เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 12:38



กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 12:38
กระทู้เก่าๆในเรือนไทย เล่าถึงวังหลังไว้ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย    แทรกอยู่ในกระทู้สุนทรภู่บ้าง กระทู้อื่นๆที่เกี่ยวกับขุนนางบ้าง
วันนี้จึงตั้งใจจะมาเล่าถึง"วังหลัง" ให้เป็นชิ้นเป็นอันเสียทีค่ะ

เรามี "วังหน้า" ถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง 5 ไม่ขาดสักรัชกาลเดียว      แต่"วังหลัง" มีเพียงแค่รัชกาลเดียวเท่านั้นคือในรัชกาลที่ 1   หลังจากนั้นก็เหลือแต่เจ้านายเชื้อสายวังหลัง  สืบสายกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน  ในบัตรประชาชน เป็นนายและนางสาวกันหมดแล้ว 
มีอยู่สองราชสกุล คือ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ขอย้อนกลับไปถึงอยุธยาตอนปลาย นะคะ

ตามประวัติที่บันทึกโดยพระยาสากลกิจประมวล(ม.ล. แปลก เสนีวงศ์) และเรียบเรียงโดย นายยิ้ม บัณฑิตยางกูร  เล่าย้อนความไปว่า
ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ    แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง   ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์   ได้แก่เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ซึ่งต่อมาทรงขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล    และเจ้าฟ้าพร  ทรงเป็นกรมพระราชวังหลัง เรียกกันว่า พระบัณฑูรน้อย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 14:14
ขอขยายรายละเอียดทางประวัติศาสตร์หน่อยนะคะ

เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ต่อมาขึ้นครองราชย์ มีพระนามที่คนไทยเรียกกันมาว่าพระเจ้าท้ายสระ    ทรงมีข้าหลวงเดิม  คำนี้หมายถึงข้าราชบริพารที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดมาแต่ดั้งเดิมก่อนขึ้นครองราชย์  เป็นที่ไว้วางพระทัย     ข้าหลวงเดิมในบันทึกนี้มีชื่อตัวว่านายสาย   ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา   ในหนังสือเทียบตำแหน่งว่า เป็นอธิบดีกรมกลาโหมฝ่ายพระราชวังบวรฯ ซึ่งในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลคือเจ้าฟ้าพร พระอนุชา

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต   ก็เกิดปัญหาการสืบราชบัลลังก์กันขึ้นมา   เพราะผู้อยู่ในฐานะจะสืบต่อได้มีทั้งเจ้าฟ้าพรผู้ทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า  และยังมีพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระ  ซึ่งพระราชบิดามีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้   


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 14:17
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าท้ายสระคือเจ้าฟ้านเรนทร (กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์) ในขณะนั้นผนวชอยู่  คงมองเห็นภัยนอกผ้าเหลือง  จึงไม่ไยดีกับราชสมบัติ ก็อยู่ในผ้าเหลืองต่อไปไม่สึกแม้พระราชบิดาสวรรคตแล้ว  เป็นอันว่าทรงรอดไปได้ไม่มีภัยมาสู่ตัว      ดังนั้นศึกกลางเมืองก็เลยเกิดขึ้นระหว่างเจ้าฟ้าพร กับหลานอีก 2 พระองค์ที่เป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์   คือเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์    ทั้งสองฝ่ายต่างมีขุนนางที่สนับสนุนกันฝ่ายละมากๆ
ศึกกลางเมืองกินเวลายืดเยื้อประมาณ 1 ปี  ในที่สุดเจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายชนะ  ทรงขึ้นครองราชย์ และประหารชีวิตเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ ไปตามระเบียบ   เมื่อขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นที่คุ้นเคยของนักประวัติศาสตร์ไทยในยุคหลัง  ว่าพระเจ้าบรมโกศ  

ส่วนพระยากลาโหมไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอันใดทางการเมือง    เพราะท่านเป็นฝ่ายพระเจ้าบรมโกศมาแต่แรกแล้ว   ท่านผู้นี้ ว่ากันว่าตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงที่เป็นวัดกษัตรารามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 14:46
พระยากลาโหม(สาย) มีบุตรธิดากี่คนในหนังสือไม่ได้แจกแจงรายละเอียด   บอกแต่ว่าบุตรชายคนโตชื่อ เสม   ต่อมารับราชการเป็นขุนนาง ที่พระอินทรรักษา   เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวรในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ   กรมพระราชวังบวรฯองค์นี้ทรงพระนามว่ากรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์   อันได้แก่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าบรมโกศ  หรือเจ้าฟ้ากุ้ง กวีเอกของไทย    

ท่านเสม พระอินทรรักษาสมรสกับหญิงสาวผู้ดีมีตระกูล มีนามว่า สา    ท่านสาเป็นธิดาคนโตของพระพินิจอักษร(ทองดี) ซึ่งมีสายสกุลเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์     บ้านเดิมของท่านสาในกรุงศรีอยุธยาอยู่แถววัดบรมพุทธาวาส หรือวัดกระเบื้องเคลือบ     มารดาของท่านเป็นบุตรีของเศรษฐีจีน บิดามารดาจึงมีเงินทองพอจะสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชาได้  ชื่อว่าวัดสุวรรณดาราราม  
ท่านสามีพี่น้องร่วมท้องรวมกันแล้ว 5 คน   และมีน้องชายหญิงต่างมารดาอีก 2 คนด้วยกัน

ท่านมีบุตรธิดากับพระอินทรรักษา 4 คน  เป็นชาย 3  และหญิงคนสุดท้องเพียงคนเดียว



กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 มี.ค. 12, 09:54
มานั่งหน้าชั้นเรียน รออาจารย์เข้ามาสอนต่อครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 10:21
ขอสารภาพว่ามัวไปมะงุมมะงาหรา ตามหากองทัพเรือในอ่าวไทยในกระทู้ญี่ปุ่นบุกอยู่ค่ะ เลยลืมต่อกระทู้นี้ไปเลย
ขอบคุณคุณ werachaisubhong มากที่ยกมือประท้วง   ขอกลับเข้าห้องเรียนตามเดิมนะคะ
ตระกูลของท่านสา ได้ชื่อว่าเป็นตระกูลเก่าตระกูลหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา  บุตรหลานก็ได้แต่งงานไปกับบุตรหลานขุนนางสำคัญมีหน้ามีตา  ตัวอย่างเช่นท่านสาดังที่กล่าวมา    
ท่านสาเป็นบุตรีคนใหญ่ของบิดา  มีน้องร่วมท้องถัดลงไปอีกจากท่าน  คือ
๑  น้องชายไม่ปรากฏชื่อ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนรามณรงค์  ถึงแก่กรรมในสมัยปลายอยุธยา
๒  แก้ว  เป็นหญิง
๒  น้องชายชื่อ ทองด้วง
๓  น้องชายชื่อบุญมา
นอกจากนี้ยังมีน้องชายหญิงต่างมารดาอีก ๒ คน  เป็นหญิงชื่อกุ   และเป็นชาย ชื่อ ลา

ย้อนกลับมาถึงชีวิตสมรสของท่านสา กับพระอินทรรักษา   ดังที่เล่าไปในค.ห.ก่อนว่าท่านมีลูกชายหญิง ๔ คน คือ
๑  ทองอิน  เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ  เดือน ๕ ปีขาล อัฐศก พ.ศ. ๒๒๘๙  ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ   พอเป็นหนุ่มก็บวชในสำนักพระอาจารย์ทอง  เจ้าอาวาสวัดท่าหอย  ปากคลองตะเคียน ริมคลองดูจาม ในกรุงศรีอยุธยา
๒  บุญเมือง   เกิดในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศเช่นกัน  เกิดปีระกา เบญจศก  พ.ศ. ๒๓๙๖  ที่บ้านข้างวัดกษัตราราม
๓  ทองจีน  เกิดในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ  เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐
๔  ทองคำ(หญิง) เกิดมีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔

นอกจากนี้พระอินทรรักษายังมีบุตรเกิดจากอนุภรรยา เป็นชายชื่อขุนเณร    ไม่ทราบวันเดือนปีเกิด  


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 10:31
ลูกๆของพระอินทรรักษากับท่านสาเติบโตขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองดีในสมัยพ่อแม่ กลายเป็นกลียุคในสมัยลูก     ศึกทั้งในเมืองนอกเมืองกระหนาบกันสองด้าน   จนกระทั่งบ้านเมืองร้อนระอุเป็นไฟ   
ความจริงจะว่ากรุงศรีอยุธยาแตกเพราะพม่าอย่างเดียวก็ไม่เชิง  เพราะศึกภายในที่บั่นทอนความแข็งแกร่งของบ้านเมืองก็มี  สะสมกันมาจากการทำรัฐประหารไม่รู้ว่ากี่ครั้งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง   การยึดอำนาจระหว่างอาหลาน และพี่ชายน้องชายก็ยังดำเนินมาจนกระทั่งถึงแผ่นดินสุดท้าย   
ขุนนางที่จงรักภักดีต่อเจ้านายฝ่ายแพ้ ถ้าไม่ถูกประหารตามนาย  ก็ต้องหมดยศหมดอำนาจหน้าที่  ไม่มีบทบาทในด้านการงานอีก   ล้วนแต่เป็นแม่ทัพนายกองสำคัญๆกัน    ความอ่อนแอภายในจึงกลายเป็นรอยร้าวที่แก้ไม่ตก จนศึกภายนอกจากพม่าเข้ามากระหน่ำ  กรุงก็เลยแตกหลังจากตั้งมาได้ถึง 447 ปี
ผลกระทบก็ตกอยู่กับชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่ได้เป็นคนก่อเหตุ    แต่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเต็มๆ 

ครอบครัวของท่านสาก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเสียเมืองให้พม่าข้าศึก


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 12:11
เมื่อพ.ศ. 2310  นายทองอิน หรือสมัยนั้นเรียกลูกผู้ดีมีตระกูลฝ่ายชายซึ่งยังไม่มีบรรดาศักดิ์ว่า "หม่อม"  จึงควรเรียกท่านว่า หม่อมทองอิน  อายุได้ 21 ปี บวชเรียนเรียบร้อยแล้วก็กรุงแตกพอดี     ก่อนหน้านั้นท่านเคยรับราชการหรือไม่  ไม่มีหลักฐาน  แต่ในเมื่อพ่อก็เป็นขุนนางใหญ่ในวังหน้า  ลูกชายอาจจะได้เป็นมหาดเล็กมาตั้งแต่รุ่นหนุ่มก็ได้     ถ้าได้เป็นก็คงเป็นมหาดเล็กชั้นผู้น้อย ไม่ทันจะมีบรรดาศักดิ์ กรุงศรีอยุธยาก็ล่มเสียก่อน

พวกขุนนางทั้งหลายต่างก็บ้านแตกสาแหรกขาด  อพยพย้ายหนีภัยสงครามออกจากเมืองไป   การอพยพนั้นมีมาเรื่อยๆทุกระยะ  ไม่ใช่ว่ากรุงแตกแล้วค่อยอพยพ      พระอินทรรักษาอพยพไปเมื่อใดไม่ทราบเช่นกัน   ประวัติบั้นปลายท่านค่อนข้างมืดมน   สันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา    เหลือแต่ภรรยาและบุตรที่อพยพหลบหนีออกจากเมืองหลวง   
ครอบครัวที่เหลือแต่แม่ คงลำบากไม่น้อย  เพราะท่านสามีลูกที่โตเป็นหนุ่มอยู่คนเดียวคือหม่อมทองอิน   น้องชายคนรองอายุ 14 ปี พ้นโกนจุกมาไม่นาน   คนที่สามเพิ่ง 10 ขวบ และลูกสาวคนเล็กเพิ่ง 6 ขวบเท่านั้นเอง
ท่านอพยพไปตามลำพังแม่ๆลูกๆ ลงใต้ไปเมืองธนบุรี    ส่วนบิดาของท่านคือพระพินิจอักษร  พาอนุภรรยาและบุตรชายคนเล็กสวนทางไปทางเหนือ  ไปพึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก(เรือง) อยู่ที่เมืองสองแคว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 มี.ค. 12, 13:22
ศึกในย่อมแก้ไขได้ยากแล้วมีศึกนอกเข้ามาอีก จึงเป็นเหตุให้กรุงแตกง่ายดาย ความสามัคคี คือพลัง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 22:17
ตามประวัติบอกว่า ท่านสารู้จักสมเด็จพระเจ้าตากสินมาก่อนตั้งแต่สมัยอยู่อยุธยา      ถ้าหากว่าพิจารณาจากประวัติของพระเจ้าตากสิน ที่ว่าเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี  และเป็นมหาดเล็กรุ่นเดียวกันมากับท่านทองด้วงน้องชายท่านสา  และท่านบุนนาคบุตรชายพระยาจ่าแสนยากร(เสน) แห่งวังหน้าสมัยเจ้าฟ้ากุ้ง   ท่านสาในฐานะภรรยาของขุนนางวังหน้าเช่นกันก็คงจะได้รู้จักกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งแต่สมัยนั้น
นอกจากนี้ น้องชายทั้งสองของท่านสา คือท่านทองด้วงซึ่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และท่านบุญมา  ก็ได้เข้ามารับราชการกับพระเจ้าตากสินเช่นกัน    เท่ากับพี่น้องได้มารวมกลุ่มกันอุ่นหนาฝาคั่งอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้  ท่านสาจึงนำบุตรชายคนโตและคนรองถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสิน  รับราชการต่อมายาวนานนับสิบปี   เลื่อนตำแหน่งจากมหาดเล็กชั้นผู้น้อยขึ้นจนเป็นชั้นหัวหน้า      หม่อมทองอินได้เป็นหลวงฤทธิ์นายเวร   และหม่อมบุญเมืองได้เป็นนายจ่าเรศ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 09:30
ขอย้อนกลับไปหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก   ในช่วงวิกฤติหลังกรุงแตก  คนไทยที่รอดตายไปได้ก็แยกย้ายกันไปรวมเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ขึ้นแก่กัน   เช่นก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก  ก๊กเจ้าพระฝางฯลฯ   ก๊กเล็กที่สุดคือก๊กธนบุรีของพระยาตากสิน  
น้าชายคนใหญ่ของหม่อมทองอินซึ่งเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี  ตั้งใจจะเข้ามาสมทบกับก๊กธนบุรีมาแต่แรก  แต่ติดขัดว่านาคภรรยาของท่านกำลังตั้งครรภ์  ไม่สะดวกแก่การเดินทาง  ท่านจึงฝากแหวน และดาบคร่ำทองให้น้องชายคือท่านบุญมา หรือนายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ไปเป็นการคารวะแทนตัว  และแนะนำให้ท่านบุญมาไปรับนางนกเอี้ยงมารดาของพระยาตากที่ลี้ภัยไปอยู่บ้านแหลม เมืองเพชรบุรีไปพร้อมกัน  เพื่อจะได้ไปอยู่กับพระเจ้าตากสินผู้เป็นบุตรให้หายห่วงใย  ส่วนตนเองนั้นจะติดตามไปสมทบด้วยในภายหลัง  ขอให้ภรรยาคลอดบุตรเสียก่อน

เรื่องราวก็เป็นไปตามความตั้งใจของหลวงยกกระบัตร  พระเจ้าตากสินทรงโสมนัสมากที่ได้พบมารดาอีกครั้ง  หลังจากต้องพลัดกระจัดกระจายกันไป    พร้อมกันนั้นก็ทรงรับท่านบุญมาเข้ารับราชการด้วยดี   อีกเหตุผลหนึ่งคือคุ้นเคยเห็นกันมาตั้งแต่ยังอยู่อยุธยา   ก็โปรดแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่
พระมหามนตรีบุญมาก็ทูลขอสมเด็จพระเจ้าตากสินออกไปรับหลวงยกกระบัตรพี่ชายมารับราชการอยู่ด้วย   ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑,๖๐๐ ไร่                


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 16:48
ตลอด 15 ปีในรัชสมัยธนบุรี เป็นยุคสมัยของการรบทัพจับศึกไม่ว่างเว้น      ตามแบบของอาณาจักรที่ตั้งขึ้นใหม่   นอกจากรบกับพม่าแล้วยังต้องรบกับพวกเดียวกัน  ที่แยกย้ายกันไปตั้งก๊กตั้งเหล่า เพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น    สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ต้องทรงปราบปรามกันไปทีละก๊ก เพื่อรวมให้เหลือก๊กเดียว
ขุนนางในสมัยธนบุรีที่จะเจริญในราชการได้ จึงต้องเก่งเรื่องรบทัพจับศึก     น้าชายทั้งสองของหม่อมทองอินก็พิสูจน์ให้เห็นฝีมือว่าเป็นนักรบชั้นยอด   รับพระบรมราชโองการไปทำศึกแทบจะไม่เคยมีเวลาพักผ่อน     ตำแหน่งในราชการก็เลื่อนขึ้นเป็นลำดับ  และคู่คี่กันไปทั้งพี่และน้อง
ท่านทองด้วงเลื่อนจากพระราชวรินทร์ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา  ท่านบุญมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกจนได้เป็นเจ้าพระยาด้วยกันทั้งสองท่าน คือ "เจ้าพระยาจักรี" อัครมหาเสนากรมมหาดไทย และท่านบุญมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 20:39
ตระกูลของหม่อมทองอิน เห็นทีจะมีฝีไม้ลายมือทางการรบกันหมดทุกคน      คำอธิบายข้อแรกที่เห็นได้ง่ายๆ คือสมัยนั้นเป็นสมัยของการรบ   ขุนนางไม่ว่าฝ่ายบู๊ฝ่ายบุ๋นต้องออกศึกกันเป็นทั้งหมด  จะมัวเลือกคนนั้นเว้นคนนี้อยู่คงไม่ได้  ส่วนข้อที่สอง ถึงแม้พงศาวดารไม่เจาะรายละเอียดลงไปลึกว่าหลวงฤทธิ์นายเวรท่านไปเรียนวิชาอาวุธและวิชารบทัพจับศึกมาจากไหน   แต่เราก็พออ่านได้จากประวัติว่า ท่านจะต้องได้เรียนแบบมีครู หรือมีผู้ใหญ่ในตระกูลสอนให้จนไม่น้อยหน้าใคร      เพราะน้าชายเป็นขุนนางใหญ่ฝ่ายบู๊กันทั้งสองท่าน   หลานชายก็ต้องได้รับถ่ายทอดฝีมืออย่างใกล้ชิด     

ไม่ใช่แต่เฉพาะท่าน น้องๆของท่านที่โตขึ้นมาเป็นหนุ่มต่างก็รู้เรื่องการรบดีทุกคน      และเรื่อยไปจนน้องชายต่างมารดา ชื่อหม่อมขุนเณร  ท่านสาผู้มารดาหอบหิ้วออกจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน     หม่อมขุนเณรเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ก็เป็นนักรบที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย  โดยเฉพาะการรบแบบกองโจร

เมื่อเล่ามาถึงลูกผู้ชายในตระกูลนี้ว่าเป็นนักรบกันทุกคน    ก็จะต้องเอ่ยถึงอีกท่านหนึ่งที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน    ได้แก่นายลา หรือหม่อมลา  ผู้เป็นน้องชายคนสุดท้องของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์     
หม่อมลาเป็นบุตรเกิดจากอนุภรรยาของพระพินิจอักษร(ทองดี)   เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก  พระพินิจอักษรพาภรรยาและบุตรคนสุดท้องซึ่งยังเล็กอยู่ หนีไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก(เรือง)    ต่อมาท่านถึงแก่กรรม   เมื่อปลงศพแล้ว  หม่อมลาและภรรยาก็พาอัฐิของบิดามาอยู่กับพี่ชายทั้งสองที่กรุงธนบุรี      หม่อมลาก็เช่นเดียวกับหม่อมขุนเณร  คือเติบโตขึ้นในฐานะนักรบ   ต่อมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญอีกคนหนึ่งของพี่ชาย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: พรต ที่ 05 มี.ค. 12, 09:21
จั่วหัวกระทู้ว่าเจ้านายวังหลัง อ่านไปอ่านมากลายเป็นกระทู้ต้นราชวงศ์จักรีซะแล้ว :-[ ขอบคุณท่านผู้รู้ที่แบ่งปันครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 05 มี.ค. 12, 09:38
จั่วหัวกระทู้ว่าเจ้านายวังหลัง อ่านไปอ่านมากลายเป็นกระทู้ต้นราชวงศ์จักรีซะแล้ว :-[ ขอบคุณท่านผู้รู้ที่แบ่งปันครับ

ก็เจ้านายวังหลัง ก็เป็นเชื้อสายเจ้านายต้นราชวงศ์จักรีนี่ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 09:53
ก็อย่างที่คุณ werachaisubhong  ตอบค่ะ    กรมพระราชวังหลังท่านเป็นหลานชายแท้ๆ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี   บทบาทของท่านที่ทำให้ท่านได้เป็นกรมพระราชวังหลังก็เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๑     
ทุกอย่างที่เล่าในกระทู้นี้ ล้วนเป็นที่มาที่ไปของบทบาทกรมพระราชวังหลังทั้งสิ้น  ไม่ได้เล่านอกเรื่อง

จากกรมพระราชวังหลัง ก็จะเล่าต่อมาถึงเชื้อสายของท่าน   ไปตามลำดับค่ะ 
กรุณาอดใจรอ  กระทู้นี้ค่อนข้างยาว  อย่าเพิ่งขัดคอ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: พรต ที่ 05 มี.ค. 12, 12:24
ขออภัยคุณเทาชมพูและมาลงชื่อรอรับความรู้ต่อครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 16:09
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตำแหน่งมหาดเล็กหลวง  ถือเป็นบันไดสำคัญขั้นแรกในหมู่ชายหนุ่มลูกผู้ดีเมื่อเข้าสู่ราชการ เนื่องจากจะมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงใช้สอย และมีโอกาสรู้เห็นการงานสำคัญๆของบ้านเมือง ถ้าหากว่าทำตัวดีมีความสามารถจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ต่อไปก็จะโปรดเกล้าฯให้เลื่อนไปสู่ตำแหน่งสูงๆได้ง่ายกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ
ข้อนี้เป็นเหตุผลว่า หลวงฤทธิ์นาย(หม่อมอิน) หลังจากรับราชการมานานกว่า ๑๐ ปี จนอายุ ๓๔  ก็น่าจะรอบรู้เรื่องกิจการงานเมือง และการศึก พอที่จะเป็นที่ไว้วางพระทัย  นอกจากนี้คงจะเคยตามเสด็จออกศึกใหญ่น้อย  ไม่ได้อยู่แต่ในวังเฉยๆ     สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากวังไปกินตำแหน่งใหญ่  ได้เป็นถึงพระยาสุริยอภัย  ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา  ศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่   ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าพระยา  มีเจียดกระบี่ คณฑีน้ำ พานหมาก กระโถน ล้วนแต่ทองคำ    และยังมีแคร่กันยาหลังคากันแซงเตย มีปโทนแห่หน้า ๕๐ คู่  เรียกได้ว่าเป็นขุนนางระดับบิ๊กของอาณาจักรทีเดียว

ขุนนางในสมัยโบราณนั้น แม้ว่ามีบรรดาศักดิ์เท่ากัน เช่นเป็นพระยาเหมือนกัน  แต่ก็มิใช่ว่าจะใหญ่เสมอกันโดยอัตโนมัติ   ต้องดูตำแหน่งและศักดินาประกอบอีกทีหนึ่ง    พระยาที่ศักดินาน้อยและตำแหน่งต่ำกว่าก็ย่อมเล็กกว่าพระยาศักดินามากกว่าและตำแหน่งสูงกว่า   พระยาสุริยอภัยได้ศักดินาเท่าเจ้าพระยา  ถือว่าใหญ่กว่าพระยาโดยทั่วไป 

ส่วนนายจ่าเรศน้องชาย  ก็โปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระอภัยสุริยา  ปลัดเมืองนครราชสีมา   ออกไปรับราชการด้วยกันทั้งพี่และน้อง   ส่วนในวัง ก็ทรงเลื่อนหม่อมทองจีน น้องชายคนเล็กของพระยาสุริยภัยซึ่งเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรตำแหน่งนายเล่ห์อาวุธ ขึ้นเป็นหลวงฤทธิ์นายเวรแทน 


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 19:40
ถ้าพระยาสุริยอภัยไม่เคยแสดงฝีไม้ลายมือให้สมเด็จพระเจ้าตากสินเห็นมาก่อน  คงไม่ได้ไปเป็นพระยานั่งเมืองนครราชสีมา   ในสมัยนั้นโคราชหรือนครราชสีมาไม่ใช่เมืองเล็กน้อย   หากแต่เป็นเมืองใหญ่แห่งภาคอีสาน  มีเมืองขึ้นหลายเมือง    ก็เป็นธรรมดาในยุคบ้านเมืองระส่ำระสาย   เมืองใหญ่ก็ย่อมมีปัญหาใหญ่มากกว่าเมืองเล็กที่ไม่มีใครสนใจ
สมัยต้นธนบุรี  นครราชสีมาเป็นเมืองหนึ่งในหลายเมืองที่เจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธพระโอรสในพระเจ้าบรมโกศได้ไว้ในอำนาจ ตั้งตนเองเป็นก๊กใหญ่ก๊กหนึ่ง มีผู้คนไปสวามิภักดิ์มากมาย    สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพไปปราบ  เจ้าพิมายยึดนครราชสีมาปักหลักสู้  แต่สู้ไม่ได้ก็หลบหนีออกจากเมืองไป  แต่ไปไม่รอด  เพราะมีขุนนางฝีมือดีชื่อขุนชนะ ทำความดีความชอบตามจับเจ้าพิมายที่หนีไปเวียงจันทน์มาถวายพระเจ้าตากสินได้   จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากำแหงสงคราม (บุญคง  ต้นสกุลกาญจนาคม) ว่าราชการเมืองนครราชสีมาต่อมา

แต่นครราชสีมาก็ไม่วายมีเรื่องวุ่นวายสืบต่อกันมาอีก    เมื่ออะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีพิษณุโลก    เจ้าเมืองหลายเมืองได้ยินข่าวว่าพม่ามาตีไทย คิดว่าไทยแพ้แน่    ก็ฉวยโอกาสแข็งเมืองขึ้นมา  หนึ่งในนี้คือพระยานางรอง เจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา ไม่ถูกกับพระยากำแหงสงครามมาแต่เดิม   เห็นเป็นจังหวะดี ก็ไม่ยอมอยู่ในอำนาจของพระยากำแหงสงครามอีก แต่บ่ายหน้าไปพึ่งเจ้าโอ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ให้ช่วยเหลือ    เจ้าโอก็คิดแบบเดียวกัน ว่าไทยคงสู้พม่าไม่ได้  ก็รับเจ้าเมืองนางรองไว้เป็นพรรคพวก  


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 19:46
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่าพระยานางรองแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา  ก็โปรดฯให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปยังเมืองนครราชสีมา  ให้กองหน้าไปจับ ได้ตัวพระยานางรองมาชำระความ จึงทราบว่าเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ กำลังเตรียมกองทัพ จึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี จะขอไปตีเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป 
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาสุรสีห์น้องชายเจ้าพระยาจักรี ยกทัพไปสมทบอีกทัพหนึ่ง   เจ้าพระยาทั้งสองยกกองทัพไปตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองทางฟากแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายจนถึงเมืองอัตบือ ได้หัวเมืองทางริมแม่น้ำโขงข้างใต้ตลอดจนต่อแดนกรุงกัมพูชา

ทางนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเรียกพระยากำแหงสงครามกลับมารับราชการในกรุงธนบุรี   แล้วทรงส่งพระยาสุริยอภัยไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทน    ให้นายจ่าเรศน้องชายไปด้วยเพื่อจะช่วยกันบริหารเมือง  ไม่มีข้อขัดแย้งกัน   

จากนั้น  ก็เกิดศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่งระหว่างไทยกับเขมร


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 10:07
เรื่องของเขมรกับไทยก็เป็นศึกใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของอาณาจักรธนบุรี  ขอเล่าถึงความเป็นมาเสียก่อนนะคะ

ถ้าเปิดแผนที่ดู จะเห็นว่าเขมรอยู่ตรงกลางระหว่างไทยกับญวน (หรือเวียตนามในปัจจุบัน)    อาณาจักรเล็กๆตรงกลางจึงถูกชักคะเย่ออยู่ระหว่างอาณาจักรใหญ่สองข้าง     ยุคไหนใครใหญ่ เขมรก็เข้าพึ่งหรือไม่ก็ถูกรวบเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนั้น    แต่ไม่ช้าไม่นาน อำนาจเปลี่ยนมือไป เขมรก็จะถูกดึงไปสู่อีกข้างหนึ่ง   
ยุคไหนเขมรเข้มแข็งขึ้นมาหรือเห็นอีกฝ่ายอ่อนแอลง  เขมรก็จะปลีกตัวออกห่าง  กลายเป็นหอกข้างแคร่    ไทยเองนอกจากต้องพะวงกับพม่าที่ยกทัพมารุกรานแล้วก็ยังต้องระวังทางด้านเขมรอีกด้วย

ในสมัยอยุธยา เขมรเป็นประเทศราชของไทย   เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก  เขมรก็ถือว่าหน้าที่ของตนต่อไทยจบลง  ไม่ต้องส่งบรรณาการอีกแล้ว  ภายในอาณาจักรเองก็เกิดเรื่องชิงบัลลังก์กันขึ้นมาระหว่างเจ้านายเขมร ๒ องค์คือพระรามราชา(นักองค์นนท์) กับพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน)   พระนารายณ์ราชาหันไปพึ่งญวน ขอกำลังมาช่วยรบ  พระรามราชาเป็นฝ่ายแพ้ก็หนีมาพึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 15:20
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยมาก่อน ก็ทรงส่งพระราชสาส์นไปเตือนพระนารายณ์ราชาให้กลับมาสวามิภักดิ์ต่อไทยดังเดิม แต่พระนารายณ์ราชาถือว่าทรงมีญวนแบ๊คหลังอยู่  ก็ไม่ยอม ซ้ำยังตอบสาส์นกลับมาอย่างโอหังว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสามัญชนมาก่อน มิได้เป็นกษัตริย์อย่างกษัตริย์อยุธยา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เขมรจะอ่อนน้อมให้      

คำตอบนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินกริ้วมาก  จึงโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชานำทัพไปตีเขมร ในพ.ศ.2312 สามารถตีได้เมือง เสียมราฐ  พระตะบองและโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ทันตีเมืองหลวงคือเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร) ก็พอดีมีข่าวลือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตจากการยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช   แม่ทัพทั้งสองเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายในกรุงธนบุรี  จึงยกทัพกลับ   พระนารายณ์ราชาก็รอดไปได้  ทำให้ศึกเขมรคาราคาซังอยู่

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามก๊กต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่  รวมอาณาจักรไทยได้เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว  ก็ทรงนึกถึงศึกเขมรที่ยังไม่จบ  ก็โปรดให้ยกทัพไปตีเขมรอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2314  คราวนี้เสด็จไปเอง เป็นทัพหลวง  ยกไปทางเรือ ส่วนทัพบกมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ
คราวนี้ทัพไทยตีเมืองหลวงของเขมรแตกได้สำเร็จ   พระนารายณ์ราชาหนีไปพึ่งญวน  ทางนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงตั้งพระรามราชาขึ้นครองราชย์    ภายหลังพระนารายณ์ราชากลับใจ  กลับมายอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี  และประนีประนอมยอมรับตำแหน่งพระมหาอุปโยราช (เทียบเท่าวังหน้า)เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลงได้ระยะหนึ่ง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 18:54
    ถึงพ.ศ.2322 เขมรเกิดศึกภายในขึ้นมาอีก  เพราะเจ้านายสำคัญองค์หนึ่งคือพระมหาอุปราชเขมรถูกลอบสังหาร  ส่วนพระมหาอุปโยราชนารายณ์ราชาก็มาสิ้นพระชนม์ไปในระยะเดียวกันอีกองค์หนึ่ง  มีข่าวลือว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือสมเด็จพระรามราชา เป็นผู้บงการฆ่าเจ้านายทั้ง 2   ขุนนางก็ลุกฮือขึ้นรัฐประหาร จับสมเด็จพระรามราชาถ่วงน้ำ  และอัญเชิญให้นักองเอง พระชันษาแค่ 5 ขวบ พระโอรสในพระมหาอุปโยราชขึ้นครองราชย์แทน โดยมีเสนาบดีชื่อฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการ
   ฟ้าทะละหะมู คงจะรู้ว่ารัฐประหารที่ทำลงไปกับเจ้านายเก่ามีสิทธิ์ถูกไทยลงโทษหนักแน่ๆ   จึงหันไปพึ่งพาญวนเพื่อเอาตัวรอด และเอาญวนมาคานอำนาจไทย        สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตั้งพระทัยว่าคราวนี้จะต้องปราบเขมรให้สิ้นเสี้ยนหนาม   ก็โปรดเกล้าฯให้จัดทัพใหญ่  ให้เจ้าพระยาจักรี ซึ่งเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีเขมร 

    คราวนี้มีพิเศษอีกอย่างคือ โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าจุ้ย หรือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปทัพนี้ด้วย  เมื่อตีเขมรสำเร็จ  คราวนี้ไม่เอาเจ้านายเขมรครองราชย์อีกแล้ว เพราะยุ่งยากนัก   แต่จะสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรต่อไป
    ขุนนางสำคัญที่ทรงเรียกมาจากนครราชสีมา คือพระยากำแหงสงคราม  ก็โปรดเกล้าฯให้ติดตามเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปในกองทัพใหญ่คราวนี้ด้วย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 19:13
ตอนนั้น แม่ทัพใหญ่ทั้งสองยกทัพไปติดพันศึกอยู่ที่เขมร     ขุนนางฝ่ายบู๊คนสำคัญๆก็ติดตามกันไปในกองทัพด้วย    ตอนยกทัพก็ไม่มีใครนึกว่าทางกรุงธนบุรีจะเกิดจลาจลขึ้นมาได้  เพราะหัวใจของอาณาจักรคือสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังอยู่ในเมืองหลวง    แต่เรื่องยุ่งยากก็เกิดขึ้นจนได้  และลุกลามไปไกลเกินกว่าจะคิด

ที่มาของการจลาจลเล่าไว้ในกระทู้เก่าเรือนไทย  ขอเอามาเล่าซ้ำอีกครั้งว่า  เริ่มต้นการจลาจลอยู่ที่พระยาวิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่าได้สัมปทานการขุดทรัพย์สินที่อยุธยา  เพราะก่อนกรุงแตกชาวอยุธยาฝังทรัพย์สินเงินทองของตนลงดินไว้แล้วแยกย้ายกันหนี  
หนีไปได้ก็มี ตายกันไปก็มาก ทำให้สมบัติตกค้างอยู่มากมาย  
พอถึงสมัยธนบุรี จึงเกิดการตามล่าหาขุมทรัพย์ในอยุธยากันใหญ่  เป็นเหตุให้พระยาวิชิตณรงค์เกิดไอเดียขอสัมปทานผูกขาดการขุดไว้คนเดียว  โดยถวายค่าสัมปทานแก่พระเจ้าตากปีละ ๕๐๐ ชั่ง   ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพระยาวิชิตณรงค์ไม่ได้ขุดอย่างเดียว
แต่ไปรีดนาทาเร้นเอาเงินจากราษฎรชาวอยุธยาด้วย   เป็นทั้งฉ้อราษฎร์และบังหลวง   จนราษฎรทนไม่ไหวก็เลยลุกฮือขึ้น   เข้าไปปล้นเผาบ้านพระยาวิชิตณรงค์เจ้าเมือง   ฆ่าตายกันเรียบทั้งลูกเมีย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 21:13
    เมื่อข่าวถูกส่งไปถึงกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากก็โปรดฯให้พระยาสรรค์ ขุนนางที่ประจำอยู่ในธนบุรีไปปราบ   อาจจะเป็นเพราะทรงทราบว่าหัวหน้าราษฎรที่ก่อเรื่องชื่อขุนแก้วเป็นน้องพระยาสรรค์เอง  จึงคิดว่าส่งพี่ชายไปปราบ   น้องจะยอมโดยดีเพราะเกรงพี่    แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร  ขุนแก้วกลับเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้เข้าเป็นพวกเดียวกันได้สำเร็จ   ได้กำลังทหารเพิ่มเป็น ๒ เท่า ก็ยกพวกมาถึงธนบุรี
   ธนบุรีนั้นเข้าง่ายดายจริงๆ  พระยาสรรค์พาพวกบุกเข้ามาล้อมวังได้สำเร็จ    ไม่รู้ว่าทหารรักษาเมืองไปไหนกันหมด     ทหารที่ป้องกันพระเจ้าตากเหลือเพียงทหารฝรั่งล้อมวังและทหารราชองครักษ์ซึ่งเป็นพวกนับถือคริสตศาสนา    พวกนี้สู้เต็มที่แต่กำลังน้อย 
พระเจ้าตากก็เสด็จไปที่คุกปล่อยนักโทษออกมาสู้     แต่สู้ฝ่ายพระยาสรรค์เพียงคืนเดียวพระองค์ก็กลับใจไม่สู้

     จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีเล่าเอาไว้น่าวิเคราะห์มากว่า  การสู้รบกันครั้งนี้  " ผู้คนบางเบาร่วงโรยนัก" หมายถึงว่าในธนบุรีกำลังฝ่ายพระเจ้าตากแทบไม่มีเลย
      การกบฎครั้งนี้แปลกมาก  เพราะฝ่ายพระเจ้าตากยังมีทหารเก่งๆหลายคนที่ประจำอยู่ในเมือง ไม่ได้ตามทัพใหญ่ไปเขมร  เช่นพระยาธิเบศร์ พระยารามัญ  พระยาอำมาตย์ พวกนี้สู้ตายลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมมายิงจนข้าศึกถอยหนี     แต่แทนที่พระเจ้าตากจะตีพระยาสรรค์ให้แตกอย่างที่เคยทำกับข้าศึกมานับครั้งไม่ถ้วน  กลับเสด็จกลับออกไปรับสั่งห้ามว่า 

     "สิ้นบุญพ่อแล้ว  อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย  พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์  มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าข้าวแดง"

     คือทรงห้ามทหารพวกนั้นไม่ให้สู้ตายเพราะเห็นแก่พระคุณเจ้านาย    ทรงถือว่าสิ้นบุญท่านแล้วก็อย่าให้ทหารลำบากต้องมาตายแทน
     พระยาสรรค์ซึ่งเป็นขุนนางโนเนมไม่ได้ปรากฏฝีไม้ลายมือในประวัติศาสตร์ธนบุรีมาก่อน  ก็เหมือนกับคนซื้อล็อตเตอรี่หวังเลขท้าย  แต่กลับถูกรางวัลที่หนึ่งแทน    ก็สามารถยึดเมืองหลวงไว้ในอำนาจได้อย่างง่ายดาย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 06 มี.ค. 12, 21:30
ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ สับสนนัก ไม่เฉพาะเรื่องราว แต่ตัวบุคคลด้วยค่ะ

อยากได้เห็น Family Tree ของพระเจ้าตากค่ะ โอรส ธิดา เป็นใครกันบ้าง

ดิฉันสับสนมานานแล้ว เจ้านายวังนี้ จะเรียกว่า วังหลัง หรือวังเดิม ดี

หากพระองค์ทรงผิดพลาดทางการเมือง ถึงกับต้องประหาร เหตุไฉนจึงยังคงเหลือ เชื้อสายของท่านไว้อีกหลายพระองค์

กรมขุนกษัตรานุชิต และ หม่อมไกรสร ทั้งสองท่านนี้ เป็นเชื้อสายพระเจ้ามิใช่หรือ

อ.เทาชมพู เขียนประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้กระชับดีค่ะ จะตามอ่านนะคะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 21:35
เคยรวบรวมเชื้อสายและสกุลที่สืบต่อมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ในกระทู้เก่าค่ะ    คุณร่วมฤดีมาถามอีกที  ดิฉันคงจะแยกไปตอบในกระทู้  การสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช  จะตรงกับชื่อกระทู้มากกว่า

วังของกรมพระราชวังหลัง เรียกว่าวังหลังค่ะ  ส่วนพระราชวังเดิมคือพระราชวังสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ก็ยังเป็นที่ประทับของเจ้านายในรัชกาลที่ ๒ และ ๓   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็เคยทรงอยู่ที่นี่ก่อนเสด็จไปอยู่วังหน้า


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 11:16
    พระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจเมื่อค่ำวันเสาร์ เดือนสี่  แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ สู้กันทั้งคืนกับทหารรักษาพระองค์ ตอนเช้าพระเจ้าตากก็ห้ามมิให้ทหารรักษาวังต่อสู้กบฎอีกต่อไป  เป็นอันว่าพระยาสรรค์ยึดเมืองได้วันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนสี่
   จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ กับพระพิมลธรรม พระรัตนมณี (หรือพระรัตนมุนี) ให้ออกไปเจรจายอมแพ้แก่พวกกบฏ พระยาสรรค์จึงให้พระสมณะทูตกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ พระคุณเจ้าทั้งสามจงถวายพระพรให้ทรงผนวชเสียสักสามเดือน เพื่อชำระพระเคราะห์เมือง ”
    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยอมรับที่จะปฏิบัติตาม      เมื่อทรงทราบว่าจบลงได้ก็ทรงพระสรวล  ตบพระเพลาแล้วตรัสว่า “เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว”
    การที่พระองค์ทรงพระสรวล ตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก”

    ถ้าให้สันนิษฐานจากหลักฐานข้างบนนี้ก็เห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ทรงไยดีกับทางโลกอีกต่อไปแล้ว   ใครจะเป็นกบฎ ใครจะรบกับใคร  ไม่อยู่ในพระราชประสงค์อีกต่อไป     ทรงมุ่งจะไปทางธรรมอย่างเดียวเท่านั้น


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 11:31
    ผลก็เป็นไปอย่างที่ตกลงกัน  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกผนวช ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ปีฉลู  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 14 ปี 4 เดือน   จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ฯ ทรงบันทึกไว้ว่า “ พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะให้ถวายพระพร ให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมือง 3 เดือน ทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิด ( มีดโกน)"   มาปลงพระเกศา แล้วผนวชเข้าวัดไป มิได้ใส่พระทัยกับเหตุการณ์บ้านเมืองอีก
    การผนวชครั้งนี้ จริงๆก็คือทรงอยู่ในฐานะถูกควบคุมพระองค์ไว้ในวัด  พร้อมทั้งพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ คือพระพงษ์นรินทร์ หรือเจ้าฟ้าทัศน์พงศ์   ส่วนพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่องค์อื่นๆที่อยู่ในกรุงก็ถูกควบคุมเอาไว้ทั้งหมด    พระยาสรรค์ก็ทำหน้าที่ว่าราชการแทน  ประกาศแก่บรรดาข้าราชการ ทั้งปวงว่า จะรักษาราชการไว้รอท่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมาจากเขมร
    ในเมื่อพระยาสรรค์อ้างอย่างนี้   ประกอบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินและพระราชวงศ์ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือพระยาสรรค์หมดแล้ว  ขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็จำต้องสงบปากคำไม่มีปฏิกิริยาอันใด ยอมให้พระยาสรรค์เป็นผู้สำเร็จราชการในระหว่างนั้น


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 11:41
     พระยาสรรค์เหมือนคนที่ขี่หลังเสือแล้ว ก็ไม่อยากลงจากหลังเสือ อยากจะนั่งอยู่บนนั้นต่อไป ทั้งเพื่ออำนาจและเพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วย      เพราะอะไรๆในเมืองหลวงก็อยู่ในอุ้งมือหมดแล้ว    เหลืออุปสรรคใหญ่ที่ยังค้ำคออยู่ ก็คือแม่ทัพใหญ่จากเขมร     สมเด็จเจ้าพระยากลับมาถึงเมืองเมื่อไร เห็นทีว่าท่านจะไม่ยอมยกเมืองให้พระยาสรรค์นั่งเมืองอยู่ง่ายๆเหมือนตอนนี้แน่นอน   ตัวเองก็คงจะเคราะห์ร้าย    เพราะข้อหากบฎยังจ่อคอหอยอยู่    ขุนนางธนบุรีก็ใช่ว่าจะยินยอมพร้อมใจกับตัวเองไปหมดทุกคน
     พระยาสรรค์ก็เลยแสวงหากำลังเพิ่มด้วยตัวเอง   อย่างหนึ่งคือไปปล่อยนักโทษออกจากที่คุมขังเพื่อเกลี้ยกล่อมไว้เป็นพวก    พวกนี้พอออกจากคุกได้ก็ไม่สนใจจะจัดระเบียบ  แต่เที่ยวไปฆ่าฟันทำร้ายพวกเจ้าทุกข์ที่ทำให้ตัวเองติดคุก  เกิดวุ่นวายไปทั่วเมืองอีกครั้ง
     ข่าวธนบุรีเกิดจลาจลและรัฐประหารกลางเมืองถูกส่งไปถึงสมเด็จเจ้าพระยา    ท่านก็ให้หลานชายที่อยู่ใกล้กว่ายกทัพมาจากโคราช ภายใน 7 วันนับแต่เกิดเรื่อง  ทัพของพระยาสุริยอภัยก็มาถึงกรุงธนบุรี
    บทบาทของกรมพระราชวังหลังก็เป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์นับแต่ครั้งนี้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 16:11
เมื่อพระยาสุริยอภัยยกทัพมาถึงกรุงธนบุรี    พระยาสรรค์ก็ทำใจดีสู้เสือออกมาต้อนรับ ไม่ได้ใช้ไม้แข็ง   ใจคอก็ครั่นคร้ามอยู่มาก   มีเกร็ดเล่าว่าวันนั้นเป็นวันพระ   ท้าวนางข้างในออกมาฟังเทศน์ตามปกติ    แต่ว่าท้าวทรงกันดาล(มอญ) ซึ่งได้ชื่อว่าฝักใฝ่เป็นพวกเดียวกับพระยาสุริยอภัย เกิดทำเทียนล้มไปโดยผ้าม่าน   ไฟลุกไหม้ขึ้นมา   บรรดาสาวสรรค์กำนัลในตกใจก็ร้องวี้ดว้าดกันอลหม่าน   ข้างหน้าฟังเทศน์อยู่ได้ยินเสียงก็ตกอกตกใจ  นึกว่าเกิดยึดอำนาจขึ้นมา ก็ลุกขึ้นเตรียมพร้อมกันเป็นโกลาหล  
 
แต่เอาเข้าจริง พระยาสุริยอภัยก็ไม่ได้ทำอะไรรุนแรง    เพียงแต่เข้ามาพบพระยาสรรค์ด้วยชั้นเชิงแบบการทูต   ถามกันดีๆถึงเรื่องจลาจล   พระยาสรรค์ก็เจรจาการทูตตอบไปคล้ายๆนักการเมืองสมัยนี้คือที่ทำทุกอย่างลงไปเพื่อประชาชน  เจตนาแค่ปกป้องประชาชนมิให้เดือดร้อน      แต่ไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงอะไร    ตอนนี้ก็แค่รักษาเมืองเอาไว้รอสมเด็จเจ้าพระยากลับมาจากเขมรเท่านั้น

ในเมื่อพระยาสรรค์อ้างด้วยถ้อยคำเรียบร้อยมีเหตุมีผลแบบนี้  พระยาสุริยอภัยจะบอกตรงๆว่าไม่เชื่อ ก็จะเป็นการหักหน้าอีกฝ่าย  ทำไม่ได้อยู่ดี   ก็ลากลับออกมาจากวัง   กลับมาบ้านของตนที่สวนมังคุด  ส่วนทัพที่ยกมาก็ให้พักชั่วคราวอยู่ที่บ้านปูน ทางเหนือของบ้าน   แต่ก็ตั้งใจจะยังคุมเชิงไว้  เพราะไม่ไว้วางใจอีกฝ่าย  จึงให้ไพร่พลเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 20:30
พระยาสรรค์บวกลบดูแล้ว  รู้ว่าตัวเองถ้าทำการใหญ่คนเดียวก็ไม่สำเร็จแน่นอน    อำนาจวาสนาบารมีไม่ถึง    ที่ยึดอำนาจได้อย่างลอยลำตอนนี้ก็เกิดจากดวงมากกว่าฝีมือ           พระยาสรรค์ไม่อยากเสียอำนาจ    แต่ถ้าจะนั่งบนหลังเสือต่อไปอีก อย่างแรกก็ต้องชิงกำจัดพระยาสุริยอภัยเสียก่อนทัพใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯกลับจะมาถึง

เรื่องนี้ พระยาสรรค์รู้ว่าจะหวังความร่วมมือจากขุนนางใหญ่น้อยคงยาก    เพราะใครหน้าไหนก็ไม่อยากเป็นปรปักษ์กับหลานชายของสมเด็จเจ้าพระยา     พระยาสรรค์ก็เลยมองหาว่าจะต้องหาหุ่นเชิดขึ้นมาสักคนหนึ่ง   
มองไปมองมา  ก็เห็นว่าเหมาะที่สุดคือหลานชายสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีพระนามว่าเจ้ารามลักษณ์ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม    เพราะเจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นนักรบมาก่อน   ถ้ากล่อมให้เชื่อได้ว่าพระยาสุริยอภัยต่างหากทำท่าจะชิงอำนาจ    ส่วนพระยาสรรค์เป็นฝ่ายคุ้มกันสมเด็จพระเจ้าตากสินเอาไว้      กรมขุนอนุรักษ์ฯก็คงเต็มใจเป็นพันธมิตร    ว่าแล้วพระยาสรรค์ก็ให้คนไปพากรมขุนอนุรักษ์ฯออกจากที่จองจำมาพบ     เกลี้ยกล่อมจนหลงเชื่อ
กรมขุนอนุรักษ์สงครามตรงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ทูลขอให้สึกออกมาปราบกบฎ   แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปฏิเสธ  ยืนยันว่าพระองค์สิ้นบุญแล้ว ขออย่ารบกันต่อไปเลย   จากนั้นก็หันไปตรัสกับเจ้าฟ้าทัศพงศ์พระราชโอรสที่อยู่ใกล้ๆว่า  พ่อคงไม่รอด  แผ่นดินคงจะตกเป็นของสมเด็จเจ้าพระยา   เมื่อสิ้นบุญพ่อแล้วขอให้ฝากตัวกับสมเด็จเจ้าพระยาให้ดี      จากนั้นก็พระราชทานประคำกระดาษเลขยันต์ลงรักปิดทอง 108 เม็ดที่ติดพระองค์อยู่ให้เจ้าฟ้าทัศพงศ์


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 07 มี.ค. 12, 22:31
ขอเสียมารยาท ขัดจังหวะครับ

ไม่แน่ใจว่า ปีนี้ ( ๒๕๕๕ ) หรือ ปีหน้า ( ๒๕๕๖ ) นะครับ ที่ พิพิธภัณฑ์ของโรงพยาบาลศิริราชจะสร้างเสร็จ บนเนื้อที่บางส่วนของสถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม

ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ จะมีการจัดแสดง พระแสงองค์สำคัญ ๆ ซึ่งตกทอดมาถึงทายาทของกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขครับ ถ้าได้ข่าวอย่างไร จะนำมาแจ้งให้ทราบอีกทีนะครับ

เคยเห็นองค์จริงแล้ว ตอนที่เขาเสวนากันเมื่อปีก่อน ต้องถือว่า ทายาทนั้นเก็บรักษาพระแสงต่าง ๆ ได้ดีพอสมควรตามฐานะที่จะพึงอำนวยครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 09:18
เป็นข่าวที่น่าสนใจมากค่ะ     เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดแล้ว ก็ตั้้งใจจะหาโอกาสไปชมให้ได้สักวัน    ไม่รู้ว่าเขาจะเปิดโอกาสให้ถ่ายรูปมาลงในเว็บได้หรือเปล่า


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 09:29
แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ทรงร่วมมือด้วยที่จะทำศึกการเมือง    กรมขุนอนุรักษ์สงครามก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ    นี่ก็อีกคนที่ขึ้นขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้   ก็กราบถวายบังคมลาออกมาจัดกำลังพล  เตรียมเข้าจัดการกับพระยาสุริยอภัยในตอนพลบค่ำ     ถือว่าใครลงมือก่อนคนนั้นได้เปรียบ   

วิธีของกรมขุนอนุรักษ์ฯคือตั้งค่ายรายพลวางโอบล้อมตั้งแต่วัดบางว้าน้อย(อมรินทร์)ลงมาถึงบ้านปูน  มีพระยาสรรค์จัดอีกทัพหนึ่งยกมาตีกระหนาบทางด้านใต้ เรียกว่าล้อมวงไว้ให้ฝ่ายปรปักษ์กระดิกกระเดี้ยไม่ได้     จากนั้นก็ใช้วิธีจุดไฟยกพลเข้าล้อมบ้านพระยาสุริยอภัย   

พระยาสุริยอภัยท่านก็ชาตินักรบเหมือนกัน   มองเกมพระยาสรรค์ออกว่า ลองคนกล้ามักใหญ่ใฝ่สูงถึงขั้นยึดอำนาจ เกาะกุมองค์พระเจ้าแผ่นดินจองจำเอาไว้ในวัดได้ขนาดนี้   เรื่องจะวางมือง่ายๆส่งอำนาจให้คนอื่นรับไปแทน เห็นจะไม่มีทาง     ท่านก็เลยสั่งไพร่พลเตรียมพร้อมไว้ยี่สิบสี่ชั่วโมง    ตั้งค่ายวางพลปืนรายทางไปตลอดแนวเหมือนกัน     พอฝ่ายโน้นบุกเข้ามา  ทางนี้ก็ยิงกระหน่ำออกไป   กรมขุนอนุรักษ์ฯก็จุดไฟขึ้น   กะใช้ไฟคลอกบ้านพระยาสุริยอภัยและแม่ทัพนายกองฝ่ายนี้ให้เรียบราบ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 09:59
สถานการณ์ทำท่าจะเข้าข้างกรมขุนอนุรักษ์ฯและพระยาสรรค์ในตอนต้น  เมื่อไฟที่จุดลุกลามรวดเร็วมาถึงบ้านปูน    พระยาสุริยอภัยเห็นจวนตัว ก็พนมมือทำสัตยาธิษฐาน    พงศาวดารเล่าถึงคำพูดของท่านไว้ไพเราะมาก   ท่านตั้งสัตย์ว่า

"ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญศีลทานกุศล  สิ่งใดๆก็ตั้งใจปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว   เดชะอำนาจความสัตย์นี้ขอจงยังพระพายให้พัดกลับคืนไป    อย่าให้เพลิงไหม้มาถึงบ้านข้าพเจ้าเลย"

พงศาวดารเล่าต่อไปว่า สัตยาธิษฐานของพระยาสุริยอภัยได้ผล    ลมกลับพัดย้อนกลับไปทางเหนือซึ่งเป็นทางที่กรมขุนอนุรักษ์ฯยกพวกบุกลงมา   บ้านของพระยาสุริยอภัยก็รอดจากเป็นเถ้าถ่านลงไปได้

พระยาสุริยอภัยและไพร่พลปักหลักสู้ ๒ ทัพอย่างดุเดือดทั้งคืน  จนกระทั่งสว่างมองเห็นตัวกัน  จึงเห็นว่าเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั่นเองที่บัญชาการรบอยู่


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 10:31
พอสว่าง  ก็รู้กันทั้งเมืองว่าเกิดศึกกลางเมืองขึ้นมาแล้ว     ฝ่ายที่เข้าข้างพระยาสุริยอภัยก็รวบรวมพลกันออกมาช่วยรบ    หนึ่งในจำนวนนั้นที่พงศาวดารบันทึกไว้คือพระยาเจ่ง หัวหน้าพวกมอญ (ต้นสกุลคชเสนี)   และอีกพวกหนึ่ง คือเจ้าศิริรจจา เจ้าหญิงจากทางเหนือ พระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่   ได้สมรสกับเจ้าพระยาสุรสีห์ จึงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ในฐานะท่านผู้หญิงสุรสีห์

เมื่อรู้ว่าหลานชายของสามีตกอยู่ในอันตราย    ท่านผู้หญิงก็จัดบ่าวไพร่แต่งทัพยกข้ามแม่น้ำมาสมทบ ช่วยตีกระหนาบทัพกรมขุนอนุรักษ์ฯอีกทางหนึ่ง    จนถอยร่นไป    การรบดำเนินมาจนถึง ๑๑ โมงเช้า  ฝ่ายพระยาสุริยอภัยก็มีชัย    กรมขุนอนุรักษ์ฯ หนีไปซ่อนอยู่ที่วัดยางในคลองบางกอกน้อยริมวัดละครทำ     พระยาสุริยอภัยก็ติดตามเอาตัวมาได้ พร้อมทั้งพรรคพวก     สอบสวนได้ความว่าพระยาสรรค์ปล่อยออกจากที่จองจำ เพื่อเอาตัวมารบด้วย   ก็ให้จองจำเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายพระยาสรรค์เห็นทัพกรมขุนอนุรักษ์ฯ แตกพ่ายหนีไปแล้ว   ก็เสียขวัญรีบรวบรวมพลถอยหนีกลับเข้าวัง    พระยาสุริยอภัยก็ตั้งค่ายล้อมเอาไว้  รายเรียงตั้งแต่บ้านปูน  ถึงคลองข้างวัดอรุณ   ซึ่งเป็นคลองคูพระราชวัง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 13:30
จะเห็นได้ว่า ตัวแปรของจลาจลธนบุรี อยู่ที่ศึกกลางเมืองระหว่างพระยาสุริยอภัยกับกรมขุนอนุรักษ์ฯ และพระยาสรรค์     ถ้าหากว่าพระยาสุริยอภัยไม่ยันศึกกระหนาบสองด้านทั้งเหนือทั้งใต้เอาไว้ได้ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนจดรุ่งเช้า    แต่เกิดพ่ายแพ้ บ้านช่องถูกเผา ไพร่พลแตกฉานซ่านเซ็น   ตัวเองถูกจับเป็นเชลยพระยาสรรค์      สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็ต้องทรงหนักใจเหมือนกันว่า ถ้าต้องตีธนบุรีให้แตก  หลานท่านก็คงไม่รอด  
นอกจากหลานชาย   พี่สาวของท่าน น้องสะใภ้ท่าน ก็ล้วนแล้วแต่กลายเป็นตัวประกันให้พระยาสรรค์ด้วยกันทั้งนั้น

ข้อสำคัญ พระยาสรรค์ก็คงฮึกเหิมขึ้นมาก   ว่าตัวเองชนะทั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินและชนะทั้งทัพหน้าของสมเด็จเจ้าพระยา  สามารถเอาขุนนางใหญ่น้อยไว้ในอำนาจได้      จลาจลอาจจะยืดเยื้อก่อความเสียหายแค่ไหนก็ไม่อาจประมาณได้  ธนบุรีอาจพินาศไปทั้งเมืองก็เป็นได้

แต่ในเมื่อพระยาสุริยอภัยเอาชนะพระยาสรรค์ได้สำเร็จ   ทุกอย่างก็จบลงง่ายดาย  ไม่เสียเลือดเนื้อกันมากกว่านี้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 08 มี.ค. 12, 17:40
แปลกใจข้อที่ 1 อะไรเป็นสาเหตุใ้ห้พระเจ้าตากละวางการเมือง ยอมออกบวชง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่ ก่อนหน้านี้ ยังส่งทัพไปตีเขมร
แปลกใจข้อที่ 2 หากยอมง่าย ๆ แล้ว ทำไมจึงทรงเชื่อว่า"พ่อคงไม่รอด" ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นผู้ก่อจลาจลขึ้น
แปลกใจข้อที่ 3 ทำไมจึงคิดว่า "แผ่นดินคงจะตกเป็นของสมเด็จเจ้าพระยา   เมื่อสิ้นบุญพ่อแล้วขอให้ฝากตัวกับสมเด็จเจ้าพระยาให้ดี"

ดูเหมือนเรื่องราวตรงนี้ เป็นการเมืองซับซ้อนเกินสติปัญญาดิฉันอย่างยิ่งค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 18:10
มาถึงตรงนี้ก็ต้องพักบทบาทพระยาสุริยอภัยไว้ชั่วขณะ  เพราะติดการบ้านคุณ samson เอาไว้  บวกกับการบ้านที่คุณร่วมฤดีให้มาอีกครั้งนี้  จะต้องพยายามเฉลยไปตามข้อมูลที่มี

ขอย้อนกลับไปเมื่อสมเด็จเจ้าพระยายกทัพออกไปตีเขมร    เหตุการณ์ทางกรุงธนบุรีแทนที่จะสงบอย่างที่ควรจะเป็น ก็ไม่สงบ    กรุงธนบุรีตั้งมา 14 ปี  หมายความว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตรากตรำทำศึกไม่ได้หยุดเลย 14 ปี   ยังไม่บวกสมัยที่ทรงเป็นนายทหารป้องกันกรุงศรีอยุธยาจากพม่าอีกหลายปีอีกด้วย       ในเมื่อ ร่างกายและสมองคนเราไม่ได้ทำด้วยเหล็กไหล  เมื่ออ่อนล้าหนักเข้า ก็ทรงวางมือจากราชการบ้านเมืองให้สมเด็จเจ้าพระยารับไปทำศึกแทน    ทรงหันเข้าหาพุทธศาสนาเป็นการระงับความเครียดทั้งกายและใจ
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงศึกษาธรรมะในเชิงปฏิบัติ    มิได้ทรงหวังแต่เพียงแค่จะเป็นอุบาสกที่ดีรักษาศีลห้าศีลแปดครบถ้วนเพียงเท่านั้น  แต่ทรงหวังถึงขั้นสำเร็จประโยชน์ในนิพพานเลยทีเดียว      ทรงผ่านสำเร็จประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าไปโดยมุ่งหวังแต่เฉพาะพระโพธิญาณเป็นหลัก    ทรงข้ามความรู้ในด้านปริยัติ  ซ้ำทางปฏิบัติก็มิได้เป็นไปตามลำดับ   ดังนั้นเมื่อทรงนั่งกรรมฐาน แทนที่จะเป็นไปเพื่อความสว่างทางจิต และสงบจากกิเลส  ก็กลับออกนอกทางไป  คือจะทรงเจออะไรก็ไม่อาจทราบได้ แต่เกิดความเข้าพระทัยว่าทรงบรรดาโสดาปัตติผลแล้ว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 18:18
ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

ครั้นถึงณวันอาทิตย์เดือนเก้าแรมหกค่ำ สมเด็จพระพุทธเจ้า อยู่หัวเสด็จออกณโรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาศ  สำคัญพระองค์ว่าได้ โสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชน จะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ ประการใด
และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท เกรงพระราชอาชญา เป็นคนประสมประสานจะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้นมีเป็นอันมาก มีพระพุทธโฆษาจารย์วัดบางว้าใหญ่ พระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนีวัดหงส์เป็นต้นนั้น ถวายพระพร ว่า พระสงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้ แต่สมเด็จพระสังฆราชวัดบางว้าใหญ่ พระพุทธาจารย์วัดบางว้าน้อย พระพิมลธรรมวัดโพธาราม สามพระองค์นี้สันดานมั่นคงคือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาบันก็ดี  แต่เป็นหีนเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธศีลอันประเสริฐซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์อันเป็นพระโสดาบันนั้นมิบังควร


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 18:30
คำตอบพระสงฆ์แตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งตอบรับว่าไหว้ได้  อีกฝ่ายตอบปฏิเสธว่าไหว้ไม่ได้   ให้เหตุผลว่าพระสงฆ์ต่อให้เป็นพระธรรมดาๆ ไม่ได้บรรลุอะไร ก็ยังอยู่ในสมณเพศซึ่งสูงกว่าเพศฆราวาส  แม้ฆราวาสบรรลุธรรมขั้นอริยะก็ไม่สามารถจะเป็นฝ่ายนั่งให้พระสงฆ์ไหว้อยู่ดี
ผลก็คือสมเด็จพระเจ้าตากสินพิโรธ    ลงโทษแก่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ตอบปฏิเสธ เป็นโทษหนักเรียงตัวกันไปเลย  พระที่โดนหนักก็ไม่ใช่แค่เจ้าคุณ  แต่เป็นถึงขั้นสมเด็จพระสังฆราช    สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธาจารย์ พระพิมลธรรม กับบรรดาพระราชาคณะและพระมหาเปรียญอีกหลายรูป  

พงศาวดารธนบุรีแจกแจงรายละเอียดว่า
     "แต่พวกพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละร้อยที    พระฐานาเปรียญให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที พระ สงฆ์อันดับให้ตีหลังองค์ละสามสิบที แต่พระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลในสัตย์  พวกว่าไหว้ไม่ได้นั้นทั้งสามพระอารามเป็นพระสงฆ์ถึงห้าร้อยรูป ต้องโทษถูกตีทั้งสิ้น...พระราชาคณะทั้งสามพระองค์ กับพระสงฆ์ อันเตวาสิกซึ่งเป็นโทษทั้งห้าร้อยนั้นให้ไปขนอาจม  ชำระเว็จกุฎีวัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน
แล้วให้ถอดพระราชาคณะทั้งสามนั้น จากสมณฐานันดรศักดิ์ลงเป็นอนุจร  
     ครั้นนั้นมหาภัย พิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาคนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ   นับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตต์คิดสงสารพระพุทธศานา มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมาก    ที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี และเสียงร้องไห้ระงมไปทั่วทั้งเมือง"

     อ่านถึงตอนนี้แล้วก็ยังสยอง      เพราะพระสงฆ์ที่ทำผิดถึงขั้นถูกถอด ถูกจับสึกไม่ให้อยู่ในผ้าเหลืองอีก  มีอยู่หลายยุคหลายสมัย   ไม่ใช่เรื่องไม่เคยเกิด  ในพระไตรปิฏกก็ระบุไว้ชัดเจนว่าโทษระดับไหนถึงขั้นปาราชิก คือถูกจับสึกห้ามบวชอีกตลอดชาติ    แต่โทษแค่ถวายคำตอบตามหลักการแล้วไม่ถูกพระทัย  เลยโดนเฆี่ยนโดนตี ถูกใช้ให้ไปล้างส้วมขนอุจจาระขนาดนี้ ไม่เคยมีมาก่อน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 18:45
นอกจากเรื่องพระสงฆ์  ก็มีรายละเอียดอย่างอื่นที่แสดงถึงพระอัธยาศัยที่เปลี่ยนไปของสมเด็จพระเจ้าตากสิน  เช่นทรงหวาดระแวงในแง่ร้ายกับบรรดาข้าราชบริพารรอบข้าง    เช่นทรงวางกำปั่นใส่เงินผิดที่  หาไม่พบ  เข้าพระทัยว่าถูกขโมยไป ก็ทรงลงโทษโบยหลังเฆี่ยนตีเจ้าจอมแบบตีหมู่เสียหลังลายทั่วกัน    เจ้าจอมคนหนึ่งตั้งครรภ์ เข้าพระทัยว่าเป็นชู้กับมหาดเล็กฝรั่ง ก็ลงทัณฑ์ถึงตาย ฯลฯ

พระอาการของพระเจ้าตากสิน เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานมาก ว่าทรงเสียพระสติจริงหรือไม่    ถ้าเสียจริง เป็นอาการโรคแบบไหน   ดิฉันคงจะต้องปล่อยให้คุณหมอในเรือนไทยที่ประสงค์จะออกความเห็น ทำหน้าที่นี้แทน     ส่วนตัวเอง คงจะตอบคุณร่วมฤดีว่า  เข้าใจโดยส่วนตัวไม่คิดว่าทรงเสียพระสติขนาดจิตเภทจนไม่รู้เรื่องอะไรเอาเลย   อาจจะเป็นแค่ทรงมีพระอาการดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นช่วงๆ   มีอาการหลงผิดคิดไปเองในบางเรื่อง อย่างที่เรียกว่าโรค Delusion

อย่างหนึ่งที่เห็นจากข้อมูลก็คือ   เมื่อจบสิ้นในการลงโทษพระสงฆ์ และเจ้าจอมมหาดเล็กทั้งหลาย  ไม่ว่าจะทรงรู้ตัวว่าทำผิดหรือไม่รู้ก็ตาม  ผลคือก็ทรงสิ้นอาลัยไยดีในทางโลก   มุ่งหน้าจะไปนิพพานอย่างเดียว   ดังนั้นใครจะยึดอำนาจ ใครจะสู้หรือจะยอมแพ้    ก็ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ควรเอามาเป็นภาระ    ราชบัลลังก์ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทรงอาลัยอาวรณ์อีก    พระสติอาจจะผิดเพี้ยนไป แต่พระปัญญายังมีอยู่  จึงทรงดูออกว่าสมเด็จเจ้าพระยาเป็นผู้มีบารมีมากที่สุดในแผ่นดิน  คงจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ต่อไป  จึงเตือนพระราชโอรสให้ฝากเนื้อฝากตัวกับท่าน  ก็อาจจะเป็นได้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 11:38
    ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อให้พระยาสุริยอภัยยกทัพมาธนบุรีแล้ว  ก็มีหนังสือไปแจ้งเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชายซึ่งขณะนั้นอยู่ที่
พนมเปญว่าธนบุรีเกิดจลาจล     จากนั้นท่านก็ยกทัพประมาณห้าพันคนเศษ กลับมาทางด่านจารึก  ข้ามแม่น้ำปราจีนมาทางนครนายก  ตัดลงมาทางทุ่งแสนแสบ
    ที่ทุ่งแสนแสบนี้เอง   หลวงสรวิชิต  (ต่อมาคือเจ้าพระยาพระคลัง(หน) นายด่านเมืองอุทัยมารอรับอยู่   เพื่อแจ้งเหตุทางธนบุรีให้ทราบ  จากนั้นก็นำทัพสมเด็จเจ้าพระยาเข้าสู่เมือง  ทัพตั้งพักอยู่ที่วัดพระเชตุพน    พระยาสุริยอภัยได้หนังสือแจ้งมาล่วงหน้าก็สร้างพลับพลาชั่วคราวให้พักที่นั่น   แต่งเรือมารอรับ  โดยมีท้าวทรงกันดาล(มอญ) ท้าวนางผู้ใหญ่ในวังธนบุรีลงเรือของฝ่ายในมารอรับอยู่

ขอลอกความตอนนี้มาให้อ่านกันค่ะ   มีรายละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้งดี 

"เมื่อช้างของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาหยุด ณ พลับพลาหน้าวัดแล้ว    ก็ลงจากช้างเข้าในพลับพลา     พระยาสุริยอภัยกับข้าราชการทั้งปวง  ซึ่งข้ามมาคอยรับก็แถลงข้อราชการแผ่นดินทั้งปวง    เสร็จแล้วท้าวทรงกันดาลเชิญลงเรือข้ามไปเข้าพระราชวัง    ขึ้นอยู่บนศาลาลูกขุนมหาดไทย   ขุนนางทั้งปวงก็เข้ามาพร้อมกัน ณ ที่นั้น   พระยาสรรค์และพรรคพวกก็กลัวเดชานุภาพเป็นกำลัง    มิรู้ที่จะหนีที่จะสู้ประการใด   ก็มาคำนับพร้อมด้วยขุนนางทั้งปวง      สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงปรึกษาด้วยมุขมนตรีทั้งหลายว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นอาสัตย์อาธรรมดังนี้แล้ว    ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านประการใด     ขุนนางทั้งปวงจึงลงความเห็นว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรม  ประพฤติการทุจริตดังนี้    ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามมมหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน  จะละไว้มิได้  ควรให้สำเร็จโทษเสีย"


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 12:46
สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงให้ตั้งกระทู้ถามพระเจ้ากรุงธนว่า เป็นเจ้าแผ่นดินใช้ขุนนางให้ไปทำสงคราม   ได้ความลำบากกินเหงื่อต่างน้ำ     ขุนนางทั้งหลายก็อุตสาหะกระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต  คิดแต่จะทะนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม   จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากร  อยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน    เหตุใดอยู่ทางหลังจึงเอาบุตรภรรยาขุนนางมาจองจำทำโทษ    แล้วโบยตีพระสงฆ์และลงโทษแก่ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎร์   เร่งรัดโดยพลการโดยหาความผิดมิได้   ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิ     โทษเป็นประการใด   
พระเจ้ากรุงธนฯ ก็รับผิดสิ้นทุกประการ    จึงให้เอาไปสำเร็จโทษเสียนอกพระราชวัง  หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์

ส่วนกรมขุนอนุรักษ์สงครามและพระยาสรรค์ ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 19:33
   มีเกร็ดเล่าว่า ก่อนถูกประหาร  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขอผู้คุมให้พาไปพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า
   " ตัวเราก็สิ้นบุญ จะถึงที่ตายแล้ว  ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ  จะขอเจรจาด้วยสัก ๒-๓ คำ"
   แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ โบกมือมิให้นำมาพบ   ผู้คุมก็หามกลับไป   แล้วนำไปประหารด้วยการตัดศีรษะที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  ศพฝังที่วัดบางยี่เรือใต้  ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงเทพเป็นเมืองหลวงใหม่ แล้ว จึงขุดขึ้นมาพระราชทานเพลิง   
   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เสด็จไปพระราชทานเพลิงเองทั้ง ๒ พระองค์

   เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์หรือเจ้าฟ้าจุ้ย  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ในขณะนั้นยังตั้งทัพอยู่ที่เขมร  ได้ข่าวว่าพระราชบิดาถูกสำเร็จโทษ  ก็ตีฝ่าทัพเขมรที่ล้อมอยู่กลับเข้าเขตแดนไทยถึงปราจีน    ทหารพอรู้ข่าวก็หนีทัพกันหมด  เหลือเจ้าฟ้าจุ้ยกับพระยากำแหงสงครามแม่ทัพคนสนิท กับทหารอีก ๕ คนไปซุ่มซ่อนตัวในป่า
   ในตอนนั้น  สมเด็จเจ้าพระยาฯ ปราบดาภิเษกแล้ว     เจ้าพระยาสุรสีห์ หรือกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑   ยกทัพไปจับตัวมาได้ นำมาเข้าเฝ้า    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ    ก็ตรัสถามว่าจะยอมสวามิภักดิ์หรือไม่  ถ้ายอมก็จะทรงชุบเลี้ยงไว้   
    แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ใจเด็ดเป็นชายชาติทหารเหมือนกัน   ไม่สมัครพระทัยจะสวามิภักดิ์กับเจ้านายใหม่    ขอตายตามพระราชบิดา  จึงถูกสำเร็จโทษ  พร้อมพระยากำแหงสงครามที่ยอมตายตามนาย  เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย  ส่วนทหารอีก ๕ คนถูกปล่อยตัวไป


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 19:34
ขอตอบคุณร่วมฤดี  ด้วยการยกพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีไปถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก   ลงวันที่ ๓ พฤกษภาคม ร.ศ. ๑๑๒  มาลงไว้ให้อ่าน
ทรงเท้าความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

"(การสั่งประหารพระเจ้าตาก) เป็นการจำเป็นเพราะมีผู้แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก   และถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้  เพราะผู้ที่ยังนับถือพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีบ้าง   จึงเป็นการจำเป็นต้องให้ประหารชีวิตเจ้ากรุงธนบุรีเสีย
แต่ถึงดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังไม่ได้สิ้นความนับถือหรือยกข้อเหตุที่ทำอันตรายแก่ครอบครัวของท่านอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ตั้ง  แล้วทำลายวงศ์ตระกูลแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเสีย  ตามคำขอแห่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทนั้นเลย   ได้ทำเฉพาะผู้เดียวแต่เจ้าจุ้ย ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  การที่ทำนั้นก็ทำโดยความที่เจ้าจุ้ยนั้นเองไม่เต็มใจจะอยู่รับราชการต่อไป  เพราะเห็นโทษของบิดา และเห็นตัวเป็นที่กีดขวางโอรสธิดาของเจ้ากรุงธนบุรี
นอกนั้นได้ทรงชุบเลี้ยงไว้หมดทั้งสิ้น   ใช่จะเป็นแต่เพราะเจ้าฟ้าเหม็น (หมายถึงพระนัดดา)  โอรสเจ้ากรุงธนบุรีอื่นๆคือพระพงศ์นรินทร์  พระอินทรอภัย อายุถึง ๑๔-๑๕ ปีแล้วทั้งสิ้น ก็ยังเอามาชุบเลี้ยงใช้สอย"

บุตรของผู้ถูกประหารในคราวนั้น  ทรงไว้ชีวิตไว้ทั้งหมดและนำมารับราชการทั้งหมดเช่นกันค่ะ
เชื้อสายพระเจ้าตากกลายมาเป็นข้าราชการสืบต่อกันมาในต้นรัตนโกสินทร์    ยังมีลูกหลานมาจนทุกวันนี้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 19:41
      พระยาพิชัยดาบหัก ก็เป็นขุนนางอีกท่านหนึ่งที่สมัครใจตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน    แต่บุตรหลานของท่านยังได้รับราชการสืบต่อกันมา    ในรัชกาลที่ ๖  โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลผู้สืบเชื้อสายจากพระยาพิชัยดาบหักว่า "วิชัยขัทคะ"


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 20:52
เมื่อปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยาสุริยอภัยเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์     ครั้นภายหลัง ทรงเห็นว่าพระยศยังไม่สมควรแก่ความชอบ  จึงโปรดเลื่อนขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข   ตั้งวังที่เรียกว่าวังหลัง อยู่ที่สวนลิ้นจี่ หรือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน   

เมื่อได้ทรงกรมเป็นพระราชวังหลัง ก็หมายถึงน้ำหนักความรับผิดชอบหนักอึ้ง ที่ต้องทรงแบกไว้ตลอดพระชนม์ชีพ   มิได้หมายถึงความสุขสำราญบานพระทัยอย่างใดเลย    เพราะตลอดรัชกาลที่ ๑  เป็นระยะเวลาของศึกหนัก   เจ้านายขุนนางต้องตรากตรำทำศึกกันแทบสายตัวแทบขาด ไม่ได้ว่างเว้น  เพื่อจะพาพระราชอาณาจักรใหม่ไปให้รอด

พอเปลี่ยนแผ่นดินใหม่   พม่าที่เงี่ยหูฟังความเป็นไปของไทยอยู่ตลอด  ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะยกทัพมากระหน่ำ    เพราะถือว่าบ้านเมืองเพิ่งผ่านความระส่ำระสายมาหยกๆ   น่าจะอ่อนแอลงกว่าในยามปกติ    ประกอบกับพม่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็งและมุ่งจะแผ่ขยายอาณาจักรออกไปให้กว้างขวางที่สุดในเอเชียอาคเนย์  ทรงพระนามว่าพระเจ้าปดุง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 09 มี.ค. 12, 23:44
สรุป หากข้อมูลของอ.เทาชมพูถูกต้องทั้งหมด แปลว่า

1. เหตุผลการประหารชีวิตพระเจ้าตาก เป็นเรื่องความผิดเฉพาะตัวของพระเจ้าตากเองที่คุมพระสติไม่ได้

2. ปัญหาการเมืองหรือ จลาจล อาศัยความบกพร่องของพระเจ้าตากนั้นเองเป็นจุดอ่อน จึงเกิดเรื่องขึ้นจนได้

3. ดังนั้น พระเจ้าตากจึงต้องรับโทษที่พระองค์ทำลงไป เพื่อรักษาความสงบของชาติ

4. วิธีประหาร ก็ ไม่ใช่การทุบด้วยท่อนจันทร์ ดังที่เรียนรู้กันมาผิด ๆ

โดยส่วนตัวดิฉันออกจะไม่เชื่อเรื่องเล่าลือต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้าตากที่มีผู้อ้างว่ารู้จากสมาธิ ฯลฯ

ดิฉันให้น้ำหนักเรื่องที่ไม่สามารถคุมพระสติไว้ได้ ไม่ขอใช้คำว่า เสียพระจริตนะคะ

คนที่กรำศึกสงครามมากมาย ถึงขนาดรบแบบ "ตะลุมบอน" ตัวต่อตัว ตีฝ่าวงล้อมข้าศึก แลกเลือดและเนื้อกันมา จะมีภาพ เสียง และความรู้สึกเจ็บปวดทั้งกายและใจที่รุนแรง ระดับ "อติมหันตารมณ์"  คือ ฝังติดแน่นในความทรงจำ ไม่สามารถจะลืมได้ มากมายก่ายกอง

ภาษาทางจิตเวชปัจจุบัน คงจะเรียกว่า PTSD = Post Traumatic Stress Disorder

จะหวาดระแวงสูงมาก โกรธแรง และ น่าจะทุกข์ทรมานกับภาพติดตาต่างๆ ทั้งวันและคืนตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเหตุให้ต้องหาทางบำบัดด้วยการทำสมาธิ วิปัสสนา

ยิ่งทรมานมากเท่าใด ก็ยิ่งปฏิบัติอย่างคร่ำเคร่งจนอาจจะเลยเถิด สมาธิเกิน เกิดนิมิตลวงให้หลงผิดซ้ำเติมได้อีก

อีกประการหนึ่ง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าพระสงฆ์ในอยุธยา ประพฤติผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงกันมากมาย

หลังกอบกู้บ้านเมืองมาได้ ย่อมหลงเหลือพระทุศีลจำนวนมากให้ทรงพบเห็นและ กริ้วได้ง่าย ๆ จึงไม่สามารถยับยั้งอารมณ์โกรธได้

แม้หลังรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้ว ก็ยังต้องมีภาระในการชำระพระธรรมวินัย และ จับพระทุศีลสึก แล้วโบยหลัง สักหน้าผาก เพื่อป้องกันไม่ให้หวนกลับมาบวชอาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิตได้อีก

ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูที่เชื่อว่า พระองค์ท่านไม่ได้เป็นจิตเภท ไม่ได้มี Delusion ค่ะ

ผิดถูกประการใด เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ วิเคราะห์ให้ด้วยนะคะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 10 มี.ค. 12, 00:50

อีกประการหนึ่ง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าพระสงฆ์ในอยุธยา ประพฤติผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงกันมากมาย

หลังกอบกู้บ้านเมืองมาได้ ย่อมหลงเหลือพระทุศีลจำนวนมากให้ทรงพบเห็นและ กริ้วได้ง่าย ๆ จึงไม่สามารถยับยั้งอารมณ์โกรธได้

แม้หลังรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้ว ก็ยังต้องมีภาระในการชำระพระธรรมวินัย และ จับพระทุศีลสึก แล้วโบยหลัง สักหน้าผาก เพื่อป้องกันไม่ให้หวนกลับมาบวชอาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิตได้อีก

ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูที่เชื่อว่า พระองค์ท่านไม่ได้เป็นจิตเภท ไม่ได้มี Delusion ค่ะ

ผิดถูกประการใด เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ วิเคราะห์ให้ด้วยนะคะ

ถ้าจำไม่ผิด การชำระอธิกรณ์ครั้งใหญ่ จะอยู่ในสมัยแผ่นดิน ร.๒ นะครับ


ส่วนกรณีการเมืองสมัยกรุงธนฯ  ส่วนตัวคิดว่าแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่านล่ะครับ สำหรับเรื่องอาการพระประชวรนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้น้อยมาก

เพราะถ้าหวาดระแวงสูงมาก บุคคลอย่าง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาสุรสีห์ ไม่น่าจะรอดนานแล้วล่ะครับ

ยกตัวอย่าง จักรพรรดิหมิงไท่จู ทรง "เผา" เพื่อนขุนศึกด้วยกันไปเป็นสิบ ๆ คน  , บางคดีที่ทรงหวาดระแวง ทรงประหารล้างโคตรเป็นหมื่น ๆ ชีวิต

ไม่นับรวมกรณี ทรงไล่ทำร้ายพระราชโอรสองค์โต ต่อหน้าขุนนางทั้งหลาย  นี่ยังไม่รวมเรื่องในอดีต ที่ทรง "เก็บ" ขุนศึกคู่พระบารมี อย่าง เชาหยง ที่มีผลงานดีเด่นในสนามรบอย่างมาก

นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่า เชาหยง "เป็นแพะ" ครับ และในรัชสมัยนี้เอง ที่ทรงตั้ง หน่วยงานสืบราชการลับ จินอี้เว่ย (Jin Yi Wei : 锦衣卫) เราท่านอาจจะรู้จักกันในนาม องค์รักษ์เสื้อแพร
ซึ่งเป็นหน่วยงาน "ล่าสังหาร" พวกที่อาจจะเป็นภัยต่อราชสำนัก

ต่อมา ก็พัฒนามาเป็น ตงฉ่าง ซีฉ่าง และ เน่ยฉ่าง ในตอนปลายราชวงศ์หมิงครับ

ถ้าเทียบกรณีศึกษากับ จักรพรรดิหมิงไท่จู ( จูหยวนจาง ) ที่ทรงหวาดระแวงสูง อย่างชัดเจน จะพบว่า กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ จะถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวแล้ว ผมยังไม่ค่อยจะเชื่อว่า ทรงประชวรมาก หรือเป็นโรคทางจิตครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 12, 10:17
ขอบคุณคุณร่วมฤดี และคุณสมัน๐๐๗  (ไม่รู้ออกเสียงถูกหรือเปล่า  ผิดมาหลายคนแล้ว   :-[) ที่เข้ามาร่วมวงออกความเห็นค่ะ  ขอขอบคุณอีกครั้งที่ออกความเห็นอย่างสุภาพ และระมัดระวังไม่กระทบกระเทือนเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก

เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินเสียพระจริตหรือไม่นั้น  ถ้าพูดกันอย่างทะนุถนอมความรู้สึกคนที่เคารพบูชาท่านในฐานะมหาราชพระองค์หนึ่งของไทย  ดิฉันก็ไม่อยากใช้คำนี้  เพราะดิฉันก็เคารพกราบไหว้ท่านเช่นกัน    รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำให้ไทยมีแผ่นดินอยู่มาได้ แค่เสียกรุงศรีอยุธยา  ไม่ได้เสียหมดทั้งพระราชอาณาจักร
แต่ถ้าจะถามว่า ทรงกระทำบางอย่างจนผู้คนบ้านเมืองเดือดร้อนขึ้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่  ก็เชื่อว่าเป็นจริง   มิใช่ว่าท่านอยู่ของท่านดีๆ ในกรุงธน แล้วคนรุ่นหลังก็ปั้นเรื่องขึ้นเป็นคุ้งเป็นแควเพื่อหลอกคนรุ่นหลังด้วยกัน  กลบเกลื่อนไม่ให้รู้ว่าเป็นรัฐประหารธรรมดาๆเท่านั้น

หลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าเกิดเรื่องเดือดร้อน คือเรื่องพระสงฆ์ที่ถูกท่านลงโทษถอดออกจากสมณศักดิ์เป็นพระอนุจรหรือพระสงฆ์ธรรมดาๆ  ถูกเฆี่ยนและใช้ให้ไปขนเว็จ  ซึ่งเป็นโทษร้ายแรงมาก   พระเหล่านี้มิใช่พระทุศีลอย่างที่คนรุ่นหลังมักจะกล่าวอ้าง    สาเหตุก็บันทึกเอาไว้ชัดเจนว่า เป็นเพราะท่านเหล่านั้นซื่อตรงต่อพระวินัยยิ่งกว่ารักตัวกลัวตาย  กล้ากราบทูลขัดความเห็นพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ยอมให้บรรพชิตคารวะฆราวาส แม้เป็นฆราวาสที่บรรลุโสดาบันก็ตาม
เอาละ  ถ้าสมมุติกันใหม่ว่า หลักฐานข้อนี้ ก็มีใครไม่รู้ปั้นความเท็จขึ้นมาอีก    พระสงฆ์เหล่านี้ถูกลงโทษเพราะเป็นพระทุศีลจริงๆ   ถ้าอย่างนั้น มันก็ขัดกับหลักฐานที่บันทึกไว้ในประวัติการปกครองพระสงฆ์อย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงรื้อฟื้นเรื่องต้องโทษขึ้นมาอีกครั้ง   แสดงว่าเรื่องนี้มีอยู่จริงสมัยธนบุรี เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ต้องรีบจัดการชำระสะสางพลิกกลับคดีขึ้นมาอีกครั้ง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 12, 12:04
หนึ่งในจำนวนพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่สมัยธนบุรีที่ถูกลงโทษ  คือสมเด็จพระสังฆราช(สี หรือศรี )วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)  ตามประวัติ ท่านเป็นพระสำคัญรูปหนึ่งแห่งวัดพนัญเชิง เมื่อกรุงแตก ลูกศิษย์ลูกหาพาหนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช  สองปีต่อมา ใน พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบว่ามีพระสงฆ์สำคัญมาอยู่ที่นี่  ก็อาราธนามาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่   ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี

สมเด็จพระสังฆราช(สี)ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้มาถึง 12 ปี มาโดยปกติเรียบร้อย   จนพ.ศ. 2324 ก็เกิดกรณีฟ้าผ่ากลางแดด เรื่องปุจฉาวิสัชนาพระไหว้ฆราวาส  พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปวิสัชนาว่าเคารพได้  แต่สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นประธานสงฆ์ทั้งปวง ยืนกรานว่า พระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และมีปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ
สมเด็จพระสังฆราชท่านก็ย่อมทราบดีว่าวิสัชนานี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เพราะคำถามนี้ใครๆก็ดูออกว่า ถ้าไม่ทรงคิดว่าพระองค์เองเป็นพระอริยบุคคลที่อยู่ในเพศฆราวาส แล้วจะทรงประชุมพระสงฆ์สำคัญใหญ่น้อยทั่วกรุงถามข้อนี้ทำไมกัน    มันไม่ใช่หัวข้อที่ควรจะยกเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นประชุมสงฆ์     นอกจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังมีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และพระสงฆ์ใหญ่น้อยอีกมากที่ถวายวิสัชนาอย่างเดียวกัน   ผลก็คือต้องโทษรุนแรง  ถูกถอด ถูกโบย ถูกให้ไปขนเว็จ    เป็นเรื่องที่ตื่นตระหนกกันไปทั่วเมือง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองราชย์ จึงต้องรีบเร่งชำระสะสางเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องสะเทือนใจอุบาสกอุบาสิกากันมาก    สมเด็จพระสังฆราช(สี) จึงได้คืนสมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม ไปครองพระอารามตามเดิมด้วย   เพราะได้รับการตัดสินว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการะบูชา

ผลต่อจากนั้นคือสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ก็ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 12, 21:14
พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาบันทึกถึงเหตุการณ์เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงลงโทษพระสงฆ์ไว้ละเอียดว่า

     “ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ห้องพระโรง แล้วให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้พระโสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นจะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเลมิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทธโอวาทด้วยเกรงพระอาญา เป็นคนประสมประสานจะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้นมีเป็นอันมาก    คือพระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ และพระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วังหงส์เป็นต้น ถวายพระพรว่า “สงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้”

     แต่สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) พระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดโพธิ์-ท่าเตียน) สามพระองค์นี้มีสันดานมั่นคงถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดานั้น ก็มิควร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระพิโรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นมีเป็นอันมาก ว่าไม่ควรมีแต่สามองค์นี้เท่านั้น

     จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์และพระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งฐานาบาเรียนอันดับ ซึ่งเป็นอันเตวาสิก สัทธิวิหาริกของพระราชาคณะทั้ง ๓ องค์นั้นไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น และตัวพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละ ๑๐๐ ที พระฐานาบาเรียนให้ตีหลังองค์ละ ๕๐ ที    นับพระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลสัตย์ว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามพระอารามเป็นพระสงฆ์ถึง ๕๐๐ รูป ต้องถูกตีทั้งสิ้น ส่วนพระสงฆ์ทุศีลอาสัตย์อาธรรม์ว่าไหว้ได้ มีมากกว่าทุก ๆ อาราม ตัวพระราชาคณะทั้ง ๓ และพระสงฆ์บริวารจำนวน ๕๐๐ นั้น ถูกบังคับให้ไปขนอาจม (ขี้) ชำระเวจกุฎี (ล้างส้วม) วัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน และจึงมีรับสั่งให้ถอดยศพระราชาคณะทั้ง ๓ รูปนั้นจากสมณฐานันดรศักดิ์ลงมาเป็นพระอนุจร จึงทรงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์เป็นที่พระวันรัต

     ครั้งนั้น มหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนามีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมาก ที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มีและเสียงร้องไห้ระงมไปทั้งเมือง เว้นแต่พวกมิจฉาทิฐิ
      ตั้งแต่นั้นมาพระราชาคณะพวกพาลอลัชชีมีสันดานบาปที่ว่าไหว้คฤหัสถ์ได้นั้นก็เข้ากราบถวายบังคมหมอบกราน เหมือนอย่างข้าราชการฆราวาส จึงดำรัสสั่งให้พระสังฆราชองค์ใหม่ เอาตัวพระราชาคณะซึ่งเป็นโทษถูกถอดเสียจากที่ทั้ง ๓ องค์นั้นไปคุมตัวไว้ที่วัดหงส์ อย่าให้ปล่อยไปวัดของตน แล้วให้พระญาณไตรโลก วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) มาครองวัดโพธาราม (วัดโพธิ์) แล้วดำรัสสั่งให้พระรัตนมุนีให้ขนานพระนามถวายใหม่ พระรัตนมุนีจึงถวายพระนามให้ต้องตามพระราชอัธยาศัยว่า “สมเด็จพระสยาม ยอดโยคาวจร บวรพุทธางกูร อดุลยขัตติยราชวงศ์ ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน” .ก็ชอบพระราชอัธยาศัยสมด้วยพระทัยปรารถนานั้น


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 12, 21:26
   ในรัชกาลที่ ๑  สมเด็จพระสังฆราช(สี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืน กลับไปครองวัดเดิม    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงยกย่องว่า มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคงพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่กายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพบูชา   ถึงกับตรัสว่า  แม้นมีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีภายหน้า จะได้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ว่าอย่างนี้แล้ว และพระราชาคณะอื่น ๆ จะว่าอย่างหนึ่งไป   พระองค์ก็จะทรงเชื่อถือถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม และทรงปฏิบัติตาม พระราชดำรัสนี้เรื่อยมา
    เมื่อคราวโปรดฯให้ขุดลอก คลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิม ไปออกบรรจบกับคลองคูใหม่นอกเมือง ให้ทำ สะพานช้างและสะพานนนทรีข้างคลองภายในพระนคร หลายแห่ง และให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศพระราชทานนามว่าคลองมหานาค เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงสักว่าในเทศกาลเหมือนครั้งกรงเก่    ทรงพระราชดำริให้ให้สร้างสะพานช้างข้ามคลองคู เมืองที่เหนือคลองมหานาคนั้น พระพิมลธรรมทราบเรื่อง  ก็ออกไปเจริญพรห้ามไว้ด้วยเหตุผลว่า เมื่อมีสงครามข้าศึกจะรุกเข้ามาถึงชานเมืองได้ง่ายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจะเป็นที่กีดขวางกระบวนแห่เรือรอบพระนคร ปรากฏว่าทรงเห็นชอบตามพระพิมลธรรม
     พระพิมลธรรมเป็นที่เคารพเชื่อถือมากในรัชกาลที่ 1  ผลงานของท่านชิ้นสำคัญๆในร้ชกาลนี้ เห็นได้จากเมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกในพ.ศ.2331 พระพิมลธรรมเป็นผู้อ่านคำประกาศในท่ามกลางสังฆสมาคม 281 รูป   เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระวันรัตนพิพัฒนญาณอดุลยสุนทรนายก ปิฎกธรามมหาคณิศร บวรทักขิณาคณะสังฆราม คามวาสี เป็นพระกรรมวาจาของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และได้แต่งหนังสือภาษาบาลีหลายเล่มเช่นสังคีติยวงศ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มหาภารตยุทธการ (ว่าด้วยพระราชพงศาวดาร) หนังสือพระราชพงศาวดารพิมพ์ 2 เล่ม เป็นต้น ท่านได้มรณภาพในแผ่นดินรัชกาลที่ 2


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 12, 21:02
ขอกลับมาที่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  วังหลังในรัชกาลที่ ๑

วังหลังตั้งอยู่ที่บริเวณซึ่งเป็นร.พ.ศิริราชทุกวันนี้  ก็คือนิวาสถานเดิมของเจ้าพระยาสุริยอภัยนั่นเอง   ท่านยังอยู่ฝั่งธนบุรีเช่นเดียวกับขุนนางสมัยธนบุรีอีกมาก     ส่วนวังหลวงก็ย้ายข้ามฟากมาอยู่ตรงที่เป็นพระบรมมหาราชวัง    วังหน้าอยู่ตรงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และกินเนื้อที่มาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อเฉลิมพระยศจากขุนนางขึ้นเป็นเจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอ     เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ไม่มีเวลาจะอยู่สุขสบาย   พอผลัดแผ่นดิน พม่าก็กรีฑาทัพมาทันที  หวังจะถล่มอาณาจักรรัตนโกสินทร์ให้ราบเป็นหน้ากลอง  คราวนี้ทัพใหญ่โตหลั่งไหลกันมาเหมือนน้ำในมหาสมุทร  แยกกันมาเป็น 5 ทัพ    รวมพลถึงหนึ่งแสนสามพันคน  พร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ ขนกันมาเกลี้ยงอาณาจักร

เส้นทางใหญ่ที่พม่าเดินเข้ามาคือเส้นทางเดิมทางกาญจนบุรี    แต่ไม่ได้มาทางเดียว  มีทัพรองแยกย้ายกันเข้ามาอีกหลายทาง
๑ ทางใต้ เข้าทางชุมพร  และถลาง
๒ ทางตะวันตก เข้าทางราชบุรี
๓ ทางเหนือ เข้าทางตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก  สุโขทัย สวรรคโลก และลำปาง
เรียกว่าแยกย้ายกันเป็นตาข่ายดักตะครุบไทยเอาไว้ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยไปทางไหน    จะขอความช่วยเหลือจากเมืองเหนือเมืองใต้ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 11:33
ในศึกพม่าสมัยอยุธยา    ไทยใช้วิธีตั้งรับในเมือง เพราะมั่นคงและมีกำลังคนแข็งแกร่งพอจะยันข้าศึกเอาไว้ได้  นอกจากนี้ก็อาศัยกำลังทัพเสริมจากเมืองใหญ่ๆเช่นพิษณุโลก เข้ามาสมทบ    ไม้ตายสำคัญคือถ้าข้าศึกยังอยู่ อยุธยาก็รอจนน้ำหลากมาจากทิศเหนือ ข้าศึกทนให้ไพร่พลและช้างม้าจมน้ำไม่ไหว ก็ถอยทัพกลับไปเอง   
แต่มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเปลี่ยนวิธีรบใหม่  คือสะกัดข้าศึกเอาไว้ตั้งแต่แรก ในระยะห่าง  ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาประชิดติดเขตเมืองหลวงได้     แม่ทัพนายกองก็ทรงเลือกคนที่ไว้วางพระทัยว่ามีฝีมือแน่ๆ ยกทัพออกไปยันพม่าเอาไว้   สองท่านในจำนวนนั้นคือกรมพระราชวังหลัง   และอีกท่านหนึ่งที่ไม่เคยมีบทบาทในสมัยธนบุรี ก็คือพระยาอุไทยธรรม(บุนนาค) แห่งสกุลบุนนาค

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงเป็นจอมทัพเอง  ยกทัพหลวงไปปะทะกับทัพหลวงของพระเจ้าปดุงซึ่งเป็นทัพใหญ่สุด   กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทหรือวังหน้า พระอนุชา เป็นแม่ทัพหน้า ยกทัพไปด้วยกัน
ส่วนการรับมือข้าศึกจากทางเหนือ   กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไพร่พลจำนวน 15,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่นครสวรรค์   มีแม่ทัพหน้าของพระองค์คือเจ้าพระยามหาเสนา เสนาบดีกลาโหม ยกทัพขึ้นไปรับข้าศึกไกลถึงพิจิตร   ส่วนทัพหลังคือเจ้าพระยาพระคลัง และพระยาอุไทยธรรม  ตั้งกองทัพระวังอยู่ที่ชัยนาท  คอยสะกัดทัพพม่าที่จะยกมาทางอุทัยธานี

สรุปว่าตาข่ายใหญ่ที่พระเจ้าปดุงกางไว้ดักจับไทยทุกทิศทุกทาง     ทางไทยก็ยกทัพไปทุกทางเหมือนกันเพื่อจะตัดตาข่ายให้ขาดโหว่ออกไป


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 12 มี.ค. 12, 14:20
ขอแทรกนิดนะครับ
เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้มากน้อยอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบุนนาค บ้านแม่ลา หลวงสุระ หลวงชนะ เข้าปล้นจวน พระวิชิตณรงค์เจ้าเมืองกรุงเก่า และจับเจ้าเมืองกรรมการเมืองประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯให้พระยาสรรค์ไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าร่วมกับพวกกบฏยกกำลังมาตีกรุงธนบุรี แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นทำไม นายบุนนาคและพระยาสรรค์กลายเป็นคนละพวกกันละครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 มี.ค. 12, 15:15
ขอแทรกนิดนะครับ
เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้มากน้อยอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบุนนาค บ้านแม่ลา หลวงสุระ หลวงชนะ เข้าปล้นจวน พระวิชิตณรงค์เจ้าเมืองกรุงเก่า และจับเจ้าเมืองกรรมการเมืองประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯให้พระยาสรรค์ไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าร่วมกับพวกกบฏยกกำลังมาตีกรุงธนบุรี แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นทำไม นายบุนนาคและพระยาสรรค์กลายเป็นคนละพวกกันละครับ

มีสำนวนจากบันทึก สมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ซึ่งคัดลอกจากสมุดไทย มาให้ลองอ่านพิจารณาครับ


   " .............. ครั้นเมื่อพระเจ้ากรุงะนบุรีเสียพระจริตรับสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเร่งเงินราษฎรแขวงกรุงเก่า ราษฎรได้ความเดือดร้อนระสำระสายทิ้งบ้านเรือนเสียเปนอันมาก

   หลวงสุระสงครามจึงแต่ให้คนลงมาสืบที่กรุงธนบุรี ได้ทราบความว่าที่กรุงธนบุรี ก็ได้ความเดือดร้อนเหมือนกัน หลวงสุระสงครามจึงไปปฤกษาด้วยนายบุญนากบ้านแม่ลา ว่าบัดนี้ที่กรุงธนบุรีเกิดการวุ่นวายขึ้นเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี เสียพระจริตราษฏรได้ความเดือดร้อนนัก ถ้าทิ้งไว้ก็เกรงจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก ท่านกับข้าพเจ้าควรจะพร้อมใจกันยกลงไปรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราท่านจะเห็นอย่างไร นายบุญนาคบ้านแม่ลาก็เห็นพร้อมด้วยหลวงสุระสงคราม

   ครั้นนัดหมายกันเสร็จแล้วหลวงสุระสงครามก็กลับมาบ้านจึงให้ตีกลองใหญ่สำหรับบ้านขึ้นสามลา เมื่อบ่าวไพร่พวกพ้องได้ยินกลองสัญญาตีขึ้นดังนั้นก็เข้ามาพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม พากันถามว่าจะไปทำการที่ไหนอีกขอรับ

   หลวงสุระสงครามตอบว่าเมื่อพวกท่านทั้งหลายพร้อมใจกันเปนใจเดียวกับเราแล้ว เราจะได้พาท่านทั้งหลายไปทำการข้างน่าต่อไป คนทั้งหลายก็รับขึ้นพร้อมกันว่า แล้วแต่ท่านจะใช้สรอยเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายยอมทำตามท่านทั้งสิ้น มิได้คิดแก่ชีวิตเลย

   หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้คนทั้งหลายกลับบ้านเตรียมตัวไว้ให้พร้อมตามเคย เวลาค่ำให้กลับมากินเลี้ยงที่บ้านหลวงสุระสงครามพร้อมกัน ครั้นเวลาค่ำคนทั้งหลายก็มากินเลี้ยงพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม ครั้นเลี้ยงกันแล้วหลวงสุระสงครามก็แจกมงคลคนละดอก เงินคนละเฟื้องทั่วกัน แล้วบอกว่าเวลาค่ำวันนี้เราจะยกไปปล้นจวนผู้รักษากรุง คนทั้งหลายก็มีความยินดีโห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นเวลายามหนึ่งหลวงสุระสงคราแต่งตัวสะพายกระยี่เหน็บมีด ถือทวนมายืนคอยฤกษ์อยู่ที่ท่าเรือน่าบ้าน ครั้นได้ฤกษ์จึงให้ลั่นฆ้องไชยโห่ขึ้นพร้อมกันยกพลลงเรือออกจากบ้านม่วง ล่วงลงมายังกรุงเก่าเข้าปล้นจวนผู้รักษากรุงได้ พอนายบุญนาคมาถึงก็พอสว่าง หลวงสุระสงครามจึงปฤกษาด้วยนายบุญนาคบ้านแม่ลาว่าบัดนี้เราก็ได้ทำการเกินมาถึงเพียงนี้แล้ว ถ้านิ่งช้าไว้ภัยก็จะมาถึงตัวเรา ควรเราจะเร่งรีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีเสียให้ได้อย่าให้ทันรู้ตัว แล้วรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราๆ ก็จะได้ความศุขต่อไปสืบบุตร์แลหลาน ท่านจะเห็นอย่างใด นายบุญนากก็เห็นด้วย

   หลวงสุระสงคราจึงให้เอาเงินทองสิ่งของต่างๆ ที่ปล้นได้ ออกแจกจ่ายไพร่พลทหารแลราษฏรทั่วกันแล้ว รีบจัดให้นายบุญนากบ้านแม่ลา กับน้องชายคุมไพร่ผลเปนกองน่า รีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีก่อน แล้วหลวงสุระสงครามเกลี้ยกล่อมราษฏร เก็บรวบรวมเครื่องสาตราอาวุธเรือแพเสบียงอาหารได้แล้วยกลงไปเปนกองหนุน........."


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 มี.ค. 12, 15:16
".......เมื่อนายบุญนากยกลงไปนั้น ไปพบกองทัพพระยาสรรค์ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งใช้ให้ขึ้นไปจับนายบุญนาก พระยาสรรค์กลับเข้ากับนายบุญนากยกลงมาตีกรุงธนบุรีได้ พระยาสรรค์เข้านั่งเมือง พอสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเมื่อยังทรงดำรงพระยศเปนพระยาสุริยอภัยยกลงมาแต่เมืองนครราชสีมา พระยาสรรค์กลับคิดอยากได้ราชสมบัติ์ ครั้นเวลาค่ำรอบยกไปปล้นวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอตำบลบ้านปูน ในเวลารบกันอยู่นั้นพอหลวงสุระสงคราม ยกลงมาถึงเห็นแสงไฟสว่างอยู่ จึงสั่งให้คนลงเรือโขนรีบลงมาสืบก็ได้ความว่ามีข้าศึกมาตีวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้ไพร่พลเตรียมตัวให้พร้อมให้ไพร่ผลที่มีปืนเปนกองน่าให้อยู่แต่ในเรือ นอกขั้นเปนกองหนุนให้คอยตามหลวงสุระสงครามขึ้นไป เมื่อยกไปนั้นอย่าให้มีปากเสียง ต่อเมื่อใดได้ยินฆ้องสัญญาแล้วจึ่งให้โห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นยกลงมาใกล้ตำบลบ้านปูนแสงไฟสว่างอยู่ก็แลเห็นตัวข้าศึกถนัด

   หลวงสุระสงครามจึงนำไพร่พลโดดขึ้นบนตลิ่งไล่ฆ่าฟันข้าศึกเปนตลุมบอน แล้วกลับมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอๆ รับสั่งให้ตั้งกองรักษาระวังอยู่จนสว่าง ครั้นรุ่งขึ้นก็พาไพร่ผลเข้าพักอาไศรยอยู่ในวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยเสด็จเข้ามาปราบดาภิเษก เสวยศิริราชสมบัติณกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนที่หลวงสุระสงคราม ขึ้นเปนพระยาสีหราชเดโชไชยๆ จึงยกครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ตำบลบ้านตนาวริมถนนเฟื้องนครกับถนนศิริอำมาตย์ต่อมา ........"

จาก "ตระกูลขุนสุรสงคราม" บันทึกโดย พระยาสุรนันทนิวัธกุล (กริ่ม สุระนันทน์) จากหนังสือ ราชสัมภารากรลิขิต อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิง หม่อมขาว เกษมศรีฯ ท.จ. ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม พ.ศ. ๒๕๐๕

มีเรื่องเล่าต่อครับ

"ดาบ" ที่ขุน(หลวง)สุระสงคราม - พระยาสีหราชเดโชไชย(สุระ) ใช้ในการศึกไว้ลูกหลานยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ แต่เป็นดังความเชื่อของคนโบราณครับ เอาฟักกับด้ามออก เหลือแต่ตัวดาบเก็บแขวนไว้ที่ข้างฝาห้องพระ ท่านเล่าว่า สมัยก่อน ต้องทำบุญทุกปี  

ส่วนบันทึกฉบับนี้ เจ้าคุณสุรนันทน์ ท่านคัดลอกมากจากสมุดไทยอีกทีหนึ่ง และเขียนเพิ่มเติมเข้าไป เมื่อท่านชราแล้ว  มีอีกสำนวนหนึ่ง เป็นของพระยาราชสัมภารกร (เลื่อน สุรนันทน์) เนื้อหาเหมือนกัน ต่างกันในรายละเอียด หาอ่านได้จากเล่มเดียวกันครับ  




กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 15:25
เรื่องของนายบุนนาค บ้านแม่ลา หรือเจ้าพระยาพลเทพ  ดิฉันรู้แต่ว่าเดิมเป็นชาวกรุงเก่าพวกเดียวกับขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ ที่จู่โจมเข้าฆ่าเจ้าเมืองอยุธยา      แล้วยกพวกมาตีธนบุรีพร้อมกับพระยาสรรค์ จนกระทั่งยึดเมืองได้  
อย่างไรก็ตาม  มีการแตกคอกันขึ้นมาระหว่าง ๒ คนนี้ ในช่วงพระยาสุริยอภัยยกทัพกลับมาถึงธนบุรี     พระยาสรรค์ประสงค์จะรักษาความเป็นใหญ่ไว้ จึงร่วมมือกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามทำศึกกลางเมืองกับพระยาสุริยอภัย     แต่ว่านายบุนนาคกลับไปอยู่ฝ่ายพระยาสุริยอภัย  สนับสนุนสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างเต็มตัว  
เมื่อเสร็จศึกแล้วก็สวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ   เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ หนึ่งในสี่จตุสดมภ์     ตลอดรัชกาลที่ ๑ ก็ไปกรำศึกมาหลายครั้ง  ก็ต้องถือว่าเป็นขุนนางที่ชำนาญศึกคนหนึ่ง
แต่ชะตาก็พลิกผันอีกครั้ง    เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒   เจ้าพระยาพลเทพเจอข้อหาสมรู้ร่วมคิดเป็นกบฎชิงบัลลังก์คืนให้พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต(เจ้าฟ้าเหม็น)    จึงถูกประหารพร้อมเจ้าฟ้าและพระญาติพระวงศ์  
ถ้าหากว่าท่านมิใช่แพะ   ก็ตีความได้ว่าท่านคงจะจงรักภักดีกับเจ้าฟ้าเหม็นเป็นพิเศษกว่าเจ้านายองค์อื่นละมัง  เลยโดนข้อหาเข้าไปด้วย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 12 มี.ค. 12, 16:00
เรื่องของนายบุนนาค บ้านแม่ลา หรือเจ้าพระยาพลเทพ  ดิฉันรู้แต่ว่าเดิมเป็นชาวกรุงเก่าพวกเดียวกับขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ ที่จู่โจมเข้าฆ่าเจ้าเมืองอยุธยา      แล้วยกพวกมาตีธนบุรีพร้อมกับพระยาสรรค์ จนกระทั่งยึดเมืองได้ 
อย่างไรก็ตาม  มีการแตกคอกันขึ้นมาระหว่าง ๒ คนนี้ ในช่วงพระยาสุริยอภัยยกทัพกลับมาถึงธนบุรี     พระยาสรรค์ประสงค์จะรักษาความเป็นใหญ่ไว้ จึงร่วมมือกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามทำศึกกลางเมืองกับพระยาสุริยอภัย     แต่ว่านายบุนนาคกลับไปอยู่ฝ่ายพระยาสุริยอภัย  สนับสนุนสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างเต็มตัว   
เมื่อเสร็จศึกแล้วก็สวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ   เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ หนึ่งในสี่จตุสดมภ์     ตลอดรัชกาลที่ ๑ ก็ไปกรำศึกมาหลายครั้ง  ก็ต้องถือว่าเป็นขุนนางที่ชำนาญศึกคนหนึ่ง
แต่ชะตาก็พลิกผันอีกครั้ง    เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒   เจ้าพระยาพลเทพเจอข้อหาสมรู้ร่วมคิดเป็นกบฎชิงบัลลังก์คืนให้พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต(เจ้าฟ้าเหม็น)    จึงถูกประหารพร้อมเจ้าฟ้าและพระญาติพระวงศ์ 
ถ้าหากว่าท่านมิใช่แพะ   ก็ตีความได้ว่าท่านคงจะจงรักภักดีกับเจ้าฟ้าเหม็นเป็นพิเศษกว่าเจ้านายองค์อื่นละมัง  เลยโดนข้อหาเข้าไปด้วย

เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของสำนวน "กาคาบข่าว" ใช่หรือเปล่าครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 16:10
ดิฉันไม่รู้ว่ามีสำนวนนี้อยู่ก่อน แล้วมีแผนดำเนินเรื่องให้สอดคล้องกับสำนวน 
หรือว่าเพราะริเริ่มแผนด้วยวิธีอ้างกาว่าคาบหนังสือมาทิ้ง ให้รู้รายชื่อพวกกบฏ  เลยกลายเป็นสำนวนกาคาบข่าว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 12 มี.ค. 12, 17:17
ผมมีคำถามมากมาย อาจารย์เทาชมพู คงไม่ว่าอะไรนะครับ
มีอยู่ตอนหนึ่งที่ พระยาสรรค์ขึ้นนั่งซัง  คำว่า นั่งซัง เหมือนกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ใช่หรือไม่ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 17:21
รอยอิน (พจนานุกรมราชบัณฑิตยฯ) ให้ความหมายของคำว่า นั่งซัง ว่า เข้าอยู่ในที่ซึ่งไม่มีใครจะทําอันตรายได้แล้ว, ขึ้นซัง ก็ว่า.
หมายถึงนั่งในที่ๆใครก็เอื้อมไม่ถึง   ก็ผู้สำเร็จราชการละค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 12 มี.ค. 12, 17:30
ขอบคุณมากครับ อาจารย์ พรุ่งนี้ผมมาถามต่อนะครับ ได้ความรู้มากครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 มี.ค. 12, 19:29
เรื่องที่บันทึกกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสียพระจริตนั้น  พระอาการคงไม่ถึงขั้นจิตเภท  แต่น่าจะเป็นอย่างที่ปัจจุบันเรียกว่า "ซึมเศร้า"  ซึ่งจากที่เคยประสบพบเห็นจากผู้ใกล้ชิด  อาการซึมเศร้านั้นเวลาอาการกำเริบจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้  มีอาการเหมือนประสาทหลอน  แต่ถ้าได้พักผ่อนและรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดให้  ก็จะกลับเป็นปกติ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 13 มี.ค. 12, 09:44
มาอีกหนึ่งคำถามครับ
อยากทราบครับว่าด้วยเหตุใดพระเจ้าตากจึงต้องปลด พระยาคำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา ให้มารับราชการในกรุง แล้วโปรดให้ พระยาสุริยอภัย หลานเจ้าพระยาจักรี ขึ้นไปปกครองเมืองนครราชสีมาแทน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 12, 11:05
ดิฉันยังไม่เจอหนังสือที่ให้คำตอบในเรื่องนี้   จึงได้แต่สันนิษฐาน ๒ ทางว่า
๑  พระยากำแหงสงครามมีปัญหาในการปกครองเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา   เป็นเหตุให้เกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต  อย่างในกรณีเจ้าเมืองนางรองที่หนีไปพึ่งจำปาศักดิ์  จึงถูกเรียกตัวกลับมาอยู่กรุงธนบุรี    แต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นขุนนางที่จงรักภักดีอยู่  จึงมิได้ถูกลงโทษแต่อย่างใด
๒  ถูกเรียกตัวมาเพื่อเตรียมตัวไปศึกเขมร  ติดตามเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์    ถ้าหากว่าทำศึกชนะเขมร เจ้าฟ้าฯขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร   พระยากำแหงสงครามก็จะได้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ช่วยราชการอยู่ในเขมร 
    ความภักดีของพระยากำแหงสงครามที่ยอมตายตามนาย คือเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ มากกว่าจะยอมรับราชการกับเจ้านายพระองค์ใหม่   ทำให้ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นข้อสองก็ได้
    แต่ถ้าท่านใดมีหลักฐานอื่นนอกเหนือไปจากนี้  จะนำมาลงในกระทู้ ตอบข้อข้องใจของท่านผู้ถาม ก็จะขอบคุณมาก


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 13 มี.ค. 12, 12:37
มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งเมื่อพระยาสรรค์เข้านั่งเมืองแล้วได้แจ้งว่าพระสุริยอภัยยกทัพลงมา จึงให้ไปเชิญมาปรึกษาราชการ ณ ท้องพระโรงในพระราชวัง แจ้งการทั้งปวงให้ทราบ แล้วบอกว่าจัดแจงบ้านเมืองไว้เพื่อถวายแก่เจ้าพระจักรีให้ครอบครองแผ่นดินสืบไป แล้วทำไมพระยาสรรค์จึงคิดต่อสู้กับพระยาสุริยอภัยในภายหลังอีกทั้งที่ตกลงกันแล้ว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 12, 13:36
ใจดีสู้เสือ  และหลอกให้ตายใจไงคะ   
คนแย่งความเป็นใหญ่อย่างพระยาสรรค์   เรื่องอะไรจะประกาศกันตรงๆให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ไต๋   เพราะพระยาสุริยอภัยไม่ได้เดินเข้ามาคนเดียว  มีกองทัพหนุนหลังมาอีกทั้งทัพ
หลอกอีกฝ่าย เพื่อเอาตัวรอดไปก่อน  แล้วแอบเล่นงานตอนเผลอ ง่ายกว่า


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 14 มี.ค. 12, 09:16
อยากทราบว่าพระโอรสและพระธิดา ของ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ท่านใดบ้างที่ได้รับราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน บ้างครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 18:00
คุณ werachaisubhong ผู้เป็นเจ้าประจำของกระทู้นี้ถามถึงพระนามเจ้านาย   งั้นดิฉันพักรบสงครามเก้าทัพ  กลับเข้าวังหลังเพื่อดูรายพระนามก่อนนะคะ

พระโอรสธิดาในกรมพระราชวังหลัง ที่ประสูติจากพระอรรคชายา เจ้าครอกทองอยู่ นั้นดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า    ส่วนองค์อื่นๆที่ประสูติจากเจ้าจอมหม่อมห้าม เป็นหม่อมเจ้า
พระโอรสและพระธิดาจากพระอรรคชายา
๑  พระองค์เจ้าปาน หรือทองปาน  ในรัชกาลที่ ๑ สถาปนาเป็นกรมหมื่นนราเทเวศร์  ต้นราชสกุล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
๒  พระองค์เจ้าหญิงกระจับ หรือกระจับทอง
๓  พระองค์เจ้าชายบัว หรือบัวทอง   ในรัชกาลที่ ๑ สถาปนาเป็นกรมหมื่นนเรศร์โยธี    ไม่มีโอรสธิดา
๔  พระองค์เจ้าชายแตงหรือแตงโม ในรัชกาลที่ ๑ สถาปนาเป็นกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ และเลื่อนเป็นกรมหลวง   เป็นต้นราชสกุล เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
๕  พระองค์เจ้าทองแดง  เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ประสูตินับแต่ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงพระราชทานพระนามใหม่ว่า พระองค์เจ้าปฐมวงศ์      องค์นี้ผนวชเป็นพระภิกษุ     สุนทรภู่น่าจะเป็นมหาดเล็กของท่าน จึงตามเสด็จไปพระพุทธบาทสระบุรี ในนิราศพระบาท
๖  พระองค์เจ้าหญิงทองสุก    ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงพระราชทานพระนามใหม่ว่า จงกล   ว่ากันว่าพระนมคือมารดาของสุนทรภู่


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 18:49
กรมพระราชวังหลังยังมีพระโอรสธิดาชั้นหม่อมเจ้าอีก 29 องค์   ในหนังสือที่ดิฉันนำมาอ้าง ไม่มีรายพระนาม  คงจะต้องไปค้นในหนังสือ "พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี"   โดย ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี และคุณรัชนี ทรัพย์วิจิตร
มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในตู้หนังสือเหมือนกัน แต่ยังหาไม่พบค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 มี.ค. 12, 19:53
มารายงานตัวว่านักเรียนยังอยู่ไม่ไปไหนครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 17 มี.ค. 12, 00:11
ขอแสดงตัวว่า ยังเข้ามาเรียนอยู่นะครับ
แม้ว่า จะโดดเรียนหนีไป ตปท เป็นระยะ


เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากทรงเสียพระจริตนั้น

ขอแสดงความเห็นนิดหนึ่งนะครับ

ในตำนานและความเชื่อ รวมถึงคำสอนของฝ่ายมหาญาณ 
ว่าด้วย"พระองคุลีมาล"
คือ
"วางดาบแล้ว สำเร็จอรหันต์"

ประมาณว่า
แม้นว่าจะประหารคนมามากมาย ขนาด ๙๙๙ คนแล้ว
แต่เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว กรรมทั้งปวงคือจบสิ้นกัน ฯลฯ



ผมจินตนาการว่า
พระองค์ท่าน คงได้รับรู้เรื่องราวฝ่ายมหาญาณมาบ้าง
จากที่ผ่านพระชนม์ชีพอย่างโชกโชน
ทรงสังหารชีวิตปัจจนึกมามากต่อมาก
จึงทรงมุ่งเน้นนิพพานแต่เพียงอย่างเดียว


เอ้อ.... ถ้ามองมุมนี้
จะถือว่า เครซี่???(Fou [french]) หรือไม่ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: babyblue ที่ 17 มี.ค. 12, 13:57
เข้ามาลงชื่อเข้าชั้นเรียนค่ะ  :D


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 12, 18:44
ขอแสดงความเห็นนิดหนึ่งนะครับ

ในตำนานและความเชื่อ รวมถึงคำสอนของฝ่ายมหาญาณ  
ว่าด้วย"พระองคุลีมาล"
คือ
"วางดาบแล้ว สำเร็จอรหันต์"

ประมาณว่า
แม้นว่าจะประหารคนมามากมาย ขนาด ๙๙๙ คนแล้ว
แต่เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว กรรมทั้งปวงคือจบสิ้นกัน ฯลฯ

เรื่ององคุลีมาลสำเร็จอรหันต์คงไม่มีเฉพาะในมหายาน

และเมื่อบรรลุอรหันต์ กรรมทั้งปวงคงไม่จบสิ้น

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕  มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อังคุลิมาลสูตร (http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8237&Z=8451)

[๕๓๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี. ก็เวลานั้นก้อนดิน ...  ท่อนไม้ ...  ก้อนกรวดที่บุคคลขว้างไปแม้โดยทางอื่นก็มาตกลงที่กายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุ จะให้เธอพึงหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปีเป็นอันมากในปัจจุบันนี้เท่านั้น.

 ;D


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 12, 21:01

ในตำนานและความเชื่อ รวมถึงคำสอนของฝ่ายมหาญาณ 
ว่าด้วย"พระองคุลีมาล"
คือ
"วางดาบแล้ว สำเร็จอรหันต์"

ประมาณว่า
แม้นว่าจะประหารคนมามากมาย ขนาด ๙๙๙ คนแล้ว
แต่เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว กรรมทั้งปวงคือจบสิ้นกัน ฯลฯ



ผมจินตนาการว่า
พระองค์ท่าน คงได้รับรู้เรื่องราวฝ่ายมหาญาณมาบ้าง
จากที่ผ่านพระชนม์ชีพอย่างโชกโชน
ทรงสังหารชีวิตปัจจนึกมามากต่อมาก
จึงทรงมุ่งเน้นนิพพานแต่เพียงอย่างเดียว


เอ้อ.... ถ้ามองมุมนี้
จะถือว่า เครซี่???(Fou [french]) หรือไม่ครับ

มหายาน สะกดอย่างนี้ค่ะ ไม่ใช่มหาญาณ
ยังไม่ค่อยเข้าใจคำถามของคุณ Diwali เลยค่ะ  กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมคะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 มี.ค. 12, 09:42
               เพิ่งได้มีโอกาสคุยกับจิตแพทย์อย่างสั้นๆ ครับ

             ถ้าว่าตามเนิ้อผ้าประวัติศาสตร์ที่เขียนถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าตากคิดว่าพระองค์ท่านบรรลุ
เป็นโสดาบัน และได้กระทำการลงโทษพระสงฆ์หลายรูปที่ตอบคำถามเรื่องพระภิกษุไหว้ฆราวาส
โสดาบันไม่ถูกพระทัย(แต่ถูกตามหลักธรรม) นั้น

             พอจะประมาณได้ว่า เป็นอาการของโรค Delusional disorder

           แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นต้องเข้าใจในเงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลเพียงเท่านี้ โดยไม่มีการซักประวัติและ
ประเมินสภาพจิตโดยตรงจากผู้มีอาการและคนรอบข้าง ย่อมไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่นอน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 มี.ค. 12, 09:46
           โรคหลงผิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรคจิตเภท Scizophrenia ซึ่งเป็นกลุ่ม
ของโรคทางจิตเนื่องจากมี distortions of thinking and perception
           โดยที่ clear consciousness and intellectual capacity are usually maintained.
           ผู้ป่วยจึงยังคงปฏิบัติภารกิจได้(ดูเหมือน)ปกติ

             อีกโรคหนึ่งซึ่งอาจเข้าข่ายแต่ไม่น่าใช่คือ โรคจิตเวชในกลุ่มอารมณ์ผิดปรกติ
Mood(affective) disorder ที่ประกอบด้วยโรค เช่น  Bipolar affective disorder, Depressive Episode
และในกรณีนี้คือ  Manic episode ชนิด Hypomania ซึ่งมีลักษณะอาการ
 
             mild elevation of mood, increased energy and activity, and marked feelings
of well-being and both physical and mental efficiency. ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 มี.ค. 12, 10:02
อ้างถึง
ผมจินตนาการว่า
พระองค์ท่าน คงได้รับรู้เรื่องราวฝ่ายมหาญาณมาบ้าง
จากที่ผ่านพระชนม์ชีพอย่างโชกโชน
ทรงสังหารชีวิตปัจจนึกมามากต่อมาก
จึงทรงมุ่งเน้นนิพพานแต่เพียงอย่างเดียว
        เข้าใจว่า คุณ Diwali หมายถึงว่า พระองค์ท่านทรงคิดว่าถ้าท่านบรรลุเป็น
พระอรหันต์ในชาตินี้ ก็จะจบสิ้นภพเท่านี้ ไม่มีภพหน้าให้ต้องรับวิบากกรรม
(แต่ช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตในภพนี้ก็ยังต้องรับผลกรรมจนกว่าจะละสังขาร)

           ถ้าหากพระองค์ทรงคิดเพียงเท่านี้ และปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อมุ่งนิพพาน
เช่น พระสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติชอบก็ถือว่าถูกตรงตามหลักธรรม  

           แต่ถ้าหากคิดผิดเชื่อมั่นว่า พระองค์บรรลุ(ทั้งที่ไม่ได้บรรลุ) และ/หรือ มีความเชื่ออื่นๆ
ที่ผิดเพี้ยนไปหลุดโลก แล้วก็มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก(เพราะความคิดนั้น) ก็เข้าข่ายเป็น
โรคหลงผิด ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 19 มี.ค. 12, 10:15
ขอบคุณอาจารย์มากครับสำหรับคำตอบที่ให้มาครับ
มีคำถามอีกครับ คือว่าการสำเร็จโทษพระเจ้าตากนั้น สำเร็จโทษแบบไหนครับ คือผมอ่านเจอในหนังสือมีคำหนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีดำรัสว่า  จึงมีรับส่งใหเอาตัวประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย จึงไม่รู้ว่าจะสำเร็จโทษแบบไหน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 มี.ค. 12, 10:31
อ้างถึง
ในตำนานและความเชื่อ รวมถึงคำสอนของฝ่ายมหาญาณ 
ว่าด้วย"พระองคุลีมาล"
คือ
"วางดาบแล้ว สำเร็จอรหันต์"

ประมาณว่า
แม้นว่าจะประหารคนมามากมาย ขนาด ๙๙๙ คนแล้ว
แต่เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว กรรมทั้งปวงคือจบสิ้นกัน ฯลฯ



ผมจินตนาการว่า
พระองค์ท่าน คงได้รับรู้เรื่องราวฝ่ายมหาญาณมาบ้าง

ความเข้าใจเกี่ยวกับ องคุลิมาล "วางดาบแล้วบรรลุอรหันต์" ไม่ได้จำกัดเฉพาะในมหายานนะคะ

เถรวาทก็เชื่อหลักการของการบรรลุอรหันต์ว่า
ดับเหตุที่จะไปเกิดใหม่จนสิ้น ภพหน้าไม่มี
จึงหนีวิบากกรรมได้เด็ดขาด เพราะไม่มีขันธ์ 5 มาเกิดอีกต่อไป 

แต่หากยังไม่ตาย(ขันธ์ 5 ยังอยู่)แม้บรรลุอรหันต์แล้ว(สอุปาทิเสสะนิพพาน)
ชาตินี้ จะต้องรับผลของกรรมที่ทำไว้ หนีไม่พ้นแน่นอน
ต่างกันแต่ว่า กรรมหนักเบาขนาดไหน อะไรให้ผลก่อน

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พระพุทธเจ้านั่นเอง ต้องรับวิบากกรรมเก่าหนัก ๆ ที่ทำไว้กับบุพพการีในอดีตชาติของพระองค์ ในคราวใกล้ปรินิพพานก็ยังตามมาให้ผลได้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 19 มี.ค. 12, 10:47
อ้างถึง
พอจะประมาณได้ว่า เป็นอาการของโรค Delusional disorder

           แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นต้องเข้าใจในเงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลเพียงเท่านี้ โดยไม่มีการซักประวัติและ
ประเมินสภาพจิตโดยตรงจากผู้มีอาการและคนรอบข้าง ย่อมไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่นอน

ขอแสดงความนับถือคุณ SILA ตรงนี้ค่ะ

ชาวเรือนไทย สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี
แต่ไม่ควรสรุปเป็นเด็ดขาดลงไป เพราะไม่มีใครได้ซักประวัติผู้ป่วยทางจิตค่ะ

ดิฉันค่อนข้างเห็นด้วยกับคำว่า Depression หรือ ทรงประชวรด้วยโรคซึมเศร้า เพราะทรงตรากตรำกรำศึกค่ะ

หากเป็นSchizoprenia น่าจะคุมสติไม่ได้ และ วุ่นวายมาก พลุ้งพล่านมากกว่านี้
ที่ปรากฏคือ เมื่อถูกพระยาสรรค์จับตัวไว้ ก็ทรงยอมแพ้แต่โดยดี
ยอมบวช และห้ามปรามมิให้ใครต่อสู้เพื่อพระองค์เอง
แม้ในขณะที่จะประหาร ก็ยังทรงขอพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ

Delusion จากการเข้าใจผิดว่าบรรลุอรหันต์นั้น เกิดได้กับทุกคนที่หลงผิดจากผลการปฏิบัติธรรมค่ะ
ปัจจุบันก็มีมากที่กล้าออกมาประกาศธรรมวิเศษของตน ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคทางจิตใด ๆ ก็ได้

แต่อาการที่โกรธพระสงฆ์ที่ไม่ยอมไหว้ตน แล้วลงโทษอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ
นี่คืออาการโกรธแรง ๆ อันเป็นผลจากอาการซึมเศร้า เกิดอารมณ์รุนแรงชั่ววูปได้ง่าย ๆ



กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 มี.ค. 12, 14:38
ขอบคุณคุณร่วมฤดี ครับ

ส่วนประเด็น
อ้างถึง
หากเป็นSchizoprenia น่าจะคุมสติไม่ได้ และ วุ่นวายมาก พลุ้งพล่านมากกว่านี้

        หากผู้ป่วยเป็นไม่มาก จะไม่ออกอาการชัดเจน ยังพูดคุยรู้เรื่อง ความคิดก็สมเหตุสมผล
(ยกเว้นในเรื่องที่หลงผิด) สามารถทำงานทำการได้เป็นปกติ

       และ วันนี้ได้ถามความเห็นจิตแพทย์อีกคนหนึ่งก็มีความเห็นว่าเป็น Delusion disorder
เช่นกัน โดยยึดตามข้อมูลส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการบรรลุเป็นโสดาบันและการลงโทษพระสงฆ์
อย่างรุนแรง ครับ       


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 15:30
ไม่มีความรู้เรื่องจิตเภท  ต้องถอยไปนั่งฟังผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่ะ



ขอบคุณอาจารย์มากครับสำหรับคำตอบที่ให้มาครับ
มีคำถามอีกครับ คือว่าการสำเร็จโทษพระเจ้าตากนั้น สำเร็จโทษแบบไหนครับ คือผมอ่านเจอในหนังสือมีคำหนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีดำรัสว่า  จึงมีรับส่งให้เอาตัวประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย จึงไม่รู้ว่าจะสำเร็จโทษแบบไหน
สำเร็จโทษ คือการประหารชีวิต    ถ้าเป็นสามัญชนคือการตัดศีรษะ แต่ถ้าเป็นเจ้านายก็ทุบด้วยท่อนจันทน์
พยายามหารายละเอียดจากหนังสือหลายแห่งว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถูกทุบด้วยท่อนจันทน์อย่างเจ้านายหรือไม่   แต่ไม่พบ   เคยอ่านพบว่าทรงถูกประหารอย่างนักโทษทั่วไปค่ะ 
ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  บันทึกว่า
"ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง   ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย"


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 17:21
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าว่า

"ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เพลาเช้า 2 โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย   ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น"


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 17:35
กลับมาที่สงครามเก้าทัพ อีกครั้งหนึ่ง

สมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดของสงครามเก้าทัพอยู่ที่กาญจนบุรี    เมื่อทัพหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาททรงมีชัย ตีทัพพม่าแตกได้สำเร็จ    พม่าแตกหนีไป ไทยไล่ตามไปจนถึงชายแดน   พระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งชำนาญในการรบแบบกองโจร ก็ตามสกัดตีพม่าไปจนถึงท่าดินแดงและสามสบ   พระเจ้าอังวะเลิกทัพกลับไปเมาะตะมะ

ส่วนกรมพระราชวังหลังทรงยกทัพไปคุมเชิงพม่าอยู่ที่นครสวรรค์    ทัพพม่าเดินทัพผ่านเชียงใหม่ลงมาได้อย่างสะดวก เพราะเชียงใหม่ตอนนั้นเป็นเมืองร้างไม่มีคนรักษา  เจ้าเมืองพาชาวเมืองหนีภัยสงครามจากพม่ามาอยู่ที่สวรรคโลกตั้งแต่สมัยธนบุรี   ต่อมาถึงแก่อนิจกรรม   ชาวเมืองก็เลยอพยพไปอยู่ที่ลำปางแทน    
พม่ายกมาถึงลำปาง เข้าตีเมือง  แต่พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางมีฝีมือเข้มแข็ง รักษาเมืองเอาไว้ได้   พม่าก็เลยได้แต่ล้อมเมืองอยู่  จากนั้นก็ส่งทัพ ๕๐๐๐ คนยกมาทางสวรรคโลก   เจ้าเมืองสวรรคโลก สุโขทัยและพิษณุโลกมีกำลังคนน้อย เพราะยับเยินมาแต่ครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้   ก็ต้องหนีเข้าป่ากันไป
พม่าก็ยกพลลงมาตั้งค่ายที่บ้านระแหง  แขวงเมืองตาก


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 17:49
 ถึงตอนนี้มีเหตุการณ์จะว่าน่าขำก็น่าขำ น่าเศร้าก็น่าเศร้า แทรกเป็นเกร็ดอยู่ตอนหนึ่ง   คือกรมพระราชวังหลัง ทรงสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนา(ปลี) ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพิจิตร  ยกไปตีค่ายพม่าที่ปากแม่น้ำพิง
เจ้าพระยามหาเสนา จัดให้พระยาสระบุรีเป็นทัพหน้าล่วงหน้าไปก่อน    ตัวท่านเองเป็นทัพใหญ่ยกตามไปสมทบ   ส่วนทัพกรมพระราชวังหลังและพระโอรสที่อยู่สวรรคโลก  ก็ยกไล่หลังไปเป็นอันดับสุดท้าย

ทัพพระยาสระบุรี ยกพลเคลื่อนขบวนทัพไปตามริมแม่น้ำตั้งแต่เช้ามืด    พอเห็นรำไรไม่ค่อยจะชัดเจน   ตรงนั้นเผอิญมีนกกระทุงออกมาหากินแต่เช้าตรู่   ทัพไทยทางนี้เห็นฝูงนกกระทุงมากมายเคลื่อนมาตะคุ่มๆ   ไม่ดูตาม้าตาเรือ เข้าใจว่าทัพพม่ายกพลแห่กันข้ามน้ำมา    คิดว่าในสมัย ๒๐๐ กว่าปีโน้นเมื่อป่ายังอยู่ติดกับเมือง  ฝูงสัตว์ป่าคงมากมายเหลือคณานับ  แค่ฝูงนกกระทุงก็ไม่รู้ว่ากี่หมื่นตัวแล้ว   พระยาสระบุรีก็ตกใจ รีบทำสัญญาณให้ทัพไทยล่าถอยจากฝั่งน้ำ

เมื่อความทราบถึงกรมพระราชวังหลังที่ยกทัพตามมา    ว่าพระยาสระบุรีตื่นตกใจหนีนกกระทุง    ถึงแม้ว่ายังไม่ก่อความเสียหายให้ทหารไทยต้องตายแม้แต่รายเดียว แต่แม่ทัพตาขาวอย่างนี้เอาไว้ไม่ได้   ท่านก็ตัดสินโทษประหารตัดหัวเสียเลย   แล้วเสียบหัวประจานไว้บนหาดทรายริมแม่น้ำ มิให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 มี.ค. 12, 21:43
ขออนุญาตแสดงความเห็นเรื่องการสำเร็จโทษประเจ้าตากฯ หน่อยนะครับ

เท่าที่ทราบมาก็อย่างที่อ่านอาจารย์เทาชมพูว่า ใช้การตัดศีรษะ ไม่ใช่การทุบด้วยท่อนจันทร์ ซึ่งน่าแปลกเมื่อคิดถึงว่านี่เป็นการประหารอดีตพระเจ้าแผ่นดิน
แถมจริงๆ แล้ว ต้นเหตุของการปลี่ยนแปลง ก็ไม่ได้มีการเริ่มต้นมาจากสมเด็จเจ้าพระยา(ร.1) หรือพระอนุชาด้วยซ้ำ
การผลัดแผ่นดิน ดูเผินๆ เหมือนเป็นการตกกระไดพลอยโจน แต่จริงๆ ก็น่าคิดถึงอะไรลึกๆ มากกว่านั้น

ดังนั้นการสำเร็จโทษด้วยการดัดศีรษะ ในความรู้สึกผม ออกจะน่าแปลกใจไม่น้อย เพื่อคิดถึงการเคยเป็นข้าเป็นนายกันมา  แม้ ร. 1 จะเคยถูกโทษโบยมาก่อน ก็ไม่น่าจะทรงแค้นเคืองขนาดนี้
ไม่แน่ใจว่าสำหรับเชื้อพระวงศ์อื่นๆ ของพระเจ้าตาก ถูกสำเร็จโทษแบบไหน
จริงๆ แล้วน่าจะมีความขัดแย้งบางอย่างที่น่าจะมีมายาวนาน หรือมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าที่มีการบันทึกกันไว้
อาจจะมีการชิงดีชิงเด่น การส้องสุมกำลัง หาสมัครพรรคพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาก่อนหน้าเป็นระยะเวลานานพอสมควร

อำนาจของพระเจ้าตากเองก็อาจจะสั่นคลอนมานานแล้ว  การบริการจัดการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ อาจจะไม่ได้เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าตากฯพระองค์เดียวมานานแล้วก็ได้
อำนาจของเจ้าพระยาจักรีและพระอนุชาฯ อาจจะมีมากจนแม้แต่พระเจ้าตากก็ทำอะไรไม่ได้
เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสในการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จนมีกรณีพระยาสรรค์กบฏ ก็เลยเป็นโอกาสเปลี่ยนแผ่นดินกันไปเลย
สถานการณ์อาจจะคล้ายๆ สมัยปลาย ร. 3 ก็ได้ เพียงแต่สถานการณ์ตอนนั้นไม่เอื้อและไม่สุกงอมเหมือนสมัยธนบุรี


กรมพระราชวังบวรฯเอง ก็รับราชการกับพระเจ้าตากมาก่อนเป็นเวลานาน ทำไมจึงวางเฉยเรื่องการสำเร็จโทษแบบไม่สมพระเกียรติได้ แถมมีบทบาทมากในเรื่องการกำจัดเสี้ยนหนามด้วย
เพราะจริงๆ แล้ว รัชกาลที่หนึ่งกับพระอนุชา(วังหน้า) ก็เหมือนจะไม่น่าจะลงรอยกันนัก แต่ไม่แน่ใจว่าเพิ่งเป็นในตอนหลังจากการเปลี่ยนราชวงศ์แล้วแล้ว หรือก่อนหน้า
เห็นได้จากพระโอรสของกรมพระราชวังบวรเอง ตอนหลังก็ถูกสำเร็จโทษเช่นกัน
ด้วยเรื่องวัฒนธรรมไทย เรื่องของบุญคุณ การเป็นข้าเป็นเจ้ากัน  จึงดูออกจะเป็นเรื่องที่แปลก 
ระดับความร้อนแรงขัดแย้งทางการเมืองในสมัยธนบุรี น่าจะมีมากและแรงกว่าที่เรารับทราบกันจากพงศาวดาร
เพราะขนาดเมื่อสิ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ยังต้องมีการล้างบางพระญาติพระวงศ์สายพระเจ้าตากกันอีกรอบเลย


