เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 26 เม.ย. 08, 08:29



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 26 เม.ย. 08, 08:29
รถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

             วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.  ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน  โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี กลับจากการแปรพระราชฐาน ณ เกาะสีชัง ทอดเรือเพื่อทรงสักการบูชา องค์พระสมุทรเจดีย์ แล้วเสด็จทางเรือกรรเชียง เพื่อทรงประกอบพิธีเปิด บริการรถไฟสายปากน้ำ

“……..เรามีความหวังใจว่า ท่านทั้งปวงคง จะมีความยินดีเหมือนตัวเรา ในการที่ได้เห็นรถไฟปากน้ำ ตั้งขึ้นในครั้งนี้ เราขอให้ท่านทั้งปวง ดื่มเพื่อความเจริญ การค้าขาย และความตั้งมั่นของบริษัทรถไฟแห่งนี้………….”
 
   เมื่อทรงเจิมที่หัวจักรรถไฟ แล้วเสด็จขึ้นประทับบนขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ 

 “……พอเวลา ๕ โมงเช้า นายกล เปิดหวูดใช้รถจักร แล่นรถไฟจูงรถพระที่นั่ง ขึ้นมาตามทางรางเหล็ก จากสะเตชั่นปากน้ำ ถึงสะเตชั่นที่พักหัวลำโพง เวลาเช้า ๕ โมง ๔๕ นิมิต…”
 
นายกล ผู้ควบคุมขบวนรถไฟครั้งนั้น คือ นายกอร์ชเช ที เอ
รถจักร หัวรถจักรพลังไอน้ำ นำเข้าจากประเทศเยอรมัน


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 26 เม.ย. 08, 08:38
             กว่าสิบปี ผมได้พยายามค้นคว้าเกี่ยวกับหัวจักรรถไฟสายปากน้ำดั้งเดิม ที่ผมสงสัยมาตลอดว่า น่าจะยังคงมีซากหลงเหลืออยู่ หัวรถจักรไอน้ำเหล่านี้ ก็คือ ชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟสายแรกของประเทศไทย ที่วิ่งให้บริการระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองสมุทรปราการ บริหารงานโดยบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การค้นหาซากรถไฟเก่า ทำได้ยากขึ้น ด้วยเพราะไม่มีประวัติอยู่ในการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชน เมื่อเลิกกิจการแล้ว ก็ขายทอดตลาดไปเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพื่อเปลี่ยนเป็นรถรางไฟฟ้า

             จากข้อมูลเบื้องต้นนั้น รถไฟสายปากน้ำ มีหัวจักรไอน้ำ ไว้ใช้งานทั้งหมด ๔ หัวจักร ทั้งหมดสร้างโดยบริษัท กร๊อส แอน คอมประนี จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน หัวจักรที่หนึ่ง และสอง เป็นรุ่น 0-4-0Ts (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๕) หัวจักรที่สามเป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๙) และหัวจักรที่สี่ เป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๕๑)

 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 26 เม.ย. 08, 08:42
           จนในที่สุด ก็ได้รับข้อมูลสำคัญจาก มิสเตอร์ริชาร์ต บาร์โรว ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในเมื่อไทย จนทำให้ผมได้ถ่ายภาพหัวจักรโบราณรูปนี้ หัวจักรที่ผมค้นพบนี้ เป็นหัวจักรเครื่องที่ ๔ มีชื่อทางการว่า “สำโรง” (แค่ชื่อ ก็ทำให้เราทราบที่มาแล้วนะครับ) ที่น่าตื่นเต้นก็คือ หัวจักรนี้ยังมีเครื่องยนต์ที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทาสีใหม่จนสวย และคิดว่าน่าจะยังสามารถใช้งานได้

           


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 26 เม.ย. 08, 09:07
            เพื่อความแน่ใจ ด้วยเพราะมีชาวปากน้ำที่ทราบข่าวแล้ว อยากได้หัวจักรหัวนี้กลับมาตั้งที่หน้าสถานีปากน้ำเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชนรุ่นหลัง ผมมีรูปเพิ่ม ๑ รูป ที่ถ่ายได้จากภายในตัวหัวจักรที่ค้นพบ แต่เป็นภาษาที่ผมอ่านไม่ออก เรียนผู้ที่ทราบช่วยแปลให้ด้วยนะครับ เพราะปีที่เห็นนั้น ขัดกับปีที่ผลิต (ผลิตปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หรือ ปี 1908) ส่วนปีที่เห็นตามภาพเป็น 1925 จึงอยากถามความหมายของภาพทั้งหมดครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 28 เม.ย. 08, 12:27
           ๓ ปีที่ผ่านมา เคยติดต่อไปที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษา นอกโรงเรียน เพราะมีผู้พบซากรถไฟ และหัวจักรรถไฟ รถไฟสายปากน้ำ ที่ตั้งอยู่ข้างกองขยะด้านหลังบริเวณศูนย์ฯ จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบอยู่นาน ก็ได้ความว่า ซากหัวจักรรถไฟดังกล่าว เป็นหัวจักรใช้ในกิจการรถไฟกรุงเทพฯ - มหาชัย ไม่ใช่ของรถไฟสายปากน้ำ
           ที่ต้องติงอยู่เล็กน้อย ก็คือ ซากหัวจักรไอน้ำสายมหาชัยนั้น ไม่ได้รับการดูแลได้ดีเท่าที่ควร ทั้งยังกองเป็นซาก อยู่บริเวณที่ทิ้งขยะของท้องฟ้าจำลอง ดังภาพข้างล่าง



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 28 เม.ย. 08, 12:35
อีกภาพ เป็นซากขบวนโบกี้
โบกี้ด้านหลัง เป็นโบกี้ทำด้วยไม้ หลังคาโค้ง ที่เป็นของที่หายากมาก
แต่ตั้งอยู่ในที่ ไม่เหมาะสมเช่นกัน



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 29 เม.ย. 08, 06:58
เข้ามาเป็นกำลังใจในการติดตามค่ะ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 เม.ย. 08, 11:46
   นิราศรถไฟสายปากน้ำ

             ช่วงที่มีการเปิดทำการรถไฟได้เพียง ๘ วัน มีผู้แต่งนิราศรถไฟสายนี้ขึ้น โดยได้ขยายความรายละเอียดการเดินทางตลอดเส้นทาง ผู้แต่งนิราศเป็นพระภิกษุชื่อ แดง จำพรรษาอยู่วัดสระเกศ แต่งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระแดงได้พรรณนาถึงการทำงานของหัวจักรขบวนรถไฟสายปากน้ำ ไว้ตอนหนึ่งว่า
    
   “…แต่ตัวรถกลไฟไม่ใหญ่นัก   มีเครื่องจักรเรี่ยวแรงดูแข็งขัน
อินทเนียเป็นฝรั่งชั่งน้ำมัน      เจ้าแขกนั้นที่รองอีกสองคน
แต่รถพ่วงกลไกวิลัยล้ำ         มีประจำหกหลังฟังนุสนธ์
เจ็ดทั้งรถฟืนน้ำตามยุคล         เขาพ่วงชนติดจรดกับรถไฟ….”

   พอสรุปได้ว่ารถไฟสายปากน้ำนี้ มีขบวนทั้งหมด ๗ หลัง เป็นโบกี้ผู้โดยสาร ๖ โบกี้ ที่เหลือเป็นส่วนหัวจักรไอน้ำที่พ่วงลากอยู่ด้านหน้า ใช้พนักงานที่เป็นฝรั่งซึ่งเป็นวิศวกร ชื่อ นายกอร์ชเช ที เอ และพวกแขกขนฟืนใส่หัวจักรสองคน 

             ค่าโดยสารคิดระยะสถานีละ ๑ เฟื้อง จากสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่ศาลาแดง บ้านกล้วย (กล้วยน้ำไท ในปัจจุบัน) พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บางนางเกรง มหาวงษ์ แล้วก็ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีปากน้ำ 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 เม.ย. 08, 11:59
           สถานีต้นทาง มีชื่อเรียก สถานีหัวลำโพง ถ้าฟังผ่านๆ ก็น่าจะเป็นสถานีใหญ่โค้งที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผมต้องเป๋ไปเป๋มาอยู่นาน หาหลักฐานไม่ได้ เจ้าหน้าที่สถานีก็ยืนยันว่า ไม่เคยมีรถไฟสายปากน้ำอยู่ที่นั่น สุดท้ายเมื่อมองไปที่ป้ายจริงๆ ชื่อสถานีที่เราเรียกว่าหัวลำโพงในปัจจุบัน กลับใช้ชื่อว่า "สถานีรถไฟกรุงเทพฯ"

           สถานีหัวลำโพงแท้จริง ที่เป็นต้นทางรถไฟสายปากน้ำนั้น อยู่ฝั่งตรงกันข้าม เป็นสถานีเอกชน ที่ตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง ข้างถนนที่ชื่อ ถนนตรง ปัจจุบัน ทั้งตัวสถานี และคลองหัวลำโพง ถูกถมเพื่อขยายถนนตรงให้กว้างขึ้น เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระราม ๔



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 เม.ย. 08, 12:14
           จากสถานีหัวลำโพง หัวจักรต้องลากผ่าน ๑๐ สถานี เลียบถนนตรง เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไปออกบางนา ปัจจุบัน เรียก ถนนทางรถไฟสายเก่า จากบางนาเข้าสำโรง เรียกถนนรถรางสายปากน้ำ เข้าถนนสุขุมวิท เข้าตลาดเมืองสมุทรปราการ ในนิราศของพระแดง เขียนไว้ว่า

“…ถึงโรงใหญ่สังกะสีเป็นที่พัก                ฝ่ายรถจักรจอดพลันนึกหรรษา
หยุดตรงป้อมหน้าเมืองเรืองศักดา      ที่พลับพลาริมน้ำหมดความทาง…”

ป้อมหน้าเมือง   คือ  ป้อมประโคนชัย ป้อมที่ปากน้ำ
หน้าเมือง         คือ  หน้าศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ
พลับพลาริมน้ำ  คือ  พลับพลารับเสด็จ ยามเสด็จรถไฟสายปากน้ำ

ภาพ ครั้งเมื่อเปลี่ยนจากหัวจักรไอน้ำ กลายเป็นรถไฟฟ้าแล้ว






กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 เม.ย. 08, 13:20
เป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว ที่เรามีรถไฟฟ้าวิ่งมาถึงปากน้ำ แต่มีการหยุดกิจการเมื่อห้าสิบปีก่อน

คนปากน้ำ ที่กำลังเฝ้ารอรถไฟฟ้า ค่อยๆขยับที่ละคืบทีละซอย
จนมาสุดอยู่หน้าซอยแบริ่ง (สุขุมวิท 107) จะมาถึงปากน้ำอีกที
เมื่อไหร่ก็ไม่กล้าคำนวน (การเมืองมันยุ่งเหลือเกิน)




กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 เม.ย. 08, 23:02
ผมลืมขอบคุณ คุณ pakun2k1d ที่เป็นกำลังใจให้นะครับ


ชีวิตการใช้งานในช่วงร้อยปี             

           การก่อสร้างทางรถไฟสายปากน้ำ ในช่วงแรกนั้นเกิดปัญหาทั้งทางการเงิน และการเวนคืนที่ดิน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (ร.ศ. ๑๑๒) รุนแรงขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงเร่งรัด และทรงช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า จะต้องตระเตรียมรถไฟไว้สำหรับการขนส่งกำลังพล และยุทธปัจจัย ไปตั้งมั่นที่ปากน้ำเจ้าพระยา

              และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ท่าน ทรงคาดการณ์ไว้ หลังจากที่มีการเปิดบริการรถไฟสายปากน้ำได้ ๓ เดือน ฝรั่งเศสก็ส่งเรือรบบุกเข้ามา จนเกิดการสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา (๑๓ ก.ค. ๒๔๓๖) การรบที่ปากน้ำเป็นไปอย่างดุเดือด จนเมื่อเรือรบฝรั่งเศสเลยเข้ามาถึงหน้าเมืองสมุทรปราการ ก็เกิดการยิงต่อสู่กัน ระหว่างป้อมผีสื้อสมุทรซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีปากน้ำ กับเรือรบฝรั่งเศส ปรากฏว่าหัวจักรรถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้น ถูกลูกหลง จากปืนไม่ทราบว่าของฝ่ายไทยหรือฝ่ายฝรั่งเศส มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และมีแม่เฒ่าหัวใจวาย เสียชีวิตไปอีกหนึ่งราย
               
               บริษัทรถไฟปากน้ำ ได้รับสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ เป็นเวลา ๕๐ ปี โดยสิ้นสุดการดำเนินการในปี ๒๔๗๙ ช่วงระยะเวลา ๕๐ ปี มีรายงานการล้ม (ตกราง) เท่าที่มีหลักฐานจากหนังสือจดหมายเหตุอย่างต่ำ ๓ ครั้ง 

             




 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 เม.ย. 08, 23:15
             จากหนังสือ “The Railways of Thailand” เขียนโดย R. Ramer จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus ผู้เขียน (R. Ramer) เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยในช่วงปี ๒๕๐๐ ให้ข้อมูลเรื่องหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ ไว้ว่า หัวจักรรถไฟปากน้ำนั้น มีทั้งหมด ๔ เครื่อง แต่ทราบเพียงว่าหัวจักรเครื่องที่ ๓ ชื่อ บางจาก ส่วนหัวจักรเครื่องที่ ๔ ชื่อ สำโรง

                ที่สามารถติดตามได้ ก็เห็นจะเป็นเจ้า "สำโรง" ครับ เพราะจากข้อมูลคุณ Ramer มีอยู่ว่า

                หลังจากการหมดสัญญา บริษัทรถไฟปากน้ำได้ขายหัวจักรไอน้ำ "สำโรง" ให้กับ บริษัทฮิปเส็ง (Heip Seng) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเลื่อย ไว้ขนส่งไม้จากภาคเหนือ  หัวจักร "สำโรง" ถูกใช่งานอย่างหนัก จากที่เคยขนส่งผู้โดยสารวันละ ๖ เที่ยว ต้องมาขนส่งท่อนซุง และไม้ต่างๆ จากภาคเหนือตลอดทั้งวันทั้งคืน จนหมดป่า จนกิจการลากซุง และขนซุงถูกยกเลิกไป สำโรงจึงถูกโละขายต่อไปให้กับโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ (น้ำตาล ........ ตอนนี้กำลังขึ้นราคา) สำโรงถูกใช้งานอย่างหนักอีกครั้ง คราวนี้สำโรงถูกโรงงานน้ำตาล ใช้นำไปลากอ้อย ซึ่งแต่ละโบกี้ มีอ้อยเรียงกันสูง และหนัก กว่าพวกรถสิบล้อขนอ้อย ในปัจจุบันอีกครับ

                สำโรง ถูกนำไปทำงานในโรงงานน้ำตาลอยู่เกือบ ๓๐ ปี จนได้รับการปลดระวาง
 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 เม.ย. 08, 23:32
           จากข้อมูลในหนังเล่มเดียวกัน แจ้งว่า ปัจจุบัน หัวจักรสำโรง ตั้งอยู่ภายในโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ คิดกันอยู่นาน จนต้องตัดสินใจขับรถตรงจากปากน้ำ สมุทรปราการ มุ่งสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เวลาการเดินทาง ๗ ชั่งโมง เพียงเพื่อให้ได้เห็นหัวจักรรถไฟสายปากน้ำเครื่องนี้

              ถึงตัวจังหวัด ค้างแรม ๑ คืน ก่อนที่จะขับรถต่อเข้าไปตามเส้นทางตำบลวังกะพี้ ทั้งที่ไม่ทราบข้อมูล และไม่รู้จักโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ด้วยซ้ำ คิดเพียงว่าจะขับไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นโชคดี ที่ไม่ได้มาผิดเส้นทาง ค่อยๆ มองเห็นรถบรรทุกอ้อยตลอดเส้นทาง จนกระทั่งมองเห็นปล่องควันสูงโผล่ขึ้นจากโรงงาน ขับรถเข้าไปให้ใกล้ขึ้น จนเห็นหัวจักรรถไฟตั้งอยู่ภายในรั้วโรงงาน ดีใจมากครับ และดีใจมากขึ้นไปอีก ที่เห็นสำโรงยังคงสภาพดี

              จากนั้นก็พยายามที่จะขออนุญาตเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ แต่ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้ขอให้เข้าไปขออนุญาตกับผู้จัดการโรงงานเสียก่อน พยายามขอร้องหลายครั้ง แต่ทางผู้จัดการโรงงานก็ไม่เข้าใจ และตั้งข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา จนต้องเล่าประวัติความเป็นมาของรถไฟสายปากน้ำ และความสำคัญในการเป็น ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพได้ ที่น่าแปลกใจ ก็คือ พนักงานในโรงงาน ให้ความสนใจกับข้อมูลที่ให้เป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครทราบที่มาของหัวจักรรถไฟเก่าแก่ หัวจักรไอน้ำที่เคยวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ระหว่างกรุงเทพฯ ไปเมืองปากน้ำ เมื่อกว่าร้อยที่ผ่านมา ที่ตั้งอยู่หน้าโรงงานน้ำตาลของตัวเองเลย


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 01 พ.ค. 08, 03:55
อย่างนี้ต้องทำเป็นสารคดีค่ะ  รอตอนต่อไปอย่างใจจดใจจอนะคะ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 07:14
สวัสดีค่ะ   :-[  ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นในกระทู้ด้วยคนนะคะ


อ้างถึงความคิดเห็นด้านล่างนี้

อ้างถึง
จากข้อมูลเบื้องต้นนั้น รถไฟสายปากน้ำ มีหัวจักรไอน้ำ ไว้ใช้งานทั้งหมด ๔ หัวจักร ทั้งหมดสร้างโดยบริษัท กร๊อส แอน คอมประนี จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน หัวจักรที่หนึ่ง และสอง เป็นรุ่น 0-4-0Ts (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๕) หัวจักรที่สามเป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๙) และหัวจักรที่สี่ เป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๕๑)

และ

อ้างถึง
จนในที่สุด ก็ได้รับข้อมูลสำคัญจาก มิสเตอร์ริชาร์ต บาร์โรว ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในเมื่อไทย จนทำให้ผมได้ถ่ายภาพหัวจักรโบราณรูปนี้ หัวจักรที่ผมค้นพบนี้ เป็นหัวจักรเครื่องที่ ๔ มีชื่อทางการว่า “สำโรง” (แค่ชื่อ ก็ทำให้เราทราบที่มาแล้วนะครับ) ที่น่าตื่นเต้นก็คือ หัวจักรนี้ยังมีเครื่องยนต์ที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทาสีใหม่จนสวย และคิดว่าน่าจะยังสามารถใช้งานได้



- ถ้าข้อมูลแรกถูกต้อง แสดงว่าภาพหัวรถจักรในความเห็นที่ 2 นี้ไม่น่าจะใช่ "หัวรถจักรคันที่ 4" ค่ะ เพราะจากภาพความเห็นที่ 2 เป็นรุ่น 0-6-0T

- ตัวเลข 0-6-0 นี้ คือ wheel arrangement เป็นการอธิบายระบบ power wheel ของหัวรถในระบบของอเมริกา และอังกฤษ  ส่วนยุโรปจะใช้อีกระบบหนึ่ง แม้ว่าหัวรถจักรนี้จะผลิตในเยอรมนี แต่เพื่ออธิบายระบบให้เป็นที่เข้าใจแก่ลูกค้าในประเทศอื่น จึงใช้เลขนี้แทนระบบของเยอรมัน ตัวอย่างเช่น ระบบอเมริกัน 0-6-0  ในระบบเยอรมัน จะเป็น 1B ค่ะ

- รูปในความเห็นที่ 1 นั้น เป็น 0-4-0T  คือ มี power wheel 4 ล้อ

- ส่วน T ที่อยู่ท้ายตัวเลข wheel arrangement หมายถึง "Tank engine" คือ อธิบายว่าเป็นหัวรถจักรที่มีแท็งค์เก็บถ่านหินและน้ำสำหรับหัวรถจักร แทนที่จะเป็น tender (ตู้พ่วงต่อจากหัวรถจักรสำหรับบรรทุกถ่านหิน)


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 07:22
ถ้าเป็นรุ่น 2-4-0 จะมีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

(http://junghoo.com.www.readyplanet.net/images/1094997244/doop%20e.jpg)


จะเห็นว่ามีล้อคู่หน้า(ซึ่งเป็น non-power wheel สังเกตุได้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าล้อขับเคลื่อน และไม่ได้เชื่อมต่อกับ power wheel 2 คู่ทางด้านหลัง) ซึ่งต่างจากภาพในความเห็นที่ 2  ที่มีล้อ 3 คู่เชื่อมต่อกันด้วย coupler เป็น 0-6-0  และหัวรถจักรในภาพนี้มีทั้ง Tank และตู้พ่วงท้ายหัวรถจักร (tender) สำหรับบรรทุกถ่านหินและน้ำ  :-[



นำภาพมาจากเว็บ  http://www.junghoo.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=20276&Ntype=2  ค่ะ  มีคำอธิบายประกอบไว้ด้วยว่า

"หัวรถจักรไอน้ำ ดู๊บส์

หัวรถจักรไอน้ำ ดู๊บส์ วางแบบล้อ 2-4-0 เป็นหัวรถจักรที่ใช้ลากจูงขบวนรถไฟพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จพระราชดำเนินในวัน "ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง" จากกรุงเทพ ถึง อยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 และในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 รถจักรไอน้ำ ดู๊บส์ ได้ลากจูงขบวนรถไฟให้ประชาชนได้โดยสารเป็นครั้งแรก"


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 07:42
สำหรับคำถามเกี่ยวกับภาพนี้
 
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2641.0;attach=2733;image)

เป็นภาษาเยอรมันค่ะ

- ORENSTEIN & KOPPEL A.G. เป็น ชื่อบริษัท
- Berlin-Drewitz คาดว่าหมายถึงเมืองที่ผลิตหัวรถจักร เพราะ Drewitz เป็นชื่อเมืองในเยอรมนีที่อยู่ใกล้ๆ Berlin และมีโรงงานของบริษัท Orenstein & Koppel A.G. ตั้งอยู่ ปัจจุบันบริษัท Orenstein & Koppel A.G. ถูกซื้อโดยหลายๆ บริษัท แต่บริษัท CNH ยังคงใช้ "O & K" เป็นยี่ห้อสำหรับเครื่องจักรก่อสร้างอยู่ค่ะ
- Fabrik Nr. คือ Factory Number เป็น serial number ของรถจักรจากโรงงาน  "12607"
- Baujahr คือ Production year ปีที่ผลิต "1935"
- Höchste Dampfspannung คือ Maximum steam pressure ได้แก่ 12 kg/cm2 pressure (Überdruck)


ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตุสักนิดนะคะ   :-[
1. ถ้าข้อมูลเกี่ยวกับหัวรถจักรคันที่ 4 ถูกต้อง  หัวรถจักรสำโรง อาจจะไม่ใช่หัวรถจักรคันที่ 4  จึงทำให้ปีที่ผลิตไม่ตรงกันกับข้อมูลแรก (1908 และ 1935) หรือ
2. อาจจะเป็นไปได้ว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนในส่วนของระบบล้อและปีการผลิต  หรือ
3. ถ้าหัวรถจักรสำโรงคันนี้ เป็นคันที่ 4 ถูกต้อง แต่ข้อมูลเกี่ยวกับระบบล้อขับเคลื่อนคลาดเคลื่อนไป  อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนเฉพาะตัว Tank ใหม่ จึงมีเลขปีใหม่กว่าตัวรถ

หวังว่าคำตอบและข้อมูลจะพอเป็นประโยชน์ในการตามรอยหัวรถจักรสายปากน้ำได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ  เป็นกำลังใจให้ค่ะ :D


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 พ.ค. 08, 09:51
เคยได้ชมพระราชหัตถ์เลขาในรัชกาลที่ 5 สั่งให้จัดรถไฟพิเศษให้กรมกลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี
เข้าใจว่าจะเป็นรถไฟสายนี้นั่นเอง เป็นพระราชหัตถ์จริง (ปกติจะเป็นลายมือเจ้าหน้าที่)

เดาว่า พอรถไฟนี้เดินกิจการแล้ว ชาวกรุงคงจะตื่นเต้นเป็นอันมาก ไม่เว้นแม้แต่ข้างใน
พระองค์ทรงทราบก็ใคร่จะสนองพระคุณ เพราะกรมหลวงวรเสรฐ พระราชธิดาองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 3 พระองค์นี้
เป็นผู้เลี้ยงพระองค์มาตั้งแต่ทรงกำพร้าพระราชมารดา และได้ไปอยู่ที่ตำหนักของพระองค์เจ้าหญิงละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
จึงทรงเคารพดั่งพระราชมารดา รวมไปถึงพระองค์เจ้าหญิงบุตรีด้วย

หากใช้จินตนาการ การเดินรถไฟในปีแรกๆ เห็นจะเป็นของน่าตื่นเต้น
ข้อนี้ผมนึกถึงตัวเองในอีกหกสิบกว่าปีต่อมา ที่ได้นั่งรถไฟครั้งแรกว่า ยังกะขึ้นสวรรค์
อะไรๆ ก็แปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ
ชอบไปหมด แม้กระทั่งพนักงานหนีบตั่วเสียงดังเป๊าะแป๊ะ เราก็คิดว่าเท่จริงๆ
เวลารถเข้าสถานนี มองออกไปเหมือนอยู่ในฉากหนัง เห็นคนตัวเล็กๆ เคลื่อนเข้ามา
....และข้าวผัดรถไฟนี่ ทำไมอร่อยกว่าปกติก็ไม่รู้

คิดว่าทางรถไฟนี้ เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ด้วย
ปากน้ำในครั้งนั้น เป็นด่านรับศึกด่านแรก ดังกรณี ร.ศ. 112
โทรเลขสายแรกก็วิ่งมาที่นี่

ขอยกย่องที่ค้นคว้าอย่างไม่ท้อถอยครับ หวังว่าหัวรถจักรจะได้กลับสู่ที่ๆ ควรอยู่อย่างน่าภาคภูมิใจ
เห็นรูปที่ท้องฟ้าจำลองแล้ว
รู้สึกว่าโบราณท่านคิดคำว่าไก่ได้พลอย นี่เหมาะสมจริงๆ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 12:34
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ bluesky และคุณ pipat มากครับ

ผมได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณริชาร์ด บาร์โรว ผู้ให้ข้อมูลมาแต่แรก ได้ความว่า
มีการเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์ใหม่ เป็นเครื่องยนต์ที่ผลิตในปี 1935 ส่วนตัวโครง หัวรถจักรตามภาพในความเห็นที่ ๒ ยังคงเป็น "สำโรง" ของเดิมครับ

สังเกตุจากปีที่ผลิตของเครื่องยนต์ใหม่ อยู่ในช่วงที่มีการขายทอดตลาดของบริษัทรถไฟปากน้ำพอดี คือปี พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙ ผมจึงมีคำถาม เรียนคุณ bluesky อีกครั้งนะครับว่า
 
"หากมีการเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์ เป็นไปได้มั้ยครับ ที่จะต้องเปลี่ยนระบบการวางแบบล้อด้วย"
 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 13:02
ข้อเพิ่มข้อมูล
 
ที่โรงงานน้ำตาลเดียวกันนี้ ยังมีหัวรถจักรไอน้ำโบราณอีก ๑ เครื่องครับ
ซึ่งเราลงความเห็นกันว่า ไม่ใช่ของรถไฟสายปากน้ำ
แต่อาจมีผู้ค้นคว้าหัวจักรรถไฟสายอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ ขอลงรูปด้วยนะครับ

ถ่ายภาพโดยคุณ ริชาร์ด บาร์โรว

 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 พ.ค. 08, 17:44
ในรุ่นราวคราวเดียวกันนั้นมีรถไฟสายบางบัวทองของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์อีกสายหนึ่งครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 พ.ค. 08, 18:14
ขอพูดนอกเรื่องรถไฟสายปากน้ำไปสักหน่อยนะครับ
ตั้งแต่ที่อังกฤษกลับเข้ามาตีสนิทกับราชสำนักไทย หลังจากหายไปในสมัยพระนารายณ์
สิ่งหนึ่งที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งความโลภของคนเหล่านี้ ก็คือผลประโยชน์ชนิดที่อยู่เหนือกาลเวลา
เป็นต้นว่ายึดเป็นเมืองขึ้น
มาจนถึงระบบสัมปทานชนิดเช่ามันทีละร้อยปี

ที่ผนังหลังพระประธานวัดบรมนิวาส มีจิตรกรรมเขียนถึง"เมืองแก้ว" ตอนหนึ่ง เป็นรูปรถไฟ
คงจำได้ว่าหม่อมราโชทัยท่านพรรณาเรื่องนี้ไว้น่าตื่นเต้นอย่างไร
และเมื่อคิดย้อนกลับขึ้นไป เครื่องราชบรรณาการที่นายปาร์คเชิญเข้ามาในปี 2398 นั้น
ทำไมจึงมีรถไฟจำลองเข้ามาด้วย

ผมขอตีความว่า นี่ล่ะครับยอดนักขาย
อังกฤษเอาการฑูตบวกสินค้า จะล่อหลอกให้พระจอมเกล้าซื้อรถไฟ
พระจอมเกล้าก็ทรงรู้ทัน เพราะตลอดรัชกาล แม้จะมีการกระตุ้นจากหลายฝ่ายอีกหลายครั้ง ก็ทรงนิ่งอยู่
ทั้งๆ ที่เรา....เอ้ย พวกฝรั่งหรือนักวิชาการขี้ข้าฝรั่ง ชอบตู่ว่าทรงเห่อของใหม่ อะไรที่ทำท่าทันสมัยเป็นต้องทรงช๊อปปิ้งเข้ามา
ชะช้า....หาเป็นเช่นนั่นไม่

ไม่ทรงสนพระทัยเรื่องรถไฟเลย ทรงอ้างว่าแพง
ผมเพิ่งมานึกออกเมื่อมีคนเล่าเรื่องทางรถไฟสายแรกของสยาม ซึ่งกว่าจะเริ่มลงมือก็นานโขอยู่
คือย่างเข้า 2429 ปีที่ 18 ของรัชกาลทีเดียว ทั้งๆ ที่เราได้รับการยั่วยวนมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนนู้น
และ เจ้าที่ได้สัมปทาน มิยักจะใช่อังกฤษ เจ้าของความคิด(อุบาทว์) ที่เทียวไล้เทียวขื่อ เกี้ยวสยามให้วางรางเสียที

เราไม่สามารถผลีผลามเอาของอย่างนี้เข้าประเทศได้เป็นอันขาด ยิ่งมาในรูปสัมปทานละก้อ ชักศึกเข้าบ้านแท้ๆ
เมื่อทางรถไฟสายปากน้ำประสบความสำเร็จ เส้นทางอื่นที่จำเป็นจริงๆ ก็ตามมา
แต่ไม่ใช่ในรูปสัมปทาน

ตรงนี้ ผมจำได้ว่าเคยอ่านจากนิทานโบราณคดี เรื่องการที่สยามต้องกู้เงินเป็นครั้งแรก
ก็เพื่อหาเงินสร้างทางรถไฟ เพราะจะยอมให้บริษัทข้ามชาติมาถือสิทธิ์ในสองข้างทางรถไฟ
แลกกับได้รถไฟมาฟรีๆ นั้น แท้จริงคือสิ้นชาติ
รถไฟสยามจึงเป็นมากกว่าระบบคมนาคม แต่เป็นหายนะภัยของชาติ ถ้าจัดการไม่ถูกต้อง

เรื่องการกู้เงินต่างชาติครั้งแรกนี้ ยังแสดงให้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง
ที่ทำให้เราไหว้บรรพบุรุษไทยได้อย่างไม่อายฟ้าดิน

น่าปลื้มใจจริงๆ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 18:17
สวัสดีอีกครั้งค่ะ

สำหรับคำถามที่ว่า "หากมีการเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์ เป็นไปได้มั้ยครับ ที่จะต้องเปลี่ยนระบบการวางแบบล้อด้วย"

ขออนุญาตพูดถึงคำว่า engine สำหรับหัวรถจักรไอน้ำสักนิด เราจะเรียกหัวรถจักรทั้งคันว่า engine ในส่วนของที่ว่ามีการเปลี่ยน "เครื่องยนต์" นั้น
คงหมายความถึงการเปลี่ยนตัว boiler  ดูจากตำแหน่งที่ป้าย serial no. ติดอยู่ ส่วนนั้น คือ boiler ค่ะ

(http://www.thai-blogs.com/media/blogs/richpictures/100_9357.jpg)
เครดิตภาพ - จากบล็อกของคุณริชาร์ด บาร์โรว คิดว่าคงเป็นหัวรถจักรคันเดียวกัน (ดูจากภาพหัวรถจักรประกอบ)


สำหรับการเปลี่ยน boiler แล้วเปลี่ยนระบบล้อด้วยนั้น  ตามหลักการก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ว่าไม่ค่อยเป็นที่นิยม อาจจะเพราะความยุ่งยากในการแก้ไขหรือหาอะไหล่ที่เข้ากันได้  ยิ่งต่างบริษัทกันก็อาจจะลำบากมากขึ้น (อันนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ)   ขออนุญาตเปรียบกับรถยนต์ เราสามารถยกเครื่องใหม่ได้แต่ไม่จำเป็นว่าเปลี่ยนเครื่องยนต์แล้ว จะต้องเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนจากสองล้อ เป็นสี่ล้อ  แต่ถ้าต้องการจะเปลี่ยนก็สามารถทำได้  :D




ได้เจอเว็บ  http://www.steam.dial.pipex.com/trains/thaipreserved.htm (http://www.steam.dial.pipex.com/trains/thaipreserved.htm)  มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถจักรไอน้ำของไทย
และมีข้อมูลตรงกับของคุณปากน้ำเจ้าพระยาทั้งส่วนของพื้นที่วังกะพี้ และภาพในความคิดเห็นที่ 20 ค่ะ

- Wang Khapi (near Uttaradit) 1  0-4-2T 1921  Baguley (UK) 2009  ex 8 TIP - 750 mm  (11)
- Wang Khapi (near Uttaradit) 10  2-4-0T** 1908  Krauss (Germany) 5987  TIP - 1000 mm  (12)


คิดว่า  0-4-2T ผลิตโดย Baguley (UK)  น่าจะเป็นหัวรถจักรคันที่อยู่ในความคิดเห็นที่ 20  เพราะดูจากระบบล้อ นั่นคือ 0-4-2
ดังนั้น หัวรถจักร "สำโรง" น่าจะเป็นคันที่มีระบบล้อ 2-4-0T  ซึ่งระบุว่าผลิตโดยบริษัท เคร้าส์ (Krauss) เยอรมนี

** ตามข้อมูลของเว็บนี้ หัวรถจักรนี้ระบุว่ายังเป็นระบบล้อ 2-4-0  ไม่ทราบว่าเขาจะแก้ไขข้อมูลของหัวรถจักรหากมีการ modified หรือไม่
หรือจะยังคงใช้แบบที่มาจากโรงงาน



และในลิงค์เดียวกัน ไล่ลงไปข้างล่าง จะพบข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ด้วยอีกหน่อย คือ

- Sri Racha (factory at Chompon) 6  0-6-0T 1912  Orenstein & Koppel (Germany) 5535  ex SRJ
- Sri Racha (on the waterfront by 2008) 7  0-6-0T 1928  Orenstein & Koppel (Germany) 11789  ex SRJ

แสดงว่ามีหัวรถจักรที่ผลิตโดยบริษัท Orenstein & Koppel  และมีระบบล้อแบบ  0-6-0T



ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตอีกครั้งนะคะว่า จะเป็นไปไหมได้ที่

1. หัวรถจักร "สำโรง" ได้รับการเปลี่ยนตัว boiler และระบบล้อ โดยใช้ชิ้นส่วนอะไหล่จากบริษัท Orenstein & Koppel

2. หากหัวรถจักรคันนี้ ไม่ได้รับการเปลี่ยนระบบล้อ อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นหัวรถจักรแบบ 0-6-0 ที่ผลิตโดย Orenstein & Koppel
จึงใช้ boiler ของ Orenstein & Koppel เอง แทนของเก่า  แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ข้อมูลก็จะขัดแย้งกับข้อมูลเกี่ยวกับหัวรถจักรสำโรง
ซึ่งผลิตโดย Krauss & Co  ???

3. และถ้าหากหัวรถจักรคันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย สภาพเดิมๆ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในหัวรถจักรแบบ  0-6-0T ผลิตโดย Orenstein & Koppel
ในปี 1935  ถ้าหากข้อสันนิษฐานข้อนี้เป็นจริง  แสดงว่าหัวรถจักรสำโรง อาจจะยังคงเป็นแบบ 2-4-0T และอยู่แถวๆ วังกะพี้ หรือที่ใดสักที่หนึ่ง



ต้องขอโทษนะคะ หากข้อมูลและข้อสังเกตุทำให้สับสน  :'(    คุณปากน้ำเจ้าพระยาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานคงมีข้อมูลยืนยันแน่นอนแล้ว
แต่พอดีเห็นล้อและข้อมูลของ boiler แล้วทำให้อดนึกสงสัยไม่ได้น่ะค่ะ  จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ขออภัยอีกครั้งค่ะ



อย่างไรก็ตาม ขอเอาใจช่วยในการตามรอยต่อไป และขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับรถไฟสายปากน้ำด้วยนะคะ  :-[


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 21:33
ขอบคุณ คุณ bluesky มากครับ

ที่ผมได้ตั้งเป็นกระทู้ และตั้งคำถามไว้ ก็เพราะข้อมูลที่ตัวเครื่องมันขัดขัดแย้งกันจริงๆ จึงไม่อยากด่วนสรุป 
เราสามารถรอต่อไปได้อีกครับ จนกว่าจะมั่นใจว่า เป็นหัวจักร "สำโรง" ที่แท้

ที่ปากน้ำ เปรียบกับหนังแล้ว ก็น่าจะเป็นประมาณเรื่อง The Lost Town ครับ
ไม่ว่าจะเป็นแนวกำแพงเมือง ป้อมปราการนับสิบป้อม โทรเลข โทรศัพท์ รถไฟ การบที่ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ การค้นหาเมืองนิวอาร์มเตอร์ดัม เมืองนครเขื่อนขันธ์ พระสมุทรเจดีย์ที่ไม่อยู่กลางน้ำ เราไม่เหลือหลักฐานเลยครับ ที่มีอยู่ก็น้อยเหลือเกิน

พวกเรา รวมทั้งฝรั่งแท้ๆ อย่างคุณริชาร์ด บาร์โรว เริ่มต้นจากเดิม ที่ไม่มีข้อมูลใดๆ เลยครับ
สำหรับเรื่องรถไฟปากน้ำ มาถึงตอนนี้โดยส่วนตัวแล้ว จึงคิดว่าใกล้เคียงที่สุด
อีกอย่างที่คุณริชาร์ด ได้ว่าไว้ครับว่า "สำโรง" เป็นแค่จุดเริ่มต้น เรายังมีอีก ๓ หัวจักร ที่ยังต้องค้นหาต่อไป

ยังมีโอกาสอีกหลายเรื่องเกี่ยวปากน้ำ ที่เราอยากจะขอความรู้เพิ่มเติมครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 21:44
พอดีลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เลยได้เห็นภาพหัวรถจักรที่ใหญ่ขึ้นจาก http://i1.tinypic.com/6c620kg.jpg (http://i1.tinypic.com/6c620kg.jpg) ค่ะ


พอเห็นภาพใหญ่ ชักไม่แน่ใจ คันนี้อาจจะเป็นแบบ 2-4-0T ค่ะ เพราะล้อคู่หน้าดูมีขนาดเล็กกว่าสองคู่หลัง และดูเหมือนจะเป็น
non-power wheel   พอดีตอนดูภาพครั้งแรก เห็นขนาดว่าเท่ากันและจากมุมด้านข้างโดยตรงดูเหมือนว่าล้อมัน couple กันน่ะค่ะ  
ต้องขออภัยจริงๆ


และได้เจอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวรถจักรจาก http://www.angkor.com/2bangkok/2bangkok/forum/archive/index.php/t-2022.html (http://www.angkor.com/2bangkok/2bangkok/forum/archive/index.php/t-2022.html)  


โดยคุณ von Hirschhorn

The two steamers are all that remained. The 750 mm locomotive carries Nº 1, a 0-4-2T and build by Baguley in 1921with the works number: 2009. This engine once runs at Ko Kha with the Thai Industry Promotion Co. Ltd. under the number 8 and probably is an ex of the Bang Bua Thong line (Thonburi – Wat Rahaeng) near Bangkok. The other engine is Nº 10, 1000 mm, a 2-4-0T by Krauss – Germany from 1908 with works number: 5987. This is the ex Paknam Railway locomotive Nº 4 ‘Samrong’.  The boiler however, is from O & K 12607 build in 1935 and once belongs to the Ko Kha engine Nº 5.


ก็แสดงว่าเจ้าคันในความคิดเห็นที่ 20 อาจจะเคยประจำการในรถไฟสายบางบัวทอง ดังที่คุณ V_Mee เอ่ยถึงก็ได้นะคะ
ส่วนหัวรถจักร "สำโรง" ก็เปลี่ยนตัว boiler ใหม่ โดยนำ boiler มาจากหัวรถจักรหมายเลข 5 สาย Ko Kha (จะใช่ "เกาะคา" หรือเปล่าหนอ)


ต้องขอโทษคุณปากน้ำเจ้าพระยาและผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วยนะคะ ที่ทำให้งงกันไปหมด  :'(


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 01 พ.ค. 08, 22:00
มัวแต่พิมพ์ตอบไม่ทันได้ดูว่าคุณปากน้ำเจ้าพระยามาตอบแล้ว



เพื่อเป็นการไถ่โทษที่ทำให้งง  ขอแจ้งข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์นะคะ บังเอิญระหว่างหาข้อมูลเกี่ยวกับหัวรถจักร เจอเว็บนี้เข้าค่ะ
http://www.yimsiam.com/club/board/topicRead.asp?wbID=Logistics_fan&id=000103 (http://www.yimsiam.com/club/board/topicRead.asp?wbID=Logistics_fan&id=000103)


ไม่ทราบที่มาที่ไปของข้อมูลว่าจะใช่จากลิงค์ที่ผู้ตั้งกระทู้ให้หรือเปล่า (เพราะปัจจุบันหน้าที่เขาลิงค์ไว้นั้นหายไปแล้ว) แต่ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ

- 1893 / 2436 / 2 / ปากน้ำ /Locomotivetivefabrik Krauss and / Germany  /  0-4-0        paknam Line form 
- 1893 / 2436 / 3 / บางจาก / compactien-Gesellschaft / Germany   /  2-4-0                 Bangkok-new อัมเตอร์ดัม 


หัวรถจักรหมายเลข 2 มีชื่อว่า "ปากน้ำ" ผลิตโดยบริษัท Krauss วางล้อระบบ 0-4-0  และวิ่งสายปากน้ำ(กรุงเทพฯ-นิวอัมส์เตอร์ดัม) ปีประจำการ คือ 2536
และหัวรถจักรหมายเลข 3 ชื่อ "บางจาก" (ตรงกับข้อมูลของคุณปากน้ำเจ้าพระยา) ผลิตโดย Krauss วางล้อแบบ 2-4-0  ใช้ในสายปากน้ำ  ประจำการปี 2536 เช่นกัน


ถ้าหากข้อมูลจากเว็บนี้ถูกต้อง  อย่างน้อยเราก็ได้ทราบชื่อ หัวรถจักร เพิ่มอีกหนึ่งคัน เป็น ปากน้ำ บางจาก และสำโรง นะคะ  แหะๆ  :-[


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 22:17
ผมลองสังเกตุภาพจาก กระทู้ที่ 1
ด้านข้างหัวจักรมีป้ายเขียนไว้ว่า "ปากน้ำ" ตัว ป.ปลา ดูจะเป็นอักษรเก่า เป็นลักษณะ บ.ใบไม้ แล้วหยักขึ้น

แสดงว่ารูปนี้เป็น หัวจักร "ปากน้ำ" นั่นเอง มีหมายเลข 2 อยู่ด้านล่าง น่าจะเป็นหัวจักรที่ 2 นะครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 22:30
ทำให้คิดถึงความเห็นของคุณ pakun2k1d
เหมือนกำลังติดตามหนังสารคดีเลยครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 01 พ.ค. 08, 22:52
มีข้อมูลสนับสนุน ที่ว่ารถไฟสายปากน้ำ เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์         

การทำสัญญาการสร้างรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๙ มีผู้แทนพระองค์ (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ) และ แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช (ช่างทำแผนที่ทะเลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระนิเทศชลธี) กับ แอนดริยาดูเปลลิส เดริชลู (อังเดร เดอ ริเชอลิเออร์ ชาวเดนมาร์ก ต่อมานายอังเดร เดอ รเชอรลิเออร์ ผู้นี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธิน กับตันเรือพระที่นั่งเวสาตรีในสมัยนั้น

โดยฝ่ายสยามมีเหตุผลในการคัดเลือกผู้ถือสัมปทานอย่างระมัดระวัง ด้วย ดังนี้

1. ผู้ถือหุ้นเป็นชาวยุโรปชาติเป็นกลาง ที่ไม่มีนโยบายการขยายเมืองขึ้น จึงไม่ต้องเป็นห่วง หากมีการบุกรุก และอาศัยรถไฟเป็นขบวนขนส่งทหาร
2. เมืองสมุทรปราการอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก หากมีเหตุร้าย ฉุกเฉินทางระบบขนส่งรถไฟใดๆ ก็สามารถเดินทางมาระงับได้ทันท่วงที
3. ตามสัญญาที่ทางฝ่ายสยามได้เปรียบ หากเกิดภัยสงครามใดๆ สามารถใช้รถไฟสายนี้เป็นประโยชน์ในการขนส่งใดๆก็ได้ ตามพระราชอัธยาศัย
4. กอมปานีรถไฟ (บริษัทรถไฟปากน้ำ) จะต้องเก็บโบกี้รับเสด็จพิเศษสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงษานุวงค์ทุกพระองค์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 พ.ค. 08, 23:29
"หัวรถจักรหมายเลข 2 มีชื่อว่า "ปากน้ำ" ผลิตโดยบริษัท Krauss วางล้อระบบ 0-4-0  และวิ่งสายปากน้ำ(กรุงเทพฯ-นิวอัมส์เตอร์ดัม) ปีประจำการ คือ 2536
และหัวรถจักรหมายเลข 3 ชื่อ "บางจาก" (ตรงกับข้อมูลของคุณปากน้ำเจ้าพระยา) ผลิตโดย Krauss วางล้อแบบ 2-4-0  ใช้ในสายปากน้ำ  ประจำการปี 2536 เช่นกัน"

คิดว่า ปีประจำการ 2536 น่าจะเป็น 2436 กระมังครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: bluesky ที่ 02 พ.ค. 08, 02:19
:-X  ขอบคุณคุณ pipat มากค่ะ  เป็นปี 2436ค่ะ  ข้อมูล copy มาจากต้นฉบับก็เป็น 2436 แต่ตอนที่พิมพ์เอง พิมพ์ผิด แหะๆ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 พ.ค. 08, 02:34
ยินดีครับ
ผมน่ะพิมพ์ผิดมากกว่าคุณ bluesky แยะ....แต่โชคดีมีคนตรวจปรู๊ฟประจำตัว...ฮิฮิ

มีความสงสัยมานานแล้ว ถ้าจได้รับคำตอบ อาจถึงทำให้ตายตาหลับ
เรื่องรางรถไฟน่ะครับ
ทำไมต้องเปลี่ยนขนาดรางกันไปมาด้วย
จากเมตรครึ่งในยุคตั้งต้น มาเป็นหนึ่งเมตรในรัชกาลต่อมา
แล้วเดี๋ยวนี้เป็นเท่าไรแล้ว และที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน คือเท่าไรครับ

สำหรับเรื่องบริษัทร่วมทุนระหว่างเจ้านายไทยกับฝรั่งชาติเดนมาร์คนั้น
เป็นนโยบายถ่วงดุลย์ที่ชาญฉลาดยิ่ง
เคยมีนักวิชาการชมนโยบายระหว่างประเทศของสยามในรัชกาลที่ 5 ว่าเป็น
นโยบายเดินสองขา

ต่างกับปัจจุบันที่เดินขาเดียว อีกขาผูกติดกับชาติอื่น....

ฮือๆๆๆ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 03 พ.ค. 08, 18:44
Captain T.A. Gottsche   ผู้ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ

นอกจากหลักฐานที่เป็นวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นหัวจักรเก่าสภาพดี หรือซากหัวจักรรถไฟแล้ว ผมได้พยายามติดตามหาทาญาติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับคุณที เอ ก็อตเช่ (Captain T.A. Gottsche) ผู้ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ

Captain T.A. Gottsche   เป็นนายทหารชาวเดนมาร์ค ที่ได้รับการชักชวนจากพระยาชลยุทธโยธิน (ชาวเดนมาร์ค ชาติเดียวกัน) ให้เข้ามาช่วยในกิจการทหารเรือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ชื่อของ Captain T.A. Gottsche  ปรากฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ตามข้อมูลของกองทัพเรือ

http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b23_war-chaophya_thai.htm
Captain T.A. Gottsche
 
ท่านเป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทร เมื่อครั้งมีการยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศส ในช่วงการรบที่ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ มีทหารบาดเจ็บ ๖ นาย ท่านยังเป็นผู้ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ จูงขบวนเสด็จ ในพิธีเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพเรือ เพื่อมาเป็นพนักงานบริษัทรถไฟสายปากน้ำเต็มตัว ในปี ๒๔๔๒ จนเกษียณจากบริษัทในปี ๒๔๗๕


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 03 พ.ค. 08, 18:55
ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ รับส่งผู้โดยสารชาวปากน้ำเป็นเวลานาน จึงมีความผูกพันกับท้องถิ่นปากน้ำมาก ชาวปากน้ำเรียกท่านว่า คุณก็อตเช่ ท่านซื้อบ้านพักอยู่ในเขตตลาดปากน้ำ ใกล้วัดกลางวรวิหาร มีภรรยาเป็นคนปากน้ำ มีทาญาติด้วยกัน ๒ คน คนโตเป็นชาย อีกคนเป็นหญิง


คุณก็อตเช่ ได้รับความนับถือจากชาวปากน้ำเป็นอย่างมาก ในด้านความมีน้ำใจงาม และชอบช่วยเหลือกิจการส่วนรวม ในงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ คุณก็อตเช่ จะเป็นผู้รับหน้าที่ ติดต่อบริษัทรถไฟปากน้ำ ในการส่งเสริมด้านเงินสนับสนุนเรื่องงานมหรสพต่างๆ

เมื่อวันเกษียณอายุในปี ๒๔๗๕ ชาวปากน้ำได้สร้างสะพานข้ามคลองแห่งหนึ่ง แล้วติดป้ายเป็นชื่อท่านเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษมีใจความว่า  ที เอ ก็อตเช่ ๒๔๒๕ – ๒๔๗๕ อันหมายถึง ๕๐ ปี แห่งการทำงานหนักในสยาม และ ๓๒ ปี แห่งการทำหน้าที่ นายกลควบคุมหัวจักรรถไฟ



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 03 พ.ค. 08, 19:01
ข้อมูลทางด้านหัวจักรรถไฟ ที่น่าจะหาได้อีกทางหนึ่ง จึงน่าจะเป็นทาญาติ ๒ ท่าน ที่เกิดกับคุณก็อตเช่  อย่างไรก็ตาม ในการติดตามทาญาติของคุณก็อตเช่ ในปากน้ำนั้น ค่อนข้างหาข้อมูลได้ยาก ด้วยเพราะบ้านเดิมที่คุณก็อตเช่ สร้างไว้ ปัจจุบัน มีผู้เช่าอยู่ โดยที่ไม่เคยมีเจ้าของบ้านมาเก็บค่าเช่า หรือดูแล มาเป็นเวลานับสิบปี

คนที่เคยเห็นทาญาติคุณก็อตเช่ นั้น จะต้องมีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป ที่ต่างก็บอกว่า ทุกๆเช้าเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ชาวปากน้ำจะรอฝรั่งลูกครึ่งเดนมาร์ค-ไทย ๒ คน ที่เป็นชายก็สูงหล่อ ฝ่ายหญิงก็สวยสง่า เดินผ่านตลาดขึ้นรถไฟไปทำงานในกรุงเทพฯ

คุณก็อตเช่ มีราชทินนามว่า ขุนบริพัตรโภคกิจ    ได้รับพระราชทานนามสกุล ตามชื่อสกุล จากคำว่า ก็อตเช่ มาเป็น คเชศะนันทน์ ทาญาติทั้งสองของคุณก็อตเช่ ที่ผมคิดว่า น่าจะทราบรายละเอียด เรื่องรถไฟสายปากน้ำดี ต่างก็ย้ายออกจากปากน้ำ ไปอยู่ในกรุงเทพฯ หลายสิบปีแล้วครับ มีผู้ที่ทราบชื่อเพียงบุตรสาว ที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า แหม่มชิด ส่วนบุตรชายไม่มีใครทราบชื่อ ทราบจากผู้เช่าบ้านว่ายังมีชึวิตอยู่ทั้งสองท่าน ผมทราบเพียงเท่านี้ครับ 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 03 พ.ค. 08, 20:51
ขออนุญาตคุณปากน้ำเจ้าพระยาแก้ไขการเขียนคำว่า "ทาญาติ" หน่อยนะคะ  ที่ถูกต้อง "ทายาท" ค่ะ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 04 พ.ค. 08, 00:41
ขอบคุณ คุณ pakun2k1d อีกครั้งครับ
(ผมกลับมาอีกทีก็แก้ไม่ทันแล้วครับ เขียนผิดถึง ๖ ครั้ง ขออภัยจริงๆ)

 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 08, 01:56
ดิฉันมีเพื่อนนักเรียนเก่าตั้งแต่ชั้นประถม  ชื่อวิมล คเชศะนันทน์   เพื่อนๆรู้กันมานานแล้วว่ามาจากสกุลเดิมคือก๊อตเช่  เพราะเธอเป็นคนเล่าให้ฟังเอง   
คุณพ่อเธอเป็นฝรั่ง   ไม่แน่ใจว่าเป็นหนุ่มรูปหล่อคนที่คุณเอ่ยถึงหรือเปล่า เพราะบ้านเดิมเธออยู่ในกรุงเทพ  ไม่ได้อยู่ปากน้ำ

วิมลสวยน่ารักแบบฝรั่ง  ผมและดวงตาสีน้ำตาลใส  ได้เป็นดาวมหาวิทยาลัยในวันรับน้องใหม่   เมื่อเข้าเป็นนิสิตรัฐศาสตร์รุ่น ๑๘    อ.พูน เกศจำรัสเคยถ่ายรูปเธอเป็นนางแบบ แต่งชุดนิสิตจุฬา
เธอสมรสกับชาวมาเลย์เซีย  ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าอยู่ในประเทศไทยหรืออยู่บ้านสามี  แต่ถ้ามีโอกาสเจอกัน จะถามให้นะคะ อย่างน้อยก็คงถามได้ว่าเครือญาติอยู่ที่ไหนกันบ้าง


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 04 พ.ค. 08, 08:08
ขอบพระคุณ คุณเทาชมพู มากครับ

เทศบาลนครสมุทรปราการ ที่ทราบการทำงาน ด้านการรื้อค้นสถานที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพวกเรา ได้สอบถามมาหลายครั้ง เรื่องการสืบค้นทายาทของคุณก็อตเช่ เพื่อขออนุญาตนำชื่อสกุล ภาพถ่าย หรืออื่นๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของ อนุสรณ์สถานรถไฟสายปากน้ำ ที่กำลังจะก่อสร้างตรงหน้าสภานีปากน้ำเดิม ด้วยครับ

เดิมทางเทศบาลฯ ต้องการสร้างหัวจักรจำลองให้เหมือนจริงมาตั้ง แต่ผมเป็นคนเดินเข้าไปเสนอให้รอการก่อสร้างไว้ก่อน จนกว่าจะได้หัวจักรรถไฟปากน้ำของแท้มา ปรากฏว่าทางเทศบาลก็เห็นดีด้วย เลยกลายเป็นความกดดันมาที่ผู้เสนอแนะ เพราะรอมาสองปีกว่า จนเปลี่ยนผู้บริหารงานเทศบาลฯแล้ว เรายังหาหัวจักรแท้ไม่ได้สักที ทางร้านค้าที่เดือดร้อนจากการถูกคืนที่ตรงสถานที่นั้น ก็มักจะทำตาเขียวมาที่ผมเวลาเดินผ่านตลาด หาว่าเป็นต้นเหตุให้ต้องย้ายร้าน



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 04 พ.ค. 08, 08:17
บริเวณลานก่อสร้าง อนุสรณ์สถานรถไฟสายปากน้ำ
สถานีปากน้ำเดิม กลายเป็นถนนหน้าทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 08, 09:32
              ขอบคุณ คุณปากน้ำสำหรับเรื่องราว ครับ
 
           รถไฟ หัวรถจักรไอน้ำ ชวนให้นึกถึงวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกที่ประพันธ์โดย Leo Tolstoy
เรื่อง  Anna Karenina (เคยอ่านได้ไม่พ้นบทที่หนึ่งแล้วก็ไม่คืบหน้าอีกเลย ครับ)
         นิยายถ่ายทอดความคิด ความเชื่อของตอลสตอยผ่านหนึ่งในตัวละครหลัก มีฉากเหตุการณ์เกิดที่สถานีรถไฟ
ในตอนต้น และเหตุการณ์สำคัญตอนท้าย โดยผู้ประพันธ์ได้ให้รถไฟมีบทบาทและเป็น motif ของเรื่อง
           ภาพหัวรถจักรจึงปรากฏร่วมกับนักแสดงนำบนโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ ฉบับที่โซฟี มาร์โซ เป็นนางเอก
 
          มีบทความจากปาจารยสาร วิเคราะห์เข้มข้นถึงบทบาทรถไฟ - ผลผลิตของการประดิษฐ์คิดค้นสำคัญ กับความเปลี่ยนแปลง
และผลกระทบที่รถไฟนำไปสู่สองข้างทางรถไฟ* 
       
          สงสัยว่าตอลสตอยจะมองรถไฟคล้ายกับเนื้อหาในบทความนี้บ้าง(หรือไม่) - เครื่องจักรกลของยุคใหม่ที่นำมาและพาไป
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงและความเป็นอยู่เดิม

          อ่านแล้วอาจมีใครถูกใจหรือขัดใจกับบทความนี้อยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็มีข้อมูลเรื่องขนาดของรางรถไฟที่คุณพพ. สงสัย

*คำว่า สองข้างทางรถไฟ พาให้นึกถึงรายการทางทีวีช่องสี่ในอดีต เป็นสารคดีบรรยายโดยคุณพูนลาภ อนะมาน
พาไปเยือนจังหวัดต่างๆ ของบ้านเราตามเส้นทางรถไฟ ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ฉายทางทีวี


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 08, 09:34
ตัดทอนมาบางส่วน ฉบับเต็มอ่านที่นี่ครับ

     http://review.semsikkha.org/content/view/255/150/


       รถไฟกับการรุกคืบทางวัฒนธรรม  เขียนโดย โมน สวัสดิ์ศรี     
 
        แม้พาหนะที่เรียกว่า ‘รถไฟ’ จะกำเนิดเกิดมานับร้อยปี จนใกล้จะถึงวิวัฒนาการที่อิ่มตัว กระนั้นรถไฟก็ยังเป็นระบบ
คมนาคมที่สำคัญของโลก เป็นเหมือนแม่น้ำสายสำคัญที่ดึงดูดชีวิตผู้คนให้มาอยู่ใกล้แหล่งความเจริญ ทั้งรถไฟสายหลัก
ที่ขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร จนถึงรถไฟฟ้าสายสั้นๆ ที่อัดแน่นด้วยผู้คนหลายหลาก

        แต่ ทางรถไฟส่วนใหญ่ในโลก วางหลักปักรากฐานเพื่อรองรับวิถีวัตถุนิยม บริโภคนิยม และตัณหานิยม
เป็นพาหนะสำคัญที่ร่วมแต่งเสริมเติมต่อวัฒนธรรมเมืองให้รุ่งโรจน์ พร้อมกับทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ร่วงโรย ไม่ต่างจากพาหนะอื่นๆ
ที่ก่อกำเนิดโดยเครื่องจักร ที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่มีความต้องการไม่สุดสิ้น
 
           เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ได้สร้างปรากฏการณ์ทำให้วิถีแห่งปัจจัยการผลิตเปลี่ยนไป เมื่อเครื่องจักรไอน้ำ
เข้ามามีบทบาทแทนแรงงานคน สร้างจุดกำเนิดแห่งวิถีการผลิต และบานปลายสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนในยุคนั้นต้องใช้ชีวิต
ไปตามระบบสายพาน ทั้งยังปลูกฝังความเชื่อให้แก่มนุษย์ว่า การก่อกำเนิดของเครื่องจักร เปรียบเสมือนการเอาชนะธรรมชาติ

          ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหัวรถจักรคันแรกของโลก เป็นชาวอังกฤษ นามว่า ริชาร์ด เทควิทริค
          แต่ผู้คนไม่เชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาจะเคลื่อนที่ด้วยเรี่ยวแรงของเครื่องจักร ด้วยคิดไปว่าภายในตัวรถอาจมีคนหรือ
ม้าซ่อนอยู่ ไม่มีใครใส่ใจสิ่งที่เขานำเสนอ ในชีวิตบั้นปลาย เขากลายเป็นคนร่อนเร่พเนจร สุดท้ายก็เสียชีวิต ชนิดที่เพื่อนๆ
ของเขายังต้องเรี่ยรายเงินซื้อโลงศพให้
          สิบปีต่อมาหลังจากการเสียชีวิตของผู้สร้างหัวรถจักรคันแรก ยอร์ช สตีเฟนสัน ได้หยิบนำเทคโนโลยีรถจักรของเทควิทริค
มาปรับเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผนวกกับความที่เขามีหัวทางธุรกิจ จึงได้โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า
‘หัวรถจักร’ วิ่งด้วยพลังไอน้ำจริงๆ ด้วยการนำหัวรถจักรของเขามาแข่งกับรถม้า และรถจักรก็เป็นฝ่ายชนะเสียด้วย
         สตีเฟนสันเริ่มเปิดเดินรถจักร-รถไฟ ในเส้นทางคมนาคมและการค้า จนผู้คนเริ่มให้ความสนใจและพาหนะที่เรียกว่า-รถไฟ
จึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้เขากลายเป็นอภิมหาเศรษฐี และถูกยกย่องให้เป็นบิดาการรถไฟของโลก


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 08, 09:47
รถไฟ...รุกคืบไปทั่วโลก

             การเติบโตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเดินทางไปพร้อมกับการปรากฏตัวของรถไฟ
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่นำรถไฟไปรับใช้การปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากการสร้างทางรถไฟ
ระหว่างเมืองท่าลิเวอร์พูลไปยังเมืองแมนเชนเตอร์ ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นผลให้อุตสาหกรรมของอังกฤษเจริญก้าวหน้า
และ ทำให้อังกฤษมีความต้องการนำปัจจัยการผลิตจากนอกประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

กระตุ้นให้จักรวรรดิอังกฤษ แสวงหาอาณานิคมมากขึ้น

          รถไฟกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้อังกฤษครอบครองประเทศอาณานิคมให้มากกว่าเดิม ด้วยนโยบายยึดอำนาจโดยใช้เล่ห์กล
ยื่นมือสร้างทางรถไฟก่อนจะยึดประเทศเหล่านั้นอย่างง่ายดาย ตัวอย่างดังกล่าวเห็นได้ชัดที่ประเทศอินเดีย เครือจักรภพเป็นผู้มาติดต่อ
ค้าขายพร้อมอาสาช่วยสร้างทางรถไฟให้เป็นเครือข่าย แต่สุดท้ายเครือข่ายทางรถไฟกลับกลายเป็นเครื่องมือในการยึดอินเดียให้เป็น
ของอังกฤษ

          ไม่เพียงเป็นเครื่องมือสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษเท่านั้น รถไฟยังได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก
เช่น สหรัฐอเมริกา ดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยชาวยุโรปที่เดินทางมาขุดทอง รถไฟทำให้สหรัฐมั่งคั่งกว่าเดิมมาก
จากชาวยุโรปแสวงโชคตามถิ่นต่างๆ กลายเป็นประเทศนิคมเกษตรกรรม ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการระรานชนกลุ่มน้อย
แม้จะมีการต่อต้านเป็นระยะ แต่ชาวอินเดียนแดงที่ใช้ม้าเป็นพาหนะ ก็ไม่อาจต่อกลอนกับม้าเหล็กอันทรงพลัง

         รถไฟบุกเบิกเข้าไปในหลายดินแดน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไกลโพ้นเช่นญี่ปุ่น แม้จะมีการต่อต้านรถไฟและ
ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ดังเช่นกลุ่มกบฏซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มขุนนางซามูไรในราชสำนัก  ซึ่งต่อต้านปืนใหญ่ เสื้อผ้าตะวันตก
และรถไฟ โดยมองว่าเป็นการพัฒนาที่รวดเร็วและเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มน้อย (ภาพยนตร์เรื่อง Last Samurai)
         กระทั่งสมัยปัจจุบัน รถไฟก็ยังทำหน้าที่ ‘รุกราน’ สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสิ่งที่มีมาแต่เดิม หากมีการสร้างทางรถไฟขึ้น
บริเวณใด ภูมิศาสตร์บริเวณนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทันที

         ตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ คือการเปิดเดินรถเส้นทางสายชิงไห่ – ทิเบต ของประเทศจีน เป็นการทำลายสถิติทางรถไฟ
ที่อยู่สูงที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นการนำพาวัฒนธรรมบริโภคเข้าไปทำลายวิถีชีวิตพื้นถิ่นที่มีมาแต่เดิม มากกว่าครั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
บุกทำลายความเป็นอยู่ของชุมชนชาวทิเบตด้วยซ้ำ
          ที่ประเทศฝรั่งเศส การสร้างรางรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส (TGV) ซึ่งเป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก ก่อมลพิษทางเสียง
อีกประการสำคัญก็คือวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านริมทางรถไฟที่ไม่อาจเดินข้ามทางรถไฟกันไปมา คล้ายกับว่าเมื่อสร้างทางรถไฟขึ้นแห่งใด
ย่อมเหมือนมีแม่น้ำสายใหญ่มากั้นขวางวิถีความเป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง ปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องสากลของประเทศที่ครอบครองรถไฟความเร็วสูง
โดยเฉพาะในประเทศยุโรปเกือบทั้งหมด รวมถึงมลรัฐในอเมริกาบางส่วน


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 08, 09:53
การรุกคืบของรถไฟในสยาม

             สยามประเทศได้ยลโฉมรถไฟเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นรถไฟจำลองขนาดเล็ก
(ภาพยนตร์เรื่องทวิภพ ฉบับล่าสุด) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงโปรดให้เหล่าขุนนางเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ
เพื่อชมความเจริญและได้พบรถไฟจริง
            ช่วงเวลาเดียวกัน สยามยังมีข้อพิพาทกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส ยุทธศาสตร์ทางทหารจึงเป็นปัจจัย
สำคัญของชาติ จึงมีการสร้างทางรถไฟสายแรกของสยามซึ่งเป็นของเอกชน เริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง จนถึงปากน้ำ
สมุทรปราการ หมายหลักคือการบำรุงกำลังรบเผื่อว่ากองกำลังต่างชาติอาจเข้าโจมตีทางเรือ ผู้คนเรียกขานทางรถไฟสายนี้
ว่า ‘รถไฟสายปากน้ำ’
            ต่อมาสยามประเทศได้รับข่าวว่า ชุมชนทางภาคอีสานจะก่อกบฏ ต้องการขึ้นตรงต่อรัฐบาลอินโดจีน เพราะได้รับการยุยง
จากฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟหลวงสายแรก เริ่มตั้งแต่สถานีหัวลำโพง
จรดปลายทางนครราชสีมา โดยในระยะเริ่มต้น ทางรถไฟสายนี้ได้สร้างมาถึงอยุธยากรุงเก่า กระทั่งมีพิธีเปิดใช้เป็นทางการ
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙

          แนวทางการสร้างทางรถไฟไทยในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะกุศโลบายของ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ถือว่าทันสมัยมาก เฉพาะจุดกำเนิดของรถไฟไทยก็ได้ก่อกำเนิดในยุคเดียวกับรถไฟญี่ปุ่น แถมยังนำเข้าหัวรถจักรดีเซลมาวิ่ง
เป็นแห่งแรกของเอเชีย จนมีผลทำให้รถไฟไทยวิ่งเร็วที่สุดในเอเชีย อีกทั้งการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ และสายอีสาน
          ใช้ขนาดความกว้างของรางเท่ากับ 1.435 เมตร  ยกเว้นทางรถไฟสายใต้ที่มีความกว้างของรางเท่ากับ 1 เมตร มาตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่วนผู้รับเหมางานก่อสร้างทางรถไฟในสมัยนั้นเป็นวิศวกรชาวปรัสเซีย  (เยอรมัน) ซึ่งมีชื่อเสียงในการสร้างทางรถไฟ และเพราะเกรงอังกฤษ
กับฝรั่งเศศอาจมีแผนลวงที่จะใช้การสร้างทางรถไฟเป็นเครื่องมือ เพื่อยึดสยามประเทศ ดังตัวอย่างที่ประเทศอินเดีย
          แต่การสร้างทางรถไฟในขณะนั้นก็เป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น การสร้างทางรถไฟสายเหนือ
ซึ่งริเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ลงแรงก่อสร้างมีทั้งชาวจีนอพยพและชาวอีสาน ร่วมกันสร้างทางรถไฟสายนี้จนประสบความสำเร็จ

           ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ อิทธิพลจากอังกฤษมีบทบาทสำคัญในเมืองสยาม
           ทำให้รัฐบาลตัดสินใจปรับเปลี่ยนขนาดความกว้างของรางที่ใช้ขนาด 1.435 เมตร ทั้งหมด ให้แคบลงเหลือเพียง 1 เมตร
อันเป็นรางมาตรฐานของประเทศอังกฤษ โดยอ้างว่าจะทำให้การคมนาคมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น และ
สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้ แล้วยังมีนโยบายทาสีด้านหน้าหัวรถจักรดีเซลให้เป็นสีเหลืองเช่นเดียวกับหัวรถจักรของประเทศอังกฤษ
 
        นี่เป็นคำตอบว่า ทำไมรถไฟบ้านเราจึงวิ่งช้า เพราะรางขนาด 1 เมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไหนจะเป็นแค่ระบบรางเดียว อีกทั้งปัญหาคอรัปชั่นทำให้รถไฟไทยวิ่งได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงข้ามกับรางรถไฟขนาด
1.435 เมตร ซึ่งสามารถทำความเร็วไม่ต่ำกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

         นับจากเวลานั้น รถไฟไทยก็กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มประเทศผู้มีอิทธิพลมาโดยตลอด ยกตัวอย่างก็คือ หากประเทศไทย
ตกอยู่ใต้เงาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศใด ย่อมจะมี ‘หัวรถจักร’ ที่ผลิตขึ้นจากประเทศนั้นมา ‘ลากจูง’ ตู้สินค้าและ
ตู้โดยสารของไทย เช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เราสั่งซื้อรถจักรไอน้ำ แปซิฟิค-มิกาโด จากจักรวรรดิญี่ปุ่น ในยุคสงครามเย็น
เราสั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า GEK ผ่านโครงการความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา และในปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังจะสั่งซื้อรถจักร
รุ่นเดียวกับที่ไปรุกรานทิเบตมาแล้ว


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 08, 09:55
รถไฟ-รถไฟฟ้า กับผลกระทบด้านสังคม

          แม้รถไฟจะไม่สามารถนำคติความเชื่อเข้าไปยังชุมชนและหมู่บ้านได้รวดเร็วทัดเทียมกับรถยนต์ แต่รถไฟสามารถ ‘บรรทุก’
วัฒนธรรมเข้าไปทีละมากๆ ไม่ต่างจากตู้สินค้าที่บรรทุกได้ครั้งละขบวนยาว โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ รถไฟถือเป็นกลไก
สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
           ทว่าเป็นการเติบโตของคนร่ำรวยที่มีจำนวนน้อย เช่นเดียวกับอีกหลายกลไกภายใต้อำนาจรัฐ

           ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย
ที่ลงนามในสนธิสัญญาเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนแผ่นดินใหญ่  เส้นทางรถไฟสายนี้นอกจากจะทำลายทัศนียภาพอันสวยงาม
ของทิวเขาภาคเหนือแล้ว สินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคจากเมืองจีนย่อมทะลักเข้ามาทางรถไฟ กระจายไปตามเส้นทางรถไฟ
เหมือนการทารุณกรรมทางเศรษฐกิจของห้างสรรพสินค้าจากบรรษัทข้ามชาติที่กำลังกลาดเกลื่อนอยู่นั่นเอง

           ประเทศไทยเองก็กำลังมีอิทธิพลต่อประเทศลาวพราะการรถไฟฯ กำลังวางแผนร่วมกับรัฐบาลลาว สร้างทางรถไฟ
สายหนองคาย – เวียงจันทร์ ซึ่งเป็นไปได้ว่า หากโครงการนี้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ วัฒนธรรมจากกรุงเทพฯ ก็จะหลั่งล้นเข้าไป
ในฝั่งลาว ทำลายความสงบเงียบที่มีมาแต่เดิมอย่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก

           การสร้างทางรถไฟตามที่ต่างๆ มีผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น ทางรถไฟสาย ชุมทางคลองสิบเก้า – แก่งคอย
(เชื่อมต่อสายตะวันออกกับสายอีสาน) ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากที่สุด เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวตัดเลียบเขตอนุรักษ์
พันธุ์สัตว์ป่าเขาใหญ่ แม้จะมีทัศนียภาพสวยงาม แต่ก็เปรียบกันไม่ได้กับความตายของสัตว์สงวนที่ถูกรถไฟชน คนส่วนใหญ่ไม่อาจ
รับทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากเส้นทางสายนี้ไม่ได้เปิดเดินรถโดยสาร แต่เปิดเดินรถสินค้า (logistic) เพื่อเชื่อมส่งสินค้า
จากนิคมอุตสาหกรรมมาดตาพุดไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคอีสาน

        นั่นคือตัวอย่างของรถไฟธรรมดา...และสำหรับรถไฟฟ้า ของเล่นของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ยิ่งมีผลกระทบต่อสังคมและ
สิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก.....

ภาพรวมสุดท้าย...

         แม้รถไฟจะเป็นพาหนะของระบอบทุนนิยม เป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมมานับแต่แรกเริ่ม และเป็นตัวอันตราย
ต่อวัฒนธรรมอันดีงามที่มีมาแต่เดิม กระนั้นก็ยังหวังให้เราทุกคนตระหนักในความสำคัญของมันในมุมกลับไว้บ้าง เนื่องเพราะจุดกำเนิด
ของมันไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นเพียงพาหนะขนส่งคน สัตว์ สิ่งของ จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหนะที่คอยรับใช้ผู้คน
ให้ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงบนโลก เป็นพาหนะเดียวกับที่นักท่องเที่ยวและนักเขียนสารคดีมองว่าคลาสสิกที่สุดในโลก และ
เป็นพาหนะที่แม้แต่ผู้เขียนเองก็ยังชื่นชอบ

          ภูมิปัญญาของคนโบราณซึ่งได้สร้างสิ่งมีชีวิตขบวนยาวนี้ไว้ จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือรุกรานใคร ทั้งยังควรทำความเข้าใจ
ในหน้าที่ของรถไฟว่าน่าจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม โดยไม่ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมได้อย่างไร

จบครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 04 พ.ค. 08, 20:46
จังหวัดสมุทรปราการ เราถือว่าได้รับประโยชน์อย่างมากครับ เมื่อมีรถไฟช่วยขนพวกเราเข้าไปมีโอกาส ได้ติดต่อใกล้ชิดกับคนกรุงเทพฯมากขึ้น การเดินทางจากปากน้ำ ไปหัวลำโพงได้ภายใน ๖๐ นาทีตรงเวลา ทำให้ลูกหลานชาวปากน้ำในช่วงที่ยังมีรถไฟ และต่อมารถเป็นไฟฟ้าบริการ มีโอกาสเดินทางไปโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง ในอดีตเราจึงมีนักคิด นักเขียน ศิลปินเอก มีฝ่ายบริหารในรัฐบาลหลายสมัย รวมทั้งลูกหลานนายแห กรัยวิเชียร ที่มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่าเราแพ้ถนนครับ ถ้าเปรียบเมืองปากน้ำในปัจจุบัน ก็น่าจะคล้ายกับเมืองปากช่อง ทันทีที่มีการสร้างถนนเลี่ยงเมืองปากช่อง ที่ทำให้สามารถขับรถ ตรงไปเมืองโคราชได้ เมืองปากช่องก็แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง ไม่มีใครแวะเข้าไปพัก ซื้อน้ำ ซื้อไก่ย่างทานอีกเลย

ของปากน้ำเราเมื่อเกิดถนนสุขุมวิท วิ่งเลี่ยงเมือง เลี้ยวซ้ายที่หอนาฬิกาหน้าศาลากลาง ตรงไปบางปะกง และเมืองทางตะวันออกได้ ปากน้ำก็เงียบทันที เมื่อมีรถเมล์สาย ๒๕ วิ่งเข้ากรุงเทพฯ รถไฟฟ้าที่เคยทำกำไรงาม เมื่อครั้งเป็นของเอกชน ก็กลับขาดทุน และแทนที่จะพัฒนาขึ้นกลับยกเลิกไป ยิ่งมีถนนบางนา-ตราดขึ้นมาอีก สมุทรปราการก็ร้างไปเลยครับ เมืองโบราณ สวางค์นิวาส ฟาร์มจระเข้ แม่ค้าขนมหวาน ขนมจาก จึงแทบเอาตัวไม่รอด

ผมยังจำได้เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ต้องนั่งรถเมล์สาย ๒๕ ไปเรียนมหาวิทยาลัย วันไหนตื่นสาย ออกจากปากน้ำหกโมงเช้า หลับไปตื่นอีกที แปดโมงครึ่งเพิ่งถึงหน้าสยาม ลงจากรถก็ต้องวิ่งเหงื่อโทรม แอบเข้าไปเรียนด้านหลังห้อง เพราะสายเป็นประจำ เราจึงไม่แปลกใจที่มีชาวปากน้ำดั้งเดิม เข้าไปตั้งรกรากในกรุงเทพฯ หลายครอบครัว เหลือไว้แต่ชาวต่างถิ่นมาทำมาหากินที่นี่

   


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 พ.ค. 08, 16:56
พระประแดงยิ่งแล้วใหญ่ เขียวสดใสน่าอนุรักษ์อยู่หกตำบล ทั้งหกตำบลมีถนนสายเดียว ชื่อว่าเพชรหึงษ์ ตามชื่อป้อมเก่าที่เสื่อมสภาพและไม่รู้เสียแล้วว่าอยู่ส่วนไหน ตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปไตยจอมปลอมขึ้นมาหลายสิบปี
ตำบลที่เหลือเป็นโรงงานบ้าง ที่น้ำเค็มบ้าง
ไปไหนมาไหนลำบากต้องอ้อมโลก หรือเสี่ยงชีวิตขับรถข้ามแพ
วันดีคืนดี มีสะพานมาทอดให้ไปปากน้ำได้สบายขึ้นแล้ว.. จะลงช้างสามเศียรหรือศรีนครินทร์ก็สบาย
ไปสมุทรสาคร นครปฐมง่ายขึ้น


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 07 พ.ค. 08, 13:29
ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ถนน หรือสะพาน ก็ทำให้ปากน้ำเราเปลี่ยนไปมากครับ
หลายคนจับทางผิด หรือมองตลาดไม่ถูก ก็มักจะพลาด

เคยได้คุยกับคนรู้จักท่านนึง ท่านเป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงานในปากน้ำ วางตัวเองเป็นผู้ช่วยเหลือด้านกฏหมายมาตลอด เวลาลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. มีคนชื่นชอบติดตามเป็นจำนวนมาก หาเสียงที่ไหน คนสนใจล้อมกรอบมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ผลเลือกตั้งออกมา ได้เสียงไม่กี่พันคะแนนทุกที

พยายามหาสาเหตุความพ่ายแพ้มาตลอด จนเมื่อเลือกตั้งครั้งล่าสุด ท่านตกใจมาก คราวเมื่อมีการเลือกตั้งล่วงหน้า ปรากฏว่า ผู้คนที่สนับสนุนท่านมากมายนั้น ต้องไปเลือกตั้งล่วงหน้าต่างถิ่น เฉพาะจากภาคอีสานกว่า ๒ แสนคน เหลือคนปากน้ำจริงๆ ที่ชื่นชอบท่าน และมีสิทธิ์เลือกท่านเพียงไม่กี่พันคน ถึงกับอุทานว่า "หาเสียงผิดที่มาตลอด" เพราะที่เดินๆ กันอยู่ทั่วเมืองสมุทรปราการนั้น เป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น   



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 07 พ.ค. 08, 13:36
เคยเรียนคุณกุ้งแห้งเยอรมัน ถึงเรื่องความผูกพันธ์กับเมืองปากน้ำ และเรียนถามเรื่องบ้านเกิดเอาไว้
ทราบแต่เพียง ขึ้นต้นด้วยคำว่า "บาง........"

ขอตอบว่า "บางนางเกรง" ครับ ถูกผิดไม่ทราบนะครับ

แต่ผมมีคำถาม คำว่า บางนางเกรง กับ บางจะเกร็ง
ต่างกันอย่างไรครับ 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 13 พ.ค. 08, 07:01
จนบัดนี้ยังไม่มีผู้มาตอบเรื่องบางนางเกรง กับบางจะเกร็งเลย คุณโฮฯแวะมาดูหน่อยไหมครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 พ.ค. 08, 16:17
ข้อแรก ขอขอบคุณคุณปากน้ำเจ้าพระยาที่ได้อุตสาหะค้นคว้าเรื่องดีๆมาฝากครับ ผมตามอ่านมาแต่ต้น แต่ยุ่งๆอยู่เลยไม่ได้มาขอบคุณครับ

ทีนี้เรื่องบางนางเกรงหับบางจะเกร็ง

จากพจนานุกรมรอยอินนะครับ
เหงือกปลาหมอ ๒    น. ชื่อไม้ล้มลุก ๒ ชนิดในสกุล Acanthus วงศ์ Acanthaceae ชนิด
   A. ebracteatus Vahl ขึ้นตามริมนํ้าบริเวณนํ้ากร่อย ดอกสีขาว ขอบใบ
   เป็นหนาม ชนิด A. ilicifolius L. ดอกสีม่วงอ่อน บางทีขอบใบเรียบ,
   จะเกร็ง หรือ อีเกร็ง ก็เรียก.

นัยว่าทั้ง จะเกร็งและอีเกร็ง จะเป็นคำมอญ หรือไม่ก็เขมรนะครับ

ทั้งบางนางเกรง และบางจะเกร็ง อยู่ในเขตน้ำกร่อยทั้งคู่ ไม่แปลกที่จะมีต้นเหงือกปลาหมอขึ้นอยู่มากครับ

ผมว่านางเกรงที่สมุทรสงคราม คงจะเป็นญาติกับนางเลิ้งในเมืองกรุงนี่แหละครับ  ;D
เดาว่าในยุคที่อีเลิ้งได้อัพเกรดเป็นนางเลิ้ง อีเกร็งคงจะพลอยได้อัพเกรดเป็นนางเกรงไปพร้อมๆกันด้วยความกรุณาของท่านผู้นำ

ส่วนบางจะเกร็งรอดตัวไปได้อย่างน่าหวาดเสียว


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 13 พ.ค. 08, 17:05
สวัสดีครับคุณ elvisbhu และทุกๆ ท่าน

และขอบคุณ CrazyHOrse ที่หาคำตอบเกี่ยวกับ "จะเกร็ง" และ "อีเกร็ง" ครับ

ผมคิดว่า "นางเกร็ง" ก็คงถูกเปลี่ยนมาจาก "อีเกร็ง" ตามที่คุณ CrazyHOrse ได้กล่าวไปแล้วนั่นแหละครับ เพราะยุคหนึ่งมีศัพท์จำนวนมากถูกเปลี่ยนคำ ด้วยเหตุผลสอง สาม ประการคือ "สะกดผิดเพี้ยนจากภาษาไทยมาตรฐาน" (โดยไม่คำนึกว่าคำเดิมเป็นภาษาถิ่น)  :-\ กับ "เป็นคำไม่สุภาพ ต้องแก้ให้สุภาพ"  :-\ หรือ "รูปคำไม่สวยเพราะดูไทยๆ เกิน ต้องเปลี่ยนให้ดูคล้ายๆ คำบาลี" :o

สงเปือย ก็เป็น สงเปลือย  ;D อันนี้ฮามาก ใครได้ยินก็คิดไปถึงพระแก้ผ้า  ;D .... อันที่จริง ถ้าจำไม่ผิด สงเปือยจะเป็นชื่อต้นไม้หรืออะไรนี่แหละครับ
แม่น้ำมูน ก็เป็น แม่น้ำมูล ข้อนึ้ผมไม่แน่ใจเกี่ยวกับความหมายเดิม แต่เคยเจอคำว่า "มูน" ในภาษาเขมรแปลว่า ใหญ่ (Robust)

มีอีกหลายชื่อครับ และก็มีอีกหลายคนที่เขียนบทความท้วงติงกัน

นี่แหละครับเค้าเรียกว่า หน่วยงานราชการทำลายภาษาไทยเสียเอง โดยความไม่รู้ ที่คิดว่าตัวเองรู้

นางเกร็ง ก็คงทำนองเดียวกัน คือ "อี" เป็นคำไม่สุภาพ ก็เป็น "นาง"

หอยอีรม ก็อีกชื่อที่ถูกเปลี่ยนเป็น หอยนางรม ซึ่งคำว่า อีรม นี้ ผมเคยค้นว่า น่าจะเพี้ยนมาจากภาษามาเลย์ว่า Tiram

ภาษาไทยถิ่นมีอีกหลายคำครับที่มักเรียกพืช หรือ สัตว์ ว่า "อี" เช่น อีเห็น อีเก้ง เข้าใจว่า "อี" ในความหมายนี้ คงหมายถึง "ตัว"

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า "บางนางเกร็ง" มาจาก "บางอีเกร็ง" มีความเป็นไปสูงครับ เพราะเป็นพืชน้ำกร่อย ทำให้นึกถึง "บางลำพู" ด้วยเหมือนกัน  ;D ที่เป็นพืชป่าโกงกาง-น้ำกร่อย


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 13 พ.ค. 08, 22:55
ขอบคุณ คุณ CrazyHOrse และ คุณ Hotacunus มากครับ
 
เดิมผมสงสัยมานานแล้วครับว่า คนปากน้ำ บางคนก็เรียก บางจะเกร็ง บางคนก็เรียก บางอีเกร็ง

มีบางคนอธิบายไว้ว่า เพราะที่นั่นมีเหงือกปลาหมอขึ้นเต็มไปหมด
พืชชนิดนี้ ก็เป็นอย่างในพจนานุกรมรอยอิน ที่ว่า ใบมีหนาม
ท่านว่า เป็นเพราะเวลาสาวๆ นางไหนผ่านมา จะเกรงกลัว หนามจากเหงือกปลาหมอทิ่มเอา
จึงเรียกที่นี่กันว่า บางนางเกรง แต่โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการอัพเกรด จาก อี เป็น นาง มากกว่าครับ

ขอนอกเรื่องกระทู้อีกหน่อยนะครับ
ที่ปากน้ำ ยังเคยมีชื่อสถานที่ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพอีก คือ คลองบางเหี้ย กับ อำเภอบางเหี้ย นัยว่าน่าจะมีสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่มาก
ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงตรวจสอบการก่อสร้างทำนบกั้นคลองบางเหี้ย จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ ให้น่าฟังขึ้น

จาก คลองบางเหี้ย เปลี่ยนชื่อเป็น คลองด่าน
จาก อำเภอบางเหี้ย เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบางบ่อ
 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 13 พ.ค. 08, 23:29
"ท่านว่า เป็นเพราะเวลาสาวๆ นางไหนผ่านมา จะเกรงกลัว หนามจากเหงือกปลาหมอทิ่มเอา"  ;D

การหาที่มาทำนองนี้ มีเยอะเลยครับ คือ พยายาม ลากศัพท์จากชื่อปัจจุบัน ไปหาเรื่องราว

การศึกษาเรื่องนิรุกติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ในประเทศไทยนี้ ต่อไปจะลำบากครับ เพราะไม่ค่อยมีเอกสารบันทึก หรือไม่ก็ยังไม่มีใครรวบรวมเป็นกิจลักษณะ เป็นนิทานลากความก็เยอะ ...

เรื่องบางเหี้ยนี้ ผมเคยเจอชื่อนี้ เขียนอยู่ในแผนที่เมืองท่าสมัยอยุธยาตอนปลายครับ (อยู่ในสมุดภาพไตรภูมิพระร่วง) รู้สึกว่า คุณไมเคิล ไรท ได้เขียนเป็นหนังสือขึ้นแล้วเหมือนกัน รู้สึกจะชื่อ แผนที่แผนทาง ประมาณนี้แหละครับ แต่จำไม่ได้ว่า ได้ตีความเกี่ยวกับบางเหี้ยไว้บ้างหรือไม่

ตัวเหี้ยนี้ เป็นสัตว์ที่หากินอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่น้ำกร่อย จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปกินอาหารทะเลแถวๆ สมุทรปราการ หรือ สมุทรสงครามนี่แหละครับ จำได้แล้ว แต่ที่จำได้คือ เห็นเหี้ยตัวเป็นๆ ใหญ่มากๆ ว่ายอยู่ใต้ร้านอาหาร ตื่นตาตื่นใจจริงๆ  ;D



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 พ.ค. 08, 06:31
เหงือกปลาหมอเป็นพืชชายน้ำ คนบ้านดิฉันเขาเรียกหนามปลาหมอค่ะ เพิ่งจะทราบจากเรือนไทยนี่หละค่ะว่า เขาเรียกอีเกร็งอีกชื่อ
..
เวลาเล่นขายของ มีต้นไม้ข้างทางที่เห็นเจนตาหลายประเภท ประเภทที่ไม่อยากเอามาเล่นก็มีใบหนามปลาหมอนี่หนึ่งละ แต่มันก็สวยดี เด็กๆ เรายังงงอยู่ว่า หนามนี้มีไว้เพื่อไร ใช้ประโยชน์ไม่ได้เสียเลย
จะขึ้นแทรกตามแนวป่าจาก ลำพู ข้างทางค่ะ
อย่าว่าแต่นางจะเกรงเลย เด็กๆก็เกรง เพราะจงอยหนามคมกริบ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ค. 08, 09:31
ผมเคยค้นเรื่องบางเหี้ยบางบ่อตอนหาข้อมูลกระทู้นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม

เท่าที่ค้นเจอ บางเหี้ยได้ชื่อใหม่ว่าคลองด่านในสมัย ร.๕ แต่ไม่ได้เจอหลักฐานว่าเป็นชื่อพระราชทานครับ หากคุณปากน้ำเจ้าพระยามีข้อมูลตรงนี้เสริมจะขอบคุณมากเลยครับ

พูดถึงคลองด่าน ได้ยินชื่อนี้ ใครไม่คุ้นเคย อาจจะสับสนกับคลองด่านอีกคลองคือคลองสนามไชยที่แยกออกจากคลองบางกอกใหญ่(บางหลวง) คลองด่านนั้นขุดลอกในรัชกาลที่ ๔

นึกแปลกใจอยู่่ว่าหาก ร.๕ ทรงพระราชทานชื่อบางเหี้ยเป็นคลองด่านจริง ก็น่าจะเป็นชื่อที่เจาะจงกว่านี้สักหน่อยครับ เพราะคลองด่านอีกคลองก็เป็นคลองสำคัญเหมือนกัน อดคิดไม่ได้ว่าเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกจากโลกทัศน์ของคนที่รู้จักแต่คลองในละแวกของตัวเองครับ จะซ้ำกับที่อื่นบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะใช้สื่อสารกับคนในพื้นที่ได้ก็พอแล้วครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 14 พ.ค. 08, 12:50
ผมเริ่มกลัวอย่างที่คุณ Hotacunus ได้ให้ความเห็นเรื่อง การหาที่มาโดยพยายาม ลากศัพท์จากชื่อปัจจุบัน ไปหาเรื่องราว

เรื่องที่ ร.๕ พระราชทาน ชื่อ บางเหี้ยเป็นคลองด่าน มีอยู่ในหนังสือหลายเล่มในปากน้ำ เล่มหนึ่งที่จำได้ น่าจะเป็นเรื่องสมุทรปราการ ของคุณสังข์ พัฒโนทัย แต่ข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรง ก็น่าจะเป็นเรื่องการเสด็จ วัดบางเหี้ยนอก โดยหนังสือประวัติที่ทางวัดทำเอาไว้ มีอยู่ว่า

คลองบางเหี้ยที่ปากน้ำ เป็นคลองที่แยกจากคลองสำโรง ออกสู่อ่าวไทย เมื่อมีการตั้งชุมชนปากคลอง ตรงปากอ่าวไทย ชาวบ้านในที่นี้จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางเหี้ย” ที่นี่มีวัดก็ตั้งชื่อว่า วัดบางเหี้ย มี ๒ วัด คือ วัดบางเหี้ยใน กับ วัดบางเหี้ยนอก สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่วัดบางเหี้ยนอก มีเกจิอาจารย์ชื่อดัง ชื่อ พระครูปาน (หลวงพ่อปาน)

บ้านบางเหี้ย มีปัญหามาตลอดในเรื่องน้ำทะเลหนุน ทำให้มีสัตว์ประเภท เหี้ย ตะกวด และตะเข้ เข้าคลอง ทางราชการจึงได้เข้าช่วยเหลือโดยการสร้างประตูกั้นน้ำเค็ม แต่การก่อสร้างมีปัญหากั้นน้ำไม่อยู่  ซ่อมอย่างไรก็ชำรุดทุกปี พระครูปานได้นำดิน ๓ ก้อน ขึ้นมาบริกรรมคาถา แล้วหย่อนดินทั้ง ๓ ก้อนลงไปในประตูน้ำ ปรากฏว่า ประตูน้ำไม่เกิดน้ำรั่วอีกต่อไป
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปที่ตำบลบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อที่จะทำพิธีเปิดประตูน้ำใหญ่ที่ตั้งอยู่ในคลองบางเหี้ย ปรากฏว่าทรงประทับอยู่ที่คลองด่านถึง ๓ วัน (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดฯให้เปลี่ยนชื่อ ตำบลบางเหี้ย เป็น ตำบลคลองด่าน คลองบางเหี้ย เป็นคลองด่าน และอำเภอบางเหี้ย เป็นอำเภอคลองด่าน ) ...


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 14 พ.ค. 08, 12:56
ถ้าเป็นข้อมูลในจดหมายเหตุต่างๆ การเสด็จประทับวัดบางเหี้ยนอก ถึง ๓ คืน คิดว่าน่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่นะครับ

ประตูที่กั้นคลองนั้น มีชื่อเรียกกันปัจจุบันว่า “ประตูน้ำชลหารวิจิตร”
วัดบางเหี้ยบน หรือวัดบางเหี้ยใน (ปัจจุบัน คือ วัดโคธาราม) เป็นวัดน้ำจืดเพราะอยู่เหนือประตูน้ำ
และวัดบางเหี้ยล่าง หรือ วัดบางเหี้ยนอก (ปัจจุบัน คือ วัดมงคลโคธาวาส) เป็นวัดน้ำเค็มเพราะอยู่ใต้ประตูน้ำ

ชื่อวัดทั้งสองที่ดูน่าฟังขึ้น ก็มาจากคำว่า โคธา ที่แปลว่า เหี้ย นั่นเอง
(รู้สึกว่า ผมจะพิมพ์คำไม่สุภาพหลายครั้งเหลือเกิน) 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 พ.ค. 08, 16:18
บางเหี้ย ถ้าแปลเป็นคำเก๋ๆ ก็คงเป็น โคธาสถาน  ;D

เอาศัพท์มาฝากครับ

गोधा (โคธา)

= ค
= โ
= ธ
= า

ผมมาสะกิดใจตรง "มงคลโคธาวาส" มีคำว่า "มงคล" ด้วย แสดงว่า ผู้ตั้งชื่อวัดยังติดใจคำว่า โคธา นี้ เป็นคำไม่ดีอยู่กระมัง  ;D


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ค. 08, 21:18
เจอแล้วครับ

ค้นในราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp)
เจอเรื่องนี้ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/D/1615.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/D/1615.PDF)
(จับรูปมาไว้ท้าย คคห.นี้นะครับ)
นอกจากนี้พบประกาศต่างๆก่อนหน้านี้ใช้คำวา่บางเหี้ยมาตลอดครับ เชื่อว่าไม่เคยมีการพระราชทานชื่อคลองด่านแต่อย่างใด ชาวบ้านคงเรียกกันเองโดยลำลองครับ

ส่วนการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการนั้น ก็เป็นอย่างที่เห็นคือปี ๒๔๘๓ ยุคสมัยของท่านผู้นำผู้นั้นแล


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 14 พ.ค. 08, 21:30
คุณ CrazyHOrse สุดยอดจริงๆ ครับ

เข้าใจว่า การเปลี่ยนชื่ออำเภอบางเหี้ย เป็นอำเภอบางบ่อ ก็น่าจะเป็นยุคเดียวกัน


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 พ.ค. 08, 23:42
เสียดายจัง icon ในเวบไม่มีรูปตรบมือ
ไม่งั้นจะส่งให้คุณ CrazyHOrse ซักสิบอันเลย
สุดยอดจริงๆครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 08:35
กลับมาที่เรื่องรถไฟอีกครั้งนะครับ
ผมเพิ่งได้รับภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพวันทรงประกอบพิธีเปิดบริการรถไฟสายปากน้ำ  วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.  ๒๔๓๖
ต้นฉบับเก่าเสียหายมาก แลเห็นชาวบ้าน รางรถไฟรางเดี่ยว ปลายสุดคิดว่าน่าจะเป็นหัวรถจักรไอน้ำ

   


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 09:00
มีข้อสงสัยอยู่เหมือนกันว่า เมื่อเป็นรางเดี่ยว แล้วเวลาวิ่งสวน หรือวิ่งขากลับจะทำอย่างไร
ได้รับคำตอบจากผู้ที่เคยโดยสารสมัยเป็นรถรางไฟฟ้าว่า

ที่สถานีบางจาก มีการทำรางสวนเป็นคู่ แล้ววิ่งกลับมาที่รางเดี่ยวอีกครั้ง กรณีวิ่งสวนกัน
ส่วนที่สถานีปลายทาง มีการทำที่กลับหัวรถจักร ลักษณะเป็นวงกลมอยู่ที่หน้าสถานี
(กลมๆ เล็กๆ ในภาพเป็นสถานีหัวลำโพง)


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 11:48
มีภาพอีกหนึ่งชุด รู้สึกงงๆ ในตอนแรก แต่ก็ได้ขอ copy จากหอจดหมายเหตุมาทั้งหมด
ทั้งนี้เพราะภาพชุดที่เขียนว่า "ภาพชุด รถไฟสายปากน้ำ" แต่ภาพที่ออกมากลับกลายเป็น


 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 11:50
ภาพที่สอง ก็ยังดูไม่ออก


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 11:59
พยายามส่องขยายดูอักษรตรงกลางถาด ตามภาพที่แล้ว ก็อ่านไม่ออก
ยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับเรื่องรถไฟปากน้ำตรงไหน ทางเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็ไม่ทราบเช่นกัน
แต่พอดูภาพที่สาม จึงเริ่มเข้าใจ เพราะมีคำว่า

"T.A. Gottsche From His Grateful Employees"


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 พ.ค. 08, 12:19
นอกจากภาพของขวัญล้ำค่า จากพนักงานรถไฟตามภาพที่สาม แด่คุณ T.A. Gottsche แล้ว

ยังมีภาพที่สี่ ซึ่งสามารถอธิบายภาพทั้งหมดได้ ทั้งนี้เพราะมีข้อความอธิบายว่า ทั้งหมดเป็นภาพของขวัญ
อันเป็นที่ระลึก ๓๒ ปี แห่งการทำงานให้บริษัทรถไฟปากน้ำ
ของ Captain T.A. Gottsche หรือคุณก็อตเช่
 
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในความคิดเห็นที่ ๓๕ คุณก็อตเช่ ก็คือ ผู้ทำหน้าที่ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ
มีราชทินนาม ขุนบริพัตรโภคกิจ ได้รับพระราชทานนามสกุล ตามชื่อสกุลเดิม
จากคำว่า ก็อตเช่ มาเป็น คเชศะนันทน์ นั่นเอง


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 พ.ค. 08, 17:56
นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธิน

   ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องเรื่องรถไฟสายปากน้ำ นอกจากคุณ ที เอ ก็อตเช่ ผู้ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำแล้ว ยังมีบุคคลอีกท่านหนึ่ง ที่ตัวท่านเอง และทายาทรุ่นหลังๆ น่าจะมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องรถไฟสายปากน้ำเพิ่มเติม นั่นคือ พระยาชลยุทธโยธิน ฝรั่งที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัทรถไฟปากน้ำ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 พ.ค. 08, 18:02
             พระยาชลยุทธโยธิน เป็นชาวเดนมาร์ก ชื่อเดิม อังเดร เดอ ริเชอร์ ลิเยอ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๙๕ ณ ตำบลลอยด์ จังหวัดโอเบนโซ่ จบการศึกษาโรงเรียนนายเรือ สมรสกับนางสาวคัดมาร์ ธิดาผู้พิพากษา เดนมาร์ก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัย จึงได้ทรงว่าจ้างนายทหารชาวเดนมาร์กผู้นี้เข้ามาช่วย โดยงานแรกก็คือการเป็นกัปตันเรือรักษาการอยู่ที่ภูเก็ตในการปราบปรามกบฏอั่งยี่

   เติบโตในงานราชการในเมืองไทยตามลำดับ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับมอบสัมปทานเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปเมืองสมุทรปราการ เมื่อกิจการธุรกิจต่างๆที่แม้จะดำเนินการไปได้ด้วยดี มีกำไร ก็ได้ยอมเสียสละ ด้วยการขายหุ้น ด้วยความปรารถนาเดิม ที่ต้องการให้คนไทยเป็นเจ้าของกิจการที่สำคัญ เช่น กิจการโรงไฟฟ้า

             ในด้านการศาสนา ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่งานในการบูรณะตกแต่งพระพุทธชินราชได้งดงามเป็นที่พอพระทัยจนโปรดเกล้า พระราชทานทองคำสำรับหีบหมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงมีพระราชกระแสตอนหนึ่งก่อนที่พระชลยุทธโยธิน จะกลับเดนมาร์กว่า

“….พระยาชลยุทธ ได้รับราชการทนลำบากตรากตรำมามาก แลการทหารเรือก็ได้ตั้งขึ้นเป็นหลักฐาน ทั้งมีความจงรักพักดี เป็นที่ไว้วางใจมาก็นาน ซึ่งเปรียบเทียบบำนาญตามข้าราชการบำนาญสามัญนั้นน้อยมาก ให้ตั้งบำนาญเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนปีละ ๑๕,๐๐๐ บาท….”

   


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 พ.ค. 08, 18:06
             พระยาชลยุทธโยธิน เป็นนายทหารผู้บังคับบัญชาการรบกับกองเรือฝรั่งเศสในวิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒ ที่ปากน้ำ ไม่ทราบว่า จะเป็นเพราะความกลัวเรื่องผลประโยชน์ในเมืองไทย หรือจะเป็นเพราะความบ้าบิ่นของท่าน แต่ท่านก็เป็นนายทหารต่างชาติคนเดียวที่ตั้งใจต่อสู้อย่างสุดชีวิต
 
             เมื่อครั้งที่กองเรือฝรั่งเศส สามารถฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำ เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว พระยาชลยุทธโยธิน ได้สั่งการ ให้รื้อบ้านเรือนตามป้อมปากน้ำที่ขวางทางปืน เตรียมรบ หากเรือฝรั่งเศสแล่นกลับออกปากอ่าว พร้อมกับสั่งการให้เรือรบไทยสองลำแล่นติดตาม หากมีโอกาสให้พุ่งเข้าชนเรือรบฝรั่งเศสให้จมไปด้วยกัน ส่วนตัวท่านเอง ก็รีบโดยสารรถไฟสายปากน้ำ เข้ากรุงเทพฯ เพื่อบัญชาการเรือพระที่นั่งมหาจักรี เตรียมสู้รบต่อ ถึงขนาดขอพระบรมราชานุญาติ ในการแล่นเรือพุ่งเข้าชนเรือรบฝรั่งเศสด้วยตัวเอง

             พระยาชลยุทธโยธิน ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด แม้จะได้กราบบังคมทูลลาไปพำนักอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์กแล้วก็ตาม ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ยังได้เดินทางมาเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพอันเป็นการแสดงถึง ความอาลัยรักและจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งที่การเดินทางจากยุโรปมาประเทศไทยในสมัยนั้น ใช้เวลานาน และเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก

   ช่วงที่อยู่ในประเทศบ้านเกิด ท่านยังเป็นนักธุรกิจ และเป็นนักการเมือง ได้เป็นสมาชิกสภาเดนมาร์ก ๒ สมัย เป็นผู้แทนที่เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวยุโรป รู้จักประเทศไทยในทางที่ดีขึ้น ต่อมาในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยาชลยุทธโยธินก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศเดนมาร์ก สิริรวมได้ ๗๙ ปี ผลงานของท่านยังคงเป็นรากฐานต่อการพัฒนาประเทศไทยให้ทันสมัยจนปัจจุบัน จึงนับเป็นทั้งนายทหารและนักธุรกิจที่มีบุญคุณต่อทั้งชาวสมุทรปราการ และชาวไทยเป็นอย่างมาก


 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 พ.ค. 08, 19:10
            ตามรอย หัวรถจักรสายปากน้ำ เท่าที่มีข้อมูล และมีหลักฐานจริงๆ อยู่ตอนนี้ ก็เห็นจะมีเพียงหัวจักรไอน้ำที่ชื่อ "สำโรง" ที่อยู่ในความครอบครองของโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน ชาวปากน้ำที่เริ่มทราบข้อมูล ได้ตั้งความหวังเอาไว้อย่างมาก ที่อยากให้หัวจักรสำโรง กลับมาตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการดังเดิม

           มีผู้สอบถามเข้ามาหลายท่านครับ ทั้งทางภาคเอกชน และทางราชการส่วนท้องถิ่น ว่าทำไม ไม่รีบดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้หัวจักร "สำโรง" กลับมาตั้งที่ปากน้ำโดยเร็ว ทั้งที่เรามีความพร้อมทั้งสถานที่ งบประมาณ หรือแม้จะเรี่ยไรเงินกันเองก็ยังพร้อม ผมก็มักจะถามกลับไปว่า พวกเราพร้อมจริงหรือเปล่า

         ทั้งนี้ ถ้าเราได้สังเกตุภาพที่ถ่ายมาจากโรงงานน้ำตาล เราจะเห็น "สำโรง" ได้รับการดูแลอย่างดี ดีเกินกว่าที่ใครจะกล้าปีน ขึ้นไปถ่ายรูปข้างบนเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ ผมได้เห็นภาพหัวรถจักรเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ด้านหลังท้องฟ้าจำลอง (ความคิดเห็นที่ ๔) ทำให้ต้องกลับมาคิดอยู่เหมือนกันว่า เมื่อมาอยู่ในความดูแลของทางราชการแล้ว เราจะสามารถดูแล "สำโรง" ได้ดีเหมือนเค้ามั้ย เพราะถ้าเราไม่มีความพร้อม ผมก็เห็นว่าควรจะปล่อยให้ "สำโรง" อยู่ในที่เดิม ที่ควรจะเป็น น่าจะดีกว่า       


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 29 พ.ค. 08, 10:26
เห็นด้วยกับคุณปากน้ำเจ้าพระยาค่ะ ถึงจะอยู่ไกลถึงอุตรดิตถ์ แต่ถ้าเก็บรักษาได้ดี ก็น่าจะคงไว้ แต่ถ้าท่านรองผู้ว่าสมุทรปราการ คุณวรรณิดา บุญประคอง ซึ่งท่านผู้นี้น่าจะใส่ใจเรื่องคุณค่าทางประวัติศาตร์ดี รู้เรื่องเข้า และสามารถหาที่ๆเหมาะสมได้ ก็น่าจะขอลงมาไว้ในการดูแลของเมืองปากน้ำ จะเป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวที่ดี
ไม่ทราบเมืองปากน้ำมีพิพิธภัณฑ์ราชการหรือไม่คะ ดิฉันเห็นแต่เมืองโบราณ กับช้างสามเศียร ที่ดูแลอย่างดี ซึ่งเป็นของเอกชน


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 พ.ค. 08, 10:56
เครดิตเรื่องข้อมูลจากราชกิจจาฯ ต้องยกให้ทางทีมงานเว็บราชกิจจาฯไปเต็มๆเลยครับ เขาทำไว้ดีจริงครับ ควรได้รับการชื่นชมอย่างมากครับ

มีกองหินในทะเลอันดามันที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่นักดำน้ำ คือกองหินริเชลิว ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกกันติดปาก แต่แท้จริงแล้วควรออกเสียงว่า  ริเชอลิเออ ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อของพระยาชลยุทธโยธินครับ

แต่ตั้งชื่อนี้เมื่อใด เพราะเหตุใด อันนี้ไม่ทราบครับ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 พ.ค. 08, 12:55
ตอบคำถาม คุณกุ้งแห้งเยอรมัน เรื่องพิพิธภัณฑ์ราชการ ที่ปากน้ำ

ที่ปากน้ำเรามีโครงการใหญ่ครับ งบประมาณ 399 ล้านบาท เรียกโครงการ "หอชมเมืองสมุทรปราการ"
ประกอบด้วยหอคอยสูง 135 เมตร (สูงกว่าที่สุพรรณบุรี) ฐานด้านล่างเป็นอาคารสามชั้น
ประกอบด้วยห้องประชุมสภาท้องถิ่น ห้องสมุดประชาชน และพิพิธภัณฑ์เมืองปากน้ำ

(การเรียกร้องการกลับมาของหัวรถจักรสายปากน้ำ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครับ)


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 พ.ค. 08, 13:07
สถานที่ก่อสร้างโครงการหอชมเมืองสมุทรปราการ อยู่บนพื้นที่เรือนจำกลางสมุทรปราการเดิม
หลังสถานีตำรวจสมุทรปราการ ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัด
 
บนยอดหอคอยปากน้ำ จะเป็นจุดชมเมืองปากน้ำ สามารถมองเห็นปากแม่น้ำเจ้าพระยา ป้อมพระจุลฯ
พระสมุทรเจดีย์ สะพานใหญ่ๆที่พระประแดง วันที่อากาศดีจะแลเห็นไปถึงเกาะสีชัง

พื้นที่ด้านล่าง 11 ไร่ จัดเป็นสวนสุขภาพ และมุมจำหน่ายของที่ระลึก


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 29 พ.ค. 08, 13:16
โครงการดี เงินก็อนุมัติแล้วครับ 
พื้นที่สวนสุขภาพด้านล่าง อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครสมุทรปราการ
ส่วนตัวหอคอย เป็นงบประมาณของ อบจ. สมุทรปราการ

แต่ติดปัญหาเล็กๆ ครับ คุณกุ้งแห้งเยอรมัน 
ที่ผู้บริหารทั้งสององค์กร อยู่คนละพรรคการเมือง
 
พื้นที่ก่อสร้าง จึงได้ยังเป็นดั่งในภาพต่อไปนี้ 
(ไม่ทราบว่าจะจัดเข้าในกระทู้  A picture is worth a thousand words ของคุณ SILA ได้มั้ยครับ)

 



กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 18 มิ.ย. 08, 13:20
ขอบพระคุณคุณปากน้ำค่ะ
กรุณามาเขียนต่อนะคะ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 16 ก.ค. 08, 15:14
มีท่านอาจารย์จากวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ กรุณาส่งบทความทาง email มาให้อ่าน
เรื่องราวของผู้เห็นคุณค่าเรื่องรถไฟ และรับมรดกตกทอด "หอเกียรติภูมิรถไฟ"
บทความค่อนข้างยาว ขออนุญาตถ่ายทอดทั้งหมดนะครับ


มรดกอันหนักอึ้งแห่ง 'วิรยศิริ'
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเสาร์สวัสดี - 1 กันยายน 2550

"เงินบริจาคอย่างวันนี้ได้ร้อยกว่าบาท บางวันได้ 40 บาท เพราะฉะนั้นผมก็ต้องประหยัดโดยการมารถเมล์ เวลากินก็เอาอาหารมาจากบ้านเป็นอาหารกล่อง นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ ห้องน้ำเข้าไม่ได้ เพราะมันไม่มี ถ้าทนไม่ไหวต้องปิดประตูหอ แล้วข้ามไปฝั่งโน้น เพื่อเข้าห้องน้ำ ผมถามเจ้าของสถานที่ว่า ทำไมผมขอห้องน้ำถึงไม่ได้ ผมสร้างเองก็ได้ เขาบอกว่า อาจารย์ไม่มีความจำเป็น อาจารย์ปวดก็เดินไปเข้าอย่างคนอื่นซิ"

มรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น อาจไม่ได้หมายถึงทรัพย์สมบัติเสมอไป เรื่องนี้ จุลศิริ วิรยศิริ บุตรชายของ สรรพสิริ วิรยศิริ ปรมาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนและผู้ก่อตั้งชมรมเรารักรถไฟ ทราบดี เพราะหลังจากที่ผู้เป็นพ่อป่วยด้วยอาการอัลไซเมอร์ จุลศิริ คือทายาทหนึ่งเดียวที่แบกรับภาระในการดูแล 'หอเกียรติภูมิรถไฟ' ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่งอกเงยมีเพียงรายจ่ายเท่านั้น

แม้ว่าหอเกียรติภูมิรถไฟ จะเป็นสถานที่อันเป็นอนุสรณ์ถึงพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ อ.สรรพสิริเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง แต่ความจงรักภักดีนั้น อ.จุลศิริ บอกว่าเป็นมรดกที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คือ พระยามหาอำมาตราธิบดี ราชเลขานุการในพระองค์รัชกาลที่ 5


 


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 16 ก.ค. 08, 15:16
(ต่อ)

"เวลาในหลวงเสด็จไปที่ไหน คุณปู่จะเป็นคนสนองพระราชโองการ เพราะฉะนั้นทุกอย่างท่านก็จะเล่าเรื่องให้คุณปู่ฟัง คุณปู่ก็จะมาเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็จะมาเล่าให้ผมฟังอีกต่อ ผมเป็นหลานคนสุดท้อง ถึงจะไม่เคยเห็นหน้าคุณปู่เลย แต่คุณปู่ตั้งชื่อผมว่า จุลศิริ แปลตรงตัวก็คือการเอาพระนามของในหลวงมาเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ท่านตั้งไว้แล้วตั้งแต่ก่อนผมเกิด พ่อเป็นคนบอกว่าชื่อผมคุณปู่เป็นคนตั้งให้"

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความผูกพันที่มีต่อ รถไฟ และเป็นเหตุผลให้ อ.จุลศิริ ในวัย 59 ปี ยอมกัดฟันสู้กับความกดดันสารพัดในการบริหารหอเกียรติภูมิรถไฟ รวมถึงความเจ็บป่วยของตัวเอง

ทำไมเอกชนอย่างตระกูลวิรยศิริถึงต้องมาดูแลบรรดาหัวรถจักรเหล่านี้คะ

ต้องย้อนไปสมัยคุณปู่ ซึ่งคุณปู่จะทราบว่าในหลวง ร.5 ท่านมีความประสงค์อย่างไรบ้างให้ประเทศชาติเจริญ โดยเฉพาะรถไฟซึ่งท่านเห็นว่ามีความสำคัญมาก พอท่านเสด็จไปต่างประเทศ ท่านก็ไปดูว่าฝรั่งมีความศิวิไลซ์อย่างไรบ้าง ท่านไปเห็นรถไฟ รถราง รถยนต์ แม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ เห็นการถ่ายรูป เห็นการสื่อสาร ซึ่งสมัยนั้นเริ่มมีแล้ว ท่านบอกว่าน่าจะเอามาใช้ในประเทศไทย ตอนท่านเสด็จนอร์เวย์ ท่านไปนั่งรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็คือเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็มีคนไปทูลฯ ว่า ทำไมไม่เอารถคันนี้มาไว้ที่พระนคร ซึ่งตอนรัชกาลที่ 4 มีการสร้างถนนแล้ว ในหลวงก็บอกว่าถ้าฉันสั่งรถยนต์มาฉันนั่งได้คนเดียว แต่ประชากรของฉันทั้งประเทศสยามไม่มีโอกาสนั่งรถอย่างนี้ได้ ฉันน่าจะสั่งรถอย่างอื่นมาแทน

เพราะฉะนั้นก็เลยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สั่งรถรางมาอย่างแรก และนี่คือสาเหตุให้เราตั้งหอเกียรติภูมิรถไฟขึ้นมา ถามว่าทำไมเป็นสาเหตุ เพราะว่าเราอยากจะเล่าเรื่องอย่างนี้ให้คนไทยได้เห็นว่าในหลวงท่านประเสริฐอย่างไรบ้าง และจะได้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการที่เราจะนำเทคโนโลยีแต่ละอย่างมาใช้ ควรจะมีการคัดเลือกแล้วก่อน รอให้พร้อมก่อน ว่าเรามีความรู้มั้ย อะไรที่ทันสมัยไม่ใช่จะดีทั้งหมด ต้องดูว่าอะไรควรจะมาก่อน อะไรควรจะมาหลัง


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 16 ก.ค. 08, 15:19
(ต่อ)

อย่างถามว่า ทำไมท่านเอารถรางมาก่อน ซึ่งที่นี่ (หอเกียรติภูมิรถไฟ) มีรถรางคันแรก (ที่มีเครื่อง) นะครับ เพราะเหตุว่าถ้าเอารถไฟมา มันจะมีปัญหาว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก แล้วรถไฟมันน่าจะวิ่งตามต่างจังหวัด ซึ่งประเทศไทยกว้างขวาง ท่านก็เลยทดลองวิ่งรถรางก่อนเป็นอย่างแรก พอเรามีโรงไฟฟ้าวัดเลียบแล้ว มีการเดินรถรางแล้ว มันมีปัญหาต่อว่าฝรั่งเศสเริ่มล่าอาณานิคม มีแนวว่าฝรั่งเศสอาจยึดประเทศไทยโดยส่งกองทัพเรือมา ท่านก็เลยไปสร้างป้อมพระจุลฯ ไว้ที่ปากน้ำสมุทรปราการ แต่ป้อมพระจุลฯ ต้องใช้ทหารถึง 300 คน ปัญหาใหญ่คือจะเอาทหารไปไว้ยามฉุกเฉินได้อย่างไรในคราวเดียวกัน เราไม่มียานพาหนะอะไรเลยที่จะขนคนได้มากขนาดนี้ ท่านเลยโปรดให้คนเดนมาร์ก ตั้งทางรถไฟสายแรกของเอกชน ก็คือสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ

เรามีอนุสรณ์เปิดการเดินรถสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ อยู่ข้างหน้า (หอเกียรติภูมิฯ) จริงๆ มันไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่หัวลำโพง แต่เนื่องจากว่ารถไฟเองขุดอนุสรณ์อันนี้ขึ้นมา แล้วเอาไปทิ้งไว้ในที่ไม่สมควร ทางหอเกียรติภูมิรถไฟก็เลยไปขอมาตั้งแสดงไว้ เพราะฉะนั้นรถไฟสายแรกไม่ได้มีความประสงค์ว่าให้รับส่งผู้โดยสาร แต่เป็นรถไฟสายยุทธศาสตร์ ทีนี้พอเราได้รู้เรื่องราวเหล่านี้ มันก็เลยกลายเป็นสายเลือด

แล้วหอเกียรติภูมินี่เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลังจากเลิกรถจักรไอน้ำเมื่อประมาณปี พ.ศ.2511 รถจักรทั้งหมดก็ถูกเก็บเอาไว้เฉยๆ แต่มีปัญหาซิว่า โรงเก็บรถหลายๆ แห่งเริ่มถูกรื้อทิ้ง เนื่องจากการรถไฟมีนโยบายที่จะโอนทรัพย์สินให้เอกชน เหลือแต่โรงนี้โรงเดียว ซึ่งเมื่อก่อนเป็นโรงซ่อมรถจักรไอน้ำ เราสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ภายหลังรถไฟได้นำอาคารนี้มาเปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ แต่ไม่เคยเปิดให้คนชมเลย

กระทั่งปี 2532 การรถไฟได้โอนที่ดินทั้งหมดให้ กทม. กทม.ก็ไม่อยากได้อาคารแห่งนี้ ก็ทำเรื่องขอรื้อ แต่เรื่องยังไม่ผ่าน การรถไฟก็เลยขนรถที่มีอยู่ เช่น หัวรถจักรไอน้ำไปที่หว้ากอ อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่เอกมัย บังเอิญ อ.สรรพสิริ คุณพ่อผม ตอนนั้นท่านเป็นบอร์ดของช่อง 5 ช่อง 7 แล้วก็ตั้งชมรมเรารักรถไฟขึ้น ทีนี้พอตั้งเป็นชมรมแล้วเราไม่มีที่อยู่เป็นทางการ พอดีเรารู้ว่าการรถไฟกำลังจะรื้ออาคาร คุณพ่อก็เลยมาขออาคารแห่งนี้ บังเอิญคุณพ่อได้เป็นบอร์ดการรถไฟด้วย รถไฟก็เกรงใจ ก็เลยให้แต่อาคาร มีข้อแม้ว่าให้ใช้เป็นสถานที่แสดงนิทรรศการ โดยต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดในการจัดทำนิทรรศการและซ่อมแซม รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการหารายได้

ตอนปี 2533 ที่เราเข้ามามันได้แต่หอเปล่า คุณพ่อก็ไปขอยืมของจากการรถไฟบ้าง ของจากเอกชนบ้าง มีรถไฟคันเดียว ซึ่งเราได้มาจากเอกชน คือขบวน 10089 ซึ่งเป็นคันสุดท้ายที่ไม่เคยวิ่งเลย ตกทิ้งค้างอยู่ที่ตีนสะพานพระราม 9 ในโกดังเก็บของเก่า จนกระทั่งจะมีการสร้างสะพาน เจ้าของเขาถูกเวนคืนที่ดิน เขาก็เลยให้มา เขาเห็นว่าเราน่าจะเป็นคนดูแล แต่เราซ่อมเองนะ ตัวเลขก็มากอยู่ ทีนี้ คุณคิดว่าคนไม่มีรายได้ อยู่ได้มั้ย ที่นี่อยู่ได้นะครับ 17 ปี เราไม่เคยขายอะไรเลย ไม่เคยเก็บเงินค่าเข้าชม ไม่เคยขายของที่ระลึก ของที่เห็น (ซีดี) แจกหมดนะครับ เพียงแต่ว่า ถ้าใครจะช่วยบริจาคก็แล้วแต่

แล้วคันอื่นๆ ละคะได้มาอย่างไร

คันอื่นๆ เราก็ซ่อมเอง ยกเอง แต่ยังขึ้นทะเบียนเป็นของการรถไฟ การรถไฟให้เรายืม แต่เรายืมมาเลย 10 ปีแล้ว ผมถือว่าผมเกือบเป็นเจ้าของแล้ว แต่ถามว่าเราเป็นเจ้าของได้มั้ยตามกฎหมาย คำตอบคือไม่ได้ เนื่องจากรถไฟมันติด ก.ม.ที่เรียกว่า ยุทธภัณฑ์ คนธรรมดาไม่สามารถซื้อขายรถไฟได้ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นแค่ดูแล

ทำหอมา 10 กว่าปีมีใครสนับสนุนบ้างมั้ยคะ

4-5 ปีแรกๆ มีเยอะ เนื่องจากคุณพ่อมีเพาเวอร์ ผมเป็นแค่ช่าง คุณพ่อสั่งอะไรผมก็ทำหมด แต่ผมจะทำเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่มาระยะ 4 ปีหลังคุณพ่อไม่สบาย เป็นอัลไซเมอร์ ตอนนี้อายุ 88 แล้วท่านก็ไม่สามารถมาทำได้ ก็ทิ้งหอนี้เป็นมรดกให้ผม ตอนคุณพ่ออยู่ ทุกคนช่วยหมด คือคุณพ่อจะขออะไรทุกคนก็ยินดี เพราะคุณพ่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนนับถือมาก ถึงแม้เราจะไม่ได้เงินช่วยเหลือเป็นกอบเป็นกำ แต่หอมันก็ยังอยู่ได้ แต่พอคุณพ่อป่วย ทุกคนหายหมด เหลือผมคนเดียวจริงๆ เลยครับ

4 ปีหลังผมใช้เงินส่วนตัวในกระเป๋าดำเนินการไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวของใครที่มาบริจาคให้นะครับ นอกจากตู้รับบริจาค ซึ่งก็ได้ไม่มากนัก

สมัยที่เห็นคุณพ่อทำ เคยคิดมั้ยว่าทำไมถึงต้องมารับภาระอะไรอย่างนี้

คือตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก เราไม่ได้ยุ่งกับเรื่องค่าใช้จ่ายออกแรงเดียว แต่ที่บ้านก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะค่าใช้จ่ายมันสูง บางครั้งก็ต้องไปยืมญาติๆ กัน ยืมบริษัทบ้าง แต่คุณพ่อท่านเป็นคนจะทำอะไรแล้วท่านต้องทำให้ได้ แล้วเราก็ทำให้ท่านได้เหมอืนกัน แต่ตอนแรกมันไม่ค่อยมีปัญหาเพราะคุณพ่อพูดอะไร จะไปขอใครก็มีคนบริจาคให้ ซึ่งเมื่อก่อนผมก็ไม่รู้หรอกว่าใช้เงินเท่าไหร่ เพิ่งจะมารู้ตอนหลังนี่แหละ

ระยะ 4 ปีหลัง ผมใช้วิธีบริหารงานโดยไม่ใช้เงินเลย เพราะตั้งแต่ต้นเราไม่มีน้ำประปาอยู่แล้ว เราไม่ต้องเสียค่าไฟ เพราะตอนที่เรามาเนี่ยถูกตัดไฟ แต่ก็แปลกที่ใครก็ไม่รู้ไปต่อหม้อให้ เราก็เลยได้ใช้ไฟฟรี โทรศัพท์ไม่มีเพราะเราถูกตัดตั้งแต่วันแรกที่เราเข้ามา แต่มันลำบากตรงที่ถ้าจะเอาน้ำมาล้างหอ ต้องขนมาจากบ้าน แรกๆ ก็ไม่ลำบากหรอกครับ เพราะเรามีรถยนต์ใช้ แต่ตอนหลังผมไม่มีรถ ก็ใช้วิธียืมรถลูกสาวบ้าง บางทีก็ไถจากคนออกกำลังกาย ช่วยขนน้ำมาให้ แต่น้ำแค่นี้มันไม่มีทางพอ แค่ล้างพระแท่นรัชกาลที่ 5 ให้สวยงามก็หมดน้ำแล้ว ผมก็ใช้วิธีล้างแค่นั้นแหละ


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 16 ก.ค. 08, 15:24
แล้วมีใครมาช่วยเป็นแรงงานบ้างคะ

ไม่มีครับ ก็เราไม่มีเงินนี่ เงินบริจาคอย่างวันนี้ได้ร้อยกว่าบาท บางวันได้ 40 บาท เพราะฉะนั้นผมก็ต้องประหยัดโดยการมารถเมล์ เวลากินก็เอาอาหารมาจากบ้านเป็นอาหารกล่อง นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ ห้องน้ำเข้าไม่ได้ เพราะมันไม่มี ถ้าทนไม่ไหวต้องปิดประตูหอ แล้วข้ามไปฝั่งโน้น เพื่อเข้าห้องน้ำ ผมถามเจ้าของสถานที่ว่า ทำไมผมขอห้องน้ำถึงไม่ได้ ผมสร้างเองก็ได้ เขาบอกว่า อาจารย์ไม่มีความจำเป็น อาจารย์ปวดก็เดินไปเข้าอย่างคนอื่นซิ

แล้วก่อนผมป่วยเมื่อประมาณสักต้นปี ใครก็ไม่ทราบส่งเจ้าหน้าที่มา บอกว่ามีคนร้องเรียนว่าหอแห่งนี้สกปรก ฝุ่นเยอะ ผมก็เล่าสภาพให้ฟังว่าผมมีอย่างนี้แหละ ทำไม กทม.ไม่ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยผมล่ะ เขาบอกว่าอาจารย์ก็ต้องเซ็นโอนให้ กทม.ก่อนซิคะ แล้ว กทม.ถึงจะมาช่วย ผมก็บอกว่า งั้นไม่เป็นไร ผมนึกในใจนะว่าถ้าเซ็นโอนปั๊บ เขาก็ไล่ผมออก

เห็นบอกว่าตอนนี้มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

มันเกิดปัญหาขึ้นเมื่อเกือบสองเดือนที่แล้ว วันนั้นเป็นวันศุกร์ ก็มีรายการย้อนรอยทีไอทีวีมาถ่ายผม แล้ววันนั้นก็มีเด็กมาเต็ม ผมก็คุยกับเด็ก ผมเปิดเงินบริจาคได้ 40 บาท เราก็เริ่มท้อ หนึ่งแล้ว บังเอิญคืนนั้นผมก็ไปเหลาไม้ทำรถไฟให้เด็ก ใช้คัตเตอร์อันใหญ่ พอดีหมามันเห่า ผมก็ลุกขึ้นมาไม่ทันระวัง คัตเตอร์บาดแขนผม เส้นเอ็นขาดไปสี่เส้น ผ่าตัดสองหน ผมเข้าโรงพยาบาล ออกมาจากโรงพยาบาล ย้อนรอยบอกยังไม่ได้ถ่ายสัมภาษณ์เลย ผมก็เลยต้องถ่ายทั้งที่หมอบอกให้พักฟื้นอีกเดือน ซึ่งสภาพวันนั้น ผมก็เลยบอกว่าผมเลิกหอนะ เพราะเมื่อเราป่วย เราก็ต้องใช้เงินรักษาตัวเอง จะเอาเงินที่ไหนมาดูแลหอ แต่หลังจากรายการออกไป ก็มีคนบริจาคเยอะขึ้น มีคนเอาถังน้ำมาตั้งให้หน้าหอ แล้ว กทม.เองก็บอกว่า ถ้าอาจารย์ต้องการมีคนมากวาดหอก็ได้

เหมือนกับว่าตอนนั้นหมดกำลังใจ

กำลังใจมันหมด มันก็ท้อ ที่จริงผมไม่เคยท้อเลยนะ ผมไม่เคยคาดหวังเลยนะว่าจะมีคนมาดูกี่คน เพราะเราถือว่าเราใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์มานั่งดูนั่งเล่น ใครจะด่าผมก็ทำหูทวนลม เพราะเราถือว่าเราทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว แต่พอเราป่วยมันก็เหมือนทุกอย่างมันล่มหมด ดีที่ว่าตอนหลังมีคนให้กำลังใจเยอะ

แล้ววางแผนอนาคตไว้อย่างไร

ผมกะว่าผมจะทำงานที่นี่อีก 10 ปี แล้วผมอยากให้มันสมพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ซึ่งเราอยู่ที่นี่มาสิบกว่าปี มันไม่สมพระเกียรติเลย ดูแล้วมันไม่สวยงาม ตอนนี้เราก็เลยเริ่มโครงการว่า ขอให้ช่างต่างๆ มาประเมินราคารับเหมา เช่น ซ่อมระบบไฟ ซึ่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็เกือบไหม้ไปแล้ว ซ่อมระบบน้ำ ซึ่งเวลาน้ำท่วมน้ำจะเข้ามาเต็มเลย ต้องทำรางน้ำ ซ่อมสีอาคาร ดูแลเรื่องความปลอดภัยเพราะรอบๆ มันเป็นกระจก ขโมยทุบเข้ามาเป็นประจำ พอเราประเมินตรงนี้ได้ว่าแต่ละส่วนใช้เงินเท่าไหร่ แทนที่เราจะทำทั้งหมดพร้อมๆ กัน ก็ใช้วิธีหาคนที่ยินดีมาช่วยสนับสนุน ซึ่งแต่ละส่วนก็คงใช้เงินไม่เยอะ ตอนนี้ก็มีคนเสนอมาบ้าง

 
Presentable

นี่คือรถไฟที่เราย่อมาจากรถไฟที่เคยเก็บไว้ในโรงรถแห่งนี้ คือรถแม่กลองคันที่สอง ปัจจุบันรถคันนี้เขาย้ายไปไว้ที่เอกมัย คันจริงน่าจะอายุประมาณ 104 ปี และกำลังได้รับการบูรณะ ส่วนเหตุผลที่ต้องจำลองรถไฟคันนี้ขึ้นมา ทายาทตระกูลวิรยศิริบอกว่า "เพราะเราโมโหว่ารถไฟคันนี้มันน่าจะอยู่ที่นี่ เป็นรถไฟเอกชนหนึ่งในสองสายที่เราให้สัมปทาน เรามีรถไฟเอกชนในสมัยรัชกาลที่ 5 สองขบวน คือ รถไฟสายปากน้ำ กับสายแม่กลอง ปากน้ำเลิกไปแล้ว แต่แม่กลองปัจจุบันยังวิ่งอยู่ นี่เป็นรถไฟขบวนที่สองของแม่กลอง และเป็นรถไฟที่เก่าที่สุดในปัจจุบันที่เราพบ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะได้รับการบูรณะตั้งนานแล้ว"




กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ronsiam ที่ 13 พ.ค. 09, 19:45
เรียนคุณปากน้ำเจ้าพระยา ผมเปิด Youtube ไปเรื่อย ๆ แล้วพบข้อมูลทางรถไฟสายปากน้ำเป็นภาพยนตร์ ประมาณปี 1931 (2474) ลองเข้าไปเปิดดูตามลิงค์นี้นะครับ http://www.youtube.com/watch?v=d_98jT7XmZw น่าสนใจมั้ยครับ แถมในภาพยนตร์เรื่องนี้มีสถานีบางจากด้วย อีกทั้งมีภาพสถานีหัวลำโพงฝั่งที่โดนรื้อไปแล้วตรงถนนตรงให้ดูด้วยครับ ผมว่าน่าตื่นเต้นดี


กระทู้: ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 14 พ.ค. 09, 11:28
ขอบพระคุณ คุณ ronsiam มากครับ
เป็นภาพยนตร์ที่สวยงามคมชัดมาก
ผมก็เพิ่งทราบจากภาพยนตร์นี้ว่า สถานีปากน้ำตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา