เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: piyasann ที่ 20 ก.ค. 11, 01:47



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 ก.ค. 11, 01:47
กำลังเรียบเรียง เรื่องประวัติศาสตร์กล้วยไม้ไทยอยู่ครับ  ...................

พอจะมีท่านใดเคยอ่านผ่านตามาบ้างหรือเปล่าว่า  กรมหมื่นปราบปรปักษ์  (มาลากุล) ทรง "เล่นกล้วยไม้" ผมคุ้นๆ เหมือนอ่านเจอที่ไหน แต่นึกหาหลักฐานอ้างอิง ไม่ออกครับ..........

อีกท่านหนึ่งครับ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงรับหน้าที่ดูแลสวนพฤกษศาสตร์ พระราชอุทยานสราญรมย์ ต่อจาก นายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ไม่แน่ใจว่าทรงเล่นกล้วยไม้ด้วยหรือเปล่า

ในกรมทิวากรวงษ์ฯ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราชนี้ เจ้าพระยาภาณุวงษ์ฯ  ม.จ. ปิยะภักดีนารถ พอจะหาข้อมูลได้บ้างแล้วครับ หรือท่านใดมีข้อมูลก็ขอคำแนะนำด้วยครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 20 ก.ค. 11, 06:50
ขออนุญาตนำข้อมูลมาช่วยครับ จากบันทึกความทรงจำบางเรื่อง
ของ หม่อมเจ้าสมประสงค์ บริพัตร ชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หน้า 26

รายละเอียดหนังสือ
http://www.thaibiography.com/index.php?lay=show&ac=cat_show_pro_detail&cid=38208&pid=190334





กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ธ.ค. 11, 17:16


       อาลาบาสเตอร์เล่นกล้วยไม้ไทยค่ะ     ส่งพันธุไม้กลับไปอังกฤษเป็นพันชนิด

ในงามสมโภชพระนครก็มีห้องแสดงกล้วยไม้ในนามตน         เป็นผู้นำคัทลียาเข้ามาสู่สยามค่ะ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 19 ธ.ค. 11, 21:37
ท่านอาจารย์ ระพี สาคริก ท่านจะบันทึกไว้บ้างหรือเปล่า?




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ธ.ค. 11, 22:09


        ถือโอกาสตอบคุณปิยะสารก่อนนะคะ

มีเอกสารลายมือ อาลาบาสเตอร์ อยู่ที่อังกฤษค่ะ

ฉบับสำคัญเท่าที่เห็นคือฉบับไปหว้ากอค่ะ      คุณหญิงแหม่มก็ไปด้วย   ท่านเป็นศิลปินสีน้ำค่ะ  และวาดภาพพลับพลาไว้

เรียกว่า Jungle Palace          เอกสารของบลัดเลและครูสมิทมีรายงานเรื่องคุณหญิงแหม่มด้วยค่ะ  ท่านได้รับ

พระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นเงินปีเท่าเงินเดือนของสามีไปจนตลอดชีวิต  และบุตรชาย

ทั้งสองก็ได้รับพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการศึกษาจนจบค่ะ


ทางครอบครัวก็ถือจดหมายลายมือของอาลาบาสเตอร์ไว้หลายฉบับ   ท่านเขียนถึงญาติผู้น้องค่ะ

เล่าเรื่องการเดินทาง

ต่อมามีบทกวียาวหลายหน้าเลยค่ะ    (อ่านแล้วย่อวันดีพอทำได้  แต่แปลคงเกืนความสามารถ)

ในจำนวนฝรั่งที่แห่มาเมืองจีนแล้วมาติดอยู่ที่เมืองไทย   อาลาบาสเตอร์มีการศึกษาดีมาก



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ธ.ค. 11, 22:20


ห้องแสดงกล้วยไม้และดอกไม้ป่าคือห้องที่ ๔๙  ค่ะ   ใน Bangkok Centennial

อาลาบาสเตอร์ช่วยแปลเอกสารราชการบางส่วนให้  สยามวีคลี่ แอเวอไตเซ่อร์ค่ะ

ไม่ใช่เขียนเองทั้งหมดดังที่มีการเข้าใจผิดกัน


ชื่อสกุลนั้นก็ไม่เกี่ยวกับศิลาขาว  แต่ทางโคตรสกุล(ไม่ใช่คำหยาบ)ค้นกันตอนนี้ได้มาแปลกๆ ค่ะ


เป็นสกุลที่ยิ่งใหญ่และดีงามกระไรอย่างนั้น


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 11, 07:41
การเลี้ยงกล้วยไม้ของไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

เป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจัง

เมื่อมีชาวตะวันตกชื่อ

นายเฮ็นรี่ อาลาบาสเตอร์ (Mr.Henry Alabaster)

ได้นำกล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา

ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

และมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ไทยในเอเชีย

และเอเชียแปซิฟิค

มาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก หลังจากที่พบว่า

ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสม

และมีกล้วยไม้อยู่ในธรรมชาติมากมาย

ในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูง

และบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด

ให้ความสนใจปลูกเลี้ยงกันเป็นงานอดิเรกเช่นกัน

นอกจากนั้น ก็ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ

ซึ่งก็ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ แต่ก็เพื่อความเพลิดเพลินและความสุขทางใจ

"ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก"


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 11, 09:22
ห้องแสดงกล้วยไม้และดอกไม้ป่าคือห้องที่ ๔๙  ค่ะ   ใน Bangkok Centennial

จาก Bangkok Centennial, Bangkok, Siam, 1882. (1882) (http://www.archive.org/stream/bangkokcentennia00cent#page/n3/mode/2up)  หน้า ๕๐-๕๑

 ;D



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 11, 10:34
อ่านรายชื่อสายพันธุ์กล้วยไม้ที่นายอาลาบาสเตอร์นำมาจัดแสดงนั้น มิใช่จะมีแต่กล้วยไม้ หากมีพวกไม้แปลก เฟริ์น และต้นไม้ในพระปรมาภิไธยอีกด้วย (ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร)

แต่ตัวเองชอบกล้วยไม้มากกว่าเลยแกะรอยสายพันธุ์กล้วยไม้ที่นำมาจัดแสดงว่ามีอะไรบ้าง จึงคัดออกมาให้อ่านได้ดังนี้

Dendrobium กล้วยไม้สกุลหวาย ในงานมีจัดไว้ถึง หกสายพันธุ์

Cymbidium เป็นกล้วยไม้พวกกะเรกะร่อน จัดแสดง สามสายพันธุ์

Calanthe กล้วยไม้สกุลคาลันเท พวกกล้วยไม้ดิน จัดแสดง หนึ่งสายพันธุ์

Vandas กล้วยไม้สกุลแวนด้า พวกฟ้ามุ่ยเป็นต้น

Renanthera กล้วยไม้สกุลรีแนนเทอร่า หรือพวกหวายแดง

Eulophia กล้วยไม้เป็นหัว โตตามพื้นดิน พวกช้างผสมโขลง

Phalaenopsis กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิส ใบใหญ่ ดอกแทงช่อยาวและดอกใหญ่

Microstylis   ???

Cypripedium กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

Aerides กล้วยไม้สกุลกุหลาบ ที่ส่งกลิ่นหอมมาก

Saccolabium กล้วยไม้สกุลช้าง (ช้างแดง ช้างเผือก ไอยเรศ เอื้องเขาแกะ)


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 11, 11:18


ห้องแสดงกล้วยไม้และดอกไม้ป่าคือห้องที่ ๔๙  ค่ะ   ใน Bangkok Centennial


กำลังคิดว่างานแสดงกล้วยไม้ในสมัยนั้น จะบังคับให้กล้วยไม้ออกดอกโชว์ได้อย่างไรกัน เมื่อสมัยก่อนการปรับปรุงพันธุ์ไม่เหมือนสมัยนี้ และกล้วยไม้ไทยจะออกดอกปีละครั้ง กล้วยไม้ต้องโชว์ดอก มิเช่นนั้นเสียเปล่า หรือเลี่ยงให้ชมภาพวาดประกอบสีให้ชม  :o


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 11, 11:26
^
^
อาลาบาสเตอร์บอกว่า

As the best flowering season for orchids is now.

(งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เริ่มเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ถึง ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นเวลา ๕๒ วัน)

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ธ.ค. 11, 11:53


       ซูสีไทเฮายังสั่งให้ดอกไม้เมืองหนาวบานได้เลย


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 ธ.ค. 11, 13:56


       ซูสีไทเฮายังสั่งให้ดอกไม้เมืองหนาวบานได้เลย

ก็นั่นมันซูสีไทเฮานะคุณวันดี  :o


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ธ.ค. 11, 14:20


คุณเฮนรี่ท่านเรียนเรื่องต้นไม้มานะ   ตอนเป็นกงศุลรักษาการก็ส่งต้นไม้ไปอังกฤษ   ก็ท่านเล่าไว้เองนี่นา

ดิฉันจะไปคิดเองได้อย่างไรไฉนนั่น   Public Record Office  มีลายมือท่านบานไปเลย

เรฟเฟอเรนซ์ที่ดีที่สุดของท่านคือ  สมเด็จเจ้าพระยาไม่ถูกกับท่านเลยล่ะเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของคนร่มธง

ตอนท่านป่วยและรักษาไม่ได้   ท่านพุดไม่ได้ก่อน   คงเป็นเส้นโลหิตฝอยแตกเพราะความดันกระมัง

คนที่รักต้นไม้นั้น  เลือกต้นไม้เก่ง  พูดและสั่งให้ต้นไม้ออกดอกได้เพราะความสนใจดูแลอย่างใกล้ชิด


       ขันทีนั้นมีจำนวนมากเป็นหลายหมื่นคน   วิ่งต้มน้ำร้อนมาอบต้นไม้สักร้อยคนสบาย ๆ     พระพันปีจะไปทราบอะไร


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 11, 14:35
สนใจเรื่องของคุณเฮนรี่มาก

เรียนเชิญคุณวันดีเปิดกระทู้แนะนำตัวคุณเฮนรี่อย่างเป็นทางการ

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 11, 14:48


       ขันทีนั้นมีจำนวนมากเป็นหลายหมื่นคน   วิ่งต้มน้ำร้อนมาอบต้นไม้สักร้อยคนสบาย ๆ     พระพันปีจะไปทราบอะไร


เหตุการณ์มันต่างกันครับ ขันทีเหล่านั้นอาจจะสร้างฐานะศักดิ์จากการให้ดอกไม้เบ่งบาน และรับเงินรางวัล อำนาจราชศักดิ์จากพระนางก็เป็นไปได้


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ธ.ค. 11, 14:58
        พอมีเอกสารเรื่องนี้ไว้บ้างค่ะ     เนื่องจากมีผู้เมตตาให้เอกสารต่างๆมา

และชายหนุ่มแถวนี้มาช่วยขนหนังสือหนีน้ำ  แล้ววางไว้นอกห้องสมุด

ญาติทิ้งหนังสือมาให้สามอาทิตย์ที่แล้วประมาณ ๕๐๐ เล่ม   คัดแจกไปแล้วสองกล่อง

ได้หนังสืองานศพที่พอใช้ได้ประมาณ ๑๐๐ กว่าเล่ม   จึงต้องอ่านหนังสือเหล่านี้ก่อน

เพราะจะมอบให้วงการไป


        ไม่มีหลักฐานค่ะว่าคุณเฮนรี่ตั้งครอบครัวที่สองอยู่ที่ไหน     ขอค้นไปเรื่อยๆก่อนนะคะ

คุณหญิงพาลาเซียหลังจากสามีตายก็เลหลังสมบัติในบ้านอย่างสิ้นเชิง  กระทั่งกระป๋องและสายยาง

แล้วกลับไปอังกฤษค่ะ      หลักฐานอยู่ในสยามสมัย


        เกียรติยศทั้งหมดของโคตรตระกูล(ไม่ใช่คำหยาบ  พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้)อยู่ที่สายในเมืองไทยค่ะ



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ธ.ค. 11, 15:14


       เกร็ดเรื่องพระนางซูสีนั้นหนังสือเก่าเล่าไว้มาก

       วันหนึ่งเจ้าหญิงเยอรมันเดินทางผ่านมา  ขอเฝ้า      ทางจีนก็บอกว่า  ด้วยความยินดี  แต่ตามธรรมเนียมจีน

ขอให้ยืนเฝ้่า         เจ้าหญิงและทูตไม่ยอม   ที่จริงทูตอยากยอมแต่เจ้าหญิงไม่ยอมเพราะเสียศักดิ์ศรี

อันที่จริงพระพันปีเลือกไข่มุกที่มีอยู่ยาวเป็นเมตรเลยล่ะไว้พระราชทาน

พอนางปีศาจต่างด้าวเข้ามาถอนสายบัวติ๊ดหนึ่ง  แล้วนั่งลง     พระพันปีเลยพระราชทานพัดให้เล่มหนึ่ง

อ่านมาจริงๆนะ  ดอนราชประสงค์


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 11, 15:22
              เกียรติยศทั้งหมดของโคตรตระกูล(ไม่ใช่คำหยาบ  พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้)อยู่ที่สายในเมืองไทยค่ะ

พระยาอนุมานราชธนเล่าว่า

ความจริงคำว่า "โคตรตระกูล" ข้าพเจ้าแปลจากคำว่า Tribe ในภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับคำว่า "โคตร" เช่น โคตมโคตร แต่เกรงอาจจะเข้าใจผิดได้ จึงเอาคำตระกูลต่อท้ายเป็นโคตรตระกูลเพื่อให้เข้าใจถูก แต่ก็ไม่เข้าใจถูกอยู่นั่นเอง แล้วแต่ระดับความรู้แห่งชาติชั้นวรรณะของบุคคล

จากหนังสืออัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน ของ เสฐียรโกเศศ หนังสืออ่านนอกเวลา รายวิชา ท๔๐๑ ท๔๐๒

 ;D



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 11, 15:22
อิจฉากองหนังสือเหล่านั้นมากมาย...ว่าจะหาภาพสวนดอกไม้ในพระราชวังดาวเหนือสีม่วงมาให้ชม แต่เกรงว่าจะล้ำเกินกระทู้กล้วยไม้ไป จึงขอเดินเรื่องถามคุณวันดีว่ามีหนังสือหรือเอกสารไหมว่า "กรมหมื่นปราบปรปักษ์ นั้นเลี้ยงกล้วยไม้อะไรบ้างหนอ"


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ธ.ค. 11, 15:33


        ขอประทานโทษค่ะ    ไม่มีค่ะ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 ธ.ค. 11, 18:07
ขอบพระคุณทุกท่าน ที่กรุณาแสดงความเห็นครับ โดยเฉพาะ Wandee ที่เสนอเอกสารใหม่ให้ได้ขบคิด...

        จดหมายของอลาบาสเตอร์ น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะช่วงที่โดยเสด็จ รัชกาลที่ ๔ ไปหว้ากอ ท่านหมายมั่นปั้นมือว่า จะสำรวจกล้วยไม้ และพฤกษศาสตร์ตามที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ (ถ้านับตามปีค.ศ. แล้ว ท่านก็ "น่าจะ"เป็นลูกศิษย์ Sir John Lindley บิดาแห่งอนุกรมวิธานกล้วยไม้ ทีเดียวครับ) แต่ท่านก็ได้เพียงเดินทางสำรวจทางพฤกษศาสตร์ สั้นๆ กับ ชอง แบบติส หลุยส์ ปิแยร์ (J.B.J. Pierre) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส จึงยังไม่ได้ฝากนามไว้ในทำเนียบตัวอย่างทางพฤกษศาสตร์ดังที่ตั้งใจ  .......