ผมเคยอ่านการเมืองไทยสมัยพระเจ้าตากฯ ของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์เมื่อนานมากกว่าสิบปีมาแล้ว  อาจจะพอสรุปคร่าวๆ ได้ถึงความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้ดีเก่าที่สืบเชื้อสายข้าราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
กับกลุ่มขุนนางที่ไต่เต้ามาจากระดับไพร่  ซึ่งแม้แต่พระเจ้าตากเองก็อาจจะมีที่มาจากกลุ่มนี้ คือไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มผู้ดี ดังนั้นเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่จากข้าราชการระดับต่างๆ ที่เป็นเชื้อสายผู้ดีเก่า

ปล  ความเห็นนี้ถ้าหมิ่นเหม่ไป อ. เทาชมพูลบไปก็ได้นะครับ เรื่องพวกนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดได้แม้ในสมัยนี้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 21:56
ไม่ลบค่ะ ไม่ต้องห่วง   คุณประกอบพูดในเชิงวิชาการ ไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ส่วนตัว 

ขอเล่าเหตุการณ์หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินถูกประหารไปแล้ว  ว่า
เมื่อถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  พระศพถูกนำไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้  ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงเทพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงขุดขึ้นมาพระราชทานเพลิง   พระองค์และกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปพระราชทานเพลิงเองทั้ง ๒ พระองค์
จากนั้น ก็มีการไต่สวนกรมขุนอนุรักษ์สงครามและพระยาสรรค์ แล้วประหารชีวิตทั้ง ๒ คน   ดิฉันเชื่อว่าถูกตัดศีรษะแบบนักโทษประหาร   ไม่น่าเป็นไปได้ว่าในเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินถูกประหารแบบสามัญชน   เจ้านายที่เป็นชั้นหลานจะถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แบบเจ้านาย

จากนั้น ก็มีการ "ล้างบาง" กันตามระเบียบ     ขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากถูกประหารไปอีก ๓๙ คน  พวกนี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นฝ่ายกรมขุนอนุรักษ์สงครามที่ยกพลมาสู้กับพระยาสุริยอภัย   ในเมื่อแม่ทัพถูกประหาร นายกองทั้งหลายก็ย่อมไม่รอดอยู่ดี    นอกจากนี้  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงประหารขุนนางไปอีก ๘๐ เศษ  ล้วนแต่เป็นผู้มีเรื่องขุ่นเคืองกับพระองค์มาก่อน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 22:01
เจ้านายผู้ชายพระญาติฝ่ายพระเจ้าตากที่เป็นผู้ใหญ่ ถูกประหารหมด   เว้นพวกผู้หญิงและเด็กๆไว้ รวมทั้งพระโอรสเล็กๆของพระเจ้าตากด้วย  กรมพระราชวังบวรฯ ทูลขอให้ประหารหมด  เพราะจะเป็นเสี้ยนหนามต่อไป  แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงขอชีวิตไว้ทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ กริ้วอีกครั้งก็เมื่อตอนพระราชทานเพลิงพระเจ้าตาก  เจ้าจอมหม่อมห้ามและเจ้านายฝ่ายในของพระเจ้าตากที่ตอนนี้ย้ายมาเป็นฝ่ายในของรัชกาลที่ ๑ พากันร้องไห้คร่ำครวญถึงเจ้านายเดิม   ก็เลยกริ้วสั่งเฆี่ยนหลังลายกันเป็นแถว

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ท่านทรงมีเรื่องขุ่นเคืองพระทัยกับขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากมาแต่เดิม    ถ้าเป็นสมัยนี้คงเรียกว่าถูกปัดแข้งปัดขามาตั้งแต่เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์    ครั้งหนึ่งมีเรื่องพลาดพลั้งถึงกับทรงถูกพระราชอาญาโบยหลัง ทั้งๆไม่ได้ทรงทำความผิด  เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน จึงทรงเอาคืนกับปรปักษ์เสีย ๘๐ กว่าคน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 22:06
ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระเมตตาต่อเชื้อสายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมากกว่า  นอกเจ้าฟ้าเหม็น กรมขุนกษัตรานุชิตที่เป็นพระนัดดา(หลานตา)แท้ๆ    พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน องค์อื่นๆคือพระพงศ์นรินทร์  พระอินทรอภัย อายุถึง ๑๔-๑๕ ปีแล้วทั้งสิ้น ก็ยังเอามาชุบเลี้ยงใช้สอย

บุตรของขุนนางผู้ถูกประหารในคราวนั้นทรงไว้ชีวิตไว้ทั้งหมดและนำมารับราชการทั้งหมดเช่นกัน   เชื้อสายพระเจ้าตากกลายมาเป็นข้าราชการสืบต่อกันมาในต้นรัตนโกสินทร์    ยังมีลูกหลานมาจนทุกวันนี้ เช่นตระกูลสินสุข และอินทรกำแหง

เรื่องนี้เคยสนทนากันในกระทู้เก่า  ก็เลยขอยกกลับมาให้อ่านกันอีกครั้ง

เรื่องนี้อาจมองแยกเป็น ๓ อย่าง จากเนื้อความที่เล่ามา
๑)พระเจ้าตากสินทรงสิ้นบารมีที่จะสร้างความปึกแผ่นภายในได้อีก    จะด้วยทรงมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปขนาดก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างพงศาวดารว่า  หรือเป็นเพราะอำนาจของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ขยายใหญ่ขึ้นมากที่สุดก็ตาม  แต่พระบารมีก็จบสิ้นลงตั้งแต่พระยาสรรค์ยึดอำนาจ

๒) concept of loyalty (แนวคิดที่ยึดมั่นในการจงรักภักดีต่อเจ้านาย)  ไม่มีอีกแล้วในตอนปลายธนบุรี    กลับเข้าสู่สังคมที่มีผู้นำและผู้ตาม   บุคคลเข้มแข็งที่สุดจะได้ตำแหน่งผู้นำแทนคนเก่า   ถ้าเป็นลักษณะนี้ การรัฐประหารจะเกิดขึ้นง่ายที่สุด

๓) การกระทำหลายอย่าง เป็นการสยบอำนาจเก่าลงไม่ให้เป็นปัญหาได้อีก    แต่การกระทำหลายอย่างบ่งถึงการประนีประนอมแก่ผู้ที่ไม่ใช่เสี้ยนหนามอันดับหนึ่ง อย่างบรรดาขุนนางที่ถูกประหารไป บุตรก็ได้รับราชการต่อ รวมทั้งบุตรพระยาสรรค์ด้วย  ทั้งนี้จะมีผลทางขวัญกำลังใจของข้าราชการโดยส่วนรวม


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 12, 13:05
โดยมาก  หัวข้อที่ถกเถียงกันคือสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสียพระสติจริงหรือเปล่า    จะเรียกว่า วิกลจริต เพี้ยน ประชวร หรืออะไรก็ว่ากันไป    แต่ไม่ค่อยมีใครมองว่า ด้วยพระอาการตามที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารหลายเล่ม รวมบันทึกความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีด้วย   หากว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินยังคงครองราชย์ต่อไป   จะมีผลดีหรือเสียอย่างไรกับราชอาณาจักร
ก็ขอทิ้งคำถามไว้แค่นี้ค่ะ

กลับมาที่กรมพระราชวังหลัง
ตอนต้นรัชกาล เป็นยุคของความตึงเครียดถึงขีดสุด    กรุงเก่าแตกเพราะพม่ามาแค่ 15 ปี   คนไทยยังจำความหลังได้ดีอยู่   ก็ไม่มีใครอยากจะให้เกิดซ้ำสอง   ในเมื่อพม่ายกทัพใหญ่มาราวกับคลื่นในมหาสมุทร  ถ้ายันไว้ไม่อยู่ก็บ้านแตกสาแหรกขาดอีกเป็นครั้งที่สอง  คราวนี้อาจไม่มีโอกาสฟื้นตัวอีกเลย
ดังนั้น แม่ทัพทั้งหลายจึงต้องเฉียบขาด  สั่งทหารสู้กันอย่างยอมตายถวายชีวิต  อย่าว่าแต่อ่อนแออย่างพระยาสระบุรีที่ต้องถูกตัดหัวเสียบประจาน  แม้กรมพระราชวังหลังเอง ก็ได้รับสารตราจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ส่งจากกรุงเทพขึ้นไปว่า  ศึกทางกาญจนบุรีเสร็จสิ้นลง ด้วยชัยชนะของกรมพระราชวังหน้า   เหลือแต่ศึกทางเหนือ ที่กรมพระราชวังหลังทรงบัญชาการอยู่
"...แม้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์คิดทำไม่สำเร็จ    พระเศียรก็คงไม่ได้อยู่กับพระกายเป็นแน่แท้"


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 12, 12:24
พระบรมราชโองการจากทัพหลวงที่ยกขึ้นไปสมทบ คือเร่งรัดให้ทัพกรมพระราชวังหลัง และทัพเจ้าพระยามหาเสนา ให้ยกเข้าตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิง ให้แตกภายในวันเดียว   ถ้ายืดเยื้อไปมากกว่านี้ โทษถึงประหารชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ศึกใหญ่ก็ระเบิดขึ้นอีกครั้ง  ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๓๒๘  ทัพไทยเข้าโจมตีพม่าพร้อมกันทุกค่าย  สาดกระสุนยิงกันด้วยปืนใหญ่น้อยตั้งแต่เช้าไปจนค่ำ   รบครั้งนั้นดุเดือดแค่ไหนไม่ต้องบรรยายมากกว่านี้  เห็นได้จากพอตกค่ำทัพพม่าก็แตกฉานซ่านเซ็น  ไพร่พลหนีกระจัดกระจายไปทุกค่าย    ข้ามแม่น้ำไปทางตะวันตก  จมน้ำตายไปประมาณ ๘๐๐ กว่าคน    พงศาวดารบันทึกว่าศพลอยเต็มแม่น้ำ เลือดแดงฉาน จนกินน้ำไม่ได้

การรบครั้งนี้ แม่ทัพอีกผู้หนึ่งที่ฝากฝีมือไว้ คือพระองค์เจ้าลา  กรมหลวงจักรเจษฎา    ใครย้อนอ่านไปตอนต้นกระทู้ คงพบชื่อท่านว่าเป็นพระอนุชาต่างมารดากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ    เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก   ท่านยังเป็นเด็กเล็ก  อพยพตามพ่อคือหลวงพินิจอักษรและแม่ซึ่งเป็นอนุภรรยา ลี้ภัยไปอยู่พิษณุโลก     เมื่อคุณหลวงพินิจอักษรถึงแก่กรรม   แม่ท่านก็ทำศพตามประเพณีเสร็จแล้วแม่ลูกก็อำลาจากพิษณุโลก เชิญอัฐิท่านบิดามาหาพี่ชายพี่สาวที่มาปักหลักอยู่ที่ธนบุรี      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีก็อุปการะน้องชายเรื่อยมา  จนเติบโตขึ้นเป็นนักรบสำคัญคนหนึ่งในตระกูล

เมื่อสถาปนากรุงเทพ   หม่อมลาก็ได้เฉลิมพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าลา    ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือคุมทัพแยกจากทัพเจ้าพระยามหาเสนาไปตีทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ในเวลานั้นให้แตกให้ได้
ก็ถ้าทำงานนี้ไม่สำเร็จ   โทษเป็นฉันใดเราก็คงเดาได้อยู่แล้ว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 12, 19:11
พระองค์เจ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎาทรงคุมทัพเข้าตีทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปาง   รบกันอยู่ครึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง   ทัพพม่าก็แตกพ่าย กลับไปรวมกำลังกันอยู่ที่เมืองเชียงแสน ซึ่งขึ้นอยู่กับพม่า

เป็นอันว่าศึกใหญ่สุดในแผ่นดินก็ได้จบลงด้วยการที่พม่าพ่ายแพ้ถอยกลับไป    เพราะแพ้ไทยหมด ไม่ว่าเจอทัพหลวง ทัพหน้า หรือทัพของเจ้านายองค์อื่นๆ    ทัพไทยก็ยกกลับเมืองหลวงด้วยความภูมิใจในชัยชนะ    แม่ทัพนายกองทั้งหลายได้รับปูนบำเหน็จกับพร้อมหน้า
เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ก็ได้ทรงเลื่อนกรมขึ้นเป็น กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น    และได้รับสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" หรือชาวบ้านเรียกว่ากรมพระราชวังหลัง

ศึกพม่ามีขึ้นอีกหลายครั้ง   กรมพระราชวังก็ทรงยกทัพไปทำศึกด้วยทุกครั้ง เว้นแต่ครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงให้อยู่รักษาพระนคร
จนพระชนม์มากขึ้นถึง ๕๖ ปี   ก็เสด็จออกผนวช  ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดพรรษาจนกระทั่งเกิดศึกขึ้นอีกครั้ง  จึงลาผนวชออกไปรบเป็นครั้งสุดท้าย


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 23 มี.ค. 12, 16:00
ขาดเรียนไปหลายวันครับ เข้าห้องเรียนต่อ
สงครามเก้าทัพนั้นเป็นสงครามที่ใหญ่มากครั้งหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์
ทัพที่ ๑ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์(ภายหลังได้รับสถาปนาพระยศขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง) เป็นแม่ทัพถือพล ๑๕,๐๐๐ ขึ้นไปตั้งรับอยู่ที่เมืองนครสวรรค์
อย่าให้เพลี่ยงพล้ำมิให้ถอย ประวิงเวลายันทัพเหนือของพม่าให้ได้นานที่สุด ( ๑๕,๐๐๐ ตั้งรับ ๓๕,๐๐๐ ) ผมอ่านดูแล้วก็นึกสงสารบรรพบุรุษเรามาก โดนคำสั่งมาไม่ได้ถอยไม่ให้เพลี่ยงพล้ำแล้วเอาคน ๑๕,๐๐๐ ตั้งรับ ๓๕,๐๐๐ แต่บรรพบุรุษเราก็เก่งกล้าสามารถเอาชนะได้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 24 มี.ค. 12, 11:05
สายสัมพันธ์ ระหว่าง พระเจ้าตากกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์(พระมหาอุปราช)พระนามเดิมว่าเจ้าจุ้ยที่๑ในสมเด็จพระราชินีดำรงพระราชตำแหน่งรัชทายาทถูกสำเร็จโทษวันเสาร์เดือน๖แรม.๘ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๕และในการนี้บุตรและธิดาทั้งหลายของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ได้ถูกประหาร เลยเหลือสืบสกุลสายตรงเป็นสกุล“สินสุข”และ“อินทรโยธิน”กรมขุนอินทรพิทักษ์-เจ้าฟ้าจุ้ยมีธิดา๒บุตรชาย๒
     ๑.๑ คุณหญิงมะเดื่อ เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นนราเทเวศร์พระโอรสพระองค์ใหญ่ในการพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายเศรษฐ  ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายจักรจัน ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนามปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
     ๑.๒ คุณหญิงสาลี่เป็นหม่อมห้ามในกรมหลวงเสนีบริรักษ์พระโอรสพระองค์ เล็กในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายจุ้ย(จิ๋ว)เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายไม่ปรากฏพระนามเสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม เสนีวงศ์ ณ อยุธยา


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 12, 11:09
เรื่องนี้แสดงให้เห็นกำลังพลของฝ่ายไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ คงจะแบ่งปันกันไปได้แค่นี้เอง     ถ้าหากว่าทางการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ได้มากกว่านี้ก็คงจะมีกันมากกว่านี้
แสดงให้เห็นอีกอย่างว่า  การวางแผนรบของไทยในสมัยนั้นเก่งมาก   เมื่อมีคนน้อย ก็หาวิธีเอาน้ำน้อยชนะไฟจนได้     ผิดกับสมัยอยุธยาที่รบกันด้วยกำลังอย่างเดียว  เมื่อพม่ายกมาล้อมเมือง ไทยก็ใช้กำลังพลจากในเมืองและจากหัวเมืองคานเอาไว้   บวกกับน้ำท่วมจากธรรมชาติ
แต่เมื่อย้ายเมืองหลวง  ไพร่พลก็จำนวนน้อย   ก็ต้องค้นคิดหาวิธีรบแบบใหม่ที่ไม่ปะทะกันด้วยกำลังอย่างตรงๆ      อย่างหนึ่งที่ได้ผลมากคือการรบแบบกองโจร  ที่มีผู้นำอย่างพระองค์เจ้าขุนเณร


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 24 มี.ค. 12, 22:06
ผมออกจะทึ่งกับจำนวนไพร่พลทั้งฝ่ายไทยและตรงข้าม มาก
ไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่บอกจำนวน จะเป็นจริง
การสงครามแต่ละครั้ง ระยะเวลาก็ห่างกันไม่มากนัก
รบแต่ละคราว ก็ต้องเสียไพร่พล ฝ่ายละจำนวนมาก
แล้วจะเหลือไพร่พล มากน้อยแค่ไหน
คงต้องเร่งผลิตพลเมืองกันหน้าดูเลย
ผมมีเพื่อนคิดบ้างไหม


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 12, 10:12
การรบสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการใช้กลอุบายหลายอย่าง เพื่อรักษาจำนวนไพร่พลเอาไว้  มิให้เปลืองลงไปมาก  เพราะกำลังฝ่ายไทยน้อยกว่าฝ่ายพม่า
กรมพระราชวังหน้า ท่านทรงใช้วิธีนี้   ขอเวลาหน่อยแล้วจะพิมพ์มาให้อ่านค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 30 มี.ค. 12, 18:00
1.เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า
2.วังเจ้าขุนเณร วังสวนมังคุด วังสวนลิ้นจี่ วังเจ้านครเชียงใหม่ วังเจ้าลาว วังเจ้านครเวียงจันทร์ วังบ้านปูน อยู่ตรงไหนบ้าง
  เป็นของเจ้านายพระองค์ไหน
3.วังหลวง วังหลัง วังหน้า วังเดิม วังสวนอนันต์ เดิมมีอาณาเขตแค่ไหน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 31 มี.ค. 12, 08:49
พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นน้องคนละแม่กับ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง)  โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จักรี โดยเป็นพระโอรสบุญธรรมใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาเทพสุดาวดี
พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นพระโอรสของ พระอินทรรักษา หรือหม่อมเสม ซึ่งเป็นพระภัสดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาเทพสุดาวดี พระภคินีเธอใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์เจ้าขุนเณร ทรงเป็นเจ้านายนอกพระราชวงศ์จักรี เพราะพระชาติประสูติของพระองค์นั้นเกิดกับหญิงสามัญ ซึ่งเป็นอนุภริยาในพระอินทรรักษา สำหรับพระองค์เจ้าขุนเณร นับว่าเป็นเจ้านายที่พระปรีชาการศึกสงครามพระองค์หนึ่ง ทรงประทับที่วังบ้านปูน แต่พระชีวประวัติเท่าที่สืบค้นมีน้อยมาก ไม่มีระบุเหตุของการสิ้นพระชนม์ และไม่มีระบุทายาทสืบมา


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 31 มี.ค. 12, 08:57
วังเจ้าขุนเณรกับวังบ้านปูนน่าจะที่เดียวกันครับ เป็นวังที่ประทับเจ้าขุนเณร
วังสวนมังคุด เป็นวังที่ประทับของ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าทองจีน กรมหลวงนรินทรรณเรศร์ พระโอรสลำดับที่ 3 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี กับหม่อมเสม ประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ในบริเวณใกล้กับวัดระฆัง
วังสวนลิ้นจี่เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขนี้ คนทั่วไปเรียกว่า“วังหลัง” เหตุที่ตั้งวังบริเวณสวนลิ้นจี่ จึงมีชื่อเรียกวังของท่านว่า“วังสวนลิ้นจี่”


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 31 มี.ค. 12, 09:18
1.เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า
2.วังเจ้าขุนเณร วังสวนมังคุด วังสวนลิ้นจี่ วังเจ้านครเชียงใหม่ วังเจ้าลาว วังเจ้านครเวียงจันทร์ วังบ้านปูน อยู่ตรงไหนบ้าง
  เป็นของเจ้านายพระองค์ไหน
3.วังหลวง วังหลัง วังหน้า วังเดิม วังสวนอนันต์ เดิมมีอาณาเขตแค่ไหน

เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า น่าจะเป็นนะครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 31 มี.ค. 12, 09:36
วังหลัง-วังเจ้านครเชียงใหม่-วังเจ้าลาว หน้าจะที่เดียวกันนะครับ แต่ว่าผมยังไม่แน่ใจเพราะยังไม่เคยได้ยินครับแต่ผมอ่านเจอในเรือนไทย ในหัวข้อ เจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมียะ มีอยู่ตอนหนึ่งเมื่อพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เดินทางลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2436 หลังจากที่เจ้าดารารัศมีเข้าถวายตัวเป็นพระสนมชั้นเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ 7 ปี เจ้าบัวชุมได้ติดตามขบวนเจ้านายผู้ใหญ่อันมี พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เดินทางลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รายงานข้าราชการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคณะผู้ติดตามนอกจากเจ้าบัวชุม ก็มี เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม) เจ้ามหาวงศ์ เจ้าราชบุตร (คำตื้อ) เจ้าบุรีรันต์ (น้อยแก้ว) พระญาพิทักษ์เทวี (น้อยบุญทา) พระพี่เลี้ยงของเจ้าดารารัศมี การลงไปกรุงเทพฯครั้งนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าดารารัศมีที่ต้องการจะอุปการะชุบเลี้ยงนั่นเอง    ขบวนเรือของเจ้าหลวงครั้งนั้นมีประมาณ 10 ลำ เดินทางโดยไม่รีบร้อน ใช้เวลากว่า 20 วันถึงกรุงเทพฯ เมื่อถึงกรุงเทพฯ ขบวนเรือเข้าจอดเทียบท่าที่วังหลัง และเจ้าหลวง พร้อมด้วยผู้ติดตามก็พักที่วังหลังนั่นเอง ขณะนั้นเรียกติดปากกันว่า วังเจ้าลาว เพราะได้จัดให้เป็นที่พักของเจ้าผู้ครองนครอื่นๆก่อนหน้านี้คติดต่อกันมา
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเฝ้าพระราชชายา เจ้าดารารัศมีไต่ถามสาระทุกข์สุขดิบ ตามประสาพ่อลูก และได้เฝ้ารายงานข้อราชการแต่อพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระราชชายาก็ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าพ่อที่วังหลัง เป็นการตอบแทน พร้อมกับเปิดโอกาสให้เจ้านายฝ่ายเหนือที่ตามขบวนเสด็จได้เข้าเฝ้า ขากลับ เจ้าบัวชุม วัย 7 ขวบจึงได้แยกกับขบวนเจ้าหลวง ตามเสด็จพระราชชายาเข้ามาอยู่ในวังหลวงด้วยตั้งแต่บัดนั้น

หน้าจะอยู่ที่วังหลังนั่นแหละครับ เพราะว่าเรียกติดปากว่า วังเจ้าลาว เพราะในสมัย ร.๕ จะเรียกชาวล้านนาว่าลาวพุงดำ ดังที่ในสมัย ร.๕ เรียกล้านนาว่ามณฑลลาวพุงดำ
ผิดถูกยังไงก็ขอโทษด้วยนะครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 19:26
เชิญคุณ werachaisubhong  ให้ความรู้อย่างนี้บ่อยๆ  เบาแรงดิฉันได้มาก ;D

ผมออกจะทึ่งกับจำนวนไพร่พลทั้งฝ่ายไทยและตรงข้าม มาก
ไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่บอกจำนวน จะเป็นจริง
การสงครามแต่ละครั้ง ระยะเวลาก็ห่างกันไม่มากนัก
รบแต่ละคราว ก็ต้องเสียไพร่พล ฝ่ายละจำนวนมาก
แล้วจะเหลือไพร่พล มากน้อยแค่ไหน
คงต้องเร่งผลิตพลเมืองกันหน้าดูเลย
ผมมีเพื่อนคิดบ้างไหม

รับปากไว้ว่าจะเล่าถึงการรบของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทให้ฟัง  เพื่อดูว่าการเอาชนะข้าศึกที่กำลังมากกว่า เขาทำกันอย่างไร

ในสงครามเก้าทัพ   เมื่อกรมพระราชวังหลังยกทัพไปนครสวรรค์  วังหน้าหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทก็ยกพลจำนวน ๓๐,๐๐๐ คน ไปรับทัพพม่าที่ลาดหญ้า กาญจนบุรี    ส่วนทัพพม่าที่พระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพยกมาเอง เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรีเหมือนกัน  มีจำนวน ๘๙,๐๐๐ คน    รวม ๕ ทัพ   ทัพใหญ่สุดคือทัพหลวงมีทหาร ๕๐๐๐๐ คน
คนสามหมื่นไปรบกับคนเกือบเก้าหมื่น    ถ้าเข้าประจัญบานกันแบบตัวต่อตัวเหมือนนักดาบฟันกัน     นักรบไทย ๑ คนจะต้องฟาดฟันกับพม่า ๓ คนพร้อมกันจึงจะเสมอกัน    ถ้าจะเอาตัวรอดกลับมาบ้านได้ต้องฆ่าพม่า ๓ คนที่รุมกินโต๊ะให้ได้หมด  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์  ทหารไทยทุกคนมีโอกาสรอดเพียง ๓๓ % อย่างมาก


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 19:35
ปะทะกันตอนแรก ทัพหน้าพม่า ๑๑๐๐๐ คนเข้ามาเจอทัพย่อยของไทย ๓๐๐๐ คน มีนายทัพคือพระยามหาโยธา   ทัพไทยก็แตกพ่ายเพราะสู้กำลังไม่ได้   พม่าก็รุกเข้ามาถึงท่าดินแดง ที่ทัพหน้าไทยตั้งอยู่ แล้วตั้งค่ายประจัญกันตรงนั้น
ฝ่ายไทยเอาปืนยิงค่ายพม่า  ทางโน้นยิงตอบมา  ถูกไทยตายระเนนระนาด   ไทยรบเท่าไรก็ตีค่ายพม่าไม่ได้สักที  ต้องถอยกลับเข้าค่ายไทย

กรมพระราชวังหน้าทรงใช้ไม้ตาย  สั่งให้ทำครกไม้และสากไม้ขนาดมหึมาขึ้น ๓ ชุด     ตั้งให้แม่ทัพนายกองและทหารเลวทั้งหลายดู  ทรงยื่นคำขาดว่าถ้าทหารไทยคนไหนถอยหนีพม่า  จะทรงเอาตัวลงครกโขลกเสียต่อหน้ากองทัพมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

(ราวกับทหารไทยเป็นน้ำพริกป่าของคุณตั้งก็ไม่ปาน  :) )

