เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 10:23



กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 10:23
ตั้งหัวข้อไว้ก่อน  เผื่อสำหรับท่านผู้สนใจ ทยอยมาจองม้ายาวหน้าวิก
เดี๋ยวจะต้องไปธุระค่ะ  กลับขึ้นเรือนเมื่อไรจะมาต่อเรื่อง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 10:33
เข้ามาเคี้ยวหมากรอหน้าวิกครับ  ;)


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 25 ต.ค. 12, 10:43
มานั่งก๋างสาด รอครับ (ภาษาเมืองแพร่ ครับ)


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 10:48
ราชสกุล "อิศรางกูร"

ภาพโดย คุณปิยะสารณ์  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5094.msg104969#msg104969)

 ;D


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 13:09
ขอเริ่มตั้งต้น ราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา ที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก  หรือพระพินิจอักษร(ทองดี)  เมื่อสมัยปลายอยุธยา
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ทรงมี พระโอรส-ธิดา กับ พระอัครชายา ผู้เป็นบุตรีเศรษฐีจีน  มีนามว่าดาวเรือง   5 พระองค์ คือ

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา
    สมเด็จพระเจ้ารามณรงค์ เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนรามณรงค์ พระนามเดิมว่าราม
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระนามเดิม แก้ว
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่1)พระนามเดิม ทองด้วง
    สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา

    ท่านแก้วหรือเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์  เมื่อครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา ได้สมรสกับบุตรชายของเศรษฐีจีน  เชื้อสายเสนาบดีกรุงปักกิ่ง       เมื่อแผ่นดินพระเจ้าเมงไทโจแห่งราชวงศ์หมิงเสียเมืองแก่พวกตาด  (หรือพวกราชวงศ์ชิงในเวลาต่อมา) คนจีนเดิมเกล้าผมมวย  ก็ต้องมาตัดผมมวยทิ้งไว้หางเปียตามพวกตาด     แต่ท่่านเสนาบดีที่ว่า แข็งข้อไม่ยอมทำตาม  ก็เลยตัดสินใจอพยพจากเมืองจีนเดินทางมาถึงสยาม
    เมื่อมาถึงที่นี่ ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอยุธยา    แต่งกายแบบจีนอย่างเดิมโดยไม่มีใครห้าม  พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาก็มิได้ทรงรังเกียจ  สกุลนี้จึงตั้งรกรากอยู่ในอยุธยาเรื่อยมา   มีลูกหลานซึ่งต่อมาก็คงจะกลืนเข้ากับไทยไปเสียแล้ว  จึงมีชื่อไทยกันหมด  ว่า นวม เอียง ทอง และเงิน   ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลถนนตาล  มีอาชีพค้าขาย


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 16:06
  ที่ว่าค้าขาย ก็ไม่ใช่แค่คนค้าคนขายธรรมดา แต่เป็นถึงขั้นเศรษฐีทีเดียว    คำว่าเจ้าขรัวที่นำหน้าเจ้าขรัวเงิน  สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากเจ้าสัว
  
  บรรพบุรุษฝ่ายบิดาของเจ้าขรัวเงินที่มาจากเมืองจีน อาจจะมาแต่งงานกับผู้หญิงไทย หรืออย่างน้อยก็มีเชื้อสายไทย    มารดาของเจ้าขรัวเงินชื่อเรียงเสียงไรในหนังสือที่อ้างมานี้ไม่ได้ระบุไว้   บางทีคุณเพ็ญชมพูหรือคุณ siamese อาจจะบอกได้   รู้แต่ว่าท่านเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์  ว่าที่โกษาธิบดีหรือเจ้าพระยาพระคลัง
  ตัวเจ้าพระยาชำนาญฯกับท่านผู้หญิงมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อนายฤทธิ   ซึ่งได้แต่งงานกับบุนนาค บุตรีพระยาวิชิตณรงค์
  หลักฐานตรงนี้ในหนังสือต่างเล่มกันก็บอกต่างกันไป   เล่มที่อ้างนี้บอกว่าชื่อนายฤทธิ์ แต่อีกเล่มบอกว่าชื่อนายจันทร์ เป็นมหาดเล็กตำแหน่งหลวงฤทธิ์นายเวร   หรือเรียกกันว่าหลวงนายฤทธิ์
  พระยาวิชิตณรงค์เป็นพี่ชายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

  ที่เล่าชื่อต่างๆซึ่งเกี่ยวดองเป็นเครือญาติมายืดยาวก็เพราะต่อไป จะมีบทบาทในประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีและในรัชกาลที่ 1 กัน  ช่วยจำไว้หน่อยก็ดีค่ะ

   ท่านแก้วกับเจ้าขรัวเงิน มีบุตรชายด้วยกันแล้ว 3 คน ชื่อ   ตัน  ฉิม  ส่วนคนที่สามไม่ทราบชื่อ  เป็นชายถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก   เมื่อกรุงแตก   ท่านแก้วหรือสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 4 ได้ 4 เดือน   ท่านกับเจ้าขรัวเงินหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปอยู่ที่อัมพวา ซึ่งเป็นบ้านเดิมของน้องสะใภ้ ภรรยาหลวงยกกระบัตรราชบุรี หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก     ท่านได้คลอดธิดาชื่อบุญรอด    ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ก็คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์  


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 16:29
  หลังจากเสียกรุง คนไทยที่หนีกระจัดกระจายกันไปได้ก็รวมกันเข้าเป็นก๊กใหญ่ๆหลายก๊กด้วยกัน   ทางใต้คือก๊กพระเจ้าพระยานครนรีธรรมราชซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของพระยาวิชิตณรงค์  พ่อตาของหลวงนายฤทธิ์

หลวงฤทธิ์นายเวร หรือ หลวงนายฤทธิ์ จึงพาภรรยา ซึ่งเป็นหลานอาของพระเจ้านครศรีธรรมราชไปพึ่งพาอาศัยที่เมืองนครฯ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ก็ตั้งหลวงนายฤทธิ์เป็นวังหน้ามหาอุปราช เรียกกันว่า ‘อุปราชจันทร์’ บุนนาคผู้ภริยา ได้เป็นเจ้าครอกข้างใน  ธิดาชื่ออำพันของอุปราชจันทร์ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า

ส่วนเจ้าขรัวเงินและท่านแก้วโยกย้ายจากอัมพวามาอยู่ที่กรุงธนบุรี    เช่นเดียวกับน้องชายทั้งสองคือหลวงยกกระบัตรและท่านบุญมา
ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ    เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว เจ้าขรัวเงิน และ ท่านแก้วตระหนักว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินจะต้องเสด็จยกทัพไปปราบนครศรีธรรมราช    เกรงว่าหลวงนายฤทธิ์จะพลอยตายไปกับพระเจ้านครฯ  ท่านทั้งสองจึงลอบเดินเรือลงไปพบหลวงนายฤทธิ์  เกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ยังไม่ทันเกลี้ยกล่อมได้สำเร็จ ก็พอดีมีเสียงเล่าลือกันขึ้นในเมืองนครฯ ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าขรัวเงินลงมาเกลี้ยกล่อมให้อุปราชจันทร์เป็นไส้ศึก เจ้าขรัวเงินเกรงตนเองและภรรยาจะมีอันตรายจึงรีบลงเรือกลับกรุงธนบุรี

มิช้ามินาน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็เสด็จยกทัพลงไปตีนครศรีธรรมราช ปราบก๊กนี้ลงได้จริงๆ  แต่มิได้ทรงลงพระราชอาญา พระเจ้านครศรีธรรมราช และ อุปราชจันทร์  เนื่องจากทรงเห็นว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ผู้มีกำลังต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วยกันหลายก๊กหลายเหล่า  จะเรียกว่าเป็นกบฏหาได้ไม่


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 25 ต.ค. 12, 16:34
อาจารย์ครับไม่ว่าผมนะครับ ขออนุญาตเสริมอาจารย์นิดหนึ่งครับ
นายฤทธิซึ่งได้แต่งงานกับบุนนาค
นายฤทธิ ก็คือ เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)  อุปราชจันทร์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ต้นสกุล จันทโรจวงศ์ บิดาของเจ้าจอมมารดาอำพันในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 16:50
ด้วยความยินดีค่ะ  ถ้าเห็นตรงไหนพอจะมาร่วมวงได้ก็เชิญเลยค่ะ   ดิฉันจะได้ไม่ต้องเล่าอยู่คนเดียว


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 17:02
ขอต่อเรื่องอุปราชจันทร์ ที่คุณ werachaisubhong เริ่มไว้

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โปรดฯให้เจ้าพระยานครฯและอุปราชจันทร์ขึ้นมารับราชการกรุงธนบุรีด้วยกันทั้งสองคน ส่วนเมืองนครฯ โปรดฯให้ พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ เป็นพระเจ้านครฯแทน   เจ้านราฯ ครองเมืองอยู่ ๗ ปี ก็พิราลัย
เจ้าพระยานครฯ และอุปราชจันทร์ เข้ามารับราชการรบทัพจับศึกถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯหลายครั้งอย่างเข้มแข็งเป็นที่พอพระราชหฤทัย  จึงโปรดฯให้เจ้าพระยานครฯกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม เกียรติยศเสมอเมืองประเทศราช

แต่อุปราชจันทร์ซึ่งได้เป็นพระยาอินทรอัครราช ทูลขอรับราชการอยู่ ณ กรุงธนบุรีต่อไป  ท่านได้ถวายคุณอำพันธิดาเป็นพระสนมใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าสำลีวรรณ

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และพระราชจักรีวงศ์  โปรดฯให้ยกเลิกฐานะเมืองนครฯเป็นประเทศราช แต่ให้กลับไปเป็นเหมือนครั้งอยุธยา มีเจ้าเมือง ตำแหน่งเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ปกครอง
ส่วนอุปราชจันทร์ เลื่อนเป็นพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ไปกินตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองถลาง
พระองค์เจ้าสำลีวรรณ หลานตาของเจ้าพระยาสุรินทราชา เมื่อสิ้นพระราชวงศ์กรุงธนบุรีแล้วได้เป็นอัครชายาใน สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ ‘วังหน้า’ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นบรรพสตรี ราชสกุล ‘อิศรเสนา ณ อยุธยา’


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 18:59
ย้อนกลับมาทางท่านแก้ว(สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์)และเจ้าขรัวเงิน

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงดำริจะว่าว่างเมื่อใดจะยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช   โดยจะทรงมอบหมายให้เจ้าขรัวเงินเป็นผู้นำทัพนำทาง   เพราะเคยเดินทางไปนครศรีธรรมราชมาก่อน    เจ้าขรัวเงินไม่อยากจะทำงานนี้   จึงบอกป่วยว่าเปนง่อยเสียก่อน ไปไหนมาไหนไม่ได้  จึงไม่ได้ร่วมไปในกองทัพเมื่อยกไปตีนครศรีธรรมราช
ผลจากที่ท่านอ้างว่าเจ็บป่วยเรื่องนี้  จึงไม่ได้ทำราชการเป็นตำแหน่งใดในแผ่นดินธนบุรี   จนกระทั่งถึงแก่กรรมในกลางรัชสมัยธนบุรีนั่นเอง   

เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นของราชวงศ์จักรี   พระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เฉลิมพระยศเป็นกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี และกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์   ทั้งสองพระองค์ตามเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่าพระตำหนักใหญ่ ได้ว่าราชการเปนใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง  ว่าการวิเศษใน พระคลังเงิน พระคลังทอง แลสิ่งของต่าง ๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งหมด
ส่วนกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์  มีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระวิมานรัตยา เรียกว่าพระตำหนักแดง ได้ทรงราชการทรงกำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเศษต้น การสดึง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

ทั้งกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีและกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์มีพระชนม์ยืนยาวในรัชกาลที่ ๑  จนทรงพระประชวรพระโรคชรา กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์พระชนมายุ ๖๐ ปีเศษยังไม่ถึง ๗๐ เสด็จทิวงคตลงก่อน
อีก ๓ เดือนเศษ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระชนมายุได้ ๗๐ ปีเศษ ไม่ถึง ๘๐ เสด็จทิวงคต พระศพได้ไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยกัน ได้ถวายพระเพลิงพร้อมกัน 


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 26 ต.ค. 12, 09:31
เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทองนอกจากเป็นผู้มีฐานมหาเศรษฐีแล้วยังเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองท่านน่าจะเป็นพี่น้องที่มีความรักใคร่ผูกพันกันอย่างใกล้ชิด โดยได้สร้างวัดคู่กันถึง  2 แห่ง ในกรุงธนบุรี แห่งแรกตั้งอยู่ปากคลองแม่น้ำอ้อม (คือคลองบางพรมในปัจจุบัน)
โดยเจ้าขรัวทองได้สร้างวัดกาญจนสิงหาสน์ (วัดทอง) และเจ้าขรัวเงินได้สร้างวัดรัชฎาธิษฐาน (วัดเงิน)อีกแห่งหนึ่งริมคลองบางกอกใหญ่ คือวัดใหญ่ศรีสุพรรณและวัดหิรัญรูจี ดังที่ได้กล่าวมานี้สันนิษฐานว่า วัดที่เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทองสร้างขึ้นน่าจะอยู่ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเปลี่ยนนามวัดน้อยบางไส้ไก่ โดยพระราชทานนามใหม่ว่า
วัดหิรัญรูจี ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อของเจ้าขรัวเงินผู้สร้างวัดแห่งนี้ ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าขรัวทองไม่ปรากฏรายละเอียด แม้แต่การสืบค้นประวัติของวัดใหญ่ศรีสุพรรณจากคำบอกเล่าของชาวบ้านก็ได้ความว่า ไม่ทราบว่าผู้ใด
เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ทราบแต่เพียงว่าผู้น้องเป็นผู้สร้างวัดน้อยบางไส้ไก่และผู้พี่เป็นผู้สร้างวัดใหญ่ศรีสุพรรณ


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 16:00
หลักฐานเกี่ยวกับเจ้าขรัวทองหาได้น้อยมาก   ในหนังสือที่นำมาอ้างคือหนังสือ "อิศรางกูรฯ" เล่าไว้สั้นๆว่า เมื่อครั้งรัชสมัยธนบุรี   สมเด็จพระศรีสุดารักษ์และเจ้าขรัวเงินตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โรงแพ ตำบลกุฎีจีน   แต่ก็มีหลักฐานอื่นบอกว่าอยู่ที่ตำบลแม่น้ำอ้อม  จังหวัดธนบุรีใต้   ที่ต่อมาคือคลองบางขุนพรหม  แขวงตลิ่งชัน    ส่วนพี่ชายคือเจ้าขรัวทองก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
ท่านทั้งสองสร้างวัดเงินกับวัดทองขึ้น อย่างที่คุณ werachaisubhong เล่าไว้ข้างบนนี้

ส่วนหลักฐานทางสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ที่แสดงถึงการใฝ่พระทัยทางศาสนา คือทรงซ่อมแซมบูรณะพระอารามหลวงไว้ ๓ แห่ง
๑  วัดหิรัญรูจี  ริมคลองบางไส้ไก่  ตำบลตลาดพลู  เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดน้อย ทรงบูรณะร่วมกับพระภัสดา
๒  วัดศรีสุดาราม  ริมคลองบางกอกน้อย   เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดชีผ้าขาว   ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๑  ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ พระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดศรีสุดาราม
๓  วัดหงส์รัตนาราม   เดิมชื่อวัดเจ้าสัวหงส์   สันนิษฐานว่าเป็นนามผู้สร้างเดิม     ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น     ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์ร่วมกัน พระราชทานนามว่า วัดหงส์รัตนาราม


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 16:35
กรมพระศรีสุดารักษ์ทรงมีพระโอรสธิดา ๖ องค์ด้วยกัน   สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์องค์หนึ่ง เหลือ ๕ องค์เป็นชาย ๓ หญิง ๒
เมื่อพระบาทพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี     ก็โปรดเกล้าฯเฉลิมพระยศพระเจ้าหลานเธอพระโอรสธิดาในพระพี่นางขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทุกพระองค์    ได้แก่
๑  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์(เจ้าฟ้าชายตัน) ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
๒  เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม) องค์นี้ ว่ากันว่าเสียพระจริต
๓  เจ้าฟ้าชาย   สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์
๔  สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2  ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าชายจุ้ย)ต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธนา
๖  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์  (เจ้าฟ้าชายเกศ) ต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 27 ต.ค. 12, 09:32
พระโอรสองค์แรก เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์(เจ้าฟ้าชายตัน) ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นราชสกุลสายพระปฐมวงศ์ สืบลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์น้อยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า ตามพระเกียรติยศ โอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่ประสูติแต่มารดาสามัญชน
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีหม่อมห้ามผู้นับว่าเป็นหม่อมเอก ชื่อว่า หม่อมผ่อง หม่อมผ่องผู้นี้เป็นธิดาของท่านเจ้าขรัวทอง (หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรับสั่งเรียกว่า ‘เจ้าข้าวทอง’) ท่านเจ้าขรัวทอง เป็นพี่ยาของท่านเจ้าขรัวเงิน พระชนกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หม่อมผ่อง จึงเป็นลูกผู้พี่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ
ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 27 ต.ค. 12, 09:42
พระโอรสธิดาลำดับที่ ๒ พระธิดา เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม)   
คำว่า ‘ฉิม’ เป็นคำโบราณ มักใช้เรียกลูกชายหรือลูกหญิงคนใหญ่ ในสมัยโบราณจึงมี ‘พ่อฉิม’ ‘แม่ฉิม’ กันแทบทุกครอบครัว
กรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม) พระองค์นี้ปรากฏพระนามในหนังสือประเภทพระราชพงศาวดารกระซิบ เรื่อง ‘ขัติยราชบริพัทย์’ ซึ่งแม้แต่ในหมู่เจ้านายก็ยังไม่มีใครทราบแน่ว่าท่านผู้ใดเป็นผู้จดเอาไว้ แต่ก็เริ่มมีผู้ล่วงรู้ถึงความในหนังสือนี้ ซึ่งเรียกกันอีกอย่างว่า ‘หนังสือข้างที่’ บ้าง ‘พงศาวดารข้างที่’ บ้าง ‘ข้างที่’ คือ ข้างเตียง ข้างแท่น ข้างที่บรรทม นั่นเอง
หนังสือนี้ ซึ่งขึ้นต้นเรื่องราวว่า
“จะพรรณนาถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งพระองค์ท่านยังดำรงอยู่ในที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรอยู่นั้น เกิดปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑
ผู้จดเล่า เล่าถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเข้าไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ซึ่งเป็นสมเด็จป้า และเป็นพระมารดาเจ้าฟ้าบุญรอด จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์ เชิญพระโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่เสด็จเวียนไปเวียนมา เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอด ถ้อยทีถ้อยทรงเสน่หาต่อกัน โดยมีพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพยวดี) ทรงมีพระทัยยินดีด้วย พูดง่ายๆ ว่าทรงรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้น เมื่อเสร็จการพระศพแล้ว วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว เสด็จแวะที่ตำหนัก สมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ทรงได้พบปะกันกับเจ้าฟ้าบุญรอดทุกวัน จะเสด็จกลับข้ามไปพระราชวังเดิมที่ประทับก็ต่อเวลาค่ำมืด (คล้ายๆ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ตอนพบกับนางจินตะหรา...จึงได้กล่าวกันว่า อันพระราชนิพนธ์บทละครอิเหนา นั้นคือส่วนหนึ่งของ ‘ชีวิตรัก’ ของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นนางจินตะหรา หรือนางบุษบา)

             “ขัติยราชบริพัทย์” เล่าถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆมนตรีเอาไว้ว่า
             “แต่เจ้าครอกเสียพระจริต ซึ่งภายหลังมีพระนามว่ากรมขุนอนรรคฆนารี เสด็จไปแอบทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จไปนั่งชิดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ช่วยกันเดิมเล่นสกาเล่นกับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงเสด็จออกมาตรัสว่าข้าหลวง โดยพระสุรเสียงอันดังว่า ท้าวพรหมทัตล่วงลัดตัดแดน มาเท้าแขนเล่นสกาพนัน สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์อีกสองสามวันจะเป็นตัวจิ้งจก
            ว่าที่รับสั่งร้องดังนี้ จะเป็นที่ขัดเคืองพระทัยหรือจะเป็นอย่างไรก็ไม่ได้ความชัด แต่รับสั่งร้องอยู่ดังนี้หลายวัน ถ้าเสด็จออกเยี่ยมพระแกลเห็นผู้ใดเดินมาก็ทรงร้อง สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์ อีกสองสามวันก็เป็นตัวจิ้งจก ทรงร้องได้วันละหลายๆ ครั้ง...ฯลฯ...”
            ว่ากันว่า กรมขุนอนัคฆนารี หรือเจ้าฟ้าฉิม เวลานั้นในรัชกาลที่ ๑ คงจะออกพระนามกันว่า เจ้าครอกฉิมเล็ก เพราะเจ้าครอกฉิมที่สิ้นพระชนม์แล้ว ออกพระนามกันว่าเจ้าครอกฉิมใหญ่ ส่วนที่เรียกกันว่า เจ้าครอกเสียพระจริตคงจะสังเกตเอาจากพระจริตกิริยาซึ่งคงฟุ้งซ่านขาดๆ เกินๆ ในการกระทำและวาจาผิดแผกแตกต่างคนปกติไปบ้าง เห็นจะไม่ใช่ถึงกับเสียพระจริต หรือ ‘บ้า’ เพราะหากเป็นคนเสียจริตหรือบ้าคงไม่อาจผูกกลอนได้เข้าเรื่องเข้าราว เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกว่าว่า ‘เสียจริต’ หรือ ‘บ้า’ อีกท่านหนึ่ง คือ ‘คุณสุวรรณ’ ชาววังผู้แต่งเรื่อง “พระมเหลเถไถ’ ซึ่งในประวัติที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ ว่า “ไม่ปรากฏว่าทำราชการในตำแหน่งพนักงานใด คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในทางกระบวนแต่งกลอน”
            พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฑนารี พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญณอด) ประสูติ พ.ศ.๒๓๐๕ สิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร เข้าใจว่าจะสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 12, 09:47
ยกสาแหรก จาก "ปฐมวงศ์" มาให้ดูจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นครับ


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ต.ค. 12, 10:11
ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว


"หัสดิน" มาจากนามของ พระยาราชภักดี (ช้าง) "บุตรที่บิดาไม่รับ แต่พี่น้องเขารับกันหมด"


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 12, 19:57
เจ้าฟ้าเกศ ประสูติเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก  จุลศักราช ๑๑๓๕  ตรงกับวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๑๖
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า   ท่านยังทรงพระเยาว์อยู่มาก พระชันษาแค่ ๙ ขวบ    ยังไม่ได้ทรงกรม   
พระประวัติเมื่อทรงพระเยาว์นั้น ดิฉันยังหารายละเอียดไม่ได้มากกว่านี้    มาพบบันทึกอีกครั้งเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นมากแล้ว คือเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐  หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มาแล้ว ๒๕ ปี    ในครั้งนั้นมีการเลื่อนกรมเจ้านาย ๒ พระองค์ และตั้งกรม ๗ พระองค์    ในจำนวนตั้งกรมนั้น มีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รวมอยู่ด้วย  พระชันษาตอนนั้น ๓๔ ปี

เจ้านายอีก ๖ พระองค์ที่ได้ทรงกรมพร้อมกันกับเจ้าฟ้ากรมขุนอฺิศนานุรักษ์ มีทั้งพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ และพระเจ้าหลานเธอ สายต่างๆ    คือ
๑  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต    หรือพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเหม็น  พระองค์นี้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประสูติแต่เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
๒  พระเจ้าลูกยาเธอ   พระองค์เจ้าชายอภัยทัต  กรมหมื่นเทพพลภักดิ์  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยแก้วในรัชกาลที่ ๑
๓  พระเจ้าลูกยาเธอ   พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย  กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าจอมนุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ในรัชกาลที่ ๑
   ต่อมาในรัชกาลที่ ๓  โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นวังหน้า   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หรือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
๔ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายปาน  กรมหมื่นนราเทเวศร์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)
๕  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายบัว  กรมหมื่นนเรศโยธี  พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)
๖  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายแตง  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 12, 17:17
น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือเจ้านาย ๗ องค์นี้แม้ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามทรงกรมเช่นเดียวกัน   แต่เนื้อทองไม่เท่ากัน   ในกฎหมายจารึกพระนามตั้งกรม   ระบุไว้ว่า เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เท่านั้นที่พระสุพรรณบัฏเป็นทองเนื้อแปดเหมือนกัน  แต่อีก ๕ องค์ เป็นทองเนื้อหก ทั้งหมด
เดาว่าคงเป็นด้วยพระยศต่างกัน คือเป็นเจ้าฟ้า กับพระองค์เจ้า

บทบาทของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ในพระราชพิธีต่างๆ ที่บันทึกไว้  มี ๒ ครั้งด้วยกัน คือพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ในรัชกาลที่ ๑  กับพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ในปีต่อมาจากที่ทรงกรม   พ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑล   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุย ทรงสวมชฎาเดินหน  สมมุติว่าเป็นพระอิศวร  เสด็จลงมาจากมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ   ทรงรับพระกรพระเจ้าลูกเธอที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค   จูงพระกรขึ้นบนเขาไกรลาศ    ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านทิศตะวันออก เพื่อเสด็จพระยาณุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 29 ต.ค. 12, 10:05
วังที่ประทับ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
วังท่าเตียน วังนี้อยู่ต่อวังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิททักษมนตรีลงไปข้างใต้จนต่อบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุญ) ซึ่งอยู่ที่ท่าเตียน โปรด ฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสพระองค์น้อยของสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ประทับอยู่วังนี้จนในรัชกาลที่ ๓ ย้ายไปประทับที่วังสวนมังคุดฟากข้างโน้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังท่าเตียนให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ ประทับต่อมา...


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 29 ต.ค. 12, 10:17
วัดที่พระองค์ทรงสร้าง
วัดรังษีสุทธาวาส เป็นวัดโบราณ สถาปนาขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บนพื้นที่ริมกำแพงพระนคร ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างวัดรังษีสุทธาวาส คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดรักษ์ (พระเจ้าหลานเธอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
ตามจารึก ที่ปรากฏผบผนังพระอุโบสถวังรังษีสุทธาวาส วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๖ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๖ ปี พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาใจใส่ในการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระอุตสาหะในการทำหน้าที่เป็นนายช่างและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ดังข้อความที่ปรากฎในจารึกว่า
"พระพุทธศักราชล่วง ๒๓๖๖ พระวษาปีมะแมนักสัตว เบญศก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จ้าวฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงพระราชศรัทธา ถาปะนาจับส้างพระอารามนี้ ทรงพระอุสาหะกระทำพระองค์เปนนายช่าง บอกการงานให้แบบหย่าง ตรวจตราติเตียนด้วยพระองค์เอง ๖ ปีจนแล้วสำเรธิ์บริบูรณ์ จึ่งให้นามวัดรังษีสุทธาวาส....."


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 12, 10:30
วัดรังษีสุทธาวาส


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 12, 10:40
บทบาทของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ในพระราชพิธีต่างๆ ที่บันทึกไว้  มี ๒ ครั้งด้วยกัน คือพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ในรัชกาลที่ ๑  กับพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ในปีต่อมาจากที่ทรงกรม   พ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑล   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุย ทรงสวมชฎาเดินหน  สมมุติว่าเป็นพระอิศวร  เสด็จลงมาจากมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ   ทรงรับพระกรพระเจ้าลูกเธอที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค   จูงพระกรขึ้นบนเขาไกรลาศ    ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านทิศตะวันออก เพื่อเสด็จพระยาณุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ

พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฏ มีลักษณะเหมือนพระราชพิธีโสกันต์  ผิดกันแต่ว่าพระราชพิธีโสกันต์จัดทำที่เขาไกรลาศในพระบรมมหาราชวัง  แต่พระราชพิธีลงสรงทำแพพระมณฑปที่สระในแม่น้ำ   มีที่สรงอยู่ในพระมณฑป  มีกระบวนเรือเข้าในพระราชพิธีคือเรือกันยา  เรือกระบี่  เรือครุฑ เรือดั้ง  เรือรูปสัตว์และเรือพิฆาตเขียนรูปสัตว์ต่างๆ  ทอดทุ่นเหนือน้ำ   ท้ายน้ำมีเรือหมอจระเข้  เรือทอดแห สำหรับจับสัตว์ร้าย  รายกันอยู่ในที่ล้อมวง

ขั้นตอนของพระราชพิธีลงสรงคือ เมื่อแห่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอไปที่ตำหนักแพ   เปลื้องเครื่องทรงออก   พอได้อุดมฤกษ์ก็ลั่งฆ้องชัย สังข์แตร ประโคมดนตรี  ยิงปืนสัญญาณพร้อมกัน      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปยังบันไดแก้ว
ถึงตอนนี้  ก็เป็นช่วงที่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รับต่อพระหัตถ์ ทรงอุ้มเข้าสู่ที่สรง   ให้ทรงเกาะมะพร้าวสรงน้ำในแม่น้ำที่ในกรงก่อน แล้วรับเสด็จขึ้นมาประทับบนพระแท่นสรง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 10:44
    ส่วนหน้าที่การงานของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์  ปรากฏในพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๒ ว่าเมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว   พระเจ้าอยูู่หัวโปรดเกล้าฯให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการหลายพระองค์    เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นหนึ่งในนั้น    ทรงได้กำกับกรมมหาดไทย
    เรื่องเจ้านายกำกับกรมราชการ หมายถึงอะไร   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่า หน้าที่นี้ไม่ปรากฏว่ามีในรัชกาลที่ ๑   เพิ่งมีในรัชกาลที่ ๒    สันนิษฐานว่าเกิดจากเหตุ ๒ ประการ
  ๑  เมื่อจัดทัพไปรบพม่าในพ.ศ. ๒๓๕๒  น่าจะมีผลการรบบางอย่างไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะข้าราชการเจ้ากระทรวงต่างๆหย่อนความสามารถ     จึงทรงเห็นว่าต้องมีกำลังช่วย เพื่อคิดอ่านอุดหนุนราชการในกระทรวงนั้นๆ     
  ๒   ในเวลานั้นก็มีเจ้านายหลายพระองค์ที่เจริญพระชนม์พอสมควร  มีฝีมือความสามารถ  จึงทรงเห็นว่าควรมาช่วยราชการ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
  ส่วนบทบาทการกำกับราชการ ก็ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาของเสนาบดีหรือเจ้ากระทรวง   เมื่อเจ้ากระทรวงจะทำการอันใดก็ต้องทูลปรึกษาเจ้านายที่กำกับราชการเสียก่อน    ส่วนกระแสพระราชดำริ ก็ทรงปรึกษาเจ้านายนั้นๆเหมือนกัน
  เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์  พ.ศ. ๒๓๖๕ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์จึงได้กำกับกรมมหาดไทย


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 31 ต.ค. 12, 10:03
กรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี พระราชธิดาพระองค์ที่ 13 ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าใหญ่ หม่อมเจ้ากลาง หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า หม่อมเจ้าสุนทรา หม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ และน่าจะมีหม่อมอีกหลายท่าน เพราะมี พระโอรสที่ชื่อ หม่อมเจ้าถึก อีกองค์หนึ่ง ชึ่งมี บุตร คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร) วัดระฆังโฆษิตาราม นามฉายาว่า ญาณฉนฺโท เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึก พระโอรสในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดที่บ้านบางอ้อ จังหวัดนครนายก เมื่อวันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง พ.ศ.2400 แล้วย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพกับบิดา 
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 18.35 น. ปีมะโรง พ.ศ.2471 คำนวณอายุได้ 70 ปี พรรษา 50


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 12, 19:52
    บทบาทสำคัญของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทางด้านการทำศึก  มีให้เห็นในรัชกาลที่ ๒    ดิฉันไม่ทราบว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ท่านเคยทำศึกในรัชกาลที่ ๑ มามากน้อยแค่ไหน แต่ก็น่าจะมีฝีมือเก่งพอตัว      เพราะในรัชกาลที่ ๒  เมื่อเขมรเกิดแตกร้าวกับไทย เพราะมีญวนหนุนหลัง  ในพ.ศ. ๒๓๕๘ จนกระทบมาถึงเมืองพัตบอง (พระตะบอง) ซึ่งขึ้นกับไทย     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้เกณฑ์ทัพจากกรุงเทพ สมทบกับโคราช  ยกไปรักษาเมืองพระตะบองไว้    แม่ทัพที่ยกไปจากกรุงเทพคราวนั้นคือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
    โชคดีที่คราวนั้นไม่ได้เกิดศึกถึงขั้นรบราฆ่าฟันกัน  ทั้งญวนและเขมรเลิกราถอยกันไปก่อน    เรื่องก็เงียบกันไป  ทัพไทยก็กลับมาโดยไม่เปลืองรี้พล

    นอกจากเรื่องบัญชาการรบ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ยังเก่งด้านดีไซน์ด้วย    เห็นได้จากในการสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง  ทรงเป็นตัวแทนของเจ้านายฝ่ายหน้าร่วมกับกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกแบบตกแต่งสวน     
    ผลงานอีกอย่างหนึ่งของท่านคือทรงออกแบบ "เรือญวน"  ซึ่งเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ใช้แจว มีเก๋งประทุนสำหรับเดินทางไกล  ทรงออกแบบใช้ขึ้นมาก่อน แล้วต่อๆมาก็มีคนทำใช้กันหนาตาทั้งของหลวง ของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่   เรือญวนเป็นเรือขนาดใหญ่มีถึง 20 แจว   ข้างหลังเรือปักธงติดอาวุธ และปักหางนกยูง   ใช้กันมาจนถึงรัชกาลที่ 5
    เรือชนิดนี้ เดิมญวนเป็นผู้ใช้มาก่อน แต่ตั้งเก๋งค่อนไปทางท้าย    สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงเห็นเมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองพระตะบอง  จึงทรงนำมาดัดแปลง แต่เลื่อนเก๋งจากท้ายเรือมาอยู่ตรงกลางเรือแทน


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 01 พ.ย. 12, 11:27
มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้กล่าวถึงพระองค์ ในจดหมายรายงานถึงผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (ปีนัง)

มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งหันตรีเล่าไว้ในจดหมายรายงานถึงผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (ปีนัง)
            หันตรีเขียนเล่าว่า
             “นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีอิทธิพลมากในกรุงเทพฯอีกท่านหนึ่งคือกรมขุน ผู้ซึ่งในสมัยรัชกาลที่แล้วเป็นสมาชิกรัฐบาลที่มีอิทธิพลและเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ อย่างมาก แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ ท่านก็ลาออกจากการบริหารราชการต่างๆ โดยกล่าวอ้างว่าอายุมากแล้ว กล่าวกันว่าท่านไม่พอใจในการขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลนี้ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็แสดงความนับถือให้เกียรติกรมขุนเป็นอย่างดี เวลาที่เข้าเฝ้าก็จะพระราชทานหมอนให้พิง แต่ท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าเฝ้าบ่อยนัก ตามปกติวังหน้าอาจใช้หมอนพิงได้เวลาอยู่ต่อหน้าพระที่นั่ง”
            จากจดหมายของหันตรี ทำให้ได้ทราบว่า เจ้านายที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น หากพระราชทานหมอนให้ทรงพิง หรือมีหมอนพิงเป็นพิเศษ แสดงว่าเป็นเจ้านายที่มีเกียรติยศสูง
             ‘กรมขุน’ ซึ่งหันตรีกล่าวถึง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ สมเด็จพระอนุชาพระองค์น้อยในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒

ที่มาครับ
http://writer.dek-d.com/bird711/writer/viewlongc.php?id=524172&chapter=133


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 12, 11:59
พระเจ้าอยู่หัว ที่หันตรี เอ่ยถึง หมายถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก็พอจะเป็นที่เข้าใจได้  เพราะพระเชษฐาของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คือกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ท่านเป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎเต็มตัว  
ในรัชกาลที่ ๒   เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักราชการมี  ๓ พระองค์  คือ
๑  สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์
๒  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาสมเด็จพระศรีสุริเยนพรมราชินีพระองค์
๓  พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป  โปรดฯใหเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงวัง  และโปรดฯให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงกำกับกระทรวงพระคลัง  
แต่ทั้งกรมพระราชวังบวรฯและเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีก็สิ้นพระชนม์ไปในรัชกาลที่ ๒ นั่นเอง  เหลือแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในแผ่นดิน     ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงรับงานด้านมหาดไทยต่อจากพระเชษฐา  
นับตามศักดิ์ท่านก็เป็น "น้าชาย" แท้ๆของเจ้าฟ้ามงกุฎ     ก็พอจะเป็นที่เข้าใจที่หันตรีบอกว่า ท่านไม่ค่อยจะพอพระทัยที่แผ่นดินตกเป็นของหลานชายอีกพระองค์หนึ่ง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 16:55
ตาหันตรีแกก็ซอกแซกรู้เบื้องหลังเบื้องลึกของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์จริงด้วย    ทางฝ่ายไทยมีหลักฐานตรงกัน  ว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ 
ปรากฏอยู่ในหนังสือ "ความทรงจำ"ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ตามนี้ค่ะ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มประชวรเมื่อเดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ (ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗) แต่แรกรู้สึกพระองค์ว่าเมื่อยมึนไป เสวยพระโอสถข้างที่ไม่ถูกโรค เลยเกิดพระอาการเซื่อมซึม จนไม่สามารถจะตรัสได้ แก้อย่างไรก็ไม่ฟื้น ประชวรอยู่ ๘ วัน ถึงวันพุธ เดือน ๗ แรม๑๑ ค่ำ ก็สวรรคต ไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นรัชทายาท พระราชวงศ์กับเสนาบดีหัวหน้าข้าราชการทั้งปวงจึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมโบราณ ว่าจะควรเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง
ในเวลานั้นถ้าว่าตามนิตินัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในฐานสมควรจะได้รับราชสมบัติ เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสี แต่เผอิญในเวลานั้นมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปี ได้ทรงบังคับบัญชาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ผู้คนยำเกรงนับถืออยู่โดยมาก
ที่ประชุมเห็นว่าควรถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร บ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ จึงอาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ให้ไปทูลถามว่าจะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือจะทรงผนวชต่อไป
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้ว ว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติ แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์คงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง
ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์นั้นตรัสว่าไม่ควรจะปรารถนา อย่าห่วงราชสมบัติดีกว่า
เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัวได้ทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นอันสิ้นความลำบากในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 17:03
ทางด้านบำเพ็ญพระกุศล  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสร้างวัดรังษีสุทธาวาสไว้ที่บางลำพูบน   ต่อมาวัดนี้ยุบรวมกันเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศฯ จัดเป็นคณะหนึ่งในนั้นเรียกว่าคณะวัดรังษี
อีกวัดหนึ่งที่ทรงปฏิสังขรณ์คือวัดกษัตราธิราชที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างหรือสร้างสมัยใด  หลักฐานบางแห่งเรียกว่าวัดกษัตราราม    วัดนี้ถูกทำลายยับเยินเมื่อกรุงแตกครั้งที่ ๒   จนกลายเป็นวัดร้าง   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งอาราม   ประทานนามใหม่ว่าวัดกษัตราธิราช

ใครเป็นลูกหลานมีเชื้อสายอิศรางกูร ณ อยุธยา ถ้าประสงค์จะทำบุญ ก็ขอเสนอวัดทั้งสองคือคณะวัดรังษืในวัดบวรนิเวศ  และวัดกษัตราธิราชไว้พิจารณาด้วยนะคะ


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 02 พ.ย. 12, 17:30
พระโอรสพระธิดา  สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์  เท่าที่หาได้ครับ
                                                                      ปีประสูติ        ปีสิ้นพระชนม์   พระชันษา
หม่อมเจ้าชอุ่ม อิศรางกูร (พระวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวานุรักษ์)    ชาย    2337            2406            70
หม่อมเจ้าอำพัน อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2341      2401       60
หม่อมเจ้าประไภย อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2344            2420            77
หม่อมเจ้ามณฑา อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2346            2428         83
หม่อมเจ้ามุกดา อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2354            2434           81
หม่อมเจ้าหนูหมี อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2356            2430           75
หม่อมเจ้าประดับ อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2358            2421           64
หม่อมเจ้ากำพร้า อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2358    2441            83
หม่อมเจ้าหนู อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2364             2438    75
หม่อมเจ้าหญิง อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2370        2461            91
หม่อมเจ้าสนิท อิศรางกูร    ชาย    กรมขุนอิศรานุรักษ์       2371          2462            91
หม่อมเจ้าลม่อม อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2444            73
หม่อมเจ้าปี่ อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2444    60
หม่อมเจ้าเขียน อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2445    
หม่อมเจ้ารัศมี อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2441    
หม่อมเจ้าถนอม อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2443    
หม่อมเจ้าสวาสดิ์ อิศรางกูร    หญิง    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2450    
หม่อมเจ้าชุมสาย อิศรางกูร    ชาย    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2441    
หม่อมเจ้าตุ้ม อิศรางกูร    ชาย    กรมขุนอิศรานุรักษ์       หลัง 2371    2440


