เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 01:57



กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 01:57
 ได้ยินว่าคุณเทาชมพูกำลังจะได้เอกสารรายงานวิจัยจารึกหลักที่ 1 ในเชิงภาษาศาสตร์มา ผมจึงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของจารึกหลักนี้ และความคิดเห็นของนักวิชากาี้รบางท่าน มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ใช้ศึกษาต่อไปครับ


ข้อมูลเบื้องต้นของศิลาจารึกหลักที่ 1

ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงทำขึ้นจากหินทรายแป้ง สูง ๑๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเมื่อครั้งเป็นภิกษุขณะจาริกไปยังเมืองเก่าสุโขทัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ และทรงพยายามอ่านและแปลศิลาจารึกนั้นด้วยพระองค์เอง

ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

(ข้อมูลจาก http://www.sarakadee.com)  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:05
 ต่อไปนี้คือเนื้อความในจารึกหลักที่ 1 ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันโดยมหาฉ่ำ ทองคำวรรณ

(ด้านที่ 1)
พ่อกูชื่สรีอินทราทีตย แม่กูชื่นางเสือง พี่กูชื่บานเมือง
ตูมีพี่น๋องท๋องดยวห๋าคน ผู๋ชายสาม ผู๋หญิงโสง พี่เผือ
ผู๋อ้ายตายจากเผือตยมแต่ญงงเลก เมื่อกูขึ๋นใหญ่ได๋
สิบเก๋าเข๋า ขุนสามชนเจ๋าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบ
ขุนสามชนหววซ๋าย ขุนสามชนขับมาหววขวา ขุนสาม
ชนเกลื่อนเข๋า ไพร่ฟ๋าหน๋าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจแจ้
น กูบ่หนี กูขี่ช๋างเบกพล กูขับเข๋าก่อนพ่อกู กูต่อ
ช๋างด๋วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช๋าง ขุนสามชนตววชื่
มาสเมือง แพ๋ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ๋นชื่กู
ชื่พระรามคํแหง เพื่อกูพุ่งช๋างขุนสามชน เมื่-
อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได๋ตวว
เนื้อตววปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได๋หมากส๋มหมากหวา-
น อนนใดอนนกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตี-
หนังวงงช๋างได๋ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ๋านท่เมื-
อง ได๋ช๋างได๋งวง ได๋ป่ววได๋นางได๋เงือนได๋ทอง กูเอา
มาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบํเรอแก่พี่
กู ฎงงบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได๋เมืองแก่กูท๋งง
(ก)ลํ เมื่อช่ววพ่อขุนรามคํแหง เมืองสุโขไทนี๋ดี ในน๋ำ
มีปลา ในนามีข๋าว เจ๋าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่-
อนจูงวววไปค๋า ขี่ม๋าไปขาย ใครจกกใคร่ค๋าช๋างค๋า ใคร
จกกใคร่ค๋าม๋าค๋า ใครจกกใคร่ค๋าเงือนค๋าทองค๋า ไพร่ฟ๋าหน๋าใส
ลูกเจ๋าลูกขุนผู๋ใดแล๋ ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อ
เสื้อคำมนน ช๋างขอลูกเมียยียเข๋า ไพร่ฟ๋าข๋าไท ป่า
หมากป่าพลูพ่อเชื้อมนน ไว๋แก่ลูกมนนสิ้น ไพร่ฟ๋า
ลูกเจ๋าลูกขุน ผิ๋แล๋ผิดแผกแสกว้างกนน สวนดู
แท้แล จึ่งแล่งความแก่ขาด๋วยซื่ บ่เข๋าผู๋ลกกนกกมกก
ผู๋ซ่อน เหนข๋าวท่านบ่ใคร่พีน เหนสินท่านบ่ใคร่เดือ-
ด คนใดขี่ช๋างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่อยเหนือเฟื้อ
กู้ มนนบ่มีช๋างบ่มีม๋า บ่มีป่ววบ่มีนาง บ่มีเงือ-
นบ่มีทอง ให๋แก่มนน ช่อยมนนตวงเปนบ๋านเปนเมือ-
ง ได๋ข๋าเสือกข๋าเสือ หววพุ่งหววรบก่ดี บ่ข๋าบ่ตี ใน
ปากปตูมีกดิ่งอนนณึ่งแขวนไว๋ห๋นน ไพร่ฟ๋าหน๋า
ปกกลางบ๋านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจบท๋อง
ข๋องใจ มนนจกกกล่าวเถิงเจ๋าเถิงขุนบ่ไร้ ไปล่นนก-
ดิ่งอนนท่านแขวนไว๋ พ่อขุนรามคํแหงเจ๋าเมืองได๋

(ด้านที่ 2)
ยินรยกเมือถาม สวนความแก่มนนด๋วยซื่ ไพร่ใน
เมืองสุโขไทนี๋จึ่งชม สร๋างป่าหมากป่าพลูท่ววเมือ-
งนี๋ทุกแห่ง ป่าพร๋าวก่หลายในเมืองนี๋ ป่าลาง
ก่หลายในเมืองนี๋ หมากม่วงก่หลายในเมืองนี๋
หมากขามก่หลายในเมืองนี๋ ใครสร๋างได๋ไว๋แก่มนน
กลางเมืองสุโขมัยนี๋ มีน๋ำตระพงงโพยสีใสกินดี
…ฎ่งงกินน๋ำโขงเมื่อแล๋ง รอบเมืองสุโขไทนี๋ตรี-
บูรได๋สามพนนสี่ร๋อยวา คนในเมืองสุโขไทนี๋
มกกทาน มกกทรงศีล มกกโอยทาน พ่อขุนรามคํแหง
เจ๋าเมืองสุโขไทนี๋ ท๋งงชาวแม่ชาวเจ๋า ท่วยป่ววท่วยนา-
ง ลูกเจ๋าลูกขุนท๋งงสิ๋นท๋งงหลาย ท๋งงผู๋ชายผู๋ญีง
ฝูงท่วยมีสรธาในพระพุทธศาสนทรงสีลเมื่อพรน
ษาทุกคน เมื่อโอกพรนษากรานกถิน เดือนณึ่งจิ่-
งแล๋ว เมื่อกรานกถินมีพนมเบี๋ย มีพนมหมาก มี
พนมดอกไม๋ มีหมอนน่งงหมอนโนน บริพารกถินโอ-
ยทานแล๋ปีแล๋ญิบล๋านไปสูตญัติกฐินเถืงอ-
รญญิกพู๋น เมื่อจกกเข๋ามาวยงรยงแต่อร-
ญญิกพู๋นเท่าหววลานดดํบงคํด๋วยสยงพาดสยงพี-
นสยงเลื๋อนสยงขับ ใครจกกมกกเหล๋นเหล๋น ใครจก-
กมกกหวว หววใครจกกมกกเลื๋อน เลื๋อน เมืองสุ-
โขไทนี๋มีสี่ปากปตูหลวง ท๋ยนญ่อมคนเสียดกนน
เข๋ามาดูท่านเผาทยนท่านเหล๋นไฟ เมืองสุโขไทนี๋
มีฎ่งงจกกแตก กลางเมืองสุโขไทนี๋มีพิหาร มี
พระพุทธรูปทอง มีพระอฏฐารศ มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอนนใหญ่ มีพระพุทธรูปอนน
ราม มีพิหารอนนใหญ่มีพิหารอนนราม มีปู่
ครูนิไสยมุตก์ มีเถร มีมหาเถรเบื๋องตะวนนตก
เมืองสุโขไทนี๋มีอไรญิก พ่อขุนรามคํํแหงกทำ
โอยทานแก่มหาเถร สงงฆราชปราชญ์รยนจบปิดกไตร
หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี๋ ทุกคนลุกแต่เมืองสรีธ-
รมมราชมา ในกลางอรญญิก มีพิหารอนนณึ่งมน
ใหญ่ สูงงามแก่กํ มีพระอฏฐารศอนนณึ่งลุกยื-
น เบื๋องตะวนนโอกเมืองสุโขไทนี๋มีพิหารมีปู่ครู
มีทเลหลวงมีป่าหมากป่าพลูมีไร่มีนามีถิ่นถ๋าน
มีบ๋านใหญ่บ๋านเลก มีป่าม่วงมีป่าขาม ดูงามฎงงแกล้

(ด้านที่ 3)
(งแฏ่)ง เบื๋องตีนนอนเมืองสุโขไทนี๋มีตลาดป-
สาน มีพระอจน มีปราสาท มีป่าหมาก
พร๋าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่นถ๋าน มีบ๋านใหญ่บ๋านเล็ก เบื๋-
องหววนอนเมืองสุโขไทนี๋ มีกุดีพิหารปู่ครู
อยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร๋าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม
มีน๋ำโคกมีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอนนน๋นน
เปนใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี๋ ขุนผู๋ใดถืเมือง
สุโขไทนี๋แล๋ ไหว๋ดีพลีถูก เมืองนี๋ท่ยง
เมืองนี๋ดี ผิไหว๋บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอนนบ่
คุ๋มบ่เกรง เมืองนี๋หาย ๑๒๑๔ สก ปีมโรง พ่อขุนรามคํ-
แหงเจ๋าเมืองศรีสชชนาไลสุโขไทปลูกไม๋ตา-
นนี๋ได๋สิบสี่เข๋าจึ่งให๋ช่างฟนนขดารหินต๋งงหว่าง
กลางไม๋ตานนี๋ วนนเดือนดบบเดือนโอกแปดวนน วน-
นเดือนเตม เดือนบ๋างแปดวนน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถ-
ร ขึ๋นณ่งงเหนือขดานหีนสูดธรมมแก่อูบาสกฝู-
งท่วยจำสีล ผิใช่วนนสูดดธรมมพ่อขุนรามคํํแหง
เจ๋าเมืองศรีสชชนาไลสุโขไทขึ๋นณ่งงเหนือขดา-
รหีน ให๋ฝูงลูกเจ๋าขุน ฝูงท่วยถืบ๋านถื
เมือง คร๋นนวนนเดือนดบบเดือนเตม ท่านแฏ่งช๋างเผื-
อกกรพดดลยางท๋ยนญ่อมทองงา...ขวา ชื่รูจาครี
พ่อขุนรามคํแหงขึ๋นขี่ไปนบพระ....(เถิง)อรญญิกแล๋-
วเข๋ามา, จารึกอนนณึ่ง มีในเมืองชลยงสถาบกไว๋
ด๋วยพระศรีรตนธาตุ จารึกอนนณึ่งมีในถ๋ำชื่ถ๋ำ
พระราม อยู่ฝ่งงน๋ำสํพาย จารึกอนนณึ่งมีในถ๋ำ
รตนธารในกลวงป่าตานนี๋ มีษาลาสองอนน อนนณึ่งชื่
ษาลาพระมาส อนนณึ่งชื่พุทธษาลา ขดารหีนนี๋ชื่ม-
นงงษีลาบาตร สถาบกไว๋หนี๋(จึ่ง)ทงงหลายเหน

(ด้านที่ 4)
พ่อขุนรามคํแหงลูกพ่อขุนษรีอินทราทีตยเป-
นขุนในเมืองสรีสชชนาไลสุโขไท ทงงมากาวลาว
แลเมืองไทเมืองใต๋หล๋าฟ๋าฏ...ไทชาวอูชาวของมาออ-
ก ๑๒๐๗ สก ปีกุรให๋ขุด(เอา)พระธาตุออกทงงหลาย
เหนกทำบูชาบํเรอแก่พระธาตุได๋เดือนหกวนน จึ่-
งเอาลงฝงงในกลางเมืองสรีสชชนาลัยก่พระเจ-
ดีเหนือหกเข๋าจึ่งแล๋วต๋งงวยงล้อมพระม-
หาธาตุสามเข๋าจึ่งแล๋ว เมื่อก่อนลายสืนี๋บ่
มี ๑๒๐๕ สกปีมะแม พ่อขุนรามคํแหงหาใคร่ใจ
ในใจ แลใส่ลายสืไทนี้ลายสืนี้จึ่งมีเพื่-
อขุนผู๋น๋นนใส่ไว๋ พ่อขุนรามคํแหงน๋นนหา
เปนท๋าวเปนพรญาแก่ไททงงหลายหาเปน
ครูอาจารยส่งงสอนไททงงหลายให๋รู๋
บุนรู๋ธรมมแท๋แต่คนอนนมีในเมืองไทด๋วย
รู๋ด๋วยหลวก ด๋วยแกล๋วด๋วยหาน ด๋วยแคะ
ด๋วยแรง หาคนจกกเสมอมิได๋ อาจปราบฝูงข๋า-
เสิก มีเมืองกว๋างช๋างหลาย ปราบเบื้องตวนนอ-
อกรอดสรลวง สองแคว ลมบาจาย สคาเท๋าฝ่งงข-
องเถีงวยงจนนวยงคำเปนที่แล๋ว เบื๋องหวว
นอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรณณภู-
มิ ราชบูรี เพช(บู)รี ศรีธรมมราช ฝ่งงทเล
สมุทรเปนที่แล๋ว เบื๋องตวนนตกรอดเมือ-
งฉอด เมือง...น หงศาพดี สมุทรหาเป-
นแดน, เบื๋องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมื-
องม่าน เมือง...เมืองพลววพ้นฝ่งงของ
เมืองชวาเปนที่แล๋ว , ปลูกล๋ยงฝูงลูกบ๋า-
นลูกเมืองน๋นน ชอบด๋วยธรมมทุกคน


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:09
 พระดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง ศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ในวาระเสด็จทรงเป็นองค์ประธานการอภิปรายเรื่อง " ศิลาจารึกหลักที่ 1 " ณ ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม กรุงเทพฯ

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่มีผู้สนใจในเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งเรารู้จักในนามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่เรียนประวิติศาสตร์ไทยกันมาในโรงเรียน ทุกคนจะยิ่งคุ้นกับรูปร่างของศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อในปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 700 ปีของลายสือไทย ซึ่งพ่อขุนได้ใส่ไว้ คำว่าใส่นี้ยังไม่กระจ่างนัก ตามที่ ดร.เกดนีย์ ได้กล่าวไว้จะแปลว่าคิดขึ้น หรืออะไรอื่น เช่น ซ่อมแซมก็ได้ ซึ่งเป็นคำแปลที่ว่าซ่อมแซมนั้นเป็นคำแปลในภาษาไทยตระกูลหนึ่ง

ข้าพเจ้าขอเล่า ทำไมข้าพเจ้ามาสนใจเรื่องหลักที่ 1 นี้ขึ้นมา เมื่อสามสี่ปีมาแล้วมีผู้มาพูดให้ฟังว่า เขาพูดกันว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักนี้พ่อขุนรามคำแหงอาจจะไม่เป็นผู้ทำขึ้นมาก็ได้ ข้าพเจ้าก็ต้องภามทันทีอย่างที่ทุกคนคงอยากถาม "ใครเล่าเป็นผู้ทำขึ้นมา" เมื่อได้ยินคำตอบก็ออกจะตกใจและไม่เชื่อ คิดว่าเขาคงจะพูดเล่น ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นเรื่องตลกจนนิดเดียว

เรื่องก็เงียบไปพักหนึ่งจนถึงปี 2530 นานๆ ทีจึงมีผู้ถามว่าได้ยินมั๊ยเรื่องหลักที่ 1 นี้ ในเดือน กรกฎาคม 2530 ดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ จากมหาวิทยาลัย อดิเลด ในออสเตรเลีย ได้เสนอบทความในการประชุมไทยศึกษา ณ กรุง แคนเบอร่า ซึ่งตั้งคำถามว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นของเก่าจริงหรือเป็นของที่สร้างขึ้นมาภายหลัง

ต่อจากนั้นนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ลงบทความเกี่ยวกับการปลอมหลักที่ 1 นี้มาบ่อยๆ นับได้ 5-6 เล่ม พร้อมทั้งฉบับ พิเศษโดยเฉพาะอีกด้วย

ปี 2533 ข้าเจ้าอยู่ต่างประเทศหลายเดือน จึงไม่มีโอกาสไปฟังการปาฐกถาของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ที่แสดงที่สยามสมาคมและที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ได้รับฉบับที่พิมพ์ออกมาภายหลัง เมื่อ ม.จ. สุภัทรดิส ดิศกุล ชักชวนให้ไปฟังการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในเดือนพฤศจิกายน 2531 ข้าเจ้าก็รับด้วยความยินดี ผู้อภิปรายคือ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี โดยมี ม.จ. สุภัทรดิศ เป็นผู้ดำเนินรายการและอภิปรายด้วย การอภิปรายนั้นเป็นการตอบไม่ใช่การโต้ตอบสิ่งที่ ดร.พิริยะ ได้พูดไว้ก่อน เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ข้าพเจ้าทูลถาม ม.จ.สุภัทรดิศ ว่าทำไมจึงไม่เชิญ ดร.พิริยะมาด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลา จะได้ทันใจดีด้วย ไม่ต้องคอยเป็นเดือนๆ กว่าจะตอบกัน ท่านสุภัทรดิศ รับสั่งว่า เชิญเขา เขาก็ไม่มาหรอก ถ้าใตฝ่าพระบาททรงเชิญ เขาอาจจะมาก็ได้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะลองจัดดู ด้วยเหตุว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ที่ได้ยินเรื่องหลักที่ 1 ปลอมหรือไม่ปลอมกันมานานแล้ว มามากแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงจะมีผู้ที่อยากจะทราบว่าเรื่องเป็นอย่างไรถึงแม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาปัญหานี้มาก่อน

ในการอภิปรายครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนให้ผู้อภิปรายพูดกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่พูดดังที่จะพูดระหว่างนักวิชาการกันเอง ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอพูดถึงหลักบางหลักซึ่งผู้อภิปรายคงจะต้องเอ่ยถึง ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเลขที่ของหลักต่างๆ โดยขออนุญาตใช้ข้อความจากหนังสือของ ดร.พิริยะ ไหนๆ มีหนังสือขายอยู่แล้วข้างหน้า ก็ขอโฆษณาให้ด้วย ไม่คิดอะไรด้วย ไม่รับเงิน

นี่คือหนังสือของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งอ่านข้างหน้าลำบากหน่อยเพราะเป็นอักษรพ่อขุนรามคำแหง "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ" ในนี้ก็มีเรื่องที่ ดร.พิริยะ ได้พูดในปฐกถา 2 แห่งและมีเพิ่มเติมอีกมาก โฆษณาอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องโฆษณาอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนังสือเล่มใหม่เพิ่งได้รับ ชื่อว่า "คำอภิปรายศิลาจารึกหลักที่ 1 จริงหรือปลอม" โดยสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดทำ หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าถึงการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงเมื่อสักครู่

ดร.พิริยะ ได้เขียนว่า ส่วนมากศาสตราจารย์เซเดส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่มาเป็นผู้ดูแลหอพระสมุดวชิรญาณอยู่พักหนึ่ง จะเป็นผู้ชำระและแปลจากจารึกสุโขทัย โดยรวบรวมตีพิมพ์ขึ้นในหนังสือประชุมจารึกสยามภาคที่1 จารึกสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2467

นี่เป็นคำพูดของ ดร.พิริยะ ศาสตราจารย์เซเดสเข้าใจว่าน่าจะได้พบสิ้นเชิงแล้ว จึงเห็สมควรพิมพ์พรวมเล่มได้ จารึกในเล่มนี้มี 15 หลัก ซึ่งศาสตราจารย์เซเดสได้ให้หมายเลขไว้ตามอายุเวลาที่ปรากฏในจารึก หรือตามคาดคะเนของท่าน ดังนั้น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจึงเป็นหลักที่ 1 เพราะเป็นจารึกภาษาไทยหลักแรก

ในปี 2472 ศาสตราจารย์เซเดสได้ตีพิมพ์ประชุมศิลาจารึกสยามภาคที่ 2 จากกรุงทวารวดีเมืองละโว้ และเมืองประเทศราชขึ้นแก่เมืองศรีวิชัย จารึกเหล่านี้เก่าแก่กว่าจารึกสุโขทัย แต่ก็มีหมายเลขเรียงต่อไปคือ 16-29 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตีพิมพ์หนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 ในปี 2508 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ศิลาจารึกตั้งแต่หลักที่ 30 ถึงหลักที่ 84 การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทำให้หมายเลขที่ของศิลาจารึกคละเคล้ากันไปทั่วทุกภาค และเรียงอายุเวลาของศิลาจารึกก็ยิ่งสับสนมากขึ้น ต่อมาก็ได้มีอีกหลายเล่มจนถึงเล่มเท่าที่ข้าพเจ้าได้หาพบ เล่มที่ 6 ภาค 2 ซึ่งไปถึงหลักที่ 284

อยากจะพูดถึงหลักสำคัญซึ่งข้าพเจ้าได้ถามผู้อภิปรายแล้วว่าน่าจะพูดถึงหลักไหนบ้าง เพราะผู้อภิปรายนี่คงจะพูดถึงหลักที่ 4 หลักที่ 3 อะไรเช่นนี้ แล้วเราก็ต้องทราบเองว่าหลักที่ 4 ที 5 นี่คืออะไร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะพูดถึงหลักพวกนี้ ถ้าใครมีดินสอก็จดไว้นิดหน่อย ถ้าท่านเป็นนักวิชาการในเรื่องนี้ก็คงทราบดีอยู่แล้ว

หลักที่ 1 ก็คือศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหง ได้กล่าวกันมาว่ารัชกาลที่ 4 ทรงนำมาพร้อมกับหลักที่ 4 และมนังคศิลาบาตร คือพระแท่นศิลานั้นมาพร้อมกัน และเข้าใจว่าสลักขึ้นในปี พ.ศ. 1835 ที่ให้ปีนี้ก็เพราะว่าเป็นปีที่สกัดกระดานมนังคศิลาแท่นนั้นในปีนั้น ก็เลยเหมาเอาว่าเป็นปีเดียวกัน

มีผู้แสดงความสงสัยถึงเวลาที่ได้สกัดได้จารึกหลักนี้ขึ้นมานานแล้ว เช่นอาจารย์แสง มนวิทูร ข้าพเจ้าได้พบศิษย์ 2 คนเร็วๆ นี้ของอาจารย์แสงก็ได้ถามเรื่องนี้ว่า เคยพูดอะไรมาบ้าง ทั้งสองคนก็พูดอ้อมแอ้ม ในที่สุดก็ไม่ได้อะไร ก้ไม่ได้ยินอะไรมา แต่าบางท่านก็คงได้ยินมาบ้างว่าอาจารย์แสงได้พูดว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 นี่ไม่ใช่พ่อขุนรามกำแหงหรอก เป็นของรัชกาลที่ 4 นอกจากนั้นก็ยังมีคุณปรีดา ศรีชลาลัย ได้เขียนบทความเร่องเวลาที่เข้าคิดว่าได้จารึกขึ้นมา และมี ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ซึ่งได้รับสั่งมานานแล้ว่า ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง แต่มาเมื่อมีดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ อีก การพบของรัชกาลที่ 4 นั้นเป็นเมื่อ พ.ศ.2376 เวลานี้หลักนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถ้าได้มาฟังการอภิปรายนี้แล้ว อยากจะไปดูหลักจริงก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ตอนที่ 1 ของหลักนี้มี 17 บรรทัดซึ่งเป็นประวัติของพ่อขุนรามกำแหง ในสรรพนามว่า "กู" เล่าถึงเรื่องครอบครัวของท่านจนถึงท่านได้ครองราชย์

ตอนที่ 2 นั้นก็ยังอยู่ในด้านที่ 1 ศิลาจารึกมี 4 ด้าน ได้สลักอยู่ใน 4 ด้าน ด้านที่ 1 นั้นตั้งแต่บรรทัดที่ 18 ถึงด้านที่ 4 เลยด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 พ่อขุนรามกำแหงได้ใช้สรรพนามว่า "พ่อขุนรามกำแหง" แทนคำว่า "กู" ได้พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย การปกครอง การศาสนา การสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตร การสร้างวัด การสร้างอักษรไทย ใน พ.ศ.1826 การสร้างหรือไม่สร้างได้กล่าวเมื่อสักครู่

ตอนที่ 3 นั้นอยู่ในด้านที่ 4 ตั้งแต่บรรทัดที่ 12 จนจบเป็ฯการสรรเสริญพ่อขุนรามกำแหงและพูดถึงอาณาเขตสุโขทัย

ผ่านไปถึงหลักที่ 2 หลักที่ 2 นี่ก็มีความสำคัญเหมือนกัน เรียกว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม วัดศรีชุมเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองของสุโขทัย กล่าวว่าหลวงต่อไปเป็นพระยาสโมสรฯ พบที่อุโมงค์ของวัดศรีชุมเมื่อปี พ.ศ. 2430 เข้าใจว่าผู้สักให้จารึกคือ สมเด็จพระมหาศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นโอรสของพระยากำแหงพระราม ซึ่งเป็นพระนัดดาของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมือง ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปคือใคร ในรัชสมัยของพระเจ้าเลอไทก่อน พ.ศ. 1890

ตอนที่ 2 และที่ 3 ของจารึกนี้จะเล่าถึงประวัติผู้ครองสุโขทัยเบื้องต้น องค์แรกที่ทราบนามกัน คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ขอมได้เข้ามาครองเมืองสุโขทัยลูกชายของท่านชื่อพ่อขุนผาเมืองท่านเป็นเจ้าเมืองราด… ท่านได้ชักชวนสหายของท่านคือ พ่อขุนบางกลางหาวมาช่วย เมื่อได้เมืองคืนแล้ว ขุนผาเมืองกลับยกเมืองสุโขทัยให้เพื่อน พ่อขุนบางกลางหาวนี่เอง พร้อมทั้งมอบพระขรรค์ชัยศรี และนามของท่านคือ ศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเคยได้รับมอบจากกษัตริย์เขมร โดยที่เพราะท่านเป็นลูกเขยของกษัตริย์เขมร การที่ได้มอบเมืองสุโขทัยให้เพื่อนนี่ก็สันนิษฐานกันได้หลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่อยากจะเล่าถึงเรื่องนี้ จะยาวไป และเมื่อยกเมืองให้เพื่อนแล้วท่านก็กลับไปครองเมืองราดของท่านอย่างเดิม พระเจ้าศรีอินทราทิตย์นี่ก็คือพ่อของพ่อขุนรามกำแหงนี่เอง ต้องเล่านิดหนึ่งว่าลูกหลานของพ่อขุนรามกำแหงคือใครบ้าง เพราะอาจจะต้องเอยชื่อในเวลาอภิปราย ขอใช้คำธรรมดาสามัญเพราะจะเข้าใจได้ง่ายกว่า ลูกของพ่อขุนรามกำแหงคือพระเจ้าเลอไท ต่อมามีลูกของพระเจ้าเลอไทคือพระเจ้าลิไท ได้เป็นกษัตริย์ของสุโขทัยต่อไป ท่านได้ใช้นามว่า "มหาธรรมราชาที่ 1 "

ในศิลาจารึกหลักที่ 2 นี่ นอกจากจะได้เล่าพระราชประวัตินี้มาต่อไป ได้มีการสรรเสริญพระมหาศรีศรัทธา พระมหาศรีศรัทธาที่ได้กล่าวชื่อนี้ไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นเจ้านายที่เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง และท่านได้ผนวชอยู่ที่สุโขทัยและท่านได้เสด็จไปที่เมืองลังกา ที่เมืองลังกาก็ได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็มีการสรรเสริญท่าน และได้เล่าถึงอิทธิปาฏิหารย์ในการเสี่ยงบารมีของพระมหาเถรศรีศรัทธานี้ และได้เล่าถึงประวัติเดิมของท่านอีก ได้เล่าถึงตอนที่ท่านยังเป็นฆารวาสอยู่ ได้ได้มีการชนช้างและได้เล่าประวัติท่านต่อๆ แล้วได้เล่าการสร้างวัดของท่านและการปาฏิหารย์ต่าง ๆ หลักนี้อยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเช่นกัน

หลักที่ 3 เรียกว่าศิลาจารึกนครชุม ไม่ทราบแน่ว่ามาจากไหนทำขึ้นใน พ.ศ.1900 ผู้ที่สร้างขึ้นคือพระมหาธรรมราชาลิไท ตอนที่ 1 ได้เล่าถึงการประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุของพระเจ้าลิไท และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา และท่านก็ได้ชักชวนต่อไปให้ได้ทำบุญกัน ตอนท้ายก็มีการสรรเสริญพระเจ้าลิไท หลักนี้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำมาในปี พ.ศ.2376 อันนี้ที่กล่าวกันอย่างชัดเจนพร้อมกับมนังคศิลาบาตร ได้ทำขึ้นในปี 1904 เป็นการเล่าถึงพระเจ้าลิไทเสด็จจากศรีสัชนาลัยไปสุโขทัยในปี พ.ศ.1890 มีการสรรเสริญพระปรีชาสามารถและเล่าถึงการอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชลังกาให้ไปพักที่วัดป่ามะม่วง และเล่าถึงการผนวชของพระเจ้าลิไท แล้วก็มีการชักชวนให้ทำบุญเช่นกัน หลักนี้อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 5 คือ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาไทย เราก็เห็นว่าเป็นคู่กัน คือหลักที่ 4 และหลักที่ 5 หลักหนึ่งเป็นภาษาขอมอีกหลักหนึ่งเป็นภาษาไทย จารึกปีเดียวกันคือปี พ.ศ. 1904 พบที่อยุธยาในปี พ.ศ.2450 ข้อความเหมือนกับหลักภาษาขอม แต่ไม่ได้เล่าถึงการไปตีเมืองสุโขทัยที่เล่ามาเมื่อสักครู่ว่าพระเจ้าลิไทเสด็จจากเมืองศรีสัชนาลัยไปตีสุโขทัยกลับมาแล้วก็ไม่ได้พูดถึงการประดิษฐานเทวรูป แต่มีกล่าวเพิ่มเติม คือกล่าวถึงพระยารามราชปลูกต้นมะม่วง

หลักที่ 8 คือหลักสุดท้ายที่ผู้อภิปรายบอกให้ข้าพเจ้าพูดถึง ก็คือ ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ไม่ทราบแน่ว่าพบที่ไหนสันนิษฐานการจารึกว่าอยู่ที่เขาสุมนกูฏ คือเขาพระพุทธบาทใหญ่ รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาในปี พ.ศ. 2451 พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระเจ้าลิไทเป็นผู้จารึก พระเจ้าลิไทประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้เมื่อ พ.ศ. 1902 ที่พูดอยู่ในจารึกนั้น มีการเล่าถึงแห่รอยพระพุทธบาทขึ้นเขานี้ และได้เล่าถึงพระเจ้าลิไทไปปราบหัวเมืองและไปประทับที่เมืองสองแคว เป็นระยะเวลา 7 ปี และทรงนำชาวเมืองต่าง ๆ มาสักการะรอยพระพุทธบาทที่ขานี้ นี่ก็เป็นหลักต่างๆ ผู้อภิปรายจะได้กล่าวถึง

ในเรื่องเก่าๆ หรือเรื่องใหม่ๆ ของไทยนั้น จะสังเกตได้ว่าชาวต่างประเทศมีความสนใจมาก และเริ่มศึกษาอย่างมีระบบก่อนเรา ข้าพเจ้าได้เคยพูดถึงเรื่องความสนใจของฝรั่งมาแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ก็จะไม่พูดซ้ำ ถึงอย่างไรก็ดี เราก็เห็นได้ว่า สยามสมาคมได้ก่อตั้งขึ้นมาโดยไทย และฝรั่งร่วมกันนานมาก่อนสมาคมต่างๆ ของเรา เช่น สมาคมประวัติศาสตร์ สมาคมโบราณคดี และอื่นๆ เนื่องจากมีสมาชิกชาวต่างประเทศมากซึ่งไม่ทราบภาษาไทย สยามสมาคมมีประเพณีที่จะใช้ภาษาอังกฤษส่วนมาก ในการแสดงปาฐกถาที่มีเป็นประจำ สมาคมนี้ก็อยู่มาได้ตลอดจนถึงทุกวันนี้เพราะระดับสูงและการเป็นวิชาการของศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สมาคมฯนำมาแสดงแต่ก็เป็นการปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ทราบภาษาอังกฤษเหมือนกัน ในวันนี้ข้าพเจ้าได้ขอให้สยามสมาคมจัดการอภิปรายขึ้นเป็นภาษาไทย เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสามารถมาฟังได้โดยไม่มีภาษาเป็นอุปสรรค การศึกษาประวิติศาสตร์หรือโบราณคดีนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลกระทบกะเทือนใด ๆ

การสร้างประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลจะสามารถเขียนประวัติศาสตร์ไปตามที่ต้องการ โดยที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ค้าน เพราะความกลัวหรือการไม่อยากออกตัว อยากอยู่สบาย ๆ จริงอยู่ผู้ค้านก็จะมีอยู่บ้าง แต่จะเป็นกลุ่มส่วนน้อยและถ้ามีโอกาส

การศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ไม่ได้มีการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พูดกับชาวต่างประเทศคนหนึ่ง เขาได้กล่าวว่าไม่สนใจเลยในความหมายที่มีอยู่ สนใจแต่ทางด้านวิชาการ สำหรับคนไทยนั้น หลักที่ 1 มีความหมายลึกซึ้งทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญาและจริยธรรม ดังนั้นจึงมีผู้สนใจมาก

มีผู้มาถามว่าไม่กลัวหรือถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะคิดว่าถ้ามีคนที่สงสัยอะไรก็น่าที่จะให้โอกาสเขาอธิบายความเห็นของเขาด้วยเหตุผล ของเขา ซึ่งเราก็สามารถมาพิจารณาได้ภายหลัง

ถึงอย่างไรก็ดี เราไม่ควรยึดถืออะไรนัก ทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่เที่ยง ถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม อะไรก็จะมาลบการที่เรามีภาษาของเรา ซึ่งมีตัวเขียนองเราที่ใครสร้างขึ้นก็ตาม มีสถาปัตยกรรมของเราและอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นของเราไม่ได้

(จาก ศิลปวัฒนธรรม)


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:14
 รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุม ในการอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ 1" เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ณ ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ในช่วงของการอภิปรายนี้ ผมจะเสนอหลักฐานเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า จารึกหลักที่ 1 เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลักฐานที่สำคัญได้แก่หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในปีพุทธศักราช 2411 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สวรรคต

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯทรงเป็นลูกศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกฎตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุฯด้วย และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์ฯ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์ฯ องค์ต่อไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ มีพระชันษายาวนาน สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.2433

หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์นั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อแรกผนวชจนถึงสวรรคต และเน้นเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติโดยเฉพาะปาฏิหารย์ ซึ่งเป็นการแสดงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่สำคัญได้แก่ปาฏิหารย์เมื่อพระองค์เสด็จประภาสสุโขทัยในปี พ.ศ. 2376 เมื่อเสด็จถึงสุโขทัยนั้น ทรงพบแท่นศิลาที่ชาวเมืองนับถือว่าเป็นของขลังไม่มีใครเข้าไปใกล้ แต่พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนแท่นศิลานั้น รับสั่งว่า "อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกันจะได้ฟังเทศน์จำศีล" และไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจึงโปรดเกล้าฯให้ชะลอมาก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดสมอราย

ผมสันนิษฐานว่า แท่นศิลานี้น่าจะได้แก่แท่นที่วางดอกไม้สำหรับสักการะพระเจดีย์ที่วัดวิหารของสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันนี้แท่นศิลาด้านทิศใต้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ส่วนด้านทิศตะวันออกยังคงอยู่ ณ ที่เดิม พร้อมพระแท่นนั้นพระองค์ยังทรงเอาเสาศิลาจารึกหลักที่ 4 ภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทลงมาด้วย แต่สมเด็จพระยาปวเรศฯ มิได้รับสั่งว่า ทรงนำเอาศิลาจารึกหลักที่ 1 มาด้วยในคราวนั้น

สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงสันนิษฐานว่า ดูเหมือนเทพเจ้าเมืองสุโขทัยจะมาทูลเจ้าฟ้ามงกุฎว่า ในภายหน้าพระองค์จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระบารมีเท่าเทียมกับพระมหาธรรมราชาลิไทยที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักนั้น นอกจากนั้นสมเด็จกระพรยาปวเรศฯ ทรงพิเคราห์ว่าการที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างศิลาจารึกไว้ เป็นการบันทึกปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมี นอกจากนั้นแล้วสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังได้ตีพิมพ์คำแปลศิลาจารึกภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทที่พระองค์ทรงแปลไว้เป็นภาคผนวกอีกด้วยเพื่อที่ท่านผู้อ่านได้เปรียบเทียบกับพระบารมีของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระมหาธรรมราชาลิไท

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังทรงตรัสไว้ว่า เรื่องในหนังสือในเสาศิลานั้น ถูกต้องกับรัชกาลที่เป็นไปนี้โดยมาก ดังอาจจะกล่าวไว้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

"พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท แต่เพราะเหตุผลบางประการจึงไม่สามารถจะสืบราชสมบัติได้ทันที แต่ต้องรอคอยไปเสียก่อนทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างลึกซึ้ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาดาราศาสตร์ และสามารถที่จะเพิ่มหรือลบศักราชได้ ทั้งสองพระองค์ทรงสถาปนานิกายใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระภิกษุต่างชาติ ทั้งสองพระองค์ทรงผนวชและลาสิกขาบทเพื่อขึ้นครองราชย์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และทรงสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งสองพระองค์ยังได้แสดงความอัศจรรย์อันเป็นผลแห่งพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นแผ่นดินไหวเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงอุปสมบท และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ ก็ได้เกิดปาฏิหารย์ซึ่งมีผู้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสองดวงเป็นต้น"

ในตอนท้ายเรื่องอภินิหารการประจักษ์ สมเด็จพระปวเรศฯ ทรงกล่าวเพิ่มเติมถึงศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งไม่ได้ทรงกล่าวถึงเลยในตอนต้นว่า "เรื่องราวของพระแท่นมนังคศิลาบาตร อยู่ในเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น" ซึ่งเป็นการพิมพ์เนื้อหาของจารึกหลักที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะคงมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงนำมาตีพิมพ์ไว้ที่นี้

เป็นที่หน้าสังเกตว่า เนื้อหาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงแปลนั้น จะยกเอามาแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่มีศักราชโดยเริ่มขึ้นที่มามหาศักราช 1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกไม้ตาลนี้ 14 ปีเข้า จึงให้ช่างถากขดานหินกลางไม้ตาลนี้ และในวันอุโบสถก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมแก่เหล่าอุบาสก หามิใช่วันอุโบสถพระองค์เองก็เสด็จขึ้นประทับออกว่าราชการ

ข้อความที่ว่า "พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมบนแท่นหินนี้" รับกับพระราชดำริของเจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อเสด็จสุโขทัยที่ตรัสกับแท่นศิลาว่า "ให้ไปบางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์ถือศีล" น่าจะสันนิษฐานได้อีกว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าหากเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติขึ้นเมื่อใดก็คงใช้แท่นศิลานี้เป็นบัลลังค์ แต่ก็มิได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น

ระยะที่พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกต้นตาล และถากขดานหิน สอดคล้องกับ 14 ปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้กับพระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือราชบัลลังก์

สมเด็จพระปวเรศฯยังทรงประทานข้อเฉลยไว้ท้ายเล่มว่า "ถ้าจะใคร่ทราบกลศักราชทั้งปวง ต้นศักราชปีมะเส็งมากกว่ามหาศักราช 621" ดังนั้น หากเราจะเปลี่ยนมหาศักราช 1214 อันเป็นปี่ที่พ่อขุนรามคำแหงปลูกต้นตาลมาเป็นพุทธศักราชโดยการเอา 621 มากบวกก็จะได้เป็นปีพุทธศักราช 1835 ซึ่งถ้าเราอ่านศักราช 1835 เป็นคริสต์ศักราช ก็จะได้ปี ค.ศ. 1835 คือสองปีก่อนที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ และสิบสี่ปีต่อมาก็เท่ากับปีพุทธศักราช 1849 ถ้าอ่านเป็นปี ค.ศ. 1849 อันได้แก่สองปีก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ปีต่อมาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯตรัสถึงได้แก่ปีศักราช 1209 ปีกุน ซึ่งเราทราบดีแล้วในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่ากล่าวถึงศักราช 1207 ปีกุน เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดนี้เป็นเจตนาที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของเวลาสองปี ดังนั้น ถ้าเอาสองปีมาเพิ่มเข้าไปก็จะได้ปีคริสต์ศักราช 1837 และ คริสต์ศักราช 1837 ก็คือปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ และปีคริศต์ศักราช 1851 ก็คือปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ซึ่งเป็นปีกุน

เหตุการณ์ต่อมาที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือ ปีศักราช 1209 ที่พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุออกไปให้คนทั้งหลายเห็น แล้วเอาลงไปฝังไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย ปีนี้สามารถปรับเป็นปีคริสต์ศักราช 1830 ตามที่เสนอไปแล้ว ซึ่งตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎโปรดเกล้าฯให้ขุดศิลานิมิตวัดสมอรายขึ้นมาดูแล้วทรงให้ผูกนิมิตใหม่พร้อมกับให้พระภิกษุที่วัดสมอรายอุปสมบทขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมยุตนิกายให้ถูกต้อง

ส่วนศักราช 1205 เมื่อพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ลายสือไทยนั้น ตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีพระราชศรัทธาที่จะนำเอาพระวินัยมอญมาเป็นข้อปฏิบัติในธรรมยุตนิกาย และอาจจะทรงริเริมประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อเขียนภาษาบาลีก็เป็นได้

การเฉลยการเปลี่ยนศักราชต่าง ๆ สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงต้องการที่จะให้บุคคลในกาลข้างหน้ารับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลเลขในการลบบวกศักราชต่าง ๆ ที่จะให้เห็นว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับนิพนธ์หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังที่สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงเขียนไว้เป็นอวสานพจน์ของหนังสืออภินิหารการประจักษ์

ศักราชคิดดั่งนี้  ชอบขยัน

มืดลับชนสามัญ  ห่อนเจ้า

ไทยถือว่าสำคัญ  กลเลข

แยบยลคนกล่าวแกล้ง  กล่าวว่า คนไกล

ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเสนอต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อันได้แก่สิบสี่ปีหลังจากที่เสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ

นอกจากนั้นแล้ว ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังส่อให้เห็นอีกด้วยว่าเหตุใดพระองค์ถึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกหลักนี้ขึ้นมา

มูลเหตุอันเป็นแรงบันดาลพระทัยคงจะได้แก่พระองค์ตั้งพระทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้ ในรูปแบบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดยใช้พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ดาราศาสตร์ และการคำนาณในการสร้างภาพพจน์ที่ใกล้เคียงกับอดีตเท่าที่จะทรงทำได้

ประว้ติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ยังเป็นกุศโลบายที่พระองค์จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีที่มีมาแต่เดิมไปสู่โลกทัศน์ใหม่ ซึ่งรับกับอารยธรรมตะวันตก จารึกหลักที่ 1 จึงเป็นการสร้างภูมิหลังเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความเปลี่ยนแปลงที่ พระองค์ทรงกระทำเพราะความเปลี่ยนแปลงบางประการเช่น การที่พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ และอาจจะมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนระบบวิธีเขียนภาษาไทยให้อยู่ในบรรทัดเดียวกันเพื่อสามารถที่จะใช้กับเครื่องพิมพ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น บางประการ เช่นการเปิดการค้าเสรี การขัดผลประโยชน์ของเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่แต่เดิมใช้ระบบการค้าแบบผูกขาด การเปลี่ยนแปลงที่พระองค์จะทรงริเริ่มขึ้นนั้นมิได้เป็นการกะทำผิดจากโบราณราชประเพณี แต่กลับเป็นการรักษาโบราณราชประเพณี ที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขเช่น การที่พระองค์จะลดค่าระวางปากเรือ จังกอบ ให้เหลือว่าละ 1000 บาท จากวาละ 1700 บาท ตามที่อังกฤษขอมาในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงมีมาแต่เมื่อโบราณว่า " เจ้าเมืองบ่อเอาจังกอบในไพร่" หรือเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ไพร่ที่ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้มาถวายฎีกาแก่พระองค์โดยตีกลองวินิจฉัยเภรี ก็มีมาแล้วในการที่ไพร่ฟ้าหน้าใสไปสั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ต้องการที่จะปรับปรุงพระราชพิธีสำหรับบ้านเมือง เช่นให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระองค์เองก็เสวยน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นด้วย ก็แสดงให้เห็นในข้อความที่ "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนถือบ้านถือเมือง"

นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้ความสำคัญแก่เทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมือง เช่น การนับถือพระขพุงที่สุโขทัย และพระสยามเทวาธิราช ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษากรุงสยามในลักษณะเดียวกัน และเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมี ก็มีมาแล้วในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ชาวเมืองสุโขทัยมาดูพ่อขุนรามคำแหงท่านเผ่าเทียนเล่นไฟ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลาจารึกหลักนี้ จึงเปรียบเสมือน รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะทรงใช้เป็นแนวทางการบริหารแผ่นดิน เพื่อให้บ้านเมืองเจริณตามอารยธรรมตะวันตกเพื่อให้เป็นที่นับถือของฝรั่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงใช้ประปรีชาสามารถในทางปัญญาที่ได้นำกรุงสยามให้พ้นจากภัยพิบัติได้

ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงตรัสว่า "แต่น่าอนาถใจจริงๆ ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีน้อยตัวลงทุกที"

ข้าพระพุทธเจ้า ขอสดุดี พระมหาราชา ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:17
 ความคิดเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ จาก sarakadee.com

"เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก"

"จารึกหลักที่ ๑ เอาสระและพยัญชนะมาไว้ในบรรทัดเดียวกัน ขณะที่จารึกหลักอื่น ๆ วางสระและวรรณยุกต์บนล่าง เป็นลักษณะของการเรียงพิมพ์ ซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่ง แสดงว่าการเขียนจารึกนี้ทำขึ้นมาหลังจากคบกับฝรั่งแล้ว ในประวัติศาสตร์ไทย มีกษัตริย์เพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน คือ พ่อขุนรามคำแหงและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ เพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรฯ แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว

"จารึกหลักที่ ๑ มีขนาดเล็กผิดปรกติ แตกต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกัน คือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนี้ศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และหลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน

"คำว่า รามคำแหง ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย มีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ขณะที่หลักอื่นๆ เรียกว่า พระญารามราช พระร่วง แต่ในหลักอื่น ๆ กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วง โปรดสังเกตว่า รามคำแหง ใกล้กันมากกับชื่อ พระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑

"ประเด็นตรีบูร (กำแพงสามชั้น) สามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร ที่ระบุในจารึกซึ่งหยิบมาโต้แย้งกันว่ากรุงสุโขทัยไม่มีกำแพงลักษณะที่ว่านี้ แต่จากที่กรมศิลปากรขุดค้นกำแพงเมืองสุโขทัยแล้ว วัดกำแพงได้ความยาวกำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร และเสนอว่ากำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้นที่กล่าวในจารึกว่า ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา ซึ่งเท่ากับกำแพงเมืองชั้นนอก (๖,๘๐๐ เมตร) จึงเป็นไปไม่ได้

"พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น

"ชื่อช้างของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงที่ชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังดูเป็นสุโขทัยมากกว่า

"คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ตระพังโพยสี (การขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ ) ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่งมั่นใจว่าเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังรัชกาลที่ ๑

"การเขียน มะม่วง ให้เป็น หมากม่วง เป็นความจงใจเพื่อให้ดูเก่า ความจริงแล้วในสมัยสุโขทัยเขียนว่า ไม้ม่วง แต่คำว่า หมากม่วง นี้ กลับปรากฏในเรื่องนางนพมาศ ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็น่าสงสัยว่าจะเป็นการเขียนจารึกขึ้นมาภายหลัง

"พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้เป็นแบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ ในสมัยอยุธยาก็ไม่มี มีแต่ใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อน นอกจากนางนพมาศที่รู้กันว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓

"เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก สมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีดั้งเดิมให้ทันสมัยไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชกาลที่ ๔ จึงทรงทำจารึกหลักที่ ๑ เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้สอดรับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริงที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อพ่อขุนรามฯ ยังไม่เก็บภาษีเลย หรือรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังเรื่องราวทุกข์ร้อนของประชาชน โดยการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนฯ และสมัยรัชกาลที่ ๔"

(เรียบเรียงจาก ภูวดล สุวรรณดี "พิริยะ ไกรฤกษ์ จับพิรุธศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒)


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:18
 ความคิดเห็นของ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ จาก sarakadee.com


"ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่ได้ทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"

"เรื่องภาษาและอักษรเป็นเรื่องของการวิวัฒนาการ ไม่มีต้นไม่มีปลาย การบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งคิดขึ้นมานั้นไม่ถูกต้อง แต่อาจจะเป็นลักษณะตำนานเพื่อจะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รู้ในสมัยนั้นว่าจะอธิบายและแต่งตำนานอย่างไร จารึกหลักนี้มีพิรุธในตัวเอง คือ ๑๗ บรรทัดแรกจารึกไว้ว่า ก*ชื่อนั้น พ่อกูชื่อนี้ จึงทำให้สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นคนจารึก แต่พอบรรทัดที่ ๑๘ จารึกว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี" คำว่า "เมื่อชั่ว" หมายถึง พ่อตายแล้ว แสดงว่าเขียนหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน ก็ชัดเจนว่าบรรทัดที่ ๑๘ เป็นต้นไปไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่เชื่อว่า ๑๗ บรรทัดแรกเป็นของสมัยพ่อขุนรามคำแหง แม้จะจารึกว่ากูอย่างนั้น ก*อย่างนี้ การใช้สรรพนามอื่นเพื่อเล่าเรื่องเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลรูปแบบหนึ่ง หมายความว่า "กู" อาจไม่ได้เป็นพ่อขุนรามที่จารึกก็ได้

"ประการที่ ๒ เป็นไปไม่ได้ว่าในสมัยสุโขทัยมีการใช้สระผสมแล้ว สระ เ-ือ เป็นสระผสม ประกอบด้วย เ- -ื -อ คำว่า เดือน เรือน เมือง ทองเหลือง ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ จึงไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนในสมัยนั้น เพราะในสมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐) คนไทยยังไม่รู้จักเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสม แต่ใช้สระ เ- สระ -ิ สระ -อ มาผสมแทน เช่น เมือง ก็จะเขียน เ-ม -ี -ง หรือบางทีก็ใช้ เ-ม -ี -อ-ง แม้ว่าจารึกบางหลัก มีการใช้รูปสระ -ื แล้วก็ตาม เช่น คำว่าชื่อ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ ชิ หรือ ชี เมื่อไล่ดูจารึกทั้งหมด จะพบว่าแม้แต่รูปสระ -ื ก็โผล่มาให้เห็นช่วงหลัง ๆ ไม่กี่ตัว เท่าที่ผมค้นดูมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้นที่เอารูปสระ -ื มาเป็นสระผสม อยู่ในประมาณ พ.ศ. ๑๙๕๐ จน พ.ศ. ๒๐๐๐ กว่าแล้วยังไม่ปรากฏว่าเอามาใช้เลย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะปริวรรตตัวอักษรโบราณถูกหรือไม่) แสดงว่ากว่าจะวิวัฒนาการเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสมก็หลังจากนั้นอีกมาก

"หากคนไทยรู้จักใช้สระ เ-ือ ที่มีสระ -ื ผสมตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ทำไมจารึกหลักอื่นๆ จนถึงปลายอยุธยาจึงไม่เอารูปสระ เ-ือ มาใช้ ต้นฉบับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์จนปลายสมัยอยุธยาก็ยังไม่ใช้ ก็แสดงว่ายังคิดไม่ออก วิวัฒนาการทางภาษายังไปไม่ถึงก็เลยใช้สระอื่นๆ แทนไปก่อน จนจวนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์แล้วยังไม่มีการใช้สระ เ-ือ อย่างเป็นมาตรฐาน จนใกล้สมัยรัชกาลที่ ๔ เข้าไปทุกที จึงปรากฏการใช้สระ เ-ือ อย่างมีแบบแผนเป็นมาตรฐาน แต่สระ เ-ือ กลับปรากฏอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จารึกหลักที่ ๑ จะทำขึ้นมาในสมัยรามคำแหง

"ผมยังไม่แน่ใจว่าทำในสมัยไหน แต่ไม่ใช่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่เชื่อว่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย เพราะท่านได้จารึกถึงสิ่งที่คนในสมัยนั้นยังไม่ทราบ (เรามารู้จักหรือเห็นภาพสุโขทัยจากหลักฐานและข้อค้นพบภายหลัง) จนสามารถสร้างภาพให้แก่เมืองสุโขทัยได้อย่างถูกต้อง ท่านรู้ได้อย่างไร เช่น ในจารึกบอกว่ามีลานเหมือนสนามหลวง อาจจะใช้สำหรับประกอบพิธีหรือกิจอื่น ๆ อยู่ระหว่างประตูเมืองกับศูนย์กลางของเมือง แต่ลานนี้เลิกใช้ไปหลังจากนั้น ๑๐๐ ปีและสร้างวัดคร่อมแทน กว่าท่านจะเสด็จไปที่กรุงสุโขทัยก็ไม่หลงเหลือร่องรอยอะไรที่บ่งบอกว่าตรงนั้นเคยเป็นลานที่ว่ามาก่อน และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราเพิ่งมาค้นพบภายหลังด้วยหลักฐานและข้อมูลใหม่ ๆ หากรัชกาลที่ ๔ ทรงทำหลักศิลาจารึกหลักนี้ขึ้นมาจริง ก็น่าสงสัยว่าท่านทราบเรื่องเหล่านี้มาก่อนได้อย่างไร อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ทักท้วงว่าท่านศึกษามาก รู้มาก อาจจะรู้มาก่อนแล้วก็เป็นได้

"อย่าลืมว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรทุกชนิด "คน" เป็นคนประดิษฐ์ขึ้นมา คนที่ไม่เคยสมบูรณ์แบบ เมื่อเขียนสิ่งใดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเขียนบนหิน แผ่นทอง บนกระดาษ หรือผนังส้วม เขาย่อมมีความต้องการ มีวัตถุประสงค์อะไรสักอย่าง เมื่อจะเอามาใช้ต้องพิจารณา มีการวิพากษ์ก่อนที่จะดึงมาใช้ และสำนึกอยู่เสมอว่าใช้ในบริบทอะไร หากยังไม่แน่ใจก็ไม่ควรฟันธงว่าเป็นของสมัยไหน หากไม่ใช่อันหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอีกอันหนึ่ง ในกรณีนี้ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และผมก็ไม่คิดว่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:19
 ความคิดเห็นของ ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร

"ทางวิทยาศาสตร์เขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด พบว่าทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ"

"การเอาสระพยัญชนะมาไว้บรรทัดเดียวกัน ไม่ได้เป็นอิทธิพลของฝรั่ง แต่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ไมเคิล วิกเคอรี ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่า เป็นการเขียนโดยได้รับอิทธิพลของฝรั่ง หมายความว่าต้องคบฝรั่งแล้ว ตอนหลังก็ออกมายอมรับว่า ที่อินเดียก็มีการเอาสระพยัญชนะไว้บรรทัดเดียวกันเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีสระลอย อย่างคำว่า อีก สระ -ี ก็อยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะในจารึกสมัยพระยาลิไท และยังมีในจารึกหลักอื่นอีก เช่น จารึกวัดพระยืน เชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๙๑๓) ก็วางสระ -ื ไว้ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ พ่อขุนรามคำแหงสามารถเอาตัวเชิงพยัญชนะขึ้นมาอยู่ในบรรทัดเดียวกับพยัญชนะตัวธรรมดาได้โดยไม่ต้องคบฝรั่ง ทำไมจะต้องรอจนคบกับฝรั่งจึงจะนำสระวางไว้บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเล่า

"จารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้เล็กว่าหลักอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน หลักที่ ๑ สูง ๑๑๑ เซนติเมตร หลักที่ ๔ สมัยพระยาลิไทสูง ๒๐๐ เซนติเมตร แต่หากมาดูเรื่องความกว้าง จะเห็นว่าจารึกหลักที่ ๑ กว้างกว่า คือ กว้างด้านละ ๓๕ เซนติเมตร หลักที่ ๔ กว้างแค่ ๓๐ เซนติเมตร ดังนั้นจะบอกว่าจารึกหลักที่ ๑ เล็กกว่าหลักอื่นๆ จึงไม่ถูกต้องนัก จารึกในสมัยเดียวกันที่เล็กกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็มี เช่น สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกไว้ในประเทศลาว เป็นต้น จะไปอ้างเรื่องขนาดจารึกว่าเล็กไปใหญ่ไปคงไม่ได้ เพราะขนาดของจารึกในแต่ละยุค แต่ละแห่ง ก็ทำขึ้นมาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเขียน

"ชื่อของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ก็สงสัยกันมานานแล้วว่าพระองค์ท่านชื่ออะไร ความจริง สุโขทัยใช้ชื่อพญารามกับพญาบาลคู่กันมาหลายคู่ สุโขทัยมีธรรมเนียมเอาชื่อของปู่มาเป็นชื่อของหลาน ธรรมเนียมนี้ไม่ได้มีแต่สุโขทัย พงศาวดารน่านก็มี กรีกโบราณก็มี สมัยพญาลิไทก็มีจารึกว่า น้องชื่อพญาราม แสดงว่าเขาเอาชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ก็หมายความว่าท่านชื่อพญาราม เมื่อไปรบชนะก็เลยเรียกว่า รามผู้กล้าแข็ง หรือรามคำแหง ที่กล่าวว่าไม่มีผู้พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงเลยก็ไม่เป็นความจริง ในจารึกหลักที่ ๓๘ (พ.ศ. ๑๙๔๐) ทางอยุธยาเขายังบอกเลยว่า ต้องการจะขัดสีมาให้ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนพญารามราช และ ชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. ๒๐๗๐) ของล้านนา ยังกล่าวถึงท่านว่า พระยารามราชเป็นผู้ทรงนำศาสนาพุทธ ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศไทย และ ยวนพ่าย ของอยุธยาก็สรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ทรงสามารถเท่ากับรามราชบวกกับฤาไทราช เพราะฉะนั้นคนเขาก็พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงกันไปทั่ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครพูดถึง

"ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา จารึกของอยุธยาก็บอกว่า "อยุธยา ไพโรจน์ใต้ตรีบูร" แล้วอยุธยามีกำแพงสามชั้นไหม ก็มีชั้นเดียว ทำไมเขียนได้ ในจารึกเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ก็เขียนว่า กำแพงเชียงใหม่เป็นตรีบูร ความจริงก็มีชั้นเดียว เพราะฉะนั้นตรีบูรแต่เดิมก็อาจจะเป็นสามชั้น แต่ต่อมาอาจมีชั้นเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องสร้างถึงสามชั้น ตรีบูรอาจจะหมายถึงกำแพงที่แข็งแรงก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นกำแพงสามชั้น เหมือนที่เราใช้คำว่าหลังคา ซึ่งมีที่มาจากหลังคามุงด้วยหญ้าคา ต่อมาหลังคามุงด้วยสังกะสี เราก็ยังเรียกว่าหลังคาอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มุงด้วยหญ้าคาแล้ว ตรีบูรในจารึกสุโขทัยก็ไม่จำเป็นต้องมีสามชั้น

"พระพุทธรูปที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย เพราะว่ามันผ่านมา ๗๐๐ ปี แล้วมีการซ่อมใหม่หมด ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นศิลปะแบบสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระพุทธรูปสมัยพระเจ้าลิไทเองก็มีตั้งมากมายที่กลายเป็นรูปแบบสมัยอยุธยายุคกลางเพราะมีการซ่อมแซมภายหลัง

"ช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง เหมือนช้างของรัชกาลที่ ๒ คือมิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหง ชื่อ รูจาครี ซึ่งไม่เหมือนเป็นชื่อช้างในสมัยนั้น ถ้าไปดูในจารึกหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย ความจริงแล้วเขาอ่านจารึกไม่ถูก อีแดงพุเลิง หรือ อีแดงเพลิง เป็นชื่อของกษัตริย์ที่มาชนช้าง ไม่ใช่ชื่อช้าง ท้าวอีจานในจารึกหลักเดียวกัน มีชื่อท้าวอีจานเป็นกษัตริย์ เช่นเดียวกัน ส่วนที่ว่า รูจาครี คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ ซึ่งเป็นชื่อช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ที่จริง รูจาครี เป็นชื่อตระกูลช้างลักษณะดี แต่คนไทยนิยมเอาชื่อตระกูลช้างมาตั้งเป็นชื่อช้าง ตัวอย่างเช่น ตระกูลช้างฉัททันต์ ก็มาตั้งเป็นชื่อพระยาช้าง

"การสรุปว่าไม่มีการใช้คำว่า หมากม่วง หมากขาม ในสมัยสุโขทัย เพราะอ่านจารึกไม่ทั่ว อันที่จริงก็ใช้กันมานานแล้ว มีปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไทก็พูดกันว่าหมากม่วงเหมือนกัน

"พนมเบี้ย พนมหมาก คนไทยใช้เบี้ยเป็นเงินตรามาถึงรัชกาลที่ ๕ เวลาไปทำบุญเขาเอาเบี้ยไปกอง ใครมีเท่าไรก็กองไว้ เวลาจะถวายพระก็นับว่าเท่าไร สมัยนี้เวลาทอดผ้าป่าก็ยังเอาแบงก์ใบละ ๕๐๐ ใบละ ๑,๐๐๐ ปักเป็นพุ่มไม้ เวลาเอาไปถวายพระก็ยังเรียกเป็นกอง การเอาเบี้ยหรือเงินในสมัยนั้นไปกอง เป็นพนมเบี้ยพนมหมาก ก็ไม่เห็นว่าจะผิดประหลาดตรงไหน

"การจารึกว่าเมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แม้สุโขทัยจะไม่มีแม่น้ำใหญ่ผ่านกลางแต่คูข้างถนนก็มีปลา แม้แต่พวกจ้วงก็พูดเหมือนกัน แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นกุ้งหรืออะไรอย่างอื่น ที่ตีความผิด เพราะอ่านจารึกผิด อ่านแล้วไม่เข้าใจ

"เราไม่เคยเห็นหลักฐานเลยว่า มีตัวหนังสือไทยมาก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้ง ๆ ที่มีคนไทยอยู่ตั้งแต่ยูนนาน ผ่านลงไปถึงกลันตัน จากอินเดีย คนไทยอาหม มาไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว กาว พวกญวน มีคนไทยอยู่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่มีจารึกและไม่มีหลักฐานว่ามีลายสือไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงเลย

"ถ้าทำขึ้นมาเพื่อปกป้องอาณานิคมจากฝรั่ง ทำไมต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่ใครก็อ่านไม่ออก ฝรั่งก็อ่านไม่ออก ไทยก็อ่านไม่ออก รัชกาลที่ ๔ เองเวลาทรงพระราชนิพนธ์ไปถึงฝรั่งก็ยังทรงแปลผิดตั้ง ๑๐ กว่าแห่งเป็นอย่างน้อย แล้วก็มีบางตอนที่คนไทยยังอ่านไม่ออกและยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ ในเมื่อไม่มีใครอ่านออกแล้วจะเอาไปโฆษณากับฝรั่งได้อย่างไร

"ทางวิทยาศาสตร์นั้นเขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด ผิวของหินถูกแดดถูกฝนมานานมาก ก็จะเกิดปฏิกิริยา มีออกไซด์มากกว่าผิวที่เพิ่งถูกแดดถูกฝนมาไม่นานนัก ปรากฏว่าความเปลี่ยนแปลงของผิวหิน รอยขูด พอ ๆ กับจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น หลักที่ ๔ ซึ่งเป็นหินแบบเดียวกัน เราก็สรุปว่า รอยขูดนี้ทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ เพราะถ้ามาขูดใหม่ ส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศเพียง ๑๕๐ ปีจะมีออกไซด์น้อย พูดง่าย ๆ คือเหล็กถูกฝนใหม่ ๆ สนิมเหล็กก็จะมีน้อย ถ้าอยู่นานก็จะมีมากขึ้น ทางวิทยาศาสตร์เขาสรุปแล้วว่ามันเป็นสมัยสุโขทัยแน่นอน เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าอยู่รัชกาลไหน เพราะตามหลักสถิติ ตัวเลขที่คำนวณได้ จะต้องบวกหรือลบด้วยจำนวนปีที่คำนวณได้ตามหลักสถิติ เช่น รายได้ของครอบครัวชาวอีสานเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ บาท บวกหรือลบด้วย ๒๕๐ บาท รายได้จริงอาจจะเป็น ๑,๗๕๐ บาทถึง ๒,๒๕๐ บาทเป็นต้น"


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:28
 บทความที่เกี่ยวข้องโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

ประวัติศาสตร์ไทยของราชการ บอกว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ต่อเมื่อสุโขทัยล่มสลายแล้วจึงเกิดกรุงศรีอยุธยา

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีอยู่ในกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่สนับสนุนประวัติศาสตร์ไทยของราชการ แต่กลับบอกตรงข้ามคือ แท้จริงแล้วกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย เป็นรัฐ "เครือญาติ" ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือคราวเดียวกัน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ-การเมืองเดียวกัน โดยไม่มีใครที่ไหนเป็นราชธานีแห่งเดียว เพราะต่างเป็น "นครรัฐ" อิสระ

ถ้าพิจารณาความเป็นมาในอดีตของรัฐทั้งสองแล้ว อาจกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัยด้วยซ้ำไป จึงมีวรรณคดีที่ใช้ภาษาไทยก่อนใคร วรรณคดีเก่าแก่เล่มนั้นยังเหลือร่องรอยชื่อ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) เก่ากว่าจารึกสุโขทัยเกือบ 100 ปีทีเดียว

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ เป็นชื่อเรียกตามความเข้าใจปัจจุบัน แต่ตัวเขียนในสมุดข่อยมีว่า "พระอายการเบดเสรจ" หมายถึง พระไอยการเบ็ดเสร็จ

คำว่า "เบ็ดเสร็จ" ตรงกับ "เบ็ดเตล็ด" ทุกวันนี้

เหตุที่เรียกชื่อกฎหมายฉบับนี้ว่า "เบ็ดเสร็จ" หรือ "เบ็ดเตล็ด" ก็เพราะเป็นกฎหมายต่างๆ หลายเรื่องเอามารวมไว้ในที่เดียวกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด อันเนื่องเพราะเป็นเรื่องย่อยๆ เบ็ดเตล็ดทั้งนั้น

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ มี 2 ตอน คือ

ตอนต้น ลงศักราช 1263 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.1886 ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 7 ปี ว่าด้วยลักษณะวิวาท เรื่องกระหนาบคาบเกี่ยวให้เป็นเสนียดแก่กัน

ตอนท้าย ลงศักราช 1146 ปีมะแม ซึ่งเป็นตอนเก่าแก่ที่สุด ว่าด้วยลักษณะวิวาทเรื่องกระทำกฤติยาคุณ มีฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง เป็นต้นเหตุ

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ฉบับตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติบอกปีที่ตราเอาไว้ว่า "1146 ศกมแมนักสัตวเจตมาศปัญจมีดิถีรวิวาร" แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ ยกเลขศักราช "1156" จากฉบับ ร. แลงกาต์ ซึ่งต่างจากฉบับตัวเขียน 10 ปี (เข้าใจว่าจะผิดพลาดจากการพิสูจน์อักษรตอนพิมพ์เป็นเล่มโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ.2482) ตรวจสอบและคำนวณเป็นคนแรกว่ากฎหมายฉบับนี้ปีที่ตราขึ้น "ตรงกับ พ.ศ.1778 ปีมะแม. ก่อนหน้าการสร้างกรุงศรีอยุธยา 100 ปีเศษ" ต่อมาอีก ล้อม เพ็งแก้ว ตรวจสอบและคำนวณซ้ำเพื่อให้รัดกุมมั่นคงขึ้น แล้วสรุปตรงกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าเป็น "ปีมะแม พ.ศ.1778 วันตรากฎหมายตรงกับวันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้น 5 ค่ำ ตรงกับสุริยคติ วันที่ 25 มีนาคม" แต่ถ้ายึดเลขศักราช "1146" ตามฉบับตัวเขียนจะเป็น พ.ศ.1768

สรุปได้แล้วว่ากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1768 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.1893 ถึง 125 ปี ขณะนั้นกัมพูชาเป็นยุคหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ขึ้นเสวยราชย์เมืองพระนครหลวง (นครธม) ระหว่าง พ.ศ.1763-1786

มีปัญหาว่าถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ขัดกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองเพิ่งสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ก่อนหน้านี้ยังไม่มี "กรุงศรีอยุธยา"

เรื่องนี้อธิบายตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีสนับสนุนชัดเจน ว่าบริเวณที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 นั้น มีบ้านเมืองอยู่ก่อนนานแล้ว และได้ชื่อตามจารึกที่พบสมัยหลังว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ทรงครองอยู่เมืองอโยธยาฯ นี้ก่อนหลายปี แต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โรคระบาด ฯลฯ จึงทรงสถาปนาใหม่ แล้วให้ชื่อใหม่ว่า กรุงศรีอยุธยา

นี่ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 แต่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคทวารวดี แล้วผ่านยุคละโว้ ยุคอโยธยาศรีรามเทพมาก่อนนานมาก



สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองดังกล่าวมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเป็นแคว้นหรือรัฐ ก็คือ กฎหมาย ฉะนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ จึงอธิบาย "ความสำนึกทางกฎหมาย" ว่า "การพัฒนาความรู้สึกทางกฎหมาย, ซึ่งคือสิ่งสะท้อนเบื้องบนของสภาพชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตในสังคมนั้น, เป็นวิถีดำเนินที่ต้องการระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง, โดยประชาชนเป็นผู้ค่อยๆ ก่อรูปมันขึ้นเป็นจารีตประเพณีก่อน, แล้วต่อจากนั้นกษัตริย์หรือรัฐจึงเข้าแทรกแซงหรือกำหนดกฎเกณฑ์บังคับ"

ความสำนึกทางกฎหมายที่ก่อรูปขึ้นก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา แต่มาปรากฏอยู่ในตัวบทสมัยเริ่มแรกของกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นความสำนึกขั้นสูงแล้วระดับหนึ่ง

พยานหลักฐานสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของอโยธยาศรีรามเทพนคร มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา คือ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ และถือเป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานขณะนี้

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) มีเนื้อหาเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะ ผีร้าย มีชื่อเรียกในกฎหมายนี้ว่า "ฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง" กับเรื่อง หมอผี ที่เรียกชื่อในกฎหมายนี้ว่า "แม่มดพ่อหมอ" คือคนผู้เรียนรู้เวทวิทยาคมและกฤติยาคุณอันทำให้ถึงตายฉิบหายด้วยอุบายต่างๆ

ฉมบ (อ่านว่า ฉะ-หมบ) เรียกผีผู้หญิง สิงอยู่ที่ตายในป่า ว่ามีรูปเห็นเป็นเงาๆ

จะกละ (อ่านว่า จะ-กละ) เรียกผีป่า ซึ่งหมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ให้ทำร้ายศัตรู, ผีพวกหนึ่งชอบกินของโสโครก

กระสือ (อ่านว่า กระ-สือ) เรียกผีที่สิงในกายหญิง ชอบกินของโสโครก ลักษณะเป็นดวงไฟแวมๆ ในกลางคืน (คู่กับกระหัง ที่เข้าสิงในกายชาย)

กระหาง (อ่านว่า กระ-หาง) เรียกผีที่สิงในกายชาย หรือผีผู้ชาย ชอบกินของโสโครก บางทีก็เรียกกระหัง คู่กับกระสือ

ความเชื่อเรื่องผีร้ายในกฎหมายฉบับนี้ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า มีลักษณะสากล เพราะบนเส้นทางวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์โดยทั่วไป มักจะมาถึงขั้นตอนหนึ่งที่มีปรากฏการณ์ของความเชื่ออย่างนี้ เช่น ในสังคมทางยุโรป กล่าวถึงพวกแม่มดและพ่อมด เป็นต้น เป็นเรื่องที่มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นบุคคลที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวโดยไม่ได้ร่ำเรียนมา ความชั่วร้ายดังกล่าวนี้เป็นเสนียดที่อาจทำร้ายหรือทำลายคนอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ที่เป็นกระสือกระหางหรือปอบนั้น สามารถถอดวิญญาณออกไปเที่ยวหาของสดคาวกิน หรือไม่ก็ไปสิงสู่อยู่ในตัวผู้อื่นแล้วกินตับไตไส้พุงเขาเป็นอาหารจนทำให้ผู้ที่ถูกสิงนั้นตายในเวลาต่อมา เป็นต้น

"นักมานุษยวิทยาให้คำนิยามคนที่มีความชั่วร้ายดังกล่าวนี้ว่า วิชคราฟ (witchcraft) ถ้าชุมชนใดบ้านเมืองใดเกิดมีพวกกระสือ ปอบเหล่านี้ขึ้น ผู้คนในชุมชนจะมีการเคลื่อนไหว กระทำการพิสูจน์และลงโทษ มีการทุบตีฆ่าฟันจนกระทั่งขับไล่ไสส่งให้ออกไปพ้นชุมชน เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร และเป็นอันตรายแก่สังคม"

ส่วนหมอผี หรือ "แม่มดพ่อหมอ" อาจารย์ศรีศักรอธิบายต่อไปว่า "คนพวกนี้คือพวกที่รู้ในเรื่องไสยศาสตร์ (magic) แต่ว่าเป็นไสยดำ (black magic) คือการนำเอาไสยศาสตร์ไปใช้ในทางที่ผิดและชั่วร้าย เช่น การปล่อยคุณ เสกหนังควายเข้าท้องคน ทำเสน่ห์ยาแฝด รวมทั้งทำยาเบื่อยาสั่งด้วย การประพฤติในทำนองนี้ พวกนักมานุษยวิทยาเรียกรวมๆกันว่า ซอสเซอรี่ (sorcery)"

ความรู้เรื่องคุณไสย และการใช้คุณไสยไปทำร้ายผู้อื่น ถือว่าเป็นความชั่วร้าย เป็นเสนียดเช่นเดียวกันกับเรื่องผีร้ายต่างๆ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จจึงจัดไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ถือเป็นกรณีเหมือนกัน ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความเป็นธรรม โดยกำหนดเงื่อนไขเป็น 2 อย่าง คือ

อย่างแรก เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งฉมบ จะกละ กระสือ กระหางมีจริง ถ้าพิสูจน์หรือสอบสวนได้ว่าเป็นจริงก็ต้องมีการลงโทษ

อย่างที่สอง เป็นเรื่องของการกล่าวหา (Accusation) เพราะเป็นเรื่องที่อาจใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวหากันได้ง่ายๆ เหตุนี้ในกฎหมายจึงกำชับไม่ให้พวกเจ้าเมือง กรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความทำการลงโทษตามลำพัง โดยไม่แจ้งเข้ามายังกรุง แต่ให้ทางกรุงตัดสิน ผู้ที่ละเมิดในเรื่องนี้อาจถูกตัดสินประหารชีวิตได้

การกล่าวหา ในเรื่องผีกระสือ ผีปอบ และการกระทำคุณไสย อาจารย์ศรีศักรอธิบายโดยสรุปว่า เป็นเครื่องควบคุมทางสังคมได้อย่างหนึ่งในสังคมท้องถิ่นแต่ก่อนๆ เพราะการกล่าวหานั้นมักจะมุ่งไปที่ผู้มีความประพฤติและมีพฤติกรรมผิดปกติหรือผิดแผกไปจากคนอื่นๆในสังคม พอมีคนเจ็บป่วยล้มตายขึ้น ก็เชื่อว่าเป็นการกระทำของสิ่งชั่วร้ายที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ และคนที่มีอะไรผิดแผกไปจากผู้อื่นในสังคม มักจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา เพราะฉะนั้น ในสังคมแบบประเพณีจึงมักเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ประพฤติอยู่ในกรอบในรีตในรอยกัน

แต่ในขณะเดียวกัน การกล่าวหานี้ก็อาจเป็นดาบสองคม ในกรณีที่มีคนไม่เชื่อไม่กลัว และใช้เรื่องนี้กล่าวหาผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อกลุ่มของตนได้เช่นเดียวกัน โดยเหตุนี้การตัดสินคดีความจึงต้องพิจารณาในเรื่องการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีด้วย

ในเรื่องนี้ดูเหมือนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้ในมาตราที่ว่าด้วยพวกฉมบ จะกละ กระสือ กระหางนั้น มีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในช่วงเวลานั้นมาก นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะกำจัดบุคคลที่ประพฤติความชั่วร้ายให้หมดไปจากสังคมอีกด้วย แต่ในบางกรณีก็มีการยกเว้นแก่บุคคลที่ทำไสยศาสตร์เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษแก่บุคคลที่มีเจตนาร้าย แม้ตนเองไม่มีอำนาจกฤตยาคุณทำร้ายผู้อื่น แต่ไปวิงวอนติดสินบนสิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้ทำร้ายผู้อื่น แต่การลงโทษผู้กระทำผิดดังกล่าวนั้น หาได้แก้ไขปัดเป่าให้เสนียดจัญไรหมดไปจากบ้านช่องไม่ จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการขึ้นมา

การจะปัดเป่าความชั่วร้ายที่มาจากสิ่งนอกเหนือธรรมชาตินั้น จำต้องพึ่งพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตแล้วทำบายศรีบัตรพลี ซึ่งก็แสดงให้เห็นการผสมผสานกันระหว่างคติทางพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูอย่างชัดเจน ในอันที่จะมาควบคุมหรือประนีประนอมกับการนับถือผีหรือสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่เชื่อถือสืบมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์

ที่ยกมาบอกกล่าวทั้งหมดนี้แหละคือลักษณะความเก่าแก่ของวรรณคดีเรื่องนี้ เก่าแก่กว่าจารึกกรุงสุโขทัยเกือบ 100 ปี

สุจิตต์ วงษ์เทศ
อ่านแผ่นดินฯ
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1200


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:29
 ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับปัญญาชนรุ่นราชกาลที่ ๓-๔ พิมพ์เขียวสำหรับอนาคต ที่นำมาใช้งานไม่ได้
ไมเคิล ไรท์
ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓

ใครบอกผมว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นเอกสารครั้งพ่อขุนรามคำแหงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ผมเห็นใจ, แต่เห็นต้วยไม่ได้ เพราะจารึกหลักนี้มีพิรุธผิดกาลสมัยทุกอย่าง, ไม่ว่าจะเป็น ภาษา, อักษร, อักขรวิธี, ภูมิศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และการพระศาสนา

หากจารึกหลักที่ ๑ "ผิด" เพียง ๒-๓ ข้อ. ผมพอรับได้, แต่ในเมื่อ "ผิด" ทุกข้อ ผมจำเป็นต้องสงสัยว่าจารึกหลักนี้คงไม่ได้เขียนขึ้นมาครั้งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ และไม่น่าสามารถบอกให้เรารู้ถึงเหตุการณ์ครั้งพ่อขุนรามฯ

ในทางตรงกันข้าม, หากใครบอกผมว่าจารึกหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมครั้งรัชกาลที่ ๓-๔ (กลางคริสต์วรรษที่ ๑๙), ผมจำเป็นต้องรับว่าจารึกหลักนี้มีความถูกต้องตามกาลสมัยทุกประการ และมีความสำคัญมากในการอธิบายปัญหาที่ชนชั้นปกครองสยามกำลังประสบเมื่อโลกฮินดู-พุทธพังเสียแล้ว, จีนช่วยไม่ได้, สยามจึงโดดเดี่ยวเป็นที่สุดขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับตะวันตกที่กำลังมาแรงแบบ "ต้านทานไม่ได้"

ผมไม่เชื่อเสียแล้วว่า จารึกหลักที่ ๑ เป็น "ของปลอม" ที่ทำขึ้นมาหลอกใคร จารึกหลักนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของปัญญาชนชาวสยามรุ่นรัชกาลที่ ๓, ที่น่าจะทำขึ้นมาเพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน, ทำให้สยามย่างเข้าสู่โลกสมัยใหม่ (คือสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย) และอาจจะใช้เป็น "พิมพ์เขียว" สำหรับอนาคตของสยาม ความในจารึกล้วนแต่สะท้อนอุดมการณ์, อุดมคติ และความ "ทันสมัย" ของปัญญาชนครั้งรัชกาลที่ ๓

แต่พอถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านจำเป็นต้องเผชิญกับ "โลกแห่งความเป็นจริง" (คือจักรวรรติอังกฤษ) ที่ไม่ต้องการอุดมคติที่ปรากฏในจารึก ดังนั้นจารึกมิได้นำมาใช้งานตลอดรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และเพิ่งมา "ปัดฝุ่น" ในรัชกาลที่ ๖

ปัญหาของเรา (ไม่ใช้ปัญหาของจารึกหลักที่ ๑) คือ เมื่อปัญญาชนครั้งรัชกาลที่ ๖ รื้อฟื้นจารึก ท่านลืม (หรือแสร้งทำเป็นลืม) สถานการณ์คับขันครั้งรัชกาลที่ ๓-๔, ไม่รับรู้ว่า "คนโบราณ" รุ่นรัชกาลที่ ๓-๔ จะมีปัญญาทันสมัย และกำลังต้องการ "สร้างชาติ" (เหมือนกับว่าชาติสยามไม่มีมาก่อน) ผลก็คือ จารึกหลักที่ ๑ กลายเป็นเอกสารครั้งพ่อขุนรามฯ แท้ ๆ ที่แสดงว่าในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ "ชาติไทย" มีอุดมการณ์ที่ทันสมัยเทียมเท่าอุดมการณ์ตะวันตก, ที่ฝรั่งเพิ่งคิดขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

มหัศจรรย์!

ปัญหาที่แท้จริงคือ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖, ขบวนการ "รักชาติ", "สร้างชาติ" ฯลฯ ล้วนแต่นำจารึกหลักที่ ๑ มาอวดอ้าง, จนยากที่เราจะมองเห็นความสำคัญที่แท้จริงของเอกสารชิ้นนี้ในบริบทที่แท้จริงของมัน

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นผลงานดีเด่นของปัญญาชนสยามรุ่น ร.๓ แต่กว่าจะเข้าใจเรื่องนี้เราจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ล้อมรอบสยามในคริสต์วรรษที่ ๑๙

บทที่ ๑ อวสานของอดีต
รัชกาลที่ ๑ เป็นเจ้าของอดีตที่สมบูรณ์ ท่านสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นอยุธยา, ไม่ใช่ที่อื่นใด, ให้แปลตำนานมหาวงศ์ และแต่งรามเกียรติ์ เป็นการรื้อฟื้นอดีต, ไม่ใช่หาของใหม่ ราชบัณฑิตของท่านแต่งพงศาวดารก็เรียกฝรั่งว่า "ยักษ์", และ "ทมิฬขาว", แสดงว่าในสายตาปัญญาชนรุ่นนั้นสยามเป็นแก่นของอารยธรรมและฝรั่งเป็น "ชาวป่า" ที่ตกนอกโลกอารยธรรมฮินดู-พุทธ ว่าง่าย ๆ ฝรั่งไม่น่าสนใจ

ในรัชกาลที่ ๒ ความมั่นใจของชาวสยามถูกกระเทือนใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เมื่ออังกฤษยึดเกาะลังกาแล้วถอดกษัตริย์ ร.๒ จึงรีบส่งคณะสมณทูตออกไปบูชาเจติยสถาน และช่วยดูนโยบายของอังกฤษ ปรากฏว่าอังกฤษไม่รังแกพุทธศาสนาในลังกา, จึงค่อยเลิกมองฝรั่งเป็น "ยักษ์" และเริ่มยอมรับว่าอาจจะเป็น "คน" บ้าง

กษัตริย์ ร.๒ จึงรีบส่งคณะสมณทูตออกไปบูชาเจติยสถาน และช่วยดูนโยบายของอังกฤษ ปรากฏว่าอังกฤษไม่รังแกพุทธศาสนาในลังกา, จึงค่อยเลิกมองฝรั่งเป็น "ยักษ์" และเริ่มยอมรับว่าอาจจะเป็น "คน" บ้าง

ในรัชกาลที่ ๓ ตะวันตก (จักรวรรดิอังกฤษ) มาท้าทายกับสยามโดยตรง อังกฤษได้ยึดเกาะหมาก (ปีนัง) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๕ แต่สยามแทบไม่สังเกตเพราะยังสู้พม่าอยู่ ถึง ค.ศ. ๑๘๒๑ สยามถูกบังคับให้ยอมว่าเกาะหมากเป็นของอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๒๖ อังกฤษได้ยึดเมืองมอญ (พม่าตอนล่าง) ซึ่งเป็นทั้งที่น่ากลัว (เพราะประชิดแดนสยาม) และที่น่ายินดี (เพราะตัดฤทธิ์พม่า) ในรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งเศสยังมิได้รุกมาทางลาวหรือเขมร และยังแพ้สงครามโดยยับเยินกับเยอรมนี ฝรั่งเศสจึงยังไม่น่ากลัวเลยในสมัยนั้น

ในสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้, ไม่มีหลักฐานว่า ร.๓ หรือรัฐบาลของท่านจะอ่อนข้อต่ออังกฤษ (ทูตอังกฤษทุกคนกลับไปโดยผิดหวัง) หรือสนใจศิลปวิทยาฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม, ในสมัย ร.๓ ยังมีหมู่ปัญญาชนสยามที่ตกอำนาจจึงมีเวลาดูและคิด, เช่น พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ, สมเด็จพระปิ่นเกล้า, สุนทรภู่ ฯลฯ อีกหลาย ๆ ท่านที่อาจจะมีนามหรือเป็นนิรนาม ท่านเหล่านั้นได้เห็นอะไรบ้าง? :-

เรือกลไฟลำแรกที่เข้ามาจอดหน้าวัง โดยเคลื่อนไหวเอง, ไม่ใช้ใบหรือฝีพาย
การพิมพ์ภาษาไทยด้วยอักษรไทยของหมอสมิธ
การปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษที่แต่ก่อนป้องกันไม่ได้
ดาราศาสตร์ฝรั่งที่แม่นยำกว่าดาราศาสตร์พราหมณ์

ข้อสังเกตที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเรียนภาษาละตินกับสังฆราช Pallegoix, ท่านน่าจะจับได้ว่า ภาษาละตินเป็นญาติใกล้ชิดกับภาษามคธของพระพุทธเจ้า, คือเป็น อารยภาษา แสดงว่า ฝรั่งมิได้เป็น "ยักษ์" ที่ไหน, แต่เป็น อารยชนที่มีอารยธรรม นี่แหละคือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะนำไปสู่การปล้ำสยามให้เหมือน "นานาอารยประเทศ" ในรัชกาลที่ ๕

ว่าอีกนัย, ปัญญาชนในกลุ่มชนชั้นปกครองสยามยังศรัทธาพุทธศาสนา ว่าเป็นส่วนที่เป็น "อารยะ" ในวัฒนธรรมสยาม, แต่เริ่มมองว่าในเรื่องอื่น ๆ ศูนย์กลางของอารยธรรมได้ย้ายไปเสียแล้วจากอุษาทวีปไปสู่ยุโรป, โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ เรื่องนี้น่าเห็นใจ, เพราะในสมัย ร.๓-ร.๔ จักรวรรดิอังกฤษกำลังแผ่อำนาจมากที่สุด และดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด, ด้วยวิธีการปกครองอาณานิคมที่ก้าวหน้าที่สุด

เหตุการณ์ปัจจุบัน (ครั้ง ร.๓) ที่สนับสนุนโลกทัศน์ดังกล่าว คือการที่อังกฤษรุกรานเมืองจีนในสงครามฝิ่น (ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๒) โดยจีนป้องกันตนเองไม่ได้ ทั้งนี้แสดงว่านโยบายพึ่งเมืองจีนเป็นร่มโพธิ์ของ ร.๓ ใช้งานไม่ได้แล้ว และชวนปัญญาชนสยามให้หันไปสนใจตะวันตกยิ่งขึ้น และหันหลังให้อุษาทวีปที่ดูล้าหลัง และไม่มีโครงการสำหรับอนาคต

ความคิดใหมี่ของปัญญาชนสยาม (รุ่น ร.๓ ) มีผลดีต่อสยามในฐานะประเทศเอกราชที่รักษาได้ตลอดมา, แต่ยังมีผลในทางลบ นั่นคือราษฎรชาวสยามส่วนใหญ่ตกเป็นคน "ไม่มีอารยธรรม" ที่ต้องถูกปกครองโดยราชการ (แบบอังกฤษปกครองอินเดีย) ในสมัย ร.๕-ร.๖ และยังต้องมีหน่วยราชการ (กรมศิลปกร) สอนให้รู้จักศิลปวัฒนธรรม (การร่ายรำทำเพลง) ตั้งแต่สมัยจอมพลแปลกขึ้นมา

นี่คือสถานการณ์ที่ห้อมล้อมปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓ แต่ก่อนจะพูดถึงจารึกหลักที่ ๑ ผมขอพิจารณาพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎและครูฝรั่งของท่าน

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎกับนักปราชญ์ฝรั่ง
เราไม่มีหลักฐานว่า ร.๔ คิดอย่างไร, เพราะท่านไม่เคยบันทึก, แต่เรายังมีหลักฐานผูกมัดว่า สมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าฟ้าพระภิกษุ ท่านมี "เพื่อน" ที่ท่านนับถือมาก นั่นคือ สังฆราช Pallegoix (บาทหลวงฝรั่งเศส) และ Rev. Dr.Dan Bradley (สาธุคุณชาวอเมริกัน)

เราไม่มีสิทธิ์รู้ใจ ร.๔, แต่เราพอจะรู้ใจพระสหายสองคนนี้ เท่าที่เราทราบทั้งสองท่านหวังเผยแพร่คริสต์ศาสนา แต่ไม่เคยรับใช้รัฐบาลในการแผ่อำนาจของฝรั่งเศสหรือสหรัฐ ดังนั้นเราน่าจะเชื่อได้ว่าทั้งสองท่านหวังดีต่อสยาม และพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคงจะไว้ใจและฟังเสียงท่าน

ถ้าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถามพระสหายว่า "ในฐานชาวตะวันตก, ท่านต้องการเห็นสยามเป็นอย่างไรในอนาคต?", ทั้งสองท่านคงตอบอย่างนักปราชญ์ที่หวังดี ทำนองว่า "ต้องการเห็นสยามมีเสรีภาพในเรื่องศาสนา, อาชีพ และการค้า, มีกฎหมายที่แน่นอนสร้างความมั่นคงในการครองเรือนและการสืบสมบัติ, มีการปกครองที่ตั้งอยู่บนหลักเมตตาธรรม, มีเหตุผล, ไม่เอารัดเอาเปรียบ และฟังเสียงทุกข์ของประชาชน ฯลฯ"

อุดมการณ์เหล่านี้ล้วนปรากฎในจารึกหลักที่ ๑, แต่ไม่ปรากฏที่ไหนอื่นในเอกสารรุ่นคริสต์วรรษที่ ๑๓ (ไม่ว่าจะเป็นอุษาทวีปหรือยุโรป) แน่นอนที่เดียวอุดมการณ์ดังกล่าวเคยมีอยู่แล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า, ท่านขงจื้อ และ "ผู้ทำนาย" ชาวยิวเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาก่อน แต่ถึงสมัยกลางอุดมการณ์เช่นนี้ถูกละเมิดและถูกลืมมานานแล้ว (ทั้งในอุษาทวีปและยุโรป) โดยหลักการ "อำนาจนิยม" ขึ้นมาแทนที่ หลักการมนุษยนิยม (Humanism) และเสรีนิยม (Liberalism) เพิ่งมารื้อฟื้นในยุโรปในคริสต์วรรษที่ ๑๙ (หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส) เมื่อยุโรปกำลังลดอำนาจกษัตริย์, เลิกทาส, เลิกทรมานนักโทษ, เริ่มรับรองสิทธิประชาชน และเสริมอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร

จารึกหลักที่ ๑ ควรอยู่สมัยใด?
จารึกหลักที่ ๑ นำสระเข้าแนวเดียวกันกับพยัญชนะ ซึ่งเคยมีที่ใดในอินเดีย, ลังกา, หรืออุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจนถึงปัจจุบัน คนคิดนำสระเข้าแนวพยัญชนะน่าจะเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่เจอะปัญหาการเรียง สระอิ, สระอี, สระอุ, สระอู พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นคนไทยที่เป็นเจ้าของแท่นพิมพ์ภาษาไทย/อักษรไทยคนแรกในรัชกาลที่ ๓

จารึกหลักที่ ๑ กำหนดชายแดนสุโขทัยด้านตะวันตก (ถึงหงสาวดี) และทางใต้ (ศรีธรรมราชนครถึงทะเลเป็นแดน), แต่ไม่อ้างชายแดนตะวันออก (ลาว/เขมร) ในรัชกาลที่ ๓ อังกฤษได้ยึดพม่าตอนล่าง (หงสาวดี) และกำลังแทะรัฐที่ถวายดอกไม้ฯ ในแหลมมลายูในสมัย ร.๓ ฝรั่งเศสเพิ่งถูกเยอรมนีขยี้และยังไม่คิดยึดลาวหรือเขมร คนเขียนหลักที่ ๑ ครั้ง ร.๓ คงไม่กลัวฝรั่งเศส, แต่สนใจมากที่จะอ้างสิทธิของสยามในพม่าตอนล่าง และในแหลมมลายูที่อังกฤษกำลังเหยียบย่ำ

ที่สำคัญที่สุด, จารึกหลักที่ ๑ สะท้อนปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) และเสรีนิยม (Liberalism) ที่กำลังเบิกบานในโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จารึกหลักที่ ๑ ไม่อ้างถึงทาสหรือการเกณฑ์ไพร่ ซึ่งเป็นหลักของสังคมในสมัยกลาง, ทั้งในยุโรปและอุษาทวีป

ในสายตาผม, จารึกหลักที่ ๑ จะเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากฝีมือปัญญาชนชาวสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ช่ำชองพุทธศาสนา และยังคุ้นกับความคิดของนักปราชญ์ก้าวหน้าในยุโรปครั้งคริศต์ศตวรรษที่ ๑๙

ปัญหาที่เหลืออยู่คือ

ทำไม "พิมพ์เขียนสำหรับอนาคตสยาม" ฉบับนี้จึงถูกเก้บเข้าตู้หรือสาบสูญจากหลักฐานครั้ง ร.๔-ร.๕?

ทำไม ร.๔, ร.๕ ไม่นำจารึกหลักที่ ๑ มาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการปกครองของท่าน?

"ความผิดหวังของ ร.๔"
อย่าลืมว่าในรัชกาลที่ ๓ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคบแต่ฝรั่งที่เป็นนักปราชญ์และหวังดีต่อสยาม ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ ท่านขึ้นครองราชย์แล้วต้องเจรจากับผู้แทนของรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ซึ่งไม่เป็นนักปราชญ์ แต่เป็นข้าราชการที่สนใจเฉพาะผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น

ใน ค.ศ. ๑๘๕๕ ร.๔ ยกร่างจารึกหลักที่ ๑ ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง ปรากฎว่าเซอร์อจอห์น เบาริ่ง ไม่สนใจจารึกหลักที่ ๑ แม้แต่น้อย

เรื่องอะไรท่านจะสนใจจารึกหลักที่ ๑ ในสมัยนั้นรัฐบาลอังกฤษไม่ต้องการให้ประเทศตะวัออกปกครองตนเองด้วยหลักมนุษยนิยมหรือเสรีนิยม, แต่อยากชวนให้ปกครองกันเองด้วยอำนาจบาตรใหญ่, เหมือนที่อังกฤษปกครองอินเดียด้วยระบบ Indian Civil Service (ICS) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ, ไม่ฟังเสียงใคร

ในที่สุด ร.๔ จำเป็นต้องเก็บศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไว้ในตู้ไม่ให้กวนอังกฤษ และ ร.๕ จะนำระบอบการปกครองแบบ ICS มาคุมสยาม โดยสมมุติว่า "เจ้านาย" เป็นผู้ดีอังกฤษ และราษฎรเป็นเพียงคนล้าหลังที่ต้องได้รับการปกครองจากเบื้องบน

ทั้งหมดนี้เป็นที่พอใจสำหรับจักรวรรดิอังกฤษ และทำให้สยามสามารถรักษาเอกราชไว้จนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาสาธุ อย่างไรก็ตาม, ความสำเร็จครั้งนี้ยังได้ก่อความขัดแย้งทางสังคมที่เริ่มปรากฏในรัชกาลที่ ๖, แตกใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และยังไม่สะสางทีเดียวจนทุกวันนี้

วิวัฒนาการวัฒนธรรมและสังคมสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการบทความอีกบทหนึ่ง (หรืออีกหลายบท) ที่ต้องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในคริสต์วรรษที่ ๑๙ เพราะถ้าคนไทยปัจจุบันไม่ยอมรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจักรวรรดิอังกฤษครั้ง ร.๓-ร.๔-ร.๕, ก็ยากที่จะเข้าใจสถานการณ์ต่อมาถึงปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๐๐)

ในบทความนี้ผมสนใจเฉพาะศิลาจารึกหลักที่ ๑ และปัญญาชนชาวสยามครั้ง ร.๓ ที่มีพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้นำที่รู้พุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และยังรู้ปรัชญามนุษยนิยมและเสรีนิยมก้าวหน้าของตุวันตกสมัยนั้น, จึงสามารถสร้างจารึกหลักที่ ๑ เป็นอุดมการณ์ หรือ "พิมพ์เขียว" สำหรับอนาคตอันอุดมให้สยาม แต่แล้วสถานการณ์โลกสมัยนั้นไม่อำนวย, สยามจึงจำต้องรับระบอบการปกครองแบบ ICS แทนศิลาจารึกหลักที่ ๑

ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์จะโทษใครไม่ได้ เพราะทุกคนเล่นตามบทบาทที่ประวัติศาสตร์กำหนดให้ อย่างไรก็ตามรัชกาลที่ ๔ (และพระสหาย) มีความคิดล้ำยุคของท่าน, มีสายตากว้างไกลเกินที่สมัยนั้นรับได้, จึงน่านับถือว่าท่านเป็นปัญญาชนชาวสยามรุ่นแรกที่แหวกม่านอดีตและปูพื้นสำหรับปัญญาชนสยมในอนาคต ที่อุดมการณ์ของท่านถูกลบล้างนั้นก็น่าเสียดายแต่ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือท่านได้ปูพื้นไว้อย่างดีอยู่แล้ว

เป็นที่น่าเสียดายมากว่า ในรัชกาลที่ ๖ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกนำมาปัดฝุ่น, แล้วนักปราชญ์ทั้งไทยและฝรั่งต่างเชื่อกันว่าจารึกหลักที่ ๑ เป็นเอกสารโบราณสมัยพ่อขุนรามคำแหง (King Arthur ของไทย) ที่เล่าเรื่องสุโขทัย (Camalot ของไทย) ดังนั้นท่านไม่มีทางดูออกว่าจารึกหลักนี้เป็นวรรณกรรมสั่งสอน (Didactic Literature เช่นเดียวกับชาดกหรือนิทานอีสป) ที่ปัญญาชนสยามทำขึ้นมากลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อโต้ตอบกับตะวันตกที่มาท้าภูมิปัญญาของสยาม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะรับจารึกหลักที่ ๑ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์ปัญญาสมัยใหม่" (Modern Intellectual History)? หรือเป็น "ประวัติศาสตร์เพ้อฝันถึงอดีตที่ไม่เคยมี" (Fanciful History of a Non-existant Post)?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:31
 ภูวดล สุวรรณดี
ศิลปวัฒนธรรม
ปีที่ ๒๑ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓


มันน่าแปลกไหม จารึกสุโขทัยมีไม่รู้ตั้งกี่หลักทำมั้ย? จึงมีคนคอยจองล้างจองผลาญกับศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงอยู่เพียงหลักเดียว ทำไม?

ก็เพราะว่า เป็นจารึกที่น่าสงสัย มีพิรุธมากมายซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ระหว่างอักษรน่ะซี

จึงเกิดปุจฉาขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วจารึกหลักนี้ใครแต่งกันแน่?

เมื่อราว ๑๐ ปีก่อน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาประกาศตูมว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้เป็นของปลอม! พ่อขุนรามคำแหงมิได้แต่งขึ้น ผู้ที่แต่งคือ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่างหาก (ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีนักวิชาการออกมาแสดงข้อกังขาจารึกหลักนี้อยู่แล้วเช่น ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี และ Michael Vickery)

เกิดการโต้แย้งทางวิชาการกันยกใหญ่ แล้วก็หายไปในสายลมประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นจะมีการกล่าวขวัญถึงจารึกหลักนี้ก็เพียงประเด็นย่อย ๆ ไม่มีอะไรคืบหน้านักจนกระทั่งทุกวันนี้ และในสำนึกการรับรู้ประวัติศาสตร์ไทยของคนส่วนใหญ่ยังคงว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงทรงแต่งขึ้น และพระองค์ทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" เป็น "วรรณคดีเล่มแรกของไทย" อยู่เช่นเดิม

มาวันนี้ น้ำในแอ่งจารึกคงจะนิ่งมานาน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์จึงออกมากวนอีกครั้ง เสียงเคาะจารึกนี้ดังขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง

อ.พิริยะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมและดูจะหนักแน่นขึ้นกว่าเดิมที่ว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยจับ "พิรุธ" ต่าง ๆ ของจารึกมาเผยดังนี้

๑. ขนาดของศิลาจารึก จารึกพ่อขุนรามฯ นั้นมีขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ ผิดธรรมดา ต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกันคือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนั้นศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และ หลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน

๒. ไม่มีการเขียนภาษาไทยที่อื่นใดที่มีสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ยกเว้นจารึกหลักที่ ๑ แต่อย่าลืมว่า พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ประดิษฐ์ลายสือไทย แต่ลายสือไทยที่เห็นเป็นตัวอักษรที่ขอยืมมาจากจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ยกเว้นแต่เขียนบนบรรทัดเดียวกัน และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็มี ๒ พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน พระองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหงที่ประดิษฐ์อักษรไทย อีกพระองค์หนึ่งคือ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรณ แต่ไม่มีใครสนุกด้วยจึงยกเลิกไป มีจารึกให้เห็นแห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้อักษรอริยกะ คือจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔

๓. ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับโลกทัศน์สมัยสุโขทัยที่เราทราบจากจารึกหลักอื่น ๆ เช่น

- คำว่า รามคำแหง นั้นไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย จะมีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วงและโปรดสังเกตว่า รามคำแหง จะใกล้กันมากกับชื่อพระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑

- ชื่อช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างทรงของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย

- การตกแต่งช้างของพ่อขุนรามฯ ตกแต่งด้วยระยาง (พุ่ที่ห้อยอยู่หน้าหูช้างเพื่อกันผี) เหมือนกับช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ ก็ตกแต่งด้วยระยาง แต่ช้างทรงในภาพจำหลักที่ปราสาทบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งไม่ห่างจากสมัยพ่อขุนรามฯ นัก ไม่มีการตกแต่งด้วยระยางเลย แต่จะสวมกะบังหน้าแล้วก็มงกุฎ ฉะนั้นหากจารึกหลักที่ ๑ เขียนในสมัยพ่อขุนรามฯ การตกแต่งช้างทรงก็น่าจะกล่าวถึงกะบังหน้าและมงกุฎ ซึ่งมันรับกับโลกทัศน์สมัยนั้น ไม่ใช้โลกทัศน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ห้อยระยาง

๔. ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร กรมศิลปกากรขุดค้นที่กำแหงเมืองสุโขทัยแล้ววัดกำแพงได้ความยาวดังนี้ กำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร แล้วก็เสนอว่า กำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้น ตรีบูรสามพันสีร้อยวาที่กล่าวในจารึกก็คือ กำแพงเมืองสุโขทัยชั้นนอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้

๕. เป็นจารึกที่แปลกกว่าหลักอื่น ๆ ที่ไม่มีการระบุชื่อชัด ๆ ไม่มีชื่อวัดสักวัดเดียวในจารึกหลักนี้ ทั่วไปแล้วจารึกจะกล่าวถึงวัดอะไรจะบอกชื่อเสมอ ส่วนอรัญญิก หมายถึงนอกเมือง ไม่ได้ระบุชื่อวัดในอรัญญิก

"เมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม" คือผู้เขียนพยายามเขียนให้มันกลาง ๆ อะไรก็ได้ มันก็ถูกทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอะรไรที่จะระบุว่ามันไม่มี

๖. พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระอัฎฐารส หรือพระอจนะ ซึ่งมาจากคำว่า อัจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว ซึ่งยอร์ช เซเดส์ ก็บอกว่าไม่น่าจะหวั่นไหว เพราะก่อด้วยอิฐหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้

๗. รูปแบบและวิธีการเขียนจารึกหลักที่ ๑ มีความเคยชินและมีลักษณะขอยืมมาจากจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น

"จารึกอันหนึ่มีในเมือง...จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำ" ก็มาจากหลักที่ ๓
"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว", "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสีนท่านบ่ใคร่เดือด", "หัวพุ่งหัวรบก็บดีบ่ฆ่าบ่ตี" ก็มาจากหลักที่ ๔

แล้วเมื่อลอกแล้วก็เอาศิลาจารึกเหล่านี้ไปซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ หลักที่ ๓ ไปไว้ที่กำแพงเพชร หลักที่ ๕ ไว้ที่อยุธยา หลักที่ ๒ ไปไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ผู้แต่งจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังดีกว่ากษัตริย์พม่าที่ลอกแล้วทุบทิ้งเลย

๘. คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น

- ตระพังโพยสี ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่ง อ.พิริยะมั่นใจว่าเขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตระพังโพยสี คือการขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ และนิยมสร้างนทีสีมา

- หมากม่วง การเขียนมะม่วงให้เป็นหมากม่วงเป็นการเขียนให้ดูเก่า สมัยสุโขทัยจะเขียนว่าไม้ม่วง ซึ่งคำว่าหมากม่วงนี้ปรากฎใน "นางนพมาศ"

- พุทธศาสนา สมัยสุโขทัยไม่มีการใช้คำว่า พุทธศาสนา แต่จะเรียกว่า ศาสนาพระเจ้า หรือ ศาสนาพระเป็นเจ้า

- พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้แบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ สมัยอยุธยาก็ไม่มี แต่มีใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อนเลย นอกจากนางนพมาศในสมัยรัชการที่ ๓

- ทั้งมากาวลาวแลไทเมืองใต้หล้าฟ้า ในจารึกหลักที่ ๑ บอกว่าพ่อขุนรามฯ เป็นลูกใคร มีประวัติอย่างไร และปกครองชนเผ่าไหนบ้าง คือใช้เผ่าเป็นตัวกำหนด อันเป็นวิธีเขียนแบบเดียวกับพระราชสาสน์ของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงมีถึงประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สำคัญคือ เผ่ากาว คือคนที่อยู่ในภาคบูรพาของอีสานนี้ไม่ใช่โลกทัศน์ของพ่อขุนรามคำแหง

๙. เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเคารพบูชารัชกาลที่ ๔ มาก ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ อภินิหารการประจักษ์ ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที ๓๖ เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐๗ เล่าถึงพระราชประวัติตอนทรงผนวชและเสด็จประพาสเมืองเหนือ แล้วพบศิลาจารึกและพระแท่นมนังคศิลา จนเสด็จขึ้นครองราชย์และตอนท้ายกล่าวถึงความในจารึกโดยสังเขป ตอนที่เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ มีความว่า

"เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัย ถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่งพังลงมาตะแคงอยู่ ที่เหล่านั้นชาวเมืองเขาเครพย์สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี...รับสั่งให้ฉลองลงมาก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมรที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา"

อ.พิริยะชี้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ไม่ได้กล่าวว่าเอาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วย เอามาแต่ ๒ อย่างคือ พระแท่ามนังคศิลากับจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมร แต่ในตอนจบของอภินิหารการประจักษ์ อยู่ ๆ พระองค์ก็รับสั่งว่า หนังสือเสาศิลานี้แก่กว่าหนังสือเสาศิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมร ๖๔ ปี น่าสงสัยต่อมารัชการที่ ๕ ก็รับสั่งว่าจารึกหลักที่ ๑ นี้เอามาคราวเดียวกัน แต่ที่จริงไม่ได้เอามา

๑๐. อ.พิริยะให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ปีเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ นั้น ถ้าอ่านเป็น พ.ศ. ก็เป็นชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหง แต่ถ้าอ่านเป็น ค.ศ. จะเป็นชีวประวัติของรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระองค์โปรดการใช้คริสต์ศักราช เช่น

ค.ศ. ๑๘๓๐ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ขุดลูกนิมิตวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เพื่อปรับเป็นธรรมยุตินิกาย
พ.ศ. ๑๘๓๐ พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุมาบำเรอแล้วฝังที่เดียวกัน
ค.ศ. ๑๘๓๖ รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. ๑๘๓๕ (อาจคลาดเคลื่อนได้ปีสองปี) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ปลูกไม้ตาลได้ ๑๔ ปีจึงฟันพระแท่นมังคศิลาบาตร (รัชกาลที่ ๔ ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรฯ ๑๔ ปีเสด็จขึ้นครองราชย์)
ค.ศ. ๑๘๕๑ รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๘๕๑ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์เช่นกัน

ตอบจบของอภินิหารการประจักษ์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งซึ่ง อ.พิริยะตีความว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแต่งไว้แบบอยากจะพูดเต็มประดาแต่ไม่กล้าพูด จึงเสนอเป็นปริศนาไว้ ดังนี้

ศักราชคิดดั่งนี้ ชอบขยัน
มืดลับชนสามัญ ห่อนแจ้ง
ไทยถือว่าสำคัญ กลเลข
แยบยนต์คนเก่าแกล้ง กล่าวอ้างคนไกล

คนเก่าก็คือรัชกาลที่ ๔ กล่าวอ้างคนไกลไม่ใช่การตรงโดยบังเอิญ ทุกอย่างมีระบบของเขา แต่ละเรื่องรับกันโดยไม่มีความบังเอิญเลย

ก่อนจบ อ.พิริยะได้เฉลยไว้ว่า ทำไมรัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึก หลักที่ ๑

ในสมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชการที่ ๔ ทรงทำจารึกหลักที่ ๑ ก็เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้รับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น

การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริ่งที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อสมัยพ่อขุนรามฯ ไม่เก็บภาษีเลย หรือ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังฎีกาจากพสกนิกร จึงมีการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนรามฯ กับสมัยรัชกาลที่ ๔

รัชกาลที่ ๔ ต้องการจะแยกการนับถือผีออกจากพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง จึงยกเอาพระขพุงผีขึ้นมา แล้วท่านก็สร้างพระสยามเทวาธิราชให้เป็นผีที่ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสยาม

หรือต้องการเปลี่ยนขนบประเพณีของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือ" คือ ลูกเจ้าก็ถือน้ำ ลูกขุนก็ถือน้ำ และพระองค์ก็ทรงถือน้ำด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์สยาม

ไม่ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จะเป็นของจริงหรือของปลอมก็ตาม แต่การถกเถียงกันเรื่องนี้ให้บทเรียนที่ดีว่าก่อนจะนำเอาหลักฐานใด ๆ มาใช้ศึกษาอ้างอิงนั้น ควรจะมีการตรวจสอบว่าหลักฐานชิ้นนั้นเขียนขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้เขียน และมีจุดประสงค์อย่างไร

เพราะสังคมทุกวันนี้สลับซับซ้อนเสียจนแทบไม่รู้ว่า อะไรจริง? อะไรปลอม?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 02:31
 ไมเคิล ไรท์
ศิลปวัฒนธรรม


ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้เขียนบทความ "ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมามองใหม่" ที่ผมชอบมาก ในหน้า ๑๒๙ ท่านลงท้ายว่า

"ผมหวังว่าเรื่องศิลาจารึก หลักที่ ๑ น่าจะมีหน่วยงานไหนสักหน่วยงานหนึ่งออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการพิสูจน์เรื่องนี้ เช่น กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ หรือคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อหาคำตอบให้วงวิชาการในสิ่งที่เรียกว่า สิ่งที่ถูกต้อง (ในเวลานี้) หรือแนวทางที่น่าเชื่อถือได้ ต่อประเด็นปัญหานี้อีกสักครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อยุติ แต่อย่าคลุมเครือหรือสร้างความสับสนอย่างทุกวันนี้"

ผมมิได้เป็น "หน่วยงานไหนหน่วยงานหนึ่ง" ที่ท่านทักทาย, แต่ในฐานะเพียง "ตัวของตัวเอง" ผมขอสนองความต้องการของอาจารย์เทพมนตรีดังนี้ :-

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า งูสองหัวสามารถให้เลขเด็ด? โลกจะอวสานเมื่อศริสต์ศตวรรษครบ ๒,๐๐๐ ปี? ชวลิตสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ? กงเต็กจี๊เป็นเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนได้?์ คลินตันไม่เคยให้โมนิกาอมนกเขา?

หากท่านผู้อ่านเชื่อดังนี้แล้วไซร้, ท่านก็มีสิทธิ์เชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นเอกสารชั้นต้นสมัยสุโขทัย, ไม่ใช่วรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ทำไมปริศนาศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงเงียบเหงาไปช้านาน? ผมจับได้สองประเด็นคือ :-

๑. การวิวาทว่าด้วยศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวจารึก, แต่เป็นการวิวาทว่าด้วย ใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์?์ ใครก็ได้ทุกคนในสังคม? หรือ "หน่วยงานหนึ่งของรัฐ"?

๒. ฝ่ายทิพย์เทวดาบนสรวงสวรรค์ (Angels ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นของรามคำแหง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓) กับพวกภูตผีปีศาจ (Devils ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมรุ่นรัชกาลที่ ๓) ต่างพูดภาษาต่างกันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง และต่างไม่มีเวทีหรือสนามที่พบกันได้อย่างเสมอภาค

แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอได้พยายามจัดเวทีที่สยามสมาคมและธนาคารกรุงเทพ สองฝ่ายก็ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง

ทำไมสองฝ่ายจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง? ก็นอกจากที่พวกเทพกับพวดแทตย์ย่อมพูดกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว, ต่างฝ่ายต่างมีฐานความคิดที่ต่างกันด้วย

ฝ่ายแทตย์ย่อมมองศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็นวรรณกรรมที่ควรได้รับการวิเคราะห์เหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น

ฝ่ายเทพย่อมเห็นศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็น "โองการ" ที่ไม่ควรมีใครวิเคราะห์เป็นอันขาด, เว้นแต่จะวิเคราะห์ตามรัฐเห็นสมควร

แล้วเทพกับแทตย์จะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร?

อย่าให้ผมช้ำ ๆ งานดี ๆ ของท่านอื่นเลย ผมขอเพียงบันทึกประเด็นที่ง่ายที่สุดที่ใครมีความรู้ด้านภารตวิทยามองข้ามไม่ได้, ดังนี้ :-

๑. อักขรวิธี
อักษรไทยเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่มีพยัญชนะครบ ๓๔ ตัวที่จำเป็นในการเขียนภาษาสันสกฤต อักษรไทยจึงสมควรจะเรียกว่า "อักษรคฤนถ์" (ตัวจารพระคัมภีร์) อักขรวิธีสันสกฤตล้วนเขียนสระอิ, อี, อยู่เหนือบรรทัด; สระอุ, อู, อยู่ใต้บรรทัด โบราณท่านที่ไหนจะกล้ายุ่งกับอักขรวิธีศักดิ์สิทธิ์โดยนำสระเหล่านี้เข้าบรรทัด? ใครจะไปรู้ว่าปลาอานนท์จะพลิกคว่ำแผ่นดินไหว? และโบราณท่านจะดึงสระเข้าบรรทัดทำไม? มันช่วยจารใบลานตรงไหน?

มีแต่เจ้าของแท่นพิมพ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เท่านั้น, ที่จะเห็นว่า สระอิ, อี, อุ, อู, เป็นอุปสรรคในการเรียงพิมพ์, จึงมีความจำเป็นต้องดึงสระเหล่านี้เข้าบรรทัด และมีแต่คนหัวก้าวหน้าที่ทรงอำนาจสูงสุด และไม่กลังว่าจักรวาลจะพลิกแพลง, ถึงกล้าจะคิดอักขรวิธีขึ้นใหม่

อักขรวิธีใหม่ที่ปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่เข้ากับวิธีคิดรุ่นรามคำแหงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓, แต่เหมาะสมอย่างยิ่งกับความคิดใหม่ของเจ้านายสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ซื้อแท่านพิมพ์เข้ามา

๒. เรื่องวรรณยุกต์
เป็นที่รู้ ๆ อยู่ว่า ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ (เสียงสามัญ, เอก, โท, ตรี, จัตวา) ต่าง ๆ นานาตามท้องถิ่นและกาลสมัย ส่วนเสียงวรรณยุกต์ "มาตรฐาน" ของกรุงเทพฯ ปัจจุบันน่าจะเป็นของใหม่ที่ผิดเพี้ยนจากกรุงศรีอยุธยา (ที่น่าจะออกเสียงอย่างสุพรรณ)

นอกนี้แล้ว, ใคร ๆ ที่คุ้นกับเอกสารเก่า ๆ ย่อมรู้ว่า การใช้ไม้เอก, ไม้โทเท่าที่มีในสมุด, มักไม่ใช้เสียงตรงกับภาษาไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบันแน่ ๆ

อย่างไรก็ตาม, ในศิลาจารึก หลักที่ ๑, ไม้เอก, ไม้โท, ส่วนใหญ่ใช้ถูกต้องเหมือนในเอกสารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่าชาวสุโขทัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ออกเสียงวรรณยุกต์ตรงกับปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม, ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ พิสูจน์ชัด ๆ ว่าชาวสุโขทัยโบราณมีระบอบออกเสียงเฉพาะของตน

ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร? นักปราชญ์ชาวสุโขทัยที่จารศิลาจารึก หลักที่ ๑ รู้ล่วงหน้าว่า เสียงวรรณยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นอย่างไร? หรือคนแต่งจารึกหลักนี้เป็นชาวกรุงรัตนโกสินทร์ที่ชำนาญคำท้องถิ่นและคำโบราณ, แต่คุ้นหู้กับเสียงพูดสมัยหลัง ๆ ใกล้ปัจจุบัน

๓. เรื่องวรรณกรรม
ปัญหาที่หนักที่สุดและแก้ไขได้ยากที่สุดมิได้เกิดจากฝ่ายภูติผีปีศาจ อย่างผมหรือใครอื่นที่ไม่เชื่อว่าพ่อขุนรามฯ เป็นผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากบรรดาเทพเทวดาชาวฟ้าที่ไม่ยอมรับว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น ท่านเหล่านั้นจึงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชนิดใด

อย่าให้ผมวิเคราะห์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นบรรทัด ๆ ไป ขอสรุปเพียงว่า จารึกหลักนี้มิได้เป็นเอกสารประวัติศาสรต์ (ที่บันทึกเหตุการณ์ในอดีต) หากเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์สำหรับปึจจุบันและอนาคต, หรือ "วรรณกรรมสั่งสอน" (Didactic Literature) ที่มีกันทั่วโลกและมีกันหนาแน่นที่สุดในอินเดียและโลกแห่งพุทธศาสนา, ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสปหรือคัมภีร์ชาตกมาลา

วรรณกรรมสั่งสอนหรือ Didactic Literature มักอ้างถึงอดีตที่ดีงามตามท่านฝัน, แต่ท่านไม่ได้หมายจะสอนประวัติศาสตร์ ท่านหมายจะสอนว่า สังคมและความประพฤติของคนในสังคมควรจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต

เด็กเลี้ยงแกะที่ร้องว่า "หมาป่ามาแล้ว!" ที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนว่าอย่าตื่นเกินขนาด, อย่าโกหกชาวบ้าน พระมหาชนกที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนให้มีความอดทนและต่อสู้กับอุปสรรค

ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ก็เช่นเดียวกัน, มีความมุ่งหมายที่จะสอนอะไรหลายอย่าง, เช่นการใช้อักขรวิธีที่เข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ได้สะดวกในสมัยที่อักษรสยามกำลังทดลองการเรียงพิมพ์เป็นครั้งแรก; เช่นการค้าเสรีที่จำเป็นสำหรับกรุงสยามในเมื่ออังกฤษกำลังบีบให้เปิดประเทศ; เช่นความสำคัญของพุทธศาสนาที่ถูกต้องในขณะที่พระศาสนาเสื่อมและกำลังรับการท้าทายจากคริสต์ศาสนาในประเทศข้างเคียง

ที่สำคัญที่สุดศิลาจารึก หลักที่ ๑ หมายจะสอนสังคมพุทธอันดีเลิศตามฝัน (Ideal Buddhist Society) ที่ทำบุญทำทาน, มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว", มีเสรีภาพในการทำอาชีพและหลวงท่านไม่เบียดเบียน "เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายฯ" และ "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ฯ" มีกฎหมายที่เป็นยุติธรรม "(ใคร) ล้มตาย...เหย้าเรือน...ป่าหมาก ป่าพลู...ไว้แก่ลูกมันสิ้น" และพ่อเมืองย่อมฟังเสียงประชาชน "ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน...จึงแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ ๆ" และ "ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งฯ"

ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีมั้งเศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์, แต่ท่านสอนตามแบบตำรับตำราสมัยใหม่ไม่ได้ ท่านสอนตามประสาท่านด้วยนิทานโบราษ หรือเทพนิยาย ดังมีในนิทานชาดก

ขอชวนท่านผู้อ่านลองฟังเสียงศิลาจารึก หลักที่ ๑ โดยตรง :- (ด้าน ๓ บรรทัดที่ ๑๐ ถึง ๒๗)

"พ่อขุนรามคำแหง...ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้าจึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งกลางไม้ตาลนี้...พ่อขุนรามคำแหง...ขึ้นนั่งเหนือขดานหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง...ขดานหินนี้ชื่อมนังศิลาบาตรสถาบกไว้นี่ จึ่งทั้งหลายเห็น"

กษัตริย์ในอุษาคเนย์ที่มีตัวตนที่ไหนมี, ที่ออกขุนนางกลางป่าตาล? และใครที่ไหนประทับบนแท่นชื่อ มนังศิลาบาตรที่น่าจะแปลว่า "แผ่นหินตามใจนึก"?

เท่าที่ผมสอบได้ กษัตริย์ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีแต่กษัตริย์ในเทพนิยาย เช่น ชาตกมาลา, นิทานปัญจตันตระ, กถาสริตสาคระ และพระอภัยมณี จะเป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่มีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑?

กษัตริย์ที่ออกขุนนางกลางสวนป่า โดยประทับบนแท่นทิพย์สารพัดนึกไม่น่ามีองค์จริง, แต่เป็นพระเอกในเทพนิยาย

ปัญหาของเรามีอยู่ว่า เพื่อนฝ่ายขวา (เทพเทวดาชาวฟ้า) ไม่เข้าใจเรื่องวรรณกรรมโบราณ, ไม่ว่าจะเป็นนิทานสั่งสอน (Didactic Literature) เช่น นิทานชาดก, หรือเทพนิยาย (Fairy Tale) เช่น พระอภัยมณี

ที่ท่านเสนอว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นประวัติศาสตร์จากเหล็กจารใบลานของพ่อขุนรามฯ ก็ไม่ผิดแผกแตกต่างนัก
กับการเสนอว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่พระอภัยมณีท่านประพันธ์ขึ้นมาเอง สุนทรภู่ไม่เกี่ยวหรอก

๔. อีกมิติหนึ่งของปัญหา
ฝ่ายภูตผีปีศาจบางคนเคยเสนอว่า เจ้านายครั้งกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ฝ่ายเทพเทวดาฯ รีบโต้ตอบว่า นี่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ว่าท่านอาจตรัสเท็จ

เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะหากทุกคนเข้าใจวรรณคดีตามหลักสูตรของพวกเทพเทวดาฯ แล้วไซร้, ก็ต้องสรุปว่า นักประพันธ์ทั่วโลกเป็นคนโกหกพกเท็จทั้งสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นสุนทรภู่, Shakespear, Charles Dickens หรือแม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เล่านิทานชาดกสอนสาวก

แต่ฝ่ายภูติผีฯ มักมองวรรณกรรมแบบสากลปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องใส่ความว่าผู้มีจินตนาการ "โกหก" ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เต็มไปด้วยจินตนาการมากมายเกี่ยวกับอดีต (สมัยสุโขทัย) แต่ในขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยความจริงสำหรับสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และปัจจุบัน

ในการดิ้นรนหาความใส่พวกภูติผีฯ, ฝ่ายเทพเทวดาฯ ได้มองข้ามความซื่อจริงในจารึกฯ ที่พวกภูติผีฯ พยายามจับมานานแล้วนั่นคือ "ลายแทง" ที่แจ้งถึงที่มาของข้อมูลในจารึก หลักที่ ๑

๕. ปริศนาลายแทง
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๒๒-๒๕ มีความว่า ด้วยจารึกอีกสามหลักที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ พวกเทพเทวดาฯ ต่างแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร, แต่ภูติผีฯ อย่างผมรู้ว่าเป็นลายแทงหมายถึงศิลาจารึก หลักที่ ๒ (วัดศรีชุม), หลักที่ ๒ (นครชุม) และ หลักที่ ๕ (วัดป่ามะม่วงสุโขทัย, ภาษาไทย, พบใกล้กรุงศรีอยุธยา)

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักประพันธ์ชาวไทยไม่จำเป็นต้องแจ้งที่มาของข้อมูลตามประเพณี นักวิชาการสากลปัจจุบัน, แต่ผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีความซื่อสัตย์ต่อข้อมูลมาก และมีความเคารพต่อผู้อ่านสูงจนท่านอุตส่าห์บอกแหล่งข้อมูลให้ได้ ที่ท่านบอกด้วยรหัสหรือ "ลายแทง" นั้นไม่แแปลก, เพราะโบราณท่านนิยมสื่อสารกันด้วยรหัสที่ผู้รู้ย่อมเข้าใจกันได้ดี

ปัญหามันเกิดภายหลักเมื่อ "ผู้รู้", ทั้งไทยและเทศ, ต่างพยายามอ่านวรรณกรรมแบบโบราณ (จารึก หลักที่ ๑, ตำรานางนพมาศ ฯลฯ) เหมือนกับว่าเป็นงานวิชาการสมัยใหม่ ว่าง่าย ๆ ท่านลืมนิทาน และตีลายแทงไม่ออก

๖. ความผิดอยู่ที่ใคร?
ความผิดที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่เข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ อย่างไขว้เขวนั้น, มิได้เป็นความผิดของผู้หนึ่งผู้ใด, หากเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือบางทีไม่ค่อยมีใครสังเกต

ปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓, ร.๔ มีใจกว้างและมีสายตามองอนาคตได้ไกล. แต่ท่านยังเป็นปัญญาชนแบบโบราณ ท่านจึงแต่งศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้วยวิธีคิดแบบโบราณ, คือใช้จินตนาการว่าด้วยอดีตในอุดมคติ (Imagined Ideal Past) เพื่อสร้างอนาคตอันอุดมที่ปรารถนา (Desired Ideal Future), ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ติไม่ได้

ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้านคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐, เจ้านายสยามเริ่มลืมอดีตที่แท้จริงและยึดถืออดีตที่สมมติขึ้นมาตามอุดมการณ์ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงกลายฐานะจาก "นิทานสอนความดีงาน" (Didactic Literature) มาเป็น "ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง" (Real History)

ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้หลุดหายไปจากจอกประวัติศาสตร์, เพราะชาวบ้านยังคงอยู่ในโลกเก่า, นอกความเจริญที่เจ้านายท่านจินตนาการขึ้น ชาวบ้านเพิ่งกลับมาปรากฏบนจอประวัติศาสตร์หลังวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖

หากจะโทษใครว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศิลาจารึก หลักที่ ๑, ก็เห็นจะต้องโทษนักปราชญ์ฝรั่งที่ควรรู้ดีกว่า, เพราะท่านอยู่นอกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ทำให้ "น้ำขุ่น" สำหรับคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ , George Coedes น่าจะเข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ ได้ดี, แต่ท่านแปลและส่งเสริมหลักที่ ๑ ในฐานะประวัติศาสตร์จริง อย่าลืมว่าท่านเป็นข้าราชการลับของฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งให้ "โอ๋" เจ้านายสยามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองของฝรั่งเศส

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักปราชญ์ชาวอเมริกันได้รับช่วงจาก Coedes, เช่น W. J. Gedney, A. B. Griswald กับ D. K. Wyatt ที่ล้วนใช้หลกที่ ๑ เป็นพื้นฐานในการเขียนงานเรื่องภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลป และประวัติศาสตร์รัฐ ตามลำดับโดยไม่มีความสงสัย แต่แล้วท่านทั้งสามทำงานในยุคสงครามเย็นที่อเมริกาแสวงหาสัมพันธมิตร, สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวา และไม่คิดขัดขวางความคิดล้าหลัง

ผมเชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ ทำขึ้นมาเพื่อสั่งสอนและสร้างสรรค์, ไม่ใช่เพื่อหลอกใคร หรือหากท่านหลายจะหลอกใครก็คงหมายจะหลอกฝรั่ง และหลอกได้ดีชะมัดด้วยซ้ำ!


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 04, 03:19
 โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าจารึกนี้ไม่น่าจะสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง(หรือพญารามราช) อย่างน้อยก็ข้อความหลังจากบรรทัดที่ 18 ในด้านที่ 1 เป็นต้นมา แต่การที่จะสรุปว่าสร้างโดยร.4 นั้น ดูว่าเหตุผลที่นำเสนอโดยอ.พิริยะ ดูจะยังมีข้อที่น่าสงสัยอยู่มาก เพราะจากที่ผมเคยได้อ่าน "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ" ของ อ.พิริยะ มีข้อสังเกตดังนี้

1.อ.พิริยะใช้การศึกษาความสัมพันธ์ (co-relation) ของคำในจารึกหลักที่ 1 กับจารึกและเอกสารอื่น ผมเห็นว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดได้อย่างหนึ่ง แต่การที่ไม่มีการศึกษา co-relation ระหว่างเอกสารอื่นๆด้วยกันเองนั้น ทำให้ขาดเกณฑ์อ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นว่าจารึกหลักนี้ต่างจากหลักอื่นไปอย่างน่าเสียดาย ควรได้มีการศึกษาในแง่นี้ด้วยครับหากต้องการใช้เป็นเหตุผลในการยืนยันสมมติฐาน

2.โดยการศึกษาของอ.พิริยะในเรื่องอายุของศิลปะที่ปรากฎในจารึกหลักที่ 1 ว่าไม่สอดคล้องกับโบราณสถานวัตถุจริงนั้น ผูกติดกับเรื่องการกำหนดอายุของโบราณสถานในสุโขทัยที่อ.พิริยะเคยได้นำเสนอไว้ แต่ก็ยังเป็นข้อโต้แย้งในวงวิชาการอยู่ ดังนั้นการนำมาใช้อ้างอิงในสภาพเช่นนี้คงยังยอมรับได้ยากครับ

3.การอ้างอิงเนื้อหาในจารึกว่าตรงกับเหตุการณ์ในสมัยร.4 ดูเป็นความคาดเดาความสัมพันธ์ในแบบ Conspiracy Theory มากเกินไปครับ คุยกันสนุกๆคงพอได้ แต่หากจะใช้ยกเป็นเหตุผลประกอบสมมติฐานก็คงลำบากเช่นกันครับ

ส่วนเหตุผลของ ศ.ดร.ประเสริฐ ผมว่าสมเหตุสมผลในหลายๆประเด็น(ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้แสดงเหตุผลแย้งข้อสังเกตของอ.พิริยะไว้ทั้งหมดทุกประเด็นก็ตาม) แต่การยึดติดกับผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำขึ้นนั้นผมไม่ใคร่เห็นด้วย แน่ใจหรือครับว่าวิธีที่ใช้เชื่อถือได้ เป็นวิธีที่วงการโบราณคดีใช้อยู่จริงหรือไม่ การยกเอาผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสงสัยนี้เป็นธงนำในการแย้งสมมติฐานของอ.พิริยะ ทำให้น้ำหนักการแย้งอ่อนไปมากอย่างน่าเสียดายครับ

แต่อย่างน้อย ข้อดีของการมีข้อขัดแย้งเรื่องนี้เกิดขึ้นก็คือการที่มีผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ศิลาจารึกที่คนส่วนมากไม่เคยสนใจ ก็มีผู้สนใจมากขึ้น

(ข้อมูลทั้งหมดนี้ผมรวบรวมโดยการตัดแปลจากอินเทอร์เน็ตนี่แหละครับ ออกจะยาวสักหน่อยเพราะรวบรวมจากหลายแหล่ง แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจได้บ้างครับ)


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 04, 08:24
 ดิฉันกำลังรองานวิจัยที่ว่านั้นอยู่ค่ะ   กำหนดส่งทางไปรษณีย์มาให้  ยังไม่ถึงมือ
ได้มาเมื่อไรจะอ่าน แล้วลงมือย่อยมาให้ฟังกันง่ายๆอีกที

ศิลาจารึกหลักเดียว ข้อความไม่กี่บรรทัด   เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่าสามารถนำมาศึกษาได้ทั้งในสาขาโบราณคดี ประวัติศาสตร์  รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์
ถ้าหากว่าจับลงไปเฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่ง  เพื่อหาคำตอบในเรื่องความเก่าแก่แท้จริงของศิลาจารึก  อาจจะพลาดไปได้ง่ายๆ
ในเรื่องภาษาศาสตร์   เมื่อนำไปศึกษาทางวิวัฒนาการของภาษาและตัวอักษรไทยแล้ว   ก็จะเห็นภาพขึ้นมาชัดเจนอีกด้านหนึ่ง

ตอนนี้ดิฉันก็กำลังรอเอกสารอยู่ค่ะ  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 04, 16:43
 ได้เอกสารมาแล้วค่ะ

หลักฐานทางภาษาของศิลาจารึกหลักที่ ๑  ที่จะเล่านี้  อ้างอิงมาจากตำราชื่อ "วิวัฒนาการของภาษาไทย" ของรศ. ดร. ราตรี ธันวารชร  เป็นการศึกษาคำที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก  ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเขียน เสียง สระ วรรณยุกต์ ของยุคสุโขทัย ว่าแตกต่างจากภาษาไทยกรุงเทพยังไง

ไม่ใช่การโต้แย้งเรื่องอายุของศิลาจารึกโดยตรงก็จริง    แต่การศึกษาวิจัยของอาจารย์ราตรี ก็อาจเป็นคำตอบได้หลายๆอย่างสำหรับผู้สนใจเรื่องนี้
ดิฉันขอทยอยเก็บความมาให้เห็นว่า ภาษาไทยที่จารึกอยู่บนหลักศิลาจารึก นั้น นักภาษาศาสตร์มองเห็นว่าอะไรบ้าง  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 04, 16:46
 ๑) ผู้เขียนตำราเล่มนี้เห็นว่าตัวอักษรสมัยสุโขทัยมีรูปสัณฐานค่อนข้างเหลี่ยมมากกว่าตัวอักษรปัจจุบัน
ลักษณะนี้อาจเป็นเพราะผู้จารึกนำอักษรหวัดของขอม ซึ่งมีรูปสัณฐานค่อนข้างเหลี่ยมมาก  และมีเส้นผมบนตัวอักษร(เรียกว่าหนามเตย) มาดัดแปลงเป็นตัวอักษรไทย  โดยยกเลิกหนามเตยเสีย ให้เขียนอ่านง่ายขึ้น
๒) ด้านอักขรวิธี คือวิธีเขียนตัวอักษร ไม่เหมือนปัจจุบัน    ในศิลาจารึก การเขียนพยัญชนะเมื่อประสมกับสระ จะเขียนเชื่อมกัน  แต่ถ้ามีตัวสะกดจะเขียนแยกไปให้เห็นชัด  
ผิดกับการเขียนในภาษาไทยกรุงเทพซึ่งการเขียนพยัญชนะเมื่อประสมกับสระจะไม่เขียนเชื่อมต่อกัน  ถ้ามีตัวสะกดก็เขียนเรียงไปตามปกติ
๓)ในศิลาจารึก ถ้าพยัญชนะสองตัวใดเป็นพยัญชนะควบ จะนำมาเขียนชิดกัน  ถ้ามีวรรณยุกต์เอกหรือโทจะเขียนไว้บนพยัญชนะตัวแรก  เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นพยัญชนะตัวควบ
ลักษณะการเขียนพยัญชนะสองตัวชิดกันเพื่อแสดงว่าเป็นตัวควบ  ทำไมถึงทำเช่นนั้น   อาจารย์ราตรีให้คำตอบว่า เมื่อศึกษาภาษาถิ่นต่างๆนอกประเทศเช่นภาษาไทยลื้อ ไทยขาว จะพบว่าการเขียนหรือการจารึกดังกล่าวสื่อไปถึงเสียงจริงๆ ที่พบในภาษาไทยถิ่นต่างๆ  
ส่วนภาษาไทยกรุงเทพ ถ้าพยัญชนะควบ จะเขียนเรียงตามกันเป็นปกติ   ถ้ามีวรรณยุกต์จะเขียนเครื่องหมายไว้บนพยัญชนะตัวที่สอง ไม่ใช่ตัวแรกอย่างในศิลาจารึก
๔) ศิลาจารึกหลักที่ ๑  ไม่มีไม้ผัดหรือไม้หันอากาศ  แต่ใช้พยัญชนะตัวสะกดเขียนซ้ำกันสองตัว  อย่าง อนน   แทน อัน    แต่ภาษาไทยกรุงเทพ   ใช้ ไม้ผัดหรือไม้หันอากาศกันทั่วไป
ไม้หันอากาศเพิ่งมาพบในจารึกสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหง

อาจารย์ราตรี ระบุไว้ในอีกตอนหนึ่งว่า
ในคำยืมจากภาษาเขมรและบาลีสันสกฤต   การเขียนสมัยสุโขทัยจะเขียนตาม"เสียง"ของภาษาเขมรบ้าง  แต่ส่วนใหญ่จะรับ"รูปจากภาษาเขมร"มาเขียน  
ส่วนปัจจุบันหันกลับไปเขียนรูปตามภาษาเดิมที่รับ คือถ้ารับจากบาลีสันสกฤตก็เขียนรูปเหมือนบาลีสันสกฤต   ถ้ายืมจากเขมรจะเขียนตามรูปศัพท์เดิม  หรือเขียนเหมือนอักขรวิธีไทย  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 04, 16:57
 ศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะต้นเดี่ยว  ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้เขียนแล้ว คือ ฃ ฃว ฅ ฅว
เมื่อศึกษาภาษาไทยเปรียบเทียบแล้วพบว่า พยัญชนะต้น  ฃ ฃว ฅ ฅว    เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะต้นในภาษาไทยดั้งเดิมหลายร้อยปีก่อน

แสดงว่าตัวอักษรไทยในศิลาจารึก ประดิษฐ์ขึ้นอย่างมีเหตุผล คือใช้แทนเสียงที่มีอยู่จริงๆในภาษาไทยเรา  เพราะปรากฏว่าเสียงเหล่านี้ยังมีอยู่ในภาษาไทยถิ่นต่างๆเช่นไทยลื้อ ไทยขาว และไทยถิ่นอื่น
เมื่อนำพยัญชนะเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับภาษาไทยในกรุงเทพ ปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเสียงพยัญชนะเหล่านี้ไปแล้ว

ถ้ายังสงสัยอยู่ เพราะสมัยรัชกาลที่ ๔   ตัว ฃ ฃวด ฅ ฅน ยังมีใช้อยู่ เช่นเดียวกับในศิลาจารึก ก็โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
๑) ในศิลาจารึก มีพยัญชนะ  หล   ใช้ในคำว่า เหล้น    ภาษาไทยปัจจุบันสะกดว่า  เล่น  
ในศิลาจารึกก็มีตัว ล  สะกดในคำอื่นๆ  เช่น ลูก แล่ง แล้ง    แต่คำว่า เล่น สะกดว่า เหล้น
แสดงว่า  คำ หล  และ ล  คงออกเสียงไม่เหมือนกัน จึงสะกดด้วยพยัญชนะคนละอย่าง แต่มาถึงไทยกรุงเทพในปัจจุบัน เสียง หล หายไปแล้ว  กลายเป็นเสียง ล  เสียงเดียว   เราจึงมาสะกด เล่น แทน เหล้น  
๒)หลักอันนี้ใช้ได้กับ พยัญชนะ หว และ ว   ซึ่งออกเสียงต่างกันในศิลาจารึก  ปัจจุบันออกเสียงเป็น ว หมด อย่างคำว่า  ไหว้  

ศิลาจารึก มักใช้สระเสียงยาวในคำ   แต่คำเดียวกันนี้ภาษาไทยกรุงเทพใช้สระเสียงสั้น    ศิลาจารึกเขียนว่า เตม   กรุงเทพใช้ เต็ม
การใช้สระเสียงยาว อาจเป็นลักษณะของภาษาไทเดิมก็ได้  เพราะพบลักษณะนี้ในไทยอาหมและไทยดำที่(ขำตี้)

ศิลาจารึกใช้สระเสียงหนึ่ง  ไทยกรุงเทพใช้อีกเสียงหนึ่ง   ศิลาจารึกใช้ โสง  กรุงเทพใช้ สอง  
คำว่าโสง มาจากไหน    พบในภาษาไทยถิ่นต่างๆ คือ ลื้อ เต้อหง ต้ง ลุงโจว โปอ้าย ไทขาว ไทดำ ไทแดง
ศิลาจารึกใช้คำว่า สูด  ไทยกรุงเทพเขียน สวด   คำนี้ศาลาจารึกเขียนตาม"รูป"ภาษาเขมร ส่วนกรุงเทพเขียนตาม "เสียง "ภาษาเขมร
***********************
ที่จริงยังมีตัวอย่างอีกมาก จะทยอยนำลงอีกถ้าหากว่ามีผู้สนใจอยากจะอ่าน   เพราะมีการพูดถึงวรรณยุกต์ของศิลาจารึกที่ต่างจากกรุงเทพด้วย
แต่ตอนนี้ขอเว้นจังหวะก่อน   ออกความเห็นก่อนค่ะ

ถ้าหากว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทำศิลาจารึกหลักที่ ๑นี้ขึ้นมาจริง   คงจะต้องทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะสร้าง" ระบบ "ของภาษาขึ้นมาในศิลาจารึกนี้ด้วย  มิใช่แต่ทรงสร้างเนื้อความขึ้นมาเฉยๆเท่านั้น
ระบบภาษาที่ทรงสร้าง ก็แสดงว่า อย่างแรก คงจะต้องทรงเชี่ยวชาญในอักษรขอมโบราณจนกระทั่งเอามาดัดแปลงเป็นอักษรจารึกได้อย่างมีระบบระเบียบ กำหนดคำในจารึกโดยหาพยัญชนะมาบรรยายได้ครบถ้วน  
ไม่ใช่อักษรเขมรในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งอาจจะทรงหาจากเขมรอพยพได้บ้าง  
แต่ การเขียนอักษรขอมโบราณ ๗๐๐ ปีถอยหลังกลับไปจากปัจจุบันที่เป็นต้นแบบนั้นจะทรงหามาจากไหนก็สุดจะเดาได้  เพราะการผนวชนั้นทรงเรียนบาลีสันสกฤตเป็นหลัก   ในเมืองไทยจะมีใครสอนพระองค์ท่านได้ก็ยังนึกไม่ออก  
และถ้าทรงทำได้จริง  หลักฐานที่มาของการเรียนรู้ภาษาขอมโบราณของพระองค์ท่านนั้น ไม่มีร่องรอยให้เห็นบ้างเลยหรือ

อย่างที่สอง  นอกจากจะทรงคิดตัวอักษรไทยดัดแปลงจากอักษรเขมรอย่างมีระบบแล้ว    จะต้องทรงมีความรู้เรื่องภาษาถิ่นไทยลื้อ ไทยขาว ไทยอะไรต่อมิอะไรอีกมาก   เพื่อจะได้เลียนแบบ ดึงวิธีการใช้พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ในแนวของภาษาถิ่นมาใช้จารึกได้อย่างมีระเบียบระบบ   แทน
ภาษาอยุธยาหรือกรุงเทพสมัยรัชกาลที่ ๓  

ดิฉันสงสัยว่า ทรงติดต่อกับเผ่าคนไทนอกประเทศได้จากไหน เพราะถึงแม้ธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ไกลสุดชายแดนจนข้ามออกไปถึงนอกสยาม     สมมุติว่าบังเอิญไปเจอชนกลุ่มน้อยอพยพเข้ามา   จะทรงรู้จักมักคุ้นยาวนานพอจะเรียนรู้ระบบภาษาของพวกเขาทีเดียวหรือ  

การเลียนแบบภาษาโบราณเพื่อให้ดูขลัง อาจจะเป็นไปได้ถ้าเจอฝรั่งที่ไม่รู้ภาษาไทย     แต่เห็นทีจะตบตานักภาษาศาสตร์ได้ยาก
ถ้าศิลาจารึกนี้เป็นของที่ทำขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓   ต่อให้เลียนแบบยังไง ก็น่าจะมีนักภาษาศาสตร์สะดุดใจการใช้ภาษาเข้าบ้างไม่คนใดก็คนหนึ่ง    เพราะภาษามียุคสมัย และถิ่นของมัน  พอจับร่องรอยได้ทั้งในเอกสารและมุขปาฐะ    
เรามักจะพบว่าวรรณคดีไทยเก่าๆที่คนกรุงเทพอ่านคำบางคำกันไม่ออก พจนานุกรมก็ไม่ได้เก็บคำไว้  หากไปค้นในภาษาถิ่นจะมีร่องรอยคำอันเป็นปริศนานั้นอยู่ไม่มากก็น้อย  
มันเป็นคำที่ใช้กันในอดีตยุคหนึ่ง  แล้วก็เปลี่ยนแปลงสูญหายไปในยุคต่อมา    ยังคงตกค้างในถิ่นที่วิวัฒนาการน้อยกว่าเมืองหลวง
การสืบค้นจากภาษาไทตระกูลต่างๆก็มีสิทธิ์พบได้มาก    ว่าคำที่สูญหายไปจากสยาม อาจจะยังใช้กันอยู่ในไทยจ้วง หรือสิบสองปันนา ทำให้สืบค้นคำได้ไม่ยาก
ศิลาจารึกที่สงสัยกันว่าทำในรัตนโกสินทร์ เป็นจารึกที่มีคำเก่าแก่กว่าอยุธยา  มีคำในภาษาถิ่น มีคำที่แตกต่างจากไทยกรุงเทพ  ความแตกต่างในการใช้คำ สังเกตได้อย่างเป็นระบบระเบียบ  ไม่ใช่สรรหาคำมาแปะลงไว้แล้วแต่ว่าจะคิดหาคำอะไรขึ้นมาได้

ยังมีรายละเอียดด้านภาษาอีกหลายข้อค่ะ  ตอนนี้ขอหยุดฟังความคิดเห็นก่อน  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 21 ก.ค. 04, 18:03
 ชอบใจในความเพียรของคุณอาชาผยองและอ.เทาฯครับ ทำให้ได้ข้อมูลสรุปมารวมอยู่ในที่เดียวกันอย่างกระชับ

ผมอยากขอเสนอให้ผนวกองค์ประกอบที่ผมได้แสดงไว้ในกระทู้ก่อน(แบบกร้าวๆ) เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วิจัยด้วย  บางทีเราอาจได้มุมมองใหม่อย่างเป็นวิชาการที่ลงตัวกว่า

องค์ประกอบที่ว่า คือ พระพุทธศาสนาเป็นจิตวิญญาณแห่งสยามประเทศ

เป็นหลักปฏิบัติของพระสงฆ์ในเถรวาทให้ศึกษาพระบาลีสืบต่อกันมาอย่างมิให้ผิดเพี้ยน เพื่อป้องกันมิให้เกิดทัศนะคติส่วนตนเข้าไปปะปนกับพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์แห่งพระบรมศาสดาเจ้า  ซึ่งยังคงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องแม้จนทุกวันนี้ในประเทศต่างๆ  จนปรากฏตลอดมาว่าพระสงฆ์แม้ต่างชาติต่างภาษา หากชำนาญในพระบาลีแล้วก็อาจสื่อสารกันได้อย่างแคล่วคล่องไม่มีอุปสรรค

ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ จึงมีการจารึกพระสัทธรรมไว้ด้วยอักขระวิธีที่มีแบบแผนเป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการพัฒนา-วิวัฒน์เฉกเช่นภาษาที่ใช้เป็นการทั่วไป  จนทำให้พระสัทธรรมต้องแปดเปื้อน ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม  อักขระวิธีดังกล่าวถูกเรียกมาช้านานว่า "ตัวขอม" หรือ "อักขระขอม"

ใครจะมาบอกว่าตัวขอมเป็นของเขมรโบราณ ผมก็จะบอกว่าเกิดไม่ทัน ตอบไม่ได้  แต่เท่าที่เห็นตัวขอมเป็นอักขระวิธีของไทยอีกชุดหนึ่งที่สืบทอดมาจนลืมเลือน หาทีมาไม่ได้ ใช้เพื่อบันทึกพระสัทธรรมเป็นหลัก  ด้วยเหตุนี้ตัวขอมจึงได้รับฐานันดรพิเศษ  เป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์  จึงมีการสืบทอดการเขียนยันต์ขลังเพื่อให้เกิดผลพิเศษเหนือธรรมชาติด้วยอักษรขอมมาเป็นเวลานานแสนนานจนลืมเลือนความเป็นมาเช่นกัน

ขอลองเอาข้อมูลตรงนี้ไปทดลองใส่ประกอบการพิจารณาด้วยเถิด  บางทีอาจหาข้อยุติที่ลงตัวที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ได้


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 22 ก.ค. 04, 11:23
 เมื่อวานมีเวลาอยู่เท่านั้นครับ จึงอาจให้เนื้อความที่ยังดูไม่ต่อเชื่อมเท่าที่ควร

ดังที่กล่าวไว้ว่าสยามประเทศมีอักขระวิธีอยู่สองแบบ  แบบหนึ่งเป็นตัวขอม ซึ่งถือเป็นอักขระศักดิ์สิทธิ์ใช้บันทึกพระธรรม จึงมีฐานันดรเป็นเหล่าสมณะ  อีกแบบหนึ่งคือตัวหนังสือทั่วไปที่ใช้เขียนติดต่อกัน  แต่งเพลงยาวจีบสาวบ้าง  เขียนเป็นบัตรสนเท่ด่ากันเองบ้าง  แต่งเป็นกลอนบทอัศจรรย์บ้าง  เรียกว่าเขียนได้โดยไม่ต้องเกรงใจตัวหนังสือ จึงมีฐานันดรเป็นสามัญชน ประชาชนทั่วไป

ฉะนั้นจึงยังขาดอยู่อีกฐานันดรหนึ่งซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจประดุจองค์สมมุติเทพ  คือฐานันดรกษัตริย์

สุโขทัยมีภาพว่าเป็นยุครุ่งเรือง แม้ในพวศาวดารยังกล่าวถึงพระร่วงอย่างยกย่องเป็นวีรกษัตริย์ผู้มากด้วยกฤษฎาภินิหาร การลำดับต้นวงศ์ของราชวงศ์จักรียังนับย้อยสืบไปถึงราชวงศ์พระร่วง  ประกอบด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ที่เป็นถาวรวัตถุต่างๆที่คงเหลือให้เห็น  ก็น่าเชื่อว่าผู้คนในยุคสุโขทัย น่าจะมีอยู่ดีมีสุข สามารถพัฒนาศิลป วรรณกรรม และศาสตร์แขนงต่างๆให้ก้าวไกล ด้วยไม่ต้องพวงกับศึกสงคราม และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง

จึงน่ามีความเป็นไปได้มากที่จะมีความพยายามสร้างอักขระวิธีชุดที่ 3 ขึ้นมาสำหรับวรรณะกษัติย์เป็นการเฉพาะ และก็เหมือนอนุสาวรีย์แสดงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ในอดีตจำนวนมาก ที่ต่างคนต่างมีขัตติยมานะ  ใครขึ้นครองบัลลังค์ก็ต้องการสร้างสิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ศิลาจารึกของสุโขทัยที่ต่างรัชสมัยจึงปรากฎอักขระต่างแบบกันจนน่างุนงง

แต่อักขระวิธีที่ปรากฎบนจารึกต่างๆนั้น ล้วนเป็นทางแยกที่เป็นซอยตันสั้นๆทั้งสิ้น  อักษรไทยปัจจุบันไม่ได้มีรากฐานจากอักขระวิธีเหล่านั้น  แต่ละรัชสมัยอักขระของวรรณกษัตริย์ก็อาจถูกดัดแปลงจากอักขระวรรณะสมณะและวรรณะสามัญชน มาก-น้อยแตกต่างกันไป  แล้วก็หยุดอยู่เพียงนั้น  ในขณะที่อักษรไทยหรืออักขระวิธีแห่งสามัญชนก็วิวัฒน์ต่อมาเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเป็นอักขระวิธีที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องมาตลอด  ในขณะที่อักษรขอมมีความคงตัวสูงด้วยเหตุผลเดียวกับภาษาบาลี ที่ถูกเป่ากระหม่อมไว้ให้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วยความฉลาดของบรรพบุรุษไทยโบราณ จนไม่มีใครกล้าแตะต้อง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

น่าเสียดายที่ลัทธิชาตินิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 2 ผนวกกับความเชื่อถือในทฤษฎีของเซเดส  ทำให้อักษรขอมถูกรังเกียจว่าเป็นอักษรของเขมรโบราณ และเป็นเครื่องตอกย้ำประวัติศาสตร์ที่น่าอับอาย(ตามการตั้งทฤษฎีของเซเดส)ว่าครั้งหนึ่งไทยเป็นทาสขอมหรือเขมรโบราณ

นโยบายของท่านผู้นำจึงก่อให้เกิดการทำลายปราชญ์ผู้รู้อักษรขอม ตลอดจนบันทึกเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณลงอย่างย่อยยับทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ปัจจุบันหกสิบปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2  คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะหาผู้สามารถอ่าน-เขียนอักษรขอมในระดับปราชญ์  ทำให้ยิ่งยากแสนยากที่มีการมองภาพปริศนาของประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศได้อย่างครบถ้วน

แม้แต่ยันต์อุณาโลมยังไม่รู้จักหยิบยกมาพิจารณากัน จะให้กลับไปดูไปศึกษาบันทึกอักษรขอมก็ต้องรอให้นักวิชาการรุ่นปัจจุบันเข้าโลงไปให้หมดก่อนกระมัง


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ก.ค. 04, 21:51
 เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูจริงๆครับ ผู้ที่สร้างจารึกหลักนี้ขึ้นมา ได้สร้างระบบการเขียนภาษาไทยที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา ไม่ว่าผู้สร้างจะเป็นพ่อขุนรามคำแหง พระมหาธรรมราชาลิไท ร.4 หรือใครอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ตาม กล่าวได้ว่าเป็นอัจฉริยะโดยแท้ครับ ก็การเขียนภาษาไทยโดยที่ไม่ต้องสับสนกับคำว่า ตาก-ลม และ ตา-กลม (โดยไม่ต้องใส่ - เหมือนที่ผมทำ) จะมีก็ที่นี่ที่เดียวเองครับ จะว่าไปแล้วอักขรวิธีในหลักที่ 1 นี้ มีหลายจุดที่น่าสนใจนะครับ การนำสระอุ สระอู มาไว้หน้าคำนั้น ไม่เหมือนกับใครทั้งสิ้น และก็เป็นจุดสำคัญในการที่ทำให้สามารถช่วยจัดการกับการแยกคำได้ เรื่องนี้ ฝ่ายที่เห็นว่า ร.4 ทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้นสันนิษฐานว่าเพราะการที่สระบนสระล่างมาอยู่ในบรรทัดทั้งหมดนั้น เป็นเพราะว่าพระองค์ต้องการจะทำให้สะดวกแก่การพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์สมัยใหม่ เรื่องนี้ผมเองยังข้องใจแต่เพียงว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงยังต้องทิ้งวรรณยุกต์ไว้ข้างบน เพราะถึงเหลือแค่สองตัวก็คงยุ่งอยู่ดีนะครับ เรื่องนี้ดูเหมือนฝ่ายยักษ์(ของยืมไมเคิล ไรท์มาใช้เพื่อความสะดวกนะครับ)จะไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพูดบ้างเลยนะครับ

งานวิจัยของอ.ราตรีน่าสนใจมากครับ เพราะผมเคยอ่านรายงานทางภาษาศาสตร์ในรูปของ second source เท่านั้น ถ้าคุณเทาชมพูจะกรุณามาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกก็จะขอขอบคุณมากเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวรรณยุกต์ในจารึกหลักที่ 1 เพราะเท่าที่ผมทราบ(ลองอ่านดูก็ได้ครับ)พบว่าการใช้วรรณยุกต์ไม้เอก และไม้โท(ในรูป+)ตรงกับกฎเกณฑ์ภาษาไทยสมัยปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งไม่พบลักษณะนี้ในจารึกหลักอื่นๆหรือแม้แต่เอกสารในสมัยอยุธยาก็ตาม ฝ่ายพระแย้งว่านี่แสดงว่าการจัดกลุ่มอักษรเสียงสูง กลาง ต่ำได้มีการทำกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และเสื่อมลงในภายหลังดังที่ปรากฎในจารึกหลักอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้วซอยแรกนี้ ลึกกว่าซอยตันอื่นๆทั้งสิ้นนะครับ จะว่าไปแล้วอาจจะลึกล้ำกว่าภาษาไทยปัจจุบันในบางแง่มุมด้วย ไม่ทราบว่าผลวิจัยของอ.ราตรีจะวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่งที่ผมสงสัยจากงานวิจัยของอ.ราตรีที่คุณเทาชมพูยกมาคือ เรื่อง "เสียง" ของภาษาในจารึกนั้น เพราะว่าน่าจะนำมาวิเคราะห์ยากนะครับ เพราะไม่มีใครเคยได้ยิน"เสียง"นั้นจริงๆ เห็นแต่รูปอักษร แม้จะใช้หลักภาษาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย ก็น่าจะไม่ง่ายนัก อย่างภาษาเขมรรูปและเสียงที่อ้างถึงก็เป็นเขมรปัจจุบันอย่างแน่นอน การวิเคราะห์ในเรื่องเสียงนั้นคงต้องใช้ความคาดเดาอย่างสูงมาก ไม่เหมือนการวิเคราะห์รูป ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่านะครับ

เรื่องการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์นี้น่าสนใจครับ ผมเองไปค้นเอาหนังสือเกี่ยวกับภาษาบาลี-สันสกฤตเก่าๆกลับมาอ่านใหม่ก็พอจะเข้าใจนัยยะการวิเคราะห์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของเสียงมากขึ้นเล็กน้อยครับ หากมีผู้สนใจจะหาเวลาสรุปมาให้อ่านกันครับ

เรื่องที่คุณเทาฯสงสัยเกี่ยวกับความรู้ด้านภาษาขอมของร.4 ผมไม่แน่ใจนัก แต่เชื่อว่าพระองค์น่าจะมีพื้นความรู้อยู่ไม่น้อย อย่างน้อยผู้ที่พระองค์มอบหมายให้อ่านจารึกหลักที่ 4 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ก็เป็นศิษย์ของพระองค์เองนะครับ นอกจากนี้การที่ ร.4 ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นได้นั้น แสดงภูมิของพระองค์ชัดแจ้งแล้วครับ ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายยักษ์จะเชื่ออย่างนี้ เพราะพระองค์มีศักยภาพที่จะทำได้จริงๆ

สำหรับสัญญลักษณ์อุณาโลมนั้น ไม่แน่ใจว่ามีนักวิชาการท่านใดอ้างถึงบ้าง แต่ที่แน่ๆอ.พิริยะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวถึงในหนังสือ"จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม" ว่าสัญญลักษณ์ดังกล่าวไม่พบในจารึกหลักอื่น แต่พบใน "หนังสือไทยเดืม"(เขียนตามชื่อหนังสือ) ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และ ยังพบใช้ในพระราชหัตเลขาของร.4 อีกด้วยครับ แต่ไม่ได้อธิบายอันใด ปล่อยให้คนอ่านคิดไปไกลกันเลยครับ(ซึ่งก็คงจะตรงวัตถุประสงค์ของผู้เขียนแล้ว) เรื่องนี้ผมว่าน่าจะศึกษาต่อว่า สัญญลักษณ์นี้ยังพบใช้ในการอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นตามที่คุณถาวภักดิ์ได้ชี้แนะไว้ สัญญลักษณ์นี้น่าจะถูกใช้ในการศาสนามาเป็นปกติก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าสืบสวนได้ว่าใช้มาตั้งแต่สมัยใดก็น่าจะคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้ไปได้ครับ

แนวทาง "ภาษาของกษัตริย์" ที่คุณถาวภักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ถือว่าเป็นการมองในอีกแนวทางหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่ามีจารึกบางหลักมีการจารไว้คู่กันเช่นหลักที่ 4 และ 5 วัดป่ามะม่วงซึ่งเป็นจารึกที่มีเนื้อความเกือบเหมือนกันจารึกไว้เป็นภาษาขอมและภาษาไทย ซึ่งหากภาษาไทยในหลัก 1 เป็นภาษาของกษัตริย์ก็แสดงว่าภาษานี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้สืบเนื่องในรัชกาลต่อมา ซึ่งน่าเสียดายมากครับกับภาษาที่มีระบบดีขนาดนี้

สำหรับนักอ่านจารึกภาษาขอมนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่ายังมีการเรียนการถ่ายทอดความรู้ระดับใดในประเทศไทยปัจจุบัน แต่น่าสังเกตว่านักประวัติศาสตร์ชาวต่างประเทศหลายๆคนที่สนใจเรื่องนี้ก็เป็นนักอ่านจากรึกขอมโบราณระดับผู้เชี่ยวชาญอย่าง Cedes (ฝ่ายพระ) หรือ Vickery (ฝ่ายยักษ์) นะครับ

ขอฟังข้อมูลของคุณเทาชมพูต่อครับ อีกทั้งหากคุณถาวภักดิ์จะกรุณาอรรถาธิบายแนวคิดเรื่องภาษาของกษัตริย์ และ ข้อเท็จจริงที่คงเหลืออยู่ในโลกของพระ ให้ฟังต่อก็จะเป็นพระคุณมากครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 23 ก.ค. 04, 12:08
 ขอบคุณครับที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง  แต่ถามกว้างจัง  ตอบไม่ถูกครับ  ขยายความให้อีกหน่อยก็แล้วกันถึงความลงตัวกว่า  เช่น การที่มีเนื้อความว่าลายสือนี้แต่ก่อนไม่มี  และอักขระวิธีที่แตกต่างกับจารึกอื่น

ส่วนในประเด็นพระศาสนา คงบอกได้อย่างกว้างๆเช่นกันว่า  คนเราจะมองอะไรก็ย่อมต้องผ่านทัศนคติตามที่เรียนรู้สร้างสมประสบการณ์มา  ปัจจุบันก็เช่นกันเป็นเรื่องปกติที่ผู้เป็นใหญ่มักขึ้นสู่อำนาจและพยายามรักษาอำนาจด้วยการสร้างภาพ  จึงอดไม่ได้หรอกครับที่จะมองผู้มีอำนาจให้สมัยก่อนๆว่าคงจะต้องไม่หนีความเป็นนักสร้างภาพเช่นกัน

ฉะนั้นทำไมเราไม่ trial & error เหมือนเรื่องอื่นๆบ้าง  ลองเอาแว่นของผู้ที่มีความเคารพศรัทธาในพระศาสนามาใส่แทนแว่นนักการเมือง นักสร้างภาพ ดูหน่อยซิ ภาพที่ออกมาจะสมบูรณ์กว่าไหม

ถ้าถามว่าทำไมต้องพระพุทธศาสนา คงต้องบอกให้ลืมตาดูรอบๆตัวหน่อย และให้หัดฟังเสียงรอบๆตัวบ้าง  มีเสียงที่ไม่เบานักและดังอยู่อย่างต่อเนื่องว่า "ศิลปของไทยมีแต่วัดกับพระพุทธรูป"  

ซึ่งเป็นความจริง และสื่อหมายความให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษจงใจมอบให้เป็น The Legacy แห่งแผ่นดิน

แล้วถ้าเข้าใจถึงจิตใจของผู้ที่เป็นบุพการี ก็ย่อมต้องรู้ซึ้งถึงหัวใจพ่อแม่ที่มีจิตใจปกติว่ามีแต่ความรักความห่วงใยลูกยิ่งกว่าตัวเอง ตัวเองจะอด จะไม่มีกินไม่มีใช้ ก็ไม่ว่าไม่บ่นเลย  เพียงขอให้ลูกมีความสุขที่สุด ได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุดเถิด

ฉะนั้นเมื่อชัดเจนว่าบรรพบุรุษของไทยตั้งใจมอบพระศาสนาให้เป็นมรดก  ก็จะได้ความเข้าใจว่าท่านย่อมเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติที่มีค่าสูงสุดที่สมควรรักษาไว้ด้วยชีวิตเพื่อส่งต่อเป็นมรดกอันมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดให้ลูกหลานอันเป็นสุดที่รักยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ

และตราบใดที่เรายังไม่เห็นซึ้งว่าพระพุทธศาสนาเป็นมหาสมบัติอันหาค่าไม่ได้  เราจะเข้าใจจิตใจ ความคิด การกระทำ และความเป็นมาในอดีตของบรรพรุษได้อย่างไร


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 15:41
 ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวอักษรขอมโบราณ ค่ะ
อักษรขอมโบราณ แยกประเภทตามวิธีเขียนมี ๒ ประเภท คือขอมหวัด กับขอมบรรจง
อักษรขอมอย่างที่นิยมจารึกลงบนแผ่นหิน  เรียกว่าขอมบรรจง   ในเขมร  อักษรขอมประเภทนี้ต่อมาพัฒนาเป็นอักษรขอมมูล   ปัจจุบันใช้เวลาเขียนหัวข้อใหญ่ หรือเขียนป้าย  ตามพนมเปญมีให้เห็นกันทั่วไป
ส่วนขอมหวัด คืออักษรขอมที่เขียนในใบลาน อย่างที่พระสงฆ์ไทยศึกษากัน   อักษรขอมแบบนี้พัฒนามาเป็นอักษรขอมเจรียง ที่ใช้กันในปัจจุบันในพนมเปญเวลาเขียนอะไรต่อมิอะไรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นในเอกสารต่างๆ
ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเคยศึกษาภาษาขอม  ท่านน่าจะศึกษาขอมหวัด แบบเดียวกับพระสงฆ์ทั่วไปเรียนในการศึกษาคัมภีร์โบราณ      แต่อักษรขอมที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรไทยในจารึกหลักที่ ๑ เป็นอักษรขอมบรรจง  ไม่ใช่ขอมหวัดอย่างพระสงฆ์สมัยรัตนโกสินทร์เรียน  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 15:45
 เมื่อดูจากวิธีการออกแบบตัวอักษรไทยในศิลาจารึกหลักที่ ๑  ผู้ออกแบบซึ่งจะเป็นใครก็ตาม ได้ผสมผสานบางส่วนของอักษรมอญและขอมเข้าด้วยกัน แล้วนำมาดัดแปลงเป็น "ลายสือไท"   คือเอาตัวขอมเหลี่ยมมาตัดส่วนบนของพยัญชนะที่รกรุงรังออกเสีย   เหลือแต่ตัวพยัญชนะล้วนๆซึ่งสลักลงหินง่ายกว่า   แล้วลบเหลี่ยมตามแบบตัวขอมออก  ให้ค่อนข้างมนแบบอักษรมอญ  

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าอักษรทั้งสองอย่างนี้ ใช้กันแพร่หลายในแหลมทองมาตั้งแต่ก่อนเกิดอาณาจักรสุโขทัย    สันนิษฐานว่าคนไทยในอาณาจักรสุโขทัยคงใช้อักษรมอญหรือขอมมาก่อน หรือทั้งสองอย่าง เพราะพบหลักฐานเช่นอักษรมอญในจารึกวัดกู่กุฎ ซึ่งมีอายุเก่าไม่น้อยกว่าสุโขทัย หรืออาจจะมากกว่าเสียอีก
 
ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์"ลายสือไท" ในจารึกหลักที่ ๑ ขึ้น เป็นของสุโขทัยโดยเฉพาะ    เค้าวิธีเขียนได้อิทธิพลจากขอมและมอญซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในยุคนั้น    ต่อมาในสมัยอยุธยา  อิทธิพลของขอมยังมีให้เห็นในยุคต้นๆ  แล้วก็จางลงทุกทีหลังสมัยพระเจ้าปราสาททอง  จนถึงปลายอยุธยาแทบไม่มีอิทธิพลขอมให้เห็นทางภาษาและวรรณคดีเลย  นอกจากสืบทอดจากของเก่าซึ่งก็จางหายไปมาก เพราะขอมหมดอิทธิพลกับไทยไปแล้ว

ลักษณะตัวอักษร"ลายสือไท" นั้นเมื่อเทียบกับตัวอักษรขอม ซึ่งได้เค้าว่าเป็นที่มา    พบว่าตรงกับอักษรขอมสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗  (ครองราชย์ ๑๗๒๔-๑๗๖๐)ลองบวกลบปีกับอาณาจักรสุโขทัยยุคพ่อขุนรามดูนะคะ

พูดถึงความรู้ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  นักวิชาการรุ่นหลังเห็นว่า ทรงศึกษาภาษาขอมมาไม่มาก   น้อยกว่าบาลีสันสกฤต    คงจะสนพระทัยบาลีสันสกฤตมากกว่า เห็นได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้กับสังฆราชปาเลอกัว  ก็ทรงแลกภาษาบาลีกับละติน    นอกจากนี้ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง  ก็จะทรงอ้างศัพท์สันสกฤตกำกับอยู่หลายแห่ง   เวลาสะกดชื่อคนหรือชื่อเมือง
ดิฉันยังหาไม่พบว่า ในพระราชประวัติ มีตอนไหนกล่าวถึงหลักฐานการใช้ภาษาขอมของพระองค์ท่าน  โดยเฉพาะในพระราชนิพนธ์    แต่ทราบว่าในการวินิจฉัยศิลาจารึกหลักที่ ๑  นักวิชาการด้านนิรุกติศาสตร์รุ่นหลังที่นำมาศึกษาต่อ ก็พบว่าทรงวินิจฉัยผิดอยู่หลายคำ    (เสียดายที่ยังไม่มีตัวอย่างให้เห็น)   แต่ทำให้คิดว่าถ้าทรงสร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาเองจริง ก็ไม่น่าจะวินิจฉัยศัพท์ที่สร้างมากับมือ ผิดได้ลงคอ


สำหรับคำถามของคุณ CH เรื่องการออกเสียงสมัยสุโขทัยว่าเราไม่มีทางรู้ว่าเขาออกเสียงกันยังไง   ที่จริงมันก็มีทางรู้ค่ะ  แม้ว่าเราไม่สามารถได้ยินกับหูได้ว่าพ่อขุนรามฯเองทรงเปล่งเสียงออกมาสูงต่ำแค่ไหนก็ตาม    
นักภาษาเขาจะเริ่มศึกษา จนสามารถตั้งหลักเกณฑ์ได้   เริ่มตั้งแต่วิธีการเทียบตัวอักษรกับเสียง ในศิลาจารึกก่อนค่ะ เพื่อดูว่าระบบของมันเป็นยังไง  
เมื่อจับวิธีการแทนเสียงด้วยตัวอักษรได้แล้ว  โดยเทียบกับภาษาปัจจุบัน  ก็จะพบว่าตัวอักษรบางตัวนั้นไม่อยู่ในกฎเกณฑ์นี้  หมายความว่ามันแทนเสียงอะไรสักเสียงที่อาจจะไม่มีในภาษาไทยปัจจุบัน    
ต่อจากนั้นก็จะหันไปมองภาษาถิ่นต่างๆที่เชื่อว่ามีวัฒนธรรมติดต่อกับสุโขทัยบ้าง หรือว่าอาจจะมีถิ่นกำเนิดร่วมกันบ้าง  อย่างภาษาตระกูล ไท ต่างๆนอกประเทศ  แล้วดูว่า คำที่มีที่มาอันเดียวกัน หรือความหมายคล้ายกัน หรือสะกดคล้ายกันกับในศิลาจารึก   ตามถิ่นต่างๆมีการออกเสียงยังไง    
ด้วยวิธีการสังเกตและวิเคราะห์แบบนี้ทำให้รู้การออกเสียงในคำบางคำได้  เพราะมันยังถูกบันทึกเอาไว้ด้วยคนท้องถิ่น  

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีคำว่า " ด้วยรู้ด้วยหลวัก"  คำนี้ถ้ามองเฉยๆไม่มีหลักเกณฑ์อะไร  อาจจะอ่านออกเสียงว่า หล-วัก    หรือ หะ-ละ-วัก  หรือ อ่านควบกล้ำไปเลยว่า หลวัก  คือ หลว ควบกันหมด ก็ได้
ถ้าจะสืบว่าออกเสียงอย่างไร  นักภาษาก็ต้องมาค้นก่อนว่า คำนี้มันแปลว่าอะไร  ดูจากบริบท   เมื่อหาคำแปลได้แล้ว ว่าหมายถึงรอบรู้ เฉลียวฉลาด  (intelligent)    ก็พบว่ามีคำในภาคกลางที่ยังมีเค้าคำนี้ คือ "หลัก" ในคำว่าหลักแหลม  หมายถึงเฉลียวฉลาด   แต่กลายเสียงจาก หลว  เป็น หล  ส่วน ว หายไป
นักภาษาศาสตร์ค้นคว้าต่อไป พบว่า  ในภาษาถิ่นของล้านนามีคำว่า หลวก  แปลว่า ฉลาด    อีสานก็เช่นกัน  ทางใต้ที่กลันตันก็ใช้ หลวก แปลว่า ฉลาด  เมื่อเทียบกับการออกเสียงในภาษาถิ่นแต่ละถิ่น   ก็พอจะแกะรอยได้ว่า การออกเสียง หลวัก ในศิลาจารึก นั้น  ออกเป็นคำควบกล้ำ หลว  คือสรุปว่าอ่านออกเสียงออกมายังไง
นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้เรื่องเสียง ค่ะ  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 23 ก.ค. 04, 15:58
 นักภาษานี่เก่งจริงเลยนะครับ เรื่องราวล่วงเลยมาหลายร้อยหลายพันปีก็ยังเข้าใจได้
สำหรับผมแล้ว แค่ภาษาไทยในปัจจุบันก็ยากเกินสติปัญญาแล้ว ก็ได้แต่ตามอ่านความคิดที่แบ่งเป็นหลายฝ่าย
ถ้าถามผมว่าจะเชื่อฝ่ายไหน ผมจะบอกว่าเชื่อการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ครับ ว่าร่อยรอยอ็อกไซด์ในหินลึกหนาบางเท่าไร
อย่างอื่นคิดไม่ออกครับ

แต่ดูจารึกหลักที่ 1 แล้วต่างจากอักษรไทยปัจจุบันมาก
ตัวหนังสือไทยเริ่มเป็นแบบที่เราใช้กันตั้งแต่เมื่อไรครับ
แล้วมีหลักฐานหรือไม่อย่างไรครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 16:29
 ตัวอักษรไทยอย่างที่ใช้กันปัจจุบันนี้ ไม่ได้จู่ๆก็เกิดขึ้นมาในพ.ศ.ใดพ.ศ.หนึ่งค่ะอาจารย์นิรันดร์
แต่มันเป็นวิวัฒนาการมาจากลายสือไท

ที่หอสมุดแห่งชาติ  มีกระดาษแสดงวิวัฒนาการของตัวอักษรไทย  ตั้งแต่ลายสือไท  ถึงปัจจุบัน ว่าเปลี่ยนแปลงไปยังไงจนกระทั่งกลายมาเป็นอย่างที่อาจารย์กับดิฉันใช้เขียนโต้ตอบกันอยู่นี่แหละ
ขายแผ่นละ 10 บาท

วิวัฒนาการของตัวอักษร ในช่วงที่อยู่ระหว่างกลางยุคสมัยของสุโขทัยและรัตนโกสินทร์  คือสมัยอยุธยา ต้น กลาง ปลาย ก็มีหลักฐานเหลืออยู่ให้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงการเขียนรูปตัวอักษรค่ะ  ว่ามันค่อยๆกลายในแต่ละยุคแต่ละสมัยยังไง

จากสุโขทัย มาถึงอยุธยา ตัวอักษร ก  ข ค  พวกนี้จะเรียวลง   ไม่อ้วนมนอย่างยุคก่อน   เพิ่มความเอียงในตัวอักษรมากขึ้น  มาถึงรัตนโกสินทร์ ก็ตั้งตรง  อย่างที่เห็นกัน
อธิบายแค่นี้ก่อนค่ะ   เดี๋ยวจะออกนอกศิลาจารึกไปอีกไกล


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 16:34
 มีอีกทางหนึ่ง เรื่องการพิสูจน์  คือนำศิลาจารึกหลักที่ 1 มาเทียบชนิดและประเภทของหิน  และความเก่าแก่ของการจารึก กับศิลาจารึกหลักอื่นๆที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นสมัยสุโขทัย
ว่ามีความใกล้เคียงกันหรือไม่เพียงใด  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ก.ค. 04, 17:11
 เรื่องการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถ้ามีหลักเป็นมั่นเป็นเหมาะผมก็เชื่อครับอ.นิรันดร์ แต่การพิสูจน์ที่เคยทำกับจารึกหลักที่ 1 ผมยังข้องใจอยู่มากเพราะการวิเคราะห์ทำโดยการใช้ scanning electron microscope และ energy dispersive x-ray spectrometer equipment ศึกษาพื้นผิวของจารึก ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ใช้ในการศึกษาอายุได้โดยตรง และที่สำคัญคือผม"ค้นไม่พบ"ว่าเคยมีการใช้วิธีการนี้ในการกำหนดอายุวัตถุโบราณในที่อื่นๆเลยนะครับ และที่สำคัญ เท่าที่ผมค้นพบ ในผู้วิเคราะห์สองท่าน(ด้วยความเคารพ) ท่านหนึ่งเป็นนักโบราณคดีที่ไม่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์แบบนี้ ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นนักธรณีวิทยาที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีอีกเช่นกัน ต้องยอมรับว่า "น้ำหนัก" ยังไม่พอจริงๆครับ

ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้แหละครับ ที่เป็นความพยายามในการพิสูจน์ความเก่าแก่ของการจารจารึกที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงครับ

ส่วนเรื่องชนิดของหิน ผมกลับไม่คิดว่าเป็นสาระสำคัญมากนัก เพราะในยุคสมัยเดียวกันอาจใช้หินชนิดที่แตกต่างกันก็ได้ครับ ใช้เป็นบริบทคงจะพอได้ แต่ใช้เป็นข้อสรุปยังไม่น่าจะ่ได้นะครับ

มิฉะนั้นคงต้องฟันธงผลการพิสูจน์กันไปนานแล้ว

ถึงตอนนี้ ผมยังให้น้ำหนักที่การวิเคราะห์ทางด้านอักขรวิธี ภาษาศาสตร์ และเรื่องราวในจารึกมากกว่าครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 23 ก.ค. 04, 18:01
 เหตุที่ผมโต้แย้งทฤษฎีเดิมที่ว่าอักขระไทยปัจจุบันมีการพัฒนามาจากลายสือไทยุคพ่อขุนรามฯ

ประการหนึ่งก็ด้วยทฤษฎีดังกล่าวเคยตั้งควบอยู่กับทฤษฎีว่าด้วยสุโขทัยเป็นเมืองหลวงแรกของราชอาณาจักรไทยที่มีอาณาเขตกว้างขวางตลอดแหลมมาลายู หัวเมืองมอญ และจรดตอนเหนือของเวียดนาม  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ก็คงสมเหตุสมผลที่อักขระไทยยุคอยุธยาจะต้องพัฒนามาจากอักขระเดิมในยุคสุโขทัย  เช่นเดียวกับที่ยุครัตนโกสินทร์รับทุกสิ่งจากอยุธยา  หรืออาจเรียกยุครัตนโกสินทร์ว่าเป็นอยุธยาใหม่ก็ยังได้

แต่ความจริงสุโขทัยเป็นเพียงรัฐๆหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างรัฐน้อยใหญ่ที่มีราชวงศ์กษัตริย์ของตน เช่น ล้านนาของพญาเม็งราย ภูกามยาวของพญางำเมือง  สุพรรณบุรี-ราชบุรี  อโยธยา-ละโว้  เป็นต้น

สุโขทัยมีความสงบอยู่เพียงช่วงระยะหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้วย  ความมั่งคั่งที่อาจได้จากโอกาสที่เอื้อให้ฉกฉวยประโยชน์จากเส้นทางการค้าในยุคนั้น  และนโยบายทางการทูต  กล่าวคือ พ่อขุนรามฯเป็นศิษย์สำนักเดียวกันกับพญาเม็งรายและพญางำเมือง  ในขณะที่ประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงศรีฯทำให้เราเข้าใจถึงความแน่นแฟ้นทางเครือญาติระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย  และยังมีพ่อขุนผาเมืองอีกที่น่าจะมีบทบาทสำคัญยับยั้งมิให้อโยธยา-ละโว้พยายามแผ่อำนาจเหนือสุโขทัยในยุคต้นๆ

ด้วยน้ำหนักที่ลบล้างทฤษฎีเดิมจนเห็นภาพสุโขทัย ว่าเป็นเพียงรัฐอิสระเล็กๆที่เบียดแทรกอยู่ระหว่างรัฐที่มีศักยภาพสูงกว่า รอวันที่จะถูกครอบงำ และในที่สุดก็ถูกผนวกไว้กับอยุธยา  เป็นเหตุให้น้ำหนักของทฤษฎีว่าด้วยอักขระไทยยุคอยุธยามาจากอักขระยุคสุโขทัย อ่อนลงไปถนัดใจ

ดูเหมือนว่าอักขระไทยปัจจุบัน หรืออักขระอยุธยานั้นน่าจะมีพัฒนาการเป็นเอกเทศและได้รับอิทธิพลจากยุครุ่งเรืองสั้นๆของสุโขทัยน้อยมาก หรือไม่มีเลย


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 18:07
 "สำหรับนักอ่านจารึกภาษาขอมนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่ายังมีการเรียนการถ่ายทอดความรู้ระดับใดในประเทศไทยปัจจุบัน "
ตอบ
ระดับปริญญาเอกแล้วค่ะ
สาขาวิชาเขมร  ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากนี้ ยังมีระดับปริญญาโท สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก   สาขาวิชาจารึกภาษาไทย  สาขาวิชาภาษาสันสกฤต   สาขาวิชาเขมรศึกษา
เปิดที่คณะโบราณคดีเหมือนกัน  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 18:24
 ดิฉันเห็นตรงข้ามค่ะ คุณถาวภักดิ์
นักภาษาศาสตร์เขาศึกษาจากอักขรวิธีการเขียน  ดูรูปแบบการเขียนลายสือไท   ดูแบบที่ใช้ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ หลังจากนั้นด้วย  แล้วมาดูหลักฐานการเขียนสมัยอยุธยาตั้งแต่ต้นลงมาถึงปลาย  ถึงมองเห็นวิวัฒนาการ
ถ้ามองไม่เห็นวิวัฒนาการ  หรือเห็นแล้วดูว่ามันไม่น่าจะใช่สายตรง   เขาก็มองหาแหล่งที่อื่นต่อไปอยู่ดีละค่ะ  จนกว่าจะเจอ

ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นรัฐใหญ่รัฐเล็กอะไรหรอก  ไม่ใช่ว่าจะต้องหาทางเชื่อมโยงตัวอักษรกันให้ได้ เพราะเชื่อว่าสุโขทัยเป็นรัฐใหญ่  ตัวอักษรเลยต้องมาจากที่นั่น
ก็รู้กันมาตั้งนานแล้วว่าสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา  คือตอนต้นจะใหญ่หรือเล็กไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสุโขทัยและอยุธยานั้น มีให้เห็นแน่ทางประวัติศาสตร์
รัฐที่อ่อนด้อยกว่าหรือไม่ ไม่สำคัญ  แต่ความสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมได้   หนึ่งในความสัมพันธ์นั้นคือตัวอักษร ซึ่งมันมีเค้าให้เห็นความคล้ายคลึงกัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ถ้าตัวอักษรภาษาไทยอย่างที่เราใช้กันนี้ มีวี่แววให้เห็นว่ามาจากกำแพงเพชร หรือว่าละโว้ เพราะมีหลักฐานให้ค้นพบ  นักภาษาศาสตร์ก็ต้องหาทางวิจัยว่ามาจากที่นั่น    เขาไม่ปล่อยข้อมูลอันน่าตื่นเต้นนี้ไว้เฉยๆ เพราะมันหมายถึงงานวิจัย วิทยานิพนธ์  ทฤษฎี ผลการพิสูจน์ ที่เป็นชื่อเสียงและความน่าภูมิใจของเขา

ถ้าหากว่าอักษรไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากที่ใดเลยนอกจากผุดขึ้นมาในอยุธยาด้วยการสร้างของกษัตริย์องค์ไหนสักองค์  คิดขึ้นมาเอง 100% ไม่ได้อิทธิพลจากอักษรที่ไหน  มันก็ย่อมมีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เสียจนมองไม่เห็นอิทธิพลของตัวอักษรอื่น
แต่นี่มันไม่ใช่นี่คะ  มันมีเค้าที่มาให้เห็น  

ส่วนอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นเกี่ยวกันแน่  เพราะรัตนโกสินทร์ตั้งขึ้นโดยชาวอยุธยาแท้ๆ  ที่รอดมาได้ ก็ย่อมนำวัฒนธรรมเดิมติดตัวมาด้วย  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 04, 18:31
 http://www.lib.ru.ac.th/journal/thai_language.html

กำเนิดลายสือไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร


          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทย หรือตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อมหาศักราช 1205 (พุทธศักราช 1826) นับมาถึงพุทธศักราช 2546 ได้ 720 ปีพอดี ในระยะเวลาดังกล่าว ชาติไทยได้สะสมความรู้ทั้งทางศิลปวัฒนธรรม และวิชาการต่างๆ  และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นสืบต่อกันมา โดยอาศัยลายสือไทยของพระองค์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนสมัยสุโขทัย ชาติไทยเคยรุ่งเรืองอยู่ที่ไหน อย่างไรไม่มีหลักฐานยืนยันให้ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นแล้ว มีศิลจารึกและพงศาวดารเหลืออยู่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ชาติไทยเคยรุ่งเรืองมาอย่างไรบ้างในยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในโอกาสครบรอบ 720 ปีนี้ คนไทยทุกคนจึงควรน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน
             ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีข้อความปรากฎว่า "เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี 1205 สก ปีมแม พ่ขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในในแล่ใศ่ลายสืไทยนี๋ ลายสืไทนี๋ จึ่งมีเพื่อขุนผู๋น๋นนใศ่ไว๋" หา แปลว่า ด้วยตนเอง(ไทยขาวยังใช้อยู่) ใคร่ใจในใจ แปลว่า คำนึงในใจ (จากพจนานุกรมไทยอาหม) ข้อความที่อ้างถึงแสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยแบบที่จารึกไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826
          ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในตำนานอักษรไทย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2468 ว่า คำที่ใช้ในจารึกมีคำนี้อยู่ต่อคำ ลายสือ ทุกแห่ง(สามแห่ง) หมายความว่าหนังสือไทยอย่างนี้ไม่มีอยู่ก่อนจะ มิได้ประสงค์จะทรงแสดงว่า หนังสือชนชาติไทยพึ่งมีขึ้น ต่อเมื่อ พ.ศ. 1826 เซเดส์ ยังเห็นว่า พวกไทยน้อยซึ่งมาอยู่ทางลำน้ำยมชั้นแรกเห็นจะใช้อักษรไทยซึ่งได้แบบมาจากมอญ* ต่อมาขอมมีอำนาจปกครองสุโขทัย พวกไทยคงจะศึกษาอักษรขอมหวัดที่ใช้ในทางราชการ แล้วจึงแปลงอักษร เดิมของไทยมาเป็นรูปคล้ายอักษรขอมหวัด

          หนังสือจินดามณีเล่ม 1 ของหอสมุดแห่งชาติเลขที่ 11 เป็นสมุดไทยดำ มีข้อความเหมือนกับจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่ง นายขจร สุขพานิชได้มาจากกรุงลอนดอน แต่คลาดเคลื่อนน้อยกว่า มีข้อความว่า "อนึ่งมีในจดหมายแต่ก่อนว่า ศักราช 645 มแมศก พญาร่วงเจ้า ได้เมืองศรีสัชนาไทยได้แต่งหนังสือไทย และจะได้แต่งรูปก็ดี แต่งแม่อักษรก็ดีมิได้ว่าไว้แจ้ง" "อนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา กน ฯลฯ ถึงเกอยเมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เห็นว่าพญาร่วงเจ้าจะแต่งแต่รูปอักษรไทย" แท้จริงพ่อขุนรามคำแหงมิได้ทรงแต่งแต่รูปอักษรไทยเท่านั้น แต่ยังได้ทรงเปลี่นแปลงอักษรวิธีการเขียนภาษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกหลายประการดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้านี้

มีหนังสือไทยเดิมก่อนลายสือไทยหรือไม่

          ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2510 ว่า ถ้า ลายสือ ไทยนี้บ่มี หมายความว่า หนังสือไทยชนิดนี้ไม่มี แต่คงจะมีหนังสือไทยแบบอื่นอยู่ก่อนแล้ว ในจารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึง เมืองสุโขทัย 14 ครั้ง ทุกครั้ง ใช้คำ เมืองสุโขทัยนี้ จะตีความว่า มีเมืองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงมาตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นมาใหม่กระนั้นหรือ ผู้เขียนเห็นว่า นี้เป็นแต่เพียงชี้เฉพาะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษก็คงจะตรงกับ the เท่านั้น มิได้หมายความว่า this เพราะฉะนั้นที่ว่า ลายสือ ไทยนี้บ่มี คงมิได้หมายความว่ามีลายสือไทยอื่นอยู่แล้ว      แต่ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะมีหนังสือของไทยอาหม เกิดขึ้นทางอัสสัมในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดตัวหนังสือ ในสุโขทัยก็เป็นได้**

          ประวัติไทยอาหมปรากฏอยู่ในหนังสือบูราณยี คำว่า ยี อาจจะตรงกับ สือ ในลายสือ หรือรากศัพท์เดียวกับ จื่อ ซึ่งใช้อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แปลว่า จดจำ เช่นได้จื่อจำไว้   บูราณยีบอกประวัติผู้ครองราชย์ มาตั้งแต่ยุคที่นิยมแต่งตำนานเป็นเทพนิยายลงมา ศักราชแรกที่กล่าวถึงคือ พ.ศ. 1733 ส่วนไทยเผ่าอื่นเริ่มมีประวัติศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานไม่เก่าไปกว่าคนไทยอาหม   หากเก่ากว่านั้นขึ้นไป จะเป็นเรื่องเทพนิยายแบบพงศาวดารเหนือ หรือตำนานเก่าๆ ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เป็นส่วนมาก   ประวัติศาสตร์ไทยทุกเผ่ามาเริ่มจดเป็นหลักเป็นฐานในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้   ผู้เขียนจึงเห็นว่า ตัวหนังสือไทยคงจะเกิดขึ้นต้นยุคสุโขทัยนี้เอง เมื่อมีตัวหนังสือใช้แล้วก็อาจจะจดเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปได้อีกสองสามชั่วคน

          อีกประการหนึ่ง ไม่เคยมีผู้พบจารึกภาษาไทยก่อนยุคสุโขทัยขึ้นไปเลย จริงอยู่เป็นไปได้ว่า คนไทยอาจจะมีตัวอักษรอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่เผอิญจารึกหายไปหมดหรืออาจจะเขียนไว้บนไม้ไผ่ หรือสิ่งอื่นที่ผุพังได้ง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้ามีตัวอักษรอื่นอยู่ก่อนแล้ว ตัวอักษรแบบนั้นก็น่าจะปรากฏขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะดินแดนตั้งแต่อัสสัมถึงเวียดนามและจนตอนใต้ถึงมลายูมีคนไทยอาศัยอยู่ทั่วไป ทำไมจึงไม่ปรากฏตัวอักษรแบบดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะจารึกไว้ในรูปลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น
            ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแพร่หลายเข้าไปในล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 62 วัดพระยีนว่า พระมหาสุมนเถร นำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนาเมื่อ พ.ศ.1912 และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.ศ. 1914 ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่าง และอักขระวิธีไปบ้างกลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม และล้านนายังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  
          เชียงตุงและเมืองที่ใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักขาม ซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่กว่า 10 หลัก เริ่มแต่ศิลาจารึกวัดป่าแดง พ.ศ. 1994 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามเขียนตัวหนังสือสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1910-1940 อยู่หลักหนึ่ง

          ในประเทศลาวมีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำนางอันใกล้หลวงพระบางด้วยตัวอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (พ.ศ. 1890-1911) ส่วนจารึกประเทศลาวหลักอื่นที่เป็นภาษาไทยไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 2030 เลย***

      ไทขาว ไทดำ ไทแดง เจ้าไท ในตังเกี๋ย ผู้ไทในญวน และลาวปัจจุบันนี้ ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

          ถ้าคนไทยมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับลายสือไทย เข้าไปใช้จนแพร่หลายกว้างขวางไปในหลายประเทศดังกล่าวมาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากของที่เคยชินแล้วทำได้ยากมาก เป็นต้นว่า เราเคยเขียนคำว่า "น้ำ" บัดนี้ออกเสียงเป็น "น้าม" แต่ก็มิได้เปลี่ยนวิธีเขียนให้ตรงกับเสียง

          ผู้เขียนเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครอง ก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจถ้าจะประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้เอง จะไปบังคับใครให้มาเรียนหนังสือดังกล่าว เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองขึ้น ก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย เช่น "จ้วง" คนไทยในเมืองจีนคงดัดแปลงตัวหนังสือจีนมาใช้ คนไทยในล้านนาคงจะดัดแปลงตัวหนังสือมอญซึ่งนิยมใช้กันในถิ่นนี้มาก่อน ส่วนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือขอมซึ่งนิยมใช้กันอยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เดิม หากมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะทรงใช้ตัวอักษรไทยเดิม หรือทรงดัดแปลงจากนั้นบ้างเล็กน้อยแทนที่จะดัดแปลงจากอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามฯ  ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ที่เชี่ยวชาญตัวหนังสือชาติต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไทยยกเว้นแต่จีนเพราะจีนใช้หลักการเขียนหนังสือเป็นรูปภาพ ผิดกับหลักการเขียนเป็นรูปพยัญชนะและสระแบบของไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายตัวหนังสือลังกา บังคลาเทศ ขอม และ เทวนาครี ฯลฯ เป็นต้นว่า ตัว จ ฉ หันหน้าไปคนละทางกับอักษรขอม แต่หันไปทางเดี่ยวกับตัวอังษรลังกาที่มีอยู่ก่อนแล้ว

          สมัยพ่อขุนรามคำแหงยังไม่มีไม้หันอากาศ แต่ใช้พยัญชนะตัวเดียวกันหรือวรรคเดียวกันเขียนติด กัน เช่น อนน แทน อัน และ อฏฐ แทน อัฏฐ


          พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นโดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อน ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งคือ ไทยอาหมและไทยคำที่ (ขำตี้) ออกเสียงคำ อัน คล้ายกับคำ อาน แต่เสียงสระสั้นกว่า และออกเสียงคำ อัก-อาก อัด-อาด อับ-อาบ เป็นคู่ๆ  กันเหมือนกับตัวหนังสือของเรา โดยออกเสียงคำต้นสั้นกว่าคำหลังในคู่เดียวกัน แต่ออกเสียง อัว ว่า เอา เพราะถือหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อัว คือ อาว ที่เสียงสระสั้นลงน่าจะออกเสียงเป็น เอา แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ อวว (คือ อัว) เป็นสระ อัว แทนที่จะเป็น สระ เอา หากคนไทยเคยอ่าน อัว เป็น เอา ซึ่งถูกตามหลักภาษาศาสตร์มาแต่เดิมแล้วคงยากที่จะเปลี่ยนแก้ให้อ่านเป็น อัว ซึ่งขัดกับความเคยชิน ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยขึ้น โดยมิได้ทรงทราบว่าตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อนแลัว

          พ่อขุนมังรายมหาราช (เป็นพระนามที่ถูกต้องของพระยาเม็งราย) คงจะได้ดัดแปลงตัวอักษรมอญมาใช้เขียนหนังสือไทยในเวลาใกล้เคียงกัน ดังตัวอย่างตัวอักษรในจารึกลานทองสุโขทัย พ.ศ. 1919

          จ้วง คนไทยในกวางสีประเทศจีนใช้ตัวหนังสือจีนเขียนภาษาจ้วง แสดงว่าเมื่อสุโขทัยและจ้วงแยกจากกัน ยังไม่มีตัวอักษรแบบ กข ใช้ เพราะถ้ามีตัวอักษรไทยเดิมอยู่ จ้วงคงไม่หันไปใช้ตัวหนังสือจีน ซึ่งใช้เรียนมากกว่าตัวหนังสือไทยเป็นสิบๆ ปี

          ส่วนไทยอาหมคงสร้างตัวหนังสือขี้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกับตัวหนังสือสุโขทัย ทั้งนี้เพราะคนไทยเพิ่งจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นกว้างขวางออกไปในระยะนั้น อย่างไรก็ดี นักอ่านศิลาจารึกหลายท่าน เชื่อว่า รูปตัวอักษรของไทยอาหมชี้ให้เห็นว่า อักษรไทยอาหมพึ่งเกิดใหม่หลังอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นระยะเวลานานทีเดียว

**********************

*  ตำนานอักษรไทย หน้า 1 หน้า 6 และหน้า 11
**  หนังสือรวบรวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย หน้า 55
***  ต่อมาพบจารึก หลักที่ 318 จารึกห้วยทราบ ประเทศลาว พ.ศ. 2001 อักษรฝักขาม ซึ่งชาวล้านนาไปเลียนไว้หนึ่งหลัก
คัดลอก, อ้างอิง  

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ :
เอกสารสัมมนาเตรียมการจัดสัปดาห์ห้องสมุด ปีที่ 28, 2546.  