ในเมื่อทางฝ่ายเรามีคนน้อย  เกณฑ์กันมาจนหมดเมืองแล้วก็ยังมีได้แค่นี้     การรบด้วยการปะทะกัน ฝ่ายน้ำน้อยก็ต้องแพ้ไฟ  ยังไงไทยก็ตายเรียบ     กรมพระราชวังหน้าจึงทรงใช้สงครามกองโจร คือใช้คนน้อยให้ทำงานใหญ่    ทรงสั่งพระยาสีหราชเดโช  พระยาท้ายน้ำ  พระยาเพชรบุรี เป็นนายทัพกองโจร   พระยารามคำแหง พระยาเสนานนท์เป็นปลัดทัพ  ยกพล ๕๐๐ คน   ไปเป็นกองโจรอยู่ในป่าเส้นทาง   คอยตีชิงกองลำเลียงของพม่าที่เดินทางผ่านมา   ไม่ให้ส่งกำลังบำรุงกันได้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 02 เม.ย. 12, 09:05
ได้ครับ อาจารย์ ผมจะเอาข้อมูลมาลงเท่าที่ผมได้อ่านมาครับ
มหายุทธสงคราม ๙ ทัพนี้ “กรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าพระยาเสือ” ทรงเป็นผู้พิชิตศึกอย่างแท้จริง เพราะผลจากการรบในยกแรก ทำให้กองทัพใหญ่จำนวนมหาศาลของฝ่ายพม่าติดอยู่ในช่องเขา และต้องเผชิญกับกลศึกมากมายในสงครามกองโจรแบบ"จรยุทธ์" เคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะทัพหน้าถูกตรึงอยู่กับที่ มีทางเดียวคือต้องถอยทัพ และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้กองทัพพม่าเรือนแสนไม่มีโอกาสได้เข้าต่อรบ
ยุทธศาสตร์การสงครามของพระองค์ คือ “การสกัดกั้น” ตรึงกำลังผ่ายศัตรูให้ตั้งมั่นอยู่ในที่เสียเปรียบ และกักกันมิให้กองทัพใหญ่ตามออกมาจากช่องเขาได้ พระองค์จึงเร่งเคลื่อนทัพจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปตั้งค่ายชักปีกกาอุดทางออกของช่องเขาบรรทัดของทุ่งลาดหญ้า ก่อนที่ทัพของพม่าจะมาถึง เพราะถ้ามาถึงได้ก่อน พม่าก็จะสามารถขยายพลรบในที่ราบกว้าง จัดทัพใหม่เก็บเสบียง ทัพหนุนจะตามออกมา กองทัพพม่าจะกลายเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาในทันที
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงได้พระยาเจ่งและกองทัพมอญสวามิภักดิ์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศเป็นอย่างดีมาช่วยรบ กองทัพสยามตั้งค่ายชักปีกกา ขุดสนามเพลาะ ปักขวากหนาม ตั้งปืนกะระยะยิง และส่งทหารไปร่วมกับทัพมอญขึ้นไปสกัดถ่วงเวลาที่ด่านกรามช้าง
เมื่อกองทัพที่ ๔ ของพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเมืองไทรโยคเข้ามาทางเมืองท่ากระดาน ตีด่านกรามช้างแตกอย่างยากลำบาก จึงยกเข้ามาเผชิญกับกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ตั้งค่ายรอรับอยู่แล้ว ฝ่ายพม่าจึงเร่งตั้งค่าย ปลูกหอรบประจันหน้ากับฝ่ายไทยบนเชิงเขา ซึ่งดูจะได้เปรียบด้านความสูงกว่า แล้วนำปืนใหญ่ขึ้นหอสูงยิงถล่มค่ายของฝ่ายสยาม จนยากจะหาที่ปลอดภัยจากกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายพม่า ไพร่พลสยามเริ่มเสียขวัญและเริ่มระส่ำระสาย แต่ด้วยความเด็ดขาดของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ทรงประกาศว่า หากใครถอยหนีหรือไม่ยอมสู้รบ ให้ลงโทษอย่างหนักโดยจับตัวใส่ครกขนาดใหญ่และโขลกให้ร่างแหลกละเอียด ซึ่งนั่นก็ทำให้ไพร่พลหันหน้ากลับมาฮึดสู้กับฝ่ายพม่าอีกครั้ง  ดังที่อาจารย์ว่าทำครกใหญ่เพื่อจะโขลกทหารที่ถอยหนีหรือไม่สู้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 12, 19:24
ขอบคุณค่ะ คุณwerachaisubhong ที่มาช่วยตอบให้กระทู้เดินเร็วขึ้น  ไม่งั้นหยุดชะงักมาหลายวัน    หมู่นี้  ดิฉันไม่มีเวลาเข้ามาตอบ
ขอแก้ตัวด้วยการเล่าเรื่องต่ออีกหน่อย   คุณ ws จะเล่าซ้ำแบบขยายความก็ได้ หากว่าเตรียมข้อมูลมาแล้ว

แม่ทัพกองโจรทั้ง ๓ คนที่เอ่ยมา   ไปซุ่มโจมตีสกัดกองลำเลียง  ได้บ้างไม่ได้บ้าง  จะท้อใจหรือกลัวตายขึ้นมายังไงก็ไม่แน่ ก็เลยหลีกหนีออกไปซุ่มกำลังอยู่ที่อื่น    พูดง่ายๆว่าถอยหนีข้าศึกไปดื้อๆ   
พอความทราบถึงทัพหน้า  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทก็ทรงให้ข้าหลวงแทนพระองค์ไปสอบสวนข้อเท็จจริง    แต่ไม่ต้องเยิ่นเย้อเสียเวลาเอาตัวกลับมาใส่ครกตำ    ประหารเสียตรงนั้นเลยรู้แล้วรู้รอด   
แต่โทษผิดกัน  คือระดับนายทัพให้ตัดหัวอย่างเดียว     ส่วนปลัดทัพหนักหน่อยต้องถูกขวานสับหัวเป็นสามเสี่ยง   ข้าหลวงไปสอบสวนได้ความตามนั้นก็ตัดหัวนายทัพใส่ชะลอมกลับมาถวาย   โปรดให้เสียบประจานไว้หน้าค่าย 
ส่วนครก เห็นจะยังว่างเปล่า   หรือว่าเอาทหารเลวมาตำให้แหลกเหลวเป็นตัวอย่างบ้างพอให้หลาบจำ  ข้อนี้พงศาวดารไม่ได้บอกไว้



กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 12, 19:28
กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงใช้นายทัพใหม่   คือพระองค์เจ้าขุนเณร ให้คุมพล ๑๐๐๐ คน ไปสมทบกับกองทหารเดิม ๕๐๐ คนเป็น ๑๕๐๐ คน  ไปคอยซุ่มโจมตีกองลำเลียงของพม่าที่พุไคร้เหมือนเดิม    คราวนี้นายทัพคนใหม่ทำงานได้ผล   แย่งชิงเสบียงของพม่ามาได้  ไม่ให้ถึงมือทัพหลวง
นอกจากนี้พระองค์เจ้าขุนเณรก็ส่งเชลยพม่าที่จับได้  ตลอดจนสัตว์พาหนะ เช่นช้าง ม้า โค มาถวายเป็นกำลังให้ทัพหน้า


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 02 เม.ย. 12, 20:41
ชักสนุกแล้วครับ
ผมเคยฟังเรื่องคล้ายๆแบบนี้เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน
คุณพ่อเล่าให้ฟัง ก่อนนอน  เดี๋ยวนี้เทคโนโลยี่ดี เลยไม่ค่อยเล่ากัน
เด็กรุ่นลูกๆ จึงไม่ค่อยสนิทกับพ่อแม่ ครอบครัวไม่อบอุ่น
วีรบุรุษในดวงใจขาดหาย ความรักชาติ ความเคารพยกย่องบรรพบุรุษน้อยลง
ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากครับ
เล่าต่อเถอะครับ เด็กรุ่นหลาน เหลน จะได้ภูมิใจในบรรพบุรุษของเขาบ้าง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 เม.ย. 12, 08:59
เรื่องของกลศึกและการปลุกขวัญสร้างกำลังใจให้เหล่าหทารของกรมพระราชวังบวรฯ
มีอยู่ว่าเมื่อแนวหลังของทัพหน้าของพม่าถูกตัดขาดโดยกลศึกสงครามกองโจร จนเกิดความอดอยากและเสียขวัญไปทั่วค่ายพม่า กรมพระราชวังบวรฯ ทรงใช้กลยุทธ์หลอกฝ่ายพม่า โดยให้ทหารลอบออกนอกค่ายในเวลาค่ำคืน  แล้ว ให้ตั้งทัพถือธงทิวเดินเป็นกระบวนกลับมาในตอนเช้า ส่งเสียงสดชื่นอึกทึก ฝ่ายพม่าอยู่บนที่สูงกว่า เห็นกองทัพไทยมีกำลังหนุนเพิ่มเติมมาเสมอ ก็ให้ครั่นคร้ามจนเสียขวัญหนัก เมื่อถึงเวลาสุกงอมและเหมาะสมแก่แวลา กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ก็ทรงประกาศปลุกขวัญแก่ไพร่ทหารว่า “ พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่าเราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน รบวันนี้เราจะไม่กลับมาค่ายนี้อีกจนกว่าจะขับไล่ศัตรูไปพ้นชายแดน ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสืบไป”  ผมว่ากลยุทธ์แบบนี้ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยนะครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 เม.ย. 12, 09:05
แผนที่การเคลื่อนทัพในมหายุทธสงคราม ๙ ทัพ

ที่มาครับ
http://www.prommapanyo.com/smf/index.php?topic=170.0


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 04 เม.ย. 12, 09:28
การรบกับพม่าครั้งนี้ทางไทยเราหากลยุทธ์ต่างๆนาๆในการสู้ศึกกับพม่า อาทิเช่น  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ โดยประยุกต์ปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทรงให้ตัดไม้ยาวสองศอก เสียบเข้าปลายกระบอกปืนใหญ่แทนลูกกระสุน แล้วยิงใส่ค่ายพม่าจนหอรบปืนใหญ่ของพม่าพังลงมาทั้งหมด


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 05 เม.ย. 12, 11:00
อาวุธที่เรียกว่า “หัวรบพลังเพลิง”
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดแนวคิดปรับปรุงลูกกระสุนปืนใหญ่ จากเคยใช้ดินระเบิดในสงครามสมัยกรุงธนบุรี เปลี่ยนเป็นท่อนไม้จากป่าเมืองกาญจฯ เลือกเฉพาะท่อนที่น้ำหนักเหมาะสม ปลายท่อนพันด้วยผ้าชุบน้ำมัน เมื่อสั่งยิงจุดไฟเป็นลูกกระสุน “หัวรบพลังเพลิง” อานุภาพแม้ไม่รุนแรงเหมือนดินระเบิด แต่ไปตกหลังคาค่าย ก็ทำให้ฝ่ายพม่าต้องโกลาหลในการ “ดับไฟ” จากลูกกระสุนมหาประลัยกันจ้าละหวั่น


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 06 เม.ย. 12, 17:38
เรื่องที่หนึ่ง ขอเรื่องพระเจ้าตากนิดนึง ข้อเท็จจริงหลักฐานปรากฏอย่างไร ก็ต้องตามไปอย่างนั้น
แต่ที่ดูจะขัดใจอยู่บ้าง ก็ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องผิดขนบประเพณี ด้วยว่าการปลงพระมหากษัตริย์ประการหนึ่ง
ธรรมเนียมที่มิให้พระโลหิตตกต้องแผ่นดินประการหนึ่ง ธรรมเนียมที่จะไม่ประหารชีวิตในเขตพระบรมมหา
ราชวังอีกประการหนึ่ง แต่ก็มิได้เป็นข้อดื้อดึงประการใด หากแต่เป็นปัญหาที่อยากได้คำตอบอยู่ในเรื่อง
ของขนบประเพณีนี้บ้าง

เรื่องที่สองก็เป็นเรื่องของสถานที่ในข้อที่หนึ่ง หากประหารเสียสิ้นที่ป้อมวิชัยประสิทธิ ป้อมวิชัยประสิทธิ
ก็เป็นด้านหน้าของพระราชวัง อยู่ทางทิศตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซ้ำตัวป้อมก็เป็นสถานที่สำคัญ
ที่ใช้ป้องกันข้าศึก และค้าขายกับชาวต่างชาติ ที่ขึ้นมาทางทิศใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อประหารที่ป้อม
วิชัยประสิทธิแล้วก็คงนำพระบรมศพผ่านทางประตูทิศใต้ที่ติดกับวัดท้ายตลาด ซึ่งเป็นย่านชุมชนการค้าใหญ่
ของเมือง คงเป็นที่เอิกเกริกอีกประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งทำไมจึงต้องเลยไปเกี่ยวข้องกับตำนาน
ศาลพระเจ้าตากสิน ที่วัดหงส์ หรือว่าเป็นแต่เพียงเรื่องชาวบ้าน อีกประการหนึ่งหากนำพระบรมศพ
ออกทางประตูอื่น ก็คงเป็นการแห่พระบรมศพกันไปทั่วพระราชวัง ซึ่งจะเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
หลังปราบดาภิเศก ผิดถูกประการใดผมก็ขอน้อมรับไว้ ณ ที่นี้

เรื่องที่สาม ก็เป็นเรื่องของวังหลังที่เป็นเรื่องของกระทู้นี้โดยตรง ในช่วงเวลาสั้น ๆ ตอนนั้น ทั้งสองรัชกาล
มีเรื่องเกี่ยวข้องกับ วังหน้า วังหลัง วังหลวง และวังต่าง ๆ อยู่มาก แม้จนย้ายพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่ฝั่ง
ตะวันออกแล้วก็ตาม เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงติดตามมาจนถึงคราวเกิดเพลิงใหม้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง
ในรัชกาลที่ 3 ถึงการสร้างพระราชวังนันทอุทยานในรัชกาลที่ 4

สุดท้ายก็เป็นเรื่องของสถานที่ต่าง ๆ ที่ตกเป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้ เช่นเรื่องถนนอรุณอมรินทร์ที่เชื่อมปาก
คลองบางกอกน้อยกับปากคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นถนนทางลัดที่มีมาตั้งแต่ก่อนการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา
ในสมัยพระชัยราชา พศ 2065 หรือเท่าไหร่ก็ไม่แน่นอน ถนนนี้เป็นถนนที่อยู่ทางทิศตะวันตกของวังหลัง
ขนานกับคลองคูเมืองตะวันตกที่ขุดขึ้นในตอนหลัง ถ้ดจากคลองคูเมืองก็เป็นกำแพงเมือง ซึ่งเมื่อตอนผมยังเด็ก
ยังเห็นเนินดินใหญ่ อยู่ตรงเนินดินใหญ่บริเวณศาลเจ้าเขาตก ถนนอรุณอมรินทร์ เนินดินทีว่าใหญ่นี้ใหญ่จริง ๆ
ใหญ่ขนาดปลูกบ้านอยู่กันได้หลายหลัง ข้ามเนินดินไปยังเป็นบ้านอีกหลายหลังติดกับคลองคูเมือง เนินดินนี้
ที่อยู่มาได้ก็ด้วยมีต้นโพธิ์ใหญ่ ใหญ่มาก ปกป้องคุ้มครองอยู่ เพิ่งจะมาทำลายราบลงก็เมื่อคราวขยายถนน
อรุณอมรินทร์ เมื่อปี 2518 นี่เอง มีถนนอีกสายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่
ปากคลองบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช เชื่อมกับซอยวังหลัง ไปสุดที่คลองวัดระฆัง ถนนนี้คงเป็น
ถนนทางเดินที่ติดต่อเชื่อมถึงกันของหมู่วังต่าง ๆ ในวังหลัง ซอยศาลาต้นจันทร์ก็ว่าเป็นทางที่ทำขึ้นเพื่อเป็น
ทางพระราชดำเนินในรัชกาลที่ 6 เสด็จมาเรียนภาษาไทย กับหม่อมราโชทัย เท็จจริงอย่างไรก็ยังไม่มีใคร
ค้นคว้า ตรอก 8 คด เป็นทางเชื่อมขนานกับคลองวัดระฆังฯ ตั้งแต่หลังวัดระฆังฯ ถึงถนนอรุณอมรินทร์
มีมาแต่เดิมหลายร้อยปีทุกวันนี้ ก็ยัง 8 คดเท่าเดิม ส่วนตรอกวัดระฆังฯในปัจจุบัน แต่เดิมชาวบ้านเรียก
ตรอกฐาน หมายถึงส้วมของพระภิกษุ เป็นตรอกเล็ก ๆ ไม่ใหญ่เหมือนในปัจจุบัน ทุกวันนี้ตรอกวัดระฆังฯ
ขยายถนนจนใหญ่ขนาดมีเกาะกลางถนน รถวิ่งสวนกันได้ ส่วนตรอก 8 คด ยังขนาดเท่าคนเดินเหมือนเดิม
คนวัดระฆังฯเรียกด้านแม่น้ำเจ้าพระยาว่าหน้าวัด โบสถ์ก็หันหน้าลงแม่น้ำ เรียกด้านหลังโบสถ์ว่าหลังวัด
เรียกด้านถนนอรุณอมรินทร์ว่าปากตรอก (ปากกอก) ซอยวังหลังที่ติดกับถนนอรุณอมรินทร์แต่เดิมเรียก
ตรอกบ่อน มีบ่อนการพนันสมัยก่อนตั้งอยู่

ผมอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่เกิด เห็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันมีอยู่มากมายมหาศาล ถูกทำลายลงทุกวัน
แม้คลองคูเมืองฝั่งตะวันตก ก็ดูด้อยค่า ไม่สง่างามไม่เหมือนคลองคูเมืองฝั่งตะวันออก แม้วันนี้ "วังหลัง"
จะได้รับมหากรุณาธิคุณเป็นที่ประทับในอีกบทบาทหนึ่งของสถานที่ แต่ก็อยากให้ทุกคนช่วยชายตามอง
พื้นที่ฝั่งธนฯ และช่วยอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่าง ๆ ให้ตกทอดไปแก่ลูกหลานอย่างมีคุณค่าด้วยเถิด


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 12, 20:40
อ้างถึง
ซอยศาลาต้นจันทร์ก็ว่าเป็นทางที่ทำขึ้นเพื่อเป็นทางพระราชดำเนินในรัชกาลที่ 6 เสด็จมาเรียนภาษาไทย กับหม่อมราโชทัย เท็จจริงอย่างไรก็ยังไม่มีใครค้นคว้า
หม่อมราโชทัยถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 4 ค่ะ  อายุท่านไม่ยืนยาวนัก    จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จะเสด็จมาเรียนภาษาไทยกับท่าน


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 12:30
มาดึงกระทู้ขึ้นด้วยรูปที่บอกว่าเป็นพระรูปกรมพระราชวังหลัง


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 19 เม.ย. 12, 12:40
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าครอกทองอยู่ ข้าหลวงเดิมในเจ้าฟ้าพินทุวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
    มีพระโอรสและพระธิดาดังนี้
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายปาน (พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2368) ต้นราชสกุลปาลกะวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกระจับ (ประสูติ พ.ศ. 2315 - รัชกาลที่ 4)
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายบัว (พ.ศ. 2318 - 1 เมษายน พ.ศ. 2374)
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายแตง (พ.ศ. 2320 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2377) ต้นราชสกุลเสนีวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปฐมวงศ์ (พ.ศ. 2325 - รัชกาลที่ 3) เป็นพระองค์เจ้าพระองค์แรกที่ประสูติหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้พระนามว่า พระองค์เจ้าปฐมวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจงกล (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2385)
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระโอรสและพระธิดาที่ประสูติแต่หม่อมห้าม เป็นหม่อมเจ้าชาย 13 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 16 พระองค์ คือ
    หม่อมเจ้าชายจัน (หม่อมเจ้าจันทร์นุเรศร์) (ประสูติ พ.ศ. 2332)
    หม่อมเจ้าหญิงรัศมี (พ.ศ. 2334 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417)
    หม่อมเจ้าหญิงใหญ่ (พ.ศ. 2341 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2420)
    หม่อมเจ้าหญิงพิกุน (พ.ศ. 2342 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2417)
    หม่อมเจ้าหญิงธิดา
    หม่อมเจ้าหญิงเรไร
    หม่อมเจ้าชายหมี
    หม่อมเจ้าหญิง
    หม่อมเจ้าชายสุวรรณ
    หม่อมเจ้าหญิงยี่สุ่น
    หม่อมเจ้าหญิงอำพา
    หม่อมเจ้าหญิงนุช (หม่อมเจ้าวรนุช)
    หม่อมเจ้าชายกำพร้า
    หม่อมเจ้าชายสุดชาติ (หม่อมเจ้าสุด)
    หม่อมเจ้าชายกุหลาบ
    หม่อมเจ้าชายใย
    หม่อมเจ้าชายน้อย (สิ้นชีพิตักษัย พ.ศ. 2434)
    หม่อมเจ้าชายเณร
    หม่อมเจ้าชายละมั่ง
    หม่อมเจ้าหญิงอะงุ่น
    หม่อมเจ้าชายสุทัศน์
    หม่อมเจ้าชายนิล
    หม่อมเจ้าหญิงพลับจีน
    หม่อมเจ้าหญิงป้อม
    หม่อมเจ้าหญิงเล็ก
    หม่อมเจ้าหญิงกลาง
    หม่อมเจ้าหญิงนกเขา
    หม่อมเจ้าหญิงเรศร์
    หม่อมเจ้าชายฟัก


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 12:42
บทบาทสำคัญอีกด้านหนึ่งของกรมพระราชวังหลัง คือทรงมีความสามารถทางด้านวรรณคดี   เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่อง ไซ่ฮั่น   เช่นเดียวกับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่อง สามก๊ก  ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลไว้ว่า "เหตุที่ต้องเป็น 2 ท่านนี้เป็นเพราะ“กรมพระราชวังหลังก็ดี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ดี เคยอยู่ในคณะทูตที่ไปผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนในสมัยพระเจ้ากรุงจีน เพราะวังหลังเองนั้นเมื่อสถาปนาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านเองเรียกว่าเจ้าปักกิ่ง แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพอสมควร”


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:11
ขอแจ้งข่าวดีครับ

ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
'ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานหรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม



              เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังลานพลับพลาประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสถาบันสยามินทราธิราช ก่อนเสด็จฯ เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน (หรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม) เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์  
              ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีเหลืองลายตารางและสนับเพลาสีเทา ทรงมีพระพักตร์ที่แจ่มใส ในขณะที่ประชาชนที่มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง
              พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยใช้พื้นที่อาคารสถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) บริเวณปากคลอง บางกอกน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำนวน 33 ไร่  ที่ได้รับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
              พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญอันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง “บางกอก” ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นทางผ่านของบรรดาสำเภาที่เดินทางเข้าไปค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา และทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีการสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการอย่างแข็งแรง
              ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วังหลัง”  ด้วยเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือกรมพระราชวัง หลัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์
              ที่ดินผืนนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ต่างๆ กระทั่งถึง พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ใช้ที่ดินนี้สร้างเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย ต้นทางของเส้น ทางรถไฟสายใต้กระทั่งถึงปัจจุบัน
              เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มโครงการสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช  เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นเลิศ คณะฯ เห็นความสำคัญของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษาทางโบราณคดี ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม พ.ศ. 2551 พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เช่น ฐานป้อมบางส่วน ซากเรือไม้ และภาชนะดินเผา คณะฯ ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีและมีพระราชวินิจฉัย ให้อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีเพื่อจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่อไป
              พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ 1 หลัง อาคารที่ทำการรับส่งสินค้าธนบุรี 1 หลัง และอาคารโกดัง 2 หลัง
              การจัดสรรพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่จัดนิทรรศการถาวร พื้นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ คลังพิพิธภัณฑ์ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดการสัญจรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ห้องจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 และ 3
              อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 ประกอบด้วยห้องจัดแสดง คือ
              1. ศิริสารประพาส เป็นห้องบรรยายบอกเล่าเรื่องราวโดยรวมของพิพิธภัณฑ์ผ่านวิดีทัศน์ ตกแต่งบรรยากาศเสมือนห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ที่นักศึกษาแพทย์เคยใช้นั่งเรียนในห้องบรรยาย

              2. ศิริราชขัตติยพิมาน เป็นส่วนจัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลศิริราช

              3. สถานพิมุขมงคลเขต ความสำคัญของห้องนี้คือ พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่นำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมไทยชื่อ “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” เป็นภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณีพร้อมเสียงบรรยายด้วยทำนองเสนาะ และจัดแสดงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “พระศรีเมือง” และวรรณคดีเรื่อง “ไซ่ฮั่น”

              4. ฐานป้อม จากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี พบแนวกำแพงก่อด้วยอิฐระหว่างด้านหลังอาคารสถานีรถไฟและอาคารปิยมหาราช การุณย์ สันนิษฐานว่าเป็นฐานป้อมพระราชวังหลัง ระหว่างการขุดค้นได้เก็บโบราณวัตถุรวมทั้งตัวอย่างดินและอิฐ เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเห็นความสำคัญของฐานป้อม ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีเพียงชิ้นเดียวที่ยืนยันถึงตำแหน่งที่ตั้งของ พระราชวังบวรสถานพิมุข หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชจึงได้บันทึกการขุดค้นฐานป้อมไว้ตลอดการทำงาน และนำเสนอผ่านวิดีทัศน์ พร้อมทั้งเรื่องราวของเครื่องถ้วยที่ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นี้ นอกจากนี้ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธยังจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรี และปริมณฑล เขียนโดยชาวพม่าที่เข้ามายังแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรีถึง ต้นรัตนโกสินทร์

              5. โบราณราชศัสตรา จัดแสดงศาสตราวุธที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากราชสกุล “เสนีวงศ์” เป็นราชสกุลสืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  มีการนำเสนอวิดีทัศน์ขั้นตอนการบูรณะศาสตราวุธและวิดีทัศน์การพระราชสงคราม ของศึกท่าดินแดง พ.ศ. 2329 ซึ่งเป็นสงครามที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลคุมทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคุมทัพหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขตามเสด็จ กองทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดงรบกับพม่าอยู่  3 วัน พม่าก็ทิ้งค่ายแตกไป หลังจากนั้นก็ไม่มีสงครามใหญ่กับพม่าอีก

              6. คมนาคมบรรหาร จัดแสดงประวัติสถานีรถไฟธนบุรี ประกอบด้วยห้องฉายภาพยนตร์สี่มิติ ใช้เทคนิคพิเศษเพื่อให้ผู้ชมเสมือนร่วมเดินทางโดยรถไฟย้อนไปสู่การเริ่มต้น เดินทางโดยรถไฟ

              7. ศิริราชบุราณปวัตติ์ จัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของ ไทย  ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการ แพทย์ไทย   การสอนทางปรีคลินิก  ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย แสดงอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคก่อน  จำลองห้องผ่าตัดให้ผู้ชมร่วมแสดง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนและผู้เข้าชมสนใจอยากเป็น "หมอ"

              8. สยามรัฐเวชศาสตร์ จัดแสดงให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์  เหตุแห่งโรค  วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด “ธรรมานามัย” นำเสนอในรูปแบบด้วยเทคนิคทันสมัยที่ผู้ชมสามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น วิดีทัศน์สาธิตการบริหารกายด้วยวิธีก้าวเต้น-ก้าวตา และท่าฤาษีดัดตน การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสมุนไพร และการพัฒนาจิตให้มีสุขภาพดี สิ่งแสดงในห้องนี้ ส่วนหนึ่งนำมาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทยอวย เกตุสิงห์ เมื่อออกไปนอกอาคารจะสามารถชมสวนสมุนไพรได้อีกด้วย
              


               อาคารพิพิธภัณฑ์ 3 เป็นส่วนจัดแสดงชื่อ “นิวาสศิรินาเวศ”
              เป็นอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต มีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียงและข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันแต่ก็ได้หลอมรวมเป็นวิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย และจัดแสดงสิ่งแสดงสำคัญที่ขุดค้นพบขณะสำรวจทางโบราณคดี คือ เรือโบราณขนาดใหญ่ ที่พบบริเวณเยื้องอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 ปัจจุบันตรงกับบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก
              

              เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟ ลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ  5-7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทในชั้นดินภายในลำเรือ ซึ่งได้มาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศวิถีชีวิตและทิวทัศน์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย จากภาพวาดที่แขวนอยู่บนผนังโดยรอบอีกด้วย
.................
(หมายเหตุ : เนื้อหาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานนั้นเป็นข้อมูลจากหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเว็บไซต์Trueปลูกปัญญานำมาเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง)


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:13

โดยเฉพาะห้องที่ ๕ นั้น จะเป็นการเปิดแสดงพระแสงดาบที่เชื่อกันว่าสืบทอดมาแต่กรมพระราชวังหลังครับ  เจ้าของเดิมท่านมีบ้านพักอยู่แถว ๆ วังหลัง และได้มอบพระแสงนี้ให้กับทางพิพิธภัณฑ์เมื่อประมาณสองปีกว่ามาแล้วครับ ผมจำได้เลา ๆ ว่าเคยรับปากว่า จะมาบอกเมื่อได้ข่าว ตอนนี้ก็มาทำตามสัญญาแล้วนะครับ

รอเปิดอย่างเป็นทางการอีกทีครับ

ที่มาของข่าว

http://www.komchadluek.net/detail/20130715/163486/%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%AF%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99.html#.UeQAFhcW3eU


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:17
1.เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า
2.วังเจ้าขุนเณร วังสวนมังคุด วังสวนลิ้นจี่ วังเจ้านครเชียงใหม่ วังเจ้าลาว วังเจ้านครเวียงจันทร์ วังบ้านปูน อยู่ตรงไหนบ้าง
  เป็นของเจ้านายพระองค์ไหน
3.วังหลวง วังหลัง วังหน้า วังเดิม วังสวนอนันต์ เดิมมีอาณาเขตแค่ไหน

เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า น่าจะเป็นนะครับ

รายละเอียดวังเจ้าลาว นะครับ
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=605681

ส่วนวังบ้านปูนนั้น อยู่ในซอยเล็ก ๆ แถววังหลังครับ

ส่วนที่ว่ามีอาณาเขตแค่ไหน ถ้าจำไม่ผิด จะมีแนวคูวังเดิม อยู่ตรงถนนที่เป็นทางเข้าโรงพยาบาลธนบุรี ๑  ในปัจจุบันครับ มีป้ายบอกไว้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 17 ก.ค. 13, 14:32
มาลงชื่อตามอ่าน ขอบพระคุณสำหรับความรู้ หากว่างก็จะหาเวลาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 04 เม.ย. 15, 11:31
สายสัมพันธ์ ระหว่าง พระเจ้าตากกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์(พระมหาอุปราช)พระนามเดิมว่าเจ้าจุ้ยที่๑ในสมเด็จพระราชินีดำรงพระราชตำแหน่งรัชทายาทถูกสำเร็จโทษวันเสาร์เดือน๖แรม.๘ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๕และในการนี้บุตรและธิดาทั้งหลายของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ได้ถูกประหาร เลยเหลือสืบสกุลสายตรงเป็นสกุล“สินสุข”และ“อินทรโยธิน”กรมขุนอินทรพิทักษ์-เจ้าฟ้าจุ้ยมีธิดา๒บุตรชาย๒
     ๑.๑ คุณหญิงมะเดื่อ เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นนราเทเวศร์พระโอรสพระองค์ใหญ่ในการพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายเศรษฐ  ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายจักรจัน ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนามปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
     ๑.๒ คุณหญิงสาลี่เป็นหม่อมห้ามในกรมหลวงเสนีบริรักษ์พระโอรสพระองค์ เล็กในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายจุ้ย(จิ๋ว)เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายไม่ปรากฏพระนามเสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม เสนีวงศ์ ณ อยุธยา


รบกวนอาจารย์เทาชมพูหรือท่านใดพอทราบไหมครับว่าหม่อมเจ้าทั้งหกนั้นมีบุตรธิดา สืบสายไปถึงลำดับหม่อมหลวงกี่ท่านครับ ไม่ทราบว่าผมถามกว้างไปหรือเปล่าครับหรือพอจะหาข้อมูลได้ที่ไหนบ้างครับ ผมลองเข้าไปอ่านที่http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php แต่ไม่มีบทความแล้วครับ ขอบคุณมากครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 15, 11:45
ขอตั้งข้อสังเกตุตรงนี้นะครับ

ในโลกของอินเทอเน็ต จะพบข้อความในกระทู้ต่างๆบ้าง ในบล๊อกส่วนตัว และอืนๆบ้าง เป็นข้อความซ้ำๆซากๆ ป้ายมาจากที่เดียวกันที่มีผู้ลงไว้เป็นปฐม ครั้นข้อมูลแรกผิด ก็ย่อมผิดตามๆกันไปหากผู้ลอกสักแต่ว่าลอก ไม่ได้แก้ไขสิ่งผิดนั้นก่อนเผยแพร่ต่อ

ในกรณีย์นี้ ที่ผิดก็คือ นามสกุลของหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงไม่มี ณ อยุธยาต่อท้ายนะครับ

ณ อยุธยา ใช้ต่อท้ายผู้ที่ใช้นามสกุลที่เป็นราชสกุล ที่คำหน้านามเป็นนาย นาง หรือนางสาวเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่ทราบว่านามสกุลนั้นเป็นราชสกุล ส่วนหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงนั้น คำนำหน้านามได้บอกความตามนัยยะนั้นแล้ว


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 04 เม.ย. 15, 13:10
เรียนท่าน NAVARAT.C ที่ทำงานผมรับพนักงานที่ด้อยโอกาสเข้ามาทำงาน เป็นคนกำพร้า พูดไม่ได้ อยู่สถานพักพิงคนไร้ที่พึ่ง แต่นามสกุลในบัตรประชาชนใช้ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งสะกดต่างจากปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ครั้นจะถามเค้าว่าได้นามสกุลนี้มาอย่างไรผมก็สื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่องอีกครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 15, 13:29
เรียนคุณทิพยุทธ

บุคคลผู้เป็นสมาชิกราชสกุลก็เป็นมนุษย์ปุถุชนไม่ต่างกับเราๆท่านๆ มีสิทธิ์ที่จะเป็นคนกำพร้า ด้อยโอกาส  พูดไม่ได้ และอยู่สถานพักพิงคนไร้ที่พึ่งได้เช่นเดียวกับคนไทยนามสกุลอื่นๆ

ถ้าบัตรประชาชนระบุเช่นนั้น ก็เชื่อได้ในระดับหนึ่งละครับว่า เขามีเชื่อสายมาจากจากราชสกุลที่ระบุจริง แม้สะกดต่างๆกันไป ก็เหมือนราชสกุลอีกหลายสายที่ถูกทางราชการในบางยุคสมัย บังคับให้เปลี่ยนไปสะกดตามแบบพาสาไทยที่ท่านผู้นำต้องการ  ซึ่งบางคนก็เปลี่ยน บางคนไม่ยอมเปลี่ยน แต่ยังคงความเป็นญาติพี่น้องเหมือนเดิม


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 04 เม.ย. 15, 16:54
ผมเข้าใจผิดไปเองครับท่านNAVARAT.C ตอนแรกผมเข้าใจไปว่าเขามาจากบ้านเด็กที่กำพร้าบิดามารดาเลยสงสัยว่าได้นามสกุลมาจากไหน เรียนด้วยความเคารพผมไม่ได้มีเจตนามองว่าเขาเป็นคนด้อยโอกาส เพียงแต่ผมสื่อสารกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่องหน่ะครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 15, 18:34
รบกวนอาจารย์เทาชมพูหรือท่านใดพอทราบไหมครับว่าหม่อมเจ้าทั้งหกนั้นมีบุตรธิดา สืบสายไปถึงลำดับหม่อมหลวงกี่ท่านครับ ไม่ทราบว่าผมถามกว้างไปหรือเปล่าครับหรือพอจะหาข้อมูลได้ที่ไหนบ้างครับ ผมลองเข้าไปอ่านที่http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php แต่ไม่มีบทความแล้วครับ ขอบคุณมากครับ

มีหม่อมเจ้าชายเพียงสององค์ในราชสกุลปาลกะวงศ์ฯ เท่านั้นที่มีสิทธิ์จะมีเชื้อสายสืบต่อมา    คือหม่อมเจ้าชายเศรษฐ  ปาลกะวงศ์และหม่อมเจ้าชายจักรจัน ปาลกะวงศ์      หนึ่งในสองท่านนี้น่าจะเป็นท่านปู่ของพนักงานคนที่คุณเอ่ยถึง แต่ไม่มีบันทึกหลักฐานว่าองค์ไหน
หม่อมเจ้าหญิงทั้งหลายไม่มีโอกาสจะมีหลานเป็นหม่อมหลวงอยู่แล้ว  หากว่าท่านไม่ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้า  เพราะราชตระกูลสืบสายสกุลทางพ่อ ไม่ใช่แม่

ยังไม่เคยเจอหนังสือที่รวบรวมรายชื่อราชสกุลชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงทั้งหมดในประเทศไทย    ใครทราบว่ามี กรุณาบอกด้วยค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 11 ส.ค. 15, 16:15
เข้ามาลงชื่อกระทู้เลอค่า..ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 07:39
ขอย้อนกลับไปถึงอยุธยาตอนปลาย นะคะ

ตามประวัติที่บันทึกโดยพระยาสากลกิจประมวล(ม.ล. แปลก เสนีวงศ์) และเรียบเรียงโดย นายยิ้ม บัณฑิตยางกูร  เล่าย้อนความไปว่า
ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ    แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง   ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์   ได้แก่เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ซึ่งต่อมาทรงขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล    และเจ้าฟ้าพร  ทรงเป็นกรมพระราชวังหลัง เรียกกันว่า พระบัณฑูรน้อย

ถ้าพิจารณาจากพระราชพงศาวดารแล้ว จะไม่มีข้อความไหนเลยครับที่ระบุว่าเจ้าฟ้าพรได้เป็นกรมพระราชวังหลังหรือแม้แต่จะไปประทับที่วังหลัง มีข้อความตอนพระเจ้าเสือครองราชย์ในพระราชพงศาวดารความพิสดารที่ชำระหลังๆจากฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)เป็นต้นมาแค่ว่า

"โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกพระบัณฑูรน้อย"  
(ในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาและพงศาวดารต้นรัตนโกสินทร์ ยังใช้คำว่า 'พระเจ้าลูกเธอ' เรียกพระโอรส จะมาเริ่มเรียก 'พระเจ้าลูกยาเธอ' สมัยไหนก็ไม่แน่ใจครับ)

ที่เรียก 'พระบัณฑูรน้อย' คงจะตั้งให้เป็นศักดิ์ที่รองมาจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งรับ 'พระบัณฑูร' โดยอาจจะเป็นศักดิ์ที่ตั้งขึ้นแบบเฉพาะครับ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานถภาพทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ ตำนานวังน่า ความว่า

"ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรพระองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับที่วังน่าตามตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพรพระองค์น้อยทรงตั้งเปนพระบัณฑูรน้อย จะเปนด้วยทรงรังเกียจตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง ด้วยเมื่อตั้งนายจบคชประสิทธิ เปนอยู่ได้ ไม่ยืดยาวต้องสำเร็จโทษ ฤาจะยกย่องพระยศให้สูงขึ้นเสมอกับพระ มหาอุปราชาอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ แต่พระบัณฑูรน้อยจะเสด็จประทับวังไหน แลข้าราชการในสังกัดกรมพระบัณฑูรน้อยจะมีทำเนียบแล นามขนานอย่างไรหาทราบไม่"

ซึ่งถ้าเจ้าฟ้าพรได้เป็นกรมพระราชวังหลังจริง พระราชพงศาวดารก็น่าจะระบุไปตรงๆเลยว่า "ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นกรมพระราชวังหลัง" ไม่มีเหตุผลที่พงศาวดารจะละไว้เพราะก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะปิดบัง ผิดกับการตั้งเจ้านายวังหลังสมัยพระเพทราชาที่มีระบุไว้ครับ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ายังมีหลักฐานไม่พอที่จะสรุปชี้ชัดได้ว่าพระองค์ทรงได้เป็น 'กรมพระราชวังหลัง' ครับ

ผิดถูกอย่างไรรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 08:42
วังหลังเท่าที่ผมค้นเจอ จะปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสละราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช อิงตามพระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ ซึ่งศักราชถูกต้องสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนรารายณ์ มีความว่า

"ถึงปีฉลูศกศักราช ๙๒๗ เดือน ๑๒ พระเจ้าช้างเผือกก็อัญเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชหน่อพระพุทธิเจ้า เสด็จขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติครองแผ่นดินกรุงพระนครศรีอยุทธยา แลพระเจ้าช้างเผือกเสด็จออกไปอยู่เปนวังหลัง ขณะนั้นพระชนม์พระเจ้าช้างเผือกได้ ๕๙ พระวัสสา สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๒๕ พระวัสสา"

ถ้าเหตุการณ์ในพงศาวดารตอนนี้เป็นจริง(เพราะไม่สอดคล้องกับหลักฐานฝั่งพม่าอย่างพงศาวดารหรือ หลักฐานร่วมสมัยอย่างวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก(Hantawaddy Hsinbyumyashin Ayedawbon)ที่ว่าอยุทธยาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีตั้งแต่สงครามช้างเผือก และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิถูกพาไปประทับที่หงสาวดีด้วย) ดูจากคำว่า 'เปนวังหลัง' ก็แสดงว่าตำแหน่งวังหลังที่น่าจะมีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้วเป็นอย่างน้อยครับ

วังหลัง หลังจากนั้นปรากฏในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา อิงตามหลักฐานของเยเรมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet)หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ประจำกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็น 'ฝ่ายหน้า' ซึ่งก็คือวังหน้าหรือพระมหาอุปราช ในขณะที่เรียกพระราเมศวร(Praerha Mij Zoon - พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร)ทรงเป็น 'ฝ่ายหลัง'

ซึ่งในหลักฐานของไทยอย่างพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯก็มีระบุตำแหน่งของ 'พระเจ้าฝ่ายหน้า'(พระเจ้าลูกเธอมหาธรรมราชา) ซึ่งยกทัพไปตีเขมรใน พ.ศ.๒๑๔๖ และตามหลักฐานของฟาน ฟลีตสมัยพระเจ้าปราสาททองก็ระบุว่าทรงตั้งพระอนุชาเพียงพระองค์เดียว(อิงตามหลักฐานแล้วคือพระศรีสุธรรมราชา เข้าใจว่าพงศาวดารจะชำระแก้ไม่ให้เป็น)เป็น 'ฝ่ายหน้า'  เข้าใจว่าสมัยนั้นจะนิยมใช้คำว่า 'ฝ่ายหน้า' 'ฝ่ายหลัง' มากกว่า 'วังหน้า' 'วังหลัง' ที่ปรากฏมากในสมัยหลังครับ

แต่หลักจากสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีหลักฐานระบุชัดเจนว่าเป็น 'ฝ่ายหลัง' ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีการตั้งเจ้านายให้เป็นวังหลังอีกนาน มีแต่ให้เจ้านายไปครองวังหลังเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าให้เป็น 'วังหลัง' แต่อย่างใด เช่นสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทาน 'พระตำหนักวังหลัง' ให้เป็นที่ประทับของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์พระอนุชา แต่ไม่กี่เดือนก็จับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์สำเร็จโทษในข้อหากบฏ ต่อมาปลายรัชกาลก็ปรากฏว่าเจ้าฟ้าอภัยทศที่เป็นพระอนุชาประทับอยู่ ซึ่งอิงตามหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตกแล้ว พระอนุชาตอนนั้นไม่เป็นที่ไว้วางพระทัย จึงถูกกักบริเวณไม่ให้มีอำนาจหรือออกขุนนาง เจ้าฟ้าอภัยทศก็ปรากฏว่าทรงประชวรอัมพาต ตามหลักฐานของบาทหลวง เดอ แบส(Claude de Bèze)ก็ว่าทรงมีพระนิสัยฉุนเฉียวโมโหร้ายและโปรดเสวยน้ำจันฑ์ พิจารณาแล้วสมเดจพระนารายณ์คงจะไม่ตั้งเป็นเจ้าวังหลังครับ

จนสมัยสมเด็จพระเพทราชาจึงปรากฏหลักฐานการตั้ง 'กรมพระราชวังหลัง' อย่างชัดเจนครับ โดยมีระบุในพงศาวดารที่ชำระหลังฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงโปรดให้นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวาในกรมช้าง(ซึ่งไม่ได้มีหลักฐานว่าเป็นเครือญาติกับพระเพทราชา)ซึ่งมีส่วนช่วยในการชิงราชสมบัติ ขึ้นเป็น 'กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข'(ฉบับพันจันทนุมาศแค่ว่า 'ให้ไปพระราชวังหลัง' แต่ได้เครื่องสูงเสมอวังหน้า) นอกจากนี้ปูนบำเหน็จให้ขุนนางที่มีความชอบอย่างเจ้าพระยาสุรสงครามให้มีเครื่องสูงเสมอด้วยกรมพระราชวังหลัง แต่ทั้งสองก็ถูกสำเร็จโทษไปเช่นกันครับเพราะถูกระแวงว่าจะชิงราชสมบัติ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศระบุว่าถาดทองในวังหลวงหายแล้วไปพบในวังหลังเลยสำเร็จโทษนายทรงบาศ แต่พงศาวดารที่ชำระสมัยหลังเพิ่มรายละเอียดว่าพระเจ้าเสือแอบทำอุบายเอาถาดทองไปซ่อนในวังหลัง เพื่อหาเหตุกำจัดวังหลังครับ)

จากนั้นมาในสมัยอยุทธยาก็ไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งกรมพระราชวังหลังอีกครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 10:19
แต่เรื่องการตั้งนายจบคชประสิทธิ์เป็นวังหลังในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด) ซึ่งความท่อนสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมาแตกต่างจากฉบับอื่นแจ่เรียงลำดับเหตุการณ์และศักราชถูกต้องตรงตามหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตก(ฉบับอื่นๆลงปีสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์เร็วไป ๖ ปี และเรียงลำดับเหตุการณ์ช่วงรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์คลาดเคลื่อน)และไม่มีข้อความว่าร้ายกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเหมือนพงศาวดารฉบับอื่นๆ จึงเชื่อว่าความท่อนนี้น่าจะชำระตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาครับ ซึ่งในเรื่องการสถาปนายศเจ้านายตอนสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ก็แตกต่างจากฉบับอื่นๆ ดังนี้

"ถึงเดือนสี่แล้วจวนพระราชพิธีตรุษเสด็จปราบดาภิเษก ทรงพระนามสมเด็จพระมหาบุรุษราชบพิตรเจ้า จัดพระอัครมเหสีเดิมเป็นฝ่ายขวา จัดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์เป็นเจ้า  แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทอง*  สองพระองค์เป็นฝ่ายซ้าย  ฉิมบุตรภรรยาพนักงานของกินตั้งขึ้นเป็นเจ้าอยู่นางพญา  ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอรับพระบัณฑูรฝ่ายหน้าเอาหม่อมแก้ว**บุตรท้าวศีรจุลาลักษผู้น้อง  เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ  ธิดาพรรวะสาน้อย  พรรวะสาใหญ่พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภครับพระบัญชา  นางทรงบาตรหลานเธอเป็นพระอะไภยสุรินทรกรมขุนทิพพลภักพระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภค  รับพระบัญชาเอาขุนองค์***เป็นพญาสุระสงคราม  พระราชทานเครื่องสูง  เอานายบุญมากเป็นเจ้าพญาวิชิตภูบาน  พระราชทานเครื่องสูงให้อยู่วังหลัง"

ถ้าอิงตามฉบับนี้คือนายบุญมาก ได้เป็นเจ้าพญาวิชิตภูบานและได้อยู่วังหลัง แต่ไม่มีระบุว่าได้เป็นกรมพระราชวังหลังครับ ซึ่งไม่ตรงกับพงศาวดารฉบับชำระหลังจากนั้น 

นอกจากเรื่องนี้ก็มีขัดกันเล็กๆน้อยอย่างเรื่องชื่อ เช่นพระเจ้าหลานเธอเจ้าพระพิชัยสุรินทร์กับขุนทิพพลภักดีราชนิกุลที่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระอินทอภัยในพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ ฉบับนี้กลับเรียกพระอะไภยสุรินทรกรมขุนทิพพลภัก เป็นคนเดียว(หรือจริงๆแล้วเป็นสองคนแต่ไม่เว้นวรรคก็ไม่ทราบ)

หรือเรื่องการตั้งมเหสีซ้ายขวาที่ต่างกันซึ่งฉบับพระพนรัตน์และฉบับชำระหลังจากนั้นระบุว่า "โปรดให้พระอัครมเหสีเดิมนั้น เป็นพระอัครมเหสีกลาง แลตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณซึ่งเรียกว่าพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นกรมหลวงโยธาทิพ เป็นพระบรมราชภคินีของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้นเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้น เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย"

และขุนองค์ที่ได้เป็นพระยาสุระสงคราม ตรงกับฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ท่อนแรกที่ชำระโดยรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวว่า “ขุนองค์ขุนสนิท มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม”
แต่ในฉบับพันจันทนุมาศที่ชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพิพิธพิชัยไม่กล่าวถึงขุนองค์ แต่กล่าวถึงเจ้าพระยาสุรสงครามมีส่วนช่วยลวงออกญาวิไชยเยนทร์(ฟอลคอน)มาฆ่าได้ แต่ก็ถูกพระเพทราชาหาเหตุกำจัดทิ้งภายหลัง
ฉบับชำระหลังจากนั้นอย่างฉบับพระพนรัตนเป็นต้นมาก็กล่าวเพิ่มไปว่าหลังจากพระเพทราชาประหารเจ้าพระยาสุรสงครามไปแล้ว “ทรงพระกรุณาตั้งขุนองค์มีความชอบให้เป็นพระยาสุรสงครามแทนที่”

นี่จึงแสดงให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่าพระราชพงศาวดารของไทยเป็นเอกสารที่มีความคลาดเคลื่อนและอาจถูกชำระแต่งเติมให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและการเมืองในแต่ละยุค จึงไม่น่าเชื่อถือมากนัก ยากต่อการนำมาอ้างอิงแค่เพียงฉบับเดียวต้องพิจารณาหลายๆฉบับร่วมกับหลักฐานร่วมสมัยประกอบครับ




*เจ้าฟ้าทองหรือพระองค์ทองเป็นพระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระนารายณ์ ถูกสำเร็จโทษตอนต้นรัชกาลพระนารายณ์พร้อมกับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ครับ
**หม่อมแก้ว เป็นลูกของท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวพระเพทราชาสนมของสมเด็จพระพระนารายณ์ แต่บิดาสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าฟ้าน้อยพระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ที่คบชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จนมีลูกติิด จนเจ้าฟ้าน้อยพถูกลงอาญาจนพิการและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกประหารครับ
***ขุนองค์ เข้าใจว่าคือ ขุนองครักษา ปลัดกรมหมอนวดซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตที่ว่า "...พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพชราชา พญาสุระศักว่าพร้อมแล้วหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วัน ๗ฯ๙ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม เสด็จนิพพานฯ" ซึ่ง 'ราชรักษา' เป็นทินนามของเจ้ากรมหมอนวดซ้ายครับ
สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือขุนองค์ซึ่งเป็นหมอนวดถอนนิ้วจากสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ก็สวรรคต จากนั้นขุนองค์ก็ "มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม" ความชอบของขุนองค์คืออะไรเรื่องนี้น่าคิดนะครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html)


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ส.ค. 15, 11:02

***ขุนองค์ เข้าใจว่าคือ ขุนองครักษา ปลัดกรมหมอนวดซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตที่ว่า "...พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพชราชา พญาสุระศักว่าพร้อมแล้วหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วัน ๗ฯ๙ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม เสด็จนิพพานฯ" ซึ่ง 'ราชรักษา' เป็นทินนามของเจ้ากรมหมอนวดซ้ายครับ
สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือขุนองค์ซึ่งเป็นหมอนวดถอนนิ้วจากสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ก็สวรรคต จากนั้นขุนองค์ก็ "มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม" ความชอบของขุนองค์คืออะไรเรื่องนี้น่าคิดนะครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html)
[/quote]

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแวบคิดไปถึงหนังจีนกำลังภายในเลยค่ะ ยังกับการสะกัดจุดที่พวกจอมยุทธเค้าทำกัน  ;D


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 11:51
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแวบคิดไปถึงหนังจีนกำลังภายในเลยค่ะ ยังกับการสะกัดจุดที่พวกจอมยุทธเค้าทำกัน  ;D

น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการ เคยเขียนไว้ในหนังสือ “เกร็ดสนุกในอดีต” ถึงเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงษ์(จาด)ตอนนี้ไว้ครับ ว่า

       “ข้อความนี้มีความหมายอย่างไร เหตุใดพระราชรักษาจึงถามพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ว่าพร้อมแล้วหรือยัง พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ก็ตอบว่าพร้อมแล้ว หลังจากนั้นเราอ่านพบว่า ขุนองค์ถอนนิ้วขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์ และเมื่อทำเช่นนั้นพระโอษฐ์(ปาก)ก็งับแน่นิ่ง และเสด็จสวรรคต ขุนองค์นี้เป็นใครเราไม่ทราบดี เพราะเหตุใดคนที่มีตำแหน่งแค่เป็นท่านขุนจึงใช้นิ้วแตะต้องร่างกายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเรื่องน่าสงสัย และข้อเขียนนี้ทำให้เรามีความเข้าใจว่า ระหว่างที่นิ้วของขุนองค์ยังไม่ถอนขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์นั้น พระโอษฐ์อ้าอยู่ ต่อเมื่อถอนนิ้วแล้วพระโอษฐ์จึงงับ และสมเด็จพระนารายณ์แน่นิ่งไป

      ถ้าคิดตามหลักแพทย์สมัยใหม่ทำให้มีความรู้สึกว่า มนุษย์เราจะอ้าปากก็ต่อเมื่อในเวลาถูกผู้อื่นใช้นิ้วบีบเค้นอก และเมื่อถอนนิ้วปล่อยมือออกแน่นิ่งถึงแก่ความตายแล้ว ปากมักจะงับกลับลงมาตามเดิม จึงอยากตั้งข้อคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะประชวรหนักอยู่ใกล้ความตายเต็มทีแล้ว พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ได้สั่งการให้พระราชรักษาและขุนองค์เค้นคอเสียให้เสด็จสวรรคตเมื่อรู้สึกว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว”

ขุนองค์นั้นเป็นหมอนวด เรื่องที่จะแตะต้องพระวรกายพระเจ้าแผ่นดินตามข้อสงสัยของ น.พ.วิบูลคงจะไม่มีปัญหาครับ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นหมอนวดที่สามารถถวายนวดย่อมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องร่างกายเป็นอย่างดีและคงรู้ว่าจุดไหนในร่างกายที่สามารถก็ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ครับ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 ส.ค. 15, 14:48
ข้อความในพงศาวดารดังกล่าวเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าแต่งขึ้นภายหลังมากกว่าครับ เพราะในตอนนั้นพระเพทราชายึดอำนาจ ควบคุมสถานการได้หมดแล้ว ไม่น่าจะมีผู้สื่อข่าวรายงานเหตุอย่างเป็นกลางโดยละเอียดแบบนี้ในห้องสวรรคตได้


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 16:20
ก็มีความเป็นไปได้ครับที่จะเขียนพงศาวดารในสมัยหลังเพื่อโจมตีพระเพทราชากับออกหลวงสุรศักดิ์ครับ แต่ถ้าเทียบกับพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์แล้วเรื่องการวิจารณ์กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในเชิงลบมีเยอะกว่าอย่างเทียบไม่ติดเลยครับ

พงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)นี้เขียนถึงกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงค่อนข้างกลางๆ มีบางตอนก็ยกย่องพระเพทราชาหน่อยๆด้วยเช่นยกย่องความสามารถในการขี่ช้างล่อม้าแพนของพระเพทราชา หรือการแสดงบุญบารมีของพระเพทราชาตอนได้ราชสมบัติเช่นมีพระบรมสารีริกธาตุผ่านหน้าเรือพระที่นั่ง  ดูจากปีศักราชและเหตุการณ์ที่ยังถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆจึงน่าเชื่อว่าได้ชำระตั้งแต่สมัยปลายอยุทธยา อย่างเร็วก็อาจจะสมัยพระเจ้าท้ายสระเพราะพงศาวดารฉบับนี้ความจบแค่จุลศักราช ๑๐๘๙(พ.ศ.๒๒๗๐)สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระครับ

โดยที่สันนิษฐานว่าพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)นี้ชำระสมัยปลายอยุทธยา แน่นอนคงจะไม่สามารถเขียนวิจารณ์กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแง่ลบได้ หรืออย่างน้อยก็คงไม่อาจเขียนไว้แบบตรงๆ(ในกรณีที่จะมีคนเขียน) ถ้ามีข้อความเรื่องขุนองค์ในพงศาวดารดังกล่าวก็สันนิษฐานว่าอาจจะเขียนเพิ่มเติมเมื่อพ้นรัชกาลพระเพทราชาหรือพระเจ้าเสือไปแล้ว ซึ่งดูจากภาษาในการเขียนก็ค่อนข้างกำกวมไม่เห็นภาพชัดเหมือนกับพยายามเขียนใส่ไว้แบบเนียนๆ ครับ แต่อย่างไรเสียถ้าจะชำระก็ทรงไม่น่าจะรอดพ้นสายตาของผู้มีอำนาจในตอนนั้นคือกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงไปได้ แสดงว่าข้อความในพงศาวดารฉบับนี้กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็น่าจะรับได้อยู่ครับ (ความเห็นส่วนตัว อันที่จริงกษัตริย์เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่อาจจะไม่สนใจประวัติศาสตร์จะมาสนใจเปิดพงศาวดารอ่านรึเปล่าก็ไม่ทราบครับ บางทีเขียนแล้วอาจจะโดนวางทิ้งจนฝุ่นจับอยู่ในหอหลวงก็ได้ครับ ผมแอบคิดเล่นๆว่าบางทีสมเด็จพระเพทราชาอาจโปรดให้เขียนไว้เองก็ได้ )

เรื่องการปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ก็มีปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตกบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการเล่าลือกันมากกว่าโดยไม่มีหลักฐานชัดเจนครับ อันที่จริงก็มีหลักฐานอยู่ว่าทรงพระประชวรหนักจวนจะสวรรคตอยู่แล้ว ผมเองก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ขุนองค์ทำการปลงพระชนม์ตามพงศาวดารครับ น่าจะปล่อยให้สวรรคตไปเองจะดีกว่า


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 15, 20:18
เก่งมากค่ะ ข้อมูลละเอียดยิบ
ขอเชิญมาประจำในเรือนไทย ให้วิทยาทานแก่ผู้สนใจนะคะ


กระทู้: เจ้านายวังหลัง
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 15 ส.ค. 15, 20:51
ขอบคุณสำหรับคำชมครับ อ.เทาชมพู จะหาโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ในนี้เรื่อยๆนะครับ :)