เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:46



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:46
แยกกระทู้มาจาก     

 http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.0

ถ้าหากว่าจะวิจารณ์ "เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ" ในเชิงวรรณกรรม   อย่างแรกที่ต้องลืมไปเลย  คือ เรื่องนี้มีพื้นฐานอยู่บนชีวิตจริงของม.ร.ว. นิมิตรมงคล
ถ้าจะจำข้อนี้  แล้วเอามาโยงเข้ากับหนังสือ  ก็คือวิจารณ์ว่า เรื่องนี้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ในรูปของนวนิยาย อย่างไรบ้าง
คิดว่าคงมีคนกล่าวถึงในด้านนี้กันมากแล้ว   คือไปมุ่งข้อเท็จจริงที่สะท้อนอยู่ในนวนิยาย   ไม่ว่าความจริงทางยุคสมัย  หรือว่าความจริงในความรู้สึกนึกคิดของรุ้ง

เพื่อไม่ให้สับสนกัน  ดิฉันขอแยกกระทู้   
ส่วนท่านที่สนใจเรื่องนี้ในฐานะบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์    ก็เชิญแลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อไปในกระทู้เดิมค่ะ
แต่กระทู้นี้ มอง "ความฝันของนักอุดมคติ" ในฐานะงานสร้างสรรค์ของนักประพันธ์   ว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
จึงแยกห้องมาสู่ห้อง "ชั้นเรียนวรรณกรรม"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:52
จากกระทู้เดิม
************************
ขอแนะนำให้ผู้อ่านเรือนไทย รู้จักชายหนุ่มชื่อ รุ้ง จิตเกษม   ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 
รุ้งเป็นปัญญาชนหัวกระทิของสยาม     เพราะเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง จบปริญญา B.Sc. F.G.S. จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ถ้าหากว่ายังนึกไม่ออกว่ารุ้งเปรื่องปราดอย่างไร  ก็ลองสมมุติว่า ถ้าเป็นปี ๒๕๕๒  รุ้งก็จบปริญญาเอกจากอังกฤษละค่ะ

รุ้งเข้ารับราชการที่กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)  ในยุคที่ถือว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง" ต้องถือว่าอนาคตของเขารุ่งโรจน์อยู่มาก
ถ้าหากว่ารุ้งจะก้มหน้าก้มตาทำงานไป โดยไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง    รุ้งก็คงไต่ระดับได้ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ  บั้นปลายชีวิตราชการ คงจะได้เป็นอธิบดีเป็นอย่างน้อย จากวิชาความรู้ที่มี
แต่ความผันผวนในชีวิตของเขา เกิดขึ้น เพราะสำนึกที่มีต่อบ้านเมือง   รุ้งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะราษฎร์  ก็ลาออกจากราชการ    ต่อมาเมื่อมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๖  รุ้งแค่ไปขึ้นเวทีปราศรัยคัดค้านนโยบายรัฐบาล     ก็ถูกตำรวจจับ และถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต   แต่ได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆจนเหลือแค่ ๔ ปีครึ่งก็เป็นอิสระ

ชีวิตของรุ้งก็ผันแปรไปหมดสิ้น  แม้ว่าเป็นอิสระออกจากคุกแล้ว      กลายเป็นว่ารุ้งสูญเสียทุกอย่าง  เริ่มต้นชีวิตอย่างมือเปล่า   
เสียคนรัก  เสียสถานภาพในสังคม  แม้แต่อนาคตก็ดูมืดมนและว่างเปล่า
แต่อย่างหนึ่งที่รุ้งไม่เสีย คือความฝันและอุดมคติ
*******************
ความรักครั้งแรกของรุ้ง เริ่มขึ้นกับหญิงสาวสวยชื่อ"สมส่วน"   เธอเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล   เป็น"ไฮโซ" ตัวจริงของสังคมสยาม
ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ อ่านแล้วนึกถึงชีวิตรักของคนดังหลายๆคู่  ที่ฝ่ายชายฟันฝ่าขวากหนามจนกระทั่งชนะใจดอกฟ้า

แต่เมื่อชีวิตรุ้งผันแปร  ชะตาตก   สมส่วนก็ไปพบรักกับชายอื่น   จนถึงขั้นจะแต่งงานกัน    แต่วิวาห์ต้องยกเลิกเพราะเธอเกิดป่วยเป็นวัณโรค  เป็นโรคร้ายไม่มีทางรักษาหาย พอๆกับมะเร็งในยุคนี้
รุ้งได้รับอิสระ  ทันกลับมาเยี่ยมไข้และดูใจสมส่วน  เขาให้อภัย เฝ้าไข้ดูแลเธออย่างดี จนกระทั่งเธอจากไป

ความรักครั้งแรกของรุ้ง อ่านแล้วรู้สึกว่ารุ้งเป็น "นักฝันที่มีอุดมคติ" ในทุกเรื่อง ตั้งแต่ความรัก   ไปจนการงาน และการดำเนินชีวิต
ความรักของรุ้งเริ่มต้นแบบพระเอกวรรณคดีไทย   คือตกหลุมรักทันทีเมื่อแรกเห็นดวงหน้าแสนสวยของหญิงสาว     ความสวยเป็นสิ่งดึงดูดใจเต็มร้อย    ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเหตุผลอื่น

" พอได้เห็นเธอ   ถ่านแห่งความรักในอกของเขาก็ถูกจุดเป็นไฟฉับพลันเหมือนสายฟ้าแลบ"

อดนึกสงสารรุ้งไม่ได้ ว่ารักผู้หญิงโดยไม่ได้คิดเลยว่าเธอเป็นคนยังไง   นิสัยใจคอเป็นยังไงก็ไม่รู้   จะไปกันได้ไหมก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้นก็เสี่ยงกับอกหักได้ง่าย
แต่นึกอีกที  นี่ก็คือความรู้สึกของพระรามเมื่อสบตากับนางสีดา  อิเหนาเมื่อเห็นบุษบา   พลายแก้วเห็นนางพิม  โรมิโอเห็นจูเลียต   ฯลฯ   ก็ไม่เห็นพระเอกพวกนี้จะอกหักสักคน    รุ้งก็คงเชื่อมั่นแบบเดียวกันละมัง

ผู้ประพันธ์ไม่ได้บอกว่ารุ้งเป็นคนหล่อ  ในฉากแรกเมื่อเขาพ้นโทษ   บอกแต่ว่า "รูปร่างค่อนข้างสูง ลีบเล็ก ผอมบาง คิ้วตก  หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน" 
นักโทษที่ผ่านความตรากตรำมาสี่ปีครึ่ง คงจะหาความหล่อได้ยาก   แต่เมื่อเขายังเป็นดาวเด่นในกระทรวงธรรมการ   บุคลิกของนักเรียนนอกจากอังกฤษยังเป็น"ออร่า" อยู่ทั่วร่าง   ท่วงทีของรุ้งสง่างามดุจเจ้าชายในเทพนิยาย  เมื่อเขาเดินเข้าไปแนะนำตัวและขอเต้นรำกับสมส่วนในงานราตรี    ไม่ต้องรอให้ใครแนะนำ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:55
การวิจารณ์วรรณกรรม ถือว่า ตัวละครเป็นหลักสำคัญของนวนิยาย เรื่องสั้นและบทละคร   ตัวละครที่ดี ไม่ใช่ตัวละครที่ประกอบคุณงามความดี ไม่มีที่ติ    แต่เป็นตัวละครที่สร้างได้ลึก มีมิติ จนดูเหมือนมีชีวิตจิตใจ    จะดีหรือจะชั่ว จะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ก็ไม่สำคัญ     
แต่ตัวละครยิ่งใหญ่นั้นจะซับซ้อน มีนิสัยหลายด้านในตัว ให้คนอ่านสัมผัสได้เหมือนเป็นคนจริงๆ      เพราะความลึกนี่เองทำให้คนอ่านจะรู้สึกรัก หรือเกลียด หรือเวทนา หรือเอ็นดู ก็แล้วแต่   
ยิ่งตัวละครมีความลึกในตัวมาก    ความรู้สึกของคนอ่านก็ยิ่งซับซ้อนตามไปด้วย  เช่นทั้งรักทั้งเกลียด   ทั้งเอ็นดูทั้งรำคาญ  ทั้งชอบและไม่ชอบฯลฯ

เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคล พารุ้งออกมาให้รู้จัก   อย่างแรกคือไม่ต้องไปพะวงว่ารุ้งคือตัวผู้ประพันธ์หรือมิใช่    ข้อนี้การวิจารณ์วรรณกรรมไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ     ตัวละครแม้มีพื้นฐานมาจากคนจริงๆคนไหนก็ตาม  แต่เมื่อเขาเป็นตัวละคร  เขาก็มีชีวิตจิตใจของเขาเอง

ด้วยเหตุนี้  จึงต้องอารัมภบทเสียยาว เพื่อจะบอกว่าผู้ประพันธ์สร้างรุ้งได้ละเอียดลออดี   จนทั้งๆมองรุ้ง  เห็นหลายๆอย่างแง่บวก ก็ไม่วายเห็นในแง่ลบ ในหลายเรื่องด้วยกัน

ที่สำคัญก็คือ เมื่อแยกรุ้ง จิตเกษม ออกจากม.ร.ว.นิมิตรมงคลให้เห็นชัดเจนแล้ว   ผู้วิจารณ์ก็จะสะดวกใจว่า กำลังวิจารณ์ตัวละคร     ไม่ได้วิจารณ์ตัวม.ร.ว. นิมิตรมงคล
อันอาจจะก่อความลำบากใจแก่บุคคลจริงๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่านได้  ถ้าหากเหมารวมกันไปว่า รุ้ง คือ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล   
เพราะถึงจะมีแรงบันดาลใจมากมายอย่างไรก็ตาม  เราก็ไม่ถือว่าตัวละครในนิยาย คือตัวจริงของบุคคลผู้เป็นที่ก่อกำเนิด  แยกไม่ออกจากกัน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 11:26
ฉากแรกของเรื่อง เริ่มที่วันพ้นโทษของรุ้ง จิตเกษม   เขานั่งอยู่ตรงหน้าผู้อำนวยการเรือนจำบางขวางด้วยท่าทีเรียบร้อยสำรวม      การบรรยายรูปร่างหน้าตาภายนอกของเขา  ค่อนข้างธรรมดา    ผู้เขียนไม่ได้เน้นความสำคัญ จากการบรรยายตาหูจมูกปาก  หรือรูปร่าง 
แต่ความโดดเด่นของรุ้ง จิตเกษม อยู่ที่ " ภายใน"   
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล    แนะนำรุ้งให้คนอ่านรู้จัก   ด้วยลีลาภาษาง่ายๆ ชัดเจน แต่ "ไม่ธรรมดา" เลยทีเดียว
เป็นการแนะนำความ "ไม่ธรรมดา" ของผู้ชายคนนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

" หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน    แต่สีหน้าเขาบอกชัดลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า  สิ่งที่เขาอดจริงๆ คือความพอใจ

เราจะไม่เห็นชั้นเชิงภาษาแบบนี้ ในนิยายโดยมาก  ที่มักบรรยายตัวละครไว้เพียงชั้นเดียว แค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 11:45
ถูกแล้วครับ

ความฝันของนักอุดมคติ เป็นนิยาย คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ความฝันของรุ้งจะเกิดได้จริงก็แต่ในเมืองในนิยาย เมืองที่นิมิตรขึ้นมาเท่านั้น

คนอย่างรุ้ง เก่งเกินไป ตรงเกินไป ดีเกินไป เกินไปเสียจนเป็นคนที่ "ปัญญาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด"....กระนั้นหรือ?

เราต้องหาคำตอบตรงนี้  

การที่คนทุกวันนี้ ทิ้ง หรือไม่เคยมีอุดมคติ อาจจะเป็นเพราะเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เพื่อหาความสุข ความสำเร็จ

เราควรมีคำตอบว่า อุดมคติยังเป็นสิ่งจำเป็นในคุณสมบัติของพลเมืองในยุคปัจจุบันหรือไม่

หรือเข็มทิศที่จะชี้นำเยาวชนของรุ้ง ใช้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 12:06
นวนิยายไทยน้อยเรื่องมาก ที่จะตั้งคำถามให้คนอ่านคิดว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร 
ส่วนใหญ่ ถ้าเจอคำถามนี้ คนไทยจำนวนมากจะอึ้ง แล้วตอบ-บางทีก็ด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจ   ว่า- เกิดมาใช้บุญใช้กรรม

น้อยคนนักจะรู้สึกว่าคำถามนี้  คือการกระตุ้นสำนึกว่า เกิดมาชาติหนึ่ง นอกจากใช้บุญใช้กรรมอันเป็นเรื่องส่วนตัวของเราโดยเฉพาะแล้ว
ที่ยืนเล็กๆของเราในโลก ที่ไม่ซ้ำบนที่ยืนของใครอื่น      เรามีบทบาท และมีส่วนทำอะไรให้โลก หรือย่อลงมาก็คือสังคมที่ล้อมรอบเรา  ได้รับอานิสงส์จากการเกิดมาของเราบ้างไหม

หรือว่า ขอเพียงแค่เกิดมา ใช้เวลากี่สิบปีก็ตาม หายใจไปแต่ละวัน  เลี้ยงชีพไปแต่ละวัน   พยายามทำตัวให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม แบบพลเมืองดีของชาติ    เพื่อจะได้รับผลดีสะท้อนกลับมาสู่ชีวิต ในฐานะสาธุชน
พอแก่ชราถึงวัยแล้ว ก็ละสังขารไปสู่สุคติ     
หลังจากนั้นนอกจากลูกหลานทำบุญครบรอบปีให้แล้ว  คนภายนอกก็คงไม่มีใครจดจำได้อีก

ชีวิตพลเมืองดีเหล่านี้  อาจจะสุข และสบายกว่าคนอย่างรุ้ง จิตเกษม  หลายเท่า    แต่ในเมื่อรุ้ง ไม่ใช่คนแบบนั้น   ถึงเขาไม่สุข และไม่สบาย แต่เขาก็มีชีวิตยั่งยืนมา  ให้เราได้ทำความรู้จักจนถึงวันนี้


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 12:13
ในฉากแรกของเรื่อง  รุ้งพูดสั้นมาก   ประโยคแรกที่เราได้ยินเขาพูด คือเขาบอกชื่อและนามสกุล
"รุ้ง จิตเกษมขอรับ"
ต่อมาคือ
"ผมขอบใจรัฐบาลมาก"
ต่อคำบอกเล่าว่าเขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ
เมื่อผู้อำนวยการเรือนจำชี้แจง ร่ายยาวเสียกว่าครึ่งหน้ากระดาษ   รุ้งก็ตอบเพียงว่า
" กระผมเข้าใจดีแล้วขอรับ"
หลังจากนั้น ผอ. ก็ให้โอวาทต่อไปอีกครึ่งหน้า   ได้คำตอบว่า
" กระผมขอบพระคุณ"

๔ ประโยคสั้นๆของรุ้ง ตรงข้ามกับโอวาทยาวเหยียดน้ำไหลไฟดับของผู้อำนวยการ      บอกให้เรารู้ได้โดยผู้เขียนไม่ต้องมาอธิบายซ้ำ ว่า สองคนนี้  ใครมีความลึกในความคิด และความเข้าใจ มากกว่ากัน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 18:46
อิสรภาพของนักโทษบางขวางคดีกบฎอย่างรุ้งเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลมีความมั่นใจแล้วว่า
“รัฐบาลมั่นคงมาก รัฐบาลปล่อยพวกคุณ ก็เพราะไม่กลัวว่าจะเกิดกบฏอีก”

แม้ว่าสันติบาลไม่เห็นด้วยเลย คนพวกนี้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

 “มันพยายามเกลี้ยกล่อมหาพวกพ้องคิดโค่นล้มรัฐบาลอยู่เสมอ”

สิ่งที่นายตำรวจประเภทนี้มีความคิดในหัวสมองก็คือ

“เราต้องช่วยกันป้องกันผู้นำของพวกเรา ถ้าท่านปลอดภัย ไทยทั้งชาติก็จะเป็นสุข”

ก็เป็นความจริงอยู่บ้าง คนที่ยังไม่อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้ บางคนได้พูดกับรุ้งว่า รุ้งคงจะไม่เป็นเช่นพวกที่ออกไปแล้วหายหัวไปเลย หวังว่ารุ้งคงจะเป็นลูกผู้ชายจริง ไม่เหมือนคนอื่น เมื่อถามว่าจะให้ทำอย่างไร

“กู้เกียรติน่ะสิครับ  จะทำอะไรก็ได้แล้วแต่โอกาสและน้ำใจ………….”

ซึ่งรุ้งก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ การที่รุ้งถูกมองว่าเป็นนักการเมืองทำให้รุ้งต้องเสวยเคราะห์กรรมมาโดยตลอด ในยุคนั้น “ นักการเมืองที่ไม่พูดคล้อยตามรัฐบาลก็คือกบฏ  และกบฏที่กลับใจก็คือคนทรยศต่อตนเอง”

สิ่งที่รุ้งเห็นประจักษ์ก็คือ ความรักชาติของคนทั้งสองฝ่าย ก็คือดวามรักตนเองทั้งสิ้น สิ่งล่อใจให้คนพวกนี้ทำงานเพื่อชาติ รวมทั้งงานกบฏก็คือ รางวัลความชอบและชื่อเสียง เมื่อเขามั่งคั่งสุขสบายก็คือชาติเจริญ เมื่อเขาลำบากหรือต้องติดคุก เขาก็ว่าชาติกำลังมีภัย

สันดานนักการเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยน อันนี้รุ้งไม่ได้ว่า ผมว่าเอง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: kaew48 ที่ 19 พ.ย. 09, 19:53
เข้ามาอ่านกระทู้นี้ด้วยความสนใจค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: kaew48 ที่ 19 พ.ย. 09, 20:00
อุดมคติเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ ในยุคนี้ไม่รู้จักค่ะ

มันให้ผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะต้องฝืนสัญชาตญาณของมนุษย์ค่อนข้างมาก

ยิ่งในยุคทุนนิยม อุดมคติเป้นอุปสรรคต่อการทำมาหากินอย่างมาก

ดิฉันเคยอ่านเรื่องนี้ ในช่วงปี 2517 ซึ่งตอนนั้นยังไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก ถ้าได้มีโอกาสอ่านอีกสักครั้ง

คงจะดี ....


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 20:35
อ้างถึง
อุดมคติ....ให้ผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะต้องฝืนสัญชาตญาณของมนุษย์ค่อนข้างมาก

ยิ่งในยุคทุนนิยม อุดมคติเป้นอุปสรรคต่อการทำมาหากินอย่างมาก


สังคมทุกวันนี้อยู่ได้เพราะไม่ใช่ทุกคนคิดอย่างที่ว่านะครับ
ยังมีผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นอีกมากมาย แม้เขาเหล่านั้นอาจจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีผลกำไร

ถ้าจะวัดความสำเร็จในชีวิตที่ความสุขกายสบายใจ  นับไม่ถ้วนเลยนะครับที่จะหาคนที่ถึงจุดนี้
แต่ถ้านับที่จำนวนเงินในธนาคาร ก็ไม่แน่นะครับว่าเศรษฐีมหาเศรษฐีจะมีความสุขที่จะต้องระวังรักษาตัวเลขให้เท่าเดิม หรือให้เพิ่มขึ้นได้


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 20:36
ก่อนที่รุ้งจะทำอะไรลงไปที่เรียกว่าเป็นกบฏนั้น รุ้งพิจารณาว่าทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน ถ้าชาติเผชิญอุปสรรคไม่อาจอยู่ในหนทางที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ลูกหญิงลูกชายของชาติจะดูดายแล้วโทษว่าเป็นเคราะห์กรรมของชาติเองกระนั้นหรือ

“ถ้าคนอย่างรุ้งก็ทอดทิ้งนิ่งดูดาย จะหวังให้ใครเล่าเป็นผู้ออกกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังใจ?”

นั่นเป็นแนวคิดแบบนักการเมือง เมื่ออยู่ในคุก วิญญาณของนักวิทยาศาสตร์ก็คืนกลับมา เมื่อรุ้งถามตนเองว่า
“อนาคตของเรา อยู่ในมือของเราจริงหรือ”

รุ้งหาคำตอบได้เองว่า ธรรมชาติยังมีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่ เช่นความร้อน ความหนาว ความชื้น ที่บังคับให้มนุษย์ดัดแปลงตนเอง ยิ่งกว่านั้น คือสิ่งแวดล้อม กล่าวโดยสรุป มนุษย์ย่อมมีชีวิตภายใต้อำนาจของสิ่งแวดล้อม

ความวิเวกในบางขวางได้นำปัญญามาสู่รุ้งว่า การที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกบฏคือความเขลา รัฐบาลใดก็ตามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโจราธิราช รักชาติหรือล้างชาติ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนหรือตนเองก็ดี ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะตั้งตนขึ้นมาได้โดยปราศจากอิทธิพลอื่น ที่เรียกว่าอำนาจของสิ่งแวดล้อม

สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณายาสิทธิราชก็ด้วยอำนาจกระแสนิยมของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อาจต้านทานได้ เป็นประเทศสุดท้ายที่ยังไม่ทันลงตัวยุโรปก็เกิดลัทธิฟัสซิสม์ขึ้น และไม่ช้าไม่นานก็ระบาดฝังใจคนหนุ่มทั่วโลก แพร่มาถึงเมืองไทยขนาดมีผู้เห็นรัศมีพวยพุ่งออกมาจากท่านผู้นำเข้าให้แล้วเหมือนกัน

แม้หากว่าฝ่ายกบฏจะชนะ และรุ้งเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของนักการเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช แต่การจัดระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องล้มเหลวอยู่ดีภายใต้สิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความขัดข้องนานัปการ

รุ้งไม่ได้พูดว่า ในระบอบประชาธิปไตย คนหยอดบัตรเป็นเช่นไร ก็ได้รัฐบาลเช่นนั้น ประชาชนคือสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ
ผมพูดเอง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 20:49
ถ้ารุ้งยังมีชีวิตต่อมาจนถึงวันนี้   เขาจะเป็นสุขกับสยามในวันนี้ ขึ้นบ้างหรือยัง?
คำถามนี้ ถามลอยๆค่ะ    มันแวบขึ้นมาเมื่ออ่านข้อความนี้

อ้างถึง
สังคมทุกวันนี้อยู่ได้เพราะไม่ใช่ทุกคนคิดอย่างที่ว่านะครับ
ยังมีผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นอีกมากมาย แม้เขาเหล่านั้นอาจจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีผลกำไร

รุ้งเป็นคนพูดน้อยกว่าคิด   บทที่ ๒ จึงมีความคิดยาวเหยียดของรุ้ง เป็นตัวเดินเรื่อง    แต่มีบทพูดอยู่ประโยคเดียว

สี่ปีครึ่งในบางขวางไม่ได้ผ่านไปอย่างซึมเซา มีแต่รอเวลาได้รับอิสรภาพ   รุ้งใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์อย่างปัญญาชนอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุดเขาก็รู้สึกว่า  แม้ปฏิวัติมาหลายปีแล้ว สยามก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง   ต่อให้การสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกบฏบวรเดชจะพลิกผัน    ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นฝ่ายชนะ
เขาก็ยังไม่เชื่อว่าสยามจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยไปได้
เพราะตอนนั้นระบอบการเมืองที่ฉายแสงขึ้นมาแทน  คือฟาสซิสม์


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 09, 06:56
รุ้ง เป็นคนที่บรรจุความรู้สึกนึกคิดไว้ในตัวตนมากมาย ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานมาจากด้านวิทยาศาสตร์ เขาพูดออกมาแต่ละครั้ง คนฟังมักจะอ้าปากค้าง

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่รู้กี่สิบครั้ง อ่านครั้งแรกจำไม่ได้ว่าเมื่อไร เจอบทที่๒เข้าไปก็เลิกแล้ว ตอนนั้นบ้าอ่านของป.อินทปาลิต (ท่านผู้นี้น่าจะเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับม.ร.ว. นิมิตรมงคล แต่ชิงออกมาเสียก่อนจะได้เป็นนายทหาร พล นิกร กิมหงวนของท่านมีคุณูปการต่อการอ่านหนังสือแตกของผมมาก) คิดว่าอ่านความฝันของนักอุดมคติจบเล่มตอนชั้นมัธยม๓ แต่ก็ข้ามๆตอนที่เข้าใจยากไปเยอะ

ม.ร.ว. นิมิตรมงคลเป็นนักเขียนประเภทหมอหนังสือ คือจะให้ยาคนไข้แต่รู้ว่ายานั้น ถึงจะมีประโยชน์แต่รสชาดมันขม จึงต้องเคลือบน้ำตาลไว้ทีละชั้นๆ หลอกให้ผู้ชอบรสหวานกินเสพย์เข้าไปก่อน และรสขมจะมีโอกาสได้ซึมซาบ นักเขียนรู้ดีว่ารสขมล้วนๆ ภาษาหนังสือเขาเรียกว่าตำรา คนไข้หนักเท่านั้นที่จำเป็นต้องเสพย์

มาอ่านทั้งเรื่องโดยไม่ข้ามหน้าใดเลยก็ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วมั้ง แต่กระนั้น คำคมของรุ้งที่ผมชอบจะเป็นประเภท “ความรักเบิกบานในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยในอาการเปิดเผย” ตอนนั้นก็มีภาคปฏิบัติให้เทียบเคียงกันด้วย เลยซึ้งใจมาก ยังดีกว่าตอนอยู่มัธยมต้นนิดนึง ตอนนั้นชอบที่รุ้งตอบอุไรวรรณ “ทำไมผู้ชายจึงชอบเดินตามผู้หญิง-ก็ ผู้หญิงชอบเดินหนีเรา”

อ่านอีกทีเมื่อเป็นนิสิตแก่พรรษา ชอบบทวิพากษ์ด้านการเมืองของรุ้ง อย่างเช่น “ลัทธิของกษัตริย์โบราณและลัทธิของกษัตริย์ไม่สวมมงกุฏอย่างฮิตเลอร์(บุคคลร่วมสมัยของรุ้ง)คือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย ลัทธิประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็นกันในยุโรปบางประเทศ(รวมถึงเมืองไทยร่วมสมัยของคนอ่านตอนนั้น ที่เจอทั้งสองเด้ง อย่างแรกด้วย) คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก และการปกครองแบบคอมมูนิสต์ในรัสเซีย (ที่มีผู้นำเสนอทางเลือกนี้เข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว) คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกรโดยหัวหน้ากรรมกร”
และนั่นเป็นที่มาของการเสนอยาขมที่สุดของรุ้งต่อผู้อ่าน คือระบบการปกครองทีใช้วิธีการเช่นเดียวกับองคาพยพ สมองของมนุษย์ไม่เคยสั่งการให้สังหารจุลินทรีย์ที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์นั้นเลย มีแต่เยียวยาจนสุดความสามารถหากมีอะไรผิดปกติไป รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลของประชาชนก็น่าจะกระทำเช่นรัฐบาลแห่งองคาพยพของมนุษย์นั้น

มันช่างเป็นอาหารสมองของวงสนทนาเมื่อยามเราหาเรื่องซีเรียสๆมาถกเถียงกัน เปล่า ไม่มีใครคิดจะปฏิวัติโลกให้เป็นอย่างที่รุ้งชี้หรอก ตอนนั้นเราเพียงแต่คิดว่า เมื่อไหร่ทหารไทยจะเลิกอยากเป็นนายกรัฐมนตรีเสียที


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 09, 10:18
อ้างถึง
“ความรักเบิกบานในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยในอาการเปิดเผย”

-ขอประทานโทษ ขอแก้ที่ผิดครับ ที่จริงแล้วต้องเป็น

ความรักย่อมงอกงามในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยลงในอาการเปิดเผย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 09, 09:34
รุ้ง ไม่ใช่ผู้เชื่อถือในทฤษฎีการเมืองทฤษฎีใดแน่นแฟ้น   แต่เขาเอาทุกทฤษฎีที่ได้อ่าน มาใคร่ครวญ   จนมองเห็นจุดดีและจุดด้อยของทฤษฎีพวกนั้น     
เมื่อสังเคราะห์ออกมาได้แล้ว  รุ้งจึงสรุปความคิดของตัวเอง   เรียกได้ว่าเป็นการตกผลึกทางความคิด

อะไรคือผลึกความคิดของรุ้ง
อย่างแรกคือ  รุ้งเห็นว่า "รัฐบาลย่อมเกิดขึ้นและจะเป็นแบบใด ก็สุดแต่อำนาจของสิ่งแวดล้อม"
คำขยายก็คือ โลกสมัยนั้น ประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่ในประเทศตะวันตก     ความนิยมระบอบนี้ลุกลามมาถึงประเทศไทย    ดุจเดียวกับการลุกลามของโรคระบาด   เหลือกำลังที่ประเทศไทยจะต้านทานได้
จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี  ๒๔๗๕ ขึ้น

แต่ไทยยังไม่ทันจัดการปกครองประชาธิปไตยให้เข้ารูปได้สำเร็จ  ก็เกิดกระแสใหม่ในยุโรป คือการปกครองแบบฟัสซิสม์    ระบอบนี้เข้าสิงสถิตย์ในใจคนหนุ่มรุ่นใหม่    เกิดความนิยมระบบท่านผู้นำเด็ดขาดแบบฮิตเลอร์
ในประเทศไทย   ผู้นำประเทศคือหลวงพิบูลสงคราม  เป็นคนหนุ่มเช่นเดียวกัน   ก็รับอิทธิพลบุคลิกภาพของฮิตเลอร์ไว้  เป็นเหตุให้นิยมการปกครองลัทธิฟัสซิสม์ไปโดยปริยาย   และได้นำลัทธินี้เข้ามาปกครองประเทศในตอนนั้นด้วย

รุ้งเห็นว่า คนหนุ่มยุคเขา "เป็นหนุ่มในรุ่นที่ชาติต่างๆกำลังมีการปฏิวัติทางการปกครอง  ระเบียบต่างๆถูกรื้อถอน ถูกแก้ไข  (พวก)เขาเกิดและเติบโตขึ้นในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง   เมื่อเขาเป็นหนุ่มแล้ว   ได้เห็นปาฏิหาริย์อันน่าพิศวงของฮิตเลอร์  จึงรับเอาฮิตเลอร์มาเป็นวีรบุรุษ    จิตใจคนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความแข่งขัน  ความเร็ว ความเด่น ความดัง และความกดขี่คนอื่น.."

ถ้าอาศัยการวิเคราะห์ของรุ้งเป็นหลัก   เราก็คงพอจะเข้าใจว่า เหตุใดประเทศไทยที่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยหลักการว่าจะดึงอำนาจจากระบอบกษัตริย์มาสู่ประชาชน  เหมือนนานาอารยะประเทศในยุโรป
จึงเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จ  มีการปราบปรามกบฏบวรเดชอย่างรุนแรง   และยืดเยื้อมาจนถึงการตัดสินประหารและจำคุกบุคคลสำคัญของประเทศอีกมากมาย
ไม่เว้นแม้แต่พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
โดยไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้านอำนาจของนายกรัฐมนตรี  ที่ผ่านทาง "ศาลพิเศษ"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 09, 15:02
รุ้งเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆในสังคมไทย ที่กำลังผันผวนจากการเมืองช่วง ๒๔๘๑    อิสรภาพที่เขาได้รับ  ไม่ได้ทำให้เขาปลอดภัยทั้งจากสายตาของสันติบาล และปลอดภัยจาก "ความยากไร้" ที่รออยู่
เป็นโศกนาฏกรรมเล็กๆที่ลึกซึ้ง เมื่อเรานึกถึงว่า บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในยุคที่คนไทยค่อนประเทศยังจบการเรียนภาคบังคับแค่ประถมต้น      ประสบปัญหาว่าไม่รู้จะทำงานอะไร   
สยามไม่มีงานที่เหมาะสมรออยู่สำหรับปัญญาชนอย่างรุ้ง

จริงอยู่ว่า หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม แสดงความใจกว้าง  ชักชวนนักโทษการเมืองทั้งหลายให้กลับเข้ารับราชการได้
แต่รุ้งปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดทบทวนเลย   
เราก็คงมองออกว่าเหตุผลของเขาคืออะไร    ถ้าเขากลับเข้ารับราชการ   เขาก็ต้องจำนนอยู่ใต้อำนาจและบุญคุณของรัฐมนตรีกลาโหม      สิ่งนี้นักอุดมคติของรุ้งไม่อาจจะจำทนได้

แต่เส้นทางอื่นๆ ก็ทำให้รุ้งเคว้งคว้างหนักขึ้น    เขาตัดสินใจจะหันอาชีพไปทำงานกับเอกชน    เลือกที่จะทำงานกับห้างขายเครื่องเขียน  เป็นแนวทางที่เขาจะเริ่มกิจการขายเครื่องเขียนของตัวเองในอนาคต
แทนที่จะไปทำงานในบริษัทอู่บางกอกของฝรั่ง  ผ่อง  เพื่อนของเขาก็เลยได้งานนี้ไปแทน   ผลออกมาว่าเป็นงานมีรายได้ตอบแทนดี น่าพอใจ
ผิดกับห้างขายเครื่องเขียนของนายห้างชาวอินเดีย   ที่รุ้งไปทำงานด้วย   นายห้างไม่ค่อยอยากจะรับคนมีความรู้สูงเกินไปอย่างรุ้ง    รุ้งจึงแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการยอมทดลองงานให้นายจ้างเห็นฝีมือ  โดยไม่เรียกร้องเงินเดือน

เรื่องนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้รุ้งเรียนรู้ว่า  ความใจกว้างและยุติธรรมที่แสดงออกกับคนใจแคบและเอาเปรียบคนอื่น    ย่อมจบลงด้วยความล้มเหลวของฝ่ายใจกว้าง

อ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็พยายามวิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากความเค็มและงกของนายห้างแขก   เราจะมองเห็นสัจธรรมอะไรได้บ้าง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 09, 10:16
รุ้งเข้าทำงานเป็นเสมียนห้างเครื่องเขียนของนายซัลวาล   ทำงานด้านเอกสารและสัญญาอย่างขยันขันแข็ง  และทำได้เรียบร้อยไม่มีที่ติ   อยู่ ๖ เดือน เหมือนนักศึกษาฝึกงาน   โดยไม่ได้เงินเดือน
ครบ ๖ เดือน  นายห้างให้เงินเดือนในอัตราเสมียนทั่วไปคือ ๓๐ บาท     ไม่ใช่ในอัตราของผู้ชำนาญด้านเอกสารสัญญา ตามความรู้ของรุ้ง  ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า ๘๐ บาท ( อัตรานี้ก็ถือว่าต่ำสุดแล้วสำหรับปัญญาชนอย่างรุ้ง)
คือถ้าตกลงก็ทำงานต่อไปได้  ไม่ตกลงก็เชิญออกไป
ห้างนี้ พนักงานได้เงินเดือนต่ำกว่าราชการ และห้างอื่นๆมาก    แม้แต่สมุหบัญชี ก็ได้เงินเดือนแค่ ๗๐ บาท   กำไรจากการค้าขายประมาณ ๙๐%  เข้ากระเป๋านายห้างชาวอินเดีย   
นายห้างมีชั้นเชิงทางการค้าสูง  รู้วิธีกอบโกยกำไรจากลูกค้าได้ด้วยระบบเงินผ่อน และกดเงินเดือนพนักงาน
หลังจากรุ้งเรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมการค้าเหล่านี้แล้ว   เขาก็ตัดสินใจว่าไม่ควรจะทำธุรกิจเครื่องเขียนอย่างที่เคยหวังไว้อีกต่อไป
เขาไม่เหมาะจะเป็นพ่อค้า 

เมื่ออ่านแล้ว   ก็ได้ความคิดว่า
๑  วิธีการตั้งเงินเดือนของนายห้างอินเดีย ไม่ได้แปลกอะไรเลย  ราชการเองก็ตั้งเงินเดือนคล้ายๆกัน    คือถึงแม้คุณจบปริญญาเอกมา
แต่ถ้าได้ตำแหน่งที่รับคนจบแค่  ม. ๖  ต่อให้คุณทำงานด้วยสติปัญญาและความรับผิดชอบของปัญญาชนปริญญาเอก    ราชการก็ให้เงินเดือนตั้งต้นสำหรับม. ๖ อยู่ดี   
หรือแม้แต่บริษัทห้างร้านก็เถอะ   ต่อให้คนสมัครเข้าทำงานจบปริญญาตรี  แต่ไปสมัครเป็นคนทำความสะอาด   บริษัทก็ตั้งเงินเดือนอัตราคนงาน     ไม่ได้ปรับเงินเดือนให้เท่ากับปริญญา

๒  การเรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมการค้าของนายห้าง  ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและลูกค้า  ทำให้รุ้งท้อใจว่าตำราและทฤษฎีที่เขาเรียนมา ใช้ในทางปฏิบัติไม่ได้   ถ้าเขาจะเป็นพ่อค้าที่สุจริตอย่างที่ตั้งใจไว้  เขาก็ต้องพ่ายแพ้พ่อค้าอย่างนายห้างอยู่วันยังค่ำ

อ่านแล้ว ก็รู้สึกเป็นส่วนตัวว่า รุ้งดูจะไม่เห็นทางเลือกที่ ๓ คือการปรับตัวเองให้ลดทฤษฎีลงมาบ้าง  และยังรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อลูกค้าเท่าที่จะทำได้
ดังนั้นรุ้งก็ต้องอำลาอุดมคติที่จะเป็นพ่อค้าที่ซื่อสัตย์  ไว้เพียงแค่นี้


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 11:33
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านไปแล้ว ก็เห็นใจรุ้งที่เขารู้สึกมืดมน อับจนหนทาง ไม่ว่าจะไปทางราชการ หรือค้าขาย เขาก็ไปไม่ได้สักทางเดียว
เหตุผลของรุ้ง ก็มี  ไม่ใช่ว่าไม่มี   เป็นเหตุผลที่อ่านแล้ว ถึงบางคนอาจไม่เห็นด้วยเพราะไม่ใช่นักอุดมคติอย่างรุ้ง แต่ก็คงยอมรับว่า นี่คือตัวตนของนักอุดมคติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ถ้าเปลี่ยนแปลง เขาก็หมดความเป็นตัวของตัวเอง

รุ้งเป็นคนสุภาพพอจะยอมรับว่าเป็นความผิดของตนเอง   การปฏิเสธความหวังดีของรัฐมนตรีกลาโหม   การสมัครงาน  และการลาออกจากบริษัทสยามเครื่องเขียนเหล่านี้ ไม่มีใครบังคับให้เขาทำ    มันเป็นผลให้เขานอนสะอื้นด้วยความวิตกถึงชีวิตอนาคต    แต่เขาไม่มีทางหลีกเลี่ยง     หากว่าชีวิตจะย้อนหลังใหม่ได้   รุ้งก็คงเลือกปฏิบัติอย่างเดิมนั่นเอง    เพราะมีสิ่งที่ทรงพลานุภาพใหญ่ยิ่งที่ได้ห้ามเขาไม่ให้รับราชการ และไม่ให้ค้าขาย    สิ่งทรงพลานุภาพนี้คือ "ความรู้สึกผิดชอบ"  ซึ่งมนุษย์ผู้เจริญด้วยธรรมทุกคนต้องเทิดทูนเคารพ

อ่านแล้วนึกถึงคำพูดนี้ค่ะ
“Responsibility is the price of greatness.”
 Winston Churchill  


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 11:35
จากเรื่องงาน   ม.ร.ว.นิมิตรมงคล  สร้างชีวิตของรุ้งให้พบความรักครั้งที่สองหลังจากสมส่วนเสียชีวิตไปแล้ว     การพบรักครั้งใหม่นี้ก็เหมือนพระเอกนางเอกในวรรณคดีอีก   คือเป็นรักแรกพบ

รุ้งขึ้นรถราง  เกิดเหตุฉุกเฉินเล็กๆเมื่อหญิงจีนที่วิ่งตามรถรางมาเพื่อจะขึ้นให้ทัน  ส่งลูกน้อยขึ้นรถได้ แต่ตัวเองกลับโดดขึ้นมาไม่ทัน   ทำให้รุ้งซึ่งเอื้อเฟื้อ  รับเด็กมาจากวงแขนแม่  ต้องกลายเป็นพี่เลี้ยงจำเป็น อุ้มเด็กไว้ทั้งๆไม่รู้ว่าเป็นใคร หรือจะคืนให้แม่ได้อย่างไร
หญิงสาวคนหนึ่งขยับที่ให้เขานั่ง    เมื่อรุ้งเห็นเธอเข้า...