         ต่อมาเมื่อได้กลับเข้ามารับราชกาลเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 5 ในระหว่างการสำรวจเมืองไทย เพื่อวางสายโทรเลข และทำแผนที่ (ทางจังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ไปพะตะบอง) ท่านก็ได้สำรวจทางพฤกษศาสตร์ และกล้วยไม้ไปด้วย  เวลาท่านได้กล้วยไม้มา ก็นำมาเลี้ยง และจัดแสดงไว้ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ เพื่อที่ดำเนินการจัดแสดงเป็นทำนอง Botanical Garden สำหรับพระนคร ตามแบบอย่างที่ ชวา สิงค์โปร์ และศรีลังกา (ซึ่งท่านได้เชิญ Mr. James Morton ผู้อำนวนการสวนพฤกษศาสตร์ สิงค์โปร์ ซึ่งขณะนั้นเป็น "ดาวรุ่ง" ทางด้านพฤกษศาสตร์  มาทำงานเป็นผอ. สวนพฤกษฯ สิงค์โปร์ ขณะอายุได้ 30 กว่าๆ !!!! เสียดายที่ อลาบาสเตอร์ และมอร์ตัน เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ภายหลังมารับราชการได้เพียงปีเศษ ถ้าไม่เช่นนั้น สยามคงมีสวนพฤกษศาสตร์ที่เลิศเลอ ไม่แพ้ Kew Garden ที่อังกฤษเป็นแน่)  

         พอท่านได้กล้วยไม้ไทยมา ท่านก็เที่ยวถามว่า เรียกว่าอย่างไร? แต่ด้วยความที่สยามมีหลายถิ่น แต่ละถิ่นก็เรียกไม่ตรงกัน หรือหลายชนิดซึ่งเป็นกล้วยไม้ต้นเล็ก ดอกเล็ก คนพื้นถิ่น ก็ไม่คิดจะสนใจตั้งชื่อ เรียกนาม ว่ากระไรกัน ท่านก็ตั้งชื่อให้เสร็จสรรพ เช่น "กล้วยไม้ ช้าง" ก็มิสเตอร์อลาบาสเตอร์นี้แหละ่ เป็นคนตั้งชื่อ โดยแปลมาจาก Saccolabium gigantea ต่อมาบุตรชายของท่าน คือ พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) ได้เรียบเรียงหนังสือ List of Common Trees and Shrubs in Siam รวบรวมชื่อพรรณไม้ไทย เทียบเป็นภาษาอังกฤษ เป็นฉบับแรก (ภายหลังจากมีสอดแทรก อยู่ตามพจนานุกรมต่างๆ มาตั้งแต่ รัชกาลที่ ๔)




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 ธ.ค. 11, 21:37
ใน Bangkok Centennial ก็คงนับเป็นการแสดงกล้วยไม้ครั้งแรกของสยาม ก็ว่าได้ เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงกล้วยไม้ในเมืองไทยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ....

ในงาน ได้มีการจัดแสดงกล้วยไม้พื้นถิ่นของสยามหลายรายการ ดังที่คุณ Siamese ได้กรุณาแจกแจงให้ทราบ ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยครับ

Microstylis เป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่บนพื้นดินชนิดหนึ่งคล้ายกับ สกุล Malaxis หรือภาษาไทยเรียกว่า "หูเสือ" ชื่อที่สำคัญของไทยคือ Microstylis siamensis แต่ชนิดนี้ ถูกค้นพบ ตั้งชื่อในปีค.ศ. 1925 หลังจากงานเลิกนานพอควร ........ ในงานนี้ ก็ไม่ได้แจ้งว่า เป็นชนิดใด อาจจะเป็น ชนิดพันธุ์ siamensis ก็เป็นได้ เพราะพบได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้น

และในบทความยังกล่าวถึงกล้วยไม้สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Anoectochilus ถ้าเรียกอย่างสามัญ (Common Name) เรียกกันว่า "Jewel Orchid" ครับ เพราะลักษณะใบ มีสีสัน และลวดลาย สวยงามมาก (ส่วนดอก ก็เฉยๆ เล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเสียอีก) ที่มีกล่าวถึงอย่างชัดเจนคือ Anoectochilus ordeanus และ Anoectochilus dawsonianus ซึ่งในภายหลัง นักพฤกษศาสตร์ ทบทวนแล้วว่า เป็นชื่อเดียวกับ Ludisia discolor หรือภาษาไทยอันไพเราะคือ "ว่านน้ำทอง" ครับ มีอีกสองชื่อก็น่าสนใจ คือ Anoectochilus King Chulalonkorn and Queen Sawahng คำอธิบายมีว่า เป็น New species หรือพืชชนิดใหม่ของโลก ..... เสียดายว่า ไม่มีรายละเอียดและบริบท ให้สืบค้นต่อว่า คือชนิดใด ?

ตัวอย่างภาพ Jewel Orchid ครับ ใบงามน่าเลี้ยงมาก เสียแต่ว่า หอยชอบกินใบที่สุด ...... ใครอยากเลี้ยง โปรดเลี้ยงในตู้ปลาปิดมิดชิดครับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 ธ.ค. 11, 22:17
ส่วนกล้วยไม้อื่นที่หนังสือแจกแจงให้ทราบ ก็ไม่ไ่ด้ให้รายละเอียดว่าเป็นชนิดพันธุ์ (Species)ใด พยายามขบคิดว่า กล้วยไม้ต่างๆ นี้ "น่าจะเป็นกล้วยไม้ชื่ออะไรบ้าง" ก็ยิ่ง งงงวย เข้าไปใหญ่ เพราะสกุลกล้วยไม้ต่างๆ ที่บอกไว้ มักออกฤดูอื่น ไม่ออกดอกกลางเดือน เมษายน ถึง กลางเดือน กรกฏาคม เลย!!!!!!!!!

ยิ่งประกอบกับว่า อลาบาสเตอร์ได้เคยสำรวจอยู่บริเวณภาคกลางไปถึง เขมร ผ่านระยอง จันทบุรี ตราด และลงใต้ัไปสิงค์โปร์ เท่านั้น (เว้นแต่จะมีคนส่งมาให้จากส่วนต่างๆ ก็เป็นได้) ก็ยิ่งแปลกใจเข้าไปใหญ่

กล้วยไม้สกุลหวาย ถ้าไปทางระยอง จันทบุรี ก็จะมี "เหลืองจันทบูร" เป็นดาวเด่น เพราะสวย และหาง่าย(สมัยก่อน) แต่กล้วยไม้ชนิดนี้ ออกดอกช่วงหน้าหนาว คือมกราคม ไปจนสุดที่เดือน มีนาคม ไม่ค่อยปรากฏว่าจะลากยาวไปถึงเดือน เมษายน

สกุล คาลันเธ กับช้างผสมโขลง เป็นไม้ดินพักหัวในฤดูแล้ง และฤดูหนาว จะออกดอกเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น

Cymbidium, Vanda ก็มักพบทางภาคเหนือมากกว่า ทางตะวันออก

ดูจะมี Renanthera หรือสกุลหวายแดง ที่มีแถบนั้น และออกดอกช่วงดังกล่าว คือ Renanthera isosepalla เรียกชื่อไทยตรงตัวว่า "หวายแดงประจวบ"

Cypripedium หรือ รองเท้านารีในเมืองไทยจะเป็น Paphiopedilum อันนี้ เดาได้ 2 ชนิดชนิดแจ่มแจ้งคือ Paphiopedilum concolor หรือรองเท้านารีเหลืองปราจีน Paphiopedilum callosum หรือ รองเท้านารีคางกบ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมีแสดงเพียง 1 ชนิด

ส่วนที่ว่า ตอนปลายงาน (คือเดือนกรกฏาคม) จะหาไม้ดอกได้น้อย นั้น ก็จริง แต่จะมีพวกไม้หอมๆ เช่น Aerides หรือ กล้วยไม้สกุลกุหลาบ กับ Saccolabium หรือกล้วยไม้สกุลช้าง (ปัจจุบันเปลี่ยนชือสกุลเป็น Rhyncostylis) ออกดอกนั้น ดูจะผิดที่ผิดเวลาเช่นกัน เพราะ สกุลช้าง กำลังจะออกดอกช่วงนี้แหล่ะครับ (ต้อนรับปีใหม่) ส่วนสกุลกุหลาย จะออกดอก ช่วงสงกรานต์ (สองชนิดนี้ จึงขายดี เพราะตรงเทศกาล) ไม่ค่อยเห็นว่า ไปบานดอกเอาเมื่อเดือนกรกฏาคม ........ เว้นแต่ พวก สกุล "เข็ม" (Ascocentrum) ในปัจจุบัน จำพวก เข็มม่วง เข็มแดง เข็มแสด ซึ่งสมัยเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ยังรวมอยู่กับ Saccolabium จะบานช่วง กุมภาพันธ์ - เมษายน ซึ่งอาจจะลากยาวไปถึงกรกฏาได้บ้าง (แต่ก็ไม่หอมอีก!)

ผมคิดเอง สรุปเองน่ะครับ  ถ้าจะเป็นไปได้......

1. ก็อาจจะเป็นดังที่ คุณ siamese กับคุณ Wandee กล่าว คือต้องบังคับให้ออกดอกตรงงาน....... ( อิทธิฤทธิ์ ของอลาบาสเตอร์ คงมีไม่แพ้ ซูสีไทเฮา )

หรือ ไม่เช่นนั้น

2. อลาบาสเตอร์ ต้องเลี้ยงกล้วยไม้ แต่ละชนิด เยอะมากๆๆๆๆๆๆ เพราะถ้าไปตามฟาร์ม หรือ สวนกล้วยไม้ใหญ่ๆ ก็อาจจะได้เห็นกล้วยไม้ ออกดอกนอกฤดูบ้าง

ซักต้นสองต้น จากหลายพันต้น !!!!!!




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 ธ.ค. 11, 22:59
อิจฉากองหนังสือเหล่านั้นมากมาย...ว่าจะหาภาพสวนดอกไม้ในพระราชวังดาวเหนือสีม่วงมาให้ชม แต่เกรงว่าจะล้ำเกินกระทู้กล้วยไม้ไป จึงขอเดินเรื่องถามคุณวันดีว่ามีหนังสือหรือเอกสารไหมว่า "กรมหมื่นปราบปรปักษ์ นั้นเลี้ยงกล้วยไม้อะไรบ้างหนอ"

เรื่องกรมหมืี่่นปราบปรปักษ์ เลี้ยงกล้วยไม้นั้น ผมเคยอ่านผ่านตามา จำได้ลางๆ ประมาณว่า เวลาใครเอากล้วยไม้มาถวาย ในหลวงองค์ ๕ ก็จะพระราชทานมาให้ เสด็จในกรมปราบฯ ทรงเลี้ยงต่อ ที่วังหน้าประตูวิเศษไชยศรี  เสด็จในกรมก็สร้างเรือนกล้วยไม้ไว้ข้างโรงครัว .......  ตอนแรกคิดว่า อ่านมาจาก จดหมายหม่อมหลวงป้อง ถึงหม่อมหลวงปิ่น (เล่าถึง "เสด็จปู่" และ "น้องปิ่น" ตอนเด็กในบ้านวิสุทธคาม) แต่ก็ไม่มี นึกยังไง ก็นึกไม่ออกว่า มาจากไหน ถ้าทำเป็นบทความ ก็จำเป็นจะต้องอ้างแหล่งทีี่มา จึงต้องวิ่งจ้าละหวัน หานี้แหล่ะครับ......


หรือท่านใด พอจะมี "เรื่องเล่า" หรือ "เอกสาร" ว่า เจ้านาย, ขุนนาง เจ้าคุณ คุณพระ ฯลฯ ท่านใดเลี้ยงกล้วยไม้ (ขอชนิดที่เลี้ยงเป็นจริงเป็นจังครับ ไม่ได้ฝากเทวดาเลี้ยง) ก็ได้โปรดส่งข้อมูลให้บ้างครับ  ผมขอยกตัวอย่างครับ

ยุคแรกๆ (รัชกาลที่ ๕-๖)


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ *
หม่อมเจ้า ปิยะภักดีนารถ สุประดิษฐ์    
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
พระยารัตนสมบัติ (แป๊ะ จารุจินดา)
พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา)
พระยามหิมานุภาพ (เป๋า รัตนทัศนีย์)  
พระยาวิชิตณรงค์ (คืบ สุวรรณฑัต)
พระยาดรุพันพิทักษ์ (สนิท พุกกะมาน)
พระยาบริหารราชมานพ (เนียม สาคริก) คุณลุงของ ศ.ระพี สาคริก
พระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว. สำเริง อิศรศักดิ์)
หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. โต๊ะ อิศรางกูร ) *
หม่อมราชวงศ์ สุวพันธุ์ สนิทวงศ์  *
พระชลหารพิจิตร์ (หาไม่เจอครับว่า ชื่อ-นามสกุลอะไร ใครทราบโปรดช่วยด้วย)
ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม แฮรีส (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ปริ้นส์ รอยัล เชียงใหม่)*
Mr. Fridrick แห่งห้อง บี.กริมม์ แอนโก  (ชื่อของท่านได้รับการตั้งเป็นชื่อกล้วยไม้คือ Dendrobium fridrickianum หรือ เหลืองจันทบูร)  

(ที่มีดาว * คือมีหลักฐานน้อยมาก)

ยุคช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หม่อมเจ้า ถาวรมงคลวงศ์ ไชยยันต์
หม่อมเจ้า ลักษณะกร เกษมสันต์
พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล)
พระยาประดิพัทภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง)
น.อ. พระยาฤทธิเดชชลขันธ์ ร.น.(เปลี่ยน เหมะวนิช)
พล.ต. พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต)
พ.ต.อ. พระมหาวิชัย (ฉัน ทรรทรานนท์)
พระตะบะฤทธิรงค์ (หยู่ จารุจินดา)
พระอินทปริญญา (เปลี่ยน จินดาวนิก)
ขุนเทพประสิทธิ์ไปรษณีย์ (หาไม่เจอครับว่า ชื่อ-นามสกุลอะไร ใครทราบโปรดช่วยด้วย)
ครูวงศ์ บุญโญรส
นายเปลี่ยน โรจนเรืองแสง

และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร (เสด็จพระองค์ชายกลาง) อดีตนายกสมาคม พฤกษชาติ แห่งประเทศไทย พระองค์แรก มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ เสด็จไปซื้อ และทอดพระเนตรกล้วยไม้ ที่ปีนัง มีเลขาฯ หิ้วกระเป๋าเจมส์บอด์น บรรจุธนบัตรดอลล่าเต็มกระเป๋า ไปซื้อกล้วยไม้ !!!!!!!!!! และมีคำกล่าว เล่ากันในวงพ่อค้ากล้วยไม้ว่า .......... ต้นไหนหายาก ฝ่าบาท ซื้อหมด !!!!!!!

อีกท่านหนึ่งที่อยากได้ข้อมูลคือ นายสง่า ณ ระนอง บุตรพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งได้ตามเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตไปประทับที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนิเซีย ถึงแม้ในขณะที่ประทับอยู่ที่ชวา กรมพระนครสวรรค์ฯ จะไม่ทรงสนพระทัยเลี้ยงกล้วยไม้เลย ทั้งๆ ที่เกาะชวา ก็เต็มไปด้วยกล้วยไม้นานาพันธุ์ นัยว่า อยากจะทรงลืมบรรดากล้วยไม้ที่ทรงรักซึ่งถูกทิ้งไว้ที่วังบางขุนพรหม หันไปทรงแต่ดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก  แต่ก็มิทรงขัดที่นายสง่าจะสนใจกล้วยไม้ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “อีกหน่อยจะต้องหลงอย่างฉัน ถึงกับลงมือทำเอง เอาฟองน้ำชุบสบู่เช็ดใบทีละใบ จับอาบน้ำกันทุกปี เพราะความหลง”

หลัง 2500 มานี้ ก็เช่น จอมพลประภาส จารุเสถียร , ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติสิริ (สองท่านนี้ เป็นลูกค้ารายใหญ่ของตลาดต้นไม้ริมคลองหลอด) จริงๆ มีอีกหลายท่าน ใครมีเรื่องสนุกๆ ก็ได้โปรดชวนกันเล่า

ขอบพระคุณครับ




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ธ.ค. 11, 06:23
        เรื่องกรมหมื่นปรปักษ์นั้น    ผู้อาวุโสแถวนี้แจ้งมายังดิฉันว่าเคยได้ยินมา  เบาะแสที่คุณปิยะสารณ์ให้มา

ก็จะนำไปใช้ตรวจสอบ   ท่านนั่งอยู่ในที่ที่มีเอกสารราชการหายากกองอยู่รอบตัวและตัวท่านก็ละเอียดละออแม่นยำไม่มีแม้นเหมือน

ดิฉันไม่ทราบเรื่องกล้วยไม้   บ้าแต่เอื้องแซะเมืองนาย(ถ้าเลขาธิการกลุ่มไม่ ยิ๊บซี่(ยืมระยะยาว)  ไปแล้ว หนังสือชุดนี้ก็ยังอยู่)  

แต่อ่านเรื่องที่เล่ามาก็เห็นได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่


       รายละเอียดเรื่องอาลาบาสเตอร์กลับเข้ามาสยามเป็นครั้งที่สองพร้อมกับเจ้าสาว   ได้ตรวจจากบางกอกเรคอร์เดอร์สองเล่มปกสีเทาแล้ว  ไม่มีแน่นอน

จึงจะไปหาให้ใน  Siam Repository    ตรวจไปได้  ๑๕๐ หน้าแล้ว      บรัดเลรายงานฝรั่งมาฝรั่งไปไว้ละเอียด



รายชื่อบุคคลที่ต้องการ

ขุนเทพประสิทธิ์ไปรษณีย์   ตามอ้างอิงเดิมที่ดิฉันใช้  หน้า ๙๓๓   บอกไว้ว่า

นามของท่านคือ  มาลัย  เทพประสิทธิ์
รองอำมาตย์โท
นายไปรษณีย์ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่ ๕
จังหวัดพระนคร


