เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ภูมิ ที่ 23 พ.ค. 01, 03:55



กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 23 พ.ค. 01, 03:55
มีคนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยถามมา ผมตอบไม่ได้
เลยอยากขออาศัยความรู้เพื่อนๆที่นี่หน่อยครับ
ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก (สูงกลางตํ่า)


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: koong ที่ 12 พ.ค. 01, 14:28
ก็จะได้รู้ว่าคำไหนออกเสียงอย่างไรครับ


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: เปี้ยว ที่ 14 พ.ค. 01, 19:27
เอ.. ปกตินี่ภาษาพูดมาก่อนภาษาเขียนหรือเปล่าครับ
เหมือนกับเรากำหนดว่าตัวอักษรนี้ใช้แทนเสียงนี้นะ แล้วก็เริ่มตั้งกฏเกณฑ์และแบ่งหมวดหมู่


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 01, 10:02
ภาษาไทยมีการกำหนดเสียงสูงต่ำ(intonation) โดยการใช้วรรณยุกต์   เอก โท ตรี จัตวา  ่   ้    ๊    ๋
การแบ่งอักษรเป็น ๓ กลุ่ม ก็เพราะการผันวรรณยุกต์ในแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน   แม้ใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์เดียวกัน แต่อักษรคนละกลุ่ม ก็จะออกเสียงไม่เหมือนกันอีก
การจัดอักษรสูง กลาง ต่ำ ทำให้เข้าใจการผันและเขียนวรรณยุกต์บนคำได้ถูกต้อง

อักษรสูง มี ๑๑ ตัว  ผัน  3  เสียง  
ขา ข่า ข้า  
ผันไม้เอกเป็นเสียงเอก  ผันไม้โทเป็นเสียงโท  ไม่มีไม้ตรี
จึงสะกด ข๊า ไม่ได้  ใช้แทนด้วยอักษรต่ำคู่ เป็น ค้า

อักษรกลางมี ๙ ตัว  ผัน ๕ เสียงครบ
กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า  
ออกเสียงตรงตามวรรณยุกต์

อักษรต่ำ มีต่ำคู่ คือเสียงที่คู่กับอักษรสูง อย่าง ค คู่กับ ข  ซ คู่กับ ส  
และต่ำเดี่ยว ไม่มีคู่  อย่าง ง  น  ร ล  ว
ผันได้ ๓ เสียง ใช้ไม้เอกและโท  แต่ไม้เอกผันออกมาเป็นเสียงโท   ไม้โทผันออกมาเป็นเสียงตรี
เช่น    นา น่า  น้า
ไม่มีการใช้ไม้ตรีกับอักษรต่ำ  เพราะผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรีอยู่แล้ว
ถ้าจะผันอีกษรต่ำให้ครบ ๕ เสียง เพิ่มเสียงเอกและจัตวา  ต้องเขียนโดยอาศัย ห นำ เป็น หน่า และ หนา  
นา หน่า น่า น้า หนา
ไม่ใช่   น๊า   น๋า  
ดังนั้น การเขียน นู๋ อย่างที่นิยมกันตอนนี้ ถือว่าผิด

เมื่อเข้าใจเรื่องการผัน ก็จะเขียนวรรณยุกต์ไม่ผิดค่ะ และออกเสียงไม่ผิดด้วยค่ะ


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: เมรี ที่ 16 พ.ค. 01, 10:59
กระทู้นี้ดีจัง
เพราะเรื่องกลุ่มอักษรสูงกลางต่ำ เรียนสมัยประถม มัธยมต้น จนตอนนี้ผ่านไปหลายปีดีดัก ก็ชักจะลืมจะเลือนไปหมดแล้วค่ะ เลยเหมือนได้กลับมาทบทวนอีกครั้งค่า


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 17 พ.ค. 01, 09:20
เข้าใจในหลักการครับ
แต่ที่อยากรู้คือ ทําไมถึงใช้หลักนี้  เกิดการแบ่งแบบนี้มาได้อย่างไร
ผมก็ไม่เคยศึกษาภาษาพ่อขุนรามฯมาก่อน เคยแต่ได้ยินมาว่า
สมัยนั้นมีแต่ ไม้เอก กับไม้โท แต่สมัยนั้นการผันอักษรเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ

ไม่ทราบว่าพอจะมีที่ไหนทําประวัติวิวัฒนาการหลักภาษาไว้บ้างไหมครับ


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 01, 14:00
การแบ่งอักษรเป็น ๓ พวก มีหลักฐานปรากฏครั้งแรกในหนังสือ "จินดามณี" สมัยสมเด็จพระนารายณ์
ซึ่งถือว่าเป็นตำราหลักภาษาไทยเล่มแรกก็ได้
นักวิชาการภาษาไทยวิเคราะห์ว่า เพื่อประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์
ส่วนวรรณยุกต์มีครบ ๔ รูปคือเอก โท ตรี จิตวา  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ตอนปลายอยุธยาค่ะ


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 23 พ.ค. 01, 08:36
จะเป็นไปได้ไหมครับว่า
ต่อไปข้างหน้า
เสียงวรรณยุกต์จะมีเกิน 5

ผมว่าเป็นความสวยงามของภาษาและเป็นเอกลักษณ์ไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งนะครับ
ผมมีเพื่อนต่างชาติ เขาจะงงมากกับเสียงวรรณยุกต์ของเรา

แต่ผมก็งงมากเหมือนกับเสียงตัวสะกดในภาษาอังกฤษ
ของเรามีแค่ 8 แต่ของฝรังนี่ นับไม่ถูกเลย

พูดถึงตัวสะกด
ใครพอจะหาหนังสือกาพย์พระไชสุริยาได้บ้าง
หรือจะหาซื้อได้ที่ไหนครับ

ผมว่าน่าจะเอามาให้นักเรียนสมัยนี้เรียนกันทั้งเล่มเลย


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 01, 12:08
เสียงวรรณยุกต์ของไทยตอนนี้มีเกิน ๕ เสียงค่ะ แต่มี ๔ รูป
สำเนียงท้องถิ่นของนครปฐม   และสุพรรณ  มีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างจากชาวกรุงเทพอยู่แล้ว
นักภาษาศาสตร์บางคนถือว่ามี ๖ เสียงค่ะ


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 23 พ.ค. 01, 12:28
เท่าที่ทราบมา
ภาษาจีนกลางมี๔เสียงส่วนปักกิ่งมี๖เสียง
>นักวิชาการภาษาไทยวิเคราะห์ว่า เพื่อประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์
ช่วยขยายความหน่อยได้ไหมครับว่าหมายถึงอะไร


กระทู้: ทําไมพยัญชนะไทยถึงแบ่งเป็น๓พวก
เริ่มกระทู้โดย: koong ที่ 23 พ.ค. 01, 15:55
ภาษาจีนกลางไม่ได้อยู่ที่ปักกิ่งเหรอครับ

จีนกวางตุ้ง ผมได้ยินว่ามีแปดเสียง