เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Hotacunus ที่ 14 ม.ค. 06, 05:32



กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 ม.ค. 06, 05:32
 ผมคิดว่า นี่คงเป็นคำถามยอดฮิตในอินเตอร์เน็ตคำถามหนึ่งเลยนะครับ
ไม่รู้เคยมีในเรือนไทยหรือยัง ถ้ามีแล้วก็ขออภัยที่เสนอซ้ำ

ผมได้อ่านความเห็นมาจากหลายๆ เว๊บ ซึ่งก็ยังมีบางคนเชื่อว่าย่อมาจาก "ฝรั่งเศส"
ซึ่งถูกเสี้ยวเดียวครับ เพราะคำว่า "ฝรั่ง" ไม่ได้ย่อมาจากคำว่า "ฝรั่งเศส"
แต่มาจากคำ "เปอร์เซีย" ที่เรียกพวกยุโรปอย่างรวมๆ ว่า "ฟรังงิ" โดยเพี้ยน
มาจาก "แฟรงค์" ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เป็นบรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศส

เชื่อว่าในสมัยที่พวกฝรั่งเข้ามาค้าขายกับอยุธยา ทางราชสำนักอยุธยา
จะมี "แขกเปอร์เซีย" เป็นล่ามครับ ดังนั้น คนไทยก็เลยเรียกพวกยุโรป
ด้วยคำศัพท์เปอร์เซีย "ฟรังงิ" ซึ่งเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยๆ ว่า "ฝรั่ง"

คราวนี้มาดูประเทศอื่นๆ กันบ้างนะครับว่า เข้าเรียกชาวยุโรป (ตะวันตก) กันว่าอย่างไรบ้าง

ภาษากรีก เรียก "ชาวตะวันตก" ว่า "frangos"
ภาษาอาหรับ และภาษาตรุกี เรียก "ifrangi"
ภาษาถิ่นอาหรับอาฟริกาเหนือ เรียก "afrangui"
ภาษาถิ่นอาหรับ เรียก "ifranji" หรือ "franji"
ภาษาอาหรับ เรียก "faranji"
ภาษาอาหรับถิ่นอิยิปต์ เรียก "farangi"
ภาษาอาหรับมาตราฐาน เรียกทวีปยุโรปว่า  "firanja"
ภาษาเปอร์เซียปัจจุบัน เรียก "afrang, faranj, ferang, ferangi, feringhi"
ภาษาทมิฬ (อินเดียใต้) เรียก "farengi, farangi, pirangi"
ภาษามลยัม (อินเดียใต้) เรียก "farangi"
ภาษาไทย เรียก "ฝรั่ง"
ภาษาเขมร เรียก "barang"

(ถ้าภาษาใดผิด ท่านผู้รู้โปรดแก้ไขด้วยนะครับ)

--------------------------------------------
จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้เรียก "ฝรั่ง" กันอยู่ประเทศเดียวครับ ชาวอาหรับก็เรียก "ฝรั่ง" เหมือนกัน
แต่ก็เป็นไปตามสำเนียงของพวกเขา

ดังนั้น เมื่อข้อมูลเป็นเช่นก็ต้องมามองต่อว่า "ฟรังงิ" ของเปอร์เซียนั้น มาจากไหน
ก็มีความเป็นไปได้สูงครับที่เปอร์เซีย จะรับคำนี้มาจากโลกอาหรับอีกต่อหนึ่ง
เนื่องจาก เปอร์เซียนั้น ก็เป็น "ส่วนหนึ่งของโลกอิสลาม"

ผมจึงขอสรุปที่มาดังนี้ครับ

FRANK (เผ่าแฟรงค์ในยุโรป) => FARANJI (ภาษาอาหรับในตะวันออกกลาง) => FARANGI (ภาษาเปอร์เซีย) => FARANG (ภาษาไทย : ฝรั่ง)


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 06, 05:44
 คุณ Hoฯ ค้นที่มาจากภาษาโปรตุเกสหรือยังคะ  เขาเรียกชาวยุโรปว่า ฟรังคี
โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่มาติดต่อกับอยุธยา ทิ้งร่องรอยภาษาไว้ในภาษาไทยหลายคำ เช่น ปัง (ในคำว่าขนมปัง)  กากี ( แปลว่าทราย) สีกากีก็คือสีน้ำตาลอ่อนอย่างทราย


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 ม.ค. 06, 06:55
 ผมลองไปค้นจาก พจนานุกรมออนไลน์มาครับ
 http://www.freedict.com/onldict/por.html

คำว่า EUROPEAN ซึ่งหมายถึงชาวยุโรป ในภาษาอังกฤษ
ภาษาโปรตุเกสใช้ EUROPEU

---------------------------

ส่วนเผ่าแฟรงค์ (Frank) ภาษาโปรตุเกสใช้้ franquia
 http://world.altavista.com

---------------------------

ประเทศในกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลภาษาละติน จะเรียกคนยุโรป ตามสำเนียงตัวเอง ที่เพี้ยนมาจาก EUROPA ทั้งสิ้น


จากนำแนะของคุณเทาชมพู ทำให้ผมลำดับได้ดังนี้ครับ

คำว่า "ฝรั่ง" ไทยเราเรียกอ้างถึง "ชาวโปรตุเกส" ก่อนเป็นชาติแรก โดยอ้างตามคำล่ามเปอร์เซีย จีนเองก็เรียกชาวโปรตุเกสว่า Fo-Lang-Ji (สำเนียงไทยคือ ฝรั่ง) ซึ่งก็น่าจะรับมาจากคำอาหรับ-เปอร์เซียเช่นกัน

คำอาหรับ-เปอร์เซียที่ว่า Farangi-Firanji ก็คงมีที่มาในทำนองเดียวกันครับ คือ

สมัยแรกเกิดคำนี้ พวกแฟรงค์ คงมีอิทธิพลมากในยุโรป (สมัยกษัตริย์ชาล์มาณญ์ ?) พวกอาหรับมารู้จักเผ่าแฟรงค์ก่อน (เหมือนเรารู้จักโปรตุเกสก่อน) ก็เลยเรียกพวกแฟรงค์ว่า "Firanji" (เหมือนเราเรียกโปรตุเกสว่า "ฝรั่ง" ตามคำแขกอาหรับ)

ต่อมาพวกอาหรับก็เลยเรียกประชากรในทวีปยุโรปแบบรวมๆ ว่า "Firanji" (เหมือนเราที่ต่อมาเราเรียกคนที่มาจากยุโรปว่า "ฝรั่ง")

---------------------------------------

ข้อมูลเกี่ยวกับโปรตุเกสมาจาก ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์. "ฝรั่ง." อภิธานศัพท์ คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ. กรมศิลปากร. พ.ศ. ๒๕๔๕.

ฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาในสยามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หลังจากที่อัลฟอนโซ ดัลบูเคอร์ก ตีเมืองมะละกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อนได้ จึงส่งทูตเข้ามาแจ้งและขอทำสัมพันธไมตรีด้วย จนทำสัญญาต่อกันในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ และหลังจากนั้น ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาพำนักอาศัยในสยามเพิ่มขึ้น ในศึกสงคราม เช่น ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มี "ฝรั่งวิลาศโปรตุเกส" อยู่ในกองทัพ และทำความดีความชอบหลายครั้ง

ุุุุ---------------------------------------

ส่วนคำว่า "ขนมปัง" คำว่า "ปัง" ผมไปค้นมา โปรตุเกส ว่า pao (เปา ?) หูบ้านเราคงฟังเป็น "ปัง" ครับ อิอิ (ฝรั่งเศสว่า pain ป็าง)


ส่วนกากี ผมเคยได้ยินมาดังนี้ครับ เห็นว่าเป็นคำฮินดี "คากี" ซึ่งยืมมาจากคำเปอร์เซียคือ คาก (khak) แปลว่า ฝุ่น หรือ ดิน บ้านเราก็เลยเอามาเรียกว่า สีคากี แล้วจึงเพี้ยนเป็น สีกากี


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ม.ค. 06, 20:54
 คำว่า "ขนมปัง" ภาษาจีนกลาง เรียกว่า เมี่ยน เปา
There may also be some connection between the Portugese and Mandarin,
perhaps thru the establishment of a trading post in Macau in 1557?


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: ครูไผ่ ที่ 15 ม.ค. 06, 08:41
 คำว่า "เปา" ในภาษาจีน หมายถึงขนมทั้งหลายที่ทำจากแป้ง เนื้อขนมมีลักษณะแห้งพรุนแบบขนมปังปอนด์หรือซาลาเปา

"เมี่ยน" คือข้าวสาลี  

ส่วนคำว่า "ซาลา" ที่อยู่ในคำว่า "ซาลาเปา" ไม่ทราบที่มาค่ะ


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 11 เม.ย. 10, 08:14
ซาลา มาจาก sara ภาษามลายู แปลว่า อาหาร


กระทู้: ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง" ???
เริ่มกระทู้โดย: indyindy ที่ 19 เม.ย. 10, 20:06
ดิฉันคิดว่าคำว่า "ฝรั่ง" น่าจะมาจากคำว่า "Foreign" ที่แปลว่าต่างชาติ ต่างประเทศ หรือน่าจะมาจากคำว่า  "Foreigner" ที่แปลว่าชาวต่างประเทศค่ิะ