะคะ อย่างเมืองเงินยาง นี่เมื่อวานไม่แน่ใจว่าสะกดผิดไปหรือเปล่าค่ะ
 
ส่วนคำว่า ฮุ่ง ก็มีความหมายเดียวกับภาษาภาคกลางว่า รุ่ง สว่าง สุกใส ตรงกับคำว่า ร่วง หรือ รุ่ง
และพระเอกเรื่องนี้ ถือว่า เป็นสัญญลักษณ์ของผู้นำทางวัฒนธรรมที่ไม่มีพรมแดนของเผ่าพันธุ์ พูดเป็นทางการเขาว่าเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม  กินพื้นที่ลุ่มน้ำโขง กว้างไปถึงลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม  แต่ถ้าชาวบ้านมองก็คือ พระเอกเป็นวีรบุรุษที่มีเมียจาก หลายเมืองหลายเผ่าพันธุ์ ถึง 4 คน ใช้ความเป็นเครือญาติขยายฐานอำนาจนั่นเอง  มหากาพย์เรื่องนี้มีเนื้อหาหลายตอนที่แสดงว่าผู้หญิง  ร่วมออกรบด้วย  หลายเมืองที่รบกันนี้ แม่ทัพที่ไสช้างออกไปคุมทัพเป็นเมียเจ้าเมือง  และยังเป็นคนให้คำปรึกษาในการศึกด้วย
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 15 ก.ค. 02, 09:17

 คุณฝนทราบละเอียดดีจังเลยครับ  ไม่ทราบปกติสอนที่ไหน  เผื่อจะไปขอสมัครนั่งเรียนด้วยคน

ผมสะกิดใจตรงความพ้องของความหมายของชื่อท้าวฮุ่งกับพระร่วงนะครับ  ด้วยไม่ทราบรายละเอียดของทั้งสองตำนานเพียงพอ  จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้เต็มที่  คุณฝนคิดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กันหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 15 ก.ค. 02, 20:49

 ขอโทษค่ะ  ...ไม่เคยสอนหนังสือเป็นอาชีพหลักค่ะ ฝนแค่ชอบอ่านหนังสือ  แล้วโดยสายงานก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการสร้างบ้านแปงเมือง  เลยให้บังเอิญไปเจอหนังสือเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ผสมโบราณคดี  บวกการอ่านภาพถ่ายทางอากาศบ้าง การตั้งชุมชนบ้างเลยจับมาผสมกัน แค่นั้นเองค่ะ อยากจะรับสอนพิเศษเหมือนกันแต่ยังไม่มีคนจ้างค่ะ เสียใจด้วยนะคะ

เรื่องความหมายของคำว่า ร่วง กับ รุ่ง และฮุ่ง คงจะสัมพันธ์กันแน่ๆ  จำได้เองว่า สำเนียงคนทางเหนือ จะออกเสียงตัว ร  เป็น ฮ เช่น หมู่เฮา และถ้าอ้างไปถึงประวัติเมืองทางเหนือ  จะโยงไปถึงการตั้งเมืองของหลักๆ ..โห เห็นจะคุยยาวมากแน่ๆค่ะ เขาวิเคราะห์ถึงเมืองไหนน่าจะคือเมืองไหนในมหากาพย์  แต่ผู้ที่ถอดความออกมาจากต้นฉบับ คือ ท่านมหาสีลา  วีระวง
สันนิษฐานว่าท้าวฮุ่งเป็นคนเชื้อชาติขอมหรือมอญ
แต่ก็มีปราชญ์หลายท่านโยงบางคำไปหลายภาษา  ภาษาจีนก็มีค่ะ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 16 ก.ค. 02, 08:40

 ยอดเยี่ยมครับคุณฝน  นี่เพียงสมัครเล่นยังขนาดนี้  ถ้าจับเป็นอาชีพจะขนาดไหน

ผมสนใจเป็นพิเศษคือความเป็นมาของชนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมและภาษาไท-ลาว  จากหลักฐานทางโบราณคดี  ยังบอกอะไรได้น้อยเหลือเกิน ตลอดจนยังมีความคลุมเครือดำมืดขึ้นตามลำดับเมื่อยิ่งพยายามมองย้อนลึกเข้าไป  ทั้งๆที่วัฒนธรรมและภาษาไท-ลาวแผ่กระจายเป็นอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมถึง 6 ประเทศ มีประชากรเป็นร้อยๆล้านที่สืบทอดต่อๆกันไปอีก  เป็นปริศนาที่น่าทึ่งน่าค้นคว้าอย่างยิ่ง

คุณฝนเห็นเป็นอย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 16 ก.ค. 02, 22:14

 ฝนเอง ที่สนใจก็เพราะบางครั้งโดยความจำเป็น ประกอบกับนึกสนุกที่จะเรียนรู้  เพื่อจะได้คำตอบที่เรานำไปคิด หรือวิเคราะห์ต่อได้ค่ะ อย่างเรื่องการตั้งชุมชน บางทีก็ต้องไปคิดประยุคต์กับปัจจัยที่ก่อให้เกิดเมือง ในสมัยก่อน เพื่อประโยชน์ว่า ถ้าปัจจุบัน เราจำเป็นต้องย้ายเมือง  หรือ สร้างชุมชนใหม่  ทำยังไงชุมชนจึงเกิด  หรือพัฒนา ให้เจริญแนวทางไหน อย่างเหมาะสม กับศักยภาพในพื้นที่นั้น ฝนจึงต้องสนใจประวัติศาสตร์บ้างค่ะ  บางที่ก็ต้องหันไปดูโครงการ ฟื้นฟูชุมชน แล้วก็ต้องมอง ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ทั้งด้านความงาม ระเบียบ สุขอนามัย ระบบสาธารณูปโภคด้วยค่ะ

.. ฝน ยอมแพ้ค่ะ ถ้าเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษา ฝนว่าน่าสนใจ แต่ไม่ถนัดและเชี่ยวชาญหรอกค่ะ เรื่องไหนที่พอแลกเปลี่ยนความเห็นได้ ฝนก็นึกสนุกค่ะ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 17 ก.ค. 02, 11:05

ถ้าพูดถึงลักษณะทางกายภาพของดินแดนที่แถบนี้  ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก  เป็นที่ราบปากแม่น้ำ  และเป็นที่ราบต่อเนื่องจากเทือกเขากว้างใหญ่  ลักษณะทางภูมิศาสตร์ย่อมมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อทุกสรรพสิ่ง  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์  พืช  หรือมนุษย์  อันล้วนส่งผลกระทบมีอิทธิพลต่อกันทั้งสิ้น  จากความรู้ทางภูมิศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าในดินแดนแถบนี้จะต้องเกิดน้ำหลากในหน้ามรสุมอยู่ทุกปี  ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมจึงพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับพันๆปีจากข้อกำหนดทางภูมิศาสตร์นี้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี  ภาษา  สถาปัตยกรรม  ไปจนถึงศาตร์แห่งการสร้างบ้านแปงเมือง

เป็นที่น่าคิดว่าเพียงไม่กี่สิบปีหลังมานี่ เราได้ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลในการเปลี่ยนกายภาพของดินแดนแถบนี้  เพื่อร้องรับความเป็นบ้านเมืองแบบตะวันตก  โดยไม่มีความรู้เพียงพอถึงผลกระทบต่างๆที่จะได้รับ  และนี่กระมังที่เป็นสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาต่างๆมาตลอดนับตั้งแต่เราเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี่สมัยใหม่

นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่น่ายินดีที่นักวิชาการสมัยใหม่และคงมีหน้าที่เกี่ยวข้องเช่นคุณฝน  ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ให้ความเคารพพลังอำนาจของธรรมชาติ  ซึ่งแทบจะตรงกันข้ามกับภูมิปัญญาของตะวันตกที่อาจเรียกได้ว่าหลงยโสกับชัยชนะเหนือธรรมชาติ อันถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว เป็นเพียงชัยชนะจอมปลอมและชั่วคราวเสียทุกครั้ง โดยต้องแลกกับทรัพยากรอันมีค่ามหาศาล  ซึ่งประเทศฝ่ายตะวันตก หรือประเทศที่พัฒนาแล้วได้สร้างกลไกอันซับซ้อนดูดซับเอาจากประเทศที่อ่อนแอกว่ามาโดยตลอด

ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราสามารถปลดแอกการเป็นทาสทางภูมิปัญญาแบบตะวันตก  รู้จักกลับมาให้ความเคารพความชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่แฝงอยู่ในมรดกอันมีค่าทั้งหลายในทุกอณู  ปัญหาและความทุกข์ยากทั้งหลายที่เราประสพมาอย่างต่อเนื่องก็จะค่อยๆคลี่คลายลงได้อย่างรวดเร็ว
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 104

architect


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 19 ก.ค. 02, 23:47

 รู้สึกจะกินลูกยอมากไปแล้วค่ะ
เชื่อเช่นเดียวกันค่ะว่า ถ้ามนุษย์เราไม่ภูมิใจในท้องถิ่นตัวเอง  ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา แผ่นดินเกิด  ประวัติความเป็นมาของตัวเอง แม้กระทั่งทรัพยากรที่ตนเองมีแล้ว    การพัฒนามีโอกาสเดินผิดทางและหมดตัวได้ง่ายๆค่ะ  

ถ้าเราทราบกำลังตัวเอง  รู้ถึงสติปัญญาตัวเอง การรับเทคโนโลยี สมัยใหม่เข้ามาใช้  ก็จะไม่พบกับคำว่าสูญเปล่า เราไม่อาจจปฎิเสธการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ได้  แต่แค่ไหนถึงจะมีความพอดี....

ที่พูดกันจนติดปากว่า นี่ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น   อยากให้เข้าใจจริงๆด้วยค่ะ ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แท้จริงนั้น  ควรมี....ที่มา..แล้วมีรูปแบบการพัฒนา  ผ่านขบวนการคิด การลองผิดลองถูกมาแล้ว  ดังนั้นการเชื่อคนเฒ่าคนแก่  การรับฟังผู้ใหญ่  การรับรู้ประวัติความเป็นมาของตัวเอง จึงน่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการคิดถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ้าเรานับถือตนเองนับถือและสติปัญญาของบรรพบุรุษ ประกอบกัน เราก็คงจะไม่หลงทาง
บันทึกการเข้า
caeruleus
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 21 ก.ค. 02, 11:03

 สวัสดีค่ะ  

หายหน้าไปนาน พอดีรับปริญญาก็เลยไม่ค่อยมีเวลาน่ะค่ะ

กลับเข้าเรื่องดีกว่า... Goliath (sp?) นี่มีอ้างถึงในคัมภีร์ Bible. ค่ะ ถ้าจำไม่ผิดก็เป็นทหารเอกของ Romans ตอนทำสงครามกับญิวที่คิดจะตั้งตัวเป็นอิสระ
Goliath นี่ตัวใหญ่มาก (เป็นยักษ์ค่ะ) ทำให้พวกโรมกระหยิ่มในชัยชนะมาตลอด และก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกยิวกลัว Goliath กันมาก
จนมาวันหนึ่ง มีชายหนุ่มยิวคนหนึ่งในบรรดาชาวยิวทั้งหมดรับอาสาที่จะออกไปพบ Goliath (คล้ายๆกับการดวลมั้งคะ) โดยเอาเชือกสลิงติดตัวไปเพียงอย่างเดียว (ลืมไป.. หนุ่มน้อยคนนี้ชื่อ David นะคะ) Goliath เห็นคู่ต่อสู้ตัวเล็กแค่นั้นก็ขัน หัวเราะเป็นวรรคเป็นเวร เดวิดเดินมาถึงก็ไม่พูดพล่ามทำเพลง หยิบก้อนหินขนาดเหมาะมือได้ ก็เอาใส่ในสลิงแล้วก็เหวี่ยงไปที่ Goliath ทันที หินโดนเข้าที่แสกหน้าของ Goliath ตาย ทำให้ทัพยิวชนะ (ก็พวกโรมขวัญเสียแล้วนี่คะ)
ส่วนหนุ่มน้อยเดวิดนั้น ในเวลาต่อมาก็คือ King David นั่นเองค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง