เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: chatchawan ที่ 14 มิ.ย. 11, 17:48



กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 14 มิ.ย. 11, 17:48
ราชสำนักไทยสมัยก่อนมีพวกขันทีหรือเปล่าครับ  ถ้ามีขอประวัติของขันทีว่ามีมาในสมัยใดเป็นราชธานีด้วยนะครับ  ขอบคุณครับ


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 14 มิ.ย. 11, 20:48
เรียนสมาชิกเรือนไทย

          เนื่องจากไม่มีหนังสือติดตัวจึงไม่กล้าบอกว่ามีครั้งแรกในยุคใด แต่ว่าถ้าจำไม่ผิดในกฎหมาย - ไม่แน่ว่าตราสามดวงหรือเปล่า - ได้กล่าวถึงขันทีไว้ เรียกว่า "นักเทศขันที" ในหอเขียนวังสวนผักกาดก็มีรูปขันทีชาวแขก (ไม่กล้าตอบว่าอิหร่านหรืออินเีดีย) อยู่ และถ้าจำไม่ผิด ในบันทึกของชาวฝรั่งเศษที่เข้ามาสมัยพระนารายณ์ก็ได้กล่าวถึงขันทีในวัง

         


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มิ.ย. 11, 20:52
ข้าราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยอยุธยามีความพิเศษ คือที่มีการนำ นักเทศขันที คือ บุรุษผู้ใดได้ทำลายองคชาติแล้ว เข้ามารับราชการในฝ่ายใน ด้วยปรากฏตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ดังนี้
ออกพระศรีมะโนราชภักดีศรีปลัยวัล , หลวงราชาชานภักดิ , ปลัดจ่านุชิด , ปลัดพิพิท , ปลัดมระกฎขันที , หลวงศรีมโนราชภักดีศรีองคเทพรักษาองค์, หลวงเทพชำนาญภักดีเทพรักษาองครักษ ถือศักดินา คนละ 1,000

การที่มีขันทีในราชสำนักฝ่ายในสมัยอยุธยา เข้ามาราชการนั้น เป็นไปได้ว่าในการติดต่อกับบางประเทศซึ่งขันทีเป็นที่นิยมอาจได้รับขันทีเป็นเครื่องราชบรรณาการตามความนิยม แม้ว่าขันทีในราชสำนักฝ่ายในจะได้รับการยอมรับและมีตำแหน่งปรากฎอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วพบว่า ขันทีที่เข้ามารับราชการในราชสำนักฝ่ายในมีจำนวนน้อย และบทบาทหน้าที่ของขันทีเท่าทีพบ ก็ไม่ใช่หน้าที่ ที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ เพียงทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดส่งเครื่องโภชนาการของพระมหากษัตริย์ เชิญกระแสพระราชดำรัส จัดการตามพระบรมราชโองการและตามเสด็จฝ่ายใน แต่อย่างไรก็ตามการที่นำขันทีเข้ามารับราชการก็ไม่มีหลักฐานปรากฎยืนยันชัดเจนว่ามีทุกรัชกาลหรือไม่ อาจเป็นแค่พระราชนิยมของพระมหากษัตริย์บางพระองค์เท่านั้น

ดังภาพลายรดน้ำสมัยอยุธยามีภาพแขกน่าจะเป็นขันที


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มิ.ย. 11, 20:57
ขอต่อด้วยเรื่อง ขันทีและนักเทษด้วยเสียพร้อมกัน

พวกเราเคยได้ยินคำว่า ขันที คุ้นหูโดยเฉพาะผู้ที่ชอบเรื่องจีน แต่คำนี้มิใช่คำจีนซึ่งเรียกขันทีว่า ไท้ก่ำ สังคมก่อนสมัยใหม่หลายสังคมทั้งในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศสุดบูรพาทิศ (จีน เกาหลี และเวียดนาม ยกเว้นญี่ปุ่น) ต่างใช้ขันทีในราชสำนักทั้งสิ้น เขาว่า หลักฐานเกี่ยวกับการตอนคนเป็นขันทีอยู่ที่เมืองลากาซในวัฒนธรรมสุเมเรียนย้อนหลังไปถึง ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล ในภาษาอังกฤษคำว่า Eunuch ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ eune (bed) + ekhein (to keep) แปลว่า “เจ้าพนักงานกระลาบรรทม”

