เรือนไทย

General Category => ระเบียงกวี => ข้อความที่เริ่มโดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 09:29



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 09:29
"ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ในนามปากกา "อุชเชนี"  กวีเจ้าของผลงาน "ขอบฟ้าขลิบทอง" สิ้นแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙

"เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ"

เพียงคำไม่กี่คำก็กำจาย
ความเรียบง่ายความงามความอบอุ่น
อันหนึ่งอันเดียวกันอันสมดุลย์
ให้เห็นคุณเห็นค่าความเป็นคน

ให้ดวงเทียนต่อเทียนประดังทอง
ให้ "ดาวผ่องนภาดิน"ประดังหน
ให้เห็นวิญญาณไทยใจสากล
ให้เห็นตนพ้นตนอันไม่ตาย

เจียระไนใจประหนึ่งอนรรฆมณี
คำทุกคำคือกวีมีความหมาย
เป็นกำลังใจรู้อยู่มิวาย
เป็นสร้อยสายอักษราทิพย์วาที

คือรวงข้าวพราวรอบขอบโค้งคุ้ง
คือเรียวรุ้งเริงตะวันปานประสี
คือเอกอักษราวุธ "อุชเชนี"
คือกวีของกวี ที่เรารัก. ฯ


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เสาร์  ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙

http://www.youtube.com/watch?v=OQh_JA73KFg#ws (http://www.youtube.com/watch?v=OQh_JA73KFg#ws)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 09:40
นามจริงท่านคือ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา สกุลเดิม กรองทอง สมรสกับ ม.ร.ว.จิตสาร ชุมสาย

"เออเชนี" เป็นนามเดิมของท่าน ซึ่งมาแปลงเป็นนามปากกา อุชเชนี ในเวลาต่อมา (เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีที่มาจากชื่อนักบุญหญิงในคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก)

ท่านเป็นนักเรียนมัธยมที่สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศในปีนั้น เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็ได้ทุนไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ประคิณ เป็นคนพูดจาไพเราะนุ่มนวล แต่มีความแข็งแกร่งแน่วแน่ในความคิดและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดที่ท่านทำ
 
ท่านนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างมาก

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นนักอักษรศาสตร์ ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พร้อมกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

ขอไว้อาลัยอาจารย์ ด้วยความเคารพรักและความทรงจำที่ล้วนแต่ดีงาม จำความอ่อนโยน ความเมตตาที่จริงใจของท่านได้เป็นอย่างดี

จาก เฟซบุ๊กของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (https://www.facebook.com/ChamnongsriAwareness/photos/a.485727308180438.1073741828.483593508393818/1019635598122937/?type=3)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 09:41
คารวาลัย

แล้วขอบฟ้าขลิบทองก็หมองสี
แก้วกวีลับล่วงสรวงสวรรค์
ทิ้งอักษรกลอนกานท์อันนิรันดร์
เป็นมิ่งขวัญวรรณศิลป์แผ่นดินไทย


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 11:04
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา
เพราะจะตั้งเอง ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
เลยไปแอบๆที่กระทู้ของจิตร ภูมิศักดิ์แทน ;)

เนื่องจากมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจในโลกหนังสือฉบับนมนานตามที่ขึ้นภาพไว้
ว่าจะตัดตอนเป็นประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับกวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เพราะตัวบทสัมภาษณ์ยาวประมาณ 11 หน้าค่ะ คงพิมพ์ทั้งหมดไม่ไหว
เพื่อแสดงคารวาลัยแก่อาจารย์ประคิณ
ไว้ค่อยๆพิมพิ์แล้วทะยอยลงนะคะ



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: Molly ที่ 10 พ.ค. 16, 11:49
ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูที่ตั้งกระทู้นี้เช่นกันค่ะ ดิฉันเพิ่งระลึกถึงนักเขียนท่านนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง แล้วก็ไหลไปกับครรลองชีวิต มาอ่านเจอจากกระทู้นี้ว่าท่านไปอยู่กับพระเจ้าแล้ว ดีใจและเสียใจพร้อมๆ กัน ขอไว้อาลัยให้ท่านด้วยค่ะ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 13:12
ยินดีต้อนรับมิ่งมิตร
ด้วยจิตคารวะมุ่งมั่น
ร่วมส่ง "อุชเชนี" ด้วยกัน
สู่แดนสวรรค์ชั้นฟ้า


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 16, 13:45
ผลงานของ "อุชเชนี" ซึ่งเป็นที่ จดจำ และ จับใจ มากที่สุด เห็นจะเป็น

ขอบฟ้าขลิบทอง

มิ่งมิตร...
เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน
ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว
ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม
ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน
ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน
ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก
ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร
ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก
ที่จะหักพงแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง
ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 21:14
(http://img.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2009052662624_b.jpg)

สัมภาษณ์อุชเชนี  นิด  นรารักษ์

เกริ่นนำ

บทสัมภาษณ์นี้ดำเนินการโดยกองบรรณาธิการนิตยสารโลกหนังสือ 3 ท่าน
ที่ได้แจ้งความประสงค์จะขอสัมภาษณ์ในเดือนมิถุนายน 2522  (หนังสือออกมีนาคม 2523)
โดยใช้สถานที่ทำงานของ “อุชเชนี” คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุริวงศ์
ขณะนั้นผู้ถูกสัมภาษณ์อายุจะครบ 60 ปี ในปีนั้น

กำเนิดอุชเชนี
ประวัติดิฉันมันน้อยนิดจริงๆ เรียนเซ็นโยเซฟคอนแวนต์มาตั้งแต่ 4 ขวบครึ่ง
ตั้งแต่ชั้นมูลจนกระทั่งจบมัธยม 8 ก็อายุน้อยเกินไป 16 ปีเท่านั้นเอง
พ่อแม่รวมทั้งครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ควรจะเรียนต่อสักหน่อย
จึงย้ายจาก ม.8 ฝรั่งเศสไป ม.8 อังกฤษ

ในสมัยนั้นเขาแบ่งอย่างนั้น ถ้านักเรียนฝรั่งเศสจะเรียนทุกอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศสหมด
รวมทั้งคำนวณ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น
เราจะเรียนภาษาไทยชั่วโมงเดียวต่อวัน
ได้ Prize of Honour สำหรับภาษาฝรั่งเศสเป็นรางวัลสูงสุดในโรงเรียนสำหรับ ม.8

พอมาอีกปีดิฉันก็ข้ามไปเรียน ม.8 ของกระทรวงฯ
ดิฉันก็สอบได้ที่ 1 ของทางด้านอักษรศาสตร์ เขามีทางด้านภาษาและวิทยาศาสตร์
ดิฉันสอบได้ที่ 1 ของทั่วราชอาณาจักรไทย ได้ทุนของกระทรวงศึกษาฯในปีนั้นแล้วก็ได้ทุนเข้าจุฬาฯ

เมื่อเข้าจุฬาฯเราได้สิทธิพิเศษเพราะว่าไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ อันนี้สบายมาก...

แล้วก็พอดีตอนนั้นยังชื่อ อ.อ่างอยู่ค่ะ เลยอยู่สุดท้ายปลายโต่งของรายชื่อ
ยังใช้ “อุชเชนี” อีกทีหนึ่งนะค่ะ  เพิ่งใช้ชื่อ ประคิณ เมื่อเข้าจุฬาแล้ว
ตอนต้นๆใครๆก็ยังเรียกชื่อว่า  เออเชนี แล้วก็..รากของคำว่า เออเชนี(Eugenie)
ก็เป็นคำเดียวกับสุชาติ (คือสุชาติ สวสัดิ์ศรี  บรรณาธิการโลกหนังสือ)แปลว่า เกิดดี
ทีนี้คำว่า “อุชเชนี” อาจารย์สิกสวัติ คือ อาจารย์สุจิตต์ ศิกษมัต ตอนนั้นท่านเรียนอยู่ปี 4
เขียนกลอนเก่งมาก เป็นนักเขียนรุ่นพี่ ดิฉันนับถือมากคู่กับคุณสุภร ผลชีวิน
พอเริ่มต้นเขียนกลอน คุณสุจิตต์เป็นคนบอกว่าไหนๆก็ชื่อ เออเชนี แล้วก็ใช้ชื่อ อุชเชนีก็แล้วกัน
มันใกล้เคียงกันมาก ทีนี้ก็เลยกลายเป็นอุชเชนีของกามนิตไป โดยมากคนคิดว่าเอามาจากกามนิตนั่นเอง
แต่ความจริงแล้วรากเกิดจริงๆเอามาจากชื่อดิฉันเอง



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 21:18
กบฏ(เล็กๆ)ของครอบครัว

สมัยนั้นเขาไม่ให้ผู้หญิงไปเรียนค่ะ คือให้นั่นแหละ แต่ไม่สู้เต็มใจนัก
คุณพ่อดิฉันค้าขาย ท่านก็อยากให้ดิฉันไปเป็นเลขาฯของท่าน
ให้เรียนภาษาจีนเพือจะได้เตียมตัวเข้าไปในวงการค้า
ถ้าไม่ได้สอบได้ที่ 1 จริงๆแล้วไม่ได้ทุน ก็ไม่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเลย
ทีนี้ได้ทุนการศึกษาแล้ว คุณพ่อก็หมดทางที่จะบอกว่า ไม่ให้ไปเรียน เพราะว่าเป็นเกียรติด้วย ท่านก็ยอม
โดยมีข้อแม้ว่าดิฉันต้องเรียนภาษาจีนด้วย วันละชั่วโมง ก็ตามใจท่าน...

แต่พอถึงปีที่ 2 ก่อนจะถึงสอบไล่ปลายปี ดิฉันก็บอกว่าขอหยุดเรียนภาษาจีนสักพักหนึ่งเถิด เพราะว่ามันหนักมาก
แล้วก็ดิฉันต้องการเวลาสำหรับสอบให้ดีจริงๆ เพราะปลายปีที่ 2 นี่จะมีรางวัลพิเศษ
เป็นรางวัลพระราชทานเงิน 1 ชั่ง สำหรับผู้ได้คะแนนรวมเป็นที่ 1 ของชั้น
ดิฉันก็เรียนคุณพ่อไปว่า อยากจะได้อันนี้ ขอเวลาเถอะ ท่านก็ว่าได้ ดิฉันก็ดูหนังสือ ผลออกมาได้จริงๆ..

แล้วดิฉันก็เรียนต่อขึ้นปี 3 จำเป็นต้องทิ้งวิชาประวัติศาสตร์ไปวิชาหนึ่งเพราะว่าเขาให้เอา 3 วิชาเท่านั้น ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส
พอปลายปี 3 ก็ต้องทิ้งภาษาไทยอีก ด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง
พอปลายปีที่ 4 ดิฉันก็สอบได้ที่ 1 ฝรั่งเศส  อันที่จริงจะได้รางวัล  สถานทูตแล้วเขาทำเหรียญสลักชื่อให้เสร็จเรียบร้อย
ปรากฏว่าเกิดสงครามอินโดจีนก็ทะเลาะกับฝรั่งเศส เขาเลยไม่ให้
ส่วนภาษาอังกฤษก็ทำเปอร์เซ็นต์คู่มากับคุณขจร สุขพานิช
ซึ่งความจริงตอนนั้นเธอเป็นผู้ใหญ่มาก เป็นครูแล้วกลับย้อนมาเรียนปี 3-4 ต่อ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 21:26

เกือบต้องเปลี่ยนศาสนาบนเส้นทางราชการ

(หลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว)
ดิฉันไปเรียน ป.ม. ต่อ เรียนได้ค่อนปี ญี่ปุ่นก็ขึ้น ตอนนั้นเขาก็ยกชั้น ป.ม.ไปเลย
เพราะว่าดิฉันเป็นแคธอลิค สมัยจอมพล ป. เขาห้ามคนที่ไม่ได้ถือพุทธศาสนารับราชการ
ดิฉันก็เป็นอาจารย์ในจุฬาฯไม่ได้ 

ตอนนั้นอาจารย์ปิ่นท่านสอนตอนอยู่ ป.ม.
ท่านก็บอกว่า ท่านต้องการให้ทำงานอยู่โรงเรียนเตรียมฯอยู่กับท่าน
ท่านใช้สารพัด ให้ทำอะไรต่อมิอะไร
พอถึงสิ้นปีท่านก็บอกว่าจะเป็นข้าราชการได้ไหม ถ้าเป็น ข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนศาสนา

ดิฉันก็บอกว่า ดิฉันไม่หรอก ก็เลยไปอยู่เซ็นต์โยเซฟ ไปสอนหนังสือชั้น ป.ป. (ประโยคประถม) 
ให้เด็กๆที่นั่นอยู่พัก   1 ปี เต็มๆ เสร็จแล้วท่านพระองค์เปรมฯท่านก็ให้คนมาตามบอกว่า
“ประคิณ กลับมาทำปริญญาโทเถอะ ฉันเชื่อว่าภายใน 2 ปีที่เธอทำปริญญาโท เหตุการณ์ต่างๆในบ้านเมืองเราจะเปลี่ยนแปลง”
ท่านก็ให้ช่วยสอนหนังสือที่จุฬาฯด้วย

ระยะนี้มาอยู่ทำปริญญาโทอยู่กับอาจารย์วิทย์ ศิวะศริยานนท์  แล้วก็ช่วยสอนไปด้วย
เสร็จแล้วก็พอจบปุ๊บจริงๆ  ตอนนั้นไม่มีแล้วล่ะ จอมพล ป.  ดิฉันก็เลยเป็นอาจารย์ในจุฬาฯ

จากใต้เงาจามจุรีมาอยู่ใต้เงาเปลือกหอยเชลล์

ขอย้อนไปเล่าตอนเรียนปีที่ 1 ที่จุฬาฯ
ตามปรกติคนที่สอบได้ที่ 1 ของไทยเรา
เขาต้องสอบไปเมืองนอกคิงส์ สกอล่าชิป ดิฉันก็มีสิทธิ์อันนี้ ถูกเคี่ยวเข็ญให้ไปสอบก็ไม่ไปสอบ
ดื้อแพ่งอยู่อย่างนั้น พ่อไม่ต้องการให้ไป พ่อหวงเต็มประดา

สอนหนังสือจุฬาได้ 5 ปี อาจารย์บุสเกต์ (Prof.Bousquet) ก็บอกว่าต้องการมีการสอนวรรณคดีฝรั่งเศสร่วมสมัยในจุฬาฯ
แต่ว่ายังหาตัวไม่ได้เพราะไม่มีใครเรียนมาทางนี้เลย
ก็บอกว่าได้ติดต่อทุนของสถานทูตฝรั่งเศสให้ดิฉัน ให้ไปเรียนมาทางนี้โดยเฉพาะ 1 ปี เพื่อมาสอนในจุฬาฯ
เป็นวรรณคดีร่วมสมัยคือสมัยใหม่ทั้งหมดเลย  เรียนทั้งบทละคร นวนิยายและที่เป็นร้อยกรอง

จบแล้วมาที่จุฬ่าฯ สอนต่ออีก 5 ปีเป็น 10 ปีเต็มๆ แล้วก็พอดีมันไม่สนุกที่จะสอน สุขภาพเลวลงๆ
หมอบอกว่าควรเปลี่ยนอาชีพตั้ง 5 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ทำงาน 5 ปีแรก เขาบอกว่่าดิฉันเป็นคนที่มีเสียงเบามาก
เวลาสอนหนังสือจะต้องออกแรงตลอดเวลา หลอดลมมันจะอักเสบ เจ็บคออยู่เรื่อย
ก็เลยออกมาอยู่บริษัทเชลล์ตอนนั้น 2500 แล้ว


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 21:35
เริ่มเป็นกวีคนจนตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬา

พูดถึงงานเขียนก็เริ่มตั้งแต่อยู่จุฬาและก็อย่างที่ว่า
อาจเป็นเพราะไม่มีใครเขียนอย่างนั้นก็ไม่ทราบ
คือเราเคยชินกับกลอนหรือว่าร้อยกรองซึ่งเป็นแบบวรรณคดีไทยจริงๆ
แล้วก็เขียนมาอย่างไรก็อย่างนั้นตามสมัยโบราณ

พวกพี่ๆเวลาจะเขียนอะไรก็เขียนแบบเก่า เขียนฉันท์ กลอนอะไรขึ้นมาเพราะๆ
ทีนี้ดิฉันพอเริ่มเขียนเรียกว่ากลอนชาวบ้าน กลอนหกบ้าง กลอนแปดบ้าง
โดยใช้คำง่ายๆเลยทีเดียวและเนื้อหาก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ
เป็นเรื่องของคนยากจน

ดิฉันขอเขียนเรื่องคนจน อันนี้มันฝังลึกอยู่จิตใต้สำนึกของคนที่เป็นแคธอลิกหรือคริสตชนโดยทั่วๆไป
คือคนจนนี่ เป็นรากฐานของคริสต์ศาสนามาอีกทีหนึ่ง ผูกพันอยู่กับคนจน
มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่แหละค่ะที่ต้องทำอะไรสำหรับคนจนจริงๆ

เมื่อดิฉันไปปารีสกลับมายิ่งเห็นชัดใหญ่เลย เพราะว่าไปที่โน่น อ่านหนังสือมากมายก่ายกองเหลือเกินเต็มสมองไปหมด
กลับมาอยากระบายออกบ้าง อยากจะเขียนอะไรต่ออะไร  มันก็ออกมาพร้อมกับ นิด นรารักษ์ ด้วย
และมันคล้ายๆกับระยะนั้นไม่มีใครนึกถึงคนยากคนจนอะไรนี่

อีกอย่างหนึ่งที่เห็นด้วยตา...ดิฉันอยู่ในถิ่นคนจนจริงๆก็อย่างที่เขียน "จดหมายจากปารีส"
คนจนแกจะนอนตรงที่ไออุ่นขึ้นมาจากหินข้างทาง
เพราะว่าตามถนนที่ปารีสไออุ่นที่มันขังอยู่ใต้ดินจะมีตารางแข็งๆ แล้วมันก็จะมีไออุ่นพลุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน
แล้วพอหน้าหนาว คนก็จะมาอออยู่ทมี่ไออุ่นนี่ ของพวกนี้เห็นกะตาทั้งนั้น เจอกะตัวทั้งสิ้น
ภาพอะไรต่ออะไรต่างๆ สายน้ำในเขื่อนพวกนี้ ที่มีันออกมาเป็นคอลัมน์นิด นรารักษ์ ทั้งหมดเห็นกับตา

สำหรับนิสิตอักษรฯเองก็จะเขียนเรื่องน้อยที่สุด เพราะว่าเรียนรู้มากเกินไป
เมื่อรู้มากเกินไปทำให้แหยงหมดเลย และจะไม่มีใครยอมเขียนอะไร กลัวจะไม่ดีไปหมด
ที่ดิฉันเขียนมันไม่ใช่วรรณคดี มันเป็นเรื่องชาวบ้าน พยายามที่สุดที่จะไม่ใช้ศัพท์ใช้แสงอะไรเลย
แต่ใช้ภาษาพูดธรรมดา กลอนก็ง่ายๆสั้นๆ เขียนไปคนไม่ชอบก็ไม่ชอบเลยล่ะ

ดิฉันก็ถูกคุณพระวรเวทย์วิสิทธิ์ ท่านเรียกไปดุ ท่านเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยดิฉัน
ท่านเรียกดุว่า “เธอเขียนกลอนอะไร” ดิฉันก็บอกว่า เขียนกลอนอย่างนี้อย่างที่อยากเขียน
ตอนนั้นดิฉันเพิ่งกลับมาจากปารีสใหม่ๆ มีอะไรต่ออะไร พวกกวีฝรั่งเศสสมัยใหม่ ซึ่งตามจริงก็ไม่สมัยใหม่ด้วยซ้ำ

อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม
ดูซิ กวีเก่าเขายังเขียนขนาดนี้ ดิฉันก็เลยชี้ให้ท่านดู
“นี่นะคะ อาจารย์ ดิฉันไม่ได้ไปเอามาจากไหนเลย
ไม่ใช่ว่าแหม เก่งเกิ่งอะไร ดิฉันเอามาจากนี้เห็นไหม วิคตอร์ ฮูโก เขาเขียน
ท่านก็บอกว่า (ตอนนี้อุชเชนีทำเสียงแบบคนแก่) ฉันก็ไม่รู้ ฉันกลุ้มใจ
ใครๆเขาว่า เธอเขียนหนังสืออะไรก็ไม่รู้ล่ะ
ขอสักทีไม่ได้เหรอ อย่าไปเขียน หยุดสักทีไม่ได้เหรอ  
นี่นะคะ ท่านก็หวังดี ท่านก็อาจจะผิดหวังที่ท่านอาจอยากเห็นคนเขียนกลอนอย่างสุนทรภู่
เป็นกวีหรือชมผู้หญิงสวยๆ ดิฉันก็ไม่เป็นอย่างนั้นสักที


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 21:42
จิตอาสารุ่นแรกๆ

เราก็ไปท่องเที่ยวกัน ไปเดินตามสลัม ไปกับคุณหมอชวลิต (น.พ. ชวลิต จิตรานุเคราะห์)
และคุณพ่อบอนแนงก์ (Bonningue) เราก็ไปเดิน น้ำครำสูงเท่านี้ก็ยังบุกไปหน้าตาเฉย

เขามีสะพานเดิน แต่มันไม่อยู่ข้างบน มันอยู่ใต้น้ำอีกที เวลาเราเดิน เราก็ต้องหาว่า สะพานอยู่ตรงไหน
แล้งก็ค่อยๆย่องไป ระหว่างบ้านต่อบ้านที่ดินแดงนั่นแหละ และก็กองขยะอันเหม็นคลุ้งที่ดิฉันเขียนในกลอนที่ว่า ”หลังคามุงจากคาดวงยาง”อะไรนี่ 
คนเขาบอกว่าพูดอะไรไม่รู้เรื่อง  แต่เป็นเรื่องของการคาดวงยางจริงๆ

หลังคาเขาจะทำของเขา  เขาหาตับจากมาได้เขาก็เอามาโปะ
หากระดาษหนังสือพิมพ์มาได้ก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์มาโปะ กระดาษแข็งก็เอามาโปะ ทุกเอย่างมาโปะเป็นหลังคาทั้งนั้น 
ใบไม้อะไรก็แล้วแต่...มันก็จะพรึ่บๆๆๆอย่างนี้เวลาลมมา
เขาก็จะเอายางรถยนต์หรือยางอะไรก็ได้โยนทับลงไปเพื่อจะรักษาให้มันอยู่อย่างนั้น
คือคนจนเขานึกทำอะไรได้ เขาก็ทำของเขา
 
ก็มีคนถามว่า  “หมอๆไปดูซิ คนเจ็บจะทำอย่างไรดี” เราก็บอกว่า “ไหนๆ” เขาก็พาไป
มันเป็นกระต๊อบแค่นี้ ใหญ่เท่าโต๊ะเรานี้ พอที่จะมีคนไปนอนตรงนั้นได้
ทีนี้เขาก็เอาอะไรปะๆไว้เต็ม แล้วเขาก็ปิดข้างบน

เราก็ไปดู เขานอนอยู่ข้างใน หมอบอกว่า แล้วฉันจะเข้าไปอย่างไร จะลงไปอย่างไร ไม่มีทางเข้า ทางออก ในที่สุด
เราก็ตัดสินใจยกหลังคาของเขาออกทั้งอัน ช่วยกันหามเอาตัวออกมาแล้วเอาไปโรงพยาบาล

อยู่บริษัทเชลล์ ดิฉันก็ยังไปสลัม แล้วไปซื้อบ้าน
เสาเรือนมันง่อนแง่นๆ ซื้อบ้านไว้ 3 พันบาท
แล้วก็ชวนพวกนิสิตจุฬาฯให้เขาไปช่วยสอนหนังสือที่นั่น
ตอนนั้นเด็กจะมาเรียน ไม่มีเสื้อใส่เขาจะเอาผ้านุ่งของแม่ผืนใหญ่พับเอาเชือกกล้วยคาด
แล้วนิสิตที่ไปช่วยสอนก็ผลัดกันมา

วันหนึ่งเราเอาเสื้อผ้าไปแจก ก็ปรากฏว่าแทนที่จะดี โดนด่าใหญ่เลย
เราพบว่าคนที่ไม่ได้รับแจกก็ผิดหวังเลยด่าสาดเสียเทเสีย

ตอนแรกๆที่เราเข้าไปในสลัม เขาก็จะหาว่าเรามาหาเสียง
แต่พอเราเข้าไปนานๆจนเขารู้จักเราแล้ว เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้มาหาเสียง เขาก็ดีขึ้นๆ
ส่วนเด็กที่นั่งเรียน เราจะไปซื้อไม้ยาวๆมา เราก็จะต่อขาเตี้ยๆ เด็กจะนั่งกับพื้นแล้วก็เขียนกระดานชนวน
ดินสอก็จะหาไว้ให้ แต่ทำได้ไม่นาน เขาก็มาเอาเด็กเราไปหมด
มีคนจัดการเอาไปเข้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์
ตอนนั้นไม่มีคนไปทำลักษณะแบบนี้ เป็นครั้งแรก ทุกอย่างมันใหม่เกินไปหมด มันเร็วเกินไปสัก 20 ปี



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 10 พ.ค. 16, 22:14
คืนนี้ขอหยุดถ่ายทอดเรื่องราวของท่านไว้แค่นี้ก่อนนะคะ
พรุ่งนี้มีเวลา ค่อยมาเล่าเรื่องส่วนที่เหลือ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 16, 06:04
น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ขอบพระคุณคุณกุลภาที่กรุณานำมาเผยแพร่  ;D


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 16, 08:20
 :D


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 16, 10:34
อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม

นอกจาก "โค้งเคียวเรียวเดือน" ใน "ขอบฟ้าขลิบทอง" อุชเชนียังชี้ชวนให้ชม "จันทร์รูปเคียวเกี่ยวฟ้า" ใน "ใต้โค้งสะพาน" เพื่อเป็นกำลังใจแด่ผู้ทุกข์ทน

ใต้โค้งสะพาน  

ดวงใจ
หยุดไห้เสียทีเถิดหนา
ดูจันทร์รูปเคียวเกี่ยวฟ้า
โลมหล้าด้วยแสงเงินเย็น

เรามีแต่โค้งสะพาน
ต่างบ้านคุ้มหัวไม่เห็น
แต่เช้าถึงค่ำลำเค็ญ
หลบเร้นฝนร้าวหนาวกาย

ละเมอว่านั่นสายรุ้ง
ผุดพุ่งรุ่งเร้าเฝ้าหมาย
โยงสุขสู่กันบั้นปลาย
ฝันร้ายรุ่งเฝือเหลือเงา

เพียงโค้งสะพานอันเดิม
ช่วยเสริมความหวังช่างเขลา
แต่คนยากเข็ญเช่นเรา
มีมากมิเบาเจ้าเอย

ถูกเขาขับไล่ไสส่ง
คงแต่ใจตรงเปิดเผย
เราซื่อเราโง่ทรามเชย
แต่มีหรือเคยคดใคร?

พราวเดือนเลื่อนลับอับแฝง
หิ่งห้อยยังแจงแสงใส
ความหวังแม้พลาดคลาดไป
อาจฟื้นคืนใหม่นานา

ด้วยใจแนบเรียงเคียงสนิท
มิ่งมิตรจงพิงอกข้า
หยัดอยู่สู้โลกพาลา
จนกว่าอรุณรุ่งราง


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 16, 10:51
ตอนแรกๆที่เราเข้าไปในสลัม เขาก็จะหาว่าเรามาหาเสียง
แต่พอเราเข้าไปนานๆจนเขารู้จักเราแล้ว เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้มาหาเสียง เขาก็ดีขึ้นๆ
ส่วนเด็กที่นั่งเรียน เราจะไปซื้อไม้ยาวๆมา เราก็จะต่อขาเตี้ยๆ เด็กจะนั่งกับพื้นแล้วก็เขียนกระดานชนวน
ดินสอก็จะหาไว้ให้ แต่ทำได้ไม่นาน เขาก็มาเอาเด็กเราไปหมด
มีคนจัดการเอาไปเข้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์
ตอนนั้นไม่มีคนไปทำลักษณะแบบนี้ เป็นครั้งแรก ทุกอย่างมันใหม่เกินไปหมด มันเร็วเกินไปสัก 20 ปี

อยู่เพื่ออะไร

ฉันอยู่เพื่อบุคคลที่ฉันรัก       
ซึ่งใจซื่อถือศักดิ์สุจริต
และรักฉันมั่นมานปานชีวิต       
ในความผิดความหลงปลงอภัย

ฉันอยู่เพื่อหน้าที่ที่พันผูก       
เพื่อฝังปลูกความหวังพลังไข
เป็นท่อธารรักท้นล้นพ้นไป       
หล่อดวงใจแล้งรื่นให้ชื่นบาน
 
ฉันอยู่เพื่อค้นคว้าหาสัจจะ       
กลางโมหะอาเกียรณ์เบียฬประหาร
เพื่อสื่อแสงแจ้งสว่างพร่างตระการ       
กลางวิญญาณมืดมิดอวิชชา

ฉันอยู่เพื่อดวงใจที่ไร้ญาติ       
ที่แร้นแค้นแคลนขาดวาสนา
เพื่อรอยยิ้มพริ้มยลปนน้ำตา
บนดวงหน้าโศกช้ำระกำกรม

ฉันอยู่เพื่อเยื่อใยใจมนุษย์       
บริสุทธิ์สอดผสานงานผสม
เป็นเกลียวมั่นขันแกร่งแรงกลืนกลม       
พายุร้ายสายลมมิอาจรอน
 
ฉันอยู่เพื่อความฝันอันเพริศแพร้ว       
เมื่อโลกแผ้วหลุดพ้นคนหลอกหลอน
เมื่ออามิสฤทธิ์แรงแท่งทองปอนด์       
มิอาจคลอนใจคนให้หม่นมัว

ฉันอยู่เพื่อยุคทองของคนยาก       
ที่เขาถากทรกรรมซ้ำปั่นหัว
เพื่อความถูกที่เขาถมจมทั้งตัว       
เพื่อความกลัวกลับบ้าบั่นอาธรรม

เพื่อโลกใหม่ใสสะอาดพิลาศเหลือ       
เมื่อคนเอื้อไมตรีอวยไม่ขวยขำ
เพื่อแสงรักส่องรุ่งพุ่งเป็นลำ       
สว่างนำน้องพี่มีชัยเอย




กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 12:46
ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู  นำกลอนมาขยายคำสัมภาษณ์ค่ะ ;D

จริงๆแล้ว อยากจะลงรูปภาพสวยๆด้วยซ้ำ
เพราะกวีนิพินธ์ของอุชเชนีแต่ละบท สามารถมโนภาพออกมาได้งดงามบนความขมขื่น ยากแค้นได้
เช่น ขอบฟ้าขลิบทอง ใต้โค้งสะพาน
เหมือนภาพเขียนคนยากของจิตรกรหลายท่าน
ถ้าเรียกสมัยใหม่ก็คือ โลกสวยได้แม้บนความทุกข์ยาก
ติดแต่เรื่องลิขสิทธิ์  :(

วรรคทองบางวรรคได้สร้างแรงบันดาลใจเป็นหนังสือของนักเขียนรุ่นหลัง
เช่น เล่มนี้ค่ะ

(http://img.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2012041022656_b.jpg)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 21:26
งานชิ้นแรกของกวีคนจน

“ใต้โค้งสะพาน.” ลงในหนังสือ การเมือง คิดว่า พ.ศ. 2491
เออ.."ใต้โค้งสะพาน” นี่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ฯมากเลยในคณะอักษรฯ
บอกว่า ดิฉันเขียนได้ยังไง ไม่เคยเห็น แต่ความจริงเห็น ที่เขียนนี่เพราะเห็นจริงๆ เห็นกับตาด้วย

ตอนนั้นนักคิด นักเขียน กวีร่วมสมัยก็มี นายผี ทวีปวร มีอีกสองสามคน
แต่ดิฉันไม่มีโอกาสรู้จักเลย แต่เขียนเก่ง เขียนแนวเดียวกันหมด

นายผี ดิฉันเคยเจออยู่บ้างทีสองที เคยพูดคุยด้วย เป็นผู้ใหญ่ จบธรรมศาสตร์ ไม่ทราบเวลานี้อยู่ที่ไหน
ยุคนั้นเหมือนคนบ้าคลั่ง มันไม่เชื่อ มันไปทางเดียวกันหมด
ตั้งแต่ศรีบูรพา มาลัย ชูพินิจ   อิศรา อมันตกุล ไปกันเกรียวไปเลย

ดิฉันไม่ได้ใช้ใครเป็นแบบฉบับ ว่ากันตามจริง เพราะว่าไอ้ที่ดิฉันเขียนทื่อๆ
ดิฉันคิดเป็นตัวเองขึ้นมา เขียนเป็นภาษาลุ่นๆไป

จุดเริ่มต้นของนิด นรารักษ์

ก้อ...คุณศุทธินี (สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์) เขาไปอเมริกา
เขาเขียนคอลัมน์ชีวิตทั่วๆไป พอเขาไปอเมริกาปุ๊ป
ดิฉันเขียนกลอนอยู่ในนั้น เขาก็มาให้ดิฉันเขียนแทน
ก็เขียนอยู่  2 ปี พอเขากลับมาก็คืนเขาเลย
ความจริงดิฉันชอบคอลัมน์นิด นรารักษ์ มากกว่ากลอน
แปลกนะ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นความประทับใจเก่าๆ เขียนไว้นาน
นึกถึงจะให้มาเขียนเดี๋ยวนี้อีกก็เขียนไม่ได้แล้ว
เมื่อก่อนนี้มันเจออะไรปุ๊ป มันกระทบหัวใจ ก็ออกมาเป็นตัวหนังสือได้


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 21:34
โดนตำรวจเดินตามเป็นเดือนๆไม่รู้ตัว

ตอนที่เขียนอยู่นั้นมันไม่มีอะไร มันใกล้ๆกับที่ว่าจะขึ้นสมัยจอมพล ป. พอดี
มันก็โหมหนัก ทำให้จอมพล ป.ง่อนแง่นๆ
และสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์กันเป็นการใหญ่
เพราะคิดว่าตรงไปตรงมา และจะช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น

จอมพลสฤษดิ์ก็รู้ว่า  ที่จอมพล ป. ต้องหมดสมัยไปเพราะอะไร
มันเป็นผลงานของนักเขียนฝ่ายซ้ายแยะเลย มันเป็นไปทั้งคลื่น ต้องใช้คำอย่างนั้น
แล้วท่านคิดว่า ถ้าท่านขึ้นมาเป็นใหญ่คงไม่ปลอดภัยนักที่จะทิ้งพวกนี้ไว้
ท่านก็เลยพยายามเกลี้ยกล่อมบางคนที่คิดว่าจะใช้ประโยชน์ได้
บางคนก็ไม่อยากไป ไม่ยอมตามใจ ท่านก็เอาไปเก็บเสีย
ความจริง ถ้าว่าเขาเป็นเผด็จการ เขาก็ต้องทำอย่างนั้น 
คนที้เก็บทันก็เก็บไป คนที่ไม่อยากให้เก็บ เขาก็ไปของเขาเอง
ไปไหนกันต่างๆ

ตัวดิฉันไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากเขาเดินตาม
ดิฉันไม่รู้เรื่องนี้มาเลยนะ ปกติไปเรื่อยๆ ก็เลิกเขียนหนังสือ
ทุกคนก็เลิกเขียนหนังสือกันหมด ไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนอีกแล้ว ก้อ..นานเชียว

ต่อมามีลูกศิษย์เป็นนายพันตำรวจมาเล่าความหลังว่า
รู้ตัวหรือเปล่า อาจารย์ถูกตำรวจตามทุกๆวัน ตามจากจุฬาฯไปบ้าน
 จากบ้านไปจุฬาฯ จากจุฬาฯไปบ้าน เขาตามอยู่อย่างนั้น
ไม่เห็นดิฉันกระดิกกระเดี้ยไปไหน เช้าก็ไปทำงาน เช้าเย็นๆ สองเดือนเต็มๆ ไม่เกิดอะไรขึ้น
ไม่ได้ไปพบใคร ไม่ได้ไปไหน ตามอย่างนั้นตลอดเวลา เขาก็เบื่อ

เดี๋ยวนี้ก็ไม่เขียนแล้วละ คือว่า มันอะไรทุกอย่างก็เขียนไปแล้ว
อะไรที่อยากพูด อยากอะไรต่ออะไร ก็เขียนไปแล้ว
มันยังใช้ได้อยู่จนเดี๋ยวนี้ ความจริง มันก็ยังเป็นความจริงอยู่



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 21:42
ชอบแซ็งแต็กซูเปรี่ แต่..ขยาดซาตร์

นักเขียนต่างประเทศที่เขาเขียนลุ่นๆคือคนที่ดิฉันชอบ เขาก็ไม่ได้เขียนอย่างนี้
คือดิฉันชอบมากที่สุดก็ แซ็งแต็กซูเปรี่ แต่ว่าเป็นนักเขียนนวนิยาย
คนที่เป็นนักบินแล้วหายไปในอากาศ ชอบคนนั้นมากเพราะเขาเขียนได้สะอาด
อันนี้อาจจะเป็นอันหนึ่งซี่งทำให้ดิฉันไม่อยากแปลวรรณคดีร่วมสมัยของฝรั่งเศสยุคนั้น
เพราะมันขมขื่นกันเกินไป เอะอะก็ชีวิตไม่มีความหมาย
มันตายกันไปง่ายๆหรือว่าฆ่าแกงกันเพียงเพื่อจะ..ขอประทานโทษ..ใช้คำว่าสนองอะไรของตัวเอง
อยากฆ่าก็ทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าจะต้องทำอย่างนั้น

มันอันตรายเกินไปสำหรับเด็กไทยที่เราอยู่ดีๆ เรียบๆร้อยๆ
เรื่องอะไรจะไปเอาความคิดของฝรั่งเศสยุคนั้นซึ่งมันเป็นอย่างที่ดิฉันว่ามากมายทีเดียวมาใส่สมองเด็กเรา
นี่ดิฉันพอกลับมาก็ไม่พยายามแปลเรื่องนี้
แล้วก็อย่าง ซาตร์ ( Jean Paul Sartre) ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะ
เขาเก่งเหลือเกินล้นพ้นไปถึงไหนๆ แต่ก็อันตรายที่สุดสำหรับเด็กๆที่อยู่กับร่องกับรอยธรรมดา
คือดิฉันไปปารีสอายุ 33 แล้ว ก็เป็นผู้ใหญ่พอแล้ว รู้ว่าอะไรควรเก็บไว้ อะไรควรปล่อยทิ้งไป

(พอให้ตัวอย่างได้ไหมว่า ความคิดเขาเป็นอันตรายในแง่ไหน – โลกหนังสือ)
ก็..อุ๊ย ก็หมดแหละ ต่อต้านทุกอย่างที่จะต่อต้านได้ในชีวิตนี้ 
ต่อต้านพระเจ้าอย่างนี้ซึ่งดิฉันเป็นแคธอลิคชั้นดี (โลกหนังสือ เฮ)
แหม..ละครของพวกนี้ตะโกนด่าพระเจ้าหน้าเวที พวกยายแก่ทั้งหลายฟังแล้วฮือฮาๆ
อย่างกามูหรือใครต่อใคร อ่านแล้วอ่อนใจ ถ้าบอกว่า แหม ไปจมในปลักนี้ทั้งอัน น่ากลัวจะทิ้งพระทิ้งเจ้าไปหมดแล้ว
แต่ไม่ ไม่ฮะ

(แต่งานเขียนของอาจารย์ก็ต่อต้านไสยศาสตร์ ความเชื่องมงาย)
ความงมงายก็ต้องต่อต้านซิคะ
ศาสนาคริสต์ไม่ใช่ความเชื่องมงายนะคะ(หัวเราะเบาๆ) จริงๆค่ะ(หัวเราะ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสต์สมัยใหม่ๆนี่ก็พอๆกับพุทธสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสนี่แหละ
คือวิทยาศาสตร์ไปถึงไหน ศาสนาไปถึงนั่นแหละ เลยไปสูงกว่านั้น
จนกระทั่งนักวิทยาศาตร์ยอมรับกันไปหมดแล้ว

ไม่ทราบว่าเคยได้ยินชื่อคุณพ่อ เตยาร์ด เดอ ชาแดงส์ หรือเปล่า 
ท่านสามารถอธิบายชื่อ ศาสนา พระเจ้า กับปรากฏการณ์ธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์
ผสมกลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างดีเลย
และถ้าอ่านพุทธทาสมากก็ใกล้เคียงกันคือไม่ได้หยุดแค่พระพุทธเจ้า
จะไปถึงธรรมชาติ จะไปถึงพระเจ้าถึงไหนๆ ไปคอสมอส ไปไกลมาก
ไปอนันตธรรม โน้น..โน้น..โน้น ..นู้น ถึงไหนๆ สัจธรรมชั้นสูง
หลวงพ่อเตยาร์ดองค์นี้แหละถูกเนรเทศไปแล้วก็ไปตายที่อเมริกา
ที่ดิฉันใช้คำว่าเนรเทศนี้ก็เพราะว่า โป๊ป ไม่ให้อยู่ที่กรุงโรม เป็นจริง
เพราะว่าท่านเขียนหนังสือก็เหมือนท่านพุทธทาสถูกชาวพุทธหาว่านอกคอก อะไรต่ออะไร


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 21:47
มีศิษย์คนเก่งชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
(คำสัมภาษณ์ช่วงนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้วในกระทู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่ะ เปิดอ่านดูได้)


หิ่งห้อย : การเดินทางร่วมกันของสาวอักษรและหนุ่มวิดยา


หิ่งห้อยแปลร่วมกับอาจารย์ระวี ภาวิไล ก็เพราะเป็นหนังสือของอาจารย์ระวี
คือดิฉันสนิทกับอาจารย์ระวี ตั้งแต่สอนที่จุฬาฯ ท่านอ่อนกว่าดิฉันตั้ง 6 ปี  
รู้จักกันมาเรื่อยๆ สมัยนั้นท่านก็เริ่มต้นแปลยิบรานแล้ว
สมัยที่คนอเมริกันยังไม่รู้จักว่า ยิบรานคือใคร  
แล้วที่แปล ก็พูดกันตั้งนานแล้วว่า น่าจะแปล
ดิฉันก็ลงมือแปล นักอักษรศาสตร์เชียว แปลยั้วไปเยี้ยมา
อาจารย์ระวี แกเป็นนักวิทยาศาสตร์ แกตัดเฉิบๆๆๆ แกบอกว่าให้สั้นๆอย่างนี้
 ดิฉันก็ว่า จะเอาสั้นอย่างนี้หรือ ดิฉันก็เลยแปลไปตามสำนวนแก
แปลต่อไปจนจบเลย อันนี้แกถูกอกถูกใจ ก็เลยเอาชื่อ 2 คนใส่ เพราะว่าหนังสือนั่นของแก

กวีไทยในใจ
ยุคใหม่ชอบเนาวรัตน์(พงษ์ไพบูลย์)
ยุคเดียวกันก็ชอบทุกคน ไม่ต้องมีอะไรจะพูดถึงอีกแล้ว
มันก็เหมือนเพื่อนเรา ที่ทำอะไรพร้อมๆกัน มีไม่กี่คน
และเราก็รู้จักกันทางสมอง ต้องใช้คำอย่างนั้น สัมผัสถึงกันได้ทุกคน เขาเก่งกัน

อย่างท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ท่านเขียนของท่านสมัยใหม่แบบนี้
เลือกส่งสัมผัสตามที่ท่านต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องลงตามที่ท่านอาจารย์โบราณเขียนไว้
ดิฉันไม่ขัดข้องเลย และก็ไม่เห็นเป็นอุบัติร้ายแรงอะไรด้วย
เพราะว่าก็เป็นสิทธิของผู้เขียนที่จะถ่ายทอดยังไง
การที่ไม่บังคับสัมผัสตรงนั้นตรงนี้กลับทำให้ดีเสียอีก
เพราะจะทำให้เกิดลีลาและจังหวะที่แปลกไปหว่าเดิม
แล้วก็เสรีภาพในการที่จะใช้ถ้อยคำนี้มากกว่าเดิม

ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมาทีหลังตลอดเวลา
ไม่ได้อยู่ในวงการนี้มาก่อน เราเป็นครูอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
แล้วเข้ามา เผอิญมีโอกาสที่เขาเปิดให้เข้ามาก็ดีถมไปแล้ว  ;)

จบแล้วค่ะ



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 16, 21:57
มีศิษย์คนเก่งชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
(คำสัมภาษณ์ช่วงนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้วในกระทู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่ะ เปิดอ่านดูได้)

โลกหนังสือ  : เคยเป็นอาจารย์สอนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช่ไหม ตามสายตาแล้วช่วงนั้นแกเป็นคนอย่างไร
อุชเชนี       : แกเป็นคน..เป็นคนน่าสงสารมาก ดิฉันว่าแกเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา เป็นผู้คงแก่เรียน
                       เป็นคนที่...เป็นนักค้นคว้า เป็นนักวิจัย เป็นคนที่ไม่ได้พอใจแต่เพียงเล็คเชอร์ของอาจารย์
                       แกจะไปหาอะไรต่ออะไรมาเพิ่มเติมของแก และตอนที่แกหามาเพิ่มเติม บางทีก็เกินไปกว่าที่อาจารย์หามา
                       และอันนี้ดิฉันถือว่าอันตราย แกจะมีอะไรมายันว่า นี่ผมค้นมา พอเจอไอ้นี่ มันก็ยากที่ผู้ใหญ่จะรับหรือบางทีก็....
                       เราต้องเข้าใจว่าการเรียนวรรณคดี คำบางคำ มันเป็นเรื่องของการสันนิษฐานว่าไอ้นี่มาจากนั่น
                       ไอ้นี่คงคือคำนั้นนั่นเอง อะไรอย่างนี้

                       เมื่อเราได้รับการสอนมาแบบนั้น เด็กๆทั่วไปก็คงเข้าใจ และเวลาเราตอบข้อสอบ เราก็จะตอบไปตามนั้น
                       ทีนี้ถ้าหากว่าเกิดมีคนไปค้นมาอย่างจริงจังและสามารถตอบได้ว่า คำนี้นั้นคืออะไร ก็เห็นว่าจะเสียหน้าที่ถูกแย้ง
                    
                       ...นี่ อันทำพิษ (อุชเชนีเปิดให้ดูบทกลอนที่ชื่อ "ในนิมิต")
                       "กลีบกุหลาบฉาบชมพูพรูพรั่งฟ้า" ที่ดิฉันเรียกว่า "อันทำพิษ" เพราะว่าอันนี้เป็นอันที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์
                       ขอไปลงในหนังสือมหาวิทยาลัยแล้วเธอถูกโยนบก ไอ้กลอนอันนี้ที่คุณจิตรขอก็ถูกเซ็นเซอร์ด้วย
              
                       " เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ  พุ่งปลายปราบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
                         ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย    หทัยพร้อยแสงชมพรากสว่างพราว"

                        อู๊ (ขึ้นเสียงสูง) เขาเห็นชื่อดิฉัน เขาก็คงเซ็นเซอร์แล้ว
                        ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่จุฬา  เขาคงเห็นนามปากกาก็ไม่เอาแล้ว ไม่อ่านด้วยซ้ำว่าเราพูดอะไร

                       ส่วนที่คุณจิตรแกเขียน ก็มีพูดถึงพระสงฆ์ คุณจิตรก็วิจารณ์พระสงฆ์
                       คนที่ไม่อ่านบทความทั้งหมด..ขีดเส้นใต้แดงๆตรงนั้่นแล้วเอาตรงนั้นไปประณาม
                       ไม่ดูบ้างว่า ข้างบนเขาพูดมาอย่างไร
        
                       คือคุณจิตร เป็นคนเขียนทุกอย่างๆมีเหตุมีผล ไม่ใช่นึกอยากเก็บพระมาด่า มันไม่ใช่อย่างนั้น
                       ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคารพ เขาเพียงแต่พูดเรื่องจริง

                       ....คนเราลงว่าอยากจะหาเรื่อง มันก็ง่ายนิดเดียว หยิบตรงไหนขึ้นมานิด..
                       แล้วคนพวกนี้เรียกว่าอ่านหนังสือไม่เป็น ไม่ดูทั้งความ เอะอะก็มาจับนิดหนึ่งแล้วก็มาว่า....


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 พ.ค. 16, 22:16
ขอคารวะอาจารย์ครั้งสุดท้่ายด้วยกลอน รุ่งสาง ที่เขียนไว้เมื่อ 2514

รุ่งสาง
เรื่อเรื่อรางสายแสงแจรงสวรรค์
สื่อความโรจน์โชติฟ้าอ่าอำพัน
ดั่งพู่กันเนรมิตจิตรกร

ปลุกมนุษย์รุดพื้นตื่นจากหลับ
ที่แคบคับ กว้าง ขวาง สล้างสลอน
วิมานสุข ทุกข์สภาพ สาปและพร
หัวร่อซ้อนสะอื้นซ้ำน้ำตาปราย

คนหลับนอกครอกครากเหมือนลากโซ่
คนหลับในใจโวโตเหลือหลาย
คนหลับเล่นเฟ้นฝันพรรณราย
คนหลับตายร้างสิ้นความดิ้นรน

ยามนี้หนอชลอจิตอธิษฐาน
บุญบันดาลให้ รุ่งสาง หว่างเวหน
เฉกชวาลฉานฟ้าทั่วสากล
ด้วยแรงดลศรัทธาสง่าใจ

ชี้ทิศทางกระจ่างงามความถูกต้อง
ตามครรลองอิสระมั่นไม่หวั่นไหว
ปลุกชนหลับฉับฟื้นรื่นเรืองไร
สู่หลักชัยช้อนชีพประทีปลอย


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: Molly ที่ 11 พ.ค. 16, 23:14
ขอขอบคุณทุกๆ บทกวีในกระทู้นี้ค่ะ เพราะจับใจมาก และได้รื้อฟื้นความงดงามของภาษาไทยเรา


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ค. 16, 10:12
คำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๓๖

เป็นกวีที่มีความเข้าใจในสมบัติวรรณศิลป์ของไทยซึ่งเห็นความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม มุ่งให้ความหวัง ให้พลัง ปลอบประโลม ให้ผู้อ่านมีกำลังใจต่อสู้ชีวิต มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม ผลการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงความเป็นกวีผู้มีอัจฉริยภาพ ซึ่งใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการส่งสารที่ทรงพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่กวีรุ่นหลังต่อมา


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ค. 16, 14:17
เป็นกวีที่มีความเข้าใจในสมบัติวรรณศิลป์ของไทยซึ่งเห็นความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม

ในนิมิต

กลีบกุหลาบฉาบชมพูพรูพรั่งฟ้า
ว่อนเมฆาเหมือนฝันขวัญพี่เอ๋ย
นภาพิศนิมิตหวามงามกว่าเคย
ชวนสังเวยบูชิตชีวิตนี้

แต่ละชีพต่างกลีบกุหลาบร่อน
ชะลอช้อนชุ่มรักเป็นสักขี
การุณยมานหวานล้ำฉ่ำฤดี
โลมปถพีทุกย่างทางครรไล

ฟ้าระริกเงาระรวยกลางห้วยกว้าง
ก็เหมือนอย่างเราฝังพลังไข
ว่าดวงรุ้งพุ่งผ่านม่านตาใจ
ลึกละไมละเมียดหวังตั้งตาคอย

เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ
พุ่งปลายปลาบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย
อุทัยพร้อยแสงพร่างสว่างพราย

เพื่อฟากฟ้าสายัณห์อย่างวันนี้
จักปรายปรีดิ์เปี่ยมพ้นล้นความหมาย
เพื่อมรรคาประชาชนจักกล่นราย
ด้วยกลีบกรายกุหลาบแก้วผ่องแพรวใจ



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ค. 16, 14:24
มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม

สูงขึ้นไป

เหมือนสายแก้วแวววับระยับเยื้อง
ช้อยชำเลืองชมอุษาคราฉายแสง
พุน้ำหนึ่งผุดพุ่งรุ่งแจรง
ดั่งรุ้งแปลงแปลกฟ้าลงมาดิน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ไม่รู้ท้อรู้หน่ายคลายถวิล
ถึงแดดจ้าฟ้ามุ่นพิรุณริน
ไม่สูญสิ้นศรัทธาที่ตราใจ

สายน้ำแจ๋วแววแจ่มยะแย้มยิ้ม
รับลมพริ้มทอดระทวยอวยอ่อนไหว
อรชรเพียงช่อผกาไพร
ที่ลมไกวกิ่งกล่อมถนอมกัน

พอดาวพรมแผ่นฟ้าระย้าระยับ
สายน้ำกลับเกลื่อนดารากว่าสวรรค์
สะท้อนวาบปลาบพรายประกายพรรณ
เพียงจะหยันพัชราให้พร่ามัว

ความชดช้อยย้อยหยดและรสหวาน
คือทิพยทานแด่ดินถิ่นสลัว
โปรยความรื่นชื่นใจไว้รอบตัว
ดับกระหายคลายชั่วกลั้วกลี

เฉกน้ำมิตรจิตกวีที่บริสุทธิ์
ย่อมผาดผุดผ่องจรัสรัศมี
ผินฟ้าพุ่งมุ่งงามและความดี
หยิ่งในศรีศักดิ์ตนวิมลนาน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ประโยชน์ก่อเกิดล้ำเพียงคำหวาน
สร้างความหวังพลังหมายด้วยสายธาร
จากดวงมานกวีนั้นนิรันดร์เอย


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ค. 16, 14:27
ใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการส่งสารที่ทรงพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่กวีรุ่นหลังต่อมา

เราชุบด้วยใด

ฉันใคร่เห็นเธอก้าวไป
กลางไพรเกลื่อนพฤกษ์ลึกหนา
กลางแดดแผดลวกมรรคา
กลางฟ้าปริปรวนครวญครืน

กลางน้ำกรรชากกรากเชี่ยว
กลางเกลียวฝนกราดฟาดฝืน
กลางโคลนคลุกครูดดูดกลืน
กลางคืนครอบคิดมิดมูล

ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก
ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน
ก้าวไปแม้พูนคนชัง

สัจจะอาจถูกถมทับ
ความดีแหลกยับคับคั่ง
อธรรมอาจเปรื่องประดัง
ความชั่วฉายชั่งนั่งเมือง

น้ำตาฟายฟกตกดิน
รวยรินยิ้มกร้าวเข้าเปลื้อง
ปวดเหน็บเจ็บหายรายเรือง
พิศเฟื่องแสงลิบขลิบฟ้า

คนแพ้คือคนชะนะ
แม้จะถูกเข็ญเข่นฆ่า
คนล้มเพื่อลุกทุกครา
เหล็กกล้าเราชุบด้วยใด


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 12 พ.ค. 16, 18:25
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานดินฝังศพ อ.ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 12 พ.ค. 16, 18:30
ภาพบางส่วนจากหนังสือครับ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 พ.ค. 16, 14:32
เพียงแต่มนุษย์จะรู้จักตายอย่างมีประโยชน์
ตายเพื่ออยู่อย่างอมตะ
แทนการอยู่ที่ไร้ความหมาย เหมือนตายแล้วทั้งเป็น


นิด นรารักษ์
ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หนังสือเพียงแค่เม็ดทราย

พิธีปลงศพ เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี) ณ วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ

ภาพจาก เว็บอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  (http://www.catholic.or.th/main/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81-%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2/%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81/3567-%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%9E-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%93-%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%93-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B2)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 13 พ.ค. 16, 21:15
หวังว่าพิธีปลงศพอาจารย์ประคิณ  คงดำเนินไปอย่างน่าประทับใจ
ของที่ระลึกก็น่าจะประทับใจมากเช่นกันค่ะ

มาต่ออีกนิดนิดหนึ่งถึงบทกวีของอาจารย์
หลายบทล้วนเป็นผลงานของอุชเชนีทั้งสิน
อยากจะยกคำกลอนสั้นๆ ของ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา
ที่ประพันธ์ร่วมกับอาจารย์ระวี ภาวิไล
นั่นก็คือ

(http://www.sabuyjaishop.net/shop/mixxbook/images/h01yzs45m4oeml55330p152011538.jpg)

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2517

ตัวเองมีความผูกพันกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ
จำได้ว่าตอนนั้นยังอยู่ มัธยมปลาย
อาจารย์ภาษาไทยได้ให้ทุกคนลองนำเสนอ วิธีการบอกลารักและอย่าลืมซึ่งกัน
ซึ่งแต่ละคนก็มีท่วงทำนองภาษา ลีลา แบบเด็กๆ คิคุ อะโนเนะ ตามภาษาวัยรุ่น

แล้วอาจารย์ก็อ่านกวีบทหนึ่ง

"บรรณาการแห่งข้าขลาดเกินกว่าจะเรียกร้องให้เธอรำลึกถึง
และเพราะเหตุนี้ เธอจึงอาจจดจำมันได้

ตัดชื่อข้าทิ้งจากบรรณาการนั้น หากเป็นภาระที่หนักเกิน
แต่โปรดเก็บรักษาบทเพลงของข้าไว้"

อึ้งเลยค่ะ ถามอาจารย์ว่ามาจากหนังสือเล่มไหน
แล้วก็พบปก หิ่งห้อย ฉบับที่เอามาให้ดู
ขอยืมอาจารย์นำมาคัดลอกใส่สมุดของตัวเองอยู่พักหนึ่ง แล้วท่องจำขึ้นใจ

จนถึงปัจจุบันพอมีตังค์บ้างก็ซื้อเก็บไว้หลายเล่ม
แจกจ่ายเพื่อนฝูง

ลักษณะของกลอนเป็นคำสั้นๆ กระชับ(แบบนักวิทยาศาสตร์)
แต่การเลือกใช้เอื้อนถ้อยที่สวยงามและมีจังหวะ ลีลา(แบบนักอักษรศาสตร์)
ทำให้ หิ่งห้อย เป็นการเดินทางที่สมบูรณ์จากสองฝั่งศิลป์
บางช่วงเหมือนบทกล่อม
บางช่วงก็เป็นเหมือนบทสวด
บางช่วงก็เป็นเหมือนไฮกุ

อ่านเสร็จแล้ว ต้องเปิดเพลงนี้

https://www.youtube.com/watch?v=OeMkpdur4DQ&list=RDLxRcew13Rlw&index=2 (https://www.youtube.com/watch?v=OeMkpdur4DQ&list=RDLxRcew13Rlw&index=2)



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ค. 16, 14:47
อุชเชนี



'ขนานนาม-อุชเชนี'
กำหนดมีก่อนเกิดกำเนิดฉัน
กวีสตรีวลีรสจดจำนรรจ์
ปรากฏบทประพันธ์ผ่านพจน์เพียร

'ถือหนังสือ-อุชเชนี'
'เพียงเห็นเธอ' แทบวิธีที่อ่านเขียน
'สูงขึ้นไป' 'ก้าวไป' แรงใจเรียน
'รอยจารึก' นวลเนียนเทียนประกาย

'ท่องกลอน-อุชเชนี'
'อยู่เพื่ออะไร' ชี้มีความหมาย
'ก้าวเธอยังก้องปถพี' ภาย
'ในนิมิต' ทั้งหลาย 'ใต้โค้งสะพาน'

'หยัดอยู่สู้โลกพาลา
จนกว่าอรุณรุ่งราง' ฉาน
แสงทองส่องแต้มแก้มกาล
ขับขานสนธยาอรุโณทัย



คือน้อยนิดเนิ่นนานกาลหนึ่งนั้น
คือจริงฝันดีงามสยามสมัย
คือลิขิตจิตวิญญาณบันดาลใจ
คือดอกไม้ผลิถ้วนสวนศรัทธา

คือประโลมปลุกประเลงเพลงพิสุทธิ์
คือมนุษยชาติใช้ใจภาษา
คือ 'หิ่งห้อย' พร้อยแพร้วแววชีวา
คือดวงตาพิเศษศิลปิน

คือคำร้องทำนองของอักษร
คือสายทางสุนทรของวรรณศิลป์
คือสายธารกาลเวลาของฟ้าดิน
คือยลยินเมืองทิวาทุ่งราตรี

คือ 'ขอบฟ้าขลิบทอง' ของคิดถึง
คือคำนึง 'เพียงแค่เม็ดทราย' วิถี
คือ 'ดาวผ่องนภาดิน' ของยินดี
คือ 'ประคิณ' 'อุชเชนี' 'กวีนิพนธ์'

ไพวรินทร์  ขาวงาม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)
พุทธศักราช ๒๕๕๘
เสาร์ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ค. 16, 11:16
กลอนบทนี้อุชเชนีเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ยังคงทันสมัยอยู่จนปัจจุบัน

ความคิดอิสระ

เพื่อนใจ
ฝันทำไมถึงทุ่งหญ้าสุดตาโพ้น
ฝันทำไมถึงรวงโรจน์อันโชติโชน
ฝันทำไมถึงไม้โอนโยนกิ่งไำกว

เขียนทำไมถึงอรุณอันอุ่นอก
เขียนทำไมถึงนกผกไถล
เขียนทำไมถึงลีลาผกาไพร
เขียนทำไมถึงธาราซ่าซ่าเย็น

นาครธรรมล้ำเลื่องรุ่งเรืองกว่า
เพียงเธอกล้าวาดวางอย่างเราเห็น
ปราสาทแก้วแวววรรณกลางจันทร์เพ็ญ
กับตึกเด่นโดดฟ้าท้าพระพาย

อุทยานปานชะลอมาล่อหล้า
จากฟากฟ้าสุดซึ้งตรึงตาหลาย
ผกาเพ้อเผยอดอกออกเรียงราย
กลีบกระจายเกลื่อนหอมย้อมปถพี

ขอบใจ
ที่ห่วงใยดื้อดึงมาถึงนี่
นาครธรรมล้ำเลื่องเรืองรูจี
เห็นไม่มีวันซึ้งเข้าถึงกัน

อันความคิดอิสระใคร่ผละโผน
กระเจิงโจนจากกรอบและขอบขัณฑ์
สู่ทุ่งกว้างกลางแจ้งแสงตะวัน
บ่มความฝันเฟื่องฟ่องละล่องไกล

ลมพัดผ่านหวานหวิวละลิ่วลิบ
ดังได้จิบอมฤตสนิทใส
จินตนาการคล้อยเลื่อนลอยไป
แมกเมฆมุ่นอุ่นละไมในฟ้าคราม

อิสรภาพวาบวิไลกว่าใดอื่น
สุดจะฝืนมอบไปให้ใครหยาม
ถึงยากดีมีจนใช่คนทราม
ยอมกราบงามขายงานวิญญาณตน


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 พ.ค. 16, 14:36
คำบอกเล่าของ สิงห์สนามหลวง (ตัวเป็นๆ)  อดีตทีมงาน นิตยสารโลกหนังสือ
ในคอลัมน์ ประชาชื่น มติชนออนไลน์

"อาลัย ‘อุชเชนี’ และบทกวีที่มีเพื่อเพื่อนมนุษย์"
http://www.matichon.co.th/news/140594 (http://www.matichon.co.th/news/140594)


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ค. 16, 14:56
"อาลัย ‘อุชเชนี’ และบทกวีที่มีเพื่อเพื่อนมนุษย์"
http://www.matichon.co.th/news/140594 (http://www.matichon.co.th/news/140594)

บทสรุปของ คุณพิมพ์ชนก พุกสุข ผู้เขียนบทความนี้ น่าสนใจ


งานของอุชเชนีนั้นอยู่ข้ามพ้นกาลเวลามาหลายยุคสมัย ผ่านทั้งความยินดีและความขมขื่นของบ้านเมืองในวันที่บรรยากาศหม่นมัว และลมฝนอันกระโชกแรงต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม

และยังคงเป็นบทกวีที่ให้ความหวังที่จะเห็นสิ่งที่ดีกว่าในบ้านเมือง

เพื่อสักวันหนึ่ง เราจะได้เห็นเส้นรุ้งและแสงทองที่ขลิบขอบฟ้านั้นอย่างเท่าเทียมกัน



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 16, 14:52
อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม

มีอีกหนึ่งวรรคทองที่อุชเชนีอาจนำมาจากบทกวีของวิกเตอร์ ฮูโก

ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก
ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน
ก้าวไปแม้พูนคนชัง


วิกเตอร์ ฮูโก Victor Hugo (1802-1885) กวีชาวฝรั่งเศส ได้เขียนถึงบทบาทของกวีไว้ตอนหนึ่งในบทกวีชื่อ Fonction du poete  (http://www.bacdefrancais.net/fonction_poete_hugo.php) ในหนังสือรวมบทกวีชื่อ Les Rayons et les Ombres (1840) ดังนี้

Le poète en des jours impies
Vient préparer des jours meilleurs.
ll est l'homme des utopies,
Les pieds ici, les yeux ailleurs.
C'est lui qui sur toutes les têtes,
En tout temps, pareil aux prophètes,
Dans sa main, où tout peut tenir,
Doit, qu'on l'insulte ou qu'on le loue,
Comme une torche qu'il secoue,
Faire flamboyer l'avenir !


จิตร ภูมิศักดิ์ถอดความไว้ว่า

กวี ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์เช่นนี้
ย่อมจักแผ้วทางไว้เพื่อวันคืนอันดีกว่า
เขาคือบุรุษแห่งยุคสมัยของความใฝ่ฝัน
ตีนทั้งสองเหยียบยืนอยู่  ณ  ที่นี้
ตีนทั้งสองเพ่งมองไปเบื้องหน้าโน้น
เขานั่นเทียว โดยไม่คำนึงถึงคำประณามและเยินยอ
เปรียบเสมือนผู้ทำนายวิถีแห่งอนาคต
จักต้องกระทำสิ่งที่จะมาถึงให้แจ่มจ้า
เสมือนหนึ่งโคมไฟในมืออันอาจรองรับสรรพสิ่งของเขา
ซึ่งกวัดไกวจ้าอยู่เหนือศีรษะของมวลชนทุกกาลสมัย


ขออนุญาตสรุปความเป็นบทกวีดังนี้

เพื่อแผ้วถางทางที่อันดีกว่า
ไม่นำพาคำเยินยอฤๅเย้ยหยัน
ถือโคมฉายส่องสว่างพร่างพรายพลัน
เป็นเช่นนั้นคือ "นิยามนามกวี"


นามปากกาหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์คือ "ทีปกร"  อันหมายถึง "ผู้ถือดวงประทีป"  ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของฮูโกบทนี้เช่นกัน  ;D


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มิ.ย. 16, 08:01
มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม

มิช้าฟ้าสางรางรอง

เพื่อนรัก
หนาวนักเหนื่อยเหน็บเจ็บหรือ
หลับเถิดลมร้ายรายระบือ
หวีดหวือเวียนใจใกล้แล้ว

ขลุ่ยครวญหวนโหยโรยล่อง
ทั่วท้องทุ่งธารลานแก้ว
หลับเถิดดาวรุ่งพุ่งแพร้ว
วาดแววหวังวับจับฟ้า

โลกนี้แสนคับอับเฉา
มือเจ้าวางบนมือข้า
พอแล้วหลับเถิดแก้วตา
มิช้าฟ้าสางรางรอง

สาดแสงแรงรักหลักโลก
คลายโศกทุกข์เศร้าเราสอง
หลับเถิดรักเจ้าราวทอง
ผาดผ่องใจจนล้นมี

แดนดินถิ่นดำคล้ำมืด
ชาชืดเฉาใจใคร่หนี
หลับเถิดรักกล้าข้านี้
จักคลี่แสงคลุมคุ้มกัน

ความหวังฝังไว้ในดาว
ในหาวห้วยไม้ไพรสัณฑ์
หลับเถิดกว่าแสงตะวัน
เฉิดฉันแฉกฟ้าร่าเริง



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 มิ.ย. 16, 09:26
จากคุณชูวงค์  ;D

   ท่านอาจารย์อุชเชนี เป็นกวีอีกท่านหนึ่งที่ผมบูชาครับ และหนังสือ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ของท่าน ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีหนึ่งในหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน เสียดายครับอาจารย์ ผมเสียดายตรงที่หนังสือกวีนิพนธ์อีกเล่มหนึ่งของท่าน คือ “ดาวผ่องนภาดิน” กลายเป็นหนังสือหายากไปเสียแล้ว ผมเองก็หมดสิทธิ์ครอบครองครับ เพราะตามแสวงไม่พบเลย

   มีข้อสังเกตประการหนึ่ง นั่นคือ ท่านอุชเชนีนั้น นอกจากจะเป็นมือกลอนแล้ว ท่านยังเป็นมือฉันท์ชั้นครูอีกด้วย ใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” แม้งานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นกลอน แต่ก็พบฉันท์จำนวนหนึ่ง ขณะนี้ผมอยู่ที่ทำงานครับ เลยมิได้นำหนังสือเสียงเรื่องขอบฟ้าขลิบทองติดตัวมา ถึงกระนั้น ก็ขออนุญาตเขียนถึงบทกวีชื่อ “พลังรัก” ที่ผมชื่นชอบสักนิดหนึ่งครับ

   ท่านอุชเชนีรจนาบทกวี “พลังรัก” ด้วยภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ ลีลาฉันท์เป็นไปตามขนบคัมภีร์วุโตทัยอย่างเคร่งครัด แต่เสน่ห์ซึ่งท่านสอดซ้อนเข้าไป นั่นคือ สัมผัสใน (สัมผัสสระ) ครับ ภุชงคประยาตฉันท์ บทหนึ่งแบ่งเป็นสองบาท บาทละ ๒ วรรค แต่ละวรรคกำหนดให้เขียน ๖ พยางค์ตายตัว โดยพยางค์ลหุ อยู่ตรงพยางค์ที่ ๑ กับ ๔ ถ้าจะสอดซ้อนเสน่ห์ด้วยสัมผัสใน (สัมผัสสระ) กวีท่านจะกำหนดให้พยางค์ที่ ๓ กับ ๕ ซึ่งเป็นพยางค์ครุสัมผัสกัน ทำให้อ่านแล้วไหวพลิ้ว ท่านอุชเชนีดำเนินลีลาของ “พลังรัก” ในครรลองนี้ชนิดเอตทัคคะทางฉันท์ ภุชงคประยาตของท่าน มีสัมผัสในปรากฏในวรรคที่หนึ่งของบาทแรก และวรรคที่ ๑ กับ ๒ ของบาทที่สอง ตั้งแต่ต้นจนจบบท ผมจึงถือเอา “พลังรัก” เป็นตัวอย่างภุชงคประยาตฉันท์ชั้นเซียนเหยียบเมฆอีกบทหนึ่งครับ


กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 มิ.ย. 16, 09:27
คงนิรันดร์ คงเสน่ห์ “อุชเชนี”

   ใครหนอเคยเผยความไม่คร้ามพ่าย
เมื่อยามร้ายทุรยุคคลุมทุกหน
“หวานแต่แกร่ง” แรงไฟเฝ้าใฝ่ประพนธ์
ปลุกผู้คนขมขื่นให้ตื่นมา

   “เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ”

   ผ่านเจ็บปวดรวดร้าวกี่ราวเรื่อง
ยังสืบเนื่องกานท์ขลังกำลังหนุน
เกียรติบันลือคือ “กวีผู้มีคุณ”
เปรียบดั่งขุนเขาสง่ายืนท้าทาย

   แม้วันนี้ชีวิตสถิตสรวง
พจน์ทั้งปวงไป่เคยระเหยหาย
เป็นเพชรพริ้งมิ่งขวัญผ่องพรรณราย
ก่องกำจายเจิดจ้าเหนือตาวัน

   คงถ้อยร่ำคำขานเนิ่นนานสมัย
คงอำไพเพราเพริศพร่างเฉิดฉัน
คงจำหลักลักษณ์โศลกแก่โลกบรรณ
คงนิรันดร์ คงเสน่ห์ “อุชเชนี”

ขอน้อมคารวาลัยท่านอาจารย์ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา (นามปากกา “อุชเชนี”, “นิด นรารักษ์”) ศิลปินแห่งชาติ
สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งถึงแก่กรรมในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ (http://www.kawethai.com/board/index.php?action=profile;u=2081;sa=showPosts)
๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙



กระทู้: อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 20, 07:20
กราบครู ‘อุชเชนี’
อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

มาอีกครั้ง ... มาปฏิบัติธรรม
ภาพครูในทรงจำยังแจ่มใส
ณ สุสาน ‘ศานติคาม’ สงบใจ
เรามากราบครั้งใด ... ก็ยินดี

รำลึกครูผู้สร้างงานเพื่อเพื่อนมนุษย์
รำลึกความโรจน์รุจน์พิสุทธิ์ศรี
รำลึกทวนร้อยรสบทกวี
‘ฟ้าขลิบทอง' วันนี้ยังงดงาม

ณ สุสาน ‘ศานติคาม’ งามสงบ
เราได้พบภาพมรณาน่าเกรงขาม
บ้านคนตายมีศานติผลิเรืองราม
มาทุกยามภาพจริงยิ่งเตือนใจ

กราบขอบคุณ ‘อุขเชนี’ ที่ยิ่งยศ
งามหมดจดทุกย่างก้าวเท่าทันสมัย
เป็นตัวอย่างชีวิตเป็นนิจไป
กราบครู ‘อุชเชนี’ ไว้ ณ วารนี้

ชมัยภร  แสงกระจ่าง
ในนามกลุ่มปฏิบัติธรรมกับคุณหมออมรา มลิลา
๔ กันยายน ๒๕๖๓