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 20:34
ทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีและเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์สิ้นพระชนม์ไปก่อนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี   ซึ่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓   ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์   จึงมิได้ทรงเหลือพระญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพระบรมราชชนนีอีก    ด้วยเหตุนี้   เมื่อทรงรำลึกถึงในพระอุปการคุณของพระมาตุฉา(น้า)ทั้งสองพระองค์   จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาหม่อมเจ้าพยอมและหม่อมเจ้าชอุ่มพระโอรสในเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม   
หม่อมเจ้าชอุ่ม จึงได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์      เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๖   ทรงครอบครองวังสวนมังคุดต่อจากพระบิดา   หรือคนทั่วไปเรียกว่า "วังกรมเทวา"   กรมหมื่นเทวาฯประชวรเป็นพระโรคหืดมานาน จนสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๖

หม่อมเจ้าชอุ่มหรือกรมหมื่นเทวานุรักษ์ มีบุตรชาย ๒๕ คน  บุตรหญิง ๑๙ คน   หนึ่งในจำนวนนั้นคือหม่อมราโชทัย(ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ผู้แต่ง นิราศลอนดอน


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 พ.ย. 12, 09:11
หม่อมราชินิกูลของไทย ในกรุงรัตนโกสินทร์ ในราชตระกูล อิศรางกูร
หม่อมราโชทัย
  -หม่อมราชวงศ์กระต่าย  อิศรางกูร(2362-2410) บุตร พระวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวานุรักษ์(หม่อมเจ้าชอุ่ม  อิศรางกูร*2337-2406)
  -หม่อมราชวงศ์เนตร  อิศรางกูร บุตรของหม่อมเจ้าโสภณ  อิศรางกูร...เป็นหม่อมราโชทัยเมื่อ 15 ต.ค.2429 เลื่อนเป็นพระศักดิเสนี ถึงแก่กรรมเมื่อ 23 ธ.ค.2442
  -หม่อมราชวงศ์โต๊ะ  อิศรางกูร(2409-2462) บุตรของหม่อมเจ้าโสภณ  อิศรางกูร...เป็นหม่อมราโชทัยเมื่อ 17 พ.ค.24452


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 12, 10:28
หม่อมราโชทัยหรือหม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร (12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2410) เ เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในราชสกุลอิศรางกูร    ประวัติท่านอย่างที่บอกข้างบนนี้คือเป็นบุตรของกรมหมื่นเทวานุรักษ์ (หม่อมเจ้าชอุ่ม อิศรางกูร)
ในรัชกาลที่ 2  เมื่อยังเยาว์ บิดาได้นำท่านไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ  
ต่อมา เจ้าฟ้ามงกุฎผนวช หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปรับใช้ในฐานะข้าหลวงเดิม   ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยเรียนกับมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนา จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญกระแสรับสั่งไปเจรจาติดต่อกับชาวต่างชาติ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็เข้ารับราชการ   ด้วยความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้รับพระราชทานเลื่อนอิสริยยศเป็น "หม่อมราโชทัย"
เมื่อ พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยเป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทยที่เชิญพระราชสาสน์และเครื่องาชบรรณาการ เดินทางไปเจริญพระราชไมตรี ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ
การเดินทางไปในครั้งนั้น หม่อมราโชทัยได้แต่งหนังสือนิราศลอนดอนขึ้น เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงวรรณกรรม  

 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยขึ้นเป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรกของไทย
น่าเสียดายที่หม่อมราโชทัยอายุไม่ยืนยาวนัก   ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2410 ขณะมีอายุ 47 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้นที่เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2410


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 12, 11:10
บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งในราชสกุลอิศรางกูรฯ  ที่คุณ werachaisubhong เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)
ตามประวัติ  ท่านพ่อของท่านที่เรียกกันว่าหม่อมเจ้าถึกนั้น มีพระนามอีกชื่อหนึ่งว่าหม่อมเจ้าพรหเมศร     เป็นพระโอรสในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์      หม่อมเจ้าองค์นี้คนทั้งหลายเรียกว่า "เจ้าบ้านนา" เพราะท่านไม่ได้อยู่ที่วัดสวนมังคุดกับเจ้าพี่เจ้าน้อง   แต่ว่าโยกย้ายไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ที่หมู่บ้านหนองนางวัว  ต.ทองหลาง อ.บ้านนา จ.นครนายก ตั้งแต่รัชกาลที่ 4    แต่หลักฐานบางแห่งบอกว่าเป็นหมู่บ้านบางอ้อ ต.บางอ้อ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)มีพี่น้องร่วมบิดาอีก 3 ท่่านคือ
1  ม.ร.ว.หญิง สาย  สมรสกับญาติในราชสกุลอิศรางกูรด้วยกัน  คือพระยาทัณฑกรคณารักษ์ (ม.ร.ว. เลื่อม อิศรางกูร บุตรม.จ.มณฑป)
2  ม.ร.ว. ชาย จรัส
3  ม.ร.ว. ชาย สินลา
ต่อมาหม่อมเจ้าถึกหรือพรหมเมศรย้ายจากนครนายก กลับมาอยู่ที่วังสวนมังคุดตามเดิม    บุตรชายจึงได้เรียนหนังสือในสำนักของท่านพ่อ    จนอายุ 7 ขวบ  หม่อมเจ้าถึกทรงพาไปฝากฝังให้เป็นศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) เมื่อครั้งเป็นพระเปรียญอยู่ที่วัดระฆังฯ ใกล้วังสวนมังคุด


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 12, 11:20
ม.ร.ว. เจริญ ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน  นอกจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ยังมีพระอมรเมธาจารย์ (เกษ) แต่เมื่อยังเป็นเปรียญ  ในหม่อมเจ้าชุมแสงผู้เป็นลุง และพระโหราธิบดี (ชุม) ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นพื้น นอกจากนี้ยังได้เล่าเรียนจากสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) และสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ฯ กับอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายท่าน  ก็ไม่ต้องสงสัยว่าท่านมีอาจารย์เก่งๆหลายท่าน   ม.ร.ว.เจริญจึงมีโอกาสได้ฝึกฝนวิชามากกว่าเด็กอื่นๆในวัยเดียวกัน    ท่านก็เป็นเด็กที่เปรื่องปราดสมกับเป็นศิษย์มีครูจริงๆเสียด้วย

ถึงรัชกาลที่ 5 ม.ร.ว. เจริญบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413  เมื่ออายุเพียง 14 ปี  ก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระมหาปราสาท   การสอบในคราวนี้  ขึ้นชื่อว่าเข้มงวดกวดขันกว่าที่ผ่านๆมา เพราะในปลายรัชกาลที่ 4  ก่อนหน้านี้  มีเสียงครหาว่ามีพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือแนะนำพระภิกษุและสามเณรที่เป็นศิษย์หรือรู้จักคุ้นเคยกันให้สอบผ่านเป็นเปรียญกันโดยง่าย    มาครั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำชับให้เข้มงวดกวดขัน  กลั่นกรองเอาแต่ผู้ที่มีความรู้จริง
พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาแปลในคราวนี้ เจอข้อสอบหนักๆเข้า พากันสอบตกกันเสียมาก   คนที่ผ่านเป็นเปรียญ 3 ประโยค ได้เพียง 12 รูป เป็นพระภิกษุ 9 รูป สามเณร 3 รูป ในจำนวนนี้ คือสามเณรเจริญ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งมีอายุเพียง 14 ปี น้อยกว่าทุกท่านที่สอบได้ในคราวนี้

ต่อมา ใน พ.ศ.2419 สามเณรม.ร.ส.เจริญได้เข้าแปลปริยัติธรรมที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นครั้งที่ 2 แปลได้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 4 ประโยค    จนถึง พ.ศ.2421 ท่านอายุครบอุปสมบท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมเจ้าสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัต) ครั้งเมื่อยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังอุปสมบท พระภิกษุม.ร.ว.เจริญเข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 3 ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2425 แปลได้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 5 ประโยค


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 12, 21:35
  เมื่อ พ.ศ.2430  พระภิกษุม.ร.ว. เจริญ เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามพิเศษว่า พระราชานุพัทธมุนี มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกฯ    อีก 5 ปีต่อมา จึงได้กลับมาครองวัดระฆังฯ
  พ.ศ.2438 ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นพระเทพเมธี  พระธรรมไตรโลกาจารย์  เจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์  บัญชาการมาจนสิ้นรัชกาลที่ 5
  หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6    โปรดฯให้เลื่อนพระธรรมไตรโลกาจารย์ขึ้นเป็นพระพิมลธรรม ตำแหน่งเจ้าคณะรอง    จนถึง พ.ศ.2464 โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระพิมลธรรม (หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  บัญชาคณะกลาง

  คุณพิเศษอย่างหนึ่งของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์คือเป็นสรญาณบัณฑิต  สันทัดทำนองสวดต่างๆตามแบบโบราณ  เช่นขัดตำนานสวดมนตร์  สวดญัติ   สวดอาณาฏิยสูตร  เทศน์มหาชาติก็สันทัดดีเยี่ยมทั้ง 13 กัณฑ์   ท่วงทำนองในการเทศน์ของท่านเป็นที่นิยมยกย่องในยุคนั้นเป็นอย่างมาก สมัยนั้นตามวังเจ้านาย เช่น วังบางขุนพรหมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงโปรดให้จัดมีพระธรรมเทศนาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ พร้อมทั้งอาราธนาพระสงฆ์ซึ่งเป็นองค์พระธรรมกถึกในการเทศนาเข้าไปแสดงถวายเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยก่อนที่พระสงฆ์รูปที่จะไปแสดงพระธรรมเทศนาถวายจำจะต้องทำการฝึกซ้อมท่วงทำนองต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ เสมอ

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  คือ เชี่ยวชาญภาษามคธ (บาลี) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคำโคลง 4 สุภาพ ในความภาษาไทยท่านมักจะใช้ศัพท์มคธเข้าแทรก ผลงานส่วนหนึ่งคือคำโคลงรามเกียรติ์ซึ่งจารึกไว้ตามเสาระเบียงพระวิหารคต ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีปรากฏนามของท่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 18.35 น. ปีมะโรง พ.ศ.2471 คำนวณอายุได้ 70 ปี พรรษา 50


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 12, 16:39
เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน   เชื้อสายราชสกุลอิศรางกูรท่านหนึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะคนเบื้องหลังวงการบันเทิง  มีชื่อประดับอยู่ในโปสเตอร์และคัทเอาท์ภาพยนตร์ไทยเกือบทุกเรื่อง ในฐานะนักพากย์ผู้มีฝีมือยากจะหาใครเทียบได้   ท่านคือม.ล.รุจิรา อิศรางกูร

ในสมัยนั้น ภาพยนตร์ไทยยังพากย์กันอยู่  นักพากย์ดังๆก็จะคู่กันเป็นตัวเอกฝ่ายชายและหญิง  เช่น รุจิรา-มารศรี  เสน่ห์-จุรี
ม.ล. รุจิรามีความสามารถพิเศษ ดัดแปลงเสียงได้หลากหลาย  คนเดียวพากย์ได้หลายตัวแสดงด้วยกัน จนมีสมญาว่า มนุษย์เก้าเสียง

http://www.youtube.com/watch?v=dI28STW2rTk&feature=youtu.be



กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 12, 17:16
 ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร  เกิด 25 พ.ย.2456 เสียชีวิตแล้ว  เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์สุดใจ  และเป็นหลานปู่ของหม่อมเจ้าน้อย  ซึ่งเป็นหนึ่งในพระโอรสในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์    ม.ล.รุจิรามีพี่น้องร่วมบิดาคือม.ล.(หญิง)ชูจิต   ม.ล.(หญิง)สุดจิตต์ ม.ล.(ชาย)แจ่ม และม.ล.(ชาย) เหมือน อิศรางกูร

ท่านสมรสกับมารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2542  เป็นนักพากย์และนักแสดงอาวุโสที่คนดูรู้จักกันดีมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว    มีบุตรธิดา 3 คนล้วนแต่อยู่ในวงการบันเทิงคือ อรสา  จีรศักดิ์   และคนสุดท้อง จิรวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา

ไปค้นหารูปม.ล.รุจิรา เจอแต่ตอนวัยกลางคน   ไม่มีตอนหนุ่มๆ ได้แต่เดาว่าคงรูปหล่อ เห็นได้จากประวัติ ที่ว่าละครเวทีเรื่อง วนิดา เมื่อนำไปเป็นละครเวทีครั้งแรกที่ "ศาลาเฉลิมนคร"  ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร เล่นเป็น พ.ต.ประจักษ์  บทเดียวกับที่ติ๊ก เจษฎาภรณ์แสดง
ในภาพนี้ ม.ล.รุจิราคือคนที่สองจากซ้าย


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 13 พ.ย. 12, 10:18
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงมีพระโอรสพระธิดา ๕ พระองค์ กับ สมเด็จฯเจ้าฟ้าปัญจปาปี ในสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์(เจ้าหญิงฉิม)ประกอบด้วย
                  ๒๕.๑ หม่อมเจ้าใหญ่ อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๒ หม่อมเจ้ากลาง อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๓ หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๔ หม่อมเจ้าสุนทรา อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๕ หม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 12, 11:05
เขียนผิดไปหน่อย เมื่อเขียนถึงม.ล.รุจิรา เพราะมีประโยคหนึ่งไปลอกมาจากเน็ต  เขาใส่ ณ อยุธยาต่อท้ายให้ราชสกุล อิศรางกูรของท่าน ก็เลยเผลอเอาลงทั้งยังงั้น ไม่ได้ตัดออก 
ความจริงแล้ว   พระองค์เจ้า  หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง  เมื่อระบุราชสกุล  ไม่ต้องมีคำว่า ณ อยุธยา ต่อท้ายค่ะ
แต่ถ้าเป็นสะใภ้ของราชสกุล  และบุตรธิดาที่เป็นชั้นเด็กชายเด็กหญิงแต่กำเนิด  จึงจะใช้ ณ อยุธยาต่อท้าย
ตัวอย่าง
ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร
มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา(เพราะท่านเป็นสะใภ้ของราชสกุล)
คุณอรสา  จีรศักดิ์  จีระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา  (เพราะเป็นบุตรธิดาของม.ล. ซึ่งอยู่ในชั้นสามัญชนแล้ว)

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงมีพระโอรสพระธิดา ๕ พระองค์ กับ สมเด็จฯเจ้าฟ้าปัญจปาปี ในสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์(เจ้าหญิงฉิม)ประกอบด้วย
                  ๒๕.๑ หม่อมเจ้าใหญ่ อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๒ หม่อมเจ้ากลาง อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๓ หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๔ หม่อมเจ้าสุนทรา อิศรางกูร ณ อยุธยา
                  ๒๕.๕ หม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
หม่อมเจ้าทั้ง 5 องค์นี้ไม่ต้องมีคำว่า ณ อยุธยา ต่อท้าย ค่ะ


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 12, 11:14
นอกจากสมเด็ตเจ้าฟ้าปัญจปาปีแล้ว   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมห้ามอื่นๆอีกหลายท่านด้วยกัน    เท่าที่ราชสกุลรวบรวมไว้ คือ
ฝ่ายชาย
๑    หม่อมเจ้าชะอุ่ม  กรมหมื่นเทวานุรักษ์ (ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นองค์เดียวกับหม่อมเจ้าใหญ่)
๒    หม่อมเจ้าสนุ่น
๓    หม่อมเจ้าโสภณ
๔    หม่อมเจ้าขจร
๕    หม่อมเจ้าชุมแสง หรือชุมสาย
๖    หม่อมเจ้าชายดำ
๗    หม่อมเจ้าวัตถา
๘    หม่อมเจ้าโต
๙    หม่อมเจ้ากำพล
๑๐  หม่อมเจ้านิล
๑๑  หม่อมเจ้ามุ้ย
๑๒  หม่อมเจ้าคันทรง
๑๓  หม่อมเจ้าน้อย (ท่านปู่ของม.ล.รุจิรา)
๑๔  หม่อมเจ้ามณฑป
๑๕  หม่อมเจ้าถึก หรือพรหมเมศร
๑๖  หม่อมเจ้าสุด
๑๗  หม่อมเจ้าตุ้ม
๑๘  หม่อมเจ้าสุราไลย

ทั้งหมดนี้เป็นหม่อมเจ้าชาย     ส่วนพระธิดาที่เป็นหม่อมเจ้าหญิงมี ๓๑ องค์ (รวมพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าปัญจปาปีด้วย)  ไม่มีองค์ไหนเสกสมรส  จึงไม่มีลูกหลานสืบมาทางสายพระธิดา


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 12, 15:44
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง (เทียบเท่ารองปลัดกระทรวง) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ประวัติส่วนตัว
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เกิดวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เป็นบุตรของ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี กับท่านผู้หญิงอรอวล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์(เกียรตินิยม)จาก London School of Economics (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกจาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย
สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  มีบุตรชาย 2 คน ชื่อ จิรุตถ์ และ จิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ประวัติการทำงาน
26 ตุลาคม พ.ศ.2507 ถึง 30 กันยายน พ.ศ.2509 เริ่มรับราชการสังกัดกรมวิเทศสหการ ตำแหน่งเศรษฐกรโท
1 ตุลาคม พ.ศ.2509 ถึง 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 โอนมารับราชการสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์     คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ตำแหน่งอาจารย์โท
8 สิงหาคม พ.ศ.2518 ถึง  30 มิถุนายน พ.ศ.2519 รองคณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

29 ตุลาคม พ.ศ.2518 ถึง 1 กรกฎาคม พ.ศ.2519     เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์   ถึง คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
13 มกราคม พ.ศ.2522 ถึง 21 มีนาคม พ.ศ.2522 เลื่อนตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์
11 มีนาคม พ.ศ.2524 ถึง 19 มีนาคม พ.ศ.2526  ลาออกจากราชการไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
7 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ถึง 19 กันยายน พ.ศ. 2528 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พ.ศ.2528               ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พ.ศ.2529               ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2530              ถึงปัจจุบัน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรองเลขาธิการพระราชวัง สำนักพระราชวัง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 12, 10:57
คุณจิรายุเป็นอิศรางกูร สายกรมหมื่นเทวานุรักษ์(หม่อมเจ้าชอุ่ม อิศรางกูร) 
ท่านองคมนตรีจรูญพันธ์ บิดาของคุณจิรายุ เป็นบุตรของพระยาวิเศษฤๅชัย (ม.ล.เจริญ อิศรางกูร) และเป็นหลานปู่ของม.ร.ว.สวาสดิ์ อิศรางกูร ซึ่งเป็นโอรสของกรมหมื่นเทวานุรักษ์

สังเกตอีกอย่างว่า โอรสธิดาของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์อันประสูติจากสมเด็จเจ้าฟ้าปัญจปาปี พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าตากสิน ล้วนแต่ดำรงพระยศชั้นหม่อมเจ้า   ไม่ใช่พระองค์เจ้าหรือเจ้าฟ้าอย่างพระชนกชนนี    แสดงว่าสมเด็จเจ้าฟ้าปัญจปาปีก็เช่นเดียวกับพระราชโอรสธิดาพระองค์อื่นๆในสมเด็จพระเจ้าตากสิน  คือกลายมาเป็นสามัญชนในสมัยรัชกาลที่ 1   พระโอรสธิดาจึงเป็นหม่อมเจ้า เช่นเดียวกับพระโอรสธิดาที่เกิดจากหม่อมอื่นๆที่เป็นสามัญชน


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 14 พ.ย. 12, 11:02
ขอโทษอย่างสูงเลยนะครับท่านอาจารย์ หม่อมเจ้า ไม่ต้อง ณ อยุธยา ต่อท้าย ผิดพลาดอย่างแรง


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 14 พ.ย. 12, 11:29
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2398 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าโสภณ อิศรางกูร พระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ องค์ต้นราชสกุล"อิศรางกูร" ท่านเป็นพระมารดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพินทุ์เพ็ญภาคย์ ท่านมีน้องสาว 1 คนที่ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์มณี อิศรางกูร
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2439 สิริอายุ 41 ปี โดยมีอนุสาวรีย์อยู่ที่สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

พระรูป พระองค์เจ้าหญิงอรพินทุ์เพ็ญภาคย์


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 12, 13:53
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2398 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าโสภณ อิศรางกูร พระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ องค์ต้นราชสกุล"อิศรางกูร" ท่านเป็นพระมารดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพินทุ์เพ็ญภาคย์ ท่านมีน้องสาว 1 คนที่ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์มณี อิศรางกูร
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2439 สิริอายุ 41 ปี โดยมีอนุสาวรีย์อยู่ที่สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ขออนุญาตแก้อีกข้อหนึ่ง

ประการหนึ่ง  เจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาเขียนนามสกุลต่อท้ายชื่อได้ด้วยหรือ  เอาธรรมเนียมมาแต่ไหน
กรุณาอ้างหลักฐานทางราชการที่เชื่อถึงได้มาให้ดูหน่อยซิ

ให้เขียนว่า เจ้าจอม (เจ้าจอมมารดา).......ในรัชกาลที่ ๕

คุณหลวงท่านอยู่ไหนหนอ

 ;D


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 12, 15:05
กระทู้ที่เดินมาถึงค.ห.นี้เป็นการเล่าถึงสมาชิกราชสกุลอิศรางกูร ที่มีบทบาทเป็นที่รู้จักในสังคมไทยทั้งอดีตและปัจจุบัน      

ดิฉันเข้าใจว่าคุณวีระชัยเขียนถึงสตรีในราชสกุลนี้ ที่ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลต่างๆ   แล้วระบุนามสกุลเดิมลงไป เพื่อเป็นบริบทให้คนอ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าท่านมาจากราชสกุลนี้    ดิฉันก็เข้าใจเหตุผล  และไม่ถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างคุณเพ็ญชมพูมองเห็น  
ถ้าคุณเพ็ญชมพูจะบอกว่า มีประวัติอยู่ในค.ห.แล้วว่าท่านเป็นลูกหลานใครในราชสกุล ไม่จำเป็นต้องเอ่ยนามสกุลซ้ำอีก  อย่างนี้พอฟังได้

ก็อยากเห็นเหมือนกัน ถึงระเบียบข้อห้ามทางราชการที่ห้ามเอ่ยถึงชื่อเจ้าจอมโดยมีนามสกุลเดิมต่อท้าย    มีอยู่ในราชกิจจาฯหรือไร คุณเพ็ญชมพูช่วยนำมาให้ดูหน่อยได้ไหม  เผื่อจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างถูกต้องต่อไป


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 12, 18:02
ดิฉันเข้าใจว่าคุณวีระชัยเขียนถึงสตรีในราชสกุลนี้ ที่ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลต่างๆ   แล้วระบุนามสกุลเดิมลงไป เพื่อเป็นบริบทให้คนอ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าท่านมาจากราชสกุลนี้    ดิฉันก็เข้าใจเหตุผล  และไม่ถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างคุณเพ็ญชมพูมองเห็น  

ผู้ที่ระบุนามสกุลเดิมลงไปน่าจะเป็น คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2_%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_5)  อ่านที่คุณวิกกี้เขียนคงเชื่อทั้งหมดไม่ได้ ต้องเอามากรองเสียก่อน

ก็อยากเห็นเหมือนกัน ถึงระเบียบข้อห้ามทางราชการที่ห้ามเอ่ยถึงชื่อเจ้าจอมโดยมีนามสกุลเดิมต่อท้าย   มีอยู่ในราชกิจจาฯหรือไร คุณเพ็ญชมพูช่วยนำมาให้ดูหน่อยได้ไหม  เผื่อจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างถูกต้องต่อไป

ตัวอย่างนี้น่าจะพอใช้ได้

 ;D



กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 พ.ย. 12, 18:17

ก็อยากเห็นเหมือนกัน ถึงระเบียบข้อห้ามทางราชการที่ห้ามเอ่ยถึงชื่อเจ้าจอมโดยมีนามสกุลเดิมต่อท้าย    มีอยู่ในราชกิจจาฯหรือไร คุณเพ็ญชมพูช่วยนำมาให้ดูหน่อยได้ไหม  เผื่อจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างถูกต้องต่อไป


คงคล้ายๆ กับธรรมเนียม เรียกนามหม่อมเจ้า ตามด้วยนามกรมของพระบิดา เช่น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ธรรมเนียมนี้เพิ่งมาเลิกเอาเมื่อรัชกาลที่ ๗ แล้วใช้นามสกุลต่อท้ายแทน เป็น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 12, 18:55
หมายความว่าเป็นธรรมเนียม ไม่ใช่ระเบียบราชการ หรือคะ?


กระทู้: ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 พ.ย. 12, 21:53
การออกพระนามหม่อมเจ้าแล้วต่อด้วยพระนามพระบิดานั้น  เป็นเพราะกเมื่อรัชกาลที่ ๖ โปรดให้มีนามสกุลแล้ว  แต่ทรงถือว่า
หม่อมเจ้าเป็นพระราชวงศ์ซึ่งนับเนื่องในพระบรมราชวงศ์  จึงมิได้ทรงกำหนดให้ใช้นามสกุล  จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่โปรดเกล้าฯ
ให้ออกประกาศให้หม่อมเจ้าใช้นามสกุล  ส่วนการออกนามเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาล... นั้น  เป็นพระราชนิยมใน
รัชกาลที่ ๖ ที่คงถือปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน