เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 22:28



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 22:28
กระทู้นี้คงเป็นกระทู้สั้นๆนะครับ

เมื่อวันพุธที่ 11 เม.ย. ได้เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านปลายของเกาะสุมาตรา ต่อมาได้มีประกาศเตือนภัยคลื่น Tsunami ซึ่งมีการยกเลิกในเวลาต่อมาและได้ให้มีการให้เฝ้าระวังต่อไปอีก 2 วัน

ได้ฟังข่าว ได้ฟังผู้ทรงความรู้ทั้งหลายชี้แจงตามสื่อต่างๆแล้ว อดไม่ได้ที่จะต้องขอนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการด้านแผ่นดินไหวมาเพื่อทราบ เดิมทีว่าจะเล่ามาตั้งแต่กรณีญี่ปุ่นแล้ว แต่หาจังหวะและโอกาสไม่ได้
ผมไม่ใช่นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวโดยตรง (Seismologist) และก็พอจะทราบว่าคนที่เรียนมาโดยตรงมีน้อยมาก ผมเรียนมาในสาขาวิชาที่ใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอื่นๆและคำตอบบางประการ เพื่องานทางธรณีวิทยาที่ถูกต้องสำหรับนำไปใช้ในการแสวงหาและกำหนดบริเวณที่มีศักยภาพจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่าหายากทั้งหลาย (เช่น น้ำมัน ทองคำ)  รายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่งของผม เมื่อประมาณ พ.ศ.2527 ได้ทำให้มีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวในไทยเพิ่มอีกนับ 10 ตัว

จะขอเข้าเรื่องแผ่นดินไหวฉบับย่อๆนะครับ

แผ่นดินไหวเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในผิวโลกออกมาในรูปของคลื่นที่เรียกว่า Seismic wave คลื่นนี้วิ่งผ่านชั้นดินชั้นหินของโลก ทำให้ชั้นดินชั้นหินต่างๆขยับตัวตามลักษณะคลื่นที่วิ่งผ่าน

ต้นกำเนิดของแผ่นดินไหวมาจากเหตุหลัก 4 ประการ คือ จากรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังเคลื่อนตัว (Active fault) จากการเกิดภูเขาไฟ (Volcanic activity) จากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เสียดสีกัน (Plate tectonic) และจากการกระทำของมนุษย์ (Manmade)

จุดที่ปลดปล่อยพลังงานหรือจุดต้นกำเนิดของแผ่นดินไหว ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลก เรียกว่า Hypocenter หรือ Origin   จุดที่บอกพิกัดตำแหน่ง (ละติจูด-ลองติจูด) ของจุดกำเนิดซึ่งอยู่บนผิวโลกเรียกว่า Epicenter  ดังนั้นรายงานการเกิดแผ่นดินไหวจึงบอกด้วยพิกัดและความลึก ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจุดต้นกำเนิด

คลื่นแผ่นดินไหวมี 4 รูปแบบ คือ คลื่นปฐมภูมิ (Primary wave หรือ Pressure wave) คลื่นทุติยภูมิ (Secondary wave หรือ Shear wave) คลื่นเรเลย์ (Rayleigh wave) และคลื่นเลิฟ (Love wave)
คลื่นปฐมภูมิ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางสูงสุดและจะวิ่งผ่านของแข็ง อธิบายได้ง่ายๆ คือ ความรู้สึกที่ได้รับจากการเอาฆ้อนกระแทกที่ขอบโต๊ะด้านหนึ่งตรงข้ามกับขอบโต๊ะด้านที่เราจับ
คลื่นทุติยภูมิ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางรองลงมา วิ่งผ่านได้ในของเหลว อธิบายได้ง่ายๆ คือ คลื่นที่เกิดกับน้ำในตู้ปลาเมื่อเรากระแทกตู้ปลาที่ผนังด้านหนึ่ง
คลื่นเรเลย์และคลื่นเลิฟ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางเป็นอันดับสามและสี่ตามลำดับ คลื่นทั้งสองชนิดนี้วิ่งอยู่บนพื้นผิวระหว่างชั้นต่างๆของวัสดุ เลยรวมเรียกว่า Surface wave  คลื่นเรเลย์เคลื่อนที่ในลักษณะเป็นวงกลมในแนวตั้งไปเรื่อยๆ คล้ายกับการตบข้างกองหนังสือพิมพ์ ในขณะที่คลื่นเลิฟเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันแต่เป็นในแนวนอน ซึ่งจะทำให้กองหนังสือพิมพ์โย้ไปข้างซ้ายขวา
คลื่นสำคัญที่ใช้ในการบอกตำแหน่งของจุดเกิดแผ่นดินไหว คือ คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิ ส่วนคลื่นเรเลย์และคลื่นเลิฟนั้นมักจะนำไปใช้ในด้านการวิจัยในภายหลัง เพื่อช่วยอธิบายขยายความเหตุแห่งความพินาศที่มาจากส่วนชั้นดินชั้นหินฐานราก
ยังมีอีก 2 คำที่ใช้ในการรายงานเรื่องแผ่นดินไหว คือ ขนาด (Earthquake Magnitude) กับ ความรุนแรง (Earthquake Intensity) หรือที่เรียกสั่นๆว่า Magnitude กับ Intensity

ขนาด (Magnitude)  คือ มาตราที่แสดงขนาดของการปลดปล่อยพลังงานออกมา  พัฒนาขึ้นมาโดย Richter และ Gutenburg ในปี พ.ศ. 2478 สำหรับการวัดขนาดของแผ่นดินไหวเปรียบเทียบในพื้นที่ๆไม่กว้างไกลมากนัก ใช้ได้ดีกับขนาดระหว่าง 3 – 7 มาตรานี้รู้จักกันว่า Richter scale  และใช้อักษรย่อว่า M(L) (คำว่า Local magnitude มาจากมาตรานี้) ต่อมาได้พบว่าหากเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่และจุดกำเนิดอยู่ไกลเกินกว่าประมาณ 600 กม.ขึ้นไปจากสถานีวัดแผ่นดินไหว (Seismograph station)  มาตรริกเตอร์นี้จะมีความผิดพลาดมากเนื่องจากหลายสาเหตุ จึงมีการปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาและใช้ตัวย่อว่า M(W) แต่มาตราที่ปรับปรุงนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน คือ จะไม่ค่อยตรงสำหรับแผ่นดินไหวขนาดที่เล็ก (ต่ำกว่า 4 หรือ 5 ลงไป)
อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงนิยมเรียกว่าเป็นมาตราริกเตอร์อยู่นั่นเอง และก็มีการใช้ทั้งสองมาตราในการรายงานอยู่ดี ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สำหรับนักวิชาการก็จะต้องไปดูในรายละเอียดแยกกัน

เรื่องนี้คือต้นตอของขนาดที่ประกาศออกมาจากประเทศต่างๆในช่วงแรกของการเกิดแผ่นดินไหวว่า ทำไมถึงไม่ตรงกัน ก็เพราะว่าต่างคนต่างวัดได้ ณ.ที่ต่างแห่งหนกัน
 
พอจะเทียบเป็นตัวอย่างไห้เห็นว่า พลังงานที่ปล่อยมาจากแผ่นดินไหวนั้นมากน้อยอย่างไร ดังนี้ พลังงานแผ่นดินไหวที่ปล่อยออกมาเมื่อคราวเกิดซึนามิทางภาคใต้ เทียบได้กับระเบิด TNT ประมาณ 475 ล้านตัน (ปรมาณูที่ปล่อยลงฮิโรชิมาเทียบได้กับ TNT ประมาณ 15,000 ตัน)



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 22:34
ความรุนแรง (Intensity) คือ มาตราที่แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยการประเมินจากความเสียหาย ที่นิยมใช้กันทั่วโลก คือ ที่พัฒนาขึ้นมาโดย Mercalli ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงและเรียกว่า Modified Mercalli Intensity Scale หรือ MM หรือ MMI   มาตรานี้มี 12 ระดับ ตั้งแต่ 1 ไม่รู้สึกเลย   2 รู้สึกได้โดยบางคน โคมไฟแกว่ง    3 รู้สึกกระเทือนเหมือนรถบรรทุกวิ่งผ่าน คนในตึกสูงรู้สึกได้    4 ประตูหน้าต่างบ้านเรือน และถ้วยชามสั่นกระทบกันเสียงดัง   5 รู้สึกได้โดยคนทั่วไป ถ้วยชามหล่นแตกบ้าง   6 คนวิ่งหนีออกจากบ้าน บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงร้าว ของบนชั้นตกแตก   7 รู้สึกยืนไม่ได้ บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพัง    8 เครื่องเรือนหนักๆเคลื่อนที่  บ้านเรือนเสียรูปทรงและพัง   9 อาคารที่แข็งแรงพัง ตู้ เตียงกระดอนไปมา  10 อาคารทั้งหลายพัง เส้นทางคมนาคมใช้การไม่ได้  11 พังราบไปเกือบหมด สะพานพัง   12 ราบเรียบเป็นหน้ากลอง เห็นแผ่นดินเป็นลูกคลื่น
บางประเทศที่อยู่ในพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จะพัฒนามาตราของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการประเมินความความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือ ให้เป็นไปอย่างทันการณ์ รวดเร็วและเหมาะสมกับสภาพของความเสียหาย เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งใช้มาตราร่วมกันเรียกว่า JMA Scale  เป็นมาตราที่ผนวกกับอัตราเร่งของมวลพื้นดิน (Peak ground acceleration) มีอยู่ 7 ระดับ มาตรานี้แยกชัดเจนระหว่างการสังเกต ณ.ตำบลที่อยู่ต่างๆกัน เช่น ในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ในบ้านไม้ บนถนน ซึ่งข้อมูลจากการบอกเล่าของคนก็เพียงพอที่จะทำให้ทราบว่า อัตราเร่งของพื้นดินมีเพียงไร จะทำให้อะไรเสียหายได้บ้างและขนาดใหน ทำให้การประเมินมีความแม่นยำมากในระดับที่พอใจ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 23:00
ขอคั่นจังหวะเรื่องราวทางวิชาการเล็กน้อย
ลืมนึกไปว่าช่วงนี่มีคนไปเที่ยวในภาคใต้พอสมควร
ตอบให้สะบายใจสั้นๆเลยนะครับว่า
ด้วยได้เคยเกิดเหตุร้ายมาครั้งหนึ่งแล้ว รุนแรงมากๆติดอันดับโลกเลยทีเดียว การเฝ้าระวังจึงเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะนี้มีระบบทุ่นจับความเคลื่อนไหวซึนามิลอยอยู่ในทะเล หากมีอะไรจะเกิดขึ้นก็จะมีการประกาศเตือนล่วงหน้า เป็นระบบสากล แม้ว่าจะรู้สึกว่าน่ากลัวที่คลื่นซึนามิมันเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 800 กม.ต่อชั่วโมง เมื่อมีการเตือนภัย ระบบเขาจัดให้เรามีเวลาหนีได้ทันครับ หากไม่แน่ใจ เอาเป็นว่าไปหาระยะทางจากแนวเกาะนิโคบาว่าอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไทยเท่าใด เอาความเร็วของคลื่นไปบวกลบคูณหารดู ก็จะทราบว่ามันจะใช้เวลาเท่าใดที่จะมาถึงไทย  และหากเกิดใกล้จุดเดิมเหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 นาทีจึงจะมาถึง ญี่ปุ่นเขามีเวลาเพียงไม่เกิน 5 นาทีในบางพื้นที่ๆจะหนี ด้วยอดรีนาลีนที่มากระตุ้น ผมเชื่อว่าไปได้ไกลมากทีเดียวในเวลาเพียงน้อยนิด 

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 23:09
สมิทธ เตือนระวังสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันในอนาคตอันใกล้ ชี้ผลมาจากพายุสุริยะทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัว หวั่นกรุงเทพฯ พังราบเป็นหน้ากลอง

(13 เม.ย.) นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ที่ไม่เกิดสินามิเพราะเป็นแผ่นดินไหวแนวราบ และก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรชาวไทยในองคการนาซ่า ได้ส่งรายงานการเกิดพายุสุริยะ และได้เตือนว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณมหาสุมทรอินเดีย เป็นคำเตือนที่ส่งมาให้ตนล่วงหน้า 1 วันก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ทำให้ตนเชื่อว่าการเกิดพายุสุริยะ มีผลกระทบต่อเปลือกโลกจริง ในปีนี้จะเกิดพายุสุริยะอีกจำนวนมากไปจนถึงปี 2556 แต่รุนแรงที่สุดในวันที่ 21 ธ.ค. ปีนี้ หรือเป็นตามตัวเลข 21/12/12 ตรงตามปฏิทินชนเผ่ามายาที่ทำนายถึงวันสิ้นโลกเอาไว้

นายสมิทธ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยและรุนแรง ซึ่งจะเกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ พื้นดินเป็นดินอ่อน หากเกิดแผ่นดินไหวห่างจากกรุงเทพฯไปถึง 350 กิโลเมตร ก็ทำให้กรุงเทพฯ พังราบได้ง่าย ๆ ภาครัฐควรเร่งออกสำรวจสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯได้แล้ว และเตรียมมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าได้ตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้ลดความสูญเสียได้มาก

นายสมิทธ กล่าวอีกว่า รอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่พาดผ่านประเทศไทยมีทั้งหมด 13 รอยเลื่อน โดยเฉพาะรอยเลื่อนในทะเลอันดามันน่าห่วงมากที่สุด บริเวณเกาะสอง จ.ระนอง จ.สุราษฐธานี จ.พังงา จ.กระบี่ เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ไปถึงประเทศพม่า รอยเลื่อนพวกนี้มีพลังมาก และถ้าถามว่าไทยจะเกิดคลื่นสึนามิอีกหรือไม่นั้น มีนักวิจัยด้านแผ่นดินไหวชาวไอร์แลนด์ชี้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์ ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้นี้ และแรงแผ่นดินไหวส่งผลถึงกรุงเทพฯแน่นอน จะเกิดความเสียหายคล้ายกับประเทศเฮติ รวมทั้งมีผลสะท้อนมาจากการไหวอย่างรุนแรงที่ประเทศชิลี ซึ่งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกใหญ่แปซิฟิก เคลื่อนตัวมาทางตะวันออกเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้อัตราการไหวเพิ่มถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 เม.ย. 12, 16:00
ต้องขออภัย อ. เทาชมพูสำหรับความเห็นนี้ก่อนนะครับ

คือจริงๆ แล้ว คำเตือน คำทำนายของ  ดร สมิท หรือ ดร ก้องภพ  เราไม่ควรนำมาพิจารณาครับ เพราะเป็นการคาดเดาแบบไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ รองรับ และพิสูจน์ไม่ได้
ไม่ต่างกับฟังคำทำนายศาสตร์แห่งโหรของนายโสรัจจะที่มติชนพยายามโปรโมทมากๆ
เพียงแต่คำของสองคนนี้จะฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า เช่นมีคำว่าเปลือกโลกเคลื่อนตัว  พายุสุริยะ ฯลฯ  
แต่จริงๆแล้วเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวตลอด แผ่นดินไหวมีตลอดเวลา เพียงแต่ที่รุนแรงมีไม่บ่อย และไม่อาจทำนายได้ว่าจะมีที่ไหน หรือเมื่อไหร่  
ผู้เชี่ยวชาญไม่เคยทำนายได้  มีแต่หมอดูที่ทำนายประจำ ผิดก็ทำเฉย  ฟลุกถูกก็มาอ้างเอาเครดิต  ทั้งหมอดูโหร และหมอดูที่อ้างวิทยาศาสตร์ แต่ไม่วิทยาศาสตร์จริง

ถ้าติดตามข่าวเสมอๆ จะเห็นว่ามีแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดขึ้นที่ต่างๆ ทุกๆ 2-3 เดือนประจำ  และถ้าแผ่นดินไหวห่างกรุงเทพ 350 กิโล  มันจะทำให้กรุงเทพพังราบได้อย่างไร  
ปัจจัยความรุนแรงมันขึ้นกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง และตำแหน่งที่เกิด ว่ามันลึกหรือตื้นจากผิวโลกมากแค่ไหน มันยังทำนายแบบมีหลักการไม่ได้ แต่พวกหมอเดาชอบเดานัก
นอกจากนี้ พายุสุริยะเป็นวัฏจักรที่มีคาบเกิดขึ้นทุกประจำ เป็นเรื่องปกติ  หนักๆ จะมีทุก 8-11 ปี  เมื่อเกิดจะมีผลต่อระบบสื่อสารหรือไฟฟ้ามากกว่าและไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีผลกับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก


ตอนนี้สื่อในประเทศเรา ชอบให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ชอบข่าวหวือหวาตื่นเต้น เพราะมันขายได้ คนสนใจ ทำให้บางคนสร้างความดังด้วยการออกมาคาดเดาต่างๆ ไปเรื่อยๆ
ดร สมิทและก้องภพเป็นอีกสองคนที่เป็นแบบนี้  เพราะจริงๆแล้วสองคนนี้มีคำทำนายแบบนี้ออกมาเป็นระยะๆ ผิดก็เฉย ทำนายต่อ มาฟลุกถูกซึ่งมันต้องถูกแหง เพราะแผ่นดินไหวมีประจำ ก็มาอ้างเอาเครดิต


ถ้าติดตามจริงๆ  คนไทยที่อ้างผลงานจากนาซ่า ไม่มีใครเป็นของจริงซักคน แต่ไปไหนมาไหนต้องพะยี่ห้อนาซ่าติดตัว บางคนสามสิบปีแล้วก็ยังนาซ่าอยู่นั่นแหละ กลัวคนไม่เชื่อ พวกนี้มี 3-4 คนในสังคมไทย
แต่คนไทยของจริงที่มีผลงานจริงจากนาซ่า เค้าไม่เพี้ยน และไม่เอาชื่อนาซ่ามาอวดอ้างแบบนี้ครับ


แต่สิ่งที่ควรทำคือเราต้องมีระบบเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนข่าว การให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือน การวางแผนการอพยพในพื้นที่เสี่ยง และการฝึกซ้อมอพยพเป็นประจำครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 เม.ย. 12, 17:05
เชิญคุณประกอบมานั่งตรงนี้ครับ

ด่วนเลย


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 17:18
อ่านค.ห. 4 แล้วโล่งใจค่ะ   อย่างน้อยก็ไม่ต้องกลัวว่าโลกจะแตกในวันที่ 21 ธันวาคม ปีนี้


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 17:19
เชิญคุณประกอบมานั่งตรงนี้ครับ

ด่วนเลย
คุณประกอบอยู่ไหนล่ะคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 เม.ย. 12, 18:11
ง่ะ  อุตส่าห์หลบไปนั่งหลังห้องต่อแล้ว โดนอาจารย์เรียกตัวออกมายืนหน้าชั้นซะแล้ว
ตามประสานักเรียนเหลวไหล ครูเรียกเมื่อไหร่ต้องหนาวๆ ร้อนๆ เหงือซึม ใจตุ้มๆ ต่อมๆ

แต่รับรองได้ว่าวันที่ 21 ธันวานี้โลกไม่แตกแน่นอนครับ  วันที่ 21 ธันวานี้ถ้าโลกแตกจริงมากระทืบผมได้เลย  ;D  แถมเลี้ยงบุฟเฟ่ที่โอเรียนเต็ลอีก 3 มื้อ ดูหนังรอบค่ำอีก 2 เรื่องควบยังได้

โลกแตกจากแผ่นดินไหว หรือการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกนี่เป็นไปไม่ได้ครับ เปลือกโลกมันไม่ได้เคลื่อนตัวเร็วขนาดนั้น แม้มันจะชนกัน บดขยี้กันบ้าง ก็แค่ส่งผลเป็นพื้นที่ๆ ไป แถมไอ้ที่รุนแรงขนาดมีสึนามิได้ นานๆ มันจะเกิด
เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะเกิดบ่อยหน่อย เช่นพึ่งสึนามิในมหาสมุทรอินเดียไปไม่นาน  ไม่กี่ปีไปเกิดแถวญี่ปุ่นอีก  น่าจะเป็นความบังเอิญเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ที่เคยเฉียดนาซ่า(ตรงคลองตัน)แบบผม ขอทำนายว่า โอกาสเกิดภัยพิบัติใหญ่น่าจะมาจากอุกกาบาตใหญ่มากพุ่งชนโลกเหมือนเมื่อ 65 ล้านปีก่อน หรือการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ที่พ่นฝุ่นควันมหาศาลจนบดบังแสงอาทิตย์นานนับร้อยปีแบบนี้เป็นไปได้กว่า
แต่ถ้าอุกกาบาติจะมาชนวันนี้ 21 ธันวานี้จริง  ป่านนี้คงส่องเห็นตัวกันแล้ว นี่ยังไม่มีใครเห็น แปลว่า 21 ธันวานี้ อุกกาบาตขนาดรัฐเท็กซัสไม่มีแน่นอน ส่วนเม็ดขนาดลูกขนุนหรือทองหยอด มันตกใส่โลกประจำอยู่แล้ว
ทำนายแบบนี้ ยังดูสมเหตุสมผลมากกว่าภัยพิบัติจากการเคลื่อนตัวชนกันของเปลือกโลกหรือพายุสุริยะแน่นอนครับ  :-*


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 12, 20:01
เรื่องของ ดร.สมิทธ ที่บอกกล่าวนั้น ผมมีความเห็น ดังนี้

ในระบบการทำงานขององค์กรพิเศษที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯนั้น จะมีการจ้างนักวิชาการที่มีแนวคิดและปรัชญาความเชื่อที่มีความขัดแย้งกันรวมอยู่ด้วย เพื่อจะได้มีการถกเถียงกันและมีการพิสูจน์ทางวิชาการกันอย่างถึงแก่น เื่พื่อหาข้อยุติที่เป็นไปได้มากที่สุดหรือถูกต้องมากที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้ได้พบอะไรใหม่ๆบนเส้นทางของการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรือตั้งใจก็ไม่อาจทราบได้ที่ฝ่าย Con นั้นมักจะเป็นกลุ่มคนที่คิดใน Doctrine ของ Jehovah's Witnesses และ Evangelism ซึ่งกรณี 21/12/12 นั้นผมก็คิดว่ามาจากคนในกลุ่มนี้ ซึ่งหยิบเอาข้อมูลเฉพาะบางส่วนที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นำมาสนับสนุนความคิดเห็นตามปรัชญาของตน นำมาผูกเป็นเรื่องราวตามความเชื่อของตนให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  กล่าวมาเพียงเท่านี้ก็คงพอจะเข้าใจในนามธรรมของเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอแล้วนะครับ

ผมไม่สามารถนำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดมาเล่าให้ฟังได้ เนื่องจากจะต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขา มิฉะนั้นก็จะต้องปูพื้นฐานเป็นเรื่องๆไป ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากทีเดียว (เหมือนกับที่ผมพยายามจะปูเรื่องของกระทู้นี้) และผมเองก็มิใช่มีความรอบรู้ลึกซึ้งเพียงพอในระดับที่จะสามารถเล่าในลักษณะเปรียบเทียบได้  
เอาเป็นอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ    21/12/12 ผูกเรื่องขึ้นมาจากปฏิทินของชาวมายาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดาราศาสตร์ วันสิ้นสุดการคำนวนวันของปฏิทินนี้ (เพื่อสนับสนุนความเชื่อเรื่อง Doomsday)ไปจบอยู่ที่วันที่โลกเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในแนวระนาบของทางช้างเผือกที่เรียกว่า Dark rift ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่บางดวงและดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในระนาบนี้ด้วย ประจวบเหมาะกับเป็นปีและเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะปล่อยพายุสุริยะออกมาพอดี แล้วก็เอาเรื่องของแรงดึงดูดบ้าง เอาเรื่องของพายุสุริยะบ้าง เอาเรื่องของช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดมัวบ้าง มาผูกกันเป็นการทำนายคาดฝันว่าความบังเอิญเหล่านี้ จะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆบนผิวโลกซึ่งจะทำให้สรรพสิ่งมีชีวิตในโลกสิ้นสุดลง ไปจนถึงกระทั่งการแตกสลายของโลก

ประการแรก เรื่องของแรงดึงดูดที่อธิบายว่า จะมีแรงดึงดูดมากขึ้น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วไป แท้จริงแล้วแรงดึงดูดในระบบทางช้างเผือกที่จะเพิ่มมากขึ้นจนมีผลต่อโลกนั้น มันห่างไกลมากจนมีอิทธิพลมีผลต่อโลกของเราน้อยมากๆๆๆ เพราะเราอยู่ในระบบแรงดึงดูดของระบบสุริยะจักรวาลซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (ระบบสุริยะจักรวาลของเราเป็นติ่งน้อยนิดในทางช้างเผือกเท่านั้น)
ประการที่สอง เรื่องของพายุสุริยะ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Electromagnetic field ที่จะมีผลโดยตรงต่อเส้นแรงแม่เหล็กโลก ระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราใช้ในการสื่อสาร และระบบไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านในปัจจุบัน ซึ่งจะเปลี่ยนไป ขาดหายไป และใช้ไม่ได้ในช่วงที่พายุสุริยะเดินทางผ่านโลกเรา แท้จริงแล้วโลกเราเคยโดนพายุนี้มาแล้วสองครั้งใหญ่ๆ ในช่วงปี 1800++ และในช่วงปี 1900+++ สำหรับครั้งแรกได้ทำให้คนสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้ในเวลากลางคืน และสำหรับครั้งที่สองได้ทำให้ระบบไฟฟ้าตามบ้านเรือนดับไปเกือบจะครึ่งทวีป (สหรัฐฯตอนเหนือและแคนาดา) แล้วก็มีการอธิบายด้วยว่าจะมี Cosmic particle ลงมาถึงยังพื้นโลกมากมาย ทำให้เกิด......ซึ่งแท้จริงแล้วมีแต่ไม่มากซึ่งสนามแม่เหล็กโลกจะช่วยป้องกันไว้ แล้วก็อีกประการหนึ่งก็ว่าเส้นแรงแม่เหล็กโลกจะกลับทิศ อือม์..เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดมาจากกลไกของแกนกลางโลก คงจะไม่เกี่ยวกันกระมัง
ประการที่สาม เรื่องท้องฟ้ามืดมัวนั้น ผมไม่มีความสามารถเอาภาพ Abstract ที่ทราบมาบรรยายได้ครับ

อนึ่ง โลกได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 4500 ล้านปีแล้ว คงจะผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มามากหลายรอบแล้ว โลกคงจะยังไม่แตกสลายไปง่ายๆ และเรื่องตายหมู่จนสิ้นเผ่าพันธุ์ (Extinction) นั้น ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของอุกกาบาต ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเราทราบได้ว่ามีดาวเคราะห์น้อยใดๆบ้างที่มีวิถีวงโคจรมาชนโลก

ผมเห็นว่าเรื่องทั้งหลายก็ปั้นกันขึ้นมาบนฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนเรื่องของ Y2K

ลองไปอ่านเรื่องราวและพิจารณาไปตามความเชื่อของตนเองในเว็ปไซด์นี้ซิครับ
     http://www.nasa.gov/topics/earth/features/2012-alignment.html (http://www.nasa.gov/topics/earth/features/2012-alignment.html)
และ
     http://www.viewzone.com/endtime.html (http://www.viewzone.com/endtime.html)
    

  

  


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 20:14
กลับไปปัดฝุ่นความหลังแล้วนึกได้ว่า สมัยเรียนหนังสืออยู่ต่างแดน   เป็นยุคที่เขากำลังฮือฮากันว่ามนุษย์ต่างดาวเคยมาสร้างอารยธรรมเก่าแก่เอาไว้บนโลกนานแล้ว ในนามของชนเผ่าต่างๆที่สาบสูญไป    ชาวมายาก็เป็นหนึ่งในนั้น  เพราะมีภูมิรู้ทางดาราศาสตร์สูงเกินกว่าชนบ้านป่าเมืองเถื่อนจะคำนวณกันได้
ดิฉันก็พลอยตื่นข่าวไปด้วย  ไปเสียสตางค์หาหนังสือมาอ่านอยู่หลายเล่ม    ในนั้น  เขาก็อ้างการคำนวณด้วยปฏิทินมายานี่แหละว่าพระเจ้าจากอวกาศจะกลับมาในวันคริสต์มาสปีไหนก็จำไม่ได้แล้ว  คลับคล้ายคลับคลาว่าปี 1970s  หรืออย่างมากก็ 1980s  นี่แหละค่ะ   
ผ่านมาจนข้ามเข้าศตวรรษใหม่ก็ยังไม่เห็นพระเจ้าที่ว่านั่นนั่งจานบินมาถึงสักคน   ไม่เท่าไรปฏิทินมายาถูกอ้างว่าโลกจะแตกอีกแล้ว
ถ้าปลายปีนี้โลกไม่แตก   ปีหน้าหรือปีโน้นปฏิทินมายาคงทำนายอะไรออกมาแปลกๆ อีกตามเคย

มอบกระเช้าดอกไม้ให้ท่านนักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกท่านสถาปนิกลากมาจากหลังห้อง    ขอบคุณที่ทำให้เตรียมฉลองปีใหม่หลังวันที่ 21 ธ.ค.ได้อย่างโล่งใจค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 เม.ย. 12, 23:55
โดยส่วนตัวในฐานะคนสนใจมุมมองทางโบราณคดีมา
ผมเป็นคนหนึ่งที่แอบรู้สึกว่าคนเรียนสายวิทย์ยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งมักประเมินความรู้ของคนโบราณน้อยไปนิด
ทั้งๆที่สังคมปัจจุบันเติบโตมาได้ ก็ด้วยการอาศัยองค์ความรู้ของคนยุคก่อนๆหน้าด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องการคำนวนทางดาราศาสตร์เป็นปรากฏการณ์สำคัญครับ
คนจะเป็นผู้นำคน (ในโลกยุคที่ยังไม่มีอุปกรณ์อะไร Hi-tech เลยสักอย่าง)
ถ้าไม่ใช้วิธีการคำนวน การทำปฏิทิน การคะเนฤดู จะเอาอุปกรณ์ชนิดไหนมาเป็นอาวุธล่ะครับ?

ใครเคยอยู่เมืองหนาวมาก่อน คงพอจะทราบ ว่าปีนึงๆมันสั้นแค่ไหน
และเวลาฤดูหนาวมาถึงแล้ว... ทุกอย่างโหดร้ายสักแค่ไหน
ถ้าคะเนการเพาะปลูก หรือเก็บเกี่ยวผิดแค่สัปดาห์เดียว...
อาจจะเอาชีวิตไม่รอดกันได้... นี่เป็นเรื่องธรรมดา....

แล้วถ้าพื้นฐานวิถีชีวิตเริ่มต้นขึ้นมาด้วยวิถีชีวิตชนิดนี้
มันจะแปลกอะไรล่ะครับ ถ้าดาวทั้งหลายที่เป็นเครื่องมือกำหนดปฏิทินจะกลายเป็นเทวดาไปเสียหมด?
แถมยังมีตำนานอะไรไม่รู้ร้อยแปดพันเก้าเกี่ยวกับดาว (และเทวดาว เอ๊ย เทวดา) พวกนี้อีกเยอะสะบึมตรึมเสียด้วยแหนะ



เอาเถอะ บ่นมาเยอะแล้ว...
อยากเรียนถามท่านๆทั้งหลายที่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ครับ
ว่าเคยได้ยินเรื่องรูปสัตว์แต่ละตัวบนจิตรกรรมฝาผนังถ้ำอายุ 6000 ปีในสเปน
ที่เขาว่ากนว่าน่าจะเป็นปฏิทินดาวของโลกยุคโบราณที่เก่าที่สุดกันบ้างไหมครับ?

ถ้าท่านเคย อยากเรียนถามพวกท่านดูครับ ว่าคิดอย่างไรบ้าง...
เพราะในวงโบราณคดีเขาเถียงกันคอเป็นเอ็นแล้วล่ะครับ แหะๆ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 เม.ย. 12, 03:57
เรียนท่านติบอครับ

ผมว่าคนที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ไม่ได้ประเมินความรู้ของคนโบราณต่ำนะครับ
จริงๆ แล้วมีพัฒนาการจากยุคโบราณมากมายที่คนในสมัยปัจจุบันต้องทึ่งในความรู้ความสามารถที่คนในยุคนั้นทำได้
หรือบางอย่าง แม้แต่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สูงหรือดีพอที่จะไขปริศนาได้  ตัวอย่างเช่นสุสานของจิ๋นซี  ทุกวันนี้เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน เป็นภูเขาที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งลูก
แต่ยังไม่มีการขุดสำรวจ เพราะเราไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน จะดีพอที่จะรักษาสภาพภายในไว้ได้
และทุกวันนี้ อารยะธรรมต่างๆ ก็มีรากฐาน ต่อยอดพัฒนามาจากยุคโปราณเช่นกัน เพียงแต่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากเป็นพิเศษในช่วง 2-300 ปีมานี้


เรื่องของปฏิทินก็เช่นกัน  ต้องอาศัยความรู้และการช่างสังเกตุของคนโบราณในการทำ  และเรื่องปฏิทินนี่ มีการพัฒนาขึ้นมาในหลายๆ อารยะธรรม โดยอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
เพราะมนุษย์ที่ช่างสังเกตุ ช่างสงสัย มีอยู่ในทุกที่ และการมีปฏิทินที่แม่นยำ มีผลต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มาก โดยเฉพาะในอารยะธรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีการเพาะปลูก


แต่ปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือ มีคนที่อาศัยเรื่องราวโบราณ เช่นตำนาน คำทำนาย หรือแม้แต่เทคโนโลยี เอามาตีความมั่วซั่วตามอำเภอใจ เผยแพร่ออกมาเพื่อสร้างความกลัว และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง
เช่นเรื่องปฏิทินมายา  สิ้นสุดที่ปี 2012  อาณาจักรมายาสูญสลายไปอย่างน้อยก็สี่ห้าร้อยปีแล้ว  ถ้าผมเป็นคนมายาที่คำนวณปฏิทินยุคก่อนเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เขียนปฏิทินล่วงหน้า
คำถามคือ ผมจะเขียนล่วงหน้าไปถึงเมื่อไหร่ดี  ในเมื่อวันคืนอนาคตมันไม่มีที่สิ้นสุด ผมอาจจะเขียนไปถึง 500 ปีข้างหน้าพอก็ได้ หรืออาจจะเขียนล่วงหน้าไปพันปี  ถ้าแบบนั้น วันนี้ก็คงไม่มีใครพูดถึงปฏิทินนี้
แต่อีก 500 ปีข้างหน้า อาจมีก้องภพ 2 สมิทธ 2 หรือใครก็ได้ ออกมาทำนายว่าโลกจะแตกอีกก็ได้ เพราะไม่ว่ายุคสมัยไหน คนที่ใช้อวิชชา ชอบเรื่องลี้ลับ ไม่ใช้หลักเหตุผล ก็ยังคงมีอยู่


เรื่องจิตรกรรมโบราณในถ้ำที่สเปนนี่ผมไม่เคยได้ยินนะครับ  เคยได้ยินแต่ว่ามีจิตกรรมโบราณในถ้ำที่ฝรั่งเศสบางแห่ง สวยงามยอดเยี่ยมมาก  แต่ไม่เปิดให้คนทั่วไปชม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้
ส่วนเรื่องที่ว่าจะเป็นปฏิทินดาวของคนยุคโบราณ หรือแค่มือบอนซน ว่างๆ ไม่มีอะไรทำเลยขีดเขียนไปเรื่อยเปื่อน มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อารยะธรรมโบราณพัฒนาช้า ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพชีวิตที่ยากลำบาก ผลผลิตที่มีจำกัด อายุขัยเฉลี่ยสั้น อายุ 20 กว่าๆ ก็ตายกันแล้ว ยืนพอที่จะสืบพันธุ์ แต่ตายเร็วเกินกว่าที่จะมีเวลาคิดค้น ถ่ายทอด ส่งผ่านความรู้กันได้
จนภายหลังมีการตั้งถิ่นฐาน สามารถผลิตอาหารได้มากพอที่จะเลี้ยงคนที่มีหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตอาหารได้  อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น  พัฒนาการทางมนุษย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 12, 08:35
ผมไม่ขอแสดงความเห็นทั้งเรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ที่ท่านกำลังอภิปรายกันอย่างน่าสนใจยิ่ง เพราะมีความรู้ไม่พอในเรื่องทั้งสองเลย แต่อยากจะใช้จินตนาศาสตร์มาระบายสีสันให้กระทู้บ้าง

เพียงในช่วงอายุของคนวัยเกษียณอย่างผม จะพบความเปลี่ยนแปลงของอาคารบ้านเรือนและจำนวนผู้คนพลเมืองมากมายยิ่งนัก เมื่อขึ้นภูเขาทองสมัยเด็กๆแล้วเดินดูไปรอบๆ จะเห็นแต่ความเขียวขจี ตึกรามบ้านเรือนที่แทรกอยู่ก็พองาม  แต่ครั้งหลังที่ถ่อสังขารขึ้นไป เห็นความงดงามอยู่กระหย่อมเดียวทางทิศที่เป็นหัวใจของเกาะรัตนโกสินทร์  อ้อมไปดูฝั่งตรงข้ามแล้วน่าใจหาย สิ่งก่อสร้างที่สมมุติบัญญัติกันว่าเป็นความความเจริญสมัยใหม่นั้น ได้เข้าแย่งชิงพื้นที่ทั้งดินและฟ้าเป็นก้อนทะมึน จริงๆนะครับ ความรู้สึกของผมเหมือนกำลังยืนดูคลื่นซึนามิที่กำลังโถมเข้ามาหาตัว

ด๊อกเตอร์ทางเอนจิเนียร์คนหนึ่งคุยกันเล่นๆกับผมนานมาแล้วว่า สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความเจริญของโลกมีอัตราเร่งเป็นบวก ผันแปรตามจำนวนปี คือ ปีที่1+1=2เท่า, ปีที่2+2=4เท่า, ปีที่3+3=6เท่า, ปีที่4+4=8,ปีที่5+5=10เท่า ……∞  พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราเร่งนี้เปลี่ยนเป็นตัวคูณ  ผันแปรตามจำนวนปี จะเป็น   ปีที่1X1=2เท่า, ปีที่2X2=4เท่า, ปีที่4X3=12เท่า,ปีที่4X4=16เท่า,ปีที่5X5=25เท่า ……∞ แต่พอเข้ายุคคอมพิวเตอร์สักสิบกว่าปีให้หลังมานี่ อัตราเร่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นตัวเลขยกกำลัง  ที่ผันแปรตามจำนวนปีไปแล้ว กลายเป็น ปีที่1ยกกำลัง1 =1เท่า, ปีที่2ยกกำลัง2 =4เท่า, ปีที่3ยกกำลัง3 =27เท่า,ปีที่4ยกกำลัง4 =256เท่า,5ยกกำลัง5 =3125เท่า,…∞

ถึงแม้ตัวเลขของพี่เค้าจะเวอร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่ผิดกติกาของจินตนาศาสตร์ น่าเอามาจินตนาการต่อเป็นอย่างยิ่ง ผมถามว่า แล้วโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เขาก็ตอบยิ้มๆว่า มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าธรรมชาติไม่ทำลายมนุษย์ มนุษย์ก็ทำลายกันเอง

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์..ฯของเรา เมื่อเร็วๆนี้เองมีข่าวว่า นักวิชาการสิงคโปรใช้คอมพิวเตอร์คำนวณระบบสาธารณูปโภค หลักๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน กับความสามารถในการหาแหล่งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตมาสนอง ให้พอเพียงกับอัตราความเจิญเติบโตราวกับข้าวโพดคั่วที่กำลังแตกเม็ด พบว่าอย่างมาก๑๖ปี มหานครนี้จะถึงทางตัน ขนาดต้องทิ้งเมืองกันทีเดียว

ตรงนั้นยังไม่ย่ำแย่เท่าปัญหาสังคมที่คู่ขนานกันมา คนร่วมชาติร่วมเมืองของเราจะพูดกันไม่รู้เรื่อง คนมีความคิดเห็นต่างกันสุดโต่งในเรื่องความดีและความชั่ว กลายเป็นศัตรูกันขนาดต้องทำลายล้าง เด็กรุ่นใหม่เติบโตในระบบการศึกษาที่ไม่เหมือนคนรุ่นเดิม ทำให้ความคิดความเห็นไม่ตรงกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พูดคุยไม่เข้าใจกัน ศีลธรรมจรรยาประเมินแล้วมีค่าน้อยกว่าเงิน คนหนุ่มคนสาวทำทุกอย่างเพื่อจะได้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี พระเลิกให้พรโยมว่า ขอให้มีวรรณะ สุขะ พละ มาเป็น ขอให้รวยๆๆๆ

ประเทศอื่นๆหลายชาติก็กำลังเจริญขึ้นพร้อมกับเสื่อมลงอย่างน่ากลัวเช่นเดียวกันนี้

ผมก็อาจจะเว่อร์ไปนิดเหมือนกัน แต่ถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ให้Mr. Smithแกทายถูกยังดีกว่าเห็นมิคสัญญีที่คนทั้งโลกจะจับอาวุธออกมาฆ่าล้างโคตรกันเองนะขอรับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 08:54
'สมิทธ'ชงสร้างเขื่อนปิดอ่าวไทย แปดริ้ว-ชะอำ (http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20120223/437936/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7-%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B3.html)

"จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของผม ที่ได้ศึกษามาเชื่อได้ว่าจะเกิดสึนามิอีกแน่นอน เกิดได้จาก ๒ จุดที่จะกระทบฝั่งตะวันตกของไทยฝั่งอันดามันตั้งแต่จ.ระนองถึงสตูล และฝั่งตะวันออก ด้านอ่าวไทย พื้นที่ปลอดภัยที่สุดของประเทศไทยจะอยู่ที่ภาคอีสาน เพราะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ก็ศึกษาพบว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จะถูกน้ำท่วมถาวร หากจะไม่ให้ท่วมก็ต้องทำเขื่อน ผมจะเสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ถึงอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาภายในได้ บนเขื่อนก็ให้รถวิ่งได้ และค่าสร้างเขื่อนนี้ก็เท่ากับการสร้างรถไฟฟ้า ๑ สาย ผมจะทำเรื่องถึงรัฐบาลให้พิจารณา เพราะไม่เช่นนั้นรถไฟฟ้าที่กำลังสร้างกันอยู่หลายสายก็จะถูกน้ำท่วม ส่วนเรื่องน้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ต้องโทษมนุษย์ที่บริหารไม่เป็น ซึ่งการตั้งผมเป็นกยน. ก็มีการทักท้วงว่าผมวิจารณ์มากเกินไป ผมก็อยากให้ปลดจะได้วิจารณ์ได้มากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ปลด ซึ่งอาจจะปลดในเร็ว ๆ นี้ก็ได้" นายสมิทธ กล่าว

http://www.youtube.com/watch?v=JY6qvQdPPFk&feature=related

กรุงเทพฯ อาจจะห่างไกลจากภัยจากสึนามิและแผ่นดินไหว

แต่โปรดเตรียมใจไว้พบกับภัยจากน้ำท่วมถาวร

ร่วมคิดแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้

 :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 12:35
-"จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของผม ที่ได้ศึกษามาเชื่อได้ว่าจะเกิดสึนามิอีกแน่นอน เกิดได้จาก ๒ จุดที่จะกระทบฝั่งตะวันตกของไทยฝั่งอันดามันตั้งแต่จ.ระนองถึงสตูล และฝั่งตะวันออก ด้านอ่าวไทย
อยากให้เอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านว่า มาลงให้รู้กันหน่อยค่ะ   ว่ารู้ล่วงหน้านานขนาดนั้นได้ยังไง   สึนามิที่ว่าเกิดขึ้นในหนเดียวกันหรือว่าคนละหน   

พื้นที่ปลอดภัยที่สุดของประเทศไทยจะอยู่ที่ภาคอีสาน เพราะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ก็ศึกษาพบว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จะถูกน้ำท่วมถาวร
-อยากรู้ชื่อนักวิชาการคนที่ว่า  จะได้ตรวจสอบการวิจัยของเขา
ถ้าพื้นที่ในจังหวัดที่ว่าน้ำท่วม  แล้วจังหวัดเหนือกว่านั้น เช่นภาคกลางตอนบน  ภาคเหนือ ไม่ปลอดภัยหรือ  ทำไมต้องเป็นอีสาน

หากจะไม่ให้ท่วมก็ต้องทำเขื่อน ผมจะเสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ถึงอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาภายในได้
- น้ำท่วมมาจากทะเลหรือนี่  เพราะอะไรถึงท่วม  แล้วภาคใต้ล่ะ

ส่วนเรื่องน้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ต้องโทษมนุษย์ที่บริหารไม่เป็น ซึ่งการตั้งผมเป็นกยน. ก็มีการทักท้วงว่าผมวิจารณ์มากเกินไป ผมก็อยากให้ปลดจะได้วิจารณ์ได้มากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ปลด ซึ่งอาจจะปลดในเร็ว ๆ นี้ก็ได้" นายสมิทธ กล่าว
- สรุปว่าสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมจากอ่าวไทยและอันดามัน   แต่น้ำท่วมกรุงเทพที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากมนุษย์
งั้นสร้างเขื่อนแล้ว มนุษย์ก็อาจจะทำให้ท่วมอีกได้ใช่ไหม

 ???  ???  ???


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 เม.ย. 12, 13:49
แต่ปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือ มีคนที่อาศัยเรื่องราวโบราณ เช่นตำนาน คำทำนาย หรือแม้แต่เทคโนโลยี เอามาตีความมั่วซั่วตามอำเภอใจ เผยแพร่ออกมาเพื่อสร้างความกลัว และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง


เห็นด้วยกับคุณประกอบครับ
โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นปัญหาการศึกษา
แต่ก็เห็นอีกว่าเรื่องนิ้วมือแต่ละนิ้วยาวไม่เท่ากันนี่ก็เป็นปกติของมนุษยชาติครับ




อีก 500 ปีข้างหน้า อาจมีก้องภพ 2 สมิทธ 2 หรือใครก็ได้ ออกมาทำนายว่าโลกจะแตกอีกก็ได้ เพราะไม่ว่ายุคสมัยไหน คนที่ใช้อวิชชา ชอบเรื่องลี้ลับ ไม่ใช้หลักเหตุผล ก็ยังคงมีอยู่


ธรรมดาโลกครับ... ต่อให้ 'ความจริง' น่ากลัวสักแค่ไหน
คนก็ยังกลัวผี (ที่จับต้องไม่ได้) มากกว่าความจริงอยู่ดี... น่าเศร้าครับ




ผมก็อาจจะเว่อร์ไปนิดเหมือนกัน แต่ถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ให้Mr. Smithแกทายถูกยังดีกว่าเห็นมิคสัญญีที่คนทั้งโลกจะจับอาวุธออกมาฆ่าล้างโคตรกันเองนะขอรับ



ไม่เวอร์ดอกครับ ทุกวันนี้ก็มีคนชนิดนั้นอยู่เต็มไปหมดแล้ว
(โดยเฉพาะในวงการสื่อทั้งหลาย โผล่กันมาสลอนเชียว)
แต่ผมเชื่อว่าคนเรามีสิทธิ์ 'เลือก' นะครับ... คนที่รู้เท่าทันก็รู้จักหาที่ถูกที่ควรเอง
ส่วนคนที่ยังตื้นเขินอยู่... ก็คงต้องปล่อยเขาเล่นไปตามเกมหลอกลวงชนิดนั้นต่อไป


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 20:55
หากจะไม่ให้ท่วมก็ต้องทำเขื่อน ผมจะเสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ถึงอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาภายในได้
- น้ำท่วมมาจากทะเลหรือนี่  เพราะอะไรถึงท่วม  แล้วภาคใต้ล่ะ

มหาอุทกภัยครั้งนี้ ทุกคนทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีประเทศไทยมา แต่จริง ๆ แล้วน้ำท่วมครั้งนี้เป็นเพียงหนังตัวอย่างเท่านั้น เพราะท่วมชั่วคราว ท่วมแล้วยังมีลด  อีก ๒๕ ปีข้างหน้าเรื่องที่ร้ายแรงกว่านี้คือน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อย่างถาวร หากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายเตรียมการป้องกันเรื่องนี้เสียแต่เนิ่น ๆ

เตือนอีก ๑๐ ปี กรุงเทพฯจมน้ำลึก ๒.๕ เมตร (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000098271)

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการภูมิศาสตร์โลก และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากผลการวิจัยผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้รับทุนวิจัยมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนจากบริษัท ปัญญา คอนเซาท์แตน จำกัด โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก เมื่อปี ๒๕๕๑ คาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นหินอ่อนจะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมภายใน ๑๐ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นไป โดยสถานการณ์จะรุนแรงกว่าปี ๒๕๓๘ เพราะจากการคำนวณพบว่าทุก ๆ ๒๕ ปี กรุงเทพฯ มีโอกาสจะเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง (ภายในปี ๒๕๖๓) ทั้งนี้หากคำนวณจากปัจจัยแผ่นดินทรุดเพียงกรณีเดียว พบว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมภายใน ๒๕  ปี แต่ในความเป็นจริงปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมไม่ได้มีเพียงแค่กรณีเดียว แต่ประกอบด้วย ๔ ปัจจัยดังต่อไปนี้

๑. ปริมาณฝนที่ตกลงมา ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ ๕-๑๐ % ต่อปี
๒. การทรุดตัวของแผ่นดิน ซึ่งในอดีตแผ่นดินกรุงเทพฯ จะทรุดตัวต่ำลงประมาณปีละ ๑๐๐ มม. แต่ในปัจจุบันหลังมีมาตรการห้ามขุดเจาะน้ำบาดาล อัตราการทรุดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ๑๐-๒๐ มม.
๓. ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีอัตราน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ ๓ มม.
๔. ผังเมืองและความแออัดของชุมชนเมือง ทำให้พื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเทพฯ ลดลงกว่า ๕๐ % เมื่อมีน้ำเหนือไหลมาหรือมีปริมาณฝนมากขึ้นจึงไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อไปว่ากรุงเทพฯ มีแผ่นดินที่ติดน้ำทะเลเพียงแห่งเดียว คือ เขตบางขุนเทียน ซึ่งขณะนี้หลักเขตกรุงเทพมหานครในเขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลล้ำเขตเข้ามาประมาณ ๑ กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินจมหายไป ๑ กิโลเมตร ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีสร้างคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน โดยสามารถเลือกสร้างได้ทั้งคันดินสีเขียวเพื่อปลูกต้นไม้ หรือสร้างคันเป็นถนนสำหรับรถวิ่งลักษณะเดียวกับประเทศเวียดนามที่ก่อสร้างไปแล้วเป็นระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ลงมือแก้ปัญหาเพราะติดปัญหาทางการเมือง ปัจจุบันนี้การแก้ปัญหาน้ำท่วมดำเนินการโดยวิธีสูบน้ำเหนือที่ไหลทะลักให้แยกออกเป็น ๒ ฝั่ง คือฝั่งขวาให้ไหลลงแม่น้ำบางปะกง ส่วนฝั่งซ้ายให้ไหลลงแม่น้ำท่าจีน แต่ในอนาคตสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องป้องกันน้ำทะเลหนุนให้ได้

ธนาคารโลกเคยนำเสนอปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาลไทยแล้ว เพราะที่ประชุมคณะกรรมการภูมิศาสตร์โลกมองว่ามีความเสี่ยงสูง แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความนิ่งเฉยของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าน้ำจะท่วมเมื่อใด แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงคาดว่าระดับน้ำที่ท่วมจะสูงถึง ๑-๒.๕ เมตร สูงต่ำตามระดับพื้นดิน โดยจะรุนแรงมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ฝั่งธนบุรี เขตคลองเตยจนถึงบางแค สำหรับฝั่งพระนครจะท่วมถึงบริเวณสวนหลวง ร.๙ เพราะฉะนั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ควรเรียกร้องให้รัฐบาลและเขตการปกครองท้องถิ่นตระหนักถึงปัญหาตรงจุดนี้ เพื่อเร่งสร้างคันกั้นน้ำให้เร็วที่สุดเพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลานานถึง ๕ ปี หากเราลงมือทำกันจริง ๆ วันนี้ก็ยังแก้ปัญหาทันอยู่ เพียงแต่เรายังไม่เริ่มเท่านั้น” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

วันที่ ๑๖/๐๗/๒๕๕๓


คุณเตรียมตัวรับมือเกี่ยวเรื่องนี้ไว้แล้วหรือยัง

 :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 เม.ย. 12, 22:16
ขอตั้งหลักนั่งอ่านและประมวลเรื่องที่ได้ว่ากันมาสักหน่อยก่อนนะครับ ก่อนที่จะแจม
กำลังสนุกครับ

ในเบื้องแรกนี้พอจะเห็นภาพได้ว่า บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่างๆนั้น เป็นเพียงภาพของการแสดงความสัมพันธ์แบบจับคู่กันระหว่างสาเหตุ เพื่อพยายามอธิบายผลที่เกิดขึ้นมาแล้ว และพยายามจะชี้ใ้เห็นว่ากรอบแนวคิดของตนนั้นถูกต้อง
ในธรรมชาติจริงๆนั้น มันเป็น Open system ซึงทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมถึงกัน มิใช่เป็น Close system แบบ Direct relation (ขออนุญาตใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ)

เช่น เคยได้รู้ว่า ในช่วง 60's 70's ที่อัฟริกาแล้งจัดนั้น หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ จนเข้า 80's 90's เมื่อการพยายามลดมลพิษในยุโรปได้ผล ภัยแล้งในอัฟริกาก็หมดไป จึงได้พบว่าเกี่ยวพันกับปริมาณมลพิษในยุโรป (ตัวอย่างของ Butterfly effect)
 

 
   


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 22:39
 
เช่น เคยได้รู้ว่า ในช่วง 60's 70's ที่อัฟริกาแล้งจัดนั้น หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ จนเข้า 80's 90's เมื่อการพยายามลดมลพิษในยุโรปได้ผล ภัยแล้งในอัฟริกาก็หมดไป จึงได้พบว่าเกี่ยวพันกับปริมาณมลพิษในยุโรป (ตัวอย่างของ Butterfly effect)
ขออนุญาตคุณตั้ง  อธิบายความหมายของ Butterfly effect  เผื่อคนที่ยังไม่รู้จักคำนี้ นะคะ

ทฤษฎีเคออส (chaos theory) หรือเรียกกันทั่วไปว่า บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟ็ค (butterfly effect) หรือ "ผีเสื้อขยับปีก"  เปรียบเทียบเหตุการณ์เล็กน้อยบางอย่าง อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงได้  เช่น ผีเสื้อขยับปีกที่ประเทศบราซิลเป็นผลให้บรรยากาศโลกเคลื่อนไหวในรูปแบบที่อาจทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ในเทกซัส
ที่มา เริ่มปรากฏแพร่หลายหลังจากการบรรยายของ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorenz) ในปี ค.ศ. 1972 ในหัวข้อที่ชื่อว่า  "Does the Flap of a Butterfly's Wings in Brazil Set Off a Tornado in Texas?"
ไทยมีสำนวนว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"  นัยยะเดียวกัน
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 06:15
วลีว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ดูจะเป็นสำนวนได้

แม้จะเป็นการอธิบายความของ "ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก" The Butterfly Effect (http://www.math.psu.ac.th/html/en/Article/83-The-Butterfly-Effect.html)

(http://www.prapas.com/showimage.php?file=files/lyrics_file/nok-kiang_pick-flower.jpg)

เนื้อเพลงเป็นผลงานของ ฉัตรชัย ดุริยประณีต และ เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์


 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 12, 09:50
ขอบคุณคุณเทาชมพูและคุณเพ็ญชมพูที่ช่วยขยายความครับ

Butterfly Effect มิใช่เป็นเพียงคำเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัยเท่านั้น แต่เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับนักวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆว่า อย่าละเลยที่จะให้ความสนใจกับสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ดูจะห่างไกลและดูเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ไม่มีความสำคัญ

ตังอย่างหนึ่งเช่น ในระบบการส่งข้อมูลสภาพอากาศของงานด้านอุตุนิยมวิทยาที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกนั้น เขาใช้เป็นชุดตัวเลขประมาณ 8 ตัว   ณ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งหนึ่ง ได้รับข้อมูลตัวเลขที่ซ้ำๆกันเป็นทิวแถวยาวและได้ใช้ข้อมูลเพียงประมาณ 5 ตัวที่ซ้ำๆกันนั้นมาประเมินเป็นลักษณะอากาศ ละเลยอีก 3 ตัวเลขหลังเนื่องจากเห็นว่าเป็น variation เล็กๆน้อยๆ ผลคือสภาพอากาศที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับคำพยากรณ์ เมื่อได้พยายามศึกษาหาสาเหตุจึงได้พบว่า ตัวเลข 3 ตัวหลังนั้นส่งผลอย่างมากที่ทำให้การพยากรณ์ผิดพลาด


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 12, 11:01
ขอกลับไปเรื่อง 13 รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยสักหน่อย ฟังดูน่ากลัวมากนะครับ และจะขออธิบายความเพื่อลดความน่ากลัวลง

ถูกต้องเลยครับ มันมี 13 รอยเลื่อนที่ว่ากัน ซึ่งก็อาจมีได้มากกว่านี้หรือมีได้น้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับกติกาหรือเงื่อนไข (Criteria) ที่เรากำหนดขึ้น
รอยเลื่อนมีพลังก็คือ มันมีพลังงานสะสมพร้อมที่จะเลื่อน ซึ่งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหว
เพื่อความเข้าใจและคลายกังวลสำหรับสาธารณะชน จึงจะขออธิบายขยายความให้เกิดความเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนให้ลึกไปกว่านี้ ดังนี้

ประการแรก เอาอะไรมาบอกว่ามันเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง (Active fault) มีอยู่ 3 วิธีที่มักกระทำกัน คือ
   วิธีแรกด้วยการวัดจริงในสนาม เช่น ใช้กล้อง Survey หรือใช้ระบบ GPS เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของผิวดินในสามมิติ หรือใช้วิธีวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหินข้างๆหรือใกล้ๆรอยเลื่อน (ความดันในเนื้อหิน -pore pressure แรงดึึงระหว่างหินสองระนาบ อุณหภูมิ ก๊าซที่ปล่อยออกมา ฯลฯ)
   วิธีที่สองด้วยการประเมินจากข้อมูลในสนาม โดยใช้ลักษณะของการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนและอายุของชั้นหินชนิดเดียวกันที่มีอายุเท่ากันแต่ไม่อยู่ด้วยกัน คือแยกกันอยู่คนละฝั่งของรอยเลื่อน
   วิธีที่สามด้วยการดูจากประวัติการเิกิด (ในช่วงอายุทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์) และใช้ข้อมูลจากการวัดหาอายุในหินที่บดอยู่ในระหว่างรอยเลื่อน (มีอยู่หลายวิธีการมาก)

ประการที่สอง แล้วเราจัดกลุ่มรอยเลื่อนแต่ละตัวอย่างไร   ตามปรกติก็จะจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มคือ Active, Potentially active, Dead   ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเวลาและกิจกรรมการเคลื่อนที่ของมัน 
  พวก Active หรือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า รอยเลื่อนมีพลัง  พวกนี้มีการเคลื่อนตัวในช่วงประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนแล้วหยุดไปเลย หรือหยุดๆเคลื่อนๆ หรือกำลังเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน
  พวกมีศักยภาพที่จะเคลื่อนตัวได้ (Potentially active) ไม่ว่าด้วยตัวมันเองหรือจากการกระตุ้นโดยการกระทำของมนุษย์ พวกนี้จะมีการกำหนดกรอบเวลาไว้ เช่น เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาแล้วในช่วง 5 แสนปี


ขอเว้นวรรคไปทำธุระก่อนครับ



     



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 12, 15:57
ต่อครับ
    พวกมีศักยภาพที่จะเคลื่อนตัวได้ (Potentially active) ไม่ว่าด้วยตัวมันเองหรือจากการกระตุ้นโดยการกระทำของมนุษย์ พวกนี้จะมีการกำหนดกรอบเวลาไว้ เช่น เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาแล้วในช่วง 5 แสนปี ให้ถือว่ายอมรับได้ (กรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยก่อน) และมีความเสี่ยงไม่สูงมาก แต่ต้องออกแบบกันเอาไว้ในระดับที่กำหนด หรือไม่เลื่อนในช่วง 50,000 บ้าง 20,000 ปีบ้าง ตามเงื่อนไขของงานทางวิศวกรรม
    พวกที่ไม่เลื่อนอีกแล้ว (Dead) พวกนี้เป็นร่องรอยเลื่อนเก่าๆที่คงเหลืออยู่ให้เห็น

สรุปเฉพาะสองเรื่องที่ว่ามานี้ ในไทยมีการทำอะไรไว้บ้าง
   การวัดจริงในสนาม ไม่เคยมีการกระทำอย่างจริงจัง มีแต่การประเมินจากข้อมูลในสนาม ผมเป็นผู้เสนอโครงการสำรวจและได้รับงบประมาณ เมื่อ 2527 เพื่อสำรวจทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลผลิตเป็นแผนที่แสดงรอยเลื่อนที่มีพลังของไทยในเวลาต่อมา ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนมากเป็นเพียงรอยเลื่อนในกลุ่มที่มีศักยภาพจะเคลื่อนตัว หลายรอยเลื่อนไม่ได้มีการสำรวจลงไปถึงระดับว่า ล่าสุดมันเคลื่อนตัวเมื่อคาบเวลาใด (กี่ล้านปี กี่แสนปีมาแล้ว) มีน้อยมากที่มีแผ่นดินไหวเกิดร่วมอยู่ด้วยในขนาดที่ไม่รุนแรงนักในคาบเวลาปัจจุบัน 

ประการที่สาม ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนนั้นๆจะปล่อยออกมา เป็นอย่างไร
  เรื่องนี้ค่อนข้างจะยุ่งยากสลับซับซ้อน เอาเป็นง่ายๆว่า หากอยู่ในพื้นที่ของแรงแบบอัด (Compression regime) ก็รุนแรง หากอยู่ในพื้นที่ของแรงแบบดึง (Extension regime) ก็ไม่รุนแรง แต่พื้นที่ทั้งสองนี้ก็ต้องดูด้วยว่าอยู่ในพื้นที่บริเวณใดของเปลือกโลก
  สำหรับประเทศไทยนั้น พื้นที่ทั้งหมดของเราอยู่ใน Extension regime จากการกระทำของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรอินเดียกับแผ่นที่ไทยเราตั้งอยู่ แม้ว่าบริเวณที่ชนกันเสียดสีกันนั้นจะอยู่ใน Compression regime ก็ตาม ดังนั้น แผ่นดินไหวที่จะเกิดในไทยคงจะไม่แรงไปกว่าที่เคยเกิดมา
  เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ลองเอามีดคมๆชำแหละก้อนเนื้อหมูดู จะเห็นว่าส่วนแรกๆบริเวณที่คมเฉือนเข้าไปนั้น เนื้อหมูจะโป่งขึ้น (เป็นพื้นที่ของ Compression) เมื่อชำแหละเนื้อลึกเข้าไป มีดจะดันเนื้อยืดออกไป (เป็นพื้นที่ของ Extension)
  สรุปในขั้นนี้ เป็นการคาดการณ์หรือเดาอย่างมีเหตุผลรับฟังได้ คือ likelihood


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 17:24
ก่อนจะตอบคุณตั้งไม่กี่นาที   ได้ข่าวว่าแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต    ที่มาคือแผ่นดินไหว 5.5 ริกเตอร์ที่ตอนเหนือของสุมาตรา
ทำไมในภูเก็ต มีคนออกปากว่าแรงจัง  แรงกว่าวันที่ 11 อีกค่ะ

http://www.pantip.com/cafe/news/


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 เม.ย. 12, 17:26
เข้ามาตามเรียนธรณีวิทยาจากคุณ naitang ครับ  แน่นดีมากๆ มาส่งเสียงบอกว่ายังตามเรียนอยู่ครับ

เรื่องธรณีวิทยานี่รู้สึกว่าคนไทยมีความสนใจหรือรู้เรื่องพวกนี้กันน้อยมาก และมักใช้ความเชื่อที่มาจากความรู้ครึ่งๆ กลางๆ พูดต่อๆ เล่าลือกัน
ที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นกรุงเทพเป็นดินอ่อน สร้างรถไฟใต้ดินไม่ได้  จนเดี๋ยวนี้เรามีแล้ว





กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 18:19
ภาพ จากแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต วันนี้ค่ะ

http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11967768/NE11967768.html


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 18:43
อยากทราบรายละเอียดของการเกิดแผ่นดินไหวที่ต่าง ๆ

ให้ลองเข้าไปหารายละเอียด ที่นี่ (http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/map)  เวลาเป็น Coordinated Universal Time (UTC) (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94)  เวลาประเทศไทย = UTC + ๗

ข้อมูลแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในแถบสีฟ้า

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 เม.ย. 12, 18:48
เห็นภาพที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเอามาลง ดูแล้วมันไหวกันขนาดภูเขาสะเทือนกันทีเดียว  :-X


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 19:59
ศูนย์กลางอยู่ที่ภูเก็ตนี่เองถึงทำให้ภูเขาสะเทือนได้

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 12, 20:10
ประการที่สี่ แผ่นดินไหวกับความเสียหาย
  เรามักจะไปติดกับขนาดของแผ่นดินไหวที่วัดและประกาศออกมาเป็นริกเตอร์ มันเป็นเพียงสิ่งที่บอกถึงพลังงานที่ปล่อยมา ณ.จุดกำเนิดว่ามากน้อยในระดับใด หากเป็นขนาดใหญ่แต่จุดกำเนิดอยู่ลึก (เป็นหลักร้อยกิโลขึ้นไป)ก็มีผลต่อความเสียหายบนผิวโลกน้อยมาก แต่หากเป็นขนาดใหญ่ (ระดับ 7, 8 ขึ้นไป) ซึ่งมีจุดกำเนิดอยู่ลึกระดับปานกลาง (เป็นหลักหลายสิบกิโลเมตร) ก็อาจจะสร้างความเสียหายได้มาก ทั้งนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับระยะทางและลักษณะของพื้นดินอีกด้วย  หากเิกิดขนาดไม่ใหญ่นัก (ระดับ 5, 6) แต่อยู่ระดับตื้น (ไม่เกิน 30 กิโลเมตรขึ้นไป) อันนี้สร้างความเสียหายแทบจะทุกครั้ง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มันไหวและโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
   รูปทรงของคลื่นของแผ่นดินไหวที่วิ่งผ่านพื้นดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นตัวบ่งบอกว่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายจะพังทลายด้วยลักษณะใด
   เปรียบเทียบง่ายๆครับ  เอากะละมังใส่น้ำ แล้วเอาก้อนหินมาปล่อยให้หล่นที่กลางกะละมัง เราจะเห็นระลอกคลื่นกระจายออกจากจุดที่หินตก และจะเห็นว่าที่บริเวณใกล้จุดตกยอดคลื่นจะสูงและจะถี่ เมื่อห่างออกไปยอดคลื่นจะต่ำลงและระยะห่างของระลอกคลื่นจะกว้างมากขึ้น  เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นก็จะเกิดคลื่นในทำนองนี้ หากเอาสิ่งปลูกสร้างมาวางครอบลงไปก็จะเห็นว่า ที่บริเวณใกล้จุดศูนย์กลางจะลอยขึ้นลงในแนวดิ่งเป็นหลัก แต่ห่างออกไปก็จะโยกไปเอนมาเป็นหลัก
การพังของสิ่งปลูกสร้างที่ใกล้ศูนย์กลางจึงเป็นลักษณะที่เรียกว่าเสาระเบิด อาคารจะยุบมากองทับกันเป็นชั้นๆเหมือนขนมชั้น สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางก็พังในลักษณะของการล้มตะแคง อันนี้เป็นการอธิบายในภาพง่ายๆ ซึ่งแท้จริงแล้วมันยังผนวกไปด้วยปัจจัยอื่นๆอีกมาก เช่น ลักษณะความแข็งแรงและความหนาแน่นของพื้นแผ่นดินที่รองรับ โครงสร้างของอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ฯลฯ
   วิธีพังทลายของสิ่งปลูกสร้างก็อาจจะเทียบได้ในลักษณะนี้ เหมือนกับอยู่ดีๆมีคนมาต่อยที่หน้า จะชกตรงหรือเสยคางก็ได้ (คลื่นปฐมภูมิวิ่งเร็วกว่า มาถึงก่อน มาปะทะ) จากนั้นก็ถูกผลักให้ล้มลง (คลื่นทุติยะภูมิความเร็วน้อยกว่า วิ่งตามมา มาโยก) แล้วก็ถูกเตะตัดขาซ้ำเติมให้ทรุดลงไปกอง (คลื่นเรเล่ย์และคลื่นเลิฟที่ตามมา) ดังนั้น คนที่ตัวเล็กหรือตัวใหญ่ต่างกัน (ขนาดของริกเตอร์) ยืนชกเราในระยะใกล้หรือห่างต่างกัน (ระยะทาง) มีความคล่องตัวและว่องไวต่างกัน (ความถี่และความสูงของคลื่น) จะทำให้เราซึ่งมีน้ำหนักมาก มีขาและร่างกายแข็งแรง หรือเราซึ่งมีน้ำหนักน้อย เหี่ยวแห้ง เจ็บตัวบอบช้ำได้ต่างกัน  
   ลักษณะต่างๆที่เล่ามา พอจะสรุปได้ในภาพง่ายๆ (อีกเช่นเคย) ว่า แผ่นดินไหวที่อยู่ในระดับตื้น มักจะให้คลื่นที่มีความถี่สูง (High frequency) และมียอดคลื่นสูง (High amplitude) มีอำนาจการทำลายสูงบริเวณใกล้ศูนย์กลาง และมีอำนาจลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อห่างออกไป ระดับของความเสียหายจะรุนแรงมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับขนาด  และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลมาก จะให้คลื่นที่มีระลอกคลื่นกว้าง อาคารจะโยกไปมา จะล้มหรือไม่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของอาคารและทิศทางที่มันโยก

ประการที่ห้า มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้วจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเสมอไป
   ไม่จริง ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยต่างๆดังกล่าวมาแล้ว (ส่วนหนึ่ง) ซึ่งจะขยายความต่อไป
   จึงไม่ต้องตกใจ หรือไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องมีความเสียหาย ทราบใหมครับว่า แผ่นดินไหวในภาคเหนือของไทยนั้น โดยเฉพาะในแอ่งแพร่และเชียงรายนั้น รวมๆกันแล้วเกิดเืดือนละหลายๆสิบครั้ง (มากกว่า 50 ครั้ง) ส่วนมากจะเป็นขนาดเล็กที่เราไม่รู้สึก คือขนาดน้อยกว่า 3 ริกเตอร์ มีน้อยครั้งที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น ให้มันเกิดเถิดครับ เหมือนกับเปิดฝากาต้มน้ำที่เดือด ไม่ให้มันระบายออกมามันก็จะระเบิด ความน่ากลัวจึงมิใช่ไปอยู่ที่มันเกิดบ่อยๆ (คนละเรื่องกับ fore shock กับ after shock ซึ่งมันเป็นการเกิดในอีกลักษณะหนึ่งสำหรับรอยเลื่อนบางประเภทที่ต้องเฝ้าระวัง) ความน่ากลัวของมันคือมันหยุด คราวนี้แหละครับ ไม่สนุกแน่เพราะจะต้องลุ้นว่าเมื่อใดมันถึงจะระเบิด เตรียมรอลูกระเบิดได้เลย จะไปเหมาเอาว่า เห็นไหมเตือนแล้วว่ามันจะเกิด โดยเอาที่มันเกิดแบบปรกติแต่แรงไปหน่อยจนคนตกใจมาเล่นเป็นประโยชน์แก่ตนคงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ตั้งแต่จำความได้ ผมก็รับรู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอดมา (ที่เชียงราย) แต่คนในปัจจุบันอาจไม่เคยรับรู้และไม่รู้สึกก็เพราะด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างของบ้านเรือนสมัยก่อนต่่างกับสมัยนี้มากในเชิงของ Rigidity      
  ดังที่ผมได้เล่ามาแล้วถึงเรื่องของขนาด (Magnitude) กับความรุนแรง (Intensity) ถ้่ามันไม่ทำให้เราตกใจมันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล เรากลัวเพราะมีคนมาบอกให้เรากลัว ต้นตอของมันก็มาจากที่อยู่ในกลุ่มรอยเลื่อน 13 ตัวนั้นแหละ ที่ว่าอีสานปลอดภัยที่สุดนั้นก็ไม่จริง รอยเลื่อนตามแนวแม่น้ำศรีสงครามทางมุมบนด้านตะวันออกเฉียงเหนือริมชายโขงของอีสานนั่นก็เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวเหมือนกัน และอยู่ในช่วงอายุเรานี่แหละครับ        
  


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 12, 21:12
คำตอบเรื่องแผ่นดินไหวที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อบ่ายแก่นี้ ที่รู้สึกได้ที่ภูเก็ตคงจะมีอยู่บางส่วนแล้วที่ผมเพิ่งจะโพสด์ๆไป

ผมกำลังตรวจสอบข้อมูลที่กรมอุตุฯบอกว่าศูนย์กลางอยู่ใต้ อ.ถลาง ภูเก็ต แต่ไม่เห็นมีรายงานใน USGS เลย ก็เลยสงสัยอยู่ว่า ถูกต้องหรือไม่
น่าสนใจนะครับ เกิดก่อนที่จะเกิดแถวสุมาตราเพียง 2 นาทีเท่านั้น แถมอยู่ใต้ อ.ถลางอีกด้วย
แล้วก็ยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีก เนื่องจากว่าในการหาตำแหน่งจุดศูนย์กลางนั้น เขาจะใช้ข้อมูลอย่างน้อยจากสามสถานีที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งเป็นรูปสามเหลี่ยม ข้อมูลต่างๆในระบบโครงข่ายของโลกต่างก็ถูกส่งเข้าศูนย์หรือองค์กรที่ฮาวาย และที่ Menlo Park ในซานฟรานซิสโก ซึ่งหากมีจุดกำเนิดอยู่ใต้ถลางจริงๆ ศูนย์ดังกล่าวก็คงจะประกาศออกมาและหาได้แล้วในอินทรเนตร
หลายๆครั้ง ด้วยความชำนาญ เราก็คาดเดาจากทิศทางและระยะทางที่ทราบได้จากเครื่องมือผนวกกับรายงานความรู้สึกจากศูนย์ของกรมฯแล้วบอกตำแหน่งที่เิกิด จะถูกจะผิดมากเพียงใด มันก็เป็นการแสดงความไวในการตอบสนองและเป็นเพียง Interim information ซึ่งตำแหน่งจริงก็จะต้อง Refine ในภายหลังและตรวจสอบดูได้จาก Archive ของศูนย์ที่ฮาวาย
 
เหตุที่ภูเก็ตรับรู้การไหวสะเทือนได้มาก ก็เพราะเป็นเกาะที่เป็นหินแกรนิตอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งทางด้านตะวันตก หินแกรนิตมีฐานที่ลึกลงไปใต้ผิวโลกมากซึ่ง ณ.จุดนั้นก็จะเชื่อมต่อเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับหินที่อยู่ใต้ผิวโลกในระดับลึก ดังนั้น เครื่องมือวัดแผ่นดินไหวที่ดีและเชื่อใจได้มากที่สุดจึงมักจะวางอยู่บนพื้นที่ๆเป็นหินแกรนิต เครื่องมือของไทยที่จัดได้ว่าไว้ใจได้ในระดับโลกก็ตั้งอยู่ในอุโมงในหินแกรนิต (หรือหินไนส์ -Gneiss) ที่ดอยสุเทพ เชียงใหม่   




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 09:55
ย้อนกลับไปย่อหน้าสุดท้ายในความเห็นของผม
ด้วยความรวบรัดจึงลืมเล่าไปถึงเหตุผลที่เครื่องวัดแผ่นดินไหวตั้งอยู่บนหินแกรนิตอีกประการหนึ่ง คือ ด้วยความที่มันมีเนื้อเป็นมวลเดียวกัน ดังนั้นคลื่นแผ่นดินไหวจึงเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกดูดซับ ไม่กระเด้งกระดอนไปตามรอยต่อระหว่างระนาบต่างๆ (ดังที่ระนาบที่เห็นเป็นชั้นๆในหินชั้นหรือหินตะกอน) ซึ่งจะทำไห้ความแรงของคลื่นเบาลงจนเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัด
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 11:04
ชาวภูเก็ตก็คงระทึกไปอีกหลายวัน ละค่ะ

คุณตั้งคงเคยอ่านข่าวรอยเลื่อนใต้เขื่อน ที่จะทำให้เขื่อนเมืองกาญจน์แตก   ถ้าอย่างนั้นน้ำก็จะไหลบ่าจากทิศตะวันตกของกรุงเทพ ท่วมเมืองกาญจนบุรี 2 เมตร มิดหัวชาวเมือง   มาถึงสุพรรณบุรี  ราชบุรี นครปฐม กว่าจะไปลงทะเลที่สมุทรสาคร
กรุณาอธิบายให้ใจชื้นขึ้นหน่อยได้ไหมคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 11:32
แล้วในความสงสัยของผมก็ถูก ศุนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เกาะยาว มิใช่ที่ภูเก็ต
ซึ่งก็ยังอธิบายได้เหมือนเดิมว่า เหตุใดภูเก็ตด้านตะวันตกจึงรับรู้การไหวได้มาก ก็เพราะคลื่นเดินทางได้ดีในหินอัคนีมากกว่าในหินชั้น ด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ตเป็นหินดินดาน ความรู้สึกไหวสะเทือนจึงอาจจะน้อยกว่า แล้วก็อย่างที่เล่ามาครับ จุดเกิดแผ่นดินไหวที่อยู่ตื้นจะให้คลื่นความถี่สูง ดังนั้น กระจกบ้านเรือนจึงสั่นรัว (Rattle)  ที่ว่าได้ยินเสียงดังวิ่งเข้ามาและผ่านไปนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละครับ มันเป็นเสียงรวมของการสั่นรัวของหน้าต่าง ของกระจก ของประตู ของหลังคาโครงหลังคา ฯลฯ ที่จริงแล้วน่าจะยังเล่าหรือบรรยายไม่ครบหมดเสียด้วยซ้ำ คือ พอเสียงวิ่งผ่านเข้ามาถึงตัวบ้านเราก็จะได้ยินเสียงกระแทกดังตึ้งแล้วเสียงก็จะวิ่งผ่านไป ตามด้วยอาการโยกไปมาเล็กน้อย (เป็นประสบการณ์ที่ผมมีในครั้งประจำการอยู่ในญี่ปุ่น) ของพวกนี้มาเร็วไปเร็ว ไม่เคยก็จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร
ในเชิงของความเสียหายนั้น คงจะไม่มีอะไรมาก สำหรับอาคารบ้านเรือนรุ่นเก่าๆ ก็อาจจะพบรอยแตก รอยร้าว รอยปริระหว่างตัวเสากับผนังบ้าน อาจจะพบรอยแตกทะแยงจากหัวเสาลงมาตามผนังสั้นๆ อะไรทำนองนี้ครับ

    ผมไม่มีข้อมูลมากพอที่จะกล่าวถึงแผ่นดินไหวในครั้งนี้  ดังนั้น จากนี้ไปจึงเป็นความเห็นจากความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมนานมาแล้วของผม
   เกาะยาวอยู่ในบริเวณที่เป็นแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งแนวนี้จะพาดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเข้าไปในเขตอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี แนวรอยเลื่อนนี้ถูกจัดว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งในความเห็นของผมคงจะมิใช่ในลักษณะที่เป็น Active fault ผมเห็นว่าเป็นในลักษณะของ Potentially active เท่านั้น ผมคิดว่าในขณะนี้คงจะมีหลายคนที่ผูกแผ่นดินไหวที่เกาะยาวเข้ากับรอยเลื่อนนี้ไปแล้ว และขยับไห้มันเป็น Active fault ไปเสียแล้วด้วยซ้ำไป ผมยังไม่ด่วนสรุปแบบนั้นครับ
   แท้จริงแล้วแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะเกิดจากการถล่มของโพรงในหินที่ถูกบดอยู่ตามแนวรอยเลื่อนก็ได้ เนื่องจากหินที่ถูกบด (Breccia) ตามแนวรอยเลื่อนนี้เป็นหินปูน เป็นหินที่จับตัวกันแน่นเป็นหินในเวลาต่อมา แต่เนื้อไม่แน่นเหมือนกับหินอื่นๆตามปรกติ จึงถูกน้ำเซาะละลายเป็นโพรงได้ง่าย เมื่อได้รับแรงกระเทือนจากแผ่นดินไหวในสุมาตราซ้ำๆหลายครั้งเข้า จึงค่อยๆเสียสมดุลย์และพังลงในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปและทั่วโลก  


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 11:43
http://www.youtube.com/watch?v=CiIlVAoXp6Y

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต ไม่ได้อยู่ที่ถลาง ไม่ได้อยู่ที่ทางเหนือของสุมาตรา  ???  ???