พระชลหารพิจิตร         อ้างอิงเดิม  หน้า ๘๗๑

นามของท่านคือ    เอ๊กกี่  เศรษฐบุตร
อำมาตย์โท
เจ้าพนักงานกำกับการแผนกรักษาน้ำ  กองกลาง
กรมชลประทาน


ดิฉันนั้นหลงใหลข้อมูลเก่า  เช่นเรื่องราวของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ  สุประดิษฐ์  มานานแล้ว

แต่ไม่มีข้อมูลว่าท่านเลี้ยงกล้วยไม้


ปลื้มที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล    



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 11, 09:21
ขอบคุณ คุณpiyasann  ที่ให้คำตอบเรื่องว่านน้ำทอง และหูเสือ สวยงามมาก ๆ คนที่รักจนเข้าถึงกับคลั่งไคล้กล้วยไม้ จนเรียกว่า "บ้ากล้วยไม้" ย่อมมีความสุขเมื่อได้เห็น ได้เป็นเจ้าของ ได้อวด ได้เห็นดอก เห็นการเติบโต ข้าพเจ้าเคยมีพันธุ์กล้วยไม้ในมือกว่า ๙๐ ชนิดปลูกไว้สวยงาม ส่วนมากจะเน้นไปทางสกุลแวนด้า โดยเฉพาะฟ้ามุ่ยป่า สีฟ้าจางดังหมอกลง สมุกไม่เข้ม ซีดมาก ๆ เป็นป่าแท้ ๆ เสียดายที่โดนเชื้อราเน่าโคนใบช่วงฝนตกเยอะ ๆ ทำลายซะเกือบเกลี้ยง  :'(


เรื่องการบังคับให้ออกดอกยังคิดไม่ตก แต่เอกสารระบุว่ากล้วยไม้ที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการออกดอกอย่างดี และมีสีซีดจางไปบ้างเมื่อใกล้หมดงาน แต่พวกกุหลาบยังคงความหอมไว้ ไม่แน่ว่าอาจจะมีการติดต่อนำเข้ากล้วยไม้จากแหล่งต่าง ๆ เข้ามา อย่างสกุลช้างนี่ออกดอกในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ยากเกินไปที่จะออกในมิถุนายน - กรกฎาคม หรืออาจจะมีการบังคับอุณหภูมิในโรงเรือน ให้ปุ๋ยอย่างดีก็ไม่ทราบได้

แนบภาพอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณปากประตูวิเศษไชยศรี สมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 11, 10:41
พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอฯ ถือดอกกล้วยไม้เพื่อนำมาปักแจกัน


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ธ.ค. 11, 11:39


ส่วนหนึ่งของบันทึกของ เฮนรี่  อาลาบาสเตอร์
เขียนเสร็จในกรุงเทพฯ    วันที่ 24 สิงหาคม, ค.ศ. 1868


คุณปิยะสารณ์คงเคยผ่านตาแล้วเป็นแน่


THE ECLIPSE of 1868
Henry Alabaster’s account




But all the time there were two sources of uneasiness; the first, the weather had been overcast, and though it improved on the 15th there was a general expectation that we should not see that which we had come to see; second, the French were complaining and dissatisfied, and saying the Siamese were so suspicious of them that they would give them no assistance. (This was unfair, the Siamese, if I was not misinformed, wanted to do everything for them, even to feeding them). As an instance of what resulted, I may mention the following. M. Pierre, the botanist of the Expedition, wished to make a journey. "The jealous Siamese" said some "gave him no carts or assistance, believing he came to spy out the land". I asked him whether he had applied for them, he said "No" his chief had determined to take nothing from the Siamese, so had refused to ask for assistance for him. I spoke of it unofficially to a Siamese officer and in a few hours the gentleman was on his way rejoicing with three carts and ten coolies. For this, and some other services I had the fortune to render M. Pierre, I am to have the pleasure of receiving a duplicate set of the plants collected by him (embracing he believes more than 200 new varieties) which I shall forward to the Kew Museum. Also my name, or my present official position is to be attached to a remarkable rush that grows in muddy holes in Siam. I believe it was only the irritating cloudy sky that caused the ill will for as the weather improved it all passed away and the Siamese civilities, sacks of potatoes etc. were freely accepted.


Hy Alabaster

     
   เรื่องมีว่า  ทางฝรั่งเศสโวยวายกัน    อาลาบาสเตอร์แวะไปดู  เห็น  ปิแอร์  the botanist of the Expedition   เป็นชาวฝรั่งเศส   

ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางไทย  เพราะปิแอร์ไม่ได้ขอ

อาลาบาสเตอร์ก็ไปช่วยพูดให้    เลยได้เกวียนมาสามลำ และ คนงาน ๑๐ คน

เพราะความเอื้อเฟื้อนี้และอย่างอื่นอีกนิดหน่อย     ปิแอร์สัญญาว่าจะแบ่งพรรณไม้ให้ ๑ ชุด 

 ซึ่งน่าจะมีตัวอย่างใหม่ ๆ  มากกว่า ๒๐๐ ขนิด     he believes more than 200 new varieties

ซึ่งกระผม(เขียนรายงานถึงกระทรวงต่างประเทศของตัว) จะส่งไปที่ the Kew Museum.
 

นำเกร็ดมาเล่าพอเป็นน้ำจิ้ม


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ธ.ค. 11, 11:58


       ตอนบ่าย ๆ วันนี้  ถ้าว่าง  จะไปตามหา คอลัมน์ สังคมของบรัดเล  มาฝากค่ะ

ดีอยู่หนึ่งเรื่องคือ  เรื่องปัญหาวิวาทฟ้องร้องกับ มงเซียร์โอบาเรต์(บรัดเลสะกดแบบนี้)

บรัดเลรายงานตรงไปตรงมา

   
        ดูแล้วท่านก็เป็นคนแก่ขี้บ่น  จู้จี้     มีอะไรก็รีบเอาลงหนังสือพิมพ์ของตัวเชียว

ถนนไม่ดี   มีฝุ่นมาก ราดน้ำเสียมั่งซิ      เจ้านายที่เสวยน้ำจัณฑ์ออกไปเกะกะ ก็รายงาน

หญิงไทยหนึ่งคนมีสามีหลายคน   คุณชวดก็บ่น    ละเมิดสิทธิมนุษยชนไปหน่อยมั๊ง



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 11, 12:19
เพื่อนชาวสวนส่งสมุดกล้วยไม้ที่ต้นพบในประเทศไทยโดยนักพฤษศาสตร์ชาวต่างประเทศ ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1808
 (พ.ศ. ๒๓๕๑) พบกล้วยไม้ที่มีชื่อไทยว่า "กล้วยไม้ไม้เท้าฤาษี" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium crassinode กลุ่มสกุลหวาย


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 11, 12:27
พวกเอื้องพวงหยก ก็มีการค้นพบในประเทศไทย


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 11, 12:34
เอื้องเขาแกะ พบในสมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 11, 12:37
ส่วนหนึ่งของบันทึกของ เฮนรี่  อาลาบาสเตอร์
เขียนเสร็จในกรุงเทพฯ    วันที่ 24 สิงหาคม, ค.ศ. 1868


คุณปิยะสารณ์คงเคยผ่านตาแล้วเป็นแน่


THE ECLIPSE of 1868
Henry Alabaster’s account

หาอ่านได้ที่นี่

http://www.alabaster.org.uk/chron18.htm#eclipse

แถมด้วยภาพเขียนสีน้ำ ฝีมือคุณหญิงแหม่ม

Henry’s wife, Palacia Alabaster, had painted a picture of the scene at the Jungle Palace which is now in the Public Record Office PRO FO 69/46/810S

Reproduced below is a small section from the picture, but the original is in bright colour. A better, miniature reproduction of this is enclosed with the Chronicle (printed version) for you to keep.

(http://www.alabaster.org.uk/chron18/ch18vill37.jpg)

อยากเห็นภาพฉบับสมบูรณ์จัง

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ธ.ค. 11, 19:14


        ได้นำเรื่องคุณปิยะสารณ์และการเขียนเรื่องกล้วยไม้ไปกราบเรียน ริชาร์ดในสิงห์  นักสะสมเพื่อขอข้อมูล

คุณท่านหัวเราะเอิ้ก ๆ อ้าก ๆ (ท่านเมตตาดิฉันมากเพราะดิฉันไม่ทราบก็จะตอบว่าไม่ทราบทันที) แล้วเล่าว่าท่านมีอยู่เล่มหนึ่งที่บ้าน 

ไปหาก่อนแล้วจะมาเล่าให้ฟัง

       
        ท่านเพิ่งติดต่อมาเมื่อครู่ ว่ามีหนังสือแปลอยู่เล่มหนึ่ง  ขื่อ ออร์คิด    "สามปอย"  แปลจากหนังสือของ 

Benjamin Samuel Williams  (ตอนแรกคิดว่า  เบนจามินคนหนึ่ง  และ   ซามูเอล คนหนึ่ง)


ท่านแย้ปดิฉันว่ารู้จักสามปอยไหม       ดิฉันนิ่งเงียบไม่ต้องใช้ความคิดหรอก  เพราะไม่เคยแม้นแต่แว่วเลยค่ะ

ริชาร์ดใจสิงห์(นามเรียกขานที่คล้ายกับชื่อจริงของท่าน) อธิบายว่า   ผมที่จะโกนจุกไง

อ่าว  อ้าวท่าน   ไม่ใช่หรอกค่ะ     น่าจะเป็นชื่อกล้วยไม้ไทยทางเหนือสักชนิดหนึ่ง   

เหรอ...นักสะสมอุทานอย่างเปิดเผย   ไม่รู้นี่


       ท่านเล่าต่อเพราะดิฉันไม่กล้าแม้นแต่จะคิดคัดค้าน    พิมพ์ ๒๔๕๙  นะ    ๒๐๐ กว่าหน้า

ดิฉันถามต่อว่ามีชื่อคนไทยที่เล่นกล้วยไม้บ้างไหมคะ

ริชาร์ดใจสิงห์ตอบว่า  ยังอ่านไม่ทัน

       ท่านทิ้งระเบิดสร้างเองไว้ลูกหนึ่ง  "หนังสือปกสวยนะ"  (เป็นหนังสือหายากที่สุด จำนวน ๔๐๐ เล่ม  ที่คัดสรรไป

ทำปกอย่างวิจิตรด้วยหนัง  แผ่นกระดาน   ตกแต่งด้วยวัสดุทีค่า    ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าทำโดยนักโทษที่ได้รับการอบรมจากครูชาวญี่ปุ่นที่รัฐบาลไทยเชิญเข้ามาที ๒ ปี

เอกสารเรื่องการต่อสัญญาอยู่ที่หอจดหมายเหตุค่ะ   


       ถ้าเรื่องที่นำมาเล่านี้ยังไม่ตรงกับความประสงค์ หรือซ้ำกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว     ขออภัยด้วยนะคะ

เพียงจะบอกว่า  ไม่ลืมเรื่องที่ถาม  และได้กระจายข่าวไปแล้ว

(เพื่อนของคุณปิยะสารณ์ที่อรุณอัมรินทร์ย้ายหนังสือและครอบครัวไปเชียงของแล้วค่ะ  ขนหนังสือไป...เกลี้ยงเลย) 


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 00:47
คุณ Wandee มาทีำไร มีข้อมูล น่าสนใจมาฝากทุกครั้ง .......

หนังสือที่กล่าวถึงคือ "สมุดคู่มือของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้" ของผู้ใช้นามแฝงว่า "สามปอย" เขียนขึ้นพร้อมๆ กับ เสด็จในกรมฯ นครสวรรค์ฯ ทรงนิพนธ์ "ตำราเล่นกล้วยไม้" และใช้ตำราเล่มเดียวกันคือ The Orchid Grower's Manual 7 Edition. 1894 ของ B.S. Williams .......... หากแต่ว่า ของ เสด็จในกรม "ทรงนิพนธ์เอง" เรียบเรียงจากตำรา และแม็กกาซีนกล้วยไม้หลายเล่ม   ส่วนของสามปอย เป็นการ"แปล" มาจากหนึ่งสือเล่มดังกล่าว 

หนังสือเล่มนี้ ผมก็ปราถนาจะได้เห็นเป็นบุญตาซักครั้ง ครับ ได้ข่าวดีเช่นนี้ ดีใจเป็นที่สุด.....

อีกเล่มหนึ่งที่อยากหาข้อมูลคือ "รัมภาพฤกษ์" ซึ่งเป็นวารสารกล้วยไม้ที่ออกมาเพียง 2-3 ฉบับ ประมาณพ.ศ. 2460 - 2468 ยังหารายละเอียดไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หรือ เป็นบรรณาธิการ (ค้นในหนังสือ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" (พิมพ์ในงานพระศพ พระองค์เ้จ้าแขไขดวง 2472 ก็ไม่พบรายชื่อหนังสือนี้) ชื่อหนังสือ เป็นการแปลตรงตัวคือ รัมภา = กล้วย , พฤกษ์ = ไม้ ดังนั้นจึงเป็นวารสาร "กล้วยไม้" อย่างแน่นอน......

ไหนๆ ก็พูดถึงหนังสือเล่มนี้ ผมเอารูปตัวอย่างปกกับปกในของ The Orchid Grower's Manual มาฝากกันชมครับ แต่เป็นของฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 00:50
ภาพปก


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 00:57
ปกใน


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 01:21
สำหรับสหายหนังสือที่สะพานอรุณอมรินทร์ ได้ทราบข่าวแล้วเหมือนกันครับ ว่าจะย้ายครัว ไปอยู่เชียงของ มีเสียงมาว่า ตอนเก็บหนังสือ เจออะไรดีๆ หลายเล่มทีเดียว .... รอชมครับ เผือเขาผ่านบ้านผม ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปเชียงของ อาจจะได้นำมาฝากให้ชมบ้าง ......


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 11, 05:41


        ดีใจที่พอทำประโยชน์ได้บ้างค่ะ    เรื่อง รัมภาพฤกษ์  จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

ขณะนี้มีหนังสือของบอนนี่ เดวิสนักสะสมหลุดออกมา เป็นกรุเลยค่ะ    ส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราทั้งสิ้น

ในการตามอ่านเรื่องราวหรือประวัติบุคคล   ก็ต้องหาหนังสือภาษาอังกฤษในระยะนั้นมาตรวจสอบวันเวลา

ชื่อหนังสือนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง   แต่เท่าที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูและอ่านหนังสือ   นักสะสมจะเล่นแต่พิมพ์แรกค่ะ


        สมัยหนึ่งเราจะพูดกันถึงเรื่อง "กรุแตก"  คือหนังสือที่คนขายหาได้มาในคราวเดียวเป็นจำนวนมาก    ตอนนี้ที่จตุจักรมี "ตุ่มแตก" ค่ะ

ข่าวไปทั่วถึงท่าช้างในวันเดียวกัน    เรื่องเท่าที่ทราบก็คือท่านเจ้าของเดิมเก็บหนังสืออนุสรณ์ตรามังกรเล่นลูกแก้วที่สำคัญจำนวนมากไว้ในตุ่ม

น้ำหมดแล้วท่านก็ทุบตุ่มนำมาปล่อยเมื่อเสาร์ที่แล้ว   นายหน้าหาหนังสือก็ครึกครื้นรื่นเริง         คนที่มองโลกในแง่ดีหนึ่งคนแถวๆนี้

ก็จะไปจตุจักรวันนี้ค่ะ        แล้วหนังสือตุ่มแตกที่ไหนจะเหลืออยู่ล่ะคะ


        ขอให้มีความสุขในการเขียนหนังสือค่ะ   
       


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 31 ธ.ค. 11, 07:43
คุณ Wandee ถูกแย๊ปมาเรื่องสามปอย  เลยขออนุญาตขยายความครับ
ในพิธีโกนจุกนั้น  เมื่อจะตัดจุกนั้นจะแบ่งผมที่ไว้จุกออกเป็น ๓ ปอย  แล้วให้ผู้เป็นประธานในพิธีโกนจุกตัดปอยที่ ๑ ตรงกลาง  ส่วนอีก ๒ ปอยนั้นเป็นหน้าที่ผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพของเจ้าของงาน
แต่เวลาโสกันต์เจ้านายชั้นเจ้าฟ้านั้น  ทรงแบ่งเส้นพระเกศาเป็น ๕ ปอย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดปอยกลาง  ส่วนที่เหลือพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงเจริญพระกรรบิดต่อไปตามลำดับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ธ.ค. 11, 10:01
หนังสือที่กล่าวถึงคือ "สมุดคู่มือของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้" ของผู้ใช้นามแฝงว่า "สามปอย" เขียนขึ้นพร้อมๆ กับ เสด็จในกรมฯ นครสวรรค์ฯ ทรงนิพนธ์ "ตำราเล่นกล้วยไม้" และใช้ตำราเล่มเดียวกันคือ The Orchid Grower's Manual 7 Edition. 1894 ของ B.S. Williams .......... หากแต่ว่า ของ เสด็จในกรม "ทรงนิพนธ์เอง" เรียบเรียงจากตำรา และแม็กกาซีนกล้วยไม้หลายเล่ม   ส่วนของสามปอย เป็นการ"แปล" มาจากหนึ่งสือเล่มดังกล่าว  

หนังสือเล่มนี้ ผมก็ปราถนาจะได้เห็นเป็นบุญตาซักครั้ง ครับ ได้ข่าวดีเช่นนี้ ดีใจเป็นที่สุด.....

นำ The orchid-grower's manual ของ Benjamin Samuel Williams  second edition. 1862 (http://books.google.co.th/books?id=MgAfKIUxldgC&printsec=frontcover&hl=th&source=gbs_ge_summary_r&cad=0#v=onepage&q&f=false) มาให้คุณปิยะชม

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 11, 11:07

        ขอบพระคุณคุณวีมีเจ้าค่ะที่กรุณาแวะมาคุยเสมอ   ก.ศ.ร.ได้เคยเฉลยเรื่องนี้ไว้แล้ว

ใจดิฉันไปอยู่ที่สามปอยหลวง ของ ลพบุรี   กล้วยไม้ที่ออกดอกในวาระมงคลของเจ้าของ



        ไม่น่าเชื่อเลยว่า   ภายในเดือนธันวาคม  วงการหนังสือเก่าจะคึกคักเข้มแข็งวิ่งกันสุดแรงอย่างนี่
        
        รักงานของครูสมิทมากค่ะ  พยายามเก็บงานของท่านเท่าที่มีกำลังทรัพย์  และปัญญาค่ะ


        ท่านแปลกฎหมายลักษณะทาส พิมพ์ในปี จ.ศ. ๑๒๔๒ (พ.ศ.​๒๔๒๓)   ราคา ๘ สลึง

มีคำนำของหมอสมิท ๒ หน้า   ขนาดหนังสือใหญ่กว่าหนังสือวัดเกาะ    กรมหมื่นพิชิตปรีชากรช่วยเรียงหัวข้อ


        หนังสือที่น่าสนใจมากที่สุดที่กำลังหมุนอยู่ในวงการเวลานี้  คือ  Twentieth Century Impression of Siam.

Its History, People, Commerce, Industries and Resources.      เป็นหนังสือสำคัญและราคาสูง  จึงยังไม่คนมาช้อนไปค่ะ

ข้างในเป็นกระดาษอาร์ต   มีภาพถ่ายเจ้านาย  ข้าราชการและพ่อค้าที่มีชื่อเสียง  เช่นภาพเจ้าสัวเนียมเป็นต้น

คนไทยคนเดียวที่ได้ร่วมเขียน คือ พันตรีหลวงภูวนาทนฤบาล   ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยามหิธรรมนูปกรณโกศลคุณ

ท่านที่เป็นเจ้าของและนำออกแสดงเป็นเซียนค่ะ   เกือบยี่สิบปีจะได้เห็นสักครั้งหนึ่ง


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 11:39
เรื่อง สามปอยนั้น อาจารย์ และผู้เชียวชาญทางนิรุกติศาสตร์ ชื่อกล้วยไม้วิเคราะห์กันว่า ไม่น่าจะหมายถึง การโกนจุก ........ ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะ การโกนจุก เป็นประเพณีของคนไทยภาคกลาง  ไม่ใช่ประเพณีท้องถิ่นของล้านนา (ประเด็นนี้ ต้องอาราธนาคุณ V_Mee เชิญตอบ)

คำว่า "สามปอย" (Vanda denisoniana) นั้น  ถ้าเรียกให้เต็มชื่อก็ต้องเป็น "เอื้องสามปอยขุนตาน" หรือ "ขุนตาล" สะกดได้สองอย่างครับ

ศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้อธิบายไว้ว่า

"ปอยเป็นภาษาเหนือ หมายถึงงานมหกรรม เช่นงานวัดเป็นต้น บางท่านบอกว่า หมายถึงงานศพเท่านั้น สามปอย จึงหมายถึงความบานทนของดอก เป็นทำนองว่า บานอยู่ได้ตั้ง 3 งาน"

คำว่า "ปอย" เพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า ปะวอย หมายถึงประเพณีครับ แต่ละพื้นที่ก็ใช้ต่างกัน บางแห่งก็ใช้เฉพาะงานมงคลเท่านั้น บางพื้นที่(เช่นลำปาง แถวบ้านผม)ก็ใช้เรียกรวมงานศพด้วย (ปอยศพ หรือ ปอยผีต๋าย) แต่ปอยศพนี้ น่าจะเพิ่งมีเมื่อไม่นานมาก เพราะแต่เดิมคนตายแล้ว เขาก็ต้องรีบเผาเพราะไม่มีน้ำยาดองศพ คำว่าสามปอยนี้เป็นคำเก่าแก่ น่าจะมีมาก่อนปอยศพ ก็น่าจะตัดประเด็นไปได้ (ตอนแรกก็คิดไปว่า งานศพมีกลางคืน เวลาสามปอยส่งกลิ่นพอดี คนน่าจะจดจำได้) ......ในฤดูที่ดอกสามปอยบาน(ประมาณ กุมภาพันธ์ ไปจนถึง เมษายน) ซึ่งมักจะไม่ใช่ฤดูงานบุญของทางภาคเหนือ ก็เลยไม่ทราบว่า ปอยอะไรบ้าง  และในการบานแต่ละครั้งของสามปอย กินเวลาเป็นเดือนๆ ทีเดียว

......... เอาเป็นว่า มันบานนาน จนคนมางานปอยจำได้  เพราะมาปอยทีไร ก็ยังบานนนนทน หอมชื่นใจอยู่นั้นแหล่ะครับ

สามปอย เป็นไม้ดอกใหญ่ก้านยาว ความนิยมในการนำมาใช้ประโยชน์ของคนท้องถิ่นนั้น ได้เคยสอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ ได้ความว่า ไม่นิยมนำมาประดับมวยผม(ของผู้หญิง) เหมือนเช่นดอกเอื้องผึ้ง แต่ด้วยความที่มีกลิ่นหอมในยามเย็นไปจนถึงรุ่งเช้า จึงมีความนิยมนำมาติดกับต้นไม้ใหญ่ประดับบริเวณบ้านเรือน หรือวัดวาอาราม เป็นการใช้ประโยชน์เชิงอนุรักษ์ที่ดีครับ........

ขอเชิญดูรูปสามปอย และประวัติ ได้ครับ (ต้นไม้ผมเอง เขียนเอง เชียร์ตัวเอง!!!)

http://www.thai-orchid-club.com/forum/index.php?topic=640.0


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 11, 11:45


        ชื่นใจกระไรเลย       


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 11:58
ขอขอบพระคุณ คุณเพ็ญชมพู ที่กรุณานำรูปปก The Orchid Grower's Manual มาให้ชมครับ

หนังสือกล้วยไม้ เป็นหนังสือที่ จะเรียกว่า มีกรรมก็ได้ครับ เพราะมักถูกผ่าเป็นหน้าๆ เอามาใส่กรอบประดับบ้าน ด้วยมีรูปกล้วยไม้ พิมพ์สี หรือ พิมพ์หิน สวยๆ แทรกอยู่ ส่วนที่เป็นตัวหนังสือและคำอธิบาย บางทีก็ถูกทอดทิ้งไป ดังนั้น หนังสือกล้วยไม้สวยๆ ที่ครบสมบูรณ์ทั้งเล่ม ในตลาดต่างประเทศจึงมีราคาแพงมากครับ .....

นักสะสมก็ให้ราคากันแพงน่ากลัวอยู่มากทีเดียว อย่างเช่น The Orchid Album ของ B.S. Williams ผู้เขียนคนเดียวกัน ออกเป็นระยะ อยู่ประมาณ ๑๑ เล่ม เย็บรวมเล่ม เป็น ๓ เล่มใหญ่ ถ้าสภาพดี สมบูรณ์ มีราคาถึง ๓ ล้านบาท !!!! หรือ Richenbachia ฉบับ Imperial Edition ราคาเล่มหนึ่งก็เป็นล้านบาท ........ ส่วนใหญ่ หนังสือเหล่านี้ มักจะนอนสงบนิ่งอยู่ตามคฤหาสน์ใหญ่ๆ ในอังกฤษ ไม่มีโอกาส ได้ออกมาให้ผู้สนใจได้ชื่นชม .....

โชคดี ที่ ตอนไปประชุมกล้วยไม้โลก ที่สิงค์โปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีท่านเจ้าของผู้ใจดี นำ The Orchid Album มาจัดแสดง มีคนไทย ๓ คนไปเกาะตู้กระจกชื่นชมด้วยความตื่นเต้น ถือว่าเป็นบุญตา ที่ได้เห็น ครับ 

ฝรั่งเขาถือว่า หนังสือเก่า ที่มีภาพ พวกนี้ เป็นหนังสือมีค่ามาก จะมีการนำออกมาขายแลกเปลี่ยนกันที่งาน Internationale Orchideen-Welt Dresden ประเทศเยอรมัน ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 11, 12:27

        เจ้าของหนังสือเก่าเลอค่า  ไม่กล้านำมาร่วมแสดง  ว่ากรรมการบางคน  ไม่สนใจผู้จัดที่กำลังแกะกล่องนำหนังสือหายากของแสดง

คุ้ยและหยิบขึ้นถ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

        หนังสือของหมอสมิทบางชุด(สี่ เล่ม)  ราคา หก แสนกว่าบาท

        หนังสือสยามประเภท ๗ เล่ม  ราคา ๕ แสนบาท   ขายผ่านมือก่อนทางร้านลงโฆษณาอีก

        นักสะสมสมัยโบราณเก็บหนังสือเงียบไม่แสดง  เพราะไม่อยากพูดคุยกัน    ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้เท่ากับตัว     นานไปลูกก็เก็บต่อ

หลานก็ไม่สนใจเทขายต้องใช้รถ ๖ ล้อขน   นี่เล่าเฉพาะเรื่องสองสามปีนี้

       จึงมีหนังสือโบราณที่ไม่มีอยู่ในบันทึกอีกจำนวนหนึ่ง    เรียกกันว่า  หนังสือที่ไม่มีใครเคยได้ยิน

ความรู้และประวัติศาสตร์บุคคลก็บิดเบือนไป   ความรู้ก็ขาดตอน  ต่อไม่ติด       นั่นไม่เป็นไร

แต่เรื่องที่รู้มาบ้าง   นึกเอาเองบ้าง  แล้วไปเล่าต่อ  ไม่มีคนค้าน  ก็เป็นเรื่องที่จดจำอย่างผิดๆต่อไป

นักสะสมจึงเป็นที่พึ่งของนักอ่านฉะนี้แล




กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ธ.ค. 11, 12:28
ขอขอบพระคุณ คุณเพ็ญชมพู ที่กรุณานำรูปปก The Orchid Grower's Manual มาให้ชมครับ

ไม่ได้มีแต่รูปปกหนังสือ ในชื่อหนังสือยังมีหนังสืออยู่ทั้งเล่ม   ;D

โชคดี ที่ ตอนไปประชุมกล้วยไม้โลก ที่สิงค์โปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีท่านเจ้าของผู้ใจดี นำ The Orchid Album มาจัดแสดง มีคนไทย ๓ คนไปเกาะตู้กระจกชื่นชมด้วยความตื่นเต้น ถือว่าเป็นบุญตา ที่ได้เห็น ครับ  

Cattleya warneri (http://commons.wikimedia.org/wiki/Cattleya_warneri) จากหนังสือเล่มดังกล่าว

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/6f/Cattleya_warneri_1.jpg/446px-Cattleya_warneri_1.jpg)

ดูอีกหลาย ๆ รูปได้ที่ คุณวิกกี้ (http://commons.wikimedia.org/wiki/R._Warner_%26_B.S._Williams_-_The_Orchid_Album)

 ;D



กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 13:22

               นักสะสมสมัยโบราณเก็บหนังสือเงียบไม่แสดง  เพราะไม่อยากพูดคุยกัน    ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้เท่ากับตัว     นานไปลูกก็เก็บต่อ

หลานก็ไม่สนใจเทขายต้องใช้รถ ๖ ล้อขน   นี่เล่าเฉพาะเรื่องสองสามปีนี้

       จึงมีหนังสือโบราณที่ไม่มีอยู่ในบันทึกอีกจำนวนหนึ่ง    เรียกกันว่า  หนังสือที่ไม่มีใครเคยได้ยิน

ความรู้และประวัติศาสตร์บุคคลก็บิดเบือนไป   ความรู้ก็ขาดตอน  ต่อไม่ติด       นั่นไม่เป็นไร

แต่เรื่องที่รู้มาบ้าง   นึกเอาเองบ้าง  แล้วไปเล่าต่อ  ไม่มีคนค้าน  ก็เป็นเรื่องที่จดจำอย่างผิดๆต่อไป

นักสะสมจึงเป็นที่พึ่งของนักอ่านฉะนี้แล




เรื่องนี้ เป็นเรื่องเศร้า ในการสะสมครับ เคยโดนผู้คร่ำหวอดในวงการ บอกว่า "อย่างเอาหนังสือมาแห่" ต้องเก็บซุ่มๆ ไว้ ซึ่งดูน่าจะผิดกับวัตถุประสงค์ในการทำหนังสือ คือเผยแพร่ความรู้ให้ออกไปมากที่สุด  ฉนั้นผมจึงรุ้สึกยินดีมากที่ในเว็บไซด์นี้ ทุกท่าน ไม่เคยหวงแหนความรู้เลย แถมยังกรุณาช่วยสืบค้น ข้อสงสัย หรือเอกสาร ให้อีกด้วย เป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

เรื่องกรุหนังสือแตก ผมประสบเรื่องเศร้าด้วยตัวเอง ท่านผู้ใหญ่ นักสะสมหนังสือ ที่ผมสนิทด้วย ท่านหวงสมบัติมากจนไม่ได้สั่งเสียว่า ท่านสิ้นลง จะทำอย่างไรกับมรดกหนังสือ ที่เก็บสะสมมา 3-4 ชั่วคน นับหมื่นเล่ม แถมของสะสมอีกมหาศาล แม้แต่ชุดตุ๊กตาตะกั่วทหารของ สมเด็จพระบรมฯ องค์ใหญ่ และกาน้ำชา เลี่ยมทอง ของพระเจ้ากรุงธนฯ หรือเหรียญ ๑ บาท ตราอาร์มแผ่นดิน มีจารหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่เจ้าคุณพัศดี (โหม่ง) ได้รับพระราชทานมาจาก ในหลวงองค์ 5 ซึ่งมีอยู่เพียง 12 เหรียญในโลก เพราะเป็นชุดตัวอย่างที่ฝรั่งส่งเข้ามาถวาย ....... ของเหล่านี้ กระจัดกระจาย สาบสูญ เสียดายที่ไม่ได้รวบรวมเป็นชุด และมีประวัติ ที่ถูกต้อง สืบไป ..........

คุณเพ็ญชมพูครับ ถ้าพบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ค.ศ. 1894 โปรดทำลิงค์ให้ด้วยครับ เพราะแต่ละฉบับ คุณ วิลเลี่ยมเธอจะแก้ไขเพิ่มเติมตลอดเวลา อยากทราบว่าในฉบับที่ท่านคนไทยใช้เป็นหนังสืออ้างอิง มีความว่ากระไรบ้างครับ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ธ.ค. 11, 13:57
The orchid-grower's manual: containing descriptions of the best species and varieties of orchidaceous plants in cultivation โดย Benjamin Samuel Williams,Henry Williams  พิมพ์ครั้งที่ ๗ ค.ศ. ๑๘๙๔ (http://books.google.co.th/books?id=mIUUAAAAYAAJ&printsec=frontcover&hl=th&source=gbs_ge_summary_r&cad=0#v=onepage&q&f=false)

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 31 ธ.ค. 11, 14:55
ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพูครับ หาเจอซักที ผมมีแต่ฉบับอื่น ขาดก็แต่ edition 1 กับ 7 ปีใหม่ จะได้มีหนังสืออิเลกทรอนิกซ์ อ่านเพิ่มอีก 1 ฉบับ

ขอบคุณครับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ กับกล้วยไม้ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ม.ค. 12, 12:13
สวัสดีปีใหม่ 2555 ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก โปรดดลบันดาลให้ทุกท่าน มีความสุข สวัสดี สุขภาพแข็งแรง ครับ

รับปีใหม่ ด้วยภาพ งานปีใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ  และ สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ 58 ปีมาแล้วครับ .......