เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 09:39



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 09:39
ประวัติสุนทรภู่อย่างที่เรารู้จักกันทั่วไป  มาจากพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นคว้าเรียบเรียงขึ้น เพื่อจัดพิมพ์พร้อมกับหนังสือ เสภาพระราชพงศาวดาร ที่สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง    จัดพิมพ์ในงานฉลองพระชันษาครบ 60 ปี

ประวัติที่ว่านี้ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงอีกเล็กน้อย   แต่ข้อใหญ่ใจความก็เหมือนครั้งแรก   เป็นที่แพร่หลายและยอมรับต่อๆมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม มีประวัติสุนทรภู่อีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าฉบับนี้   คือฉบับที่พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ไปค้นคว้าสัมภาษณ์มาจากคำบอกเล่าของผู้ที่รู้เรื่องชีวิตของสุนทรภู่   จะรู้โดยตรงหรือว่ารู้จากญาติผู้ใหญ่คนรู้จักบอกเล่ากันมาก็ตาม
เก็บความจากหนังสือ ที่ภาควิชาภาษาไทย  คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์ขึ้นค่ะ

ป.ล. ขอสะกัดดาวรุ่ง คุณหมอเพ็ญชมพู  ซึ่งจะเข้ามาบอกว่ากระทู้ใจความเดียวกันนี้เคยตั้งมาแล้วในเรือนไทย
ขอเรียนว่ากระทู้นี้จะเรียบเรียงเนื้อความเสียใหม่จากกระทู้เดิมซึ่งคัดลอกบทสัมภาษณ์เป็นท่อนๆ ไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นเนื้อความเดียวกันค่ะ
กระทู้นี้จึงตั้งขึ้นเพื่อเรียบเรียงให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 10:56
ปูเสื่อรอ  ;D 

(http://ptcdn.info/emoticons/catcity/catcity001.png)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 18 ม.ค. 17, 12:56
เข้ามานั่งรอแล้วครับ
เหลียวหน้าแลหลัง ยังมีที่ว่างเยอะเลย
บรรยากาศแถวๆเรือนไทยกำลังสบาย
ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านด้วยครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 18 ม.ค. 17, 13:20
มาครับ  :)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 18 ม.ค. 17, 13:31
มาครับ มาครับ มาครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 13:57
กระทู้นี้บรรยากาศไทยแท้   จึงขอเสิฟหรุ่มเป็นของว่างยามบ่าย  ให้นักเรียนโค่งนอนเอกเขนกบนเสื่อ ฟังไปรับประทานไปค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 14:15
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับเจ้าคุณปริยัติธรรมธาดากันก่อนนะคะ

    ในบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตไทย ผู้ก่อคุณูปการทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นหลังอย่างที่จะลืมเสียมิได้    เจ้าคุณปริยัติฯนับเป็นหนึ่งในแถวหน้าค่ะ   ท่านเกิดในรัชกาลที่ 4  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2405   บิดามารดาชื่อนายพ่วงและนางปิ่น  เป็นชาวตำบลบ้านเพรียง อำเภอโพไร่หวาน จังหวัดเพชรบุรี

     ในวัยเด็ก  เด็กชายแพเล่าเรียนหนังสือที่วัดห้วยเสือ และวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี  ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรและเล่าเรียนพระปริยัติธรรมคือภาษาบาลี จนอายุ 19 ปี จึงได้เข้ามาเล่าเรียนต่อในกรุงเทพ   อยู่ในสำนักสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
     เณรแพเข้าแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง   สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค พอดีอายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบท ณ วัดราชประดิษฐ์นั้น โดยสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
     ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปรับราชการ   ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ารับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2430    ชีวิตราชการท่านก็เจริญไปด้วยดี  จากบรรดาศักดิ์ขุนประเสริฐอักษรนิติ เลื่อนขึ้นเป็น หลวงประเสริฐอักษรนิติ ตำแหน่งปลัดกรม กรมศึกษาธิการ แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระปริยัติธรรมธาดา ตำแหน่งเจ้ากรมราชบัณฑิตขวา ในรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาปริยัติธรรมธาดา


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 14:17
 ;D


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 17, 16:41
      พระยาปริยัติธรรมธาดาเคยอยู่ในผ้าเหลือง เป็นเปรียญ 4 ประโยค ไม่ได้อยู่นานจนสอบได้มากกว่านั้นก็จริง  แต่โชคดีท่านไ้ด้เรียนในสำนักของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ซึ่งทรงได้รับสมญานามว่า "พระสังฆราช 18 ประโยค" เพราะทรงสอบประโยค 9 ได้สองครั้ง  เจ้าคุณท่านจึงมีความเชี่ยวชาญทางภาษาและอักษรศาสตร์ เป็นเยี่ยมคนหนึ่ง   พูดได้หลายภาษาโดยเฉพาะภาษาบาลีและสันสกฤต ทั้งเป็นผู้สนใจในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกด้วย

     พระยาปริยัติธรรมธาดา สร้างผลงานทางอักษรศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็นจำนวนมาก  เช่นจัดทำปทานุกรมไทย ฉบับกระทรวงธรรมการ ซึ่งถือว่าเป็นฉบับทางราชการ สำเร็จเป็นคนแรก เป็นผู้เรียบเรียงพจนานุกรมบาลี-ไทย ที่เรียกว่า พระบาฬีลิปิกรม ซึ่งเป็นพจนานุกรมบาลี-ไทย ที่เรียบเรียงโดยคนไทย สำเร็จเป็นคนแรก

    เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ทำให้ชื่อท่านเป็นที่รู้จักในแวดวงนักประวัติศาสตร์ คือ ในปี พ.ศ. 2450 เมื่อครั้งท่านยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้พบต้นฉบับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี จำนวนหนึ่งเล่มสมุดไทย ความเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงจนถึงสิ้นรัชสมัยพระนเรศวร จึงขอมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการหอพระสมุดเห็นเป็นหนังสือพระราชพงศาวดารแปลกจากฉบับอื่น ๆ ที่มีแล้ว จึงให้เรียกชื่อว่า "พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์" ให้เป็นเกียรติยศแก่ผู้พบ และนำมามอบให้หอพระสมุด ซึ่งพงศาวดารฉบับดังกล่าวนี้ปัจจุบันเชื่อว่ามีความถูกต้องแม่นยำในด้านศักราชของเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นอันมาก
    สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงที่มาตอนนี้ว่า
    ""พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่าอันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร    วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่งกำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุ  ถามว่าจะเอาไปไหน  แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุดบันทึกสำหรับลงรัก  พระยาปริยัติธรรมธาดาขออ่านดูหนังสือสมุดเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่และส่งให้หม่อมฉันที่หอพระสมุดฯ หม่อมฉันจึงให้เรียกว่า "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้มา"

    ในรัชกาลที่ 6  ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ตาละลักษมณ์ - Talalakshmana" เป็นนามสกุลลำดับที่ 1234

พระยาปริยัติธรรมธาดา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2469  ด้วยโรคเบาหวานและท่อปัสสาวะพิการ ที่บ้านเลขที่ 148 เชิงสะพานรามบุตรี ถนนจักรพงษ์  อำเภอชนะสงคราม  สิริอายุได้ 65 ปี


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 17, 08:55
     ประวัติสุนทรภู่ฉบับนี้เป็นหนึ่งในผลงานทางด้านประวัติวรรณคดีของพระยาปริยัติฯ   ก่อนหน้านี้มี  "ประวัติศรีปราชญ์"  ซึ่งค่อนไปทางนิทานเสียมากกว่าเป็นชีวประวัติ    ผิดกับประวัติสุนทรภู่ ซึ่งเป็นบันทึกจากการสัมภาษณ์สอบถามบุคคลต่างๆร่วมสมัยของท่านที่ยังทันรู้เห็นหรือได้ฟังมาเกี่ยวกับสุนทรภู่  ท่านได้จดไว้เป็นบันทึกสั้นๆ ในแต่ตอนช่วงตอนที่ได้รับคำบอกเล่ามา     เขียนด้วยลายมือและมีตัวพิมพ์ดีดรวมอยู่ด้วย
     เป็นบันทึกที่เขียนขึ้นก่อนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงประวัติสุนทรภู่ ถึง 9 ปี
     บันทึกนี้เก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ    ตกทอดมาถึงสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ   ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2530  ในวาระครบ 200 ปีสุนทรภู่


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 19 ม.ค. 17, 09:50

เข้ามารอฟังค่ะ  หรุ่มน่ารับประทานมาก


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ม.ค. 17, 09:53
ท่านมีบุตรคนสุดท้องเลย ชื่อ ณ เณร ตาละลักษณ์


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 17, 09:58
ท่านมีบุตรคนสุดท้องเลย ชื่อ ณ เณร ตาละลักษณ์

เพิ่งโยงเข้าหากันได้เดี๋ยวนี้เอง  น่าสงสารจริงๆ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 19 ม.ค. 17, 10:29
มาลงชื่อติดตามค่ะ

เห็นรูปหรุ่ม หายากมากที่จะมีใครทำขาย แต่เคยซื้อที่ดิโอลด์สยามมารับประทาน อร่อยมากๆเลยค่ะ มี 6 ชิ้นราคา 60 บาท


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 17, 13:20
ในรัชกาลที่ 6  ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ตาละลักษมณ์ - Talalakshmana" เป็นนามสกุลลำดับที่ 1234

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/222.PDF



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 17, 15:35
ชีวิตราชการท่านก็เจริญไปด้วยดี  จากบรรดาศักดิ์ขุนประเสริฐอักษรนิติ เลื่อนขึ้นเป็น หลวงประเสริฐอักษรนิติ ตำแหน่งปลัดกรม กรมศึกษาธิการ

พระยาปริยัติธรรมธาดา ถ่ายเมื่อเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปลัดกรมศึกษาธิการ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 17, 19:17
    สาเหตุที่พระยาปริยัติธรรมธาดาสนใจประวัติสุนทรภู่  คงไม่ใช่เพราะสุนทรภู่เป็นกวีมีชื่อเสียงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วแผ่นดิน เพียงอย่างเดียว    แต่คงเกี่ยวกับงานในหน้าที่ ที่ท่านเป็นอาลักษณ์และราชบัณฑิตด้วย
    ท่านเกิดในรัชกาลที่ 4  ทำงานในรัชกาลที่ 5   ไม่กี่สิบปีหลังยุคสุนทรภู่มีชีวิตอยู่    คนที่ทันรู้จักสุนทรภู่ ก็ยังมีตัวตนอยู่  ไม่ถึงกับตายกันไปหมด    ลูกหลานของผู้ที่รู้จักสุนทรภู่ไดัรับการบอกเล่าจากญาติผู้ใหญ่ ก็ยังพอจำเนื้อความกันได้     คนเหล่านี้ถ่ายทอดเรื่องราวให้พระยาปริยัติฯฟัง     จนท่านสามารถรวบรวมมาเป็นข้อมูล ปะติดปะต่อประวัติของกวีเอกเข้าด้วยกัน

  บุคคลเหล่านี้ที่ควรเอ่ยถึงก็เช่่น   พระยาสโมสรสรรพการ(ทัต) เคยเป็นนายของนายพัด บุตรสุนทรภู่   พระพิมลธรรม(ใย) และพระธรรมถาวร  เจ้าคุณทั้งสองรูปนี้เคยบวชในสำนักเดียวกับสุนทรภู่   หลวงพรหมา(จัน)เป็นเพื่อนเก่าของสุนทรภู่   พระอมรสินธพ(นก) เป็นขุนนางตำแหน่งอาลักษณ์วังหน้า สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งสุนทรภู่รับราชการอยู่ที่นี่   ท่านเหล่านี้และท่านอื่นๆล้วนเป็นแหล่งข้อมูลที่ประมาณค่ามิได้  ทำให้เราได้เห็นสุนทรภู่ชัดขึ้นนอกเหนือจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงรวบรวมไว้
   


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 17, 09:31
      ประวัติวงศ์ตระกูลของสุนทรภู่  ในตอนต้นก็เหมือนกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเล่าไว้  คือเล่ากันมาว่าบิดาเป็นคนชาวบ้านกร่ำ  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง ซึ่งขึ้นกับมณฑลจันทบุรี   เข้ามาอยู่ได้ภรรยาอยู่ในกรุงเทพ   ภายหลังบวช แล้วออกไปอยู่บ้านกร่ำ ได้เป็นอธิบดีสงฆ์ มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูธรรมรังสี
      ส่วนมารดาเป็นชาวกรุงเทพ ได้เป็นแม่นมของพระธิดากรมพระราชวังหลัง ในประวัติพระยาปริยัติเรียกว่า เจ้าครอกกำพร้า  แสดงว่าเจ้าจอมมารดาคงถึงแก่กรรมเมื่อคลอดพระธิดา     แม่นมก็ทำหน้าที่ดูแลแทนแม่
      สุนทรภู่คงจะเกิดแถววังหลัง (คือแถวโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน) เมื่อแม่เข้ารับราชการที่วังหลัง  บ้านเรือนก็คงอยู่แถวนั้น ลูกชายก็อยู่แถววังหลังมาโดยตลอด    พอโตขึ้นหน่อยก็ไปเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่ในสำนักวัดชีปะขาว (บางกอกน้อย)

      ส่วนชื่อบิดาที่บางฉบับบอกว่าชื่อขุนศรีสังหาร นั้น ไม่มีในฉบับพระยาปริยัติฯ   ตำแหน่งขุนศรีสังหารเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า   ในผลงานของสุนทรภู่ เช่นในนิราศสุพรรณ เอ่ยถึงแต่ถิ่นฐานของวังหลัง ว่าท่านเองเคยอยู่    ไม่เคยเอ่ยถึงวังหน้าเลย

      หลังจากเล่าเรียนเขียนอ่านแล้ว  พอโตเป็นหนุ่มสุนทรภู่ก็คงจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กของกรมพระราชวังหลัง    ได้เดินทางตามติดเจ้านายวังหลังไปในที่ต่างๆ เช่นในนิราศพระบาท


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 17, 15:56
ส่วนชื่อบิดาที่บางฉบับบอกว่าชื่อขุนศรีสังหาร นั้น ไม่มีในฉบับพระยาปริยัติฯ   ส่วนชื่อบิดาที่บางฉบับบอกว่าชื่อขุนศรีสังหาร นั้น ไม่มีในฉบับพระยาปริยัติฯ   ตำแหน่งขุนศรีสังหารเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า   ในผลงานของสุนทรภู่ เช่นในนิราศสุพรรณ เอ่ยถึงแต่ถิ่นฐานของวังหลัง ว่าท่านเองเคยอยู่    ไม่เคยเอ่ยถึงวังหน้าเลย

๑. ที่ว่าสุนทรภู่เป็นบุตรของขุนศรีสังหาร มีอยู่ในหนังสือ "สยามประเภท" ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ

ได้พบตัวนายพัดบุตรชายสุนทรภู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายพัดอายุ ๘๖ ปี ความจำยังดีไม่หลงลืม แต่ไม่เป็นนักปราชญ์เหมือนบิดา นายพัดได้เล่าว่า ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสะเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี

๒. ราชทินนามของวังหลวงและวังหน้ามีซ้ำกันจำนวนมาก ราชทินนาม "ศรีสังหาร" ก็เช่นเดียวกัน

ขุน   ศรีสังหาร  ปลัดกรมไพร่หลวงขึ้นกรมพระคลังสินค้า
ขุน   ศรีสังหาร  ปลัดกรมอาสาวิเศษซ้าย  ฝ่ายพระราชวังบวร


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 17, 16:26
ขุน   ศรีสังหาร  ปลัดกรมไพร่หลวงขึ้นกรมพระคลังสินค้า
ขุน   ศรีสังหาร  ปลัดกรมอาสาวิเศษซ้าย  ฝ่ายพระราชวังบวร

แปลกใจว่าราชทินนาม ศรีสังหาร  อยู่กรมพระคลังสินค้า     ถึงมีหน้าที่ควบคุมไพร่หลวงก็เถอะ

บวกลบอายุนายพัด แสดงว่าเกิดปี 2361 ในรัชกาลที่ 2  ก่อนสิ้นรัชกาล 6 ปี   
นิราศอะไรก็ตามที่บรรยายถึงเณรพัด  น่าจะเขียนในรัชกาลที่ 3 ทั้งหมด


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 17, 17:03
พอโตขึ้นหน่อยก็ไปเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่ในสำนักวัดชีปะขาว (บางกอกน้อย)

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เป็นรูปปั้นในวัยเด็กที่วัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดาราม


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 17, 17:12
ที่ฐานอนุสาวรีย์ปรากฏโคลงใน นิราศสุพรรณ บรรยายถึงชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นที่วัดชีปะขาว



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: Molly ที่ 23 ม.ค. 17, 12:28
กราบสวัสวัสดีท่านอาจารย์เทาชมพูค่ะ หนูมาลีมาสาย แต่ขออนุญาตนั่งแถวหน้าด้วยค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ม.ค. 17, 08:58


๑. ที่ว่าสุนทรภู่เป็นบุตรของขุนศรีสังหาร มีอยู่ในหนังสือ "สยามประเภท" ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ

ได้พบตัวนายพัดบุตรชายสุนทรภู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายพัดอายุ ๘๖ ปี ความจำยังดีไม่หลงลืม แต่ไม่เป็นนักปราชญ์เหมือนบิดา นายพัดได้เล่าว่า ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสะเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี



ขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง ซึ่งแผนที่กรุงเทพฯเก่าเคยสำรวจพบว่า บริเวณพื้นที่พระราชวังหลังนั้นมีกำแพงและหัวป้อมยื่นออกไปด้านทิศเหนือ พื้นที่ทั้งหมดในปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลศิริราชไปหมดแล้ว


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 17, 19:47
        พอเป็นหนุ่ม สุนทรภู่ก็ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในกรมพระราชวังหลัง    ได้แต่งหนังสือถวายพระองค์เจ้าปฐมวงษ์ในกรมพระราชวังหลัง  คือเรื่องสวัสดิรักษา  ๑ เรื่อง ๑ เล่มจบ และสิงหไตรภพ ๑ เรื่อง ๕ เล่มจบ
       พระองค์เจ้าปฐมวงษ์องค์นี้เองเมื่อครั้งทรงพระผนวชเณร( เจ้าคุณท่านไม่ได้ใช้คำว่า "ทรงบรรพชาเป็นสามเณร) ประทับอยู่ ณ วัดระฆัง  เสด็จขึ้นไปพระพุทธบาทที่สระบุรี   สุนทรภู่ตามเสด็จไปด้วย แต่งนิราศพระบาท ในการตามเสด็จครั้งนี้
       ในนิราศนี้เอง สุนทรภู่ระบุหน้าที่การงานตัวเองไว้ชัดเจนว่า เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงษ์

       ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท                 จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
       ตามเสด็จเสร็จโดยแดนกันดาร                 นมัสการรอยบาทพระศาสดา

       พระยาปริยัติฯ ท่านบันทึกไว้ว่า  ตำแหน่งบ้านเรือนของสุนทรภู่ ที่เข้าใจแน่นั้น  คืออยู่ที่วังหลังแห่งหนึ่ง และที่ท่าช้างอีกแห่งหนึ่ง     เป็นบ้านอยู่ริมกำแพงวังหลัง   ท่านเข้าใจว่าเป็นบ้านอยู่มาแต่เดิม   ส่วนที่บ้านที่ท่าช้างเข้าใจว่าเป็นบ้านพระราชทานในรัชกาลที่ ๒  เพราะระบุไว้ใน นิราศสุพรรณ  ว่า
      ท่าช้างหว่างค่ายล้อม                        แหล่งสถาน
ครั้งพระโกศโปรดประทาน                         ที่ให้
เคยอยู่คู่สำราญ                                ร่วมเหย้า เจ้าเอย
เห็นแต่ที่มิได้                                   พบน้องครองสงวนฯ
     


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 17, 19:52
   พระยาปริยัติฯ ท่านสันนิษฐานว่า  ท่าช้างที่ว่าเห็นจะเป็นท่าช้างวังหลวง    หว่างค่าย  เห็นจะเป็นที่หว่างป้อม    เพราะคนรุ่นเก่ามักเรียกรวมว่า "ป้อมค่าย"   ท่านเข้าใจว่าบ้านคงอยู่ข้างป้อมท่าช้างวังหลวง
    มาถึงตรงนี้ขอนั่งพัก  รอคุณหนุ่มสยามกางโฉนดที่ดินเมื่อหนึ่งถึงสองร้อยปีก่อน มาให้ทัศนาเป็นบุญตา
    จะได้รู้กันว่าแถวท่าช้างตรงไหนในปัจจุบัน ที่เราสามารถนั่งยานเวลาไปเห็นบ้านของสุนทรภู่ได้ค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ม.ค. 17, 09:56
  พระยาปริยัติฯ ท่านสันนิษฐานว่า  ท่าช้างที่ว่าเห็นจะเป็นท่าช้างวังหลวง    หว่างค่าย  เห็นจะเป็นที่หว่างป้อม    เพราะคนรุ่นเก่ามักเรียกรวมว่า "ป้อมค่าย"   ท่านเข้าใจว่าบ้านคงอยู่ข้างป้อมท่าช้างวังหลวง
    มาถึงตรงนี้ขอนั่งพัก  รอคุณหนุ่มสยามกางโฉนดที่ดินเมื่อหนึ่งถึงสองร้อยปีก่อน มาให้ทัศนาเป็นบุญตา
    จะได้รู้กันว่าแถวท่าช้างตรงไหนในปัจจุบัน ที่เราสามารถนั่งยานเวลาไปเห็นบ้านของสุนทรภู่ได้ค่ะ

แผนที่สมัยต้นกรุงคงไม่ละเอียดเท่าไรนักครับ จึงได้ขอจัดแผนที่กรุงเทพ พ.ศ. ๒๔๓๐ ให้ดูไปพลางก่อนว่า มีผู้คนอาศัยอยู่แถวประตูท่าพระ ท่าช้าง และท่าขุนนาง บริเวณเหล่านี้มีบ้านพักราชการอาศัยอยู่พอสมควร สะดวกแก่การเดินทางเข้าวังได้อย่างรวดเร็วหากมีการเรียกใช้กระทันหัน


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 17, 10:42
ระหว่างป้อม อยู่ตรงไหนในรูปคะ   คุณหนุ่มสยาม


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ม.ค. 17, 13:24
ระหว่างป้อม อยู่ตรงไหนในรูปคะ   คุณหนุ่มสยาม

ใต้ประตูท่าพระลงมาด้านล่างจะมีป้อมมุมพระบรมมหาราชวังป้อมหนึ่ง (แถวประตูถ้วยในปัจจุบัน) แล้วลงมาจะเป็นป้อมสี่เหลี่ยม ดังนั้นถ้าระหว่างป้อมทั้งสองก็ควรเป็นพื้นที่ดังกล่าว (นาวิกสภาในปัจจุบันนี้) เป็นท่าเรือขุนนางด้วย


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 17, 15:47
ไหนๆก็ไหนๆ ขอท่าเรือจ้างบริเวณท่าพระที่คุณพุ่ม ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) มีเรือนแพลอยอยู่หน้าบ้านของบิดาด้วยได้ไหมครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 17, 17:08
คุณหนุ่มคงหมายถึงราชนาวีสโมสร   ราชนาวิกสภาอยู่ฟากตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะ
เห็นจะต้องหาโอกาสไปกินข้าวที่นั่น  รำลึกว่าเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน กวีเอกอยู่ตรงนี้


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 17, 14:53
  พระยาปริยัติฯ บอกว่าสุนทรภู่มีภรรยาหลายคน   แต่ที่เอ่ยชื่อ เท่าที่ท่านได้หลักฐานคือ จันท์ กับ นิ่ม    ตามความเห็นของท่าน  นิราศพระบาทแต่งเป็นเรื่องแรก  นิราศเมืองแกลงเป็นเรื่องที่สอง
   ส่วนแม่นิ่ม ท่านเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านอยู่บางกรวย และเป็นมารดาของหนูตาบ    ลูกๆ มีชื่อว่า พัด  ตาบ(หรือน้อย)  นิล กลั่นและชุบ  กลั่นและชุบ สองคนหลังนี้เป็นบุตรบุญธรรม

   ในรัชกาลที่ 2 มีการไต่สวนเรื่องการตกหนังสือในพระบรมมหาราชวัง    สุนทรภู่อยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย  เวลานั้นท่านติดคุกอยู่

    การตกหนังสือที่ว่านี้ ไม่รู้ว่าหมายถึงเหตุการณ์ไหน   เพราะมี 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆในรัชกาลที่ 2  เหตุการณ์แรกคือกบฎเจ้าฟ้าเหม็นในต้นรัชกาล
     " ครั้น ณ วัน เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมแสงศก มีกาคาบกระดาษหนังสือมาทิ้งลงริมพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ตำรวจในล้อมวงรักษาพระองค์ได้เห็นเปนอันมาก จึงนำเอาหนังสือไปแจ้งแก่พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาอนุชิตราชาจางวางพระตำรวจปฤกษาด้วยเสนาบดีนำเอาหนังสือขึ้นทูนเกล้าฯ ถวาย"
      เมื่อพระยาอนุชิตราชาได้หนังสือแล้วจึงนำหนังสือ นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ ๒ รุ่งขึ้นจึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวน ผู้ที่ทำการจับกุมก็คือพระยาอนุชิตราชานั่นเอง
      เหตุการณ์การจับกุมนี้ มีพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ ๕ ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีว่า
     " จับที่ประตูสองชั้นนี้เปนการกึกกักกันมาก ว่าปล่อยให้เสลี่ยงเข้ามาในประตูสองชั้น แล้วปิดประตูทั้งสองข้าง เมื่อเวลาจับนั้นเจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขา พูดติดอ่างว่าจะจับข้าไปข้างไหน     
      ส่วน เจ้าจอมมารดาสำลี จำเลยอีกคนหนึ่งนั้น ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงสำลี วรรณ เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งต่อมาก็คือวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุนั้น หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล.เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้นิพนธ์ไว้ว่า
       " ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา ๙ ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา ๖ ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนักในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป"
        นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรส ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกพระองค์หนึ่งที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือนายหนู ดำ หรือพระองค์เจ้าชายอรนิภา อีกพระองค์หนึ่ง  ทุกพระองค์ถูกสำเร็จโทษ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 17, 14:58
          ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีกรมหมื่นศรีสุเรนทร์        ดังมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า
          "ในเดือน ๑๒ ป็ชวดอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลางรูป ๑ พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่ารูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก"
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทรงเป็นศิษย์เอกในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงโกรธในการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้านาย 2 พระองค์มาก (และว่ากันว่าอาจะเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช) จึงทรงเขียนบัตรสนเท่ห์ ดังนี้
              ไกรสรพระเสด็จได้            สึกชี
           กรมหมื่นเจษฎาบดี              เร่งไม้
           พิเรนทรแม่นอเวจี               ไป่คลาด
           อาจพลิกแผ่นดินได้             แม่นแม้น เมืองทมิฬ

           พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้ค้นหาตัวผู้ทิ้งหนังสือ จนได้ตัวกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เล่าไว้ว่า
            "ครั้งนั้นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นศิษย์นายสี พุทธโฆษาจารย์ไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งหนังสือเป็นคำโคลงหยาบช้าต่อตระลาการกระทบกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพิจารณาหนังสือทิ้ง กรมพระราชวังได้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับนักปราชญ์ที่รู้กาพย์ กลอนโคลง พิจารณาก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นสำนวนฝีโอษฐ์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แน่แล้ว จึงรับสั่งให้หากรมหมื่นศรีสุเรนทร์มาซักถามก็ไม่รับ จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนถามจึงได้รับเป็นสัตย์ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทนอาชญาไม่ได้ ก็สิ้นชีพในทิม แล้วมิได้บาดหมายให้ถอดชื่อเหมือนอย่างหม่อมเหม็น ข้าราชการเพ็ดทูลลางคนก็ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าคันธรศบ้าง ออกพระนามว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร์บ้าง"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 17, 15:10
         สุนทรภู่รอดราชภัยไปได้  เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย   ก็เห็นได้ว่ายังติดคุกอยู่ คงจะออกไปร่วมมือไม่ได้อยู่ดี      ท่านไม่ได้ออกจากคุกเพราะเหตุนี้  แต่ออกเพราะสามารถต่อกลอนพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงติดขัดอยู่
คือตอนบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์ ที่ในเรื่องจะต้องแต่งให้โอฬารยิ่งกว่ารถพญายักษ์อื่นๆ

         พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒ บรรยายไว้ว่า
              "รถเอยรถที่นั่ง                    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
            กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล     ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
            ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง          เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
            สารถีขับขี่เข้าดงแดน               พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"
           แค่นี้ยังสั้นไป   ไม่พอที่จะบรรยายความยิ่งใหญ่ของรถทรง   กวีขุนนางทั้งหลายก็พากันติดขัดต่อไม่ถูก  จึงทรงมีรับสั่งถึงสุนทรภู่   ปรากฏว่าเป็นคนเดียวต่อได้ ว่า
               นทีตีฟองนองระลอก                    คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
           เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน             อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
           ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท              สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
           บดบังสุริยันตะวันเดือน                      คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

           ก็โปรดมาก  สุนทรภู่จึงหลุดจากคุก ได้เข้ารับราชการ เป็นที่สุนทร   พระยาปริยัติฯสันนิษฐานว่าเป็นขุนสุนทรโวหาร


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 17, 15:21
       ส่วนที่ไม่มีในประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงไว้ คือคำบอกเล่าของผู้หญิงชื่อพิณ  แม่พิณบอกเล่าเองหรือว่าลูกหลานคนรู้จักของแม่พิณจดจำไว้บอกเล่าให้พระยาปริยัติฯฟังก็ตาม    ได้ความว่า ในรัชกาลที่ 3   สุนทรภู่ออกจากราชการ ลงเรือลอยเที่ยวอยู่     มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อพิณ   เดิมเป็นชาวบางกอกน้อย   บ้านอยู่แถววัดดงมูลเหล็ก   ยังเล็ก มารดามอบให้เป็นบุตรีบุญธรรมของท่านสุนทรภู่ ซึ่งมาจอดเรืออยู่ที่หน้าบ้าน
       คำบอกเล่าก็คือ เรือของท่านเป็นรูปเรือเป็ดกว้างยาวเรือเหนือ   มีเด็กเป็นศิษย์เล่าเรียนหนังสืออยู่ด้วยหลายคน    แม่พิณก็เรียนอยู่ด้วย
      ลักษณะเรือของสุนทรภู่ที่บรรยายข้างบนนี้เป็นอย่างไร ก็จนปัญญา ไม่เคยเห็นเรือเป็ด    ต้องพึ่งคุณหนุ่มสยามหรือท่านอื่นๆในเรือนไทยตามเคย
       แต่ดูๆแล้ว  ถึงออกจากราชการ  สุนทรภู่น่าจะมีฐานะไม่อัตคัดขัดสน   เพราะสามารถรับเด็กชาวบ้านมาอุปการะได้    นอกจากนี้  รับสอนหนังสือ ก็คงได้สตางค์จากพ่อแม่เด็กไว้เลี้ยงชีพ
      แม่พิณจำได้ว่าสุนทรภู่มีความรู้ในคัมภีร์โหราศาสตร์   รับดูหมอดูด้วย   มีคนมาหาให้ดูชะตาและให้แต่งหนังสือ ไม่ขาดสาย      ข้อนี้คงเป็นรายได้ที่ไม่เลวนัก    ท่านแต่งเรื่อง พระสมุท ขณะดำรงชีพอยู่ในเรือ     รวมทั้งเพลงยาวที่แม่พิณจำได้ท่อนหนึ่งว่า
      คิดจะชวนนวลน้องไปครองคู่              ก็เกรงชู(น่าจะเป็นชู้) พวกนั้นมันจะหึง
      ทั้งพวกเพื่อนเขาจะลือกันอื้ออึง           ใช่ว่าบึงบัวงอกแต่ดอกเดียว


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.พ. 17, 16:21
ประตูสองชั้น ในปัจจุบันคือ ประดูพิมานไชยศรี จะเป็นประตูวังซ้อนกันสองชั้นปิดกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นนอกกับชั้นกลาง ระหว่างประตูก็ยังมีพื้นที่พออยู่บ้างในการเกิดเหตุดังกล่าว

ที่มาภาพ คุณ mod


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 17, 16:55
     จากข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่พระยาปริยัติฯรวบรวมด้วยการสัมภาษณ์เก็บความจากผู้ที่รู้จักสุนทรภู่  หรืออย่างน้อยก็ทันได้ยินคำบอกเล่าจากผู้รู้จัก   สุนทรภู่ในรัชกาลที่ 2  มักจะเข้าๆออกๆเป็นชาวคุกอยู่หลายครั้ง      พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงเป็นผู้ส่งกวีเอกเข้าคุกไปเอง   สาเหตุหนึ่งคือมารดาของสุนทรภู่ไปทูลฟ้องความประพฤติของลูกชาย ว่าใช้วาจาหยาบช้าต่อมารดา 

      การติดคุกสมัยนั้นเห็นทีจะเหมือนเรื่องขุนช้างขุนแผน  คือไม่มีกำหนดว่าติดนานเท่าไหร่  แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯให้เข้าหรือให้ออก      จึงมีคำบอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงติดบทกลอนทีไร  ก็ให้คนไปถาม หรือไม่สุนทรภู่ก็ต่อให้เอง   เป็นที่ถูกพระทัย ก็ได้ออกจากคุกมาเป็นขุนนาง

          ...เล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 2 นั้น  ครั้งท้ายท่านสุนทรต้องโทษอยู่   พระเป็นเจ้าเคยทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนอย่างสำราญพระทัย   แต่จะเล่นกับใครก็ไม่ทรงสนุก  ทรงพระกระทู้ต้นบทไว้ว่า กะรุ่งกะริ่ง  กะฉุ่งกะฉิ่ง แล้วให้ใครต่อก็ไม่ออก ไม่รู้หนเหนือหนใต้ว่าจะต่อไปทางไหน จึงรับสั่งให้เอาไปให้สุนทรภู่ ซึ่งก็ต่อกลอนมาว่า "เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" อ่านรวมว่า "กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" ครั้นนำทูลเกล้าถวาย ก็ทรงพระราชทานโทษให้หลุดจากเวรจำแต่วันนั้นตามขอ ...



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 17, 11:29
     อีกเรื่องที่เล่าไว้ในเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ไม่มีในประวัติสุนทรภู่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงไว้ คือลักษณะรูปร่างหน้าตาของสุนทรภู่
    ว่าครั้งหนึ่ง    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องว่าด้วยรถของสหัสสเดชะ    ความพรรณนาว่า รถนั้นใหญ่โตเกินประมาณที่จะใช้พาหนะใดให้พารถเดินไปได้    นัยว่าทรงประชุมจินตกวีหลายนาย    แล้วไม่มีใครต่อให้รถวิ่งไปได้    จึงรับสั่งว่าจะมีใครอีกบ้างไหม    มีท่านข้าราชการผู้หนึ่งกราบทูลว่า  ยังมีอีกคนหนึ่งชื่อ นายภู่  เป็นศิษย์พระอยู่วัดมหาธาตุ    ก็รับสั่งให้ไปพาตัวมาเฝ้า    พอทอดพระเนตรเห็นเข้า รับสั่งว่า  ฮึ รูปร่างมันเป็นครกกระเบือดินอยู่นี้พ่อเฮย    เอาไหนๆมาแล้วก็ลองให้แก้ดูที
     ครกกระเบือดินคืออะไร
     ครกกระเบือดินคือครกดินเผา   เป็นครกดั้งเดิมในสังคมไทย มีอยู่ประจำในครัวชาวบ้าน   มีทั้งสีน้ำตาลและดำ  ใช้คู่กับสากซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง    เรียกว่าสากกระเบือ
     หน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ
   


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 17, 13:21
    สุนทรภู่เคยพูดถึงตัวเองในทำนองน้อยใจว่า เป็นคนรูปไม่งาม  หัวก็ล้าน  ในนิราศพระบาทบรรยายไว้เมื่อเห็นนกตะกรุม  ว่า

      ศีรษะเตียนเลี่ยนโล่งหัวล้านเลื่อม           เหนียงกระเพื่อมร้องแรงแสยงขน
     โอ้หัวนกนี่ก็ล้านประจานคน                    เมื่อยามยลพี่ยิ่งแสนระกำทรวง

     ทำให้คิดว่าท่านคงเป็นคนศีรษะล้านมาแต่หนุ่มๆ   ส่วน "ครกกระเบือดิน"  ทำให้คิดว่าน่าจะเตี้ย ล่ำ และดำ    สรุปว่าไม่หล่อเอาเลย  แต่เป็นคนมีฝีมือ  จึงเป็นที่โปรดปราน


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 17, 16:29
    ในรัชกาลที่ ๓  สุนทรภู่พ้นจากราชการ   ได้บวชเป็นพระ   เข้าใจว่าพักอยู่หลายวัดด้วยกัน คือ วัดราษฎรบูรณะ  วัดเทพธิดาราม   วัดเชตุพน  วัดอรุณ วัดระฆัง และวัดสระเกษ
    แม้เมื่อบวชพระแล้ว    พระภู่ก็คงจะไม่ละทิ้งความเคยชินของกวี   จึงมีคำบอกเล่าของพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ การเล่นอักษรกลอนสดที่วัดเลียบ ค่อนข้างเอิกเกริกเซ็งแซ่   แสดงว่าวัดนั้นเป็นถิ่นจินตกวีแห่งหนึ่งในพระนคร
    พระภู่ได้สั่งศิษย์บางคนไว้ว่า  ต่อไปภายหน้าจะหาผู้เล่นกลอนกลได้น้อยตัว     เมื่อสิ้นท่านลงเสียคนหนึ่ง  ก็เห็นแต่มีพระครูกล่ำ วัดหมู(หมายถึงวัดอัปสรสวรรค์)อีกรูปหนึ่ง ที่ใครขัดข้องติดขัดเรื่องกลอนกล  ให้ไปไต่ถามท่าน
   
    (หมายเหตุ กลอนกลที่ว่านั้น  ไม่พบในผลงานของสุนทรภู่  มีแต่โคลงแบบต่างๆที่พบในนิราศสุพรรณ  น่าจะสูญหายไปหมดแล้ว  น่าเสียดาย)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 17, 16:44
      ในรัชกาลที่ ๔  สุนทภู่กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ประจำอยู่วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    เป็นที่พระสุนทรโวหาร  จางวางกรมพระอาลักษณ์
      ตามคำบอกเล่าของพระอมรสินธพ  ซึ่งเมื่อครั้งเป็นหนุ่มอายุ ๑๖  เข้ารับราชการอยู่ในห้องอาลักษณ์วังหน้า   ได้เห็นสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นชราอายุ ๗๐ เศษ    เวลาเดินต้องอาศัยหลานชายคอยประคอง    คุณพระยังจำได้ถึงบาญชีเบี้ยหวัดจางวางว่าเป็นเงิน ๒ ชั่ง
      เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในขณะนั้นคือหลวงลิขิตปรีชา   ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์ถือความมั่งมีภาคภูมิแบบขุนนางโบราณ  ไปไหนมีบ่าวไพร่ ถือร่มค้างคาว  ถือกล้องยาแดง กาน้ำ ตามไปด้วย   สุนทรภู่เป็นจางวางก็จริง แต่ไม่อวดเบ่งกับเจ้ากรม     จะเดินจะนั่งถ่อมตน ยอมเป็นอันดับสอง ไม่ตีตนเสมอ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 17, 11:41
    ถ้าอ่านจากประวัติของสุนทรภู่ที่เรารู้จักกันดี   จะได้ภาพว่าในรัชกาลที่ 3  สุนทรภู่ตกยาก   ตามที่ท่านเองคร่ำครวญเอาไว้ในนิราศหลายเรื่องด้วยกัน    แต่ตามที่พระยาปริยัติฯรวบรวมจากคนที่ทันรู้จักสุนทรภู่   กวีเอกของเรามีอาชีพเสริม ที่ทำเงินให้มากมาย  คืออาชีพแต่งเพลงยาวขาย
    เพลงยาวเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวในสมัยนั้น   ความจริงมีมาแต่โบราณแล้ว  ในสมัยปลายอยุธยาก็มีวรรณคดีกลอนกลบททั้งเรื่อง  สืบทอดความนิยมมาถึงรัตนโกสินทร์    ชายหนุ่มอยากเกี้ยวสาวก็ส่งเพลงยาวไปให้   แต่งเองไม่เป็นก็ต้องมาจ้างกวีเอกแต่ง   ฝ่ายหญิงได้รับเพลงยาวจากฝ่ายชาย   อยากจะตอบแต่เขียนไม่เป็นก็ต้องมาจ้างให้แต่งตอบ    เป็นอันว่าสุนทรภู่ได้ค่าจ้างทั้งขึ้นทั้งล่อง
ถึงขั้นเล่าว่า
    "ท่านสุนทรจึงรุ่มรวยหาสู้อัตคัดเงินทองใช้สอยไม่    ถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไรก็จริง   แต่มีของกินของใช้เงินทองอัฐลดติดพกติดมืออยู่เสมอ   เพราะว่ามีผู้นับถือบูชาคำนัลอยู่ไม่ขาด"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 ก.พ. 17, 12:12
จินตนาการไปว่า ในยุครุ่งเรืองของท่านสุนทร คงได้เข้าเฝ้าแต่งกลอนถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ณ พระที่นั่งสนามจันทร์ (ในหมู่พระมหามณเฑียร) แห่งนี้


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 17, 19:12
   มองเห็นภาพตามไปด้วยเลยค่ะ

   ทั้งๆสุนทรภู่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนต่อขุนนางอื่น  แต่ท่านก็มีอหังการ์ของกวีอยู่เต็มตัว     ตามที่พระยาปริยัติฯเก็บความจากพระยาสโมสร ฯ  ว่า
    ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์  ยุคนั้นวัดพระปฐมเจดีย์มีพระครูรูปหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นกวีสำคัญในถิ่นนั้น ทั้งชำนาญภาษามคธ(บาลี)   เมื่อรู้ว่าจะพบสุนทรภู่  ท่านพระครูก็อยากจะลองว่าสุนทรภู่รู้แต่เฉพาะกาพย์กลอนหรือว่ารู้ภาษาบาลีด้วย   จึงคิดลองเล่นเพลงมคธกับกวีเอกจากเมืองหลวง
    เมื่อมาเยี่ยมเยียน  ท่านพระครูก็ลองเชิงว่า
   ฯ สุนทรา อาคเต  เมปุจ์ฉา
    อหกิรวจน ฝูงชนา
    ปสสาศุภสาร สะท้านดิน
    แล้วส่งสำเนาให้สุนทรภู่อ่าน
     ถ้าใครแม่นฉันทลักษณ์กลอน คงอ่านได้ว่านี่คือกลอนบาทที่สอง สามและสี่  เป็นภาษาบาลีปนไทย   
 
    สุนทรภู้รู้ดีว่าอีกฝ่ายมาลองเชิง     ก็เลยเขียนตอบเปรี้ยงลงไปว่า
    "ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ
     เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 17, 19:15
     พระยาสโมสรฯมิได้เล่าต่อว่าท่านพระครูทำอย่างไรต่อไป  แต่พระยาปริยัติฯเดาว่าท่านก็คงถอยกลับวัดไปตามระเบียบ  ในเมื่อเจอศอกกลับเข้าแบบนี้
     เรื่องนี้ทำให้เดาได้อีกอย่างว่า สุนทรภู่คงไม่ได้ร่ำเรียนภาษาบาลีจนแตกฉาน     ที่เคยเรียนมาในวัดคงจะเรียนอ่านเขียนภาษาไทยเป็นหลัก     เมื่อเจอท่านพระครูซึ่งคงเป็นมหาเปรียญ มาทดสอบความรู้ทางบาลี  ท่านก็คงจะต้องยุติการปะทะเสียแต่แรกเริ่ม   ดีกว่าจะสู้กันต่อไป


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 17, 19:41
   บั้นปลายชีวิตของสุนทรภู่ เป็นเรื่องที่เกือบไม่มีใครรู้  เพราะในประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเรียบเรียงไว้ ไม่มีส่วนนี้  บรรดาผู้ศึกษาประวัติสุนทรภู่ตางยึดฉบับนี้เป็นหลัก   ไม่ค่อยมีใครไปตามหาฉบับที่พระยาปริยัติฯ รวบรวมไว้     จึงดูเหมือนกับว่าเมื่อสุนทรภู่เข้าสู่วัยชราก็ถึงแก่กรรมไปเงียบๆ  ระหว่างรับราชการอยู่กับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  แล้วทุกอย่างเกี่ยวกับท่านก็ยุติลงเพียงนั้น
   แต่ในฉบับพระยาปริยัติฯ   ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อสุนทรภู่ชราก็กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ  รวบรวมทุนทรัพย์ไปซื้อที่สวนอยู่บางระมาด ติดกับที่สวนบ้านของเจ้าคุณธรรมถาวรวัดระฆัง   ที่ดินแปลงที่ซื้อมีผู้บอกเล่าว่าเป็นของนายจุ้ย ปู่ของนายกลั่นผู้เป็นลูกบุญธรรมของท่าน
   เมื่อซื้อที่ได้ สุนทรภู่ก็ไม่ได้ทำสวน   แต่มีรายได้จากการแต่งหนังสือและเพลงยาวไปตามเรื่อง  มีคนมาว่าจ้างเสมอ ท่านก็คงจะอยู่อย่างคหบดีชาวสวน  มีรายได้ไม่ขาดแคลนจากการแต่งเพลงยาว      มีบ่าวคนหนึ่งชื่ออ้ายโข่ เป็นคนดูแสสวน 
    อ้ายโข่เป็นคนเกะมะเหรกเกเร  ก่อเรื่องอยู่เนืองๆ  เมื่อรู้ถึงนาย สุนทรภู่ก็เรียกมาอบรม เฆี่ยนตีไม่ปรานี     แต่อ้ายโข่ก็ไม่เข็ดหลาบ 
   สุนทรภู่อยู่มาจนอายุ ๘๐ เศษ ก็ถึงแก่กรรมที่สวนบางระมาดนั่นเอง


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.พ. 17, 20:06
อายุเมื่อเสียชีวิตของสุนทรภู่ ยังไม่คงตรงกันในหลายแหล่ง ผมนำมาให้ดูอีกแหล่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เมื่อ 2475 ลงท้ายในบันปลายชีวิตว่า ท่านสุนทรภู่สิ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 อายุได้ 70 ปี


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 17, 20:07
    ตามคำบอกเล่า บ้านสุนทรภู่อยู่ริมวัดเรไร  เยื้องกันกับวัดป่าเชิงเลนซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม  มีภาพถ่ายทางอากาศข้างล่างนี้แสดงถึงที่อยู่ของท่าน    อยู่ในบริเวณวงกลง แต่มองเห็นไม่ชัดนัก    ถ้าคุณหนุ่มสยามมาเห็นอาจจะมีแผนที่ปัจจุบันตรวจสอบได้นะคะ
    หลักฐานที่พระยาปริยัติฯบันทึกไว้บอกเพียงแค่นี้    ไม่ได้เล่าต่อว่าเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว สวนนั้นตกเป็นของบุตรคนไหน   เข้าใจว่าคงจะขายเปลี่ยนมือกันไปในยุคลูกหรือหลาน  
    ม.ล.ทองดี(ไม่ได้บอกนามสกุล)แจ้งกับพระยาปริยัติฯว่า สุนทรภุ่มีบุตรชื่อนายพัด   นายพัดมีบุตรีชื่อแม่อวบ  แม่อวบมีบุตรชายชื่อนายเตียบ เคยทำงานอยู่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจที่เสาชิงช้า ในสมัยรัชกาลที่ ๖
    น่าสังเกตว่าบุตรของสุนทรภู่ไม่ได้รับราชการเป็นขุนนางเลยสักคน    นายพัดซึ่งเป็นบุตรตามรับใช้ใกล้ชิดพ่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓  ก็ไม่ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระปิ่นเกล้า   ตอนหนุ่มๆ  ไปทำอะไรอยู่ก็ไม่ทราบ  เมื่ออายุมากขึ้น ประมาณ ๔๐ ปี  ไปทำงานรับใช้ข้าราชการหนุ่มวัย ๒๔ ท่านหนึ่ง  ต่อมาท่านผู้นั้นได้เป็นพระยาสโมสรณ์สรรพากร   ท่านเจ้าคุณจึงได้รู้เรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตสุนทรภู่จากคำบอกเล่าของนายพัด
    ส่วนน้องชายของนายพัด ชื่อนายตาบ   ทราบแต่ว่าเป็นกวีมีชื่อคนหนึ่ง  แต่ยังไม่เจอผลงานของท่าน
    ชีวิตของลูกหลานสุนทรภู่ไม่มีใครรวบรวมไว้  ทราบแต่ว่า ใช้นามสกุล ภู่เรือหงส์  


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 11:03
ภาพถ่ายทางอากาศ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 11:08
ในฉบับของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่่ยวกับการถึงแก่กรรมของสุนทรภู่   คงบอกเพียงสั้นๆอย่างข้างบนที่คุณ siamese นำมาลง     คนทั่วไปก็ยึดถือฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์แพร่หลายมานาน  ถือกันว่าเป็นฉบับหลักฐาน
ในฉบับของพระยาปริยัติฯ มีรายละเอียดไว้หลายข้อ เช่นสถานที่อยู่ ชื่อบ่าว  อาชีพเมื่อลาออกจากราชการแล้ว   ระบุชื่อบุคคลที่ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่าเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน
ดิฉันจึงให้น้ำหนักกับฉบับของพระยาปริยัติฯมากกว่าค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 11:13
  ดิฉันค้นแบบงูๆปลาๆ ได้ทำเลที่ตั้งของวัดเรไรและวัดป่าเชิงเลน ตามที่อาจารย์กู๊กบอกมา


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 11:25
ซูมเข้าไปใกล้ๆวัดเรไร   เจอคลอง ๒ คลองคือคลองชักพระ จากเหนือลงใต้  และคลองเชิงเลน ขวางอยู่ทางทิศตะวันออกไปตะวันตก
เดาว่าสวนของสุนทรภู่คงอยู่ที่ใดที่หนึ่งริมคลอง  น่าจะเป็นคลองชักพระเพราะบอกว่าอยู่ริมวัดเรไร
สวนสมัยนั้นนับกันเป็นขนัด มีเนื้อที่กว้างขวาง
ก็เลยเดาว่าอยู่แถวๆวงกลม   ซูมเข้าไปอีกทีว่าปัจจุบันเป็นอะไร  ครูกู๊กตอบมาว่า เป็นถนนชื่อถนนแก้วเงินทอง

ใครอยู่แถวนั้นบ้างคะ  พอจะรู้จักไหม


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 17, 13:01
   ตามคำบอกเล่า บ้านสุนทรภู่อยู่ริมวัดเรไร  เยื้องกันกับวัดป่าเชิงเลนซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม   

ให้ภาพแผนที่สำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 พศ. 2440 ด้านบนคือวัดเรไร ด้านล่างคือ วัดใหม่เชิงเลน และอาณาเขตแปลงที่ดิน อันเป็นที่พำนักสุดท้ายของสุนทรภู่


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 14:21
เอารูปในอดีตกับปัจจุบันมาเทียบกันค่ะ
รูปซ้าย  พื้นที่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่สอง  น่าจะเป็นพื้นที่สวนของสุนทรภู่   รูปขวาคือบริเวณเดียวกันในปัจจุบัน   ไ่ม่รู้ว่าเป็นอาคารพาณิชย์ไปหมดแล้วหรือเปล่า


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 17, 14:33
อายุเมื่อเสียชีวิตของสุนทรภู่ ยังไม่คงตรงกันในหลายแหล่ง

สุนทรภู่เกิดเมื่อไรไม่มีปัญหา อาจนับได้ว่าเป็นกวีโบราณเพียงคนเดียวที่มีผู้จดวันเดือนปีเกิดไว้ แม้เวลาตกฟากก็จดไว้ด้วย กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้รู้ในวิชาโหราศาสตร์ ทรงผูกดวงชะตาสุนทรภู่ และผู้นำวันเดือนปีเกิดและดวงชะตาของสุนทรภู่มาเผยแพร่ คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แต่เป็นเรื่องแปลกที่รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุวันเดือนปีและสถานที่ที่สุนทรภู่เสียชีวิต ไม่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงแน่นอน หนังสือที่มีการเขียนถึงชีวประวัติของสุนทรภู่หลายเล่มมีการกล่าวถึงทั้ง ปีพุทธศักราชและสถานที่ที่ท่านเสียชีวิตแตกต่างกันไป

๑. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ "ประวัติสุนทรภู่"  ได้กล่าวถึงการตายของสุนทรภู่ดังนี้

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6741.0;attach=63817;image)

๒. อำมาตย์เอก เสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ  ตาละลักษมณ์  เปรียญ) ได้เขียนไว้หนังสือ "๒๐๐ ปี สุนทรภู่"

หน้า ๖๐

ในที่สุดไปซื้อที่สวน หรือที่บ้าน (ของนายจุ้ย ปู่ของนายกลั่น) อยู่ที่ตำบลบางระมาด  ริมวัดเรไร  ใกล้เคียงกับโยมของพระธรรมถาวร (วัดระฆัง) เยื้องกันกับวัดเชิงเลน  แล้วก็อยู่ในที่ (บางระมาด) นั้นจนตลอดชีวิต  เมื่อถึงแก่กรรมอายุได้ ๘๐ ปีเศษ

๓. อาจารย์เปลื้อง ณ นครได้กล่าวถึงการตายของสุนทรภู่ไว้ในบทความเรื่อง "ใครแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ หรือ เณรหนูพัด" ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม  ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๔  ว่า

"ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ) บอกว่า น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) พูดให้ท่านฟังว่า สุนทรภู่ตายที่พระราชวังเดิมที่ห้องใกล้ ๆ กับ พระยามณเฑียร (บัว) ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ แต่บางรายก็บอกว่าไปตายที่คลองบางหลวงโดยบอกว่าสุนทรภู่ไปทำสวนอยู่ที่นั่น"
                            
๔. เทพ สุนทรศารทูล ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์)" กล่าวถึงการตายของสุนทรภู่   ดังนี้

"พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘  สุนทรภู่ก็หมดที่พึ่ง ต้องออกไปอยู่บ้านแถวฝั่งธนบุรี (ตามที่บางท่านว่า) แต่บางทีก็อยู่ในวังหน้าต่อไป โดยอาศัยใบบุญอยู่กับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสของพระปิ่นเกล้าฯ จนกระทั่งถึงแก่กรรมตามเจ้านายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ อายุ ๘๑ ปี

ที่ว่าสุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๑๐ อายุ ๘๑ ปีนั้นไม่มีหลักฐานอย่างอื่นยืนยันนอกจากอาศัยหลักวิชาโหราศาสตร์ที่ว่า ดวงชะตาสุนทรภู่ที่มีดาวพฤหัสบดีอยู่ราศีเมษ เป็นราชาโชคเป็นปทุมเกณฑ์ พระราชาอุปถัมภ์แล้ว ดาวอังคารเป็นอายุกุมลัคนากับดาวศุกร์ คู่มิตรในราศีกรกฎเช่นนี้ จะต้องพยากรณ์ว่าอายุยืนเกิน ๘๐ ปี จึงว่าสุนทรภู่อายุ ๘๑ ปี ถึงแก่อนิจกรรมก่อนพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียง ๑ ปี "

การตายของสุนทรภู่จากหนังสือต่าง ๆ มีสิ่งที่ต้องค้นหาความจริง ดังนี้

๑. สุนทรภู่ตายที่ไหน ความคิดเห็นแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือ เสียชีวิตในเขตพระราชฐานกับเสียชีวิตที่บ้านสวน          
            
๒. สุนทรภู่ตายเพราะเหตุใดสุนทรภู่จะป่วยตายหรือแก่เฒ่าตายไปตามวัยไม่มีหลักฐานอ้างอิง หรือมีการกล่าวถึงเลย

๓. สุนทรภู่ตายเมื่อไร  ไม่ปรากฏวันและเดือน มีแต่ปีพุทธศักราชเท่านั้น  ซึ่งแยกปีพุทธศักราชที่สุนทรภู่เสียชีวิต  เป็น ๒ ฝ่าย คือ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ กับ ปี พ.ศ. ๒๔๑๐ หรือสุนทรภู่เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๐ ปี และ ๘๐ ปีขึ้นไป        

แปลกแต่จริง ที่ปีที่สุนทรภู่เสียชีวิตไม่ตรงกัน สุนทรภู่เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๐ ปี หรือ ๘๐ ปีกันแน่  

สุนทรภู่ตาย ๒ ครั้ง ฤๅไฉน  ;)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 21 ก.พ. 17, 10:36
มารายงานตัวสาย แต่อ่านรวดเดียวจบค่ะ (หรุ่มคงหมดจานแล้ว ฮือๆๆๆ)

 คิดจะชวนนวลน้องไปครองคู่              ก็เกรงชู(น่าจะเป็นชู้) พวกนั้นมันจะหึง
ทั้งพวกเพื่อนเขาจะลือกันอื้ออึง           ใช่ว่าบึงบัวงอกแต่ดอกเดียว

ฝีปากท่านเหลือรับจริงๆ ค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.พ. 17, 11:18
ก็เกรงชู(น่าจะเป็นชู้) พวกนั้นมันจะ หึ

น่าจะเป็น "พวกนั้นมันจะ หึง"   หึ หึ  ;D


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 22 ก.พ. 17, 12:57
กราบขออภัยค่ะ  :'( แก้ยังไงเนี่ยยย


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 17, 16:08
แก้ไขให้แล้วค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 17, 16:10
เป็นเพียงล้อกันดอกหยอกกันเล่น
อย่าเล็งเห็นจริงจังนั่งปวดหัว
สี่เท้ายังพลาดได้ไม่ต้องกลัว
มองให้ทั่วทำงานใดไม่พลาดเอย


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ก.พ. 17, 22:54
มองในแง่รูปแบบฉันทลักษณ์แล้ว

ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ
เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน


เป็นกลอนเก้า ต่างจากรูปแบบพิมพ์นิยมของสุนทรภู่จนยากที่จะเชื่อว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่จริง พลอยทำให้สงสัยข้อมูลอื่นๆที่ได้จากเจ้าคุณสโมฯ ไปด้วยครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 17, 09:52
มองในแง่รูปแบบฉันทลักษณ์แล้ว

ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ
เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน


เป็นกลอนเก้า ต่างจากรูปแบบพิมพ์นิยมของสุนทรภู่จนยากที่จะเชื่อว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่จริง พลอยทำให้สงสัยข้อมูลอื่นๆที่ได้จากเจ้าคุณสโมฯ ไปด้วยครับ

               ในแง่ท่านแต่งกลอนแปดแพทเทิร์น  ๐๐๐  ๐๐ ๐๐๐  เป็นหลัก แต่เราก็ยังสามารถเห็น
ท่านแต่งแพทเทิร์น ๐๐๐ ๐๐๐ ๐๐๐ ในบางวรรคได้ไม่มากไม่น้อยครับ เช่น

พระอภัยมณี ตอนโยคีช่วยสุดสาคร

              เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา               ประคองพา ขึ้นไปจน บนบรรพต
ตามด้วย
              ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด        ก็ไม่คด เหมือนหนึ่งใน น้ำใจคน

นิราศภูเขาทอง

               โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา        ให้มัวเมา เหมือนหนึ่งบ้า เป็นน่าอาย
ตามด้วย
               ไม่เมาเหล้า แล้วแต่เรา ยังเมารัก     สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน

สุภาษิตสอนหญิง

              มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท            อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์

              มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง                   อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

              ไม่ควรซื้อ ก็อย่าไป พิไรซื้อ              ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน

               เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล                จงเลี้ยงท่าน อย่าให้อด รันทดใจ  

แต่ก็มักจะเป็นวรรคเดียวที่แทรกเข้ามา,ไม่ติดต่อกันไปอย่างในกลอน ปราชญ์เปรต นี้    
        


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 17, 10:58
มองในแง่รูปแบบฉันทลักษณ์แล้ว

ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ
เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน


เป็นกลอนเก้า ต่างจากรูปแบบพิมพ์นิยมของสุนทรภู่จนยากที่จะเชื่อว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่จริง พลอยทำให้สงสัยข้อมูลอื่นๆที่ได้จากเจ้าคุณสโมฯ ไปด้วยครับ

เอกลักษณ์ของสุนทรภู่คือใช้คำง่าย และมีสัมผัสใน  อย่างน้อยใน 1 วรรคต้องมีสัมผัสในอย่างน้อย 1 ครั้ง   
น้อยนักที่จะไม่มีเลย อย่างเช่น
ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ

ส่วนวรรคที่สอง
เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน
ถ้าตัดคำว่า "มิ"ออก   เป็น  "เป็นเชื้อเปรตใช่ปราชญ์ราชฐาน" ละก็ลงตัวแบบกลอนของสุนทรภู่ได้เลย   เพราะคำว่า "มิใช่" ในสมัยนั้นใช้คำว่า "ใช่" เฉยๆ   ในความหมายว่า "ไม่ใช่"
" ใช่หน่อเนื้อเชื้อกษัตรย์ขัตติยา "ไม่ได้แปลว่าตัวละครตัวนี้เป็นเจ้าชายแน่ๆ  แต่แปลตรงกันข้ามว่า  ไม่ใช่เจ้าชายแน่ๆ

เจ้าคุณสโมฯอาจจะจำกลอนคลาดเคลื่อน แต่เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับสุนทรภู่ ท่านรับรู้เมื่อเป็นหนุ่มแล้ว น่าจะไม่ผิดพลาดนะคะ