มันเป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่มีใครสังเกต   เป็นเหตุการณ์อันเล็กน้อยซึ่งมีความสำคัญใหญ่หลวง   เป็นเหตุการณ์ที่เคยทำให้มาร์ค แอนโตนี  เอาความเป็นจักรพรรดิแห่งโรม ไปบูชาแทบบาทคลีโอพัตรา    นั่นคือเหตุการณ์เมื่อกระแสไฟฟ้าจากดวงตาคู่หนึ่งแล่นไปยังดวงตาอีกคู่หนึ่ง    รุ้งเกิดความงงงันและลืมตน เหมือนคนถูกสะกดดวงจิต    ในเมื่อสายตาของเขาเผอิญแลไปสบสายตาของสุภาพสตรีผู้ขยับที่นั่งให้แก่เขา     เขาทรุดตัวลงนั่ง อ่อนเปลี้ยสิ้นกำลัง    เพิ่งรู้สึกว่าเข้ามาอยู่ภายในเขตอำนาจของกระแสแม่เหล็กที่แรงที่สุดในโลก     
 
อ่าน "เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ" มาถึงตรงนี้  ก็นึกถึงโคลงของคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์  กวีร่วมสมัยของเชคสเปียร์ ขึ้นมาทันที
 
  It lies not in our power to love or hate,
For will in us is overruled by fate.
When two are stripped, long ere the course begin,
We wish that one should love, the other win;

And one especially do we affect
Of two gold ingots, like in each respect:
The reason no man knows; let it suffice
What we behold is censured by our eyes.
Where both deliberate, the love is slight:
Who ever loved, that loved not at first sight?  

Christopher Marlowe 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ธ.ค. 09, 14:56
ขออภัยหากจะขัดจังหวะความรักครั้งที่2ของรุ้งสักนิด


สิ่งที่คนอย่างรุ้งไม่เข้าใจเลยคือการค้าและวิธีการหากำไร รุ้งก็อยากรวย อยากมีเงินมีทอง เพราะจะเอาเงินนั้นไปต่อยอดในการทดลองหาผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ต่อไป นั่นรุ้งกำลังพูดถึง research&developmentที่ผู้ประกอบการดีๆเขาลงทุนทำกันเพื่อหาสินค้าใหม่ๆมาสนองความต้องการของมนุษย์

คำว่า มาสนองความต้องการของมนุษย์ กับ มาสนองความต้องการของตลาด ก็จะแสดงความต่างชั้นของอุดมคติแล้ว เห็นไหมครับ

รุ้ง เมื่อพ้นโทษมาก็ทำจดหมายใช้ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการส่งจดหมายเหวี่ยงไปเพื่อสมัครงาน และมีบริษัทอเมริกันสนใจจะว่าจ้างโดยไม่สนใจคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ แต่รุ้งก็เอาโอกาสนั้นไปแลกกับผ่องเพื่อนรักที่ได้จดหมายตอบรับจากนายห้างขายเครื่องเขียนชาวอินเดีย เพราะปรารถนาจะเข้าไปเรียนรู้วิธีการค้าขายของเขา

ความเข้าใจของรุ้ง “พ่อค้าที่ดี…หมายถึง ผู้สามารถดำเนินการก้าวหน้า โดยอาศัยความรู้ ศาสตร์กับความสามารถในศิลปะ และประกอบการโดยสุจริต”
แต่บังเอิ้ญ บังเอิญที่รุ้งไปฝึกงานกับคนเลว รุ้งจึงสรุปว่า “ความซื่อตรงเป็นนโยบายที่ดีเยี่ยมนั้น เป็นความจริงในตำรา แต่ไม่มีใครเอามาใช้”

“แต่ความรู้ในการไปเป็นลูกจ้างแขกทำให้เขาเห็นว่า การค้าขายคือความพยายามที่จะโกงและเอาเปรียบซึ่งกันและกันในเวลาที่สินค้าเปลี่ยนมือ และพ่อค้าก็คือผู้ชำนาญในการนี้ มันช่างผิดกันไกลกับหลักการที่เขาได้ศึกษา”

“เงินคือเสนียดแห่งอำนาจ…เสนียดแห่งอำนาจเมื่อวิเคราะห์ลงไปอีกชั้นหนึ่งก็คือกำไร ซึ่งแปลว่าความได้เปรียบ เขาเตะเราได้หนึ่งครั้ง แต่เราเตะเขาได้สองครั้งก็เรียกว่ามีกำไร”

กระนั้นก็ดีสิ่งที่รุ้งสรุป “แม้จะยอมรับว่าอาจเกิดเพราะความเผอิญหรือเป็นด้วยหูตาสั้น หรือมีอุปาทานอยู่ในใจ …..เขาเชื่อว่าเขาไม่เคยพบพ่อค้าคนใดที่ดำเนินการค้าโดยสุจริตอย่างแท้จริงสักรายเดียว”

ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่รุ้งท้าทายให้ผู้อ่านเถียงเขา แต่คนที่จะเถียงได้ก็คือคนที่ปฏิบัติมาแล้ว ที่จะบอกรุ้งว่า พ่อค้าก็มีอุดมคติได้และพอใจในความสำเร็จของอาชีพตน โดยไม่ต้องเอาเปรียบ คดโกงคู่ค้าหรือลูกค้าก็มีนะครับ

ยิ่งมีคนเถียงตรงนี้มากเท่าไร รุ้งคงยิ่งดีใจ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 11:16
การวิจารณ์รุ้ง มีข้อที่ทำให้ลำบากใจอยู่อย่างหนึ่ง คือม.ร.ว.นิมิตรมงคล ได้ผสมผสานประสบการณ์และทัศนะของท่านลงในชีวิตของรุ้ง อยู่มาก    จนคนอ่านทั่วไปที่ไม่รู้จักม.ร.ว. นิมิตรมงคล อาจแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือท่านและส่วนไหนคือรุ้ง
จะวิจารณ์พฤติกรรมของรุ้ง ก็จะกลายเป็นวิจารณ์พฤติกรรมของผู้แต่ง ไปโดยปริยาย 
ดิฉันจึงได้แยกกระทู้นี้ออกมา  เพื่อให้เห็นชัดๆว่า อะไรที่จะกล่าวถึงในกระทู้นี้ คือกล่าวถึงรุ้ง  ไม่ใช่พาดพิงถึงผู้แต่ง

ในเมื่อคุณ N.C. ชี้ทางให้มีคนเถียงรุ้งได้    ดิฉันก็จะทำให้คุณรุ้งเธอดีใจ ด้วยการเถียงหลายข้อ   ไม่ใช่ข้อเดียว

๑  นักอุดมคติอย่างรุ้ง ทำให้เห็นว่า เขาเป็น idealist แบบเต็มร้อย  ยึดมั่นในทฤษฎี  แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ  รุ้งก็ไม่มีความสามารถจะนำมาประยุกต์ หรือปรับใช้ในเวลาปฏิบัติได้
รุ้งจะไม่เฉลียวใจเลยหรือว่า ไม่มีทฤษฎีใดที่สมบูรณ์   แม้แต่นักชีววิทยาทั้งหลายก็ต้องเอาความรู้ในตำรามาทดลองกันในห้องแล็บ ครั้งแล้วครั้งเล่า  เพื่ออาจจะเกิดผลที่แตกต่างกันไป   นำไปสู่การสรุปทฤษฎีใหม่
ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การค้ามากมายที่เขาอ่าน บรรยายไว้เป็นหน้าๆ  ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้ารุ้งไม่รู้จักปรับใช้ให้เหมาะสม

๒ รุ้งไปทำงานอยู่แค่ ๖ เดือนในบริษัทเดียว  เจอนายเลวๆคนเดียว   แต่รุ้งก็สรุปเหมารวมไปหมดทั้งสังคมธุรกิจ ว่าไม่มีพ่อค้าคนไหนที่สุจริต  ทำให้เขารู้ตัวว่าเขาไม่เหมาะสมจะค้าขาย  ถ้าเขายังยึดหลักการค้าขายอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ไม่เป็นการด่วนสรุปไปหน่อยหรือ   เหมือนการทดลองกับหนูตัวเดียว  แล้วสรุปว่าหนูทุกตัวต้องเป็นแบบเดียวกัน

พ่อค้าแม่ค้าที่ซื่อตรงต่อผู้บริโภค  ยังไงก็ต้องมีในสังคม    เพราะถ้าทุกคนพร้อมใจกันคดโกงหมด  ในที่สุดก็ต้องโกงกันเอง    แล้วก็จะล้มกันหมดทุกคน  จะเหลือใครรอดมามั่งมีศรีสุขอยู่ได้


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 11:29
มีคำคมอยู่ประโยคหนึ่ง ว่า
Learning is best when put into practice.
คือการเรียนวิชา มีไว้เพื่อนำมาปฏิบัติ 
เรียนเพื่ออ่าน เพื่อท่องจำไว้ให้ใครๆฟัง   หรือเพื่อสะสมตำราไว้ในตู้ เฉยๆ ไม่ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดี    เรียนแล้วต้องใช้ได้
น่าแปลกว่า บัณฑิตทางชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน  ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเอาวิชานั้นมาใช้ทำมาหากินอย่างไร
ถ้าสยามไม่มีเอกชนที่รับนักชีววิทยามาทำงานโดยตรง      วิชาอื่นๆที่รุ้งเองรู้อย่างดี เช่นภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์เบื้องต้น   หรือแม้แต่คำนวณชั้นสูง   จะช่วยให้เขาหางานทำไม่ได้เลยหรือ
อย่างน้อยรับเป็น tutor คือครูสอนตามบ้าน  ก็คงจะมีรายได้ประจำ มากน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

ถ้าไปหางานในห้างร้านใหม่สักแห่ง    อาศัยพื้นฐานภาษาอังกฤษเขียนโต้ตอบการสั่งสินค้าจากเมืองนอกได้     เขาก็คงหางานทำได้ 
เจ้าของห้างจะเอาเปรียบลูกค้ายังไง ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา   เพราะอยู่นอกขอบเขตที่รุ้งจะยื่นมือไปจัดการได้
สิ่งหนึ่งที่นายจ้างทั้งหลายต้องการตรงกัน ไม่ว่านายจ้างดีหรือนายจ้างเลว  คือพนักงานที่ขยันและซื่อสัตย์     ถึงนายจ้างเลวจะกดเงินเดือน ก็ไม่ไล่ออก ให้ต้องตกงาน    ส่วนนายจ้างดีจะตอบแทนให้ตามสมควรหลังจากอยู่กันยาวมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่คนที่คิดอย่างนี้  ก็เป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป  ไม่ใช่นักอุดมคติที่มีความฝันจะเห็นสังคมดีขึ้น อย่างรุ้ง

ถ้ารุ้งเกิดในสมัยนี้  เขาอาจจะมีทางออกที่ดีกว่ายุคของเขา  อย่างน้อยเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้กว้างขวางมาก แทบไม่มีขอบเขตจำกัด


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ธ.ค. 09, 11:59
หากรุ้งเพียงผิดหวังเรื่องการค้าขายมาจากห้างขายเครื่องเขียน รุ้งก็ยังมีทางออกอื่นๆอีกมาก ยังมีคนต้องการใช้ความสามารถของรุ้งอยู่ อย่างน้อยอู่บางกอกหรือธุกิจใกล้เคียงกันก็คงจะยินดีที่จะอ้าแขนรับ

เรื่องนี้รุ้งเองแสดงความผิดหวังกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และเจาะจงว่าระบบการค้าขายของสยามนั้นยิ่งแย่ หมายความว่าสิ่งที่รุ้งผิดหวังนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องความคดโกงของห้างค่าเครื่องเขียนนี้ แต่เห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบเศรษกิจโดยรวมนั้นทีเดียว ข้อนี้ตรงกับความเห็นของคนจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน ที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบทุนนิยมที่ใช้อยู่ ยิ่งเมื่อใช้ในชาติที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลเป็นอย่างดีแล้ว เท่ากับเปิดช่องให้คนจำนวนหนึ่งสูบเลือดสูบเนื้อเอาเปรียบคนอื่นๆได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ข้อนี้ทำให้รุ้งรังเกียจที่จะเข้าไปคลุกคลีเป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้อีก จะเป็นผู้กดขี่ หรือผู้ถูกกดขี่ก็ไม่เอาทั้งนั้นครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 12:23
อ้างถึง
เรื่องนี้รุ้งเองแสดงความผิดหวังกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และเจาะจงว่าระบบการค้าขายของสยามนั้นยิ่งแย่ หมายความว่าสิ่งที่รุ้งผิดหวังนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องความคดโกงของห้างค่าเครื่องเขียนนี้ แต่เห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบเศรษกิจโดยรวมนั้นทีเดียว

มาต่อความคิดเห็น

ยังสงสัยอยู่ว่ารุ้งมองเห็นความบกพร่องของเศรษฐกิจทุนนิยม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา 
หรือว่ารุ้งผิดหวังจากการทำงานกับนายจ้างเลวๆ  เลยท้อใจกับการค้าขาย ว่ายังไงก็ไม่พ้นคนพวกนี้

สมมุติว่ารุ้งเห็นอย่างที่คุณม้าวิจารณ์มา      คนอย่างรุ้งไม่ต่อยอดไปถึงทางออกของทุนนิยมหรือคะ
เพราะการรู้ปัญหา เป็นเรื่องที่เห็นไม่ยากนัก   แต่การแก้ปัญหานี่สิ   ยากกว่า
เช่นเราก็รู้ว่าในหน่วยงานภาครัฐ มักจะมีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ   แต่ใครสักคนจะมองเห็นการวางระบบป้องกันหรือไม่ ว่าจะทำอย่างไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ธ.ค. 09, 13:37
ระบบเศรษฐกิจที่ดีต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของสังคมมนุษย์ได้ ระบบทุนนิยมได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าสอดคล้องกับ "สันดาน" ของมนุษย์มากกว่าสังคมนิยม

น่าเสียดายที่รุ้งไม่มีโอกาสได้เห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่เห็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในชาติที่อ้างตัวเป็นคอมมูนิสต์อย่างจีน รุ้งอาจจะผิดหวังว่ายูโทเปียของตนนั้นอาจไม่ใช่โลกที่จะเกิดขึ้นจริงได้

แต่หากรุ้งได้อยู่เห็นการโจมตีค่าเงินบาทของเฮ็ดจ์ฟันด์จนเกิดความล่มสลายของระบบการเงินของประเทศไทยลุกลามเป็นพิษต้มยำกุ้งไปทั่วโลก มีคนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว หรือถึงกับต้องสังเวยชีวิตให้กับความบ้าคลั่งของระบบทุนนิยมที่ไร้การควบคุมอย่างพอเพียงเช่นนี้ รุ้งอาจจะพูดว่า "เห็นไหมล่ะ นี่ไม่ใช่อย่างที่กันว่าดอกหรือ"

ระบบทุนนิยมนั้นขับดันโดย "ความโลภ" หรือถ้าจะพูดให้สวยก็ต้องว่าเป็น "ความอยากได้ใคร่ดี" ของมนุษย์ โดยกลไกนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ "ศัตรูของระบบทุนนิยม คือนักทุนนิยมที่ประสบความสำเร็จแล้ว" เพราะโดยระบบนี้ ผู้มีทุนสามารถใช้กำลังทุนในการกีดกันคู่แข่งออกไปได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว จะต้องมีกฎหมายป้องกันปัญหานี้ว่า อย่างที่เรียกกันว่า "การป้องกันการผูกขาด" อย่างที่ในอเมริกาเรียกว่า Antitrust Lawsuit ในขณะที่ประเทศ "กำลัง" พัฒนาบางประเทศ นอกจากไม่มีการควบคุมป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มแข็ง นักการเมืองยังสุมหัวกับพ่อค้าให้สัมปทานผูกขาดโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันอย่างที่กำลังเป็นข่าวให้เห็นกันทุกวันนี้ ข้อนี้แหละที่ผมเห็นว่านี่คือเรื่องเดียวกับที่รุ้งได้เจอ และถอดใจ หันหลังให้กับระบบการทำการค้าของสยามในเวลานั้นครับ

โลกในอุดมคติที่รุ้งฝันถึงนั้นห่างไกลกว่าโลกความเป็นจริงมากนัก ผมยังผิดหวังในตัวรุ้งอยู่บ้างว่าน่าจะนำเสนอแนวทางที่ใกล้ตัวมากกว่านี้ แต่เมื่อทบทวนดูอีกครั้ง รุ้งก็บอกเราอยู่โดยนัยแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และควรจะต้องแก้ด้วยวิธีใด

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเมื่อผู้มีอำนาจในเวลานั้นจะตั้งข้อหากบฏให้กับรุ้ง เพราะรุ้งเป็นกบฏจริงๆ แต่วิธีกบฏของรุ้งนั้นไม่ใช่การถือปืนเข้ายึดกุมอำนาจโดยตรง รุ้งได้กล่าวเอาไว้ว่า

"สิ่งที่เรียกว่ารัฐบาลนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบกษัตริยาธิราชหรือแบบโจราธิราช เป็นรัฐบาลรักชาติหรือรัฐบาลล้างชาติ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนหรือเพื่อตนเองก็ดีอมิใช่ว่าคณะรัฐบาลตั้งตัวเขาขึ้นเป็นรัฐบาลโดยปราศจากอิทธิพลอื่น ความคิดเหล่านี้เป็นความจริงเพียงด้านเดียว ถ้าจะกล่าวให้มีส่วนถูกมากที่สุดก็ต้องว่า รัฐบาลย่อมเกิดขึ้น และจะเป็นแบบใดนั้นก็สุดแต่อำนาจแห่งสิ่งแวดล้อม"

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น จะยั่งยืนได้เมื่อเกิดขึ้นจากคนส่วนมากในสังคม ไม่ใช่คนแค่หยิบมือเดียว และต้องเกิดขึ้นโดยปัญญา ไม่ใช่ความโง่เขลา

หกเจ็บสิบปีผ่านไป เรายังไปได้ไม่ไกลเลย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ธ.ค. 09, 16:21
อ้างถึง
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ได้ผสมผสานประสบการณ์และทัศนะของท่านลงในชีวิตของรุ้ง อยู่มาก    จนคนอ่านทั่วไปที่ไม่รู้จักม.ร.ว. นิมิตรมงคล อาจแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือท่านและส่วนไหนคือรุ้ง จะวิจารณ์พฤติกรรมของรุ้ง ก็จะกลายเป็นวิจารณ์พฤติกรรมของผู้แต่ง ไปโดยปริยาย


ผมมีโอกาสศึกษาชีวิตของคนสองคนนี้ แม้จะไม่ได้พบตัวตนเป็นๆทั้งคู่เพราะคนหนึ่งเป็นตัวละครในนิยาย แต่อีกคนหนึ่งนั้นผมเกิดช้าไปหน่อย แต่เรียกว่าได้ข้อมูลเพียบ จากคนที่รู้จักท่านดีหลายคนด้วยกัน สามารถยืนยันได้ว่าความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งสองคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน รุ้งเป็นนักอุดมคติ จะเป็นจริงได้ก็ในโลกแห่งอุดมคติเท่านั้น ส่วนคนที่สร้างรุ้งขึ้นมา เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และพยายามที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขท่ามกลางความเป็นจริงที่เป็นไปในขณะนั้น

อ้างถึง
น่าแปลกว่า บัณฑิตทางชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน  ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเอาวิชานั้นมาใช้ทำมาหากินอย่างไร
ถ้าสยามไม่มีเอกชนที่รับนักชีววิทยามาทำงานโดยตรง      วิชาอื่นๆที่รุ้งเองรู้อย่างดี เช่นภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์เบื้องต้น   หรือแม้แต่คำนวณชั้นสูง   จะช่วยให้เขาหางานทำไม่ได้เลยหรือ อย่างน้อยรับเป็น tutor คือครูสอนตามบ้าน  ก็คงจะมีรายได้ประจำ มากน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

ในความเป็นจริงที่บุคคลทั้งสองมีชีวิตร่วมสมัยกัน ไม่มีค่อยจะมีเอกชนทั้งบริษัทและบุคคลที่ไหนกล้ารับพวกกบฏที่เพิ่งจะพ้นโทษออกมาใหม่ๆให้ทำงาน นายทหารที่ปฏิเสธความเอื้อเฟื้อของรัฐมนตรีกลาโหมที่จะช่วยเหลือให้กลับเข้ารับราชการ หลายคนได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและทำการค้าขายเลี้ยงชีพ จำนวนหนึ่งในนั้นสันติบาลตามไปยัดข้อหาให้กลับมาติดคุกในคดีกบฏพระยาทรงอีก สามคนตายขณะถูกจับกุมอย่างมีเงื่อนงำ  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลนั้นหลังจากที่หนังสือตำรารัฐศาสตร์"พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ"ที่ตนเขียนถูกยึดจากโรงพิมพ์ไปเผา ก็ต้องยอมงอไม่ยอมหัก หันกลับไปสมัครงานแบบไม่มีเส้นที่กรมชลประทานประกาศรับสมัครทั่วไป กระนั้น เรื่องก็ยังถูกส่งขึ้นไปให้พันเอกพระยาฤทธิ์อาคเนย์รัฐมนตรีเกษตรขณะนั้นอนุมัติพร้อมกับของอดีตนักการเมืองอีกคนที่สมัครเข้ากรมสหกรณ์

ต่อมาพระยาฤทธิ์อาคเนย์ถูกกล่าวหาโดยตรงด้วยวาจาจากหลวงพิบูลว่าเอาใจช่วยอดีตกบฏซึ่งท่านตกใจมาก ท่านตอบว่าทำไปเพราะเห็นแก่มนุษยธรรมและเห็นว่าหลวงพิบูลก็ยังทำเป็นตัวอย่าง เรื่องเดียวกันนี้มีพยานเท็จไปปรักปรำในศาลพิเศษว่าม.ร.ว.นิมิตรมงคลไปบ้านพระยาฤทธิ์อาคเนย์เพื่อของานทำที่กรมชลประทาน ครั้นถูกซักว่าเคยเห็นหรือรู้จักกันที่ไหนเมื่อไหร่ พยานกลับลังเลแล้วบอกว่าความจริงแล้วไม่ได้เห็นแต่ได้ยินมา ม.ร.ว.นิมิตรมงคลรับว่าไปสมัครทำงานที่กรมชลประทานจริงแต่ไม่รู้จักหรือเคยพบพระยาฤทธิ์อาคเนย์เลย ความจริงก็ทำงานนี้ได้สักเดือนหนึ่งกระมังก่อนที่สันติบาลจะตามไปจับตัวมาจากอยุธยา แสดงว่าการให้งานแก่อดีตกบฏ เป็นเรื่องที่อาจคอขาดบาดตายได้

จากสิ่งแวดล้อมดังกล่าวคงทำให้รุ้งไม่มีทางเลือกมากนัก แต่หลังจากเลิกคิดเป็นพ่อค้า ได้ฝากความหวังไว้กับการเขีบนหนังสือขายแต่สันติบาลก็ยึดจากโรงพิมพ์ไปอีก รุ้งก็มิได้ทำตัวไม่ให้ถูกผู้มีอำนาจเพ่งเล็งเพราะไม่อยากติดคุกอีกด้วยการยอมไปเป็นลูกจ้างทางราชการเช่นม.ร.ว.นิมิตรมงคล แต่ได้ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าเพราะอุดมคติในเรื่องของความรักเป็นเหตุ เผอิญสันติบาลมาตัดบทเสียอีก


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 16:35
เงื่อนไขและข้อจำกัดของกบฏการเมืองที่คุณ N.C. อธิบายมา  ไม่ได้อยู่ในหนังสือ "ความฝันของนักอุดมคติ"  เพราะฉะนั้นผู้วิจารณ์ก็ไม่อาจทราบข้อนี้ได้ว่า รุ้งถูกจำกัดเส้นทางถึงขนาดนั้น
เอาเป็นว่า ถอนคำวิจารณ์ ค่ะ

ก็นับว่านายห้างชาวอินเดีย   กล้าหาญมาก หรือไม่ก็ดวงดีมาก  ที่รับรุ้งทำงานอยู่ตั้ง ๖ เดือน   โดยไม่มีสันติบาลคนไหนไปรบกวนแกเลย
หรือว่าสันติบาลแอบไปสอบสวนแล้ว   นายห้างตอบว่าทำงานฟรีๆไม่ได้เงินเดือน    สันติบาลก็เลยไม่ว่าอะไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ธ.ค. 09, 19:13
ในหนังสือ จดหมายสมัครงานของรุ้งได้รับการตอบสนองจากนายห้างอเมริกัน ซึ่งเสนอเงินเดือนน่าสนใจมากสำหรับผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ แต่นักอุดมคติอย่างรุ้งก็ขอแลกกับผ่องเพื่อนรักที่บางขวาง อดีตนายทหารที่จบจากเวสต์พ้อยต์แต่ได้จดหมายตอบรับจากนายห้างชาวอินเดีย เพราะห้างนี้ขายเครื่องเขียนที่รุ้งสนใจอยากจะทำการค้าเรื่องดังกล่าว

คนต่างชาติคงจะไม่ใช่เป้าหมายของสันติบาลเรื่องการเมืองในประเทศ การจ้างอดีตนักโทษการเมืองอันที่จริงก็ไม่ผิดกฏหมายไทยในขณะนั้น ซึ่งห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกรับราชการ หรือดำเนินอาชีพครู อย่างอื่นไม่ว่าคนต่างชาติจึงไม่คิดจะกลัว หรืออาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ว่าก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม คนอย่างรุ้งก็ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมมนุษย์นานไปหน่อยตั้ง6เดือนกว่าจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ อันนี้ต่างหากที่ทำให้รุ้งเป็นคนประหลาดในสายตาของตัวละครอื่นๆ(รวมทั้งผู้อ่านด้วย) แต่นั่นผู้เขียนกำลังบอกว่านั่นหละ คนอย่างรุ้งละ

ซึ่งจะสมบทกับตอนตัดรักหักสวาทกับอุไรวรรณในตอนท้ายให้พิศวงกันอีก


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 20:15
6 เดือนอาจจะนานไปหน่อยสำหรับการทำงานฟรีๆ  ความจริงสัก 3 เดือนก็เหลือทนแล้ว
แต่เรื่องที่ไม่เห็นด้วย คือ รุ้งใช้ประสบการณ์กับนายจ้างคนเดียว มาตัดสินการค้าขายทั้งสยาม ว่าไม่สุจริต
รุ้งน่าจะนึกถึงบริษัทฝรั่งที่ผ่องทำงานอยู่บ้าง  ว่าพนักงานก็ได้เงินเดือนควรแก่อัตภาพ

ส่วนความรักครั้งที่สองของรุ้งกับอุไรวรรณ     ดิฉันว่าสองคนแปลกพอกัน
เมื่อมีผู้พิมพ์หนังสือตกลงจะพิมพ์หนังสือของเขา ด้วยราคางาม พอที่รุ้งจะเปลี่ยนฐานะเป็นคนมีอันจะกินในพริบตา    เขาก็ไปขอแต่งงานกับอุไรวรรณ เพราะถือว่าเขามีรายได้พอจะเลี้ยงภรรยาได้
แต่อุไรวรรณปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ควรใช้คำว่า "พิลึก" น่าจะตรง มากกว่าคำว่า "แปลก"

"เป็นความตั้งใจของดิฉันมานานแล้วที่จะแต่งงานกับคนจนที่เฉลียวฉลาด   และมีอัธยาศัยดีอย่างคุณ   มันจะเป็นวิสามัญที่ทำให้ใครๆพูดถึงไม่มีวันจบ    เดี๋ยวนี้คุณไม่ใช่คนจนเสียแล้ว   ลักษณะที่จะให้ความรักของเราเป็นวิสามัญก็หมดไป    ดิฉันเสียใจที่เป็นเช่นนี้ "

"การแต่งงานคือการทำสัญญาแลกเปลี่ยนประโยชน์     ดิฉันจะไม่ทำสัญญากับคนที่ให้อะไรดิฉันไม่ได้เลย    ดิฉันเป็นคนมั่งมีคนหนึ่ง  ดิฉันไม่ต้องการเงินอีก   แต่โดยที่ดิฉันเป็นผู้หญิง  ย่อมมีโอกาสน้อยที่จะแสวงหาชื่อเสียงเกียรติคุณ    ดิฉันจะแต่งงานกับคนที่สามารถทำให้ดิฉันมีชื่อเสียงเกียรติคุณ"

" ดิฉันกำลังคอยให้คุณเป็นมหาบุรุษ   แล้วมาขอแต่งงานกับดิฉันอีกครั้ง""

ถ้าดิฉันเป็นรุ้ง นอกจากไม่อ้อนวอนอุไรวรรณให้เปลี่ยนใจแล้ว    จะรีบกล่าวคำลาเธอ เสียก่อนเธอจะเปลี่ยนใจกลับมาตกลงแต่งงานด้วย
เธอคงอยากแต่งงานกับ Don Quixote มากกว่ารุ้ง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ธ.ค. 09, 21:23
ขออนุญาตอาจารย์ให้ผมกลับไปคุยกับคุณม้าหน่อยครับ

อ้างถึง
โลกในอุดมคติที่รุ้งฝันถึงนั้นห่างไกลกว่าโลกความเป็นจริงมากนัก ผมยังผิดหวังในตัวรุ้งอยู่บ้างว่าน่าจะนำเสนอแนวทางที่ใกล้ตัวมากกว่านี้ แต่เมื่อทบทวนดูอีกครั้ง รุ้งก็บอกเราอยู่โดยนัยแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และควรจะต้องแก้ด้วยวิธีใด

รุ้งเป็นนักชีววิทยา พื้นฐานความรู้ของเขาก็น่าจะจำกัดอยู่ตรงนั้น ความที่เป็นนักเรียนนอกที่เอาไหน จึงได้มีโอกาสได้อ่านตำหรับตำราภาษาอังกฤษมากอยู่ แม้ประสพการณ์ในชีวิตจริงของโลกภายนอกเมื่อมองออกไปจากคุก เขาจะเห็นปัญหามากมาย เรียบเรียงไว้ได้หลายบทและเป็นเนื้อหาที่เข้มข้นตอนหนึ่งของความฝันของนักอุดมคติ เริ่มต้นด้วย “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องแก้ที่นิสัยนักการเมือง…..ฯลฯ” ปัญหาเหล่านั้นบางปัญหา รัฐต่างๆในโลกก็พยายามหาทางแก้ใขอยู่แล้ว เช่นในเริ่องของกำแพงภาษีที่รุ้งบอกว่า “รัฐบาลชอบกั้นกำแพงภาษีเพราะรัฐบาลเป็นผู้เก็บภาษี ราคาข้าวที่ขายแพงมิได้เป็นกำไรมาเข้ากระเป๋าชาวนา แต่ชาวนาต้องถูกเก็บภาษีทุกคราวที่ซื้อสินค้าต่างประเทศมาใช้” ปัญหาที่รุ้งยกขึ้นมามิใช่ลำพังชาติหนึ่งจะแก้ไขได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประชาชาติยุโรป และอาเซียน จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อแก้กำแพงภาษีที่รุ้งโวยไว้ตั้งแต่พ.ศ.โน้น

ดังนั้นบุคคลๆหนึ่งเช่นรุ้งคงไม่มีความสามารถพอที่จะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาขั้นรายละเอียด เพราะแต่ละบริบทมันยากและปัญหาก็พันกันไปหมด นอกจากความคิดรวบยอด(Concept)ของรัฐในอุดมคติหรืออุตมรัฐที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากความรู้ด้านชีววิทยาเรื่ององคาพยพของมนุษย์ที่สว่างไสวในความคิดของเขาขณะอยู่ในท่ามกลางวิเวกของคุกบางขวาง  เป็นภาพ “นามธรรม(Abstract)”ที่รุ้งเขียนด้วยตัวอักษร ไม่ใช่ด้วยภู่กันผสมสี อาจเข้าใจยากหน่อย แต่ก็น่าสนใจที่จะรับฟังและคิดตาม ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี รุ้งก็มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย ก่อนที่จะไปถึงการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงทั้งหลายแหล่ได้ รุ้งสรุปว่า ทุกชาติควรตกลงกันในนโยบายศึกษาในทางที่เห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้เป็นพวกเดียวกัน ศัตรูของเราคืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เรารวมกันได้……..นโยบายการศึกษาทำนองนี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการให้มีภาษากลางขึ้นสำหรับใช้ทั่วโลก

ในสมัยของรุ้ง อย่างน้อยก็มี3-4 ภาษาที่แข่งขันกันเป็นภาษากลางของโลก ผมโตทันที่หนังสือเดินทางของไทยยังต้องเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่สะกดชื่อด้วยภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้ทั่วโลกยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางแล้ว(ด้วยอิทธิพลของฮอลิวู๊ด) แต่ระบบการศึกษาของไทยก็ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านเท่าไรนัก นักการเมืองการศึกษาของเรามักจะชี้แจงว่าเพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ไม่ยักอายที่คนไทย(ที่ไม่ใช่นักเรียนนอก)พูดสู้เขาบนเวทีนานาชาติไม่ได้เลย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 21:45
เมื่อล่วงศตวรรษที่ 21 ไปสักครึ่ง   ภาษากลางของโลกอาจจะเป็นภาษาจีนก็ได้ค่ะ

อย่างไรก็ดี รุ้งก็มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย ก่อนที่จะไปถึงการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงทั้งหลายแหล่ได้ รุ้งสรุปว่า ทุกชาติควรตกลงกันในนโยบายศึกษาในทางที่เห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้เป็นพวกเดียวกัน ศัตรูของเราคืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เรารวมกันได้……..นโยบายการศึกษาทำนองนี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการให้มีภาษากลางขึ้นสำหรับใช้ทั่วโลก  

