เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 12, 18:01



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 12, 18:01
ได้รับการทวงการบ้าน เลยต้องรีบตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา 
แรกเริ่มเดิมทีก็ว่าจะเล่าความในกระทู้ของคุณ puyum เรื่อง คนไทยกับ AEC  แต่เห็นว่า ดูจะเป็นความหยาบคายมากไปหน่อยที่จะไปเบียดเบียนดำเนินเรื่องในกระทู้ของผู้อื่น
เลยขอตั้งกระทู้ใหม่ขึ้นมาครับ

จะขอเกริ่นไว้เสียแต่แรกว่า  ผมไม่มีความรู้ที่จะลงไปถึงรายละเอียดของความตกลงต่างๆของอาเซียน  และที่จะเล่าสู่กันฟังต่อจากนี้ไป ก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ได้เห็น ได้สัมผัส และได้รับรู้มาในช่วงที่ทำงานอยู่ในเขต EU  ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อเกิด AEC
 
ความรู้อื่นๆนั้น ได้มาในช่วงที่ทำงาน ซึ่งได้มาจากการหาอ่านเพื่อทำความเข้าใจในเชิงของปรัชญาและพัฒนาการของทั้ง EU และ ASEAN  เพื่อนำไปใช้ในการทำงานให้เกิดเป็นผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศเท่าที่ขึดความสามารถของตนเองจะกระทำได้ ผนวกกับสัมผัสลึกๆที่ได้มาจากการสนทนากันในหมู่นักการทูตของอาเซียน ที่ทำงานร่วมกันในความสัมพันธุ์แบบพหุภาคี

หลายคนพูดว่า EU กับ ASEAN มีที่มาและที่ไปไม่เหมือนกัน  ผมเห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่ไม่ทั้งหมด ผมเห็นว่าคำกล่าวดังกล่าวนั้นสะท้อนเฉพาะเรื่องในช่วงแรกๆของพัฒนาการเท่านั้น  เส้นทางของพัฒนาการด้านความร่วมมือต่อๆมามีความคล้ายคลึงกันมาก รวมทั้งผลที่เกิดมาในเชิงของรูปธรรมอีกด้วย

ขอเรียนเชิญท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ช่วยกันแสดงความเห็นด้วย เพื่อจะได้เกิดประโยชน์กับทุกหมู่คนไทย และเพื่อจะได้เห็นภาพต่างๆในมุมมองต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคม AEC ครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 12, 18:50
เริ่มกันที่เรื่องของยุโรป
สรุปตามความเห็นของผมนะครับ คงจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์   

ยุโรปในประวัติศาสตร์ประกอบไปด้วยนครรัฐมากมาย มีการรวมกันแยกกันตลอด มีการปกครองแบบเจ้าสายนั้นสายนี้ครองเมืองนั้นเมืองนี้ มีการรวมเป็นอาณาจักร มีการขยายขอบเขตการปกครอง และก็มีเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งกันทั้งระหว่างเจ้าผู้ครองนครหรือระหว่างเผ่าพันธุ์ตลอดมา ชาวยุโรปเป็นจำนวนมากจึงอยากที่จะเห็นความสงบและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แนวคิดนี้มีการขีดเขียนเผยแพร่และแสดงออกมาให้เห็นจากผู้คนบางคนที่อพยพไปอยู่ในโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) แล้วก็มีบางคนที่เดินทางกลับยุโรปและพยายามจะดำเนินการ
 
เมื่อครั้งที่นโปเลียนได้ทำสงครามรบพุ่งขยายเขตครอบครองนั้น ได้ทำให้เกิดการสลายของเขตอาณาต่างๆทั่วยุโรปไปช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นก็ได้มีความพยายามร่วมกัน (โดยผู้ที่ยังทรงอำนาจอยู่) ที่จะแบ่งเขตการปกครองกันใหม่ให้มีความชัดเจน ซึ่งก็คือการแบ่งแยกอาณาเขตเป็นประเทศๆแยกกันไป ซึ่งการเจรจากันนี้อยู่ในช่วงปี ค.ศ.1814 ที่รู้จักกันในชื่อว่า The Congress of Vienna  ผลของการเจรจาแบบอลุ่มอล่วยนี้ได้ทำให้เกิดความพอใจและไม่พอใจกันมากพอสมควร ซึ่งก็ได้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งต่อๆมาระหว่างรัฐต่างๆในอีกหลายเรื่อง มีการทำสนธิสัญญากันแล้วก็หักกันในหลายเรื่อง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นยุคเิริ่มต้นของเหลี่ยมคูทางการเมืองระหว่างประเทศที่พัฒนาต่อมาจนถึงในปัจจุบัน



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 12, 20:27
ความสงบในยุโรปได้เกิดขึ้น (แบบระแวงและคุกรุ่น)ต่อมาอีกประมาณ 100 ปี จากนั้นจากชะนวนเล็กๆก็ได้ขยายวงไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งการขยายวงก็มาจากเรื่องของสนธิสัญญาและความตกลงต่างๆนั่นเอง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง จะเรียกว่าแบบเลิกรากันไปเองก็คงพอจะได้ เนื่องจากตัวผู้จุดชนวนได้เสียชีวิตไป

เสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งแรก ก็เำพราะสนธิสัญญา ความเป็นประชาธิปไตยแบบเผด็จการ การขยายเขตอาณาในอาณัติ และแนวคิดของการอยู่แบบสังคมนิยมรัฐสวัสดิการ ก็ได้ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองในอีกไม่กี่สิบปีต่อมา

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง แนวคิดเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวและความสงบสุขของยุโรปก็เกิดขึ้นมาอีก เซ่อร์วินสตันเชอร์ชิลก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้กล่าวคำว่า The United States of Europe  

หลังจากสงครามจบประมาณ 10 ปีต่อมา ก็ได้เกิดการรวมตัวของ 6 ประเทศ คือ ประเทศในกลุ่ม BENELUX (ฺBelgium, The Netherlands, Luxembourg) ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมัน เรียกว่า European Coal and Steel Community (ECSC) ประกาศเจตนารมภ์ร่วมกันว่าเพื่อเป็นการเริ่มต้นของ Federation of Europe อันประกอบด้วยการแบ่งปันทรัพยากรแบบฉันพี่ฉันน้อง   ซึ่งผมเห็นว่า ลึกๆแ้ล้วเป็นเรื่องของการรื้อฟื้นความสามารถในการเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเคลื่อนย้ายอุปสงค์ด้านปัจจัยการผลิตทางอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ และเป็นการร่วมมือเพื่อให้มีการถ่ายเทและร่วมทุนสำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน   จะอย่างไรก็ตาม EU ถือว่าจุดนี้คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาเป็น EU ในปัจจุบัน จะค้วยความคิดเบื้องลึกเช่นใดก็ตาม ECSC ก็ได้พัฒนาต่อไปเป็น European Economic Community (EEC) และทำภารกิจหลัก คือ สร้าง Custom Union หรือ การใช้ระบบและอัตราภาษีศุลกากรร่วมกัน จนมีประเทศอื่นๆในยุโรปอีกหลายประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็น European Union ในปัจจุบัน
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 12, 21:32
มาดูฝ่ายทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้บ้าง

เราก็มีประวัติศาสตร์คล้ายๆกันกับยุโรป จากนครรัฐ ก็รวมเป็นอาณาจักร มีการทำสงครามกัน ฯลฯ จนแยกเป็นแต่ละประเทศ เราไม่เคยมีการเจรจาแบบพหุภาคีระหว่างผู้มีอำนาจปกครอง แต่ก็คงจะพอมีบ้างในลักษณะทวิภาคี ของความขุ่นข้องหมองใจที่ฝังอยู่ลึกๆระหว่างกันก็ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา

ความต่างที่สำคัญระหว่างเรากับยุโรปนั้น (ในอดีต) ผมเห็นว่าเขามีพื้นฐานของความคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (Outside in) แต่เราอยู่บนพื้นฐานของตัวใครตัวมันและการแข่งขันว่าใครจะอยู่อย่างมีสันติสุขได้ดีกว่ากัน (Inside out) เรามีบุคคลที่สาม (ประเทศมหาอำนาจ) ที่เข้ามาชักใยในเรื่องต่างๆ ตลอดจนการสร้างสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ ที่ทำให้ความรู้สึกที่ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกันก็ต้องไปยุ่งกัน ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกจากเพื่อนบ้านที่ไม่มีอะไรต่อกันกลายเป็นมีอะไรต่อกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเราก็เป็นสถานที่ตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียใต้ (SEATO) ซึ่งอยู่ในบริบทของความร่วมมือทางทหารในยุคสงครามเย็น  ต่อมาก็เกิดอาเซียน ซึ่งในระยะแรกๆก็อยู่ในบริบทของการช่วยกัน ร่วมกันเป็นหนึ่งน้ำใจเดียวกันดูแลและช่วยกันบรรเทาสถานการณ์ที่เป็นภัย (Preventive diplomacy) รอบๆกลุ่ม (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงค์โปร์) ต่อมาเื่มื่อสถานการณ์ๆรอบตัวดีขึ้นประกอบกับเป็นช่วงที่โลกกำลังเดินเข้าสู่วิถีของ Globalization จึงได้เปลี่ยนจาก Preventive diplomacy (ช่วยกันป้องเหตุ) ไปเป็น Constructive diplomacy (ช่วยกันสร้างความรุ่งเรือง) แล้วก็พัฒนาต่อมาจนจะเป็น AEC ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้         



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 12, 22:09

ความต่างที่สำคัญระหว่างเรากับยุโรปนั้น (ในอดีต) ผมเห็นว่าเขามีพื้นฐานของความคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (Outside in) แต่เราอยู่บนพื้นฐานของตัวใครตัวมันและการแข่งขันว่าใครจะอยู่อย่างมีสันติสุขได้ดีกว่ากัน (Inside out) เรามีบุคคลที่สาม (ประเทศมหาอำนาจ) ที่เข้ามาชักใยในเรื่องต่างๆ ตลอดจนการสร้างสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ ที่ทำให้ความรู้สึกที่ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกันก็ต้องไปยุ่งกัน ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกจากเพื่อนบ้านที่ไม่มีอะไรต่อกันกลายเป็นมีอะไรต่อกัน

ครั้งหนึ่งพวกหัวก้าวหน้าของเราเคยมีสมมุติฐานว่า ยุุโรปยกเลิกระบอบราชาธิปไตยหันมาเป็นประชาธิปไตยแทน ก็เจริญรุ่งเรืองดีกว่าเก่า   ถ้าเราทำมั่งก็คงจะเป็นแบบเดียวกัน   จึงหยิบเอาประชาธิปไตยมาใช้กับประเทศไทยบ้าง
มันก็ไม่ต่างกันความคิดว่า ถ้า EU ได้ผล AEC ก็คงจะได้ผลเหมือนกัน

เคยไปเที่ยวฝรั่งเศสหลัง EU  พบว่าระบบเงินยูโรทำให้ของแพงขึ้นทันตาเห็น   อย่าว่าแต่ซื้อของเลย แค่กินก็ต้องระวังกระเป๋าฉีกแล้ว


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 12, 09:26
^
ก็คงจะเป็นอย่างความเห็นของคุณเทาชมพูครับ

จะได้กล่าวถึงต่อไป


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 12, 11:28
สรุปในภาพกว้างๆ
ASEAN กับ EU มีจุดเริ่มต้นต่างกัน 

การรวมตัวของ ASEAN คล้ายกับการตั้งวงก๊วนเล่นกอล์ฟ   EU คล้ายกับการตั้งทีมฟุตบอล (ต้องมี ล์ ปิดท้ายหรือไม่เนี่ย)   เมื่อรวมกันได้ก็ต้องคิดถึงเรื่องที่จะทำร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มและแต่ละผู้ร่วมทีม ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องทางเศรษฐกิจ เิริ่มต้นก็เป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์และการอลุ่มอล่วยระหว่างสมาชิกด้วยกัน ต่อไปก็เพื่อประโชน์ของกลุ่ม

จากจุดเริ่มต้นของการจับกลุ่มที่ต่างกัน ก็เริ่มมีวิถีของแนวคิดต่อๆไปอยู่บนเส้นทางเดียวกัน มีเพียงวิธีการ (Implementing) และวิธีปฎิบัติการ (Executing) ที่ต่างกัน เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมต่างกัน 

EU ทำในเรื่องการลดความซ้ำซ้อนในการศุลกากร เนื่องจากแต่ละประเทศมีขนาดเล็กและใช้ท่าเรือส่งออก-นำเข้าร่วมกัน สินค้าใช้เวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงเขตแดน เสียเวลาในตรวจตราสินค้าก่อนออกและตรวจก่อนเข้าเขตของแต่ละประเทศมาก สินค้าก็มีการผลิตและใช้คล้ายๆกันใแต่ละประเทศ มีการค้าขายและตลาดเหมือนๆกัน นำเข้า-ส่งออกกันทุกวัน แต่สินค้าต่างๆกลับอยู่ในพิกัดศุลกากรของแต่ละประเทศต่างกัน อัตราภาษีต่างกัน (excise tax, custom duties, tariff, ad valorem tax) รวมทั้งกระบวนวิธีการกีดกันสินค้าที่มิใช่ในทางภาษี (Non tariff barrier_NTB) ต่างกัน เหล่านี้เป็นต้น ทั้งหมดก็มีจุดประสงค์เพื่อให้สินค้าต่างๆสามารถไหลถ่ายเทและกระจายไปได้ทั่วๆ ซึ่งจะยังผลให้มีการเพิ่มปริมาณการผลิต กระจายรายได้และการหมุนเวียนของการเงินดีขึ้น ยังผลให้เศรษฐกิจในองค์รวมดีขึ้น

ASEAN ก็ทำเหมือนกันแต่ในอีกมุมหนึ่ง เช่น เิริ่มความตกลงในกรอบ ASEAN Industrial Projects (AIP), ASEAN Industrial Cooperation (AIC), Preferential Trading Arrangement (PTA)  ทั้งหมดเป็นในด้าน Implementing ซึ่งต่อมาก็ได้มีความตกลงกันในด้าน Executing จนกลายเป็น ASEAN Free Trade Area (AFTA)

ภาพง่ายๆของความตกลงต่างๆของ ASEAN และ EU นี้ คือ ทั้งคู่มองในเรื่องขนาดของตลาดและเรื่องของ Productivity   ซึ่งสำหรับ ASEAN นั้น สมาชิกจะเน้นหนักไปในเรื่องของการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ (Foreign Direct Investment_ FDI)         


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 12, 21:55
ในภาพกว้างๆ

กลุ่มประเทศ EU แต่แรกเริ่มประกอบด้วย เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก  มีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆกับกลุ่มประเทศ ASEAN แต่แรกเริ่ม

ประเทศคู่ค้าสำคัญของ EU คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี พอจะเทียบได้กับของ ASEAN คือ ไทย มาเลเซีย และอินโนีเซีย 
ประเทศหน้าด่านธุรกิจนำเข้า-ส่งออกของ EU คือ เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม พอจะเทียบได้กับของ ASEAN คือ สิงคโปร์
ประเทศที่ทำธุรกิจการเงินการธนาคารของ EU คือ ลักเซมเบร์ก พอจะเทียบได้กับของ ASEAN คือ สิงคโปร์และบรูไน

ผมเห็นภาพต่างๆดังที่เล่ามาตั้งแต่ต้นกระทู้ เป็นภาพหลวมๆเพื่อการเปรียบเทียบ และคงจะพอเพียงเท่านี้  เป็นการปูทางเพื่อจะได้เดินเรื่องได้ต่อไปครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 12, 19:34
ภาพใหญ่อีกภาพหนึ่งที่ผมเห็น คือ กระบวนแนวคิดพื้นฐานที่ต่างกันระหว่าง EU กับ ASEAN สำหรับการย่างก้าวต่างๆของการรวมกัน 

รัฐในยุโรปมีแนวคิดในการพัฒนาเรื่องต่างๆแบบยั่งยืน (Sustainable development) กล่าวคือ ผู้ที่จะเข้ามาร่วมจะต้องมีความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆที่สอดคล้องกับกลุ่มก่อนที่จะเข้าร่วมในเชิงของกฎระเบียบกติกาภายใน (Institutional Framework) และความสามารถที่จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ (คือสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้_Capacity Building)

ในขณะที่รัฐใน ASEAN มีแนวคิดในเชิงของการสร้างกรอบกติกากลางเป็นหลัก แล้วปล่อยให้แต่ละประเทศหรือประชาชนแสดงความสามารถเอาเองในการเล่นและแข่งขันกันตามกติกากลางนั้นๆ  ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้อยไปในอิทธิพลความคิดของสหรัฐฯ  เราจึงไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า Sustainable development, Institutional framework และ Capacity building ในภูมิภาคนี้

ซึ่งผมเห็นว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงมีแต่การพูดเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยแทบจะไม่เคยเห็นภาคการปฎิบัติที่เป็นกระบวนการอย่างชิ้นเป็นอันเลย




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 12, 21:43
เอาละครับ ช่วงแรกนี้เหมือนกับขี่ม้าเลียบค่าย จากนี้ไปก็เริ่มเข้าเมือง

กรอบสังคมของ AEC ก็ไม่ต่างกับ EU สักเพียงใด ความตกลงต่างๆก็จะไม่หนีไปจากเรื่องของการสร้างระบบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนที่อย่างไหลลื่นของของปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของธุกิจต่างๆ ได้แก่เรื่องในบริบทของคน เงิน สินค้า ภาษี ระเบียบ ข้อบังคับ กฏหมาย การค้า การลงทุน โครงการร่วมกัน การยุติข้อพิพาท สังคม วัฒนธรรม ประเพณี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสุดท้ายก็ในบริบทของเขตอำนาจบางอย่าง

ยังติดอยู่ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ขอเวลาสักชั่วยามหนึ่งครับ  ;D     





กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 12, 04:11
คุณตั้งคงไม่อยากฟันธงลงไปว่าจะรอดหรือไม่รอด   หรืออาจจะแนะนำว่า  "ถ้าจะไปได้ดีก็ต้อง...."
เคยเห็นความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาหลายอย่าง   ก็เกิดขึ้นและเสื่อมไปตามสภาพแวดล้อม และความจำเป็นของยุคสมัย
เดาให้ใจฝ่อเล่นๆว่า AEC ก็จะเดินรอยเดียวกัน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 12, 18:06
คุณตั้งคงไม่อยากฟันธงลงไปว่าจะรอดหรือไม่รอด   หรืออาจจะแนะนำว่า  "ถ้าจะไปได้ดีก็ต้อง...."......
.....เดาให้ใจฝ่อเล่นๆว่า AEC ก็จะเดินรอยเดียวกัน

ครับผม

ปัจจัยที่จะทำให้ตัดสินใจได้ว่า จะรอดหรือไม่รอด หรือ ถ้าจะไปได้ดีก็ต้อง... นั้น มาจากกระบวนทัศน์ที่จะแสดงออกมาในทางปฏิบัติของคณะบุคคลในองคาพยพของรัฐบาล คณะบุคคลในองคาพยพของผู้บริหารในระบบราชการ และคณะบุคคลคนในองคาพยพในด้านการเมือง      ตราบใดที่ยังคงมองเห็นแต่ประโยชน์ของคณะของตน คือ ยังคงมองภาพเฉพาะความอยู่รอดของคนในระดับบน ยังไม่ก้มลงมองความอยู่รอดในระดับล่างและรากหญ้า ยังมีแต่การวิเคราะห์ด้านโอกาส (Opportunity) และเชื่อกับผลวิเคราะห์นั้นโดยขาดการนำเรื่องของภัย (Threat) ความแข็ง (Strength) และความด้อย (Weakness) มาพิจารณาร่วมด้วยแล้วดำเนินการแก้ไข ผมก็คิดว่าเมื่อนั้น เราก็คงจะได้เห็นภาพที่ไม่อยากจะเห็นกัน

ผมตั้งใจจะเล่าภาพที่ได้ประสบพบเห็นมาเท่านั้น เพียงเพื่ออาจจะทำให้สะกิดใจผู้อ่านและรู้ด้วยตนเองว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรตามฐานานุภาพของตน ก็เื่นื่องจากว่ายังไม่เห็นมีข่าวสารที่บอกกล่าวเล่าว่าคนในองคาพยพดังที่กล่าวมาเหล่านั้น ได้พูดถึง แสดงความเห็น สั่งการ ดำเนินกระบวนการใดๆที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชนและประเทศให้มีภูมิคุ้มกันที่จะก้าวย่างอยู่ใน AEC อย่างไม่เจ็บตัวและมีความสุขสมบูรณ์ดี     แต่ก็คงมีที่จะต้องแว๊ปออกไปวิจารณ์บ้าง บ่นบ้าง ตามประสาครับ
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 12, 19:34
เป็นเรื่องปรกติที่การขยายขนาดของเศรษฐกิจจะเกิดได้จากความร่วมมือซึ่งจะผนวกไปด้วยการลดปัจจัยต่างๆที่เป็นอุปสรรค ทุกประเทศคู้ค้าต่างก็ต้องการที่ให้อีกประเทศหนึ่งเอาสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นอุปสรรคออกไปให้มากที่สุด หรือไม่มีเรื่องใดๆมาขวางกั้นเลย ในภาพง่ายก็คือการค้าอย่างเสรีแบบไม่มีอะไรมารบกวน    Free Trade Area (FTA) จึงเป็นชื่อของกรอบที่จะทำการเจรจากัน  คราวนี้ก็จะมีชื่อกรอบย่อยๆเป็นองค์ประกอบที่จะต้องมาพูดคุยเจรจากัน

เรื่องมันเยอะและผมเองก็ไม่รู้เรื่อง (แบบงูๆปลาๆ) ทั้งหมด จึงจะยกเอาเฉพาะที่เห็นว่าน่าจะได้ตระหนักกันไว้เพียงสองสามเรื่องเท่านั้น

ในบริบทด้านคน เป้าหมายก็คือการเดินทางของบุคคลข้ามแดนไปมาอย่างอิสระเสรี ก็แล้วแต่จะใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เช่น Free movement of individuals, Free movement of persons, Free movement of people ซึ่งก็จะกินความหมายลึกซึ้งต่างกันไปตามที่คู่เจราจาจะจำกัดขอบเขตกัน รายละเอียดของเนื้อในมีได้หลายอย่างมาก เช่น กรณีการเข้าเมือง ไม่ต้องมีวีซ่าเลย ไม่ต้องใช้วีซ่าหากอยู่ไม่เกินกี่วัน  กรณีการทำงา่นได้หรือไม่ได้ในลักษณะใดบ้าง การขอใบอนุญาติทำงาน   กรณีการเจ็บป่วยและการประกัน   กรณีการประกอบอาชีพของบุคคล ห้ามหรือเปิดให้สามารถประกอบอาชีพใดได้บ้างในประเทศของตน ......ฯลฯ

ในบริบทด้านการค้าโดยทั่วไป เป้าหมายก็คือค้าขายสินค้าได้ทุกอย่างโดยไม่มีการกีดกันในเรื่องใดๆ  เช่นเดียวกัน ก็มีหลายชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ เช่น Free movement of Goods, Trade in Goods (และอาจจะบวกด้วย and Services), Trade and Investment     และก็เช่นเดียวกันว่าจะจำกัดขอบเขตกันเพียงใด    ไอ้ที่น่ากลัวคือ คำว่า Services หรือการบริการ และ Investment  เรื่องแรกคือการเปิดให้คนจากประเทศอื่นมาทำงานแย่งงานแย่งอาชีพของเรา เรื่องที่สองคือการที่เราต้องให้การปกป้องและสนับสนุนการลงทุนข้ามแดนของเขา ......ฯลฯ

ในบริบทด้านสินค้าเกษตรกรรม  เกือบทุกประเทศในมีผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและส่งออก ซึ่งเรื่องนี้กระทบกับคนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นประชากรหมู่มากของแทบจะทุกประเทศในโลก ซึ่งแม้ในบางประเทศจะเป็นประชากรหมู่น้อย แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ทำให้ทำให้ประเทศของตนมีความมั่นคงในแหล่งอาหาร ไม่ขาดแคลนอาหาร และไม่ต้องพึ่งพา (ปากท้อง) ประเทศอื่นๆ    การเจราจาความและความตกลงในด้านนี้จึงอยู่ในบริบทของตลาดที่เขาขอให้เปิด เราขอปิด  ก็คงได้ยินได้ฟังข่าวความหายนะของเกษตรไทยเป็นระยะๆที่ได้รับผลจากความตกลงที่ขาดการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมซึ่งยังไม่มีขีดความในการแข่งขันกับต่างประเทศ

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 05 ก.ค. 12, 20:25
ดีใจที่คุณตั้งเปิดกระทู้นี้ขึ้นมาคะ  มีเพื่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริการ่วม 30 ปีเพิ่งย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย

เขาบอกว่าเขาเคยทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ เคยชวนเขาให้มาเล่าอะไรให้ฟังบ้าง

เขาบอกว่าถ้าให้พิมพ์ภาษาไทยตอนนี้ ยอมรับว่าพิมพ์ได้ช้ามาก  ก็เลยบอกว่าภาษาอังกฤษก็ได้

เขาก็บอกว่าขอเวลาหน่อย....แต่เขาเปรยว่า ประเทศรอบบ้านเราเขาเตรียมประชาชนของเขาแล้ว

แต่ไทยเขายังเงียบเชียบอยู่เลยเริ่มจากเรื่องภาษา เราก็สู้อีกหลายประเทศไม่ได้

แต่ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนภาษาของเพื่อนบ้านหลายประเทศพร้อมกันอย่างกับดอกเห็ด

บอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลคะ....

         เมื่อก่อนเคยสงสัยว่าทำไมยุโรปเขาเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายจัง (สะดวกสบาย )

ถ้าไปยุโรปก็อยากจะเดินทางไปหลายๆประเทศ ได้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ดูมีเสน่ห์มากเลย

แต่ประเทศรอบบ้านเรากลับเหมือนต่างคนต่างอยู่ ด้วยความแตกต่างกันมีมากมายหลายด้าน

คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวกันอีกมากเลยนะคะ
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 12, 20:48
ภาพที่เห็นด้วยตาของเราและข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆที่เผยแพร่กันทั่วๆไปทุกๆวันของไทย คงจะให้ภาพของประเทศไทยได้ดีว่าอะไรเป็นอะไร

ยังไม่เป็น AEC เลย เราก็ได้เห็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่เต็มเมือง ตามโรงงาน บ้านเรือน ภัตตาคาร ร้านค้า ตามสถานที่ๆกำลังก่อสร้าง ฯลฯ เต็มไปหมด เห็นถีบรถขายของ ขายไอติม (ไอซ์ครีม) ส่งหนังสือพิมพ์ แถมยังหยอดไข่ทิ้งไว้เป็นพยานเยอะแยะ  ได้เห็นคนไทยถือหนังสือเดินทางไทยที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย ได้เห็นต่างชาติจากแดนไกลเป็นเจ้าของร้านอาหาร สถานเริงรมย์ แผงขายสินค้าในศูนย์การค้าทั่วไป


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 05 ก.ค. 12, 21:51
หากเราทำตัวเป็นม้าอารี ไม่รอบคอบรัดกุม ไม่อยากนึกเลยว่าอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร

แค่งบประมาณด้านสาธารณสุขที่ต้องจ่ายจากบริการขั้นพื้นฐาน ที่เฉลี่ยเป็นรายหัว

ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ คนต่างชาติที่รัฐบาลของเขาไม่สนใจ

หนีตายมาอยู่ มาให้คนไทยดูแล มากมายมหาศาล จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมหรือไม่

คนไทยอีกมากมายที่อยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ ยังต้องการการดูแลรักษาอีกมาก

แต่คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองหลวงและปริมณฑล กลับเข้าถึงการรักษาง่ายกว่า

ถ้าเราเตรียมความพร้อมให้ดีก็พอจะทำใจได้ว่าคงไม่เสี่ยงเท่าไหร่ แต่นี่ก็มัวแต่เล่นเกมส์

นักเลงหัวไม้ ....ในขณะที่เพื่อนบ้านเขา เร่งเดินเครื่องกันเต็มที่ ก็น่าหวั่นใจนะคะ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 05 ก.ค. 12, 22:02
ดีใจที่คุณตั้งเปิดกระทู้นี้ขึ้นมาคะ  มีเพื่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริการ่วม 30 ปีเพิ่งย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย

เขาบอกว่าเขาเคยทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ เคยชวนเขาให้มาเล่าอะไรให้ฟังบ้าง

เขาบอกว่าถ้าให้พิมพ์ภาษาไทยตอนนี้ ยอมรับว่าพิมพ์ได้ช้ามาก  ก็เลยบอกว่าภาษาอังกฤษก็ได้

เขาก็บอกว่าขอเวลาหน่อย....แต่เขาเปรยว่า ประเทศรอบบ้านเราเขาเตรียมประชาชนของเขาแล้ว

แต่ไทยเขายังเงียบเชียบอยู่เลยเริ่มจากเรื่องภาษา เราก็สู้อีกหลายประเทศไม่ได้

แต่ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนภาษาของเพื่อนบ้านหลายประเทศพร้อมกันอย่างกับดอกเห็ด

บอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลคะ....

         เมื่อก่อนเคยสงสัยว่าทำไมยุโรปเขาเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายจัง (สะดวกสบาย )

ถ้าไปยุโรปก็อยากจะเดินทางไปหลายๆประเทศ ได้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ดูมีเสน่ห์มากเลย

แต่ประเทศรอบบ้านเรากลับเหมือนต่างคนต่างอยู่ ด้วยความแตกต่างกันมีมากมายหลายด้าน

คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวกันอีกมากเลยนะคะ
 

แต่ทุกวันนี้ ในชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนรัฐเอง สายภาษา ยังต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาเยอรมันอยู่ ถ้าจะเรียนภาษาจีน จะต้องไปเรียนพิเศษเอาเอง

ภาษาอื่นๆ ของประเทศเพื่อนบ้านรอบบ้านเรา เวียดนาม พม่า กัมพูชา มาเลเซีย ไม่ต้องเอ่ยถึง .. ไม่มีสอน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 12, 22:37
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒    ยุโรปประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจ   ซึ่งสืบเนื่องมาจากยุคล่าอาณานิคม     ภาษาที่รองลงมาจากอังกฤษคือฝรั่งเศสและเยอรมันจึงถูกนับเป็นภาษาสำคัญสำหรับประเทศไทย  ที่จะพัฒนาให้เจริญไปในแนวของตะวันตก
ครั้งหนึ่งฝรั่งเศสเป็นภาษาของนักการทูต   พาสปอร์ตไทยก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส    อะไรที่หรูหราเช่นเมนูอาหารในภัตตาคารชั้นเลิศก็เป็นภาษาฝรั่งเศส
แต่มาถึงศตวรรษที่ 21    อิทธิพลในยุโรปน้อยลงไปมากสำหรับประเทศไทย   แต่อิทธิพลทางเอเชียเพิ่มมากกว่า    โดยเฉพาะทางด้านการติดต่อค้าขาย    หลักสูตรมัธยมน่าจะสอนภาษาจีนกับญี่ปุ่นได้แล้ว

ส่วน AEC ในไทยนั้น ถ้าหากว่าเรายังจัดระเบียบไม่รัดกุมมากพอ   ประโยชน์ที่ได้รับจาก AEC น่าจะน้อยกว่าที่ควรจะได้ และเสียมากกว่าที่ควรจะเสีย      จริงๆแล้วดิฉันไม่ค่อยหวังอะไรกับองคาพยพที่คุณตั้งเอ่ยถึงข้างบนนี้  (คำนี้เท่มากค่ะ  ไม่เคยใช้กะเขาเลย  เพิ่งมีโอกาสในกระทู้นี้แหละ)  แต่ยังมีความหวังอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งเติบโตอย่างอิสระพอสมควร  จึงก้าวหน้าพอจะผลักดันประเทศมาได้จนทุกวันนี้

ว่าแล้วก็ถอยไปนั่งหลังห้อง  ฟังเลกเชอร์ต่อไปค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 12, 20:21
ด้วยสภาพการก้าวย่างของไทยเข้าสู่ AEC เป็นอย่างที่คุณพวงแก้ว คุณลุงไก่ และคุณเทาชมพู บอกล่าวมา ซึ่งเป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วในเรื่องอื่นๆกับการก้าวย่างของไทยใน AEC จะเป็นอย่างไร  ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่เราประชาชนคนไทยแทนที่จะได้รับประโยชน์ (ดังที่เขาฝัน) มากขึ้น จะกลับกลายเป็นเราดูแต่เขามาเอาประโยชน์ มาล้วงมาแย่งเอาสิ่งที่เราพอจะมีความสามารถพอจะทำมาหากินได้ไปหมด ได้แต่นั่งดูตาปริบๆรอคำหวานลด แลก แจก แถม แบบประชานิยมต่อไป


เขียนไว้ยืดยาว พอจะส่ง เวลาหมด ลืมติ๊กไว้ว่าคงสถานะการเชื่อมต่อตลอด
โกรธตัวเอง เลยจะขพักไว้ก่อนครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 07 ก.ค. 12, 22:39
ไม่น่าเล้ย...อย่าพักนานนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 12, 00:34
ถ้าเจอแบบนี้ ติ๊กลูกศรซ้ายบน  ให้ย้อนกลับไปหน้าเดิมนะคะ  ข้อความอาจจะกลับคืนมาได้ค่ะ

เวลาคุณตั้งล็อคอินเข้ามา ติ๊กให้ล็อคอินถาวรไว้ดีกว่าค่ะ  ได้ไม่ต้องล็อคอินใหม่บ่อยๆ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 12, 21:25
สภาพของเราและรอบๆ้บ้านเราก็ดูจะไม่แตกต่างไปจากสภาพของประเทศแกนหลักของ EU ก่อนที่จะขยายประเทศสมาชิก

ประชาชนประเทศรอบๆบ้านเราต่างก็ยอมรับเงินบาท จะว่าไปก็เกือบจะทุกประเทศสมาชิก ASEAN เลยทีเดียว เราสามารถใช้เงินบาทในประเทศเหล่านี้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปแลกเปลี่ยสกุลเงิน สินค้าของเราจัดได้ว่าเป็นสินค้าชั้นดีที่มีคุณภาพในประเทศเหล่านี้ และมีตั้งแต่ข้าว ผลไม้ น้ำอัดลม ผ้าเย็น เครื่องมือทำมาหากิน (เช่น หัวจักรเย็บผ้า) รถจักรยาน เครื่องครัว เครื่องพลาสติคทั้งหลาย ฯลฯ มากจนจารนัยไม่หมด ไปจนถึงไม้จิ้มฟันเลยทีเดียว 

ที่ผมได้เห็นมาด้วยตนเองตั้งแต่สมัยที่ประเทศเหล่านี้เริ่มยอมรับระบบตลาดเปิดและเปิดประเทศมากขึ้น ผมก็ได้เห็นมีการเรียนภาษาไทย มีพจนานุกรมภาษาไทยกับภาษาของเขา มีกระทั้งถึงเทปเพื่อฝึกการพูดและการอ่านออกเสียงภาษาไทย ซึ่งพบตั้งแต่บริเวณชายแดนจนในเขตเมืองหลวงของเขา

และยังพบว่าเขาพยายามเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองจากหนังสือและเทป  ผมยังเคยซื้อตำราเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองของเขามาอ่านดูเลย หายไปหมดแล้ว  คิดว่ายังคงเหลือแต่ของอินโดนีเซียประเทศเดียว อ่านแล้วก็ครึกครื้นดี เป็นภาษาอังกฤษแบบตรงไปตรงมา ไม่มีสำนวนและไม่อ้อมค้อมเลย จึงอย่าไปแปลกใจเลยนะครับ หากจะได้ยินประโยคที่รู้สึกว่าไม่สุภาพหรือขวางหูเราไปสักหน่อย ที่น่าทึ่งก็คือ เขาคงมุมานะอย่างมากๆเลยทีเดียว ขนาดสื่อสารกับเราได้ความก็แล้วกัน

แล้วที่ผมสังเกตว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาษาเรียนเองเหล่านี้ (ทั้งไทยและอังกฤษ) เป็นภาษาในลักษณะ demand และ สั่งการ  ไม่เหมือนกับเราที่ใช้สอนให้ใช้ภาษาคล้อยไปในทางคน subordinate     

ภาพนี้คงจะบอกอะไรได้ไม่มากไปกว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งขุดทองที่สำคัญของพวกเขา ซึ่งหากไม่ใช่ เขาก็คงจะไม่พยายามพูดภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษให้ได้ เพื่อจะได้หางานได้ง่ายๆ  เรื่องนี้เป็นจริง พบได้เป็นก๊วนเลยแลพบได้ไม่ยากตามรีสอร์ทต่างๆทั่วประเทศไทย

ยังไม่เริ่ม AEC เลย ยังถูกแย่งไปได้เพียงนี้ 
     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 08 ก.ค. 12, 21:42
เคยไปเวียตนาม พักที่บ้านทูตพาณิชย์ เมื่อ7-8 ปีมาแล้ว ได้พบคนเวียดนามที่มาทำงานที่สถานทูตไทย

อายุราว 25 ปี พูดภาษาไทยได้ดีมาก สำเนียงไม่มีเพี้ยนเลย ทั้งที่เรียนในเวียดนาม...และมีหลักสูตรสอนภาษาไทย

โดยอาจารย์ไทยไปสอนถึงเวียดนามเลย

แต่เมื่อ 4-5 ปีมานี้ ได้พบกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกวางโจว เธอเรียนภาษาไทยที่เมืองจีน และมาแลกเปลี่ยนที่เมืองไทยอยู่ 1 ปี

แล้วกลับไปสอนภาษาไทยที่กวางโจว ทุกปีจะมีเด็กจีนมาพักและเรียน summer 1 เดือนในกรุงเทพ

ตอนนี้ทราบว่า มีเด็กน.ศ.จีนมาเรียนที่เมืองไทยแทบจะทุกสถาบันเลยคะ 




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 12, 22:03
ใน EU โดยเฉพาะเยอรมันและออสเตรียก็คล้ายๆกันกับไทยเรา

เขตแดนของประเทศทั้งสองนี้ชนกับประเทศที่อยู่ในอาณัติและอิทธิพลของรัสเซียมาก่อน คือ โปแลนด์ เช็ค ฮังการี สโลวัก สโลวีเนีย
ที่แปลกอยู่ประการหนึ่ง คือ เมื่อระบบรัสเซียล่มลง ประชาชนทั้งหลายของประเทศในอานัติของรัสเซียเหล่านี้ หันมาเรียนพูดเรียนอ่านภาษาอังกฤษกันหมด ทั้งๆที่ชายแดนของตนติดอยู่กับประเทศที่พูดภาษาเยอรมัน  ก็คงจะมีพื้นเพมาจากการเกลียดเยอรมันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกทั้งสองยุค ผนวกกับแนวคิดในการก้าวออกสู่ความเป็นนานาชาติของเขาที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะยุโรป (ผมได้มาสนทนากับเจ้าหน้าที่รัฐทางภาคอุตสาหกรรมของเขา)

นอกจากภาษาแล้ว ตามแนวชายแดนจะมีตลาดสินค้าที่ผลิตมาจากอดีตประเทศสังคมนิยมทั่วไป (รวมทั้งเวียดนาม เขมร) ที่มีราคาถูก แทบจะเหมือนตลาดละลายทรัพย์ทั้งหลายใน กทม. ทีเดียว   บางส่วนของสินค้าเหล่านี้ก็มีเล็ดลอดเข้าไปขายตามเมืองต่างๆในยุโรป

ประเทศนอกเขต EU เหล่านี้รับเงิน Deutsche Mark และ Austrian Schilling ก่อนที่จะเป็นเงินสกุลยูโร และรับเฉพาะเงินสกุลยูโรเมื่อมีการใช้เงินยูโรแล้ว

เมื่อมีการเข้าเมืองไปทำงานมากขึ้น ในที่สุดก็เริ่มต้นที่ประเทศเยอรมันและออสเตรียว่า จะต้องพูดภาษาเยอรมันได้จึงจะทำงานได้ และไปไกลถึงขนาดในบางกรณ๊จะต้องฟังภาษาเยอรมันได้ก่อนที่จะได้รับวีซ่า

      


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 12, 00:49
การเรียนภาษาอังกฤษในบ้านเรา ถ้าสอนโดยภาครัฐล้วนๆอาจพูดได้ว่าไม่ได้ผล   เรียนมาตั้งแต่ม.ต้นจนม.ปลาย  เด็กยังพูดอังกฤษไม่ได้   หรือพูดก็ผิดๆถูกๆ ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง   ต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม ให้ภาคเอกชนมาติวเข้มให้จึงจะพอรู้บ้าง   
พูดไม่ได้ เขียนก็ผิด  เรียนเหมือนไม่ได้เรียน   เสียดายเวลาหลายปีที่เปลืองไปจริงๆ  จะโทษครูก็ไม่ได้เพราะความรู้ของครูก็มีจำกัดอยู่เหมือนกัน  โดยเฉพาะครูในจังหวัดห่างไกล

เมื่อเริ่มยุค AEC  ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่าเราน่าจะปรับปรุงหลักสูตรได้แล้ว  ยังไงความเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เข้ามากำหนดทิศทางให้เอง  คือภาษาอังกฤษจะไม่เป็นภาษาสากลอย่างศตวรรษที่ 20    ภาษาในเอเชียที่สื่อสารกันง่ายและแพร่หลาย คือภาษาจีน  จริงอยู่ว่าจีนมีหลายสำเนียง  แต่ภาษาราชการคือจีนกลางที่พูดกันบนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันก็เป็นจีนที่ใช้กันมากที่สุด   ส่วนภาษาเขียนไม่มีปัญหา  เขียนเหมือนกันอยู่ดี
ตอนนี้นศ.จีนก็เข้ามาเรียนกันอยู่มากมายในมหาวิทยาลัยของไทย   เพื่อเอาภาษาไทยไปใช้สื่อสาร ทั้งในประเทศเขาและหางานทำในประเทศเรา   เราก็ควรเรียนภาษาของเขาให้มากขึ้นด้วย  ในศตวรรษที่ 21 นี้ถ้าพวกเราไม่แก่ตายกันเสียก่อน จะทันเห็นจีนเป็นผู้นำของโลกแน่นอน  AEC จะต้องสื่อสารกับจีนอย่างใกล้ชิด   ภาษาก็เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใหญ่ที่สุด


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 09 ก.ค. 12, 05:44
           น่าเห็นใจเด็กไทยที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษในระบบโรงเรียนของไทย แม้จะมีหลายแห่งที่สอนได้ดีแต่ก็เป็นเพียงหยิบมือเดียว

 การเรียนภาษาต่างประเทศจากตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวอย่างในยุคของดิฉัน... เป็นสิ่งที่น่าเบื่อมาก เราไม่มีวันที่จะจับสำเนียงได้

 การฟังเพลง หรือดูหนังที่ไม่ภาคไทย ก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้อย่างถ่องแท้  เทียบกับเด็กไทยกลุ่มที่มีโอกาสไปเรียน

 ในต่างประเทศ ในเวลาไม่นานก็จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ แสดงว่าเด็กไทยสามารถเรียนรู้ภาษาต่างประเทศได้เช่นเดียว

 กับเด็กชาติอื่นๆถ้าเขาได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ดีพอ และมีธรรมชาติที่เอื้อต่อการเรียนรู้

 มีเด็กมัธยมต้นจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบโรงเรียน ไปทำงาน โดยไม่รู้ภาษาต่างประเทศดีพอเลย ก็ต้องทำงานที่ใช้แรงงานเท่านั้น

 ตัดโอกาสที่จะเข้าสู่ระบบงานที่ดี มีอนาคตเมื่อเทียบเด็กในประเทศเพื่อนบ้านในระดับเดียวกัน
 
 ซึ่งจะมีสิทธิเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศใกล้เคียงได้ง่ายกว่า และอาจจะมีรายได้มากกว่าในประเทศที่ขาดแคลนพนักงานระดับกลางหรือล่าง

 ที่พูดภาษาอังกฤษได้   
       

       
 
 
               

             
             
           
         


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 09 ก.ค. 12, 05:56
อยากเห็นภาครัฐปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง รวดเร็วพอที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่รู้ภาษาดีกว่านี้

เท่าที่เห้นมีโรงเรียนสองภาษา ผุดขึ้นมากมายแต่ก็ดูจะช้า และเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากมายขึ้นมาก

กลายเป็น สองมาตราฐานในโรงเรียนเดียว

การเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ผลดีกว่าการท่องเป็นนกแก้ว นกขุนทอง แล้วก็ลืมเมื่อเลิกเรียนไป

ก็ได้แต่หวังว่า เทคโนโลยีที่แลกด้วยงบประมาณมหาศาลแจกนักเรียน...คงจะช่วยในเรื่องการเรียนการสอนภาษา

ได้มากขึ้น และสนุกขึ้นแทนที่ความเบื่อหน่ายเป็นยาขม ที่กล้ำกลืนกันมาหลายสิบปีแล้ว


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 12, 11:11
ใช่เลยครับ ถึงเวลาแล้วที่ไทยเราจะต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษ วางฐานให้ดี เนื่องจากไม่ว่าจะในเรื่องใดในบริบทใดของ AEC ก็จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางแน่นอน

จำได้ว่า นานมาแล้วมีความฝันกันว่าจะสร้างภาษากลางของ ASEAN แนวคิดเรื่องนี้คงจะยุติไปแล้ว ซึ่งหากจะยังคงมีแนวคิดนี้อยู่ ก็อีกนานมากๆกว่าที่จะตกลงกันได้รวมทั้งการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม (คำว่าการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมนี้ ในปัจจุบันนิยมใช้คำว่า realizing และใช้กันมากในหมู่คนของรัฐในเอเซีย โดยเฉพาะญีุ่่ปุ่นและจีน)  ดังนั้น ยังไงๆก็ต้องเริ่มที่ภาษาอังกฤษก่อน แล้วผนวกไปด้วยอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งตามสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ก็คงจะต้องเป็นภาษาจีน   ผมเห็นว่าภาษาที่สามนี้น่าจะต้องเป็นการบังคับให้ต้องเลือกเรียนด้วย ส่วนจะเป็นภาษาอะไรนั้นก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่า คิดว่าในอนาคตจะเลือกทำอาชีพใด เลือกทำงานอะไร  และเหตุที่จะต้องให้เลือกเองก็เพราะว่า สภาพการณ์ต่างๆมันแปรเปลี่ยนไปตามพัฒาการทางเศรษฐกิจและสังคม    ครั้งหนึ่ง เคยนิยมเรียนภาษาญี่ปุ่น ด้วยเห็นว่าต่อไปเราคงหนีไม่พ้นการติดต่อค้าขายและทำธุกิจกับญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นจีน และยังมีอีกภาษาหนึ่งที่จะว่าไปก็ถึงขั้นขาดแคลน คือ ภาษาสเปน    ในอนาคตคงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในทวีปอเมรกาใต้กับเอเซีย

     




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 12, 11:19
ใช่เลยครับ ถึงเวลาแล้วที่ไทยเราจะต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษ วางฐานให้ดี เนื่องจากไม่ว่าจะในเรื่องใดในบริบทใดของ AEC ก็จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางแน่นอน

ปรับปรุงยังไม่พอค่ะ ต้องรื้อหลักสูตรเก่าให้หมดเลย  เรียนพูด  และเรียนภาษาอังกฤษเฉพาะสาขา เช่นอังกฤษเพื่อธุรกิจ
ถ้าจีนยังก้าวกระโดดแบบนี้  กลางศตวรรษที่ 21 ภาษาจีนจะแซงหน้าภาษาอังกฤษค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 12, 15:59
เคยไปเวียตนาม พักที่บ้านทูตพาณิชย์ เมื่อ7-8 ปีมาแล้ว ได้พบคนเวียดนามที่มาทำงานที่สถานทูตไทย

อายุราว 25 ปี พูดภาษาไทยได้ดีมาก สำเนียงไม่มีเพี้ยนเลย ทั้งที่เรียนในเวียดนาม...และมีหลักสูตรสอนภาษาไทย

โดยอาจารย์ไทยไปสอนถึงเวียดนามเลย

แต่เมื่อ 4-5 ปีมานี้ ได้พบกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกวางโจว เธอเรียนภาษาไทยที่เมืองจีน และมาแลกเปลี่ยนที่เมืองไทยอยู่ 1 ปี

แล้วกลับไปสอนภาษาไทยที่กวางโจว ทุกปีจะมีเด็กจีนมาพักและเรียน summer 1 เดือนในกรุงเทพ

ตอนนี้ทราบว่า มีเด็กน.ศ.จีนมาเรียนที่เมืองไทยแทบจะทุกสถาบันเลยคะ 





ไม่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นครับ แม้แต่คนจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพ(แข่ง)กับคนไทยก็มีไม่น้อยแล้ว ถ้าไปดูตามเยาวราชจะเจอพ่อค้าจีนที่พูดไทยพอได้เข้ามาค้าขายเยอะครับ แม้แต่ในตลาดขายส่งย่านชานเมืองอย่างรังสิต หรือคลองหลวง ปทุมธานี ก็มีคนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจแข่งกับคนไทยแล้วไม่น้อย ไม่ว่าจะห้องเย็น หรือแม้แต่เป็นพ่อค้านำเข้าผักและผลไม้จากเมืองจีนโดยตรง

ส่วนนักศึกษามีไม่น้อยที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็สมัครทำงานต่อที่ประเทศไทยเลยโดยไม่ได้กลับไปทำงานที่บ้านเกิดอีก บางองค์กรใหญ่ ๆ ด้านการเงินก็รับพนักงานคนจีนเหล่านี้ทำงานโดยตรงครับ

ทั้งหมดเกิดจากนโยบาย "ก้าวออกไป(Zou Chu Qu)" ที่รัฐบาลจีนเป็นคนผลักดันครับ ต่อไปในอนาคตที่จังหวัดระยอง คนที่รู้ภาษาจีนอาจจะมีมากกว่าที่กรุงเทพก็ได้ เพราะที่นั่นกำลังเปิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักธุรกิจจากเมืองจีนโดยเฉพาะครับ  ถ้ามองอีกมุมคือการยึดเมืองขึ้นในรูปแบบใหม่ด้วย "อำนาจเงินตรา" แทนที่จะเป็นเรือปืนแบบโบราณครับ







กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 12, 16:02
แค่งบประมาณด้านสาธารณสุขที่ต้องจ่ายจากบริการขั้นพื้นฐาน ที่เฉลี่ยเป็นรายหัว

ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ คนต่างชาติที่รัฐบาลของเขาไม่สนใจ

หนีตายมาอยู่ มาให้คนไทยดูแล มากมายมหาศาล จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมหรือไม่

คนไทยอีกมากมายที่อยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ ยังต้องการการดูแลรักษาอีกมาก

แต่คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองหลวงและปริมณฑล กลับเข้าถึงการรักษาง่ายกว่า

บ่นแบบนี้ในนี้ยังพอได้นะครับ ไปบ่นข้างนอกระวัง NGO เขาจะเคืองนะครับ .......


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 12, 16:09
http://www.pantip.com/cafe/silom/topic/B12054342/B12054342.html

นี่คือตัวอย่างของคนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้ามาอาศัยและทำมาหากินในเมืองไทยครับ


นอกจากภาษาที่ต้องรู้แล้ว อย่าลืม "ซื้อที่ดิน" เก็บไว้บ้างนะครับ อนาคตระวังคนต่างชาติเงินหนา เขาจะมากว้านเป็น Lot ใหญ่ ๆ ไปนะครับ

นอกจากคนจีนแล้ว ก็ยังมีคนเกาหลี , คนอินเดีย ที่เข้ามาทำอาชีพแข่งกับคนไทยอย่างเปิดเผย

คนอินเดียนี่ ยั้วเยี้ยไปหมดในด้านของคอมพิวเตอร์ บริษัทข้ามชาติของอินเดียได้งานคอมพิวเตอร์ใหญ่ ๆ ของแวดวงธุรกิจไทยไปไม่น้อยแล้ว

ส่วนคนเกาหลี เริ่มเข้ามาทำใน "..อาชีพสงวน.." ของคนไทยแล้วเหมือนกันครับ

 อนาคตไม่อยากจะคิดครับว่า เจ้าของประเทศตัวจริงจะเป็นอย่างไร ในยุคแห่งการแข่งขันที่สับสนและวุ่นวายเช่นนี้ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 12, 19:33
ขอย้อนกลับไปเรื่องภาษาิีอีกเล็กน้อยครับ ก่อนที่จะข้ามเรื่องไปไกล เพื่อเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับ EU

เนื่องจาก EU เป็นเรื่องของการรวมตัวเป็นอาณาเขตเดียว ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ EU (ซึ่งเป็น Supranational Body) จะต้องให้การสนับสนุนและคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของทุกชาติและเผ่าพันธุ์ที่เข้ามารวมกัน
   
EU ในปัจจุบันจึงมีภาษาทางราชการอยู่ถึง 23 ภาษา ซึ่งหมายความว่าเอกสารทางราชการของ Body นี้ จะต้องมีการแปลและพิมพ์ออกเป็น 23 ภาษา เพื่อให้แต่ละประเทศที่มีการใช้ภาษาเหล่านี้เผยแพร่แก่ประชาชนของตนเอง และรวมทั้งภาษา Sign language (ไม่ทราบว่าจะแปลว่าอะไรดีครับ ก็คือภาษาตัวอักษรแบบภาษาเบลที่ใช้ในกลุ่มภาษาอื่นๆ) เล่นเอาเปลืองทั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ทั้งกระดาษ และทั้งบุคลากร ถึงกับบ่นกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ภาษาที่ใช้ในการพูดคุยประชุมกัน (working language) นั้น จะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันเป็นหลัก แต่เมื่อใดที่เป็นร่างความตกลงหรือความเห็นชอบร่วมกัน ก็จะต้องมีการแปลร่างนั้นเป็นภาษาของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเพื่อการถกเถียงและพิจารณาด้วย  (เหมือนกับ UN ที่ก็จะต้องทำแบบนี้ ซึ่งมี  6 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อาหรับ และจีน) ขนาดเขาอ่านพูดเขียนกันได้หลายภาษาเป็นอย่างดี เขายังไม่มั่นใจในภาษากลางที่เขียนอยู่ในความตกลง ยังต้องให้มีการแปลเป็นภาษาของตนอย่างเป็นทางการ
 
เป็นภาพที่น่ากลัวเหมือนกันนะครับสำหรับไทยเรา ที่กล่าวถึงกันว่าคนนั้นคนนี้ว่าภาษาอังกฤษดีของเรานั้น คือ ดีอย่างไร สันทัดในเรื่องใด ด้านใด ผมเคยเห็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในคณะเจรจาความเมืองของเราแสดงอาการแบบสำคัญตนเองว่าเขาเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าคนอื่น ผมก็ยอมรับว่าเก่ง แต่ผมไม่ยอมรับว่าเขาจะเข้าใจความลึกซึ้งของศัพท์ทางเทคนิคทั้งหลายมากเท่ากับคนที่เขาทำงานในสายงานนั้นๆ รวมทั้งระบบราชการ ประเพณ๊วัฒนธรรม และองคาพยพตัวตนที่เป็นจริงของประเทศเรา เขาคิดว่าเขาเก่งขนาดที่ไม่โอภาปราศัยกับเราและรับฟังความเห็นเราก็แล้วกัน  น่าห่วงจริงๆครับ 

กลับไปที่เรื่องของ EU    ปรากฎว่าภาษาเยอรมันเป็นภาษาพื้นฐานที่คนที่เข้ามาทำงานในเขต EU พูดและเข้าใจมากที่สุดในองค์รวมในเบื่องแรก ก็คงพอจะเทียบได้กับไทยที่คนรอบบ้านเรารู้และเข้าใจภาษาไทย  ไทยจึงดูจะไม่ต่างไปจากเยอรมันและออสเตรียที่เป็นด่านหน้าในการรุกคืบเข้ามาหางานทำในเขตเศรษฐกิจ AEC   คือเริ่มต้นคืบคลานเข้ามาในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีเป็นหลัก จากนั้นก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นฐานเพื่อขยายการคืบคลานเข้าไปยังประเทศอื่นๆ

ผมเคยได้ยินการวิเคราะห์ว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นเรื่องที่นำพาไปสู่แนวคิดในเรื่องของการขยายการครอบงำทางสังคมและวัฒฯธรรม เช่น การใช้รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก (การ์ตูน หุ่นกระบอก ฯลฯ) ที่ใช้ภาษาเยอรมัน (เพื่อปลูกฝังข้อมูลไปเก็บไว้ใน ROM หรือการ burn chip ของคอมพิวเตอร์) ขยายฐานการใช้ภาษาให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น    ซึ่งจากประสบการณ์ที่พบมา ความขัดแย้งในเรื่องของการใช้ภาษาและความต้องการในเชิงของการขยายอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม  ที่เด่นก็ดูจะมีฝรั่งเศสและเยอรมัน ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น   ภาษาอังกฤษได้ถูกใช้เป็นภาษาพื้นฐานหรือภาษากลางทั่วโลก ภาษาสเปนก็เป็นภาษาที่ใช้กันโดยประชากรโลกเป็นจำนวนมาก ภาษาฝรั่งเศสมีการใช้อย่างจำกัดแม้ว่าจะมีใช้กันในวงการกฎหมายมากพอสมควร ภาษาเยอรมันซึ่งเป็นของประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงมากกลับเข้าสู่สภาพของภาษาที่อาจารย์ชาวเยอรมันของผมท่านหนึ่งกล่าวว่าเป็นภาษา dead language

เล่ามาเสียยืดยาว อาจจะน่าเบื่อ แต่ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า อีกไม่นานสมาชิกประเทศของ ASEAN ก็อาจจะคิดในมุมดังที่สมาชิกหลักของ EU เขาคิดกันก็ได้     

 
       



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 12, 20:26

ไม่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นครับ แม้แต่คนจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพ(แข่ง)กับคนไทยก็มีไม่น้อยแล้ว ถ้าไปดูตามเยาวราชจะเจอพ่อค้าจีนที่พูดไทยพอได้เข้ามาค้าขายเยอะครับ แม้แต่ในตลาดขายส่งย่านชานเมืองอย่างรังสิต หรือคลองหลวง ปทุมธานี ก็มีคนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจแข่งกับคนไทยแล้วไม่น้อย ไม่ว่าจะห้องเย็น หรือแม้แต่เป็นพ่อค้านำเข้าผักและผลไม้จากเมืองจีนโดยตรง

ส่วนนักศึกษามีไม่น้อยที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็สมัครทำงานต่อที่ประเทศไทยเลยโดยไม่ได้กลับไปทำงานที่บ้านเกิดอีก บางองค์กรใหญ่ ๆ ด้านการเงินก็รับพนักงานคนจีนเหล่านี้ทำงานโดยตรงครับ

ทั้งหมดเกิดจากนโยบาย "ก้าวออกไป(Zou Chu Qu)" ที่รัฐบาลจีนเป็นคนผลักดันครับ ต่อไปในอนาคตที่จังหวัดระยอง คนที่รู้ภาษาจีนอาจจะมีมากกว่าที่กรุงเทพก็ได้ เพราะที่นั่นกำลังเปิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักธุรกิจจากเมืองจีนโดยเฉพาะครับ  ถ้ามองอีกมุมคือการยึดเมืองขึ้นในรูปแบบใหม่ด้วย "อำนาจเงินตรา" แทนที่จะเป็นเรือปืนแบบโบราณครับ

เห็นด้วยกับคุณ samun007 ค่ะ  ได้ยินมาว่าจีนมีนโยบายสนับสนุนประชากรของเขาไปทำงานและตั้งถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ  คงจะนโยบาย "ก้าวออกไป(Zou Chu Qu)" นี่เอง     ตรงกันข้ามกับสมัยก่อนที่จีนปิดประเทศไม่ยอมให้คนของเขาติดต่อกับโลกภายนอกได้   
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง   การขยายอำนาจด้วยการเผยแพร่ลัทธิก็พลอยจบสิ้นไปด้วย  ทำอีกก็ไม่ได้เรื่องและได้ไม่คุ้มเสีย    ระบายคนออกไปแบบนี้ได้ผลดีกว่า    ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำมาหากินได้ง่ายประเทศหนึ่ง   ไม่มีปัญหาเชื้อชาติศาสนามากีดขวาง   กฎเกณฑ์ต่างๆก็ย่อหย่อนไม่เข้มงวด    คนต่างชาติมองเห็นลู่ทางทำมาหากินได้ง่าย
ก็ขึ้นกับเจ้าของถิ่นว่าจะปรับตัวอย่างไรกับแนวคิดนี้ด้วยละค่ะ    ทั้งภาครัฐและเอกชน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 12, 21:22
ที่เล่ามานี้ ประการหนึ่งก็อยากจะเห็นการมีวิสัยทัศน์ของเรา ของส่วนราชการ และขององค์กรต่างๆ

วิสัยทัศน์ของส่วนราชการและองคาพยพที่เกี่ยวข้องของไทย ต่างก็เขียนในทำนองว่าจะพัฒนาตนเองให้เป็น COE (Center of Excellence) คือ มุ่งจะเป็นองค์กรแห่งความสุดยอดในสาขาของงานที่ตนรับผิดชอบ (ตามกฤษฎีกาหรือกฎหมายที่กำหนด) โดยนัย ก็คือมุ่งพัฒนาตนเองให้เป็นหนึ่ง มากกว่าที่จะมุ่งพัฒนาชาติในองค์รวมให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย   ที่ผมเห็นในต่างประเทศ เขาจะมีเป้าหมายว่าในอนาคตอีกกี่ปี เขามุ่งมั่นจะทำอะไร ให้เป็นไปอย่างไร และให้สำเร็จเป็นผลในรูปใดและอย่างไร

ส่วนหนึ่งก็ได้เล่ามาแล้วในความเห็นที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่จะขอยกตัวอย่างที่ชัดเจนของญี่ปุ่น (มิใช่การ pro ญี่ปุ่นนะครับ)

ญี่ปุ่นแต่เดิมเห็นว่าตนเองนั้นสุดยอด (หลังความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงต่อเนื่องจากผลของเหตุการณ์สงครามเกาหลีและเวียดนาม)  จึงมีแนวคิด (paradigm) ทำให้ทุกอย่างเข้ามาเหมือนกับแนวคิดของญี่ปุ่น  แต่ภายหลังวิกฤษเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงปี 1990 ญี่ปุ่นก็ได้เปลี่ยนแนวคิดนี้ไป  ไปมองว่าการ Look west ของญี่ปุ่นที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ถูกต้อง จากนี้ไปเป็นเรื่องของการ Look east คนญี่ปุ่นจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ญี่ปุ่นจะต้องเป็นเหมือนกับชาติเอเซียโดยทั่วไป ญี่ปุ่นจะต้องอยู่ในสังคมนานาชาติอย่างได้รับการยกย่อง มิใช่อย่างผู้แสวงประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว  กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ กลายเป็นวิสัยทัศน์ของทุกองค์กรที่ขานรับว่า ญี่ปุ่นจะต้องทำให้สำเร็จเป็นผลได้ภายในปี 2025 ช่วงหนึ่ง กับปี 2050 อีกช่วงหนึ่ง   เรื่องสำคัญเรื่องแรกเรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนคนญี่ปุ่นให้พูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจน  เขาศึกษาลงไปถึงระดับสมองของคน และพบว่าคนเรานั้น รากฐานลึกๆบางอย่างจะถูกฝังไว้ (เหมือนกับการ program chip คอมพิวเตอร์) ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 8 เดือน ดังนั้น การจะเปลี่ยนให้คนญี่ปุ่นรุ่นต่อไปสามารถออกเสียงตัวสะกด n ที่ปรกติจะออกเสียงเป็นตัว ง ให้ออกเสียออกเสียงเป็นตัว น นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการได้ยินเสียงที่ถูกต้องจากพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด  
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 12, 19:34
ดีใจนะครับ ที่ท่่านทั้งหลายที่เข้ามาให้ความเห็น ได้เห็นภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกันเมื่อต้องก้าวย่าวเข่าสู่ AEC  ทั้งมุมมองด้านปัญหา อุปสรรค และสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไป

ผมก็เห็นเช่นนั้น แต่เกรงว่าจะเป็นการบอกกล่าวแบบลอยๆ ก็เลยใช้การเล่าเรื่องซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วของ EU เพื่อการเปรียบเทียบ
 



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 12, 20:42
ไทยเราก็คล้ายกับเยอรมันและออสเตรีย คือ เป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจเล็กและประชาชนยังมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยกว่า ในขณะเดียวกันไทยก็สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ 
 
สภาพที่เิกิดขึ้นใน EU คือ คนจากฟากที่ด้อยกว่าก็พยายามแห่กันเข้ามาหางานทำในฟากที่ดูเจริญมากกว่า ฝ่ายคนในฟากที่เจริญมากกว่าก็จะรู้สึกว่าดีแฮะ ได้แรงงานที่มีเงื่อนไขน้อยกว่าแรงงานของคนของตน สภาพก็จะค่อยๆเปลี่ยนจากการต้องลงแรงเองไปเป็นสภาพของนายที่คอยสั่งการ   ชีวิตก็ดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง มีรายได้มากขึ้น แต่ก็เสียภาษีมากขึ้น และรู้สึกว่าน่าจะเอาเงินไปลงทุนซื้อที่ขยายกิจการในประเทศที่มีสภาพด้อยกว่า   รัฐก็ต้องเห็นดีเห็นงามเป็นธรรมดาที่แรงงานต่างๆจะได้ไม่เข้ามาทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากในประเทศของตน ฝ่ายรัฐของประเทศที่ด้อยกว่าก็ต้องออกกฎระเบียบจำกัด มิเช่นนั้นประเทศของตนก็จะถูกซื้อไปจนหมด   

คงจะนึกภาพออกนะครับว่า เรื่องตามเส้นทางนี้จะเป็นเช่นใดต่อไป  ขนาดปัจจุบันนี้ยังมีนอมินีเต็มไปหมดแล้ว   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 10 ก.ค. 12, 21:55
เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีโอกาสคุยกับคนในท้องถิ่นอยุธยา อ่างทอง เขาบอกว่ามีคนต่างชาติ

โดยเฉพาะชาติที่กำลังจะเป็นมหาอำนาจ เขามีเงินมาก จนสามารถชี้นิ้วได้เลยว่าที่ดินเวิ้งนี้ เขาต้องการ...

เชื่อว่าคนที่คุยด้วยเขาไม่พูดปด เพราะเขาก็รักแผ่นดินเหมือนกัน เขาพูดด้วยความเจ็บปวด

แต่สิ่งที่กำลังรับรู้ขณะนั้นทำให้รู้สึกว่า อันตรายกำลังคืบคลานมาอย่างน่าสะพรึงกลัวที่สุด

เมื่อก่อนคนในชนบทรักและหวงแหนแผ่นดิน แม้จะอยู่อย่างไม่สมบูรณ์พูลสุขก็สู้ทน

แต่ยุคทุนนิยม ...คนมีเงินเอาของมาล่อ ทำให้อยากได้ อยากมี อยากเป็น...แล้วก็แอบซื้อที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ไป

ปลูกข้าวส่งไปให้คนของเขาบริโภค ส่วนคนไทยก็ซื้อข้าวแพงขึ้นทุกปี

ในเมื่อรัฐฐาลไม่เคยดูแลชาวนาอย่างจริงจัง ลูกหลานชาวนาเขาก็มีสิทธิ์จะฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น ใครเอาอะไรมาให้ง่ายๆ

ก็หมดความอดทน ที่จะอยู่อย่างลำบากต่อไป....ในที่สุดเราจะรักษาแผ่นดินนี้ไว้ได้สักเท่าไหร่...



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 12, 07:38
เคยได้ยินเหมือนคุณพวงแก้วค่ะ ว่าที่ดินที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเรา แต่เราละเลยเกษตรกรให้ยากจนกันมาตลอดนั้น บัดนี้ประเทศที่มีเงินแต่ไม่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์อย่างเรากำลังจะมาปลูกข้าว เพื่อเอากลับไปกินกับคนของเขา
ในเมื่อที่ดินเราจำนวนมากถูกเฉือนไปเป็นสิทธิ์ของต่างชาติ เพื่อประโยชน์ใช้สอยของเขาเสียแล้ว       คนไทยก็จะมีข้าวกินน้อยลง  วันหนึ่งจะต้องซื้อข้าวเข้ามากินหรือเปล่าล่ะเนี่ย

EU ที่กำลังเลิกพรมขึ้นมามองเห็นขยะใต้พรมซุกอยู่ทีละประเทศนั้น   จะเป็นอนาคตของ AEC หรือเปล่าหนอ    ถ้าเป็น เราจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยกัน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 12, 21:04
เว้นไปสองวัน ขออภัยครับ

เคยคุยกับเพื่อนชาวตะวันออกกลางสมัยเรียนหนังสือ เขาบอกว่า อาหารประจำวันของประชาชนพวกเขาตามปรกตินั้น คือ กินข้าวกับแกง (น้ำมากหน่อย เนื้อน้อยหน่อย) กินกับแตงกวา   สภาพเช่นนี้ก็คงพอจะเดาออกว่า เขาขาดพืชผักเพียงใด ซึ่งคงจะเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจว่า หากมีโอกาสเขาก็จะต้องแสวงหาแหล่งอาหารพวกพืชผักต่างๆแน่นอน      ที่ทราบมาตั้งแต่บัดนั้นมา คือ เขาใช้มะขามเปียกในการปรุงอาหารมากๆ   มิน่าเล่า ตะวันออกกลางจึงเป็นแหล่งน้ำเข้ามะขามเปียกของเรา  แต่ก็มาพอจะเข้าใจในภายหลังว่า การใส่มะขามเปียกเพื่อปรุงอาหารนั้น นอกจากจะทำให้รสชาติของเครื่องเทศกลมกล่อมมากขึ้นแล้ว ยังทำให้อาหารบูดช้าขึ้นเนื่องจากการปรับสภาพอหารให้เป็นกรดซึ่งไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในสภาพอากาศอบอุ่น      ไทยเราเขียวทั้งปี น้ำดี ปลูกได้ทั้งข้าวดีๆและพืชผักต่าง แล้วจะไม่ให้บรรดาแขกทั้งหลายสนใจเข้ามาซื้อหาเป็นเจ้าของได้อย่างไร แถมกฎระเบียบต่างๆก็ง้างได้ง่ายด้วยเงิน หานอร์มินีได้ไม่ยาก ใต้โต๊ะก็เป็น norm อีกต่างหาก
   
ผมเห็นว่าปรัชญาแนวคิดของคนไทยเกี่ยวกับความสำเร็จในชีวิตนั้น ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ขัดสน มีทุกอย่างหมุนเวียนพอกินพอใช้ไปอย่างไม่เดือดร้อน ไปสู่การตั้งต้นเริ่มต้นที่จะต้องมีเงิน จะด้วยวิธีการใดก็ได้ ด้วยเชื่อว่าเงินจะบันดาลและซื้อหาสรรพสิ่งต่างๆได้ ทั้งความรู้ อำนาจ ความสะดวกสะบาย และยศฐาบรรดาศักดิ์   จึงดูจะไม่แปลกที่จะขายได้ทุกอย่างที่เป็นทรัพย์สินทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม (จิตและใจของตนเอง)  คำว่า Sentimental value คงจะไม่มีอยู่ในความหมายและความเข้าใจของคนไทยอีกต่อไป   
ลองนึกย้อนกลับไปดู อะฮ้า ระบบเราสนับสนุนการเปลี่ยนทรัพย์ยากรทุกอย่างให้เป็นเงิน  เช่น ห้ามคนอยู่ในพื้นที่ลาดชันสูงอย่างเด็ดขาด แต่สนับสนุน/อนุญาติให้เอาที่ราบอันสมบูรณ์ ซึ่งแหล่งผลิตทางเกษตรที่สำคัญ ไปทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม ทำหมู่บ้านจัดสรร และทำสนามกอล์ฟ      การส่งเสริมให้เขาเข้ามาลงทุนแบบเอาผลงานเข้าว่า โดยไม่ได้คิดถึงสถานการณ์ที่บังคับให้เขาต้องเข้ามาลงทุนในประเทศเรา (จะเล่าให้ฟังต่อไปครับ) ด้วยการสนองแบบลดแลกแจกแถมทุกอย่างตามที่เขาขอมานั้น ทำให้ธุรกิจมากมายของเราต้องยุติ ทำให้คนของเราต้องแปรสภาพจากผู้ที่ทำงานอย่างมีความคิดสร้างสรรไปเป็นผู้ทำงานสนองตามความคิดของผู้อื่น

บ่นหรือเปล่านี่  :D  ขออภัยครับ


 

   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 12, 21:33
ไม่เรียกว่าบ่นค่ะ    เป็นการให้ความรู้
ขอเชิญบรรยายต่อค่ะ

ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่านโยบายอยากรวยของไทย เริ่มมาแต่ยุคไหน   ตั้งแต่สมัยผู้นำไทยอยากให้ประเทศเป็นมหาอำนาจหรือว่าสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สหรัฐอเมริกาเผยแพร่นโยบายทุนนิยมเข้ามาในไทย     รัฐบาลไทยก็เห็นดีด้วย ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา
เราถูกฝังหัวว่าการอยู่แบบพอเพียงคือความด้อยพัฒนา     คนไทยต้องมีความเป็นอยู่โอ่อ่า ฟุ่มเฟือยได้ในทุกระดับชั้นจึงจะถือว่าพัฒนา    รายได้จากเกษตรกรรมไม่เพียงพอจะทำให้ประเทศมีอะไรโก้ๆแบบอเมริกา  จึงต้องทุ่มเทไปในด้านอุตสาหกรรม  จึงจะมีรายได้มาก   อุตสาหกรรมที่ว่าคือให้ต่างชาติมาเปิดโรงงานในไทยมากขึ้น แต่เทคโนโลยีต่างๆไทยยังผลิตเองไม่ได้อยู่ดี   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 12, 22:34
ไทยเรามีแนวคิดการปกป้องพื้นที่ผืนแผ่นดินการผลิตไทยมานานมากแล้ว เพื่อประโยชน์สำหรับการทำมาหากินของคนไทย เพื่อให้คนไทยสามารถเป็นเจ้าของทรัพยากรและดำเนินการได้ด้วยด้วยตัวเราเองเมื่อเรามีเทคโนโลยีเพียงพอ

ผมไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเล่าได้ว่าตั้งแต่สมัยใด แต่ที่เคยเกี่ยวข้องและย้อนกลับไปได้ในเรื่องหนึ่ง คือ ในรัชสมัย ร.6 เมื่อ พ.ศ. 2465 พระองค์ทรงได้กำหนดห้ามคนต่างชาติทำกิจการเหมืองแร่เหนือประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมา จนต่อมาจึงได้มีการตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมา (ตัวแทนรัฐ) เพื่อเป็นผู้ทรงสิทธิในประทานบัตรและอื่นๆ (คือ ให้คนไทยเป็นเจ้าของ) ผมไม่ทราบว่ามีเรื่องของทรัพยากรอื่นๆอีกหรือไม่ (ในสมัย ร.5 มีการให้สัมปทานป่าไม้หลายแห่งเหนือบริเวณนี้อยู่แล้ว)  เรื่องนี้ได้พัฒนาต่อมาเป็น ปว.281 (ประกาศคณะปฏิวัติ) ดังที่ทราบกันว่าเกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนและอาชีพสงวนของคนไทย และได้กลายมาเป็น พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542  ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการลงทุนที่เป็นบริษัทสัญาติไทยและสามารถจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยได้ (49%ต่างชาติ 51%ไทย )  เมื่อระบบการลงทุนและเศรษฐกิจดีขึ้น ความเป็นธุรกิจของไทยในนามธรรมจากสัดส่วนจุดนี้ (ซึ่งก็เป็นของคนต่างชาติอยู่ดีเนื่องจากมีแต่ชื่อของนอร์มินีคนไทยในการจดทะเบียนและบริคนธ์สนธิ) ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นบริษัทในการควบคุมของต่างชาติ 100%

กำลังจะลงไปเรื่องของธุรกิจของคนท้องถิ่นเดิม แต่จะต่อพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 12, 08:01
เข้ามารอแล้วค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 ก.ค. 12, 10:49
ดิฉันดีใจที่เติบโตมาพอที่จะเห็นภาพชีวิตคนไทยที่อยู่อย่างพอเพียง ในอดีต จนมาถึงปัจจุบันที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอเสียที

พอจำความได้ก็รู้ว่า บ้านเรามีสวนผลไม้ มีพืชสมุนไพรในครัว ปีปลาในร่องสวน วันๆไม่เห้นว่าจะใช้เงินทองอะไรมากมาย

นอกจากซื้อหมู ไก่ และสิ่งจำเป้นอื่นๆมาทำอาหาร ส่วนผัก ผลไม้เราก็เก็บเอาในบ้านนี่ล่ะ  ผู้ใหย่สอนให้เราประหยัด

และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟือ ฟุ่มเฟือย แต่ถ้าถึงเวลาต้องเข้าสังคม ไปงานไปการก็จะแต่งตัวตามฐานะ ให้เหมาะ

ให้ควรกับวัยของเรา  ของเล่นเด็กก็ไม้แพง ทำเองได้ก็ทำ ซื้อหามาบ้างก็มี ไม่ใช่ภาระที่ต้องมีต้องเป็นอะไร

แต่เดี๋ยวนี้ หันมาดูคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตั้งครอบครัวล้วนแต่ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก ยิ่งมีลูกก้ยิ่งแบกภาระมากมาย

กว่าลูกจะเรียนจบจนหางานทำเองได้ พ่อแม่ก็แทบหมดแรง นี่พูดถึงคนชั้นกลางทั่วไปนะคะ

วัตถุเข้ามาเป้นส่วนสำคัญในชีวิตมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้จักประมาณตัว ก็จะยิ่งทุรยทุราย ก่อหนี้ก่อสินกันอยู่ทั่วไป

บัตรอะไรต่อมิอะไรก็กดเงินได้ง่าย แถมผ่อนได้ด้วย....เด็กสาวบางคน ติดนิสัยต้องผ่อน คือพอผ่อนอันนี้เสร็จเธอก็ไปผ่อน

อันนั้นต่อ...ถามว่าทำไมไม่หยุด เธอก็ตอบหน้าเฉยตาเฉยว่า มันชินซะแล้ว...

ดิฉันได้ยินคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงทีไร ก็อดนึกถึงอดีตเมื่อ50กว่าปีที่แล้ว...


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 ก.ค. 12, 11:11
ย่านที่ดิฉันอยู่ในยุคนั้นเรียกว่าชานเมือง (กรุงเทพ )ก็ว่าได้ ถนนสองเลนมีคลองเล็กๆคู่ขนานกันไป บนไหร่ถนนมีต้นหางนกยูง เวลาออกดอก

ก็แดงสะพรั่งไปสุดสายตา รถราก็น้อย มีสะพานไม้ขนาดใหญ่ทอดข้ามคลองหน้าบ้าน ให้รถวิ่งเข้าบ้านได้ น้ำในคลองใสพอให้เด็กคนหนึ่งชะโงกมองดูปลาเข็มว่ายเป็นฝูง

ตลอดถนนนี้มีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นระยะ พอเดินหากันได้  ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สองชั้นสำหรับครอบครัวขนาดกลางและเล็ก มีแต่บ้านผู้มีฐานะเท่านั้นที่ใหญ่โตมากแต่ก็มีอยู่2-3 หลังเท่านั้น

บ้านที่อยู่ใกล้กันก็กลายเป็นเพื่อนบ้านไปมาหาสู่ เคารพ นับถือ ให้เกียรติ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ตามกำลัง

แตกต่างกับสมัยนี้อย่างสิ้นเชิง ช่องว่างระหว่างคนในสังคมยิ่งมากขึ้น อาจแบ่งแยกกันโดยฐานะ โดยอาชีพ โดยการศึกษา โดยสถาบัน โดยความสนใจส่วนตัว

ก็อาจมองอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่าประชากรในกรุงเทพเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว (เดี๋ยวร่วม 10 ล้านได้ไหม ) ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีการเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยๆ

แต่สิ่งที่มองเห็นก็คือ การเกื้อกูลระหว่างกลุ่มที่แตกต่างนั้นน้อยลง  ต่างคนต่างอยู่กันไป

จนถึงขั้นที่น่าเศร้าใจคือ ...เคยเห็นผู้หญิงถูกผู้ชายทำร้ายในที่สาธารณะ เธอร้องขอความช่วยเหลือ ดิฉันอยู่ในจุดที่ไกลร่วม 10 เมตรยังได้ยิน

แต่คนที่อยู่แถวนั้นห่างแค่1-2 เมตรกลับทำเป็นธุระไม่ใช่ หลายคนเดินผ่านไปมาแต่ไม่สนใจ ช่วยเหลือ หรือแม้แต่เรียกตำรวจมาระงับเหตุ

ดิฉันต้องแจ้ง 191 เพียง 5 นาทีเท่านั้นตำรวจก็มาถึง ....

ภาพสะท้อนเหล่านี้บอกอะไรกับเรามากมาย สังคมไทยที่สงบ ร่มเย็นจะหวนกลับมาได้หรือไม่ และอีกนานเท่าไหร่เราจึงจะหลุดพ้นจากการมอมเมาทางวัตถุ

ขออภัยนะคะ.....พาออกทะเลไปซะไกล  อิอิ :-X

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 12, 18:01
^
ยังไม่พาออกไปถึงทะเลหรอกครับ ยังไม่พ้นปากอ่าวเลย  ที่กล่าวมานั้นมันก็มีสาเหตุพัวพันกับที่เรื่องที่คิดว่าจะเล่าต่อไปครับ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 12, 19:15
ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะแบ่งขนาดของธุรกิจออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ พวกประกอบการขนาดใหญ่ และพวกประกอบการที่ภาษาไทยเรียกกันว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า SME (Small and Medium Enterprises)  บางครั้งก็ใช้ E = Entrepreneurs (ผู้ประกอบการ) และก็มีการเรียกธุรกิจขนาดนี้ว่า SMB (Small and Medium Business (es)) ก็มี

ธุรกิจที่ไม่ตกอยู่ในประเภท SME ก็คือ พวกธุรกิจข้ามชาติทั้งหลาย   ธุรกิจที่ตกอยู่ในประเภท SME ทั้งหลายนั้น ก็คือ ธุรกิจเกือบทั้งหมดที่มีการประกอบการอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก  ในเชิงของตัวเลข ทุกประเทศจะมีธุรกิจที่เขาจัดให้อยู่ในประเภท SME  ไม่น้อยกว่า 97% (เท่าที่เคยเห็นมา และโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ถูกจัดระดับหรือที่เรียกตนเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว)      สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (กลุ่มประเทศ G77 and China) รวมทั้งกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศ CIS (กลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเมื่อเป็นอิสระจากอิทธิพลรัสเซีย) เหล่านี้ ก็จะมีธุรกิจที่เขาจัดเป็น SME ไม่น้อยกว่า 98-99%  นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการจัดธุรกิจประเภทที่เรียกว่า Micro อีกด้วย โดยผนวกขื่อประเภทไว้ข้างหน้าคำว่า SME คือ Micro SME 

อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ พยายามจะเรียงลำดับภาพต่างๆ

อ่านข้างต้นมาแล้ว ก็คงจะสงสัยว่า แล้วจะไปจำแนกธุรกิจมันเพื่ออะไร ในเมื่อธุรกิจเกือบทั้งหมดมันก็เป็น SMEs หรือ mSMEs  มันมีเหตุผลครับ แต่ก่อนจะเล่าต่อไป มาดูอีกเรื่องหนึ่ง

การจัดแบ่งธุรกิจนี้ แต่ละประเทศก็มีมาตรฐานของตนเอง โดยทั้วไปก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวงเงินทุนในการประกอบธุรกิจ จำนวนลูกจ้างในธุรกิจ มีขอบเขตว่าระดับใหนจึงจะเป็น micro ระดับใหนจะเป็น small และระดับใหนจึงจะเป็น medium และเกินไปจากนี้ก็จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่     โดยทั่วๆไปในเชิงของจำนวนลูกจ้าง ที่ทั่วไปยังจัดว่าเป็น S ก็อยู่ในระดับไม่เกิน 50 คน ขนาด M ก็ไม่เกิน 200 คน  ซึ่งสวนกับความเป็นจริงพอสมควรเลยทีเดียว มีธุรกิจมากมายในโลกที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน (ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับ micro) แต่ค้่าขายทั้งโลก   ผมเคยไปเยี่ยมชมธุรกิจที่มีลูกจ้างน้อยกว่าสิบคนนี้หลายแห่งด้วยกันที่แทบจะคุมตลาดนานาชาติเลยทีเดียว  เรื่องชิ้นส่วนที่ประกอบอยู่ในนาฬกาข้อมือแทบจะทุกยี่ห้อในโลกนี้ก็หนึ่งเรื่องครับ แล้วก็เรื่องเครื่องดูดกระดาษของแท่นพิมพ์ธนบัตรก็อีกเรื่องหนึ่งครับ
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 12, 20:15
มาถึงเหตุผลว่าจะต้องไปจำแนกขนาดของธุกิจมันทำไม

คำตอบที่ตรงที่สุดก็คือ การปกป้องธุรกิจและธุรกิจต่อเนื่องของประชาชนของเขา ซึ่งมีความหมายขยายความไปได้ไกลมากถึงความชอบธรรมในการอุ้มชู (มักจะใช้คำว่า Incubation)  การส่งเสริม (Promotion) และการอุดหนุน (Subsidized) โดยไม่เบี่ยงเบนตลาด  ยังมีคำอีกมากมายที่ใช้กันเพื่อแสดงเหตุผลในความชอบธรรมในแง่มุมต่างๆ   

คงจะพอจินตนาการต่อไปได้นะครับ 

แล้วของเราเป็นอย่างไร.....


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 12, 13:32
ไทยเราก็มีการจำแนกธุรกิจเป็นขนาดใหญ่และ SME เหมือนกัน แต่ยังไม่ลงไปที่ระดับ micro   ธุรกิจของเราที่เป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ส่วนมากจะอยู่ในระดับ small และก็ยังเป็นพวกที่เป็นขนาดเล็กมาก ไม่อยู่ในเกณฑ์ใกล้เส้นแบ่งเขตที่จะข้ามไปในระดับ medium
 
สำหรับธุรกิจไทยที่มีต่างชาติมาลงทุนร่วมด้วย ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่เป็นแบบแฝง มีเป็นจำนวนน้อยที่เปิดเผยนั้น ส่วนมากจะเป็นระดับ Medium  สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายก็เป็นพวกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

การจำแนก SMEs ของเราก็ดูจะไม่ตรงกันระหว่างภาครัฐด้วยกันเองและกับภาคเอกชน
 
เราเพิ่งจะมี พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อ พ.ศ.2543 นี้เอง และก็เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่กล่าวถึง SMEs  ผมไม่เคยเห็นมีการกล่าวถึงและให้ความสำคัญกับ SMEs ในกฏหมายทางเศรษฐกิจ การเงิน และการภาษีอื่นใดเลย   ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขามองเห็นความสำคัญของธุรกิจ SMEs กันมานานแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง และก็มีกฎหมายอื่นๆอีกมากมายที่กล่าวถึงธุรกิจ SMEs ในลักษณะที่ปกป้อง คุ้มครอง แถมยังมีนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศขอให้ส่วนราชการและเอกชนช่วยกันใช้ของที่ผลิตโดย SMEs เสียอีกด้วย   

กรณีญี่ปุ่นนั้น มีกฏหมายเกี่ยวกับ SMEs โดยตรงประมาณ 8 ฉบับ  มีสภาหอการค้าเฉพาะ SMEs   มีหน่วยงานที่ทำเรื่อง SMEs โดยเฉพาะหลายหน่วย  แม้จะยังคงมีนโยบายช่วยไม่ให้ SMEs ตายง่ายๆแล้ว ก็ยังมี   

จะว่าไทยเราไม่มีนโยบายเสียเลยก็ไม่ได้ ครั้งหนึ่งก็มีระเบียบกฏเกณฑ์ให้ส่วนราชการต้องเลือกซื้อของที่ผลิตในประเทศก่อน  แต่ก็ซาไป ก็คงจะด้วยหลายเหตุผล ซึ่งหนึ่งในเหตผลก็น่าจะเป็นเรื่องที่สิ่งของเหล่านั้นคุณภาพไม่ดีพอและไม่มีการพัฒนา

จากเรื่องที่กล่าวมาสั้นๆนี้ ก็คงพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า  SMEs คือ ตัวการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การที่รัฐจะต้องมีระบบปกป้องและช่วยเหลือโดยไม่เป็นการเบี่ยงตลาดนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก  คุณสมบัติของ SMEs ที่เหมือนกันทั่วโลก คือ เกิดยากแต่ตายง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดีเพื่อรักษาชีวิตของธุรกิจพวกนี้ให้อยู่ได้ยาวนานมากที่สุด เพราะว่ามันมีโอกาสเติบใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงของธุรกิจขนาดเล็กรุ่นหลังๆ

ของเรานั้นไปยืมมือผู้อื่นมาทำธุรกิจธุกิจขนาดใหญ่ ละเลยที่จะพัฒนา SMEs มานาน ถูกปล่อยให้สู้ไปตามมีตามเกิด จะว่าไปธุรกิจพวกนี้ของเราก็เก่งนะ อยู่รอดมามากมาย   
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 12, 19:42
ดังที่กล่าวมาว่า คุณสมบัติประจำตัวของธุรกิจ SMEs คือ เกิดยากตายง่าย และถึงแม้จะอยู่รอดก็มักจะไม่เจริญเติบใหญ่  สาเหตุหลักที่เป็นเช่นนี้ได้มีการพบกันว่า เรื่องแรกคือ รู้ไม่พอและขาดความรู้ที่จะเริ่มธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขัน ขาดความเข้าใจที่จะดำเนินดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเจริญเติบโตอย่างมั่นคง เรื่องที่สอง คือ ขาดทุนทรัพย์และแหล่งทุนที่ดี ซึ่งในภาษาทางวิชาการใช้คำว่า ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และเรื่องที่สาม คือ ขาดการพัฒนาตนเอง ซึ่งในภาษาทางวิชาการมักจะใช้คำว่า ขาด R&D   กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ขาดวิชา ขาดเงิน และขาดการหาความรู้เพิ่มเติม

ดูๆไปแล้วจะเห็นว่าเหมือนจะเป็นเรื่องไ่ม่ยากที่จะดำเนินการแก้ไข  แต่มันก็มีความยากเหมือนกันที่จะดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ความต่อเนื่องในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกๆรัฐบาล รัฐจะต้องมีความอดทน มีภาระค่าใช้จ่ายทางงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

ของเรามีครบในเรื่องการเงิน คือ มี SME Bank    เรามีผู้ชี้นำและดำเนินการทางนโยบาย คือ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)   เรามีทางวิชาการ คือ การส่งเสริมทางวิชาการที่ดำเนินการโดยหลายหน่วยราชการ    แต่เราดูเหมือนจะดำเนินการแบบครึ่งๆกลางๆ ไม่ทำไปให้ถึงที่สุด  แทนที่จะไปดูผลการดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นกับ SMEs   ก็กลับมาวัด KPI เอาที่ฝ่ายราชการผู้ดำเนินการ  และแทนที่จะใช้ KPI (ตามหลักการที่ธุรกิจและรัฐต่างชาติเขาเข้าใจกัน) เพื่อการติดตามหาจุดที่ด้อยในระบบที่ส่งผลทำให้เป้าหมายของระบบในองค์รวมไปไม่ถึงตามที่กำหนดไว้  เป็นเรื่องเพื่อการเร่งรัดปรับปรุงจุดที่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้โครงการได้บรรลุเป้าหมาย  ก็กลับกลายเป็นว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของเอกบุคคลและจับผิด แล้วใครจะทำอะไรที่เป็นการเสียสละได้อย่างเต็มที่ล่ะ ในเมื่อยังต้องคำนึงถึงผลงานของตนเอง งานราชการส่วนมากเป็นเรื่องของการกำกับดูแลมากกว่าจะไปสร้างอะไรให้หวือหวาล้ำนโยบายและใช้จ่ายงบประมาณนอกเหนือไปจากที่กำหนดให้มา งบลงทุนในเรื่องที่ฝ่ายราชการเห็นว่าสำคัญก็มักจะถูกตัดเอาไปพอกให้เป็นงบลงทุนตามการหาเสียงของฝ่ายการเมือง 

ธนาคาร SME จะต้องมี NPL ต่ำๆ เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการตั้งธนาคารประเภทนี้    สสว.เป็นผู้ชี้นำนโยบาย จะต้องไปจัดเลือกผู้ประกอบการ ทำตลาดและค้าขายเสียเองก็ใช่ที่    เรามุ่งวัดความสำเร็จไปในเรื่องอะไรก็ไม่รู้  แทนที่จะมาดูกันว่า เออ ปีนี้ SMEs มีอัตราการเกิดมากกว่าตาย หรือเขาเริ่มข้ามจาก S ไปเป็น M มากขึ้น  หรือพวก micro หรือบรรดารถเข็นและแผงลอยเขาเริ่มตั้งหลักปักฐานมีการจ้างลูกน้องมากขึ้นหรือเข้ามาอยู่ในฐานภาษีและมีการเสียภาษีมากขึ้น ทั้งหมดนี้มันมิใช่เกิดได้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันทั้งองคาพยพมิใช่หรือ 

เหมือนกับบ่น แต่ไม่ใช่การบ่นนะครับ เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่า ธุรกิจฐานรากทางเศรษฐกิจของเรา คนไทยของเราอยู่ในสภาพภายใต้สถานการณ์ดังที่เล่ามา แล้วก้าวย่างของเราที่ควรจะก้าวย่างเข้าไปใน AEC จะเป็นอย่างไร คงไม่พ้นที่จะเป็นก้าวย่างแบบถอยหลังรับที่เขาจะเดินก้าวย่างเข้ามาหาเราเสียกระมัง   
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 12, 20:33
เพื่อจะมิให้เป็นการบ่น ก็จะขอยกตัวอย่างที่ประเทศอื่นเขาทำอะำไรกันบ้างและเตรียมตัวกันอย่างไร ซึ่งจะอยู่ในบริบทของคำว่า  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  Productivity  และ Foresight

แต่จะขอเป็นพรุ่งนี้ครับ






กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 12, 10:45
ถ้าไทยเตรียมตัวได้พร้อมจะรับมือ  AEC ก็จะช่วยให้ไทยพัฒนาได้เร็ว  พ้นจากคำว่า "ประเทศกำลังพัฒนา" เสียที   
แต่ถ้าไม่พร้อม เพราะภาครัฐของเราไม่พร้อม ทำให้เอกชนที่คล่องตัวกว่าถูกดึงให้ช้าลงด้วย    ก็จะเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ต่อไปอีกหลายปี


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 12, 20:08
ถ้าไทยเตรียมตัวได้พร้อมจะรับมือ  AEC ก็จะช่วยให้ไทยพัฒนาได้เร็ว  พ้นจากคำว่า "ประเทศกำลังพัฒนา" เสียที   
แต่ถ้าไม่พร้อม เพราะภาครัฐของเราไม่พร้อม ทำให้เอกชนที่คล่องตัวกว่าถูกดึงให้ช้าลงด้วย    ก็จะเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ต่อไปอีกหลายปี

อืม์ ความเห็นนี้มีความเห็นต่างในมุมมองอื่นๆครับ  ผมเกือบจะไม่ให้ความสนใจในประเด็นนี้มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ผมเห็นว่า การจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา ก็เป็นเพียงการจำแนกกลุ่มซึ่งมีผลในเรื่องทางการเมืองระหว่างประเทศ ถ้าติดตามดูข้อพิจารณาที่ใช้ในการจำแนกตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา จะเห็นว่า เรื่อง หัวข้อ หรือประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาจำแนกจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลหรือข้อมูลของเรื่องที่นำมาจำแนกก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เป็นการประมวลข้อมูลและคิดว่าประเทศใดควรจะถูกจัดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การจำแนกโดยองค์กรนานาชาติต่างๆหรือรัฐของแต่ละประเทศก็จำแนกไม่เหมือนกัน จึงมีรายชื่อประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เหมือนกันอีกด้วย
 
มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป ทวีปอเริกาเหนือ และประเทศทางซีกโลกใต้ จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นฝรั่งผมทองก็ไม่ผิดนัก ในเอเซียก็มีญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นหลัก ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี บรูไน หรือ เขตปกครองอื่นๆเช่น ฮ่องกง และไต้หวัน เหล่านี้ หลายองค์กรและหลายรัฐจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่บางประเทศก็ไม่จัดให้เป็นประเทศพัฒนา

อนึ่ง การจำแนกนี้แม้จะดูว่ามีข้อมูลสนับสนุนและค่อนข้างเป็นทางการ แต่ผมก็เห็นว่ามันเป็นเพียงนามธรรม ไม่มีกฎกติกาที่เป็นผลทางกฎหมาย ดังนั้น การจะทำตนให้เป็นประเทศอยู่ในกลุ่มใดจึงไปขึ้นกับเรื่องที่เราปฎิบัติและแสดงออกในสังคมนานาชาติ   

ในองค์กรนานาชาติ โดยเฉพาะในสายของ UN เขาจะมีการแบ่งกลุ่มแบ่งสังกัด เพื่อช่วยกันผลักดันวาระต่างๆให้เกิดประโยชน์กับกลุ่ม เช่น กลุ่มประเทศผู้ให้ (Donating countries) กลุ่มประเทศผู้รับ (Recipient countries) กลุ่มประเทศในเอเซีย กลุ่มประเทศในอัฟริกา กลุ่มประเทศ GRULAC (Group of Latin America and the Caribbean) กลุ่มประเทศ G77 and China  และกลุ่ม NIS (New Independent States)  สังเกตใหมครับ ไม่มีกลุ่มประเทศย่อยๆเช่น อาเซียน หรือ Benelux หรือ Scandinavian หรือ CIS (Commonwealth of Independent States) 

กลุ่มประเทศ G77 ก็คือ กลุ่มที่จัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด (ไทยก็เป็นประเทศในกลุ่มนี้และร่วมก่อตั้งใน 77 ประเทศแรก) ประเทศในกลุ่มนี้ในปัจจุบันมี 132 ประเทศ   
         
บางประเทศ เช่น เกาหลี พยายามจะทำตนเป็นประเทศพัฒนาแล้วในสังคมนานาชาติ พยายามเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ให้  เลยทำตัวลำบาก ขาดพวกพ้อง กลุ่ม G77 และจีน ก็ระแวง กลุ่มเอเซียก็ระแวง กลุ่มประเทศผู้ให้ก็ไม่ค่อยจะยอมรับ     จีนเองยังขอมาพ่วงอยู่กับกลุ่ม G77 แต่ขอเป็นเอกเทศ จึงต้องมีคำว่า and China   กลุ่ม NIS น่าสงสาร เป็นพวกคนในุโรปผมสีทอง จะสมัครเข้ามาอยู่ในกลุ่ม G77 ก็คุยกับใครลำบาก จะอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ใ้ห้ (ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปทั้งหลาย) เขาก็ยังไม่เอาด้วยว่ายังต้องการความช่วยเหลือต่างๆอยู่

เล่ามาเสียยืดยาว ก็เพียงเพื่อจะอธิบายว่า แตกกลุ่มออกไปแล้วก็จะขาดพวกพ้อง จะต้องมีค่าใช้จ่ายรับผิดชอบต่อสังคมโลกมากขึ้น หากเรายังคิดว่ายังนิยมความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและโครงการต่างๆแล้ว การถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาก็ดูจะดีกว่ากระมัง    ผมคิดว่าหากเราอยากจะออกไปจากกลุ่มนี้ก็ทำได้ไม่ยากนัก   ความช่วยเหลือที่เราให้กับประเทศเพื่อนบ้านรอบบ้านเราที่ผ่านมาไม่มากมายนักนั้น ก็ทำให้หลายประเทศเขาตัดความช่วยเหลือเราลงไปชนิดว่าแทบจะไม่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันเขาจัดให้เราเป็นประเทศ Advance developing country ไปแล้วครับ   ทุกประเทศผู้ให้ได้ตัด ODA (Official Development Assistance) สำหรับเราไปจนจะไม่มีอะไรอยู่แล้ว    ซึ่งด้วยสภาพของไทยในองค์รวม จากการให้เปล่าแบบ ODA ก็ได้กลายเป็น หากขอมาอย่างจริงจัง จะให้ก็ได้แต่ต้องมีการแลกเปลี่ยน  ตามหลักว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ (Nothing is for granted)

ประเด็นของเรื่อง คือ ผมยังไม่เคยเห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าเราจะก้าวอย่างไร เราจะทำตัวอย่างไรกับสภาพในสังคมนานาชาตินี้ เราถูกจัดเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าในระดับต้นๆไปแล้ว แต่เราก็มิได้มีแนวนโยบายที่เป็นที่เข้าใจในวงกว้างว่าจะก้าวออกไปแสวงประโยชน์ในฐานะนี้อย่างไร ก็ยังคิดและจมปลักอยู่แต่จะขอความช่วยเหลือเป็นหลัก   ผมเกษียณมาหลายปีแล้ว สภาพการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไปเล้วก็ได้นะครับ           

   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 12, 20:19
อ่านแล้วก็มึนๆเหมือนกันค่ะ   ตกลงว่าควรให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นเขา หรือว่าควรให้ประเทศอื่นเขาช่วยเหลือเราดี   ไปๆมาๆ จะกลายเป็นว่าอย่างหลังดีกว่ามั้ง   
มันคงเหมือนอยากหาเงินเยอะๆเพื่อจะได้ทำบุญ กับหาวิธีนั่งรับเงินทำบุญจากคนอื่น   อย่างไหนจะรวยกว่ากัน

การก้าวออกไปรับ  AEC  คงไม่มีสูตรสำเร็จลงตัวเป๊ะๆ  อาจจะต้องลองผิดลองถูกกันอีกหลายยก  กว่าประเทศไทยจะปรับได้ว่าควรทำอย่างไรมากน้อยแค่ไหน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 12, 19:57
ก้าวออกจากเรื่องมึนๆงงๆดีกว่านะครับ

เมื่อเกิด AEC สภาพที่จะเกิดขึ้นตามที่ฝันกันไว้ก็คือ มีการขยายขอบเขตและมีความเสรีมากขึ้นในการไหลถ่ายเทของสรรพสิ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากเดิมซึ่งถูกจำกัดด้วยพื้นที่และมีความไม่คล่องตัวด้วยนโยบายปกป้องของสมาชิกประเทศต่างๆ ไปสู่การเปิดพื้นที่และทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในระดับภูมิภาค เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกก็คาดว่ากิจการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยประชากรของตนนั้น สามารถแข่งขันได้กับเพื่อนสมาชิกประเทศอื่นๆและสามารถก้าวข้ามไปดำเนินกิจการแข่งขันอยู่ในเขตอาณาของประเทศสมาชิกอื่นๆได้

หมายความว่าเราในองค์รวมต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีมากมายหลายประเด็นสุดแท้แต่จะคิดจะจับขึ้นมาวิเคราะห์ แต่ละสาขา แต่ละอาชีพ แต่ละสินค้า แต่ละอุตสาหกรรม ฯลฯ  ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเหล่านี้ (ทั้งระดับเล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด) ต่างก็มีความได้เปรียบและเสียเปรียบกันในแง่มุมต่างๆ ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์นี้มักจะเรียกกันว่า comparative advantage analysis      ฝ่ายรัฐมักจะดูความได้เปรียบและเสียเปรียบนี้ในระดับมหภาค ปัญหาไปอยู่ที่ว่าในระดับจุลภาคลงไปถึงผู้ผลิตระดับชุมชนหรือชาวบ้านนั้น ไม่มีใครลงมาดูแลและให้คำแนะนำ

แล้วจะทำอย่างไรดี 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 12, 20:58
ขอทำความเข้าใจค่ะ  ไม่เก่งเรื่องการตลาด
หมายความว่าในอนาคต  AEC จะทำให้ตลาดในประเทศอาเซียนเปิดกว้างแบบเสรี   สินค้าประเทศอื่นๆก็เข้ามาวางขายแข่งกันกับของเรา     สินค้าประเทศไทยก็เข้าไปวางขายแข่งกับของเขาในประเทศอื่น ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทีนี้เราจะทำยังไงให้สินค้าของเราสู้กับของเขาพอจะมีส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น     สมมุติว่าสินค้าไทยอาจเสียเปรียบว่าคุณภาพด้อยกว่าเขา  แต่ได้เปรียบตรงราคาถูกกว่า  ตรงนี้เป็นจุดขายของเรา  อาจจะได้กลุ่มเป้าหมายคือคนรายได้น้อย  ซึ่งถ้ามีจำนวนมากพอ  สินค้าเราก็ขายได้อยู่ดี
ปัญหาพวกนี้  รัฐบาลลงไปดูแลเอาใจใส่ผู้ผลิตระดับกลางและเล็กมากพอหรือเปล่า    พอจะแนะนำได้ไหมหรือเปล่าว่าผลิตและขายยังไงถึงจะได้สตางค์  และสู้กับคนอื่นเขาได้


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 12, 21:24
ู^
แล้วจะทำอย่างไรดี    มันก็พอมีทางออก

ผมเห็นว่าจะต้องเอาแนวคิดแปลงมาจากที่เขาทำกันในระดับมหภาค ในเรื่องของ productivity movement
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นทำมานานแล้ว คิดว่าราวๆ 40 ปีเห็นจะได้แล้ว เป็นการดำเนินการในระดับชาติ เป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างอุดมการณ์และนิสัยให้มีความรับผิดชอบต่อนายจ้าง ต่อตนเอง และต่อสังคม ซึ่งมีอยู่สามเรื่อง คือ ทำงานด้วยความรับผิดชอบให้ดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับองค์กรที่เราสังกัดอยู่     ผลนั้นจะตอบสนองมาให้เราได้มีชีวิตที่อยู่ดีกินดี     และทำงานโดยคำนึงถึงฝ่ายผู้ใช้ ให้ฝ่ายผู้ใช้ได้ใช้ได้รับของที่มีคุณภาพดีที่สุด (เขาก็จะหาซื้อใช้แต่ของที่เราทำ)      ผลสัมฤทธิ์ของทั้งสามเรื่องนี้ คือ ทุกคนมีความสุข

แนวคิดนี้แม้จะเริ่มโดยคณะผู้ปกครองทหาร (สหรัฐฯ) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณปี 1950++) แต่ก็ไม่แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ จนเมื่อไม่นานมานี้ (คิดว่า จนกระทั่ง TQM ซึ่งเริ่มโดยนักวิชาการอเมริกัน แต่ได้ถูกพัฒนาไปไกลโดยญี่ปุ่นได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย)

มาเลเซียและสิงคโปร์ ไ้ด้รับแนวคิดนี้และดำเนินการในระดับชาติเช่นเดียวกันหลายสิบปีมาแล้ว ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในระยะแรกเริ่ม ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากญี่ปุ่น

ในปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้ได้ต่อยอดไปในอีกระดับหนึ่ง คือ การไปพัฒนาในด้านการให้บริการหลังการขาย ซึ่งมิใช่เรื่องของการรับผิดชอบซ่อมแซมอย่างที่เห็นๆกันครับ แต่เป็นเรื่องของการแนะนำขยายวิธีการทำและวิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องต่างๆมากขึ้น หรือการทำให้สิ่งนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้นทั้งสำหรับตนเองและสังคม

แล้วเราจะทำได้อย่างไร
  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 12, 22:04
^
แล้วเราจะทำได้อย่างไร

ผมเห็นว่า เมื่อฝ่ายรัฐไม่ได้ทำอะไรมากในเรื่องดังกล่าวนี้  เราซึ่งพอมีความรู้ก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะอธิบายขยายความให้ชาวบ้านเขาได้รู้กันในทุกแห่งที่มีโอกาสได้สนทนาและในระหว่างการเลือกซื้อของกินของใช้ต่างๆ   ผมเห็นว่าเรื่องที่เราตำหนิเมื่อซื้อสินค้าเหล่านั้นก็คือจุดเริ่มต้น แทนที่จะตำหนิก็แสดงความเห็นในลักษณะของการติเพื่อก่อ เช่น บอกเขาว่าคุณภาพและราคาจะเพิ่มขึ้นหากจะระวัง หรือทำเพิ่ม หรือจัดของอย่างไร ฯลฯ

เอาละครับ ขี่ม้าเลียบค่ายจบแล้ว

ก่อนจะไปต่อ  ข้อพิจาณาหลักก็คือ เรารู้จักตัวเองดีพอหรือยัง เรารู้จักผลิตภัณฑ์ของเราดีพอหรือยัง เรารู้จักความต่างของสินค้าของเราดีพอหรือยัง และเรารู้จักเขา (ผู้ซื้อ) หรือยัง    (เรา ในที่นี้ คือ ตัวเจ้าของ / ผู้ผลิต)   

จากนี้ไปจะเป็นเรื่องที่ได้พบเห็น และควรจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร ครับผม
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 12, 20:38
เรื่องแรก

เราต้องเลิกระบบคิดที่ว่า ...ที่สุดในโลก   .....ที่สุดในประเทศ   ....ได้รับรางวัลที่หนึ่งของประเทศ  ฯลฯ

ระบบนี้เป็นระบบคิดที่เอาของทั่วประเทศมาประกวดกัน แข่งขันกันเพื่อตัดสินว่าของใคร ที่ใหน เรื่องอะไรเป็นสุดยอด  คัดเลือกแล้วก็ถ่ายรูปเอาไปป่าวประกาศโฆษณาทั่วโลกว่า หน้าตาของดีเป็นอย่างนี้นะ ยกตัวอย่างเช่น ต้มยำกุ้ง ก็มีทั้งน้ำใส ใส่น้ำพริกเผา ใส่กะทิ  ในปัจจุบันนี้หากต้มยำกุ้งไม่มีสีแดงเป็นจุดๆลอยอยู่บนผิวหน้า ก็จะถูกมองว่าไม่ใช้ของจริง ทั้งๆที่ของจริง สีแดงๆที่ลอยอยู่นั้นคือมันกุ้ง แต่ได้ถูกแต่งเติมให้ดูเหมือนด้วยน้ำพริกเผา เป็นต้น  เป็นผลทำให้ของดีของแท้จริงๆถูกบดบังไป   ขนมทองม้วนก็เช่นกัน เอามาจัดประกวดการสร้างสรรค์กัน ใส่ใส้นั่น ใส่ใส้นี่ แล้วก็เลือกกันว่าใส่ใส้หมูหยองชนะเลิศ  และไม่รู้ขนมทองม้วนเป็นของคาวหรือของหวานกัน แถมฝันว่าจะส่งออกได้อีก หารู้ไม่ว่าอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบนั้นยุ่งยากเพียงใดในการนำเข้าประเทศหนึ่งประเทศใด       

ของดีที่สุด (สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง) ในสายตาของคนในพื้นที่หนึ่ง ในหมู่บ้านหนึ่ง ในท้องถิ่นหนึ่ง ในภาคหนึ่ง ย่อมต่างกับของคนนอกถิ่นนั้น จะเอากรรมการเพียงไม่กี่คนเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศมาตัดสินว่าอะไรเป็นที่สุดของคนทุกภาคทั่วทั้งประเทศได้อย่างไร

ระบบมันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการจัดประกวดเพื่อคัดเลือกและโฆษณา แต่มันควรจะเป็นเรื่องของนำเสนอให้ผู้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีอะไรบ้างในถิ่นนี้ มีความแตกต่างอย่างไร อยู่ที่ใหน หมูบ้านใด ดำบลใด อำเภอใด แล้วให้ผู้คนทั่วไปได้ตัดสินเอง ทำในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 12, 21:14
ผมเห็นว่าเราต้องรู้จักและมีความสุนทรีย์ในของดีประจำถิ่นของเราเองให้มากๆ

ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่ทุกคนในโลกยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพดีมาก หอมและอร่อยนุ่มนวลมาก ในเนื้อแท้ของข้าวหอมมะลิที่ไปขายอยู่ในโลกนี้ มีทั้งที่เป็นข้าวหอมมะลิล้วนๆ หรือมีอยู่ไม่เกิน 95%ที่เหลือเป็นข้าวอื่นผสม หรือมีสัดส่วนน้อยกว่านั้นอีก หรือไม่ใช่ข้าวหอมมะลิเลย (ที่เรียกกันว่าข้าวปทุม) 

ชาวต่างชาติทั้งหลายกลับไปบ้านแล้ว ติดใจซื้อข้าวหอมมะลิมาหุง แล้วก็บ่นว่า ไม่เห็นเหมือนกับที่กินในเมืองไทยเลย แน่นอนว่าคงจะไม่เหมือนกันด้วยหลายสาเหตุ ตั้งแต่ข้าวใหม่ ข้าวเก่า ข้าวผสม หรือข้าวที่ไม่ใช่หอมมะลิเลย รวมทั้งวิธีการหุงข้าว ปริมาณน้ำที่ใช้ และการซาวข้าว

ประเด็นอยู่ที่ว่า ชาวบ้านชาวนาทั้งหลายรวมทั้งเราเองด้วยน่าจะใช้สภาพดังที่เล่ามานี้จำแนกความต่างให้มีความเป็นเฉพาะและสุนทรีย์มากขึ้นเมื่อใช้บริโภคภายใน เราในฐานะคนไทยน่าจะลงไปเลือกซื้อกินถึงระดับว่าปลูกมาจากที่ใหน จังหวัดใด และเลือกซื้อกินข้าวที่เป็นหอมมะลิล้วนๆไม่มีปน   ข้าวก็มีสหกรณ์ มีโรงสีประจำถิ่น ปัจจุบันนี้จึงมีข้าวที่ใส่ถุงขายที่บอกแหล่งผลิตกันแล้ว ซึ่งบางแห่งก็ระบุชัดเลยว่าผสมหรือไม่ผสม เพียงแต่เราจะเลือกด้วยความสุนทรีย์นี้ มันก็จะส่งผลลงไปถึงชาวบ้านทั้งทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจของเขาที่จะพัฒนาและมีกำลังใจในการผลิตของที่ดีๆ ปากของเราที่แนะำนำกันต่อๆไปทั้งระหว่างเราด้วยกันเองหรือกับคนต่างชาติ คือตัวช่วยตัวหนึ่งสำหรับชาวนาชาวบ้านในท้องถิ่น   
เป็นเรื่องของการรู้เรา รู้จักตัวตนของเรา มีของอะไรดี มีของอะไรไม่ดี มีของอะไรที่อยากจะปกป้องปิดบัง หรือมีของอะไรที่อยากจะส่งเสริม เปิดเผยเพื่อประโยชน์ใด


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 19 ก.ค. 12, 15:46
คุณตั็งพูดถึงข้าวหอมมะลิของไทย ทำให้นึกถึงเมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสพุดคุยกับเจ้าของร้านขายข้าวสารที่อยุธยา

บ่นกับเขาว่าทำไมข้าวสารที่เราสามารถซื้อหาได้ในซุปเปอร์ หรือตามร้านข้าวสาร จึงหุงแล้วไม่หอมเท่าที่ควร

แต่เวลาไปเที่ยวยุโรป ร้านอาหารจีนกลับมีข้าวหอมมาก หอมมาแต่ไกล  หอมเหมือนสมัยเด็กๆที่เราเคยทาน

เธออธิบายว่า ข้าวสารเกรดดีๆ ราคาจะสูงมาก เขามักจะส่งออก เพราะขายตลาดในประเทศได้ยาก จะมีก็แต่

คนที่รู้ ....วงในเท่านั้นที่จะเก็บไว้ทานกันในครอบครัว  ว่าแล้วเมื่อ2-3 วันมานี้เธอก็ส่งมาให้ได้ชิม 1 ถุงใหญ่

ข้าวหอมใหม่ที่ดีดูเหมือนจะมีที่เชียงราย กับ .....อีกสักแห่ง (จำไม่ได้) และจะได้ข้าวราวเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่

ดีที่สุด  เดี๋ยวนี้เราซื้อข้าวถุงที่มีขายตลอดปี  โดยไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลย ข้าวหมดเมื่อไหร่ก็ไปซื้อมา  ก็เท่านั้น....


ในขณะที่ญี่ปุ่น คนหนุ่มสาวที่ทำงานจำเจในเมืองเริ่มเบื่อหน่าย แล้วออกไปเช่าที่นาเพื่อเริ่มทำนากันบ้างแล้ว

(โดยอาจทำบางช่วงเวลา )

หากเราคิดดูว่า คนหนุ่มสาวสมัยนี้สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากหลายทาง ลองออกไปทำนาดูบ้าง ทำพอให้มีกิน

มีขายบ้างก็อาจทำให้การทำนาได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ภายใต้การเรียนรู้ และแก้ปัญหาของคนรุ่นใหม่

เมื่อไม่นานมานี้รายการทีวีรายการหนึ่งไปสัมภาษณ์เด็กหนุ่มลูกชาวนาไทย  เคยมาทำงานในกรุงเทพอยู่ระยะหนึ่ง เป็นมนุษย์เงินเดือน

แล้วพบว่า หามาได้เท่าไหร่ กิน ใช้ หมดไม่เหลือเก็บ แต่พอมาช่วยทางบ้านทำนา 100 ไร่ ใช้เวลาไม่กี่เดือน ก็มีรายได้ ปีละ 6 แสนบาท

อายุยี่สิบกว่าๆ แกค้นหาความรู้และลองผิดลองถูก พัฒนา จนเป็นผลสำเร็จ ลดต้นทุน ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ

เห็นภาพนี้แล้วก้อดปลื้มใจไม่ได้



 

   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 19 ก.ค. 12, 16:00
เราเป็นเมืองข้าวก็จริง แต่ความรู้เรื่องคุณภาพที่แตกต่างของข้าวแต่ละชนิดก็แทบไม่รู้เรื่องเลย

ดิฉันเคยขอให้นักเขียนคอลัมภ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง เขียนเรื่องข้าวว่าเรามีข้าวอะไรบ้าง

เพราะนักเขียนท่านนั้นเป็นคนอยุธยา  ท่านก้เขียนให้ตามคำขอ แต่หลายปีมาแล้วคะ

ส่วนการหุงข้าวเดี่ยวนี้มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ช่วยได้มาก เมื่อเร็วๆนี้มีคนในครอบครัวไปอยู่ที่แคนาดา

เกือบ 2 เดือน โดยพักอยู่กับคนจีนที่ไปปักหลักอยู่ที่นั่นหลาย สิบปี  (บ้านหลังนั้นมีคนจีน 3 คน เกาหลีอีก 1 คน

และคนไทย 1 คน) แต่ทุกเย็นจะมีการหุงข้าว ทำกับข้าวแบบจีน 3-4 อย่าง แม่บ้านเป็นคนมีฝีมือในการปรุงอาหาร

ก็เลยอิ่มเอม เปรมปรีด์กลับมา  เสียดายแต่ไม่รู้ว่าข้าวนั้นไปจากประเทศอะไร จากไทยหรือเปล่า


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 16:31
ระบบมันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการจัดประกวดเพื่อคัดเลือกและโฆษณา แต่มันควรจะเป็นเรื่องของนำเสนอให้ผู้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีอะไรบ้างในถิ่นนี้ มีความแตกต่างอย่างไร อยู่ที่ใหน หมูบ้านใด ดำบลใด อำเภอใด แล้วให้ผู้คนทั่วไปได้ตัดสินเอง ทำในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

ประเด็นอยู่ที่ว่า ชาวบ้านชาวนาทั้งหลายรวมทั้งเราเองด้วยน่าจะใช้สภาพดังที่เล่ามานี้จำแนกความต่างให้มีความเป็นเฉพาะและสุนทรีย์มากขึ้นเมื่อใช้บริโภคภายใน เราในฐานะคนไทยน่าจะลงไปเลือกซื้อกินถึงระดับว่าปลูกมาจากที่ใหน จังหวัดใด และเลือกซื้อกินข้าวที่เป็นหอมมะลิล้วนๆไม่มีปน   ข้าวก็มีสหกรณ์ มีโรงสีประจำถิ่น ปัจจุบันนี้จึงมีข้าวที่ใส่ถุงขายที่บอกแหล่งผลิตกันแล้ว ซึ่งบางแห่งก็ระบุชัดเลยว่าผสมหรือไม่ผสม เพียงแต่เราจะเลือกด้วยความสุนทรีย์นี้ มันก็จะส่งผลลงไปถึงชาวบ้านทั้งทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจของเขาที่จะพัฒนาและมีกำลังใจในการผลิตของที่ดีๆ ปากของเราที่แนะนำกันต่อๆไปทั้งระหว่างเราด้วยกันเองหรือกับคนต่างชาติ คือตัวช่วยตัวหนึ่งสำหรับชาวนาชาวบ้านในท้องถิ่น

เมื่อคนตระหนักว่าสินค้าท้องถิ่นไหนดีอย่างไร คงต้องถึงเวลาไปขึ้นทะเบียนสินค้าตามพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00131867.PDF)

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 16:36
ในขณะที่ญี่ปุ่น คนหนุ่มสาวที่ทำงานจำเจในเมืองเริ่มเบื่อหน่าย แล้วออกไปเช่าที่นาเพื่อเริ่มทำนากันบ้างแล้ว

(โดยอาจทำบางช่วงเวลา )

หากเราคิดดูว่า คนหนุ่มสาวสมัยนี้สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากหลายทาง ลองออกไปทำนาดูบ้าง ทำพอให้มีกิน

มีขายบ้างก็อาจทำให้การทำนาได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ภายใต้การเรียนรู้ และแก้ปัญหาของคนรุ่นใหม่

ที่ญี่ปุ่น ใคร ๆ ก็อยากเป็นชาวนา  

http://www.youtube.com/watch?v=3mIHgEPEAu4

แต่ที่เมืองไทยมีสารพัดปัญหา อาชีพชาวนาไม่มีใครใคร่อยากเป็น

 :(


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 12, 18:53
เราเป็นเมืองข้าวก็จริง แต่ความรู้เรื่องคุณภาพที่แตกต่างของข้าวแต่ละชนิดก็แทบไม่รู้เรื่องเลย

เป็นเรื่องจริง ที่เราไม่ค่อยจะรู้จักเรื่องข้าวของเราเอง คนต่างชาติที่ผมเคยพบมาเขายังมีความสนใจมากถึงขนาดบอกได้ว่านี่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลินี่ อย่างว่าแหละครับ เราอยู่กับมันจนเคยชิน สุนทรีย์ของเราเลยมีน้อย เอาเพียงว่าคนขายบอกว่าข้าวหอมก็ข้าวหอม เอามาหุงแล้วก็เพียงบ่นว่าแข็งไป อ่อนไป แฉะไป เอาความเคยชินเข้าว่าเคยซื้อตรานี้ดีก็ซื้อต่อไป เขาถามว่าจะเอาข้าวใหม่หรือข้าวเก่า เลือกไม่ถูกก็บอกว่าเอากลางเก่ากลางใหม่ ทั้งๆที่เราสามารถปรับปริมาณน้ำที่ใส่ลงไปแถมยังสามารถดงได้พอสมควร (แม้กระทั่งหม้อข้าวไฟฟ้าก็ตาม) เพื่อให้ข้าวออกมาเม็ดสวย แข็ง หรือนิ่ม ซึ่งทำการปรับได้ถึงขนาดจำนวนครั้งที่เราซาวข้าว    สุนทรีย์ยังมีได้ถึงขนาดเลือกข้าวที่จะกินได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะของกับข้าวที่เรากินตามปรกติอีกด้วย

การหุงด้วยหม้อข้าวไฟฟ้ารุ่นเก่าก็ต่างกับหม้อรุ่นใหม่ที่เราเลือกซื้อมาเพื่อความทันสมัย หม้อรุ่นเก่าใช้วิธีการหุงแบบต้มให้เดือดคล้ายการหุงข้าวแล้วดงแบบสมัยเก่า แต่หม้อรุ่นใหม่ใช้วิธีหุงแบบนึ่งให้ระอุ ข้าวสวยที่ได้ออกมาจึงไม่ค่อยจะเหมือนกัน  ผมยังนิยมใช้หม้อรุ่นเก่าอยู่ ได้ทั้งข้าวตามที่ต้องการและความเร็วในการหุงด้วย และก็ยังใช้วิธีวัดปริมาณนำด้วยข้อนิ้วมือประมาณเกือบๆองคุลีเป็นหลัก 



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 12, 20:15
...เมื่อคนตระหนักว่าสินค้าท้องถิ่นไหนดีอย่างไร คงต้องถึงเวลาไปขึ้นทะเบียนสินค้าตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00131867.PDF)

ถูกต้องครับ ผมเคยกล่าวถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนในลักษณะนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อครั้งยังไม่เกษียณ (ไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้มีการขึ้นทะเบียนไปกี่รายการ กี่เรื่องแล้ว)  เคยยกตัวอย่าง เช่น เรื่องของ Scotch Whisky และส้ม Sunkist ของ California      เรามีของเราตั้งเยอะแยะที่ควรมีการขึ้นทะเบียน เช่น ทุเรียนนนท์ (แทบจะไม่มีแล้ว) ทุเรียนระยอง (ส่งออกไปทั่วโลกแล้ว) เงาะโรงเรียน ลองกองตันหยงมัส ส้มบางมด (ไม่มีไปแล้ว) มวยไทย ฤๅษีดัดตน (นวดแผนไทย) ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท สัปะรสภูแล (แม่จัน) ข้าวเสาให้ (สระบุรี) ข้าวหอมมะลิ (สุรินทร์,ศรีสะเกษ)ข้าวสังข์หยดหรือหยอด (พัทลุง) ข้าวเหนียวเขี้ยวงู (แม่จัน) ฯลฯ

เรื่องของเรื่อง ผู้ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ คงมิใช่ชาวบ้าน จะต้องเป็นส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรหรือกระทรวงพาณิชย์  ชาวบ้านหรือชุมชนเขาไม่รู้วิธีการและความสลับซับซ้อนของกระบวนขึ้นทะเบียนการหรอก แถมไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก   จะอ้างว่าส่วนราชการทำเองไม่ได้ก็ใช่  ก็ Lobby ให้ใครยื่นขอก็ได้มิใช่หรือ

เกิด AEC แล้วจะเป็นเช่นไร หากเราไม่มีกระบวนการคุมเข้มในเรื่องเหล่านี้    ความตกลงพื้นฐานทั้งหลายที่เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางการค้าการลงทุน ก็คือ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งผลก็คงพอจะได้เห็นกันอยู่แล้ว ดังกรณ๊เช่น ชื่อข้าวหอมมะลิก็ไปแล้ว   ลิ่นจี่ในตลาดโลกก็ไปจากอัฟริกาแล้ว (แม้ต้นตอจะมาจากจีน แต่ไทยทำให้มันดังไปทั่วโลก)   มังคุดก็รู้เป็นเลาๆว่ามีการพัฒนาอยู่ในออสเตรเลีย  ข้าวเมล็ดป้อมสั้นที่ญี่ปุ่นเขากินกัน (สายพันธุ์ Japonica) ก็ไม่ต่างไปจากข้าวที่ปลุกกันโดยชาวเขาในบ้านเรา ที่เรียกกันว่าข้าวไร่ (ของดีอยู่ที่บ้านไร่ อุทัยธานี) ฯลฯ 

หากไม่ค้นให้รู้ว่าตนเองมีอะำไรดีบ้าง แล้วคนไทยและชาวบ้านจะเหลือให้ไปต่อสู้ในสังคมที่เปิดมากขึ้น         


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 20:55
ถูกต้องครับ ผมเคยกล่าวถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนในลักษณะนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อครั้งยังไม่เกษียณ (ไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้มีการขึ้นทะเบียนไปกี่รายการ กี่เรื่องแล้ว)  เคยยกตัวอย่าง เช่น เรื่องของ Scotch Whisky และส้ม Sunkist ของ California      เรามีของเราตั้งเยอะแยะที่ควรมีการขึ้นทะเบียน เช่น ทุเรียนนนท์ (แทบจะไม่มีแล้ว) ทุเรียนระยอง (ส่งออกไปทั่วโลกแล้ว) เงาะโรงเรียน ลองกองตันหยงมัส ส้มบางมด (ไม่มีไปแล้ว) มวยไทย ฤๅษีดัดตน (นวดแผนไทย) ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท สัปะรสภูแล (แม่จัน) ข้าวเสาให้ (สระบุรี) ข้าวหอมมะลิ (สุรินทร์,ศรีสะเกษ)ข้าวสังข์หยดหรือหยอด (พัทลุง) ข้าวเหนียวเขี้ยวงู (แม่จัน) ฯลฯ

เปิด ข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา  (http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=237&dir=ASC&order=name&Itemid=372&limit=8&limitstart=40) ทราบว่าขึ้นทะเบียนไว้จนถึงปัจจุบัน ๔๖ รายการ  รายการที่คุณตั้งเอ่ยถึงก็มีอยู่หลายรายการ

สินค้าต่างประเทศก็มีอยู่หลายรายการ แชมเปญ, คอนยัค, สก๊อตช์ วิสกี้, ตากีล่า มากันครบ  ;)

ทุเรียนนนท์เพิ่งมีประกาศขึ้นทะเบียนล่าสุดต้นปีนี้เอง

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 12, 21:23
^
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ    ดีใจที่ได้ทราบว่ามีการดำเนินการไปมากแล้ว

ทำให้นึกถึงผลไม้อีกอย่างหนึ่ง คือ ฝรั่งไทย    วันหนึ่งก็ไปเห็นในงาน Food Expo    เห็นเม็กซิโกเอาฝรั่งมาแสดงเพื่อขยายการส่งเสริมการส่งออก  เห็นรูปทรงและขนาดแล้วคล้ายฝรั่งพื้นบ้านของไทยไม่มีผิด  ลองชิดู อะฮ้า ก็ฝรั่งบ้านเรานี้เองไม่ผิดเพี้ยนเลย ทั้งความแข็งของเนื้อ รสชาติ และกลิ่น  ยังคิดเลยว่า เราเที่ยวไปเอาพันธุ์อะไรต่อมิอะไรมาปลูกกัน  แทนที่จะพัฒนาพันธุ์พื้นบ้านของเราเอง  ตัวผมเองยังนิยมฝรั่งพันธุ์พื้นบ้านไทยอยู่ ปลูกเองไว้เหมือนกัน  เช่นเดียวกับน้อยหน่า เท่าที่ประสบมา คนต่างชาติชอบน้อยหน่าพื้นบ้านของเรามาก หากยิ่งสามารถนำเสนอการทำแบบกาพย์ชมของคาวหวาน ก็คงจะยิ่งเป็นสิ่งสุดยอดจริงๆ     ไปตามตลาดต่างๆก็เห็นแต่คนถามหาซื้อน้อยหน่าเดิมของไทย แต่หายากชมัดเลย คงจะเหลือปลูกกันน้อยเต็มทีแล้วนะครับ   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 12, 18:56
ผ้าไหมของไทยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผ้าไหมไทย (ตามความรู้เท่าที่มีของผม) มีลักษณะเด่นอยู่ในสามเรื่อง คือ มีปม มีวิธีการทำลวดลาย และมีลายเฉพาะที่สวยงาม เป็นที่ติดใจของคนต่างชาติมาก

ผู้ชายชาวต่างชาติที่ทำงานในระดับผู้บริหารในวงธุรกิจต่างๆ เมื่อมาเมืองไทย จะต้องหาเวลาตัดชุดสูทไหมไทยเก็บไว้เพื่อใช้ในงานที่เป็นพิเศษหนึ่งชุด สีที่เลือกใช้ก็มักจะเป็นสีในโทนสีอ่อน  ชุดสูทสีอ่อนนี้ในทางธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว เขาจะไม่ใส่ในงานที่เป็นพิธีการหรืองานทางธุรกิจที่สำคัญ จะใช้เฉพาะในงานที่เป็นเรื่องส่วนตัว และงานระหว่างเพื่อนฝูงญาติมิตรเท่านั้น และยังใช้เฉพาะในงานช่วงกลางวันหรือบ่ายก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า คือไม่ใช้ในงานกลางคืน

ผู้หญิงชาวต่างชาติ แน่นอนว่าหากเป็นไปได้ก็จะหาเวลาเลือกซื้อผ้าไหมไทย เท่าที่สังเกตเห็นมา ส่วนมากก็จะชอบผ้าทอที่มีลาย แต่จะซื้อจริงๆก็พวกผ้าพื้นสีต่างๆ และสาเหตุที่ไม่ซื้อกันมากก็เพราะเหตุผลเดียว คือ ดูและรักษายาก และกลัวผ้ามีตัว คือ ผ้าจะถูกแมลงตัวจิ๋วกัดกินเป็นรูโหว่ไปเอง ก็เช่นเดียวกัน จะนำออกมาใช้ก็เฉพาะในงานที่เป็นพิเศษจริงๆ   ชุดแต่งงานมักจะเป็นสีครีมหรือขาวเป็นธรรมดา แต่ชุดไปงานมักจะเป็นสีเข้มที่มีเหลือบสีซึ่งช่วยเปล่งความมันแวววาวออกมา 

ผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์มากพอที่เพียงแต่เห็นก็พอจะเดาได้เลยว่าเป็นผ้าไหมไทย  และดังมากพอที่ผู้สวมใส่จะบอกแบบอวดอย่างภาคภูมใจว่า นี่เป็นผ้าไหมไทย

เท่าที่พอรู้ เราไปกังวลว่าไหมเส้นยืนมันไม่ยาวพอ เลยต้องต่อเส้น ทำให้มันเป็นปม แล้วเราก็รู้สึกไปเองว่ามันไม่สวย (คนอื่นเขาเห็นว่าสวยแต่เราเห็นว่าไม่สวย ) เราก็เลยเอาพันธุ์ตัวไหม หรือสั่งไหมเส้นยืนมาจากต่างประเทศมาผลิตเส้นไหมหรือนำมาทอ  คุณภาพและความเด่นของผ้าไหมไทยก็จึงด้อยลงไป

ผมได้รู้จากเจ้าของพิพิธภัณฑ์ไหมที่โยโกฮามาในญี่ปุ่นว่า ท่าเรือของโยโกฮามานั้น เจริญงอกงามมาได้ก็เพราะการค้าไหมไทยนี้แหละ ตระกูลของเขาก็คือผู้ค้ารายสำคัญ  แม้พันธุ์ไหมของเขาที่พัฒนาตลอดมาจนมีอยูในขณะนี้ 32 พันธุ์ แต่ไหมไทยก็ยังครองความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย

เครื่องมันเริ่มรวน ขอตรวจสอบก่อนครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 20:29
ชุดผ้าไหมในปัจจุบันมีกรรมวิธีให้คงทน และดูแลง่ายขึ้นกว่าเก่า   เช่นอัดผ้ากาวช่วยให้ไม่ยับ     แต่ยังไงมันก็ไม่เหมาะจะใส่สมบุกสมบันอยู่ดี   ต้องซักแห้ง และรีดให้เรียบ     ก็เลยยังเป็นผ้าสำหรับโอกาสพิเศษอยู่ดี   ดิฉันก็เลยชอบผ้าฝ้ายมากกว่า เพราะใช้ได้หลายโอกาสกว่า
ถ้าไปเดินทางท่องเที่ยวทางรัฐตะวันตกที่อเมริกาละก็  ไม่มีอะไรดีกว่าเสื้อยืดและกางเกงยีนส์   ไม่ต้องซักไม่ต้องรีดเลยละค่ะ จนกว่าจะกลับบ้าน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 12, 19:25
ขออภัยครับ เมื่อวานนี้ต้องจบลงห้วนๆ เครื่องคอมพ์มันรวนครับ  ไวรัสก็ไม่มี สงสัยว่าพวกไฟล์สกุล .dll จะทะเลาะตีรวนกัน  พอจับเข้าแถวใหม่ก็หาย (คิดว่า)

ชุดผ้าไหมในปัจจุบันมีกรรมวิธีให้คงทน และดูแลง่ายขึ้นกว่าเก่า   เช่นอัดผ้ากาวช่วยให้ไม่ยับ     แต่ยังไงมันก็ไม่เหมาะจะใส่สมบุกสมบันอยู่ดี   ต้องซักแห้ง และรีดให้เรียบ     ก็เลยยังเป็นผ้าสำหรับโอกาสพิเศษอยู่ดี   ดิฉันก็เลยชอบผ้าฝ้ายมากกว่า เพราะใช้ได้หลายโอกาสกว่า
ถ้าไปเดินทางท่องเที่ยวทางรัฐตะวันตกที่อเมริกาละก็  ไม่มีอะไรดีกว่าเสื้อยืดและกางเกงยีนส์   ไม่ต้องซักไม่ต้องรีดเลยละค่ะ จนกว่าจะกลับบ้าน

ถูกต้องเลยครับ ผ้าไหมในปัจจุบันดูแลง่ายกว่าแต่ก่อนมาก แต่คนทั่วไปส่วนมากก็ยังคงเห็นว่ายากอยู่ดี      ผมไม่ทราบว่าวิธีการดูและรักษาผ้าไหมของจีนเป็นอย่างไร แต่ที่ญี่ปุ่นนั้น สำหรับชุดกิโมโนและผ้าคาดเอวซึ่งทำด้วยผ้าไหมนั้นมีราคาแพงมากๆ (ในปัจจุบันเป็นหลักล้านเยน เคยเห็นที่เขาขายหลัก 20 ล้านเยนก็มี) คนญี่ปุ่นสมัยก่อนเขาจึงไม่ซักกัน ขนาดเดินดูตามตลาดของเก่าเพื่อหาซื้อผ้าคาดเอว (โอบิ) เอามาเป็นผ็าปูตู้ ปูโต๊ะ กลิ่นนี้อบอวนเลยไปทั้งแผงเลยทีเดียว  นึกภาพไม่ออกเลยว่าสมัยนั้นในงานที่มีคนเดินสวนกันหนาแน่น กลิ่นจะขนาดใหน
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 12, 20:57
ผมมาสนใจที่ผ้าไหมไทยมีการผลิตและการใช้กันมากในภาคอีสาน ผู้ชายก็มีโสร่งเป็นตาตะรางสีสดใสนุ่งกัน     มีแหล่งผลิตและเอกลักษณ์ประจำของวิธีการผลิตและของลายผ้าอยู่มากมาย อาทิ ตีนจก แพรวา ลายน้ำไหล มัดหมี่ ฯลฯ สารพัดมากมายจริงๆ  นอกจากนั้นยังเกือบจะเรียกได้ว่ามีการใช้ผ้าไหมกันอยู่เป็นประจำ มีการใส่กันจนเก่า ซึ่งก็ยอมต้องมีวิธีรักษาและทำความสะอาด จนทำให้ผ้าไหมเหล่านั้นยังคงมีความสวยงามอยู่ได้ตามสมควร

ประเด็นไปอยู่ที่ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งหากมีการปรับกระบวนทัศน์และการประชาสัมพันธ์ทีดี  ก็ย่อมจะแปรเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถจะแสวงประโยชน์ได้พอควรในสังคมเปิด AEC

การแปรสภาพจากผ้่าไหมผืนไปเป็นของใช้ต่างๆนั้น ผ้่าไหมท้องถิ่นของเราถูกเบียดบังไปด้วยผ้าไหมพิมพ์มากมาย  เครื่องใช้หลายอย่างได้ถูกออกแบบและทำขายในลักษณะเป็นของที่ระลึกในราคาที่สูงแต่ look cheap  เป็นลักษณะของฝากมากกว่าที่จะเป็นของใช้ที่มีราคาประจำตนหรือประจำบ้านจริงๆ    

ตัวอย่างหนึ่ง  กรณ๊สำหรับผู้ชาย เสื้อผ้าไหมก็เป็นเชิร์ตแบบลำลอง ทรงเสื้อแบบฟิลิปปินส์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ฝรั่งจะซื้อไปใช้ก็หางานที่จะใส่โชว์ได้ยาก จะผูกเน็คไทด์ก็ไม่ไปไหนด้วยกันเลย   เน็คไทด์ไหมไทยที่ผลิตขายกันก็สั้นมาก หากผูกแบบ full windsor อีกชายหนึ่งก็แทบจะไม่พ้นปมผูกที่คอ  สีสรรลวดลายที่สุภาพแบบไฮก็แทบจะไม่มี มีแต่ลายแบบที่ใส่ไปโชว์ในงานประจำปีของชุมชนได้ ฯลฯ ได้เคยมีโอกาสหลายครั้งพูดกับผู้ผลิตและส่วนราชการที่ดูแลและส่งเสริม มากกว่าสิบปีมาแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย   ผ้าเช็ดหน้าสีอ่อนสวยๆที่ใช้เหน็บกระเป๋าเสื้อสูท ก็หายากและดูจะไม่ค่อยทำขาย  

กรณีสำหรับผู้หญิง  ปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง คือมีเงินจะซื้อผ้าไหมผืนได้ แต่ไปมีปัญหาที่จะหาช่างตัดเมื่อกลับไปบ้าน ราคาค่าตัดนั้นสูงมากอยู่แล้ว ที่ทราบคือไม่มั่นใจว่าช่างคตัดเสื้อจะมีความสามารถในการตัดเย็บหรือไม่ ก็เลยไม่ค่อยจะซื้อกัน ยกเว้นจะเป็นพวกที่มีเงินจริงๆ  ที่จริงทางแก้ก็มีนะครับ เช่น การสะแกนตัว (ทรวดทรง) เป็นข้อมูลให้ช่างในเมืองไทยตัด หรือส่งมาให้ช่างไทยตัดแล้วส่งชุดที่ตัดกลับไปให้ ปัญหามีอยู่นิดเดียว ช่างไทยที่เป็นคนตัดเย็บจริงๆก็ไม่มีคอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์ ในขณะที่ร้านขายผ้าแม้จะมีเครื่องก็ต้องแปลงข้อมูลนั้นไปเป็นข้อมูลที่ช่างตัดเย็บจะทำแพทเทิร์นได้  ไม่ทราบเหมือนกันว่าในปัจจุบันนี้ได้มีการทำกันแพร่หลายหรือยัง  

จะอยู่รอดกับการแข่งขันใน AEC อย่างน้อยก็คงต้องพัฒนาไปบ้างตามที่เล่ามานี้      

  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 21 ก.ค. 12, 23:28
ในระยะราว 5 ปีมานี้ ผ้าไหมไทยได้รับความนิยมในหมู่หน่วยงานราชการ ก็เลยได้ใช้กับเขาบ้าง

และโชคดีตรงที่ได้พบช่างที่มีฝีมือการตัดเย็บที่ไม่เชย คือรูปทรงสมัยใหม่ ฝีมือดีและราคาพอจะอุดหนุนได้

เธอมีพื้นฐานเป็นคนโคราช ที่บ้านทอผ้าไหมเอง หลังจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ เรียนมหาวิทยาลัย

ทำงานธนาคารได้สักระยะ ก้ออกมาทำร้านตัดเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูปและ วัดตัวตัดด้วยจึงมีลูกค้าระดับอาจารย์มหาลัย

หมอ ลูกค้าธนาคาร มาอุดหนุนไม่ขาดสาย ....จนตั้งตัวได้ดีกว่าทำงานรับเงินเดือน

สังเกตว่าผ้าไหมที่ร้านเธอ...สวยด้วยเส้นไหม สีสัน และลวดลาย เฉพาะ ไม่เหมือนที่วางขายกันทั่วไป

แม้ในห้างใหญ่ ....น่าภูมิใจแทนเธออย่างยิ่ง 

ที่ไม่ชอบคือการติดผ้ากาวด้านในเพื่อให้เสื้อผ้าอยู่ทรง ดูแลง่าย แต่ก็ร้อน และแข็งไปหมด

ถ้าตัดเสื้อเชิ้ตก็จะเน้นว่าไม่เอาผ้ากาวนะ....