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 11:46
คุณตั้งคงเคยอ่านข่าวรอยเลื่อนใต้เขื่อน ที่จะทำให้เขื่อนเมืองกาญจน์แตก   ถ้าอย่างนั้นน้ำก็จะไหลบ่าจากทิศตะวันตกของกรุงเทพ ท่วมเมืองกาญจนบุรี 2 เมตร มิดหัวชาวเมือง   มาถึงสุพรรณบุรี  ราชบุรี นครปฐม กว่าจะไปลงทะเลที่สมุทรสาคร   กรุณาอธิบายให้ใจชื้นขึ้นหน่อยได้ไหมคะ

ผมพยายามจะกั๊กไว้ ไม่เล่า แต่เมื่อขอมาก็ตอบไปครับ

ผมเป็นคนที่ทำงานสำรวจในพื้นที่นั้นช่วงเริ่มสร้างเขื่อนเจ้าเณร และเป็นคนเขียนรายงานความเห็นทางธรณ๊วิทยาของเขื่อนเขาแหลมในช่วงที่มีการตัดสินใจสร้างแล้ว แล้วก็ทำงานในพื้นที่นั้นจนกระทั่งสร้างเขื่อนท่าทุ่งนาเสร็จ ครับ

ขออนุญาตใช้เวลาเรียบเรียงลำดับเรื่องนิดเดียวครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 17:34
ผมกำลังตรวจสอบข้อมูลที่กรมอุตุฯบอกว่าศูนย์กลางอยู่ใต้ อ.ถลาง ภูเก็ต แต่ไม่เห็นมีรายงานใน USGS เลย ก็เลยสงสัยอยู่ว่า ถูกต้องหรือไม่

แล้วในความสงสัยของผมก็ถูก ศุนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เกาะยาว มิใช่ที่ภูเก็ต

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต ไม่ได้อยู่ที่ถลาง ไม่ได้อยู่ที่ทางเหนือของสุมาตรา  ???  ???

USGS ช้านัก เพิ่งมีรายงานที่เกาะยาว   :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 19:40
จะเข้าเรื่องเขื่อนใน จ.กาญจนบุรี ครับ

ในสมัยที่ผมทำงานสำรวจนั้น มีข้อจำกัดในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจมาก อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ภาพถ่ายทางอากาศ (ปี 1953) เข็มทิศ และฆ้อนธรณี นอกจากนี้ก็คือความรู้ ความสงสัย ความละเอียดในการจดจำและสังเกต และความใส่ใจอยากจะรู้ เท่านั้นเอง

ปูพื้นฐานนิดนึงนะครับ
ในพื้นที่ลาดชันสูง น้ำจะกัดเซาะในทางลึกและค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง พอเข้าพื้นที่ๆลาดชันน้อยลง น้ำก็จะเริ่มกัดเซาะออกไปในทางราบ พยายามหาทางเดินเลาะไปตามร่องรอยแตกรอยแยกแล้วขยายให้กว้างขึ้น แต่หากประสบพบช่องทางที่เป็นเส้นตรงเมื่อไรก็จะเลือกที่จะไหลลงไปทางนั้นและจะกัดลงในทางลึกเพราะง่ายกว่า บังเอิญที่ทางตรงเหล่านี้มักจะเป็นแนวของรอยแตกในหินที่เกิดอย่างมีระบบ (Joint system) และแนวรอยเลื่อน (Fault) ซึ่งในร่องรอยเลื่อนนี้หินจะถูกบดขยี้จนแตก ไหลเซาะได้งายกว่า เมื่อกัดเซาะลงในทางลึกได้มาก ก็ไม่ไปทางข้าง ผลก็คือทำให้เกิดเป็นช่องเขาที่ขนาบไปด้วยหน้าผาหรือเขาสูงชัน ซึ่งเหมาะแก่การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ คือ สั้นเขื่อนไม่ยาว สูงมากพอที่จะกั้นน้ำได้มาก เมื่อได้ระดับน้ำสูงก็จะได้พลังงานมากในการนำมาปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ไฟมากตามไปด้วย และยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างน้อยลง เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหลายในโลกเป็นส่วนมาก หรือเกือบจะเรียกว่าแทบจะทั้งนั้นก็ว่าได้ จึงถูกเลือกสร้างในภูมิประเทศลักษณะนี้ และก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นร่องเขาที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน ทั้งที่เป็นรอยเลื่อนยาวหลายร้อยกิโลเมตรหรือรอยเลื่อนยาวขนาดในหลักสิบกิโลเมตรหรือสั้นๆ เรียกว่าหนีไม่พ้นรอยเลื่อนก็แล้วกัน ไม่ว่ารอยเลื่อนนั้นจะอยู่กลางช่องเขาหรืออยู่ข้างๆด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม ในทางธรณีวิทยาแล้ว รอยเลื่อนมีเยอะแยะเต็มไปหมด หากไม่มีเลยก็ดูจะแปลกไป แต่ที่มันมีศักยภาพจะเคลื่อนตัวนั้นมีจำนวนไม่มาก
ดังนั้น การพูดถึงรอยเลื่อนตามที่ปรากฎให้เห็นทางกายภาพนั้นจึงไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาพฤติกรรมของมันด้วย 

ประเด็นจึงไปอยู่ที่ว่ารู้จักรอยเลื่อนและพฤติกรรมของมันดีพอมากน้อยเพียงใดก่อนที่จะสร้างเขื่อน เพื่อที่จะได้ออกแบบเขื่อนให้แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับพฤติกรรมของรอยเลื่อนนั้นๆที่มันเคยเกิดขึ้นมาในอดีต และเผื่อไว้ด้วยสำหรับอาการเพี้ยนที่มีโอกาศจะเกิดขึ้นมาในระดับที่เราพิจารณาแล้วว่าเพียงพอที่จะรับมือมันได้ หรือแย่ที่สุด ร้าวได้ เสียหายบางจุดได้ แต่จะต้องไม่พัง ทั้งนี้ หากมันยังคงมีอาการพยศอยู่และมีประวัติย้อนหลังไปในช่วงอายุทางโบราณคดี ก็คงไม่สนใจที่จะไปสร้างเขื่อนคร่อมมัน แต่หากมันหยุดพยศมาแล้วนับเป็นหลายหมืนหลายแสนปีขึ้นไป ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจใดๆ  เขื่อนทุกเขื่อนในโลกที่สร้างในช่วงหลังๆตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2470 เป็นต้นมาคิดอยู่ในปรัชญานี้ และแต่ละเขื่อนที่สร้างกันต่อๆมาก็มีความแข็งแรงมากขึ้นตามพัฒนาการทางวิศวกรรม 

     
   


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 เม.ย. 12, 20:27
โอ้โห เป็นความรู้ใหม่จริงๆ ครับ  น่าสนใจมากขนาดนักเรียนสุดขี้เกียจอย่างผมต้องขยับจากหลังห้องมานั่งตาแป๋วหน้าห้องรอ lecture เลยนะครับนี่


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 20:36
ค่อยๆย่องจากแถวหลังสุด   เอารูปรอยเลื่อน 13 แห่งมาแจมค่ะ

เปิด 13 รอยเลื่อนในประเทศไทย,ภาพจากวิชาการดอทคอม

    รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
    รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุมแม่ฮ่องสอน และตาก
    รอยเลื่อนเมย ครอบคลุมตากและกำแพงเพชร
    รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม เชียงใหม่, ลำพูน และเชียงราย
    รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุมลำปาง และแพร่
    รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมลำปาง, เชียงรายและพะเยา
    รอยเลื่อนปัว ครอบคลุมน่าน
    รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุมอุตรดิตถ์
    รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและราชบุรี
    รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและอุทัยธานี
    รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุมหนองคายและนครพนม
    รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุมประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, และพังงา
    รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุมสุราษฎร์ธานี, กระบี่ และพังงา


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 21:13
ทางการประกาศให้ถลางเป็นแหล่งภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วค่ะ 
มีข่าวออกว่านักธรณีวิทยา เตือนให้ระวังรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง
แถมยังมีข่าวกรุงเทพมหานครแถลงแผนเตรียมป้องกันภัยพิบัติอีกด้วย
แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วหรือนี่


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 21:24
                                          ประกาศ!อ.ถลางเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน
จังหวัดภูเก็ตประกาศ อ.ถลาง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โยธาฯภูเก็ต เผยตรวจสอบอาคารสูงปกติ

                    17 เม.ย.55 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดภูเก็ต ว่า จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์อยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา และสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต โดยล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 17 เม.ย.55 นายสมเกียรติ  สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ลงนามในประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอถลาง

                    มีเนื้อหาว่าด้วยได้เกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ความลึก 10 กิโลเมตร ขนาด 4.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เวลา 16.44 น. เบื้องต้นได้รับรายงานรู้สึกสั่นไหวจากประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรจำนวน 33 ครัวเรือน ณ พื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต  ภัยดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เวลาประมาณ 17.00 น.

                    อาศัยอำนาจตามข้อ16(2) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจึงประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวของจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินและจำเป็นต้องรีบป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือลดอันตรายจากภัยพิบัติที่จะทำความเสียหายต่อสิ่งสาธารณประโยชน์หรือลดความเสียหายต่อราษฎรโดยพลัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทันทีตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินพ.ศ.2555”

                    นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต กล่าวถึงการตรวจสอบตึกสูงของจังหวัดภูเก็ต ว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานโยธาธิการฯ ได้มีการสุ่มตรวจสอบตึกสูงและอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงแรม โรมหรสพ อาคารห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติ โดยการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องอาคารสูงนั้น เป็นหน้าที่ของทางองค์กรปกครอง

                    ส่วนท้องถิ่นในการควบคุมดูแลและให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้าง แต่เนื่องจากฎหมายดังกล่าวพึ่งประกาศใช้เมื่อประมาณปี 2550 ดังนั้นจึงไม่ครอบคลุมในส่วนของตึกเก่าที่มีการก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายควบคุมอาคารออกมาบังคับใช้ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งกรณีของอาคารเก่าได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

                    ขณะที่นายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีตึกเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนเยาวราช และซอยรมณีย์ ซึ่งขณะยังไม่ได้รับแจ้งความเสียหายของตึกเก่าในพื้นที่ดังกล่าว หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง แต่ก็ได้สั่งการให้ทางกองช่างเทศบาลฯ ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว พร้อมกันนี้ก็ยังได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาคารที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวแล้วด้วย

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 เม.ย. 12, 21:30
เรียนถามคุณ naitang ครับ

รอยเลื่อนนี่ นิยามจริงๆ แล้วมันคืออะไรครับ  ใช่รอยทางที่เกิดจากน้ำไหลเซาะหินเท่านั้น หรืออย่างไรครับ
ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจเอาเองว่ารอยเลื่อนนี่คือบริเวณขอบของเปลือกทวีป ตรงที่เป็นรอยต่อรอยแยกมาตลอดเลยนะครับนี่
หรืออย่างมากก็คือแผ่นเปลือกโลกย่อย ที่อยู่บนแผ่นใหญ่อีกที ตรงขอบๆ พวกนี้ถึงเรียกว่ารอยเลื่อน
ยิ่งมาเห็นแผนที่ที่ท่านอาจารย์เทาฯเอามาให้ดู เอ๊ะมันมีมากขนาดนั้นเลย ไม่คิดมาก่อนว่าในไทยมีเยอะ เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงไหล่หรือขอบทวีป
ขนาดที่องครักษ์ ปทุมธานี่นี่เอง ยังมีรอยเลื่อนด้วย ความรู้ใหม่จริงๆ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 21:38
คุณประกอบอย่าเอาดิฉันเป็นแหล่งอ้างอิงเลยนะคะ   เพราะดิฉันไม่รู้เรื่องรอยเลื่อนยิ่งกว่าคุณเสียอีก     แค่ไปรวบรวมข่าวมาเพื่อถามคุณตั้งเท่านั้นเอง
อ่านข่าวข้างล่างนี้แล้วก็เริ่มจะอยากได้แปะฮวยอิ๊ว  เพราะไม่รู้แล้วว่าแผ่นดินไหวครั้งไหนเป็นครั้งไหน    ที่เกาะยาวหรือที่ถลาง หรือว่าทั้งสองที่
แต่ข่าวนี้ราชการแถลง  ก็ลอกมาถามนักธรณีวิทยาประจำเว็บเราอีกทีก็แล้วกันค่ะ

วันนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา13.30 น. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  โดยนายนิทัศน์ กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ. ถลาง มีขนาด 4.3 ริกเตอร์  ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และยังเกิดแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกจำนวน 5 ครั้ง ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์ จนทำให้มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 30 หลังคาเรือน

สาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวถือว่าประเทศไทยโชคดีที่เป็นเกิดแผ่นดินไหวตามแนวนอน ผลกระทบจึงไม่เกิดขึ้นมาก  ที่สำคัญการเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ถลาง เป็นการเกิดแผ่นดินไหวในเวลาใกล้เคียงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินไหวตามกันหรืออาฟเตอร์ช็อกแต่อย่างใด เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนใน พื้นที่จ.ภูเก็ตสั่นไหวจนรู้สึกได้ทั้งจังหวัดได้
 
นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ยืนยันว่าเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตนั้น ภาครัฐไม่ได้ปกปิดข้อมูลต่อประชาชน แต่เป็นเพราะต้องเช็ครายละเอียดให้แน่นอนก่อน เนื่องจากข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและกระทบกับชีวิตของประชาชน ดังนั้นการจะประกาศข้อมูลใดออกไปจะต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดและรอบคอบก่อน อย่างไรก็ตามขอเตือนให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซียขนาด 8.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ได้มีประชาชนหนีจากอาคารสูงลงทางลิฟท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวไฟฟ้าอาจจะถูกตัดเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้อาคารสูงมีบันไดหนีไฟ และให้ใช้ในกรณีที่เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวด้วย

นอกจากนั้นในส่วนของอาคารสูงและเขื่อนนั้นเราไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในเรื่องการออกแบบทางวิศกรรมที่รองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเขื่อนส่วนใหญ่ของกรมชลประทานที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนอยู่แล้วและมีการวางระบบเตือนภัยอย่างเข้มข้น  แต่สิ่งที่เป็นห่วงคืออาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปที่สูงเพียง 1-2 ชั้น ที่อาจจะไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นในจ.ภูเก็ต ที่มีบ้านเรือนเสียหาย เสา กำแพงแตกร้าวไปกว่า 30 หลัง ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันต่อไป

ด้านนายเลิศสิน  กล่าวอีกว่า  การเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด  8.6 ริกเตอร์ และ 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดตามมานั้น เป็นแผ่นดินไหวคนละเหตุการณ์กันไม่ใช่แผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกตามที่เข้าใจในตอนแรก  ซี่งการเกิดแผ่นไหว 2 ครั้งดังกล่าวส่งแรงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเกิดบริเวณแขนงของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย  ทำให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยความยาว 150 ก.ม.  และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 ก.ม.  ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงาเป็นพิเศษ   เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มรอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับตัวชัดเจน ทั้งยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แม้แผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดจากรอยเลื่อนหลักแล้วจึงส่งผลไปรอยเลื่อนแขนง แต่เมื่อรอยเลื่อนแขนงขยับตัวแล้วก็อาจจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบนตัวรอยเลื่อนหลักได้เช่นกัน

“จากการที่กรมทรัพยากรธรณีนำตะกอนดินของทั้ง 2 รอยเลื่อนไปตรวจสอบพบว่ามีการยกตัวของชั้นดินชัดเจน และเมื่อ 3,600 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ซึ่งมากที่สุดมาแล้ว  และจากวันนี้เป็นต้นไปแผ่นดินไหวที่เกิดจาก 2  รอยเลื่อนดังกล่าวนี้สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ  แต่ขนาดจะไม่รุนแรงและเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น  เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้  แต่รอยเลื่อนในประเทศไทยเป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก จึงสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น” นายเลิศสิน กล่าว
 
นายเลิศสิน กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยก็ยังปลอดภัยที่สุดกว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก  ดังนั้นประเทศไทยก็คงต้องเฝ้าระวังตามกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆ ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้รอยเลื่อนทั้งหมดในประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน จากเดิม 13 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนรอยเลื่อนเดิมคือรอยเลื่อนท่าแขก จ. หนองคาย นครพนมและต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว กรมทรัพยากรธรณีได้ตัดออกจากบัญชีรอยเลื่อนที่มีพลัง เพราะไม่มีการขยับตัวมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในประเทศลาวได้

อย่างไรก็ตามได้เพิ่ม 2 รอยเลื่อนใหม่ที่มีพลังขึ้นมา คือ รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย และ พะเยา  และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์  แต่ขณะนี้รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังมากที่สุด  ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบไปถึงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดหลุมยุบในบริเวณแนวรอยเลื่อนเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีสภาพเป็นหินปูนและแผ่นดินไหวส่งผลต่อระบบน้ำใต้ดิน แต่ไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดแผ่นดิน ส่วนรอยเลื่อนอื่นที่เหลือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด.


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 22:18
ตอนนี้ก็คงกำลังสนุกที่จะบอกกล่าวเล่าเรื่อง ถามมาตอบไป ลืมนึกถึงผลกระทบในเชิงของความตกใจและ panic บางครั้งให้ข้อมูลหมดแต่ข่าวเอาไปลงไม่หมด ต้ดตอนเอาแต่ที่จะจั่วหัวและเอามันเข้าว่า

แทนที่จะไปถามต่อกับวิศวกรรมสถานว่า อาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่กรมโยธาฯ ฝ่ายโยธาฯ ต่างๆออกแบบบ้าง อนุญาตให้สร้างบ้างเหล่านั้น เป็นไปตาม building code แล้วทนแรงกระทำจากแผ่นดินไหวในระดับที่เกิดมาแล้วได้มากน้อยเพียงใด และจะทนกับระดับสูงสุดได้เท่าได เพื่อลดการ panic

คำตอบที่จะได้รับ เดาได้เลยว่า  ทนได้แน่นอน แต่หากแรงจริงๆก็อาจมีร้าวและพังบ้าง ความผิดจะไปอยู่ที่ผู้รับเหมาทำผิดสเป็กและใช้ของไม่ได้มาตรฐาน

ผมทราบจาการทำงาน จากการประชุมสมัยเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ เมื่อหลังเหตุการแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ที่ กทม.เมื่อปี 2526 ว่าสิ่งปลูกสร้างสูงทั้งหลายนั้น วิศวกรได้คำนวนการทนต่อแรงลมซึ่ง safe มากพอที่จะรองรับแรงจากแผ่นดินไหวในครั้งที่ได้รับรู้ใน กทม. เมื่อปี 2526
 
วิธีการจัดการกับพิบัติภัยจากธรรมชาตินั้น คือเรื่องของกระบวนการลดระดับความรุนแรงของความเสียหายล่วงหน้าหากเิกิดเหตุขึ้นมา (Mitigation) ซึ่งน่าเสียดายที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก จึงมุ่งเน้นไปในเรื่องของการกู้ภัยเสียมากกว่า (Salvation)

ออกข่าวแล้วยังไงต่อ ??? ให้เขา panic กันเล่นๆกระนั้นหรือ ??? แผ่นดินไหวขนาด 3-4 กว่าๆนี้ เกือบจะไม่สร้างความเสียหายใดๆเลย
 

 



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 12, 22:46
สงสัยว่าจะต้องขอแปะฮวยอิ๊วด้วยคนครับ

ฟังหูไ้ว้ไ้ว้หูก่อนนะครับ

ผมยังเชื่อข้อมูลของ USGS อยู่นะครับ เนื่องจากเป็นข้อมูลจากระบบโครงข่ายมาตรฐานที่มีอยู่หลายสถานีทั่วโลกที่นำมา plot หาจุดกำเนิด รอให้เขา refine อีกสักหน่อยครับ

สังเกตใหมครับ คนที่บอกยืนยันว่าจุดกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ภูเก็ตเป็นอธิบดี (ไม่ใช่นักธรณีฯ) สำหรับนายเลิศสิน (นักธรณีฯ) ไม่กล่าวถึงชื่อภูเก็ตใดๆเลย แต่กล่าวถึงแขนงของรอยเลื่อนซึ่งอยู่ในทะเลฝั่งอ่าวพังงาครับ

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 เม.ย. 12, 10:37
เพิ่งกลับจากไปท่องเที่ยวที่กระบี่ในช่วงสงกรานต์มาค่ะ  เห็นกระทู้นี้ก็ตามอ่านเพราะก่อนไป 2 วันมีข่าวแผ่นดินไหว8.9 เล่นเอาแทบจะยกเลิกการเดินทาง ...แต่ก็เสียดายเพราะเตรียมใจไว้นานแล้วว่าจะไปทางใต้อีกสักครั้ง(ห่างจากครั้งแรก 20กว่าปี ) ในเมื่อไหวไปแล้ว ที่จะตามมาก็คงจะไม่มากนัก (คิดเข้าข้างตัวเอง ) ก็ลองดู (ตามข่าวแล้วคิดว่าน่าจะเสี่ยงได้...แม้จะหวาดๆอยู่บ้างก็ตาม ) นี่ถ้าอ่านกระทู้นี้ก่อนไป คงสบายใจมากกว่านี้ค่ะ

       จากก.ท.ม.นั่งรถไปเรื่อยๆ เกือบ 12 ช.ม.กว่าจะถึงกระบี่ รุ่งขึ้นก็นั่งเรือไปเที่ยวเกาะปันหยีขณะที่มีอีกกลุ่มแยกไปดำน้ำดูปะการังและปลาสวยๆที่เกาะพีพี (ทั้งที่อยากไปดำน้ำแต่กลัวสึนามิ) วันรุ่งขึ้นได้ไปแช่น้ำแร่ร้อนที่กระบี่ โอ๊ะ ...คุณภาพระดับเดียวกับญี่ปุ่นเลยค่ะ เพียงแต่สบายใจกว่าไปออนเซ็นที่ญี่ปุ่นเพราะ เป็นแบบไทยๆ...อิอิ

       มีการบ้านเล็กๆมาถามนักธรณีฯ แต่ขอย่อขนาดรูปก่อนนะคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 เม.ย. 12, 10:57
ภูเขาแถบนี้เป้นภูเขาหินปูน แต่ส่วนที่พื้นผิวกระเทาะเห็นเป็นเส้นสีส้ม (สีอิฐ)

เนื้อแท้ของเขาหินปูนจะมีสีแบบนี้ทุกแห่งไหมคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 เม.ย. 12, 11:05
เกาะปันหยี ที่เห็นเป็นหมู่บ้านกลางทะเล มองดูรอบๆเห็นว่ามีแนวไม้โกงกางอยู่ฝั่งตรงข้าม เหมือนเป็นสองฝั่งทะเลที่คล้ายฝั่งคลองขนาดใหญ่  เวลาเกิดคลื่นสึนามิจะได้รับผลกระทบอย่างไรคะ หรือแนวไม้จะกลั้นคลื่นจากทะเลเปิดไว้ได้ ....

ภาพลักษณ์ของเกาะปันหยีในวันนี้เปลี่ยนไปมาก ขนาดของชุมชนใหญ่ขึ้นเกือบ 3 เท่า มีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชัดเจนมาก การจัดระเบียบดีขึ้น ร้านรวงดูหรูหรา สะดุดตา ต่างจากบ้านเรือนชาวประมงขนาดเล็กที่เงียบสงบมาก
เรือท่องเที่ยวมีทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรืองหางยาวของชาวบ้าน เรือยอร์ชสีขาว และเรือสำราญ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 เม.ย. 12, 11:32
ส่งภาพเพิ่มเติมค่ะ เห็นเรือใหญ่แบบนี้แล้วนึกถึงปันหยีอีก30 ปีข้างหน้า... :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 12, 16:02
ตอนตีสี่ เมื่อคืนนี้  เกิดแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตอีกแล้วค่ะ
มีคนบอกว่า บ้านสั่นไหวแรงจนรู้สึก

http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11973971/NE11973971.html


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 12, 20:41
ประเด็นเรื่องจุดกำเนิดอยู่บริเวณใต้เกาะยาวหรือใต้ อ.ถลาง
พอจะมั่นใจได้แล้วครับว่า อยู่ใต้ อ.ถลาง เพราะทราบว่ามีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวตั้งอยู่แถวๆสนามบินภูเก็ต ประกอบกับมันมีการไหวอยู่หลายครั้งและเป็นขนาดเล็ก ซ้ำๆอยู่ในบริเวณเดิม หากยังบอกผิดไปก็คงจะแย่แล้ว แผ่นดินไหวขนาด 2, 3 เหล่านี้มีพลังไม่มากที่จะทำให้คลื่นกระจายไปได้ไกล ดังนั้นสถานีวัดไกลๆก็จะรับได้เฉพาะเมื่อสถานีนั้นมีการตั้งค่าการขยายสัญญาณไว้สูงมากๆ
อนึ่ง เมื่อไปตรวจสอบแผนที่ธรณีฯให้ละเอียดมากขึ้น ก็พบว่าบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดนั้น (เห็นได้จากลักษณะภูมิประเทศอีกด้วย) เป็นรอยต่อระหว่างเขาหินแกรนิตกับพื้นที่ราบ ซึ่งแสดงถึงการมีรอยเลื่อน (เล็กๆหรือแขนงของรอยเลื่อนหลัก) พาดผ่านบริเวณรอยต่อนั้น

คราวนี้มาวิเคราะห์กัน
จุดเกิดแผ่นดินไหวที่สุมาตราเป็นบริเวณพื้นที่ของแรงดัน (Compression regime) ห่างออกมาประมาณ 500 กม.แถวๆภูเก็ตจะอยู่ในพื้นที่ของแรงถ่าง (แรงดึง)(Extension regime) ทั้งสองแรงนี้มีความสัมพันธ์กัน  ดังนั้นเมื่อฝ่ายที่มีแรงมากเคลื่อนไหว (พื้นที่แรก) ก็อาจจะทำให้ฝ่ายที่มีแรงน้อย (พื้นที่ๆสอง) ต้องปรับตัวขยับไปด้วย แต่การเคลื่อนไหวทั้งหมดมิจำเป็นต้องเกิดในเวลาพร้อมๆกัน      แผ่นดินไหวในพื้นที่ของแรงถ่างจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่รุนแรง ประมาณ 5 ริกเตอร์

เราพอทราบแต่เดิมว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยนี้มีศักยภาพในการเคลื่อนตัว ข้อมูลจากการสำรวจในปัจจุบันล่าสุดได้พบว่า มันมีการเคลื่อนตัวครั้งล่าสุดในคาบเวลาระหว่าง 1000 -2000 ปี ซึ่งได้จากการวิเคราะหาอายุตะกอนดินในอายุเดียวกันที่เคลื่อนที่แยกจากกันตามแนวรอยเลื่อน (คนละฝั่งของแนวรอยเลื่อน) ก็เป็นอันว่ามันจัดเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง (Active fault) ที่ผมคิดแต่เดิมว่ามันมีเพียงศักยภาพที่จะเคลื่อนตัวได้นั้น ก็เป็นอันว่าผิด แต่ก็ดีใจนะครับเพราะเป็นการแสดงว่ามีพัฒนาการทางวิชาการและได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงพอในการทำงาน ในการพิสูจน์ทราบ และมีข้อยุติที่มีข้อมูลยืนยัน แล้วก็ดีใจที่ได้เป็นคนเริ่มต้นเสนอโครงการสำรวงจตั้งแต่ 2527 แล้วได้เห็นผลที่มีคุณค่าในอีกเกือบสามสิบปีต่อมา

ขอเว้นวรรคไปเขียนต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 เม.ย. 12, 21:32
^
น่าภาคภูมิใจแทนจริงๆ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 เม.ย. 12, 00:43
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ...อ่านจาก Facebook ค่ะ

[[[ข้อมูลสำคัญจากอ.ปิยะชีพ ส. วัชโรบลนะครับ สรุปเหตุการณ์แค่วันเดียวได้รุนแรงมาก ยังเหลือ 18-28 ที่น่าจะหนักกว่าอีกหลายสิบเท่าให้เราได้ลุ้นว่า ชายฝั่งตะวันตก หรือ กทม. ใครจะโดนพิบัติภัยก่อนกัน http://www.youtube.com/watch?v=JJq9fm0irCI&sns=fb

การเตือนเราคงเตือนก่อน 3 วัน หรือ 6 ชั่วโมงล่วงหน้านะครับ สำหรับชายฝั่งตะวันตก อันดามัน หากเกิดเหตุ ขอให้มองที่สูงไว้ สูงจากระดับน้ำทะเลอน่างน้อน 12 เมตร บนเขา บนต้นมะพร้าว บนตึก ได้หมดระครับ เฉพาะเดือนเมษายนถึงมิถุนายนนะครับ

ส่วน กรกฏาคม ต้องหนีอย่างน้อย 25 เมตร
ส่วนกันยายน อย่างน้อย 40 เมตร
ส่วนธันวาคมเป็นต้นไป อย่างน้อย 300-400 เมตรนะครับ

และข้อมูลพายุสุริยะ อันตรายที่เพื่อนต่างชาติเตือนจากคลิปก่อน น่าจะมาจากการระเบิดครั้งวันที่ ๑๖ และแน่นอน น่าจะมีอีกหลายลูกในวันที่ ๑๘-๑๙ http://iswa.gsfc.nasa.gov:8080/IswaSystemWebApp/iSWACygnetStreamer?timestamp=2038-01-23+00%3A44%3A00&window=-1&cygnetId=261

และวันนี้ วันที่ 17 เมษายน 2555 ดวงอาทิตย์ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาอีกแล้ว http://pic.free.in.th/id/ea150aa004be6aa5c54452a8b3f6ca3d]]]]]


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 เม.ย. 12, 00:47
ล่าสุด ก็เตือนอีกดังนี้ค่ะ

[[[ฉุกเฉินนะครับ!!
ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิศวะฯจากองค์การ NASA ได้ประกาศเตือนเย็นวันนี้ 18 เมษายน 2555 ไว้ว่า

"ขณะนี้โลกกำลังมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ภายใน 1-4 วัน ครับ ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้รอยแยกเปลือกโลกก็มีความตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวช่วงนี้เป็นพิเศษครับ"

ประกาศตรงๆแบบนี้ งานน่าจะเข้าอย่างที่อ.ปิยะชีพ ส. วัชโรบล ว่าไว้เลยครับ

และดร.ก้องภพ อยู่เย็นยังได้เพิ่มเติมในการเตือนไว้อีกว่า

"นอกจากภัยแผ่นดินไหวแล้วยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ หรือ ภูเขาไฟระเบิดอีกด้วย ดังนั้นก็ควรติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติโดยรวมอย่างใกล้ชิดครับ"]]]

ขอความเห็นจากผู้รู้ค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 เม.ย. 12, 01:06
สงสัยคืนนี้อดนอนแน่ ๆ ค่ะ ไม่น่าเปิด Facebook เลย

[[นี่เป็นรูปถ่ายที่ตรงแถวๆ บางกะปิ วันที่ 17 เมษายน 2012 เย็นๆ
เมื่อรังสีสุริยะมาถึงโลก ทั้งพลังงานต่างๆ ที่มาจากดวงอาทิตย์ โปรตอน อิเล็กตรอน ประจุไฟฟ้า พลาสมา เมื่อมายังโลกก็เกิดปฏิกิริยาบนชั้นบรรยากาศโลก มีการสปาร์คกันขึ้น และส่งผลให้ประจุไฟฟ้ารวมถึงโปรตอนหนาแน่นมากบนชั้นบรรยากาศโลก เมฆที่เห็นจึงดูเหมือนระเบิดแต่ไม่ใช่ เป็นการสปาร์คกันของประจุไฟฟ้าและพลังงานต่างๆนั่นเอง
และผลที่ตามมาคือภัยพิบติขนานใหญ่เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ้า พายุ ฉับพลันแบบสุดโต่ง]]]


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 01:13
ตอนนี้แผ่นดินไหวบ่อย นักทำนายออกมาประกาศกันใหญ่ อย่าไปแตกตื่นครับ ใจเย็นๆ  ของไหนโฆษณามาก มักไม่ใช่ของจริง

ก้องภพก็คือก้องเพี้ยนครับ อย่าไปให้น้ำหนัก ดร. คนนี้มาก  การเป็น ดร. ไม่ได้หมายความว่าเป็นพหูสูตรรู้ทุกอย่างครับ
ติดตามผลงาน ดร. คนนี้มานานพอสมควร จนเครดิต ดร คนนี้ในสายตาผมไม่มีเหลือแล้วครับ เพราะแกจับแพะชนแกะ หาแต่ข้อมูลโน่นนี่มาสนับสนุนการทำนายแก
การทำนายของแกดูเผินๆ จะวิทยาศาตร์ดี  แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ เอาแต่ปรากฏการณ์ต่างๆ มาสนับสนุนคำทำนายแกแบบไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์จริงๆ สนับสนุนเลย

ดร ก้องภพ ทำงานที่นาซ่า เป็นวิศวกรไฟฟ้า ไม่ได้ทำเรื่องอวกาศ แผ่นดินไหว หรือพายุสุริยะ
เรื่องพายุสุริยะ เป็นเพียงความสนใจส่วนตัว และรู้สึกแกมักจะสนใจพวกเรื่องลี้ลับ พลังเหนือธรรมชาติ อะไรพวกนี้เป็นพิเศษ
เพียงแต่คำว่านาซ่ามันขายคนไทยได้  เลยเข้ากับ ดร. สมิทธเป็นปี่เป็นขลุ่ย

นอนอย่างสบายใจได้เลยครับ ก้องภพ ไม่ต่างกับโสรัจจะครับ เดาอย่างเดียว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 01:40
เพิ่มเติมจากรูปเมฆที่เอามาลงครับ  เมฆแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ แต่ไม่ใช่มาจากรังสีสุริยะแน่ๆ และเมฆที่รูปร่างแปลกกว่านี้ ขนาดเหมือนจานบินยังมีเลยครับ
ลองหาภาพเมฆแปลกๆ ในอินทรเนตรดูก็ได้ แบบนี้ไม่ถือว่าแปลกมาก มันมีกลไกการเกิดของมัน แต่ไม่ใช่การการสปาร์คของรังสีสุริยะหรอกครับ
ถ้าเมฆแบบนี้ เกิดจากรังสีสุริยะจริง ทำไมไปมีแต่แถวบางกะปิหละครับ ในเมื่อพื้นที่รับรังสีสุริยะมันคงไม่ใช่พื้นที่แคบๆ แค่แถวประเทศไทยเท่านั้น มันต้องเกินเป็นบริเวณกว้างหลายๆ ประเทศแล้ว

จำไว้ครับ อย่าไปเอาอะไรมากกับก้องเพี้ยน สมิทธ โสรัจจะนักครับ ฟังเล่นๆ ได้ แต่ต้องใช้หลักเหตุผลกรองต่อมากๆ ครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 09:44
ภาพรูปเมฆที่นำมาลงนั้น ผมเห็นว่าเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ที่มี focal length สั้น เป็นพวก wide angle lens ใกล้ๆ fish eye lens จึงมี distortion สูง ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่แสดงความสัมพันธ์ของว้ตถุต่างๆในเชิงของเส้นหรือระนาบโค้ง (ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของระนาบหรือเส้นตรง)  ภาพที่ได้ถ่ายจากเล็นส์แบบนี้สามารถเก็บข้อมูลวัตถุต่างๆที่มีอยู่ได้ครบในวงกว้างและแสดงความสัมพันธ์กันในเชิง relative เท่านั้น (รูปทรง รูปร่าง ขนาด และระยะ จะไม่ตรงกับความเป็นจริง)


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 10:13
ตอนนี้เจ้ากรมข่าวลือกำลังทำงานสนุกกันใหญ่บนความทุกข์ของชาวภูเก็ต    มีทั้งข่าวเข้าทรงว่าภูเก็ตจะจมวันที่ 28 นี้     และข่าวอย่างที่คุณประกอบแสดงความเห็นข้างบนนี้ค่ะ
น่าเสียใจที่หนังสือพิมพ์เอามาลง โดยไม่ได้ไปสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา ว่ามันเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
ควรจะถือโอกาสนี้ให้ความรู้ประชาชนไปด้วย  เพื่อจะได้ลดอาการตื่นตระหนก

อยากถามผู้ให้ข่าวเหลือเกินว่า จะแสดงความรับผิดชอบอย่างใด ถ้าหากว่าไม่มีภัยพิบัติจากพายุสุริยะ ไม่มีวันสิ้นโลกของชาวมายาเกิดขึ้น     จะรับผิดชอบด้วยการเลิกให้สัมภาษณ์เสียทีได้ไหม

บางทีเบื้องหลังอาจเป็นอย่างนี้ก็ได้
http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11978950/NE11978950.html


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 10:18
...ข้อมูลสำคัญจากอ.ปิยะชีพ ส. วัชโรบลนะครับ สรุปเหตุการณ์แค่วันเดียวได้รุนแรงมาก ยังเหลือ 18-28 ที่น่าจะหนักกว่าอีกหลายสิบเท่าให้เราได้ลุ้นว่า ชายฝั่งตะวันตก หรือ กทม. ใครจะโดนพิบัติภัยก่อนกัน......การเตือนเราคงเตือนก่อน 3 วัน หรือ 6 ชั่วโมงล่วงหน้านะครับ สำหรับชายฝั่งตะวันตก อันดามัน หากเกิดเหตุ ขอให้มองที่สูงไว้ สูงจากระดับน้ำทะเลอน่างน้อน 12 เมตร บนเขา บนต้นมะพร้าว บนตึก ได้หมดระครับ เฉพาะเดือนเมษายนถึงมิถุนายนนะครับ.....ส่วน กรกฏาคม ต้องหนีอย่างน้อย 25 เมตร ......ส่วนกันยายน อย่างน้อย 40 เมตร ......ส่วนธันวาคมเป็นต้นไป อย่างน้อย 300-400 เมตรนะครับ......