หนังฮอลลีวู้ด เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่เจาะทะลุกำแพงภาษาได้ผล ในศตวรรษที่ 20  ทำให้หนุ่มสาวทั่วโลกเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าแบบงูๆปลาๆ  เพื่อจะได้เข้าใจวัฒนธรรมอเมริกันได้
วัฒนธรรมอเมริกันจึงกลายเป็นวัฒนธรรมโลก

ส่วนศตวรรษที่ 21 สื่อกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต  เข้าถึงคนได้มากกว่าหนังโรงและทีวี   เรียนรู้ที่จะสื่อกันเป็นคำๆ โดยไม่ต้องผูกประโยค
แต่ปัญหาต่างๆก็ยังไม่เห็นว่าจะมีทางแก้ได้   มีแต่ว่า ประเทศที่ใหญ่กว่า จะดูดกลืนวัฒนธรรมของประเทศที่เล็กกว่า  จนเป็นระบบอาณานิคมใหม่ในโลกไร้พรมแดน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 22:03
ค่อยๆรวบรวมว่า มีอะไรบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับรุ้ง
เจอเข้าเรื่องหนึ่ง

รุ้งไม่ปรารถนาที่จะรับราชการอีก    เขาได้ลาออกเมื่อก่อนกบฏ เพราะไม่เลื่อมใสในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล    และไม่มีทางใดที่ความเห็นของเขาจะได้รับการเอาใจใส่     เขาไม่สามารถทำงานในวิธีที่เขาไม่เลื่อมใส     และจะเป็นการน่าละอาย    ถ้าเขายอมเลิกล้มความเห็นเดิมเสีย   โดยเห็นได้ง่ายๆว่าต้องการเงิน

พ่อคู้ณ   ไม่นึกบ้างหรือว่าเงินที่ส่งคุณไปเรียนเมืองนอกน่ะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวของคุณ   นึกบ้างหรือเปล่าว่าเป็นหนี้ประเทศชาติอยู่
และ 
ทำไมคุณถึงเอาความคิดของตัวเอง เป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของสยาม ยังงั้นด้วยล่ะ     ไม่คิดบ้างหรือว่า วิธีที่คุณเลื่อมใส อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้  ในเมื่อเป็นความคิดของคุณคนเดียว
วิธีคิดของรุ้ง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าการมองโลกของรุ้ง ในหลายๆเรื่องเหมือนฟิล์มเนกาตีฟ    มี ๒ สีให้เลือกเท่านั้นคือถ้ามันไม่ขาว ก็ต้องเป็นดำ
 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ธ.ค. 09, 22:43
กลับมาแล้วครับอาจารย์

อ้างถึง
แต่อุไรวรรณปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ควรใช้คำว่า "พิลึก" น่าจะตรง มากกว่าคำว่า "แปลก"

ผมจำไม่ได้ว่าผมอ่านความฝันของนักอุดมคติกี่ครั้ง แต่ผมอ่านมาถึงตอนนี้ทีไร ผมจะรู้สึกผิดหวังในตัวอุไรวรรณอย่างแรง ยิ่งตอนสมัยอยู่ในวัยที่บูชาความรักเป็นเรื่องจริงจังรุนแรง ผมก็แย่พอๆกับรุ้ง "รุ้งเสียใจในความผิดหวัง แต่เขาเศร้าใจยิ่งกว่านั้นที่ได้เห็นอุไรวรรณผู้เป็นเทวรูปบนแท่นบูชาแห่งหัวใจของเขาต้องตกลงมาจากแท่น"

แต่ไม่ทราบนะ ผมว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของทั้งชายและหญิงประเภทศิลปินที่จะมีความคิดความเห็น บางทีก็ยากที่จะเข้าใจเช่นนี้ได้ เมื่ออารมณ์วูบขึ้นมาก็ปล่อยคำคิดคำพูดแบบกลอนพาไป คล้ายๆจะเพื่อความสะใจอะไรสักอย่างไม่ได้เตรียมคำพูดไว้ก่อนหรอก ครั้นพอมีสติทบทวนตนเองขึ้นมาได้ก็เสียใจ ต้องตามไปแก้  บางทีอีกฝ่ายหนึ่งก็เลือดศิลปินขึ้นหน้ามาบ้าง โกรธกันไปเลยก็มี

นี่ไงครับ

"แคนเตอร์ที่รัก" อุไรวรรณเขียนจดหมายมาถึงรุ้งในวันรุ่งขึ้น
"ดิฉันเสียใจที่พูดผิดพลาดไปหลายประการ เมื่อคิดทบทวนแล้วจึงเห็นว่าเหตุผลของคุณล้วนถูกต้อง มาหาดิฉันนะคะ    
ของคุณ"

คำตอบของนักอุดมคติเช่นรุ้ง แทนที่จะดึงเกมไว้สักหน่อย ให้เวลาความคิดมันตกตะกอนสักนิดก็ไม่ได้ รีบตอบจดหมายปฏิเสธอย่างหวานนอกแข็งใน ตัดสวาทขาดรอนกันไปเลย

แต่ดูสำนวนจดหมายของทั้งสองคนแล้ว โอกาสที่จะมี Return Match เป็นไปได้สูง

แต่อย่างที่ผมว่าไว้แหละครับ  
เผอิญสันติบาลมาตัดบทเสียก่อน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ธ.ค. 09, 22:49
กลับมาอีกที อาจารย์ก็ไปเสียไกลแล้ว


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ธ.ค. 09, 22:58
น่าสังเกตว่าผู้เขียนได้บอกใบ้ให้ผู้อ่านได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว  ;D

คำว่า "นักอุดมคติ" ก็เรียกได้ว่าสุดขั้วอยู่แล้ว นี่ยังเป็น "ความฝัน" เสียอีก

บางที "ความฝันของนักอุดมคติ" อาจจะไม่ได้เป็นของรุ้งคนเดียว

อาจจะเป็นของอุไรวรรณอีกคนหนึ่งด้วย  ;D


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 07:47
เออ...ครับ   ผมไม่เคยคิดมาก่อนแม้น้อยเลยว่าประเด็นที่รุ้งลาออกจากราชการครั้งนั้นจะเป็นความบกพร่องที่อาจทำให้เขาหลุดจากสถานะของการเป็นนักอุดมคติ

ประการแรก รุ้งเป็นนักเรียนทุนคิงส์ เงื่อนไขของการรับทุนก็เพียงแต่ต้องกลับมาทำงานในประเทศ อย่างน้อยจำนวนปีที่ทำต้องเท่ากับจำนวนปีที่ใช้ทุนไป แต่ไม่จำเป็นว่าต้องรับราชการ

คือท่านเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด เราก็สามารถใช้ความรู้ทำงานหนัก  เพื่อตนเอง เพื่อสังคม และเพื่อประเทศชาติได้ ผมเองแน่วแน่แก่ใจตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยว่าผมจะไม่รับราชการอย่างเด็ดขาด ทุกวันนี้ก็ยังมั่นใจว่าคิดไม่ผิด ผมก็ทำตามประโยคข้างบนนั้นแหละ ผลงานอาจจะเท่าๆกับเพื่อนที่เป็นข้าราชการบางคน แต่เขามีเหรียญตราติดหน้าอก บางคนมีสายสะพายแถม ซึ่งผมไม่มีแต่ผมมีอิสระมากกว่าพวกเขา ไม่ต้องทนทำงานในวิธีที่ผมไม่เลื่อมใส ดังเช่นเพื่อนข้าราชการหลายคนที่ไม่โชคดีเท่ากลุ่มแรกเพราะเจอเจ้านายที่ไปด้วยกันไม่ได้เลยทั้งความคิดและความประพฤติ พวกนี้เลยเอาดีไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องอกหักออกมาหางานใหม่ ที่แย่ที่สุดก็คือพวกข้าราชการทั้งหลายจะไม่มีทางทราบเลยว่าเขาจะไปเจอเจ้านายประเภทที่ว่าตอนไหน ถ้าเจอตอนซีต่ำๆก็พอออกไปตั้งตัวใหม่ทัน บางคนเจอตอนเป็นอธิบดีก็ยังมีให้เห็นออกบ่อยไป พวกนี้ดวงไม่ดีจริง

ผมจึงไม่เห็นแปลกที่รุ้งจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล ที่คณะราษฏร์เข้ามารื้อระบบเดิมในช่วงนั้น จนทนไม่ได้ต้องลาออกไปทั้งๆที่ก่อนหน้าเขาเป็นดาราดวงเด่นของกระทรวงธรรมการ และทางราชการก็ให้เขาลาออกไปโดยดีไม่มีเบี้ยปรับอะไร ความตั้งใจของรุ้งคือจะกลับไปทำนาและใช้เวลาว่างทดลองวิทยาศาสตร์

ตรงนี้คนอ่านบางคนจะเห็นว่าเพ้อฝันอีก เพราะผู้เขียนใช้คำว่าทำนาอันทำให้มองเห็นภาพคนที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่อย่าลืมนะครับ รุ้งจบวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยามา ถ้าใช้คำสมัยนี้ว่า รุ้งจะไปเป็นเกษตรกรที่นำเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมที่ตนศึกษามาไปปรับปรุงการปลูกข้าวในนาของเขาเองให้ได้ผลผลิตปีละสองครั้งก่อน โดยมีความหวังว่าจะปลูกได้ถึงสามครั้ง หากผลการทดสอบเป็นผลสำเร็จ รุ้งจะเปิดสาธิตให้เพื่อนชาวนาลพบุรีผู้สนใจทำตามต่อไป เขาหวังว่าสักวันหนึ่งชาวนาในเมืองไทยคงจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง ถ้าขยายความดังนี้แล้วผู้อ่านคงจะเข้าใจรุ้งขึ้นบ้างกระมัง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 08:59
อ้างถึง
ผมว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของทั้งชายและหญิงประเภทศิลปินที่จะมีความคิดความเห็น บางทีก็ยากที่จะเข้าใจเช่นนี้ได้ เมื่ออารมณ์วูบขึ้นมาก็ปล่อยคำคิดคำพูดแบบกลอนพาไป คล้ายๆจะเพื่อความสะใจอะไรสักอย่างไม่ได้เตรียมคำพูดไว้ก่อนหรอก ครั้นพอมีสติทบทวนตนเองขึ้นมาได้ก็เสียใจ ต้องตามไปแก้  บางทีอีกฝ่ายหนึ่งก็เลือดศิลปินขึ้นหน้ามาบ้าง โกรธกันไปเลยก็มี

รุ้งกับอุไรวรรณก็พอกัน ในด้านเป็นนักฝันและนักอุดมคติ       ถ้าหากว่ามีภาค ๒ รุ้งรอดจากสันติบาลกลับมาบ้านได้     ก็คงจะได้สานความฝันต่อด้วยกัน
แต่ก็จะไม่แปลกใจ  ถ้าหนุ่มสาวคู่นี้จะไปกันไม่รอด     รุ้งยังมีตรรกะรองรับการกระทำของเขา  แต่อุไรวรรณนั้นไม่มีเลย    เธอขึ้นลงวูบไหวเหมือนยอดคลื่นในทะเล   ไร้ทิศทางเสียด้วย

ฉากรุ้งขอแต่งงานแล้วอุไรวรรณปฏิเสธด้วยอุดมคติเลื่อนลอย  ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งของชีวิต โนรี ในเรื่อง "หลายชีวิต"ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ชีวิตโนรี มีบางตอนอิงมาจากชีวิตของ "ยาขอบ"
ฉากนี้โนรีเอาเรื่องที่เขาแต่งเป็นเรื่องแรกไปให้คุณเล็ก ดอกฟ้าธิดาเจ้าของบ้านที่เขาอาศัยอยู่ ได้อ่าน  เพราะเธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือเหมือนเขา
คุณเล็กอ่านแล้ว ซาบซึ้งกับเรื่องของเขามาก   เธอก็พูดถ้อยคำจับใจ  ว่าเธออยากแต่งงานกับนักประพันธ์ ผู้มีสำนวนโวหารไพเราะ สามารถกล่อมคนได้ทั้งเมือง       โนรีฟังแล้ว ก็ได้ "แรงใจและไฟฝัน" จากวาจานั้นขึ้นมาอีกมาก
แต่สิ่งที่โนรีไม่รู้  แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รู้ และอธิบายให้คนอ่านฟัง คือคุณเล็กพูดไปยังงั้นเอง  พูดเพราะอยากได้ยินคำพูดลึกซึ้งจับใจออกจากปากตัวเอง   แต่พูดแล้วก็ลืมทันที ไม่ได้หวนกลับไปคิดอีก
เพราะอีกไม่นานต่อมาคุณเล็กก็แต่งงานไปกับหนุ่มลูกผู้ดี คู่ควรกับเธอ   ซึ่งไม่ได้มีคุณสมบัตินักประพันธ์ตรงไหนเลย
โนรีก็อกหักไปตามระเบียบ

ถ้าเป็นน้าสะอาด จะบอกรุ้งว่า อย่าไปคืนดีกับอุไรวรรณเลย   ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ช่วยเสริมความฝันให้รุ้ง  แต่ถ้าเสริมยอดขายแอสไพรินละก็ไม่แน่


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 09:50
โชคดีของผู้อ่านอย่างผมที่ไม่มีภาค2

อ้างถึง
วิธีคิดของรุ้ง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าการมองโลกของรุ้ง ในหลายๆเรื่องเหมือนฟิล์มเนกาตีฟ    มี ๒ สีให้เลือกเท่านั้นคือถ้ามันไม่ขาว ก็ต้องเป็นดำ

ด้วยความเคารพ การเสนอความคิดเห็นหนักๆในนวนิยายเช่นนี้ ผู้เขียนจึงต้องสร้างรุ้งให้เป็นคนแบบนั้น อันที่จริงภาพNegativeมันไม่ได้มีเฉพาะขาวกับคำ มันมีเทาอ่อนเทาแก่ด้วย แต่รุ้งก็จัดว่าเป็นขาว-ดำประเภทHigh Contrast เสียอีก บางความคิดเห็นอาจจะมองว่าไม่มีสีเทาเอาเสียเลย

แต่คนประเภทนี้เราจะพบบ่อยๆในหมู่นักวิชาการไม่ใช่หรือครับ พวกนี้แล้วจะ No Compromise ความเห็นทางวิชาการที่ดังได้มักจะเป็นความเห็นที่สุดโต่ง ขัดแย้งหรือสวนกระแส ไม่แคร์ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การโต้เถียงทางด้านวิชาการบนเวทีจึงประนีประนอมไม่ได้เหมือนกัน ใครเห็นขาวก็ต้องพิสูจน์ว่ามันขาว ดำก็ต้องพิสูจน์ว่าดำ

อย่างไรก็ตามความเห็นของรุ้งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับผู้อ่าน หนังสือความฝันของนักอุดมคติเป็นหนังสือที่ย่อความมาให้ได้เนื้อหาเชิงคุณภาพยากที่สุด เพราะแทบทุกหน้าจะอัดไว้ด้วยสาระ ความบันเทิงที่แทรกไว้เป็นเนื้อเรื่องเท่านั้นที่ย่อความได้ แต่ก็งั้นๆเมื่อเทียบกับประเด็นที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอแต่ถูกการย่อความตัดออกไปหมด เพื่อไปให้เป็นลอกความ

ดังนั้นถ้าอ่านในอีกอารมณ์หนึ่งอาจเห็นว่า ข้อบกพร่องของรุ้งแม้จะมีอยู่บ้างตามปกติเช่นบุคคลทั่วไป แต่สิ่งที่รุ้งได้แสดงออก ก็น่าจะได้รับความเห็นใจ เขามุ่งมั่นปฏิบัติความคิดที่ไตร่ตรองแล้วของตนโดยสุจริตใจ และมิได้เป็นภัยต่อสังคมหรือต่อผู้ใด เพื่อความสำเร็จที่ไม่ได้ถือตัวเงินเป็นเครื่องวัด เขาจึงมิใช่นักวิชาการธรรมดา และมิใช่นักฝัน

นักคิดที่ปฏิบัติเช่นรุ้งเรียกว่านักอุดมคติ  และเป็นผู้ที่อุไรวรรณกล่าวในประโยคแตกหักว่า “…..โลกของคุณเป็นโลกแห่งความฝัน ตัวคุณเป็นนักอุดมคติ คำสาธยายของคุณ ก็คือความฝันของนักอุดมคติคนหนึ่งเท่านั้น ……..”




กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 10:03
แต่คนประเภทนี้เราจะพบบ่อยๆในหมู่นักวิชาการไม่ใช่หรือครับ พวกนี้แล้วจะ No Compromise ความเห็นทางวิชาการที่ดังได้มักจะเป็นความเห็นที่สุดโต่ง ขัดแย้งหรือสวนกระแส ไม่แคร์ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การโต้เถียงทางด้านวิชาการบนเวทีจึงประนีประนอมไม่ได้เหมือนกัน ใครเห็นขาวก็ต้องพิสูจน์ว่ามันขาว ดำก็ต้องพิสูจน์ว่าดำ  

ไม่จริงทุกเวที และไม่จริงทุกสาขาหรอกค่ะ
อย่างน้อยในสาขาอักษรศาสตร์ที่ดิฉันอยู่มา ก็ไม่ได้นับพวกนี้ว่าดัง      นักวิชาการอักษรศาสตร์เปิดกว้างต่อความขัดแย้ง ไม่ฟันธงอะไรลงไปชนิดไม่แคร์ใคร  แต่จะเสนอความคิดให้แย้งได้  แลกเปลี่ยนกันได้   เปิดรับความคิดใหม่ได้
ตรงกันข้าม พวกที่สุดโต่งเช่นนี้มักเป็นดาวตก วูบเดียวหาย   

รุ้งเป็นนักอุดมคติ ในตัวของเขา    แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในสายตาคนอื่น  เขาจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนักอุดมคติ
อย่างหนึ่ง เมื่อติดตามความคิดของรุ้งไป   ดิฉันถามตัวเองว่ารุ้งสนใจพุทธศาสนาหรือเปล่า    บางทีทฤษฎีที่เขาอ่านของฝรั่งแล้วเอามาใคร่ครวญตามแบบของเขา  อาจตอบได้ด้วยพุทธธรรม ให้เขาหาคำตอบได้
ในเรื่องนี้ อ่านแล้ว อดคิดไม่ได้ว่ารุ้งยังหาคำตอบไม่ได้แม้แต่กับตัวเอง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 10:14
ต่อความเห็น 36 ของคุณ N.C.

สังคมไทยสมัยของรุ้งคือสังคมยุค 2475-82   ชาวนายังมีข้าวในนา ปลาในน้ำ  เกษตรกรรมยังไม่ต้องการแผนใหม่  เพราะที่เป็นอยู่ก็อุดมสมบูรณ์แล้ว
รุ้งเองก็ไม่คิดจะกลับไปทำไร่ทำนา  เขาบอกเองว่าไร่นาพ่อแม่ก็ขายไปแล้ว     เขาอยากไปค้าขายมากกว่า
สภาพสังคมของรุ้งคนละยุคกับสังคมของคุณ N.C. นะคะ  พื้นฐานความรู้ของรุ้ง เหมาะจะอยู่ในเมืองหลวงมากกว่าชนบท


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 11:24
อ้างถึง
ไม่จริงทุกเวที และไม่จริงทุกสาขาหรอกค่ะ
อย่างน้อยในสาขาอักษรศาสตร์ที่ดิฉันอยู่มา ก็ไม่ได้นับพวกนี้ว่าดัง      นักวิชาการอักษรศาสตร์เปิดกว้างต่อความขัดแย้ง ไม่ฟันธงอะไรลงไปชนิดไม่แคร์ใคร  แต่จะเสนอความคิดให้แย้งได้  แลกเปลี่ยนกันได้   เปิดรับความคิดใหม่ได้
ตรงกันข้าม พวกที่สุดโต่งเช่นนี้มักเป็นดาวตก วูบเดียวหาย   



นักวิชาการ ไม่ว่าสาขาใด ย่อมใจกว้างต่อความขัดแย้ง(ทางวิชาการ)เสมอ การมีข้อขัดแย้งถือ้เป็นความงอกงามทางวิชาการ คนที่ได้ประโยชน์คือคนฟัง ผมยอมรับว่าไม่ใช่คนในแวดวงอักษรศาสตร์ และยอมรับว่านักวิชาการทางด้านอักษรศาสตร์มีข้อขัดแย้งน้อยมาก แต่จำได้ครั้งหนึ่งมีการเสนอขึ้นมาว่า การใช้คำศัพท์เรียกพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคนั้นผิด เพราะแปลแล้วความหมายซ้ำซ้อน เพราะคำว่าทางและมารคคือสิ่งเดียวกัน ผู้เสนอๆให้ใช้คำว่า เสด็จพระราชดำเนินชลมารค

ข้อเสนอดังกล่าวมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างมากมาย ผมก็ติดตามเฉพาะในสยามรัฐนะครับ คนที่บอกว่าดีแล้วก็อ้างเหตุผลถึงความสละสลวยของภาษา ทางวรรณคดีนั้น ประโยคๆหนึ่งอาจจะใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อนได้เสมอ หากทำให้ไพเราะห์ขึ้น ผมก็ลุ้นอยู่ว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตน่าจะหาทางออกที่เป็นกลางได้ ดังเช่นเอากาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งที่ว่า “พระเสด็จโดยแดนชล” มาใช้ คำว่าพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารค ฟังดูดีกว่าพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินชลมารคเป็นไหนๆ แต่เรื่องนี้ผู้เสนอชนะ

เอาอีกคำหนึ่งครับ สี่แยกที่นนทบุรี สะกดว่าแครายหรือแคลายครับ ราชบัณฑิตว่าเป็นชื่อต้นไม้ชื่อแคลาย ชาวบ้านว่าต้นเป็นยังไงหนอเกิดมาไม่เคยเห็น เห็นแต่ตอนที่ย่านนั้นเป็นถนนเล็กๆ ปลูกต้นแคเรียงรายไปตลอดทาง เรื่องนี้นักอักษรศาสตร์เสนอขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่มีใครยอมหักใคร ทุกวันนี้ก็ตามใจ ใครอยากเขียนอย่างไรก็เขียนไป

ส่วนพวกที่สุดโต่ง ดังอยู่วูบเดียวหายส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ไม่หายก็แจ้งเกิดไปเลย คนที่เสนอว่าหลักศิลาจารึกหลักที่1 มิได้ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงแต่ทำในสมัยรัชกาลที่4 โดยอ้างหลักฐานหลายอย่างแม้ส่วนใหญ่จะเป็นด้านโบราณคดีแต่ก็ซ้อนทับกับอักษรศาสตร์ด้วย เป็นตัวอย่าง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 11:27

อ้างถึง
สังคมไทยสมัยของรุ้งคือสังคมยุค 2475-82   ชาวนายังมีข้าวในนา ปลาในน้ำ  เกษตรกรรมยังไม่ต้องการแผนใหม่  เพราะที่เป็นอยู่ก็อุดมสมบูรณ์แล้ว

จริงหรือครับ ที่ว่ายุคนั้นชาวนาไม่ต้องการอะไร เพราะสมบูรณ์แล้ว ผมเกิดหลังยุคนั้นมาก แต่ยังพอได้เห็นกระต็อบ ฝาโหว่ หลังคามุงจากของชาวนา เด็กๆไม่ค่อยมีผ้าผ่อนจะนุ่ง โรงเรียนไม่มีให้ไป แต่คงจับปูจับปลาเก่งอยู่ละ

ที่ชาวนาไทยดีขึ้นในทุกวันนี้มิได้เป็นความสำเร็จ(ส่วนหนึ่ง)ของกรมวิชาการเกษตรหรือครับ เรามีพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค หรือมีคุณภาพสูงเช่นเช่นข้าวหอมมะลิอันเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และเราแข่งขันในตลาดข้าวกับคู่แข่งอย่างพม่าและเวียตนามได้

อ้างถึง
รุ้งเองก็ไม่คิดจะกลับไปทำไร่ทำนา  เขาบอกเองว่าไร่นาพ่อแม่ก็ขายไปแล้ว     เขาอยากไปค้าขายมากกว่า


ในตอนแรกๆของเรื่อง ที่รุ้งลาออกจากกระทรวงธรรมการใหม่ๆ เขาตั้งใจจะไปทำนาตามที่ผมท้าวความไปถึงครับ แต่เพราะนิสัยเป็นอย่างนั้นแหละ จึงไถลไปปราศัยที่โคราช เลยต้องติดคุก

เมื่อออกจากคุกแล้วก็เป็นอย่างที่อาจารย์ว่า เลยหันเหความคิดไปอยากค้าขาย

อ้างถึง
สภาพสังคมของรุ้งคนละยุคกับสังคมของคุณ N.C. นะคะ  พื้นฐานความรู้ของรุ้ง เหมาะจะอยู่ในเมืองหลวงมากกว่าชนบท

ผมเห็นด้วยครับ น่าเสียดายจริงๆ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 12:29
อ้างถึง
จริงหรือครับ ที่ว่ายุคนั้นชาวนาไม่ต้องการอะไร เพราะสมบูรณ์แล้ว ผมเกิดหลังยุคนั้นมาก แต่ยังพอได้เห็นกระต็อบ ฝาโหว่ หลังคามุงจากของชาวนา เด็กๆไม่ค่อยมีผ้าผ่อนจะนุ่ง โรงเรียนไม่มีให้ไป แต่คงจับปูจับปลาเก่งอยู่ละ

ตรงนี้ละโดนใจพอดี   
คนยุคเรา ถูกล้างสมองตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับต่างๆ  ตั้งแต่ฉบับที่ 1  ปี 2500 ให้เชื่อว่าการอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ  คือยากจน และด้อยพัฒนา   ตามความคิดของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องอยู่อย่างสิ้นเปลืองทรัพยากรโลก
เขาไม่รู้ว่า คนไทยยุคกระต๊อบ อยู่กันอย่างเศรษฐกิจพอเพียง   ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมเท่าตึกติดแอร์มานานแล้ว
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คือการอยู่กินแบบไทย  เงินไม่มีติดบ้าน   เขาก็มีกุ้งหอยปูปลาให้จับกิน  มากกว่าเราทุกวันนี้เสียอีก
ชาวบ้านแถวบางปะอินยังงมกุ้งก้ามกรามเกาะที่เสาเรือน กินได้ฟรีนะคะ   เดี๋ยวนี้เศรษฐียังหากุ้งก้ามกรามกินได้ยากเลย
เด็กๆที่วิ่งแก้ผ้าสมัยก่อน เขาก็เรียนรู้วิชาทำมาหากินตามแบบของเขา   เมื่อโตเป็นวัยรุ่น เขาก็ทำงานได้แล้ว    สมัยนี้จบปริญญาตรียังหาเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยจะได้เลยค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 13:35
อาจารย์ครับ

ผมก็มีความรู้สึกนึกคิดในเรื่องนี้เหมือนอาจารย์นั่นแหละครับ ในข้อความของผมที่ล้อมกรอบนั่น ผมก็นึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยขั้นมูลฐานที่มนุษย์อย่างชาวนาจะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพในขณะที่คนอาชีพอื่นๆเขาบริโภคทรัพยากรส่วนรวมกันแบบไปยั้งเขาไม่อยู่ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดโลกไว้
ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ คนอื่นเขาจัดการให้ประเทศชาติของเราอยู่ในระบบระบอบนี้  เราก็ต้องดำรงชีวิตของเราต่อไปโดยทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เรื่องอดีตคือเรื่องที่ผ่านไปแล้วเอากลับมาแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงป่วยการที่จะไปวิตกวิจารณ์เกินกว่าเหตุ
 
และผมว่ามันคนละเรื่องกันที่เศรษฐกิจพอเพียงจะปฏิเสธเทคโนโลยี่ เพราะเทคโนโลยี่เองมันมีหลายระดับให้เลือกใช้ กุ้งก้ามกรามที่อาจารย์ว่า สมัยเรายังเด็กๆมีชุกชุม แล้วช่วงที่จบมหาวิทยาลัยมาแล้วอยู่ๆมันหายไปหมดทำท่าจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะโรงงานอุตสาหกรรมและน้ำทิ้งจากครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างไร้แผนทำให้น้ำในแม่น้ำเป็นพิษแถวปากอ่าว กุ้งซึ่งวางไข่ในน้ำกร่อย ฟักเป็นตัวแล้วจะว่ายทวนน้ำไปโตขนาด3ตัวกิโลแถวอยุธยาก็ถูกตัดวงจรชีวิต เทคโนโลยี่ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแล้วนำไปปล่อยในย่านน้ำสะอาด เดี๋ยวนี้เรามีกุ้งกามกรามที่โตในธรรมชาติ ชาวบ้านจับมากิน มาขายได้ ผมเคยเห็นที่เขาจับได้เหนือเขื่อนทางเหนือ เห็นแล้วตกใจตัวใหญ่อย่างกับล็อบสเตอร์มีสีเขียวตะไคร่ติดเปลือกอยู่เต็ม ไม่กล้าซื้อมากิน นี่คือส่วนดีของมัน





กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 13:58
คุณและดิฉันถูกกล่อมเกลามาในยุคพัฒนาทางวัตถุ  จนเคยชิน  ย้อนกลับไปอยู่อย่างปู่ย่าตายายเราไม่ได้แล้ว    แต่วงจรชีวิตมันไม่ได้เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว    มันย้อนกลับมาได้ด้วย
ในรุ่นลูกและหลานของเรา  เขาอาจจะต้องหวนกลับไปสู่ความพอเพียงแบบทวดของเขาก็ได้  ก็ต้องเตือนความพร้อมในข้อนี้

อ้างถึง
ผมเคยเห็นที่เขาจับได้เหนือเขื่อนทางเหนือ เห็นแล้วตกใจตัวใหญ่อย่างกับล็อบสเตอร์มีสีเขียวตะไคร่ติดเปลือกอยู่เต็ม ไม่กล้าซื้อมากิน นี่คือส่วนดีของมัน
ข้อนี้ถามด้วยความซื่อจริงๆ ไม่ได้แกล้ง   สงสัยว่า ถ้าเป็นส่วนดี ทำไมคุณไม่กล้าซื้อมากินล่ะคะ?


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 18:24
อนาคตก็ยังมาไม่ถึงป่วยการที่จะไปวิตก ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อดีตคือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว

อ้างถึง
ทำไมคุณไม่กล้าซื้อมากินล่ะคะ?

ผมสมาทานศีลห้าเป็นนิจศีล มันยังเป็นๆอยู่ ผมไม่ฆ่าหรือสั่งให้เขาฆ่า

ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นหรอกครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 09, 19:15
Learn from yesterday, live for today, hope for tomorrow. The important thing is not to stop questioning.”
 Albert Einstein  
ย้อนกลับไปที่ชีวิตรักของรุ้ง   ในตอนแรกอุไรวรรณปรากฏตัวออกมา  เธอก็ดูเฉลียวฉลาด และมองเห็นว่ารุ้งมี  "รูปสุวรรณอยู่ชั้นใน"   มากกว่าที่สมส่วนมองเห็น
แต่อุไรวรรณก็มาพลิกล็อคเป็นนักอุดมคติ คนละเส้นทางกับรุ้ง  เล่นเอาคนอ่านอย่างดิฉันอกหักไม่แพ้รุ้ง

เมื่อรุ้งตัดขาดเธอไปแล้ว    เราก็ไม่รู้ว่าชีวิตของทั้งสองจะเป็นอย่างไรต่อไป     จะย้อนกลับมาคืนดีกันได้หรือไม่    เพราะดูท่าทีรุ้งก็ยังอาลัยอาวรณ์เธออยู่
แต่สันติบาลก็ยื่นมือเข้ามาตัดสินให้เด็ดขาด   รวบตัวรุ้งกลับไปสู่สภาพจำเลยการเมือง และคงตามมาด้วยโทษการเมืองอีกครั้ง    น่าจะแรงกว่าครั้งแรก   
 
อวสานของนักอุดมคติก็จบลง  เหลือไว้แต่ความคิดของเขาที่ยังต่อยอดให้เราขบคิดและถกเถียงกันจนทุกวันนี้

ดิฉันก็ยังมองว่ารุ้งเกิดผิดยุคสมัยอยู่นั่นเอง     
แต่จะเกิดยุคไหนก็ตาม รุ้งไม่ใช่คนที่ตามกระแสได้ง่ายๆ   ถ้าเขาเปลี่ยนมาเกิดในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖     เชื่อว่าหลัง ๖ ตุลา ๑๙  รุ้งก็คงไม่เข้าป่า  แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับขบวนการขวาพิฆาตซ้าย
เขาก็คงจะเขียนหนังสืออีกสักเล่ม  แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เข้ากับซ้ายและขวา

ถ้ารุ้งเกิดมาเป็นคนหนุ่มในยุคนี้   เขาก็คงไม่เห็นด้วยกับระบบ(นาย)ทุนนิยม   แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับคมช.  และเขาก็คงสวมเสื้อสีใดๆ  ไม่ร่วมขบวนทำกิจกรรมทางการเมืองกับเสื้อสีใดสีหนึ่ง
ดิฉันยังมองไม่เห็นว่าอุดมคติของรุ้ง สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองไทย ตั้งแต่ ๒๔๗๕ ถึง ๒๕๕๒


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ธ.ค. 09, 21:05
อ้างถึง
ดิฉันยังมองไม่เห็นว่าอุดมคติของรุ้ง สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองไทย ตั้งแต่ ๒๔๗๕ ถึง ๒๕๕๒

ผมเห็นด้วยเลยครับ  รุ้งเองก็รู้ จึงมองข้ามไปถึงระดับโลกเสียทีเดียว “เรื่อง The Sight of Future Siam ก็มิใช่เรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์กิจการของรัฐบาลสยามชุดนี้ ถ้าหากมันแสดงความบกพร่องของเครื่องจักรแห่งการเมืองเศรษฐกิจ เขาก็แสดงสาเหตุแห่งความบกพร่องไว้ว่าเป็นกรณีย์ที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งโลก ซึ่งการแก็ไขจะต้องอาศัยความร่วมมือจากมหาประเทศ และไม่จำเป็นต้องกระทำในรูปปฏิวัติ”

แต่อุดมคติของรุ้งในเรื่องนี้ เฉียดความจริงเข้าไปหน่อยนึง เมื่อสงครามโลกยุติใหม่ๆ ประชาชาติหน่ายสงครามจึงได้เลือกนักการเมืองที่ใฝ่สันติขึ้นปกครองประเทศ ทำให้มหาอำนาจรวมตัวกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายจะระงับเหตุแห่งสงครามให้ได้ และมีหน่วยงานเช่นยูเนสโก้ที่วางเป้าจะจัดระบบการศึกษาของทุกชาติให้สอดคล้องกัน จะได้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น  คล้ายๆกับแนวที่รุ้งใฝ่ฝัน แต่รุ้งก็มีชีวิตอยู่ในโลกต่อไปไม่นานพอที่จะเห็นเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อการเมืองเปลี่ยนชุด นโยบายก็เปลี่ยน องค์การสหประชาชาติต่อมาก็กลับกลายเป็นเครื่องมือของเจ้ามือรายใหญ่ที่จะเขมือบประเทศเล็กประเทศน้อยด้วยกลวิธีใหม่  โชคดีของรุ้งที่ไม่ได้อยู่ร่วมผิดหวัง

อุดมคติของรุ้ง แม้ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองไทย แต่อาจเฉียดเข้าไปในระดับสากล จึงมีอาจารย์ทางด้านไทยคดีศึกษาชาวอังกฤษ และญี่ปุ่นที่อ่านความฝันของนักอุดมคติแล้วเข้าใจ นำไปแปลเป็นภาษาของตน ตีพิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วโลก ก็คงไม่ได้หวังจะให้ใครเอาแนวคิดของรุ้งไปใช้ดอกครับ แต่เขาทึ่งว่าคนไทยอย่างรุ้งคิดและเขียนอย่างนี้ออกมาได้อย่างไร

ส่วนการเมืองไทย…………????

"อยากทราบเหตุในอดีต จงดูจากผลในปัจจุบัน..อยากทราบผลในอนาคต จงดูจากเหตุในปัจจุบัน"
 
     พุทธวจนะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: sugar ที่ 10 ธ.ค. 09, 11:44
เป็นโชคดีของรุ้งที่ยังมีช่วงเวลาเป็นตัวของตัวเอง

ไม่มีเชือกชักโยงใยตั้งแต่เกิดจนตายเหมือนคนในโลกความจริง.


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 11:37
รุ้งเป็นคนมีความคิดทางการเมืองและอาชีพ ล้ำยุคกว่าชาวสยามทั่วไป       แม้แต่เพื่อนๆของรุ้ง ก็ไม่มีใครมีความคิดไกล เท่าเทียมเขาได้
การเมืองของสยามในยุคนั้น เป็นยุคอำนาจเบ็ดเสร็จ       ผู้มีอำนาจเล่นเกมการเมืองอย่างเหี้ยมโหดทุกรูปแบบ    ส่วนรุ้งมองการเมือง  อย่างสุภาพบุรุษ ผู้เชื่อถือใน  fair play
การเมืองก็ทำนองเดียวกับการทำงานที่รุ้งเจอ   เหมือนเงาสะท้อนของกันและกัน
คือรุ้งใช้ความยุติธรรม กับบุคคลผู้ไม่ยุติธรรม     ความยุติธรรมจึงกลายเป็นเสียเปรียบ 
ความคิดอ่านและความรู้ของรุ้งเป็นภัยต่อความมั่นคงของผู้ถืออำนาจ       ถ้าเป็นอาชีพการงาน รุ้งก็ต้องพ้นหน้าที่ ออกไปจากตรงนั้น
แต่ถ้าเป็นการเมือง  รุ้งก็ต้องจ่ายแพงกว่านั้น คือชีวิตของเขา    ถึงอย่างไรคนมีอุดมคติและซื่อตรงต่อความเป็นจริงอย่างรุ้ง ก็จะไม่เอาตัวรอดด้วยการสารภาพว่าเป็นกบฎ เพื่อรับโทษแค่สิบปี    แทนที่จะยืนยันปฏิเสธ  แล้วรับโทษประหารชีวิต
อุดมคติ กับสัจจะ ย่อมเดินทางเดียวกัน

รุ้งอำลาผู้อ่านไปสู่ความตาย   ภาวนาอยู่อย่างเดียวว่าขอให้ชาติไทยพ้นจากยุคทมิฬเสียโดยเร็ว

ไม่รู้ว่าถ้ารุ้งอยู่มาจนทุกวันนี้ เขาจะเห็นว่าไทยพ้นจากยุคนั้นหรือยัง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: sugar ที่ 16 ธ.ค. 09, 16:31
ขอคิดด้วยหน่อยนึงนะคะ...

ถ้ารุ้งมีชีวิตอยู่ในช่วงปัจจุบัน... เขาคงจะเก็บเกี่ยวและสะสมประสบการณ์ของชีวิตได้มากมายจากสารพัดงานที่ได้ทำ(อาจทนงานแต่ไม่อาจทนคนแน่) เขาคงจะพบคนดีๆบ้างในช่วงชีวิตที่จะเพิ่มทัศนคติดีๆให้แก่เขา เขาคงปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงของชีวิตได้โดยยังคงยึดอุดมการณ์เดิมเป็นหลัก เขาคงมีส่วนในการแสดงออกในทางการเมืองได้มากกว่าอดีต และเขาอาจวิ่งเข้าสู่ถนนการเมืองเมื่อโอกาสเป็นของเขา เขาอาจเป็นดาวดวงเด่นในวงการเมืองในยุคที่คนเริ่มเบื่อหน่ายการเมืองน้ำหนอง เขาอาจได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากคนที่วิ่งทันกระแสการเมืองในยุคดิจิตอล เขาอาจจะพบว่ามีคนอีกจำนวนมากที่สามารถร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับเขาได้ เขาอาจจะได้รับเลือกเป็นผู้นำต่อต้านอำนาจมืดมิดเม้น และเขาอาจสร้างฝันการเมืองให้เป็นจริงได้ด้วยตัวเขาเอง...และเขาอาจเป็นผู้ที่นำอำนาจที่แท้จริงกลับสู่มือประชาชนก็เป็นได้


เพียงแต่...ถ้ารุ้งเป็นนักอุดมคติมีความฝันและไม่ใช่แค่ฝันลมๆแล้งๆ  เชื่อว่าคงนิ่งเฉยมือไม่พายอยู่ไม่ได้แน่ๆ.


 "อนาคตของเรา อยู่ในมือของเราเองแล้ว"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 09, 21:12
ตัวละครอย่างรุ้ง จิตเกษม เป็นตัวละครที่แปลกไปจากตัวเอกในนวนิยายร่วมสมัย เรื่องอื่นๆ   ตรงที่ว่า เขาเป็นตัวละครสัญลักษณ์ของอุดมคติ เสียมากกว่าจะเป็นตัวละครจำลองแบบคนจริงๆอย่างตัวละครโดยมาก
แม้ว่ารุ้ง มีที่มาจากบุคคลจริง คือตัวผู้ประพันธ์เอง   ในหลายแง่มุมเขาก็เป็นสัญลักษณ์อยู่ดี

รุ้งเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดทางการเมือง      เป็นสัญลักษณ์ของความรู้ทางรัฐศาสตร์ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการปกครอง เพื่อจะบรรลุถึงผลดีต่อประชาชนโดยแท้จริง   
ความคิดอ่านหลักๆของรุ้งในนิยาย  จึงเป็นไปในทางใคร่ครวญการบริหารรัฐ เพื่อประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับประชาชน
การเมืองไม่ได้หมายความแค่ประชาชนจะได้หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง  แต่เป็นวิถีชีวิตทุกสิ่งทุกอย่าง   รวมทั้งหน้าที่ของรัฐต่อประชาชน   ประชาชนต่อประชาชน   และประชาชนต่อรัฐ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ธ.ค. 09, 14:24
ถือเป็นการคุยกันนะครับ กรุณาอย่าคิดว่าความเห็นของผมจะถูกต้องกับความคิดของผู้ที่สร้างรุ้ง จิตเกษมขึ้นมาในโลกวรรณกรรม
รุ้ง มีเค้าของหลายบุคคลที่ม.ร.ว. นิมิตรมงคลรู้จักคุ้นเคยรวมกัน ถ้าจะไม่อ้อมค้อม ในเรื่องวิถีชีวิตเบื้องต้น ท่านสิทธิพรน่าจะเป็นต้นแบบของนักเรียนนอกที่กลับมามีหน้าที่ราชการอันคนทั่วไปเห็นว่ารุ่งโรจน์ดี ทว่าการศึกษาที่ได้รับแบบคนอังกฤษทำให้ท่านทรงมีความคิดอ่านที่ต่างกับคนไทยทั้งปวง รุ้งก็เป็นคนเช่นนั้น แต่รุ้งไม่ใช่ลูกเจ้านายที่จะไปเรียนเมืองนอกด้วยทุนทรัพย์อย่างอื่นนอกจากจะได้ทุน รุ้งก็เลือกที่จะเป็นนักเรียนทุนคิงส์เหมือนคุณสอ เสถบุตร และก็ลาออกจากงานราชการเพราะไม่สามารถทำงานกับพวกคณะราษฎร์ได้เหมือนกัน แต่รุ้งมิได้ไปเป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างคุณสอ รุ้งตั้งใจออกไปบุกเบิกงานเกษตรบนที่ดินของครอบครัวเช่นเดียวกับท่านสิทธิพร

ส่วนแนวคิดของรุ้ง ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวคิดของม.ร.ว. นิมิตรมงคลเองที่ได้มาจากประสพการณ์ในยามเป็นอิสระชน และยามอยู่ในคุกอันเสมือนเป็นบัณฑิตวิทยาลัยที่ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลที่ใช้เวลากว่า5ปีเป็นนักเรียนประจำ อยู่กับตำรับตำราและครูบาอาจารย์นักเรียนนอก การได้อ่านหนังสือที่ท่านเหล่านั้นขนเข้ามา ได้ฟัง ได้ร่วมถกร่วมคุย ล้วนประเทืองปัญญาที่ทำให้เกิดความคิดอ่านของตนเอง หลังการตกผลึกแล้ว จึงได้นำเสนอออกมาในนวนิยายเล่มนี้

รุ้ง จึงถูกวางตัวให้เป็นนักอุดมคติ นักอุดมคติเป็นเอกพจน์ ในสังคมทุกวันนี้ก็มีไม่น้อย จะเป็นอุดมคติทางใดก็ได้ที่มุ่งกระทำตนโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นกล่องหรือเป็นเงินก็แล้วกัน อุดมคติเป็นของใครของมัน คนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ฉันก็จะเป็นของฉันอย่างนี้     ส่วนอุดมคติที่เป็นพหูพจน์จะเรียกว่าอุดมการณ์ นักปฏิบัติจะเอาทฤษฎีที่นักอุดมคติสร้างขึ้นไปวางเป้าหมาย โน้มน้าวให้คนหมู่มากเห็นด้วยและเข้ามาร่วมทำงานให้บรรลุถึงจุดนั้น อุดมการณ์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองมันอาจกลายเป็นพรรค หรือลัทธิไปได้เหมือนกัน

นักอุดมคติทางการเมือง ถ้ามีคนเห็นด้วยมากๆจนตั้งเป็นอุดมการณ์ขึ้น ถ้าต้องการให้บรรลุผลแล้วส่วนใหญ่ต้องมีเลือดตกยางออก ถ้าเป็นเลือดของฝ่ายตรงข้ามก็จะมีเยอะแยะ ไม่ต้องยกตัวอย่าง แต่เลือดของนักอุดมคติเอง ที่ดังๆก็มหาตมะคานธี  หรือเนลสัน แมนเดลาที่ติดคุกหัวโต

อ้างถึง
ถ้ารุ้งเป็นนักอุดมคติมีความฝันและไม่ใช่แค่ฝันลมๆแล้งๆ  เชื่อว่าคงนิ่งเฉยมือไม่พายอยู่ไม่ได้แน่ๆ

ผมไม่อยากเดา  แต่ที่รุ้งลาผู้อ่านไปสู่ความตายก็เป็นตอนจบที่เหมาะสมแล้วสำหรับนักอุดมคติที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย หรือมิฉนั้น หากมีชีวิตรอดพ้นมาได้ รุ้งก็คงเป็นได้ดีที่สุดเท่ากับที่ท่านสิทธิพรได้ทรงเป็นไปแล้วแต่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เห็น (ได้อ่านเรื่องของม.จ. สิทธิพร กฤดากร ในชีวิตและผลงานของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน หรือยังครับ) นั่นน่ะทรงเป็นพระเอกตัวจริง ในโลกแบบไทยๆที่สิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นอุปสรรคตรงคนส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา มีความเข้าใจประชาธิปไตยแค่สิทธิที่จะไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แลกกับสินน้ำใจจากผู้สมัครเป็นธนบัตร และสัญญาลมๆแล้งๆว่าจะทำให้ร่ำรวยกันได้ทั้งแผ่นดิน นักการเมืองที่มีอุดมคติ เป็นสุภาพบุรุษและมีธรรมชาติของสันติชนที่ไม่นิยมใช้วิธีการรุนแรงให้ได้มาซึ่งอุดมการณ์ของตน ทำงานเพื่อชาติและประชาชนได้เท่าท่านสิทธิพรก็ประเสริฐที่สุดแล้ว

หรือมิฉนั้นมีอีกแนวหนึ่งหากเลือกเป็นนักเขียน รุ้งคงได้เขียนวิพากษ์รัฐบาลได้อย่างสะดวกมือ เพราะทุกวันนี้สื่อมีเสรีภาพแทบจะไร้ขอบเขต แต่จะบานปลายไปถึงจัดตั้งกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์ขึ้นมาสักสีหนึ่งหรือไม่ อย่าไปสนใจเลยครับ พระท่านว่าเป็นเรื่องอจินไตย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 09, 15:48
เมื่ออ่านชีวิตของรุ้งจบลง  เป็นครั้งที่ ๓   ดิฉันเกิด "อิน "จนไม่ยอมให้รุ้งตาย    มีอย่างหรือ  จะมาบอกกันสั้นๆว่าอำลาไปสู่ความตาย อย่างนี้ไม่ได้ 
เสียความรู้สึกคนอ่าน อย่างน้อยหนึ่งคน

ต้องสร้างรุ้งขึ้นมาในจินตนาการของตัวเอง เป็นเวอร์ชั่นพิเศษ

รุ้งถูกจับกุมคุมขังอีกครั้ง ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ด้วยหนังสือที่เขาเขียน   แต่จะผิดตรงไหนศาลพิเศษก็ระบุไม่ได้เต็มปากเต็มคำ      เอาเป็นว่าผิดก็ต้องผิด
รุ้งก็ได้เดินกลับไปสู่ "บัณฑิตวิทยาลัย" อีกครั้ง      แต่คราวนี้ไม่นานเท่าคราวแรก    เมื่อรัฐบาลจอมพลป. พ้นอำนาจไป  รัฐบาลใหม่ก็ปลดปล่อยนักโทษการเมือง
รุ้งมีสิทธิ์กลับเข้ารับราชการได้    ในกระทรวงธรรมการ  ตำแหน่งหน้าที่เดิมคอยอยู่     แต่รุ้งสิ้นอาลัยกับระบบราชการเสียแล้ว
เขายังไม่พร้อมจะออกไปทำการเกษตร    อย่างหนึ่งคือยังไม่มีที่ดินของตัวเอง    สองคือห่วงน้าสะอาดผู้มีพระคุณ และสาม  มีอุไรวรรณซึ่งได้สติขึ้นมาแล้ว  สามัญสำนึกกลับคืนมา รอคอยจะร่วมชีวิตกับรุ้งอยู่

อำนวย  กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะสื่อมวลชนใจเพชร   พ้นจากโทษมาได้ก็รวบรวมบรรดานกน้อยในไร่ส้มมาได้กลุ่มหนึ่ง  ร่วมอุดมการณ์เดียวกันคือ เป็นหมาเฝ้าบ้านให้ประชาชน   คอยส่งเสียงเตือนเมื่อเห็นรัฐบาลกำลังจะทำไม่ชอบมาพากลกับประชาชน
แน่นอนว่า อำนวยชวนรุ้งไปเป็นคอลัมนิสต์   สานต่อเรื่อง The Sight of Future Siam  มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างประเทศในไทยได้อ่านรู้เรื่องด้วย

รุ้งแต่งงานกับอุไรวรรณ มีลูกชาย ๑ คน  มีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น เป็นสุขตามอัตภาพ   ชีวิตครอบครัวของรุ้งน่ารักมาก เป็นกำลังใจให้รุ้งประคองตัวอยู่ได้ไม่ว่าพายุภายนอกจะหนักหนาปานใด

วาดฝันมาได้ถึงตอนนี้    ก็หยุดกึก เพราะยังคิดต่อไม่ออกว่า ในเหตุการณ์ "กบฏสันติภาพ" พ.ศ. ๒๔๙๕    รุ้งควรจะโดนด้วยไหม   
ถ้าโดนจะหนักหนาไปหรือเปล่าสำหรับพระเอกของเรา

ขอไปฉลองปีใหม่ก่อนแล้วจะกลับมาเล่าต่อ  ว่าตัดสินใจให้รุ้งในภาคจินตนาการของผู้อ่าน  จะไปต่อยังไงกันแน่


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ธ.ค. 09, 19:06
โอ้โห...... นี่ผมต้องรอไปปีหน้าแล้วสิ

กว่าจะได้อ่านตอนต่อไป แหม..กำลังสนุก



สวัสดีปีเก่าครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ม.ค. 10, 00:02
สวัสดีปีใหม่ครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 10, 15:57
สวัสดีปีใหม่ค่ะ 
กว่าจะกลับมาเล่าต่อได้ ก็เลยปีใหม่ไป ๕ วัน     คุณรุ้งคงเมื่อยเอาการ

หนังสือThe Sight of Future Siam  กลายเป็นตำราการเมืองไทย ที่ชาวต่างประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษ 
หลังจากอำนวยส่งไปพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้  หนังสือเล่มนี้ก็วางขายในสิงคโปร์  อินเดีย  ไต้หวัน และข้ามทวีปไปถึงอังกฤษ
แต่ในประเทศไทย  คนไทยอ่านกันน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม  คนจำนวนน้อยที่ได้อ่านเรื่องนี้ ก็กลายมาเป็นผู้อ่านประจำของคอลัมน์ที่รุ้งเขียนลงในหนังสือพิมพ์รายวัน "ผดุงวิทยา ใหม่" หนังสือพิมพ์ที่อำนวยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ 
ผดุงวิทยา ใหม่ ถึงกับต้องเปิดคอลัมน์พิเศษ ๑ หน้า ให้รุ้งได้โต้ตอบกับชาวต่างประเทศ และปัญญาชนไทยที่เขียนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับเขา
บ้านน้อยของรุ้ง ปลูกอยู่ตรงมุมหนึ่งของบ้านเจ้าคุณมหาเทวา  ที่ศาลาแดง    ก็สร้างจากเงินที่รุ้งได้รับจากหนังสือเล่มนี้  บวกกับรายได้ประจำจากการเขียนหนังสือ  ทำให้เขาพอจะเลี้ยงภรรยาและลูกชายได้ 

คำถามจากคนอ่าน ที่ทำให้รุ้งเพลิดเพลิน   ไม่ใช่ถ้อยคำเชิงสรรเสริญยกย่อง ที่ทำให้รุ้งรู้สึกว่า เป็นของหวานที่ทำให้อิ่มในอารมณ์    แต่ไม่ใช่อาหารจานหลักที่จะทำให้สมองเจริญเติบโต
เขาชอบคำถามที่คนเขียนมา ในเชิงแย้ง  มากกว่า


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 07:56
And they all lived happily ever after ?[/size]

รุ้ง น่าจะโดนอะไรหนักๆอีกสักที จะได้รู้ว่าชีวิตคนเรานั้น สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว ไม่มีอะไรถาวร บังคับไม่ได้ อยากให้เกิดมันก็ไม่เกิด ไม่อยากให้เกิดมันก็เกิด เกิดมาแล้วอยากให้อยู่นานๆมันก็ไม่อยู่ อยากให้ผ่านพ้นไปเร็วๆมันก็ไม่ผ่าน ถ้ารุ้งไม่เห็นทุกข์ ก็จะไม่เห็นธรรม

คนมีปัญญา ครั้นเห็นธรรมะแล้ว ก็ต้องเห็นว่า งานการในโลกนี้ล้วนเป็นภาระที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น คนที่ยึดอยู่ถืออยู่ก็เสมือนคนที่แบกของหนักเอาไว้ เมื่อใดเห็นว่า มันหาสาระที่แท้จริงไม่ได้แล้ววางลง เมื่อนั้นก็สิ้นทุกข์

เมื่ออ่านมาได้2ตอนนี้ ผมมองข้ามช๊อตไปแล้วอยากให้รุ้งปล่อยวาง ชีวิตในโลกหาอะไรเป็นสรณะไม่ได้แม้จะต้องดิ้นรนตลอดชีวิต แต่ถ้ารุ้งปิดฉากทางโลกในขณะที่ยังสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เอากำลังวังชามุ่งแสวงไปในทางธรรม คนอ่านที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็อาจสาธุแล้วหายไปหมด

แต่คนอย่างรุ้งก็คงไม่ว่าอะไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 09:27
ไม่ได้ค่ะ คุณ N.C.  ขอค้าน
๑    เท่าที่เจอมา ยังไม่หนักพออีกหรือ?   จะถล่มรุ้งไปถึงไหนกัน   การทำให้ตัวละครต้องทกุข์ยากซ้ำซ้อนจนเกินการณ์ จะทำให้เรื่องกลายเป็นเมโลดราม่าไปได้ง่ายๆ
การเขียนแนวนี้เคยทำกันมาแล้ว  เรียกว่า Naturalism    ตัวละครล้วนแต่เคราะห์ร้ายไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด      แต่แนวนี้ก็หมดความนิยมไปนานแล้ว
๒    มนุษย์เรานั้นมี mission ติดตัวมาตั้งแต่เกิด     ภารกิจของใครก็ของคนนั้น  ไม่ซ้ำกัน    บางคนอาจมีภารกิจง่ายๆแค่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ดูแลลูกบ้านไม่กี่ครัวเรือน      แต่บางคนก็กว้างใหญ่กว่านั้น เช่นเสนออุดมการณ์หรืออุดมคติให้โลกรู้จัก      ถ้าหากว่ายังทำหน้าที่ได้ไม่ครบ  แล้วถอนตัวไป    เกิดใหม่ก็ต้องมา รีเอ๊กแซมกันอีก  วนเวียนไม่รู้จบ
ถ้าจะออกบวชไปง่ายๆ     ชีวิตรุ้งนอกจากไม่มีใครอยากอ่านแล้ว คนเขียนก็ไม่อยากเขียน

ขอวิสัชนาต่อ

มีคนเขียนมาถามรุ้งว่า  อุดมคติของเขาว่ารัฐมีหน้าที่จัดหางานที่เหมาะสมให้ประชาชน โดยอาศัยคำแนะนำของนักจิตวิทยา   ประชาชนคนไหนถนัดทางไหนก็ทำงานอย่างนั้น  เขานึกบ้างไหมถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของคนในรัฐ   
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ  ถูกนักจิตวิทยาตัดสินว่า ถนัดในทางใช้แรงงานแบกหาม     ส่วนน้อยที่ถนัดค้าขาย คิดเลขบัญชี    ถ้าอย่างนั้นรัฐก็จะหนักไปทางผลิตงานโยธา   มีแรงงานมากมาย  แต่ไม่มีเงินที่จะหมุนเวียน  แล้วประเทศจะพัฒนาไปทางไหน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 09:52
การจัดระเบียบสังคมในเมืองนิมิตรของรุ้ง ดูคล้าย ๆ กับในเรื่อง "โลกวิไลซ์" (Brave New World) ของ ALDOUS HUXLEY มนุษย์ทุกคนจะถูกแบ่งเป็น ๕ ชนชั้นตามความฉลาด คือ Alphas Betas Gammas Deltas และEpsilons



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: sugar ที่ 06 ม.ค. 10, 11:06
สวัสดีค่ะคุณรุ้ง (ผู้คือความหวังของดิฉัน)

    ดิฉันได้ติดตามคอลัมน์นี้ของคุณมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นทีจะต้องรบกวนคุณรุ้งช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้ด้อยปัญญาอย่างดิฉันด้วยนะคะ


ขนมหวานเป็นพ่อนๆ.......ไม่ชอบทาน

หินใสๆหลายเม็ด......ไม่ต้องการ

โต๊ะ เก้าอี้ใหม่.....ตัวเก่าก็ดีอยู่แล้ว

ข่มขู่........อหิสา  อหิสา  อหิสา

กระสุน.....อหิสา  อหิสา  อหิสา

ระเบิด.....อหิสา  อหิสา  อหิสา

เสียแขน ขา.....อหิสา  อหิสา  อหิสา

เสียชีวิต......อหิสา  อหิสา  อหิสา

เพื่อ..เป้าหมาย

อยากทราบว่า นี่คือการกระทำที่สูญเปล่าหรือเปล่าคะ เหมือนจะไม่เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคมแบบนี้เลย.
แล้วสังคมที่น่าอยู่นั้นอยู่กันด้วยความฉลาดหรือคุณธรรมดีคะ.

    ด้วยความนับถือ

        น้ำตาล

ปล. คุณรุ้งอย่าเพิ่งละทางโลกไปเร็วนักนะคะ  ดิฉันเชื่อว่าความรู้ความสามารถของคุณ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ได้มากมายค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 12:06
อ้างถึง
การจัดระเบียบสังคมในเมืองนิมิตรของรุ้ง ดูคล้าย ๆ กับในเรื่อง "โลกวิไลซ์" (Brave New World) ของ ALDOUS HUXLEY มนุษย์ทุกคนจะถูกแบ่งเป็น ๕ ชนชั้นตามความฉลาด คือ Alphas Betas Gammas Deltas และEpsilons

นึกถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกันค่ะ
และนึกถึงอีกเรื่องด้วย คือ 1984 ของ George Orwell ผู้เขียน Animal Farm


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 12:30
คำถามของคุณน้ำตาล   ดิฉันไม่ใช่คุณรุ้ง   และคงห่างไกลอยู่มาก  ก็เลยตอบไม่ได้
(และขอสารภาพว่าอ่านไม่เข้าใจด้วยค่ะ)
ต้องฝากไปถึงตัวแทนคุณรุ้ง  เผื่อจะตอบ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 13:02
คุณน้ำตาลทำเอาผมต้องลุ้นเหลียวซ้ายแลขวามองหารุ้ง จิตเกษมหรือม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนผู้สร้างรุ้งขึ้นมา ให้มาตอบคำถามที่ว่า

ท่านอาจารย์เทาชมพูที่กำลังปลุกปั้นรุ้งให้ออกมาเผชิญโลกปัจจุบัน ท่านก็ไม่รับจะตอบเสียด้วย รู้สึกว่าท่านยังวิสัชนาค้างอยู่ในทฤษฎีเรื่องรัฐในอุดมคติของรุ้ง ผมเองก็สนใจว่าท่านจะวิสัชนาต่ออย่างไร หรือวิสัชนาในเชิงปุจฉาให้ผู้อ่านอย่างผมเข้าไปลองลับสมองดูมั่ง เผื่อจะสอบผ่าน

คุณน้ำตาลอย่าเพิ่งน้อยใจว่ารุ้งไม่มาตอบคำถามนะครับ นี่เป็นเสน่ห์ของนวนิยายที่พระเอกตายตอนจบ คนอ่านมีสิทธ์ที่จะมโนภาพต่อว่า “ถ้า”……แล้วพระเอกไม่ตาย พระเอกคงจะ………..ยือยาวได้หลายสมุดไทย สนุกดี

นี่เป็นเหตุให้โลกรู้จักโรมิโอกับจูเลียต หรือคนไทยรู้จักโกโบริ เอามาสร้างหนังสร้างละครกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แล้วก็ยังร้องไห้กันกระปู๊ดกระป๊าด

ถ้าคุณน้ำตาลยอมให้ผมเป็นตัวแทนของรุ้งอย่างที่อาจารย์เทาชมพูท่านแนะ  เดี๋ยวเย็นๆหรือค่ำๆผมจะกลับมาตอบ แต่ต้องทำใจนะครับ รอยเท้าของผมห่างจากของรุ้งอยู่หลายเบอร์


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 14:56
ลงนั่งข้างๆคุณน้ำตาล  รอเอเย่นต์คุณรุ้งมาตอบในตอนค่ำ ด้วยอีกคน

ต่อจากที่ค้างไว้

มีคนเขียนมาถามรุ้งว่า  อุดมคติของเขาว่ารัฐมีหน้าที่จัดหางานที่เหมาะสมให้ประชาชน โดยอาศัยคำแนะนำของนักจิตวิทยา   ประชาชนคนไหนถนัดทางไหนก็ทำงานอย่างนั้น  เขานึกบ้างไหมถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของคนในรัฐ   
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ  ถูกนักจิตวิทยาตัดสินว่า ถนัดในทางใช้แรงงานแบกหาม     ส่วนน้อยที่ถนัดค้าขาย คิดเลขบัญชี    ถ้าอย่างนั้นรัฐก็จะหนักไปทางผลิตงานโยธา   มีแรงงานมากมาย  แต่ไม่มีเงินที่จะหมุนเวียน  แล้วประเทศจะพัฒนาไปทางไหน

ยังไม่รู้คำตอบของรุ้ง  ฝากตัวแทนคุณรุ้งช่วยตอบด้วยค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: sugar ที่ 06 ม.ค. 10, 19:23
เอา ง.งู มาคืนค่ะ  อหิงสา... :D

คืนนี้ได้นั่งใกล้อาจารย์ ตื่นเต้นกลัวนอนไม่หลับจังค่ะ...  และขอบคุณล่วงหน้าค่ะคุณ N.C.ที่จะช่วยเหลือในคำถามที่ได้ถามไว้...


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 21:56
ขอประทานโทษที่มาดึกไปหน่อยนะครับ

รัฐของรุ้งเป็นรัฐในอุดมคติ แปลว่าเป็นรัฐที่ดีเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ในโลกของความจริง แม้เป็นโลกในความฝันก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ความเพ้อฝัน เพราะรุ้งมีหลักการและเหตุผลในการคิด และนำเสนอ

มีคนเขียนมาถามรุ้งว่า  อุดมคติของเขาว่ารัฐมีหน้าที่จัดหางานที่เหมาะสมให้ประชาชน โดยอาศัยคำแนะนำของนักจิตวิทยา   ประชาชนคนไหนถนัดทางไหนก็ทำงานอย่างนั้น  เขานึกบ้างไหมถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของคนในรัฐ
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ  ถูกนักจิตวิทยาตัดสินว่า ถนัดในทางใช้แรงงานแบกหาม     ส่วนน้อยที่ถนัดค้าขาย คิดเลขบัญชี    ถ้าอย่างนั้นรัฐก็จะหนักไปทางผลิตงานโยธา   มีแรงงานมากมาย  แต่ไม่มีเงินที่จะหมุนเวียน  แล้วประเทศจะพัฒนาไปทางไหน 

คำถามที่มีคนเขียนมาถามดังกล่าว ในฐานะตัวแทนของรุ้งผมก็จะตอบว่า สัดส่วนของพลเมืองในแต่ละรัฐมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว คนทำงานโดยใช้แรงงานจะมีมากกว่าคนที่ทำงานโดยใช้สมองมาก เสมือนฐานปิรามิดที่เรียวขึ้นไปสู่ยอด แต่ด้วยความปราณีตของระบบคัดเลือก ที่ทำให้นักจิตวิทยาสามารถแยกแยะได้กระทั่งว่า คนๆหนึ่งเหมาะที่จะทำงานประเภทใช้แรงกี่เปอร์เซนต์สมองกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งคงจะเริ่มต้นจาก ใช้แรง100ใช้สมอง0 เรื่อยไปจน ใช้แรง90สมอง1 ใช้แรง80สมอง20 ใช้แรง70สมอง30 ฯลฯ จนถึงใช้แรง10สมอง90 ใช้แรง0สมอง100 (ตัวอย่างสุดท้ายนี้อาจจะตกขอบไปหน่อยเพราะคนที่จะใช้แรง0สมอง100ก็คงจะเข้าขั้นคนพิการนั่งรถเข็นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือที่ใช้แรง100ใช้สมอง0 พวกนี้คงจะบ้าหรือใกล้บ้า แต่รุ้งบอกว่ารัฐจะไม่ทำลายพลเมืองแม้แต่คนเดียว ฉะนั้นก็ต้องหาอาชีพที่เหมาะสมให้เขาเหล่านั้นทำเหมือนกัน)

งานที่ให้พวกที่ถนัดใช้แรงมากกว่าสมองก็ไม่ใช่มีแค่งานโยธาอย่างเดียว ในกลุ่มของพวกที่มีเปอร์เซนต์ที่ใช้สมองมากขึ้น ก็มีงานเช่นเกษตรกรรม หรืองานในสายการผลิตของโรงงานทุกระดับยากง่าย งานบริการสังคมอื่นๆ ตั้งแต่เก็บขยะไปจน เป็นทหาร ตำรวจชั้นประทวน คนขับรถ ขับพาหนะสาธารณะ นักกิฬา ช่างซ่อม ช่างก่อสร้าง ฯลฯ
พวกที่ถนัดใช้สมองมากกว่าแรง ถ้าเปอร์เซนต์สมองยังไม่มากก็เริ่มจากงานธุรการในสำนักงาน สมองมากขึ้นมาอีกก็เป็นนักบัญชี ศิลปิน นักแสดงนักบริหาร นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิกวิศวกร ทหารตำรวจสัญญาบัตร ครู หมอ นักค้นคว้าทดลอง ต่างๆ นักบวชที่เป็นที่พึ่งของสังคมได้ พวกนี้เป็นส่วนยอดของปิรามิดในเชิงปริมาณ

ด้วยระบบซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ในอนาคตและความสามารถของโปรแกรมเมอร์ เป็นไปได้ที่จะคัดสรรตำแหน่งงานร้อยแปดพันเก้าทุกประเภทมารองรับคนที่เหมาะสม ซึ่งผ่านการศึกษา ฝึกหัดแล้ว ผ่านการทดสอบพร้อมที่จะทำงานด้วยความรับผิดชอบได้


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 21:59
รัฐในอุดมคตินี้ต้องเป็นรัฐที่พึ่งตนเองได้ อาจเป็นการรวมตัวของประเทศต่างๆที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ต้องเป็นเพื่อนบ้านติดกันก็ยังได้ เพื่อเฉลี่ยทรัพยากร และเฉลี่ยผลผลิต ให้เกิดสมดุลย์ พลเมืองมีความสุขสบายตามอัตภาพ

ต้องไม่เอาอุปสงค์และอุปทานของรัฐในระบบทุนนิยมที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสวงหาสิ่งฟุ่มเฟือยมาบำรุงความสุขของปัจเจกชน แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา มาเทียบวัดกับความเจริญของรัฐในอุดมคตินะครับ เพราะคนในรัฐของรุ้งจะทำงานเท่าที่ความต้องการบริโภคกำหนดเท่านั้น เวลาที่เหลือ พลเมืองจะไปเล่นกิฬา ไปห้องสมุด ไปฟังดนตรี ไปดูโขนละคร ไม่ใช่ไปหาเงินกันบ้าระห่ำเพราะเจ้าหนี้บัตรเครดิตมันขยันทวงเหลือกำลัง  ถ้ารัฐในอุดมคติปฏิเสธระบบทุนนิยม ทุนหมุนเวียนก็แปรสภาพ จากกระดาษมาเป็นผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์คงคลัง ดังที่ท่านสิทธิพรทรงกล่าวว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ผมต้องแถมอีกหน่อยนึง “ทุกสิ่งทั้งสี่ปัจจัยเป็นของให้ฟรี”
พลเมืองจะได้รับการจัดสรรผลผลิตนี้อย่างยุติธรรม แม้จะต่างแบบต่างขนาดกันบ้างก็ตาม
 
แล้วประเทศจะพัฒนาไปทางไหน รัฐนี้คงจะไม่ปฏิเสธความเจริญทางวัตถุตราบเท่าที่มันทำหน้าที่สนองคุณภาพจิตใจของมนุษย์ด้วย รัฐนี้คงจะไม่กู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำผลผลิตที่จะส่งออกกลับไปขายให้เขาในราคาถูกกว่าที่เขาจะผลิตได้ในประเทศนั้น ได้กำไรมาแล้วก็ใช้หนี้ กว่าหนี้จะหมดพอดีได้เวลากู้ใหม่มายกเครื่องสิ่งที่ลงทุนไว้เดิมให้ทันสมัย จะได้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ เริ่มวงจรทาสอีกรอบหนึ่ง รัฐในอุดมคติของรุ้งจะทุ่มทำงานวิจัยและพัฒนาหาสิ่งที่เหมาะสมพอดีกับที่จำนวนพลเมืองและทรัพยากรในประเทศจะเอื้ออำนวยให้ทำการผลิตได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้เขา แต่เพื่อสำหรับบริโภคกันเอง และบำรุงความสุขให้ตามอัตภาพ หากเหลือก็จึงจะขายให้กับรัฐอื่น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 22:08
แต่ทว่า รัฐในอุดมคติของรุ้งมันจะเป็นจริงไปไม่ได้ เพราะเหตุผลเดียวคือกิเลศของมนุษย์ มนุษย์เต็มไปด้วยความโลภไม่มีอะไรสนองความต้องการได้ดีพอจนถึงที่สุด มนุษย์เต็มไปด้วยโทษะไม่ได้อย่างใจตนก็โกรธ มนุษย์เต็มไปด้วยโมหะคิดว่าตนเองดีวิเศษกว่าคนอื่น สุดท้ายมนุษย์ก็อยู่สุขไม่ได้นาน ต้องแก่งแย่งกัน ทะเลาะกัน ยกพวกตีกัน ไปถึงทำสงครามกัน ถ้าไม่รบกันเองเป็นสงครามกลางเมืองก็รบกับชนชาติอื่น หรือศาสนาอื่น

คนในประเทศของรุ้งปัจจุบันกำลังมีความทุกข์อันใหญ่หลวง เพราะกิเลศของมนุษย์ที่ประทุใกลัจะถึงขีดสุดเพราะขาดหิริโอตตัปปะนี่แล ถ้ารุ้งมีตัวตนจริงและเอาจิตเข้าไปผูกพันด้วย นักอุดมคติอย่างรุ้งก็คงจมอยู่ในทุกข์นั้นโดยไม่สามารถช่วยใครได้เลยแม้แต่ตนเอง สิ่งทีรุ้งอาจจะทำได้ด้วยสติปัญญาและประสพการณ์ก็คือ แทนที่จะเสนอวิธีการในทางโลก รุ้งควรจะเสนอธรรมะให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ของรุ้ง โดยยังไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มจีวร

ขอโอกาส ตัวแทนของรุ้งจะลองดู


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 22:13
                   ขนมหวานเป็นพ่อนๆ.......ไม่ชอบทาน

                    หินใสๆหลายเม็ด......ไม่ต้องการ

                    โต๊ะ เก้าอี้ใหม่.....ตัวเก่าก็ดีอยู่แล้ว

ผู้ที่มีพื้นฐานขนาดคิดดังนี้ได้ คือผู้ที่เห็นกิเลศหยาบๆในตระกูลโลภะได้ แล้วเกิดสติตัวจริงขึ้นมาตัดกิเลศนั้นได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความพยายาม อันนี้ก็ดีอยู่แล้ว

                       ข่มขู่........อหิงสา  อหิงสา  อหิงสา

                     กระสุน.....อหิงสา  อหิงสา  อหิงสา

                     ระเบิด.....อหิงสา  อหิงสา  อหิงสา

                    เสียแขน ขา.....อหิงสา  อหิงสา  อหิงสา

                    เสียชีวิต......อหิงสา  อหิงสา  อหิงสา

การที่คุณน้ำตาลนำตนเข้าไปพัวพันในเหตุการณ์ที่มีทีท่าว่าจะรุนแรง แล้วเกิดเรื่องไม่สบอารมณ์ขึ้นมา เป็นกิเลศตระกูลโทษะ แม้สติอาจเกิดและตัดโทษะไปในชั่วขณะนั้น แต่การที่ยังไม่นำตนออกไปจากเหตุการณ์ ก็จะเกิดสภาวธรรมซ้ำๆขึ้นมาอีกได้ และรุนแรงขึ้นขนาดสติไม่อาจตัดได้แล้ว ต้องพยายามกดข่มไว้ด้วยการบริกรรมคำว่าอหิงสา ซึ่งก็ช่วยได้เล็กน้อยแค่ไม่ทำให้คุณไปสร้างวิบากกรรมต่อด้วยการไปทำรุนแรงตอบโต้เขา แต่ก็หาได้ช่วยให้เกิดกุศลใดๆกับตนเองไม่ เคราะห์หามยามร้ายต้องเสียชีวิต จิตดับไปตอนที่ยังมีโทษะครอบงำอยู่ ก็ได้ไปเกิดในอบายแน่นอน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 22:28
เพื่อ..เป้าหมาย
เป้าหมายอะไรครับ

คนเรามีสองประเภท เอาตามที่รุ้งว่าก็คือ อินโทรเวิร์ตกับเอ็กซ์โทรเวิร์ต ในการต่อสู้ทางการเมือง พวกเอ็กซ์โทรเวิร์ตพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในขณะที่พวกอินโทรเวิร์ตจะใช้วิธีอหิงสา กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มจะปะปนไปด้วยคนทั้งสองประเภทนี้ อะไรมากอะไรน้อยเท่านั้นเอง แต่เมื่อถึงจุดแตกหักคราวใด ฝ่ายอหิงสามากจะเป็นฝ่ายที่เสียเลือดเนื้อ ถ้าจำนวนไพร่พลไม่มากพอจนเขาไล่ทำร้ายเท่าไรก็ไม่ไป ฆ่าก็ไม่หนี ก็จะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้

แล้วลองสังเกตุดูนะครับ ในการต่อสู้ระหว่างคนสองกลุ่ม จะมีตัวขุน คัวโคน ตัวม้าตัวเรือตัวเม็ด พวกเม็ดมากหน่อยเอาไว้แลกกันแทบจะหมดกระดาน ไม่ว่าจะฝ่ายอหิงสาหรือหิงสา ขุนจะตายเป็นตัวสุดท้าย ส่วนใหญ่แล้วไม่ทันได้ตาย เผ่นหนีก่อนตั้งแต่เสียโคนแล้ว แต่เอ๊ะ คุณเล่นหมากรุกเป็นหรือเปล่าไม่ทราบ พอจะบอกผมได้ไหม หมากกระดานนี้คุณเป็นตัวเม็ดหรือตัวอะไร?


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 22:31
อยากทราบว่า นี่คือการกระทำที่สูญเปล่าหรือเปล่าคะ เหมือนจะไม่เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคมแบบนี้เลย.

ถึงจะเป็นตัวเม็ดเอาไว้แลกเพื่อเปิดทาง ก็คงไม่ถึงกับสูญเปล่า แต่สิ่งที่สูญเสียไปจะคุ้มค่ากับการได้มาซึ่งเป้าหมายหรือเปล่า อันนี้ก็น่าคิด

ทุกครั้ง ผู้ชนะทางการเมืองก็ได้ดีใจในระยะสั้นๆ และแล้ว สัจธรรมเรื่องกิเลศมนุษย์ที่ผมว่าไปแล้วก็จะเป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมาอีก สถานภาพต่างๆล้วนเกิดขึ้น ดิ้นอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนกันหมดไม่มีข้อยกเว้น ต่างกันที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น ตอนมันดิ้นอยู่นี่ซีครับ เขาจะหลอกพวกเม็ดให้ไปเป็นทหารเลวตายก่อนพวกเขาทุกที


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ม.ค. 10, 22:34
แล้วสังคมที่น่าอยู่นั้นอยู่กันด้วยความฉลาดหรือคุณธรรมดี

คุณธรรมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดนะครับ ความฉลาดที่ไร้คุณธรรมสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นและจะถึงตนเองในลำดับถัดไป ในสังคมที่ทุกคนมีคุณธรรม แม้จะไม่ฉลาดนักก็คงดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขได้ จนกว่าคนเลวภายนอกจะเข้ามาข้องแวะด้วย แล้วโง่ให้เขาหลอกจนเกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ดังนั้น คนดีควรจะต้องพัฒนาตนเองให้ฉลาดด้วย จะได้ใช้เป็นเกราะป้องกันตนจากความเลวของผู้อื่น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 09:44
อ่านปุจฉา - วิสัชนา ด้วยความสนใจ และพอใจ
สาธุ

คุณรุ้งส่งตัวแทนมาแล้ว ตอบได้โดนใจ  เหมือนคุณรุ้งยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้  คอยตอบคำถามแฟนหนังสือได้
เป็นเหตุให้คำถามที่สอง ตามมา
**********************
ผู้อ่านอีกคนหนึ่งถามรุ้งว่า
คุณรุ้งครับ
ผมได้ข่าวผ่านทางตัวแทนคุณรุ้งว่า    เมื่อมีอายุมากพอสมควรแล้ว  คุณรุ้งอาจจะสละทางโลกหันเข้าหาทางธรรม
จึงอยากถามว่า คุณรุ้งจะรู้สึกขัดแย้งกับหลักธรรมบ้างหรือเปล่า   อย่างเช่นคุณรุ้งเคยเชื่อว่า " มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง      ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย" (ความฝันของนักอุดมคติ   พิมพ์ครั้งที่ ๙ หน้า ๑๗๘)

แต่พระพุทธเจ้า ท่านจำแนกมนุษย์ไว้เป็น ๔ เหล่า  เรียกว่า บัว ๔ เหล่า  ได้แก่
๑.พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
๒.พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปจิตัญญู)
๓.พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
๔.พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)

เมื่อคุณรุ้งเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง  อย่างนี้ แปลว่าพวกบัวใต้น้ำ ก็ยังมีคุณสมบัติเลิศได้ด้วยหรือครับ
ถ้าอย่างนั้น คุณสมบัติที่ว่า หมายถึงอะไร   หมายถึงทักษะ (skills)  ฝีมือ (talent)  หรือคุณธรรม (merit)   กันแน่?
โปรดวิสัชนา
 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 10, 13:40
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับที่ให้คะแนนยกที่1ผ่าน

ความเชื่อของรุ้งที่ว่า" มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง      ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย"  ตัวแทนของรุ้งก็ยังไม่เห็นว่า ความเชื่อดังกล่าวจะขัดแย้งกับพุทธวัจนะตรงไหน

พระพุทธเจ้าทรงจำแนกมนุษย์ไว้ตามระดับสติปัญญา โดยการเปรียบเทียบกับบัวในสระถึง4ระดับ ได้แก่บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ และบัวใต้โคลนตม อันนี้ทรงหมายเฉพาะสติปัญญาที่จะเข้าใจธรรมะขั้นปรมัต บัวพ้นน้ำได้แก่พระอรหันตสาวกทั้งหลายที่เข้าใจธรรมะที่พระองค์ทรงชี้แนะ และนำไปปฏิบัติจนหลุดพ้นได้ด้วยตนเองแล้ว บัวปริ่มน้ำและบัวใต้น้ำคือพวกที่ตื่นแล้ว และเข้าใจธรรมะมากขึ้นตามลำดับ ส่วนบัวใต้โคลนตมคือพวกที่ปฏิเสธ ไม่เชื่อ ไม่สนใจ ไม่ฟัง ไปจนถึงขนาดไม่รับรู้ดีชั่วอะไรทั้งสิ้น

ในโลกนี้ พวกบัวที่พ้นโคลนตมขึ้นมาได้ก็ยังมีน้อยนิดจนนับเป็นเปอร์เซนต์ไม่ได้ เมื่อเปรียบกับประชากรทั้งหมด ในเมืองไทยที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธก็เถอะ จะหาบุคคลที่มีวัตรปฏิบัติเป็นพุทธแท้สักกี่เปอร์เซนต์ คนส่วนใหญ่มักจะชอบไหว้ผี ไหว้สิ่งประหลาดเพื่อขอหวย พวกหนึ่งที่เข้าวัดไหว้พระก็เพื่อจะหนีความทุกข์ หวังว่าทำบุญแล้ว กุศลจะส่งผลตอบแทนให้พ้นทุกข์ด้วยความร่ำรวย คิดว่ามีเงินแล้วจะมีความสุข พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเช่นนั้น ท่านสอนให้รู้จักทุกข์ สอนให้รู้ว่าทุกข์เกิดเพราะเหตุใด สอนว่าทุกข์ดับเพราะเหตุใด และสอนว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อสร้างเหตุให้ทุกข์นั้นดับไปอย่างชั่วนิรันดร์ คำสอนนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมะแท้ๆเรียกว่าอริยสัจจ์ 4 มนุษย์เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะนี้ของพระพุทธองค์นี้แล้ว มีความเข้าใจ ใกล้จะเข้าใจ ยังไม่เข้าใจ สนใจ ไม่สนใจ อย่างไร รวมจำแนกได้เป็น 4 ระดับดังกล่าวแล้ว

บัวทั้ง4ระดับ จึงไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติในทางโลกๆของมนุษย์เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทักษะ (skills)  หรือฝีมือ (talent) ในด้านคุณธรรม (merit) อาจเกี่ยวบ้าง แต่มนุษย์ที่มีคุณธรรมสูง ทว่าฟังธรรมะเรื่องอริยสัจจ์แล้วสั่นหัวไม่เอาก็มีมากมายนับไม่ถ้วน พวกที่เก่งกาจในทางโลก เป็นคนดีศรีสังคม เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล มีผลงานเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนับอนันต์ แต่ด้วยความไม่รู้(ที่เรียกว่าอวิชชา)ไม่เข้าใจในอริยสัจจ์ พวกนี้ก็จะกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เผชิญกับความทุกข์แบบที่คนดีๆจะต้องเจอะเจอ ทำงานต่อสู้เพื่อผู้อื่นต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติไม่รู้จักจบจักสิ้น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 13:55
 
อ้างถึง
"มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง      ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย"


คุณสมบัติชั้นเลิศที่ว่า   รุ้งหมายถึงอะไรคะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 10, 20:14
คำถามสั้นๆ แต่ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านทั้งบริบท

“มนุษย์ทุกคน” รุ้งพูดช้าๆ “ย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขาไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย เฉพาะสมัยนี้ผู้ที่เขานิยมกันว่ามีคุณสมบัติสูงสุด กับมีคุณสมบัติต่ำสุดนั้นคล้ายกันมากที่สุด ผู้ร้ายใจฉกรรจ์กับตำรวจผู้สามารถ คนจรจัดกับนักปราชญ์ หรือคนมีบาปหนากับพระอรหันต์ เหล่านี้อาณาเขตของจิตใจอยู่ติดกัน คนอย่างพี่เธอคงเห็นแล้วว่าเป็นกบฏที่อาจเป็นรัฐมนตรี และเป็นขอทานที่อาจกลายเป็นเศรษฐี ฐานะของพี่ในปัจจุบันนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำทุกทาง และเกณฑ์สูงเป็นเพียงความฝัน…..”

รุ้งหมายถึงคุณสมบัติทั่วๆไปกระมังครับ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ (skills)  ฝีมือ (talent)  หรือคุณธรรม (merit) และอื่นๆ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกัน  ดังนั้นพวกบัวใต้น้ำใต้โคลนตมก็อาจมีคุณสมบัติชั้นเลิศเช่นนี้ได้  ลองมาดูตัวอย่างของรุ้งกัน

ผู้ร้ายใจฉกรรจ์กับตำรวจผู้สามารถ คุณสมบัติที่ว่าอาจจะเป็นดังที่ภาษานวนิยายเรียกว่า “ใจเพชร” เอาไปทำเป็นพระเอก หรือผู้ร้ายก็ได้ทั้งคู่

คนจรจัดกับนักปราชญ์  พวกนี้อาจมีคุณสมบัติทางสมองชั้นเลิศที่ล้ำหน้าคนทั้งปวงไปจนพูดให้เขาฟังไม่รู้เรื่อง หากเป็นเช่นนั้น ถึงเป็นนักปราชญ์ก็จะกลายเป็นคนจรจัดเอาได้ง่ายๆ

 
คนมีบาปหนากับพระอรหันต์  ผมยกตัวอย่างกรณีย์องคุลีมาลก็แล้วกัน ท่านมีพื้นฐานจิตใจดีมาก่อนแต่ถูกอาจารย์หลอกให้ไปฆ่าคน จึงไม่ถึงกับอยู่ใต้โคลนตมเพราะได้ฟังธรรมะจากพระโอษฐ์ก็ยอมรับฟัง ชั่วขณะจิตที่เข้าใจ ก็เข้าถึงการเป็นอรหันต์ ตัดเวรตัดกรรมทั้งหมด (แต่พระองคุลิมาลยังคงต้องรับผลวิบากจากการฆ่าเขาอยู่นะครับ ท่านไปไหนก็ถูกขว้างปาบาดเจ็บสาหัสตลอด สุดท้ายโดนโจรทุบจนแหลกเหลวทั้งร่างจึงได้นิพพาน)

ในบริบทนี้รุ้งไม่ได้คุยถึงการวัดความเหมาะสมในการจัดคนในรัฐอุดมคตินะครับ แต่กำลังโน้มน้าวความคิดของเด็กสาวผู้หนึ่ง ไม่ให้มาหลงรักตน ให้ยอมรับรักอีกบุรุษหนึ่งจะดีกว่า ตัวอย่างที่กล่าวมาจึงฟังเหมือนรุ้งประชดๆตนเองชอบกล
 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 20:34
ขอบคุณสำหรับวิสัชนาค่ะ     

ดิฉันเห็นด้วยว่ารุ้งกำลังกล่อมสมทรงให้รับรักผ่อง อย่ามาหลงรักเขา    บางทีคำพูดของรุ้งอาจหมายความว่า ผ่องเองก็มีอะไรดีไม่แพ้เขาเหมือนกัน

ความคิดของดิฉันแตกแขนงไปอีกทางหนึ่งหลังโพสต์คำถามแล้ว   แต่ยังไม่ตอบเอง  รอว่าคุณ N.C. จะเห็นว่าอะไร 

มนุษย์ทุกคน” รุ้งพูดช้าๆ “ย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง  
ทำให้นึกเลยไปถึงโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ   ทรงเลือกช่างศิลปาชีพจากเด็กยากจนที่สุดในหมู่บ้านต่างๆ  ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหัวทางช่าง    เพราะทรงเชื่อว่าคนไทยมีศิลปะอยู่ในสายเลือด สามารถฝึกฝนได้

แล้วก็เป็นความจริง    เด็กพวกนี้ ผลิตงานช่างที่งดงามเชิงศิลป์ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 20:50
เล่าเรื่อง ต่อ
อุไรวรรณเล่นเปียโนให้สามีและลูกฟังเสมอ     อำนวยผู้แวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆก็ได้ฟังด้วย    เขาสนทนากับรุ้งเรื่องดนตรี
ซึ่งรุ้งเชื่อว่า กวีมักเป็นผู้ไม่รู้รสดนตรี   
เมื่อรุ้งนำไปคำนึงก็เห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยา     ซึ่งปรากฏว่ามนุษย์บางพวกคิดด้วยวิธีนึกเห็นภาพ      และบางพวกคิดด้วยวิธีนึกได้ยินเสียง    พวกแรกนั้นถ้าใครเล่าเรื่องให้เขาฟัง    เขาต้องนึกเห็นภาพตามคำเล่านั้นได้   มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเลย   แต่พวกหลังต้องนึกได้ยินเสียง    พวกหลังนี้ที่มีประสาทไวอย่างสูงสุด  ก็คือนักดนตรี     และพวกแรกที่มีประสาทไวก็คือพวกนักประพันธ์และกวี (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ หน้า ๑๑๕)

ความคิดของรุ้งนี้ ดิฉันได้แต่ตีความแบบนี้

สมมุติใครบรรยายเรื่องทะเลให้สุนทรภู่ฟัง โดยท่านไม่เคยไป   ท่านก็จะแปรจินตนาการออกมาเป็นภาพ  บรรยายออกมาเป็นกลอน  (อย่างที่หาอ่านได้ในกระทู้ชาติพันธุ์วรรณาในพระอภัยมณี)
แต่ถ้าใครบรรยายเรื่องทะเลให้ครูเอื้อ สุนทรสนานฟัง   โดยท่านไม่เคยไป   ท่านก็จะแปรจินตนาการออกมาเป็นทำนองเพลง "พรานทะเล"
รุ้งเห็นว่า ประสาทของครูเอื้อ ไวกว่าสุนทรภู่    ส่วนอำนวยถามว่า
" ทำไมคุณถึงเห็นว่าการได้ยินเสียง เป็นประสาทที่ไวกว่าเห็นด้วยตา    และสอง  มีหลักการอะไรที่ทำให้เชื่อตามนั้นได้"

รุ้งก็คงจะตอบผ่านตัวแทนของเขา      ;D
ส่วนดิฉัน ยังไม่เชื่อรุ้งในข้อนี้  แต่ยินดีจะเปลี่ยนความคิด  ถ้ามีเหตุผลมากพอ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 10, 21:07
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ คุณสมบัติชั้นเลิศนี้สามารถสร้างให้เลิศยิ่งๆขึ้นไปได้อีกถ้าถูกสอน ถูกฝึกอบรมอย่างถูกวิธีในขณะที่เด็กกำลังพัฒนาขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติที่จะเป็นทางที่เขาจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆในการทำมาหาเลี้ยงชีพในอนาคต

เด็กในโครงการศิลปาชีพเป็นตัวอย่างที่ดี หากคนมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเรียนรู้ฝึกฝนนั้น ก็จะตั้งมั่นมีสมาธิ ผลงานที่ได้ก็จะเป็นผลงานที่ดีขึ้นๆ รัฐควรจะน้อมเกล้าฯเอาสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าทรงริเริ่มไว้ ไปต่อยอดขยายผล แต่ต้องทำอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเงินและการตลาดด้วย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 10, 22:05
"เพราะดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์"

ตรงนี้ตัวแทนของรุ้งขอมั่วเอาคำของอุไรวรรณที่กล่าวตอบรุ้ง ว่าทำไมความสามารถในทางประพันธ์จึงเป็นเหตุขัดขวางให้รู้รสดนตรี เพลงที่มีความไพเราะห์ด้วยตัวของมันเอง ถ้าใส่เนื้อร้องลงไปเมื่อไร ก็เป็นการทำลายคุณค่าเมื่อนั้น

ตรงนี้ผมเห็นใจอุไรวรรณนะครับ นักดนตรีมีโสตสัมผัสที่ละเอียดอ่อนไม่เหมือนใคร มิฉะนั้นบีโธเฟนจะแต่งซิมโฟนีหมายเลข9ยามที่หูหนวกสนิทได้หรือ นักดนตรีฟังเพลงหนี่งแล้ว บางคนจะหลับตาเห็นไปทั่วท้องฟ้ามหาสมุทรสุดจักรวาล แต่พอกวีเอาเนื้อร้องไปลงบรรยายชมจันทร์ แม้จะซาบซึ้งตรึงจิตเพียงใด ก็เท่ากับไปล้อมกรอบมโนภาพของเขาไว้แค่นั้นเอง เขาย่อมไม่ชอบแน่

ส่วนรุ้งน่ะ เออออห่อหมกไปด้วยเพราะเห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยาที่รุ้งศึกษาผ่านตา ตามเนื้อความที่ท่านอาจารย์ยกมา ตัวแทนของรุ้งไม่ทราบหรอกครับว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอนเรียนชั้นมัธยมก็สอบวิชาชีววิทยาตก แต่ถ้าถามหลักการว่าทำไมจึงเชื่อ ไม่ทราบว่าที่วิสัชนาไว้ข้างบนจะพอรับได้หรือเปล่า

ส่วนในเรื่องสมมตินั้น ถ้ามีคนบรรยายเล่าเรื่องทะเลเรื่องเดียวกัน พร้อมกัน ให้คนสองคนฟัง คนหนึ่งเป็นกวี อีกคนหนึ่งเป็นคีตกวี เป็นทะเลอันตาร์กติก ไม่เคยไปเคยเห็นด้วยกันทั้งคู่ แต่ผลิตผลงานจากความบรรดาลใจมาเสนอผู้ชมจนได้ เราเสพย์แล้วก็ต้องให้ค่าก่อนซีครับ ว่าของใครโดนใจ รู้สึกหนาวเหน็บขึ้นมากว่ากัน

ผมว่ารุ้งคงไม่กล้าลงความเห็น ไม่ว่าจะโดยหลักชีววิทยาหรือหลักใดก็ตาม ว่าครูเอื้อประสาทไวกว่าสุนทรภู่ เพราะครูเอื้อเป็นนักดนตรี สุนทรภู่เป็นกวี ต้วแทนของรุ้งคงไม่ต้องให้ปากคำในเรื่องนี้นะครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 10, 22:14
ข้อนี้คงจะมองต่างมุมจากคุณอุไรวรรณ เสียหน่อยว่า
ทั้งดนตรีและกวีนิพนธ์  จะว่าเป็นภาษาของมนุษย์  ทั้งสองอย่างก็เป็นภาษามนุษย์  เพราะมนุษย์สร้างขึ้นทั้งสองอย่าง   ไม่ใช่อะไรที่ลอยลงมาจากท้องฟ้า หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ถ้าถือว่าเป็นภาษาสวรรค์ ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่   เพราะมนุษย์ที่จะแต่งได้ คือคนที่เราเรียกกันว่ามีพรสวรรค์    ไม่ใช่ใครอยากแต่งก็แต่งได้   หรือเรียนจบหลักสูตรก็ทำได้ เหมือนเรียนวิชาชีพ
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของตัวแทนคุณรุ้ง ก็มีน้ำหนัก หนักแน่นเอาการ

คำถามจากคนอ่าน ต่อคุณรุ้ง อีกข้อคือ
ที่คุณรุ้งเห็นว่า  "รัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ท (หน้า ๑๕๖)"
วันเวลาก็ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน      ความคิดนี้ยังใช้ได้สำหรับการเมืองทุกวันนี้หรือเปล่า ว่า มันควรจะเป็นเช่นนั้น ถึงจะมีอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 10, 06:44
ตามอ่านการสนทนาของคุณ Navarat. C . ใน คคห ๘๑ และ คคห ๘๒ ของคุณเทาชมพู
ประทับใจ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 09:10
อ้างถึง
ตามอ่านการสนทนาของคุณ Navarat. C . ใน คคห ๘๑ และ คคห ๘๒ ของคุณเทาชมพู
ประทับใจ
ขอบคุณค่ะ  :-[ :-[ :-[

คุณวันดีหายไปหลายวันนะคะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 10, 10:21
สวัสดีครับท่านทั้งสอง ขอบพระคุณที่เห็นว่ามีสาระประโยชน์นะครับ

อ้างถึง
ข้อนี้คงจะมองต่างมุมจากคุณอุไรวรรณ เสียหน่อยว่า
ทั้งดนตรีและ กวีนิพนธ์  จะว่าเป็นภาษาของมนุษย์  ทั้งสองอย่างก็เป็นภาษามนุษย์  เพราะมนุษย์สร้างขึ้นทั้งสองอย่าง   ไม่ใช่อะไรที่ลอยลงมาจากท้องฟ้า หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ถ้าถือว่าเป็นภาษาสวรรค์ ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่   เพราะมนุษย์ที่จะแต่งได้ คือคนที่เราเรียกกันว่ามีพรสวรรค์    ไม่ใช่ใครอยากแต่งก็แต่งได้   หรือเรียนจบหลักสูตรก็ทำได้ เหมือนเรียนวิชาชีพ

ตรงนี้ ตัวแทนของรุ้งเห็นด้วยครับ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์สร้างมันขึ้นมาทั้งคู่ เป็นเพียงสำบัดสำนวนเท่านั้นที่กล่าวว่า "เพราะดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์"  และเกิดจากรสนิยมของคนกล่าวเองด้วย  เรื่องรสนิยม คนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งโลก ไม่มีใครถูกใครผิดกว่าใคร มันไม่ใช่เรื่องของความดีหรือความชั่วที่ต้องชี้กันให้ขาด

คำร้องกับดนตรีที่เสริมกันก็มีถม ยกตัวอย่าง
ผมขอยกบทพระราชนิพนธ์ สยามานุสติ  ของล้นเกล้าฯ ร.6
“หากสยามยังอยู๋ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
…..ฯลฯ ..”

ถ้าอ่านเป็นทำนองเสนาะของโคลงสี่สุภาพ
เราจะได้อารมณ์หนึ่ง

พอฟังทำนองดนตรีที่แต่งโดยครูนารถ ถาวรบุตร บรรเลงโดยวงโยธวาฑิต
ก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง

ครั้นทุกคนร่วมเปล่งเสียงร้องเนื้อนั้นตามวงดนตรีไปด้วย
ก็จะได้อีกอารมณ์หนึ่งที่แตกต่างออกไปโดยชัดเจน
และเป็นชนิดอารมณ์ตรงกับจุดมุงหมายด้วย

รู้สึกเหมือนผมไหมครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นเพลงนี้ไม่ว่าภาษาสวรรค์หรือภาษามนุษย์  ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่  ดังที่ท่านอาจารย์ว่า


และในฐานะที่เป็นตัวของผมเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ใด ผมลองศึกษาตนเองในเรื่องนี้ดู อยากจะขอแสดงเป็นทัศนะเฉยๆ

ผมจำได้ว่า เวลาที่ผมได้ยินเพลงอะไรก็ตามเป็นครั้งแรก แล้วนึกชอบ ผมจะนึกทำนองได้ก่อนเนื้อร้อง โดยเฉพาะท่อนที่โดนใจ เนื้อร้องนั้นแม้จะดูเหมือนจำได้พร้อมๆกัน แต่ถ้าดูละเอียดลงไป จะเห็นว่าทำนองจะมาก่อนเสมอ

ไม่ทราบว่าคนอื่นๆจะเป็นเหมือนผมหรือเปล่า อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ และไม่ว่าจะสรุปเช่นไร ก็คงไม่ได้หมายความว่า ใครแน่กว่าใครด้วย



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 10, 10:24
อ้างถึง
คำถามจากคนอ่าน ต่อคุณรุ้ง อีกข้อคือ
ที่คุณรุ้งเห็นว่า  "รัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ท (หน้า ๑๕๖)"
วัน เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน      ความคิดนี้ยังใช้ได้สำหรับการเมืองทุกวันนี้หรือเปล่า ว่า มันควรจะเป็นเช่นนั้น ถึงจะมีอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่


ตัวแทนของรุ้งไปเปิดที่รุ้งเขียนไว้แล้วคัดเอามาว่า

 “พวกอินโทรเวอร์ททำงานเพื่ออุดมคติ เมื่อเห็นผลงานที่ตนทำก็ชื่นใจ จึงพยายามทำผลงานให้ได้ดีที่สุด ส่วนพวกเอกซ์โทรเวอร์ท ทำงานเพื่อความสรรเสริญ เขาจึงพยายามแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ รวมความว่าคนทั้งสองประเภทชอบทำงาน และแสวงหางานที่ตนถนัดที่สุด”

เมื่อคำจำกัดความเป็นเช่นนั้นรัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ทก็น่าจะเป็นเช่นนั้นตามความคิดแบบอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในยุคโน้นหรือยุคปัจจุบัน

แต่ในความเป็นจริงพวกอินโทรเวอร์ทจะผ่านการเลือกตั้งเข้ามาในสภายากกว่าเอกซ์โทรเวอร์ท เพราะธรรมชาติในการหาเสียงจะกำหนดพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ในเวทีการเมืองพวกอินโทรเวอร์ทเปอร์เซน์สูงๆ(ทุกคนมีคุณสมบัติที่ผสมกันระหว่างอินโทรเวอร์ทและเอกซ์โทรเวอร์ท) แม้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้ ก็มีโอกาสแย่งชิงโควต้าให้พรรคเลือกขึ้นมาเป็นรัฐมนตรียากมาก เพราะไม่ชอบการแข่งขันเท่าไหร่ ถ้าเขาไม่เอาเทียบไปเชิญมาให้เป็นเพราะเห็นคุณสมบัติอันเอกอุ พวกนี้จะรับบทเป็นนักวิชาการ นักวางแผน หรือคิดร่างกฏหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเสนอเข้าสู่สภา พวกที่เด่นดังในพรรคจะเป็นพวกเอกซ์โทรเวอร์ท พวกนี้ชอบเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ อยากมีตำแหน่งหน้าตา ยอมทนแรงเสียดทานเพื่อให้ถึงตำแหน่งสูงๆ ประชาชนทำได้เพียงภาวนาให้พวกเขาเหล่านั้นมีเปอร์เซนต์ของอินโทรเวอร์ทสูงๆหน่อยแม้ว่าจะไม่มากเท่าตัวเอกซ์โทรเวอร์ทก็ตาม



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 11:11
จะอินโทรเวิร์ทหรือเอกซโทรเวิร์ท  ถ้าหากว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น   และต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตน   ก็ทำงานได้ดีทั้งนั้นค่ะ
ความคิดของรุ้ง ดีอยู่อย่างหนึ่งคือเขานำเสนอชัดเจนว่า...นี่คือความคิดของเขา   ไม่ได้ผูกขาดว่าข้อเท็จจริงต้องเป็นอย่างนั้น  ใครก็แย้งไม่ได้
เป็นนิยายของไทยน้อยเล่มที่อ่านแล้วต้องคิด  ไม่ใช่คิดตาม แต่คิดแย้ง  เพื่อนำไปสู่การรับรู้ ทบทวนและแตกแขนงความคิดให้กว้างออกไป
********************
เล่าเรื่องต่อ
 
รุ้งเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือพิมพ์อย่างเงียบๆ แต่กว้างขวาง    เพราะเขาไม่ประสงค์จะทำตัวเป็นจุดเด่น     ถึงกระนั้นความคิดของเขาก็แพร่หลาย ในฐานะปัญญาชนคนสำคัญของสยาม
ผู้อ่านชาวต่างประเทศเขียนมาหารุ้งอย่างสม่ำเสมอ    หลายคนแสดงความทึ่งและยอมรับนับถือคนไทยที่มีความคิดกว้างขวางระดับสากล
อำนวยก็นำลงในหนังสือพิมพ์ "ผดุงวิทยา ใหม่" อย่างภาคภูมิใจ

รุ้งมองเห็นการกลับคืนอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม     เช่นเดียวกับมองเห็นความคิดของนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ หลังสงคราม ที่กระตือรือร้นต่อความคิดใหม่ๆทางการเมือง
หลังสงคราม เผด็จการฟาสซิสม์ ดับสูญไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์และฝ่ายอักษะ     แต่ระบอบการปกครองใหม่ที่ฉายแสงขึ้นมาในเอเชีย คือระบอบคอมมิวนิสม์
บางอย่าง คล้ายความคิดของรุ้ง    คือมุ่งหวังให้ประชาชนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของรัฐ     ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างระบบทุนนิยม



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 10, 12:58
ขอประทานโทษครับถ้าเข้ามาขัดจังหวะ ไม่ทราบว่าท่านผู้ประพันธ์ภาค2จะวางแนวไปให้รุ้งถูกสันติบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์จับเข้ากรุข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกหรือเปล่า ตัวแทนของรุ้งจึงขอทำหน้าที่ปกป้องรุ้งไว้ก่อน

รุ้ง ไม่นิยมระบอบคอมมิวนิสม์ เขากล่าวว่า “ลัทธิคอมมิวนิสม์คือการกดขี่ชนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกร โดยหัวหน้ากรรมกร”

บางอย่างอาจคล้ายความคิดของรุ้ง    คือมุ่งหวังให้ประชาชนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของรัฐ     ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  แต่รัฐคอมมิวนิสม์จะเป็นรัฐในอุดมคติไม่ได้ถ้าต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิวัติล้มล้างชนชั้น เอาไปกำจัด หรือเข้าค่ายกักกันสัมมนาอย่างทารุณให้ยอมรับแนวความคิดของหัวหน้าคอมมิวนิสต์

การทำงานเพราะถูกบังคับนั้น ไม่มีทางบรรลุผลได้ จึงเห็นได้ว่ารัฐที่เป็นคอมมิวนิสม์ทั้งหลายจึงหนีความล่มสลายด้วยการยอมให้ประชาชนสร้างผลผลิตด้วยแรงจูงใจ ตรงนี้ก็ล่อแหลมกับผลที่จะตามมาไม่ต่างกับประเทศทุนนิยม พวกเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์มากมาย ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากมาเฟียเก่า หรือมีเสันสายเป็นบุคคลสำคัญในชนชั้นปกครองที่คอร์รัปชั่น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจน เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงขึ้นในสังคมเหมือนเดิม

รัฐในอุดมคติของรุ้งมิได้ปฏิวัติสังคมด้วยอำนาจปืน แต่เป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (คำๆนี้ทันสมัยในยุคของรุ้ง แต่เดี๋ยวนี้ฟังดูเหมือนอะไรสักอย่างที่มันปลอมๆ เช่นพวกพลาสติกทั้งหลายเป็นต้น)

วิทยาศาสตร์ในแนวคิดของรู้งดูคล้ายจะเป็นอารยะธรรมใหม่ ที่เกิดขึ้นหลังหายนะที่นักการเมืองบ้าอำนาจทำให้สังคมล้มสลายไปแล้ว มนุษยชาติจำเป็นต้องแสวงหาระบอบการปกครองที่ดีกว่าแล้วมาปิ๊งเอากับกระบวนการบริหารจัดการขององคาพยพในร่างกายมนุษย์ แต่การบริหารจัดการสังคมจะต้องใช้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือกประชากรว่าใครเหมาะจะทำหน้าที่อะไร ซึ่งเขาจะเต็มใจกระทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อสิ่งตอบแทนที่เขาพอใจและภูมิใจ

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้จะจำแนกมนุษย์ตั้งแต่เป็นทารก ว่าเหมาะที่จะทำหน้าที่ส่วนไหนในอวัยวะของสังคม แล้วหล่อหลอมด้วยการศึกษา ฝึกหัดให้เขาเป็นเอตะทักคะในทางนั้น เมื่อถึงวัยก็จัดหางานให้ ฟังดูห่างไกลฝีมือมนุษย์  แต่สมัยนี้น่าเชื่อว่าถ้าเอากันจริงๆ ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ในอนาคตคงจะเป็นตัวช่วยมนุษย์ได้มาก

แต่ถึงอย่างไรรัฐในอุดมคติใดๆก็เกิดขึ้นไม่ได้ หากกิเลศของมนุษย์ยังหนาอยู่  ถึงจุดนี้ต้องยอมแพ้ เพราะแม้แต่หมู่สงฆ์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านยังกำจัดกิเลศพระไม่ได้หมดทุกองค์

แต่จะหาว่าเป็นความคิดที่เพ้อฝันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรตำหนิรุ้ง อันที่จริงระบอบการปกครองทุกอย่างในโลกนี้ คนที่คิดขึ้นมาล้วนแต่เป็นนักอุดมคติทั้งนั้น ทุกคนเล็งผลเลิศที่มองความสุขความเจริญของสังคม ไม่ได้คิดจะให้ใครถูกใครเอาเปรียบ แต่ที่ไม่บรรลุจุดหมายตามอุดมการณ์ที่วางไว้ ก็เพราะกิเลสมนุษย์เป็นตัวแปรทั้งสิ้น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 13:19
อ้างถึง
ขอประทานโทษครับถ้าเข้ามาขัดจังหวะ ไม่ทราบว่าท่านผู้ประพันธ์ภาค2จะวางแนวไปให้รุ้งถูกสันติบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์จับเข้ากรุข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกหรือเปล่า ตัวแทนของรุ้งจึงขอทำหน้าที่ปกป้องรุ้งไว้ก่อน
คุณตัวแทนรุ้งเห็นดิฉันเป็นครูไหวใจร้ายไปได้    ใครจะยอมให้พระเอกเข้าคุกได้ลงคอ       ในภาค 2 รุ้งแค่เฉียดๆพอให้คนอ่านได้ลุ้นระทึกเท่านั้น

มีคุณตัวแทนเข้ามาเล่าต่อก็ทำให้คนแต่งสบายไป 8 อย่าง  ไม่ต้องเขียนอะไรมาก
*****************
ชีวิตครอบครัวเล็กๆของรุ้ง เป็นไปอย่างผาสุก       ความสุขจากภรรยาและลูกชายที่เติบโตขึ้นจากเด็กทารก มาเป็นเด็กนักเรียนอนุบาล     ช่างพูดและช่างซักถาม ทำให้รุ้งมีความสุขมาก   
เขารู้สึกราวกับเห็นภาพเขาเมื่อวัยเยาว์ หลอมรวมกับภาพวัยเยาว์ของอุไรวรรณ  กลายมาเป็นเด็กชาย...

กำลังจะตั้งชื่อให้รุ้งจูเนียร์     นึกไม่ออก    คุณตัวแทนรุ้งพอจะช่วยได้ไหมคะ
เรื่องจะได้เดินถึงกบฏสันติภาพเสียที


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 10, 13:39
คุณครูคับ

ผมขออนุญาตไปห้องน้ำคับ

คืนนี้จึงจะกลับคับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 17:20
ระหว่างรอชื่อรุ้งจูเนียร์    ขอเล่าปูพื้นไปพลางๆก่อน

ปี ๒๔๙๑  เป็นปีแห่งการจดจำรำลึกอีกปีหนึ่งของรุ้ง     มีเหตุการณ์ดีที่สุดและร้ายที่สุด เกิดขึ้นพร้อมกัน    เหตุการณ์ดีที่สุดคืออุไรวรรณได้มอบของขวัญล้ำค่าที่สุดในชีวิต ให้สามี  คือทารกน้อยเพศชาย ทำให้ชีวิตรุ้งมีความหมายเต็มเปี่ยม
ส่วนเหตุการณ์ร้ายที่สุดคือการปฏิวัติที่ทำให้จอมพลป. กลับมามีอำนาจในการบริหารประเทศอีกครั้ง
เป็นอันว่าความฝันของนักอุดมคติ ก็ล่องลอยถอยห่างออกไปอีกครั้ง ที่จะเห็นสยามมีระบอบประชาธิปไตย   แต่วุฒิภาวะทำให้รุ้งทำใจได้ที่จะตั้งอยู่ในอุเบกขา  ทำหน้าที่ปัญญาชนของเขาไป โดยไม่ต้องเสี่ยงที่จะกีดหน้าขวางตาผู้มีอำนาจอย่างเมื่อก่อน

รุ้งได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบตามแนวอหิงสา   มาจนถึงพ.ศ. ๒๔๙๕    ล่วงมาถึงปลายปี  อากาศกำลังหนาวเย็นในพระนคร    ความร้อนจัดทางการเมืองก็ปะทุขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์กวาดล้างผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาล อีกครั้ง
เรียกกันว่า กบฏสันติภาพ

กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ว่าได้จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน
ด้วยเหตุผลว่า
 "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

การจับกุม มีเป็นระลอก   ข้ามปี มาจนกลางปี พ.ศ. 2496  แม้แต่พระภิกษุบางรูปก็ถูกจับสึกเพื่อรับโทษ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 20:52
รุ้งติดตามความเคลื่อนไหวของการเมืองระหว่างประเทศมาหลายปีแล้ว     พื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยมทำให้เขามีเพื่อนฝูงชาวยุโรปและเอเชียด้วยกันหลายคน ติดต่อส่งข่าวถึงกันอยู่เสมอ
รุ้งมองเห็นมหาอำนาจที่เกิดใหม่จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือสหรัฐอเมริกา  แผ่ขยายอำนาจมาทางเอเชีย-แปซิฟิก     กลายเป็นลูกพี่ใหญ่ที่ประเทศในเอเชียไม่มีทางหลีกเลี่ยง นอกจากให้ความร่วมมือ
สงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้   อเมริกาก็เข้าสนับสนุนฝ่ายใต้     รัฐบาลไทยส่งทหารไปร่วมรบในฐานะมิตร   ทำให้ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็รวมตัวกัน ชื่อว่า " คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย" มีปัญญาชนอย่าง นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ
คณะกรรมการสันติภาพ เรียกร้องอย่างสงบ ให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีนเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี
การปราบปรามจับกุม ก็เรียกว่ากวาดล้างระลอกใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เกิดขึ้นอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อำนวย เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคณะกรรมการสันติภาพ   ในเรื่องต่อต้านสงคราม    แต่เขาก็เห็นเช่นเดียวกับรุ้ง คือไม่นิยมระบอบคอมมิวนิสม์    จึงปฏิเสธคำเชิญไปประชุมในจีน
รุ้งเอง ก็เห็นอย่างที่คุณตัวแทนรุ้งบอกไว้ในค.ห. ก่อนนี้ คือไม่เห็นด้วยกับระบอบคอมมิวนิสม์   รุ้งเขียนไว้ชัดเจนว่า ลัทธิคอมมิวนิสม์คือการกดขี่ชนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกร โดยหัวหน้ากรรมกร

นักเขียนหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ที่เดินทางไปประชุมในจีน  ถูกรวบตัวกันเป็นทิวแถว  เช่นกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)  อารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร  สุภา ศิริมานนท์ เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น  อุทธรณ์ พลกุลบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ  แสวง ตุงคะบริหาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร  บุศย์ สิมะเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย  นายฉัตร บุณยศิริชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ  สมุทร สุรักขกะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์  สมัคร บุราวาศ  เปลื้อง วรรณศรี และอีกหลายคน

บรรดาปัญญาชนอื่นๆที่คัดค้านรัฐบาล ก็โดนเข้าในข้อหาเดียวกัน  เช่น มารุต บุนนาคประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ลิ่วละล่อง บุนนาค ผู้นำนักศึกษา  สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร), สุพจน์ ด่านตระกูล  และคนอื่นๆอีกมาก   หลายคนที่ถูกจับกุม รวมผู้ที่เลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสม์   จนร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย

ผู้ถูกจับกุมนี้  เรียกกันว่า "กบฏสันติภาพ"

อำนวยและรุ้งถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบสวน   แต่ในเมื่อมีหลักฐานลงหนังสือพิมพ์ ผดุงวิทยา ใหม่ ว่ารุ้งเคยเขียนว่าไม่เห็นด้วยกับระบอบคอมมิวนิสม์     ทั้งสองก็ถูกปล่อยตัวหลังจากถูกสอบสวนครั้งเดียว
และได้รับคำขอบใจจากอธิบดีตำรวจด้วย ว่า
" ขอบคุณมากที่ร่วมมือให้ปากคำด้วยดี   ผมยินดีที่ทราบว่าคุณไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์"
" ผมไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ หรือฟาสซิสต์ หรืออะไรทั้งสิ้น "รุ้งตอบ " ผมแน่ใจว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็มี   แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์โดยอัตโนมัติ"
อธิบดีตำรวจตอบด้วยเสียงขึงขัง
" พวกคอมมิวนิสต์ ต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตย    พวกนี้ต่อต้านรัฐบาล ถ้าไม่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ จะให้เรียกว่าอะไร"

รุ้งเรียกว่า คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง      คนที่ต่อต้านรัฐบาลและเป็นคอมมิวนิสต์ก็มี  คนที่ต่อต้านแต่ไม่คิดจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็มีอีกเหมือนกัน
แต่เขาก็รู้ดีว่า พูดให้นายตำรวจใหญ่ฟังไปก็เท่านั้น   ดีไม่ดี เขาอาจจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปทั้งๆไม่เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสต์    อะไรก็เกิดได้เสมอในยุคนั้น
เขาก็ได้แต่ยิ้ม ไม่พูดอะไรอีก  


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ม.ค. 10, 08:12
ผู้ต้องหาที่สันติบาลเชิญตัวไปตั้งข้อหากบฏสันติภาพในภาพข้างล่างคือกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา "ศรีบูรพา" อันอุโฆษ

ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นของแถม คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ตำรวจเอาตัวไปเขย่าขวัญ พร้อมๆกับนายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตแทนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม คู่รักคู่อริทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่หนีไปอยู่เมืองจีนก่อนหน้าหลายปีในคดีกบฏวังหลวง ทั้งคู่โชคไม่ดีเท่ารุ้งเพราะอธิบดีกรมตำรวจกักขังไว้ถึง84วัน ก่อนที่จะจำใจปล่อยเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 22:23
คดีกบฏสันติภาพ  อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย   ได้รับโทษมากน้อยต่างกันไป
บางคนก็เจอเข้าหนักๆ  ศาลได้พิพากษาจำคุก 10 ปีขึ้นไป   บางราย 20 ปี
ได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ใน พ.ศ. 2500

ทุกคนในกบฏสันติภาพ ล้วนเป็นเพื่อนฝูงในแวดวงหนังสือพิมพ์   รุ้งรู้จักดี 
ในเมื่อสยามมีผู้บริหารประเทศ ที่มีนโยบายกวาดล้างจับกุมผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล   รุ้งก็ทำหน้าที่แค่ผู้สังเกตการณ์สังคมไทย  ด้วยเสียงถอนใจยาวอยู่หลายครั้ง   
เขาตระหนักว่า อุดมคติที่เขามีตั้งแต่ยังหนุ่ม   จนบัดนี้เวลาผ่านไปหลายปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าไปใกล้แม้แต่หนึ่งก้าว
จริงอย่างที่รุ้งคิด    ยุคสมัยที่สองของจอมพล ป. ยาวนานถึง  9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ  กบฏวังหลวง  กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย
จึงได้รับฉายาว่า "นายกฯตลอดกาล"
ตลอดเวลา ๙ ปี  รุ้งเคยรู้สึกอยู่หลายครั้งว่าอุดมคติของเขา ก็อาจเป็นเพียงความฝันเท่านั้น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 22:38
ตอนต่อๆไป จะมาถึงยุค ๑๔ ตุลา ๑๖   รุ้งจูเนียร์เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว   เข้าเรียนมหาวิทยาลัย   ก็น่าจะมีชื่อจริงเสียที
ไม่รู้ว่าหลวงพ่อ N.C. ท่านจะเจิมชื่ออะไรให้  รอลุ้นชื่ออยู่ค่ะ

ชื่อผู้ชายสมัยรุ้ง  สมัยนี้มีแต่เป็นชื่อผู้หญิง  ผู้ชายสมัยนั้นเขาก็ชื่อกันหน้าตาเฉย   ไม่มีใครเห็นว่าแปลก  ไม่ว่ารุ้ง หรือ ผ่อง   หรือกุหลาบ (สายประดิษฐ์)  ทำให้คนเขียนภาค ๒ ตั้งชื่อได้ยากมาก

ป.ล.จะให้รุ้งจูเนียร์ชื่อ "สายรุ้ง"  (แปลว่าเชื้อสายของรุ้ง  ไม่ได้แปลว่า rainbow)  อ่านแล้ว ผู้อ่านยุค 2010 อาจจะเห็นสีสันสเปคตรัม   พรรณรายเกินเหตุ    ไม่สมกับความล่ำสันทะมัดทะแมงของตัวละครเอกฝ่ายชาย  จึงของดชื่อนี้ไว้โดยไม่มีกำหนด


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ม.ค. 10, 07:07
ตัวแทนของรุ้งก็ต้องขอตัว

ขอประทานอภัย ให้ท่านอาจารย์ตั้งให้เขาเองจะดีกว่ามั้งครับ
รู้สึกเขินเต็มกำลัง 
เดี๋ยวนี้ จะตั้งชื่อให้ใครต้องทราบวันเดือนปีเกิด

ถ้าจะให้ดีต้องขอทราบทั้งของบิดามารดาด้วย
ต่อจากนั้น ต้องใช้เวลาอีกสักเดือนหนึ่งที่จะหาชื่อประหลาดๆไม่ซ้ำกับชื่อบุคคลทั้งหลายที่มีอยู่แล้ว และมีอักษรผสมที่นำมาจากชื่อบิดามารดาเฉพาะอักษรที่เป็นมงคล แต่ต้องมีศรีนำหน้าเดชจึงจะใช้ได้

บางทีเดือนหนึ่งแล้วยังหาที่ถูกใจไม่ได้ ก็ต้องผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ
เกรงว่ากระทู้นี้จะรอไม่ได้น่ะซีครับ
กว่าตัวแทนของรุ้งจะคิดออกอาจจะเป็นช่วงกลางๆของตอนที่3 ซึ่งเป็นภาคสวรรค์
หลังจากที่รุ้งและอุไรวรรณที่ได้กลิ่นดอกปาริชาตแล้วทั้งคู่จึงนึกถึงลูกขึ้นมาได้ว่าชื่ออะไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 20:23
ระหว่างรอปาริชาติบาน      ก็ขอเล่าถึงเหตุการณ์บ้านเมืองผ่านมุมมองของรุ้งไปพลางๆก่อน

ล่วงถึงพ.ศ2500  คนไทยเตรียมฉลองกึ่งพุทธกาลกันเป็นงานใหญ่   พร้อมกับเหตุการณ์ใหญ่ทางการเมืองซ้อนขึ้นมา คือการเลือกตั้งทั่วไปที่ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

อำนวยสรุปให้รุ้งฟังว่า
"ว่ากันว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดเป็นประวัติการณ์"
เป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.   และพรรคประชาธิปัตย์     เบื้องหลังการเลือกตั้ง คือมีการใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ชาวบ้าน ประชาชน ให้เลือกแต่ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล หรือ การเวียนเทียนมาลงคะแนน การสลับหีบบัตร การแอบหย่อนบัตรคะแนนเถื่อนเข้าไปในหีบ

" อย่างที่เห็นนั่นแหละ  ใช้เวลานับคะแนนกันนานถึง 7 วัน ด้วยกัน ผลการเลือกตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสียงข้างมาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งได้เพียง 5 ที่นั่ง เท่านั้น"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 21:50
" ผมยังเชื่อว่า คนทุกคนย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน" รุ้งตอบ " ถ้าอุปสรรคเกิดขึ้นในหนทางความเจริญก้าวหน้าของชาติ   ไฉนเล่าลูกชายหญิงที่ซื่อสัตย์ต่อชาติ  จึงจะยอมทอดทิ้งดูดาย"
"คุณหมายถึงใคร?" อำนวยถามด้วยความพิศวง " ประชาชนก็พอรู้ๆกันอยู่   แต่ใครจะพูดอะไรได้"
"ใครก็ได้ที่ไม่ทอดทิ้งดูดาย" รุ้งตอบ มีความมั่นใจในน้ำเสียง " ผมพอมองเห็นว่าตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจนถึง ๒๕๐๐  เป็นเวลา ๒๕ ปี เข้าไปแล้ว  ถ้าเด็กทารกคนหนึ่งเกิดเมื่อวันปฏิวัติ   ขณะนี้เขาก็เป็นชายฉกรรจ์อายุ ๒๕   เรียนหนังสือจบถึงวัยทำงานแล้ว   มีสมองและความคิดอ่านอย่างผู้ใหญ่      หนุ่มสาวในปีกึ่งพุทธกาลเป็นผลผลิตของคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ   พอจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย  ไม่ใช่คนรุ่นผมที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้อะไรเลย"
" คุณฝากความหวังไว้กับหนุ่มสาว" อำนวยเพิ่งจะเข้าใจ   เขาคล้อยตามว่า "ผมเอาใจช่วย หวังว่าคุณจะพูดถูก"

รุ้งพูดถูก   เขาคะเนความเป็นไปของบ้านเมืองได้แม่นยำ   หลังจากผลการเลือกตั้งประกาศออกมา   ประชาชนที่โดดออกมาคัดค้านก็คือนิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ   ดาหน้ากันออกมาเดินขบวนคัดค้าน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 16:54
ไม่กี่วันหลังประกาศผลเลือกตั้ง   ความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวในสังคมก็ปะทุขึ้น   เริ่มด้วยนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง     และมีประชาชนเข้าร่วมสนับสนุนด้วย    มีการลดธงเหลือแค่ครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัย
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  เป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัฐบาลมาก  จนจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉินทันที   
นายทหารใหญ่ที่จอมพล ป. แต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ ปราบปรามสลายการเดินขบวน   คือ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่เหตุการณ์กลับพลิกล็อค  เมื่อนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์  แทนที่จะเกิดเหตุนองเลือด     พล.อ.สฤษดิ์ กลับเข้าร่วมเดินขบวนกับประชาชนด้วย
เมื่อไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผู้เปิดประตูทำเนียบ นำพาประชาชนเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อเจรจากัน จนได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป. ก็ยอมรับว่าจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะไป  และจะให้มีเลือกตั้งครั้งใหม่
แลกกับการสลายตัวอย่างสงบ และขอให้อัญเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาตามปกติ ซึ่งก็ได้เป็นไปตามอย่างที่ พล.อ.สฤษดิ์ ร้องขอทุกประการ

รุ้งจำได้ว่า ในบรรดาทหารที่ได้รับคำสั่งให้ไปสลายการชุมนุม  แต่กลับไปอำนวยความสะดวกและเป็นมิตรกับกลุ่มเดินขบวน  มีนายทหารหนุ่มชั้นนายร้อยอยู่คนหนึ่ง  ชื่อ ร.อ. อาทิตย์ กำลังเอก
หลายสิบปีจากนั้น เขาก็มีบทบาทสำคัญยิ่งอีกคนหนึ่งในการเมืองไทย

รุ้งจับตามองบทบาทของพล อ.สฤษดิ์ ด้วยความสนใจ    เขามองเห็นฉากสุดท้ายของตัวละครเอกที่ชื่อจอมพล ป. ได้รางๆ เมื่อมีตัวละครใหม่เข้ามาแทนที่


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ม.ค. 10, 20:54
ประเมินจากความคิดของรุ้ง ผมเห็นว่ารุ้งมีแนวคิดเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักของนักคิดนักเขียนหลายๆท่านในยุคสมัยนั้น

รุ้งผ่านยุคทมิฬใต้เงาอำนาจของจอมพล ป มาได้ แต่ผมเห็นว่ารุ้งคงไม่พ้นได้เข้าซังเตอีกในยุคของจอมพลผ้าขาวม้าแดง

และถ้ารุ้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่รู้ว่ารุ้งจะว่ายังไงเมื่อได้เห็นกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย ยกเอานักเผด็จการทุนนิยมเป็นธงชัย

หรือนี่คือ ถิ่นกาขาว?


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 22:00
ดิฉันคิดว่ารุ้งไม่เป็นอะไรอย่างอื่นนอกจากนักอุดมคติ       เขาอาจจะมีความคิดเหมือนระบอบการปกครอง ระบอบนั้นบ้างระบอบนี้บ้าง  อย่างละนิดละหน่อย
แต่เขาก็มองเห็นข้อบกพร่องของแต่ละระบอบ   จนไม่ตกลงปลงใจกับระบอบไหนชัดๆลงไป
รุ้งคงจะไม่เรียกตัวเองว่า นักสังคมนิยมประชาธิปไตย  หรือนักประชาธิปไตย  หรือนักเสรีนิยม(อย่างหลังนี้ น่าจะใกล้เคียงความเป็นรุ้งมากกว่าอย่างอื่น)


อ้างถึง
รุ้งผ่านยุคทมิฬใต้เงาอำนาจของจอมพล ป มาได้ แต่ผมเห็นว่ารุ้งคงไม่พ้นได้เข้าซังเตอีกในยุคของจอมพลผ้าขาวม้าแดง
น้ำเสียงมั่นใจพิกล   ช่างไม่สงสารพระเอกบ้างเลย

อ้างถึง
ถ้ารุ้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่รู้ว่ารุ้งจะว่ายังไงเมื่อได้เห็นกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย ยกเอานักเผด็จการทุนนิยมเป็นธงชัย
หรือนี่คือ ถิ่นกาขาว?
คงไม่ใช่ถิ่นกาขาว  แต่อะไรที่มันปลอม หรือเป็นไปตามกระแส  มันก็พลิกผันสุดขั้วได้แบบนี้ละค่ะ   

คุณม้าแวะเข้ามาก็ดีแล้ว    เมื่อรู้ว่ามีคนตามอ่าน  ดิฉันจะได้ขยันขึ้นบ้าง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ม.ค. 10, 10:33
       เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่ ครับ

และยังอดคิดชื่อรุ้งจูเนียร์ ไปด้วยไมได้ น่าจะเป็นอักษร ร เช่น ระวี รุ่ง เรือง รอง ฯ ร ฯ 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 11:56
คุณศิลาลองเสนอชื่อรุ้งจูเนียร์ไปเรื่อยๆก็ได้นี่คะ   
คุณ Ho  คุณม้า  และท่านอื่นๆที่รอบรู้ด้านภาษา จะมาช่วยแจมด้วยก็ยินดี
คงจะถูกใจคุณตัวแทนรุ้งเข้าสักชื่อก็ได้   

ดิฉันจะได้ฤกษ์ทำขวัญรุ้งจูเนียร์เสียที       อีกไม่กี่ค.ห. ก็จะได้ฤกษ์โกนจุก  พาออกมาเปิดตัวในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ แล้ว


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 12:07
แกะรอยประวัติศาสตร์การเมือง ผ่านสายตาของรุ้ง    อดคิดไม่ได้ว่า รุ้งคงไม่แฮปปี้นักกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงทศวรรษ
เพราะมันมีแต่ห่างไกลจากอุดมคติของเขาออกไปทุกที
**************
"นายกตลอดกาล" จอมพลป. มาถึงจุดสิ้นสุดของคำว่า นายกรัฐมนตรี   หลังจากพายุตั้งเค้ามาตั้งแต่การเดินขบวนของนิสิตและประชาชน ในพ.ศ. ๒๕๐๐
ขั้วอำนาจของผู้กุมการบริหารในบ้านเมือง แบ่งเป็น ๒ ขั้ว  คือขั้วนายกฯ ที่มีมือขวาคือตำรวจ   อธิบดีตำรวจ พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์   มีอำนาจจับกุมอย่างกว้างขวาง เป็นที่ยำเกรงกันทั่วไป  
ในยุคที่ได้ชื่อว่า " ไม่มีสิ่งใดใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้"  
อธิบดีตำรวจ มีนายตำรวจมือดีๆหลายคน   เป็นพวกที่เรียกว่า "อัศวินแหวนเพชร" เป็นหูเป็นตา  รักษาบ้านเมืองให้สงบราบคาบปราศจากปฏิปักษ์ของรัฐบาล

แต่อีกขั้วหนึ่งที่จอมพล ป. ไม่สามารถทำให้เป็นมือซ้ายของเขาได้  คือขั้วทหาร  นำโดยพล อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์  นายทหารรุ่นน้องที่จอมพล ป. สนับสนุนให้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก
นายทหารใหญ่ผู้นี้ ชนะใจนิสิตและประชาชนได้ ด้วยการใช้นโยบายโอนอ่อนประนีประนอมเข้าหากลุ่มเดินขบวน   แทนการปราบปรามอย่างแข็งกร้าว   ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างสงบ ไม่เสียเลือดเนื้อ
พร้อมกันนั้น ก็ทำให้รัศมีของนายกรัฐมนตรีที่เจิดจรัสมาตลอด ๙ ปี  เริ่มจะอ่อนแสงลงเห็นชัด

ผ่อง ชื่นชมพล อ.สฤษดิ์ มาก   เขาบอกรุ้งว่า
" พลเอกคนนี้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เท่าที่เคยเห็นนายทหารมา"
แต่รุ้งก็ไม่ได้ตอบรับ หรือคล้อยตาม      เขาตอบเพียงว่า
" ต้องดูกันไป"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 16:07
รุ้งไม่ต้องรอดูอยู่นานนัก    เขาสัมผัสความไม่ชอบมากลได้หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน  เมื่อจู่ๆบ้านเมืองเกิดเหตุร้ายถี่ขึ้นผิดปกติ
บ้านเมืองเริ่มตกอยู่ในความเดือดร้อนวุ่นวายมากขึ้นเป็นลำดับ  นักเลงอันธพาลไม่รู้ว่ามาจากไหน   ออกมาป่วนเมืองราวกับไม่มีตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่
ประชาชนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน รักษาความปลอดภัยกันเอาเอง  เพราะตำรวจไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

ในที่สุด ความเดือดร้อนก็ระเบิดออก    ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคือทหาร   ถึงขั้นไปกล่าวโจมตีที่ท้องสนามหลวง    ไม่มีเวที ก็เอาลังสบู่มายืนตะโกน โจมตีรัฐบาลและตำรวจที่ปล่อยให้บ้านเมืองระส่ำระสาย
ตำรวจก็โต้ตอบกลับเช่นกัน กลายเป็นการแลกวาจากันเผ็ดร้อน  วันต่อวัน  มีประชาชนไปมุงดู สนับสนุนกันหนาแน่น
รุ้งเดินไปฟังเรื่องที่กล่าวโจมตีกันด้วย ในบางครั้ง     เมื่อฟังความเดือดร้อนของประชาชน เขานึกถึงถ้อยคำของเขาขึ้นมาอีกครั้ง

"ถ้าหากว่ารัฐบาลใดได้ตั้งขึ้นโดยประชาชน และเพื่อประชาชนจริงแล้ว     รัฐบาลเช่นนั้นย่อมจะไม่กดขี่ข่มเหงราษฎรแม้แต่คนเดียว   และทั้งไม่ทอดทิ้งราษฎรที่ประสบภัย  โดยไม่ให้การช่วยเหลือแม้แต่คนเดียว    อย่างนี้จึงจะนับว่าเป็นการปกครองตนเองแท้"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ม.ค. 10, 18:55
เข้ามาเรียนว่าผมมิได้หายไปไหน เฝ้าติดตามอยู่ทุกวันเลยครับ
ที่มิได้เข้ามาก็เพราะกลัวผิดจังหวะการสร้างสรรจินตนาการ

เชิญท่านอาจารย์ต่อเลยครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 10, 19:34
กระทู้นี้จะเดินหรือหยุดเดิน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดิฉันคนเดียวค่ะ
แต่ขึ้นกับ
๑  คนอ่านที่คอยกระตุ้นให้เขียนต่อ  เช่น คุณ Sila
๒  คนอ่านที่มาช่วยออกความคิดเห็น   มาเพิ่ม มาคาดคะเน     มาเพิ่มเติมข้อมูล  มาติมาชม  อย่างเช่นคุณม้า คุณวันดี กับอีกหลายท่าน
และ...
๓  คุณตัวแทนรุ้ง   ที่จะเป็นคนถือหางเสือเรือภาค ๒  นี้   ให้แล่นไปได้จนถึงฝั่ง   ไม่ออกนอกเส้นทางและไม่ชนหินโสโครกเข้าเสียก่อน
เพราะรุ้ง จิตเกษมภาค ๒  ไม่ใช่สิทธิ์ของเทาชมพูจะกำหนดบทบาทได้ตามใจชอบ   ต้องดูความถูกต้องเหมาะสมด้วย

เรื่องที่ยังตัดสินใจไม่ได้ตอนนี้  คือ
๑  ในเมื่อรุ้งจูเนียร์ยังไม่มีชื่อจริงสักที   ทั้งๆสคริปต์บทบาทในช่วง ๑๔ ตุลา ๑๖   ก็ร้อนๆอยู่ในมือแล้ว   ดิฉันก็จะอยากให้มีคนเสนอชื่อมาก็แล้วกัน
ใครเข้ามาแจมกระทู้นี้ อยากให้พระเอกใหม่ลูกชายพระเอกเก่าชื่ออะไร  อาจช่วยเพิ่มจากที่คุณศิลาเสนอไว้ด้วยนะคะ  แล้วจะขอคุณตัวแทนตัดสินว่าชื่อไหนถูกใจ
๒  คุณม้าเปรยๆว่าชะตากรรมของรุ้ง อาจไม่รอดจากถูกจับกุมคุมขังในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์      ท่าทีจะอยากให้มีบทแบบนี้  เพื่อดูว่ารุ้งจะแสดงอุดมคติอะไรออกมา
ดิฉันก็ยังสองจิตสองใจอยู่   อยากฟังคำตัดสินจากคุณตัวแทนรุ้ง
ถ้ารุ้งเดินเข้าคุกอีกครั้งบทบาทก็จะเข้มข้นขึ้น   แต่ไม่เข้า ก็จะโชคดีกว่า   และคนอ่านที่ใจอ่อน ก็จะไม่ต้องร้องไห้กันกระจองอแง   ต้องแถมทิชชูเวลาอ่าน อีกด้วย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 10, 20:23
ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยนะคะ
กำลังสร้างสมมุติฐานว่า อุดมคติของรุ้ง นอกจากเป็นอุดมคติแล้ว ยังเป็นสัจธรรมทางการเมืองด้วย
มีหลายข้อที่นำมาประยุกต์ ใช้วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงต่างๆได้
กำลังสำรวจดูว่า ตอนไหนบ้างที่จะดึงออกมาได้
**********************
ความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับทหาร ลุกลามไปถึงขั้นว่า ทหารยกกำลังมาล้อมสถานีตำรวจ   เกิดปะทะกัน แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงกับกลายเป็นจลาจล
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิร้อน ก็ดำเนินไป เดือนแล้วเดือนเล่า   ไม่มีการเลือกตั้งใหม่อย่างที่รัฐบาลสัญญาไว้  พรรคเสรีมนังศิลาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเสียงข้างมากอยู่
ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาระงับสถานการณ์ได้   

จนกระทั่งถึงกลางเดือนกันยายน   พลอ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ออกแถลงการณ์ในนามกองทัพ   ขอให้นายกรัฐมนตรี และอธิบดีตำรวจลาออก
ในเมื่อพล อ.สฤษดิ์ เป็นผบ.ทบ. ถือว่าเป็นข้าราชการ  อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี  มาทำอย่างนี้   ก็มีส.ส.พรรครัฐบาลเสนอให้จอมพล ป. ปลดผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่ง   รวมทั้งนายทหารระดับสูงอื่นๆที่ร่วมแถลงการณ์ด้วย
ยังไม่ทันว่านายกรัฐมนตรีจะปลด ผบ.ทบ.    พล อ.สฤษดิ์ก็ชิงทำรัฐประหารเสียก่อนในวันต่อมา

*****
จากวิกิพีเดีย
 
รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ณ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ที่จังหวัดขอนแก่น แสดงภาพเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2500การรัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของ กองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา ได้นำกำลังกระทำยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลี้ภัยออกนอกประเทศ  โดยขับรถออกจากกรุงเทพ  ไปทางตะวันออก มีผู้ติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ
แล้วออกนอกประเทศไทยไปที่เขมร  ก่อนจะเดินทางไปพำนักอยู่ในญี่ปุ่น  ใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น จนถึงแก่กรรม

สยาม ที่รุ้งเฝ้ารออยู่ ก็เปลี่ยนยุคการเมืองอีกครั้ง    จากยุคจอมพล ป. มาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์   มีจอมพล ถนอม กิตติขจร คั่นอยู่เพียงช่วงสั้นๆ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 ม.ค. 10, 10:25
       ติดตามอ่านเรื่องราวของรุ้งแล้วนึกถึงบทละครเพลง Man of La Mancha ครับ
       รุ้งเป็น Miguel de Cervantes ที่ถูกจับเข้าคุกแล้วจัดการแสดงละครจากบทประพันธ์
ที่เขาเขียนขึ้นที่มีเพลง The Impossible Dream ซึ่ง Don Quixote de la Mancha
ร้องประกาศยืนยันความคิด อุดมการณ์ ความฝันอันมุ่งมั่นแม้ไม่อาจเป็นจริงของเขา

        ขอแสดงตอนจบตามความเห็นเป็นอย่างนี้ครับ

   ๑. รุ้งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง อาจจะจากการปราบปรามการชุมนุมหรือการจับกุม
จนกระทั่งอยู่ในภาวะไม่รู้ตัว คงอยู่ในเมืองนิมิตรของตัวเองตลอดไป ไม่ตื่นมารับรู้ความเสื่อม
ความบกพร่องของโลกภายนอกอีกแล้ว

   ๒. เหมือนกับบทละคร Man of La Mancha คือรุ้งถูกจับกุมอีก และเขายังคง
เขียนหนังสือและบทความแสดงจุดยืน-แนวคิดที่มั่นคงเช่นเดิม เพื่อนร่วมเรือนจำเข้าใจและ
ยอมรับในความคิดอุดมคติของเขาแม้ว่าจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้จริง เรื่องจบลงเมื่อเจ้าหน้าที่
มานำตัวรุ้งที่มีสุขภาพทรุดโทรมเต็มทีด้วยโรคภัยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างดีพอ ไปขึ้นศาลฟังคำตัดสิน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 10:31
 :'(



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 12:24
เศร้ามาก  ขอพักฟังความเห็นของคนอื่นๆ

ขอตั้งคำถามว่า ทำไมนักอุดมคติในวรรณกรรมทั้งหลาย ถึงต้องพบจุดจบน่าเศร้ากัน ราวกับเป็นสูตรสำเร็จ
จะฉีกแนวให้นักอุดมคติอยู่ดีมีสุขในตอนจบ ไม่ได้หรือ?


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 10, 16:25
อ้างถึง
ทำไมนักอุดมคติในวรรณกรรมทั้งหลาย ถึงต้องพบจุดจบน่าเศร้ากัน ราวกับเป็นสูตรสำเร็จ
จะฉีกแนวให้นักอุดมคติอยู่ดีมีสุขในตอนจบ ไม่ได้หรือ?

ในวรรณกรรมนั้นผมไม่ทราบ เข้าใจว่านักประพันธ์ต่างก็ต้องการให้เรื่องราวที่ตนประพันธ์โดนใจผู้อ่านแรงๆ จะได้ซาบซึ้งตรึงใจกันไปอย่างนานแสนนาน โดยจบอย่างสุขสมทั้งตัวละครทั้งคนอ่าน (ซึ่งใครๆก็อยากให้เป็นเช่นนั้น) แต่มันจะแนบเนียนจนผู้อ่านไม่รู้สึกสะดุดใจขึ้นมาว่ามันจะเป็นเทพนิยายไปหน่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักประพันธ์  ถ้าเก่งก็จะปูพื้นเรื่องอย่างสมจริง ชวนติดตามจนวางไม่ลง แล้วเลือกหักมุมไปจบได้อย่างที่คนอ่านคาดไม่ถึง

ผมทราบแต่ว่าในความเป็นจริง ชีวิตของคนมีทั้งสุขทั้งทุกข์ ความสุขก็ป็นสิ่งชั่วคราว ความทุกข์ก็เป็นสิ่งชั่วคราว อะไรจะมาจะไป จะอยู่นานอยู่สั้น เลือกไม่ได้ และที่สำคัญ จังหวะที่คนๆนั้นปิดฉากของตน เขาหรือเธออยู่ระหว่างช่วงไหนของกราฟชีวิต ดัชนีความสุขกำลังแสดงค่าเป็นบวก หรือลบ

ความสุขหรือความทุกข์ของรุ้ง หากรอดจากความตายในภาคหนึ่งมาได้ ก็คงจะไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้นตลอดเล่ม สุขที่ได้แต่งงานกับอุไรวรรณ และมีลูกชายน่ารักอย่างที่หวัง แต่โตขึ้นมาหน่อยอาจจะแสดงความน่าเกลียดที่รุ้งไม่ชอบและเป็นทุกข์ขึ้นมาก็ได้ อ้อ ขอประทานโทษครับ ลืมไปว่าท่านอาจารย์รอจะเปิดตัวให้เขาออกมามีบทตอนช่วง14ตุลา ถ้าอย่างนั้นทุกข์หนักๆของรุ้งอาจจะต้องรอจนถึงตอนนั้น

แต่ ถ้าไม่อยากให้รุ้งจมปลักอยู่ในห้วงทุกข์จนทั้งผู้แต่งและผู้อ่านจะรับไม่ได้ ก็ต้องลองดูแบบฉบับนักอุดมคติของท่านสิทธิพร แต่ตอนจบท่านก็เศร้านิดๆนะครับ บางเบิดที่ทรงมานะบุกเบิกหวังจะให้เป็นอาชีพของลูก แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเอาด้วยสักคน ลูกชายส่งมาเรียนที่วชิราวุธพอจบมหาวิทยาลัยแล้วเลือกเป็นนายธนาคารดีกว่า ในที่สุดก็ต้องขายทรัพย์สินทั้งหมดให้จอมพลสฤษดิ์ไป

ถ้าไม่ชอบแนวลูกทุ่ง ก็มีแบบฉบับของท่านสศษอีกคนหนึ่ง อันนี้ใกล้บทบาทของรุ้งตอนสองหน่อย คือทั้งเขียนทั้งวิจารณ์ มั่นคงในจุดยืนของตนดีโดยไม่สนใจใครจะด่าเอาบ้าง หรือเอาไปกักบริเวณจนสมใจอยาก แต่ถ้าท่านไม่เป็นคนอย่างนั้นก็ไม่ดังอีกนั่นแหละ เดี๋ยวจะเหมือนนักอุดมคติส่วนใหญ่ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานของตนไป โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆแม้กระทั่งความเด่นความดัง

อ้อ ยังมีนักอุดมคติให้เลือกอีกหนึ่งแบบนะครับ คือประเภทนักบวช จะเอาแบบฉบับอย่างท่านเจ้าคุณนรฯก็ได้ นั่นคือสุดยอดของนักอุดมคติที่ต้องการบวชถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯผู้ทรงมีอุปการคุณแก่ตน  คือแทนที่จะจบแบบให้พิการหรือตายก็ให้รุ้งหันหลังให้โลกที่มีแต่ภาระให้ต้องแบก ต้องทำไม่รู้จักจบจักสิ้น ให้พระเอกคิดได้จึงละทิ้งความปรารถนาในทางโลกเสีย แล้วมุ่งปฏิบัติแสวงหาในทางธรรม ที่มีวันจบภารกิจในชาตินี้ได้

นักบวชที่ประกาศตนเป็นพระแต่มิได้มุ่งสู่โลกุตตระ ชอบเทศน์ชอบวิจารณ์การบ้านการเมืองก็มี แต่รุ้งอย่าเอาดีทางนี้เลยนะครับ ผ้าเหลืองจะร้อนจะรุ่ม เดี๋ยวโยมแห่กันมาด่าหน้ากุฏิจะเป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 16:35
ดิฉันเขียนตอนจบแบบโศกนาฏกรรมไม่เก่ง    แต่จบแบบสุขนาฏกรรมก็อาจจะมีสีสันแปลกแยก ไม่กลมกลืนกับชีวิตพระเอก   ที่เป็นสีสันขรึมมาแต่แรก   
ค่อยๆเขียนไปก็รู้เองละค่ะ

ในภาคนี้ รุ้งกลายเป็น life observer  เป็นผู้เฝ้ามองชีวิตว่าจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทางไหน  แล้วได้คำตอบบางคำตอบมาสำหรับชีวิต
และการเมืองไทย

แต่ที่อยากให้มีสีสันมากกว่านี้คือคุณรุ้งจูเนียร์   อุบไว้ก่อน  ยังไม่บอกว่าเป็นยังไง

ว่าแต่คุณตัวแทนรุ้ง จะให้รุ้งเดินเข้าคุกอีกครั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ไหมคะ 


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 16:45
ขอเลี้ยวออกนอกเรื่องหน่อย
โลกมักประทับความเข้าใจผิดๆ ให้ศิลปินและนักอุดมคติเสมอ    บางทีก็กลายเป็นตรายาง ที่ไม่ได้ประทับแค่ตัวคน แต่ประทับดะไปถึงคนร่วมอาชีพของเขาด้วย
เช่นเชื่อว่านักประพันธ์มักจะไส้แห้ง      จิตรกร จะโด่งดังในอัจฉริยภาพก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว   ตอนมีชีวิตอยู่ไม่มีใครเข้าถึงพรสวรรค์ของเขา 

ชีวิตตกอับของแวนโกะ ก็เลยมีแต่คนยกมาเอ่ยซ้ำซาก    คนนอกเลยไม่ค่อยรู้ว่าปิกัสโซนั้นรวยไม่รู้เรื่อง
สำหรับนักประพันธ์ไทย  เราก็จดจำกันแต่ความอาภัพของยาขอบ   มีกี่คนที่รู้ว่าก.สุรางคนางค์เขียนนิยายจนส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้
เซอร์วอลเตอร์ สก๊อต เขียนจนรวย  ซอมเมอร์เซท มอห์ม อยู่ริเวียร่าไม่รู้กี่สิบปี   ไม่รวยจริงอยู่ไม่ได้ 
ผลงานของท่านเหล่านี้ ก็ไม่เห็นว่าจะตกต่ำลงเพราะขายได้เงิน

นักอุดมคติ  จะอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพในบั้นปลายชีวิตไม่ได้เชียวหรือ      โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุดมคติไปเป็นนักธุรกิจ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 17:40
ทิ้งคำถามไว้สำหรับผู้สนใจจะตอบ ทุกท่านค่ะ
กลับมาที่เรื่องของรุ้ง
*******************
การสิ้นสุดของยุคจอมพล ป. และการเริ่มยุคจอมพลสฤษดิ์  ถ้าถามว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร   รุ้งมองเห็นว่าประชาชนจำนวนมากเบื่อหน่ายสภาพการเมืองแบบเดิม มาจนถึงจุดที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ตัวเร่งให้ถึงจุดจบ  นอกจากการเลือกตั้งสกปรกแล้ว  ก็ยังมีวีรบุรุษคนใหม่ก้าวขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย
เป็นตัวเลือกให้ประชาชนเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง    เพราะก่อนหน้านี้  ไม่มีคนหน้าใหม่คนไหนที่พวกเขาจะหวังได้

จอมพลสฤษดิ์เป็นคนมีวาทะคมคาย ประทับใจด้วยคำพูดหนักแน่นและให้ความหวังในสิ่งที่ดีกว่า
เช่นในการปราศรัยกับประชาชน ทางวิทยุยานเกราะ  เขาก็ทิ้งท้ายว่า
"พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

ผ่องฟังวิทยุรายการเดียวกับรุ้ง    เมื่อเขามาหารุ้งที่บ้าน  เขาก็เอ่ยปากชมเชยด้วยความปลาบปลื้ม
" ไม่เคยได้ยินใครพูดได้สั้นๆ แต่น่าเลื่อมใสเท่านี้"
รุ้งเคยเห็นบุญญาธิการของจอมพล ป. มาก่อน  ตั้งแต่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ   ตกไป แล้วก้าวกลับขึ้นมาอีก
คราวนี้เขาก็มองเห็นบุญญาธิการแบบเดียวกันฉาบเรืองรองอยู่ทั่วร่างบุรุษร่างใหญ่คนใหม่ 

บ้านเมืองสงบราบคาบลงอย่างรวดเร็ว   อาชญากรรมต่างๆหายไป    ตำรวจกลับเข้าสู่ที่ทางของตัวเอง  เมื่อพล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศไปอีกคน
ถนนทุกสายมุ่งไปสู่พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอาการศิโรราบ

รุ้งก็ยังเฝ้ามองผู้นำคนใหม่อย่างเงียบขรึม  พร้อมกับถามตัวเองว่า สยามได้เขยิบเข้ามาใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น   หรือว่ากระเถิบห่างออกไป


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 18:32
ความชื่นชมของประชาชนพุ่งสูงขึ้น  เมื่อพบว่าหลังจากยึดอำนาจ  พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี    แต่ตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่จนเสร็จเรียบร้อย
ในตอนนี้ รุ้งก็เกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
สยามมีการเลือกตั้งที่ไม่สกปรกอย่างคราวก่อน    มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน     บางที ประชาธิปไตยจะมาถึงปวงชนเสียที

แต่ความหวังก็สะดุดหยุดลง

เพราะเมื่อเสร็จเลือกตั้ง  ก็เปลี่ยนตัวนายกฯอีกครั้ง   พลโทถนอม กิตติขจร ผู้ที่พลเอกสฤษดิ์ ไว้เนื้อเชื่อใจ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501

หนึ่งปี นับแต่นิสิตและประชาชนเดินขบวน   อำนาจเก่าหมดไป  อำนาจใหม่ก็เข้ามา   แต่ก็เอาเถิด  รุ้งยังมีความหวังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง   
คืออยู่กับสภาผู้แทนราษฎร  ตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 22:00
ในปี 2501   เกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างนายกรัฐมนตรีและส.ส. ในสภา     ไม่ได้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์   แต่ด้วยผลประโยชน์ที่ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเรียกร้อง    
ในเงื่อนไขว่าถ้าไม่ได้ตามต้องการ ก็จะไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลอีก   หมายความว่าพ.ร.บ.หลายฉบับ ก็จะไม่ผ่านสภา

รุ้งเฝ้ามองด้วยความหดหู่
นี่หรือตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย      เขาไม่สำนึกเลยว่า ชาติคือประชาชน  การรับใช้ประเทศชาติ  ก็คือรับใช้ประชาชน
เขากลับยอมตัวกับปีศาจ ที่ชื่อว่า ผลประโยชน์ส่วนตัว

อีกครั้งหนึ่งที่รุ้งมองเห็นว่า แม้แต่ผู้แทนของสภาในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่อาจทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นจริงขึ้นมาได้
หากว่าขาดสิ่งที่รุ้งเรียกว่า "ความรู้สึกผิดชอบ" หรือ มโนธรรม



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 22:17
เขียนเองอ่านเองอยู่พักใหญ่   ระหว่างไปค้นข้อมูลมาเรียบเรียง และวิเคราะห์  ก็เกิดความรู้สึกคุ้นๆยังไงไม่รู้
- ความขัดแย้งระหว่างทหารกับตำรวจ
- ประชาชนเดือดร้อน  บ้านเมืองระส่ำระสาย  ตำรวจวางเฉย
- ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล สร้างเงื่อนไขต่อรองว่า ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ตามต้องการ ก็จะไม่ยกมือให้รัฐบาล  เป็นผลให้รัฐบาลแพ้โหวตได้
มันเหมือนละครที่เล่นกันซ้ำแล้วซ้ำอีก  บทเวทีเดิม      ไม่รู้ว่าจะย้อนกลับมาเล่นอีกเป็นรอบที่เท่าไร
*****************
พลโทถนอม กิตติขจร ไม่ยอมรับเงื่อนไขของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถจะระงับเหตุให้สงบลงได้   
จึงมีอัศวินม้าขาว เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ อย่างทันใจ ทันเหตุการณ์

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก คืนเดียวกันนั้น  พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง
คราวนี้ อ้างความมั่นคงของประเทศ ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม   เมื่อยึดอำนาจ  คำสั่งแรกของคณะปฏิวัติคือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง
ส.ส.ทั้งหมดไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน   เป็นผู้ก่อปัญหาหรือไม่ก่อปัญหาก็ตาม ก็ละลายไปในสภาพเดียวกัน  คือหมดบทบาท ไม่มีตัวตนบนเวทีอีกต่อไป

พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   ไม่มีสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญ   ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ  ด้วยคำพูด ซึ่งเป็นที่จดจำกันมาต่อจากนั้นอีกยาวนาน
"ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

ผ่องชื่นชมนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาก    เขาบอกว่า
" ดีแล้ว  บ้านเมืองจะได้สงบเสียที    เราต้องการผู้นำที่มือแข็งๆหน่อย   จะได้ไม่มีใครกล้าทำให้ชาติยุ่งเหยิงอีก"
" เรายังต้องการ ' ผู้นำ' อีกคนหรือ ผ่อง" รุ้งย้อนถาม
ผ่องเพิ่งเข้าใจว่าเพื่อนหมายถึงอะไร     เขาหน้าแดง เมื่อหวนนึกถึงอดีตตอนหนุ่ม   แต่ก็ตอบว่า
" คนละคนกัน   คงไม่เหมือนกัน      ประเทศไหนๆ ยังไงก็ต้องมีผู้นำอยู่ดี"
" ประชาธิปไตยล่ะ ผ่อง?"
" ประชาธิปไตย" ผ่องทวนคำ " ถ้ามีประชาธิปไตย แล้วบ้านเมืองยุ่งยาก     ก็อย่ามีเสียดีกว่า"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 21:55
  " จริงอยู่ยังไม่มีการปกครองประเทศใดที่น่าพอใจ "รุ้งตอบช้าๆ"   ลัทธิของกษัตริย์โบราณคือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย   ลัทธิประชาธิปไตยที่เราเห็นในยุโรปบางประเทศ คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก     การปกครองตามลัทธิคอมมูนิสม์ในรัสเซีย   ก็คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกร  โดยหัวหน้ากรรมกร  แต่ในเมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมุ่งหวังจะเป็นประชาธิปไตย   เราจะไม่มุ่งหน้าไปทางนั้นจนกว่าจะได้คำตอบที่น่าพอใจหรอกหรือ"
ผ่องตอบเสียงขุ่นหน่อยๆ
" ก็ดูสิ   ยี่สิบหกปีเข้าไปแล้ว     ไม่เห็นมีท่าทีว่าจะเป็นได้   เลือกผู้แทนเข้ามา    แทนที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ก็กลายเป็นว่ามากอบโกย เอาเข้ากระเป๋าตัวเองกับพวกพ้อง   ประชาชนยังอดแห้งอดแล้งเหมือนเดิม     อย่างนี้ เราหาผู้นำดีๆสักคนมาทะนุบำรุงประชาชน   ไม่ดีกว่าหรือ"
" ดีกว่าแน่นอน  ถ้าหากว่าเป็นไปได้"
" หมายความว่าอย่างไร" ผ่องถามอย่างสงสัย
" คิดหรือว่าคนที่ได้หีบสมบัติทั้งใบมาครอบครองด้วยตัวเอง  เขาจะแจกจ่ายเงินทองในนั้นไปให้คนทั้งหมู่บ้านจนเกลี้ยงหีบ    อย่างดีเขาก็แบ่งเศษให้เล็กๆน้อยๆ   หรือมิฉะนั้น  ก็ไม่ให้เลย  และไม่ยอมให้ใครคัดค้านเขาได้ด้วย"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 22:09
ผ่องยังคงไม่เห็นด้วย  แต่รุ้งกับผ่องก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้กันอีก    รุ้งยังคงสังเกตเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไปอย่างสงบ

พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งบัดนี้เลื่อนขึ้นเป็นจอมพล  ปกครองประเทศให้สงบราบคาบลงได้อย่างรวดเร็ว     โจรผู้ร้ายที่เคยก่อกวนเมืองอยู่เมื่อปีก่อน  ถูกจับเข้าคุกตะรางกันระนาว เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล    แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ร้าย แต่มีพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่เป็นที่ไว้ใจในสังคม   ก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย

นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่น   กฎหมายปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
ในยุคนี้เองที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (ปี พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509) เกิดขึ้นมา   มุ่งไปในทางสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศชาติอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   
เน้นทางด้านสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานความเจริญ   ไฟฟ้า ประปา ถนน ไปถึงหมู่บ้านไหน   หมู่บ้านนั้นก็จะเจริญขึ้นมาทันตาเห็น


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 11:12
"ความเจริญ" หรือ "ประเทศพัฒนา" ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ คือความเจริญทางวัตถุ    ส่วนชีวิตแบบไทยๆในชนบทที่เรียบง่าย  มีกินมีใช้เท่าที่จำเป็น   ถูกมองว่าเป็นความ "ด้อยพัฒนา"
รากเหง้าเดิมของความเป็นอยู่แบบไทย ก็เริ่มถูกถอนไปทีละอย่างสองอย่าง   ที่เห็นชัดในเมืองหลวงคือ ไม่เห็นความสำคัญของการสัญจรทางน้ำอีกต่อไป 
แต่เห็นความสำคัญของทางบก 
รถเข้ามาแทนเรือ   ถนนจึงเข้ามาแทนคลอง   ทำให้มีการถมคลองตัดถนนกันมากมายในรัฐบาลชุดนี้ 
คลองต่างๆในกรุงเทพ ลดขนาดลงไปเป็นคูน้ำริมถนน  แล้วก็ลดลงไปอีกเป็นท่อระบายน้ำ 
ถนนต่างๆเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการหายไปของคลอง   

คนไทยถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น  เพื่อจะมีรายได้มากขึ้น     เมื่อมีเงินมากขึ้นก็คือฐานะดีขึ้น 
เมื่อฐานะดีขึ้นก็จะเขยิบตัวเอง   จับจ่ายใช้สอย ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้น    ปลูกบ้านใหญ่ขึ้น
รัฐบาลจึงมีคำขวัญออกมาว่า
" งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข"

รุ้งเป็นคนนอกศาสนาเงิน   
เขาเห็นด้วยกับเลนินว่า "เงินคือเสนียดแห่งอำนาจ"    แต่เขาก็ ไม่เลื่อมใสในลัทธิของคาร์ล มาร์คที่ต้องการจะล้มกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 21:16
กฎหมายข้อที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์เป็นที่จดจำมากที่สุด คือมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ  ฉบับที่ใช้กันอยู่ในยุคนั้น
มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจสั่งการได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม   เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจข้อนี้ ในการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หลายเรื่องด้วยกัน  

เช่นสมัยนั้นมีการลอบวางเพลิงกันบ่อยๆ  ถ้าเป็นก่อนตรุษจีนก็เพื่อล้างหนี้   ที่พบกันบ่อยๆคือวางเพลิงเพื่อขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เช่า   เรียกว่า "เผาไล่ที่"   เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าชดเชยในการรื้อถอน  
การเผาไล่ที่ เกิดบ่อยเพราะเมืองหลวงเริ่มมีผู้คนอยู่อาศัยมากขึ้น     เนื้อที่ก็เริ่มเป็นเงินเป็นทอง  ทำให้เจ้าของที่อยากขาย หรือปลูกตึกแถวให้เช่า เป็นรายได้ดีกว่าให้เช่าที่ดินอย่างเดียว
ไฟไหม้แต่ละครั้ง  ผู้คนเสียชีวิต  สูญเสียบ้านเรือน  ทรัพย์สินเสียหาย หมดเนื้อหมดตัว  มีผลไปถึงอาชีพการงาน  รวมแล้วแต่ละครั้งก็เสียหายหลายล้านบาท  
จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจว่าจะต้องยุติความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนให้ได้ ด้วยวิธีเฉียบขาด ไม่ให้กล้าทำกันอีกต่อไป


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 21:38
จึงสั่งบทลงโทษขั้นประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผู้ต้องหาคดีเพลิงไหม้ ถึง 4 คดีในเวลาเพียง 2 เดือน

 คดีแรกวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ตำบลบางยี่เรือ
คดีที่ 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน เพลิงไหม้ที่ตลาดพลูมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท 
คดีต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน เพลิงไหม้โรงเลื่อยจักรบ้วนเฮงหลง ตำบลวัดพระยาไกร
และในวันที่ 19 ธันวาคมปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเกือบ 300 หลังคาเรือนที่ตลาดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
ครั้งสุดท้ายนี้ เสียหายอย่างใหญ่หลวงกว่าทุกครั้ง 
จอมพลสฤษดิ์  เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบัญชาการดับไฟและสอบสวนผู้ต้องหาด้วยตนเอง   และมีคำสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาทันที ณ ที่เกิดเหตุนั้นเอง

ความเด็ดขาดข้อนี้ ก็ทำให้การลอบวางเพลิง ชะงักงัน และหายไปจากสังคม  ไฟไหม้ในที่ต่างๆก็ลดน้อยลง    ประชาชนระมัดระวังตัวมากขึ้นเมื่อเกี่ยวกับเรื่องฟืนไฟในครัวเรือน     
พร้อมกับเริ่มรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

รุ้งไม่ได้คัดค้านการลงโทษประหารชีวิต   เพราะโทษของผู้ก่อให้เกิดไฟไหม้โดยเฉพาะลอบวางเพลิง  ก็เลวร้ายจริง   แต่เขาอยากจะให้แน่ใจว่า ผู้ต้องหานั้นผิดจริง   ไม่ใช่แพะรับบาป
การไม่ผ่านขั้นตอนของการสอบสวน และฟ้องศาล   ซึ่งทำให้ผู้ต้องหามีโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้ตามขั้นตอนอย่างยุติธรรม
อาจทำให้ผิดพลาด  ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารได้
รุ้งไม่อยากให้ฝันร้ายเมื่อปี ๒๔๘๒  ตามมาหลอกหลอนผู้คนในยุคนี้อีก


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 11:43
กฎหมายอีกข้อหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ นำมาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง คือ"พระราชบัญญัติ ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ซึ่งมีมาตั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
กฎหมายข้อนี้ถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 17   เพื่อปราบปรามผู้มีความเห็นไปในทางสังคมนิยม      

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  อำนาจของสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายมาทางเอเชีย แปซิฟิค    แนวคิดของอเมริกาคือทุนนิยม ตรงข้ามกับสังคมนิยมที่พัฒนาขึ้นมาในจีนแผ่นดินใหญ่  
ไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก รับความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศมาจากอเมริกา    ก็มีนโยบายต่อต้านสังคมนิยม หรือเรียกว่าระบอบคอมมิวนิสม์  อย่างเต็มกำลัง

กระแสความเกลียดชังและกลัวคอมมิวนิสต์ ถูกปลุกให้แผ่ขยายไปในประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพ    คนทั่วไปกลัวคอมมิวนิสต์ เหมือนกลัวยักษ์มาร   ทั้งๆก็ไม่เข้าใจกันนักว่าคอมมิวนิสต์คืออะไรกันแน่
รู้กันแต่ว่าถ้าคอมมิวนิสต์เข้าครองประเทศ    ประชาชนจะถูกยึดทรัพย์สินไปเป็นส่วนกลาง   พระสงฆ์องค์เจ้าจะถูกปราบปราม  ไม่มีวัด  ไม่มีศาสนา   พ่อแม่ลูกจะต้องแยกกัน  เพราะคอมมิวนิสต์ไม่สอนให้เคารพนับถือพ่อแม่    แต่ให้ถือรัฐเป็นหลัก
ประชาชนมองเห็นคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคม     คนส่วนใหญ่จึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ที่มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

คนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียน หากเขียนหนังสือหรือบทความลงหนังสือพิมพ์   ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล   หรือมีการกระทำที่ทำให้สงสัยว่าฝักใฝ่สังคมนิยม  ก็จะเจอมาตรา 17 คือถูกจับกุมคุมขังเพื่อการสอบสวน เป็นระยะยาวไม่มีกำหนด
เช่น
อุทธรณ์ พลกุล  อิศรา อมันตกุล   กรุณา กุศลาศัย จิตร ภูมิศักดิ์  แคล้ว นรปติ, ทองใบ ทองเปาด์ อุดม ศรีสุวรรณ ทวีป วรดิลก  สุพจน์ ด่านตระกูล และ พระมหามนัส จิตตธัมโม วัดมหาธาตุ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 14:11
นอกจากนี้    รัฐบาลยังสั่งให้ตำรวจปิดหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง  ที่ลงข่าวหรือบทความโจมตีรัฐบาล หรือสนับสนุนความเป็นสังคมนิยม
รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน  เพื่อป้องกันคนไทยเชื้อสายจีน ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสม์ ผ่านทางตำราและสิ่งพิมพ์ภาษาจีน

เพื่อป้องกันการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วง    รัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานอย่างเด็ดขาด
ความเข้มงวดเรื่องการเมือง  ยังแผ่ขยายไปถึงมหาวิทยาลัย  มีคำสั่ง "ห้าม" นิสิตนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด   ถือว่าเป็นเยาวชน มีหน้าที่เรียนก็เรียนไปให้จบ    
นอกจากนี้ เยาวชนยังอ่อนประสบการณ์และความคิด  อาจถูกชักจูงให้ไขว้เขวไปได้
หากทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่นออกค่าย  เล่นกีฬา  ดนตรี  หรือสร้างชมรมอะไรก็ได้  ที่ไม่เกี่ยวกับการออกความเห็นทางการเมือง  ก็ทำได้ไม่จำกัด  
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ห้ามปราม  สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้มีกิจกรรมยามว่างจากการเรียน
ความบันเทิงทางวิทยุ  โทรทัศน์   เพลง  ละคร   ผู้อยู่ในวงการบันเทิงทำได้ตามสบาย   เว้นแต่จะต้องไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง

รุ้ง ไม่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสม์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว     บทความในหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่ เน้นข้อนี้อยู่เสมอ    แต่รุ้งก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลายอย่างของจอมพลสฤษดิ์   โดยเฉพาะการใช้มาตรา 17 พร่ำเพรื่อเกินไป
เขาเขียนบทความท้วงติงการกระทำของนายกรัฐมนตรี  โดยเฉพาะเรื่องส่งเพื่อนร่วมอาชีพของเขาเข้าเรือนจำลาดยาว   โดยไม่มีกำหนดออก
รุ้งอยากให้มีการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม   ให้เป็นไปตามคัลลองคลองธรรม    ถ้าคนพวกนี้ผิด  ก็ขอให้มีความผิดปรากฏอย่างชัดเจน  ประชาชนตรวจสอบให้หายข้องใจได้

"รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศ   ได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที    รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ   ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา"
รุ้งเขียนข้อความนี้ลงในผดุงวิทยา   เมื่อกลับมาจากไปเยี่ยมเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่ลาดยาว

วันรุ่งขึ้นเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์   บ่ายวันนั้นเอง รุ้งก็ได้รับเกียรติไปพบรองอธิบดีตำรวจ ด้วยการมาเชิญถึงบ้าน จากนายตำรวจระดับพันตำรวจเอก
เพื่อจะถูกแจ้งข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 14:17
intermission


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ม.ค. 10, 10:49
มาลงชื่อว่ายังรอติดตามชีวิตของรุ้งอยู่ต่อไปครับ

น่าคิดว่านักคิดรุ่นรุ้ง ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในยุค 2516-2519 นะครับ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ม.ค. 10, 12:44
          พักและรออ่านต่อ ครับ

            รุ้งจูเนียร์ยังไม่ออกโรง เลยได้แต่คาดเดาเรื่องล่วงหน้า วาดไว้แบบว่าในรุ่นลูกนี้ รุ้งซึ่งขัดแย้งกับ
สังคมที่บกพร่อง กลับต้องมาเกิดความขัดแย้งกับลูกชายของตนเอง อาจเพราะความเข้าใจผิด ความคิดต่าง
หรือช่องว่างระหว่างวัยและประสบการณ์
            จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่ชักนำให้พ่อลูกได้เปิดใจ ทำความเข้าใจกัน จนในที่สุดรุ้งจูเนียร์
ยอมรับนับถือพ่อเป็นวีรบุรุษของตน ทำให้รุ้งเรืองรองด้วยความสุขครั้งสุดท้ายในชีวิตก่อนที่จะเลือนหายไปจาก
ฟากฟ้า
            จบแบบเศร้าๆ อีกแล้วครับ

รุ้งสองสาย สายบนเริ่มจาง สายล่างยังสดใส


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 20:59
นิยายการเมืองเรื่องนี้เขียนตามความสบายของผู้เขียน   ไม่เข้ากฎเข้าเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น   
เพราะฉะนั้นจะจบตามใจคนเขียน หรือตามใจคนอ่าน
ก็เป็นไปได้เท่าๆกันค่ะ
**********************
" คุณคงจำผมไม่ได้  แต่ผมจำคุณได้ดีเสมอ  คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจเป็นฝ่ายทักรุ้งก่อน   ด้วยน้ำเสียงกันเอง
รุ้งนึกหน้าอีกฝ่ายไม่ออก   เขาได้แต่พึมพำขอโทษตามมารยาท
" เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒  ผมคือร้อยตำรวจเอกที่ไปจับคุณ  ก่อนคุณจะเดินทางไปต่างจังหวัดยังไงล่ะ   ผมแนะนำให้คุณสารภาพเสียดีๆ   อาจได้รับความกรุณาลดโทษลงมาเป็นจำคุกสักสิบปี  อย่างมากก็จำคุกตลอดชีวิต   แต่คุณก็ไม่เชื่อผม   คุณพูดอยู่คำเดียวว่า  ผมไม่มีความผิด" 
รุ้งนึกออกแล้ว    ร้อยตำรวจเอกแสวง ซึ่งบัดนี้เป็นนายพลตำรวจแล้วนั่นเอง
" คุณโชคดีนะคุณรุ้ง  ที่ได้รับอิสรภาพหลังไปอยู่ตะรุเตาไม่กี่ปี      ผมเสียดายจริงๆว่าคุณอาจไม่โชคดีเท่าคราวก่อน     คราวนี้คุณก็กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์อีก"
" ผมไม่ได้กระทำการอะไรทั้งสิ้น   ผมไม่เห็นด้วยกับลัทธินี้  ผมแสดงความคิดผมชัดเจนในคอลัมน์ของผม"
" ผมอ่าน"
รองอธิบดีตำรวจชี้ไปที่แฟ้มสีดำขนาดใหญ่บนโต๊ะ     เขาเปิดให้ดู  รุ้งเห็นบทความของเขาตัดจากหนังสือพิมพ์ เรียงซ้อนกันอยู่จนเต็มแฟ้ม
" ผมติดตามอ่านคอลัมน์ของคุณมาหลายปี" นายตำรวจพูดต่อไป เมื่อรุ้งไม่มีท่าทีว่าจะพูด " ขอสารภาพว่าผมติดคอลัมน์ของคุณเลยเทียวละ  วันไหนไม่ได้อ่าน เหมือนขาดกาแฟตอนเช้า     คุณเป็นคนมีความรอบรู้ดีมาก   ผมได้ความรู้จากคอลัมน์คุณเยอะ"
รุ้งตัดสินใจว่าจะไม่กล่าวคำขอบคุณ   เขาไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะมาไม้ไหน
" น่าเสียดาย" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป  ไม่รู้สึกรู้สมว่าเขาพูดอยู่ฝ่ายเดียว " คุณเขียนอะไรได้มากมาย  อยากเขียนอะไรก็เขียนไป ไม่มีใครว่า ทำไมจะต้องเขียนโจมตีท่านจอมพลด้วย"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 21:06
" ผมไม่ได้โจมตีท่านจอมพล    ผมเขียนบนสิทธิพื้นฐานของประชาชน ที่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นต่อการปกครอง  ตามระบอบประชาธิปไตย"
" คุณไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะไปละเมิดการปกครอง ตามธรรมนูญของราชอาณาจักร     นี่พูดกันอย่างหัวหมอ   แต่ถ้าพูดแบบทั่วๆไป คุณก็ทำตัวเป็นคอมมิวนิสต์"
" ผมไม่ได้เป็น"
" ผมก็เห็นปฏิเสธกันทุกคน  แต่ก็ไม่เห็นรอดจากถูกยิงเป้าไปได้"

นายตำรวจหมายถึง การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร
ผู้ถูกประหารคนแรกคือ นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ที่ท้องสนามหลวง
ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504
ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2505 จอมพลสฤษดิ์ลงนามสั่งยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

รุ้งไม่แปลกใจเลยถ้าผู้ถูกประหารต่อไป คือรุ้ง จิตเกษม



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 21:20
" คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป ด้วยน้ำเสียงผ่อนปรนลงกว่าเดิม " ผมเสียดายฝีมือและมันสมองคุณจริงๆ   เอาละ  ผมอาจจะยอมเชื่อว่าคุณไม่ได้คิดร้ายต่อรัฐบาล   ถ้าหากว่าคุณกลับตัวกลับใจ อย่ากระทำการให้ผมต้องส่งคุณเข้าบางขวางอีก"
" กลับตัวกลับใจของคุณ หมายถึงอะไรครับ" รุ้งถาม
" หมายถึงว่าคุณจะต้องงดเขียนคอลัมน์นี้ไปเลย    คุณจะไปเขียนตำรับตำราสอนภาษาอังกฤษหรือชีววิทยาก็ได้  ผมไม่ว่า   คุณก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว    ภรรยาคุณสวยและเป็นผู้ดี   ลูกคุณก็เป็นเด็กเรียนเก่ง    สองคนนี้ถ้าขาดหัวหน้าครอบครัวไป เขาจะลำบาก"

นายตำรวจใหญ่กำลังใช้จิตวิทยากับเขา  รุ้งดูออก      เขารู้สึกสลดใจที่อีกครั้งหนึ่ง เขาจำต้องสยบให้อำนาจของมนุษย์ตัวใหญ่ต่อมนุษย์เล็กๆอย่างเขา    เพื่อเห็นแก่ภรรยาและลูกที่เป็นจุดอ่อนของผู้ชายทุกคน
" ถ้าหากว่าผมงดเขียนคอลัมน์   คุณจะปล่อยผมกลับไปหาลูกเมียงั้นหรือครับ"
" ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น   คุณเขียนเล่นงานท่านจอมพลไว้ไม่น้อย   ผมปล่อยให้คุณลอยนวลไปง่ายๆผมก็โดนท่านเล่นงานแทนน่ะสิ    เอาอย่างนี้    ข้อเขียนของคุณมีคนอ่านมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ   มันคงจะเป็นการดีมิใช่น้อย ถ้าหากว่าคุณจะทำความเข้าใจกับนโยบายรัฐบาล   แล้วเขียนในสิ่งที่ถูกต้อง"
" ทุกอย่างที่ผมเขียนลงไป  ผมพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง   ถ้าผมไม่เชื่อในสิ่งที่ผมเขียน  ผมก็เขียนไม่ได้"
" ความถูกต้องคืออะไร  ไม่มีใครรู้    สิ่งที่ถูกต้องสำหรับคุณอาจจะผิดในสายตาคนอื่นก็ได้    อย่างน้อยคุณก็รู้แล้วว่า  มันผิดในสายตารัฐบาล"
" ผมเชื่อว่าความถูกต้องมีอยู่ในตัวของมันเอง     คนจะบิดเบือนไปยังไง ก็ลบล้างไม่ได้  อะไรที่ดี มันก็คือดี   อะไรที่ชั่ว ถึงคุณว่ามันดี มันก็ชั่วอยู่นั้นเอง"
รุ้งเริ่มลืมที่จะเก็บปากเก็บคำ     ส่วนนายตำรวจก็ดูเหมือนจะลืมไปเช่นกันว่า เขาไม่ต้องการคนโต้แย้ง   ดูเหมือนเขาจะเพลิดเพลินที่จะต่อปากต่อคำด้วยซ้ำ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 21:38
เขียนมาถึงตรงนี้ ต้องหยุดพัก เพราะไม่แน่ใจ
ย้อนกลับไปอ่าน เมืองนิมิตร     ว่ารุ้งพูดถึง "ความจริง" ไว้อย่างไรบ้าง  ก็พบเขาพูดสั้นๆไว้ว่า
"ในโลกนี้ไม่มีข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด"คำขยายคือ
" การที่สมส่วนจะตายภายในหนึ่งเดือน จึงไม่ใช่ความเชื่อของรุ้งว่า จะจริงตามนั้นเด็ดขาด"

ทีนี้  การที่สมส่วนถูกแพทย์ทำนายอาการโรคว่าเธอจะอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งเดือน   มันไม่ใช่ความจริงอย่างที่ปรัชญาเรียกว่า truth    แต่เป็นการคาดคะเนจาก fact  คือข้อเท็จจริง
ว่าคนป่วยหนักขนาดนี้ เท่าๆที่ดูกันมาก็ตายภายใน ๑ เดือนทั้งนั้น  ร่างกายทรุดโทรมเกินกว่าจะทรงต่อไปได้
แต่การคาดคะเน ย่อมคลาดเคลื่อนได้     กำลังใจอาจทำให้คนป่วยมีชีวิตยืนยาวกว่านั้นอีก

คำถามคือ รุ้งเชื่อว่า "ในโลกนี้ไม่มีข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด"  ทางปรัชญานั้น ความจริง -เท็จ  กับความถูก-ผิด มันเกี่ยวโยงกันอยู่
ถ้าเราเชื่อว่ามีความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอน  อย่างที่เรียกว่า Ultimate truth  ก็หมายความว่า มีอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ผันแปรไปตามค่านิยมและความคิดเห็น
ดังนั้น ความถูกและผิด   ก็ย่อมมีได้เหมือนกัน    ไม่ใช่แค่ความคิดเห็นที่ผันแปรไปตามตัวแปรต่างๆ

คำถามคือรุ้งเชื่อไหมว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน
อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต?


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.พ. 10, 00:45
อ้างถึง
คำถามคือรุ้งเชื่อไหมว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน
อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต?

ด้วยความเคารพ ได้โอกาสตัวแทนของรุ้งที่จะออกโรงอีกแล้ว

ข้อความในความฝันของนักอุดมคติตอนนี้มีอยู่ว่า  โลกนี้ไม่มีความจริงข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด การที่สมส่วนจะตายภายในหนึ่งเดือนจึงไม่ใช่ความเชื่อของรุ้งว่า จะเป็นจริงตามนั้นเด็ดขาด   มีเพียงเท่านี้เท่านั้นเอง

ไม่มีข้อเขียนตอนไหนให้ตีความได้ว่า รุ้งจะมีความเห็นเลยเถิดไปจนไม่เชื่อว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    

คนที่มีความคิดอย่างนั้นจะเป็นนักอุดมคติได้อย่างไร คงเป็นได้แค่นักตรรกวาทีอย่างวาชศรพในกามนิต-วาสิฏฐีเท่านั้น

หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต

รอยร้าวของมรกตเป็นบทละครสั้นๆ ที่มีตัวแสดงไม่กี่คน แต่ละคนมีพื้นฐานอุปนิสัยใจคอ และพฤติกรรมดีชั่วต่างๆกัน ข้อความที่ตัวละครพูดถกเถียงกัน สะท้อนความคิดเห็นของมนุษย์ทั้งสองด้าน และแสดงให้เห็นว่า ธาตุแท้ของคนทุกคนย่อมเคยทำผิดทางคุณธรรมหรือศีลธรรมมาบ้างไม่มากก็น้อย เปรียบได้กับมรกต ถึงจะเป็นอัญมณีล้ำค่าแต่ทุกเม็ดจะมีตำหนิ(รอยร้าว) แต่ถ้าคุณยังเห็นคุณค่าของมัน และรักที่จะสวมใส่มันไว้ประดับตัว คุณก็จะต้องลืมเรื่องตำหนิของมันเสียด้วย บทสรุปมีอยู่เท่านั้นจริงๆ และถ้ามองให้ลึกสักนิด เรื่องรอยร้าวของมรกตนี้ ได้สะท้อนคุณธรรมของการรู้จักให้อภัยของผู้ประพันธ์  ที่เข้าใจคนประเภทที่เคยกระทำต่อตนอย่างแสนสาหัสถึงธรรมชาติของคนเหล่านั้น แม้เลวแสนเลวก็ยังควรได้รับการให้อภัย

ถ้ารุ้งได้อ่านบทละครเรื่องนี้ เขาคงจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าถ้าถึงทีเขา เขาอาจจะยอมทำชั่วเพื่อแลกกับเงินหรือการที่จะได้อะไร รุ้งเป็นนักอุดมคติ ตัวละครในรอยร้าวของมรกตไม่มีใครเป็นนักอุดมคติสักคนเดียว


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 09:18
ขอบคุณคุณตัวแทนรุ้งค่ะ :D
ดิฉันจะได้เล่าเรื่องต่อได้   ไม่ต้องย้อนกลับไปแก้ไขคำพูดของรุ้ง
***********************************
" ผมไม่ใช่นักปรัชญาอย่างคุณ  คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป " แต่ผมก็เชื่อว่าผมมองเห็นความจริงหลายอย่างที่คุณมองไม่เห็น     คุณยังฝังหัวอยู่กับอุดมคติของคุณอย่างโงหัวไม่ขึ้น    นั่นก็ไม่ว่ากัน  ถ้าคุณไม่ทำสิ่งใดให้กระทบนายของผม    
คุณเชื่อในระบอบการปกครองที่ไม่มีจริง  และเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย   อย่างน้อยในชั่วชีวิตเราสองคน ต่อให้ชั่วชีวิตของคนรุ่นลูกเราด้วย  เมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยหรอกคุณ    
การปกครองที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย  ที่จริงก็คือระบอบรัฐสภา   มีคนถูกเลือกจากวิธีเลือกตั้งทั่วประเทศเข้ามานั่งในสภา  จากนั้นพวกเขาจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ   มันถึงไปไม่รอดเลยสักครั้ง    
รัฐบาลก็รับมือกับผู้แทนไม่ไหว เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ทำอะไรพวกนี้ได้   จากนั้นบ้านเมืองก็วุ่นวาย    
คนที่จัดการปัญหานี้ได้คือผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด    พอจะกล้าประกาศว่าท่านไม่เอาระบอบรัฐสภา     ท่านขอบริหารบ้านเมืองตามที่สมควรเอง    เกิดอะไรขึ้นท่านไม่โทษคนอื่น  
ท่านพูดว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"  คุณก็เคยได้ยินท่านประกาศไม่ใช่หรือ"

" ผมได้ยิน   แต่ผมไม่ทราบว่าท่านจะรับผิดชอบครบถ้วนได้อย่างไร   บ้านเมืองไม่ใช่ของท่านคนเดียว"

รองอธิบดีตำรวจอึ้งอยู่เป็นครู่   ก่อนจะตอบว่า
" ประเทศไทยไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าผู้นำที่เอาคนไทยไว้อยู่      รู้จักจัดการกับคนเกะกะนอกแถว   เพื่อคนสุจริตส่วนใหญ่จะได้โล่งอก นอนตาหลับ ทำมาหากินได้อย่างสบายใจ          ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน    คุณไม่เห็นหรือว่าเดี๋ยวนี้  แถวบ้านคุณไม่มีขโมยเล็กขโมยน้อย   ไม่ต้องกลัวไฟไหม้เท่าเมื่อก่อน      เพราะพวกที่เป็นภัยต่อสังคม ท่านกวาดไปขังไว้หมด     คุณคิดว่าคนไทยต้องการอะไรมากกว่านี้"


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 09:48
" ผมคิดว่าคนไทยต้องการความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และปัญญาของพวกเขาด้วย"

" ท่านจอมพลท่านก็ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการศึกษา      ลูกหลานพวกเราก็ได้เรียนหนังสือกันทั้งนั้น  ถ้ามีสติปัญญาพอจะเรียน   มหาวิทยาลัยมาตั้ง ๕ แห่ง   โรงเรียนอาชีวะ  โรงเรียนฝึกหัดครู   มีให้เลือก    ประเทศชาติกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว  เราต้องการเยาวชนที่มีความรู้มากกว่าคนรุ่นเรา เพื่อจะไปสร้างความเจริญให้ทั่วถึงทั้งประเทศ
     คุณคิดดูนะ    ตอนผมเด็กๆ  ถ้าจะไปนนทบุรี  ผมลงเรือที่ท่าช้าง นั่งไปครึ่งวันกว่าจะไปเยี่ยมญาติที่เมืองนนท์ได้    แต่เดี๋ยวนี้ ถนนตัดจากกรุงเทพไปนนท์  สะดวกสบาย  เด็กเมืองนนท์เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพ ไปเช้าเย็นกลับได้ทุกวัน    ต่อไปการเดินทางระหว่างจังหวัดมันจะรวดเร็วยิ่งกว่านี้อีก     เราอาจจะไปกลับจากโคราชภายในวันเดียวก็ได้     เวลานี้ถนนมิตรภาพก็ทำให้เราไปอีสานได้สะดวกสบาย  ไม่ต้องเดินทางเกวียนนอนกลางป่าอย่างเมื่อคุณกับผมยังเล็กๆ      ทั้งหมดนี้  ไทยเจริญได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐสภาหรือผู้แทน"

" ผมไม่ได้พูดถึงการศึกษา หรือความเจริญทางวัตถุ    ผมพูดถึงความเจริญทางสติปัญญา   ซึ่งจะเกิดได้เมื่อมนุษย์มีเสรีภาพที่จะคิด และเลือกเส้นทางของตนเอง"    


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 19:08
" ท่านจอมพลท่านก็ไม่ได้ห้ามเรื่องเสรีภาพ   นิสิตนักศึกษาจะคิดทำกิจกรรมอะไร  อธิการบดีก็อนุมัติทุกอย่าง     เว้นอย่างเดียวคือเรื่องการเมือง   เมื่อเรียนจบไปแล้ว เขาจะไปประกอบอาชีพอะไร ก็ทำได้อย่างเสรี  ไม่มีใครบังคับ"
" เว้นแต่คิดอย่างผม  และประกอบอาชีพอย่างผม"
" ใช่  เสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง    ถ้าคุณไม่เข้าใจข้อนี้   ก็ต้องได้รับโทษ   ผมไม่อยากจะลงโทษคุณเลยนะ คุณรุ้ง" รองอธิบดีเปลี่ยนเสียงเป็นเสียงแข็งขึ้น "แต่ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคุณเข้าใจอะไรได้ยากนัก  น่าเสียดาย    คุณน่าจะเอาอย่างคุณผ่องเพื่อนของคุณบ้าง  ทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทรถยนต์ของอเมริกาอย่างเต็มความสามารถ   ไม่สนใจการเมือง ไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย       ผลคือ ครอบครัวสุขสบาย  ลูกได้เล่าเรียนดีๆกันทุกคน     เขาไม่หาเรื่องใส่ตัว     ประเทศต้องการประชาชนแบบนี้   ไม่ใช่คนที่ทำให้รัฐบาลยุ่งยากอย่างคุณ"
รุ้งได้คำตอบทันทีว่า งานของตำรวจคือสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชน    แม้แต่ผ่องเองก็ไม่พ้นข้อนี้ไปได้
" ผมเข้าใจครับ    เข้าใจว่าประชาชนจะต้องอยู่อย่างเด็กดี   แต่คุณไม่คิดหรือว่าแม้แต่เด็กก็ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหนึ่ง      ถ้าคุณเอาแต่ป้อนให้เขากินอิ่มไปวันๆ   ไม่ฝึกให้เขารู้จักคิด  เป็นตัวของเขาเอง  รู้จักเลือกทางที่เขาต้องการ    เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร"
รองอธิบดีตำรวจโบกมือเป็นเชิงตัดบท   เหมือนเขาเริ่มหมดสนุกที่จะโต้แย้งกับรุ้ง
" ผมขี้เกียจเถียงกับคุณอีกแล้ว    ถามคำเดียว คุณจะเขียนอย่างที่ผมต้องการให้เขียนหรือเปล่า"
" ถ้าผมไม่เขียนยกย่องสรรเสริญรัฐบาลตามที่คุณต้องการ    คุณจะทำอะไร" เขาถาม
" คุณก็เดาคำตอบได้แล้วไม่ใช่หรือ"

จากวันนั้น   รุ้งถูกส่งตัวไปเรือนจำลาดยาว ไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษเมื่อใด


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.พ. 10, 21:36
ถ้ารุ้งมาพูดเรื่อง "ความเจริญทางปัญญา" ในสมัยนี้ จะโดนข้อหา "ดูถูกชาวรากหญ้า" ด้วยอีกกระทงหนึ่ง

 :-X


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 11:31
เมื่ออยู่ในคุกลาดยาว    รุ้งไม่รู้เลยว่าจะมีวันไหนที่ผู้คุมมาปลุกเขา แล้วนำไปที่หลักประหาร  หรือมาแจ้งข่าวดีว่าเขาได้รับอิสรภาพแล้ว
ทั้งสองอย่างเป็นไปได้เท่าเทียมกัน    ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ
เขาได้แต่เศร้าใจว่า  รัฐบาลของมนุษย์ยิงเป้าพลเมืองของตน    แต่มันสมองของมนุษย์ไม่เคยสังหารจุลินทรีย์ (เซลส์) ในร่างกายของตนเลย    ถ้าหากจุลินทรีย์แม้แต่ตัวเดียวต้องประสบภัย    มันสมองก็จะจัดการให้อวัยวะอื่นช่วยเหลือ   เช่นถ้าจุลินทรีย์ที่เท้าถูกแทงด้วยหนาม   มันสมองก็จะสั่งกล้ามเนื้อที่ขาให้ยกเท้าหนีหนาม   แล้วสั่งมือให้ถอนหนามทิ้งเสีย   มนุษย์จะมีความสุขได้ ก็มีรัฐบาลที่ดี

อย่างไรก็ตาม  รุ้งไม่ต้องทนทรมานอยู่ในลาดยาวนานนัก   เพราะจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  2506  หลังจากรุ้งอยู่ในลาดยาวเพียงสองสามเดือน
อำนวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่  ให้ทนายความยื่นคำร้องต่ออธิบดีตำรวจคนใหม่ ขอให้ปล่อยตัวรุ้งเป็นอิสระ   แค่หนึ่งเดือนต่อมา   รุ้งก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านได้อีกครั้ง

หวังว่าแฟนๆของรุ้งคงจะโล่งใจกับพระเอก   :)


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 12:12
ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ที่มีคำขวัญว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ "จบลงพร้อมกับอสัญกรรม  แต่ปัญหาที่ก่อตัวขึ้นในยุคนั้นยังไม่จบ
เรื่องแรกคือ
ผู้ที่ถูกข้อหาคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่ง หนีเข้าป่าไปสมทบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นพรรคเล็กๆ ในตอนนั้น ไม่มีศักยะภาพพอจะเคลื่อนไหวในเมืองได้  
ต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มเติบโตขึ้น จนกลายเป็นกองกำลังจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับฝ่ายบ้านเมือง    กลายเป็นปัญหาเรื้อรังแก่รัฐบาลไทย  สืบต่อกันมายาวนานอีกหลายทศวรรษ

อีกเรื่องหนึ่งคือ
หนึ่งเดือนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ทายาททั้งหลายต่างก็เริ่มวิวาทแก่งแย่งทรัพย์มรดกมหาศาลของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คนของจอมพลสฤษดิ์ได้ฟ้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ที่พยายามจะตัดสิทธิในส่วนแบ่งอันถูกต้องของทายาท


เนื่องจากเป็นเรื่องอื้อฉาวมาก ประชาชนจึงต่างให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในคดีนี้และสื่อมวลชนก็ยกให้เป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดในเมืองไทยปัจจุบัน การที่ประชาชนให้ความสนใจในการพิจารณาคดีนี้ จึงเป็นการบังคับให้รัฐบาลจอมพลถนอมต้องเข้าแทรกแซงและสอบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์

ได้มีการเปิดพินัยกรรมของจอมพลสฤษดิ์ที่บ้านของจอมพลถนอม ต่อหน้าทนายความและนายทหารคนสำคัญๆ ที่เป็นผู้ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ตัวพินัยกรรมเองลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงเล็กน้อย ข้อสำคัญในพินัยกรรมกล่าวว่าทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ให้ตกแก่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีข้อแม้ว่าท่านผู้หญิงต้องให้ลูกเลี้ยง คือพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์และร้อยโทสมชาย ธนะรัชต์ คนละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งบ้านหนึ่งหลังที่เหมาะสมกับฐานะของบุคคลทั้งสอง อย่างไรก็ตาม จะเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นเงินสดมีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ที่นาของจอมพลสฤษดิ์จะต้องแบ่งให้แก่บุตรชายคนโตทั้งสองคนจำนวนเท่าๆ กัน

โจทย์ร้องเรียนว่าจอมพลสฤษดิ์ได้เขียนพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับหนึ่งซึ่งถูกท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ทำลายไปแล้วหลังจากที่เข้าบุกบ้านส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ในค่ายกองพลที่ 1 บุตรชายทั้งสองกล่าวหาท่านผู้หญิงวิจิตราว่าได้พยายามจะรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ไว้โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกันอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้ ตรงกันข้ามท่านผู้หญิงวิจิตรากลับกล่าวว่าตนรู้เพียงว่ามีเงินเพียง 12 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่รอคอยผลการตัดสินจากศาล บุตรของจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ร้องเรียนจอมพลถนอมให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในการสอบสวนเรื่องราวนี้ทั้งหมด หลังจากที่พิจารณาอย่างคร่าวๆ แล้ว รัฐบาลรู้สึกว่าหากมิได้ลงมือกระทำการอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะทำให้ฐานะของรัฐบาลไม่ดีในสายตาของประชาชน ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพลถนอมจึงออกประกาศว่าตนจะได้นำมาตรา 17 มาใช้ในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์

จากงานของคณะกรรมการคณะนี้ ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอและลงทุนในธุรกิจ เงินผลประโยชน์ที่สำคัญๆ 3 แหล่งที่รัฐบาลสนใจคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาทที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาทจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาทซึ่งควรที่จะให้แก่กองทัพบกซึ่งได้เปอร์เซนต์จากการขายสลากกินแบ่ง

ในระหว่างการสอบสวน อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า จอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตรามีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ถึง 45 แห่ง การถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาสมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริษัทได้ให้ปากคำว่า หุ้นส่วน้เหล่านี้ได้โอนไปให้น้องชายจอมพลสฤษดิ์สองคน ซึ่งทั้งนี้ก็หมายความว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าว ซึ่งกฎหมายบังคับให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทนี้ นอกจากจำนวนหุ้นและบัญชีเงินฝากในธนาคารจำนวนมากมายแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังมีที่ดินอีกจำนวนมหาศาล ดังที่อธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า จอมพลสฤษดิ์มีที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วน  ทั้งในและทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น จอมพลสฤษดิ์มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท ซึ่งถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐบาลหรือไม่

ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดีวิวาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ศาลแนะนำให้ประนีประนอมกันโดยที่ให้ท่านผู้หญิงวิจิตราและพันโทเศรษฐาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และให้ตกลงกันเองต่อเมื่อปรากฏผลขั้นสุดท้ายของการสอบสวนของรัฐบาลแล้ว

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C_%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%95%E0%B9%8C


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 21:27
พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี  ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์   และได้รับพระราชทานยศจอมพลในเวลาต่อมา
จอมพลถนอม เป็นนายทหารที่มีบุคลิกสุภาพเรียบร้อย    มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่นับถือของกองทัพ    การปกครองของจอมพลถนอม ดูจะยืดหยุ่นประนีประนอมมากกว่ายุคที่ผ่านมา     
รัฐบาลชุดใหม่มีท่าทีอนุโลมต่อแรงกดดันจากประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการบริหาร  เพื่อเปิดทางสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง  เห็นได้จากพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2511 ที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
แต่รัฐบาล ก็อยากจะคุมเสียงข้างมากในรัฐสภา   จึงมีการตั้งพรรค "สหประชาไทย"ขึ้นมา เพื่อรักษาอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนเดิมและรัฐบาลชุดเดิมไว้

พ.ศ. 2512  พรรคสหประชาไทยได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง    แต่ก็ยังไม่มากพอจะเป็นพรรคเสียงข้างมากพรรคเดียวได้   ต้องผสมกับพรรคการเมืองอื่นๆเพื่อจะได้มีเสียงเกินครึ่งในรัฐสภา
แต่การต่อรองเพื่อผลประโยชน์จากบรรดาส.ส.พรรคอื่นๆ  ทำให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวาย ไม่รู้จบ   รัฐบาลคุมเสียงในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้จนแล้วจนรอด

ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร จึงตัดสินใจทำการรัฐประหารตัวเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ยึดอำนาจตัวเองเหมือนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เคยกระทำในปี พ.ศ. 2494
พร้อมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ, วุฒิสภา, สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี, ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
พรรคสหประชาไทยสลายตัวไป    จอมพลถนอมเปลี่ยนตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ   บริหารประเทศต่อไป   พร้อมกับรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง   ไม่ใช่เลือกตั้ง   ความวุ่นวายจากรัฐสภาก็จบลง

รุ้งเฝ้ามองความวุ่นวายทางการเมืองด้วยความสนใจ      เขามองเห็นวงจรการเมืองที่หมุนวน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในการเมืองไทย
ราวกับว่าเป็นวงกลมที่จะต้องเดินวนกันไปไม่รู้จักจบ

รุ้งเพิ่งมาเห็นว่า คราวนี้ไม่เหมือนคราวก่อนๆ ก็เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี    เริ่มต้นด้วยการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ที่เรียกกันว่า "วันมหาวิปโยค" ของไทย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 21:33
ถึงเวลารุ้งจูเนียร์จะเปิดตัว แล้ว :)
ขอออกตัวอีกครั้งว่า  แม้ว่าเขียนตามใจคนเขียน   แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ "ความฝันของนักอุดมคติ"  แสดงความเห็นได้โดยเสรี
รวมทั้งท่านอื่นๆด้วย
ว่า
อยากจะเห็นคุณรุ้งจูเนียร์ เล่นบทไหนในยุค 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 22:51
รุ้งจูเนียร์ ติต่างว่า ชื่อ  วิน    เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ปีสามก็แล้วกัน      มีเพื่อนสนิทสองสามคนที่รู้จักกันมาตั้งแต่โรงเรียนประจำ
แล้วรุ้งก็มีเพื่อนที่ไม่รู้ที่มาอีกสองสามคน   

คณะของวินต้องทำงานกลุ่มร่วมกันเสมอ  คือไปค้างที่บ้านของเพื่อนแล้วช่วยกันทำงาน
เพื่อนเก่าของวินนั้นมาจากครอบครัวเก่าของประเทศ  เรียนหนังสือเก่งมาก  เรียนได้เป็นเลิศ

เพื่อนใหม่ของวินที่น่าสนใจมีอยู่สองคน ชื่อ เสก  กับยุทธ์(นึกชื่อที่ดีกว่านี้ไม่ออกค่ะ)
เสกเป็นนักเขียนและรับจ้างทำงานที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง     ยุทธ์มาจากสลัมครอบครัวคนจีนที่เตี่ยเสียชีวิตไปนานแล้ว(ขืนไม่เสียชีวิตก็ต้องตั้งชื่อกันอีก)
วินสนิมกับเสกเพราะเสกพูดเก่ง มีความเป็นผู้นำ        ยุทธ์เรียนพอใช้ได้  แต่งตัวสกปรก แต่สนิทสนมรับใช้งานของอาจารย์หลายคน

เสกนำใบเรียกร้องรัฐธรรมนูญมาให้ วินเซ็น    ยุทธ์มองแต่ไม่ว่าอะไร   ทั้งยุทธ์ เสก และเพื่อนเก่าของวิน ไม่มีใครเซ็นชื่อสักคน

เมื่อเกิดกรณี ๑๔ ตุลาขึ้น     เพื่อนๆของวินก็แบ่งกลุ่มกัน
เสกกลายเป็นผู้นำนักศึกษา
เพื่อนเก่าของวิน ชักอยากเป็นผู้นำนักศึกษาบ้างแต่ไม่มีใครเลือก
ยุทธร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ   และเมื่อหลายคนหนีเข้าป่า  ยุทธ ช่วย วินไว้ให้กลับไปหาครอบครัว

ยุทธบอกวินว่า  ภาระกิจทางประวัติศาสตร์ เป็นหน้าที่ของทุกคน   พ่อและแม่ของวินทำหน้าที่มามากแล้ว
ยุทธเตือนวินว่า ระวังเพื่อนเก่าไว้ดี ๆ เพราะทะเยอทะยาน
เสกไม่เป็นไรหรอกเพราะเสกเป็นนักเขียน  อยากแต่จะเขียนบทความ


ยุทธสารภาพว่าชอบหมี่กรอบที่คุณยายวินทำให้กินมาก  ไม่มีใครเคยดีกับยุทธเลย 
ที่จริงยุทธคือหัวหน้าเยาวชนพรรคผู้ได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการบริหาร.......และคณะกรรมการ...............
(รับเขียนบท   อาจเพิ่มบทอาจารย์กี่คนก็ได้  ถ้ามีคนอ่าน)




กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 08:53
ช่วยขยายความเรื่องเพื่อนเก่าของวินหน่อยได้ไหมคะ
เหมือนตัวละครตัวนี้จะสำคัญ

ดิฉันยังต่อเรื่องไม่ถูก  ขอนั่งพัก  เป็นฝ่ายฟังคุณวันดีต่อเรื่องนะคะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 10, 09:20
กลุ่มเพื่อนเก่าของวินที่เรียนมัธยมมาด้วยกันมีสองสามคน  มาจากตระกูลขุนนางเก่า สตางค์พอมีใช้
แน่นอนที่ชายหนุ่มอายุ ยี่สิบต้นๆ เหล่านี้ อ่านวรรณกรรมของโลกมาแล้วจากตู้หนังสือในบ้าน
เข้าใจทฤษฎีการเมืองทุกรูปแบบในโลก
บิดามารดามีการศึกษาดี

เด็กหนุ่มที่ชีวิตไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนหารายได้  ย่อมพอใจกับชีวิตที่ตื่นเต้นของมหาวิทยาลัย
อยากจะก้าวหน้า
ความอยากเป็นผู้นำนั้นอยู่ในสายเลือดอันรุนแรงเข้มข้นว่า ตน อยู่เหนือผู้อื่น


คนพวกนี้ไม่สามารถเข้าใจมนุษย์อย่างเสก และ ยุทธได้

ในกิจกรรมร่วมกับกรรมกรหญิงทอผ้า     เพื่อนกลุ่มนี้รับหน้าที่ประสานงาน  เสกเป็นหัวหน้าตามเคย  ยุทธเป็น รปภ
ครั้งนี้  วินและยุทธ จับมือกันล้อม กรรมกรหญิง เพื่อให้ความปลอดภัย

วินเป็นผู้ดูและซึมซาบเหตุการณ์

เพื่อนเก่าของวินผลักดันให้กรรมกรหญิงกรีดข้อมือเพื่อเอาเลือดไปเขียนจดหมายประท้วง

ยุทธปล่อยมือจากวงล้อมทันที ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรักษาความสงบ
ยุทธพูดกับวินว่า  กูทนไม่ได้

วินกลับไปบ้าน เล่าให้รุ้งฟัง
รุ้งบอกวินว่า  ลูกโตแล้ว



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 09:26
ช่วยขยายความเรื่องของเสก

เสกก็เข้าป่าเช่นเดียวกับยุทธ์ มีลูกชาย ๒ คนขณะอยู่ในป่า กับภรรยาซึ่งเคยเป็นผู้นำนักศึกษาด้วยกัน  วันที่เสกซมซานออกมามอบตัวในเมืองอย่างผู้แพ้  เขาขนานนามตนเองในเวลานั้นว่า "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"

 ;D


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 10, 09:43
คุณเพ็ญสหายที่นับถือ

วันเสาร์มาฟังอาจารย์พูดไหมคะ

มีเพื่อนจากวงการหนังสือเก่ามาคนหนึ่ง


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 15:29
อ้างถึง
รุ้งบอกวินว่า  ลูกโตแล้ว
ตกลงว่า คุณวินจะเข้าป่าไหมคะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 10, 16:09
ไม่ค่ะ   วินเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ผ่านไป




กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 16:15
ดิฉันก็ไม่อยากให้คุณวินเข้าป่า   คุณรุ้งจะได้มีโอกาสคุยกับลูกชายได้หลายประเด็น
ตอนนี้ ดิฉันขอฟังอย่างเดียว


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 10, 11:43
ดึงกระทู้รุ้งขึ้นมาอีก ไม่อยากให้ตกหน้าไป
รอคุณวันดี ว่ายุค 14 ตุลา 16 รุ้งคิดอย่างไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.พ. 10, 13:27
ถึงแม้ว่าวินจะไม่ได้เล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้รุ้งฟัง  รุ้งก็รู้ดีว่า
วินเป็นลูกผู้ชายชาตรี  พร้อมจะผจญกับโลกต่อไป
วินมีสายเลือดของรุ้งเต็มตัว  ประกายตาสีเหล็กที่แจ่มใสนั้นหม่นหมองอยู่เป็นเวลานาน

เวลาผ่านไป
วันหนึ่งรุ้งได้ยินวินหัวเราะอย่างแจ่มใสกึกก้อง
วินโผล่เข้าไปดูในห้องทำงานของวิน  และเห็นยุทธมาเยี่ยม

วินหันมามองบิดาของเขาแล้วพูดคำกลั้วหัวเราะออกมาว่า
"ยุทธมันบอกว่า เสกจะออกจากป่าแล้วครับ"
"อือม์...ทำไมล่ะ" 
"เสกมันบอกว่ามันทนวิจารณ์ตนเองไม่ไหวครับ" ยุทธตอบ ดวงตายิบหยีของยุทธมีประกายแจ่มใสปนขบขันเช่นกัน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 17 ก.พ. 10, 18:20
กำลังค่อยๆอ่านถึงหน้า 4 ค่ะ สนุกดี

สรุปเท่าที่อ่านรู้สึกว่าคุณเทาชมพูเป็นคน realistic ค่ะ

ดิฉันเองมองตนเองเป็นคนเจ้าอุดมคติเหมือนกัน แต่ไม่เป็นแบบรุ้ง บางทีความโลภก็ทำให้อุดมคติหายไปเป็นระยะๆค่ะ :-[


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 10, 19:02
อ้าว ตายจริง
ดิฉันเขียนถึงรุ้ง  แต่คนอ่าน อ่านแล้วอยากวิจารณ์คนเขียน
แทนที่จะวิจารณ์พระเอก

ช่วยวิจารณ์รุ้งหน่อยซีคะ  ไม่งั้นคุณรุ้งจะน้อยใจแย่เลย


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 17 ก.พ. 10, 23:08
เวลาอ่านก็ต้องวิจารณ์คนเขียนสิคะ จะวิจารณ์ตัวละครที่คนเขียนวิจารณ์อีกทีมันรู้สึกแปลกๆค่ะ   ;D

ดิฉันไม่เคยอ่านเรื่องนี้ไงคะ (และยังไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้อ่านไหม) จึงไม่สามารถวิจารณ์ตัวละครได้ค่ะ เมื่ออ่านจนถึงหน้าที่ 11 แล้ว ก็อาจได้เพียง อืม เห็นด้วยความคิดตรงจุดนี้ ไม่เห็นด้วยกับจุดนี้ ยังไม่สามารถวิจารณ์ตัวละครได้ด้วยตนเองอยู่ดีค่ะ เพราะไม่ได้สัมผัสโดยตรง

ตอนนี้ดิฉันคงได้เป็นแฟนประจำเรือนไทยไปแล้วค่ะ มีอะไรสนุกๆแบบนี้ให้อ่านด้วย ตอนเว็บวิชาการเปิดใหม่ๆ คนเปิดส่งอีเมลมาเชิญชวนให้เข้าไปร่วมเขียนบทความ แต่ไม่เคยได้ให้ความร่วมมือใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่มีปัญญาเขียน หลายปีผ่านไป ได้เข้ามาเพราะหน้าแปลภาษาอังกฤษที่เพื่อนเล่าให้ฟัง ก็ค่อยๆได้อ่านกระทู้ไปเรื่อยๆ ตามแต่เวลาจะอำนวย ดีค่ะ ได้เปิดโลกทัศน์ของดิฉันบ้าง ไม่งั้นวันๆนอกจากตำราแล้ว ก็ไม่ค่อยได้เห็นอะไรเลย ทั้งๆที่เป็นคนชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก..


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 18 ก.พ. 10, 23:31
อ่านจบ 11 หน้าแล้ว พบว่า สนุกดีจริงๆ มันน่าไปหาต้นฉบับมาอ่านนัก

ส่งชื่อ รุ้งจูเนียร์เข้าประกวด --> รอรุ้ง ค่ะ เพราะคนอ่านรอรุ้งอยู่ค่ะ  ;D



กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 19 ก.พ. 10, 22:53
ค่อยๆรวบรวมว่า มีอะไรบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับรุ้ง
เจอเข้าเรื่องหนึ่ง

รุ้งไม่ปรารถนาที่จะรับราชการอีก    เขาได้ลาออกเมื่อก่อนกบฏ เพราะไม่เลื่อมใสในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล    และไม่มีทางใดที่ความเห็นของเขาจะได้รับการเอาใจใส่     เขาไม่สามารถทำงานในวิธีที่เขาไม่เลื่อมใส     และจะเป็นการน่าละอาย    ถ้าเขายอมเลิกล้มความเห็นเดิมเสีย   โดยเห็นได้ง่ายๆว่าต้องการเงิน

พ่อคู้ณ   ไม่นึกบ้างหรือว่าเงินที่ส่งคุณไปเรียนเมืองนอกน่ะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวของคุณ   นึกบ้างหรือเปล่าว่าเป็นหนี้ประเทศชาติอยู่
และ 
ทำไมคุณถึงเอาความคิดของตัวเอง เป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของสยาม ยังงั้นด้วยล่ะ     ไม่คิดบ้างหรือว่า วิธีที่คุณเลื่อมใส อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้  ในเมื่อเป็นความคิดของคุณคนเดียว
วิธีคิดของรุ้ง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าการมองโลกของรุ้ง ในหลายๆเรื่องเหมือนฟิล์มเนกาตีฟ    มี ๒ สีให้เลือกเท่านั้นคือถ้ามันไม่ขาว ก็ต้องเป็นดำ
 

ซึ้งใจ แถวๆที่ดิฉันอยู่น่าจะมีคนคิดแบบอาจารย์มากกว่านี้ ทุกคนทำเหมือนประเทศเป็นหนี้ความเก่งของตนเอง คิดอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่นึกถึงส่วนรวมเอาเสียเลย ขนาดคนในวงการศึกษายังคิดเห็นแก่ตนแบบนี้ แล้วประเทศจะอยู่ได้อย่างไร


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 19 ก.พ. 10, 23:14
"เพราะดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์"

ตรงนี้ตัวแทนของรุ้งขอมั่วเอาคำของอุไรวรรณที่กล่าวตอบรุ้ง ว่าทำไมความสามารถในทางประพันธ์จึงเป็นเหตุขัดขวางให้รู้รสดนตรี เพลงที่มีความไพเราะห์ด้วยตัวของมันเอง ถ้าใส่เนื้อร้องลงไปเมื่อไร ก็เป็นการทำลายคุณค่าเมื่อนั้น

ตรงนี้ผมเห็นใจอุไรวรรณนะครับ นักดนตรีมีโสตสัมผัสที่ละเอียดอ่อนไม่เหมือนใคร มิฉะนั้นบีโธเฟนจะแต่งซิมโฟนีหมายเลข9ยามที่หูหนวกสนิทได้หรือ นักดนตรีฟังเพลงหนี่งแล้ว บางคนจะหลับตาเห็นไปทั่วท้องฟ้ามหาสมุทรสุดจักรวาล แต่พอกวีเอาเนื้อร้องไปลงบรรยายชมจันทร์ แม้จะซาบซึ้งตรึงจิตเพียงใด ก็เท่ากับไปล้อมกรอบมโนภาพของเขาไว้แค่นั้นเอง เขาย่อมไม่ชอบแน่

ส่วนรุ้งน่ะ เออออห่อหมกไปด้วยเพราะเห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยาที่รุ้งศึกษาผ่านตา ตามเนื้อความที่ท่านอาจารย์ยกมา ตัวแทนของรุ้งไม่ทราบหรอกครับว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอนเรียนชั้นมัธยมก็สอบวิชาชีววิทยาตก แต่ถ้าถามหลักการว่าทำไมจึงเชื่อ ไม่ทราบว่าที่วิสัชนาไว้ข้างบนจะพอรับได้หรือเปล่า

ส่วนในเรื่องสมมตินั้น ถ้ามีคนบรรยายเล่าเรื่องทะเลเรื่องเดียวกัน พร้อมกัน ให้คนสองคนฟัง คนหนึ่งเป็นกวี อีกคนหนึ่งเป็นคีตกวี เป็นทะเลอันตาร์กติก ไม่เคยไปเคยเห็นด้วยกันทั้งคู่ แต่ผลิตผลงานจากความบรรดาลใจมาเสนอผู้ชมจนได้ เราเสพย์แล้วก็ต้องให้ค่าก่อนซีครับ ว่าของใครโดนใจ รู้สึกหนาวเหน็บขึ้นมากว่ากัน

ผมว่ารุ้งคงไม่กล้าลงความเห็น ไม่ว่าจะโดยหลักชีววิทยาหรือหลักใดก็ตาม ว่าครูเอื้อประสาทไวกว่าสุนทรภู่ เพราะครูเอื้อเป็นนักดนตรี สุนทรภู่เป็นกวี ต้วแทนของรุ้งคงไม่ต้องให้ปากคำในเรื่องนี้นะครับ

ระหว่างรอรุ้ง อ่านตรงนี้แล้วไม่คล้อยตาม ดิฉันอาจเป็นสันดานชอบกลนัก คืออันว่าเพลงรัก ดิฉันก็รู้ว่าเพลงรัก จากนั้นอะไรที่ท่วงทำนองคล้ายกัน ก็จะฟังแล้วเป็นเพลงรัก เพลงปลุกใจก็ต้องเคยได้รับประสบการณ์มาแล้วว่าเป็นเพลงปลุกใจ จึงจะคิดตามได้เป็นเช่นนั้น

อันว่าฟังคลื่นกระทบฝั่งไปสิบรอบ ไม่บอกว่าคลื่นกระทบฝั่ง ดิฉันก็ไม่ได้ยินแม้กระทั่งเสียงคลื่น

ดิฉันจึงเห็นว่า ความสามารถของผู้ประพันธ์ก็สำคัญ แต่มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้สัมผัสด้วย ว่าชำนาญการด้านไหน จะสามารถเสพอะไรได้อรรถรสมากกว่ากัน


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 22 มิ.ย. 10, 18:21
สวัสดีค่ะ
เข้ามาอ่านเรื่องนี้ได้ไม่นาน อ่านจนหน้าสุดท้ายแล้ว นิยายการเมืองเรื่องนี้ ยังไม่มีบทสรุปเลยค่ะ

รบกวนผู้เขียนทุกท่านด้วยเถอะค่ะ เห็นใจคนอ่านด้วยนะคะ อิอิอิ เหมือนเวลาดูละครแล้วไม่ได้ดูตอนจบ
ยังไงยังงั้นเลยค่ะ แล้วรุ้งกับวิน จะเป็นยังไงต่อไป จะรออ่านไปเรื่อยๆนะคะ  :-[


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 18:46
คนสุดท้ายที่เขียนชีวิตของรุ้งและวินค้างไว้ คือคุณวันดี   คนที่จะต่อได้ก็ย่อมเป็นคุณวันดี   ดิฉันต่อไม่ถูก
เพราะดิฉันวางชีวิตของวินไว้เป็นอีกแบบหนึ่ง    ขืนไปต่อเข้า ลายผ้าจะออกไปคนละแบบ
ก็ต้องรอคุณวันดีมาพิจารณาคำขอของคุณ proud ฯ ละค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 22 มิ.ย. 10, 19:31
มานั่งรอคุณวันดีอย่างใจจดใจจ่อค่ะ  :)

ตอนนี้คอมพิวเตอร์มีปัญหาบ่อยๆ ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสเข้ามาอ่านได้อีกครั้งเมื่อไหร่ค่ะ
แต่ยังไงก็จะเข้ามาติดตามตอนต่อไปแน่นอนค่ะ


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:48
ขอประทานโทษค่ะ   เพิ่งผ่านมา


รุ้งกับวินก็เข้าใจกันเพราะสายเลือดแล้วย่อมมีสายสัมพันธ์

วินแต่งงานกับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย  และมีลูกชาย ๑ คน  ลูกสาว ๑ คน  นำความร่าเริงมาให้รุ้ง ผู้ที่บากบั่นผ่านถนนชีวิตอย่างเข้มแข็ง

หลานชายของรุ้งเป็นนักดนตรีระดับโลก

ลูกสาวเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

รุ้งร้องเพลงได้ดังก้องแล้วค่ะ      เพลงโปรดคือ ชีวิตนี้คือความฝัน

จบแล้วค่ะ

(เรื่องที่บรรยายมานี้  คิดว่าใกล้ความจริงทีเดียว เพราะเพื่อน ๆ ของวินนั้น  ดิฉันรู้จักมากกว่าสองคน)


กระทู้: รุ้ง จิตเกษม
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 24 มิ.ย. 10, 10:12
ขอบพระคุณ คุณวันดี นะคะ ที่กรุณาต่อตอนจบให้  :)