ข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 04, 08:37
 เรื่องวรรณยุกต์ที่คุณ CH เอ่ยถึง   อ.ราตรีได้อธิบายไว้ ว่า
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีรูปวรรณยุกต์ ๒ ตัว ตรงกับภาษาไทยปัจจุบันก็จริง   แต่ "เสียง"ของวรรณยุกต์สมัยสุโขทัยไม่ตรงกับเสียงของปัจจุบัน   เรียกว่าการออกเสียงสูงต่ำผิดกัน

เสียงสามัญสมัยสุโขทัย  ปัจจุบันออกเสียงเป็นวรรณยุกต์เอกก็มี  เสียงวรรณยุกต์โทก็มีได้อีกเหมือนกัน  
เช่นคำว่า ฏ (ต่อ) ปัจจุบันออกเสียงเอกว่า ต่อ
ที   ปัจจุบันออกเสียงว่า ที่  
ลนน(ลัน) เราออกเสียงว่า ลั่น แปลว่าดัง  อย่างในประโยคว่า ฟ้าลั่นครืน หรือไม้กระดานลั่นเอี๊ยดๆ
พระเจ้าฟ้าลั่น  ก็คือฟ้าร้อง นั่นเอง

เสียงเอกสมัยสุโขทัย  มาถึงปัจจุบันเราออกเสียงเป็นเสียงโท   คือ ก่ (ก่อ) เราออกเสียงว่า ก็ (ก้อ)

เสียงในสมัยสุโขทัยยังพบร่องรอยการออกเสียงแบบเดิมหรือใกล้เคียงของเดิมอยู่ในภาษาถิ่นต่างๆ ทางเหนือ และอีสาน    ไม่ใช่เสียงซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากการประดิษฐ์ขึ้นมาโดยใครคนใดคนหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งคือการเขียนรูปวรรณยุกต์  สุโขทัยเขียนคนละอย่างกับกรุงเทพ    ไม้จัตวาของสุโขทัย  ตรงกับไม้โทในปัจจุบันก็มี  อย่างในคำว่า สิ๋น  สมัยนี้คือ สิ้น


ดิฉันไม่ค่อยจะติดใจสงสัยตัววรรณยุกต์ว่าทำไมมันถึงเหมือนของกรุงเทพ  เพราะถือว่ามันต่อเนื่องวิวัฒนาการมาได้   ไม่จำเป็นว่าเป็นการชี้ว่านี่ไง มีใครสักคนดัดแปลงจากสมัยกรุงเทพ เพราะกรุงเทพมีวรรณยุกต์ตรงกัน
เลขไทยเองก็มีเลข ๐  ซึ่งเป็นวงกลม  แบบเดียวกับ เลข 0 ของฝรั่ง  เลข ๓ ของไทยถ้าจับตะแคงให้นั่ง ก็คล้ายเลข 3    แต่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามีคนไทยคนใดคนหนึ่งประดิษฐ์เลขเหล่านี้ขึ้นมาจากการเห็นเลขฝรั่งเลยเอาอย่าง     มันอาจจะสืบเนื่องมาจากไหนก็ได้ด้วยเหตุผลอื่นๆอีกร้อยแปด

แล้วเรื่องไม่ตรงกัน ที่เสียงล่ะคะ จะอธิบายว่ายังไง
นักภาษาศาสตร์อธิบายว่าการกลายเสียง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในวิวัฒนาการของภาษา  ในถิ่นที่มีการติดต่อกับวัฒนธรรมอื่นๆหลายอย่างและเป็นสังคมเปิด อย่างในเมืองหลวงของอาณาจักร  การกลายทั้งเสียงและความหมายในคำต่างๆเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในสังคมเล็กและปิด อย่างในสังคมท้องถิ่น


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 04, 09:04
 ต่อไปจะพูดเรื่องทางด้านคำบ้างนะคะ

คำในศิลาจารึกมีลักษณะเฉพาะที่ไม่พบในกรุงเทพ หลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือเอาลักษณะนาม( เช่นตัว ตน อัน )ไว้ข้างหน้าคำนาม    ส่วนกรุงเทพเอาไว้ข้างหลังคำนาม    เห็นชัดเมื่อเมื่อนับจำนวน

เราพูดว่า หมา ๑ ตัว   หรือ รถคันหน้า  

แต่สุโขทัย ใช้ ตัวปลา ไม่ใช่ ปลาตัวนั้น  

การใช้ลักษณะนามประกอบสรรพนามก็เช่นกัน  เช่น ตนกู   เป็นการย้ำถึงสรรพนามบุรุษที่ ๑ บวกลักษณะนาม (ซึ่งเอาไว้ข้างหน้า)

การใช้ลักษณะนามนำหน้ายังมีให้เห็นอยู่ในภาษาถิ่น เช่นไทยนุง ไทยขาว ไทยย้อย

การที่ภาษาไทยถิ่นต่างๆมีคำลักษณะนามนำอยู่ข้างหน้าคำนาม  เช่นเดียวกับภาษาสุโขทัย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าแต่เดิม ในภาษาไทย  คำลักษณะนามมีทั้ง"ข้างหน้า" หรือ "ข้างหลัง" คำนาม ทั้งสองแบบ

ในอยุธยา สมัยพระนารายณ์ ลักษณะนามที่นำหน้าคำนามก็ยังมีให้เห็นในสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่ว่า
" ตนกูจะตายก็ตายแต่ผู้เดียวใครจะแลดู   โอ้แก้วกับตนกู  ฤๅเห็น"

แต่ต่อมาลักษณะนามที่อยู่ข้างหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำนามไป  อย่าง กิ่งไม้    หัวหอม  เมื่อก่อนนี้กิ่งเป็นลักษณะนามของไม้  หัวเป็นลักษณะนามของ หอม  
คงจะเห็นร่องรอยได้จาก เราพูดว่า เก็บกิ่งไม้ 2 กิ่ง  หรือหยิบหัวหอมมา 1 หัว ซิ     กิ่ง กับ หัว นี่ละค่ะเดิมเป็นลักษณะนามที่เอาไว้ข้างหน้า
เมื่อมันกลายไปแบบนี้  นานๆเข้า ก็เหลือลักษณะนามให้เห็นชัดแบบเดียวคือชนิดเอาไว้ข้างหลัง  

ในสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น    ไม่ใช้ลักษณะนามข้างหน้าอีกแล้ว   เหลือเฉพาะข้างหลังคำนาม  
นอกจากนี้สุโขทัยยังมีลักษณะนามแบบโบราณ ใช้เฉพาะสมัยสุโขทัย  เช่นคำว่า  ขอก (ข้าง) คลวง (ชั้น)  ในอยุธยาและรัตนโกสินทร์ไม่มีแล้ว

คำที่ความหมายเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างตรงกันข้าม
คำว่า "แพ้"
ขอให้เปรียบเทียบคำว่า "แพ้" ใน ๒ เรื่อง
๑) จากรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑  พระอิศวรประทานคทาเพชรให้ยักษ์อสุนพรหม
จึ่งประทานคทาเพชรเรืองฤทธิ์........แล้วประสิทธิ์พรให้แก่ยักษา
จงเป็นใหญ่ทั้งไตรโลกา...................อย่าแพ้ฤทธาผู้ใด
แปลว่า ให้พรว่าจงเป็นใหญ่  ไม่แพ้ใคร คือไม่มีใครเอาชนะยักษ์ได้
๒)ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีประโยคว่า
"ตนกูพู่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้   ขุนสามชนพ่ายหนี"
แปลว่า กูชนช้างชนะช้างชื่อมาสเมืองของขุนสามชน  ขุนสามชนเป็นฝ่ายแพ้ ต้องขับช้างหนี

สุโขทัยใช้คำว่า "แพ้ " ในความหมายว่า "ชนะ " ส่วนคำที่หมายความว่า"แพ้"  สุโขทัยใช้ " พ่าย"  

คำว่าพ่าย ในความหมายว่าแพ้ คำนี้ใช้สืบเนื่องมาถึงอยุธยาตอนต้น  ดังจากวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย   ถ้าเขียนว่า ลิลิตยวนแพ้  ก็แปลว่ายวนเป็นฝ่ายชนะ  

แต่พอล่วงมาถึงรัตนโกสินทร์   คำว่า "แพ้ " เปลี่ยนจากความหมายจากเดิมไปตรงกันข้ามหมดแล้ว   "แพ้" ไม่ได้แปลว่า"ชนะ" อีกต่อไป แต่หมายถึง"พ่ายแพ้" ใช้กันทั่วไปอย่างในรามเกียรติ์ที่ยกมา

เมื่อสอบเทียบกับภาษาถิ่นดั้งเดิม  คำว่า แพ้ ในความหมายว่า ชนะ  เป็นคำที่มีมาดั้งเดิม ก่อน แพ้ ในความหมายว่า พ่ายแพ้  
พบในภาษาทางเหนือเช่นเชียงใหม่  ไทยลื้อ ไทยดำและไทยขาว

อีกคำคือ แกล้ง
พจนานุกรมให้ความหมายคำว่าแกล้ง ว่า "แสร้ง  จงใจทำผิดความคาดหมาย   ไม่ทำจริง   ทำให้ขัดความประสงค์"
นายสมศักดิ์แกล้งทำเป็นกลัวภรรยา  หมายความว่าไม่ได้กลัวจริง  

แต่ในภาษาดั้งเดิม   แกล้ง แปลว่าบรรจงทำ ตั้งใจทำ    แกล้งแต่ง หมายถึงจงใจตกแต่งประดับประดา(อย่างพิถีพิถัน)  
เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  คำนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความหมายตรงกันข้ามแล้ว อย่างที่เรารู้จักกัน


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 26 ก.ค. 04, 11:48
 อ.เทาฯขยันจริง อุตสาห์หาข้อมูลมาให้อ่านอย่างจุใจเชียว

วิธีมองประวัติศาสตร์ไทยจนถึงปัจจุบันหลายๆอย่าง ทำให้ผมสงสัยในความเป็นกลางของผู้ศึกษาหลายๆท่าน  เพราะดูจะจงใจหาคำอธิบายให้กระจอกไปได้ทุกอย่าง  ดูราวกับว่าเป็นอนันตริยกรรม หากผู้ใดจะออกมาบอกว่าไทยโบราณก็ยิ่งใหญ่ไม่เบานะจ๊ะ

อย่างเรื่องอักษรขอมก็บอกว่าเป็นของเขมรโบราณ และไทยเคยเป็นทาสขอมมานานจึงรับวัฒนธรรมของขอมมา และดัดแปลงอักษรขอมมาใช้เป็นอักษรไทย

พอจะบอกว่าถ้าอย่างนั้น สุโขทัยเคยยิ่งใหญ่มีอาณาเขตจรดภาคเหนือของเวียดนาม รามัญประเทศ และตลอดแหลมมาลายู ลายสือไทยุคสุโขทัยจึงเป็นต้นกำเนิดแห่งอักษรไทยหลายๆแขนง  ก็มีนักวิชาการยุคปัจจุบันออกมาคัดค้านอีกว่าสุโขทัยเป็นเพียงรัฐเล็กๆ

หรือกลายเป็นค่านิยมไปแล้วว่า  ยิ่งเหยียบย่ำความเจริญ ความเรืองอำนาจ และความดีของบรรพบุรุษไทยลงได้เท่าใด  ก็จะทำให้นักวิชาการผู้นั้นได้รับชื่อเสียง ได้รับการยกย่องเชิดชูว่ามีใจเป็นกลาง เป็นปรมาจารย์ที่สมควรกราบไหว้บูชา

คนเราย่อมมีพ่อมีแม่ มิใช่จะเกิดจากกระบอกไม้ใผ่  เมื่อมีกษัตริย์อย่างพ่อขุนผาเมืองที่ผีฟ้าแห่งยโสธรปุระต้องเอาใจขนาดยกพระธิดาให้อภิเษก และทูลเกล้าถวายพระขรรค์ชัยศรี

หรือกษัตริย์อย่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ส่งกองทัพไปกำหราบกัมโพชเพราะ"ขอมแปรพักตร์" ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่น ทรงอำนาจอันน่าเกรงขามมาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ

หรือหลักฐานจากบันทึกของราชสำนักจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 แสดงการตั้งอยู่ของราชอาณาจักรไทยมาไม่น้อยกว่า 1300 ปีมาแล้ว

หรือความมั่นคงทางวัฒนธรรมและภาษาที่ยังคงปรากฎในกลุ่มชนที่กระจายตัวอยู่เกินร้อยล้านชีวิตอย่างกว้างขวางถึง 6 ประเทศ

เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนบ่งชี้ถึงความมีอะไรในก่อไผ่มากกว่าทฤษฎี "ไทยกระจอก"ต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับและเผยแพร่อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

แน่นอนที่ยังไม่พบหลักฐานอันประเภทชัดแจ๋วเป็นที่ยอมรับ (แล้วกลับมาไม่ยอมรับ)อย่างศิลาจารึก ย้อนกลับไปได้ไกลนัก  ด้วยประการหนึ่งเพราะภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้นที่สามารถทำให้วัตถุต่างๆเสื่อมสภาพได้เร็ว  อีกประการหนึ่งคือสภาพสังคมในยุคสงครามเวียดนามที่แม้แต่ทับหลังหนักเป็นตันยังถูกงุบงิบนำออกนอกประเทศได้  แล้วที่เล็กกว่านั้นจะเหลือหรือ  หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่ถูกนำออกไปอย่างไม่หวนคืนคงมีจำนวนนับไม่ถ้วน

ผมคงได้แต่บ่น และหวังให้มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆที่กล้าหาญ ไม่ถูกกระแสในแวดวงวิชาการปัจจุบันชี้นำ ช่วยกันปะติดปะต่อ ค้นคว้าด้วยใจเป็นกลางอย่างแท้จริง เปิดเผยซึ่งปริศนารากเหง้าของบรรพบุรุษไทยที่ให้เป็นที่ยอมรับอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ในอนาคตอันใกล้นี้


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ค. 04, 12:18
 จะว่าไปแล้วการเปรียบเทียบจารึกหลักที่ 1 กับภาษาไทยปัจจุบัน ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใดเลยครับ เพราะความเหมือนไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ อย่างน้อยก็ไม่ใช่

เรื่องที่ใครจะหยิบยกขึ้นมาว่าของทำในสมัยหลัง เพียงเหตุผลที่ว่ามีส่วนเเหมือน"ของใหม่"

ปัญหาคือว่าเมื่อยกเอาจารึกหลักอื่นๆในสมัยใกล้เคียงกันมาเทียบ จารึกหลักที่ 1 มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากหลักอื่นจริงๆ

อย่างเรื่องวรรณยุกต์ ผมว่าจะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าวรรณยุกต์ที่จารึกพ่อขุนรามใช้จะมาเหมือนวรรณยุกต์ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ที่แปลกใจคือว่าจารึกหลักอื่นๆ

ในยุคเดียวกัน มีการใช้วรรณยุกต์ เอก และโท(+) ที่สับสนมาก เทียบแล้วจารึกหลักที่ 1 นั้น "สะอาด" มากทีเดียว ลักษณะการใช้วรรณยุกต์อย่างสับสนนี้

เป็นมาโดยตลอด และมาคลี่คลายเป็นระบบชัดเจนอย่างที่พบในหลักที่ 1 ในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง

ความคิดเห็นในประเด็นนี้ของนักวิชาการผมพอสรุปได้คร่าวๆอย่างนี้
1.ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นฉบับพ่อขุนรามฯ original มีความเห็นว่าพ่อขุนรามทรงสร้างระบบที่ดีไว้ แต่เสื่อมลงในสมัยต่อมา (และเจริญขึ้นมาอีกครั้งในรัตน

โกสินทร์ - อันนี้ผมเติมเอง)
2.ฝ่ายที่เชื่อว่าร.4 ทรงประดิษฐ์ ก็ว่า "นี่ไง ของใหม่แท้ๆ"
3.ผมเคยได้ยินอ.ศรีศักรซึ่งเป็นฝ่ายที่เชื่อว่าทำในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไทท่านบอกว่า "ผมไม่มีความรู้ด้านภาษา ดังนั้นผมจะดูที่เนื้อหา"
ก็ถือว่าแตกต่างกันไปตามความความคิดเห็นของแต่ละท่านครับ

ส่วนของเนื้อหานั้น หากเปรียบเทียบหลักที่ 1 กับหลักอื่นๆ ก็จะพบลักษณะที่แตกต่างอีกเช่นกัน ในขณะที่จารึกหลักอื่นๆพูดถึงแต่การบุญการสบถเป็นหลัก

จารึกหลักที่ 1 เล่าประวัติครอบครัว เล่าภูมิทัศน์ในเมือง(โดยไม่มีการบอกชื่อสถานที่) เล่าเรื่องนโยบายของพ่อขุนผู้ปกครอง เล่าเรื่องการประดิษฐ์อักษรไทย(ทั้งนี้ ความเรื่องพระร่วงสร้างอักษรไทยในจินดามณีที่อ.ประเสริฐกล่าวถึงนั้น ในบรรดาจินดามณีร้อยกว่าฉบับที่พบนั้น พบฉบับที่มีความตอนนี้อยู่เพียง 4 ฉบับซึ่งรวมถึงฉบับที่อ.ขจรพบที่ลอนดอนด้วย จึงเรียกกันว่าจินดามณีฉบับ"ความแปลก"ครับ) เห็นได้ว่าจารึกหลักที่ 1 นั้นไม่เหมือนใครในแง่คติการสร้างจารึก ดังนั้นหากหลักที่ 1 สร้างในสมัยสุโขทัย ก็แปลว่าผู้สร้างที่มีความคิดอ่าน"แตกต่าง"จากบุคคลทั่วไปในยุคเดียวกัน ซึ่งผมว่าก็ยังไม่น่าจะด่วนสรุปว่าเป็นไปไม่ได้เช่นกันครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ค. 04, 12:23
 ลองคิดดูแล้ว การเกิดของการเขียนภาษาไทยในชั้นแรกนั้น เป็นไปได้ 2 อย่าง
1.มีวีรบุรุษทางวัฒนธรรม(เช่นพ่อขุนรามคำแหง)เป็นผู้สร้างขึ้น
2.มีผู้ดัดแปลงขึ้นใช้ตามความจำเป็นหลายคน และค่อยๆวิวัฒน์ขึ้นตามลำดับ หยิบยืมเอาข้อดี หรือที่คนนิยมมาใช้กันจนรวมเป็นกระแสเดียวได้ในที่สุด

ผมไม่ค่อยเชื่อแนวความคิดแรก ด้วยเหตุที่ว่า จารึกสมัยหลังๆไม่ได้ยึดแนวทางของหลักที่ 1 ทั้งหมด ทั้งๆที่จารึกสมัยพญาลิไททิ้งช่วงไม่กี่สิบปี

ลองคิดดูในแง่การใช้งานจริงแล้ว ในตอนที่คนไทยยังไม่มีวัฒนธรรมการเขียนนั้น เมื่อได้พบกับกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับเอาศาสนามาแล้ว การเขียนในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเขียนอันเนื่องในการศาสนาซึ่งอาศัยภาษาเดิม อักขระเดิมของขอมมาใช้ในขั้นต้น น่าจะมีใครสักคนที่จะพยายามเอาอักขระนั้นมาเขียนความภาษาไทยบ้าง

ผมข้องใจอยู่ว่า "มีใครเคยพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมที่มีอายุเก่าแก่กว่าจารึกหลักที่ 1 หรือไม่?" จารึกที่แสดงว่าคนไทยมีการนำเอาอักษรขอมมาใช้เขียนไทยในชั้นต้น ผมยังหาไม่เจอ แต่ที่แน่ๆมีการใช้อักษรขอมและมอญมาเขียนไทยในสมัยหลังๆอย่างแน่นอน

ผมเคยอ่านบทความของไมเคิล ไรท์เรื่องหนึ่งที่พูดถึงความแปลกของวิวัฒนาการของอักษรไทย โดยตั้งข้อสังเกตว่าอักษรในจารึกหลักที่ 1 ไม่อยู่ในแถวของวิวัฒนาการนี้ โดยยกตัวอักษร ก เป็นตัวอย่าง

ในเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยฯมีฐานข้อมูลของจารึกอยู่ ลองเข้าไปดูได้ที่ www.sac.or.th ลิงก์จะอยู่ด้านล่างสุดเลยครับ ในนั้นมีตารางเทียบอักษรที่พบในจารึกในยุคต่างๆอยู่

ในส่วนของจารึกสมัยสุโขทัย แสดงตัวอักษร ก อยู่ 3 แบบ แบบแรกเป็นเหมือนจารึกหลัก 1 อีกสองแบบคล้ายกัน มัลักษณะเดียวกับที่ไมเคิล ไรท์ยกตัวอย่างไว้ในบทความ ปัญหาคือว่า แบบตัวอักษร ก แบบแรกนั้น เคยพบในจารึกหลักอื่นๆในสมัยสุโขทัยหรือไม่? หากไม่เคย แสดงว่าอักษร ก แบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของจารึกหลักที่ 1 (ลองเปรียบเทียบอักษร ก ของขอมและมอญในยุคเดียวกันดูสิครับ)

ตอนนี้ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า จารึกหลักที่ 1 เป็นแค่หนึ่งในซอยตันของการพัฒนาอักขรวิธีของไทยในยุคแรก

และถ้าหากไม่เคยมีใครพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมที่มีอายุเก่าแก่กว่าจารึกหลักที่ 1 เลย เราจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไรดี?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 26 ก.ค. 04, 13:36
 ไชโย ผมไม่โดดเดี่ยวแล้ว อย่างน้อยก็มีมุมมองเรื่องซอยตันเหมือนคุณอาชาผยอง  อย่างนี้ผมต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อไอ้ลาบ้า ท่าจะเข้าที แล้วช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ฉบับแพะชนแกะให้สมบูรณ์

บางทีการมองทีละส่วน หรือตั้งทฤษฎีทีละส่วน อาจไม่ใช่วิธีที่ถูก เราน่าตั้งทฤษฎีประกอบด้วยชิ้นส่วนทุกชิ้นที่มีขึ้นมาทั้งภาพ ให้เกิดความลงตัวไปพร้อมๆกัน

ซึ่งก็ต้องมี model ของยุคก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานชัดเจน(ก่อนยุคสุโขทัย) อันใช่ว่าจะไม่มีร่องรอยอะไรเลย  เรายังมีบันทึกของจีน  บันทึกของนักเดินเรือชาวอาหรับ  บันทึกของสิงหล  บันทึกของโจฬะ ตลอดจนโบราณวัตถุและโบราณสถานมากมาย  ตลอดจนตำนานและนิยายท้องถิ่นมากมาย  ที่แต่เดิมมามีการตั้งทฤษฎีไว้อย่างที่รู้เห็น ร่ำเรียนกันมา ปรากฎในตำราต่างๆ  ทั้งๆที่มีความไม่ลงตัว ก่อให้เกิดคำถามมากมายมานานจนบางทีเราก็เกิดความเคยชิน และดูเหมือนจะยอมรับโดยไม่พยายามดิ้นรนหาคำตอบต่อไป  หากกลับมามุ่งเน้นสร้างทฤษฎี"ไทยกระจอก"ต่างๆให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าเราจะได้คำตอบอีกมาก หากเรากลับมาพิจารณาและให้ความสำคัญคัมภีร์ทางศาสนา ตำนาน นิทานพื้นบ้าน เช่น สิงหนวัติ ปู่จ้าวลาวจก พระเจ้าพรหม เรื่องเมืองปา พระร่วงลูกนางนาค ศึกสามเมือง(ละโว้-นครศรีฯ-หริภุญชัย) เป็นต้น ประกอบบันทึกและหลักฐานทางโบราณคดี เช่นยุคทวารวดี ศรีวิชัย ไปจนถึงสุวรรณภูมิ ของทั้งในและนอกประเทศ

และขอย้ำว่า ต้องมองด้วยมุมมองที่เป็นกลางกว่านักวิชาการรุ่นที่ผ่านมา  อย่าท่องตามอาจารย์ว่าพระเจ้าพรหมไม่มีจริง  หรือใช้คาถาที่ถูกเป่ากระหม่อมมาว่าคัมภีร์ทางศาสนาเชื่อไม่ได้ โดยเหล่าศาสตราจารย์ผู้แม้ศีลห้าก็รักษาได้ไม่ครบ

เพื่อบางทีในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้รู้ชัดถึงรากเหง้าย้อนกลับไปได้ไม่น้อยกว่าต้นพุทธกาลก็ได้


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 04, 17:15
 คุณ CH ลองไปหาอ่านเกี่ยวกับจารึกวัดศรีชุม   และอักษรอาหม ดีไหมคะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ค. 04, 18:47
 จารึกวัดศรีชุม หากคุณเทาชมพูหมายถึงจารึกหลักที่ 2 ที่พบในอุโมงค์วัดศรีชุม ผมเคยได้อ่านมาหลายครั้งแล้วเหมือนกันครับ จนใจที่ในประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๑ นั้น ตีพิมพ์ตัวจารึกไว้เล็กมาก ไม่สามารถอ่านอักษรบนจารึกได้โดยตรง ได้อ่านแต่เพียงที่ปริวรรตเป็นอักษรไทยปัจจุบันแล้ว จึงไม่สามารถศึกษารูปอักษรได้ แต่จากที่ได้อ่าน จารึกหลักนี้ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้วรรณยุกต์อย่างไม่เคร่งครัด ซึ่งต่างจากหลักที่ 1 มากครับ ทั้งๆที่มีอายุห่างกันไม่กี่สิบปีเท่านั้น ยิ่งเรื่องภาษาที่ใช้ยิ่งแล้วไปใหญ่เลยครับ บางตอนอ่านแทบไม่รู้เรื่องเลยครับ ในขณะที่หลัก ๑ ค่อนข้างจะอ่านง่ายกว่ามากทีเดียว

ส่วนอักษรไทยอาหมผมยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหน้าตาเลยครับ

คุณเทาชมพูพอจะชี้แนะเพิ่มเติมได้บ้างไหมครับ

จริงๆแล้ว ถ้าจะให้ดีสงสัยต้องไปดูจารึกตัวจริงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสักทีครับ พูดถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ขอบ่นหน่อยครับ รู้สึกอเน็จอนาถมากครับ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงปล่อยปละละเลยได้ถึงเพียงนี้ ผมไปทีไรรู้สึกแย่ทุกที ปกติแล้วนักท่องเที่ยวแบบที่สนใจศึกษาประเทศ เขามักไม่ค่อยพลาดพิพิธภัณฑ์หรอกครับ แต่เข้ามาดูของเรา ผมนึกไม่ออกว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร รายพระนามพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ของอยุธยา ถูกเขียนด้วยสีน้ำมันบนผนังไม้อัดที่ใช้กั้นห้องให้เป็นสัดส่วน... ไม่รู้จะพูดยังไงดี ผมไม่คิดว่าเราจะต้องมาเน้นความหรูหรา แต่ว่าที่เป็นอยู่มันเกินไปจริงๆ รัฐบาลน่าจะจัดงบลงไปให้อีกสัก"เล็กน้อย"ก็ยังดีนะครับ อันนี้พูดจากที่เห็นล่าสุดเมื่อสัก 2-3 ปีมาแล้ว หากได้ปรับปรุงแล้วก็ขอโทษด้วยแล้วกันนะครับ

สำหรับเรื่องตำนานนั้น ผมว่ามีผู้ศึกษาอยู่ไม่น้อยนะครับ อย่างคำว่าพระธมที่ปรากฎในจารึกหลักที่ 2 ไมเคิล ไรท์เสนอว่าเป็นพระปฐมเจดีย์ ซึ่งสมมติฐานนี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งผมว่าก็เพราะมีตำนานมหาเถรไหล่ลายที่สอดคล้องกับเรื่องราวในจารึกหลักที่ 2 มาช่วยสนับสนุนสมมติฐานนะครับ ปัญหาของการใช้ตำนานมาเป็นหลักฐานอยู่ที่ว่า ตัวตำนานเองไม่ใช่หลักฐานที่เคร่งครัดนัก การนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังมากครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ค. 04, 22:46
 เจอแล้วครับ บทความของอ.ชัชวาล บุญปัน

จาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 04

ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อสงสัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

"เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประวัติการค้นพบ และการเก็บรักษาศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในสมัยรัชกาลที่ ๔..."

ข้างต้นนี้คือ บทสรุปของงานวิจัยเรื่อง "การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์" ที่นักวิทยาศาสตร์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากกองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่มีมานานหลายทศวรรษแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยใดกันแน่

บทความทางวิชาการดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๘๗-๑๐๓ หลังจากเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผมจำได้ว่า หลังจากนั้นไม่นาน มีการเชิญวิทยากรมานำเสนอผลงานวิจัยนี้ ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนฟังเต็มห้องประชุมทีเดียว ผมมีโอกาสไปฟังการบรรยาย และเห็นคล้อยตามว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น มีนักวิชาการบางท่านลุกขึ้นกล่าวขอบคุณผู้วิจัยว่า ได้ช่วยคลี่คลายปมปัญหาที่คาใจแก่วงวิชาการด้านนี้มาเป็นเวลานานให้ลุล่วงไปได้

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้คราใด ก็มักจะมีข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยกผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง ว่าได้พิสูจน์ไว้แล้ว ดูเหมือนว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์จะจบแล้ว แน่นอนแล้ว ชัดเจน ไม่มีอะไรจะต้องมาเถียงกันอีก บางท่านก็ถึงกับบอกว่า การตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ ระวังจะกลายเป็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของทั้งพ่อขุนรามคำแหง และรัชกาลที่ ๔ เอาเลยทีเดียว

เรื่องนี้ กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็น "มรดกแห่งความทรงจำโลก" มีข้อโต้แย้งถกเถียงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า เหตุผลจากการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาอ้างอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครร่วมถกในประเด็นนี้ด้วย

ผมเพิ่งมาสนใจเอาเมื่อเกิดกรณีมรดกแห่งความทรงจำโลกนี้เอง ว่าประเด็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? พยายามตามหางานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้จากบทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรดังกล่าวเพียงบทความเดียว ดังนั้นข้อสงสัยทั้งหมดของผม จะอิงจากผลการพิสูจน์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๔ ฉบับนี้ เป็นหลัก

หลังจากที่ได้ศึกษางานวิจัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผมพอจะจับประเด็นต่างๆ ได้แล้ว ผมพบว่าจริงๆ แล้วการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังมิได้จบดังที่เข้าใจกัน คือเข้าใจว่า พิสูจน์ได้แล้วว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้าง แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น ขอให้ดูบทสรุปประโยคต่อจากที่ยกมาข้างบน

"แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะเป็นการยืนยันว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยสุโขทัยก็ได้"

หมายความว่า ผลการพิสูจน์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้เอง ใครที่เอาผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไปอ้างว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหง จึงไม่ตรงกับข้อสรุปของการพิสูจน์ดังกล่าว

จากนั้นผู้วิจัยระบุต่อไปจนจบข้อสรุปว่า

"การศึกษาวิจัยด้วยวิธีนี้ มิได้เป็นการกำหนดอายุของศิลาจารึก แต่เป็นการเปรียบเทียบริ้วรอย และองค์ประกอบที่ผิวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกระบวนการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เทียบกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย และศิลาจารึกของรัตนโกสินทร์ (ถ้ามี) เป็นที่น่าเสียดายที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกหรือวัตถุโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกันนี้ จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน" (หน้า ๑๐๑)

ในการตรวจสอบนั้น ผู้วิจัยใช้ศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ทำจากหินทรายแป้ง (Calcareous siltstone) เช่นเดียวกับหลักที่ ๑ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕, ศิลาจารึกหลักที่ ๓, ศิลาจารึกภาษามคธ และภาษาไทย กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ตัวอักษรสมัย พ.ศ. ๑๙๐๐ และพระแท่นมนังคศิลาบาตร

ผมเห็นว่า การยังไม่พบศิลาจารึกที่ทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากหินชนิดเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาตรวจสอบเปรียบเทียบแบบเดียวกันนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามันแตกต่างอย่างไร ข้อพิสูจน์ว่าเหมือน ก็ยังเลื่อนลอยไม่หนักแน่น กล่าวคือ ผลการวิจัยที่ว่า ริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของผิวหิน ระหว่างศิลาจารึกหลักที่ ๑ คล้ายคลึงกับศิลาจารึกหลักที่รู้แน่ๆ ว่าทำในสมัยสุโขทัย แล้วจึงมาสรุปว่า น่าจะทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่กลับไม่มีริ้วรอยการสึกกร่อนจากจารึกที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบนั้น เท่ากับว่าการศึกษาวิจัยยังทำไม่เสร็จ จึงไม่ควรสรุปว่า "...ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น..." หากจะสรุปโดยเคร่งครัดในหลักฐานควรจะบอกว่า "ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างในสมัยใด จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นๆ นอกจากสมัยสุโขทัย มาตรวจสอบเสียก่อน" เป็นต้น เพราะถ้ามีศิลาจารึกหินทรายแป้ง ที่ทำในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบแล้วเกิดพบว่าคล้ายกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาอีก ย่อมเกิดคำถามแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ที่ผู้วิจัยเองก็ "เสียดาย" ที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่จะเอามาเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ เพราะการทดลองเพื่อตรวจสอบจำเป็นต้องมีตัวเทียบ ตัวเทียบจะเป็นตัวที่ทำให้เราทราบได้ว่า มีอันอื่นเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อเปรียบกับตัวเทียบ

ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราจะวัดความเปลี่ยนแปลงของตัวทดลองใดๆ เราสามารถกำหนดตัวเปรียบเทียบหรือตัวควบคุม กับตัวที่จะแปรไป ภายใต้เงื่อนไขเวลาของการทดลองแบบเดียวกัน แล้วศึกษาว่าตัวแปรจะแปรไปอย่างไร เมื่อเทียบกับตัวควบคุม

แต่ในเรื่องศิลาจารึก เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานเป็นร้อยเป็นพันปี จะทำแบบในห้องทดลองไม่ได้ นั่นคือ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะสามารถวัดอายุของการจารึกลงบนศิลาว่าจารึกลงเมื่อใดโดยตรงได้* วิธีที่จะหาอายุ มักจะเป็นการหาร่องรอยของการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ซึ่งอาจจะพอเป็นร่องรอยในการวิเคราะห์ได้บ้าง แต่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับการผุพังของศิลาจารึกที่ทำจากหินชนิดเดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น

ดังนั้นรายงานการตรวจพิสูจน์ฉบับนี้จึงระบุสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ "แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นหลังจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย เป็นเวลานานเท่าใด คงจะพิสูจน์ไม่ได้..." และ "บอกไม่ได้ว่าหินนั้นๆ ถูกสกัดมาใช้งานเมื่อใด" (หน้า ๘๘) เพราะในเรื่องการกำหนดอายุของหินด้วยวิธีทางธรณีวิทยานั้น จะบอกเพียงอายุของหินที่ใช้ทำศิลาจารึกว่าเกิดขึ้นมากี่ร้อยล้านปีมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าถูกสกัดมาใช้เมื่อใด นี่คือขีดจำกัด

ที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้น เป็นการเสนอประเด็นของงานวิจัยว่า การวิจัยนี้ต้องการหาอะไร? และมีขีดจำกัดไม่สามารถหาอะไรได้บ้าง? มีข้อสรุปอย่างไร? ข้อสรุปที่นำมาใช้อ้างในภายหลังไม่ตรงกับข้อสรุปของการวิจัยอย่างไร? เป็นต้น

ต่อไปผมจะศึกษาการตั้งสมมติฐาน, การทดลองตรวจสอบ, การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาเป็นผลสรุปงานตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น



สงสัยการพิสูจน์

ทางวิทยาศาสตร์

ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้วิจัยศึกษาเปรียบเทียบริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกสมัยสุโขทัย กับศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยอาศัยหลักที่ว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปี ย่อมสึกกร่อนมากกว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลาสั้นๆ หรืออาจไม่ได้อยู่กลางแจ้งเลย ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ดังนี้

"ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกลางฝนเป็นเวลานานกว่า ๕๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาในกรุงเทพฯ และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้โดยง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น แสดงว่าขณะที่ถูกพบ ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจจะไม่เคยอยู่ใต้ดินเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ น่าจะมีริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหินชนิดเดียวกัน มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว หลังจากทำเสร็จไม่นานก็นำมาเก็บรักษาในที่ร่มมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ริ้วรอยการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกหลักนี้ย่อมจะแตกต่างจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปีอย่างแน่นอน"

จากสมมติฐานที่ผมยกมา มีข้อน่าสังเกตกรณีที่ผู้วิจัยตั้งโจทย์ว่า

ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยสุโขทัย ก็น่าจะอยู่กลางแดดมา ๕๐๐ กว่าปี และตอนที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไปพบนั้น ก็พบได้โดยง่าย น่าจะอยู่บนดิน ฉะนั้นผิวของศิลาจารึกน่าจะมีริ้วรอยการสึกกร่อนและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำโดยหินชนิดเดียวกัน และรู้แน่ว่าทำในสมัยสุโขทัยเช่นกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อดูประวัติการพบก็น่าจะอยู่กลางแดดไม่กี่ปี ก็นำมาไว้ในร่ม ดังนั้นริ้วรอยการเสื่อมสลายจะต้องแตกต่างจากศิลาจารึกสุโขทัย

ต่อสมมติฐานเช่นนี้ ผมสงสัยว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหินนั้น การบอกความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน จะบอกช่วงห่างของระยะเวลาได้แค่ไหน จึงเห็นความแตกต่างได้

ประเด็นก็คือ ปรากฏการณ์การผุพังอยู่กับที่ มีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) คือ มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ แบบไม่ตรงไปตรงมา และตัววัตถุคือหินนั้น ไม่เป็นสารเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะบอกว่า การผุพังแปรผันตรง กับเวลา กล่าวคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของแต่ละหลัก จะเข้าใกล้กันมากขึ้น จนไม่สามารถบอกความแตกต่างได้

ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อทำจารึกบนหินมาหลักหนึ่งแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปี ทำอีกหลักหนึ่งด้วยหินชนิดเดียวกัน ถ้าตรวจพิสูจน์ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความแตกต่างระหว่างสองหลักได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐๐ ปี จารึกทั้งสองหลัก มีอายุ ๓๑๐ ปี และ ๓๐๐ ปี จะเริ่มบอกความแตกต่างไม่ได้ว่าหลักนี้อายุ ๓๑๐ ปี อีกหลักอายุ ๓๐๐ ปี

ประเด็นของผมก็คือ เป็นตัวเลขอะไรที่จะเริ่มบอกไม่ได้ เช่น ๓๕๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี นี่คือความไม่เป็นเชิงเส้นของกระบวนการผุพัง เพราะฉะนั้น ในช่วงของเวลาแค่เป็นร้อยปี อาจไม่แตกต่างกันก็ได้ ถ้ายังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่แม่นยำพอจะแยกความแตกต่างนั้นได้ นี่คือข้อสงสัยของผม

ประเด็นต่อมาก็คือ ในสมมติฐานของผู้วิจัยที่บอกว่า ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกว่า ๕๐๐ ปี เพราะการที่ไปพบได้โดยง่ายก็แสดงว่า ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจไม่เคยอยู่ใต้ดินเลย ตรงนี้ผมเห็นว่า ไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ ระยะเวลา ๕๐๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันอยู่ในสภาพอย่างไรมาบ้าง รู้เพียงแต่ว่า ไปพบอยู่บนดินเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ เท่านั้น (ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าพบจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ จึงขอยกไว้ก่อน ไม่นำมากล่าวในที่นี้)

การตั้งสมมติฐานแบบนี้ จึงดูเป็นการเจาะจงที่จะให้เงื่อนไขว่า อันหนึ่งอยู่กลางแดดกลางฝนกว่า ๕๐๐ ปี ส่วนอีกอันหนึ่ง ถ้าทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องอยู่ในร่มมาเป็นเวลา ๑๕๖ ปี ก่อนทำวิจัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมดูภาพศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ แล้ว กลับพบว่า จารึกหลักที่ ๑ ดูใหม่กว่าและสมบูรณ์กว่าอีกสองหลักมากทีเดียว

ข้อสงสัยต่อมาก็คือ การเสนอผลจากการถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบต่างๆ แล้วเปรียบเทียบภาพถ่ายนั้น ภาพส่วนหนึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูความแตกต่างของปริมาณแคลไซต์ที่ผิวหิน กับส่วนที่อยู่ด้านในของผิวนั้น โดยเรียกผิวที่อยู่ด้านนอกโดนแดดลม สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกว่า ด้านที่expose และเรียกด้านในถัดเข้าไป ด้านที่ยังไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมว่า ด้านที่ไม่ถูก expose แล้วนำเสนอ ทั้งของจารึกหลักที่ ๑, ๓, ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ให้เห็นถึงการลดลงของปริมาณแคลไซต์ ระหว่างผิวที่ expose กับไม่ expose ซึ่งเมื่อผมสังเกตดูก็เห็นว่ามันลดลง แต่ขณะเดียวกันภาพของแต่ละหลักก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ในการแสดงภาพอีกส่วนหนึ่งนั้น ผู้วิจัยใช้ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope : SEM) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผมเห็นว่ายังลักลั่นอยู่

ถ้านำมาเขียนเป็นตารางภาพ ที่ผู้วิจัยนำเสนอ จะได้ดังนี้

โบราณวัตถุ ภาพชั้นผิว หลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ พระแท่นมนังคศิลาบาตร

ด้านที่ expose ภาพขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ไม่มี เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สกัดออกมา

ที่ไม่ถูก expose ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๕๐๐ เท่า ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

จะเห็นว่า ภาพถ่ายด้วย SEM นั้น นำมาแสดงให้ดูด้วยกำลังขยายไม่เท่ากัน เช่น ด้านที่ expose ของหลักที่ ๑ ใช้ภาพกำลังขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ขณะที่ หลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ ใช้ภาพกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

ขณะเดียวกัน ด้านที่ไม่ถูก expose ของหลักที่ ๑ และหลักที่ ๔๕ ไม่มีมาแสดงให้ดู คงเหลือแต่ภาพจากหลักที่ ๓ และจากพระแท่นมนังคศิลาบาตรเท่านั้น แต่หลักที่ ๓ ก็ขยายเสีย ๑,๕๐๐ เท่า ขณะที่พระแท่นมนังคศิลาบาตร ขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

สรุปแล้วภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไม่สามารถนำมาเทียบกับอะไรได้ เป็นแต่แสดงไว้เฉยๆ

อันนี้อาจเกิดจากปัญหาการคัดรูปมาตีพิมพ์ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วควรคัดรูปที่มีกำลังขยายเท่ากันมาพิมพ์เทียบกันให้ดู เช่น ถ้าจะเทียบให้เห็นที่ ๓,๕๐๐ เท่า ก็ถ่าย ๓,๕๐๐ เท่า ให้เหมือนกันหมด จะได้ตัดประเด็นเรื่องกำลังขยายไม่เท่ากันออกไปได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ผมสงสัย

การทดลองที่ถือว่าสำคัญอีกวิธีหนึ่งของงานวิจัยนี้ ก็คือ การใช้เครื่อง Energy Dispersive X-rays Spectrometer มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุบนผิวของตัวอย่าง ทั้งส่วนที่ expose และ ไม่ได้ expose โดยอาศัยหลักที่ว่า เมื่อยิงลำแสงอิเล็กตรอนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไปยังผิวของตัวอย่าง ลำแสงอิเล็กตรอนจะทำให้เกิดรังสีเอกซ์ (X-ray) ที่มีพลังงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเมื่อวัดพลังงานของรังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถคำนวณหาปริมาณแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบบนจุดเล็กๆ แต่ละจุดบนตัวอย่างได้

เมื่อผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์หลายๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่าง แล้วหาค่าเฉลี่ย ก็พบว่า ผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ด้านที่ expose ต่อสภาวะแวดล้อม มีปริมาณแร่และธาตุ แตกต่างจากด้านที่ไม่ expose ในสัดส่วนที่ผู้วิจัยระบุว่าใกล้เคียงกันทั้ง ๔ หลัก ดังนี้

- ปริมาณซิลิกอน (Si) และซิลิกา (SiO2) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่ควอตซ์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง สูงกว่าด้านใน (ที่ไม่ expose) ประมาณ ๓-๑๐%

- ปริมาณอะลูมิเนียม (Al) และอะลูมินา (Al2O3) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแร่เฟลด์สปาร์และแร่คลอไรด์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง ต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๒-๑๐%

- ปริมาณแคลเซียม (Ca) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อประสาน ที่ผิวด้านนอกต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๓-๑๐%

ผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ผู้วิจัยพยายามบอกว่าทั้งหลักที่ ๑, หลักที่ ๓, หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร มีสัดส่วนการเพิ่มและลดของแร่ธาตุบางตัว ในลักษณะเดียวกัน จึงน่าจะบอกได้ว่า ทั้ง ๔ หลัก ทำในสมัยเดียวกัน คือสมัยสุโขทัย

แต่ผมสงสัยวิธีการสรุปแบบนี้ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่เรียกว่า ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดนั้น หน่วยขุดแต่ง กองโบราณคดี กรมศิลปากร "ขุดพบ" ได้ที่ริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารกลาง ด้านหลังของวิหารสูง ในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ นั่นคือหลักที่ ๔๕ จมดินมานานเท่าใดไม่ทราบ เพิ่งขุดขึ้นก่อนจะตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แค่ ๓๓ ปี เท่านั้น แต่ผลการตรวจยังไปใกล้เคียงกับหลักที่ ๑ ซึ่งสมมติฐานบอกว่า ถ้าสร้างในสมัยสุโขทัย ก็ต้องอยู่กลางแดดกลางฝนนานถึง ๕๐๐ ปี ก่อนจะมาอยู่ในร่ม

ลองคิดดูว่าหลักหนึ่งเพิ่งขึ้นมาอยู่บนดินได้ ๓๓ ปี อีกหลักอยู่บนดิน ๕๐๐ ปี และมาอยู่ในร่ม ๑๕๐ กว่าปี กลับมาเหมือนกัน แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง

ปัญหานั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือของตัวเลข ๓-๑๐%, ๒-๑๐% หมดไปในทัศนะของผม กล่าวคือ ปริมาณแร่ธาตุบางชนิดที่ลดลง ๒-๑๐%, ๓-๑๐% ของผิวด้านนอกเทียบกับผิวด้านใน และบางชนิดดูเหมือนเพิ่มขึ้น ๓-๑๐% นั้น ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปว่า มันควรจะสร้างในสมัยเดียวกันได้ เพราะเงื่อนไขแวดล้อมของตัวจารึก ต่างกันอย่างชัดๆ ค่า ๒-๑๐% จึงเป็นค่าที่กว้างเกินกว่าที่จะนำมาตีความได้ แม้แต่ถ้าพบว่ามีค่าแค่ ๕% เท่ากันพอดี ยังต้องมีประเด็นวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมาก

อย่าลืมว่าจารึกแต่ละหลักแม้จะทำจากหินทรายแป้งเหมือนกัน แต่องค์ประกอบภายในแตกต่างกัน มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ผมกลับสรุปได้ในทางตรงกันข้ามว่า ค่า ๒-๑๐% นั้นไม่สามารถจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างหลักหนึ่งที่จมดินอยู่ กับอีกหลักที่อยู่กลางแจ้งได้ และด้วยเหตุนี้ ผลการวิเคราะห์ที่ได้จึงกลายเป็นข้อหักล้างวิธีพิสูจน์นี้เสียเอง



ชวนเยาวชน

สนใจวิทยาศาสตร์ศิลาจารึก

มีการทดลองที่ผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัดขึ้น กล่าวคือ ได้สกัดส่วนหนึ่งของตัวอักษรส่วนหางของ "ล" บนด้านที่ ๓ ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้วนำมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการแกะสลักตัวอักษรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับผิวส่วนอื่นๆ (ที่ไม่มีตัวอักษร) ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่

ผลปรากฏว่า ปริมาณแคลไซต์ลดลงมาใกล้เคียงกัน

ผู้วิจัยสรุปว่า การแกะสลักตัวอักษร น่าจะทำในช่วงเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดหินออกมา

การพิสูจน์นี้ ผู้วิจัยต้องการตัดข้อสงสัยที่ว่า อาจมีผู้พบแท่งหินนี้ที่สุโขทัย แต่ไม่มีคำจารึก แล้วนำมาจารึกขึ้นทีหลัง

ตรงนี้ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่ทราบว่าระยะเวลาห่างกันเท่าใด ที่วิธีการตรวจแบบนี้จะบ่งบอกความแตกต่างได้ เช่น ที่ได้ตั้งคำถามไว้แล้วว่า สกัดมาแล้วจารึกเลย หรือ ๕ ปีค่อยจารึก หรือ ๕๐ ปีค่อยจารึก เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด จึงเริ่มจะบอกความแตกต่างไม่ได้อีกต่อไป

ข้อที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ การไม่มีจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกัน แต่ทำในสมัยต้นอยุธยา, กลางอยุธยา, ปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์มาเปรียบเทียบกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการตรวจสอบกับสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัย ผมเห็นว่า การพิสูจน์ยังไม่สำเร็จ ยังต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่ผู้วิจัยได้ใช้ความพยายามในการเริ่มต้นมาแล้วต่อไป

ถึงตรงนี้ ผมอยากเสนอให้

๑. สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน, X-ray fluoresence, X-ray Diffraction Analysis ฯลฯ และนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้ช่วยกันออกความคิดเสนอวิธีการตรวจสอบหาอายุของการจารึกหลักที่ ๑ โดยวิธีไม่ทำลายเนื้อสาร (Non-Destructive Testing : NDT) และโดยใช้หินตัวอย่างที่ทางกรมศิลปากรได้สกัดออกมาวิจัย (ซึ่งคิดว่าน่าจะเก็บไว้) ไปศึกษาตามวิธีการและเทคนิควิธีตามที่จะคิดออกแบบ ให้แต่ละแห่งแยกกันทำวิจัยอย่างอิสระ แล้วนำผลมาเสนอต่อสาธารณะร่วมกัน น่าจะเป็นประโยชน์มาก และ

๒. ประกาศให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ได้เสนอความคิด จะหาวิธีการศึกษาว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ จารึกขึ้นเมื่อใด จัดเป็นกิจกรรมขึ้นในโอกาสสำคัญ เช่น ทำเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ความคิดดีๆ จากเยาวชนอย่างนึกไม่ถึงก็ได้

วิธีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จะส่งเสริมให้เยาวชนได้สนใจเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสังคมอย่างกระตือรือร้น อย่างมีชีวิตชีวา อย่างรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เราสามารถจัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่ง ในการเฉลิมฉลองมรดกแห่งความทรงจำของโลกอย่างมีคุณค่าได้ และน่าจะช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม

กรณีศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังมีอะไรน่าสนใจ ติดตามศึกษาค้นคว้าอีกมาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแค่เพียงเริ่มต้น มาถึงจุดที่ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น ยังไม่จบ ขณะเดียวกันการค้นคว้าหาหลักฐานจากศาสตร์อื่นก็รุดหน้าไปมากแล้ว

ขอขอบคุณผู้วิจัยที่ทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมโดยมีความจริงเป็นเป้าหมาย มิใช่มีแต่วิทยาศาสตร์ที่ทำหน้าที่รับใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจของบริโภคนิยมที่มีแต่จะบิดเบือนและทำลายความจริงอยู่ตลอดมา



เชิงอรรถ

* ผู้สนใจศึกษาวิธีการตรวจสอบวัตถุโบราณด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดูได้จาก website ของ The British Museum ในส่วนของ The Department of Scientific Research http://www.thebritishmuseum.ac.uk/science/index.html  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 04, 09:36
 ประเด็นในกระทู้นี้แบ่งได้เป็น 2 เรื่องคือ
1) ศิลาจารึกหลักที่ 1สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
2) ศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้สร้างโดยพ่อขุนรามคำแหง    แต่จะสร้างโดยใครและสมัยไหน ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้

คุณ CH พูดไปถึงข้อ 2   ดิฉันยังปักหลักอยู่ข้อ 1

อาจารย์ราตรีให้ยืมวิทยานิพนธ์ของนศ.ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อการศึกษาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ของนางสาววรรณวรางค์ เจริญพันธ์
เล่มหนักอึ้งทีเดียว
เปิดไปเจอตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้ลักษณะนาม ที่เป็นประกาศพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงห้ามเลยว่า
"อนึ่งจะออกชื่อจำนวนนับสัตว์มีชีวิตนั้น  ถ้าเป็นคน ช้างม้า ก็ให้ออกว่า คน 1 คน  คน 2 คน คน 3 คน  ช้าง 2 ช้าง   ช้าง 3 ช้าง  ม้า 2 ม้า ม้า 3 ม้า แต่สัตว์นอกนั้นให้ว่า 2 ตัว 3 ตัว"
ทรงให้เหตุผลว่า
"ช้างม้านี้เป็นสัตว์มีชาติมีสกุล ไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว   ให้เรียกว่าช้างหนึ่งสองช้าง ม้าหนึ่งสองม้า  แต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้านั้นให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว"

จะเห็นได้ว่าทรงรังเกียจการเรียกลักษณะนามของสัตว์พาหนะสำคัญอย่างช้างม้า ว่า ตัว  แต่ให้เรียกลักษณะนามอย่างเดียวกับคำนาม  เป็น ช้าง 1 ช้าง ไม่ใช่ช้าง 1 ตัว
ในศิลาจารึกหลักที่ 1   เรียกช้างเป็น"ตัว" ทั้งนั้น    ถ้าทรงสร้างจารึกขึ้นมาจริง น่าจะทรงทดลองใช้หรือใช้ตามที่พอพระราชหฤทัยว่า ช้าง 1 ช้าง  ก็ไม่มีใครว่า   หรือถ้ายังไม่อยากจะทดลองใช้   ก็ไม่น่าจะเรียก ช้างตัวชื่อมาสเมือง อย่างที่ทรงรังเกียจ

อักษรอาหม  ดิฉันไม่มีค่ะคุณ CH แต่เห็นตัวอักษรคงช่วยอะไรไม่ได้มาก  เพราะสแกนมาลงก็ไม่ได้เห็นความเก่าแก่ของตัวอักษรอยู่ดี


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 27 ก.ค. 04, 12:01
 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่ทำไปนั้น ที่จริงไม่ได้ให้ข้อสรุปอะไรเลย  แม้แต่ในส่วนของการบ่งชี้ว่าเป็นการตัดหินยุคเดียวกันหรือไม่

เพราะไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบหลายๆ samples อย่างเป็นระบบ  ตัวเลขที่แสดงก็หยาบมากครับ  เช่น ตัวเลขดังว่าอาจเป็น saturation point ที่เกิดขึ้นภายในร้อยปีก็ได้ ภูมิอากาศบ้านเราที่ทั้งร้อนทั้งชื้นเป็นปัจจัยเร่งกระบวนการ oxidation ให้เกิดเร็วมาก  ซึ่งถ้าเกิด saturation ของกระบวนการ oxidation ในเวลาที่ต่ำกว่า 150 ปี การใช้วิธีนี้ย่อมไม่ได้ผล  นอกจากนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆอีกมาก  เพราะหินแต่ละก้อนแม้จะมาจากแหล่งเดียวกัน มีส่วนประกอบของแร่ธาตุคล้ายกัน ยังมีความแตกต่างของคุณลักษณะในรายละเอียดหลายประการ  เทคนิคการหาอายุด้วยการตรวจสอบแบบ  progressive oxidation จะให้ผลได้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดสอบคุณลักษณะต่างๆที่เกี่ยวข้องของหลายๆตัวอย่างก่อน จนสามารถได้ความมั่นใจจากผลของการทดสอบนั้น ตั้งเป็น mathematical model พิสูจน์แล้วพิสูจน์อีกจนมั่นใจว่า applicable อย่างแท้จริง เมื่อนั้นจึงจะค่อยนำมาสวมกับตัวเลขที่วัดได้จากชิ้นตัวอย่างที่ต้องการพิสูจน์ได้

อย่างไรก็ดีผมอย่างกลับมาชี้เสริมในสิ่งที่กล่าวไว้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปขนาดนั้นของสยามประเทศ  จำเป็นต้องมองทั้งภาพ  ด้วยยังพบหลักฐานน้อย  หากพิจารณาเพียงแต่ละชิ้นต่อไป ก็จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เสียที  บทความหรือผลงานทางวิชาการจึงเต็มไปด้วยคำว่า "คาดว่า"  "น่าจะ"  "สัณนิฐานว่า"  "คงสรุปได้ว่า"  และ"เป็นไปได้มากที่สุดว่า"

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกประการหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย  คือการทหาร และความเป็นปึกแผ่นใหญ่โตของราชอาณาจักร  ถ้าราชอาณาจักรใดมีความเป็นปึกแผ่น มีความสามารถทางการทหาร ขยายอาณาเขตได้กว้างขวาง ทำสงครามโดยกษัตริย์ไม่ต้องนำทัพเอง  ราชอาณาจักรนั้นจำต้องมีภาษาเขียนใช้งาน  เพื่อสื่อสาร คำนวน วางแผนทางยุทธวิธี  ส่งกำลังบำรุง เป็นต้น  ลองปรึกษาทหารหน่อยเถิดท่านนักวิชาการทั้งหลายว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน ในการจัดการการรบ และการยึดครองโดยไม่มีภาษาเขียน

ฉะนั้นก่อนยุคพ่อขุนรามฯจะมีภาษาเขียนหรือไม่ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนว่าราชอาณาจักรของไทยใหญ่ไหน  แต่เพียงหลังตั้งกรุงไม่กี่ปีพระเจ้าอู่ทองก็ส่งกองทัพไปตีกัมโพชถึง 2 ครั้งมิใช่หรือ

สมมุติว่าได้ข้อสรุปว่าต้องมีภาษาเขียน ก็มาดูกันว่าเป็นตัวหนังสือไทยเองหรือไม่ หรือต้องยืมชาวบ้านเขามาใช้  วิธีหนึ่งก็มาดูว่าภาษาเขียนโบราณใดที่อาจนำมาใช้ในยุคนั้นสามารถรองรับการออกเสียงของภาษาในตระกูลไท-ลาวได้เพียงใด

พูดมาถึงตรงนี้นึกได้ว่าอ.เทาอ้างอิงพวกจ้วงที่ใช้อักษรจีน อักษรจีนเป็นอักษรภาพที่ไม่ต้องคำนึงถึงการผสมพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ให้ได้เสียงตามต้องการ จึงไม่สามารถนำมาผนวกรวมในเรื่องนี้ได้  และความห่างไกลของถิ่นฐานคงต้องเป็นอีกกรณีศึกษาที่จะสรุปหาความสัมพันธ์ระหว่างจ้วงกับไทยในสยามประเทศ

การที่จ้วงไม่ใช้อักษรแบบไทย จึงยังไม่ได้หมายความว่าไทยไม่มีอักษรของตนเองมาแต่โบราณ  อย่าลืมว่าจิ๋นซีทำลายอักษร-ภาษาเขียนท้องถิ่นทั้งหมด และตั้งแต่นั้นมาจีนก็ใช้ตัวหนังสือระบบเดียวต่อเนื่องเป็นพันปี และไม่ว่าจะเป็นชาติ-ภาษาใดก็สามารถใช้อักษรภาพร่วมกันได้ทั้งหมด  ซึ่งก็เป็นความสะดวกและเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่เผ่าต่างๆที่ใกล้ชิดกับจีนต้องหันมาใช้อักษรจีนในที่สุด จากการที่ถูกจีนครอบงำผนวกดินแดนตลอดจนเพื่อการติดต่อค้าขาย

ภาษาไทยเรามีเอกลักษณ์หลายๆอย่างที่ไม่มีในภาษาอื่น เช่น เรื่องใหญ่เลยก็คือ วรรณยุกต์ ภาษาเขียนใดไม่มีวรรณยุกต์ ย่อมไม่สามารถรองรับภาษาไทยได้  และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นอีก เช่น เสียงพยัญชนะต่างๆ มี ย นาสิก เป็นต้น ที่ยังคงอยู่กับคำเมืองแต่ไม่ปรากฎแล้วในภาษาพูดของภาคกลางปัจจุบัน

และถ้ายอมรับว่าพระพุทธศาสนาเป็นจิตวิญญาณของสยามประเทศมาแต่ไหนแต่ไร  ย่อมยอมรับว่าภาษาบาลีต้องมีบทบาทมาโดยตลอด  จนในภาษาพูด-เขียนของไทยก็จะมีคำจากบาลีมาโดยตลอด ซึ่งมีคำมากมายที่เสียงพ้องกันแต่ความหมายคนละเรื่อง เช่น วัด-วัฏ  กับ-กัป  สิน-สีล  เป็นต้น  หรือเสียงที่บาลีมีแต่ไทยไม่มี เช่น ร.เรือ ถ้าไม่มีอักษรแยกแยะแบบภาษาเขียนปัจจุบันคงน่าปวดหัวพิลึก  ลองคิดเล่นๆดูนะครับ  นี่ขนาดยังไม่กล่าวถึงสันสกฤตเลย

ก็เพียงแสดงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของแนวทางการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแบบหนึ่งให้ดู  หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 04, 12:09
 ไปพบส่วนต่อของบทความของอ.ประเสริฐที่คุณเทาชมพูได้ยกมาไว้ข้างบน

ความดังนี้ครับ

คุณวิเศษของลายสือไทย

                       ๑. ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหราราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวอักษรของชาติอื่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของชาวอินเดียวกล่าวคือ ชาติอื่นขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้โดยมิได้ประดิษฐ์พยัญชนะ และสระเพิ่มขึ้นให้พอกับเสียงพูดของคนในชาติ ยกตัวอย่างเช่น เขมรโบราณ เขียน เบก อ่านออกเสียงเป็น เบก แบก หรือ เบิก ก็ได้ ไทยใหญ่เขียน ปีน อ่านออกเสียเป็น ปีน เป็น หรือ แปน ก็ได้ เวลาอ่านจะต้องดูความหมายของประโยคก่อน จึงจะอ่านออกเสียให้ถูกต้อง

                       พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวพยัญชนะสระอีกทั้งวรรณยุกต์ขึ้น เป็นต้นว่าได้เพิ่ม ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ สระอึ อือ แอ เอือ ฯลฯ ไม้เอก ไม้โท (ในรูปกากะบาท) จนทำให้สามารถเขียนคำไทยได้ทุกคำ

                       ๒. อักขรวิธีที่ใช้ สามารถเขียน ตาก-ลม แยกออกไปจากตา-กลม ทำให้อ่านข้อความได้ถูกต้องไม่กำกวม กล่าวถือ ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำให้เขียนติดกัน ส่วนตัวสะกดให้เขียนแยกห่างออกไป เช่น ตา-กลม เขียนเป็น ตา กลํ ส่วน ตาก-ลม เขียนเป็น ตา ก ลํ

                       ๓. ตัวหนังสือแบบพ่อขุนรามฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ นำสระมาเรียงอยู่ระดับเดียวกับพยัญชนะแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตกทั้งหลาย น่าเสียดายที่สระเหล่านั้นถูกดึงกลับไปไว้ข้างบนตัวพยัญชนะบ้าง ข้างล่างบ้างในสมัยต่อมา ทั้งนี้เพราะคนไทยเคยชินกับวิธีเขียนข้างบนข้างล่างตามแบบขอมและอินเดีย ซึ่งเป็นต้นตำหรับดั้งเดิม ถ้ายังคงเขียนสระแบบพ่อขุนรามฯ อยู่ เราจะประหยัดเงินค่ากระดาษลงได้หนึ่งในสามทีเดียว เพราะทุกวันนี้จะต้องทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้เพื่อเขียนส่วนล่างของ ฏ ฐ สระ อุ อู วรรณยุกต์ และสระอือ รวมเป็นช่องว่างที่ต้องเตรียมไว้สี่ส่วนให้เขียนได้ไม่ซ้อนกัน ยิ่งมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูล และการค้นหาข้อมูลจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่ตัวอักษรไทยในปัจจุบันบรรทัดเดียวคอมพิวเตอร์จะต้องกวาดผ่านตลอดบรรทัดไปถึง ๔ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกกวาดพวกวรรณยุกต์ ครั้งที่สองกวาดพวกสระบน เช่น สระอี อึ ครั้งที่สามกวาดพวกพยัญชนะและครั้งที่สี่กวาดพวกสระล่าง คือ สระ อุ อู จึงทำให้เสียเวลาเป็นสี่เท่าของตัวอักษรของอังกฤษ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละครั้งเดียว ถ้าใช้อักขรวิธีแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละสองครั้ง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้กว่าครึ่ง ถ้ายิ่งดัดแปลงให้วรรณยุกต์ไปอยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเสียด้วย ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่าสี่เท่า

                       ๔. ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของตัวหนังสือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พยัญชนะทุกตัวเขียนเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกันเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่า และไทยใหญ่ เช่น เขียน อฏฐ แทนที่จะเป็น อฏฐ  เซเดย์ได้กล่าวไว้ว่า การที่พระองค์ได้ทรงแก้ไขตัวอักษรของชาวสุโขทัยให้เรียงเป็นแนวเดียวกันได้นั้นเป็นการสำคัญยิ่ง แลควรที่ชาวสยามในปัจจุบันนี้ จะรู้สึกพระคุณ และมีความเคารพนับถือที่พระองค์ได้ทรงจัดแบบอักษรไทยให้สะดวดขึ้น ข้อนี้ให้มาก อนึ่ง ในสยามประเทศทุกวันนี้การคิดแบบเครื่องพิมพ์ดีดและการพิมพ์หนังสือได้เจริญรุ่งเรือง เป็นประโยชน์ยิ่งในวิชาความรู้แลทางราชการนับว่าเพราะพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนรูปอักษรขอมและเรียงพยัญชนะเป็นแนวเดียวกันให้สะดวกไว้ ส่วนบรรดาประเทศที่ยังใช้วิธีซ้อนตัวพยัญชนะ เช่นประเทศเขมรและประเทศลาว การพิมพ์หนังสือของประเทศเหล่านั้นเป็นการยาก ไม่สู้จำเริญ แลยังไม้มีผู้ใดในชาตินั้น ๆ ได้คิดจะออกแบบพิมพ์ดีดสำหรับตัวอักษรของตน ๆ เลย (พ.ศ. ๒๔๖๘)

                       ๕. ตัวอักษรทุกตัวสูงเท่ากัน หางจอง ศ ส ก็ขีดออกไปข้าง ๆ แทนที่จะสูงขั้นไปกว่าอักษรตัวอื่น ๆ หางของ ป และ ฝ สูงกว่าอักษรตัวอื่น ๆ เพียงนิดเดียว สระทุกตัวสูงเท่ากับพยัญชนะรวมทั้งสระ โอ ใอ และ ไอ ตัวอักษรแบบนี้เมื่อตีพิมพ์หางตัว ป และสระข้างล่าง ข้างบนจะไม่หักหายไปอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องคอยตรวจซ่อมกันอยู่ตลอดเวลา

                       ๖. พ่อขุนรามคำหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยให้เขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต่อเป็นเส้นเดียวตลอด ในขณะที่ตัวหนังสือขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อพยัญชนะตัวหนึ่ง

                       ๗. ประการสุดท้าย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์ขึ้น ทำให้สามารถอ่านความหมายของคำได้ถูกต้องโดยไม่ต้องดูข้อความประกอบทั้งประโยค สมมติว่าเราเข้าใจภาษาไทยใหญ่เป็นอย่างดี แต่ถ้าจะอ่านภาษาไทยใหญ่ เขาเขียน ปีน คำเดียวอาจจะอ่านเป็น ปีน ปี่น ปี้น ปี๊น ปี๋น เป็น เป่น เป้น เป๊ เป๋น แปน แป่น แป้น แป๊น และ แป๋น รวมเป็น 15 คำ ถ้าไม่อ่านข้อความประกอบจะไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องเป็นคำใดกันแน่ แต่ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อ่านได้เป็น ปีน แต่อย่างเดียว

ที่มา : ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร  รวมบทความเรื่องภาษาและอักษรไทย กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร (2526)

จาก http://www.sukhothai.go.th/history/hist8.htm  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 27 ก.ค. 04, 13:58
 ที่นี้เรามาลองมองดู หรือสร้าง model ให้สมบูรณ์ต่ออีกหน่อยนะครับ

ตลอดมาผมได้ใช้สมมุติฐานของความมีราชอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี-เจ้าพระยา-ป่าสัก ตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ เป็นพื้นฐานแห่ง model  ซึ่งมีรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการค้าทางทะเล  อันต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศและเปิดรับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ  ภาษาที่ดูจะมีร่องรอยหลักฐานว่ามีอิทธิพลมากที่สุดคือสันสกฤต

ฉะนั้นในการพิจารณามองหาอักษรที่จะใช้กับภาษาไทยในแถบลุ่มแม่น้ำนี้ จำต้องเป็นระบบภาษาเขียนที่สามารถรองรับการแยกแยะเสียงคำพ้องตลอดจนการออกเสียงพยัญชนะและรายละเอียดอื่นๆที่ต่างกันทั้งหมดในทั้งสามภาษาหลัก คือ ไทย-บาลี-สันสกฤต มิฉะนั้น คงยุ่งตายห....  

จะค้าขายอย่างเป็นระบบก็ยาก จะรบก็แสนเข็ญ ถ้าไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้ไว้แต่ต้นมือ  ยากที่ไทยในลุ่มแม่น้ำจะปรากฎร่องรอยความเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงฯ

ครับ ไม่มีหลักฐานโดยตรงรองรับ  ผมไม่เถียง  แต่ถ้าจะบอกว่าเพราะยังไม่พบหลักฐาน ฉะนั้นจึงไม่มีอักษรไทยใช้  อย่างนี้ผมเถียงคอเป็นเอ็นเลยเชียว   คนที่ถูกทิ้งตั้งแต่ยังเป็นทารกแรกเกิด ไม่มีใครรู้จักหรือเคยเห็นพ่อแม่ของเขา จะสรุปว่าไม่มีพ่อไม่มีแม่ เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ได้ยังไงฟ่ะ

อย่าลืมว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างสมัยก่อนมีเขื่อนสมัยใหม่ต่างๆ พอถึงฤดูน้ำหลากก็จะมีสภาพคล้ายน้ำท่วมโลกไปทั้งหมด พอน้ำลดก็ทิ้งตะกอนหนาเตอะไว้ทุกปี  สายน้ำก็รุนแรงและเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อยๆ  โบราณวัตถุย้อนหลังเป็นพันปีแถวนี้จะไปเหลือรึ  จะขุดหาได้ง่ายๆอย่างแถวทะเลทรายแห้งๆได้อย่างไรกัน

นึกย้อนกลับไปถึงเรื่องพระเจ้าพรหม และตำนาน-พงศาวดารต่างๆที่อ้างเหตุการณ์ที่เก่าแก่เกินกว่า 800ปี ของบริเวณเชียงแสน ถูกนักวิชาการประเภทไม่เห็นหลักฐานก็ปฏิเสธไว้ก่อนว่าไม่มี  ก็พันปีที่แล้วท่านๆพิสูจน์ได้หรือว่า แม่น้ำแม่โขงอยู่ที่ตำแหน่งนี้  จากลักษณะการพุ่งของกระแสน้ำที่กระแทกกัดเซาะตลิ่งฝั่งไทย  ทำให้จินตนาการได้ไม่ยากว่า คงมีซากโบราณสถาน-วัตถุจำนวนมากที่เดิมอยู่บนแผ่นดินแล้วถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะจมน้ำจมดินไป


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 04, 18:05
 เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูครับ เรื่องหลายส่วนจารึกหลักที่ ๑ หลายตอน ขัดกับพระราชอัธยาศัยของร.4 ยากที่จะเป็นไปได้ว่าพระองค์ทรงสร้างจารึกนี้ ผมเคยผ่านตาประกาศของพระองค์ที่ทรงค่อนข้างจะรังเกียจ"ลาว"ซึ่งทรงหมายรวมถึงอีสานและล้านนา แต่จารึกหลักที่ ๑ นั้น หากแปลคำ"ลาว"ไม่ถูก เรียกว่าไปไม่เป็นเหมือนกัน เพราะพบมากจริงๆ แต่เรื่องเดียวกันนี้ นักวิชาการบางท่าน เอาไปตั้งแง่ซะอีกว่าหลัก ๑ มีคำไทยแท้มากอย่างผิดสังเกต ในขณะที่ความบางตอนกลับแทบจะเป็นขอมทั้งตอนเหมือนลอกจากจากหลักที่ ๔ ยังไงยังงั้นเลย... ก็ว่ากันไปครับ

สมมติฐานเรื่องใครสร้างจารึกหลักที่ ๑ ตอนนี้มี
๑.พ่อขุนรามคำแหงทรงสร้าง
๒.พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้สร้าง แต่สร้างในสมัยสุโขทัย อาจจะสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท
๓.พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
๔.ผิดทุกข้อ

ผมขอเลือกไม่ตอบ เพราะกลัวว่ากาผิดจะถูกหักคะแนนครับ    


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 04, 18:05
 กลับมาที่เรื่องที่ผมข้องใจอยู่
จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าหลักที่ ๑ ที่เคยพบ มีอยู่ ๒ หลัก ได้แก่
๑. จารึกดงแม่นางเมือง พ.ศ.๑๗๑๐ อักษรขอม ด้านที่ ๑ เป็นภาษาบาลี ด้านที่ ๒ เป็นภาษาเขมรมีคำไทยปนพบที่ดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหลักที่ ๓๕ ในประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๓ ดูรายละเอียดได้ที่ http://tabian.rink.ac.th/culture/nwculture/lesson3/32/323/lesson32324.html
๒. จารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก จังหวัดลพบุรี พ.ศ.๑๗๕๖ อักษรขอม ภาษาเขมร และ ภาษาไทย (หารายละเอียดไม่พบ ทราบแต่ว่าอยู่ในจารึกในประเทศไทย เล่มที่ ๔ หน้า ๑๔๒)

นี่คือร่องรอยแรกเท่าที่พบของภาษาไทยในสุวรรณภูมิ!

เห็นด้วยอย่างที่คุณถาวภักดิ์ว่าไว้ "ไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มี"

แต่ผมเกรงว่าจะต้องคิดเผื่ออีกด้านหนึ่งด้วยว่า "ไม่พบก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามี"

ได้แต่สงสัยว่า คน(ที่พูดภาษา)ไทยมาจากไหน? เมื่อไหร่กันแน่?

ผมจะหลงประเด็นมากไปหรือเปล่าครับนี่?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 04, 18:24
 กระทู้นี้ชื่อจารึกหลักที่ ๑
งั้นดิฉันขอยืนอยู่ตรงหลักที่ ๑ นะคะ  
ถ้าเริ่มออกห่างจากหลัก   ก็ขอเป็นฝ่ายฟังเฉยๆดีกว่า  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 04, 20:48
 แหะๆ ขอโทษครับ จำกัดวงที่หลัก๑ เหมือนเดิมดีแล้วครับ ถ้าจะออกนอกเื่รื่องอีก เดี๋ยวตั้งกระทู้ใหม่ครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 04, 12:06

คุณ CH  ดิฉันไปเจออักษรไทยอาหมเข้า จึงเอามาลงให้ดูกันค่ะ  จากหนังสือ สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในนี้ มีบทความที่ดร.ประเสริฐโต้แย้งความเห็นของดร.พิริยะเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยข้อมูลหลักฐานที่น่าสนใจมาก   จะลอกมาก็ไม่ไหว ยาวมาก  สแกนก็ไม่ชัดเพราะสแกนจากหนังสือเล่มใหญ่ เลยจะไปถ่ายเอกสารแล้วสแกนมาลงอีกที


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 04, 12:08
 อักษรไทยแบบต่างๆ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ส.ค. 04, 19:17
 ขอบคุณครับ

อยากอ่านข้อโต้แย้งของอ.ประเสริฐครับ ค่ายยักษ์แจงผ่านมติชนซึ่งการจัดจำหน่ายทั่วถึงกว่า มือสมัครเล่นหาอ่านของค่าพระยากครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 14:45
 ข้อแย้งของดร.ประเสริฐ กล่าวไว้ย่อๆที่คุณ CH นำลงไว้แล้วข้างบน
ดิฉันพยายามย่อให้ได้ต่ำกว่า 40 kb.  ถ้าหากว่าอ่านไม่เห็น คุณคงจะต้องเซฟภาพเอาไปขยายดูเอาเองนะคะ  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 14:48
 หน้าที่ 2


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 14:52
 หน้า 3


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 15:00
 หน้า 4  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 15:02
 หน้า 5
ต้องขอส่งแค่นี้ก่อนค่ะ  ส่งตั้งหลายหนกว่าจะไป
ไม่ทราบว่าเพราะอะไร  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 04, 17:30
 ยังรออ่านต่ออยู่ครับ อาจารย์ประเสริฐท่านชี้แจงในหลายๆประเด็นได้ดีครับ

ว่าแต่ว่าวาจาท่านเชือดเฉือนเกินคาดทีเดียวครับ  

หน้าที่ 5 อ่านยากทีเดียวครับ ลองบันทึกเป็น .gif แทน .jpg อาจจะดีขึ้นนะครับ พื้นหลังอาจจะลายขึ้น แต่ตัวอักษรน่าจะชัดขึ้นครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 19:14
 ถ้าเปลี่ยนเป็น .gif  มันจะหนักถึง 88kb. วิชาการดอทคอมอนุญาตแค่ 40 kb. ใช้ jpeg. ได้อย่างเดียวค่ะ
ลองตัดตอนเป็น 2 ตอนมาให้อ่านหน้า 5 ใหม่


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 19:16
 หน้า 5 ตอนล่าง


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 04, 08:58
 หน้าที่ 6 ตอนบน


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 04, 09:01
 หน้าที่ 6 ตอนล่าง


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 04, 09:02

หน้าที่ 7 ตอนบน


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 04, 09:05
 หน้าที่ 7 ตอนล่าง


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 04, 09:10
 ดร.ประเสริฐ จบไว้แค่นี้ ผู้อภิปรายท่านต่อไปคือ พันเอก ม.ร.ว. ศุภวัฒน์ เกษมศรี    ท่านได้อ้างอิงหลักฐาน เพื่อโต้แย้ง ดร. พิริยะ เช่นเดียวกัน


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ส.ค. 04, 00:10
 ลงชื่อรออ่านต่อครับ    


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 09:37

มาต่อค่ะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 09:45

ดิฉันพยายามลบคห.64  เพราะใส่ข้อความที่สแกนมาผิดไป  แต่ยังลบไม่ได้ ขอให้คุณ CH ข้ามมาอ่านตรงนี้ต่อจาก คห. 62


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 09:56

ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 09:59

ต่อค่ะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:00

ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:03

ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:06
 ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:22
 ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:25

ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 04, 10:30
 ต่อ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 10:59
 เงียบหายไปกันหลายวัน   คุณ CH ยังไม่เข้ามาให้เสียงเลยว่าตามอ่านอยู่หรือเปล่า


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 11:03
 .


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 11:09
 .


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 11:11

.


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 11:16

.


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 04, 11:20

.


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 04, 17:32
 ขอโทษด้วยครับ ยังตามอ่านอยู่ครับ แต่ช่วงนี้ค่อนข้างยุ่ง อาจจะเงียบไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่นะครับ :)


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 04, 15:01
 ขอแทรกด้วยการถอดเทปรายการถึงลูกถึงคน จากศิลปวัฒนธรรมค่ะ
 http://www.komchadluek.net/news/2004/08-17/p1--51217.html
วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 10

สโมสรศิลปวัฒนธรรม

ปัญหา "จารึกหลักที่ ๑" แบบ "ถึงลูกถึงคน"

จากรายการถึงลูกถึงคน วันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๗ "ปัญหาหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑"

ผู้ร่วมรายการ :

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านศิลาจารึก ในฐานะคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความทรงจำของโลก

อาจารย์ธวัช ปุณโณทก อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยบูรพา

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ

สมศักดิ์ คำทองคง ประธานคณะทำงานเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามคำแหง (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์)

สรยุทธ : อาจารย์ศรีศักรไม่ได้เป็นผู้ออกมาเสนอว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่มีความรู้สึกว่าน่าจะตั้งข้อสงสัยได้ยังไง

อาจารย์ศรีศักร : เรื่องศิลาจารึก เรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มันตั้งข้อสงสัยได้ทั้งนั้น เพราะอดีตไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดหรอก มันต้องค้นคว้ากันเรื่อย เมื่อไรก็ตามหาข้อยุติ มันก็เป็นปัญหา ความเห็นของผมอาจจะต้องถกเถียงกันต่อไป

สรยุทธ : ในความเห็นอาจารย์ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ คิดว่าไม่ได้สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงหรือเปล่า

อาจารย์ศรีศักร : ผมไม่เชื่อว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ผมเชื่อว่าสร้างในสมัยสุโขทัย

สรยุทธ : พอจะบอกวิเคราะห์ของอีกฝ่ายได้มั้ยครับ ทำไมเขาถึงตั้งข้อสงสัยอย่างนั้น ฝ่ายที่เขาบอกว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์

อาจารย์ศรีศักร : ผมคิดว่าเขามองในแง่มุมมองของเขา ในความถนัดทางวิชาการของเขา ผมคิดว่าการมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมอง นักวิชาการหลายฝ่ายมองตามความถนัดของเขา เขาก็มีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยได้ แต่ปัญหาสิ่งที่เขาเสนอขึ้นมา ให้ความรู้และข้อคิดยังไงกับเรา ในมุมมองของผม ไม่ได้มองว่าการขัดแย้งกัน เราไม่ได้หาข้อยุติ เราหาความรู้

สรยุทธ : ผมจะให้อาจารย์ประเสริฐเล่าพื้นเดิม ก็คือประวัติศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้ในปัจจุบัน ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เพราะเราพิสูจน์อะไรบ้างครับ

ศ.ดร.ประเสริฐ : ที่เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะยุติลงไปได้ว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างในสมัยสุโขทัย เพราะถ้าเรานำเอาผิวของศิลาที่ตากแดดตากฝนมาเป็นเวลานานไปตรวจดู ซึ่งก็มีวัตถุบางอย่างละลายออกไป และกร่อนไป ถ้ายิ่งอยู่นานมันก็ยิ่งกร่อนมากขึ้น แต่ถ้าเพิ่งเมื่อ ๒๐๐ ปี มันก็กร่อนน้อย โดยเฉพาะที่บอกว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์เสร็จแล้ว มันก็มาเก็บอยู่ในที่ร่ม ไม่ได้ตากแดดตากฝนอะไร เพราะฉะนั้นวัตถุที่จะละลายไป มันก็ไม่มี แต่อันนี้เขาได้พิสูจน์แล้วรอยโพรง รอยขูด มันต้องทำมาเมื่อสมัยสุโขทัยแล้ว แต่ทางวิทยาศาสตร์จะบอกลงไปแน่นอนลงไปเลยไม่ได้

สรยุทธ : คือหมายความว่าถ้าอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ ๒๐๐ ปี

ศ.ดร.ประเสริฐ : มันก็จะไม่สึกหรอไปอย่างนี้ และทางโน้นบอกว่าเป็นข้าราชการกรมศิลปากรเอง ก็คงจะต้องบอกว่ามันเก่า เพราะเป็นข้าราชการกรมศิลปากรเอง แต่เท็จจริงนั้นคนที่ทำมีทั้งกรมศิลปากร มีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี และเจ้าหน้าที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมกันถึง ๓ ฝ่ายที่ทำ แต่เขาก็ไม่เชื่ออยู่ดีครับ เมื่อพิสูจน์อย่างนี้ก็เห็นได้ว่ามันเป็นสมัยสุโขทัย

สรยุทธ : อาจารย์มีความเชื่อตรงไหนว่าหลักศิลานี้อยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ศ.ดร.ประเสริฐ : ปกติจารึก จะถือว่าถูกต้องหรือไม่ ก็เปรียบเทียบกับจารึกหลักอื่นๆ ว่ามันขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้ง ถ้ามันถูกต้อง ไม่มีส่วนใดน่าสงสัย เราก็เชื่อว่าเป็นจารึกในยุคนั้นจริงๆ แต่หากว่ามันไปขัดในเรื่องอะไรต่างๆ ก็ทำให้น่าสงสัยว่าจารึกจะจารึกทีหลังหรือเปล่า มันก็ต้องไปขัดกับจารึกอื่น แต่เท่าที่ปรากฏมา เขาใช้วิธีว่าถ้าข้อความตรงไหนไปเหมือนกับหลัก ๒ หลัก ๓ หลัก ๔ หลัก ๕ ก็บอกว่าไปลอกมาจากจารึกหลักนั้น

สรยุทธ : เดี๋ยวท่านผู้ชมจะไม่เข้าใจ หลักที่ ๑ คือเป็นหลักแรกทางประวัติศาสตร์ชาติไทย หลักที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ ก็คือไล่ลำดับลงมาในแต่ละยุคสมัย แต่อาจารย์ศรีศักรมองจุดแตกต่างอย่างไรบ้างครับ

อาจารย์ศรีศักร : คือผมไม่สนใจเรื่องภาษา ถ้าถามว่าจารึกหลักนี้สร้างขึ้นสมัยไหน ผมไม่เชื่อว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ และไม่เชื่อว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง ผมเชื่อว่าในสมัยสุโขทัย

สรยุทธ : อาจารย์ใช้หลักอะไร

อาจารย์ศรีศักร : ผมไม่ใช้หลักภาษา เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องภาษา แต่ผมไม่เชื่อในเรื่องเนื้อหาที่อยู่ในหลักศิลาว่าเป็นสมัยพ่อขุนรามคำแหง อีกประการหนึ่งจารึกหลักที่บอกว่าเป็นสมัยสุโขทัย เพราะมีหลักฐานทางสภาพภูมิศาสตร์และหลักฐานทางวรรณคดีที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งในสมัยนั้นรัชกาลที่ ๔ ท่านคงไม่เห็น เพราะบ้านเมืองเป็นป่าทั้งหมด ผมจะยึดหลักที่คิดว่าโซลิด ผมถึงทำ จารึกหลักนี้ค่อนข้างจะเป็นการเมือง เพราะเวลาเราเอาจารึกหลักนี้มาใช้ เราดึงออกจากบริบททั้งการเมืองและสังคมสุโขทัยโดยตรง

สรยุทธ : คือโดยเนื้อหาของจารึกหลักที่ ๑ มันมีความหมายทางการเมือง ชนิดที่มันแยบคายอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหลักที่ ๑ เพราะหลักที่ ๑ คือจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ชาติ อาจารย์จะบอกว่าเนื้อหาเขียนจงใจเกินไป

อาจารย์ศรีศักร : ใช่มันจงใจ มีปฏิกิริยาทางการเมืองบางอย่าง และอันนี้ไปขัดแย้งกับจารึกหลักที่ ๒ ถ้าถามว่าความเก่าแก่ของสุโขทัย เราไปมองที่จารึกหลัก ๑ ได้มั้ย เพราะจารึกหลัก ๒ พูดถึงสุโขทัยที่เก่าแก่กว่านั้น และมีปฏิกิริยาโต้ตอบกันมาก ผมถึงบอกว่าเป็นเรื่องการเมืองภายในสุโขทัย แต่เราดึงมาเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ชาติ จึงเกิดปัญหาวุ่นวายมาถึงขณะนี้

สรยุทธ : ลองยกตัวอย่างให้เห็น

อาจารย์ศรีศักร : เราเริ่มประวัติศาสตร์สุโขทัยในฐานะที่เป็นราชธานีแห่งแรก เพราะเราประกาศอิสรภาพจากขอม ถามว่าใครเป็นคนเขียน ที่บอกว่าไทยเป็นขี้ข้าขอม เซเดส์ใช่มั้ยครับ ฝรั่งเศส แต่นักปราชญ์ของไทยตามพวกนี้ มี ๒ ประเด็นที่ต้องตีความ ประเด็นแรก เซเดส์มองว่านักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นเก่าตามว่า เหตุการณ์ขัดแย้งเกิดขึ้นสุโขทัยจากศิลาจารึกหลักที่ ๒ ที่บอกว่าสุโขทัยมีกษัตริย์องค์หนึ่งปกครองอยู่ชื่อขุนศรีนาวนำถม ไม่ได้บอกว่าเป็นขี้ข้าขอม แต่ว่าขุนศรีนาวนำถมมีลูกองค์หนึ่งชื่อขุนผาเมือง และเมื่อจารึกขาดกระท่อนกระแท่น ก็เกิดการวุ่นวายขึ้น...แล้วเมืองสุโขทัยถูกบุคคลคนหนึ่งเข้ายึดครอง คือขอมสบาดโขลญลำพง นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเอาไปบอกว่าเป็นขุนนางขอม หรือคนที่ขอม กษัตริย์เมืองพระนครส่งมาควบคุม เพราะเราเป็นเมืองขึ้น และจารึกมันก็เดินเรื่องต่อไปว่าพ่อขุนผาเมืองผนึกกำลังกันกับขุนบางกลางหาว มาตีสุโขทัย เมื่อตีได้แล้ว ขุนผาเมืองไม่เอาสมบัติ ที่จริงขุนผาเมืองตีได้ ความสัมพันธ์ของขุนผาเมืองกับกษัตริย์ขอม ไม่ใช่ลักษณะของเมืองขึ้น ระหว่างที่เซเดส์ตีความว่าสุโขทัยถูกขอมปกครอง แต่ว่าความเป็นขุนผาเมือง ศักดิ์ศรีเป็นลูกเขยกษัตริย์ขอม มันคนละเรื่อง

สรยุทธ : นี่เป็นความเห็นแตกต่างว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักที่ ๒ เนื้อหามันไม่ใช่แล้ว เป็นยังไงครับ

อาจารย์ธวัช : เราน่าจะมองเนื้อหานะครับ มองคำศัพท์ มองตัวอักษรว่าร่วมสมัยกันมั้ย ถ้าดูเนื้อหาผมว่ามันร่วมสมัยกัน แต่มันก็ขัดแย้งกันบ้าง หรือต่างคนต่างเขียน เพราะหลักที่ ๒ เป็นของพ่อมหาศรีศรัทธาฯ มันหลานขุนผาเมืองนะครับ ฝ่ายนั้นก็ไม่ได้อยู่ที่นั้นแล้ว ท่านจะเขียนยังไง เพราะท่านไม่ได้อยู่ในไทย ท่านไปบวชอยู่อินเดีย อยู่ลังกานานมาก แล้วท่านกลับมาตอนแก่ แล้วท่านมาจารึกของท่านอยู่คนเดียว และจารึกนั้นเพิ่งมาเจอเมื่อปี ๒๓๗๖ รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นอักษรขอม มี ๒ หลักเท่านั้นแหละ แล้วท่านจะเอาหลักไหนมาทำหลักที่ ๑ ท่านเอาศัพท์เขมรมาใช้ และศัพท์ทุกอย่างมันร่วมสมัยกับสุโขทัย คำว่าเฒ่าเลิกใช้กันแล้ว ใครก็รู้พระเจ้าตากสินพูดเป็นขวบเป็นปี แต่ในกฎหมายตราสามดวงยังใช้อยู่ อย่างลักษณะพยาน เด็กเจ็ดเข้า เถ้าเจ็ดสิบ เป็นพยานไม่ได้ ก็แสดงว่ามันใช้เรื่อยมา แต่มาเลิกใช้ตอนสมัยปลายอยุธยา เพราะลักษณะชาติมีทั้งขวบทั้งเถ้า บางแห่งใช้ ๗ ขวบ บางแห่งใช้ ๕ เถ้า สับสนแล้ว นี่ผมจะให้เห็นว่านี่มันร่วมสมัยกันอยู่

สรยุทธ : ฉะนั้นคือรัตนโกสินทร์แน่นอน

อาจารย์ธวัช : ผมอยากพูดให้ไอ้พวกนักวิชาการรู้กันเสียที ให้ชาวบ้านรู้เสียทีว่ามันพูดกันอยู่ได้ทำไมว่า ถ้าเกิดหลักที่ ๑ เพิ่งมาเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะไปรู้ได้ยังไง คำต่างๆ ที่เพิ่งมาพบภายหลัง รัชกาลที่ ๔ ไปเห็นได้ยังไง หรือคนร่วมสมัยนั้นไปรู้ได้ยังไง

สรยุทธ : หลักศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ชาติไทย สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก พ่อขุนรามคำแหงคิดภาษาไทย นี่ผมเรียนมาอย่างนั้นเลยนะ แล้วเกิดหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้วก็มีใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย และก็มีสั่นกระดิ่ง พ่อปกครองลูก ทั้งหมดนี้มาจากหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑ ที่ผมเรียนมา คราวนี้เกิดข้อสงสัยว่ามันแยบยล ในยุคนั้นมันจะมีอย่างนั้นจริงๆ เหรอ

อาจารย์ธวัช : มันต้องมีงานเฉลิมฉลองอะไรซักอย่างนึง และจารึกก็ตั้งอยู่ในที่ชุมชน คุณสามารถมองได้ทุกด้าน ประกาศต่อธารกำนัล เพราะฉะนั้นกรุงสุโขทัยรับรู้กันแล้วว่าสมัยนั้นเขารับรู้ว่าเข้าใจกันอย่างนั้น เราตีความกันผิด เขาแค่บอกว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เขาเพียงบอกว่าบ้านเขามีความสุข

สรยุทธ : คือนักวิชาการกลุ่มนั้นบอกว่าภูมิศาสตร์

อาจารย์ธวัช : นักประวัติศาสตร์กำลังหลงทางกัน

สรยุทธ : เขาบอกว่าสุโขทัยไม่ใช่เลยในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

อาจารย์ธวัช : เขาแค่บอกไม่อดอยากก็พอแล้ว ไม่ต้องส่งข้าวไปขายปีละ ๒๐๐-๓๐๐ ตัน เขาแค่มีกิน ผมอยากให้คิดแบบคนโบราณคิด เมืองเขากว้างมาก เขาเดินทางกี่วันล่ะครับ จะไปจากศรีสัชนาลัยไปสุโขทัย เราใช้เวลาแผล็บเดียว แต่เขาใช้เวลาเป็นวันๆ ฉะนั้นต้องเข้าใจเขา

สรยุทธ : อาจารย์ศรีศักรลองเห็นแย้งหน่อยครับ

อาจารย์ศรีศักร : ผมคิดว่าสังคมไทยต้องใจกว้าง เราพูดถึงประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งมา เรามองประวัติศาสตร์ผิด เรามองประวัติศาสตร์ลักษณะที่เชื่อว่าเป็นจริง ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ประวัติศาสตร์ ในสังคมไทยเหมือนสังคมอื่นๆ ในโลก มองประวัติศาสตร์เนื้อหาที่เป็นตำนาน คือเชื่อว่าเป็นจริง แต่ความเป็นนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ประวัติศาสตร์คือเรื่องที่จะถกเถียงกันโดยไม่ให้หาข้อยุติ เพื่อให้เกิดความคิด ความรู้ขึ้นมา ตรงนี้แหละประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดสติปัญญา ถามว่าในอดีตใครสามารถที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่มีทาง มันก็ต้องมีการค้นคว้าและตีความ

สรยุทธ : อาจารย์ยึดอยู่บนตำนานหรือเปล่า

อาจารย์ธวัช : ไม่ใช่ เราต้องดูทุกหลัก ๔๘ หลัก สุโขทัยมี ๔๘ หลัก เขียนทั้งภาษาไทย บางหลักเขียนภาษาขอมด้วย

สรยุทธ : มีข้อเสนอเพื่อให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นใหม่ อาจารย์ไม่เอา

อาจารย์ธวัช : เอา แต่ต้องให้มีระบบ ไม่ใช่แบบลักษณะความคิดอย่างนี้ ผมว่ามันอคติเกินไป เอาแค่มีเหตุมีผล และประวัติศาสตร์สุโขทัยไม่ชัดเจน คือผมอยากให้คิดแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบทำลาย

สรยุทธ : ฝ่ายทฤษฎีที่เสนอความคิดใหม่ สุโขทัยไม่ได้มีสภาพที่น่าจะเป็นราชธานีได้จริง แต่หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ สุโขทัยคือราชธานี คือเริ่มต้นประวัติศาสตร์ อาจารย์ว่ายังไงครับ

ศ.ดร.ประเสริฐ : อย่าว่าแต่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวเลย แม้แต่ปลูกต้นตาลก็ไม่ขึ้น เพราะเขาได้เอาดินส่งไปให้วิเคราะห์ เพราะเนื่องจากดินนี้เป็นเมืองร้างมา พอหน้าแล้ง หญ้าแห้ง มันถูกน้ำชะลงไป และดินที่จะปลูกอะไรขึ้นมันแค่ ๑-๒ นิ้วเท่านั้น และเมื่อออกไปแล้วมันก็ปลูกอะไรไม่ขึ้น อย่าว่าแต่ปลูกข้าวเลย ปลูกต้นตาลก็ไม่ขึ้น แต่เราไปดูสุโขทัยสิครับ เขียวชอุ่มเลยครับ ต้นตาลก็ขึ้นเต็มไปหมด

สรยุทธ : ภูมิประเทศของสุโขทัยไม่น่าจะใช่

ศ.ดร.ประเสริฐ : ก็แก่งหลวง จับปลากันไม่ไหวเลย

อาจารย์ศรีศักร : ผมมองประเด็นคำว่าราชธานี มันพูดถึงใช้เฉพาะรัฐซึ่งรวมศูนย์ อย่างเช่นเมืองพระนครเป็นราชธานี แต่ขณะนี้สุโขทัยมีตัวตน มีรัฐอื่นที่ทัดเทียมกับสุโขทัยอยู่ มันไม่ใช่เป็นราชอาณาจักรอย่างที่คิด ถ้าบอกว่าเมืองสุโขทัยเป็นเมืองหลวง เมืองสำคัญของรัฐหนึ่ง มันก็ OK ไม่มีปัญหา แต่เวลาใช้คำว่าราชธานี มันหมายความว่ามันเป็นราชอาณาจักร ตรงนี้สิครับมานั่งถกเถียงกันทำไม ต้องมองการเมืองขณะนั้นที่ระบุว่าก่อนอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ไม่มีราชอาณาจักรที่ชัดเจน มันมีเมืองใหญ่ๆ อยู่แล้ว ล้านนาก็เป็นส่วนหนึ่ง นครศรีธรรมราชต่างๆ เหล่านี้ แล้วมันก็รวมกัน เวลาเราเขียนประวัติศาสตร์ เราบอกว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกทันทีผิดเลย

อาจารย์ธวัช : แต่ผมว่าเขาอยู่กันอย่างมีความสุข เขามีน้ำ พังโพยสี มีท่อน้ำ มีเขื่อน เขาเลียนแบบขอมอยู่เยอะนะครับ ทำที่กักน้ำและต่อท่อลงมาเข้าในเมืองใช้น้ำ ฉะนั้นสระกลางเมืองก็มีน้ำทั้งปี ท่อทำจากดินเผาเลยครับ มีความคิดสร้างสรรค์กว่าอยุธยาด้วยซ้ำไป สมัยอยุธยายังใช้น้ำคลองอยู่เลย ผมคิดว่าเมืองสุโขทัยอายุไม่ยืนยาวเท่าไหร่ แต่เขามีความสุข เหมือนกับที่เขียนบันทึกไว้ เขามีความชื่นชมบ้านเมือง อยู่ดี มีกิน ไม่ลำบาก

สรยุทธ : ทฤษฎีของฝ่ายนั้นบอกว่า ใครใคร่ค้า ค้า สุโขทัยสมัยนั้นมีเหรอ

อาจารย์ธวัช : มี

สรยุทธ : น่าจะเอามาจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

อาจารย์ธวัช : หลักศิลาจารึกหลักที่ ๓ พูดลงเรือไปค้า ขี่ม้าไปขาย นี่เป็นความดีอกดีใจของเขา

สรยุทธ : อาจารย์ศรีศักรอธิบายได้มั้ยเรื่องการค้า

อาจารย์ศรีศักร : ถ้าดูจารึกหลักที่ ๑ เมื่อช่วงพ่อขุนรามคำแหงปกครองแบบพ่อปกครองลูก มันพูดถึงเมืองแรกเริ่ม ไม่ใช่เป็นราชธานี โครงสร้างขนาดนั้นเมืองกระจอก แต่ถ้าเป็นราชธานีต้องมีระบบ มาถึงพระยาลิไท ไปสร้างให้เป็นโครงสร้างให้พิลึกกึกกือขึ้นมา ในตัวจากรึกบอกอยู่แล้ว นี่ผมพูดจริงนะ ผมไม่กลัวใครจะไปเดินขบวนก็แล้วแต่ เพราะโครงสร้างเล็กๆ อย่างนี้ ไม่น่าจะมีอะไรที่ซับซ้อน

สรยุทธ : เชื่อว่าสร้างในสมัยสุโขทัย

อาจารย์ศรีศักร : ใช่ แต่มันรุ่นหลังๆ แล้ว

สรยุทธ : แล้วสมัยนั้นสร้างทำไมครับ แล้วทำไมไปเขียนให้เป็นอย่างนั้น

อาจารย์ศรีศักร : จารึกเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่ง เพราะมันขัดแย้งกัน ผมบอกว่าต้องเอาหลักที่ ๑ และ ๒ มาดู ต่างฝ่ายต่างเชียร์ตัวเอง

ศ.ดร.ประเสริฐ : พระเจ้าลิไทยกล่าวว่าบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่กล่าวในสมัยพ่อขุนรามคำแหงไว้ว่าบ้านเมืองกว้าง คือกว้างขวางมาก ก็แปลว่ามันต้องใหญ่กว่านั้น ก็เพียงเท่าที่ว่าลิไทยเองก็ไปถึงหลวงพระบาง ไปถึงชวา แต่สมัยของปู่ท่าน ดินแดนมันกว้างขวางกว่านี้ เอาแค่นี้แหละครับ อย่าเถียงกันเลย ผมไม่ต้องการมาเถียงกัน เอาไว้แค่สมัยสุโขทัย ผมก็พอใจแล้ว อย่าให้มาถึงรัชกาลที่ ๔ เลย

อาจารย์ศรีศักร : เรื่องรัชกาลที่ ๔ ในความเห็นผม ท่านเอาสิ่งของเก่าๆ มาสร้างประวัติศาสตร์ชาติ คือศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพื่อจะยืนยันว่าเมืองไทยมีอารยะ เพราะความเป็นอารยธรรมคือการมีลายลักษณ์ อันที่ ๒ ในเรื่องของพระศาสนา รัชกาลที่ ๔ ท่านอ้างพระปฐมเจดีย์ แต่ท่านไม่ได้สร้างใหม่ ท่านเอาเหล่านี้มาอ้างในการสร้างความเป็นรักชาติของเรา แต่พอเวลาอ้างขึ้นมาก็จะไปพูดถึงความเก่าแก่ เดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้มั้ยว่านครปฐมเป็นแหล่งแรกที่พระโสณอุตตระมาประกาศศาสนา

(สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์)

สรยุทธ : สวัสดีคุณสมศักดิ์ครับ ปัญหาของคุณสมศักดิ์และชาวบ้านที่ไปชุมนุม ปัญหาคืออะไรครับ

สมศักดิ์ : ปัญหาตรงนี้ผมคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับนักวิชาการ แต่มันเป็นผลเฉพาะทางความรู้สึกนะครับ และเป็นผลสะท้อนมาถึง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งชูยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและการเป็นมรดกโลกอยู่ คนสุโขทัยที่รู้ความมาก็คือมีความเชื่ออย่างนี้มาตลอด และผลกระทบที่ตามมาก็คือวิถีชีวิตของคนสุโขทัยถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยประวัติศาสตร์ และที่นักวิชาการทั้งสองฝ่ายมาถกเถียงกัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงกันอยู่

สรยุทธ : และที่คนสุโขทัยเผาพริกเผาเกลือ เพราะกำลังถูกลบหลู่อย่างนั้นหรือครับ

สมศักดิ์ : กำลังมีความรู้สึกว่าสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว ก็ดีอยู่แล้ว วิถีชีวิตก็เดินไปด้วยดีด้วยคนสุโขทัย แต่ถ้ามาเปิดประเด็นกันเรื่องนี้ขึ้นมา เปิดมานานแล้วครับ เราเคยเชิญนักวิชาการทั้งฝ่ายที่นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ปรากฏว่าเขาก็ไม่มาให้ความกระจ่าง ก็เลยเป็นเรื่องคลุมเครือ มันก็เงียบมาตลอด จนสุดท้ายมีการต่อเนื่องเรื่องนี้ เราจึงคุยกับประชาชนว่าทำไมไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่ไม่ได้เถียงว่าจริงหรือไม่ แต่เราอยากอยู่ในวิถีชีวิตของคนสุโขทัยแบบนี้นะครับ

สรยุทธ : คืออะไรครับ

สมศักดิ์ : ก็คือสิ่งที่ยอมรับกันแล้ว แม้กระทั่งยูเนสโกยังยอมรับเลยครับ

สรยุทธ : อย่าได้มาเสนอความคิดที่จะเปลี่ยน จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจ อย่างนั้นใช่มั้ยครับ

สมศักดิ์ : อาจจะเป็นกุศโลบายของบรรพชนของคนสุโขทัย หรือใครก็ได้ที่เป็นคนไทย ที่เป็นหลักจิตวิทยามากกว่าที่จะพูดถึงเรื่องเก่า-ใหม่ ผมว่าเป็นหลักจิตวิทยาในการปกครองของคนสมัยนั้นมากกว่า