ล่าสุด ก็เตือนอีกดังนี้ค่ะ    [[[ฉุกเฉินนะครับ!!
ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิศวะฯจากองค์การ NASA ได้ประกาศเตือนเย็นวันนี้ 18 เมษายน 2555 ไว้ว่า "ขณะนี้โลกกำลังมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ภายใน 1-4 วัน ครับ ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้รอยแยกเปลือกโลกก็มีความตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวช่วงนี้เป็นพิเศษครับ"  ประกาศตรงๆแบบนี้ งานน่าจะเข้าอย่างที่อ.ปิยะชีพ ส. วัชโรบล ว่าไว้เลยครับ และดร.ก้องภพ อยู่เย็นยังได้เพิ่มเติมในการเตือนไว้อีกว่า "นอกจากภัยแผ่นดินไหวแล้วยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ หรือ ภูเขาไฟระเบิดอีกด้วย ดังนั้นก็ควรติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติโดยรวมอย่างใกล้ชิดครับ"]]]
ขอความเห็นจากผู้รู้ค่ะ

Evangelism


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 10:27
บางทีเบื้องหลังอาจเป็นอย่างนี้ก็ได้
http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11978950/NE11978950.html

นึกถึงเด็กชายปลาบู่

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 10:30
คุณร่วมฤดีคะ   ดิฉันหาเมฆรูปแปลกๆมาให้ดูเล่น     ถ้าจะเอามาประกอบคำว่าพายุสุริยะยังดูเป็นจริงเป็นจังกว่า  แต่มันก็เป็นเมฆตามธรรมชาตินี่เองละค่ะ   บางรูปเกิดจากฝีมือตกแต่งภาพ    บางรูปจับมุมออกมาพอเหมาะเลยเห็นอย่างนั้น


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 10:48
Evangelism
ขออนุญาตแปลคำ สำหรับคนที่ยังไม่เคยผ่านตาคำนี้นะคะ 
Evangelism  ถ้าไปเปิดดิคชันนารี อาจเจอคำว่า "การเผยแพร่คำสอนของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์"   บางท่านจะสงสัยว่าคุณตั้งโพสคำนี้ทำไม เกี่ยวอะไรด้วยกับศาสนา
ความจริงไม่เกี่ยวค่ะ  แต่คำนี้ฐานดั้งเดิมมีความหมายอย่างที่ว่า   ต่อมาเอามาใช้ในความหมายกว้างขึ้นว่า การเผยแพร่ความเชื่ออะไรสักอย่างที่เจ้าตัวปักอกปักใจอย่างสุดโต่ง 
คนที่มีบทบาทแบบนี้เรียกว่า   Evangelist

คำนี้ถ้าใช้ในความหมายใหม่   โดยมากจะมีคำขยายไว้ข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าเผยแพร่ความเชื่ออะไร เช่น Mac  Evangelism  คือเชื่อถือในสินค้าคอมฯ ยี่ห้อแอปเปิ้ลอย่างสุดๆ  ไปไหนก็ป่าวประกาศถึงคุณภาพดีเด่นของสินค้านี้     จริงๆแล้วอาจเป็นเพียงการตลาดแบบหนึ่งเท่านั้น


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 เม.ย. 12, 11:13
Evangelism

N. การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ (โดยเฉพาะโดยคริสตศาสนิกชนที่พยายามชักชวนให้คนอื่นหันมานับถือศาสนาคริสต์)
N. ความกระตือรือร้นอย่างมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ท่านตั้งเล่นศัพท์ยากจริงๆ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 11:23
 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 12:08
ขอบคุณมากๆครับ คุณเทาชมพูและคุณนวรัตน์

ครับ ผมใช้ในความหมายที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย
หากเกี่ยวกับศาสนาจะใช้คำว่า Evangelist ไม่ใช้คำว่า Evangelism
Evangelist นี้ แต่เดิมก็ใช้เรียกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ แต่ในภายหลังก็ได้ใช้เรียกกลุ่มคนในศาสนาอื่นๆทุกศาสนา (แม้กระทั่งศาสนาพุทธ) ที่มีความเชื่อ พฤติกรรม การดำเนินการ และการกระทำในทำนองเดียวกัน แต่ก็ไม่มีการยอมรับการใช้คำนี้กันในวงกว้าง


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 เม.ย. 12, 13:03
ขอบพระคุณรูปเมฆสวย ๆ ของอาจารย์เทาชมพูค่ะ

เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย และ Evagelist ผู้นี้ ดูจะมีการศึกษาและ เกี่ยวพันกับ ดร.สมิทธ จึงกังวลค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 13:20
ใช้อินทรเนตรมองหาก็เลยเจอตารางนี้เข้า   เอามาลงไม่ใช่เพื่อให้คนอ่านเรือนไทยตกอกตกใจตามนี้   แต่เพื่อจะดูว่า เมื่อเวลาผ่านไป  มันแม่นยำมากน้อยแค่ไหน

ตารางคาดการณ์ภัยพิบัติ ม.ค. 2012 โดย ดร.ก้องภพ อยู่เย็น


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 15:15
ดูตารางที่ อ เทาเอามาแล้วดูเผินๆ มันวิทยาศาสตร์มากๆ  แต่มันคืออะไรก็ไม่รู้ ดูไม่รู้เรื่อง

จะขอเล่าเรื่อง Evagelist ให้ฟังคร่าวๆ พอให้เข้าใจและเห็นภาพของคนพวกนี้ในสังคมไทยนะครับ เพราะมันเกี่ยวพันกันหลายๆ ส่วน

อันแรกขอเริ่มจากคำว่านาซ่า   ในสังคมไทย  คนไทยต่างคุ้นกับคำว่านาซ่าจากข่าว โดยเฉพาะข่าวทีวี  เวลาปล่อยยานทีก็นาซ่าที
แต่ถ้าพูดถึงสถาบันวิจัยเซิร์น อาร์กอนแล็บ หรือสถาบันวิจัยระดับโลกอื่นๆ คนไทยทั่วไปจะไม่คุ้นเคย
ดังนั้น ถ้าใครมีคำว่านาซ่าพ่วง มันจะดูยอดเยี่ยมมาก ต้องเป็นอัจฉริยะถึงจะไปอยู่ที่นั่นได้ ทำให้ในสังคมไทยให้ความเชื่อถือมากๆ เหมือนมีใบรับรองความเป็นอัจริยะ
เลยมีคนที่พะยี่ห้อนาซ่าติดตัวไว้ตลอดเวลาไปไหนมาไหน บางคนอย่าง ดร อาจอง พะไว้สามสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ไปบรรยายที่ไหนต้องมีคำว่านาซ่าตลอด

ขอเล่าเรื่องนักวิทยาศาสตร์นาซ่าคนที่ 1 ก่อน

ดร.อาจอง ไม่ได้ทำงานในนาซ่าเลย แต่ทำงานใน บ. ที่รับเหมาระบบลงจอดของยานมาจากนาซ่าอีกที เหมือน บ.รถจ้างซัพพลายเอ้อผลิตชิ้นส่วนนั่นแหละ
ยาน 1 ลำมันก็มีชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย ระบบลงจอด ระบบขับเคลื่อน ระบบนำร่อง ระบบหมุนเวียนอากาศ ฯลฯ เรื่องอะไรนาซ่าจะต้องมาออกแบบเอง ผลิตเองทั้งหมด
ดร. อาจองแกทำงานใน บ. นึงที่รับงานมา รับเรื่องระบบลงจอด และแกไม่ใช่คนเดียวในทีม  แต่เวลาแกเอามาคุย แกทำยังกับว่าแกเป็นผู้เดียวที่คิดระบบลงจอดในยานได้
แถมจริงๆ แกเกี่ยวกับนาซ่าแค่ บ. ที่แกทำงานตอนนั้นรับเหมางานมาอีกทีเท่านั้น แต่ไม่มีใครตรวจสอบ
แกเลยเป็นนักวิทยาศาสตร์นาซ่าในสังคมไทยมาสามสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนท่าน naitang ไปเดินท่อมๆ สำรวจหินเมืองกาญจนฯ ซะอีกมั๊ง
แต่ข้อสังเกตุก็คือ นอกจากระบบลงจอดยานที่แกอ้าง หลังจากนั้นแกไม่มีผลงานทางวิทยาศาสตร์อะไรอีกเลย  เห็นโปรโมทแต่ท่านไสยบาบาขนาดมาตั้งโรงเรียนสัตยาไสยเลย
แต่แกก็ได้ภาพนักวิทฯอัจฉริยะไทยในนาซ่าคนที่ 1 ไปแล้ว




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 15:29
ดูตารางที่ อ เทาเอามาแล้วดูเผินๆ มันวิทยาศาสตร์มากๆ  แต่มันคืออะไรก็ไม่รู้ ดูไม่รู้เรื่อง

อ้าว! นึกว่าจะเอามาให้นักวิทยาศาสตร์ในเรือนไทยช่วยถอดรหัสเชียว   เพราะตัวเองก็ดูไม่รู้เรื่องเหมือนกันค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 15:41
ป้ายทะเบียนนี้สุดยอดจริงๆครับ



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 15:57
นักพักผ่อนนอนหลับแบบผม ขอตามมารอนักวิทยาศาสตร์เรือนไทยมาไขปริศนาตารางนั้นด้วยอีกคนครับ

นาซ่าคนที่ 2 ดร. ก้องภพ

ดร. ก้องภพนี่ ตอนเปิดตัวใหม่ๆ ผมก็ฮือฮาไปกับเค้าด้วย แหม ประวัติการศึกษาการทำงานต่างๆ สุดยอดมาก แถมทำงานในนาซ่าจริงๆ ด้วย ไม่ใช่แบบคนแรก
แต่แกทำงานในนาซ่าในฐานะวิศวกรไฟฟ้า  ไม่ได้ทำด้านอวกาศ  และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องแรงดึงดูดระหว่างดาว พายุสุริยะเลย
เรื่องที่แกเอามาเผยแพร่ที่เมืองไทย  เป็นความชอบและสนใจส่วนตัวของแกเอง และไม่ได้เกี่ยวกับงานของแกในนาซ่าเลย
พอตามดูแกให้สัมภาษณ์ออกทีวี หนังสือพิมพ์ต่างๆ  ดูไปดูมา เอ๊ะ  ชักยังไงแล้ว เพราะสิ่งที่แกพูด มันเป็นเรื่องของความเชื่อ ออกแนวเรื่องลี้ลับ ที่แกพยายามหาข้อมูลวิทยาศาสตร์มารองรับ
แต่ข้อมูลที่แกใช้ มันช่างอ่อนปวกเปียก ด้วยหลักเหตุและผล ตรรกะพื้นฐาน ความรู้เบื้องต้นไม่ต้องลึกซึ้ง เอาแค่ระดับที่คนหัวทึบแบบผมมียังมองออกเลยว่าไม่สมเหตุสมผล
เช่นเรื่องดาวเคราะห์เรียงตัวกันทำให้เกิดแผ่นดินไหวอะไรพวกนี้
เพราะดาวที่มีแรงดึงดูดส่งผลต่อโลกมากที่สุดอย่างดวงจันทร์ จนทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นจำเลยร่วมในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเลย

ต่อมาแกไปเปิดเว็บไซต์ ตรู๊ดฟอร์ไต (truth4thai) ผมไปตามอ่าน ปรากฏว่าแกไปตัดแปะข่าวพวกเรื่องลี้ลับจากที่ต่างๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์มาใส่ เช่นการรักษาโรคด้วยพลังจิต อะไรแบบนั้น
ผมเลยพอมองแกออกแล้วว่าแกมีความชอบ ความเชื่อส่วนตัวแบบไหน  แกเลยหมดราคาสำหรับผมไปแล้ว
เรื่องพวกนี้แกคงเอาไปพูดที่นาซ่าไม่ได้ ขืนพูดเพื่อนร่วมงานคงตาเหลือกมองแกแปลกๆ แบบผมมองแกกันหมด  แต่เอามาพูดที่เมืองไทยได้ พูดกับ ดร. สมิทธได้  คนไทยชอบ ตื่นเต้นดี

อันนี้กูรูนาซ่าในสังคมไทยคนท่ 2


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 เม.ย. 12, 16:06
มัน จริง จริง

v


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 16:14
อันแรกขอเริ่มจากคำว่านาซ่า   ในสังคมไทย  คนไทยต่างคุ้นกับคำว่านาซ่าจากข่าว โดยเฉพาะข่าวทีวี  เวลาปล่อยยานทีก็นาซ่าที
แต่ถ้าพูดถึงสถาบันวิจัยเซิร์น อาร์กอนแล็บ หรือสถาบันวิจัยระดับโลกอื่นๆ คนไทยทั่วไปจะไม่คุ้นเคย
ดังนั้น ถ้าใครมีคำว่านาซ่าพ่วง มันจะดูยอดเยี่ยมมาก ต้องเป็นอัจฉริยะถึงจะไปอยู่ที่นั่นได้ ทำให้ในสังคมไทยให้ความเชื่อถือมากๆ เหมือนมีใบรับรองความเป็นอัจริยะ
เลยมีคนที่พะยี่ห้อนาซ่าติดตัวไว้ตลอดเวลาไปไหนมาไหน บางคนอย่าง ดร อาจอง พะไว้สามสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ไปบรรยายที่ไหนต้องมีคำว่านาซ่าตลอด

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=19116;image)

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 16:17
มัน จริง จริง

v

ใช่ค่ะ  มันมาก
v
v


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 16:17
คนที่ 3 ไม่ใช่น่าซ่า แต่ตอนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติไทยไปแล้ว  ดร. สมิทธ

แกจบ ดร. ที่ไหนมาผมก็ไม่รู้ รู้ว่าแกเคยเป็นอธิบดีกรมอุตุฯ (สะกดถูกรึเปล่าหว่า) ตอนหลังผันตัวมาเป็นนักเตือนหายนะ
แกคอยเตือน คอยทำนายเรื่องแผ่นดินไหว น้ำท่วม วนเวียนอยู่แนวๆ นี้แหละ  ข้อดีของการเป็นนักเตือนภัยในไทยคือ  คุณไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับคำพูดทั้งสิ้น
ถ้ามันไม่ถูก ก็เฉยไว้ แล้วเตือนต่อไป  ถ้ามันถูก คุณก็ดัง  แกเข้าใจหลักการณ์นี้ดี  ดร.สมิทธเแกดังเพราะแกเตือนเรื่องสึนามิแล้วมันเกิดขึ้น  
ตอนนี้แกเลยเตือนตลอด  จากคำทำนายแกอนาคตดูแล้วโลกนี้จะมีแต่หายนะ  พอถามวิธีแก้  คำแนะนำไม่ค่อยสมเหตุสมผล เหมือนแกนั่งทางในคิดเอา ไม่มีตัวเลขการสำรวจแบบเป็นวิชาการรองรับทั้งสิ้น
เช่นถ้ากลัวภาคกลางน้ำท่วม ก็ทำเขื่อนริมฝั่งไปจรดประจวบสิ อะไรแบบนี้


ดร. สมิทธแกเล่นกับสื่อบ่อย ทำนายภัยพิบัติตลอดมา แต่นอกจากคราวสึนามิแล้ว แกไม่เคยทำนายถูกอีกเลย หลังๆ สื่อเลยชักเบื่อ คนก็ไม่ใคร่เชื่อ
พอแกมาเจอก้องภพ เลยเหมือนตัวเสริมซึ่งกันและกัน  เกาะกันดังได้ กลายเป็นคำทำนายแก มีนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะจากนาซ่ารองรับ  สื่อก็กลับมาให้ความสำคัญเหมือนเดิน

ส่วนสื่อไทยก็  อะไรที่มันเป็นเหตุเป็นผล แต่มันซับซ้อน สื่อไทยไม่ชอบรายงานหรอกครับ  ดังนั้นนักธรณีวิทยาจะไม่ถูกสัมภาษณ์มากเท่านักทำนายนาซ่าหรอก
เผลอๆ ไปสัมภาษณ์ผู้รู้จริงมายืดยาว สื่อบอกไม่รู้เรื่อง ตัดแต่คำพูดตอนที่มันดูหวือหวานิดเดียวมาออก กลายเป็นผู้รู้จริงมายืนยันหายนะไปซะอีก
ไม่รู้ว่าท่าน naitang  เคยโดนแบบนี้มาบ้างรึยัง

คำแนะนำคือไม่ต้องไปแตกตื่น ใครอยากทำนายก็ทำนายมา โลกมันอยู่มาสี่พันห้าร้อยล้านปีแล้ว ถ้ามันจะแจ็คพอตแตกยุคเราก็ดีก็ให้มันรู้ไป ซื้อล๊อตตารี่ยังไม่ถูก จะมาเฮงเอาอะไรตอนนี้
ตอนนี้ ไม่ว่าจะโหร  ด.ช. ปลาบู่  ดร.  นักวิทยาศาสตร์นาซ่า นักลึกลับศาสตร์เช่นคุณอะไรวัชโรบลนั่น ดาหน้าออกมากันใหญ่ เราก็ฟังไว้ ต้องพยายามกลั่นกรองมากๆ ครับ
เพราะคนพูด พูดได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบคำพูด พูดแล้วดัง มันก็ยิ่งพูด บางคนก็สนุกกับการสร้างความแตกตื่น  คนแปลกๆ ในสังคมเรามันเยอะ อย่าไปตื่นตูมครับ ต้องใช้แบบผม
ตอนนี้ผมอยู่ ตปท  ถัดจากบ้านไปราว 5 กม. มีโรงไฟ้านิวเคลียร์อยู่ 2 โรง ไม่กลัวเลย เพราะผมมีพระดี หลวงตาท่านบอกกันนิวเคลียร์ได้  ;D  ไปไหนมาไหน คล้องพระเครื่องเอาครับ แห่ะๆ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 เม.ย. 12, 16:39
ท่าน naitang คือ ท่าน นายตั้งครับ

คุณประกอบเรียกได้ ไม่ต้องกลัวโดนว๊าก

ถนัดเรียกท่าน     ก็เรียกท่านตั้ง
ถนัดเรียกคุณ      ก็เรียกคุณตั้ง
ถนัดเรียกอาจารย์ ก็เรียกอาจารย์ตั้ง

ความจริงผมถนัดเรียกท่านอย่างอื่น แต่เรียกไม่ได้ แม้ท่านจะไม่ว๊ากผม แต่เดี๋ยวบรรดาแฟนคลับของท่านจะมาว๊ากแทน


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 16:56
แห่ะๆ  ผมจะเรียกจะเรียกท่านตั้งแบบท่าน อ. เทาชมพูแต่แรกก็เกรงใจหนะครับ กลัวเหมือนจะตีซี๊มากไปไม่สมควร
เหมือนที่ไม่กล้าจะเรียกอีกหลายๆ ท่านในนี้ที่ให้ความรู้มากมาย เช่นจะเรียก อ. เทาชมพู โดยใช้ชื่อจริงหรือนามปากกา หรือเรียกท่าน อ.นวรัตน์ แบบที่ท่านเรียกกัน ก็ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมไหม  
เลยเรียกแบบปลอดภัยไว้ก่อนใช้ชื่อที่แต่ละท่านใช้ในเว็บครับ กลัวเดี๋ยวใครมาอ่านแล้วจะบอกว่าไม่รู้เด็กรู้ผู้ใหญ่
อาจจะต้องรอไว้เป็นหลายเขยท่านใดท่านหนึ่งก่อน ค่อยเปลี่ยนสรรพนามเรียกขาน  ;D


มาเล่าถึง ดร. นาซ่าคนที่ 3 ดร. วรภัทร

อันนี้แกจะไม่ออกมาแนวภัยพิบัติ แต่จะมาแนวโยงพุทธกับวิทยาศาสตร์มากกว่า   ที่เอามาเล่าเพราะแกเป็นอีกคนที่ไปไหนมาไหน มักจะพะยี่ห้อนาซ่าติดตัวไว้
แต่เท่าที่ทราบ จริงๆ แล้วแกเกี่ยวข้องกับนาซ่าตรงที่งานวิจัย ป เอก แก อ. ที่ปรึกษาแกรับงานมาจากนาซ่าอีกทีอะไรทำนองนี้แหละ  คือตัวแกเองไม่เคยทำงานในฐานะลูกจ้างนาซ่า
เพียงแต่งานวิจัยแก เกี่ยวพันกับงานของนาซ่าเท่านั้น  แต่พอมาเมืองไทย แกก็พะยี่ห้อนาซ่าไว้ด้วย   คือถ้ามองว่าแกบริสุทธิ์ใจ แกควรจะปฏิเสธแล้ว  
แต่คำว่านาซ่ามันศักดิ์สิทธิยิ่งนัก ใครมีคำนี้สวมแล้ว ไม่ค่อยยอมสลัดกัน แม้จะเอามาสวมเองก็เถอะ โดยนาซ่าไม่ได้ให้สวม


ดร. วรภัทรนี่ดีตรงที่แกไม่ได้มาเตือนหายนะ  แต่ออกมาเล่นเรื่องจิต  ศาสนาพุทธ และการคิดนอกกรอบ เพียงแต่กรอบแกยังไม่ค่อยพ้นนาซ่าเท่าไหร่
ตอนนี้แกมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทำเรื่องการบริหารจัดการ ทรัพยากรบุคคลอะไรพวกนั้น  จุดเด่นคือลีลาแกจะดูสนุกดุเด็ดเผ็ดมัน คล้ายๆ  อ. เฉลิมชัย ศิลปินแห่งชาติ
ผมไม่ชอบใจแกตรงที่แกห้อยยี่ห้อนาซ่าไว้กับตัวโดยไม่เคยปฏิเสธนี่แหละ เลยมองว่าแกไม่ใช่ของจริง เพราะต้องใช้นาซ่าเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมทตัวแก และธุรกิจของแก
เลยคิดว่าแกออกจะขี้โม้ไปหน่อย  เพราะการบอกความจริงไม่หมด หรือไม่ปฏิเสธอะไรที่ไม่จริง ก็ไม่ต่างจากการโกหก
อันนี้เลยมาเล่าด้วยความหมั่นไส้ เพราะแกคงไม่ปฏิเสธคำว่านาซ่าไปอีกหลายสิบปี


บุคคลเหล่านี้ผมคิดว่าเราน่าจะวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะเช่นในเว็บแบบนี้ได้ แต่ถ้าท่าน อ. เทาชมพูคิดว่าออกจะหมิ่นเหม่ก็ลบได้ครับ ผมก็ไม่แน่ใจ เลยไม่ใส่นามสกุลแต่ละคนไว้ ติ๊ต่างว่าเรารู้กันว่าใคร
ที่ผมว่าเราน่าจะวิจารณ์ได้ เพราะคนเหล่านี้ออกสื่อ  ออกมาพูด  ออกมานำเสนอแนวคิดต่างๆ ของตัว  มีส่วนในการชี้นำสังคม และคนเหล่านี้ก็ได้ผลประโยชน์ตอบแทน
ทั้งทางตรงและทางอ้อม  ในรูปชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก หรือแม้แต่การเอื้อต่อธุรกิจต่างๆ ของตัวเอง เพียงแต่เราไม่อาจพึ่งสื่อสายหลักในการรู้เท่าทัน ทำความเข้าใจบทบาทของคนเหล่านี้ได้เท่านั้น


ส่วนตัวผมเอง ก็เคยเกี่ยวพันกับนาซ่ามาบ้างแบบเฉียดๆ บ้าง คือตอนประถม บ้านอยู่แถวราม เช้าเย็นไปกลับโรงเรียน นั่่งรถเมล์ผ่านนาซ่าตรงคลองตันทุกวัน
ยังคิดเลยวันนึงจะลองเข้าไปเที่ยว  ที่ไหนได้ พอโตพออายุถึง นาซ่านั้นดันเจ๊งไปซะแล้วอีก  ตอนนี้เลยได้แค่เฉียดนาซ่าเท่านั้น  8)


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 19 เม.ย. 12, 17:46
สวัสดีอาจารย์เทาชมพูและทุกท่านครับ

ตารางที่ให้มา ผมเข้าใจว่า เขาพยายามจะโยงความสัมพันธ์ระหว่าง การเรียงตัวของดาวเคราะห์ และปรากฎการณ์บนดวงอาทิตย์ เข้ากับภัยพิบัติบนโลก คือแผ่นดินใหว อันนี้ผมเดาเอานะครับ เดาจากข้อมูลที่แกให้ไว้นะครับ

ในความเห็นผม มันเป็นความพยายามในการจับแพะผสมแกะ มั่วไปเรื่อยๆ ครับ ตามความรู้ของผม กิจกรรมพายุสุริยะ และการเรียงตัวของดาวเคราะห์ ไม่มีผลต่อการเกิดแผ่นดินใหวบนโลก และไม่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกันเลยครับ ในตารางที่ว่า ดร.ก้องภพ ก็คงไม่ได้ใส่ที่มาว่าข้อมูลเหล่านี้เขาได้มาจากที่ใด ถ้าเป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์เข้าต้องบอกแหล่งที่มาของข้อมูลด้วย แต่นี่ไม่ได้บอก และส่วนตัวผมก็คิดว่าคงไม่มีครับ



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 เม.ย. 12, 17:46
อ้างถึง
อาจจะต้องรอไว้เป็นหลานเขยท่านใดท่านหนึ่งก่อน
^
ของผมยังใช้ไม่ได้จ้า อีกสิบ-ยี่สิบปี ถ้าโลกไม่ถล่มค่อยว่ากันเน๊อะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 19:17
ขอบคุณดร.จ้อแห่งเว็บวิชาการดอทคอมค่ะ     ;D



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 19:46
คำทำนายภัยพิบัติของผมที่ อ. เทาชมพูทำนายไว้หายไปแล้ว  คาดว่าหลวงพ่อที่ผมห้อยคอไว้จะศักดิ์สิทธิ์จริง ภัยพิบัติจึงไม่อาจจะมากล้ำกลืน  8)


ตะกี๊อ่านหนังสือพิมพ์  มีนักวิชาการออกมาเตือนเรื่องกรุงเทพอาจจะประสบภัยจากแผ่นดินไหวได้ แม้จะไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อน แต่เพราะเป็นดินอ่อน อาจจะประสบเหตุแบบแม็กซิโกซีตี้
ที่ตึกรามถล่มแม้จะมีแผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางห่างไป 350 กม. เพราะตึกรามไม่ได้ออกแบบไว้ให้รองรับแผ่นดินไหว


แหม  ร้อยวันพันปีท่านสื่อไม่ไปถาม ต้องไปถามช่วงที่คนกำลังตื่นกลัวกันซะด้วย  แล้วไม่ถามต่อว่ามีเมืองที่เป็นแบบ กทม หรือแม็กซิโกซิตี้กี่เมือง มันคงไม่ใช่แค่ 2 เมืองหรอก
แล้วมันมีโอกาสเกิดแค่ไหน  ควรจะตื่นกลัวหรือไม่  แล้วมันเกี่ยวพันกับแผ่นดินไหวช่วงนี้ไหม  ไม่บอก  
บอกแต่เพื่อขายข่าว สร้างความกลัวต่อ  นี่ไม่รู้พอข่าวนี้ออกมีคน กทม เตรียมอพยพลงจากคอนโดแล้วกี่คน


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 20:00
หลงพ่อของคุณประกอบน่าจะศักดิ์สิทธิ์จริง   ภัยพิบัติหายไปในพริบตา   :)

ป่านนี้ชาวคอนโดในกรุงเทพนอนก่ายหน้าผากกันไปครึ่งค่อนเมืองแล้ว  ไม่รู้ว่ารอยเลื่อนจะเทกระจาดผู้คนลงไปเมื่อไร
จริงหรือว่าตึกสูงของเราจะถล่มถ้าเกิดแผ่นดิน    ไม่มีการคำนวณโครงสร้างให้แข็งแรงพอหรือสำหรับภัยธรรมชาติชนิดนี้   


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 20:11
ตะกี๊อ่านหนังสือพิมพ์  มีนักวิชาการออกมาเตือนเรื่องกรุงเทพอาจจะประสบภัยจากแผ่นดินไหวได้ แม้จะไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อน แต่เพราะเป็นดินอ่อน อาจจะประสบเหตุแบบแม็กซิโกซีตี้
ที่ตึกรามถล่มแม้จะมีแผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางห่างไป 350 กม. เพราะตึกรามไม่ได้ออกแบบไว้ให้รองรับแผ่นดินไหว

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048942

 :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 20:25
ตารางเหตุการณ์ภัยพิบัติที่คุณเทาชมพูเอามาโพสด์นั้น จะขอให้ความเห็นดังนี้

ประการแรก แผ่นดินไหวนั้นมันเกิดอยู่ทั่วโลก ทุกๆวัน ทั้งกลางวัน กลางคืน และวันละหลายๆครั้ง แผ่นดินไหวขนาดต่ำกว่าขนาด 5 ริกเตอร์จะมีมากหน่อย ไม่ต้องกล่าวถึงขนาด 2,3 ซึ่งมีมากจนไม่ต้องรายงานกัน (ยกเว้นเฉพาะที่ทำให้คนแตกตื่นตกใจ) แผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 5 มีน้อยลง และยิ่งขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะยิ่งมีน้อยลงไปอีก แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เริ่มมีอำนาจทำลายสูงจนทำให้เกิดความน่าสพึงกลัวนั้น หากจะกล่าวอย่างหลวมๆก็คือตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไป
แผ่นดินไหวที่เริ่มสร้างความสพึงกลัวนี้ จะมีการศึกษาติดตามโดยนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกันพอสมควร และมักจะทราบว่ามันค่อนข้างจะมีลักษณะเฉพาะตัว คือ มันมีวงรอบที่มันจะเกิด (Recurrent period) ยกตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวที่เกิดในญี่ปุ่นจนมีซึนามิที่ผ่านมานั้น มีวงรอบประมาณทุกๆร้อยปี ก็รู้กันอยู่จนมีการเตรียมการรับมือ เช่น การสร้างกำแพงและประตูน้ำกันซึนามิที่ระดับสูง 5 เมตรตลอดแนวชายฝั่งหลายร้อยกิโลเมตร (แต่เอาไม่อยู่เพราะแรงเกิดคาด) แม้กระทั่งรอยเลื่อน San Andreas ที่พาดผ่าน San Francisco ก็มีวงรอบ จนทำให้เกิดมีระบบ Mitigation ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง (จะได้เล่าต่อไปครับ)
เล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า จะเอาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใด เมื่อใด เวลาใด มาโยงกับเหตุการณ์ของตำแหน่งดาวก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีผิดหรอกครับ
   อนึ่ง แผ่นดินไหวที่เกิดจนเป็นเหตุการณ์ประจำถิ่นนั้น แม้จะเิกิดในระดับขนาด 5,6 ก็ตาม เมื่อไม่ได้ทำให้ผู้คนที่มีถิ่นฐานประจำอยู่ในพื้นที่นั้นๆแตกตื่นใดๆ ก็จะไม่มีข่าวแพร่กระจายออกไป ยกเว้นเฉพาะที่ทำความเสียหายให้เกิดขึ้นกับอาคารบ้านเรือนเก่าๆที่สำคัญๆ (เจดีย์โบราณ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ) จึงจะมีข่าวออกมา ยิ่งมีอาคารสมัยใหม่รุ่นหลังๆที่สร้างตาม Building code สมัยใหม่มากเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยตามไปด้วย ข่าวความเสียหายจึงไม่ค่อยจะมีและจะมีน้อยมาก

   (ถึงเวลาที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะออกมาสยบความกลัวได้หรือยัง ??? เพื่อแสดงว่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายที่มีลายเซ็นต์ของวิศวกรกำกับอยู่นั้น เชื่อใจได้ มั่นใจได้ว่ามันจะไม่พังหากแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน.....)    

ประการที่สอง จากตารางนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นการใช้เหตุผลทางโหราศาสตร์มาบ่งชี้ สังเกตได้จากการใช้มุมระหว่างดวงดาวในทางโหราศาสตร์ เช่น 0 องศา และ 90 องศา เป็นหลัก ซึ่งก็พอจะเดาออกได้ว่าอยู่บนพื้นฐานของโหราศาสตร์แบบตะวันตก โหราศาสตร์แบบยูเรเนียน และโหราศาสตร์แบบ Mid point
เชื่อใหมครับว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นส่วนมากในกลุ่มวิชาการที่เรียกว่า Earth sciences จะศึกษาเรื่องโหราศาสตร์ ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นเรื่องทางวิทยาการข้างเคียงที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายเพื่อความผ่อนคลาย แต่ก็จะมีบางคนที่คิดนำไปผูกพันเพื่อหาเหตุผลอธิบายความเชื่อในทฤษฎีของตน ตัวอย่างเช่น อะไรคือเหตุผลการระลึกชาติได้ อะไรคือสภาวะของการนิพพาน ซึ่งคาดไ้ด้ว่าคิดไม่หนีไปจากเรื่องเหตุผลทางแรงดึงดูดของดวงดาวที่มีผลกลายเป็นพลังงานต่อเซลตัวใดตัวหนึ่งในสมองของเรา ทำให้เซลตัวนั้นขยับตัวผนวกต่อเนื่องกันสั่งให้เราปฎิบัติ (เป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกับอิทธิพลของดวงดาว) ซึ่งจะไปสอดคล้องกับการทำมุมต่างๆของดวงดาว ดังนั้น ตามสถิติแล้วเมื่อดวงดาวทำมุมอย่างไรก็จะสามารคาดเดาได้ว่ามนุษย์จะทำอย่างไร เนื่องจากพลังงานจะมีอิทธิพลต่อเซลในสมองจะทำให้มนุษย์ไปทำในสิ่งที่นั้นๆ การระลึกชาติได้ อาจะเป็นเพราะพลังงานที่พอเหมาะเหมือนของคนเดิมเคลื่อนย้ายไปไปอยู่ในอีกคน และการนิพพานก็คือการสลายพลังงานให้จบที่ตนเอง ฯลฯ......

โหราศาสตร์นั้น มีสาขาที่เรียกว่า Mundane astrology ซึ่งจะไปว่ากันถึงเรื่องของเหตุการณ์ต่างๆบนโลก ซึ่งคนที่ให้ความสนใจส่วนมากจะเป็นนักโหราศาสตร์ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมจำกัดและหลงตัว   การทำนายแผ่นดินไหว เหตุร้ายแรง เศรษฐกิจย่ำแย่ ฯลฯ ก็มาจากกลุ่มคนในโหราศาสตร์พวกนี้  
 
ก็ว่ากันไป ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ศึกษาโหราศาสตร์แบบใช้ดวงดาวมามากพอ แต่เป็นการศึกษาในเชิงวิชาการว่าเขาคิดอะไรกันในโหราศาสตร์แบบต่างๆ ดูแม่นไหม ก็พอได้เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เชื่อใหม ก็รับฟัง แต่ไม่เอามาใช้เป็นเหตุผลในวิชาการ ไม่งมงาย แต่สุดท้ายก็วาง ยังสนุกกับมันไหม ก็สนุก ปัจจุบันก็เป็นเพียงการติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ผมยังคงสามารถจำแนกเส้นเขตที่ชัดเจนออกว่าอะไรเป็นวิทยาศาสตร์อะไรเป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์ ไม่ปะปนกันครับ
ผมคิดว่า ตรงนี้แหละครับคือเส้นแบ่งเขตระหว่างความปรกติของคน (Normal individuals) กับความไม่ปรกติของคน (Abnormal individuals)

สรุป เอาเป็นว่่าผมไม่เชื่อตารางนั้น ผมเห็นว่าเป็นเพียงความพยายามหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตน (และอยู่บนฐานของโหราศาสตร์)


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 20:43
ความจริงผมถนัดเรียกท่านอย่างอื่น แต่เรียกไม่ได้ แม้ท่านจะไม่ว๊ากผม แต่เดี๋ยวบรรดาแฟนคลับของท่านจะมาว๊ากแทน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5071.0;attach=31409;image)

ก่อนจะกด like ให้คุณตั้ง   ช่วยกรุณาใช้วิชาโหราศาสตร์ดูให้หน่อยได้ไหม ว่ายายแก่แร้งทึ้งที่ได้ชื่อว่าเป็นแฟนคลับของคุณตั้งน่ะใครกันคะ 
เห็นแล้วหน้าคุ้นๆยังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก เหมือนอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 12, 21:12
แหม่ อยากส่งวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟากผมไปให้ดูมั่งจัง ว่าดวงดาวกับชะตาชีวิตผมมันจะเป็นไงมั่ง  ทำไมหลายปีมานี้มันมีแต่ขาลงๆ ก็ไม่รู้
เรื่องดูดวงนี่ผมชอบมาก  ไม่ใช่ว่าเราจะวิทยาศาสตร์จ๋า จนปฏิเสธเรื่องพวกนี้ซะหมด  เพียงแต่ไม่ปล่อยให้มันมามีอิทธิพลมากไปเท่านั้น
เคยอ่านจากศิลปวัฒนธรรม ที่ ร. 5 ท่านให้โหรหลวงทำนายชะตาของมกุฏราชกุมารรัสเซีย จะส่งไปให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซีย
มันแม่นซะจนพระองค์ท่านไม่กล้าส่ง  แล้วพระเจ้าซาร์และองค์มกุฏราชกุมารก็โดนปลงประชนม์แบบที่เรารู้ๆ กัน
ว่าจะหัดดูไว้หลอกดูดวงสาวๆ หรือไว้เข้าสังคมมั่งเหมือนกัน  ดูดวงเป็น ทายลายมือได้นี่เข้าสังคมได้ง่ายมาก ใครๆ ก็ชอบ


ถ้าจำไม่ผิด เคยอ่านที่ไหนซักที่นานมาแล้ว มากกว่า 10 ปีขึ้นไป  ตึกสูงส่วนในบ้านเราจะออกแบบเผื่อพวกแผ่นดินไหวไว้แล้ว แต่เผื่อไว้ระดับไหน ขนาดไหนยังไม่รู้เหมือนกัน เลาๆ ว่าระดับ 7 หรือ 7.5
ต้องรอวิศวกรโยธาในเรือนไทยมาไขข้อข้องใจว่ากฏหมายไทย ให้ออกแบบเผื่อไว้เท่าไหร่ หรือไม่ได้บังคับไว้ แล้วตามหลักสากล เค้าเผื่อกันไว้ที่เท่าไหร่
เคยไปดูการทดสอบในงานจุฬาวิชาการ  แสดงให้เห็นว่าตึกยิ่งสูง ไหวมากยิ่งสั่นน้อย แต่พอไหวน้อยดันสั่นมาก   

ถ้าแผ่นดินไหวส่งผลกระเทือน กทม หนักมากจริงๆ นี่น่ากลัวกว่าอาจจะเป็นตึกไม่สูง หรือตึกแถว 2-3 ชั้น ที่ไม่ได้มีการออกแบบเผื่อไว้ พวกนี้น่าจะเสี่ยงต่อการถล่มมากกว่าตึก 20 - 30 ชั้น
ตอนนี้กระแสหายนะภัยแรง ต่อไปคอนโดใหม่ๆ อาจจะชูจุดขายใหม่
เช่นคอนโดนี้ แม้วิวไม่สวย เข้าซอยเปลี่ยว ห่างรถไฟฟ้า  แต่ทนแรงแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ที่ศูนย์กลางระดับความลึก 100 เมตร ใต้ฐานคอนโดพอดีได้สบายมาก  มหาชนอาจจะแห่ไปจองก็ได้
ปัญหาและผลกระทบคือคือ ลูกค้าอาจจะต้องจ่ายแพงเกินจำเป็นไปอย่างมาก สำหรับโครงสร้างที่อาจจะไม่จำเป็นต้องให้แข็งแกร่งทนทานระดับนั้นก็ได้


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 21:39
...ยายแก่แร้งทึ้งที่ได้ชื่อว่าเป็นแฟนคลับของคุณตั้งน่ะใครกันคะ เห็นแล้วหน้าคุ้นๆยังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก เหมือนอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

ในวิชาการโหนต่องแ่ต่งไม่ปรากฎว่ามีดาวใดที่เป็นตัวแทนของยายแก่แร้งทึ้ง มีแต่คนสวยและดีดั่งเทพธิดา Venus (ดาวศุกร์) เท่านั้นครับ เว้นแต่เทพธิดานั้นไปอยู่ในราศรีพิจิกก็อาจจะเป็นเทพธิดาจำแลง  ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 12, 22:26
ถ้าจำไม่ผิด เคยอ่านที่ไหนซักที่นานมาแล้ว มากกว่า 10 ปีขึ้นไป  ตึกสูงส่วนในบ้านเราจะออกแบบเผื่อพวกแผ่นดินไหวไว้แล้ว แต่เผื่อไว้ระดับไหน ขนาดไหนยังไม่รู้เหมือนกัน เลาๆ ว่าระดับ 7 หรือ 7.5   ต้องรอวิศวกรโยธาในเรือนไทยมาไขข้อข้องใจว่ากฏหมายไทย ให้ออกแบบเผื่อไว้เท่าไหร่ หรือไม่ได้บังคับไว้ แล้วตามหลักสากล เค้าเผื่อกันไว้ที่เท่าไหร่  เคยไปดูการทดสอบในงานจุฬาวิชาการ  แสดงให้เห็นว่าตึกยิ่งสูง ไหวมากยิ่งสั่นน้อย แต่พอไหวน้อยดันสั่นมาก   
ถ้าแผ่นดินไหวส่งผลกระเทือน กทม หนักมากจริงๆ นี่น่ากลัวกว่าอาจจะเป็นตึกไม่สูง หรือตึกแถว 2-3 ชั้น ที่ไม่ได้มีการออกแบบเผื่อไว้ พวกนี้น่าจะเสี่ยงต่อการถล่มมากกว่าตึก 20 - 30 ชั้น  ตอนนี้กระแสหายนะภัยแรง ต่อไปคอนโดใหม่ๆ อาจจะชูจุดขายใหม่ เช่นคอนโดนี้ แม้วิวไม่สวย เข้าซอยเปลี่ยว ห่างรถไฟฟ้า  แต่ทนแรงแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ที่ศูนย์กลางระดับความลึก 100 เมตร ใต้ฐานคอนโดพอดีได้สบายมาก  มหาชนอาจจะแห่ไปจองก็ได้  ปัญหาและผลกระทบคือคือ ลูกค้าอาจจะต้องจ่ายแพงเกินจำเป็นไปอย่างมาก สำหรับโครงสร้างที่อาจจะไม่จำเป็นต้องให้แข็งแกร่งทนทานระดับนั้นก็ได้

เมื่อปี 2527 อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า อาคารสูงในไทยได้มีการคำนวณในเรื่องของการรับแรงลมไว้แล้ว ซึ่งมีความแข็งแรงเพียงพอในการรับการไหวของแผ่นดินไหวที่เข้ามาถึง กทม. (เหตุการณ์เมื่อปี 2526)   ก็ต้องเชื่อเขา และอาจารย์ท่านนั้นก็ขอทำโครงการสำรวจตึกสูงต่างๆด้วยเครื่อง Accelerometer (เครื่องมือวัดอัตราเร่งของการเคลื่อนไหวของวัตถุจากการไหวคลอนต่างๆ) เพื่อจะได้ใช้เป็นมาตรฐานกำหนดในการคำนวณโครงสร้างของอาคารต่อไป ซึ่งผมไม่ทราบว่าได้ข้อมูลและได้ใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใดในเวลาต่อมา เราเคยคุยกันว่าหากต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีการออกแบบโครงสร้างที่กันแผ่นดินไหวได้ใดๆก็ตาม จะเกิดผลกระทบอย่างมากมายในเชิงเศรษฐกิจสำหรับอาคารเก่าต่างๆและอาคารใหม่ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จะได้มีการแทรกหรือซ่อนการคำนวณ Safety factor ไว้ตรงใหนในเวลาต่อมาบ้างผมก็ไม่ทราบ
ในความเห็นและความรู้ของผมนั้น อาคารที่ออกแบบให้มีการป้องกันแผ่นดินไหวนั้น จะสังเกตเห็น เช่น มีผนังเต็มสูงตลอดแนวที่ส่วนด้านหนึ่งด้านใดของอาคาร  หรือสำหรับอาคารสูงที่มีผู้คนอาศัยหรือทำงานอยู่มากจะมีการออกแบบให้แยกเป็นสองอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) คลื่นแผ่นดินไหวมักจะไม่ทำให้เสียหายทั้งสองอาคารพร้อมกัน จะมีเพียงอาคารเดียวที่ได้รับวามเสียหายมาก     จะต้องออกแบบให้มีพื้นที่ๆทนทานต่อความพินาศและความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อและให้เป็นจุดที่สามารถจะยังคงใช้หรือสามารถเข้าถึงเพื่อแก้ไขได้ เพื่อสงวนชีวิตและการติดต่อกับภายนอก ซึ่งก็คือ ระบบ Life line (ไฟฟ้า ประปา ระบบการสื่อสาร ฯลฯ) เป็นต้น
ผมก็ยังไม่เคยเห็นเด่นชัดนะครับ แต่อาจจะเป็นเพราะเป็นความสามารถในการออกแบบและการแทรกซ่อนไว้ได้อย่างกลมกลืนก็ได้

ไม่ทราบว่าวิศวกรและโยธาฯหายไปใหนหมด ไม่เห็นมาออกข่าวกันบ้างเลย คนรู้มากบ้างน้อยบ้างยังออกมาระดมวิเคราะห์กันขรมแล้ว     


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 06:48
20 เมษายน 2555 06:09 น.   


 
       เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุในรายงานแผ่นดินไหวว่าเมื่อเวลาประมาณ 2.43 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 3.2 โดยมีศูนย์กลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานถึงความเสียหายใดๆ
       
        เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ถึงสัปดาห์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 เขย่า อ.ถลาง จนก่อความตื่นตระหนกแก่ชาวบ้าน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เกิดแผ่นดินไหวไม่รุนแรงในอำเภอแห่งนี้ตามมาอีกหลายสิบครั้งตั้งแต่ระดับ 2.0 ถึง 3.1 และคราวนี้นับว่ามีระดับความรุนแรงมากที่สุด


ทำไมมันซ้ำๆแทบทุกวัน ? ? ?


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 09:03
อาฟเตอร์ช็อคหรือเปล่าคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 18:38
วันนี้ตอนบ่าย  15.10 น.มีข่าวแผ่นดินไหวที่ถลาง อีกแล้วค่ะ

http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11985359/NE11985359.html


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 19:47
       วันนี้ (20 เม.ย.) นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความ และทำใบปลิวเตือนเกาะภูเก็ตจมในวันที่ 28 เม.ย. นี้ ว่า อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในราชการ อย่าเชื่อข่าวลือที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะข่าวลือก็คือข่าวลือ ซึ่งเรื่องของข่าวลือนั้น ตนขอเอาตำแหน่งเป็นประกัน ถ้าหากเกิดเหตุเกาะภูเก็ตจม ตนพร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทันที
       ส่วนการดำเนินการกับคนที่โพสต์ข้อความ และแจกใบปลิวจนทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และสร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดภูเก็ตนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตเข้าแจ้งความต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการทางอาญากับผู้กระทำการดังกล่าวแล้ว
       ซึ่งทางผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตเองก็จะเร่งดำเนินการตรวจสอบ และหาตัวคนทำอย่างเร่งด่วน เพราะฉะนั้น คนที่ดำเนินการเรื่องนี้ควรจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวเพราะสร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก
       ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังได้กล่าวต่อไปถึงการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ว่า ในเรื่องของเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในทุกท้องถิ่นแล้ว ชาวบ้านสามารถแจ้งเหตุการณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการช่วยเหลือประชาชนนั้น จะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
       ส่วนเรื่องของการให้ความรู้แก่ประชาชน จะเร่งจัดทำคู่มือการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ของจังหวัดภูเก็ต เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเฉพาะเรื่องของสึนามิถล่มเท่านั้น และในเร็วๆ นี้ ทางผู้ประกอบการจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวจากประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (20 เม.ย.) นายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ ป้องกันจังหวัดภูเก็ต นำหนังสือมอบอำนาจจากนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ. เฉลียว ท้ายฮู้ ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่องเกาะภูเก็ตจมให้อพยพออกจากเกาะภูเก็ตภายในวันที่ 28 เม.ย. หรือบุคคลอื่นใดที่ให้ข่าวเผยแพร่ในลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งมีผลให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตตื่นตระหนกตกใจกลัว สำหรับการแจ้งความในครั้งนี้ ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาตัวคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วย
       ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดตามมาตร 384 ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตระหนก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ***********************
       ดีค่ะ จะได้หยุดลือกันเสียที


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 22:07
ข่าวอย่างนี้ถึงจะน่าเอาลง
เครดิตพันทิปค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 12, 20:07
ไปเจอข่าวนี้เข้า ระบุชื่อนักวิชาการที่ให้ข่าวด้วยค่ะ   ไม่ได้อ้างลอยๆ  ก็เลยลอกเอามาให้อ่านกัน

มหันตภัยใต้สมุทร ภูเขาไฟใกล้ระนอง
 แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา จะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยซ้ำรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 แต่คนไทยทั้งประเทศคงไม่สามารถวางใจได้ หลังผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดอาจไปกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ห่างจาก จ.ระนอง เพียง 200 กิโลเมตร ซึ่งหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมากกว่า 7.9 ริกเตอร์ บริเวณนี้ อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่พัดถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย สร้างความเสียหายร้ายแรงกว่าปี 2547 เสียอีก
          รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เมษายน มีความรุนแรงระดับ 8.8 ริกเตอร์ และซ้ำด้วย 8.9 ริกเตอร์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นยังมีอาฟเตอร์ช็อกระดับความรุนแรงขนาดมากกว่า 5 ริกเตอร์ ตามมาอีก 26 ครั้ง ในจุด เดียวกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อปี 2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวลามขึ้นมาทางตอนเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพื้นที่การไหวเป็นแนวซิกแซ็ก ระดับความลึกอยู่ในชั้นเมนทอล ลึกลงไปใต้ระดับพื้นดินประมาณ 22 กิโลเมตร ซึ่งต่ำกว่าชั้นเปลือกโลก
          "ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เกิดแผ่นดินไหวซ้ำลามทั่วบริเวณบันดาอาเจะห์ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า บริเวณนี้แผ่นดินไหวใหญ่แต่ละครั้งจะมีวงรอบห่างกัน 200-600 ปี แต่ระยะหลังเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้ซ้ำหลายครั้งในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดลึกกว่าเมื่อปี 2547 ซึ่งอยู่ในระดับเปลือกโลก น่าติดตามว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจกระตุ้นให้เกิดซ้ำอย่างรุนแรงได้อีก โดยจุดความเสี่ยงแผ่นดินไหวน่าจะอยู่ในแถบหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเยื้องกับ จ.ระนอง ของประเทศไทย" รศ.ดร.ธนวัฒน์ วิเคราะห์


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 12, 20:09
      รศ.ดร.ธนวัฒน์ ขยายความว่า บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์รวมถึงหมู่เกาะอันดามัน ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามันต่อเนื่องมาจากตอนเหนือของเกาะสุมาตรา อยู่ในความปกครองของอินเดีย และอยู่ในแนวรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ห่างจาก จ.ระนอง เพียง 200 กิโลเมตร แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งที่ผ่านมาอาจไปกระตุ้นให้แผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้เกิดการขยับตัวเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟใต้ทะเลบาร์เรน (Barren) ซึ่งยังคุกรุ่นอยู่ ภูเขาไฟอาจปะทุทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน และหากแผ่นดินไหวทำให้เกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเลก็จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่ง ซึ่งจะพัดถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยแถบ จ.ระนอง จ.พังงา ได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ซึ่งความรุนแรงจะมากกว่าปี 2547 มาก
          ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ มีการสะสมหรือปลดปล่อยพลังงาน ซึ่งจะเลื่อนขึ้นไปตามแนวรอยเลื่อน ขณะที่น่าจับตาคือบริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เพราะเป็นแนวที่ติดกับบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด อาจเกิดการกระตุ้นให้เปลือกโลกบริเวณนี้ขยับตัวจนเกิดแผ่นดินไหว หากเป็นการไหวในแนวดิ่งไม่ว่าเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงอาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ อย่างรุนแรง และในเวลาอันรวดเร็ว เพราะจุดดังกล่าวอยู่ใกล้กับจังหวัดเหล่านี้มากกว่าทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรามาก
         ดร.ภาสกร บอกด้วยว่า นอกจากภูเขาไฟใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์แล้ว ไล่ลงมาทางตอนล่างไม่มากนัก บริเวณแถบไหล่ทวีปมะริด หรือที่เรียกกันว่า สะดือทะเล ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางประเทศอินเดียประมาณ 200 กิโลเมตร ยังพบมีแนวโคลนร้อน หรือมัดโวคาโน ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2549 โดยคณะนักวิจัยชาวไทยคือ รศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในขณะนั้นเชื่อว่าเป็นภูเขาไฟใต้น้ำจำนวน 4 ลูก มีฐานกว้างประมาณ 500 เมตร สูง 60-70 เมตร ก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเป็นเพียงแนวโคลนร้อน ซึ่งในบริเวณนี้ก็ต้องศึกษาเช่นกันว่าจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมา จนนำมาสู่การสะสมพลังงานหรือปล่อยพลังงานออกมาจนอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 12, 20:12
 "นอกจากแนวรอยเลื่อน ภูเขาไฟและแนวโคลนร้อนในทะเลอันดามันแล้ว บนฝั่งของภาคใต้แถบ จ.ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง ยังมีรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังงาน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวทั้งที่ จ.ตรัง และที่ จ.พังงา แต่ขนาดไม่ใหญ่มากประมาณ 3 ริกเตอร์ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลบริเวณนี้สามารถเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงได้ไม่เกิน 7 ริกเตอร์     โดยระดับ 5 ริกเตอร์ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ หากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในแหล่งชุมชนสามารถสร้างความเสียหายได้มากเช่นกัน" ดร.ภาสกร ขยายความ
  ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 มีความผิดปกติเกิดขึ้นในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในปี 2553 และ 2554 ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน จ.ตรัง และ จ.พังงา ที่สร้างความแตกตื่นเป็นพิเศษคือในเดือนพฤษภาคม 2554 เกิดดินแยกและมีโคลนร้อนปะทุขึ้นมาจากใต้ดินเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร ในสวนปาล์มของนายอุทิศ ชูมี ภายในหมู่บ้านตะเคียนงาน หมู่ 3 ต.บางหิน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง
        เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2548 ที่บริเวณปากคลองช้างแหก อ่าวแหลมสน หมู่ 8 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง โดยครั้งนั้นชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นฟองผุดขึ้นมาจากท้องทะเลเหมือนน้ำเดือดเป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบใต้ทะเล ซึ่งมีความลึกประมาณ 7 เมตร มีรอยแยกของพื้นดินกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวนับกิโลเมตร
 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนใน จ.ระนอง และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ปรากฏการณ์แผ่นดินแยก และโคลนร้อนที่ปะทุขึ้นจากพื้นดินเกิดจากสาเหตุอะไร

http://www.oknation.net/blog/Sp-Report/2012/04/21/entry-3


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 21:40
ทำไมมันซ้ำๆแทบทุกวัน ? ? ?
อาฟเตอร์ช็อคหรือเปล่าคะ

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นนั้น จำแนกออกเป็น 3 ระยะ คือ Fore shock, Main shock และ After shock
ลักษณะของ fore shock คือ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในพื้นที่โครงสร้างทางธรณ๊วิทยาบริเวณเดียวกัน (มิใช่ในตำแหน่งเดียวกัน) ขนาดอาจะประมาณเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นมาในครั้งก่อนๆ แต่ส่วนมากมักจะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมไม่มากนัก
จากนั้นจึงเกิด main shock คือแรงที่สุด (ปล่อยพลังงานออกมาสูงสุด)
เมื่อเกิดขนาดใหญ่แล้ว ก็มักจะมี after shock ตามมาในขนาดที่เล็กกว่าและค่อยๆลดขนาดลง แต่บางครั้ง after shock ก็จะมีขนาดใกล้เคียงกับ main shock

นักวิชาการแผ่นดินไหวจริงๆนั้น เขาจะเอาแผ่นดินไหวที่เกิดในพื้นที่โครงสร้างทางธรณีวิทยาเดียวกันมาพิจารณาดูความสัมพันธ์ระหว่างคาบเวลาและขนาดที่มันเกิดขึ้น (เอามา plot นั่นแหละครับ แกนตั้งเป็นขนาด แกนนอนเป็นเวลาปฏิทิน) โดยหลักการก็คือ เหตุการณ์ตามธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ (bell shape) เพียงแต่จะเป็นทรงระฆังกว้างจนเหมือนกระทะคว่ำ หรือจะแคบจนเป็นทรงแก้วแชมเปญคว่ำ (flute glass)    แต่ก็มิใช่เสมอไปนะครับ มันก็มีแบบที่เกิดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้วตามมาด้วย after shock หรือ ค่อยๆเกิดถี่ขึ้นจนแรงมากแล้วก็หยุดไปเลย คือมีแต่ fore shock เท่านั้น หรือไม่มีทั้ง fore shock และ after shock  พวกไม่ปรกตินี้มีน้อย และมักเกิดในพื้นที่ที่ไม่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สำคัญ เช่น กลางประเทศอินเดีย กลางประเทศแคนาดา เป็นต้น

สำหรับแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ (มักจะต่ำกว่าขนาด 4 หรือไม่เกิน 5 ) ซึ่งเกิดบ่อยๆเกิดเป็นประจำในพื้นที่เดิมๆ เรียกว่าบ่อยจนเคยชินว่า เอาอีกแล้ว เช่นนี้  ลักษณะการเกิดแบบนี้เรียกกันว่า Earthquake swamp ซึ่งมีเกิดขึ้นในพื้นที่บางแห่ง และก็มักจะมีตามหลังการแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ภายหลังจากที่หมดระยะ after shock ไปแล้ว ง่ายๆก็คือเหมือนกับการต้มน้ำจนเดือดแล้วดับไฟเตา น้ำก็จะยังเดือดไปอีกสักครู่ แม้ผิวหน้าของน้ำในกาน้ำจะไม้เืดือดปุดๆแล้ว แต่ก็ยังมีฟองอากาศลอยปุดๆให้เห็น จะเห็นว่าฟองอากาศที่มันปุดออกมานั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน ฉันใดก็ฉันนั้น แผ่นดินไหวก็เหมือนกัน การจะแบ่งเขตระหว่างที่จะเรียกว่า after shock กับ swamp นั้นก็อาจจะเป็นเรื่องยากเล็กน้อย ปรกติ after shock จะมีนัยหมายถึงพลังจากแผ่นดินไหวยังอยู่ในระดับที่จะสร้างความเสียหายซ้ำเติมได้ และ swamp จะมีนัยหมายถึงมันยังเกิดอยู่แต่จัดได้ว่าอยู่ในระยะที่มีความปลอดภัยแล้ว

คงจะเป็นคำตอบนะครับ



     


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 21:44
เรื่องแผ่นดินไหวครั้งนี้มัจะบอกอะไรและมันจะพาลไปถึงใหนนั้น ขอผลัดเป็นพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 เม.ย. 12, 02:03
ท่าน อ ตั้ง ทิ้งท้ายไว้ชวนติดตามมาก  ตอนนี้มานั่งตาแป๋วรอ lecture แล้วครับ  ::)


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 13:08
ทางการประกาศให้ถลางเป็นแหล่งภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วค่ะ  
มีข่าวออกว่านักธรณีวิทยา เตือนให้ระวังรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง
แถมยังมีข่าวกรุงเทพมหานครแถลงแผนเตรียมป้องกันภัยพิบัติอีกด้วย
แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วหรือนี่

วิธีปฏิบัติเมื่อประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวสไตล์ญี่ปุ่น

http://lazysheep.exteen.com/



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 13:11
.


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 13:16
.


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 21:06
What to do when there's an earthquake in Japan

http://www.youtube.com/watch?v=IaedDlN5dfo&feature=player_embedded#!


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 13:14
เรื่องแผ่นดินไหวครั้งนี้มัจะบอกอะไรและมันจะพาลไปถึงใหนนั้น ขอผลัดเป็นพรุ่งนี้ครับ

มันได้สะท้อนให้เห็นว่า เรานิยมเปลือกนอกมากกว่าเนื้อใน เนื้อข่าวและข้อมูลที่ปรากฏในสื่อสาธารณะนั้น โดยสรุปแล้ว จนกระทั่งบัดนี้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้เพิ่มเติมและเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ?? เราทราบเรื่องจากข่าวสองนาทีตามสถานีวิทยุ แล้วก็เอามาวิเคราะห์วิจารณ์กัน ตั้งตนเป็นกูรูแล้วก็ตั้งป้อมทำการ defense มากกว่าที่จะคิดต่อไปและนำเสนอในเรื่องทาง offense  ก็น่าจะแสดงว่าความรู้ต่างๆจำกัดอยู่ในวงของ Basic text book ?? ขาดการอ่านและศึกษาเพื่อความรอบรู้เพิ่มเติมจาก Journal ต่างๆ ??  หรืออย่างไร ??     การขยายเนื้อความของข่าวสารและสาระต่างๆที่เกี่ยวข้องถูกครอบงำไปด้วยเรื่องของเงินๆๆๆ มากกว่าในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน   เราขยายความน่ากลัวไห้แผ่กระจายไปในวงกว้างออกไปทั่วประเทศเพื่ออะไรก็ไม่ทราบ (โดยเอาแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆน้อยๆมาออกข่าว) จะบอกว่าให้เตรียมตัว ?? ก็ไม่บอกว่าจะต้องทำอย่างไร ??

คราวนี้ก็ถึงเรื่องว่าแล้วมันจะไปเกิดที่ใหนและเมื่อใดอีก ตรงๆก็คือตอบไม่ได้ แต่รู้ว่ามีโอกาสมากที่รอยเลื่อนในไทยจะขยับปรับตัวปรับสมดุลย์ใหม่ (ซึ่งคงจะต้องมี) และจะเป็นขนาดใหญ่ก็ไม่ควรจะเกินขนาด 5 (เนื่องจากมันอยู่ในพื้นที่ของแรงใน Extension regime ดังที่เคยเล่าแล้ว) และผมเห็นว่ารอยเลื่อนทางภาคตะวันตกของเราสองสามรอยนั้น หากจะขยับปรับตัวก็คงจะต้องหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวในพม่าขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เสียก่อน
อันที่จริงแล้ว เรากำลังไปพะวงกับการปรับตัวของรอยเลื่อนต่างๆที่พบในไทยโดยผนวกเข้ากับการเกิดแผ่นดินไหวในขนาดที่อาจมีอำนาจทำความเสียหายได้ แต่ลืมคิดไปว่า แท้จริงแล้วพวกแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดเกือบจะทั่วไปทั่วประเทศทุกวันและไม่นำออกมาให้ข่าวนั้น (ทั้งในอดีตและปัจจุบัน) มันก็คือพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ลดพลังงานที่จะสะสมสำหรับการเกิดขนาดใหญ่ลงไป เหมือนกับเปิดฝากาต้มน้ำไม่ให้ฝากานั้นถูกอัดให้เปิดกระเด็นออกมา
หากเอาข้อมูลแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ (ซึ่งประชาชนไม่ได้รับรู้สึก) ที่เก็บสะสมมาเปิดเผยทั้งหมด บางทีก็อาจจะเป็นการดีทำให้ลดความกลัวลง แต่บางทีก็อาจจะไม่ดีทำให้ยิ่งแตกตื่นกันมากขึ้นก็ได้

ผมต้องเขียนเรื่องเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากตนเองเคยได้รับประสบการณ์มาเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองกาญจนบุรีปี 2526 ในวันนั้นบังเอิญผมยืนอยู่ตรงโทรศัพท์พอดี ก็มี 191 โทรเข้ามาสอบถามข้อมูลและขอความรู้เรื่องแผ่นดินไหวเพื่อการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม เนื่องจากมีโทรศัพท์มาสอบถาม 191 มากเหลือเกิน ด้วยไม่คิดอะไรมากก็ให้ความรู้ทางวิชาการที่เป็นจริงไป แล้วก็บอกว่าอาจจะมี after shock ตามมา แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด เขาก็ถามนำว่าสัก 2-3 ชั่วโมงได้ ผมก็ตอบว่าเป็นได้ทั้งนั้น แล้วก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ต้องตกใจนะ มันจะไม่รุนแรงเท่าที่เกิดมาแล้ว เท่านั้นเองแหละครับ คงจำกันได้ ลือกันให้แซดเลยว่าจะเกิดอีกตอนเที่ยง พวกพนักงานในตึกสูงทั้งหมดพากันลงมายืนอยู่ข้างล่างกันหมด จำจนวันตายเลยครับ เรื่องพวกนี้ทำให้เกิด panic ได้ง่ายมากๆ ข้อมูลที่ผมให้นั้นเขาเอาไปบอกต่อไม่หมด ก็คงเป็นอีหรอบเดียวกันกับข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆในกรณีภูเก็ต             

 



 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 14:01
เรื่องโคลนร้อนและ Mud volcano ที่คุณเทาชมพูนำมาโพสต์นั้น

สำหรับผมแล้ว มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องอะไรกับแผ่นดินไหวเลย และก็คงไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากแผ่นดินไหวที่สุมาตาอีกด้วย
มันมีแผ่นดินไหวเกิดร่วมอยู่ในบริเวณนั้นแน่ๆในลักษณะ Earthquake swamp เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่ท้องทะเลขยายตัวกว้างขึ้น เรียกพื้นที่บริเวณนั้นกันทั่วไปว่า Andaman seafloor spreading ซึ่งทำให้ในพื้นที่บริเวณนั้นย่อมจะต้องร้อนเป็นธรรมดา และเมื่อร้อนแล้ว บรรดาก๊าซที่เกิดจากซากอินทรีย์วัตถุและก๊า๊ซที่อยู่ในระหว่างรูพรุนของตะกอนดินทรายก็จะขยายตัวและหนีลอยออกมาผสมผสานกับตะกอนดินทรายที่ละเอียดมากๆ ทำให้เห็นภาพที่เหมือนเดือดปุดๆ เมื่อช่องทางหนีของก๊าซนี้เป็นเหมือนปล่องเหมือนท่อ ปากทางของมันก็จะมีลักษณะเป็นปล่อง มันก็เหมือนกับลาวาพ่นออกจากภูเขาไฟ 



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 15:44
ข่าวของทางการ มีน้อย  บางทีกว่าจะออกข่าวได้ก็ช้าเกินการ    เพราะในยุคสื่อสารไร้พรมแดน    ช้าไปวันเดียวก็ถือว่าช้าไปแล้ว 
ประชาชนตื่นตระหนกขวัญหนีดีฝ่อไปกับข่าวของเอกชน (เช่นสื่อหนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์ต่างๆในอินทรเนตร) จนยากจะกลับลำมาเชื่อปุบปับว่าไม่มีอะไรน่าวิตก
ดิฉันเอาข่าวต่างๆมาลง ก็เพื่อให้คุณตั้งช่วยเคลียร์  สำหรับคนที่เข้ามาอ่านในเว็บนี้จะได้รู้ว่าไม่มีอะไรอย่างที่กลัวกัน    จะได้ใจชื้นขึ้นว่า
ยังไงวันที่ 28 นี้ภูเก็ตก็ไม่จม   และธันวาคมปีนี้คุณประกอบก็ยืนยันนั่งยันว่าโลกไม่แตกแน่นอน 

ส่วนการให้สัมภาษณ์   ขอแนะนำคุณตั้งหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สดลงหนังสือพิมพ์ เพราะอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่ายมาก   ไม่ฝ่ายเราก็ฝ่ายเขา      ถ้าทำได้ ควรจะให้สัมภาษณ์ทางอีเมล์ เพื่อมีลายลักษณ์อักษรยืนยัน   หรือไม่ก็ถ่ายวิดีโอไว้แล้วขอให้เขาเอาลง DVD ส่งมาให้เสียเลยค่ะ สบายใจกันทั้งสองฝ่าย


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 เม.ย. 12, 18:11
เรื่องแผ่นดินไหวสึนามินี่ทำให้มองเห็นปัญหาหลายๆ ส่วนในบ้านเรา

ปัญหาแรกคือสื่อ
สื่อเองก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบพอที่จะนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์  แต่กลับมุ่งที่จะขายความตื่นเต้น หวือหวาเพื่อให้คนติดตามมากกว่า
เวลาสื่อไปสัมภาษณ์ ก็มักจะสัมภาษณ์หรือนำเสนอสิ่งที่พวกโหร หรือพวกนักทำนายภัยพิบัติพูด มากกว่านำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญจริง
พวกนักทำนาย พูดแต่เรื่องหวือหวาน่าตื่นเต้น แต่พวกนักวิชาการจริงๆ มันจะน่าเบื่อกว่า ขายข่าวไม่ได้
ถ้าไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ก็มักจะตัดต่อเอาแต่ส่วนที่หวือหวามาออกข่าว เพราะผู้เชี่ยวชาญมักจะตอบแบบกลางๆ ไม่ฟันธง แต่สื่อฟันธงซะเอง
บางทีผู้เชี่ยวชาญอธิบายมายืดยาว  สื่อตัดเอาแต่คำพูดประโยคเดียว แต่สื่อความหมายไปคนละทางเลย แถมเล่นตัดแต่ตรงที่พูดถึงหายนะหรือภัยพิบัติ
นี่เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ   แถมเป็นกันทุกสื่อ

ปัญหาที่สอง คนรับสื่อเองก็ไม่ค่อยมีวิจารณญาณ
บ้านเราคนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเชื่อคนจากชื่อเสียงหรือวุฒิ โดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นรู้หรือเชี่ยวชาญเรื่องที่พูดจริงไหม
ถ้ามีคำว่า ดร. นำหน้าชื่อแล้ว ก็จะได้รับความเชื่อถือทันที โดยไม่ได้ดูว่าเป็น ดร. ด้านอะไร เชี่ยวชาญเรื่องที่พูดจริงไหม
แถมถ้าเป็น ดร. แล้วมียี่ห้อนาซ่าปะด้วย ยิ่งได้รับความเชื่อถือ  ดร. 2-3 คนในบ้านเรา ไปไหนมาไหนเลยต้องพกยี่ห้อนาซ่าไปด้วย
แม้ว่าจะพูดเรื่องบ้าบอคอแตก มนุษย์ต่างดาว พลังจิต สิ่งลี้ลับ อะไรก็ตามที่ยังพิสูจน์ไม่ได้  ก็มีคนพร้อมจะเชื่อ เพราะผู้พูดเป็น ดร. แถมมีคำว่านาซ่า
ยิ่งถ้าอ้างพุทธ เอาหลักธรรมะมาด้วยหละก็  อู๊ยยยย ยิ่งดัง ถูกจริตคนจำนวนไม่น้อย   ตอนนี้ของเก๊เลยระบาดตามหน้าจอ หน้า นสพ หรือเว็บไซต์ต่างๆ

ผมไปอ่านเว็บ pantip มา ห้องข่าว เห็นยังมีคนคนจำนวนไม่น้อย  อ้างว่าต้องถือคติว่าต้องฟังหูไว้หู หรือฟังไว้ดีกว่าไม่ฟัง เค้าเตือนก็ต้องฟังไว้
แล้วก็เอนเอียงมาทางพวกมียี่ห้อปะพวกนี้  แล้วก็ตระหนก แตกตื่นกันต่อไป   เพราะพวกนักเตือน มันเล่นเตือนกันทุกวัน
เราไม่สามารถใช้เหตุผลกับคนทุกคนได้จริงๆ

อีกเรื่องที่ไม่มีคือ เราไม่มีการเตรียมการรับมือหายนะต่างๆ อย่างจริงจังเลย หลังสึนามิ เราเห่อกันพักหนึ่ง แต่พอมีการอพยพที่ภูเก็ตไม่กี่วันก่อน  คนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าค่อนข้างวุ่นวาย
คนแห่กันขับรถหนีขึ้นเขา รถติดกัน ไปไหนไม่ได้ หนีไปแล้วก็ไม่รู้ต้องอยู่บนเขานานถึงเมื่อไหร่  น้ำอาหารก็ไม่มี  โปรศัพท์ก็ช่องสัญญาณเต็ม เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีฯลฯ
เราไม่มีการซักซ้อม เตรียมการกันแบบจริงๆ จัง แผนรับมือมีไว้เก็บใส่แฟ้ม แต่ไม่ซ้อม  ไม่ประเมินการซ้อมอย่างจริงๆ จังๆ  
ขนาดจะตัดสัญญาณถ่ายทอด TV ยังไม่มีคนกล้ารับผิดชอบเลย   ดังนั้น ภัยพิบัติของจริงมาเมื่อไหร่ การรับมือก็จะมั่วๆ ซั่วๆ เหมือนเดิม


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:33
 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 21:45
ตอนนี้ ข่าวแผ่นดินไหว ซึนามิจะมา  เขื่อนจะแตก  ค่อยๆซาลงไปบ้างแล้ว  อาจเป็นเพราะยังไม่มีข่าวใหม่ที่แสดงว่าคำทำนายทั้งหลายจะเป็นจริง
หรือไม่ก็ท่านผู้ว่าฯภูเก็ตเอาจริง 
พ้น 28 เมษายน  ข่าวคงจะเงียบไปเองค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 12, 21:24
แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ลมพายุ น้ำท่วม ซึนามิ คลื่นยักษ์ ดินโคลนถล่ม เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ในธรรมชาติ ซึ่งหากมีขนาดและกำลังแรงก็จะเกิดเป็นภัยพิบัติต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์

เราจัดให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นภัยจากธรรมชาติ (Natural hazard) ซึ่งภาษาทางราชการเรียกว่า พิบัติภัยทางธรรมชาติ (???) เหตุการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเสมอไป แต่เมื่อใดที่มันมีความรุนแรงมากพอหรือสร้างให้เกิดความเสียหายต่อหลายๆชีวิต ทัพย์สิน และชุมชน ภัยธรรมชาติเหล่านี้ก็จะเป็นภัยที่สร้างความหายนะ (Natural disaster) ซึ่งภาษาทางราชการเรียกว่า ภัยพิบัติจากธรรมชาติ (???)

(ไม่ทราบว่าใช้ศัพท์ภาษาไทยถูกหรือไม่ เห็นมีใช้ทั้งสองคำ แถมยังตัดคำว่าธรรมชาติทิ้งไปอีกด้วย)

ภัยจากการกระทำของธรรมชาติเหล่านี้ บางอย่างเราก็พอจะกำหนดช่วงเวลาที่มันจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะแม่นยำ (คือใกล้เคียงมากที่สุด) หรือสามารถคาดได้ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น เมื่อได้มีการติดตามวัดและทราบค่าในเชิงของปริมาณและคุณภาพบางอย่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมจนถึงขีดจำกัดสูงสุดของคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุของพื้นที่นั้นๆ
โดยความเป็นจริงก็คือ เราไม่สามารถห้ามธรรมชาติหรือดำเนินการใดๆเพิ่อป้องกันมิให้มันเกิดขึ้นได้ เราทำได้เพียงการลดขนาดและระดับความรุนแรงของมันที่จะมีผลกระทบต่อเรา ซึ่งโดยนัยก็คือ การลดระดับความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้มีเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยสรุป เราพยายามทำให้สภาพของภัย (Hazard) กลายไปเป็นสภาพของหายะนะ Disaster ให้ได้น้อยที่สุด  ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า Natural hazard mitigation หรือเรียกสั้นๆกันว่า Mitigation
ไม่ทราบจะแปลเป็นคำไทยที่ถูกต้องอย่างไรดี หลายคนแปลว่าบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งคำนี้ถูกใช้มานานมากจนกลายเป็นกิจกรรมที่ไปเน้นอยู่ในเรื่องของการกู้ภัย (Salvation) และยังแยกออกไปจากการกู้ชีพ (Rescue หรือ Life saving) อีกด้วย

Mitigation เป็นเรื่องของการเตรียมการและการกระทำก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ใดๆ เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์มันจะต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่นอน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุดทั้งในเชิงของบุคคลและสาธารณะชนส่วนรวม

ภาพที่คุญเพ็ญชมพูนำมาแสดงเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งน้อยนิดในเรื่องของ Mitigation

ผมจะค่อยๆเล่าขยายความไปเรื่อยๆนะครับ รัฐบาลและราชการยังไม่ขยับในเรื่องนี้เลย (คุยกันตั้งแต่ 27 โน่น) เราขยับตัวเราเองก็ได้ครับ

แล้วก็ต้องขออภัยที่จะขอใช้คำภาษาอังกฤษจนกว่าจะนึกคำที่เหมาะสมได้นะครับ 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 12, 21:51
ไม่ทราบเหมือนกันว่า Mitigation มีศัพท์บัญญัติว่าอะไร  แต่ถ้าแปลอย่างธรรมดาก็แปลว่าการบรรเทา
Natural hazard mitigation น่าจะแปลว่า การบรรเทาพิบัติภัยทางธรรมชาติ     ยาวเอาการเหมือนกันค่ะ   


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 13:39
เอารูปมาฝากให้ดูค่ะ

http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE12005489/NE12005489.html



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 14:57
ขออนุญาตเข้าซอยพิบัติภัยทางธรรมชาติ

แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ลมพายุ น้ำท่วม ซึนามิ คลื่นยักษ์ ดินโคลนถล่ม เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ในธรรมชาติ ซึ่งหากมีขนาดและกำลังแรงก็จะเกิดเป็นภัยพิบัติต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์

เราจัดให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นภัยจากธรรมชาติ (Natural hazard) ซึ่งภาษาทางราชการเรียกว่า พิบัติภัยทางธรรมชาติ (???) เหตุการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเสมอไป แต่เมื่อใดที่มันมีความรุนแรงมากพอหรือสร้างให้เกิดความเสียหายต่อหลายๆชีวิต ทัพย์สิน และชุมชน ภัยธรรมชาติเหล่านี้ก็จะเป็นภัยที่สร้างความหายนะ (Natural disaster) ซึ่งภาษาทางราชการเรียกว่า ภัยพิบัติจากธรรมชาติ (???)

(ไม่ทราบว่าใช้ศัพท์ภาษาไทยถูกหรือไม่ เห็นมีใช้ทั้งสองคำ แถมยังตัดคำว่าธรรมชาติทิ้งไปอีกด้วย)

ตอนเช้านี้ดูข่าวทางโทรทัศน์ รู้จักกับพิบัติภัยทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ "แผ่นดินลุกเป็นไฟ" (ความหมายตามตัวอักษร มิใช่สำนวน)

เนื้อข่าวว่าเกิดที่นครไทย พิษณุโลก

http://www.youtube.com/watch?v=dYPpHptFBPs&feature=player_embedded

นักธรณีวิทยามีความเห็นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรหนอ

 ???


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 15:45
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/357451.html

"พิษณุโลกเกิดไฟระอุใต้พื้นดินลวกชาวบ้าน-สัตว์เลี้ยง"

พิษณุโลก 25 เม.ย.-เกิดปรากฏการณ์ไฟระอุใต้พื้นดินที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กินพื้นที่ 100 ตารางวา ทำให้ชาวบ้านถูกไฟลวกเท้า และสัตว์เลี้ยงล้มตาย
ก่อนนักธรณีวิทยาจะมา   ขอถามนักวิทยาศาสตร์ก่อนก็ได้ค่ะ ว่าเป็นไปได้ไหม

เจ้าหน้าที่ป้องกันและป้องกันสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 เข้าตรวจสอบบริเวณหมู่ 9 บ้านเนินตาโนน ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จุดที่เกิดไฟระอุอยู่ใต้พื้นดินกินพื้นที่กว้าง 100 ตารางวา ริมถนนสายนครไทย-ด่านซ้าย พบซากสุนัขถูกไฟคลอกจนไหม้เกรียม และพบรอยแยกของพื้นดินความลึก 50 เซนติดเมตร ถึง 1 เมตร เมื่อนำเศษไม้และกระดาษโยนลงไปเกิดไฟลุกไหม้ทันที นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้าน 3 คน ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกไฟลวกที่ฝ่าเท้า วัวตาย 1 ตัว รวมทั้งสุนัขและแมว

สำหรับพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นโรงเลื่อย คาดว่าขี้เลื่อยที่ทับถมกันมานาน ประกอบกับอุณหภูมิโลกสูงขึ้น อาจทำให้เกิดการปฏิกิริยาสันดาปจากคลื่นความร้อนกระทบกับขี้เลื่อย จนเกิดประกายไฟ

ล่าสุด เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะท้าวได้นำเชือกมาล้อมกันพื้นที่ พร้อมเขียนป้ายห้ามเข้าเขตอันตราย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพิสูจน์ถึงสาเหตุของการเกิดไฟระอุใต้พื้นดินครั้งนี้


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 17:26
จบเรื่องแผ่นดินไหว  สื่อได้ข่าวใหม่มาให้ตื่นเต้นอีกแล้ว

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1335334418&grpid=03&catid=03


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 17:35
ข้อมูลเพิ่มเติม (http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/55323/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9F.html)

เบื้องต้นจากการสอบถามและซักประวัติพื้นที่ทราบว่า ที่เกิดเหตุในช่วงฤดูน้ำหลากจะถูกน้ำท่วมเป็นประจำเนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำห่างออกไปประมาณ ๑๐๐ เมตร และทุกครั้งที่น้ำท่วมจะมีดินตะกอนทับถมสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ จุดดังกล่าวเคยเป็นโรงเลื่อยทำไม้ซึ่งชาวบ้านยังเคยใช้เป็นพื้นที่เผาถ่านด้วยบางครั้ง

 ::)



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 12, 19:43
เนื่องจากๆไม่เห็นพื่นที่จริง ก็ต้องประมวลจากข้อมูลเท่าที่มี มีความเห็นพอจะอธิบายได้ ดังนี้

ชื่อตำบล คือ หนองกะท้าว แสดงว่าเดิมพื้นที่นั้นเป็นหนองน้ำ ตอนนี้รู้แล้วว่าสถานที่นั้นอยู่ห่างจากแม่น้ำประมาณ 100 เมตร ก็บอกต่อได้อีกว่าเป็นพื้นที่ๆเรียกว่า Back swamp ซึ่งเมื่อน้ำมากก็จะท่วมถึงและขังอยู่ น่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตะกอนดินทรายที่มากับน้ำจะเป็นพวกเนื้อละเอียดไหลมาตกตะกอนเป็นโคลนตม พื้นที่ลักษณะนี้จะมีวัชพืชน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น ทั้งในหนองน้ำและรอบๆชายขอบของหนองน้ำ ข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง คือ เคยเป็นที่ตั้งโรงเลื่อยเก่า และทำกิจการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงมีขี้เลื่อยและเปลือกไม้เป็นกากขยะสะสมอยู่ไม่น้อย และก็คงจะมีไม่น้อยที่ไหลเทลงไปสะสมอยู่ในที่ลุ่มชื้นแฉะ

สรุปเป็นภาพได้ว่า มีขี้เลื่อย เปลือกไม้และเศษวัชพืชเน่าเปื่อยปะปนกันอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้คลุกเคล้าผสมกับดินโคลน ลักษณะการสะสมก็น่าจะพอแบ่งออกเป็นลักษณะของการสลับกันเป็นชั้นๆระหว่างชั้นที่เป็นดินโคลนผสมอยู่มากกับชั้นที่มีขี้เลื่อยปะปนอยู่มาก

จากภาพนี้ อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง
ในส่วนที่ลึกจากผิวดินที่มีชั้นโคลนดินปิดทับอยู่ด้านบนนี้จะขาดอากาศ พวกจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลาย (กัดกิน) อินทรีย์วัตถุจะเป็นพวก Anaerobic bacteria ซึ่งก็คือเป็นพวกที่ไม่ต้องการออกซิเจนในอากาศในการดำรงชีพ พวกนี้จะกัดกินเนื้อไม้และใช้ออกซิเจนที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสารอินทรีย์วัตถุ ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน (Carbon) ไฮโดรเจน (Hydrogen) และออกซิเจน (Oxygen) เมื่อออกซิเจนถูกเอาไปใช้หมด สารอินทรีย์นั้นก็จะคงเหลือแค่ไฮโดรเจนกับคาร์บอน ที่เราเรียกกันว่าไฮโดรคาร์บอนนั่นแหละ (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) เกิดเป็นก๊าซมีเทน (Methane) สะสมอยู่ในรูพรุนในเนื้อดิน ซึ่งก๊าซนี้ติดไฟได้ง่าย 
นอกจากนั้นจุลินทรีย์พวกนี้ยังใช้ออกซิเจนจากสารประกอบซัลเฟต (SO4 อื่นๆอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เหลือสารตกค้างเป็นพวก Ferrous sulfide ซึ่งคือแร่ชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบหลักเป็นธาตุเหล็กกับกำมะถัน แต่ยังคงสะสมปนอยู่ในเนื้อของตะกอนดิน ทั้งหมดนี้คือสภาพของตะกอนที่แปรสภาพไป ในภาษาที่เรารูจักกันก็คือดินพรุ ในภาษาทางวิชาการเรียกว่า Peat bog หรือบางทีก็เรียกว่า Bog หรือ Bog swamp (ซึ่งโยงไปหากระทู้ของคุณเทาชมพู ว่าด้วยหลังคาแบบฝรั่ง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงบ้านที่สร้างในแถบทุ่งหญ้าแพรรี_Prairie_)   
ในส่วนใกล้ผิวดิน พวกจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจะเป็นพวกใช้อากาศในการดำรงชีพ (Aerobic bacteria) พวกนี้มีชิวิตสุขสบายจึงกัดกินเฉพาะส่วนที่อ่อนของเนื้อไม้ คงเหลือแต่เซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นโครงสร้างของเซลและเยื่อไม้ ทำให้เหลือเนื้อไม้ที่ยังทรงรูปเป็นท่อนไม้ กิ่งไม้อยู่

จะด้วยคนทิ้งก้นบุหรี่บนพื้นดิน ซึ่งจะไปจุดไฟเยื่อไม้เหล่านั้นแล้วพาลลามลึกลงไปถึงส่วนล่าง หรือจะเป็นเพราะอุณหภูมิสูงมากพอจนเกิดการสันดาบด้วยตัวเองของสารประกอบไวไฟในชั้นตะกอนที่ลึกลงส่วนไปก็ไม่ทราบได้ แต่ทั้งสองต้นเหตุนี้ก็จะไปทำให้เกิดไฟลามทุ่งอยู่ใต้ดิน ดังเช่นที่เกิดในพื้นที่ดินพรุทางภาคใต้ของไทยและที่เกิดในอินโดนีเซียจนส่งผลกระทบมาถึงมาเลเซียและไทย

ดับยากครับ และก็จะขยายวงพื้นที่ไปเรื่อยๆ มันคุอยู่ได้นานมาก

ต่ออีกหน่อยครับ ที่อธิบายมาก็คือกระบวนการเกิดถ่านหินอย่างง่ายๆ (ก่อนที่จะเกิดไฟใหม้ใต้ดิน)

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 20:04
หวังว่าคงไม่ร้ายแรงเท่าเมืองนี้

http://www.youtube.com/watch?v=ZjtmaCI9_wM&feature=player_embedded#!

Centralia, Pennsylvania (http://www.anut.smfnew.com/index.php?topic=999.0)

Johnathan Faust เป็นผู้ที่เปิดร้านขายเหล้าในเมือง Centralia ค.ศ. ๑๘๔๑ และต่อมาเขาได้เปิดบริษัทเป็นเหมืองผลิตถ่านหินใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ซึ่งนับแต่นั้นมาบริษัทได้เป็นผู้สร้างรายได้หลักกับเมืองนี้และก่อเกิดเป็นชุมชนตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๐ นับแต่นั้นมา ซึ่งเมืองคราคร่ำไปด้วยผู้คน มีบริษัท ห้างร้านเปิดขึ้นมากมาย นับว่าเจริญขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เมืองนี้ได้ถูกทิ้งร้างก็เมื่อมีการเผาขยะมูลฝอยจากเมืองและทำให้ไฟลุกลามไปยังถ่านหินชั้นใต้ดิน มีการพยายามดับไฟที่ไหม้ถ่านหินอยู่ใต้ดินด้วยน้ำ หรือปูนซีเมนต์ ฉีดอันลงไป ซ้ำร้ายยังระเบิดด้วยแรงอัดจากไอน้ำ ไม่ประสบความสำเร็จไฟลุกลามอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายปีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๐ ถึง ๑๙๗๐ ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ก่อเป็นสารเคมี คาร์บอนมอนอกไซต์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อฟุ้งกระจายในอากาศผสมกับน้ำฝนจะกลายเป็นฝนกรด

(http://i287.photobucket.com/albums/ll140/redzaaboom/centralia-pennsylvania-1.jpg)

ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ พื้นที่ดังกล่าวได้กำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เมื่อสถานีกาซเชื้อเพลิงได้ประกาศถึงอุณภูมิของถังเก็บก๊าซร้อนมากกว่าปกติถึงระดับอันตราย ๗๗.๘ องศาเซลเซียส และเป็นข่าวอันโด่งดังเมื่อมีเด็กอายุ ๑๒ ปี ตกลงไปในหลุมร้อนขนาด กว้าง ๔ ฟุต ยาว ๑๕๐ ฟุต ทำให้เสียชีวิต ในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ได้ใช้เงินถึง ๔๒ ล้านดอลล่าร์ เพื่อจัดการย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ใกล้เคียง Mount Carmel and Ashland ปัจจุบันไฟยังลุกไหม้ถ่านหินใต้ดินและจะไหม้ไปอีกนานถึง ๒๕๐ ปี

 :(  :'(


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 12, 20:43
คงไม่หรอกครับ

ของเราในเรื่องนี้น้น จะให้ดับได้ไวๆก็คงต้องให้น้ำท่วมสักระยะหนึ่ง จนดินฉ่ำไปเลย

เรื่องเหมืองถ่านหินติดไฟนี้ มีหลายแห่งในโลก ส่วนมากก็จะพยายามควบคุมให้ได้ตั้งแต่แรก บ้างก็ดับกันได้ด้วยน้ำ บ้างก็ระเบิดออกมาให้หมด แต่หากอยู่ใต้ดินลึกๆก็ลำบากมากหน่อยครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 20:51
เอาข่าวคืบหน้ามาลงให้อ่านค่ะ
http://www.komchadluek.net/detail/20120425/128819/%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html

พบแก๊สพิษเกินค่า'หลุมไฟนครไทย'
กรมควบคุมโรคลงตรวจแก๊สหลุมไฟอำเภอนครไทย พบเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อร่างกายระยะสั้นระคายเคือง ระยะยาวปวดกล้ามเนื้อ เจ็บป่วยทางสมอง เสนออบต.ทำแนวนั้นกั้นผู้คนให้ห่างหลุมไฟระยะ 500 เมตร

            เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 เมษายน  ที่หลุมไฟ ม.9 ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.พิษณุโลก นำเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตรวจวัดแก๊สพิษในบรรยากาศ ที่สามารถตรวจหาก๊าซพิษได้มากกว่า 100 ชนิด โดยตรวจสารพิษบริเวณรอบ ๆ หลุมไฟเนื้อที่ประมาณ 1 งาน
 
             นายกิตติ พุฒิกานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หลังจากพบปรากฏการณ์หลุมไฟ ไฟลุกจากใต้ดินใน อ.นครไทย กรมควบคุมโรคได้นำเครื่องมือตรวจวัดแก๊สพิษในบรรยากาศได้มากกว่า 100 ชนิด หรือ miran มาทำการตรวจหาแก๊สพิษรอบ ๆ หลุมไฟ ซึ่งตรวจพบหลายชนิด ผลปรากฏว่า พบแก๊สหลายชนิด ทั้ง มีเทน แอมโมเนียที่มีปริมาณน้อย แต่ตัวที่มีปัญหามากมีสองชนิด คือ คาร์บอนไดซัลไฟล์ หรือ CS 2 ตรวจพบรอบหลุมไฟอยู่ที่ 23 ppm เกินค่ามาตรฐานทั่วไปที่ 20 ppm และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ SO 2 ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.12 ppm แต่ตรวจพบมากกว่าค่ามาตรฐาน 55 เท่า
 
             แต่ตัวที่มีปัญหาและน่าห่วงคือมากที่สุด แก๊สคาร์บอนไดซัลไฟล์ หรือ CS 2 ที่ตรวจพบเกินค่ามาตรฐานมา 3 ppm นั้น เป็นแก๊สที่อันตรายสำหรับผู้สูดดมอย่างมาก คาร์บอนไดซัลไฟล์เป็นแก๊สที่หนักกว่าอากาศ เวลาลอยจะลอยเรี่ยพื้น จึงอยู่ในระดับที่จมูกคนยืนพอดี สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ ในระยะสั้นจะมีการระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง และถ้าได้รับเวลาหลายวัน จะมีอาการทางจิต มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ประสาทตาอักเสบ

ถ้าระยะยาว จะเจ็บหน้าออก ปวดกล้ามเนื้อ ความจำเสื่อม คล้ายคนป่วยโรคพารากิลสันที่สั่นตลอด รวมทั้งอาจผิดปกติทางสมอง เส้นประสาทอักเสบ หลอดเลือดแดงแข็งตัว ถือเป็นอันตรายมากสำหรับคนที่อยู่ใกล้ เราแนะนำว่าควรจะอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 500 เมตร เพราะอาจมีลมพัดสารพิษตัวนี้ไป สิ่งหนึ่งที่อยากเตือนเป็นพิเศษคือคนท้อง ไม่ควรมารับสารพิษชนิดเลย เวลานี้มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง สารชนิดอาจจะมีผลต่อการก่อมะเร็ง แต่เรายังไม่ยืนยัน คนตั้งครรภ์ควรอยู่ห่างไกล
 
             นายกิตติ กล่าวว่า แก๊สมีเทนมีปริมาณที่น้อยมาก ส่วนที่ติดไฟลุกไหม้นั้น แก๊สคาร์บอนไดซัลไฟล์ก็มีคุณสมหลังจากที่กรมควบคุมโรคได้มาตรวจพบสารพิษที่เป็นอันตรายบริเวณนี้แล้ว ได้ประสานกับ อบต.หนองกะท้าว ให้นำป้ายนำเชือกกั้นกันผู้คนไม่ให้เข้ามาใกล้หลุมไฟแห่งนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควบจะห่างกว่า 500 เมตร

             อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันที่ 25 เมษายนนี้ปรากฏว่า มีชาว อ.นครไทยแห่มาชมปรากฏการณ์ไฟลุกใต้ดินอย่างมาก โดยพยายามเข้ามาให้ใกล้หลุมไฟเพื่อชมไฟลุกจากพื้นดิน แต่ก็ยังอยู่ในแนวกั้นที่ อบต.หนองกะท้าวทำไว้


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 12, 21:04
นั่งจดๆจ่อๆอยู่นานพอควรว่าจะเขียนเรื่อง Mitigation อย่างไรดี ที่ไม่ใช่ลักษณะของม้าเลียบค่าย แต่เอาไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
ผมจะใช้ภาษาไทยสำหรับคำ Mitigation ว่า การลดความหายนะ นะครับ

การลดความหายนะนี้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ซึ่งจะดำเนินการได้ก็ต่อทุกฝ่ายเมื่อมีความเข้าใจในตัวภัยและลักษณะของความเสียหายและความหายนะที่จะเกิดจากตัวภัยนั้นๆ

หลักการใหญ่ๆของฝ่ายรัฐนั้น คือ
    ในเชิงของนามธรรม    จะต้องเตรียมสถานที่ๆมีความแข็งแรงทนทานคงทนอยู่ได้โดยไม่ได้รับความเสียหายจากหายนะที่จะเกิดขึ้น มีการเตรียมการเพื่อเป็นแหล่งรวมพล แหล่งพักพิง แหล่งลี้ภัย แหล่งหลบภัย แหล่งช่วยชีวิต เพื่อการอยู่รอดในช่วงระยะเวลาหนึ่งของประชาชน และจะต้องมีขีดความสามารถในการติดต่อกับโลกภายนอก ระบบ Lifeline จะต้องเป็นแบบพื้นฐานที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ ซ่อมแซมได้ง่าย
    ในเชิงของรูปธรรม    เช่น การกำหนดโดยผังเมืองให้มีเขตพื้นที่ราบกว้าง มีการสร้างอาคารและสถานพยาบาลชั้นเดียวที่แข็งแรงมากๆกว่าปรกติ อยู่ในบริเวณที่เป็นจุดเชื่อม (Junction) ของระบบโทรศัพท์ใช้สาย ของระบบไฟฟ้า ของระบบน้ำประปา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นระบบที่ซ่อมง่าย บำรุงรักษาง่าย (ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ) อาทิ การใช้ระบบโทรศัพท์ analog การใช้วิทยุสื่อสารในระบบ HF เหล่านี้เป็นต้น      การประเมินความเสียหายเบื้องต้นในช่วงคาบเวลาต่างๆ เช่น ช่วงเวลาทำงาน ช่วงเวลาหลังเลิกงานว่าจะมีคนอยู่ในอาคารหลังใดเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ระดมความช่วยเหลือที่เหทาะสม เหล่านี้เป็นต้น     การกำหนดเงื่อนไขทางวิศวกรรม เช่น ความแข็งแรงของอาคารต่ออัตราเร่งของผืนดินที่คาดว่าจะได้รับจากแผ่นดินไหวจากแหล่งใด  การออกแบบทางสถาปัตยกรรมให้แยกอาคารเป็นสองส่วน (รูปตัวแอลในภาษาอังกฤษ ฯลฯ) หรือเป็นอาคารที่เรียกกันว่ืา aseismic design เส้นทางการคมนาคมหลัก ระบบ Lifeline ต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดจำกัดของความทนทาน เหล่านี้เป็นต้น     การกำหนดพื้นที่รวมพล เส้นทางการหลบหนีไปสถานที่รวมพลสำหรับแต่ละชุมชนย่อยๆ การกำหนดอุปกรณ์มาตรฐานที่จะต้องมีประจำบ้านตามจำนวนผู้อยู่อาศัยสำหรับกรณีเมื่อภัยพิบัติ เพื่อลดระดับของความสูญเสียต่อชีวิต เหล่านี้เป็นต้น
    สรุปง่ายๆก็คือ เมื่อไม่สามามารถจะหลีกหนีเหตุของภัยพิบัติได้ พื้นที่นั้นๆจะต้องพังและเสียหายจนหมด จะต้องไม่พังทลายทั้งหมด จะต้องซ่อมแซมได้ง่ายๆในช่วงเวลาคับขัน จะต้องมีชีวิตอยู่รอดได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะต้องสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ด้วยเทคโนโลยีระดับต่ำ

หลักการใหญ่ของภาคประชาชน คือ มีความพร้อมที่จะรักษาชีวิตและอยู่รอดในสถานการณ์ต่างๆ
    ในเชิงของนามธรรม   เช่น การศึกษาหาความรู้ลักษณะของภัย ลักษณะของความเสียหายจากภัยนั้นๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต สถานที่ๆจะหลบไปเพื่อความอยู่รอด ขีดจำกัดของความอยู่รอดมีชีวิตของเรา (โรคภัยเฉพาะของตน ยาเฉพาะโรคที่สำคัญของตน ฯลฯ)
    ในเชิงของรูปธรรม   เช่น กรณีตัวอย่างน้ำท่วมเมื่อปี '54 ซึ่งผมคิดว่าทุกคนได้ทราบในขณะนี้แล้วว่า อะไรคือความจำเป็นของเรา อะไรที่เราจะต้องเตรียมการ อะำไรที่เราจะจะต้องปรับปรุง เหล่านี้เป็นต้น  
    
        สำหรับกรณีภัยแผ่นดินไหวนั้น  จะขอขยายต่อพรุ่งนี้ครับ                      
 
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 12, 21:59
เอาข่าวคืบหน้ามาลงให้อ่านค่ะ
 .....แต่ตัวที่มีปัญหาและน่าห่วงคือมากที่สุด แก๊สคาร์บอนไดซัลไฟล์ หรือ CS 2 ที่ตรวจพบเกินค่ามาตรฐานมา 3 ppm นั้น เป็นแก๊สที่อันตรายสำหรับผู้สูดดมอย่างมาก คาร์บอนไดซัลไฟล์เป็นแก๊สที่หนักกว่าอากาศ เวลาลอยจะลอยเรี่ยพื้น จึงอยู่ในระดับที่จมูกคนยืนพอดี สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ ในระยะสั้นจะมีการระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง และถ้าได้รับเวลาหลายวัน จะมีอาการทางจิต มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ประสาทตาอักเสบ....

ก็มาอีกหนึ่งความน่ากลัว แต่เป็นความน่ากลัวที่ไม่อธิบายให้หมด เช่น จะต้องสูดดมต่อเนื่องในเวลากี่ชั่วโมง ฯลฯ
มันก็จัดเป็นแก๊สพิษอย่างหนึ่งที่พบได้ในธรรมชาติจากกระบวนการย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุ โดยเฉพาะในพื้นที่ชื้นแฉะที่เป็นที่สะสมของวัชพืช
ค่ามาตรฐานที่อ้างถึงนั้น ผมเข้าใจว่าเอามาจาก WHO ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกือบจะไม่สามารถพบได้ในธรรมชาติในถิ่นที่อยู่ของประชาชนในมากมายหลายประเทศทั่วโลก
เอาง่ายๆครับ หากจะเอามาตรฐานตาม WHO   ผมว่าน้ำบาดาลที่เราเจาะใช้กันนับเป็นแสนบ่อในประเทศไทย โดยเฉพาะบ่อน้ำบาดาลในภาคอีสานที่ช่วยให้ไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้กัน มีชีวิตพอเป็นสุขอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ในประเด็นเรื่องค่าของความกร่อยคงจะผ่านน้อยมากหรือเกินค่ามาตรฐาน WHO ทั้งหมดก็ว่าได้ และก็ไม่มีทางที่จะหาที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของ WHOได้ ค่ามาตรฐาน WHO ในนัยหนึ่งนั้น ใช้เป็นเพียงตัวเลขอ้างอิงอย่างคร่าวๆเท่านั้น เหมือนกับการบอกว่า ฝรั่งตัวใหญ่กว่าคนไทย มาตรฐานความสูงของฝรั่งจะอยู่ที่ประมาณ 180 ซม.ขึ้นไป เป็นต้น

ค่าที่เกินมาจากค่ามาตรฐานในปริมาณ 3 ppm (หรือ 3 ส่วนใน 1,000,000 ส่วน) นั้นน้อยมากจนอาจจะเกิดจากการวัดผิดพลาดก็ได้ หรือเป็นเฉพาะจุดที่วัดก็ได้

สำหรับค่า SO2 นั้น หากที่บริเวณไฟคุใต้ดินที่บ้านหนองกะท้าววัดได้ไม่เกิินมาตรฐานก็คงจะประหลาดแล้วครับ ไฟใหม้ที่ใหนก็ต้องมีแกสตัวนี้เสมอครับ ไฟใหม้เสื้อผ้า ยาง โฟม และรวมทั้งจากท่อไอเสียรถ ก็จะต้องมีแก๊สตัวนี้ปล่อยออกมา

อุตส่าห์เอาเครื่องมือไปตรวจวัดแล้ว บอกไม่มีอะไรน่าห่วง นายก็คงจะซัดเอา ก็คงต้องบอกไปตามจริงว่าวัดได้มากน้อยเพียงใด หากไม่บอกว่ามากน้อยเกินกว่ามาตรฐานเพียงใด ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกนักข่าวซักถามอยู่ดี     
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 22:20
 :D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 11:16
แผ่นดินลุกเป็นไฟอีกแล้วค่ะ

แผ่นดินลุกเป็นไฟ โผล่อีกที่ลพบุรี

แผ่นดินลุกเป็นไฟโผล่อีกที่ จ.ลพบุรี บริเวณกลางทุ่งนา นายอำเภอเอารถดับเพลิงมาดับไฟ ควันไฟพุ่งมากกว่าเก่า แถมมีกลิ่นกำมะถัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกลางทุ่งนา เขตหมู่ 6 ต.ถนนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี พบมีควันไฟพวยพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน โดยบริเวณดังกล่าวเป็นบ่อขนาด 10 X 10 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร ต่อมานายอานนท์ ศรีรัตน์ นายอำเภอเมืองลพบุรี ได้ประสานขอรถดับเพลิงมาฉีดเพื่อดับไฟ เนื่องจากสงสัยว่าอาจจะมีไฟลุกไหม้อะไรอยู่ด้านล่าง เนื่องจากจุดดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ทิ้งขยะ แต่ได้เลิกทิ้งมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ฉีดน้ำไปยังจุดที่ควันไฟพุ่งขึ้นมาแน่นหนากว่าเก่ามาก และยังมีกลิ่นของกำมะถันอีกด้วย

 ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของนายมุนินทร์ กลางมณี อายุ 72 ปี อดีตข้าราชการครู เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2553 พื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลากว่า 1 เดือน หลังน้ำลดและพื้นดินกลับคืนปกติ

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=sitcom&month=27-04-2012&group=47&gblog=469

ในเมื่อที่ดินตรงนี้น้ำท่วมไปหมาดๆ   ข้างใต้ไม่น่าร้อนจัดนะคะ    หรือคุณตั้งจะเห็นอย่างไร?


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 12, 19:17
กรณีไฟใหม้ใต้ดินที่ลพบุรีนี้ ก็คงจะต้องคาดเดาเหตุผลที่จะอธิบายอีกเหมือนกัน ข้อมูลที่มีคือ เคยเป็นพื้นที่ทิ้งขยะแบบฝังกลบ ขุดหลุมลึกประมาณ 4 เมตร กว้างและยาวด้านละประมาณ 10 เมตร อยู่ในพื้นที่ทุ่งนา มีกลิ่นกำมะถัน

ข้อมูลนี้บอกให้ทราบว่า ส่วนที่้ลึกลงไปจากผิวดินนั้นคงจะต้องชื้นแฉะอยู่พอสมควร ขยะที่ทิ้งคงจะคละกัน มีทั้งที่เป็นอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ เมื่อเปิดดูสินค้า OTOP ของหมู่บ้าน พบว่ามีการทำไข่เค็ม มีการใช้เปลือกฝักข้าวโพด และมีการทำดินสอพอง ก็เลยทำไห้เดาต่อไปได้ว่าขยะฝังกลบเหล่านั้น ในหลุมบ่อที่เล็กขนาดนั้น น่าจะเป็นขยะที่เป็นพวกสารอินทรีย์เป็นส่วนมาก

ข้อมูลพื้นฐานนี้ ให้ภาพว่า ขยะที่ทิ้งนั้นไม่น่าจะถูกบดอัดแน่นมาก คิดว่าน่าจะมีการเผากันเป็นระยะๆอีกด้วย เมื่อเอาดินกลบมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 10 ปี แน่นอนว่าจะต้องมีกระบวนการย่อยสลายด้วย Anaerobic microorganism ทำให้เกิดแก๊สมีเทน เกิดแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) มีสารคาร์บอน (เถ้าถ่านจากการเผาและจากแกลบที่เอามาทำไข่เค็ม) เมื่อเป็นพื้นที่นาก็น่าจะมีการใช้ปุย ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุโซเดียม ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม ซึ่งจะตกค้างอยู่ในดิน ประกอบกับดินแถบนั้นก็น่าจะเป็นดินที่เกิดจากหินปูน สภาพแวดล้อมดังนี้ เมื่อเกิดการย่อยสลายของขยะนานเข้าและเกิดขบวนการทางเคมีต่อเนื่อง (ไม่ขยายความนะครับ) ผลที่ได้คือมีสารตั้งต้นที่เป็นองค์ประกอบหลักของดินปืนพร้อมสรรพ คือมีโปแตสเซียมไนเตรต มีถ่านคาร์บอน มีกำมะถัน มีแก๊สไวไฟ และยังมีเชื้อเพลิง (พลาสติก ฯลฯ) อีกด้วย การมีน้ำท่วมขังในช่วงน้ำท่วมก็กลับกลายเป็นตัวช่วยเร่งขบวนการปฏิกริยาทางเคมีบางอย่างให้มีการเพิ่มปริมาณสารประกอบที่สามารถติดไฟได้ในอุณภูมิที่ไม่สูงมาก ผมไม่แน่ใจว่าอะไรคือตัวการจุดประกายให้เกิดไฟ รู้แต่ว่าในขยะฝังกลบนี้มีสารที่เป็นองค์ประกอบครบสำหรับการติดไฟได้ด้วยตัวเอง
อุณหภูิมิเป็นเรื่องหนึ่งแน่นอน อากาศซึ่งมีอ๊อกซิเจนที่สามารถแทรกเข้าไปทำปฏิกริยา (เนื่องจากช่องว่างที่เกิดจากการหดตัวของดินเพราะแห้ง) ก็น่าจะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้เกิดสันดาบได้ง่าย

อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่าเป็นการคาดเดา เพียงแต่มีหลักอ้างอิงทางวิชาการครับ
คงจะต้องรอฟังคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญอื่นๆต่อไป   


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 เม.ย. 12, 18:58
ดิฉันเอาข่าวต่างๆมาลง ก็เพื่อให้คุณตั้งช่วยเคลียร์  สำหรับคนที่เข้ามาอ่านในเว็บนี้จะได้รู้ว่าไม่มีอะไรอย่างที่กลัวกัน    จะได้ใจชื้นขึ้นว่า
ยังไงวันที่ 28 นี้ภูเก็ตก็ไม่จม   และธันวาคมปีนี้คุณประกอบก็ยืนยันนั่งยันว่าโลกไม่แตกแน่นอน 

ภูเก็ตไม่จมแน่แล้ว และอีก ๘ เดือนข้างหน้าโลกก็คงไม่แตก

หากจะมีมุขใหม่ ๆ มาให้คนขวัญอ่อนตกใจอยู่เสมอ

ไม่เชื่อคอยดู

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 12, 20:39
ต่อครับ
เรื่องการลดความหายนะจากแผ่นดินไหว

ก่อนอื่น แผ่นดินไหวทำให้เกิดความเสียหายอะไรบ้าง  
ได้กล่าวมาแล้วว่าคลื่นแผ่นดินไหวมีสองลักษณะที่สำคัญ คือ แบบ High frequency และแบบ Low frequency   ทั้งสองแบบนี้มีลักษณะการทำลายต่างกัน

แบบ High frequency ที่มีอำนาจการทำลายสูงนั้น (คลื่นที่มีช่วงระหว่างยอดของคลื่นสั้น แต่มีความสูงของยอดคลื่นสูง) คลื่นลักษณะนี้จะมาจากแผ่นดินไหวที่มีจุดกำเนิดใต้ผิวดินในระดับตื้น (10 - 20 กม.) ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับขนาด (ของพลังงาน) ของแผ่นดินไหว ซึ่ง ณ.บริเวณรอบๆจุดกำเนิดในรัศมีหนึ่งจะทำให้แผ่นดินขยับตัวในลักษณะขึ้นลงมาก การพังทะลายของอาคารบ้านเรือนจะเป็นผลของลักษณะที่เรียกกันว่าเสาระเบิด ดังภาพที่คุณเทาชมพูได้นำมาลงในความเห็นที่ 114  สำหรับพวกอาคารหลายๆชั้นก็จะพังในลักษณะทั้บซ้อนกันเป็นขนมชั้น และหากอยู่ในพื้นที่ราบที่เป็นแอ่งสะสมของโคลนตม อาคารก็อาจจะทรุดตัวจมลงไปในดิน     ในรัศมีที่ไกลออกไปความรุนแรง (Intensity _ frequency & amplitude) จะลดลงอย่างค่อนข้างจะรวดเร็ว กล่าวคือ ความถี่ของช่วงระหว่างยอดคลื่นจะขยายห่างมากขึ้น พร้อมๆไปกับความสูงของยอดคลื่นจะลดลง การพังทะลายของอาคารบ้านเรือนก็จะเกิดขึ้นน้อย อาจจะมีการร้าวบ้างเป็นธรรมดา

แบบ Low frequency ที่มีอำนาจการทำลายสูงนั้น (คลื่นที่มีช่วงระหว่างยอดคลื่นยาว ความสูงของยอดคลื่นน้อย) คลื่นลักษณะนี้จะมาจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวที่อยู่ไกลหลายร้อย กม. หรืออยู่ลึกหลายสิบหรือเป็นร้อย กม. ด้วยลักษณะของคลื่น หากอยู่ในรัศมีที่คลื่นยังเคลื่อนตัวเร็ว การพังของอาคารบ้านเรือนจะเป็นไปในในลักษณะของการล้ม แต่หากอยู่ในพื้นที่ๆค่อนข้างจะไกลมาก อาคารบ้านเรือนก็จะมีอาการไหวแกว่งเท่านั้น

ตรงนี้ก็คงจะมีคำถามว่า แล้ว กทม.จะเป็นอย่างไร คำตอบที่ดูจะเหมาะสมที่สุด คือ กทม.อยู่ในพื้นที่ๆได้รับผลกระทบจากคลื่นแผ่นดินไหวทั้งสองแบบนี้ในระดับที่เรียกได้ว่าน้อยมาก มิได้ตอบว่าจะไม่เกิดความเสียหายใดๆนะครับ ประเด็นไปอยู่ที่การออกแบบ การคำนวนโครงสร้าง และมาตรฐานของการก่อสร้าง ไม่มีการลดเหล็ก ไม่มีการลดปูน ใช้เหล็กที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ใช้ปูนตาม strength ที่กำหนด เสาเข็มได้ขนาดและวางอยู่บนชั้นดินทรายที่เหมาะสม (มิใช่เอาแต่ความลึก)
แล้วสุดท้าย ที่เผื่อเป็น safety factor นั้นไปอยู่ในกระเป๋าใครมากน้อยเพียงใด ที่น่าห่วงมากกว่านั้นมีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ ผู้คำนวณและผู้ออกแบบมักจะไปตรวจสอบอย่างเข้มข้นเฉพาะอาคารใหญ่ๆทั้งหลาย อาคารบ้านเรือนของประชนชนคนปรกติทั้งหลายจะได้มาตรฐานหรือไม่มากน้อยเพียงใดจึงยังเป็นที่น่าสงสัย

แล้วก็คงจะมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วในต่างจังหวัดล่ะ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความสำนึกและความใส่ใจของผู้ออกแบบ ผู้คำนวณ ผู้อนุญาต และผู้ก่อสร้าง เนื่องจากภัยจากธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆมีไม่เหมือนกัน ในระดับความรุนแรงและอันตรายต่างๆกัน
  
ตรงนี้แหละครับคือประเด็นที่จะบอกกล่าว ต่อไป



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 12, 11:07
ดิฉันเอาข่าวต่างๆมาลง ก็เพื่อให้คุณตั้งช่วยเคลียร์  สำหรับคนที่เข้ามาอ่านในเว็บนี้จะได้รู้ว่าไม่มีอะไรอย่างที่กลัวกัน    จะได้ใจชื้นขึ้นว่า
ยังไงวันที่ 28 นี้ภูเก็ตก็ไม่จม   และธันวาคมปีนี้คุณประกอบก็ยืนยันนั่งยันว่าโลกไม่แตกแน่นอน 

ภูเก็ตไม่จมแน่แล้ว และอีก ๘ เดือนข้างหน้าโลกก็คงไม่แตก

หากจะมีมุขใหม่ ๆ มาให้คนขวัญอ่อนตกใจอยู่เสมอ

ไม่เชื่อคอยดู

 ;D

เชื่อ และได้ดูแล้ว
แผ่นดินลุกเป็นไฟไงคะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 12, 19:26
การพังของอาคารบ้านเรือนในไทยเนื่องมาจากแผ่นดินไหว คงจะเิกิดขึ้นใน 2 ลักษณะที่สำคัญ เหมือนกับที่พบในญี่ปุ่นเมื่อคราวเกิดที่นิงาตะ (ทางตะวันตกจองญี่ปุ่น) คือ ล้มมาด้านหน้าลงไปบนถนนหน้าบ้าน และพังลงมาเนื่องจากน้ำหนักของหลังคา   
ลักษณะการพังแบบแรก พบว่าเกิดจากลักษณะของอาคารลักษณะตึกแถวที่มีพื้นที่ด้านหน้าเปิด (เป็นหน้าร้านขายของ) ไม่มีการก่อผนังเหมือนด้านข้างอีกสามด้าน ลักษณะการพังแบบที่สองที่เกิดจากน้ำหนักของหลังคานั้น เกิดจากสภาพเหมือนกับเอาของหนักๆไปทูนไว้บนหัวแล้วถูกเตะตัดขาเบาๆ    เมื่อประกอบกับตัวบ้านที่มักจะมีที่จอดรถอยู่ในพื้นที่ของตัวบ้าน ซึ่งมีเสาบ้านอยู่เพียงหนึ่งเสาค้ำยันพื้นชั้นสองของบ้าน หากเสานี้หักก็จะล้มทั้งหลัง

ดังนั้น การลดความหายนะด้วยตัวเราเอง จะทำได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างที่อ่อนไหวต่อการรับแรงจากแผ่นดินไหว เช่น แทนที่จะก่อผนังด้วยอิฐเบาก็ก่อด้วยอิฐมอญ หรือทำผนังด้านข้างด้วยการเทปูน การทำเสาด้านหน้าให้แข็งแรงกว่าปรกติ และการลดน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา เป็นต้น แต่ตัวอย่างดังกล่าวมานี้ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และจะกระทำได้ก็เมื่อเป็นการสร้างด้วยงบของตนเอง    อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องพยายามควบคุมผู้รับเหมาให้ใช้เหล็กใช้ปูนตามมาตรฐานและตามที่วิศวกรกำหนด และไม่เปลี่ยนแปลงแบบการก่อสร้างไปจากแบบที่สถาปนิกออกแบบจนมากเกินไป ก็ยังพอจะช่วยได้มาก

ในอินโดนีเซียซึ่งเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องหนึ่ง คือ การทำโครงสร้างรูปตัว X ไขว้ไว้ที่ผนังแล้วจึงก่ออิฐถือปูน และบริเวณรอยต่อระหว่างเสากับผนังนั้น จะใช้เหล็กฝังในเสาหรือตะแกรงลวดเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของผนังมิให้แยกเป็นอิสระแก่กันกับเสา ของไทยเราก็มี ในภาคเหนือแต่ไบราณนั้น การเชื่อมต่อหัวเสากับคานจะเป็นลักษณะการสอดทะลุกัน และแม้ในกระทั่งปัจจุบันในยุคเริ่มการสร้างบ้านจัดสรร พวกวงกบประตูหน้าต่างซึ่งเป็นไม้ ก็จะมีการตอกตะปูเพื่อให้ยึดติดกับผนังปูนที่ก่ออยู่รอบๆ หรือต้องมีเอ็นมีทับหลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง    ผมเห็นว่าแม้แต่โครงสร้างของโบสถ์ทั้งหลายของไทยในสมัยก่อนก็ทำกัน คือ เสาจะเอียงสอบเข้าหากัน ไม่ตั้งตรง ซึ่งจะรับน้ำหนักของหลังคาและการโยกไหวได้มากกว่าเสาแบบตั้งตรง   

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของความเสียหายทางทรัพย์สิน
 
สำหรับความสูญเสียต่อชีวิตเราก็ทำให้มันลดลงได้ด้วยตัวเราเองเช่นกัน
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 12, 20:50
สิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพขวัญผวากับแผ่นดินไหว น่าจะมาจากสาเหตุหนึ่งคือเราอยู่ในคอนโด อพาตเม้นท์สูงหลายชั้นกันมาก   ตั้งแต่สี่ห้าชั้นไปจนสามสิบกว่าชั้น      ถ้าพังแม้ไม่พังทั้งหมด  ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางหนีเลย    และไม่มีใครตอบได้ว่าอาคารคอนโดเหล่านั้นต้านแรงแผ่นดินไหวได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อเกิดซึนามิคราวก่อน   ลูกสาวอยู่ในห้องพักสูงสามสิบกว่าชั้นพอดี  เล่าว่ากระเทือนจนรูปภาพและนาฬิกาผนังแกว่งไปมาเห็นชัด   ผู้คนรู้ว่าไม่ควรลงลิฟต์  ก็วิ่งกันโครมครามลงบันไดหนีไฟ  ขาลงมีแรงวิ่งลงกันได้  ขาขึ้นขึ้นกันไม่ไหว  กว่าจะหิ้วปีกกันขึ้นมาได้ก็อีกนานหลายชั่วโมง     เคราะห์ดีที่มันไหวอยู่ครั้งเดียว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 เม.ย. 12, 23:37
มีกฎควบคุมอาคารของกระทรวงหมาดไทยที่ออกเดือน ธ.ค. ๒๕๕๐ กำหนดให้ตึกในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่สูงตั้งแต่ ๑๕ เมตรขึ้นไปต้องออกแบบให้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ครับ

แต่รับได้แค่ไหนนั้น มีวิธีการคำนวณระบุไว้เรียบร้อย แต่ผมอ่านไม่เข้าใจครับ คงต้องให้วิศวกรโครงสร้างมาเล่าให้ฟัง

โดยอาคารที่เข้าข่ายนี้ก็คืออาคารที่ "ได้รับอนุญาต" หลังเดือน ธ.ค. ๒๕๕๐ เป็นต้นมาครับ

ส่วนอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านั้น จะถูกกำหนดโดยเรื่องการออกแบบให้ต้านแรงลมได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตามที่ผมเข้าใจ ในบางกรณี (น่าจะขึ้นกับรูปทรงอาคาร) แรงลมอาจมีผลมากกว่าแรงแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวง ๒๕๕๐ ครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 12, 10:34
ู^
ถูกต้องแล้วครับ อาคารสูงมีเรื่องการคำนวณเกี่ยวกับแรงลมด้วย ซึ่งวิศวกรเชื่อมาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินไหวในปี 2526 ว่าความแข็งแรงที่คำนวณเพื่อรับแรงลมนี้ สามารถรับแรงจากแผ่นดินไหวได้ แต่ภายหลังคงจะมีการศึกษากันมากขึ้นจนคิดว่าอาจจะไม่พอเลยต้องออกกฎเกณฑ์ใหม่ กว่าจะทำและเห็นตรงกันได้ก็ 25 ปีต่อมา

เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่โกเบปี พ.ศ. 2538 หรือที่เรียกว่า The great Hanshin earthquake นั้น ญี่ปุ่นเพิ่งจะรื้อวิธีการคำนวณสำหรับสิ่งก่อสร้างต่างๆกรณีเิกิดแผ่นดินไหว (จำได้ว่าขนาด 8) เริ่มบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528  สำหรับอาคารที่สร้างก่อนหน้านั้นที่ไม่มีการปรับปรุงความแข็งแรงเกิดความเสียหายมากมาย สำหรับสิ่งก่อสร้างหลังจากการบังคับใช้การคำนวนแบบใหม่ก็ยังได้รับความเสียหายพอสมควร เช่น กรณีทางด่วนล้มตะแคง
ญี่ปุ่นได้เิริ่มบังคับใช้วิธีการคำนวนสำหรับสิ่งก่อสร้างทั้งหลายครั้งแรกๆหลังจากเกิดแผ่นดินไหว The great Kanto earthquake เมื่อ พ.ศ.2466 ซึ่งมีขนาดประมาณ 7.9 โดยศึกษาจากกรณีที่โรงแรม Imperial ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright ซึ่งยังคงทนอยู่ได้ในขณะที่อาคารอื่นๆพังทลายจนเกือบหมดสิ้น วิธีการคำนวณนี้ใช้มาระยะหนึ่งจึงมีการปรับปรุง และมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์หลักในการคำนวณอีกสองสามครั้งก่อนที่จะเกิดที่โกเบ ในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว

ต่อมาในปี ค.ศ.2000 ที่อังกฤษ เมื่อมีการเปิดสะพานคนเดิน Millennium bridge ข้ามแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน ปรากฎเหตุการณ์สะพานแกว่งไหวอย่างคาดไม่ถึง จนต้องมีการแก้ไข เนื่องจากไม่ได้มีการคำนวณในบางเรื่อง (การแกว่งไกวด้านข้าง) ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการปรับปรุงสะพานและโครงสร้างที่เป็นเหล็กไปทั่วโลก สำหรับญี่ปุ่นเอง ได้เร่งเสริมบรรดาคอสะพานต่างๆทั่วประเทศเพื่อมิให้คานของสะพานขยับตกลงมา ใช้โซ่ก็มี ใช้แป้นเหล็กกันก็มี ฯลฯ ผมไม่ทราบว่าในไทยมีการทำอะไรกันบ้างหรือเปล่า ดูสะพานคนเิดินข้ามถนนตามถนนต่างๆก็ยังเห็นเป็นคานเิทินอยู่บนหัวเสา

ที่เล่ามายืดยาวนี้ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร เป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการก่อสร้างทั้งหลายจะต้องตื่นตัว มิใช่เพียงแต่จะบังคับใช้กับสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ แต่จะต้องไม่ปล่อยปะละเลยกับสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ต้องเข้าไปดู ไปสั่งการ ไปเสริมแต่ง ไปเตือนเจ้าของให้ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงที่เหมาะสม เช่น โดยพิจารณาจากจำนวนผู้อยู่อาศัย ความเป็นพื้นที่สาธารณะ ค่าใช้จ่าย ระบบการบรรเทาความหายนะ อายุของสิ่งก่อสร้าง เหล่านี้เป็นต้น

กฏเกณฑ์บางอย่างที่เมืองในต่างประเทศเขาบังคับใช้มีอาทิ การต้องทาสีทุกๆ 5 ปี ต้องมีการตรวจสอบอาคารทุกๆระยะกี่ปี สำหรับอาคารที่ทำการ อาคารชุดที่อยู่อาศัย อาคารที่มีการใช้โดยประชาชน หากเกินอายุแล้วต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ตามมาตรฐานใหม่ เหล่านี้เป็นต้น

ผมก็อยากจะรู้ว่ากรณ๊ที่ภูเก็ตนั้น วิศวกรได้เข้าไปแนะนำอะไรให้กับชาวบ้านบ้าง การร้าวของผนังบ้่านนั้น หากเกิดจากแรง Shear ก็อาจจะบ่งบอกถึงโครงสร้างที่เข้าสู่ภาวะอันตรายแล้วก็ได้ ต่างจากการร้าวตามปกติซึ่งไม่มีอันตราย    และสำหรับกฎเรื่องการคำนวณแผ่นดินไหวสำหรับอาคารเกิน 15 เมตรนั้น จะบังคับใช้เฉพาะ กทม.และปริมณฑลเท่านั้นหรือ   ผมเห็นว่าจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ ภาตะวันตก และภาคกลางด้านตะวันตก เหล่านี้ดูจะมีโอกาสได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว (vulnerable) มากกว่าพื้นที่ของ กทม. มากนัก 




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 11:30
ดิฉันไม่ทราบว่าหลังแผ่นดินไหวเมื่อเกิดซึนามิครั้งก่อน     ราชการได้ตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารใหญ่น้อยบ้างหรือไม่    เอาในกรุงเทพก่อน     ใครเคยอ่านพบข่าวบ้างคะ
มีแต่กระทู้นี้  พูดถึงแผนที่เสี่ยงภัย
http://www.isranews.org/community-news/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/21-scoop-news-documentary-analysis/6441-2012-04-24-11-15-18.html

“ภัยพิบัติมีความรุนแรง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไทยจะรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วมาตามแก้ไขทีหลังคงต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก” เป็นเสียงจากดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการสาขาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมหลังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)

เขาบอกว่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการรับมือ เริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม และต้องเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดลงไป ซึ่งหากเริ่มเก็บรวมรวมข้อมูลแต่ละด้านอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ ก็อาจใช้เวลา 2 ปีที่ประเทศไทยจะมีแผนที่เสี่ยงภัย เพื่อนำไปใช้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรองรับทั้งด้านการวางผังเมืองและก่อสร้าง


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 12, 19:36
ดิฉันไม่ทราบว่าหลังแผ่นดินไหวเมื่อเกิดซึนามิครั้งก่อน     ราชการได้ตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารใหญ่น้อยบ้างหรือไม่    เอาในกรุงเทพก่อน     ใครเคยอ่านพบข่าวบ้างคะ.....
“ภัยพิบัติมีความรุนแรง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไทยจะรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วมาตามแก้ไขทีหลังคงต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก” เป็นเสียงจากดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการสาขาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมหลังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
เขาบอกว่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการรับมือ เริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม และต้องเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดลงไป ซึ่งหากเริ่มเก็บรวมรวมข้อมูลแต่ละด้านอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ ก็อาจใช้เวลา 2 ปีที่ประเทศไทยจะมีแผนที่เสี่ยงภัย เพื่อนำไปใช้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรองรับทั้งด้านการวางผังเมืองและก่อสร้าง

นี่แหละครับ การขาดความเข้าใจ สำนึกและละเลยในคำที่เรียกว่า Mitigation ของภาครัฐ
ที่เรียกกันว่าแผนที่เสี่ยงภัยนั้นมีการทำโดยกรมทรัพยากรธรณี ทั้งแผ่นดินไหว รอยเลื่อนมีพลัง และดินโคลนถล่ม มีเอกสารให้รายละเอียดของความเสี่ยงลงลึกไปถึงตำบลเลยทีเดียว น่าเสียดายที่มีการเผยแพร่น้อยมาก หรือไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการพิมพ์แจกจ่ายไปให้กับทุก อบต. ดีไม่ดีต้องซื้ออีกด้วย

ดูดีนะครับ ให้ภาพกว้างๆสำหรับประชาชนได้รับรู้ว่าที่อยู่อาศัยของตนนั้นเสี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง แต่....

แผนที่เหล่านี้ มิใช่แผนที่เสี่ยงภัย (Risk map) ทั้งในเชิงของตัวแผนที่เองและในเชิงของงานวิศวกรรม วิศวกรบอกว่าแผนที่ที่กรมทรัพยากรธรณีทำนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ต้องเป็นตัวเลขที่ใช้งานได้ในเชิงของการเอามาคำนวณ (แต่ตนเองไม่ทำเอง)
 
ยกตัวอย่าง   แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณ๊ที่คุณเทาชมพูเอามาแสดง
แผนที่นี้แสดงพื้นที่ๆมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในระดับต่างๆ และคาดว่าด้วยความรุนแรงในระดับนั้นๆจะเกิดความเสียหายอะไรบ้าง  แต่ในทางวิศวกรรมนั้น วิศวกรต้องการค่าอัตราเร่งของพื้นดินเพื่อจะได้เอาไปคำนวณ Safety factor ที่เหมาะสมสำหรับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ความต้องการนี้อยู่พื้นที่สีเทาว่าเป็นหน้าที่ของใคร วิศวกรมีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีมากกว่านักธรณ๊แต่ก็ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของแผ่นดินไหว งานนี้จึงเป็นงานของความร่วมมือ จะว่าใครงี่เง่ากว่าใครไม่ได้ (ดังเช่นที่พวกเราถูกดูถูกกันอยู่ในปัจจุบัน)
การทำแผนที่ที่เรียกว่า Risk map สำหรับกรณ๊แผ่นดินไหวนั้น มันเริ่มต้นที่เรื่องของ the most Likely hood ว่า จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบให้เิกิดความเสียหายในลักษณะของหายนะต่อเรานั้นอยู่ที่ใดบ้าง ที่ใหนที่จะส่งผลรุนแรงที่สุด และพฤติกรรมของแผ่นดินไหวนั้นๆมั้นเป็นอย่างไร (ทิศทางการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ลักษณะของแรงที่เกิดขึ้นและการส่งผล (Stress Strain ellipsoid)) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักธรณีฯรู้ดีกว่าวิศวกร     ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวในอดีตและในประวัติศาสตร์ที่กระทบเรา ทำการประเมินความเสียหายในลักษณะของ Intensity scale บนฐานของโครงสร้าง สิ่งก่อสร้างและภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นๆที่เขาได้ปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ Vulnerable นั้นๆ     แล้วแปลงจากเรื่อง Intensity ไปเป็นเรื่องของอัตราเร่งที่น่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหายในระดับนั้นๆ  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำงานร่วมมือกันระหว่างนักธรณีฯกับวิศวกร และโดยการใช้ความรู้และข้อมูลของนัก...ที่เป็นผู้อ่านผู้แปลกราฟจากเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว (พฤติกรรมของคลื่นแผ่นดินไหวแถบนั้นๆ__Period, Amplitude)    ผลที่ได้ออกมา คือ อัตราเร่งของพื้นดินในบริเวณต่างๆ ซึ่งจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะทางและลักษณะพื้นดิน (หินแข็ง ที่ลุ่ม ที่ดอน แอ่ง ฯลฯ)  จากตรงนี้เมื่อเอาไปผนวกกับสิ่งก่อสร้างต่างๆที่สร้างมาต่างยุคต่างสมัยกัน ต่างข้อกำหนดทางวิศวกรรมกัน    เราจึงจะได้แผนที่แสดงพื้นที่เสียงภัยจากแผ่นดินไหวตัวจริงที่รัฐจะเอาไปใช้ในการทำงานในเรื่องของ Mitigation ที่เหมาะสมกับสภาพจริง ฝ่ายเมืองก็จะลงลึกลงไปถึงระดับว่าอาคารใดเสี่ยงต่อความหายนะมากน้อยเพียงใด เสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด ณ.ช่วงเวลาใด
 
(ของเรา Mitigation ซึ่งอยู่ในบริบทของ Prevention ถูกกำหนดให้มุ่้งไปในเรื่องของ Salvation ซึ่งอยู่ในบริบทของ Rescue)

เล่ามายืดยาวอีกแล้ว วิชาการมากไปหน่อย (แล้วก็ใช้ภาษาอังกฤษมากๆปหน่อย)  เพียงเพื่อให้รู้ว่า เรามักจะละเลยและปัดสวะหน้าที่ความรับผิดชอบ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณสำหรับงานพื้นฐานอย่างจริงจัง งานในลักษณะนี้ไม่ส่งผลให้เกิด Output Outcome ในลักษณะของ KPI ที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ประเมินกันเป็นประจำทุกๆปี

สำหรับกรณีที่คุณเทาชมพูสงสัยว่่ามีการไปตรวจสอบหลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆหรือไม่นั้น    มีครับ    ทั้งในลักษณะ (กลัว) สิ่งที่ตนคำนวณและออกแบบนั้นถูกผิดอย่างไร และในลักษณะความรับผิดชอบในเชิงวิชาชีพ  แต่เห็นมีแต่รายงานที่เป็นข่าวตามสื่อว่า OK และก็ไม่เห็นว่ามีอะำไรที่ไม่ OK บ้างเลย      ในต่างประเทศบางประเทศเขาบังคับให้ต้องมีรายงานอย่างเป็นกิจลักษณะเผยแพร่ต่อสาธาณะเลยทีเดียวทั้งผู้รับผิดชอบที่ได้ลงนามกันไปและหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล   




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 22:47
เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าแผ่นดินจะไหวขึ้นมาเมื่อใด    เมื่อมีรายงานออกมาว่าตึกใหญ่ๆในกรุงเทพ OK  แม้ไม่มีการแถลงรายละเอียดในสื่อ  หรือแถลงแล้วแต่สื่อไม่ได้ลงรายละเอียด   ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้ก่อนว่าไหว 7-8 ริกเตอร์ก็ยังไม่ถล่ม   

มี Mitigation ของภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมมือกันได้อีกอย่างหนึ่ง   โดยไม่ต้องรบกวนกรมธรณีวิทยาและวิศวกรรมสถานฯ ให้เหน็ดเหนื่อย   คือขอให้เข้มงวดกวดขันการให้ข่าวและกระพือข่าวไร้สาระทั้งหลาย     อย่างน้อยสืบหาตัวการให้ได้  แล้วลงโทษให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างเสียบ้าง   
ล่าสุดนี้ก็มีหมอเดาคนหนึ่งออกมาฟันธงอะไรทำนองนี้อีกแล้ว   แต่จะไม่ขยายรายละเอียดละค่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นประชาสัมพันธ์ให้แกไป   ในเมื่อเจ้าตัวเปิดเผยหน้าตาออกชัดเจน ก็น่าจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวมารับฟังข้อหาบ้าง  จะได้เลิกเอาอย่างกันเสียที


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 12, 19:32
ู^
ใช่เลยครับ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งทาง

ใกล้จบแล้วครับ

มาต่อด้วยเรื่องของตัวเราเอง แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายแก่ชีวิต

คำแนะนำที่เขาว่ากัน คือ
    หนีให้พ้นออกมาจากอาคารต่างๆ    ถามจริงๆเถอะ ณ.ขณะที่มันไหวนั้น จะวิ่งหนีได้หรือ ??? ส่วนมากมักจะถูกมนต์สะกดให้ยืนนิ่งอยู่กับที่สักพักหนึ่งก่อนที่จะได้สติวิ่งหนี แท้จริงแล้วแผ่นดินไหวขนาดที่รุนแรงพอจะทำให้อาคารพังนั้น เราแทบจะยืนอยู่ไม่ได้ มันจะเป็นสัญชาติญาณโดยอัตโนมัติของร่างกายเราทำให้เราต้องย่อเข่าย่อตัวลงและคลาน ดังนั้นการที่หวังว่าจะวิ่งหนีออกมาจากอาคารนั้นจึงทำได้เมื่อการไหวมันหยุดแล้ว ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ำได้รับการฝึกมาหรือถูกฝังความคิดไว้ในสมอง
    มุดใต้โต๊ะเพื่อมิให้เศษวัสดุต่างๆตกลงมาใส่หัว เรื่องนี้หากไม่ได้รับการฝึกและฝังใจให้เป็นอัตโนมัติ ก็มักจะทำได้เพียงนั่งยองๆใช้มือเกาะขอบโต๊ะ
    ยังมีเรื่องอื่นๆอีก คือ รีบไปที่ประตูแล้วเปิดประตู เพราะเมื่อโครงสร้างบิดเบี้ยว ประตูก็จะเปิดไม่ได้ ปิดทางออกทางหนีของเรา ซึ่งเป็นเหตุบังเอิญที่ประตูมักจะอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นเสาและคาน จึงให้ไปอยู่ที่บริเวณนี้ เมื่ออาคารพังลงมา คานและเสาจะหักล้มลงมาเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยม กลายเป็นโพรงกั้นมิให้มีอะไรมาทับเรา หากกำลังทำครัวอยู่ให้รีบปิดแก๊สเตาในทันทีเพื่อไม่ให้เกิดเพลิงใหม้ (เพลิงใหม้เป็นสาเหตุตามมาที่ทำให้เกิดความหายนะต่อเนื่อง)
   ทำอะไรได้อีกครับ    เตรียมหมวกกันน็อคจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว เตรียมไฟฉาย น้ำขวด ของกินเล่น (Snack bar) เตรียมรองเท้าแตะ โทรศัพท์ ฯลฯ เก็บวางในที่ๆหยิบง่ายและในบริเวณห้องที่มักจะใช้กันเป็นประจำ 
   หลักการคือ หากไม่ตายไม่บาดเจ็บมาก จะต้องสามารถประคองให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 48 ชม. อย่างน้อยที่สุดก็ต้อง 24 ชม. และจะต้องคิดอยู่ในใจเป็นการเตรียมพร้อมเสมอว่าหากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นการสอนการฝึกสมองของตัวเองให้สร้างเป็นจิตสำนึกที่จะปฏิบัติตนได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

ในเรื่องอื่นๆ คือ พยายามไม่วางอะไรไว้บนหลังตู้ เพราะมันจะตกลงมาใส่เรา   พยายามตั้งตู้ชิดฝาผนังโดยมีอุปกรณ์ยึดมิให้มันล้มลงมา   พยายามจัดบ้านให้เป็นระเบียบไม่รกรุงรังกีดขวางทางเดิน   ใช้โทรศัพท์สื่อสารเท่าที่จำเป็น การใช้นานเกินควรเป็นการปิดโอกาสสำหรับความอยู่รอดของบุคคลอื่น (เนื่องจากคู่สายจะเต็ม) พยายามไปอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือไปยังจุดรวมพลให้ได้ (การรอดชีวิตหรือการกู้ชีวิตจะไม่มีความหมายใดๆหากไม่สามารถทำให้มีชีวิตยืดยาวอยู่ได้) เหล่านี้เป็นต้น

ที่ประสบพบกันมานั้น แผ่นดินไหวครั้งแรกมิได้ทำให้เกิดความหายนะและบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก หากแต่เป็น After shock ต่างหากที่ซ้ำเติมและสร้างให้เกิดความหายนะอย่างแท้จริง มันไปซ้ำเติมทำให้ความแข็งแรงของสรรพวัตถุต่างๆที่ลดลงไปแล้วจากครั้งแรกกลายเป็นไม่มีความแข็งแรงหลงเหลืออยู่เลย หายนะที่แท้จริงจึงเกิดขึ้น   

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 12, 20:49
อยากจะปิดท้ายด้วยความหมายและลักษณะของการกระทำต่างๆ

ในกระบวนวิธีการลดความความเสียหายและความหายนะจากภัยพิบัติต่างๆ อาจจะมีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น Emergency management (ใช้กันทั่วๆไป)  Crisis management (นิยมใช้กันในยุโรป) และ Disaster risk reduction measures (ใช้ในวงวิชาการ)  แต่กระบวนการกระทำทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยมาตรการ 4 ประการ คือ Mitigation measures, Preparedness หรือ Readiness measures, Response measures และ Salvage, relief และ remedy measures     

Mitigation measures  =  การลดระดับความรุนแรงของความหายนะ ซึ่งกระทำได้หลากหลายวิธีการ ทั้งกับสิ่งก่อสร้างและกับวิถีชีวิตการดำรงค์ชีพของคน ไป
            จนถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์
Preparedness หรือ Readiness measures  =  การเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่และบุคลากร ที่จะรองรับสถานการณ์รูปแบบต่างๆที่
            จะเกิดขึ้น
Response measures  =  ความพร้อมในการเข้าสู่สถานการณ์และความรวดเร็วของหน่วยงานต่างๆที่จะเข้าดำเนินการในทันทีอย่างมีการบูรณาการ
Salvage, relief & remedy measures  =  ความพร้อมในการช่วยเหลือ     เิริ่มด้วยการกู้ชีวิต (Rescue) การช่วยให้สามารถดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤติ (Relief) การกู้ซากและกำจัดความเสียหาย (Salvation) และการเยียวยา (Remedies)

ลองนึกดูเองนะครับว่า ทั้งภาครัฐและตัวเราเอง มีความพร้อมในเรื่องทั้งสี่นี้มากน้อยเพียงใด ลองย้อนคิดดูถึงสภาพเมื่อคราวเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาก็ได้ครับ

ว่าจะขอออกจากกระทู้นี้เพียงเท่านี้ นึกขึ้นมาได้ว่ายังขาดเรื่องของซึนามิ เอาไว้ต่อวันพรุ่งนี้นะครับ

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 12, 19:00
ถ้าเอาความพร้อมสมัยน้ำท่วมเป็นหลัก.    ก็สงสัยว่าประชาชนเห็นจะต้องเตรียมความพร้อมกันเองละค่ะ.    จะมัวรอภาครัฐ.  อาจจะไม่ทันการในหลายด้าน
มารอฟังเรื่องซึนามิค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 12, 19:54
ซึนามิ เป็นหนึ่งในศัพท์คำแรกๆที่ผมได้้รู้จักเมื่อแรกเรียนวิชาธรณีฯ แล้วอาจารย์ก็อธิบายว่ามันเกิดมาจากแผ่นดินไหวและ Landslide เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเคลื่อนที่มาก คือประมาณ 500 ไมล์หรือ 800 กม.ต่อชั่วโมง มันสามารถเคลื่อนที่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้ในเวลาไม่เกิน 12 ชม. เมื่อไปเที่ยวชายทะเลก็ให้ระวังและคอยสังเกตระดับน้ำทะเล เมื่อใดที่อยู่ดีๆน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ให้วิ่งหนีขึ้นที่สูงที่สุดเท่าที่จะไปได้ในทันที   คู่กับเรื่องนี้ คือ เมื่อไปเล่นน้ำทะเลก็ให้ระวัง Rip current ด้วย เมื่อใดที่รู้สึกว่าลอยออกจากฝั่งไปเรื่อย ก็อย่าได้ว่ายน้ำสวนกลับเข้าฝั่ง แต่ให้ว่ายออกไปด้านข้างขนานกับฝั่ง แล้วจึงค่อยๆพยุงตัวลอยเข้าฝั่ง

Tsunami เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลตรงตัวว่าคลื่นในอ่าว คงจะเป็นเพราะว่าเิกิดเป็นประจำตามชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น จึงเป็นชื่อที่รู้จักกันดี ลักษณะสำคัญคือน้ำในอ่าวเอ่อสูงขึ้นมากว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงอย่างผิดปรกติในช่วงคาบเวลาสั้นๆ เมื่อทราบว่ามันเป็นผลพวงมาจากการเกิดแผ่นดินไหว ในปัจจุบันจึงมีการวัดระดับและทราบว่า มีตั้งแต่ระดับ 5 ซม.ขึ้นไปจนเป็น 10 เมตรขึ้นไป ด้วยความที่ญี่ปุ่นอยู่กับแผ่นดินไหวและซึนามิมาตลอด จึงมีการศึกษามากจนสามารถจะคาดได้ว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ใดจะเกิดซึนามิไปกระทบตามแนวชายฝั่งที่ใดบ้าง และยังสามารถคาดได้ว่าจะสูงในระดับใดอีกด้วย    ญี่ปุ่นคาดว่าซึนามิสูงสุดที่น่าจะกระทบตลอดแนวชายฝั่งน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เมตร จึงมีการสร้างกำแพงในระดับ 5 เมตรเพื่อป้องกันผู้คนตามเมืองต่างๆตลอดแนวชายฝั่ง แต่ขนาดรู้ขนาดนี้แล้วยังพลาดไปเจอเอาขนาดมากกว่า 10 เมตรเข้า ถึงได้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวง

ในทางวิชาการแต่ก่อนนั้นเรียกคลื่นซึนามิว่า Tidal wave เนื่องจากมีลักษณะที่เกิดเหมือนกับน้ำขึ้นน้ำลง เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น ปัจจุบันนี้เลิกใช้คำนี้ไปแล้ว  และแต่ก่อนอีกเช่นกันก็พบว่าเป็นผลจากแผ่นดินไหวในท้องมหาสมุทรเท่านั้น

เมื่อได้มีการพบว่าแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ มีการมุดกันเกยกัน เคลื่อนที่เสียดสีกัน และการเคลื่อนที่นี้มีความสัมพันธ์อย่างสนิทแน่นกับจุดหรือแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว การเกิดภูเขาไฟตามชายฝั่งทะเล เกิดเกาะภูเขาไฟเช่นญี่ปุ่น ฯลฯ ในยุคหลังจากประมาณ พ.ศ. 2515 จึงได้เริ่มมีความกระจ่างว่าซึนามิเกิดได้อย่างไรแต่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นอกจากนั้นยังพบว่า คลื่นซึนามินี้ไม่จำเป็นต้องเกิดเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกมุดกันเกยกัน สะดุดแล้วก็หลุดเลื่อนต่อไปจนเกิดเป็นแผ่นดินไหวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากตะกอนดินทรายที่กองอยู่ริมชายขอบบริเวณพื้นที่ใหล่ทวีปไหลร่วงลงไปตามลาดชันลงสู่ท้องทะเลลึกที่เป็นร่อง trench อีกด้วย เหมือนกับดินโคลนถล่มบนบกแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก นอกจากนั้นก็ยังเกิดจาก landslide ขนาดใหญ่มากๆที่บริเวณของของมหาสมุทรได้อีกด้วย เช่น กรณีการเกิดที่อลาสก้า เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับน้ำสูงขึ้นไปกว่า 500 เมตร ไปกวาดป่าไม้ในระดับนั้นให้ราบเรียบ

ในปัจจุบัน เป็นที่ยืนยันแล้วว่า การมุดกันเกยกันของแผ่นเปลือกโลกที่หลุดจาการสะดุดจนเกิดการดีดกลับ เป็นสาเหตุหลักและเป็นกระบวนวิธีการทำให้เกิดความต่างระดับของมวลน้ำในมหาสมุทรในบริเวณนั้นในทันที ทำให้เิกิดเป็นคลื่นซึนามิขนาดต่างๆกันขึ้นอยู่กับระดับความต่างของระยะที่ดีดกลับ

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 12, 20:15
Tsunami เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลตรงตัวว่าคลื่นในอ่าว  

tsu ทสึ = ท่าเรือ   nami นามิ = คลื่น  津波 จึงแปลตามตัวอักษรว่า "คลื่นท่าเรือ"

ด้วยความที่ญี่ปุ่นอยู่กับแผ่นดินไหวและซึนามิมาตลอด จึงมีการศึกษามากจนสามารถจะคาดได้ว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ใดจะเกิดซึนามิไปกระทบตามแนวชายฝั่งที่ใดบ้าง และยังสามารถคาดได้ว่าจะสูงในระดับใดอีกด้วย    ญี่ปุ่นคาดว่าซึนามิสูงสุดที่น่าจะกระทบตลอดแนวชายฝั่งน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เมตร จึงมีการสร้างกำแพงในระดับ 5 เมตรเพื่อป้องกันผู้คนตามเมืองต่างๆตลอดแนวชายฝั่ง แต่ขนาดรู้ขนาดนี้แล้วยังพลาดไปเจอเอาขนาดมากกว่า 10 เมตรเข้า ถึงได้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวง

http://www.youtube.com/watch?v=xBKtw9JMba4

เมือง 田老町 Taro  (http://en.wikipedia.org/wiki/Tar%C5%8D,_Iwate) สร้างกำแพงสูงถึง ๑๐ เมตร เจอสึนามิครั้งล่าสุดสูงกว่า ๑๔ เมตรขึ้นไป จึงไม่รอดพ้นจากความหายนะไปได้

 :( :'( :'(


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 12, 21:06
คลื่นซึนามิเป็นคลื่นที่มีช่วงคลื่นยาว ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในทะเลเปิด เป็นคลื่นที่แตกต่างไปจากคลื่นทะเลซึ่งเกิดจากลม เรือที่อยู่ห่างจากฝั่งพอสมควรจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากคลื่นซึนามิ
พอจะเปรียบเทียบได้เหมือนกับคนลอยคออยู่ในทะเลและกำลังเข้าฝั่ง เห็นแต่หัว เมื่อถึงบริเวณน้ำตื้นเท้่าหยั่งถึงเขาก็จะเิริ่มเดิน ยิ่งน้ำตื้นเพียงใดเราก็จะยิ่งเห็นความสูงและความใหญ่โตของตัวเขา จนถึงชายหาดจริงๆจึงจะรู้ว่าเขาสูงใหญ่เพียงใด กำลังทุบตีของเขาจะมีมากน้อยเพียงใด

การหนีรอดจากคลื่นซึนามิบนชายฝั่งมีอยู่ทางเดียว คือ หนีขึ้นที่สูง อย่าลืมนะครับ เมื่อใดอยู่ดีๆระดับน้ำชายหาดลงอย่างรวดเร็ว จะต้องวิ่งขึ้นที่สูงอย่างเดียวครับ

แต่เดิมนั้นมีแต่ระบบเตือนภัยสำหรับคลื่นซึนามิที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่หลังจากที่เิกิดในมหาสมุทรอินเดียแล้ว ในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ทุ่นลอยอยู่ในท้องทะเลช่วยจับคลื่นตัวนี้แล้วก็จะส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังศูนย์บนบก ไม่ทราบว่ามีงบประมาณเพื่อการบำรุงรักษาถึงหรือไม่ และมนุษย์นี้ก็ช่าง จ... จริงๆนะครับ ทราบมาว่าทุ่นเสียหายแล้วก็มี หายไปก็อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไป  อนึ่ง ก็คงได้ทราบข่าวคราวทางสื่อต่างๆกันนะครับว่าระบบเตือนภัยของเราทำงานบ้าง ไม่ทำงานบ้าง ทำงานไม่เต็มที่บ้าง  

สำหรับผม คิดว่าการซ้อมนานปีทีหนนั้นไม่ค่อยได้ผลอะไรมากนักกับประชาชน แต่จะเป็นประโยชน์กับภาคราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของความรวดเร็วในการประสานงานและทดสอบระบบ   ผมคิดว่าทำอย่างไรถึงจะฝังวิธีการหนีภัยนี้เข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ vulnerable (ไม่ทราบว่าจะใช้ภาษาไทยคำใหนที่เหมาะสม) เหล่านั้นอาจจะดีกว่า   ผมว่ายังอีกนานครับสำหรับเรื่อง mitigation ของเรา  ตราบใดที่ยังคิดกันว่า สิทธิเป็นของผม หน้าที่เป็นของคุณ ผู้รับผิดชอบ ??? ผลที่จะตามมาก็ตัวใครตัวมันรับผิดชอบกันเอง

ก่อนจะลงจากเรื่องนี้
เรื่อง Storm surge ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดระดับน้ำทะเลขึ้นสูงกว่าปรกติ สาเหตุก็เพราะในบริเวณที่มีลมพายุนั้นจะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ดังนั้นน้ำทะเลก็จะยกระดับสูงขึ้น ระดับน้ำอาจจะสูงพ้นบริเวณชายหาดเข้ามาในแผ่นดินเป็นบางบริเวณก็ได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ใจกลางของพายุพาดผ่าน ผมคิดว่ามีหลายบริเวณตลอดชายฝั่งของไทยที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้วยกระบวนการนี้ เพียงแต่มีความรุนแรงในระดับต่ำมากและก็ไม่ได้มีการพูดถึงกัน      
  


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 12, 21:33
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูครับที่ช่ายแก้ไขให้ถูกต้อง

กำแพงกันซึนามินั้น เท่าที่เคยไปดูและได้รับฟังคำบรรยาย (ตามเมืองชายฝั่งใต้โตเกียวลงไป จนแถบนางาซากิ) เขาว่าอย่างนั้นครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเมืองนั้นๆด้วยว่าเขาตัดสินใจจะทำสูงเพียงไร บางเมืองสูง 2-3 เมตรก็มี ซึ่งขึ้นอยู่ที่ระดับของพื้นผิวฐานที่จะวางกำแพงด้วย

แยกเข้าซอยไปหน่อยครับ
อนึ่ง ความสูงของยอดคลื่นที่ซัดเข้าชายหาดต่างๆนั้น ขึ้นอยู่กับมุมลาดเอียง (slope) ของชายทะเลด้วย หากมีมุมเอียงเทน้อย ชายหาดจะกว้าง คลื่นจะแตกตัวที่ระยะไกลจากฝั่ง แต่หากมีมุมเอียงเทสูง หาดจะแคบ คลื่นจะยกตัวได้สูงมาก ทำให้เห็นคลื่นลูกใหญ่ๆ   ด้วยลักษณะของหาดด้านทะเลเปิดที่คนไปเล่นน้ำตามชายหาดไม่ทราบ จึงทำให้มีข่าวบ่อยๆว่าถูกคลื่นยักษ์กวาดจมทะเลไป  ซึ่งแท้จริงแล้วคลื่นในทะเลเปิดนั้นมีคลื่นหลายความยาวคลื่นขี่กันมา บางจังหวะเวลาจึงมีคลื่นใหญ่ได้ 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 12, 10:52
เพิ่งหมดข่าวซีนามิไปหมาดๆ  คนไทยก็หันมากังวลกับภัยแล้ง  และน้ำหลาก ในเวลาเดียวกัน
ให้ได้อย่างนี้ซี ประเทศไทย


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 12, 17:52
คุณประกอบยืนยันนั่งยันว่าโลกไม่แตกในปีนี้  บัดนี้ข่าวเอพี ก็มายืนยันว่าคุณประกอบพูดถูกแล้วค่ะ
 :)
ฮือฮา! พบปฏิทินมายาใหม่ ระบุเวลาเกินปี 2012    

สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า นักโบราณคดีพบปฏิทินมายาชิ้นใหม่ ระบุวันเวลายาวไกลจากปี 2012 ไปหลายพันปี การันตีโลกไม่แตกตามความเชื่อของชาวตะวันตก

         รายงานระบุว่า ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบอสตันและมหาวิทยาลัยคอลเกตในสหรัฐฯ ได้ค้นพบห้องขนาดเล็ก ภายใต้ซากปรักหักพังของแหล่งโบราณสถานชุลตูน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัวเตมาลา โดยภายในห้องนั้น พบว่ามีปฏิทินมายาถูกจารึกอยู่บนฝาผนังห้อง มันมีอายุประมาณ 1,200 ปี ซึ่งปฏิทินที่ค้นพบชิ้นใหม่นี้ เป็นปฏิทินดาราศาสตร์ที่ชนเผ่ามายันระบุวันเวลานับจากวันที่บันทึกออกไปไกลกว่า 6,700 ปีข้างหน้า และนั่นแสดงให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ วันเวลาที่นับจากวันที่จารึกปฎิทินดังกล่าว ได้ล่วงเลยมาเพียง 1,200 ปีเท่านั้น (คำนวณตามอายุของปฏิทิน ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย) ดังนั้น หากจะมีวันสิ้นโลกตามความเชื่อของใครหลายคนจริง ๆ มันก็คงจะเกิดขึ้นในอีกเกือบ 6,000 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าโลกยังคงอยู่อีกยาวนานนัก

         นอกจากนี้ ภายในห้องเล็กดังกล่าว ยังมีการบันทึกเกี่ยวกับการคำนวณคาบดิถี (คาบซินอดิก) ของดาวศุกร์ว่าอยู่ที่ 584 วัน ส่วนคาบดิถีของดาวอังคารนั้นอยู่ที่ 780 วัน พร้อมกับปรากฎการณ์บนดวงจันทร์ต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ชาวมายันบันทึกไว้นั้น เป็นข้อมูลที่ตรงกับการคำนวณโดยนักดาราศาสตร์ปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ

         และที่น่าสนใจที่สุด คือ จากการตีความของผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิทินมายา พบว่า ชนเผ่ามายันไม่ได้ระบุว่าโลกจะถึงจุดจบในปี 2012 แต่อย่างใด

         ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของศาสตราจารย์เลออนโซ แบร์เรโน ผู้เชี่ยวชาญด้านชนเผ่าและภาษามายันแห่งมหาวิทยาลัยเรจินา แคนาดา ที่ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปฎิทินมายาของชาวมายันนั้นถูกตีความผิดมาโดยตลอด เขาเรียนการอ่านปฏิทินมายามาจากคนเฒ่าคนแก่ชาวมายันแท้ ๆ แต่ไม่มีชาวมายันคนไหนพูดถึงวันสิ้นโลกเลยสักคน พร้อมกับได้ให้ข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้มีสารคดี บทความเกี่ยวกับวันสิ้นโลกตามคำทำนายของชาวมายันออกมาให้เห็นมากมาย แต่กลับไม่มีสื่อไหนเคยไปสัมภาษณ์กับชาวมายันแท้ ๆ เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย

         สำหรับแหล่งโบราณสถานชุลตูนที่นักโบราณคดีได้ไปค้นพบปฏิทินมายาชิ้นใหม่นี้ เป็นพื้นที่ในป่าฝนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมายันนับหมื่น ๆ คน ถูกค้นพบเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน และก็ได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีมานับตั้งแต่นั้น

****************

พอพ้นปี 2012  ก็คงมีการพบปฏิทินชาวเผ่าอะไรเข้าสักเผ่าที่บอกว่าโลกจะแตกในปีต่อๆไป    ตามเคย


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 พ.ค. 12, 21:54
มายาบอกว่ายังไม่แตก หมอดู E.T. ก็ยืนยันว่าปี 2012 นี่ไม่มีอะไรในเรื่องจริงผ่านจอ

แต่ปี 2013 หมอดู E.T. บอกจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ ตึกรามถล่ม   ไม่ทราบว่าอาจารย์เทาชมพูเตรียมการอพยพหนีภัยไปอีสานหรือภาคเหนือไว้รึยังครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 12, 09:06
ยังค่ะ  คุณประกอบ  อพยพไม่ได้อยู่ดี
เพราะปี 2014  หมอดูอีกคนมาดักไว้แล้วว่า ภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหว  ภูเขาถล่ม  ภาคอีสานเกิดน้ำท่วมบวกกับภัยแล้งอย่างหนัก  ภาคกลางเขื่อนแตก   ภาคใต้เกิดซึนามิทั้งอันดามันและอ่าวไทย
เห็นจะต้องปักหลักอยู่ในเรือนไทยต่อไปตามเดิม   น่าจะปลอดภัยที่สุด


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 12, 20:20
กลับมาจากต่างจังหวัดแล้วครับ
ได้หลับนอนอย่างสดชื่นมีความสุขกับอากาศเย็นๆ อุณหภูมิทุกเช้ายังไม่ถึง 20 องศาเลยครับ แถมมีฝนตกต่อเนื่อง 48 ชั่วโมงอีกต่างหาก อิจฉาใหมครับ  ;)

อ่านเรื่องราวที่คุณเทาชมพูและคุณประกอบนำมาลงแล้ว ทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องของโหราศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า Relocation astrology ซึ่งผมเข้าว่ามีพัฒนาการมาจากโหราศาสตร์แบบยูเรเนียน (Uranian astrology) และแบบมิดพ๊อยต์ (Midpoint astrology) กล่าวคือ มีนักโหราศาสตร์คนหนึ่งได้พัฒนาวิธีการทำนายโดยการนำแนวเส้นทางการโคจรของดวงดาวต่างๆที่พาดผ่านจุดต่างๆบนผิวโลกเอามาทับซ้อนบนแผนที่ภูมิศาสตร์ (เรียกว่า Astrocartography map) ซึ่งได้พบว่าบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆในอดีต (ที่เลวร้าย) ในประเทศหรือในทวีปต่างๆนั้น เป็นบริเวณพื้นที่ที่อยู่ในแนวของดาวที่ให้อิทธิพลในทางร้ายพาดผ่านในขณะหรือช่วงเวลานั้นๆ (เช่น ดาวเนปจูน และพลูโต)  ซึ่งได้มีพัฒนาการต่อมาจนในปัจจุบันนี้ได้ใช้หลักการนี้เพื่อจะบอกบอกว่าด้วยพื้นดวงของเรานั้น เราจะไปทำอะไรที่ใหนจึงจะถูกโฉลก ไปกันไกลมากจนถึงการดูว่าจะไปเที่ยวพักผ่อนที่ใดจึงจะดี

เล่ามาให้ฟังเท่านั้นแหละครับ ว่าหลักวิธีที่ใช้ในการพยากรณ์ของโหรนั้นมีมากมายหลายแบบ บางคนก็ดูจากดาวปรกติที่โหราศาสตร์ใช้กันทั่วไป บางคนก็ไปไกลใช้จุดหรือวัตถุที่เป็น Trans-neptunian objects   ที่ผมเล่ามาก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง และก็คงมีอีกหลายๆวิธี นอกจากนั้นแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับการตีความตามแต่จะคิดในทางบวกหรือทางลบ เช่น ดาวเสาร์ ซึ่งความหมายส่วนหนึ่งหมายถึงการพลัดพราก น่าจะเป็นเรื่องทุกข์ แต่ในความเป็นจริงหากพลัดพรากไปเรียนต่อในต่างประเทศก็เป็นเรื่องของความสุขมิใช่หรือ

ก็ว่ากันไปนะครับ ลองวิชากันว่าผู้ใดจะมีภูมิปัญญาตีความหมายของดวงดาวและการทำมุมกันของดวงดาว ของเรือน ได้ถูกต้องกว่ากันได้แม่นยำกว่ากัน
 





กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 12, 20:24
เข้ามาทักทายคุณตั้งค่ะ
ถ้าพาอุณหภูมิ 20 องศาและฝนโปรย อัดกระป๋องมาแจกจ่ายแถวกรุงเทพ และปริมณฑลได้ก็จะดีไม่น้อย   แถวบ้านดิฉันยังร้อนอยู่เหมือนเดิมค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 12, 21:21
ดินฟ้าอากาศในหมู่บ้านด้วยนะครับ มิใช่บนดอย หัวค่ำเอาผ้าห่มปิดหน้าอก ตกดึกสงัดต้องคลี่ลงไปคลุมเท้า


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ค. 12, 19:57
คลื่นแผ่นดินไหวดูเหมือนกับว่าจะมีแต่ในทางที่เป็นโทษ ที่จริงแล้วก็มีในทางที่เป็นคุณด้วย

เรื่องแรกก็คือ ด้วยการที่คลื่นแผ่นดินไหวเดินทางไปในบริเวณกว้างทั่วโลก เมื่อเกิดแ่ผ่นดินไหว ณ.จุดใด ประเทศต่างๆทั่วโลกก็สามารถจะประเมินได้ว่า ณ.จุดนั้นๆจะเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด ทำให้การเตรียมการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นไปได้อย่างที่เหมาะสม

คลื่นต่างๆทั้งหลายเดินทางผ่านตัวกลาง คุณสมบัติของตัวกลางเป็นตัวกำหนดให้คลื่นเดินทางผ่านด้วยวิธีการอย่างใด ด้วยความเร็วเพียงใด และจะดูดซึมซับให้พลังของคลื่นให้ลดน้อยถอยลงเพียงใด นอกจากนั้นแล้วคุณสมบัติของตัวกลางยังทำให้เส้นทางการเดินทางของคลื่นหักเหหรือสะท้อนกระเด็นกระดอนไปอีกด้วย

คลื่นแผ่นดินไหวจึงทำให้เราได้ทราบถึงลักษณะภายในของโลกว่า แบ่งออกเป็นกี่ชั้น แต่ละชั้นเป็นของแข็งหรือของเหลว ลึกและหนาเพียงใด และมีองค์ประกอบที่น่าจะเป็นอย่างไร

เครื่องมือชิ้นแรกที่มนุษย์เอาไปวางทิ้งไว้บนดวงจันทร์ก็คือเครื่องวัดแผ่นดินไหวนั่นเอง ต่อมาในสำรวจดาวอังคารก็มีเครื่องวัดแผ่นดินไหวรวมอยู่ด้วยกับเครื่องมือสำหรับการสำรวจอื่นๆ

ด้วยการที่คลื่นเปลี่ยนคุณสมบัติไปจากเดิมเมื่อเดินทางผ่านไปตามตัวกลางนี้เอง ทำให้เราสร้างคลื่นแผ่นดินไหวเทียมขึ้นมา (ด้วยการระเบิดใต้ผิวดิน หรือการกระแทกบนผิวดิน หรือในน้ำ) แล้ววางระบบตรวจจับอย่างเป็นระบบ หลายจุดตามระยะที่กำหนดที่เหมาะสม หรือตามความลึกที่ต้องการ โดยแยกการดำเนินการเป็นสองวิธี คือ ระบบการวัดคลื่นหักเห (Refraction) ซึ่งเรียกวิธีการสำรวจแบบนี้ว่า Seismic refraction survey ระบบนี้ใช้สำหรับการสำรวจชั้นดินและความหนาของแต่ละชั้นดินหรือชั้นตะกอนในระดับที่ไม่ลึกมากนัก หนึ่งในวิธีการสำรวจหาหลุมศพและเมืองโบราณในสมัยฉินซีฮ่องเต้ของจีนใช้วิธีการนี้
อีกระบบคือการวัดคลื่นสะท้อน (Reflection) เรียกวิธีการสำรวจแบบนี้ว่า Seismic reflection survey ระบบนี้เป็นระบบหลักที่ใช้ในการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและแกสธรรมชาติ เป็นระบบที่ใช้วัดชั้นหินและโครงสร้างทางะรณีวิทยาในระดับลึก ซึ่งจะแสดงแนวและระนาบของรอยเลื่อน โครงสร้างที่เป็นแหล่งสะสมของน้ำมัน ฯลฯ เรียกได้ว่าในการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดใช้วิธีการนี้

คลื่นที่วัดได้ที่สถานีวัดแผ่นดินไหวยังบอกเล่าถึงตำแหน่งที่มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินอีกด้วย รวมทั้งการระเบิดขนาดใหญ่บนผิวดิน เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งยังใช้ในการตรวจสอบตำแหน่งของหินละลายของภูเขาไฟว่าอยู่ตื้นลึกเพียงใดใกล้จะระเบิดแล้วหรือไม่

นอกจากคลื่นแผ่นดินไหวที่สามารถเดินทางผ่านชั้นดินชั้นหินได้อย่างดีแล้ว ก็ยังมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic wave_ EM) ที่สามารถเดินทางผ่านตัวกลางที่เป็นดินและหินได้ จึงมีการพัฒนาเครื่องปล่อยคลื่น EM ในความถี่ต่างๆและด้วยความแรงต่างๆ เพื่อใช้ทั้งระบบการนำร่องและสื่อสารของเรือดำน้ำ สำรวจหาแหล่งแร่ เครื่องตรวจหากับระเบิด หาแหล่งน้ำบาดาล ฯลฯ




 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 12, 18:00
มาลงชื่อว่านั่งอ่านอยู่ค่ะ  แต่กระเถิบไปหลังห้องเพราะไม่มีความรู้ ขอฟังเลกเชอร์อย่างเดียว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ค. 12, 19:37
เมื่อวานนี้ผมไปจบลงที่เรื่องการหาแหล่งน้ำบาดาล ก็เพื่อจะแยกเข้าซอยไปจบกระทู้ที่เรื่องภัยแล้งที่คุณเทาชมพูปรารภ

เพิ่งหมดข่าวซีนามิไปหมาดๆ  คนไทยก็หันมากังวลกับภัยแล้ง  และน้ำหลาก ในเวลาเดียวกัน
ให้ได้อย่างนี้ซี ประเทศไทย

คำว่าภัยแล้งในภาษาไทยนี้ ไม่ทราบว่าตรงกับคำภาษาอังกฤษว่าอย่างไร ความแห้งแล้งที่จัดเป็นภัยพิบัตินั้นผมคิดว่าตรงกับคำว่า Drought คือฝนไม่ตกตามฤดูกาล (หรือตกมาน้อยมาก) และเป็นมาอย่างต่อเนื่องหลายปีจนกระทั่งไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปรกติสุขอันพึงมี คือ ขาดน้ำกินน้ำใช้สำหรับคนและสัตว์ และไม่มีน้ำเพื่อการทำเกษตรกรรมและกสิกรรม   โดยนัยก็คือ ไม่เป็นในลักษณะของ seasonal drought แต่เป็นในลักษณะของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากปรกติ
  
ที่เรียกว่าภัยแล้งของไทยเรานั้น ในสมัยก่อนนั้นอาจจะจัดได้ว่าเป็นภัยจริง โดยเฉพาะในภาคอีสาน คือ ขาดทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำสำหรับการเกษตรกรรมและกสิกรรม แต่อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ในลักษณะของการที่ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล หรือตกน้อยในบางพื้นที่ในช่วงระยะเวลาที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งภาคทั้งปียังอยู่ในเกณฑ์ปริมาณเหมือนเดิม
หลังจากที่ภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ซึ่งเิริ่มต้นด้วยการทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินและน้ำใช้ด้วยการเจาะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผนวกด้วยสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำ พัฒนาต่อมาจากมีกินมีใช้พอเพียงไม่ตายไปสู่การมีกินมีใช้อย่างอยู่ดีกินดี จนกระทั่งในปัจจุบันนี้แทบจะกล่าวได้ว่าชาวบ้านก็สามารถจะมีน้ำใช้ในปริมาณเฉลี่ยเกือบเท่ากับคนในเมืองที่ใช้กันต่อคนต่อวัน
 
สรุปว่าตลอดทั้งปีคนไทยเกือบทั้งหมดมีน้ำกินน้ำใช้พอเพียงสำหรับแต่ละบุคคลในแต่ละวัน ที่เรียกว่าแล้งนั้นก็คือ ไม่สามารถมาถทำเกษตรกรรมได้เท่าเทียมกับพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน (ซึ่งสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี)  ในเชิงของภาครัฐและรัฐบาลก็ใช้ประโยชน์จากเรื่องของความแล้งนี้ไปในเชิงของงบประมาณและฐานเสียงทางการเมือง จึงยังคงมีพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากอยู่ตลอดมา

เมื่อฝนตกมาน้ำก็หลากท่วม ภัยแล้งก็หมดไปกลายเป็นภัยน้ำท่วมทับซ้อนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในหลายๆพื้นที่ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการที่พื้นที่ถูกน้ำท่วม เขาอยู่กับมันมาชั่วชีวิต ปรับตัวอยู่ได้กลายเป็นวิถีของชีวิตประจำปี เมื่อน้ำลด ปลาก็จะถอยร่นเข้าไปรวมอยู่ในปลัก เก็บเกี่ยวกันมาทำเป็นสินค้า เช่น ปลาร้า ปลาแห้ง น้ำปลา ฯลฯ กลายเป็นรายได้หลักที่เป็นกอบเป็นกำประจำปีอีกอย่างหนึ่ง ภาครัฐก็ใช้ประโยชน์จากการเรื่องน้ำท่วม คิดเป็นความเสียหาย คิดให้ ทำให้ เออเองไปหมด ได้ทั้งงบประมาณ ผลงาน และฐานเสียง

เอาละครับ ในเชิงวิชาการคิดได้อย่างไรบ้าง
น้ำบาดาลก็คือน้ำที่กักเก็บอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดกรวดเม็ดทรายที่อยู่ใต้ผิวดิน เป็นไปได้ใหมครับว่า เมื่อน้ำมากก็เอาไปเก็บไว้ในชั้นทรายใต้ดิน เมื่อขาดน้ำก็สูบนำออกมาใช้

คิดได้แล้วทำจริงได้ใหม
ทำได้ครับ มีเป็นสิบวิธีที่ปฎิบัติกันในโลก  แต่จะไม่เล่านะครับ จะยกมาเพียง 2 ตัวอย่าง คือ Rain harvesting และ Artificial recharge

  






กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 20:43
ภัยแล้งก็คือ Drought นั่นละค่ะ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ค. 12, 20:53
Rain harvesting
  ก็คือการเอาน้ำฝนที่ตกบนหลังคาบ้าน ไหลรวมกันในรางน้ำตลอดชายคา แล้วต่อท่อให้ไหลลงสู่ถังซึ่งทำด้วยท่อปูนกลมๆที่เอามาตั้งต่อกันให้เป็นถังน้ำวางอยู่บนพื้นดิน แล้วแต่ขนาดความจุที่ต้องการ ทำเป็น 2 ถังคู่กัน ต่อท่อเชื่อมกันเพื่อให้น้ำที่ล้นจากถังแรกไหลไปเก็บต่อไว้ในถังที่สอง ที่ก้นถังที่สองต่อท่อขนาดประมาณ 4 นิ้วพร้อมก็อกปิดเปิด แล้วต่อท่อกับท่อน้ำที่เจาะลงไปในดินถึงระดับชั้นทรายที่อยู่ใต้ผิวดิน บางแห่งอาจจะลึกมากบางแห่งอาจจะก็ลึกน้อย อย่างไรก็ตาม ส่วนของท่อที่อยู่ในช่วงของชั้นทรายนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรจะยาวตลอดความลึกของชั้นทราย เอาเป็นว่าให้ลึกมากหน่อยก็แล้วกัน  ท่อส่วนที่อยู่ในระดับชั้นทรายนี้เจาะรูเล็กๆรอบๆแล้วกรุด้วยตาข่ายขนาดมุ้งลวดเพื่อกันทรายเข้ามาในท่อ

ระบบการทำงานก็คือ เมื่อฝนตกลงมา นำน้ำไปเก็บไว้ในถังแรกซึ่งคำนวณให้มีความจุเพียงพอสำหรับการใช้ในช่วงที่ขาดแคลนจริงๆ เมื่อน้ำฝนมากเกินพอก็จะไหลล้นเข้าสู่ถังที่สองซึ่งจะใช้เป็นถังเก็บน้ำสำรองไว้ใช้อีกใบหนึ่ง เมื่อถังที่สองเต็ม ก็เปิดก๊อกให้น้ำใหลลงสู่ชั้นทรายใต้ดิน  ผลที่ได้รับคือ หากทำกันทั้งหมู่บ้าน อย่างน้อยที่สุดระดับน้ำใต้ดินก็จะยกตัวสูงขึ้น สามารถขุดบ่อน้ำหรือเจาะบ่อบาดาลระดับตื้นนำน้ำมาใช้ทำไร่ทำสวนได้ ต้นไม้ที่เคยเหี่ยวแห้งในฤดูแล้งก็จะดูสดใสมีชีวิตชีวาขึ้น

ระบบเติมน้ำใต้ดินนี้ ทำกันในอินเดียเป็นโครงการใหญ่และกระจายอยู่ในพื้นที่ที่เป็น drought area ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ดียิ่ง แก้ปัญหาผืนดินขาดความชุมชื้นได้มาก สามารถทำการเพาะปลูกได้   ในไทยก็มีการทำเช่นกัน ผมจำไม่ได้ว่ามีอยู่กี่หมู่บ้าน เป็นโครงการทดลองและได้ผลดี หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ได้ไปดูอยู่ในเขต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ชาวบ้านพอใจมากครับ


Artificial recharge
  ทำได้หลายวิธี เช่น สูบน้ำอัดลงไปใต้ดิน หรือขุดสระลึกให้ถึงชั้นทรายแล้วชักน้ำเข้ามาให้ค่อยๆซึมลงไป ในไทยก็ทดลองทำ กรณีแรกในพื้นที่ จ.สุโขทัย กรณีที่สองอยู่ในพื้นที่ในเขตเดียวกันก้บที่ได้กล่าวมา ก็ได้ผลดี   นึกออกเลยใช่ใหมครับว่าแต่ละปีที่ได้รับงบประมาณสำหรับการขุดลอกคูคลองในหลายๆพื้นที่ (ในต่างจังหวัด)นั้น หากสภาพทางธรณีฯมีความเหมาะสม เราก็สามารถจะดำเนินการในลักณะนี้ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เดียวกันที่มีทั้งน้ำท่วมและแล้งน้ำเป็นประจำทุกๆปี

โครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์มากในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐและรัฐบาลจะไม่นิยมแก้ด้วยวิธีการทำโครงการแก้ปัญหาระยะยาว ทำระยะสั้นได้ฐานเสียงดีกว่ามาก ฝ่ายนักวิชาการผู้ปฏิบัติงานที่ตั้งใจทำงานนั้น กว่าจะของบประมาณเพื่อทำโครงการทดสอบความเป็นไปได้ก็แทบตาย ดีนะครับที่ไม่ยังไม่ย่อท้อกัน ยังอึดยังสู้อยู่    ทุกคนยังยึดอยู่ในคำขวัญที่ติดหราอยู่ที่ตึกประธานมาหลายๆสิบปีแล้วว่า ทั้งใต้ดินบนดินถิ่้นของเรา หนักก็เอาเบาก็สู้ บูชาธรรม

กระทู้นี้ก็คงจะผ่านไป แล้วก็ลาโรงไปด้วยเรื่องที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง  
เอวังก็ด้วยประการะฉะนี้
    
  
 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 20:56
อ้าว  กำลังตามอ่านเพลินๆ    จบซะแล้ว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ค. 12, 22:17
กลัวจะเป็นวิชาการมากเกินไป จะเบื่อกันนะครับ
ผมเองก็จะแย่เหมือนกันเพราะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ทางเทคนิค และยังต้องพยายามหาคำอธิบายที่ตรงกับความหมายลึกๆของศัพท์นั้นๆ เหมือนกับความพยายามที่ผมจะอธิบายความต่างระหว่างคำว่า beautiful, pretty, cute, gorgeous, lovely, charming, passion, attraction ฯลฯ ของผู้หญิงใดๆคนใดคนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดก็คือมีความสวยในองค์รวม แต่ในมุมใหน ???

ขออย่าได้เห็นว่าเป็นการขยายขี้เท่อใดๆของผมนะครับ เข้าใจอย่างนั้นก็ว่าไปอย่างนั้นตรงๆ 


 
 



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 22:20
ถ้าคุณตั้งจะมีเรื่องใดมาอธิบายอีก ไม่ว่าในกระทู้นี้ หรือกระทู้อื่น หรือตั้งกระทู้ใหม่    ก็คงมีผู้ติดตามด้วยความสนใจแน่นอนค่ะ
ขอเชิญไว้ก่อน


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 พ.ค. 12, 12:00
มาสนับสนุนคำพูดในความเห็นสุดท้ายของอ.เทาชมพูคะ

เรื่องการเก็บน้ำไว้ในชั้นหินลึกๆ (น้ำบาดาล) ในประเทศเรา หน่วยงานของรัฐกระตือรือร้น ในเรื่องนี้แค่ไหนคะ

เคยได้ยินว่าบริษัทผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่มีโรงงานอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้โรงเรียนดัง

สูบน้ำจากใต้ดินลึกมาใช้ผลิตจริงไหมคะ... ระดับน้ำใต้ดินในก.ท.ม. ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

และแถวอิสาน ที่แล้งมากๆมาเป็นร้อยปีแล้ว ความรู้ในยุคนี้ กับความจริงใจของรัฐบาลทุกรัฐบาล

จะแก้ปัญหาได้หรือยังคะ  แหล่งผลิตข้าวเช่นทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีข้าวดีที่สุดจริงไหม และยังแล้งอย่างที่ตำนานเขาเล่าหรือเปล่าคะ






กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 12, 18:58
ถ้าคุณตั้งจะมีเรื่องใดมาอธิบายอีก ไม่ว่าในกระทู้นี้ หรือกระทู้อื่น หรือตั้งกระทู้ใหม่    ก็คงมีผู้ติดตามด้วยความสนใจแน่นอนค่ะ
ขอเชิญไว้ก่อน
มาสนับสนุนคำพูดในความเห็นสุดท้ายของอ.เทาชมพูคะ.......

ขอบคุณครับ ไม่ได้มีเรื่องกังวลใจอะไรมากหรอกครับ เพียงเพื่อมิให้เป็นไทยคำฝรั่งคำเท่านั้น จึงใช้เวลามากหน่อยในการคิดหาประโยคหรือวลีที่อธิบายความที่สั้น ตรง และได้เนื้อหาที่เข้าใจได้ในทันที


คุณพวงแก้วอยากทราบข้อมูลในเรื่องเกียวกับน้ำบาดาล

ผมจะยกขึ้นไปเป็นกระทู้ใหม่สั้นๆ เพื่อแยกออกไปจากเรื่องของกระทู้นี้นะครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 18 พ.ค. 12, 19:07
ขอบคุณคะคุณตั้งที่ จะกรุณาตอบ...

น้ำบาดาลเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก ทั้งในกทม. และในต่างจังหวัด

สนใจวิธีการเก็บน้ำไว้ใต้ดินในระดับลึก เรามีน้ำจืดจากฟ้าฝนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
แต่กลับปล่อยให้ไหลลงทะเลเสีย...ทั้งที่ในอนาคตก็พูดกันว่า เราอาจขาดแคลนน้ำจืด
สำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย  น้ำมีค่ายิ่ง ถ้าในอนาคตจีนเขาทำเขื่อนกั้นน้ำ
ที่แม่น้ำโขง...อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคอีสานของเรา รวมทั้งภาคเหนือด้วย

ความรู้เรื่องการเก้บน้ำแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการด้านนี้ในบ้านเรา
แล้วทำไมจึงยังทำให้ทุกพื้นที่ที่ขาดน้ำ หรือแห้งแล้ง ดีขึ้นไม่ได้สักที

ถามมากมาย...ไม่รู้ขยายขี้เท่อหรือเปล่านะคะ  แต่เป็นความสงสัยที่มีมานานแล้วค่ะ




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 12, 19:18
คิดว่าจะจบกระทู้นี้แล้ว  แต่เจอข่าวแผ่นดินไหวในอิตาลี วันนี้   เลยขอนำมาลงเป็นความรู้อีกทีค่ะ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2555 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลีว่า ประชาชนแตกตื่นเผ่นหนีลงมาบนท้องถนน เพราะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เมื่อเช้าวันนี้ ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ศพและบาดเจ็บอีก 2 คน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยของอิตาลี ระบุว่า แผ่นดินไหวรุนแรงวัดได้ 5.9 ริคเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.04 น.เช้าวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับ 09.04 น.เช้าวันเดียวกันนี้ตามเวลาในประเทศไทย สร้างแรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้นในแถบภูมิภาคเอมิเลีย-โรแมกนา และพื้นที่โดยรอบเมืองเวนิซ ทางตอนเหนือของประเทศ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 10 กม.และห่างจากเมืองโบโลญญ่าขึ้นไปทางเหนือ 10 กม. การสั่นสะเทือนกินเวลาอยู่นานราว 20 วินาที แล้วยังมีอาฟเตอร์ช็อกหรือแรงสั่นสะเทือนตามหลังมาอีกหลายครั้ง ก่อนหน้านี้ มีแผ่นดินไหวรุนแรงวัดได้ 4.1 ริคเตอร์ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในเขตภูมิภาคลอมบาร์ดี้ ซึ่งอยู่โดยรอบเมืองมิลาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอิตาลี




กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 12, 19:25
เห็นเรื่องบอกเล่าจากคุณเทาชมพู ตั้งเมื่อวานนี้ แต่ขอไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม

สรุปได้ดังนี้ครับ
แผ่นดินไหวในอิตาลีมีเกิดขึ้นเป็นปรกติและค่อนข้างจะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเทือกเขาตลอดทั้งเทือกเขาที่เป็นสันกลางของประเทศ รวมทั้งในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศที่ติดกับเทือกเขา Alps   ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (น้อยกว่า 4 ริกเตอร์) มีน้อยครั้งที่เป็นขนาดใหญ่  ครั้งที่เกิดล่าสุดนี้ถือว่าได้ว่าเป็นขนาดใหญ่ ทำให้มีคนเสียชีวิตและอาคารบ้านเรือนพังทลาย

ในทางธรณีวิทยานั้น เทือกเขา Alps เกิดจากแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น (แผ่นอัฟริกาและแผ่นยุโรป) เคลื่อนที่เข้าชนกัน แต่เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกทั้งสองแผ่นนี้เป็นผืนแผ่นดินทั้งคู่ ซึ่งหมายถึงมีความหนาแน่นของวัตถุพอๆกัน จึงไม่เกิดสภาพแผ่นใดแผ่นหนึ่งมุดลงและอีกแผ่นหนึ่งเกยขึ้น จึงทำให้ชนกันจนโก่งเป็นภูเขา (เป็นลักษณะของ collision มิใช่ในลักษณะ subduction เหมือนรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก) แรงที่ดันในทั้งสองแผ่นชนกันนี้เกิดต่อเนื่องมามากกว่า 60 สิบล้านปีแล้วและยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อด่านหน้าชนกันจนยกตัวสูงขึ้น ระลอกที่ตามมาก็พยายามจะสุมอัดต่อไป จนเกิดการอัดในแนวใหม่ คือการยกตัวสูงขึ้นเป็นทิวเขาที่กั้นระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสและทิวเขาที่เป็นแกนกลางของประเทศอิตาลี ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับการตัดกล้วยหอมแบบเฉลียงๆแล้วดันมันเข้าไปรวมกัน รอยเลื่อนตามลักษณะที่ตัดนี้เป็นรอยเลื่อนชนิดที่เรียกว่า Thrust fault ซึงแผ่นดินไหวที่เิกิดร่วมด้วยตามปรกติจะมีขนาดไม่ใหญ่ และมักจะอยู่ตื้น (ในระดับ 10+ กิโลเมตร)

อิตาลีอยู่ในพื้นที่ของทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean sea) คำว่า medi (um) คือกลาง และคำว่า terra หรือ terrain คือแผ่นดิน  เอาคำสองคำนี้มารวมกันหมายความถึงทะเลที่อยู่ระหว่างแผ่นดิน ซึ่งทะเลนี้ก็เกิดมาจากการที่แผ่นดินสองแผ่นดินบีบแคบเข้ามานั่นเอง

ภาพที่คุณเทาชมพูได้นำมาแสดงนั้น จะสังเกตเห็นว่า รอยแตกที่ผนังอาคารเป็นแนวรอยในลักษณะไขว้เหมือนตัว X ซึ่งเป็นลักษณะของความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่เกิดในระดับตื้น (ซึ่งจะให้คลื่นแผ่นดินไหวที่มีความถี่สูง__high frequency seismic wave__ดังที่ได้บอกเล่ามาแล้ว) คลื่นเคลื่อนตัวในลักษณะขึ้นลงมาก ความเสียหายต่ออาคารจึงเสมือนหนึ่งเอาฆ้อนทุบแรงๆบนแท่งดินแห้งๆ

ที่น่าสนใจคือ จะเห็นว่าอาคารเก่าๆสมัยโบราณไม่พังหรือได้รับความเสียหายมากนักเมื่อเทียบกับอาคารสมัยใหม่ ทั้งๆที่ไม่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มิฉะนั้นแล้วคงไม่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมากมาย  นี่แหละครับภูมิปัญญาของท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่น  ภูมิปัญญานี้เราก็มี (โดยเฉพาะในภาคเหนือ) ในอินโดนีเซียก็มี ในญี่ปุ่นก็มี ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ค่อยจะได้ให้ความสนใจกันมากนัก

เอาตัวอย่างหนึ่งง่ายๆ เป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวเลยนะครับ   ใบขี้เหล็ก ทุกท่านก็ทราบว่ามันขม ในปัจจุบันนี้เราใช้วิธีต้มน้ำทิ้งสองสามครั้งเพื่อให้หายขม ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น เอาใบขี้เหล็กสดๆมาต้มกับมะเขือพวงสักสิบยี่สิบลูก ครั้งเดียวใบขี้เหล็กนั้นก็หายขมแล้ว แถมจะออกหวานมันอีกด้วย เอามากินกับน้ำพริกอ่องก็อร่อยแฮไปเท่านั้น 

ก็คงจะมีเรื่องของแผ่นดินไหวมาเป็นระยะๆ เอาเป็นว่ากระทู้นี้ยังไม่ได้ปล่อยหรือลากม่านมาจนปิดสนิทนะครับ   

 


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 12, 20:31
ดิฉันจะไปเสาะหาแผ่นดินไหวมาให้เป็นระยะๆค่ะ   :)


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 12, 18:08
ได้ภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่อิตาลี มาเพิ่มเติม
น่าหวาดเสียวมาก   ซากตึกราวกับถูกทิ้งระเบิดมากกว่าแผ่นดินไหว


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 12, 18:09
 :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 12, 18:10
 :o


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 12, 20:03
ตามภาพที่คุณเทาชมพูได้กรุณานำมาแสดงนั้น  ดูคล้ายกับจะเป็นสิ่งก่สร้างเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อได้ค้นหาข้อมูลในเชิงรายละเอียด ก็ได้พบว่า แท้จริงส่วนมากจะเป็นอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นมาในยุคฟื้นฟูบ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดวัสดุอุปกรณ์อย่างมาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จึงได้มีการเรียกร้องให้รื้อฟื้นและให้เริ่มการออกกฏระเบียบ (building code) ใหม่อย่างจริงจังเสียที ซึ่งเรื่องนี้ได้มีความพยายามดำเนินการมานานแล้ว แต่รัฐให้ความสนใจน้อยมากจนเรื่องไม่เดินมานานแล้ว

ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดไม่ห่างไกลจากเมือง Venice แล้วก็รู้สึกไหวที่เมืองนี้เหมือนกัน
เมืองเวนิสทั้งเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นโคลนหรือสันดอนของปากแม่น้ำ ซึ่งการไหวน่าจะทำให้พื้นดินโคลนคายน้ำออกมา ซึ่งเรียกกันว่า Liquefaction คือทำให้เนื้อดินมีการปรับตัว ความสามารถในการรับน้ำหนักเปลี่ยนไปหรือหมดไป ซึ่งจะเป็นผลทำให้อาคารสิ่งก่อสร้างทรุดตัวลง คล้ายกับสภาพที่เรายืนอยู่บนชายหาดบริเวณแนวที่คลื่นซัดถึง แล้วสั่นแบบขากระทุ้ง ซึ่งจะพบว่าเท้าของเราจะค่อยๆจมลงไปในทราย    การปักไม้ทำโป๊ะดักปลาแถวปากอ่าวแม่กลอง (สมุทรสงคราม) หรือสร้างขนำในอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) ฯลฯ ก็ใช้วิธีค่อยๆโยกเสาไปมานี้เอง ทำให้ไม้เสาค่อยๆฝังลึกลงไปในดินโคลนหรือทราย

ยังไม่เห็นว่ามีรายงานอาคารและสิ่งก่อสร้างเก่าในเวนิสเสียหาย  ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งก็คือ เมืองเวนิสทั้งเมืองตั้งอยู่บนเสาไม้ซุงที่ตอกลงไปในดินโคลนจนแทบจะไม่มีช่องว่าง และอาคารสิ่งก่อสร้างทั้งหลายก็ไม่สูง (น้ำหนักไม่มาก)
 
อนึ่ง สำหรับกรณีน้ำเอ่อท่วมเมืองเวนิสในเป็นประจำในระยะหลังๆนี้ เกิดมาจากหลายสาเหตุมาก คงจะไม่กล่าวถึงครับ


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 พ.ค. 12, 10:40
เมืองเวนิสมีสิทธิ์จะจมน้ำในอนาคตอันใกล้ไหมคะ ถ้าเเช่นนั้นก็น่าเสียดายมาก



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 12, 10:48
เวนิสเป็นเกาะครับ

น้ำที่ท่วมไม่ใช่น้ำเหนือหลาก แต่เป็นฤดูที่น้ำทะเลหนุนสูง ไม่ใช่ทุกวี่ทุกวัน และตลอดเวลา

ที่ท่วมก็ช่วงน้ำขึ้น เหมือนแถวท่าพระจันทร์ตอนนี้ พอน้ำลงก็แห้ง

ไปทำพนังถาวรกั้น คงไม่มีพื้นที่จะทำได้ หรือทำได้ก็จะเสียเสน่ห์ของเมืองไป
จะหากินกับนักท่องเที่ยวก็ต้องทนไป คนที่ทนไม่ได้ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น

เขามีโครงการชื่อ MOSE Project  (http://en.wikipedia.org/wiki/MOSE_Project) สร้างทำนบยักษ์ เพื่อกั้น Venetian Lagoon จาก Adriatic Sea

ลากูนมีทางออกทะเล ๓ ทาง ทำนบจะสร้างที่ ๓ จุดนี้


(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/ee/Venedig-lagune.png/603px-Venedig-lagune.png)

ลักษณะของทำนบจะอยู่ใต้ทะเล และจะยกตัวขึ้นเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

(http://4.bp.blogspot.com/-OZLCs7Wg5GA/Tcad1XUsZDI/AAAAAAAAABM/4M_4GwiJC3M/s1600/Venice-Dams-web_1154740c.jpg)

http://www.youtube.com/watch?v=zUad2AyxhbA

 ;D


กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 12, 20:46
ถูกต้องแล้วครับ เวนิสเป็นเกาะหรือเป็นที่ดอนอยู่ในลากูน (lagoon) ซึ่งลากูนของเวนิสนี้เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำทะเลยกระดับสูงขึ้นเมื่อพ้นยุดน้ำแข็ง (หลายพันปีที่ผ่านมา) น้ำทะเลจึงเข้ามาท่วมพื้นที่ๆมีสภาพเป็นอ่าวแต่เดิม (bay shoreline) หรืออีกนัยหนึ่งคือน้ำทะเลยกระดับสูงขึ้นเข้ามาท่วมในพื้นที่ที่เป็นบริเวณพื้นที่น้ำกร่อย (Estuary)  ซึ่งด้วยสภาพเช่นนี้ ในลากูนนี้ก็น่าจะสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา แต่ในระยะหลังๆ (5-6 ปีที่ผ่านมา) เหลือน้อยและเกือบจะโตไม่ทัน สปาเกตตี้หอยลาย ได้เห็นหอยลายตัวขนาดย่อมกว่านิ้วหัวแม่มือเสียอีก



กระทู้: แผ่นดินไหวและซึนามิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 12, 13:10
อิตาลีแผ่นดินไหวอีกแล้วค่ะ  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม  ทางตอนเหนือ  แถวๆที่เดิม 
ขนาด 5.9 ริกเตอร์   มีคนเสียชีวิต 15 คน

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=R0FyWARMnvU#!