เมืองไทยในอดีตเคยมีขันทีหรือไม่ ยืนยันว่า เคยมีมาจนถึงสมัยสิ้นกรุงศรีอยุธยา เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีชื่อราขารและสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย  อาณาจักรเพื่อนบ้านเราสมัยโบราณก็ล้วนมีขันทีทั้งนั้นไม่ว่า อาระกัน (ยะไข่) พม่า อินเดีย และชวา แม้แต่มอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ

ขันที มีที่มาทางนิรุกติประวัติอย่างไร ในภาษาสันสกฤต คำว่า ขณฺฑ แปลว่า ทำลาย ขณฺฑธารา แปลว่า มีด หรือ ดาบ ศาสตราจารย์ MacDonell ผู้แต่ง A Practical sanskrit Dictionary ให้ความหมายของ khandฺa ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” แปลว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” สันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทยสะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต

ขันทีในพม่าและอาระกันทำหน้าที่ดูแลรับใช้ฝ่ายในและจำทูล (ถือนำไป) พระราชสาสน์ ในกรณีของไทย ขุนนางกะเทยมีตำแหน่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) รับราชการฝ่ายขวา ขันทีรับราชการฝ่ายซ้าย ในทำเนียบพระไอยการลักษณะนาพลเรือน กฎมณเทียรบาล และในเอกสารอื่น มีข้อมูลกระเส็นกระสายเรื่องนักเทษขันที กฎมณเทียรบาล มีความกล่าวว่า

[๑] ถ้าเสดจ์ขนานหน้าวังตำรวจในลง ถ้าเสดจ์ในสระแก้วหฤๅไทยราชภักดีลง ถ้าเสดจ์หนไนมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง  (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ข้อความใน [๑] กำหนดหน้าที่นักเทษขันทีอยู่ในกลุ่มผู้อารักขาความปลอดภัยและรับใช้เจ้านายฝ่ายในขณะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหนเรือ (ทางน้ำ)

[๒] อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ (อักขรวิธีต้นฉบับ)

บทบัญญัติในวังหลวง ถือว่านักเทษขันทีเป็นข้าราชการฝ่ายใน จะออกไปเขตนอกเมือง (พ้นขนอนและด่าน) ไม่ได้ เหตุผลคือ การติดต่อระหว่างคนรับใช้ในวังกับบุคคลภายนอกอาจเป็นภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์

[๓] ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช แลพระศรีอไภย ขุนราซาข่าน ขุนมโน บหลัดทัง ๔ นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช  นายจ่านายกำนัลมหาดเลกเตี้ยค่อม (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ความในข้อ [๓] ระบุถึงกลุ่มข้าทูลละอองฝ่ายใน (ฝ่ายเฉลียงด้านนอก) ซึ่งประกอบไปด้วยนักเทษขันที หัวหน้ามหาดเล็กหลวง และข้ารับใช้ในวัง

ในที่นี้ได้มีการระบุชื่อข้าราชการฝ่ายนักเทษขันทีคือ (๑) พระศรีมโนราช หรือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลย์ เจ้ากรมขันที ศักดินา ๑๐๐๐, (๒) พระศรีอไภย หรือ ออกพระศรีอภัย[ราชภักดีศรีปลัยวัลย์] เจ้ากรมนักเทษ ศักดินา ๑๐๐๐ (๓) ขุนราซาข่าน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กรมวัง เขียนเป็น [ออก]หลวงราชาชานภักดี” (ซึ่งน่าจะผิด ชาน ควรเป็น ข่าน) ศักดินา ๕๐๐ ปลัดกรม และ (๔) ขุนมโน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนตรงกับ “[ออก]หลวงศรีมโนราชภัคดีศรีองคเทพรักษาองค ขันที” ศักดินา ๖๐๐ นามของท่านหลังนี้น่าจะคัดลอกมาผิด และการอ่านแบ่งวรรคตอนในฉบับพิมพ์ก็แยกคำผิด เพราะราชทินนามของท่านน่าจะคู่กันและสอดคล้องกับอีกท่านหนึ่งคือ “[ออก]หลวงเทพชำนาญภักดีศรีเพทรักษาองครักษ [นักเทษ]” ถ้าจะจำลองราชทินนามให้ถูกต้องน่าจะเป็นดังนี้

ออกหลวง ศรีมโนราชภักดี ศรีเทพรักษา               องครักษขันที
ออกหลวง เทพชำนาญภักดี ศรีเทพรักษา              องครักษขันที

นักเทษขันทีน่าจะมีมากกว่าที่ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ยกเลิกประเพณีใช้นักเทษขันทีในพระราชวังหลวงแล้ว ผู้ชำระกฎหมายจึงไม่ได้เอาใจใส่หรือเห็นความสำคัญ ในสมัยอยุธยาตอนปลายพบชื่อของขันทีราขารและสังขสุรินทรในกระบวนแห่บรมราชาภิเสกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ชื่อแรก “ราขาร” นั้นจดผิดจาก “ราชาข่าน” ซึ่งเป็นนามที่ทำให้รำลึกถึงวัฒนธรรมขันทีในราชสำนักของสุลต่านในเปอร์เชียและตุรกี ส่วนสังขสุรินทร์ทำให้นึกถึงหน้าที่เป่าสังข์ในราชสำนักคู่กับนักเทษที่ทำหน้าที่ตีกรับ

พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนยังให้ชื่อปลัดมรดกกรมขันทีสองท่านคือ ปลัดจ่านุชิตคู่กับปลัดพิพิท (สร้อยราชทินนามเต็มหายไป) เป็นที่น่าสังเกตว่า พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนเก็บรักษาทำเนียบกรมขันทีไว้ แต่ไม่มีทำเนียบเจ้ากรมนักเทษเลย เนื่องจากเราทราบว่า ออกพระศรีอภัยฯ ในกฎมณเทียรบาลมียศและฐานะเท่าเทียมกับออกพระศรีมโนราชฯ เพราะฉะนั้น ท่านจึงน่าที่จะเป็นเจ้ากรมนักเทษ ซึ่งเป็นกรมฝ่ายขวา

[๔] พระราชกุมารสมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลูกเธอหลานเธอแม่เจ้าพระสนม ออกเจ้ากำนัลซ้ายนักเทศขวาขันทีซ้าย ……. (อักขรวิธีต้นฉบับ)
 
ความในข้อ [๔] เกี่ยวข้องกับการพระราชพิธี ”ถวายบังคมสมโพธแม่ หยัวพระพี่” และบอกถึงตำแหน่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของบรรดาฝ่ายใน ซึ่งรวมถึงการทำหน้าที่ของนักเทษและขันทีด้วย
 
[๕] ถ้าขัดพระราชฎีกาสมเดจ์พระอรรคมเหษีใช้พระราชฎีกา สมเดจ์พระชายาแลสมเดจ์หน่อพระพุทธเจ้าใช้พระเสาวนี สมเดจ์พระเจ้าลูกเธอกินเมืองใช้พระสาศน ผู้ใดขัดพระสาศนไหมทวีคูน ถ้าแลมีพระราชฎีกาดำเนีรมีตราขุนจันทราทิตยนำ ถ้าพระราชเสาวนีดำเนีรตราขุนอินทราทิตยนำ ถ้าพระราชฎีกานักเทศ[จำ]ถือไป พระเสาวนี[ขันที] จำถือไป (อักขรวิธีต้นฉบับ)

เรื่องที่ว่า นักเทษขันทีทำหน้าที่ผู้จำทูลพระราชศาสน์ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นปรากฎอยู่ในทุกวัฒนธรรม ทั้งในจีนโบราณ จักรวรรดิไบแซนทีน รวมทั้งพม่าและเวียดนามเพื่อนบ้านของเราด้วย ในกรณีของราชสำนักไทย ความข้างต้นดูก็ทำหน้าที่จำถือคำสั่งเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นผู้นำพระราชฎีกาของสมเด็จพระอัครมเหสี และพระเสาวนีย์ของพระชายาและสมเด็จพระหน่อพุทธเจ้า ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไม่ทรงเปิดโอกาสให้นักเทษขันทีเข้ายุ่งเกี่ยวกับราชาการฝ่ายหน้าเลย
 
[๖] งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าแต่งกระแจะแป้งดอกไม้ พระภรรยาเจ้าแต่งหมาก พระราชกุมารพระราชนัดดาแม่หยัวเจ้าเมืองแต่หมาก ลูกขุนสนองพระโอษฐแต่งสำรับ พระราชกุมาร พิเศศแต่งสำรับนา ๑๐๐๐๐ นา ๕๐๐๐ ท้าวอินทกัลยาแต่งสำรับลูกขุน ท้าวยศมลเฑียรแต่งเข้าแผง พลเสนาแต่งเล่าสุรินสุราแต่ง ครั้นรุ่งแล้ว ๒ นาลิกา แลเสดจ์สรงธรงพระสุคนธ ๓ นาลิกา ธรงพระภูษาเสดจ์หอพระ พระราชกุมารพระราชนัดดาฝ่ายนอกฝ่ายใน ถวายบังคมในหอพระ พระราชกุมารพระราชบุตรีสมเดจ์พระภรรยาทั้ง ๔ ทูลพระบาท ๔ นาลิกา เสดจ์มังคลาภิเศกนักเทศตีกรับ (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ความที่ยกมาข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักไทยมีอยุ่จำกัดในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน ทั้งนี้อาจขัดกับความรับรู้ของคนไทยสมัยใหม่ที่ทราบเรื่องราวขันทีผ่านเรื่องจีนซึ่งมาในรูปของสื่อต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ และวรรณกรรม

ข้อมูลจากหนังสือภาษาอัชฌาไศรย ภาคชายคาภาษาไทย เรื่อง กะเทย / บัณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ  โดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร
http://gotoknow.org/blog/thaikm/151017


 


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มิ.ย. 11, 20:59
มีปัญหาในการบันทึกข้อข้ามไปข้อ [๖] เลยดีกว่า

[๖] งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าแต่งกระแจะแป้งดอกไม้ พระภรรยาเจ้าแต่งหมาก พระราชกุมารพระราชนัดดาแม่หยัวเจ้าเมืองแต่หมาก ลูกขุนสนองพระโอษฐแต่งสำรับ พระราชกุมาร พิเศศแต่งสำรับนา ๑๐๐๐๐ นา ๕๐๐๐ ท้าวอินทกัลยาแต่งสำรับลูกขุน ท้าวยศมลเฑียรแต่งเข้าแผง พลเสนาแต่งเล่าสุรินสุราแต่ง ครั้นรุ่งแล้ว ๒ นาลิกา แลเสดจ์สรงธรงพระสุคนธ ๓ นาลิกา ธรงพระภูษาเสดจ์หอพระ พระราชกุมารพระราชนัดดาฝ่ายนอกฝ่ายใน ถวายบังคมในหอพระ พระราชกุมารพระราชบุตรีสมเดจ์พระภรรยาทัง ๔ ทูลพระบาท ๔ นาลิกา เสดจ์มังคลาภิเศกนักเทศตีกรับ (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ความที่ยกมาข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักไทยมีอยุ่จำกัดในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน ทั้งนี้อาจขัดกับความรับรู้ของคนไทยสมัยใหม่ที่ทราบเรื่องราวขันทีผ่านเรื่องจีนซึ่งมาในรูปของสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ และวรรณกรรม

อ่านรายละเอียดเรื่องนี้อีกทีที่

ภาษาอัชฌาไศรย ภาคชายคาภาษาไทย เรื่อง กะเทย / บัณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ  โดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร
http://gotoknow.org/blog/thaikm/151017



กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 14 มิ.ย. 11, 23:34
คำว่าขันทีในภาษาจีนเขียนว่า "太监" 【Tai jian】ออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางว่า "ไท่เจียน" ถ้าออกเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋ว จะออกว่า "ไท่กำ" หรือ "ไท่ก่ำ" ถ้าเป็นภาษากวางตุ้งหรือภาษาฮกเกี้ยนก็ิิิออกเสียงคล้ายๆกับภาษาแต้จิ๋ว

สามารถสืบค้นได้จากhttp://cn.voicedic.com/

สงสัยจริงคำว่า "ขันที" มาจากที่ใด


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 11, 08:58
สงสัยจริงคำว่า "ขันที" มาจากที่ใด

ขันที มีที่มาทางนิรุกติประวัติอย่างไร ในภาษาสันสกฤต คำว่า ขณฺฑ แปลว่า ทำลาย ขณฺฑธารา แปลว่า มีด หรือ ดาบ ศาสตราจารย์ MacDonell ผู้แต่ง A Practical sanskrit Dictionary ให้ความหมายของ khandฺa ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” แปลว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” สันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทยสะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต


 ;D


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 15 มิ.ย. 11, 09:23
น่าจะมีนะครับ
เมืองไทยในอดีตเคยมีขันทีหรือไม่ ยืนยันว่า เคยมีมาจนถึงสมัยสิ้นกรุงศรีอยุธยา เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีชื่อราขารและสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 18:55
ขันทีมีแน่ ค่ะ


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 01 พ.ค. 18, 09:52
ถ้าเดินหน้ามาอีกหน่อย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหละครับ จะยังมีขันทีในราชสำนักอยู่หรือไม่ครับ
มีการบันทึกไว้หรือไม่ครับ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 พ.ค. 18, 10:08
            ขันที(ม) ในจอแก้ว          ยืนเข้าแถวมือประสาน


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 พ.ค. 18, 10:09
นึกถึงภาพวันวาน                     เคยผ่านตาในหน้าคอมฯ
   
สถานที่ Oriental Institute,Chicago จัดแสดง     
 
                  แผ่นหินสลักภาพในราชสำนัก Assyria ช่วง 8th - 7th ศตวรรษ BCE เป็นรูปขันทีจากเมือง
Khorsabad อดีตราชธานีสมัยคิง Sargon II ยืนเรียงแถวอยู่เบื้องหลังบุคคลสำคัญซึ่งอาจจะเป็นมกุฎราชกุมาร
                  บรรดาขันทีเหน็บกริชไว้ที่เอวซ้าย,ยืนประสานมือทั้งสองข้างในท่วงท่าสำรวมนอบน้อมและเพื่อเป็น
การแสดงว่ามือไม่ได้จับอาวุธ


กระทู้: ราชสำนักไทย(สมัยก่อน)มีขันทีด้วยหรือเปล่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 18, 16:22
ถ้าเดินหน้ามาอีกหน่อย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหละครับ จะยังมีขันทีในราชสำนักอยู่หรือไม่ครับ
มีการบันทึกไว้หรือไม่ครับ ขอบพระคุณครับ
ไม่น่าจะมีนะคะ  ไม่เคยอ่านพบหลักฐานถึงขันทีในรัชกาลที่ ๑ 
ต้องถามท่านอื่นๆด้วย  ใครอ่านเจอบ้างคะ