สรยุทธ : อีกมุมนึงในประวัติศาสตร์ก็น่าจะมีการชำระเสียให้ถูกต้องไม่ใช่หรือครับ

สมศักดิ์ : ชำระได้ครับ มีหลักฐานแน่นอน คนสุโขทัยไม่ใช่ไม่มีเหตุผลนะครับ ยอมรับฟังถ้าทุกอย่างมีหลักฐานชัดเจนว่าถ้าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ช่าง คนสุโขทัยยอมรับได้ เพราะเป็นสมบัติของชาติไทยครับ

สรยุทธ : ถ้ายอมรับได้ ปัญหาคืออะไรครับ

สมศักดิ์ : ปัญหาคือน่าจะทำให้มันชัดเจนกว่านี้ แล้วออกมาคุยกันครับผม

อาจารย์ศรีศักร : การหาข้อเท็จจริง มันยุติไม่ได้ เพราะใครจะไปรู้อดีตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็เป็นมุมมองที่ต้องโต้เถียงกันสืบไป แต่ถ้าความเชื่อเป็นเรื่องนี้ ก็เป็นสิทธิของคนสุโขทัย ก็เชื่อไปสิ

สมศักดิ์ : ก่อนที่จะออกมาตีแผ่เป็นสื่อทั้งประเทศ มันย่อมเกิดผลกระทบแน่นอนครับ คนสุโขทัยเดินไปที่ไหน ก็บอกว่าคนสุโขทัยไม่ใช่ของจริงล่ะ เพราะฉะนั้นพอประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน ผมไม่บอกว่าบิดเบือนดีกว่า ผมว่าจะมีการถกเถียงกันอยู่ว่าสิ่งที่เราได้ร่ำเรียนมา รู้มา อาจจะถูกชำระ หรือไม่เป็นไรถ้าชำระแล้วมันขาวสะอาดและชัดเจน และไม่มีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง คนสุโขทัยยอมรับได้ครับ

อาจารย์ศรีศักร : ผมว่าเรื่องนี้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ทำความเข้าใจในการเรียนประวัติศาสตร์เสียใหม่ให้ดี และรวมทั้ง ททท. หรือกรมศิลปากร จะทำอะไรให้มันเข้าใจ อะไรที่เป็นความเชื่อ อะไรที่จะสร้างขึ้นเพื่อให้มีการท่องเที่ยว ให้มันเคลียร์ซะ อย่าเอาเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิชาการ ไม่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เขาถกเถียงกันในวงวิชาการเท่านั้นเอง พวกที่ทำหนังสือขาดทุนทั้งนั้นแหละครับ แต่หนังสือพระขายดี

อาจารย์ธวัช : ถ้าเรื่องธรรมดา หนังสือพิมพ์ก็ไม่ชอบลง แต่ถ้าเรื่องขัดแย้งขึ้นมา หนังสือพิมพ์ชอบลง วิธีการนี้ใครอยากดัง ก็ทำเรื่องอย่างนี้เรื่อยๆ ก็ดังไปเรื่อยๆ ดังชั่วคืนชั่ววันเลย

สรยุทธ : กลุ่มที่ไปชุมนุมเผาพริกเผาเกลือ เรียกร้องยังไงอะไรครับ

สมศักดิ์ : ขอให้นักวิชาการทั้งหลายแหล่ปิดประตูห้องทำการบ้านให้เรียบร้อย ตอนนี้หยุดการให้ข่าวทางสื่อ หรือการตีพิมพ์ที่เป็นสื่อสาธารณะ ทำให้คนไขว้เขว แม้กระทั่งลูกหลานสุโขทัยตอนนี้ไขว้เขวกันหมดแล้ว ต้องกลับไปเรียนกันใหม่แล้วมั้งอย่างนี้

สรยุทธ : แยกได้มั้ยว่าบางอย่างเป็นเรื่องของความเชื่อประเพณี แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ คนละแบบกัน อย่างเช่น เผาเทียนเล่นไฟ ลอยกระทง เราแยกได้มั้ย นี่ผมถามสมมตินะครับ

สมศักดิ์ : แยกได้ครับ แต่ในส่วนของหลักจิตวิทยา ผมเชื่อว่าในความเชื่อของคนสุโขทัยมีความเชื่อเต็ม ๑๐๐% และกลายเป็นเหมือนลักษณะของทางล้านนา เป็นความเชื่อที่หนักแน่นมากครับคนสุโขทัย

สรยุทธ : และจะชุมนุมกันอีกเมื่อไหร่ครับ

สมศักดิ์ : ถ้ามีการเคลื่อนไหวทำให้สุโขทัยได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตตรงนี้ เราก็จำเป็นต้องเคลื่อนตัวออกมาอีกครั้งในการชุมนุมใหญ่ แต่ชุมนุมด้วยสันติ เราต้องการแสดงพลังให้เห็นว่าคนสุโขทัยปลูกฝังความรู้สึกนี้ รักสุโขทัย รักพ่อขุนรามคำแหง เป็นอย่างมากครับ

สรยุทธ : แล้วทำไมนักวิชาการไม่เข้าไปนั่งคุยให้ได้ครับ อันนี้ผมเป็นคนนอกครับ

อาจารย์ธวัช : ใครเป็นคนจัดล่ะ

สรยุทธ : หมายถึงนักประวัติศาสตร์ด้วยกันก็จัดกันเอง แล้วเข้าไปนั่งคุยกันเอง

อาจารย์ธวัช : ตอนนี้สมาคมประวัติศาสตร์ไม่มีบทบาทอะไรเท่าไหร่ มันไม่ค่อยทำงานกันแล้วนะ และการชำระประวัติศาสตร์ของสำนักนายกฯ ก็มีคนแค่กลุ่มนึง เดี๋ยวนี้มันหลายสำนัก หลายกลุ่ม หลายความคิด ฉะนั้นประวัติศาสตร์เมืองไทยอีกนานที่จะเจริญก้าวหน้า ไม่ยอมลงกันเลย ต่างคนต่างคิดคนละอย่าง

สรยุทธ : นักประวัติศาสตร์บ้านเราไม่ยอมลงรอยกันเลยเหรอ

อาจารย์ศรีศักร : ผมว่าบางกลุ่มก็ลงรอย บางกลุ่มก็ไม่ลงรอย แต่ที่ไม่ลงรอยก็เป็นลักษณะของนักวิชาการทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ เราอย่าไปถือเป็นสาระ ความงอกงามทางวิชาการคือการถกเถียงกัน แต่ใครจะถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับคนฟังมากกว่า

สรยุทธ : วันนี้ก็ถือว่าเราเรียนรู้เรื่องที่กำลังถกเถียงกันในแวดวงประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านก็ต้องมีส่วนรู้เห็นบ้าง เพื่อจะได้ศึกษาครับ ถ้าเกิดมีประเด็นนี้เกิดขึ้น วันนี้ขอบพระคุณทุกท่านครับ ลาไปก่อน สวัสดีครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ส.ค. 04, 18:32
 ผมได้ดูรายการนี้ในช่วงท้าย หลังจากนั้นก็ไปดู WEBTV ช่วงต้นที่ www.mcot.or.th เนื้อความที่ศิลปวัฒนธรรมเอามาลงนี้ หยิบเอามาจากเนื้อหาที่ถอดเทปและลงไว้ใน mcot แต่แก้ไขการสะกดและข้อความที่พนักงานของรายการถอดไว้ผิดๆจำนวนมาก

แต่ที่สำคัญคือมีเนื้อหาบางส่วนหายไปครับ เป็นส่วนที่สำคัญ ถึงแม้ว่าผมเห็นด้วยว่าไม่น่าบันทึกไว้ เนื่องจากผู้ร่วมรายการ"ท่านหนึ่ง" ฟันธงย้ำหลายครั้งในทำนองว่า เราจะถกหรืออภิปรายหลัก ๑ อย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำอย่าง"สร้างสรรค์" คือให้เอาข้อความมาศึกษากัน "ภายใต้เงื่อนไขว่าพ่อขุนรามเป็นคนสร้างเท่านั้น"

พ่อขุนรามอาจจะเป็นผู้สร้างหลักที่ ๑ จริง แต่ความคิดแบบนี้เป็นอันตรายต่อวงการศึกษามาก คือ "คุณจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ต้องคิดเหมือนผมเท่านั้น"

รับไม่ได้จริงๆครับ

ไม่แปลกใจว่าทำไมอ.พิริยะถึงปฏิเสธที่จะร่วมรายการ ภาพพจน์วงการวิชาการโบราณคดีคงป่นปี้หมดถ้าจะมาทะเลาะกันแบบเหลวไหลออกทีวี


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 04, 08:47
 ถ้าอาจารย์พิริยะยังคงเชื่อว่าศิลาจารึกสร้างสมัยรัตนโกสินทร์    ก็ไม่ควรจะมาออกรายการนี้อยู่ดีละค่ะ จะกลายเป็นการพูดคนละประเด็นกันไป


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 04, 13:02
 คุณเทาชมพูคงจะไม่ได้ขมรายการตอนนี้ ประเด็นคือดังนี้ครับ

 http://www.mcot.net/tltk/today.php?id=430&PHPSESSID=137b2512969c3ad30f8c848cc2146997

ขออนุญาตยกความมาตรงนี้นะครับ

ปัญหาหลักศิลาจารึก หลักที่ 1

เปิดประเด็นร้อนค่ำคืนนี้ จะไป "ถึงลูกถึงคน" กับเรื่องของการพิสูจน์ความจริงที่คนไทยต้องตะลึง.. หลักศิลาจารึก.สมัยสุโขทัย..ว่า หลักไหนคือของจริง หรือ สิ่งที่ค้นพบเป็นประวัติศาสตร์ จะเป็นเรื่องลวง วันนี้ จะมาแกะทุกตัวอักษร กับทฤษฎีที่ต้องพิสูจน์... อะไรคือเรื่องจริง ของจริงมีอยู่หรือไม่ ร่วมกันค้นหา และแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันได้ที่นี่ ในรายการ "ถึงลูกถึงคน" เวลา 23.00 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี และติดตามรับฟังการถ่ายทอดสดรายการนี้ ผ่านทางคลื่นวิทยุ FM 100.5 MHz (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) และในต่างจังหวัด รับฟังผ่านทางคลื่นวิทยุ อ.ส.ม.ท. อีกกว่า 50 สถานีทั่วประเทศ

ผู้ร่วมรายการ
------------------------------------
1. ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร  ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านศิลาจารึก
   ราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำของโลก
2. ศาสตราจารย์ ธวัช  ปุณโณทก  อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยบูรพา
3. อ.ศรีศักร  วัลลิโภดม  นักวิชาการอิสระ
4. สมศักดิ์  คำทองคง  ประธานคณะทำงานเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามคำแหง (สัมภาษณ์โทรศัพท์)

*** ร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ที่ ***
- โทร.02-201-6061 ถึง 3
- ส่งข้อความผ่าน SMS กับโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ
  กด 9 เว้นวรรค แล้วตามด้วยข้อความ จากนั้นส่งมาที่ 84820
----------------------------
(สำหรับวันที่มีโหวต) เข้าเมนูส่งข้อความ ไปที่เมนูเขียนข้อความ
เลือกหัวข้อโหวต (กด 91)หรือ(กด 92) ส่งมาที่หมายเลข 84820
-----------------------------
ล่าสุดรายงานจาก หนังสือพิมพ์มติชน  (ขอขอบคุณข้อมูล)
ประท้วง2นักวิชาการแย้งศิลาจารึก ขู่ไม่หยุดวิจารณ์จะเคลื่อนใหญ่อีก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม บริเวณหน้าพระบรมรูปอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย พร้อมแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามทั้ง 9 อำเภอ และนักเรียน นักศึกษา จำนวน 5,000 กว่าคน ร่วมกันชุมนุมเคลื่อนไหวประท้วงนายไมเคิล ไรท์ นักวิชาการอิสระ และ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ที่ระบุว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 4

กลุ่มแกนนำต่างๆ อาทิ นายมนู นายจำเจน จิตธร ส.ว.สุโขทัย นายสมศักดิ์ คำทองคง ประธานคณะทำงานองค์กรเครื่อข่ายชุมชนลูกพ่อขุนราม และหัวหน้าแกนนำองค์กรเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามทั้ง 9 อำเภอของสุโขทัย ผลัดกันขึ้นกล่าวโจมตีผู้ที่คิดว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนราม เป็นของปลอมนั้น เป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนไทย แบ่งออกเป็นสองฝ่าย เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับตามอง

"ขอฝากผ่านสื่อไปถาม ดร.พิริยะว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เพราะอานุภาพของพ่อขุนรามหรือที่เป็นผู้สร้างสุโขทัยเป็นราชธานีจนมีประเทศไทยถึงทุกวันนี้ และที่ผ่านมา ดร.พิริยะได้เรียนหนังสือซึ่งก็เป็นตัวอักษรที่พ่อขุนรามประดิษฐ์ขึ้นมา จนมีงานเลี้ยงครอบครัวและมีหน้ามีตาในสังคมไทย ก็ไม่ใช่หนังสือของพ่อขุนรามหรอกหรือ การชุมนุมครั้งนี้เพื่อเตือนกลุ่มนักวิชาการ แต่หากยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามฯปลอมอีกก็จะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ และคงจะไม่หยุดอยู่เท่านี้" แกนนำผู้หนึ่งกล่าว

ก่อนสลายการชุมนุมกลุ่มพลังมวลชน ได้ร่วมประกอบพิธีเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้ที่ออกมาระบุว่า ศิลาจารึกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีพระครูวิจิตรธรรมนิเทศก์ ประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จ.สุโขทัย เป็นผู้ทำพิธีสวดยัดสาปแช่ง พร้อมทั้งนำแผ่นป้ายข้อความต่างๆ เผาพร้อมกับพริกและเกลือด้วย

ด้านนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ออกมาเฝ้าดูสถานการณ์ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กล่าวว่า มีการตรวจสอบหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ทั้งการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และทางภาษาโบราณมาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นของแท้ และเกิดขึ้นในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงจริง และในหลักศิลาจารึกอีกหลายหลักที่ถูกค้นพบรอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์ จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักที่ 1


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 04, 13:18
 อ.พิริยะถูกโจมตีมากด้วยเหตุที่ว่ารายการนี้แทนที่จะมีฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน กลับมีเพียงฝ่ายคัดค้านคืออ.ประเสริฐ และ อ.ธวัช กับอ.ศรีศักรที่มาเป็นตัวแทนฝ่ายที่เห็นว่าหลักที่๑ไม่ได้สร้างโดยพ่อขุนราม(อ.ศรีศักรเห็นว่าน่าจะสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท)

หากคุณเทาชมพูพอมีเวลาและ internet ที่ใช้อยู่มีความเร็วพอสู้ไหว อยากให้เข้าไปดู video clip ด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

ตามลิงก์นี้ไปจะเห็นลิงก์ไปยัง video clip อยู่ด้านล่างครับ
 http://www.mcot.net/tltk/today.php?id=430  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 04, 13:35
 ผมว่านักวิชาการแสดงความคิดเห็นแบบนักวิชาการเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้ว หากคิดต่างกันก็หาหลักฐานมายันกันไป ถึงจุดหนึ่งใครมีหลักฐานมั่นคงกว่ากันสมมติฐานนั้นก็จะได้รับการยอมรับในวงกว้าง (แต่ก็ยังคงต้องรอการ challange จากหลักฐานใหม่ๆ)

ผิดถูกว่ากันไปครับ

แต่ที่ว่าอ.พิริยะอยากดัง ผมว่ามันก็ตลก ผมตามเรื่องนี้มาหลายปี ผมยังไม่เคยเห็นหน้าอ.พิริยะเลยครับ ถ้าลองตรวจสอบประวัติดู ก็จะรู้ว่าท่านเป็นอย่างไร หากมองในแง่สิ่งที่นำเสนอออกมา ผมว่าเหตุผลที่อ.พิริยะยกมา หลายๆเรื่องไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะใช้ยึดถือได้ แต่ในขณะที่ฝ่ายที่พยายามชี้ว่า"ปลอม"ต้องชี้จุด"แปลกปลอม"ออกมา ฝ่ายที่เห็นว่า"แท้"ก็ต้องชี้แจงว่าจุดที่"แปลกปลอม"นั้นมันไม่ได้แปลกปลอมแต่อย่างใด หลายๆสิ่งที่อ.ประเสริฐท่านยกขึ้นมา ผมว่าอยู่หมัด ชัดเจน แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่หนักแน่น และบางประเด็นก็ไม่มีการชี้แจง ทั้งนี้การที่ยังมีสิ่งที่"แปลกปลอม"อยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชี้ชัดได้ว่าหลัก ๑ "ปลอม" แค่เรายังไม่สามารถอธิบายความแปลกปลอมนั้นได้ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 04, 13:49
 ดิฉันดูรายการนี้ค่ะคุณ  CH  ถึงออกความเห็นอย่างที่บอกไว้ไงคะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 04, 17:54
 คุณเทาชมพูดูแล้วเห็นเป็นอย่างไรบ้างครับ?

ผมดูคนที่ sms เข้ามาแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ "ด่า"อ.พิริยะก็มาก พวกที่"เชื่อ"ว่าทำสมัยรัตนโกสินทร์"โวย"อ.ประเสริฐก็เยอะ อ.ศรีศักรก็พลอยโดนลูกหลงไปไม่น้อย

ส่วนตัวผมเองค่อนข้างพอใจกับการแสดงความคิดเห็นของอ.ประเสริฐและอ.ศรีศักรครับ อาจจะดูรุนแรงไปบ้างในบางจังหวะแต่อยู่บนฐานของวิชาการ แต่ก็เห็นว่าคนไทยยังไม่มีความพร้อมกับการเสวนาแบบวิชาการแบบนี้ นักวิชาการที่ดีก็ทำงานของตนเองไป ประชาชนดูจะใช้วิธี"เลือก"ที่จะเชื่อตามความพอใจของตนมากกว่า และที่แย่คือมองคนที่คิดต่างจากตนเองเป็นผู้ร้ายไปเลย

ที่ยังงงๆคือเรื่องนี้มันระเบิดขึ้นมาเพราะอะไร ผมเห็นว่าอ.พิริยะค่อนข้างจะเก็บตัวเงียบ หนังสือที่ตีพิมพ์ในช่วงนี้ก็เป็นหนังสือเก่าเอามาพิมพ์ใหม่ เนื้อหาในหนังสือก็ค่อนข้างจะเป็นวิชาการมาก ถ้าไม่สนใจจริงจะน่าง่วงเลยด้วยซ้ำ คนที่ออกมาแสดงความเห็นแบบ"แรง" กลับเป็นคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ, ไมเคิล ไรท์ และ อ.นิธิ ซะมากกว่า

มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับนี่


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 04, 09:59
 ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอกค่ะ   นักวิชาการเขาก็เห็นกันหลากหลาย เท่านั้นเอง
ส่วนการเล่นกับความเชื่อของประชาชน เป็นอีกกรณีหนึ่ง
เรื่องนี้น่าจะจบกันไปนานแล้ว


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:02
 แปะข้อความต่อจากคห.79


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:03
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:05
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:07
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:09
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:12
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:13
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:15
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:17
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:22
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:25
 *


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 04, 11:30

ถ้าหากว่าไม่มีใครเรียกร้องให้โพสต์ต่อ  ดิฉันก็ขอหยุดสแกนข้อความมาลงไว้แค่นี้นะคะ
เพราะเท่าที่เอามา   ก็คงมีน้ำหนักพอจะนำมาประกอบความคิดเห็นได้แล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นสิ่งที่พระบาทพระจอมเกล้าฯทรงทำขึ้นหรือไม่

ความคิดเห็นส่วนตัวของดิฉันคือ ศิลาจารึกนี้สร้างสมัยสุโขทัย  ไม่ใช่รัตนโกสินทร์       18 บรรทัดแรกสร้างสมัยพ่อขุนรามคำแหง  ส่วนที่ถัดมา สร้างขึ้นในสมัยหลังจากนั้น  ข้อความในศิลาจารึกบอกไว้ชัดเจนแล้ว


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ส.ค. 04, 01:35
 หากว่าคุณเทาชมพูจะกรุณาโพสต์ต่อ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจต่อไปนะครับ

โดยส่วนตัวผมเองคิดว่ายังสรุปได้ยาก จะเชื่ออ.พิริยะหลักฐานเหตุผลที่นำเสนอมาก็ยังหนักแน่นไม่พอ แต่ถ้าจะเชื่อว่าเป็นศิลาจารึกสมัยสุโขทัยจริง ผมก็ยังขัดข้องใจอยู่บางประการ โดยเฉพาะประเด็นที่คาใจผมมากที่สุดก็คือเรื่องการใช้วรรณยุกต์นี่แหละครับ เพราะจารึกหลักที่ ๑ มีการใช้วรรณยุกต์ที่"ผิดชาวบ้าน"จริงๆครับ เรียกว่าใช้กันแบบเคร่งครัดเหมือนกับที่เราใช้กันในปัจจุบัน จะมีหลุดบ้างก็เรียกได้ว่าไม่เกิน 1% ในขณะที่หลักอื่นๆ ผมพยายามไล่หาจารึกอักษรไทยมาอ่านดูมามากกว่า ๓๐ หลักแล้ว ไล่อายุได้ตั้งแต่หลักที่ ๒ มาจนถึง พ.ศ.๒๑๐๐เศษแล้ว การใช้วรรณยุกต์ก็เป็นไปอย่างหละหลวมมาก ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง หลักไหนใส่ครบถ้วนสัก 50% ก็ถือว่ามากแล้ว เรียกว่าการใส่วรรณยุกต์ในหลักที่ ๑ นี่ถือว่าเป็นเอกลัษณ์อีกอย่างหนึ่งของหลักที่ ๑ เมื่อเทียบกับจารึกในสมัยเดียวกัน(และหลังจากนั้นอีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี)เลยเชียวครับ ผมยังคิดเหตุผลที่ดีให้กับความผิดแปลกตรงนี้ไม่ออกครับ จะให้เชื่อตามอ.ประเสริฐว่าเป็นเพราะพระอัจฉริยภาพของพ่อขุนรามคำแหง ผมก็ยังอึดอัดใจอยู่

สำหรับเรื่องผลการวิเคราะห์ทาง"วิทยาศาสตร์"ที่ทำนั้น ในฐานะที่เป็นนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ พูดตามตรงว่ายอมรับผลการวิเคราะห์ทาง"วิทยาศาสตร์"ที่ไม่ยึดถือหลักการทาง"วิทยาศาสตร์"แบบนี้ไม่ได้ครับ

ขอติดตามดูต่อไปก็แล้วกันครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 04, 11:53
 ถ้าหาหลักฐานเรื่องวรรณยุกต์มาได้แล้วจะสแกนค่ะ     เท่าที่ยกมาดิฉันคิดว่าผู้สนใจก็น่าจะได้คำตอบไปมากพอสมควรแล้ว
ดิฉันไม่ติดใจเรื่องวรรณยุกต์     การเรียงวรรณยุกต์ลงบรรทัดเดียวกับตัวพยัญชนะ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็ทรงเคยทดลองทำ    แต่ก็เช่นเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ 1  คือไม่เป็นที่นิยม   เราก็เลยมีวรรณยุกต์ข้างบนข้างล่างกันแบบเดิมจนทุกวันนี้  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 31 ส.ค. 04, 16:11
 ยาวมากๆครับกระทู้นี้ ขอกลับไปอ่านตอนต้นก่อนครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ส.ค. 04, 17:56
 ประเด็นที่ผมกล่าวถึงไม่ใช่เรื่องตำแหน่งของวรรณยุกต์นะครับ วรรณยุกต์ในหลักที่หนึ่งวางอยู่บนพยัญชนะเป็นปกติดีครับ(เป็นอย่างเดียวที่ไม่ได้เรียงอยู่ในบรรทัด)

ถ้าเป็นประเด็นเรื่องวางสระบนสระล่างไว้บรรทัดเดียวกันอ.ประเสริฐได้เคยชี้ให้เห็นว่ามีจารึกหลักอื่นที่มีการใช้ให้เห็นอยู่บ้างแล้วครับ

สิ่งที่เป็นปัญหาคือความเคร่งครัดในการใช้วรรณยุกต์ครับ ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ

จารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ ปริวรรตตามรูปอักษรปัจจุบัน

๑. พ่   ูก   ื ช่    ี สร   ี นทรา   ี ทตย แม่   ู ก   ืช่

นาง    ื เสอง   ี พ่   ู ก   ื ช่ บาน   ื เมอง

๒.   ู ต   ี พ่น๋องท๋องดยวห๋าคน   ู ผ๋ชายสาม

 ู ผ๋    ี ญงโสง   ี พ่     ื เผอ

๓. อ   ู ผ๋อ๋ายตายจาก   ื เผออตยมแฏ่ญงงเลก

 ื เม่ออ   ู ก   ื ฃ๋นให่ญได๋

๔.    ีสบเก๋าเข๋า  ุ ฃนสามชนเจ๋า   ืเมอง

ฉอด(๑) มาท่    ื เมองตากพ่    ู กไปรบ

๕.  ุ ฃนสามชนหววซ๋าย  ุ ฃนสามชนขบบ

 มาหววฃวา  ุฃนสาม

๖. ชน    ื เก่ลอนเฃ๋าไพ่รฝ๋าหน๋าใสพ่    ู ก   ี หน

ญญ่ายพายจแจ๋

๗. (น   ู) (๒) กบ่     ี หน   ูก   ี ข่ ช๋างเบกพล(๓)

ู กขบบ เฃ๋า ก่อนพ่   ูก    ูกฏ่

๘. (ช๋า)งด๋วย  ุฃนสามชนตน   ูก   ูพ่งช๋าง

  ุ ฃนสามชน  ตวว    ื ช่

๙. มาส    ื เมองแพ๋   ุ ฃนสามชนพ่าย    ี หน

พ่   ู  ก    ี จ่ง    ื ฃ๋น    ื ช่   ู ก

๑๐.   ื ช่พระรามคำแหง    ื เพ่ออ    ู ก   ู พ่งช๋าง    

 ุ ฃนสามชน    ื เม่อ
   ๖. ชนเกลื่อน(๑๒) เข้าไพร่ฟ้าหน้าใส(๑๓) พ่อกูหนี

ญญ่ายพายจแจ๋-

๑๑. อช่ววพ่  ู ก  ู กบํเรอแก่พ่    ู ก   ู กบํเรอ

แก่แม่    ู ก   ู กได๋ตวว

๑๒.   ื เน๋ออตววปลา   ู กเอามาแก่พ่   ู ก  ู กได๋

หมากสํ๋หมากหวา

๑๓. นอนนใด   ิ กนอร่อย   ิ กน    ี ด  ู กเอามา

 แก่พ่   ู ก  ู กไปตี

๑๔. หนงงวงช๋างได๋   ู กเอามาแก่พ่   ู ก

   ู กไปท่บ๋านท่   ื เม

๑๕. องได๋ช๋างได๋งวงได๋ป่ววได๋นางได๋

 ื เงอนได๋ทอง  ู กเอา
   ๑๑. อชั่วพ่อกู(๒๒) กูบำเรอ(๒๓) แก่พ่อกู กูบำเรอ

แก่แม่กู กูได้ตัว

๑๒. เนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้

หมากส้ม   หมากหวา-

๑๓. น(๒๔)   อันใดกินอร่อยกินดี   กูเอามา

แก่พ่อกู  กูไปตี-

๑๔. หนังวังช้าง(๒๕) ได้กูเอามาแก่พ่อกู

กูไปท่บ้านท่เมื-

๑๕. อง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง(๒๖) ได้

เงือน(๒๗) ได้ทองกูเอา
๑๖. มาเวนแก่พ่   ู ก  พ่   ู กตายญงง   ี พ่   ู ก

 ู กพรำบํเรอแก่    ี พ่

๑๗.   ู กฎ่งงบํเรอแก่พ่    ูก   ี พ่   ู กตาย

   ึ จ่งได๋     ื เมองแก่   ู กทงง

๑๘. (ก)ลํ   ืเม่ออช่ววพ่  ุ ฃนรามคำแหง

   ื เมอง  ุษกโขไท   ี น๋     ี ดในน๋ำ

๑๙. (   ี ม)ปลาในนา   ี มเข๋าเจ๋า   ื เมองบ่เอา

จกอบในไพร่   ู ลทาง(๔)    ืเพ่

๒๐. (อ)น   ูจองวววไปค๋า    ี ข่ม๋าไปขาย

 ใครจกกใค่รค๋าช๋างค๋าใคร

๒๑. จกกใค่รค๋าม๋าค๋าใครจกกใค่รค๋า    ืเงอน  

ค๋าทองค๋าไพ่รฝ่าหน๋าใส

๒๒.   ู ลกเจ๋า  ูลก  ุฃน   ู ผ๋ใดแล๋ลํ๋ตายหายก่วา

อ๋ยาว    ืเรอนพ่   ืเช๋ออ

๒๓.   ื เส๋ออฅำ(๕) มนนช๋างข    ู ลก   ีมยย   ี ยยเข๋า

ไพรฝ๋าข๋าไทป่า

๒๔. หมากป่า  ูพลพ่   ื เช๋ออมนนไว๋แก่ ูลกมนน

  ี ส๋นไพ่รฝ๋า

๒๕.   ู ลกเจ๋า  ูลก  ุฃน     ีผ๋แล๋   ีผดแผกแสก

ว๋างกนนสวน  ูด

๒๖. แท๋แล๋     ีจ่งแล่งฅวาม(แ)ก่ขาด๋วย    ืซ่

บ่เฃ๋า   ูผ๋ ลกกมกก

๒๗.    ู ผ๋ซ๋อนเหนเข๋าท่านบ่ใค่ร    ีพน

เหน   ีสน ท่านบ่ใค่ร   ืเดอ

๒๘. ดคนใด   ีข่ช๋างมาหา

พา   ืเมองมา   ูศ่ช่อย   ื เหนออ   ืเฟ่อ

๒๙. อ  ูก๋มนนบ่    ีมช๋างบ่     ีมม๋าบ่   ีมป่วว

บ่   ีมนางบ่   ีม   ืเง(อ)

๓๐. นบ่    ีมทองให๋แก่มนนช่อยมนนตวง

     เปนบ๋านเปน     ืเมอ

๓๑. งได๋ข๋า   ืเสอกข๋า    ืเสออหวว  ูพ่งหววรบ  

ก่    ีด บ่ฃ๋าบ่    ีตใน

๓๒. ปาก   ูปต   ีมก    ีดงอนน   ืณ่ง

แขวนไว๋ ห๋นน ไพร่ฝ๋าหน๋า

๓๓. ปกกลางบ๋านกลาง    ืเมอง    ีมถ๋อย

 ีม ฅวามเจบท๋อง

๓๔. (ข๋)องใจมนนจกกก่ลาว    ิเถงเจ๋า   ิเถง

  ุฃนบ่ไร๋ไปลนนก

๓๕.    ีดงอนนท่านแฃวนไว๋พ่   ุฃนรามคำแหง

เจ๋า    ืเมองได๋





ลองสังเกตดูว่ามีการใช้วรรณยุกต์อย่างเคร่งครัดนะครับ

แล้วลองเปรียบเทียบกับจารึกหลักที่ ๒ ด้านที่ ๑ ดูนะครับ

๑. .... (๑) .......................

๒. ............................

๓. ...............สํเดจพระตถาคตเปน........

๔. .....มหิ (ยง) งคน เมิอสํเดจพระ

มหามูณีสรีมหาธาดุ.........

๕. อยู…..สํเดจพระมหาเถรผูชีสรีสรธา

ราชจูลามูณีรดดนลงกาทีบมหาสามิเป

๖. (นเจา).......ใกลฝงันำมาวลิกคงคา

ในลงกาทวิบนอกเมืองกำพไลเถิง.. ิย

สํเดจหา

๗. .........ทีนนนก่พระทนตธาดุสูคนธ

เจดีมีสาม (อ) นนมีญอดอนนนิ

๘. (งพระมหาเถรสรีสรธา) ราชจูลามูณี

เกิดในนครสรลวงสองแฅวปูชีพระญา

สรีนาวนำถุ ํ (เปนขุน) เปนพ

๙. ............... เสวยราชในนคร

สองอนนอนนนิงชีนครสุกโขไทอนน

นีงชีนครสรีเ(ส)

๑๐. (ชนาไล)..........ปรดิสถาพระ

ส (รีรดดนมหาธาดุ) ใกลฝงันำ ...

ในนคร สุกโขไท นนนพ่ขุ

๑๑. นสรีนาว (นำถุ ํ ).......................

.............(สรีเสชนาไล) ดงงอิง

เปนขุนยิขุนนางนกกห(๒)

๑๒. นาแ .......... (เปน) ขุนใน

เมิองชลยง..........เมิองใตออก

พขุนนำถุ ํ เบิองตวนนออ

๑๓. กเถิง .......... เบิองหววนอนเถิง

ขุนลุน (ตา) ขุนดา (ขุนดาน) ๐...

เบิองในหรดีเถิงฉอดวยงเหลก

๑๔. .. (เบิองตวนน) ตกเถิง..ละพุล

.......... บู..๐ เบิองพาย (บบ)เถิงชยง

แสนพยาว. ลาว๐ เบิอ

๑๕. งตีนนอนเถิงเมิองด....ขุนดาน....

...... (ขุน) ค..........พขุน

นำถุ ํ ดาย ไดเมีองสุก

๑๖. โขไทแกพขุนดาย ........ พขุนนำถุ ํ

รูคุณอนนพิเสส๐คี..งชางรูวงัชาง

แกลวหาน.......

๑๗. ...........เขาแทงพขุน...

นำถุ ํ ..๐พขุนนำถุ ํ ตอหววชางดวยอี

แดงพุะเลิง......

๑๘. .. (ไดเมิองแก) พขุนนำถุ ํ  พขุนนำถุ ํ

ใส......อีแดงพุะเลิงใหญปรมาน

เทาบาดเว(น..เมิ)

๑๙. องแหงเมิองสุกโขไท๐พขุนนำถุ ํ (ร) บ

เสอกมาไดใหเข๋าใหสินแก่ท่านแล๐

พิสองนองไดนิง

๒๐. .รก.............นจกก...

อนันิได ลูกพขุนสรีนาวนำถุ ํ ผูนิ (งชี)

พรญาผาเมิองเปนขุน

๒๑. ในเมิองราดเมิองลุมคุมลงแสนชางมา

ฝากรอมบานเมิองออกหลวงหลาย

แกกํ ๐ เมิอกอนพขุน

๒๒. บางกลางหาว (ขิน) ไปเมิองบางยาง

ให สิริ (จ) ดดพลพขุนผาเมิอง

เจาเมิองราด พาพขุนผาเมิองผดาจ

๒๓. (กนน) แลกนน๐พขุนบางกลางหาวได

เมิองสรีเสชนาไล......พขุนผาเมิอง

เจาเมิองราดพลมา

๒๔. ตบกนนทีบางขลงไดเวนบางขลงแก

พขุนผาเมิองแลวพขุนผาเมิองเอาพล

เมิอเมิองราดเมิองส

๒๕. คาได.สบ.ล..บสริเสชนาไลสุกโขไท

ขอมสบาดโขลญลำพงรบกนน. แลว

พขุนบางกลางหาวไป

๒๖. ...... (พลพขุนผา) เมิองเจาเมิอง

ราดมา (ทีนี) ให้ผชุ ํ พล ๐ พขุนบาง

กลางหาว แลพขุนผาเมิองขี

๒๗. ชางสราย . . . . . . . . . พรญาผสบกนน

(แลก) นนคินใหขีดวยกนนเหนิอหวว

ชาง ๐บรคนแลวพ

๒๘. ขุนบางกลางหาวแลขอมสบาดโขลญ

ลำพง รบกนน๐พขุนบางกลางหาวให

ไปบอก แกพขุนผาเมิองพขุน

๒๙. นผาเมิอง . . . . . . . (ขอม) สบาดโขลญ

ลำพงห . . พายพง๐พขุนผาเมิองจิงยงั

เมิองสุก (โข)

๓๐. ไทเขาได๐เวนเมิองแกพขุนบางกลาง

หาว๐พขุนกลางหาวมิสูเขาเพิอเกรง

แก พระสหายพขุนผา

๓๑. เมิงจิงเอาพลออกพขุนกลางหาวจิงเขา

เมิอง๐พขุนผาเมิองจิงอภิเสก พขุนบาง

กลางหาวใหเมิอ

๓๒. งสุโขไทใหทงัชีตนแกพระสหายรยก

ชีสรีอีนทรบดินทราทิตย๐นามเดมกมร

แดงอญผาเมิอง๐เมิอ

๓๓. กอนผีฟาเจาเมิองสรโสธรปุรให

ลูกสาวชีนางสุขรมหาเทวิกบบขนน

ไชยสริให นามกยร แกพขุนผาเมิอ

๓๔. งหยมพขุนบางกลางหาวไดชีสริ

อีนทรบดีนทราทิตยเพิอพขุนผาเมิอง

เอาชิตนให แกพระสหายอีก

๓๕. เมิองสุโขไทเพิอนนน๐พขุนสริอินทร

บดินทราทิตยแลพขุนผาเมิองเอาพล

ตบกนนพา.ว. . .

๓๖. ท .ั  เทิอใตเมิอเหนิอ เตรลาคลาทุกแหง

ทุกพายตางคนตางเมิอบานเมิองดงั

เกาลูกพขุนสริอี

๓๗. นทราทิตยผูนิงชีพขุนรามราชปราญ

รูธรรมกอพระสรีรดดนธาดุอนนนิง

ในสริสชนาไลหลานพขุนส

๓๘. ริอีนทราทิตยผูนิงชีธรมราชาพุล

รูบุนรูธรรมมีปริจญาแกกํบมิกลาว

ถิเลย๐พ่ขุนผาเมิองเจาเมิอง

๓๙. ราดนน๋นใหส่างเจดีมีคุณแกฝูงทาว

พรญาเปนอาจารพรนธิบาลแก่ฝูง

กสดตราธิราชทงัหลายมา

๔๐. สถิ (ต) อยูในสริเสชนาไล.....

ทุกแหงใหเปนบูรา ... สพายลูนปูน

หลงั ทงัหลายญอมใหสบสรร

๔๑. ลิกคุณทานพิ . . . (ผูเ) ปนครูหนกก

หนาแกกํ๐มีหลานพขุนผาเมิองผูนิง-

ชีสํเดจ พระมหาเถรสรีสรธา

๔๒. ราชจูลามูนิสรีรดดนลงกาทิบมหา-

สามิเปนเจาพระมหาเถรสริสรธาราช

จูลามูนิ หลานพขุ (น) ผาเมิ

๔๓. องนนนผูหลวกมกกกทำบุนยกทำ

ธรรมมกกโอยทานทุกเมิอบ่คิดแคน

จกกใหแกทาน (แตงแ)

๔๔. งสอาดงามหนกกหนาจิงโอยทานบิน-

ทิบาด โอยทานบมิขาดสกกวนน

โอย . . . สิบหาฅาบ แล . . . (ม)

๔๕. กกฉนนทุกวนนดงัอนนแลมกกจำสีล

ภาพนาอยูกลางปากลางดงหลงอด

ฉนนใบพง . . . .

๔๖. นลูกหมากรากไมมีวดดปริบดดดู

เยิองสิงหลทุกอนนมกกถเมรเทส

แสวงหาปริจญาธุ . . . .

๔๗. เสสรูทุกภาสามกกกทำพยรพยายาม

กลางฅำบ่อยินกลางฅินบอยูทยน

ปรารถนาโพธิสํภาร . . . . .

๔๘. (กพระ) เจดีปลูกสริมหาโพธิกทำ

พุทธปรดิมาทุกแห่งทุกพาย  

เลิกสาสนาพระมหา . . . . .

๔๙. น . . อนนดรธานบใหฉิบบใหหายสกก

แหง๐พระมหาเถรสริสรธาราชจูลามู

นิ นนนผูเชิอ ผ . . .

๕๐. . . . . . นกดิบมิคยดตอบขสานติ

ไมยตริรูปรานิอีนดูสดตวทงัหลายโปรส

สรายบใหลํบใหตา (ย)

๕๑. สกกอนนรูบุนรูคุณทานสงยมมรรยาท

อาจสงัวอนตนสงัสอนคนทงงหลายให

รูลอาย รูกลววบาบกล

๕๒. ววผิดต่ผูเถาผูแกพแมครูอูบทยาย

มิตรสหายทงัหลาย พระมหาเถรสริ

สรธาราชจูลามูนินน๋นกลา

๕๓. (ว) . . . ดวยแกกํ๐แมนซิไมกทิงก่ดิ

แม๋นชิกิงพระสริมหาโพ . . .แมนชิอี . .

ก่ดีแมนชิ . . . สิร

๕๔. พระสริมหาโพธิน (คร) สิงหลนนนก่

ดีสํเดจพระมหาเถรเปนเจาเอามา

ป(ลูก) เหนิอดินจิงอทิสถานผิวา

๕๕. .........พระพุทธจริงจิงวาใสจุง

ใหเปนญ่าไดหยวสกกอนนคนน

(อทิส)ถานดงัอนนซิใบนิงแ

๕๖. (หง) . . . . . . จิงขินเปนใบขยวงาม

หนกกหนาแกกํเปนตนให (หญตน)

หลวงสูงงามหนกกห

๕๗. นาเปน . . . . . . . . หลายกิงมิพระ . . .

ฉลกกปรดิสถาไวในสรีราม (เท) พ

(น) ครเบิอง (ใต) เมิอง (สุโขไท)

๕๘. . . . . . . . . . . . . . . . .ลางมหาส . . . .

งไวในกุดานคอรกํพงครอง (เถิ) ง

ใ(น) นครสรีสชนาไล

๕๙. . . . นาพระ . . . . . . . . . ายเมิอแผ . . . .

อยดายอทิสถานใสเปนปูราใน ลงกาทวิบ

ในเมิอ

๖๐. . . . . . . . . . กในชํพูทวิบหลวงมีหลาย

แหงใหมีบัง (คํ) . . . สํเดจพระ

มหาเถรสรี (สรธา)

๖๑. . . . .ฝูง . . . . . . . . เปนครหส . . . เมิอ

นนน๐เจ๋า . . . . ภิดเสมิอราชสีหมีกํลงั

๖๒. . . . . . นหนกกหนาแกกํต่หววชางดวย

ขุนจงง๐ขุนจงงนนนขีชางสรายเปน

สารสูงใหญ่

๖๓. (แก) กํนำมนน (ชาง) กำลง (ง)

ตกแล (น) มาดวยเรวหนกกหนา

ขุนจง(ง) . . . ทา . พรญาคำแหง (พระ)

๖๔. (ราม) . . . คนนพรญาคำแหงพระราม

หม . . . มจกกแลกหมอนแพร

แ. . นแ . น . .

๖๕. . . . เปนพดงงอนนเจ๋าสรีสรธารา (ชจูลา

มู) ณีนนนเจบใจตางพ่ตนหนกกหนาเ

๖๖. สมิอดงงเอาฅ๋อนตีหางนาคราช

นนน . . . . ชางชีทวงท . ลช๋นนขบบ

แลนดวย . . นั

๖๗. แมช๋างแลชางสรายลงมนนชำเ (ชิ) งท

. . . นชางสรายเอางวงมนนคลำนำ

ลางใน . . .

๖๘. อนัยอ๋ยถูกหววเจาสรีสรธาราชจูลามูณี

(หน) นหนาไมปกกปีนปากจอบญีง

ถูกรูนำมนน

๖๙. ช๋างสรายนนนเดินเจบหนกกหนา

คนหนดินกญงงชอยแทงชางสราย

นนนจิงยกก

๗๐. พลยกมุดปาพงหนีเจาสรีสรธาราช

จูลามูณี จิงขบบแมชางไลตาม ตีบ่อย๋า

ค๋านบทานเมิ

๗๑. อตามตีฅวานชางวีงหนีตกปาแขม

เงิอดคำรบสองฅาบสามฅาบเขาทงงห

(นดิน)

๗๒. นนนวิงหนีเลยชางนนนตามบ่อยาจิงได

ชางสรายนนนใหมาแลสำเดจธรรมราชา

๗๓. . . . เมิองสุโขไททินิทาน . . . . วาดงงฤา

แลแมชางตชางสารตกมนนแลชาง

สาร (ตกนำมนน)

๗๔. . . . . . . . . . . หนีแกแมชาง . . . ดงง

ฤาแล ชางสารตกนำมนนหนีดงงอนน

หยมชา (ง) . . .

๗๕. . . . . . . . . เมิอสํเดจเจ๋าสรีสรธาราชจูลามูณี

(ช) งง อาสเมิอเปนพระหริะร

. . . เทพเมิอน.

๗๖. . . . ด . . แต่เมิอเจ๋าสรีสรธาราชจูลามูณี

ญงงนอยแม่ใหกินนํไดสองปีปลาย

คำนิงใน


๗๗. ทีแท๋ค (รา) นน๋นมาเถิงสิบเจดปี

สิบแปดปีมีจำบงงดวยขุนผู๋นิงชีท๋าว

มน . . งจำบงงดวย

๗๘. (อี) กมนนผู๋นิงชีท๋าวอีจานมาเถิงญี

สิบหกปี มีจำบงงหนกกหนาต่หวว

ชาง ดวยขุนจงง

๗๙. .งเลยสนอยเลยบมีกลาวถีเลยมีดงง

กลาวกอ่นนนนแล๐เจ้าสรีสรธาราช

จูลามูณี . .

๘๐. . . . . . . . . คุณมกกรยนคุณอนนพิ

(เส)ส อนนนิงรู๋คุณชางอนนนิงรู๋คุณม๋า

อนนนิงรู๋ คุณ . . . (อนน)

๘๑. (นิงรูคุณ) .นอนนนิงรู๋คุณสีห . . .

อนนนิงรู๋คุณคี (ธ) นูสีลบปี (น) ญิง

เ(ขาไป) กถูกรู๋คุณ (หลายประการ)

๘๒. มหาเถรสรีสรธาราชจูลามูณีนน๋นบดด

เข๋าบุนเข๋าบาบบดดหววบดดไห บดด

ไดบดดเสียบดด

๘๓. (ได) สุ (ข) บดดไดทุกขวยนสบบ

กลบบไปมา เขนใจในสงสารนีหลาย

ซำแกกํบ . . . . . . . . . นบบ

๘๔. . . . . . นมาเถิงญีสิบเก๋าเข๋าสามสิบทดด

มีราชกูมารพตรผู๋นิ่งส . . . . ดทาน

ทสตโอ . . . . นสำ

๘๕. . . . . หนกกหนาเหนสงสาราภพ

นีอ่นิตยอ่นาตบ่มิทยงจิงคำนิ (ง)

โพธิภารอนน . . . . . . . . รพา

๘๖. น..ง.....มาเถิงสามสิบเอดปีมีสรรธา

หนกกหนาชิผูใดปรารถนาเอาหววต(น)

. . . . . . .

๘๗. (โอย) ทานเมิอนนนจิงขนนีมล๋าง

เคริองอาวุทธทงงหลายอนนเปน

ตนว่า . . . . . . . . . .

๘๘. . . . สหนาไมธนูฟนนหูงจงงหนนใน

ป่า . . . . จิงว . นใหม . . อยา . . . . .

. . . . . . . งง . .

๘๙. . . . นนจิง . . ตองสวาะพนนละอย๋าว

เริอนแตงเริอนผาด้วยผ๋าแดงผาเหลิอง

ผ๋าดำผ๋า (ข) ยวผ๋าขา (ว)

๙๐. เหลิอม . . . สาเอาห่ปไดจิงไตรกรยา

ทานสํส . . . พารฝงงมรกต . . . . ใน . . . .

นิ . . . ง . . นิ .



ทั้งหมดนี้คัดลองจากฐานข้อมูลจารึกของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรนะครับ
 http://203.144.221.112/jaruk/

อยากให้ลองอ่านดู หรือหากอ่านไม่ถนัดลองเข้าห้องสมุดอ่านประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๑ ดูครับ แล้วจะเห็นอย่างที่ผมเห็น จารึกหลักที่ ๑ เป็นหลักเดียวที่ใช้วรรณยุกต์อย่างเคร่งครัด

ทำไม??????????

อยากให้ลองอ่านหลักที่ ๑ เปรียบเทียบกับหลายๆหลักในยุคสมัยเดียวกันแล้วจะเห็นอะไรดีๆหลายอย่างครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 04, 18:02
 ประชุมหลักศิลาจารึกภาคที่ ๑ ดูครับ แล้วจะเห็นอย่างที่ผมเห็น จารึกหลักที่ ๑ เป็นหลักเดียวที่ใช้วรรณยุกต์อย่างเคร่งครัด

ทำไม??????????

อยากให้ลองอ่านหลักที่ ๑ เปรียบเทียบกับหลายๆหลักในยุคสมัยเดียวกันแล้วจะเห็นอะไรดีๆหลายอย่างครับ
********************
ไม่เข้าใจค่ะ  แล้วยังไงล่ะคะ?  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ส.ค. 04, 19:37
 ผมจะลองสุมยกจากหลัก ๒ สักบรรทัดหนึ่งนะครับ

๑๗. ...........เขาแทงพขุน...

นำถุ ํ ..๐พขุนนำถุ ํ ตอหววชางดวยอี

แดงพุะเลิง......

อ่านว่า

เข้าแทงพ่อขุน...นำถุม...พ่อขุนนำถุมต่อหัวช้างด้วยอีแดงพุเลิง

จะเห็นได้ว่าไม่ใส่วรรณยุกต์เลยครับ ไม้เอก ไม้โท หายหมดเลย 6 ที่ 6 ตำแหน่ง ไม่ใส่เลยสักตำแหน่ง

ลองเทียบกับหลักที่ ๑

๑๗. ู กฎ่งงบํเรอแก่พ่ ูก ี พ่ ู กตาย

ึ จ่งได๋ ื เมองแก่ ู กทงง

อ่านว่า

กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตายจ่งได้เมืองแก้กูทัง

(คำว่า "ทัง" คือ "ทั้ง" ปรากฎในหลักนี้และหลักอื่นๆในรูป "ทัง" ครับไม่ได้ตกหล่นไม้โทแต่อย่างใด)

7 ที่ 7 ตำแหน่งใส่ครบถ้วนไม่ตกหล่น

การใช้วรรณยุกต์อย่างเคร่งครัดนี้ปรากฎเฉพาะในหลักที่ ๑ และเข้าใจว่าไม่ปรากฎในที่ใดอีกเลย อย่างน้อยอีกหลายร้อยปีต่อมาเลยครับ (จารึก ๒๑๐๐ เศษยังใส่บ้างไม่ใส่บ้างอยู่ดี)

ผมดูจารึกทุกหลักในประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ และ ตามดูในฐานข้อมูลของศูนย์ฯสิรินธรทั้งหมด แน่ใจว่าหลักที่ ๑ เป็นหลักเดียวที่ใช้อย่างถูกต้องเคร่งครัด หลักอื่นๆนั้นอย่างเก่งก็ใส่สัก 50% เท่านั้นครับ(เอาเฉพาะที่มีความเนื้อหามากพอประเมินได้นะครับ) และไม่ใช่เรื่องเสียงของแต่ละยุคแน่ เพราะใส่แบบคำเดียวกันปรากฏในหลักเดียวกันก็ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร แต่หากจะคิดว่าการออกเสียงสมัยก่อนลื่นไหลไม่บังคับเสียงของคำ นั่นก็ยิ่งแปลก เพราะหลักที่ ๑ บังคับแน่นหนามาก

ไม่มีความหมายในเชิงอักษรศาสตร์เลยหรือครับ?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 04, 09:00
 มีค่ะ  เจอความไม่เสมอกันแบบที่คุณCH ว่าอีกมากมาย  ในการเขียนภาษาไทย   ไม่เฉพาะแต่ในศิลาจารึก  ในสมุดข่อย  ก็มีเยอะแยะ  เขาเรียกว่าสะกดไม่ตรงกัน
ไม่เฉพาะแต่วรรณยุกต์เท่านั้น   พยัญชนะ สระ ก็ลักลั่นไม่ตรงกัน มีให้เห็นเป็นปกติ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 04, 10:28
 ไม่ใช่สะกดไม่ตรงกันนะครับ คนละเรื่องกัน เป็นเรื่องความเคร่งครัดในการกำกับวรรณยุกต์ จะเรียกว่า่ใช้วรรณยุกต์ลักลั่นกันอย่างคุณเทาชมพูว่านั้นถูกต้อง ที่ว่ามีให้เห็นเป็น"ปกติ"

หลักที่ ๑ "ผิดปกติ" ตรงที่ไม่ลักลั่นไงครับ มีหลักไหนอีกสักหลักไหมครับที่ "ผิดปกติ" อย่างนี้อีก ยกตัวอย่างให้ผมสบายใจสักหลักเถอะครับ เพราะผมหาไม่เจอจริงๆ (ถ้าไม่นับประเภทที่ว่ามีอยู่แต่ ๑-๒ บรรทัด ไม่เพียงพอที่จะเปรียบเทียบได้)


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 04, 20:19
 ดิฉันไปค้นอะไรต่อมิอะไรมาเยอะพอแล้วค่ะ ขอหยุดพักเรื่องนี้ก่อน
แต่อยากจะเสนอคุณ CH ว่าเรามาคุยกันแบบนี้น่าจะสนุกกว่านะคะ  คือแทนที่คุณจะเป็นฝ่ายตั้งโจทย์อยู่หลายครั้งหลายหน  แต่ไม่มีความเห็นออกมาชัดๆสักเท่าไรว่าคุณคิดยังไงแน่  และที่ตั้งโจทย์แต่ละเรื่องนั้น ในใจคุณคิดอะไรอยู่  ดิฉันก็ดูไม่ออก
คุณบอกออกมาเลยดีไหมว่าคุณคิดอะไร    ดิฉันเชื่อว่าคุณ มีความรู้พอจะไม่ถามอย่างเดียวโดยตัวเองก็ไม่รู้ว่าสงสัยเรื่องอะไรหรือว่ามีแต่คำถามแต่ไม่มีคำตอบเป็นเงาๆอยู่ในใจ
พูดง่ายๆอีกทีว่าดิฉันสงสัยว่าคุณมีคำตอบอยู่ในใจแล้วละว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้จารึกสมัยพ่อขุนราม หรอก  อย่างน้อยก็ในความเชื่อของคุณ  
 ในตอนแรกคุณอาจจะคล้อยตามดร.พิริยะในหลายประเด็นเสียด้วยซ้ำ   แต่ต่อมาเมื่อเห็นคำชี้แจงของดร.ประเสริฐบ้างท่านอื่นบ้างคุณก็ค่อยๆตัดประเด็นว่าศิลาจารึกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ออกไป   แต่ยังไงคุณก็ไม่เชื่อว่าเป็นของแท้ที่สร้างขึ้นในสมัยพระราชโอรสพระองค์ที่สองของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  พระอนุชาของพ่อขุนบาลเมือง   ใช่ไหมคะ?
(นี่คือคำถามค่ะ)
ความไม่เชื่อของคุณเห็นได้จากการตั้งคำถามเอาไว้หลายข้อ แสดงถึงความคิดที่คุณแปร่งๆกับศิลาจารึกแท่งนี้   เรื่องความลักลั่นของวรรณยุกต์ก็เป็นข้อหนึ่งที่เป็นข้อสงสัยของคุณ
ถ้าดิฉันเดาถูกทั้งหมด หรือเดาถูกส่วนใหญ่   ดิฉันจะตั้งคำถามย้อนกลับไปหาคุณดีกว่า
ว่าการเขียนวรรณยุกต์อย่างถูกต้องตามระเบียบของศิลาจารึก ทำให้คุณสงสัยอะไร?
สงสัยว่าของแท้ต้องลักลั่น  ของไม่แท้ ก็เลยไม่ลักลั่นยังงั้นหรือคะ?


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 04, 21:24
 ผมยืนยันอย่างที่ได้บอกไว้หลายครั้งแล้วครับ คือผมยังไม่มีความเห็นสุดท้ายกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ผมไม่ได้ pro อ.พิริยะ และกลับมองว่าการที่อ.พิริยะใช้วิธีการตั้งสมมติฐานว่าหลักที่ ๑ สร้างในสมัย ร.๔ และใช้เกณฑ์นี้ในการทำงานวิจัยโดยพยายามหาว่าความในหลักที่ ๑ นั้น "หยิบยก" มาจากหลักใดบ้าง กลับสร้างความสับสนและเกิดกระแส "ฟันธง" โดยขาดความรู้ความเข้าใจ อย่างที่ได้เห็นจากความเห็นของคนส่วนหนึ่งในสังคมขณะนี้

มองในทางมุมกลับกันนักวิชาการส่วนหนึ่งก็ใช้หลักที่ ๑ เป็นเกณฑ์ยึดถือว่านี่คืองานของพ่อขุนราม(หรืออย่างน้อยก็งานสมัยสุโขทัย) และทำงานวิจัยโดยใช้ความเชื่อนั้นเป็นฐานโดยไม่สนใจถึงความผิดปกติที่มีอยู่ การทำเช่นนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งที่อ.พิริยะทำอยู่

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้จักหลักที่ ๑ แค่หนังสือเรียน และต่อมาก็เป็นงานเขียนงานวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้งหลาย ความคิดเห็นสายของอ.ประเสริฐ และสายอ.พิริยะผมได้เห็นมาก่อนกระทู้นี้เป็นส่วนมาก และมองว่าเป็นเรื่องปกติ

เรามีจารึกโบราณอยู่หลักหนึ่ง นักวิชาการกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่าผิดปกติ และตั้งสมมติฐานว่าถูกสร้างขึ้นในยุคหลัง และพยายามอธิบายสิ่งที่ปรากฎในจารึกโดยยึดสมมติฐานนั้น กลุ่มนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งพยายาม defend โดยการชี้แจงข้อ"กล่าวหา"ดังกล่าวให้ตกไปเป็นข้อๆ

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการปกติในงานวิชาการนะครับ

ผมบอกว่าผมยังไม่มีข้อสรุป ก็เพราะอย่างที่ว่า ข้อนำเสนอของอ.พิริยะหลายข้อทำโดยยึดว่าหลายๆอย่าง"สอดคล้อง"หากว่าจารึกหลักที่ ๑ สร้างโดย ร.๔ แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะการพิสูจน์ได้ว่า 2+2=4 ไม่ได้แปลว่า 1+3 จะไม่มีทางเท่ากับ 4 ได้ มันคนละเรื่องกัน

แต่ทั้งนี้คำอธิบายของอ.ประเสริฐก็ไม่สามารถปิดบังความจริงที่ปรากฎอยู่ได้ คือหลักที่ ๑ แปลกจริงๆ ไม่ได้ อ.พิริยะคนเดียวที่เห็นว่าแปลก ท่านจันทร์ก็เห็น Vickery ก็เห็น อ.ศรีศักรก็เห็น อ.พิเศษก็เห็น อ.นิธิก็เห็น ไมเคิล ไรท์เห็น ฯลฯ แต่ละท่านแต่ละคนก็มีสมมติฐานที่แตกต่างกันบ้างเหมือนกันบ้าง ผมว่าแม้แต่อ.ประเสริฐเองท่านก็เห็น แต่ท่านมีคำอธิบายของท่านเองเช่นเดียวกัน

"ความแปลก"ของหลักที่ ๑ นี่มีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว ของจะแปลกได้ต้องไม่เหมือนใคร นั่นคือต้องเทียบกับหลักอื่นๆ มิฉะนั้นจะไม่เห็นความแปลกนั้นแต่อย่างใด เราเองอยู่ในยุคที่คนธรรมดาสามารถเข้าถึงหลักฐานชั้นต้นจำนวนหนึ่งอย่างไม่ยากนัก เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ไปเห็นสิ่งที่นักวิชาการหลายๆท่านเห็นว่า "แปลก" และเลือกที่จะดูตามวิจารณญานของตนเองได้ว่า "แปลก" หรือไม่ อย่างไร ผมว่าไม่น่าจะละทิ้งโอกาสนี้ไปนะครับ ดีกว่าที่จะมารับฟังแต่ความเห็นของคุรุทั้งที่หลักฐานจริงอยู่แค่เอื้อมมือนี่เอง

ในช่วงชีวิตของผมเอง อาจจะอยู่ได้รู้เห็นคำตอบที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นพ่อขุนรามทรงสร้าง พญาลิไททรงสร้าง ร.๔ ทรงสร้าง หรือมือมืดที่ไหนจะแอบทำขึ้นมาตอนปลายกรุงศรีอยุธยาผมก็พอใจทั้งนั้นแหละครับ หากมันเป็นความจริงและพิสูจน์ได้โดยไม่ต้องสงสัย

น่าเสียใจหากจะปล่อยโอกาสในการศึกษาทิ้งไปเพียงเพราะเชื่อในบทสรุปของคุรุ โดยที่แม้แต่ตนเองก็ไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรนะครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 04, 21:46
 กลับมาตอบคำถามของคุณเทาชมพู

ข้อแรก: ผมไม่ได้เชื่อว่าจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระราชโอรสพระองค์ที่สอง(จริงๆองค์ที่ ๓ - ลองอ่านจารึกดูนะครับ)ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระอนุชาของพ่อขุนบาลเมืองครับ เพราะอย่างที่ว่า ถึงความแปลกจะมีอยู่มาก แต่ใครจะรู้ ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเพราะพระอัจฉริยภาพของพ่อขุนรามคำแหงอย่างที่อ.ประเสริฐตั้งข้อสังเกตไว้จริงๆครับ

สำหรับผม ไม่ได้ตัดคำตอบใดออกไปเลยแม้แต่ข้อเดียวครับ (ยกเว้นเรื่องที่ว่าทั้ง ๔ ด้าน จารในสมัยพ่อขุนราม ซึ่ง obvious อยู่แล้ว)

คำถามที่สอง: การเขียนวรรณยุกต์อย่างถูกต้องตามระเบียบของศิลาจารึก ทำให้คุณสงสัยอะไร?
สงสัยว่าของแท้ต้องลักลั่น ของไม่แท้ ก็เลยไม่ลักลั่นยังงั้นหรือคะ?

ขอตอบว่า: จารึกนั้นเป็นของจริง จับต้องได้ ไม่ใช่ของปลอมแน่ แต่จะสร้างโดยใครสมัยไหนนั้น ผมยังข้องใจ เพราะอย่างที่เห็น เรื่องความเคร่งครัดในการวรรณยุกต์ อันเป็นเรื่องหนึ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนหากได้อ่านจารึกที่ปริวรรตมาเป็นตัวอักษรปัจจุบัน ไม่ใช่ฉบับแปลที่ความผิดปกติข้อนี้ถูกกลบหายไป หลักที่ ๑ ไม่เหมือนจารึกภาษาไทยหลักใดๆที่มีอายุเก่าอย่างน้อยอีกสองร้อยกว่าปีต่อมา ผมแปลความหมายได้ดังนี้
- จารึกนี้ถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้น ในยุคที่มีการใช้วรรณยุกต์อย่างเคร่งครัดแล้ว
- พ่อขุนรามฯมีพระปรีชาสามารถเหนือใครในยุคสมัยเดียวกันและแม้คนรุ่นหลังหลายร้อยปี อย่างที่อ.ประเสริฐว่าไว้ว่าระบบการเขียนอักษรไทยได้เสื่อมลงภายหลังรัชสมัยของพระองค์ก่อนที่จะค่อยๆถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมือนกับที่พระองค์เคยสร้างไว้ในหลายร้อยปีถัดมา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปได้ทั้งสองประการ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าข้อแรกน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้เหมารวมว่าผมจะต้องไปเชื่อว่า ร.๔ จะเป็นผู้ทรงสร้าง เพราะไม่มีข้อเท็จจริงอะไรจะไปยืนยันอย่างนั้นได้แต่อย่างไรครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 04, 22:12

ความเห็นของคุณ CH
เรามีจารึกโบราณอยู่หลักหนึ่ง นักวิชาการกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่าผิดปกติ และตั้งสมมติฐานว่าถูกสร้างขึ้นในยุคหลัง และพยายามอธิบายสิ่งที่ปรากฎในจารึกโดยยึดสมมติฐานนั้น กลุ่มนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งพยายาม defend โดยการชี้แจงข้อ"กล่าวหา"ดังกล่าวให้ตกไปเป็นข้อๆ

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการปกติในงานวิชาการนะครับ

ความเห็นของดิฉัน
เรามีจารึกโบราณอยู่หลักหนึ่ง แต่เดิมมาก็เชื่อข้อความในนั้นว่าเป็นข้อเท็จจริงในอดีตเมื่อเจ็ดร้อยปีก่อน สร้างขึ้นในสมัยที่ระบุไว้ในหลัก  ต่อมานักวิชาการกลุ่มหนึ่ง เช่นไมเคิล ไรท์ และดร.พิริยะ ตั้งข้อสงสัย  ว่าข้อความในนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง  ความไม่จริงที่สำคัญที่สุดคือมันเพิ่งสร้างขึ้นในยุคหลังจากนั้นราว ๕๐๐ ปี   ดังนั้นก็แปลได้ว่าเรื่องราวในจารึกเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ด้วยฝีมือผู้ที่เกิดไม่ทันและไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์ในจารึกนั้นจริงๆ  
กลุ่มนี้จึงอธิบายความเชื่อของตน โดยอ้างหลักฐานเปรียบเทียบหลายอย่าง หักล้างความเชื่อเดิมๆ

กลุ่มนักวิชาการที่เชื่ออย่างแรกเช่นดร.ประเสริฐ หักล้างเหตุผลของกลุ่มที่เชื่ออย่างหลังโดยอ้างหลักฐานอื่นๆ ทั้งสมัยสุโขทัยและอยุธยา   หักล้างความเชื่อใหม่
ทั้งหมดนี้เป็นการเสนอและแย้งเชิงวิชาการ ที่เป็นกระบวนการปกติ

สิ่งที่คุณ CH เรียกว่าแปลก ดิฉันเรียกว่าลักษณะเฉพาะของศิลาจารึก     นักวิชาการทั้งสองกลุ่มก็มองเห็นเช่นกัน

หลายคนเอาลักษณะเฉพาะนี้ไปตีความ   สู่ความเชื่อคนละแบบ  บางคนเชื่อว่าแต่งขึ้นสมัยพระเจ้าลิไท ไม่ใช่พ่อขุนราม ฯลฯ
ลักษณะเฉพาะหรือความแปลกนั้นถ้ามันอยู่เฉยๆ หาคำสรุปไม่ได้   มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร
บางคนหาคำตอบได้อย่างอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์   แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ และดิฉันไม่ค่อยจะแน่ใจว่ามันมีข้อยุติ  
อ.พิเศษเองก็ไม่ได้ฟันธงว่าที่ท่านสรุปเช่นนั้นจะต้องเป็นแบบนั้น  แต่ท่านเห็นของท่านอย่างนั้น

คุณ CH ยังไม่เดินไปถึงขั้นความคิดตกผลึก  ยังอยู่ในระหว่างตั้งข้อสังเกต     คำตอบที่น่าพอใจที่สุด เกิดจากคุณแสวงหาเอง

ความคิดเห็นของดิฉัน - ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างสมัยสุโขทัย
จบ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 04, 22:18
 คุณ CH เคยถามอาจารย์ที่สอนเรื่องจารึกไหมคะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.ย. 04, 02:12
 ยอมรับอย่างเต็มใจเลยครับ ว่าผมยังเดินไปไม่ถึงขั้นความคิดตกผลึก ผมยังหาคำตอบที่น่าพอใจให้กับตัวเองไม่ได้ ตราบใดที่ยังเป็นอย่างนี้ผมก็คงอยู่ในวังวนนี้ มองหาข้อมูลใหม่ๆ รับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ เผื่อว่ามันจะตอบข้อข้องใจให้ผมสบายใจได้สักทีแหละครับ

สำหรับเรื่องอาจารย์สอนจารึกนั้น ไม่เคยถามเลยครับ เพราะไม่รู้จักสักท่านเดียว คุณเทาชมพูมีอะไรจะชี้แนะหรือครับ? แน่นอนว่าผมยินดีรับข้อมูล/ความคิดเห็นใหม่ๆเสมอ

ทั้งนี้หากคุณเทาชมพูเบื่อที่จะสีซอให้ควายอย่างผมฟังแล้วล่ะก็ ผมยินดีที่จะยุติการสนทนาเรื่องนี้ครับ

เจ้าบ้านว่าอย่างไรก็ว่าตามกันอยู่แล้วครับ    


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 04, 12:16
 โอ๋   คุณ CH ไม่น่าใจน้อยนะคะ    คนที่ควรน้อยใจน่าจะเป็นดิฉันมากกว่า   เพราะโพสต์มาเกือบ 100 ความเห็น   เพิ่งจะรู้เดี๋ยวนี้เองว่าสิ่งที่คุณข้องใจ ไม่ใช่เรื่องที่ไปหามาแทบล้มประดาตาย
ถ้าบอกกันเสียแต่คห. 1 ป่านนี้คงไปสอบถามนักวิชาการมาให้ได้ตรงเป้าหมายแล้ว

เดี๋ยวจะลองไปถามมาให้   เพราะอ่านที่คุณสงสัยแล้ว  เป็นสมมุติฐานที่ฟังแล้ว ไม่แน่ใจว่าคุณสงสัยอยู่คนเดียวหรือว่าหลายคนสงสัยร่วมกัน
เพราะอาจตีความได้หลายทาง
1) วรรณยุกต์  ในยุคกระโน้น  กระจัดกระจายไม่มีแบบแผนแน่นอน (เรียกว่าไม่เข้าแถว) มาก่อน  แล้วคนจารึกหลักที่ 1 จึงเรียกมาเข้าแถวให้เรียบร้อยในภายหลัง
หรือ
2) วรรณยุกต์ถูกกำหนดเข้าแถวมาก่อน  แล้วไปแตกแถวทีหลัง
3) วรรณยุกต์เข้าแถวบ้างไม่เข้าแถวบ้าง  แล้วแต่ใครจะเรียกแถวหรือไม่เรียก

สมมุติฐานของคุณ CH เป็น 1 ในหลายๆข้อเท่านั้น  ไม่ใช่ว่ามีข้อเดียว
ขอบคุณที่บอกเรื่องจำนวนพระราชโอรสค่ะ ลืมนึกถึงองค์แรกที่ตายไปตั้งแต่ยังเล็ก


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.ย. 04, 18:16
 ไม่ได้น้อยใจหรอกครับ ตระหนักอยู่ว่าคุณเทาชมพูลำบากมาสแกนมาโพสต์ แต่คิดว่าไม่เสียเปล่าแน่ เพราะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจ(เชื่อว่าไม่ใช่ผมคนเดียวแน่ที่ตามอ่าน) จะได้รับข้อมูลจำนวนมากครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 04, 10:48
 ไปถามมาให้แล้วค่ะจากอาจารย์ที่จบมาทางด้านจารึก  เธอตอบว่าข้อที่ 3 ค่ะ
เหมือนอย่างที่ดิฉันตอบไว้ก่อนหน้านี้ว่าการสะกดตัว ไม่มีรูปแบบตายตัวมาจนถึงรัตนโกสินทร์
การจารึกวรรณยุกต์ลง บ้าง ไม่จารึกบ้าง รวมอยู่ในการสะกดด้วยเช่นกัน

ถ้าจะให้อธิบาย ก็ต้องย้อนกลับไปใหม่ว่า ประเด็นของคุณCH เกี่ยวกับความเคร่งครัดในเรื่องใช้วรรณยุกต์  ยังแคบเกินกว่าจะสรุปได้
เพราะจากการศึกษาจารึกจำนวนนับร้อยหลัก   การมองว่าหลักไหนสร้างขึ้นก่อนหลังหลักไหน หรือหลักไหนร่วมสมัยกับหลักไหน
ต้องดูหลายๆอย่างรวมกัน เช่นอักขรวิธี  เนื้อหา ฯลฯ    วรรณยุกต์เป็นส่วนประกอบรายละเอียดของอักขรวิธี   เป็นส่วนน้อยเกินกว่าจะยกมาตัดสินได้ โดยไม่รวมองค์ประกอบโดยรวม

การอ่านจารึกจำนวนมากๆ รวมมาถึงสมุดข่อย ใบลานจารึก สมัยอยุธยาและล้านนา  ทำให้มองเห็นว่า การใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ลักลั่นกันนั้นเป็นของปกติ     การใช้วรรณยุกต์ในศิลาจารึกอย่างเคร่งครัดตามที่คุณ CH มอง จะว่าไปก็ปกติเช่นกัน  
ทำไมถึงปกติ
เพราะวิธีคิดของเราในยุคปัจจุบัน คือ มีมาตรฐานการใช้ภาษาอยู่ในใจ จะกำหนดโดยราชบัณฑิตยฯหรือตำราของกระทรวงศึกษาฯก็ตาม  ทำให้เราเกิดความคิดว่า ภาษาที่เขียนถูก มันมีอยู่   และมันมีภาษาที่เขียนผิดเช่นกัน
แต่ย้อนไปในอดีตตั้งแต่ 200 ปีถอยหลังไป  มันไม่มีภาษาที่เขียนถูกและเขียนผิด
มันมีภาษาที่เขียนตามความเข้าใจ   เข้าใจจากอะไร  คำตอบคือเข้าใจจากเสียงที่ได้ยิน
เมื่อได้ยินเสียงที่เขาพูดกันยังไง   ก็ถ่ายทอดลงด้วยพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตามความเข้าใจ ยังงั้น
แต่คนที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่น   แต่ละรัชกาล  หรือแม้แต่ว่ายุคเดียวกันแต่ละกลุ่มแต่ละพวก ถ่ายทอดเสียงลงมาไม่เหมือนกัน    เพราะความเข้าใจของเขายังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน
คำที่จารึกลงในหิน  แม้แต่คำเดียวกัน ก็อาจจะผิดกันด้านสระ  เช่น บรรทัดบน สะกด เอีย   บรรทัดล่างสะกด เอือ ก็มี
วรรณยุกต์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง   มีโอกาสจะผิดจากกันได้มาก ตามเสียงที่ถ่ายทอดไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่าง ว่า ในเว็บบอร์ดคนละแห่ง   คำอุทานว่า ว้าย   นางสาว ก. สะกดว่าว้าย    นางสาว ข. สะกดว่า หวาย  นางสาวค. สะกด ว๊าย   สองคนหลังบอกว่าหล่อนร้องของหล่อนยังงั้น หวายและ ว๊ายตรงกับเสียงหล่อนมากกว่า  เพราะแหลมสูงกว่า ว้าย
ยังงี้ เวลาผ่านไป 500 ปี  เราจะตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่า  ทั้งสองคำนี้วรรณยุกต์ลักลั่นกัน แสดงว่า น.ส. ก ผู้สะกดวรรณยุกต์ครบถ้วนในเว็บบอร์ดที่หนึ่งเกิดก่อน   อีกสองคนในเว็บบอร์ดหลังเกิดทีหลัง
คำตอบคือไม่ได้

ศิลาจารึกหลักที่ 2 ถ้าจำไม่ผิดเป็นจารึกของศรีสัชนาลัย    วรรณยุกต์ที่ไม่เคร่งครัดเหมือนหลักที่ 1อาจจะไม่ใช่ ไม่เคร่งครัด แต่วิธีการออกเสียงของคนแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกันก็ได้ค่ะ  


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 04, 15:10
 เรื่องการใช้วรรณยุกต์เป็นแค่ ๑ ในหลายๆเรื่อง แต่เห็นได้ชัด คุณเทาชมพูยังไม่เข้าใจว่าผมพูดถึงอะไรอยู่

คืออย่างนี้ครับ ไม่ใช่เรื่องใส่ผิดหรือถูกหรอกครับ เพราะเราไม่รู้ว่าสมัยก่อนเขาใช้วรรณยุกต์สูงต่ำของแต่ละคำอย่างไร ยกเว้นแต่ว่าคำนั้นจะพบบ่อยจนเรารู้นะครับ ผมว่าโดยมากแล้วก็ใช้ตรงกับปัจจุบัน(ไม่ว่าหลักไหน) คำที่ไม่ตรงหลายคำเราก็รู้ อย่างคำว่า "ทั้ง" ที่ใช้เป็น "ทัง" อันนี้เป็นทุกหลักทุกที่ อย่างนี้เราก็รู้แล้วว่าเขาใช้กันในรูปนี้

เรื่องใส่วรรณยุกต์ผิดบ้างเล็กน้อย อันนี้เป็นเรื่องปกติเหมือนเราพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ก็ยังพิมพ์ผิดบ้าง อันนี้เป็น human error เป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่ผมพยายามบอกคือ การใส่บ้างไม่ใส่บ้าง อย่างในจารึกหลักเดียวกันคำว่า"พ่ขุน" บางทีเขียน "พขุน" บางที่เขียน "พ่ขุน" อันนี้เรียกว่าการใส่วรรณยุกต์ไม่เคร่งครัด คือเรารู้อยู่ว่าเขาใช้เสียงไหน(?) แต่เขาจะใส่หรือไม่ใส่ยังจับหลักไม่ถูก ดูคล้ายๆกับว่าเขียนตามอำเภอใจ ลองดูตัวอย่างหลักที่ ๒ นี้นะครับ

๓๗.นทราทิตยผูนิงชีพขุนรามราชปราญรูธรรมกอพระสรีรดดนธาดุอนนนิงในสริสชนาไลหลานพขุนส
๓๘.ริอีนทราทิตยผูนิงชีธรมราชาพุลรูบุนรูธรรมมีปริจญาแกกํบมิกลาวถิเลย๐พ่ขุนผาเมิองเจาเมิอง

บรรทัดที่ ๓๗ มีคำว่า พขุน อยู่ท้ายบรรทัด ในขณะที่ท้ายบรรทัดที่ ๓๘ มีคำว่า พ่ขุน ปรากฎอยู่ ดูจากบุพบทไม่ต้องสงสัยเลยว่าหมายถึงคำเดียวกันแน่นอน บรรทัดติดกันแท้ๆที่หนึ่งใส่อีกที่หนึ่งไม่ใส่

และเกือบทุกหลักก็เป็นอย่างนี้ คือใส่บ้างไม่ใส่บ้าง(คำเดียวกันในหลักบ้างใส่บ้างไม่ใส่) ไม่ใช่เพราะความนิยมในการเขียนคำเดียวกันที่ต่างกันอย่าง ว้าย กับ หวาย และก็เป็นอย่างที่ผมไปค้นดู คือในหลักเดียวกันจะเป็นแบบนี้หมด เรียกว่าหลักไหนใส่ถึง 50% ก็ถือว่ามากแล้วครับ ผมยังไม่ได้ถึงกับลองทำเป็น quantitative record เอาไว้ แต่เท่าที่ประมาณด้วยการอ่านผ่านๆก็เป็นอย่างที่ว่าน่ะครับ 10-50% ก็แล้วกัน อย่างหลัก ๒ ถือว่าใส่น้อยมาก อย่างเก่งก็ไม่น่าเกิน 10%

จะมียกเว้นก็แต่เฉพาะหลักที่ ๑

เพราะหลักที่ ๑ ใส่ทุกที่ 100% (หรือไม่ก็ 99% ส่วนที่หลุดไป ถ้ามี ผมคิดว่าน่าจะถือได้ว่าเขียนผิดเหมือนเราพิมพ์ผิดไงครับ)  และผมเจอแค่หลักเดียวโดดๆที่เป็นอย่างนี้

ความต่างตรงนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีนัยสำคัญ เรื่องนี้ผมจึงว่าหลักที่ ๑ แปลก

เพราะนั่นความว่ามีหลักที่ ๑ หลักเดียวเท่านั้นที่เรียกวรรณยุกต์เข้า "แถวตรง" เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่เหลือเป็นแบบ "ตามสบายพัก" หรืออย่างเก่งก็ "ตามระเบียบพัก"

ก็น่าจะมีคำอธิบายที่ดีสำหรับความแปลกตรงนี้ครับ หากว่า "วรรณยุกต์เข้าแถวบ้างไม่เข้าแถวบ้าง แล้วแต่ใครจะเรียกแถวหรือไม่เรียก" จะ่มีพ่อขุนรามอยู่ "พระองค์เดียว" ที่ทรง "เรียกแถว"


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 04, 15:56
 ขอโทษครับ บริบทครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 04, 16:09
 เอ ดิฉันจะตอบยังไงดีล่ะคะ  สงสัยจะไม่เข้าใจจริงๆ

คืองี้ค่ะ   คราวที่แล้วดิฉันเข้าใจว่าคุณตั้งประเด็นเรื่องการจารึกก่อน จารึกหลัง โดยเอาความเคร่งครัดเรื่องวรรณยุกต์เป็นหลักในการจับว่าอะไรก่อนอะไรหลัง    ดิฉันก็ตอบว่ามันวัดจากการใส่วรรณยุกต์ครบ ไม่ครบ ไม่ได้

ตอนนี้  ดูเหมือนคุณจะมองในแง่ที่ว่า ทำไมหลักเดียวกัน คำเดียวกัน  ใส่วรรณยุกต์ไม่เหมือนกัน
และแปลกว่าหลักที่ 1 เคร่งครัด  หลักอื่นๆไม่เคร่งครัด
ไม่เกี่ยวกับก่อนหลังแล้วใช่ไหมคะ

งั้นตอบแบบนี้ได้ไหม ว่า พ่อขุนรามท่านตั้งใจประดิษฐ์ลายสือไท  ท่านก็วางแบบแผนการใช้ไว้เป็นระเบียบ แต่หลักอื่นๆ ไม่ได้ตามท่าน   ก็เลยไม่ได้ตามระเบียบนี้

คุณจะสงสัยไหมคะว่าทำไมหลักอื่นๆไม่ได้ตามระเบียบ?
ถ้าตอบข้อนี้ ก็มีการสันนิษฐานไว้หลายข้อด้วยกัน  แต่ยังไม่อธิบายละนะ ไม่รู้ว่าตรงข้อสงสัยของคุณหรือเปล่า


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 04, 17:23
 ตรงแล้วครับ    


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 04, 18:03
 จะว่าเกี่ยวกับก่อนหลังหรือไม่อยู่ที่สมมติฐานครับ

1.อย่างอ.ธวัชว่า ตรึงไว้ก่อนว่าเป็นสมัยสุโขทัยแล้วลองหาเหตุผลดูว่าที่ไม่เหมือนใครนั้นเป็นเพราะอะไร

2.สงสัยว่าต้องไม่ใช่ของสมัยสุโขทัยแน่ เพราะำไม่เหมือนใคร ที่เห็นชัดก็แบบอ.พิริยะครับ ไปไกลถึงสมัย ร.๔ เลย ซึ่งความเป็นจริงแล้วช่วงเวลาที่เป็นไปได้นั้นกว้างกว่านั้นมากครับ เพียงแต่หลักฐานที่จะหาได้ในช่วงเวลาอื่นนั้นมืดมนเหลือเกิน

ประเด็นของผมไม่ยึดกับอันใดอันหนึ่งครับ แต่คิดว่าไม่จำเป็นต้องตัดทั้งสองทางไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเชื่อสมมติฐานของอ.พิริยะแต่อย่างใดครับ (กลายเป็นว่าใครคุยเรื่องนี้ต้องรีบออกตัวก่อนเลย)  

หากจะเชื่อแบบอ.พิริยะก็เหนื่อยครับ เพราะต้องรับเงื่อนไขเหล่านี้เข้ามาก่อน
-ร.๔ได้อ่านจารึกอื่นๆอีกเป็นสิบหลัก
-ร.๔ reverse engineering อักษรสุโขทัยจากจารึกเหล่านั้นแล้วปรับปรุงเป็น ระบบเขียนไทยแบบก้าวหน้า แต่ไม่ทราบว่าทำไมไม่รวมเอาไม้ตรีไม้จัตวามาด้วย แถมไม่ทรงเผยแพร่ให้ใช้กันอีกต่างหาก
-ร.๔ เป็นผู้ทรงหรือรู้เห็นการแต่ง ไตรภูมิฯ,ตำรับฯ ด้วย(เพิ่มตัวแปรเข้ามาอีก)
ฯลฯ

แต่หากจะเชื่อทฤษฎีพ่อขุนรามประดิษฐ์ ผมก็ยังชั่งใจอยู่
-ถึงแ้ม้จะเห็นได้เลยว่าอธิบายได้ เพราะระบบในหลักที่ ๑ นั้น เห็นได้ชัดเลยว่าไม่ได้มาจากการวิวัฒน์ แต่ก็ต้องเชื่อว่าพ่อขุนรามสร้างระบบการเขียนล้ำยุคขึ้นมา ในวันที่ระบบการเขียนไทยยังไม่มี(หรือพออนุโลมได้ว่ามีแต่ยังไม่ mature)
-ต้องเชื่อว่าคนร่วมสมัยตามพระองค์ไม่ทัน ใช้ตามได้แบบครึ่งๆกลางๆ งูๆปลาๆ หลังจากนั้นอีกหลายร้อยปีถึงจะเริ่มก้าวหน้าหยิบเอาสิ่งที่พระองค์สร้างไว้มาใช้ (แถมยังไม่ครบถ้วนอีกต่างหาก ระบบปัจจุบันจะดีกว่านี้ถ้าได้ระบบการเขียนตัวควบกล้ำของพระองค์มาด้วย)
-สุดท้ายแล้วหากจะเชื่อตามนี้ ก็ต้องเชื่ออย่างที่อ.ประเสริฐว่าไว้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนี่คืออัจฉริยภาพของพ่อขุนรามโดยแท้ การที่คนๆหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติระบบการเขียนอักษรแล้วทำได้ขนาดนี้ ต้องอัจฉริยะจริงๆ (ลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบได้กับการปฏิวัติระบบการเขียนครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เองที่เห็นได้ว่าการปฏิวัติแบบ"ปฏิอัจฉริยะ"เป็นอย่างไร)

ดูกันไปครับ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 04, 18:06
 หลักอื่นๆ 100 กว่าหลัก ที่ไม่ได้ตามระเบียบ มีข้อสันนิษฐานได้หลายข้อ คือ
1)   ไม่มีมาตรฐานการจารึก ที่ลงตัวเป็นระเบียบเดียวกัน แม้แต่ในหลักเดียวกัน ก็สะกดกันไปคนละอย่างได้
ศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้มีอิทธิพลกับหลักอื่นๆ   ว่าเมื่อมีหลักนี้เป็นระเบียบแบบแผนอยู่ให้เห็นทั้งหลักแล้ว    หลักอื่นจะต้องเดินเข้าแถวตามนี้  
บรรดาพ่อขุนอื่นๆก็ดีหรือว่าบุคคลสำคัญที่เป็นผู้สั่งให้จารึกก็ดี  ไม่ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าแถว  จะเป็นเพราะยังไม่มีราชบัณฑิตยฯ หรือกระทรวงศึกษาธิการมากำหนด ก็เป็นได้

การไม่มีมาตรฐานเดียวกัน  เช่นนี้มีมาในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์

2) ยึดการเขียนตามเสียงที่ได้ยิน  ศิลาจารึกจากคนละถิ่น คนละรัชกาล  อาจมีการออกเสียงที่ผิดเพี้ยนกันไป  ทำให้การสะกดสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ ไม่ตรงกัน

3) ผิด   เช่น  เขียนผิด อ่านผิด ปริวรรตผิด จารึกลบเลือน ทำให้บางตัวหายไป หรือเข้าใจว่าเป็นตัวอื่น

ย้อนมาถึงข้อที่ 1   เคยพบว่า คนโบราณแม้แต่ไม่นานนัก เช่นเมื่อ 200 ปีก่อนจะพิถีพิถันกับการเขียนลายมือให้งาม   แต่ไม่สนใจความถูกต้องของการสะกดตัว   แม้แต่อาลักษณ์เองก็เขียนต่างกันตามใจชอบ  ทำให้ต้องมาปริวรรตกันใหม่และสอบทานให้ตรงกันในสมุดข่อยโบราณฉบับต่างๆ  ลักษณะนี้อาจจะนำไปประยุกต์อธิบายได้กับการจารึก
เอาแค่นี้นะคะ


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 19, 19:46
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีก   เพราะเจอว่า ผู้จัดการออนไลน์ลงข่าวเรื่องนี้ หลังจากเงียบหายกันไปหลายปีแล้ว

เป็นไปได้ไง! ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เพิ่งทำในยุครัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ร่วมเขียน!!
เผยแพร่: 22 พ.ย. 2562 09:33   โดย: โรม บุนนาค

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ลงมติประกาศอย่างเป็นทางการให้ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ เป็นมรดกแห่งความทรงจำของโลก และการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นมรดกโลกนั้น คณะกรรมการยูเนสโกจะต้องพิจารณาในด้านมีคุณค่าสำหรับสากล เป็นของหายาก สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของแท้ และเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรมก็ตาม ทั้งนี้ก็โดยพิจารณาจากข้อเสนอของคณะกรรมการชาติผู้เป็นเจ้าของ

ศิลาจารึกที่พบในประเทศไทยนั้น ตามหนังสือประชุมศิลาจารึกสยาม ปรากฏว่ามีถึง ๒๐๐ กว่าหลักและแผ่น ขุดพบทั่วทุกภาคในประเทศไทย ซึ่งได้จารึกไว้ในเวลาต่างๆกัน ส่วนศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยขุดพบได้เพียง ๑๔-๑๕ หลัก มีทั้งภาษามคธ มอญ และเขมร หลักของพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักแรกที่ใช้ภาษาไทย จึงถือกันว่าเป็นหลักที่ ๑ ซึ่งจารึกไว้ในสมัยที่ไทยปลดแอกจากขอมได้ใหม่ๆ มีจ้อความ ๑๒๔ บรรทัดอยู่ทั้ง ๔ ด้านของหลัก กล่าวถึงการเมือง การปกครอง ความเป็นอยู่ของเมืองสุโขทัย การสงคราม กฎหมาย ประเพณี เศรษฐกิจ ผังเมือง ปรัชญา การพระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย และอื่นๆอีกหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องการถือผี

หลักศิลาจารึกส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องศาสนา แต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักเดียวก็ว่าได้ ที่กล่าวถึงเรื่องการเมืองการปกครอง ในยุคนั้นการปกครองบ้านเมืองล้วนแต่ใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คนเผ่าไทยที่เคยปกครองอาณาจักรน่านเจ้ามาก่อนก็ใช้การปกครองแบบนครรัฐ แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกลับเป็นแบบพ่อปกครองลูกเหมือนในครอบครัว ซึ่งล้ำหน้ากว่าการปกครองในยุคนั้น

การขึ้นครองราชย์ ขอมซึ่งมีอิทธิพลในย่านนี้ ถือว่ากษัตริย์เป็นเทวราช ไม่ใช่คนธรรมดา แม้แต่ในยุโรปยุคนั้นก็อ้างว่าพระเจ้าให้มาครองราชย์เช่นกัน แต่พ่อขุนรามคำแหงจารึกไว้ว่า “พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม” ชัดเจนถึงการถ่ายทอดอำนาจโดยไม่ต้องอ้างเทวดาหรือพระเจ้า

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี มีความเห็นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ อาจเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการยูเนสโกได้พิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มรดกของชาติไทย มีคุณค่าที่ควรเป็นมรดกของโลก

หลักศิลาจารึกหลักนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ ทรงค้นพบที่เนินวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๖ และนำมาไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์จึงทรงแปลข้อความในจารึกนี้ออกมาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ ไม่มีข้อความว่าจารึกในปีใด กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อปีมะแม มหศักราช ๑๒๐๕ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงสันนิษฐานว่าคงจะสลักศิลาจารึกไว้ในเวลาใกล้ๆกัน แต่นักประวัติศาสตร์และวรรณคดียังสงสัยกันว่า ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้จารึกสำเร็จในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เพราะมีข้อความในด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๘ ตั้งแต่ “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ ...จนถึง พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม” ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ มาตลอด จากนั้นก็กลับใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ ซึ่งตีความหมายกันว่า จารึกเมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว

แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีความเห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงคิดภาษไทยได้สำเร็จใน พ.ศ.๑๘๒๖ ก็น่าจะสลักศิลาจารึกเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนั้น กว่าจะสวรรคตใน พ.ศ.๒๘๖๐ มีเวลาถึง ๓๔ ปี ไม่น่าจะจารึกไม่เสร็จ หลักศิลาจารึกสูงเพียง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตรเท่านั้น น่าจะเป็นเพราะตอนต้นที่ใช้คำหนักๆ เช่น พ่อกู แม่กู อาจจะทำให้ดูขลัง ส่วนบางคนว่า ในตอนท้ายใช้สระและพยัญชนะต่างกันไปบ้าง ก็ตงเพราะระยะนั้นเพิ่งคิดอักษรไทยขึ้นใหม่ๆ การเขียนจึงยังไม่คงที่แน่นอน หรืออาจใช้คนละคนแกะสลักก็ได้ หัวท้ายจึงต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนวิพากษ์วิจารณ์หลักศิลาจารึกหลักนี้ ว่าไม่ใช่จารึกขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ทำในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง เพื่อผลทางการเมือง

ไมเคิล วิเคอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเอเซียอาคเนย์ ได้เสนอการวิเคราะห์ในการสัมนาประวัติศาสตร์ ที่กรุงแคนเบอรา ออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ อธิบายว่า ศิลาจารึกนี้ไม่น่าจะเขียนขึ้นในยุคสุโขทัย อาจจะเขียนขึ้นหลังจากนั้น หรือเพิ่งจะเขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง โดยอ้างเหตุผลว่า หลักศิลาจารึกหลักนี้มีความแตกต่างจากหลักอื่นๆมาก เช่น

ภาษาในศิลาจารึกหลักนี้มีวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาในปัจจุบันมากกว่าศิลาจารึกหลักอื่นๆ อีกทั้งมีคำไทยแท้มากจนน่าผิดสังเกต ซึ่งศิลาจารึกหลักอื่นๆจะมีอิทธิพลของภาษาขอมอยู่มาก

ศิลาจารึกหลักนี้เรียกกำแพงเมืองสุโขทัยว่า “ตรีบูร” ซึ่งหมายถึงกำแพง ๓ ชั้น แต่กำแพงเมือง ๓ ชั้นนี้เพิ่งสร้างในยุคที่มีปืนใหญ่แบบตะวันตกเข้ามาแล้ว

ศิลาจารึกเขียนสระ อิ อี อึ อือ อุ อู อยู่บรรทัดเดียวกันแบบฝรั่ง ขณะที่จารึกหลักอื่นๆเขียนอยู่บนล่าง จึงน่าจะเขียนเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาตะวันตกแล้ว

เนื้อหาของศิลาจารึกมีข้อที่น่าสงสัย เพราะกล่าวถึงเรื่องการเมือง ขณะที่ศิลาจารึกอื่นๆกล่าวแต่เรื่องศาสนา

ข้อสงสัยของฝรั่งนี้ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ ได้คัดค้านความเห็นของไมเคิล วิเคอรีทันที โดยให้ความเก็นว่า เรื่องสระพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาของชาวยุโรป กลุ่มไทยขาวก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯที่ฝ่ายคัดค้านว่าเป็นผู้ทรงสร้างหลักศิลาจารึกนี้ขึ้นเองนั้น ดร.ประเสริฐกล่าวว่าก็ทรงแปลผิดไว้หลายแห่ง และยังมีบางคำที่ไม่เข้าพระทัย จนเมื่อความรู้ทางภาษาศาสตร์ขยายตัวขึ้น จึงอ่านและตีความหมายได้มากขึ้น ฉะนั้นที่ว่าศิลาจารึกหลักนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ จึงเป็นไปไม่ได้




นักวิชาการบางส่วนของไทยเอง ก็ออกมาระบุว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้ทำขึ้นในพ.ศ.๑๘๓๕ ในสมัยกรุสุโขทัย แต่ทำขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง ดร.ประเสริฐ ณ นคร ก็ได้ให้ความเห็นว่า มีการพูดเรื่องนี้มาเป็น ๑๐ ปีแล้ว และถกเถียงกันมาหลายครั้ง ส่วนการยกคำศัพท์ไปเทียบกับหลักศิลาจารึกอื่นๆนั้น ยังมีเหตุผลไม่พอเพียง และวิธีพิสูจน์ก็ยังไม่พอให้เชื่อถือ อย่างคำว่า “ขับ” ฝ่ายคัดค้านบอกว่าในหลักศิลาจารึกอื่นแปลว่า “ไล่” แต่ในหลักที่ ๑ นี้มีความหมายว่า “ร้อง” แต่ถ้าไปดูให้ดีก็จะเห็นว่า ในหลักที่ ๑ นี้ก็มีคำว่าขับ ที่หมายความว่าไล่เหมือนกัน แต่ใช้พยัญชนะ “ฃ” แทน

คำว่า “เมืองไท” ที่มีอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ อ้างว่าคำนี้เพิ่งเกิดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ เพราะโบราณไม่ได้คิดถึงเรื่องเชื้อชาติ ประเทศ แต่ในศิลาจารึกวัดป่าแดง ที่เชียงตุง ซึ่งจารึกไว้ในปี พ.ศ.๑๙๙๔ มีระบุว่า ศาสนาจากลังกามาถึงเมืองไท แสดงว่าคำนี้มีมานานแล้ว ส่วนคำว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่” ที่บอกว่าทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพราะคิดในเรื่องทุนนิยม ลองไปอ่านดูใน “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระยาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย จะกล่าวถึงการเก็บภาษีด้วย หรือในหลักศิลาจารึกที่ ๑ ที่กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงใส่ลายสือไท ก็คล้ายกับที่มีอยู่ในหนังสือ “จินดามณี” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กลุ่มผู้คัดค้านก็แย้งว่าอาจใส่ความเข้าไปใหม่ เมื่อไปค้นต้นฉบับหนังสือจินดามณีที่เป็นลายมือสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีข้อความนี้

ส่วน นายไมเคิล ไรท ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยผู้หนึ่ง ได้ให้ความเห็นสนับสนุนข้อสันนิษฐานของนักวิชาการกลุ่มที่เห็นว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“...กลุ่มนักปราชญ์อิสระเหล่านี้ได้พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ ๑๙ ในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย หรือสมัยรัชกาลที่ ๔ ทุกสิ่งทุกอย่างผิดจากสมัยโบราณเมื่อ ๗๐๐ ปีที่แล้ว ในจารึกหลักที่ ๑ อ้างถึงการค้าเสรีโบราณ ไม่เคยคิดว่ากษัตริย์ไม่เก็บค่าจังกอบในไพร่ เป็นไปไม่ได้ การค้าเสรีเป็นความคิดใหม่เอี่ยม ในสมัยนั้นยังคิดไม่สำเร็จ โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๔ อังกฤษบังคับให้ไทยเปิดการค้าเสรี หรือไม่เสรีก็อย่างน้อยก็ให้เก็บภาษีการค้าต่ำมาก

ผมไม่ค่อยเชื่อว่ารัชกาลที่ ๔ เป็นคนทำหลักศิลาจารึก แต่เชื่อว่าท่านบัญชาข้าในพระองค์คณะหนึ่งช่วยกันทำ และคณะเหล่านั้นอาจจะมีสุนทรภู่ร่วมอยู่ด้วย เหตุผลที่น่าจะมีสุนทรภู่ด้วยก็คือ ภาษาดีขนาดหลอกคนได้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีนักภาษาที่เก่งขนาดนั้นไม่กี่คน และที่ทำให้ก็คือพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีเวลา เพราะมีราชบัณฑิตจำนวนมาก และเหตุผลที่ทำไมพระองค์ทรงให้ทำแบบนี้ ผมไม่ทราบ เพราะไม่มีหลักฐาน แต่สันนิษฐานค่อนข้างจะมั่นใจว่า สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังถือตามโบราณราชประเพณี และตามโบราณราชประเพณีนั้นพระมหากษัตริย์ทำอะไรใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าพระองค์จะทำอะไรใหม่ ก็จะมีข้อขัดแย้งว่าทำไม่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี พระองค์ก็ต้องหาหลักฐานว่าสิ่งที่พระองค์อยากทำนั้น ในสมัยโบราณเคยทำมาก่อนแล้ว”

นี่ก็เป็นเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่มีความเห็นต่างกัน และขุดค้นเหตุผลของฝ่ายตนมาคัดค้านโต้แย้ง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์แตกฉานออกไป ไม่ใช่เรื่องที่มีไว้แค่ให้ท่องจำ ให้คนรับรู้ประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลและความเป็นไปได้ สำหรับหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ หากเป็นของปลอมอย่างที่สงสัยกันจริง ก็น่าจะเป็น “มรดกโลก” อีกเหมือนกัน เพราะปลอมได้แนบเนียนที่สุดในโลกถึงขนาดนี้


https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000112075


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 19, 19:48
พาดหัวข่าวได้ตื่นเต้นมาก ว่าสุนทรภู่ร่วมเขียน
แต่พออ่านเนื้อหาแล้ว ไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าสุนทรภู่เขียน  นอกจากคำว่า "อาจจะ"  เพราะภาษาของกวีเอกของเราดีมาก   ??? ??? ???


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: jerasak ที่ 17 ก.ย. 22, 11:45
เห็น อ.เทาชมพู เคยตัดเป็นภาพลงไว้ในกระทู้นี้นานแล้ว
ปัจจุบันมีเป็นเอกสาร pdf ให้ download นะครับ

คำอภิปราย ศิลาจารึกหลักที่ 1 จริงหรือปลอม
ประเสริฐ ณ นคร
สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ. 2541. หน้า 129-151 (588 หน้า)
https://kukr.lib.ku.ac.th/kukr_es/index.php?/BKN/search_detail/result/23736


กระทู้: จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างในของนักวิชาการ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 22, 13:02
ขอบคุณมากค่ะ คุณ jerasak
ข่าวเรื่องนี้ดูเหมือนจะเงียบกันไปแล้ว   ศิลาจารึกหลักที่ ๑  ก็ยังเป็นของเก่าอยู่