กิจการของเธอก้าวหน้าเป็นลำดับ ถึงขั้นไปเปิดสาขาที่สิงคโปร์ แต่ราคาในเมืองไทยก็ยังถูกกว่าในห้างแบบครึ่งต่อครึ่งคะ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 21 ก.ค. 12, 23:39
ถ้าภาครัฐบาล สนับสนุนอย่างจริงจังเชื่อว่า ผ้าไหมของไทยยังพัฒนาไปได้อีกมาก

แต่ที่น่าเป็นห่วงกลับเป็นผ้าทอพื้นเมือง เช่นที่บ้านไร่ อุทัยธานีมีหมู่บ้านที่ทอผ้า เป็นพวกลาว....(อะไรสักอย่าง)

ลวดลายสีสันสดใส สะดุดตา แต่ก็ยากที่จะนำมาใช่ในชีวิตประจำวัน หมู่บ้านนี้ได้รับรางวัลใหญ่ๆระดับประเทศก็จริง

แต่การสร้างรูปทรงยังล้าหลังอยู่มาก เป็นลักษณะการเลียนแบบกันมากกว่าจะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ จึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

แถมไม่แน่ใจเรื่องสีตกอีกด้วย  ผ้าทอลวดลายเหล่านี้จึงเหมาะจะแขวนโชว์ลวดลายมากว่าคะ

นานมาแล้วดิฉันเคยได้รับผ้าฝ้ายทอมือจากชาวอิสาน สีขาวทั้งผืน พอสัมผัสก็รู้ว่าเป้ฯผ้าเนื้อดี ยิ่งใช้ ยิ่งซักก็ยิ่งนุ่ม

ก็เลยเก็บไว้เป็นผ้าคลุมไหล่บ้าง ผ้าพันคอบ้าง

เรื่องเนื้อผ้าฝ้าย ที่ให้สัมผัสที่นุ่มนวลเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 12:15
กรณีสำหรับผู้หญิง  ปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง คือมีเงินจะซื้อผ้าไหมผืนได้ แต่ไปมีปัญหาที่จะหาช่างตัดเมื่อกลับไปบ้าน ราคาค่าตัดนั้นสูงมากอยู่แล้ว ที่ทราบคือไม่มั่นใจว่าช่างคตัดเสื้อจะมีความสามารถในการตัดเย็บหรือไม่ ก็เลยไม่ค่อยจะซื้อกัน ยกเว้นจะเป็นพวกที่มีเงินจริงๆ  ที่จริงทางแก้ก็มีนะครับ เช่น การสะแกนตัว (ทรวดทรง) เป็นข้อมูลให้ช่างในเมืองไทยตัด หรือส่งมาให้ช่างไทยตัดแล้วส่งชุดที่ตัดกลับไปให้ ปัญหามีอยู่นิดเดียว ช่างไทยที่เป็นคนตัดเย็บจริงๆก็ไม่มีคอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์ ในขณะที่ร้านขายผ้าแม้จะมีเครื่องก็ต้องแปลงข้อมูลนั้นไปเป็นข้อมูลที่ช่างตัดเย็บจะทำแพทเทิร์นได้  ไม่ทราบเหมือนกันว่าในปัจจุบันนี้ได้มีการทำกันแพร่หลายหรือยัง 

จะอยู่รอดกับการแข่งขันใน AEC อย่างน้อยก็คงต้องพัฒนาไปบ้างตามที่เล่ามานี้     
หลายปีแล้ว จำได้ว่ามีร้านตัดเสื้อในโรงแรมสี่ดาวห้าดาวที่รับตัดเสื้อวันเดียวได้ให้ลูกค้าชาวต่างประเทศ  แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังทำกันอีกไหม   เท่าที่เห็นตามถนนหนทางในกรุงเทพ ร้านตัดเสื้อแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว   ถูกเสื้อสำเร็จรูปตีตลาดหมด 
เสื้อไหมไทย หรือฝ้ายไทย ถ้าจะโกอินเตอร์ก็ต้องเลือกแบบที่ผู้หญิงฝรั่งใส่      เท่าที่เห็น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางรัฐตะวันตกมักสวมเสื้อสูททับเสื้อตัวใน นุ่งกระโปรงแคบหรือกางเกง ถือเป็นชุดสุภาพเป็นงานเป็นการ  แบบก็ไม่ค่อยจะเปลี่ยน
อย่างแบบเสื้อข้างล่างนี้ เป็นแบบที่สาวออฟฟิศชาวอเมริกันใส่กัน  แต่ต้องเลือกแบบและสีสันไม่ให้สะดุดตาเกินไป    ปัญหาต่อไปคือคุณภาพของผ้า คงทน และดูแลยากหรือง่าย สู้ของเขาได้ไหม เท่านั้นเอง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 12, 19:14
ในระยะราว 5 ปีมานี้ ผ้าไหมไทยได้รับความนิยมในหมู่หน่วยงานราชการ ก็เลยได้ใช้กับเขาบ้าง และโชคดีตรงที่ได้พบช่างที่มีฝีมือการตัดเย็บที่ไม่เชย คือรูปทรงสมัยใหม่ ฝีมือดีและราคาพอจะอุดหนุนได้  เธอมีพื้นฐานเป็นคนโคราช ที่บ้านทอผ้าไหมเอง หลังจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ เรียนมหาวิทยาลัย
ทำงานธนาคารได้สักระยะ ก้ออกมาทำร้านตัดเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูปและ วัดตัวตัดด้วยจึงมีลูกค้าระดับอาจารย์มหาลัย  หมอ ลูกค้าธนาคาร มาอุดหนุนไม่ขาดสาย ....จนตั้งตัวได้ดีกว่าทำงานรับเงินเดือน
สังเกตว่าผ้าไหมที่ร้านเธอ...สวยด้วยเส้นไหม สีสัน และลวดลาย เฉพาะ ไม่เหมือนที่วางขายกันทั่วไป  แม้ในห้างใหญ่ ....น่าภูมิใจแทนเธออย่างยิ่ง 
ที่ไม่ชอบคือการติดผ้ากาวด้านในเพื่อให้เสื้อผ้าอยู่ทรง ดูแลง่าย แต่ก็ร้อน และแข็งไปหมด
ถ้าตัดเสื้อเชิ้ตก็จะเน้นว่าไม่เอาผ้ากาวนะ....
กิจการของเธอก้าวหน้าเป็นลำดับ ถึงขั้นไปเปิดสาขาที่สิงคโปร์ แต่ราคาในเมืองไทยก็ยังถูกกว่าในห้างแบบครึ่งต่อครึ่งคะ

การก้าวย่างใน AEC อย่างหนึ่งก็คือ การขยายธุรกิจของคนในประเทศประเทศหนึ่งไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ดังที่คุณพวงแก้วเล่ามานี้ครับ เป็นธุรกิจในกลุ่ม SME ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นในระดับ micro เสียด้วยซ้ำไป

จะเห็นว่า เป็นธุรกิจในสาขาบริการ (Service sector) ที่เล่ามาก็จะมาต่อกันในเรื่องนี้แหละครับ
   
ธุรกิจในสาขาอื่นๆ แม้จะเป็นในระดับ SMEs ก็ตาม มักจะไปเิกี่ยวพันกับเรื่องของการลงทุนร่วม การค้าร่วม  กว่าจะเจรจาตกลงกันได้ แถมยังต้องมีเงื่อนไขและสัญญากันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรอีก เป็นเรื่องที่ใช้เวลาพอสมควรทีเดียว  ธุรกิจในสาขาบริการจึงจะเป็นเรื่องแรกที่คนในแต่ละประเทศสมาชิกจะเริ่มดำเนินการและก็จะเป็นธุรกิจที่กระจายตัวไปทั่วทุกหนแห่งเร็วที่สุด

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 12, 20:59
หลายปีแล้ว จำได้ว่ามีร้านตัดเสื้อในโรงแรมสี่ดาวห้าดาวที่รับตัดเสื้อวันเดียวได้ให้ลูกค้าชาวต่างประเทศ  แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังทำกันอีกไหม   เท่าที่เห็นตามถนนหนทางในกรุงเทพ ร้านตัดเสื้อแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว   ถูกเสื้อสำเร็จรูปตีตลาดหมด 
เสื้อไหมไทย หรือฝ้ายไทย ถ้าจะโกอินเตอร์ก็ต้องเลือกแบบที่ผู้หญิงฝรั่งใส่      เท่าที่เห็น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางรัฐตะวันตกมักสวมเสื้อสูททับเสื้อตัวใน นุ่งกระโปรงแคบหรือกางเกง ถือเป็นชุดสุภาพเป็นงานเป็นการ  แบบก็ไม่ค่อยจะเปลี่ยน
อย่างแบบเสื้อข้างล่างนี้ เป็นแบบที่สาวออฟฟิศชาวอเมริกันใส่กัน  แต่ต้องเลือกแบบและสีสันไม่ให้สะดุดตาเกินไป    ปัญหาต่อไปคือคุณภาพของผ้า คงทน และดูแลยากหรือง่าย สู้ของเขาได้ไหม เท่านั้นเอง

ร้านรับตัดเสื้อวันเดียวของผู้หญิงผมไม่ทราบว่ายังคงมีอยู่หรือไม่เช่นกัน แต่ของผู้ชายนั้นยังคงมีครับ เจ้าของร้านเกือบทั้งหมด (จะเรียกว่าทั้งหมดก็คงพอจะได้กระมัง) เป็นพวกแขกโพกผ้า พอทราบอยู่บ้างว่า (ไม่ยืนยัน) รับออเดอร์อย่างเดียว แล้วส่งไปให้พวกห้องแถวซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีนบ้าง คนอีสานบ้างเป็นผู้ตัดเย็บ บางส่วนของเสื้อผ้าที่เย็บจักรได้เนื่องจากไม่ใช่จุดที่จะทำการแก้ไข ก็เย็บเลย ส่วนที่เป็นจุดที่จะต้องแก้ไขปรับแต่งเมื่อลูกค้าลองแล้ว ก็เนาเอาไว้ ที่ร้านรับออเดอร์ก็จะทำการเย็บจักรให้สำเร็จเองในภายหลังเมื่อได้ปรับแต่งแล้ว

เสื้อผ้าของผู้หญิงที่เป็นชุด การตัดเย็บจะยุ่งยากมากว่า   ผมเห็นว่าในยุดโลกหมุนเร็ว ต้องการความคล่องแคล่วว่องไว สะดวก รวดเร็ว พอใช้ได้ ราคาพอเหมาะควรกับสินค้า ใช้ได้หลายโอกาส  ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ การแต่งกายไปทำงานของผู้หญิงเปลี่ยนไปเป็นตามลักษณะที่คุณเทาชมพูได้กล่าวไว้

ผมเห็นว่า หากคนในท้องถิ่นของเราได้รับรู้และเข้าใจลักษณะของสังคมภายนอก เขาก็คงมีโอกาสได้คิดว่าควรจะเลือกผ้าอะไร สีอย่างไร เอามาทำอะไร อย่างไร ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของคนค่างชาติ ต่างถิ่น เขาก็น่าจะมีธุรกิจที่ยั่งยืนได้พอควร โดยเฉพาะในกรณีที่คุณเทาชมพูได้บอกไว้ว่า เสื้อผ้าตัดสำเร็จรูปตีตลาดไปหมดแล้ว     
ที่จริงก็เป็นธุรกิจที่ทำกันอยู่แล้ว แต่ควรมีการพัฒนาในเรื่องพื้นฐานบางอย่าง  เช่น เิริ่มต้นด้วยเรื่องของขนาดเสื้อผ้า จะมีเฉพาะขนาด S M L XL XXL คงไม่พอ มาตรฐานนี้สำหรับคนเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใหน    ถ้าจำไม่ผิด ทุกๆ 5 ปี เขาจะมีตัวเลขแสดงการเปลี่ยนแปลงขนาดของคนชาติพันธุ์หลักต่างๆในทุกสัดส่วน มาตรฐานด้านขนาดมันเปลี่ยนไปเหมือนกัน     น่าจะต้องมีขนาดที่เป็นตัวเลขด้วย ได้แก่ ขนาดที่เป็นตัวเลขหลักสิบ (37, 38 ฯลฯ) และขนาดที่เป็นตัวเลขหลักร้อย (100, 105 ฯลฯ) เป็นต้น   
ดูเหมือนจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต  ที่จริงแล้วทำให้มันอยู่ในด้านบริการก็ได้   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 12, 21:03
พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ เริ่มต้นที่ด้านเกษตรกรรม ต่อไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ต่อไปเป็นอุตสาหกรรม (การผลิต) แล้วก็ต่อไปเป็นอุตสาหกรรมบริการ   หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เริ่มจากผลผลิตที่ผูกพันกับคนจำนวนมาก (หลายเจ้าของ) ไปสู่ผลผลิตที่ผูกพันกับคนจำนวนน้อย (มีเจ้าของน้อยลงไป) ไปสู่หลากหลายธุรกิจในระดับเล็กๆของประชากรที่หาเลี้ยงชีพด้วยสมอง ปัญญา และกำลังความสามารถของตนเอง (ธุรกิจในสาขาบริการ)     จากการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ ไปสู่การผลิตเพื่อขายคนนอกประเทศ ไปสู่การผลิตเพื่อขายคนทั้งโลก    จากการผลิตที่ใช้แรงงานภายใน ไปสู่การผลิตที่อาศัยใช้แรงงานในนอกประเทศ ไปสู่การย้านฐานการผลิต     จากการคิดเองจ้างคนภายในประเทศทำเอง ไปสู่คิดเองแล้วจ้างให้คนนอกประเทศเขาทำให้ ซึ่งด้วยกลัวว่าคนอื่นนอกประเทศเขาจะขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ก็จ้างเขาทำแต่ละชิ้นส่วน แต่ละชิ้นชิ้นงานเล็กๆ แล้วนำเอามาประกอบกันเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อการจำหน่ายด้วยตนเอง
 
ผมเห็นว่าเส้นทางเดินของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นดังที่กล่าวมานี้

ดังภาพที่กล่าวมา ความอยู่รอดของประชากรในระบบเศรษฐกิจที่ภาคการอุตสาหกรรมมีความมั่นคงแล้ว หากไม่เข้าไปอยู่ร่วมด้วยในระบบการผลิตทางอุตสาหกรรม (ลูกจ้าง ผู้รับช่วง_Subcontract and supply chain) ก็จะต้องเป็นการอยู่ได้ด้วยการหากินกับความสามารถสองและปัญญาของตนเอง ซึ่งเกือบทั้งหมดก็คือ ด้านการให้บริการที่ดี มีฝีมือ มีความแตกต่าง มีความเป็นอาชีพ มีคุณภาพ และมีความคุ้มค่าสมราคา    ผมกล่าวถึงเรื่องข้าวและผ้าไหม ก็ด้วยเหตุนี้ และก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างเท่านั้น
     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 12, 21:55
ในเรื่องข้าว  ข้าวดีๆจากถิ่นที่ปลูกดีๆของเราในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ  เมื่อขายไปมันก็ไปรวมอยู่ที่ผู้ซื้อและโรงสีในระดับจังหวัด ระดับภาค จากนั้นมันก็ไปรวมอยู่ในโกดังที่ใดที่หนึ่ง ในเขตพื้นที่ระดับภาค และโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง  ข้าวเหล่านี้ก็มีชื่อเดียวกัน จะเป็นหอมมะลิ หรือเจ็กเชย หรืออะไำรก็ตามแต่  ตามสภาพนี้ คุณภาพเด่นๆที่มีจากแต่ละแหล่งผลิตก็ถูกกลืนหายไปหมดแล้ว   มากไปกว่านั้นเมื่อรัฐหรือเอกชนต้องการระบายข้าว (ขายไปต่างประเทศ) ขายทีละเป็นล้านตัน ก็ต้องแน่นอนว่าต้องมีข้าวจากหลายแหล่งหลายภูมิภาคผสมปนเปกันอยู่ คุณภาพข้าวที่จัดว่าดีที่พอจะมีเหลืออยู่ของภาคต่างๆแทบจะไม่เหลือเลยเมื่อถูกนำมาคละกัน แล้วเราก็ส่งออกในนามข้าวหอมมะลิ ฯลฯ  ซึ่งในล็อตใหญ่กว่านั้นที่ผู้ค้าสินค้าเกษตรต่างชาติ (ได้ฟังมากับหูจากปากคนพ่อค้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ระดับโลก นั่งกินข้าวคุยกันในกรุงเวียนนา) ก็ยังเอาข้าวจากประเทศอื่นๆมาผสมโรงส่ง (ในนามของข้าวไทยบ้างหรือในชื่อของข้าวหอมมะลิบ้าง...ไม่ยืนยัน)  ข้าวที่มีชื่อของไทยก็ไม่เหลืออะไรที่จะเป็นคุณสมบัติพิเศษของตนอีกเลย เหลือแต่ชื่อคำว่าไทยกับคำว่าหอมมะลิ ดีไม่ดีเหลือแต่คำว่า Indica rice เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุจากสภาพนี้ครับ ผมจึงเห็นว่าคนในท้องถิ่นก็น่าจะแสวงประโยชน์ได้จากเอกลักษณ์ของข้าวที่ปลูกในท้องถิ่นของตน

ก็ยังอดดีใจไม่ได้ว่า ในความเงียบนี้ ก็มีกลุ่มคนในบางองค์กรรวมหัวกันส่งเสริมการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ในบางท้องที่ ช่วยกันคนละไม้ละมือทั้งด้านสิ่งของ เงินทอง ให้ความรู้ เสียสละเวลาไปเยี่ยมเยียนพูดคุย ให้กำลังใจ พัฒนาทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นนั้นๆโดยไม่คิดมูลค่าตอบแทน รับซื้อข้าวทั้งหมดจากชาวบ้านที่อยู่ในโครงการ เอามาขายกันในหมู่ กระจายขายไปในหมู่เพื่อนฝูงและญาติมิตร เอาเงินที่ขายได้กลับไปให้กับท้องถิ่นและชุมชนเพื่อการพัฒนาในเรื่องอื่นๆต่อไป จะเรียกว่าเป็น CSR ก็คงได้ แต่มิใช่การทำในนามขององค์กร  โครงการนี้ก็อยู่กันได้นานมาหลายปีแล้ว ไม่หดตัวลง มีแต่ขยายตัวมากขึ้น

ในเรื่องผ้าไหมก็เช่นกัน ผมคิดว่าคงมีคนรุ่นหลังไม่มากนักที่จะรู้ว่ามีการทำผ้าตีนจกดั้งเดิมอยู่ที่ใหนบ้าง เช่น ผ้าตีนจกของหาดเสี้ยวและคูบัว  หรือผ้ามัดหมี่ของกาญจนบุรี ลพบุรี และชัยนาท    ส่วนมากก็มักจะนึกถึงแหล่งผลิตในอิสานเท่านั้น

ไปถึงผ้าฝ้ายจากแหล่งดีๆเฉพาะถิ่น ก็คงมีคนรู้จักน้อยมาก เช่น บ้านน้ำอ่าง (อุตรดิตถ์) เวียงแก่น (เชียงราย) เกาะยอ (สงขลา) ฯลฯ   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 22:19
ดีใจที่ทราบว่ามีโครงการดีๆที่ส่งเสริมการปลูกข้าวมีคุณภาพ    ส่วนโครงการใหญ่ที่มั่วข้าวกันเข้าไปเป็นข้าวจับฉ่ายนั้น ดิฉันไม่หวังอะไรมากกับการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐ  เพราะพอจะเดาได้ถึงความติดขัดต่างๆ ทั้งที่บอกกันได้และบอกกันไม่ได้

ก็เข้ามาติดตามคุณตั้งเล่าต่อไปค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 12, 19:54
ก่อนเกิด AEC ภาคอุตสาหกรรมและการลุงทุนก็มีธุรกรรมทางการผลิต ทางการเงิน การลงทุน และตลาดระบายผลผลิต ข้ามกันไปข้ามกันมา ไขว้กันไปมาอยู่แล้ว เมื่อเกิด AEC ข้อจำกัดต่างๆก็ลดลงเป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้มากขึ้น เท่าที่เห็นคุยอ้างกันมาโดยหน่วยงานทางเศรษฐกิจของรัฐก็อยู่ในเรื่องของธุรกรรมในระดับนี้ นโยบายและการปรับกฎหมายต่างๆก็ดูจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกรรมในระดับนี้   ยังไม่เห็นที่จะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องของคน สังคม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่ย่อมลงมาหรือในระดับเล็กๆเลย

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้อย่างทันตาเห็น คือการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในกิจกรรมและธุรกรรมในสาขาการบริการ ซึ่งผลกระทบในทางบวกที่ชัดเจนที่จะ้ต้องมีการนำมากล่าวถึงในเชิงของผลงานและความสำเร็จก็คือ ภาพที่สัมผัสไม่ได้ (intangible) ในเชิงของความเบ่งบานในเรื่องต่างๆ (prosperity) แล้วพยายามสนับสนุนด้วยขอมูลเชิงปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปเพิ่มขึ้นเฉพาะบางจุดบางเรื่องและบางธุรกรรม (คน กิจการ รายได้ ฯลฯ)     ผลกระทบในทางลบซึ่งเป็นเรื่องจริงที่สัมผัสได้โดยคนหมู่มากจะถูกละเว้นที่จะกล่าวถึง  (ถูกแย่งงาน ของแพงขึ้น ฯลฯ)

เมื่อเกิด AEC ประชากรของอาเซียนจะเดินทางข้ามเขตแดนได้อย่างเสรีมากขึ้น คนก็จะมุ่งไปยังแหล่งที่สามารถแสวงหารายได้ อาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   ถามหน่อยเถอะครับว่าประเทศใดใน 10 สมาชิอาเซียนที่คนจะเดินทางเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ที่กล่าวมา    มิใช่ไทยหรือ      กฎระเบียบกฎหมายของเขาก็มีไม่ต่างไปจากของเรามากนัก แต่ของเรามันค่อนข้างจะมีข้อยกเว้น คิดและตีความแบบศร๊ธนนชัยได้ และยังง้างได้พอสมควร   

ตัวอย่าง
ด้านการแพทย์ ไทยก็เป็นหนึ่งและนำหน้าเขา เราสนับสนุนและส่งเสริมการเป็นฮับในเรื่องนี้  ความเป็นนานาชาติในด้านนี้ก็หมายความว่า บุคลากรในด้านนี้จะต้องสามารถสื่อสารได้กับคนไข้ได้  เมื่อผนวกกับสภาพการณ์ที่ไทยก็เป็นแหล่้งที่ผู้สูงอายุจากซีกโลกตะวันตกและแม้กระทั่งในเอเซียด้วยกันประสงค์จะมาใช้ชีวิตในบั้นปลายในไทย ฯลฯ    อาชีพแพทย์ พยาบาล บริบาร จะมิถูกเบียดเบียนกันไปบ้างหรือเมื่อต้องถูกคัดกรองกันในเชิงของคุณภาพ   

ผมเห็นว่ามีเรื่องน่าเป็นห่วงอยู่หลายเรื่องมาก เช่น ระหว่างค่าแรงที่จะต้องจ่ายให้คนไทยจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย กับค่าแรงของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานที่สามารถจะอ้างเรื่องต่างๆเพื่อให้จ่ายได้ในอัตราที่ต่ำกว่า  ขนาดยังไม่เปิด AEC ก็ยังมีสภาพนี้แล้ว  แล้วต่อไปคนไทยจะหางานและมีรายได้เพียงใด     ที่น่ากลัวไปกว่านั้นอีก คือ คนต่างชาติเหล่านี้มาแต่งงานกับคนไทย แล้วก็ขยันแต่งกันเสียด้วย ได้ลูกได้หลานเกิดเป็นคนสัญชาติไทย โดยหลักการก็คือมีโอกาสนำญาติโกโหติกาเข้ามาอยู่ร่วมด้วย    ฤๅกำลังเข้าสู่ยุคถ่ายโอนเผ่าพันธุ์และทรัพยากรของแผ่นดินไทย

ผมเห็นว่า ไม่ว่าภาพต่อไปมันจะเกิดเช่นใด คนและสังคมในหน่วยย่อยที่สุดของไทยจะต้องมีความแข็งแกร่งและมีความมั่นคง เพื่อรักษาไว้ซึ่งดุลยภาพของชีวิตและสภาพของความเป็นไทย               

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 08:46
ถ้าหากว่าประเทศในอาเซียนประเทศใด มีค่าตอบแทนสูงกว่าประเทศใด  บุคลากรที่มีค่าอย่างแพทย์พยาบาลก็อาจจะออกไปทำงานในประเทศนั้นได้     ส่วนประเทศที่การงานเขาอิ่มตัวแล้ว  หรือมีนโยบายกระจายประชากร ส่งออกไปประเทศอื่น  ก็จะหลั่งไหลมาทำมาหากินในไทย
ส่วนคำถามของคุณตั้ง   ดิฉันลองเปรียบเทียบกับอดีต ในรัชกาลที่ 3  เราก็มีการหลั่งไหลของคนจีนเข้ามาในไทยกันมาก     แต่ว่าสมัยนั้นคนไทยยังมีจำนวนน้อย ต้องการแรงงานและฝีมือช่างเพิ่มเติม     แรงงานจีนทั้งงานฝีมือและไร้ฝีมือจึงตอบปัญหาคนไทยได้พอดี     ส่วนในปัจจุบัน  หลายปีมานี้   เราก็ขาดแรงงานตามบ้านเพราะแรงงานหนุ่มสาวของเราไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรมกันหมด   ช่องว่างตรงนี้  แรงงานต่างด้าวจึงเข้ามาบรรจุแทน     อีกหน่อยพอแต่งงานกับคนไทยลูกเต้าก็จะเกิดมาเป็นไทย
ก็ต้องคอยดูว่า ในอดีตคนไทยสามารถ "ละลาย" คนจีนให้กลายเป็นไทยได้  มาอยู่เมืองไทยสัก 2-3 ชั่วคนก็กลายเป็นไทย  พูดจีนไม่ได้ ธรรมเนียมจีนในบ้านก็หดหายไปแทบไม่เหลือ       ในอนาคต คุณสมบัติของคนไทยในข้อนี้จะยังดำรงอยู่   สามารถ "ละลาย" คนชาติอื่นๆที่มาแต่งงานกับคนไทยไปได้มากน้อยแค่ไหน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 26 ก.ค. 12, 12:36
การวางแผนตั้งรับ AEC  ของไทย ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น ดังนั้นจะคาดหวังการปรับตัวจากระดับล่างก็เป็นอันไม่ต้องพูด

เมื่อเร็วๆนี้ได้คุยกับบัณฑิตใหม่คนหนึ่ง เธอถามกลับมาว่า AEC คืออะไร เธอไม่รู้ (เธอจบทางด้านศิลปะ )

สงสัยว่าแม้แต่คนหนุ่มสาว ระดับมีการศึกษาของประเทศที่จะได้รับผลโดยตรงจาก AEC

 มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ ที่สนใจเรื่องนี้ ....ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้ว


ภาครัฐก็ได้แต่ประชาสัมพันธ์แบบเลื่อนลอย  จับต้องไม่ค่อยได้ มองไม่เห็นภาพในภาคปฏิบัติ นอกจากเริ่มมีการพูดถึงการเรียนภาษามากขึ้น

 มีแต่พวก ร.ม.ต.ที่พูดผ่านสื่อบ้าง แต่คืออะไร ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง...


เรื่องคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย เพราะมีช่องทางทำมาหากินสะดวก สบายกว่าในบ้านเขา อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์

คนไทยใจดี มีน้ำใจ มาทำงานบ้าน เลี้ยงลูกให้เจ้าของบ้าน ฯลฯ


การรักษาพยาบาล...การศึกษาของลูกหลาน การทำมาค้าขาย(มีแทบทุกตลาด แล้ว) เริ่มจากเป็นลูกน้องไปก่อน แต่อีก10 ปี 20 ปี

ก็อาจทำธุรกิจของตัวเอง...

รัฐได้ออกมาตราการปกป้องสิทธิของคนไทยในอาชีพต่างๆอย่างไรบ้างหรือไม่


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 20:00
กว่าจะเห็นผลดีผลเสียที่ฝ่ายไทยต้องปรับปรุงในการเปิดเสรีอาเซียน จะถึง 10 ปีไหมคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 12, 20:35
ถ้าหากว่าประเทศในอาเซียนประเทศใด มีค่าตอบแทนสูงกว่าประเทศใด  บุคลากรที่มีค่าอย่างแพทย์พยาบาลก็อาจจะออกไปทำงานในประเทศนั้นได้     ส่วนประเทศที่การงานเขาอิ่มตัวแล้ว  หรือมีนโยบายกระจายประชากร ส่งออกไปประเทศอื่น  ก็จะหลั่งไหลมาทำมาหากินในไทย
ส่วนคำถามของคุณตั้ง   ดิฉันลองเปรียบเทียบกับอดีต ในรัชกาลที่ 3  เราก็มีการหลั่งไหลของคนจีนเข้ามาในไทยกันมาก     แต่ว่าสมัยนั้นคนไทยยังมีจำนวนน้อย ต้องการแรงงานและฝีมือช่างเพิ่มเติม     แรงงานจีนทั้งงานฝีมือและไร้ฝีมือจึงตอบปัญหาคนไทยได้พอดี     ส่วนในปัจจุบัน  หลายปีมานี้   เราก็ขาดแรงงานตามบ้านเพราะแรงงานหนุ่มสาวของเราไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรมกันหมด   ช่องว่างตรงนี้  แรงงานต่างด้าวจึงเข้ามาบรรจุแทน     อีกหน่อยพอแต่งงานกับคนไทยลูกเต้าก็จะเกิดมาเป็นไทย
ก็ต้องคอยดูว่า ในอดีตคนไทยสามารถ "ละลาย" คนจีนให้กลายเป็นไทยได้  มาอยู่เมืองไทยสัก 2-3 ชั่วคนก็กลายเป็นไทย  พูดจีนไม่ได้ ธรรมเนียมจีนในบ้านก็หดหายไปแทบไม่เหลือ       ในอนาคต คุณสมบัติของคนไทยในข้อนี้จะยังดำรงอยู่   สามารถ "ละลาย" คนชาติอื่นๆที่มาแต่งงานกับคนไทยไปได้มากน้อยแค่ไหน

ภาพนี้ถูกต้องครับ เป็นสภาพของพลวัติจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราคงจะต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่สลับซับซ้อนเพื่อการป้องกันอยู่บ้างก่อนที่จะละลายกลายมาเป็นเนื้อเดียวกันด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมในอดีตที่มีมา เช่น เรื่องของอั้งยี่ (__คนต่างถิ่น) และเรื่องของ corrupted entity (__คนในถิ่น)

    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 12, 21:28
กว่าจะเห็นผลดีผลเสียที่ฝ่ายไทยต้องปรับปรุงในการเปิดเสรีอาเซียน จะถึง 10 ปีไหมคะ

ผมคิดว่าไม่ถึงสิบปีหรอกครับ คงจะเร็วกว่านั้้นมาก  มองในเรื่องธุรกิจเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นก็คิดว่าแย่แล้วครับ

ลองดูสภาพความเป็นจริงนี้ครับ ธุรกิจเล็กๆของเราที่ต้องอาศัย SME Bank เพื่อสร้างตัวและความแข็งแกร่ง เพียงซวนเซไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอก เขาก็ใช้เงื่อนไขแบบที่รัฐทำกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป พวก SME เหล่านี้ก็จบ แถมยังถูกยึดเครื่องมือหากินที่ได้ลงทุนไปอีกด้วย ผมไม่มีหลักฐานยืนยันว่าประเทศอื่นๆนอกจากญี่ปุ่นแล้วเขาทำเหมือนกันหรือไม่ ญี่ปุ่นนั้นเขาให้โอกาสอีกหนึ่งหรือสองครั้งแน่นอน (เขามีวิธีการครับ ยังหาช่องเล่าเรื่องนี้ไม่ได้ครับ)   ในกรณ๊หาก SME นั้นๆเิกิดรอดตัวสามารถหาตลาดภายนอกเพิ่มขึ้นได้ ส่งออกได้ จะไปกู้เงิน EXIM Bank เขาก็จะขอดูการสั่งซื้อสินค้าก่อนจึงจะให้กู้ ธุรกิจก็คงจะไม่มีทางเดินต่อไปได้ หมายความว่าเราจะต้องหรอกตัวเราเองและผู้ซื้อว่าเรามีความสามารถในการผลิตตามคำสั่งซื้อนั้นๆ แล้วจะขยายกิจการและกำลังผลิตได้อย่างไรให้ทันตามความตกลง    มากไปกว่านั้น BOI ของเราก็สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ชนิดที่เขาแทบจะได้รับการประเคนให้  เมื่อเกิด AEC เขามิเข้ามาแย่งธุรกิจประเภทเดียวกันของคนไทยหรือ  เราต้องเสียภาษี เขาได้รับการยกเว้นภาษี  เครื่องใช้และอะไหล่ต่างๆในการผลิตเขาก็ปลอดภาษี แต่เราต้องเสียภาษีทุกอย่าง โฆษณาอยู่ได้ตลอดมาว่าไห้สิทธิการลงทุนแก่บริษัทต่างชาติไปเท่าใด แต่ไม่เคยบอกเลยว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้สิทธิกับบริษัทของคนไทย ธุรกิจไทยก็ต้องเรียกว่าถูกตอนมานานในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 ปีมาแล้ว ต่างชาติมาลงทุนน้อยก็จะเป็นจะตาย เพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น ต่อระยะเวลาการปลอดภาษีเพิ่มขึ้น ฯลฯ  เหนื่อยครับสำหรับธุรกิจของคนไทย     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 12, 19:03
เมื่อเกิด EU ขึ้นมาแรกๆนั้น กาีรเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าผ่านแดนมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากระหว่างประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากที่มีการค้าขายกันอยู่แต่เดิม แต่ก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายของคนจากนอกเขตเข้ามาในเขต EU มากขึ้นมาก   ประเทศสมาชิกแรกเริ่มบางประเทศเิริ่มจะเห็นว่าหากไม่มีมาตรการป้องกันหรือจำกัดสิทธิบางประการ ผู้ที่จะเคลื่อนย้ายเข้่ามาเมื่อมีการขยายเขต EU ก็จะเข้ามาเบียดแข่งการให้บริการทางวิชาชีพและแรงงานฝีมือ จึงมีการออกกฎระเบียบบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่จะเข้ามาทำงานได้จะต้องสามารถพูดและอ่านภาษาของตนได้ ต่อมาเมื่อมีการขยายเขตจริงๆ ก็มีการขยายกฎระเีบียบที่มีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น เช่น ในเรื่องของภาษา จะต้องสามารถสอบผ่านเสียก่อน (เหมือนสอบ TOEFL) หรือในด้านความรู้ทางวิชาชีพที่จะเข้ามาทำงานหรือประกอบกิจการ ก็จะต้องสามารถสอบผ่านตามเกณฑ์ที่องค์กรที่ดูและวิชาชีพนั้นๆกำหนดไว้เสียก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพนั้นๆได้ในเขตอาณาของตนได้ ซึ่งใบสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพนี้ก็ไม่สามารถใช้ในประเทศสมาชิกอื่นของ EU ได้ด้วย     

เรื่องใบอนุญาตให้สามารถประกอบวิชาชีพในเขตอาณานี้ เป็นเรื่องน่าสนใจ แท้จริงแล้วทุกประเทศในโลกมีมาตรการนี้อยู่แล้ว และก็มักจะมีความเข้มงวดอยู่ทีเดียว พร้อมๆไปกับการปิดตาข้่างหนึ่ง เพียงขอให้มีลายเซ็นของผู้ที่มีใบอนุญาตก็เพียงพอแล้ว ผู้ลงนามจะมีรับผิดชอบมาตรวจสอบติดตามบ้างหรือไม่ ก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง     ซึ่งความเข้มงวดนี้สามารถจะเพิ่มระดับขึ้นได้ เช่น ด้วย Log book เหมือนกับที่ระบบที่ใช้ในเรื่องของการบำรุงรักษาเครื่องบินที่มีการกระทำกัน     

ที่น่าสนใจคือ ในหลายๆสาขาวิชาชีพนั้น แทนที่จะต้องเคลื่อนย้ายตนเองมาหาเงินในอีกประเทศหนึ่ง ก็ทำธุรกิจอยู่ในเมืองบริเวณรอยต่อเขตแดนด้วยราคาที่ย่อมเยาว์กว่ามากๆ  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลยครับสำหรับคนใน EU ที่อยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะเดินทางไปใช้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพนอกชายแดนประเทศของตน เช่น ทำฟัน ทำศัลกรรมบางอย่าง ฯลฯ ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาก็จะเข้ามาใช้ระบบสวัสดิการที่ตนได้รับในเขตประเทศของตน   

ภาพหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาหลัง AEC ก็คงจะไม่หนีภาพนี้  คงไม่ต้องแสดงความเห็นต่อนะครับ  เราคงมีทั้งสภาพที่มีโอกาสและสภาพที่ถูกจำกัดโอกาส 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 12, 19:57
สำหรับกรณี คนต่างถิ่นเข้ามาแต่งงานมีลูกมีหลานและได้สัญชาติของอีกประเทศหนึ่งนั้น  ผมเห็นว่าเขา (หลายประเทศ) ก็มีวิธีการแก้ที่แยบยล (แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยก็ได้)   เด็กที่เกิดในประเทศเขา จะเป็นลูกผสมหรือโดยสถานที่เกิดก็ตาม เด็กเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับการดูแลตามระบบของเขาเฉกเช่นพลเมืองของเขา เนื่องจากเด็กเหล่านี้ (ตามกฎหมาย) จะมีโอกาสเลือกและสละสัญชาติได้เมื่ออายุครบตามเกณฑ์กำหนด ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีการหลอมให้เป็นพลเมืองที่ดีของเขาด้วยชีวิต จิตใจและปรัชญาแนวคิดตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆจนเติบใหญ่  ทำให้ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเลือกสัญชาติใดในเวลาต่อมา ก็จะกลายเป็นคนที่มีพื้นฐานความคิดแบบเขา อยู่ร่วมกับเขาได้โดยไม่มีปัญหาทางด้านลึกของจิตใจ

ประเทศใน EU เขาคิดมากและไปไกลถึงขนาด ในมุมหนึ่งเป็นการเสริมสร้างเกราะมิให้เด็กเหล่านั้นกลายมาเป็นปัญหาสำหรับเขาในอนาคต และในอีกมุมหนึ่งเป็นการฝังระบบคิดใต้จิตสำนึกให้เป็นคนที่มีปรัชญาแนวคิดแบบเขา     หลายประเทศที่มิใช่ EU ก็ทำเหมือนกัน   ที่เห็นมาคือ การฝังปรัชญาและจิตสำนึกด้วยการ์ตูน เช่น เยอรมันใช้หุ่นกระบอก อเมริกาใช้ Big bird  ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน เป็นต้น
     
ตัวอย่างที่ดูจะเห็นชัดที่สุด คือ ในเรื่องเล่าและการ์ตูนของไทยทุกเรื่องจะตั้งอยู่บนปรัชญาว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรม (หรือ ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว หรือ กรรมตามสนอง หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว)     ในขณะที่การ์ตูนของญี่ปุ่นแทบจะทุกเรื่องจะตั้งอยู่บนปรัชญาว่า อย่าท้อถอย (สภาพของร่างกายและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องสำคัญ จิตใจต้องเข้มแข็ง สู้ต่อไป ความสำเร็จรออยู่เบื้องหน้า)     และในขณะที่ของฝรั่งโดยรวม คือ เชื่อมั่นด้วยการกระทำดี (ให้พระเจ้าได้เห็น ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพระเจ้าจะพิจารณา ซึ่งพระเจ้าไ่ม่เคยทอดทิ้งเรา)

ไม่รู้ว่านโยบายในองค์รวมของเรามีการคิดนอกกรอบไปจากในเรื่องของเศรษฐกิจ รายได้ และปริมาณของเงิน มากน้อยเพียงใด     



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 20:32
เคยเล่าถึงคนต่างถิ่นในเมืองที่ดิฉันอยู่มาหนหนึ่งแล้ว   ขอเล่าซ้ำอีกครั้ง   ในทศวรรษ 1970s พวกนี้เป็นคนอพยพเข้ามาเป็นลูกจ้างทำงานในฟาร์มนอกเมืองที่ต้องใช้แรงคน   ดิฉันไม่ค่อยเห็นพวกเขาบ่อยนัก    ลูกๆเขาเกิดที่นี่ก็ได้สัญชาติในฐานะคนเกิดที่นี่  ได้เรียนฟรี   พ่อแม่พวกนี้มีลูกกันหลายคน  ประชากรจึงเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
เมื่อดิฉันกลับไปอีกครั้ง  พวกนี้อยู่กันครึ่งเมืองแล้ว    บ้านช่องที่เขาซื้อต่อจากเจ้าของเดิมที่เป็นคุณตาคุณยายผู้สะอาดมีระเบียบแบบอเมริกันกลายเป็นบ้านโทรม  สนามรกไปด้วยของเก่าๆพังๆ ทิ้งไว้เกลื่อนกลาด    เทศบาลเองก็ดูเหมือนจนปัญญาจะตักเตือน   ยิ่งวันบ้านประเภทนี้ก็ยิ่งรุกคืบคลานเข้าไปตามถนนสายบ้านเก่า  สายแล้วสายเล่า   จนเมืองไม่สวยเหมือนเดิมอีกแล้ว
บ้านสวยๆคือบ้านใหม่สร้างขึ้นทางตะวันตกของตัวเมืองที่เคยเป็นไร่ข้าวโพดมาก่อน    กลายเป็นคนละถิ่นกันเห็นชัด    ถิ่นสวยกับถิ่นโทรม   
วันหนึ่งบ้านเราจะมองเห็นสภาพคนละถิ่นแบบนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้     อาจจะไม่ใช่ถิ่นสวยกับถิ่นโทรม  แต่เป็นถิ่นคุ้นตากับถิ่นแปลกตา  ตามแบบวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 12, 18:00
ครับ
แล้วก็ตามมาด้วยการคดโกง ลักเล็กขโมยน้อย จี้ ชิงทรัพย์  ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินลดน้อยลงไป
ช่วงที่ประจำการอยู่ในออสเตรียแรกๆนั้น  เวียนนาก็จัดว่าเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในระดับดีเยี่ยม คนมีระเบียบวินัยและซื่อสัตย์มากๆ ของที่ลืมทิ้งไว้ที่ใด กลับไปถึงบ้านแล้วย้อนกลับมาของก็ยังอยู่ที่เดิม ร่มลืมไว้ในรถใต้ดิน (U-Bahn) บอกเจ้าหน้าที่ก็ได้คืน หรือรอรถขวนนั้นกลับมาก็ไปเอาได้ วางตรงใหนอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

ในภาพเปรียบเทียบ ในฮังการีและเช็ก หายอย่างเดียว แม้กระทั่งรถ ในระดับที่ประกันรถยนต์ในเขตยุโรปตะวันตกมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองเลยทีเดียว

ไม่นานก่อนย้ายประจำการ ความปลอดภัยก็ลดระดับลง เมื่อเริ่มมีคนตุรกีและยุโรปตะวันออกเข้ามาทำงานมากขึ้น มีทั้งของหายและการทำร้ายร่างกาย แม้ว่าคนออสเตรียจะมีนิสัยที่เข้มข้นมากเป็นพิเศษในเรื่องของการช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งที่ผิดปรกติและความปลอดภัยของบ้านใกล้เรือนเคียงและชุมชนก็ตาม

เมื่อเกิด AEC เต็มที่ ภาพก็คงะไม่ต่างกันไปมากนัก   ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองและชุมชนใ้ห้มากขึ้นเป็นทวีคูณ
 
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 19:12
ใช่ค่ะ   พอคุณตั้งพูดเรื่องนี้ก็ทำให้นึกได้ว่าเมืองนี้ เมื่อก่อนเป็นเมืองปลอดยาเสพติด  แม้แต่อาชญากรรมตามถนนหนทางก็ไม่ค่อยพบเห็นกัน       แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว  ตอนนอนอยู่ในบ้านได้ยินเสียงไซเรนตำรวจวิ่งผ่านไป  ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้ยินเลย    ปรากฏว่าการทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกาย มีมากขึ้น    แม้แต่ยาเสพติดก็มีข่าวว่าแอบเสพกันบ้างเหมือนกัน 
การอพยพจากคนต่างถิ่นที่อเมริกาต้องโอบอุ้ม จากภัยสงครามบ้าง  จากการหลบเข้าเมืองมาทำงานบ้าง  จากแรงงานอพยพบ้าง ทำให้อเมริกาเป็นเรือลำใหญ่ที่ต้องแบกผู้โดยสารหนักขึ้นทุกที   สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป
ต่อไปประเทศไทยก็จะเจอแรงงานอพยพมากกว่าตอนนี้( เดี๋ยวนี้บางจังหวัดก็แทบจะเป็นแรงงานอพยพกันทั้งเมืองแล้ว)   ปัญหาชุมชนก็จะตามมา   อย่างที่คุณตั้งคาดคะเนไว้   ใครปลูกบ้านเดี่ยวๆอยู่ ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีชุมชนที่คุ้นเคยดีแวดล้อมอยู่ ก็ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 12, 19:46
อีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องพบเจอแน่นอน คือ ของแพงขึ้น ซึ่งคุณเทาชมพูได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้นๆกระทู้

ก่อนเกิด EURO Zone (ใช้เงินสกุลเดียวกัน) นั้น มีการกำหนดค่าของเงินของแต่ละประเทศในอัตราตายตัวต่อ 1 EUR. (ออกเสียงทั้งยูโรและออยโร) แล้วก็เอาค่าของเงินยูโรนี้ไปผูกแบบลอยอยู่กับเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ  ผมจำได้ไม่แม่นแล้วนะครับ เช่น ประมาณ 13 ชิลลิ่งออสเตรีย เท่ากับ 1 ยูโร และประมาณ 2000 ลีร์ (ลีร่า) อิตาลีเท่ากับ 1 ยูโร  เมื่อเริ่มการใช้เงินสกุลยูโร ของเก่าชิ้นหนึ่งราคา 1 ชิลลิ่ง ก็กลายเป็น 1 ยูโรในบัดดล อาหารราคาประมาณ 10,000 ลีร์ ก็กลายเป็นประมาณกว่า 6 ยูโรขึ้นไปในทันที แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตามค่าของเงินเมื่อเทียบกับดอลล่าร์     ผมคิดว่าคงจะเป็นการปรับราคาแบบคิดง่ายๆของพ่อค้า คือ ไฉนเล่าจะไม่เทียบราคาในเชิงของหน่วยตัวเลขให้ได้ประมาณใกล้กัน

เรื่องเช่นนี้คงจะต้องเกิดขึ้นใน AEC แม้ว่าจะยังไม่มีการคิดไปถึงเรื่องของการใช้เงินสกุลเดียวกันก็ตาม เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าคนค้าขายในประเทศใดของอาเซียนจะไปอ้างราคาของของประเทศใดในการกำหนดราคาสินค้าหรือการให้บริการของตน     อย่างไรก็ตาม ในภาพกว้างๆแล้ว ก็คือ ทุกคนก็จะพยายามปรับราคาไปในทางสูงขึ้นให้ไปใกล้เคียงกับประเทศที่มีราคาของสูงที่สุด แล้วปรับให้ถูกลงกว่าเล็กน้อยเพื่อการแข่งขัน    ในองค์รวม ราคาของทุกอย่างก็จะปรับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นราคาที่มิได้อยู่บฐานของความเป็นจริง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสภาพสองมาตรฐานราคา คือ สำหรับคนของตนและคนอื่น  
ซึ่งเมื่อคิดไกลต่อไป ก็อาจคิดต่อไปในเชิงของ prosperity ซึ่งแต่ละประเทศคิดอยู่บนพื้นฐานต่างกัน    เมื่อเห็นความต่างและต้องการให้มีการพิจารณาในมุมของตนบ้าง (ในการเจรจาต่างๆเพื่อเงื่อนไขในการแสวงประโยชน์ของตน) ก็คงจะไปสู่การอ้างอิงบนพื้นฐานของตระกร้าเงินในภาพรวมของอาเซียน  ก็คงจะไม่ต่างไปมากนักจากสภาพเมื่อครั้งก่อนเกิด Euro Zone    

ผมเห็นภาพของ AEC นี้ในมุมมองของคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ครับ  ผิดถูกอย่างไร ชำแหละได้เลยครับ      


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 ก.ค. 12, 00:08
เรื่องราคาสิ้นค้าที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนที่คุณตั้งคาดการณ์นี้ ดิฉันยังนึกไม่ออกว่ามันจะสร้างปัญหาให้กับประชาชน คนชั้นกลางและล่าง
ในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ ต้องอาศัยข้อมูลในระดับลึก ....และประสบการณ์ค่อนข้างสูง จึงจะมองออก

หากคุณตั้งยกเป็นโจทตุ๊กตา คงจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เคยไปอิตาลี ออสเตรียก่อนใช้เงินยูโร รู้สึกว่าของไม่แพงเท่าไหร่ แต่ตอนหลังเมื่อใช้ยูโรแล้ว รู้สึกของแพงขึ้นมาก

ทุกวันนี้ช่องว่างทางฐานะของคนไทยก็มีมากอยู่แล้ว ต่อไปจะยิ่งมีปัญหามากขึ้นไหมคะเนี่ย


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 12, 21:45
คำตอบจากภาพที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก   ตัวอย่างหนึ่ง คือ

เมื่อเปิดเสรีการลงทุน สินค้า และการบริการ   
สินค้าต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในแต่ละประเทศ ซึ่งมีการผลิตอยู่แล้วเป็นปรกติอยู่ในแต่ละประเทศ ก็จะพยายามขยายตลาดไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งวิธีการทำตลาดอย่างหนึ่ง ก็คือ การขายในราคาที่ย่อมเยาว์กว่าและด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคูณภาพที่ดูดีกว่า  หากผู้ซื้อเห็นว่าถูกกว่าและดีกว่าของที่ทำในประเทศ สินค้านั้นๆก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เมื่อผู้ผลิตสินค้าภายในถูกแย่งตลาดไปมากจนทำให้ต้องลดปริมาณการผลิต จนถึงระดับหนึ่งก็จะพ้นจุดคุ้มทุน ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะนำไปสู่การเลิกกิจการ  สินค้าที่ผลิตในต่างประเทศที่เข้าจำหน่ายนั้นก็จะเริ่มขายในราคาที่สูงขึ้น สูงขึ้นจนเลยระดับเดิมที่เราเคยซื้อ แล้วก็ยึดตลาดไปในที่สุด    ดูของใกล้ตัวเราก็คงจะพอได้ เช่น กระเทียม หอมแดง กุณแจที่ใช้เกาะล็อกประตู .....ฯลฯ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 ส.ค. 12, 19:38
แม่บ้านที่เคยซื้อหอมกระเทียมเป็นเครื่องปรุงประจำครัวอยู่เสมอ คงเห็นว่าราคากระเทียมพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัว เคยซื้อกระเทียมทางอิสาน กลีบเล็กๆ

ตกกิโลละ 120-160 บาท (จำได้ว่าตอนน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว พอน้ำลดราคากระเทียมก็พุ่งกระฉูด จนเกือบจะประท้วงด้อยการงดทานกระเทียมซะแล้ว)

ตอนนี้ราคาลดลงบ้างแล้วแต่ก็อยู่ที่ 100กว่าบาท เทียบกับเมื่อก่อน80-90 บาทก็ถือว่าแพงแล้ว

แต่ถ้าเลือกได้จะทานกระเทียมไทยคะ ....ชาตินิยม...อิอิ ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 ส.ค. 12, 19:42
อีกอย่างที่ขอบ่นเพราะ ดิฉันแทบขาดไม่ได้ คือรากผักชี ตำกับกระเทียม พริกไทย เก็บไว้เป็น 3 เกลอ หมักอะไรก็อร่อย

แต่แทบช๊อคเมื่อพบว่า ราคาขีดละ 50 บาทและบางครั้งก็หาไม่ได้เลย สามเกลอนี่เป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานของครัวไทยก็ว่าได้นะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 12, 19:49
ผมกำลังเข้าสู่สถาพอึดอัด คิดว่าจะพยายามเล่าเรื่องต่างๆต่อไปอย่างไรดี เรื่องต่างๆแม้จะเป็นคนละเรื่อง คนละพัฒนาการกัน แต่มันก็เกี่ยวพันและผูกพันกัน  จึงเรียบเรียงเรื่องที่จะเล่าได้ยากขึ้นเรื่อยๆ บางส่วนก็เป็นเรื่องภายในของเราเอง บางส่วนก็เป็นเรื่องภายในระหว่างประเทศสมาชิก และในหลายๆเรื่องก็เป็นผลพวงมาจากอิทธิพลภายนอก ซึ่งเรื่องหลายเรื่องก็ไม่สมควรที่จะเล่าลงไปลึกๆแบบสาธารณะ   ขอใช้คำภาษาอังกฤษว่า Complicated & Sophisticated

จะด้วยเหตุใดก็ตาม ในขณะนี้เราจะเห็นว่าสื่อต่างๆเริ่มรายงานความเห็นของนักวิชาการและของหน่วยงานต่างๆมากขึ้น  ซึ่งผมเห็นว่าเราเริ่มจะมีข้อมูลให้พิจารณาและขบคิดเพื่อทำความเข้าใจในตรรกที่มาและที่จะไปต่างๆมากขึ้น   รวมทั้งพอที่จะได้เห็นภาพของผลกระทบทั้งในทางบวก (ที่มักจะปรากฎตามสื่อ) และในทางลบ (ที่ไม่ค่อยจะปรากฎตามสื่อ)   ก็เลยคิดว่าสมควรจะใช้เวลาในการย่อยข้อมูลและสร้างจินตภาพของความสัมพันธ์ต่างๆสักระยะหนึ่ง   ก็เลยคิดว่าจะปล่อยให้กระทู้นี้ค่อยๆเลือนลางจางลงไปในช่วงนี้ครับ    และขอออกตัวย้ำว่าผมมิใช่ผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ผมเป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสทำงานในทางลึกบางเรื่องและได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในบางเรื่องเท่านั้นครับ

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 ส.ค. 12, 21:02
พอจะเข้าใจ สิ่งที่คุณตั้งกังวลอยู่คะ เราอาจจะปล่อยกระทู้นี้ไปตามธรรมชาติ คือไม่เร่งรัด

ยังมีเรื่องอื่นๆที่เราจะคุยกันได้อีกเยอะแยะไป คาดว่าสมาชิกเรือนไทยก็จะเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย

ตามความสนใจของแต่ละท่าน...คะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 18:46
ถ้าไม่สนุกที่จะคุยเรื่องนี้แล้วก็เริ่มหัวข้อใหม่ กระทู้ใหม่กันก็ได้ค่ะ   เชื่อว่าคุณตั้งมีอะไรสนุกๆจากประสบการณ์ ถ่ายทอดให้พวกเราได้ฟังกันอีกมากนะคะ
เท่าที่คุยกันมาเกือบ ๑๐๐ ค.ห.นี้ก็ถือว่าคุณตั้งให้ความรู้มากเอาการแล้ว   ต่อไป ถ้าใครสนใจจะเข้ามาถามอะไรอีก  ก็ทำได้
เพราะเรือนไทย กระทู้เก่าก็ยังดึงขึ้นมาได้เสมอ แม้ตกหน้าไปแล้วก็ตาม


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 02 ส.ค. 12, 19:53
อีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องพบเจอแน่นอน คือ ของแพงขึ้น ซึ่งคุณเทาชมพูได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้นๆกระทู้

ก่อนเกิด EURO Zone (ใช้เงินสกุลเดียวกัน) นั้น มีการกำหนดค่าของเงินของแต่ละประเทศในอัตราตายตัวต่อ 1 EUR. (ออกเสียงทั้งยูโรและออยโร) แล้วก็เอาค่าของเงินยูโรนี้ไปผูกแบบลอยอยู่กับเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ  ผมจำได้ไม่แม่นแล้วนะครับ เช่น ประมาณ 13 ชิลลิ่งออสเตรีย เท่ากับ 1 ยูโร และประมาณ 2000 ลีร์ (ลีร่า) อิตาลีเท่ากับ 1 ยูโร  เมื่อเริ่มการใช้เงินสกุลยูโร ของเก่าชิ้นหนึ่งราคา 1 ชิลลิ่ง ก็กลายเป็น 1 ยูโรในบัดดล อาหารราคาประมาณ 10,000 ลีร์ ก็กลายเป็นประมาณกว่า 6 ยูโรขึ้นไปในทันที แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตามค่าของเงินเมื่อเทียบกับดอลล่าร์     ผมคิดว่าคงจะเป็นการปรับราคาแบบคิดง่ายๆของพ่อค้า คือ ไฉนเล่าจะไม่เทียบราคาในเชิงของหน่วยตัวเลขให้ได้ประมาณใกล้กัน

เรื่องเช่นนี้คงจะต้องเกิดขึ้นใน AEC แม้ว่าจะยังไม่มีการคิดไปถึงเรื่องของการใช้เงินสกุลเดียวกันก็ตาม เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าคนค้าขายในประเทศใดของอาเซียนจะไปอ้างราคาของของประเทศใดในการกำหนดราคาสินค้าหรือการให้บริการของตน     อย่างไรก็ตาม ในภาพกว้างๆแล้ว ก็คือ ทุกคนก็จะพยายามปรับราคาไปในทางสูงขึ้นให้ไปใกล้เคียงกับประเทศที่มีราคาของสูงที่สุด แล้วปรับให้ถูกลงกว่าเล็กน้อยเพื่อการแข่งขัน    ในองค์รวม ราคาของทุกอย่างก็จะปรับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นราคาที่มิได้อยู่บฐานของความเป็นจริง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสภาพสองมาตรฐานราคา คือ สำหรับคนของตนและคนอื่น  
ซึ่งเมื่อคิดไกลต่อไป ก็อาจคิดต่อไปในเชิงของ prosperity ซึ่งแต่ละประเทศคิดอยู่บนพื้นฐานต่างกัน    เมื่อเห็นความต่างและต้องการให้มีการพิจารณาในมุมของตนบ้าง (ในการเจรจาต่างๆเพื่อเงื่อนไขในการแสวงประโยชน์ของตน) ก็คงจะไปสู่การอ้างอิงบนพื้นฐานของตระกร้าเงินในภาพรวมของอาเซียน  ก็คงจะไม่ต่างไปมากนักจากสภาพเมื่อครั้งก่อนเกิด Euro Zone    

ผมเห็นภาพของ AEC นี้ในมุมมองของคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ครับ  ผิดถูกอย่างไร ชำแหละได้เลยครับ      

คลิปนี้ น่าจะใกล้เคียงเหตุการณ์ที่คุณตั้งบอกครับ ในแง่ของค่าเงินนะครับ

http://www.youtube.com/watch?v=xzEpltqAQCk


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 02 ส.ค. 12, 19:55
เมื่อเกิด EU ขึ้นมาแรกๆนั้น กาีรเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าผ่านแดนมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากระหว่างประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากที่มีการค้าขายกันอยู่แต่เดิม แต่ก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายของคนจากนอกเขตเข้ามาในเขต EU มากขึ้นมาก   ประเทศสมาชิกแรกเริ่มบางประเทศเิริ่มจะเห็นว่าหากไม่มีมาตรการป้องกันหรือจำกัดสิทธิบางประการ ผู้ที่จะเคลื่อนย้ายเข้่ามาเมื่อมีการขยายเขต EU ก็จะเข้ามาเบียดแข่งการให้บริการทางวิชาชีพและแรงงานฝีมือ จึงมีการออกกฎระเบียบบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่จะเข้ามาทำงานได้จะต้องสามารถพูดและอ่านภาษาของตนได้ ต่อมาเมื่อมีการขยายเขตจริงๆ ก็มีการขยายกฎระเีบียบที่มีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น เช่น ในเรื่องของภาษา จะต้องสามารถสอบผ่านเสียก่อน (เหมือนสอบ TOEFL) หรือในด้านความรู้ทางวิชาชีพที่จะเข้ามาทำงานหรือประกอบกิจการ ก็จะต้องสามารถสอบผ่านตามเกณฑ์ที่องค์กรที่ดูและวิชาชีพนั้นๆกำหนดไว้เสียก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพนั้นๆได้ในเขตอาณาของตนได้ ซึ่งใบสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพนี้ก็ไม่สามารถใช้ในประเทศสมาชิกอื่นของ EU ได้ด้วย     



เคยได้ยินข่าวว่าราชบัณฑิตมีความพยายามจะทำอยู่เหมือนกันครับ แต่ก็......


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 02 ส.ค. 12, 20:01
สำหรับกรณี คนต่างถิ่นเข้ามาแต่งงานมีลูกมีหลานและได้สัญชาติของอีกประเทศหนึ่งนั้น  ผมเห็นว่าเขา (หลายประเทศ) ก็มีวิธีการแก้ที่แยบยล (แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยก็ได้)   เด็กที่เกิดในประเทศเขา จะเป็นลูกผสมหรือโดยสถานที่เกิดก็ตาม เด็กเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับการดูแลตามระบบของเขาเฉกเช่นพลเมืองของเขา เนื่องจากเด็กเหล่านี้ (ตามกฎหมาย) จะมีโอกาสเลือกและสละสัญชาติได้เมื่ออายุครบตามเกณฑ์กำหนด ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีการหลอมให้เป็นพลเมืองที่ดีของเขาด้วยชีวิต จิตใจและปรัชญาแนวคิดตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆจนเติบใหญ่  ทำให้ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเลือกสัญชาติใดในเวลาต่อมา ก็จะกลายเป็นคนที่มีพื้นฐานความคิดแบบเขา อยู่ร่วมกับเขาได้โดยไม่มีปัญหาทางด้านลึกของจิตใจ

ประเทศใน EU เขาคิดมากและไปไกลถึงขนาด ในมุมหนึ่งเป็นการเสริมสร้างเกราะมิให้เด็กเหล่านั้นกลายมาเป็นปัญหาสำหรับเขาในอนาคต และในอีกมุมหนึ่งเป็นการฝังระบบคิดใต้จิตสำนึกให้เป็นคนที่มีปรัชญาแนวคิดแบบเขา     หลายประเทศที่มิใช่ EU ก็ทำเหมือนกัน   ที่เห็นมาคือ การฝังปรัชญาและจิตสำนึกด้วยการ์ตูน เช่น เยอรมันใช้หุ่นกระบอก อเมริกาใช้ Big bird  ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน เป็นต้น
     
ตัวอย่างที่ดูจะเห็นชัดที่สุด คือ ในเรื่องเล่าและการ์ตูนของไทยทุกเรื่องจะตั้งอยู่บนปรัชญาว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรม (หรือ ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว หรือ กรรมตามสนอง หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว)     ในขณะที่การ์ตูนของญี่ปุ่นแทบจะทุกเรื่องจะตั้งอยู่บนปรัชญาว่า อย่าท้อถอย (สภาพของร่างกายและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องสำคัญ จิตใจต้องเข้มแข็ง สู้ต่อไป ความสำเร็จรออยู่เบื้องหน้า)     และในขณะที่ของฝรั่งโดยรวม คือ เชื่อมั่นด้วยการกระทำดี (ให้พระเจ้าได้เห็น ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพระเจ้าจะพิจารณา ซึ่งพระเจ้าไ่ม่เคยทอดทิ้งเรา)

ไม่รู้ว่านโยบายในองค์รวมของเรามีการคิดนอกกรอบไปจากในเรื่องของเศรษฐกิจ รายได้ และปริมาณของเงิน มากน้อยเพียงใด     



ปัญหานี้อาจจะลดลงครับ หากพม่ามีการเปิดประเทศและเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเต็มตัว เพราะแรงงานร้อยละ ๙๐ ในบ้านเราถือสัญชาติพม่าครับ

ยกเว้นบางที่ บางแห่ง ซึ่งได้ข่าวมาว่า มีการสัญญาว่าจะออกบัตรประชาชนไทยให้ ทั้ง ๆ ที่บุคคลเข้าเมืองเหล่านั้นไม่ได้แต่งงานกับคนไทยอย่างนี้ก็มี  หรือจะเป็นกรณีที่ปัจจัยอื่น ๆ ถึงพร้อมก็อาจจะได้สัญชาติไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงานกับคนไทยครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 12, 22:02
ลองพิจารณาข้อมูล (ในภาพที่ผมเห็น) เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบการนำไปขบคิด ครับ

ในบริบทของอิทธิพล ในภาพกว้างแบบสรุปย่อ
เกาะและแผ่นดินในเอเซียเคยอยู่ในอิทธิพลของสเปน ปอร์ตุเกต ดัชท์ อังกฤษและฝรั่งเศส  อเมริกาเข้ามาภายหลัง  สเปนเน้นไปในด้านการค้นพบโลกใหม่และทรัพยากรประเภทโลหะมีค่า (ทองคำและศาสนา)  ปอร์ตุเกตเน้นไปในด้านการครองสถานีทางการค้า (ศาสนาและเมืองท่า) ดัชท์เน้นไปทางเส้นทางการค้า (Logistics) อังกฤษเน้นไปทางการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ และฝรั่งเศสเน้นไปทางการแข่งขันกับคู่รักคู่แค้นอังกฤษ  ประเทศในยุโรปเหล่านี้ ได้หมดอิทธิพลไปเกือบจะสิ้นเชิงในยุคหลังสงครามโลก แต่ทั้งหมดก็ยังคงมีปรัชญาความคิดดั้งเดิมตกค้างอยู่ในใจ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็คือประเทศเหล่านี้เคยมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเซียนี้  
อเมริกาเน้นไปทางการจัดกฎกติกาและระเบียบ (สร้างให้เกิดความเป็นเสรีในความคิดและในทางปฎิบัติ) เริ่มปรากฎตัวและเข้ามาอิทธิพลในเชิงความนึกคิดหลังจากการเปิดประตูประเทศญี่ปุ่น (ปี ค.ศ.1854)
จีน เมื่อเข้าปลายยุคของราวงค์หมิง จีนลดการให้ความสนใจกับการปรากฎตัวต่อโลกภายนอก ต่อมาภายหลังสงครามโลก จึงได้แสดงตนให้การสนับสนุนกับแนวร่วมในตรรกของลัทธิการปกครองแบบจีน
ญี่ปุ่น หลังสงครามโลกได้ขยายการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามกาหลีและเวียดนาม จนสามารถสร้างสถานีการผลิตใหม่นอกประเทศอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
อินเดีย เมื่อก้าวพ้นการต่อสู้เพื่อให้พ้นการอยู่ในอาณัติของอังกฤษ ก็เข้าสู่แนวคิดเป็นกลาง จนกระทั่งเกิดการล่มสลายของรัสเซีย จึงเริ่มแสดงตนในแวดวงความป็นตลาดขนาดใหญ่
เกาหลี พยายามก้าวกระโดดการพัฒนาประเทศไปสู่ลักษณะการเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้วยระบบการอุดหนุนและเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพยายามก้าวไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ให้  

เมื่อเกิดอาเซียน 5 แล้วขยายไปเป็นอาเซียน 10    เกิด APEC   เิกิด NAFTA   เกิด AFTA    กลายเป็นกลุ่มของวงการค้าขนาดใหญ่   ก็คงไ่มีประเทศใดอยากจะตกขบวนรถ ทุกประเทศจึงพยายามเข้ามามีความเกี่ยวสัมพันธ์กันในทุกวง  ทำให้เกิดพี่เบิ้มสองคน คือ อเมริกาและจีน กลุ่มประเทศในยุโรปหรือ EU กลายเป็นผู้อยู่นอกวงไป

EU ก็ต้องพยายามจะเจาะตลาดแน่นอน  ซึ่งก็คงจะต้องเริ่มจากประเทศในอาณัติเดิมของตนซึ่งยังคงมีคนทีอยู่ใน School of thought แบบตนอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยได้ไปร่ำเรียนในประเทศของตน และเป็นคนซึ่งอยู่ในระดับบริหารหรือเป็นผู้นำทางความคิด

ดูๆแล้วเหมือนกับว่าไม่เกี่ยวอะไรกับไทยเลย   ด้วยลักษณะพิเศษของไทย ไทยจึงกลายเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญของมหาอำนาจและูผู้มีอิทธิพลทั้งเก่าและใหม่เหล่านั้น ไทยเป็นเสียงที่สำคัญในอาเซียน เพียงหากปรับเปลี่ยนหางเสือของไทยได้ เขาก็จะได้ประโยชน์   ภาพในทางความคิดและการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาคงพอจะบอกได้ไม่ยากว่าจะทำได้อย่างไร

    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 12, 19:26
ในบริบทของตำแหน่งที่ตั้งทางภูิมิศาสตร์ ทรัพยากร และ Political geography  ในภาพกว้างๆแบบย่อๆ

ในพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิก  ด้านเหนือเป็นอยู่ในเขตอิทธิพลของรัสเซีย อเมริกา    ด้านตะวันออกเป็นของอเมริกา    ด้านใต้ยังพอจัดได้ว่าเป็นเขตปลอด    ด้านตะวันตกเป็นเขตต่อเนื่องตั้งแต่รัสเซีย ลงมาจีนและญี่ปุ่น    ต่ำลงมากว่านั้นก็เป็นของกลุ่มประเทศในอาเซียน
เราทราบกันอยู่แล้วว่าด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกนี้ (ซึ่งก็คือซีกโลกด้านตะวันออก)  ในภาพรวมๆ ก็คือเป็นเส้นทางการเดินเรือและการค้าที่สำคัญระหว่างยุโรปและเอเซียมานานแล้ว ซึ่งในระยะแรกๆที่มีการค้นพบและเปิดเ้ส้นทางโดยโลกตะวันตกนั้น เกือบจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ออกมาจากแผ่นดินจีนโดยตรง ภูมิภาคอาเซียนเป็นเพียงคล้ายๆสถานีซื้อขายสินค้าระหว่างจีนกับยุโรป   เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่การค้าสินค้าอุตสาหกรรม เส้นทางนี้ได้กลายเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ เป็นเส้นทางที่จะต้องเดินทางอ้อมแหลมไทย ผ่านทางช่องแคบมะลักกา  และเมื่อจีนได้เขาสู่ภาคการค้าสินค้าอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เส้นทางอ้อมแหลมไทยนี้ก็จึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อทุกประเทศทางขอบแปซิฟิกด้านนี้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงาน (น้ำมัน) จากตะวันออกกลาง ซึ่งต้องขนถ่ายผ่านทางช่องแคบมะลักกา 
แหล่งพลังงานจากตะวันออกกลางนี้ แม้จะเริ่มมีการเปิดให้สัมปทานสำหรับธุรกิจภายนอกประเทศมาตั้งแต่แรกเริ่มของศตวรรษที 20 (ค.ศ. 1900+) แต่ก็ยังไม่เป็นเรื่องที่จัดให้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งยวดจนหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างสูงสุดเมื่อจีนเริ่มเปิดรับระบบอุตสาหกรรมและการค้าแบบเสรีนิยม 
ผมไม่มีตัวเลขของจีน แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น มากกว่า 85% ของน้ำมันที่ใช้ในญี่ปุ่นนั้นมาจากตะวันออกกลาง  คิดดูว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด   ญี่ปุ่นใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 70% ของที่อินโดนีเซียสามารถผลิตได้  ของไทยเรานั้น เข้าใจว่าเราคิดว่าหากสามารถรักษาระดับการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่สามารถผลิตได้ด้วยตนเองประมาณ 35% ก็น่าจะมีความมั่นคงพอเพียงในการรักษาระดับความเจริญทางเศรษฐกิจในระดับที่พอใจต่อไปได้ 

ถึงตรงนี้ คงจะเริ่มไม่แปลกใจแล้ว (ในอีกมุมมอง) ว่า ทำไมไทยจึงเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญทางอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศต่างๆ   

และหากจะลองพิจารณาดูภาพของอาเซียนและ AEC (โดยเฉพาะไทย) ว่าจะเป็นภาพใดนั้น   ก็ลองใช้องค์ประกอบอื่นๆพิจารณาร่วมไปด้วย  ก็น่าจะพอเห็นภาพได้  และหากจะยืดความคิดฝันเฟื่องไปให้ไกลแบบสุดๆ ก็น่าจะต้องลองพิจารณาคำว่า a set of regular irregularity  ที่เกิดขึ้นในปัจุบัน ในมุมของทฤษฎี Chaos theory ไปด้วย             


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 19:49
ดิฉันติดตามกระทู้คุณตั้งด้วยความตั้งใจเสมอต้นเสมอปลาย      หลังจากติดตามมาระยะหนึ่งก็ขอรับสารภาพว่า ยิ่งอ่านยิ่งตระหนักถึงความไม่รู้ของตัวเอง  ก่อนหน้านี้ใช้วิธีอ่านหลายๆหนแล้วตีความ บวกกับขอพระอินทร์ช่วยส่องกล้องให้  จึงพอจะกล้อมแกล้ม ติดตามอ่านมาถึงค.ห.ตรงนี้ได้

มาถึงข้างล่างนี้ ตกม้าตายสนิท

อ้างถึง
และหากจะลองพิจารณาดูภาพของอาเซียนและ AEC (โดยเฉพาะไทย) ว่าจะเป็นภาพใดนั้น   ก็ลองใช้องค์ประกอบอื่นๆพิจารณาร่วมไปด้วย  ก็น่าจะพอเห็นภาพได้  และหากจะยืดความคิดฝันเฟื่องไปให้ไกลแบบสุดๆ ก็น่าจะต้องลองพิจารณาคำว่า a set of regular irregularity  ที่เกิดขึ้นในปัจุบัน ในมุมของทฤษฎี Chaos theory ไปด้วย       

มันคืออะไรคะ?


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 12, 21:48
ขออภัยจริงๆครับ รวบรัดเกินไปจริงๆ ขอขยายความสั้นๆก่อนดังนี้ครับ

อาเซียนเป็นพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์สำคัญเสมือนกระดานหมากรุกที่ประเทศที่มีอิทธิพล (มหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ) กำลังเดินหมากบนกระดานนี้กันอยู่

ส่วนที่ว่า a set of regular irregularity ที่ได้เกิดขึ้นแล้วมองในมุมของทฤษฎี Chaos นั้น คือ ความไม่ราบรื่นที่ปรากฎอยู่บนเส้นทางที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ครอง
หรือเป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาของอาเซียนและ AEC    ซึ่งตามปรกติแล้ว ความไม่ราบรื่นนี้เป็นสภาพของกลไกที่เกิดเองตามธรรมชาติอย่างมี pattern ซึ่งจะส่งผลสนับสนุนไปในในทิศทางที่เป็นบวก (ไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้) หรือส่งผลในทิศทางที่เป็นทางลบ (ไปสู่ความล้มเหลว)   แต่มันก็สามารถจัดฉากขึ้นมาได้เพื่อให้เป็นความไม่ราบรื่นที่สนับสนุนในทิศทางที่ต้องการ (สร้างเรื่องในเงื่อนไขที่แพ้ตลอด หรือ ในเงือนไขที่ชนะตลอด)


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 21:55
อ้างถึง
แต่มันก็สามารถจัดฉากขึ้นมาได้เพื่อให้เป็นความไม่ราบรื่นที่สนับสนุนในทิศทางที่ต้องการ (สร้างเรื่องในเงื่อนไขที่แพ้ตลอด หรือ ในเงือนไขที่ชนะตลอด)
จัดฉากขึ้นมาทำไมคะ?


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 12, 18:36
ผมอาจจะใช้คำว่า จัดฉาำก ในการสื่อความหมายที่ไม่ตรงประเด็นครับ

ลองพิจารณากรณีความต้องการเข้าครอบครองปราสาทเขาพระวิหารของเขมรครับ 

ในวิถีปรกติของการเข้าแย่งหรือยึดดินแดนที่มีความไม่ชัดเจนในเชิงของเขตอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นั้น มักจะกระทำกันในสองลักษณะ คือ ใช้กำลังเข้าหักหาญเอา หรือ ค่อยๆคืบคลานทำไป  ซึ่งตามเส้นทางก่อนที่จะประสบผลสำเร็จเด็ดขาดของการกระทำทั้งสองลักษณะนี้นั้น ตามปรกติวิสัยที่เป็นธรรมชาติจะต้องมีเหตุการณ์ต่อต้านจากคู่กรณ๊ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ (irregularity)       กรณีการใช้กำลังเข้าหักหาญ ความถี่ของการต่อต้านจะเกิดขึ้นถี่มากในระยะแรกๆของการยึดครองและจะค่อยๆห่างออกไป  สำหรับกรณีการค่อยๆคืบคลานทำไปนั้น ความถี่ของการต่อต้านก็มีเหมือนกันแต่อาจจะกลับทางกัน  ซึ่งในกรณีหลังนี้ หากประสงจะทำให้สำเร็จด้วยระยะเวลาอันสั้น ก็จะต้องมีการสร้างเหตุการณ์ที่ให้ผลลัพท์ในลักษณะที่เป็นคุณกับตน    เป็นภาพที่ในสายตาของเราเห็นว่าเป็นการสร้างขึ้น หลอกลวง และโกหก แต่ในสายตาของชาติอื่นกลับเห็นไปในภาพที่เห็นว่าเราเป็นฝ่ายกระทำ เป็นฝ่ายรังแก   

ดูเหมือนจะต้องใช้คำว่า สร้่างภาพ มากกว่า จัดฉาก  ;D ;D



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 12, 20:06
จากที่เล่าความเห็นในภาพกว้าง

พอสรุปได้ว่า เส้นทางการขนส่งที่จัดว่าสำคัญมากเส้นทางหนึ่งของโลก ก็คือ ช่องแคบมะลักกา  ซึ่งเป็นช่องแคบที่พาดผ่านประเทศที่มีปรัชญาความเชื่อบนพื้นฐานของศาสนาที่ต่างกันกับซีกโลกตะวันตกและตะวันออก  การจะอาศัยใช้ช่องแคบนี้ก็คงจะไม่หนีที่จะต้องทำให้มันอยู่บรรยากาศที่มีสภาพของความเป็นมิตรไมตรี

ลองนึกดูครับว่า หากเราเป็นประเทศที่ยึดความเจริญงอกงาม (prosperity) อยู่บนฐานของการอุตสาหกรรม  ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากแห่งหนึ่ง (ตะวันออกกลาง) มาทำการผลิตแล้วส่งสินค้าย้อนกลับไป  (เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และีจีน) ต้องอาศัยการค้าขายกับซีกโลกตะวันตกเป็นหลัก ต้องใช้เส้นทางผ่านแหลมไทยไปยังหลายประเทศที่มีประชากรมากมาย (อาเซียน อินเดีย ยุโรป)   ก็คงไม่มีใครจะอุตตริคิดว่าจะใช้เส้นทางข้ามแปซิฟิกไปสหรัฐฯ แล้วขนสินค้าข้ามสหรัฐไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ลงเือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังยุโรปและอัฟริกา      คิดในลักษณะนี้แล้ว เรา (ญี่ป่น เกาหลี จีน)  จะไม่คิดย่นระยะทางการขนส่ง ลดค่าขนส่งด้าน input (พลังงาน วัตถุดิบ) และค่าขนส่งด้าน output (ผลิตภัณฑ์สินค้า) และคิดลดความเสี่ยงในการใช้ช่องแคบมะลักกาเชียวหรือ ???     ในฐานะความเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมการผลิต เพียงย้ายสถานี่ผลิตจากประเทศของตน (ญี่ปุ่น เกาหลี จีน) มาตั้งอยูในแผ่นดินอาเซียน ทุกอย่างดูจะตอบโจทย์ได้พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับผมนั้นเห็นว่า จุดหันเหของความคิดของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมด เริ่มขึ้นเมื่อเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดในปี 1972 (???)

ส่วนหนึ่งที่นาๆชาติใ้ห้ความความสนใจและเข้ามายุ่มย่ามในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนก็เริ่มจากจุดนี้   ไทยเราดูจะโชคดีที่ได้ใช้โอกาศในช่วงนี้เปิดรับความต้องการของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะญี่ป่น ซึ่งสินค้า made in Japan กำลังขยายตลาดไปทั่วโลก  (..หากไม่ลืมก็จะเล่าเรื่องเส้นทาง prosperity ของญี่ปุ่นและปรัชญาการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ครับ)  การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเ็ร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเื่พื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

ผมเห็นว่า เส้นทางการก้าวย่างทางเศรษฐกิจและความร่วมมือของอาเซียนก็อยู่บนฐานของสภาพแวดล้อมตามสถานการณ์ที่เล่ามา   

   
       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 20:31
อ้างถึง
การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

เราเอาแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือภาคกลางของเรา ไปเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม    เราเอาแม่น้ำลำคลองที่เป็นแหล่งอาหาร เพาะปลูก และใช้บริโภคในอดีตมาเป็นท่อระบายมลพิษจากโรงงาน   เมื่อเปิดเสรีอาเซียน   อุตสาหกรรมจะมากขึ้นอีกหรือเปล่าคะ






กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 12, 22:06
คำตอบคือน่ากลัวว่าจะเป็นไปในทิศทางนั้นครับ

ผมไม่เห็นด้วยในหลายๆเรื่อง ในทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรา เรามี EPZ (Export Processing Zone) ที่ให้เขามาใช้แผ่นดินของเรา ใช้แรงงานของเราำทำการผลิต คือ ให้เอาวัตถุดิบมาผลิตในประเทศเราแล้วส่งออกไป ทิ้งกากและขยะใว้ให้เราดูต่างหน้า    หลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศกำลังพยายามเจรจาขอให้รัฐบาลเห็นชอบอนุญาตแล้วแถมยังขอได้รับการส่งเสริมอีกด้วยเพื่อนำของใช้แล้วมาทำการ recycle ในประเทศเรา เช่น กรณียางรถเ่ก่าที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ และกรณีที่ไม่ป็นข่าว ขอเอาเครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างเข้ามาเพื่อ recycle เป็นต้น
   
คงจะีเรื่องบ่นมากทีเดียวในเรื่องการเอาที่ราบลุ่มทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่พึงกระทำ สนามกอล์ฟก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว บ้านจัดสรรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ใประเทศอื่นๆ ที่ทำการเกษตรได้ก็คือที่สำหรับการทำการเกษตร ไม่มีการแบ่งซอยย่อยใ้ห้เป็นแปลงเล็กลงไป    ของเราสามารถซื้อแล้วเอามารวมกันแล้วแบ่งใหม่

กฎหมายผังเมืองของเรามีอายุ 5 ปี กว่าจะต่ออายุ กว่าจะทำผังเมืองใหม่ ประกาศใช้ใหม่ เขาก็ใช้ช่วงว่างรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ตรงนี้ทำอะไรก็ได้ พื้นที่สีเขียวของเราก็เพียงแค่ประกาศว่าเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ได้บอกว่าห้ามทำอะไร ก็ใช้วิธีศรีธนชัยเอาไปทำอะไรก็ได้ แถมผังเมืองยังทำและกำหนดใช้เฉพาะในเขตเมือง (เขตเทศบาล) แล้วก็ีขีดเขตไปตามมืองที่ขยายออกไป ก็เป็นอันว่า แทนที่จะเพื่อกำหนดจัดการล่วงหน้า ก็กลายเป็นการตามไปแก้สิ่งที่เขาทำอยู่ให้มันดูดีขึ้น   
นิคมอุตสาหกรรมจะไปสร้างในเขตเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่อนุญาตตามผังเมือง  ฉะนั้น นิคมอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดจึงอยู่นอกเขตบังคับใช้ของผังเมือง กฎหมายที่ดินก็ไม่มีข้อบังคับเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

ลองคิดเล่นๆสนุกนะครับ ตัวที่เป็นลักษณะทางกายภาพแม่น้ำลำคลอง ดูแลโดยกรมเจ้าท่า การสร้างท่าเรือและเดินเรือ ดูแลโดยกรมเจ้าท่า ครานี้ หากผมได้รับอนุญาตและได้สร้างท่าเรือแล้ว ผมก็เอาท่อขนาดใหญ่มาสูบน้ำจากแม่น้ำไปจากท่าเรือของผมไปทำการเกษตรในพื้นที่หลังเขตตลิ่ง ผมจะต้องขออนุญาตจากหรือไม่และจากผู้ใดในการนำน้ำนั้นไปใช้ หน่วยราชการใดคือผู้ดูแลตัวทรัยากรน้ำนั้น

คงจะไม่ใช่คำตอบตรงๆว่าจะมีอุตสาหกรรมมากขึ้นหรือไม่ ครับ   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 22:22
ในเมื่อกรมเจ้าท่าดูแลแม่น้ำ   คุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม  ไม่ได้ตักน้ำขึ้นมาใช้ในบ้าน  ก็ต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่าซีคะ  หรือว่าจริงๆแล้วไม่ใช่  ต้องขอกรมชลประทาน?
น่าสนใจเหมือนกันว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน

ปัญหาของไทยหลายเรื่องด้วยกันเกิดจากสังคมไทยที่ไม่ยึดถือระเบียบข้อบังคับ  ทำให้คนไทยกลายเป็นคนไม่ชอบระเบียบวินัย    อีกอย่างคือชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าวางแผนระยะยาว    เพราะมีความคิดว่า "ก็มันยังไม่เกิด  จะไปคิดล่วงหน้าทำไม"    การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้ปัญหาที่เกิดจากการไม่ยึดถือระเบียบและไม่วางแผนระยะยาว ส่งผลกระทบต่อประเทศมากขึ้น   อาจมีประเทศอื่นๆที่มองเห็นจุดอ่อนข้อนี้นำไปใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง    ส่วนเขาจะมาเห็นแก่เราและช่วยอุดช่องโหว่ให้เรา  ยังมองไม่เห็นทางค่ะ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 05 ส.ค. 12, 23:08
อ้างถึง
การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

เราเอาแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือภาคกลางของเรา ไปเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม    เราเอาแม่น้ำลำคลองที่เป็นแหล่งอาหาร เพาะปลูก และใช้บริโภคในอดีตมาเป็นท่อระบายมลพิษจากโรงงาน   เมื่อเปิดเสรีอาเซียน   อุตสาหกรรมจะมากขึ้นอีกหรือเปล่าคะ


ณ ปัจจุบัน ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะไม่ใช่ครับ จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ จะหันไปใช้บริการนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น ระยอง หรือ ชลบุรี มากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม ถ้าจะกังวลน่าจะเป็นกังวลเรื่องแล้งเสียมากกว่า

และก็ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น จีนเองก็ลงทุนลงแรงไปกับนิคมเกิดใหม่ที่ระยองพอสมควร คงไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่ภาคกลางแน่ ๆ

ถ้าจะกังวล ผมว่าควรกังวลเรื่องของการสวมสิทธิเพื่อใช้ที่ดินมากกว่าครับ เพราะปัจจุบันบรรดาตัวแทนต่างชาติต่าง ๆ ก็มากว้านซื้อที่ดินในภาคกลางไปไม่น้อยแล้ว เพื่อนำไปทำนาแล้วส่งข้าว ตามที่มีข่าวเคยออกไปนั่นล่ะครับ ของจริงก็ยังมีอยู่ และยากต่อการพิสูจน์เสียด้วย


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 12, 20:03
ในเมื่อกรมเจ้าท่าดูแลแม่น้ำ   คุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม  ไม่ได้ตักน้ำขึ้นมาใช้ในบ้าน  ก็ต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่าซีคะ  หรือว่าจริงๆแล้วไม่ใช่  ต้องขอกรมชลประทาน?
น่าสนใจเหมือนกันว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน

ผมก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกันครับ

มาลองไล่กันดูเล่นๆ สนุกๆ เพื่อคลายเครียดนะครับ และขอแยกซอยออกไปสักหน่อยด้วยครับ
 
กรมป่าไม้ดูแลผืนป่า ซึ่งโดยนัยก็น่าจะเป็นพื้นที่ๆมีความลาดชันเกิน 35 หรือ 40% นับจากฐานของ slope ไปประมาณ 40 เมตร (ตัวเลขเหล่านี้ผมจำได้ไม่แม่นแล้ว) ทั้งนี้เนื่องจากกรมที่ดินมีข้อกำหนดตามกฎหมายว่าไม่สามารถจะออกโฉนดในลักษณะพื้นที่ดังที่เล่ามาได้   ซึ่งก็มีประเด็นว่าแล้วจะนับจากจุดใดให้เป็นป่า โดยเฉพาะหากพื้นที่เป็นลักษณะที่เป็นลอนคลื่น (undulating terrain)  นอกจากนั้นแล้วหากจะเป็นพื้นที่ป่าก็จะต้องมีการประกาศตามกฎหมาย   พื้นที่ๆเป็นผืนป่าเหล่านี้ คือป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็มีการประกาศเป็นพื้นที่ขนาดเล็กทับซ้อนลงไปให้เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อื่นๆอีก เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ โดยมีกฎหมายเฉพาะรองรับ  แล้วก็ยังมีการประกาศเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ (พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งเอ หนึ่งบี ชั้นสอง ชั้นสาม) ทับซ้อนลงไปอีก ซึ่งพื้นที่ชั้นลุ่มน้ำต่างๆนี้ใช้มติ ครม.รองรับ และก็มิใช่พื้นที่ที่มีความหมายตรงกับศัพท์ทางเทคนิคที่เรียกว่า catchment area กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง คือส่วนที่เป็นหนอก โหนก ของทิวเขา และพวกเขาโดดๆบนพื้นที่ราบทั้งหลาย       ของทุกชนิดที่พบอยู่ในพื้นที่ป่าถูกจัดเป็นของป่ารวมทั้งแร่ด้วย (ไม่ทราบว่าจะรวมทรัพยากรอื่นๆ เช่นน้ำด้วยหรือไม่)
 
กรมเจ้าท่าดูแลพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำ (รวมตลิ่ง) เกาะแก่งต่างๆ บรรดาห้วยหนองคลองบึงตามธรรมชาติทั้งหลายที่มีน้ำ และรวมทั้งการใช้ประโยชน์ในเส้นทางน้ำนั้นๆ (เรือ ท่าเรือ ดูดทราย ฯลฯ)  โดยนัยก็คือ ลำห้วยลำคลองหนองบึงทั้งหลายทั่วประเทศไทย ตลอดจนทะเลในเขตอาณา (และก็น่าจะรวมพื้นที่ชุ่มน้ำที่เรียกว่า wet land ด้วย ซึ่งได้มีการออกโฉนดให้เป็นกรรมสิทธิไปแล้วมากมาย) โดยนัยง่ายๆก็คือ ที่ใดมีน้ำที่นั่นดูแลโดยกรมเจ้าท่า (จะต้องมีลักษณะที่มีน้ำบนพื้นผิวตลอดเวลาหรือแห้งบ้างท่วมบ้างตามฤดูกาล อันนี้ไม่รู้ครับ)    นั่นหมายความว่ากรมเจ้าท่าก็มีหน้าที่และมีเขตอำนาจอยู่พื้นที่ๆเป็นเขตป่าด้วย  และก็หมายความว่าคลองตามธรรมาติหรือลำรางในพื้นที่ราบลุ่มทั้งหลาย รวมทั้งพื้นที่ชื้นแฉะและบึงทั้งหลายก็อยู่ในเขตอำนาจการดูและของกรมเจ้าท่า มากไปกว่านั้นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหลายที่ประกาศโดยกรมป่าไม้ ก็ทับซ้อนกับเขตอำนาจของกรมเจ้าท่า (แล้วอำนาจแท้จริงอยู่จะอยู่ที่กรมใด)     

กรมชลประทานดูแลเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร จะต้องมีการขุดคลองส่งน้ำ คลองและน้ำในคลองชลประทานกลายเป็นสมบัติของกรมชลประทานที่จะต้องดูแล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำและน้ำกลายเป็นสมบัติของ กฟผ.ที่จะต้องดูแล
น้ำที่ใช้จนกลายเป็นน้ำที่ไม่สะอาดและมีมลพิษปนเปื้ือนแล้วถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ กลายเป็นเรื่องของส่วนราชการอื่นที่จะต้องดูแล (เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ความเป็นทรัพยากรธรรมชาติตามหลักการ คือ  "ความเป็นทรัพยากรเกิดมาจากความต้องการของมนุษย์ที่กำหนดให้มันเป็น ความเป็นทรัพยากรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา"    ทรัพยากรที่สำคัญของมนุษย์ชาติต่างกลุ่มกันจึงไม่เหมือนกันในสภาพและช่วงเวลาที่ต่างกัน

ทรัพยากรน้ำของไทยซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของไทยที่ขาดผู้ดูแลอย่างเป็นระบบที่แท้จริง ต่างกับป่าไม้ แร่ธาตุ และพลังงานที่มีผู้ดูและทั้งระบบอย่างชัดเจน

ขยายความเขียนมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อจะให้ความเห็นว่า กฎหมายต่างๆของประเทศใดๆสังคมใดๆนั้น เขียนขึ้นมาบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมและความมีสำนึกในความถูกต้องทำนองครองธรรมของคนในยุคสมัยนั้นๆ  จะเอามาตีความตามตัวอักษรในยุคต่อๆมาในสภาพที่สังคมและจริยธรรมเปลี่ยนไปเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่ตนและพวกพ้องนั้นหาได้ไม่       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 20:50
ขอออกนอกเรื่องเล็กน้อย ไม่มากนัก
ใครทราบบ้างว่ากรมทรัพยากรน้ำเขาทำหน้าที่อะไรคะ   คำถามนี้(คือคุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม) เกี่ยวกับกรมนี้ต้องมาดูแลหรือเปล่า?

อ้างถึง
กฎหมายต่างๆของประเทศใดๆสังคมใดๆนั้น เขียนขึ้นมาบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมและความมีสำนึกในความถูกต้องทำนองครองธรรมของคนในยุคสมัยนั้นๆ  จะเอามาตีความตามตัวอักษรในยุคต่อๆมาในสภาพที่สังคมและจริยธรรมเปลี่ยนไปเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่ตนและพวกพ้องนั้นหาได้ไม่       

เห็นด้วยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 12, 21:37
เมื่อแรกเริ่มการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบแบบสอดคล้องกันอย่างบูรณาการด้วยการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น เรามีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ลดความขัดแย้งและสร้างสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์และการแสวงประโยชน์  มีการออก พรบ.เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรชนิดต่างๆให้สอดคล้องกัน เนื่องจากทรัยากรธรรมชาติทั้งหลายนั้นก็พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำแหน่งเดียกัน ต่างกันที่จะอยู่ใต้ดิน บนผิวดิน หรือเคลื่อนที่ผ่านไปมา ให้อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งในสมัยนั้นรัฐบาลและข้าราชการยังจัดได้ว่ามีคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ในระดับที่ดี

ต่อมาก็มีการแยกกรมที่ดูและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ออกไปอยู่ต่างกระทรวงกัน โดยเกือบจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องเลย (จนถึงปัจจุบัน) ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งส่วนราชการเพื่อทำการบริหารจัดการบนปรัชญาทางวิชาการที่ขัดแย้งกัน (ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์) ในสังกัดกรมเดียวกัน แล้วก็มีการตั้งส่วนราชการที่เน้นไปในการอนุรักษ์ในสังกัดกระทรวงอื่นๆ  สุดท้ายเมื่อสิบกว่าปีมานี้ ก็เอาส่วนราชการทั้งที่มีความขัดแย้งกันในเชิงของปรัชญาการบริหารจัดการเข้ามาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันอีก  (นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาที่ต้องผ่านเรื่องหลายกระทรวงก่อนได้รับอนุญาตให่ดำเนินการใดๆ)  ก็เช่นเดิม เกือบจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายใดๆ ปัญหาก็ยังคงอยู่ แถมยังเปิดช่องว่างให้สามารถมีการแสวงหาประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วย (ต้องผ่านเื่รื่องหลายกรมในกระทรวงเดียวกัน ในระดับกระทรวงต่างๆ รวมถึงหลายเรื่องก็ต้องกลายเป็นระดับ ครม.อนุมัติ ก่อนได้รับอนุญาตให้ดำเนินการใดๆ)

ประเด็นของเรื่องทรัพยากรน้ำนี้   เราบริหารจัดการในลักษณะของทรัพยากรที่มีอย่างสมบูรณ์และไม่มีวันหมด จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวทรัพยากรว่ามันจะมีมากน้อยและมีขีดจำกัดในการนำไปใช้เพียงใดในแต่ละพื้นที่และในแต่ละกิจกรรม  นี่เป็นสภาพการณ์ในสมัยก่อนโน้น   ในปัจจุบันเราใช้น้ำมากขึ้นมาก เช่น ปริมาณน้ำที่ใช้ในเขตเืมืองนั้นเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ต่อคนต่อวัน  น้ำที่ใช้ในการทำนาข้าวสำหรับหนึ่งไร่อยู่ในระดับ 1000 ลูกบาศก์เมตรต่อครั้งการปลูก 

อุตส่าห์ตั้งกรมทรัพยากรน้ำขึ้นมา ก็คงจะต้องเกี่ยวพันกับเรื่องของทรัพยากรน้ำ  พอแล้งน้ำก็กลับกลายเป็นมหาดไทย ทหาร น้ำบาดาลเข้าไปช่วย พอน้ำท่วมก็กรมชลประทาน มหาดไทย และทหารเข้าไปแก้    จะว่าหน่วยนี้ทำเฉพาะเรื่องนโยบายก็คงใช่ แต่เมื่อครั้งเกิดมหาน้ำท่วมขึ้นมาก็เกือบจะไม่ได้ยินข่าวสารใดๆจากกรมนี้เลย       



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 12, 18:49
ได้กล่าวมาแล้วว่าเหตุการณ์ เหตุการณ์ราคาน้ำมันดิบพุ่งกระฉูดในปี 1973 (ขอแก้จากเดิมที่บอกว่าปี 1972 ครับ_จำผิด) ได้ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเริ่มคิดและให้ความสนใจกับความปัญหาแหล่งพลังงานมากขึ้น

ลองเรียงลำดับเรื่องต่างๆดูนะครับ

หลังสงครามโลกสิ้นสุดในปี 1945 ก็เกิดสงครามเกาหลี อเมริกาต้องการแหล่งผลิตยุโธปกรณ์เพื่อใช้ในการรบ ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงคราม อเมริกาก็เลยใช้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมาจากสหรัฐฯ พร้อมๆกันก็เป็นการช่วยรื้อฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้พ้นจากความหายนะ (ในฐานะผู้ปกครอง) ญี่ปุ่นก็พอจะเริ่มตั้งตัวได้ใหม่ พอจบสงครามเกาหลีในปี 1955 ก็เกิดสงครามเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นในลักษณะดังกล่าวก็ได้ดำเินินการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของฐานทางทหารของสหรัฐฯ     พร้อมๆไปกับการที่ญี่ปุ่นเป็นแหล่ง supply ปัจจัยให้กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นเองก็สามารถรื้อพื้นอุตสาหกรรมของตน จนสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆสำหรับตลาดผู้ใช้ตามปรกติ (ซึ่งสามารถผลิตคู่ขนานไปกับสินค้าตามความต้องการทางทหาร) และมีพื้นที่สำหรับโฆษณาและระบายสินค้า (โดยเฉพาะไทย) ซึ่งเชื่อมต่อเป็นลูกโซ่ขายได้ในตลาดของประเทศที่มาร่วมในสงครามเวียดนาม   
เมื่อสงครามเวียดนามจบลงในปี 1975 สินค้าของญี่ปุ่นก็ติดตลาดและกระจายไปทั่วโลกแล้ว และติดตลาดมากพอที่สหรัฐฯจะต้องเข้มงวดและบังคับในญี่ปุ่นเปิดตลาดอย่างเสรีภายในเพื่อรับสินค้าจากสหรัฐฯและจากประเทศอื่นๆเข้าไปขายในประเทศของตนด้วย มิใช่จะส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีการนำเข้าในสภาพที่ค่อนข้างจะสมดุลย์ด้วย  ญี่ปุ่นจึงต้องส่งเสริมคนของตนให้ใช้สินค้่าจากต่างประเทศมากขึ้น  JETRO จึงถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งด้วยความที่เขาคิดอย่างมีตรรกะ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นเลิกคิดในการที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ตั้งอยู่บนความเป็นชาตินิยม วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ เอาโรงงานผลิตสินค้าของญี่ปุ่นไปตั้งอยู่นอกประเทศ สินค้าที่ผลิตจากโรงงานของญี่ปุ่นเหล่านี้ มันก็คือสินค้าญี่ปุ่น แล้วยังแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้าให้เกิดสภาพสมดุลย์ด้วย  ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็คงเห็นว่าน่าจะเสนอไทยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งจะได้ผลทั้งการขยายเศรษฐกิจ (บนฐานของการส่งออก) และเทคโนโลยีที่จะได้รับการถ่ายทอดของเราเอง ไทยจึงเกิด BOI ในปี 1977  ผนวกกับที่เรารู้แล้วว่าในอ่าวไทยพบแหล่งกาซธรรมชาติมหาศาล จนสามารถเริ่มลงนามการซื้อขายได้ในปี 1978    ด้วยสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งโดยความสัมพันธ์ในระดับประเทศกับไทยมีมาานมากแล้ว ก็สนับสนุนการมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย  การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจึงเริ่มฝังรกรากขึ้น และเพิ่มมากขึ้นจนอาจจะเรียกว่าก้าวกระโดดในปี 1990 เมื่อนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าประสบผลสำเร็จในปีนั้น และทำให้ภูมิภาคในแหลมทองทั้งหมดสิ้นสุดสภาพสงครามอย่างสิ้นเชิง

ขออภัยที่ไม่ได้แปลง ค.ศ.เป็น พ.ศ. ครับ เพียงเพื่อให้เกิดลำดับความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

         


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 12, 19:32
เมื่อเข้าปี 1990 ญี่ปุ่นประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งรุนแรงและมีผลกระทบมากพอที่ทำให้การบริหารองค์กรในปรัชญาของญี่ปุ่น (เช่น  lifetime employment) ต้องเปลี่ยนและเลิกไปมาก ในขณะที่จีนเริ่มเปิดประเทศเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง (เข่น การเปิด McDonald ในปี 1991) โดยเฉพาะหลังจากได้รับฮ่องกงคืนในปี 1997
 
ตลอดช่วง '90s  หลายบริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นต้องลดขนาดทางธุรกิจ และตัดสายโซ่กับ SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนส่งให้กับบริษัทใหญ่ๆ   ทำให้ SMEs ขาดทุนและเลิกกิจการไปมากๆในระดับที่เรียกว่า hollow out ของระบบอุตสาหกรรม จนบริษัทใหญ่ๆไม่สามารถอาศัยฝีมือของ SMEs เมื่อเริ่มการผลิตในนวัตกรรมใหม่ได้    SMEs เหล่านี้หันไปลงทุนในจีนในลักษณะเดี่ยวบ้าง ในลักษณะกลุ่มบ้าง  ซึ่งก็พังพาบกลับมา เจ็บเนื้อเจ็บตัวเป็นจำนวนมาก  สุดท้ายก็เห็นว่าไทยน่าจะเป็นแล่งลงทุนที่ดีที่สุด ก็รวมตัวกันกลับมาลงทุนในไทย    SMEs ของไทยก็เลยเริ่มถูกเบียด เลิกไปบ้าง (เยอะทีเดียว) ต้องรับเขาเข้าร่วมทุนบ้างเพื่อความอยู่รอดก็มีมาก

คำบอกเล่าสำหรับเหตุผลหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผม คือ SMEs ของญี่ปุนเขาบอกว่า เหตุที่เจ้งจากจีน (ขอใช้คำที่ไม่ค่อยจะสุภาพครับ) ก็เพราะว่า จีนนั้นนอกจากจะก๊อบปี้เป็นแล้วยังต่อยอดได้อีกด้วย สำหรับไทยนั้นมีแต่ก๊อบปี้แต่ไม่มีการต่อยอด  (เป็นทั้งคำนิยมและคำปรามาสไปพร้อมๆกัน)

จะขอพักไว้สำหรับวันนี้เพื่อการย่อยข้อมูลกันก่อนครับ   

     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 12, 18:10
ในช่วง 90's นี้  ต่อจนเข้า 2000's เป็นช่วงรอยต่อของหลายๆเรื่องๆ

เป็นช่วงรอยต่อของแนวคิดในการประกอบการอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่  (ซึ่งก็คือรูปแบบเดิมที่ปรับปรุงใหม่) คือ เนื่องจาก SMEs ในหลายๆประเทศทั่วโลกมีความสามารถก้าวทันในทางเทคโนโลยี ซึ่งด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหล่านี้ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ประกอบกับการที่ประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่เจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างก็เริ่มเห็นว่า การป้องกันมิให้เทคโนโลยีรั่วไหลนั้น ก็เพียงแยกการจ้างทำอุปกรณ์ต่างๆออกเป็นชิ้นงานย่อยๆเล็กๆ  เช่น ให้บริษัทหนึ่งผลิตชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่ง เอาชิ้นส่วนไม่กี่ชิ้นจากหลายหลายบริษัทเหล่านี้ ส่งไปให้อีกบริษัทหนึ่งเพื่อนำไปเชื่อมต่อกัน    ในลักษณะค่อยๆขยายการเชื่อมต่อกันจากหลายแหล่งหลายผู้ประกอบการ จนกระทั่งได้ชิ้นงานทางเทคโนโลยีที่พอใจ จึงนำเข้าเอาไปรวมกัน ทำการประกอบและผลิตเป็นสินค้าตามที่ตนมีนวัตกรรมและมีเทคโนโลยีขั้นสูง  ตัวอย่างเช่น การผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของหสรัฐฯ และแอร์บัส A380 ของยุโรป เป็นต้น    เท่าที่ทราบ ชิ้นส่วนย่อยบางอย่างก็ผลิตไปจากไทย ก่อนที่จะนำไปรวมกันเป็นเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องบินทางยุทธวิธี

ในช่วงรอยต่อของศตวรรษนี้อีก ที่อุตสาหกรรมหลายอย่างของหลายประเทศต้องย้ายฐานการผลิต     
เพื่อความเข้าใจในเรื่องการย้ายฐานการผลิตนี้ จะขอเล่าวัฏจักรของการประกอบการอุตสาหกรรม พอสังเขปดังนี้
จะขอยกภาพที่ค่อนข้างจะชัดเจนของการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง     เมื่อเริ่มมีนวัตกรรมในสินค้าที่ผลิตขาย แรกเริ่มก็จะทำการผลิตในประเทศ เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความต้องการมากๆเข้าในประเทศของตน ปริมาณการผลิตในประเทศก็เริ่มไม่เพียงพอ แถมต้นทุนสูงอีกด้วย ก็จะต้องไปหาที่ผลิตนอกประเทศซึ่งต้นทุนจะถูกกว่า  อาจจะเริ่มด้วยส่งชิ้นส่วนไปประกอบแล้วส่งกลับ หรือให้ผลิตชิ้นส่วนแล้วนำเข้ามาประกอบในประเทศองตน ก็แล้วแต่นโยบาย  เมื่อสินค้าเริ่มกลายเป็นที่ต้องการในตลาดนานาชาติที่เข้ามาซื้อหาในประเทศของตน ก็จะเริ่มขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศมากขึ้นด้วยการไปตั้งโรงงานเสียเองนอกประเทศแทนการจ้างผลิต  ซึ่งเมื่อสินค้านั้นๆได้กลายเป็นสินค้าปรกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  จึงจะเริ่มเกิดการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศของตน  โดยนัยก็คือ เพื่อเปิดพื้นที่ภายในประเทศให้มีความว่างเพื่อเริ่มการผลิตสินค้าในนวัตกรรมใหม่และการทำตลาดใหม่

สาเหตุการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งก็เริ่มมาด้วยสภาพการณ์ดังที่กล่าวมา    ครานี้ เมื่อผลิตด้วยสายพานการผลิตในต่างประเทศนานมากเข้า แรงงานและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้นก็ย่อมต้องมีการพัฒนาฝีมือไปสู่ในระดับที่จะสามารถสนองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ง่าย อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ซึ่งมักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างจะสกปรกดังเดิมเหล่านั้น ก็จำเป็นจะต้องย้ายออกไปยังประเทศอื่นรองๆไป เพื่อรองรับสายพานการผลิตที่มีความสลับซับซ้อนและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 12, 18:28
^
ความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมไทยกับญี่ปุ่นก็เป็นในลักษณะดังกล่าวนี้
 
จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่ญี่ปุ่นพยายามจะย้ายอุตสาหกรรมการผลิตบางอย่างจากไทยไปยังเวียดนามและเขมร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังจะเกิด AEC








กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 12, 19:18
เรื่องที่เล่ามานี้ ผมเห็นว่าเป็นเพียงบริบทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาพของการก้าวย่างใน AEC    จะขอขยักเรื่อง regional politics ไว้ตรงนี้ก่อน เดี๋ยวจะเห็นว่าไม่เห็นเกี่ยวกับ ASEAN และ AEC เลย

ลองมาดูสภาพบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในอาเซียน และที่คิดว่าจะเป็น norm ต่อไปใน AEC

เคยได้ยินและได้ทราบความตกลงทางการค้าการลงทุนของภาครัฐและของเอกชนบนพื้นฐานของระบบ Production Sharing Contract (PSC Contract) บ้างใหมครับ     ผมเห็นว่าระบบนี้จะกลายเป็นพื้นฐานของแนวคิดต่างๆในการทำความตกลงทางการค้าต่อๆไป ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐกับเอกชน และ เอกชนกับเอกชน   

ทิ้งท้ายไว้ตอนนี้ว่า ระบบ Royalty system ที่เราใช้ ต่างกับระบบ PSC system ที่เพื่อนบ้านในอาเซียนของเราใช้มากมาย    ท่านสมาชิกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์จะช่วยขยายความทั้งสองระบบนี้เป็นวิทยาทานได้ก็ด้วยความยินดีครับ   

ผมเข้าขั้นเป็นห่วงเลยทีเดียวที่ยังไม่เห็นองค์กรและหน่วยงานทางเศรษฐกิจทั้งของภาครัฐและเอกชนของเราได้แย้มพูดถึงเรื่องระบบนี้เลย แล้วจะให้เอกชนไทยเราไปสู้กับเขาเมื่อเปิดเสรี AEC ได้อย่างไร หากยังไม่รู้ในปรัชญาความคิด ตับไตใส้พุงในเรื่องนี้     ที่ไปทำธุรกิจเจ้ง (คำไม่สุภาพอีกแล้วครับ) ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ก็มิใช่บนพื้นฐานของความตกลงและสัญญาบนปรัชญา PSC นี้หรือ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 19:43
ยังไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์คนไหนจะเข้ามาขยายความให้อย่างที่คุณตั้งเชิญ  แต่นักอักษรศาสตร์ไม่รู้เรื่อง  regional politics /
Production Sharing Contract (PSC Contract) / Royalty system / PSC system เลยสักคำค่ะ
ช่วยติวก่อนได้ไหมคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 12, 20:46
^
ตกลงครับ จะขยายความ

ของออกตัวเสียก่อนว่าผมห่างไกลจากเนื้อในที่ละเอียด เพียงแต่เข้าใจในทางปรัชญาความคิดพอที่จะทักท้วงได้ในระหว่างการเจรจาเท่านั้นครับ   ในปีจจุบันนี่มีการพัฒนาไปในรูปแบบอื่นๆอีกด้วย




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 20:55
ขอเลกเชอร์ระดับสอนเด็กปี 1 สายศิลป์ได้ไหมคะ   ไม่เคยลงเรียนเศรษฐศาสตร์แม้แต่ 1 หน่วยกิต


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 10 ส.ค. 12, 08:12
ขอเลกเชอร์ระดับสอนเด็กปี 1 สายศิลป์ได้ไหมคะ   ไม่เคยลงเรียนเศรษฐศาสตร์แม้แต่ 1 หน่วยกิต
เผื่อเด็กปี ๑ สายวิทย์ด้วยครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 12, 20:18
ผมเขียนว่า Royalty ตามที่มักจะเขียนกัน ที่จริงแล้วคำที่ถูกต้องจะเขียนว่า Royalties

Royalties โดยหลักก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการอนุญาตให้นำทรัพย์สินของตนไปแสวงหาประโยชน์เพิ่มในรูปแบบอื่นๆ (เช่น เพลง ทรัพยากร ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ)  อยู่บนพื้นฐานของความตกลงในลักษณะของสัญญาการอนุญาต   ค่าลิขสิทธิ์ ค่าใช้เครื่องหมายการค้า (Franchises) รวมถึงค่าการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ (แร่ธาตุ น้ำมัน ฯลฯ) เหล่านี้เป็น Royalties    อัตราที่เรียกเก็บคิดเป็นร้อยละบนฐานของราคาประเมินต่อหน่วยที่ผู้ทรงสิทธิคิดว่าน่าจะมีมูลค่าเช่นนั้น (ต่อแผ่น CD  ต่อตันแร่ ต่อครั้งที่เปิดเพลง ฯลฯ)    เนื่องจากระบบ Royalties นี้มีการใช้กันมานานมากในโลก จึงมีพัฒนาการมากมาย กลายเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขสลับซับซ้อนในปัจจุบัน

โดยสรุป ก็คือ ระบบรายได้ที่ได้มาจากมูลค่าเพิ่มอันเนื่องมาจากการที่ผู้อื่นนำเอาทรัพยากรของเราไปแสวงประโยชน์เพิ่มเติม  คล้ายกับว่าทรัพยากรนั้นไม่เสื่อมสลายไปใหน
Royalties ของไทย  ในทางราชการหมายถึง ค่าภาคหลวงและค่าสัมปทาน 

Production Sharing Contract (PSC) หรือ Production Sharing Arrangement (PSA)  โดยหลักแล้วเป็นเรื่องของความตกลงระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายเอกชนในการที่ฝ่ายรัฐอนุญาตให้เอกชนเข้ามาขุดค้นหาเอาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปค้าขาย    เป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบสัมปทาน (Concession) ซึ่งเป็นระบบอนุญาตให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิในการสำรวจหาและจำหน่ายทรัพยากรธรรมชาติบางอย่าง (ตามที่กำหนด) ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ปรกติคือ 30-35 ปี)
หลักการที่สำคัญของ PSC คือ ทรัพยากรเป็นของรัฐตลอดเวลา รัฐรู้อยู่ว่ารัฐมีทรัพยากรนั้นๆ เพียงแต่รัฐยังไม่ได้ใช้หรือยังไม่มีความสามารถที่จะไปลงทุนสำรวจ (คน เงิน และเทคโนโลยี) และนำมาใช้ประโยชน์   รัฐจึงเพียงอนุญาตให้มาสำรวจและขุดค้นเท่านั้น ทั้งนี้หากพบ รัฐก็ยินดีที่จะอนุญาตให้นำไปแสวงหารายได้ แต่ต้องอยู่ภายในกำกับของนโยบายของรัฐ   โดยนัยก็คือ รัฐไม่เข้าไปร่วมเสี่ยงด้วยและก็ไม่ปล่อยให้ได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวในทุกสถานการณ์ที่เป็นคุณกับฝ่ายเอกชน

ปรัชญาของ PSC นี้ แตกต่างกับปรัชญาของ Royalties ในมุมหนึ่งที่สำคัญก็คือ  Royalties นั้น ไม่ไปยุ่มย่ามกับความสามารถของคู่สัญญา ในขณะที่ PSC นั้นบีบให้คู่สัญญาต้องทำเต็มกำลังความสามารถตามที่ตกลงกันไว้ตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง คือ Royalties นั้น เ็ป็นแบบ ชิลๆ ในขณะที่ PSC นั้นเป็นแบบเร่าร้อน

     




 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 12, 20:20
ตั้งใจว่าจะเขียนให้มากกว่านี้ เพราะว่าผมจะไปต่างจังหวัดประมาณ 1 สัปดาห์

ขออนุญาตเว้นวรรคไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ

ขออภัยจริงๆครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 12, 20:48
นักเรียนปี 1 สายวิทย์กับสายศิลป์จะนั่งรออยู่หลังห้องนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 09:26
มาดึงกระทู้ไว้ก่อนตกหน้า
http://th.jobsdb.com/TH/th/Resources/JobSeekerArticle/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99?ID=5751
อาชีพหมอฟัน-นางพยาบาลน่าห่วงสุด หลังเปิดเสรีอาเซียน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้อาชีพทันตแพทย์และพยาบาลเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง หลังการเปิดเสรีแรงงานในอาเซียน ขณะที่ประเมินว่าธุรกิจสปา ขนาดเล็ก จะปิดบริการมากกว่า 1 หมื่นแห่ง หลังมีการกำหนดมาตรฐานกลางของอาเซียน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการวิเคราะห์เรื่องศักยภาพการแข่งขันของการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพไทยภายใต้ AEC ว่า ประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมการเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงภาคแรงงานยังไม่ทราบถึงผลกระทบและการเตรียมตัวในการเปิดเสรี อีกทั้งการเปิดเสรีแรงงานจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและบริการของไทยเพราะ ปัจจุบันยังขาดแรงงานที่มีฝีมือและยังมีความเสียเปรียบด้านภาษา และจากการทำการศึกษาในกลุ่มบริการวิชาชีพใน 6 สาขา ได้แก่ งานทันตแพทย์ งานแพทย์ งานพยาบาล งานบัญชี งานวิศวกรรม และงานสถาปัตยกรรม พบว่า กลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ พยาบาลและวิศวกร ส่วนใหญ่ไม่เห็นประโยชน์ของการเปิดเสรีอาเซียน เนื่องจากจะมีแรงงานวิชาชีพต่างชาติเข้ามาหางาน ในไทยมากขึ้น ทั้งนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ทันตแพทย์และพยาบาล เนื่องจากจะมีทันตแพทย์โอนสัญชาติจากยุโรปเป็นสิงคโปร์ และจะมีพยาบาลจากฟิลิปปินส์เข้ามาใช้สิทธิ์เข้ามาประกอบวิชาชีพจำนวนมาก ซึ่งไทยยังเสียเปรียบด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ถึงแม้แต่ละวิชาชีพของไทยอยู่ในระดับกลุ่มที่มีศักยภาพในอาเซียน

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ภาครัฐควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ ประโยชน์และผลกระทบของแต่ละวิชาชีพ ก่อนที่จะมีการตกลงเปิดเสรีแรงงานอาเซียน รวมถึงเพิ่มเรื่องทักษะภาษาต่างประเทศ พัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับภาคการผลิต ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจสปาขนาดเล็ก ที่เปิดตามตึกแถวหรือตามที่พักอาศัย อาจจะมีการปิดกิจการเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 แห่ง หลังจากการเปิดอาเซียน เนื่องจากขณะนี้ได้มีการออกมาตรฐานสปาในอาเซียนแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อบังคับและมาตรฐานของสถานที่และความปลอดภัยต่างๆ และจะมีหน่วยงานของอาเซียนเข้ามาตรวจด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างรอการลงนามของกลุ่มประเทศในอาเซียน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 09:31
วิศวะไทยเสี่ยงตกงาน เมื่อเปิดเสรีอาเซียน

หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับอาชีพที่จะเปิดเสรีให้ทำงานได้ทุกประเทศในอาเซียน 7 อาชีพเมื่อเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นั้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาแสดงความเป็นห่วงวิศวกรของไทยว่ามีความเสี่ยงที่จะตกงาน เนื่องจากเมื่อเปิดเสรีอาเซียนจะมีวิศวกรต่างชาติไหลเข้าประเทศมาแย่งงานวิศวกรไทย ทำให้วิศวกรไทยหางานยากขึ้น ตกงานมากขึ้น เราเองจะไปทำงานต่างประเทศก็เสียเปรียบ เพราะหลักสูตรวิศวกรรมของไทยยังไม่ได้มาตรฐานอินเตอร์

รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้เชิงบูรณาการของวงการวิศวกรรมศาสตร์ไทย เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558" ว่า ในด้านงานวิศวกรรมเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558 จะได้สิทธิ์เคลื่อนย้ายอย่างเสรีตามข้อตกลงของประเทศสมาชิก ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจริงก็จะมีวิศวกรทั้งในและต่างประเทศไหลเข้าและไหลออกประเทศอย่างมากจนเกิดการแย่งงาน ซึ่งหากวิชาชีพวิศวกรรมของไทยจะอยู่รอดได้ก็ต้องมีการเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายในวิชาชีพ

ทางออกสำหรับรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คือ เรามีความจำเป็นที่จะต้องยกคุณภาพหลักสูตร เพิ่มศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ และเพิ่มความหลากหลายของสาขาวิชาจึงจะสู้ต่างชาติได้  ประการแรก - หลักสูตรวิศวกรรมของจุฬาฯ ต้องเป็นที่ยอมรับจาก
สากล อย่างปัจจุบันหลักสูตรวิศวกรรมทั่วโลกที่จะได้รับการยอมรับจากสากลนั้นต้องผ่านการประเมินและรับรองจากคณะกรรมการรับรองหลักสูตรสำหรับวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี หรือเอเบ็ด จากประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมาเลเซียได้รับการรับรองกันหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะมีสภาวิศวกรคอยรับรองหลักสูตรและควบคุมวิชาชีพกันเองในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาตัวสภาวิศวกรเองก็ยังไม่ถูกยอมรับจากสากล ทำให้บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมของไทยทั้งหมดอาจเสียเปรียบตอนพิจารณาค่าแรงได้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน เพราะบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมาเลเซียที่เรียนในหลักสูตรเอเบ็ดรับรอง ก็จะมีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำที่สูงกว่าหลักสูตรที่เอเบ็ดไม่รับรอง ทั้งนี้การจะให้เอเบ็ดมาประเมินและรับรองนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องรักษาสภาพการรับรองทุกปี ซึ่งคิดเป็นปีละ 3-4 ล้านบาท 
ดังนั้น จึงหาวิธีแก้ปัญหาโดยการไปจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศทั้งจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อทำการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการ เพื่อทำให้หลักสูตรวิศวกรรมของจุฬาฯ เป็นที่ยอมรับจากสากล ถึงแม้เอเบ็ดจะยังไม่ได้รับรองหลักสูตรก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจุดเน้นนักศึกษาให้ตรงกับการประเมินของเอเบ็ดด้วย อาทินศ.จบชั้นปีที่ 1 ต้องสร้างบ้านได้ นศ.จบชั้นปีที่ 2 ต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำได้ นศ.จบชั้นปีที่ 3 ต้องสร้างตึกสูงได้ เป็นต้น
ประการที่สอง - เพิ่มศักยภาพทางภาษาให้กับนักศึกษา โดยคณะได้เพิ่มวิชาเรียนเป็นภาษาอังกฤษให้นักศึกษาที่เรียนหลักสูตรภาษาไทยได้เลือกเรียน จัดห้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยให้สถาบันสอนภาษามาสนับสนุน และจูงใจให้นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษดังกล่าวได้สอบโทเฟล ซึ่งหากสอบผ่านคณะก็จะคืนเงินค่าสอบให้ แต่หากสอบไม่ผ่านก็ต้องไปอบรมภาษาเพิ่ม นอกจากนี้ยังเพิ่มวิชาการเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน การปรับปรุงหลักสูตรและการเพิ่มศักยภาพนักศึกษาทั้งหมดได้เริ่มใช้แล้วในปีการศึกษา 2554 นี้

"ผมมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองมากหากทุกมหาวิทยาลัยในไทยจะเป็นสมาชิกเอเบ็ด ดังนั้นวิธีที่จะประหยัดงบได้คือต้องให้สภาวิศวกรได้รับการยอมรับจากเอเบ็ดอย่างเดียวก็พอ เพื่อมาประเมินกันเองในประเทศต่อไป แต่ปัจจุบันติดปัญหาว่าไม่มีผู้บริหารคนใดคอยผลักดันเรื่องดังกล่าวทั้ง ๆ คณบดีวิศวกรรมทุกแห่งก็เห็นด้วย แต่เพราะตัวสภาวิศวกรเองสำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษา (สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ไม่ช่วยผลักดัน ทำให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และอาจเสียโอกาสได้ในเวทีอาเซียน" รศ.ดร.บุญสมกล่าว

ส่วนอนาคตของวิศวกรรมไทยโดยเฉพาะสาขาวิชาวิศวกรรมพื้นฐาน ตนมองว่าอาจไม่รอด เพราะวิศวกรรมพื้นฐานจะมีแรงงานจำนวนมาก ดังนั้นองค์ความรู้ต่อไปจะลงลึกไปมากกว่านี้ และจะผสมผสานข้ามไปยังศาสตร์อื่น ๆจนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ขึ้นมา อาทิ วิศวกรรมชีวเวช ซึ่งคณะก็เปิดสอนอยู่ในระดับ ป.โท โดยเป็นการนำสาขาวิชาวิศวกรรมไปเรียนร่วมกับวิชาแพทย์ เพื่อให้บัณฑิตสามารถคิดค้นทำเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ตามหลักวิศวกรรม วิศวกรรมบัญชีโดยเป็นการนำสาขาวิชาวิศวกรรมไปเรียนร่วมกับสาขาวิชาบัญชี เพื่อเป็นทางเลือกให้บัณฑิตได้ เป็นต้น
ที่มา : ไทยโพสต์ออนไลน์

http://th.jobsdb.com/th/th/Resources/JobSeekerArticle/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.htm?ID=4880


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 15 ส.ค. 12, 19:52
นักเรียนปี 1 สายวิทย์กับสายศิลป์จะนั่งรออยู่หลังห้องนะคะ
เอ้! แล้วถังขยะหลังห้องของผมหายไปไหนแล้วครับ
ปกติผมนั่งหลังห้องทีไร ติดขยะหลังห้องทุกที


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 20:23
ยกออกไปเองค่ะ   เดี๋ยวครูเผลอคุณ sujitra จะแอบกินขนม  ทิ้งกระดาษห่อขนมลงในนั้น


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:48
http://www.youtube.com/watch?v=8h1IrScMnv4&feature=related


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 12, 21:19
กลับมาแล้วครับ แต่จะขออนุญาตไปเิริ่มในวันพรุ่งครับ

จับประเด็นสั้นๆก่อนในเรื่อง สปา
จะขอสรุปว่าทำไมหลายๆประเทศในโลกจึงมีความกังวลในเรื่องของสปา ก็คือ วิธีการของสปานั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งของ Physical therapy (กายภาพบำบัด) ในทางการแพทย์  ซึ่งสปาของไทยนั้นผนวกไปด้วยการนวดแบบจับเส้นและการดัดตน     ในระบบสากลของการสาธารณสุขแบบประกันสุขภาพนั้น การเจ็บป่วยต่างๆจะต้องบำบัดรักษาด้วยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น  โดยหลักการแล้ว สปาแบบมีการนวดและสัมผัสตัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักทางการแพทย์และทางกฎหมาย   ผู้ให้การประกันจึงไม่ประสงค์จะรับผิดชอบกับความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้เอาประกันสมัครใจเอาตัวเข้าไปเสี่ยงเอง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 12, 21:25
ขอย้อนกลับไปต่อเรื่องแนวคิดของระบบ Royalties กับ PSC
ขอย้อนกลับไปขยายความสักเล็กน้อยครับ

ในแนวคิดของระบบ Royalties นั้น เจ้าของทรัพย์สินและผู้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้ จะตกลงกันในเรื่องของมูลค่าพื้นฐานของทรัพย์สินนั้นๆ และเรียกเก็บเป็นอัตราร้อยละจากมูลค่าของทรัพย์สินนั้นๆ เมื่อตกลงกันแล้ว ส่วนของทรัพย์สิน (ปริมาณ) ในส่วนที่ตกลงกันนั้นๆจะตกเป็นของผู้ที่จะนำทรัพย์สินนั้นๆไปใช้  ตัวอย่างเช่น
 
กรณีแรก เช่น นาย กอไก่ เจ้าของทรัพย์สินเห็นว่ารัพย์สิน A ของตนนั้นควรจะมีค่ามีราคา 100 บาทต่อหน่วย และเห็นว่าสมควรจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่สนใจจะนำไปผลิตขายแสวงประโยชน์เพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งหมายความว่า นาย กอไก่ จะได้เงิน 5 บาทจากทุกๆหน่วยที่นาย กอไก่ ขายไปให้กับนาย ขอไข่  นาย ขอไข่ เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะนำไปหากำไรเพิ่มเติมได้จากความสามารถของตนจึงตกลง ซึ่งหมายความว่า นาย ขอไข่ จะต้องสามารถนำทรัพย์สินนั้นๆไปหาเงินได้มากกว่า 105 บาทต่อหน่วย หรือหากตกลงกันเป็น lot เช่น lot ละ 10,000 หน่วย  นาย กอไก่ ก็ได้รับเงินค่า Royalties ในสัญญาครั้งนี้ 500 บาท  ส่วน นาย ขอไข่ อาจจะไปจำหน่ายได้เงินมาก เช่น เอาไปขายได้ในราคา 110 บาทต่อหน่วย ก็จะขายได้เงินถึง 1,100,000 หรือแม้กระทั่งขายในราคาที่ต่ำกว่ามาก ก็ยังจะได้กำไรมากอยู่ดี
       
กรณีที่สอง เป็นการเรียกเก็บค่า Royalties จากจำนวนหน่วยหรือจำนวนเงินที่ นาย ขอไข่ นำไปผลิตและจำหน่ายได้ เช่น การตกลงกันระหว่างนาย กอไก่ กับนาย ขอไข่ ว่าราคาพื้นฐาน (ต้นทุน) ของการผลิตน่าจะอยู่ที่ เช่น 50 บาท น่าจะจำหน่ายได้ในตลาดในราคา 100 บาท ซึ่งทุกๆหน่วย 100 บาท นี้ นาย กอไก่ จะเรียกเก็บร้อยละ 5 จากจำนวนที่นาย ขอไข่ ขายไป  จะหักต้นทุนก่อนก็ได้ หรือ ไม่มีการหักต้นทุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลง (โดยมีฐานอยู่ที่ราคา 100 บาท)  กรณีนี้ หากนาย ขอไข่ สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่านี้ รายได้ส่วนเกิน (จาก 100 บาท) ก็จะตกเป็นของนาย ขอไข่ โดยไม่เกี่ยวกับค่า Royalties  ซึ่งหากนาย ขอไข่ ทำตลาดได้ดีหรือโชคช่วยกลายเป็นความต้องการของตลาดทำให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปมากๆ (เช่น จาก 100 เป็น 200 บาท) กำไรจากโชคอันนี้ก็จะตกเป็นของนาย ขอไข่ อย่างเต็มๆ  (win fall profit) โดยที่ยังเสียค่า Royalties อยู่ที่ 5% ของฐาน 100 บาท

ความสลับซับซ้อนในเงื่อนไขและความตกลงต่างๆในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันนี้มีมากกว่านี้มากนะครับ

ในแนวคิดของระบบ PSC คือ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆจะไม่เป็นผู้สร้าง (ทำการผลิต) ทรัพย์สินนั้นๆเพิ่มเติม ด้วยแน่ใจว่าทรัพย์สินนั้นๆมีค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน  อาจจะด้วยเห็นว่าไม่อยากลงทุนหรือไม่มีขีดความสามารถในการลงทุนทำการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจะด้วยเหตุใดๆก็ตาม ต้องการจะอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาทำการผลิตและจำหน่ายแทน ทั้งนี้ ไม่ประสงค์จะให้ทรัพย์สินนั้นๆของตนไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดถูกเปลี่ยนไปเป็นกรรมสิทธิของผู้อื่น  ระบบนี้เป็นระบบเรียกเก็บจากรายได้ในทุกรูปแบบจากที่ผู้ที่มารับทำการผลิตและจำหน่าย (ทั้งฐานของ royalties แบบ fixed rate และจากฐานของ win fall แบบขั้นบันได)
เพื่อการเปรียบเทียบสำหรับกรณีศึกษานี้ จะขอยกกรณ๊่ของวิธีการซึ่งใช้กันในระบบให้สัมปทานปิโตรเลียม  คือ ให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุนทำการสำรวจในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่กำหนด เมื่อถึงเวลากำหนดก็จะต้องทำการพิสูจน์ทราบว่าจะสามารถดำเนินธุรกรรมต่อไปได้ใหม (กรณีของการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน คือ การเจาะ)  หากพบว่ามีทรัพยากรในปริมาณที่สามารถจะขุดนำออกมาขายได้ ก็จะต้องทำการพัฒนาให้ไปถึงระดับที่จะผลิตขายได้ในระยะเวลาที่กำหนด การลงทุนทั้งหมดในขั้นตอนที่กล่าวมานี้ โดยนัย คือ เป็นช่วงปลอดค่าธรรมเนียมต่างๆ  เมื่อเิ่ริ่มมีผลผลิต ก็จะให้มีการหักค่าใช่จ่ายที่ได้ลงทุนมา โดยคิดหักเป็นจำนวน (ปริมาณ) ของทรัพยากรที่ได้มา ตามแต่จะตกลงกัน  สำหรับกรณีน้ำมันก็เรียกว่า Cost oil เป็นต้น  เช่น สามารถผลิตน้ำมันได้ 100 บาเรลต่อวัน ก็จะอนุญาตให้หักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคืนการลงทุนที่ผ่านมาจำนวน 50 บาเรล ที่เหลืออีก 50 บาเรลนั้น เอามาแบ่งกันในสัดส่วนที่ตกลงกัน    cost oil นี้อาจจะเท่าเดิมตลอดของอายุสัมปทาน แต่ส่วนทีเหลือนั้น ในช่วงปีแรกๆก็อาจจะแบ่งกันคนละ 25 บาเรล แต่ต่อๆมาก็จะมีการแบ่งส่วนให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นได้รับในสัดส่วนที่มากขึ้น จนในปีท้ายๆของสัมปทาน ผู้เป็นเจ้าของก็อาจจะได้รับส่วนแบ่งไปถึงระดับ 70-80% เลยทีเดียว   ในระบบนี้ผู้รับสัมปทานมีลักษณะเป็นผู้เข้ามาอาสาทำประโยชน์ให้กับเจ้าของทรัพย์สิน และในลักษณะที่การจะดำเนินการใดของผู้รับสัมปทานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของ

อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องมากนัก   เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า  เมื่อเปิด AEC จะเกิดการการเคลื่อนไหวของคนและสิ่งของมากขึ้น การทำสัญญาต่างๆในทุกระดับจะมีมากขึ้น  เราจึงควรจะต้องมีความรู้ในเชิงของปรัชญาในสัญญาและในความตกลงต่างๆอย่างพอเพียง

ในสัญญาตามรูปแบบที่ใช้ในสากล จะมีไม่มากคำที่จะต้องเข้าใจและต้องถกกันให้กระจ่าง เช่น  force majeure, include tax และ plus tax, juridical personality, legitimate..., arbitration  เป็นต้น   และรวมทั้งแนวการเขียนสัญญาในปรัชญาของ common law และ civil law

ดูจะฝอยมากไปแล้วครับ มีแต่ประสบการณ์เพียงหางอึ่งเท่านั้นเองครับ           

     
             


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 20 ส.ค. 12, 21:40
คุณตั้งคะ...ช่วยย่อยให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย หรือให้เห็นเป็นภาพได้ไหมคะ...อิอิ

เพราะหลายคนอาจไม่มีพื้นความรู้ทางกฏหมายธุรกิจ เลยตามไม่ค่อยทันคะ

แต่ก็อยากอ่านประดับความรู้ หวังว่าจะไม่เป็นการรบกวนเกินไปนะคะ ขอบคุณคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 21:49

ในแนวคิดของระบบ Royalties นั้น เจ้าของทรัพย์สินและผู้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้ จะตกลงกันในเรื่องของมูลค่าพื้นฐานของทรัพย์สินนั้นๆ และเรียกเก็บเป็นอัตราร้อยละจากมูลค่าของทรัพย์สินนั้นๆ เมื่อตกลงกันแล้ว ส่วนของทรัพย์สิน (ปริมาณ) ในส่วนที่ตกลงกันนั้นๆจะตกเป็นของผู้ที่จะนำทรัพย์สินนั้นๆไปใช้             

ฯลฯ

เด็กปี 1 สายศิลป์สอบตกวิชานี้ตั้งแต่อ่านบรรทัดแรกค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ส.ค. 12, 22:55
ค่าRoyaltyที่ผมเคยทำธุรกิจมาจริงๆก็คือ ค่าธรรมเนียมในการซื้อTechnical Know-howของเขามาทำการผลิตของเพื่อจำหน่ายในประเทศของเรา ซึ่งเขาคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่คุณตั้งว่า5% ความจริงแล้วสูงไป มาตรฐานอยู่ที่3%ของราคาขาย คิดจากยอดขายตามรอบบัญชีที่ขายได้จริง

ปกติแล้ว การผลิตจะดำเนินการโดยบริษัทหนึ่ง และขายผูกขาดให้อีกบริษัทหนึ่ง(ในเครือเดียวกัน)เป็นผู้จัดจำหน่าย อันนี้เป็นสากลปฏิบัติ และค่าRoyaltyก็คิด3%ที่ตรงนี้ ส่วนบริษัทจัดจำหน่ายเมื่อลงทุนโฆษณาและทำการตลาดแล้ว จะไปบวกราคาขายให้เอเยต์เป็นเท่าไหร่ เอเยต์ไปขายปลีกให้ผู้บริโภคเป็นราคาเท่าไหร่ กำไร-ขาดทุนอย่างไร เจ้าของKnow-howจะไม่สนใจทั้งสิ้น

ถามว่าวิธีนี้ดีอย่างไร ตอบว่าดีที่เราไม่ต้องเสียเวลาลงทุนทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆเอง คือได้ของที่เมืองนอกเขาพิสูจน์ว่าดีและขายได้มาทำธุรกิจเลย และตลอดอายุสัญญา สมมติว่า10ปี เขาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างไร เขาก็จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้เราด้วย
ส่วนข้อเสียก็คือ ถ้าไม่หัดคิดเองเสียบ้าง เราก็จะทำเองไม่เป็น ต้องซื้อKnow-howจากเขาร่ำไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว กว่าจะครบ10ปีเราก็จะเรียนรู้จากเขาพอสมควร หากระหว่างสัญญา เราจะทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคในประเทศของเราควบคู่กันไป วันหนึ่งก็ไม่ต้องเสียRoyalty Feeให้เขาอีก


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 23:12
ถูกติวเข้มจากหลังห้อง  ค่อยกระดิกหูขึ้นมานิดหนึ่ง  แต่ไม่มากนัก  ส่วนคุณ sujittra เด็กวิทย์ประจำชั้นนี้หายไปไหนแล้วไม่ทราบ  เห็นเก้าอี้แถวหลังยังว่างอยู่ค่ะ

 
ค่าRoyaltyที่ผมเคยทำธุรกิจมาจริงๆก็คือ ค่าธรรมเนียมในการซื้อTechnical Know-howของเขามาทำการผลิตของเพื่อจำหน่ายในประเทศของเรา ซึ่งเขาคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่คุณตั้งว่า5% ความจริงแล้วสูงไป มาตรฐานอยู่ที่3%ของราคาขาย คิดจากยอดขายตามรอบบัญชีที่ขายได้จริง

ฯลฯ

ถามว่าวิธีนี้ดีอย่างไร ตอบว่าดีที่เราไม่ต้องเสียเวลาลงทุนทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆเอง คือได้ของที่เมืองนอกเขาพิสูจน์ว่าดีและขายได้มาทำธุรกิจเลย และตลอดอายุสัญญา สมมติว่า10ปี เขาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างไร เขาก็จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้เราด้วย
ส่วนข้อเสียก็คือ ถ้าไม่หัดคิดเองเสียบ้าง เราก็จะทำเองไม่เป็น ต้องซื้อKnow-howจากเขาร่ำไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว กว่าจะครบ10ปีเราก็จะเรียนรู้จากเขาพอสมควร หากระหว่างสัญญา เราจะทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคในประเทศของเราควบคู่กันไป วันหนึ่งก็ไม่ต้องเสียRoyalty Feeให้เขาอีก  

Know-how ที่ว่าคงหมายถึงกรรมวิธีทำผลิตภัณฑ์   ที่สามารถค้นคว้าวิจัย ดัดแปลง ปรับปรุงเป็นตัวใหม่ได้    พอได้ตัวใหม่ก็ไม่ต้องง้อตัวเก่าอีก    แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างพวกเพลง บทประพันธ์  งานศิลปะ คงไม่อยู่ในข่ายนี้มั้งคะ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 12, 21:24
ขอบคุณ คุณนวรัตน์มากครับ ที่ช่วยขยายความให้กระจ่าง กำลังยืนขาสั่นอยู่ว่าจะรอดใหมเนี่ย  ;D

หากจะสรุปให้สั้นๆ (อาจจะมีความชัดเจนมากขึ้นไปอีกสักหน่อย ???) ก็คือ ปรัชญาพื้นฐานของ Royalties นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียไปในการที่เราไปเอาทรัพย์สิน (วัตถุ สิ่งของ ภูมิปัญญา ฯลฯ) ของเขามาใช้ (หรือเขาจะต้องเสียให้เราในการที่เขานำเอาภูมิปัญญาของเราไปใช้) ในขณะทีี่่ปรัชญาพื้นฐานของ PSC นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขาอาสาเข้ามาเป็นผู้พัฒนาหรือทำประโยชน์ให้กับทรัพย์สินของเราด้วยทุนและเทคโนโลยีที่เขามี โดยขอแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาส่วนหนึ่งให้เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนของเขา และจะแบ่งทรัพย์สินที่เหลือเมื่อได้หักส่วนที่เป็นการลงทุนนั้นแล้วให้กับเราในสัดส่วนที่จะตกลงกัน

สินค้าจากรอบบ้านเรา (รวมทั้งจีน) ที่มีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ ที่มีขายกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในบ้านเรานั้น ก็คงเป็นผลิตผลมาจากระบบ PSC นี้เอง     

หยิบยกเรื่องนี้ขึ้มาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งว่า เราเข้าใจกันดีมากพอหรือยังในเรื่องของรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นในระบบการทำการค้าที่เรียกกันว่า (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยคเดียวในภาษาไทยที่ใช้อธิบายความตกลงต่างๆที่มีความแตกต่างกันในพื้นฐานของปรัชญา หลักการ และแนวคิด เช่น APEC, FTA, AFTA, EPA) ว่า  "เปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน"     



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 21 ส.ค. 12, 22:39
รอดแน่นอนคะ ถ้าคุณตั้งช่วยย่อยความยากให้ง่ายขึ้น (อย่างที่โพสวันนี้)

มิฉะนั้นคนอ่านไม่รอดแน่เลย  ขอบคุณค่ะ ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ส.ค. 12, 08:08
อ้างถึง
Know-how ที่ว่าคงหมายถึงกรรมวิธีทำผลิตภัณฑ์   ที่สามารถค้นคว้าวิจัย ดัดแปลง ปรับปรุงเป็นตัวใหม่ได้    พอได้ตัวใหม่ก็ไม่ต้องง้อตัวเก่าอีก    แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างพวกเพลง บทประพันธ์  งานศิลปะ คงไม่อยู่ในข่ายนี้มั้งคะ

นั่นเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ครับ จะเป็นการซื้อต่อครั้งที่ใช้ หรือต่อปีต่ออะไรสุดแล้วแต่ ค่าซื้อ ก็เรียกRoyalty Feeเหมือนกัน

แต่ก็ไม่มีอะไรจะห้ามได้นี่ครับว่า สำนักพิมพ์ หรือ Production Houseที่ซื้อไป จะพิมพ์ หรือ ทำเพลงของตนเองขึ้นมาใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าเอาของๆเขาไปดัดแปลงดื้อๆ ถ้าตกลงกันว่าทำได้ก็ทำได้

ยกตัวอย่าง(โบราณหน่อย) หนังญี่ปุ่นชื่อไทยว่า เจ็ดเซียนซามูไร ถูกฮอลิวู๊ดขอซื้อไปทำหนังคาวบอยชื่อ เจ็ดสิงห์แดนเสือ ยังไงครับ
ตัวอย่างที่ทันสมัยหน่อย บทประพันธ์ของแก้วเก้าหลายเรื่องที่ถูกเอาไปทำหนังทีวี แต่โดนเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนในหนังสือ ก็ไม่ทราบว่าผู้ประพันธ์ท่านได้ตกลงกับผู้สร้างไว้ว่าอย่างไร ? ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 10:14
ตอนนี้ ยิ่งท่านทั้งสองช่วยกันอธิบายสองแรงแข็งขัน   ดิฉันก็เลยกลับไปสู่ F  ในชั้นเรียนนี้อีกแล้ว   :-\

ขอบคุณ คุณนวรัตน์มากครับ ที่ช่วยขยายความให้กระจ่าง กำลังยืนขาสั่นอยู่ว่าจะรอดใหมเนี่ย  ;D

หากจะสรุปให้สั้นๆ (อาจจะมีความชัดเจนมากขึ้นไปอีกสักหน่อย ???) ก็คือ ปรัชญาพื้นฐานของ Royalties นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียไปในการที่เราไปเอาทรัพย์สิน (วัตถุ สิ่งของ ภูมิปัญญา ฯลฯ) ของเขามาใช้ (หรือเขาจะต้องเสียให้เราในการที่เขานำเอาภูมิปัญญาของเราไปใช้) ในขณะทีี่่ปรัชญาพื้นฐานของ PSC นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขาอาสาเข้ามาเป็นผู้พัฒนาหรือทำประโยชน์ให้กับทรัพย์สินของเราด้วยทุนและเทคโนโลยีที่เขามี โดยขอแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาส่วนหนึ่งให้เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนของเขา และจะแบ่งทรัพย์สินที่เหลือเมื่อได้หักส่วนที่เป็นการลงทุนนั้นแล้วให้กับเราในสัดส่วนที่จะตกลงกัน

สินค้าจากรอบบ้านเรา (รวมทั้งจีน) ที่มีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ ที่มีขายกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในบ้านเรานั้น ก็คงเป็นผลิตผลมาจากระบบ PSC นี้เอง    

หยิบยกเรื่องนี้ขึ้มาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งว่า เราเข้าใจกันดีมากพอหรือยังในเรื่องของรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นในระบบการทำการค้าที่เรียกกันว่า (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยคเดียวในภาษาไทยที่ใช้อธิบายความตกลงต่างๆที่มีความแตกต่างกันในพื้นฐานของปรัชญา หลักการ และแนวคิด เช่น APEC, FTA, AFTA, EPA) ว่า  "เปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน"    



แต่ก็ไม่มีอะไรจะห้ามได้นี่ครับว่า สำนักพิมพ์ หรือ Production Houseที่ซื้อไป จะพิมพ์ หรือ ทำเพลงของตนเองขึ้นมาใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าเอาของๆเขาไปดัดแปลงดื้อๆ ถ้าตกลงกันว่าทำได้ก็ทำได้

ยกตัวอย่าง(โบราณหน่อย) หนังญี่ปุ่นชื่อไทยว่า เจ็ดเซียนซามูไร ถูกฮอลิวู๊ดขอซื้อไปทำหนังคาวบอยชื่อ เจ็ดสิงห์แดนเสือ ยังไงครับ
ตัวอย่างที่ทันสมัยหน่อย บทประพันธ์ของแก้วเก้าหลายเรื่องที่ถูกเอาไปทำหนังทีวี แต่โดนเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนในหนังสือ ก็ไม่ทราบว่าผู้ประพันธ์ท่านได้ตกลงกับผู้สร้างไว้ว่าอย่างไร ? ;D

จะพยายามทำการบ้านอีกครั้งค่ะ
สินค้าบางตัวทำใหม่ได้   เหมือนสั่งหวายอาบน้ำยาจากนอกเข้ามาผลิตเฟอร์นิเจอร์  ต่อมาทำวิจัยพบว่าน้ำยาแบบนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง   ก็ทดลองอาบกับหวายเมืองไทย  พบว่าทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ดีเท่ากัน   ก็พัฒนาสินค้าตัวนี้ขึ้นมาเอง  ไม่สั่งหวายเมืองนอก ก็ไม่ต้องเสียค่ารอยัลตี้ให้เขาอีก    
แต่ทรัพย์สินทางปัญญาทำใหม่แบบนั้นไม่ได้     แม้ว่าผู้ซื้อจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่นเปลี่ยนจากนวนิยายไปเป็นละครโทรทัศน์ แต่ความเป็นบทประพันธ์ไม่ได้เปลี่ยน   ผู้ซื้อจะทำเทียมบทประพันธ์ใหม่ขึ้นมา  เอาไปผลิตละครโทรทัศน์ต่อไปเรื่อยๆอีกก็ไม่ได้   ถ้าทำถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์  ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
ส่วนเรื่องดัดแปลงเป็นคนละประเด็นค่ะ  เพราะการดัดแปลงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว    เหตุผลข้อหนึ่งที่เห็นง่ายๆคือความยาวของนวนิยายกับละครโทรทัศน์ไม่เท่ากัน      ถ้าทำให้เหมือนเป๊ะ  ไม่กระดิกกระเดี้ยจากของเดิมเลย    ละครโทรทัศน์ยาว 15 ตอนอาจต้องยืดไปเป็น 150 ตอนถ้านวนิยายเรื่องนั้นยาวขนาดสามก๊กหรือเพชรพระอุมา   มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว  จึงต้องตัดบ้าง  เติมบ้าง  ให้ลงตัว
ส่วนเหตุผลอื่นๆที่เกิดการดัดแปลงมีอีกมาก   แต่ขี้เกียจอธิบาย  เพราะสมาชิกเรือนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านนวนิยายของแก้วเก้าอยู่แล้ว   รวมทั้งคุณนวรัตนและคุณตั้งด้วยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ส.ค. 12, 10:32
คือ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อตกลงสัญญาครับ ส่วนใหญ่จะต้องระบุขอบเขตว่า อนุญาตให้ทำอะไรได้แค่ไหน ก็ทำได้เท่าที่สัญญากำหนด เกินจากนั้นถือว่าผิดสัญญาตามกฏหมาย แล้วไปว่ากันว่าจะชดเชยกันอย่างไร ถ้าตกลงตรงนี้ไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล

กฏหมายไม่ได้ห้าม เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะตกลงให้คู่สัญญาทำอย่างไรก็ได้ ไม่ได้กำหนดขอบเขตไว้
กฏหมายห้ามเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ตกลงอะไรกับเขา(โขมย) และผู้ที่ทำนอกข้อตกลง(ฉ้อโกง หรือฉ้อฉล) มีโทษระบุไว้ชัดเจน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 19:32
ยอมแพ้ค่ะ  เข็นตัวเองไม่ขึ้น
กลับไปนั่งหลังห้อง ฟังเลกเชอร์ต่อดีกว่า


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 12, 20:47
นี่ก็เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการเห็นภาพที่ต่างกันในเรื่องเดียวกัน  ;D ;D

  



  

  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 21:09
คือ...วิชานี้มันหนักค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ส.ค. 12, 21:18
^


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 21:39
แต่ก็ยังปักหลักอยู่ในชั้นนะคะ  ไม่ได้โดดเรียน
ขอส่งการบ้านชิ้นหนึ่งค่ะ   แทนแบบฝึกหัดที่ทำไม่ได้   แต่ไม่รู้ว่าจะยิ่งได้ FF   หรือเปล่า

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยเนื่องในวันอาเซียน ประจำปี 2555 วันที่ 8 สิงหาคม 2555 ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย

 วันนี้เป็นวันครบรอบ 45 ปี ของการก่อตั้ง “สมาคม ประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” หรืออาเซียน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นโดยวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยในขณะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมทั้งการธำรงรักษาสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค และหลังจากนั้นเป็นต้นมา อาเซียนก็ได้ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 5 ประเทศ จนมีสมาชิกรวม 10 ประเทศในปัจจุบัน

 ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ได้พัฒนามาเป็นความตกลงเขตการค้าเสรี  และกำลังพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเน้นในการพัฒนา 3 ด้านด้วยกัน คือ ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

 เพื่อที่จะก้าวไปสู่ศักราชใหม่ในการเป็นประชาคมอาเซียน  ประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะมีฉันทามติร่วมกันในการรักษาสันติภาพในภูมิภาค และจะร่วมกันผลักดันให้อาเซียนเป็นพลังในการขับเคลื่อนสันติภาพ และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก

 ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน  ซึ่งอยู่ในระหว่างการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นๆ นอกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักสำคัญคือ การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน หรือที่เรามักเรียกทับศัพท์กันว่า “connectivity” ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน รถไฟความเร็วสูง ทางเรือ ทางอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน  และเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

การเชื่อมโยงทั้งหมดนี้  จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย  ซึ่งจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนไทยโดยรวม

 นอกจากนี้ หลักสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน จะเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศอาเซียน มีความรู้สึกเป็นชาวอาเซียนร่วมกัน ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ของอาเซียน ก็จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง อาทิเช่น การที่ไทยผลักดันความร่วมมือด้านการต่อต้านยาเสพติด การค้ามนุษย์ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสร้างความพร้อม และความเข้มแข็งในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้เร่งดำเนิน การด้านต่างๆ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้าง กฎระเบียบ การเพิ่มพูนทักษะกำลังคน การจัด ทำยุทธศาสตร์และแผนงาน รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภูมิภาค  ประเทศไทยและพี่น้องชาวไทยทุกคน

 ดิฉันขอยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความพร้อม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์  และการที่ประเทศไทยมีที่ตั้งสำคัญเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันให้มีการร่วมมือด้านการค้าการลงทุน  และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศในอาเซียนมีความเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

 และในโอกาสวันอาเซียนนี้ ดิฉันขออวยพรให้พี่น้องชาวไทย และพี่น้องของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นพี่น้องชาวอาเซียนร่วมกัน จงประสบแต่ความผาสุกสวัสดีโดยทั่วกัน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ส.ค. 12, 05:58
?


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 09:02
 :-\


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 12, 18:22
เป็นมึนอ่ะ

และกำลังพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเน้นในการพัฒนา 3 ด้านด้วยกัน คือ ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

หมายความว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) อย่างหนึ่ง จะเกิด A...??? (ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน) อีกหนึ่ง และจะเกิด A...??? (ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน) ขึ้นอีกหนึ่งด้วย   หรือ   จะเกิด AEC ซึ่งจะทำงานในสามด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองและความมั่นคง และด้านสังคมและวัฒนธรรม   หรือ  ทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นเสาหลักของความร่วมมือของอาเซียนโฉมใหม่ ??? ที่เคยได้ยินจะเรียกว่า AC (ASEAN Community หรือ ประชาคมอาเซียน) ???

มึนเลย  ตกลงในปี 2558 จะเกิด AC มิใช่เกิด AEC ??? หรืออย่างไร  ท่านผู้รู้ช่วยไขให้ความกระจ่างหน่อยครับ     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 18:34
ขนาดอาจารย์ตั้งยังมึน   แล้วนักเรียนจะเหลืออะไรล่ะคะ   :'(
ถ้าให้เดาก็เดาว่าคงเกิดหมดทุกอย่างละค่ะ  ทั้ง AC AEC  ABCD  EFG --->Z  
เพียงแต่ดิฉันไม่ทราบว่ามันคืออะไร ทั้งหมดนั่นละค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ส.ค. 12, 18:41
^
ไม่มึนละ สลบดีกว่า


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 18:55
เอามาแจกค่ะ      เผื่ออาจารย์ด้วยนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 19:34
และกำลังพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเน้นในการพัฒนา 3 ด้านด้วยกัน คือ ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  = APSC  ASEAN political - Security Community (http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/APSC.pdf)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  =  AEC ASEAN Economic Community (http://www.ppb.moi.go.th/midev01/upload/asean_final.pdf)

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  =  ASCC ASEAN Socio-Cultural Community (http://www.inspect3.moe.go.th/strategy3/upload/asean/203.pdf)

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 19:46
เป็นมึนอ่ะ

และกำลังพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเน้นในการพัฒนา 3 ด้านด้วยกัน คือ ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

หมายความว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) อย่างหนึ่ง จะเกิด A...??? (ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน) อีกหนึ่ง และจะเกิด A...??? (ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน) ขึ้นอีกหนึ่งด้วย   หรือ   จะเกิด AEC ซึ่งจะทำงานในสามด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองและความมั่นคง และด้านสังคมและวัฒนธรรม   หรือ  ทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นเสาหลักของความร่วมมือของอาเซียนโฉมใหม่ ??? ที่เคยได้ยินจะเรียกว่า AC (ASEAN Community หรือ ประชาคมอาเซียน) ???

มึนเลย  ตกลงในปี 2558 จะเกิด AC มิใช่เกิด AEC ??? หรืออย่างไร  ท่านผู้รู้ช่วยไขให้ความกระจ่างหน่อยครับ     



ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  =  ASEAN political - Security Community (http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/APSC.pdf) APSC

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  =  ASEAN Economic Community (http://www.ppb.moi.go.th/midev01/upload/asean_final.pdf) AEC

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  =  ASEAN Socio-Cultural Community (http://www.inspect3.moe.go.th/strategy3/upload/asean/203.pdf) ASCC

 ;D
อะฮ่า   ได้โอกาสลอกการบ้านส่งครูแล้ว
เป็นอันว่าปี 2558 จะเกิด  AC AEC APSC  ASCC   และ...เผื่อมี ABCDEFG--->Z ด้วยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 12, 21:11
เห็นราชการไทยพูดและเห็นแต่ข่าวสารถึงแต่ AEC   กระมิดกระเมี้ยนมีคำว่า AC นิดหน่อยในบางช่วง (แรกๆ) แล้วก็จางหายไป  ส่วนคำอื่นๆนั้นแทบจะไม่ได้เห็นในข่าวสารทางสาธารณะเลย

ตกลงในอีกสามปีข้างหน้าจะเกิดอีกหลาย A... ???   จะรวมเรียกว่า AC หรืออย่างไรนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องยังถือเป็นความลับอยู่  ;D  ;D ;D 

  


      

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 21:27
กระทู้นี้เริ่มต้นด้วยวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การต่างประเทศ ฯลฯ   แต่ตอนจบกลายเป็นหนังลึกลับซ่อนเงื่อนไปได้นะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 24 ส.ค. 12, 16:53
เท่าที่ได้พูดคุยกับคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้มีหน้าที่ราชการ งานเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับ เจ้า A E C (ถ้ามีหลายตัวก็เป็น 3A 1E 3C )อาจจำง่ายกว่า

ส่วนใหญ่ก็ยังงงๆ และยังไม่รู้ว่าตนเองจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร มันคืออะไร ตื้นลึกหนาบางอย่างไร และจะมีผลต่อบ้านเมือง

วิถีชีวิตผู้คนในวันข้างหน้าอย่างไร  แม้แต่นักศึกษาในสถาบันแนวหน้าของประเทศก็ยังไม่รู้อะไรเท่าไหร่เลย

ทั้งหมดนี้ก็เพราะการให้ความรู้แก่ประชาชนยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน 

น่าเชิญทีมที่ทำการ์ตูนปลาวาฬ (ตอนน้ำท่วม) มาทำประชาสัมพันธ์นะ รับรองประชาชนเข้าใจได้ทั่วถึงในเวลาอันรวดเร็ว

ใช้งบน้อยกว่ากรมประชาสัมพันธ์ของรัฐเยอะเลย...อิอิ  :-\  :-X  :'(


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 19:12
เรียนอาจารย์ตั้ง
ลูกศิษย์หลังห้อง ไปพบสูตรยาแก้มึนมาสูตรหนึ่งค่ะ
คือ
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community-AC) ประกอบด้วย:
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community-APSC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)

ได้สูตร: AC=APSC+AEC+ASCC
เพราะฉะนั้น AEC จึงไม่เท่ากับ AC
แต่ AEC เป็นเพียง AC-(APSC+ASCC)

สรุปแล้วมันคืออะไรคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 12, 19:23
^
นั่นะซีครับ  ก็คงจะเบลอๆคล้ายๆกันทั้งประชาชนและหน่วยราชการ  ที่ผมแหย่ว่ายังเป็นความลับอยู่นั้น ก็มีนัยอยู่สองอย่าง คือ ยังไม่เข้าใจเลยยังตอบไม่ได้ กับรู้มากรู้ลึกว่ามีอะไรแอบแฝงอบู่เลยบอกไม่ได้



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 12, 20:10
เรียนอาจารย์ตั้ง
ลูกศิษย์หลังห้อง ไปพบสูตรยาแก้มึนมาสูตรหนึ่งค่ะ
คือ.....
ได้สูตร: AC=APSC+AEC+ASCC
เพราะฉะนั้น AEC จึงไม่เท่ากับ AC
แต่ AEC เป็นเพียง AC-(APSC+ASCC)

5555  :D :D  ยานี้แก้ถูกโรคครับ

ตกลงว่า เราจะก้าวไปเป็น AC อย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง (เมื่อไรไม่รู้) ซึ่งจะตั้งอยู่บนสามเสาหลัก (APSC, AEC, ASCC)  ซึ่งที่โหมโฆษณากันนั้น เราจะเป็น AEC แน่ๆในปี พ.ศ.2558

ASCC นั้น ดูเหมือนจะเป็นทางเดินที่ปูพื้นมาตั้งแต่แรกเมื่อเริ่มตั้ง ASEAN เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยและรู้จักกัน จากนั้นก็จะพัฒนาไปเป็นการสร้างความเชื่อมั่นไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาต่อไปน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (The Spirit of ASEAN)

APSC นั้น ได้ดำเนินการมานานพอสมควรแล้วเช่นกัน ได้ผลสำเร็จบ้างไม่ได้บ้าง โดยใช้คาถาสำคัญ คือ The Spirit of ASEAN เพื่อลดและเกลาความขัดแย้งให้กลายเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและร่วมกันสร้างความเจริญให้กับภูมิภาคด้วยวิธีการ Constructive engagement

AEC นั้น เป็นภาคการปฎิบัติที่จะแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ของความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 20:26
เดาจากความเคยชินว่า ในปี 2555 นี้  ใครจะพูดถึง AC AEC ABCD etc. อะไรก็คงจะได้แต่คาดคะเนไปตามหลักการ  ไม่อาจจะพิสูจน์ได้  เอาไว้ถึงปี 2558 เป็นต้นไป  ก็จะรู้หมู่รู่จ่ากันว่าผลของการรวมตัว 10 ประเทศจะออกมาในรูปไหน     มันคงจะมีทั้งส่วนดีและส่วนต้องปรับปรุงแก้ไข (ตอบแบบนี้คือกำปั้นทุบดิน  ยังไงก็ต้องโดนดินจนได้) 
ไทยเราก็คงใช้วิธีเกิดปัญหาเสียก่อนแล้วค่อยล้อมคอกกันต่อไป     เหมือนรถตกทางด่วนไปหลายๆคันก่อนค่อยมาปักป้ายบอกทาง   ถึงตอนนั้นคุณตั้งคงจะได้ย้อนกลับมาดูกระทู้นี้ว่าทำนายแม่นแค่ไหนนะคะ

ว่าแต่อาจารย์ตั้งมีวิชาเบาๆอะไรเลกเชอร์บ้างไหมคะ    พวกนั่งหลังห้องจะได้เลื่อนมากลางๆห้องบ้าง   ดิฉันจะได้กันที่นั่งไว้ให้คุณ sujittra  ตอนนี้โดดร่มหายไปไม่เห็นร่องรอยเลยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 20:27
มาเร้วใครยังไม่เข้าใจ AC คืออะไร  มานั่งชมกัน

http://www.youtube.com/watch?v=YrnK5UQDdO0&feature=related

ความหมายของแต่ละประตูของ AC น่าจะเป็นดังนี้

peace  = APSC

prosperity = AEC

people = ASCC

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 20:36
ขอ drop ก่อนนะคุณเพ็ญ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 12, 21:09
ครานี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องย้อนกลับไปเรื่อง Regional politics ที่ได้หยุดค้างไว้

ผมไปหยุดไว้ตรงที่ว่า (ความเห็นที่ 118) ญี่ปุ่นจะต้องย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศของตน และจะต้องปรับอุตสาหกรรมที่ออกมาลงทุนในประเทศอื่น (โดยเฉพาะในไทย) เพื่อเปิดช่องให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและที่มีนวัตกรรมเข้ามาประกอบการแทน

ในช่วงก่อนจะเข้าและช่วงหลังเมื่อเริ่มปี 2000 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้พบว่า การจะรื้อฟื้นการแข่งขันในตลาดโลกของภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและเพื่อชุบชีวิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้น จะต้องเป็นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและจะต้้องเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก แต่มีปัญหาอยู่บางอย่าง คือ แหล่งทรัพยากรวัตถุดิบที่สำคัญ (Heavy rare earth elements) นั้นอยู่ในจีน ซึ่งที่เคยพึ่งพาแหล่งมีอยู่ในสหรัฐฯสองสามแห่งนั้น กำลังจะต้องยุติลงเนื่องจากหมด     หากจะพอจำกันได้ ในช่วง '00 นี้ จะมีสินค้าอิเล็กรอนิกส์ของจีนเริ่มมีการวางจำหน่ายมากขึ้น   ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามเข้าไปเอาจากแคนาดา (แถบรัฐควีเบค) จนทำให้แคนดาต้องปรับปรุงระบบเส้นทางคมนาคมขนานใหญ่สำหรับรองรับกิจกรรม Logistics ที่จะต้องขนมาทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก (แถบรัฐแวนคูเวอร์)
นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังไปสนใจในมองโกเลียอีก (สังเกตได้จากข่าวเกี่ยวกับมองโกเลียที่มีมากผิดปรกติ)  

กำลังจะขยายวงไปไกลมากขึ้นอีก ขออภัยครับ จะต้องจำกัดวงไว้เพียงเท่านี้ (หากสนใจก็จะขยายความต่อครับ)

พยายามเล่าจากวงกว้างเพื่อช่วยทำให้เห็น พลวัติ ที่จะเกิดขึ้นในยุค AEC ในพื้นที่ของ ASEAN ครับ

แต่จะขอต่อวันพรุ่งนี้ครับ    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 12, 19:31
ลองคิดตามในการประมวลข้อมูลของผมที่ได้มาจากการทำงานในบางมุมบางลักษณะงาน ผนวกกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และเรื่องราวสรุปที่ผมพอจะแสดงการเชื่อมโยงกันครับ แต่อย่าเชื่อผมนะครับ 

ตั้งแตปี 2000 เป็นต้นมา โลกรู้สึกกระฉับกระเฉงกับศตวรษใหม่ จึงเกิดการริเริ่มและการเปลี่ยนแปลงมากมาย     EU ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนสกุลเงินเป็น EUR.   เศรษฐกิจจีนเบ่งบานอย่างต่อเนื่อง ขนาดของเศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นแซงญี่ปุ่นจนเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐในเวลาต่อมา     ญี่ปุ่นปรับโครงสร้างการผลิต มุ่งเข้าไปแข่งขันในโลกของสินค้าที่มีนวัตกรรม สร้าง SMEs พันธุ์ใหม่     สหรัฐเริ่มเข้ายุคต้องต่อสู้กับการก่อการร้ายสากล    ฯลฯ

ภาพคร่าวๆที่เกิดในภูมิภาคอาเซียน  ไทยเกิด FTA กับจีน จีนได้พื้นที่ขยายกำลังตลาดลงมาในภูมิภาคนี้ สหรัฐต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตออกมาไปอยู่ในอาเซียน เนื่องจากค่อนข้างจะล้มเหลวที่จีน เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับอุตสามหกรรมใหม่ในประเทศของตน   APEC กำลังพัฒนาไปด้วยดี ทำให้ EU ถูกตัดขาดมากขึ้น จึงต้องเพิ่มช่องทางแทรกเข้ามาในตลาด APEC     โดยสรุป คือ การเมืองและเศรษฐกิจกำลังเกิดการพลวัติอยู่ในพื้นที่ของอาเซียน

สิ่งที่เกิดขึ้นมา คือ การพยายามรักษาอิทธิพลในพื้นที่ย่านอาเซียนของมหาอำนาจโลก โดยอาศัยการปรากฎตัวอย่างแข็งขันในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ (สหรัฐและญี่ปุ่นช่วยกัน block จีน)   
ญี่ปุ่นพยายามปรับสร้างฐานการผลิตใหม่ ส่วนหนึ่งคือการย้ายบางการลงทุนไปอยู่ในเวียดนาม (พวกอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก..labor intensive industry) ทั้งในเวียดนามใต้ (เมืองท่า) ในเวียดนามเหนือ (เชื่อมกับจีนตอนใต้)  ไปสร้างฐานการผลิตรถยนต์บางประเภทในอินโดนีเซีย  เพิ่มความช่วยเหลือแบบ Official development assistance ให้กับอินโดนีเซียมากขึ้น ปรับไทยไปเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพวก High technology  ใช้สิงค์โปร์เป็นศูนย์กลางธุรกรรมทางการเงิน
จีนพยายามขยายตลาดให้มากขึ้นโดยใช้ไทยในลักษณะเป็นศูนย์กระจายสินค้า จีนพยายามเป็นพี่เบิ้มในระบบการนส่งทางเรือจากไทย (ท่าเรือนำลึกในอ่าวไทยต่างๆ) และพม่า (ทวาย) เพื่อกระจายสินค้าไปทางมหาสมุทรอินเดียและยุโรป  เนื่องจากประเทศในอาเซียนอื่นๆรู้สึกไม่สนิทใจเต็มร้อยในการเป็นพันธมิตรกับจีน จากผลของเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างเชื้อชาติในอดีต
ยุโรปพยายามจะแทรกเข้ามาในพื้นที่อาเซียนโดยใช้ไทยเป็นฐานทำงาน ใช้มาเลเซียเป็นแหล่งลงทุน
สหรัฐฯพยายามจะเข้ามาปรากฎตัวให้มากกว่าเดิม รื้อฟื้นและเริ่มภารกิจของ USAID ให้เป็นเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น

ว๊าว! ฝอยไปได้เป็นตุเป็นตะเลยนะครับ หากได้ย้อนกลับไปค้นคว้าหาอ่านติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ก็อาจจะเห็นภาพอย่างที่ผมเห็นที่เล่ามานี้ก็ได้ หรือเห็นเป็นภาพอื่นก็ได้ ไม่ว่ากัน เป็นเรื่องของการวิเคราะห์นะครับ
     
 :)  :-[  ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 12, 19:46
จดเลกเชอร์ยิกๆ     ได้ความเกี่ยวกับไทยตามนี้ค่ะ
-   ญี่ปุ่นปรับไทยไปเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพวก High technology 
-   จีนพยายามขยายตลาดให้มากขึ้นโดยใช้ไทยในลักษณะเป็นศูนย์กระจายสินค้า
-   จีนพยายามเป็นพี่เบิ้มในระบบการนส่งทางเรือจากไทย (ท่าเรือนำลึกในอ่าวไทยต่างๆ)
-   ยุโรปพยายามจะแทรกเข้ามาในพื้นที่อาเซียนโดยใช้ไทยเป็นฐานทำงาน
-   สหรัฐฯพยายามจะเข้ามาปรากฎตัว(ในไทย?) ให้มากกว่าเดิม รื้อฟื้นและเริ่มภารกิจของ USAID ให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น

USAID หมายถึงอะไรคะ  ยังไม่ได้ไปถามอินทรเนตร 
แต่เดาชื่อว่าเป็นความช่วยเหลือแบบไม่คิดกำไร (แต่อาจจะคิดการตอบแทนแบบอื่น)  เหมือนอย่างที่เคยมี SEATO หรือเปล่า?


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 ส.ค. 12, 10:54
หลังจากที่นักเรียนเริ่มหลับหลังห้อง  อาจารย์ตั้งเลยใส่ลูกเล่นในการบรรยายมากขึ้น ได้ผลคะ

นักเรียนเริ่มตื่นมาฟังและขยันจดเล็กเชอร์ พร้อมกับอยากถามว่า....(ตามประสานักเรียนที่พื้นอ่อน....อิอิ )

  1. แสดงว่าตอนนี้มหาอำนาจกำลังเล็งเป้ามาใช้ไทยเป็นฐาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการแสดงพลังเหนือภูมิภาคนี้ใช่ไหมคะ

  2. แล้วไทยเราจะรับมือกับการถูกยื้อจากมหาอำนาจเหล่านี้ได้ไหม  เรามีจุดแข็งอะไรที่จะประคองตัวให้ไม่ต้องลู่ตามลม จนเสียศูนย์

  3. ได้ยินนักวิเคาระห์ท่านหนึ่งเมื่อวันเสาร์นี้ ว่า ไทยเราส่งออกก๊าซ ด้วยหรือคะ

  4. เรามีแหล่งน้ำมันมหาศาล และนี่คือเป้าหมายที่ต่างชาติอาจจ้องมองอยู่ แต่ไม่เปิดปากและคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงข้อมูลนี้
     
     ถ้าไม่อยากตอบประเด็นไหนก็ไม่ว่ากันนะคะ...คุยกันสบายๆ

         
    อาจารย์เริ่มมีลูกเล่นในการบรรยาย ...น.ศ.ชาวอักษรฯ ชักสนุก กระทู้นี้คงอีกยาวคะ




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 12, 20:59
USAID หมายถึงอะไรคะ  ยังไม่ได้ไปถามอินทรเนตร 
แต่เดาชื่อว่าเป็นความช่วยเหลือแบบไม่คิดกำไร (แต่อาจจะคิดการตอบแทนแบบอื่น)  เหมือนอย่างที่เคยมี SEATO หรือเปล่า?

USAID คือ US Agency for International Development ครับ ค่อยๆลดบทบาทลงไปพร้อมๆกับการเพิ่มการสนับสนุน UNDP (UN Development Programme) ง่ายๆก็คือ ลดภาพตัวตนของสหรัฐฯลงไป ไปอยู่ในใต้ภาพของ UN   ตอนนี้กำลังจะขยายบทบาทใหม่ในไทยและภูมิภาคนี้    USAID คิดคนเดียวทำคนเดียว แต่ UNDP คิดหลายคนและต้องเห็นพ้องกันจึงจะทำได้  ความช่วยเหลือของ UNDP สำหรับประเทศไทยนั้นแทบจะไม่มีอะไรแล้วครับ ไทยเราเข้าขั้นเป็น advance developing country ไปแล้ว แม้จะมี UNDP อยู่ใน ESCAP ก็ตาม ก็ไปทำงานในที่อื่นๆรอบประเทศไทย

SEATO นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ในเรื่องของความร่วมมือทางกำลังในยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อความมั่นคงของภูมิภาคในยุคของการต่อสู้การแผ่ขยายลัทธิความเชื่อทางการเมืองในอดีต



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 12, 21:46
ครับ คุณเทาชมพูและคุณพวงแก้ว ได้เห็นภาพพื้นฐานแล้ว

คำถามของคุณพวงแก้วเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น ผมคงจะไม่สามารถเล่าได้ในที่นี้ได้  แต่แน่นอนว่ามันมีในอ่าวไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย มหาอำนาจเขาต้องการแน่ๆ เขาต้องการกระจายความเสี่ยง ลดการต้องพึ่งพาแหล่งในตะวันออกกลางเป็นหลักครับ   

เอาเป็นว่า ไทยเราเป็นฐานที่สำคัญในการทำงานของภาครัฐและเอกชนต่างชาติและนานาชาติก็แล้วกัน    ขนาดของส่วนราชการ องค์กร และฐานปฏิบัติงานของหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในไทย อยู่ในระดับต้นๆแรกๆของเขาเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆในโลกเลยทีเดียว

ที่เล่ามาก็เพื่อจะให้เห็นภาพของอิทธิพลที่มีพลังในการกำหนดทิศทาง การเปลี่ยนแปลง และพลวัติในภูมิภาคอาเซียน  เฟืองจักรขนาดใหญ่ (มหาอำนาจ) เขาพยายามประสานการหมุนไปไม่ให้มีการขบเฟืองกัน เฟืองขนาดย่อมลงมา (ประเทศสมาชิกอาเซียน) ก็พยายามจะหมุนไปในทิศที่ไม่ให้ขบกันเองและขบกับเฟืองใหญ่ ฟันเฟืองในระดับที่กล่าวมานี้เขาหมุนกันไปได้ดีพอควรแล้ว เหลือก็แต่เฟืองเล็กๆในประเทศต่างๆจะหมุนกันอย่างไร ดูว่าหลายประเทศเขาปรับแล้วและกำลังได้รับการหยอดน้ำมันให้หมุนไปได้อย่างลื่นไหล   ผมไม่แน่ใจนักว่าสำหรับไทยเรานั้นกำลังอยู่ในสภาพใด ดูจะพอมีเฟืองที่หมุนไปได้บ้าง หลายเฟืองก็หมุนไปไม่สอดคล้องกัน ยังขบกันอยู่ก็มี ยังไม่เริ่มหมุนตามไปก็มี แถมบางเฟืองยังใส่ไม่ถูกที่หรือยังไม่ได้นำไปใส่ในระบบก็มี   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 28 ส.ค. 12, 16:04
ขอบคุณสำหรับคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่งคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 16:08
อ้างถึง
ผมไม่แน่ใจนักว่าสำหรับไทยเรานั้นกำลังอยู่ในสภาพใด ดูจะพอมีเฟืองที่หมุนไปได้บ้าง หลายเฟืองก็หมุนไปไม่สอดคล้องกัน ยังขบกันอยู่ก็มี ยังไม่เริ่มหมุนตามไปก็มี แถมบางเฟืองยังใส่ไม่ถูกที่หรือยังไม่ได้นำไปใส่ในระบบก็มี  

ก็หวังว่าจะจัดระเบียบเฟืองได้เรียบร้อย ให้หมุนคล่องตัวตามกันไป ทันปี 2558 นะคะ   ไม่งั้นเฟืองอื่นๆอาจจะกินเนื้อที่ระบบไปหมดเลยก็ได้
ประเทศเราเป็นประเทศที่ทำมาหากินค่อนข้างง่ายสำหรับเอกชนรายเล็กๆ    พูดอีกทีว่ามาขุดทองได้ไม่ยาก    จึงเป็นสถานที่ให้โอกาสสำหรับคนต่างถิ่นที่ขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ มีหัวคิดที่จะเริ่มต้นงานเล็กโดยไม่รังเกียจ  แล้วต่อยอดไปเรื่อยๆจนเป็นงานใหญ่    แบบเดียวกับคนจีนในอดีตที่เข้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบหรือไม่มีทั้งเสื่อทั้งหมอน   แต่พอรุ่นลูกก็กลายเป็นเจ้าสัวกันไปเป็นส่วนใหญ่

ต่างกันแต่ว่าในอดีต  คนไทยยังมีเนื้อที่รกร้างว่างเปล่าอยู่แยะในประเทศ   พอจะให้คนต่างถิ่นเข้ามาทำมาหากินร่วมกันได้ไม่เบียดกัน   แต่เดี๋ยวนี้ประชากรเราจะล้นประเทศอยู่แล้ว   จะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 12, 18:41
^
ใช่แล้วครัีบ

ไทยเราเป็นดินแดนที่ค่อนข้างจะเสรี มีเสรีภาพมาก แถมติดอันดับคอรัปชั่นในระดับที่ดีทีเดียว คุณธรรมและจริยธรรมถดถอย ทำอะไรก็ไม่ผิดกฎหมายเป็นแต่เพียงทำในสิ่งที่กฎหมายได้ห้ามไว้   ขนาดต่างชาติยังต้องให้ความสนใจศึกษา Rule of Law ในเวอร์ชั่นที่พัฒนาขึ้นมาในไทย ซึ่งเป็นหลักพิงของธรรมาภิบาลโดยทั่วๆไป เป็นอาณาจักรของศรีธนชัย   อะไรจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีไปกว่านี้ในการเข้ามาแสวงประโยชน์ละครับ ???
   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 18:50
ก็นึกได้อยู่คำเดียวว่า "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ค่ะ
ไม่มีเรื่องของอาเซียน จะเล่าในทางดีๆ เป็นความหวังมากกว่านี้อีกหรือคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 12, 20:07
อย่างที่คุณเทาชมพูว่าไว้ครับ
 
สภาพที่คนต่างถิ่นเข้ามาทำมาหากินได้ง่ายมากในเมืองไทย หากจะมองไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือ เราได้พัฒนาเข้าไปสู่สังคมของอุตสาหกรรมบริการไปแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นเพียงภาพลวงตา  

ขอขยายความไปสักหน่อยครับ   อุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) นั้น เป็นภาคการอุตสาหกรรมต่อเนื่องในเส้นทางของพัฒนาการที่ต่อมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ  ง่ายๆก็คือ เปลี่ยนจากภาคการใช้แรงผลิตไปเป็นภาคการใช้สมอง

เรื่องการเปิดให้มีเสรีในการประกอบวิชาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนได้นั้น จึงเป็นเรื่องน่ากลัว หากคนที่ประกอบวิชาชีพของเรายังไม่แน่จริงทั้งในเชิงของภาษา สังคม ความรอบรู้ (Intelligence มิใช่ Knowledge) และเทคโนโลยี    เชื่อว่าในด้านของความรู้ทางวิชาการนั้น อาจารย์ผู้สอนได้ให้ไว้แล้วอย่างเต็มที่ แต่ศิษย์นั้นจะรับ เข้าใจ จดจำ และประยุกต์ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้มากน้องเพียงใด  ผมเห็นว่า หากศิษย์ ซึ่งส่วนมากทางบ้านค่อนข้างจะมีฐานะ ยังขาดการติดตามอ่าน Journal  ยังหลงไหลอยู่ในแสงสี เมื่อนั้น ความรู้ที่ได้รับมาจาก Text book ก็คงไม่พอ   ความรู้ใน Text book เองก็ป็นความรู้ที่ประมวลมาจากความรู้เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้วก่อนปีที่ Text book นั้นๆจะพิมพ์เสร็จและจำหน่าย  แถมอ่านแต่ Sheet หรือ Handout ที่อาจารย์แจก ยิ่งแย่ไปใหญ่เลย มีแต่ภาษาไทยที่อาจารย์แปลให้แล้ว แถมแปลทับศัพท์ภาษาอังกฤษอีกด้วย เลยทั้งเขียนไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ และยังถูกจำกัด School of thought ไปอีกด้วย  

ผมเห็นภาพว่า
จะมีการเคลื่อนของแรงงานฝีมือจากไทยออกไปอยู่ในประเทศต่างๆในอาเซียน  รวมทั้งพวกวิชาชีพที่มีปริญญาเฉพาะทาง ซึ่งหากคนพวกนี้เอาปริมาณรายได้เป็นตัวตั้ง ก็จะกลายไปเป็นแรงงานในระบบการผลิตของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจะเท่ากับว่าเราไปช่วยเขายกระดับการอุตสาหกรรมของเขา   ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบพบมากับตัวก็คือ เคยพยายามยกระดับงานเชื่อมโลหะของไทย จากเพียงเป็นช่างเชื่อมที่มีฝีมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ไปสู่คนที่มี Licence ตรวจปล่อยงาน  จะยกระดับบรรดาช่างเชื่อมซึ่งก็คือคนส่วนมากที่ไม่ได้เรียนมาอย่างเป็นกิจลักษณะ จะเป็นพวกที่จบ ปวส. ปวช. ก็ัยังมีความรู้ไม่ถึงระดับ จะเป็นวิศวกรปริญญาเขาก็ไม่้เอา ด้วยเห็นว่างานดูจะต่ำไป  คือ ไม่ได้รับการตอบสนองจากสถาบันใด ทั้งๆที่มีสถาบันมีชื่อของต่างประเทศเขาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือ   แท้จริงแล้วงานแบบนี้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเป็นงานที่มีรายได้ดีมาก  เราเลยต้องยังไปมีหัวหน้างานเป็นฝรั่งอยู่ พัฒนาขีดความสามารถยังไม่ขึ้น

จะมีการไหลเข้ามาของแรงงานไร้ฝีมือเข้ามาในไทยเพื่อเข้าสู่งานทางอุตสาหกรรมของเรา เนื่องจากเขาจะได้รายได้ที่ดีกว่า  เราก็เลยจะขาดความสามารถที่จะก้าวหน้าในเชิงของอุตสหกรรมของเรา พัฒนาการผลิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คิดเราแต่เพียงว่า ดีที่สามารถหาแรงงานถูกๆได้ ธุรกิจเราไม่เจ๊งหรือมีเงินพอจะใช้จ่ายอย่างสบายก็พอใจแล้ว

ฝนตกแล้วครับ เลยต้องขอพักก่อน
    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 12, 20:25
ก็นึกได้อยู่คำเดียวว่า "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ค่ะ
ไม่มีเรื่องของอาเซียน จะเล่าในทางดีๆ เป็นความหวังมากกว่านี้อีกหรือคะ

ได้ครับ (แหะๆ)
   
ที่เล่ามาเป็นการปูพื้นแบบของ Negative approach (ดูหดหู่พิลึกนะครับ) เื่พื่อนำไปสู่เรื่องของ Niche market ที่เราน่าจะให้ความสนใจเข้าไปแสวงประโยชน์ครับ  ภาพในเชิงบวกนั้นมีการพูดกันค่อนมากในสื่ออยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของธุรกิจรายใหญ่ทั้งนั้น 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ส.ค. 12, 18:59
ท่านอาจารย์เทาอยากได้เรื่องดีๆ มีความหวัง   ในฐานะนักเรียนดื้อเหลวไหลจอมขวางโลก เลยเอาเรื่องไม่ดีมาฝากอีกซักเรื่องครับ
วันนี้ได้ไปอ่านบทความเรื่อง  "คุณรู้ไหม? ทำไมเพื่อนบ้านถึงชังเรา? ::มติชน"

http://datawantokeep.wordpress.com/2012/08/28/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2/


ปัญหาหนึ่งที่เราอาจจะประสบในประชาคมอาเซียน ทั้งจากเราเองและจากชาติอื่นๆ คือเรื่องความรักชาตินี่แหละครับ  เพราะเราปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ จนบางทีรักมากซะจนมองว่าเราเองเหนือกว่า ดีกว่า สุดยอดกว่า จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาและยากที่จะหลอมรวมกันได้ แทนที่จะมองประโยชน์ในภาพรวม กลับมองที่ผลประโยชน์ของชาติพันธุ์ก่อน ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกในอนาคต หรือการไม่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง คือรวมตัวกันก็จริงแต่รวมแบบกั๊กๆ พร้อมจะแทงข้างหลังกันเองตลอดเวลา


ทุกวันนี้ถ้าอ่านตามเว็บบอร์ดต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือถ้าใครซักคนยกวัฒนธรรมดีๆ เรื่องดีๆ ของต่างชาติ  จะต้องมีคนไทยที่ทนไม่ได้ยกเรื่องของชาติเราขึ้นมาข่มเสมอ เจอทุกครั้งทุกที่  ความรักชาติอย่างไร้เหตุผลจะเป็นอุปสรรคหลักอันหนึ่งของอาเซียนในอนาคตครับ


เราต้องเร่งปลูกฝังค่านิยมกันใหม่ ไม่เฉพาะในประเทศเราเอง แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ผมไม่เห็นประโยชน์ของลัทธิชาตินิยมนอกจากว่ามันนำความมั่นคงให้กับชนชั้นปกครองเท่านั้น และเป็นที่มาของสงครามตลอดมาด้วย


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 12, 19:16
^


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 12, 18:38
กลับมาเรื่องที่ผมเห็นว่าเราควรจะทำอย่างไรในยุค AEC ครับ

ผมเห็นว่า คงจะต้องใช้คำว่า ตัวใครตัวมัน แต่ไม่ใช่ในลักษณะความหมายในทางลบนะครับ  เป็นการคิดในทางบวกครับ

ภาพที่เห็นว่าจะมีคนต่างชาติเข้ามาแสวงประโยชน์ในเมืองไทยอย่างมากมายนั้น เมื่อมองในอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี    ไทยเรามีของดีมากมายในแผ่นดินที่คนต่างชาติเขาเห็นกัน  ผมเคยได้ยินคนต่างชาติจำนวนมากพูดว่า ไทยเรามีความหลากหลายทาง Heritage ซึ่งแปลง่ายๆก็คือ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และมีของดีประจำถิ่นที่มากมายเหลือคณานับ ไม่ว่าจะไปที่แห่งหนตำบลใด

OTOP นั้น ถูกชักพาไปด้วยความไม่เข้าใจในปรัชญาลึกๆ ไปสู่ในเรื่องของสิ่งของที่จะผลิตนำออกมาขายโดยฝีมือชาวบ้าน เป็นสินค้าประจำตำบล  แถมได้รับการส่งเสริมในวิถีทางที่ผิดอีก คือ  ทุกตำบลจะต้องผลิตอะไรสักอย่างออกมาขาย ซึ่งมันก็จะซ้ำๆกัน ซึ่งก็มักจะเป็นอาหาร  แล้วเราก็เอามาแข่งขันกันทั่วประเทศว่าของใครดีที่สุด (เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าได้เคยเล่าไปแล้วหรือยัง) แล้วก็เอาคนที่ใหนไม่รู้ไปเป็นกรรมการตัดสินว่าของใครดีที่สุด  ทำไมจะต้องไปบังคับให้คนทั้งประเทศเชื่อว่าของหรืออาหารอย่างนั้น ที่ตัดสินกันมานั้น เป็นของที่ดีที่สุด ลิ้นของคนแต่ละถิ่นก็ต่างกัน สิ่งของเครื่องใช้ของแต่ละถิ่นก็เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นนั้นๆ มันคงไม่เหมาะที่จะใช้ทั่วไปในทุกภูมิภาค  ยังไม่พอ ยังนำเอาไปขายต่างประเทศอีก แล้วบอกว่าเป็นสุดยอดของไทย ทำให้คนต่างชาติเห็นว่าของที่เป็นเอกลักษณ์และดีจริงต้องเป็นอย่างนั้น  ก็เป็นอันว่ากลายเป็นการส่งเสริมการทำลายเอกลักษณ์และภูมิปัญญาประจำถิ่นไป  จะขายได้ก็ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว  คงจะไม่ต้องขยายและยกตัวอย่างต่อนะครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 19:14
 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 19:25
เปลี่ยนชื่อภูเขาไฟฟูจีจากฟูจียาม่ะเป็นฟูจีซาน(ง)หรือยัง 

富士山 - ·ふじさん - ฟุจิซัง

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 12, 19:58
OTOP = One Tambon One Product       OVOP = One Village One Product

จากการได้พบและพูดคุยกับคนต้นคิดและนำการปฏิบัติการเรื่อง OVOP (แท้จริงแล้วก็เป็นกุศโลบายของรัฐในการส่งคนเก่งมากๆคนหนึ่งของกระทรวง METI..กระทรวงการค้าและการอุตสาหกรรม... มาช่วยพัฒนาพื้นที่ยากจนส่วนหนึ่งในเกาะกิวชิว)   เขาเล่าว่า เมื่อเขาเข้่ามาเป็นผู้ว่าของจังหวัด Oita เขาได้เห็นว่าปัญหาความยากจนของจังหวัดนี้เกิดมาจากการขาดแคลนคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกรรมทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าไปทำงานกันในเมืองใหญ่ๆกันหมด เหลือแต่พ่อแม่และปู่ย่าตายายเฝ้าทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย  จากการสำรวจ เขาพบว่า ในย่านนี้ โดยเฉพาะที่เมือง Beppu เป็นแหล่งที่มีน้ำแร่ร้อนตามธรรมชาติและบ้านเกือบจะทุกหลังก็มีการต่อน้ำแร่ไปใช้ในอ่างอาบน้ำในบ้าน  เขาก็เกิดความคิดในการส่งเสริมให้คนสูงอายุเหล่านั้น เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักอาศัยและอาบน้ำแร่ ซึ่งยังผลให้ผู้เฒ่าเหล่านั้นมีรายได้เป็นเรื่องเป็นราว และมากพอเพียงเลยทีเดียว

หลักการคิดของผู้ว่าฯคนนี้ คือ  Think local, act global  &  Think global, act local

  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 20:47
นโยบายนี้ทำให้นึกถึงการเปิดโฮมสเตย์ในคลองริมแม่น้ำแม่กลอง อย่างแถวอัมพวาค่ะ     ทัวร์พาดูหิ่งห้อยในยุคแรกๆน่าตื่นเต้นมาก
ตอนนี้ไม่ทราบว่าหิ่งห้อยยังมีอยู่หรือเปล่า

ลืมไป ย้อนกลับมาให้ A+ เด็กชายประกอบ ค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 12, 21:02
เปลี่ยนชื่อภูเขาไฟฟูจีจากฟูจียาม่ะเป็นฟูจีซาน(ง)หรือยัง 

富士山 - ·ふじさん - ฟุจิซัง
 ;D

ขอบคุณครับ

แล้ว ซัง กับ ยาม่ะ ซึ่งเขียนเหมือนกัน อ่านออกเสียงต่างกันเพื่อใช้ต่างกันอย่างไรครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 21:47
ตัวคันจิมีวิธีออกเสียง ๒ อย่างคือออกเสียงแบบจีน (เสียงอง) และออกเสียงแบบญี่ปุ่น (เสียงคุน)

山 - ภูเขา อยู่เดี่ยว ๆ ออกเสียงคุนว่า やま - ยะมะ

ถ้าประกอบคำอื่นให้พิจารณาว่าคำที่ประกอบนั้นออกเสียงองหรือคุน แล้วออกเสียงตามเสียงคำประกอบนั้นเช่น

大山 - เขาใหญ่

ออกเสียงแบบองว่า  たいざん - ไทซัง

ออกเสียงแบบคุนว่า  おおやま - โอยะมะ

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 12, 18:28
ขอบคุณอีกครั้งครับ

ผมไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่น   
จากการสังเกตุลักษณะภูเขากับชื่อ ดูคล้ายกับว่า หากเป็นภูเขาสูงเห็นตั้งตระหง่านอยู่ ชื่อจะลงท้ายด้วย ซัง แต่สำหรับพวกที่มีลักษณะเป็นเนินเห็นชื่อลงท้ายด้วย ยาม่ะ เกือบทั้งนั้นครับ

เลยนึกไปถึงว่า ได้ทราบมาว่า ภาษาญี่ปุ่นนั้น มีการผันการออกเสียงด้วย เช่น คำที่แปลว่านา หรือท้องนา ก็มีกฎเกณฑ์ว่า อย่างไรจึงจะออกเสียงว่า ta หรือ da หรือ na ใช่ใหมครับ

พาลให้นึกได้ต่อไปว่า เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่กำลังมีปัญหากับการเขียนตัวอักษรแบบจีน (คันจิ) เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ส่งข้อความกันมาก เพียงพิมพ์ตัวภาษาญี่ปุ่นตามคำหรือความหมายที่ต้องการ ลงไปแล้วกด convert  เครื่องเปลี่ยนคำนั้นเป็นอักษรคันจิโดยอัตโนมัติ  เห็นหลายคนที่เขียนผิดเขียนถูก ต้องไปเปิดพจนานุกรมเพื่อหาว่าจะต้องขีด หรือ ลบตรงใหนอีก จึงจะได้ตัวคันจิที่ต้องการ

ตอนไปอยู่ใหม่ๆ ด้วยความไม่รู้ ก็คิดว่า เพียงซื้อพจนานุกรมมาเปิดดู เราก็น่าจะพอแปลความหมายคำต่างๆได้บ้าง  ผิดถนัดเลยครับ พจนานุกรมของเขาแบ่งออกเป็นหมวดคำตามจำนวนขีด (stroke) ที่มีอยู่ในคำนั้นๆ  เราก็คิดว่าก็ยังน่าจะพอได้  คนญี่ปุ่นก็บอกอีกว่า ไม่ใช่นับเพียงนั้นก็พอ จะต้องนับให้เป็นอีกด้วย จำไม่ได้แล้วครับ เช่น ขีดแรกจะต้องเป็นบนลงล่าง ขีดที่สองจะต้องเป็นซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายก็ไม่รู้ และแต่ละ stroke นั้น ก็มิได้หมายความว่ามันต้องเป็นเส้นตรงอีกด้วย  เลยยอมแพ้โดยสิโรราบ   คุณเพ็ญชมพูคงจะอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ดี

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ครั้งหนึ่งเคยเอาสินค้า OTOP ที่ได้รับรางวัลไปเปิดตลาด เป็นขนมเปี๊ยะครับ  เราก็บอกเจ้าของเขาว่าจะต้องมีฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยนะ จึงจะสามารถนำเข้ามาขายได้  เจ้าของเขาก็ทำมา  พอวางขายเข้าจริงๆ คนญี่ปุ่นสนใจมาก พอยกขึ้นมาอ่านป้ายฉลาก ก็อมยิ้มแล้วก็วางลง ขายไม่ได้เลย เจ้าของก็สงสัย ผมก็เลยขอให้เด็กในสำนักงานของผมลองอ่านดู  เขาก็วางลงอีกเหมือนกัน เลยถามเขาว่า ฉลากบอกเล่าอะไรบ้าง คนของผมก็บอกว่า อ่านไม่รู้เรื่อง (คนของผมนี้ภาษาญี่ปุ่นดีมากขนาดที่คนของกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นสนใจจะให้ไปทำงานด้วย) ผมบอกเขาให้พยายามหน่อย เขาก็กระท่อนกระแท่นบอกว่า มีทั้งคำที่เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องยนต์ และเรื่องอื่นๆปนเปกันอยู่ จึงอ่านไม่ได้ความ จับความไม่ได้เลย ผมก็เลยถึงบางอ้อ  เพราะพอจะเข้าใจอยู่บ้างว่า ตัวอักษรตัวเดียวก็มีความหมายหนึ่ง พอเอามาเรียงกันเป็นสองเป็นสามตัวอักษรก็จะให้อีกความหมายหนึ่ง  ภาษาญี่ปุ่นที่พอจะเข้าขั้นอ่านได้เป็นเรื่องราวอย่างดี จึงต้องรู้ในระดับห้่าหกพันคำขึ้นไป  เด็กไทยที่เรียนภาษาจีนกันแพร่หลายนั้น หากรู้เพียงความหมายของแต่ละคำ ก็คงจะไม่ต่างไปมากจากเรื่องฉลากของขนมเปี๊ยะนี่แหละ

ตบท้ายด้วยความเป็นห่วงว่า หากไม่คิดไม่ทำกันให้ดีๆ การแจกแท๊ปเลตให้กับเด็กวัยเริ่มหัดเขียนหัดอ่านนั้น ต่อไปเด็กไทยก็คงจะอ่านออกแต่เขียนไม่ได้  จะจัดหรือวัด Literacy กันอย่างไรดี

ขออภัยครับ ที่มีหลายประเด็นใน ค.ห.นี้


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 12, 20:11
ขอย้อนกลับไปเรื่อง OVOP ให้จบครับ

จากเรื่องเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการอาบน้ำร้อน  ครานี้ แล้วหมู่บ้านอื่นๆที่ไม่มีน้ำแร่ร้อน (น้ำพุร้อน) ในภูมิภาคนี้จะทำอย่างไร  ก็พยายามหาทางส่งเสริมให้มีการทำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านออกมาจำหน่ายกัน  ซึ่งผลก็เหมือนๆกับ OTOP ของเรา คือ ไม่มีตลาด แม้จะได้พยายามสร้างสถานที่ (ศูนย์) จำหน่ายสินค้ากลางขึ้นมาก็ไปไม่ค่อยดี  OTOP ของเราก้าวไปไกลกว่า คือ มีการเอางบประมาณไปลงทุนสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าแบบถาวร ในลักษณะของศูนย์การค้าเล็กๆประจำตำบล ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในสภาพร้างไปเป็นส่วนมาก

ผู้ว่าฯคนนี้ก็ออกแนวคิดใหม่ ซึ่งประสบผลสำเร็จพอสมควร คือ การสร้างแหล่งผลิตเห็ดหอมคุณภาพดี เพื่อแย่งตลาดและส่งเข้าตลาดของคนจีน ให้ทุกหมู่บ้านทุกตำบลทำกัน มีการตั้งเป้าไว้ด้วยว่า ในอีก...ปี เราจะรวมกลุ่มไปเที่ยวต่างประเทศกัน มีการดำเนินการกันเป็นระยะๆ จำไม่ได้ว่าจัดลำดับกันอย่างไรครับ อยู่เป็นลักษณะของปีนี้เริ่ม ปีนี้ผลิต ปีนี้ขาย ปีนี้ออม ปีนี้ไปเที่ยวกัน ทำนองนี้  ทำการกระตุ้นโดยให้ทุกคนทำหนังสือเดินทางและเตรียมตัวไว้เป็นต้น ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ คือสามารถแย่งตลาดได้ด้วยความต่างของคุณภาพของสินค้า  ผมคิดว่าเห็ดหอมแห้งสวยๆที่ขายกันในเมืองไทยแพงๆนั้น คงจะมีอยู่มากที่เป็นเห็ดหอมที่ผลิตในญี่ปุ่นในเกาะกิวชิวนี้เอง

ผลที่ได้รับจากโครงการ OVOP นี้ และด้วยแนวคิดในเชิงกลวิธี Think local, act global & Think global act local นี้ และด้วยการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม ได้ทำให้หลากหลายประเทศให้ความสนใจมาดูงาน ทำให้ทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ตลาดก็เปิดกว้างขึ้น  คนหนุ่มสาวที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ก็เริ่มกลับมาบ้านอยู่กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ช่วยทำกิจการ เพราะว่ารายได้ที่รับค่อนข้างคงที่ เป็นอิสระ และได้อยู่กับบ้าน อยู่กับถิ่นกำเนิดของตนเอง  ผู้ว่าฯคนนี้ก็คิดต่อไปอีกว่า เมื่อเราดึงเอาคนหนุ่มสาวกลับบ้านมาได้แล้ว ก็ต้องส่งเสริมให้เขามีสถานที่ๆจะเรียนเพิ่มเติม เพิ่มพูนความรู้มากขึ้น ซึ่งความรอบรู้เพิ่มนี้จะเป็นทรัพยากรฐานให้มีการพัฒนาต่างๆตามสภาพภูมิปัญญาของท้องถิ่นและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จึงตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาในลักษณะที่แทบจะเรียนฟรี  ซึ่งบนฐานของหลักการ Think local - think global นี้ ได้ทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนมากมาย เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสไปนั้น จำได้ว่ามีนักเรียนไทยมากกว่า 10 คนเรียนอยู่ที่นี่

อีกอย่างหนึ่ง คือ เขาไม่คิดเพ้อฝันไปไกลมากนัก   ที่ผมชอบใจ คือ เขาไม่ได้คิดว่าจะต้องมีสินค้าเด่นประจำตำบลใดๆหรอก (หมู่บ้่นติดๆกัน มันจะมีอะไรที่ต่างกันขนาดแยกออกจากกันได้กระนั้นเชียวหรือ ขนาดระดับอำเภอยังยากแล้วเลย) ด้วยหลักคิดนี้ แทนที่จะเอาของเหมือนๆกันมาแข่งขันกันหรือโฆษณาทับถมกัน เขากลับเอามาวางรวมกันให้คนที่มาได้ลองกัน
ที่ผมได้เคยสัมผัส คือ บุฟเฟ่อาหารพื้นบ้าน ซึ่งมีแต่ข้าวกับผักดองจากหลายบ้านที่คนในหมู่บ้านคิดว่าทำผักดองอร่อย เอามาวางรวมกันบนโต๊ะ เป็นสถานที่ง่ายๆเหมือนร้านอาหารกลางทางมื้อกลางวัน ส่วนใครจะติดใจผักดองจานใหนก็ไปสอบถาม แสวงหาชื่อหมู่บ้าน และเดินทางไปหากินหาซื้อกันเอง ไม่มีจำหน่ายที่สถานที่กินนี้

ว่ากันมายืดยาวเลย  ;D   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 20:26
เลยนึกไปถึงว่า ได้ทราบมาว่า ภาษาญี่ปุ่นนั้น มีการผันการออกเสียงด้วย เช่น คำที่แปลว่านา หรือท้องนา ก็มีกฎเกณฑ์ว่า อย่างไรจึงจะออกเสียงว่า ta หรือ da หรือ na ใช่ใหมครับ

ญี่ปุ่นก็พอเกี่ยวข้องกับอาเซียนบ้าง เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศ "บวก"  รู้จักญี่ปุ่นบ้างก็น่าจะมีประโยชน์

ชื่อสกุลของคนญี่ปุ่นมีซ้ำกันไปซ้ำกันมา หากแปลแล้วก็เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือท้องถิ่นชนบท ยกตัวอย่างที่คุณตั้งสนใจ

田中 อ่านว่า ทะนะกะ แปลว่า ในท้องนา

山田 อ่านว่า ยะมะดะ แปลว่า ท้องนาและภูเขา

คุณตั้งลองสังเกตดูก็จะรู้ว่าเมื่อใด 田 ออกเสียง ทะ หรือ ดะ

แต่คงออกเสียง "นะ" ไม่ได้แน่นอน

พจนานุกรมของเขาแบ่งออกเป็นหมวดคำตามจำนวนขีด (stroke) ที่มีอยู่ในคำนั้นๆ  เราก็คิดว่าก็ยังน่าจะพอได้  คนญี่ปุ่นก็บอกอีกว่า ไม่ใช่นับเพียงนั้นก็พอ จะต้องนับให้เป็นอีกด้วย จำไม่ได้แล้วครับ เช่น ขีดแรกจะต้องเป็นบนลงล่าง ขีดที่สองจะต้องเป็นซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายก็ไม่รู้ และแต่ละ stroke นั้น ก็มิได้หมายความว่ามันต้องเป็นเส้นตรงอีกด้วย  เลยยอมแพ้โดยสิโรราบ   คุณเพ็ญชมพูคงจะอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ดี

จะนับขีดได้ ต้องทราบวิธีเขียนที่ถูกต้องเสียก่อน

ยกตัวอย่าง  山 มี ๓ ขีด, 中 มี ๔ ขีด,  田 มี ๕ ขีด

 ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 31 ส.ค. 12, 23:26
ผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องถิ่น มีทั้งเห็ดต่างๆ และที่น่าตื่นเต้นคือถั่วขาว -แดงเชื่อม

เม็ดใหญ่สัก3เท่าของถั่วแดงหลวงบ้านเราที่ว่าเม็ดใหญ่แล้ว ทานแค่ 2 เม็ดก็อิ่มแล้วคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 31 ส.ค. 12, 23:29
ส่งภาพถั่วมาใหม่คะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 31 ส.ค. 12, 23:34
ปลาแช่ซีอิ้ว แพ็คอย่างดี และขนมหวานคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 12, 18:15
....ชื่อสกุลของคนญี่ปุ่นมีซ้ำกันไปซ้ำกันมา หากแปลแล้วก็เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือท้องถิ่นชนบท....

ทำให้นึกถึงความรู้ที่ได้มา คือ นามสกุลของคนญี่ปุ่นนั้นตั้งขึ้มมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้น หากผู้สืบสกุลคนสุดท้ายตายไป นามสกุลนั้นก็จะหายไปจากสารบบ ซึ่งดูผิวเผินก็เป็นเรื่องตามปรกติ ประเด็นอยู่ที่ว่าไม่สามารถจดทะเบียนตั้งสกุลขึ้นมาใหม่ได้ จำนวนนามสกุลของญี่ปุ้่นจึงลดลงไป เมื่อสมัยที่ผมยังอยู่ในญี่ปุ่น ก็หายไปหนึ่งแล้ว น่าสนใจตรงที่ ตั้งแต่อดีตมา หายไปกี่นามสกุลแล้ว แล้วต่อๆไปในอนาคตจะเหลืออยู่เท่าใด  มีจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นแต่นามสกุลลดลง ก็จะกลายเป็นมีนามสกุลใดนามสกุลหนึ่งที่จะเป็น Clan ขนาดใหญ่ที่มีจำนวนคนมากที่สุดในญี่ปุ่น

ในเชิงวิทยาศาสตร์และ Anthropology   ในขณะที่กำลังพยายามศึกษาลงไปหาต้นตอของเผ่าพันธุ์ด้วย DNA   เนื่องจากตามธรรมชาติจะมีการขยายแตกสาขาออกไป   กลับทางกัน ญี่ปุ่น (รวมทั้งจีนและเกาหลี ??) กำลังย้อนธรรมชาติ ช่วยรวบรวมและจัดกลุ่มย้อนกลับไปหาคนที่มีต้นตอของ DNA จากสายเดียวกัน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 12, 18:33
ภาพที่คุณพวงแก้วได้นำมาแสดงนั้น ผมกำลังจะก้าวเข้าไปในเรื่องราวของมัน ไม่ใช่เรื่องของอาหารนะครับ แต่จะเป็นเรื่องในบริบทของ ตัวใครตัวมัน ที่เป็นในทางบวก
ขอบคุณล่วงหน้าที่ช่วยเอาภาพมาแสดงประกอบครับ (ก่อนกำหนดไปหน่อย ฮิๆ)


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 12, 19:36
ที่ผมได้กล่าวไว้ว่า ในยุค AEC นี้ ทางรอดของทุกคนคือ ตัวใครตัวมัน แล้วก็ตัดไปเล่าเรื่อง OTOP บ้าง OVOP บ้าง นั้น ก็เพื่อจะต่อเรื่องไปดังนี้

ตัวใครตัวมัน หมายถึง แต่ละบุคคล แต่ละชุมชน แต่ละ... เหล่านี้นั้น  ต่างก็มีของดีของตน ที่แม้จะก็อปกันได้ก็ไม่เหมือนกัน 100%    มีประเด็นอยู่ว่า เรารู้จักตนเองดีมากพอเพียงใด เรารู้จักและเข้าใจในผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งของ หรือสิ่งที่เราคิดเรากระทำมากน้อยเพียงใด  จากนั้นก็ต้องรู้ว่าเราไม่เหมือนเขาหรือเขาไม่เหมือนเราที่ตรงใหน เราต่างกับเขา หรือเขาต่างกับเราอย่างไร   หากเรารู้จักตัวตนของเราเป็นอย่างดีในด้านความคิด ด้านฝีมือ ด้าน.... โดยไม่เข้าข้างตนเอง เอาตนเองเป็นหลัก  เมื่อนั้นเราก็จะมีโอกาสที่จะยืนอยู่ได้อย่างเป็นหนึ่งในบุคคลบนเวทีที่ผู้ดูเห็นได้ว่าเรายืนอยู่บนเวทีนั้นๆ

ดูจะเป็นปรัชญาไปหน่อย  แท้จริงก็คือ เรากล้าที่จะแสดงฝีมือของเราในเรื่องต่างๆว่า เราก็มีความเป็นหนึ่ง เป็นยอดเหมือนกันภายใต้วงสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา หรือในวงกว้างขนาดใด  เรากล้าพอที่จะแสดงรูป แสดงสถานที่ติดต่อ โทรศัพท์และการสื่อสารอื่นๆของเราหรือไม่ เพื่อเป็นการแสดงว่ามีความเป็นจริง ไม่มีการหลอกลวงกัน    นอกจากนั้น หากเป็นสินค้าที่เราทำ เราก็คงต้องรู้ว่าสินค้านี้อยู่ในวงขนาดใด  หมู่บ้าน? ตำบล? อำเภอ? จังหวัด?  ไม่วาดฝันที่จะก้าวข้ามจากระดับชุมชน หรือระดับใดก็ตามไปเป็นระดับประเทศ หรือส่งออก ดังที่ส่วนราชการเขาสร้างฝันให้เรา    เป็นวิธีคิดและกระทำของญี่ปุ่นที่ประสบผลสำเร็จมากในการยกระดับความเป็นของคนในชุมชนเล็กๆห่างไกล   
 
สภาพที่เปิดเสรีในการเคลื่อนที่ของบุคคลในระยะแรกๆนั้น ผมเห็นว่าบุคคลไม่ว่าเราหรือเขาก็อยากจะท่องไปในประเทศต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ เพื่อดูสภาพแวดล้อม ดูว่าต่างคนจะมีโอกาสแสวงประโยชน์ทางการค้าการลงทุนได้ในเรื่องใดและอย่างไรได้บ้าง ฝ่ายเราเองก็ทำได้ทั้งแสดงสินค้าและจุดขายของเรา และทำได้ทั้งเรียนรู้ว่าอะไรเป็นที่สนใจของเขา รวมทั้งอะไรที่จะสามารถทำร่วมกันลงทุนร่วมกันได้ และอื่นๆ

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 12, 20:13
ดิฉันเห็นด้วยกับคุณตั้ง   อยากเห็นแต่ละท้องถิ่นสร้างสินค้าของตัวเองขึ้นมา  อาจเป็นภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิม หรือว่าค้นคิดขึ้นมาใหม่    ให้ผู้บริโภคปฏิเสธสินค้าเลียนแบบ ที่เป็นการฉุดสินค้าตัวจริงให้เสื่อมลงไปโดยปริยาย
อยากเห็นไก่ย่างโคราชอยู่ที่โคราช    ไก่ย่างวิเชียรบุรีอยู่ที่วิเชียรบุรี    ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็เป็นสาขาหรือแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง   ไม่ใช่จังหวัดไหนก็ขึ้นป้ายนี้  แต่พอไปกิน จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็เป็นอีกเรื่อง

ตอบคุณ saimai
ดิฉันไม่ค่อยหวังนักกับขั้นตอนของระบบราชการในการเปลี่ยนหลักสูตร    บางทีท่านผู้รับผิดชอบอาจจะอยากทำ แต่ไปติดที่ต้องใช้เวลานานบ้าง  ติดที่มติกรรมการบ้าง  ทำให้กินเวลานานกว่าจะเห็นผล    นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าท่านอาจจะเห็นแตกต่างไปจากความต้องการของพวกเราก็ได้
ขอเพิ่มข้อ 4
-  สอนกันในเรือนไทยนี่แหละค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 01 ก.ย. 12, 21:24
ติดตามคุณ naitang มาตลอดครับ
เห็นด้วยกับคุณประกอบ เรื่องการสอนประวัติศาสตร์ นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ติดใจอยู่
หลายท่านเห็นตรงกัน คุณสุจิต ที่ศิลปวัฒนธรรมก็พูดอยู่เสมอๆ นานมาแล้ว
จนผมอยากจะถามท่านว่า จะให้อ่านหนังสือสักกี่เล่มอะไรบ้าง
จะได้สมใจท่าน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 02 ก.ย. 12, 11:50
ที่ผมได้กล่าวไว้ว่า ในยุค AEC นี้ ทางรอดของทุกคนคือ ตัวใครตัวมัน แล้วก็ตัดไปเล่าเรื่อง OTOP บ้าง OVOP บ้าง นั้น ก็เพื่อจะต่อเรื่องไปดังนี้

ดีจังที่เอารูปมาลง ตรงกับเรื่องที่คุณตั้งกำลังจะพูดถึงพอดี....(แต่มาเร็วไปหน่อย...อิอิ ขออภัยคะ)

"ทางรอดของทุกคนคือ ตัวใครตัวมัน " นั้นพอเข้าใจ ทำให้นึกถึงคำเก่าๆที่ใช้ว่า "ทางใครทางมัน" ได้ไหมคะ

หมายถึงใครมีดีอะไรก็เอามาโชว์ให้เห็นกัน เช่นวงดนตรีที่เล่นเพลงเดียวกันแต่รายละเอียดต่างกัน ก็เรียกว่า คนละทางกัน

หรืออาหาร เช่น ขนมจีน (น้ำยา) แต่ละภาค แต่ละจังหวัดจะมีส่วนผสมต่างกัน คนที่ทานจะรู้ว่าในถิ่นนั้นจะเป็นแบบนั้น....

เรียกว่า แม้จะแตกต่างแต่ก็มีความเด่นในตัวเองโดยไม่ซ้ำแบบกันได้ไหมคะ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 12, 19:03
"ทางรอดของทุกคนคือ ตัวใครตัวมัน " นั้นพอเข้าใจ ทำให้นึกถึงคำเก่าๆที่ใช้ว่า "ทางใครทางมัน" ได้ไหมคะ 

ก็คงจะไช้้ได้ทั้งสองวลีนี้ โดยไม่สื่อให้ผิดความหมายครับ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 19:05
แยกเป็นกระทู้ใหม่เรื่องเราจะเรียนจะสอนประวัติศาสตร์ยังไงดี  ได้สบายๆเลยนะคะ
ท่านทั้งหลาย เห็นว่ายังไงบ้างคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 12, 19:45
อย่างหนึ่งที่ผมเห็นความแตกต่างระหว่างการขายของในร้านค้าของไทยกับต่างชาติโดยทั่วไป ซึ่งผมคิดว่ามีคนไทยได้เห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าราชการ นักท่องเที่ยวไทย ทัวร์ไทย และผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายทั้งของเอกชนและราชการ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครได้กล่าวถึงความแตกต่างนี้เลย หรือไม่ได้เคยได้สังเกตก็ไม่รู้ หรือผมเชยไป ก้าวไม่ทันโลกเขาขั้นหนักเลยทีเดียวก็เป็นได้  

ผมเห็นว่า ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่มีการพัฒนาไปในทางใดเลย

เรายังคงจัดร้านแบบเก่าๆ ลักษณะแบบโชว์ห่วยที่เขาเรียกกัน ในลักษณะของการเอาของชนิดเิดียวกันมาวางรวมกันเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเลือกหยิบชิ้นที่ตนเองพอใจได้ตามที่ต้องการ ซึ่งโดยนัยประการหนึ่ง ก็คือ ของเหล่านั้นไม่มีมาตรฐานในการทำ แต่ละชิ้นไม่มีความเรียบร้อยเท่ากัน ทำให้ดูเป็นลักษณะของโหล เป็นของจากแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกๆ  โดยนัยอีกประการหนึ่ง ก็คือ ไม่ได้แสดงความเป็น Specialists ในเรื่องใดๆเลย
  
ผมมีความเข้าใจดีถึงสภาพของการจัดร้านเช่นนี้ในต่างจังหวัด เพื่อเป็นการแสดงว่าร้านนี้มีสินค้าอะไรบ้าง และเข้าใจดีว่าร้านขายสินค้าบางประเภทก็ต้องจัดร้านเช่นนี้

ในที่นี้ผมจะพูดถึงร้านขายของประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนและการทำมาหากินในท้องถิ่น เครื่องแต่งเครื่องประดับบ้านเรือน และอะไรก็ตามในกลุ่มสินค้าที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะ (รูปทรง ฝีมือ สีสรร องค์ประกอบ ฯลฯ)

ขอต่อเรื่องในวันพรุ่งนี้ครับ (เช่นเคย  ;D)  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 12, 19:56
แยกเป็นกระทู้ใหม่เรื่องเราจะเรียนจะสอนประวัติศาสตร์ยังไงดี  ได้สบายๆเลยนะคะ
ท่านทั้งหลาย เห็นว่ายังไงบ้างคะ

อ.เทาชมพูเป็นหัวเรือนะครับ ผมจะพยายามเป็นนักเรียนผู้เฒ่าที่มีความขยันครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 20:08
แยกกระทู้แล้วค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5342.msg111802;topicseen#msg111802


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 12, 20:05
^
ตามไปแล้วครับ สักพักก็คงจะยกมือ ลุกขึ้นยืนและขอแสดงความเห็นมั่งครับ

ขอกลับมาเรื่องการขายของที่ค้างใว้ครับ

ผมได้เห็นวิธีการจัดร้านเพื่อแสดงสินค้าที่จะขาย และได้เห็นแนวคิดที่กลายเป็นเรื่องปรกติในการขายของที่ต่างออกไปจากของเราในหลายๆประเทศ กล่าวคือ

เรื่องแรก ผู้ขายเขาคงจะเห็นว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่เอามากองให้เลือกซื้อ (คัดเอาตามความพอใจ) นั้น หากไม่ใช่สินค้าที่ใช้กันในชีวิตประจำวันแล้ว ผู้ซื้อก็คงจะนึกไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง แทนที่จะต้องอยู่ในสภาพที่จะต้องถามจะต้องคอยเดินตามอธิบายกันไป ก็เอาแต่ละชิ้นมาจัดวางแสดงให้ดูเสียเลยว่า จะเอาไปใช้งาน ใช้แต่ง ใช้ประดับร่วมกับอะไรได้บ้าง  โดยเฉพาะกับสินค้าประเภททำด้วยมือ มีฝีมือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น    ของที่ทำด้วยมือนั้นเป็นของที่มีค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว แม้ว่าราคาจะไม่สูงก็ตาม  ฝีมือในการทำสิ่งของนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นของใช้ที่มีรูปร่างเกือบจะเหมือนกันก็ตาม ก็จะต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ในแต่ละประเทศ เพราะมันซ่อนไปด้วยทั้งภูมิปัญญาในการประดิษฐ์ ในการปรับแต่ง และความใส่ใจในรายละเอียด สำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น มันก็แฝงและปรากฎอยู่ในทุกรายละเอียดอยู่แล้ว
นักท่องเที่ยวนั้น อย่าคิดว่าเขาเป็นเพียงมาเที่ยวแล้วก็ซื้อของติดไม้ติดมือกลับไปเป็นที่ระลึกเท่านั้น แท้จริงแล้วแทบจะทุกคนดูจะมีการคิดในการทำธุรกิจแฝงอยู่ด้วย  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะีมีการสั่งซื้อของในระดับ 100 ชิ้นขึ้นไป นักท่องเที่ยวเขาไปมาหลายที่หลายประเทศ ของอย่างหนึ่ง สั่งจากเรา อีกอย่างหนึ่งสั่งจากอีกประเทศหนึ่ง แล้วเขาก็เอาไปวางรวมกันจัดแสดง ซึ่งก็ขายได้ดีทีเดียว ขายทาง internet ก็มีมากมาย   ผมเคยเห็นสินค้าและของใช้พื้นบ้านที่ขายกันในยุโรป กระด้งเอาไปจากเวียดนาม เก้าอี้ไม้ไผ่เอาไปจากอินโดนีเซีย ไม้แกะสลักใบต้นเบิร์ดเอาไปจากไทย ฯลฯ เอาไปจัดวางจนสวย เป็นที่สนใจและขายได้ดี เหล่านี้เป็นต้น

เรื่องที่สอง ปรากฎว่ามีร้านชื่อเดียวกัน อยู่บนถนน shopping street เดียวกัน มีอยู่สองสามร้าน แต่ละร้านขายเสื้อผ้าเหมือนกัน แต่คนละ model ซึ่งแต่ละ model ที่แขวนขายอยู่บนราวก็ยังไม่เหมือนกันในรายละเอียดอีกด้วย แนวคิดก็ง่ายๆ คือ ผู้ซื้อก็ต้องการมีเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำกับคนอื่นใด แล้วก็ทำง่ายๆ เช่น เพียงใช้กระดุมไม่เหมือนกัน ปักไม่เหมือนกัน สีด้ายเย็บไม่เหมือนกัน ฯลฯ ทำนองนี้

ยังมีเรื่องอีกเยอะครับ ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับตัวเราเองหรือเอาไปช่วยกระตุ้นความนึกคิดของชาวบ้าน   



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 12, 20:43
ได้เล่าเรื่องมาก็เพื่อจะบอกว่า แนวคิดในการขายของสมัยใหม่นั้น ไม่ได้มุ่งไปในด้านปริมาณแต่มุ่งไปในด้านคุณภาพ หรืออีกนัยหนึ่ง แนวคิดของฝ่ายผู้ซื้อได้เปลี่ยนไปจากการซื้อของโหล (mass products) ไปเป็นในลักษณะของการซื้อของที่ดูเหมือนกับการทำด้วยมือ (customized products)

ในกรณีสินค้าเสื้อผ้านี้ ไทยเราได้ก้าวพ้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโหลไปแล้ว และต้นทุนของสินค้าโหลก็คงจะสู้เพื่อนบ้านรอบตัวเราไม่ได้แล้ว ซึ่งเราก็ได้พัฒนาไปเป็นสินค้าคุณภาพสูงแล้วเช่นกัน   สภาพจากเดิมที่แรงงานตัดเย็บต้องไปตัดเย็บอยู่ในโรงงาน ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นชุมชนรับมาตัดเย็บ และซึ่งได้ล้มเลิกกันไปมากกมายแล้วนั้น ผมเห็นว่าคนเหล่านั้นยังคงมีความสามารถในการตัดเย็บอยู่ เพียงแต่อาจจะหันไปประกอบอาชีพอื่น
 
เมื่อพิจารณาในด้านอื่นๆ กล่าวคือ แต่เดิม เราต้องส่งสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา สินค้าก็เป็นลักษณะของ mass production    ขีดความสามารถของเราก็มีข้อจำกัด เพราะในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นนั้น เขามีสี่ฤดู เปลี่ยนการใช้เสื้อผ้าทุกๆประมาณสี่เดือน เราจะต้องผลิตสินค้าส่งเข้าตลาดให้ทัน เราไม่มีการพาณิชนาวีของเราเอง ต้องพึ่งพาเรือของชาติอื่นๆในการขนของ กว่าจะขนสินค้าเข้าไปวางขายแข่งขันได้ ก็เสียเวลาไปประมาณหนึ่งเดือน เรียกว่าเข้าตลาดไม่ทัน   สินค้าประเภทแฟชั่นนี้ก็เปลี่ยนเร็วมาก แม้ว่าในวงการอุตสาหกรรมประเภทนี้ (นานาชาติ) เขาจะรู้ล่วงหน้าประมาณสองปี แต่ก็เป็นเรื่องของ trend และเป็นเรื่องของโทนสีเป็นหลัก

เมื่อเปิด AEC นั้น มิไช่เฉพาะจะมีแต่การเดินทางของคนในภูมิภาคนี้เท่านั้น มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งก็หมายความว่า แทนที่เราจะต้องเอาสินค้าไปเสนอขายถึงบ้านเขา มันกลับกลายเป็นว่าเขาย่างกายมาถึงสถานที่ผลิตสินค้าเสียเอง   

เมื่อเอานัยจากทั้งสามเรื่องนี้มาผนวกกัน ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่า เราควรจะต้องทำอย่างไร   

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 20:04
มีเกร็ดเล็กๆที่คงไม่ได้ช่วยคำตอบคุณตั้ง แต่มาส่งเสียงให้รู้ว่าติดตามอยู่ค่ะ

เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีเพื่อนอเมริกันมาพักที่บ้าน ก็พาเธอไปเที่ยวหัวหิน   และที่ท่องเที่ยวอื่นๆ    เธออยากจะซื้อเสื้อยืดไทยแลนด์กลับไปใส่ที่อเมริกา  ปรากฏว่าหาเสื้อยืดตามร้านที่ขายของให้นักท่องเที่ยวไม่ได้   ไม่มี size ของเธอ   เพราะน้ำหนักเธอประมาณธิดาช้าง  คือไม่ต่ำกว่า 120 ก.ก.     เธอก็ผิดหวังพอสมควร
ต่อไป เมื่อเปิด  AEC เสื้อผ้าไซส์ฝรั่งคงจะมีขายกันแพร่หลายขึ้นนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 12, 19:55
^
ขอบพระคุณมากครับ พรุ่งนี้ก็จะไป ตจว. หายไปอีกสี่ห้้าวันครับ

เรื่องที่น่าคิดเรื่องหนึ่ง คือ ในความคิดของเรา ของถูกคือของที่มีปริมาณมากในราคานั้นๆ ปริมาณของที่ขายต่อหน่วยบรรจุจึงมาก ยกตัวอย่างเรื่องข้าว ข้าวถุงเล็กที่สุดของเรามักจะบรรจุถุงละหนึ่งกิโล มากเกินไปที่นักท่องเที่ยวจะเิ่พิ่มน้ำหนักในกระเป๋า นักท่องเที่ยวเพียงอยากจะลองซื้อไปหุงกินเพื่อดูความแตกต่าง หากเพียงบรรจุเป็นซองในขนาดพอกินสองคน ก็น่าจะพอขายได้ดี ซองก็ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะตวงน้ำในปริมาณที่พอดีสำหรับหุงแบบไม่เช็ดน้ำ ผมเห็นว่าเล็กน้อยๆเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นการโฆษณาขายข้าวจากนาในท้องถิ่นอย่างดี   เป็นข้าวหอมมะลิเหมือนกัน แต่ต่างกันในคุณภาพและความหอมเนื่องจากแหล่งและดินที่ปลูกเป็นต้น 



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 10 ก.ย. 12, 11:19
มีรูปการจัดหน้าร้านที่แสดงให้เห็นความตั้งใจของเจ้าของร้าน
และอีกรูปที่แสดงรายละเอียดของสิ้นค้าที่จะขายได้อย่างน่าสนใจ

มีดสวิส ที่ซ่อนอุปกรณ์ต่างๆมากมายไว้ในอันเดียวเป็นของที่นักท่องเที่ยวมักจะมีติดตัว
เพราะสะดวก และทนทาน ที่สำคัญมันมีความหลากหลายมากทั้งรูปแบบและราคา
จะอธิบายให้คนซื้อ ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร แต่ถ้ามองจากการจัดแสดง
สามารถตอบโจทก์ในใจได้ทันทีเลย....

นำรูปมาลงรอเจ้าของกระทู้กลับมาเล่าต่อคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 13 ก.ย. 12, 20:02
เรื่องการแบ่งสิ้นค้าประเภทอาหารให้มีขนาดพอบริโภค และสะดวกแก่การชั่งตวงวัด ก็เป็นสิ่งน่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อเร็วๆนี่เพื่อนจากนอร์เวย์มาเยี่ยมบ้านเกิดแล้วกลับไป พร้อมของฝากที่ถูกใจจากเพื่อนๆคือ ตะกร้าบรรจุ
น้ำพริกหลายชนิด ในแพ็คขนาดเล็กๆ ทานหมดในมื้อเดียว มากมายพอให้เลือกทานจนจุใจ
นี่เป็นบรรจุภัณฑ์ ที่เข้ากับยุคสมัยได้ดีนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 12, 19:29
กลับมาแล้วครับ
ขอบคุณ คุณพวงแก้วด้วยครับที่ได้กรุณาเอารูปมาลง

เรื่องหนึ่งที่ตั้งใจจะเขียนมานานแล้ว ลืมไปบ้าง จังหวะโอกาสเวลาไม่อำนวยบ้าง ก็เลยไม่ได้เขียนสักที คราวนี้ได้ท่องจำมาเลย

ผมติดตั้งจานรับสัญญาณทีวีที่บ้านพักใน ตจว. มาหลายเดือนแล้ว พอเริ่มเปิดทีวีไล่เรียงช่องดู ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่ง ไปคราวนี้ก็ได้ฟังชาวบ้านบ่นกันในทำนองที่ผมรู้สึก คือ มีช่องรายการมากแต่เกือบจะไม่มีสาระอะไรเลย มีแต่ช่องเพลง โฆษณาขายของ ดูหมอ ตลก ฯลฯ  แม้จะมีช่องที่ใช้ชื่อที่บ่งบอกว่าน่าจะเกี่ยวกับสารคดีและการให้เกล็ดความรู้ก็กลับกลายเป็นเรื่องของการโฆษณาสรรพคุณสินค้าที่ต้องการจะขายเท่านั้น

ผมเห็นว่า สื่อ ธุรกิจ เจ้าของรายการ และรวมทั้งผู้ให้การสนับสนุนรายการในกลุ่มทีวีจากสัญญาณดาวเทียมนี้ น่าจะได้แทรกข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลและความรู้เข้าไปในรายการบ้างก็จะการดี ควรจะมีการคำนึงถึง CSR (ซึ่งผมคิดว่าเป็นพื้นฐานทางจรรยาบรรณที่ได้ร่ำเรียนกันมา) กันให้มากขึ้นมากๆ   ทีวีเหล่านี้ แต่ละธุรกิจต่างก็มีกล่องแปลงสัญญาณของตนเอง โฆษณาแข่งขันกันที่จำนวนช่องที่รับได้ ซึ่งก็มีหลายช่องจำนวนมากที่เป็นสัญญาณแบบ FTA (Free to air) ของต่างประเทศ ฟังก็ไม่ออก ดูภาพก็ไม่เข้าใจ    ชาวบ้านไม่รู้ ก็เลือกเอาจำนวนช่องที่มากเข้าว่า เพื่อหวังว่าจะได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา ได้รับข้อมูลข่าวสารประดับความรู้ของตนให้มากขึ้น ก็กลับกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะใช้กล่องแปลงสัญญาณของใครก็อีหรอบเดียวกัน    โดยนัยก็คือ content ควรจะเป็นเรื่องเพื่อการเปิดหูเปิดตาก็กลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม     

ผมเห็นว่า ด้วยสำนึกเพียงนิดเดียวของทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน หรือองค์กรที่ควบคุม เราสามารถจะใช้สื่อทีวีดาวเทียมของระบบ FTA นี้เป็นแหล่งแทรกให้ความรู้กับชาวบ้านในแง่มุมต่างๆที่ราษฎร (ไม่ว่าจะเลือกดูช่องใหนก็ตาม) พึงได้รับรู้ เช่น ในบริบทของเรื่อง AEC  ในบริบทของเรื่องสารเคมีต้องห้ามใช้ในการเกษตรที่สากลเขาบังคับ  ในบริบทของการขึ้นทะเบียน อย.  ในบริบทของเรื่อง......ฯลฯ  สารพัดเรื่องที่ราษฎรในระดับรากหญ้าพึงรู้  แม้กระทั่งจะใช้ในด้านการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในภาคใต้    โดยสรุปแล้วมันก็อยู่ในบริบทของ content ซึ่งอยู่ในมือของคนในระบบสื่อ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 ก.ย. 12, 20:21
ถึงกับท่องมาเลย แสดงว่าหงุดหงิดมาก...
อย่าว่าแต่ต่างจังหวัดเลย แม้ในกรุงเทพฯ บ้านที่ติดจานดาวเทียมโดยหวังว่าจะได้ดูอะไรกว้างไกลบ้าง
มีตั้ง หลายร้อยช่อง ลองไล่ดู นอกจากฟรีทีวี(ปกติ)แล้ว ช่องอื่นที่น่าดูมีไม่เกิน 5 ช่อง

ปัญหาคือวงการสื่อสารของเราไม่ได้เน้นคุณภาพในเชิงความรู้ แต่เน้นช่องทางเพื่อการขายโฆษณา
เพราะการสร้างรายการให้ได้รับความนิยมเป็นเรื่องยากมาก และต้องทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ลงทุนมาก บุคคลากรต้องมีฝีมือ ผู้ดำเนินรายการต้องมีชื่อเสียง และต้องรักษากลุ่มลูกค้าให้ติดตาม
อย่างสม่ำเสมอ 

รายการที่ง่ายที่สุดคือเอาเทปเก่ามาฉายใหม่  ซื้อรายการดังมาทำบ้าง หรือรายการเพลง

รายการอะไรก็ได้ที่เน้นความบันเทิง แต่ ไม่กล้าทำรายการคุณภาพ (เพราะความไม่พร้อม)

ความจริงแล้วเรื่องราวอีกมากมายน่าสนใจถ้าผู้ผลิตรายการมีฝีมือ และลงไปคลุกกับประชาชนให้มากกว่านี้

เรื่องสิ่งแวดล้อม  ประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติ เศรษฐกิจ ช่างฝีมือ ความแตกต่างของผู้คนในสังคม

อุตสาหกรรม อาหารในท้องถิ่น ภูมิปัญญาในท้องถิ่น ฯลฯ

แต่ผู้ผลิตรายการสมัยนี้มักเป็นคนหนุ่มสาวที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์เชิงลึก  มุมมองชีวิตยังแคบ

ยังไม่ลุ่มลึก รวมทั้งยังไม่มีทุนของตนเองต้องทำตามนโยบายของผู้ใหญ่ซึ่งก็ยังวนอยู่ที่เดิม....



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 15 ก.ย. 12, 09:57
ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องทีวีระบบดิจิตัล แต่ได้ข่าวว่าในเวลาอีก 1-2 ปีนี้

ระบบทีวีบ้านเราจะเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ จะทำให้มีฟรีทีวีเพิ่มอีก1-2เท่าตัว

เท่าที่สังเกต นายทุน นักธุรกิจกระเป๋าหนักก็ซุ่มซื้อช่องสัญญาณไว้เป็นของตัวเองกันแล้ว

แต่ยังไม่มีการผลิตรายการ ....คงปล่อยเป็นช่องดำ เอาไว้เพื่อรอเวลา....


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 12, 18:35
^
ผมก็มีความรู้เพียงน้อยนิดเช่นกัน
ติดว่าคงจะเปรียบเทียบได้กับการเปลี่ยนระบบโทรศัพท์จากระบบการหมุนหมายเลขแบบ Pulse ไปเป็นระบบแบบ Tone  ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจากระบบ analog ไปเป็นระบบ digital เช่นกัน    เป็นการปรับเปลี่ยนในทางเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการสื่อสารและโทรคมนาคมของสังคมโลกที่นานาชาติได้มีการตกลงกัน  ในเรื่องนี้พอจะทราบว่ามันไปเกี่ยวกับช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถใช้ในการสื่อสาร ซึ่งในปัจจุบันนี้นั้น แม้จะได้มีการจัดสรร แบ่งโซน แบ่งเขต แบ่งย่านความถี่ ฯลฯ กันแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะรองรับการขยายตัวของการสื่อสารและการโทรคมนาคมต่างๆได้     คงจะไม่ขยายความไปมากกว่านี้แล้วครับ จะเข้าไปในเขตของวิทยาการมากไป

น่าสนใจในประเด็นหนึ่ง คือ แม้สหรัฐฯจะก้าวหน้าในเรื่องการสื่อสารและการโทรคมนาคมมากกว่าใครๆก็ตาม เขาก็มีนโยบาย กฎหมาย และการปฎิบัติ ในลักษณะที่ปกป้องและยังแทบจะบังคับให้ยังคงต้องมีการใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมในบางเรื่อง ตลอดจนสนับสนุนให้มีการศึกษาและพัฒนาไปตามเส้นทางของมัน เช่น ในกรณีของโทรศัพท์  ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้โทรศัพท์ประเภทไร้สายจะต้องสูงมากกว่าโทรศัพท์แบบใช้สายเสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลให้มีการพัฒนาระบบสายส่งสัญญาณจากแบบลวดโลหะไปเป็นแบบใยแก้ว และหากเกิดกรณีระบบไร้สายล่ม (เมื่อเกิดสงคราม ฯลฯ) ก็จะยังคงมีคนที่จะเข้าใจในการย้อนกลับมาใช้แบบดั้งเดิมได้ เป็นต้น

ประเด็นทั้งหมดไปอยู่ที่ เราคิดไปได้มากเพียงใดจากความรู้ที่เราได้ร่ำเรียนมา  ตัวอย่างเช่น ระบบการสื่อสารบนคลื่นความถี่ย่าน HF ของเรานั้น ส่วนราชการของเรา (น่าจะ) ละทิ้งไปหมดแล้ว ทั้งๆที่ระบบนี้เป็น life line ที่สำคัญมากๆ  เมื่อเกิดเหตุการณ์พิบัติภัยทางธรรมชาติ การสื่อสารระบบนี้ก็คือระบบที่ทำให้โลกภายนอกได้รับรู้เรื่องและสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือในลักษณะที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกรณีเชินนาบิล แผ่นดินไหวในจีน ในญี่ปุ่น และรวมทั้งซึนามิ

ขออภัยครับ บ่นอีกแล้ว       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 12, 19:37
ในเรื่องของการก้าวย่างในยุค  AEC นี้ ผมเห็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเข้ามาใช้ผืนแผ่นดินไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพสำหรับประชาชนและการค้าของประเทศอื่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน   จากเดิมที่พอมีอยู่บ้างโดยลักษณะทางการค้าขายปรกติ ไปสู่ contract farming  และกำลังก้าวไปสู่อาชีพนอร์มินี

เป็นเรื่องที่เกิดได้ง่ายและรวดเร็วมาก   แหล่งเพาะปลูกและที่ดินผืนใหญ่ที่สำคัญเป็นจำนวนมากอยู่ในมือของคนมีเงินและคนที่มีอิทธิพล ชาวบ้านเป็นจำนวนมากเป็นเพียงผู้เช่าทำกิน (แม้กระทั่งในที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง) เมื่อใดที่เจ้าของที่ดินเห็นประโยชน์เพียงปริมาณรายได้ เมื่อนั้นชาวบ้านก็คงจะต้องแปลงสภาพจากผู้เช่าทำกิน (ซึ่งยังคงยังจะพอมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรเป็นของตนเอง) กลายไปเป็นผู้ใช้แรงงานตามฤดูกาล ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางสังคมมากทีเดียว

ใน EU ก็เกิดภาพเช่นนี้   ผมได้เคยมีโอกาสไปรับรู้กับสภาพนี้ในพื้นที่จริงแห่งหนึ่ง แหล่งผลิตอาหารของเขาได้กลายเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล้าวอดก้าชั้นดีจำหน่ายไปทั่วโลกในธุรกิจของอีกประเทศหนึ่ง 


 



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 12, 18:01
ได้กล่าวถึง CSR มา ก็เลยอยากจะขยายความต่อเนื่องไปอีกสักหน่อยนึง

CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility   แนวคิดในเรื่องนี้เกิดมานานหลายสิบปีแล้ว และก็มีการใช้ชื่ออื่นๆอีกหลายชื่อเรียกนโยบายและการกระทำในแนวคิดนี้  ในที่นี้ผมจะขอเรียกแนวคิดนี้ว่า CSR ก็แล้วกัน   โดยหลักการก็คือ ความรับผิดชอบของธุรกิจนั้นๆต่อสังคม ซึ่งกระทำได้ในหลากหลายเรื่องมากมาย เช่น ในเชิงของความซื่อสัตย์ของธุรกิจเอง (ไม่หลอกลวง ไม่คดโกง ฯลฯ) ในเชิงของความรับผิดชอบต่อผู้ใช้ (consumer) ในเชิงของการตอบแทน (ช่วยพัฒนาพื้นที่และสังคมท้องถิ่น ฯลฯ) ฯลฯ       CSR เป็นเรื่องของความสำนึกทางจิตใจในด้านของการกระทำที่เป็นคุณ มิใช่เรื่องของการกระทำที่อยู่ในบังคับโดยกฎหมาย  แต่หลายธุรกิจก็กระทำเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ทางการค้าของตน และก็มีหลายธุรกิจที่กระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ใช้และสังคมโดยรวม 

เมื่อเกิด AEC เราก็คงจะได้เห็นการกระทำที่เรียกว่า CSR นี้มากขึ้น ทั้งจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และที่ไม่มีการป่าวประกาศให้เป็นที่เอิกเกริก เนื่องจากจะมีการเข้ามาลงทุนและออกไปลุงทุนไขว้กันระหว่างธุรกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกมากขึ้น และก็จะเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งด้วย

สำหรับผมนั้น เห็นว่า CSR มิใช่เรื่องที่จะต้องกระทำโดยธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น   แนวคิดเรื่อง CSR นี่ หากได้มีการปฎิบัติโดยธุรกิจเล็กๆในระดับ SMEs หรือธุรกิจระดับจิ๋วของชาวบ้านของเรา ผมเชื่อว่าก็จะทำให้ธุรกิจนั้นๆเกิดความมั่นคงและขยายกิจการได้   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 12, 18:39
เมื่อเกิด AEC  ธุรกิจขนาดใหญ่ต่างก็ได้รับประโยชน์กันเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลและส่วนราชการก็ดูจะสาละวนอยู่กับการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจเหล่านี้ ผมยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนได้พูดและทำอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วเลย  สสว.ก็หายเงียบไปเหมือนไม่มีตัวตนอยู่เลย  สอท.ก็เช่นกัน   

เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นตัวอย่างและวิธีการที่ดีในการเปิดช่องทางการเข้าสู่ตลาด (market access) ให้กับชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเท่าที่ผมได้เห็นมามีอยู่ 2 วิธีการ คือ ในรูปของ events ซึ่งกระทำกันค่อนข้างจะแพร่หลายในยุโรป เรียกกันว่า Avant-garde (ตามท้ายด้วย event บ้าง market บ้าง หรือ mall ก็ีมี และอื่นๆ ฯลฯ)    และในรูปของร้านค้าซึ่งกระทำกันในญี่ปุ่นเป็นหลัก ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลกลางและโดยการรวมตัวของรัฐบาลท้องถิ่น

ในกรณีของ Avant-garde นั้น จะขอขยายความดังนี้  คำนี้เป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึง อะไรๆที่ต่างไปจากปรกติ (เป็นลักษณะของการก้าวย่างออกไปจากปรกติ) ซึ่งใช้กับงานด้านศิลป์ต่างๆ  แต่ได้มีการนำคำนี้มาใช้กันทั่วไปทั่วยุโรปในเรื่องของ life style ซึ่งผนวกรวมเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ อาหาร เครื่องประดับและเครื่องใช้ต่างที่ไม่มีขายตามปรกติอยู่ในท้องตลาด เหล่านี้เป็นต้น    วิธีการก็คือ ฝ่ายบ้านเมืองเป็นฝ่ายดำเนินการ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ลานกลางเมืองตั้งบู๊ทหรือ Kiosk ขายของเป็นคราวๆไปประมาณ 7 วันล่วงหน้าก่อนฤดูกาลหรือวันสำคัญต่างๆ ชาวบ้านก็จะเอาของที่ไม่เป็นปรกติกมาวางขาย  บางเมืองหรือบางประเทศก็จัดเป็นงานในอาคารประจำปีไปเลยก็มี ซึ่งของเรามักจะจัดในลักษณะนี้ แต่ต่างกันที่ของเรามีแต่ของที่เห็นเป็นปรกติประจำวัน ของที่ไม่ปรกติต่างๆถูกกำหนดพื้นที่ให้ไปอยู่ห่างๆไกลๆ

ผมชอบไปเดินในงานลักษณะนี้ของยุโรป ทำให้ได้รู้จักวิถีของคนและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านของเขาจริงๆ รวมทั้งปรัชญาแนวคิดต่างๆอีกด้วย  ตลาดเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมได้เห็นสินค้าพื้นบ้านของไทยหลายๆอย่างปรากฏวางขายอยู่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าที่วางขายอยู่ตามร้านในชุมชนท้องถิ่น (หมู่บ้าน) ของบ้านเรา   ทำให้ผมเกิดความเข้าใจในสภาพและสถานะของเรื่องต่างๆอีกหลายๆเรื่อง  ส่วนราชการไทยที่ดูและในเรื่องเหล่านี้จริงๆไม่มีนะครับ มีแต่ให้ความสนใจกับเรื่องการค้าขายใหญ่ๆ คือ คิดเก็บแต่ Strike ไม่คิดเก็บ Spare (ขออนุญาตอธิบายด้วยภาษาในกิฬาโบว์ลิ่ง)

     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 12, 22:13
ขอยกมือขัดจังหวะคุณตั้ง ทั้งที่กำลังฟังเลกเชอร์อยู่เพลินๆ
คุณตั้งคงอ่านพบข่าวในนสพ.แล้วนะคะ  ว่าดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการ..เอ่อ.. AC  หรือ AEC จนบัดนี้ดิฉันก็ยังจำไม่ได้   แถลงว่าที่จะเปิด AEC ในวันที่ 1 มกราคม 2558 นั้น จะต้องเลื่อนไปเป็นเดือนธันวาคมเสียแล้ว  ก็คือเลื่อนไป 1 ปีหย่อนไม่กี่วันนั่นเอง
เพราะความไม่พร้อมบางเรื่อง ซึ่งดิฉันยังไม่ได้ไปค้นดูว่าเรื่องอะไร

ไม่รู้ว่าข่าวนี้จะทำให้คุณตั้งเสียใจหรือดีใจมากกว่ากันค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 12, 18:22
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) กล่าวว่า แผนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาจจะต้องเลื่อนออกไป 1 ปีจนถึงสิ้นปี 2015 เนื่องจากบางประเทศยังไม่มีความพร้อม

นายสุรินทร์ กล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมรมว.พลังงานอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ว่า รมว.คลังอาเซียนได้ขอให้เขาเลื่อนการเปิด AEC ในการประชุมที่เพิ่งจัดขึ้น และเขาจะเสนอแนวคิดดังกล่าวให้บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกพิจารณาในการประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้

สมาชิกอาเซียนประกอบด้วยบรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย,พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม

AEC ซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค.2015 นั้น จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า, เงินทุน และแรงงานทักษะในภูมิภาคเป็นไปอย่างเสรี

นายสุรินทร์กล่าวว่า รมว.ต่างประเทศของอาเซียนได้ตัดสินใจในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า AEC ควรเปิดตัวในวันที่ 1 ม.ค.2015

"บรรดารัฐมนตรีเศรษฐกิจได้สำรวจดูภาวะแวดล้อมต่างๆ และตระหนักว่าพวกเขาต้องการเวลาอีก 1 ปี พวกเขาจึงมาขอให้ผมสื่อสารกับหน่วยงานทั้งหมดจนถึงบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกว่า เราควรจะแสดงความคิดไปในทำนองเดียวกัน" นายสุรินทร์ กล่าว ดังนั้น AEC จะเริ่มเปิดตัวในวันที่ 31 ธ.ค.2015

กัมพูชา, ลาว และพม่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย ขณะที่อินโดนีเซียเป็นสมาชิกในกลุ่มจี-20 และสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกที่กำลังเฟื่องฟู

นายสุรินทร์ ระบุว่า มีความท้าทายหลายเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการ ซึ่งรวมถึงการขจัดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งการเลื่อน AEC มีขึ้นในช่วงที่ข้อพิพาทด้านชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา รวมทั้งการที่สมาชิก 4 ชาติในอาเซียน, จีนและไต้หวัน ที่อ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการทูตภายในอาเซียน

"โลกกำลังคาดหวังให้เรารวมตัวกัน" เขากล่าว พร้อมระบุว่า AEC จะสูญเสียความน่าเชื่อถือ ถ้าหากไม่ได้รวมถึงสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
ข้อพิพาทด้านชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา รวมทั้งการที่สมาชิก 4 ชาติ ในอาเซียน, จีนและไต้หวันได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการทูตภายในอาเซียน

 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/asean-plus/20120913/469874/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99-AEC-%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%98.%E0%B8%84.%E0%B8%9B%E0%B8%B558.html


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 12, 19:32
^
อยู่ฝ่ายดีใจมากกว่าครับ

ผมได้มีโอกาสทำงานในระบบความร่วมมือระหว่างรัฐ (รัฐบาล, ประเทศ, กลุ่มประเทศ, นานาชาติ)  ทำให้ได้เห็นภาพหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องแถลงออกมาถึงความสำเร็จที่ได้มีการตกลงกันบ้าง มีคงามตกลงกันบ้าง มีความเห็นพ้องกันบ้าง ฯลฯ หากเมื่อใดได้มีการประชุมในระดับผู้รับผิดชอบสูงสุด (รัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, ผู้นำประเทศ)  กลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีความพยายามหาประเด็นที่จะต้องป่าวประกาศแสดงถึงความสำเร็จ  เป็นภาษาดอกไม้ทั้งนั้น  หลายๆเรื่องก็เป็นเรื่องที่ต้องควานหากันในระหว่างการประชุม จะพร้อมในการรับหรือปฎิบัติแค่ใหนเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ความตกลงเหล่านี้มีทั้งที่ผูกมัด (Legal binding) และไม่ผูกมัด แล้วก็มีทั้งที่เรียกว่า Resolution, Declaration, Decision, Agreement, Interim agreement

ตัวอย่างเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของทศวรรษของคนพิการ ที่ตกลงกันในกรอบของ ESCAP นานมาแล้ว แต่กว่าที่เราจะได้ทำกันจริงๆก็แทบจะเป็นปีสุดท้าย แถมทำไม่หมดและทำด้วยความไม่เข้าใจด้วย สาเหตุพื้นฐานส่วนหนึ่งก็มาจากคนที่เข้าไปประชุมเป็นส่วนงานหนึ่ง ผู้ปฎิบัติเป็นอีกส่วนงานหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย  ส่วนคนที่อยู่ในระบบการประชุมก็ฝันเฟื่องกันไปเออออห่อหมกกับเขาแล้วก็ไม่ได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายปฏิบัติทราบก็มี ส่งเรื่องต่อไปให้ช้าก็มี ความพร้อมและความเข้าใจของฝ่ายปฏิบัติก็ไม่เพียงพอ  สังเกตใหมครับ ว่าทางลาดที่ขอบทางเดิน (foot path) สำหรับคนพิการ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการนั้น มีบ้าง ไม่มีบ้าง ใช้การอย่างเหมาะสมได้บ้างไม่ได้บ้าง ฯลฯ  บางแห่งก็เพียงทำให้เห็นว่ามี แต่ไม่กว้างพอสำหรับล้อรถเข็นของคนพิการ เป็นต้น

ความตกลงต่างๆของอาเซียนก็ไม่หนีไปจากกรณีตัวอย่างที่เล่ามานี้มากนัก    ในวงการประชุมของระบบนี้ ถูกครอบด้วยปรัชญา อาทิ องค์กรนี้มีแต่ความเห็นร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ หรือ The spirit of...       การตัดสินด้วยการลงคะแนนเป็นเรื่องที่ไม่พึงปราถนา พร้อมไม่ไพร้อมแค่ใหนไม่รู้ รับไว้ก่อนแล้วค่อยว่ากันทีหลีง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 12, 19:21
ขอวกกลับมาเรื่อง market access ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างและหาที่ยืนให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วเมื่อเกิด AEC 

ได้กล่าวถึงแนวคิดและวิธีช่วยชาวบ้านแบบหนึ่งของฝรั่งในยุโรปที่ใช้การจัดตลาดแบบ advant-garde แล้ว

(ขออภัยที่มีภาษาอังกฤษมากไปหน่อยในกระทู้นี้ครับ มิได้มีความประสงค์จะแสดงความรู้อะไรหรอกครับ จะแปลความให้เป็นไทยก็เกรงว่าจะไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของเค้า คุณวิกกี้จะช่วยให้ความกระจ่างได้ดี)

ตอนนี้ก็จะขอเล่าแนวคิดและวิธีการที่กระทำกันในญี่ปุ่น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแบบที่สอดคล้องกับลักษณะทางสังคมของคนเอเซีย

ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วทั้งหมดนั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องของการขายฝีมือและความชำนาญการ     ญี่ปุ่นก็เห็นเช่นนี้  จะด้วยสมาคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดจิ๋ว หอการค้า SMEs  ส่วนราชการ (เช่น SMEA) องค์กรกึ่งราชการ (เช่น SMRJ) หรือส่วนรัฐท้องถิ่น (Prefecture ต่างๆ)  จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสำหรับชาวบ้าน คน และธุรกิจที่มีโอกาสน้อยต่างๆ ให้สามารถมีตลาดที่จะขายผลิตภัณฑ์ตามสมควรแก่เหตุ

วิธีการอย่างหนึ่ง คือ การเปิดร้านขายของท้องถิ่นในย่านที่มีคนในเมืองไปจับจ่ายซื้อของกินของใช้กันเป็นประจำวันกัน (สินค้าที่จะเล่าให้ฟังนี้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของๆกินนะครับ) เนื้อที่ร้านค้าก็คงประมาณเท่ากับสามห้องแถวของบ้านเรา  ร้านเองก็แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนสำหรับวางขายของดังที่มีคนนิยมซื้อหากันเป็นประจำ (ที่เป็นของดีของจังหวัดต่างๆ) พื้นที่ส่วนสำหรับขายของที่คนเริ่มนิยมมาหาซื้อกันมากขึ้นในระดับหนึ่ง และพื้นที่สำหรับสินค้าใหม่ๆที่แสวงหาตลาด     
 
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจมีอยู่หลายเรื่อง
เรื่องแรก คือ เรื่องของการบริหารจัดการร้านนี้ มิใช่เป็นเรื่องของการขายเพื่อหากำไรให้ร่ำรวย เป็นเพียงมีกำไรพอที่จะรักษาสภาพคล่องของการดำเนินการในลักษณะของพอเอาตัวรอด

จะพยายามเล่าแบบไม่ให้มีความสับสนนะครับ    แต่ดูจะลำบากเสียแล้ว เลยจะขอใช้เวลาเรียงลำดับเรื่องและสมองก่อน     
การเล่าด้วยวิธีการเขียนนี้ยากกว่าการเล่าด้วยการบรรยายด้วยปากจริงๆครับ                   

 
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 12, 19:46
กำลังอยู่ในสภาพที่คิดว่า กำลังฝอยไปเรื่อยๆหรือเปล่า และเรื่องที่เขียนๆไปนี้ มีสาระที่เป็นประโยชน์หรือไม่     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 19 ก.ย. 12, 19:56
เรื่องที่เล่านี้มีประโยชน์แน่นอนคะ แต่ดูเหมือนยิ่งเล่าคุณตั้งจะออกเกร็งๆ
ค่อนข้างเป็นวิชาการ ถ้าจะให้สนุกอยากให้คุณตั้งเล่าเหมือนตอนเขียนเรื่อง
ที่เดินป่า ทำอาหารป่า มีสีสันทางภาษามากกว่า...สนุกสนานและน่าประทับใจคะ

ขออภัยที่แสดงความคิดเห็นมา เพราะอยากทราบมุมมองของผู้มีประสบการณ์ตรง
ซึ่งจะหาคนที่ยอมสละเวลามาเล่าให้ฟังได้ยากมากคะ  สิ่งนี้จะเป็นเหมือนแสงไฟนำทาง
ให้เราคนไทยที่ไม่มีข้อมูลเรื่อง AEC มากนัก ได้เชื่อมต่อความคิดได้ง่ายขึ้นค่ะ...ขอบคุณคะ

ขออยู่แผนกหาภาพมาประกอบนะคะ ...


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 12, 17:32
เล่าไปเรื่อยๆ สบายๆ แบบพาเดินชมตลาด ก็ดีค่ะ คุณตั้ง
จะได้หิ้วตะกร้าไปด้วย แวะช็อปสินค้าท้องถิ่น


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 12, 18:04
ขอบคุณครับ ที่ให้ความเห็นตรงๆ  แถมอ่านอาการออกอีกด้วย  :D

ใช่ครับ ค่อนข้างจะระวังและเกร็งๆอย่างที่สัมผัสได้ เขียนยากครับ ผมเองต้องประเมินจากจำนวนและอัตราการคลิกเข้ามาอ่าน เพื่อดูว่าเรื่องยังมีการติดตามและยังอยู่ในความสนใจหรือไม่ คอยปรับเนื้อหาที่จะเล่า อู้บ้าง ไปเร็วบ้าง และต้องพยายามปรับทั้งพื้นฐานและการให้รายละเอียดพอดีๆกัน อดคิดไม่ได้และต้องคำนึงตลอดเวลาอยู่ว่า อาจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน หรือไม่ก็เป็นเรื่องในแดนสนธยา  แต่อย่างน้อยก็สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ ได้เล่าเรื่องเรื่อง แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้น และความเห็นที่ประมวลได้มาจากประสบการณ์ตรง หลายเรื่องก็เล่าในที่สาธารณะไม่ได้เพราะละเอียดอ่อนและอ่อนไหวเกินไป  ก็ด้วยประการฉะนี้ ครับผม

จะพยายามปรับแนวครับ  ;D ;D





กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 12, 18:38
ที่นี่ไม่มีสวนมะพร้าวค่ะ  ยินดีซื้อมะพร้าว AEC  ทุกลูกที่คุณตั้งนำเข้ามา
อยากฟังสิ่งละอันพันละน้อยจากประสบการณ์ของคุณตั้งด้วยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 12, 19:59
ขอบคุณมากครับสำหรับไมตรีจิต   อ้อ ผมมีไก่มีเป็ดเอามาขายมาปล่อยด้วยพอสมควรครับ  ;D

ต่อครับ

ร้่านเขาจะมีชั้นสำหรับวางสินค้าแนะนำที่ชาวบ้านหรือชุมชนทั่วประเทศค้ดสรรมาเพื่อทดสอบตลาด แต่ละชุมชนหรือแต่ละคนจะได้รับพื้นที่ให้วางสินค้าขายได้เท่ากับ 1 ตะกร้า (ขนาดประมาณ 12 x 18 นิ้ว) โดยเสียค่าใช้จ่าย 5,000 เยนต่อหนึ่งสัปดาห์ ในตะกร้านั้นจะวางขายของกี่อย่างก็ได้ เท่าที่เห็นมาก็ระหว่าง 4 - 6 อย่าง ร้านเองก็จะช่วยเหลือโดยการทำรายงานสถิติการขายประจำสัปดาห์ส่งให้กับผู้รับผิดชอบที่คัดเอาของมาใส่ตะกร้านั้นๆ  เนื่องจากมีผู้สนใจในการนำเสนอสินค้าประจำถิ่นมาก  ก็เลยมีคิวการวางจำหน่าย ร้านจึงสามารถทำหนังสือขนาดหน้า A4 ประมาณ 30 -40 หน้ากระดาษเห็นจะได้ วางแจกให้สำหรับผู้สนใจได้รู้ล่วงหน้าว่าสัปดาห์ใดจะเป็นสินค้าอะไรจากทีใด  จากภาพที่เล่ามานี้ จะเห็นว่า ของที่วางในตะกร้านั้นแต่ละอย่างมีน้อยชิ้นมาก ร้านเขาก็ใช้วิธีหมดแล้วก็เอามาเติม หรือแจ้งให้ผู้ที่นำสินค้ามาวางทราบและส่งมาอีก ผมเคยพบที่หมดแล้วหมดเลยก็มี   สินค้าเหล่านี้บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่คิดว่าหากขายได้ดีและติดตลาดแล้วก็จะยังใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่วางแนะนำไว้  ที่น่าสนใจคือ นอกจากจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคำอธิบายและข้อมูลตามบังคับของกฎหมายแล้ว ยังมีชื่อและ/หรือรูปภาพของเจ้าของหรือผู้ผลิต รวมทั้งเว็ปไซด์และที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อ ติดอยู่ด้วย ง่ายๆก็คือ จะโทรไปวิจารณ์ ชมเชย สั่งของหรือติดต่อค้าขายอะไรก็ได้ สินค้าโอท๊อปของญี่ปุ่นเขาไปไกลขนาดผู้ผลิตกล้าแสดงตนและกล้าแสดงความรับผิดชอบกันแล้ว และนี่ก็คือทิศทางที่ SMEs ของญี่ปุ่นกำลังปฎิบัติกันอยู่ คือไม่แน่จริง ไม่กล้าจริง ก็คงไม่กล้าที่จะแสดงตน  ที่จริงของไทยเราก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดาขนมต่างๆที่ระบุชื่อว่าเป็นของแม่นั่นแม่นี่  แต่ลอกเลียนขโมยกันเยอะไปหน่อย ก็เลยมีคำต่อท้ายสารพัด เช่น ของเดิม เจ้าเก่า ของแท้ ลูกสาว... ฯลฯ ซึ่งสรุปได้ว่า ผู้ซื่อก็ไม่รู้ว่าเจ้าใหนของแท้ เจ้าใหนลอกเลียนแบบ ก็เลยไม่ซื้อ ผู้ผลิตผู้ขายก็ขายได้ยากขึ้น ต้องอธิบายเล่าความมากขึ้น สุดท้ายก็กลายเป็นลักษณะขนมประจำถิ่นไป เช่น ขนมหม้อแกงเมืองเพชร  ฝอยทองฉะเชิงเทรา ขนมชั้นเมืองตราด กระยาสารทกำแพงเพชร หมูยอเชียงราย / อุบล / ...   กุนเชียงโคราช / สุรินทร์ / ...   ไก่ย่างวิเชียรบุรี / ท่าพระ /บางตาล / เขากวาง / ...   ปลาร้าสับอุทัยธานี ปลาส้มกำนัล..  ขนมโมจิ...นครสวรรค์  ฯลฯ     ฝ่ายผู้ซื้อก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรม ได้ของดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ของปลอมบ้าง ของแท้บ้าง   เอ่ยมาแค่นี้ตะกร้าที่คุณเทาชมพูหิ้วมาก็คงจะพอเต็มแล้วกระมังครับ

จะแยกกระทู้ออกไปเป็นของดีประจำถิ่นก็คงจะไม่ได้ใช่ใหมครับ จะกลายเป็นเรื่องโฆษณาและธุรกิจไป

อ้าว แยกเข้าซอยไปเสียแล้ว เรื่องวิธีการของร้านที่สนับสินค้าท้องถิ่นนี้ยังไม่จบนะครับ     



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 12, 20:38
สินค้าท้องถิ่นของไทยก็มีเยอะนะคะ  ที่ปิดป้ายบอกให้รู้ว่าผลิตที่ไหน ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ไหน มีเบอร์โทร.เสร็จสรรพ    ผลดีคือจะได้รับออเดอร์โดยตรงได้ด้วย  ไม่ต้องวางขายหน้าร้านให้โดนหักเปอร์เซ็นต์เปล่าๆ
ส่วนเรื่องลอกเลียนกัน อาจจะแยกได้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง   คนไทยมักจะเชื่อกันว่าถ้าอะไรขายดีแล้ว  ก็ควรเลียนแบบเขาบ้างจะได้ขายดีเหมือนกัน  คืออาศัยเครดิตเขามาเป็นผลงานเรา มากกว่าจะคิดค้นอะไรแปลกๆออกไป ให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  เพราะกลัวขายไม่ออก  เพราะลูกค้าไม่รู้จักแล้วจะไม่ชอบ  เลยไม่ซื้อ
จึงจะเห็นว่าพวกของกินในจังหวัดต่างๆ มุ่งทำรสชาติให้เหมือนกัน    ใช้คำโฆษณาแบบเดียวกันหมด  ลูกค้างงไม่รู้เจ้าไหนของแท้ของเทียมอย่างคุณตั้งว่าละค่ะ

ของดีประจำถิ่น จะเล่าก็ได้ค่ะ   ดิฉันถือว่าถ้าคุณตั้งไม่ได้ลงประกาศชื่อร้าน ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นโฆษณา   ใครสนใจก็ไปเสาะหาเอาเอง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 20 ก.ย. 12, 22:28
เล่าไปเรื่อยๆ สบายๆ แบบพาเดินชมตลาด ก็ดีค่ะ คุณตั้ง
จะได้หิ้วตะกร้าไปด้วย แวะช็อปสินค้าท้องถิ่น
อ. เทาชมพูหิ้วตะกร้ามาช็อปเอง ....อย่างนี้ก็สนุกซิคะ

ในกระทู้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วทั้งหมดนั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องของการขายฝีมือและความชำนาญการ     ญี่ปุ่นก็เห็นเช่นนี้  จะด้วยสมาคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดจิ๋ว หอการค้า SMEs  ส่วนราชการ (เช่น SMEA) องค์กรกึ่งราชการ (เช่น SMRJ) หรือส่วนรัฐท้องถิ่น (Prefecture ต่างๆ)  จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสำหรับชาวบ้าน คน และธุรกิจที่มีโอกาสน้อยต่างๆ ให้สามารถมีตลาดที่จะขายผลิตภัณฑ์ตามสมควรแก่เหตุ

วิธีการอย่างหนึ่ง คือ การเปิดร้านขายของท้องถิ่นในย่านที่มีคนในเมืองไปจับจ่ายซื้อของกินของใช้กันเป็นประจำวันกัน (สินค้าที่จะเล่าให้ฟังนี้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของๆกินนะครับ) เนื้อที่ร้านค้าก็คงประมาณเท่ากับสามห้องแถวของบ้านเรา  ร้านเองก็แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนสำหรับวางขายของดังที่มีคนนิยมซื้อหากันเป็นประจำ (ที่เป็นของดีของจังหวัดต่างๆ) พื้นที่ส่วนสำหรับขายของที่คนเริ่มนิยมมาหาซื้อกันมากขึ้นในระดับหนึ่ง และพื้นที่สำหรับสินค้าใหม่ๆที่แสวงหาตลาด     
 


ก็เลยไปหารูปที่เคยถ่ายไว้เวลาไปเห็นสิ้นค้า O-Top ซึ่งมีเสน่ห์มากกว่าสิ้นค้าอุตสาหกรรม เพราะทำให้เห็นภูมิปัญญาของเขาอย่างชัดเจน น่าสนใจ
ขอส่งรูปมาประกอบ ตามสัญญาคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 12, 10:19
ไปเจอบทความว่าด้วยธุรกิจลอจิสติกส์ภายใต้ AEC  เลยเอามาฝากค่ะ

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000115632

ตอนท้ายๆของบทความพูดถึงบริษัทลอจิสติกส์ของคนไทยที่มักเป็นขนาดเล็ก  ตรงนี้คุณตั้งอาจจะสนใจ

     ขณะที่บริษัทลอจิสติกส์ของคนไทยมักเป็นขนาด SMEs  และยังไม่มีศักยภาพ หรือยังไม่สามารถที่จะสู้ทุนต่างชาติอย่างออสเตรเลีย, จีน ฯลฯ บริษัทต่างชาติเหล่านี้จะใช้วิธีการในการแย่งชิงตลาดโดย 1. ตัดราคา 2. ให้เครดิตยาว 90 วัน 3. ออกเงินให้ก่อน 4. เทคโนโลยีทันสมัย 5. เงินทุนของต่างประเทศมีมากกว่า 6. มีเครือข่ายมากกว่า
       
       ส่วนบริษัทใหญ่ๆ ของไทยได้เตรียมตัวรับการเปิดเออีซีแล้ว โดยการหาคู่ค้าในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว จีน เนื่องจากเมื่อเปิดเออีซีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะทำให้มีการซื้อขาย ลงทุนมากขึ้น ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างกันย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยการขนส่งทางน้ำจะมีต้นทุนที่ต่ำสุด-ทางอากาศแพงสุด
       
       ทั้งนี้ การจะทำธุรกิจลอจิสติกส์ระหว่างอาเซียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น การจะไปทำธุรกิจลอจิสติกส์ที่ประเทศลาวต้องมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และหากเข้าไปทำธุรกิจที่นั่นก็ควรเปิดสำนักงานที่นั่น ต้องจ้างแรงงานท้องถิ่น ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของเค้า อีกทั้งต้องศึกษาตลาดของที่นั่นด้วย
       
       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 12, 18:57
ขอต่อเรื่องร้านเพื่อการช่วยเหลือการเข้าตลาดของสินค้าโอท๊อปและ SMEs ต่อให้จบ แล้วก็จะไปเรื่องลอจิสติกส์ครับ

ได้เล่าวิธีการใช้ตะกร้า จำนวนเงินค่าเช่าพื้นที่ แล้วก็รายงานสรุปยอดซื้อสินค้าให้กับผู้ผลิตแล้ว
ในเรื่องของรายงานนั้น มิใช่เพียงแต่จะแจ้งยอดการจำหน่ายต่อวันเพียงเท่านั้น ในรายงานยังบอกถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ชื้อสินค้านั้นๆอีกด้วย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลอย่างมากกับผู้ผลิตทั้งในเชิงของรส บรรจุภัณฑ์ ปริมาณ ฯลฯ เพื่อจะได้พิจารณาำนำไปปรับปรุง จึงได้เห็นอยู่บ่อยๆว่ามีสินค้าเดิมในรสชาติใหม่ ในบรรจุภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ กลับมาวางขายลองตลาดอีก 

เมื่อเริ่มเป็นสินค้าขายดีมากขึ้น เป็นที่ต้องการมากขึ้น และหากผู้ผลิตพอใจที่จะลองต่อไป ร้านก็จะย้ายสินค้านั้นๆจากชั้นวางของที่วางกลุ่มสินค้าใหม่ ไปวางขายที่อีกชั้นวางหนึ่งคล้ายกับร้านค้าปรกติทั่วไป โดยจะมีค่าเช่าที่แพงขึ้น คือ ประมาณ 10,000 เยน ต่อสัปดาห์ ต่อพื้นที่เฉพาะเล็กๆหนึ่ง สินค้านี้ก็จะกลายเป็นสินค้าแนะนำใน Brochure (ภาษาไทยเรียกว่าอะไรครับ) ของร้าน ไปอยู่ในอีกกลุ่มสินค้าน่าสนใจประจำร้าน

จนกระทั่งเมื่อสินค้านั้นๆเป็นที่ต้องการมาก ขายได้ดีตลอดเวลา  ร้านก็จะเปลี่ยนเป็นทางร้านเป็นฝ่ายซื้อและจัดจำหน่ายเอง เพื่อหารายได้เข้าร้านเป็นทุนสำหรับการดำเนินการส่งเสริมสินค้าจากผู้ผลิตหน้าใหม่ต่อไป  ซึ่งเมื่อบริหารดีๆ ร้านเองก็มีเงินหมุนเวียนพอที่จะสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้โดยไม่ต้องรบกวนฝ่ายราชการ 

ในอีกรูปหนึ่ง คือ ร้านอนุญาตให้ผู้ประกอบการมาใช้พื้นที่หน้าร้าน ครั้งละไม่เกินสองเจ้า และเจ้าละไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ เสียค่าเช่า 20,000 เยน ต่อสัปดาห์  เป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง แต่ไม่ใช่ในลักษณะตะโกนหรือส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นๆนะครับ

ที่ผมเล่าได้ค่อนข้างจะละเอียดนี้ก็เพราะได้คุยกับผู้จัดการร้าน ที่จริงมีรายละเอียดอีกพอสมควร แต่จะไม่เล่าต่อ จะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปครับ  ร้านนี้เป็นร้านที่เมื่อมีโอกาสใดๆ ผมก็จะพาข้าราชการที่มาดูงานให้มาดูและให้พูดคุยกับผู้จัดการร้าน โดยเฉพาะที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง และก็โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานทางเศรษฐกิจ   หวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเรา  ตอนไปดูงานก็ดูสนใจถามไถ่กันดี ละเอียดยิบ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นอะไรในทำนองนี้เกิดขึ้นเลย

อย่างว่าแหละครับก็เป็นไปตามที่ชาวบ้านเขาบ่นกัน เรามีแต่ส่งเสริมการผลิต แต่ไม่เคยดูแลเรื่องตลาด 

สินค้าที่ผมสนใจบางอย่างในส่วนที่เป็นสินค้าที่ทางร้านสั่งมาจำหน่ายเอง คือ ข้าว ซึ่งแทบจะระบุว่ามาจากนาใด ของใคร จากเมืองใหน  แล้วก็ น้ำเกลือ จากนาเกลือที่มีการผลิตในท้องที่ต่างๆ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 12, 19:20
อีกเรื่องหนึ่งที่ร้านนี้ทำ คือ เป็นแหล่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ขณะนี้ถึงฤดูของดีจากแหล่ง...แล้ว เช่น ปูจากฮอกไกโด ลูกพลับจากนากาโน เห็ดชิตาเกะจาก... สตรอเบอรี่จากไซตามะ ฯลฯ  โดยทางร้านจะเอาของพวกนี้มาวางขาย จำนวนไม่มากในแต่ละวัน แล้วก็ไม่กี่วันอีกด้วย  ของพวกนี้คือของคัด เป็นของดีจริงๆ  ผมพอรู้เรื่องดังที่เล่ามาก็เลยได้มีโอกาสรู้จักของดีๆในราคาถูกๆของญี่ปุ่น ที่เขานำไปปรุงอาหารราคาแพงๆในภัตตาคาร

สำหรับเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คิดว่าน่าจะพอมีประโยชน์สำหรับท้องถิ่นที่จะนำไปพิจารณาทำให้ศูนย์สินค้่าโอท๊อปตามอำเภอต่างๆ เปลี่ยนไปจากอาคารที่เกือบจะร้างให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

พอสมควรแล้วนะครับ     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 12, 20:05
 :D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 12, 20:07
มาต่อเรื่องลอจิสติกส์ครับ

ลอจิสติกส์ ก็เป็นเรื่องในความคิดของฝ่ายรัฐที่จะทำให้ไทยเป็นฮับในเรื่องนี้

ลอจิสติกส์เป็นเรื่องใหญ่ในกระบวนการค้าทั้งหลาย เพราะมันเป็นเรื่องของสายพานลำเลียงวัตถุดิบ ลำเลียงชิ้นส่วน ลำเลียงสินค้าที่ผลิตได้ และยังไปไกลถึงเรื่องการเคลื่อนที่ของคนอีกด้วย
 
ในบริบทของลอจิสติกส์นั้น มันไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องของระบบเส้นทาง ระบบคมนาคม อุปกรณ์และวิธีการการขนส่งเท่านั้น แต่มันรวมถึงกลไกที่เกี่ยวพันที่ทำให้มันเดินได้อย่างสะดวกและคล่องตัวอีกด้วย  ค่าใช้จ่ายและเวลาที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของเราที่เสียไปในระบบลอจิสติกส์นั้น เป็นเรื่องในบริบทของต้นทุนของสินค้าที่ผลิตและจะไปขายแข่งขันกับเขาในตลาดต่างๆ   ยิ่งเมื่อต้องการระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (คือต้องการต้นทุนต่ำ) ลอจิสติกส์ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นและทำให้มันแทรกเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตมากขึ้น

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพยายามเล่าให้มันเป็นเรื่องแบบสะบายๆ    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 12, 20:13
อ้างถึง
อย่างว่าแหละครับก็เป็นไปตามที่ชาวบ้านเขาบ่นกัน เรามีแต่ส่งเสริมการผลิต แต่ไม่เคยดูแลเรื่องตลาด
เป็นไปได้ไหมคะ ว่าราชการไทยอาจจะไม่ค่อยเก่งเรื่องธุรกิจ  เพราะไม่มีหน้าที่หาเงินเข้ากระทรวง ไม่ต้องทำกำไรหรือระวังขาดทุนอย่างเอกชน    แต่รู้จักใช้งบประมาณไปในโปรเจคต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกำไรขาดทุน
ก็เลยไม่ถนัดเรื่องการตลาด  แต่ถนัดศึกษางานมากกว่า


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 12, 17:36
เคยเห็นคำว่าลอจิสติคส์มาไม่นานนี้เอง   ดูเหมือนจะเป็นคำฮิทติดอันดับขึ้นมาในปีหลังๆนี้      แต่ยังไม่เข้าใจในรายละเอียดว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ค่ะ  รู้แต่ว่าเกี่ยวกับการขนส่ง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 12, 19:44
^
ผมไม่คิดว่าราชการไทยไม่เก่งด้านธุรกิจนะครับ ผมเชื่อว่าเขาได้คิดรอบคอบและรอบด้านอยู่พอสมควร อย่างน้อยเจ้ากระทรวงที่ผลัดกันเข้ามาบริหารงานคัดท้ายงานราชการของแผ่นดินก็เป็นนักธุรกิจระดับมือมหากาฬเกือบทั้งนั้น ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างฝ่ายข้าราชการประจำกับฝ่ายการเมืองคงจะมีอยู่ในสองเรื่อง คือ ระหว่างการคิดแบบการใหญ่ (เิงินเยอะๆ) กับการคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป (เงินน้อย)  และการคิดแบบได้เสีย (ได้ทรัพย์ ได้ชื่อเสียง) กับคิดแบบได้ผลที่จีรังยั่งยืน (ได้ผลบรรลุตามจุดประสงค์)

อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของอัตตาที่มีอยู่ในตัวตนของคนและของส่วนราชการ ที่ข้ามแดนกันไม่ได้ ซึ่งบางทีก็ผิดฝาผิดตัวในการแสดงตนว่าเป็นเรื่องของฉันไม่ใช่เรื่องของเธอ ซึ่งก็เป็นเรื่องมีทั้งที่สามารถแยกกันได้ขาดหรือจะต้องทำด้วยกัน      
  
ทิ้งให้ลองพิจารณาคำว่า การค้า (trade) กับคำว่าการพาณิชย์ (commerce)     ต่างกัน เหมือนกัน หรือเกี่ยวข้องผูกพันกันอย่างไร ???   และการตลาดเป็นเรื่องของการค้า หรือการพาณิชย์  

ผมเคยได้ยินกับหูว่า...เป็นการประชุมเรื่องเกี่ยวกับ trade แต่ทำไมเราส่งคนในหน่วยงานที่ด้าน commerce มา  
    


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 12, 19:31
ลอจิสติกส์ เป็นคำที่ฝ่ายพลเรือนและการค้ายังคงเรียกทับศัพท์อยู่ แต่ฝ่ายทหารนั้นมีคำแปลที่สื่อความหมายตรงมากๆ คือ การส่งกำลังบำรุง ซึ่งเป็นเรื่องและเป็นระบบใหญ่ที่สำคัญมาก ที่จะต้องมีประสิทธิภาพสูง มีความถูกต้อง แม่นยำ มีความพอดี ทันการ สามารถปฎิบัติการได้อย่างได้ผลในทุกสภาพและสถานะการณ์ และต้องอยู่ในลักษณะที่สามารถจะควบคุมและจัดการให้เป็นไปตามความต้องการได้

ลอจิสติกส์ เกี่ยวพันกับเรื่องของการลำเลียง การยักย้ายถ่ายเทวัสดุ สิ่งของ และคน ไม่ว่าจะด้วยทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศก็ตาม ให้ทันตามกำหนดและเงื่อนไขของเวลา  และก็เกี่ยวข้องลงไปถึงระบบการประสานงานและการสื่อสารในวงกว้าง   ในทางทหารนั้น ขอบข่ายของกระบวนการจัดการให้บรรลุผลมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในกองทัพหรือระหว่างกองทัพ แต่รวมถึงเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็กต่างๆด้วย

รัฐบาลไทยเราอยากจะทำให้ไทยเป็นลิจิสติกส์ฮับ ก็คงเป็นความคิดที่เป็นไปตามผลการศึกษาบางเรื่องภายใต้ความช่วยเหลือแบบ ODA ผนวกกับสภาพของการพัฒนาที่เกิดขึ้นรอบบ้านเรา (การลงทุน ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ การย้ายฐานการผลิต ฯลฯ)   หากจะทำให้เกิดขึ้นจริง คงจะต้องมีการปรับกฎหมาย ระบบทั้งหมด และคน ให้มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลเป็นการใหญ่เสียก่อน 



       

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 12, 20:07
เนื่องด้วยได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ฟันเฟืองอันเป็นกลไกสำคัญของระบบการผลิตของประเทศต่างๆนั้นเป็นธุรกิจขนาด SMEs ค่อนไปทาง SM แถมไปทาง S มากๆอีกด้วย ธุรกิจขนาดเหล่านี้ไม่มีทุนมากพอที่จะสต๊อกวัตถุดิบและของที่ผลิตได้เพื่อป้อนต่อให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมข้ามชาติได้  จึงมีการยอมรับระบบ Just in time ที่ได้พัฒนาขึ้นมาในญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า (ในหลักการ) วัสดุสิ่งของที่ป้อนเข้ามาในกระบวนการผลิตจะทะยอยเข้าส่งเข้ามาให้พอดีกับการผลิตในแต่ละวันหรือช่วงคาบเวลา และในทำนองเดียวกันก็สามารถจะขนของที่ผลิตได้แล้วในแต่ละวันหรือแต่ละคาบเวลาออกไปส่งให้กับผู้รับได้ โดยไม่ต้องมีโกดังเก็บสต๊อกของๆตนเอง
ในระบบการผลิตแบบนี้ ระบบลอจิสติกส์มีส่วนช่วยอย่างมาก คือ ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำที่ช่วยดูดซับทะยอยจ่ายทะยอยเก็บวัสดุิ่สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ที่จะส่งต่อ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก สนับสนุึนให้มีสถานที่สำหรับระบบฟองน้ำนี้บริเวณชานเมือง  จะว่าไปไทยก็มีคล้ายๆกันในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ที่เรียกว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 12, 20:47
อ้างถึง
รัฐบาลไทยเราอยากจะทำให้ไทยเป็นลิจิสติกส์ฮับ ก็คงเป็นความคิดที่เป็นไปตามผลการศึกษาบางเรื่องภายใต้ความช่วยเหลือแบบ ODA ผนวกกับสภาพของการพัฒนาที่เกิดขึ้นรอบบ้านเรา (การลงทุน ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ การย้ายฐานการผลิต ฯลฯ)   หากจะทำให้เกิดขึ้นจริง คงจะต้องมีการปรับกฎหมาย ระบบทั้งหมด และคน ให้มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลเป็นการใหญ่เสียก่อน 

ยังไม่เข้าใจค่ะ

อ้างถึง
ในระบบการผลิตแบบนี้ ระบบลอจิสติกส์มีส่วนช่วยอย่างมาก คือ ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำที่ช่วยดูดซับทะยอยจ่ายทะยอยเก็บวัสดุิ่สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ที่จะส่งต่อ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก สนับสนุึนให้มีสถานที่สำหรับระบบฟองน้ำนี้บริเวณชานเมือง  จะว่าไปไทยก็มีคล้ายๆกันในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ที่เรียกว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง

สนใจ  กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องได้ยังไงคะ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 12, 18:38
^
เดิมก็ว่าจะไม่ลงลึก แต่เมื่อขอมาก็จะขยายความครับ

ในช่วงทศวรรษสุดท้ายปลายยุคสงครามเวียดนาม ไทยได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปมาก และเป็นประเทศเดียวที่ถูกล้อมไปด้วยประเทศที่ัมีการต่อสู้ทางการเมือง ยกเว้นทางภาคใต้  ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ได้ทำให้ไทยเป็นปราการสำคัญสำหรับการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยม การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าหรือแบบดอกเบี้ยต่ำ (ซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งของความช่วยเหลือระหว่างประเทศในกรอบที่เรียกว่า ODA _Official Development Assistance_) จึงมีเป็นจำนวนมากหลากหลายโครงการ หลายโครงการเป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒาโครงสร้างพื้นฐาน หลายโครงการก็เป็นการศึกษาเพื่อดูศักยภาพและทิศทางที่ไทยควรจะเป็นไปหรือเดินไป โครงการเหล่านี้หวังผลเพื่อให้ไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นภาพที่สำคัญภาพหนึ่งของระบบเสรีนิยม

ตัวอย่างหนึ่งในการศึกษา คือ การจัดระดับความสำคัญของเมืองต่างๆ เช่น ราชบุรีเป็นเมืองระดับรองลงมาจากกรุงเทพฯ อยุธยาเป็นเมืองศูนย์การท่องเที่ยว อ่างทองเป็นเมืองศูนย์อุตสาหกรรมอาหาร สุพรรณบุรีเป็นเมืองศูนย์การศึกษา และสระบุรีเป็นเมืองศูนย์อุตสาหกรรมวัตถุดิบทรัพยากรธรณี เป็นต้น   
การศึกษาในเรื่องโครงข่ายการคมนาคมภายในก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน แต่การศึกษาในเรื่องนี้มิได้จำกัดจำกัดเฉพาะในเขตประเทศไทย ยังรวมไปถึงกรณีเมื่อสภาพการต่อสู้ทางการเมืองรอบประเทศไทยได้สิ้นสุดอีกด้วย นั่นหมายถึงโครงข่ายที่โยงใยกันระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้

เมื่อการต่อสู้ต่างๆได้สิ้นสุดลงจริงๆ ไทยเราก็เกิดองค์กรเพื่อส่งเสริมการลงทุน ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมายเลย มีแต่คนอยากมาลงทุน (จนกลายเป็นความสำเร็จขององค์กรอย่างยิ่งใหญ่) โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงความไม่สงบรอบบ้านเรานั้น ญี่ปุ่นเป็น supplier ที่สำคัญและใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปสู่หมู่ประเทศตะวันตกที่เข้ามามะรุมมะตุ้มอยู่กับความไม่สงบรอบๆบ้านเรา   เรื่องต่างๆก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็วจนถึงระดับที่ว่า ประเทศรอบบ้านเราก็มีการพัฒนาไปในระดับที่พร้อมรับการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงาน
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 12, 19:19
ต่อมา ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิฐของญี่ปุ่น ต่อด้วยต้มยำกุ้งของไทย รวนกันไปทั้งระบบ จีนก็เปิดประเทศเป็นการใหญ่ ญี่ปุ่นเองก็หันไปลงทุนในจีน (แล้วก็ไปไม่ค่อยจะรอด) เวียดนามก็พร้อมรับตลาดเสรีอย่างเต็มที่ สุดท้ายพม่าก็เปิดเสรี ฯลฯ   

ในช่วงดังกล่าวนี้ นักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคของเรา ต่างก็เห็นว่าภูมิภาคนี้รวมถึงจีนตอนใต้ มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลก  ถึงตอนนี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าได้มีความคิดและการกระทำกระฉูดมากมาย

ภาพหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การย้ายและปรับโครงสร้างการสายพานการผลิตต่างๆซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นที่โครงข่ายระหว่าง ไทย เวียดนาม จีนตอนใต้ ต่อมาก็มีสารพัด (East West corridor, Western Seaboard, สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบ้าง สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจบ้าง ฯลฯ)  ความสำเร็จของกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามชาติเหล่านี้ ก็คือการพึ่งพาระบบลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ

อาจจะมีคำถามว่าแล้วทำไมไม่ลงทุนอย่างครบวงจรอยู่ในประเทศเดียว คำตอบคงมีหลายประเด็น แต่ที่สำคัญ คือ แรงงาน ค่าแรง ความใกล้แหล่งวัตุดิบ ใกล้ท่าขนถ่ายสินค้า ระยะทางการขนส่งสินค้า สาธารณูปโภค แหล่งพลังงาน และที่สำคัญ_การรักษาความลับทางเทคโนโลยี ฯลฯ

เขียนมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อตอบคำถามของ อ.เทาชมภู ข้อแรกครับ   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 12, 19:42
อ่านที่เขียนมาแล้ว พบว่ายังไม่ได้ตอบ ในเรื่อง การปรับกฎหมาย ระบบและคน ให้มีความโปรงใสและมีธรรมาภิบาล

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า
เรื่องแรก คือ จะมีสิ่งของหลายอย่างเคลื่อนที่เข้าออกดินแดนของเราและจากหลากหลายประเทศ ระบบการศุลกากรและภาษีจึงจะต้องมีความชัดเจนไม่ต้องอาศัยการตีความเป็นหลัก และอาจจต้องเพิ่มอีกตัวเลขอีกหนึ่งตัวสุดท้ายในพิกัดศุลกากรของเรา เพื่อจะลงได้ไปถึงรายละเอียดว่าสิ่งของนั้นๆคืออะไร (ผมเห็นของญี่ปุ่นทำแบบนี้ซึ่งผมสามารถลงไปหาได้เลยว่าชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ที่ส่งจากไทยเข้าญี่ปุ่นนั้นคือชิ้นใหนและทำจากอะไร)    แล้วก็เนื่องจากว่ามันมีความตกลงทวิภาคี (ฺBilateral) พหุภาคี (Multilateral) และ Plurilateral (ไม่ทราบคำบัญญัติว่าอย่างไร) มากมายที่ทับซ้อนกันระหว่างเรากับประเทศต่างๆและระหว่างประเทศต่างๆ ไขว้กันไปมา ยั๊วะเยี๊ยะไปหมด  ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อการเจรจาเรื่องประเทศต้นกำเนิด (country of origin) ในการเจรจาใดๆในปัจจุบัน

เรื่องที่สอง คือ ความต่างในปรัญญาของการใช้ การตีความ ความตกลง และการทำสัญญาทางกฎหมายต่างๆ เช่น วิธีการคิดตามลักษณะกฎหมายแบบ Common Law ต่างกับวิธีการคิดตามลักษณะกฎหมายแบบ Civil Law มาก ซึ่งมากพอที่จะทำให้เกิดการตีความระเบียบและกฎหมายต่างกัน รวมทั้งวิธีการเขียนสัญญาด้วย  เมื่อเกิดความขัดแย้งกัน เรื่องก็ต้องเข้าสู่ศาล ซึ่งก็คิดต่างกันอีกว่าจะขึ้นศาลของประเทศใด เนื่องจากยังเรื่องของระบบศาลและกฎหมายที่ต่างกันมาเกี่ยวข้อง  ทางออกที่ดีที่ใช้กันอย่างหนึ่ง คือ การใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ซึ่งก็ยังไปเกี่ยวกับว่าจะใช้ระบบของใครบนฐานของกฎหมายของใคร  ความขัดแย้งระหว่างนิติบุคคลระหว่างประเทศจึงมักจะเริ่มด้วยการเสนอใช้ระบบกลางของ UN ที่เรียกกันว่า UNCITRAL   อ้าวข้ามเส้นไปนอกเรื่องลอจิสติส์เสียแล้ว   คงจะเห็นภาพต่อไปได้นะครับ

เรื่องที่สาม เอาเพียงสองเรื่องที่เล่ามา ก็พอจะเห็นได้ว่า หากขาดธรรมาภิบาลและวิจารณาญาณของคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในระบบแล้วจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลที่อยู่ในฝ่ายปฎิบัติการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนที่มีหน้าที่ทำการตรวจสอบด้วย การอำนวยความสะดวกในเรื่องใดๆนั้นมันหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งเสมอ ยิ่งระบบกฎหมายทางการเงินที่อยู่ในระบบกระทำได้เฉพาะที่เขียนไว้ (กระทำนอกเหนือจากนั้นเป็นความผิด) กับกฎหมายอื่นๆที่อยู่ในระบบมีความผิดหากกระทำในเรื่องที่ต้องห้าม 
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 12, 20:18
อ้างถึง
ในระบบการผลิตแบบนี้ ระบบลอจิสติกส์มีส่วนช่วยอย่างมาก คือ ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำที่ช่วยดูดซับทะยอยจ่ายทะยอยเก็บวัสดุิ่สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ที่จะส่งต่อ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก สนับสนุึนให้มีสถานที่สำหรับระบบฟองน้ำนี้บริเวณชานเมือง  จะว่าไปไทยก็มีคล้ายๆกันในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ที่เรียกว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง
สนใจ  กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องได้ยังไงคะ 

เป็นเพียงภาพเปรียบเทียบให้เห็นครับ

จะยกตัวอย่างเรื่องของผลไม้ ผลไม้จากสวนของชาวบ้านที่อยู่ลึกๆนอกเส้นทางคมนาคมหลักนั้น จะมีคนเข้าไปหาซื้อ นัดวันกัน เอารถกระบะพร้อมกล่องพลาสติก (ลังผลไม้) เข้าไปเก็บเอง คัดเอง ชั่งกิโล จัดวางเรียงบรรจุในลังเอง แล้วก็จ่ายเงินกันในสวนนั้นๆเลย บางครั้งก็นัดเก็บสวนเดียว บางครั้งก็สองสามสวน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ประเมินไว้แต่แรกให้พอดีกับปริมาณที่สามารถจะขนได้โดยรถกระบะหนึ่งคัน  จากนั้นก็วิ่งตรงดิ่งมายังตลาดขายส่งหรือตลาดสี่มุมเมือง (หากเป็นตลาดขายส่งไข่ไก่ไข่เป็ดก็อยู่แถวๆสะพานขาว ตลาดดอกไม้ก็ปากคลองตลาด ตลาดพืชผักก็ตลาดไท) จากตลาดหลักนี้ก็ย่อยต่อไปเป็นตลาดขายส่งขนาดย่อมลงไป เช่น ตลาดไข่เทเวศ (นึกชื่อตลาดอื่นไม่ออกครับ) แล้วจึงลงไปต่อยังตลาดสดต่างๆ     แล้วก็มีที่ขนผลไม้จากสวนลงไปถึงภาคใต้เลยก็มี เช่น ขนจากสวนในเขต อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ตรงไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็มี 

เป็นระบบลอจิสติส์ภายในของเราที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรพอสมควรเลยทีเดียว คัดผลไม้แก่จัดพอดีที่จะสุกในระดับพอดีๆเมื่อมาถึงตลาดขายส่ง โดยใช้เวลาบ่มอยู่บนรถ 10 -12 หรือถึง 24 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ผนวกกับช่วงเวลาที่ใช้สำหรับการส่งต่อไปขายตามตลาดย่อยๆ ผู้ซื้อก็จะได้ของใหม่ ของสดเสมอ

ฟองน้ำในระบบลอจิสติกส์ที่ยกตัวอย่างเล่ามานี้ ก็คือ ปริมาณสินค้าจำนวนมากที่ทะลักเข้าสู่ตลาดตามฤดูกาลนั้น ตลาดขายส่งก็มีข้อจำกัดในความสามารถที่จะระบายได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับความต้องการองฝ่ายผู้ซื้อ สินค้าในปริมาณมหาศาลนี้ถูกกองอยู่ตามตลาดขายส่งส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง อยู่อยู่ในรถ (เป็นฟองน้ำหรือโกดังเคลื่อนที่) ที่ใช้ในการขนส่งทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางสุดท้ายส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง    การที่ไม่ต้องมีการรวมสินค้าทางเกษตรเก็บไว้ในโกดังขนาดใหญ่เพื่อค่อยๆทะยอยปล่อยออกมาสู่ตลาดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะว่าลดปัญหาไปมากมาย เช่น ไม่ต้องทำระบบไซโล ระบบห้องเย็น ระบบชุบขี้ผึ้ง ระบบกำจัดแมลง ฯลฯ 

ลักษณะของตลาดเราก็     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 12, 19:42
พูดถึงเรื่องตลาดแล้วก็จะขอขยายขี้เท่อความรู้แบบงูๆปลาๆออกไปอีกหน่อย

เรื่องของตลาดกลางครับ ผมคิดว่าคำว่าตลาดกลางของเรานั้นค่อนข้างจะมีความหมายจำกัดอยู่แต่เรื่องสถานที่และกิจกรรมก็ไปเน้นอยู่ในเรื่องของการขายส่งเป็นหลัก

ที่เคยเห็นมาในต่างประเทศนั้น ตลาดกลางดูจะเป็นเรื่องของการนำสินค้ามาขายโดยมีผู้ซื้อมาประมูลแข่งขันกัน เมื่อประมูลกันได้แล้วจึงก้าวไปสู่กิจกรรมการขายส่ง และตามต่อไปด้วยการขายปลีก สถานที่ทั้งการประมูล ขายส่ง และขายปลีกอยู่ในพื้นที่เีดียวกัน เป็นสัดส่วนแยกกัน อยู่ภายใต้ร่มชายคาเดียวกันก็มีหรือแยกชายคากันก็มี
ผมคิดว่าตลาดที่เรียกว่าตลาดกลางของประเทศในอาเซียนคงจะมีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นลักษณะของตลาดการขายส่งเป็นหลัก

ผมเห็นว่าตลาดกลางที่มีกิจกรรมการประมูลดังที่กล่าวมา ต่างกับตลาดกลางแบบขายส่ง ตรงที่แบบหลังมีพ่อค้าคนกลางไปกว้านซื้อของมาแบบกำหนดราคาซื้อ แล้วเอามาขายต่อ (ขายส่ง) โดยบวกกำไร หรือผันแปรราคาไปตามสภาพของปริมาณความต้องการหรือความขาดแคลนของสินค้า  ในขณะที่แบบแรกผู้ผลิตสามารถเอาของมาวางขายแบบให้ประมูลกัน โดยกำหนดราคาพื้นฐาน (เพื่อเริ่มการประมูล) ตามความเหมาะสมของต้นทุนและกำไรอันพึงมี คือไม่ต้องผ่านพ่อค้่าคนกลาง 

ที่จริงแล้ว ตลาดกลางในต่างประเทศก็มีทั้งสองแบบ ผสมผสานกัน ตลาดกลางดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดกลางใหญ่ที่สุดของยุโรป ก็เป็นลักษณะของการมีพ่อค้่าคนกลางรายใหญ่รวบรวมดอกไม้ในแต่ละประเทศส่งมาวางเพื่อประมูลกัน   แต่ก็มีตลาดที่เปิดโอกาส (ส่งเสริม) ให้ผู้ผลิตรายย่อยขายสินค้าในลักษณะการประมูลกันด้วย เช่น ในกรณีของตลาดปลา ที่ชาวประมงจะเอาปลาที่จับได้ในแต่ละวันมาวางขายแบบประมูลกัน

ที่เขียนมานี้ก็เพราะเห็นว่า เราอาจจะต้องส่งเสริมให้มีตลาดเฉพาะผลผลิตบางอย่างที่อยู่ในความต้องการของตลาดตลอดเวลา (แต่มีช่วงฤดูกาลหายาก) เช่น ในกรณีของพืชผัก บางทีอาจจะต้องมีตลาดกลางมะนาว เป็นต้น  ยิ่งเมื่อเกิด AEC ผลผลิตบางอย่างของเราซึ่งได้กลายเป็นสินค้าที่นิยมและต้องการของหลายประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย เหล่านี้ บางทีตลาดกลางอาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ผลิตก็ได้ แทนที่จะต้องแย่งกันเดินทาง เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปแสวงหาผู้ซื้อในต่างแดน

อ่านเล่นเพลินๆนะครับ       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 12, 19:58
ก็อยากจะเล่าต่ออีก สองเรื่อง ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศในความคิดของ UNCTAD เรื่องหนึ่ง และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก

จั่วหัวไว้ก่อนเพื่อกันลืมครับ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 12, 20:16
อยากจะต่อความยาวด้วย แต่ก็จนใจจริงๆ  ไม่มีความรู้เลยในเรื่องการตลาดหรือการค้า
ได้แต่ฟังอย่างเดียวค่ะ
ขอลงทะเบียนเรียนทั้งวิชา "การค้าระหว่างประเทศในความคิดของ UNCTAD"  และวิชา "การตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก" ด้วยนะคะ
ใครจะเข้า audit ด้วยเชิญเลยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 29 ก.ย. 12, 16:59
ขอลงทะเบียนเรียนแบบฟังอย่างเดียวด้วยครับ
ขออนุญาตนั่งหลัง อ.เทาเชาพู นะครับ เผื่อไม่เข้าใจจะไ้ด้สอบถาม

(หรือไม่ก็แอบนั่งหลับไม่ให้ อ.ตั้ง เห็น  :-[)


ข่าวดี..สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการลงทะเบียนเรียนแบบฟังอย่างเดียว
ยังเหลือที่นั่งข้างหลัง อ.เทาชมพู อีก 2-3 ที่นั่งนะครับ

ถ้าเกินกว่านี้คงจะแอบข้างหลัง อ.เทาชมพู มิได้เป็นแน่แท้  ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 12, 17:49
ถ้าไม่อยากเข้าห้องเรียน  นั่งฟังอยู่ที่ระเบียงก็ได้นะคะ  ตามสบายค่ะ

AEC เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจพลิกโฉมหน้าสังคมไทยให้เปลี่ยนแบบก้าวกระโดด   มีผลกระทบไม่เฉพาะแต่การค้าหรือธุรกิจเท่านั้น   แต่อาจจะเป็นสังคมโดยรวมทุกด้านเลยก็ได้ ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทำงานในเมืองใหญ่ ไปจนชาวไร่ชาวนาในชนบทเลยทีเดียว
แต่เท่าที่ไปไต่ถามเพื่อนฝูง ตลอดจนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ดูเท่าที่จะมีโอกาสพบ      ยังไม่เคยเจอใครเลยที่รู้ว่า AEC คืออะไร  จะบอกชื่อภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ทำหน้างงๆกันทั้งนั้น
แม้แต่อาเซียน  ส่วนใหญ่ยังนึกว่าออกเสียงผิด  ต้องเป็นเอเชียไม่ใช่หรือครับ/คะ 

เห็นจะต้องปลงว่า ถึงเวลาพวกคุณก็รู้กันเองมั้ง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 12, 19:53
กลัวที่จะเล่าเรื่องเสียแล้วครับ
จั่วหัวไว้เลยดูเป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องย่อยๆส่วนหนึ่งที่เคยเข้าไปยุ่งด้วยในช่วงที่ทำงาน
อีกประการหนึ่ง ก็เพราะผมไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีที่แท้จริง ก็เลยรู้สึกว่าจะเขียนได้ง่าย   อย่างว่าแหละครับ ยิ่งเรียนมากยิ่งรู้น้อย ยิ่งเรียนน้อยยิ่งรู้มาก (ผมอยู่ประเภทหลังครับ)

เรื่องความคิดของ UNCTAD ที่จะเล่านี้ เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าจะมีประโยชน์มากสำหรับเรา
  
พื้นฐานพันธกิจของ UNCTAD คือ ส่งเสริม (หาแนวทาง_trade opportunity) ให้เกิดธุรกรรมทางการค้า (ในวงกว้าง_international access) ให้เกิดการลงทุน  (FDI_foreign direct investment) ที่กระจายไปทั่ว  อันจะส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (economic development) ในประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) ทั้งหลาย

แยกซอยไปนิดหนึ่งครับ องค์กรพวกนี้ (เช่น UNCTAD  UNIDO) ผู้อำนวยการใหญ่ (DG_Director General) จะเป็นคนจากประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น คือมาจากกลุ่มประเทศ G-77 (Group of Seventy seven) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่รวมตัวกันในครั้งแรกรวม 77 ประเทศ (รวมทั้งไทย) เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองต่างๆในเรื่องต่างๆในวงการระดับนานาชาติ     (หากสมาชิกสนใจในเรื่องลึกลงไป ก็พอจะมีเรื่องเล่าต่อไปได้พอควรครับ)    ดังนั้น จึงต้องทำงานเพื่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา    

ผมได้มีโอกาสเสี้ยวหนึ่งในการทำงานที่เข้าไปยุ่งด้วย   อยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2535    ซึ่ง UNCTAD มีโครงการผ่าน ESCAP เพื่อจะพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสำหรับการค้าขายและราคาที่เหมาะสมในตลาดในวงกว้าง (อย่างน้อยก็ในระดับภูมิภาค) โดยใช้ระบบออนไลน์  ในยุคนี้ CPU Pentium (โปรเซสเซอร์ของคอมพิวเตอร์) เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการของคอมพิวเตอร์ไม่นาน  ในไทยส่วนมากยังใช้ CPU 80386 หรือ 80486 กันอยู่เลย     หลักการก็คือ จะพยายามเปลี่ยนระบบการสื่อสารที่สื่อสารกันระหว่างฝ่านผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้าในตลาดโลก ในเชิงของปริมาณที่มีอยู่ตามแหล่งผลิตต่างๆและราคาที่พึงเป็นในตลาดทั่วๆไป    จากเดิมที่สื่อสารกันด้วยระบบ Telex ซึ่งฟากผู้ผลิตต้นทาง (ในระดับท้องถิ่น) ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จะมีเพียงพ่อค้าคนกลางเท่านั้นที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร (จากระบบ Telex) เพราะมีกำลัง (เงิน) ที่จะเข้าถึงได้ ซึ่งส่งผลให้สินค้าของชาวบ้านถูกกดราคา หรือขายได้ในราคาที่ไม่เป็นธรรม (เพราะไม่รู้ความต้องการของตลาด)

สรุปง่ายๆ ก็คือ จะพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมในยุคคอมพิวเตอร์ เพื่อการลดช่องว่างและการเปิดโอกาสให้กับการค้าขายสำหรับผู้ผลิตในระดับรากหญ้า


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 12, 19:41
แนวคิดหลักก็คือ จะแทนที่ระบบโทรพิมพ์ (Telex) ก้าวข้ามระบบโทรสาร (Fax) ไปสู่ระบบ real time   
โดยหลักคิดว่า หากทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่เพียงพอทั้งในเชิงของสถิติ (ราคา ความต้องการตามช่วงเวลา ฯลฯ) และสภาพตลาดที่เป็นจริง ก็น่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการค้าขายทั่วไปได้   หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การสร้างระบบเพื่อลดการผูกขาดการค้าของสินค้าเกษตร (ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของประเทศกำลังพัฒนา)
 
อธิบายขยายความดังนี้ครับ  ในสภาพที่เป็นอยู่จริงนั้น สินค้าหลายๆอย่างในการค้าระดับโลกถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ค้าไม่กี่เจ้าและไม่กี่ประเทศ (ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อที่จะทำการประมูลซื้อขายกันในวงการของเขา) เขาสร้างตลาดเพื่อการนี้ร่วมกัน เช่น London Metal Exchange Market ฯลฯ ซึ่งมีสมาชิกถาวรจำนวนจำกัดชัดเจนจำนวนหนึ่ง (จำกัดที่นั่งของผู้เข้าเสนอราคาซื้อขาย) ซึ่งส่งผลไปถึงราคาของสินค้าที่ใช้อ้างอิงในการค้าขายทั่วโลกในแต่ละวัน

ในระบบที่ผมพยายามจะเล่านี้  แรกเริ่มก็จะเป็นลักษณะของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อเป็นผู้นำเข้าข้อมูลและรักษาระบบ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั่วไปและทั่วโลก เมื่อสภาพของข้อมูลต่างๆเริ่มครบถ้วนสมบูรณ์และระบบเริ่มเสถียรดีแล้ว ก็จะให้ผู้ค้าขายทั้งหลายที่อาศัยข้อมูลเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิกและเสียเงิน  ฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นก็จะค่อยๆถอนตัวออกไป เปลี่ยนสภาพเป็นองค์กรที่เป็นเอกชนช่วยกันดำเนินการ มีรายได้พอเพียงเลี้ยงตัวเองได้

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 12, 19:13
ขออภัย หายไปหนึ่งวันครับ

ต่อเรื่อง   โครงการนี้เป็นโครงการทดลองที่หวังว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ในประเทศที่เขาเลือกทดสอบระบบ ซึ่งประเทสที่เลือกคือ ไทย มาเลเซีย เพราะจะเอาข้อมูลสถิติการผลิตการส่งออกการค้าขายดีบุกใส่เป็นฐานข้อมูลในระบบ เพราะน่าจะมีข้อมูลย้อนหลังที่ยาวนานมากพอ  เลือกฟิลฟปปินส์ ศรลังกา เพราะน่าจะมีข้อมูลการผลิตการส่งออกและราคาของมะพร้าวย้อนหลังไปได้ไกลอีกเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วมะพร้าวและดีบุกมีการแปรสภาพจากวัตถุดิบ ไปเป็นวัตถุดิบและใช้ในการผลิตสินค้าต่อเนื่องอีกมากมาย กรณีมะพร้าวก็ไปไกลถึงการใช้น้ำมันมะพร้าวในเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ กรณีดีบุกก็ไปไกลถึงการใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ต่างๆและยาฆ่าแมลง  แล้วก็มีอีกประเทศหนึ่ง คือ ลาว อันนั้ไม่แน่ใจว่าเพื่ออะไร ดูเหมือนจะเป็นเพื่อลองดูปฎิกริยาและความคิดของกลุ่มประเทศ LDC (least developed countries)

ข้อมูลที่จะมีอยู่ในระบบมี อาทิ สถิติต่างๆ จำนวนผู้ผลิต ปริมาณการผลิตแยกหรือรวมรายวัน ราคา ผู้ขายและผู้ซื้อต่อเนื่อง ฯลฯ (ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงปลายทางสุดท้าย)   
พูดง่ายๆก็คือ มีข้อมูลครบตลอดทุกขั้นตอนในกระบวนการค้าขาย (transaction)  ในลักษณะ real time เพื่อประโยชน์ในรูปของความเป็นธรรมอันพึงที่จะมีของราคาสิ่งของในการค้าขายของฝ่ายที่จัดเป็นฝ่ายผู้ผลิตหรือผู้แปรรูป กับ ฝ่ายที่จัดเป็นฝ่ายผู้ซื้อในแต่ละขั้นตอนของการซื้อขาย   
ภาพโดยสรุปที่จะเกิดขึ้น ก็คือ ทั้งฝ่ายอุปสงค์ (demand) และฝ่ายอุปทาน (supply) ที่มีอยู่ในตลอดเส้นทางของการค้าขาย (transaction) ในทุกระดับของขั้นตอนทางอุปสงค์และอุปทานที่จะเกิดขึ้นทุกแห่งหนในโลก ต่างก็มีข้อมูลซึ่งกันและกันในทุกวินาที  มิใช่ในลักษณะของการมีคนกลางไปใช้ประโยชน์จากความต่างของเวลาและช่วงเวลาการทำธุรกิจ (และค้ากำไรจากข้อมูลที่ไม่รู้กันระหว่างฝ่ายอุปสงค์กับฝ่ายอุปทานที่อยู่ต่างกันของแต่ละซีกโลก เช่น ทวีปเอเซียเป็นช่วงกลางคืน ในขณะที่ทวีปอเมริกาเป็นช่วงกลางวัน ฯลฯ)   

ภาษาที่ผมใช้อาจจะทำให้อ่านแล้วงงๆ ?

ผมไม่แน่ใจนักว่าโครงการนี้ได้ส่งผลหรือกระตุ้นให้ประสบผลเพียงใดในปัจจุบัน หรือได้พัฒนากลายเป็นระบบออนไลน์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้   ผมถึงได้กล่าวแต่ในตอนแรกว่า แนวคิดและการทดลองนี้ได้เกิดในช่วงที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ CPU Pentium เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ตลาด   อย่างน้อยก็เพียงเพื่อเล่าเรื่องนี้ว่า UNCTAD หรือโลกสากลเขาคิดอย่างไร   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 12, 19:05
เว้นไปพักหายใจครับ ร่ายยาวแบบเดี่ยวมานานแล้ว หะแรกก็คิดว่าคงจะมีข้อมูลและความเห็นอื่นๆเข้ามาร่วมแจมในกระทู้นี้ กลายเป็นลักษณะจากแหล่งเดียว ก็คงจะพอมีประโยชน์บ้างนะครับ 
 
อีกเรื่องที่ว่าจะกล่าวถึงตามที่จั่วหัวไว้กันลืม คือ เรื่องการตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก
ทำท่าอย่างกับรู้จริง ที่จริงรู้น้อยครับ เป็นประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตนเองบ้าง ได้รับรู้มาจากหมู่คนที่ทำบ้าง

ขอเริ่มต้นจากคำพื้นฐานทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ คือ อุปสงค์และอุปทาน  ดูเป็นเรื่องง่ายๆว่า ราคาสินค้าถูกกำหนดด้วยความสมดุลย์ของปริมาณสินค้าที่สามารถผลิตได้กับปริมาณสิินค้าที่ตลาดต้องการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งโดยนัยก็คือ สภาพของการมีการผลิตตามปรกติและสภาพของการมีความต้องการตามปรกติตามช่วงเวลาต่างๆ  แต่แท้จริงแล้วมีสินค้ามากมายที่ถูกกำหนดให้ผลิตน้อยในช่วงที่มีความต้องการมากเพื่อที่จะขายได้ในราคาสูง แล้วก็มีมากมายที่ถูกกำหนดให้ผลิตมากในช่วงที่ตลาดต้องการเพื่อครองส่วนแบ่งของตลาด  ซึ่งโดยนัยก็คือ หากำไรจากสองลักษณะ ได้มากจากราคาสูงเนื่องจากการขาดแคลนของตลาด กับได้มากจากปริมาณสินค้าที่เข้าไปขายอยู่ในตลาดในปริมาณมาก

เอาเป็นว่า ตลาดทั้งหลายมันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันมีกลไกแอบแฝงและการแทรกแซงอยู่ในระดับหนึ่งเสมอ   เรื่องที่กล่าวมานี้ ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว

เมื่อก้าวออกไปจากสินค้าที่จำหน่ายในตลาดตามปรกติ ไปในเรื่องของสินค้าที่เป็นทรัพยากรและเป็นวัตถุดิบ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และสินค้าเกษตรบางอย่างที่มีคำว่าข้าว   ในอีกนัยหนึ่งคือ สินค้าที่ขายกันในลักษณะเป็น bulk นั้น  ราคาสินค้าจะได้มาจากการ trade กันในระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งแม้สมาชิกจะเป็นเอกชน แต่ก็เป็นเอกชนหนึ่งเดียวหรือไม่กี่รายของประเทศใดประเทศหนึ่ง  เช่น ตลาด London Metal Exchange (ค้าขายเฉพาะแร่โลหะไม่กี่ชนิด เช่น ทองแดง อลูมิเนียม เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น) หรือตลาดค้าขายทองคำ เช่น ที่ลอนดอน วินีเปก (แคนาดา) ดูไบ เป็นต้น    น้ำมันก็มีตลาดที่ค้าขายกันอยู่เช่นกัน 

เล่ามาเป็นพื้นเพื่อจะก้าวไปสู่เรื่องของการกำหนดราคาครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 12, 20:25
ราคาของสินค้าที่มีการผลิตออกมาและจะขายกันในเชิงของสินค้าทางอุตสาหกรรม  แม้กระทั่งข้าวที่เราผลิต เมื่อนำมาราวกันเข้าและขายเป็น lot ในลักษณะของ bulk ก็มีลักษณะไปในทางสินค้าทางอุตสาหกรรมเช่นกัน   

โดยพื้นฐานและหลักการง่ายๆแล้ว สินค้าที่ผลิตออกมาในเชิงของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมนั้น จะถูกกำหนดราคาขายในราคา +/- ประมาณ 30% ของต้นทุนการผลิต   ซึ่งเนื่องจากมันมีลักษณะเป็น bulk   ดังนั้น เมื่อเป็นลักษณะของการค้าขายและส่งๆไปทั่วโลก  มันก็จะต้องมีการขนส่งทางเรือ (ซึ่งค่าขนส่งถูกกว่าวิธีการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ) เป็นการขนส่งข้ามมหาสมุทรและระยะทางไกล  ซึ่งก็ต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักบรรทุกมากจึงจะมีค่าใช้จ่ายต่อระวางการขนส่งที่ถูกกว่าการใช้เรือขนาดเล็ก  ระวางขับน้ำของเรือพวกนี้ (ซึ่งจะทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้) พูดกันในระดับอย่างน้อยประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งในปัจจุบันนี้พูดกันในระดับมากกว่า 100,000 ตัน หรือถึง 200,000 ตัน   เมื่อค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งแปรผันไปกับน้ำหนักและระยะทาง เรือขนาดใหญ่จึงมีบทบาทมากขึ้นมากๆ  ก็ไปเกี่ยวกับท่าเรือที่จะสามารถรองรับเรือที่มีระวางขับน้ำขนาดนั้น รวมทั้งระบบการขนถ่ายสินค้าด้วย (loading/unloading facility).......

ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันจึงไปกำหนดอยู่ที่ท่าเรือ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 06 ต.ค. 12, 09:01
อ่านถึงตอนนี้แล้วก็สงสัยเรื่องการกำหนดราคาข้าวเหลือเกิน หาก อ.ตั้ง พอมีเวลาก็ขอรบกวนความรู้หรือเกล็ดความรู้ในประเด็นอื่นๆ ซักเล็กน้อยด้วยนะครับ อาทิเช่น เรื่อง "ราคาข้าว" (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) รวมทั้งนโยบายแทรกแซงจากรัฐบาลประเภทต่างๆ พวก "การรับจำนำข้าว/การประกันราคาข้าว" ฯลฯ

ขณะนี้ผมกำลังอ่านข้อมูลจาก ศูนย์พัฒนาความรู้การซื้อขายเกษตรล่วงหน้า (AFTC) (http://www.aftc.or.th) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในหัวข้อเรื่อง โครงสร้างตลาดสินค้าข้าว เห็นว่าเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาล่าสุดในกระทู้นี้ ก็เลยขออนุญาตแปะเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจได้รับทราบด้วยนะครับ




โครงสร้างตลาดสินค้าข้าวภายในประเทศ
 
ตัวแปรโครงสร้างตลาดที่กำหนดระดับราคา
  • กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดข้าวเปลือก
  • กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดข้าวสาร
  • ความหมายวิถีการตลาดข้าว
  • การตลาดข้าวไทย
  • ความสัมพันธ์ของราคาข้าวในตลาดระดับต่างๆ
  • พฤติกรรมการกำหนดราคาข้าวในตลาดขายส่งกรุงเทพฯ
  • พฤติกรรมการกำหนดราคาข้าวในตลาดข้าวเปลือก
  • นโยบายสำคัญที่มีผลต่อราคา
ที่มา : ศูนย์พัฒนาความรู้การซื้อขายเกษตรล่วงหน้า (http://www.aftc.or.th/itc/products_analyze_price_19.php?id=58&fgrp_id=5&fmnu_id=18)

ทางเว็บ AFTC เค้าได้จัดเตรียมเนื้อหาในหัวข้อย่อยเป็นภาพ (นามสกุล jpg) น่าจะให้อ้างอิงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ในหัวข้อ "นโยบายสำคัญที่มีผลต่อราคา" จะแสดงเนื้อหาดังข้างล่างนี้ครับ

(http://www.aftc.or.th/itc/images/newprice_28.jpg)

ในช่วงท้ายทาง AFTC ได้ระบุว่า.. นโยบายของรัฐบาลที่รับจำนำข้าวเปลือก มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่มิได้มีการขยายความว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน? จะทำให้ไทยสูญเสีย/เสียหายแค่ไหน? อย่างไร? ก็คงต้องติดตามหาอ่านทั้งข้อดีและข้อเสียในนโยบายนี้กันอีกต่อไปครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 12, 19:16
ขอต่อนะครับ

เล่ามาถึงว่า ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันจึงไปอยู่ที่ท่าเรือ
นี่จะเป็นเพียงตัวอย่างที่พึงจะเป็นนะครับ    จะยกกรณีเรื่องข้าวและใช้ราคาหรือค่าใช้จ่ายต่างๆที่เป็นตัวเลขสมมุติเช่นกัน    สมมุติว่าชาวนาของ จ.ปทุมธานี ผลิตข้าวที่ต้นทุน 1,000 บาทต่อตัน ชาวนาที่ จ.สุรินทร์ ก็ผลิตได้ที่ต้นทุน 1,000 บาทต่อตันเช่นกัน กำไรที่ชาวนาต้องการคือ 30% ของต้นทุนที่ผลิตได้ เพราะฉะนั้น ชาวนาจึงต้องการจะขายข้าวที่ราคา 1,300 บาทต่อตัน พ่อค้าก็ยินดีจะซื้อที่ราคา 1,300 บาทต่อตัน เมื่อพ่อค้าซื้อแล้วก็จะขนมากองรวมกันที่โกดังในกรุงเทพฯ  ค่าขนส่งจากปทุมธานี คิด 100 บาทต่อตัน และค่าขนส่งจากสุรินทร์ คิด 300 บาทต่อตัน  เพราะฉะนั้นราคาต้นทุนของข้าวที่กองรวมกันอยู่กรุงเทพฯที่มาจากปทุมธานี คือ 1,400 บาทต่อตัน และของข้าวที่มาจากสุรินทร์ คือ 1,600 บาทต่อตัน เฉลี่ยราคาต้นทุนของพ่อค้าข้าวที่จะขายข้าวที่กองรวมกันอยู่ที่โกดังในกรุงเทพฯ คือ 1,400+1,600 หารด้วย 2 เท่ากับ 1,500 บาทต่อตัน  พ่อค้าข้าวต้องการกำไร 30% เพราะฉะนั้น ราคาที่พ่อค้าข้าวต้องการจะขายก็คือ 1,950 บาทต่อตัน
 
เว้นวรรคพักไว้ก่อนเรื่องหนึ่ง

ดังกล่าวมาแล้วว่า ราคาที่จะซื้อขายกันนั้นอยู่ที่ท่าเรือที่จะขนส่ง ซึ่งก็มีอยู่หลายท่าเรือ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของสินค้าในแต่ละ lot  และความสามารถของท่าเรือที่จะรองรับขนาดระวางขับน้ำของเรือ 

ที่ท่าเรือคลองเตยของเรานั้น รับเรือขนาดระวางขับน้ำประมาณ 15,000 ตัน พูดง่ายๆก็คือ เรือเดินทะเลจะขนข้าวได้ไม่เกิน 15,000 ตัน ราคาของข้าวที่จะขาย ณ.ท่าเรือนี้ ก็อาจจะเป็นประมาณ 2,000 +/- บาทต่อตั้นขึ้นอยู่กับการต่อรอง หากเป็นที่ท่าเรือเกาะสีชัง ก็จะเป็นเรือขนาดประมาณ 20,000 ตัน ราคาสินค้าที่เสนอขายก็อาจจะต้องเพิ่มอีกนิดหน่อย    ราคาที่ท่าเรือในลักษณะนี้ คือ ราคา FOB (Free on Board) ที่ผู้ส่งออกเสนอขายพร้อมกับนำสินค้ามาส่งถึงท่าเรือที่กำหนด  คราวนี้ หากปริมาณสินค้า lot นั้นมีมากเกินกว่าที่เรือสามารถจะขนได้จากท่าเรือนั้นๆ ก็จะต้องไปใช้ท่าเรืออื่นๆ เช่น แหลมฉะบัง มาบตาพุด ฯลฯ ราคาก็จะต้องเปลี่ยนไปเพราะต้องบวกค่าขนสินค้าไปยังท่าเรือนั้นๆอีก ซึ่งเพื่อมิให้เป็นเรื่องรายละเอียดมากจนเกินไป ราคาที่เสนอขายจึงเรียกว่าเป็นราคาที่ท่าเรือกรุงเทพฯ (FOB ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ) 

เมื่อสินค้ามีปริมาณมาก ก็ต้องใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งเรือเหล่านี้สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรและเดินทางไปยังท่าเทียบเรือในประเทศต่างๆในลักษณะเป็นเส้นทางประจำ ข้าวจากไทยก็จะต้องทะยอยขน (ด้วยเรือขนาดเล็ก) ไปกองรวมเพื่อขนโดยเรือขนาดใหญ่ที่อีกท่าเรือหนึ่ง การขายข้าวก็จะกลายเป็นต้องไปเสนอขาย ณ.ที่อีกท่าเรือหนึ่ง ช่องว่างตรงนี้ทำให้เกิดพ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่ง   ราคา FOB ที่ท่าเรือกรุงเทพฯที่พ่อค้าไทยเสนอก็จบไป มีคนซื้อไปแล้ว เอาไปรวมกองเพื่อส่งที่ท่าเรือของอีกประเทศหหนึ่ง (สิงคโปร์) ราคาสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่เปรียบได้กับศูนย์การขนส่งไปทั่วโลก ก็กลายไปเป็นราคากลางของตลาดการซื้อขายไป    ที่มันแย่ไปกว่านี้ก็คือ พ่อค้าคนกลางที่เสนอขายข้าวนั้น ก็ใช้ชื่อข้าวไทยเป็นหลัก ทั้งๆที่ข้าวที่เอามากองรวมกันเพื่อใส่ในเรือบรรทุกสินค้านั้น ก็มีมาจากหลายประเทศที่ผลิตข้าวเช่นกัน ข้าวหอมมะลิก็กลายเป็นแบรนด์ของโลกไป แต่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิแท้ๆของๆไทย ข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตดีๆของเราก็กลายเป็นข้าวผสมไปในตลาดโลก  เกิดวิธีการผสมรวม (blending) จนเป็นมาตรฐานว่าข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดโลกที่พ่อค้่ารายใหญ่ (นานาชาติ) ทำการค้าอยู่นั้น จะต้องมีข้าวหอมไทยอยู่อย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ 

คงจะพอได้ทราบเหตุบางส่วนแล้วว่า เพราะเหตุใดที่เราส่งออกข้าวชั้นดีมากที่สุดแต่มิใช่ผู้กำหนดราคาตลาด และกลับกลายเป็นว่าต้องเอาราคาตลาดดังที่เล่ามานี้ย้อนกลับมากำหนดเป็นราคาซื้อขายในท้องถิ่นของเรา   

เมื่อใดที่เห็นว่าเงินเป็นใหญ่ เห็นว่าเงินต้องทำหน้าที่ของมันเพื่อหาเงินเพิ่มเติม เมื่อนั้นคุณค่าในด้านต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ก็จะหมดไป
   
หากอยากจะเห็นว่าไทยเราควรจะต้องเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดโลกในสินค้าหลักใดๆ ก็คงจะต้องดำเนินในด้านต่างๆมากกว่านี้ มิใช่พิจารณาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และก็จะต้องคิดเป็น global มิใช่คิดแบบ local  แม้จะคิดแค่เพียงระดับ regional ก็ยังดี ใช่ใหมครับ       
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 06 ต.ค. 12, 21:39
   
หากอยากจะเห็นว่าไทยเราควรจะต้องเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดโลกในสินค้าหลักใดๆ ก็คงจะต้องดำเนินในด้านต่างๆมากกว่านี้ มิใช่พิจารณาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และก็จะต้องคิดเป็น global มิใช่คิดแบบ local  แม้จะคิดแค่เพียงระดับ regional ก็ยังดี ใช่ใหมครับ       
   

(http://empireminecraft.com/attachments/yes-gif.7170/)


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 06 ต.ค. 12, 21:46
อ๋อย... ขออภัย อ.ตั้ง และผู้อ่านกระทู้ทุกท่านด้วยนะครับ ตะโกนเสียงดังไปนิดนึง  :-[

นึกว่าเป็นภาพนิ่งเฉยๆ กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวไปซะงั้น แหะๆ
แบบว่า.. อ่านแล้วอินไปนิดนึงครับ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 12, 19:02
ต่อเรื่องไปอีก

มันก็มีสินค้ามากมายหลายชนิดที่มีการค้าขายกันในตลาดกลางระดับโลก  ตลาดพวกนี้เขาก็ซื้อของโดยราคา FOB ที่ท่าเรือสำคัญของแผ่นดินใหญ่ของกลุ่มเขา (เช่น FOB ที่ท่าเรือ Anwerp ของเบลเยี่ยม)

ประเด็นอยู่ที่ สมมุติว่าประเทศใดผลิตสินค้าอย่างหนึ่งได้ในปริมาณมากเกินพอที่จะใช้ภายในประเทศ ต้องการส่งออกเพื่อขายไปในตลาดโลก ซึ่งสินค้านี้มีการค้าขายอยู่ในตลาดกลางระดับโลกเป็นปรกติมานานแล้ว  หรือการส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนใช้หรือผลิตด้วยทรัพยากรของประเทศของตนเพื่อผลผลิตต่างๆ  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอ้างอิงใดๆก็ตาม     ข้อเท็จจริงก็คือ การผลิตของประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า ย่อมมีต้นทุนต่ำกว่าต้นทุนของการผลิตของประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า    แล้วราคากำหนดควรจะเป็นอย่างไรดี    หากกำหนดราคาขายตามต้นทุน + กำไร ที่พึงมีที่แท้จริง  ราคาขายก็จะต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดโลกมาก  ผู้ซื้อและประชาชนภายในประเทศจะได้ประโยชน์จากราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดโลก     แต่ในโลกของความเป็นจริงที่เงินเป็นใหญ่และเงินมีหน้าที่ต้องหาเงินเพิ่มพูน เจ้าของจึงไม่กำหนดราคาที่สะท้อนถึงต้นทุน (บวกกำไร) ที่แท้จริง   วิธีการก็คือ เอาราคาสินค้า FOB ที่ท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่งในต่างประเทศที่เขาเสนอซื้อขายกัยในตลาดกลาง ลบค่าขนส่งจากท่าเรือของบ้านเราไปถึงท่าเรือนั้นๆที่ปลายทาง  ลบค่าขนส่งภายในจากแหล่งผลิตถึงท่าเรือที่จะขนส่งต่อไปถึงท่าเรือปลายทาง (ที่กำหนดเป็นราคา FOB) กลายเป็นราคาสินค้าที่ใช้เป็นต้นทุนจากแหล่งผลิตในประเทศของตน    ผลนั้นคงไม่ต้องเล่าต่อไปแล้วว่า คนของประเทศผู้ผลิตเองจึงต้องซื้อของนั้นในราคาตลาดโลกที่ทอนมาเป็นราคาท้องถิ่น  อีกผลหนึ่งก็คือเจ้าของได้กำไรมากกว่าที่พึงได้จากระบบการทำอุตสาหกรรมตามปรกติ    มิน่าเล่าแล้วใช่ใหมครับ ทำไมถึงมีแต่กิจการที่ต้องการจะเป็นรายใหญ่และผูกขาด กดราคาในท้องถิ่น เพิ่มกำไรโดยค้าในตลาดสากล    ทรัพยากรธรรมชาติที่ค้าขายกันทั้งหลายนั้นมักจะเป็นในรูปนี้   การลงทุนข้ามชาติในหลายกิจการ ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุผลนี้ โดยเฉพาะการไปลงทุนในประเทศที่ยังมีค่าครองชีพต่ำและในประเทศที่มีการคอรัปชั่นเป็น norm

ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงเรื่องที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก ในความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนมากทีเดียวที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการตลาดในระดับสากลรู้กลไกต่างๆกันเป็นอย่างดี ผมมิอาจก้าวล่วงไปในวงนี้ได้ 

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นใน AEC ในวงแคบๆเพียงระดับ regional ก็คงมีเรื่องนี้เหมือนกัน

พอรู้มางูๆปลาๆ ก็เล่าสู่กันฟังครับ     


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 12, 18:47
ร่ายยาวเดี่ยวต่อไปครับ

เข้ามาเรื่องของการเคลื่อนไหวของคน ภาษาและวัฒนธรรม
ในภาพรวมๆที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่ากำลังเกิดอยู่ทั่วไปและทั่วประเทศ

ที่ผมได้พบ ได้เห็น ได้รู้ และได้สัมผัสหรือสนทนาด้วย ทั้งใน กทม.และในต่างจังหวัด ในขณะนี้ที่ยังไม่เกิด AEC เต็มตัว เป็นดังนี้ครับ

พี่เลี้ยงเด็ก ที่พ่อแม่ใช้การสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เป็นคนมาจากเนปาลก็มี คนพม่าที่พอมีการศึกษาก็มี
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (ยามและคนดูแลการจอดรถ) ของห้างร้านต่างๆ เป็นคนเขมรเยอะแยะมากมายแทบจะทุกห้าง
เด็กเสิร์ฟร้านอาหารธรรมดา เป็นเขมรเป็นส่วนมาก กรณีที่เป็นร้านที่ชาวต่างชาติเข้ามากิน จะเป็นคนพม่า
คนขายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว เป็นพม่า เขมร เป็นคนทำ
คนงานก่อสร้าง เป็นพม่าเกือบทั้งหมด
คนขายของกินประเภทรถเข็น เป็นเวียดนาม
ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน หากเป็นเมืองใหญ่จะเป็นฝรั่งนักท่องเที่ยว หากเป็นโรงเรียนในระดับจังหวัด มีทั้งนักท่องเที่ยวหลากหลายชาติ และฟิลิปปินส์
รีสอร์ทที่รับฝรั่งเป็นหลัก เป็นชายพม่าที่มีการศึกษา (พุดอังกฤษได้ดี) เกือบทั้งหมด

คนไทยหาไปใหนหมด  ส่วนมากกลับบ้านเกิด ไปประกอบอาชีพอิสระ

จากสภาพจริงตามที่พบมานี้ หากรัฐยังไม่ทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องแรก ในเรื่องของภาษา  ผมคิดว่าอีกไม่นานเราคงได้ยินคนไทยใช้หรือพูดภาษาอังกฤษที่คล ะสำเนียงและการออกเสียงจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไป
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 12, 18:58
เข้ามาขอแบ่งไมค์ไปจากคุณตั้งด้วยคนค่ะ
- ในจังหวัดของดิฉัน   เด็กปั๊มเป็นพม่า
- คนงานประเภทใช้แรงงาน ไม่ใช้ฝีมือ เป็นพม่า  ตั้งแต่กิจการใหญ่ไปจนกิจการเล็ก
- หนุ่มสาวโรงงานในจังหวัดใกล้เคียง  พม่าทั้งเมือง
- ลูกจ้างทำงานบ้าน พม่าทุกบ้านเลย
   ถามตัวเองเหมือนกันว่าแรงงานไทยไปไหนหมด   ต่อไปเราจะมีชุมชนพม่ากระจายอยู่หนาตา ตามจังหวัดต่างๆทางตะวันตกของประเทศ   เด็กๆที่เกิดถ้าได้สัญชาติไทยตามสถานที่เกิด ต่อไปเขาก็ต้องเข้าร.ร.ไทย   เราจะเห็นวิถีชีวิตใหม่เข้ามาปะปนกับแบบเดิมภายในเวลาอีกไม่กี่ปี  


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 10 ต.ค. 12, 21:35
ถ้าเราเดินถนนไปซื้อของตามร้านค้าประเภทรถเข็น สังเกตให้ดีๆเถอะ ต่างชาติซะ 30เปอร์เซ็นต์
ไปตลาดอ.ต.ก. เกือบ 50 % พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ไม่มีตัวสะกด เขาใช้วิธีจำและเลียนเสียง
ถ้าถามอะไรที่ต่างไปจากที่เขารู้ในชีวิตค้าขายประจำวัน เราจะได้ยินเขาพูดภาษาที่เราไม่เข้าใจ

ถ้ามองในแง่ความปลอดภัยก็น่ากลัวมากที่คนต่างชาติที่มีวิถีชีวิต และความคิดที่แตกต่างกับเรา
มาเดินป้วนเปี้ยนเต็มไปหมด  คนไทยใจดีและไว้ใจคนง่าย ให้เกียรติคนอื่นมากมาย ทำให้เปิดช่อง
ให้คนเหล่านี้หนีความลำบากในบ้านเมืองเขา มาอยู่กันเต็มไปหมด ข้อดีคือคนเหล่านี้ไม่เกี่ยงงาน
หนักเบาทำหมดเพื่อความอยู่รอด

แต่คนไทย(ที่ใช้แรงงาน)ชอบเลือกงาน ของานสบายๆ เงินเดือนสูง สวัสดิการดีๆ มีหน้ามีตาในสังคม
อวดใครๆได้ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องผ่านการทดสอบของกาลเวลา และผลงาน
ต้องเป็นรูปธรรม ผลก็คือมักไปได้ไม่ถึงฝัน นั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก

ทำอย่างไรเราถึงจะปลูกฝังค่านิยมในการทำงาน สร้างฐานะให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักว่า
อย่ากลัวความลำบาก  อดทน มุ่งมั่น ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม อดออม ประหยัด และพยายาม
พัฒนาฝีมือตัวเองยิ่งขึ้น มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและหน่วยงาน แล้วพยายามก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง
ไม่นานเกินรอเราต้องตั้งตัวได้...ประสบความสำเร็จได้


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ต.ค. 12, 18:11
  ถามตัวเองเหมือนกันว่าแรงงานไทยไปไหนหมด   ต่อไปเราจะมีชุมชนพม่ากระจายอยู่หนาตา ตามจังหวัดต่างๆทางตะวันตกของประเทศ   เด็กๆที่เกิดถ้าได้สัญชาติไทยตามสถานที่เกิด ต่อไปเขาก็ต้องเข้าร.ร.ไทย   เราจะเห็นวิถีชีวิตใหม่เข้ามาปะปนกับแบบเดิมภายในเวลาอีกไม่กี่ปี  

ตามกฏหมายสัญชาติไทย เด็กๆ เหล่านี้แม้จะเกิดในไทยแต่จะไม่ได้สัญชาติไทยครับ เพราะพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว ตามนี้เลยครับ

การได้มาซึ่งสัญชาติไทย
 1.2. หลักดินแดน เช่น ผู้ที่เกิดในประเทศไทยย่อมได้รับสัญชาติไทย เว้นแต่ผู้ที่เกิดในประเทศไทยโดยบิดา หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและในขณะที่เกิดบิดา หรือมาดาของผู้นั้นเป็น
       1.2.1. ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยกรณีพิเศษเฉพาะราย
       1.2.2. ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว
       1.2.3. ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
       1.2.4. หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต
       1.2.5. หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล
       1.2.6. พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ
       1.2.7. คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน 1.2.4 ถึง 1.2.7

http://koorungmu.blogspot.co.uk/2011/01/blog-post_7735.html

ถึงจะเกิดในไทย แต่พ่อแม่เป็นต่างด้าว ดังนั้นเด็กเหล่านี้จะไม่ได้รับสัญชาติไทย และมีสิทธิต่างๆ จำกัดกว่าเด็กไทยแท้ๆ มากครับ  ซึ่งในมุมมองของผมเนื่องจากผมมีโอกาสมาอยู่ ตปท แบบพลเมืองชั้นสอง ดังนั้นผมจะเข้าใจและเห็นใจคนเหล่านี้เป็นพิเศษ และมองว่าการให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐไทยต้องจัดให้ไม่ว่าคนนั้นจะสัญชาติอะไรก็ตาม  เพราะคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยไม่มีที่ไป การพัฒนาคนโดยไม่ต้องเกี่ยงสัญชาติ สุดท้ายผลดีต่างๆ ในระยะยาวก็จะสะท้อนถึงประเทศเราเอง  ถ้าบ้านเมืองดี สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีคงไม่มีใครอยากจากบ้านจากเมืองมาทำงานใช้แรงงานเป็นพลเมืองชั้นสองที่บ้านเมืองอื่นหรอก  


เพียงแต่เราต้องมีการใช้มาตรการควบคุมที่ดีควบคู่ไปด้วย เช่นการกระจายการวางแผนครอบครัว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดกันง่ายๆ มากเกินไป  การใช้ระบบสาธารณสุขเชิงป้องกัน ไม่ใช่รอให้เกิดโรคแล้วค่อยไปหาหมอ  จัดทำสำมะโนประชากรที่สามารถอ้างอิงหรือติดตามตัวคนต่างด้าวแต่ละคนได้  รวมถึงบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับคนไทยด้วย  เพราะเมื่อเราไล่พวกเค้าออกไปไม่ได้  เราก็วางนโยบายพัฒนากลืนคนเหล่านี้ให้เป็นคนไทยที่ดีมีคุณภาพต่อไปในอนาคตแทน


ข้อดีอีกข้อที่เรามักไม่ค่อยมองกันคือการมีคนเยอะๆ ในประเทศเรา มันช่วยในการกระตุ้นตลาดภายในของเราเองด้วย เป็นกำลังซื้อจำนวนมหาศาล  ในอนาคตอันใกล้อีก 10 ปี 15 ปีข้างหน้า ประเทศโลกที่สามทั้งในเอเชียและแอฟริกาจะเปิดประเทศกันมากขึ้น ตลาดแรงงานราคาถูกจะย้ายไปประเทศเหล่านั้นมากขึ้น ประเทศเราที่เน้นรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักอาจจะมีปัญหาในการแข่งขันในอนาคต การสร้างตลาดภายในที่มีกำลังซื้อมากพอจึงเป็นเรื่องจำเป็น


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 12, 19:12
เรื่องคนต่างชาติที่กำลังเข้ามาอยู่ในประเทศอย่างมากมายนี้ คิดได้ในหลายๆมุมและทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

ผมเห็นภาพในมุมกว้างว่า กำลังเกิดปรากฎการณ์คลื่นลูกที่สามสำหรับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย  คลื่นลูกแรกเกิดมานานมากแล้ว เมื่อครั้งแรกเริ่มการสร้างความเป็นชาติไทยต่อเนื่องมาจนปลายยุคศรีอยุธยา คลื่นลูกที่สองเริ่มช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันหนักไปทางการเคลื่อนย้ายของคนจากโพ้นทะเลเข้ามา และคลื่นลูกที่สามที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเคลื่อนย้ายของคนจากรอบบ้านเข้ามา   ทั้งหมดเป็นผลให้เกิดสังคม วัฒนธรรม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป สร้างให้เกิดมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีพัฒนาการของตนเองในแต่ละช่วงสมัย

ส่วนตัวมีความเห็นว่าน่าสนใจที่ ลักษณะของความเป็นอย่างไทยๆในแต่ละช่วงของระลอกคลื่นนี้ มีแต่กระจายออกไปครอบงำเพื่อนบ้านรอบๆ มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายรับเข้ามาอย่างสิ้นเชิง เป็นลักษณะของการรับเข้ามา แล้วเปลี่ยน แล้วส่งย้อนกลับออกไป   ตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง เช่น บรรดาอาหารของชาติอื่นที่เรารับมาปรับแต่งจนกลายเป็นอาหารที่โ่ด่งดังไปทั่วโลก จนเจ้าของต้นตำรับอาหารนั้นๆเองยังต้องยอมแบบแทบจะอ้างไม่ได้ว่าตนเองเป็นต้นตำรับ

เมื่อเกิด AEC  ดีไม่ดีบางทีอาจจะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรในสังคม AEC เป็นแบบไทยๆไปหมดก็ได้ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 12 ต.ค. 12, 09:09
ความเห็นที่263 ของคุณตั้ง กระตุ้นให้ต้องคิดต่ออีกมากมาย....

ขอเวลารวบรวมความคิดหน่อยนะคะ ... ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 12 ต.ค. 12, 17:14
เรื่องอาหารไทยนั้นมีจุดแข็งจนทำให้อาหารต่างชาติต้องปรับตัวปรับรสตามเป็นส่วนใหญ่ไม่งั้นขายคนไทยไม่ได้นานก็ม้วนเสื่อกลับแน่
เช่นเชสเตอร์กิล แรกมาเปิดบู๊ทขายตามห้างสรรพสิ้นค้าใหญ่ๆจะเป็นไก่ย่าง เบอร์เกอร์ แลพพวกสปาเก็ตตี้ราดซอสต่างๆ
เวลาผ่านไปไม่กี่ปี กลายเป็นเมนูกระเดียดไปทางอาหารไทยซะแล้ว
อาหารญี่ปุ่นก็ปรับรสให้เข้มขึ้น...ฯลฯ

แต่พอถึงคนไทย กลับอยากเป็นเกาหลี เป็นฝรั่ง เป็นญี่ปุ่น เพราะมีทัศนะที่ฝั่งหัวว่าคนที่มาจากสังคมที่ประสบความสำเร็จทางวัตถุ
(อุตสาหกรรม)คือคนที่มาจากชาติที่เจริญกว่าเรา มีความรู้ทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่าเราซึ่งก็ไม่ผิด
 แต่ภูมิปัญญาบางอย่างของเราก็ไม่ด้อยกว่าเขาเช่นเชิงช่าง ต่างๆ ปรัชญา หรือการเกษตร  การแลกเปลี่ยนความรู้เป็นสิ่งที่ดี

แต่ที่น่าเสียดายคือเราไม่ได้ยกภูมิปัญญาที่มีอยู่ของเราให้โดดเด่นควรแก่ความภาคภูมิใจสำหรับคนรุ่นใหม่
ความสำคัญผิดของคนรุ่นใหม่คือเห็นว่า อะไรที่เป็นไทยแล้วเชย...จึงมองข้ามความสำคัญ หรือคิดที่จะพัฒนาต่อยอดต่อไป

ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญของตัวตนหรือจิตวิญาณของเราเอง ขณะเดียวกันคนต่างชาติก็ทะลักทลายเข้ามาอยู่ใจกลางเมืองหลวง
กระจายอยู่ทุกหย่อมย่า แต่คนไทยแท้ต้องหลบออกไปอยุ่ต่างจังหวัด ไกลแสนไกล ช่องว่างทางสังคมก็จะห่างออกไปอีก
โอกาสดีๆก็จะเป็นของคนที่อยู่ใกล้ความเจริญ ส่วนคนในชนบทก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้า ดังที่เราเห็นความแตกต่างของ
คนกรุงเทพกับต่างจังหวัดอยู่ในขณะนี้

อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อคนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง เป็นคนต่างชาติที่แตกต่างจากคนจีนที่เข้ามาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว
ในขณะที่ทรัพยากรของชาติก็ลดน้อยถอยลง และประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 12, 18:50
ขออนุญาตยังไม่ต่อเรื่องนะครับ และจะขอเว้นวรรคไปประมาณ 15 วัน พาหลานเที่ยวช่วงปิดเทอมครับ



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 12 ต.ค. 12, 21:33
สงสัยไปไกล...ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพและสนุกมสนานกันทุกคนนะคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: cutenail ที่ 13 ต.ค. 12, 08:51
เชสเตอร์ กริลล์ เป็นกลุ่มบริษัทของคนไทยในอุตสาหกรรมอาหารใหญ่แห่งหนึ่ง ครับ เดิมในอดีตอาจจะ นำอาหารที่เคยส่งออก ในลักษณะรับจ้างทำ มาขายทดลองตลาดดู

แต่ในปัจจุบัน มีการสร้างตราสินค้าของตัวเองให้ แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่เป็นอาหารไทยมากขึ้น เลยอาจจะนำสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งมาลองทำตลาด ที่เชสเตอร์ กริลล์ที่จีน ก็มีครับ อาหารก็คล้าย ๆ กัน

สำหรับพวก แม็ค เคเอฟซี โค้ก เป๊ปซี นั่นจุดแข็งน่าจะอยู่ที่การส่งออก วัฒนธรรมการบริโภค ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนต์ ทำให้สนับสนุนตัวสินค้าให้แข็งแรงมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนเล็กน้อยตามประเทศที่ไปตั้งสาขา แต่สินค้าหลัก คือ แม็คดั้งเดิม โค้กดั้งเดิม เป็นต้น

อาหารไทยเอง ก็มีวัฒนธรรมการบริโภคแปลก ๆในต่างประเทศ เหมือนกัน เช่น ในบางประเทศที่ผ่านมา การเลี้ยงอาหารแขกหลังประชุม ถ้าจะให้เลิศหรู ต้องเป็นอาหารไทย และต้องมีรูปเชฟ คนไทยติดหน้าภัตตาคารด้วย รองลงมาคือ อาหารจีนในภัตตาคาร หรือ การหัดรับประทานทุเรียน ในบางประเทศ ถือว่ากินของแพง ต้องกินให้เป็น  เป็นต้น

ในอนาคต เกาหลี อาจจะแทรกเข้าในตลาดอาหาร แบบแม็ค หรือ เคเอฟซี ก็ได้ โดยผ่านการส่งออก วัฒนธรรม ซึ่งในปัจจุบัน ก็พบเห็นได้มากในวัฒนธรรมการแต่งตัว เพลง ภาพยนต์  ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับ การส่งออกวัฒนธรรมของ อเมริกัน ในรูปแบบสื่อต่าง ๆ  ทำให้มีผลต่อเนื่องของการบริโภค

ที่ผ่านมา ท่านทั้งหลายที่เป็นตัวแทนประเทศที่ประจำอยู่ที่ต่าง ๆ จึงถูกแนะนำให้เป็นนักธุรกิจ มีมุมมองแบบธุรกิจ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างตาม มีกระแสต่อต้านบ้าง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 20 ต.ค. 12, 14:22
ขอบคุณคะที่บอกว่าเชสเตอร์กิลเป็นบริษัทของคนไทย ....ซึ่งดิฉันไม่ทราบมาก่อนต้องขออภัยที่ข้อมูลผิดพลาด

ที่สำคัญคือการที่เขาปรับอาหารจานด่วนให้มีบุคลิกเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งก็น่าสนับสนุน ยิ่งถ้านำเสนอในต่างประเทศได้

ก็ต้องถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าภูมิใจ...เรายังไม่มีอาวุธทางวัฒนธรรมที่จะไปสู่โลกกว้างอย่างคนอื่นเขาก็ใช้อาหารนำหน้า

ก็ไม่เลวนะคะ

ในปัจจุบัน มีการสร้างตราสินค้าของตัวเองให้ แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่เป็นอาหารไทยมากขึ้น เลยอาจจะนำสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งมาลองทำตลาด ที่เชสเตอร์ กริลล์ที่จีน ก็มีครับ อาหารก็คล้าย ๆ กัน  

ช่วยขยายความข้อความข้างบนนี้สักหน่อยๆได้ไหมคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: cutenail ที่ 24 ต.ค. 12, 08:53

เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทย ทำอุตสาหกรรมในด้านลักษณะรับจ้างผลิตมาก ทำให้เราไม่มีตราสินค้าที่เป็นสากล และเป็นที่รับรู้เช่นตราสินค้า เช่น โค้ก ซัมซุง โซนี่ เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวการไม่มีแบรนด์ หรือตราสินค้านี้จะค่อนข้างลำบากในอนาคต เนื่องจากเราจะเป็นแหล่งแรงงานถูกตลอดไปไม่ได้ตลอด

อาหารไทยในปัจจุบันยังเป็นลักษณะงานฝีมือเฉพาะตัว เช่น ภัตตาคารบางแห่งถ้ามีการเปลี่ยนตัวพ่อครัวหลักรสชาติอาหารจะเปลี่ยนไป ซึ่งจะทำในรูปแบบอุตสาหกรรมทำได้ค่อนข้างยาก ไม่เหมือนอย่าง เคเอฟซี แม็ค สตาร์บัค ซึ่งส่วนหนึ่งคนไม่ได้เข้าไปกินอาหารหรือ เครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างกับอาหารไทยที่คนเข้าไปรับประทานเพราะติดใจของรสชาติ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลยสำหรับจะทำในรูปแบบอุตสาหกรรมเพียงแต่ อาจจะต้องอาศัยวิธีการ ทางการตลาด หรือการสื่อสารที่ซับซ้อนมากขึ้น

ลองคิดเอาแบบง่าย ๆแล้วกันครับ ทำอย่างไร จะทำให้อาหารไทย เข้าไมโครเวฟ โดยใครก็ได้ที่เป็นพนักงานที่ไม่จำเป็นต้องเก่งทำครัว เพียงแต่เป็นคนมีจิตใจด้านการบริการ แล้วออกมาเสริฟ คนรับประทานมีความรู้สึกว่า อาหารนี้อร่อย ใกล้เคียงกับพ่อครัวปรุงอยู่ตรงนั้น

แล้วลองจำลองภาพไปถึง จะหาวัตถุดิบจากไหน จะบริหารวัตถุดิบอย่างไร จะผลิตอย่างไรให้อาหารสดตลอด ไม่มีปัญหาการจัดเก็บ รสชาติจะคงที่ตลอดอย่างไร จะทราบได้อย่างไรว่าผู้บริโภคชอบแบบไหน ผู้บริโภคจะรู้สึกดี และชอบกับอาหารกล่องแบบนี้ โดยไม่รู้สึกว่ากินกันตายไปวัน ๆ หรือไม่   จะสร้างพฤติกรรมคนบริโภคอย่างไรให้รู้จักกับตราสินค้า แล้วรู้สึกว่าฟาสต์ฟู้ดข้าวพแนงไก่กล่องตราลิงบังเสานี่กินแล้วอร่อย ยกแกงพแนงมาซดโฮกแล้วเท่ห์ จะให้ดีต้องมีคราบเครื่องแกงติดมุมปากนิด ๆ จะหล่อมาก
 (แบบเดียวกับการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคนิยมของอเมริกันนั่นล่ะ เช่น สมัยก่อน พระเอกต้องคาบบุหรี่ มาร์ลโบโร หรือ วัยรุ่นขับรถ เลี้ยวแว่บเข้า แม็ค ขับออกมา ขับรถไป กินแม็คไป มือซ้ายก็กดสมาร์ทโฟนไป หูก็ฟังเพลง )
 
สำหรับภัตตาคารใหญ่ ก็ต้องแยกเป็นอีกช่องทางหนึ่ง คือมีพ่อครัวปรุงถือว่าเป็นแบบตามสั่ง ก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันออกไป



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 24 ต.ค. 12, 14:22
ซีพีก็คงคิดเช่นนี้เหมือนกันตอนนี้อาหารถาด อาหารกล่องมากมายหลากหลายชนิดจึงเต็มชั้นของเซเว่นฯ
ข้าวผัดกระเพราไข่ดาว ข้าวหมูเกหลี สปาเก็ตตี้หน้าต่างๆ ราคาก็ประมาณ 35-40 บาทเท่าไกับข้าวแกง
ในร้าน

เห็นได้ชัดว่าซีพีต้องการเป็นครัวโลก ในด้านอาหารสดสำเร็จรูป แม้ตอนนี้จะยังเป้นที่นิยมในเมืองไทย
แต่เกี้ยวกุ้งก็เริ่มส่งออก  และตามมาด้วยผัดไทยกุ้งสด ถ้าได้รับความนิยมในต่างประเทศก็ถือว่าปักธงได้แล้ว
อีกหน่อยคงมีเมนูอื่นๆตามไปอีก เท่าที่ทราบผัดไทยที่ขายในบูธเล็กๆในต่างประเทศนั้นเป็นเหมือนเส้นผัดซอส
ที่ห่างชั้นของคำว่าผัดไทยอยู่มาก ชื่อเสียงจะเสียงหายถ้าคนต่างชาติคิดว่านั่นใช่แล้ว

ในระยะ2-3 ปีมานี้ซีพีมุ่งทำอาหารจานเดียวที่ให้พนักงานอุ่นให้เสร็จ พร้อมทาน ทำให้การเดินทางไกล
ไม่เป็นอุปสรรคต่อไป แวะปั๊มน้ำมันที่ไหน ก็ทานอาหารได้เหมือนกัน ชอบอะไรก็ทานได้ทุกที่

เดี๋ยวนี้ปั๊มน้ำมันจึงเป็นที่พักคนเดินทางที่สะดวกสบาย ชวนให้การท่องเที่ยวในประเทศเป็นที่น่าพิสมัยขึ้นอักโข
แต่ถ้าจะให้ทำโฆษณาโก้ๆ คงต้องรออีกพักใหญ่นะคะ สัก 10-20 ปี ใครจะรู้ โลกสมัยนี้หมุนเร็วจะตายไป...จริงไหม




กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 25 ต.ค. 12, 07:43
นั่งอ่านกระทู้ AEC ถึงตอน..อาหารไทย อาหารกล่อง อาหารสำเร็จรูป

สงสัยท้องมันอ่านตามผมไปด้วย ก็เลยร้องจ๊อกๆ ตอบรับเนื้อหา
จำต้องลุกไปเตรียม "มาม่าแกงเขียวหวานไก่" ใส่ชามตอกไข่ใส่สองใบ
พร้อมกับชงกาแฟยามเช้า เพิ่มขนมปังอีกสองแผ่นเป็นชุดดับเบิล

อากาศบ้านผม ตอนเช้าๆ สายหมอกโปรยหล่นลงมาเป็นสายชุ่มฉ่ำยังกะฝนปราย
มาม่าและกาแฟร้อนๆ มื้อนี้จึงอร่อยอิ่มบรรยากาศดีนักแล  ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 08:36
ภาพประกอบค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 25 ต.ค. 12, 11:43
ง่า.. ภาพที่ อ.เทาชมพู กรุณาหามาประกอบ ดูแล้วสวยงามตาเกินกว่าของจริง (ที่ผมเพิ่งทานไปเมื่อเช้า) ไปมากเลยครับ
ขอบคุณครับ ^_^

อยากหาเครื่องแกงมาเสริมให้ดูเป็นแกงเขียวหวานจริงๆ แต่ก็ไม่สะดวกไปตลาดสด
ก็เลยทำแค่ ฉีกซองใส่มาม่า.. เทซองเครื่องปรุง.. ตอกไข่สองฟอง.. แล้วก็เทน้ำร้อน..

รอประมาณ 3-4 นาที ก็ทานแบบโล้นๆ แบบไร้เครื่องเคียงเลยครับ   :D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 12, 20:13
กลับมาแล้วครับ ได้พาหลานไปสัมผัสกับชนบท สนุกสนานกันมาก หลานๆได้เห็นจิ้งหรีด กบ ใส้เดือนกิ้งกือ ตุ๊กแก ป่า นา เขา ฯลฯ สร้่างเสริมประสบการณ์ชีวิตครับ

ขอต่อความจากคุณ cutenail ครับ
เรื่องที่กล่าวมาตาม ค.ห.ที่ 270 นั้นมีผู้ทำกันแล้ว ผมได้พยายามดันเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.2000 ในยุโรป แต่ไม่มีผู้สนใจ ก็พอเข้าใจได้ด้วยสภาพของสิ่งแวดล้อมต่างๆในขณะนั้น จนกระทั่งมาประจำการอยู่ในญี่ปุ่น จึงได้เห็นกระบวนวิธีการดำเนินการที่บริษัทญี่ปุ่นได้กระทำตามแนวคิดที่ได้มาจากการสนทนาในหลายโอกาสบนโต๊ะกินข้าวกับท่านทูตในขณะนั้น ก็ประมาณปี ค.ศ.2005

เริ่มด้วยหลักการว่าแกงไทยก็ควรจะกินกับข้าวไทย มิใช่กินกับข้่าวญี่ปุ่น ดังนั้น จะต้องเกิดทั้งสองสิ่งพร้อมกัน คือ จะต้องมีข้าวไทยที่บรรจุซองขายเล็กๆ และมีแกงที่คนญี่ปุ่นชอบและรู้จัก (แกงเขียวหวานไก่และต้มยำกุ้ง) บรรจุในซองขาย (พอมื้อ) ไปพร้อมกัน บริษัทที่ทำข้าวขายเป็นซองและบริษัทที่ทำแกงขายเป็นซองเป็นคนละบริษัทที่ทำธุรกิจต่างกันกันแต่ต้องร่วมมือกัน หลัการคือขายคู่กัน  ฝ่ายไทยได้ประโยชน์จากการขายข้าวหอมและการกระจายตลาดอาหารไทยให้เพิ่มมากขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้เิปิดธุรกิจใหม่ๆ

(ขอจั่วไว้กันลืมสักนิดนึงครับ กันลืมเพื่อจะได้เล่าเรื่องบางส่วนของนโยบายและตลาดข้าวของประเทศอื่น)

ปรากฏว่า ธุรกิจของทั้งสองบริษัทประสบผลสำเร็จอย่างมาก 
ประเด็นแรกก็คือ ข้าวญี่ปุ่นที่เขากินกันเป็นประจำวันนั้น เป็นข้าวเมล็ดสั้นป้อม มียางคล้ายข้าวเหนียว คนญี่ปุ่นจึงกินข้าวด้วยตะเกียบด้วยวิธีการใช้ตะเกียบตักมากกว่าวิธีการพุ้ย (การพุ้ยข้าวเข้าปากจึงไม่ค่อยจะเป็นการกินที่สุภาพสำหรับคนญี่ปุ่น) ต่างกับคนจีนที่กินข้าวเมล็ดยาวเหมือนข้าวหอมของไทยเรา จึงใช้วิธีพุ้ยเข้าปากเนื่องจากคีบตักลำบาก   ก็ลองนึกดูนะครับ คนญี่ปุ่นกินแกงกะหรี่กับข้าวเมล็ดสั้น (อย่างกับข้างเหนียว) ด้วยช้อนอยู่แล้ว พอไ้ด้กินข้าวไทยที่หอมกรุ่นแบบไม่ร่วนซุยจัดกับแกงไทยที่โปรดอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร แทนที่จะต้องออกไปหากินที่ร้านอาหารไทยที่เสียเงินแพงกว่า

ขอต่อพรุ่นี้ครับ
         
 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 26 ต.ค. 12, 20:38
คุณตั้งกลับมาแล้ว ...พร้อมกับมีไฟเต็มแบตด้วย การได้ไปพักผ่อนระยะยาวร่างกายจะปรับตัวเต็มที่
ได้พักผ่อนจริงๆ ดีกับสุขภาพกายและใจ ดีใจด้วยที่หลานๆได้ไปสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
ผู้ใหญ่ที่สามารถอธิบายเรื่องของธรรมชาติได้อย่างดี เป็นบุญของเด็กๆนะคะ

จะคอยฟังเรื่อง ตลาดข้าวของประเทศอื่น ที่ตอนนี้กำลังร้อนเพราะนโยบายจำนำข้าวของไทย
และตลาดอาหารสำเร็จรูปของไทยในต่างแดนคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ต.ค. 12, 20:42
กลับมาเข้าห้องเรียนครับ  ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 12, 19:46
ประเด็นต่อมาคือ ความเข้าใจในเนื้อในของตลาด  ซึ่งผมได้มาจากการสนทนากับผู้ประกอบการทั้งสอง (ฝ่ายข้าวกับฝ่ายกับข้าว)
ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย มีความเข้าใจเนื้อในของสังคมและความคิดของคนเป็นอย่างดี    สภาพความเป็นจริง คือ ผู้บริโภคของตลาดนี้ไม่ใช่แม่บ้านที่จะซื้อไปทำให้กับครอบครัวกิน เนื่องจากอาหารเช้าก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อาหารกลางวันก็ไม่มีใครอยู่บ้านที่จะต้องทำกิน อาหารเย็นสำหรับลูกหรือครอบครัวก็เป็นอีกแบบหนึ่ง และสำหรับเจ้าประุคุณสามีที่กลับมารอบดึกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง   ผู้บริโภคสำหรับสินค้าลักษณะนี้ที่แท้จริงจึงคือ คนในวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะที่ยังเป็นโสด ที่เช่าห้องอยู่อาศัย มีครัวเล็กๆ มีตู้เย็นเล็กๆ ไม่มีที่เก็บของส่วนเกินในห้อง   ดังนั้น ข้าวหอมไทยปริมาณในซองหนึ่งที่พอสำหรับคนหนึ่งถึงสองคน กับแกงในซองหนึ่งที่มีปริมาณพอสำหรับคนหนึ่งถึงสองคน จึงเป็นเรื่องที่กำลังพอดี ที่จะเปลี่ยนรสชาติอาหาร หรือกินกันในโอกาสพิเศษ

ประเด็นต่อมา คือ เราก็เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาร่วมในงานที่ทางสถานทูตจัดขึ้นเพื่อการส่งเสริมในเรื่องต่างๆของไทย เพื่อแสดงสินค้าไทยที่ผลิตในประเทศไทย ตามวาระและโอกาสที่เหมาะสม  ซึ่งได้ผลในเรื่องของการเพิ่มปริมาณการขายข้าวและการเผยแพร่อาหารไทยไปในหมู่คนวัยหนุ่มสาวในระดับที่ดีทีเดียว  ก็ดีพอที่ผู้ประกอบการทั้งสองจะร่วมกันเปิดร้านอาหารไปในหลายเมือง และกิจการก็เจริญก้าวหน้าดี

ประเด็นต่อมา คือ ผู้ประกอบการทั้งสองพยายามปรับปรุงให้สินค้าของเขามีความต่างน้อยที่สุดจากที่หุงกินทำกินกันในประเทศไทย   อันนี้ผมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยพอสมควร ให้ความรู้ ตอบคำถามและวิจารณ์ผลผลิตของเขา เริ่มตั้งแต่วิธีการหุงข้าวแบบไทย (มิใช่หุงแบบโบราณแบบรินน้ำข้าวแล้วดงนะครับ) รวมทั้งวิธีแก้หากข้าวที่หุงเแฉะหรือดิบเกินไป   ไปจนถึงการปรับปรุงแกงต่างๆ  ที่ได้ลองชิม ได้แนะนำ และเขาก็นำไปปรับปรุง ก็มีอาทิ แกงเขียวหวานนั้นควรมีเนื้อและมะเขือเป็นชิ้นๆ มิใช่เละเหมือนกับแกงกะหรี่ของญี่ปุ่น เน้นให้ออกกลิ่นยี่หร่าเพิ่มขึ้น เป็นต้น   ต้มยำกุ้งก็ควรจะใช้พริกขี้หนูสวน ใช้ข่าอ่อนแทนที่จะใช้ข่าแก่ ใช้ตะไคร้ส่วนโคนให้มากกว่าส่วนปลาย และใช้ใบมะกรูดสดที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป เป็นต้น   แกงเผ็ด (นิยมเรียกกันว่าแกงแดง) ก็เช่นกัน  ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้แนะนำให้เขารู้จักกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ และให้ร่วมมือกัน   วัตถุดิบและผลผลิตที่เป็นสินค้าทั้งหมดนี้ผลิตในประเทศไทยทั้งสิ้น   โดยสรุป ก็คือ มีการปรับปรุง และสามารถขายได้ในระดับที่ดีมากๆ

ก่อนจะเกษียณก็ได้เห็นว่า มีการทำข้าวต้มมัดใส้กล้วยทดสอบตลาดกันแล้ว    ก็ทำให้นึกถึงข้าวหลามที่เคยมีคนไทยพยายามจะทำเป็นสินค้าส่งออก โดยทำแบบข้าวหลามทางภาคเหนือ (ปอกเปลือกไม้ให้บาง) แต่ให้มีรสชาติแบบภาคกลาง  ตัดขวั้นเหมือนอ้อยพอดีคำ  ขายดีนะครับ แต่หายไป คงจะเป็นเพราะหาไม้ข้าวหลาม (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง) ได้ยากนั่นเอง 


อยากจะบ่นแต่เพียงว่า อาหารไทยนั้นมันมีความละเอียดอ่อนในการเลือกเครื่องปรุงและมีความละเมียดละไมในกระบวนการทำมาก  สักแต่ว่ารู้จักว่าเป็นอาหารไทยยังแยกไม่ออกว่าแกงคั่ว แกงเผ็ด ต่างกันอย่างไร พะแนง ฉุ่ฉี่ ต่างกันอย่างไร ส้มตำที่กินกับข้าวมัน กับส้มตำที่กินกับข้าวเหนียวต่างกันอย่างไร ขนมจีนซาวน้ำยังไม่เคยกิน ฯลฯ ไม่ชอบเข้าครัวทำกับข้าว แล้วจะไปอยู่ปฏิบัติการส่งเสริมอารหารไทยหรือครัวไทยกันจะได้ผลเป็นประการใด ก็น่าสงสัยอยู่หรอก      ที่ผมเคยเจอและเข้าขั้นทึ่ง คือ ฉลองด้วยแชมเปญ (แถม corked อีกด้วย) แนมด้วยม้าฮ่อ  กระฉูดกระชากไปคนละทาง เล่าไม่ถูกจริงๆ         


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 12, 18:45
ก่อนจะไปกล่าวเล็กๆน้อยๆถึงเรื่องของนโยบายข้าวที่ได้จั่วหัวไว้กันลืมนั้น
ขอเรียนว่า เรื่องนโยบายข้าวที่จะกล่าวถึงนี้  ผมตั้งใจจะยกเป็นตัวอย่างหนึ่งของเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในอารัมภบทต่อไปนี้

ในภาพของ AEC ที่ทุกประเทศฝันเห็นกันอยู่นั้น ดูเหมือนจะเห็นตรงกันในเรื่องของตลาดที่มีผู้บริโภคอยู่ประมาณ 400 ล้านคน ทุกประเทศคิดในเรื่องของการส่งสินค้าส่งออกไปในตลาดนี้ คิดว่าเศรษฐกิจะขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองก็ด้วยรายได้จากการส่งออกนี้  แล้วก็คิดเหมือนๆกันว่า จะมีคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ  แล้วก็คิดเหมือนกันอีกว่า เพื่อให้มีสินค้าส่งออกจากประเทศของตนให้มาก ก็จะต้องชักชวนและส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติและบริษัทข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหรือย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศของตน     ดูเหมือนจะลืมหรือคำนึงถึงน้อยไปหน่อยว่าบริษัทที่เข้ามาลงทุนเหล่านั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี  ก็ถูกต้องอยู่หรอก เพราะหากแหล่งผลิตหรือฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศใด มันก็จะเกิดการส่งออกมากขึ้นได้เงินเข้าประเทศมากขึ้น  แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็จะเกิดภาพในอีกทางหนึ่ง คือ เงินที่จะตกอยู่ในประเทศนั้นเกือบทั้งหมดก็คือเพียงค่าแรงงาน เพราะว่าัวัตถุดิบทั้งหมดเป็นการนำเข้า เว้นไว้ว่าจะมีการส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศที่หลากหลายและมีจำนวนมากพอที่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงาน (กลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้เรียกชื่อรวมๆกันว่า SMEs)    อีกภาพหนึ่งก็คือ เกิดสภาพของการอนุญาตให้ใช้แผ่นดินของตนเป็นที่ทิ้งกากและขยะ โดยประเทศนั้นๆก็จะต้องกลายเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นภารโรงทำความสะอาดแผ่นดินของตน 

ผมเห็นภาพที่พึงจะกระทำในอีกมุมหนึ่ง คือ ทำไมเราจะต้องไปทำการแย่งชิงนักลงทุนต่างชาติมากมาย จนกลายเป็นการทำให้บริษัทและคนต่างชาติเหล่านั้นมีอภิสิทธิ์ (privilege) หรือบางครั้งไปถึงการมีภูมิคุ้มกัน (immunity) เหนือคนไทยในแทบจะทุกเรื่อง  ทำไมเราไม่สร้าง ไม่ส่งเสริม และไม่ให้คุณค่ากับผลผลิตและสิ่งของของเราเอง (รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม) ที่เป็นผลมาจากความสามารถทางสติปัญญาของเราทั้งในเชิงของวิทยาการสมัยใหม่และภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมกันมาตั้งแต่ในอดีต

ว่ามาก็เพื่ออยากจะเห็นฝ่ายรัฐเกิดมีกระบวนทัศน์ใหม่ๆบ้างเมื่อได้เกิดมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมรอบตัวเราและภายในของเราที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็คือ เรื่องของนโยบายนั่นเอง   ตนเองเห็นว่า จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไป (paradigm shift) ที่แสดงผ่านออกมาในเชิงของ policy formulation ในเชิงของ policy guideline และในเชิงของ strategic approach    (ขออภัยที่นึกคำไทยที่เหมาะสมไม่ออกครับ)    ความภูมิใจในประเด็นของความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุดในเชิงปริมาณ (เช่น แห่งเดียวในโลก มากที่สุดในโลก ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับแรกหรืออันดับต้นๆของโลก เหล่านี้) นั้นคงจะมิใช่หลักการที่ถูกต้อง ดูเราจะไม่ค่อยได้ยินความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุดในเชิงคุณภาพเอาเสียเลย ?


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 12, 20:29
ผมเห็นว่า ในเบื้องลึกของนโยบายของรัฐนั้น มันซ่อนไปด้วยทิศทางการทำงานบนหลักสองประการ 
ประการแรก คือ ที่จะส่งผลให้เกิดความอยู่รอด (หรือความเสถียร) ของคน สังคม และระบบภายในต่างๆของประเทศ (ซึ่งก็คือ เรื่องของการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมภายในต่างๆในคงอยู่ใกล้เคียงกับที่คุ้นเคยกันมา_status quo) โดยสรุปก็คือ เรื่องภายใน (internal affairs)   
ประการที่สอง คือ ที่จะส่งผลให้เกิดความอยู่รอดของประเทศในสังคมและในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก (ซึ่งก็คือ เรื่องของสถานะและความมั่นคงของความเป็นรัฐ)  โดยสรุปก็คือ เรื่องของสถานะของประเทศในสังคมโลก (external หรือ international affairs)

 (ขอไปต่อวันพรุ่งนี้อีเช่นเคยครับ)


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 12, 18:09
^
คำพูดที่เราคุนเคยกันของหลักสองประการนี้ก็คือ ความมั่นคง  (ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การค้า การลงทุน อาหาร ชิวิตและทรัพย์สิน ภูมิภาค นานาชาติ ฯลฯ สุดแท้แต่จะกล่าวถึง)
 
เมื่อกล่าวถึงความมั่นคง มันก็มีกระบวนการและวิธีการมากมายที่จะทำ เรื่องเล็กๆที่ให้ผลมากเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของการจัดสินค้าหรือผลผลิตบางอย่างเป็น strategic commodity หรือ strategic goods (จะแปลว่าสินค้ายุทธปัจจัยก็ดูจะไม่ค่อยตรงกับความหมายนัก แตก็จะขอใช้คำว่าสินค้ายุทธปัจจัยนะครับ)

การคิดและการจัดสินค้าในลักษณะของการให้มันเป็นสินค้ายุทธปัจจัยนั้น แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน    ครั้งหนึ่งเมื่อประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ผลิตดีบุกส่งออกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประเทศเหล่านี้ไม่ได้จัดให้ดีบุกเป็นสินค้ายุทธปัจจัยเลย แต่ประเทศมหาอำนาจที่อยู่ในฝ่ายหนึ่งในยุคสงครามเย็นจัดให้ดีบุกเป็นสินค้ายุทธปัจจัย เพราะดีบุกใช้เคลือบกระป๋องที่บรรจุอาหารสำหรับทหารในการทำการสู้รบและสำหรับพลเมืองของตนในระหว่างสภาวะสงคราม   ประเทศผู้ซื้อดีบุกเหล่านี้จึงต้องมี strategic stock ซึ่งการบริหาร stock เหล่านี้ส่งผลให้ราคาดีบุกเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆอย่างมากเมื่อเกิดการซื้อเข้าหรือการระบายออกของประเทศเหล่านั้น  จนกระทั่งมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กระดาษเคลือบด้วยพลาสติก ที่มีความคงทนในรูปแบบต่างๆ (ความร้อน ความดัน ฯลฯ) ที่เชื่อใจได้ ก็จึงมีการโล๊ะ stock ดีบุกขนานใหญ่ ราคาดีบุกก็ลดลงทันตาเห็น  เหมืองแร่ดีบุกของประเทศผู้ผลิตจึงล้มหายตายจากไปจนเกือบจะหมดสิ้น

ิสินค้าและวัถุดิบมากมายที่ค้าขายกันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันก็อยู่ในระบบของการบริหารจัดการในสภาพดังที่กล่าวมา   ผลผลิตของธัญพืชประเภทแป้ง (เช่น ข้าว ข้าวสาลี) ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่มีวิธีการจัดการที่ต่างออกไปจากที่เล่าเรื่องดีบุกมาด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ ผลผลิตทางเกษตรนั้น หากไม่มีการแปรรูป ก็จะมีแต่สภาพเสื่อมคุณภาพลงด้วยตัวของมันเองเมื่อนานวันเข้า   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 12, 19:32
เท่าที่พอจะทราบนั้น การซื้อขายข้าวในตลาดโลกนั้นมีอยู่หลายลักษณะ คือ ซื้อเพื่อนำไปหุงกิน เนื่องจากได้ปริมาณผลผลิตไม่พอเพียงสำหรับประชากรของประเทศ   ซื้อเพื่อนำไปแปรรูป (เป็นหลัก) เนื่องจากผลผลิตภายในค่อนข้างจะมีพอที่จะกิน แต่ไม่พอสำหรับการใช้แปรรูปหรือใช้ในเชิงอุตสาหกรรม    ซื้อเพื่อนำไปการนำไปแจกจ่ายหรือการบริจาคให้กับองค์กรการกุศล (เรื่องทางมนุษยธรรม)  และซื้อเพราะถูกกดดันให้ต้องซื้อ (เรื่องทางการเมืองระหว่างประเทศ)    ข้าวของไทยก็ถูกซื้อไปในลักษณะเหล่านี้เช่นกัน  คุณภาพข้าวที่เขาต้องการซื้อจากเรานั้น ส่วนมากจึงมิใช่เรื่องของคุณภาพดังแบบข้าวหอมมะลิที่เราเข้าใจกัน  แต่จะเป็นคุณภาพในเชิงของกายภาพเสียมากกว่า   

ว่าแต่ว่า ตัวเราเองนั้น รู้หรือไม่ว่า หรือแยกออกหรือไม่ว่า ข้าวที่เราซื้อเอามาหุงกินกันนั้น เป็นข้าวหอมมะลิจริงๆ (100%)  หรือเป็นข้าวหอมมะลิที่มีข้าวพันธุ์อื่นผสมอยู่ด้วยเป็นบางส่วน 

น่าคิดไหมครับว่า ข้าวของแต่ละนา ของแต่ละท้องถิ่น ของแต่ละจังหวัด ของแต่ละภาค ก็มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง มีจุดขายของตนเอง    ในยุคของ AEC ที่จะถึงนี้ เรื่องของข้าวก็ยังคิดในเชิงของ strategic ในเชิงของเอกลักษณ์และเอกลักษณ์ได้    ไวน์ของโลกเขาก็ยังอุตส่าห์แยกเป็นไวน์โลกเก่ากับไวน์โลกไหม่ แถมยังมี Estate wine อีกด้วย ในกลุ่มใวน์ของฝรั่งเศสเองก็ยังแยกย่อยออกไปอีก มีการจัดลำดับดับชั้น มีการจำแนก Vintage year  แถมยังมีการจำกัดการใช้ชื่อเรียกอีกด้วย   ผมเห็นว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสร้างแบรนด์ สร้าง OTOP สร้าง...ฯลฯ ที่เกิดประโยชน์กับชุมชนรากหญ้าอย่างแท้จริงที่รัฐและส่วนราชการพึงหันกลับ ก้มลงมอง แล้วกระทำอย่างจริงจังสำหรับการก้าวย่างเข้าสู่ยุค AEC


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 29 ต.ค. 12, 21:05
ขอยืนยันว่า ....ไม่ได้เจอข้าวหอมมะลิที่หอมจริงๆมานานแล้วคะ แม้จะแสวงหาอยู่นาน

ถามหาจากร้านขายข้าวสารโดยตรง ก็ยังไม่ใช่...

มันคนละกลิ่นกับข้าวหอมที่ทานในต่างประเทศ (เจ็บใจ...)อิอิ

เดือน ต.ค.นี้มีข้าวสังข์หยดบรรจุถุงขนาด 2 โล ขายในโดยบริษัทค้าข้าวเป็นครั้งแรก
มีวางขายในซุปเปอร์ เมล็ดข้าวสีแดงสม่ำเสมอ เป็นมัน สวย เวลาหุงก็เหมือนหุงข้าวหอมมะลิ
นุ่ม หวาน ไม่กระด้างแบบข้าวสีพันธุ์อื่น

อาจนับเป็นตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ได้ไหมคะ (ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพื้นบ้านที่พัทลุง
ที่มีการวิจัยว่ามีประโยชน์มาก)



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 12, 18:52
^

ลองเข้าไปดูใน www.riceproduct.org ซิครับ จะเห็นชื่อพันธุ์ข้าวมากมาย ที่เป็นของท้องถิ่น แล้วก็มีอีกหลายชื่อที่ไม่ปรากฏ (เช่น ข้าวหอมหมอก ของแถวแพร่และภาคเหนือบางถิ่น)

เราวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อประโยชน์ในการผลิตในเชิงปริมาณเป็นหลัก โดยเน้นไปทางการผสมและคัดพันธุ์ที่ทนโรคและทนต่อสภาพแวดล้อม แล้วก็เปลี่ยนชื่อพันธุ์ของมันออกไปเป็นชื่อใหม่ด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีการกระจายเมล็ดพันธุ์หรือเปลี่ยนพันธุ์ที่ผลิตจากศูนย์ผลิตพันธุ์ทุกๆระยะประมาณ 3 ปี เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้ทำพันธุ์สำหรับปีต่อๆไปนั้นเสื่อมคุณภาพของความเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี    ชาวนาก็ต้องการปริมาณเพื่อจะขายให้ได้เงินสำหรับการดำรงชีพในแต่ละปี   เราจึงค่อนข้างจะขาดการส่งเสริมในเชิงของของดีประจำถิ่นไป   ข้าวสังข์หยด หรือสังหยอด นั้น ก็เพิ่งจะเิริ่มมีตลาดและกระจายแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ขณะนี้ก็ได้กลายเป็นเรื่องของความพยายามที่จะปลูกกันในถิ่นต่างๆนอกเขตพัทลุงและภาคใต้ เพราะขายได้ราคาดี   

ซึ่งผมเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า ในยุคภูมิภาคไร้พรมแดนเช่น AEC นี้ ทำไมเราต้องโหมโฆษณาให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่าจะต้องออกไปวิ่งแข่งอยู่ในลู่เขตนอกบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ทำไมเราไม่ดึงให้เขามาวิ่งแข่งในลู่ภายในเขตบ้านของเราด้วย เปลี่ยนจากเรื่องปริมาณไปเล่นในเรื่องคุณภาพที่เขาแข่งกับเราได้ยาก  ตัวอย่างของคุณภาพของเราก็มีอยู่แล้วมากมาย ดังเช่น ข้าว ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งที่เรียกว่า heritage ต่างๆ   ประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าเราหลายเท่าเช่นออสเตรีย สวิส หรือที่น้อยกว่าเช่นเชคและโปแลนด์ ฮังการี ต่างก็หาเงินด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของเขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการหากินทางด้านคุณภาพทั้งนั้น มิไช่เรื่องของการหากินทางด้านปริมาณดังที่เราชอบสรรสร้างขึ้นมาให้มันเป็นเรื่องราวที่พ่วงท้ายด้วยคำว่าที่สุดในโลก   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็จะต้องรู้ขีดความสามารถในการรองรับพื้นฐานของเรา และการเพิ่มขีดความสามารถที่จะรองรับได้โดยไม่ส่งผลกระทบในทางลบของเรา  ซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจในความหมายของคำว่า carrying capacity อย่างจริงจัง

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 12, 19:04
เกือบจะเป็นการควงเดี่ยวกระทู้มานานแล้ว
คิดว่าคงจะมีข้อมูลและแนวคิดที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างนะครับ
แล้วก็คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่จะลงจากกระทู้ได้แล้วเช่นกันครับ

ขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านมาครับ   ;D  ;D


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 ต.ค. 12, 20:50
ปิดกระทู้นี้เพื่อเริ่มกระทู้ใหม่หรือเปล่าคะ เส้นทางโสร่ง...น่าสนใจ การผจญภัยในป่ายังท้าทายคนกรุงให้ตามอ่านนะคะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันคะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 20:52
รอกระทู้ใหม่ค่ะ คุณตั้ง
ดิฉันก็อยากจะร่วมวงมากกว่านี้ แต่จนใจว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย  เลยได้แต่ฟังอยู่หลังชั้นเฉยๆ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 15, 13:37
มีปุจฉาจากกระทู้โน้นมาให้คุณตั้งวิสัชนา  ;D

เราจะยกเลิก AEC ได้ไหมครับ อยากให้มีการจำกัดจำนวนคน เดี๋ยวนี้ไปที่ไหมก็มีแต่ต่างด้าว ต่อไปจะเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ท่านนายกจะทำได้ไหมครับ

นโยบายของรัฐ ตรงกันข้ามกับความประสงค์ของคุณ hobo ค่ะ
เสียใจด้วย
เราคงจะต้องหาทางแก้ปัญหากันเอง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 15, 19:45
AEC คงจะเลิกไม่ได้  เพราะ
  - เป็นความตกลงใจร่วมกันของทุกประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน (จะด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความที่ยังไม่ค่อยพร้อมแต่คัดทานไม่ได้ หรือจะด้วยประการใดก็ตาม)     
  - แล้วก็เพราะเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐที่เป็นสมาชิกอาเซียนได้ร่มกันประกาศเจตนาให้ประชาชนของตนและประชาคมโลกได้รับทราบว่า รัฐสมาชิกทั้งหลายประสงค์จะร่วมมือกันสร้างสรรโครงสร้างหรือระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เขตอาณาของประเทศสมาชิก (แม้จะไม่มีผลบังคับในเชิงของกฎหมาย แต่ก็มีผลในเชิงของการแสดงความเป็นรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมวลประชาคมในโลก)
  - และก็การขายขี้หน้าประชาคมโลก  (ทำให้การดำเนินการจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม ก็คงจะต้องช่วยกันด้นต่อไปเรื่อยๆ)
 
  - ฯลฯ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 15, 18:00
ยกเลิกไม่ได้  แต่ทำให้มันไม่เกิดหรือไม่พร้อมที่จะเกิดอย่างสมบูรณ์ตามที่ฝันไว้ได้  ทั้งโดยวิธีการลากยาวช่วงเวลาก่อนที่จะต้องปฎิบัติ หรือการอู้เรื่องที่กำลังดำเนินการหรือการปฎิบัติตามข้อตกลง

ด้วยความรู้ปลายแถวแบบหางอึ่งของผม  ผมเห็นว่า ความตกลงระหว่างประเทศทั้งในแบบพหุภาคี (Multilateral) ทวิภาคี (Bilateral) และแบบกลุ่ม (Plurilateral) นั้น มันไปเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐในความตกลงนั้นๆจะต้องดำเนินการใน 3 ประเด็น (มากน้อยต่างกัน และระดับต่างกันไปตามแต่ความตกลง) คือ ในระดับของการอำนวยความสะดวก (facilitation) ระดับของการให้สิทธิพิเศษบางเรื่อง (privilege) และระดับของการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายบางเรื่อง (immunity)

อืม์...แยกเป็นอีกกระทู้สั้นๆตามความรู้หางอึ่งของผมกับเรื่องพวกนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม จะเป็นประโยชน์ใหมหนอ

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 15, 18:13
เชิญแยกกระทู้เลยค่ะ  เป็นประโยชน์แน่นอน


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 15, 18:49
กลับมาห้อยท้ายกระทู้นี้ต่อไปอีกเล็กน้อยครับ

เคยสังเกตใหมครับว่า วิถีอิสานกำลังรุกคืบแทรกซึมเข้าไปในเกือบจะทุกหย่อมหญ้าในทุกภาคของประเทศไทยจนสัมผ้สได้อย่างเด่นชัดแล้ว  ซึ่งแท้จริงแล้ว วิถีอิสานนี้ได้ขยายไปไกลเกือบจะทั่วโลกเลยทีเดียว

ก็มี อาทิ
  - ข่าวพยากรณ์อากาศของเราใช้คำว่า "ยอดภู" แทนคำว่า "ยอดดอย" จนเกือบจะเป็นกลายเป็นคำมาตรฐานที่สื่อต่างๆรายงาน
  - ชื่อของสถานที่ๆประกอบธุรกิจสถานที่พักผ่อน/ท่องเที่ยว   ก็มักจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "ภู"  ซึ่งพบกระจายคลุมไปทั้งภาคเหนือและขอบพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง   ไม่แน่ใจนักว่าภาคใต้จากกรุงเทพฯลงไป จะมีสถานที่ๆมีชื่อขึ้นต้นด้วย ภู อยู่มากน้อยเพียงใด
  - คำว่า ตำส้ม ที่ใช้กันในภาคเหนือ ถูกกลืนหายไปเป็นคำว่า ส้มตำ เรียบร้อยแล้ว  แม้ว่าแต่ดั้งเดิมนั้นจะมีความต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของเรื่องของความหมายของลักษณะอาหาร ซึ่งใช้วัสดุและเครื่องปรุงบางอย่างต่างกัน
   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 15, 19:32
ประเพณี "รดน้ำดำหัว" ด้วยค่ะ


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 15, 17:39
ครับผม

ทำให้ผมนึกไปถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเปลี่ยนความสำคัญของวันตรุษที่มีผลในทางเศรษฐกิจและการค้าขาย      แต่เดิมนานมาแล้ว เมื่อถึงวันตรุษสำคัญต่างๆของจีนหรือของชาติเจ้าของกิจการค้าใดๆ ความคึกคักทางการค้าจะลดลง ด้วยมีการมีการหยุดทำการบ้าง   แต่มิใช่ในลักษณะนั้นอีกแล้ว กลับกลายเป็นว่า ในช่วงตรุษเหล่านั้นเกือบจะไม่มีกิจการใดๆหยุดอีกต่อไป    แต่จะเป็นว่า ในช่วงวันสงกรานต์และวันหยุดทางราชการไทยที่มีการหยุดชดเชยต่อเนื่องหลายวัน แม้กิจการต่างๆในพื้นที่เมืองกลับมีความคึกคักลดลง แต่ไปขยายในพื้นที่นอกเขตเมืองและในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท  ซึ่ง..ก็ด้วยเหตุจากที่คนเหนือและอิสานที่มาทำงานในที่ต่างๆเดินทางกลับบ้านเกิด

สภาพการณ์ลักษณะเช่นนี้ (ความคึกคักในภาคกิจการต้นน้ำลดลง อาทิ การก่อสร้าง) ก็เกิดขึ้นในต่างประเทศในภูมิภาคต่างๆอีกด้วย  ซึ่งต่างก็เป็นผลมาจากการเคลื่อนของแรงงานที่เป็นมวลชนชาวเหนือและอีสานของไทยเรานี้เอง

แม้ว่า ขณะปัจจุบันนี้ การเคลื่อนของมวลชนชาวเหนือและอิสานจะน้อยลงไป เพราะงานต่างๆถูกแทนที่โดยแรงงานจากรอบบ้านเรา  แต่หลักนิยมก็ยังคงมีอยู่ โดยในเฉพาะช่วงสงกรานต์   แถมหลายหมู่คณะบุคคลคนไทยเรายังช่วยกันกระจายความมั่งมีไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านและโพ้นทะเล ด้วยการไปเที่ยวจับจ่ายใช้สอยกันอย่างถึงพริกถึงขิง อีกด้วย       


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 15, 18:11
หากมีโอกาสไปเที่ยว ตจว.  ลองใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านและชุมชนที่เคยคิดว่าห่างไกล  แวะเที่ยวตลาด คุยกับชาวบ้าน   เราจะเห็นว่า ขณะนี้ไทยเรากำลังอยู่ในช่วงของคนใน generation ที่ 3   หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่แต่ดังเดิมเล็กมาก เกือบจะไม่มีธุรกิจร้านค้าใดนั้น  ณ วันนี้จะได้เห็นแต่อาคารบ้านเรือนที่สร้างด้วยปูน ถนนไร้ฝุ่น มีร้านกาแฟสด มี ฯลฯ ที่เราเห็นในกันในกรุงเทพฯ  แล้วก็มีมากมายหลายแห่งที่มีร้านขายอาหารต่างชาติ ด้วยเพราะว่ามีสามีฝรั่งก็มี  และเพราะมีความรู้และประสบการณ์ของตนเองก็มีไม่น้อย

ครับ เด็กไทยรุ่นวัยเบญจเพศ กลับบ้านเกิดครับ     ปุ่ย่าตายายส่งพ่อแม่เรียนได้ในระดับหนึ่ง พ่อแม่ส่งลูกเรียนได้สูงขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง ลุูกหลานจบกันมา เขาคิดกลับบ้านกันครับ  กลับไปใช้ทรัพยากร (มรดก) ของตระกูลทำมาหากิน  เลยไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะพบว่า มีคนหนุ่มสาวกลับไปทำนา เริ่มระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ พยายามขายเป็นกิโลฯแทนการขายเหมาเป็นเกวียน  ขาย/ซ่อมคอมพิวเตอร์และมือถือ และ ฯลฯ  ก็เรียกว่ามีวิถีชิวิตที่ทันโลกไม่เบาเลยทีเดียว

เป็นภาพพื้นฐานบางประการของไทยที่จะเข้าสู่ยุค AEC  ครับ 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ม.ค. 15, 19:10
หากมีโอกาสไปเที่ยว ตจว.  ลองใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านและชุมชนที่เคยคิดว่าห่างไกล  แวะเที่ยวตลาด คุยกับชาวบ้าน   เราจะเห็นว่า ขณะนี้ไทยเรากำลังอยู่ในช่วงของคนใน generation ที่ 3   หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่แต่ดังเดิมเล็กมาก เกือบจะไม่มีธุรกิจร้านค้าใดนั้น  ณ วันนี้จะได้เห็นแต่อาคารบ้านเรือนที่สร้างด้วยปูน ถนนไร้ฝุ่น มีร้านกาแฟสด มี ฯลฯ ที่เราเห็นในกันในกรุงเทพฯ 

จริงอย่างที่คุณตั้งเล่าทุกประการ เพิ่งกลับมาจากการไปสำรวจในหมู่บ้านประมาณ ๕-๖ แห่ง ในจังหวัดแถวภาคอีสาน ทุกแห่งที่เข้าไปเป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง เพราะจากประสบการณ์เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ถนนในหมู่บ้านยังเป็นดินหรือลูกรังอยู่เลย ปัจจุบันทุกแห่งเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี บ้านเรือนหลายหลังปลูกเป็นตึกทันสมัยแบบเดียวกับบ้านในเมือง แต่ก็ยังมีบ้านแบบเก่าที่มีใต้ถุนสูง เป็นคอกเลี้ยงโคกระบือ ยังเห็นฉางเก็บข้าวในบ้านทรงเก่าเกือบทุกแห่ง


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 15, 18:16
วิถีอิสานนั้น ได้แทรกเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียวครับ

ส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว เป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่มีของร้านอาหารไทยในระดับ street restaurant (ร้านเล็กและราคาไม่สูง) ที่แม้ว่าส่วนมากจะมิใช่เมนูประจำ กระนั้นก็ตาม เมื่อใดที่มีอาหารในเมนูนี้ฝรั่งก็จะสั่ง แล้วก็เฝ้าถามว่าเมื่อใดจะทำอีก 
ผมเคยพบฝรั่งคนหนึ่งในกรุงเวียนนา ที่มิใช่จะมาแต่เพียงกินอาหารไทยที่ร้านแห่งหนึ่งเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่เอาสมุดบันทึกมาเขียนบรรยายอาหารที่กินไปทุกครั้ง แล้วก็เฝ้ารอว่าเมื่อใดจะมีไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวเหนียวอีก

เมื่อเร็วๆนี้ผมไปใต้และได้มีโอกาสไปแวะเที่ยวชุมชนเล็กๆตั้งอยู่บนปากคลองสายหนึ่งในเขตอ่าวพังงา ชื่อว่าบ้านบางพัฒน์  เป็นชุมชนมุสลิมเล็กๆขนาดต่ำกว่าร้อยหลังคาเรือน (คะเนว่าคงจะแถวๆ 50+/- หลังคา)  ในชุมชนนี้มีร้านอาหารอยู่สามสี่ร้านสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว  ผมได้เห็นหอยโข่งทะเลเป็นๆ ตัวขนาดย่อมกว่าชามก๋วยเตี๋ยวคว่ำเล็กน้อย ก็ถามเขาว่า เอามาทำอะไรกินดี  เขาตอบว่า จะทำอะไรก็ได้ จะลาบก็ได้ จะ...ก็ได้  ได้ฟังแล้วก็คิดได้เลยในทันทีว่าเรียบร้อยโรงเรียนอีสานไปแล้ว

นี่แหละครับ ความน่าทึ่งของวิถีอิสาน 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 15, 18:33
ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่ชวนให้คิด ซึ่งได้แก่ การที่วิถีชีวิตใทยที่กำลังกระจายไปครอบงำอยู่ในกลุ่มประเทศรอบบ้านเราผ่านทางเหล่าแรงงานทั้งหลาย  ทั้งในด้านหลักนิยมทางวัฒนธรรม (ผ่านทางกลุ่มคนงานบ้าน)  ลักษณะและรสของอาหาร (ผ่านทางกลุ่มคนงานครัวและร้านขายอาหาร) หรือในภาพรวมกว้างๆ ก็คือ Living & Life style (หลักคิด หลักนิยม และค่านิยมต่างๆ)



กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 15, 18:59
นอกจากวิถีไทย หรือ school of thought แบบไทย (Thainess) ที่กระจายผ่านไปทางแรงงานรับจ้างแล้ว   ก็ยังมีกระจายผ่านไปในระดับผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาอีกด้วย
     
ตัวอย่างที่ผมได้สัมผัส ก็มีอาทิ คนในอนุทวีปอินเดีย (อินเดีย ปากีฯ บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฐาน เนปาล) จำนวนมากมาใช้ชีวิตเรียนหนังสือในระดับ post grad. ที่สถาบัน AIT   คนลาวและจีนจำนวนไม่น้อยมาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในภาคเหนือของไทย  ในกรุงเทพฯเองก็มีนักศึกษาจากจีนจำนวนไม่น้อยมาอยู่เรียนในระดับ ป.ตรี 

ครับ ลองเดินท่อมๆในตลาดนัดชุมชน หรือ เดินในตรอกซอกซอยในบางพื้นที่ๆใกล้สถานศึกษาต่างๆ ก็จะได้พบเห็น แถมยังพูดภาษาไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 15, 19:16
ในมุมที่ผมได้กล่าวถึงนี้

ไทยในยุค AEC ก็น่าจะไปได้ในระดับที่ดีพอใช้ได้เลยทีเดียว เพราะเราน่าจะมีคนที่มีหลักคิดหลักนิยมแบบไทยอยู่ในประเทศรอบนอกเราอยู่ไม่น้อย ซึ่งเขาเหล่านั้นน่าจะเป็นกลไกในด้านบวก ช่วยประคับประคองหรือยกระดับในเรื่องใดๆที่จัดอยู่ในบริบทที่เรียกว่า "ไทย"  ให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทั้งมวล (ทั้งทางตรงและทางอ้อม)

ประเด็นสำคัญก็จะไปอยู่ตรงที่ว่า เรารู้หรือยังว่าเรื่องที่เป็น plus sign ของเรานั้นอยู่ที่ใหนบ้าง และจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เพียงใดและอย่างไร 

 


กระทู้: ก้าวย่างในยุค AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 15, 19:34
เมื่อได้เกิด EU5 แล้วนั้น ทุกประเทศใน EU5 ก็รู้ว่าต่อไปจะเกิด EU10 และ EU15
   
ในกลุ่ม EU5 นั้น มีการใช้ภาษาอยู่หลายภาษา    แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ภาษาเยอรมันนั้นมีการใช้อยู่จำกัดมาก ไม่เหมือนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาในกลุ่มภาษาละติน
 
กลุ่มคนที่ใช้ภาษาเยอรมัน (เยอรมันและออสเตรีย) นั้นมีเขตติดต่อกับประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหลาย (ที่จะกลายมาเป็น EU+) ซึ่งการณ์ก็ปรากฎว่ากลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหลายนั้น เมื่อแยกออกมาจากความเป็นเครือของรัสเซียแล้ว ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองกันหมด  ไม่เอื้อประโยชน์กับเยอรมันและออสเตรียแน่   ทางแก้ที่เขาใช้ประการหนึ่งก็คือ ลงไปเล่นในระดับเด็กเลย ครับ..ใช้หุ่นกระบอกพูดภาษาเยอรมันเลย ทั้งทางทีวีและการแสดงสดทางวัฒนธรรมตามโรงเรียนเด็ก (อย่างน้อยก็เป็นการเซาะร่องในสมองเพื่อการรับความเป็นเยอรมันใว้บ้าง)